โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผบ.ทบ.ยัน พ.ค. 53 ไม่มีสไนเปอร์-มีแต่ปืนติดลำกล้อง

Posted: 16 Aug 2012 03:03 PM PDT

แถมปืนและกล้องติดปืนก็ไม่ใช่สไนเปอร์ เป็นเพียงกล้องที่ติดสำหรับการระวังป้องกัน-ซึ่งที่ตลาดนัดมีขาย ส่วนกระสุนที่เบิกมา เมื่อเหลือก็จะส่งคืน นอกจากนั้นก็ใช้ฝึกหัดและจำหน่ายต่อไป ส่วนเรื่องทหารเอาปืนไปยิงคน ถามลูกน้องแล้ว ลูกน้องบอกว่าไม่ได้ยิงใครสักคน มีแต่โดนยิง 

ที่มาของคลิป: springnews/youtube.com

กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาเปิดเผยผลการสอบสวนคดีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่า การเสียชีวิตของประชาชนเกิดการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) นสพ.ไทยรัฐ รายงานว่า วันที่ 16 ส.ค. ที่สโมสรทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ถ้ายังไม่ยุติก็ไม่สมควรออกมาพูดจา ซึ่งได้ขอร้องผ่าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ไปแล้ว ซึ่งท่านรับปากว่าจะดูให้ และท่านได้ขอโทษ รวมถึงบอกว่าจะไปบอก พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ให้ ซึ่งทางรัฐบาลตอบกลับมาว่าจะให้ลดเรื่องนี้ลงไป

โดย พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ทุกฝ่ายหยุดพูดเพราะคดียังไม่สิ้นสุด และขอความเห็นใจเนื่องจากต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าจะพูดขอให้พูดทั้ง 2 ทาง ขอให้พูดในส่วนของเจ้าหน้าที่ด้วยว่าเขาบาดเจ็บและเสียชีวิตจากใคร ตนไม่อยากไปรื้อฟื้น เพราะตนเป็นผู้บังคับบัญชา รู้ว่า อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด

เมื่อถามถึงกรณีที่ทางดีเอสไอจะเรียกทหารสไนเปอร์ ที่อยู่ในคลิปมาให้ปากคำ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า สไนเปอร์อะไร ใครเป็นคนใช้สไนเปอร์ แล้วรู้หรือไม่ว่า สไนเปอร์เป็นใคร ซึ่งในรูปที่ปรากฏเป็นทหารที่เขาติดกล้องเฉยๆ และกล้องตัวนั้นและปืนตัวนั้นไม่ใช่แบบสไนเปอร์ ถ้าพูดแล้วไม่รู้ อย่าพูดดีกว่า แต่สิ่งที่ใช้เพื่อใช้ระวังป้องกัน ซึ่งในตลาดนัดก็มีขายที่ใช้สำหรับยิงนก ไม่ใช่สไนเปอร์ อย่าพูดเรื่อยเปื่อย

ส่วนที่คณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ในปี 53 มีการเบิกกระสุนมา 3 พันนัด ใช้ไป 800 นัด มีผู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า กระสุนที่เหลือหายไปไหน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กระสุนที่เขาเบิกมา เมื่อเหลือเขาก็จะส่งคืน นอกเหนือจากนั้นใช้ฝึกหัด และจำหน่ายต่อไป ไม่เห็นว่าจะต้องไปยิง อยากถามว่า ถ้าเขาเบิกไป 3 พันนัด ยิงไป 300 นัด ขาดไป 2700 นัด แสดงว่าต้องมีคนตาย 2700 คนหรือไม่ ถามว่าคนตายอยู่ที่ไหน มีใครบอกว่า ทหารเอาปืนไปยิงคน สื่อไปเอามาจากไหน ต้องไปถามข้อมูลจากคณะกรรมาธิการทหาร เพราะตนถามลูกน้อง เขาบอกว่าไม่ได้ยิงใครสักคน มีแต่โดนยิง

อนึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ถนนราชปรารภ และถนนพระรามสี่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่โฆษก ศอฉ. ขณะนั้นเคยชี้แจงว่าทหารที่จับปืนเอ็ม 16 ติดลำกล้องเล็งอยู่บนที่สูงนั้นเรียกว่า “เจ้าหน้าที่พลแม่นปืนระวังป้องกัน” มีหน้าที่คอยระวังภัยให้กับทหารในหน่วยที่ปฏิบัติการด้านล่าง ตรวจสอบบุคคลที่ถืออาวุธจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะยิงคุ้มครอง โดยอาวุธที่ใช้ปืนทราโว่ และปืนเอ็ม 16 แบบติดกล้องเล็ง จะมีเจ้าหน้าที่ทหารอีก 1 คนตรวจสอบพื้นที่มุมกว้างให้ "ไม่ได้ยิงตามอำเภอใจ เขายิงเมื่อเห็นเป้าหมายเท่านั้น"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมนานาชาติเรื่องโรฮิงยา-ชี้พม่าร้าวลึกเรื่องชาติพันธุ์ยิ่งกว่าเรื่องประชาธิปไตย

Posted: 16 Aug 2012 02:10 PM PDT

นักวิชาการบังกลาเทศเสนอให้เจรจา รบ.พม่าให้คืนสัญชาติแก่ชาวโรฮิงยาเป็นอันดับแรก ด้านชาวมุสลิมในมาเลเซียและอีกหลายประเทศเตรียมส่งสิ่งของทางเรือเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงยาถึงรัฐอาระกัน ขณะที่สมาคมชาวพุทธในมาเลเซีย เรียกร้องรัฐบาลพม่ายุตินองเลือด และล่าสุดองค์การความร่วมมืออิสลามลงมติให้นำเรื่องโรฮิงยาเข้าที่ประชุมสหประชาชาติ

ในการประชุมวิชาการนานาชาติโรฮิงยา ภายใต้หัวข้อ “Contemplating Myanmar Rohingya People’s Future in Reconciliation and (Democratic) Reform.” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมศักยภาพชุมชน ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นั้น

นักวิชาการยันโรฮิงยาเคยถูกรับรองเป็นพลเมืองพม่า
ในสมัยก่อนรัฐประหารโดย “นายพลเนวิน”

ดร.ฮาบิบ ซิดดีกี ผู้อำนวยการศูนย์ Arakan Burma Research Center ซึ่งอภิปรายหัวข้อ “Analysis of Muslim Identity and Demography in Arakan” กล่าวยืนยันว่าชาวโรฮิงยาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในรัฐอาระกันมาตั้งแต่ก่อนพม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี 1946 นายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า บิดาของออง ซาน ซูจี เคยรับรองสิทธิให้แก่ชาวโรฮิงยาเป็นพลเมือง และถือว่าเป็นชนพื้นเมืองด้วย “เราให้เช็คเปล่าแก่คุณ เราอยู่ด้วยกัน และตายด้วยกัน”

ทั้งนี้กฎหมายที่บังคับใช้สมัยอังกฤษปกครองพม่า ก็ไม่ได้ถือว่าชาวโรฮิงยาเป็นชาวต่างชาติที่ต้องไปขึ้นทะเบียนตามกฎหมายชาวต่างชาติ ในช่วงการบริหารงานของอาณานิคม ก็มีผู้แทนสภาที่เป็นชาวโรฮิงยามาจากทางตอนเหนือของรัฐอาระกัน มีชาวโรฮิงยาประกอบอาชีพต่างๆ เป็นแพทย์ เป็นทหาร เป็นข้าราชการ ในสมัยที่พม่าได้รับเอกราช ทั้งตามสัญญาออง ซาน – แอตลี ปี ค.ศ. 1947 และ Burma Independence Act ค.ศ. 1947 และตามรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1947 จนถึงก่อนการรัฐประหารของนายพลเนวินในปี ค.ศ. 1962 ก็ถือว่าชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองในดินแดนของพม่า

ทั้งนี้ที่เมืองเมาก์ดอว์ (Maungdaw) และบูดีเท่าก์ (Buthidaung) ชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ เป็นชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อย่างเช่นที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพม่าเป็นชนกลุ่มใหญ่ในรัฐของชาติพันธุ์ อย่างรัฐคะฉิ่น รัฐคะยา หรือรัฐมอญ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหารของนายพลเนวิน ในพม่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเลือกปฏิบัติ ไม่เฉพาะกับชาวพม่าปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็ปฏิบัติต่อกัน ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก่อนเป็นอาณานิคมอังกฤษ รัฐอาระกันเพิ่งอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์พม่าไม่เกิน 40 ปี และอังกฤษมีอำนาจในรัฐอาระกันยาวนานกว่าเสียอีก

นอกจากนี้ชาวโรฮิงยาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานได้ ถูกเลือกปฏิบัติ มีการทำลายมัสยิดอย่างเป็นระบบ ในอินเทอร์เน็ตก็มีการแสดงความเห็นในทำนองเกลียดชัง โดยพวกที่เหยียดเชื้อชาติมักจะใช้คำว่า “ “นั่นไม่ใช่พวกเรา  นั่นเป็นพวกเขา” และในปี 2552 ทูตพม่าที่ฮ่องกงก็บอกว่า “โรฮิงยาน่าเกลียดเหมือนยักษ์” มีสีผิวต่างจากชาวพม่า

“พวกเรายังอยู่ในยุคที่คนตัดสินความเป็นมนุษย์กันด้วยสีผิวแบบนี้หรือ ทั้งที่เลขาธิการยูเอ็นคนก่อนก็เป็นคนผิวสี” ดร.ฮาบิบกล่าว

โดยสหประชาชาติก็ประมาณการว่ามีชาวโรฮิงยาประมาณ 800,000 คนจากอาระกัน ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกดขี่ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าบังกลาเทศ ไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคร้ายอย่างมาก

 

นักวิชาการบังกลาเทศชี้พม่ามีปัญหาชาติพันธุ์
ที่ร้าวลึกกว่าปัญหาประชาธิปไตย

ส่วน ดร.อบิด บาฮาร์ นักวิชาการชาวบังกลาเทศ ปัจจุบันอยู่ที่Dawson College ประเทศแคนาดา ผู้เขียนหนังสือ Burma Missing Dots ซึ่งอภิปรายในหัวข้อ “Analysis of Muslim Identity and Demography in Arakan”

กล่าวว่าปัญหาในพม่าเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาของพม่าไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาชาติพันธุ์ โดย 1 ใน 3 ของประชากรพม่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวพม่า และ 2 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่พม่า

ทั้งนี้พม่ามักกล่าวว่า โรฮิงยาทุกคนมาจากบังกลาเทศ คำถามก็คือ ทำไม ทั้งๆ ที่ GDP ของรวมของบังกลาเทศสูงกว่าพม่า เนปาล ภูฏาน และศรีลังกา บังกลาเทศ GDP สูงกว่าพม่าเพราะบังกลาเทศเป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้าง ขณะที่พม่าทั้งที่มีทรัพยากรและเนื้อที่มาก แต่มีปัญหาประชาธิปไตย

อบิด บาฮาร์ กล่าวว่าในพม่ามีธรรมชาติของการปฏิเสธการมีตัวตนอยู่ของชาวโรฮิงยา โดยชาวโรฮิงยามักถูกประณามว่าเป็นชาติที่เพิ่งเข้ามาในพม่า แต่ผมพบว่าชาวโรฮิงยาเข้ามาอยู่ในรัฐอาระกันนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ โดยชาวโรฮิงยาหยุดเข้ามาในรัฐอาระกันตั้งแต่ตอนที่กษัตริย์ Shah Sulja ถูกฆ่าโดยกษัตริย์อาระกัน

ทั้งนี้ ทางการพม่าบอกว่าชาวโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองพม่า เพราะเป็นชาวจิตตะกองที่พูดภาษาพม่าไม่ได้ดี แต่ที่จริงคนส่วนใหญ่ในพม่าก็พูดภาษาพม่าไม่ได้ดี เพราะระบบการศึกษาที่จำกัด ขณะที่ชาวโรฮิงยาไม่สามารถเรียนได้เกินเกรด 5 แล้วจะไปเรียกร้องให้ชาวโรฮิงยาพูดภาษาพม่าให้ดีได้

อบิด บาฮาร์ เชื่อว่า เชื้อสายของชาวโรฮิงยานั้นมาจากหลายทาง นอกจากเชื้อสายเบงกอลแล้วยังมีเชื้อสายอาหรับ เปอร์เซีย หรือแม้แต่เชื้อสายโปรตุเกส เหมือนกับเชื้อสายของชาวดัตซ์นั้นมาจากหลายทาง และเพราะชาวโรฮิงยาได้รับผลกระทบร่วมกัน จึงทำให้พวกเขาหลอมรวมกัน

โดยเขาเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ต้องมีการเจรจากับทางการพม่าในเรื่องของการคืนสัญชาติ และเมื่อได้รับการรับรองสัญชาติ จึงจะได้เรียกร้องสิทธิอื่นๆ เช่นเดียวกับพลเมืองของพม่า ทั้งนี้คงมีชาวโรฮิงยาที่คิดจะแก้ปัญหาด้วยกองกำลัง แต่ผมเชื่อเรื่องการเจรจา อย่างไรก็ตามก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะไปควบคุมใครได้ เพราะคนที่คิดแบบนี้ เป็นเพราะครอบครัวของเขาอาจถูกทำลาย แต่ถ้าเราเชื่อเรื่องการปรองดองก็ต้องมุ่งไปเจรจากับทางการพม่า แต่ถ้าชาวโรฮิงยาบอกว่าอยากปรองดองก็อาจไม่มีผลเพราะเป็นการปรองดองข้างเดียว ต้องเป็นทางการพม่าที่กล่าวว่าต้องการปรองดอง โดยถ้าคุณเป็นประธานาธิบดี ต้องเป็นประธานาธิบดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ประธานาธิบดีของคนพม่า

ทั้งนี้ยิ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ออง ซาน ซูจี ใช้คำว่า “ไม่ทราบ” เกี่ยวกับเรื่องโรฮิงยา และใช้คำว่า “ผู้ที่ถูกเรียกว่า โรฮิงยา” ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวถามออง ซาน ซูจีระหว่างการเยือนยุโรป ทั้งที่ออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำฝ่ายค้านของพม่า เป็นผู้นำระดับโลก ออง ซาน ซูจี ไม่ได้เลือกพูดว่าจะสนับสนุนสิทธิการเป็นพลเมืองของโรฮิงยาอย่างที่นายพล ออง ซาน หรืออดีตนายกรัฐมนตรีอูนุ รับรอง ซึ่งถ้าออง ซาน ซูจีพูดแบบนี้ ชาวโรฮิงยาก็จะได้รับการปกป้อง แต่นี่ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กลับไม่ได้พูดอะไร

นอกจากนี้เขาเสนอให้ชาวโรฮิงยา เรียกตนเองว่า “Muslim of Arakan” หรือชาวมุสลิมแห่งอาระกัน ควบคู่ไปกับการใช้คำว่าโรฮิงยาด้วย เขาเสนอด้วยว่าทั้งชาวอาระกันหรือยะไข่ และชาวโรฮิงยา ถือเป็นเพื่อนบ้านกันจะต้องอยู่ด้วยกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะขับไล่ชาวโรฮิงยาจนถึงชาวโรฮิงยาคนสุดท้ายได้ เขาเชื่อว่าทั้งชาวอาระกันและชาวโรฮิงยาต่างก็เป็นคนดี คนมีน้ำใจ ถ้ามีเพื่อนเป็นชาวโรฮิงยานั่นหมายความว่าคุณจะมีเพื่อนที่ดีที่สุด จึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายลดราวาศอกต่อกัน และให้เคารพซึ่งกันและกัน

 

เตรียมลอยเรือออกจากปีนังเพื่อส่งอาหาร 400 ตัน ช่วยโรฮิงยา

ขณะเดียวกัน โมฮัมหมัด อัซมี อับดุล ฮามิด ประธานโครงการ Humanitarian Flotilla to Arakan จากมาเลเซีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังเกิดสถานการณ์ในรัฐอาระกัน ได้เข้าไปในพม่าเพื่อหารือกับผู้นำรัฐบาล รวมทั้งฝ่ายค้านอย่างนางออง ซาน ซูจี แต่ทั้งเต็ง เส่งและออง ซาน ซูจีไม่ได้ออกมาพบ

ทั้งนี้ตนได้นำจดหมายจากสมาคมพุทธศาสนาในประเทศมาเลเซีย ไปให้ผู้นำรัฐบาลพม่า เพื่อให้เปิดหูเปิดตาว่านอกจากประเทศพม่าแล้ว ยังมีชาวพุทธในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม แต่ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข มีความเข้าใจกัน และชาวพุทธก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่พม่าไม่รับหนังสือ ขณะที่เลขานุการส่วนตัวของออง ซาน ซูจี บอกว่าผู้นำฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้มากเพราะจะถูกกองทัพจัดการ

ขณะเดียวกัน เราต้องการเข้าไปดูสถานการณ์ในรัฐอาระกัน แต่ไม่ได้รับอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเข้าไปได้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขาต้องการซ่อนความจริง

โดยโมฮัมหมัด อัซมี อับดุล ฮามิด เปิดเผยด้วยว่าหลายองค์กรในมาเลเซีย และชาวมุสลิมในหลายประเทศภายใต้โครงการ “Humanitarian Flotilla to Arakan” วางแผนที่จะนำสิ่งของช่วยเหลือโดยเฉพาะอาหารและยาจำนวน 400 ตัน เข้าไปในรัฐอาระกัน โดยในเดือนกันยายนจะส่งสิ่งของเข้าไปทางเรือจากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ผ่านทะเลอันดามันไปยังเมืองซิตตะเหว่ของรัฐอาระกัน

 

สมาคมชาวพุทธในมาเลเซีย เรียกร้องรัฐบาลพม่ายุตินองเลือด

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด เว็บไซต์มาเลเซียกินี รายงานว่า เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) สมาคมยุวพุทธศาสนิกมาเลเซีย (Young Buddhist Association of Malaysia) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยา โดยเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในรัฐอาระกันทันที และให้กลุ่มต่างๆ มีการหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้อย่างสันติวิธี และปราศจากความรุนแรง

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านใช้ความพยายามอย่างเร่งด่วนในการยุติความรุนแรงต่อประชาชนในรัฐอาระกัน ด้วยการปฏิบัติภายใต้กฎหมายที่มีความเป็นประชาธิปไตย

ในข้อสุดท้ายของแถลงการณ์สมาคมยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอิสระและในระดับนานาชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ให้เข้าไปในพื้นที่ๆ เกิดผลกระทบ เพื่อส่งมอบสิ่งของที่มีความจำเป็น และเพื่อยุติการนองเลือดในรัฐอาระกัน

 

ชาติอิสลามลงมตินำเรื่องโรฮิงยาเข้าที่ประชุมสหประชาชาติ

ขณะเดียวกันสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ IOC ซึ่งมีสมาชิก 57 ชาติ ได้มีมติเมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ประณามการใช้ความรุนแรงในรัฐอาระกัน ที่ฝ่ายรัฐบาลกระทำต่อสมาชิกชนกลุ่มน้อย ชาวมุสลิมโรฮิงยา และการปฏิเสธไม่ยอมรับในสิทธิความเป็นพลเมือง และให้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ. เอกวาดอร์ให้สิทธิลี้ภัยทางการเมืองแก่ 'จูเลียน อัสซานจ์'

Posted: 16 Aug 2012 12:28 PM PDT

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ 'วิกิลีกส์' ได้รับสิทธิในการลี้ภัยทางการเมืองจากเอกวาดอร์แล้ววันนี้ หลังขอลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนราว 2 เดือน เหตุเลี่ยงการถูกเนรเทศกลับสวีเดนเพื่อสอบสวนข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ

16 ส.ค. 55 - รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเอกวาดอร์แถลงข่าวในกรุงคีโต เมืองหลวงของประเทศเช้าวันพฤหัสตามเวลาท้องถิ่นว่า ประเทศเอกวาดอร์ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองแก่จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์แล้ว หลังจากที่อัสซานจ์ขอลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอนราว 2 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวไปสอบสวนในข้อหาข่มขืนและทำร้ายร่างกายที่ประเทศสวีเดน โดยรบ.เอกวาดอร์ระบุว่ามีเหตุกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนของนายอัสซานจ์   

การให้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองแก่อัสซานจ์ เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐอเมริกาไม่ยืนยันแก่รัฐบาลเอกวาดอร์ว่า หากอัสแซนจ์ถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในประเทศสวีเดน เขาจะไม่ถูกส่งต่อไปดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกาในข้อหาเผยแพร่เอกสารลับของรัฐบาลทางเว็บไซต์วิกิลักส์ 

รัฐบาลเอกวาดอร์ยังกล่าวหารัฐบาลอังกฤษด้วยว่า ใช้วาจาและแสดง"การข่มขู่อย่างเปิดเผย" ที่จะบุกจับกุมนายอัสแซนจ์ในสถานทูตเอกวาดอร์ โดยการใช้พ.ร.บ.การทูตและกงสุล ปี 1987 ยกเลิกสิทธิคุ้มครองพิเศษแก่สถานทูตที่ตั้งอยู่ในอังกฤษ เพื่อเอื้อให้ทางการอังกฤษสามารถเข้าจับกุมนายอัสซานจ์ที่กำลังซ่อนตัวอยู่ได้ 

ทั้งนี้ นายอัสซานจ์ เป็นชาวออสเตรเลียผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ที่เผยแพร่เอกสารลับของรัฐบาลสหรัฐและโทรเลขทางการทูตซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานหลายพันฉบับ เขาเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลสวีเดน เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายและข่มขืนอดีตอาสาสมัครหญิง 2 รายที่ทำงานให้เว็บไซต์วิกิลีกส์เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่อัสซานจ์ปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการสมยอม 


ที่มาภาพ: By Espen Moe [CC-BY-2.0], via Wikimedia Commons

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการเอกวาดอร์เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า รัฐบาลอังกฤษจะไม่ยอมให้อัสซานจ์เดินทางออกนอกประเทศได้ ถึงแม้จะได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง อัสซานจ์จึงอาจต้องอาศัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ต่อไป 

มีผู้สนับสนุนนายอัสซานจ์รวมตัวประท้วงบริเวณหน้าสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนตลอดทั้งวัน โดยผู้กำกับสารคดีชาวอเมริกัน ไมเคิล มัวร์ ได้ทวีตชักชวนให้ประชาชนในลอนดอนออกไปชุมนุมหน้าสถานทูตเอกวาดอร์เพื่อคัดค้านการเนรเทศนายอัสซานจ์ด้วย  

ด้านเว็บไซต์ GlobalPost รายงานคำสัมภาษณ์ของซีซาร์ ริควอร์เต ผู้อำนวยการขององค์กร Fundamedios ซึ่งเป็นกลุ่มด้านวารสารศาสตร์ที่ไม่แสวงหากำไรในกรุงคิโต เห็นว่า การตัดสินใจของรัฐบาลเอกวาดอร์ที่ให้สิทธิการลี้ภัยแก่อัสซานจ์ เป็นเพียง "การทำประชาสัมพันธ์" ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีราฟาเอล คอร์เรีย โดยกลุ่มดังกล่าวชี้ว่า เสรีภาพด้านสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชนในประเทศเอกวาดอร์ตกต่ำมากที่สุดรองจากเพียงคิวบาเท่านั้น 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก 

Ecuador Grants Asylum to Assange, Defying Britain
http://www.nytimes.com/2012/08/17/world/americas/ecuador-to-let-assange-stay-in-its-embassy.html?pagewanted=all

Julian Assange: Ecuador grants Wikileaks founder asylum
http://www.bbc.co.uk/news/uk-19281492

Julian Assange granted asylum by Ecuador
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/europe/120816/julian-assange-granted-asylum-ecuador

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กะเทยแต่งหญิงรับปริญญา: ฤาจะได้ไม่คุ้มเสีย

Posted: 16 Aug 2012 11:23 AM PDT

จากกระแสข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2555 พาดหัวข่าวว่า “ธรรมศาสตร์ไฟเขียวบัณทิตชายแต่งหญิงรับปริญญาฯ” ในฐานะตนเองนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและความป็นธรรมทางเพศในมิติความหลากหลายทางเพศ (กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชายและเกย์) ต้องขอปรบมือและแสดงความชืมยินดีกับคุณบารมี พานิช หรือคุณเด่นจันทร์ที่ลุกขึ้นปกป้องและพิทักษ์สิทธิของตนเอง เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศ หากเมื่อพิจารณาการใช้เหตุผลอธิบายสนับสนุนเพื่อได้มาซึ่งสิทธิในแต่งกายที่เหมาะสมสำหรับตนเองหรือข้ามเพศนั้นจะพบว่ามีข้อสังเกตบางประการ กล่าวคือ

การใช้วาทกรรมทางการแพทย์อธิบายสนับสนุนว่า การเป็นกะเทย และหรือสาวประเภทสอง และหรือคนข้ามเพศ นั้นเป็นความเจ็บป่วยทางจิตที่ควรได้รับการบำบัดรักษาด้วยการแต่งกายข้ามเพศ นั้นขัดต่อหลักการยอกยาการ์ต้าว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ (2551) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการบีบบังคับผู้ใดให้รับกระบวนการทางการแพทย์ รวมถึงการผ่าตัดแปลงเพศ การทำหมัน การรักษาด้วยฮอร์โมน เพราะเป็นเงื่อนไขเพื่อให้ได้มาซึ่งการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย ดังนั้น การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายให้นักศึกษากะเทยต้องมีใบรับรองทางการแพทย์เป็นหลักฐานในการยื่นเรื่องของแต่งเครื่องแบบหญิง ทำให้กะเทยต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมตกเป็นผู้ป่วยทางจิต

แท้ที่จริงสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในวิถีชีวิตทางเพศของบุคคล เป็นสิทธิโดยชอบธรรม ติดตัวมาโดยกำเนิด ไม่สามารถพรากจากหรือรอนซึ่งสิทธิดังกล่าวได้ ดังนั้น กะเทยจึงมีความชอบธรรมในการกำหนดและบอกว่าตนเองเป็นเพศอะไร โดยไม่ต้องพึงความเห็นจากสถาบันทางการแพทย์

การระบุถ้อยคำ “ภาวะเพศสภาพได้ตรงกับเพศกำเนิด” เป็นถ้อยคำที่ถูกระบุในกฎกระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ในการระบุในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด.43) เท่านั้น เพราะในอดีตที่ผ่านมากะเทยที่ผ่านกระบวนการเกณฑ์ทหารจะถูกระบุในใบ สด.43 ว่าเป็นโรคจิตวิกลจริตรุนแรงถาวร ดังนั้น ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ร่วมกับมูลนิธิธรีนาถ เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และภาคีพันธมิตรจึงได้ร่วมกันสรรหาถ้อยคำ ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนจนได้ถ้อยคำว่า “ภาวะเพศสภาพได้ตรงกับเพศกำหนด” ซึ่งเป็นถ้อยคำในเชิงบวก เพื่อใช้ระบุแทนถ้อยคำเดิมที่มีความหมายเชิงลบ ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกระบวนการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ทางเพศภาวะและเพศวิถีก่อนการเกณฑ์ทหารนั้น กระทำโดยสถาบันการทางการแพทย์เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเพื่อยืนยันตัวตนทางเพศของกะเทย มิใช่ใช้ในการควบคุมและกำกับวิถีชีวิตกะเทยภายใต้นิยามของความเจ็บป่วยทางจิต

ผลกระทบระยะยาว ด้วยสังคมไทยยังไม่มีความรู้และเข้าใจเรื่องวิถีชีวิตทางเพศของกะเทย และองค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่อธิบายเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มองว่าเป็นความผิดปกติและเบี่ยงเบนทางจิต ปรากฎอยู่ในหลักสูตรสุขศึกษาและตำราทางการแพทย์ ซึ่งปราศจากการอธิบายในมิติสิทธิมนุษยชน สังคมและวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรังเกลียดและกลัว ส่งผลให้เกิดการตีตราเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ สอดคล้องกับรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ปี 2547 – 2550 ในประเทศไทย (2552) โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึง สถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติ การปฎิเสธการรับสมัครงาน กฎระเบียบตามสถาบันการศึกษาที่ห้ามนักเรียนแต่งชุดนักศึกษาข้ามเพศ การไม่อนุญาตให้แต่งกายผู้หญิงเข้าสอบ รวมถึงการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวมถึงในบางสาขาวิชาที่ไม่ได้ถูกระบุเป็นกฎระเบียบที่ชัดเจนแต่เพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสมัครเรียนจึงถูกปฏิเสธ เป็นต้น กะเทย มีอัตลักษณ์ที่เด่นชัด จึงมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำความรุนแรงและเลือกปฏิบัติ และคุกคามทางเพศสูง ดังนั้น หากกะเทยจำยอมให้ถูกระบุว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต ถือเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสมัครงานหรือการศึกษาต่อในบางสาขาวิชา ที่มีระเบียบนโยบายไม่รับผู้มีอาการทางจิต

เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ “หยุดระบุคนข้ามเพศเป็นผู้ป่วยทางจิต (Stop Trans Pathologisation)” นำโดยสหภาพกะเทยยุโรป Transgender EU, The International Lesbian and Gay Association (ILGA Europe) และองค์กรกะเทยอีก 130 ประเทศทั่วโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญว่า รากฐานแห่งความเกลียดชังกะเทย และหรือสาวประเภทสอง และหรือคนข้ามเพศ อันก่อให้เกิดการตีตรา การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ นั้น สาเหตุหลักมาจากสถาบันทางการแพทย์ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิตตัวตนของกะเทย จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้พร้อมกับรื้อสร้างองค์ความรู้ใหม่ว่า “กะเทยไม่ได้ป่วยทางจิต” เพื่อให้กะเทยได้มีความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตทางเพศของตนเองและลดการตีตราจากภายใน พร้อมสร้างความเข้าใจเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติทางสังคมที่มีต่อกะเทยและคนข้ามเพศในทางบวกต่อไป

ท่านผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมของเครือข่ายได้ที่ www.thaitga.com หรือในเฟสบุ๊ค www.facebook.com/thaitga

----------------------------------

เจษฎา แต้สมบัติ ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กำลังระดับศึกษาปริญญาโท สาขาสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นผู้ช่วยผู้ประสานงานภาคีความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านเพศภาวะเพศวิถีและสุขภาพ (คอนซอร์เทียม)

----------------------------------

เอกสารอ้างอิง

รายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ปี 2547-2550 ในประเทศไทย, กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,  2552.
หลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2551.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่างภาพทีวีเบิกความคดี ‘ลุงบุญมี’ เหยื่อสลายชุมนุม พ.ค.53

Posted: 16 Aug 2012 11:03 AM PDT

แสดงหลักฐานภาพถ่ายขณะ ‘ลุงบุญมี’ ถูกยิงโดยทหาร แจงเพื่อนนักข่าวเตือนทหารใช้กระสุนจริง ทนายญาติผู้ตายเผย คดีนี้ไต่สวนทุกพุธถึงต้นปีหน้า

15 ส.ค.55 - เวลาประมาณ 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้อง คดีหมายเลขดำที่ ช. 7/2555  ที่พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4  ขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ  71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ย่านบ่อนไก่ บริเวณท้องด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 ขณะถูกยิงเป็นช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยพนักงานอัยการ ได้นำช่างภาพสถานีโทรทัศน์หลักแห่งหนึ่ง มาเบิกความในฐานะพยานที่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ช่วงเวลาขณะเกิดเหตุได้

ช่างภาพที่เดินทางมาเป็นพยานได้เบิกความต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุ 14 พ.ค.53 ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณที่เกิดเหตุบริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ถนนพระราม 4 เพื่อเก็บภาพ ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีการตอบโต้กันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันปตท. และพยานได้ถ่ายภาพผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ทราบว่าผู้ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณดังกล่าวคือใคร จนกระทั่งพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำภาพถ่ายที่พยานได้ถ่ายไว้ให้ดู และไม่ทราบว่า หลังจากนั้น ผู้ตายไปรักษาพยาบาลใดและเสียชีวิตเมื่อใด

พยานเบิกความต่ออีกว่า ในวันเกิดเหตุต่อมา เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ นักข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพยานได้เตือนให้ระวังตัวด้วยเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารจะมีการใช้กระสุนจริง ขณะที่ถ่ายภาพยังมีเสียงระเบิดดังขึ้นมาจากฝั่งผู้ชุมนุมด้วย ส่วนพลุที่กลุ่มผู้ชุมนุมยิงมาใส่ฝั่งทหารนั้นไม่เป็นเหตุให้ทหารได้รับบาดเจ็บ ขณะบันทึกภาพมีกลุ่มผู้ชุมนุมถือไม้กระบองและขว้างก้อนหิน

นายณัฐพล ปัญญาสูง ทีมทนายจากมูลนิธิไทยรักไทย ในฐานะทนายญาติผู้เสียชีวิตสอบถามพยานถึงสาเหตุที่ทหารปฏิบัติการในบริเวณนั้นจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตว่าเป็นไปเพื่ออะไร พยานตอบว่าเพื่อที่จะสลายการชุมนุม ตามคำสั่งของคณะรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และขณะที่ถ่ายภาพในวันเกิดเหตุมีรถพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บตลอดทั้งวันอีกด้วย

ภาพนายบุญมี เริ่มสุข ขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ 
 
หลังจากไต่สวนเสร็จ นายณัฐพล เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า นายบุญมี เป็นผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม วันที่ 14 พ.ค.53 ที่บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี แถวบ่อนไก่ ซึ่งในวันนี้ ช่างภาพคนดังกล่าวที่เป็นพยาน ซึ่งปฏิบัติงานในบริเวณที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 11 - 19 พ.ค.53 ได้นำหลักฐานมาเสนอต่อศาลเพิ่มเติมเพื่อให้พิจารณาถึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้นำภาพถ่ายของตนเองที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นที่แสดงถึงการปฏิบัติการของทหารที่ใช้อาวุธยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม และแผ่น VCD ที่ถ่ายขณะเกิดเหตุว่ามีทหารเริ่มปฏิบัติการเพื่อสลายการชุมนุม รวมถึงภาพถ่ายเห็นผู้ชุมนุมถูกฝ่ายทหารยิงบริเวณบ่อนไก่ ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นลุงบุญมี (ผู้เสียชีวิตในคดีนี้) มาเสนอต่อศาลด้วย
 
นายณัฐพล กล่าวว่า ลุงบุญมีไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมแต่เป็นประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุมานั่งรอรับหลานและถูกยิง
 
ทนายญาติผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 15 ส.ค. 55) เดิมอัยการจะเรียกทหารที่ปฏิบัติการในวันนั้นมาไต่สวน อย่างไรก็ตาม ทางทหารได้ขอเลื่อนจึงได้นำพยานปากนี้มาแทน ซึ่งคาดว่าทหารจะเข้าเบิกความในวันพุธหน้า โดยคดีนี้จะมีการไต่สวนทุกวันพุธ ไปจนจบประมาณต้นปีหน้า
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดผลสำรวจหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มกว่า 30% จี้รบ.คุมราคาสินค้า

Posted: 16 Aug 2012 09:17 AM PDT

(16 ส.ค.55) ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แถลงข่าวผลสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงานปี 2555 หลังรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง (กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า คสรท.ได้สำรวจผู้ใช้แรงงานใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง จำนวน 2,516 คน ครอบคลุม 5 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ ไฟฟ้า ยานยนต์ สิ่งทอ ปิโตรเลียมเคมีภัณฑ์ และธนาคารและการเงิน

โดยพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 76.6 นายจ้างปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทหลังเดือนเมษายน 2555 ตามที่รัฐบาลประกาศ ขณะที่ร้อยละ 18.3 มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข และอีกร้อยละ 5.1 ไม่มีการปรับค่าจ้าง

ชาลีกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานทั้งแบบรายคนและรายครอบครัว ในช่วง ส.ค.54 กับ พ.ค.55 พบว่า ทั้ง 8 พื้นที่ที่สำรวจ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยค่าใช้จ่ายในปี 54 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 348.39 บาทต่อวัน ส่วนปี 55 เท่ากับ 462.31 บาทต่อวัน ขณะที่รายครอบครัวในปี 54 เท่ากับ 561.79 บาทต่อวัน และในปี 55 เท่ากับ 740.26 บาทต่อวัน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งสองปี พบว่า เพิ่มขึ้น 113.92 บาท หรือร้อยละ 32.7

ด้านค่าใช้จ่ายรายเดือน ในปี 54 คิดเป็นรายคนเท่ากับ 10,451.7 บาท ส่วนปี 55 เท่ากับ 13,869.3 บาท และรายครอบครัวปี 54 เท่ากับ 16,853.7 บาท ในปี 55 เท่ากับ 22,207.8 บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งสองปี พบว่า เพิ่มขึ้น 178.47 บาท หรือร้อยละ 31.77


ที่มา: คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ชาลี กล่าวว่า นอกจากนี้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานระบุว่ามีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้สิน เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% โดยเป็นหนี้จากการกู้เงินนอกระบบมากที่สุด รองลงมาเป็นหนี้ธนาคาร หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ และหนี้บัตรเครดิต

ยงยุทธ เม่นตะเภา กรรมการอำนวยการ คสรท. กล่าวว่า จากการสำรวจมีแรงงาน ร้อยละ 23.4 ที่มีการปรับค่าจ้างแบบมีเงื่อนไข เช่น นำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้าง การเปลี่ยนสภาพการจ้างงาน และบางรายไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งนี่สะท้อนถึงการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมใช้แรงงานราคาถูกต่อไปได้ โดยปล่อยให้การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นการตัดสินใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเท่านั้น ทั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการดูแล บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ยงยุทธเรียกร้องด้วยว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงเกินความเป็นจริง เพื่อไม่ให้ผู้ใช้แรงงานยิ่งมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น นอกจากนี้ บางจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกัน เช่น สมุทรปราการกับชลบุรี กลับมีค่าจ้างขั้นต่ำต่างกัน ขณะที่ค่าครองชีพไม่ต่างกัน ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.76 ต่อปี แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.57 ต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ เสนอว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรต้องปรับตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศ

ยงยุทธเสนอว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมเพื่อรองรับแรงงานกลุ่มอื่นๆ เช่น แรงงานนอกภาคอุตสาหกรรมที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างแต่ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะค่าครองชีพและราคาสินค้าที่สูงขึ้นด้วย แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่า คสรท.ยังสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไป แต่รัฐบาลควรเข้ามาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่านี้

ทั้งนี้ ยงยุทธยังเรียกร้องให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด เพื่อให้มีการปรับค่าจ้างที่สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยจากการสำรวจของ คสรท.พบว่า ค่าจ้างที่จะเพียงพอสำหรับแรงงาน 1 คนนั้นอยู่ที่ 348 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากจะให้เพียงพอสำหรับลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัวตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ จะต้องอยู่ที่ 561 บาทต่อวัน

ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง เสนอว่า คณะอนุกรรมการค่าจ้างนั้นควรมีชุดเดียว เพราะในอนาคตค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศอยู่แล้ว ทั้งนี้ ควรมีการจัดทำโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามประสบการณ์ทำงาน โดยแยกตามประเภทอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน

ส่วนกรณีที่มีเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบรายย่อยระบุว่าประสบปัญหาจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ธนพรกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรต้องดูที่มาของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย เนื่องจากการจ้างงานปัจจุบันสลับซับซ้อน บางรายเป็นการจ้างเหมาช่วงจากสถานประกอบการรายใหญ่ ถ้าเช่นนี้ ถามว่าจะไม่มีอำนาจจ่ายจริงหรือ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“พงศ์จรัส รวยร่ำ” นักกฎหมายด้านสิทธิฯ คว้า “รางวัลสันติประชาธรรม” คนแรก

Posted: 16 Aug 2012 07:33 AM PDT

มอบรางวัลเกียรติยศ “สันติประชาธรรม” สำหรับบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสังคม ตามแนวทางของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ แก่ “พงศ์จรัส รวยร่ำ” ในงานครบรอบ 67 ปี วันสันติภาพไทย

 
 
วันนี้ (16 ส.ค.55) มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จัดพิธีมอบรางวัลสันติประชาธรรม ครั้งแรก แก่พงศ์จรัส รวยร่ำ นักกฎหมายประเด็นสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ อดีตอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากองทัพภาค 2 และที่ปรึกษาอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ศาลอาญาธนบุรี สำหรับบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสังคมตามแนวทางของ นายป๋วย อึ๋งภากรณ์ เพื่อให้สังคมเกิดความยุติธรรม เสมอภาค ไม่มีความเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน และใช้เหตุผลแก้ปัญหาให้เกิดสังคมสันติประชาธรรมอย่างแท้จริง
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการหาทุนและเลือกสรรบุคคล ระบุว่า รางวัลเกียรติยศสันติประชาธรรมจะทำการมอบให้บุคคลที่ทำคุณแก่สังคมเป็นประจำทุกปีต่อไป โดยในปีนี้มอบรางวัลเป็นเงิน 5 แสน และคำประกาศกิติคุณ นอกจากนี้ การมอบรางวัลในวันสันติภาพไทยนั้นถือเป็นวันที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นวันที่เสรีไทยได้มอบคืนอาวุธที่ใช้ในการเคลื่อนไหวคืนให้พันธมิตร หลังทำหน้าที่ตามที่ปฏิญาณไว้ โดยไม่ได้หวังลาภยศสรรเสริญ
 
ด้านพงศ์จรัส ในฐานะผู้เคลื่อนไหวประเด็นสิทธิมนุษยชนในภาคใต้กล่าวว่า การที่รัฐใช้เงินไปโถมเพื่อการแก้ปัญหายิ่งเป็นการทำลายทำลาย เพราะเงินถือเป็นตัวปัญหา หากอยากให้คนพุทธและมุสลิมกลับไปอยู่ร่วมกันได้ ต้องหยุดการแก้ปัญหาอย่างที่เคยทำมาอย่างการใช้ความรุนแรง เพราะหากจะฆ่า ก็ฆ่าเท่าไหร่ไม่หมด และคนเหล่านั้นเขาไม่กลัวการใช้กำลัง แต่กลัวบาปตามหลักการศาสนา
 
พงศ์จรัส กล่าวด้วยว่า สำหรับเงินที่ได้รับจะไม่นำไปใช้ส่วนตัว แต่จะเอาไปใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นายป๋วย อึ๋งภากรณ์ และผู้มอบรางวัลนี้
 
 
 
 
คำประกาศเกียรติคุณรางวัลเกียรติยศ สันติประชาธรรม 
สำหรับบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสังคม ตามแนวทางของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์
 
นายพงศ์จรัส รวยร่ำ ปัจจุบันอายุ ๕๖ ปี เกิดวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์และมหาบัณฑิตทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และประกาศนียบัตรหลักสูตรการจัดการความขัดแย้งจากสถาบันพระปกเกล้า
 
เส้นทางการทำงานในวิชาชีพกฎหมายมีความหลากหลายอย่างเชื่อมโยงกัน เริ่มต้นจากการเป็นทนายความของสำนักงานกฎหมายเสนีย์ ปราโมช เข้าทำงานในวงการศึกษาในฐานะเป็นเลขานุการของ รศ.ดร.สมศักดิ์ สิงหพันธุ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และทำงานการเมืองสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากประสบการณ์ดังกล่าวหล่อหลอมให้นายพงศ์จรัส รวยร่ำเป็นนักกฎหมายที่มีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง ล้ำเลิศในข้อกฎหมาย เจนจัดในข้อเท็จจริง และที่สำคัญมีสมัครพรรคพวกแทบทุกวงการ อีกทั้งอุปนิสัยรักการใฝ่หาความรู้ ชอบอ่านหนังสือแนวปรัชญาและตั้งวงสนทนาวิสาสะกับมิตรสหายอย่างออกรส จึงทำให้ทนายความผู้นี้ก้าวข้ามนักนิติอักษรศาสตร์ไปสู่แก่นสาระของกฎหมายในฐานะนักยุติธรรม
 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานายพงศ์จรัส รวยร่ำ เป็นทนายความที่มีอุดมการณ์ในการทำงานมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาส ด้วยความเห็นใจในความทุกข์ยากและลำบากของเพื่อนมนุษย์ หรือผู้ที่ถูกเอาเปรียบทางสังคม ด้วยเด่นชัดในบุคลิกภาพที่โผงผาง กล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา และไม่สยบยอมกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม บุคลิกภาพเช่นนี้คือมิตรแท้ที่จริงใจสำหรับผู้ที่รักความเป็นธรรมหรือถูกระบบรังแก ยิ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสด้วยแล้ว นายพงศ์จรัส รวยร่ำเป็นดั่งความหวังและที่พึ่งสุดท้ายของผู้ทุกข์ทน จึงไม่แปลกใจเลยที่พุทธศาสนิกชนศิษย์สำนักสวนโมกขพลารามผู้นี้จะผ่านการคัดสรร และได้รับการประทานโอกาสจากองค์อัลลอฮ์ให้มีศรัทธาร่วมกับพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการต่อสู้จากความอยุติธรรมทั้งปวง เช่น การต่อสู้ทางคดีให้เปิดสอนโรงเรียนอิสลามบูรพา ภายหลังจากถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นแหล่งก่อการร้ายและสั่งปิด การต่อสู้เพื่อพิทักษ์มรดกทางวิถีประชาราษฎร์ (ผลักดันให้มีการจัดการสอนภาษาอาหรับผ่านระบบการศึกษาทางไกลกับมหาวิทยาลัยนานาชาติมาดีนะฮ์และคัดค้านนโยบายปิดโรงเรียนปอเนาะ) ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาในคดีก่อการร้าย หรือ การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่พี่น้องมลายู ฯลฯ นอกจากประเภทงานร้อนแล้วเขาได้พยายามกระชับพื้นที่ประสานความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเพื่อนฝ่ายรัฐ (การเมือง กองทัพ ฝ่ายปกครอง) กับผู้นำศาสนาอย่างแยบคาย ทั้งนี้ ไม่นับน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เขาให้การอุดหนุนทางการศึกษาและประกอบอาชีพซึ่งไม่น่าจะน้อยกว่าหลักพันคน
 
เมื่อครั้ง นายพงศ์จรัส รวยร่ำเป็นอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในหลายเรื่อง และเป็นผู้ริเริ่มโครงการฝึกอาชีพและปรับทัศนคติให้กับผู้ต้องสงสัยในคดีก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยแลกเปลี่ยนกับการไม่ถูกดำเนินคดีจากทางการ แม้โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อตัวเขาก็ตาม แต่เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงจุดยืนที่มั่นคงและความกล้าหาญทางจริยธรรมที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นสำคัญกว่าตนเอง 
 
ปัจจุบันนายพงศ์จรัส รวยร่ำได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของกองทัพภาคที่ ๒ และที่ปรึกษาอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา  ศาลอาญาธนบุรี และเป็นอาจารย์พิเศษในหลายสถาบันการศึกษา จึงเป็นเครื่องรับรองคุณภาพได้เป็นอย่างดี
 
จากปฏิปทาที่ผ่านมาทำให้เชื่อว่า นายพงศ์จรัส รวยร่ำ ไม่ใคร่ใส่ใจต่อลาภ เกียรติยศ และการสรรเสริญ แต่ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาต่อวงการกฎหมายไทยในปัจจุบัน ยิ่งประจักษ์ว่า นักกฎหมายที่มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณเพื่อสาธารณะเช่นนายพงศ์จรัส รวยร่ำนั้น นับเป็นแบบอย่างของ “นักนิติสามัญสำนึกศาสตร์” ที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยประดุจแสงไฟเพื่อส่องทางให้แก่ประชาราษฎร์ผู้ทุกข์ระทม จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเป็น ผู้ที่เหมาะสมกับการประกาศเกียรติคุณรางวัลเกียรติยศสันติประชาธรรมสำหรับบุคคลที่อุทิศตนเพื่อสังคมตามแนวทางของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยิ่งนัก 
 
ที่มา: Sulak Sivaraksa 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอรณรงค์ค้านผูกขาดยาในการทำเอฟทีเอกับอียูใช้กลยุทธ์ส่งต่อถล่มเฟซบุ๊กกรมเจรจาการค้า

Posted: 16 Aug 2012 06:39 AM PDT

เฟซบุ๊คกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศถูกถล่มด้วย viral campaign กลยุทธ์ส่งต่อทางสื่อสังคมออนไลน์ คัดค้านการผูกขาดยาในเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป เอ็นจีโอผู้ริเริ่มการรณรงค์ชี้แนวทางนี้เพื่อต้องการให้กรมเจรจาการค้าชี้แจงเหตุผลว่าทำไมต้องเร่งรัดการเจรจาและบิดเบือนข้อมูล ซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ
 
16 ส.ค. 55 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เมื่อเวลา 10 นาฬิกาเป็นต้นมา ในวันนี้ (16 ส.ค.55) ในโซเซียลเน็ตเวิร์คมีการส่งต่อภาพและข้อมูลคัดค้านการยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยาในเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ 
 
ภาพและข้อความที่ส่งต่อทอดกันทางออนไลน์ และจำนวนหนึ่งไปโพสต์ที่หน้าเพจของกรมเจรจาการค้า http://www.facebook.com/TradeNegotiations เป็นรูปภาพนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีข้อความว่า
 
“ช่วยกันส่งต่อเพื่อร่วมประณามกรมเจรจาการค้าที่เสนอให้รัฐบาลยอมแลกยากับการลดภาษีกุ้งไก่ งุบงิบข้อมูลเร่งรัดเจรจา EU-Thai FTA เราอยากได้ยินจากปากของคุณ เพราะไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริง...จริงหรือที่คุณศรีรัตน์เสนอให้รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องของอียูให้ผูกขาดข้อมูลทางยาโดยอ้างว่า ไม่มีผลกระทบ ทั้งที่งานวิจัยชี้ชัดว่าแค่ 5 ปี จะสูญเสียกว่า 80,000 ล้านบาท
 
จริงหรือที่จะมีการรวบรัดให้ ครม.อนุมัติอังคารนี้ โดยไม่ผ่านประชาพิจารณ์ หรือจะเอา ครม.ไปเสี่ยงผิด รธน.อีก
 
จริงหรือที่กรมเจรจาการค้าฯจะไม่รอและไม่ใช้รายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดจากเอฟทีเอกับอียูที่ อย.กำลังทำอยู่
 
อย่าให้เรื่องที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายนี้ ถูกตัดสินอย่างขาดข้อมูล ขาดความโปร่งใส หรือมีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง หยุดมติครม. หยุดการผูกขาดยาเพิ่มอีก 5 ปี”
 
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รูปภาพมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า “จับตารัฐบาลและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เอาอุตสาหกรรมยาไทย และระบบสุขภาพของประชาชนไปแลกกับผลประโยชน์การส่งออกไก่ กุ้ง  โดยการยอมรับข้อเรียกร้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลยไปกว่าข้อตกลงองค์กรการค้าโลก ซึ่งจะมีผลให้ เกิดการผูกขาดข้อมูลทางยา ที่เรียกว่า Data Exclusivity
 
กรมเจรจา ฯ ใช้วิธีการบิดเบือนข้อมูลสร้างความเข้าใจผิด เรียกการผูกขาดข้อมูลทางยาว่า "การคุ้มครองข้อมูลทดสอบทางยา" (Data Protection) และกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า ไม่มีผลกระทบต่อราคายาปัจจุบัน และการที่ทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปีก็มีผลกระทบจำกัด  ทั้งที่มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุผลกระทบไว้อย่างชัดเจนว่า หากไทยยอมรับการผูกขาดข้อมูลทางยาจะส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียเงินในเรื่องยากว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในโคลัมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้น 340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (10,200 ล้านบาท) ​ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามลักไก่ไม่ยอมจัดทำประชาพิจารณ์ร่างกรอบเจรจาฯก่อนเข้ารัฐสภา  ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190  หากท่านเห็นด้วยว่า การเจรจาการค้าต้องมีความโปร่งใส ต้องใช้ความรู้ ต้องตอบคำถามผลประโยชน์สาธารณะได้ ขอเชิญชวนทุกท่านช่วยกันโพสต์ ช่วยกันแชร์ ช่วยกันส่งต่อ เพื่อแสดงพลังและเสียงของคนไทยผ่านทางอีเมล เฟสบุ๊ค รวมทั้ง Social media ทุกรูปแบบ”
 
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะผู้ริเริ่มการรณรงค์ออนไลน์ดังกล่าวเปิดเผยว่า ต้องการให้กรมเจรจาการค้าฯออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า เหตุใดจึงมีการเร่งรัดการเปิดเจรจาฯเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป ด้วยการบิดเบือนข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการยอมตามการผูกขาดยาของสหภาพยุโรปที่เกินไปกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลก
 
“เรื่องนี้เป็นเรื่องชีวิตของคนทุกคนที่มีโอกาสเจ็บป่วยต้องได้รับยารักษา จะรอป่วยก่อนค่อยคิดไม่ได้ ผลของเอฟทีเอที่จะให้ผูกขาดยา มันจะสร้างผูกพันและสร้างผลกระทบอย่างซึมลึก ฉะนั้นเราจึงต้องเชิญชวนทุกคนมาหยุดเรื่องนี้ก่อนป่วย ดังนั้น ขอให้กรมเจรจาการค้าหยุดการดำเนินการใดๆที่จะเอาร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบข้อมูลว่า กรมเจรจาฯให้ข้อมูลที่เป็นจริงครบทุกด้านกับ ครม.นอกจากนี้ เราจะทำหนังสือร้องนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่จะต้องไม่ดำเนินนโยบายใดๆที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน”นายนิมิตร์ กล่าว
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทย ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเสนอต่อรัฐบาลว่า ‘ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ในการจัดทำการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา (Data Exclusivity) เพิ่มเติม 5 ปีจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด’ และมีมติที่จะเร่งนำร่างกรอบดังกล่าวเข้าสู่ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์นี้เพื่อทันการพิจารณาของรัฐสภาใน ส.ค.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยครีมหน้าขาว 1 ใน 5 มีสารปรอทปนเปื้อนผู้ผลิตทำผิดกฎหมาย

Posted: 16 Aug 2012 06:15 AM PDT

มูลนิธิมูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงข่าว เผยครีมหน้าขาวในท้องตลาดไทยมีสารปรอทปนเปื้อนมากถึง 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 47 ชนิดในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด
 
 
16 ส.ค. 2555 - ครีมหน้าขาวในท้องตลาดไทยมีสารปรอทปนเปื้อนมากถึง 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ 47 ชนิดในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดของประเทศภายใต้โครงการศึกษาการปนเปื้อนของสารปรอทในครีมหน้าขาว โดยมูลนิธิมูลนิธิบูรณะนิเวศ (มบน.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
 
จุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์ นักวิจัยประจำมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 47 ชนิด พบว่ามีผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาว 10 ชนิดที่มีสารปรอทปนเปื้อนสูงมาก  ค่าสูงสุดที่ตรวจพบคือ 99,070 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ในขณะที่สารปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง หรือต้องมีปริมาณเท่ากับ 0 ppm ตามกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานการผลิตเครื่องสำอางของกลุ่มประเทศอาเซียน
 
การสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยังพบว่า ครีมหน้าขาวที่ปนเปื้อนสารปรอททั้งหมดยังแสดงข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วนตามประกาศของคณะกรรมการเครื่องสำอาง ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องฉลากของเครื่องสำอาง พ.ศ. 2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการไม่ระบุ “เลขที่ใบรับแจ้ง”  ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดที่ไม่ระบุข้อมูลดังกล่าว ผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะไม่ปรากกฎรายการอยู่ในฐานข้อมูลการติดตามตรวจสอบของ อย. ดังนี่ยผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารปรอทเหล่านี้ก็จะไม่ปรากฏชื่อผลิตภัณฑ์ในฐานข้อมูลของ อย. ทำให้ยากแก่การติดตามตรวจสอบแหล่งผลิตหากผู้บริโภคพบปัญหาการใช้เครื่องสำอางชนิดนี้
 
สารปรอทเป็นส่วนประกอบที่นิยมลักลอบใช้ในครีมหน้าขาว เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีในผิวหนัง ทำให้สีผิวจางลง อย่างไรก็ตาม สารปรอทเป็นโลหะหนักที่มีพิษสะสมในร่างกายแม้ได้รับในปริมาณน้อย ก็สามารถทำให้ผู้ใช้ครีมมีผิวบางลง ผิวจะมีความไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นผื่นแดงง่ายขึ้น หรือผิวจะเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ  บางรายอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ   หากได้รับสารปรอทเป็นเวลานาน ร่างกายจะดูดซึมสารปรอทเข้ากระแสเลือด และจะทำให้เกิดการอักเสบของตับ ไต และทางเดินปัสสาวะ รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง  การได้รับสารปรอทในปริมาณสูงจะทำลายระบบประสาทและการทำงานของสมอง สารปรอทยังสามารถถ่ายทอดจากมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ไปยังทารกในครรภ์ได้ด้วย  กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้สารปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2532 และมีการปรับปรุงกฎหมายล่าสุดเมื่อพ.ศ. 2551
 
ครีมหน้าขาวที่ตรวจพบสารปรอทในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ อย. เคยตรวจพบสารปรอทมาแล้วและ อย. เคยประกาศให้ผลิตภัณฑ์เหล่านนี้เป็นเครื่องสำอางที่ทำผิดกฎหมายและมีอันตราย  แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ก็ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำผิดกฎหมายเหล่านี้ยังคงวางจำหน่ายในท้องตลาดต่อไป  ซึ่งได้แก่ ครีม FC น้ำนมข้าว (พบสารปรอทสูง 99,070 ppm)  ไวท์โรส ครีมรกแกะ (51,600 ppm)  เหมยหยง ครีมสมุนไพรสาหร่าย (41,770 ppm)  เบสท์ บิวตี้ (34,430 ppm)  เพิร์ล ครีมหน้าเด้ง (13,800 ppm)  มาดาม ออร์แกนิค ไข่มุก (3,435 ppm)  และเบบี้เฟซ ครีมหน้าขาว (81.14 ppm)  นอกจากนี้ การสุ่มตัวอย่างยังพบครีมหน้าขาวปนเปื้อนสารปรอทอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏในรายการเครื่องสำอางอันตรายของ อย. ได้แก่ ครีมยี่ห้อไบโอคอลลาเจน (47,960 ppm)  เนเจอร์ (7,300 ppm)  และครีมบำรุงมะหาด (63.53 ppm) 
 
ผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวเป็นเครื่องสำอางที่นิยมแพร่หลายกันมากในปัจจุบันและมีแนวโน้มความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2547 บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) จำกัด เคยเปิดเผยผลการศึกษาถึงความนิยมและส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์หน้าขาวว่า มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 60 ของตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าในประเทศไทย โดยมีมูลค่าสูงประมาณ 2,100 ล้านบาท
 
นอกจากพบการปนเปื้อนของสารปรอทในปริมาณสูงแล้ว การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า ครีมหน้าขาวที่ปนเปื้อนสารปรอทมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกและราคาแพง ผู้บริโภคจึงไม่สามารถแยกแยะได้ง่ายว่าผลิตภัณฑ์แบบใดจะปลอดภัยจากสารโลหะหนักที่มีพิษร้ายตัวนี้
 
การผลิตและการจำหน่ายเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลพิพากษาให้สองเยาวชนได้รับเงิน คนละหนึ่งแสนบาทเหตุโดนทหารทำร้ายระหว่างตรวจค้น

Posted: 16 Aug 2012 05:59 AM PDT

 
16 ส.ค. 55 - มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 9  สิงหาคม 2555  ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะต้นสังกัดของ กอ.รมน.ภาค 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่นายมะเซาฟี แขวงบู อายุ  20 ปี และเด็กชายอาดิล  สาแม  อายุ  14  ปี  สองเยาวชนที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายในระหว่างการลาดตระเวนและตรวจค้นตัว   โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 52  บริเวณถนนริมแม่น้ำปัตตานี  ตำบลสะเตง อำเภอเมือง  จังหวัดยะลา
 
ศาลได้พิพากษาว่า แม้กฎอัยการศึกจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะ  แต่ในระหว่างตรวจค้นได้มีการทำร้ายเยาวชนทั้งสองจนได้รับบาดเจ็บ  จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิด  เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี  สำนักนายกรัฐมนตรีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดให้ นายมะเซาฟี  แขวงบู  เป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและประโยชน์จากการทำงาน ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดยะลา วันละ 250 บาท และแพทย์มีความเห็นให้หยุดพัก 5 วัน จึงคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 1,200 บาท ส่วนเด็กชายอาดิล  สาแม  กำลังศึกษาอยู่ จึงไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้  และค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้กระทำการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกายและจิตใจของบุคคลทั้งสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ม. 32 อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ เพื่อเยียวยาความเสียหายตาม ว.5 จึงกำหนดให้คนละ 100,000 บาท
 
เหตุคดีนี้ เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 52  เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายมะเซาฟี และด.ช.อาดิล โดยการเตะ ตบ ใช้ด้ามปืนตีที่ศีรษะ และตบที่กกหู และท้ายทอย  จนทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ  โดยต่อมาพนักงานอัยการศาลจังหวัดทหารบกปัตตานีได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวเป็นคดีอาญา  ข้อหาทำร้ายร่างกายจนทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ  และวันที่ 26 เม.ย. 53  จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา  ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานี  ได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีความประพฤติดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้บังคับโทษปรับ  คดีอาญาดังกล่าวเป็นอันถึงที่สุด  และนำมาสู่การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดในคดีนี้
 
 
หมายเหตุ:
 
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 32  บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้

การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษา ม.อ.ปัตตานีเคลื่อน ร้องรัฐบาลพม่าหยุดฆ่าโรฮิงญา

Posted: 16 Aug 2012 05:43 AM PDT

11 องค์กรนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เดินขบวนปกป้องชาวโรฮิงญา ประณามเหตุทารุณกรรม ร้องรัฐบาลพม่าหยุดฆ่า ทำลาย พร้อมเปิดรับบริจาคเงินช่วย
 
 
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 15 สิงหาคม 2555 เครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ปกป้องโรฮิงญา จัดโครงการปกป้องชาวโรฮิงญา (Save Rohingyo) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 90 คน ที่ลานด้านหน้ามัสยิดกลางปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยนายนูรุดดีน มูลทรัพย์ แกนนำนักศึกษาเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีปกป้องชาวโรฮิงญา เป็นผู้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านและประณามผู้อธรรมต่อพี่น้องชาวโรฮิงญา
 
นายนูรุดดีน ประกาศว่า เครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีปกป้องชาวโรฮิงญา ภายใต้องค์กรบริหารองค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้เฝ้าติดตามโศกนาฏนากรรมด้วยความเจ็บปวดที่ชาวโรฮิงญา รัฐยะไข ประเทศพม่า ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมอุดมการณ์ของเรากำลังถูกกดขี่ ข่มเข่ง ถูกย่ำยี ถูกอธรรมอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ถูกทำลายศักดิ์ศรีและเกียรติยศของความเป็นมนุษย์ ไร้ซึ่งมนุษยธรรมอย่างที่สุด
 
“เครือข่ายฯ ขอประกาศเจตนารมณ์ดังนี้ 1.ขอประณามการกระทำที่โหดร้ายทารุณ ป่าเถื่อน ด้วยการเข่นฆ่า ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องชาวโรฮิงญาที่บริสุทธิ์โดยไม่มีความผิดใดๆ ถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและเกียรติยศของความเป็นมนุษย์ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล
 
2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหยุดเข่นฆ่าและอยู่เบื้องหลังการอธรรม หยุดสนับสนุนให้ชาวยะไข่ทำร้าย ทรัพย์สิน อิสรภาพและศักดิ์ศรีพี่น้องชาวโรฮิงญาโดยฉับพลัน เปิดโอกาสให้ชาวโรฮิงญาได้ใช้ชีวิตอย่างอย่างอิสรภาพตามหลักสิทธิหลักสิทธิมนุษยชนอันสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชาวโลกเรียกร้องและพึ่งปรารถน
 
3.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าต้องรับผิดชอบต่อการหลั่งเลือด การคร่าชีวิต และการทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนของชาวโรฮิงญาถือเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์พร้อมที่จะมอบเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และเกียรติยศให้แก่ชาวโรฮิงญา
 
4.เครือข่ายฯ ของเชิญชวนบรรดาผู้นำโลก บรรดาอุลามาอุ องค์กรทางศาสนา องค์กรนักศึกษา และพี่น้องมุสลิมทุกท่านช่วยกันสนับสนุนสัจธรรม ยับยั้งการอธรรมถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียสิ่งที่รักและหวงแหนมากที่สุดก็ตาม ขอให้ทุกคนช่วยกันดุอาอุ และให้การช่วยเหลือพี่น้องโรฮิงญาในรูปแบบต่างๆเท่าที่พวกเรามีความสามารถ
 
นายนูรุดดีน เปิดเผยด้วยว่า โครงการนี้มี 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.อ่านประกาศเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านประณามผู้อธิธรรมต่อพี่น้องชาวโรฮิงญา 2.เปิดกล่องรับบริจาคช่วยเหลือพี่น้องชาวโรงฮิงญา 3.แสดงรูปภาพชาวโรฮิงญาที่ถูกทารุณ 4.เดินขบวนแจกใบปลิวให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีเกี่ยวข้องชาวกับโรงฮิงญา
 
นายนูรุดดีน เปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดจากเครือข่ายนักศึกษาฯ ได้ติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ที่นำเสนอประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรงฮิงญาซึ่งเป็นชาวมุสลิมในประเทศพม่า โดยศาสนาอิสลามถือว่า “มุสลิมเปรียบเสมือนร่างเดียวกัน ส่วนหนึ่งหนึ่งใดเจ็บ ส่วนอื่นก็จะเจ็บไปด้วย” จึงจัดโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์รวมต่อต้านและประณามผู้อธรรมต่อพี่น้องชาวโรฮิงญา
 
นายนูรุดดีน เปิดเผยด้วยว่า สำหรับเงินบริจาคนั้น เครือข่ายนักศึกษาฯ เปิดรับบริจาค 2 ช่องทาง ได้แก่ เปิดกล่องรับบริจาคและเปิดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสงขลานครินทร์ ชื่อบัญชี นายมูฮำหมัด เจ๊ะแต นางสาวววิลดาญ เด่นดารา นายซอฟวาน สามะ เลขที่บัญชี 704-252053-9 โดยเงินที่ได้จะส่งให้กับมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาทรัพย์กรมนุษย์นำไปมอบให้ชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า 
 
สำหรับรายองค์กรภาคีเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ที่เข้าร่วม ได้แก่ 1.องค์การบริหาร องค์กรการนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี 2.สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี 3.มูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาทรัพย์กรมนุษย์4.สหพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สอ.มท.) 5. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต) 6.สหพันธ์นักศึกษาจังหวัดปัตตานี(Pascon)7.สโมสรนักศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี 8.สโมสร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี 9.สโมสรนักศึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี 10.ชมรมมุสลิม ม.อ.ปัตตานี 11.ชมรมสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี 12.ชมรมส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Saudara)ม.อ.ปัตตานี13.พรรคนักศึกษา กิจประชา ม.อ.ปัตตานี 14.เครือข่ายเยาวชนอิสระจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Iris) 15.กลุ่ม NurulHidayah
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาชี้หญิงหมิ่นเบื้องสูง แม้ป่วยทางจิตก็มีสิทธิ์ติดคุก

Posted: 16 Aug 2012 05:21 AM PDT

 
16 ส.ค. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึง การดำเนินคดีกับนางฐิตินันท์ (ประชาไทขอสงวนนามสกุล) อายุ 63 ปี ที่ก่อเหตุไม่เหมาะสมต่อพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน้าศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112 ว่า กรณีที่ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกกล่าวหาอ้างในชั้นพนักงานสอบสวนว่ามีความบกพร่องทางจิตนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องส่งไปตรวจสภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ได้ข้อสรุปว่าผู้ต้องหาป่วยเป็นโรคจิตหรือวิกลจริตจริงดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะต้องตรวจพิสูจน์ตามขั้นตอนกระบวนการ เช่น ทำแบบทดสอบสภาพจิต หรือหาข้อมูลว่าเคยมีประวัติรักษาอาการทางจิตหรือไม่ เพื่อให้ข้อสรุปว่า ผู้ต้องหาป่วยเป็นโรคจิตถาวร หรือชั่วคราว แต่ยังพูดคุยรู้เรื่อง รู้สึกผิดชอบอยู่บ้าง
       
เนื่องจากจะมีผลต่อการพิจารณาคดีในชั้นศาล คือ หากผู้ต้องหาเป็นโรคจิตถาวร ก่อเหตุและกระทำผิดไปโดยไม่สามารถบังคับตัวเองได้ ก็อาจจะเข้าข่ายไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าผู้ต้องหามีอาการทางจิตชั่วครั้งชั่วคราว หรือสามารถพูดคุยรู้เรื่องบ้าง ก็อาจจะถูกลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษที่ระบุไว้ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ระบุไว้ว่า ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิด นั้นเพียงใดก็ได้
       
ทั้งนี้ ความผิดมาตรา 112 นั้นมีอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 3-15 ปี ดังนั้นหากผลตรวจของแพทย์ได้ข้อสรุปว่า ผู้ต้องหามีอาการทางจิต แต่รู้สึกผิดชอบ หรือบังคับตัวเองได้บ้าง ศาลก็อาจจะใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกน้อยกว่าที่กำหนดไว้ เช่น จำคุก 1 ปี หรือจำคุก 2 ปี
       
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ กฎหมายให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีไว้ก่อน และให้ส่งตัวผู้นั้นไปรักษายังโรงพยาบาลโรคจิตตามแต่สมควรหรือจนกว่าจะสามารถต่อสู้คดีได้
       
“คดีที่ป่วยทางจิตจะดูไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่จะมีประวัติการป่วยและการรักษา อย่างเช่น คดีคนร้ายกราดยิงผู้ชมหนังแบทแมนที่โรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้เสียชีวิต 12 ศพ ก็พบว่าคนร้ายเคยมีประวัติการรักษาอาการทางจิตมาก่อน ซึ่งกรณีเดียวที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ คือต้องป่วยเป็นโรคจิตจริงๆ เท่านั้น เชื่อว่าไม่สามารถแกล้งป่วยกันได้”
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ออกจดหมายเปิดผนึกข้อเสนอแนะต่อข้อยกเว้นในมาตรา 3 ตามร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ

Posted: 16 Aug 2012 05:13 AM PDT

16 สิงหาคม 2555  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อข้อยกเว้นในมาตรา ๓ ตามร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ....  รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมีเนื้อหาดังนี้
 
จดหมายเปิดผนึก
 
เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อข้อยกเว้นในมาตรา ๓ ตามร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...
 
สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับข้อร้องเรียนจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านการพิจารณามีมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๕ และเตรียมการที่จะเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไป โดยเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาสาระในบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๓ ที่กล่าวถึง “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมโดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือเพศหญิงหรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ทั้งนี้ การกำหนดข้อยกเว้นดังกล่าวนี้หลายฝ่ายมีข้อวิตกกังวลว่าจะเป็นการนำไปสู่การเลือกปฏิบัติโดยผลทางกฎหมายได้ในอนาคต
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ข้อยกเว้นในมาตรา ๓ ตามร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ...” เลือกปฏิบัติ?” โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้แทนชุมชน รวมถึงประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมประชุมกว่า ๑๗๐ คน ซึ่งจากการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม สรุปเป็นประเด็นหลักๆ ได้ ๓ ประเด็น ดังนี้
 
๑) ควรมีการทบทวนประเด็นข้อยกเว้นในมาตรา ๓ แห่งร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ... อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักแนวคิดความเท่าเทียมเสมอภาคที่เป็นกติกาสากล ประกอบกับบริบทวัฒนธรรมของสังคมไทย เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติหรือการเอารัด    เอาเปรียบ และไม่เป็นการเปิดช่องให้ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถใช้ดุลพินิจมากเกินไป    
 
๒) การร่างกฎหมายนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข หน่วยงานที่รับผิดชอบควรจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม 
 
๓) ควรมีการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับภายหลังจากการนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่อที่ประชุมคณะทำงาน Universal Periodic Review (UPR) สมัยที่ ๑๒ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔    ณ นครเจนีวา โดยเสนอให้ประเทศไทยมีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ และยกเลิกข้อยกเว้นต่างๆ ในกฎหมายดังกล่าวซึ่งอนุญาตให้มีการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งให้เร่งรัดการยกร่างและรับรอง พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อก่อให้เกิดการส่งเสริมและความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)
 
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมเสมอภาคของบุคคลไว้ในมาตรา ๓๐ ดังนี้
 
“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
 
มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
 
และในบันทึกเจตนารมณ์แนบท้ายมาตรา ๓๐ มีการระบุว่า เพื่อกำหนดหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติแก่บุคคลที่มีความแตกต่าง รัฐมีหน้าที่ในการขจัดอุปสรรคและส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น โดยไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นหลักการสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
 
จากที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอไปยังผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย อันได้แก่ รัฐบาล คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอื่นๆ ขอให้พิจารณาทบทวนยกเลิกข้อความที่เป็นข้อยกเว้นตามมาตรา ๓ ในร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. .... เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นช่องว่างในการเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริงต่อไป
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๕
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดันระบบสหกรณ์ในการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตร

Posted: 16 Aug 2012 03:43 AM PDT

สภาที่ปรึกษาฯ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเร่งผลักดันการปรับใช้ระบบสหกรณ์ในการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
 
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.55 ที่ผ่านมาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “การปรับใช้ระบบสหกรณ์ในการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตร” การตื่นตัวของประชาคมโลกในเรื่อง “สหกรณ์” ที่องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานภาคีทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ให้ปี 2555 เป็นปีสากลแห่งการสหกรณ์ ภายใต้สโลแกน “สหกรณ์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ ย่อมถือเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคีจะร่วมมือกันในการพัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรโดยระบบสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาฯ จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นกว่า 120 คน
 
รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การพัฒนาการตลาดสินค้าการเกษตรโดยระบบสหกรณ์นั้น จะต้องพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรคที่เป็นอยู่
 
ในปัจจุบันเสียก่อน โดยใช้กรอบของโซ่อุปทานสินค้าเกษตร ซึ่งประกอบด้วย ต้นน้ำ (กิจกรรมการผลิต) กลางน้ำ (การรวบรวม เก็บรักษา แปรรูป) ปลายน้ำ (กิจกรรมกระจายผลผลิต) อย่างไรก็ตามการที่จะบรรลุความคาดหวังได้นั้น จำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องยึดมั่นบนหลักและวิธีการสหกรณ์ ตามหลักสหกรณ์สากล จึงจะสามารถนำประโยชน์
 
สู่มวลสมาชิกและชุมชนได้ตามที่คาดหวัง และหัวใจของสินค้าคือคุณภาพ สร้างคุณค่าของสินค้า สินค้าจะไม่มีวันตาย
 
นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งโครงการเพื่อเตรียมตัวรองรับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับผลผลิตทางการเกษตร
 
เช่น ศูนย์กระจายสินค้าการเกษตร เพื่อทำหน้าที่ทั้งในฐานะเป็นคลังสินค้า และเป็นหน่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้ขายปลีก การสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากในปัจจุบันประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น แต่ผลผลิตกลับแย่ลง เพราะสินค้าเกษตรเสียง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาแปรรูปเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน ซึ่งการแปรรูปที่หลากหลายนั้นสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นต้น ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรยังขาดอำนาจการต่อรอง จึงอยากให้ภาครัฐในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์ด้วย
 
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยสาระสำคัญคือ
 
- สหกรณ์ต้องมีความเป็นมืออาชีพ คือต้องสามารถทำให้สมาชิกได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ มองสมาชิกเป็นหลัก เห็นคุณค่าของสมาชิก
- เผยแพร่ให้เกษตรกรได้รับรู้ถึงข้อดีของการเข้าร่วมกับสหกรณ์
- การให้สวัสดิการแก่เกษตรกร
- จัดหาแหล่งเงินทุนที่คุ้มต่อการผลิต
- อยากให้สหกรณ์สร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภค เพื่อเป็นการจูงใจในการเลือกซื้อ
- อยากให้มีการรองรับมาตรฐานการผลิตที่รวดเร็ว
 
ทั้งนี้ คณะทำงานการเกษตรและสหกรณ์ สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอย้ำการบริหารพื้นที่อนุรักษ์ “คนกับเงิน” ไม่เพียงพอ

Posted: 16 Aug 2012 03:28 AM PDT

 
16 ส.ค. 55 - น.ส.ปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาเรื่องการประเมินช่องว่างทางการเงินของพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับสนับสนุนการวิจัยจาก Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) and Resource and Environment Economics Foundation of the Philippines Incorporated (REAP) ระบุ ภารกิจพิทักษ์ป่า พื้นที่อนุรักษ์ไทย การบริหารจัดการ “คนกับเงิน” ยังไม่เพียงพอ 
 
ทั้งนี้สถานการณ์พื้นที่อนุรักษ์ของไทยในปี 2552 มีพื้นที่อนุรักษ์ 418 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 102,636 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ 6 ประเภทคือ อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า สวนพฤษศาสตร์ สวนรุกขชาติ พื้นที่อนุรักษ์ที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 คือ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 97,253 ตารางกิโลเมตร ปัญหาของพื้นที่อนุรักษ์ คือ มีการบุกรุกพื้นที่ทำการเพาะปลูกและการลักลอบล่าสัตว์ ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ งบประมาณที่ได้รับและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการพื้นที่ ขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือในการดำเนินการที่ทันสมัย สำหรับแหล่งเงินทุนในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ นั้นมาจากหลายแหล่ง โดยรายรับหลักมาจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนรายรับอื่น ๆ อาทิ รายรับจากการท่องเที่ยว และเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น
 
การศึกษานี้ต้องการดูปัจจัยที่ผลต่อความเหมาะสมของการบริหารจัดการคนและงบประมาณในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการสำรวจจากแบบสอบถามและการสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางแห่ง เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นปัจจัยผลักดันและปัจจัยตอบสนอง ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่อนุรักษ์ จำนวนประชากรที่อาศัยภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากขอบเขตพื้นที่ และจำนวนประชากรที่อาศัยภายในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวนสิ่งก่อสร้าง/สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ จำนวนนักท่องเที่ยว ที่พักและกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน โครงสร้างรายรับ-รายจ่ายของพื้นที่อนุรักษ์
 
จากการส่งแบบสอบถามไปยังพื้นที่เป้าหมาย 181 แห่งมีตอบกลับมา 81 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 45 แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 53 แห่ง (รวมอุทยานทางบกและทางทะเล) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 28 แห่ง จำแนกตามขนาดพื้นที่ได้เป็น 3 ชั้น คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขนาดกลางหรือ ชั้นที่ 2 จำนวน 55 แห่ง ขนาดใหญ่หรือชั้นที่ 3 จำนวน 19 แห่ง ขนาดเล็กหรือชั้นที่ 1 จำนวน 5 แห่ง
 
ผลศึกษาพบว่า มีการกระจุกตัวของจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำในบางพื้นที่ แต่โดยรวมพื้นที่อนุรักษ์มีเจ้าหน้าที่ประจำเฉลี่ย 2 คน ต่อ 10 ตร.กม. และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์เฉลี่ยเพียง 198 บาทต่อ 0.01 ตร.กม. หรือราว 198,420 บาทต่อ 10 ตร.กม. ซึ่งนับว่าน้อยมาก และเมื่อเปรียบเทียบขนาดพื้นที่กับจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำพบว่ายังมีช่องว่างอยู่มากในทุกขนาดพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำรวม 4,481 คน ผลจากแบบสอบถามระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องการราว 7,306 คน จึงยังมีความขาดแคลนอีก 2,825 คน ส่วนค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการบริการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ต่อแฮกแตร์โดยรวมพบว่าในปี 2009 ได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการพื้นที่รวม 421 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ประมาณการราว 935 ล้านบาท จึงยังมีช่องว่างงบประมาณที่ต้องการราว 514 ล้านบาท ทั้งนี้จากข้อจำกัดของข้อมูลที่ได้รับจึงพิจารณาเฉพาะงบบริหารจัดการที่ได้รับจากรัฐ ไม่รวมรายจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างเจ้าหน้าที่ประจำ
 
น.ส.ปริญญารัตน์ กล่าวว่า โดยสรุปผลการศึกษานี้ยืนยันปัญหาคนและเงินในการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ยังไม่เพียงพอ การจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านการเงิน เจ้าหน้าที่ นโยบายการพัฒนา การติดตามตรวจสอบ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม การศึกษามีข้อเสนอแนะให้จัดสรรงบประมาณที่อ้างอิงคุณค่าของพื้นที่อนุรักษ์และการคุกคามที่เกิดขึ้นต่อพื้นที่เนื่องจากการมีงบประมาณที่จำกัด ส่งเสริมแนวทางปฎิบัติในการบริหารจัดการการเงินแบบพึ่งตนเอง โดยการสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยว การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่าอนุรักษ์อย่างเหมาะสม และการจัดทำความร่วมมือกับองค์กรภายนอกทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืน รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ได้แก่การสร้างแรงจูงใจในการรักษาพื้นที่อนุรักษ์โดยการนำหลักการจ่ายค่าบริการสำหรับการดูแลรักษาระบบนิเวศมาใช้
 
ในส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่นั้น มีเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่หลายแห่งระบุว่า สิ่งที่ต้องการมากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่(ถ้าได้เพิ่มก็ดี)คือ อุปกรณ์และเครื่องมือ รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยในการสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์หรือ GPS ระบุพิกัด การบันทึกข้อมูลการทำสถิติพื้นที่ที่ไปออกลาดตระเวนว่าจุดไหนอย่างไรสภาพข้อมูลพื้นที่เป็นอย่างไรและควรพัฒนาอย่างไรซึ่งจะช่วยให้เขาดูแลพิทักษ์พื้นที่ได้มากกว่านี้ ซึ่งเมื่อดูแนวโน้มการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศพัฒนาแล้ว พบว่า แต่ละพื้นที่มีแนวโน้มงบประมาณในการบริหารจัดการลดลงเพื่อให้แต่ละพื้นที่บริหารจัดการแบบพึ่งตนเอง และมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่มาก แต่ให้ความสำคัญกับการนำเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจตรา พิทักษ์ป่า ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น