โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

รัฐบาล : ต้นทางนโยบายว่าสำคัญ ปลายทางนโยบายสำคัญกว่า

Posted: 31 Aug 2012 08:10 AM PDT

ช่วงนี้เห็นบุคคลในรัฐบาล ให้สัมภาษณ์สื่อถึงผลงานด้านต่างๆ เนื่องจากทำงานมาครบ 1 ปี ถือว่า เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม ใช้จังหวะโอกาสนี้บอกกล่าวสังคมว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จอย่างไร บรรลุเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร พอใจผลงานเพียงใด และมีอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรค เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขในปีที่ 2 
 
ถือเป็นจังหวะโอกาสทางการประชาสัมพันธ์ (PR) ของรัฐบาลอีกมิติ
 
ได้ฟังแล้วชื่นชมยินดีกับผลงานรัฐบาลด้วย ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล เพราะถือว่า มาทำให้ประเทศก้าวหน้าและประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 
 
ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ย่อมหวังเห็นความสำเร็จจากนโยบายการบริหารของตน ส่วนบริหารแล้ว จะมีผลงานออกมาให้เห็นมากน้อยแค่ไหน ก็ว่ากันไป 
 
ขึ้นกับผู้นำรัฐบาล – ผู้นำกระทรวงขับเคลื่อนอย่างไร 
 
ต้นทางนโยบาย จึงสำคัญ เพราะสะท้อนถึงผลงาน 
 
ต้องย้อนกลับไปดูว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อแรกเริ่มบริหารหรือไตรมาสแรกที่เริ่มต้นนโยบาย ต่อเนื่องไตรมาส 2 - 3 - 4 กำกับดูแลอย่างไร ทำไว้อย่างไร บางนโยบายก็อาจทะยอยผลให้เห็น จับต้อง สัมผัสได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 หรือ 3 ก็เป็นไปได้    
 
รวมแล้ว ณ วันครบ 1 ปี บรรลุผลให้เห็นได้จริงเท่าใด แจงนับออกมา ตรงนี้ คือของจริง และเป็นรูปธรรมที่สุด       
 
จะรู้ว่า สำเร็จระดับไหน A, B, C หรือ D  
 
ต้นทางนโยบายว่าสำคัญ ปลายทางนโยบายสำคัญกว่า 
 
 เพราะย้อนกลับไปดูเมื่อเริ่มต้นนโยบายยังนามธรรม เป็นเพียงความต้องการทำนั่นทำนี่ หวังเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยังไม่ได้ลงมือทำ หรือนำไปสู่การปฏิบัติ 
 
ต่อเมื่อขับเคลื่อนแล้ว ถึงเริ่มเห็นผล สิ่งที่หวังจึงแจ้งเกิด และมีความคืบหน้า แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน แต่ละไตรมาส เป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ 
 
ท้ายที่สุด ทำได้จริงเท่าไร ก็คือ ได้จริงเท่านั้น คือ ประโยชน์ที่ตกถึงประชาชน ปลายทางนโยบาย จึงสำคัญฉะนี้
 
ได้ต้นทางนโยบาย แต่ไม่ได้ปลายทางนโยบาย ก็ไร้ความหมาย  
 
หันมาเน้นการควบคุม กำกับปลายทางให้ได้ดั่งใจ จะดีกว่ามั๊ย
 
ในมุมมองการประชาสัมพันธ์ที่ยึดประชาชน เป็นศูนย์กลาง ก็มีแง่คิดที่อยากนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้อ่านอาจเห็นด้วยหรือไม่ ประการใด 
 
จะดีหรือไม่ หากมองปลายทางนโยบาย เป็น 2 ส่วน คือ 
 
1)  ส่วนที่เป็นผลงาน เป็นทางบวก เป็นความสุขของประชาชน   
 
2)  ส่วนที่เป็นผลกระทบ เป็นทางลบ เป็นความทุกข์ของประชาชน ซึ่งมักคู่กันมากับข้อ 1 มองข้ามไม่ได้ เพราะการประชาสัมพันธ์ คือ การรับรู้ทุกข์สุข เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาใจประชาชนมาใส่ใจรัฐบาล   
 
ยกตัวอย่าง เช่น  
 
การที่ชาวนนทบุรีกรีดเลือดประท้วงไม่ได้รับเงินน้ำท่วมตั้งแต่ปีที่แล้ว 2554 ถือเป็นผลกระทบ เป็นความทุกข์ เดือดร้อนของชาวบ้าน เป็นปลายทางนโยบายช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม บัดนี้ยังไม่ได้ จะทำอย่างไร 
 
คนที่ได้รับเงินแล้ว เป็นความสุข เป็นผลงานรัฐบาลตามนโยบายช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
 
จะทำอย่างไรทั้งรัฐบาลและประชาชนมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้น “สร้างสุข สลายทุกข์”
 
อีกสักตัวอย่าง ชาวนาพิษณุโลกโวยไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว จะทำอย่างไร รัฐบาลทำดีมาตลอด มาเสียปลายทาง ซึ่งในเชิงการประชาสัมพันธ์ ละเลยไม่ได้ 
 
นับวันผลกระทบในลักษณะทำนองอย่างนี้ จะโผล่มาให้เห็นบ่อย เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ จะบริหารผลประโยชน์อย่างไร ควบคุม จัดการอย่างไร 
 
นอกจากการเร่งรัดให้ชาวบ้าน ชาวนาได้รับเงินเร็วแล้ว จะมีวิธีการใหม่ๆ มาใช้หรือไม่ ประการใด ต้องคิด ต้องออกแบบ ไม่เช่นนั้น ก็จะมีการชุมนุม ประท้วง ปิดถนน เรียกร้อง ข่มขู่ต่างๆ  
 
จะได้ผลงาน กลับได้ผลกระทบ 
 
จะช่วยทั้งที กลับได้เงินช้า เหมือนกับว่า การช่วยเหลือไม่มีคุณภาพ  
 
จึงมีคำถามชวนคิด : หากเอาปลายทางนโยบาย เป็นตัวตั้ง และต้องการเห็นผลงานทำได้จริงเท่าไร ก็ควรควบคุม จัดการผลกระทบให้ได้เท่านั้น 
 
กระทบน้อย สำเร็จมาก 
 
กระทบมาก สำเร็จน้อย(ล้มเหลว) 
 
แล้วย้อนกลับไปออกแบบที่ต้นทางนโยบาย เพื่อกำกับ หรือ control อีกชั้นหนึ่ง ผลจะมาออกที่ปลายทางได้ตรงตามต้องการมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ตัวช่วย 2 ประการ ดังต่อไปนี้ 
 
ประการแรก การdesign หรือออกแบบนโยบาย เหมือนการออกแบบบ้านจัดสรร จะให้มีกี่ห้อง 2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ปูพื้นอะไร หลังคาอะไร เป็นต้น อยากให้ผลงานบ้านหลังหนึ่งสำเร็จออกมาได้จริงอย่างไร ก็ออกแบบอย่างนั้น คำนึงถึงทุกอย่างรอบด้าน อ่านให้ครบล่วงหน้า ทั้งมิติประโยชน์ใช้สอย ความแน่นหนา คงทน สวยงาม ฯลฯ
 
โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ มิใช่เจ้าของโครงการต้นทาง  ทำอย่างไรให้ถูกใจผู้เข้าอยู่อาศัยปลายทาง ได้บ้านและมีความสุข ไม่ต้องมาเจอผลกระทบจากหลังคาที่ร้อน เพราะออกแบบบ้านไว้โดยใช้หลังคาเย็น ระบายความร้อนที่ดี ไม่ทำให้เป็นที่รำคาญใจ คับข้องใจผู้อยู่อาศัย
 
ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐบาลควรจะมีการออกแบบนโยบาย จะให้มีกี่นโยบาย กี่ด้าน กี่เรื่อง มีมาตรการอะไร ใช้งบอย่างไร เป็นต้น อยากให้ผลงานโครงการหนึ่ง หรือนโยบายหนึ่งสำเร็จออกมาได้จริงอย่างไร ก็ออกแบบอย่างนั้น คำนึงถึงทุกอย่างรอบด้าน อ่านให้ครบล่วงหน้า ทั้งมิติประโยชน์ของโครงการ ผลกระทบต่างๆ ฯลฯ   
 
โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ชาวบ้าน เกษตรกร มิใช่เจ้าของโครงการ(รัฐบาล) ทำอย่างไรให้ถูกใจผู้ใช้บริการของรัฐ ได้เงิน ได้การช่วยเหลือ และมีความสุข ไม่ต้องมาเจอผลกระทบจากโครงการที่จ่ายเงินล่าช้า (เช่น เงินช่วยเหลือน้ำท่วม เงินจากการจำนำข้าว) เพราะออกแบบโครงการไว้โดยใช้วิธีการใหม่ มาตรการใหม่ที่ทันสมัยต่างจากอดีต รวดเร็ว คล่องตัว สะดวกต่อประชาชน ไม่ทำให้เป็นที่รำคาญใจ คับข้องใจประชาชน เกษตรกร ชาวนา 
 
วันนี้ การทำงานของฝ่ายการเมืองมีแค่ concept หรือแนวคิดเชิงนโยบายอาจไม่พอ ต้องลงรายละเอียดอีกพอประมาณ มิเพียงบอกว่า จะสร้างบ้าน สร้างทาวเฮาส์ ตึกแถว แล้วจบ ถ้าแค่นั้น ผู้รับเหมาก็ทำไม่ถูก ยุ่งยาก เสียเวลา ต้องคอยถามทุกครั้ง ดีไม่ดี ที่ทำไปต้องมาปรับรื้อ เนื่องจากไม่ตรงความต้องการ 
 
การลงรายละเอียดอีกพอประมาณ แต่ก็ไม่ถึงขนาดหยุมหยิม จะช่วยให้ข้าราชการ กลไกรัฐทำงานง่ายขึ้น ราบรื่น รวดเร็ว สำเร็จเห็นผลงานได้ดั่งใจทั้งรัฐบาลและประชาชน
 
เนื่องเพราะมี design กำกับ ทุกอย่างผ่านการกลั่นกรอง รัดกุม 
 
โดยเฉพาะในสังคมยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง และแข่งขันสูง สถานการณ์ต่างๆไม่นิ่งเหมือนอดีต เกิดปัญหาความต้องการใหม่ๆ ข้อเรียกร้องใหม่ๆ ยังไม่นับรวมผลประโยชน์ ความเป็นธรรม ความขัดแย้ง เป็นต้น
 
ประชาชนกล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมสูง
 
ทำให้วันนี้ มีตัวแปร ปัจจัยต่างๆ เชื่อมโยงซับซ้อนเกินกว่าจะสนใจ concept นโยบายอย่างเดียว การให้แนวนโยบายกว้างๆ เหมือนในอดีต ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว 
 
เช่น การสร้างโรงไฟฟ้า การรับจำนำข้าวเปลือก ยาเสพติด ร้านถูกใจ การบุกรุกทำลายป่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาอุทกภัย ฯลฯ 
 
แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว ทำอย่างไรให้ได้ผลงานปลายทางนโยบายออกมาได้จริงเท่าไร ได้ตามเป้าหมาย ต่ำกว่าเป้า หรือทะลุเป้ายิ่งดี 
 
จึงอยู่ที่แต่ละเรื่อง ควรจะมีการมอง หรือออกแบบนโยบายอย่างไร มองทั้งผลงาน และผลกระทบ ผลกระทบที่เป็นตัวเงิน และสิ่งแวดล้อม เวลาผ่านไปเร็ว เดี๋ยววัน เดี๋ยวสัปดาห์ เดี๋ยวเดือน เดี๋ยวหมดปี ทำอย่างไรให้งานไหลรื่น มีคุณภาพ มิใช่รอเมื่อมีปัญหา ค่อยแก้เป็นทีๆไป ก็ยิ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพ
 
ยิ่งถ้าไล่เรียงงานโครงการรายกระทรวง  ทั้ง 20 กระทรวง ยิ่งเป็นสเกลที่ใหญ่ ถ้าไม่ออกแบบ มีผลกระทบเกิดที่จังหวัดหนึ่ง ก็จะเกิดกับอีกหลายๆจังหวัด จะทำอย่างไร สู้ออกแบบงานนโยบายให้ดีๆ นอกจากไหลรื่น ยังเห็นความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า 
 
ได้ผลงานตามเป้าหมายแน่ๆ หรือไม่ก็ใกล้เคียง อาจไม่ A แต่ก็ B
 
ปัญหามีได้(บ้าง) แต่ไม่ใช่ปล่อยมีขึ้นเหมือนๆกันลามไปจังหวัดอื่นๆ หากปล่อยไปเช่นนั้น ดีไม่ดีผู้คนข้องใจ ทวงถามบริหารได้แค่นี้หรือ 
 
รัฐบาลก็จะเป็นทุกข์เสียเอง ไหนจะถูกตรวจสอบจากสังคม ฝ่ายค้าน
 
หากออกแบบนโยบายดังที่กล่าว เชื่อว่า การกรีดเลือดประท้วงเงินน้ำท่วมไม่มี การไม่ได้เงินจำนำข้าวไม่มี และอีกหลากหลายในลักษณะทำนองนี้ไม่น่าจะมี หรือมีก็น้อย  
 
ที่ต้องระวัง ก็คือ เพราะขณะที่บุคคลในรัฐบาลบอกว่า งานโครงการหรือนโยบายประสบผลสำเร็จ และพอใจ แต่ในเมื่อชาวบ้าน ชาวนายังไม่ได้รับเงินอย่างนี้ จะอธิบายสังคมอย่างไร    
 
ที่เป็นปัญหาการบริหารให้รัฐบาล ก็มาจากผลกระทบจากจุดเล็กๆ นี้เอง แต่รวมกันเข้าก็ใหญ่ได้ เดี๋ยวนี้ประท้วงอะไร ก็จะบุกไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งยุคใหม่นี้อะไรก็เป็นไปได้หมด
 
ประการที่ 2  การประชาสัมพันธ์ หรือ PR ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่รัฐบาลควรสนใจ มองข้ามไม่ได้เช่นกัน ต้องใช้ PR ประกบตั้งแต่ต้นทางนโยบาย กลางทาง จนถึงปลายทางนโยบาย ชนิดที่เรียกว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ/นโยบายเลยทีเดียว จะช่วยให้ผลงานปลายทางออกมาได้จริงตามต้องการ เพราะการประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการการอธิบาย ชี้แจง ให้ข่าวสาร ความรู้ สร้างความเข้าใจ แก้ไขความเข้าใจผิด ดึง ชักจูง โน้มน้าว กระตุ้น และชี้นำที่ดี เพื่อนำประชาชนและประเทศไปสู่ทิศทางและเป้าหมายที่วางไว้
 
ทั้งโฆษกรัฐบาล โฆษกกระทรวง  โฆษกกรม ประชาสัมพันธ์กรม-กระทรวง ประชาสัมพันธ์รัฐวิสาหกิจ ประชาสัมพันธ์จังหวัด กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะเป็นกลไกประชาสัมพันธ์รัฐทั้งระบบ จะต้องรวมพลังขับเคลื่อน หนุนนำนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ออกมาเป็นผลงานไปสู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม  
 
เป็น 2 ตัวช่วยที่น่าจะ “สร้างสุข สลายทุกข์”ให้ประชาชนได้ไม่มากก็น้อย 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดข่าว: เตาคลื่นเสียง แปรเสียงจากเตาหุงต้มให้เป็นไฟฟ้า

Posted: 31 Aug 2012 07:41 AM PDT

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมร่วมกับนักวิจัยหลายพื้นที่ทั่วโลก คิดค้นเตาปรุงอาหารที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นเสียง คาดช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา

โครงการวิจัย score stove หรือ เตาคลื่นเสียง ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร โดยร่วมมือกับสถาบันอีกหลายแห่งทั่วโลกเช่น มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม วิทยาเขตมาเลเซีย มหาวิทยาลัยกาฐมัณฑุของเนปาล และมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งบังคลาเทศ สถาบันวิจัยลอส อลามอส ในนิวแม็กซิโก และเริ่มทดลองใช้ในเขตชนบทของเนปาลและบังคลาเทศที่ยังขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า

หลักการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวคือ การเปลี่ยนพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ใช้ในการหุงต้มแปรรูปเป็นคลื่นเสียงและก่อให้เกิดพลังงานไฟฟ้า

พอล ไรลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอธิบายการทำงานว่า เตานี้จะให้ความร้อนที่ปลายท่อด้านหนึ่งซึ่งออกแบบพิเศษโดยที่ปลายอีกด้านหนึ่งเย็น

การอัดอากาศเข้าไปในท่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและเกิดคลื่นเสียงที่มีพลังที่ระดับ 170 เดซิเบล ซึ่งเป็นเสียงดังมากระดับเดียวกับเสียงที่เกิดขณะกระสวยอวกาศขึ้นจากพื้นดิน อย่างไรก็ตามเสียงที่เล็ดลอดออกมาภายนอกท่อที่ผลิตและออกแบบเป็นพิเศษจะเบาเพียงเท่าเสียงกระซิบเท่านั้น

ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ ไรลีย์และผู้ร่วมทีมจากนอตติงแฮมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 36 วัตต์ และได้เริ่มติดตั้งและทดลองใช้งานเตาผลิตไฟฟ้าในชนบทของเนปาลและบังคลาเทศ ซึ่งเขาระบุว่าต้องมีการปรับรูปแบบให้เข้ากับแต่พื้นที่ รวมถึงคำนึงถึงพลังงานชีวภาพในแต่ละพื้นที่ ประเภทของหม้อ กระทะที่ใช้ในการทำอาหาร ด้วย

รายงานขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศในปี 2554 ระบุว่า ประชากรกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลกไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยที่ประชากรกลุ่มดังกล่าวนี้ ราว 95 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ประเทศที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของทะเลทรายซะฮาราในแอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

แม้ว่าทีมวิจัยจะคาดหมายว่าเตาผลิตพลังงานไฟฟ้าจะให้พลังงานประมาณ 150 วัตต์ แต่จำนวนที่ผลิตได้ 36 วัตต์นี้ก็เพียงพอสำหรับการใช้ในการเปิดหลอดไฟหรือชาร์ตแบตเตอรี่มือถือซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของสมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สายทั่วโลก พบว่าภายในปี 2012 นี้ ประชากรกว่า 70 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนราวหนึ่งพันล้านคนในแอฟริกาจะมีมือถือใช้

เตาคลื่นเสียงจะช่วยลดภาวะเรือนกระจกและลดปริมาณควันที่เกิดจากการทำอาหาร โดยปัจจุบันนี้ประชากรกว่า 3 พันล้านคนยังคงใช้เตาหุงต้มที่อาศัยเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ สำหรับต้นทุนในการผลิตเตาในปริมาณมากขณะนี้อยู่ที่ หน่วยละ 250 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,500 บาท)แต่ผู้อำนวยการโครงการระบุว่าตั้งเป้าจะลดต้นทุนให้เหลือ 30 เหรียญต่อเตา (ประมาณ 900 บาท) ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ในอนาคต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านค่ายเฮ..ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนจัดตั้งนิคมฯ

Posted: 31 Aug 2012 07:38 AM PDT

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (31 ส.ค.) นายชาญเชี่ยว สุขช่วย ตุลาการศาลปกครองระยอง เจ้าของสำนวนได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส.8/2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลปกครองระยอง ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการเพิกถอนประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว และตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ในพื้นที่รวมกว่า 2,194 ไร่ โดยมีผู้ฟ้องคดีคือ นายเศรษฐา ปิตุเตชะ และชาวบ้านค่าย จังหวัดระยองรวม 386 คน ซึ่งได้มอบอำนาจให้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีปกครองให้ทั้งหมด     

ส่วนผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย ผู้ถูกฟ้องที่ 1 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)    

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีทั้ง 386 คนได้ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย       

การประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้ก่อ และ/หรืออาจทำให้เกิดความเดือดร้อน และเกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีกับพวก รวมทั้งชาวบ้านอำเภอบ้านค่าย ซึ่งมีแหล่งที่อยู่อาศัย และอาจเกิดการแย่งน้ำเพื่อการเกษตร เกิดมลพิษ ขณะที่กระบวนการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ การดำเนินการมีความไม่โปร่งใสในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (HIA)

บริเวณพื้นที่ประกาศตั้งอยู่ในพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ ชนบทและเกษตรกรรม ตามร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง จึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษามีคำสั่งเพิกถอนการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) และให้ผู้ถูกฟ้องคดี 1 ดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11 ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือการประเมินผลในเชิงกลยุทธ์ (SEA)       

ศาลปกครองระยอง องค์คณะที่ 1 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาโครงการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีลักษณะเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาในขั้นขออนุมัติโครงการ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภท และขนาดของโครงการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ ระเบียบการปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552       

ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ยังมีผลบังคับใช้ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2553 วันที่ 24 มิถุนายน 2553 เห็นชอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ร่วมดำเนินการกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

พิพากษาเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2554 เรื่องการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไป นิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ในพื้นที่ตำบลหนองบัว และ ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ภายในแนวเขตพื้นที่ท้ายประกาศ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ออกประกาศ

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านทั้ง 386 คน ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีนี้ให้ชาวบ้านกล่าวว่า ในวันนี้ ศาลปกครองระยองได้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้อง คือ ขอให้ศาลได้พิพากษาเพิกถอนการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) ซึ่งศาลปกครองระยองได้พิพากษาตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีแล้ว เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดแย้งกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งในวันนี้ ศาลปกครองระยอง ได้ยืนยันโดยคำพิพากษาแล้ว ถือว่าอาจใช้เป็นบรรทัดฐานในเบื้องต้นที่จะทำให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะ กนอ.ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และต้องดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA)ให้เรียบร้อยเสียก่อน ก่อนที่จะประกาศจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใด ๆ 

นอกจากนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายแล้ว ยังมีนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากที่ กนอ. ดำเนินการจัดตั้งไปโดยข้ามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง ที่ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้าน ได้ฟ้องเพิกถอนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปแล้วอีกคดีหนึ่ง ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองระยอง คาดว่าจะมีลักษณะเหมือนกัน เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบริษัท ไทยเจนเนอรัลไนซ์โคล แอนด์โค้ก จำกัด หรือโรงงานถ่านหินโค้ก ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายบายพาส 36 เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ก็เข้าข่ายลักษณะเดียวกัน คือ เป็นการดำเนินการก่อสร้างก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทาง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาแถลงชัดเจนว่าโรงงานใดที่แอบก่อสร้างไปก่อนที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะไม่ยินยอมออกใบอนุญาตให้ดำเนินการได้ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผาซุ้มแดงแม่กลอง แกนนำกลุ่มคาดข่มขู่

Posted: 31 Aug 2012 06:48 AM PDT

2 คนร้ายลอบเผาซุ่มลานไทร เสื้อแดงแม่กลอง กลางตลาด ดับเพลิงได้ทันก่อนที่ลามไปชุมชน แกนนำคาดเหตุข่มขู่ทางการเมือง เลียนแบบที่อื่นที่ เผยมีกลุ่มในพื้นที่จ้องจับผิดติดตามและขู่ไม่อยากให้มีเสื้อแดงในจังหวัด
 
เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. วันนี้ (31 ส.ค. 55) เกิดเหตุเพลิงไหม้ซุ้มที่ชุมนุมประจำของ กลุ่มลานไทร เสื้อแดงแม่กลอง บริเวณลานจอดรถวัดเพชรสมุทรวรวิหาร กลางตลาด จ.สมุทรสงคราม นายดิเรกฤทธิ์ เล็กสกุล ผู้ประสานงานและสมาชิกกลุ่มลานไทร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อคืนเวลาประมาณเที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง มีวัยรุ่น 2 คน นำน้ำมันมาลาดและเผาบริเวณซุ้มลานไทร ซึ่งเป็นจุดที่รวมตัวของคนเสื้อแดงสมุทรสงคราม แต่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยร้านค้าบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ ได้แจ้งรถดับเพลิงมาดับได้ทัน เพลิงจึงไม่ลามไปยังบริเวณอื่น ส่วนบริเวณซุ้มเสียหมายไม่มาก มีเพียงโต๊ะเก้าอี้ สายไฟและถังน้ำแข็งถูกไฟไหม้ ในเวลาก่อนหน้าไม่นานมีการเผาก่อนแล้ว 1 รอบ แต่ รปภ. เข้าไปดับได้ทัน จึงมาการกลับมาเผาอีกรอบ  ขณะนี้ตำรวจได้ขอความร่วมมือขอภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณนั้นเพื่อสืบหาตัวผู้ก่อเหตุ
 
นายดิเรกฤทธิ์ มองว่าบริเวณดังกล่าวเป็นกลางตลาด โชคดีที่ดับเพลิงมาทัน ไม่เช่นนั้นอาจเสียหายมากกว่านี้ 
 
สำหรับสาเหตุของการลอบวางเพลิงครั้งนี้ นายดิเรกฤทธิ์ มองว่า เป็นการขู่ มาจากเรื่องการเมืองเนื่องจากที่นั่นมีคนไม่ชอบกลุ่มเสื้อแดงอยู่ โดยก่อนหน้านี้มีการเผาที่เสื้อแดงที่อื่นแล้ว อาจเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะเห็นที่อื่นทำได้จึงมาทำที่นี่บ้าง บวกกับสังคมไทยมันมีการสั่งสมความเกลียดมาแล้ว คนดีเขาเกลียดคนที่เขาคิดว่าไม่ดี ก่อนหน้านี้มีการข่มขู่มาแล้วว่าไม่อยากให้มีเสื้อแดงที่จังหวัดนี้เลย จากกลุ่มคนที่ไม่ชอบเสื้อแดง  และจะส่งคนมาประกบดูคนเสื้อแดง เอาเทปวีดีโอมาคอยบันทึกเพื่อจับผิดบทสนทนาของคนเสื้อแดงที่นี่ รวมทั้งติดตามบางคน ว่ามีการพูดหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดกฎหมายหรือไม่ด้วย
 
กลุ่มลานไทรแม่กลอง เป็นกลุ่มใหญ่และศูนย์กลางของเสื้อแดงในจังหวัดสมุทรสงคราม คนท่าตลาดแม่กลองมักจะแวะมาที่นี่ มีสมาชิกประจำประมาณ 100 - 200 คน  กลุ่มนี้รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2551 จากการที่ได้มีที่พบปะกัน เลยมารวมตัวกันบริเวณซุ้มนี้จึงกลายเป็นที่พบปะกันประจำ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
 
จุดเกิดเหตุ ซุ้มลานไทร เสื้อแดงแม่กลอง :
 
 

ดู ลานไทร เสื้อแดง แม่กลอง ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

ปัญหาธรรมกาย-พระไพศาล-มหาเถรสมาคม-สุรพศ และบททดลองเสนอเกี่ยวกับสถานะของสถาบันศาสนาในสังคมไทย

Posted: 31 Aug 2012 06:43 AM PDT

 

 
ภาพ ปรโลกนิวส์ ตอน สตีฟ จ็อบส์ ตายแล้วไปไหน จาก youtube “dmcupdate”
 
อันเนื่องมาจากการที่พระธัมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายออกมาทำนายภพภูมิของ  Steve Jobs   ต่อมาพระไพศาล วิสาโล ออกมาวิจารณ์พระธัมชโยว่า “อวดอุตริมนุษยธรรม ถึงขั้นอาบัติปาราชิก” และ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการผู้โดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึง 3 คดี ได้ออกมาเขียนบทความสนับสนุนพระไพศาล โดยเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว แม้จะแสดงความเชื่อมั่นว่า มหาเถรสมาคมไม่มีน้ำยาจะจัดการกับวัดพระธรรมกาย – วิวาทะดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แค่ประเด็นธรรมกายผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ แต่ยังสะท้อนปัญหาในเชิงหลักการจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ว่า “สถาบันทางพุทธศาสนาจะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร” – ผมมีความเห็นและข้อเสนอต่อกรณีปัญหาและวิวาทะดังกล่าว ดังนี้

 

1.ประเด็น Secularism – ในทางหลักการแล้ว คุณสมบัติประการสำคัญประการหนึ่งของสังคม/รัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยนั้น รัฐกับศาสนาเป็นสิ่งที่มีอิสระจากกัน/ไม่ขึ้นต่อกัน รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา ไม่เป็นสปอนเซอร์ให้แก่ศาสนา ในทางกลับกัน ศาสนาต่างๆมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมของตนเองได้เต็มที่ ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายหรือไปละเมิดกับชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพของบุคคลอื่น – สรุปง่ายๆคือ วัดและองค์กรศาสนาต้องการเลี้ยงตัวเอง จ่ายภาษี และทำตัวเองเสมือนๆกับองค์กรอื่นๆในสังคม

2.รัฐไทยเป็น secularism หรือไม่ – รัฐให้งบประมาณสำนักงานพุทธศาสนาปีละ 4 พันล้านบาท และยังใช้ช่องทางของรัฐในการโฆษณาให้แก่พุทธศาสนาตลอดทั้งปี – พุทธศาสนาไม่เคยเป็นอิสระจากรัฐ แต่เป็นเครื่องมือทางอุดมการที่สำคัญที่สุดของรัฐ (อาจเรียกได้ว่าเป็น “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในแบบที่ อ.ธงชัย วินิจจะกูลเสนอ)

3.มหาเถรสมาคมเป็นส่วนหนึ่งของ “กลไกอำนาจรัฐ” ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ที่มา ลักษณะโครงสร้างองค์กร กฎระเบียบ และทรัพยากร (เงิน) – ลำพังพระธรรมวินัยไม่ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้แก่มหาเถรสมาคมแม้แต่น้อย แต่มหาเถรสมาคมเป็นผลผลิตของการต่อสู้กันระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังอนุรักษ์นิยม ซึ่งในท้ายที่สุด พลังอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิปักษ์อย่างถึงที่สุดต่อหลักการประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ

4.สิทธิเสรีภาพในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไรในสังคมประชาธิปไตย – สังคมไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สถาบันทางสังคมจำนวนมากที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย/คนเท่ากัน/คนเหมือนกันกำลังถูกท้าทาย นับตั้งแต่สถาบันจารีตจนถึงสถาบันครอบครัว ดังเช่น กรณีอากง/อ.สุรพศ กับประเด็น 112 ที่คนในสังคมลุกขึ้นมาอ้างสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อทางสังคมการเมืองที่แตกต่างออกไป แต่ฝ่ายสถาบันจารีต (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐและผูกติดกับพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ) กลับปราบปรามจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระรมเดชานุภาพ – สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ขัดแย้งอย่างถึงที่สุดต่อหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (ไม่ต้องเรียกว่า “เสรีนิยม” ก็ได้ แค่ความเป็นมนุษย์ก็พอ) – ซึ่งอ.สุรพศเองก็เป็น “เหยื่อ” ของความอยุติธรรมนี้ เช่นเดียวกับอากงและคนอื่นๆ – การต่อสู้ของเราคือต้องยืนยันสิทธิเสรีภาพของอากง อ.สุรพศ และคนอื่นๆที่จะมีความเชื่อที่แตกต่างออกไปได้อย่างถึงที่สุด

5.“ศาสนาพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ” ก็เป็น “ความเชื่อ” แบบหนึ่งไม่ได้/ไม่ควร/ไม่จำเป็นต้องยกให้สูงส่ง/เหนือกว่า/จริงกว่า/วิทยาศาสตร์มากกว่าความเชื่อแบบอื่นๆ เช่น ความเชื่อแบบคริสต์ มุสลิม ผี และความเชื่อทางการเมืองอื่นๆ – การทำให้พุทธเถรวาทฉบับไทยๆเป็นความเชื่อแบบหนึ่งหรือปรัชญาทางสังคมแบบหนึ่งทำให้เราสามารถศึกษาได้ ถกเถียงได้ ตั้งคำถามได้ ตีความแตกต่างได้ เลือกจะเชื่อส่วนหนึ่ง ทั้งหมดส่วน หรือเลือกจะไม่เชื่อเลยก็ได้ – การทำให้สถานะของศาสนากลายเป็น “ความเชื่อ” (เท่าๆกับความเชื่ออื่นๆ) จึงสัมพันธ์กับ “สิทธิเสรีภาพ” ที่เลือกได้ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ – ความเชื่อจึงไม่ใช่การบังคับ กรอกหูว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการใช้กลไกและอำนาจรัฐในการบังคับแบบที่เป็นอยู่ – ถ้าไม่ยอมรับว่าศาสนาพุทธเถรวาทแบบไทยๆมีฐานะเท่าๆกับความเชื่อแบบอื่นๆ (ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อการแยกสถาบันพุทธออกจากรัฐเท่านั้น) การพูดถึงเสรีภาพในการนับถือ/ไม่นับถือศาสนาหรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาพุทธและความเชื่อทางการเมืองแบบอื่นๆ (เช่น กษัตริย์นิยม) ก็จะไม่มีความหมาย

6.การเรียกร้องของ อ.สุรพศและพระไพศาลให้ “มหาเถรสมาคม” (ย้ำว่ามหาเถรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเผด็จการที่แจ้งข้อหา 112 กับ อ.สุรพศ นั่นแหละ) เข้ามาจัดการกับธรรมกาย (รวมถึงกรณีแม่ชีทศพร-พ่อเด็กชายปลาบู่) (ซึ่งความเชื่อของธรรมกาย-แม่ชีทศพร-พ่อเด็กชายปลาบู่จะถูกหรือผิดมันก็ขึ้นกับการถกเถียงในแง่ความรู้ทางพุทธศาสนา ตราบเท่าที่เขาไม่ได้ละเมิดชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพของใคร หรือถ้าเขาละเมิดก็มีกฎหมายของรัฐที่จะลงโทษอยู่แล้ว) เท่ากับการเรียกร้องให้รัฐไทย (โดยมหาเถร) ยังคงผูกขาดการตีความพุทธศาสนาให้เป็นแบบเดียวอยู่ และใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการ/บังคับ/ทำลายความหลากหลายซึ่งเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ในพุทธด้วยกันเอง – การเอาคำสอนไปผูกกับสถาบันนั้นทำราวกับว่า พุทธศาสนามีหนึ่งเดียว/เป็นสัจธรรม/ตายตัว/ไร้ประวัติศาสตร์ – คนที่เรียนประวัติศาสตร์มาบ้างก็พอจะรู้ว่า ศาสนาทุกศาสนามันหาความบริสุทธิ์ไม่ได้ ต่อให้ยึดกับคัมภีร์แต่ก็มีหลายคัมภีร์ ไม่มีใครอ้าง originality ได้ ยิ่งแพร่ขยายไปมากเท่าไร ก็ยิ่งผสมผสาน/รวมกับความเชื่อในท้องถิ่นจนหาต้นหาปลายไม่ถูก ศาสนาพุทธเถรวาทฉบับไทยๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน ผสมปนเปจนมั่วไปหมด แม้แต่การสังคยนาพระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นหลายครั้งจนไม่สามารถหาต้นฉบับเดิมที่มาจากพุทธวจนะได้ การอ้างพุทธแบบหนึ่งเดียว/สัจจะ/วิทยาศาสตร์/ท้าทายไม่ได้/ตายตัวจึงขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และขัดฝืนต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม

7.ลองพิจารณาข้ออ้างของ อ.สุรพศ ที่ว่า ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ แต่ต้องการใช้พระธรรมวินัยมาจัดการกับธรรมกาย ซึ่งในคัมภีร์มีระบุไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกัน อ.สุรพศ ก็อ้างว่า มหาเถรสมาคมในฐานะ “หัว” ของเถรวาทแบบไทยๆต้องมีหน้าที่เข้ามาจัดการบังคับใช้พระธรรมวินัยให้เกิดขึ้นจริงให้ได้  ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่ยอมทำหน้าที่ของตัวเองในการจัดการกับความผิดเหล่านี้ พูดง่ายๆคือ มหาเถรสมาคมไม่มีประสิทธิภาพ – แค่อ่านพื้นๆก็พอจะทราบแล้วว่า ข้อเสนอของ อ.สุรพศมีความขัดแย้งกันเองอย่างที่สุด ในขณะที่เรียกร้องให้รัฐกับศาสนาแยกเป็นอิสระจากกัน แต่ในกรณีนี้กลับบอกว่าให้มหาเถรสมาคมเข้ามาใช้อำนาจจัดการกับธรรมกาย – ลักษณะเช่นนี้น่าจะสอดคล้องกับลักษณะ สองมาตรฐาน (double standard)  (นี่ยังไม่นับกรณีที่พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากในประเทศไทย นับตั้งแต่พระสังฆราชซึ่งเป็น “หัว” ของมหาเถรสมาคมทำพิธีปลุกเสกพระเครื่องบนสมมติฐาน (อวดอุตริ) ที่ว่าคุณสมบัติส่วนบุคคล (มนุษยธรรมที่ (ไม่) มีในตน) สามารถทำให้ก้อนดินกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ เราควรจะชี้ชัดว่านี่เป็นการอวดอุตริมนุษยธรรมที่ไม่มีในตนหรือมอมเมางมงายไม่น้อยไปกว่าวัดพระธรรมกาย แม่ชีทศพร และพ่อของเด็กชายปลาบู่หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่พระไพศาลและอ.สุรพศไม่ได้แตะและอาจจะไม่กล้าแตะ เพราะยังเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมซึ่งมีพระสังฆราชเป็นประธานฯจัดการกับวัดพระธรรมกายอยู่)

8.ปัญหาใหญ่ก็คือ ข้อเรียกร้องของอ.สุรพศให้ “พระธรรมวินัย” เข้ามาจัดการกับสงฆ์จะเป็นไปได้ (หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาของคนไม่มีศาสนาแบบผู้เขียน เพราะสุดท้ายแล้ว ชาวพุทธก็ต้องเป็นคนออกแบบกันเองว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยไม่ให้รัฐมายุ่ง) ก็ต่อเมื่อเราปลดล็อคปัญหา secularism ให้ได้เสียก่อนต่างหาก – เพราะสุดท้ายแล้ว สังคมที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐจะเจอสภาพ “หนีเสือปะจระเข้” คือ พยายามจัดระเบียบให้พระและศาสนิกชนเข้าที่เข้าทางโดยไม่ได้ใช้ศรัทธาหรือความยินยอม แต่ใช้อำนาจรัฐและการบังคับแบบที่อ.สุรพศเสนอ -- ตราบใดที่ยังแยกรัฐออกจากศาสนาไม่ได้ ตราบใดที่องค์กรสงฆ์พึ่งพิงเงินปีละหลายพันล้านจากเงินงบประมาณ ตราบใดที่มหาเถรสมาคมผูกขาดการตัดสินถูกผิดไว้ที่ตัวเอง ฯลฯ ข้อเรียกร้องของอ.สุรพศจะไม่มีความหมายตั้งแต่แรก – ยิ่งดึงดันให้มหาเถรสมาคมไปจับผิด/ผูกขาด/จัดการกับ “พวกนอกรีต” มากเท่าไร ยิ่งสถาบันศาสนาเกาะติด/อ้างอิงอำนาจตัวเองกับรัฐ สถาบันทางศาสนา (รวมถึงคำสอน) ยิ่งจะโดดเดี่ยวและห่างไหลจากความสามารถในการปรับตัวอยู่ร่วมกับโลกประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที – สุดท้ายจะกลายเป็นส่วนหนึ่ง/ซากเดนของสังคมเก่าแบบเดียวกับสถาบันจารีตนิยมทั้งหลายที่รอวันผุพังไป

9.ข้อเสนอเกี่ยวกับสถานะที่เหมาะสมของสถาบันศาสนาในสังคมประชาธิปไตยในที่นี้ก็คือ การที่พุทธศาสนาจะอยู่ร่วมกับสังคมประชาธิปไตยได้ ก็ต่อเมื่อพุทธศาสนายอมรับว่าตัวเองเป็นเพียง “ความเชื่อ” แบบหนึ่งในสังคมที่วิจารณ์ได้ โต้แย้งได้ ไม่เชื่อก็ได้ มีได้หลายนิกายที่หลากหลาย การยอมรับว่าตัวเองเป็นความเชื่อคือการปฏิเสธการอ้างว่ามีพุทธแบบเดียว/สัจธรรม/วิทยาศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด (ซึ่งต้องทำก่อนอื่น) คือ รัฐจะต้องแปรรูปกิจการพุทธศาสนาทั้งหมดให้เป็นของเอกชน (privatization) คือ รัฐต้องไม่ให้เงินกับวัดและสถาบันทางศาสนา สถาบันศาสนาและคำสอนของศาสนาควรยอมรับว่า ศาสนาของตนจะอยู่ได้ในสังคมประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อคำสอนของตนเองเป็นสิ่งที่ทนต่อการพิสูจน์ได้อย่างไม่มีการบังคับ แต่ต้องขึ้นกับศรัทธาของศาสนิกชนเองที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อ จะสนับสนุนทั้งด้านการเงินและทรัพยากรแก่สถาบันเหล่านั้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าศาสนิกชนเห็นว่ามีประโยชน์ก็ให้การสนับสนุน แต่หากไม่มีประโยชน์ก็เลิกสนับสนุน ไม่ต่างจากคนไปซื้อขายของในตลาดที่มีสินค้ามากมายให้เลือก – หากไม่ปล่อยให้สถาบันศาสนาเป็นเอกชน จำนวนวัดและจำนวนนักบวชในประเทศไทยในฐานะที่เป็น supply ในระบบตลาดจะไม่สะท้อนศรัทธาในฐานะที่เป็น demand จริงของคนในสังคมไทย เพราะรัฐเอาเงินภาษีมหาศาลมาเป็นตัวกระตุ้นการสร้างศรัทธาซึ่งไม่มีอยู่จริง – พูดง่ายๆก็คือ หากวัด (บรรษัท) ไหนไม่สามารถผลิตศรัทธา (สินค้า) ที่ดึงดูดศาสนิกชน (ลูกค้า) ได้ วัดนั้นก็อาจต้องลดขนาดลงหรือปิดตัวเองไป หากวัดไหนสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่า ก็จะอยู่ได้

10.ข้อเสนอเรื่อง privatization ข้างต้นนี้ไม่ได้แย้งกับ “สิ่งที่เป็นอยู่แล้ว” แต่แค่อยากให้ “ยอมรับความจริง” (realistic) กว่านี้ว่า วัดทุกวัด องค์กรศาสนาทุกองค์กรทำงาน/หากินไม่ต่างกับองค์กรธุรกิจทั่วไป มีขายเครื่องราง หนังสือ คำสอน สร้างแบรนด์โดยการโฆษณา จัดคอนเสิร์ต สะเดาะเคราะห์แก้กรรม ดูดวง ฯลฯ เพื่อหาเงินหาความศรัทธาเข้าวัด – นี่คือสิ่งที่ใครๆก็เห็น แต่ปัญหาคือสิ่งที่เป็นอยู่ดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องกับ “สถานะที่เป็นทางการ” ขององค์กรศาสนาที่อ้างพระธรรมวินัย (และความเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้) – เราวิจารณ์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่าอาศัยสถานะแบบก้ำกึ่งคือทำมาหากินแบบเอกชน/ธุรกิจ (ไม่เสียภาษี) แต่อ้างตัวว่าเป็นองค์กรรัฐ (แถมอ้างระบบบุญคุณด้วย) สถาบันศาสนาในบ้านเราก็สภาพไม่ต่างกัน – ถ้าอยากให้สถาบันศาสนา (เช่นเดียวกับสถาบันกษัตริย์) อยู่ในสถานะที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ต้องรีบรื้อกลไกที่ปกป้องคุ้มครองสถานะพิเศษของสถาบันศาสนาให้หมด นั่นคือสถานะที่ได้รับการปกป้องพิเศษจากรัฐผ่านมหาเถรสมาคมและเงินงบประมาณหลายพันล้านบาทต่อปีให้ได้เสียก่อน และต้องเก็บภาษีจากวัดและพระ พร้อมๆกับที่ชาวพุทธต้องไปคิดกัน (เอง) ว่าจะดูแลศาสนาของท่านทั้งหลายอย่างไร ซึ่งนั่นเลยพ้นความสนใจของคนไม่มีศาสนาแบบผู้เขียนไปแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายประชาชนผู้ต้องการใช้ 3G บุกให้กำลังใจ กสทช. เดินหน้าประมูล 3G

Posted: 31 Aug 2012 06:40 AM PDT

เช้าวันนี้ (วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2555) เครือข่ายประชาชนผู้ต้องการใช้ 3G ประมาณ 300 คน เดินทางมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อขอเข้าพบ กสทช. และแสดงจุดยืนสนับสนุนให้เกิดการประมูล 3G ในประเทศไทย และให้การสนับสนุน กสทช. ในการจัดประมูล 3G เพื่อให้สามารถนำคลื่น 2.1 GHz ที่มีอยู่มาให้บริการประชาชนให้เป็นผลสำเร็จ
 
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า ตนเองพร้อมด้วย รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร กสทช. ได้ลงมารับฟังแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนผู้ต้องการใช้ 3G ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มประชาชนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ และภาคตะวันออก ที่มาให้กำลังใจให้ กสทช. ให้เดินหน้าประมูล 3G เพื่อพัฒนาด้านการสื่อสารของประเทศให้มีความก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืน ให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน
 
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ กล่าวว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การประมูล 3G ของ กสทช. มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อนำคลื่นมาให้บริการประชาชนให้เป็นผลสำเร็จ โดยจำนวนคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถถือครองได้ (Spectrum Cap) คือ 15 MHz และมีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 สล็อตสล็อตละ 5 MHz โดยมีราคาประมูลตั้งต้นอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ต่อ 5 MHz ซึ่งเป็นราคาที่สูงเมื่อเทียบกับการประมูล 3G ของประเทศต่างๆ ในโลก เป็นราคาที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดการขยายบริการให้ประชาชนได้ และนำมาซึ่งการแข่งขันทางการตลาด ทั้งยังส่งผลดีต่ออัตราค่าบริการที่จะไม่สูงเกินจริง ขณะนี้ประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว ขณะเดียวกันทางสำนักงาน กสทช. เองก็ได้มีการประกาศเชิญชวนขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สากลย่าน 2.1 GHz บนเว็บไซต์สำนักงานแล้ว
 
ประธาน กทค. กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังให้สำนักงาน กสทช. ศึกษาความเป็นไปได้ในการจะใช้สำนักงาน กสทช. เป็นสถานที่ในการจัดประมูล โดย กทค. เองเห็นว่าสำนักงานเป็นสถานที่ที่มีเกียรติ สามารถควบคุมความปลอดภัยได้เพราะเป็นสถานที่ของตัวเอง อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณ รวมถึงมีการพิจารณาเรื่องโลจิสติกส์ และได้หารือที่ปรึกษาการประมูลด้วย ซึ่งคาดว่าประมาณสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุป
 
สำหรับกรณีที่มีหลายฝ่ายมีการให้ความคิดเห็นที่รุนแรงเกี่ยวกับเรื่องราคาตั้งต้นประมูลนั้น กสทช. เองได้พยายามทำความเข้าใจและอธิบายถึงที่มาของราคาดังกล่าวว่าได้มาจากการศึกษาวิจัย และใช้หลักการทางเศรษฐมิติมาประกอบ มีการศึกษามาอย่างรอบคอบ โดยนำฐานมาจากข้อมูลในอดีตทั้งหมด รวมถึงประสบการณ์จากต่างประเทศ โดยปัจจัยในเรื่องราคาต้องนำประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนมาพิจารณาทั้ง 2 ด้าน จากผลการศึกษาพบว่าการตั้งราคาจะมีผลต่อความสำเร็จของการประมูล ซึ่งเมื่อได้มีการพูดคุยกัน นักวิชาการหลายท่านก็เข้าใจ ในส่วนกรณีของการฟ้องร้องนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทาง กสทช. เองได้ดูเรื่องจุดอ่อนทางด้านกฎหมาย โดย กสทช. ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ จะเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
 
พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ ย้ำว่า กสทช. มุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้การประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ให้ประชาชนได้ใช้บริการที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เราจะทำหน้าที่อย่างที่เพื่อประโยชนของประเทศชาติ และประชาชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป่วนกว่า 100 จุด ปักธงมาเลเซียทั่วชายแดนใต้ฉลอง "วันประกาศเอกราช" เบอร์ซาตูปัด "ไม่เกี่ยว"

Posted: 31 Aug 2012 05:15 AM PDT

ชายแดนใต้ป่วน ขบวนการวางระเบิดปลอม ปูพรมติดธงชาติมาเลย์ทั่วพื้นที่ใน "วันประกาศเอกราช" (Hari Merdeka) ของมาเลเซีย กอ.รมน. สรุปป่วน 102 จุด ทหารรื้อถอนธงโดนบึ้มเจ็บ 6 นาย ชี้หวังสร้างความแตกแยกระหว่างไทยกับมาเลเซีย ดร.วันกาเดร์ ปฏิเสธ "เบอร์ซาตูไม่เกี่ยวข้อง" 
 
 
ธงชาติมาเลเซียที่ถูกปักไว้ตามริมถนนใน อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ซึ่งตรงกับวันประกาศเอกราชของประเทศมาเลเซีย (ภาพ : DSJ)
 
วันที่ 31 สิงหาคม 2555 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ในฐานะรองโฆษกเปิดเผยว่าในช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาวันชาติของมาเลเซียได้เกิดเหตุการณ์ก่อกวน การวางวัตถุต้องสงสัย เผาทำลายธงชาติไทยและการติดธงชาติมาเลเซียในหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจ.สงขลา 
 
ทั้งนี้ แยกเป็นพื้นที่ยะลา 34 จุด นราธิวาส 44 จุด ปัตตานี 12 จุด และสงขลา 12 จุด รวมทั้งสิ้น 102 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะก่อกวน มีการลอบวางระเบิดจริง 5 จุดในพื้นที่ อ.เมือง อ.ระแงะ อ.จะแนะ อ.บาเจาะ และ อ.สุไหงปาดี ใน จ.นราธิวาส ระเบิดผูกไว้กับธงชาติมาเลเซียที่ติดไว้ในที่ต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปรื้อถอนบาดเจ็บรวม 6 นาย เป็นทหารนาวิกโยธิน 3 นาย ทหารพรานอีก 3 นาย 
 
"จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการให้เป็นภาพข่าวเผยแพร่สาธารณะ โดยเลือกวันที่เป็นวันเชิงสัญลักษณ์ คือวันที่ 31 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันประกาศเอกราชของประเทศมาเลเซีย รวมทั้งเป็นวันครบรอบการจัดตั้งขบวนการเบอร์ซาตู ทั้งนี้เพื่อต้องการกระตุ้นจิตใจของแนวร่วมในการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ สำหรับการเผาทำลายธงชาติไทย และติดธงมาเลเซีย นั้นกลุ่มคนร้ายต้องการสร้างความเกลียดชังระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ให้หวาดระแวงซึ่งกันและกัน ซึ่งถือว่าเป็นการแสวงประโยชน์จากความรุนแรงที่กลุ่มผู้ก่อเหตุสร้างขึ้นแล้วต้องการโยนความผิดให้กับประเทศเพื่อนบ้าน” พ.อ. ปราโมทย์กล่าว 
 
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดในบางพื้นที่พบว่ากลุ่มที่ก่อเหตุเป็นวัยรุ่นกระจายกำลังแบ่งการทำงานจุดละ 2 คน โดยการนำธงชาติมาเลเซียและวัตถุต้องสงสัยมาวางไว้ช่วงเวลา 03.00 น. ก่อนจะหลบหนีไป
 
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์รายงานว่าในพื้นที่ จ.ยะลามีการติดป้ายล้อเลียนทหารหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด เช่น "ยินดีต้อนรับหน่วยเก็บกู้ระเบิด จีที200 ไม่มีแล้วพึ่งอะไรได้บ้าง EOD งานเข้า"
 
ทั้งนี้ วันที่ 31 สิงหาคมเป็น "วันประกาศเอกราช" (Hari Merdeka) ซึ่งเป็นวันสำคัญของประเทศมาเลเซีย มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันนี้ในปี ค.ศ. 1957 
 
ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมาน อดีตประธานกลุ่มเบอร์ซาตูซึ่งเป็นองค์กรร่มของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ กล่าวกับ DSJ ว่า "วันนี้เป็นวันสถาปนาเบอร์ซาตูจริง แต่ว่าเบอร์ซาตูไม่ได้เกี่ยวข้อง ถ้าเกี่ยวข้อง ผมต้องรู้บ้าง" 
 
ดร.วันกาเดร์ขณะนี้พำนักอยู่นอกประเทศไทย เขาไม่ระบุว่ากลุ่มเบอร์ซาตูยังคงเคลื่อนไหวหรือยุติบทบาทแล้ว แต่ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นประธานแล้ว
 
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติลงพื้นที่ในวันรุ่งขึ้น (1 กันยายน 2555) หลังได้รับทราบการก่อเหตุดังกล่าว 
 
 
 

จี้รัฐเร่งรับรอง ILO 87-98 ชี้ลดกีดกันการค้า สร้างความเป็นธรรมสังคม

Posted: 31 Aug 2012 04:45 AM PDT

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ร่วมกับสหภาพแรงงานไทย จัดการประชุมการให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต กรุงเทพ

โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการปกป้องสิทธิในการจัดตั้ง และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งและการเจรจาต่อรองร่วม เป็นอนุสัญญาพื้นฐานที่จะเป็นหลักประกันสิทธิแรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งประเทศไทยที่เป็นสมาชิกเริ่มแรกของ ILO ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

ที่ผ่านมา ไอ แอล โอ และองค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศไทยได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นของอนุสัญญาในกลุ่มแรงงาน ข้าราชการ สมาชิกรัฐสภาและสื่อมวลชนว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยลดปัญหาเรื่องแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน การพัฒนาสิทธิแรงงานให้ดีขึ้นเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การเติบโตของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การให้สัตยาบันยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งหลายประเทศใช้มาตรฐานแรงงานเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า และในระยะยาว การให้สัตยาบันจะช่วยสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม แบ่งบันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และลดช่องว่างทางรายได้

แต่แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้มีการรับรองอนุสัญญา 2 ฉบับดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2535 และมีการตั้งคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 จนคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 แต่ก็ต้องถอนเรื่องออกในเวลาต่อมาเพื่อรอความชัดเจนของการออกกฎหมายรองว่าจะต้องให้รัฐสภาเห็นชอบตามมาตรา 190 หรือไม่ อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานฯ ในยุคของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ดำเนินการจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง โดยสิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะเสนอให้ ครม.ดำเนินการต่อไป

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนในระยะต่อไปเพื่อผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับว่า ประกอบด้วย การสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อขององค์กรแรงงาน การรณรงค์ ให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับคนงานในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ทุกภูมิภาค การประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และองค์กรแรงงานในระดับสากล การประสานติดตามกับภาครัฐ ทั้งราชการและฝ่ายการเมือง รวมทั้งภาคเอกชนและการเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ไอ แอล โอ ฉบับที่ 87และ 98 ต่อไป

ที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์ด้านการรวมตัวของขบวนการแรงงานไทยยังพบปัญหาดังนี้
1) เสรีภาพการรวมตัวถูกจำกัด นายจ้างมักจะไล่ออกผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน มีการกลั่นแกล้งกรรมการสหภาพแรงงาน บทลงโทษนายจ้างกรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ทำให้นายจ้างต้องเคารพสิทธิแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีจำนวนน้อย

2) กลไกรัฐและกฎหมายขาดการส่งเสริมการรวมตัวของแรงงาน การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน การจัดทำข้อบังคับ/การประชุมใหญ่อยู่ในกรอบที่รัฐกำหนด รัฐมีอำนาจตรวจสอบสำนักงานสหภาพแรงงาน ปลดกรรมการสหภาพแรงงาน และยุบเลิกสหภาพแรงงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจห้ามหยุดงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มวิชาชีพ

3) การแบ่งแยกแรงงานภาครัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานภาคเอกชน จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ทำให้แรงงานภาคเอกชนมีอำนาจต่อรองลดลง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีจำนวนน้อย มุ่งเน้นการทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเนื่องจากค่าจ้างแรงงานต่ำและสวัสดิการต่ำ

4) กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและกลไกศาลแรงงานขาดประสิทธิภาพ กรอบคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานหรือคดีแรงงานขาดหลักประกันในสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ศาลแรงงานมีหน้าที่หาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายหรือแก้ไขปัญหา มิใช่ไกล่เกลี่ยโดยไม่คำนึงข้อเท็จจริง และประนีประนอมเพื่อลดภาระคดีในทางศาล

5) การจ้างบริษัทเหมาช่วงแรงงาน นายจ้างต้องการกำกับควบคุมแรงงาน ในมิติจำนวนแรงงานที่ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ความพยายามหลีกเลี่ยงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือลดจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน
ดังนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 จึงเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

ข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ประกอบด้วย
1. เป็นการช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ปัจจุบันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ เมื่อลูกจ้างและนายจ้างเกิดความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มจะขยายเป็นความรุนแรงได้ง่าย การให้สัตยาบันจะทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่แท้จริง

2. การให้สัตยาบัน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ

2.1. ปรับสถานะประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างไปทั่วโลก

2.2. เป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า

3. การให้สัตยาบัน จะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม และแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่

3.1. การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เช่น ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานภาคเอกชนกับสหภาพแรงงานภาครัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมเป็นองค์กรเดียวกันได้

3.2. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากนายจ้าง เช่น คนงานที่ริเริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเจรจาต่อรองต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้างและการปิดงานเฉพาะกลุ่ม

3.3. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การสั่งให้กรรมการสหภาพออกจากตำแหน่ง การบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างที่จัดตั้งองค์กรต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับให้ที่ปรึกษาของนายจ้างและลูกจ้างต้องจดทะเบียนกับทางการ

4. การให้สัตยาบัน ในระยะยาว จะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน

5. การทำให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังในประเทศไทย ย่อมเกิดผลดีต่อทั้งคนทำงานและนายจ้าง ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนกระตุ้นให้ผลิตภาพขยายตัวในที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ดังนั้นเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คนทำงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ ลูกจ้างเอกชน แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงานทุกคนในประเทศไทย

 


ที่มา: นักสื่อสารแรงงาน เว็บไซต์วอยซ์เลเบอร์ 1, 2

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อปท.กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุ รูปธรรมจาก อบต.ดอนแก้ว เชียงใหม่

Posted: 31 Aug 2012 04:28 AM PDT

รายงานจาก HSRI FORUM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 ว่าด้วยบทบาทของ อปท.ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุในชุมชน จากกรณีศึกษา อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่

 

 

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2554 ประชากรไทยทั้งประเทศมีจำนวนประมาณ 64 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)ประมาณ 8 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก็อาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและนำไปสู่ความพิการได้ 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็มีผู้พิการทุกประเภทรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 1.3 ล้านคน) ซึ่งคนพิการเหล่านี้แม้ว่าในปัจจุบันจะมีหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพ การส่งเสริมอาชีพแล้วก็ตาม แต่ภาระในการดูแลคนพิการเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังตกอยู่กับครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดูแลส่งเสริมผู้พิการและผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ดังเช่นที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 
 
นพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลในตำบล พบว่าผู้พิการและผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีฐานะยากจน บ้านเรือนมีสภาพทรุดโทรมผุพัง บางครอบครัวต้องออกไปทำงานนอกบ้านจึงต้องปล่อยให้ผู้พิการอยู่บ้านตามลำพัง ขณะเดียวกันครอบครัวก็ไม่มีความรู้ในการดูแลผู้พิการ ทำให้ผู้พิการใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดคนดูแล บ้างก็ถูกทอดทิ้ง 
 
ตนในฐานะที่เป็นนายกฯ อบต.จึงต้องให้ความช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม และเมื่อ อบต.ดอนแก้วรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยมาบริหารจัดการในปี 2551 แล้ว อบต.ดอนแก้วจึงได้ออก ‘ข้อบัญญัติเรื่องการดูแลช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุ’ ขึ้นมา เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร อบต.ในอนาคต แต่ข้อบัญญัติของ อบต.เรื่องการช่วยเหลือผู้พิการฯ ก็จะคงอยู่ และผู้บริหารชุดใหม่ก็จะต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัตินั้น
 
สาระสำคัญของข้อบัญญัติเรื่องการดูแลช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุของ อบต.ดอนแก้วก็คือ การจัดให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้พิการฯ ทั้งเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ความรู้ การให้กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ การซ่อมแซมบ้านเรือนให้เหมาะสมแก่สภาพของคนพิการและผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้ไม่ได้กำหนดเอาไว้ตายตัวว่าแต่ละปี อบต.จะสมทบงบประมาณจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับแผนงานและความต้องการของผู้พิการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ที่ใจบุญร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนนี้ด้วย
 
“เราจะมีการสำรวจและสอบถามความต้องการของผู้พิการก่อนว่า มีความต้องการหรืออยากจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องใด เราจะไม่ไปยัดเยียดให้เขา บางคนอยากจะทำอาหารขาย หรืออยากจะเย็บผ้าเพื่อหารายได้ อบต.ก็จะหาคนมาสอน แล้วให้กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ รายละไม่เกิน 10,000 บาท บางคนก่อนจะพิการมีความรู้เรื่องการซ่อมคอมพิวเตอร์มาก่อน เราก็ให้ยืมเงินไปเปิดร้านซ่อมคอมฯ ซึ่งที่ผ่านมา อบต.ได้ให้คนพิการกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพแล้ว กว่า 10 ราย” นพดล ณ เชียงใหม่ นายก อบต.ดอนแก้ว ยกตัวอย่างความช่วยเหลือ
 
นอกจากนี้ อบต.ดอนแก้วยังได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุ’ ขึ้นมา โดยใช้สถานที่ของสำนักสงฆ์ในตำบลเป็นที่ทำการ มีการทำกายภาพ บำบัดให้แก่คนพิการและผู้สูงอายุโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้วัสดุในท้องถิ่นมาทำเป็นอุปกรณ์ในการออกกำลังกล้ามเนื้อและทำกายภาพบำบัด การนวดแผนไทยกิจกรรมการฝึกอบรมอาชีพให้แก่คนพิการทางปัญญา เช่น การเย็บตุ๊กตาดับกลิ่น ฯลฯ 
 
กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในตำบลดอนแก้วก็คือ การเปิดรับอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือดูแลคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีอาสาสมัครในตำบลดอนแก้วประมาณ 30 คน อาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ในการดูแลคนพิการและผู้สูงอายุ จากนั้นอาสาสมัครก็จะออกไปเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 2 วัน ช่วยสอนญาติหรือคนในครอบครัวให้ดูแลคนพิการอย่างถูกต้อง และช่วยนำคนพิการออกมาทำกายภายบำบัด มาร่วมกิจกรรมสันทนาการที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ เพื่อให้คลายเหงา หรือช่วยฟื้นฟูจิตใจให้แจ่มใส ไม่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน
 
ส่วนการช่วยซ่อมแซมหรือปรับปรุงบ้านเรือนให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุนั้น นายก อบต.ดอนแก้วบอกว่า จะมีทีมงานของ อบต.ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อสม. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างออกไปสำรวจสภาพบ้านเรือน ดูสภาพความเป็นอยู่ ความเดือดร้อนของผู้พิการและผู้สูงอายุ และตรวจดูบริเวณพื้นที่ที่อาจจะเกิดอันตราย เช่น ในห้องน้ำ เพราะหากพื้นห้องน้ำลื่น ผู้สูงอายุก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้และเสี่ยงต่อความพิการที่จะเกิดขึ้นตามมา 
 
จากนั้นจึงจะให้ช่างและชาวบ้านช่วยกันลงแรงปรับปรุงซ่อมแซมสภาพบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ตรงกับความต้องการของคนพิการและครอบครัว เช่น คนพิการที่ใช้รถเข็นอาจมีการจัดทำทางลาดภายในบริเวณบ้านเพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวก ทำประตูห้องน้ำให้กว้างเพื่อให้รถเข็นเข้าไปได้ ทำราวพยุงตัว ปูพื้นห้องน้ำเพื่อกันลื่น ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา อบต.ได้ช่วยปรับปรุงซ่อมแซมบ้านคนพิการและผู้สูงอายุไปแล้วจำนวน 10 หลัง 
นอกจากนี้ในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด สุสาน ก็ได้จัดทำห้องน้ำสำหรับคนพิการ เพื่อให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้ เพราะคนพิการส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย และห้องน้ำสาธารณะที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเผื่อคนพิการ เช่น ประตูห้องน้ำแคบรถเข็นเข้าไม่ได้ ไม่มีราวจับช่วยพยุงตัว 
 
ส่วนการดูแลผู้สูงอายุนั้น อบต.ได้ส่งอาสาสมัครไปเยี่ยมผู้สูงอายุสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพ เช่น ไม่ควรกินอาหารรสเค็ม อาหารหวานมันมากเกินไป ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ แล้วชวนผู้สูงอายุมาออกกำลังกายทุกวันอังคารและพฤหัส เป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง เพราะหากผู้สูงอายุเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็มีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการที่จะตามมา 
 
ปัจจุบันในตำบลดอนแก้วมีผู้พิการทุกประเภทรวมกันประมาณ 130 คน ซึ่งนายก อบต.ดอนแก้วบอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่นานจำนวนคนพิการทั้งตำบลมีอยู่ประมาณ 70 คนเท่านั้น แต่เมื่อ อบต.ดอนแก้วได้ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จึงทำให้คนพิการจากนอกตำบลย้ายเข้ามาอยู่ที่ดอนแก้วเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากการฟื้นฟูสมรรถภาพและการช่วยเหลือผู้พิการดังกล่าวแล้ว นายก อบต.ดอนแก้วได้กล่าวถึงแผนงานสำคัญในการป้องกันไม่ให้มีผู้พิการเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อบต.ดอนแก้วมี ‘ศูนย์พัฒนาครอบครัว’ อยู่แล้ว ดังนั้นตนจึงมีเป้าหมายที่จะใช้ศูนย์พัฒนาครอบครัวเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้แก่หนุ่มสาวในตำบลที่กำลังจะมีครอบครัวหรืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีครอบครัว เพราะหากมีการตั้งครรภ์ในสภาวะที่ไม่พร้อม เช่น แม่ยังเป็นวัยรุ่น หรือมีโรคประจำตัว บุตรที่คลอดออกมาก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะพิการ
 
“เรามีแผนงานที่จะส่งเจ้าหน้าที่อนามัยของเราไปฝึกอบรม หรือร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจัดเก็บข้อมูลคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ในตำบลย้อนหลังไปถึงครอบครัวว่า ครอบครัวใดเคยมีใครเจ็บป่วยด้วยโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรมบ้าง หรือเคยเป็นโรคที่อาจจะทำให้เกิดความพิการได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางสายตา เพื่อให้ความรู้แก่คนที่กำลังจะมีครอบครัว จะได้หาทางป้องกันไม่ให้ตนเองและครอบครัวเป็นโรคต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อความพิการที่จะตามมา” นายก อบต.ดอนแก้วกล่าวถึงแผนงานเชิงรุกที่จะดำเนินการต่อไป
 
นี่คือบทบาทของ อบต.ยุคใหม่ ซึ่งไม่ได้ทำงานเฉพาะการบริการสาธารณูป โภคพื้นฐานแบบ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” อีกต่อไป แต่หลายๆ แห่งได้เป็นแบบอย่างในการขยายบริการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาสมรรถภาพของผู้พิการและผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 
ดาวน์โหลด HSRI FORUM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 ได้ที่
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: เส้นทางเอกราชอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์

Posted: 31 Aug 2012 12:19 AM PDT

คลิกที่นี่เพื่อรับชมแบบ HD

ASEAN Weekly สัปดาห์นี้ เริ่มต้นด้วยเรื่องพิพาทเขตแดนทางทะเลระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เกาะทาเคชิมา หรือด็อกโด ซึ่งญี่ปุ่นประท้วงเกาหลีใต้หลังประธานาธิบดีลี เมียง บักเดินทางไปเยือนเกาะพิพาท ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้กำลังใกล้เข้ามา ขณะเดียวกันนักกิจกรรมชาตินิยมจากญี่ปุ่นก็เข้าไปปักธงที่หมู่เกาะเซ็นกากุ หรือหมู่เกาะเตียวหยู ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นอย่างหนักทั่วประเทศจีน 

ขณะเดียวกันทางการพม่ายกเลิกระบบการตรวจเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ก่อนวางจำหน่ายแล้ว โดยหลังจากนี้สื่อท้องถิ่นสามารถตีพิมพ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากกองเซ็นเซอร์ของรัฐบาลอีก นับเป็นการสิ้นสุดระบบเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ที่ดำเนินมากว่า 48 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 นอกจากนี้ติดตามบรรยากาศฉลองวันอีด หรือวันฮารีรายา อันเป็นการฉลองสิ้นสุดการถือศีลอดของชาวมุสลิม โดยที่มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก ได้เปิดบ้านให้ประชาชนนับหมื่นคนร่วมอวยพรและฉลองในวันสำคัญของชาวมุสลิมนี้ด้วย

ส่วนช่วงที่สองของรายการ ASEAN Weekly ติดตามบรรยากาศพาเหรดฉลองวันชาติสิงคโปร์ปีที่ 47 เมื่อ 9 ส.ค. และสุนทรพจน์ประจำปีจากนายกรัฐมนตรีชักชวนให้เพิ่มจำนวนประชากร ขณะที่โฆษณาลูกอมยี่ห้อดังก็ออกสปอตโฆษณาเหมือนขานรับนโยบายนี้ด้วยการชักชวนคนสิงคโปร์เพิ่มจำนวนประชากรในช่วงวันชาติ

นอกจากนี้ ASEAN Weekly สัปดาห์นี้จะพาไปค้นหาคำตอบว่ามีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทยอยได้รับเอกราชภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และทบทวนเส้นทางการได้เอกราชของหลายหลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีวันชาติตรงกับเดือนสิงหาคมนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งประกาศเอกราชในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เพียง 2 วันหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเลเซีย ซึ่งได้รับเอกราชในวันนี้เมื่อ 65 ปีที่แล้วหรือเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 และสิงคโปร์ซึ่งแยกออกจากมาเลเซียในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965

โดยช่วงหนึ่ง ดุลยภาค ปรีชารัชช พิธีกรรายการ นำเสนอว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวิวัฒนาการของการได้รับเอกราชเนิ่นนาน แต่ไม่ใช่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดแล้วจะได้รับเอกราชทั้งหมด แต่ทยอยได้รับเอกราชหลายชาติมาจนถึงปี ค.ศ. 1965 และล่าสุดไม่นานนี้คือติมอร์ตะวันออก ทั้งนี้การแบ่งแยกดินแดน การสร้างรัฐ สร้างชาติจะยังคงเกิดขึ้นเสมอ ประเทศที่ได้รับเอกราชอยู่แล้ว ยังอยู่ในภาวะสร้างรัฐ สร้างชาติ บางประเทศเป็นรัฐชาติ บางประเทศก็ยังเป็นรัฐเฉยๆ บ้างมีแต่ชาติ ไม่มีรัฐ ประเทศไทยแม้จะไม่เคยตกเป็นอาณานิคม มีเอกภาพตามสมควร แต่สภาพการเมืองปัจจุบันก็อาจจะต้องทบทวนภาวะของความเป็นรัฐและความเป็นชาติของตนเช่นกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“เชษฐา กังนัมลีลา” : ว่าด้วยเรื่องของ “เพลงขยะที่ก๊อปปี้ชาวบ้านมา”

Posted: 30 Aug 2012 11:52 PM PDT

“เชษฐา กังนัมลีลา” [1] : ว่าด้วยเรื่องของ “เพลงขยะที่ก๊อปปี้ชาวบ้านมา”

ณ เวลานี้ ผู้คนที่ติดตาม “วัฒนธรรมป๊อป” อยู่บ้างก็คงไม่มีใครรู้จักเพลง Gangnam Style ของนักร้องชายเกาหลีร่างท้วมนามว่า PSY [2] และก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธได้กับความโด่งดังไปทั้งบ้านทั้งเมืองของเพลงนี้ที่มีคลิป “ล้อเลียน” ออกมาสารพัดจากนานาประเทศ (ซึ่งก็มีหลายคลิปมาจากไทย) มีการเปิดกันทั่วทุกหัวระแหง หรือกระทั่งมันก็ไปปรากฎในรายการเล่าข่าวชื่อดังของคุณสรยุทธไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่เพลงนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากสรรพสิ่งใดๆ ในโลกที่มีคนรักก็ย่อมมีคนชัง นักวิจารณ์ดนตรีและดีเจผู้คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีนอกกระแสไทยมานานอย่างคุณ “ซี๊ด” นรเศรษฐ หมัดคง ก็ได้แสดงท่าทีในทางลบต่อเพลงนี้มากโดยกล่าวอ้างว่าเพลงนี้เป็นการ “ลอก” บทเพลงของวงดนตรีเต้นรำจากโลกตะวันตกมา ซึ่งการลอกดังกล่าวทำให้เพลงนี้เป็น “เพลงขยะ” ที่ส่งผลให้ผู้ฟังเป็น “คนเห่ย ไร้รสนิยม” คุณนรเศรษฐแสดงความเห็นนี้บนหน้าเฟซบุ๊คของตนเองซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ (public) และก็มีคนถูกอกถูกใจมากมาย แต่ไม่นานนักด้วยความเป็น “สาธารณะ” ของข้อเขียนนี้ ก็ทำให้มีผู้ไม่เห็นด้วยกับคุณนรเศรษฐเข้ามาโต้เถียงมากมาย และก็มีฝ่ายที่เห็นด้วยกับคุณนรเศรษฐช่วยคุณนรเศรษฐแย้งบ้างประปราย [3]

เท่าที่ผู้เขียนอ่านดู ผู้เขียนในฐานะของผู้ที่เคยศึกษางานวิชาการด้านดนตรีหนึ่งเห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจโดยเฉพาะข้อเสนอของคุณนรเศรษฐที่เป็นการเสนอในเรื่องใหญ่มากๆ ทุกประเด็นต้องการการอภิปรายอย่างจริงจังเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโลกวิชาการด้านดนตรีสมัยนิยม (popular music) ของผู้คน ผู้เขียนจึงอยากจะหยิบมาอภิปรายในบทความนี้

ผู้เขียนอยากจะเริ่มจากข้อสรุปข้อเสนอจากปากคำของคุณนรเศรษฐเองก่อนที่คุณนรเศรษฐสรุปเองสองครั้งว่า

“ประเด็นที่ผมต้องการสื่อ คือ เพลงขยะนี้มันก๊อปปี้ ชาวบ้านมา เพราะฉะนั้น มันคือเพลงขยะที่ไม่ควร สนับสนุนหรือฟังกัน”

และ

“ ประเด็นของผมคือ ‘เพลงขยะที่ก๊อปปี้ เพลงชาวบ้านเพลงนี้ มา มันเห่ย ใครที่ฟังแล้วชอบเพลงนี้ แสดงว่าชอบฟังเพลงเห่ยๆ ไร้รสนิยม’ ”

การกล่าวอ้างนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร และอันที่จริงเป็นการกล่าวอ้างในหลายประเด็นซ้อนกันซึ่งน่าจะแยกได้ดังนี้

  1. อ้างว่าเพลง Gangnam Style คือการ “ลอก” เพลง Sexy and I Know It และ Party Rock Anthem ของ LMFAO
  2. อ้างว่าการ “ลอก” ทำให้ Gangnam Style เป็น “เพลงขยะ”
  3. อ้างว่าการฟัง “เพลงขยะ” เป็นการทำให้ผู้ฟังเป็น “คนเห่ย ไร้รสนิยม”

ทั้งสามประเด็นล้วนเป็นประเด็นทางวิชาการที่ใหญ่ที่เกี่ยวพันกับทั้งประเด็นเรื่องกฎหมาย สุนทรียศาสตร์ ไปจนถึงปรัชญาและทฤษฎีสังคม ผู้เขียนจะขออภิปรายเป็นกรณีๆ ไปดังนี้

จะกล่าวหาว่าก๊อปปี้ต้องมีหลักฐาน จะเป็นนักวิชาการต้องอธิบายข้อเสนอของตนได้

จากการอ่านข้อถกเถียง ผู้เขียนพบว่าในการอภิปรายทั้งหมดไม่มีการยกประเด็นขึ้นมาเลยว่าภายใต้คำ “อธิบาย” แบบใดที่เพลง Gangnum Style จะเป็นเพลงที่เข้าข่าย “ก๊อปปี้” ผู้เขียนเน้นว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องการการ “อธิบาย” เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ฟังแล้วชัดเจนในตัวเองสำหรับทุกคนแน่ๆ เพราะทั้งทางฝั่งคุณนรเศรษฐก็ยืนยันว่านี่เป็นการ “ลอก” โดยไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีก ทางอีกฝั่งในหลายๆ ส่วนก็ยืนยันว่า Gangnam Style เป็นเพลงที่มีแบบฉบับเฉพาะ (originality) ของตนเองที่ไม่ได้ลอกใครมา ซึ่งแน่นอนว่าเถียงกันแบบนี้นอกจากมันจะไม่จบแล้วมันก็ยังไม่ไปไหน

มันจะดีมากถ้าคุณนรเศรษฐสามารถอธิบายให้สมกับที่อ้างตัวเองเป็น “นักวิจารณ์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรี” ที่ “ได้ร่ำเรียนมาทางดนตรี” มาว่าการ “ลอก” ที่ว่าเกิดขึ้นตรงไหนและอย่างไร “ในแง่ของทฤษฎีและวิชาการ” เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีนักวิชาการคนใดในโลกที่จะไม่ต้องพิสูจน์หรืออธิบายในสิ่งที่ตนเสนอ (แต่ถ้าจะเป็นศาสดาหรือประกาศกก็อีกเรื่อง) และถ้าประเด็นเรื่องการ “ลอก” มันเป็นปัญหานัก คุณนรเศรษฐก็น่าจะแสดงภูมิความรู้ในฐานะนักวิชาการออกมาโดยชี้ชัดๆ เลยว่าไลน์เครื่องดนตรีใดในนาทีที่เท่าไรของ Gangnam Style มันไปพ้องกับเพลงของ LMFAO บ้าง และเลือกงานวิชาการมาอ้างเลยเพื่อยันว่าความเหมือนในระดับนี้ถือว่ามี “นัยสำคัญ”

และนี่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องความรับผิดชอบทางวิชาการกับข้อเสนอของตัวเองเท่านั้น แต่นี่ยังดูจะเป็นความรับผิดชอบในบทบาทของ “นักวิจารณ์” โดยทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ เพราะการกล่าวหาว่า “ลอก” ในทางกฎหมายคือการกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งในกรณีนี้ในกฎหมายไทยเป็นความผิดทางอาญาด้วยซ้ำ พูดอีกระดับคือในสายตาของกฎหมายการกล่าวหาว่า “ลอก” หรือกล่าวหาว่า “ฆาตกรรม” มันก็ล้วนเป็นการกล่าวหาว่าผู้อื่นทำผิดทางอาญาเหมือนกัน

แน่นอนว่ากรณีแบบนี้สามารถอ้างว่าเป็น “การวิจารณ์โดยสุจริต” เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเล่นงานด้วยคดีหมิ่นประมาทไม่ได้ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นควรด้วยว่าควรจะอ้างได้ มิเช่นนั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ก็คงจะมีปัญหามากแน่ๆ ในสังคมที่ผู้คนรู้สึกว่าตนอ่อนไหวถูกทำร้ายได้ง่ายเช่นนี้ อย่างไรก็ดีการกล่าวหาว่า “ลอก” ใดๆ ทั้งปวงไม่ว่าจะในกรณีนี้หรือกรณีไหน ก่อนที่เราๆ ท่านๆ จะทำการตัดสิน เราก็ควรจะใช้หลักกฎหมายว่าจำเลยยัง “บริสุทธจนกระทั่งถูกพิสูจน์ว่าผิด” (innocent until proven guilty) ก่อน เพราะการลงทัณฑ์ทางสังคมกับผู้ถูกกล่าวหาว่า “ลอก” โดยไม่พิจารณาหลักฐานให้ถ้วนถี่จากทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยมันก็ดูจะเป็นกระบวนการยุติธรรมแบบดิบๆ ไม่ผิดจากการใช้ศาลเตี้ย

ดังนั้นสำหรับผู้เขียน PSY ก็ยัง “บริสุทธิ์” อยู่เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ว่า “ผิด” อย่างชัดเจน ทั้งนี้ถึงทางคุณนรเศรษฐจะยกความเหมือนกันของเพลงของ PSY กับเพลงของ LMFAO มาให้เห็นชัดๆ ฝ่ายที่แย้งคุณนรเศรษฐก็สามารถจะแย้งในอีกระดับได้อีกว่าสิ่งที่เหมือนกันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “จารีต” ทางดนตรีหรือไม่ เพราะถ้านับว่าเป็นจารีตแล้ว การบอกว่า “ลอก” ก็เป็นเรื่องที่ผิดฝาฝิดตัวเป็นอย่างมาก [4]

… ผู้เขียนไม่อยากจะโทษคุณนรเศรษฐที่ไม่ได้ชี้ประเด็นนี้ให้ชัดหรือกระทั่งโทษผู้ที่มาถกเถียงกับคุณนรเศรษฐที่ไม่จี้ให้คุณนรเศรษฐชี้แจงรายละเอียดการ “ลอก” ผู้เขียนได้แต่เสียดายที่ข้อถกเถียงมันไม่ได้ไปทางนี้ เพราะถ้าไม่ว่ากันในรายละเอียดมันไม่มีทางจะคุยกันรู้เรื่องและประนีประนอมกันได้ ผู้เขียนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาถกเถียงกับคุณนรเศรษฐก็ไม่ได้ต่างไปจากมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่จำนวนมากที่ก็ยังเชื่อแนวคิดเรื่องการ “ลอก” และกฎหมายลิขสิทธิ์บางรูปแบบอยู่ เพียงแต่เส้นแบ่งระหว่างการ “ลอก” กับการ “มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” ของแต่ละคนอาจต่างกัน และถ้าเราไม่คุยกันในรายละเอียดเราก็ไม่สามารถจะไปต่อได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่านี่เป็นเรื่องใหญ่เพราะทรัพย์สินทางปัญญาน่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตทางเศรษฐกิจของสังคมมนุษย์ไปอีกหลายต่อหลายปี และการเลือกที่จะลากเส้นแบ่งว่าตรงไหนคือการ “ลอก” ก็ควรจะมองว่าป็นเรื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่การดำเนินต่างกันมันก็จะสร้างโลกทางศิลปวัฒนธรรมที่ต่างกันไป และผู้คนก็สมควรจะมีสิทธิ์เลือกโลกที่เขาอยากอยู่

ว่าด้วย “เพลงขยะ” ในทางวิชาการและสังคมตะวันตก

เมื่อผู้เขียนอ่านข้อถกเถียงไปเรื่อยๆ ผู้เขียนพบว่าปัญหาที่สำคัญในการที่ผู้คนเข้ามาแย้งคุณนรเศรษฐเกิดจากในส่วนที่คุณนรเศรษฐไปเรียก Gangnam Style ว่า “เพลงขยะ” และซึ่งเท่านั้นยังไม่พอยังไปว่าคนฟังอีกว่าฟังเพลงขยะพวกนี้แล้วเป็น “คนเห่ย ไร้รสนิยม” แน่นอนว่าคนที่ฟังเพลงพวกนี้ก็โกรธแน่ๆ แต่คุณนรเศรษฐก็ยันยันว่า

“ผมแสดงความเห็น...ในฐานะของนักวิจารณ์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรีว่ามันเป็นเพลงที่ทำลายรสนิยมของผู้คน”

“ความรู้ที่ผมได้ร่ำเรียนมาทางดนตรีนั้น มันบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงขยะ”

“ผมมีอาชีพหลักเป็นนักวิจารณ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรี ซึ่งเพลงตามกระแสนั้น มันขัดแย้งกับความเป็นจริงในแง่ของทฤษฎีและวิชาการที่ผมสอนอยู่”

เห็นชัดได้ว่าคุณนรเศรษฐพยายามจะอ้างหลักวิชาการอะไรบางอย่างในการกล่าวอ้างว่าเพลง Gangnam Style เป็นเพลงขยะที่จะส่งผลร้ายกับผู้ฟัง ซึ่งผู้เขียนก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับ “เพลงขยะ” มาพอสมควรและค่อนข้างจะงงงวยกับความสัมพันธ์ระหว่างข้อเสนอและจุดยืนทางวิชาการของคุณนรเศรษฐ และขอชี้แจงเป็นประเด็นย่อยๆ ดังนี้

โดยทั่วไป ไม่มีผู้ศึกษาดนตรีสมัยนิยมในโลกตะวันตกคนไหนจะปฏิเสธ “เพลงขยะ” มีแต่ที่จะพยายามเอา “เพลงขยะ” มาให้เป็นส่วนหนึ่งของโลกวิชาการด้วยซ้ำ

ในโลกตะวันตก เพิ่งจะมีการศึกษา “เพลงขยะ” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เอง ซึ่งที่เรียกว่า “เพลงขยะ” ในที่นี้โดยทั่วไปก็หมายถึงเพลงป๊อปหรือเพลงสมัยนิยม (popular music) ทั้งหมด ต้องเข้าใจก่อนว่าในตอนแรกสาขาวิชาที่ผูกขาดการศึกษาดนตรีในโลกตะวันตกก็ได้แก่ดุริยางคศาสตร์ (musicology) และชาติพันธุ์ดุริยางคศาสตร์ (ethnomusicology) ซึ่งก็มีวัตถุการศึกษาที่ต่างกันไปโดยศาสตร์แรกทำการศึกษาดนตรีคลาสสิคในจารีตแบบยุโรป ส่วนศาสตร์ที่สองทำการศึกษาดนตรีนอกโลกตะวันตกทั้งหมด

การเกิดขึ้นของดนตรีสมัยนิยมในตอนต้นศตวรรษที่ 20 พร้อมๆ กับอุตสาหกรรมดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่วงวิชาการแทบจะไม่ให้ความใส่ใจที่จะศึกษาเลยมากว่าครึ่งศตวรรษ เพราะโดยทั่วไปดุริยางคศาสตร์ก็ไม่ได้มาสนใจ “ดนตรีขยะ” ของมวลชนที่ไม่มีคุณค่าทางศิลปะนี้อยู่แล้วเพราะดนตรีที่มีคุณค่าพอต่อการศึกษามีแต่ดนตรีคลาสสิค ส่วนชาติพันธุ์ดุริยางคศาสตร์ก็มองว่าดนตรีสมัยนิยมที่กำเนิดมาจากอเมริกา (และกระจายไปทั่วโลก) นี้มีลักษณะแบบ “ตะวันตก” มากเกินกว่าที่จะอยู่ในขอบเขตการศึกษา ดนตรีสมัยนิยมจึงไม่ได้รับความสนใจจากโลกวิชาการตะวันตก

กระแสความสนใจเหล่า “ดนตรีขยะ” มาเริ่มปะทุขึ้นเมื่อนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้สถาปนาสาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาขึ้นมาในอังกฤษราวช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยกลุ่มนักวิชาการพวกนี้หันมาสนใจเพลงสมัยนิยมและบรรดา “วัฒนธรรมวัยรุ่น” ต่างๆ ในฐานะของพลังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางแบบของวัยรุ่นชนชั้นแรงงานในอังกฤษ ซึ่งนี่น่าจะนับว่าเป็นครั้งแรกๆ ในวงวิชาการตะวันตกที่มีการมอง “วัฒนธรรมป๊อป” ในแง่บวกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

นี่เป็นจุดเริ่มที่สำคัญ เพราะแนวทางแบบวัฒนธรรมศึกษา “ระบาด” ไปทั่ววงวิชาการในโลกตะวันตกอย่างรวดเร็วมันก็ทำให้ดนตรีสมัยนิยมกลายเป็นประเด็นศึกษาที่มีความชอบธรรมทางวิชาการไปด้วยจากที่มันไม่เคยเป็นมาก่อน และการศึกษาดนตรีสมัยนิยมทั้งหมดมันเริ่มจากจุดนี้ ในแง่นี้การดิ้นรนพื้นฐานของนักวิชาการด้านดนตรีสมัยนิยมก็คือการทำให้ “เพลงขยะ” ที่อาจเลวทรามต่ำช้าที่สุดในสายตาของชนชั้นสูงทางดนตรีหรือกระทั่งนักวิจารณ์ดนตรีมันเป็นสิ่งที่มีค่าพอที่จะให้มีการศึกษาในทางวิชาการ

อย่างไรก็ดีแนวทางการศึกษา “เพลงขยะ” พวกนี้ก็แตกต่างไปจากแนวทางการศึกษาดนตรีแบบดุริยางคศาสตร์หรือกระทั่งแนวทางการศึกษาศิลปะโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป้าประสงค์ของการศึกษาแนวทางนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประเมินคุณค่าทางสุนทรียะของเนื้องานดนตรี แต่มุ่งไปที่การศึกษาดนตรีในฐานะของปรากฏการณ์ทางสังคม ศึกษาดนตรีในฐานะที่มันสัมพันธ์กับสังคม ดังนั้นโจทย์การศึกษามันจึงไม่ใช่จะบอกว่าบทเพลงไหนมันเป็น “ขยะ” หรือเป็นสิ่งดีงาม แต่เป็นว่าการที่บทเพลงหนึ่งๆ ได้รับความนิยมมันสะท้อนอะไรของสังคมออกมา ไปจนถึงการศึกษาการตีความและหักเหความหมายของดนตรีจากระบบทุนนิยมให้เป็นการ “ต่อต้าน” ทุนนิยม ซึ่งนี่เป็นคนละท่าทีกับการบอกว่าสังคมมันขยะเพราะคนฟังเพลงขยะแน่ๆ

ไซมอน ฟริธ (Simon Frith) หนึ่งในผู้วางรากฐานสำคัญของการศึกษาดนตรีสมัยนิยมเคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนในงานศึกษาของเขาในทำนองว่าเพลงป๊อปที่ดีคือเพลงป๊อปที่ยอดขายมากที่สุด [5] ตรงนี้เขาไม่ได้บอกว่าเพลงที่ยอดขายดีมันเป็นเพลงที่ดี แต่เขาสะท้อนระบบการประเมินคุณค่าดนตรีป๊อปออกมา ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่ต้องเถียงกันแล้ว ไปศึกษาในมิติอื่นดีกว่า มีอีกเยอะแยะให้ศึกษา

ในแง่นี้ผมจึงงงงวยมากว่าคุณนรเศรษฐกล่าวออกมาได้ไงว่า “ยอดวิว… ไม่สามารถนำมายืนยันหรือเป็นหลักฐานได้เสมอไปว่า เป็นสิ่งที่ดีหรือเพลงที่ดี” ผมคิดว่าการกล่าวแบบนี้ในฐานะของนักวิจารณ์น่าจะชอบธรรมอยู่ แต่หากจะกล่าวในฐานะของนักวิชาการด้านดนตรีสมัยนิยมศึกษาแล้ว มันแทบจะเป็นสิ่งที่กลับหัวกลับหางกับสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไปในสาขาวิชาเลย หรือคุณนรเศรษฐไม่ได้รับการฝึกฝนทางวิชาการมาในสาขาที่ผู้เขียนเข้าใจ?

นักประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยนิยมควรจะมีหน้าที่ชี้ให้เห็นกับความสัมพัทธ์กับยุคสมัยของเพลงขยะ มากกว่าไปตัดสินว่าจะเพลงในปัจจุบันเพลงไหนเป็นเพลงขยะ

คุณนรเศรษฐกล่าวว่าตัวเอง “อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรี” มันก็คงจะชอบธรรมกว่าที่ผมจะตัดสินคุณนรเศรษฐบนฐานความความเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ดนตรี อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผมยังงุนงงก็คือ “ประวัติศาสตร์ดนตรี” แบบไหนที่คุณนรเศรษฐสอนนักศึกษา

เท่าที่ผู้เขียนศึกษามาการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีโดยเฉพาะน่าจะแบ่งได้เป็นสองแขนงที่ผูกอยู่กับสาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งหลักๆ น่าจะแบ่งเป็นส่วนที่ผูกอยู่กับดุริยางคศาสตร์กับส่วนที่ผูกอยู่กับประวัติศาสตร์ ผู้เขียนไม่คิดว่าคุณนรเศรษฐจะเป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีในสายดุริยางคศาสตร์เพราะในสายนี้มันไม่มีการศึกษาดนตรีสมัยนิยมกันจริงจังเท่าไร และนักดุริยางคศาสตร์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีเท่าที่ผู้เขียนเข้าใจก็คือผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับการศึกษาสกอร์เพลงในอดีตเป็นหลัก และไม่ได้เน้นศึกษางานบันทึกเสียง เหนือไปกว่านั้นแล้วการศึกษาในแนวทางนี้ยังไม่มีการแยกแยะระหว่าง “เพลงป๊อปที่ดี” และ “เพลงป๊อปที่เลว” ออกจากกันด้วย ซึ่งต่างจากท่าที่ของคุณนรเศรษฐที่ทำการแยกแยะบทเพลงทั้งสองชนิดออกจากกันอย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงขอพิจารณาคุณนรเศรษฐในฐานะของนักประวัติศาสตร์ดนตรีในสายประวัติศาสตร์ในบทบาทของผู้สอน

ผู้เขียนเข้าใจว่าหน้าที่สำคัญของการสอนประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ตามให้นักศึกษาอย่างน้อยที่สุดต่อให้นักศึกษาไม่ใด้วิธีการทางประวัติศาสตร์และแนวทางประวัติศาสตร์ใดๆ กลับไป นักศึกษาก็ควรจะได้สำนึกความเป็นประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตกลับไป กล่าวคือ ผู้เรียนควรจะมีความเข้าใจว่าอดีตต่างจากปัจจุบันอย่างไร มิติความต่างกันข้ามเวลา (diachrony) เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานของวิชาประวัติศาสตร์

ที่นี้คำถามคือการพูดถึง “เพลงขยะ” ของคุณนรเศรษฐนี่มันเป็นการพูดผ่านสำนึกทางประวัติศาสตร์แค่ไหน ผมไม่แน่ใจว่าคุณนรเศรษฐมีมากน้อยแค่ไหน แต่ในการถกเถียงของคุณนรเศรษฐ ผมไม่เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว

การศึกษาดนตรีในเชิงประวัติศาสตร์นั้นไม่เคยเป็นการศึกษาดนตรีในแบบที่แยกขาดออกจากสังคม (ในแบบที่นิยมกันในทางดุริยางคศาสตร์) แต่เป็นการศึกษาดนตรีในฐานะที่มันเชื่อมโยงกับสังคมมาโดยตลอด และการศึกษาในแบบนี้มันไม่มีทางจะไม่เห็นว่า เพลงขยะมีลักษณะสัมพัทธ์กับยุคสมัย แน่ๆ

ท่าทีแบบตุลาการทางรสนิยมทางดนตรีของคุณนรเศรษฐในการพูดถึง “เพลงขยะ” ที่มีลักษณะสัมบูรณ์ไร้กาลเวลา ดูจะไม่สอดคล้องกับการกล่าวอ้างว่าเป็นผู้สอนประวัติศาสตร์ดนตรีพอสมควรอยู่

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างของข้อเขียนถึง “เพลงขยะ” ในช่วงทศวรรษที่ 1920 และ 1930 ให้ฟังดังนี้ [6]

“... เรารู้ว่าในความชั่วร้ายของมัน แจ๊สได้สร้างความเสียหายให้กับร่างกายและจิตใจของคนหลุ่มสาวที่ยังไม่สามารถจะต่อต้านแรงปรารถนาอันชั่วร้ายได้ นี่อาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมอเมริกายุคนี้ถึงมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงเช่นนี้” ข้อความจากนิตยสารดนตรีคลาสสิคปี 1925

“ดนตรีแจ๊ส… ได้เปลี่ยนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กกลับไปสู่ภาวะป่าเถื่อน” ข้อความจากหนังสือพิมพ์ New York Times ปี 1925

“[นักประวัติศาสตร์ในอนาคต] จะเห็นว่าในยุคที่เราคิดว่าเรารู้แจ้งทางดนตรีแล้ว เรายังให้พวกคนดนตรีแจ๊ซเถื่อนๆ พวกนี้มาทำลายประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิคของเรา นอกจากนี้เรายังต้องฟังข้อเรียกร้องในการหมิ่นศาสนาอันโสมมของคนพวกนี้อย่างอดทนด้วย” ความเห็นของนักประพันธ์เพลงคลาสสิคจากหนังสือพิมพ์ New York Times ปี 1929

“เราอนุญาตให้มี… การแจมดนตรีกัน นักเต้นสวิง และจังหวะมั่วเซ็กส์ของพวกมนุษย์กินคนมาให้มีที่ทางในสังคมแล้ว มันเป็นการปูทางไปนรกให้กับเยาวชนของเราชัดๆ” บาทหลวงผู้หนึ่งกล่าวถึงแจ็ส จากหนังสือพิมพ์ New York Times ปี 1938

ทุกวันนี้ก็คงไม่มีใครจะเห็นว่าดนตรีแจ๊สเป็น “ดนตรีขยะ” อีกแล้ว เพราะมันก็เป็นดนตรีชั้นสูงของชนชั้นกลางระดับสูงหรือกระทั่งชนชั้นสูงไปเรียบร้อยแล้ว และปรากฏการณ์เลื่อนชั้นจากดนตรีขยะไปเป็นดนตรีที่ไม่ขยะมันก็เกิดขึ้นเป็นปกติซ้ำแล้วซ้ำอีกในศตวรรษที่ 20 เพราะอย่างน้อยๆ ดนตรีร็อคแอนด์โรลก็ถูกประนามหยามเหยียดในทศวรรษที่ 1950 [7] แบบที่ดนตรีแจ๊สโดนในทศวรรษที่ 1920 และถ้าประวัติศาสตร์ดนตรีในศตวรรษที่ 20 จะสอนอะไรสักอย่างเรา มันก็คงจะเป็นการที่บรรดาดนตรีใหม่ๆ ทั้งหลายที่กลายเป็นดนตรีขึ้นหิ้งไปแล้วมันก็เคยเป็น “ดนตรีขยะ” มาแทบทั้งสิ้น และดูจากท่าทีของคุณนรเศรษฐ ผมก็พบว่าคุณนรเศรษฐดูจะไม่ได้ระมัดระวังมาตรฐานของความเป็น “ดนตรีขยะ” ที่ลื่นไหลไปถามยุคสมัยเลย ซึ่งผู้เขียนคิดว่านี่น่าจะเป็นจริตที่ดูจะสอดคล้องกับคนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีมากกว่า

ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าคุณนรเศรษฐไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียก Gangnam Style หรือบทเพลงใดๆ ในโลกว่า “เพลงขยะ” แต่ผมก็ไม่เข้าใจคุณนรเศรษฐเป็นอย่างยิ่งว่าคุณนรเศรษฐจะอ้างความเป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีของตนมาเพื่ออะไร เพราะท่าทีมาตรฐานต่อปรากฏการณ์ “เพลงขยะ” ของนักประวัติศาสตร์ดนตรี(สมัยนิยม) นั้นก็ดูจะแตกต่างกับสิ่งที่คุณนรเศรษฐแสดงออกมาโดยสิ้นเชิง

การกล่าวอ้างว่าเพลงบางแบบเป็น “เพลงขยะ” มีอยู่จริงในโลกวิชาการ แต่ “เพลงขยะ” มันคือเพลงป๊อปทั้งหมด และแนวคิดแบบนี้ก็ตกไปนานแล้ว

คนนอกโลกวิชาการส่วนใหญ่จะไม่คิดว่าการกล่าวอ้างว่าบทเพลงบางชนิดเป็น “เพลงขยะ” ที่ทำให้คนฟังโง่งมนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกวิชาการ แต่การกล่าวอ้างแบบนี้ก็มีจริงๆ ในข้อเขียนเกี่ยวกับแจ๊สอันฉาวโฉ่ของนักปรัชญาและสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ธีโอดอร์ อดอร์โน (Theodore Adorno) นักคิดเยอรมันผู้นี้เป็นศัตรูตัวฉกาจของดนตรีแจ๊ส และได้ผลิตข้อเขียนทางวิชาการที่ซับซ้อนออกมาเพื่ออธิบายว่าดนตรีแจ๊ส (ในตอนต้นศตวรรษที่ 20) มันเป็นดนตรีที่ทำให้คนโง่งมง่อยเปลี้ยอย่างไร

ผู้เขียนคงจะไม่ลงไปในคำอธิบายของอดอร์โน [8] แต่ผู้เขียนอยากจะเน้นว่าการเสนอเรื่องใหญ่ๆ อย่างการฟังดนตรีบางแบบแล้วจะทำให้คนโง่งมง่อยเปลี้ยนั้นมันต้องการการให้เหตุผลที่แน่นหนาตามมา และสิ่งที่อดอร์โนทำก็คือ อธิบายมันอย่างเชื่อมโยงกับการผลิตศิลปะวัฒนธรรมมวลชนของระบบทุนนิยมทั้งหมด ข้อเสนอที่รุนแรงระดับนี้มันต้องการการให้เหตุผลที่แน่นหนาระดับนี้ มันถึงจะเป็นที่ยอมรับได้ในทางวิชาการ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้อดอร์โนฉาวโฉ่ดังที่ได้บอกไปแล้ว การเสนอเรื่อง “ความขยะ” ของดนตรีแจ๊สของเขา (ที่จริงๆ ก็ไม่ได้ต่างจากคนร่วมสมัยกับเขา ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาด้านบนบ้างแล้ว) ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยปฏิเสธงานของเขาเพราะมันแสดงถึงความคับแคบและล้าหลังของเขา [9] ซึ่งนี่ยังไม่รวมประเด็นที่ว่าเหตุผลที่เขาให้ก็ยังดูจะไม่แน่นหนาพอในสายตาของหลายๆ ฝ่าย กล่าวคืองานของเขาให้ภาพมนุษย์ที่ง่อยเปลี้ยเกินไปที่ฟังเพลงแล้วโง่งม ซึ่งเป็นท่าทีที่ต่างจากบรรดานักวัฒนธรรมศึกษาที่มักมองมนุษย์ว่ามีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและหักเหความหมายในระดับที่ว่าถึงจะมีความโง่เขลาเบาปัญญาใดๆ ในดนตรี มันก็ไม่อาจที่จะทำให้ผู้ฟังโง่เขลาเบาปัญญาตามได้ (ซึ่งนี่ก็เป็นมุมมองที่มีปัญหาไปอีกแบบ)

ตรงนี้จะเห็นได้ว่าข้อเสนอเรื่อง “ดนตรีขยะ” ในโลกวิชาการของแม้แต่นักวิชาการใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลมันก็โดนปฏิเสธไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ที่สำคัญกว่านั้นหากเราไปดูเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมดนตรีแจ๊สเป็น “ดนตรีขยะ” แล้ว เราก็จะพบว่าเพลงสมัยนิยมใดๆ ในโลกล้วนแต่เพลงขยะทั้งสิ้น เพราะองค์ประกอบที่สำคัญของ “เพลงขยะ” ของอดอร์โนคือโครงสร้างบทเพลงที่ตายตัว และท่วงทำนองที่คาดเดาได้ (แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับเพลงคลาสสิคในบางรูปแบบที่มีโครงสร้างไม่ตายตัว และมีการปรากฎของตัวโน๊ตที่คาดเดาไม่ได้)

ถ้าเราจะกลับมาที่ประเด็นของคุณนรเศรษฐ หากใช้มาตรฐานนี้ซึ่งน่าจะเป็นมาตรฐานทางวิชาการเดียวในการกล่าวถึง “เพลงขยะ” แล้ว ไม่ว่าจะบทเพลงของ PSY บทเพลงของ LMFAO หรือกระทั่งดนตรีต่างๆ ที่คุณนรเศรษฐเคยเสนอในนิตยสาร Generation Terrorist ก็น่าจะเป็นเพลงขยะอย่างไม่แตกต่างกัน

และหลังจากไล่เลียงคำอธิบายทางวิชาการเกี่ยวกับ “เพลงขยะ” ทั้งหมดที่ผู้เคยเคยได้ยินมาแล้วจนถึงตรงนี้ผมก็ผู้เขียนไม่ได้ข้อสรุปว่าที่ “ความรู้” ที่คุณนรเศรษฐกล่าวถึงว่า “ความรู้ที่ผมได้ร่ำเรียนมาทางดนตรีนั้น มันบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงขยะ” มันเป็นความรู้แบบไหน

ทิ้งท้าย: ความมีเอกลักษณ์ของคนขาวและการลอกเลียนของคนเอเชีย

จริงๆ แล้วผู้เขียนตั้งใจอย่างถึงที่สุดในการหาที่ทางในทางวิชาการด้านดนตรีในโลกตะวันตกสำหรับข้อเสนอของคุณนรเศรษฐ แต่ผู้เขียนก็ไม่สามารถหางานใดๆ ที่จะสนับสนุนการไล่เลียงตรรกะที่เริ่มจาก เพลงก๊อป->ทำให้เกิดเพลงขยะ->ทำให้ผู้ฟังเห่ยและไร้รสนิยม ได้เลย

แต่นี่ก็อาจเป็นมุมมองจากวงวิชาการของโลกตะวันตกที่ไม่แฟร์แต่คุณนรเศรษฐที่กล่าวถึงความสำคัญของ “ความเป็นไทย” ก็ได้แนวทางวิชาการด้านดนตรีในแบบคุณนรเศรษฐอาจเป็นแนวทางแบบไทยๆ ที่ผู้เขียนไม่เข้าใจและไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่ามีอยู่ก็ได้ คุณนรเศรษฐอาจต้องการแนวทางวิชาการที่มีเอกลักษณ์ดังเช่นที่คุณนรเศรษฐเสนอความเห็นกับเพลงไทยว่า “เพลงไทยที่ผมรังเกียจคือ เพลงที่ไม่คิดเอง และไม่ยอมนำความเป็นไทยไปขายฝรั่ง” อย่างไรก็ดีความคิดเรื่อง “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” (originality) ก็ดูจะไม่ใช่อะไรนอกจากผลผลิตของสังคมยุโรป เพราะในสังคมไทยเองบรรดาศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีต่างๆ ก็ดูจะเน้นไปที่การเล้นล้อต่างๆ กับจารีต หรือเน้นการทำซ้ำและดัดแปลงมากกว่าการสร้างขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง ซึ่งลักษณะเหล่านี้ทำให้ดนตรีในไทยคล้ายกับดนตรีในวัฒนธรรมคนดำไปจนถึงวัฒนธรรมชาวบ้านทั่วโลกมากกว่าที่จะเป็นวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิคที่ “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” เป็นเรื่องสำคัญมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย ปัญหา ณ ที่นี้ก็คือถ้าเราเรียกร้องให้บรรดา “ศิลปิน” ไทยมี “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” แล้ว เราไม่ได้กำลังเล่นเกมทางเศรษฐกิจไปตามกรอบคิดแบบตะวันตกอยู่หรือ?

ผู้เขียนกลับมองว่าหากจะอ้างความเป็นไทยในแบบ “บ้านๆ” แล้ว การ “ลอกเลียน” ที่คุณนรเศรษฐจงเกลียดจงชังนักหนานี่แหละที่เป็นสำนึกแบบไทยๆ ก็เป็นที่รู้กันว่าชาวไทยมีสำนึกด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่ำมากๆ จนแทบจะเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมองว่าเป็นเอกลักษณ์แบบไทยอันน่าภาคภูมิใจ และจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครนับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ไทยด้วยซ้ำ

ผู้เขียนไม่ได้พยายามจะบอกว่า “การลอก” มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แต่ผู้เขียนอยากจะตั้งคำถามว่า “การลอก” นี่หรือเปล่าที่เป็นวิถีแห่งเอเชียอันแตกต่างจากตะวันตกอย่างเด่นชัดที่เราไม่เคยยอมรับ? และบางทีในการถกเถียงกันว่าบทเพลงหนึ่งๆ นั้น “ลอก” ฝรั่งมาหรือไม่นั้น กรอบการคิดที่ว่าการ “ลอก” เป็นสิ่งผิดบาปนี่แหละที่เราเอามาจากฝรั่งแบบที่เราไม่ตั้งคำถามเลย

และท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนก็ว่าคิดว่าเราถ้าเราต้องการจะเตรียมพร้อมการเข้าสู่สมาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิแบบที่คุณนรเศรษฐห่วงใย เราก็ต้องเริ่มจากการยอมรับในสิ่งที่เราเป็นนี่แหละ หรืออย่างน้อยที่สุดเราก็คงจะต้องตระหนักก่อนว่าเกมที่เราเล่นอยู่ไม่ใช่เกมที่เราเขียนกฎเอง แต่เราจำต้องเล่น ซึ่งนี่ต่างจากการโจมตีโลกตะวันตกภายใต้กรอบความคิดแบบตะวันตกที่เราไม่เคยตั้งคำถามแน่นอน

 

หมายเหตุ:

  1. ผู้เขียนเอาวลีนี้มาจากเพจ “ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์” ดูต้นฉบับได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=377509548988678&set=pb.377496815656618.-2207520000.1346301590&type=1
  2. ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ทั้งหมดน่าจะเคยฟังเพลง Gangnam Style มาแล้ว แต่ก็ขอปะลิงค์เอาไว้ตามขนบงานเขียนถึงดนตรีที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตในยุคสมัยนี้ รับชมเพลงนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=9bZkp7q19f0
  3. อ่านการถกเถียงหรือ “ดราม่า” นี้ได้ที่ http://drama-addict.com/2012/08/28/%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%8E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A5/
  4. ผู้เขียนพยายามจะเข้าไปที่โพสต์ต้นเรื่องของคุณนรเศรษฐเพื่ออ่านการโต้เถียงอย่างละเอียด แต่พบว่าเข้าไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นผู้เขียนจะเขียนบทความนี้จากลิงค์นี้เป็นหลัก ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็นเกี่ยวกับจารีตไปจนถึงบรรดาข้อยกเว้นทางกฏหมายในการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ในชุดบทความ “ละเมิด/ไม่ละเมิดงานดนตรี 101” ซึ่งมี 4 ตอนแล้ว อ่านได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/05/40665, http://prachatai.com/journal/2012/05/40781, http://prachatai.com/journal/2012/06/40935, http://prachatai.com/journal/2012/06/41204
  5. Simon Frith, Sound Effects: Youth, Leisure, And The Politics of Rock’N’Roll, (New York: Pantheon Books, 1981)
  6. อ่านทั้งหมดได้ใน Alan P. Merriam, Anthropology of Music, (USA: North Western University Press, 1980), pp. 241-244
  7. ผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลแบบนี้ได้ในงานประวัติศาสตร์ดนตรีร็อคแอนด์โรลที่เขียนมาในยุคที่ร็อคแอนด์โรลมันยังไม่ได้รับกันกว้างขวางเช่นนี้ งานเด่นๆ ก็เช่น Charlie Gillett, The Sound of The City: The Rise of Rock ‘N’ Roll, (New York: Dell Publishing, 1972[1970])
  8. ถ้าไม่อยากลงไปอ่านงานของอดอร์โนเลย ท่านก็พอจะหาอ่านได้ใน นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย, “อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม: กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม” ใน เหลียวหน้าแลหลังวัฒนธรรมป๊อป (กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2549)
  9. ดูการอภิปรายถึงความเกลียดชังแจ๊สของอดอร์โนและการแบนอดอร์โน ได้ใน Robert W. Witkin, “ Why Did Adorno “Hate” Jazz ”, Sociological Theory, Vol. 18, No. 1 (March, 2000), pp. 145-170

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผวาเส้นทางเดินเรือถ่านหิน โวย กฟผ.โฆณาชวนเชื่อโรงไฟฟ้ากระบี่

Posted: 30 Aug 2012 11:06 PM PDT

ผวาเส้นทางเดินเรือถ่านหิน หวั่นกระทบทรัพยากรทะเล โวยกฟผ.โฆณาชวนเชื่อโรงไฟฟ้ากระบี่ ซัด ‘บริษัท-มหาวิทยาลัย’ อย่าชี้นำ
 
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2555 ที่ศาลาเอนกประสงค์หมู่ที่ 3 ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน ภายใต้โครงการด้านพลังงาน กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่ โดยใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) ซึ่งมีนายอำเภอเหนือคลอง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจากตำบลคลองขนาน ตำบลตลิ่งชัน และตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง  ร่วมประมาณ 30 คน
 
นางวรัญญา ธรรมปิลันธน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขนาน กล่าวในเวทีว่า ตนเป็นคนบ้านแหลมกรวด ตำบลคลองขนาน  เมื่อมองดูแล้ว ไม่ว่าสร้างท่าเรือที่ปกาสัย เรือเล็กวิ่งจำนวนมากเที่ยว หรือที่สะพานช้าง ที่มีเรือขนาดใหญ่ แต่วิ่งน้อยเที่ยว จะส่งผลกระทบต่อท่าเรือท่องเที่ยวไปเกาะศรีบอยา และการทำประมงพื้นบ้านด้วย หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น และมีอาชีพอะไรมารองรับ
 
นายธนยศ หลานแลงส้า ชาวบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลเกาะศรีบอยา กล่าวในเวทีว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการให้ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผ่านนักวิชาการจากบริษัท มหาวิทยาลัย มีการโฆษณาชวนเชื่อให้ชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควรจะศึกษาถึงผลกระทบกับชุมชนขนาดไหน อย่างเช่น  เมื่อมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน คลังน้ำมัน ท่าเรือถ่านหิน เส้นทางเรือลำเลียงถ่านหิน รวมถึงการสร้างท่าเรือสะพานช้าง ทรัพยากรทางทะเล ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนจะต้องถูกทำลาย
 
นายธนยศ กล่าวต่อในเวทีอีกว่า ความกว้างของเรือขนถ่านหินที่กินน้ำลึกอีกทั้งร่องน้ำขึ้นอยู่กับน้ำขึ้น น้ำลง และการเดินเรือ 4 เที่ยวต่อวันจากเกาะปอ ไปคลองเพลา จำเป็นจะต้องขุดลอกคลอง แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบกับชาวประมงพื้นบ้านตำบลเกาะศรีบอยา ตำบลคลองขนาน ไม่รวมถึงเรือขนสินค้า เรือท่องเที่ยว วิ่งอยู่ 70 เที่ยวต่อหนึ่งวัน เรือขนาดใหญ่ขนถ่านหินกินความลึกถึง 10 เมตร อาจทำให้เวลาเดินเรือมีคลื่นสูงส่งผลให้มีการกัดเซาะชายฝั่ง
 
“ถ่านหินซับบิทูมินัส ที่ใช้มีความสะอาดแค่ไหน เวลาขนส่งถ่านหินหากหล่นลงไปในทะเล เมื่อกุ้ง หอย ปู ปลา กินเข้าไป หากชาวบ้านกินปลาเหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างไรคนเกาะศรีบอยาต้องการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยศึกษาขอมูล ไม่ใช่ชี้นำ แต่ขอให้ศึกษาพื้นที่จริงๆ ถ้าหากพบว่ามีผลกระทบมากก็น่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในที่ที่เหมาะสม ในระยะยาวผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน น่าจะมีปัญหาเรื่องเรือขนถ่านหิน คราบน้ำมันเรือ และทำลายเครื่องมือการประมงของชาวบ้าน ไม่อยากให้นำเรื่องกองทุนรอบโรงไฟฟ้ามาล่อชาวบ้าน” นายธนยศ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาการติดอินเทอร์เน็ต อาจมาจากยีนส์ผ่าเหล่า

Posted: 30 Aug 2012 10:28 PM PDT

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ เยอรมนี ค้นพบว่ากลุ่มคนที่มีอาการติดอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มีการผ่าเหล่าในยีนส์ CHRNA4 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับการเสพติดนิโคติน

29 ส.ค. 2012 - การวิจัยในมหาวิทยาลัยของเยอรมนีพบว่า อาการติดอินเทอร์เน็ตของมนุษย์เราอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับยีนส์สืบทอดทางพันธุกรรม

นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าพวกเขาค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการเสพติดอินเทอร์เน็ต กับการผ่าเหล่าของยีน ซึ่งเป็นตัวเดียวกับการเสพติดนิโคติน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนีได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 843 คน เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับอินเทอร์เน็ต มีอยู่ 132 คนที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดูผิดหลัก พวกเขาคิดว่าความเป็นอยู่ของพวกเขาจะสั่นคลอนหากพวกเขาไม่ได้เชื่อมตัวเองเข้ากับโลกอินเทอร์เน็ต

และเมื่อเปรียบเทียบยีนส์ของทั้งสองกลุ่มแล้ว นักวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เสพติดอินเทอร์เน็ตมักจะมีการผ่าเหล่าของยีนส์ CHRNA4 ซึ่งปกติแล้วเชื่อมโยงกับการติดนิโคติน

รายงานการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารเวชศาสตร์การเสพติด คริสเตียน มอนแทก ผู้เขียนรายงานกล่าวว่านี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการเสพติดอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่เรื่องที่เราจินตนาการไปเอง

"หากสามารถศึกษาเข้าใจความเชื่อมโยงได้มากขึ้น ก็จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการรักษาที่ดีขึ้น" มอนแทกกล่าว

มอนแทกและทีมของเขาเน้นย้ำว่า เรื่องนี้ยังต้องศึกษากับกลุ่มตัวอย่างมากกว่านี้ โดยเฉพาะการค้นคว้าเพื่อพิสูจน์ว่าการผ่าเหล่าของยีนส์เกิดขึ้นในผู้ติดอินเทอร์เน็ตผู้หญิงมากกว่าจริงหรือไม่

"กรณีการค้นพบเรื่องการเชื่อมโยงจากยีนส์ระบุเพศ อาจจะมาจากกลุ่มย่อยของผู้ติดอินเทอร์เน็ตบางกลุ่มโดยเฉพาะก็ได้ เช่นกลุ่มผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น" มอนแทคกล่าว

 
 
ที่มา
Internet Addiction Tied to Gene Mutation, Livescience, 29-08-2012

 

คนร้ายป่วนชายแดนใต้ รับวันก่อตั้งกลุ่มเบอร์ซาตู

Posted: 30 Aug 2012 10:00 PM PDT

กอ.รมน. สั่งเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวด ด้านรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ระบุ เหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้กว่า 30 จุดเป็นการก่อกวนในวันสถาปนาของขบวนการเบอซาตู

เมื่อเวลา 06.30 น.วันนี้ (31 ส.ค 55) ร.ต.ต. จักรพงศ์ เพชรกาศ ร้อยเวรสภ.เมืองยะลา ได้รับแจ้งเหตุคนร้ายวางวัตถุต้องสงสัยไว้ที่ถนนบริเวณสะพานลอย ตรงข้ามโรงเรียนธรรมวิทยา ย่านตลาดเก่าเขตเทศบาลนครยะลา หลังรับแจ้งจึงได้แจ้งพันตำรวจเอกนรินทร์ บูสะมัญ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา และประสานเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ภ.จว.ยะลา ของทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่จากศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 ยะลา เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตทันที
 
ในที่เกิดเหตุบริเวณถนนสายดังกล่าว คนร้ายได้วางกล่องต้องสงสัยไว้ที่บริเวณริมถนน และบริเวณสะพาน ชุดเก็บวัตถุระเบิดได้เข้าตรวจสอบด้วยการยิงทำลาย จากการตรวจสอบพบว่าเป็นกล่องนม กล่องสีสเปรย์ พันด้วยผ้าเทปและสายไฟ ประกอบเป็นระเบิดปลอม เจ้าหน้าที่ยิงทำลายและเก็บกู้ได้กว่า 10 ลูก นอกจากนั้นคนร้ายได้แขวนธงชาติไทย และธงชาติมาเลเซีย รวมทั้งเขียนข้อความในป้ายผ้าสีขาวเย้ยการทำงานของเจ้าหน้าที่ กว่า 30 ผืน
 
เจ้าหน้าที่ยังพบกล่องต้องสงสัยในลักษณะเดียวกัน ที่บริเวณถนนสาย 418 บ้านท่าสาป ต.ท่าสาป อ.เมือง จำนวน 3 กล่อง ที่บริเวณ ถนนสาย 15 ต.สะเตง จำนวน 4 กล่อง บริเวณรอยต่อเขตเมืองยะลา 6 จุด ในพื้นที่ อ.บันนังสตา 6 จุด ที่ อ.กรงปินังเก็บกู้ระเบิดปลอมได้ 4 ลูก ทุกจุดมีป้ายผ้าลักษณะเดียวกัน ข้อความเดียวกัน และมีธงชาติ แขวนไว้ด้วยกัน เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ได้ทยอยเข้าตรวจสอบและเก็บหลักฐานตามจุดต่าง ๆ เพื่อนำไปตรวจสอบต่อไป
 
การกระทำของคนร้ายตั้งแต่เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่คาดว่าคนร้ายต้องการสร้างสถานการณ์ป่วนเมืองเพื่อแสดงศักยภาพ เนื่องจากวันนี้เป็นวันคล้ายวันก่อตั้งขบวนการแนวร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี หรือที่รู้จักกันในนาม กลุ่มเบอร์ซาตู
 
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สั่งเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวด หลังผู้ก่อความไม่สงบ นำวัตถุต้องสงสัยวางไว้หลายจุดในพื้นที่ภาคใต้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
 
พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงกรณีผู้ก่อความไม่สงบนำวัตถุต้องสงสัยมาวางไว้ และปักธงชาติประเทศมาเลเซียหลายจุดในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ว่า เบื้องต้นสันเชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ เนื่องจากวันนี้(31 สค)เป็นวันสำคัญเชิงสัญลักษณ์อยู่ 3 วัน คือ วันที่ประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ วันครบรอบการก่อตั้งขบวนการเบอซาตู และวันสารทจีน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่และชุดหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี เข้าไปตรวจสอบทุกจุดอย่างละเอียด พร้อมกันประชาชนไม่ให้เข้าพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน โดยเน้นพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่รอบนอก รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย
 
รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ระบุ เหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้กว่า 30 จุดเป็นการก่อกวนในวันสถาปนาของขบวนการเบอซาตู
 
รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ระบุ เหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้กว่า 30 จุดเป็นการก่อกวนในวันสถาปนาของขบวนการเบอซาตู ยืนยันไม่กระทบความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย จากเหตุพบธงมาเลเซียปักตามจุดต่างๆ คาด 1-2 วันรู้ผล
 
พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ว่า ได้รับรายงานแล้วว่า วันนี้เป็นวันสถาปนาขบวนการเบอซาตู ที่ก่อตั้งในประเทศมาเลเซีย ซึ่งหน่วยข่าวได้แจ้งเตือนล่วงหน้าแล้วว่า ให้เพิ่มความระมัดระวัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สูญเสียเจ้าหน้าที่ และเป็นการดำเนินการนอกพื้นที่เซฟตี้โซน เป็นลักษณะการก่อกวนกว่า 30 จุด โดยพบว่ามีการวางระเบิดจริงทั้งหมด 4 จุด ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้ทั้งหมด มีจุดประสงค์สร้างความสนใจให้ประชาชน และประกาศระลึกถึงวันครบรอบวันสถาปนา ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า ขบวนการดังกล่าวมีพลังในการเคลื่อนไหวอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เด็กไปปักธงประเทศมาเลเซียตามจุดต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เรียกประชุมในพื้นที่เพื่อกำชับการเฝ้าระดังเหตุร้ายต่อเนื่อง และขอให้พิสูจน์ทราบผู้ดำเนินการจากกล้อง CCTV ตามพื้นที่ต่างๆ เชื่อว่า จะสามารถทราบผลภายใน 1-2 วันนี้ สำหรับธงมาเลเซียที่ถูกนำมาปักไว้บริเวณจุดต่างๆ พบว่าเป็นธงชนิดเดียวกับที่วางจำหน่ายสำหรับประดับบ้านในประเทศมาเลเซีย และวันนี้้เป็นวันชาติมาเลเซีย จึงเชื่อว่าน่าจะซื้อมามากกว่าผลิตเอง
 
พลเอกยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ไม่กังวลว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ ประสานไปยังมาเลเซียให้ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ใช้ธงมาเลเซียเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจผิดกับ 2 ประเทศ เชื่อว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงของมาเลเชีย คงจะปฏิเสธรู้เห็นการเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยต้องใช้กระบวนการของกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสาน
 
ที่มา: สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเยาวชนสั่งจำคุกสาวซีวิค 3 ปี รอลงอาญา

Posted: 30 Aug 2012 09:48 PM PDT

ศาลเยาวชนสั่งจำคุกสาวซีวิค 3ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ให้รอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติและห้ามขับรถจนถึงอายุ 25 ปี

 

31 ส.ค. 55 - โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษา คดีเยาวชนหญิง อายุ 17 ปี ขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสาร บนทางยกระดับโทลเวย์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย

เวลา 9.00 น.วันนี้ ขณะที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเดินทางมาถึงศาลแล้ว ไปไหว้ขอพร ศาลหลักเมือง เพื่อให้คดีสิ้นสุด และขอให้ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่ เยาวชนหญิง อายุ 17 ปี จำเลยในคดี เดินทางมาด้วยรถตู้ พร้อมทนายความ เข้าทางด้านหลังของศาล เพื่อหลีกเลี่ยงสื่อมวลชน และมีสีหน้าเรียบเฉย ซึ่งทางศาลอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีเข้ารับฟังคำตัดสินในห้องพิจารณาเท่านั้น

พ.ต.อ.ศรัญ นิลวรรณ บิดาของ น.ส.ชุติพร นิลวรรณ นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ อีก 1 ในครอบครัวผู้เสียชีวิตคดีชนสาวซีวิคชนรถตู้ ตาย 9 ศพเปิดเผยว่า เดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมภรรยาไปรับฟังคำพิพากษา ทั้งนี้ อยากทราบว่าแท้จริงแล้วฝ่ายรถตู้หรือรถซีวิคขับรถประมาทกันแน่ สำหรับกรณีที่จำเลยไม่เคยพูดคำว่าขอโทษตนเองเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะเกรงกระทบรูปคดี แต่หวังว่าศาลจะตัดสินเป็นคุณต่อฝ่ายโจทย์ ส่วนที่เรียกร้องเงินชดเชย 120 ล้านบาทนั้นมองว่าไม่มากเกินไปเพราะเมื่อเทียบกับสูญเสียแล้วประเมินค่าไม่ได้

ล่าสุดศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้พิพากษาจำคุกเยาวชนหญิง 3ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติ และห้ามขับรถจนถึงอายุ 25 ปี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai