ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประชาธิปัตย์จวกรัฐบาลกู้ 6 แสนล้านสร้างภาระประชาชน
- บันทึก: วิถีที่เริ่มกลับมา หลังประตูเขื่อนปากมูลเปิด
- ผู้ต้องขังคดีที่ดินลำพูนได้รับอภัยโทษ ปล่อยตัววันนี้ หลังอยู่เรือนจำรวม 70 วัน
- ส่องเทรนด์ "หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง" เครือข่ายชั้นนำใหม่?
- ศาลปกครองยกฟ้อง คดีร้อง 11 หน่วยงานรัฐนำที่ป่าพรุออกเอกสารสิทธิสร้างโรงถลุงเหล็ก
- นักศึกษาชิลียึดโรงเรียนประท้วง ร้องรื้อระบบการศึกษาให้เป็นธรรม
- ประวิตร โรจนพฤกษ์: มิติทางศาสนาของคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง
- ตร.ยันหญิงก่อเหตุหมิ่นฯ ยังถูกอายัดตัว แพทย์เผยเป็นโรคจิตจริง เสนอความเห็น พนง.สืบสวนพรุ่งนี้
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร : ภาพรวมความเหลื่อมล้ำ กับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง(จากชั้นล่าง)
- คริสตี เคนนีย์ระบุการออกวีซ่าทำภายใต้กฎหมายสหรัฐไม่เกี่ยวกับการเมืองประเทศนั้น
ประชาธิปัตย์จวกรัฐบาลกู้ 6 แสนล้านสร้างภาระประชาชน Posted: 15 Aug 2012 02:29 PM PDT อภิปรายงบประมาณวันแรก "สามารถ ราชพลสิทธิ์" กลัวรัฐบาลกู้ 6 แสนล้านสร้างภาระประชาชน ด้าน ส.ส.ตรังอัดงบปรองดองเป็นเรื่องล้างผิดพวกพ้อง ตั้งงบ 413 ล้านคงไม่พอ เพราะผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการเมืองรายเดียวก็สูงถึง 4.6 หมื่นล้านแล้ว ตามที่เมื่อวานนี้ (15 ส.ค.) มีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2556 เป็นวันแรกนั้น เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าขอแปรญัตติขอปรับลดงบประมาณ 4 % ของงบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท หรือ 9.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีการซุกเงินกู้ซึ่งจะเป็นภาระกับประชาชน นอกจากการตั้งงบขาดดุล 3 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีการกู้เงินส่วนอื่นๆ อีกรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้าน โดยเฉพาะเงินกู้แก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งกังวลว่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค้ากับเงินกู้ดังกล่าว เพราะไม่มีรายละเอียด ชัดเจน อย่างในทีโออาร์ โครงการยื่นข้อเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย ยังมีรายละเอียดน้อยกว่าโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่มีขนาดเล็กกว่านี้ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมมารวมกัน ซึ่งแต่ละโครงการก็มีความแตกต่างในรายละเอียด ความคืบหน้า ไม่เหมือนกัน การจ้างเอกชนมาเป็นที่ปรึกษาออกแบบร่วมกับการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความรวดเร็วอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าต่อไปได้ เพราะหลายโครงการยังไม่ได้ทำการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือยังไม่ได้เวรคืน นอกจากนี้ ทีโออาร์ดังกล่าวังกำหนดคุณสมบัติไว้สูงจนบริษัทไทยเข้าร่วมได้ยาก จึงอยากให้ปรับลดคุณสมบัติเพื่อให้บริษัทคนไทยเข้าร่วมได้ รวมทั้งการจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้างจะเปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ควรจะต้องหาทางอุดช่องโหว่ ด้าน นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า แปรญัตติขอปรับลดงบประมาณ 2 % เนื่องจากเห็นว่ามีหลายโครงการที่สามารถปรับลดได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 413 ล้านบาท ที่ไม่รู้ว่านำไปใช้อะไร ปีที่ผ่านมามีการตั้งงบในทำนองเดียวกันนี้ 528 ล้านบาท ตนเองอยู่ในพื้นที่ไม่เห็นว่ามีการใช้งบไปเพื่อความปรองดองตรงไหน ไม่รู้ว่าเงินกระจายไปอยู่ที่กระเป๋าใครอย่างไร นอกจากนี้ เหตุผลของรัฐบาลในการทำงานปรองดองแตกต่างจากพวกตนเพราะรัฐบาลมองเรื่องปรองดองแค่การออกฏหมายล้างผิดเพื่อพวกพ้อง ซึ่งหากกฎหมายนี้ออกมาจริงเงิน 413 ล้านบาท ก็ไม่พอเพราะแค่เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การเมืองก็สูงถึง 4.6 หมื่นล้านบาท นพ.สุกิจ กล่าวว่า แผนงานลดค่าครองชีพส่งเสริมและรักษาเสถียรภาพพลังงาน วงเงิน 1.4 พันล้านบาท ที่ผ่านมาล้มเหลว รัฐบาลบอกว่าจะลดค่าครองชีพ แต่กระชากค่าครองชีพขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานดังนั้นจึงเชื่อว่าจะมีงบไร้สาระอีกมาที่สามารพปรับลดได้ ใน 2.4 ล้านล้านบาทนี้ ขณะที่ แผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ 4.3 หมื่นล้าน ของกรมชลประทาน ตนเองต้องขอปกป้อง เพราะมีผู้อาวุโสให้สัมภาษณ์พยายามโยกงบไปใส่เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ตรวจสอบยากมีการโกงกันง่าย จึงจำเป็นต้องปกป้องงบนี้ อีกทั้งที่ผ่านมามีการตั้งงบช่วยน้ำท่วมเพื่อฟื้นฟู 1.2 แสนล้านบาท อยากทราบว่าขณะนี้ใช้ไปถึงไหนแล้วก่อนที่จะตั้งงบใหม่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บันทึก: วิถีที่เริ่มกลับมา หลังประตูเขื่อนปากมูลเปิด Posted: 15 Aug 2012 01:40 PM PDT เช้าวันนี้ 14 ส.ค.55 ที่โขงเจียม กับการหาปลา ด้วยมองซำ (มองหยั่ง) ไปเดินตลาดอำเภอโขงเจียม แม่ค้า-พ่อค้าคึกคักมาก และที่สำคัญมีปลาแม่น้ำจำนวนมาก แต่ละตัวใหญ่ๆ ทั้งนั้น และนี่เป็นผลที่เกิดจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูล ปลาแม่น้ำ สด สด ที่ตลาดโขงเจียม ปลาโจก ที่ตลาดโขงเจียม แม่น้ำมูนถูกปิดกั้นมานานตั้งแต่ปี 2537 ด้วยการสร้างเขื่อนปากมูล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนปากมูลใช้งบประมาณจากธนาคารโลกกว่า 240 ล้านดอลลาร์ (พ.ศ.2537) ในการก่อสร้าง แต่ได้กลายเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่มีอาชีพประมงเป็นอย่างมาก ขณะที่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 20.81 เมกะวัตน์ต่อปีเท่านั้น ทั้งยังกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเรื่อง “เขื่อนกับการพัฒนา” ในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน... แต่ละปีชาวบ้านต้องไปร้องเรียนให้ กฟผ.มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูล 4 เดือน เพื่อให้ชาวบ้านได้หาปลา สมัชชาคนจน (กลุ่มเขื่อนปากมูล) ร่วมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P Move ชุมนุมต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อเดือน ก.พ.54 ปี 2555 นี้ กฟผ.ดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยลดระดับน้ำเขื่อนปากมูล ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.55 เป็นเวลา 10 วัน และเปิดบานประตูน้ำสุดบานทั้ง 8 บาน ในวันที่ 15 ก.ค.55 “ปลากระเบนน้ำโขง” น้ำหนัก 159 กิโลกรัม จับได้ที่แม่น้ำมูน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง หลังจากเปิดเขื่อนได้ไม่กี่วัน นับเป็นสิ่งยืนยันว่า ปลาแม่น้ำโขงทั้งตัวเล็กและใหญ่ ต่างว่ายทวนน้ำขึ้นมาเพื่อมาขยายพันธุ์ในลำน้ำสาขา วันที่ 13 ส.ค.55 เมื่อเวลา 9.00 น.ชาวบ้านวังสะแบงใต้ ซึ่งไหลมองไปได้ปลาฝาไล หรือปลากระเบนน้ำจืด ขนาดน้ำหนักโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 120 กิโลกรัม ซึ่งปลาชนิดนี้ไม่ค่อยจะมีการจับได้บ่อยมากนัก ซึ่งหลังตกลงซื้อขายที่ท่าน้ำราคากิโลกรัมละ 100 บาท หากรอชั่งน้ำหนักอีกครั้ง ปลาตัวนี้คงมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท “ปลากระเบน” ที่เราเห็นจากภาพนี้ มาจากรถบรรทุกเครื่องเสียงและเท้าของชาวประมงที่เดินออกไปเรียกร้องให้เปิดเขื่อนอยู่ทุกปี.... การจับปลากระเบนน้ำจืดขนาดใหญ่ตัวนี้ได้ บ่งชี้ให้เห็นถึงการกลับมาของปลาจากแม่น้ำโขง บ้านวังสะแบงใต้แห่งนี้ห่างจากเขื่อนปากมูลโดยย้อนตามลำน้ำ ประมาณ 10-14 กิโลเมตร นั่นแสดงว่าปลาจากแม่น้ำโขงเดินทางเข้ามาสู่แม่น้ำมูนจำนวนมากแล้ว เมื่อวันที่ 12 ส.ค.55 ลงเก็บข้อมูลในพื้นที่ริมแม่น้ำมูนซึ่งเป็นบริเวณที่ถูกน้ำท่วมในช่วงที่เขื่อนปากมูลปิดประตูน้ำแต่เวลานี้เมื่อเขื่อนเปิดประตูระบายน้ำ พื้นที่เหล่านี้ก็ได้โผล่พ้นน้ำกลายมาทำหน้าที่ในการเป็นแหล่งเลี้ยงวัว ควายของชาวบ้านอีกครั้ง วัว ควาย กำลังกินหญ้าในพื้นที่ทาม หากเขื่อนปากมูลไปเปิดประตูเขื่อน ชาวบ้านที่มีวัว ควาย ก็จะหาที่เลี้ยงยาก ในช่วงนี้ที่เป็นฤดูการทำการเกษตร พื้นที่ซึ่งอยู่สูงขึ้นไป ที่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ในฤดูแล้งหรือช่วงที่ไม่มีการทำการผลิต พื้นที่เหล่านั้นก็จะเป็นแหล่งเลี้ยงวัว ควายของชาวบ้าน ปีนี้เขื่อนปากมูล เปิดประตูเขื่อนทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำมูนโผล่พ้นน้ำ วัว ควาย จึงมีแหล่งอาหาร ที่สมบูรณ์ ภาพของการวางตาข่าย (มองซำ) ที่ดูเหมือนขยะ จำพวกโฟม และขวดพลาสติก ลอยเกลื่อนทั่วลำน้ำ นั่นคือทุ่นตาข่ายที่วางดักปลา ซึ่งมีจำนวนมากจนตาข่ายหลายผืนถูกวางซ้อนทับกัน ที่สำคัญ ที่เขื่อนปากมูลยังมี “บันไดปลาโจน” ต้นแบบ ที่จะนำไปสร้างที่เขื่อนไซยะบุรีอีกด้วย... สำหรับชาวบ้านที่ปากมูนผู้ได้รับผลกระทบ "เขื่อน" คือเครื่องมือควบคุมแม่น้ำให้อยู่ในมือของผู้มีอำนาจ และสร้างความลำบากให้ประชาชน ... เมื่อเปิดเขื่อนปากมูลใครว่าน้ำแห้ง นี่ของจริงครับ ......................... หมายเหตุ: ติดตามสถานการณ์กรณีปัญหาเขื่อนปากมูลได้ที่ เปิดเขื่อน ปากมูล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผู้ต้องขังคดีที่ดินลำพูนได้รับอภัยโทษ ปล่อยตัววันนี้ หลังอยู่เรือนจำรวม 70 วัน Posted: 15 Aug 2012 12:23 PM PDT นายประเวศน์ ปันป่า หรือลุงแดง ผู้ต้องขังในคดีที่ดินลำพูน จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำลำพูนวันที่ 16 ส.ค.นี้ เนื่องจากได้รับการอภัยโทษ จากโทษจำคุก 1 ปี ฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ภาพ: วันที่ 6 มิ.ย.55 ศาลจังหวัดลำพูนอ่านคำพิพากษาฏีกาคดี "บุกรุกทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้" (คดีที่ดินลำพูน) โดยมีเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการจากทั่วประเทศร่วมให้กำลังใจกว่า 500 คน 15 ส.ค.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเวศน์ ปันป่า หรือลุงแดง ผู้ต้องขังในคดีที่ดินลำพูน จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำลำพูนในวันพฤหัสบดี ที่ 16 ส.ค.55 เวลา 9.30 น. เนื่องจากได้รับการอภัยโทษ ภายหลังที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำรวม 70 วัน จากโทษจำคุก 1 ปี ฐานบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.55 ศาลจังหวัดลำพูนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ดินลำพูน ซึ่งมีจำเลยคือ นายประเวศ ปันป่า นายสืบสกุล กิจนุกร และนายรังสรรค์ แสนสองแคว โดยนายประเวศ ปันป่าให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358, 365(2) จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่ามีหลักฐานภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริงซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงแค่แปลงเดียว ส่วนข้อหาเรื่องการทำไม้ พิสูจน์แล้วเห็นว่าไม่มีไม้ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มีเพียงต้นมะม่วง 20 ต้น จึงไม่มีความผิด ส่วนกรณีนายสืบสกุล กิจนุกร และนายรังสรรค์ แสนสองแคว ศาลเห็นว่า เนื่องจากมีพยานเพียงคนเดียวและอยู่ห่างจากพื้นที่ 10 กิโลเมตร รวมถึงไม่เคยเห็นจำเลยทั้งสองเข้าไปในพื้นที่ เพียงแต่ฟังชาวบ้านเล่า จึงไม่ใช่พยานเชิงประจักษ์ นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองไปร่วมเรียกร้องข้อเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินในช่วงนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง ทั้งนี้ นายประเวศน์ ปันป่า อายุ 64 ปี ชาวบ้านจากบ้านพระบาท อำเภอป่าซาง จ.ลำพูน พร้อมผู้ต้องคดีอีก 2 คน ถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 1531, 1371 / 2545, 2546 คดีหมายเลขแดงที่ 2699, 2700/2549 ในคดีบุกรุกที่ดินที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งมีข้อพิพาทกับเอกชนตั้งแต่ช่วงปี 2540 ศาลชั้นต้นตัดสินว่า มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายหลายข้อ ทั้งในส่วนการบุกรุก และการทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคล และการชักนำและสนับสนุนให้บุคลอื่นกระทำตาม โดยศาลชั้นต้นได้ตัดสินลงโทษจำคุกหกปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเมื่อปี 2551 ว่า มีความผิด และไม่ลดโทษสำหรับนายประเวศน์ แต่ได้ลดโทษสำหรับกรณีนายรังสรรค์และนายสืบสกุลเหลือเพียงจำคุก 4 ปี อย่างไรก็ตามปัจจุบัน จ.ลำพูน มีเกษตรกรและผู้นำขบวนการ 22 คน ที่ถูกศาลพิพากษาในคดีที่ดินลำพูน โดย 20 คน มาจากบ้านท่าหลุก ต.หนองล่อง กิ่งอ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน อีก 2 คน มาจากบ้านดงขี้เหล็ก ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 หลังถูกจำคุกอยู่ 6 เดือน ส่วนจำเลยอีก 10 คน ยังคงถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น โดย 8 คน มาจากบ้านแพะใต้ กิ่งอ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน และ 2 คน มาจากบ้านไร่ดง ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ส่องเทรนด์ "หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง" เครือข่ายชั้นนำใหม่? Posted: 15 Aug 2012 11:00 AM PDT "นวลน้อย ตรีรัตน์" ศึกษาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบันชั้นนำ เชื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มทุนใหม่ขึ้นเป็นชนชั้นนำ แต่คนข้างล่างยังไร้การต่อรองเหมือนเดิม "อานันท์ กาญจนพันธุ์" ชี้หลักสูตรฯ เป็นพื้นที่กลั่นกรองผู้นำ ที่ภาครัฐ-ธุรกิจวางใจ สะท้อนภาพ "ประชาธิปไตยไทย"
(15 ส.ค.55) นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยเรื่อง "เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง" ซึ่งจัดทำร่วมกับ ภาคภูมิ วาณิชกะ ในงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย "สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป" ที่ศูนย์สารนิเทศ จุฬาฯ โดยงานวิจัยดังกล่าวศึกษาโครงสร้างอำนาจจากการวิเคราะห์เครือข่ายความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลและองค์กรในระดับสูง หรือชนชั้นนำในสังคมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยพิจารณากลไก วิธีการ และกระบวนการที่ก่อให้เกิดความร่วมมือที่ทำให้เกิดการสร้าง รักษา และสืบทอดอำนาจ และเชื่อมโยงถึงการสะสมความมั่งคั่ง โดยศึกษาหลักสูตรผู้บริหาร 6 หลักสูตร ได้แก่ จาก 6 หลักสูตรแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย 4 หลักสูตร คือ วปอ. (รวมทั้งหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐเอกชนและการเมือง (วปม.)) บ.ย.ส., ปปร. และ พตส. เป้าหมายของกลุ่มที่ 1 จะเน้นพัฒนาศักยภาพหรือแนวคิดของผู้เข้าเรียน มีการประเมินผลอย่างชัดเจน เป้าหมายของการศึกษามีลักษณะกว้างและเป็นประโยชน์สาธารณะ โดยเครือข่ายที่หลักสูตรสร้างขึ้นไม่มีบทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของหลักสูตรชัดเจนนัก ขณะที่กลุ่มที่ 2 เน้น "กล่อมเกลาทางความคิด" ให้คนที่เข้ามาเกิดความเชื่อแบบเดียวกันเป็นหลัก และจะมีการผลักดันข้อตกลงหรือแนวคิดบางประการจากเครือข่ายที่หลักสูตรสร้างออกไปด้วย การสร้างเครือข่ายของหลักสูตร แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1.การคัดเลือกบุคคลเข้ารับการศึกษา โดยกลุ่มที่ 1 ซึ่งจัดโดยราชการ เน้นผู้เรียนที่เป็นผู้บริหารระดับกลางที่เป็นดาวรุ่ง หรือผู้นำในอนาคต ขณะที่กลุ่มที่ 2 เน้นที่ผู้มีอำนาจบทบาททางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม 2.การสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของหลักสูตร โดยทั้งสองกลุ่มเน้นการสร้างกิจกรรมทางสังคมที่ก่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของผู้เรียน โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ปฐมนิเทศ การรับน้อง มีสายรหัส 3.ตอกย้ำหรือรักษาความสัมพันธ์หลังสำเร็จการศึกษา โดยตั้งสมาคมศิษย์เก่า เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างรุ่น
นวลน้อยยกตัวอย่างเครือข่ายที่เกิดขึ้นในระดับปัจเจก อาทิ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งผ่านการศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงมา 3 หลักสูตร คือ วปอ. 34 (2534) วตท. 4 (2550) และ TEPCoT 2 (2552) ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บมจ. ที.เค.เอส.เทคโนโลยี ซึ่งมีสุพันธุ์ มงคลสุธี กรรมการและรองประธานกรรมการบริษัทเป็นนักศึกษา วตท.รุ่นที่ 3 และณรงค์ จุนเจือศุภฤกษ์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบเป็นนักศึกษา วตท.รุ่น 4 และณรงค์เป็นรองประธานกรรมการ บมจ.มติชนในปัจจุบัน ส่วนตัวอย่างของเครือข่ายเชิงสถาบันกับการผลักดันผลประโยชน์องค์กร นวลน้อยยกตัวอย่างของการจัดสัมมนาใหญ่ "ตลาดทุนไทย...ใครจะผ่าตัด" เมื่อปี 2551 โดย วตท.รุ่น 1-5 ซึ่งสามารถเชิญ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง ในขณะนั้นมาร่วมงาน และหลังจากนั้น นพ.สุรพงษ์ ได้เซ็นคำสั่งจัดตั้งแผนพัฒนาตลาดทุน ซึ่งมีคณะทำงานเกือบ 90% ผ่าน วตท.ทั้งสิ้น แผนนี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วใน 1-2 ปี โดยมีเรื่องสำคัญคือ การเปลี่ยนสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นวาระของคนส่วนหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์อยู่ในแผนดังกล่าว การผลักดันนี้เข้าสู่กฤษฎีกาได้ในสมัยรัฐบาล ปชป. แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็พลิกล็อค โดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งมาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยกับการแปรสภาพเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว ในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เองมีความเกี่ยวเนื่องกับคนในตลาดบางส่วนที่ต้องสูญเสียประโยชน์ สุดท้ายปลายปี 2554 เขาได้ขอถอนร่างออกจากกฤษฎีกา โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นนโยบายรัฐบาล ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการรวมตัวเชิงสถาบัน และกล่อมเกลาทางความคิด หลายเรื่องเดินหน้าไปได้เร็ว แต่เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ใช่คนกลุ่มดียวในสังคม กลุ่มอื่นๆ จึงสามารถปะทะขัดขวางแรงขับเคลื่อนเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เมื่อเทียบหลักสูตรการศึกษาพิเศษเหล่านี้กับมหาเศรษฐีไทย 40 อันดับ จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ พบว่า นักธุรกิจที่มีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ จะไม่นิยมเข้าเรียน นอกจากนี้ พบว่า จาก 40 ตระกูล คนในแต่ละตระกูลนิยมเข้าเรียน วตท. 19 ตระกูล วปอ. 13 ตระกูล และ บ.ย.ส. และ ปปร. อย่างละ 6 ตระกูล นวลน้อยตั้งคำถามว่า การรวมตัวของบุคคลชั้นนำผ่านหลักสูตรเหล่านี้จะก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจชนชั้นนำมากขึ้นหรือไม่ หรือจะเกิดในลักษณะที่สองคือ เป็นช่องทางให้กลุ่มทุนใหม่ที่เติบโตจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว แทรกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ ซึ่งส่วนตัวแล้วเชื่อแบบที่สองมากกว่า อย่างไรก็ตาม นวลน้อยชี้ว่า แต่เมื่อพิจารณาทั้งหมด ไม่ว่าจะส่งผลแบบใด ก็คงไม่ทำให้สังคมไทยเสมอหน้ามากขึ้น เพราะการเกาะเกี่ยวกันไม่ว่ารูปแบบไหน ทำให้การแสวงหาผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นนำมากขึ้น โดยที่ประชาชนที่อยู่ภายนอกหรือระดับล่างย่อมเข้าไม่ถึง และสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัญหาในอนาคต
อานันท์ กล่าวเสริมว่า ที่สังคมไทยมักคิดว่าผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือความสามารถในระบบราชการนั้นไม่ใช่ เพราะระบบเมืองไทยไม่เปิด ระบบราชการและธุรกิจจึงต้องเปิดพื้นที่ของตัวเอง เพื่อกลั่นกรองผู้นำของตัวเองที่ตัวเองให้การยอมรับ หรือที่เรียกว่า "ความไว้วางใจ" ดังนั้นสำหรับตัวอย่างเรื่องตลาดหลักทรัพย์ข้างต้น เขามองว่าเป็นเรื่องของอำนาจกับความไว้วางใจมากกว่าเรื่องของเครือข่ายหรือกลุ่มพรรคพวก เพราะจะเห็นว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยน อานันท์กล่าวว่า จากเรื่องดังกล่าว อาจมองได้ว่า ในสังคมไทยที่คิดว่ามีการเลือกตั้ง จริงๆ แล้วใช้รูปแบบเชิงซ้อนอยู่ตลอด ดึงอำนาจจากประชาชนไปหลายรูปแบบ อยู่ในที่ที่เขาควบคุมได้ จัดการได้ ประชาชนก็เล่นไปตามเกมที่เขาให้เล่น เลือกตั้งกันไป ดีใจกันไป แต่จริงๆ พื้นที่ที่เขาดึงเอาไว้มันมีอยู่แล้ว นอกจากนี้ เขากล่าวด้วยว่า เป้าหมายหนึ่งของหลักสูตรต่างๆ ที่ต้องการหลอมความเข้าใจ ให้เกิดการทำงานเข้าขากันนั้น จริงๆ ไม่ต้องทำก็ได้ เพราะกลไกเสรีนิยมทำงานอย่างดีผ่านกลไกข่าวสารอยู่แล้ว ดังนั้น หลักสูตรเหล่านี้จึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะเลย เพราะประโยชน์สาธารณะไม่ใช่การเห็นด้วยแต่ต้องทำให้เห็นต่าง เพราะสังคมไทยต้องการการถกเถียงในกระแสเสรีนิยมใหม่ การคิดเหมือนกันจะยิ่งทำให้ปัญหาการขับเคลื่อนการพัฒนาเป็นไปได้ยากขึ้น และทำให้ไทยยังติดกับดับรายได้ชนชั้นกลางอย่างที่เป็นอยู่ สำหรับงานสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย "สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สนับสนุนโดย สกว. สกอ.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 15-16 ส.ค.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลปกครองยกฟ้อง คดีร้อง 11 หน่วยงานรัฐนำที่ป่าพรุออกเอกสารสิทธิสร้างโรงถลุงเหล็ก Posted: 15 Aug 2012 09:53 AM PDT ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง กรณีชาวบางสะพาน จ.ประจวบฯ ฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินบริษัทเครือสหวิริยา 18 แปลง ชี้ไม่ใช่ที่หวงห้ามออกหนังสือรับรองได้ -อธิบดีกรมที่ดินตั้ง กก.สอบแล้ว ไม่ละเลยหน้าที่ ภาพโดย: Nipawan Kaewkhow วันที่ 15 ส.ค.55 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้าน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวม 51 คน ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ 11 หน่วยงาน เมื่อเดือน ธ.ค.51กรณีหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยปล่อยให้มีการนำพื้นที่ป่าพรุ ป่าชายเลน หรือป่าเสม็ด ไปออกเอกสารสิทธิ พร้อมร้องขอให้กรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของบริษัทในเครือสหวิริยา จำนวน 18 แปลง รวมเนื้อที่ 310 ไร่ 74 ตารางวา โดยมี บริษัทประจวบพัฒนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (บริษัทสหวิริยา) เป็นผู้ร้องสอด หน่วยงานรัฐ ผู้ถูกฟ้องที่ 1-11 ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่รำพึง นายก อบต.กำเนิดนพคุณ เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สาขาบางสะพาน นายอำเภอบางสะพาน ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยระบุว่า ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง ข้อกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 18 แปลง เป็นกรณีการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 จำนวน 8 แปลง และกรณีการขอออกตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองทำประโยชน์ตามมาตรา 58 จำนวน 10 แปลง ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานเอกสารในการออกหนังสือรับรองทำประโยชน์ น.ส.3, น.ส.3 ก. สอดคล้องกับรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงวันที่ 2 ก.ค.50 ที่คณะกรรมการซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 6 ตั้งขึ้น กรณีมีผู้ร้องเรียนการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งฟังได้ว่าการออก น.ส.3 และ น.ส.3 ก.ที่ดิน 18 แปลงระหว่างปี 2507-2523 หลักเกณฑ์ขณะนั้นเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 และฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ที่ออกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 โดยอาศัยหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และได้มีการสอบสวนพิสูจน์การทำประโยชน์ ซึ่งทุกแปลงผู้ยื่นคำขอต่างยืนยันว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์จากที่ดินดังกล่าว และมีการประกาศคำขอ คำรับรองเพื่อให้มีการคัดค้าน และผู้ปกครองท้องที่ก็ได้รับรองว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินซึ่งราชการเห็นว่าควรสงวนไว้ เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีจำนวน 14 แปลงที่ผู้ยื่นคำขอมีหลักฐานเป็นแบบการแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ กรณีนี้จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเกณฑ์ที่อาจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 และ น.ส.3 ก.ให้ได้ กรณีจึงถือว่ามีการออกหนังสือรับรองตามหลักเกณฑ์ประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ส่วนที่เมื่อมูลนิธิสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย กล่าวหาว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินป่าพรุ ม.7 ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 22 แปลงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องที่ 6 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้เพิกถอน น.ส.3 ก.จำนวน 1 ฉบับที่มีการนำหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่นมาใช้เป็นหลักฐานแล้ว ผู้ถูกฟ้องจึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงพิพากษายกฟ้อง นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป เพื่อคัดค้านการเดินหน้าของกลุ่มนายทุน ที่จะทำ EIA และนำไปสู่การตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรและโรงถลุงเหล็ก ทั้งนี้ ข้อมูลของชาวบ้าน พื้นที่ดังกล่าวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยคณะอนุกรรมการชุดที่ดินและป่าไม้ตรวจสอบแล้วพบว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าว ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ หรือเป็นอยู่อาศัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีสภาพระบบนิเวศเป็นป่ากระจูด ป่าจาก ป่าเสม็ด ซึ่งเป็นป่าพรุที่สมบูรณ์มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี จึงไม่ควรมีการออกเอกสารสิทธิ์ ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 14 ส.ค.55 เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8 องค์กร และชาวบ้านเสื้อเขียวกว่า 200 คน ร่วมกิจกรรมที่ศาลหลักเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยนำหัวหมู ไก่ ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียนมาถวายเพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอช่วยดลบันดาลให้ชาวประจวบฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการปกป้องป่าพรุแม่รำพึงเพื่อลูกหลานสืบไป ก่อนเดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลปกครอง ภาพโดย: R-thitaya Yeesan ทั้งนี้ ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ในการประชุมร่วมระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และเครือสหวิริยา เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนจากเครือสหวิริยาได้แจ้งต่อ กนอ.ว่า เรื่องที่ดินบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงถลุงเหล็กและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับ กนอ.ได้มีข้อยุติแล้วตามคำสั่งศาลและพร้อมส่งเอกสารคำสั่งศาลให้แก่ กนอ. สื่อความหมายว่าเอกชนได้รู้คำพิพากษาของศาลก่อนศาลปกครองจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือน “ถ้าเป็นจริงตามนี้ พวกเราเห็นว่า ณ บัดนี้ชาวบ้านประจวบฯ ยังคงหวังพึ่งได้แต่เพียงศาลหลักเมือง ให้ทรงสถิตย์ไว้ซึ่งความยุติธรรมในการช่วยปกป้องป่าพรุแม่รำพึงให้ยังคงเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักศึกษาชิลียึดโรงเรียนประท้วง ร้องรื้อระบบการศึกษาให้เป็นธรรม Posted: 15 Aug 2012 08:00 AM PDT นักเรียนและนักศึกษาในชิลีหลายร้อยคนถูกสลายการชุมนุมวานนี้ หลังยึดโรงเรียนในกรุงซานติเอโกหลายแห่งและปิดถนนเพื่อกดดันให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณหนุนการศึกษาและยกเลิกการแปรรูปมหาวิทยาลัย 15 ส.ค. 55 - นักศึกษาหลายร้อยคนในกรุงซานติเอโก เมืองหลวงของประเทศชิลี ทำการประท้วงโดยยึดโรงเรียนหลายแห่ง และปิดถนนหลายเส้นใจกลางเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลให้ปฏิรูประบบการศึกษาระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยให้ประชาชนสามารถมีสิทธิเข้าถึงได้มากขึ้น มีรายงานว่าตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมแล้ววานนี้ แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนยังคงยึดโรงเรียนประท้วงได้อย่างน้อย 7 แห่ง นักศึกษาชิลีซึ่งได้ประท้วงกันต่อเนื่องโดยการหยุดเรียนช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลรื้อและปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกแปรรูปในสมัยเผด็จการของพลเอกออกุสโต ปิโนเชต์ ปกครองชิลีตั้งแต่ปี 2516- 2533 ทำให้ค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยและมัธยมมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยมีนักเรียนร้อยละ 45 เท่านั้นที่เรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐบาล โดยมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในชิลีเป็นของเอกชน ทั้งนี้ ในปัจจุบัน รัฐบาลชิลีมีงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เท่านั้น โดยต่ำกว่ามาตรฐานของสหประชาชาติที่กำหนดไว้ร้อยละ 7 ผู้ชุมนุมกล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาของคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ คุณภาพอาจารย์และครูที่ไม่ดีเท่าที่ควร ค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยที่สูง และการให้กู้เงินด้านการศึกษาของธนาคารทีมีดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้เยาวชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาได้เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีของชิลี เซบาสเตียน ปิเนร่า ปฏิเสธข้อเรียกร้องของนักศึกษาชิลีที่ให้ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ และยื่นข้อเสนอจะตั้งกองทุนการศึกษาราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งให้ทุนการศึกษา และลดดอกเบี้ยเงินกู้การศึกษาจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 2 แทน โดยเขากล่าวว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงสถาบันการศึกษาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผู้นำนักศึกษายังไม่พอใจ และชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อภาคเอกชนถูกควบคุมโดยรัฐ และการหยุดทำให้การศึกษาเป็นธุรกิจเพื่อการค้ากำไร ทั้งนี้ การประท้วงระบบการศึกษาของนักศึกษาชิลี ได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว หลังจากที่ได้เริ่มต้นด้วยการประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายนปี 2554 โดยในช่วงแรก รัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้องโดยตั้งกองทุนการศึกษา และเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องอื่นๆ ของนักศึกษาก็ไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ ในขณะเดียวกัน การประท้วงของขบวนการนักศึกษา ก็ได้ส่งผลให้คะแนนนิยมของเซบาสเตียน ปิเนร่า ประธานาธิบดีคนปัจจุบันลดลงอย่างมาก ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักศึกษาหลายพันคนได้เดินขบวนประท้วงในกรุงซานติเอโก ก่อนจะถูกสลายการชุมนุมโดยสายฉีดแรงดันน้ำ เนื่องจากมีการก่อจลาจลโดยการเผารถเมล์ 3 คัน ทำให้มีการจับกุมผู้ชุมนุม 75 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 49 คน รัฐบาลได้ประณามผู้นำนักศึกษาที่ยอมให้มีการประท้วง เนื่องจากการเดินขบวนถูกสั่งห้ามในกรุงซานติเอโก
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Chile student protesters occupy high schools
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ประวิตร โรจนพฤกษ์: มิติทางศาสนาของคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง Posted: 15 Aug 2012 06:39 AM PDT วิธีหนึ่งที่เราจะสามารถเข้าใจได้ว่าทำไมคนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อและยึดมั่นใน ‘ความดี’ และ ‘คนดี’ อย่างที่ตรวจสอบและวิพากษ์ไม่ได้ นั่นคือการมองความเชื่อและการยึดมั่นของคนเหล่านั้นต่อสถาบันกษัตริย์และในหลวงผ่านมิติทางศาสนา ในสังคมที่ผู้คนจำนวนมิน้อยเชื่อว่านักการเมืองส่วนใหญ่นั้นโกงกิน เลวและเห็นแต่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง (ซึ่งเป็นผลพวงของสังคมที่สามารถตรวจสอบวิพากษ์นักการเมืองได้มากขึ้นเป็นลำดับ) ผู้คนจำนวนไม่น้อยถวิลหาความดีและคนดีแบบมิต้องสงสัยหรือถ้าสงสัยก็ต้องถูกห้ามมิให้วิพากษ์หรือแสดงข้อกังขาสงสัยในที่สาธารณะ การยึดมั่นยกย่องให้สถาบันกษัตริย์และในหลวงเป็นสถาบันและบุคคลที่ดีเหนือความสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้นจึงมีมิติทางศาสนาเหมือนผู้เคร่งครัดหรือยึดติดกับศาสนา (religious extremism and fundamentalism) ที่จะยอมให้ศาสนาและพระเจ้าของพวกเขาถูกผู้ใดหมิ่นหรือวิพากษ์วิจารณ์มิได้เพราะความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ จะลดลงหรืออาจหมดไปหากปล่อยให้ความเชื่อของพวกเขาและสถาบันฯ รวมถึงผู้ที่พวกเขายึดมั่นถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์ได้ หากการบูชาสถาบันกษัตริย์เป็นศาสนาและกษัตริย์เป็นดุจพระเจ้าในสายตาผู้ที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง คำสอนของในหลวง หรือพระราชดำริที่รวมเป็นเล่มๆ และมีขายตามร้านหนังสือทั่วไปย่อมไม่ต่างจากพระคัมภีร์ที่สื่อกระแสหลักไม่ว่าทีวี วิทยุหรือหนังสือพิมพ์มักนำมาผลิตซ้ำๆ ซ้ำๆ ซ้ำๆ และถี่ๆ อย่างไม่มีวันพอเพียง ในศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้าแต่พระองค์เดียว ย่อมต้องมีซาตาน ซาตานในอดีตยุคสงครามเย็นอาจเป็นพรรคคอมมูนิสต์ แต่ทุกวันนี้ซาตานในสายตาคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดง รวมทั้งคนที่ไม่เอา ม.112 หรือเท่าทันสถาบันฯ กษัตริย์ ซึ่งก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกล้มเจ้าล้มสถาบันฯ อันเป็นศาสนาหรือลัทธิของผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงไปเสียแล้ว การปฏิบัติตนเป็นคนดีในศาสนาบูชาเจ้า สามารถกระทำได้โดยการล่าแม่มดทางอินเทอร์เน็ต อย่างที่เคยกระทำกับสาวน้อยที่ใช้นามแฝงว่า "ก้านธูป" หรือกับคนอย่างนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่ปฏิเสธที่จะยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง การตอกย้ำแสดง ‘ความรัก’ และจงรักภักดีถี่ๆ ซ้ำๆ อย่างไม่รู้จักพอเพียงก็ถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีมิติทางศาสนาชนิดหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกอิน (involved) หรือมีความรู้สึกร่วมกับความเชื่อที่เหมือนศาสนาของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างจากคนไปนั่งทำสมาธิหรือทำบุญสักเท่าไร (ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ของการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมทางอินเทอร์เน็ตในเฟซบุ๊ก คือปรากฏการณ์ภาพของเมฆที่คล้ายภาพถ่ายในหลวงที่ทรงถือวิทยุสื่อสาร ซึ่งมีคนกด Like มากกว่า 60,000 คน) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในหลวงเองยังเคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ว่าวิจารณ์พระองค์ได้ แต่บรรดาผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงก็ยังสนับสนุนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) อย่างแข็งขันและต่อต้านการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ในทุกรูปแบบ – ทั้งนี้เพราะลึกๆ แล้วพวกเขาอาจเกรงว่าวันใดที่ข้อมูลต่างและข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับสถาบันฯ ถูกเผยแพร่ได้โดยไม่ผิดกฎหมายและประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ ภาพขาวดำดีชั่วแบบสุดขั้วที่พวกเขายึดมั่นดั่งเป็นสรณะทางศาสนาอาจได้รับผลกระทบและมันอาจกระทบต่อศรัทธาของคนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงเอง แท้จริงแล้ว คนรักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงมุ่งปกป้องความเชื่อของพวกเขาที่ดูเหมือนได้กลายเป็นศาสนาไปแล้ว ให้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะมันช่วยให้คนเหล่านี้รู้สึกมั่นคงในความเชื่อของพวกเขา ที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถช่วยจรรโลงใจเขาให้ดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความหมายและความภาคภูมิใจในสิ่งและคนที่ ‘ดี’ อย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ และการพยายามตั้งคำถามใดๆ ก็มักจะทำให้บรรดาผู้รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียงรู้สึกมีอารมณ์โกรธจนมักควบคุมตนเองมิได้ เพราะคำถามเหล่านั้นไปกระทบความเชื่อของพวกเขาที่พวกเขาไม่ต้องการให้มีการตั้งคำถามหรือสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตร.ยันหญิงก่อเหตุหมิ่นฯ ยังถูกอายัดตัว แพทย์เผยเป็นโรคจิตจริง เสนอความเห็น พนง.สืบสวนพรุ่งนี้ Posted: 15 Aug 2012 01:41 AM PDT รองผบช.น.ยันหญิงก่อเหตุหมิ่นฯ ยังถูกอายัดตัวอยู่ ที่สถาบันกัลยาณ์ ราชนครินทร์ ปัดข่าวลือหนีออกต่างประเทศ ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เผยผลการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชจากทีมจิตแพทย์ทั้ง11 คนสรุปเข้าข่ายป่วยเป็นโรคจิตจริง ก่อนทำเรื่องพร้อมเสนอความเห็นต่อพนักงานสอบสวนวันพรุ่งนี้ (16 ส.ค.) 15 ส.ค. 55 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น.ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและสอบสวน เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่ นางฐิตินันท์ (ประชาไทขอสงวนนามสกุล) อายุ 63 ปี แสดงพฤติกรรมหมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ที่บริเวณหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดกับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ขณะมีการพิพากษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า คดีดังกล่าว พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผบช.น. รับผิดชอบในการทำสำนวน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนเบื้องต้นส่งไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาเข้าคณะกรรมการสอบสวนคดีหมิ่นฯของสตช.แล้ว เมื่อวันที่ 1ส.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในส่วนนางฐิตินันท์ขณะนี้ยังอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่สถาบันกัลยาณ์ ราชนครินทร์ เพื่อตรวจสอบและรอความเห็นของแพทย์ จากนั้นก็จะนำผลมาประกอบในการดำเนินคดีด้วยส่วนหนึ่ง แพทย์ระบุว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 40 วัน ซึ่งบช.น.ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนของสน.ทุ่งสองห้อง เดินทางไปติดตามผลแพทย์เป็นระยะเบื้องต้นได้รับรายงานว่าแพทย์ยังไม่ได้มีการลงความเห็นใดๆ “ส่วนกระแสข่าวที่ว่านางฐิตินันท์หนีออกนอกประเทศไปแล้วนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง นางฐิตินันท์ยังคงอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ฯ ตำรวจสน.ศาลาแดงจัดกำลังเฝ้าอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้บช.น.ยังได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อที่จะอายัดตัว ไม่ให้นางฐิตินันท์เดินทางออกนอกประเทศ” เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อหลากสีของนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่เป็นแกนนำ จะเดินทางมาที่บช.น. เพื่อถามความคืบหน้าคดีดังกล่าว รองผบช.น.กล่าวว่า ได้ทราบจากฝ่ายสืบสวนว่า กลุ่มคนเสื้อหลากสีเดินทางมาที่บช.น. เพื่อถามความคืบหน้าของนางฐิตินันท์ จึงอยากแจ้งผ่านสื่อมวลชนว่า ยังมีการดำเนินคดีกับนางฐิตินันท์อยู่ แต่ยังไม่สามารถสรุปสำนวนได้ เนื่องจากต้องรอผลจากแพทย์ พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 16 ส.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ จะเรียกประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าในคดีที่เกี่ยวข้องกับสำนวนการเสียชีวิต 98 ศพ ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวนของบช.น. ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ไปร่วมทำการสอบสวนในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบไปด้วยตนซึ่งจะเป็นหัวหน้าฝ่ายตำรวจ และพนักงานสอบสวนที่ร่วมกันทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพในสำนวน 23 ศพเดิม อย่างไรก็ตาม บรรยากาศบริเวณด้านหน้าบช.น.ยังคงมีกำลังจากบก.อคฝ.จำนวนประมาณ 30 นายคอยดูแลความเรียบร้อยโดยรอบ เพื่อรอกลุ่มของนายแทพย์ตุลย์ ที่จะมาถามความคืบหน้าในคดีของนางฐิตินันท์ แต่ยังคงไม่มีการเดินทางมาแต่อย่างใด จิตแพทย์ชี้เข้าข่ายโรคจิตจริง ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานวันเดียวกันนี้ว่านพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงความคืบหน้าถึงกรณีการรับตัว นางฐิตินันท์ แก้วจันทรานนท์ อายุ 63 ปี ก่อเหตุไม่เหมาะสมต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เหตุเกิดหน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งติดกับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ขณะมีการพิพากษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อทำการ“เคสคอนเฟอเรนซ์” ที่ต้องอาศัยการเฝ้าสังเกตอาการจากนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ พยาบาล ก่อนประเมินอาการผู้ป่วยว่า หลังจากเข้ารับการบำบัดเป็นเเวลา 1 เดือน โดยนายแพทย์ศิริศักดิ์ กล่าวถึงผลการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชประกอบไปด้วยจิตแพทย์จำนวน11 คน พยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรมบำบัด โดยมีที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธาน โดยการประชุมวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยได้เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 17.30 น. ซึ่งสรุปว่านางฐิตินันท์ เข้าข่ายป่วยเป็นโรคจิตจริง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เปิดเผยต่อว่าการนำเสนอข้อมูลเพื่อการประชุมวินิจฉัยในครั้งนี้ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลประกอบการวินิจฉัยด้วยความรอบคอบและครอบคลุมตามบทบาทและมาตรฐานวิชาชีพ เนื่องจากเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ และก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของวุฒิสภาได้ให้ตนไปให้ข้อมูลและกำชับให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาพร้อมกับให้เร่งรัดให้มีตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว ทางสถาบันฯก็ได้ดำเนินการตามมติของคณะอนุกรรมมาธิการฯแล้วโดยในวันพรุ่งนี้จะได้ส่งรายงานซึ่งจะมีผลการวินิจฉัยจากกรรมการประชุมวินิจฉัยพร้อมให้ความเห็นแก่พนักงานสอบสวนที่ส่งตัวผู้ป่วยมาตรวจ ซึ่งก็ได้ประสานกับทางสน.ทุ่งสองห้องไปบ้างแล้ว คาดว่าน่าจะมารับผลการตรวจด้วยตนเอง สำหรับการดำเนินการต่อไป ก็ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ด้านพล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ดูแลงานกฎหมายและสอบสวน เปิดเผยความคืบหน้าทางคดีว่า ขณะนี้ พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.น. หัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน ได้สรุปสำนวนเบื้องต้นไปแล้วผ่านทาง บช.น. และส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนทางด้าน นางฐิตินันท์ ได้อยู่ในความดูแลของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวมทั้ง ได้ประสานไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) เพื่ออายัดตัวไว้ไม่ให้ออกนอกประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในการดูแลของแพทย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดเวลา ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีกลุ่มมวลชนต่างๆมาติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวที่บช.น.ในวันนี้ พล.ต.ต.อนุชัย กล่าวว่า ได้ทราบข่าวแล้ว ทางพนักงานสอบสวนไม่ได้นิ่งนอนใจพร้อมดำเนินคดีกับนางฐิตินันท์ ในข้อกล่าวหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อัพเดทข่าวเพิ่มเติมเมื่อเวลา 20.21 น. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผาสุก พงษ์ไพจิตร : ภาพรวมความเหลื่อมล้ำ กับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง(จากชั้นล่าง) Posted: 15 Aug 2012 12:15 AM PDT 15 ส.ค.55 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย
เป็นที่ชัดเจนว่ารายได้ของครัวเรือนไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ความเหลื่อมล้ำนี้เพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูมากๆ ระหว่างปี 2533-2538 และมีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ปัจจุบันระดับความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นรองก็แต่เพียงลาตินอเมริกาและอาฟริกาเท่านั้น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ส่งผลต่อไปถึงความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ได้แก่ ความมั่งมี (ที่ดิน ทรัพย์สินอื่นๆ ) ความเหลื่อมล้ำด้านสังคม (การแบ่งช่วงชั้นทางสังคม การเข้าถึงการศึกษา การได้รับการยอมรับนับถือ ศักดิ์ศรี) ความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง (เข้าไม่ถึงอำนาจทางการเมืองและการกำหนดนโยบาย) ประเทศอื่นๆ ในโลกกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลพวงของการดำเนินนโยบายตามแนวทาง “เสรีนิยมใหม่” (เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำเป็นผลดีกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับกลไกตลาดเป็นตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก พร้อมทั้งลดบทบาทรัฐในระบบเศรษฐกิจ การเปิดเสรีการค้า การลงทุน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดบทบาทของสหภาพแรงงาน ฯลฯ) ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จึงเป็นปัญหาของโลก ทั้งภายในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ ถึงกระนั้น ข่าวดีก็พอมีอยู่ บางประเทศ ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการเมือง จนสามารถลดความเหลื่อมล้ำลงได้ เราน่าจะเรียนรู้ได้บ้างจากประเทศเหล่านี้ ที่ลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางพอๆ กับไทย และยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากที่สุดในโลกก็ยังดีขึ้น บางประเทศดำเนินมาตรการใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เช่น อุดหนุนให้เด็กๆ ของครัวเรือนมีฐานไม่ดีไปโรงเรียน และรับการตรวจรักษาอย่างทั่วถึง อาร์เจนจินาและบราซิล ปฏิรูประบบภาษีจนสามารถเก็บภาษีได้คิดเป็นร้อยละ 34 ของจีดีพี (ของไทยเท่ากับร้อยละ 17) เท่ากับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโออีซีดี (เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สแกนดิเนวีย สหรัฐฯ) ทำให้มีเงินรายได้พอจะใช้จ่ายด้านสังคม ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก เช่น อิควาดอร์และอาร์เจนตินา ต่อรองกับบริษัทข้ามชาติ (น้ำมันและเหมืองแร่) ให้เพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากกำไรให้รัฐบาล เอามาใช้จ่ายด้านประกันสังคม ประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียนของเรา ล้วนมีการกระจายรายได้ดีกว่าของไทยทั้งสิ้น ซึ่งก็น่าแปลกใจเพราะว่าต่างก็มีสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คล้ายๆ กับเราอยู่ อีกทั้งยุทธศาสตร์เศรษฐกิจก็ไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย เคยมีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ได้ลดลงจนขณะนี้ต่ำกว่าไทยมาก เพราะว่าทำโครงการสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ทศวรรษ 2513 รัฐบาลแบ่งที่ดินของรัฐให้กับเกษตรกรผู้เช่าและจงใจอุดหนุนเพิ่มโอกาสให้ครัวเรือนระดับล่างได้รับการศึกษาดีถึงขึ้นอุดมศึกษา ทำไมมาเลเซียจึงทำได้สำเร็จ เพราะว่ารัฐบาลและคนส่วนใหญ่ของประเทศเชื่อว่า การลดความเหลื่อมล้ำจะลดความขัดแย้งด้านเชื้อชาติระหว่างคนจีนกับคนมาเลย์ลงได้นั่นเอง ตรงนี้มีบทเรียนอีก คนฐานะดีมักจะต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดความเหลื่อมล้ำเพราะเชื่อว่าพวกเขาจะเสียประโยชน์ แต่นั่นเป็นความคิดสั้น คือ คิดแบบ “ถ้าเธอได้ ฉันไม่ได้” (Zero-sum game) สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำไม่มาก และมีระบบประกันสังคมที่ดีจะเป็นสังคมที่มีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพทางการผลิตมากกว่า ในช่วงห้าหกปีมานี้ การเรียกร้องด้านการเมืองได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัย ขบวนการเสื้อแดงได้ใช้คำว่า “ไพร่” และ “อำมาตย์” เสียดสีถึงผู้ที่ยังคิดแบบสังคมมีช่วงชั้นในระบอบการเมืองเดิมสมัยก่อน ซึ่งมีคนจำนวนน้อยอยู่เหนือคนจำนวนมาก และคนจำนวนมากต้อง “เกรงใจ” คนมีอำนาจจำนวนน้อยนั้น ชาวเสื้อแดงคนหนึ่งบอกนักวิชาการว่า ในความเห็นของเขา ประชาธิปไตยคือความยุติธรรม ทั้งทางด้านกฎหมาย การเมือง และการศึกษา ข้อเรียกร้องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น เราพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ปรากฏการณ์ Arab Spring ในตะวันออกกลาง และการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งที่ลาตินอเมริกา ซึ่งได้นำรัฐบาลปฏิรูปสู่อำนาจและแม้แต่ที่ยุโรปใต้ที่กำลังมีวิกฤตเงินยูโรอยู่ขณะนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเมืองใหม่ ในแต่ละประเทศมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ได้แก่ คนระดับล่างของประเทศ ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง ขณะนี้ผู้คนต้องโยกย้ายไปทำงานต่างถิ่นทั้งภายในประเทศของตนเองและทำงานต่างประเทศก็มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์และได้เห็นความแตกต่าง ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ต ฟังวิทยุชุมชน และดูเคเบิลทีวี หลายสถานี ทุกๆ คนได้รับการศึกษาแบบไม่เป็นทางการเหล่านี้เป็นประจำทุกวัน อีกปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกแห่ง ก็คือ การต่อต้าน เศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ เพราะว่าทำให้ผลได้ทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือของคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกแห่งก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะด้วย ที่เมืองไทยรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในเวลา 30 ปีหรือในชั่วอายุคนเดียว เมื่อผู้คนมีรายได้สูงขึ้น ก็จะเปลี่ยนทัศนคติ ความคาดหวังในชีวิตและความต้องการต่างๆ จะหลากหลายขึ้น รู้สึกว่าเขาควรจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้ เขาควรจะมีสินค้าและบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา ถนนลาดยาง รถไฟฟ้า เขาควรจะได้พูดคุยกับนักการเมืองเพื่อบอกว่าเขาอยากได้อะไร เขาเห็นกับตาว่า คนบางคนเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาอยากได้ได้ดีกว่าตนเอง และเขาก็อยากอยู่ในสภาพเช่นนั้นบ้าง เส้นแบ่งระหว่างเมือง-ชนบท จน-รวย ผู้ใหญ่-ผู้น้อย ได้ลางเลือนลงกระบวนการดังกล่าวนี้ คือกระบวนการสร้างความรู้สึกเป็น “พลเมือง” (citizen) และมีศักยภาพที่จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและก้าวหน้าได้ ที่สำคัญคือ คนชั้นกลางเมือง ไม่อาจผูกขาดความต้องการเสรีภาพ การสร้างเส้นสายธรรมาภิบาล ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเมืองประชาธิปไตยได้อีกต่อไป ประชาชนคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าชนบท หรือกึ่งชนบท หรือกึ่งเมือง ก็ต้องการสิ่งเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชั่วหนึ่งอายุคนที่ผ่านมานั้น จึงได้สร้าง “วัฒนธรรมความเสมอหน้า” ขึ้นมาด้วย หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับการเมืองแบบเก่า ซึ่งคนชั้นกลางมีการศึกษาสูง เป็นผู้กำหนดหรือพยายามกำกับอีกต่อไป ที่บ้านเราก็มีข่าวดีเหมือนกัน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็ได้ลดลงหลังปี 2544 เพราะผลพวงจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น นโยบายสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายขยายสินเชื่อให้กับคนรายได้น้อยและนโยบายการศึกษาฟรี 12 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ แต่การลดลงนี้ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก เพราะเราก็ยังสูงกว่ามาเลเซีย และใกล้เคียงกับลาตินอเมริกา รัฐบาลเรายังสามารถทำอะไรได้อีกมาก เพื่อให้ครัวเรือนรายได้น้อยได้ส่งลูกเข้าโรงเรียนคุณภาพดี และได้เรียนถึงอุดมศึกษา เพื่อให้เกษตรกรรายได้น้อยได้เข้าถึงสินเชื่อราคาพอสมควร และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้สูงกว่าเดิม และเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยงได้เข้าถึงสินค้าและบริการสาธารณะต่างๆ เสมือนผู้อยู่ใกล้ สินค้าและบริการสาธารณะของเรามีไม่เพียงพอและคุณภาพย่ำแย่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัฐบาลมีงบประมาณจำกัด และงบประมาณจำกัดนี้ ก็เพราะเก็บภาษีได้น้อย (ร้อยละ 17 ของจีดีพี) เพียงแต่ปรับปรุงการเก็บภาษีก็จะเพิ่มรายได้ได้อีกถึงมากกว่าหนึ่งในห้า และถ้าปฏิรูประบบภาษีเสียหน่อยก็จะได้อีกถึงหนึ่งในสาม ก็จะทำได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้จ่ายสร้างสินค้าสาธารณะที่จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำโดยไม่ต้องมีภาระหนี้สินสาธารณะ สิ่งที่เสนอไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นเพียงทำตามอย่างประเทศอื่นๆ ที่กำลังทำอยู่เช่นกันเท่านั้น ในด้านสังคมและการเมือง เป็นเรื่องต้องช่วยกันหลายฝ่ายทั้ง นักเขียน นักวิชาการและสื่อ ในการปรับแปลงวัฒนธรรมที่ดูเหมือนจะส่งเสริมความเหลื่อมล้ำให้ดีขึ้น เช่น การยอมรับว่าผู้คนอาจมีความคิด ความพอใจในการเมืองที่ต่างกันเป็นเรื่องปกติ เป็นการเริ่มต้นที่ดี การกระจายอำนาจและการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายทุกรูปแบบต้องเดินหน้าต่อไป การสร้างความตื่นรู้ให้กับสังคมถึงวิธีการอันแยบยลต่างๆ ที่ผู้อยู่ในอำนาจพยายามส่งอิทธิพลต่อทิศทางของการเมืองและนโยบาย โดยผลของความพยายามดังกล่าว อาจจะปิดกั้นหรือเป็นผลเสียกับคนจำนวนมาก เป็นที่สิ่งที่ต้องทำ เพราะจะนำไปสู่การอภิปรายกันถึงแนวทางที่ตัดตอนแนวโน้มดังกล่าว และสร้างความเสมอหน้า นักเศรษฐศาสตร์บางคนเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งดีและจำเป็นเพื่อจูงใจให้คนทำงาน แต่ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักพูดถึง การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นวิธีสร้างกำลังใจให้ทำงานหนัก และเพื่อให้เกิดสังคมสันติสุข จะเห็นได้ในกรณีประเทศแถบสแกนดิเนเวียเช่น เดนมาร์ค สวีเดน เป็นสังคมเสมอนห้าสูง มีความราบรื่น และยังมีเศรษฐกิจที่น่าพอใจกว่าประเทศอื่นๆ อีกด้วย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คริสตี เคนนีย์ระบุการออกวีซ่าทำภายใต้กฎหมายสหรัฐไม่เกี่ยวกับการเมืองประเทศนั้น Posted: 14 Aug 2012 08:43 PM PDT แต่ละปีมีคนไทยได้วีซ่าปีละ 50,000 คน โดยการออกวีซ่าให้คนต่างชาติกระทำภายใต้กฎหมายสหรัฐอย่างเคร่งครัด ด้าน นพ.ตุลย์ ประท้วงหน้าสถานทูตกรณี "ทักษิณ" ได้เข้าสหรัฐ กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้วีซ่าและเดินทางไปในสหรัฐอเมริกานั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (14 ส.ค.) เดลินิวส์ รายงานคำพูดของ นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งกล่าวว่า มีคนไทยเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยมีคนไทยที่ได้รับการออกวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เฉลี่ยปีละ 50,000 คน เมื่อถามว่าแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องหาหรือนักโทษของประเทศไทย เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าววา การออกวีซ่าของสหรัฐฯให้กับคนต่างชาตินั้น กระทำภายใต้กฎหมายของสหรัฐอย่างเคร่งครัด และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องหรือส่งผลใดๆ กับสถานการณ์การเมืองของประเทศนั้นๆ ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ที่ ถ.วิทยุ นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มเครือข่ายประชาชนทนไม่ไหว พร้อมด้วยผู้ชุมนุมประมาณ 25 คน มารวมตัวอยู่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องกรณีที่ทางการสหรัฐอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดย นพ.ตุลย์ได้เข้าไปพบและยื่นหนังสือกับนายแดเนียล คลิปเฟอร์ เจ้าหน้าที่ทูตฝ่ายการเมืองในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น