ประชาไท | Prachatai3.info |
- คลิป 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' ยืนยันไม่มีสไนเปอร์ในปี 53
- วิวาทะรายงานสลายชุมนุม 53: ปธ.กรรมการสิทธิ - ศปช.
- เตรียมตัวก่อนซิมมือถือของคุณจะหมดสัมปทาน 15 ก.ย. นี้!
- นายกขอบคุณฝ่ายค้านประชุมสภาผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระแรก
- ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดียิงอาร์พีจีใส่กลาโหม แต่ยังให้ขังจำเลยรอศาลฎีกา
- กสทช. จับมือ อย. ให้ความรู้ผู้ประกอบการสื่อ เอเยนซี่ให้โฆษณาอาหารและยาให้ถูกกฎหมาย
- บ.ก.ไทยพีบีเอส เข้าพบ ปอท.หลังโดนออกหมายเรียกโพสต์ปลุกปั่น เจ้าตัวยันไม่มีเจตนา
- ชาวโรฮิงญาประท้วง ตม.พังงา หลังถูกขังลืม 6 เดือน
- โพลล์เผย ปชช. ต้องการให้รักษาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแม้เกิดเหตุรุนแรง
- โสภณ พรโชคชัย: ดารากับพ่อ . . . เรื่องดรามาแห่งตอแหลแลนด์
- 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกจม.ถึง ปอท. ยันกรณี 'เสริมสุข' เป็นเสรีภาพบุคคล
- กวีประชาไท: สิ่งที่ข้าฯ ไม่เคยพบ
คลิป 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' ยืนยันไม่มีสไนเปอร์ในปี 53 Posted: 09 Aug 2013 01:19 PM PDT สภาถก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' ยันไม่เคยสั่งทหารไปฆ่าประชาชน ไม่มีการใช้สไนเปอร์ มีแต่ปืนติดลำกล้องใช้ยิงโต้ผู้ก่อการร้ายที่มุ่งร้าย จนท. - ประชาชน คนที่ถูกยิงคือผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมา ด้านลูก เสธ.แดง ยกมือโต้ อัดสุเทพกล่าวเท็จ เชื่อประชาชนมีคำตอบแล้วว่าใครเป็นฆาตรกร การอภิปรายตอบโต้ระหว่างสุเทพ เทือกสุบรรณ (ซ้าย) และขัตติยา สวัสดิผล (ขวา) เมื่อ 8 สิงหาคม 2556 ที่มา: โทรทัศน์รัฐสภา
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการประชุมรัฐสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ได้ขอสิทธิกล่าวอภิปรายถึงกรณีที่ถูกนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พาดพิงว่าเป็นผู้มีอำนาจ เป็นรัฐบาลอำมหิต สั่งทหารฆ่าประชาชน และเป็นรัฐบาลแรกของโลกที่เอาสไนเปอร์จัดการประชาชน โดยนายสุเทพอภิปรายว่า ไม่เคยสั่งทหารไปฆ่าประชาชน เมื่อมีเหตุการณ์จลาจลก็ถือว่าเป็นอำนาจรัฐบาลต้องยับยั้งเหตุการณ์ แต่เหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงฆ่าประชาชนนั้นเป็นของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีอาวุธสงครามอยู่ในมือ ทั้งที่ไม่มีสิทธินำมาฆ่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ต้องปกป้องชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยใช้อาวุธยับยั้งผู้ก่อการร้ายที่ใช้อาวุธสงครามมาฆ่าเจ้าหน้าที่ ถือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย "ในประการที่ณัฐวุฒิบอกว่าเป็นรัฐบาลแรกของโลกที่เอาสไนเปอร์มาจัดการประชาชน เอาปืนส่องประชาชนตามหัวมุมตึก ก็ไม่เป็นความจริงครับ ไม่ได้เอาปืนสไนเปอร์ไปส่องดักยิงประชาชนด้วยความเมามันในอำนาจแต่ประการใด แต่ว่าที่จำเป็นต้องให้มีพลแม่นปืนขึ้นไปประจำอยู่ในพื้นที่สูงข่มเป็นการดำเนินการเพื่อคุ้มครองชีวิตเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่ไปตั้งด่าน ไปตั้งจุดสกัด อยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้ก่อการร้ายออกไปก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนชาวกรุงเทพฯ พลแม่นปืนที่ว่านั้นไม่ใช่สไนเปอร์ ปืนสไนเปอร์นั้นมีความยาวเป็นพิเศษ มีลักษณะปืนเป็นพิเศษ แต่ปืนที่ใช้นั้นเป็นอาวุธประจำกายของทหารตามปกติ แต่ว่าได้มีการดัดแปลงติดกล้อง ไม่ใช่สไนเปอร์ และไม่ได้ตั้งใจเอาไปเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีคำสั่งของผมชัดเจนว่าให้ใช้พลแม่นปืนนี้ ยิงระงับผู้ก่อการร้ายที่มุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ คนที่ถูกยิงคือบรรดาผู้ก่อการร้ายที่แฝงตัวมาครับ ท่านประธานครับ" "ในประเด็นที่สาม กรณีที่คุณณัฐวุฒิกล่าวหาว่า ผมพูดจาโดยไม่รับผิดชอบ อยากจะพูดอะไรก็พูด เรื่องไปเอ่ยชื่อบุคคลที่เผาเซ็นทรัลเวิลด์" ต่อมา น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุลอบยิงที่หน้าสวนลุมพินีเมื่อ 13 พ.ค. 53 ได้ลุกขึ้นประท้วง และอภิปรายว่า "ผู้ที่กำลังกล่าวว่าตัวเองถูกพาดพิงนั้น ท่านกล่าวความเห็น ท่านกล่าวว่าไม่มีสไนเปอร์ในเหตุการณ์ ในพื้นที่ดังกล่าว แล้วนี่คืออะไรคะ" จากนั้น น.ส.ขัตติยา ได้แสดงรูปภาพทหารถือปืนติดลำกล้องในเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 13 - 19 พ.ค. 53 และอภิปรายต่อไปว่า "บุฟการีของดิฉัน โดนยิงในวันที่ 13 พ.ค. ฝีมือใครคะ ฝีมือฆาตรกรคนไหนคะ กรุณากล่าวความจริงในสภาค่ะ ท่านโกหกคนทั้ง..." อย่างไรก็ตาม รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเจริญ จรรย์โกมล ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาฯ ได้ปิดไมโครโฟนของผู้อภิปรายและกล่าวว่า "ใจเย็นๆ ฮะ คืออย่างนี้ครับ ท่านที่ใช้สิทธิพาดพิง ท่านก็อธิบายของท่านไป ส่วนท่านจะมีความรู้สึกเชื่อไม่เชื่อเป็นเรื่องของท่าน ท่านก็บอกว่าอาวุธที่ใช้มาควบคุมอะไรท่านก็อธิบายประเด็นที่สามเลย" จากนั้น นายสุเทพ ได้อภิปรายต่อไปว่า "ท่านสุภาพสตรีที่อภิปรายเมื่อสักครู่ บังเอิญท่านพาดพิงว่าผมโกหก บังเอิญมีผู้พาดพิงใหม่แล้วเป็นการพาดพิงซึ่งหน้าเลย ซึ่งถ้าผมไม่พูดนี่เสียหายมาก ผมต้องขอชี้แจงตรงนี้ก่อน ก่อนที่จะไปประเด็นคุณณัฐวุฒิ ท่านประธานครับ กรณีของคุณพ่อท่านที่เสียชีวิต จนเดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ทราบว่าฝ่ายไหนทำให้เสียชีวิต ยังไม่เคยมีผลของการสอบสวน เพราะฉะนั้นจะมากล่าวหาผมไม่ได้ ผมไม่ทราบจริงว่าฝ่ายไหน อาจจะเป็นพวกคุณยิงกันเองก็ได้" ซึ่งการอภิปรายของนายสุเทพช่วงนี้ ทำให้มีเสียงโห่ร้องเกิดขึ้นในที่ประชุมสภา รองประธานสภากล่าวต่อไปว่า "เดี๋ยวท่านสุเทพ ผมว่าประเด็นนี้พอแล้วล่ะ เชิญประเด็นที่สามครับ" นายสุเทพกล่าวว่า "ก็ถ้าไม่พูดพาดพิง ผมก็ไม่ชี้แจง แต่ผมต้องชี้แจงให้จบ เพราะว่าก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต..." อย่างไรก็ตาม น.ส.ขัตติยา ได้ลุกขึ้นประท้วงอีกรอบและอภิปรายว่า "ท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหนึ่งในคณะ ศอฉ. ดิฉันลุกขึ้นประท้วงเพราะว่าท่านกล่าวเท็จบอกว่าไม่มีสไนเปอร์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และดิฉันก็ลุกขึ้นพูดว่าที่พ่อดิฉันถูกยิงเสียชีวิตก็จากปืนสไนเปอร์ ส่วนใครจะเป็นคนทำจะเป็นจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ อันนั้นอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ดิฉันเชื่อว่าประชาชนทั่วประเทศมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าใครเป็นฆาตรกร" อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อ 16 ส.ค. 55 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ชี้แจงรูปที่ปรากฏเป็นทหารถือปืนติดลำกล้องที่ประจำการที่หน้าสนามมวยลุมพินีเมื่อ 16 พ.ค. 53 ว่าไม่ใช่สไนเปอร์ แต่เป็นปืนที่ "ติดกล้องเฉยๆ และกล้องตัวนั้นและปืนตัวนั้นไม่ใช่แบบสไนเปอร์" โดยระบุว่าลำกล้องดังกล่าวในตลาดนัดก็มีขายที่ใช้สำหรับยิงนก ไม่ใช่สไนเปอร์ และในปี 2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ในสมัยนั้นเรียกทหารที่ใช้อาวุธในลักษณะดังกล่าวว่า "เจ้าหน้าที่พลแม่นปืนระวังป้องกัน" หรือ "sharpshooter" (อ่านข่าวย้อนหลัง) และต่อมาเมื่อ 18 ส.ค. 55 ประชาไท ได้เผยแพร่เอกสาร ส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.0407.45 (สยก.)/130 ลงวันที่ 17 เม.ย. 53 เรื่อง "ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่" ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น โดยมีเนื้อหาในข้อ 2.5 ระบุว่า "ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้" (อ่านข่าวย้อนหลัง) และก่อนหน้านี้เมื่อ 18 มี.ค 54 พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยรายงานบัญชีสรุปรายการเบิกจ่ายกระสุนจากหน่วยคลังแสงสรรพาวุธทหารบก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่ 11 มี.ค. 53 จนถึงเสร็จสิ้นการโดยมีการเบิกกระสุนจากคลังแสงทหารบกกว่า 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด ใช้ไป 117,923 นัด เผยมีการเบิกกระสุนปืนซุ่มยิง 3,000 นัด คืนเพียง 880 นัด ขณะที่เบิกกระสุนซ้อมเพียง 10,000 นัด ส่งคืน 3,380 นัด (อ่านข่าวย้อนหลัง) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
วิวาทะรายงานสลายชุมนุม 53: ปธ.กรรมการสิทธิ - ศปช. Posted: 09 Aug 2013 10:31 AM PDT (9 ส.ค.56) เมื่อเวลา 20.00น. รายการคมชัดลึก ทางเนชั่นแชนแนล ตอน ความจริง...พฤษภาอำมหิต 2553 โดยบัญชา แข็งขัน ผู้ดำเนินรายการ เชิญ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ ขวัญระวี วังอุดม ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) และ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ร่วมรายการ โดยวานนี้ (8 ส.ค.) เว็บไซต์ กสม. เผยแพร่รายงาน "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553" ความยาว 92 หน้า โดยประธาน กสม. ระบุว่าได้ส่งรายงานให้คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าอีก 1-2 อาทิตย์คงจะเข้า ครม. แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ทั้งนี้ ศปช. ก่อตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมร่วมกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม เมื่อวันที่ 19 ก.ค.53 โดยมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล และสัมภาษณ์พยาน ผู้ได้รับผลกระทบฯ และเผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 19 ส.ค.55 000 ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เหมาะสมหรือไม่ช่วงแรกของรายการผู้ดำเนินรายการถามเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในช่วงเริ่มต้นของการชุมนุม โดยนางอมรา กล่าวว่า บทสรุปมีแนวการมองคล้าย คอป. เพราะข้อมูลที่ได้ก็ใกล้เคียงกัน ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ รับรองสิทธิการชุมนุม โดยต้องเป็นไปอย่างสงบและไม่ใช้อาวุธ จากการศึกษา ตั้งแต่ 12 มี.ค. ถึง 7 เม.ย. 53 พบว่า การชุมนุมยังไม่รุนแรงและยังไม่พบอาวุธ ยังอยู่ภายใต้ใต้รัฐธรรมนูญ แต่หลังจากนั้น เริ่มมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 7 เม.ย. 53 และต่อมามีการใช้ความรุนแรงจนเกินขอบเขต ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์ บอกว่าเป็นประชาธิปไตยจะต้องสนับสนุนสิทธิในการชุมนุมของประชาชน การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ครั้งนั้น เกิดขึ้นก่อนมีการชุมนุม เช่นเดียวกับกรณีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เคยประกาศไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ ในสังคมประชาธิปไตย สิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมใช้สิทธิเรียกร้องต่อคนมีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งพอประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง จึงขัดหลักนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีการปิดเว็บกว่า 9,000 เว็บในช่วงหนึ่งเดือน เท่ากับศาลต้องใช้เวลาพิจารณา 300 กว่าเว็บต่อวัน ถามว่าในความเป็นจริงทำได้หรือไม่ ทั้งยังไม่มีการแถลงว่าแต่ละเว็บก่อความวุ่นวายอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีการสั่งปิดสถานีไทยคม ทำให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปชุมนุมที่นั่น จากนั้นรัฐบาลก็ออกหมายจับแกนนำ บอกให้ย้ายมวลชนจากแยกราชประสงค์ไปที่สะพานผ่านฟ้า แต่วันต่อมา ศอฉ. กลับไปสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้า หมายความว่าอย่างไร จะเห็นว่า การกระทำของรัฐบาลมีส่วนทำให้มวลชนโกรธเคือง โดยเฉพาะการปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล ทำให้ไม่มีสื่อของเสื้อแดงที่จะสะท้อนเสียงของเขา ยิ่งกระตุ้นให้มวลชนเกิดอารมณ์ ทั้งนี้การตีความการชุมนุมโดยสงบ ไม่ควรตีความอย่างแคบๆ เช่น ก่อความวุ่นวาย หงุดหงิด เดือดร้อน เพราะการชุมนุมย่อมสร้างความเดือดร้อน แต่จะทำอย่างไรให้คนเดือดร้อน มีพื้นที่ รัฐบาลมีหน้าที่เอื้อให้เขาชุมนุมได้โดยสงบ ต่อมา นางอมรากล่าวว่า เดือนมีนาคม เป็นจุดเริ่มต้นที่ควรดูให้ละเอียดว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไรตามมา และย้ำว่าการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไม่จำเป็นไม่ควรใช้โดยเด็ดขาด เพียงแต่ว่าตอนนั้นไม่ได้ออกมาแถลงคัดค้าน เพราะอาจจะยังงงๆ อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ในระยะแรก การชุมนุมยังสงบ หลังๆ ถึงมีกิจกรรมที่รุนแรงขึ้น เช่น การเข้าไปในสถานที่ราชการ รัฐสภา เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "ไม่ได้บอกว่าการปิดพีเพิลชาแนลนั้นถูก การขัดขวางการเผยแพร่ข่าวสารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นข้อบกพร่องของรัฐบาลแน่นอน" 000 ผู้ชุมนุมมีสิทธิเคลื่อนขบวนออกจากที่ตั้งหรือไม่เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ผู้ชุมนุมมีสิทธิเคลื่อนออกจากที่ตั้งไหม ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า เป็นเรื่องการวางแผนของผู้ชุมนุมและแกนนำ ถ้าเขาจะค่อยๆ รุกและเริ่มแรงกดดัน ก็เป็นการวางแผนของผู้ชุมุนม คนที่เคยทำงานมวลชนมาก็รู้ เมื่อถึงขั้นนึงไม่ได้อย่างที่ตั้งใจก็ต้องยกระดับ เพราะฉะนั้น เป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนมวลชน ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะยกกำลังไปปิดล้อม ส่วนตัวมองว่า การเอาคนบุกไปรัฐสภาอาจสุ่มเสี่ยงเกินไป แต่ขณะนั้น มีการตัดสัญญาณพีเพิลชาแนลเป็นระยะๆ ขณะที่ในสภากำลังจะพิจารณาต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคง อย่างไรก็ตามความวุ่นวายขึ้นที่สภา ก็จบในไม่กี่ชั่วโมง ทั้งนี้ตามหลักกฎหมาย การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะให้อำนาจฝ่ายบริหาร และไม่มีการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องมีความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์ แต่กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความรุนแรง และรัฐสภาทำงานได้ปกติ แต่หลังจากนั้นรัฐบาลกลับประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "เขาเลิกถึงธันวาเชียวหรือ"ส่วนคำถามของผู้ดำเนินรายการที่ว่า กรณีรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบอกว่า การชุมนุมใช้เวลานานเกินไป ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการใช้ชีวิตปกตินั้น น.ส.ขวัญระวี ตอบว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ต้องกลับไปดูว่ารัฐบาลเอื้ออย่างไรให้ผู้ชุมนุม ชุมนุมโดยสงบ ทั้งนี้ การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่ควรคงไว้นาน แต่กรณีของไทย มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ 300 กว่าวัน ตั้งแต่ 7 เม.ย. ถึง 22 ธ.ค. ปี 2553 โดยนางอมรา ถามกลับว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขายกเลิกถึงธันวาเชียวหรือ ดิฉันไม่แน่ใจ เรื่องนี้ต้องไปถามรัฐบาลว่าทำไม" โดยประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวต่อว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อผ่าน 19-20 พ.ค. ไปแล้ว ก็ไม่ควรคงไว้ ควรยกเลิกเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลก็ระบุว่า หน่วยข่าวกรองได้ข่าวว่าจะมีกิจกรรมอะไรต่อ มีระเบิด มีเอ็ม 79 จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งตรวจสอบแล้ว พบว่าจริง เพราะมีระเบิดประปราย และมีเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมหลายเหตุการณ์ที่เห็นว่ารุนแรง ทั้งนี้ รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยืนยันว่ามีชายชุดดำ มีอาวุธสงคราม และระเบิดจริง โดยนางอมราระบุว่า มีการเก็บข้อมูลหลายทาง ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล สัมภาษณ์คนในเหตุการณ์ พยายามเชิญบุคคลมา 1,000 กว่าคน ได้มา 184 คน เป็นคนในพื้นที่ พยานเหล่านี้ยืนยันว่าเห็นชายชุดดำ มีอาวุธ และไม่ใช่พยานคนเดียวด้วย จึงกล้าเขียนว่ามีการใช้อาวุธและมีชายชุดดำ รวมถึงที่ศาลาแดง พยานก็จะบอกว่ามีอาวุธและมีชายชุดดำ ขณะที่ น.ส.ขวัญระวี ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมก่อน โดยระบุว่าดูลำดับเวลาของการชุมนุม โดยในวันที่ 10 เม.ย. ที่รัฐบาลเคลื่อนกำลังแต่เช้า มีรายงานตั้งแต่ช่วงกลางวันว่ามีผู้ถูกยิงด้วยกระสุนจริงที่บริเวณสะพานมัฆวาน โดยเป็นคนเกาหลีใต้ถูกยิงที่ไหล่ ทั้งนี้ผู้ชุมนุมหลายคนถูกยิง มีกระสุนในตัว รัฐบาลบุกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าว่าจะใช้กำลัง เพราะฉะนั้น ผู้ชุมนุม จึงไม่มีอาวุธในมือ เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า สรุปเร็วไปหรือไม่ น.ส.ขวัญระวี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยให้กับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม หรือ ศปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศปช. มีการจัดสัมมนา และทบทวนข้อมูลหลายครั้ง จนถึงปัจจุบัน และยืนยันว่าไม่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะเรื่องชายชุดดำ ซึ่งในรายงานของ ศปช. ก็สรุปว่า มี แต่ก็มีกรณีที่รัฐใช้กำลังกับผู้ชุมนุมก่อน ในวันที่ 10 เม.ย. มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงกลางวัน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่มีการยิงในระดับที่เหนือกว่าระดับเข่า มีคนถูกยิงด้วยกระสุนยางจนตาบอด มีการโปรยแก๊สน้ำตามาจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งทำให้คนไม่เกี่ยวได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาด้วย และไม่ปรากฏในรายงานของ กสม. ด้าน นางอมรา กล่าวว่า ไม่ทราบว่าฝ่ายรัฐใช้อาวุธก่อน ที่ผ่านมามีการคุยกับเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นการป้องกันตัว ก็มีความชอบธรรม ต่อมาพิธีกรถามว่า ศปช. พบว่า ผู้ชุมนุมใช้อาวุธไหม น.ส.ขวัญระวี ตอบว่า มี แต่ไม่พบกรณีที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ผู้ดำเนินรายการถามว่าการใช้แก๊สน้ำตา ควรเริ่มใช้อย่างไร นางอมราตอบว่า ตามกฎการใช้กำลังมันก็มีเจ็ดขั้นตอน แต่ขั้นตอนนี้อยู่ขั้นไหนจำไม่ได้ มันน่าจะประมาณกลางๆ หลังจากขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม มาแล้ว และจริงๆ มันควรทำอยู่บนพื้นราบ การใช้เฮลิคอปเตอร์ทำให้ผู้ที่อยู่ข้างล่างได้รับผลกระทบมาก ได้ติงไปแล้วว่าไม่เหมาะสม ส่วน น.ส.ขวัญระวี ตอบว่า ในวันที่ 10 เม.ย. มีการใช้แก๊สน้ำตา 200 ลูก ซึ่งกฎการใช้กำลังของกองทัพบอกว่าไม่ควรใกล้เกิน ต้องเว้นระยะ 2.5 เมตร ไม่กว้างเกินไป แต่นี่กินพื้นที่กว้างมาก และตกใส่ร้านอาหารศรแดงด้วย
ชายชุดดำ 10 เมษาส่วนเรื่องชายชุดดำนั้น ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ที่เห็นชัดคือเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. ที่สี่แยกคอกวัว มีรายงานว่ามีคนเห็นชายชุดดำ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าฝ่ายไหน จากนั้นมีเรื่อยๆ หลายเหตุการณ์ โดยข้อมูลนี้ได้จากผู้ได้รับผลกระทบ แล้วจึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ส่วน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ผู้ชุมนุมให้การว่าเห็นชายชุดดำ ไปไล่ดูคลิปวันที่ 10 เม.ย. พบว่ามีชายชุดดำ ที่ลงจากรถตู้ บริเวณสี่แยกคอกวัว เวลาสองทุ่ม แป๊บเดียว แล้วก็หายตัวไป และไม่พบชายชุดดำอีกหลังจากนั้น ซึ่งเราไม่รู้ว่าใคร เป็นฝ่ายไหน ผู้ชุมนุมบางคนมีความเชื่อว่า ชายชุดดำมาช่วยเขา ส่วนตัวมองว่า การใช้กำลังเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะสร้างความสับสน แต่ก็ไม่ใช่เงื่อนไข ให้รัฐใช้กำลังยิงใครก็ได้ อย่างที่เป็นอยู่ ด้านนางอมรากล่าวว่า จากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสื่อว่า มีความหลากหลายในการชุมนุม จะมีผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐ หรือใครก็ได้แทรกบริเวณนั้น การปรักปรำใครจึงทำได้ไม่ง่ายนัก ส่วน น.ส.ขวัญระวีตอบว่า การโยนความผิดไปที่ชายชุดดำนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีการยิงก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏ และมีเหตุการณ์อื่นที่ไม่ได้มีชายชุดดำและมีการยิงเจ้าหน้าที่รัฐ 000 กรณีวัดปทุมวนารามต่อมาผู้ดำเนินรายการสอบถามเรื่องกรณี 6 ศพวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 นั้น นางอมรากล่าวว่า ไม่มีชายชุดดำที่วัดปทุม จากรายงานได้คำตอบว่ามีการยิงโต้ตอบกันใต้สะพาน ก็คงเป็นผู้ชุมนุมกับฝ่ายรัฐ นอกจากนี้ มีพยานบอกว่าในวัดปทุมวนารามมีอาวุธ และกรณีหกศพวัดปทุมฯ นั้น ไม่ใช่สภาพที่เกิดขึ้นจริง และได้ข้อมูลว่ามีคนตายข้างนอกแล้วลากเข้าไป ศพมีการเคลื่อนย้ายแล้วนำมาเรียงไว้ ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ถ้าดูสภาพการตาย ผู้เสียชีวิตทั้งหกราย ไม่มีอาวุธในมือ ตรงกับคำสั่งศาลไต่สวนการตาย ที่ว่าผู้เสียชีวิตทั้งหกไม่มีอาวุธในมือ แสดงว่า คนที่ตายไม่ได้ยิงต่อสู้จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันตัวหรือยิงกราด ทั้งนี้ศพของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีกระสุนในร่างกาย 11 นัด นี่ไม่ใช่การยิงป้องกันตัว แต่เป็นการยิงกราด โดยพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิต บอกว่า ศอฉ. พูดทุกวันว่าลูกเสียชีวิตนอกวัด ช่วงต้น พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ บอกว่ามีกระสุน 2 นัด และเธอยังพบจากคลิปว่าลูกเสียชีวิตในวัด การบิดเบือนข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นสาเหตุให้แม่ของกมนเกดซึ่งไม่ใช่เสื้อแดงเลย ผันตัวเองออกมาต่อสู้ให้ลูก 000 เด็กและสตรีในการชุมนุมต่อมาผู้ดำเนินรายการถามส่วนที่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุถึงการที่ผู้ชุมนุมใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์นั้น นางอมรา กล่าวว่า ปรากฏในคลิปชัดเจน แต่ดิฉันไม่อยากประณามมาก เพราะคนไทยอาจไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เขามาชุมนุมแล้วเอาเด็กขี่คอยืนดู อาจไม่ได้รู้สึกว่าละเมิดสิทธิเด็ก คือชาวบ้านไม่รู้จักเรื่องสิทธิเด็ก เป็นไปได้ว่าทำไปด้วยความไม่รู้ ทั้งตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรอยู่ในพื้นที่นั้น ส่วน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้หญิงก็ต้องการออกมาเช่นกัน การมองว่าเอาเขามาเป็นโล่ อาจไม่ใช่ เพราะมีเหตุการณ์ช่วงวันที่ 10 เม.ย.ที่ราชประสงค์ ที่มีการเคลื่อนตำรวจเข้ามา ก็มีผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงอาสาเข้าไปเจรจา เป็นยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองก็มีกรณีแบบนี้ ถือเป็นเจตจำนงของผู้ชุมนุม ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมมีเด็กมาด้วยนั้น บางครอบครัวก็มาจากต่างจังหวัด หากเขาไม่พามาด้วยแล้วเด็กจะอยู่กับใคร ทั้งนี้ ภาพจากบางจุดนั้น เหมือนว่าเด็กอยู่ในที่ปะทะ แต่เมื่อดูภาพมุมกว้างแล้ว จะเห็นว่า เด็กไม่ได้อยู่ในด่านหน้า 000 การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้าส่วนการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรมนั้น นางอมรากล่าวว่า ในวันดังกล่าวมีแสงเลเซอร์นำมาก่อนจะที่ พล.อ.ร่มเกล้าจะถูกยิงตาย สะท้อนว่ามีการวางแผน ซึ่งคงระบุฝ่ายไม่ได้ แต่ทหารคงไม่ได้ยิงกันเอง ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า เราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นแผนฆาตกรรม แต่บอกได้ว่า ผู้ลงมือมีความชำนาญ และยังไม่ตัดสมมติฐานว่าอาจเป็นทหารทำกันเอง เพราะไม่มีข้อมูลส่วนนั้น 000 กรณีบุกโรงพยาบาลจุฬาต่อมาผู้ดำเนินรายงานถามในกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีรายงานว่า นปช. บุกค้นโรงพยาบาลเป็นการใช้สิทธิเกินขอบเขต รบกวน และก่ออันตรายกับผู้ป่วยนั้น นางอมรากล่าวว่า เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์และความปลอดภัย เพราะฉะนั้น การบุกไม่น่าเกิดขึ้นเลย หน้าตึกสิริกิติ์ และตึก ภปร. มีการเดินเข้าออกกันสะดวกทั้งที่อยู่ในรั้วโรงพยาบาลผู้ชุมนุมก็ชุมนุมไป ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องความแตกต่างว่าโรงพยาบาลควรถูกแยกเด็ดขาดจากสถานที่ชุมนุม ความไม่เข้าใจตรงนี้ทำให้เกิดการกระทำบางอย่างที่ไม่ควรเกิด หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการถามต่อไปว่า ที่มีข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐซุ่มอยู่ ผู้ชุมนุมเลยเข้าไปตรวจ นางอมรากล่าวว่า ขึ้นกับว่ามีการคุยกับผู้บริหารอย่างไร และนี่เป็นสมมติฐานของผู้ชุมนุม ไม่สามารถบอกได้ แต่ รปภ. ของ โรงพยาบาลจุฬาฯ หลายคน เวลาเลิกงานก็ไปชุมนุมกับเสื้อแดง ก็มีความอะลุ้มอล่วยกันมาก ด้าน น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า สาเหตุที่มีการบุกโรงพยาบาล เพราะเขาได้ข่าวลือมาแบบนั้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามมีการขอโทษแล้ว และไม่ควรทำอีก ขณะเดียวกัน ควรต้องดูท่าทีของบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งมีฐานคิดมาก่อนว่าว่าคนเสื้อแดงน่ากลัว ตั้งใจใช้ความรุนแรง ถ่อยเถื่อนและล้มเจ้า และก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐก็มีการสร้างภาพทางลบ สร้างความตื่นตระหนก ขณะที่โรงพยาบาลตำรวจก็อยู่ได้ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ว่ารัฐหรือผู้ชุมนุมก็ไม่ควรเข้าไปในโรงพยาบาล 000 กรณีเผาห้าง-เผาศาลากลางส่วนกรณีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์และศาลากลางจังหวัดนั้น ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าการเผาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อย่างน้อย กรณีเผาศาลากลาง เกิดจากการที่แกนนำพูดยั่วยุบนเวทีให้ประชาชนมาพร้อมน้ำมัน การยั่วยุตรงนั้นทำให้บางคนฮึกเหิมและเผา แม้ นปช. จะอ้างว่าไม่ใช่ ซึ่งไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นใคร ขณะที่กรณีเซ็นทรัลเวิลด์ พยานแวดล้อมมีไม่มากแล้ว เพราะ 19 พ.ค. รัฐบาลให้เลิกชุมนุม แต่ข้อมูลที่ได้มาคือ มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือกลุ่มคนไปทะเลาะกับ รปภ. ทำให้มีความสับสนและมีการเผา ขณะที่ น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ศปช. ได้สัมภาษณ์พยานแวดล้อม ได้ตามคดีที่มีเยาวชนถูกฟ้อง ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งคดีเหล่านั้น ต่อมาได้ยกฟ้องหมด และในชั้นศาลหัวหน้า รปภ. ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ให้การว่า มีคนแต่งกายคล้ายทหารอยู่ข้างใน ขณะที่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนบอกว่าแต่งกายคล้ายการ์ด ส่วนรายงานของ คอป. บอกว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราระบุแบบนั้นไม่ได้ เพราะหลังยุติการชุมนุม ทหารเข้ายึดพื้นที่หมดแล้ว หลังจากนั้นผู้ดำเนินรายการถามว่า การปราศรัยของแกนนำบนเวทีเป็นปัจจัยไหม น.ส.ขวัญระวีตอบว่า การพูดยั่วยุมีในทุกการชุมนุม แม้แต่ในการชุมนุมของชาวบ้านในประเด็นอื่น ตามหลักสากล การใช้ความรุนแรงทางวาจา ต้องเป็นลักษณะที่จะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีที่ คอป. และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพูดโยงเรื่องคลิปของแกนนำเรื่องการเผา เท่าที่ดูทั้งสามคลิป เป็นการพูดคนละบริบท เพราะคลิปของอริสมันต์ที่บอกว่า ถ้าทหารมาให้เตรียมน้ำมันมา หมายถึงถ้ามีรถถังมาให้ใช้น้ำมัน เพราะน้ำมันจะทำให้รถถังเคลื่อนลำบาก ดังนั้น ต้องดูให้เป็นระบบมากกว่านี้ ไม่ใช่โยงทั้งหมดมา ส่วนการชุมนุมไม่สงบนั้น ตามหลักสากล ไม่สามารตีความอย่างแคบได้ การชุมนุมไม่ใช่นั่งสวดมนต์ เป็นธรรมชาติที่ต้องปลุกใจ ถ้ามีคำหยาบคาย ในเบื้องต้น อย่างน้อยที่สุดต้องเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมของแกนนำ 000 ทิ้งท้าย ประธาน กสม.หวังทุกฝ่ายจะช่วยระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก |
เตรียมตัวก่อนซิมมือถือของคุณจะหมดสัมปทาน 15 ก.ย. นี้! Posted: 09 Aug 2013 09:25 AM PDT เพจ NBTC rights ซึ่งระบุว่า เป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งปัญหา เรื่องราวอัพเดต ของนโยบายด้านกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เผยแพร่ข้อมูลการเตรียมตัวกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย. นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นายกขอบคุณฝ่ายค้านประชุมสภาผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระแรก Posted: 09 Aug 2013 08:27 AM PDT นายกรัฐมนตรีขอบคุณฝ่ายค้านและ ส.ส.ทุกคนที่ร่วมอภิปรายและผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระแรก ผบ.ทบ.ชี้ขั้นตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องเป็นตามกระบวนการ ด้าน 'ชูวิทย์' เผยงดออกเสียงเพราะอยากให้ศาลตัดสินก่อน แล้วถึงเดินหน้านิรโทษฯ 'อภิสิทธิ์' ลั่นแปรญัตตินิรโทษฯ เต็มที่ 9 ส.ค. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ที่ร่วมพิจารณาอภิปรายและผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระแรก ถือว่าทุกอย่างผ่านไปอย่างเรียบร้อย และหลังจากนี้ก็หวังว่า เวทีของสภาฯ จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ได้มีการหารือและพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ เพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาในปัจจุบัน โดยเวทีของสภาฯ จะเป็นบรรทัดฐานเชื่อมโยงต่อไปยังเวทีที่รัฐบาลได้เชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมหารือ เพื่อหาทางออกสำหรับอนาคตต่อไป ต่อข้อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ เพราะฝ่ายค้านระบุไม่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 3 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเวทีที่จะพูดคุยกัน ตนเชื่อว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มองอนาคตข้างหน้าด้วยการเดินไปด้วยกัน เชื่อว่าความเสียสละ การให้อภัย และเห็นแก่อนาคตของลูกหลาน จะมีแรงผลักดันและได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ผบ.ทบ.ชี้ขั้นตอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องเป็นตามกระบวนการ มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 07.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า เป็นกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งในตอนนี้ผ่านวาระที่ 1 แล้ว เหลือวาระ 2 และ 3 ตนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหรือไม่ ซึ่งเท่าที่อ่านดูจากสื่อเห็นว่า อาจจะมีการฟ้องศาลรัฐธรรมนูญกันอีก ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นต้องว่ากันไปตามกระบวนการ เมื่อถามว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถามถึง ผบ.เหล่าทัพ ว่ามีจุดยืนอย่างไร ที่จะมีการนิรโทษกรรมผู้ที่ทำความผิดมาตรา 112 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนเคยตอบไปแล้วว่า อะไรก็ตาม ถ้าได้มีการเดินตามกระบวนการทางกฎหมายและถูกต้อง ตนไม่สามารถไปขัดขวางได้ แต่ถ้าอะไรไม่ถูกต้องและชอบธรรม สิ่งนั้นก็ผ่านไปไม่ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย นี่คือกระบวนการประชาธิปไตย ตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมไทยในขณะนี้ กฎกระทรวงกลาโหมเขียนไว้ชัดเจนว่า ทหารจะต้องไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองดำเนินการ ไม่พูดจาขัดขวางต่อต้านกับรัฐบาล ไปดูกฎกระทรวงกลาโหมที่เขียนมา ตนพยายามยืนหยัดอยู่ตรงนั้น เมื่อถามย้ำว่า แต่กองทัพมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน จะยอมได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะให้ตนปกป้องด้วยอะไร ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์หรือ ตนทำอะไรมากมายพอสมควร ซึ่งตนพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่จำเป็นที่จะมาพูดออกสื่อ เพื่อประชาสัมพันธ์ เพราะไม่ใช่เรื่อง เราทำหน้าที่ตามกฎหมาย เขาว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น ใครละเมิดมาตรา 112 ถ้าเกินกว่าเหตุหรือพูดจาพบปะพูดคุยแล้วไม่รู้เรื่องจะต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ซึ่งเป็นขั้นตอนของตำรวจและกระทรวงไอซีทีดำเนินกันไป ไม่ใช่ทหารตั้งแต่ต้นจน 'ชูวิทย์' FB จุดยืน ให้ศาลตัดสินก่อน แล้วถึงเดินหน้า'นิรโทษฯ' ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพลต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชูวิทย์ I'm No.5 ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เชื่อว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" จะช่วยทำให้เกิด "ความปรองดอง" และยืนยันจุดยืนของตนเองในเรื่องดังกล่าว ให้ศาลตัดสิน" ทุกคดี ที่ยังค้างคาอยู่ หลังจากนั้น เราถึงไป "นิรโทษกรรม" กันได้ เราต้องเชื่อมั่นกระบวนการ "ตุลาการ" เมื่อตัดสินออกมาแล้ว จึงถึงกระบวนการ "นิติบัญญัติ" ที่จะทำให้สังคมมีทางออก แต่ผมมีเพียงเสียงเดียว ไม่สามารถทำให้ "มติ" เปลี่ยนแปลงได้ แต่เสียงของผม "สะท้อน" ออกมาให้เห็นว่า ผมไม่ยอมตกเป็น "เครื่องมือ" ของใคร คนเขาบอกว่า "Forgive and Forget" ให้อภัย ลืมเรื่องเก่า แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่มีใครเขาบอกให้ "ลืมก่อน แล้วค่อยมาให้อภัยทีหลัง" โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้…. เมื่อผมกด "งดออกเสียง" ผมไม่เชื่อว่า "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" จะช่วยทำให้เกิด "ความปรองดอง" อย่างที่คุณเห็นไม่กี่วันนี้ว่า "ม็อบ" หรือ "การประชุมสภาฯ" มีความคิดเห็นแตกต่างสุดกู่อย่างไร สังคมแตกแยกอันเนื่องมาจาก "ผลประโยชน์" ของนักการเมืองนี่เอง ไม่ว่าคุณเลือกฝ่ายไหน คุณจะถูกอีกฝ่ายเอาเหตุผลมาหักล้าง ส่วนที่กล่าวหาผมว่า "ไม่มีจุดยืน" จะบอกให้ว่า "จุดยืน" ผมเป็นอย่างไร มันอาจไม่ถูกใจคุณ เหมือนตอนคุณคุยกับเพื่อน แล้วเขาไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคุณ หรือแม้แต่คนที่ "นอนเตียงเดียวกัน" กับคุณ อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกับคุณ แล้วคุณจะไม่ชอบหน้าพวกเขาหรือไม่? "ความคิดเห็นทางการเมือง" ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เพราะสังคมหลากหลายไปด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้คน หากไม่อย่างนั้นแล้ว สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของ "กฎหมาย" ทุกคนต้องปฏิบัติตามเชื่อมั่นในหลักยุติธรรม จุดยืนของผมคือ "ให้ศาลตัดสิน" ทุกคดีที่ยังค้างคาอยู่ หลังจากนั้นเราถึงไป "นิรโทษกรรม" กันได้ เราต้องเชื่อมั่นกระบวนการ "ตุลาการ" เมื่อตัดสินออกมาแล้ว จึงถึงกระบวนการ "นิติบัญญัติ" ที่จะทำให้สังคมมีทางออก แม้ว่าผมมีเพียงเสียงเดียว ไม่สามารถทำให้ "มติ" เปลี่ยนแปลงได้ แต่เสียงของผม "สะท้อน" ออกมาให้เห็นว่า ผมไม่ยอมตกเป็น "เครื่องมือ" ของใคร คนเขาบอกว่า "Forgive and Forget" ให้อภัย ลืมเรื่องเก่า แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่มีใครเขาบอกให้ "ลืมก่อน แล้วค่อยมาให้อภัยทีหลัง" หากคุณไม่เห็นด้วยกับผม มีอีกสองทางให้คุณเลือก คือ "พรรคเพื่อไทย" กับ "พรรคประชาธิปัตย์" แต่อย่ามาบังคับให้ผมเลือกแนวทางเดียวกับเขา เพราะผมเป็นเสรีชน "พรรครักประเทศไทย". "อภิสิทธิ์" ลั่นแปรญัตตินิรโทษฯ เต็มที่ เตือนอย่าอ้าง "ปู่พิชัย" ตัวแทน ปชป. ปาหี่ปฏิรูป ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมวาระ 1 แล้ว ว่า การทำงานของพรรคในสภาก็จะเน้นเรื่องการแปรญัตติให้เกิดความชัดเจน ให้เกิดการจำแนกกลุ่มผู้กระทำความผิด และกลุ่มบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไม่ให้เสียหลักการของบ้านเมือง และใช้โอกาสนี้ให้ได้เห็นประเด็นที่เป็นปัญหามากขึ้น ซึ่งขณะนี้สมาชิกของพรรคส่วนหนึ่งก็ได้เริ่มทำคำแปรญัตติแล้ว ส่วนตนก็เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมกรรมาธิการนัดแรก ส่วนกิจกรรมของพรรคก็จะเน้นการเผยแพร่ข้อมูลให้ได้รับทราบจากการพิจารณาในวาระที่ 1 และสิ่งที่จะทำในวาระที่ 2 นอกจากนั้นก็จะมีกิจกรรมที่จะเชิญชวนประชาชนให้สามารถสะท้อนความคิดเห็นหรือแสดงการคัดค้านกฎหมายดังกล่าวในรูปแบบต่างๆ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าจะใช้เวลา 2 เดือนกฎหมายดังกล่าวก็สามารถประกาศใช้ได้นั้น เราก็เห็นว่ามีความพยายามที่จะรีบทำอยู่แล้ว เพราะเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาก็มีการเสนอญัตติปิดประชุมสภากลางคัน ทั้งที่มีการอภิปรายค้างอยู่ ซึ่งตนก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งนี้ตนเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลไม่รับฟังข้อท้วงติด หรือความเห็นต่าง แต่พยายามเดินหน้าในสิ่งที่ตัวเองต้องการเป็นหลัก ทั้งนี้ตนสงสัยว่าเหตุใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าร่วมประชุมสภาทั้ง 2 วัน จึงไม่แน่ใจว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการลงคะแนนหรือไม่ ซึ่งก็ต้องถามนายกฯ ว่าเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนจนไม่สามารถมาร่วมประชุมสภาได้คืออะไร "เชื่อว่าเขาคงผลักดันแน่เพราะดูพร้อมที่จะทำทุกอย่าง ไม่ฟังเสียงท้วงติงทั้งภายในภายนอก แต่ก็เริ่มเห็นแล้วว่าบางเรื่องที่ทักท้วงไปก็เริ่มมีการพิจารณา อาทิ การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนี้ต้องรอดูบรรยากาศการประชุมกรรมาธิการก่อน เพราคงจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าการทำงานในกรรมาธิการจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ผมยืนยันว่าพวกเราจะทำเต็มที่ และต้อชี้แจงประชาชนหากมีการหยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมา แล้วไม่พิจารณาก็ยิ่งเป็นการฟ้องตัวเองว่าเป็นการผลักดันกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลายๆ อย่าง ซึ่งหากเดินหน้าไปอย่างนี้เรื่องๆ ปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นอยู่แล้ว" นายอภิสิทธิ์กล่าว ส่วนกรณีที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายวราเทพ รัตนากร รมว.ประจำสำนักนายกฯ เดินสายไปพบกับนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเชิญเข้าร่วมเวทีปรองดองปฏิรูปการเมืองนั้นว่า นายพิชัยก็มีสิทธิ์ใช้ดุลพินิจของตัวเอง ส่วนที่วิจารณ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ขัดขวางความปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะในการประชุมสภา ตนและ ส.ส.ของพรรคได้อภิปรายชัดเจนว่า นายกฯบอกให้ทุกอย่างมาพูดในสภา แต่พอ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าสภานายกฯ ก็ไม่อยู่ และไม่มาตอบคำถามว่าอะไรคือความจำเป็นเร่งด่วนในการพิจารณากฎหมายนี้ทั้งที่เพียงแค่เลื่อนกฎหมายนี้ออกไป แล้วทุกฝ่ายมาหารือหาทางออกให้ประเทศไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การที่นายพิชัยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับพรรค เพราะมีการวิเคราะห์แล้วว่าคงจะมาแนวนี้ ซึ่งจะเอานายพิชัยมาอ้างเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ เพราะท่านไปในส่วนของอดีตประธานสภา เมื่อถามว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วมวงเสวนาปฏิรูปการเมืองนั้น จะกลายเป็นถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่มีจุดยืนสอดคล้องกับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงออก และก็มีคนไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องปรกติ ซึ่งไม่ว่าเราจะเข้าร่วมหรือไม่รัฐบาลก็คงเดินหน้าอยู่แล้ว เพราะท่าทีที่ผ่านมาก็ไม่มีการรับฟังฝ่ายค้าน ทั้งนี้หากไม่มีการคุยในเรื่องที่เป็นความขัดแย้งก็ไม่สามารถขจัดความขัดแย้งได้ จะบอกว่ามีปัญหาแต่คุยได้ทุกเรื่องยกเว้นตัวปัญหานั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้ "ผมยังไม่เห็นการตั้งโจทย์ที่ชัดเจน แต่หากจะมีการตั้งโจทย์แล้วไปลงเอยที่การแก้รัฐธรรมนูญเราก็ไม่แปลกใจ เพราะเป็นขั้นต่อไป หลังจากเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการกลับไปเหมือนเดิม ตั้งเงื่อนไขประเทศว่าสุดท้ายต้องไปจบลงตรงนั้น เพราะเขายืนยันอย่างนี้มาโดยตลอด จึงอยากให้คนที่เข้าร่วมสังเกตตรงนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจะทำไม่สำเร็จเพราะผมไม่เชื่อว่าหลักการที่อยู่บนความไม่ถูกต้อง และตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเดียวจะทำได้อย่างราบลื่น ซึ่งสุดท้ายสังคมส่วนใหญ่ จะมองเห็นว่าการรักษาสมดุล และความถูกต้องจะสำคัญกว่า" นายอภิสิทธิ์กล่าว หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มบีอาร์เอ็นปล่อยคลิปล้มโต๊ะการเจรจากับฝ่ายไทยนั้นว่า ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลต้องกำหนดท่าทีให้ชัด และต้องแสดงจุดยืนเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานต่อไป เพราะเราต้องรู้ก่อนว่าการถอนตัวนั้นแค่ตัวบุคคล หรือถอนทั้งองค์กร หรือล้มเลิกกระบวนการนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องมาประเมินสิ่งที่ผ่านมาว่าเหตุใดหลังจากการพูดคุย 5-6 เดือนจึงกลายมาเป็นถึงจุดนี้ ส่วนที่กลุ่มบีอาร์เอ็นเสนอให้รัฐบาลพิจารณา 5 ข้อเสนอที่เคยพูดไปก่อนหน้านี้นั้น เราเตือนตั้งแต่ต้นว่าไม่คัดค้านการพูดคุย แต่ที่มาของการพูดคุยใน 6 เดือนที่ผ่านมาเริ่มต้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลมาเลเซีย ทำให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น เพื่อหวังผลทางการเมืองระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อเข้ามาสู่โต๊ะเจรจาแล้ว ก็ใช้เวทีนี้โฆษณาตัวเอง และทำให้ปัญหายกระดับเป็นที่รับรู้ทั่วโลก ซึ่งบีอาร์เอ็นบรรลุเป้าหมายเขาแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ควรเป็นบทเรียนรัฐบาลว่าหากอยากพูดคุยให้เกิดสันติภาพจริงควรจะต้องเปลี่ยนแปลงเจรจาอย่างไร "ตอนนี้ยังทันที่จะตั้งหลัก เราอย่าไปถลำลึกในสิ่งที่เห็นว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ขอให้กลับมาตั้งหลักให้ดี หากจะมีกระบวนการพูดคุย ก็ต้องตกลงให้ชัดเรื่อง รูปแบบ วิธีการ ตัวผู้เจรจา อย่าให้ซ้ำรอยกับที่ผ่านมา" นายอภิสิทธิ์กล่าว นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยในคดียิงอาร์พีจีใส่อาคารกระทรวงกลาโหมนั้นว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดคำพิพากษา แต่ก็ต้องปล่อยให้เป็นตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ตนคิดว่าอัยการควรจะยื่นฎีกาในคดีนี้ เพราะเป็นคดีที่เกิดความเสียหาย และกระทบกระเทือนกับส่วนรวมอย่างมาก และศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษสูงมาก ดังนั้นคดีนี้ก็ควรดำเนินการให้ถึงที่สุด โดยยื่นฎีกา หากไม่มีการยื่นฎีกาก็จะเป็นปัญหาว่า หากต่อไปมีความเคลื่อนไหว โดยอ้างแรงจูงใจทางการเมืองก็สามารถทำผิดอย่างนี้ได้ ก็เท่ากับบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดียิงอาร์พีจีใส่กลาโหม แต่ยังให้ขังจำเลยรอศาลฎีกา Posted: 09 Aug 2013 04:51 AM PDT คดียิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมเมื่อมี.ค. 53 ที่ศาลชั้นต้นจำคุก 38 ปีนั้น ล่าสุดศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าพยานโจกท์ 4 ปากเบิกความไม่มีน้ำหนักพอว่าจะจำหน้าจำเลยได้เพราะเป็นช่วงกลางคืน จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ก่อน รอชั้นศาลฎีกา ตามที่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 53 มีผู้ยิงจรวดอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหมแต่พลาดเป้าถูกสายไฟและไปตกบริเวณถนนอัษฎางค์ และต่อมา ประชาไท รายงานว่า ในวันที่ 13 ธ.ค. 54 ศาลมีคำพิพากษาอาญาหมายเลขดำที่ อ.2317/2553 ตามที่อัยการเป็นโจกท์ ลงโทษ ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม จำเลย ฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม (แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม) จำคุก 2 ปี, ฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 135/1(1) จำคุก 20 ปี, ฐานร่วมกันใช้และครอบครองเครื่องยิงจรวดจำคุก 5 ปี, ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิด จำคุก 5 ปี, ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนกลมือ จำคุก 5 ปี, ฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 จำคุก 1 ปี แต่ยกฟ้องความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และสนับสนุน นปช. ในการก่อการร้าย รวมจำคุก 38 ปี ส่วนความผิดฐานปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์มีเพียงพยานที่มาเบิกความว่ามีชายไม่ทราบชื่อมาว่าจ้างให้ทำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ล่าสุดในวันนี้ (9 ส.ค.) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า คดีนี้มีพยานโจทก์หลายปาก ซึ่งเห็นคนร้ายในช่วงเวลาแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พยานพบเห็นคนร้ายขับรถยนต์ โตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์ทอง หมายเลขทะเบียน ตศ 9818 กทม. เข้ามาจอดภายในซอยบริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม ซึ่งพยานระบุว่าเห็นจำเลยอยู่ในรถคันดังกล่าวด้วย จากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงก็ได้ยินเสียระเบิดดังขึ้น ซึ่งภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบรถยนต์ดังกล่าวจอดอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ สภาพกระจกแตกทั้งคัน ประตูรถเสียหายทั้งบาน และตัวรถได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และภายในรถยังพบเครื่องยิงจรวดอาร์พีจีจำนวน 1 กระบอก และระเบิดเอ็ม 67 จำนวน 3 ลูก และเสื้อแจ็คเก็ต 1 ตัว แสดงว่าคนร้ายใช้รถยนต์คันดังกล่าวในการก่อเหตุจริง ประเด็นมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้นำพยานขึ้นเบิกความจำนวนหลายปาก แต่คำเบิกความของพยานถึงสาระสำคัญตำแหน่งที่นั่งภายในรถยนต์ของคนร้ายไม่ตรงกัน โดยพยานบางรายระบุเห็นจำเลยเป็นคนขับ แต่พยานบางรายระบุว่าจำเลยนั่งข้างคนขับ พยานบางคนระบุว่าจำเลยใส่หมวกแก๊ป ขณะที่พยานบางคนบอกว่าไม่ได้ใส่หมวก ซึ่งพยานให้การขัดแย้งกันเองไม่มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อถือ และขัดแย้งกับคำให้การของตนเองที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน จึงยังไม่แน่ใจว่าคนร้ายใช่จำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญแห่งคดี พยานต้องเบิกความให้ชัดเจนมั่นคง อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากลางคืนแสงไฟมีน้อย และถึงแม้ว่าผลตรวจลายนิ้วมือแฝงภายในรถและเสื้อเจ็คเก็ต จะพบว่ามีดีเอ็นเอจำเลยปะปนอยู่ แต่ก็มีของบุคคลอื่นรวมอยู่ด้วย ส่วนที่พยานให้การว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวกับรถยนต์คันก่อเหตุที่มีการซื้อขายต่อกันมาหลายทอดนั้น พยานโจทก์ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยอยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยและเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ ศาลเห็นว่าแม้ว่าพยานแวดล้อมจะเบิกความระบุว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันดังกล่าว แต่โจทก์ไม่มีพยานเบิกความเน้นว่าจำเลยเป็นคนร้ายแต่อย่างใด จึงมีเหตุสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา และให้ริบของกลาง แต่ให้กักขังจำเลยไว้ระหว่างรอศาลฎีกา (อ่านต่อที่นี่) สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมฯ (ศปช.) เคยให้ข้อมูลว่า ส.ต.ต.บัณฑิต ถูกควบคุมตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 53 จากบ้านของเขาที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี โดยเจ้าหน้าที่นำกำลัง 20 นายมาจับเขาที่บ้านพัก มีการค้นบ้าน และระหว่างควบคุมตัวมีการนำผ้ามาปิดตา และระหว่างชั้นสอบสวนมีการข่มขู่ด้วยว่าถ้าไม่ตอบจะเอาไปให้ทหารยิง โดยภรรยาของ ส.ต.ต.บัณฑิต ใช้เวลากว่า 1 เดือน ถึงทราบว่าสามีถูกจับไปไว้ควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสทช. จับมือ อย. ให้ความรู้ผู้ประกอบการสื่อ เอเยนซี่ให้โฆษณาอาหารและยาให้ถูกกฎหมาย Posted: 09 Aug 2013 03:14 AM PDT 9 ส.ค. 56 - สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดอบรมผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เอเยนซี่โฆษณา ผู้ผลิตอาหารและยา กว่า 400 คน เพื่อทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาอาหารและยาเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องหลัง กสท.มีมติระงับโฆษณาในทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง และจ่อคิวระงับอีกหลายช่องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวงจากโฆษณาอาหารและยาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช. เห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาโฆษณา ยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายมติ กสท.ล่าสุดสั่งระงับโฆษณาผลิตภัณฑ์เจนิฟู๊ดในช่องพอใจแชนแนลไปแล้ว และยังมีอีกหลายช่องที่นำโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.มาออกอากาศซึ่งทั้ง กสทช.และ อย.มอนิเตอร์พบกำลังมีการดำเนินการระงับโฆษณาดังกล่าวอีกหลายช่องที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ "ปัจจุบันกสทช.มีการมอนิเตอร์การโฆษณาและออกอากาศในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าเราสามารถดูแลได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะระบบทีวีดาวเทียม แต่ในส่วนของเคเบิลทีวีท้องถิ่น และวิทยุชุมชน ที่มีอยู่ถึง 9,000 สถานีทั่วประเทศนั้น การตรวจสอบติดตามให้ทั่วถึงเป็นเรื่องยาก จึงต้องผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาชนช่วยสอดส่องดูแลการโฆษณาที่ผิดปกติด้วย" น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.ได้ทำหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งสื่อทีวีและวิทยุซึ่งยื่นขอรับใบอนุญาตจากกสทช.กว่า 8,000 ราย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของอย.อย่างเคร่งครัด พบว่าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังพบการกระทำผิดหากพบการกระทำความผิด กสทช.สามารถใช้อำนาจทางปกครอง สั่งลงโทษผู้ประกอบการทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตกับ กสทช.ไว้ อาทิ มาตรการขึ้นบัญชีดำการสั่งปรับ การระงับใบอนุญาต หรือไม่ต่อใบอนุญาตให้ในปีถัดไป เป็นต้น ด้านนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุขเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.นับเป็นหน่วยงานหลักในการให้อนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ยาเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งการอนุญาตโฆษณาในสื่อต่างๆที่ผ่านมา อย. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง มีผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาใน อย.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ในแต่ละปีเป็นจำนวนมากเราได้ดำเนินการทางกฎหมายมาโดยตลอด แต่ อย.เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้จึงมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กสทช. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ) ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อแก้ปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ ร่วมกันตั้งแต่เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ประกอบกับขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ปัญหาการโฆษณาอาหารและยาที่ผิดกม.ในสื่อน่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า ขณะนี้ อย. พร้อมปรับปรุงกฎหมาย๓ ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและยา ได้แก่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ อาทิ เพิ่มโทษปรับผู้ประกอบการที่โฆษณาเกินจริงและได้รับอนุญาตจาก อย.จาก 5,000 บาท เป็นไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นต้น นอกจากนั้น ยังกำหนดแนวทางจัดการปัญหาโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างซ้ำซาก เชื่อมโยงในการพักใบอนุญาตผลิต การเพิกถอนทะเบียนตำรับและเลขสารบบ ส่วนสถานีโทรทัศน์หรือวิทยุคลื่นใด ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายตามที่อย.ตรวจพบ ก็อาจมีผลกระทบต่อการขอต่อใบอนุญาตกับ กสทช. ด้วย เป็นการสะท้อนว่า อย.ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเข้มงวดเพื่อดูแลผู้บริโภคอย่างจริงจัง ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า อย.ยังอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลโฆษณาที่ขออนุญาต ครอบคลุมทั้ง ยา อาหาร เครื่องสำอาง เพื่อเป็นการแลกเป็นข้อมูลผู้ประกอบการและการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งตัวอย่างโฆษณาที่ผิดกฎหมาย การโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และบริษัทผู้กระทำผิด ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังร่วมกัน และสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาให้กับสังคม สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์โฆษณาที่ดีต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บ.ก.ไทยพีบีเอส เข้าพบ ปอท.หลังโดนออกหมายเรียกโพสต์ปลุกปั่น เจ้าตัวยันไม่มีเจตนา Posted: 09 Aug 2013 02:24 AM PDT "เสริมสุข กษิติประดิษฐ์" เข้าพบพนักงานสอบ ยืนยันไม่ได้โพสต์ปลุกปั่นสถานการณ์ และเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชน แถมยังชี้แจงเพื่อนในเฟซบุ๊คไม่ให้หลงเชื่อข้อความดังกล่าว 9 ส.ค. 56 - มติชนออนไลน์รายงานว่านายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเดินทางทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท. พร้อมกับทนายความส่วนตัวหลังถูกออกหมายเรียกให้เข้ามาให้การที่ได้โพสต์ข้อความในทำนองว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นให้ประชาชนกักตุนอาหารในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่กฎหมายแผ่นดินเกิดความปั่นป่วนซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนายเสริมสุขนานกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งนายเสริมสุขได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีเจตนาปลุกปั่นสถานการณ์แต่อย่างใดแต่เป็นการโพสต์เพื่อชี้แจงให้กลุ่มเพื่อนในเฟซบุ๊กว่าอย่าหลงเชื่อข้อความดังกล่าวเพราะได้ตรวจสอบเรื่องนี้แล้วว่าไม่เป็นความจริงซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนเท่านั้น สำหรับผู้ที่ถูกออกหมายเรียกในกรณีนี้มีทั้งหมด 4 คน และได้เข้ามาให้การแล้ว 3 คน เหลืออีก 1 คน อยู่ระหว่างการติดต่อประสานเข้ามา ซึ่งพนักงานสอบสวนยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับคนใดเพราะจะดูเจตนาที่ชัดเจนของผู้โพสต์ก่อนและพยานหลักฐานอื่นหากเข้าข่ายตามความผิดจริงพนักงานสอบสวนก็จะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ชาวโรฮิงญาประท้วง ตม.พังงา หลังถูกขังลืม 6 เดือน Posted: 09 Aug 2013 01:23 AM PDT เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 56 ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์แนวหน้ารายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 8 สิงหาคม บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พังงา หมู่ที่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมืองพังงา เกิดเหตุชาวโรฮิงญา 261 คน ซึ่งถูกคุมขังในด่านตม. ลุกฮือประท้วงพังประตูห้องขังออกมาออกันอยู่หน้าประตูเหล็กอาคารควบคุม ยื่นข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อทำละหมาด เนื่องในวันออกบวชตามประเพณีศาสนาอิสลาม แต่เจ้าหน้าที่ประจำด่านไม่ยอม เพราะมีบางส่วนขอย้ายไปประเทศที่ 3 เกรงถ้าปล่อยออกมาจะหลบหนี ทำให้เหตุการณ์บานปลาย เมื่อชาวโรฮิงญาพยายามพังประตูเหล็กหน้าอาคารเกือบสำเร็จ ต่อมาพล.ต.ต.ชลิต แก้วยะรัตน์ ผบก.ภ.จว.พังงา ซึ่งได้รับรายงานนำกำลังตำรวจ นปพ. ตำรวจชุดปราบปรามการจลาจล เจ้าหน้าฝ่ายป้องกันจังหวัด ฝ่ายปกครองอำเภอสนธิกำลังกว่า 100 นายเข้าควบคุมสถานการณ์ ขณะเดียวกัน พยายามเจรจาต่อรองขอให้ออกมาทำละหมาดชุดละ 5 คน เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม แต่ชาวโรฮิงญาไม่ยินยอม ตะโกนโวยวายพยายามพังประตูรั้วเหล็กกั้น เจ้าหน้าที่จึงนำคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพังงา มาเกลี้ยกล่อมจนชาวโรฮิงญาสงบลงได้เพียงชั่วครู่ ก่อนจะลุกฮือขึ้นอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จึงเตรียมพร้อมกระบอง และอุปกรณ์สลายฝูงชน และนำแผงเหล็กกั้นประตูรั้วเหล็กอีกชั้น พร้อมวางแผนระงับเหตุ ทำให้บรรยากาศตึงเครียด เพราะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่าย โดยขั้นแรกใช้วิธีตรึงกำลัง แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ประกอบกับรั้วเหล็กกั้นประตูหน้าอาคารไม่แข็งแรง และมีท่าทีว่าจะพังออกมาได้ จึงใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำสลายกลุ่มโรฮิงญา แต่ไร้ผล จึงทำได้เพียงวางกำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามฝูงชนของตร.ภ.จว.พังงา และอส.ฝ่ายความมั่นคง ตรึงกำลังไว้หน้าอาคารอย่างแน่นหนา รวมทั้งปิดล้อมทางเข้า ?เนื่องจากเกรงว่า ถ้าชาวโรฮิงญาออกจากอาคารควบคุมได้จะเป็นอันตราย เพราะบริเวณรอบๆ มีหน่วยงานราชการ โรงเรียนอนุบาล ด้านพล.ต.ต.ชลิต แก้วยะรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงาเปิดเผยว่า หลังรับแจ้งผู้ต้องหาชาวโรฮิงญา 261 คน ถูกขังลืมไว้ที่ด่านตม.พังงามาร่วม 6 เดือนแล้วก่อจลาจลขึ้นในห้องขัง เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกขังลืมและอยากไปประเทศที่ 3 ตำรวจเตรียมกำลังปราบจลาจลพร้อมอาวุธครบมือ 2 กองร้อยเข้าระงับเหตุ โดยวางแผนตามขั้นตอนกฎหมาย เริ่มตั้งแต่เจรจา และให้พกพาได้เพียงกระบอง ห้ามใช้อาวุธเด็ดขาด กระทั่งเวลา 17.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ ไว้ได้ โดยนำผู้ต้องขังขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหา ไปแยกขังตามสถานีตำรวจภูธรในสังกัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยใช้เวลาดำเนินการประมาณ 8 ชั่วโมง โดยร.ต.อ.อุดม ทองจีน รรท. ต.ม.จว.พังงายืนยันว่า ผู้ต้องขังชาวโรฮิงญาทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างดี ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งในการกักผู้หลบหนีเข้าเมืองเป็นการกักขังชั่วคราวไม่เกิน 7 วันตามมาตรฐาน จากนั้นจะส่งกลับประเทศทันที สำหรับชาวมุสลิมโรฮิงญาถือเป็นกรณีพิเศษ โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา มีตัวแทนผู้ต้องขังโรฮิงญาขอออกมาทำพิธีละหมาด บริเวณลานหน้าอาคารควบคุมฯ โดยขอออกมาพร้อมกันทั้งหมด 261 คน เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดการถือศีลอดเดือนรอมฎอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ตม.เข้าใจและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา แต่การที่ขอออกมาจากห้องกักขังพร้อมกัน เจ้าหน้าที่เกรงไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย? ทำให้ผู้ต้องขังไม่พอใจก่อเหตุประท้วงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากนี้ได้กระจายผู้ต้องขังโรฮิงญาเหล่านี้ไปกักขังตามสถานีตำรวจภูธรต่างๆ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนจะหามาตรการชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โพลล์เผย ปชช. ต้องการให้รักษาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแม้เกิดเหตุรุนแรง Posted: 09 Aug 2013 01:10 AM PDT 9 ส.ค.56 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่าสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "หัวอกตำรวจ หัวใจประชาชนในท่ามกลางความขัดแย้งเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" โดยศึกษาจากข้าราชการตำรวจในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 412 นาย และประชาชนคนกรุงเทพมหานครจำนวน 1,514 คน ระหว่างวันที่ 7 - 9 สิงหาคม 2556 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ 84.8% สนใจติดตามข่าวการชุมนุมประท้วงต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขณะที่ 15.2% ไม่สนใจ เมื่อถามว่า การชุมนุมประท้วงในช่วงเวลาประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ 61.3% ระบุได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันน้อยถึงไม่กระทบเลย ขณะที่ตำรวจส่วนใหญ่หรือ 68.2% นอกจากนี้ประชาชน 86.8% และตำรวจ 84.0% ต้องการให้รักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ว่าจะเกิดเหตุรุนแรงเพียงไร เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง พบว่า ทั้งประชาชน 85.7% และข้าราชการตำรวจ 85.5% รู้สึกทุกข์หดหู่ใจที่เห็นคนไทยขัดแย้งแตกแยก วุ่นวายไม่จบสิ้น อย่างไรก็ตาม ประชาชน 85.6% และตำรวจ 90.2% ในกลุ่มตำรวจพอใจต่อความเป็นผู้นำของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ 75.8% ระบุช่วงเวลามีม็อบไม่ค่อยเห็นตำรวจตรวจตราบริการความปลอดภัยในจุดเสี่ยงของชุมชน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ทั้งประชาชน 75.1% และตำรวจ 78.9% ต้องการให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของสภาฯ มากกว่าการออกมาชุมนุมประท้วง ในขณะที่ประชาชน 74.9% และตำรวจ 73.3% ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ใครทำผิดก็ต้องดำเนินคดีอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือ 70.5% ในกลุ่มประชาชนและ 72.3% ในกลุ่มตำรวจที่ระบุว่า ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ซ่อนเร้น ปกปิดความจริงที่ต้องการอ้าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงความเป็นมาตรฐานสากลของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมฝูงชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 71.6% คิดว่าทำไปตามมาตรฐานสากลแล้ว และเมื่อสอบถามถึงความพอใจโดยภาพรวมต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการคุมม็อบต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ทั้งประชาชน 60.8% และตำรวจ 74.6% พอใจระดับมากถึงมากที่สุด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โสภณ พรโชคชัย: ดารากับพ่อ . . . เรื่องดรามาแห่งตอแหลแลนด์ Posted: 09 Aug 2013 12:49 AM PDT "บางทีผมก็เหนด้วยกับ white lie นะครับ เมิงจะพูดความจริงทำลายลูกตัวเองเพื่อให้ตนดู man หรือยอมตายประชดป่าช้า ไปทำไร . . . ถ้าลูกเมิงทำผิดคิดชั่วไปทำร้ายคนอื่นก็ว่าไปอย่าง . . . ฮ่วย" {1} ผมถูกด่าหลังเขียนวิจารณ์พ่อดาราที่รับว่าลูกเสพยาเพราะบางคนอ่านแค่บรรทัดแรก เห็นผมต่อว่าพ่อเด็กและเข้าใจผิดว่าผมบอกให้เขาโกหก เรื่องนี้ถ้าเป็นคนอื่นคงลบภาพหรือปิด FB หนีไป แต่ผมพยายามอธิบายถึง 4,700 ความเห็นแล้ว ผมไม่ได้ขุดคุ้ยให้ใครเสียหาย แต่หวังปอกเปลือกสังคมสามานย์แห่งตอแหลแลนด์นี้ บางคนเข้าใจว่า White Lie {2} คือโกหก แต่ความจริงยังหมายรวมถึงการไม่พูด ในพุทธพจน์ยังว่าไว้ "แม้จริง ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่พึงพูด" {3} ผมไม่เห็นด้วยกับการแถลงสารภาพสร้างตราบาปให้ลูกไปชั่วชีวิต เมื่อราชการบอกไม่มีสารเสพติด ลูกไม่ผิดกฎหมาย พ่อก็ขอให้สื่อเมตตาเด็ก 16 ปีที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ขอความเป็นส่วนตัว แล้วประคองลูกกลับไปสอนที่บ้าน เข้าทำนองติในที่ลับ ชมในที่แจ้ง ถ้ายังมีคนมารังแก สังคมย่อมเห็นใจเด็ก คนคุ้ยย่อมแพ้ภัยตนเอง อย่าคิดว่าเรื่องจบเพราะสารภาพ ถ้าพบภาพอีก ต่อให้กราบเท้านักข่าว ก็คงถูกคุ้ยอยู่ดี ในวัฒนธรรมดรามาสามานย์ตบจูบนี้ มีคนชอบทำตัวเป็นศาล ต้องการฟังคำสารภาพก่อน แล้วค่อยทำตัวเป็นพ่อพระมาปลอบ หลายคนทนฟังแม่เด็กแก้ต่างไม่ได้ ทั้งที่เป็นไปได้ที่เป็นการจัดฉากถ่ายรูป {4} วัฒนธรรมหน้าเนื้อใจเสือเช่นนี้ ควรถูกประณาม บางคนชมชอบความบริสุทธิ์ จึงว่าโกหกล้วนไม่ดี เห็นใครโกหกหน่อยก็ว่าเป็นคนเลว ทั้งที่ตนเองก็อาจโกหกทุกวัน แต่กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น เช่น อับราฮัมเกรงจะถูกฆ่า จึงโกหกพวกอียิปต์ว่าภริยาเป็นน้องสาว {5} กรณีการโกหกเจ้าหญิงอียิปต์เพื่อให้แม่โมเสสได้มาเป็นแม่นมของลูกตนเอง {6} หรืออย่างในการ์ตูนธรรมะอิคคิวซังก็เห็นการโกหกครั้งใหญ่น้อยของพระอยู่บ่อยครั้ง {7} ความย่ำแย่อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมสื่อก็คือ การจับเด็กมาขึงพืดซักไซ้ในวันแถลงข่าว จน รมว.เฉลิมพยายามห้าม นอกจากนั้นสื่อบางแห่งยังชอบอ้าง "ชาว Social" มาเขียนข่าว ซึ่งไม่มีแหล่งข่าวที่แน่ชัด เข้าทำนองการ "เต้า" ข่าวซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดจรรยาบรรณ ผมไม่ถือที่ถูกรุมด่าด้วยคำหยาบคาย อาฆาตมาดร้ายเพียงเพราะผมคิดต่าง ไปต่อว่า Idol ของเขา และเขาคิดว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้อง แต่นี่ถือเป็นสัญญาณอันตรายในสังคม ความหลงเช่นนี้ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งถูกปั่นหัวให้ฆ่ากันเอง เราจึงต้องให้การศึกษาให้คนเราอ่านมากขึ้น ฉุกคิดไตร่ตรองให้รอบคอบและหนักแน่นยิ่งขึ้น คนไทยจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการปลุกระดมของใคร หมายเหตุ: {1} ดูภาพและข้อความที่ผม Post ที่: www.facebook.com/photo.php?fbid=417706641675261&set=a.330671633712096.77875.324821724297087&type=3&theater {2} โปรดอ่าน www.snf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=193%3Awhite-lie2&catid=5%3A2009-06-04-09-19-11&Itemid=21 {3} พุทธพจน์ www.polyboon.com/dhumma/13_008.php {4} 'แม่' ยันลูกไม่รู้จัก 'กาโม่' โบ้ยเพื่อนยื่นอุปกรณ์เสพให้: www.naewna.com/entertain/61787 {5} กรณีอับราฮัม www.th.wikipedia.org/wiki/อับราฮัม {6} กรณีโมเสส www.biblegateway.com/passage/?search=%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%9E+2&version=TNCV {7} อิคคิวซัง ตอนโกหกครั้งใหญ่ www.youtube.com/watch?v=PzMGYs1S93I ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกจม.ถึง ปอท. ยันกรณี 'เสริมสุข' เป็นเสรีภาพบุคคล Posted: 08 Aug 2013 10:16 PM PDT วันนี้ (9 ส.ค.56) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก กรณี ปอท. ออกหมายเรียกบุคคลที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยระบุว่า การโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคลดังกล่าว เป็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมือง ปอท.จึงควรใช้ดุลยพินิจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างเป็นธรรม โดยการตีความบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ความเชื่อหรือแรงกดดันทางการเมืองในการใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ยังเห็นว่าการกด like หรือ กด Share เป็นปรากฏการณ์ปกติและเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกันในสังคมออนไลน์ จึงไม่เป็นการกระทำตามบทบัญญัติมาตรา 14 (5) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของจดหมายเปิดผนึก องค์กรวิชาชีพทั้ง 4 องค์กร ได้ขอให้สื่อมวลชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์ตระหนักว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ และขอให้ยึดถือแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ.2553 เป็นสำคัญ
ตามที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ("ปอท.") ได้ออกหมายเรียกบุคคลที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ที่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก จำนวน 4 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโสสายข่าวการเมืองและความมั่นคงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ Thai PBS นั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมกันพิจารณากรณีนี้แล้วเห็นว่าการโพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคลดังกล่าว ถือเป็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลตามสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและให้ความคุ้มครองไว้ มิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความตื่นตระหนก หรือก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท) จึงควร ใช้ดุลยพินิจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างเป็นธรรม โดยการตีความบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ความเชื่อหรือแรงกดดันทางการเมืองในการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ อันมีลักษณะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความกลัวแก่ประชาชนทั่วไปในการสื่อสารแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้ นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร ยังเห็นว่าการกด like หรือ กด Share เป็นปรากฏการณ์ปกติและเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกันในสังคมออนไลน์ที่นิยมแสดงความคิดเห็นระหว่างกัน (Interactive) ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรตีความว่า การกด Like คือการร่วมลงชื่อรับรองข้อมูลอันเป็นความผิดดังกล่าว แม้มิได้เจตนาโดยตรงแต่เป็นเจตนาเล็งเห็นผลว่าการ Like นั้นทำให้ข้อมูลได้รับความเชื่อถือมากขึ้นย่อมเข้าองค์ประกอบความผิดในฐานะตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้การกด Like หรือกด Share ดังกล่าวต้องไม่เป็นการกระทำตามบทบัญญัติมาตรา 14 (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเจตนาเล็งเห็นผล (ซึ่งอาจได้รับโทษฐานเป็นตัวการร่วมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) กล่าวคือ ต้องไม่เป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตามขอให้สื่อมวลชนที่แสดงความคิดเห็นผ่านสังคมออนไลน์พึงตระหนักว่าสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นใดๆ จึงควรยึดถือแนวปฏิบัติสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ.2553 เป็นสำคัญ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กวีประชาไท: สิ่งที่ข้าฯ ไม่เคยพบ Posted: 08 Aug 2013 06:41 PM PDT ครั้งแล้วครั้งเล่าของโศกนาฏกรรม ข้าฯ พบว่า เพียงเพื่อจะตื่นจากฝันร้าย, มีชีวิตต่อไปโดยปราศจากมิตรสหายมักคุ้น ดื่มและอาบน้ำจากลำธารสายเก่า ท่องบทสวดต่อหน้ารูปเคารพที่เคยเชื่อถือศรัทธา ข้าฯ ต้องเลือกที่จะทรงจำ และลืมเลือน... โอ..แต่ข้าฯ จะทำได้อย่างไรเล่า ? หญิงสาวแห่งแสงตะวัน ชายหนุ่มแห่งหมู่ดาว รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ..เรื่องเล่า และคำสนทนาเหล่านั้นเคยมีอยู่จริง, ที่การหลับใหลไม่ว่ายาวนานเพียงใดไม่อาจทำให้ลบเลือนไปได้... ................... เรื่องดีที่สุด สำหรับผู้ที่จำต้องดำเนินชีวิตต่อไปก็คือ มันเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่ข้าฯ เพียรเสาะหา... ข้าฯ เสาะหามวลไม้ที่แทงยอดลงต่ำ พยัคฆ์ ที่เสพพืชผลผักหญ้าเป็นภักษาหาร จงอางที่ไม่หวงไข่ ข้าฯ เสาะหาเลือด ที่เปลี่ยนสีไปตามน้ำ น้ำที่ไม่เคยแยกสาย ฟืนที่ไม่กำเนิดไฟ... และข้าฯ เสาะหาไฟ - ไฟที่ไม่เผาไหม้กำแพงคุก ไม่อาจหลอมละลายโซ่ตรวนแห่งการจองจำ ข้าฯ ยังเสาะหาลม ที่ไม่พัดผืนธงหลากสีปลิวสะบัด ดินที่ไม่ยอมกลบฝังหลุมศพเสรีชน และผู้คนที่สยบยอมต่อความอยุติธรรม ข้าฯ เสาะหาผู้คนที่สยบยอมต่อความอยุติธรรม ! (ซ้ำ) ไม่เคย...ข้าฯ ไม่เคยพบเลย... นั่นอาจเป็นเรื่องดีที่สุด สำหรับผู้ที่ต้องดำเนินชีวิตต่อไป ....................
ฝันร้ายครั้งหน้ายังมาไม่ถึง และข้าฯ ตื่นอยู่ในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความหวัง... ในดวงตาของท่านทั้งหลายฯ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น