โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

PTTGC นัดถกเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบน้ำมันรั่ว 22 ส.ค.นี้ หลังถูกจี้เยียวยา

Posted: 19 Aug 2013 01:33 PM PDT

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลในทะเล รวมตัวประท้วงหน้าบริษัท พีทีทีจีซีจำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือเรียกร้องขอคำตอบการเยียวยาที่ชัดเจนและเป็นธรรม ด้านบริษัทฯ นัดเคลียร์ปัญหากับผู้บริหารโดยตรง 22 ส.ค.นี้
 
 
19 ส.ค.56 – เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว จ.ระยอง ประกอบด้วย กลุ่มประมงเรือเล็ก กลุ่มร้านค้าตามชายหาด กลุ่มรถเร่และหาบเร่ ตั้งแต่บริเวณชายทะเลปากน้ำระยอง ไปจนถึง อ.แกลง จ.ระยอง จำนวนกว่า 500 คน ได้รวมตัวชุมนุมที่บริเวณหน้าบริษัท พีทีทีจีซี จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เรียกร้องขอให้บริษัทฯ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ชัดเจน 
 
กลุ่มผู้ชุมนุมระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.พีทีทีจีซีจะต้องทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเยียวยาใหม่ โดยพิจารณาตามข้อมูลรายชื่อและค่าเสียหายที่กลุ่มประมงได้รับผลกระทบ (พร้อมเอกสารรายชื่อ รายละเอียดความเสียหาย)
 
2.ให้พีทีทีจีซี จัดตั้งกองทุนเพื่อติดตามบำบัดฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและสังคม เพื่อเป็นหลักประกันว่า บริษัทจะไม่หลีกหนีความรับผิดชอบในผลเสียหายที่ตนเป็นต้นเหตุ และคณะกรรมการกองทุนต้องมีฝ่ายประชาชนร่วมเป็นกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
 
และ 3.บริษัทต้องเสนอแผนมาตรการการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นำเสนอต่อสาธารณะ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบแผนป้องกัน พร้อมทั้งนำแผนไปสู่การปฏิบัติเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
 
นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง แกนนำกลุ่มผู้ผู้ชุมนุม กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุท่อส่งน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลทำให้ชาวประมงไม่สามารถออกเรือจับสัตว์น้ำได้ หรือจับได้เมื่อนำมาขายก็ถูกกดราคา เพราะอ้างว่าเกรงมีสารปนเปื้อน ในขณะที่ผู้บริหารของบริษัทพีทีทีจีซี ไม่เคยลงพื้นที่สอบถามความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเลย
 
นอกจากนั้นการให้ชาวบ้านลงชื่อเพื่อขอรับเยียวยาภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ภายใต้วงเงินเยียวยาที่คณะกรรมการเยียวยาฯ จ.ระยอง กำหนดไว้ที่ 30,000 บาทต่อครัวเรือน โดยทยอยจ่ายวันละ 1,000 บาทเป็นเวลา 30 วัน จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้อย่างสิ้นเชิง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ 30 วัน แต่เป็นผลกระทบระยะยาวที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกให้กับนายวริทธิ์ นามวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายงานบริหารศักยภาพองค์กร ผู้แทนบริษัทพีทีทีจีซี และร่วมเจรจาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ การเจรจาแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลระหว่างบริษัทพีทีทีจีซีและเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว
 
บันทึกความเข้าใจ ดังกล่าวระบุว่า ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ นายอนนค์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วย นายบวร วงศ์ สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทพีทีทีจีซีจะลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มประมงและภาคีเครือข่ายทั้งหมด โดยกำหนดนัดหารือในเวลา 14.00 น.ที่วัดปากน้ำ จ.ระยอง
 
ภาพจาก: Santi Choakchaichamnankit
 
 
ที่มา: เรียบเรียงจาก ไทยรัฐออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์สื่อต่างประเทศในอียิปต์ ถูกรัฐบาลรัฐประหารกดดัน

Posted: 19 Aug 2013 11:46 AM PDT

ที่ประชุมแถลงข่าวของรักษาการรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของอียิปต์ แสดงความไม่พอใจที่สื่อต่างชาติดูเหมือนเอียงข้างไปทางฝ่ายผู้ชุมนุม ขณะที่สื่อในอียิปต์เองเต็มไปด้วยการนำเสนอข่าวตามวาทกรรมปราบ "ผู้ก่อการร้าย" ของกองทัพ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์กล่าวถึงกรณีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของอียิปต์พยายามกดดันสื่อต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงในอียิปต์

นิวยอร์กไทม์เปิดเผยว่ากองทัพอียิปต์ได้ปิดสื่อโทรทัศน์ภายในประเทศทั้งหมดที่แสดงการสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ในคืนที่กองทัพออกมาทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มเขา และเมื่อช่วง 4 วันที่ผ่านมา รัฐบาลจากการรัฐประหารของอียิปต์ก็สั่งปิดสถานีของอัลจาซีราและปฏิเสธใบอนุญาตการทำข่าวในอียิปต์ รวมถึงมีการจับกุมตัวนักข่าวชื่อ อับดุลลาห์ อัล-ชามี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในข้อหายุยงให้เกิดการสังหารและความรุนแรงระหว่างศาสนา

นิวยอร์กไทม์กล่าวว่าสำนักข่าวอัลจาซีราซึ่งมีฐานอยู่ในกาตาร์เป็นสำนักข่าวภาษาอาหรับขนาดใหญ่สำนักเดียวที่มีท่าทีเห็นใจฝ่ายภราดรภาพมุสลิม

เจ้าหน้าที่ระดับสูงรัฐบาลรักษาการอียิปต์ยังได้ตะคอกใส่นักข่าวตะวันตกต่อหน้าสื่อมวลชนในการประชุมแถลงข่าวสองครั้ง รวมถึงมีการออกแถลงการณ์ถึงเรื่องที่ไม่สามารถนำเสนอข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมไปในทางของรัฐบาล คือการบอกว่าเป็นสงครามสู้กับกลุ่มก่อการร้าย

ในวันที่ 18 ส.ค. นายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ผู้นำการรัฐประหารยังได้ร่วมออกมากล่าววิจารณ์ว่าสื่อต่างชาติไม่ยอมเชื่อเรื่องคำสั่งให้สู้กับผู้ก่อการร้าย โดยคำวิจารณ์นี้มีการนำเสนออย่างต่อเนื่องผ่านสื่อรัฐและเอกชนในอียิปต์ รวมถึงมีกลุ่มผู้สนับสนุนนายพลอัล-ซีซีเมื่อได้ยินคำวิจารณ์นี้ก็โจมตีหรือจับกุมตัวนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากโดยเฉพาะในวันเดียวกับที่มีการกล่าวโจมตีสื่อตะวันตก

แมทท์ แบรดลี่ย์ ผู้สื่อข่าวของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลเล่าว่าเขาถูกทหารจับขึ้นรถขนทหารหุ้มเกราะเพื่อช่วยเขาหล้งจากถูกกลุ่มคนกระแทก ฉีกกระชากเสื้อ และชิงเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไป แมทท์กล่าวอีกว่าคงไม่ผิดนักหากจะมีคนบอกว่าในอียิปต์มีการวางแผนร่วมมือกันต่อต้านนักข่าวต่างประเทศ

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังสังหารผู้ชุมนุมที่สนับสนุนมอร์ซีมากกว่า 1,000 คน โดยทางการการอียิปต์ได้ให้ความชอบธรรมกับตัวเองว่าเป็นมาตรการฉุกเฉินในการป้องกันอียิปต์จากการวางแผนก่อความรุนแรงโดยส่วนหนึ่งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

นักสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการกล่าวว่าพวกเขาเห็นแววเรื่องการร่วมมือกันระหว่างทางการอียิปต์กับสื่อเอกชนของอียิปต์ในการนำเสนอข่าวไปในทางเดียวกัน โดยหลังจากเกิดเหตุการปะทะกันครั้งแรกนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร รายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์และสื่อเอกชนในอียิปต์นำเสนอไปในทางที่ว่ากลุ่มอิสลามอาจพยายามยุยงให้เกิดความรุนแรงเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสียหาย ซึ่งแม้แต่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษยังวิจารณ์เรื่องการจำกัดสิทธิมนุษยชนเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ

เฮบา โมราเยฟ นักวิจัยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ในอียิปต์กล่าวว่า เรื่องการนำเสนอข่าวสารในอียิปต์เป็นเรื่องที่มีการร่วมมือกันแน่นอน "ลองลืมไปก่อนว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ มันก็น่าสนใจว่าคุณได้ยินเรื่องเดียวกันจากทุกๆ คน"

นิวยอร์กไทม์ระบุว่านักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงของอียิปต์ซึ่งเคยเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์อดีตรัฐบาลจนกลายเป็นที่นิยมและถูกเชิญร่วมรายการอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านบอกว่าไม่ค่อยได้รับคำเชิญร่วมรายการอีก หลังจากที่เขาวิจารณ์ว่าตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างไม่สมควรหลังจากที่มีการรัฐประหาร 3 ก.ค.

นักวิชาการกล่าวว่าการที่สื่อหันมาสนับสนุนรัฐบาลรัฐประหารอย่างเป็นเอกฉันท์หลังจากที่ได้รับเสรีภาพสื่ออย่างเต็มที่เมื่อมีการโค่นล้มอดีตผู้นำฮอสนี มูบารัค ในปี 2011 กลับกลายเป็นการถอยหลังเข้าคลองที่ไม่เพียงย้อนกลับไปในยุคของมูบารัค แต่เป็นการถอยกลับไปไกลกว่านั้น ถึงยุคก่อนมีจานดาวเทียมซึ่งรัฐบาลควบคุมสื่อทั้งหมดในอียิปต์ บางคนคิดว่าการเรียกกลุ่มอิสลามว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ชวนให้นึกถึงทศวรรษที่ 1950 ที่นายพล กามาล อับเดล นาสเซอร์ พยายามรักษาอำนาจด้วยการปราบปรามกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

"มันเป็นวาทกรรมแนวชาตินิยมจัดแบบเดิมๆ ที่พูดว่ากลุ่มอิสลามเป็นผู้ก่อการร้าย บอกว่าประชาชนเหล่านี้เป็นกลุ่มอิสลามข้ามชาติหรือสิ่งที่มาจากต่างชาติ พวกเขาถึงไม่ใช่ชาวอียิปต์จริงๆ" ศจ. โมนา เอลโกบาชี นักรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยบาร์นาร์ดประเทศอียิปต์กล่าว โดยเจ้าหน้าที่ทางการยังได้กล่าวหาว่าผู้ประท้วงจำนวนมากมาเป็นชาวซีเรียหรือปาเลสไตน์โดยไม่มีหลักฐาน

โมนา ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อในอียิปต์เริ่มลดทอนความเป็นมนุษย์ของกลุ่มอิสลามไม่นานนักหลังจากที่มีการรัฐประหาร พิธีกรรายการทอล์กโชว์บอกว่ากลุ่มผู้ประท้วงที่ปักหลักต่อต้านการรัฐประหารเป็นพวกต่ำช้า ขณะที่สื่อแห่งอื่นกล่าวย้ำข้อกล่าวหาที่มาจากกลุ่มสตรีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยบอกว่ากลุ่มอิสลามพยายามทำ "สงครามศักดิ์สิทธิ์ทางเพศ"

"เมื่อคุณต้องการปราบปรามใคร คุณก็ต้องลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนๆ นั้น" โมนากล่าว

นิวยอร์กไทม์วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลอียิปต์ต่อว่าสื่อต่างชาติเนื่องจากการที่สื่อต่างชาติเน้นความสนใจเรื่องการที่ผู้สนับสนุนมอร์ซีถูกสังหารโดยตำรวจ แต่ไม่ให้ความสนใจเรื่องความรุนแรงจากฝ่ายผู้สนับสนุนมอร์ซีมากพอ โดยก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซีทั่วประเทศออกเผาโบสถ์จนล่าสุดมีโบสถ์คริสต์ถูกเผาไปแล้ว 26 แห่ง ในแถบเขตปกครองไซนายซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธก็มีการจู่โจมใส่ทหารและตำรวจเพิ่มมากขึ้น และในช่วงตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. เป็นต้นมา มีคนเห็นผู้สนับสนุนมอร์ซีในกรุงไคโรที่ถืออาวุธปะทะกับตำรวจหรือกับพลเรือนฝ่ายเดียวกันเองรวมถึงในการกวาดล้างการปักหลักชุมนุมด้วย มีพลเรือนบางส่วนที่สู้กับพวกเขาก็มีอาวุธด้วย

ในการแถลงข่าวของรัฐบาลแม้จะมีการเผยภาพและวิดีโอแสดงให้เห็นกลุ่มอิสลามติดอาวุธในช่วงที่มีการปะทะ แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้วางแผนสร้างความรุนแรงไว้อย่างเป็นระบบหรือผู้ปักหลักชุมนุมก่อเหตุกับพลเรือนรายอื่น แต่นักวิจารณ์ก็บอกว่าการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมไม่ว่าใครจะเป็นคนยิงก่อนก็ตาม

นิวยอร์กไทม์เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลอียิปต์กล่าวและที่ถูกเผยแพร่ในสื่ออียิปต์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการแสดงความรู้สึกขมขื่นอย่างมากต่อการรายงานข่าวของสื่อตะวันตก โดยหาว่ามีการเข้าข้างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

 

 

เรียบเรียงจาก

Egypt Lashes Out at Foreign News Media's Coverage, The New York times, 18-08-2013
http://www.nytimes.com/2013/08/19/world/middleeast/egypt-lashes-at-foreign-news-media-over-coverage.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุวัตร' ฟ้อง 'นพดล' โพสต์เฟซบุ๊ก หมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ

Posted: 19 Aug 2013 11:06 AM PDT

สุวัตร อดีตทนายความเอกยุทธ ยื่นฟ้องศาลอาญาดำเนินคดี 'นพดล ปัทมะ' ทนายความทักษิณ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โพสต์เฟซบุ๊กประจานเป็นทนายตัวอย่างเลว

(19 ส.ค.56) นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตรฯ อดีตทนายความนายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดังที่ถูกอุ้มฆ่าเสียชีวิต พร้อมด้วย น.ส.อัจฉรา แสงขาว และนายประพันธ์ คูณมี ทนายความ เดินทางมายื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักโทษหนีคดีอาญาแผ่นดิน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งภายหลังศาลได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.3000/2556 และนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 21 ต.ค.2556 เวลา 10.00 น.
      
นายสุวัตร ระบุว่า ได้ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ ใน 2 ข้อหา คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) จากกรณีเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนเองได้เปิดแถลงข่าวที่สำนักทนายความ เพื่อยืนยันว่าได้ส่งทนายความไปพบ นายบอล หรือนายสันติภาพ เพ็งด้วง ที่เรือนจำจริง โดยนายสันติภาพให้การรับสารภาพว่ามีทีมสังหารนายเอกยุทธ อัญชันบุตร แต่ในตอนแถลงข่าว ก็ยังไม่เชื่อคำให้สารภาพของนายบอล จึงขอให้พนักงานสอบสวน บช.น.สืบสวนในประเด็นที่ตนตั้งข้อสังเกตดังกล่าว
      
นายสุวัตร กล่าวว่า ต่อมา นายนพดล ปัทมะ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก หมิ่นประมาทตนเองติดต่อกัน 2 วัน คือวันที่ 15-16 ส.ค.2556 มีข้อความกล่าวหาทำนองว่า ตนเองเป็นทนายความที่กุเรื่อง บิดเบือน ใส่เรื่อง ใช้จินตนาการ เพื่อใส่ร้ายทักษิณ อยู่เบื้องหลังการสังหารนายเอกยุทธ เป็นเรื่องที่เหลวไหล เลอะเทอะ น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง และเป็นทนายตัวอย่างที่เลว ซึ่งระบุว่าจะแจ้งความเอาผิดตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างที่เลวในสังคมไทย ที่นำเรื่องความเท็จมาแต่งเพื่อใส่ร้ายคนอื่นเพื่อหวังผลทางการเมือง
  
ทั้งนี้ ภายหลังการยื่นฟ้องต่อศาล นายสุวัตร ได้เดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.พหลโยธิน เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยถูกปองร้ายจากผู้ไม่หวังดี

             


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ภารกิจเพื่อชาติเพื่อ Humanity ของจำกัด พลางกูร

Posted: 19 Aug 2013 11:05 AM PDT

จำกัด พลางกูร (พ.ศ. 2457 - 2486) แกนนำเสรีไทยในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการปาฐกถาเพื่อรำลึก 68 ปี วันสันติภาพไทย หัวข้อ "ภารกิจเพื่อชาติเพื่อ Humanity ของจำกัด พลางกูร กับเอกราชของไทย" โดย ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และ "ปรีดี พนมยงค์ ศาสตราภิชาน" ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ เริ่มอภิปรายว่า ในวันนี้เมื่อ 68 ปีที่แล้ว  1 วันหลังจากญี่ปุ่นประกาศยุติสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการรัชกาลที่ 8 ได้ประกาศสันติภาพในนามพระปรมาภิไธย ให้การประกาศสงครามที่ไทยทำต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อเจตจำนงค์ของประชาชนชาวไทยและรัฐธรรมนูญ โดยที่ปรีดีกล่าวว่าประชาชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น มาตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยคือ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องทำเอกสารยอมจำนน ไม่ถูกปลดอาวุธ ไม่ถูกยึดครอง ไม่เสียค่าปฏิกรรมสงคราม และที่สำคัญไม่เสียเอกราช

เพียงแต่คำประกาศสันติภาพไม่อาจทำให้ไทยรักษาเอกราชได้ ผมได้มารับทราบความจริง จากการศึกษาเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยอย่างจริงจัง ในช่วงที่ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยธุรกิจ เป็นปรีดี พนมยงค์ ศาสตราภิชาน ว่าประเทศไทยของเราอยู่ในฐานะที่เสี่ยงมากต่อการถูกปรับให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม เพราะเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นและทางผ่านไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่เป็นอาณานิคมอังกฤษยึดครองอยู่คือพม่าและมลายู และอีก 3 วันคือวันที่ 11 ธันวาคม จอมพล ป. ลงนามในสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น และวันที่ 25 มกราคม 2485 ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และต่อมาส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเป็นฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย อังกฤษโกรธมากและประกาศสงครามตอบโต้ไทยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2485 แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกาศสงครามต่อ ถือว่าไทยเป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง ไม่ได้เป็นผู้ร่วมในสงคราม

ผมยังได้ค้นพบอีกว่า มีการประชุมของสัมพันธมิตรที่ควิเบกเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2486 ตกลงให้ดินแดนไทยและอินโดจีนเหนือเส้นขนานที่ 16 หรือประมาณ จ.พิจิตร ขึ้นไปเป็นเขตยุทธภูมิหรือเขตปฏิบัติของทหารจีน และใต้เส้นขนานที่ 16 ลงมาเป็นเขตของอังกฤษ หมายความว่าหากไทยเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อาจถูกยึดครอง ถูกแบ่งแยกดินแดนให้แก่อังกฤษและจีน และเมื่อสงครามสิ้นสุดโดยกระทันหัน จีนมีท่าทีจะเคลื่อนพลลงมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทยโดยเร็ว ดีแต่ว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้รีบแจ้งให้สหรัฐอเมริกาทราบเสียก่อน

การที่รัฐบาลจอมพล ป. เข้าร่วมเป็นฝ่ายอักษร จึงน่าจะไม่ใช่จำใจ จำยอมเสียทีเดียว มีงานเขียนวิชาการของนักวิชาการหลายท่านระบุว่าจอมพล ป. เชื่อโดยสุจริตใจว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม เพราะปีแรกๆ ของสงครามฝ่ายอักษะ คือญี่ปุ่น และเยอรมนี มีชัยในสนามรบหลายแห่ง แต่นายปรีดี และปัญญาชนฝ่ายปรีดี ซึ่งนิยมตะวันตกเชื่อว่าสัมพันธมิตรจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะเห็นกับตาตอนไปเรียนในต่างประเทศว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ฝ่ายพันธมิตร เหนือกว่าฝ่ายญี่ปุ่นมากทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เพราะผลิตแบบ Mass-Production ยิ่งเมื่อเข้าสู่ พ.ศ. 2486 สัมพันธมิตรก็เริ่มตีโต้ และยึดพื้นที่กลับคืนมา นายปรีดี ร้อนใจมาก ที่จะแจ้งสัมพันธมิตรให้รับรู้ว่าประชาชนไม่เต็มใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น มีแต่ จอมพล ป. เท่านั้นที่เต็มใจ

นายปรีดี ได้พยายามหาทางติดต่อกับสัมพันธมิตร มาตั้งแต่วันแรกที่ญี่ปุ่นบุกไทย โดยส่งคนไปสำรวจเส้นทางต่างๆ ที่ออกจากประเทศไทยไปเมืองจุงกิง หรือฉงชิ่ง เมืองหลวงของจีนคณะชาติในช่วงนั้นที่เจียง ไค เช็ค มาตั้งกองบัญชาการอยู่ แต่ก็ยังทำได้ไม่สำเร็จ นายปรีดี จึงตัดสินใจมอบภารกิจให้นายจำกัด พลางกูร เดินทางจากไทย ผ่านอีสาน ลาว เวียดนาม ซึ่งตอนนั้นเรียกว่าอินโดจีนฝรั่งเศส ไปยังประเทศจีน ผ่านกวางสี ลงเรือที่ไฮฟอง ขึ้นที่กวางสี เดินเท้า ขึ้นรถไฟ เดินทางบก แล้วสุดท้ายบินจากกุ้ยหลินไปถึงจุงกิง ใช้เวลาทั้งหมด 53 วัน ผมได้อ่านบันทึกของคุณจำกัดซึ่งหนา 900 กว่าหน้า เป็นการเดินทางที่ลำบาก เสี่ยงภัยอย่างมาก ระหว่างมีทหารญี่ปุ่นตั้งกองอยู่เต็มไปหมด เพราะว่าฝรั่งเศสถอยออกจากสงครามเพราะแพ้เยอรมัน แต่ว่าฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นตั้งกองทหารในอาณานิคมอินโดจีนของตัวเต็มไปหมด กว่าจะเล็ดรอดไปได้ก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด นายจำกัดก็สามารถไปถึงเมืองจุงกิงได้สำเร็จ เพื่อไปแจ้งแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรว่าประชาชนไทยได้จัดตั้งกองกำลังกู้ชาติขึ้นแล้ว ขณะนั้นยังไม่ได้ชื่อว่าเสรีไทย เรียกว่า "X.O. กรุ๊ป" เป็นแกนกลางของกำลังเสรีไทย เป็นส่วนหลักของกำลังเสรีไทยในประเทศ ขอให้สัมพันธมิตรรับรองเอกราชของไทย หาทางช่วยนายปรีดีและคณะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่อินเดีย

จำกัด พลางกูร ออกเดินทางจากไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ใช้เวลาเดินทาง 53 วัน เมื่อไปถึงจุงกิง จำกัด พยายามขอพบจอมพล เจียง ไคเช็ค แต่ไม่สำเร็จ ส่งจดหมายให้อังกฤษทราบ แต่อังกฤษตอบว่าไม่รับรองนายจำกัด ไม่รับรองคณะเสรีไทย ส่วนเสรีไทยสายอเมริกาก็ยังไม่ตอบคำขอ เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากของจำกัดในประเทศจีน กระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2486 ผ่านมา 4 เดือนจากเมืองไทย จำกัดจึงได้พบจอมพล เจียง ไค เช็ค และสามารถอธิบายว่ามีกองกำลังพลพรรคที่เป็นจริงของประชาชนในประเทศและทหารบางส่วน ได้โน้มน้าวจนทำให้จอมพล เจีบง ไค เช็ค ยอมรับรองเอกราชของไทยหลังสงคราม

เหตุการณ์สำคัญอีกประการหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางรำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ผู้นำเสรีไทยสายอังกฤษ ได้บินจากอินเดียมาพบจำกัด ทั้งสองได้ปรึกษาหารือกัน รวมทั้งเรื่องการเมืองในประเทศหลังสงคราม เนื่องจากฝ่ายเจ้าและฝ่ายคณะราษฎรยังไม่เข้าใจกันเต็มที่ ที่สุดทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจกัน เป็นผลให้เกิดการหลอมรวมเสรีไทยทั้งสามสาย คือสายอเมริกา สายอังกฤษ และสายไทยเข้าด้วยกัน และทุกฝ่ายตกลงพร้อมใจให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย จนถึงวันประกาศสันติภาพ และสลายขบวนการเสรีไทยเนื่องจากภารกิจต่อต้านญี่ปุ่นสำเร็จแล้ว

ผลการทำงานของจำกัด ทำให้เจียง ไค เช็ค ยอมรับรองเอกราชของไทย และเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกายอมตามจีน สิ่งนี้มีหลักฐานชัดเจนในการประชุมที่ไคโร ไม่กี่เดือนต่อมาประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ถามเจียง เจียง ไค เช็ค ว่าสำหรับประเทศไทยจะทำอย่างไร เจียง ไค เช็คก็ตอบเหมือนที่ตอบกับจำกัดเอาไว้ โดยบอกว่า ยอมรับรองคืนเอกราชให้ประเทศไทย ซึ่งในบันทึกของสหรัฐอเมริกา รูสเวลต์ก็ยอมตาม โดยจีนเป็นประเทศแรกที่รับรองเอกราชของไทย และสหรัฐอเมริกาก็ยอม เป็นการเลิกล้มแนวคิดรัฐภายใต้รัฐอารักขา หลังจากนั้นได้ส่งอาวุธและผู้เชี่ยวชาญทางทหาร ท่านศุภสวัสดิ์ฯ ก็มาทางเรือดำน้ำเข้ามาพบนายปรีดี และส่งผู้เชี่ยวชาญมาวางแผนร่วมกับนายปรีดี ร่วมต่อสู้กับญี่ปุ่น นี่เราจึงจะมีสถานะที่จะประกาศสันติภาพ และเราก็ไม่ได้สูญเสียเอกราช

ผมอยากสรุปว่า ขบวนการเสรีไทยมีความสำคัญมาก 2 ข้อคือ 1. ประเทศไทยไม่ถูกถือเป็นผู้แพ้สงคราม สามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ 2. ขบวนการเสรีไทย ได้ปลุกจิตสำนึกและระดมพลังของประชาชนไทยธรรมดาทุกหมู่เหล่า ให้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของประเทศชาติ ซึ่งความสำคัญทั้ง 2 ข้อนี้ ผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นกำลังหลักถัดจากนายปรีดี พนมยงค์ ก็คือนายจำกัด พลางกูร

ในข้อที่ 1. ในการติดต่อสัมพันธมิตรของจำกัด ในความจริงข้อนี้ อ.ปรีดี ได้กล่าวสดุดีจำกัดไว้ใน พ.ศ. 2488 หลังสงครามสิ้นสุด บอกว่า "ถ้าปราศจากจำกัด พลางกูร งานขององค์กรใต้ดินครั้งนี้อาจจะล้มเหลว หรือหากสำเร็จก็คงเป็นไปในรูปที่ผิดแผกกว่าที่ได้ปรากฏแก่ตาโลกภายหลัง"

ในข้อที่ 2. "นายฉันทนา" หรือคุณมาลัย ชูพินิจ ได้เขียนไว้ในหนังสือ "XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย" ระบุว่า "ในบรรดาผู้ที่ได้ร่วมมือในการกู้ชาติบ้านเมืองคราวนี้กับนายปรีดี พนมยงค์ แต่ต้นมา ผู้เดียวที่เข้ามาพร้อมด้วยแผนการณ์อันแน่นอนและคณะเป็นกลุ่มก้อนได้แก่ จำกัด พลางกูร และคณะกู้ชาติของเขา"

จำกัด พลางกูร เป็นผู้มีจิตใจเทิดทูนประชาธิปไตย เขารวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งแต่ที่เรียนอยู่ในอังกฤษจัดตั้งคณะเพื่อต่อสู้กับจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นมีแนวโน้มอาจเป็นเผด็จการ และเมื่อเรียนจบกลับมาได้ร่วมมือกับนายเตียง สิริขันธ์ และครู และผู้นำสายอีสาน รวมเป็นคณะกู้ชาติ เป็นการรวมปัญญาชนจากคนชั้นกลาง และปัญญาชนของชาวชนบท คณะกู้ชาตินี้เป็นองค์กรแกนกลางตั้งแต่ต้นของคณะเสรีไทย พวกเขาสามารถระดมพลังชาวบ้านให้มาเข้าร่วมเป็นพลพรรคของเสรีไทย ทำหน้าที่หาข่าว ลาดตระเวน สอดแนม ซุ่มโจมตีฝ่ายญี่ปุ่น และพาเชลยหนี เป็นกองกำลังที่มีอาวุธทันสมัยครบมือ ประมาณหนึ่งหมื่นคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีกำลังทหารปกติ และตำรวจที่สนับสนุนอีกนับเป็นแสน การมีอยู่ของกำลังและการมีตัวตนของขบวนการเสรีไทยสายภายในประเทศอย่างชัดเจนนี้เอง เป็นเหตุให้สัมพันธมิตรต้องรับรองขบวนการเสรีไทย และเราสามารถประกาศสันติภาพได้

ผมเห็นว่าขบวนการเสรีไทยเป็นการรวมตัวอย่างชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ ที่คนทุกหมู่เหล่าตั้งแต่เจ้านาย เชื้่อพระวงศ์ชั้นสูง ชนชั้นกลาง ปัญญาชน ชาวบ้านธรรมดา ชาวนา ชาวไร่ ได้รวมกันอย่างสนิทแนบแน่นด้วยอุดมการณ์เดียวคือความรักชาติ และเอกราชของชาติ เป็นตัวอย่างที่น่านำมาศึกษา เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชาติ

ด้วยความยากลำบากทั้งการเดินทาง การเป็นอยู่ที่เลวร้าย และความเครียดอย่างสูง จำกัด พลางกูร วัย 28 ปี ก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมืองจุงกิง แพทย์ชาวแคนาดาลงความเห็นว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ และกะเพราะอาหาร แต่ก็มีความสงสัยในหมู่เจ้าหน้าที่สืบราชการลับของอังกฤษและอเมริกา ว่าเขาอาจถูกวางพิษโดยฝ่ายจีน หรือฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุทธศาสตร์และนโยบายฝ่าวิกฤติสร้างรัฐสังคมประชาธิปไตย

Posted: 19 Aug 2013 08:54 AM PDT

สถานการณ์ล่มสลายของสังคมและประเทศไทย

ด้านเศรษฐกิจ

ระบอบเศรษฐกิจแบบทุนผูกขาดสามานย์ โดยบริษัทใหญ่ที่สุด 10 % แรกของบริษัททั้งประเทศ มีสัดส่วนรายได้สูงสุด 60 % ของรายได้บริษัททั้งหมดในประเทศ และถ้าดูบริษัทใหญ่ที่สุด 20 % แรกของบริษัททั้งประเทศ จะมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 90 % ของรายได้ของบริษัททั้งหมดในประเทศ และบริษัทใหญ่ที่สุดร้อยละ 20 ในตลาดหุ้น โดยที่ผู้ถือหุ้นต่างชาติและบริษัทโนมินีต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 50 เช่น ธนาคารทั้งหลาย

http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000010676701.JPEG

ช่วงของรัฐบาลทักษิณ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่มีน้ำหนักต่อฐานะเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทรัพย์สินของประเทศไทยกลับตกเป็นของต่างชาติมากขึ้น

ทรัพย์สินก้อนใหญ่ที่สุดของแผ่นดิน คือ ป.ต.ท. จึงทำการการแปรรูป ป.ต.ท. (PTT)ก่อน โดยนำ เข้าตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2001 หลังทักษิณเป็นรัฐบาลได้ 10 เดือน การซื้อขายปตท.วันแรก SET index อยู่ที่ระดับ 305.25 จุด ปตท.ปิดที่ 35.75 บาท โดยเลือกช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์มีดัชนีต่ำที่สุด เพื่อจะมีข้ออ้างขายหุ้น ป.ต.ท.ในราคาถูกๆเหมือนได้เปล่า แล้วแบ่งสรรปันส่วนกันกินรวบทั้งในนามจริง และผ่านกองทุนนอมินีต่างชาติ(NVDR) โดยขายหุ้นทั้งหมดภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที

การแปรรูป บริษัท ป.ต.ท.( PTT)ซึ่งเป็นทรัพย์สินของคนไทยทั้งชาติเป็นเจ้าของทรัพยากรแผ่นดิน โดยที่หุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหุ้น มี Market capitalization กว่า 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 50% ของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ถ้าเป็นเจ้าของปตท. 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับมีทรัพย์สินเท่ากับงบประมาณแผ่นดิน 10-20 เปอร์เซ็นต์ รับปันผลอีกปีละ 3-6 พันล้านบาท


http://mpics.manager.co.th/pics/Images/556000010676708.JPEG

มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน(ประชาชน)ตามมา(การผ่านกฎหมายให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ  การแปรรูป ป.ณ. ไฟฟ้า ประปา การทางพิเศษ)  เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เข้าซื้อขายวันที่13 มีนาคม 2004 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (TOP) เข้าซื้อขายวันที่16 ตุลาคม 2004 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (MCOT) เข้าซื้อขายวันที่17 พฤศจิกายน 2004

ด้านสังคม

ระบบผูกขาดทำให้ค่าครองชีพและรายจ่ายทุกด้านสูง ประชาชนส่วนใหญ่จึงยากจน  มีมาตรฐานการดำรงชีวิตต่ำ   มีหนี้สินต่อครัวเรือนสูง ช่องว่างคนรวย คนจนห่างมาก               ในภาพรวมครัวเรือนที่มีหนี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ  ตั้งแต่ปี 2543  ถึง 2547 จากร้อยละ 56.3 เป็น 66.4  แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2552 จากร้อยละ 64.4 เป็น 60.9  แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2543  ถึง 2552  คือ จาก  68,405  เป็น 134,699 บาท

ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ระบุว่ารายได้รายจ่ายและหนี้สิน พ.ศ.2554 มีดังนี้

รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือน 23,236 บาท  ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือน 17,403 
• หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่มีหนี้สิน 241,760 บาท 

อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยและพบว่า  ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสูง หากดูตัวชี้วัดเรื่องความมั่งคั่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) แสดงข้อมูลปี 2549 เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัวไทยกลุ่มต่างๆ พบว่า ครอบครัวกลุ่มรวยที่สุด ร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 69 ของทั้งประเทศ ขณะที่ครอบครัวจนสุด ร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกัน แค่ร้อยละ 1 แสดงถึงความมั่งคั่งกระจุกตัว 

การถือครองทรัพย์สินและที่ดิน โดยการสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในใจกลางเมืองทุกจังหวัด   การผูกขาดทางธุรกิจ  การผูกขาดดด้านการตลาด ด้านการส่งออก  ด้านการเงินตกอยู่ในหมู่คนรวยจำนวนร้อยละ 1 ของประเทศ  ร่วมกับกลุ่มทุนผูกขาดโลก  เช่น กรณีห้างเทสโก้ บิ๊กซี  ชนชั้นกลางถูกทุนผูกขาดทำลายให้กลายเป็นลูกจ้างหรือ คนจน  ข้าราชการและนักการเมืองกลายเป็นนายหน้าหากินกับค่าคอมมิชชั่น ค่าหัวคิว รับเงินใต้โต๊ะ ด้วยการรับใช้ทุนผูกขาด ทุนขุนศึก ทุนศักดินาและทุนจักรพรรดิเนิยมจับมือกันแบ่งพื้นทีทางธุรกิจ ผ่านตัวแทนในพรรคการเมือง ในสภา และข้าราชการผูกขาดการทำธุรกิจ เช่นด้านการเงิน การธนาคาร ด้านเปโตรเคมี ด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรมเหล็ก  ซีเมนต์ และอุตสาหกรรมการก่อสร้าง รวมทั้งบริษัทก่อสร้าง เป็นต้น 

         รายงานของนิตยสารฟอร์บส์ปี 2551 รายงานว่ามหาเศรษฐีไทยจำนวน 5 ตระกูล ถือครองทรัพย์สินคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินและคิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพี คือมีทรัพย์สินรวมกันเป็นเงิน 465,800 ล้านบาท

ส่วนตระกูลเศรษฐี 5 อันดับถัดไปมีทรัพย์สิน 127,330 ล้านบาท น้อยกว่า 5 อันดับแรก 3.65 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงการกระจุกตัวของทรัพย์สินแม้แต่ในหมู่เศรษฐีด้วยกันเองก็ยังมีช่องว่างห่างกันถึง 3.65 เท่า

เมื่อรวมทรัพย์สินของคน 10 ตระกูลเข้าด้วยกันจะมีทรัพย์สินรวมมากถึง 593,130 ล้านบาท 

อุดมการณ์แห่งชาติ

ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนอมโรค ที่มีอาการป่วยรอบด้านตั้งแต่เป็นไข้ปวดหัว ตัวร้อน ความดันดันโลหิตสูง  เบาหวาน และมะเร็ง(ปัญหาทางโครงสร้าง)  อุดมการณ์ประชาธิปไตยอันสูงส่งถูกกลไกและกระบวนการที่ฉ้อฉลซ่อนเงื่อนผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบธุรกิจการเมือง กลายพันธ์เป็นระบอบประชาธิปไตยสามานย์  โดยที่งบประมาณและทรัพยากรของแผ่นดินกลายเป็นก้อนเนื้อก้อนใหญ่ที่นักการเมืองกระโดดเข้ามาแบ่งสรรกันกินรวบ   การแก้ปัญหาสังคมไทยจึงต้องแก้อาการที่หนักที่สุดข้างต้นก่อน คือ โรคมะเร็ง ด้วยวิธีผ่าตัด ใช้รังสี หรือ เคมีบำบัดอย่างเด็ดขาด  ด้วยการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ประชาชนลงประชามติ โดยที่เนื้อหารัฐธรรมนูญได้วางรากฐานการ สร้างรัฐสังคมประชาธิปไตย ( Social Democracy) ซึ่งเป็นการปฏิวัติทางโครงสร้างบนพื้นฐานที่ยึดหลักความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมและประเทศชาติ รวมทั้งการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายเหนือผลประโยชน์ส่วนบุคคล   ปฏิเสธระบบทุนนิยมเสรีใหม่( Neo Liberal  Economic ) โดยมีแนวคิดการปฏิรูปดังนี้

  ด้านการเมือง

1.ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง โดยการเลือกนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรี ประธานศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกา  และผู้ว่าราชการจังหวัดทางตรง(ระบบประชาธิปไตยทางตรง)

2.กระจายอำนาจสำนักงานตำรวจแห่งชาติสู่ท้องถิ่น โดยการเลือกตั้งผู้กำกับการตำรวจทุกจังหวัด

3.กำหนดให้มีสภาเดียวทำหน้าที่นิติบัญญัติ โดยมีสมาชิกสภาราษฎรจังหวัดละ 2 คน โดยเลือกแบบรวมเขต

4.นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยใช้รัฐธรรมนูญของประเทศเวเนซูเอลลาเป็นต้นแบบ

5.ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกให้ทหารเป็นทหารของประชาชน ส่งเสริมให้ทหารผลิตอาวุธใช้เองเพื่อการพี่งตนเองและเพื่อประหยัดงบประมาณ  ลดการคอรัปชั่น

ด้านเศรษฐกิจ

1.สร้างระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองคู่ขนานระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมแบบประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ส่งเสริมธุรกิจ   SME  พึ่งกำลังซื้อภายในประเทศเป็นด้านหลักเพื่อสร้างอาชีพ และสร้างงานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ลดและเลือกสรรการลงทุนทางตรง (FDI)จากต่างประเทศที่ไม่สร้างปัญหาในระยะยาวต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งผลิตอาหาร รวมทั้งด้านการใช้พลังงานที่รัฐต้องลงทุนจัดให้  จัดระบบโซนนิ่งภาคอุตสาหกรรมแยกออกจากภาคการเกษตรเป็นรายจังหวัด จังหวัดที่ผลิตอาหารจะต้องห้ามไม่ให้มีอุตสาหกรรมหนัก   ควบคุมและจำกัดระบบผูกขาดด้านการค้าและด้านการเงิน

2.ส่งเสริมและซื้อคืนรัฐวิสาหกิจ และการให้สัมปทานภาคเอกชนในกิจการที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ โดยไม่มุ่งค้ากำไรจากประชาชน เช่น ด้านพลังงาน ไฟฟ้า ประปา และการคมนาคมขนส่ง  ระบบทางด่วนและทางพิเศษ รวมทั้งระบบการศึกษา

3.ปฏิรูประบบภาษีอากรให้เป็นธรรม โดยใช้ระบบของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและประเทศอียูเป็นบรรทัดฐาน โดยเน้นภาษีทางตรง อันได้แก่ ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า(ตามจำนวนที่ถือครอง) ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก

4.ปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองให้ผู้ผลิตที่แท้จริงอย่างในประเทศเวียดนาม (ที่ดินเป็นของผู้ไถหว่าน)

5.ส่งเสริมสหภาพแรงงานและสหกรณ์ของเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีศักยภาพและประสิทธิภาพอย่างประเทศอิสราเอล

6.พัฒนา ปฏิรูป และปฏิสังขรณ์โบราณสถาน และวัดวาอารามให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมชมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และกระจายไปสู่ชุมชนรอบๆพื้นที่เหมือนในประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลีซึ่งมีรายได้จากนักท่องเที่ยวจำนวนปีละ ไม่ต่ำกว่า  30 ล้านคน ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงาน และนำรายได้เข้าประเทศมากกว่าการส่งสินค้าออกหรือการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเสียอีก

ด้านสังคม

1.ส่งเสริมระบบประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ให้หลักประกันกับนายแพทย์ และพยาบาลให้มีรายได้ที่เหมาะสมและมีชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรม(โดยใช้รายได้จากทรัพยากรพลังงานของชาติ อย่างเช่นประเทศเวเนซูเอลลาดำเนินการ  หรือในประเทศอียู

2.จัดระบบการศึกษาให้เข้าถึงอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ราคาถูก หรือฟรีอย่างประเทศเยอรมัน และยกเลิกหนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อการศึกษา โอนสถาบันการศึกษาทุกแห่งรวมทั้งทรัพย์สินกลับคืนมาเป็นของรัฐ (โดยใช้รายได้จากทรัพยากรพลังงานของชาติ อย่างเช่นประเทศเวเนซูเอลลาดำเนินการ)

3.สร้างที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ(อพาร์ตเม๊นท์)ให้คนจนอย่างทั่วถึง โดยใช้เงินภาษีทางตรงที่เก็บจากอัตราก้าวหน้า

4.ปฏิรูปสถาบันศาสนาของทุกศาสนา  ตรวจตราการใช้ประโยชน์ธรณีสงฆ์และ ทรัพย์สินของวัดให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และท้องถิ่นในรอบๆอาณาเขตของวัด

5.สร้างระบบสวัสดิการสังคมทั่วด้านอย่างเดียวกับกลุ่มประเทศอียู  ประกันการว่างงาน จ้างชาวบ้านและชาวเขาปลูกป่าและดูแลป่า

6.ปฏิรูประบบกฎหมายอาญาให้เหมาะสมกับโทษที่เป็นภัยต่อสังคม โดยไม่มีการลดหย่อนโทษ โดยเฉพาะคดียาเสพย์ติด คดีฆ่าข่มขืน ควรมีโทษประหารชีวิตโดยไม่มีการลดหย่อนโทษ  ปฏิรูปทัณฑ์สถานให้เป็นฐานการผลิต

7.ลดราคาค่าโดยสารทุกประเภทอย่างเช่นประเทศจีน ซึ่งค่าโดยสารรถใต้ดินเก็บเพียง 2 หยวน หรือ  10 บาทต่อเที่ยว  ไปได้ทั่วปักกิ่ง และต่อได้ทุกสาย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นไปและหัวใจของ Self -determination: มุสลิมโมโรและชนพื้นเมืองในมินดาเนา

Posted: 19 Aug 2013 08:34 AM PDT

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตอนใต้ของฟิลิปปินส์กับภาคใต้ของประเทศไทยมีความใกล้เคียงกันในหลายเรื่อง จนกระทั่งมีผู้นิยมศึกษาเปรียบเทียบทั้งสองกรณีนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะนอกจากลักษณะพื้นฐานของปัญหาแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งผ่านกระบวนการสันติภาพก็มีความใกล้เคียง ประเด็นล่าสุดที่มีการหยิบยกเรื่อง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ขึ้นมาพูดถึงจากข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ก็ยิ่งทำให้ภาพเปรียบเทียบกับกระบวนการสันติภาพที่ "บังซาโมโร" แจ่มชัดขึ้น

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่ดำเนินมากว่า 4 ทศวรรษระหว่างกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front- MNLF) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro Islamic Liberation Front- MILF ) และรัฐบาลฟิลิปปินส์นั้นมีประเด็นสำคัญที่เป็นข้อขัดแย้งอยู่ที่การที่ชาวมุสลิมทางตอนใต้ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ที่สุดต้องการอำนาจในการปกครองตนเอง (Political autonomy) แม้รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยอมรับให้มินดาเนามีฐานะเป็นเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region in Muslim Mindanao-ARMM)ในช่วงทศวรรษที่ 1990  แต่สถานะการยอมรับในเชิงโครงสร้างของเขตปกครองตนเองดังกล่าวยังไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐบาลเข้าใจและเข้าถึงความหมายของการปกครองตนเองอย่างแท้จริง

ในขณะที่ความหมายของคำว่า Self – determination (การกำหนดชะตากรรมตนเอง) ยังมีช่องว่างต่อการให้ความหมายและนัยยะสำคัญทางการเมืองท่ามกลาง กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ทั้งในชาวมุสลิมโมโร ชนกลุ่มน้อยต่างๆ และรัฐบาลฟิลิปปินส์ ดังนั้นการทำความเข้าใจต่อที่มาที่ไปและสาระสำคัญในประเด็นของ Self- determination จึงมีความหมายต่อการทำความเข้าใจอนาคตของบังซาโมโร (Bangsamoro) ในฐานะที่เป็นหน่วยทางการปกครองทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ รัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF มีการเซ็นสัญญาข้อตกลงสันติภาพ (Framework Agreement on the Bangsamoro : FAB)  ในช่วงตุลาคม เมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา (ดูคำแปลของเอกสารดังกล่าว เปิดข้อตกลง 'บังซาโมโร' ฉบับแปลไทย)

http://www.newagebd.com/newspic/582cf26a01dbcf1b6f5a4f5c1ca3375020121015.jpg

การต่อสู้ของชาวโมโร

เมื่อกล่าวถึงการต่อสู้ของชาวโมโรซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่เมื่อห้าร้อยปีก่อนเพื่อต่อต้านอาณานิคมสเปนที่กำลังเข้าครอบครองดินแดนมินดาเนา ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง  แม้สเปนจะสามารถควบคุมดินแดนหลักของมินดาเนาได้ แต่ยังไม่สามารถเข้าครอบครองดินแดนหลักที่มีสุลต่านปกครอง เพราะมีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการครอบงำของเจ้าอาณานิคม ในการดึงเอาชาวโมโรและชาวพื้นเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น การต่อสู้ดังกล่าวก่อให้เกิดชนชั้นในโครงสร้างทางสังคม  เศรษฐกิจ การเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากสเปน โดยลูกหลานของชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกส่งให้ไปเล่าเรียนในต่างประเทศ ได้รับเอาแนวความคิดได้ความคิดแบบตะวันตกเข้ามาต่อสู้เข้าอาณานิคม ในเวลาเดียวกันก็เกิดนักต่อสู้ชาวโมโรทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์

ในปี 1898 ผลของสนธิสัญญาปารีส ทำให้สเปนขายดินแดนอเมริกาและรับช่วงต่อในการครอบครองฟิลิปปินส์ การต่อสู้ของชาวโมโรยังดำเนินต่อไปเคียงข้างกับฝ่ายที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา กล่าวคือสุลต่านของดินแดนมากินดาเนาและซูลู สนับสนุนพวก Katipunan  ฝ่ายคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมในช่วงแรก  อย่างไรก็ตาม พลวัตทางการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างอำนาจของสหรัฐอเมริกา เมื่อฟิลิปปินส์มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 1935 ตัวแทนของมินดาเนา และซูลู ก็เข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจใหม่ของรัฐบาล

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ก็กำเนิดขึ้น สิ่งที่สหรัฐอเมริกาวางรากฐานไว้ก็เกิดผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ในทางกลับกันสหรัฐอเมริกาก็ได้รับประโยชน์ในเรื่องของสินค้าส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการโยกย้ายประชากรทางตอนเหนือตอนกลาง ให้อพยพลงมาทางตอนใต้ของประเทศเพื่อที่จะจัดสรรที่ดินให้  นอกจากนี้การจัดการศึกษาและศาสนายิ่งทำให้ชาวโมโรและชาวพื้นเมืองอื่นๆ ถูกจำกัดอำนาจลงไปด้วย 

ในปี 1968 เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน หรือ MIM  (Mindanao Independence Movement) นำโดย Nur Misuari ซึ่งเป็นแกนนำรุ่นหนุ่มสาวในเวลานั้น และการลุกฮือของผู้นำทางการเมืองท้องถิ่น อย่าง Jose Maria  แกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์  เมื่อกล่าวถึงขบวนการของ Nur Misuari  ในเบื้องต้นนั้น พวกเขามีสายสัมพันธ์และได้รับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิม เช่น ลิเบีย หรือ ซาอุดิอาระเบีย แต่พอมาช่วงหลัง การสนับสนุนจากต่างประเทศน้อยลง  การเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกชักนำโดยการเมืองกระแสหลักของรัฐบาลมากขึ้น  เป็นผลให้ในเวลาต่อมาอำนาจของสุลต่านมากินดาเนาและซูลูก็อ่อนแอลง  

http://www.gulf-times.com/NewsImages/2013/7/30/7a7f9c39-cf31-4b88-9a73-04157c93b349.jpg

เมื่อ ปี 1969  Nur Misuari ก่อตั้งขบวนการ MNLF ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่โดดเด่นขึ้นมา MNLF มีส่วนอย่างมากในการเคลื่อนไหวของชาวโมโร ในการต่อสู้กำหนดชะตากรรมของตัวเองต่อไป  ซึ่งอยู่ภายนอกโครงสร้างของการเมืองแบบปกติ

ความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นในกลุ่ม MNLF  ทำให้ MILF แยกตัวออกมา แต่เป้าหมายของ MILF ในช่วงนั้น คือ ยังคงต้องเป็นเอกราชจากฟิลิปปินส์ (political secession)  ด้วยเหตุผลที่ว่าถูกยึดครอบโดยเจ้าอาณานิคมมะนิลา (manila colonialism)  ในช่วงเวลานั้น MILF ได้รับการสนับสนุนจากชาติที่เป็นสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of the Islamic Conference- OIC)  ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาวุธ และการช่วยเหลือในรูปแบบที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1972  เมื่อประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มากอส ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อที่จะกดดันกลุ่ม MILF และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์  (The Communist Party of the Philippines - CPP)  เพื่อที่จะต่อสู้กับรัฐบาลลางเหมือนกัน  และแม้ในช่วงทศวรรษนี้จะมีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลและ MNLF แต่มักจะประสบความล้มเหลว

MILF และชนพื้นเมืองในการต่อสู้เพื่อการกำหนดชะตากรรมตนเอง

ในแง่ของการให้ความหมายของการต้อสู้ในเชิงอุดมการณ์ของกลุ่ม MNLF พวกเขาเน้นในแง่ของแนวคิดอุดมการณ์อิสลาม ผสมแนวคิดแบบชาตินิยม และแนวคิดโลกย์วิสัย (Secularism) ซึ่งคล้ายแนวความคิดของเหล่าชาติมุสลิมที่เป็นสมาชิกขององค์กร OIC  ส่วนในแวดวงของกลุ่ม MILF ได้เข้าเป็นสมาชิกและรับเอาแนวความคิดของกลุ่มภารดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)  ที่มีต้นกำเนิดในอียิปต์ ที่พวกเขามีความเชื่อมั่นอยู่ โดยเริ่มจากการที่พวกเขารวบรวมกลุ่มโมโรทั้ง 13 กลุ่มชาติพันธุ์  

http://www.interaksyon.com/assets/images/articles/interphoto_1331459527.jpg

MILF นิยามถึงบังซาโมโรว่าเป็นการรวมเอากลุ่มผู้อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมที่อาศัยอยู่ในดินแดนมินดาเนา รวมทั้งกลุ่มชนของหมู่เกาะต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น Palawan และ  Sulu  อีกทั้งลูกหลานของพวกเขาทั้งเลือดผสมและเชื้อสายแท้ แต่เป็นที่น่ากังวลว่าการรวมเอาความเป็นบังซาโมโรอย่างผิวเผินแสดงให้เห็นถึงแง่มุมในเชิงของกลไก มากกว่าการเผยให้เห็นถึงประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่อิงอยู่กับการบรรลุผลด้วยกระบวนการทางการเมือง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง MILF ยังไม่ได้พิจารณาจะรับกลุ่มหรือปัจเจกชนอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติหรือที่ร่วมต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยบังซาโมโร  การอธิบายที่ดูผิวเผินดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า MILF ยังไม่ได้มีการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองอื่นๆ ว่ามีอัตลักษณ์เฉพาะมีประวัติศาสตร์และมีบรรพบุรุษที่เป็นของตนเอง แต่ในมุมมองของ MILF ชนพื้นเมืองดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบังซาโมโรทั้งหมด

แต่หากพิจารณาตามบริบทของการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ กลุ่มชนส่วนใหญ่ของมินดาเนาประกอบไปด้วยชาวโมโร ชนกลุ่มน้อยหรือ Lumads  ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวคริสต์  รวมทั้งกลุ่มชนที่อยู่บนหมู่เกาะใกล้เคียง ซึ่งต่างต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปลดปล่อยตนเองทั้งจากความโลภของทุนนิยมโลกและคนในท้องถิ่นเพราะพวกเขาต่างทนทุกข์ต่อปัญหาเดียวกัน กระนั้น พวกเขาก็ไม่เคยเข้าถึงความเป็นเอกภาพหรือเป็นหนึ่งเดียวกันเลย ในความเป็นจริงแล้ว ความแตกต่างของพวกเขาถูกแบ่งแยกโดยตลาดทุนของโลกและหุ้นส่วนในระดับท้องถิ่น เสมือนว่าพวกเขาเป็นแรงขับสำคัญในตลาด ดังนั้นการต่อสู้ของกลุ่มชนเหล่านี้เอง ควรที่จะทำความเข้าใจในบริบทของประวัติศาสตร์ และบริบทที่เน้นถึงความเป็นจริง

แม้การที่รัฐบาลให้มินดาเนามีฐานะเป็นเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (ARMM)  แต่การแก้ไขปัญหาจากกรอบของรัฐชาติดังกล่าว ยังนำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยกมาเป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ด้วยแนวทางแบบประชาธิปไตยในการกำหนดชะตากรรมของตนเองหรือ Self determination  ในรูปแบบที่เหมาะสม ยังคงจะต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป  ทั้งจากฝ่าย MILF และชนพื้นเมือง

จาก ARMM สู่กรอบข้อตกลงบังซาโมโร

การก่อตั้ง ARMM ที่เป็นผลจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MNLF สมัยรัฐบาลต่างๆ ในปี 1976  1989  และ1996  ยังมีความล้มเหลวในการนำเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา หรือ ARMM มาประยุกต์ใช้   ต่อมาเมื่อ MILF ร่วมกับ OIC เพื่อสานต่อในเรื่องของการแก้ไขโดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลาง แต่ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเชิงของรูปแบบ ยังไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงเนื้อหาและจุดยืนที่อิงอยู่กับฝ่ายรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเนื้อหาหมายความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ออกนอกกรอบซึ่งกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบข้อตกลงบังซาโมโร  

ARMM  ไม่ได้เกิดขึ้นมากจากการเจรจาสันติภาพ (peace negotiation) และยังถูกคว่ำบาตรจากกลุ่ม MILF มาโดยตลอด ซึ่งต่างจากกรอบข้อตกลงบังซาโมโรใหม่ที่ตั้งอยู่บนหลักการของการตัดสินใจ 24 ข้อ ที่เป็นรูปแบบของการปกครองในแบบของทบวง (ministerial form of government) ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2006 ในสมัยประธานาธิบดี เบนนิกโน อากีโนที่สาม เมื่อรัฐบาลฟิลิปปินส์มีข้อเสนอให้กับ MILF เกี่ยวกับเรื่องของการกำหนดชะตากรรมตนเอง เพราะในอดีตรัฐบาลมักปฏิเสธการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวโมโรเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนที่เป็นของบรรพบุรุษ กรอบข้อตกลงใหม่นี้เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและ MILF แม้ในรายละเอียดการกำหนดชะตะกรรมตนเอง ยังไม่ได้มีการแจกแจงรายละเอียด แต่ในโครงฉบับร่างมีการกำหนดตัวแบบแล้วเรียบร้อย เช่น ขยายดินแดน การปกครองตัวเอง การมีกฎบัตรของชาวโมโรและการสร้างพลังจากรายได้ทางภาษีให้มากยิ่งขึ้น

http://www.gov.ph/images/uploads/bangsamoro-1024x723.jpg

ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่บังซาโมโรนี้ ดินแดนบังซาโมโรขยาย จาก ARMM ซึ่งมีชาวโมโรเป็นคนส่วนใหญ่ได้แก่ จังหวัดของ ARMM เดิม คือ Basilan, Sulu, Tawi-tawi, Maguindanao, Lanao del Sur และเมืองหลวงของ Marawi กับ Lamitan; หกเมืองของจังหวัด Lanao del Norte  ที่ได้รับการลงประชามติให้รวมอยู่ใน ARMM  เมื่อปี 2001 คือ  Baloi, Munai, Nunungan, Pantar, Tagoloan และTangkal;หมู่บ้านเขตปกครองท้องถิ่น Aleosan, Carmen, Kabacan, Midsayap, Pigcawayan and Pikit ใน North Cotabato ได้รับการลงประชามติให้รวมอยู่ใน ARMM  เมื่อปี 2001; เมืองหลวงของ Cotabato and Isabelai ใน Basilan; และดินแดนใกล้เคียงต่างๆ ที่สามารถมีผู้เลือกตั้งได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ จะมีการรวมเข้ามาก่อนที่จะมีการให้สัตยาบันต่อกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ในการนี้ภาคีทั้งสองจะทำงานร่วมกันการสร้างความยอมรับของกฎหมายบังซาโมโรอย่างเป็นทางการที่ทำงานโดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน

ส่วนชนพื้นเมืองก็เข้ามามีส่วนร่วมทั้งกับรัฐบาลและ MILF ในกรอบข้อตกลงนี้ ซึ่งมีการระบุถึงสิทธิของชนพื้นเมืองไว้ในมาตราที่ 1 (5) มาตราที่ 3 (6) มาตราที่ 6 (3) ว่าพวกเขาจะมีอัตลักษณ์ร่วมในการเป็นคนบังซาโมโร ในฐานะที่เป็นชนพื้นเมืองหรือผู้พำนักอาศัยดั้งเดิมของมินดาเนาและหมู่เกาะซูลู รวมทั้งหมู่เกาะที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทั้งลูกผสมหรือสายเลือด อีกทั้งเสรีภาพในการเลือกของชนพื้นเมืองอื่นๆ จะได้รับการเคารพ และจะถูกนำขึ้นมาในระบบยุติธรรมของบังซาโมโร ซึ่งเป็นการยอมรับในกระบวนการแบบชนพื้นเมือง เพื่อเป็นทางเลือกในการยุติข้อพิพาท

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่จาก ARMM มาสู่บังซาโมโร ได้มีการเปลี่ยนแปลงในกลไกและโครงสร้างทางการเมืองใหม่ในมุมมองที่กว้างขึ้นในพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความจำเพาะเจาะจง และเน้นไปที่ความสำคัญของเป็นพหุนิยม ชีวิตและอนาคตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่มุ่งแต่การรักษาสถานภาพทางการเมืองของกลุ่ม MILF ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเหมือนตอนที่ MNLF เซ็นสัญญาสันติภาพและมีการก่อตั้ง ARMM ผลที่เกิดขึ้นคือ  MNLF มีความต้องการรักษาสถานะทางการเมืองของตนเองเอาไว้

ประเด็นหลักในการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและเนื้อหาจาก ARMM สู่บังซาโมโร เนื่องจากว่าเดิมพื้นที่แห่งนี้ไม่มีความเป็นอิสระทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อที่จะมีวาระทางเศรษฐกิจที่เป็นของตนเองและปลดปล่อยตัวเองจากเศรษฐกิจที่ยึดแต่เศรษฐกิจส่วนกลางของประเทศ กรอบทางด้านการจัดการทางเศรษฐกิจนี้เป็นตัวสำคัญในการกำหนดการกำหนดชะตากรรมตนเอง ซึ่งไม่ได้มีแง่มุมทางการเมืองอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของกระบวนการทางประชาธิปไตยด้วย  

ประธานาธิบดีอากีโน เน้นย้ำว่าการที่จะสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในมินดาเนา จะนำมาเปลี่ยนแปลงความคิดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ รวมทั้ง MILF ไม่ต้องการที่จะทำการแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป  จากที่มุ่งแต่จับปืนขึ้นต่อสู้มาสู่การที่พวกเขาใช้ได้ประโยชน์จากที่ดิน ค้าขายสินค้า และเปิดโอกาสต่างๆ ให้กับผู้คน อย่างไร อำนาจในการป้องกันประเทศและความมั่นคง การต่างประเทศ นโยบายทางการเงินและเงินตรา ความเป็นพลเมืองและการกลับคืนสู่ภาวะที่เป็นปกติยังคงอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ส่วนกระบวนการทางรัฐธรรมนูญและทางกฎหมายจะต้องมีการดำเนินต่อไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่บังซาโมโร  ข้อตกลงดังกล่าวนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับชาวฟิลิปปินส์ได้ว่าท่ามกลางการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ประเทศยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชาวฟิลิปปินส์แห่งบังซาโมโรดังจะได้รับการรับประกันในเรื่องของความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บภาษี  รายได้ และดอกผลต่างๆ ที่มาจากดินแดนแห่งนี้

http://opinion.inquirer.net/files/2012/10/bangsamoro.jpg

โดยสรุปแล้ว การสร้างและกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนกลุ่มชาวโมโร และ MILF เป็นพื้นฐานในเรื่องของการบรรลุถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในการเคารพประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่อย่างเช่นชนกลุ่มน้อยต่างๆ การกำหนดชะตะกรรมของดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวโมโรจะต้องนำไปใช้โดยปราศจากการฆ่า การต่อสู้ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะในดินแดนแห่งนี้ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ส่วนในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและ MILF ก็จำเป็นต้องสนับสนุนเหล่าชนพื้นเมืองในการต่อสู้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงยุติความรุนแรงที่กระทำต่อกันเท่านั้น สันติภาพที่แท้ไม่อาจจะบรรลุถึงความสำเร็จ หากสิทธิทางการเมืองไม่ได้รับการเคารพและความไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่ในทางสังคม สิ่งเหล่านี้อาจเป็นบทเรียนให้กับเราในกรณีชายแดนใต้ก็เป็นได้

 

 

 เอกสารอ้างอิง

Carolyn O. Arguillas, From RAG to ARMM to Bangsamoro: Salamat Hashim would have approved of Bangsamoro's proposed territory,  http://www.mindanews.com/peace-process/2012/10/11/from-rag-to-armm-to-bangsamoro-salamat-hashim-would-have-approved-of-bangsamoros-proposed-territory/

Mindanews, 'Bangsamoro' to replace ARMM by 2016http://mpc.org.ph/index.php?option=com_content&view=article&id=247:bangsamoro-to-replace-armm-by-2016&catid=65:countdown-to-peace&Itemid=138

Rizal G. Buendia, "Looking into the Future of Moro Self-Determination in the Philippines" inPhilippine Political Science Journal, 29, (52), 2008.

Chandra Muzaffar, STRUGGLES FOR SELF DETERMINATION IN THE PHILIPPINES,http://www.just-international.org/index.php?option=com_content&view=article&id=585:struggles-for-self-determination-in-the-philippines&catid=145:nov&Itemid=60

 

ที่มาภาพประกอบ

http://www.newagebd.com
www.gulf-times.com
www.interaksyon.com
www.gov.ph
opinion.inquirer.net

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความจริงใจของนายกรัฐมนตรี กรณีจัดตั้ง สภาปฏิรูปการเมือง?

Posted: 19 Aug 2013 08:15 AM PDT

เมธา มาสขาว คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35 เสนอรบ.ยิ่งลักษณ์ นำข้อเสนอ คอป.มาดำเนินการทันที

จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ โดยผ่านการรับรองวาระแรกจากรัฐสภาไปแล้วนั้น ในชั้นกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติกฎหมายดังกล่าว คาดว่ารัฐบาลคงจะนำร่างกฎหมายหลายส่วนผสมเข้าด้วยกันจากกฎหมายปรองดองที่ยังคงค้างอยู่หลายฉบับ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อนิรโทษกรรมแกนนำทางการเมืองทุกกลุ่ม รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการล้างคดีทุจริตของตนเอง หรืออาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมและกฎหมายปรองดองฉบับอื่นๆ

ขณะที่ญาติผู้เสียหายในเหตุการณ์ปี 2553 บางส่วน ได้เสนอร่างกฎหมายของตนเองขึ้นมาเพื่อให้สังคมพิจารณาว่า จะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่ทำเกินกว่าเหตุในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาปี 53 และคัดค้านกฎหมายอื่นที่อนุญาตให้มีการนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าว และดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่ได้ตั้งใจให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนตั้งแต่แรก หากไม่พ่วงเอาแกนนำ รวมถึงคุณทักษิณไว้ด้วย จึงปล่อยเรื่องล่าช้ามากว่า 2 ปี ทั้งที่สามารถทำได้ตั้งแต่แรกๆ ที่เป็นรัฐบาล ผมมีความเห็นว่า ในชั้นการแปรญัตติกฎหมายดังกล่าว จะต้องไม่นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐและแกนนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามปกติเพื่อพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม ก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรมใดๆ ออกมาภายหลังก็ย่อมทำได้เพื่อให้เกิดความปรองดองในอนาคต

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ ยังมีถ้อยความบัญญัติคล้ายคลึงกับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 กรณีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ที่มีการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ทหาร จนไม่เกิดบทเรียนและบรรทัดฐานให้กองทัพเลิกยุ่งเกี่ยวทางการเมืองหรือนำกำลังเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของตำรวจ โดยร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ ระบุในมาตรา 3 ว่า "ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง...."  และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมฯ พ.ศ.2535 ได้ใช้ถ้อยคำว่า "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน..." ซึ่งคล้ายคลึงกัน ซึ่งในทางกฎหมายเมื่อกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 2535 ได้มีการฟ้องร้องเอาผิดต่อกองทัพ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนว่า "มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง" ดังนั้น เท่ากับว่า ถ้อยความในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมมะ มีการนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ทหารและทุกคนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองอย่างชัดเจน ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาล นำร่างกฎหมายของญาติผู้เสียหายในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ไปปรับใช้ และแปรญัตติถ้อยความเพื่อไม่ให้มีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ทหารและผู้กระทำความผิดโดยเด็ดขาด เพื่อรอกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป นอกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองและฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งคือนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลควรนำข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้เสนอทางออกไว้แล้ว ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองควรใช้หลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) และกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง เช่น การพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการตั้งข้อหาต่อผู้กระทำผิด อาทิ ข้อหาก่อการร้าย ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น และการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาทางการเมืองและกระทำผิดอาญาไม่ร้ายแรง ถือเป็นมาตรการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ต้องเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างมีการจัดตั้ง แต่เป็นการกระทำผิดในลักษณะจลาจล เพื่อนำข้อเสนอเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ดังกล่าวมาพิจารณาร่วม รัฐบาลควรหยิบยกข้อเสนอของ คอป. และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) มาพิจารณาและดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมต่อไปในการผลักดันการนิรโทษกรรมประชาชนตามหลักการดังกล่าว

การนิรโทษกรรมทางการเมืองทุกฝ่าย สามารถทำได้ในอนาคต เนื่องจากสังคมไทยยังเต็มไปด้วยความเมตตาและการให้อภัยกัน แม้ผู้สูญเสียจะเจ็บปวดจากเหตุการณ์ซึ่งรวมถึงทหารและตำรวจด้วย แต่ญาติผู้เสียหายต่างก็ร้องหาความเป็นธรรมของเหตุการณ์การและความจริงแห่งการสูญเสีย เพื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนต่อสาธารณะก่อนแล้วจึงนิรโทษกรรมภายหลังก็สามารถทำได้ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้ความจริงร่วมกัน เพื่อสร้างบรรทัดฐานของการชุมนุมของประชาชนในอนาคตว่าจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และเป็นบรรทัดฐานว่า จะต้องไม่มีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารอีกโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ จากการที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้ง "สภาปฏิรูปการเมือง" และจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ รวมถึงมีนโยบายเชิญผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมให้คำแนะนำนั้น ผมเห็นว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เคยเชิญH.E. Mr. Kofi Annan อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และ H.E. Mr. Martti Ahtisaari อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการสร้างความปรองดองในประเทศไทย และพบปะกลุ่มตัวแทนจากทุกภาคส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 แล้ว โดยมีคำแนะนำหลายอย่างต่อประเทศไทย และต่อมา คอป.ได้จัดทำข้อเสนอแนะออกมาแล้ว รวมถึง คอป.ยังเคยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศมาร่วมงาน เพื่อศึกษาและให้คำแนะนำต่อการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในสังคมไทยมากมาย อาทิ Ms. Priscilla Hayner ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาความจริงและความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน, N. Hassan Wirajuda, Ph.D. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศอินโดนีเซีย, Professor David Kennedy, Ph.D. อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา, Honorable Judge Dennis Davis อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประเทศแอฟริกาใต้ โดยประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้สนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้าร่วมงานกับ คอป. คือ Ms. Beatrice Schiffer, Ph.D. ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science Expert), Mr. Quentin Milliet ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายและวีดิทัศน์ (Visual Imagery Expert), Mr. Matthieu Glardon และ Mr. Fabiano Riva ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ รวมถึง United Nations Office on Drug and Crime (UNODC) ได้สนับสนุนให้ Mr. Steve Nash, Crime Scene Expert มาให้คำแนะนำในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง,  International Center for Transitional Justice (ICTJ) ได้ส่ง Mr. Ari Bassin ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ (Management Strategy Expert), United Nation Development Programme (UNDP) ได้ส่ง Mr. Samuel Gbaydee Doe, Ph.D. ที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ความขัดแย้ง (Advisor for Conflict Analysis) เข้าร่วมสนับสนุนการทำงานของ คอป. 

นอกจากนี้ยังมี Ms. Priscilla Hayner ที่ปรึกษาด้านการค้นหาความจริง (Truth Commission) สถาบันนานาชาติการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยุติธรรม สวิตเซอร์แลนด์ และ Mr. Howard Varney ที่ปรึกษาด้านการค้นหาความจริง สถาบันนานาชาติการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยุติธรรม แอฟริกาใต้ ได้มาแลกเปลี่ยนความเห็น และเสนอแนะความเห็นเพื่อวางกรอบการทำงานของ คอป. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี, Mr. Howard Varney และ Mr. Patrick Burgess ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหาความจริง (Truth Seeking and Management) จาก International Center for Transitional Justice (ICTJ) มาให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน นอกจากนี้ คอป. ยังได้เข้าพบ Gary Lewis ผู้แทนจาก United Nation Office on Drugs and Crimes (UNODC) เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ(crime scene expert), H.E. Christine Schraner Burgener เอกอัครทูตสวิสเซอร์แลนด์ประจำประเทศ,  ผู้แทนของ Centre for Humanitarian Dialogue (CHD), ผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย,  Mr. Tamrat Samuel ผู้แทนจาก United Nations Development Programme New York (UNDP), ผู้แทนจาก Centre of Humanitarian Dialogue (CHD), International Committee of the Red Cross (ICRC), เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย H.E. Mrs. Kristie Anne Kenney, เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย H.E. Sirpa Mäenpää, Mr. Frank La Rue ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the Promotion and Protection of the right to freedom of opinion and expression), คณะทูตจากสหภาพยุโรป (Delegation of European Union to Thailand), Mr. Francesc Vendrell อดีตนักการทูตชาวสเปนที่มีบทบาทในการส่งเสริมกระบวนการปรองดองในหลายประเทศ Mr. Michael Vatikiotis ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของ Centre for Humanitarian Dialogue (CHD), International Center for Transitional Justice (ICTJ) ได้ส่ง Mr. Patrick Burgess ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย และ Mr. Ari Bassin ผู้จัดการโครงการส่วนภูมิภาคเอเชียเพื่อเข้าร่วมในการฝึกอบรมคณะจัดทำรายงานอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง, คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC), Mr. Wolfgang Hüsken เจ้าหน้าที่โต๊ะที่รับผิดชอบ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย จากกระทรวงต่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, ผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (OHCHR) รวมถึงเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย H.E. Mr. Lutfi Rauf และคณะ เอกอัครราชทูต H.E. Heidi Tagliavini และ เอกอัครราชทูต H.E. Christine Schraner Burgener เข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ Truth Commission ในประเทศต่างๆ และ คอป. ได้จัดให้มี Focus Group Consultation Session ซึ่งได้เชิญคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศมากกว่า ๔๐ องค์กร เพื่อเสนอความคืบหน้าต่อองค์กรที่ได้ให้ความร่วมมือกับ คอป.

รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นความจริงใจในการปฏิรูปการเมืองที่เป็นรูปธรรมให้สังคมไทยและนานาชาติเห็นก่อน ผมเข้าใจว่า คุณยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติเร็วๆ นี้ หากไม่จัดกิจกรรมอะไรสักอย่างที่แสดงให้นานาชาติเห็นว่า ได้พยายามทำงานด้านปรองดองแล้ว ก็จะต้องเจอกับคำถามมากมาย โดยเฉพาะคำถามที่ว่า "ทำไมไม่ทำตามที่ คอป.เสนอ" เช่นเดียวกับที่ถูกองค์กรระหว่างประเทศ และนักการทูตในกรุงเทพฯ ถามอยู่เป็นประจำ

ดังนั้น รัฐบาลควรนำข้อเสนอของ คอป. ซึ่งได้เสนอทางออกและคำแนะนำไว้ไปดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องชะลอเวลา และนำข้อเสนอทุกอย่างไปพิจารณาในที่ประชุมสภาปฏิรูปการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็น ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการนำข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรากเหง้าของความขัดแย้งมาเป็นบทเรียนในการสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาปรับใช้ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย หลักธรรมาภิบาลและการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เป็นต้น เพื่อปฏิรูปสังคมการเมืองไปจากความขัดแย้งและสร้างการปรองดองที่แท้จริง มิเช่นนั้นแล้ว จะเป็นเพียงพิธีกรรมผักชีโรยหน้าของสภาปฏิรูปการเมือง และยังเป็นสภาปฏิรูปการเมืองที่ไม่มีฝ่ายคู่ความขัดแย้งเข้าร่วมแต่อย่างใด

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมร่วมรัฐสภาแก้ รธน.ที่มา ส.ว. 2 วัน เริ่มพรุ่งนี้ (20 ส.ค.)

Posted: 19 Aug 2013 07:43 AM PDT

 

19 ส.ค. 56 - เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่ห้องประชุม 3701 อาคารรัฐสภา 3 มีการประชุมวิป 3 ฝ่าย  ซึ่งไม่มีตัวแทนจากวิปฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุมตามที่ได้แถลงข่าวไว้ในช่วงเช้า ซึ่งการประชุมมีเพียงวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภา โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เป็นประธาน

นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยผลการประชุมร่วมกับวิปวุฒิสภา ว่า มติวิปทั้ง 2 ฝ่าย ระบุว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาจำนวน 2 วัน คือวันที่ 20 – 21 ส.ค. นี้ เวลา 09.30 – 22.00 น.และจะมีการถ่ายทอดผ่านช่อง 11 ในเบื้องต้น ไม่มีตัวแทนของวิปฝ่ายค้านมาร่วมประชุม แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะสามารถที่จะพูดคุยภายในห้องประชุมได้ โดยตนจะเป็นผู้ไปพูดคุยเอง  ส่วนที่มีความกังวลว่าจะอภิปรายจะยืดเยื้อไม่เสร็จภายใน 2 วันนั้น ตนขอรับไปดูหน้างานอีกที  แต่ที่ผ่านมาในวาระ1 ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามการประชุมจะยืดเยื้อหรือไม่ ก็จะขึ้นอยู่กับประธานในที่ประชุมด้วย โดยนายนิคม ในฐานะรองประธานรัฐสภา  รับปากว่าจะดูแลการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับและไม่ให้อภิปรายในประเด็นซ้ำซ้อน
 
"ผมยืนยันว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 20-21 ส.ค. นี้จะพิจารณาเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของ ส.ว.  เท่านั้น ไม่มีการลักไก่ หรือหยิบยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือมาตรา 68และ237 ขึ้นมาพิจารณา เบื้องต้นอีก 2 ฉบับยังไม่ได้หารือหรือกำหนดวันพิจารณา" นายอำนวย กล่าว
 
ปชป. จัด 80 ส.ส. อภิปรายจี้ประธานอย่าปิดกั้น เตรียมสอบถามปมแปรญัตติไม่ถูกต้อง
 
โพสต์ทูเดย์รายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ส.ส. พรรคว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถือการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 20 ส.ค.เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. โดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้เเปรญัตติจำนวนมาก และเมื่อพิจารรณาแล้วเห็นว่ามีญัตติที่ไม่ซ้ำประเด็นกันถึง 80 คน  จึงขอเรียกร้องให้ประธานในประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เเสดงเหตุผลชี้เเจงข้อดีเสียให้ประชาชนได้ทราบ และไม่มีเหตุใดที่จะปิดกั้น ซึ่งเชื่อว่าระยะเวลาเพียง 2 วันก็น่าจะพิจารณาเสร็จสิ้น หากรัฐบาลไม่ตีรวน
 
ท้ังนี้ ประชาธิปัตย์จะได้สอบถามถึงประเด็นระยะเวลาการแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ทั้ง 3 ฉบับที่ยังมีความสับสน เพราะการพิจารณาในวาระเเรก ประธานได้สั่งปิดประชุม ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบเเละไม่มีการลงมติว่าจะมีการแปรญัตติ 15 วัน ตามข้อบังคับหรือไม่   ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทักท้วงทำให้ประธาน ได้นัดประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย. เพื่อลงมติ ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าจะเริ่มนับวันเเปรญัตติได้ในวันไหน อีกทั้งประเด็นนี้กระทบกับสส.บางคนที่ขอแปรญัตติหลังจาก 15 วันหากนับตามที่ประชุมครั้งแรก​
 
นายชวนนท์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วมสภาปฎิรูปการเมืองจากนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ  รมช.เกษตรฯ 
 
"​พรรคขอย้ำว่ารัฐบาลต้องเลิกเเสดงละครทางการเมือง เพราะคนที่เชิญ และตอบรับเเล้วนั้นล้วนเเต่เป็นคนสนิทสนม ซึ่งประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่จะไม่เข้าร่วมหากรัฐบาลยังไม่ชะลอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไป"นายชวนนท์กล่าว​
 
 
"ประธานรัฐสภา" งัดข้อบังคับรับมือฝ่ายค้านป่วนถกแก้ รธน. อึกอักงบฯ ดูงาน ตปท.บานตะไท ท้าทุกหน่วยตรวจสอบ ด้าน"สุวิจักขณ์"ร้อน เตรียมจ้อออกทีวีแจงวีกหน้า
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 20 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะเสร็จใน 2 วันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงแต่ต้องระวังไม่ให้อภิปรายซ้ำซากวกวน ตนเป็นห่วงที่วิปฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุมกับวิปรัฐบาล และวิปวุฒิสภาเพื่อกำหนดกรอบเวลา เพราะจะทำให้การกำกับการประชุมลำบากมากขึ้น แต่ตนจะยึดตามข้อบังคับ ไม่เช่นนั้นไม่รู้ว่าจะยุติอย่างไร ทุกฝ่ายต้องทำตามกติกา 
 
เมื่อถามว่า มองว่าการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับ ส.ว.ก่อน เพื่อให้ทันการเลือกตั้ง ส.ว.ใหม่ในเดือน มี.ค. 2557 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องทำไปตามข้อเท็จจริง กว่าจะถึงเดือน มี.ค. 57 ยังมีเวลา เมื่อถามถึงข่าว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาจลาออกเพื่อไปเคลื่อนไหวนอกสภาฯ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องการมองต่างมุม จะเหมาะสมหรือไม่ ให้ประชาชนและสังคมเป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางประชาธิปไตยไม่น่าเป็นแบบนั้น ควรยึดระบบของรัฐสภา 
 
เมื่อถามว่า มีการตรวจพบว่างบฯ เดินทางไปดูงานต่างประเทศของประธานสภาฯ ใช้เกินวงเงิน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พร้อมให้ตรวจสอบ ทุกอย่างโปร่งใสเป็นไปตามระเบียบราชการจะทำเกินกว่าระเบียบไม่ได้ ตนไม่ได้ล้วงลูกเลขาธิการสภาฯ จะไปไหนก็ต้องยื่นเรื่องขอ ถ้าตรวจสอบแล้วผิดก็ดำเนินการมา 
 
"ส่วนที่ว่าใช้งบเกินโควตา ถ้าเกินตามระเบียบก็เปลี่ยนโอนงบประมาณได้ เพียงแต่ต้องมาดูว่าการใช้นั้นถูกต้องพอเหมาะพอสมไปแล้วมีประโยชน์หรือไม่ ดูตรงนี้มากกว่า ส่วนที่มีผู้อภิปรายว่าใช้เงิน 80 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนไมโครโฟนให้ประธาน เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดว่าจะซื้อให้ประธานคนเดียว สังคมฟังก็มองว่าเกินไป ซึ่งขัดหลักข้อเท็จจริง เพราะเป็นการติดตั้งในห้องประชุมสภาฯ และยังเป็นการตั้งขอปี 57 ยังไม่ได้ใช้" ประธานรัฐสภากล่าว
 
เมื่อถามย้ำว่า พบว่าไปเยือนประเทศจีนถึง 3 ครั้งในปีเดียว นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้นับว่าไปกี่ครั้ง แต่ทุกครั้งก็แจ้งสำนักเลขาฯ เพื่อให้ดำเนินการให้ ตนไม่ได้ล้วงลูก ใช้ระเบียบเดียวกันกับทั้ง 35 คณะกรรมาธิการ ส่วนการยื่นให้คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาฯ ตรวจสอบ ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำเอกสารชี้แจงไป 
 
ด้านนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์เพื่อชี้แจงถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐสภา อาทิ การปรับปรุงอาคารสถานที่จัดซื้ออุปกรณ์ และงบเดินทางต่างประเทศ ภายหลังได้รับมอบนโยบายจากประธานรัฐสภา โดยส่วนตัวไม่กังวลเพราะมั่นใจว่าจะชี้แจงได้ทุกประเด็น ยืนยันว่าที่ผ่านมาดำเนินการตามขั้นตอน และเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตั้งแต่ก่อนเข้ารับหน้าที่ มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรวมถึงข้อเสนอของฝ่ายการเมืองที่แนะนำ ทั้งประเด็นการจัดซื้อนาฬิกา การปรับปรุงห้องทำงาน และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องเก็บขยะ ที่เป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่ได้รู้สึกท้อกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและปรับปรุงให้ดี
 
ภท.มีมติงดออกเสียงร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มา ส.ว. ชี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
 
ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) น.ส.ศุภมาศ อิศรภักดี โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรค โดยมีนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานในที่ประชุมว่า พรรคได้หารือร่วมกันเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการประชุมรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) ที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่ากลุ่ม 40 ส.ว.จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมูญยังไม่ได้วินิจฉัย ประกอบกับพรรคเห็นว่าประเด็นที่มาของ ส.ว.ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขตอนนี้ และความเห็นของ ส.ว.ต่อประเด็นดังกล่าวก็ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีมติที่จะงดออกเสียง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของพรรคจะพิจารณาจากท่าทีของสังคมเป็นหลักว่าสิ่งใดที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับสังคมมากที่สุด.
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้นำ AI จากทั่วโลกร้องทางการอียิปต์เอาผิดคนปราบประชาชน

Posted: 19 Aug 2013 07:29 AM PDT

ผู้นำแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลกระบุ ต้องมีการสอบสวนอย่างรอบด้าน สำหรับการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่อียิปต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้กระทำผิดหรือผู้สั่งการให้ปราบปรามการชุมนุมจนถึงขั้นเอาชีวิตผู้คนและเกินกว่าเหตุ ต้องเข้ารับการไต่สวน
 
ผู้นำแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจากทั่วโลกกล่าวระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่กรุงเบอร์ลินในวันนี้ว่า จะต้องมีการสอบสวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียงและมีประสิทธิภาพ สำหรับการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่อียิปต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้กระทำผิดหรือผู้สั่งการให้ปราบปรามการชุมนุมจนถึงขั้นเอาชีวิตผู้คนและเกินกว่าเหตุ ต้องเข้ารับการไต่สวน
                
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่ารัฐบาลชั่วคราวได้ทำสถิติด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดี ตั้งแต่การละเมิดสัญญาว่าจะไม่ใช้อาวุธที่รุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซี และการปล่อยให้ผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากพื้นที่ชุมนุมอย่างปลอดภัย แถมรัฐยังหาเหตุผลสนับสนุนปฏิบัติการของตนเองทั้ง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนอย่างน่าอนาถใจ
                
"ที่ผ่านมาประชาคมนานาชาติยังไม่แสดงท่าทีที่เข้มแข็งและเป็นผล แม้ทุกฝ่ายจะออกมาประณามการสูญเสียชีวิตอย่างโหดร้ายเช่นนี้ แต่ประชาคมนานาชาติต้องทำหน้าที่อย่างจริงจังเพื่อประกาศว่า จะให้ความเชื่อถือต่อรัฐบาลประเทศใดก็ตามที่ปฏิบัติตนเช่นนี้"
                
"แม้จะมีหลักฐานว่าผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายมอร์ซีบางคนใช้ความรุนแรง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนการตอบโต้ที่เกินกว่าเหตุ ไม่ควรใช้เป็นเหตุผลที่นำไปสู่การปราบปรามผู้ชุมนุมสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมทุกคน โดยไม่มีการแยกแยะว่าบุคคลใดใช้และยุยงให้ก่อความรุนแรง หรือบุคคลใดเพียงแต่แสดงความเห็นของตน ไม่มีประเทศใดที่กองกำลังของรัฐจะกระทำการอย่างป่าเถื่อนและโหดร้ายเช่นนี้ โดยปราศจากเหตุอันควร"
                
ผู้นำจากกลุ่มต่าง ๆ ทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ประชุมร่วมกันที่กรุงเบอร์ลินในสัปดาห์นี้ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีซึ่งจัดขึ้นทุกสองปีของสภาบริหารสากล (International Council Meeting) ปฏิบัติการแรกในระหว่างการประชุมของผู้นำ นักเคลื่อนไหวและอาสาสมัครด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ได้แก่การรวมตัวกันของผู้เข้าร่วมประชุมในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอียิปต์ยุติการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุหรือโดยไม่จำเป็น และให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง จากนั้นมีการยื่นจดหมายประท้วงให้สถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำกรุงเบอร์ลิน
                
เซลมาน คาลิสกัน (Selman Caliskan) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเยอรมนีกล่าวว่า พวกเราซึ่งมาจากทั่วโลกในฐานะสมาชิกขบวนการระดับโลก และได้มาอภิปรายถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในวันนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่เราใช้โอกาสนี้รำลึกถึงความสูญเสียชีวิตอย่างน่าอนาถใจในอียิปต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
                
"การที่ประชาชนหลายร้อยคนทั่วอียิปต์ถูกเจ้าหน้าที่สังหาร อีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่วันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ นอกจากการสอบสวนอย่างรอบด้านแล้ว ไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะหลักประกันความยุติธรรมให้กับเหยื่อและทำให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษ"
                 
นับแต่การโค่นล้มประธานาธิบดีมอร์ซีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในอียิปต์ได้ชี้ให้เห็นข้อมูลการละเมิดสิทธิร้ายแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้ง จนลุกลามมาถึงการทำร้ายผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายมอร์ซีอย่างป่าเถื่อน การละเมิดเหล่านี้ยังรวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากเหตุผลด้านศาสนาที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจและไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีการโจมตีชาวคริสต์นิกายคอปติกทั่วประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการตอบโต้ต่อการที่ชาวคริสต์เหล่านี้สนับสนุนการโค่นล้มนายมอร์ซี นักเคลื่อนไหวชาวคริสต์นิกายคอปติกเก็บข้อมูลการโจมตีโบสถ์กว่า 60 ครั้ง นับแต่การสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซีอย่างรุนแรง ในขณะที่ทางการก็ไม่สามารถแทรกแซงเพื่อระงับความรุนแรงเหล่านี้ได้
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้เก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิที่กระทำโดยผู้ชุมนุมที่สนับสนุนนายมอร์ซี ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมทรมาน และการสังหารบุคคล ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าผู้สนับสนุนนายมอร์ซีบางส่วนใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก มีการโจมตีอาคารของหน่วยงานรัฐและสถานีตำรวจ รวมทั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ ผู้ประท้วงบางคนยังได้ยิงกระสุนปืนจริงใส่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเด็ก และมีการยิงปืนใส่ฝ่ายที่คิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง ผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงควรถูกนำตัวมารับโทษต่อความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้น
                
"ที่ผ่านมาทางการอียิปต์มักไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐมารับโทษ กรณีที่ใช้ความรุนแรงถึงขั้นเอาชีวิตผู้ชุมนุมอย่างเกินกว่าเหตุและไม่จำเป็น ทางการอียิปต์จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ชำนาญการจากองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะผู้รายงานพิเศษด้านการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การสังหารอย่างรวบรัดหรือโดยพลการ (Special Rapporteur on extrajudicial, summary or arbitrary executions) เข้ามาในประเทศเพื่อสอบสวนพฤติการณ์การใช้ความรุนแรงและแบบแผนการใช้กำลังถึงขั้นชีวิตอย่างเกินกว่าเหตุและไม่จำเป็นของทางการอียิปต์" นายเช็ตติกล่าว
                
"อียิปต์กำลังละเมิดอย่างชัดเจนต่อกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นสภาพที่โหดร้ายทารุณมากสุด ทางการอียิปต์ต้องดำเนินการโดยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตเพิ่มเติม พร้อมกับฟื้นฟูความสงบและเรียบร้อยให้กับสังคม" นายเช็ตติกล่าว
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
                
จำนวนผู้เสียชีวิตของผู้ชุมนุมและผู้ที่มุงดูเพิ่มขึ้นกว่า 800 คนแล้ว นับแต่การสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซีอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 เจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยแจ้งต่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ 69 นายที่เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา
                
ภายหลังความรุนแรงตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในไคโรพยายามหาทางตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น พวกเขาได้พยายามเก็บรวบรวมพยานหลักฐานจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลชั่วคราวหลายแห่งในกรุงไคโร รวมทั้งที่ห้องดับจิตเซนฮูม (Zeinhum) และมัสยิดแห่งหนึ่งซึ่งใช้เป็นที่เก็บศพหลายสิบศพชั่วคราว นักวิจัยได้เก็บรายละเอียดผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และมีรายงานของประจักษ์พยานซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้รักษาพยาบาล พวกเขาบอกว่าผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่ส่วนบนของร่างกาย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์

Posted: 19 Aug 2013 04:31 AM PDT

"ตอนรายงานคอป. ออกมา ผมบอกว่าเป็นใบอนุญาตสั่งฆ่า แต่อันนี้ ผมว่าแย่กว่าอีก มันเป็นคำพิพากษาเลย ที่ต้องการจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ผิด เป็นการกระทำการโดยประมาท และเป็นการกระทำเพราะความจำเป็น เหตุผลเพราะว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ มีกองกำลัง ถ้าดูข้อสรุปตอนท้ายรายงาน ไม่มีการระบุเลยว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารประชาชน"

17 ส.ค.56 กล่าวถึง รายงานของกรรมการสิทธิฯ ต่อผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13-19 ส.ค. 2556

Posted: 19 Aug 2013 04:14 AM PDT

จี้โยกสิทธิฯพนักงานมหาวิทยาลัย ตั้งกองทุนพิเศษใต้ สปสช.

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังเข้าเรียกร้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในการขอตั้งกองทุนรักษาพยาบาลพนักงานมหาวิทยาลัย ให้เป็นลักษณะเดียวกับกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานท้องถิ่น ว่า เบื้องต้นได้หารือกับรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว และมีความเห็นร่วมกันว่า จะตั้งคณะอนุกรรมการย่อยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ก่อนจะนำเสนอนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. ต่อไป จากนั้น ศูนย์ประสานงานจะขอเข้าพบร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เพื่อหารือขอให้พนักงานมหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันใช้สิทธิรักษาพยาบาลของสำนัก งานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนมาอยู่ในการดูแลของ สปสช.แทน

"ส่วนจะสามารถโอนย้ายจาก สปส. มา สปสช. ได้จริงหรือไม่ ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมยังไม่ชัดเจนในเรื่องพนักงานมหาวิทยาลัย เพราะความจริงผู้ที่จะอยู่ในประกันสังคมต้องไม่ใช่ข้าราชการ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยจริงๆ คือข้าราชการ ก็ต้องมีการตีความ ซึ่งอยากให้ สปส. ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องนี้ให้ชัดเจน สิ่งที่เรียกร้องเพราะต้องการความเป็นธรรมเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล เทียบเท่ากับอาจารย์ข้าราชการ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนนโยบายการบรรจุข้าราชการในช่วงปี 2540-2542" รศ.ดร.วีรชัยกล่าว

รศ.ดร.วีรชัยกล่าวว่า สำหรับจุดด้อยของพนักงานมหาวิทยาลัย ในเรื่องสิทธิรักษาพยาบาลย่อมไม่เท่ากับข้าราชการ เมื่อเทียบกับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีพัฒนาการด้านสิทธิประโยชน์ดีกว่าด้วยซ้ำ เช่น สิทธิประกันสังคมไม่สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือการใช้หัตถการทางการแพทย์ต่างๆ ขณะที่สิทธิข้าราชการและ 30 บาท ใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้หลังเกษียณ แต่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง เป็นต้น ทั้งนี้นักเรียนทุนที่แปรสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยน่าจะมีประมาณกว่า 30,000 คน

(ข่าวสด, 13-8-2556)

 

เผยคนไทยโดนลักพาตัวที่ไนจีเรียเดินทางโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่คนไทย 4 คน ถูกลักพาตัวที่ประเทศไนจีเรีย โดยสำนักข่าวท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า เป็นการลักพาตัวไปเพื่อเรียกค่าไถ่ โดยทราบชื่อทั้ง 4 คนแล้ว ได้แก่ นายสมโชค พันพินิจ อายุ 55 ปี, นายธนาวุฒิ พันพินิจอายุ 50 ปี น้องชายของนายสมโชค, นางบุษบา ศรีปัญญา อายุ 46 ปี ภรรยานายสมโชค และนายไชยยันต์ ไทชมพู อายุ 38 ปี ทั้งหมดเป็นชาวอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ทำงานกับบริษัทโอนิดะ จำกัด มหาชน (Onidi Development Co. LTD) ของประเทศอิสราเอล และขณะนี้ทางบริษัทรอการติดต่อจากกลุ่มลักพาตัวว่าจะเรียกร้องสิ่งใดเพื่อ แลกกับตัวประกันว่า ทั้ง 4 คน ไม่ได้เดินทางไปทำงานผ่าน 5 ช่องทางตามที่กฎหมายกำหนด คือ

1.นายจ้างจ้างโดยตรง 2.นายจ้างรับไปฝึกงาน 3.บริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 4.ไปทำงานผ่านระบบข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) 5.เดินทางไปทำงานเอง โดยแจ้งขึ้นทะเบียนต่อ กกจ.
 
โดยทั้ง 5 ช่องทางนี้จะได้รับการคุ้มครองจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ แต่แรงงานไทยทั้ง 4 คนนี้ เดินทางไปโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว และเข้าไปทำงานโดยเป็นการทำความตกลงกันในลักษณะส่วนตัวระหว่างแรงงานไทยกับ นายจ้างชาวอิสราเอล ซึ่งว่าจ้างให้ไปทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะพันธุ์ปลาในฟาร์มเลี้ยง ปลาในไนจีเรีย โดยไม่ได้แจ้งการเดินทางกับ กกจ.ทำให้ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนคนหางานของสำนักงานบริหารแรงงานไปทำงานต่าง ประเทศ (สรต.)

"จากเหตุการณ์ดังกล่าว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้ กกจ.มีความเข้มงวดในการดูแลเรื่องการทำสัญญาจ้าง และพื้นที่ที่ทำงานต้องมีความปลอดภัย โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บริษัทจัดหางานและบริษัทนายจ้างในต่างประเทศ ขอให้ช่วยดูแลและเพิ่มความเข้มงวดรวมทั้งได้ประสานกับบริษัทโอนิดะให้เร่ง ช่วยเหลือแรงงานไทย"

(มติชนออนไลน์, 13-8-2556)

 

'ศูนย์คุ้มครองแรงงาน' อีเมล์ คืบหน้า แรงงานไทยถูกจับตัวไนจีเรียปลอดภัยดี

วันที่ 13 สิงหาคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงาน จาก ตำบลพังงู อำเภอหนองหาน จ.อุดรธานี ถึงกรณี แรงงงานไทย 4 คน ถูกจับที่ประเทศไนจีเรีย ขณะไปทำงานตอนเช้า ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรมนั้น และบรรดาญาติต่างตั้งตารอฟังข่าว เพื่อทราบความเคลื่อนไหวของแรงงานไทย ทั้ง 4 คนด้วยความเป็นห่วง ซึ่งในเวลาต่อมา นายสำเรียง พันพินิจ อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 14 บ้านพังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี น้องชาย นายสมโชค พันพินิจ แรงงานไทยที่ถูกจับ และทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์หนองหาน จ.อุดรธานี ได้กล่าวว่า พวกเราได้ทราบข่าวทางโทรทัศน์ช่อง 3 ว่า 4 แรงงานไทยที่ไปเลี้ยงปลาในประเทศไนจีเรีย ถูกจับกุมตัว พวกเราตกใจมาก จึงได้ติดต่อไปหาญาติที่ไปทำงานในประเทศไนจีเรีย ซึ่งไม่ได้รับการติดต่อกลับมาแต่อย่างใด

กระทั่ง มีข่าวแจ้งว่า แรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัวไปนั้น ทำงานอยู่ที่บริษัท โอนิด้า ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งญาติของพวกตนทำงานอยู่ในบริษัทดังกล่าว จึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามกงสุลไทย ในประเทศไนจีเรีย ซึ่งได้รับการยืนยันว่า เป็นความจริง ผู้ที่ถูกจับกุมตัวไปในครั้งนี้ได้แก่ นายสมโชค พันพินิจ อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 99 หมู่ 14 ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี และเป็นพี่ชายคนโต พร้อมภรรยา คือนางบุษยา ศรีปัญญา อายุ 38 ปี นายธนาวุฒิ พันพินิจ อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 61 หมู่ 11 ต.พังงู อ.หนองหาน พี่ชายคนรอง และนายชัยยัน ใต้ชมพู อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 175 หมู่12 ต.บ้านหนองไผ่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ทั้งหมดถูกจับตัวไป ในวันทื่ 8 สิงหาคม พวกเราได้ทราบข่าวในวันที่ 9 สิงหาคม 56 ต่างตกใจมาก

นายสำเรียง ได้เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับ แรงงานไทยที่เป็นพี่ชายและญาติของตน ที่เดินทางไปทำงานในประเทศไนจีเรียในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อประมาณ 8 ปี ที่ผ่านมา ทั้งหมดได้เดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล โดยมีนายจ้างเป็นชาวอิสราเอล ชอบพอนิสัย และหมดสัญญาเดินทาง จนกระทั่งนายจ้าง (นายรามมี่ อโลน) ได้ประมูลงานประมงได้ในประเทศไนจีเรีย นายจ้างเก่าจึงได้ติดต่อกลับไปที่ นายสมโชค และญาติที่เคยไปทำงานด้วยกันให้ไปทำงานที่ประเทศไนจีเรีย ในตำแหน่ง ผู้จัดการฟาร์ม และได้เดินทางกลับไปพักที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 56 กลับไปทำงานที่ประเทศไนจีเรีย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 56 จนกระทั่ง ได้ทราบข่าวว่าถูกจับกุมตัวไป

ซึ่ง นายสมโชค มีโครงการที่จะให้ นายภาณุ พันพินิจ อายุ 22 ปี ลูกชาย นายสมโชค และหลานชายอีกคนหนึ่งเดินทางไปทำงานที่ประเทศไนจีเรียด้วย แต่มาถูกจับกุมตัวในเวลาต่อมา ในวันเดียวกัน นายเวียงชัย แก้วพินิจ นายอำเภอหนองหาน ได้ทราบเรื่อง ได้เดินทางเข้าไปที่บ้านของ นายสมโชค และญาติ ๆ จากนั้นได้มี อีเมล์จากศูนย์คุ้มครองแรงงานไทย ที่กรุงเทพฯ แจ้งว่า แรงงานไทยทั้งหมด ยังปกติปลอดภัยดี และได้รับอีเมล์ จากนายจ้าง แจ้งว่า แรงงานไทยปลอดภัยดีหมดทุกคน ส่วนในเวลาช่วงเช้า นายสุภกิจ วิลาศรี นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานจัดหางาน จ.อุดรธานี ได้นำกระเช้าไปมอบให้ญาติของแรงงานไทยที่ถูกจับกุมตัวไปจำนวน 3 กระเช้า พร้อมทั้งให้กำลังใจว่าจะช่วยติดตามข่าวคราว และแจ้งความเคลื่อนไหวให้ทราบเป็นระยะ ๆ

ต่อมา นางสมฤดี พู่พรอเนก หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางอุดรธานี กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าพบญาติ ๆ ของแรงงานไทยที่บ้านพังงู ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี พร้อมกับซักถามข้อมูลและให้กำลังใจกับญาติ แรงงานไทยทั้งหมดพร้อมทั้งรับปากว่าจะช่วยดูแลติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหว ให้ทราบ ส่วนนางอำนวย ภูมิมิตร อายุ 44 ปี บ้านเลขที่ 175 หมู่ 12 ต.หนองไผ่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ได้กล่าวว่า รู้สึกตกใจที่สามีถูกจับกุมตัวไป ตนไม่ทราบจะเพิ่งพาใครได้จึงได้เพิ่งพาไสยศาสตร์ บนบานศาลกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกป้องคุ้มครอง แรงงานไทย ทั้ง 4 คนให้ปลอดภัย และตนได้ดูหมอดู ซึ่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กลุ่มคนไทยทั้งหมดปลอดภัย จะไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด ด้าน นางมะลิจันทร์ พันพินิจ อายุ 51 ปี บ้านเลขที่ 99 หมู่ 14 ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นภรรยาของ นายธนาวุฒิ พันพินิจ ได้กล่าวว่า ตนมีกำลังใจอยู่ได้เพราะมีญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน คอยถามไถ่สารทุกข์ เรื่อย ๆ ในส่วนตัวเป็นห่วงสามีและทุก ๆ คน แต่ก็เชื่อว่าทุกคนจะปลอดภัยได้ จากการช่วยเหลือของทุก ๆ ฝ่าย.

(ไทยรัฐ, 13-4-2556)

 

"กกจ.-พม.-เซ็นทรัล"จับมือจัดงานนัดพบแรงงานคนพิการ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนางสาวบุษา จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายสื่อสารสารองค์กร บริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์เปอเรชั่น จำกัด แถลงข่าวการจัดงานนัดพบแรงงานคนพิการ "สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจ ชีวิตมีสุข" ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน ที่บริเวณลาน EDEN ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างเวลา 10.00-16.00 น.

นายประวิทย์กล่าวว่า กกจ.มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีงานทำ มีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งผู้พิการก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ กกจ.ต้องเร่งสร้างงาน ให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองได้ หากผู้พิการและญาติไม่สะดวกที่จะเดินทางไปร่วมงานในวันดังกล่าว สามารถไปสมัครงาน หรือ สอบถามสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

นอกจากนี้ตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ พ.ศ.2540 กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปต้องจ้างผู้พิการ 1 คน ส่งผลให้ในปีนี้สถานประกอบการต่างๆ ทั่วประเทศต้องจ้างผู้พิการกว่า 47,000 คน แต่มีเพียง 19,221 คนเท่านั้นที่เข้าถึงการมีงานทำ โดยภายในงานมีตำแหน่งงานเปิดรับกว่า 180 อัตรา

ทางด้านนายอนุสรณ์กล่าวว่า การจัดงานนัดพบแรงงานคนพิการถือเป็นการส่งเสริมให้เข้าถึงสิทธิอย่างเท่า เทียม จากตัวเลขผู้พิการ 1,379,103 คน คิดเป็นร้อยละ 2.13 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นวัยแรงงาน 7030,078 คน มีการประกอบอาชีพ 269,389 คน ไม่ได้ประกอบอาชีพ 431,475 คน และช่วยเหลือตนเองไม่ได้อีก 2,200 คน จึงอยากให้ผู้พิการและญาติ ไปร่วมงานเพื่อการเข้าถึงตำแหน่งงานและสวัสดิการต่างๆ ที่ควรได้รับ รวมไปถึงได้รับทราบว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่พร้อมให้ความช่วยเหลือให้การพัฒนา ศักยภาพให้ผู้พิการมีงานทำหรือช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่เป็นภาระสังคม

(มติชน, 14-8-2556)

 

นายจ้างพร้อมดูแลแรงงานไทยถูกโจรไนจีเรียจับ

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีแรงงานชาวอ.หนองหาน จ.อุดรธานี ที่เดินทางไปทำงานเลี้ยง และวิจัยพันธุ์ปลากับบริษัทโอนิด้า ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ของนักลงทุนชาวอิสราเอล ที่บริเวณริมแม่น้ำไนเจอร์  เมืองบูกูมา ประเทศไนจีเรีย ประกอบด้วย นายสมโชค พันพินิจ หัวหน้าคณะ นางบุษยา ศรีปัญญา ภรรยานายสมโชค นายธนาวุฒ พันพินิจ น้องชายนายสมโชค และนายชัยยัน ใต้ชมภู ซึ่งถูกกลุ่มโจรจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งแรงงาน 1 ในจำนวนที่ถูกจับกุมได้ติดต่อกับมาว่าทุกคนปลอดภัย แต่คนร้ายยังไม่แจ้งวัตถุประสงค์หรือยอดเงินเรียกค่าไถ่

สำหรับการเดินทางไปประเทศไนจีเรียครั้งนี้ นายสมโชค หัวหน้าคณะ ใช้นามบัตรในนามบริษัทโอนิด้าฯ ตำแหน่งผู้อำนวยการฟาร์ม ขณะที่บริษัทไอนิด้าฯได้ส่งหนังสือเชิญมาให้บุตรชายนายสมโชค นำไปแสดงกับสถานทูตไนจีเรีย ประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อเยี่ยมชมโครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไนจีเรีย บุคคลดังกล่าวจะเป็นแขกของทางบริษัท โดยที่ทางบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในตัวบุคคลทุกกรณี

นายสำเรียง พันพินิจ น้องชายนายสมโชค กล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการแจ้งข่าว แต่เมื่อคืนที่ผ่านมามีคนไทยที่ไปทำงานที่ประเทศไนจีเรีย โทรศัพท์ติดต่อมาหาบอกว่าทราบข่าวพี่ชายและคณะที่ถูกจับกุมปลอดภัยทุกคน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศไนจีเรีย ถือว่าเป็นเหตุเกิดขึ้นบ่อย ส่วนมากกลุ่มโจรที่จับกุ่มไปเรียกค่าไถ่ จะจับคนต่างชาติที่ไปทำงานกับบริษัทนายจ้างที่เป็นฝรั่งผิวขาว ที่เข้ามารับสัมปทานในประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทำร้าย หากตกลงเรื่องตัวเลขเงินค่าไถ่ได้ก็จะปล่อยตัว

"แรงงานไทยที่โทรมายังบอกระบุถึงสาเหตุที่จับตัวแรงงานไทยไปเรียกค่าไถ่ เนื่องจากกลุ่มโจรที่เป็นคนพื้นที่ กลัวว่าบริษัทต่างชาติที่เข้าไปรับสัมปทานในประเทศ จะเข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จึงจับตัวแรงงานที่ทำงานกับบริษัทฝรั่ง แต่แรงงานที่โทรมาแจ้งว่าสาเหตุที่เขาไม่ถูกจับกุมไปเรียกค่าไถ่เพราะทำงาน กับนายจ้างคนในพื้นที่ จึงไม่เป็นเป้าของกลุ่มโจรจับตัวเรียกค่าไถ่ ทำให้สามารถไปไหนมาไหนได้ปกติ แต่ยืนยันว่าขอญาติให้สบายใจได้เพราะกลุ่มโจรไม่ทำเคยร้ายตัวประกัน "นายสำเนียง กล่าว

ขณะที่นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า แรงงานที่ถูกจับกุมตัวไปเรียกค่าไถ่ทั้ง 4 คน เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง โดยนายจ้างพาไป ไม่ได้ผ่านบริษัทจัดหางาน ไม่ได้ผ่านขั้นตอนของกรมการจัดหางาน คาดว่าคงจะใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้าประเทศไนจีเรีย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือด้วยการเยียวยาเงินเบื้องต้นได้  อย่างไรก็ตามแรงงาน 4 คนไทยออกจากประเทศไทยไม่ผิดกฎหมาย แต่เข้าข่ายลักษณะลักลอบทำงานยังประเทศนั้น เพราะแต่ละประเทศจะมีกฎหมายเรื่องการลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศอยู่แล้ว

(โพสต์ทูเดย์, 14-8-2556)

 

พนง.สวนสัตว์เชียงใหม่ค้านควบรวม 'ไนท์ซาฟารี'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 56 ที่วัดกู่ขาว ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้มีพนักงานลูกจ้างสวนสัตว์เชียงใหม่ 100 คน ได้สวมเสื้อสีขาว ปักหน้าอก ว่า ไอเลิฟเชียงใหม่ซู นำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาขอพรจากพระพุทธรูปที่วัดกู่ขาว ซึ่งเป็นวัดร้างที่มีการบูรณะขึ้นมาใหม่

นายวิมุติ ชมพานนท์ นักวิทยาศาสตร์ 3 องค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวว่า การมารวมกลุ่มของพนักงานลูกจ้างในวันนี้ อันผลสืบเนื่องมาจากพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่ มีทั้งหมดกว่า 300 คน เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร ขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ รู้สึกไม่สบายใจที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ว่าจะมีการยุบควบรวมสวนสัตว์เชียงใหม่เข้ากับไนท์ซาฟารี

ภายใต้การกำกับควบคุมของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ที่เป็นองค์การมหาชน และภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ทางพนักงานลูกจ้างได้สอบถามไปยังผู้บริหารของสวนสัตว์เชียงใหม่เชียงใหม่ก็ ไม่มีคำตอบชี้แจงให้ทราบข้อเท็จจริงได้อย่างชัดเจน ทางพนักงานจึงได้ประชุมหารือกันว่า ทุกคนไม่อยากโอนย้ายไปอยู่ภายใต้การควบรวมในครั้งนี้ แต่ก็ไม่สามารถแสดงออกอะไรมากได้ วันนี้จึงได้รวมตัวกันมาพึ่งพาขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือให้ รอดพ้นจากการควบรวมในครั้งนี้

นักวิทยาศาสตร์ 3 องค์การสวนสัตว์ฯ กล่าวต่อว่า พวกตนมองไม่เห็นอนาคตความมั่นคงในอนาคต หากพวกเราถูกนำไปควบคุมกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ซึ่งปัจจุบันสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ได้ดูแลกิจการไนท์ซาฟารีอยู่ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ หากนำสวนสัตว์เชียงใหม่ ควบรวมเข้ากับไนท์ซาฟารี แล้วอาจทำให้ค่าบัตรผ่านประตูอาจจะถูกเรียกเก็บแพงขึ้น ผิดกับเจตนารมรณ์ของทางองค์การสวนสัตว์ฯ ที่จะให้สวนสัตว์เชียงใหม่เป็นที่พักผ่อนทางธรรมชาติให้กับคนเชียงใหม่ และพวกเราเหมือนถูกมัดมือชก ถ้าหากเราไม่ยอมเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานพิงคนคร ก็ให้สมัครใจย้ายไปอยู่ องค์การสวนสัตว์ฯ ที่สงขลา, ขอนแก่น, และอุบลราชธานี แล้วครอบครัวของพวกเราจะทำอย่างไร เพราะตอนมาสมัครงาน ทางองค์การสวนสัตว์ฯ จะเน้นเฉพาะคนพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่

"ก่อนที่จะนำเรื่องนี้เข้าไปในการประชุม ครม.อยากจะให้ทางรัฐบาลออกมาสอบถามความสมัครใจของพวกเรา และผลได้ผลเสียจากการควบรวมเสียก่อน ซึ่งวันนี้พวกเรามีการประชุมกันในกลุ่มเล็กๆ และต่อไปขอเรียกร้องของพวกเรายังไม่เป็นผลก็จะรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน และที่พึ่งสุดท้ายคือ ฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป" นายวิมุติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้เปิดหน้าเว็บเพจของเฟซบุ๊กใช้ชื่อว่า "เรารักสวนสัตว์เชียงใหม่" เพื่อให้ ชาวเชียงใหม่ได้ร่วมช่วยอนุรักษ์สวนสัตว์เชียงใหม่ให้คงไว้ และร่วมแสดงความคิดเห็นการควบรวมในครั้งนี้ มีประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมและให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก.

(ไทยรัฐ, 14-8-2556)

 

"ยิ่งลักษณ์" เปิดโครงการ "ฝากท้องทุกที่ฟรี" ครอบคลุมบัตรทอง-ประกันสังคม-ต่างด้าว

(14 ส.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดตัวโครงการฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ ด้วยบัตรสุขภาพแม่และเด็ก (Health Card For Mother&Child) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2556 โดยนายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า งานอนามัยแม่และเด็กเป็นบริการสุขภาพพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาคุณภาพ ประชากร ซึ่งรัฐบาลมีโยบายดูแลคุณภาพชีวิตประชากรตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงการคลอด บุตร โดยได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแล แม่และเด็ก ตั้งแต่ต้นเหตุรวมถึงการป้องกัน เรื่องอาหาร ซึ่งหากเด็กได้รับการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่และเยาวชนที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป
      
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ขอฝากให้กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลดูแลในเรื่องพัฒนาการของเด็ก และการสื่อสารเพื่อให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่กับเด็กที่อยู่ใน ครรภ์ เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างรากฐานความมั่นคงและความอบอุ่นของครอบครัวในอนาคต สำหรับนโยบายระยะยาว รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาประชาชนตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดปฐมวัย วัยนักเรียน วัยรุ่น/นักศึกษา วัยแรงงาน และผู้สูงวัย เพื่อให้การพัฒนาประชากรในแต่ละช่วงอายุมีการส่งต่อการพัฒนาไปอย่างต่อ เนื่อง
      
โดยโครงการสามารถฝากครรภ์ในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพและประกันสังคม ทั้งนี้โครงการนี้ยังครอบคลุมรวมถึงแรงงานต่างด้าว ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย เพื่อให้คนต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยมีความรู้สึกอบอุ่น และรับรู้ถึงการดูแลเอาใจใส่ของประเทศไทยที่มีให้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ Every Woman Every Child (EWEC) ขององค์การสหประชาชาติที่เน้นการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการดูแลแม่และเด็ก และส่งเสริมการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมเสมอภาคของสตรีและเด็กด้วย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14-8-2556)

 

ตัวแทนรัฐวิสาหกิจไทยยื่นหนังสือถอดถอน กสทช.ต่อประธานวุฒิสภา

15 ส.ค.- ตัวแทนจากรัฐวิสาหกิจไทย 49 แห่ง นำโดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งคณะ เพื่อให้ยุติบทบาทการทำหน้าที่กำกับดูแล เนื่องจากเห็นว่าการทำหน้าที่ของ กสทช.เกี่ยวกับคลื่นโทรศัพท์ 3จี และคลื่นโทรทัศน์ดิจิทัล ส่อเค้าเอื้อประโยชน์ให้ทุนเอกชน ส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของชาติที่รัฐวิสาหกิจดูแลอยู่ โดยเฉพาะใน 3 องค์กรหลัก คือ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที และ บมจ.อสมท เช่น เสาส่งสัญญาณของ บมจ.กสทฯ กำลังถูกบริษัทเอกชนคู่สัมปทานนำไปให้บริษัทลูกใช้ฟรี และเลขหมายโทรศัพท์มือถือของ บมจ.ทีโอที ก็ถูกละเมิดสัมปทาน โดย กสทช.อนุญาตให้ถ่ายโอนเลขหมายไปเป็นของเอกชน ขณะที่ อสมท เห็นว่านานาประเทศไม่เคยมีการประมูลและจำกัดโทรทัศน์ดิจิทัลให้เหลือเพียง 48 ช่อง ทั้งที่ในความเป็นจริงจะมีมากกว่านั้นก็เป็นได้ ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวเห็นว่าคณะกรรมการ กสทช.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ประธานวุฒิสภาได้รับหนังสือ พร้อมระบุว่า ขอให้รวบรวมรายชื่อผู้จะถอนถอนมาไม่ต่ำกว่า 20,000 รายชื่อ จากนั้นจะตรวจสอบความถูกต้องภายใน 30 วัน และจะดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 15-8-2556)

 

โจรไนจีเรียเรียกค่าไถ่แรงงานชาวไทย 20 ล้านบาท ญาติวอนรัฐช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายสำเรียง พันพินิจ และนายภานุ พันพินิจ น้องชายและบุตรชายของนายสมโชค พันพินิจ ต่างได้เฝ้ารอข่าวความคืบหน้าของนายสมโชค นางบุษยา ศรีปัญญา ภรรยานายสมโชค , นายธนาวุฒ พันพินิจ น้องชายนายสมโชค และนายชัยยัน ใต้ชมภู อยู่ที่บ้านเลขที่ 99 หมู่  14 บ้านพังงู ต.พังงู อ.หนองหาน ซึ่งถูกโจรไนจีเรียจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ขณะเดินทางไปทำงานเลี้ยงและวิจัยพันธุ์ปลากับบริษัทโอนิด้า  ดีเวอร์ลอปเมนท์ จำกัด บริเวณริมแม่น้ำไนเจอร์  เมืองบูกูมา ประเทศไนจีเรีย อย่างกระวนกระวายใจ แม้จะได้รับแจ้งก่อนหน้านี้ว่าทั้ง 4 ปลอดภัยก็ตาม

อย่างไรก็ตามนายสมคิด หอมเนตร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา ได้โทรศัพท์มาคุยกับนายสำเรียง และญาติๆแรงงานชาวไทยที่ถูกโจรไนจีเรียจับไปเรียกค่าไถ่ ด้วยการเปิดเสียงโทรศัพทย์ให้ได้ยินทุกคน พร้อมกับแจ้งให้ทราบว่าได้ขอความอนุเคราะห์ นายรัตนาภรณ์ ธรรมโกศล  ที่ปรึกษาด้านการเกษตรประเทศไนจีเรีย ติดต่อไปประเทศไนจีเรีย ผ่านผู้ว่าการรัฐริเวอร์สเตท ทราบว่าแรงงานทั้ง 4 คน สบายดี ได้รับการดูแลตามสมควร ขณะนี้นายจ้างชาวอิสราเอลกำลังเดินทางเข้าไปติดต่อเรื่องเงินค่าไถ คาดว่าจะต้องจ่ายคนละ 5 ล้านบาท หรือ 4 คนรวมเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินค่าไถ่ดังกล่าวคาดว่าโจรจะเรียกค่าไถ่เท่ากับที่เคยจับคนของ ของบริษัทน้ำมันต่างชาติคิดเป็นเงินไทยคนละ 5 ล้านบาท

ด้านนายสำเรียง น้องชายของนายสมโชค พันพินิจ กล่าวว่า ขณะญาติๆได้แต่รอการติดต่อกลับมาของหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะได้รับรู้ถึงความคืบหน้าในการช่วยเหลือญาติทั้ง 4 คน มีเพียงนางสมฤดี พู่พรอเนก หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางจังหวัดอุดรธานีเท่านั้นที่ได้แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้เจอตัวญาติที่ไปทำงานในประเทศไนจีเรียแล้ว ทุกคนยังคงสบายดี รอเพียงการเสนอตัวเลขค่าไถ่ว่า ซึ่งตรงกับที่นายสมคิด แจ้งมากับทางญาติทราบ

"นายสมคิดบอกว่าโจรกลุ่มนี้เคยจับตัวชาวต่างชาติเรียกค่าไถ่มาก่อน ตกคนละ 5 ล้านบาท หากกลุ่มโจรตกลงที่ราคาเดิมก็เป็นเงินมากถึง 20 ล้านบาท ซึ่งเราไม่รู้ว่าทางนายจ้างจะมีเงินพอจ่ายหรือไม่ เมื่อถึงวันที่ตกลงราคาค่าไถ่ได้ หากทางนายจ้างชาวอิสราเอลมีเงินไม่พอช่วยเหลือ พวกเราก็ต้องขอวิงวอนให้ทางรัฐบาลไทย ช่วยเข้ามาดูแลตรงนี้ให้ด้วย เพราะทางญาติๆทุกคน ก็ต้องอาศัยให้รัฐบาลไทยเป็นที่พึ่ง พวกเราตั้งความหวังอยู่ที่รัฐบาลที่จะเข้าไปช่วยเหลือพวกเราด้วย"นายสำเรียง กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 15-8-2556)

 

ปิด รง.รองเท้า "แพน" PAF เครือสหพัฒน์ ประกาศหยุดการผลิต

บมจ.แพนเอเซียฟุตแวร์ (PAF) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 11/2556 วันที่ 15 สิงหาคม 2556 ได้มีมติสำคัญสำคัญเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ คือ ด้วยสถานการณ์ของบริษัทฯ ในปัจจุบัน มียอดคำสั่งซื้อจากลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ขาดทุนสะสมจำนวนมาก โดยมีสาเหตุจากการย้ายฐานการผลิตของลูกค้ารายใหญ่ ประกอบกับค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าน้อยลง และเป็นคำสั่งซื้อที่มีปริมาณน้อยกว่ากำลังการผลิตของบริษัทฯ เป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน บริษัทมีขนาดโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง การดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายไม่สัมพันธ์กับกระบวนการผลิตตามคำสั่งซื้อที่น้อยลง ไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และจะทำให้บริษัทฯ มีผลประกอบการขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ปรับโครงสร้างการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยให้หยุดประกอบกิจการโรงงานผลิตรองเท้า และกระเป๋า ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2556 โดยเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และให้คงพนักงานไว้เฉพาะส่วนสำนักงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่จำนวนหนึ่งประมาณ 10 คน

นอกจากนี้ PAF จะปรับสถานะการประกอบกิจการของบริษัทฯ โดยปรับเปลี่ยนจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจในด้านการผลิตรองเท้า และกระเป๋า และการถือหุ้นในบริษัทย่อย เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจในการถือหุ้นในบริษัทย่อยเพียงอย่างเดียว (HOLDING COMPANY) โดยบริษัทฯ ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยเช่นเดิม ทั้งนี้ บริษัทย่อยยังคงมีการดำเนินธุรกิจในการประกอบกิจการโรงงานอันเป็นธุรกิจหลัก ของบริษัทย่อย

โดยบริษัทย่อยที่บริษัทฯ เข้าถือหุ้นอันเป็นบริษัทแกนในการประกอบธุรกิจในการถือหุ้น คือบริษัทดับเบิ้ลยู บีแอลพี จำกัด (เดิมบริษัท แพนระยอง จำกัด) ซึ่งผลิตรองเท้า และกระเป๋า และมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท 100% บริษัทจึงมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการตามสัดส่วนการถือหุ้นทุกประการ

สำหรับ PAF นับเป็นอีกหนึ่งบริษัทในเครือสหพัฒน์ โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 18.91% 2.บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 18.12% 3.นายวิโรจน์ อึ้งไพบูลย์ สัดส่วน 5.95% 4.บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 5.65% 5.บริษัท ไอ.ดี.เอฟ. จำกัด สัดส่วน 4.84% 6.บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด สัดส่วน 4.82% 7.นายบุญชัย โชควัฒนา สัดส่วน 4.25% 8.บริษัท บ้านแพน เอนจิเนียริ่ง แอนด์ โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 3.29% 9.นางชัยลดา ตันติเวชกุล สัดส่วน 3.21% และ 10.นายกษม ศิริรังสรรค์กุล สัดส่วน 1.09%

โดยเป็นที่รับรู้กันว่า บริษัทแห่งนี้ผลิตสินค้าแบรนด์ PAN KSWISS CAmper mark&spencer hummel scholl jansport และ kliping

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ปัจจุบันทาง ICC อยู่ระหว่างให้ทีมผู้บริหารเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา และพัฒนาภาคธุรกิจของ PAF ให้ดีขึ้น หลังจากที่ประสบภาวะขาดทุนสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ล่าสุด ขาดทุนสะสมถึง 2.65 พันล้านบาท โดยในไตามาส 1/56 บริษัทพลิกกลับมามีกำไรสุทธิถึง 253.39 ล้านบาท จากการขายสินทรัพย์เข้า แต่ผลการดำเนินงานปกติยังปรับตัวลดลง โดยเป็นการขายสินทรัพย์ที่เป็นที่ดินเปล่า และสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคล หรือบริษัทที่เกี่ยวโยงกับประมาณ 26 รายการ 133 แปลง หรือประมาณ 1.29 พันไร่ ซึ่งล่าสุด ได้พิจารณาขายให้แต่บริษัทที่มีการเกี่ยวโยงกันเท่านั้น เช่น กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ICC บริษัท ไอ.ดี.เอฟ. จำกัด บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเหลือเพียง 1 รายการ หรือ 25 แปลง ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมสหรัตนนคร จำนวน 261 ไร่ ที่ยังไม่มีผู้เสนอซื้อ

โดยเมื่อปี 2555 พบว่า PAF มีข่าวปิดโรงงานมาก่อนแล้ว นั่นคือ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ รับเบอร์ จำกัด ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรองเท้า มีพนักงานชายหญิง อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีการเลิกจ้าง และปิดโรงงาน บริษัท กบินทร์บุรี แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

นอกจากนี้ ในปี 2552 บมจ.แพนเอเซียฟุตแวร์ ได้ขายที่ดินพร้อมสวนยางพาราซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบุ่งมะแลง และตำบลสว่าง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่ บริษัท ไอ.ดี.เอฟ.จำกัด จำนวน 31 โฉนด เนื้อที่รวม 2,967 ไร่ 3 งาน 85.2 ตารางวา มูลค่า 130 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้รับไปใช้ปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิตพื้นรองเท้า และใช้ในการลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงถูกกว่าในประเทศไทย อีกทั้งมีสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-8-2556)

 

แรงงานไทยในไนจีเรียเผยนาทีระทึกถูกจับตัว

17 ส.ค. 56 - นายสมคิด หอมเนตร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา เดินทางมายังบ้านของนายสำเรียง พันพินิจ อายุ 48 ปี เลขที่ 99 หมู่ 1 บ้านพังงู ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เพื่อแจ้งข่าวดีให้ญาติของแรงงานไทยในประเทศไนจีเรียที่ถูกจับไปเรียกค่าไถ่ 4 คน เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ล่าสุดได้รับการประสานจาก ดร.รัตนาภรณ์ ธรรมโกศล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาการเกษตร ประเทศไนจีเรีย และสถานทูตไนจีเรียประจำประเทศไทยว่า ทั้ง 4 คนไทยถูกปล่อยออกมาแล้วอย่างปลอดภัยเมื่อเวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไนจีเรีย หรือเวลา 03.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ขณะนี้ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของผู้ว่าการรัฐรีเวอร์สเตรท ในเมืองพอร์ต ฮาคอร์ต

ด้านนายสำเรียงกล่าวว่า นายสมโชค พันพินิจ พี่ชายได้โทรศัพท์มาหาตอนเช้าวันนี้ (17 ส.ค.) เล่าเรื่องถึงการได้รับปล่อยตัวพร้อมเพื่อนอีก 3 คน ตั้งแต่ตอนค่ำ (เวลาไนจีเรีย) โดยผู้ว่าการรัฐริเวอร์สเตรทรับตัวมาดูแลแล้ว โดยวันเกิดเหตุเวลา 07.00 น. นายสมโชคออกจากที่พักมาลงเรือ เพื่อไปทำงานที่ฟาร์มริมแม่น้ำไนเจอร์ แต่วันนั้นมีทหารคุ้มกันมาเพียง 2 นาย เมื่อเรือออกจากท่าไม่นาน มีเรือ 2 ลำขับตามประกบ จากนั้นชาย 15 คน พร้อมอาวุธครบมือสวมไอ้โม่งเข้าควบคุมคนเรือให้ขับเข้าฝั่ง

(สำนักข่าวไทย,17-8-2556)

 

ก.แรงงานเผยเร่งช่วยแรงงานไทยในอียิปต์ 200 คน

18 ส.ค. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศอียิปต์ ซึ่งกำลังเกิดเหตุจลาจล ว่า เจ้าภาพในการช่วยเหลือคนไทยคือ กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้แรงงานไทยที่ต้องให้การช่วยเหลือมีประมาณ 200 คน แต่ส่วนใหญ่เดินทางไปเองโดยไม่ผ่านบริษัทจัดหางาน จึงไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ

ทั้งนี้ ทางกรมการจัดหางานได้ส่งคณะทำงานเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด โดยอยู่ระหว่างให้แรงงานไทยรวมตัว และจัดสรรให้เดินทางกลับมาประเทศไทยโดยเครื่องบินที่กระทรวงการต่างประเทศ จัดเตรียมให้

(สำนักข่าวไทย, 18-8-2556)

 

คนงาน รง.พลุระเบิดจันทบุรีร้อง "ปวีณา" ช่วยเหลือ

18 ส.ค. 56 - เมื่อเวลา 14.30 น. (18 ส.ค.) นายเทียมเทพ พาวังหิน  อายุ 47 ปี ชาว จันทบุรี พาภรรยาและลูกสาววัย  11 ปี  เข้าร้องเรียนกับนางปวีณา  หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ขอความช่วยเหลือกรณีภรรยาและลูกได้รับบาดเจ็บสาหัส และยังมีญาติอีก 2 คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิดในพื้นที่ ม.8  ต.ท่าหลวง  อ.มะขาม จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา และขณะนี้นายจ้างไม่รับผิดชอบ สำหรับลูกสาวนั้นทำงานหารายได้ช่วงปิดเทอม โดยนายจ้างให้ค่าแรงวันละ 100 บาท

ด้านนางปวีณา  กล่าวว่า จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมที่สุด รวมถึงดำเนินการกับนายจ้างกรณีใช้แรงงานเด็กและไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะช่วยเหลือดูแลตามสิทธิอันเป็นธรรม และจะติดตามความคืบหน้าของคดี

(สำนักข่าวไทย, 18-8-2556)

 

ขสมก.ร่วม สสส.รณรงค์สกัดภัยคุกคามทางเพศบนรถเมล์

19 ส.ค.- ขสมก.ร่วมกับ สสส.รณรงค์สร้างพื้นที่ปลอดภัยคุกคามทางเพศบนรถ ขสมก.โดยให้พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร สอดส่องดูแลไม่ให้มีการคุกคามทางเพศบนรถเมล์ พร้อมมีแต้มบันทึกความดี เป็นรางวัลชมเชยพนักงานที่มีผลงาน

คณะกรรมการป้องปรามและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ร่วมองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ขสมก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัวโครงการ "รณรงค์ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยคุกคามทางเพศบนรถ ขสมก."  เพื่อให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่บนรถทุกคนตื่นตัวไม่เพิกเฉยต่อการคุกคาม ทางเพศ ซึ่งมีผลวิจัยพบว่าเกิดขึ้นตลอดเวลา บนรถประจำทางทุกสาย โดยพนักงานเก็บค่าโดยสารจะทำหน้าที่เข้าไปตักเตือนด้วยท่าทีสุภาพ หากไม่ได้รับความร่วมมือจะมีมาตรการเชิญให้ลงจากรถโดยสาร หรือปรึกษากับพนักงานขับรถเพื่อมีมาตรการเด็ดขาดต่อไป ภายในในงาน ได้เปิดตัวภาพยนตร์สั้นที่จะออกอากาศตามสื่อสารธารณะชื่อ "ขอ ขสมก." และ "หยุด คุกคามทางเพศ" พร้อมรณรงค์ปิดสติกเกอร์ไปทั่วในสถานที่สาธารณะเพื่อเผยแพร่ ให้ประชาชนรับทราบและระวังตัว

นางศิริพร บุญเปี่ยม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าหน้าที่ ขสมก.ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า จากการทดลองจากหน่วยที่เรียกว่าตาสับปะรด มาอบรมและเก็บข้อมูลการคุกคามทางเพศพบว่ามีมากในหลายรูปแบบ พนักงาน ขสมก.ต้องร่วมกันรับผิดชอบและจิตสำนึกช่วยเหลือสังคมไม่ยอมให้การคุกคามทาง เพศบนรถประจำทางดำเนินต่อไป ส่วนการให้แต้มรางวัลชมเชยพนักงานที่มีผลงาน หัวหน้าหน่วยเดินรถจะเป็นผู้บันทึกแต้มการทำดี

(สำนักข่าวไทย, 19-8-2556)

 

กกจ.ปลดล็อกเก็บค่าบริการไปทำงานต่างประเทศ

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า กกจ.กำลังแก้ไขระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้ จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 ซึ่งเนื้อหาหลักจะกำหนดให้บริษัทจัดหางานสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ 1 เท่าของเงินเดือน และให้เก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามความเป็นจริง ซึ่งจะมีการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับรายการค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเงิน เดือนของแต่ละประเทศโดยแยกเป็นกลุ่มประเทศเช่น เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ขณะนี้กกจ.ได้ประสานขอข้อมูลเหล่านี้ไปยังสำนักบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ ใน 13 ประเทศของกระทรวงแรงงาน และสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านี้นำมาแนบท้ายในร่างแก้ไขระเบียบข้างต้นเพื่อให้ บริษัทจัดหางานและแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศได้ทราบว่าแต่ละประเทศมี รายการค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและเงินเดือนเท่าไหร่ รวมทั้งต้องมีเอกสารและหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายรับทราบและ ยินยอมเพื่อป้องกันการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินความเป็นจริง
      
"ก่อนหน้านี้กกจ. ได้จัดทำร่างแก้ไขระเบียบเสร็จแล้วและได้เสนอต่อ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีตรรมว.แรงงาน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะอดีตรมว.แรงงานได้ให้กลับมาแก้ไขระเบียบให้ เนื้อหามีความละเอียดและรัดกุมมากขึ้น กกจ.จึงกำลังแก้ไขระเบียบใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละประเทศจะไม่เท่ากันเพราะมีรายละเอียดรายการที่ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างกัน แต่โดยภาพรวมของการไปทำงานต่างประเทศมีรายการค่าใช้จ่ายหลักๆคือ ค่าวีซ่า ค่าขอใบอนุญาตทำงาน ค่าตรวจโรค ค่าประกันชีวิต บางประเทศเช่น อิสราเอลมีค่าดูแลคนงานไทย เมื่อกกจ.ได้ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ 13 ประเทศและสถานทูตไทยในแต่ละประเทศมาแล้ว จะเร่งแก้ไขระเบียบแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวง หากผ่านความเห็นชอบก็เสนอร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) ต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อมูลแต่ละประเทศจะมีรายการค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและเงินเดือนเท่าไหร่ซึ่งแนบ ท้ายระเบียบที่แก้ไขนั้นจะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลเป็นระยะเพื่อให้มีความ ทันสมัย " อธิบดีกกจ. กล่าว
      
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กกจ.ได้ให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานไทยที่จะไปทำ งานต่างประเทศโดยให้เรียกเก็บค่าบริการได้ 1 เท่าของค่าจ้างรายเดือนในเดือนแรก นอกจากนี้ ก็ให้เก็บค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามความเป็นจริงโดยเก็บได้สูงสุดเกิน 2 เท่าของค่าจ้างรายเดือน ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่าบริษัทจัดหางานใดกระทำผิดเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่าย สูงกว่าที่กำหนด ก็จะลงโทษโดยพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวต่ำสุด 30 วันและสูงสุดไม่เกิน 120 วัน ถ้ากระทำผิดซ้ำอีกจะเพิกถอนใบอนุญาต

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-8-2556)

 

เลขาฯ สปส.หวั่นลดส่งเงินสมทบเหลือร้อยละ 2 กระทบกองทุนประกันสังคม

19 ส.ค.- นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ 4 ด้าน รวม 20 มาตรการ ซึ่งมีมาตรการลดเงินประกันสังคมที่ปัจจุบันจะลดให้ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนาย จ้างฝ่ายละร้อยละ 4  ลงให้เหลือฝ่ายละร้อยละ 2 เพื่อช่วยเหลือต้นทุนของภาคการส่งออกและการผลิต เป็นหนึ่งในนั้นด้วยว่า

คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) จะต้องมาหารือ เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งว่าจะรับมาตรการนี้ได้หรือไม่เพราะว่า ที่ผ่านมาทาง สปส.ได้ลดเงินสมทบประกันสังคมมาอย่างต่อเนื่อง หากจะให้ลดลงเหลือร้อยละ 2 นั้น เกรงว่าจะมีผลกระทบจากผู้ประกันตนเองเนื่องจากในปัจจุบันเงินทุนสำรองที่ สปส. มีอยู่ก็ลดลงเรื่อย ๆ หากมีสถานการณ์ที่ฉุกเฉินขึ้นมาอาจจะไม่สามารถนำเงินทุนมาช่วยเหลือผู้ ประกันตนได้

(สำนักข่าวไทย, 19-8-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เปิดชีวิต-คำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ คดี ‘บัณฑิต อานียา”

Posted: 19 Aug 2013 02:50 AM PDT

ย้อนดูคำพิพากษาในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ก่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 21 ส.ค.นี้ กับคดี 112 ของนักเขียนเจ้าของฉายา "กึ่งบ้า กึ่งอัจฉริยะ"


 

1
พื้นเพชีวิต


สมอลล์ บัณฑิต อานียา เป็นนามปากกาของ จือเซ้ง แซ่โคว้ ปัจจุบันอายุ 72 ปี พ่อแม่และย่าของเขาเดินทางมาจากประเทศจีนและมาอาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา บัณฑิตเล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วจึงหนีออกจากบ้านไปเผชิญชีวิตลำพัง  มารดาของบัณฑิตถูกพ่อของเขาตบตีเป็นประจำและมีอาการทางจิตจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ท้ายที่สุดได้เสียชีวิตลงที่นั่น

"แม่ของผมถูกเตี่ยของผมตีจนเป็นบ้า และถูกข่มขืน จนตั้งท้องขึ้นมา เตี่ยของผมพาแม่ของผมมาส่งที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาที่ปากคลองสาน และเขามิได้ส่งเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่ทางโรงพยาบาลสำหรับแม่ของผมเลย" ตอนหนึ่งในหนังสือชีวประวัติส่วนตัวระบุ

ประวัติชีวิตของเขาค่อนข้างโลดโผน และออกจะแปลกประหลาด ปี 2503 ขณะที่เป็นสามเณรอายุ 18 ปี เขาเขียนจดหมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถูกตำรวจสันติบาลสอบสวนอย่างหนักเนื่องจากคาดว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ตัวเอ้ แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ หลังจากนั้น ในปี 2508 เขาเอามุ้งไปกางนอนหน้าสถานทูตรัสเซีย  พร้อมเขียนข้อความติดกำแพงสถานทูตว่า "it is better to die in Moscow than to stay in Thailand" มูลเหตุจูงใจเนื่องจากอยากไปอยู่รัสเซีย  ไม่นานนักเขาก็โดนจับส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา อยู่ที่นั่น 42 วัน และออกมาได้เนื่องจากทำร้ายตัวเองด้วยการเอาแก้วแทงขาและไม่ยอมเปิดปากให้นำไม้พันผ้าเข้าไปในปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้นขณะช็อตไฟฟ้า ทั้งหมดนี้เพื่อขัดขืนการรักษา

"เขาจะเอาไฟฟ้าช็อตสมองเพื่อล้างสมองผม" เขากล่าว

ต่อมาปี 2518 เขาทำหนังสือ "ดาวแดง" และนั่นเป็นเหตุให้เขาถูกจับส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อรักษาอาการโรคจิตเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากมีคนไปแจ้งความว่าหนังสือดังกล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  เมื่อตำรวจสอบปากคำก็ส่งตัวให้หมอในโรงพยาบาลจิตเภท และเมื่อหมอทำความเห็นส่งกลับให้ตำรวจว่าเขาเป็นโรคจิต เขาก็ถูกปล่อยตัวโดยไม่ได้ถูกดำเนินคดี
ครั้งที่ 3 คือที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ในปี 2547 สืบเนื่องจากคดีมาตรา 112 ในปัจจุบัน ซึ่งศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 ส.ค.นี้

ในเอกสารชีวประวัติส่วนตัว เขาระบุถึงข้อสังเกตต่อคดีของเขา ดังนี้

"ข้อที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งในคดีของผมนี้มี 3 ประการ คือ
1.ผมไม่ได้ให้การเกี่ยวกับคดีนี้เลย ข้อความที่ผมถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้น ผมมิได้ชี้แจงในศาลแม้แต่ครั้งเดียวและแม้แต่คำเดียวว่า ข้อความนั้นมิได้หมิ่นสถาบันกษัตริย์อย่างไร

2. เมื่อศาลถามผม 12 วันต่อครั้งว่า ศาลจะขังผมต่อไป ผมจะคัดค้านหรือไม่ และต่อคำถามนี้ผมตอบไปทุกครั้งว่า ผมคัดค้านการที่ศาลจะขังผมในระหว่างที่ศาลยังไม่ได้ให้ผมประกันตัว

3.ข้อนี้สำคัญมากที่สุด กล่าวคือ การที่พยานผมทั้ง 4 ท่าน ให้การต่อศาลว่าผมเป็นโรคจิต การให้การเช่นนี้ มีผลรับในทันทีว่า ผมหมิ่นสถาบันกษัตริย์จริง และการที่ผมหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้นเพราะว่าผมเป็นโรคจิต  ทั้งๆ ที่โดยความจริงแล้ว ผมมิได้เป็นโรคจิตและไม่ได้หมิ่นสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในกรณีอันเจ็บปวดที่ได้รับจากการตัดสินของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ ผมจึงมีความเห็นและมีความต้องการให้คดีนี้ได้รับการพิจารณาใหม่ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ให้มีการพิจารณาโดยเปิดเผย มิใช่พิจารณาเป็นการลับอย่างที่กระทำกันมา

ข้อความที่ถูกกล่าวหา ผมสามารถชี้แจงว่าข้อความนั้นมิได้หมิ่นสถาบันอย่างไร ขอโอกาสให้ได้ชี้แจงโดยยกเอาอาการโรจิตของผมออกไปเสีย

ให้นำเอาคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ทั้งหมดขึ้นมาเพื่อผมจะได้ชี้แจงคำให้การนั้นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเอาผิดและลงโทษ

คำถามสำคัญที่สุดในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่ผมตกเป็นจำเลยนี้ คือ

1.เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ที่ศาลออกหมายจับผมเข้าคุกเลย แทนที่จะเป็นเพียงหมายเรียก

2.เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ที่เลขาธิการองคมนตรีคนหนึ่ง มาเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้

3.เป็นการสมควรหรือไม่ที่ศาลจะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ

4.เป็นการสมควรหรือไม่ ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลย จนกระทั่งถูกขังอยู่ในเรือนจำนาน 98 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในที่สุด"

2
รายละเอียดคดี

  • คดีนี้บัณฑิตถูกฟ้องว่ามีความผิดในมาตรา 112  
  • เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546
  • (กรรมที่ 1) การพูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเขาภายหลังการประชุมสัมมนาของ กกต. ร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในหัวข้อ "กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง" มีคนเข้าร่วมประมาณ 500 คน
  • (กรรมที่ 2) ภายในงานสัมมนาดังกล่าว เขาขายเอกสาร 2 ชุดที่มี (ชุดละ 20 บาท) ในชื่อว่า "สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง)" และ "วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร"
  • ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ  ประธาน กกต. (ขณะนั้น)
  • ทนายจำเลยคือ ทนายความจากสภาทนายความ โดยคำแนะนำของ ทองใบ ทองเปาด์
  • จำเลยถูกจับกุมในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และถูกคุมขังอยู่ 98 วัน จึงได้รับการประกันตัวด้วยเงินสด 200,000 บาท โดยความช่วยเหลือ ดร.ปีเตอร์ โคเร็ท นักวิชาการอิสระชาวอเมริกันที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เคยมีงานเขียนเรื่องเกี่ยวกับนายนรินทร์ กลึง
  • ในเอกสารชีวประวัติที่บัณฑิตจัดทำขึ้นเอง บรรยายช่วงเวลาที่ถูกจับกุมว่า "ในระหว่างที่ผมถูกขังอย่างแสนทรมานที่เรือนจำ ผมเกือบถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำในแผนกรูปพรรณสัณฐานกระทืบผม เจ้าหน้าที่เรือนจำคนนี้เป็นคนรักชาติ รักศาสนาและรักสถาบันกษัตริย์ยิ่งชีพ นายคนนี้ได้ด่าผมด้วยคำว่า "ไอ้เหี้ย! ไอ้สัตว์! มึงเอาความแก่ของมึงมาหมิ่นกษัตริย์ด้วยความหวังว่า ผู้คนจะไม่กระทืบมึงหรือไง? กูนี่แหละจะกระทืบมึงให้แหลกคาซ่นตีนกู ฯลฯ, ฯลฯ, ฯลฯ" ผมตกตะลึงอย่างไม่คาดฝันว่าจะมาเจอมนุษย์พรรค์อย่างนี้เข้า ผมรีบคุกเข่าและยกมือพนมไหว้นายถ่อยสถุลคนนี้และไม่ได้พูดโต้ตอบแม้สักคำหนึ่ง ในตอนนั้นที่ผมต้องคุกเข่าและยกมือไหว้นายคนนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ พล.อ.อ.หริณ หงสกุล ที่ว่า "ถ้าเราถูกบังคับให้จำต้องยกมือไหว้คนที่เราไม่อยากจะยกมือไหว้มัน ก็ขอให้เรายกมือไหว้มันแล้วนึกเสียว่าเรายกมือไหว้หมาก็แล้วกัน""
  • จำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 ให้จำคุก 4 ปี  แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี


"จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยกระทำผิดรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี เห็นว่าจำเลยอายุ 64 ปี ป่วยด้วยโรคจิตและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและไปบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ริบของกลาง"

  • ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเป็นการลับ
  • พยานโจทก์ในคดีนี้ เช่น  พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ  ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ขณะนั้น), รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น), รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และเคยรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายเชาวนะ ไตรมาศ ผอ.สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานรัฐธรรมนูญ, นางเบญจวรรณ บุณณดิลก พนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย, นางบุญครอง นิปวณิชย์ เลขาธิการพรรคเผ่าไทย, นายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์ เลขาธิการองคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ
  • บางส่วนของคำพิพากษาระบุว่า  การกล่าวว่าควรติดรูปตราชั่งอย่างเดียวในห้องพิจารณาคดีนั้น เห็นว่าเป็นการดูหมิ่น เพราะการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมต้องทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และในห้องพิจารณาคดีจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหนือบัลลังก์ศาล การที่จำเลยกล่าวเช่นนั้นมีความหมายทำนองว่า ไม่ควรนำพระบรมฉายาลักษณ์ไปติดไว้ ถ้อยคำดังกล่าวแสดงถึงการไม่ถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์


เรื่องการลดหรืออภัยโทษ จำเลยมุ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจอภัยโทษแต่เพียงพระองค์เดียว จำเลยเขียนทำนองว่านั่นเป็นการสร้างพระบารมี ซึ่งความจริงแล้วพระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจในการลดโทษหรืออภัยโทษ โดยเป็นการพระราชทานพระเมตตา และทรงปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรม ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

เรื่องผู้มีอำนาจอยู่เหนือสิ่งต่างๆ แต่ต้องไม่ให้อยู่เหนือความเป็นธรรม เป็นความเห็นทำนองว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเหนือคนทั้งประเทศและเหนือความเป็นธรรม ควรจะจำกัดขอบเขตพระราชอำนาจ ซึ่งความจริงแล้วพระมหากษัตริย์มิได้อยู่เหนือกฎหมาย พระองค์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ที่ให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลในแผ่นดิน ไม่เคยทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น

เรื่องการยกหมาสูงกว่าคนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่องคุณทองแดงโดยมีสาระสำคัญว่า สุนัขมีความกตัญญูรู้คุณ แต่มิได้ประสงค์ที่จะเปรียบเทียบระหว่างคนกับสุนัข ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

"ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ทุกปากเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ ได้ฟังคำกล่าวของจำเลยในการประชุม และเป็นผู้ที่อ่านข้อความในเอกสาร ล้วนเบิกความให้ความเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่เขียนนั้น จำเลยเจตนาหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระราชินี  ใส่ความว่าทรงอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ทรงอยู่เหนือกฎหมายและความเป็นธรรม ทรงยกย่องสุนัขยิ่งกว่าคน และทรงใช้พระราชอำนาจในการลดโทษหรืออภัยโทษแก่นักโทษเพื่อเป็นการสร้างพระบารมีแก่พระองค์ และไม่ควรมีพระบรมฉายาลักษณ์ประดับอยู่เหนือบัลลังก์ศาล

พยานโจทก์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาอาชีพ  ทั้งข้าราชการพลเรือน นักการเมือง ครูอาจารย์ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต่างไม่เคยรู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน  ไม่มีเหตุที่พยานโจทก์จะกลั่นแกล้งเบิกความแสดงความเห็นปรักปรำจำเลยเพื่อให้ต้องได้รับโทษทางอาญา น่าเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความให้ความเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม ความเห็นดังกล่าวย่อมรับฟังได้ และเมื่อศาลพิเคราะห์ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนแล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้ง โดยใช้คำว่าผู้ปกครอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็แปลเจตนาจำเลยได้ว่า จำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะข้อเท็จจริงบางตอนนั้นเป็นพระราชอำนาจโดยตรงของพระมหากษัตริย์เท่านั้น  

เมื่อพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 2 ที่ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาตรา 8 วรรคแรกที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ วรรคสองที่ว่า ผู้ใดจะกล่าวหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ มาตรา 10 ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย มาตรา 66 ที่ว่า บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมาตรา 71 ที่ว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต

นอกจากนี้ ยังมีประมวลกฎหมายอาญาที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ ไว้เป็นพิเศษ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นเคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ ให้ดำรงคงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่กฎหมาย แม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันกษัตริย์ ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล  การจะกล่าววาจาหรือเขียนข้อความจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบ เปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทนั้น หามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่ จากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนฟังได้ว่า จำเลยกล่าวและเขียนโดยมุ่งหมายถึงทั้งสามพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถ้อยคำและข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศว่า ทั้งสามพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายนานัปการเพื่อประโยชน์สุของประชาชน มิได้ดำรงตนอยู่เหนือกฎหมาย ทรงปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญและหลักธรรมสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรมและมีเมตตาในธรรมในการที่จะลดโทษหรืออภัยโทษแก่นักโทษ โดยมิได้สร้างพระบารมีในเรื่องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์แต่อย่างใด ทั้งไม่เคยกดขี่ข่มเหงประชาชนชาวไทย มีแต่พระราชทานความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ศาลเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนนั้น เป็นการลบหลู่และใส่ความตลอดจนแสดงความอาฆาตมาดร้ายโดยประการที่น่าจะทำให้ทั้งสามพระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง"

ที่จำเลยสู้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้ง 3 พระองค์นั้น เห็นว่าจำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ มิใช่ถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวถ้อยคำและเขียนข้อความ หากจะต้องพิจารณาจากความหมายของถ้อยคำและข้อความนั้น และถ้าจำเลยประสงค์ที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมกันในสังคม ก็ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่จะกล่าวหรือเขียนได้ แต่มีเหตุผลจำเป็นอย่างใดที่จำเลยจะต้องยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นเคารพสักการะของประชาชนและไม่เคยทรงกดขี่ข่มเหงประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนมากล่าวในทางให้เสื่อมเสีย ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมา มีว่า จำเลยกระทำความผิดไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนหรือไม่ ได้ความจากรายงานการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวช ตลอดจนคำเบิกความของแพทย์ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ผู้ตรวจอาการทางจิตของจำเลยว่า จำเลยเคยเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และสถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อปี 2508 และปี 2518 ตามลำดับ แต่จำเลยปฏิเสธความเจ็บป่วยทางจิต ไม่ร่วมมือรับประทานยา และไม่ได้รับการรักษาต่อ จำเลยประกอบอาชีพเขียนหนังสือ และแปลหนังสือ มีระดับเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบแนวคิดที่ผิดปกติชัดเจน เนื้อหาค่อนข้างแปลกประหลาดและผิดปกติไปจากเกณฑ์ปกติ มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ ไม่ไว้วางใจใคร มีลักษณะต่อต้านบุคคลอื่น จำเลยเป็นโรคจิตหวาดระแวงที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ขาดการรักษา เห็นควรจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยป่วยด้วยโรคจิตมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุและยังคงป่วยมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่ตามคำเบิกความของแพทย์ยืนยันว่าผู้ป่วยด้วยโรคจิตเภทแบบจำเลยสามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้ บุคคลทั่วไปมิได้ใกล้ชิดกับจำเลยจะดูไม่ออกว่าจำเลยป่วยด้วยโรคจิตเภท ทั้งยังปรากฏอีกว่าจำเลยสามารถดำรงชีพของตนได้ด้วยการเขียนหนังสือและแปลหนังสือมาโดยตลอด รวมทั้งทำงานเป็นบรรณาธิการวารสารสันติสาส์นอยู่ด้วย ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนแม้มีลักษณะเพ้อฟันค่อนข้างมาก แต่ก็สามารถอ่านรู้เรื่องและสื่อความหมายได้ครบถ้วน หาใช่เป็นข้อวามสะเปะสะปะอ่านไม่รู้เรื่องไม่ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า สภาวะจิตใจของจำเลยในขณะกระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างและยังสามารถบังคับตนเองได้ จำเลยจึงต้องรับโทษในการกระทำความผิดของตน แต่ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงไหนก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง"

  • วันที่ 17 ธันวาคม 2550 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ


"โจทก์อุทธรณ์ไม่ให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ข้อความในข้อเขียนเรื่องสรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง) ข้อเรียนเรื่องวรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) และถ้อยคำพูดตามเอกสารถอดเทปคำพูด ปรากฏอย่างชัดเจนว่าข้อความทุกข้อความและทุกตอนดังกล่าวเป็นข้อความที่คนทั่วไปอ่านหรือรับฟังแล้ว สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ปรากฏให้เห็นว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจข้อความใด หรือเป็นการเขียนแบบสติเลอะเลือน เพียงแต่เป็นข้อความหรือผลงานที่มีที่มาจากภูมิหลังที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากครอบครัว และได้รับอิทธิพลจากแนวคิดด้านหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา วัฒนธรรมประเพณี การปกครองและกฎหมายของประเทศไทย อันเป็นวิธีการเขียนและกล่าวแบบเสียดสีและประชดประชันเท่านั้น นอกจากนี้ข้อความเกือบทุกข้อความและทุกตอนดังกล่าว เป็นข้อความที่สอดคล้องเป็นเอกภาพ และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันโดยชัดแจ้ง คือ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอยู่เหนือสถาบันต่างๆ รวมทั้งกล่าวหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ในลักษณะเสียดสีว่า เอารัดเอาเปรียบประชาชน เหยียดหยามคุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน และอื่นๆ ดังนั้น จึงเชื่อได้แน่ชัดว่า ขณะจำเลยเขียนหรือกล่าวข้อความดังกล่าว จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ส่วนที่แพทย์ลงความเห็นและเบิกความว่า จำเลยเป็นโรคจิตประเภทหวาดระแวงและมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ไม่ปรากฏว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยมีอาการเป็นโรคจิตประเภทหวาดระแวง และเป็นผลทำให้จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมดหรือบางส่วน  ดังนั้น จึงฟังได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารบังคับตนเองได้ และมิใช่กรณีขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เมื่อฟังได้ดังกล่าวแม้ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 63 ปี ก็ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น 

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าได้เขียนและกล่าวข้อความตามฟ้องจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา"

  • ดร.ปีเตอร์ โคเร็ท เพิ่มวงเงินประกันเป็น 300,000 บาท และบัณฑิตได้รับการประกันตัว

 

  • 10 กรกฎาคม 2551 จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุโดยสรุปว่า ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำความผิดจะมีอาการเป็นโรคจิตนั้น ตามคำเบิกความของแพทย์นั้นระบุการวินิจฉัยกระทำในรูปคณะกรรมการซึ่งมีจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่อาชีวบำบัด  กระทำอย่างมีกระบวนการละเอียด สรุปความเห็นว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตเรื้อรัง อาการเด่นคือ ความคิดหวาดระแวง การใช้เหตุผลไม่เหมือนคนทั่วไป พิเคราะห์ข้อเขียนจำเลยหากอ่านในระยะแรกจะไม่พบความผิดปกติแต่เมื่ออ่านไปประมาณสองหน้าก็จะพบความผิดปกติ เนื้อหามีลักษณะกระโดดไปมา และพยานผู้เป็นแพทย์ก็ระบุว่าอาการป่วยโรคจิตเภทนั้นจะมีอยู่ตลอดเวลา แต่การแสดงออกถึงความผิดปกติจะมากหรือน้อยแล้วแต่ปัจจัยอื่นๆ  

จำเลยอายุมาก จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน นอกจากป่วยทางจิตแล้วทางกายของจำเลยยังมีโรคประจำตัว คือ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ปกติมีอาการปวดมาก โรคภูมิแพ้ และยังพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กดทับท่อไต จึงขอศาลฎีกาโปรดให้ความเมตตารอการลงโทษไว้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้รับการรักษาและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปในช่วงบั้นปลายชีวิต

  • 21 สิงหาคม 2556 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา


"........................................................................"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“แน่นอก กสม.” รายงานจากวงเสวนาที่เชียงใหม่

Posted: 19 Aug 2013 01:03 AM PDT

เสวนาทบทวน-วิจารณ์รายงาน กสม. ช่วงสลายชุมนุมปี 53 ที่ Book Re:public เชียงใหม่ โดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี สมชาย ปรีชาศิลปกุล ดำเนินรายการโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

17 ส.ค. 56 ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ "แน่นอก กสม." อันเป็นการทบทวนปฏิกิริยาต่อ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2553" (อ่านรายงาน) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และสมชาย ปรีชาศิลปกุล และดำเนินรายการโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

000

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ กล่าวว่าในสายตาของตน รายงานของกสม.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นแม้แต่รายงาน เพราะไม่มีคุณภาพ และไม่มีบัญชีพยาน โดยปกติการทำรายงานตรวจสอบในลักษณะนี้ ส่วนที่ยาวที่สุดจะเป็นเชิงอรรถหรือภาคผนวก โดยระบุว่าพยานมาจากไหน มีกี่คน หรือในกรณีที่เป็นเรื่องอ่อนไหว ก็จะลงชื่อเป็นชื่อปลอมของเขา หรือลงเท่าที่เขาไม่เป็นอันตราย เช่น ลงชื่อเมืองอะไรที่มันกว้างๆ แต่รายงานกสม.ฉบับนี้ ไม่มีภาคผนวก ไม่มีสิ่งที่ยืนยันถึงวิธีวิทยาในการเก็บข้อมูล ประธานกสม.บอกว่าเราก็เชิญเสื้อแดงนะ แต่เขาไม่ยอมมา แต่มันนำมาใช้เป็นเหตุผลไม่ได้ เพราะขนาดคอป.ยังไม่เคยอ้างเหตุผลแบบนี้เลย แล้วรายงานของคอป.ยังมีภาคผนวกอะไรที่ชัดเจนกว่านี้มาก

รายงานของกสม.จึงไม่มีอะไรที่จะยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้มา ไม่มีการระบุว่าเป็นพยานคนใด ระบุแต่ว่าเป็น "พยาน" ทำให้สืบค้นกลับไปไม่ได้ว่า พยานที่บอกว่าเห็นชายชุดดำใช่คนเดียวกับพยานคนที่บอกว่ามีการยิงต่อสู้กันใต้รถไฟฟ้าบีทีเอสที่หน้าวัดปทุมฯ หรือไม่ ซึ่งมันขัดกับรายงานวิจัยหรือการศึกษาที่เป็นระบบอยู่แล้ว

"ตอนรายงานคอป. ออกมา ผมบอกว่าเป็นใบอนุญาตสั่งฆ่า แต่อันนี้ ผมว่าแย่กว่าอีก มันเป็นคำพิพากษาเลย ที่ต้องการจะบอกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ผิด เป็นการกระทำการโดยประมาท และเป็นการกระทำเพราะความจำเป็น เหตุผลเพราะว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ มีกองกำลัง ถ้าดูข้อสรุปตอนท้ายรายงาน ไม่มีการระบุเลยว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารประชาชน" พิภพกล่าว

พิภพระบุว่า ที่ผ่านมามีการไต่สวนการตาย 5-6 คดี เช่น คดีช่างภาพชาวอิตาลี ศาลระบุว่ายิงมาจากฝั่งทหาร หรือกรณี 6 ศพที่วัดปทุมฯ ศาลระบุชัดเจนว่าเป็นกระสุนของทหารหน่วยไหน แม้จะระบุตัวบุคคลไม่ได้ แต่มันก็มีความชัดเจนมาก ซึ่งรายงานกสม.ออกมาหลังจากที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายในหลายกรณี ทำไมกสม.ถึงยังมีข้อสรุปว่าไม่มีเหตุจะระบุได้ว่าเป็นการเสียชีวิตเพราะใคร และอย่างไร

รายงาน กสม.จึงเป็นเหมือนรายงานตรวจสอบประชาชน มากกว่าตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่รายงานตรวจสอบ (Inquiry) โดยปกติ จะเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก เช่น กรณี Bloody Sunday เป็นกรณีที่อังกฤษส่งทหารเข้าไปในไอร์แลนด์เหนือ และมีการยิงผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 14 คน และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลายคณะ แต่คนก็ไม่ยอมรับ จนรายงานฉบับสุดท้ายของลอร์ด Saville ระบุชัดเจนว่าผู้ชุมนุมที่ไอร์แลนด์เหนือมีอาวุธด้วย และระบุตัวบุคคล ระบุชนิดอาวุธปืนได้ แต่รายงานไม่มีหลักฐานว่ามีการนำอาวุธมาใช้หรือไม่อย่างไร สุดท้ายนายกฯ อังกฤษยอมรับว่าถึงจะมีอาวุธอะไรต่างๆ แต่การที่เจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และไม่อาจหาเหตุผลมาสนับสนุนได้

การมีอยู่ของอาวุธในที่ชุมนุม จึงไม่ได้เป็นใบอนุญาตสั่งฆ่า ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้คุณยิงเขาได้ โดยตาม "กฎของการใช้กำลัง" ซึ่งเป็นกฎสากล การใช้อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่จะทำได้สองกรณี คือเมื่อตนเองจะเป็นอันตราย และเมื่อบุคคลอื่นจะเป็นอันตราย ในการควบคุมการชุมนุมต่างๆ อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้มีไว้ใช้เพื่อสลายการชุมนุม

ถ้าดูจากผลการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในการชุมนุมของนปช. ไม่มีสักรายที่มีเขม่าปืน และมีอาวุธอยู่ใกล้ๆ ตัวเลย และกรณีที่เราเห็นส่วนใหญ่ ผู้ชุมนุมถูกยิงที่หัว และร่างกายส่วนบน จึงอธิบายว่าเป็นการถูกยิงด้วยสไนเปอร์และพลแม่นปืน ซึ่งการยิงแบบนี้ คุณเห็นเขา แต่เขาไม่เห็นคุณ แล้วจะอ้างเรื่องการปกป้องอันตรายต่อตนเองได้อย่างไร หรือเป็นการปกป้องคนอื่นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง ก็ไม่ได้ เพราะคุณเห็นเขา แต่เขาไม่เห็นคุณ เขาจะไปทำอะไรคุณได้ หรือเขาจะไปทำร้ายคนอื่นอย่างไร ในรายงานของกสม.ไม่ได้พูดถึงเรื่องกฎการใช้กำลังเลย กฎนี้จะเอามาเป็นตัววัดได้ว่ามันมีการกระทำที่เกินกว่าเหตุไหม

พิภพกล่าวต่อว่า ตนจึงเห็นว่ารายงานนี้เป็นคำพิพากษาเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐพ้นผิด ซึ่งเป็นเรื่องน่าละอายมาก การเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตามระบบกฎหมายในประเทศที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศในเวลานั้น มีภูมิคุ้มกันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว กสม. ซึ่งควรทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชน แต่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปปกป้องสิทธิของเจ้าพนักงานของรัฐอีก

000

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี กล่าวว่ารายงานฉบับนี้ของกสม.เป็นคล้ายตะปูตัวสุดท้ายที่ตอกฝาโลงให้กับกสม.เอง ไปสู่จุดจบของการเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป โดยการทำรายงานสักชิ้นออกมา แล้วมีแต่คนด่า มันไม่ง่าย มันต้องมีลักษณะเด่นบางประการ ที่สามารถทำให้เกิดฉันทามติอย่างเป็นเอกฉันท์และรวดเร็ว ซึ่งแม้แต่กสม.บางท่านเองยังออกมาสละเรือ

ลักษณะเด่นที่ว่าคือรายงานนี้มีความตรงไปตรงมาชัดเจน ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องตีความให้ซับซ้อน รายงานนี้เป็นชิ้นที่ชัดเจนที่สุดที่ชี้ให้เห็นจุดยืนทางการเมืองของกสม. หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นรายงานฉบับเปลือยธาตุแท้ของกสม. ได้หมดจด

เวลาตนอ่านรายงานชิ้นนี้จึงอ่านเพื่อมองหาธาตุแท้หรือจุดยืนทางการเมือง ที่กสม.มี ซึ่งจุดยืนหรืออุดมการณ์นี้ เป็นสิ่งที่นำมาใช้ในการออกแบบการเลือกใช้ข้อมูล การเรียบเรียงเรื่องราว การวางเค้าโครง การสร้างข้อสรุป โดยจากรายงานฉบับนี้ได้พบสามหัวเรื่องที่เป็นจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญของรายงานฉบับนี้

หนึ่ง คือเป็นรายงานที่แสดงจุดยืนของการสนับสนุนรัฐประหาร และสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและอำนาจทหาร อันเป็นจุดยืนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ซึ่งกสม.ชุดที่แล้ว ได้เคยกล่าวว่ามันเป็นทางออกที่เหลืออยู่ ไม่ใช่การถอยหลัง ไม่ใช่การเดินไปข้างหน้า แต่เป็นเรื่องการแก้สถานการณ์ อันนี้เป็นจุดยืนของการปกป้องรัฐประหารและสถาบันทหาร ที่กสม.ได้ส่งไม้ส่งทอดมาถึงปัจจุบัน

รายงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนอันนี้ อย่างที่รายงาน Voice TV (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ได้ช่วยคำนวณจำนวนย่อหน้า และจำนวนหน้าในรายงานให้เราเห็น ว่าจำนวนหน้า พลังงานจำนวนมาก ที่เขาใช้ในการปกป้องทหาร ใช้แก้ตัวให้กับรัฐบาลในการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-การปิดพีทีวี ใช้อธิบายความจำเป็นของทหารในการปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชน ใช้สนับสนุนการใช้อำนาจของ ศอฉ.

ปิ่นแก้วเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นท่าที่เปิดเผยจุดยืนของกสม.อย่างตรงไปตรงมา และเห็นว่าเมื่อรายงานกล่าวตรงๆ แล้วว่ากสม.สนับสนุนทหารและอำนาจทหาร ดังนั้นเพื่อไม่ให้จุดยืนทางการเมืองแบบนี้ย้อนแย้งกับรากกำเนิดของกสม. ซึ่งก่อตั้งมาจากผลพวงการต่อสู้ของประชาชน ในการต่อต้านเผด็จการทหารในปี 35 และตั้งมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 จึงเสนอว่ากสม.ควรเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการปกป้องรัฐบาลทหารแห่งชาติ" เพื่อจะได้ไม่ต้องซ่อนตัวเองอยู่หลังเสื้อคลุมของสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป และไม่ต้องใช้ภาษีของประชาชนในการทำรายงานหรือทำงาน ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะปกป้องสิทธิของประชาชน

สอง คือ รายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าเจตจำนงของกสม.ชุดนี้ไม่ได้ยึดโยงกับจริยธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจริยธรรมสำคัญที่ยึดโยงกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน ท่านอาจจะแย้งว่ามี มันเป็นประชาธิปไตยที่ถูกนิยามภายใต้ระบอบทหาร ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่าท่านมี "จริยธรรมประชาธิปไตยแบบทหารๆ" ทำให้กสม.เลือกจะมองการชุมนุมของนปช.ว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ซึ่งในรายงานจะพูดแต่เรื่องเหล่านี้

กสม.ลืมไปว่าประชาชนไม่ได้มองแบบนี้ เขาไม่ได้ยอมรับว่ารัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหาร และใช้กฎหมายภายใต้รัฐอันไม่ชอบธรรมนั้น เป็นการกระทำที่เป็นประชาธิปไตยและชอบธรรม เขาจึงพากันออกมาชุมนุมประท้วง การชุมนุมนปช.จึงไม่ได้เป็นการแค่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง จึงต้องเข้าแถวให้เรียบร้อย แต่เป็นการแสดงออกถึงการขัดขืนต่อต้านรัฐบาลอันไม่ชอบธรรม

ที่น่าแปลกคือ กสม.ไม่รู้ว่าการขัดขืนของพลเมือง มักเกิดขึ้นในภาวะที่บ้านเมืองถูกปกครองโดยรัฐที่ฉ้อฉลและไม่ชอบธรรม การแสดงออกในการฝ่าฝืนกฎหมายหรือการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ เป็นการแสดงออกถึงการขบถ ความต้องการต่อต้านขัดขืนของประชาชน ในประวัติศาสตร์ทั่วโลก การลุกฮือขึ้นของประชาชน เป็นกระบวนการที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตย ไม่มีรัฐที่ไหนที่ยึดถือประชาธิปไตย จะตอบโต้การขัดขืนของประชาชนด้วยกระสุนปืน นอกจากรัฐทรราชย์ รายงานกสม.ฉบับนี้จึงสนับสนุนจริยธรรมของรัฐทรราชย์อย่างชัดเจน

อันที่สาม คือภาษาและสำนวนที่ใช้ในรายงานฉบับนี้ มีความชัดเจนว่ากสม.ไม่ได้มองผู้ชุมนุมว่ามีความเป็นพลเมืองที่มีความตื่นตัว มีจิตสำนึกทางการเมืองของตนเอง หากแต่เป็นชาวบ้านที่ถูกปั่นหัว ลากมาประท้วงโดยแกนนำ และเป็นพวกผู้ก่อการร้ายที่ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติ กสม.ไม่ได้ใช้คำเหล่านี้โดยตรง แต่ถ้าอ่านรายงานจะพบกับคำกริยา คำคุณศัพท์ คำเรียก ที่มีนัยเหล่านี้อยู่เกลื่อนไปหมด เช่น การก่อการจลาจล,การสร้างความวุ่นวาย, การปลุกปั่น, การปลุกระดม, ความรุนแรง, การสร้างความเดือดร้อนรำคาญ, สร้างความตื่นตระหนก และชายชุดดำ

คำพวกนี้เป็นคำที่รัฐทรราชย์มักใช้เรียกผู้ก่อการร้าย ไม่มีตรงไหนในรายงาน ที่จะเรียกผู้ชุมนุม ว่าเป็นผู้ต้องการให้ประเทศกลับคืนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หรือเรียกว่าเป็นผู้ต่อต้านรัฐประหาร โดยเมื่อมีความเชื่อเป็นพื้นฐานแต่แรกว่าผู้ชุมนุมเป็นพวกผู้ก่อการร้าย จึงไม่แปลกใจที่กสม.จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตายของคนเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย หรือมองว่าการสังหารปราบปรามต่อรัฐเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องอยู่แล้ว

ปิ่นแก้วเสนอในตอนท้ายว่าในเมื่อกสม.แสดงจุดยืนที่ชัดเจนขนาดนี้แล้ว ก็ควรจะเปลี่ยนชื่อรายงานให้ตรงกับเนื้อหา เป็นว่า "รายงานผลการตรวจสอบประสิทธิภาพการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มนปช.ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553"

000

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงรายงานของ กสม. ที่ออกมาภายหลังรายงานการสลายการชุมนุม คือรายงานผลการสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งกสม.รายงานตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างละเอียดละออ สิ่งที่กสม.ทำกับกรณีของคุณเอกยุทธนั้นควรทำ แต่คำถามคือทำไมกับกรณีของคนเสื้อแดง จึงไม่ทำกัน สิ่งที่กสม.ควรต้องทำในเบื้องต้น คือไว้ใจหน่วยงานรัฐไม่ได้ และไว้ใจการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ แต่คำถามคือทำไมบางเรื่องจึงทำอย่างละเอียดละออ และบางเรื่องจึงไม่ทำ

สมชายกล่าวต่อว่า สิ่งที่เราเห็นในรายงานกสม.ฉบับนี้ เป็นปรากฏหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าความพยายามในการที่จะต่อสู้หรือแย่งชิงอำนาจนำทางการเมืองนอกพื้นที่รัฐสภา โดยเฉพาะในสถาบันที่ไม่ได้สัมพันธ์กับเสียงส่วนใหญ่ในสังคม (non–majoritarian institution) เข้ามาทำหน้าที่อะไรเยอะมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงกสม. แต่เราเห็นศาลรัฐธรรมนูญ,กกต. เป็นต้น

สิ่งที่เรากำลังเจอ ก็คือในพื้นที่การต่อสู้ทางการเมืองนอกรัฐสภา เรากำลังเผชิญกับสถาบันที่ไม่ได้สัมพันธ์กับเสียงข้างมากในสังคม ปรากฏขึ้นและมีบทบาทอย่างมาก ลักษณะร่วมๆ ขององค์กรพวกนี้ คือหนึ่ง มีท่าทีที่รังเกียจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันจะชื่นชมยกย่องคนดีที่คลุมเครือ สอง คือรังเกียจความเปลี่ยนแปลงที่นำโดยนักการเมือง ที่ผูกโยงกับประชาชน และสาม คือดูถูกประชาชน

ส่วนใหญ่องค์กรพวกนี้จะอยู่ในระบบการคัดเลือก คือจะเข้ามาด้วยกระบวนการที่พิเศษ ที่ไม่สัมพันธ์กับเสียงข้างมากในระบอบเลย ระบอบการตรวจสอบกำกับจึงไม่สู้จะสัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกลายเป็นช่องทางให้บรรดา "คนดี" หรือ "เทวดา" ทั้งหลายเข้ามาสู่ระบบการเมือง

และองค์กรเหล่านี้ไม่ใช่แค่องค์กรอิสระทางการเมือง แต่เราจะเห็นองค์กรอิสระด้านเศรษฐกิจด้วย ที่มาคอยชี้ว่าต้องทำแบบนี้ๆ คือ TDRI หรือถ้าพูดในทางกลับกันศาลรัฐธรรมนูญ, กกต. ก็คือ TDRI ในภาคการเมือง และยังมีองค์กรอิสระด้านสื่ออีกด้วย คือไทยพีบีเอส

สิ่งที่เราเห็นคือมันมีแนวรบด้านการต่อสู้เพื่ออำนาจนำทางการเมืองนอกรัฐสภาอยู่ โดยมีสถาบันแบบนี้สถาปนาตนเองอยู่ องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญในการให้ความหมายต่อการกระทำ ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ โดยในอดีต องค์กรพวกนี้มันถูกกำกับโดยองค์กรพัฒนาเอกชน และอีกส่วนคือสถาบันวิชาการ ซึ่งมีพลังในการกำกับค่อนข้างมาก แต่ผลปรากฏว่าในปัจจุบัน การกำกับองค์กรพวกนี้มันต่ำมาก

อาจจะมีองค์กรต่างๆ มากำกับบ้าง เช่น สันติประชาธรรม, ศปช., กลุ่มนิติราษฎร์ เป็นต้น แต่ถ้าเทียบกับองค์กรประเภทแรกที่คอยกำกับตรวจสอบ จะพบว่ามีข้อจำกัดสามเรื่องของการตรวจสอบในปัจจุบัน คือองค์กรมันไม่ถาวร และไม่ต่อเนื่อง, มันไม่มีอำนาจอย่างเป็นทางการ และมันไม่มีเอกภาพ

สมชายสรุปว่าการเผชิญหน้ากับกสม.จึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเผชิญหน้ากับองค์กรที่ไม่สัมพันธ์กับระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น โดยสิ่งที่เราต้องคิดคือจะทำอย่างไร ให้เกิดความเข้มแข็งในการกำกับและจัดการพวกนี้ เช่น ที่รายงานของกสม.ที่ถูกโต้ตอบอย่างรุนแรง และทำให้รายงานหมดน้ำหนักไปมาก เพราะมันมีศปช.ทำรายงานมันกำกับควบคุมกันไป ทำให้รายงานกสม.มันดูอ่อนไปเลย ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ไม่สู้จะเข้มแข็งเท่าไรในการกำกับ คำถามคือเราจะสร้างระบบการกำกับองค์กรพวกนี้ให้เกิดขึ้นอย่างไรในก้าวถัดไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กทค. ชี้ดีแทคผิด เก็บค่าโทรเกิน 99 สตางค์ สั่งคืนเงินส่วนเกิน-ดอกเบี้ย ให้ผู้บริโภค

Posted: 18 Aug 2013 11:59 PM PDT

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีเก็บค่าโทรมือถือเกิน 99 สตางค์รายแรกแล้ว สั่งดีแทค ต้องคืนเงินส่วนที่เก็บเกินให้ผู้บริโภคพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 แต่ยังไม่ยอมให้มีมาตรการเยียวยาเป็นการทั่วไป ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ประสบปัญหายังต้องร้องเรียน จึงจะได้เงินคืน

(19 ส.ค.56) ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เปิดเผยถึงผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคโดยที่ประชุม กทค. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้วางบรรทัดฐานต่อกรณีการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2G ในอัตราที่เกินกว่า 99 สตางค์ แล้วว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย นั่นคือประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ. 2555 ดังนั้นจึงมีมติให้ผู้ให้บริการต้องคืนเงินส่วนที่เก็บเกินไปนั้นให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องเรียน โดยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยของเงินส่วนเกินนั้นด้วย ในอัตราร้อยละ 15 ตามอัตราที่บริษัทเรียกเก็บจากผู้บริโภคในกรณีที่ชำระค่าบริการล่าช้า

"มตินี้เป็นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการของดีแทค แต่จากกรณีเดียวนี้ก็เป็นบรรทัดฐานว่า ผู้ให้บริการทุกรายที่มีหน้าที่ตามประกาศเรื่องอัตราขั้นสูงนั้น หากมีการเรียกเก็บเงินเกินกว่าอัตราที่ประกาศกำหนด แล้วผู้บริโภคมีการร้องเรียนเข้ามา ก็จะต้องถูกสั่งให้คืนเงินที่เก็บเกินไปนั้นพร้อมดอกเบี้ยเช่นเดียวกันทุกๆ ราย"

ประวิทย์กล่าวต่อไปด้วยว่า เป็นที่น่าเสียดายที่ กทค. ไม่ยอมมีมติสั่งเป็นการทั่วไปในเรื่องดังกล่าว ทั้งๆ ที่ทางผู้ร้องเรียนรายนี้ก็มีคำร้องขอในประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาไม่จำเป็นต้องมาร้องเรียนกันทุกคน และ กทค. ก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนเป็นกรณีๆ ไป โดยถ้า กทค. มีมติออกมา สำนักงาน กสทช. ก็จะสามารถสั่งการให้บริษัทที่คิดค่าบริการเกินดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ใช้บริการทั้งหมด

นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า สำนักงาน กสทช. มีการเสนออีกวาระหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกันให้ กทค. พิจารณา นั่นคือ เรื่องมาตรการเยียวยาผู้ร้องเรียนกรณีถูกคิดค่าบริการเกินอัตราขั้นสูงฯ ซึ่งมีข้อเสนอประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการคือ 1)ให้ผู้ร้องเรียนมีสิทธิชำระค่าบริการเฉพาะส่วนที่เห็นว่าไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (99 สตางค์) ได้ 2) เมื่อมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว หากพบว่าไม่เป็นการเรียกเก็บเกินอัตรา ก็ให้มีสิทธิเก็บเงินต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นการเรียกเก็บเกิน ก็ต้องคืนเงินส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม กทค. ไม่ได้พิจารณาวาระดังกล่าว เนื่องจากทางส่วนงานเจ้าของเรื่องได้ขอถอนข้อเสนอออกไปเพื่อปรับปรุงใหม่ หลังจากพบว่า ในการแสดงความเห็นชั้นกลั่นกรองเรื่องก่อนบรรจุวาระ กทค. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการที่เสนอ

"มีผมที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสำนักงาน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ข้อ 1) เพราะรู้ว่าเรื่องการไม่ยอมรับชำระเงินบางจำนวนนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคถูกต้อนเข้าตาจนในที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีปัญหาการโต้แย้งเรื่องค่าบริการบางส่วน โดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคเพียงไม่อยากจ่ายค่าบริการส่วนที่ยังมีข้อติดใจหรือข้องใจ และพร้อมจ่ายค่าบริการส่วนที่ไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ เพราะผู้ให้บริการหรือบริษัทจะยอมรับชำระยอดเต็มเท่านั้น ผู้บริโภคจึงเลือกไม่ชำระ และพอครบสองรอบบิล บริษัทก็ใช้สิทธิตามกฎหมายระงับหรือตัดบริการของผู้บริโภค เท่ากับบังคับผู้บริโภคให้เลิกโต้แย้งโดยปริยาย เพื่อแลกกับการได้ใช้บริการ ดังนั้นข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ในข้อแรกจึงนับว่ามาถูกทาง ส่วนข้อ 2) ก็เป็นหลักที่ถูกต้อง ซึ่งผมเสนอด้วยซ้ำว่า ควรกำหนดเป็นมาตรการทั่วไป ไม่ใช่ใช้กับคนที่มาร้องเรียนเท่านั้น แต่เนื่องจาก กทค. ท่านอื่นๆ เห็นว่าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นจำเป็นต้องดูเป็นกรณีๆ ไป เพราะข้อเท็จจริงแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน ความจริงเหตุผลนี้ผมก็ไม่เถียง แต่ก็เห็นว่ามาตรการที่เสนอนั้นก็มีเงื่อนไขเฉพาะ ไม่ได้ครอบคลุมจนกว้างไปหมด ก็เลยเสียดายที่ยังต้องให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายเริ่มต้นร้องเรียนเข้ามา ซึ่งผมก็อยากชักชวนนะครับ เพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองในบรรทัดฐานเดียวกันกับกรณีที่ กทค. พิจารณาแล้ว ขณะเดียวกันผมก็แจ้งให้สำนักงานเร่งรัดเสนอเรื่องร้องเรียนกรณีค่าบริการเกิน 99 สตางค์รายอื่นๆ เข้ามาด้วย เพราะทราบว่ามีอีกเกือบ 130 เรื่อง" ประวิทย์กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปากคำผู้สื่อข่าวตะวันตกในเหตุการณ์ล้อมมัสยิดในกรุงไคโร

Posted: 18 Aug 2013 09:50 PM PDT

อลาสแตร์ บีช ผู้สื่อข่าว The Independent ซึ่งติดอยู่ในมัสยิดอัล-ฟาตีฮ์ ในช่วงที่มีการล้อมและเคลียร์พื้นที่ เล่าว่า สภาพผู้คนที่หนีตายมาหลบภัย อยู่ในสภาพตื่นกลัว โกลาหล ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยหลบกระสุนปริศนาที่ยิงกราดลงมา

18 ส.ค. 2013 - ผู้สื่อข่าว The Independent อลาสแตร์ บีช เล่าถึงเหตุการณ์ล้อมมัสยิดอัล-ฟาตีฮ์ ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ จากเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

บีชเล่าว่าสภาพการณ์ของผู้ชุมนุมถูกบีบอยู่ด้านในของห้องที่อบอ้าว มีการนำโต๊ะและเก้าอี้ไม้มาเป็นแนวกั้น นอกจากกลุ่มคนที่มากระจุกตัวเพื่อหลบภัยจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นภายนอกแล้ว พวกเขาต้องอยู่ร่วมกับศพที่กำลังเน่าเปื่อยของความรุนแรงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ผู้ประท้วงบางส่วนก็อยู่ที่โถงทางเดินและพื้นที่ละหมาดของมัสยิด สภาพภายนอกมีผู้บัญชาการทหารคอยเดินเกาะกลุ่มวนไปวนมาอยู่กับทหารอีกจำนวนหนึ่ง

บีชกล่าวอีกว่ามีคนในพื้นที่อีกหลายร้อยคนเบียดเสียดอยู่ด้านนอกประตูโครงเหล็กที่ลานมัสยิด สภาพบรรยากาศในตอนนั้นมีความตึงเครียดและดูเหมือนจะไม่มีการยกโทษให้กับผู้ที่ติดอยู่ในอาคาร  เพราะสำหรับชาวอียิปต์บางคน ผู้สนับสนุนมอร์ซีกลายเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่า "ผู้ก่อการร้าย" ไปแล้ว

ยัสมิน อาเหม็ด นักศึกษาอายุ 20 ปี ที่อยู่ในมัสยิดกล่าวว่า เธอคงช่วยเหลืออะไรคนอื่นไม่ได้ เพราะทหารและตำรวจที่อยู่ด้านนอกคิดว่าคนที่ติดอยู่ด้านในเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือความโกลาหลอลหม่านในหมู่ชาวอียิปต์ทุกคน

บีชบอกอีกว่าผู้ติดอยู่ในมัสยิดมีความรู้สึกกลัวและวิตกกังวล มีครอบครัวที่ร้องไห้เดินไปรอบๆ พื้นที่ละหมาด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถือปืนกลอาก้าในมืออีกข้างหนึ่ง ตาเบิกโพลงและเคี้ยวหมากฝรั่งด้วยความกระวนกระวาย

พอถึงช่วงเวลา 12.40 น. เหตุการณ์ก็เริ่มเลวร้าย มีเสียงปืนยิงกระหน่ำอย่างหนักอยู่นอกเขตมัสยิดทำให้เกิดความแตกตื่นภายในพื้นที่ละหมาด มีชายหนุ่มคนหนึ่งตะโกนว่าเป็นกลุ่มภราดรภาพมุสลิมที่ยิงพวกเขาจากข้างบน กลุ่มคนสวมชุดดำจากหน่วยรักษาความสงบวิ่งเข้ามาหลบอยู่ในที่กำบังใต้หน้าต่างของกำแพงฝั่งตะวันออก คนอื่นๆ หมอบอยู่ที่หลังเสาขณะที่กระสุนปืนถูกยิงใส่รอบนอกบริเวณมัสยิด

ผู้สื่อข่าว The Independent เล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาปืนกระแทกหน้าต่างทางกำแพงฝั่งตะวันตก สอดส่ายสายตาไปโดยรอบเพื่อหาคนยิง แต่เมื่อไม่พบใครก็เดินออกไป ทันใดนั้นเองตำรวจติดอาวุธก็บุกเข้ามาที่โถงทางเดินสู่ห้องด้านหลังเรียงแถวกันหันปืนขึ้นไปบนฟ้า พวกเขาตั้งท่าเหมือนจะให้ยุติการล้อมปราบ ทางด้านกลุ่มประชาชนและตำรวจคนอื่นๆ วิ่งไปหลบที่กำแพงฝั่งตะวันออก

บีชเล่าต่อว่า จากนั้นไม่นานก็มีคนชี้ที่หน้าต่างชั้นสองที่มองผ่านโถงละหมาดตะโกนว่ามีคนอยู่ชั้นบนนั้น ในเวลาต่อมาก็มีแสงวาบและระเบิดเล็กๆ ที่กลางห้อง ทั้งทหารและพลเรือนกรีดร้อง ขณะที่กลุ่มควันโดยรอบโถงละหมาดค่อยๆ จางลง ตามมาด้วยเสียงระเบิดดังสนั่นในอีกไม่กี่วินาทีถัดมาที่โถงทางเดินไปยังห้องด้านหลัง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและผู้คนพยายามหนีออกทางประตู เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงสั่งให้ประชาชนออกจากพื้นที่โดยโบกมือไปมาอย่างฉุกละหุก ขณะที่มือขวายังคงถือปืนกลอาก้าไว้

ท่ามกลางความหวาดกลัว สับสน กลุ่มคนที่กำลังโกรธได้รุมนักข่าวต่างประเทศที่ทำข่าวในพื้นที่จนมีนักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งถูกไม้ตีที่หัวหมดสติไปครู่หนึ่ง ทางด้านทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ผู้โจมตี

บีชบอกว่าทหารประจำการที่จัตุรัสรัมเซสได้ช่วยเหลือนักข่าวอย่างน้อยสองคนจากกลุ่มฝูงชนที่กำลังโมโห มีนักข่าวรายอื่นๆ ถูกจับกุมในกรุงไคโรตั้งแต่วันเสาร์ ขณะที่สมาชิกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็เสี่ยงต่อการถูกกวาดจับกุม หลังจากที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการยุบกลุ่มภราดรภาพฯ นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่ามีการจับกุมผู้นำกลุ่มอัล-เคด้า และผู้นำกลุ่มอนุรักษ์นิยมจัดนิกายซาลาฟีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บัญชาการกลุ่มกบฏในเขตคาบสมุทรไซนาย

อย่างไรก็ตาม บีชกล่าวว่าฝ่ายรัฐบาลรักษาการที่ถูกหนุนหลังโดยกองทัพอียิปต์ได้ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยมในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งโหดเหี้ยมในระดับที่ไม่สามารถนับได้แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตเท่าใด ในกลุ่มผู้เสียชีวิตช่วงเหตุรุนแรงตั้งแต่วันพุธจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีลูกของเหล่าผู้นำในกลุ่มภราดรภาพมุสลิมรวมอยู่ด้วย และหนึ่งในนั้นคือลูกสาวอายุ 17 ปีของผู้นำกลุ่มภราดรภาพฯ ที่เคยร่วมประท้วงกับกลุ่มเสรีนิยมในการต่อต้านกลุ่มทหารช่วงปลายปี 2011 มาก่อน

บีชกล่าวว่าสภาพของกรุงไคโรที่เคยมีชีวิตชีวาตอนนี้มีสภาพเหมือนตายซากหลังการประกาศเคอร์ฟิว ท้องถนนที่เคยมีรถราและเสียงแตรก็ว่างเปล่า มีเพียงกลุ่มประชาชนอาสาสมัครจัดตั้ง "ด่านตรวจ" ซึ่งเป็นการนำเหล็กกั้นถนนมาวางเพื่อตรวจค้นรถและสิ่งของในกระเป๋าสะพาย

"ในเมืองที่มีผู้อยู่อาศัย 17 ล้านคนเช่นนี้ไม่เคยชวนให้รู้สึกวังเวงแบบนี้มาก่อน" อลาสแตร์ บีช กล่าวถึงสภาพกรุงไคโร




เรียบเรียงจาก

Exclusive: Cairo at war - under siege inside the Al-Fath Mosque, Aljazeera, 18-08-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/africa/exclusive-cairo-at-war--under-siege-inside-the-alfath-mosque-8772742.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น