โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เตรียมยื่น 30,000 ชื่อ ร้องรัฐฯ ตั้ง คกก.อิสระสอบข้อเท็จจริงน้ำมันรั่ว

Posted: 21 Aug 2013 12:13 PM PDT

เวทีสาธารณะ "คำถามที่ ปตท. ต้องตอบ... ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน" กลุ่ม "ติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว" เตรียม 30,000 รายชื่อเสนอนายกรัฐมนตรี ร้องตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง 27 ส.ค.นี้ ด้านผู้ประกอบกิจการ-ประมงพื้นบ้านระยอง จวก ปตท.ยังไม่เยียวยา
<--break->

 
 
วันนี้ (21 ส.ค.56) กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วแถลงเรียกร้องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบน้ำมัน ปตท.รั่ว ในเวทีสาธารณะ "คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ… ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน" ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่ว และนักวิชาการได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ที่ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารทีเอสทีทาวเวอร์
 
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ตัวแทนกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว กล่าวว่า จากกรณีท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลโดยกระจายครอบคลุมพื้นที่ทะเลเป็นบริเวณกว้างและในเวลาต่อมาคราบน้ำมันได้ถูกพัดพาเข้าสู่ชายหาดอ่าวพร้าว อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
 
แม้ที่ผ่านมาบริษัทพีทีทีจีซีและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะอ้างว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมาตรฐานแล้ว แต่ภาคประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในข้อมูลและการดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบทั้งที่ตั้งขึ้นโดยพีทีทีจีซี คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) และหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่มีองค์ประกอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระจากภาคประชาชน ทั้งยังไม่มีการเปิดเผยกระบวนการและรายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ
 
เพ็ญโฉม กล่าวด้วยว่า กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว ซึ่งติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่ต้น และได้มีแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยมีการรณรงค์เรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนผ่าน www.change.org. (คลิกดูข้อมูล) และมีผู้ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาน้ำมันรั่วรวมกว่า 30,000 คน โดยทางกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว จะได้ดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องพร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล
 
เพ็ญโฉม ให้ข้อมูลต่อมาถึงสาระสำคัญของคณะกรรมการอิสระว่า เป็นคณะกรรมการระดับชาติที่แต่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการเรียกข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ส่วนหน้าที่หลักคือตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาน้ำมันรั่วไหล ตรวจสอบผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เสนอหลักการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายต่อรัฐบาล และจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย โครงสร้าง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการรับมือสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลในอนาคต
 
ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ ต้องมีประธานที่เป็นอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม มีตัวแทนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีตัวแทนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม นิเวศน์ สุขภาพและกฎหมาย ภาคประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชนและหรือองค์กรประชาชนในพื้นที่ โดยกระบวนการทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวต้องโปร่งใส มีการเปิดเผยการดำเนินงานและรายงานต่อสาธารณะ
 
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวด้วยว่าทางกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่วนั้นไม่สามารถกำหนดระยะเวลาให้รัฐบาลเร่งแต่ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาได้ แต่ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกว่า 30,000 เสียงของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องหรือไม่ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวโดยหน้าที่ของรัฐถือเป็นสิ่งที่ควรต้องทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอให้ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้อง
 
สำหรับข้อห่วงกังวลและปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำมัน ปตท.รั่ว ในสายตาของภาคประชาชน เพ็ญโฉม กล่าวว่า มีทั้งคำถามที่ว่าน้ำมันที่รั่วมีปริมาณ 54,000 ลิตรจริงหรือ เหตุใดกระบวนการสอบมีการอายัดท่อน้ำมันแต่ทำไมไม่อายัดเรือด้วย กรณีความเจ็บป่วยของเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนที่เข้า และชาวบ้านในพื้นที่มีการดูแลและเฝ้าระวังอย่างไร นอกจากนั้นในส่วนความเสียหายที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจ การประมง และการท่องเที่ยว มีการสำรวจประเมินความเสียหายแล้วหรือไม่อย่างไร เป็นต้น
 
 
ผู้ประกอบกิจการ-ประมงระยอง จวก ปตท.ยังไม่เยียวยา
 
ดุหทัย นาวาพานิช ตัวแทนผู้ประกอบการรีสอร์ทในเกาะเสม็ด กล่าวในเวที "คำถามที่ ปตท. ต้องตอบ...ก่อนความจริงจะหายไป" โดยกล่าวเชิญชวนท่องเที่ยวเกาะเสม็ดว่า ตอนนี้เกาะเสม็ดลดราคาและบรรยากาศสงบที่สุดในรอบสิบปี เนื่องจากไม่มีคนมาเที่ยว และส่วนตัวของเธอเองก็ถูกยกเลิกการจองห้องพักทั้งที่รีสอร์ทของเธออยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะไม่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน พร้อมระบุว่าหลังเหตุการณ์ได้รับคำขอโทษและสัญญาจากทาง ปตท.ว่าจะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นแผนการเยียวยาที่ชัดเจน
 
ดุหทัย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่มีการตั้งคณะกรรมการเยียวยาที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีการแต่งตั้งกรรมการที่เป็นตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ โดยคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมคัดเลือก อีกทั้งคณะกรรมการที่มีรูปแบบไตรภาคีนี้ใช้การตัดสินใจโดยการลงคะแนนเสียง ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบโหวตเมื่อไหร่ก็แพ้
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของแบบฟอร์มคำร้องขอรับความช่วยเหลือเยียวยา ที่ไม่ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมเขียนกำกับว่าหากข้อมูลที่กรอกลงไปไม่ถูกต้อง ผู้ร้องยินยอมให้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา และไม่สามารถกรอกแบบฟอร์มอื่นได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการชดเชย
 
ส่วนวีรศักดิ์ คงณรงค์ ตัวแทนสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นชาวประมงใช้เรือในการประกอบอาชีพ ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง แต่ทั้งนี้พบว่า ทาง ปตท.กลับเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประมง และได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มนวดแผนโบราณ ซึ่งไม่เข้าใจวิธีการช่วยเหลือ และอยากให้ทาง ปตท.หันมาให้ความช่วยเหลือกลุ่มประมงด้วย
 
นอกจากนี้ ภายในงานเสวนา นายวีรศักดิ์ ได้นำ ก้อนทาร์สีดำและตัวอย่างทรายที่มีคราบสีดำที่เก็บได้ริมหาดแหลมแม่พิมถึงหาดแม่รำพึงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุท่อน้ำมัน ปตท.รั่วกลางทะเลอ่าวไทย มาแสดงต่อสื่อมวลชน เพื่อยืนยันว่ายังมีคราบน้ำมันเหลือค้างอยู่จริงในพื้นที่ พร้อมเปิดเผยว่าพบชาวบ้านในพื้นที่มีอาการป่วย อาทิ ผื่นคัน ท้องเสียจากการรับประทานสัตว์น้ำด้วย
 
"มลพิษที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงที่ต้องแก้ไข วันนี้ผมมายืนยันให้โลกเห็นว่าต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิด" วีรศักดิ์กล่าว
 
 
ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการังแนะผลกระทบ สวล.ต้องดูระยะยาว
 
ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการัง คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่าผลกระทบต่อสัตว์ในระบบนิเวศแถบอ่าวพร้าว จากกรณีน้ำมันรั่วซึ่งเป็นผลกระทบทางตรงยังเห็นไม่ชัดเจน แต่ผลกระทบระยะยาวต้องติดตามต่อไป แต่ที่กระทบแน่ๆ คือสัตว์ทะเลหน้าดิน และปะการัง
 
ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผลกระทบต่อระบบนิเวศนั้นต้องติดตามระยะยาว และอาจจะไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงแค่ว่าตายหรือไม่ตาย แต่เป็นผลกระทบโดยอ้อมที่ส่งผลกระทบกันเป็นห่วงโซ่ ทั้งนี้แน่นอนว่าสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดสามารถที่จะหลบหนีจากปัญหาน้ำมันรั่วได้เนื่องจากมีความอดทนสูง
 
สอดคล้องกับการสำรวจจากโครงการนักสืบชายหาด มูลนิธิโลกสีเขียว ที่พบว่า ช่วงน้ำมันรั่วเป็นช่วงน้ำตาย คือน้ำระดับน้ำทะเลไม่แตกต่างกันมากในช่วงน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ไม่ส่งผลต่อสัตว์ทะเลชายฝั่งที่มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมสูง แต่สัตว์ทะเลที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเช่นหอย และปะการัง เท่าที่ทำการสำรวจพบว่าเริ่มทยอยตาย ซึ่งจะติดตามต่อไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
 
ทั้งนี้ ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า แม้คราบน้ำมันจะหายไปแล้ว แต่ยังคงมีคำถามที่ ปตท.ต้องตอบให้ชัดเจนอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการจัดการปัญหา และผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในในการจัดการคราบน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.แถลงปากเปล่า ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน
 
 
นักวิชาการชี้ใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด
 
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเปรียบเทียบการเก็บกู้คราบน้ำมันของไทย กับของสหรัฐอเมริกาที่มีลักษณะของการจำกัดเขตและดูดน้ำมันกลับ โดยการใช้ทุ่นรูปตัววีเก็บคราบน้ำมันออกจากทะเล ซึ่งไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่พีทีทีจีซี กลับเลือกการระดมใช้สารเคมีตั้งแต่ต้น
 
"ก่อนบอกสารเคมีดีไม่ดี มีขั้นตอนอื่นๆ ก่อนไหม เมื่อท่านบอกว่าเป็นองค์กรที่ใส่ใจธรรมชาติ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม" หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ตั้งคำถาม
 
หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ กล่าวด้วยว่าจากการศึกษา ผลงานวิจัยผลกระทบระยะสั้น - ระยะยาวความเป็นพิษของน้ำมันและสารกำจัดคราบน้ำมันต่อปะการังของประเทศอิสราเอล พบว่าการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันจะทำให้ปะการังตาย แม้ในสารเคมีที่ขจัดคราบน้ำมันที่ ปตท.เลือกใช้ สลิคกอน (slickgone) ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดเดียวกับสบู่ ก็ต้องใช้ในระดับที่เจือจาง 25% ผลกระทบต่อปะการังจึงลดลง ดังนั้นสารเคมีจึงเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด
 
 
ทนายความแจงฟ้องคดีไม่ยากแต่ทำอย่างไรให้เกิดผลสะเทือน
 
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเสนอให้ทำการฟ้องคดีว่า ข้อเสนอของกลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท.รั่ว ในการตั้งคณะกรรมการอิสระเพราะต้องการให้ภาครัฐได้มีโอกาสทำงาน ในส่วนการฟ้องคดีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขึ้นอยู่กับจะฟ้องอะไรเพื่อให้เกิดผลกระเทือนไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่
 
กรณีนี้ ปตท.รับว่าเป็นผู้ก่อมลพิษ ดังนั้นโดยหลักการที่ว่าผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่ายต้องมีการผลักดันให้เป็นจริงและอาจต้องมีการฟ้องร้องต่อไป อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญตรงนี้คือ ปตท.ต้องจ่ายแค่ไหนเพียงใด ต่อความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้คำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องการชดเชยจาก ปตท.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกรี่ โบลตัน คนขายเครื่อง GT200 ถูกตัดสินจำคุก 7 ปี เหตุใช้งานไม่ได้จริง

Posted: 21 Aug 2013 12:01 PM PDT

นักธุรกิจผู้เคยขายเครื่องตรวจจับระเบิดของปลอม GT200 ที่เคยถูกนำมาใช้ในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศถูกดำเนินคดีในชั้นศาล หลังพบว่าเครื่องตรวจจับระเบิดนั้นมีการกล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา เดอะ การ์เดียนเปิดเผยว่า แกรี โบลตัน นักธุรกิจจากเทศมณฑลเคนท์ถูกสั่งจำคุก 7 ปี จากการที่เขาหลอกขายอุปกรณ์ตรวจจับระเบิด GT200 ซึ่งเป็นของที่ไม่สามารถใช้ได้จริงให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย

แกรี่ โบลตัน อายุ 47 ปี ได้หลอกขายเครื่องมือตรวจระเบิดปลอมให้กับประเทศเม็กซิโก ไทย ปากีสถาน จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อียิปต์ และตูนิเซีย โดยที่จริงๆ แล้วเครื่องมือดังกล่าวมาจากเครื่องมือตรวจหาลูกกอล์ฟ มีต้นทุนการจัดทำอยู่ที่ 1.82 ปอนด์ (ราว 90 บาท) แต่ขายในราคา 15,000 ปอนด์ (ราว 749,000 บาท)

เครื่องมือ GT200 เคยถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ตำรวจและทหารของไทย แต่ก็ถูกนักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์เนื่องจากเครื่องมือไม่สามารถใช้ได้จริงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ประเทศเม็กซิโกเลิกใช้มาตั้งแต่ปี 2011

โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา จิม แมคคอร์มิค อดีตหุ้นส่วนทางธุรกิจของแกรี่ โบลตัน ถูกสั่งจำคุก 10 ปีจากการขายเครื่องมือปลอมลักษณะเดียวกันให้กับอิรักหลังสงครามและเชื่อว่าทำให้มีคนเสียชีวิต

ศาลฟังความว่า มีบางแผนกในรัฐบาลอังกฤษให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทของโบลตัน ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานการค้าและการลงทุนสหราชอาณาจักร (UKTI) ซึ่งเป็นผู้ส่งออก และเอกอัครราชทูตอังกฤษในเม็กซิโกซึ่งให้ความช่วยเหลือเรื่องการแนะนำลูกค้าและให้ใช้สถานที่ในการสาธิตสินค้า

ผู้พิพากษากล่าวว่า โบลตันทำให้ชื่อเสียงด้านการค้าของอังกฤษเสียหายในต่างประเทศ หลอกลวงหน่วยงานของทางการอังกฤษให้ส่งออกสินค้าไม่ดีแทนที่จะส่งออกสินค้ามีคุณภาพ

คณะลูกขุนฟังความว่าเครื่องมือของโบลตันเป็นเพียงกล่องที่มีหูจับและเสาสัญญาณติดอยู่โดยมีพลาสติกอยู่ด้านใน

เมื่อปี 1999 หน่วยทหารช่างได้ทดสอบผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งตามที่โบลตันขอร้อง พบว่าอัตราความแม่นยำอยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น แต่โบลตันก็ทำการเปลี่ยนแปลงรายงานโดยทำให้เหมือนมีการรับรองทางวิทยาศาสตร์ โดยอ้างว่า "สามารถตรวจค้นเข้าไปในโครงสร้างของอะตอมและเมื่อค้นพบแล้วจะสามารถระบุตำแหน่งได้" นอกจากนี้ยังใช้วิธีการ "สร้างกระแสไฟฟ้าสถิตย์จากภายในตัวแผ่ไปโดยรอบบริเวณผู้ค้นหา"

โบลตันยังได้อ้างว่าเครื่องตรวจจับทำงานภายใต้บริเวณ 766 หลา ที่พื้นดิน และระยะ 2.5 ไมล์กลางอากาศ และบอกว่ามันมีประสิทธิภาพในการตรวจจับผ่านเส้นตะกั่ว กำแพงเหล็ก น้ำ ภาชนะ และพื้นผิวดินได้ โดยนอกจากระเบิดแล้วโบลตันยังอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถใช้ตรวจจับระเบิด  ยาเสพติด งาช้าง ยาสูบ หรือแม้กระทั่งเงินได้

โบลตันถูกจับเมื่อเดือน ก.ค. 2012 อัยการที่สั่งฟ้องเขาบอกว่าโบลตันไม่มีพื้นฐานในเรื่องวิทยาศาสตร์ การวิจัย หรือผ่านการอบรมด้านความมั่นคงมาก่อน และในช่วงที่มีการดำเนินคดี โบลตันกล่าวแก้ต่างว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการ 'ดาวซิง' ซึ่งหมายถึงการพยากรณ์ตรวจหาแหล่งน้ำด้วยแท่งวัตถุสองแท่ง

 


เรียบเรียงจาก

Kent businessman jailed for seven years over fake bomb detectors, The Guardian, 20-08-2013
http://www.theguardian.com/uk-news/2013/aug/20/gary-bolton-jailed-seven-years-fake-bomb-detectors

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ขอให้ประชาชนติดตามการอภิปรายเพื่อให้ได้รับข้อมูลทั้งสองด้าน

Posted: 21 Aug 2013 11:49 AM PDT

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ฝ่ายค้านประท้วงเพราะถูกผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภาพยายามไม่ให้ ส.ส. ใช้สิทธิอภิปราย ยันไม่มีการวางแผน ทุกคนแสดงออกตามข้อบังคับการประชุม พร้อมยืนยันไม่ได้ขัดข้องหาก ส.ว. จะมาจากประชาชน แต่จะทำอย่างไร ไม่ให้การเมืองเข้าไปครอบงำ พร้อมฝากเรื่องอียิปต์ถือเป็นบทเรียนสำหรับทุกคนเรื่องความขัดแย้ง

เมื่อวันที 21 ส.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ 101 องศาข่าว ช่วงตรงไปตรงมากับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางสถานีวิทยุ FM 101 MHz ถึงภาพรวมการประชุมร่วมรัฐสภาว่าวันนี้เรียบร้อยกว่าเมื่อวาน ขณะนี้กำลังอภิปรายในมาตรา 3

"วันนี้เรียบร้อยกว่าเมื่อวานครับ ล่าสุดก็ผ่านมาตรา 2 ไปแล้วครับ แล้วก็ขณะนี้ก็เพิ่งเริ่มต้นในการอภิปรายในมาตรา 3"

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการอภิปราย 2 วันที่ผ่านมาว่า "ผมคิดว่าเนื่องจากมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ พี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งก็คงได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวาน และผมเชื่อว่า คนเห็นก็คงไม่สบายใจเท่าไหร่หรอกครับ กับสภาพของการประชุมสภา ซึ่งมีเหตุการณ์ความวุ่นวาย แล้วก็มีหลายอย่างซึ่งต้องบอกว่า แม้แต่ผมเองก็ยังไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน ในสภาพที่เป็นเช่นนี้"

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าวันนี้จะเรียบร้อย "ก็เหตุผลที่มันง่ายๆ ที่มันเรียบร้อยก็คือว่า ขณะนี้สมาชิกของพรรคฝ่ายค้าน หรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย มีความประสงค์ที่จะแก้ไขกฎหมายที่รัฐบาลหรือสมาชิกเสนอเข้ามา แล้วก็กรรมาธิการได้ไปพิจารณาแล้วก็มีเสียงข้างมากว่า ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ได้มีโอกาสใช้สิทธิ์ในการอภิปรายแสดงเหตุผลว่าที่เราเสนอแก้ไขนั้น มันมีเหตุผลอะไร แต่ว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ มันมาจากตรงนี้เท่านั้นเองว่า สมาชิกถูกตัดสิทธิ์"

"แล้วก็ผมถึงได้ย้ำเมื่อคืนนี้นะครับว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ มันก็แปลกครับ มันไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรครัฐบาล กับพรรคฝ่ายค้าน เมื่อวานนี้ผมยังพูดเลยว่า สมาชิกฝ่ายพรรครัฐบาลเองก็แสดงออกถึงความเรียบร้อย อดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้มาเป็นคู่ขัดแย้งแต่ประการใด"

"แต่ว่าประธาน ผู้ทำหน้าที่ประธานนั้นพยายามที่จะไม่ให้สมาชิกใช้สิทธิ แล้วก็ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงนะครับ อย่างเมื่อวานนี้เริ่มต้นขึ้นมา ก็มีการแจ้งว่ามีสมาชิก 57 คนแปรญัตติซึ่งประธานกรรมาธิการเห็นว่าขัดกับหลักการ ซึ่งการแปรญัตติขัดกับหลักการนั้นก็จะไม่สามารถเป็นผลได้ตามข้อบังคับ"

"แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจว่ามันขัดหรือไม่ขัดนั้น ก็ต้องมาดูกัน ซึ่งก็เป็นอำนาจของสภา ทีนี้แทนที่ท่านประธาน ซึ่งตอนแรกประธานท่านนึงบอก เอาละแต่ละคนก็คงต้องมาชี้แจง แสดงเหตุผลกัน ก่อนที่สภาจะบอกว่าคุณแปรญัตติไม่ได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเปลี่ยนประธาน ประธานอีกท่านนึงขึ้นมาบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ประเด็นนี้เดี๋ยวลงมติเลย ให้พูดฝ่ายละ 2 คน"

"ผมก็ลุกขึ้นสอบถามประธาน เพราะผมไม่เข้าใจว่ามันจะทำได้อย่างไร เพราะว่าคน 57 คนนั้นเขาแปรญัตติ เขาไม่ได้แปรเหมือนกัน อยู่ดีๆ จะมาลงมติว่า ทั้ง 57 คนนี้ แปรขัด หรือแปรไม่ขัด มันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วที่สำคัญก็คือว่า ไม่ให้โอกาสเขาอธิบายด้วย จู่ๆ ก็บอกว่า นี่เขาแปรขัด แล้วก็ให้คนที่มาบอกว่า เขาแปรไม่ได้อีก 2 คนอภิปราย แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อภิปราย ท่านประธานบอกใครจะอภิปรายบ้าง ก็ยกมือหลายคน ท่านบอกไม่ต้องอภิปราย ลงมติเลย ก็ทำให้สมาชิกยืนขึ้นประท้วงครับ"

"ก็ประท้วงกันทั้งนั้นแหละครับ พอยืนขึ้นประท้วง แทนที่ประธานจะฟังว่า ประท้วงกันเรื่องอะไร ประธานก็บอกว่าเอาตำรวจเข้ามา เพื่อเอาสมาชิกทุกคนที่ยืนขึ้นออกจากห้องประชุม แหม จะเรียกว่าอะไรครับ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หรือเปล่าครับ ที่มีการสลายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในห้องประชุม ก็เลยเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น จากนั้นมีการเรียกตำรวจปราบจลาจลมาอีก แต่ว่าให้อยู่ข้างนอกสภา เหตุการณ์ก็เลยบานปลาย"

"ก็สุดท้ายก็เมื่อคืนนี้หลังจากที่ทุกฝ่ายตั้งหลักกัน ก็จึงมาบอกว่า มันไม่ควรจะเกิดขึ้น ดังนั้นก็มาทำความเข้าใจกันซะ พอมาเช้าวันนี้หลังจากที่พูดคุยกัน ก็เปิดโอกาสให้สมาชิกที่เขาแปรญัตติได้อธิบายในมุมมองของเขา ก็จบครับ ตอนนี้ก็เดินหน้าในการที่จะให้สมาชิกแต่ละท่านนั้นก็อภิปรายคำแปรญัตติของตัวเองไป ก็ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา"

"แต่ความพยายามที่จะไปตัดสิทธิ์ เพื่อการรวบรัด มันคือตัวที่สร้างปัญหา แล้วก็เราก็ยังพูดกันอยู่เลยบอก เอ๊ะ ความจริงถ้าเกิดเมื่อวานนี้เริ่มต้นก็ให้พูด ป่านนี้อาจจะจบแล้วก็ได้นะครับ แต่ตั้งป้อมมาไม่ให้พูดปั๊บ นี่ ก็เป็นปัญหา แล้วก็เมื่อวานนี้ตอนค่ำก็ยังเติมเข้าไปอีกว่า พออภิปรายมาตรา 1 ประธานบอกว่า ถือว่าคนที่อภิปรายนั้นสละสิทธิ์ เจ้าตัวเขาบอกเขายังอภิปรายไม่ได้ เพราะมันมีคนประท้วงอยู่ ท่านบอกตัดสิทธิ์"

"ตัดสิทธิ์เสร็จ ท่านก็บอกว่า มีคนติดใจมั้ย ก็คนยกมือกันเต็มเลย ท่านก็บอกว่า ไม่มีคนติดใจถือว่าผ่าน เลยให้ลงมติ ซึ่งก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแบบนี้ แล้วก็พร้อมๆ กันนั้นก็รู้สึกว่ามี คือจริงๆ ก็ไม่เห็นประธานแล้วละครับตอนนั้น เห็นแต่กำแพง อย่างกับกำแพงฟุตบอลแน่ะครับ ยืนล้อมอยู่"

"เพราะฉะนั้นเราก็หวังว่าไม่มีอีกแล้วนะครับ เราก็หวังว่าต่อไปนี้ให้เสียงข้างน้อยได้ใช้สิทธิ์ในสภา แล้วทุกอย่างก็จะได้เดินหน้าไปได้ ตอนนี้ก็เข้าสู่มาตรา 3 นะครับ มาตรา 1 เป็นชื่อร่าง มาตรา 2 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยจะบังคับใช้เมื่อไหร่ มาตรา 3 นี้ก็คงจะยาวละครับ เพราะว่ามาตรา 3 คือมาตราหลักที่บอกว่า สมาชิกวุฒิสภานั้นควรจะได้มาอย่างไร"

ต่อคำถามที่ว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับวิธีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "คือผมก็เรียนว่า ไม่มีใครวางแผนจะให้เกิดอะไรแบบนี้เลยนะครับ แต่คำถามก็คือว่า พอถูกตัดสิทธิ์กันนี้ ทุกคนก็ประท้วง ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ต้องแสดงออกตามข้อบังคับ แล้วก็เวลาประธานปิดไมค์ก็พยายามส่งเสียงให้ประธานได้ยิน แต่ว่าพอประธานบอกว่า เอาตำรวจมาเอาตัวออกไป ผมก็ถามว่าแล้วเขาทำกันยังไงล่ะครับ ใช่มั้ยครับ ก็เกิดการมะรุมมะตุ้มกันขึ้น"

"เมื่อวานนี้ผมคิดว่าคนที่อธิบายเรื่องได้ดีที่สุดก็คือ ส.ส.เทอดพงษ์ ไชยนันท์ ซึ่งก็เป็น ส.ส. มาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 กว่า 38 ปี ท่านก็พูดชัดนะครับว่า ถ้าประธานนั้นให้ความเป็นธรรม เรื่องก็จะไม่เกิด แล้วท่านนั้นท่านโดนไปด้วย คือคุณนิพิฎฐ์ กับท่านยืน คุณนิพิฎฐ์นี่กำลังจะเดินออกจากห้อง ก็ถูกตำรวจ ประธานสั่งนี่ครับบอกว่า ใครยืนขึ้นจัดการหมด อันนี้คนจะออกจากห้องเขาก็ต้องยืนนะครับ พอประธานบอกว่า ให้จัดการ ไม่จัดการจะสอบวินัยด้วยนะครับ ขัดคำสั่งประธาน พยายามมาหิ้วตัวคุณนิพิฎฐ์ คุณเทิดพงษ์ยังโดนเลยครับ ท่านเกือบ 70 แล้วมั๊งครับ ท่านก็บอกไม่เคยเกิดมาก่อน ไม่เคยเกิดกับท่านมาก่อน ท่านก็เจ็บตัวไปด้วย"

แต่ว่าแน่นอนครับ ในรายละเอียดของทุกเหตุการณ์ มันก็คงจะมีหลายการกระทำซึ่งดูแล้ว ไม่งาม ไม่เหมาะสม ก็ขอเรียนว่า เราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ แต่ว่าถ้าไม่มีการทวงสิทธิ์อย่างนี้ ก็ในที่สุดก็เท่ากับเหมือนกับไม่มีสภา ขณะนี้ก็ทุกอย่างเข้าที่แล้ว เมื่อเราได้ใช้สิทธิ์ทุกอย่างก็เรียบร้อย ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย"

นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอหลัก Filibuster ที่ให้ทุกคนได้อภิปรายด้วยว่า "จริงๆ แล้วในทุกระบบ เราก็เคารพเสียงข้างมากครับ แต่ว่าเสียงข้างน้อยนั้นก็จะมีสิทธิ์ สิทธิ์มากน้อยแค่ไหนก็เป็นไปตามระบบ บางประเทศโดยผลของกฎหมายข้อบังคับนั้น บางครั้งให้สิทธิ์ถึงขนาดที่เรียกว่า ผ่านไม่ได้เลยนะครับ ใครที่คุ้นกับสหรัฐฯ นั้นจะทราบดีว่ามีการใช้วิธีการอย่างนี้จนกฎหมายตก ซึ่งเขาไม่ใช้กันพร่ำเพรื่อหรอกครับ อย่าลืมนะครับว่า แต่ละสมัยประชุม กฎหมายผ่านสภานี่เป็นร้อยฉบับนะครับ เขาก็ไม่เกิดอย่างนี้หรอกครับ แต่เฉพาะเรื่องใดก็ตามซึ่งมันเป็นเรื่องที่มีการคัดค้านกันอย่างรุนแรง ในต่างประเทศก็เหมือนกันก็จะมีปัญหาในแบบนี้เกิดขึ้น"

"ส่วนวิธีการที่จะใช้ในการที่จะชะลอ ในการที่จะแสดงออกคัดค้าน หรือให้มันช้า หรือไม่ให้มันผ่านไปได้นั้น ก็ต้องอยู่ในกรอบ ไอ้ไม่อยู่ในกรอบเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีนะครับ ผมเห็นที่ไต้หวันใช่มั้ยครับ นั่นก็คือฝ่ายค้านไม่ยอมให้ฝ่ายรัฐบาลไปเข้าประชุมอะไรอย่างนี้ แต่เมื่อวานนี้ไม่มีหรอกครับ ต้องการแค่ใช้สิทธิ์ครับว่า เอ๊ะ แปรญัตติแล้วทำไมไม่ให้อภิปราย แค่นั้นเองครับ"

"หลักๆ ของความวุ่นวายวานนี้ ก็คือการประท้วงการทำหน้าที่ของประธาน แม้ว่าวันนี้จะเริ่มคลี่คลาย แต่มองได้หรือไม่ว่า ต่อไปนี้ในการเชื่อใจในการทำหน้าที่ของประธาน แม้กระทั่งในส่วนของวุฒิสภาเองกับ นายนิคม และแม้กระทั่งนายสมศักดิ์ จะเป็นอย่างไรต่อไปในการประชุมครั้งต่อไป"

"ที่จริงคุณสมศักดิ์นั้นถูกยื่นถอดถอนอยู่แล้วนะครับ เพราะว่าเรามองว่าฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนข้อบังคับนั้นหลายครั้ง อย่างเมื่อวานนี้ชัดเจนเลยครับ ผมนั่งลง ผมถามท่านดีๆ ท่านตอบเสร็จแล้วก็บอกว่า ท่านจะเอาอย่างนี้เป็นไงเป็นกัน ใช้แบบนี้นะครับ แล้วก็บอกว่า เอ้า ใครจะอภิปรายมา ยกมือมา มีคนยกมือ ท่านก็บอกว่า เอ้า ถือว่าไม่มี หรือจะลงมติก็บอกว่า มีใครเห็นเป็นอย่างอื่นมั้ย คนยกมือกันเป็นสิบ ท่านก็บอกว่าไม่มีไม่ติดใจ จบผ่าน ก็ไม่รู้จะทำยังไงกันจริงๆ ครับ ก็ต้องประท้วงท่าน"

"ทีนี้กรณีของคุณนิคม ก็มีอีกกรณีหนึ่ง คือเราก็มองว่า ท่านนั้นมีส่วนได้เสียโดยตรงกับเรื่องนี้ ฉะนั้นก็ไม่แน่ใจว่าท่านจะทำหน้าที่เป็นกลางได้มั้ย ท่านก็พูดบนบัลลังก์เลยครับบอกว่า เรื่องนี้มันไม่ใช่กฎหมายที่เป็นผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม ท่านอภิปรายเสร็จสรรพ ไม่เป็นกลางเข้าไปแล้ว เห็นมั้ยครับ อย่างนี้แหละครับ ก็คือเป็นข้อกังขาที่มันเกิดขึ้นอยู่ เพราะฉะนั้นท่านประธานก็ต้องไปทบทวนนะครับ ทั้ง 2 ท่าน เพราะว่าตำแหน่งนี้ก็เป็นตำแหน่งซึ่งถ้าไม่ถูกถอดถอน หรือไม่ลาออก ท่านก็ต้องทำหน้าที่ต่อไป ก็หนีไม่พ้นหรอกครับ แต่ว่าเวลาใดก็ตามที่ท่านทำหน้าที่ตามปกติ ตามข้อบังคับ เป็นกลาง สภาก็เรียบร้อย แต่ยามใดก็ตามซึ่งท่านพยายามที่จะไม่ให้ดำเนินการตามสิทธิ ที่แต่ละฝ่ายมี ตามข้อบังคับนั้นความวุ่นวายก็เกิดขึ้น"

ส่วนคำถามที่ว่าในจุดยืนของประชาธิปัตย์ในเรื่องที่มาของ ส.ว. นั้น เป็นอย่างไร "หลักแล้วผมคิดอย่างนี้ ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ได้ขัดข้อง การที่วุฒิสภาจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน แล้วก็จริงๆ จำนวนมากนี่ก็ไม่ได้ติดใจว่าวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ว่าจำเป็นต้องพูดไว้นิดหนึ่งว่า จริงๆ ถ้าดูวุฒิสภาหรือสภาสูงทั่วโลกแล้ว มีทุกรูปแบบ แต่งตั้ง สรรหา เลือกตั้ง เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า สภาสูงนี้ ไม่ได้มาทำหน้าที่เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร เขาไม่ได้มาเลือกรัฐบาล ไม่ได้มาเลือกนายกฯ เขาถูกยุบไม่ได้ และเขาก็ไม่ไว้วางใจนายกฯ หรือรัฐบาลไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วที่ต้องมี 2 สภานี้ สภาสูงนี้เขาต้องการคนที่มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่หน่อย มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ มากลั่นกรองกฎหมาย แล้วก็ของเรานั้น โดยเฉพาะอยากให้เป็นกลาง ไม่ให้สังกัดพรรคเพราะว่าจะต้องมาให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ซึ่งต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง"

"ดังนั้น เอาละ เมื่ออยากจะเลือกตั้ง ได้ แต่ต้องหาแนวทาง หรือบทบัญญัติ จะเรื่องระบบการเลือกตั้ง จะเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามใดๆ ก็ตาม ที่ดีที่สุด ที่จะทำว่าเราได้คนตามวัตถุประสงค์ คือคนที่เป็นกลาง รัฐบาลหรือฝ่ายรัฐบาลขณะนี้กำลังจะบอกว่า ให้กลับไปเหมือนปี 40 แต่การกลับไปเหมือนปี 40 มันต้องไปดูบทเรียนว่า ปี40 นั้น ในที่สุดถูกขนานนามว่าเป็น สภาทาส และพฤติกรรมการแทรกแซงมีอยู่แม้แต่ในคำวินิจฉัยของคดีต่างๆ"

"ดังนั้นส่วนใหญ่การแปรญัตติก็จะเป็นวิธีการว่า เอ๊ะ หาวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีระบบการเลือกตั้ง หรือมีวิธีที่จะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่า ไม่ถูกการเมืองเข้าไปครอบงำ อย่างเช่นผม ท่านอดีตหัวหน้าบัญญัติ ก็จะคิดว่า ทำเขตเลือกตั้งให้มันใหญ่สิ ทำเป็นกลุ่มจังหวัดเลยก็มี บางท่านก็บอก แทนที่จะเลือกโดยตรงจากประชาชน เลือกโดยตรงเหมือนกัน แต่จากกลุ่มอาชีพได้มั้ย อย่าไปแบ่งตามพื้นที่ แบ่งตามกลุ่มอาชีพ อย่างนี้เป็นต้น นี่คือหลักของการแปรญัตติที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ได้ดำเนินการกันไป"

ส่วนคำถามที่ว่าเมื่อเป็นเสียงส่วนน้อย จะยื้อจนถึงที่สุดก็แล้วจะอย่างไรต่อไป นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ก็ในที่สุดรัฐบาลก็คงสามารถผ่านได้ครับ แล้วจะยังไงต่อก็มาว่าในวาระ 3 ครับ วาระ 2 เสร็จสิ้นก็ต้องเว้น 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็มาลงมติเห็นชอบอีกครั้งในวาระ 3 ครับ แต่ว่าสิ่งหนึ่งซึ่งพวกเราติดใจแน่นอนก็คือว่า กรณีของสมาชิกวุฒิสภาที่มีส่วนได้เสีย เนื่องจากครั้งนี้ นอกจากจะให้เลือกตั้งแล้วมีการแถมครับว่าเดิมนั้น วุฒิสภาเขาให้ดำรงตำแหน่งวาระเดียว ไม่ใช่มากกว่า 1 วาระติดต่อกันได้ แต่มาแก้ให้ดำรงตำแหน่งหลายวาระติดต่อกันได้นี่ก็เป็นการเปิดทางให้ชุดนี้ ที่จะหมดวาระนี้สามารถไปลงเลือกตั้งได้"

"ก็เกิดคำถามถึงความเหมาะสมว่า สมควรที่จะมีอำนาจพิจารณาเรื่องมั้ย เพราะมีส่วนได้เสีย อันนี้ก็เลยชี้แจงด้วยนะครับ เพราะว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แม่ลูกจันทร์ ก็เขียนอะไรเลอะเทอะไปหมด บอกว่า อ้าวสมัยผมนั้น อยากให้เลือกตั้ง เปลี่ยนระบบเลือกตั้งไม่มีส่วนได้เสียเหรอ ผมอยากชี้แจงข้อเท็จจริง 2 ข้อนะครับ 1. นั้นมีประวัติไว้ชัดเจน ผมนั้นเห็นด้วยกับเรื่องเขตเลือกตั้งใหญ่ แต่ที่ผมเสนอให้เป็นเขตละคนนั้น เพราะมันมีคณะกรรมาธิการ และกรรมการปรองดองหลายชุดที่เขาเสนอว่าให้แก้เป็นเขตเล็ก ผมก็เคารพ 2. นั้นจะเป็นเขตเล็ก เขตใหญ่ สิทธิพวกผมเท่าเดิม คือไปลงสมัครรับเลือกตั้ง"

"แต่กรณีนี้จากคนที่มีสิทธิ์พิจารณารัฐธรรมนูญนั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นวุฒิสภา ให้สิทธิ์ตัวเองที่จะไปลงรับสมัครเลือกตั้งได้ จึงมีผลประโยชน์ขัดกัน กรณีต่างกันมากครับ ผมก็ไม่รู้ว่าเขียนไปได้อย่างไร เลอะเทอะมาก"

ส่วนเวทีปฏิรูปการเมืองวันที่ 25 ส.ค. นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ยังไม่มีจดหมายเชิญเลยครับ" และไม่ได้คาดหวังกับเวทีดังกล่าว เพราะประกอบไปด้วยคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาล และถ้ารัฐบาลสนใจเรื่องปฏิรูป คงไม่เพิ่งมาเริ่มทำ พร้อมแนะนำให้ถอนกฎหมายนิรโทษกรรมออกไป จะทำให้สงบลงเยอะ

นอกจากนี้ในรายการดังกล่าว ผู้ดำเนินรายการสอบถามนายอภิสิทธิ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในอียิปต์ด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ก็เรียนว่าขณะนี้นั้นยังตอบยากจริงๆ นะครับว่า ในที่สุดจะไปจบลงอย่างไร แต่อันนั้นก็เป็นบทเรียนอีกบทเรียนหนึ่งซึ่งพวกเราทุกคนก็ต้องดูเอาไว้ว่า ถ้ามันขัดแย้งไปถึงจุดนั้นแล้วละก็จะเป็นปัญหาต่อไป"

ส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดอเมริกาจึงไม่เรียกว่าเป็นรัฐประหาร ทั้งๆ ที่มอร์ซี่ ที่ถูกโค่นอำนาจก็มาจากการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมก็เข้าใจว่ามันเลยจุดนั้นไปแล้ว แล้วก็ทางสหรัฐฯ เองก็อาจจะมองว่าในช่วงที่อดีตประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งอยู่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งก็ขัดกับหลักประชาธิปไตย แต่การเข้าไปดำเนินการครั้งนี้นั้นมันก็มองยากครับ ที่จะไปบอกว่ามันไม่ใช่รัฐประหาร มันก็เป็นนะครับ ประเด็นตอนนี้ก็คงไม่ค่อยจะมีประโยชน์ที่จะมาเถียงตรงนั้นแล้ว เท่ากับว่า จะทำอย่างไรต่อไปที่จะไม่ให้มันบานปลายขัดแย้ง แล้วก็สูญเสียกันมากกว่านี้"

ส่วนเรื่องการประสานงานนำคนไทยออกมาจากอียิปต์นั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ก็ตอนนี้รัฐบาลก็กำลังดำเนินการนะครับ ในการช่วยเหลือให้พี่น้องกลับมาครับ ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องครับ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาธารณะ VS ความเป็นส่วนตัว สถานการณ์โลกออนไลน์ไทย ครึ่งปี 56

Posted: 21 Aug 2013 11:39 AM PDT

เครือข่ายพลเมืองเน็ตเปิดผลสำรวจการละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ สังคมไทยเข้าใจเรื่องนี้แค่ไหน? นักมานุษยวิทยาระบุสังคมไทยไม่มีพื้นที่ส่วนตัวให้คนสาธารณะ นักกฎหมายชี้ไทยยังไม่มี กม.คุ้มครองความเป็นส่วนตัว คนถูกถ่ายภาพกลับไม่มีสิทธิเรียกร้อง ซ้ำยังคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพอีก

(21 ส.ค.56) ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดการสัมมนา เรื่อง "คน อินเทอร์เน็ต และความเป็นส่วนตัว: สำรวจสถานการณ์การละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ไทย ครึ่งปีแรก พ.ศ.2556" ที่ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. 

ในการสัมมนา มีการเสนอความคืบหน้างานวิจัยและสำรวจการละเมิดความเป็นส่วนตัวในสังคมออนไลน์ ระหว่าง ม.ค.-มิ.ย.56 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thai Online Services' Privacy Policy and Security Measures: Evalution and Public Understanding ซึ่งจะสำรวจนโยบายความเป็นส่วนตัว มาตรการรักษาความปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของบริการออนไลน์ในประเทศไทย และนำเสนอข้อค้นพบ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ โดยงานวิจัยมีระยะเวลา 2 ปี ระหว่างปี 56-58
 

ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์
นักวิจัยโครงการสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต


ในการเก็บข้อมูล จะสุ่มสำรวจตามเว็บไซต์ต่างๆ ดูเว็บบอร์ดว่ามีการพูดถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างไรบ้าง เช่น เว็บพันทิป ซึ่งคนมักเข้ามาระบายปัญหา รวมถึงปรากฏการณ์ในสังคมออนไลน์ เช่น เพจเฟซบุ๊ก "CMU cute ยาม"

โดยแบ่งปัญหาที่พบจากการสำรวจออกเป็น 3 แบบคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของธุรกิจเอกชน การละเมิดความเป็นส่วนตัวของหน่วยงานรัฐ และการละเมิดความเป็นส่วนตัวระหว่างผู้ใช้บริการออนไลน์ด้วยกันเอง

1. การละเมิดจากธุรกิจเอกชน ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจัดเก็บและจัดการข้อมูลส่วนตัวจำนวมากของผู้ใช้บริการ แบ่งเป็น
- การเผยแพร่อีเมลของลูกค้าโดยไม่ได้ตั้งใจ ยกตัวอย่างกรณีบริการเพย์สบาย ส่งอีเมลประชาสัมพันธ์ถึงลูกค้า โดยใส่ในช่อง to ทำให้ผู้รับทุกคนเห็นอีเมลของคนอื่นๆ ไปด้วย เวลาที่อีเมลผิดและตอบกลับอัตโนมัติ ทุกคนในกลุ่มก็จะได้รับอีเมลพร้อมๆ กัน ซึ่งลูกค้าถูกรบกวนมาก

- การส่งต่อข้อมูลให้บุคคลที่สาม เช่น ห้างสรรพสินค้านำเอาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าที่เป็นสมาชิกให้บริษัทประกัน โดยเมื่อมีการสอบถาม ทางห้างก็รับว่า มีการทำแคมเปญร่วมกับบริษัทประกันอื่น กรณี้นี้พบในบริการออนไลน์จำนวนมาก

คำถามคือ
-ตกลงแล้วข้อมูลส่วนตัวเป็นของใคร ผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการ
-เราควรมีสิทธิรู้ไหมว่าข้อมูลของเราจะเคลื่อนที่ไปอย่างไร
-ผู้ใช้บริการไม่เข้าใจระบบการจัดเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการ หรือ ผู้ให้บริการไม่เคยอธิบายการนำไปใช้

2.การถูกละเมิดจากรัฐ ขณะนี้ยังหากรณีที่ชัดเจนไม่ได้ เท่าที่พบ มีกรณีที่เว็บสำนักทะเบียนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงฐานข้อมูลได้ง่าย เพียงรู้รหัสนิสิตนักศึกษาก็สามารถเข้าไปในฐานข้อมูลเพื่อเอารูปถ่ายออกมาได้ โดยการจะหารหัสนิสิตก็ไม่ยาก เพียงแค่พิมพ์ชื่อ-นามสกุล ก็เจอแล้ว กรณีนี้ทำให้เห็นความอ่อนแอของระบบฐานข้อมูลของสำนักทะเบียนฯ ซึ่งนำมาสู่คำถามถึงความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลของรัฐด้วย

3. การถูกละเมิดโดยผู้ใช้บริการด้วยกันเอง เช่น การถ่ายภาพบุคคลอื่น แล้วนำมาโพสต์โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น กรณีการถ่ายรูป รปภ. มช. มาลงในเฟซบุ๊ก ขณะที่คนอื่นไม่รู้สึกว่าได้ทำอะไรให้เสียหาย แต่ผลออกมาว่า รปภ.คนดังกล่าวระบุว่า กระทบกับความสัมพันธ์ของเขากับแฟน นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อกลั่นแกล้ง จากความขัดแย้งส่วนตัว หรือความขัดแย้งทางการเมือง เช่น กรณีเพจยุทธการณ์ลงทัณฑ์ทางสังคม ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน มักนำข้อมูลส่วนตัวของคนมาประจานบนเฟซบุ๊กและเกิดการส่งต่อ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เพจดังกล่าวลงข้อมูลส่วนตัว คือ ชื่อและตำแหน่งของหมอคนหนึ่งซึ่งทางเพจเห็นว่าทำสิ่งที่ไม่สมควร แต่ลงรูปผิดคน ทำให้เจ้าของรูปได้รับความเสียหายและไปแจ้งความ ซึ่งต่อมา เพจดังกล่าวประกาศปิดตัวเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่เจ้าของรูปก็ถูกสังคมตำหนิไปแล้ว

โดยสรุป ข้อมูลส่วนตัวที่พบในออนไลน์มีตั้งแต่ ชื่อ-นามสกุล ภาพถ่าย บัญชีธนาคาร รหัสผ่าน ประวัติการศึกษา เบอร์โทร อีเมล ที่อยู่ ข้อความสนทนา คุกกี้ไอพีแอดเดรส สถานที่ที่เคยอยู่ ซึ่งหลายครั้ง ผู้ใช้ก็เป็นผู้นำเข้าด้วยตัวเอง ส่วนผลจากการละเมิด มีทั้งที่เกิดกับทรัพย์สิน อาชีพ ความสัมพันธ์ ความปลอดภัยของร่างกาย และชื่อเสียง

จากการสำรวจ ทำให้เกิดคำถามต่อความเป็นส่วนตัว ดังนี้
-ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล การศึกษา เป็นปัญหาอย่างไร มันยังคงมีความเป็นส่วนตัวหรือไม่ และข้อมูลใดบ้างที่ควรจะเป็นข้อมูลส่วนตัว เพราะแม้เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป แต่เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งได้ โดยเมื่อเอาข้อมูลต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในออนไลน์มารวบรวม ก็อาจหาตัวและทำร้ายกันได้

-การคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว ผู้ใช้เว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์รู้ตัวมากแค่ไหนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่น รู้ไหมว่าเฟซบุ๊กเอาข้อมูลไปใช้ได้ ด้วยเหตุผลว่าเพื่อการโฆษณา หรือทวิตเตอร์ มีปุ่มที่อนุญาตให้บอกตำแหน่งที่โพสต์ได้

-โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะกันแน่ ความหมายของความเป็นส่วนตัวนั้นไม่แน่นอนขึ้นกับหลายปัจจัยและบริบท เช่น คนต่างวัฒนธรรม ต่างอาชีพ ต่างสถานะทางสังคม อาจมีความเห็นต่อเรื่องความเป็นส่วนตัวไม่เหมือนกัน

-ความเป็นส่วนตัวสำคัญไหม และควรคุ้มครองหรือไม่

-ทุกวันนี้ ผู้ใช้บริการเข้าใจกระบวนการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในเน็ตแค่ไหน มีผู้ให้บริการที่เปิดเผย-โปร่งใสแค่ไหน ทั้งนี้ ขึ้นกับกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งจะบังคับเรื่องนี้ เช่น เว็บสายการบินแห่งชาติ อาจหาเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัวไม่เจอ ขณะที่เว็บของสายการบินโลว์คอสของต่างชาติ กลับเขียนเนื้อหาละเอียดมาก ยาว 10 หน้า กระดาษเอสี่ เพราะกฎหมายของประเทศนั้นๆ เข้มงวดเรื่องนี้ 

อ่านงานวิจัยได้ที่ 
https://thainetizen.org/2013/08/human-internet-privacy-thailand-2013-h1-research-report/



ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.


เมื่อพูดถึงความเป็นส่วนตัว สนใจใน 3 ประเด็นคือ 1.ความเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ 2.ระเบียบสังคมของความเป็นส่วนตัว และ 3.ระดับของความเป็นส่วนตัว

1.ความเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ 
จากตัวอย่างงานวิจัย จะพบว่ามีคนสองแบบคือ คนสาธารณะ ซึ่งแทบไม่มีความเป็นส่วนตัวหรือมีน้อยมาก พวกเขาถูกคาดหวังจากสังคมให้เปิดเผยหมด แง่นี้น่ากลัว เหมือนวัฒนธรรมไทยเห็นว่า ถ้าเป็นคนสาธารณะต้องถูกตรวจสอบตลอดเวลา หมดจด ควบคุมตัวเอง วางระเบียบให้กับตัวเอง ไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่ถูกสังคมควบคุม ขณะที่คนทั่วไปมีพื้นที่ส่วนตัว

สังคมไทยไม่ให้พื้นที่ส่วนตัวกับคนสาธารณะ ขณะที่ในตะวันตก การรุกล้ำบางพื้นที่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว และในทางกลับกัน ในไทยก็มีคนสาธารณะบางกลุ่มได้รับการพิทักษ์ความเป็นส่วนตัวมากกว่าคนอื่น แม้คนจะเห็นเรื่องส่วนตัวแล้วก็พูดไม่ได้ เปิดเผยแล้วผิดได้ เพราะได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวเป็นพิเศษ เป็นการคุ้มครองทางวัฒนธรรม นั่นคือ กรณีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่คุ้มครองคน 4 คน และถูกใช้ในลักษณะพิเศษคือไม่ใช่แค่การดูหมิ่น แต่รวมถึงการเปิดเผยความเป็นส่วนตัวของคนเหล่านี้

นอกจากคนสาธารณะที่สังคมไทยยอมให้เปิดเผยมากในระดับหนึ่งแล้ว ยังมีคนที่มีผลต่อสาธารณะ ที่จะถูกละเมิดได้ สองแบบ แบบหนึ่งคือ คนที่มีผลในทางเสียหาย จะถูกประณาม ประจาน เช่น การถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ที่ทำไม่ดี เหมือนกับว่าสังคมไทยยอมให้มีการเปิดโปง เปิดเผยเรื่องส่วนตัวกรณีที่คนๆ นั้นรบกวนระเบียบของสังคม เมื่อนั้นจะมี social sanction ขึ้น ขณะที่ทางหนึ่งมี social favour ให้รางวัลทางสังคมกับคนที่ดูดี ทำความดี ภาพของเด็กที่ดูแลพ่อแม่แก่ชรา จะถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เท่ากับเด็กจะถูกรบกวนความเป็นส่วนตัวในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตหรืออาจจะตลอดไป น่าสนใจว่าทำไมสังคมไทยถึงคิดถึงความเป็นสาธารณะมากกว่าความเป็นส่วนตัว และยอมให้มีการคุกคามความเป็นส่วนตัวได้ในบางลักษณะ

อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ไม่มีอำนาจต่อรองในสังคม บางครั้งถูกละเมิดได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่่อ เช่น ผู้ทุพพลภาพทางจิตใจหรือสมอง ภาพของคนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือคนที่อยู่ในสถานะที่ต่ำในสังคม

นอกจากนี้แล้ว แง่หนึ่ง ความเป็นส่วนตัวยังดูลึกลับ เซ็กซี่ สร้างอำนาจให้กับผู้ใช้ได้ หากเลือกใช้เป็น ในทางกลับกัน หากใช้ไม่เป็น ก็อาจคล้ายการเดินล่อนจ้อนตลอดเวลา และที่สุดจะไม่มีคนสนใจ

โดยสรุป มองว่า เรื่องความเป็นส่วนตัวมีอะไรที่ยอกย้อนซับซ้อน มากกว่าการละเมิดทางกฎหมาย


2.ระเบียบสังคมของความเป็นส่วนตัว
หากเข้าใจระเบียบสังคมของความเป็นส่วนตัว อาจช่วยขยายความเข้าใจนอกเหนือกฎหมาย หรือเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมคนมีแนวโน้มละเมิดกฎหมาย หรืออาจทำให้ไม่ต้องใช้กฎหมายบางลักษณะ เพราะสังคมอินเทอร์เน็ตมีระเบียบสังคม จัดการกันเองได้ เป็นการตีขอบวงปริมณฑลของการที่สังคมจะดูแลกันเองหรือการที่รัฐจะเข้ามายุ่งกับสังคม ทั้งนี้ที่ผ่านมา เราเห็นแนวโน้มที่รัฐตื่นตระหนกและร่างกฎหมายละเมิดสิทธิเอกชน สิทธิส่วนตัว สิทธิชุมชน หรือสิทธิของประชาสังคมมากขึ้น

สำหรับกฎหมายนั้น แม้ว่าจะใช้กับทุกคนเสมอกัน แต่ด้านกลับ กฎหมายก็อาจละเมิดทุกคนอย่างเสมอกัน หรือเปิดโอกาสให้รัฐละเมิดปัจเจกทุกคนอย่างเสมอกันได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังอาจอยู่ในมือคนที่ใช้อย่างคับแคบ หรือใช้ในช่วงสถานการณ์คับแคบได้  

มีงานวิจัยของต่างประเทศที่ทำให้เห็นว่าระเบียบสังคมของสังคมออนไลน์แต่ละปริมณฑลไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกัน อาจมีบางสังคมเป็นแบบปิด โดยแอดมิน 1-2 คน มีอำนาจเด็ดขาด หรือมีแอดมินที่นั่งดูเฉยๆ ให้มากที่สุด ปล่อยให้ควบคุมกันเอง เช่น ชุมชนวิกิพีเดีย

แง่นี้ พื้นที่เหล่านั้นมันรวมพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เช่น เฟซบุ๊ก มีคำถามว่าการโพสต์แบบ public คืออะไร เป็นสาธารณะขนาดไหน บางครั้งเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยอ้างว่าข้อมูลนั้นๆ เป็นสาธารณะแล้ว ใครก็เอาไปเผยแพร่ได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าความเป็นสาธารณะ บางครั้งถูกสร้างโดยมีบริบทของมัน ไม่ได้เป็นสาธารณะอย่างแท้จริงหรือเป็นสากล และอาจกลายเป็นเครื่องมือทำให้ถูกละเมิดได้ เช่น ถูกเอาไปหากิน ใช้ในสื่อ เช่น นสพ.ออนไลน์ ซึ่งมีรายได้จากโฆษณา เป็นการเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะเป็นสมบัติส่วนตัวของบางพื้นที่ จึงน่าสนใจว่าระเบียบสังคมในโลกออนไลน์ไม่ได้รัดกุมและเปิดให้ละเมิดได้ง่าย แล้วกฎหมายจะเข้ามาอย่างไร หรือเราต้องนั่งอ่านนโยบายหลายพันตัวอักษร

3.ระดับของความเป็นส่วนตัว ไม่ได้จำกัดหน่วยการละเมิดแค่ระดับปัจเจก แต่รวมถึงชุมชนและสังคมด้วย เช่น นักข่าวพลเมือง ที่แม้จะเขียนข่าวด้วยความปรารถนาดี แต่แง่หนึ่งอาจละเมิดความเป็นส่วนตัวของชุมชนหรือสังคมนั้น กรณีนี้จะเห็นว่ามีความเป็นส่วนตัวในระดับชุมชนอยู่

สังคมไทยบอกว่าเรื่องบางคนควรถูกเปิดเผยเพราะกระทบสาธารณะ ถามว่าเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ว่าการกระทำของคนๆ นี้มีผลเสียต่อสังคม และบนบรรทัดฐานของใคร สังคมไทยซับซ้อนมากขึ้น ไม่สามารถบอกได้ว่า ดี เลว มีแบบเดียว ทำให้ต้องคิดต่อว่า ในการควบคุมการละเมิด การควบคุมการบุกรุกความเป็นส่วนตัว แม้กฎหมายจะมีประโยชน์ แต่ทำอย่างไรให้กฎหมายไม่แข็งเกินไป หรือเปิดให้ละเมิดปัจเจกและภาคประสังคมเข้าไปอีก



คณาธิป ทองรวีวงศ์
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น


ความเป็นส่วนตัว พิจารณาจากศาสตร์เดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้หลายศาสตร์ประกอบกัน มีนักวิชาการบอกว่า ความเป็นส่วนตัวมันสัมพัทธ์และมีพลวัต โดยต้องดูเทียบกับสิทธิอื่นในทางตรงข้าม เช่น สิทธิความเป็นส่วนตัว กับสิทธิที่จะรู้ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งกฎหมายต้องพยายามหาจุดสมดุล

การทำความเข้าใจความเป็นส่วนตัวต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ซึ่งมีความขัดแย้งในตัวเอง คือ อยากมีความเป็นส่วนตัว ขณะที่ก็อยากแชท แชร์ แฉ ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการอะไร

ปัญหาของกฎหมายไทยต่อประเด็นความเป็นส่วนตัว
-ด้านเนื้อหา ไม่มีกฎหมายโดยตรงมาบังคับใช้ ต้องปรับใช้กับกฎหมายที่มีอยู่ โดยยกตัวอย่างหากถูกรบกวนทุกช่องทางจากการขายตรง ทั้งสแปมเมล หน้าเฟซบุ๊ก โทรศัพท์ เอสเอ็มเอส เมื่อไปแจ้งความ ตำรวจก็อาจไม่รับแจ้งได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ  อีกตัวอย่างคือ การถ่ายรูป ไม่มีกฎหมายไทยสักฉบับที่บอกว่าการถ่ายรูปผู้อื่นผิด ตำรวจจะรับแจ้งความเพียงกรณีถ่ายภาพลามกอนาจารเท่านั้น ภาพในลักษณะอื่นไม่คุ้มครอง หรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเสียชื่อเสียงอย่างไร  กรณีนี้ เคยมีชาวต่างชาติถ่ายภาพคนนั่งหลับบนรถไฟฟ้า แล้วไปขายได้เป็นพันดอลลาร์ แต่ประชาชนกลับไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร ขณะที่คนถ่ายรูปได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ภาพถ่าย

อยากให้มี social sanction โดยช่วยกันดูแล ในต่างประเทศ มีความพยายามให้เกิดการกำกับกันเอง เช่น ในสหรัฐฯ อัยการเรียกเฟซบุ๊กมาพูดคุย และทำข้อตกลงกัน ให้คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

-ด้านการบังคับใช้ ยกตัวอย่างกรณีผู้หญิงคนหนึ่งเคยถูกนำภาพและข้อมูลในเฟซบุ๊กไปเปิดบัญชีชื่อใหม่ ทำให้เจ้าตัวเสียหาย ปรากฏว่า เมื่อไปแจ้งตำรวจ ตำรวจบอกให้ไปที่กระทรวงไอซีที ทั้งที่ตำรวจมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว เมื่อไปถึงไอซีที ไอซีทีก็ประสานเฟซบุ๊กให้เอาออก ผลคือแม้จะประสานงานให้เอาออกได้ แต่อาชญากรยังลอยนวลอยู่ ถ้าเป็นอย่างนี้คนทำก็ยังสามารถนำข้อมูลและภาพถ่ายไปใช้สร้างเพจได้อีก ถามว่า ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้ทุกครั้งหรือ

เสนอให้มีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็น
-cybey stalking การเฝ้าติดตามคุกคามออนไลน์ กฎหมายไทยยังไม่มีเรื่องนี้ มาให้ความสนใจตอนที่ถูกฆ่าไปแล้ว
-cybey harassment การคุกคามออนไลน์ ส่วนใหญ่มีมูลเหตุจากเรื่องเพศ
-cyber bullying การกลั่นแกล้งออนไลน์ ในต่างประเทศ พบกรณีเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายเพราะถูกกลั่นแกล้งออนไลน์จำนวนมาก ขณะที่ของไทยยังไม่มีการสำรวจเรื่องนี้

กฎหมายไทยยังไม่มีคอนเซ็ปท์เรื่องคนสาธารณะบัญญัติชัดเจน ในสหรัฐฯ พัฒนาจากคำพิพากษา แบ่งได้เป็น บุคคลสาธารณะแบบสมัครใจ, ไม่สมัครใจ และสถานการณ์บังคับ ขณะที่ของไทย ศาลก็พยายามพัฒนาจากกฎหมายอาญาเรื่องการหมิ่นประมาท โดยคนสองกลุ่ม คือ นักการเมือง และนักแสดง ให้แฉได้ หากเป็นประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตาม คอนเซ็ปท์นี้ก็ยังไม่ชัดเจน ขึ้นกับแต่ละคดีไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาถกแก้ รธน. ส่วนที่มา ส.ว. โหวตผ่านมาตรา 2 ฉลุย พิจารณาต่อมาตรา 3

Posted: 21 Aug 2013 11:37 AM PDT

ปธ.สภาฯ เผยถกแก้ รธน.ส่วนที่มาส.ว. ถึง 22 ส.ค.เที่ยงคืน โหวตผ่าน ม.2 ฉลุย พิจารณาต่อ ม.3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 ปชป.ค้าน เปิดช่องครอบงำสถาบันวุฒิสภา ภูมิใจไทย เสนอ ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละ 2 คน เลือกตรง 1 อ้อม 1

21 ส.ค. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของที่มาส.ว.ในวาระที่ 2 จะมีการประชุมต่อเนื่องในวันที่ 22 ส.ค.ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควรถึงเวลาเที่ยงคืน แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานร่วมรัฐสภาจะมีข้อตกลงอย่างไร

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2557 ในวาระที่ 2 ซึ่งค้างการพิจารณาอยู่นั้นได้เบื้องต้นกำหนดให้ประชุมในวันที่ 23 ส.ค. แต่จะจบภายในวันดังกล่าวหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่การตกลงในเรื่องของกรอบเวลาระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านเช่นกัน โดยวันสุดท้ายที่สภาฯจะสามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯได้ คือ วันที่ 26 ส.ค.ก่อนเวลา 24.00น. เนื่องจากจะครบกำหนด 105 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ

"ถ้าสภาฯพิจารณาเสร็จไม่ทัน 105 วันตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สภาฯต้องส่งร่างกฎหมายงบประมาณที่สภาฯได้รับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขไปให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติได้ทันที การดำเนินการลักษณะนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด แต่เป็นฝ่ายค้านเองที่เสียประโยชน์" นายสมศักดิ์ กล่าว

 

โหวตผ่านมาตรา 2 ฉลุย 349 ต่อ 157 เสียง

ในระหว่างพิจรารณามาตรา 2 บรรดาส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ กลุ่ม 40 ส.ว. สลับกันลุกขึ้นอภิปราย โดยขอให้ตัดมาตรา 2 ทิ้งทั้งมาตรา เพื่อไม่ให้มีการรับรองการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่า การแก้ไขเรื่องที่มาส.ว.เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเปิดช่องให้ส.ว.เลือกตั้งที่จะหมดวาระลงในวันที่ 7 มี.ค.57 ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ว.สมัยต่อไปได้ จึงไม่อยากให้ส.ว.มีผลได้เสียจากกฎหมายฉบับนี้ ขอให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความได้

ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนญเรื่องที่มา ส.ว.ยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ไม่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดกัน เพราะผู้ที่ลงสมัครส.ว.ไม่ใช่ว่าลงสมัครแล้วจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา เพราะขึ้นกับประชาชนเป็นผู้ตัดสิน จึงขอยืนยันตามร่างเดิม จนกระทั่งเวลา 16.40 น.ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 2 ด้วยคะแนน 349 ต่อ 157 เสียง รวมเวลาพิจารณาในมาตรานี้  3 ชั่วโมงกว่า

 

พิจารณาต่อ ม.3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน

ในการพิจารณามาตรา 3 เกี่ยวกับการบัญญัติให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน การเลือกตั้ง ส.ว.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ว.มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 คน ในกรณีที่จังหวัดมี ส.ว.ได้มากกว่า 1 คน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ว.ที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น

 

ปชป.ค้าน เปิดช่องครอบงำสถาบันวุฒิสภาง่าย

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ส.ว. บางส่วนเอาความเป็นอิสระสนองตอบการเมือง เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ยิ่งเพิ่มความกังวลให้ประชาชนทวีคูณ เพราะจะเป็นช่องทางให้กลไกผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ครอบงำสถาบันวุฒิสภาได้ง่ายขึ้น ตนจึงขอแปรญัตติเห็นควรให้มี ส.ว.154 คน โดยตัดมาตรา 112 ที่คำนวณเกณฑ์ ส.ว.แต่ละจังหวัดที่พึงมี

นอกจากนี้ มีงานวิจัยว่าปัญหาเลือกตั้ง ส.ว.มีข้อเสียที่น่ากังวลใจหลายประเด็น โดยมีโอกาสที่ ส.ว.ได้รับเลือกตั้งอาจกระจุกตัวในบางมิติ เช่น สาขาอาชีพ วุฒิการศึกษา และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักการเมือง โดย ส.ว.ได้รับเงินทุนจากนักการเมืองและฐานจากพรรคการเมือง เพราะมีผู้อยากได้เป็น ส.ว.จึงจำเป็นต้องใช้อิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติมาช่วย ทำให้ ส.ว.เป็นพวกเดียวกับพรรคการเมือง

 

นายสุรเชษฐ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หากเราได้สภาสูงที่คุณภาพด้อยกว่าสภาล่าง การกลั่นกรองกฎหมายจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ตนไม่ทราบว่ากรรมาธิการทำตามใบสั่งหรือคิดด้วยเหตุผล ไม่เชื่อว่าทำด้วยความคิดที่อิสระแล้วออกมาแบบนี้ มั่นใจว่าต้องมีใบสั่งแน่นอน อยากทราบว่าใบสั่งอย่างนี้เป็นใคร อยู่ๆ ก็แก้ที่มา ส.ว.อย่างรีบเร่ง รวบรัด ต้องผ่านเร็วๆ ให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ

 "จำนวนตัวเลข 200 คนเอามาจากไหน คิดได้อย่างไร ควรให้มีการคัดเลือกในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน เพราะถ้าเลือกมาแล้วทำอะไรไม่เป็น คิดอะไรไม่ออก จะมีไว้ทำไม หรือจะยอมเป็นขี้ข้า ยอมรับใช้การเมือง ถึงไม่เกิดความปรองดอง อย่าว่าแต่ใน กทม.แม้แต่ใน ส.ว.ด้วยกันเองก็ยังไม่ปรองดองกันเลย เสียดายภาพลักษณ์ของประเทศ" นายสุรเชษฐ กล่าว

ส.ว. ต้องกระจายสัดส่วนกลุ่มสาขาวิชาชีพ

ด้านนายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง ส.ส. ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นอภิปราย ระบุว่าตนไม่เห็นด้วยกับการได้มาของ ส.ว. 200 คนที่มาจากการเลือกเช่นเดียวกับ ส.ส. ซึ่งตนไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่อยากให้ได้มาของ ส.ว. ต้องกระจายสัดส่วนกลุ่มสาขาวิชาชีพมากกว่า เพราะหากยกเลิกรูปแบบการสรรหาและให้คงไว้เฉพาะการเลือกตั้งนั้น อาจเป็นการทำให้สมาชิกวุฒิสภามีการใช้อำนาจที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล

 

ภูมิใจไทย เสนอส.ว.เลือกตั้ง จังหวัดละ 2 คน เลือกตรง 1 อ้อม 1

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ขอให้มี ส.ว.เลือกตั้ง จังหวัดละ 2 คน ให้ 1 คนเลือกตั้งทางตรง และอีก 1 คนเลือกตั้งทางอ้อม และเสนอมาตรา 112 ให้มีกรรมการสรรหา ส.ว.ทางอ้อม จากบุคคลทั้งหลายที่สมัครในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ห่วงฝ่ายการเมืองแทรกแซง ส.ว.เมื่อสภาล่างเทกโอเวอร์ทำงานร่วมกับ ส.ว.แบ่งปันผลประโยชน์จะทำให้เป็นวิกฤตของประเทศได้

 

ส.ว. ย้อนถามจำนวน 200 ใช้เกณฑ์อะไร

นอกจากนี้ พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ได้ขึ้นอภิปรายในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย โดยตั้งคำถามไป คณะกรรมาธิการว่า การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน 200 คนนั้น ใช้เกณฑ์มาตราฐานอย่างไร เนื่องจาก ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2540 นั้น ใช้เกณฑ์การประเมินจากจำนวนประชากรของประเทศ จึงเรียกร้องให้มีการกำหนด จำนวน สมาชิกวุฒิสภาตามหลักวิชาการด้วย

 

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, เดลินิวส์, ASTVผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์เผยสังคมออนไลน์ทำการเมืองใกล้ชิดคนมากขึ้น แสดงออกผ่านกดไลค์มากสุด

Posted: 21 Aug 2013 10:56 AM PDT

 

21 ส.ค.56 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง "การแสดงออกทางการเมืองในยุคสังคมออนไลน์" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,188 คน พบว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุดคือ สมาร์ทโฟน (ร้อยละ 70.8) รองลงมาคือ แท็บเล็ต (ร้อยละ 10.1) และ คอมพิวเตอร์ / โน๊ตบุ๊ค (ร้อยละ 19.1)

สำหรับเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ประชาชนใช้มากที่สุดคือ เฟซบุ๊ก (ร้อยละ 93.8) รองลงมาคือ ไลน์ (ร้อยละ 76.0) และอินสตาร์แกรม (ร้อยละ 27.3) โดยไลน์เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ประชาชนใช้ต่อสัปดาห์ (6-7 วัน) มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 85.5 รองลงมาคือเฟซบุ๊ก (ร้อยละ 76.8) และอินสตาร์แกรม (ร้อยละ 63.6)

เมื่อถามว่าเคยเห็นเพื่อนๆ ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โพสต์  แชร์  กดไลค์  หรือคอมเมนต์ประเด็นทางการเมืองบ่อยเพียงใด ผู้ตอบส่วนใหญ่ร้อยละ 57.8 เคยเห็นเกือบทุกวันที่เข้าใช้  ขณะที่ร้อยละ 31.1  เคยเห็นน้อยครั้ง  และร้อยละ 11.1 ไม่เคยเห็นเลย  เมื่อถามต่อว่าเคยอ่านความคิดเห็นทางการเมือง ที่มีการโพสต์อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์บ้างหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 87.8 บอกว่า"อ่าน" โดยอ่านเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุด (ร้อยละ 47.2) รองลงมา เป็นการอ่านแบบผ่านๆไม่สนใจมาก (ร้อยละ 32.2) และ อ่านเกือบทุกประเด็น (ร้อยละ 8.4) ขณะที่ร้อยละ 12.2 บอกว่า"ไม่อ่านเลย"  

ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 69.6 มีส่วนร่วมแสดงออกทางการเมืองผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยร้อยละ 34.6 จะกดไลค์/ถูกใจ รองลงมา ร้อยละ 11.2 จะแชร์หรือแบ่งปันข้อมูล และร้อยละ 9.5 จะร่วมแสดงความเห็น/คอมเมนต์  ขณะที่ร้อยละ 30.4 ไม่มีส่วนร่วม/อ่านอย่างเดียว

ด้านความเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า "เครือข่ายสังคมออนไลน์มีส่วนช่วยให้ท่านรู้สึกว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น  ใช่หรือไม่" ร้อยละ 68.2 คิดว่าใช่ ขณะที่ร้อยละ 12.5 คิดว่าไม่ใช่ และร้อยละ 19.4 ไม่แน่ใจ

ส่วนความเห็นต่อรัฐบาลว่าควรวางตัวอย่างไรต่อผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ตอบส่วนใหญ่ร้อยละ 51.1 เห็นว่าควรให้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ขณะที่ร้อยละ 33.8 เห็นว่าควรรณรงค์  สื่อสาร  ทำความเข้าใจกับผู้ใช้ถึงสิ่งที่ทำได้ ทำไม่ได้  และการใช้อย่างสร้างสรรค์ และร้อยละ 15.1 เห็นว่าควรดูแลผู้ใช้ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ไม่ควรลุแก่อำนาจ 

สุดท้ายเมื่อถามว่านักการเมืองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองคนใดที่ผู้ตอบติดตามการแสดงความเห็นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุดอันดับแรกคือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ (ร้อยละ 46.0) รองลงมาคือ พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร (ร้อยละ 17.5)  และนายกรณ์ จาติกวณิช (ร้อยละ 9.0)

 

รายละเอียดดังต่อไปนี้

 

1. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุด คือ

 

สมาร์ทโฟน

ร้อยละ

70.8

แท็บเล็ต

ร้อยละ

10.1

คอมพิวเตอร์ / โน๊ตบุ๊ค

ร้อยละ

19.1

 

2. การเป็นสมาชิกเครือข่ายสังคมออนไลน์และความถี่ในการเข้าใช้

 

เครือข่ายสังคมออนไลน์

การเป็นสมาชิก (ร้อยละ)

ความถี่ในการใช้ต่อสัปดาห์

(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

1-2 วัน (ร้อยละ)

3-5 วัน (ร้อยละ)

6-7 วัน (ร้อยละ)

เฟซบุ๊ก

93.8

8.8

14.4

76.8

ไลน์

76.0

4.8

9.7

85.5

อินสตาร์แกรม

27.3

14.0

22.4

63.6

วอทส์แอพพ์

16.8

20.5

19.0

60.5

ทวิตเตอร์

9.7

23.5

25.2

51.3

วีแชต

7.9

26.9

15.1

58.0

 

 

3. ท่านเคยเห็นเพื่อนๆ ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โพสต์  แชร์  กดไลค์  หรือคอมเมนต์ประเด็นทางการเมืองบ่อยเพียงใด

 

เคยเห็นเกือบทุกวันที่เข้าใช้       

ร้อยละ

57.8

เคยเห็นน้อยครั้ง     

ร้อยละ

31.1

ไม่เคยเห็นเลย 

ร้อยละ

11.1

 

4. ท่านอ่านความคิดเห็นทางการเมือง ที่มีการโพสต์อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์บ้างหรือไม่

 

อ่าน

            โดย อ่านเกือบทุกประเด็น               ร้อยละ  8.4    

                    อ่านเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ   ร้อยละ 47.2  

                    อ่านแบบผ่านๆไม่สนใจมาก     ร้อยละ 32.2  

ร้อยละ

87.8

ไม่อ่านเลย

ร้อยละ

12.2

 

5. การมีส่วนร่วมแสดงออกทางการเมืองผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์

 

มีส่วนร่วม

ร้อยละ

69.6

            โดย กดไลค์/ถูกใจ                                   ร้อยละ 34.6

 

 

                   แชร์หรือแบ่งปันข้อมูล                        ร้อยละ 11.2

 

 

                   ร่วมแสดงความเห็น/คอมเมนต์              ร้อยละ   9.5

 

 

                   แชตหรือคุยกันในกลุ่ม                        ร้อยละ   9.0

 

 

                   โพสต์ความเห็นของตัวเอง                    ร้อยละ   5.3

 

 

ไม่มีส่วนร่วม/ อ่านอย่างเดียว

ร้อยละ

30.4

 

6. ความเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า "เครือข่ายสังคมออนไลน์มีส่วนช่วยให้ท่านรู้สึกว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น  ใช่หรือไม่"

 

คิดว่าใช่

ร้อยละ

68.2

คิดว่าไม่ใช่

ร้อยละ

12.5

ไม่แน่ใจ

ร้อยละ

19.4

 

7. ความเห็นต่อรัฐบาลควรวางตัวอย่างไรต่อผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์

 

ควรให้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ร้อยละ

51.1

ควรรณรงค์  สื่อสาร  ทำความเข้าใจกับผู้ใช้ถึงสิ่งที่ทำได้ทำไม่ได้  และการใช้อย่างสร้างสรรค์

ร้อยละ

33.8

ควรดูแลผู้ใช้ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ไม่ควรลุแก่อำนาจ 

ร้อยละ

15.1

 

 

8. นักการเมืองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ผู้ตอบติดตามการแสดงความเห็นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุด (5 อันดับแรก) (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)

 

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์

ร้อยละ

46.0

พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร

ร้อยละ

17.5

นายกรณ์ จาติกวณิช

ร้อยละ

9.0

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ร้อยละ

3.5

นายพานทองแท้ ชินวัตร

ร้อยละ

3.0

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะวารสาร มธ. ประมวล 5 ปัญหา 4 ข้อเสนอ ต่อร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ กสทช.

Posted: 21 Aug 2013 10:05 AM PDT

21 ส.ค.56  เวลา 13.00 น. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง สิทธิเสรีภาพสื่อกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์: เสรีภาพสื่อในวันที่ไร้ฮอร์โมนส์ เพื่อวิพากษ์ถึงปัญหาในร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ และจัดทำข้อเสนอเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

สืบเนื่องจากร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....(ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ) ที่คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. เสนอต่อที่ประชุมใหญ่กสทช.ไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ร่างดังกล่าวมีใจความถึงเนื้อหาที่ต้องห้ามนำเสนอในสื่อวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยขยายความจากมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการการดำเนินรายการที่เน้นควบคุมรายการเชิงข่าวอย่างเข้มงวด

ในงานนี้มีวิทยากรและผู้ร่วมเสวนาเข้าร่วมประมาณ 70 คน ได้แก่ นักวิชาการ นักศึกษา องค์การพัฒนาภาคเอกชน และสื่อมวลชน

 

การเสวนามีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

 

ร่างประกาศเนื้อหาฯ พบปัญหาสำคัญหลายประการ คือ

1. เนื้อหามีความกำกวมและคลุมเครือ เช่น คำว่า ความมั่นคงของรัฐที่กำหนดถึงเนื้อหาที่ "ล้มล้างอำนาจในระบอบประชาธิปไตยไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน" เรื่องศีลธรรมที่กำหนดถึงเนื้อหาที่ "ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" และการห้ามนำเสนอที่ "น่ารังเกียจ" หรือ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน"

ทั้งนี้ ปัจจุบันฝ่ายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสื่อ นอกจากตัวสื่อเองที่ย่อมเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว ยังมีกลุ่มการเมืองและกลุ่มทุน และเมื่อถ้อยคำในกฎหมายมีความกำกวม ย่อมเปิดช่องให้เกิดการใช้ดุลพินิจตีความไปในทางที่ฝ่ายตนได้ประโยชน์ และเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติแน่นอน

2. ปัญหาของร่างนี้ คือเน้นกลไกการควบคุมมากกว่ากลไกการกำกับ ทั้งที่ กสทช.มีหน้าที่หนึ่งในการร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของสื่ออย่างสร้างสรรค์ แต่ลักษณะของร่างฉบับนี้ ยิ่งส่งเสริมการใช้อำนาจของกสทช.ในการสร้างกลไก "ควบคุม" สื่อ มากกว่ากลไกการ "กำกับดูแล"

3. เนื้อหาในร่าง เขียนทับซ้อนกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนดเอาไว้ครอบคลุมและชัดเจนกว่าอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล้าและบุหรี่ ทำให้เกิดองค์กรบังคับใช้ที่ทับซ้อนกันไปมา

4. นอกจากร่างฉบับนี้จะไม่เปิดพื้นที่ให้กลไกกำกับดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพทำงานแล้ว ยิ่งสร้างปัญหาในบรรยากาศของการปฏิรูปสื่อ และย้อนการทำงานของสื่อกลับไปยังยุคที่ทำให้เจ้าของธุรกิจ เข้ามาแทรกแซงสื่อ

5. หากร่างฉบับนี้นำมาใช้จริง จะมีปัญหาในการบังคับใช้ เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติงานสื่อ เช่น การบังคับให้สื่อต้องนำเสนอเนื้อหาโดยเชิญผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งหมดมานำเสนอ การบังคับให้สื่อต้องนำเสนอเนื้อหาข่าวที่เป็นกลาง การห้ามเสนอรายการที่จะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นกับการตีความ อาจจะส่งผลให้การนำเสนอเนื้อหาในรายการวิทยุและโทรทัศน์ จะมีแต่รายการลักษณะขี้หมูราขี้หมาแห้ง

โดยสรุปแล้ว เนื้อหาของร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ขาดเจตนารมณ์ที่จะให้เกิดการจัดสรรคลื่นอย่างมีคุณภาพและหลากหลาย ภายใต้กลไกการควบคุมวิชาชีพกันเองของสื่อมวลชน อีกทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งคุ้มครองการทำงานและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน กล่าวคือ ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ละเลยเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจ

 

วงเสวนาสรุปข้อเสนอแนะต่อ กสทช. ดังนี้

1. ถ้อยคำที่กำหนดเอาไว้ว่าเป็นเนื้อหาต้องห้ามนั้น ยังถือเป็นประเด็นที่เปิดให้เกิดการถกเถียง แทนที่จะออกมาตรการ รัฐควรทำความเข้าใจว่า ที่สุดแล้วไม่ใช่เรื่องกติกา แต่มันเป็นความเชื่อบางชุดที่ยังต้องปล่อยให้เกิดการถกเถียง โดยรัฐควรเริ่มจากการเชื่อมั่นในประชาชน คืนอำนาจให้ประชาชน และอย่าคิดว่าประชาชนโง่ตลอดเวลา แต่ปล่อยพื้นที่ให้ประชาชนถกเถียง เพื่อที่ว่า สิ่งต่างๆ ที่ยังเป็นความเชื่อจะได้ไม่ถูกกันจากสังคมไปตั้งแต่แรก

2. แทนที่เนื้อหาในร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ จะกำหนดเพียงรายละเอียดของการให้อำนาจผู้รับใบอนุญาต ใช้ดุลพินิจของตนควบคุมสื่อ ผ่านการสั่งปรับหรือถอนใบอนุญาต ร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้ ควรศึกษากลไกอื่นๆ ที่ควรคำนึงถึง ซึ่งจะรักษาสมดุลของสิทธิเสรีภาพกับประโยชน์สาธารณะ เช่น กลไก watershed ที่ใช้เรื่องการกำหนดเวลาสำหรับเนื้อหาบางประเภท เช่น เนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน สามารถนำเสนอได้ในช่วงเวลาเฉพาะที่กำหนดไว้

3. ในร่างนี้ ควรมีเนื้อหาว่าด้วยการกำกับดูแลตัวเอง หรือการกำกับดูแลร่วม ดังที่กำหนดเอาไว้ในมาตรา 39 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อีกทั้งยังควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ให้รายละเอียดถึงวิธีการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจ รวมถึงกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของทั้งผู้รับใบอนุญาตและกสทช.ด้วย

4. กสทช. ควรสร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแทนที่จะเปิดการมีส่วนร่วมเพียงแค่ช่วงการประชาพิจารณ์ซึ่งเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงท้ายเท่านั้น กสทช.ควรมีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกระบวนการยกร่าง กำหนดเจตนารมณ์ และกำหนดรายละเอียดร่วมกัน

 

ที่มา: โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายบำนาญระดมคนค้าน ร่างพ.ร.บ.ยุบกองทุนการออม 22 ส.ค.นี้

Posted: 21 Aug 2013 09:38 AM PDT

21 ส.ค.56 เว็บไซต์ Voice Labour รายงานว่า เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยุบกองทุนการออมแห่งชาติ พร้อมรวมกลุ่มองค์กรเครือข่ายพันธมิตร เตรียมดำเนินการคัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. … ในทุกรูปแบบ  นัดรวมพลคัดค้านหน้าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง  22 ส.ค. 56  เวลา  10.00 – 12.00 น. และจัดระดมรณรงค์ให้ประชาชนกดไลค์ความเห็นผ่าน http://www.change.org  ถึงกระทรวงการคลังให้หยุดการเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (ร่วมได้ที่ http://chn.ge/1dpsQAE)

สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  (คปก.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมบังคับใช้ผ่านมาแล้วปีกว่า ทำให้ต้องศาลปกครอง และแทนที่รัฐบาล กระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการแก้ไขกลับพยายามผลักดันให้เข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40ในทางเลือกที่ 3 ซึ่งก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ล่าสุดทางกระทรวงการคลังก็มีการร่างกฎหมายเพื่อขึ้นมาเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความมึนงงเหมือนกัน เพราะว่าไม่เคยมีในประวัติสาสตร์เรื่องการออกกฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ประชาชนส่งเสียงเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกฎหมาย กอช. ฉบับนี้มีความเป็นอิสระ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งต่างจากกองทุนประกันสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคี และรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ ที่ไม่เป็นอิสระ และยังมีความไม่ชัดเจนรอการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ แม้ว่าทางกระทรวงการคลังจะแจงว่า การไปอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 เมนู 3 ดีกว่าเดิมด้วยหลักการรัฐร่วมจ่าย แต่ในความต้องการของประชาชนคือความเป็นองค์กรอิสระ และการมีส่วนร่วม ความโปรงใส ตรวจสอบได้ ซึ่งระบบประกันสังคมยังไม่มี เท่าที่รู้กันว่าร่างกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชนที่สภาผู้แทนราษฎรได้ใช้เสียงข้างมากของรัฐบาลโหวตไม่รับร่างและตกไป

การที่มีการร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกกำหมายกอช. โดยใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ พร้อมส่งให้ใครก็ไม่รู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายกอช.  มีอย่างน้อยสามประเด็นที่น่าสนใจคือ

1 . กฎหมายแต่ละฉบับกว่าจะผ่านรัฐสภามีผลใช้ ยากลำบากมาก และกฎหมายฉบับนี้ประชาชนให้การสนับสนุนและผลักดันมาหลายปีกว่าจะออกมา รัฐสภาจะมีประโยชน์อะไรในการร่างกฎหมาย แสดงว่ารัฐสภาร่างกฎหมายไม่ดี จนต้องยกเลิกทั้งที่ยังไม่ได้ใช้ใช่หรือไม่

2. การนำไปไว้กับกองทุนประกันสังคม ที่คณะกรรมการบอร์ดไม่มีตัวแทนแรงงานนอกระบบ และอีกหลากหลายที่ออกแบบไว้ในกรรมการกองทุนกอช. และกองทุนประกันสังคมก็ใหญ่โต มีปัญหาถูกวิจารณ์เรื่องบริหารไม่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสอยู่แล้ว กม.ประกันสังคมก็ไม่ยอมรับหลักการการแก้ไขโดยร่างฉบับประชาชน จึงมีปัญหาในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ชอบธรรมที่จะยุบกอช.ไปอยู่กับสำนักงานประกันสังคม ( สปส.)

3. เรื่องนี้มีการฟ้องศาลปกครองอยู่ ไม่ควรรีบยกเลิกกฎหมายหนีการตรวจสอบของศาล แต่ควรรีบดำเนินการตามกฎหมายกอช.จะดีกว่า ฯลฯ

ทั้งนี้ เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน องค์กรภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิเพื่อนหญิง และมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มีมติร่วมกันในการติดตามหนังสือที่ยื่นเพื่อคัดค้านการทำประชาพิจารณ์ ร่าง พระราชบัญญัติยุบกองทุนการออมแห่งชาติฯ ต่อกระทรวงการคลัง ในวันที่ 22 สิงหาคม 2556  เวลา 10.00- 12.00 น. ณ หน้าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง  พร้อมทั้งแบบสำรวจความคิดเห็นที่ไม่เห็นชอบต่อ ร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าว จากเครือข่ายบำนาญภาคประชาชนในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้รัฐบาลหยุดการกระทำดังกล่าว

ตามที่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2556 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับ การยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 (พ.ร.บ. กอช.) ผ่านเว็บไซต์  http://www.fpo.go.th มีกำหนดให้ประชาชนและผู้ส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 21 ส.ค. 2556 หรือเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันที่ 16 ส.ค.2556 แบบสอบถามเรื่องการยกเลิก พ.ร.บ.กอช.ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ และเมื่อสอบถามไปยังสำนักนโยบายและการลงทุนของ สศค. ได้รับคำตอบว่ามีความผิดพลาดทางเทคนิค และเตรียมที่จะนำแบบสอบถามขึ้นเว็บไซต์อีกครั้งในเร็วๆ นี้ โดยจะชดเชยเวลาการทำแบบสอบถามให้ครบ 1 สัปดาห์ตามกำหนดเดิมที่วางไว้

รายงานข่าวระบุว่า การยกเลิก พ.ร.บ.กอช. เป็นแนวคิดของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ที่เห็นว่า พ.ร.บ.กอช.นั้น เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2556 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงิน สมทบประเทศของประโยชน์ทด แทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิ์ในการรับประ โยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนไปแล้ว

พ.ร.บ.กอช. ถูกผลักดันโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งหลังจากมีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องจัดตั้งกองทุนและเปิดให้ประชาชนมาออมภายใน 1 ปี ตามกำหนดคือช่วงกลางปี 2555 แต่เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามา ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และสั่งการให้ สศค.ไปดำเนินการยกเลิก ซึ่งในการยกเลิกกฎหมายทำได้หลายวิธี แต่ สศค.เห็นว่าควรจะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ซึ่งข้อสรุปจากการจัดทำประชาพิจารณ์ จะเสนอไปยังฝ่ายการเมือง เพื่อนำเสนอไปยัง ครม.ให้เสนอยกเลิก พ.ร.บ.กอช.ไปยังรัฐสภาตามขั้นต่อไป (ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 19 สิงหาคม 2556)

 

======================

ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ….

 

—————

 

โดยที่เป็นการสมควรยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ

 

…………………………………………………………………………………….

 

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. …."

 

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา 3 ให้ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554

 

มาตรา 4 กองทุนการออมแห่งชาติซึ่งได้ถูกยุบเลิกตามมาตรา 3 ให้ถือว่ายังคงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี

 

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน  เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

 

มาตรา 6 ให้คณะกรรมการชำระบัญชีได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด โดยจ่ายจากทรัพย์สินของกองทุนการออมแห่งชาติ

 

มาตรา 7 ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยอนุโลม

 

มาตรา 8 ให้คณะกรรมการชำระบัญชีมีอำนาจดำเนินคดีแทนกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้โอนสิทธิและความรับผิดของกองทุน การออมแห่งชาติที่เกิดจากคดีดังกล่าวไปเป็นของคณะกรรมการชำระบัญชี

 

มาตรา 9 เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ให้คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

(1)    เสนอรายงานการชำระบัญชีภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เสร็จการชำระบัญชีต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป  ทั้งนี้ ให้ถือว่าวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี

 

(2)    โอนทรัพย์สินที่ยังคงเหลือให้แก่กระทรวงการคลัง ส่วนเงินที่ยังคงเหลือให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ต้องกระทำโดยไม่ชักช้า

 

(3)    มอบสมุด บัญชี และเอกสารทั้งหมดของกองทุนการออมแห่งชาติให้แก่กระทรวงการคลังภายในสิบสี่วันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีและให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้สิบปีนับแต่วันดังกล่าว

 

สมุด บัญชี และเอกสารที่มอบให้แก่กระทรวงการคลังตามวรรคหนึ่ง (3) ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดูได้โดยไม่ต้องเรียกค่าธรรมเนียม

 

มาตรา 10 พนักงานและลูกจ้างของกองทุนการออมแห่งชาติ หากสมัครใจจะโอนไปปฏิบัติงาน

 

กับสำนักงานประกันสังคม และได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนพนักงานผู้นั้นไปเป็นพนักงานของสำนักงานประกันสังคม

 

การโอนพนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งโดยให้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย และผลประโยชน์ตามข้อบังคับคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติว่าด้วยการพนักงาน

 

พ.ศ. 2555 และข้อบังคับคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติว่าด้วยลูกจ้าง พ.ศ. 2555

 

มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

………………………………………..

 

นายกรัฐมนตรี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกเพิ่ม จาก 3 เป็น 16 ปี คดีเสื้อแดงบุก NBT ขอนแก่น

Posted: 21 Aug 2013 09:18 AM PDT

ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มโทษจำคุกจาก 3 ปี เป็น 16 ปี นายอุดม คำมูล คดีบุก NBT ขอนแก่น แต่จำเลยมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 10 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ ทนายเตรียมฎีกาต่อ

จากกรณีที่ นายอุดม คำมูล ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลในฐานะจำเลยคดีมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อ 13 ธ.ค.55 ลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นบทความผิดที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุก 2 ปี และข้อหาร่วมกันบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรืออาคารสำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น ลงโทษจำคุก 1 ปี รวมความผิดสองกระทง ลงโทษจำคุก 3 ปี และมีเหตุบรรเทาโทษ ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 56 ASTVผู้จัดการออนไลน์ ศูนย์ข่าวขอนแก่น รายงาน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้นัดฟังคำพิพากษา แต่จำเลย และผู้ประกันไม่เดินทางมาตามนัดหมาย มีเพียง นายบุญยง แก้วฝ่ายนอก ทนายความของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช.ภาคอีสาน มาชี้แจงต่อศาลแทน จากนั้นศาลจึงให้นายบุญยงได้เจรจาต่อรองศาล พร้อมกับนัดฟังคำพิพากษาในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้

เมื่อถึงเวลานัด ผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์ที่ 6 มีนายอุดม คำมูล จำเลย และทนายความรับฟังการอ่านคำพิพากษา โดยผู้พิพากษาได้อ่านคำตัดสิน ใจความโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดในข้อหาร่วมกันมั่วสุมได้ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระทำการอันยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่บริเวณอาคารสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

จำเลยกับพวกได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือข่มขวัญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงพิพากษาให้จำเลยมีความผิด และตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 16 ปี แต่จำเลยมีเหตุบรรเทาโทษจากคำให้การในชั้นสอบสวน จึงลดโทษลง 1 ใน 3 เหลือจำคุก 10 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

ด้านทนายกล่าวภายหลังการฟังคำพิพากษาว่า แนวทางต่อไปคือการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา และมองว่าจำเลยยังได้รับความเมตตาจากศาลอุทธรณ์ เมื่อเทียบกันกับจำเลยคนอื่นในข้อหาเดียวกันของพื้นที่อื่นๆ ที่ตัดสินไปแล้วก่อนหน้านี้

ทั้งนี้นายอุดม ได้ถูกดำเนินคดีร่วมกันตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาอาคารสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 1 ขอนแก่น ด้วย แต่ศาลชั้นต้น ตัดสินว่าไม่มีความผิดเมื่อวันที่ ธ.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากศาลลเห็นว่าพยานโจทก์ไม่เบิกความยืนยันว่ารู้เห็นถึงการกระทำของจำเลย และมีเหตุสงสัยตามสมควรที่จำเลยกระทำความผิดในข้อหานี้หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอเสนอ 3 ทางเลือกเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ดินลูกรังและหินผุ

Posted: 21 Aug 2013 05:04 AM PDT

ผลศึกษาการใช้ประโยชน์ดินลูกรังและหินผุใน 14 จว.อีสาน เป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ทั้งบ่อเล็ก-ใหญ่ เกิดผลกระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม เสนอ 3 ทางเลือกเพิ่มประสิทธิภาพ พึงตระหนักว่าเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปเน้นจัดลำดับความสำคัญของการใช้และฟื้นฟูบ่อเสื่อมโทรม 

ปัจจุบันดินลูกรังยังคงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างต่าง ๆ แต่การบังคับใช้/ปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่มีอยู่ยังเป็นไปอย่างหละหลวม มีการลักลอบขุดตักดินลูกรังจำนวนมาก และการสวมสิทธิเกินกว่าที่อนุญาต  โดยที่รัฐไม่ได้ประโยชน์     และหลายครั้งเกิดการพังถล่มจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

พิศสม มีถม

นางสาวพิศสม มีถม นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า  ประโยชน์หลักของดินลูกรังและหินผุคือ   การนำมาใช้ก่อสร้างถนน  ถมที่ และเป็นส่วนผสมของกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์   ในปี 2555 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มอบหมายทีดีอาร์ไอทำการศึกษาโครงการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด  ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมดินลูกรังและหินผุ ในภาคะวันออกเฉียงเหนือมีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดเชิงเขา

จากการสำรวจภาคสนามของทีมวิจัยพบว่าใน 14 จังหวัดที่ทำการศึกษา มีพื้นที่ที่มีการขุดตักดินลูกรังรวม 340 กว่าแห่ง  จังหวัดที่มีการขุดตักดินลูกรังมากที่สุดคือ นครราชสีมา รองลงมาคือ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครพนม และขอนแก่น ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีการขุดตักดินลูกรังรายเล็กที่ไม่มีการขออนุญาตประกอบการ  บางแห่งมีการสวมใบอนุญาต เช่น มีใบอนุญาตที่หนึ่งแต่ขุดอีกที่หนึ่งหรือมีพื้นที่มากเกินกว่าที่ขออนุญาตมาก  การเข้าไปตรวจสอบดำเนินได้ค่อนข้างยากเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอและเกรงว่าอาจได้รับอันตราย

กิจการที่ขออนุญาตถูกต้องมักเป็นสถานประกอบกอบกิจการขนาดใหญ่ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อขนาดใหญ่ประมาณ 40-50 ไร่ มีความลึกมากกว่า 10 เมตร มีการขุดตั้งแต่ชั้นบนที่เป็นดินลูกรังลึกลงไปถึงชั้นทรายด้านล่าง บางพื้นที่ของบ่อขุดลึกลงไปถึงชั้นดินเหนียว  ขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็ก จะทำการขุดลูกรังในพื้นที่ประมาณ 4-5 ไร่ และมีความลึกไม่มากเพียง 1.5-3 เมตรเท่านั้น และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการขุดดินลูกรังจะใช้วิธีขอเช่าหรือซื้อที่ดินของเจ้าของที่ โดยลักษณะที่ดินบริเวณดังกล่าวใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้น้อยเนื่องจากขาดความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงมักจะให้เช่าที่ดินเพื่อให้มีการขุดเอาดินลูกรังที่อยู่ด้านบนไปขาย  โดยชาวบ้าน ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขุดดินลูกรังและหินผุ  ผู้ประกอบการเข้าใจว่าไม่เข้าเกณฑ์ คือใช้รถแบคโฮที่มีกำลังไม่เกิน 50 แรงม้าและขุดลึกไม่เกิน 3 เมตร จึงไม่ต้องขอนุญาต  ชาวบ้านคิดว่าเป็นกรรมสิทธิ์ที่จะทำอะไรบนที่ดินของตัวเองก็ได้ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกเขตเทศบาลเข้าใจว่าไม่มีกฎหมายให้ต้องขออนุญาต ดังนั้นการขุดตักดินลูกรังลักษณะนี้ซึ่งมีจำนวนมากจึงยังไม่มีการเก็บค่าผลประโยชน์ใด ๆ จากการประกอบการเลย

ทีมวิจัยได้ทำการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินลูกรังและหินผุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้การวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีดินลูกรังและหินผุ ภายใต้การลงทุนในเครื่องจักรขนาดเล็ก 3 ล้านบาท และมีอายุการใช้งาน 10 ปี ในขณะที่ราคาที่ดินเฉลี่ยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีราคาตั้งแต่ 60,000 – 220,000 บาทต่อไร่ โดยการคำนวณหา มูลค่าปัจจุบันสุทธิของผลตอบแทนในการขุดตักดินลูกรังและหินผุ (NPV) พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจขุดตักดินลูกรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีต้นทุนในการขุดตักดินลูกรังในช่วง 2.4-4.0 ล้านบาทต่อปี  รายรับสุทธิจากการขายดินลูกรังอยู่ในช่วง -0.064 ถึง 1.5 ล้านบาทต่อปี                       การขุดตักดินลูกรังจะมีค่า NPV ติดลบ (ขาดทุน) เมื่อราคาที่ดินสูงขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 180,000 บาทต่อไร่  นอกจากนี้ยังมีต้นทุนอื่นที่มีความสำคัญต่อผลตอบแทนที่ยังไม่ได้นำมาคิดรวม ได้แก่ ต้นทุนผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้นทุนค่าเสียโอกาสการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งหากนำมารวมก็ยิ่งทำให้ติดลบมากขึ้น

การบริหารจัดการในปัจจุบันพบว่า  มีอยู่ 2 ลักษณะคือ ในที่ดินของรัฐ  กับที่ดินกรรมสิทธิ์  โดยปัญหาด้านกฎหมายคือ มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุหลายฉบับ มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีกฎระเบียบของตนเอง ลักษณะของความซ้ำซ้อนดังกล่าวนำมาซึ่งขั้นตอนที่ยุ่งยากในการบริหารจัดการ การขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถกำกับ ติดตาม ตรวจสอบและควบคุมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขุดตักดินลูกรังและหินผุได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ   จึงควรกระจายอำนาจและส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการดินลูกรังและหินผุ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดและรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี

การศึกษานี้พยายามนำเทคนิควิธีการมีส่วนร่วมเข้ามาใช้เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีข้อตกลงร่วมกัน และช่วยลดความขัดแย้งลงได้   โดยได้ข้อมูลว่า ผลกระทบส่วนใหญ่ เกิดจากรถบรรทุกดินลูกรังที่ทำให้ถนนชำรุด เกิดฝุ่นละอองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง สร้างความรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่รถบรรทุกขับผ่าน  บางหมู่บ้านทนไม่ไหวออกกติกาจัดระเบียบรถบรรทุกดิน/ลูกรังเพื่อบรรเทาผลกระทบ เช่น ให้ลดความเร็วเวลาวิ่งผ่านหมู่บ้าน หรือกำหนดเวลาห้ามวิ่ง หากฝ่าฝืนมีการปรับเป็นเงินเช่น 1,000 บาทต่อคันต่อเที่ยว เป็นต้น สภาพบ่อขุดดินลูกรังและหินผุที่ใช้ประโยชน์แล้วซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายโดยทั่วไปสร้างทัศนวิสัยที่ไม่ดีและสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น บ่อดินถล่มหากเกิดฝนตกต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามพบว่าบ่อดินที่รกร้างขนาดใหญ่หลายแห่งมีความพยายามฟื้นฟูโดยการทำแปลงปลูกข้าว หรือบางแห่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปขอให้เป็นสนามกีฬา เช่น สนามฟุตบอล สนามยิงปืน เป็นต้น

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในส่วนของการขุดดินลูกรังในพื้นที่กรรมสิทธิ์ ซึ่งมีลักษณะกระจัดกระจายนั้นควรให้มีการกำหนดพื้นที่ศักยภาพของแหล่งดินลูกรังและหินผุ พร้อมทั้งให้มีการจัดลำดับความสำคัญการใช้ประโยชน์พื้นที่ศักยภาพแหล่งดินลูกรังและหินผุในระดับจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางในการอนุญาตขุดดินลูกรังและหิน พร้อมกันนี้ควรมีการจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้แนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ อาจดำเนินการได้ 3 ทางเลือก  คือ 1) ภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบปัจจุบัน ทำการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ 2) ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม กฎหมายและกฎระเบียบปัจจุบัน ให้มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้ทรัพยากรดินลูกรังและหินผุ และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 3) กำหนดให้ดินลูกรังและหินผุเป็นแร่ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ให้มีบทบัญญัติขึ้นใหม่หมวดหนึ่งหรือออกกฎกระทรวงว่าด้วยดินลูกรังและหินผุเป็นการเฉพาะ เพื่อการจัดการทรัพยากรดินลูกรังและหินผุที่เหมาะสม  ทั้งนี้ ควรเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงตระหนัก คือ ดินลูกรังและหินผุเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้น ในอนาคตควรมีการดำเนินการหาวัสดุทดแทนดินลูกรังในการสร้างถนนของกรมทางหลวงแผ่นดินและกรมทางหลวงชนบทและการสร้างถนนของหน่วยงานอื่นๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการลดอัตราส่วนการใช้ดินลูกรังในการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยแบรนด์เสื้อผ้าออสเตรเลียพัวพันการใช้แรงงานเด็ก

Posted: 21 Aug 2013 04:55 AM PDT

Baptist World Aid เผยแบรนด์เสื้อผ้า 128 ยี่ห้อ จาก 41 บริษัท ของออสเตรเลียพัวพันการใช้แรงงานเด็กจากประเทศต้นทาง "ผ้าฝ้าย" ในเอเชียกลางที่มีการใช้แรงงานแม้กระทั่งเด็กอายุ 10 ขวบ รวมทั้งชั่วโมงการทำงานอันยาวนานของคนงานไร่ฝ้าย

 

วีดีโอการรณรงค์ของ Baptist World Aid (ที่มาคลิปวีดีโอ: baptistworldaid.org.au)

 

คลิปรายงานข่าวของสื่อออสเตรเลีย (ที่มาคลิปวีดีโอ: smh.com.au) 

 

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 56 ที่ผ่านมาสื่อของออสเตรเลียรายงานว่าองค์กร Baptist World Aid ได้เผยแพร่รายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับวงการแฟชั่นในออสเตรเลีย (The Ethical Fashion Guide) โดยระบุว่าจากการสำรวจแบรนด์เสื้อผ้า 128 ยี่ห้อจาก 41 บริษัท พบว่าถึงแม้หลายแบรนด์มีการปรับปรุงเรื่องสภาพการทำงานของแรงงานที่โรงงานดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หลายแบรนด์ก็ยังคงละเลยเรื่องการตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบจากประเทศต้นทางที่ยังมีการใช้แรงงานเด็กอยู่

ในรายงานระบุว่ามีเพียง 7% เท่านั้นที่รับรู้ว่าวัตถุดิบต้นทางที่บริษัทตนใช้มาจากไหน ซึ่งผ้าฝ้ายจากอุซเบกิสถานหนึ่งในประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบรายใหญ่ที่สุดที่ป้อนให้กับบริษัทแฟชั่นของออสเตรเลีย มีการใช้แรงงานเด็กมายาวนาน รวมทั้งการใช้แรงงานเด็กในอุซเบกิสถานนั้นมีการใช้แรงงานแม้กระทั่งเด็กอายุ 10 ขวบ รวมถึงชั่วโมงทำงานเฉลี่ยของคนงานในไร่ฝ้ายของอุซเบกิสถานนั้นสูงถึง 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทีเดียว

นอกจากนี้ยังพบว่ากว่า 35% ของวัตุดิบที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กเหล่านี้ ถูกส่งต่อมาใช้ในโรงงานที่บังกลาเทศ ที่ซึ่งคนงานค่าแรงถูกมักจะประสบกับโศกนาฎกรรมบ่อยๆ อีกทอดหนึ่ง (อ่านเพิ่มเติม: "Rana Plaza" โศกนาฏกรรมซ้ำๆ ต่อแรงงานค่าแรงต่ำที่ "บังคลาเทศ")

อนึ่งปี ค.ศ. 1999 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Orginazation - ILO) ได้จัดประชุมให้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างนานาประเทศเพื่อให้ประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามมาตรการดำเนินการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดไปอย่างเร่งด่วน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีประเทศสมาชิกร่วมลงนามแล้วมากกว่า 178 ประเทศ โดยใจความสำคัญของอนุสัญญาฉบับที่ 182 นี้ คือการกำหนดรูปแบบการใช้แรงงานเด็กในสภาพเลวร้ายและแนวทางหรือมาตรการที่ทุกประเทศต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนทันที

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์: โลก(ออนไลน์)อยู่ยาก

Posted: 21 Aug 2013 02:55 AM PDT

ในระยะหลังผู้ใช้ Facebook จำนวนมากเริ่มบ่นด่าว่า การใช้โปรแกรมสื่อสารเครือข่ายสังคมทำให้ต้องระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก Facebook ได้พยายามให้ข้อมูลของเราแก่คนอื่นที่อยู่ในเครือข่าย ว่าเราทำอะไร สื่อสารกับใคร แสดงออกด้วยการ "กด Like" ให้กับข้อความที่ปรากฏอยู่ในสถานะของใครบ้าง เรื่อยไปจนถึง การอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร หรือในรูปอยู่กับใครดูมีความสุขและสนิทสนมกันมากไหม   โดยผู้ออกแบบโปรแกรมได้พัฒนาระบบแจ้งให้เพื่อนทราบว่าเราทำอะไรไปบ้าง (โดยการแจ้งอาจไปถึงคนซึ่งอาจจะไม่ใช่เพื่อนในชีวิตจริง/เพื่อนที่มีเครือข่ายทางสังคมในชีวิตจริง)  

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความกังวลจนต้องบ่นออกมาในสถานะของหลายๆคน คือ "โลกอยู่ยาก" เนื่องจากผู้ใช้ได้สูญเสียความสามารถในการจัดการผลกระทบและการสื่อสารของตนที่อยู่นอกเหนือการเป็นเจ้าของสถานะ  ความอยู่ยากเกิดจากการสูญเสียความสามารถในการควบคุม "ความเป็นส่วนตัว" (Privacy)  ทั้งนี้ความกังวลส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมต่างๆ ที่มีกับคนอื่น   โดยเฉพาะกิจกรรมที่อาจเผยตัวตนและความสัมพันธ์กับคนกลุ่มหนึ่ง แล้วทำให้เกิดความบาดหมางกินแหนงแคลงใจกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง   ซึ่งในช่วงวิกฤตกาลทางการเมือง ความกังวลยังวนเวียนอยู่ในประเด็นสาธารณะ เช่น การเมือง และความคิดเกี่ยวกับสังคม หรือเรื่องของ "คนนอก" วงสังคมของตนออกไปเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่การพัฒนาระบบแจ้งเตือนและนำเสนอความเป็นไปในชีวิตเพื่อนของ Facebook ได้ทำให้ชีวิตบนโลกออนไลน์ ใกล้เคียงกับการรายงายชีวิตจริงในโลกจริงมากขึ้น   เสมือน Facebook เป็นเพื่อนซึ่งมีบทบาทเป็นเจ้ากรมข่าวที่คอย "เม้าท์" เรื่องราวส่วนตัวของเพื่อนคนอื่นในกลุ่มให้เพื่อนคนอื่นๆฟัง   ดังนั้น การแสดงออกทั้งหลายไม่ว่าการเข้าไปพูดคุยแสดงความคิดเห็น กดถูกใจ หรือกดแบ่งปัน กับเพื่อนคนหนึ่ง จึงกลายเป็นเรื่องที่ไปถึงหูเพื่อนอีกคนหนึ่งได้   ซึ่งปัญหานี้ค่อนข้างขัดแย้ง กับ "จุดเด่น" ในเบื้องต้นของ Facebook ที่มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใช้ FB จะมีอำนาจในการจัดการหน้าตา "ภาพลักษณ์" ของตนเองในการนำเสนอให้สังคมเห็น   รวมถึงความสามารถในการ "หลอก" ผู้ใช้ให้รู้สึกว่ารักษา "ความเป็นส่วนตัว" ได้ในระดับหนึ่ง คือ เจ้าของหน้า FB จะไม่มีทางรู้ได้ว่าใครเข้ามาสำรวจหน้าของเราบ้าง ทำให้ "ความเกร็ง" ในการแสดงออกน้อยลงกว่าโปรแกรมในยุคก่อนหน้า เช่น Hi5  

ความแข็งแกร่งและจุดเด่นของโปรแกรม FB นี้ได้ชักจูงเอาคนจำนวนมากเข้ามาผลิต "เนื้อหา" ในปริมาณมหาศาลที่เกี่ยวกับเจ้าของหน้า FB เชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆมากมาย ตั้งแต่ การบริโภค ความคิดเห็นทางการเมืองและสังคม ความสนใจทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่ง "งานสร้างสรรค์" รูปแบบต่างๆ ที่เจ้าของใช้ FB เป็นพื้นที่และช่องทางในการนำเสนอ "ผลงาน" ซึ่งสะท้อน "ตัวตน" ของตนให้โลกหรือเพื่อนในเครือข่ายของตนรับทราบ   ยิ่งคนที่ไม่ตั้งปิดบังหน้า FB ของตนแก่สังคมนั้น เนื้อหาของคนเหล่านั้นมี "ความเป็นสาธารณะ" คนที่ใช้โปรแกรมทุกคนสามารถเข้าไป "เสพ" เนื้อหาที่อยู่ในหน้าของเขาเหล่านั้นได้   Facebook จึงอาศัย "เนื้อหา" ของสมาชิกในการดึงดูดคนมาใช้ "เวลา" และ "พื้นที่" ของ FB อย่างมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

อย่างไรก็ดี การปรับโปรแกรมที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้ใช้จำนวนมากเริ่มกลัวและสูญเสียความมั่นใจในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์สู่สังคมวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมมิให้เผยแพร่สู่คนนอกวง "เพื่อน" เรื่อยไปจนถึงการจัดลำดับ "ความเป็นส่วนตัว" กับเพื่อนด้วยกันเอง   อันมีลักษณะเป็นการควบคุมเนื้อหาตัวเอง (Self censorship) ซึ่งความกังวลนี้อาจลุกลามไปจนถึงการแสดงออกน้อยลง เรื่อยไปจนถึงไม่แสดงออก แต่ใช้ FB เป็นเครื่องมือในการเข้าไป "เสพ" เนื้อหาของคนอื่นๆแทน   และอาจนำไปสู่วงจรที่เคยเกิดขึ้นในยุค Webboard 2.0 คือ การประณามคนที่เข้ามาเสพอย่างเดียวแต่ไม่นำเสนอบ้าง ท้ายสุดกลายเป็นการกีดกันและไมปล่อยเนื้อหาออกมาในโลกออนไลน์   ดังที่เกิด เว็บบอร์ดร้าง กันมาในหลายกรณี

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า เทคโนโลยีเป็นผู้กำหนดกิจกรรมและพฤติกรรมของผู้ใช้โปรแกรมอย่างชัดเจน (Technology Determinism) ซึ่งคนที่จะมีบทบาทในการกำหนดความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ก็คือ เจ้าของโปรแกรม ผู้คิดค้นและพัฒนาโปรแกรมผ่านการ เขียนรหัสโปรแกรม (Algorithms) ซึ่งเป็นตัวที่จำกำหนดว่าโปรแกรมจะเผยแพร่ข้อมูลของบุคคลให้คนอื่นรับทราบมากน้อยแค่ไหน ให้ใครได้รับรู้บ้าง และนำเสนอค้างไว้นานแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม โปรแกรม Facebook ก็ยังต้องดำรงอยู่ด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเจ้าของโปรแกรมด้วย "จำนวนผู้เล่น" "เวลาที่ใช้โปรแกรม" และ "ปริมาณข้อมูล" ที่ใช้ Facebook ซึ่งนำไปคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ   ดังนั้นตลาดจึงเป็นผู้กำกับการพัฒนาระบบของ Facebook อย่างแน่นอน (Market Determinism)   ดังนั้นในสังคมที่ผู้บริโภคมีความ "รู้เท่าทัน" กิจกรรมของบริษัทเจ้าของโปรแกรม การพัฒนาระบบและนโยบายของบริษัทผู้ให้บริการ จึงต้องอยู่ภายใต้การ "การกำกับ" ทางอ้อมของผู้ใช้งาน   กล่าวคือ ถ้าผู้ใช้บริการไม่พอใจก็จะทยอยเลิกเล่น หรือเล่นน้อยลง จนมีผลต่อดัชนีชี้วัดมูลค่าทางการตลาดของโปรแกรมนี้  

ในโลก Social Network นั้น อำนาจและการสร้างสมดุลระหว่าง "การแสดงออก" และ "การรักษาความเป็นส่วนตัว" จึงเกี่ยวพันกับบทบาทของเจ้าของโปรแกรมมาก   โดยในกรณีของ Facebook นั้น ได้มีการกำหนดนโยบายที่ให้ผู้ใช้บริการตกลงรับเงื่อนไข (Terms&Conditions) ก่อนที่จะลงทะเบียนเป็นสมาชิก และมีการปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าวเป็นระยะโดยแจ้งให้ผู้ใช้ทราบ หากไม่พอใจก็ให้คัดค้านโดยการส่งการโต้แย้งกลับไป   ดังนั้นการกำกับโลก Facebook จึงมีลักษณะเป็นการบริหารอาณาจักรตนเองของเจ้าของโปรแกรม (Self-Regulation) เป็นหลัก โดยที่ผู้ใช้อาจแสดงความคิดเห็นในกฎได้บ้าง เช่น กรณีที่ Facebook ควบรวมกิจการ Instagram เข้ามา  โดยจะออกกฎว่ารูปที่ผู้ใช้ทั้งสองถ่ายและนำเสนอขึ้นบนโปรแกรมนั้น จะเป็นสิทธิของบริษัทในการนำไปใช้ในทางพาณิชย์โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของรูปเสียก่อน   ซึ่งผู้ใช้บริการทั่วโลกก็คัดค้านเข้าไปจนบริษัทต้องยอมถอย

นอกจากนี้ Facebook  ยังต้องปรับรหัสโปรแกรม (Algorithms) ตลอดเวลาเพื่อให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้  รวมถึงการแก้ไขตามเงื่อนไขที่ตกลงกันผ่าน Terms&Conditions ที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละช่วง                               

ทั้งนี้บทบาทในตลาดของ Facebook ย่อมมีบรรษัทที่นำเอาข้อมูลจาก Facebook ไปใช้เป็นผู้กำหนดอีกทอดหนึ่ง    เนื่องจากรายได้ของ FB มาจากการขายข้อมูลส่วนบุคคลและกิจกรรมต่างๆของผู้ใช้ให้กับ บริษัทวิจัยทางการตลาด หรือการขายโฆษณาต่างๆ   

การปรับ Algorithms ของ Facebook ตามการกดดันของบรรษัทโฆษณาและวิจัยตลาด จึงเกิดขึ้นเป็นประจำเพื่อทำให้ผู้ใช้ "เสพติด" และใช้เวลากับ FB ให้มากขึ้น และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆของตนเองและทัศนคติที่มีต่อโลกใน FB ให้มากถึงมากที่สุด   ดังนั้นการปรับโปรแกรมให้มี การนำเสนอเรื่องส่วนตัวและกิจกรรมของ "เรา" หรือ "เพื่อน" ของเรา ให้เราหรือเพื่อนหรือสาธารณะรับรู้ อาจเป็นผลดีในแง่ การดึงดูดผู้ใช้ประเภท "ชอบรู้เรื่องคนอื่น" เข้ามใช้เวลากับ FB มากขึ้น   แต่ก็ต้องคำนึงว่า มีคนอีกจำนวนหนึ่งก็อาจถอยห่างออกไปเนื่องจากกังวลเรื่อง "ความเป็นส่วนตัว"

การปรับกฎของ Facebook เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัว ที่มีการให้โหวต ท้วง แสดงความเห็นจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการสำรวจว่า FB ควรปรับโปรแกรมอย่างไรให้ดึงดูดผู้บริโภค แม้ลึกๆแล้ว FB จะคำนึงถึงความต้องการของบริษัทที่รอซื้อข้อมูลจากตน แต่ก็ต้องระวังมิให้ผู้ผลิตข้อมูลซึ่งก็คือผู้ใช้บริการ ถอยห่างจากตนด้วย

การแก้ไขกฎของ Facebook และ Instagram ข้างต้นจึงมีลักษณะการเล่นกับเกมส์หาจุดสมดุลเพื่อช่วงชิงข้อมูลและตัวตนของผู้ใช้บริการ กับ การสร้างความรู้สึกปลอดภัย อยากใช้และอยากนำเสนอข้อมูลรูปแบบต่างๆลงมาในโปรแกรมทั้งสองไปด้วย

ดังนั้น Facebook จึงได้สร้างผลกระทบต่อระบบกฎหมายอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ กฎและเงื่อนไขของ Facebook มีผลต่อการกำหนดนโยบายความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ เนื่องจากมีผู้ใช้โลกออนไลน์โดยใช้โปรแกรม FB เป็นจำนวนมากนั่นเอง   ยิ่งในยุคที่มีสมาร์ทโฟน บางคนก็ออนไลน์และใช้ FB ตลอดเวลาเสียด้วยซ้ำ

นโยบายของ Facebook กับ นโยบาย Privacy ในโลกออนไลน์จึงได้รับผลกระทบจากโปรแกรมนี้เป็นอย่างมาก เช่น การกำหนดชื่อบนหน้า การเช็คอิน และการนำกิจกรรมของผู้ใช้ไปเผยแพร่ในหน้าแรกของผู้ใช้อื่น (แฉเรื่องเราให้คนอื่นทราบ เช่น เราเข้าไปเม้นต์ใคร เรากดไลค์อะไร) ทำไมทำตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเพื่อนเรา หรือทำให้นักวิจัยตลาดและบรรษัทโฆษณารู้พฤติกรรมและวิถีชีวิต และความสัมพันธ์ของเรามาขึ้น ทำให้สามารถหาว่าเรามักจะ "เชื่อมโยง" กับ "อะไร" นั่นเอง   ทำให้ "ท่าที" ของรัฐและสังคมต่อการกำหนดนโยบายของ FB จึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

ประเด็นที่มีคนพูดถึงมากขึ้น คือ Facebook กับ ความเป็นเจ้าของสิทธิในเรื่องทรัพย์สิน โดยมีข้อถกเถียงว่า ใครเป็นเจ้าของหน้า FB นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นตัว บัญชี(account) ข้อมูล และเนื้อหาต่างๆในบัญชีนั้นๆ รวมถึงความสัมพันธ์ในการเชื่อมต่อกับสมาชิกผู้ใช้อื่นๆ  เนื่องจากผู้ผลิตข้อมูล คือ ตัวเจ้าของบัญชี มิใช่โปรแกรม FB   นอกจากนี้การ "ตาย" และ "มรดก" จะจัดการอย่างไรเมื่อผู้เป็นเจ้าของถึงแก่ความตาย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าการปรับ Algorithms ของ Facebook จนเข้าใกล้ชีวิตของมนุษย์ในโลกจริงย่อมทำให้ Facebook และผู้ใช้ สูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ Facebook ในฐานะสื่อใหม่เพื่อสร้างเครือข่ายทางสังคม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และผลิตความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ   และผู้ใช้จำนวนไม่น้อยก็เริ่มมีความรู้สึกแย่เมื่อต้องควบคุมตัวเองเป็นอย่างมากเมื่อต้องใช้ Facebook   ดังนั้นการปรับ Algorithms ของ Facebook จึงต้องถ่วงน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจกับธุรกิจ (B-B) กับ ผลประโยชน์ในเชิงการรักษาฐานผู้บริโภค (B-C) ให้ดี

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของ Facebook อาจได้รับความเสียหาย   อันเนื่องมาจากบทบาทในฐานะผู้เก็บสะสมข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โดยอาศัยกฎที่บังคับให้ผู้ใช้ยอมแลกความเป็นส่วนตัวโดยสมัครใจ (Data Collection by using Compulsory Consent Agreement)   การขุดค้นข้อมูลตัวตน วิถีชีวิต และความสัมพันธ์กับผู้ใช้อื่น (Data Mining) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบรรษัทเอกชน หน่วยงานรัฐและฝ่ายความมั่นคง (Data Sharing without specific consent)  

Facebook กำลังจะต้องเผชิญกับ Dilemma หากกิจกรรมเหล่านี้ของ Facebook เป็นที่รับรู้แก่ผู้ใช้ทั่วไป และทำให้ผู้ใช้เข้าใจว่าสามารถส่งเสียงไปยัง Facebook ให้ปรับปรุงแก้ไข และเปลี่ยนนโยบายไปตามใจของผู้บริโภคได้   กล่าวคือ ทำให้ผู้บริโภคเป็นแรงกำกับ Facebook มิใช่ปล่อยให้ บรรษัทFacebook เอง และบรรษัทเอกชนการตลาดกำหนดกฎและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ   และต้องเปิดโปงบทบาทข้อมูลที่หน่วยงานรัฐและฝ่ายความมั่นคงใช้ประโยชน์จาก Facebook ในการสืบข้อมูลส่วนบุคคลและละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน

การแก้ Algorithms แต่ไม่ให้ความรู้ในการปรับขอบเขตการเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้ไปยังเพื่อนและสาธารณะ จนกลายเป็นเครือข่ายสังคมสอดรู้สอดเห็นและต้องระมัดระวังในการแสดงความเห็น หรือกด "ถูกใจ" ย่อมจำกัด ความกล้าในการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งกระเทือนไปถึงเวลาในการสื่อสารที่อาจลดลง รวมถึงปริมาณและคุณภาพของเนื้อหาที่ไหลเวียนใน Facebook ก็อาจจำกัดลง เพราะคนที่สอดส่องข้อมูลของเรามิใช่ "เพื่อน" ของเราเท่านั้น แต่รวมถึง บริษัทเอกชน สาธารณะ รัฐและฝ่ายความมั่นคง อีกด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฎีกาเลื่อนฟังคำพิพากษา คดี 112 ‘บัณฑิต อานียา’ เป็น 11 ธ.ค.

Posted: 21 Aug 2013 02:23 AM PDT

 

21 ส.ค.56  เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ รายงานว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 403 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดีที่ของนายบัณฑิต อานียา นักเขียนวัย 72 ปี ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ9.30 น. จำเลยและทนายจำเลยไม่มาศาล จากนั้น ปีเตอร์ โคเร็ท นายประกันของจำเลยชี้แจงต่อศาลว่า จำเลยไม่สามารถมาศาลได้เพราะป่วย จำเป็นต้องผ่าตัดและรักษาตัวให้เสร็จภายใน 2 เดือน นอกจากนี้จำเลยก็ไม่ได้รับหมายเพราะจำเลยเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 11 ธันวาคม 2556

ส่วนคดีของนายยุทธภูมิ ซึ่งตกเป็นจำเลยคดี 112 จากกรณีที่พี่ชายไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และเริ่มสืบพยานไปแล้วตั้งแต่วานนี้นั้น (อ่านที่ สืบพยานคดีพี่ฟ้องน้องหมิ่นสถาบันฯ ราชบัณฑิตเบิกความอ่านแล้วบอกเจตนาไม่ได้) วันนี้มีการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญจากกองพิสูจน์หลักฐานซึ่งตรวจสอบลายมือบนแผ่นซีดี และพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปราม โดยพนักงานสอบสวนเบิกความสรุปได้ว่า พี่ชายของยุทธภูมิมาร้องทุกข์กล่าวโทษที่กองปราบฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 53 หลังจากที่แจ้งความที่สน.แห่งหนึ่งแล้วตำรวจไม่รับแจ้งความ โดยในการแจ้งความครั้งนี้ได้นำส่งแผนซีดีของกลางด้วย หลังจากรับแจ้งความพนักงานสอบสวนได้เรียกตัวยุทธภูมิมาสอบปากคำและเขียนถ้อยคำที่ถูกฟ้องลงในกระดาษเพื่อส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจซึ่งในการตรวจครั้งแรกกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันเพียงว่า มีความคล้ายคลึง แต่ระบุชัดเจนไม่ได้ หากจะตรวจสอบใหม่ต้องเขียนลายมือหวัดและใช้ปากกาชนิดเดียวกัน จึงเรียกผู้ต้องหามาเขียนใหม่ และเมื่อส่งตรวจอีกครั้งจึงได้ผลยืนยันว่าลายมือตรงกัน อย่างไรก็ตาม ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับยุทธภูมิแล้วก่อนจะมีผลการตรวจพิสูจน์เนื่องจากเห็นว่าพี่ชายเป็นคนมาร้องทุกข์กล่าวโทษเอง ไม่น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งน้องชายตนเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการสืบพยาน ภรรยาจำเลยได้เตรียมยื่นประกันตัวจำเลยอีกครั้งในเย็นวันนี้และในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) นายยุทธภูมิจำเลยจะขึ้นเบิกความต่อศาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานเสวนา “อียิปต์ : ประชาธิปไตยทำไมต้องนองเลือด”

Posted: 21 Aug 2013 02:14 AM PDT

มองอียิปต์เหลียวมองไทย 'จรัญ มะลูลีม-ศิโรตม์-ประวิตร-จรัล ดิษฐาอภิชัย' ถกสถานการณ์อียิปต์ บทบาทกองทัพ กลุ่มภารดรภาพมุสลิม ความเหมือน-ต่างกับการเมืองไทย พร้อมวิเคราะห์ทางออกสถานการณ์ 'จิตรา' ชวนไปประท้วงสถานทูตฯ อีกครั้ง 22 ส.ค.นี้ 10 โมง

20 ส.ค. 56 คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ จัดเสวนาหัวข้อ "อียิปต์ : ประชาธิปไตยทําไมต้องนองเลือด" ที่ ห้องราณี โรงแรมโรยัลรัตนโกสินทร์ ถนนราชดําเนิน โดยมีวิทยากรประกอบด้วย จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกลางศึกษา ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าว และจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์  

ในระหว่างเสวนา จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ผู้ไปประท้วงที่หน้าสถานทูตอียิปต์ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงนี้ร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา(ดู นักกิจกรรมชูป้ายหน้าสถานทูตอียิปต์ ประณามปราบประชาชน-รัฐประหาร) ประกาศเชิญชวนเดินทางไปร่วมชุมนุมหน้าสถานทูตอียิปต์ ที่บริเวณหน้าอาคารสรชัย ถนนเอกมัย(สุขุมวิท 63) ใกล้สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย อีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อประณาการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลอียิปต์ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 10.00 น.

จิตรา คชเดช กล่าวเชิญชวนผู้สนใจร่วมประณามที่หน้าสถานทูตอียิปต์ 22 ส.ค.นี้

0000

จรัล ดิษฐาอภิชัย

เหตุผลที่จัดเสวนาในครั้งนี้ เพราะเหตุการณ์ 14 ตุ.ค.16 นั้นนักศึกษาถูก เช่นเดียวกับเหตุการณ์หลังจากนั้นคือ 6 ต.ค.19 และ พ.ค.35 รวมทั้ง พ.ค.53 ทั้ง 4 เหตุการนี้เหมือนกัน เป็นการต่อสู้และถูกปราบปราม แต่ทั้ง 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยยังไม่ถึงขนาดเหตุการณ์ที่อียิปต์ที่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีการปราบจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การที่เราจะจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 โดยที่ไม่นำพาเหตุการณ์ที่อียิปต์มาพิจารณานั้นไม่ได้เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เหมือนกัน  และถ้าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ไม่ร่วมกันหยุดยั้งการปราบปรามประชาชนในอียิปต์ มันก็จะมีผลไม่เพียงคนในอียิปต์ถูกปราบไปเรื่อยๆ แต่ยังเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นทำตาม ดังนั้นต้องแสดงทัศนะเพื่อที่จะหยุดยั้ง โดยเริ่มจากการวิเคาราะห์สถานการณ์ ซึ่งหายคนบอกว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับเหตุการร์อื่นๆ ทั่วโลก ยิ่งซับซ้อนยิ่งต้องมาหาข้อเท็จจริง เมื่อวิเคราะห์แล้วก็ต้องมาแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์นั้น

เวลาพูดถึงอียิปต์เราต้องรู้พื้นฐานอย่างน้อย อียิปต์เป็นประเทศเก่าแก่ เป็นต้นสายของอารยธรรมโลกแห่งหนึ่ง และมีบทบาทสำคัญในตะวันออกกลางและโลกมายาวนาน รวมทั้งในฐานะทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของประเทศมหาอำนาจ จนกระทั้งเมื่อ 2 ปีกว่าที่แล้วเกิดอาหรับสปริง และคาดคะเนได้ว่าหลังจากอาหรับสปริงแล้วสถานการณ์ยังไม่จบจนถึงจนถึงปัจจุบันเหตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ถือเป็นโศกนาฎกรรมของมนุษย์

จรัญ มะลูลีม 

จรัญ มะลูลีม : ประวัติศาสตร์การเมืองอียิปต์โดยย่อ

ในบรรดาโลกอาหรับอียิปต์ถือเป็นประเทศที่ลิเบอรัลสุดแล้ว ที่มีความหลากหลายทั้งลักษณะที่มีทั้งที่เป็นเป็นทางโลกสูงจนถึงความเคร่งครัด เราจะได้ยินคำว่า สังคมนิยมอาหรับ หรือนัสเซอริสม์ ที่ต้องการให้โลกอาหรับต้องอยู่ด้วยกัน ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเรียกว่า "อาหรับสปริง" หรือ ฤดูใบไม้ผลิของอาหรับหรือการเคลื่อนจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เหตุการที่เกิดขึ้นครั้งแรกมันเหนือความคาดหมายของคนจำนวนมาก เนื่องจากดินแดนแห่งนี้ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนผ่านอย่างรุนแรง คือในประเทศตูนิเซีย เป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากฝรังเศสมาก เกิดเหตุที่นักศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์คนหนึ่งที่เรียนจบแล้วไม่สามารถหาทางทำงานได้จึงไปขายของ แต่กลับโดนรบกวนจากตำรวจ. นำไปสู่การฆ่าตัวตาย เหตุการณ์แบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นในลกมุสลิม เพราะการฆ่าตัวตายเป็นบาปอย่างร้ายแรง แต่ว่ากระแสนี้กลับกลายเป็นความเห็นใจจากคนจำนวนมากในโลกออนไลน์ที่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศตูนิเซีย แต่บางประเทศยุติลงได้เมื่อผู้ปกครองให้เงินประชาชนมากขึ้น ดูแลบริการมากขึ้น

ทั้งนี้ประเทศตูนิเซียเป็นที่เจริญรุ่งเรืองของแอฟริกาเหนือ แต่ปัญหาของอียิปต์และตุนิเซียที่มีความเจริญรุ่งเรื่องทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความเจริญที่มีลักษณะรวยกระจุกจนกระจาย จึงทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตูนีเซีย นำไปสู่การตั้งโจทย์กับผู้นำในประเทศอาหรับอื่นๆที่มีภาวะแบบนี้

สำหรับนัสเซอร์เป็นวีรบุรุษของคนจำนวนมากหลังจากโค้นสถาบันกษัตริย์ในปี 1952 แล้วก็มีการกระจายทรัพยากรนำเอาทีดินจากคนรวยมาให้คนจน รวมทั้งเขาให้การสนุบนุนขบวนการภารดรภาพมุสลิมที่ตั้งมาก่อนปี 1952 เพื่อต้องการปลดแอกประเทศอียิปต์ที่อยู่ใต้การปกครองเจ้าอาณานิคม เมื่อนัสเซอร์ปกครองไปได้ระยะหนึ่งแล้ว กลุ่มผู้คนที่นั่นก็บอกว่านัสเซอร์ห่างไกลหลักการทางศาสนา จึงมีการเสนอหลักการปกครอที่มีศาสนารวมอยู่ด้วย ซึ่งเราเรียกว่าการใช้อิสลามในการเมืองและนำไปสู่การขัดแย้งกันระหว่าภารดรภาพมุสลิมกับผู้ปกครองในเวลานั้น และในที่สุดทางการก็กล่าวอ้างว่าพวกภารดรภาพมุสลิมวางแผนสังหารนายกและประธานาธิบดี หลังจากนั้นเป็นต้นมาขบวนการภารดรภาพมุสลิมไม่อนุญาติให้ตั้งพรรคการเมือง ถูกบีบให้ส่งเพียงแค่ตัวบุคคลลงเล่นการเมืองในอียิปต์

เมื่ออาหรับสริงมาถึงอียิปต์ทุกคนคิดว่านี่เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายฆารวาสนิยม รวมทั้ง คริสเตียนคอปติก ทุกฝ่ายรวมตัวกันเพื่อโค้นมูลบารัค ประธานาธิบดีที่สืบทอดมาจากอัลวาร์ ซาดัต ซึ่งตั้งแต่นัสเซอร์เป็นต้นมาอียิปต์ปกครองโดยนักการทหารทั้งสิ้น แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่คนที่จะเป็นผู้สมัครต้องได้รับเสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะแม้มีเสียงพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่รัฐบาลทหารก็มักจะวางแผนไว้แล้ว เลือกตั้งเมื่อไหร่รัฐบาลทหารก็ชนะเลือกตั้ง

อัลวาร์ ซาดัตขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนนัสเซอร์ จากเดิมนัสเซอร์นิยมโซเวียส ซาดัตหันไปหาสหรัฐอเมริกา โลกอาหรับตอนนั้นจึงขับอียิปต์ออกจากสันนิบาตอาหรับ ไม่นาน ซาดัส ถูกลอบสังหารระหว่างดูการสวนสนาม ที่ปลอมเป็นทหารมาลอบสังาร และขณะนั้นคนที่นั่งใกล้ซาดัตคือมูลบารัค ก็ขึ้นมาแทน ซึ่งมูบารัคก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศผสมกัน 2 อย่าง ที่สามารถเข้ากันได้ทั้งโซเวียสและสหรัฐอเมริกา และสหรัฐฯวางให้อียิปต์เป็นโบรคเกอร์ใหญ่ในการเจรจากับอิสลาเอล และให้เงินสนบนุนเป็นอันดับ 2 รองจากอิสลาเอล ทำให้ทหารยื้ออำนาจได้อย่างยาวนานตั้งแต่ 61 ปีที่แล้วจนเกิดเหตุการณ์ อาหรับสปริง แต่ขณะนี้มูบารัคที่ถูกโค้นอำนาจไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้น รัฐบาลรักษากากำลังจะมีการปลอยตัวเขา เป็นการพลิกความคาดหมายหลายอย่างด้วยกัน

ช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งตูนิเซีย อียิปต์ หลายคนคิดว่าจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งในตูนิเซียเลือกตั้งประสบความสำเร็จโดยพรรคนิยมแนวทางอิสลามประสบชัยชนะ ในอียิปต์การเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. นั้นพรรคภารดรภาพมุสลิมได้รับชัยชนะ แต่เลือก ประธานาธิบดี ตัวแทนภารดรภาพลงแข่งคู่กับอดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยประธานาธิบดีมูบารัค แต่ภารภาพมุสลิมชนะแบบฉิวเฉียด แสดงให้เห็นว่าฝ่ายที่ตรงข้ามรัฐบาลที่มาจากระบอบประชิปไตยมีจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ก็มีกระบวนลงประชามาติ การร่างรัฐธรรมนูญต่อเนื่องซึ่งในช่วงนั้นรัฐบาลทหารก็พยายามที่จะรักษาอำนาจ ความจริงก็พยายามรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุด และมีการขัดขวางและล้มการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็มีการจัดการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีมอร์ซีคนนี้ขึ้นมาปกครองได้ 1 ปี แต่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่อให้เกิดการแปลกแยกระหว่างหมู่ชน และเศรษฐกิจเลวร้าย ในที่สุดฝ่ายที่คัดค้านประธานาธิบดีก็รวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มิ.ย.ที่ผ่านมา จนมีการยื่นคำขาดจากทหาร และทหารก็เข้ามารัฐประหาร

ทันทีที่ทหารเข้ามาใช้ความแยบยนก็ไปดึงพรรคอิสลามที่ได้คะแนนน้อยกว่าภารดรภาพมุสลิมมาร่วมด้วย และอีกหลายๆคน เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้ง ที่สำคัญตอนทำรัฐประหารนั้น สหรัฐอเมริกาได้เรียกว่าไม่สามารถเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าการรัฐประหารได้ อังกฤษ สหภาพสหภาพยุโรป ก็บอกว่านี่ไม่ใช่การรัฐประหาร ในอียิปต์เพียง 3 วันก็มีการรวมตัวกันต่อสู้กับการรัฐประหาร และล่าสุดมีคนตายกว่า 1,000 คน ได้

กรณีการโค้นอำนาจผู้นำอียิปต์ในครั้งนี้ประเทศที่เคยประณามการรัฐประหาร ไม่มีท่าที ขณะที่ซาอุดิอาระเบียกลับเห็นด้วยกับการรัฐประหาร คนที่ร่วมกับการโค้นมูลบารัคเวลามีการเลือกตั้งก็แบ่งกลุ่มก้อนเป็นหลายก้อน เหตุผลหนึ่งเป็นเรื่องของเก้าอี้ในตำแหน่งสำคัญๆของรัฐบาล ก่อนที่จะเกิดการโค้นอำนาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เลือกตั้ง หรือคัดเลือกตำแหน่งสำคัญๆ มา 3 ครั้งแล้ว กลุ่มที่เป็นกลุ่มนิยมอิสลามบางกลุ่มก็คิดว่าตนเองถูกลดอำนาจ แต่ภารดรภาพมุสลิมมีอำนาจก็ไปปลดทหาร จะเป็นเรื่องที่นอกเหนืออุดมการณ์แล้วยังเป็นเรื่องของนโยบายการเมืองด้วยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

สิ่งที่ทหารเข้ามาแล้วคิดไม่ถึงว่าเวลาได้อำนาจมาแล้ว จะมีการต่อต้านขนาดหนักขนาดนี้ โดยเฉพาะเป็นช่วงเดือนรอมฎอนขณะนี้ผู้ชุมนุมเอามัสยิตเป็นศูน์กลาง ดังนั้นวันศุกร์ก็จะมีการชุมนุม สิ่งที่เหนคือคนที่สนับสนุนผู้นำคนเก่ามีมากกว่าฝ่ายผู้นำรัฐประหาร สิ่งที่รัฐบาลรักษาการทำคือจะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งภายใน 6 เดือน เชิญกลุ่มภารดรภาพมุสลิมเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ยังคงจับตัวกลุ่มพวกเขาอยู่                                                         

เมื่อสิ้นสุดอาหรับสปริงทุกคนก็ไปลงเลือกตั้ง ดังนั้นก็มีหลายความคิดที่มีหลายกลุ่มก้อน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการไม่ยอมรับสิ่งที่ได้มาโดยวิธีการเลือกตั้ง กลับใช้วิธีการรวมกลุ่มแล้วกดดัน ทั้งที่น่าจะแก้ไขได้ในรัฐสภา

ที่สุดแล้วอียิตป์สามารถลงเอยหลายอย่าง

1.     องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรอิสลามเข้ามามีบทบาทให้มีการพูดคุย

2.     หรือเผชิญหน้ากัน เหมือนที่เกิดในซีเรีย ในที่สุดกลายเป็นสงครามกลางเมือง

แต่ข้อสังเกตประการหนึ่งคือไม่ว่าประเทศใดที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาธิปไตย แต่ไม่ได้รัการยอมรับจากทหารและไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจ อย่างสหรัฐฯ ก็จะโดนคว่ำ อียิปต์ก็เช่นกัน แสดงให้เห็นว่าข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตยสำหรับคนบางกลุ่มนั้นมีผลประโยชน์แอบแฝง เหตุผลสำคัญกลุ่มที่โดนคว่ำเป็นกลุ่มที่ ที่คัดค้าน มหาอำนาจสหรัฐฯ อาจเป็นอุปสรรคของสหรัฐฯ ที่ต้องการสร้างสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพที่ปราศจากความยุติธรรม เข้ายึดครองแล้วจัดการประเทศเหล่านั้น

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : บทบากองทัพในอียิปต์

เรื่องอียิปต์ มันมีวิธีมองหลายแบบ แบบหนึ่งที่น่าสนใจคืออียิปต์เป็นสังคมที่เคยเป็นอาณานิคมมาอย่างยาวนาน และเป็นประเทศในแอฟริกาที่มหาอำนาจทั้งหมดแทบอยากเข้าไปยึดครอง นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงพยายามอธิบายเหตุการณ์และความรุนแรงในอียิปต์ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากอียิปต์เคยเป็นสังคมเมืองขึ้นมาเป็นเวลานาน อียิปต์จึงมีลักษณะดังนี้

ประการแรก เมื่อเป็นสังคมเมืองขึ้นเป็นเวลานาน ระบบเมืองขึ้นมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคือการควบคุมประชาชนเพื่อดึงเอาทรัพยากรไปขาย เมื่ออียิปต์ได้รับเอกราชความต้องการเอาทรัพยากรไปขายก็ไม่ได้ลดลงไป ดังนั้นความเป็นสังคมอาณานิคมนั้นเป็นสังคมที่รัฐบาลกลางของอียิปต์อยู่บนการดึงทรัพยากรจากชนบทจำนวนมากเข้าสู่ส่วนกลางแล้วนำไปขาย

อะไรทำให้กระบวนการดึงทรัพยากรของอียิปต์เป็ฯไปได้ คำตอบคือการสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกในการดึงทรัพยากร ดังนั้นความเป็นสังคมอาณานิคมมีลักษณะที่ทำให้รัฐมีอำนาจสูงเป็นเวลานาน และทำให้กองทัพที่เข้มแข็ง ปี 1822 ที่อียิปต์เกิดกองทัพประการสมัยใหม่ และหลังจากนั้นไม่กี่ปีมีกองพล 2 แสนคน เพื่อดึงทรัพยากร ในหัวเมืองต่างๆ เพื่อยอมให้รัฐบาลกลางดึงทรัพยากรไปขายต่างชาติ เป็นกองทัพที่ไม่ได้สู้เพื่อเอกราช ดังนั้นกองทัพอียิปต์มีบาทบาทในการควบคุมประชาชนมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้กองทัพยังมีบทบาทในการดูผลผลิตปถึงในระดับหมู่บ้าน เป็นสิ่งที่รัฐมีกลไปในการจัดตั้งในระดับนั้นที่เข้มแข็งมาก ดังนั้นเวลาที่เห็นความรุนแรงปัจจุบันก็ต้องเห็นว่ากองทัพเป็นองค์กรที่มีบทบาทขุดรีดทรัพยากรของคนในอียิปต์ด้วย ที่มีประสบการณ์ที่ไปถึงระดับหมู่บ้าน

ประการที่ 2  ที่น่าสนใจในอียิปต์ในเวลานี้มีการขัดแย้งระหว่างกลุ่มภาดรภาพมุสลิมกับกองทัพ ทีเกิดหลังจากการโค้นมูบารัคไป  ซึ่งมูบารัคเป็นผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและที่อยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการล่มสลายของมูบารัคมันจึงเกิศูนย์ยากาศ ทั้งนี้มูบารัคปกครองได้อย่างยาวนานเพราะสามารถกดชนชั้นนำไม่ให้ขัดแย้งมาได้อย่างยาวนาน ดังนั้นในกรณีนี้มีคนประเมินว่าการอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานของมูบารัคนั้น คือมีการทำให้ชนชั้นนำอียิปต์เชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากมูลบารัค เพราะถ้าไม่เลือกมูบารัคก็ไปเป็นฝ่ายค้าน รวมทั้งการทำให้พวกต่อต้านระบบมูบารัครู้สึกว่าไม่มีศัยภาพที่จะล้มระบบนี้ได้ ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำมีประสบการณ์ในการจัดการกับพลังมวลชนและสร้างความปรองดองในหมู่ชนชั้นนำเอง

ประการที่ 3 อะไรที่ทำให้มูบารัคลงอำนาจไป ซึ่งมีหลายสาเหตุ แต่เมื่อมูบารัคลงจากอำนาจไปชนชั้นนำที่เป็นเอกภาพจะทำอย่างไร ซึ่งจะเห็น 2 แนวทางใหญ่ๆ

แนวทางแรก คือในช่วงแรกๆสนับสนุนมูบารัคต่อ จะเห็นได้ว่ากองทัพไม่ได้แสดงท่าทีต่อต้านมูบารัคแต่ต้น แต่เมื่อเห็นว่าน่าจะอยู่ไม่รอด จึงเกิดการแยกตั้วของชนชั้นนำอียิปต์ จึงเป็นท่าทีแบบรอดูสถานการณ์

แนวทางที่ 2 การแตกแยกหรือการแยกตัวของชนชั้นนำอียิปต์ เป็นฝ่ายเอากับไม่เอามูบารัคในหมู่ชนชั้น ฝ่ายที่ไม่เอาในเวลานั้นจนถึงตอนนี้มีทัศนะคติต่อประชาธิปไตยอย่างไร คำตอบในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าชนชั้นนำเหล่านั้นไม่ได้แปลว่าต้องการประชาธิปไตย แต่เป็นการแตกแยกที่ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ต้องการขึ้นมาเป็นตัวแทนเอง ไม่ได้มีวาระประชาธิปไตยเลย

ประการที่ 4 บทบาทของกองทัพอียิปต์ อะไรที่ทำให้กองทัพมีท่าทีเหมือนเอียข้างประชาชน แต่ตอนนี้กลายเป็นฝ่ายสลายการชุมนุมของประชาชน คิดว่ามันมีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจตัวเลขกองทัพอียิต์ ภายใต้มูบารัคไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับมีงบประมาณลดลง เกือบเท่าตัว ทำไมจึงลดลง รายจ่ายของกองทัพก็ลดลงเรื่อยๆ ในสมัยมูบารัค ถ้าดูตัวเลขงบประมาณกองทัพอียิปต์เมื่อเทียบกับจีดีพีลดงลมาก ดังนั้นภาพของกองทัพกับมูบารัคดูมีความแนบแน่น แต่ถ้าดูตัวเลขตรงนี้ก็มีความไม่ลงรอย คิดว่าสำหรับมูบารัคมองว่ากองทัพเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ เมื่อรอยแยกระหว่ากองทัพกับมูบารัคนั้นก็ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย เป็นเรื่องการได้รับความสำคัญและการจัดสรรงบประมาณน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อมูบารัคลงแล้วโจทย์ใหญ่ของกองทัพจึงไม่ใช่ เรื่องประชาธิปไตย

ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ 

ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ : มองอียิปต์มองไทยมีทั้งความเหมือนและความต่าง

เป็นเรื่อที่น่าสนใจที่สื่อมวลชนไทยสนใจสถานการณ์อียิปต์ ถ้าดูในทวิตเตอร์คนไทยสองสีก็แบ่งเป็นสองฝั่งระหว่างสนับสนุนกับต่อต้านรัฐประหาร จนมีคนไทยที่ชุมนุมที่เขียนป้ายสนับสนุนให้ทหารไทยเป็นเหมือนทหารอียิปต์ ภาพเหล่านี้เหมือนคนไทยกลับไปมีส่วนร่วมกลับไปยุค ปี 2553 โดยการมองสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา แน่นอนถ้าพูดถึงการเปรียบเทียบมีสิ่งที่เปรียบเทียบได้ เช่น การรัฐประหาร ที่มีคนมาสนับสนุนรัฐประหาร หรือการเปรียบเทียบอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี่กับทักษิณ ในกลุ่มที่ต้านทักษิณก็มองว่ามอร์ซี่พยายามรวบอำนาจ มีความคลายคลึงกับยุค ทักษิณ ก่อนรัฐประหาร

ภาพผู้ชุมนุมหน้ากากขาวเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาพร้อมป้ายผ้า(ที่มา  เพจ กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ

และที่ล่าสุดที่คนไทยรู้สึกอินมาก ถ้านับจำนวนผู้เสียชีวิตตอนนี้ก็ยังเทียบไม่ได้กับที่ซีเรีย เพราะอาจจะมองซีเรียแล้วไม่เห็นเมืองไทย แต่กรณีอียิปต์เพราะมองแล้วเห็นเมืองไทย

จากความกลัวที่จะมีการนำกฏหมายอิสลามมาใช้หรือกรณีคนไทยก็มีเรื่องความกลัวล้มเจ้า เป็นความกลัวที่จับต้องได้ในหมู่คนที่ไม่ได้เคร่งอิสลามและเป็นชาวคริส กลุ่มฝ่ายซ้าย หรือกลุ่มที่สู้เพื่อสิทธิผู้หญิง ที่มองว่ามุสลิมบราเธอร์ฮูดที่เคลือนไหวแล้วมีการตีความจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นภัยกับชีวิตของพวกเขา และดูเหมือนว่าไม่มีฝ่ายไหนยอมฝ่ายไหน จนทำให้เกิดความเลียดชัง มองความสูญเสียของฝ่ายตรงข้ามแล้วสะใจ การมีความเชื่อว่าจะต้องกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้หมดไปจากสังคมเพื่อรักษาชีวิตที่ตนเองเชื่อ

แต่อยากเตือนว่าผนอาจมีความรู้น้อยเรื่องอียิปต์ คิดว่ามันเป็นเรื่องที่สุ่มเสียงที่สรุปว่าที่อียิปต์มันเหมือนไทย

เรื่องแรก การเมืองอียิปต์มันพ่วงกับสหรัฐฯอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้รับเงินสนับสนุนประเทศ มากเป็นอันดับ 2 รองจาก อิสราเอล มันอธิบายได้ว่าทำไมต้องได้ เพราะความสลับซับซ้อนของการเมืองในตะวันออกกลางที่สหรัฐฯ ต้องการความคุมภูมิภาคนั้นด้วย

ข้อดีอีกอย่างของการมองการเมืองอียิปต์นั้นคือทำให้เข้าใจด้านลบและการเป็นมือถือสากปากถือศีลของสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับซาอุดิอาราเบียที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิขับรถ อเมริกาก็ไม่มีปัญหา ตราบใดที่คุยและแบ่งเคกกันรู้เรื่อง สรุปได้ว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ถ้าอ้างประชาธิปไตยได้ก็จะอ้าง แต่ถ้าขัดผลประโยชน์ก็พร้อมที่จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แม้แต่คนอเมริกันที่รักในประชาธิปไตยก็มองว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีโอบาม่า ไม่เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ว่าเป็นการรัฐประหารนั้นเป็นเรื่องที่น่าละอาย ทำให้อเมริกาสูญเสียบารมีความน่าเชื่อถือในหลายประเทศ มันแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ภายใต้ประธานาธิปดีโอบาม่าเองก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศไม่ต่างจากประธานาธิบดีจากพรรคริพับลิกันในชุดอื่น อันนี้เป็นเรื่องแรกที่เราไม่มีในเมืองไทย แม้เมืองไทยจะมีความสำคัญต่ออเมริกาก็ตาม แต่ก็ไม่เท่ากับอียิปต์ที่ต้องการเข้าไปควบคุมให้ได้

เรื่อง 2 คือความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวคริสฯชนกลุ่มน้อยกับชาวมุสลิม แม้ไทยอาจจะเหมือนมีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่อียิปต์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ชาวคริสชนกลุ่มน้อยมนอียิปต์รู้สึกว่าชีวิตของตนไม่ปลอดภัย รู้สึกถูกคุกคาม มีหนังสื่อชื่อ "After the Arab Spring" ของ John R. Bradley ที่เขียนถึงหลังปี 2011 ที่มูบารัคพ้นอำนาจ แล้วพบเพื่อนเก่าที่เป็นชาวคริสฯ ในนั้น ซึ่งเขารู้สึกว่าเขาไม่มั่นคง มีความพยายามขอวีซ่าเพื่อไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นความรู้สึกของชนกลุ่มน้อยในอียิปต์

แม้ผู้ชุมนุมถูกปราบดว้ยกระสุนจริง แต่ก็มีการไปทำลายโบรส์ชาวคริสฯ จึงมีความสลับซับซ้อนในมิติเรื่องศาสนา ของไทย ยังไม่มีแบบนี้อย่างชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนมีปัญหาอยู่เพราะเอาเข้าจริงเรื่องเมืองไทยพูดไม่เต็มเพราะติด ม.112 (กฏหมายหมิ่นประมาทกษิตริย์ฯ) เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องราวของสังคมได้อย่างเต็มที่ แต่รัฐประหารปี 49 นั้น เกิดขึ้นโดยอ้างเพื่อ ปกป้องสถาบันกษัตริย์ และการปราบประชาชนปี 53 ก็มีการยกเรื่องผังล้มเจ้าขึ้นมาอ้าง แต่ก็เราก็ไม่สามารถพูดได้จากกรณีที่มีการยกสถาบันพระมหากษัตริย์มาอ้างว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร เปรียบแล้วเหมือนกับคนป่วยที่ป่วยหนักที่ไม่สามารถพูดอาการป่วยของตัวเองได้ จึงทำให้รักษาลำบาก

อยากเตือนว่ามันมีทั้งความเหมือนและความต่าง สังคมไทยจึงสมควรติดตามเหตุการณ์ในอียิปต์เพื่อที่จะเรียนรู้ และมองเขาเป็นมนุษย์เช่นกัน และทำไมคนส่วนใหญ่ไม่อินมากกับการสังหารในซีเรียที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมากกว่า ก็อาจเป็นข้อจำกันว่าเราเห็นอะไรที่คลายเราแล้วรู้สึกเพื่อที่จะโยงใยหรืออธิบายได้

และอยากฝากทุกสีเสื้อว่าอียิปต์เป็นโอกาสดีที่ทำให้เราเห็นด้านลบของแต่ละฝ่าย ในสังคมไทยคิดว่าแต่ละฝ่ายมักมองเห็นแต่ด้านบวกของฝั่งตัวเอง ถ้าเรามองอียิปต์อย่างแฟร์ๆ และเชื่อว่าเราสามารถมองได้เพราะเราไม่ใช่ชาวอียิปต์ จะเห็นทั้ง 2 ฝ่ายมีด้านมืดอยู่ มันไม่ใช่การต่อสู้ที่เป็นขาวกับดำและมีความซับซ้อนมาก

 

จรัญ มะลูลีม รอบ 2

จากการณ์ที่ ศิโรจน์ บกว่าทหารถูกลดบทบาทในสมัยมูบารัคนั้น สถานการณ์ความเป็นจริงคือเมื่อสหรัฐฯ สามารถดึงเอาอียิปต์มาเป็นแนวร่วมในเจรจาสันติภาพได้แล้ว ภาระกิจของกองทัพอียิปต์ที่เคยมีบทบาทในการสู้รบก็ค่อยๆลดน้อยถอยลงไป

สิ่งที่เห็นคือรัฐบาลใดที่คัดค้านการเจรจาสันติภาพที่ปราศจากความยุติธรรมนั้น ประเทศเหล่านี้สหรัฐฯ ก็มุ่งจะโค้น การโค้นกัสดาฟี่ ก็แบบเดียวกัน แล้วหนังสือฝรั่งก็ล้อว่าการโค้นกัสดาฟี่ประการแรกคือ น้ำมัน ประการที่ 2 คือน้ำมัน ประการที่ 3 ก็คือน้ำมัน ประการที่ 4 คือ ประชาธิปไตย

จุดจบของเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในอียิปต์ อาจลงเอยหลายแบบ ถ้าเป็นแบบซีเรีย คือตายอีกเยอะ เพราะอาจเกิดสงครามกลางเมือง อย่างในแอลจีเรียปี 1992 ก็เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 250,000 คน  ถ้าลงเอยแบบนี้ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรมุสลิมเข้ามาก็อาจมีแนวทางที่ดี แต่ก็ยังไม่เห็น

รัฐประหารทั้งหลายนำไปสู่ความมืดมนทั้งสิ้น ไม่ว่าที่ไหน เป็นความจริงที่ปรากฏหลายภูมิภาคของโลก

สังคมอียิปต์ตอนนี้แตกเป็ฯหลายกลุ่มมาก อียิปต์ก่อนหน้านี้ได้รับชื่นชมว่าไม่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ คนกลุ่มน้อย แม้แต่คริสฯคอปติก ที่มา 10% ที่จริงอยู่อย่างดี สภาพของอียิปเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และจะให้สรุปจดสิ้นสุดของสถานการณ์ในอียิปต์นั้นบอกตรงๆว่าดูไม่ออก แม้ว่าตอนนี้จะสงบไปพักหนึ่ง แต่ความสงบนั้นมีหลายแบบ ความสงบก่อนที่จะเกิดพายุร้าย เพราะอียิปต์นั้นเหมือนซีเรีย เนื่องจากที่มีอำนาจภายนอกเข้ามาอย่างเต็มที่

ในโลกมุสลิมมีประเทศที่เป็นรัฐศาสนาหรือเทวรัฐมาก อย่างซาอุดิอาระเบียก็เป็นรัฐศาสนา ส่วนประเทศอิหร่านแม้จะใช้หลักการทางศาสนาแต่เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดในบรรดาประเทศตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปฏิวัติปี 1979 ก็มีการเลือกตั้ง ส.ส. ต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่กรณีอีหร่านเป็นรัฐอิสรามได้เพราะคนส่วนหญ่ของประเทศให้การยอมรับ อิหม่ามโคไมนี อยู่ในฐานะบิดาแห่งอิหร่าน ผู้หญิงอิหร่าน เปิดเผย ไม่เห็นคนอิหร่าน ปิดหน้า เป็นประเทศที่ผู้หญิงสามารถผ่าตัดเสริมความงามจมูกได้ อย่างไรก็ตามคนก็มองว่าอิหร่านเป็นรัฐที่จำกันเสรีภาพ แต่ก็เป็นข้อจำกัดที่คนในประเทศส่วนใหญ่ยอมรับ

เรากลัวอียิปต์เป็น รัฐศาสนา แต่ซาอุดิอารเบียก็เป็นรัฐศาสนา และมุสลิมบราเธอร์ฮูด ในสายตาของคนที่เคร่งครัดนั้นก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เคร่งครัด หลังจากอาหรับสปริง สิ่งที่นักเขียนตะวันตกอาจแปลกใจคือชัยชนะในการเลือกตั้งทั้งในอียิปต์ ตูนิเซีย โมรอคโค เป็นชัยชนะของกลุ่มที่นิยมศาสนาทั้งนั้น แต่คนที่กลัวมากก็คือคนที่จะเคร่งมากกว่าบราเธอร์ฮูด ในเมื่อเป็นความต้องการประชาชน ก็ต้องยอมรับ แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือ ที่ตุรกีเป็นโมเดลที่น่าสนใจ ที่เคยมีพรรคแบบเดียวกับบราเธอร์ฮูด และมาถึงรัฐบาลปัจจุบันของตุรกีก็มีลักษณเป็นแบบบราเธอร์ฮูด ที่ให้บทบาทของประชาธิปไตยเข้ามามากพร้อมกับการรักษาศาสนาไว้ วิธีการให้ประชาชนเลือกแล้วค่อยๆ ลดอำนาจขอทหาร ตอนนี้ทหารอ่อนเปรี้ยไปแล้ว

ตะวันออกกลาง เคยผ่านการใช้สังคมนิยมอาหรับมาแล้ว ที่เน้นความเป็นเอกภาพของอาหรับ สังคมนิยม เช่นพรรคบาธของซัดดัม ของซีเรีย เป็นสังคมที่อยู่ระหว่างประชาธิปไตบกับสังคมนิยม รวมทั้งมีเรื่องชีวิตหลังความตาย มีความเชื่อในโลกหน้าด้วย ดังนั้นความกลัวว่าจะเป็นแบบอิหร่าน ถ้าเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งให้สิทธิของคนที่ไม่ใช่มุสลิมอยู่ได้และยอมรับ อย่างในมาเลย์ที่มีชาวจีนอยู่ได้ น่าจะเป็นความปราถนา ก็น่าจะอยู่ได้ ดังนั้นถ้าบราเธอร์ฮูดจะกลับมาใหม่ต้องมีความใจกว้าง เปิดพื้นที่ให้กับคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างด้วย

นักศึกษา สนนท. ชูป้ายประท้วงรัฐบาลอียิปต์ในงานเสวนา

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ รอบ 2

ในอียิปต์มีตัวละคร 3 ฝ่าย

1.    ฝ่ายกองทัพ

2.    กลุ่มอิสลามที่นิยามความรุนแรง และไม่เห็นด้วยกับมุสลิมบราเธอร์ฮูด กลุ่มนี้กับสหรัฐฯ น่าจะเป็นคู่ขัดแย้งกันในที่สุด

3.    กลุ่มของสหรัฐฯ

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอียิปต์ มันเป็นการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ เกิดจากความขัดแย้งและกลุ่มหัวรุนแรงเป็นกลุ่มที่เสียงดังสุด ดังนั้นปัญหาของอียิปต์จะไม่ใช่ปัญหาของอียิปต์อีกต่อไป เมื่อไหร่ที่การฆาตรกรรมจำนวนมากๆ ในสังคมแบบนี้ จะทำให้คนรุ่นนี้และรุ่นถัดไปจะเชื่อในการต่อสู้ด้วยความรุนแรง

เรื่องรัฐศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ที่โลกตะวันตกใช้กล่าวหาทำให้สังคมอื่นเป็นสังคมที่ป่าเถือน ละเมิดสิทธิ เป็นฉลากแปะป้ายในการปราบ สิ่งที่เห็นคือรัฐศาสนาไม่ใช่เป็นปัญหาในทุกกรณี จริงๆแล้วความเชื่อทางการเมืองในโลกตะวันตกก็เป็นการแปลงเอาความเชื่อทางคริสมาแปลงเป็นความเชื่อทางการเมืองทั้งนั้น ในไทยก็เช่นกันที่เอาวันหยุดประจำชาติที่เอาศาสนาพุทธเข้ามา แต่กรณีสังคมชายเป็นใหญ่แล้วละเมิดสิทธิผู้หญิงนั้นเป็นการเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือมากกว่า

กรณีมอร์ซี่ ต่อให้เขาเป็นผู้นิยมรัฐศาสนาไม่ใช่ประเด็น เพราะมันเป็นเพียงแนวโน้ม ที่ไม่เป็นเหตุที่จะไม่ให้ทหารออกมาได้การที่มอร์ซี่ถูกไล่ออกไป เป็นการส่งสัญญาของชนชั้นนำที่ส่งไปกับคนอียิปต์ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่หนทางในการปกครองประเทศ

ส่วนแนวโน้มเรื่องสถานการณ์ในอียิปต์ มันมีแนวโน้มอยู่ 3 แบบ คือ

แบบ 1 แอลจีเรีย ที่ตายเป็นแสน ถ้าชนชั้นนำอียิปต์ต้องการให้บราเธอร์ฮูดอยู่ใต้ดิน การให้คนส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่สู้ใต้ดิน เป็นเรื่องอันตราย

แบบ 2 ที่เกิดขึ้นในบลาซิล หรือเวเนซูเอล่า ที่มีการปราบปรามประชาชน ในที่สุดฝ่ายต่อต้านมาสู้ผ่านการเลือตั้ง แล้วก็กลับมาชนะใหม่

แบบ 3 ที่อาจจะดีสำหรับอียิปต์ เมื่อมุสลิมบราเธอร์ฮูดกลับมาชนะเลือกตั้งใหม่ แล้วกลับไปดำเนินคดีกับทุกคนที่ฆ่าประชาชน และทำรัฐประหารเป็นสัญญาณที่ทหารอียิปต์ไม่กล้าทำหารรัฐประหารใหม่ เป็นความคาดหวัง ซึ่งแม้แต่เมืองไทยก็ยังไม่เกิด

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ รอบ 2

เรื่อทหารในอียิปต์ บทบาทของทหารมีมาก จนมีคำพูดในอียิปต์ที่ค่อนข้างใช้กว้างขวาง คือ ประธานาธิบดีเป็นผู้บริหาร แต่ทหารเป็นผู้ปกครอง ในสังคมอียิปต์ประชาชนอาจไม่ได้แยกตัวเองออกจากกองทัพ เนื่องจากประชาชนต้องผ่านกระบวนการทำให้เชื่อฟังคำสั่ง เป็นปัญหาทีสังคมที่ต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร และผมคิดว่าในสังคมประชาธิปไตยการเกณฑ์ทหารควรเลิกได้แล้ว หรือจำกัดในวงแคบ เพราะประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม

การใช้ไพ่ที่กล่าวอ้างว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่ตะวันตกใช้ แต่มาถึงจุดนี้ความกลัวของคนบางคนเป็นความกลัวที่อยู่บนรากฐานตความจริงหรือในสภาพของความวิตกจริตที่ไม่ได้อยู่บนรากฐานความจริงกันแน่ ซึ่งอันนี้เป็นรากฐานเดียวกับการที่คนไทยกลัวการล้มเจ้า

มีการสำรวจ หลังจาการที่มูบารัค ลงจากอำนาจ ว่ามีการยอมรับการลงโทษแบบปาหิน ตัดแขนและประหาร มากขึ้น สิ่งที่จะบอกคือความจริงอาจไม่สัมพันธ์ เปรียบเทียบกรณีเสื้อแดงที่มีคนเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ล้มเจ้า มันไม่มีโอกาสที่คนเสื้อแดงอธิบายคนรักเจ้าอย่างไม่พอเพียงได้เลยว่าไม่มีการล้มเจ้า เนื่องจากมีการตั้งกำแพงอคติ ดังนั้นความจริงจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจนั้นไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เรื่องขบวนการแรงาน ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าออกมาชุมนุม แต่สิ่งหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตุ ช่วงที่มอร์ซี่มีอำนาจนั้นถูกวางยาให้น้ำมันแพง และไฟดับบ่อย และตำรวจที่คนทั่วไปมักเกลียดชังมาก ตำรวจในยุคมูบารัคทำตัวเป็นนักเลงรีดไถชาวบ้าน เมื่อมูบารัคถูกขับออกจากอำนาจ ตำรวจจึงไม่ค่อยออกมาทำงานจึงนำไปสู่อาชญากรรมมากขึ้นแล้วไม่มีคนไปดูแล

จรัล ดิษฐาอภิชัย กล่าวสรุปตอนท้ายของการเสวนาว่า

1.    ไม่ว่ากลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮูดจะเป็นอย่างไร ทหารก็ไม่มีสิทธิที่จะปราบปรามและฆ่าพวกเขา แม้บราเธอร์ฮูดจะนำประเทศอียิปต์เป็นรัฐศาสนา ทหารก็ไม่มีสิทธิออกมา

2.    คิดว่าประชาชนคนไทยที่เคยผ่านและประสบกับเหตุการณ์แบบนี้ ก็ไม่อยากให้เกิดในประเทศไทยอีก และก็ไม่อยากให้เกิดในประเทศอื่นด้วย จึงต้อหาทางร่วมส่วนในการหยุดยั่งการปราบปรามที่เกิดขึ้น รวมทั้งรัฐบาลไทยเองที่ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรมากนัก จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยการปราบปรามต้องกดดันรัฐบาลไทยให้แสดงท่าทีต่อเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย 

 

หมายเหตุ : มีการแก้ไขข้อมูลประกอบภาพผู้ชุมนุมหน้ากากขาว 18.00 น. 21 ส.ค.56

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธรรม: สุมิตรชัย หัตถสารไขข้อสงสัยเหตุใดศาลสั่งชาวบ้านออกพื้นที่โฉนดชุมชน

Posted: 21 Aug 2013 02:10 AM PDT

สำนักข่าวประชาธรรม สัมภาษณ์สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความและที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ต่อกรณีศาลฎีกาพิพากษาให้ชาวบ้านพรสวรรค์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งที่เป็นที่ดินของชุมชนมาแต่เดิมและกำลังอยู่ในกระบวนการทำโฉนดชุมชน

สำนักข่าวประชาธรรม สัมภาษณ์สุมิตรชัย หัตถสาร ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และทนายความสิทธิมนุษยชน ต่อกรณีศาลฎีกาพิพากษาคดีนางคำใส ปัญญามี ชาวบ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ คดีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง มีคำสั่งให้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้พิจารณาคดีนายมานิตย์ อินตา ชาวบ้านพรสวรรค์ ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ

โดยคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อปี 2539 มีการรุกพื้นที่ป่าสงวนโดยมีกลุ่มคนประมาณ 100 คน เข้าไปแผ้วถางป่าไม้ในเขต ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 500 ไร่ ห่างจากที่ดินบ้านพรสวรรค์ราว 10 กิโลเมตร และต่อมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินคดีชาวบ้านพรสวรรค์ ซึ่งที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อน จำนวน 47 ราย และเป็นคดีความในชั้นศาล ต่อสู้คดีนานกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเข้าสู่กระบวนการทำโฉนดชุมชนก็ตาม

 

000

สุมิตรชัย หัตถสาร ให้สัมภาษณ์เริ่มต้นอธิบายขยายความคำสั่งของศาลว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของปัญหาตัวบทกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อชาวบ้านเนื่องจากพระราชบัญญัติป่าสงวนเป็นกฎหมายที่มีเงื่อนไขผูกกันไว้คือระบุว่าผู้ใดบุกรุกป่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีทว่าศาลตัดสินว่ามีความผิดศาลจะต้องมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ด้วย นั่นคือศาลจะต้องมีคำสั่งทั้งสองอย่างพร้อมกัน

เมื่อปี 2542 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ขอออกหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ขณะนั้นชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวเคลื่อนขบวนร่วมกับสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) โดยเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเพื่อเจรจาต่อรองกับรัฐบาลสมัยเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลังจากนั้นมีมติ ครม.เดือนพฤษภาคม 2542 เกิดขึ้น ซึ่งเป็นมติแก้ไขปัญหาคนอยู่ในป่าให้คุ้มครองชาวบ้านที่อยู่ในป่าทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวมีกรณีของชาวบ้านพรสวรรค์รวมอยู่ด้วยจึงได้นำมติครม.นี้ยื่นต่ออัยการจนคดีดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ กระทั่ง 10 ปีต่อมาอัยการก็เดินหน้าขอบังคับคดีต่อภายหลังเมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นชาวบ้านจึงได้เข้าสู่ขบวนขับเคลื่อนร่วมกับสกน. และ ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ (Pmove) เพื่อเคลื่อนไหวต่อ

 

กรอบแนวคิดของกรมป่าไม้และนโยบายของรัฐยังมีแนวคิดเดิมใช้วาทกรรมแบบเดิม?

ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยขยายความว่า กรอบคิดของกรมป่าไม้ กระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังมองว่าทรัพยากรเป็นของรัฐหากประชาชนหรือราษฎรจะเข้าไปอยู่ในที่ดินของรัฐจะต้องได้รับอนุญาตเท่านั้นวิธีคิดของหน่วยงานภาครัฐจะมองว่าหากชาวบ้าน ประชาชนต่อสู้โต้แย้งหรือเรียกร้องเรื่องสิทธิถือเป็นการแข็งข้อ หน่วยงานของรัฐกรมป่าไม้เองก็ใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ และใช้เป็นข้ออ้างในเชิงวาทกรรมในกรอบคิดเดิมๆว่า กลุ่มคนพวกนี้บุกรุกป่า

"มุมมองหน่วยงานรัฐกับมุมมองของชาวบ้านต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อกรมป่าไม้สู้เหตุผลทางสังคมไม่ได้ ก็ใช้กฎหมายมาบังคับ"

ภายหลังเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ภาคประชาชนนำมาเป็นข้อโต้แย้งและพยายามผลักดันกฎหมายเรื่องสิทธิชุมชนที่จะรองรับสิทธิคนที่อยู่ในป่าจนนำไปสู่การผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน และโฉนดชุมชนตามมา แต่การต่อสู้นี้ยังไม่สิ้นสุดเพราะรัฐบาลแต่ละชุดไม่กล้าสั่งเด็ดขาดกับฝ่ายราชการฝ่ายกรมป่าไม้ รวมถึงกฎหมายเดิมยังไม่ได้แก้ไขนอกจากนี้รัฐบาลเองก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เปลี่ยนรัฐบาล เกิดการปฏิวัติ ทั้งหมดเป็นผลทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาไม่เกิดเป็นรูปธรรมและความยั่งยืนได้ยกตัวอย่าง โฉนดชุมชน รัฐบาลชุดที่แล้วแก้ปัญหาได้ดีแต่เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่ดำเนินการสานต่อจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา

 

นโยบาย หน่วยงานของรัฐควรยืนอยู่จุดใด?

ผมมองว่าหน่วยงานราชการหน่วยงานรัฐสังคม จะต้องยอมรับร่วมกันให้ได้ว่ามีคนอยู่ในเขตป่าแล้วหาทางออกร่วมกันในทางที่ดีที่สุดที่สามารถให้คนก็อยู่ได้ป่าก็อยู่ได้ ทรัพยากรก็ยั่งยืนซึ่งมันมีรูปแบบ และเครื่องมือมากมายที่จะร่วมกันพัฒนาไม่ว่าจะเป็นผลงานวิจัยของนักวิชาการโฉนดชุมชน ป่าชุมชน หรือจะเป็นการจัดการร่วมกันซึ่งมันมีรูปแบบต่างๆ ให้เลือกทำ

"แค่มานั่งคุยกันหาทางออกร่วมกันนำไปสู่การสร้างนโยบายหรือไปแก้กฎหมายก็ได้ ฝ่ายที่จะสานต่อเรื่องนี้เป็นหลักคือฝ่ายการเมืองทว่าฝ่ายการเมืองดำเนินการ ค่อยๆ ขยับไปข้างหน้ามันก็จะสามารถเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแบบระยะยาวได้แต่เมื่อเจออุปสรรคเกิดการหยุดชะงักในรัฐบาลชุดนี้ขบวนการเคลื่อนไหวก็ถอยหลังกลับไปที่เดิมอย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหามีแล้วขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองรัฐบาลว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่"

 

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายปีที่ผ่านมาเดินหน้าหรือถอยหลัง?

สุมิตรชัย ฉายภาพว่า การต่อสู้ของภาคประชาชนในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนหรือรากหญ้าถูกดึงไป ถูกเปลี่ยนกรอบคิดถูกสร้างหรือเปลี่ยนสำนึกใหม่ไปบางส่วน ดังนั้นขบวนการขับเคลื่อนในเชิงการเมืองภาคประชาชนที่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมันกลับไปอยู่ในรูปแบบเดิมคือกลับไปพึ่งพิงพรรคการเมือง พึ่งพิงข้าราชการเหมือนเดิม ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกแยกออกไปแต่ส่วนที่ขับเคลื่อนมาตรงส่วนกลางถูกแยกสลายมวลชนมันจึงอ่อนแอ

ดังนั้นมวลชนที่ยังอยู่กับพีมูฟคือมวลชนที่ยังเกาะติดกับปัญหาตัวเองและยังมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาของตัวเองเป็นหลัก แต่มวลชนที่เข้ามาร่วมในการนำเสนอเชิงประเด็นสาธารณะนั้นมันถูกดึงไปอยู่กับฝ่ายการเมืองในช่วงสองปีที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดกล่าวคือกลุ่มแรก ยังไปรอพึ่งระบบทักษิณ กลุ่มที่สองยังเป็นระบบพึ่งพาการเมืองแบบอุปถัมภ์เดิมจะเห็นว่ามันกลับมาในรูปแบบประชานิยมรูปแบบอำมาตย์แบบเก่าซึ่งสองประการนี้มันกลับมามีอิทธิพลในการเมืองภาคประชาชนในรอบ4-5 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้การเมืองภาคประชาชนที่เริ่มเติบโตมาช่วงสมัชชาคนจนปี 2540 มันจึงอ่อนแรงลงไป

อาจารย์นิธิ อาจารย์เกษียร พูดไว้ว่าการเมืองเสื้อสีมันต้องข้ามพ้น เพราะสุดท้ายในระยะยาว เราก็พึ่งระบบพระบรมโพธิสมภารและกับระบบประชานิยมพึ่งไม่ได้เรายังไม่ได้แก้ปัญหาเก่า หรือระบบเก่าที่ล้มเหลวมาตั้งแต่อดีตทำนองว่าต้องรอให้เกิดปัญหาหนักก่อนขบวนการเคลื่อนไหวจึงจะกลับมาเคลื่อนไหวได้ใหม่อีกครั้งในระยะต่อไป

 

บทเรียนหรือผลสะท้อนในขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน?

การเคลื่อนไหวของประชาชนมันใช้รูปแบบทุกกระบวนท่าอยู่แล้วแต่สิ่งที่ออกสื่อมันเห็นเพียงด้านเดียวคือ ชุมนุม เคลื่อนไหว เจรจา ทั้งที่จริงแล้วภาคประชาชนก็ดำเนินการทุกอย่างทั้งการเข้าไปร่วมในการเสนอนโยบายต่างๆ ต่อรัฐบาล ผ่าน สปร. คปร.ผ่านเวทีวิชาการต่างๆ ซึ่งในอดีตไม่เคยทำมาก่อน แต่ประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลมันเกิดขึ้นอย่างไรก็ต้องไปชั่งตวงวัดกันเพียงเราก็ยังไม่เคยมีการวัดผลแต่หากถามว่าประเด็นต่างๆ ขึ้นไปสู่สาธารณะหรือไม่ ผมมองว่าก็ขึ้นไปมากกว่าในอดีต แต่ประเด็นต่างๆก็ยังไม่มีพลังมากพอเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับบนได้อย่างเป็นรูปธรรม

"ขบวนการเคลื่อนไหวเองก็มีความพยายามใช้เครื่องมือที่หลากหลายให้เกิดรูปแบบใหม่ในการขับเคลื่อนมากขึ้นไม่ทิ้งรูปแบบเดิมๆโดยใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างผสมผสานผมมองว่าการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมมีมากขึ้น มีองคาพยพของผู้คนรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นแต่เมื่อคนรับรู้แล้วนั้นเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนหรือไม่นั่น เป็นโจทย์ใหญ่ของกลุ่มเคลื่อนไหวเราจะต้องสร้างการเชื่อมต่อหรือประสานกับเขาให้ได้ทำให้เขาเห็นและตระหนักได้อย่างเช่นชาวบ้านพรสวรรค์ เป็นต้น"

 

ขบวนการเคลื่อนไหวในอนาคตจะเป็นอย่างไรวางทิศทางไว้อย่างไร?

ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยสรุปความส่งท้ายว่าสิ่งที่จำเป็นของขบวนการเคลื่อนไหวคือการสร้างเครื่องมือให้มีความหลากหลายมากขึ้นแล้วใช้สื่อใช้พื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น หากถามว่ากระบวนการเคลื่อนไหวจำเป็นอยู่หรือไม่ก็จำเป็นแต่ต้องทำอย่างมีพลังแท้จริงไม่ขับเคลื่อนพร่ำเพรื่อเคลื่อนไหวออกมาโดยให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงซึ่งการเคลื่อนไหวบ่อยครั้งจะทำให้พลังแผ่วลงเพราะพลังชาวบ้านยังมีไม่มากพอที่จะเคลื่อนไหวบ่อยๆ ควรจัดกิจกรรมเชื่อมคนให้ได้มากที่สุดซึ่งเป็นทิศทางที่จะต้องเดินต่อและจะต้องมีการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลมีการประเมินการเมืองประกอบไปด้วยให้ลึกซึ้งและรอบด้านมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น