ประชาไท | Prachatai3.info |
- ชาวเน็ตมาเลเซียเตรียม "จอดับ" 14 ส.ค.นี้ ค้านแก้กม.ลิดรอนสิทธิออนไลน์
- 1%Effect:สนพ.นักอ่าน นักศึกษาล่ารายชื่อค้านซีเอ็ด,อมรินทร์กินรวบวงการหนังสือ
- สภาที่ปรึกษาศอ.บต. ค้านตั้งศูนย์ปฏิบัติการดับไฟใต้ที่ กทม.
- พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: ถ้าระวังเสื้อแดงบุกศาล ก็ต้องระวังสื่อเล่นเสื้อแดงด้วย
- ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ห้ามแก้"
- สันติภาพแบบไหนที่ประชาชาติปาตานีต้องการ?
- ชำนาญ จันทร์เรือง: เมื่อศาลทะเลาะกับประชาชน
- ซาอุดิอาระเบียประณามเหตุขัดแย้งในรัฐอาระกัน
- เผยครึ่งปีแรกคนกัมพูชาเที่ยวต่างประเทศ 389,000 คน เพิ่มขึ้น 33% จากปีที่แล้ว
- คุยกับ ‘ป้าอุ๊’ ในงาน 100 วันอากง
- พบนายจ้าง 258 แห่งไม่ทำตามขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40
- เอฟทีเอ ว็อทช์จี้พาณิชย์แจงเหตุเร่งเอฟทีเอไทย-อียู พร้อมยื่นข้อเสนอแนะ
- น้ำท่วมหนักกรุงมะนิลา สังเวยแล้ว 9 ศพ
- ‘ศศิน เฉลิมลาภ’ ต้อนรับ 21 เขื่อนแก้น้ำท่วม ทำไมแดง-เหลืองต้องสนใจ ‘เขียว’
ชาวเน็ตมาเลเซียเตรียม "จอดับ" 14 ส.ค.นี้ ค้านแก้กม.ลิดรอนสิทธิออนไลน์ Posted: 08 Aug 2012 02:04 PM PDT องค์กรรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อในมาเลเซีย ชวนชาวเน็ตดับหน้าจอต้านกฎหมายที่ระบุให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต-ผู้ให้บริการ ผิดทันที หากพบการกระทำผิดบนเว็บ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 ส.ค.55) ศูนย์วารสารศาสตร์อิสระ (Center for Independent Journalism: CIJ) ในมาเลเซีย เปิดตัวแคมเปญ "วันดับหน้าจออินเทอร์เน็ต" โดยเรียกร้องให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมเพื่อสร้างความตระหนักในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึงผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกจากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของรัฐบาลมาเลเซีย การรณรงค์ดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 14 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อต่อต้านมาตรา 114A ที่ถูกเพิ่มใน พ.ร.บ.ว่าด้วยหลักฐาน 1950 การดับหน้าจอนี้ถือเป็นครั้งแรกของมาเลเซีย โดยก่อนหน้านี้มีการรณรงค์ในลักษณะเดียวกันในสหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ เพื่อสนับสนุนเสรีภาพอินเทอร์เน็ต ในวันดังกล่าว (14 ส.ค.) เมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าเว็บไซต์ที่เข้าร่วมการรณรงค์ จะพบกับหน้าต่างที่มีข้อความรณรงค์ปรากฏขึ้นมา นอกจากนี้ ชาวเน็ตยังสามารถเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กหรืออวตารบนทวิตเตอร์ เป็นสีดำ หรือดาวน์โหลดภาพที่ CIJ เตรียมไว้ใช้ได้ จุดประสงค์ของการรณรงค์ครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียถอนการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งผ่านสภาอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมาตรา 114A หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยหลักฐาน ฉบับแก้ไขครั้งที่สอง 2012 ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นาซรี อับดุล อาซิซ เมื่อ 31 ก.ค.นี้ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว เจ้าของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เคลื่อนที่ รวมถึงผู้ใดก็ตามที่บริหาร ดำเนินการ หรือจัดให้มีพื้นที่สำหรับชุมชนออนไลน์ บล็อก หรือให้บริการเว็บโฮสต์ติง จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้เผยแพร่ หรือเผยแพร่ซ้ำเนื้อหา ผ่านบริการหรืออุปกรณ์ของตนเองโดยอัตโนมัติ จนกว่าจะพิสูจน์เป็นอย่างอื่น การแก้ไขกฎหมายนี้ก่อให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้เน็ต นักกิจกรรม นักกฎหมาย พรรคฝ่ายค้าน รวมถึงภาคธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้แก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างในโลกออนไลน์ ด้วยการทำให้ความเป็นนิรนามในอินเทอร์เน็ตยากจะดำรงไว้หรือใช้เป็นข้ออ้างได้ หากแต่กฎหมายถูกทำให้รัดกุมขึ้น เพราะไม่ต้องการให้บุคคลนิรนามหรือใช้นามแฝง เพื่อใส่ร้ายหรือคุกคามผู้อื่น ส่วน ลิว วุย เกียง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โต้ประเด็นที่มีการวิจารณ์ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้จะทำให้พลเมืองเน็ตตกเป็นผู้ต้องหาได้ง่ายๆ ว่า ความกังวลดังกล่าวเป็นความกลัวที่ผิดที่ผิดทาง เพราะมาตรา 114A นั้นระบุไว้ชัดว่า บุคคลเพียงแต่ถูกสันนิษฐานเท่านั้น และว่า ข้อสันนิษฐานทั้งหลายเปิดให้มีการโต้แย้งในชั้นศาล ทั้งหมดเป็นเพียงสมมติฐาน จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ ด้าน CIJ ระบุว่า การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ขัดกับหลักความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด และผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลไปให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังส่งผลให้เจ้าของแอคเคาท์หรือคอมพิวเตอร์ที่ถูกแฮก ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาหรือข้อมูลที่ถูกเปลี่ยนได้ ขณะที่กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน (Pakatan Rakyat) แสดงความกังวลว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลต่อการผลิตเนื้อหาโดยผู้ใช้และการบริโภคเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต อันเป็นการสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในของมาเลเซียที่กำลังเติบโต ซึ่งนับเป็น 4% ของจีดีพีของประเทศ ทั้งยังเป็นการคุกคามหลักการของความเป็นนิรนามในออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมอินเทอร์เน็ตเปิดและเสรี และคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ด้วย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางการมาเลเซียได้ออกกฎให้ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ เลานจ์คลับ ที่มีขนาดใหญ่กว่า 120 ตร.ม. ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ต้องการจดทะเบียนการค้าใหม่ หรือต่อทะเบียนการค้า ต้องจัดบริการไว-ไฟฟรีหรือในราคาที่เหมาะสมแก่ลูกค้า ภายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจฟ สันธุ โปรดิวเซอร์รายการ "Tech Talk" ของคลื่น BFM แสดงความเห็นว่า ในกรณีนี้เท่ากับว่าเจ้าของร้านอาหารเหล่านี้กำลังก้าวเข้าคุก ไม่ก็เดินไปขอให้ตำรวจจับกุมตัวเอง นอกจากนี้ CIJ ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครั้งนี้ผ่านการพิจารณา ทั้งที่ยังมีกฎหมายอื่นๆ บังคับใช้อยู่ อาทิ พ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 1997 พ.ร.บ.หมิ่นประมาท 1957 และมาตรา 233 ของพ.ร.บ.การสื่อสารและมัลติมีเดีย 1998 ซึ่งใช้เพื่อจับกุมและฟ้องผู้ที่หมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ฉ้อโกง หรือปลุกระดมในออนไลน์ ต่อศาลอยู่แล้ว CIJ ระบุว่า การรณรงค์ดับหน้าจออินเทอร์เน็ตที่จะเกิดขึ้นนี้ จะมีธุรกิจบนเน็ตต่างๆ อาทิ lelong.com.my เว็บร้านประมูล cari.com.my ฟอรัมออนไลน์ gua.com.my เว็บท่าแนวบันเทิง เว็บไซต์ข่าวออนไลน์อย่างมาเลเซียกินีและดิจิทัลนิวส์เอเชีย บล็อกเกอร์ รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ เข้าร่วมด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก CIJ sets Aug 14 as Internet Blackout Day ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
1%Effect:สนพ.นักอ่าน นักศึกษาล่ารายชื่อค้านซีเอ็ด,อมรินทร์กินรวบวงการหนังสือ Posted: 08 Aug 2012 10:39 AM PDT สำนักพิมพ์รายย่อย,นักเขียน,นักอ่าน นักศึกษาล่ารายชื่อค้านซีเอ็ดอัมรินทร์เรียกค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า1%จากราคาปก กรรมาธิการ สภาผู้แทน.ออกตัวรับลูกเป็นคนกลางตั้งโต๊ะเจรจา 5 กรกฎาคม 2555 ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด 2บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบริษัท ได้ออกจดหมายร่วมกันส่งไปถึงสำนักพิมพ์และบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือต่างๆ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าในอัตรา 1% ของมูลค่าหนังสือที่ส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าของบริษัททั้งสอง โดยอ้างว่าต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้นจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล บริษัทจึงจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเพื่อชดเชย หลังจากที่ข่าวการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ทำให้กลุ่มสำนักพิมพ์ต่างๆเกิดการตื่นตัว คัดค้านการเก็บค่าธรรมเนียม และได้มีการเจรจา ระหว่างตัวแทนของบริษัทซีเอ็ดและอมรินทร์ ตัวแทนจากชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือ และตัวแทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 โดยมีมติให้ระงับการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวที่ตอนแรกกำหนดจะเริ่มเก็บในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ออกไปก่อน และให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพูดคุยหาข้อสรุปร่วมกัน(ตามลิงค์) ด้านคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร อันมีนายวัชระ เพชรทอง เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ติดต่อผ่านนายวชิระ บัวสนธ์ สำนักพิมพ์สามัญชน โดยได้นัดวันเจรจาเป็นวันที่14สิงหาคม2555 ณ อาคารรัฐสภา โดยทางคณะกรรมาธิการได้เชิญมีทั้งตัวแทนจากทางซีเอ็ด นายอินทร์ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กฤษฎีกา อัยการสูงสุด กระทรวงพาณิชย์และตัวแทนจากเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็กเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ขณะเดียวกันกลุ่มสำนักพิมพ์ที่ไม่เห็นด้วยต่อกรณีดังกล่าวก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึกชี้ว่ามาตรการดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างธุรกิจหนังสือและผู้อ่าน โดยชี้ให้เห็นถึงที่มาว่าเกิดจากการที่ทางซีเอ็ดและอัมรินทร์ำธุรกิจทั้งในด้านการพิมพ์ สายส่งและร้านหนังสือ เสมือนว่าสวมหมวกหลยใบ ในจดหมายดังกล่าวยังได้รณรงค์ล่ารายชื่อคัดค้านมาตรการ1% โดยมีสำนักพิมพ์ขนาดเล็กและนักอ่านเข้าร่วมลงชื่อจำนวนหนึ่ง(ตามลิงค์) %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
แถลงการณ์คัดค้าน
เรียน ผู้อ่าน เพื่อนสำนักพิมพ์ และผู้ประกอบการร้านหนังสือ สืบเนื่องจากจดหมายของผู้ประกอบการร้านหนังสือซีเอ็ดและนายอินทร์ ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ที่มีใจความระบุว่าจะมีมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center Fee) 1% จากมูลค่าส่งสินค้าราคาปกของทุกใบส่งสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป และต่อมาสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมหารือเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 โดยมีมติให้เลื่อนมาตรการดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนจากคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาพิจารณานั้น เรา - ผู้ลงนามท้ายแถลงการณ์ ขอแสดงเจตนารมณ์และข้อเสนอต่อปัญหาข้างต้น ดังนี้ 1.เราขอคัดค้านมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฯ 1% ของผู้ประกอบการร้านหนังสือทั้งสองโดยเด็ดขาด ด้วยเห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบโครงสร้างของธุรกิจหนังสือโดยตรง หากยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้อ่านอย่างไม่ต้องสงสัย การอ้างเหตุผลเรื่องการแบกรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นของร้านหนังสือทั้งสองไม่มีความชอบธรรมพอที่จะมาซัดทอดภาระให้สำนักพิมพ์และผลักภาระให้ต่อเนื่องไปถึงผู้อ่าน เพราะทุกฝ่ายล้วนต้องมีความรับผิดชอบต่อค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมไม่ต่างกันทั้งสังคมอยู่แล้ว 2.เราขอเสนอว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านหนังสือทั้งสองควรพิจารณาก่อนที่จะมายื่นเงื่อนไขมาตรการเก็บเงิน หรือเงื่อนไขต่างๆ เพื่อความเติบโตทางธุรกิจของตนเอง คือการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร้านหนังสือตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการจัดประเภทหมวดหมู่หนังสือที่ทั้งไม่เป็นระบบและทั้งผิดพลาด รวมถึงเกณฑ์การเลือกวางหนังสือที่ไม่เปิดกว้าง ไม่หลากหลาย ทั้งที่เป็นผลมาจากปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของการสวมหมวกหลายใบระหว่างร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และปัญหาทัศนคติที่เลือกปฏิบัติและกีดกันเนื้อหาของหนังสือบางประเภทตามอำเภอใจ กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาทั้งในเชิงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม เรา - ในนามสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสืออย่างต่อเนื่องจริงจัง และเชื่อในการสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่มีคุณภาพ ขอยืนยันในทางหลักการว่า การประกอบธุรกิจหนังสือ ไม่ใช่การทำมาหากินกับหนังสือเพียงอย่างเดียว หากยังต้องมีสำนึกว่าธุรกิจนี้ย่อมส่งผลต่อการสร้างวัฒนธรรมการอ่านและการเติบโตทางความคิดของผู้คนในสังคมด้วย เราหวังจะเห็นการเติบโตของธุรกิจหนังสือในทิศทางที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่อยู่ในโครงสร้างของระบบนี้ ด้วยความไม่นับถือต่อหลักการที่บิดเบี้ยวและไม่เป็นธรรม ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน
ที่มา: แถลงการณ์คัดค้าน กรณีซีเอ็ดและนายอินทร์ เรียกเก็บ 1%
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% ขณะเดียวกัน นิสิตนักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคมอาทิ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( สนนท.)ก็ได้ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกในนามเครือข่ายนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้รักการอ่านล่ารายชื่อเช่นกันโดยชี้ว่าเป็นเจตนาในการผูกขาดตลาดทางปัญญาหนังสือบีบให้ สนพ.ขนาดเล็กปิดตัวลง ขาดความหลากหลายทำให้ประชาชนมีทางเลือกน้อยลงในการเลือกอ่านหนังสือ
%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%% แถลงการณ์ คัดค้านกรณีร้านหนังสือซีเอ็ดและนายอินทร์ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า 1% สืบเนื่องจากสองผู้ประกอบการร้านหนังสือ ซีเอ็ดและนายอินทร์ ออกจดหมายลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ถึงผู้เกี่ยวข้อง โดยสาระสำคัญกล่าวไว้ว่า บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ ขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า 1% จากราคาปกหนังสือของทุกใบสั่งสินค้าตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม พ.ศ.2555 เป็นต้นไป มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า 1% ของสองผู้ประกอบการร้านหนังสือ ซีเอ็ดและนายอินทร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการผูกขาดระบบตลาดทางปัญญาในประเทศ และส่งผลกระทบต่อผู้แสวงหาปัญญาความรู้โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาโดยอ้างเรื่องการแบกรับภาระต้นทุนของแรงงานที่เพิ่มขึ้น การผลักภาระดังกล่าวให้แก่สำนักพิมพ์ อาจส่งผลให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่ไม่สามารถแบกรับเงิน 1% จากราคาปกทุกใบสั่งสินค้า ไม่มีช่องทางการขายหนังสือจนกระทั่งต้องปิดตัวลง ประเด็นดังกล่าวทำให้ความหลากหลายของตลาดปัญญาถูกผูกขาดโดยมีเพียงหนังสือของสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ทำให้เยาวชนถูกครอบงำทางความคิดจากตัวเลือกที่น้อยนิด และทำให้ราคาหนังสือเพิ่มขึ้นโดยปริยาย ส่งผลต่อการเข้าถึงตลาดทางปัญญาของนักศึกษาผู้ไม่มีรายได้ ทั้งสิ้นมาตรการดังกล่าวส่งต่อการพัฒนาสติปํญญาคนในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของการพัฒนาชาติต่อไป เราในนามของเครือข่ายนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้รักการอ่าน มีข้อเสนอดังนี้ 1 ขอให้ยกเลิกการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้า 1% ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ นาย พรชัย ยวนยี เลขาธิการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 1.ไทยพับลิก้า:พฤติการณ์กีดกันและผูกขาดทางการค้าอันจะนำไปสู่การครอบงำตลาด ของซีเอ็ดและอมรินทร์ 2.ชาตรี ลีศิริวิทย์: ไปประชุมที่สมาคมฯ เรื่อง 1 %
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
สภาที่ปรึกษาศอ.บต. ค้านตั้งศูนย์ปฏิบัติการดับไฟใต้ที่ กทม. Posted: 08 Aug 2012 09:23 AM PDT ยันไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจกองทัพคุมงานด้านพลเรือนและอำนวยความยุติธรรม สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกแถลงการณ์หลังมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 ว่าไม่เห็นด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” ที่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลจะมีการเรียกประชุมหารือประเด็นนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 8 สิงหาคม 2555 โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวซึ่งเป็น แนวคิดของรัฐบาลที่จะรวมหน่วยงาน 16 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคงและงานการพัฒนา โดยให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้กำกับดูแลงานของฝ่ายพลเรือนทั้งหมด รวมทั้งศอ.บต. ทางสภาที่ปรึกษาเห็นว่า ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แต่ว่าก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจากการฟังการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนพบว่าประชาชน “เริ่มขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายของกองทัพในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในแถลงการณ์ดังกล่าว ยังชี้แจงเหตุผล 4 ข้อ ดังนี้ ประการที่ 1 นโยบายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 - 2557 ได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม การรับฟัง และสะท้อนความเห็นจากภาคประชาชนกับภาครัฐ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ และเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้แยกงานระหว่างฝ่ายความมั่นคงที่มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ) กับงานด้านการพัฒนาฝ่ายพลเรือน ที่มี พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. ศอ.บต.) ไว้อย่างชัดเจน และดำเนินยุทธศาสตร์สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรได้รับทราบแล้ว จึงเห็นว่า รัฐบาลควรบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ประการที่ 2 ไม่เห็นด้วยในการมอบหมายให้แม่ทัพภาค 4 เป็นผู้กำกับดูแลกิจการในพื้นที่ครอบคลุมไปถึงกิจการฝ่ายพลเรือนและการอำนวยความยุติธรรม โดยควรที่จะแยกงานการพัฒนาและความมั่นคงออกจากกัน ภารกิจของกองทัพมีมากอยู่แล้วจึงควรเน้นการรักษาอธิปไตยและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐให้มากยิ่งขึ้น ประการที่ 3 รัฐบาลควรจะใช้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. เป็นศูนย์ปฏิบัติการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และจะต้องผลักดันให้กระทรวงต่างๆ มีความเข้มแข็ง ทั้งกำลังคน และงบประมาณ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ศอ.บต. ซึ่งต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมการแก้ปัญหา รัฐบาลจึงควรรับฟังเสียงจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เป็นการพิจารณาและสั่งการมาจากส่วนกลางอย่างเดียว ประการที่ 4 ในกรณีมีการกล่าวอ้างว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมี พ.ร.บ.ศอ.บต. และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซ้ำซ้อนกันอยู่ ขอเรียนว่า พ.ร.บ. ศอ.บต. ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างกว้างขวางและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามาแล้ว เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ศอ.บต. จึงไม่ได้ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รับผิดชอบในด้านการดูแลรักษาความสงบและอธิปไตยของชาติ ส่วน พ.ร.บ. ศอ.บต. รับผิดชอบเรื่องการเมือง การปกครอง และการพัฒนา จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในทางกลับกัน ยังเป็นการหนุนเสริม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อีกด้วย อีกทั้งประชาชนค่อนข้างพึงพอใจกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ศอ.บต. นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช โฆษกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สัมภาษณ์กับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้เพิ่มเติมว่าศูนย์ดังกล่าวที่มีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รมว.มหาดไทย เป็นผู้ควบคุมเชิงนโยบายจากศูนย์กลาง และมีแม่ทัพภาค 4 เป็นประธานในการอำนวยการการแก้ไขในพื้นที่ผ่านศูนย์ดังกล่าว ทางสภาที่ปรึกษาฯ เห็นว่าจะเป็นการให้อำนาจแก่ทหารมากเกินไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: ถ้าระวังเสื้อแดงบุกศาล ก็ต้องระวังสื่อเล่นเสื้อแดงด้วย Posted: 08 Aug 2012 09:14 AM PDT
เรื่องราวของศาลกับเสื้อแดงที่จะเกิดขึ้นจากการพิพากษาว่าแกนนำเสื้อแดงควรจะอยู่ในคุกนั้น ความจริงอาจไม่ใช่เรื่องราวง่ายๆ ระหว่างศาลกับเสื้อแดงหรอกครับ แต่อาจจะเป็นเรื่องระหว่าง สื่อ กับ เสื้อแดง หรือเปล่า? โดยหลักวิชาทางด้านนิเทศศาสตร์เชิงวิพากษ์ ได้มีการพูดถึงเรื่องราวของ "กระบวนทัศน์ของสื่อที่มีต่อการชุมนุมประท้วง" (protest paradigm) เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยพิจารณาเรื่องการนำเสนอข่าวในฐานะการผลิตข่าวด้วยกรอบ-แนวดำเนินเรื่องบางประการ (framing) พูดง่ายๆว่าสื่อไม่ได้รายงานข่าวอย่างเดียว แต่อาจจะสร้าง-ผลิตข่าวด้วย กรอบแนวคิดหรือกระบวนทัศน์นี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจข้อมูล โดยที่ผู้ผลิตข่าวนั้นทำหน้าที่คัดสรร เบียดขับ หยิบเน้น และขยายความข้อมูลต่างๆ อาทิการระบุปัญหา การอธิบายเหตุผล-ที่มาที่ไป นำเสนอการตัดสินถูกผิด หรือแม้กระทั่งการนำเสนอทางออก กล่าวง่ายๆ ก็คือ สื่อไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกว่า เกิดอะไรขึ้น แต่สื่อบอกเราว่าเราควรจะมองเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเมื่อเรื่องราว-ตัวแสดงที่อยู่ในสื่อนั้นถูกผลิต-บอกเล่าผ่านกระบวนทัศน์ ก็จะนำไปสู่การเลือกโดยประชาชนว่าใครคือคนที่ควรจะถูกกล่าวหาสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โครงเรื่องหลักของการรายงานการประท้วงนั้น อาจจะมีหลายแบบ อาทิ โครงเรื่องว่าด้วยเรื่องความไม่เป็นธรรม ซึ่งเน้นเรื่องของความถูกต้อง ชั่วดี โครงเรื่องว่าด้วยความเห็นอกเห็นใจ โครงเรื่องว่าด้วยเรื่องของการสร้างความชอบธรรม หรือ ลดความชอบธรรมที่มีต่อผู้ประท้วง ซึ่งจำนวนมากมักเป้นเสียงส่วนน้อยของสังคม หรืออาจจะมีโครงเรื่องว่าด้วย การตรวจสอบค้นหาผู้ที่มีความรับผิดชอบ และ ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายสาธารณะด้วย จากการศึกษาเรื่องของการรายงานข่าวประท้วงในโลก เขาพบว่า ข่าวที่ถูกผลิตโดยสื่อนั้นจะเน้นเรื่องการประท้วงในฐานะที่เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากพฤติกรรมปรกติ รวมถึงเรื่องของความรุนแรง และเรื่องของการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประท้วง ทั้งที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่นั้นมาประท้วงในลักษระที่ไม่เข้าข่ายการใช้ความรุนแรงและมีลักษระสันติวิธี การเน้นการผลิตข่าวในแบบดังกล่าวนี้นำไปสู่การสร้างความคลุมเครือให้กับปัญหาขั้นพื้นฐานที่นำมาสู่การประท้วง และกลายเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับผผู้ประท้วง รวมไปถึงอาจเป้นไปได้ที่จะทำให้ไม่เกิดการสนับสนุนการประท้วงในท้ายที่สุด ดังนั้นในทางกลับกัน หากจะมีการชุมนุมและต้องการเป็นมิตรกับสื่อ ที่มีฐานันดรของตัวเอง รวมทั้งอยากได้รับการสนัยวนุนจากสังคม ผู้ชุมนุมก็จะต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า fame resonance หรือความพร้อมเพรียง-คล้องจอง-กึกก้องในการเปล่งเสียงออกมาขององค์ประกอบสามประการ นั่นคือ ประสบการณ์ตรงในการดำเนินชีวิตของผู้คน ความเชื่อของชุมชน และ การใช้ภาษาของสื่อ ยิ่งในกรณีที่ความเชื่อของชุมชนนั้นถูกกล่อมเหลามาอย่างยาวนานด้วยเรื่องราวบางอย่าง และสื่อเองไม่ได้มีฐานะ(และฐานันดร) เดียวกับผู้คนจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องยากนะครับที่การเคลื่อนไหวจะได้รับการสนับสนุน เพราะอย่างน้อยก็ไม่ผ่านด่านการเล่าเรื่องโดยสื่ออย่างที่แกนนำต้องการ หรืออย่างที่ปัญหามันเกิดขึ้นขริงๆนั่นแหละครับ ดังนั้นผมจึงไม่ได้จบบทความนี้อย่างง่ายๆแค่ว่า ต้องการโทษสื่อ หรือเชื่ออย่างหลับหูหลับตาว่าการมีสื่อทางเลือก จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะเราคงต้องฝ่าหันเรื่องของกระบวนทัศน์ของสื่อที่ว่าด้วยการประท้วงไปให้ได้ก่อนครับผม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ห้ามแก้" Posted: 08 Aug 2012 08:15 AM PDT | ||
สันติภาพแบบไหนที่ประชาชาติปาตานีต้องการ? Posted: 08 Aug 2012 07:37 AM PDT สถานการณ์การสู้รบกันระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐไทยในรูปแบบของสงครามจรยุทธ์ตลอดห้วงเวลาเกือบ 9 ปีมานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อสังคมโลกที่เคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนและรักสันติภาพ ซึ่งมีท่าทีแสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า “ถึงเวลาแล้วที่สงครามที่นี่ต้องหยุด” เพื่อให้ประชาชนได้ดำเนินชีวิตไปถึงเวลาแห่งความตายอย่างเป็นอิสระตามธรรมชาติของวงจร “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” เสียงตะโกนจากเหล่าผู้รักสันติภาพทั่วโลกดังกึกก้องมายังประเทศไทยว่า “หยุดสักทีเถิด วงจรการบังคับให้คนต้องตายเพื่อแลกกับคำว่าสันติภาพ” ในนิยามที่เป็นคู่ขนานกันของความเป็นศัตรูของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐไทย แต่กระนั้นรูปร่างหน้าตาของคำว่า สันติภาพ ตามความเข้าใจพื้นฐานของคนทั่วไปนั้น คือสภาพความเป็นอยู่อย่างมีความสุขของสังคมหรือประชาชนซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการ “หยุดสงคราม” ได้สำเร็จ ซึ่งสำหรับภาพสันติภาพในอนาคตของชายแดนใต้หรือปาตานีนั้น จะมีลักษณะนิยามตามบริบทของการสู้รบ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ 1.ลักษณะรูปร่างหน้าตาของสันติภาพ ซึ่งถูกวาดรูปหรือนิยามโดยรัฐไทย ภาพที่เห็นคือ จะเป็นภาพที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของโครงสร้างการปกครองที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ การปกครองพิเศษ หรือแม้กระทั่งการได้รับเอกราชของปาตานี เนื่องจากผู้วาดนั้นเลื่อมใสในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมแนวขยายอำนาจ (expansionist nationalism) และ อุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมแนวอนุรักษ์ (conservative nationalism) ซึ่งการที่อาณาจักรสยามมาทำสงครามกับอาณาจักรปาตานีในปี ค.ศ.1785 มาชนะในปี ค.ศ.1786 และทำการผนวกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณาจักรสยามสำเร็จในปีค.ศ.1909 ด้วยสนธิสัญญา Anglo-Siamese Treaty ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จของการใช้อุดมการณ์ชาตินิยมแนวขยายอำนาจของอาณาจักรสยามต่ออาณาจักรปาตานี ชาตินิยมแนวขยายอำนาจนี้เป็นชาตินิยมในเชิงรุกหรือก้าวร้าว (aggressive) เน้นการใช้กำลังทหาร (militaristic) และเน้นการขยายดินแดน หรือขยายอำนาจไปครอบครองดินแดนอื่น (expansionist) ที่เห็นได้ชัดก็คือ ชาตินิยมของรัฐมหาอำนาจยุโรปในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีลักษณะของการแข่งขันกันล่าอาณานิคมเพื่อแสดงให้เห็นถึงเกียรติและความยิ่งใหญ่ของชาติ ชาตินิยมแนวขยายอำนาจจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น ลัทธิจักรวรรดินิยม (imperialism) ส่วนอุดมการณ์ชาตินิยมแนวอนุรักษ์นั้นเกิดขึ้นหลังอุดมการณ์ชาตินิยมแนวเสรีในครึ่งแรกของศตวรรษที่19 ทำให้นักอนุรักษ์นิยมมองอุดมการณ์ชาตินิยมด้วยความหวาดระแวง ความหวาดระแวงดังกล่าวนี้สมเหตุสมผล เพราะชาตินิยมในต้นศตวรรษที่19 เป็นชาตินิยมแนวเสรีที่มาพร้อมกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเท่ากับเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการเมืองเก่าที่มีบทบาทอยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ดีในระยะหลัง ชาตินิยมกับอนุรักษ์นิยมมีจุดร่วมกันที่สำคัญประการหนึ่งคือ ทั้ง 2 อุดมการณ์ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าประเพณีนิยม (traditionalism) ประเพณีเป็นแนวคิดหลักของทั้งลัทธิอนุรักษ์นิยมและลัทธิชาตินิยมแนววัฒนธรรม (cultural nationalism) การผสมผสานระหว่างอนุรักษ์นิยมกับชาตินิยมแนววัฒนธรรม จึงออกมาเป็นชาตินิยมแนวอนุรักษ์ (conservative nationalism) 2.ลักษณะรูปร่างหน้าตาของสันติภาพซึ่งถูกวาดรูปหรือนิยามโดยขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ภาพอนาคตที่เห็นก็จะเป็นภาพของการได้รับเอกราชของชาวปาตานีจากชัยชนะของการสู้รบกันกับจักรวรรดินิยมสยามหรือไทยมาอย่างยาวนานเป็นศตวรรษ เนื่องจากผู้วาดนั้นเลื่อมใสในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบชาตินิยมแนวเสรี (liberal nationalism) และแนวต่อต้านการล่าอาณานิคม (anticolonial nationalism) ซึ่งชาตินิยมแนวเสรีเป็นรูปแบบของชาตินิยมในราวกลางศตวรรษที่19 ของยุโรป ในภาคพื้นยุโรปกลางศตวรรษที่19 นั้น การเป็นนักชาตินิยม หมายถึงการเป็นนักเสรีนิยมและในทางกลับกันการเป็นนักเสรีนิยม ก็หมายถึงการเป็นนักชาตินิยม กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า นักชาตินิยมกับนักเสรีนิยมเป็นคนๆเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมอิตาเลียน เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของชาตินิยมแนวเสรีนี้ ในภาษาอิตาเลียนเรียกชาตินิยมแบบนี้ว่า “Risorgimento”แปลว่า (เกิดใหม่/rebirth) หัวใจของชาตินิยมแนวเสรีตั้งอยู่บนพื้นฐานคติที่ว่า มนุษยชาติถูกแบ่งออกเป็นชนชาติต่างๆตามธรรมชาติ ดังนั้นชาติจึงเป็นชุมชนที่แท้จริงและเป็นอินทรียภาพ มิใช่ผลงานการสร้างของผู้นำทางการเมืองหรือชนชั้นปกครอง ชาตินิยมแนวเสรีถือว่า ชาติกับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งแนวคิดนี้มีต้นกำเนิดมาจาก รุสโซ มาสชินี เป็นนักคิดที่เด่นที่สุดของชาตินิยมแนวเสรี เขาต้องการให้รัฐต่างๆในอิตาลีปลดแอกจากออสเตรีย ด้วยเหตุนี้ชาตินิยมแนวเสรีจึงชูหลักการอีกประการหนึ่ง นั่นคือหลักการที่ว่า “ชาติควรมีอัตวินิจฉัย (national self -determination)” หรืออีกนัยหนึ่งชาติควรกำหนดชะตาชีวิตของตนเองโดยอิสระ อัตวินิจฉัยนี้จะทำให้ชาติสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็น “รัฐประชาชาติ” (nation-state) ได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือความเป็นรัฐกับความเป็นชาติตรงกันจนกระทั่งเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนชาตินิยมแนวต่อต้านการล่าอาณานิคมนั้น เป็นชาตินิยมที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ในโลกทีเป็นชาตินิยมซึ่งเกิดจากการต่อต้านการปกครองอาณานิคมของเมืองแม่ ชาตินิยมแบบนี้จึงเหมือนกับเป็นดาบกลับไปทิ่มแทงเจ้าอาณานิคมผู้ซึ่งพัฒนาลัทธิชาตินิยมขึ้นมาก่อนนั่นเอง ในเอเชียและแอฟริกาสำนึกของความเป็นชาติเป็นพลังทางอุดมการณ์ให้คนพื้นเมืองต้องการ “ปลดแอกชาติ” (national liberation) ของตนให้พ้นจากอำนาจปกครองของเจ้าอาณานิคม และถือได้ว่าภูมิศาสตร์การเมืองของโลกในศตวรรษที่ 20 ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างใหญ่หลวงก็ด้วยพลังของอุดมการณ์ชาตินิยมแนวต่อต้านการล่าอาณานิคมนี้มากกว่าปัจจัยอื่นๆ อินเดียต่อสู้จนได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ ค.ศ.1947 จีนถูกญี่ปุ่นเข้าครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 8 ปี จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำสงครามปฏิวัติปลดแอกจีนจากการครอบงำของต่างชาติได้เด็ดขาดในปี 1949 อินโดนีเซียใช้เวลา 3 ปี ทำสงครามกับเนเธอร์แลนด์จนกระทั่งได้อิสรภาพในปี 1949 เวียดนามขับไล่ฝรั่งเศสจนต้องถอนตัวออกไปในปี 1954 แต่กว่าเวียดนามจะได้รับเอกราชสมบูรณ์ก็ต้องใช้เวลาสู้รบกับสหรัฐอเมริกาอย่างหนักหน่วงถึง 14 ปี จนกระทั่งสามารถรวมเวียดนามเหนือและใต้เข้าด้วยกัน พร้อมกับการถอนตัวออกไปอย่างสิ้นเชิงของกองทัพอเมริกันในปี 1975 และท้ายที่สุด ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราชจากอินโดนีเซียด้วยการทำประชามติเมื่อปี 2002 ในแอฟริกาขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชก็ดำเนินไปคล้ายกับที่เกิดในเอเชีย ไนจีเรียได้เอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1960 อัลจีเรียต้องต่อสู้ทำสงครามกับฝรั่งเศสอย่างยืดเยื้อกว่าจะได้เอกราชในปี 1962 เคนยาเป็นเอกราชในปี 1963 แทนซาเนียและมาลาวีเป็นเอกราชปี 1964 นามิเบียเป็นเอกราชเมื่อ ค.ศ.1990 ท้ายที่สุดคือซูดานใต้เป็นเอกราชจากประเทศซูดานด้วยการลงประชามติเมื่อปี 2011 นี้เอง ในยุโรปนั้นหลายๆ สำนักทางวิชาการรัฐศาสตร์ฟันธงว่าไม่มีทางที่ภูมิศาสตร์การเมืองยุโรปจะเปลี่ยนแปลงในท่ามกลางกระแสของประชาธิปไตยเสรีนิยมในศตวรรษที่ 21 และแล้วโคโซโวก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีอะไรจะมาต้านทานพลังของความต้องการอันแน่วแน่ของมวลมหาประชาชนได้ ในที่สุดโคโซโวหรือคอซอวอได้ประกาศเป็นรัฐเอกราชแบบเอกภาคีในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008 แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชทั้งหลายในเอเชีย แอฟริกา และแม้กระทั่งล่าสุดที่โคโซโวในยุโรปตะวันออกก็ดี คือ การที่ชาติควรมีอัตวินิจฉัย (nation self-determination) เช่นเดียวกับที่เคยเกิดแก่นักคิดชาตินิยมในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 ถึง ศตวรรษที่ 19 แต่สิ่งที่พิเศษสำหรับประเทศในแอฟริกา เอเชีย และยุโรปตะวันออกคือประเทศเหล่านี้ “ต้องการเอกราชและต้องการพัฒนาเศรษฐกิจในคราวเดียวกัน” ดังนั้น การปลดปล่อยชาติหรือประเทศชาติจึงมิใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น หากเป็นการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจด้วย ในการแสวงหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ประเทศกำลังพัฒนาเลือกที่จะหันไปหาลัทธิสังคมนิยมมากกว่าลัทธิเสรีนิยม ความข้อนี้เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะประเทศสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ต่างก็ต้องการเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประเทศด้อยพัฒนา เพราะสังคมนิยมเองก็มีประเทศเจ้าอาณานิคมเป็นศัตรูร่วมอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่ลัทธิชาตินิยมกับลัทธิสังคมนิยมจะจับมือกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะตามทฤษฎีแล้วชาตินิยมแบ่งความแตกต่างของมนุษย์ตามชาติ ส่วนสังคมนิยมแบ่งตามชนชั้น ส่วนที่สังคมนิยมกับชาตินิยมแบบต่อต้านเจ้าอาณานิคมเห็นพ้องต้องกัน จึงอยู่ที่การช่วยกันต่อสู้กับจักรวรรดินิยมหรือประเทศทุนนิยมตะวันตกนั่นเอง สำหรับนักสังคมนิยมนั้นประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตกคือ หัวแถวของนายทุนซึ่งกดขี่ขูดรีดชนชั้นกรรมกรในขอบข่ายกว้างขวางทั่วโลก แต่สำหรับนักชาตินิยมในประเทศกำลังพัฒนาหรือที่เรียกว่าประเทศโลกที่สาม จักรวรรดินิยมตะวันตกคือ นักล่าอาณานิคมที่ปล้นเอกราชและวัตถุดิบจากประเทศของตน แต่ทว่าท่าทีการแสดงออกเพื่อหยุดสงครามที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีของสังคมโลก ด้วยการเปิดพื้นที่ให้มีการพบปะพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับตัวแทนของรัฐไทย เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงสมัยของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2009 โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)เป็นผู้ดำเนินการ และมีองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้านสันติภาพชื่อว่า Humanitarian Dialogue Center หรือเป็นที่รู้จักว่า HDC แปลว่า ศูนย์การพูดคุยเพื่อมนุษยธรรม สำนักงานใหญ่อยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ประสานงาน ครั้งนั้น การพูดคุยก็ดำเนินการไประหว่างตัวแทน PULO (Patani United Liberation Organization) กับตัวแทน สมช. จนเกิดเงื่อนไขในการพิสูจน์ความจริงใจและพิสูจน์สถานะของตัวแทน PULO ว่ามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวในพื้นที่จริงหรือไม่ของ สมช. ด้วยการเสนอให้มีการหยุดยิงเป็นเวลา 3 เดือน ทันใดนั้น วันรุ่งขึ้น หลังจากข้อเสนอหยุดยิงได้ถูกรับปากโดยตัวแทน PULO ก็ได้เกิดเหตุระเบิดที่ จ.นราธิวาส ต่อมาเมื่อปลายปี 2011 HDC ก็ได้เชิญตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้หรือปาตานีเข้าร่วมโต๊ะการพูดคุยด้วย ด้วยเหตุผลที่แน่ชัดอย่างไรนั้น ผู้เขียนก็มิอาจทราบได้ แต่ดูเหมือนว่า สมช.และ HDC กำลังส่งสัญญาณไปยังกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีว่า เจตจำนงทางการเมืองหรือความต้องการที่ชอบธรรมนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวขบวนการฯ เท่านั้น ภาคประชาสังคมและประชาชนคือคำตอบสุดท้ายของสันติภาพที่นี่ เพราะกระแสการเมืองโลกหลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา ตัวชี้วัดการคลี่คลายความขัดแย้งในลักษณะทำสงครามต่อกันระหว่างรัฐกับชนกลุ่มน้อย ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นรัฐกับรัฐอีกต่อไป องค์กรนอกรัฐหรือภาคประชาสังคมที่ยึดมั่นและเคารพในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต่างหาก คือตัวแปรชี้ขาดสันติภาพในศตวรรษนี้ เช่น กรณีของอาเจะห์ เท่าที่ผู้เขียนได้รับรู้การเคลื่อนไหวของ HDC ที่มีบทบาทคล้ายคนกลางที่คอยประสานงานอำนวยการจัดการให้ได้มีการพบปะพูดคุยกันของทั้ง 3 ฝ่าย คือตัวแทนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ตัวแทนรัฐไทย และตัวแทนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในวาระ “จะร่วมกันสร้างสันติภาพที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีได้อย่างไร?”ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2011 นั้น มาถึงตอนนี้ก็ดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้ง ในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนรายละเอียดว่ามีข้อเสนอหรือเงื่อนไขอะไรบ้างจากการพูดคุยนั้น ผู้เขียนเองก็คิดว่าน่าจะต้องมีบ้างเป็นปกติของการพูดคุย แต่ผู้เขียนไม่มีความสามารถที่จะรับรู้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สำคัญเท่าท่าทีของ HDC ในฐานะตัวแทนของสังคมโลกที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชนและรักสันติภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจงได้ แน่นอนว่าตลอดการสู้รบกันระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐไทยในห้วงเวลาเกือบ9 ปีมานี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างเหตุผลว่า “หยุดสงคราม คือ เป้าหมายของการทำสงคราม” แต่สำหรับประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามเล่า จะมีส่วนร่วมในการหยุดสงครามได้อย่างไร? ถ้าประชาชนรู้สึกว่าตัวเลขสถิติคนตายจากการสู้รบซึ่งปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 5,000 กว่าคน มันมากเกินไปแล้วในการเดิมพันกับการพยายามหยุดสงครามเพื่อสร้างสันติภาพ ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นสันติภาพในมุมของประชาชนต้องการหรือไม่ ก็น่าจะถึงเวลาได้แล้ว ที่ประชาชน “ต้องทำอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่การทำสงคราม แต่เพื่อหยุดสงคราม” เพราะในแง่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยเฉพาะ HDC นั้น ตัวเลขคนตาย 5,000 กว่าคนนั้นมันมากเกินไปตั้งแต่ปี 2009 แล้ว ปีที่เริ่มมีการทำงานร่วมกับ สมช. ด้วยการเปิดไฟเขียวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ในการพยายามสร้างสันติภาพด้วยการเปิดพื้นที่การพูดคุยกับฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประชาชนกำลังคิดว่าจะทำอะไรเพื่อหยุดสงครามแล้วสถาปนาสันติภาพตามความต้องการของตนเองหรือกำลังทำอยู่แล้วก็ตามแต่ ก็อย่าลืมเตรียมคำตอบให้ชัดๆ ด้วยว่า “สันติภาพแบบไหนที่ประชาชนหรือประชาชาติปาตานีต้องการ?” จะเป็นแบบรัฐไทยนิยาม คือ ปาตานีเป็นจังหวัดปัตตานีของประเทศไทยต่อไป หรือ แบบขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีนิยาม คือ ปาตานีเป็นเอกราช? เพราะตามหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้น ตัวแปรชี้ขาดอยู่ที่ประชาชนที่ต้องเลือกระหว่างสองตัวเลือกนี้ เพราะตัวเลือกที่สาม คือการปกครองตนเองนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นตัวเลือกที่มาจากผลลัพธ์ของการเจรจาหยุดสงครามระหว่างคู่สงคราม หรือมาจากการที่ประชาชนใช้สิทธิในการทำประชามติไม่ถึงเกณฑ์ที่วางไว้สำหรับให้เป็นเอกราช เพราะถ้าประชาชนไม่ได้เตรียมคำตอบของตัวเองเลย ว่าสันติภาพแบบไหนที่ต้องการ กลัวว่าสันติภาพที่เกิดหลังจากการหยุดสงครามนั้น เป็นสันติภาพที่มาจากการถูกบังคับให้ต้องการด้วยความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย คือขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีและรัฐไทย สรุปแล้วสันติภาพที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับบทบาทของประชาชนต่อการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
ชำนาญ จันทร์เรือง: เมื่อศาลทะเลาะกับประชาชน Posted: 08 Aug 2012 07:15 AM PDT ผมไม่เชื่อว่าทึมงานโฆษกศาลรัฐธรรมนูญจะกินเหล็กกินไหลหรือกินดีหมีดีมังกรมาจากไหน ผมไม่เชื่อว่าทีมงานโฆษกหรือผู้บริหารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเดือดเป็นแค้นเจ็บร้อนแทนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจนกระทั่งลงทุนไปแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลและกลุ่มบุคคลด้วยตนเอง แต่ผมเชื่อว่าทีมงานโฆษกหรือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับอาณัติจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ไปดำเนินการดังกล่าว “การร้องทุกข์เป็นหนทางเดียวที่สำนักงานจะปกป้องสถาบันได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติ อื่นใดที่จะปกป้องตัวเราเองได้นอกจากการใช้กระบวนการขอความยุติธรรมจากศาล และชี้แจงต่อสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะตุลาการ เพราะสำนักงานเป็นนิติบุคคล เมื่อมีอะไรมากระทบก็สามารถที่จะดำเนินการเองได้ โดยทางสำนักงานจะมีคณะทำงานพิจารณาว่าจะมีหนทางใดที่จะปกป้องสถาบันเอาไว้ และในข้อเท็จจริงเราไม่มีเจตนาที่จะมุ่งร้ายกับใคร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย ผรุสวาทอาฆาตมาดร้ายตุลาการ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมการกระทำหรือคำกล่าวไหนจะผิดจะถูกศาลจะเป็นผู้พิสูจน์ แต่ในส่วนที่เป็นการหมิ่นประมาทตุลาการเป็นการเฉพาะตัวนั้นทางตุลาการก็จะวิเคราะห์ด้วยตนเอง ถ้าเห็นว่าทำให้ตนเองเกิดความเสียหาย ท่านก็จะดำเนินการด้วยตนเอง แต่ในชั้นนี้ยังไม่พบว่ามีตุลาการไปดำเนินการแจ้งความเป็นการส่วนตัว ซึ่งสำหรับบุคคลอื่นๆ ที่ได้กระทำการทำนองเดียวกันกับบุคคลที่เอ่ยชื่อมาข้างต้นนั้น ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาดำเนินการต่อไป” หนึ่งในทีมงานโฆษกฯกล่าว (http://www.naewna.com/politic/16284) ที่ผมไม่เชื่อว่าทีมงานโฆษกหรือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย เพราะสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นคนละส่วนกัน ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นคือ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยเลขาธิการขึ้นตรงกับประธานศาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น การที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะกระทำการเช่นนี้ได้ก็หมายความว่าได้รับไฟเขียวจากคณะตุลาการศาลรัฐรัฐธรรมนูญ (ซึ่งมิได้เป็นนิติบุคคล) แล้วว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเอาเรื่องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้วล่ะ ประเด็นที่ต้องพิจารณาจึงมีอยู่ว่าการที่ตุลาการไปทะเลาะกับประชาชนนั้นจะถูกต้องหรือจะเหมาะจะควรประการใด ประเด็นแรก การแจ้งความดำเนินคดีโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญนั้นทำได้แค่ไหนเพียงใด คำตอบ เห็นว่าไม่สามารถกระทำได้เพราะสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่อาจทำได้โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งหรือหลายคนมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เลขาธิการลงไปไปแจ้งความดำเนินคดีแทน ประเด็นที่สอง ข้อกล่าวหาที่แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 6 คดี คือ 1.นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยปราศรัยหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 โดยปราศรัยเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตุลาการ ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136 ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาคดี ตามมาตรา 198 และ ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวและความตกใจโดยการขู่เข็ญ มาตรา 392 ตามประมวลกฎหมายอาญา 2. นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในข้อหาข่มขืนใจให้เจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตามมาตรา 139 และ 140 ของประมวลกฎหมายอาญาและดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาคดีตามมาตรา 198 และทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวและความตกใจโดย การขู่เข็ญ มาตรา 392 จากกรณีที่นายก่อแก้วปราศรัยกับแนวร่วม นปช. ที่เขตมีนบุรี เมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2555 และ การแถลงข่าวที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 3. จ.ส.ต. ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เอเชียอัพเดต โดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคายและไม่เหมาะสม ตามมาตรา 136 และ มาตรา 198 ของประมวลกฎหมายอาญา 4.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่เจ้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 มาตรา 173 และ มาตรา 174 จากการที่นายอนุรักษ์ได้แจ้งความต่อกองปราบปราม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 5.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ นายมาลัยรักษ์ ทองชัย กับพวกอีก 24 คน ในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรคูคต อ.ลำลูกกาจ.ปทุมธานี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,173 และ174 6. นายวุฒิพงศ์ กับพวกที่ไม่ทราบชื่ออีกประมาณ 50 คน เผาโลงประท้วงคณะตุลาการทั้ง 9 คนหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา136 และมาตรา 198 คำตอบ ผมจะไม่แปลกใจอันใดเลยหากกลุ่มบุคคลดังกล่าวจะถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นศาลหากไปกล่าวหาว่าคณะตุลาการกระทำการอันเป็นการทุจริต กินสินบาทคาดสินบนหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งเป็นการสมควรแล้วหากคณะตุลาการจะต้องดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้น แต่ข้อหาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีนั้นพยานหลักฐานอ่อนเหลือเกิน จึงจะไม่เป็นข้อสงสัยอะไรเลยหากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือแม้กระทั่งการยกฟ้องในชั้นการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นประเด็นปัญหากฎหมาย แต่ประเด็นความเหมาะสมนั้น มองอย่างไรก็ไม่เห็นผลดีต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิหนำซ้ำก็อาจจะให้เกิดความเสียหายต่อวงการตุลาการทั้งปวงได้ เนื่องเพราะหากยกฟ้องก็หน้าแตก แต่หากลงโทษก็จะถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างพวกเดียวกันเอง การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายจะอาสาหรือถูกผลักไสให้มารับตำแหน่งนั้น ย่อมรู้อยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลที่ตัดสินคดีการเมือง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหนักและเบา จึงจะเห็นได้ว่าไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด ทางที่ดีที่สุดที่จะให้ผู้คนยอมรับนับถือ คือการสงบนิ่งและหนักแน่นดั่งขุนเขา เช่น บรรพตุลาการทั้งหลายได้กระทำไว้เป็นบรรทัดฐานอย่างยาวนาน ที่เหนืออื่นใดก็คือการทำคำวินิจฉัยที่มีมาตรฐานและชัดเจน สามารถอธิบายได้ตามหลักของเหตุและผล นั่นแหละจึงจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนยอมรับ มิใช่การเที่ยวไปฟ้องคดีเอากับชาวบ้านชาวช่อง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะชนะเสมอไป ดังเช่นกรณีนี้เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
ซาอุดิอาระเบียประณามเหตุขัดแย้งในรัฐอาระกัน Posted: 08 Aug 2012 06:52 AM PDT ครม.ซาอุดิอาระเบียชี้การบีบให้ชาวโรฮิงยาต้องหนีจากถิ่นฐานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปช่วยเหลือในสิ่งที่จำเป็น ขณะที่องค์การความร่วมมืออิสลามเตรียมเจรจาพม่าขอส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้าไปสำรวจข้อเท็จจริง คณะรัฐมนตรีซาอุดิอาระเบีย ได้เรียกความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงยา กับชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพม่าว่าเป็นการ "ล้างเผ่าพันธุ์" ชาวมุสลิม และเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติมีมาตรการตอบโต้ทันที โดยคณะรัฐมนตรีของซาอุดิอาระเบียได้ระบุว่า "ขอประณามการล้างเผ่าพันธุ์มุสลิม และการทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมต่อชาวมุสลิมโรฮิงยาในพม่า การบังคับให้พวกเขาต้องหนีออกจากถิ่นฐานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" แถลงการณ์ของคณะรัฐมนตรีซาอุดิอาระเบียระบุ ทั้งนี้กษัตริย์อับดุลลาห์ของซาอุดิอาระเบียซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานคณะรัฐมนตรีด้วย ได้เรียกร้องประชาคมนานาชาติให้ทำหน้าที่จัดหาสิ่งประกันความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตเท่าที่จำเป็น และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสูญเสียชีวิตขึ้นอีกในอนาคต ขณะที่นายเอกเมเลดิน อิซาโนกลู ประธานองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นครเจดด้า ซาอุดิอาระเบีย กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (5 ส.ค.) ว่าจะส่งคณะสังเกตการณ์ของ OIC เพื่อเข้าไปตรวจสอบการสังหารหมู่ชาวโรฮิงยาในพม่า ทั้งนี้ OIC จะพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลพม่ายอมรับให้คณะค้นหาข้อเท็จจริงขอ OIC เข้าไปในพม่าให้ได้ "OIC ยังได้ติดต่อไปยังสำนักงานที่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก เรียกร้องให้มีการจับตาชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงยาซึ่งกำลังได้รับผลกระทบ" ประธาน OIC ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 57 ชาติกล่าว ทั้งนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนในรัฐอาระกัน ระหว่างชาวพุทธและชาวโรฮิงยา ทำให้ขณะนี้ตัวเลขของทางการพม่าระบุว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายรวม 80 คนแล้ว
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Myanmar involved in ‘ethnic cleansing’ of Muslims: Saudi Arabia, By Areeb Hasni - Aug 8th, 2012, The News Tribe ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
เผยครึ่งปีแรกคนกัมพูชาเที่ยวต่างประเทศ 389,000 คน เพิ่มขึ้น 33% จากปีที่แล้ว Posted: 08 Aug 2012 06:05 AM PDT เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 55 ที่ผ่านมา สำนักข่าว BERNAMA รายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2012 นี้มีชาวกัมพูชาออกไปเที่ยวต่างประเทศถึง 389,000 คน Ho Vandy ประธานคณะทำงานร่วมภาครัฐ-เอกชนด้านนโยบายการท่องเที่ยวของกัมพูชา เปิดเผยว่าชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ที่ออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศละแวกแถบอาเซียนมากที่สุด เนื่องจากไม่ไกล รวมถึงการที่มีข้อตกลงยกเว้นการตรวจวีซ่า โดยประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชานิยมเดินทางไปนั้นได้แก่ เวียดนาม, ไทย, สิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวนอกอาเซียนที่เป็นที่นิยมของคนกัมพูชาได้แก่ฮ่องกง มาเก๊า คุนหมิง และเซี่ยงไฮ้ของจีน ตามการรายงานจากสำนักข่าว Xinhua ทั้งนี้ประเมินกันว่าสาเหตุที่ชาวกัมพูชาออกไปท่องเที่ยวต่างแดนมากขึ้นนั้นเนื่องจากมาตรฐานและรายได้ในการดำรงชีพที่สูงขึ้น รวมถึงมีเที่ยวบินตรงระหว่างกัมพูชากับหลายประเทศในอาเซียน โดยตัวเลขนี้ ถือว่าเพิ่มขึ้น 33% จาก 293,100 คนในช่วงครึ่งแรกของปี 2011 ความห่างระหว่างรายได้ กัมพูชาเป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 14.5 ล้านคน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่าทางการกัมพูชาได้เปิดเผยว่า ในปี 2011 ชาวกัมพูชามีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีสูงขึ้นเป็น 909 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28,179 บาท) ในขณะที่ผลผลิตมวลรวมประชาชาติขยายตัว 7% เป็น 12,937 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราความยากจนลดลงเหลือประมาณ 26% โดยเศรษฐกิจกัมพูชาขึ้นกับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งทำรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุด ถัดไปเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร อย่างไรก็ดีกว่า 90% ของชาวกัมพูชาเกือบ 14.5 ล้านคน ยังประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าขีดแห่งความยากจนของสหประชาชาติ จากข้อมูลของ tradingeconomics.com พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (GINI index) ของกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่การสำรวจในปี 1995 ที่มีค่าเฉลี่ยความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 38.28 ในปี 2004 เพิ่มเป็น 41.85 และในปี 2007 เพิ่มสูงเป็น 44.37 *ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) เป็นวิธีวัดการกระจายของข้อมูลทางสถิติอย่างหนึ่งที่นิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย สัมประสิทธิ์จีนีถูกนิยามให้เป็นอัตราส่วนซึ่งมีค่าระหว่าง 0 และ 1 (หรือ 0-100%) สัมประสิทธิ์จีนีที่ต่ำจะแสดงถึงความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ หากค่านี้สูงขึ้นจะบ่งชี้ถึงการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ซึ่งจากการประมาณการของธนาคารโลก (World Bank Gini %) การค้า-การลงทุนในกัมพูชา ด้านจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในสถานการณ์ด้านการค้ากับต่างประเทศของกัมพูชา จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาแจ้งว่าในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2011 (ม.ค.-ต.ค.) กัมพูชามีมูลค่าการค้ารวม 9.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออก 4.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กัมพูชานำเข้าจาก 86 ประเทศทั่วโลกมูลค่า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำเข้าจากจีนมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือเวียดนามมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯไทยมูลค่า 0.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฮ่องกง 0.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ด้านสถานการณ์ด้านการลงทุน การลงทุนในกัมพูชานับแต่ปี พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2011 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (Cambodian Investment Board: CIB) ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนรวมจำนวน 1,946 โครงการคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 8,811.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ พบว่า นักลงทุนเกาหลีใต้เป็นผู้ได้รับอนุมัติโครงการมากที่สุดจำนวน 24 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7 ของจำนวนโครงการรวม รองลงมาคือไต้หวันจำนวน 20 โครงการ และจีนกับฮ่องกง ประเทศละ 16 โครงการ ด้านจำนวนเงินลงทุนมากที่สุดคือเวียดนาม 155.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.5 ของมูลค่าเงินลงทุนรวม รองลงไปได้แก่ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ในสาขาต่างๆ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางพารา กระเป๋า รองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม เครื่องหนัง โรงงานประกอบชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ เหมืองแร่ โรงสี อุตสาหกรรมการเกษตร โทรคมนาคมและการท่องเที่ยว เป็นต้น พื้นที่ที่มีการลงทุนมากที่สุดได้แก่ กรุงพนมเปญ รองลงไปคือ จังหวัดรัตนคีรี จังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดพระสีหนุ และจังหวัดมณฑลคีรี ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
คุยกับ ‘ป้าอุ๊’ ในงาน 100 วันอากง Posted: 08 Aug 2012 03:02 AM PDT
7 ส.ค.53 ที่วัดด่านสำโรง ครอบครัวของนายอำพล หรือ อากง จัดพิธีทำบุญครบรอบ 100 วันการจากไปของเขา โดยส่วนใหญ่มีเพียงสมาชิกในครอบครัวที่มาร่วมงาน สำหรับการฌาปนกิจนั้น มีกำหนดตั้งศพในวันที่ 25 ส.ค.และฌาปนกิจในวันที่ 26 ส.ค.นี้ โดยสถานที่จัดงานทางครอบครัวจะแจ้งอีกครั้งภายหลัง รสมาลิน หรือ ป้าอุ๊ ภรรยาของอากงให้สัมภาษณ์ว่า จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับผลชันสูตรศพอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานใด ส่วนเรื่องการไต่สวนการตายนั้น เธอก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีหรือไม่อย่างไร แต่ทางตำรวจเคยบอกว่ากระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือน เธอกล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้ทุกคนในครอบครัวยังคิดถึงอากงเสมอ และยังคงไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับครอบครัวชาวบ้านธรรมดาอย่างครอบครัวเธอได้อย่างไร ส่วนตัวเธอเองก็ต้องกลายมาเป็นผู้นำในครอบครัวและต้องเข้มแข็งเพราะยังมีลูกหลานอีกหลายคนที่ต้องดูแล ปัจจุบันหลานๆ ที่เคยเขียนจดหมายถึงอากงในเรือนจำ ยังคงส่งจดหมายไปหาผู้ต้องขังคดี 112 ในเรือนจำที่รักและช่วยดูแลอากงโดยเฉพาะธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
พบนายจ้าง 258 แห่งไม่ทำตามขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 Posted: 08 Aug 2012 02:26 AM PDT กระทรวงแรงงานพบหลังปรับค่าจ้างร้อยละ 40 ใน 70 จังหวัด พบลูกจ้างได้รับผลกระทบ 5,624 คน ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง 258 แห่ง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงและเร่งปฏิบัติให้ถูกต้อง 8 ส.ค. 55 - เว็บไซต์โลกวันนี้รายงานว่านายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทใน 7 จังหวัด และปรับขึ้นค่าจ้างร้อยละ 40 ใน 70 จังหวัดที่เหลือว่า ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันได้ส่งพนักงานตรวจแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานประกอบการทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกเป็นสถานประกอบการใน 70 จังหวัด ที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 จำนวน 18,415 แห่ง มีลูกจ้างจำนวน 857,403 คน ซึ่งพบว่ามีสถานประกอบการจำนวน 191 แห่ง ปฏิบัติไม่ถูกต้องในเรื่องของการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวน 3,791 คน ขณะที่กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทใน 7 จังหวัด จากการสุ่มตรวจสถานประกอบการจำนวน 10,379 แห่ง และลูกจ้างจำนวน 515,973 คน พบว่ามีสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง 67 แห่ง มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,833 คน อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้พบว่าสถานประกอบการเริ่มปฏิบัติถูกต้องแล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
เอฟทีเอ ว็อทช์จี้พาณิชย์แจงเหตุเร่งเอฟทีเอไทย-อียู พร้อมยื่นข้อเสนอแนะ Posted: 08 Aug 2012 01:27 AM PDT 8 ส.ค.55 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า ทางเอฟทีเอ ว็อทช์ได้ทำหนังสือถึงนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และสำเนาถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอคำชี้แจงในกระบวนการการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จากการที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าจะมีการเสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้ได้ในเดือน ส.ค.นี้ 1.การที่กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้รัฐสภาเห็นชอบกรอบการเจรจาภายใน ส.ค.นี้ ร่างกรอบเจรจาฯดังกล่าว จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด ก่อนหรือหลังการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามมาตรา 190 วรรค 3 ระบุว่า “ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย” แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในส่วนของการให้ข้อมูลและการจัดรับฟังความเห็นประชาชน 2.ก่อนหน้านี้ นายวีระชัย นพสุวรรณวงศ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เคยระบุว่า สหภาพยุโรปต้องการให้ไทยจัดทำกรอบเจรจาความตกลงร่วม หรือ scoping exercises และต้องมีการลงนามใน scoping exercises ดังกล่าวก่อนเริ่มเจรจาจา กระบวนการดังกล่าวทางกรมฯได้มีการหารือกับกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า ถือเป็นกระบวนการเริ่มการเจรจาตามมาตรา 190 ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการ scoping exercises กับทางสหภาพยุโรปหรือยัง หากดำเนินการแล้วเหตุใดจึงยังไม่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา 3.ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กำลังดำเนินการประเมินผลกระทบต่อการเข้าถึงยาที่อาจจะเกิดจาก ข้อต่อรองเรียกร้องจากอียู และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เหตุใดการเจรจาจึงไม่รอผลการรับฟังความเห็นและการประเมินผลกระทบครั้งนี้ 4.การจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะถูกนำเข้าไปพิจารณาในการจัดทำหรือปรับร่างกรอบการเจรจาอย่างไร กรุณายกตัวอย่างเนื้อหาและกระบวนการที่ชัดเจน” ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปนั้น ข้อห่วงใยที่สำคัญอยู่ที่ข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน นอกจากนี้มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงความรู้และกระทบต่อฐานทรัพยากรชีวภาพ “แม้แต่ในการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและอินเดียก็ติดล็อคในประเด็นเหล่านี้ เพราะอินเดียไม่ยอม ล่าสุดแม้แต่สภายุโรปก็ยังรับไม่ได้กับเนื้อหาความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์เช่นนี้ ด้วยการคว่ำ ร่างความตกลงต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง หรือ Anti-Counterfeiting Trade Agreement เรียกย่อๆว่า ACTA ซึ่งมีเนื้อหาด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ใกล้เคียงกับข้อบทในเอฟทีเอ ดังนั้นการจะมุ่งเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปเพียงเพื่อแก้เกมส์การตัดสิทธิจีเอสพีจึงเป็นความคิดที่แคบและตื้นเขินมาก เพราะในที่สุดจะเกิดผลกระทบหากเราไม่มองการเจรจาเอฟทีเออย่างรอบด้านมากพอ” ทั้งนี้ เอฟทีเอ ว็อทช์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคจะจัดเวทีสนทนา“จาก ACTA ถึง FTA: รูปแบบใหม่ของการผูกขาดอำนาจการค้า”ขึ้น เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเจรจาการค้าในระดับโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยต่อจุดยืนในนโยบายการค้าของประเทศ บ่ายวันจันทร์ที่ 13 ส.ค.นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
น้ำท่วมหนักกรุงมะนิลา สังเวยแล้ว 9 ศพ Posted: 07 Aug 2012 09:16 PM PDT พายุฤดูร้อน 'ไฮกุ' ทำน้ำท่วมกรุงมะนิลาแล้วราวครึ่งเมือง คาดเป็นพายุฝนที่รุนแรงที่สุดในรอบ 3 ปี ส่งผลให้ประชาชนหลายแสนต้องอพยพหนี 7 ส.ค. 55 - เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 คนจากแผ่นดินถล่มในเขตย่านชุมชนแออัด มีการประมาณว่าพื้นที่ราวครึ่งของกรุงมะนิลาน้ำท่วมระดับสูงถึงเอวและคอ ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกไปยังที่พักอาศัยชั่วคราว ฝนตกฉับพลันที่ตกอย่างต่อเนื่องจากพายุฤดูร้อนไฮกุเมื่อวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา ทำให้กรุงมะนิลากลายเป็นอัมพาต เมื่อเส้นทางจำนวนมากถูกตัดขาด และมีการสั่งปืดโรงเรียน สำนักงาน และตลาดหลักทรัพย์ มีรายงานว่า ปริมาณฝนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดขึ้นหลังจากเขื่อนในแม่น้ำใกล้เคียงไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำไว้ได้ ประกอบกับฝนตกฉับพลัน ทำให้มะนิลาต้องเผชิญกับพายุฝนที่รุนแรงที่สุดในรอบ 3 ปี โดยราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ฟิลิปปินส์เผชิญกับพายุไต้ฝุ่นซาวลาที่ส่งผลให้ฝนตกหนักต่อเนื่องกันราว 10 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน สภาการลดความเสี่ยงและการจัดการภัยพิบัติของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า มีประชาชนกว่า 800,000 คนได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม โดยราว 18,600 คน อยู่ในศูนย์อพยพของรัฐบาล และอีก 231,000 คนต้องอพยพไปพักอาศัยกับญาติและคนรู้จัก
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Floods paralyse Philippine capital Manila Manila turned into 'water world' as floods submerge half the city ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | ||
‘ศศิน เฉลิมลาภ’ ต้อนรับ 21 เขื่อนแก้น้ำท่วม ทำไมแดง-เหลืองต้องสนใจ ‘เขียว’ Posted: 07 Aug 2012 03:59 PM PDT เปิดความคิดคนต้านเขื่อนแม่วงก์ 1 ใน 21 เขื่อน ใต้แผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล ในวันที่กระแสอนุรักษ์ถูกโถมทับด้วยประเด็นการเมือง และ “ชนชั้นกลางสีเขียว” ยังคงต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล การต่อต้านเขื่อน นับจากยุคสมัยของสืบ นาคะเสถียร ผู้ผลักดันการอนุรักษ์ป่าไทย ณ ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีการเคลื่อนไหวในสังคมวงกว้างจนสามารถหยุดยั้งการสร้าง “เขื่อนน้ำโจน” เมื่อ 20 กว่าปีก่อน มาถึงการเรียกร้องเรื่องผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล เชื่อได้ว่าผลกระทบของการสร้างเขื่อนเป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้าง และโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการตรวจสอบไม่เป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องการสร้างเขื่อนกลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับคำถามสำคัญคือการสร้าง “เขื่อนขนาดใหญ่” ยังจำเป็นสำหรับประเทศนี้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน ประชาไท สัมภาษณ์ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นักวิชาการด้านธรณีวิทยา ผู้ผันตัวเองเข้าสู่การทำงานอนุรักษ์ป่า และเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านเขื่อน “แม่วงก์” 1 ใน 21 โครงการเขื่อน ภายใต้แผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยพูดคุยถึงความเป็นไปของ “ขบวนการค้านเขื่อน” ในห้วงเวลาที่ผ่านมา กระบวนการการต่อสู้เรื่องเขื่อนที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการรับรู้ของผู้คน เช่น กรณีน้ำโจน ปากมูล แต่กระแสการต่อต้านเขื่อน ณ วันนี้ดูเหมือนมันหายไป เกิดอะไรขึ้น? มันไม่เชิงอย่างนั้นหรอก จริงๆ มันเกิดเขื่อนอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เป็นเขื่อนที่ไม่มีผลกระทบมากนัก หรือกระบวนการต่อสู้เรียกร้องในอดีต มันทำให้คนที่เป็นนักพัฒนาเขาปรับตัวดีขึ้น เพราะว่าเขื่อนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีผลกระทบมันก็สร้างมาตลอดหลังกระแสเขื่อนน้ำโจน ไอ้เขื่อนที่มันเกิดขึ้นแล้วมันไม่ดัง มันมากกว่าเขื่อนที่เกิดขึ้นแล้วมันดัง ไม่ใช่ว่าพอเกิดเขื่อนแล้วมีคนไปต่อต้านแล้วมันหยุด ไม่ใช่ ที่หยุดโครงการได้มันก็มีเฉพาะเขื่อนที่มีผลกระทบทั้งต่อธรรมชาติ ต่อวิถีชีวิต ยิ่งถ้าต่อวิถีชีวิตยิ่งชัดเจนว่ามันไม่เกิด แทบไม่เกิดเลย ส่วนกรณีที่เกี่ยวกับการชดเชยไม่เป็นธรรม เมื่อสัก 4-5 ปี ที่แล้วเรื่องติดอยู่ที่กรรมการสิทธิ์ไม่รู้กี่เขื่อน วันนี้มันก็ยังคาอยู่อย่างนั้น เขื่อนเล็กๆ ที่เข้าไปอยู่ในชุมชน มันก็ติดอยู่อีกเยอะแยะมากมาย หมายความว่าในชุมชนเขามองเห็นภาพของผลกระทบ อย่างนั้นหรือเปล่า? ใช่ แต่ถ้าเป็นกรณีของเขื่อนที่มีการจัดการได้ก็จะสร้างได้หมด เขื่อนที่มีการจัดการได้ หมายความว่า จ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม แล้วก็มีการประชุมอย่างมีส่วนร่วม ถ้าให้มองย้อนกลับไป คิดว่าความสำเร็จของกระแสการคัดค้านโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในสังคมไทยคืออะไร? คือการพัฒนาในเรื่องสิทธิมนุษยชน คนจะไม่ยอมให้รัฐมากระทำง่ายๆ อันนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว คราวนี้ขบวนการสีเขียว ขบวนการสิ่งแวดล้อม คุณอย่าลืมว่ามันบูมขึ้นมาในช่วงกระแสเขียว คือในช่วงประมาณปี 2530-2540 เท่านั้นเอง ปัจจุบันมันผ่านมา 15 ปี มันหมดยุคพวกนั้นมาแล้ว ดังนั้นขบวนการที่คนจะมาปกป้องเรื่องสิ่งแวดล้อมมันก็ลดลงเป็นธรรมดา การเกิดขึ้นของกระแสปี 2540 มันคือยุคของสิทธิชุมชน มันคือยุคของรัฐธรรมนูญ 40 มาต่อ 50 มันไม่ใช่ยุคที่คนจะลุกขึ้นเพื่อมาต่อต้านการพัฒนา แต่ว่าการต่อต้านมันก็ดำรงคงอยู่ หมายความว่า นักพัฒนาที่จะเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ที่มีความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ถูกเบรกมาตลอด อย่าลืมว่าเขื่อนแม่วงก์กับเขื่อนแก่งเสือเต้นคือเขื่อนที่มีข่าวมาตลอดว่าเขาอยากจะผลักดัน แต่ก็มีกระแสที่สามารถชะลอมันไว้ได้ ใช้คำว่า “ชะลอมันไว้ได้” เท่านั้นเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไหร่ ปรากฏการณ์กระแสสีเขียว อย่างกรณีเขื่อนน้ำโจน ทำไมถึงเกิดขึ้นได้? โดยรวมของโลกกระแสเป็นอย่างนั้น โดยรวมของประเทศไทย กระแสมันก็เกิดจาก 1.ปิดป่า 2.สืบ นาคะเสถียร ตาย 3.มีดินถล่มที่ อ.พิปูน (22 พ.ย.2531 เกิดดินโคลนถล่มที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน) คนก็เห็นความสำคัญของป่าไม้ มาถึงยุคนี้ เหตุผลเรื่องป่าไม้ในการคัดค้านการสร้างเขื่อนมีน้ำหนักน้อยลงแล้วหรือเปล่า? ไม่ มันก็ยังเหมือนเดิม มันก็ค้านมาตลอด เขื่อนแม่วงก์ก็มีเหตุผลนี้มาตลอด แต่ฝ่ายที่เขาอยากจะสร้างเขาก็ยังยืนยันว่า เขื่อนนี้มีประโยชน์ ซึ่งเราก็ไม่ปฏิเสธว่าเขื่อนนี้มีประโยชน์ แต่ว่าเมื่อเทียบกับความคุ้มค่าในเรื่องที่มันต้องเสียป่าไม้ไป ฝ่ายที่คัดค้านก็ยังรู้สึกว่ามันน่าจะทำอย่างอื่นได้ สร้างมาก็ไม่คุ้ม เป็นช่องทางการหาผลประโยชน์ของคนแค่บางกลุ่ม เป็นช่องทางการหาเสียงของนักการเมืองไม่กี่คน ผูกขาดโดยพรรคการเมืองขนาดกลางที่หาผลประโยชน์กับการสร้างเขื่อนในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากยุคขบวนการสีเขียวมาถึงยุคสิทธิชุมชน สถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง? วันนี้มันเป็นเรื่องของการที่การเมืองไม่สนใจกฎหมาย เพราะว่าเขารู้สึกว่าต้องเป็นเชิงยุทธศาสตร์ เชิงกลยุทธ์ พอมีน้ำท่วมมา คุณก็ตั้งงบขึ้นมา 3.5 แสนล้าน แล้วคุณก็พยายามเอาโครงการอะไรที่มันมีอยู่แล้วเข้ามาเสียบๆ เพื่อให้มันได้งบ เพื่อที่จะได้บริหารงบ เพื่อจะได้สร้างผลงาน เพื่อจะได้ทำงานที่มันเป็นเอ็กซ์ตร้า มันเป็นยุคของคอรัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นยุคอะไรแบบนี้ ยุคของการสร้างความยอมรับ ขณะนี้มีกรณีเรื่องน้ำท่วม และดูเหมือนเขื่อนยังเป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญหา? ใช่ ดังนั้นไอ้สายการพัฒนาที่เขาเข้าคิวไว้นานแล้ว มันก็เข้ามาเลย คือ ลำน้ำทุกสายที่มันลงมาจากภูเขา กรมชลเขาน่าจะมีแผนการจัดการหมดนั่นแหละว่าอย่างน้อยมันน่าจะมีประตูน้ำ ต้องมีเขื่อนกันไว้ ดังนั้นพอมีโอกาสอะไรเขาก็เสียบตรงนี้เข้ามาเพื่อจะดำเนินการ ในมุมนักเคลื่อนไหว มียุทธศาสตร์การต่อสู้กับเมกกะโปรเจ็กต์เขื่อนที่จะเกิดขึ้นยังไง? โดยกลไกของประเทศ มันก็มีตัวคานของมันอยู่คือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ว่าจะต้องทำอีไอเอ มีประกาศอีไอเอมา พอมีรัฐธรรมนูญปี 40-50 มันก็ยิ่งต้องทำอีก ดังนั้นกลไกของมันก็มีอยู่แล้ว แล้วก็ยังมีภาวะสีเขียวคือถ้ามันเป็นอุทยานแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ คนไปตัดไม้ปรับ 150,000 บาท ห้ามแตะต้อง อุทยานแห่งชาติเป็นของทุกคน สัตว์ป่าก็มีชีวิต อะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ในป่าอนุรักษ์มันก็ไม่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มา 20 ปีตั้งแต่เขื่อนเชี่ยวหลาน (หรือเขื่อนรัชชประภา สร้างเสร็จเดือนกันยายน 2530) ขบวนการพวกนี้มันก็ยังอยู่ กรรมการอุทยานแห่งชาติจะต้องเพิกถอนพื้นที่ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติก่อนจึงจะสร้างเขื่อนได้ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ เพราะฉะนั้นตามกฎหมายมันก็มีตัวคานอันนี้ พื้นที่ที่จะถูกพัฒนามันก็น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน เป็นถนน เป็นเหมืองแร่ ซึ่งอย่าลืมว่าการพัฒนาพวกนี้มันเป็นเครื่องมือหาเสียงของนักการเมือง แล้วก็เป็นเครื่องมือของกลไกการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น รายได้ส่งถึง อบต. ทั้งหมดคือผลประโยชน์ที่ต่อกับท้องถิ่นทั้งนั้น ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน กฎหมายต่างๆ เป็นแมคโครสเกลที่มันจะต้องทำให้ประเทศชะลอการพัฒนาพวกนี้ไม่ให้มันสุดโต่งเกินไป ซึ่งเขาก็พยายามจะเจาะ มันก็สู้กันอยู่แบบนี้ ตัวเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมเอง วันนี้พอมันหมดยุคสีเขียวบุคลากรที่มาทำงานเรื่องนี้มันก็น้อยลง นักศึกษาที่เคยหาประเด็นในการมาร่วมต่อสู้ นักศึกษา-ประชาชนที่จะหาประเด็นในการที่ว่า เอ้ย! เราต้องต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมันก็ดร็อปลงไป วันนี้ถ้าเกิดพูดถึงเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องทางการเมืองเขาอาจจะตื่นตัวมากกว่า หมายความว่ายุทธศาสตร์ต่อไปเราต้องไปกระตุ้นประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนมากขึ้น? มันก็เป็นอย่างนั้น แต่กรณีเขื่อนแม่วงก์บังเอิญว่ามันก็ยังมีองค์กรสีเขียว ยังทำงานเพื่อถ่วงดุลการพัฒนาในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมด้วยไม่ใช่เฉพาะสิทธิชุมชน อย่างมูลนิธิสืบฯ หรือองค์กรอื่นๆ อย่างสมาคมนก มูลนิธิโลกสีเขียว ก็ยังมีองค์กรที่เป็นเป็นผลพวงจากยุคกระแสสิ่งแวดล้อมบูม ซึ่งในช่วงนั้นต้องทำงานเรื่องเขื่อนแม่วงก์ เพราะแม่วงก์ไม่มีชุมชน และดันไปขัดความต้องการของคนจำนวนมากที่คิดว่าเขื่อนจะช่วยแก้ไขปัญหาเขาได้ และองค์กรพวกนี้ก็ยังทำงานอยู่ อย่างมูลนิธิสืบฯ ก็ยังทำงานอยู่ คิดว่าทัศนะของคนในประเทศนี้ต่อเรื่องเขื่อนเปลี่ยนแปลงไปไหมจากยุคสีเขียวบูม? ก็ยังไม่เปลี่ยนนะ ดูจากในโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกคนก็ยังรู้สึกว่าเขื่อนเป็นตัวทำลายป่า และยังไม่มีความไว้วางใจในการเข้ามาหาผลประโยชน์ของนักการเมือง แล้วผมก็คิดว่าหลายๆ คนก็มีประสบการณ์ทางตรงที่เห็นว่าเขื่อนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในเรื่องของน้ำท่วม น้ำแล้งมันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง แต่ถ้ามองอย่างเป็นธรรม เขื่อนมีประสิทธิภาพไหม มันก็มี เขื่อนมันก็ทำงานอยู่ จนปัจจุบันนี้การลดน้ำท่วมภาคกลางที่ชะลอมาได้ประมาณเกิด 5 ปีครั้ง 10 ปีครั้ง ก็เพราะเขื่อนใหญ่สองเขื่อน แต่วันนี้ ในประเด็นที่เราค้าน คือ 1.ในพื้นที่แม่วงก์ เราเห็นว่ามีความสำคัญจริงๆ ในการที่จะเก็บไว้เป็นพื้นที่ป่าที่มีสัตว์ป่า 2.หากเขื่อนแม่วงก์ถูกสร้างขึ้น ป่าตะวันตกก็จะถูกเจาะไปเรื่อยๆ อีก 23 เขื่อน เขื่อนแม่วงก์เป็นด่านหน้า ทั้งที่แม่วงก์มีคุณค่าของป่ามาก มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งแก่งเสือเต้นด้วย แม่วงก์มีประเด็นเรื่องสัตว์ป่า ส่วนแก่งเสือเต้นมีประเด็นเรื่องป่าสัก หากทั้ง 2 แห่งที่มีคุณค่าชัดเจนยังถูกเจาะได้ พื้นที่อื่นๆ ก็จะถูกเจาะเต็มไปหมด มันไม่ใช่ว่าจะเป็นชัยชนะ หรือไม่ชนะหรอก ถ้าเขื่อนมันไม่เกิดผลกระทบก็ไม่เห็นมีใครไปคัดค้านอะไร ถ้ามันมีผลกระทบปั๊บ ก็ควรหาวิธีอื่นในการจัดการน้ำ เราคิดว่าอย่างนั้น ที่ผ่านมามีเขื่อนที่เห็นว่าดี ไม่มีผลกระทบไหม? ผมว่าก็เยอะแยะไป แต่ผมนึกชื่อมันไม่ออกเลย ความจริงแล้วผมเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการนะ ก็ผ่านไปไม่รู้กี่เขื่อนแล้ว ต้องไปนั่งลิสต์ดูว่ามีอะไรบ้าง ที่ชลบุรี ที่แพร่ เป็นเขื่อนเล็กบ้าง กลางบ้าง ใหญ่บ้าง แต่ว่ามันอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งแต่เดิมมันก็เป็นพื้นที่ที่ชุมชนเข้าไปบุกเบิกป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งก็ไม่ได้ดินดีน้ำดีอะไร และพอเสร็จแล้วรัฐก็ไปเวนคืนอย่างเป็นธรรม ซึ่งธรรมบ้างไม่ธรรมบ้างเราก็ไม่รู้ แต่ว่าส่วนใหญ่ชุมชนก็ไม่ใช่ชุมชนท้องถิ่น เป็นชุมชนใหม่ที่เพิ่งเข้าไปบุกเบิก ส่วนใหญ่มีที่สองที่ด้วยซ้ำ คือ บ้านอยู่ที่อื่นแต่ว่าไปมีที่ทำกินตรงนี้ พอได้เงินชดเชยก็กลับบ้าน บางที่บ้านเขาก็อยู่ในพื้นที่ที่จะได้น้ำด้วย มันก็วินวินไป
มองว่าแนวโน้ม 21 เขื่อนตามโครงการของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร? โอ้ 21 เขื่อนนี้มันมากับน้ำท่วม มันเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ ที่เป็นแพ็คเกจมา แต่ว่าในมุมของทางวิศวกรรมแหล่งน้ำก็อย่าลืมว่าตัวเขื่อนเป็นเครื่องมือแรกของการควบคุมแหล่งน้ำ เราก็ต้องเห็นใจวิศวะฯ เขาด้วย เขาก็ต้องการเครื่องมือในการทำงาน ที่นี้ถ้าเกิดจริงๆ แล้วร่นออกมานอกเขตป่าเสียหน่อยผมว่าน่าจะดีกว่า จ่ายค่าชดเชยคนอย่างเป็นธรรม มีกระบวนการมีส่วนร่วมเท่าที่พอทำได้ แสดงว่าที่บางคนเชื่อว่า ‘เขื่อนตายไปแล้ว’ ไม่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว มันไม่จริง? ไม่หรอก เขื่อนมันเกิดขึ้นตลอดเวลาเพียงแต่ว่ามันไม่เป็นข่าวแค่นั้นเอง อย่างช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาที่ผมเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ก็ออกไป 5-6 เขื่อน นั่นหมายถึงเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องทำอีไอเอนะ โครงการขนาดเล็ก ทำฝายที่ไม่ต้องทำอีไอเอ มันเป็นเขื่อนนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นไม่รู้เท่าไหร่ ทั้งโครงการในพระราชดำริเอง โครงการขนาดเล็กต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ ก็เริ่มจากเขื่อนนั่นแหละ อย่างไรก็ต้องกักไว้ แต่มันดีขึ้นคือทำให้ไม่เกิดปัญหา คนทำงานในกรมชลเองก็มีกระบวนการที่รู้จักพูดจากับคน มีส่วนร่วม คำนึงถึงและเคารพในกฎหมายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ความสำเร็จจากการต่อสู้เรื่องเขื่อนไม่ใช่แค่เขื่อนหยุด แต่เป็นเรื่องกระบวนการ? ใช่ มันทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้และเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมาย สิทธิ และสิ่งแวดลอมมากขึ้น แปลว่าหากจะบอกว่าคนสีเขียวต้องต้านเขื่อนนั้นก็ไม่ถูกเสมอไป? ไม่ได้ต้าน เราต้านเฉพาะเขื่อนที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง แต่รุนแรงแค่ไหนมันเป็นการประเมินทางความรู้สึก เราจะชั่งน้ำหนักยังไงว่าเขื่อนควรสร้างหรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีเขื่อนแม่วงก์ก็ได้? มันชั่งได้ง่ายๆ ก็คือว่า หนึ่งถ้าโดยหลักการอ้างว่าจะลดน้ำท่วมภาคกลางนั้น มันลดไม่ได้ ไม่เกี่ยว ผู้เชี่ยวชาญเขาก็บอกว่าลดได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราเก็บป่าที่สำคัญให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า อาจจะมีคุณค่าเป็นมรดกโลก อาจจะพัฒนาการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคมได้ดีกว่ามีเขื่อน ถ้ามองกันยาวๆ ว่าจะรักษาให้เป็นแหล่งประชากรเสือโคร่ง ประเทศจะมีชื่อเสียง ในแง่ของการที่ว่าไม่ใช่ประเทศที่มุ่งแต่จะพัฒนาอย่างเดียว แต่เป็นประเทศที่มีสติปัญญาในการรักษาป่าอนุรักษ์ มันคิดลึกไปกว่าการที่แค่มีเขื่อน แต่ถ้าการสร้างเขื่อนมันมีประโยชน์คุ้มค่ากับประชาชน สร้างเขื่อนแล้วประชาชนหายจนกันทั้งภูมิภาคนั้น อันนี้ไอ้การที่จะเก็บเป็นป่า เป็นบ้านของเสือมันก็จะลดน้ำหนักลง ป่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถึงเขื่อนไม่มา ป่าก็ค่อยๆ หมดอยู่แล้วด้วยการทำลายแบบอื่นๆ? วันนี้ใครจะว่าการรักษาป่าโดยกลไกของอุทยานแห่งชาติฯ กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามันไม่ดีอย่างไรก็ตาม แต่มันต้องมองเป็นสเกล การมีอุทยานแห่งชาติฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสามารถรักษาป่าได้ไหม ได้ แต่มันมีปัญหาไหมในการละเมิดสิทธิชุมชน มี แล้วในส่วนที่รักษาไว้ไม่ได้ถูกชุมชนหรือนายทุนรุกเข้าไปมีไหม มี แต่ในภาพใหญ่มันรักษาได้ไหม มันรักษาได้แน่นอน เพราะป่าที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ในวันนี้ มันก็มีแต่อุทยานแห่งชาติฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้นที่มีกลไกการบริหารงานและกฎหมายที่รักษาไว้ได้ และเห็นอนาคต แต่มีปัญหาไหม มี ก็แก้ที่ตัวปัญหาตรงนั้น ส่วนข้าวโพดมันจะรุกเข้าไปได้มากกว่านี้มากไหม ไม่ได้ มันก็มีเล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยๆ รุกเข้าไป แต่ในภาพใหญ่แล้วเนื้อที่ป่ามันเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่ามันเพิ่มขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ว่ามันเพิ่มเป็นบางพื้นที่ บางพื้นที่ก็ลด พื้นที่ที่ป่าลดลงและมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศมีไหม มี อย่างที่น่าน ข้าวโพดรุกเข้าไปที่น่าน แต่ว่าจังหวัดอื่นอาจจะมีป่าเพิ่มขึ้นทำให้ป่าในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้น พอป่าที่น่านลด เกิดอะไรขึ้น เผอิญพายุที่มันเข้า 5 ลูก 10 ลูก มันไปเข้าที่น่าน แล้วน่านก็เป็นพื้นที่เหนือเขื่อนสิริกิติ์ ดังนั้นปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนจึงไหลเร็วมากจนเขื่อนแทนที่จะเป็นตัวชะลอน้ำกลับต้องผ่านน้ำไปอย่างรวดเร็ว เพราะน้ำไหลลงมาเร็วมาก เพราะฉะนั้นถ้าน่านมีการจัดการ มีป่า มีการฟื้นฟูป่าขึ้นมา เขื่อนสิริกิติ์ก็จะทำงานดีขึ้น น้ำที่ท่วมภาคกลางเกินครึ่งนั้นมาจากเขื่อนสิริกิติ์ มาจากลำน้ำน่าน ดังนั้นน่านเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ แม่น้ำปิงก็เหมือนกัน น้ำอีกเกือบครึ่งหนึ่งก็มาจากแม่น้ำปิง ตัวแม่แจ่มเองที่ข้าวโพดรุกเข้าไปเยอะๆ ก็เป็นตัวสำคัญ เขื่อนป่าสัก ที่ จ.เพชรบูรณ์เองด้วย ตัวข้าวโพดที่รุกเข้าไปหนักๆ จุดใหญ่ๆ ที่ปลูกข้าวโพดกันเยอะก็คือ แม่แจ่มที่เชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์ อยู่เหนือเขื่อนสำคัญ 3 เขื่อนที่มีผลโดยตรงต่อน้ำท่วมภาคกลาง ถามว่าภาพรวมป่าทั้งประเทศเพิ่มขึ้นไหม เพิ่มขึ้น แต่แค่ 3 จุดที่ลดลงไม่เท่าไหร่หรอกต่อพื้นที่ทั้งประเทศไทย แต่มันมีผลเยอะต่อน้ำท่วม ภาพจริงๆ มันเป็นอย่างนั้น โดยสรุปสำหรับการสร้างเขื่อน ถ้าเพื่อภัยแล้งผมว่าควรต้องสร้าง ถ้าเพื่อน้ำท่วมผมว่าพอแล้วล่ะ หาวิธีอื่นก็ได้ ระบายดีกว่า การระบายน้ำก็ช่วยได้เยอะแล้ว ถึงสร้างไปก็ลดลงไปได้อีกไม่กี่เท่าไหร่หรอก การที่รัฐบาลเพื่อไทยมีนโยบายสร้างเขื่อนจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา เราจะคุยกับบรรดาคนสนับสนุนรัฐบาล อย่างเช่น คนเสื้อแดง อย่างไรให้เข้าใจว่าทำไมจึงควรค้านเขื่อน? คิดว่าคุยไม่ได้หรอก กลไกการสร้างเขื่อนมันเป็นการพัฒนากระแสหลักว่า เอาน้ำไปให้เกษตรกรเพื่อผลิตพืชเชิงเดี่ยว มันไม่มีเหตุผลอื่นหรอกในการที่เราจะไปขวางการกระตุ้นจีดีพี ความโลภ ความอยากได้ของประชาชนที่จะกินดีอยู่ดี ขืนไปทำอย่างนั้นก็ตายดิ กลายเป็นคนเอาป่า ไม่เอาคน ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ถึงขนาดนั้นไง คนมันก็อยู่กับการพัฒนามาขนาดนี้ น้ำไหลไฟสว่าง แต่ความต้องการของมนุษย์มันไม่สิ้นสุดหรอก และมันก็ไปเข้าทางนายทุนใหญ่ทั้งนั้นแหละ นายทุนข้าว จำนำราคาข้าว นายทุนข้าวโพดฯลฯ เมื่อเข้าสู่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวมันก็เป็นอย่างนั้น ก็รู้อยู่แล้วระบบทุนนิยม จริงๆ ก็ต้องต่อต้านใช่ไหมระบบทุนนิยม ต่อต้านทั้งนั้นแหละ ศัตรูของประชาธิปไตยเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าคือ นายทุน ขุนศึก ศักดินา ผมเรียนรู้จาก 14 ตุลา ผมก็ถูกสอนว่าศัตรูของประชาธิปไตยคือ นายทุน ขุนศึก ศักดินา เราก็เติบโตจากรุ่นพี่พวกนั้น แต่ตอนนี้มันก็เกิดการเลือกว่านายทุนไม่เป็นไร เป็นหนทางที่จะไปต่อสู้กับศักดินาและขุนศึก ผมว่าภาคประชาชนจะต้องกดทั้ง 3 อำนาจ ไม่ใช่ไปรวมกับทุนแบบที่กระบวนการนี้ทำอยู่ หรือไปโปรเจ้าอย่างที่กระบวนการก้าวหน้าส่วนหนึ่งทำอยู่ โปรทุนร่วมกับทุนแล้วก็อ้อมแอ้มว่าเราจะควบคุมเขาเอง หรือไปโปรทหาร โปรขุนศึกก็ไม่ถูก ลืมหลักการเบื้องต้นแล้วเหรอว่าศัตรูของประชาธิปไตยคือนายทุน ขุนศึก ศักดินา เป็นไปได้ไหมที่จะให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกระจายเข้าไปในขบวนการทางการเมือง ในแนวคิดของกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง? คือไม่รู้สิ มันต้องตรงไปตรงมาว่าเขื่อนนี้มันไม่คุ้มค่า มันไม่จำเป็นต้องมีสัญลักษณ์ทั้งหมดว่า ต่อสู้กับรัฐ ต่อสู้กับกรมอุทยานแห่งชาติ มันต้องมองคุณค่าความสำคัญว่า การเก็บป่าไว้ได้เป็นสิ่งที่ดี คราวนี้ เราเห็นแล้วว่าโครงการนี้มันไม่ชอบมาพากล เช่น อนุมัติกรอบหลัก 3.5 แสนล้าน คุณมั่นใจหรือว่ามันแก้น้ำท่วมได้และไม่ใช่ช่องทางการคอรัปชั่น คุณจะปล่อยให้รัฐบาลทำโดยไม่ตรวจสอบเหรอ อย่างแม่วงก์เป็นกรณีชัดเจนว่าคุณจะอนุมัติมาทำไมเพื่อแก้น้ำท่วม มันไม่เกี่ยว แล้วคนเสื้อแดงจะไม่ตรวจสอบรัฐบาลเหรอ ถ้าปล่อยให้เป็นไป คุณกำลังเอื้อต่อผลประโยชน์ของนักการเมืองบางพรรคหรือเปล่า คุณกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าบอกมีอุดมการณ์ ก็ต้องตรวจสอบควบคุมอำนาจที่คุณหนุนเขาขึ้นมาด้วย พิสูจน์มันออกมา เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่ต้องพิสูจน์ว่า คุณทำงานภาคประชาชน ทำงานภาคสิ่งแวดล้อมแล้วหนุนรัฐบาลนี้ขึ้นมา คุณก็ลองปรับรัฐบาลให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสิ มันก็เป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้วว่าเขื่อนนี้มันไม่คุ้ม แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าเข้ามาศึกษาข้อมูลแล้วปรับ สมมติ เอาง่ายๆ เขื่อนนี้มัน 8 ปีกว่าจะสร้างเสร็จ คุณสู้เอางบลงไปพัฒนาการปรับเปลี่ยนการจัดการน้ำขนาดเล็กไปเลยไม่ดีกว่าหรือ คือหลักการอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขื่อนก็ตาม แต่มาปรับว่า เขื่อนนี้ต้องใช้เวลาสร้างนาน อีก 8-10 ปีถึงจะได้ประโยชน์ มันนานไปหรือเปล่า สมมติจะแก้น้ำท่วม คุณไปแก้เรื่องการระบายน้ำ ให้งบกรมโยธาธิการฯ ให้งบกับท้องถิ่นแล้วก็มองการระบายน้ำเบื้องต้น ส่วนใครจะสร้างเขื่อนก็สร้างไปอีก 10 ปีสำหรับอันที่ไม่มีผลกระทบหรือกระทบน้อยอย่างที่ว่าไป แต่ปีหน้าถ้าฝนมาเยอะ น้ำต้องไม่ท่วมเพราะระบายน้ำดี ชุมชนที่ปลูกพืช ยิ่งทำนามากยิ่งเป็นหนี้ ที่ว่ากันอย่างนี้จะแก้ปัญหายังไง ก็ไปลดการทำนาให้น้อยลง และลดโครงสร้างหนี้เกษตรกร แล้วก็ทำนาแค่สองครั้งแต่ได้ราคาที่ดีขึ้น มีการปลูกพืชหลังนา มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ต้องใช้คำเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ เดี๋ยวขัดใจ แต่เป็นเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเองได้ ซึ่งต้องส่งเสริมให้ชุมชนไม่ต้องมามีลิ่วล้อของพวกหัวคะแนนนักการเมืองที่ลงมาจากสารพัดพรรค ถ้าอย่างนี้ไม่น่าจะขัดแย้งกันนะ การเมืองภาคประชาชนน่าจะส่งเสริมให้คนมีสติปัญญา มีความเข้มแข็งในลักษณะของชุมชน ตรงนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร น่าจะทำ ดังนั้นรัฐบาลที่ขึ้นมาเราน่าจะสามารถควบคุมเขาให้ไปพัฒนาแบบนั้น ถ้าเรามองว่ารัฐแบบอำมาตย์มาจากส่วนกลาง กรมชลประทานก็อำมาตย์ ที่คิดจากส่วนกลางลงไป แต่ถามว่ากรมชลมีจิตใจที่จะไปสู่การช่วยเหลือประชาชนไหม คนจริงๆ ข้าราชการจริงๆ เขาก็ทำตรงนั้นอยู่นะ เพียงแต่มันมีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ป่า ไม่รู้สิ แต่ในมุมของนักอนุรักษ์ ของมูลนิธิสืบ เราก็ดำรงว่าเรารักษาป่า เราก็เป็นองค์กรที่ตรวจสอบถ่วงดุล ที่มาภาพ: ป่าสักทอง หยุด เขื่อนแก่งเสือเต้น เราเชื่อมากเลยว่าถ้าแม่วงก์กับแก่งเสือเต้นเกิดขึ้น มันก็ล้ม กระบวนการอนุรักษ์ที่รักษาฐานทรัพยากรส่วนรวมก็พังหมด เพราะว่ามันมีผลประโยชน์เข้ามาแทรกเยอะในเรื่องของการทำเขื่อน อย่างที่แก่งเสือเต้นเอง มันมีชุมชนสะเอียบอยู่อย่างนี้ ชุมชนสะเอียบกับอุทยานฯ แม่ยมเขาก็แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากเมื่อก่อนเขาตัดไม้ เดี๋ยวนี้เขาเลิกตัดไม้ วิถีชีวิตเขาก็สงบสุขขึ้น วันนี้มีโครงการใหม่ยมบน-ยมล่าง ชาวสะเอียบไม่ต้องย้ายแล้วถ้าทำเขื่อนยมบน-ยมล่าง แต่ชุมชนสะเอียบก็ยังประกาศชัดเจนว่าเขาจะรักษาป่าต่อไป ซึ่งอันนี้ก็น่ายกย่อง เขามองเห็นว่าถึงมีเขื่อนยมบน-ยมล่างเขาก็ยังต้องการรักษาป่าผืนนี้ เพราะเขาเห็นว่าเขื่อนไม่ใช่กระบวนการที่จะแก้ปัญหาได้เรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งก็จริง ถ้าต้องการแก้น้ำท่วมที่สุโขทัย เขื่อนที่จะแก้น้ำท่วมสุโขทัยได้มันต้องลงไปทำที่แถวศรีสัชนาลัย ต้องไปทำโครงการชะลอน้ำแถวศรีสัชนาลัย อาจไม่ใช่แม่ยมโดยตรง แต่เป็นลำน้ำสาขาใหญ่ๆ ที่ปริมาณน้ำฝนมันลงมา ถึงที่สุดเขื่อนใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ ควรมีกระบวนการยังไง ? มันต้องมีกระบวนการถ่วงดุล หากมันจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาจไม่ใช่ป่าก็ได้ แม่น้ำโขงเป็นตัวอย่างชัดเจน เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนต่างๆ ที่สร้างระหว่างประเทศ เขื่อนสาละวิน มันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทบต่อชุมชนชัดเจน ก็ต้องร่วมกันไปต่อต้านมัน แล้วกระบวนการถ่วงดุลที่ว่า เป็นอย่างไร? เอ่อ เราก็ไม่รู้ เราก็ไม่มีแรงพอหรอก คือพลังความสนใจของผู้คน ของการเมืองตอนนี้ มันไม่ได้อยู่ในเรื่องของสีเขียว แต่กฎหมายมันมีอยู่ อย่างที่คุณศรีสุวรรณ (ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน) ก็ไปฟ้องศาลปกครองแล้วเรื่องเขื่อนแม่วงก์ อันนี้ก็เป็นกลไกหนึ่ง แล้วยังมีกลไกเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียเพื่อให้เสียงต่างๆ มันเข้าไปถึงคนที่มีอำนาจตัดสินใจ มันก็ทำอยู่ตลอดเวลาแหละ แต่จะให้มาเดินขบวนประท้วงแม่ยม แม่วงก์ ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้ การที่เขื่อนปากมูลคนลุกขึ้นมา เพราะว่าคนปากมูนได้รับผลกระทบชัดเจน คนปากมูนเขาก็ออกมาเพราะมันกระทบต่อเขา ขบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่พี่มด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) ตั้งแต่สมัชชาคนจนมันก็ชัดเจน แต่ว่าแม่วงก์มันจะเอาเรื่องอะไรที่จะให้คนมาร่วม มันต้องเอาเหตุเอาผล กระแสการรักป่าก็เอามาได้ แล้วก็เอาข้อกฎหมายมาต่อสู้ ส่วนจะมาประท้วง ประท้วงตอนไหน ประท้วงทำไม ผมนึกกระบวนการไม่ออก อันนี้ใครนึกออกช่วยมาทำกัน อย่างที่แม่ยม เขาก็ต่อสู้มาด้วยชุมชนสะเอียบของเขา แล้วก็มีกระแสชนชั้นกลางในเมืองร่วมด้วยบ้าง ส่วนแม่วงก์ถ้ามีคนอยู่บ้างก็จะมีเรื่องผลกระทบต่อวิถีชีวิต แต่นี่มันไม่มีคน ไม่มีคน เราก็พูดแทนสัตว์ป่า เราก็เป็นชนชั้นกลางสีเขียวพูดไป ไม่เห็นเป็นไร ที่มาภาพ: เปิดเขื่อน ปากมูล คิดว่ากฎหมายปัจจุบันเอื้อต่อการอนุรักษ์ ? ใช่ กฎหมายมันมีกลไกถ่วงดุลป้องกันอยู่แล้ว มันชัดเจนว่ามติ ครม. (มติ ครม.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 เกี่ยวกับ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนแล้วล่ะ กรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ชุดนั้นก็ออกไปหมดแล้ว นี่ก็ชุดใหม่เข้ามา คุณยังมีหลักการแบบนั้นอยู่หรือเปล่าล่ะ ถ้ายังมีหลักการที่ว่ามันลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ก็ไม่ให้อีไอเอผ่าน เพราะเท่าที่เราอ่าน เราก็คิดว่ามันลดผลกระทบไม่ได้ แต่เราไม่ใช่กรรมการสิ่งแวดล้อมฯ คนที่เป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ยังมีองค์ประกอบของกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องทำหน้าที่ การอ้างชื่อโครงการพระราชดำริ ทำให้เหตุผลในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนลดความสำคัญลงหรือเปล่า? ผมว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นว่ามันมีคนที่อยากสร้าง ตัวความเป็นพระราชดำริเองมีการอยากสร้างเขื่อนไหม มี อันนั้นไม่เป็นไร ก็ต้องยอมรับว่าเขื่อนมันมีประโยชน์ แล้วก็โดยโครงการเขื่อนในพระราชดำริหรือไม่ใช่ในพระราชดำริก็มีประโยชน์มาตลอด นั่นก็ไม่มีผลอะไร แต่ถามว่ามีผลกระทบไหมในหลายตัวก็มีผลกระทบ แต่คราวนี้เวลาที่อ้างเนี่ยจะมีเลเวลของโครงการหรือเปล่า โครงการพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการตามพระราชดำริ จะมีสเกล ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางของการเอามาต่อสู้กันเยอะแยะเลย การที่เอามาอ้างว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือโครงการตามพระราชดำริ ผมจำระดับความสำคัญไม่ได้ว่าอันไหนมาทางตรง อันไหนคือการพยายามสร้างแล้วเอาเข้าไปไว้ในส่วนนั้น หรือว่าโดยตัวพระราชดำริเองไม่มีแต่ถูกขบวนการที่ทำให้เป็นโครงการตามพระราชดำริ มันก็มีขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม สี่ ต้องยื่นสำนักงาน กปร. (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) แล้วมีกรรมการ กปร.พิจารณาอนุมัติโครงการ ซึ่งในการออกแบบรายละเอียดอาจไม่ใช่ก็ได้ ซึ่งจริงๆ โครงการพระราชดำริก็ค้านได้ เคยทรงมีพระราชดำรัสว่าค้านได้ แต่โดยความเป็นจริงมันไม่ได้อยู่ในสเกลใหญ่โตอะไร เป็นเพียงจุดเล็กจุดน้อย ซึ่งควรต้องว่ากันเป็นที่ๆ ไป ภาพรวมการต่อสู้ของ ‘คนสายเขียว’ ที่ผ่านมาถือว่าชนะหรือพ่ายแพ้? ชนะๆ คือโดยภาพรวมมันไม่มีเขื่อนที่สร้างในป่าอนุรักษ์มา 20 ปีแล้ว และปัญหาของเขื่อนปากมูลเองก็เป็นบทเรียนที่ชัดเจน ที่เวลาที่เราจะทำอะไรขึ้นมาก็มีการคำนึงถึงเรื่องนี้ ส่วนจะประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติแค่ไหนนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง สำหรับเขื่อนแม่วงก์ สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง? ตอนนี้เราก็ยังไม่ได้แพ้นะ เพราะว่ากฎหมายเรายังคิดว่ายังสู้กันได้อยู่ วันนี้คนรากหญ้าเขามีความเชื่อว่าเขื่อนอันนี้จะเป็นตัวที่ทำให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้น เขาลำบากกันมานาน ถามว่าลำบากจริงไหม อันนี้เป็นเรื่องของการประเมินแล้วหละ คนอำเภอลาดยาว 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เขาก็เอาเขื่อนอยู่แล้ว เขาก็คิดว่าเขื่อนมันจะมาช่วยเขาได้ แต่พอมาดูปุ๊บ เขื่อนน้ำมันอาจไม่ได้มาถึงลาดยาวก็ได้นะ แค่ตำบลแรกของลาดยาวน้ำมันก็หมดแล้ว ตามข้อมูลที่เราประเมินวิเคราะห์ออกมาจากอีไอเอ แต่ข้อมูลตรงนี้ไม่มีใครรู้ คือว่าชะลอน้ำเอาไว้ได้น้ำมันก็ไม่มาท่วม อาจจะมีต้นทุนน้ำมาสู่เขาได้บ้างอะไรแบบนี้ แต่ว่าน้ำมันนิดเดียว ซึ่งผมอาจจะผิดก็ได้ เขาอาจจะถูกก็ได้ ผมก็แต่ทำหน้าที่ของการตรวจสอบถ่วงดุล ที่มาภาพ: http://www.tcijthai.com
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น