โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"จีเอ็มเอ็ม" แจงถอดมิวสิกวิดีโอจากยูทูป เหตุ กม.ไทยไม่เอื้อยูทูปทำธุรกิจ

Posted: 09 Aug 2012 10:33 AM PDT

หลังจากที่มีกระแสข่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สั่งค่ายเพลงในเครือไม่ให้เผยแพร่มิวสิกวิดีโอในยูทูป โดยให้รับชมผ่านทางช่องโทรทัศน์หรือรายการในเครือ GMM หรือดาวน์โหลดผ่านแพลตฟอร์มของแกรมมี่ *123 หรือผ่าน iTunes แทน เพื่อเพิ่มยอดขายมิวสิกวิดีโอหรือขยายจำนวนผู้ชมทางโทรทัศน์

ล่าสุด เว็บไซต์บล็อกนันรายงานว่า วันนี้ (9 ส.ค.55) กริช ทอมมัส ซีอีโอสายงานธุรกิจเพลงของแกรมมี่ แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี หรืออังกฤษ ล้วนมีโมเดลธุรกิจระหว่างยูทูปกับค่ายเพลงในประเทศเหล่านั้นทั้งสิ้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีปัญหาทางกฎหมายทำให้ยูทูปไม่สามารถเข้ามาเปิด YouTube.co.th เพื่อทำธุรกิจในประเทศไทยได้

กริชระบุว่ากฎหมายที่มีปัญหานั้นเป็น "กฎหมายทางไอซีที" ไม่แน่ชัดว่าเป็นกฎหมายฉบับใด แต่ก่อนหน้านี้กูเกิลก็เคยวิจารณ์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของไทยอย่างหนัก

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงในข่าวคือประเด็นการคัฟเวอร์เพลงโดยนักร้องสมัครเล่นว่า การนำเพลงของศิลปินไปคัฟเวอร์เเละลงยูทูปเผยเเพร่ผิดกฏหมายอาญาถือว่าเป็นทำซ้ำ ดัดเเปลง

 


gmember

ที่มา:
GMM ถอด MV ออกจาก YouTube: กฎหมายไทยไม่เอื้อให้ YouTube ทำธุรกิจ
http://www.blognone.com/node/34919
แกรมมี่ชี้แจงประเด็นไม่นำเอ็มวีใหม่ขึ้น YouTube แล้ว
https://www.blognone.com/node/34787
[ยังไม่ยืนยัน] แกรมมี่สั่งห้ามเผยแพร่เอ็มวีทาง YouTube
https://www.blognone.com/node/34679

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม แม่น้องเกด-พี่ชายอาสาปอเต็กตึ๊ง เชื่อฝีมือทหาร

Posted: 09 Aug 2012 10:32 AM PDT

9 ส.ค.55 เวลาประมาณ 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิต คดีหมายเลขดำที่ ช. 5/2555 กรณีการเสียชีวิตของนายสุวรรณ ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1,นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิตย์ อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และ นายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ซึ่งทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ใกล้แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พยานในวันนี้ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด อายุ 47 ปี มารดาของ น.ส.กมนเกด นายสมใจ เข็มทอง อายุ 56 ปี พี่ชายของนายมงคล และนางสมคิด สุขสถิตย์ อายุ 61 ปี ภรรยานายรพ

นางพะเยาว์ เบิกความว่าบุตรสาวของตนถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ค.53 ที่วัดปทุมวนาราม ซึ่ง น.ส.กมนเกด ได้เข้าไปอยู่เต๊นท์พยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ก่อนหน้าที่ น.ส.กมนเกด จะเสียชีวิต ในเวลา 18.00 น. เศษได้โทรศัพท์คุยกับแม่อยู่ แต่ต่อมาเวลา 20.00 น. มีคนโทรมาโดยใช้เบอร์ของบุตรสาวตนเพื่อบอกว่า น.ส.กมนเกด เสียชีวิตแล้ว

สำหรับการทำงานของ น.ส.กมนเกด ก่อนเสียชีวิต นางพะเยาว์ เบิกความว่าบุตรสาวทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล ตอนเกิดเหตุสึนามิในจังหวัดภาคใต้ปลายปี 2547 กมนเกดก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มของ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในการเข้าไปไปทำงานในพื้นที่ประสบภัยอยู่เกือบ 1 เดือน และ ในวันที่ 10 เม.ย.53 ที่มีการปะทะที่บริเวณสี่แยกคอกวัวจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น กมนเกด ได้ร่วมช่วยปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บทั้งทหารและผู้ชุมนุมด้วย โดยในช่วงชุมนุมของ นปช. เธอเข้าไปในที่ชุมนุมเพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยตลอดหลังจากเลิกงาน

มารดาของ น.ส.กมนเกด ยังได้เบิกความโดยอ้างถึงข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ว่า ทิศทางของกระสุน มาจากราง BTS ที่อยู่บริเวณด้านหน้าวัดปทุมวนาราม และในบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ นอกจากนี้ในการรับฟังข้อมูลของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) ยังได้ทราบจากปากของเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นายที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณราง BTS ว่ามีการยิงเข้าไปในวัดปทุมจริง โดยทหารอ้างว่ามีชายชุดดำใช้อาวุธยิงตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ทหาร

นางพะเยาว์ ได้เบิกความยืนยันว่า นางสาวกมนเกด ไม่ใช่ผู้ชุมนุม นปช. และเชื่อได้ว่าการเสียชีวิตของบุตรสาวตนเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร

 

ภาพ น.ส.กมนเกด ขณะช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่อพยพจากแยกราชประสงค์มาวัดปทุมฯ ในช่วงบ่าย
ก่อนถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเย็น ที่มาภาพ จาก Youtube โดย Tawan472 นาทีที่ 3.23 

 

นายสมใจ เบิกความว่า นายมงคล เข็มทอง หรือน้องชาย ได้ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม โดยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่หน้าอกและไหล่ซ้าย ในวันที่ 19 พ.ค.53 และขณะเสียชีวิตนั้นมีที่พักอาศัยอยู่บริเวณวัดปทุม เคยประกอบอาชีพผู้ช่วยกุ๊กบริเวณห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ได้ลาออกและมาเป็นอาสาสมัครพยาบาลกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่ราชประสงค์ น้องชายก็ไปช่วยดูแลการเจ็บป่วยของผู้ชุมนุม ก่อนเสียชีวิตก็ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอยู่บริเวณวัดปทุมฯ และเชื่อว่าการเสียชีวิตของน้องชายเป็นผลมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร

 

ภาพนายมงคล ขณะเข้าช่วยเหลือนายนรินทร์ ศรีชมพู ผู้ถูกยิงเสียชีวิตสายวันที่ 19 พ.ค.53
บริเวณหน้าคอนโดบ้านราชดำริ ใกล้แยกราชดำริ
ที่มาภาพจากคลิปที่อัพโหลดโดย
senoh  นาทีที่ 01.14

 

นางสมคิด สุขสถิตย์ เบิกความว่า นายรพ สุขสถิตย์ ผู้เป็นสามีทำงานขับรถรับส่งของที่สนามบิน เป็นคนไม่ชอบทะเลาะกับใคร โดยสามีออกจากบ้านในวันที่ 18 พ.ค. 53 แล้วไม่ได้ติดต่อเลย โดยภายหลังมีการพยายามตามหาและทราบข่าวการเสียชีวิตประมาณวันที่ 29-30 พ.ค. 53 เนื่องจากบุตรชายเห็นรูปศพที่นอนเรียงกันในวัดปทุมฯ จากหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน จึงทำให้ทราบว่าสามีเสียชีวิต

ภรรยานายรพ เบิกความด้วยว่าในระหว่างที่มีการชุมนุมของ นปช. นายรพก็มักจะไปร่วมชุมนุมหลังจากเลิกงาน สำหรับการเสียชีวิตของนายรพ  นางสมคิดเบิกความว่าไม่แน่ว่าเสียชีวิตจากการกระทำของใคร

อนึ่ง สำหรับนาย 'รพ สุขสถิตย์' ตามรายงานของ VoiceTV  ในช่วงแรกมีการระบุชื่อผิดเป็นนาย 'วิชัย มั่นแพ'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้นัดไต่สวนฯ ครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 16 ส.ค.55 โดยตามกำหนดจะเป็นการเบิกความของญาตินายสุวรรณ ศรีรักษา  นายอัฐชัย ชุมจันทร์  และนายอัครเดช ขันแก้ว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.จัดถก "ละครไทยในฝัน" กรุยทาง "วิชาชีพ" กำกับกันเอง

Posted: 09 Aug 2012 10:11 AM PDT

กสทช. จัดเวทีชวนผู้กำกับ "ธรณีนี่นี้ใครครอง" นักเขียนบทโทรทัศน์ "สวรรค์เบี่ยง" "สี่แผ่นดิน" นักวิชาการมานุษยวิทยาคอซีรีย์เกาหลี นักสิทธิฯ นักวิชาการสื่อ เครือข่ายผู้ปกครอง ถก "ละครโทรทัศน์แบบไหนที่สังคมไทยอยากเห็น"

(9 ส.ค.55) ที่ห้องประชุม โรงแรมอโณมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวทีเสวนาความร่วมมือไตรภาคี เพื่อกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 2 หัวข้อ ละครโทรทัศน์แบบไหนที่สังคมไทยอยากเห็น โดยมีกลุ่มผู้ชม และผู้ประกอบธุรกิจสื่อเข้าร่วมรับฟัง อาทิ สมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของช่อง 3 วัชระ ​แวววุฒินันท์ ประธาน​เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ​เจ ​เอส ​แอล ​โกลบอล มี​เดีย จำกัด
 


ภาพจาก Ferminius
(CC BY-NC-ND 2.0)


อยากเห็นละครไทยตั้งคำถามปลายเปิด

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โน้ตของวิกิพีเดียภาคภาษาอังกฤษเกี่ยวกับละครไทย มีผู้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า เนื้อหาละครไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูงในสังคมไทย พระเอก-นางเอกส่วนใหญ่บ้านรวย มักมีการรีเมก สืบทอดเนื้อหาอุดมการณ์ซ้ำแล้าซ้ำเล่า เนื่องจากมักมีบทและเนื้อหาเมโลดรามาติกหรือแสดงเกินจริง ผู้คน-เนื้อหาในเรื่องจึงมักจะมีมิติเดียว ขาดความลึก เหตุผลอาจมาจากการที่ต้องการให้มีคนดูมาก หรือโฆษณา สปอนเซอร์

ด้วยความด้านเดียวนี้จึงไม่สามารถช่วยให้เกิดความคิดเชิงวิเคราะห์ที่ซับซ้อนได้ ไม่ก่อให้เกิดการคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุและผล หรือฉายให้เห็นด้านที่เป็นจริงของตัวละครที่มีหลายมิติ เนื่องจากดำเนินตามจารีตแบบนี้ หากเป็นไปในระยะหนึ่ง อาจทำให้ผู้ชมพัฒนาทัศนคติที่บิดเบี้ยวเกี่ยวกับความจริงของชีวิตได้ ที่น่าสนใจคือ มีผู้ให้ความเห็นว่า ปัญหาทางการเมืองไทยปัจจุบัน อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของละครไทย ซึ่งหล่อหลอมให้คนไทยขาดสามัญสำนึกในการคิดวิเคราะห์หรืออดทนกับการวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นต่าง

เมื่ออ่านแล้ว คิดว่านี่ไม่ได้สะท้อนความจริงทั้งหมดของละครไทย เพราะมีละครบางเรื่องที่พยายามออกจากจารีตเดิม แต่ต้องยอมรับว่า 80% ของละครไทยยังเดินตามจารีตนี้ ส่วนตัวติดตามละครเกาหลี ซึ่งไม่มีพล็อตแบบนี้ ล่าสุดที่ดูคือ "I do I do" ซึ่งนางเอกอายุ 37 เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ละครไทยคงไม่มีทางทำแบบนี้

ปิ่นแก้วเสนอว่า ควรมีละครเชิงทางเลือกหรือเสนออะไรที่มีคุณภาพที่แหกจารีตขึ้นมา โดยเป็นเรื่องต้องลงทุน แม้นักลงทุนไทยอาจไม่ชอบอุตสาหกรรมเชิงความคิด เพราะไม่สร้างกำไร แต่ต้องทำ เพราะละครไทยผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่ไม่ได้สะท้อนชีวิตจริงเท่าไหร่

ละครเกาหลีหรือญี่ปุ่นนั้นไม่ได้โฟกัสคู่ตรงข้าม ความดี-เลว แบบที่เดาตอนจบได้ แต่พล็อตส่วนใหญ่เป็น dilemma คือเล่นกับภาวะที่คนไม่ได้ตั้งใจอยู่ในภาวการณ์บางอย่าง แต่เงื่อนไขของชีวิตพาไป โดยมีทั้ง dilemma ของอนุรักษนิยม-เสรีนิยม การประสบความสำเร็จ-ความเป็นแม่ เหล่านี้ทำให้ตัวละคร-เนื้อเรื่องลึก ทำให้คนดูได้คิดวิเคราะห์ เพราะไม่ว่าเลือกอะไรก็แล้วแต่ ก็จะเกิดผลที่เราไม่คาดคิดได้ ทำให้คนเข้าใจปัญหาที่เป็นจริงในชีวิตตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องการเมืองได้

ทั้งนี้เชื่อว่าถ้าละครไทยเป็นละครปลายเปิด ตั้งคำถามชวนให้คนคิดและวิเคราะห์ อาจทำให้คนดูมีความสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น

ปิ่นแก้วกล่าวว่า เห็นด้วยกับในวิกิพีเดียที่ว่าละครไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนชั้นสูง ไม่มีชีวิตของสามัญชน คนทำรองเท้า ชาวมุสลิม ช่างปั้นหม้อ ที่มีความรัก มีชีวิตที่ซับซ้อน มีทัศนคติต่างจากคนในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การจะทำละครให้คนดูเข้าใจความหลากหลายของคนที่ต่างจากเราได้นั้น คนเขียนบทต้องทำการบ้านอย่างมาก ซึ่งเสนอว่า ไม่ต้องทำเองก็ได้ มีวรรณกรรมซีไรต์ วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยาจำนวนมากที่จะทำให้ละครเข้าถึงวัตถุดิบของสังคมได้มากขึ้น
 

 

ว่าด้วยบรรทัดฐานรักต่างเพศในละคร
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า ละครไทยได้สร้าง Heteronormative หรือบรรทัดฐานทางเพศขึ้นมา ไม่ใช่แค่การพูดถึงความสัมพันธ์ชายหญิง หรือความสัมพันธ์ทางเพศ แต่เป็นเรื่องของอำนาจที่ถูกทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานจนเราไม่รู้สึกว่าเป็นอำนาจ

Heteronormative มีผลต่อการผลิตซ้ำ สร้างภาพความเป็นตัวแทนของความเป็นผู้ชาย ความเป็นผู้หญิง ที่อยู่ใต้อุดมการณ์ของรักต่างเพศ ทำให้เกิดตัวละครที่สร้างความเป็นหญิงภายใต้สังคมแบบชายเป็นใหญ่ ผลิตซ้ำว่าความเป็นหญิงมีเพื่อความพอใจทางเพศเท่านั้น เมื่อผลิตซ้ำมากเข้า ชุดความรู้ที่ผู้หญิงจะเรียนรู้ภายใต้ความหลากหลายของความเป็นผู้หญิงจะหายไป

นอกจากนี้ Heteronormative ยังมีผลต่อการกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์และความปรารถนาทางเพศ เช่น Romantic Love ที่พูดถึงความรัก ความซื่อสัตย์ รักเดียวใจเดียว มั่นคงในความรัก ขณะที่ซ่อนอคติต่อการชิงรักหักสวาท การนอกใจ โดยผลิตซ้ำออกมาเป็นคู่ตรงข้าม ซึ่งนฤพนธ์ตั้งคำถามว่า การพยายามให้คุณค่าทางศีลธรรมของ Romantic Love ในความหมายด้านเดียว จะตีความให้มันหลากหลายในการปรากฏในช่วงชีวิตมนุษย์ได้อย่างไร

Heteronormative มีผลต่อการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่มีอำนาจปฏิเสธคู่รักของลูกชาย หาคู่รักให้ลูกสาว ศีลธรรมของครอบครัวเป็นศูนย์กลาง เชื่อในผัวเดียวเมียเดียว ผู้หญิงให้อยู่ในครัว เป็นต้น

นฤพนธ์ กล่าวด้วยว่า Heteronormative มีผลต่อการสร้างภาพตัวแทนของเพศ และเพศสภาพในแบบที่รัฐไทยต้องการเห็น รัฐไทยต้องการสร้างเพศวิถีแบบชาตินิยมที่ให้ความสำคัญกับบรรทัดฐานของรัฐเหนือกว่าความสัมพันธ์อื่นๆ

นอกจากนี้ เพศและเพศสภาพ (sex and gender) ในละครไทยหลายเรื่อง พยายามให้คุณค่าระบบผัวเดียวเมียเดียว เห็นเพศวิถีอื่นๆ เป็นเพียงน้ำจิ้ม มีการผลิตซ้ำ ถ่ายทอดมายาคติดูหมิ่นเหยียดหยามเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ชาย-ผู้หญิงลงในละครไทย ทำให้เชื่อว่าคนที่เบี่ยงเบนทางเพศมีคาแรกเตอร์แบบนี้ แม้ปัจจุบันละครไทยพยายามเอาคาแรกเตอร์คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศเข้ามามากขึ้น แต่ก็มีศีลธรรมบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น


ชี้ระบบการศึกษาส่งผลคุณภาพละคร

ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ หรือ ป้าแจ๋ว ผู้กำกับละครโทรทัศน์ เรื่อง "ธรณีนี่นี้ใครครอง" กล่าวว่า สาเหตุที่ละครของประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ มีคุณภาพกว่า เพราะประชากรของเขาได้รับการศึกษาสูง ขณะที่ระบบการศึกษาไทยทำให้มาตรฐานคนดูไม่เท่าประเทศอื่น เราไม่สามารถทำละครสืบสวนสอบสวนได้ เพราะเรทติ้งจะแย่มาก มีเพียงคนจำนวนน้อยที่อยากดู เราไม่สามารถสร้างขั้นตอนการดูละครให้มีรสนิยมได้ เพราะระบบการศึกษาของไทยแย่ลงกว่าตอนเราเป็นเด็กที่สอนให้คิดได้ ดูแล้วแยกแยะออก ปัจจุบัน ระบบการศึกษาแบบใหม่ไม่มีความเสถียรในการทำให้เกิดมาตรฐานที่ดี ยกระดับเยาวชนในชาติ

ส่วนละครสำหรับเพศต่างๆ นั้น ยุทธนากล่าวว่า ส่วนตัวอยากทำ แต่ทำไม่ได้ เพราะเมื่อมีข่าวว่าจะทำตัวละครจากนิยายที่เป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย ก็จะโดนถล่มจากผู้ปกครองและผู้ชมทันที

ยุทธนา กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลายข้อเสนอที่วงอภิปรายเสนอมาและอยากทำในฐานะผู้ผลิต แต่มองว่าสิ่งที่ต้องทำก่อนคือการสร้างประชากรที่มีจิตสำนึก ยกย่องและให้เกียรติกันเมื่อเห็นว่าทำดี ไม่ใช่เอาแต่ตำหนิเพื่อชื่อเสียงของตัวเองเท่านั้น


โต้ละครรีเมกไม่ได้ทำสังคมแย่

ณัฐิยา ศิรกรวิไล ผู้เขียนบทโทรทัศน์ เรื่อง "สวรรค์เบี่ยง" โต้คำวิจารณ์ต่อละครไทยว่าทำให้สังคมแย่ โดยชี้ว่าละครส่วนมากมาจากนวนิยายงานเขียนเก่าๆ แม้แต่ "สวรรค์เบี่ยง" ก็เป็นงานเมื่อ 40-50 ปีก่อนที่นำมาทำใหม่ ถามว่าในยุคนั้นๆ สังคมเลวร้ายจากละครเหล่านั้นหรือไม่ หรือเป็นเพราะคนคิดกันน้อยลง เพราะเมื่อคนรุ่นนั้นดู ก็รู้ว่ามันคือละครไม่ใช่ชีวิตจริง

ส่วนตัวอยากทำละครที่ลงลึก ให้ข้อเท็จจริงของอาชีพนั้นๆ ในสังคม โดยพยายามค้นคว้าและทำอยู่ แต่สิ่งที่จะออกมาหน้าจอนั้นไม่ได้ขึ้นกับตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายครั้งพบว่าเมื่อเขียนแล้วกลับโดนตัดทิ้ง นอกจากนี้ อาชีพแต่ละอาชีพยังมีม่านหรือบอดี้การ์ดอยู่ เช่น แพทย์ แอร์โฮสเตส ไม่สามารถสร้างให้เป็นคนเลวได้ ล่าสุดมีหนังสือสั่งมาว่าห้ามมีนักการเมืองเลวในละคร

หากจะพัฒนาละคร ต้องพัฒนาบุคลากรทุกสาขา ในส่วนของตนเองมองว่า วิชาการเขียนบทในมหาวิทยาลัยยังมีน้อย สี่ปีอาจมีเพียงหนึ่งวิชา ทั้งยังไปรวมกับวิชาการเขียนอื่นๆ อีก ทั้งนี้ เสนอว่า การทำละครนั้นมีต้นทุน หากอยากได้ละครดีๆ หน่วยงานราชการที่มีงบจำนวนมาก ก็น่าจะเข้ามาสนับสนุน เช่น ซื้อโฆษณา เป็นต้น


ชี้ "โครงสร้างธุรกิจ" มีผลต่อละคร

นลินี สีตสุวรรณ ผู้เขียนบทโทรทัศน์ เรื่อง "สี่แผ่นดิน" กล่าวว่า ผู้ปกครองประเทศของเราได้ใช้ละครก่อรูปสังคมมานานแล้ว โดยพูดถึงเรื่องความดีความชั่ว ซึ่งรูปแบบนี้ก็ใช้ตามกันมา แต่ถามว่า ปัจจุบันนี้ สังคมแบบไหนที่เราอยากจะเห็น ก็ดูเหมือนว่าคนไทยจะยังไม่ชัดว่าอยากให้สังคมไทย เด็ก หรือครอบครัวเป็นอย่างไร ซึ่งนี่จะส่งผลต่อทิศทางของละครในอนาคต นอกจากนี้ เธอมองว่า โครงสร้างธุรกิจเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมา ผู้จัดในฐานะผู้ลงทุนมีอิทธิพลสูงต่อเนื้อหา ถ้าทำให้กลุ่มวิชาชีพเข้าสู่โครงสร้างธุรกิจได้ก็จะแก้ปัญหานี้


อยากได้ละครแทรกแง่คิดตลอดเรื่อง

อุษา บิกกินส์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า อยากเห็นละครที่สะท้อนชีวิตแบบ realistic มีความเป็นคนจริงๆ ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่ประสบความสำเร็จ โดยสอดแทรกข้อคิดตลอดเรื่อง อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกฝังทักษะชีวิตแก่เยาวชน ทั้งนี้ ไม่ต้องรอใส่ในตอนจบ เพราะคนอาจเปลี่ยนช่องไปก่อนและไม่สามารถจับแง่คิดได้ รวมถึงมีเนื้อหาที่ทำให้คนขบคิด เช่น ช่องทรู ที่มีเรื่องเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนบทจะต้องทำงานหนัก แต่จะช่วยยกระดับความคิดผู้คนได้

อุษาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการมีตัวเอกที่เป็นนางอิจฉา เช่น "เรยา" เพราะตัวเอกนั้นจะกลายเป็น role model ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี พร้อมชี้ว่า นอกกรอบได้ แต่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้องด้วย


เสนอทางเลือกนอกกรอบให้บ้าง

นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมความเป็นธรรมทางเพศ เล่าว่า ที่ผ่านมา ตนเองถูกคาดหวังให้ทำตามกรอบวัฒนธรรมประเพณีที่สังคมคาดหวังมาตลอด ทั้งเรื่องความเป็นหญิงที่ต้องเรียบร้อย หรือเรียนจบแล้วต้องแต่งงาน มีลูก ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกอยากทำ ดังนั้น จึงอยากให้ละครชี้ให้สังคมเห็นว่ามีทางเลือกที่ออกไปจากกรอบคิดแบบเดิมอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ชมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องเดินตามกันโดยไม่รู้ตัวว่ามีความทุกข์ รวมถึงอยากให้ผู้จัดละครเท่าทันกับปัญหาชีวิตแบบต่างๆ โดยเสนอให้ผู้จัดละครแลกเปลี่ยนข้อมูลกับองค์กรที่ทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น เด็ก ผู้หญิง แรงงาน LGBT เพื่อทำให้ละครมีฉากชีวิตอื่นๆ บ้าง

นัยนาย้ำว่า อยากเห็นว่าละครจะขยับเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ แม้สังคมจะยังไม่เปลี่ยนก็ตาม ส่วนกรณีมีคำถามว่าหากเสนอเรื่องที่ล่อแหลม จะถูกมองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอกนั้น มองว่า การนำเสนอจะต้องยกระดับการศึกษา คือ ให้ข้อมูลเต็มที่ทุกด้าน เพื่อทำให้ผู้รับเท่าทันว่าข้อมูลแบบไหนเป็นอย่างไร


ห่วงเยาวชนไม่มีคนแนะนำ

อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า ละครไทยเป็นงานประเภทเดียวที่ยังจัดระดับเรทติ้งไม่ตรงตามความร่วมมือที่เคยพูดคุยกันไว้ โดยที่ผ่านมา มีบางเรื่องที่ได้เรท น.13 (ผู้ใหญ่ควรแนะนำให้เด็กต่ำกว่า 13 ปี) แต่หลุดมาออกอากาศในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ช่วงบ่ายที่เด็กอาจนั่งดูอยู่คนเดียว ไม่มีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำ จึงอยากเรียกร้องให้จัดสรรช่วงเวลาและมีสัญลักษณ์เตือนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ เสริมว่า เนื้อหาที่ยังขาดไปคือ ทักษะและการส่งเสริมสัมพันธภาพชีวิตที่ดีในครอบครัว


จัดเวทีโฟกัสกรุ๊ป 16 ส.ค.นี้

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กล่าวว่า งานสำคัญของ กสทช. ตามที่กฎหมายระบุไว้คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแล โดยการกำกับดูแลนั้นยากไม่แพ้การจัดสรรคลื่นความถี่ เพราะมีทั้งแง่กฎหมายและเจตนารมณ์สากล ที่สื่อมีนัยสำคัญของเรื่องเสรีภาพของสื่อและสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ดังนั้น แม้ กสทช.จะเป็นภาครัฐที่ต้องกำกับดูแล แต่เจตนารมณ์กฎหมายไม่ได้ให้ใช้อำนาจควบคุม แต่เป็นการส่งเสริมการรวมตัวและกำกับดูแลกันเองของวิชาชีพ

โดยรูปธรรม ในอนาคต เมื่อสื่อทุกแขนงได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. แล้วต้องรวมตัวกันเป็นองค์กรวิชาชีพและต้องมีแนวกรอบจรรยาบรรณ โดยตามกฎหมาย กสทช. จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ชม นักวิชาการ ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ เข้ามาแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างคู่มือแนวทางปฏิบัติกลาง (Guideline) เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ จะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus group) เวลา 09.30-16.00 น. ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กสทช.จากนั้นจึงรวบรวมความคิดเห็นเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง หรือ กสท. ในเดือน ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ร่างดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้ในเดือน ต.ค.นี้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีต CIA เปิดใจกรณีสหรัฐฯ ช่วยเหลือกลุ่มกบฏในซีเรีย

Posted: 09 Aug 2012 09:24 AM PDT

ขณะที่อิหร่านบอกกลุ่มกบฏจับอดีตกองกำลังปกป้องการปฏิวัติอิหร่านเป็นตัวประกัน 48 ราย

วันที่ 9 ส.ค. โรเบิร์ต เกรนเนียร์ อดีตหัวหน้าหน่วยของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) เขียนบทความลงเว็บไซต์อัลจาซีร่า กล่าวถึง การที่สหรัฐฯ ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏในซีเรีย โดยบอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องยื่นมือเข้าไปช่วย ขณะเดียวกันก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงจริยธรรม แต่กลุ่ม CIA ต้องมาแบกรับความรับผิดชอบด้านจริยธรรมแทนรัฐบาลสหรัฐฯ

อดีต CIA เปิดหัวข้อบทความด้วยวาทะคำคมของ เอ็ดมันด์ เบิร์ก นักการเมืองพรรค Whig ของอังกฤษสมัยศต. 1700s ที่บอกว่า “สิ่งที่จะทำให้ความชั่วร้ายได้ชัยชนะก็คือคนดีไม่ทำอะไรเลย” และบอกอีกว่าถ้าหากคนที่เชื่อในคำพูดของเบิร์กได้พบเจอสถานการณ์ปฏิวัติซีเรียเช่นปัจจุบัน พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร
 
"มีช่วงเวลาหนึ่งที่ทั้งเจ้าหน้าที่และปัญญาชนในสหรัฐฯ ต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันอย่างน่าแปลกใจ คือการที่ความชั่วร้ายของรัฐบาลอัสซาดกลายเป็นเครื่องเตือนให้สหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงและทำให้เกิดการโค่นล้ม" โรเบิร์ตกล่าว
 
โรเบิร์ตบอกอีกว่ามีนักวิจารณ์จำนวนมากเรียกร้องให้สหรัฐฯ ติดอาวุธให้กองกำลังกบฏปลดปล่อยซีเรีย (FSA) แต่การที่สหรัฐฯ ต้องยื่นมือเข้าไปยุ่งกับสงครามกลางเมือง ต้องเข้าไปมีส่วนอย่างระมัดระวัง และหน้าที่ส่วนใหญ่ก็มาตกอยู่ที่ CIA
 
โรเบิร์ตกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ปธน. โอบาม่า เซนต์ลงนามคำสั่งลับ 'การสืบค้นของประธานาธิบดี' ที่อนุญาตให้ CIA ให้ความช่วยเหลือด้านงานข่าวแก่กลุ่มกบฏในซีเรีย รวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง โดยบอกว่าเป็นเรื่องที่รั่วไหลออกมา และไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ขณะเดียวกันโรเบิร์ตก็มีความเห็นว่าโครงการลับใหญ่ๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ควรจะเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปเพื่อที่จะเป็นไปตามหลักการนโยบายของสหรัฐฯ
 
"รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาสนับสนุนให้บาชาร์ อัล-อัสซาด ออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะด้วยตนเองหรือด้วยวิธีการอื่น และพวกเขาก็ให้ความช่วยเหลือในทางที่ 'ไม่ใช่ความรุนแรง' " โรเบิร์ตกล่าว
 
"เนื่องจากการสู้รบในซีเรียดูรุนแรงและทารุณขึ้นเรื่อยๆ เช่นเรื่องของการลักพาตัว การฆ่าตัดตอน ในส่วนของการขยายพื้นที่ของฝ่ายกบฏ ซึ่งเป็นการตอบโต้อย่างจำกัดต่อการสังหารหมู่และการทรมานในวงกว้างซึ่งเป็นการกระทำของกองทัพรัฐบาล" โรเบิร์ตกล่าวในบทความ "ทางรัฐบาลสหรัฐฯ จึงยังคงระวังในการขยายความช่วยเหลือไปสู่ด้านที่เป็นความรุนแรง แต่แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการบางส่วนจะระงับทางเลือกไม่ให้ส่งอาวุธช่วยเหลือแก่กบฏโดยตรง แต่ความมีจริยธรรมตรงนี้ดูเป็นหน้าฉากมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง"
 
โรเบิร์ตเปิดเผยว่าการคลังของสหรัฐฯ ได้เปิดกองทุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ FSA ซึ่งก็มีค่าเท่ากับการติดอาวุธให้กับพวกเขา และอีกหน้าที่หนึ่งของ CIA ในพื้นที่นั้นคือการติดต่อกับชาติอาหรับที่เป็นพันธมิตรอย่าง ซาอุดิอารเบีย และ กาตาร์ เพื่อให้ช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลติดอาวุธที่มีความรับผิดชอบ เนื่องจากสงครามความเกลียดชังระหว่างนิกายในพื้นที่ซีเรีย ทำให้ต้องตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนว่ากลุ่มต่อต้านกลุ่มไหนควรได้รับความช่วยเหลือ
 
อดีต CIA เปิดเผยว่าทางรัฐบาลสหรัฐฯ หวังว่าตนเองจะหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์และความเสียหายด้านชื่อเสียง จึงปฏิบัติต่อการปฏิวัติซีเรียในทางที่ดูขัดแย้งกัน และไม่กล้าใช้กำลังโดยตรงในการแทรกแซง แต่ทาง CIA เองอาจต้องแบกรับความเสียหายแทน
 
"ท่ามกลางเหตุการณ์โศกเศร้าในซีเรีย ไม่มีใครที่พยายามจะเป็นคนดี หรือพยายามบีบให้ความชั่วร้ายเล็กลงได้โดยไม่เสี่ยงต่อเรื่องเชิงจริยธรรม" โรเบิร์ตกล่าว
 
อิหร่านเผยอดีตกองกำลังปกป้องการปฏิวัติอิหร่านถูกกลุ่มกบฏซีเรียจับตัว
รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน อาลี อัคบาร์ ซาเลฮี กล่าวเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า มีสมาชิก 48 รายของกลุ่มกองกำลังปกป้องการปฏิวัติของอิหร่าน (Iran's Revolutionary Guards) ที่ 'ปลดเกษียณ' แล้ว ถูกกลุ่มกบฏในซีเรียจับเป็นตัวประกัน
 
ซาเลฮีกล่าวว่า อดีตทหารกลุ่มนี้ได้ไปเยือนกรุงดามาสกัสเพื่อจาริกแสวงบุญ ก่อนที่จะถูกจับเป็นตัวประกันเมื่อวันเสาร์ (4 ส.ค.) ที่ผ่านมา
 
โดยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ซาอีด จาลีลี เจ้าหน้าที่อาวุโสอีกรายหนึ่งของอิหร่านได้ไปเยือนกรุงดามาสกัสเพื่อเข้าพบปะกับ ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรีย
 
ซาอีดเป็นที่ปรึกษาระดับสูงของ อยาโตลาห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เขากล่าวต่ออัสซาดว่าอิหร่านจะยังคงสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย และบอกอีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรียไม่ใช่ 'ประเด็นปัญหาภายใน' แต่บอกว่ามันเป็นทั้งปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มกบฏและอีกนัยหนึ่งก็เป็นความขัดแย้งกับศัตรูในระดับภูมิภาคและในระดับโลก
 
สำนักข่าว IRNA ของรัฐบาลอิหร่านรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ซาอีด ก็ได้กล่าววิจารณ์ประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏในซีเรียอย่างอ้อมๆ ว่า "ผู้ที่คิดว่าจะทำลายความมั่นคงของประเทศอื่นด้วยการส่งออกอาวุธและการก่อการร้าย เพื่อซื้อความมั่นคงให้แก่ประเทศตัวเอง พวกเขาคิดผิด"
 
สถานการณ์สู้รบในอเล็ปโป - มีข่าวลือทหารรัสเซียและอิหร่านหนุนฝ่ายรัฐบาล
 
การสู้รบระหว่างกลุ่มกบฏและกองทัพรัฐบาลซีเรียดำเนินมาเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว โดยล่าสุดในวันที่ 9 ส.ค. ฝ่ายรัฐบาลใช้ยุทธการศึกทางภาคพื้นดินเพื่อขับไล่กลุ่มกบฏ
 
คิม เซนกูปตา ผู้สื่อข่าวของ The Independent ในพื้นที่รายงานว่ากองทัพรัฐบาลใช้รถถัง 5 คันเข้าล้อมพื้นที่จัตุรัสซาลาเฮดินแล้วยิงเข้าใส่กลุ่มกบฏเพื่อยึดพื้นที่คืน แต่กองทัพรัฐบาลก็ต้องล่าถอยออกไปเมื่อถูกโจมตีด้วยเฮลิคอปเตอร์ ด้านนักกิจกรรมในพื้นที่บอกว่าฝ่ายกบฏสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายรัฐบาลอย่างมากจนฝ่ายรัฐบาลล่าถอยออกไป และ FSA ยังคงครองพื้นที่ย่านซาลาเฮดินอยู่
 
แต่ทางสื่อรัฐบาลรายงานไปในทางตรงกันข้ามบอกว่าทหารฝ่ายรัฐบาลสังหารกลุ่มกบฏส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ และได้เคลื่อนพลไปยังส่วนอื่นของเมืองเพื่อบุกยึดพื้นที่อื่นๆ
 
คิม บอกว่าฝ่ายกบฏสูญเสียเป็นจำนวนมากก้จริง แต่ไม่มากเท่าที่สื่อรัฐบาลระบุไว้ โดยผู้ที่เสียชีวิตรายหนึ่งเป็นแพทย์สนามของฝ่ายกบฏ
 
คิม รายงานอีกว่า มีกลุ่มสไนเปอร์เพิ่มมากขึ้น และยิงแม่นขึ้นผิดปกติในช่วงหลังนี้ ทำให้กลุ่มกบฏลือว่ามีการนำทหารซุ่มยิงระยะไกลจากประเทศรัสเซียและอิหร่านเข้ามา มีกบฏรายหนึ่งบอกว่าเขาได้ยินบทสนทนาของพวกเขาเป็นภาษารัสเซีย
 
อาห์เม็ด ไซดาน นักข่าวของอัลจาซีร่าในพื้นที่รายงานว่า มีประชาชนจำนวนมากถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บในการต่อสู้ย่านซาลาเฮดิน ที่ฝ่ายรัฐบาลมีการใช้กำลังรถถังของรัสเซีย 
 
อาห์เม็ดกล่าวอีกว่า ทั้งย่านซาลาเฮดิน และเมืองอเล็ปโปมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจากอเล็ปโปเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และการสู้รบในตอนนี้ก็ทำให้เศรษฐกิจของซีเรียร้อยละ 60 - 70 หยุดชะงัก
 
 
 
ที่มา เรียบเรียงจาก
The US in Syria: Hiding behind the CIA, Aljazeera, 09-08-2012
 
Assad's gunships and tanks launch heaviest assault on Aleppo rebels, Aljazeera, 09-08-2012
 
Syria launches ground assault on Aleppo, Aljazeera, 09-08-2012
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: ผุดเมืองใหม่กลางทะเลจีนใต้

Posted: 09 Aug 2012 09:18 AM PDT

ASEAN Weekly ตอนผุดเมืองใหม่กลางทะเลจีนใต้ (คลิกที่นี่เพื่อรับชมแบบ HD)

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงแรก ติดตามบทสัมภาษณ์อ่อง เถ่ง ลิน ส.ส.พรรครัฐบาลพม่า ออกสื่อจีน "เซาท์เทิร์นไชน่า" วิจารณ์พรรคฝ่ายค้านและ "ออง ซาน ซูจี" แหลกจนถูกผู้สนับสนุนฝ่ายค้านล่ารายชื่อขับ แม้พรรครัฐบาลจะชี้แจงว่าเป็นคำให้สัมภาษณ์ส่วนบุคคลไม่เกี่ยวกับพรรค แต่เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลพม่าไม่ได้มีแต่ "ขั้วปฏิรูป" ที่นำโดยเต็ง เส่งอย่างเดียว แต่ยังมี "ขั้วอนุรักษ์นิยม" ที่ยังคงสืบต่ออำนาจมาจากคณะรัฐบาลทหารเดิม และนับวันรอยปริแยกระหว่างสองขั้วจะยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้น

ขณะที่เวียดนาม มีข่าวเศร้าเมื่อแม่ของบล็อกเกอร์คนหนึ่งเผาตัวตายประท้วง เนื่องจากกังวลที่ลูกกำลังจะถูกรัฐบาลดำเนินคดีฐานต่อต้านอำนาจรัฐ ขณะที่งานศพถูกจัดขึ้นท่ามกลางการสังเกตการณ์เข้มจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล มีการเช็คว่ามีนักกิจกรรมคนไหนมาร่วมงานบ้าง อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือ LGBT และผู้สนับสนุนสามารถรวมตัวกันปั่นจักรยานจัดรณรงค์ "เกย์ไพรด์" ได้เป็นครั้งแรก ขณะที่กฎหมายให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาเวียดนาม

ส่วนที่อินโดนีเซีย หลังการไต่สวนมากว่า 3 ปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอินโดนีเซียเผยแพร่รายงานที่หนากว่า 800 หน้า สรุปเหตุการณ์ล่าสังหารสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ในช่วงที่ซูฮาร์โตปกครองประเทศ จนมีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง โดยมีการยื่นเรื่องให้อัยการพิจารณาว่าจะดำเนินคดีผู้สั่งการที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

สำหรับช่วงที่สอง พาสำรวจจังหวัดใหม่ "ซานชา" ของจีน ซึ่งตั้งขึ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารหมู่เกาะ และพื้นที่ในทะเลจีนใต้ทั้งหมดขึ้นต่อมณฑลไหหนานของจีน ในขณะที่ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ยังมีการพิพาทระหว่างจีน และฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอีกหลายชาติในอาเซียน

โดยการตั้งจังหวัดใหม่ของจีน ดุลยภาคให้ความเห็นว่าถือเป็นการหยั่งอิทธิพลลงไปในกลางทะเลจีนใต้ เพื่อตอบโต้รัฐที่ตั้งอยู่รายรอบซึ่งมีข้อพิพาทกันเรื่องการครอบครองทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ยังเป็นการผนวกเชิงสัญลักษณ์ โดยนอกจากตั้งถิ่นฐาน การตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางเศรษฐกิจ และการทหารแล้ว การผนวกการปกครองเกาะในทะเลจีนใต้ให้เป็นจังหวัดหนึ่งของจีน ยังเป็นความพยายามทำให้เรื่องพิพาทในทะเลจีนใต้กลายเป็นกิจการภายใน ขณะที่ในบริเวณดังกล่าวกินพื้นที่เกินชายฝั่งทะเลของจีนไปมาก อย่างไรก็ตามการตัดสินใจดังกล่าว เป็นการตัดสินใจทางการทูตและการทหารที่เสี่ยงเพราะเป็นการสะบั้นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกับเวียดนามและฟิลิปปินส์ และจีนอาจต้องเผชิญการที่มหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเข้ามาหนุนหลังชาติที่พิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ทิศทางที่จีนกำลังปรับหลักนิยมทางการทหารใหม่ โดยกองทัพบกจีนเปลี่ยนจากการป้องกันประเทศเป็นพื้นที่มาเป็นสามารถป้องกันประเทศได้ครอบคลุมทั้งหมด กองทัพเรือจากกองเรือชายฝั่งเปลี่ยนเป็นกองเรือที่เดินเรือในทะเลลึกได้มากขึ้น และกองทัพอากาศที่สามารถส่งไปรบนอกชายฝั่งได้ไกลมากขึ้นนั้น เป็นการตอบสมการที่สะท้อนว่าจีนต้องการขยายอำนาจออกสู่ทะเลจีนใต้

(หมายเหตุ: ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก Xinhua)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พลร่ม Teddy bear’ และความตึงเครียดระหว่าง ‘เบลารุส-สวีเดน’

Posted: 09 Aug 2012 06:59 AM PDT

 

ปฏิบัติการทิ้งดิ่ง ‘พลร่ม Teddy bear’ ของนักกิจกรรมที่รณรงค์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประเด็นสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางการทูตระหว่าง เบลารุส-สวีเดน ในขณะนี้ (ภาพจาก: Radio Free Europe/Radio Liberty คลิปวีดีโอจาก: BBC)

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 55 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่ารัฐบาลเบลารุส ได้ดำเนินมาตรการทางการทูตขั้นรุนแรงต่อสวีเดน ด้วยการสั่งขับเจ้าหน้าที่ทูตของสวีเดนออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่พอใจเหตุการณ์ที่มีนักกิจกรรมจากสวีเดนกลุ่มหนึ่ง ได้บินด้วยเครื่องบินขนาดเล็กลำหนึ่งรุกล้ำน่านฟ้าของเบลารุสในเดือนกรกฎาคม และโปรยตุ๊กตาหมี “Teddy bear” กว่า 800 ตัวที่ข้อความเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประเด็นสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้น

ทั้งนี้มีการคาดการว่าการขับทูตสวีเดนในครั้งนี้ ยังเกี่ยวข้องกับความไม่พอใจของรัฐบาลเบลารุสต่อกรณีที่เอกอัครราชทูตสวีเดนได้เข้าประชุมร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านมาแล้วหลายครั้ง

นอกจากนี้รัฐบาลในกรุง Minsk (เมืองหลวงของเบลารุส) ยังได้สั่งปิดสถานทูตในกรุง Stockholm เมืองหลวงของสวีเดนด้วยเช่นกัน หลังที่สวีเดนเองก็ได้สั่งขับทูตของเบลารุสเพื่อเป็นการตอบโต้ โดยทางการสวีเดนระบุว่า ทูตสวีเดนทั้งหมดถูกขับออกจากประเทศเบลารุส 5 วันหลังเบลารุสสั่งขับเอกอัครราชทูตสวีเดน เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเบลารุส

ปฏิบัติการ ‘พลร่ม Teddy bear’ ทำให้ประธานาธิบดี Alexander Lukashenko ของเบลารุส ได้ปลดผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการกองกำลังชายแดน ออกจากตำแหน่ง พร้อมย้ำให้ใช้กำลังขั้นเด็ดขาดเพื่อป้องกันการรุกล้ำน่านฟ้าเบลารุสอีก นอกจากนี้ยังได้จับกุมพลเมืองชาวเบลารุส 2 คนคือ Anton Surapin ซึ่งเป็นบลอกเกอร์ และ และ Syarhey Basharymau ที่ระบุว่ามีอาชีพเป็นผู้ประกอบการ โดยถูกตั้งข้อหาว่ามีส่วนร่วมรู้เห็นกับการรุกล้ำน่านฟ้าใน ปฏิบัติการ ‘พลร่ม Teddy bear’ นี้

ที่มา:

Minsk Recalls Entire Staff From Sweden (Radio Free Europe/Radio Liberty, 8-8-2012)
http://www.rferl.org/content/minsk-recalls-entire-staff-from-sweden/24670298.html

Belarus-Sweden teddy bear row escalates (BBC, 8-8-2012)
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-19176432

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จี้กรมวิชาการเกษตรแบนสารพิษ 4 ตัว ขู่ฟ้อง ปปช.สอบคอรัปชั่น หากทำเมิน

Posted: 09 Aug 2012 06:50 AM PDT

เครือข่ายเกษตรทางเลือก-กลุ่มผู้บริโภค จวกบริษัทค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร่ำรวยจากการค้าสารพิษแต่โยนบาปให้เกษตรกร ยันหากกรมวิชาการเกษตรเห็นผลกำไรบริษัทเอกชนอยู่เหนือสุขภาพและชีวิตของคนไทยจะฟ้อง ปปช.ตรวจสอบคอรัปชั่น

 
 
วันนี้ (9 ส.ค.2555) ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย และกลุ่มผู้บริโภค จำนวนกว่า 50 คนรวมตัวกันบริเวณหน้าอาคารจัดประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังการใช้ เพื่อเสนอห้ามใช้หรือจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้มีการเชิญตัวแทนจากหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนบริษัทค้าเคมีกำจัดศัตรูพืช อาทิเช่น FMC ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ฟูราดาน” (คาร์โบฟูราน) ดูปองท์ เจ้าของ “แลนเนต” (เมโธมิล) ตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมระดมความเห็นจัดทำ “ร่างหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อห้ามหรือจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร”
 
เครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภคเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในกระบวนการขึ้นทะเบียน ดำเนินการเพื่อมิให้มี การผลิต นำเข้า และจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด คือคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นโดยทันที เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีดังกล่าว โดยมีการทำกิจกรรมการแสดงล้อเลียนการแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัทเคมีการเกษตร และการหว่านผักปนเปื้อนสารเคมีไปทั่วประเทศไทยที่ใช้ขวดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจัดเรียงเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมตัวแทนกรมการข้าวได้อภิปรายสนับสนุนเครือข่ายเกษตรทางเลือกและกลุ่มผู้บริโภคที่เสนอให้กรมวิชาการเกษตรเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และพิจารณาการขึ้นทะเบียน และการยกเลิกสารเคมีอันตรายทางการเกษตร พร้อมระบุว่าที่ผ่านมากรมการข้าวไม่ได้ถูกเชิญให้มาร่วมในกระบวนการดังกล่าวเลย ทั้งที่กรมการข้าวได้มีการศึกษาผลกระทบของคาร์โบฟูราน และสารเคมีตัวอื่นๆ ต่อนาข้าว เฉพาะตัวคาร์โบฟูรานเอง ทางกรมการข้าวไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าวมานานแล้ว
 
นายนพดล มั่นศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์  กล่าวว่า ทางบริษัทและแม้แต่กรมวิชาการเกษตรเองพยายามออกมาแก้ต่างว่า การที่มีการตกค้างปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักที่เรากินกันทุกวันอย่างที่ตรวจพบล่าสุดนั้น ว่าเป็นเพราะเกษตรกรใช้ผิดวิธี เป็นการปัดความรับผิดชอบอย่างน่าละอาย 
 
“ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบปล่อยให้มีการขายสารเคมีอันตรายอย่างไม่มีการควบคุม บริษัทก็ส่งเสริมการขายแบบครึกโครมไม่มีข้อจำกัดใดๆ พอมีเรื่องขึ้นมาก็มาโทษเกษตรกรแต่เพียงผู้เดียว  ทั้งที่การจะควบคุมสารเคมีอันตรายในอาหารที่ได้ผลที่สุดคือการควบคุมที่ต้นทาง ตัวไหนเป็นอันตรายร้ายแรงมากๆ มีการใช้อย่างกว้างขวางควรยกเลิก หรือห้ามไม่ให้มีการใช้” นายนพดลกล่าว
 
 
นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ผู้บริหารบางคนในกระทรวงเกษตรฯ และบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ร่ำรวยจากการค้าสารพิษโยนบาปให้แก่เกษตรกรว่าเป็นจำเลยของปัญหานี้ แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น
 
นายอุบล กล่าวด้วยว่า ทางเครือข่ายจะจับตา และติดตามกระบวนการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชครั้งนี้อย่างใกล้ชิด หากกรมวิชาการเกษตรยังคงยืนยันให้มีการขึ้นทะเบียน หรือมิได้มีการดำเนินการให้มีการประกาศห้ามใช้สารพิษ 4 ชนิดข้างต้น เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อเปิดโปงให้สาธารณชนให้รับทราบความจริง และดำเนินการยื่นเรื่องต่อ ปปช.ให้ตรวจสอบทรัพย์สิน และการทุจริตของข้าราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป”
 
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย และกลุ่มผู้บริโภคระบุ ดังนี้  
 
 
ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนและแบนสารพิษร้ายแรง 4 ชนิดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
 
เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกซึ่งมีตัวแทนมาจากทุกภาคของประเทศ ขอเรียกร้องให้กรมวิชาการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการรับขึ้นทะเบียน  และเป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อการนำเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายร้ายแรงดำเนินการเพื่อมิให้มี การผลิต นำเข้า และจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด คือคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นโดยทันที เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับพิษภัยจากสารเคมีดังกล่าว
 
ขณะนี้สถานการณ์ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยอยู่ในขั้นเลวร้ายเกินจะยอมรับได้แล้ว ดังผลการตรวจสอบผักของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบว่าผักซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับการบริโภคของประชาชนจำนวน 7 ชนิด มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40% ไม่ว่าจะเป็นผักที่ขายอยู่ในห้างขนาดใหญ่ ตลาดสดทั่วไป ตลอดจนรถเร่ โดยในจำนวนนั้นเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิดที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้วรวมอยู่ด้วย นี่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทุกกลุ่มกำลังตายผ่อนส่งจากปัญหาการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
 
เกษตรกรทั่วประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตก็มีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน เพราะผลการตรวจเลือดของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดเผยให้เห็นว่าเกษตรกรไทย ประมาณ 40% มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดในระดับที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัย นี่คือมูลเหตุสำคัญของคนที่ญาติพี่น้องและเพื่อนรอบข้างของเราต้องตายและทุกข์ ทรมานด้วยโรคมะเร็ง โดยไม่นับโรคและปัญหาอื่นๆที่เกิดจากสารพิษเหล่านี้
 
ผู้บริหารบางคนในกระทรวงเกษตรฯ และบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ร่ำรวยจากการค้าสารพิษโยนบาปให้แก่เกษตรกรว่าเป็นจำเลยของปัญหานี้ แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออำนาจตัดสินใจในการยื่นขอทะเบียน อนุมัติให้มีการขึ้นทะเบียน และกำหนดให้ยกเลิกการใช้อยู่ในมือของตน หาใช่เกษตรกรและผู้บริโภคไม่
 
ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานคณะทำงานการขึ้นทะเบียน และผู้รับผิดชอบหลักในการเสนอให้มีการห้ามใช้สารพิษอันตรายร้ายแรงยังคงอนุญาตให้มีการแพร่กระจายสารพิษร้ายแรง 4 ชนิดดังกล่าวในปประเทศไทย เพราะขณะนี้ ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ถูกห้ามใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก เมโทมิลของบริษัทดูปองท์ถูกห้ามใช้แล้วในยุโรปหลายประเทศ รวมทั้งคาร์โบฟูรานของบริษัทเอฟเอ็มซีที่ถูกห้ามใช้ในสหภาพยุโรปและสหรัฐแล้วเพราะเป็นอันตรายเกินกว่าจะยอมรับได้
 
เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกำลังจับตาว่า การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 นี้จะเป็นแค่เพียงการจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นทะเบียนของกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจสารพิษตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันหรือไม่อย่างไร
 
หากกรมวิชาการเกษตรยังคงยืนยันให้มีการขึ้นทะเบียน หรือมิได้มีการดำเนินการให้มีการประกาศห้ามใช้สารพิษ 4 ชนิดข้างต้น เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เพื่อเปิดโปงให้สาธารณชนให้รับทราบความจริง ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล ตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการกระทำส่อไปในทางทุจริต  รวมถึงการรณรงค์สาธารณะเพื่อต่อต้านสินค้าของบริษัทที่แสวงหาผลประโยชน์จากชีวิตของประชาชนอย่างปราศจากจริยธรรม
 
เครือข่ายผู้บริโภค
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
9 สิงหาคม 2555
 
 
 
ที่มาภาพ: http://www.thaipan.org/node/355
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเลื่อนพิจารณาถอนประกัน 5 ส.ส. แกนนำ นปช. เป็น 29 พ.ย.

Posted: 09 Aug 2012 06:47 AM PDT

เนื่องจากเห็นว่าควรให้ปิดประชุมสภาก่อน จะได้ไม่ต้องก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ ทำให้ณัฐวุฒิ ก่อแก้ว การุณ เหวง วิภูแถลง ยังมีเอกสิทธิ ส.ส. คุ้มครองจนถึงวันปิดประชุมสภา

กรณีที่นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแกนนำ นปช. ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กรณีมีพฤติการณ์เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว ขึ้นเวทีปราศรัยที่บริเวณหน้ารัฐสภา กล่าวโจมตีพาดพิง ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ขัดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น

ในวันนี้ (9 ส.ค.) มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญานัดสอบถามนายจตุพร แกนนำ นปช. จำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันก่อการร้าย และพวกรวม 24 คน  โดยผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้องในการเพิกถอนการประกันตัวของผู้ต้องหาทั้งหมด โดยสรุปให้เลื่อนการพิจารณาในส่วนผู้ต้องหาที่มีเอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส.คุ้มครอง จำนวน 5 คนออกไปเป็นวันที่ 29 พ.ย. 2555 เนื่องจากเห็นว่าควรให้ปิดสมัยประชุมสภาฯ เสียก่อนเพื่อป้องกันการคัดค้านและไม่ต้องการก้าวล่วงอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ

สำหรับผู้ต้องหาที่มีเอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส.คุ้มครอง ประกอบด้วย 1. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 2. นายก่อแก้ว พิกุลทอง 3. นายการุณ โหสกุล 4. นพ.เหวง โตจิราการ และ 5. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท

ส่วนจำเลยคดีก่อการร้าย 24 คน ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก, นายนิสิต สินธุไพร, นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท

นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง, นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ, นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล, นายอำนาจ อินทโชติ, นายชยุต ใหลเจริญ, นายสมบัติ หรือแดง หรือผู้กองแดง มากทอง, นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์, นายรชต หรือกบ วงค์ยอด, นายยงยุทธ ท้วมมี จำเลยที่ 1-19 คดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553

นายอร่าม แสงอรุณ หัวหน้าการ์ด นปช จำเลยคดี อ.4339/2553, นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์, นายสมพงษ์ หรืออ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม และนายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง กลุ่มการ์ด นปช. จำเลยคดีหมายเลขดำที่ อ.757/2554 และนายอริสมันต์ หรือกี้ร์ พงษ์เรืองรอง จำเลย คดีหมายเลขดำที่ อ.4958/2554

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ผู้ว่าฯ พัทลุง’ สั่งยุติ ‘วิทยาลัยภูมิปัญญา’ -เสนอ มท.เพิกถอนที่ดินทุ่งสระ

Posted: 09 Aug 2012 05:30 AM PDT

ถกเครียดพิพาทที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ ม.ทักษิณ-ชาวบ้านตำบลพนางตุง ‘ผู้ว่าฯ พัทลุง’ เตรียมเจรจามหาวิทยาลัย เผย มท.อนุญาตใช้พื้นที่แล้ว แนะชาวบ้านฟ้องศาลปกครองหากถอนอนุญาตไม่ได้ ส่วน ผอ.วิท’ลัย-อธิการมหา’ลัยฯ ชิ่งการประชุม

 
เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง มีการประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กรณีพิพาทเรื่องที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ ระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณกับชาวบ้านใสกลิ้ง บ้านท่าช้าง ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน โดยมีนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานที่ประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง นายอำเภอควนขนุน นายกเทศบาลตำบลพนางตุง ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดจากจังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรัง รวมทั้งหมดประมาณ 150 คน ทั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าร่วมประชุมด้วย
 

นายยุทธชัย ทองวัตร ประธานเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ (เสื้อเขียว) กำลังเตรียมเอกสารอย่างละเอียดก่อนการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระ จะเริ่มขึ้น

 
ผู้ว่าฯ เผยกำหนดการณ์ เดินหน้าแก้ปัญหาชาวบ้าน
 
หลังจากใช้เวลาในการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง นายวิญญูได้สรุปผลการหารือต่อที่ประชุมว่า ภายในเดือนสิงหาคม 2555 จังหวัดพัทลุงจะทำหนังสือขอให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยุติการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ในที่ดินสาธารณะทุ่งสระ เดือนกันยายน 2555 จังหวัดพัทลุงจะเจรจากับมหาวิทยาลัยทักษิณ ขอให้ยุติการก่อสร้าง และเดือนตุลาคม 2555 จังหวัดพัทลุงจะให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง ลงรังวัดที่ดินที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้ก่อสร้างไปแล้ว
 
ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2555– ธันวาคม 2555 จะให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยขอให้เพิกถอนการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะทุ่งสระของมหาวิทยาลัยทักษิณ ในส่วนที่มหาวิทยาลัยทักษิณยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง
 
“เมื่อกระทรวงมหาดไทยเพิกถอนแล้ว ที่ดินก็จะกลับมาเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ตามเดิม ชาวบ้านสามารถขอไปออกโฉนดชุมชนได้ กระทรวงมหาดไทยจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 3 เดือน ถ้าขอถอนอนุญาตไม่ได้ให้ชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง” นายวิญญู กล่าว
 
แจงเคยส่งหนังสือถึง มหา’ ลัยขอให้ชะลอการก่อสร้าง ส่วนคดีเป็นอำนาจของศาล
 
ก่อนหน้านี้ นายวิญญูกล่าวชี้แจงในที่ประชุมว่า ตนเองได้มอบหมายให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุงทำหนังสือส่งถึงมหาวิทยาลัยทักษิณ กรณีที่ชาวบ้านเรียกร้องขอให้ชะลอการก่อสร้าง หรือการดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง โดยให้มหาวิทยาลัยทักษิณหยุดดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ 2557
 
นายวิญญู ชี้แจงด้วยว่า กรณีขอให้ยุติการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน จำนวน 2 ราย ได้แก่ นางสายัญ ดำมุสิก และ นายโสภณ ดำมุสิก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือราษฎรทั้ง 8 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล และขอให้ประสานงานไปยังพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง เพื่อชะลอการสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องคดีกับราษฎร ทั้ง 14 ราย ซึ่งเข้าสู่ชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการจังหวัดพัทลุง และศาลจังหวัดพัทลุงตามลำดับ จังหวัดไม่มีอำนาจไปก้าวล่วง
 
ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านขอให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐ จังหวัดพัทลุง ปี 2551 ที่อนุญาตให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ใช้พื้นที่บ้านใสกลิ้ง 635 ไร่ พร้อมกับมีมติอนุญาตให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใช้พื้นที่เฉพาะที่ก่อสร้างอาคารไปแล้วเท่านั้น ความผิดพลาดของมหาวิทยาลัยทักษิณคือ ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินไปแล้วปล่อยทิ้งร้างไม่ดำเนินการใช้ประโยชน์ แต่กลับไปใช้ที่ดินสาธารณะทุ่งลานโย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุงแทน ขณะที่คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐ จังหวัดพัทลุงก็ไม่ได้ยกเลิกมตินั้น
 
“ส่วนตัวผมเห็นว่าที่ดินของมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่สาธารณะทุ่งลานโยมากพอแล้ว ส่วนการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ที่จะใช้งบประมาณของปีงบประมาณ 2556 เสร็จสิ้นแล้ว เราจะให้ยุติการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป” นายวิญญู กล่าว
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวด้วยว่า จังหวัดพัทลุงจะไปเจรจากับมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อรังวัดการใช้ประโยชน์ใหม่ หลังมหาวิทยาลัยทักษิณ หมดปีงบประมาณ 2555 และ 2556 มันเสร็จสิ้นแล้ว โดยให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใช้พื้นที่ที่ก่อสร้างอาคารแล้วเท่านั้น ถ้าต่างฝ่ายต่างตกลงกันได้เรื่องก็จบ ตนจะรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทยขอให้เพิกถอนการอนุญาต หากมหาวิทยาลัยทักษิณไม่ยินยอม ตนเองเห็นว่าชาวบ้านควรนำเรื่องนี้ฟ้องศาลปกครอง
 
โต้หนักประเด็นการใช้พื้นที่ของมหา’ลัย ชาวบ้านชี้ไม่มีการของอนุญาต มท.
 
นายเอกสิทธิ์ หนองอ่อน ชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน กล่าวว่า การก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งใช้ปีงบประมาณ 2555 และปีงบประมาณ 2556 แล้วให้ยุติในปีงบประมาณ 2557 จะขัดกับข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใช้พื้นที่ที่ก่อสร้างอาคารแล้วเท่านั้น เกรงว่าในปีงบประมาณ 2555 และปีงบประมาณ 2556 จะมีการก่อสร้างรุกล้ำเพิ่มขึ้น
 
“จริงๆ แล้ววันนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณก็มา ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนก็มา แต่ไม่เข้ามาชี้แจงในที่ประชุมว่า ปีงบประมาณ 2555 และปีงบประมาณ 2556 ของมหาลัยทักษิณกินพื้นที่ตรงไหนอีก น่าจะให้วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนใช้พื้นที่ที่ก่อสร้างอาคารแล้วเท่านั้น ตามความเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ถ้าใช้เงินปีงบประมาณ 2555 และปีงบประมาณ 2556 จะลุกลามทำให้ชาวบ้านมีความเดือดร้อนเพิ่มขึ้น” นายเอกสิทธิ์ กล่าว
 
นายวิญญู กล่าวโต้ว่า ถ้าชาวบ้านเกรงมหาวิทยาลัยทักษิณ จะขยายพื้นที่ก่อสร้างในปีงบประมาณ 2555 และปีงบประมาณ 2556 ให้ชาวบ้านเจรจากับมหาวิทยาลัยทักษิณเอง เพราะมหาวิทยาลัยทักษิณตั้งงบประมาณไปแล้ว ก็ต้องก่อสร้างตามที่กำหนดไว้ตามปีงบประมาณ ใครไปขัดขวางก็มีความผิด อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยอนุญาตใช้พื้นที่ที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งสระแล้ว
 
นายเอกสิทธิ์ กล่าวโต้กลับว่า มหาวิทยาลัยทักษิณไม่ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกระทรวงมหาดไทยเลย ตนมีเอกสารหลักฐานยืนยัน การขออนุญาตที่สาธารณะหัวป่าหวาย 4,000 ไร่นั้น คนละแปลงกับที่สาธารณะทุ่งสระ 635 ไร่ ที่วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณกำลังก่อสร้าง
 
ที่ดินจังหวัดพัทลุงเผยที่สาธารณะทุ่งสระได้รับอนุญาตแล้ว
 
ด้วยนายบุญควง พานิชศิลป์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง ชี้แจงว่า พื้นที่ที่กระทรวงมหาดไทยอนุญาตคือที่สาธารณะ 4,000 ไร่ ส่วนรายละเอียดที่คณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐ จังหวัดพัทลุง ปี 2551 มีมติอนุญาตให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ประโยชน์อยู่ตรงไหนตนไม่ทราบรายละเอียด
 
นายยุทธชัย ทองวัตร ประธานเครือข่ายรักษ์แผ่นดินทุ่งสระ ชี้แจงว่า ที่ดินสาธารณะหัวป่าหวาย 4,000 ไร่ ที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ ถูกกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคัดค้านไม่ให้ใช้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทางมหาวิทยาลัยทักษิณ จึงขอใช้พื้นที่ใหม่คือที่ดินสาธารณะ 1,500 ไร่ ทางฟากตะวันตกของถนนลำปำ–ทะเลน้อย และได้รับอนุญาตจากสภาตำบลพนางตุงในขณะนั้น ต่อมากระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาคัดค้านห้ามใช้ประโยชน์อีกเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเหลือพื้นที่ฝั่งตะวันออกคือ ที่ดินสาธารณะทุ่งสระ 635 ไร่ ตนยืนยันว่าที่ดิน 4,000 ไร่ อยู่ริมทะเลน้อย ไม่ใช่ที่ดินสาธารณะทุ่งสระ 635 ไร่
 
เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุง ชี้แจงว่า มติของคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐ จังหวัดพัทลุง ปี 2551 ให้สร้างมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่การขอที่สาธารณะ 1,500 ไร่ต้องไปสำรวจรังวัดใหม่ว่า รวมที่ดินสาธารณะทุ่งสระ 635 ไร่ ด้วยหรือไม่ ตอนนี้มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินสาธารณะสาธารณะทุ่งสระ 635 ไร่ จากกระทรวงมหาดไทยแล้ว
 
ขุดข้อเสนอต่อรัฐบาลเก่า ให้มหา’ลัยทำแผนผังพื้นที่ให้ชัดเจน-ให้สร้างเฉพาะที่ทำไปแล้ว
 
นายยุทธชัย กล่าวว่า เมื่อปี 2554 มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ตัวแทนมหาวิทยาลัยทักษิณ ตัวแทนชาวบ้าน และผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงในขณะนั้น หลังจากการประชุมนายนิพนธ์ได้ทำบันทึกรายงานและข้อเสนอต่อนายสาทิตย์ว่า ได้ให้มหาวิทยาลัยถอนคดีทางมหาวิทยาลัยทักษิณฟ้องชาวบ้าน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงปรึกษากับมหาวิทยาลัยทักษิณและอัยการจังหวัดพัทลุง
 
“นอกจากนี้ ยังให้จังหวัดพัทลุงร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ จัดทำแผนผังพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อเสนอให้ถอนสภาพที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสระกับกระทรวงมหาดไทย ขอให้มหาวิทยาลัยทักษิณดำเนินการก่อสร้างเฉพาะในพื้นที่ที่ได้ก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น และให้คืนพื้นที่ส่วนที่เหลือให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ โดยให้สภามหาวิทยาลัยทักษิณรับข้อเสนอไปพิจารณา และให้จังหวัดพัทลุงดำเนินการไปตามนโยบายรัฐบาล แต่จนถึงขณะนี้จังหวัดพัทลุง ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” นายยุทธชัย กล่าว
 
นายวิญญู กล่าวว่า เอกสารดังกล่าว เป็นแค่บันทึกข้อเสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่บันทึกการประชุม ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่อย่างน้อยก็เป็นเอกสารเบื้องต้นให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพัทลุงทำข้อเสนอต่อกรมที่ดิน ขอให้มหาวิทยาลัยทักษิณยุติการดำเนินการหลังสิ้นปีงบประมาณ 2555 นี้เลย ส่วนคดีก็ให้ดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมาย จังหวัดไม่สามารถไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมได้ อย่างไรก็ตาม นายอำเภอควนขนุนยังสามารถเรียกสำนวนการสอบสวนมาตรวจสอบ หรือเรียกพนักงานสอบสวนมาชี้แจงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้
 
ชาวบ้านจวก ม.ทักษิณ ไม่สนใจการแก้ปัญหาชาวบ้าน หวังพึงผู้ว่าฯ ช่วยเหลือ
 
นายยุทธชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทักษิณไม่เคยแยแสหนังสือของหน่วยงานต่างๆ เลย แม้แต่มติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปี 2552 ที่ให้ขอใช้ที่สาธารณะทุ่งสระกับกระทรวงมหาดไทย ตนเพิ่งทราบข่าวล่าสุดจากนายกเทศบาลตำบลพนางตุง ว่ามหาวิทยาลัยทักษิณเพิ่งขออนุญาตขอใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะทุ่งสระจากกระทรวงมหาดไทย
 
นายยุทธชัย กล่าวอีกว่า ตนและชาวบ้านเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการใช้ที่ดินของรัฐ จังหวัดพัทลุง สามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้
 
นายวิญญู กล่าวว่า ตนเองไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินสาธารณะทุ่งสระได้ เนื่องจากเป็นที่ดิน นสล. อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้อนุญาตให้มหาวิทยาลัยทักษิณใช้ประโยชน์ไปแล้ว ตนอยากแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน แต่ทำไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย
 
นายวิญญู กล่าวอีกว่า ก่อนมาประชุมตนได้เจรจากับอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่ไม่ยอมมาประชุม อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณบอกตนว่า ให้นำผลสรุปที่ของที่ประชุมครั้งนี้ ไปคุยกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ตอนนี้จังหวัดพัทลุงต้องรีบออกหนังสือให้มหาวิทยาลัยทักษิณยุติการก่อสร้าง ส่วนมหาวิทยาลัยทักษิณจะพิจารณาอย่างไรก็เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัย ตนเองได้บอกให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณไปสร้างต่อที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง แต่มหาวิทยาลัยทักษิณอ้างว่า ต้องขอมติสภามหาวิทยาทักษิณก่อน และยังมีข้ออ้างอีกหลายเรื่อง
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Patani Design: กระบวนสันติภาพแบบกองโจร

Posted: 09 Aug 2012 04:37 AM PDT

เมื่อภาพแห่งความรุนแรง เลือดแห่งการสูญเสีย น้ำตาแห่งความอาลัย ยังไหลรินออกจากดวงตาผู้เป็นมารดา บิดา พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ สมาคม กลุ่ม ชมรม องค์กรเอกชน ยังคงต้องเดินหน้าทำงานวางแผน ปรับนโยบาย ปรับแผนกลยุทธ์ จัดประชุม อบรม ให้ความรู้ เวิร์คช็อป เพื่อดูแลสถานการณ์ หาทางยุติความรุนแรง เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ สร้างความยุติธรรม และพูดคุยเจรจาด้วยกระบวนการสันติวิธี ยังคงต้องหาทางสร้างสันติภาพกันต่อไป

ด้วยกลยุทธ์การต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีเป็นไปในรูปแบบสงครามจรยุทธ์ หรือ สงครามกองโจร ฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยรับทราบกันดีในกลวิธีนี้ เห็นได้จากหลังเหตุกการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 มกรา 47 และปฏิบัติการในหลายๆครั้งที่ผ่านมา การโจมตีนอกแบบเกิดขึ้นเมื่อหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสงครามขนาดใหญ่ และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับมวลมนุษยชาติได้ยุติลง สภาวะความขัดแย้งรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมาทดแทน การทำสงครามด้วยกำลังทหารขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิม ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำสงครามตัวแทน (Proxy War) โดยการใช้สงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) หรือ สงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) เพื่อสร้างและโน้มน้าวประเทศอื่นๆ มาเป็นแนวร่วมในอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ อุดมการณ์ประชาธิปไตย และ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์[1]

เมื่อการสงครามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสงครามไร้รูปแบบ มาเป็นสงครามนอกแบบ หรือ สงครามกองโจร การต่อสู้ที่ไร้แบบ อย่างมีแบบแผนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ได้ก่อความปั่นป่วนแก่ผู้นำระดับนโยบายของฝ่ายความมั่นคงแห่งรัฐไทยเจ้าผู้ปกครองเป็นอย่างมาก กระทั้งทำให้ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมาแถลงตามสไตล์ดุดัน ต่อขบวนการฯว่าเป็นผู้ที่ก่อเหตุฆ่าไม่เลือก ไม่ได้มาใช้กองกำลังเป็นหมวด หมู่ แต่เขาใช้วิธีสุนัขลอบกัด ใช้ยุทธวิธีการก่อการร้ายแบบกองโจร วันนี้ผู้ก่อเหตุมีใครมาแสดงตัวรับผิดชอบหรือเปล่า มีแต่อีแอบ อีหมาลอบกัดอย่างเดียว [2]

แต่ถ้อยแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ดังกล่าว ไมได้เจาะจงในความหมายของขบวนการที่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีเพียงอย่างเดียว ยังส่งสารที่ดุดันนี้ไปยังกลุ่มที่ค้าสิ่งที่ผิดกฎหมาย ยาเสพติด แรงงาน อาชญากรรม คนสองสัญชาติ การเมือง ส่วนตัว ไล่ที่ ซื้อที่ดิน ซึ่งก็เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ แสดงว่าในเมืองไทยเต็มไปด้วยสุนัขที่ลอบกัดกันเองอยู่ทั่วประเทศ

กระนั้นเมื่อทฤษฎีของการโจมตีแบบกองโจรได้ส่งผลก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ลมหายใจ เงินทอง บ้านเรือน ตัวแทนหน่วยงานความมั่นคงอย่างที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงทัศนะถึงกลยุทธ์ของขบวนการฯว่าเป็นสงครามกองโจร ตามแบบสากล และให้ข้อเสนอว่าเมื่อเป็นกองโจรก็ต้องสู้ด้วยกองโจร โดยได้เสนอขั้นตอนตอบโต้อย่างกองโจร 3 ขั้นตอน  1.Search คือ ค้นหาแกนนำ กองกำลังติดอาวุธ และแนวร่วมว่าเป็นใคร 2.Destroy คือเมื่อสืบทราบว่าเป็นใครแล้วก็ให้ใช้กำลังทางทหารเข้าทำลาย และดึงแนวร่วมเข้ามาเป็นพวก 3.Reconstruction คือหลังจากนั้นก็เข้าสู่การบูรณาการและปรับแผนเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ [3]

การค้นหา ทำลาย แล้วฟื้นฟู เป็นยุทธวิธีทางการทหารที่โต้กลับต่อแกนนำของขบวนการฯ จากผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญทางการรบเมื่อปี 2520 – 2524  ที่เสนอให้มีการนำกำลังกลุ่มเล็กประมาณ 10-20 นาย ที่ผ่านการฝึกแบบจรยุทธ์แล้วเข้าไปประชิดทำลายแกนนำและกองกำลังติดอาวุธของขบวนการฯ ข้อเสนอนี้นับว่าเป็นการตบลูกกลับอย่างน่าสนใจ และน่ากังวลหากว่ามาตรการนี้ผ่านการพิจารณา กระบวนการสันติภาพ การเจรจาแบบสันติวิธี ที่หลายฝ่ายทั้ง ภาครัฐ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม กำลังขับเคลื่อนอยู่จะหยุดชะงักหรือจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์อย่างไร เมื่อความรุนแรงถูกโต้ตอบด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน

ทว่าสงครามแบบกองโจร เป็นทฤษฎีที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองต่อฝ่ายที่มีกำลังเหนือกว่าได้ และผู้มีอำนาจเหนือกว่าก็ใช้ทฤษฎีกองโจรแบบเดียวกับเพื่อตีกลับ เมื่อกองโจรของขบวนการฯ ปะทะ กองโจรของรัฐไทย หากนี่เป็นวิสัชนาที่ถูกต้องแล้ว กระบวนการสันติภาพเฉกเช่นปกติก็ไม่จำเป็น และจะมีความหมายหรือไม่

กระบวนการสันติภาพคงจะต้องปรับมาใช้แบบกองโจร คือ “กระบวนการสันติภาพแบบกองโจร” (Guerrilla Peace Process) เพื่อให้สามารถสร้างความเข้าใจ สร้างนักสันติวิธี สร้างแนวร่วม และกำหนดยุทธวิธีสันติวิธีแบบจรยุทธ์ได้ ในทางทฤษฎีของการปฏิบัติในกระบวนการสันติภาพแบบกองโจร คงไม่ได้แตกต่างไปจากการทำสงครามกองโจร คือ โจมตีเมื่อข้าศึกอ่อนล้า ถอยเมื่อถูกรุก กวนเมื่อข้าศึกเผลอ แต่ข้าศึกในความหมายของกระบวนการสันติภาพนี้ ไม่ได้หมายถึงศัตรูทางการทหาร หรือเห็นต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เป็นผู้ที่เห็นต่างในยุทธวิธี หรือ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจในกระบวนการสันติภาพ

“กระบวนการสันติภาพแบบกองโจร” (Guerrilla Peace Process)
โจมตีเมื่อข้าศึกอ่อนล้า คือ การเข้าไปพบกับหน่วยงานของรัฐ และฝ่ายขบวนการฯ ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังอ่อนล้าหรือสับสนในนโยบายของตนเอง หรือนโยบายของฝ่ายตรงข้าม  เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพ ความสำคัญ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ จัดข้อมูลให้ว่ากระบวนแบบนี้กระบวนการเดียวเท่านั้นที่จะสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้

ถอยเมื่อถูกรุก เป็นการหยุดอยู่กับที่ไม่ได้หมายถึงการก้าวถอยหลัง เพียงให้ทั้งสองฝ่ายเดินเข้ามา ซึ่งหมายถึงทั้งเดินเข้ามาด้วยสนใจในกระบวนสันติภาพ หรือเดินเข้ามาด่าว่า หรือไม่เห็นด้วย ปกติเมื่อคนเราอยู่อารมณ์โกรธเอาช้างกี่เชือกก็ไม่สามารถระงับได้ แต่ทีมจรยุทธ์ที่มาจากระบวนการสันติภาพต้องเตรียมพร้อมเสมอเพื่อรุกกลับเมื่อข้าศึกเผลอ

กวนเมื่อข้าศึกเผลอ ได้จังหวะเมื่อใดรุกกลับทันที จังหวะ คือ ช่วงที่ทั้งสองฝ่ายเผลอ สังเกตได้จากสถานการณ์อยู่ในช่วงรุนแรงปกติ หรือช่วงที่มีเพียงเฉพาะการยิงรายวัน ช่วงที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยไม่ได้สนใจในประเด็นภาคใต้ จังหวะนี้เหมาะกับการกวนด้วยยุทธวิธีและข้อมูลแนวคิดทางสันติวิธี

หรือนำเอากลยุทธ์ที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เสนอคือ ค้นหา ทำลาย และฟื้นฟู ขั้นตอนแรกคือการค้นหาแกนนำ (Search) แกนนำของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ที่มีผลต่อระดับนโยบายและปฏิบัติการ เมื่อสามารถระบุตัวของแกนนำได้แล้ว ก็เป็นขั้นตอนของการทำลาย หรือกำจัด (Destroy) คือการทำลายแนวคิดความรุนแรง การใช้อาวุธในการต่อรองทางการเมือง การทหาร เพื่อดึงเข้ามาเป็นพวกสร้างเป็นแนวร่วม ให้ข้อมูลเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดความรุนแรง แต่ไมได้มุ่งที่จะเปลี่ยนแนวคิดทางอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งเป็นขั้นตอนของการฟื้นฟู (Reconstruction)

สำหรับการสร้างทีมจรยุทธ์กระบวนการสันติภาพ คือทีมที่จะคอยจู่โจม โจมตี ซึ่งหมายความว่าต้องมีความชำนาญ มีข้อมูล มีความเข้าใจในกระบวนดังกล่าวนี้เป็นอย่างดี เฉกเช่น ทีมจรยุทธ์ของขบวนการฯมีความชำนาญในเส้นทาง และอาวุธที่ก่อเหตุ

แม้ว่าจะมีหน่วยงาน สถาบัน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ เพื่อสร้างให้เกิดสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยต้นทฤษฎีสันติวิธีมาจากต่างประเทศ ซึ่งย่อมมีสภาวะแวดล้อม ปัจจัยต่างๆที่ต่างกัน การนำวิธีกระบวนการสันติภาพมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ แล้วสามารถเห็นผลได้จริง เป็นทางเลือก และความหวังหนึ่งของประชาชนชาวปาตานีในการสร้างสันติภาพ กระนั้นคำว่า “สันติภาพ” ในความหมายของ ประชาชนปาตานี ภาคประชาสังคม รัฐไทย และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี มีภาพแห่งความสันติ ของแต่ละอุดมคติเป็นรูปภาพใด ก็ยังถูกเปิดเผยอย่างชัดเจน

ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี

รัฐไทย

ต่างสร้างมวลชนของตนเองให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อป้อนข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ให้กับมวลชนของตน ในการโยนความชั่วร้ายให้กับคู่ต่อสู้ สร้างภาพแห่งความดีใส่กับตนเอง

กระบวนการสันติภาพก็ไม่อาจสามารถที่จะเดินลำพังได้ จำเป็นที่จะต้องสร้างมวลชนสันติวิธีของตนเองขึ้นมา เพื่อ propaganda ชูภาพของกระบวนการสันติวิธี เพียงวิธีเดียวที่สามารถสร้างสันติภาพในพื้นที่ปาตานีให้เกิดขึ้นจริงได้เท่านั้น

 



[1] พ.อ. ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง. (2553). สงครามนอกแบบ-สงครามกองโจร-การทำสงครามตัวแทนในยุคหลังสงครามเย็น. 5 สิงหาคม 2555, Tortaharn: http://tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=172&Itemid=75

[2] (2555). "ประยุทธ์" ซัดผู้ก่อการร้ายใต้ "สุนัขลอบกัด" เชื่อเคอร์ฟิวโดนต้าน พ้อใช้ กม.ดับไฟใต้เต็มที่ไม่ได้. 7 สิงหาคม 2555, มติชน: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1344343623&grpid=00&catid=&subcatid=

[3] (2555). "รบแบบกองโจร! ‘พัลลภ’แค้นแทนจนท.แนะปรับยุทธวิธีลุยหาเป้าหมาย". 8 สิงหาคม 2555, ไทยโพสต์: http://www.thaipost.net/news/070812/60656

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานแถลงร้อง บ.ไวต้าฟู้ด หยุดละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติขอขึ้นค่าแรง

Posted: 09 Aug 2012 04:30 AM PDT

9 ส.ค.55 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงการณ์ “หยุดละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี” ชี้ 4 เดือนหลังจาก ที่มีการประท้วงของแรงงานข้ามชาติเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ที่ บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด แต่ทุกวันนี้ สภาพปัญหาการละเมิดแรงงานยังไม่ได้รับการแก้ไข แรงงานข้ามชาติยังคงตกอยู่ภายใต้การเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

0 0 0 

หยุดละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ
ที่บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มีภารกิจในการช่วยเหลือคนงานโดยไม่เลือกว่าจะเป็นชนชาติ เชื้อชาติไหนถือเป็นเรื่องที่สำคัญได้กำหนดไว้ในธรรมนูญ นโยบายและแผนการทำงานของทั้งสององค์กร กรณีของบริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัดถือเป็นกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานที่น่ากังวลยิ่งสืบเนื่องจากกรณีพัฒนาซีฟูดส์ ที่จ.สงขลา แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามที่จะเข้าไปคลี่คลายปัญหา แต่ดูเหมือนสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งคำยืนยันนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้พบกับคนงานที่หลบหนีจากการทำงานที่เลวร้ายจากบริษัทไวต้า ฟู้ด

เวลาผ่านไปเกือบ 4 เดือนหลังจาก ที่มีการประท้วงของแรงงานข้ามชาติเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ที่ บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด แต่ทุกวันนี้ สภาพปัญหาการละเมิดแรงงานยังไม่ได้รับการแก้ไข แรงงานข้ามชาติยังคงตกอยู่ภายใต้การเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ที่ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแรงงาน

ด้วยการถูกดค่าจ้าง และสภาพการทำงานที่เลวร้ายคนงานไม่สามารถทนได้อีกต่อไป ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าจึงได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อขอให้นายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฏหมายกำหนด ทำให้สังคมภายนอกได้รับรู้ว่า ได้มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิแรงงานของนายจ้างต่อคนงานพม่าที่ทำงานอยู่ที่บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด

บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด เป็นโรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ได้แก่ ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ และสับปะรด เพื่อการส่งออก จำนวน 3 โรง ตั้งอยู่ที่ ต.แสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี มีแรงงานไทยประมาณ 500 คน และแรงงานข้ามชาติ สัญชาติพม่ามากถึง 7,000 คน ซึ่งแรงงานพม่า ทั้งหมดจะถูกว่าจ้างผ่านนายหน้าชาวพม่าและบริษัทซับคอนแทร็ค (sub-contract)ของคนไทย ประมาณ 12 ราย

แรงงานพม่า ส่วนใหญ่ถูกนายหน้านำมาจากประเทศพม่า โดยจะต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าเป็นค่าเดินทางคนละ 15,000-20,000 บาท ต้องจ่ายค่าอาหารและที่พักงวดละ 1,200 บาท (2,400 บาท/เดือน)  เมื่อทำงานได้รับค่าจ้าง นายหน้าก็จะยึดเงินไว้และแบ่งให้คนงานใช้ครั้งละ 100-200 บาท(200-400 บาท/เดือน) โดยระบบการค่าจ้างจะจ่ายผ่านนายจ้าง(sub-contract)ที่เป็นคนไทย แล้วนายจ้างที่เป็นคนไทยจะจ่ายให้นายหน้าชาวพม่า อีกทอดหนึ่ง แล้วนายหน้าชาวพม่าจึงจ่ายเงินให้แก่คนงาน  และหากต้องการเปลี่ยนนายจ้างจะต้องแจ้งนายหน้าทราบและต้องได้รับอนุญาตจากนายหน้าโดยต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการเปลี่ยนนายจ้างคนละ 2,000-5,000 บาท และต้องจ่ายค่าทำบัตรอนุญาตการทำงานคนละ 5,500 บาท

คนงานต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มี 2 กะ คือเช้ากับกลางคืน ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกัคือวันละ 252 บาทและ ค่าโอทีชั่วโมงละ 32 บาท การทำงาน ไม่มีค่ากะหรือเบี้ยขยัน เมื่อทำงานในวันหยุด ได้รับค่าจ้างเหมือนวันปกติ แต่เมื่อถึงวันรับค่าจ้างจะไม่ได้รับค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนดตามที่ตกลงกัน  ไม่มีการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี  หากลาป่วย จะไม่ได้รับค่าจ้าง และไม่มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี  เนื่องจากปริมาณงานของแต่ละโรงงานที่ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบตามฤดูกาล แรงงานสามารถทำงานสลับโรงงานกันได้ แต่ปัญหาที่ประสบคือแรงงานมักจะไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากโรงงานเดิม หรือกรณีที่ทำงานไม่ครบ 8 ชั่วโมง เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอ ทางโรงงานจึงสั่งหยุดงาน โดยแรงงานจะได้รับค่าจ้างตามชั่วโมงทำงานเท่านั้น

ภายในโรงงานมีน้ำดื่มสะอาดไม่เพียงพอ แรงงานต้องถือกระติกน้ำดื่มมาเอง คนงานต้องซื้อ อุปกรณ์ เครื่องมือและชุดทำงานเอง ราคาชุดละ 500-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับแผนกที่ทำงาน การจ่ายค่าจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 9 และ 24 มีสลิปเงินเดือนของแต่ละคน (ในสลิปจะมีการระบุว่าเป็นแรงงานซับคอนแทร็คบริษัทใด) นายหน้าชาวพม่าจะหักเงินบางส่วนก่อนจ่ายเงินให้คนงาน  จากการตรวจสอบพบว่านายหน้ามักอ้างเสมอว่า จะต้องเรียกเก็บเงินจากคนงานเพื่อจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับการอยู่และมีงานทำ  โดยคนมีบัตรหักงวดละ 150 บาท (300บาท/เดือน) คนไม่มีบัตรหักงวดละ 300 บาท (600 บาท/เดือน) และจ่ายค่าทำบัตร งวดละ 500 บาท (1,000 บาท/เดือน)  กรณีที่ลาออก มักจะไม่ได้รับเงินที่ถูกหักล่วงหน้าสำหรับค่าทำบัตรคืน

จากการตรวจสอบในกระบวนการผลิตและส่งออกสินค้า พบว่า บริษัท ไวต้าฟู้ด แฟคทอรี (1989) จำกัด เป็นบริษัทคู่ค้าของบริษัท Walmart ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สัญชาติอเมริกัน ดังนั้นหากระบบเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยมที่พยายามจะลดต้นทุนการผลิตโดยไม่คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนงาน ปัญหาการกดขี่แรงงานที่นับวันจะเพิ่มความรุนแรง และซับซ้อนขึ้น  แรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มที่มี่ความเสี่ยงในการถุกเอาเปรียบสูงมีช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ไม่สามารถจะคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้อย่างจริงจัง

ดังนั้นเพื่อให้สิทธิของคนงานได้รับการคุ้มครอง อย่างไม่เลือกปฏิบัติในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องเคารพในศักดิ์ศรี จึงมีข้อเสนอดังนี้

1.ขอให้บริษัทไวต้าฟู้ด 1989 จำกัด เร่งดำเนินการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ และคนงานให้เป็นไปตามกฏหมาย โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆสามารถเข้าไปตรวจสอบสภาพการทำงาน การจ้างงานในบริษัทได้เพื่อพิสูจน์ความจริงใจ และต้องดำเนินการต่อบริษัทนายหน้าทั้งหลาย ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน อีกทั้ง ขอให้บริษัทเคารพสิทธิคนงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเจรจาต่อรองร่วม เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของพวก

2.ขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าประสานงานเพื่อวางมาตรการในการช่วยเหลือคนงาน และ ดำเนินการต่อบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรที่ละเมิดสิทธิแรงงานโดยเร่งด่วน

3.ขอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทWalmart ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสัญชาติอเมริกันในกรณีสั่งซื้อสินค้าจากต้นทางการผลิต จากสถานประกอบการที่ละเมิดสิทธิแรงงาน และต้องมีมาตรการโดย บริษัท Walmart ต้องปฏิบัติตามหลักการมาตรฐานจรรยาบรรณทางการค้า(Code of conduct)

4.ขอให้บริษัท Walmart เร่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานในบริษัทไวต้าฟูดส์ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยเข้าร่วมขบวนการตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพื่อสิทธิประโยชน์และชื่อเสียงของบริษัท Walmart และ บริษัทไวต้าฟูดส์

อย่างไรก็ตามการออกแถลงการณ์และข้อเสนอข้างต้น สรส.และ คสรท.ไม่ได้มีเจตนาใดๆที่จะทำให้บุคคล หรือองค์กรใดได้รับความเสียหาย สรส.และ คสรท.มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่มั่นคงในการคุ้มครองสิทธิของคนงานทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิและการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้มวลมนุษยชาติในโลกนี้อยู่กันอย่างสันติสุข และยั่งยืน จึงขอให้ บุคคล องค์กร และรัฐบาลที่กล่าวถึง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน หากยังคงได้รับการเพิกเฉย สรส.และ คสรท.จะประสานขบวนการแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้นต่อไป

ด้วยความสมานฉันท์
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)
ฅ9 สิงหาคม 2555

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้บริโภคเข้าชื่อค้านร่าง ‘การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ’ โทรคม

Posted: 09 Aug 2012 04:17 AM PDT

ผู้บริโภค 1,200กว่าคนเข้าชื่อไม่รับ(ร่าง)ประกาศ ‘การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ’ ชี้ส่อแวดขัด กม.-ประกาศ กทช.

เครือข่ายผู้บริโภค 1,223 คนเข้าชื่อไม่รับร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ชี้ส่อแววขัดกฎหมายและประกาศ กทช. หลายฉบับ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคภายใน 30 วัน ระบุ หาก กสทช. ยืนยันที่จะออกร่างระเบียบนี้ก็ขอให้เตรียมงบประมาณเพื่อชดใช้ความเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนด้วย แนะ กสทช. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อลดข้อร้องเรียนดีกว่าถ่วงเวลาด้วยการไกล่เกลี่ย ให้บรรจุการไกล่เกลี่ยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน และทำให้การจัดการเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพจะเป็นทางออกที่สวยกว่า

วันนี้ (9 ส.ค.) นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แถลงว่า เครือข่ายผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการออกร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... ด้วยเหตุว่าร่างระเบียบฯ ดังกล่าวขัดต่อมาตรา 46 ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องเรียน และยังขัดต่อ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ในมาตรา30 ที่กำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและพนักงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องเรียนที่ประชาชนยื่นตามกฎหมาย หากกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไว้โดยเฉพาะจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในกรณีที่คณะกรรมการหรือพนักงานปฏิบัติหน้าที่ล่าช้ากว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใด ให้สำนักงาน กสทช. รับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่บุคคลนั้น

นางสาวบุญยืน กล่าวว่า “ร่างระเบียบ กสทช. ดังกล่าวได้แยกกระบวนการไกล่เกลี่ยออกจากกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ แถมยังมีการขยายระยะเวลาในการจัดการเรื่องร้องเรียน ดังนั้นจึงขัดต่อกฎหมายแม่บทอย่างชัดเจน และหาก กสทช. ยังดื้อและยืนยันที่จะประกาศใช้ร่างระเบียบดังกล่าวให้ได้ ก็ขอให้เตรียมงบประมาณเพื่อชดใช้ความเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนไว้ด้วย”

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ร่างระเบียบว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ของ กสทช. ฉบับนี้ ยังเป็นการสมคบคิดกันละเมิดกฎหมายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ประกอบการ เนื่องจากกว่า 90% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด เป็นกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อเป็นเช่นนี้แทนที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. จะบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลอย่างจริงจัง กลับเลือกใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคทีละราย การกระทำเช่นนี้ นอกจากจะทำให้กฎหมายที่ออกมาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้ร้องเรียนไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาไปด้วย

“ที่ผ่านมา การละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยเริ่มจากเรื่องร้องเรียนได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายได้หลายเรื่อง เช่น การห้ามให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าขอเปิดใช้บริการภายหลังจากถูกระงับการให้บริการจำนวน 107 บาท, การห้ามมิให้ผู้ประกอบการระงับ หรือพัก หรือหยุดการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าว

นอกจากนี้ ในยุคที่มีสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) นั้น สบท. ได้ถือเป็นแนวปฏิบัติว่า หากเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนได้เข้าสู่กระบวนการร้องเรียนตามประกาศ กทช. แล้ว ผู้ให้บริการจะต้องไม่ระงับการให้บริการเพื่อเยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องร้องเรียนนั้น ขณะที่ร่างระเบียบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฉบับนี้ ไม่มีการพูดถึงเรื่องการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด

“ผู้บริโภคหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสทช. ในยุคปัจจุบันจะตระหนักถึงหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยออกกฎหมายหรือมีนโยบายที่มีผลเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในระยะยาว ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยอ้างว่าทำเพื่อผู้บริโภค เช่น การออกร่างประกาศฉบับนี้” นางสาวบุญยืนกล่าว

ขณะที่ นางมณี จิรโชติมงคงกุล ผู้แทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างระเบียบฯ ดังกล่าว ยังไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเรื่องร้องเรียนลักษณะใดสามารถไกล่เกลี่ยได้หรือไม่ได้ รวมถึงการกำหนดมูลค่าความเสียหายของเรื่องร้องเรียนที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยด้วย จึงมีประเด็นว่าหากเรื่องร้องเรียนเป็นกรณีที่ผู้ให้บริการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีการไกล่เกลี่ยอย่างไร และถึงแม้ว่า กสทช. จะอ้างว่าคู่กรณีสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตามร่างระเบียบฉบับนี้หรือไม่ แต่การเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตามประกาศนี้จะทำให้ระยะเวลาการนับและแก้ไขเรื่องร้องเรียนตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ต้องยืดเยื้อออกไปมากกว่า 60 วัน ดังนั้น หากผู้ร้องเรียนประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะกลายเป็นการถูกลงโทษโดยกลไกของหน่วยงานกำกับดูแลที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคเสียเอง

“จากการปฏิบัติหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. ในปัจจุบัน ทำให้คาดหมายได้ว่าผู้ร้องเรียนน่าจะถูกชักนำหรือเกลี้ยกล่อมให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยแทนการร้องเรียนตามกระบวนการของประกาศ กทช. ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น จึงสมควรแก้ไขประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ โดยนำเอากระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรื่องร้องเรียน ไม่ใช่การออกร่างระเบียบฉบับนี้” นางมณีกล่าว

ผู้แทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวต่อไปว่า ร่างประกาศฉบับนี้ไม่ได้ให้ผลดีกับฝ่ายใด ยกเว้นผู้ประกอบกิจการ และเป็นการสร้างภาระด้านงบประมาณให้กับสำนักงาน เนื่องจากจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ไกล่เกลี่ย ทั้งที่ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการเรื่องร้องเรียนควรเป็นผู้ให้บริการที่ก่อให้เกิดเรื่องร้องเรียนนั้น แม้ผู้ให้ บริการจะอ้างว่าเรื่องร้องเรียนในบางกรณีเป็นความเข้าใจผิดของผู้บริโภค แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนก็มาจากความผิดของผู้ประกอบการเช่นกัน ดังนั้น การอ้างว่าร่างระเบียบ กสทช. ดังกล่าวมีความจำเป็น ก็อาจจะจำเป็นจริง หาก กสทช. จะดำเนินนโยบายในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการมากกว่าประโยชน์ของสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคที่ใช้สิทธิร้องเรียนตาม มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ สามารถขอให้คณะกรรมการพิจารณาให้ผู้ประกอบการทำการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นการชั่วคราวได้ แต่หากเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยผู้ร้องเรียนจะสามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ หากไม่สามารถใช้สิทธิได้ร่างระเบียบนี้จึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดทอนสิทธิของผู้บริโภค

กรณีที่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ไกล่เกลี่ยในส่วนของพนักงานสำนักงาน กสทช. ว่าต้องเป็นผู้บริหารระดับกลางหรือเทียบเท่าขึ้นไปนั้น ผู้แทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิผ่านการกำหนดคุณสมบัติ อีกทั้งผู้บริหารโดยส่วนใหญ่นั้น นอกจากจะมีจำนวนน้อยแล้วมักจะไม่ทำงานในระดับปฏิบัติการด้วย จึงอาจไม่มีพนักงานสำนักงาน กสทช. ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเลย ส่วนบุคคลทั่วไป กำหนดไว้ว่าต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับบริการโทรคมนาคม แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้ ร่างระเบียบฉบับนี้จึงเป็นการเขียนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการส่งคนเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

“ส่วนการกำหนดห้ามมิให้ผู้ไกล่เกลี่ยรับงานใดๆ ให้คู่กรณีที่ตนกำลังไกล่เกลี่ย และจะต้องไม่กระทำการใดๆ ให้กับคู่กรณีฝ่ายหนึ่งภายหลังการไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลงในเรื่องหรือเกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ย ยังก่อให้เกิดความสับสนอีกว่า หากพนักงานของ กสทช. เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเรื่องร้องเรียนและคู่กรณีไม่สามารถตกลงในการไกล่เกลี่ยกันได้ พนักงานผู้นั้นจะสามารถดำเนินการสรุปและเสนอเรื่องร้องเรียนนั้นให้คณะกรรมการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปได้หรือไม่” ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคกล่าว

นางสาวบุญยืนกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในฐานะตัวแทนขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภค รู้สึกผิดหวังกับการทำงานของ กสทช. ที่อุตส่าห์เสียเวลาร่างประกาศที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด และไม่เข้าใจว่าการมีอยู่ของ กสทช. จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองแท้จริงเพียงใด และจะคาดหวังกับการทำงานได้อีกมากน้อยแค่ไหน”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิฯ ยินดีเอาผิด ตร.แขวนคอเด็ก แต่ค้านโทษประหารชีวิต

Posted: 09 Aug 2012 04:11 AM PDT

เเถลงการณ์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน กรณี ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในคดีฆ่าเเขวนคอ เยาวชนอายุ 17 ปี ระหว่างสงครามยาเสพติด

9 ส.ค.55 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม (สสธ.) ออกแถลงการณ์ร่วม กรณีศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในคดีฆ่าเเขวนคอ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เยาวชนอายุ 17 ปี ระหว่างสงครามยาเสพติด ชื่นชมความพยายามกว่าแปดปีของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เสียหาย พยานบุคคล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ ทนายความโจทก์ร่วม และผู้พิพากษาซึ่งได้ช่วยก่อให้เกิดมาตรฐานที่ดีในนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดมาลงโทษ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า คดีนี้สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของ “ระบบยุติธรรม” ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่เกินเลย และใช้วิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา  เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมหลอกลวงญาติของผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ได้รับการเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมาย การละเลยดังกล่าว เป็นเหตุเบื้องต้นประการหนึ่งที่ทำให้นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เสียชีวิต จากการกระทำของเจ้าหน้าที่

ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการดำเนินคดีในจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกหลายคดีที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย และผู้บริสุทธิ์ และทำความจริงให้ปรากฏ

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่า โทษประหารชีวิตนั้นเป็นนั้นเป็นการทำลายคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่อาจพรากชีวิตไปจากมนุษย์ด้วยกันได้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้รับรองถึงสิทธิในการมีชีวิตไว้ รวมถึงตามแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ประเทศไทยได้ระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแผน คือ การพิจารณากฎหมายที่มีอัตราโทษประหารชีวิตให้ยกเลิกเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในปี 2556 การที่ประเทศไทยยังดำรงไว้ซึ่งโทษประหารและมีการบังคับใช้ ย่อมเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสวนทางกับกระแสการยอมรับสิทธิมนุษยชนของนานาประเทศซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ยกเลิกโทษประหารแล้วกว่า 141 ประเทศ 57 ประเทศที่ยังมีและใช้โทษประหารอยู่ รวมทั้งประเทศไทย

นอกจากนี้การลงโทษประหารชีวิตอันเป็นทฤษฎีการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันนั้น จากการศึกษาพบว่ามิได้ส่งผลให้อาชญากรรมลดน้อยลง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ทั้งนี้การลงโทษบุคคลที่กระทำผิดนั้นควรเป็นการลงโทษที่เหมาะสม สมควรเเก่เหตุ เเละก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สำนึกผิดเเก่ผู้ที่ได้กระทำความผิด

0 0 0

เเถลงการณ์เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน
กรณี ศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 ดาบตำรวจ จังหวัดกาฬสินธุ์
ในคดีฆ่าเเขวนคอ นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง
เยาวชนอายุ 17 ปี ระหว่างสงครามยาเสพติด

ตามที่ ศาลอาญามีคำพิพากษาประหารชีวิตจำเลย สามรายในวันที่30 กรกฎาคม 2555  ในคดีดำที่ อ.3252/2552 กรณีการสังหารนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี โดยพิพากษาให้ ดต. อังคาร คำมูลนา ดต. สุดธินัน โนนทิง ดต.พรรณศิลป์ อุปนันท์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุเเห่งการตาย ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลงโทษประหารชีวิต เมื่อรวมโทษเเล้วให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 5 พ.ต.อ มนตรี ศรีบุญลือ กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำการในตำเเหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ไม่ต้องรับโทษ ลงโทษจำคุก 7  ปี จำเลยที่ 6 พ.ต.ท.สุมิตร นันสถิต กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต เเละให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 พ.ต.ท. สำเภา อินดี  สำหรับคดีดังกล่าวอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ย้ายศพเพื่อปิดบังเหตุเเห่งการตาย เเละเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญากระทำการในตำเเหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ไม่ต้องรับโทษ โดยจำเลยที่ 1-3 เเละ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกันฆ่านายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี ผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์ ขณะนำตัวออกจาก สถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ด้วยการบีบรัดจนขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต และได้ปิดบังเหตุเเห่งการตายโดยร่วมกันย้ายศพไปเเขวนคอไว้ที่กระท่อมบ้านบึงนา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และ ได้ร่วมกันทำการข่มขู่พยาน  เหตุเกิดระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม 2547 สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด เเละมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในระหว่างที่มีการประกาศนโยบายดังกล่าวในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุฆ่าเเขวนคอนายเกียรติศักดิ์ ฯ ขึ้น และยังมีคดีในลักษณะคล้ายคลึงกันในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการสอบสวนอีกหลายคดี

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน จึงขอแสดงความเห็นต่อคดีดังกล่าวต่อไปนี้

1. ขอชื่นชมความพยายามกว่าแปดปีของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เสียหาย พยานบุคคล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ ทนายความโจทก์ร่วม และผู้พิพากษาซึ่งได้ช่วยก่อให้เกิดมาตรฐานที่ดีในนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดมาลงโทษ และขจัดภาวะลอยนวลของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคดีนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาในการนำตัวเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดมาลงโทษได้ เนื่องจากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐการกระทำผิดมักจะมีวัฒนธรรมการช่วยเหลือกันในระหว่างเจ้าหน้าที่ และพบอุปสรรคในการพิสูจน์ว่าการกระทำความผิดเพราะผู้กระทำเชี่ยวชาญในด้านหลักฐานในคดีจึงเป็นการง่ายในการกลบเกลื่อน หรือทำลายหลักฐานความผิดของตน รวมถึงปัญหาการใช้อำนาจในการข่มขู่พยานอย่างที่เกิดขึ้นในคดีนี้ คำพิพากษาในคดีนี้จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดจะต้องได้รับโทษเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป หรือสูงกว่า เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น ซึ่งน่าจะมีส่วนในการขจัด “วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด” (Impunity) ของเจ้าหน้าที่  ดังนั้นในฐานะที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจเหนือบุคคลทั่วไปจำต้องใช้อำนาจของตนอย่างระมัดระวัง ซื่อสัตย์ สุจริต บริสุทธิ์ ยุติธรรม เคารพในสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เละคำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม โดยไม่ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด

2. คดีนายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ได้สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของ “ระบบยุติธรรม” ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่เกินเลย และใช้วิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อเยาวชนซึ่งเป็นผู้ต้องหา  เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมหลอกลวงญาติของผู้เสียชีวิต และบังคับให้บุคคลสูญหายไปจากพื้นที่ มีการกระทำทารุณกรรม และฆาตกรรมอำพรางคดี อันเป็นการขัดกับหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (พ.ศ. 2519) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2539

3. กระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ได้รับการเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมาย การละเลยดังกล่าว เป็นเหตุเบื้องต้นประการหนึ่งที่ทำให้นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง เสียชีวิต จากการกระทำของเจ้าหน้าที่

4. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการดำเนินคดีในจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกหลายคดีที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย และผู้บริสุทธิ์ และทำความจริงให้ปรากฏ

5. เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชนดังรายชื่อแนบท้ายนี้ มีความเห็น และขอตั้งข้อสังเกตว่าโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ยังคงกำหนดให้มีโทษประหาร ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 18    เนื่องจากโทษประหารชีวิตนั้นเป็นนั้นเป็นการทำลายคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์คือชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่อาจพรากชีวิตไปจากมนุษย์ด้วยกันได้ อีกทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้รับรองถึงสิทธิในการมีชีวิตไว้ รวมถึงตามแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ประเทศไทยได้ระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแผน คือ การพิจารณากฎหมายที่มีอัตราโทษประหารชีวิตให้ยกเลิกเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในปี 2556 การที่ประเทศไทยยังดำรงไว้ซึ่งโทษประหารและมีการบังคับใช้ ย่อมเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสวนทางกับกระแสการยอมรับสิทธิมนุษยชนของนานาประเทศซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ยกเลิกโทษประหารแล้วกว่า 141 ประเทศ 57 ประเทศที่ยังมีและใช้โทษประหารอยู่ รวมทั้งประเทศไทย นอกจากนี้การลงโทษประหารชีวิตอันเป็นทฤษฎีการลงโทษแบบตาต่อตาฟันต่อฟันนั้น จากการศึกษาพบว่ามิได้ส่งผลให้อาชญากรรมลดน้อยลง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ทั้งนี้การลงโทษบุคคลที่กระทำผิดนั้นควรเป็นการลงโทษที่เหมาะสม สมควรเเก่เหตุ เเละก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สำนึกผิดเเก่ผู้ที่ได้กระทำความผิด

 

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุ
ษยชน (ครส.)
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสั
นติธรรม (สสธ.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ‘สร.รฟท.’ เปิดร้านค้ายื้อเวลาสู้คำสั่งเลิกจ้างพนักงานการรถไฟ

Posted: 09 Aug 2012 03:58 AM PDT


วิรุฬห์ สะแกคุ้ม 
 

“........ปัง ปัง ปัง...”

เสียงประทัดระรัวพร้อมประกายไฟระยับ เปลือกหุ้มสีแดงปลิวว่อน ขณะกลุ่มควันคละคลุ้งทั่วอาณาบริเวณ สอดรับกับเสียงเฮและการปรบมือเกรียวกราวของผู้คนจำนวนหนึ่ง ดังมาจากบ้านพักรถไฟ ซึ่งเป็นอาคารไม้เก่าๆ รั้วลวดหนามบิดเบี้ยวสนิมเขรอะ ตรงซอยเล็กๆ หน้าห้างโรบินสัน ข้างสถานีรถไฟหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงสายก่อนเที่ยงของวันที่ 26 กรกฎาคม 2555

ป้ายเหล็กระบุว่า อาคารไม้หลังนั้นเป็นสถานที่ทำการของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (หาดใหญ่) The State Railway Worker Union Of Thailand SRUT-HY ขณะที่อีกด้านหนึ่งขึ้นป้ายร้านค้าสวัสดิการ สร.รฟท. SRUT 6&7 WWW.SRUT6–7.COM  มีภาพลูกศรชี้ไปยังอาคารไม้เก่าๆ ของที่ทำการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาภาคใต้ (หาดใหญ่) ติดกันมีร้านมินิมาร์ทเล็กๆ กั้นด้วยกระจกใสแถบเขียว–ส้ม ปรากฏอักษร SRUT 6&7  นาม “SRUT SHOP”

“หลังจากผมถูกไล่ออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทยมา 3 ปีกว่า ทำให้ผมรู้จักคิด ทำให้ผมโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น จากนายสถานีกิ๊กก๊อก ทำเท่อยู่ในสถานี ผมมีโลกทัศน์กว้างไกลมากขึ้น รู้จักเพื่อนพ้องแรงงานมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมต้องขอบคุณเพื่อนพ้องสหภาพฯ ที่ให้การสนับสนุนเรื่องเงินทุนและให้กำลังใจ”

เป็นคำพูดบนเวทีของ “นิตินัย ไชยภูมิ” อดีตนายสถานีบางกล่ำ ฝ่ายการเดินรถ หนึ่งใน 6 สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ ที่ถูกผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไล่ออก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 พร้อมกับธวัชชัย บุญวิสูตร ช่างเครื่อง 5 สรวุฒิ พ่อทองคำ ช่างเครื่อง 5 สาโรจน์ รักจันทร์ ช่างเครื่อง 5 ประชานิวัฒน์ บัวศรี พนักงานรถจักร และวิรุฬห์ สะแกคุ้ม พนักงานรถจักร 6

“สหภาพแรงงานรถไฟรวมใจมารวมพลัง ตั้งใจพัฒนารถไฟ รถไฟไทยรับใช้ประชา ปกป้องไว้เพื่อมวลประชา  ชนชั้นคนงานรถไฟ ดุจดังเหล็กไหลแกร่งกล้า ...สู้ไปสู้ไป เอ้าสู้เข้าไป ชึ้กกะชั่กๆ...สหภาพแรงงานรถไฟรวมใจมารวมพลัง ตั้งใจพัฒนารถไฟ รถไฟไทยรับใช้ประชา ปกป้องไว้เพื่อมวลประชา”

ผู้ร่วมชะตากรรมทั้ง 6 คน ร่วมกันผสานเสียงร้องเพลงของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ท่ามกลางเสียงปรบมือให้กำลังใจจากเพื่อนพ้องสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มาร่วมงานเปิดร้านสวัสดิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย “ SRUT 6&7” กว่า 100 คน

ผู้มาร่วมงานในวันนี้ มีสาวิทย์ แก้วหวาน รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สุพิเชษฐ สุวรรณชาตรี อดีตเลขานุการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็น 2 ใน 7 พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยส่วนกลางที่ถูกไล่ออก

นอกจากนี้ยังมีศุภวัฒน์ รัตนกระจ่าง กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย  และสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษาสหภาพฯ รวมอยู่ด้วย

วิรุฬห์ สะแกคุ้ม ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ บอกถึงวัตถุประสงค์ของการเปิดร้านค้าสวัสดิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย “SRUT 6&7” เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อาจจะถูกเลิกจ้างในอนาคต รวมทั้งที่ถูกเลิกจ้างไปแล้ว 6 คนที่หาดใหญ่ และอีก 7 คนที่ส่วนกลาง

ร้านค้าแห่งนี้ใช้งบประมาณเพียง 200,000 บาท ระดมทุนมาจากเพื่อนชาวสหภาพแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาใช้ปรับปรุงสถานที่และซื้อสินค้ามาจำหน่าย

สาวิทย์ แก้วหวาน ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดร้านค้าสวัสดิการแล้ว 2 สาขาคือ ที่กรุงเทพมหานครและหาดใหญ่ โดยกำไร 80% ส่งเข้ากองทุนสวัสดิการ และอีก 20% เป็นค่าจ้างผู้บริหารร้านค้า

“พนักงานรถไฟทั้ง 13 คน ถูกไล่ออกแล้วก็จริง แต่ก็ยังทำงานกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เงินเดือนคนละ 7,000 บาท ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก เราอยู่ได้ด้วยอุดมการณ์ เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า เราเรียกร้องเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม

วิรุฬห์ สะแกคุ้ม ที่ปัจจุบันดำรงสถานะเป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ เท้าความถึงเหตุการณ์อันเป็นจุดหักเหสำคัญในชีวิตว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 อันเป็นวันที่ขบวนรถด่วนที่ 84 (ตรัง–กรุงเทพมหานคร) ตกรางที่สถานีเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 84 คน

หลังเกิดเหตุการณ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติให้หยุดเดินรถเพื่อตรวจสอบความพร้อมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อนนำออกมาปฏิบัติงาน

จากการตรวจสอบพบระบบความปลอดภัยของรถจักรไม่สมบูรณ์ถึง 12 รายการ เช่น สปีดมิเตอร์ควบคุมความเร็ว ระบบเกจ์วัดรอบ ระบบเดทแมนหรือระบบหยุดรถขณะคนขับหลับใน รวมทั้งที่ปัดน้ำฝน เป็นต้น จึงเรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ซ่อมหัวรถจักรให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อนนำมาออกมาใช้งาน พร้อมกับขอให้นำหัวรถจักรชนิดพิเศษกลับมาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะเกรงว่าอาจจะเกิดกรณีรถไฟตกราง ก่อให้เกิดความเสียหายผู้โดยสารบาดเจ็บล้มตายขึ้นมาอีก

ต่อมา วันที่ 27 ตุลาคม 2552 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งไล่ออกกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ 6 คน กล่าวหาว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ทั้งยังขออำนาจศาลแรงงานกลางให้มีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์อีก 7 คน ประกอบด้วย สาวิทย์ แก้วหวาน ภิญโญ เรือนเพ็ชร บรรจง บุญเนตร์ ธารา แสวงธรรม เหลี่ยม โมกงาม สุพิเชษฐ สุวรรณชาตรี และอรุณ ดีรักชาติ

กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างว่าถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติยืนตามคำสั่งไล่ออกของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ต่อมากรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งระเทศไทย หาดใหญ่ ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี วันที่ 15 มกราคม 2553 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ มีมติว่าคำสั่งเลิกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นคำสั่งมิชอบ ให้รับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้ง 6 คน กลับเข้าทำงานภายใน 30 วัน

การรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมกับร้องให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และขอคำสั่งศาลคุ้มครองไม่รับกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยกลับเข้าทำงาน จนกว่าคดีถึงที่สุด

กระทั่งปี 2553 ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ให้รับกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงาน

ส่วนกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย ร้องศาลแรงงานกลางให้มีคำสั่งเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 7 คน พ้นจากการเป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเลิกจ้างได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับระเบียบ พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 7 คน จำนวน 15 ล้านบาท

การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงมีคำสั่งเลิกจ้างทั้ง 7 คน ในเวลาต่อมา

จากนั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่นำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการการรถแห่งประเทศไทยพิจารณา โดยอ้างว่าผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย มีอำนาจสั่งเลิกจ้าง

พร้อมกับมอบอำนาจให้รองผู้ว่าการการรถไฟการรถไฟแห่งประเทศไทย ฟ้องสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เรียกค่าเสียหายจากการหยุดเดินรถเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 เป็นเงิน 80 ล้านบาท ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่า สหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยได้กระทำการเพื่อประโยชน์สาธารณะมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

ขณะนี้ สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 6 คน และกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ถูกเลิกจ้างอีก 7 คน ได้ยื่นฎีกาต่อศาลแรงงานกลาง

“ตอนนี้พนักงานรถไฟที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 13 คน มั่นใจว่าพวกเราจะชนะ การต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยยังต้องดำเนินต่อไป เพราะปัจจุบันสภาพหัวรถจักรยังอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์พร้อมจะให้บริการ”

เป็นถ้อยยืนยันจากปากของที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หาดใหญ่ นาม “วิรุฬห์ สะแกคุ้ม”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้าน-นักศึกษา รวมพลัง “ดำนารวม” ระดมทุนค้าน “เหมืองโปแตช”

Posted: 09 Aug 2012 03:24 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจัดกิจกรรมดำนารวมดึงนักศึกษาร่วมทำนาพื้นที่ 13 ไร่ หวังนำข้าวไปขายระดมทุนต้านภัยเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อาจารย์ชี้พานักศึกษาเรียนรู้การรวมพลังเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน

 
 
วันนี้ (8 ส.ค.55) เวลา 08.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 150 คน จัดกิจกรรมดำนารวม เพื่อนำข้าวที่ได้ไปขายระดมทุนเข้ากลุ่มในช่วงการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ต้านภัยเหมืองแร่โปแตช ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี
 
ในปีนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่ติดตามและตรวจสอบการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีมาเกือบ 11 ปี ร่วมใจกันทำนากว่า 13 ไร่ อีกทั้งยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยการออกมาช่วยกลุ่มชาวบ้านดำนาในครั้งนี้ด้วย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าในช่วงเช้าที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการร่วมทำกิจกรรมในวันนี้ ชาวบ้านทุกคนต่างช่วยกันทำตามบทบาทหน้าที่ขอนแต่ละคน ทั้งถอนกล้า ปักดำ ส่วนนักศึกษาก็คอยเรียนรู้และลงมือทำนาตามคำแนะนำของชาวบ้านซึ่งทำหน้าที่ครูนอกห้องเรียนให้กับพวกเขา โดยมีเจ้าของที่นาคอยขับรถไถปรับพื้นที่ให้มีความเหมาะสมสำหรับการทำนา ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ได้ช่วยกันทำข้าวปลาอาหารสำหรับมื้อเที่ยงให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมดำนารวม
 
 
นายคณิศร ทอนสูงเนิน แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ในปีนี้เขาได้อุทิศแปลงนาของตนเองให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ดำเนินกิจกรรมทำนารวม โดยที่เขามีมุมมองว่าที่ผ่านมาการทำนารวมของชาวบ้านมีความจำเป็นเป็นอย่างมากในการระดมทุน เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มในการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งตนเองก็มุ่งหวังอยากให้กลุ่มได้ข้าวเป็นจำนวนมากจากการทำนารวม
 
“ผมก็เอาแปลงนาของผมเองให้กลุ่มทำ เพราะว่ามีอยู่สองแปลงทำแปลงเดียวก็พอกินแล้ว ที่เหลืออีกแปลงหนึ่งก็อยากเสียสละให้กลุ่มมาทำนารวม ซึ่งผมก็มาช่วยไถนาปรับพื้นที่ให้ และถ้าเกี่ยวเสร็จก็จะมาช่วยสีข้าวให้อีก ซึ่งผมไม่ได้คิดที่จะแบ่งส่วนข้าวจากการทำนารวมของกลุ่มเลย กลุ่มทำได้เท่าไหร่ก็ให้กลุ่มทั้งหมดเลย” นายอดิศรกล่าว
 
 
นางสาวเพ็ญนภา พึ่งกลิ่น นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวถึงการออกมาหาประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน ในครั้งนี้ว่า นักศึกษาที่พากันมาในวันนี้เป็นกลุ่มที่ลงเรียนวิชาวิถีไทยพื้นถิ่นอุดร จึงได้พากันมาศึกษาวิถีชีวิตของชาวนา ทำให้เข้าใจสภาพชีวิตของชาวบ้านที่มาทำนา เห็นการออกมาช่วยเหลือกันของกลุ่มชาวบ้าน
 
“สำหรับตัวนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมด้วยกันในวันนี้ก็ได้ความสามัคคีกัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และบางคนที่ไม่เคยทำนาก็ได้ลองมาสัมผัสกับการออกแรงทำนา และที่สำคัญทำให้เข้าใจกลุ่มชาวบ้านที่ออกมารวมกันทำนารวมเพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช” นาวสาวเพ็ญนภากล่าว
 
ด้าน อาจารย์สุภี สมอนา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้นักศึกษารู้ถึงรากฐานวิถีชีวิตของการทำนาซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวอีสาน และนักศึกษาก็จะได้เห็นการรวมพลังของกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมกันทำนารวมเพื่อที่จะปกป้องสิทธิชุมชน
 
“ผมคิดว่ากิจกรรมลักษณะนี้คงจะมีแต่ที่นี่ที่เดียวที่ยังคงมีการรวมตัวกันทำนารวม โดยชาวบ้านมาออกแรงร่วมกันเพื่อทำนาข้าวแล้วนำข้าวไปขายนำเงินทุนเข้ากลุ่ม และที่สำคัญกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนเกี่ยวกับวิถีไทยพื้นถิ่นอุดร ซึ่งผมคิดว่าไม่สามารถเรียนเพียงแค่ทฤษฎีในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกมาปฏิบัติจริงด้วย” อาจารย์สุภีร์กล่าว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น