โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เสวนา: “ก๊าซกับน้ำมัน ทำไมถึงแพง?” ขุดปมธุรกิจพลังงานไทย

Posted: 28 Aug 2012 01:32 PM PDT

นักวิชาการฟังธงน้ำมันแพง ทั้งที่ไทยติดอันดับการผลิต ‘น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ’ ในเวทีโลก พร้อมเผย 5 สาเหตุ ทำคนไทยจ่ายแพงกว่า เอ็นจีโอหนุนรื้อกฎหมายพลังงาน ดัน ‘คนไทย’ ต้องรู้ว่าเมืองไทยมีอะไร เพื่อจัดการทรัพยากรของตนเอง

 
 ก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันแพงจริงหรือไม่ แพงเพราะอะไร เรื่องไม่ธรรมดาในภาคธุรกิจพลังงานไทย ที่ถูกขุดคุยข้อมูลมาบอกเล่าโดยนักวิชาการ-เอ็นจีโอ ในเวทีสนทนาสาธารณะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรม “แก๊สกับน้ำมัน: ทำไมถึงแพง” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก จุฬาฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมร่วมกันเสนอทางออกสำหรับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องพลังงาน
 
ฟังธงน้ำมันแพง พร้อมแจงไทยติดอันดับการผลิต ‘น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ’ ในเวทีโลก
 
มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ซึ่งทำข้อมูลในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบัน เผยข้อมูลที่นำมาจากเว็บไซต์ http://gasbuddy.com ซึ่งระบุได้ว่าราคาน้ำมันไทยแพงจริงว่า จากราคาน้ำมันเบนซิน 91 ของไทย-สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.55 ราคาน้ำมันในไทยแพงกว่าราคาวอชิงตันดีซีและนิวยอร์คถึง 10 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศการค้าเสรี ไม่มีการพยุงราคาน้ำมัน บริษัทพลังงานมีการคิดกำไรอย่างเต็มที่ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสมบูรณ์ ส่วนประเทศไทยเองมีการส่งออกน้ำมันดิบมาถึง 13 ปี โดยส่งออกไปยัง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาด้วย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ในไทยนั้นก็แพงกว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย และพม่า โดยมีราคาเท่าๆ กับกัมพูชา
 
 
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวให้ข้อมูลต่อมาว่า ช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มของไทยกว้างมากขึ้น จากเมื่อปี 2540 มีความแตกต่างที่ประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร แต่ในปี 2555 ราคาบวกไปประมาณ 23 บาทต่อลิตร วันนี้ราคานำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20 บาท ไม่ได้แพงขึ้นเท่าไหร่ และหากน้ำมันดิบในตลาดโลกแพง ราคาน้ำมันในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ควรต่างจากเรา แต่ราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มของเราอยู่ที่ 43 บาท และเรากำลังแบกสิ่งที่เกินมูลค่าน้ำมันดิบไปกว่าเท่าตัว
 
 
ในส่วนก๊าซธรรมชาติ วันนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติระดับโลก โดยข้อมูลจาก Annual Statistical Bulletin ของโอเปก เมื่อปี 2010 ผลิตได้ 3.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ในกลุ่มประเทศโอเปก 12 ประเทศ ไทยผลิตได้สูงกว่าประเทศโอเปกถึง 8 ประเทศ และข้อมูลของสถาบันพลังงานสหรัฐ (eia) ได้จัดอันดับไว้ ไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับที่ 24 ของโลก ส่วนน้ำมันดิบอยู่ที่อันดับ 33 ของโลก จากสองร้อยกว่าประเทศทั่วโลก
 
 
“ผมไม่ได้เรียกร้องพลังงานให้ราคาถูกลง แต่ว่าผมเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนมากกว่า พลังงานไม่จำเป็นต้องถูกนะครับ แต่อย่างนี้มันชัดไหมครับว่าแพงแล้วหรือยัง มันแพงกว่าอเมริกา แพงกว่าวอชิงตันดีซีกับนิวยอร์กนี่มันแพงแล้วหรือยัง ต้องถาม มันถูกไปใช่ไหมครับ มันต้อง 50 บาท หรือมันต้อง 100 บาท อันนี้มันชัดเจนแล้วนะครับว่า ผมไม่ได้ต้องการถูกผมต้องการความเป็นธรรม เรามีทรัพยากร แต่ผมบอกเลยว่าเงินเข้าหลวงน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แปลว่าอะไร ส่วนแบ่งผลประโยชน์เราได้น้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วนะครับวันนี้” มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อมาถึง ข้อสังเกตต่อราคาขายก๊าซธรรมชาติของไทยที่แพงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 3-4 เท่าตัว ว่า1.มีการทุจริตในการสั่งซื้อหรือไม่ 2.มีประสิทธิภาพในการจัดซื้อหรือไม่ 3.สูตรราคาที่ใช้เก่าไปแล้วหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ทำให้เกิดราคากลไกตลาดในอ่าวไทย ปล่อยให้มีผู้ซื้อรายเดียวคือ ปตท. ทั้งนี้ ราคาสัมปทานของเราไม่ได้เป็นไปตามตลาดโลก โดยสัมปทานเราถูกที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราขายก๊าซให้ประชาชนตามราคาตลาดโลก เท่ากับเราสูญเสีย 2 ทาง ขณะที่ ข้อมูลของ ปตท.พบว่ามีกำไร ในปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 2.5 หมื่นล้าน คำถามคือเมื่อรัฐคือผู้หุ้นใหญ่ในปตท.แทนประชาชนทำไมไม่กำหนดกำไรให้ต่ำลง เพื่อประโยชน์ของประชาชน
 
 
 
ชี้ 5 สาเหตุ ซื้อน้ำมันไทยจ่ายแพงกว่า
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว ถึงข้อสรุปสาเหตุที่น้ำมันแพงว่ามี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.กำหนดราคาขายคนไทยแพงกว่าส่งออก โดยหนังสือชี้ชวนของโรงกลั่นที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กรณีจำหน่ายในประเทศให้ใช้ราคาเทียบเท่าราคานำเข้า ส่วนราคาส่งออกเทียบเท่าส่งออก โดยราคาจะต่างกันประมาณ 2 บาท ซึ่งข้ออ้างที่มีการชี้แจงในกรรมาธิการฯ วุฒิสภา คือเพื่อสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่น ทั้งนี่ หากมีการขายตามกลไกตลาด ราคาจะใกล้เคียงราคาส่งออก
 
 

2.การครอบงำธุรกิจการกลั่น จากกิจการโรงกลั่นทั้งหมด 6 โรง ปัจจุบัน 5 โรง มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวกันคือ ปตท. ส่งผลให้ธุรกิจการกลั่นไม่มีการแข่งขันและทำให้บริษัทพลังงานขนาดใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด สามารถกำหนดค่าการตลาดได้สูงกว่าที่ควรจาก 1-1.5 บาทต่อลิตร ไปเป็น 2-12 บาทต่อลิตร ยกตัวอย่าง เบนซิน 95 ซึ่งสินค้าขายปริมาณการขายลดลง แต่มาจิ้น (ค่าการตลาด) เพิ่มขึ้น ซึ่งกลายเป็นข้อสงสัยทางเศรษฐศาสตร์ ขณะที่ปั๊มน้ำมันได้ค่าส่วนแบ่งการตลาดน้อยมาก และตั้งแต่ปี 48-49 ค่าการตลาดติดลบ ทำให้ปั๊มน้ำมันที่ไม่มีโรงกลั่นต้องปิดตัวลงจำนวนมาก
 
 
3.เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มราคา LPG (ก๊าซหุงต้ม) ให้ธุรกิจปิโตรเคมี โดยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจปิโตรเคมีใช้ LPG เพิ่มขึ้น และอยู่ในอันดับสูงสุด คือประมาณ 1.6 ล้านตัน มากกว่าภาคยานยนต์ซึ่งตกเป็นจำเลยว่าแย่งใช้ก๊าซจากภาครัวเรือนและเป็นการใช้ก๊าซผิดประเภท ที่ใช้มากขึ้น 4.6 แสนตัน ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีซื้อ LPG ต่ำกว่าภาคครัวเรือนซึ่งต้องจ่ายภาษีเพื่อไปจากกองทุนน้ำมันอีกต่อหนึ่ง และซื้อต่ำราคาตลาดโลกประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่เคยใส่เงินเข้ากองทุนน้ำมันเลย ก่อนหน้าปี 2555
 
“ที่ควักเงินกองทุนน้ำมันไป แล้วทำให้น้ำมันแพง ก็คือเอาเงินไปหนุนราคาวัตถุดิบให้ธุรกิจปิโตรเคมีนั่นเอง ถามว่ากองทุนน้ำมันคือกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปรักษาระดับราคาวัตถุดิบแปรว่าอะไรครับ นี่แหละครับใช้ผิดประเภท ชัดเจนไหมครับ” มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
 
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2555 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรวมถึง 968,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราเป็นประเทศที่ไม่เอาส่วนแบ่งการผลิตหรือส่วนแบ่งรายได้ เก็บแค่เพียงภาษีอากรกับค่าภาคหลวง รวมแล้วคือ 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่า ขณะที่พม่าและกัมพูชาเก็บส่วนแบ่งกำไร และเมื่อปี 2547 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 28 เหรียญต่อบาร์เรล ต่อมาขึ้นเป็น 100 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งแทบทุกประเทศในโลกมีการแก้ไขกฎหมาย แต่เราไม่แก้ เหล่านี้ส่งผลทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของรัฐต่ำ
 
 
4.การให้สัมปทานถูก ผลประโยชน์จึงตกแก่บริษัทพลังงานอย่างมหาศาล ทั้งที่ประเทศไทยมีแอ่งสะสมก๊าซและน้ำมันดินจำนวนมากในทั่วทุกภูมิภาค แต่คนไทยต้องใช้ก๊าซแพงกว่าประเทศสหรัฐและเพื่อนบ้าน และ 5.การส่งออกน้ำมันดิบ ทั้งที่ขาดแคลน ทำให้ต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและก๊าซหุงต้มมากกว่าที่ควรเป็น
 
สุดท้ายในส่วนข้อเสนอ มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งใช้มากกว่า 40 ปี และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (แก้ไขครั้งที่ 4) ปี 2532 เรื่องผลประโยชน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และต้องแก้ไขมติ ครม.เรื่องการเอาก๊าซ LPG ไปให้ธุรกิจปิโตรเคมีก่อนประชาชน และควรขายให้ธุรกิจปิโตรเคมีในราคาตลาดโลก
 
 
"มูลนิธิผู้บริโภค" แฉโครงสร้างการผูกขาดธุรกิจพลังงานไทย-พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เอื้อประโยชน์ทับซ้อน
 
 
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ในส่วนกิจการก๊าซธรรมชาติ ไทยสามารถพึ่งตัวเองได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่มีการให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนว่าจะหมดภายในอีก 5-15 ปีข้างหน้า และทิศทางของประเทศไทยคือจะมีการนำเข้าพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือข้อมูลตรงนี้มาจากไหน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า โดยอาศัยข้อคิดเห็นรองรับที่ว่าประเทศไทยจะมีการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ รองรับกับ GDP ของประเทศ และมีการเขียนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) จากนั้นมีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติล่วงหน้า จนเกิดเป็นภาระ Take or pay (ต้องจ่ายถึงแม้จะไม่มีความต้องการใช้ก๊าซ) ที่ผลักให้ผู้บริโภครับภาระไปในส่วนของค่า FT
 
อีกทั้งจาก ข้อมูลการใช้ก๊าซในปี 2554 ของ ปตท.ทำให้เห็นว่าเรามีก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอกับการใช้ก๊าซของหลายๆ กลุ่มทั้งภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ และยานยนต์ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าก๊าซ แต่การประชาสัมพันธ์มักเหมารวมว่าเป็นความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้ก๊าซของโรงแยกก๊าซ ที่ออกมาเป็น LPG ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ฯลฯ
 
 
ต่อคำถามเรื่องการแข่งขันในระบบการซื้อขายก๊าซธรรมชาติของไทย อิฐบูรณ์กล่าวว่า ไทยไม่ได้ใช้สูตรหรือโครงสร้างที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการซื้อก๊าซที่อยู่ในแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเราคิดว่ากิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการพลังงานทั้งหมดโดยรวมขึ้นอยู่กับการกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 7 คน ภายใต้ พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 แต่ตามข้อเท็จจริงหน่วยงานดังกล่าวดูแลเฉพาะกิจการไฟฟ้า ราคาก๊าซธรรมชาติ และท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยมีข้อยกเว้นที่สำคัญมากคือกิจการปิโตรเลียมที่อยู่ในแปลงสำรวจต่างๆ 
 
โดยในส่วนราคาก๊าซตั้งแต่ปากหลุม ขึ้นอยู่ กับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่กำหนดให้คณะกรรมการปิโตรเลียมเป็นผู้ทำความตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักรกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ประเด็นตรงนี้คือ แทนที่คนกำกับจะทำหน้าที่กำกับให้เกิดการแข่งขัน กลับไปทำหน้าที่ในการตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติ และยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันประธานของคณะกรรมการปิโตรเลียม คือปลัดกระทรวงพลังงาน คือประธาน บมจ.ปตท และยังเป็นประธาน บมจ.ปตทสผ.ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมโดยตรง และถือหุ้นอยู่กับผู้รับสัมปทานอื่นๆ ตรงนี้เป็นคำถามต่อการกำกับกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
 
“ปัญหาของการกำกับกิจการที่จะให้เป็นไปตามผลของรัฐธรรมนูญมันไม่สามารถเป็นไปได้เลยภายใต้โครงสร้างที่ปรากฏ ณ ที่เป็นอยู่” อิฐบูรณ์กล่าว
 
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ยังมีประเด็นสำคัญ เรื่องการกำหนดว่า ปิโตรเลียมที่อยู่ใต้ผืนแผ่นดินไทยทั้งบนบกและในทะเลเป็นของรัฐ แต่ถ้าขุดขึ้นมาอยู่บนบกเป็นของเอกชน มีสิทธิที่จะขายออกโดยทันที โดยรัฐไม่ได้คิดมูลค่าของปิโตรเลียมนั้น ทั้งที่ทรัพยากรเป็นของรัฐเป็นของประชาชน
 
ชี้ “สูตรคำนวณราคาก๊าซฯ” กีดกันการใช้ทรัพยากร – ผลักภาระค่าความเสี่ยงใช้ประชาชน
 
อิฐบูรณ์ กล่าวต่อมาถึงการเสนอการกำหนดสูตรคำนวณราคาค่าก๊าซธรรมชาติ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 54 ซึ่งมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่าเอื้อต่อธุรกิจในเครือที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ประชาชนกำลังจะถูกแย่งชิงทรัพยากรไป โดยมีการกำหนดราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ Gulf Gas สำหรับโรงแยกก๊าซ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทย หมายความว่าก๊าซจากอ่าวไทยที่เชื่อว่าเป็นสมบัติของแผ่นดินมีคนเพียงกลุ่มเดียวที่เข้าถึงคือโรงแยกก๊าซ เพื่อที่จะนำไปทำมูลค่าเพิ่มขายทำกำไรต่อเนื่องต่อไป โดยประชาชนถูกกันเรื่องของการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย
 
 
สำหรับประชาชนเข้าถึงก๊าซในส่วนของ Pool Gas ซึ่งเป็นก๊าซที่จำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้ผลิต ไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซอื่นๆ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยกก๊าซ ก๊าซจากสหภาพพม่าแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG: Liquefied Natural Gas) และก๊าซนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต โดยที่ใช้น้ำมันเตาอ้างอิงในการคำนวณ
 
“ตัวเองเป็นเจ้าของทรัพยากร แต่ตัวเองไม่มีสิทธิได้ใช้ทรัพยากรของตัวเอง เพราะมีการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน พลเมืองด้วยโครงสร้างที่เรียกว่าสูตรกำหนดราคาก๊าซ ซึ่งเขียนโดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานบอร์ดของบริษัทกิจการพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานบริษัทขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม” อิฐบูรณ์ กล่าว
 
นอกจากนั้น การกำหนดราคาดังกล่าวยังมีการเพิ่มภาระให้ประชาชนในส่วนของค่าความเสี่ยงในการรับประกันคุณภาพก๊าซ และการส่งก๊าซให้ได้ตามปริมาณที่กำหนด ภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างผู้จัดหาก๊าซและผู้ผลิตก๊าซ และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างผู้จำหน่ายก๊าซและผู้ใช้ก๊าซ ซึ่งในช่วงปี 2554 ปรากฏปัญหาท่อก๊าซขาด ไม่สามารถส่งก๊าซได้ตามจำนวนเนื่องจากโรงขุดเจาะติดซ่อม นอกเหนือจากเดิมที่มีการบวกค่าใช้จ่ายสำหรับในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ รวมค่าตอบแทนในการดำเนินการของพ่อค้าคนกลาง
 
ตัวแทนจากมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงขณะนี้ ในส่วนราคา NGV (Natural Gas Vehicles ) หรือ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์  ซึ่งทราบว่ากระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงานของจุฬาฯ ศึกษาโครงสร้างราคา NGV ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่วันนี้กระทรวงพลังงานยังไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาดังกล่าวออกมา
 
 
“พลังงานกระจายศูนย์” ข้อเสนอ เพื่อปลดล็อกการผูกขาดในระบบพลังงานไทย
 
ศุภกิจ นันทวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ให้ข้อมูลการผูกขาดในระบบพลังงานไทย โดย 4 ประเด็น คือ 1.การผูกขาดพลังงานจากการพัฒนาแบบรวมศูนย์ ซึ่งสังคมเราถูกทำให้มีระบบความคิด ความเชื่อ หรือวาทะกรรมการพัฒนาว่า การพัฒนาแบบรวมศูนย์คือการพัฒนาประเทศ จึงมีความต้องการโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซขนาดใหญ่ มีระบบโครงข่ายพลังงาน ในขณะที่ระบบพลังงานขนาดเล็กที่กระจายไปตามบ้านเรือน อาคาร โรงงาน ชุมชน ที่ทุกคนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไม่ได้เป็นผู้ซื้อแต่อย่างเดียวถูกตั้งคำถามว่าเป็นการพัฒนาหรือไม่ ทั้งที่ยังมีตัวอย่างการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ได้เท่ากับพัฒนาพลังงานใหญ่ๆ เท่านั้น
 
ยกตัวอย่าง ประเทศเดนมาร์กที่ประสบความสำเร็จ โดยใน 20 ปี ตั้งแต่ 2523-2543 เดนมาร์กไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเลย แต่ก็มีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและเศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลเดนมาร์ก ยังประกาศยุทธศาสตร์พลังงาน 40 ปี โดยภายในปี 2593 จะเลิกน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินทั้งหมด เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ และประเทศเยอรมันมีการตั้งเป้าว่าใน 40 ปี จะเปลี่ยนระบบพลังงานไปเป็นระบบพลังงานที่อยู่บนพลังงานหมุนเวียน
 
 
แม้ในประเทศไทยจะมีบริบทไม่เหมือนกัน แต่ก็มีตัวอย่างความเป็นไปได้ หลายๆ กรณี เช่น การหุงต้มที่ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพจากขยะครัวเรือน-เศษอาหาร และขยะชุมชน ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มหมูที่ ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ซึ่งสามารถผลิตก๊าซชีวภาพส่งผ่านระบบท่อเพื่อใช้หุงต้มประมาณ 110 ครัวเรือน และตัวอย่างที่ชุมชนป่าเด็ง จ.เพชรบุรี สามารถผลิตไฟฟ้าจากแก๊สซิฟิเคชั่น และก๊าซชีวภาพ หรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึงมีการทำโซลาห์เซลมือสองที่ราคาถูกลง 4-5 เท่า กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช พัฒนามากว่า 10 ปี จนสามารถทำขายเป็นวิสาหกิจชุมชน และกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่บ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ของชุมชนเทศบาลนครระยอง ขายไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 0.7 MW และเครื่องอบขยะพลาสติกได้น้ำมันที่ศูนย์เรียนรู้พลังงานชุมชนท่ามะขาม จ.กาญจนบุรี สามารถผลิตน้ำมันได้ 40-50 ลิตร จากขยะพลาสติก 100 กิโลกรัม หรือในกรณีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยการศึกษาของ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พบว่าชาญอ้อยในโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ หากใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ดังเช่นที่ใช้ในประเทศบราซิล จะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดถึง 2,000 MW ซึ่งเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง เป็นต้น
 
 
ส่วนข้อเสนอ ศุภกิจกล่าวว่า การพัฒนาพลังงานกระจายศูนย์และพลังงานชุมชนเพื่อลดการผูกขาด คือ 1.การเรียนรู้ของชุมชน โดยเฉพาะช่างชุมชนซึ่งต้องลงมือทำเลย 2.การสื่อสารและเรียนรู้ของคนเมือง ชนชั้นกลางในการส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากพลังงานชุมชน 3.การส่งเสริมที่เป็นระบบ สำหรับพลังงานกระจายศูนย์-พลังงานชุมชน โดยไม่ต้องขายไฟเข้าระบบ
 
แนะแก้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน เสนอผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียน
 
ศุภกิจกล่าว ต่อมาในประเด็นที่ 2.การผูกขาดการวางแผนพลังงานว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 เพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซจาก 1.8 หมื่นเมกะวัตต์ เป็น 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ ถูกตั้งคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากมีเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งเดียว โดยส่งหนังสือเชิญล่วงหน้า 5 วัน ใช่เวลาเพียงครึ่งวัน มีผู้เข้าร่วมไม่ถึง 200 คน แล้ว กพช. พิจารณาเห็นชอบหลังจากนั้นเพียง 3 วัน ซึ่งไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสองเรื่องกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง และผลหลังจากนั้นคือหุ้นโรงไฟฟ้าก๊าซขึ้นรับการประมูล IPP
 
 
ศุภกิจ เสนอว่า อนาคตการวางแผนไฟฟ้า ควรปรับระบบโครงสร้างการวางแผน และกระจายศูนย์การวางแผน PDP ไปสู่แผนพลังงานชุมชน จังหวัด และภูมิภาคควบคู่ไป เพื่อให้มีนัยกับแผนพลังงานระดับประเทศมากขึ้น
 
ประเด็นที่ 3.การผูกขาดความรู้ความเข้าด้านพลังงาน ศุภกิจ ยกตัวอย่าง ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิม่ะ ซึ่งออกเมื่อวันที่ 3 ก.ค.55 ที่ระบุว่า ถึงแม้แผ่นดินไหวและสึนามิจะเป็นภัยธรรมชาติ แต่อุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดจากคน ซึ่งสามารถและควรที่จะคาดการณ์ ป้องกัน และลดผลกระทบได้ และสิ่งสำคัญคือ วัฒนธรรมการเชื่อฟังโดยอัตโนมัติโดยไม่ลังเลที่จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจเป็นสาเหตุรากฐานที่ทำให้เกิดอุบัติภัยนี้ขึ้นมา ซึ่งต้องมีการแก้ไข และสิ่งที่ไทยต้องเรียนรู้ คือ นอกจากการเตรียมพร้อมโดยมีวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือต้องมีวัฒนธรรมธรรมาภิบาลด้วย
 
 
พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550
 
ม.14 รัฐมนตรีพลังงาน เสนอชื่อ คกก.สรรหา ต่อ ครม.
ม.15 รัฐมนตรีพลังงาน เสนอชื่อผู้ได้รับคัดเลือกต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ
ม.19 กรรมการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีมติ ครม. ให้ออก เนื่องจากประพฤติเสื่อมเสีย ไม่สุจริต หรือหย่อนความสามารถ
ม.41 ให้คณะกรรมการ เสนอแผนดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย ประมาณการรายได้ เพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม.
 
 
สุดท้าย ประเด็นที่ 4.การผูกขาดโดยกฎหมายพลังงาน ศุภกิจ กล่าวถึงจุดอ่อนของระบบกำกับดูแลพลังงานของไทย ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน2550 ซึ่งควรมีการแก้ให้มีอิสระจากภาคการเมืองใน และกรณีการผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียนโดยกรีนพีช ซึ่งมีหลักการ 1.รับรองสิทธิในการใช้ ผลิต และได้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในชุมชน 2.พลังงานหมุนเวียน เป็นอันดับความสำคัญแรกในการเข้าถึงระบบสายส่ง 3.‘ราคาที่เป็นธรรม’ สำหรับพลังงานหมุนเวียน โดยมีราคาที่จูงใจ แต่ไม่สร้างผลกำไรมากเกินควร 4.มีกองทุนวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด 5.ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ โดยขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการร่างเป็นมาตรา
 
 
ดัน “คนไทย” ต้องรู้ว่าเมืองไทยมีอะไร เพื่อจัดการทรัพยากรของตนเอง
 
สมลักษณ์ หุตานุวัตร เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหา มี 3 ข้อ 1.ข้อมูลความจริงที่ไม่มีการเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนอย่างโปรงใสและทั่วถึง 2.กติกาที่ทำให้ความเป็นธรรมในเรื่องพลังงานแม้แต่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 3.บุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้ที่มีอำนาจกำกับ สั่งการ และประกาศซึ่งอยู่ในระบบโครงสร้างพลังงาน ผู้ที่มีอำนาจตรวจสอบในส่วนขององค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในระบบตุลาการที่ไม่มีความรู้เฉพาะด้านพลังงานที่ลึกซึ้งเพียงพอ และสุดท้ายคือคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรเอง ที่เพิ่งเริ่มคิดว่าตัวเองมีบทบาทได้
 
“คุณต้องพูดออกจากตัวคุณเองไปว่า อะไรคือข้อมูลความจริงในเรื่องพลังงาน ถ้าคุณไม่รู้เรื่องคุณต้องตั้งคำถาม ดิฉันคิดว่าถ้าวันนี้ ให้ดิฉันเสนอ ดิฉันเสนอว่าคนไทยต้องรู้ความจริงของตนเอง ด้วยทุกวิธีการที่คุณจะทำได้ แล้วจากนั้นให้คุณตัดสินใจด้วยอำนาจของคุณ” สมลักษณ์กล่าว
 
ในเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน สมลักษณ์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลของบริษัทด้านพลังงานในประเทศไทยกว่า 30 บริษัท พบว่า บริษัทข้ามชาติซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทด้านพลังงานของโลก ได้เขียนระบุในรายงานประจำปี 2554 ของบริษัทว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เขามีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดและทำกำไรได้สูงที่สุดในโลก ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งได้เทียบระหว่างการทำธุรกิจขุดเจาะในไทยกับอินโดนีเซีย โดยไทยมีมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ ทำกำไร 1.1 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ ส่วนอินโดนีเซียมีมูลค่าอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ ทำกำไร 1 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ เหล่านี้เป็นปัญหาจากกติกาซึ่งรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลไม่แก้กฎหมายเพื่อประโยชน์คนไทย
 
 
จวก “บัตรเครดิตพลังงาน” มุ่งประชานิยม ไม่สนใจแก้ กม.ป้องต่างชาติกอบโกยผลประโยชน์
 
สมลักษณ์ กล่าวต่อมาว่า สิ่งที่คิดว่าเป็นความเลวร้ายของสังคมไทยในวันนี้คือบัตรเครดิตพลังงาน ซึ่งแทนที่จะให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงในการเข้าถึงพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน กลับกลายเป็นการใช้บัตรเครดิตพลังงาน แล้วสร้างบุญคุณระหว่างรัฐกับผู้รับบัตรเครดิตคือกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์-แท็กซี่ คือใช้ระบบประชานิยมทั้งที่ๆ ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของประชาชนอยู่แล้ว
 
“ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายที่สุดของรัฐและคนของรัฐทุกคนที่ออกนโยบายนี้ คนไทยที่เป็นเจ้าของทรัพยากรควรที่จะกล้าหาญพอที่จะประณาม ว่าคุณเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายเป็นบัตรเครดิตพลังงาน แล้วคุณละเลยกฎหมายที่จะแก้ไขผลประโยชน์พลังงานที่ต่างชาติกอบโกยไปจากประเทศไทย” ตัวแทนจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าว
 
 
เสนอแก้กฎหมายพลังงาน-กระจายอำนาจจัดการทรัพยากรให้ทองถิ่น-ปกป้องสิทธิ 5 มาตราใน รธน.
 
สมลักษณ์ กล่าวต่อมาถึงทางออกว่า ประกอบด้วย 1.ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของนักวิชาการด้านพลังงาน ในการที่จะพูดความจริงต่อสังคมไทยว่าทรัพยากรในประเทศมีเท่าไหร่ และมีใครเอาไปบ้าง 2.นักกฎหมายที่จะพร้อมใจร่วมกันแก้กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทุกฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงกฎหมายแร่ กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิชุมชน รวมทั้งกฎหมายท้องถิ่นที่ควรแก้ไขให้มีการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรพลังงานให้ท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่าง จ.ขอนแก่นและ จ.อุดรซึ่งสามารถขุดปิโตรเลียมรวมกันได้ 1 หมื่นกว่าล้านบาท โอนเงินค่าภาคหลวงให้แก่ อบต.และ อบจ.ในพื้นที่ประมาณ 4 พันล้านบาท อีกประมาณ 7 พันล้านเป็นของบริษัทเอกชนผู้ขุดเจาะ
 
ตัวแทนจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าวด้วยว่า สิทธิตามรัฐธรรมนูญ  5 มาตรา คือ มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิในการประกอบอาชีพ มาตรา 66-67 เกี่ยวกับสิทธิในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมแสดงความเห็นของประชาชน ต่อมาคือ มาตรา 85 และ 87 เกี่ยวกับสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ต้องรักษาไว้แม้จะมีความพยายามในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และควรนำมาบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยประชาชนต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้อเสนอต่อมาคือ การแก้กฎหมายปิโตรเลียมทั้งฉบับ และปลดข้าราชการที่ไปรับตำแหน่งในบริษัทพลังงานทุกบริษัทออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยให้เลือกว่าจะอยู่ในตำแหน่งราชการหรือจะไปรับตำแหน่งในบริษัทพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน แม้กฎหมายจะเปิดช่องไว้ให้ และควรมีการแก้กฎหมายดังกล่าวด้วย
 
“ทุกองค์กรในประเทศไทย รวมทั้งผู้ที่ใช้น้ำมันและก๊าซทุกท่านจะต้องไม่ยอมรับสินบนเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาให้ บัตรเครดิตพลังงานที่แท็กซี่ได้รับ 3,000 บาท มันเทียบไม่ได้กับเงิน 3-5 แสนล้านบาทต่อปี มันแลกไม่คุ้มหรอกค่ะ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้มแข็งพอที่จะบอกว่าเราต้องการ 3-5 แสนล้านของประเทศไทยจากผลผลิตพลังงานที่เกิดขึ้นจริงในประเทศเรา ไม่ใช่ 3,000 บาทต่อเดือนที่เขาให้ในบัตรเครดิตของเรา” สมลักษณ์ กล่าว
 
 
"กรรมการกำกับกิจการพลังงาน" ชี้แนวโน้ม LNG ตลาดโลกดีขึ้น ไร้สหรัฐอเมริกา-จีนแย้งซื้อ
 
ดร.สุภิชัย ตั้งใจตรง ตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวชี้แจงว่า สหรัฐอเมริกาใช้ก๊าซในประเทศและนำเข้าจากแคนนาดาเป็นสัดส่วนที่มาก ดังนั้นตลาดของสหรัฐอเมริกาจึงไม่เกี่ยวกับเราเท่าไรนัก จนกระทั่ง เมื่อ 2-3 สหรัฐอเมริกามีการพูดถึง shale gases หรือ ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน ซึ่งมีการค้นพบในประเทศทำให้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติพุงขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้เกิดการลดการนำเข้าก๊าซจากแคนนาดาและในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มที่จะส่งออก shale gases ในรูปแบบ LNG (Liquefied Natural Gas) ต่อไปด้วย ทั้งนี้ แนวโน้มโดยรวมของตลาดโลก LNG จะดีขึ้น เพราะ Demand หรือความต้องการในการซื้อของรายใหญ่หายไป ทั้งในส่วนของ สหรัฐอเมริกาและจีนที่มี shale gases ในประเทศจำนวนมา แต่สำหรับไทยยังใช้ LNG น้อย
 
 
เผย "ก๊าซธรรมชาติ" ไทยหมดเมื่อไหร่ ตอบยาก เหตุเสียเปรียบข้อมูลเอกชน
 
ดร.สุภิชัย กล่าวต่อมาว่า ที่มีการพูดกันว่าประเทศไทยจะใช้ก๊าซธรรมชาติหมดภายในกี่ปี ตรงนี้เป็นเรื่องที่บอกได้ยากมาก เพราะข้อแรกคือก๊าซนั้นอยู่ใต้ผืนแผนดิน เจ้าของก๊าซไม่ใช่คนไทยแต่เป็นบริษัทเชฟรอน ตัวเลขเป็นข้อมูลของบริษัทเอกชน เมื่อเขาบอกมาอย่างไรเราไม่มีทางรู้มากกว่านั้น ซึ่งในส่วนจำนวนที่มีอยู่จริง หน่วยงานที่ดูอยู่คือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเดิมคือกรมทรัพย์ฯ โดยตั้งแต่เริ่มวางระบบและมีการเก็บข้อมูลก็ต้องยอมรับว่าเราเสียเปรียบมากในเรื่องความรู้
 
ยกตัวอย่าง สมมติบริษัทเอกชนบอกว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ 100 เขาต้องลงทุนก่อสร้าง 100 เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นให้คุณคิด 1.50 บาท เพื่อเป็นกำไร ทั้งที่ความจริงเราไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้วก๊าซธรรมชาติมีอยู่ 100 หรือมีอยู่ 500 ตรงนี้เป็นความเสี่ยงใต้แผนดินที่เราเสียเปรียบ ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในมือของคนไทย คือหลุมก๊าซของ ปตท.สผ.ที่ซื้อคืนจากบริษัทเอกชน ซึ่งก็มีคำถามว่าถ้าหลุมมันดีแล้วเขาจะอยากขายไหม ตรงนี้ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเราตามเขาทันไหม ในขณะที่บุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางของเราก็เสียเปรียบ
 
หากเราเป็นคนสร้างเอง โจทย์แรกเราต้องตอบให้ได้ว่ามันมีอยู่ตรงนั้นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่จะรู้ว่าจะต้องลงทุนเท่าไหร่แล้วจะได้กลับมาเท่าไหร่ เหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่ หากทางวิศวกรและจีโอฟิสิกส์สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ก็สามารถทำตรงนี้ได้ 
 
ดร.สุภิชัย กล่าวถึงปัญหาข้อต่อมาว่า วันนี้แทนขุดเจาะจำนวนนับร้อยๆ แท่นที่อยู่ในอ่าวไทย และแปลงสัมปทาน ซึ่งแต่ละแท่นมีกำลังผลิตอยู่ และปตท.ได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซเอาไว้แล้ว สมมติตัวเลขรวมทั้งหมด 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กำลังผลิตของแทนขุดเจาะทั้งหมดแน่นอนว่าต้องมากกว่า 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพราะหากผลิตได้น้อยกว่าจะถูกปรับแต่ถ้ามากกว่านี้ ปตท.ก็ต้องรับซื้อไป เป็นการทำเพดานรับซื้อเพื่อประกันความเสียงในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้เราเห็นแล้วว่าสัญญาซื้อขายก๊าซที่ทำไปแล้วนั้นไม่เป็นธรรม แต่รัฐไม่มีแนวนโยบายที่จะไปหักลำกับสัญญา ทำให้แก้ไขยาก
 
 
เสนอใช้ทรัพยากรพลังงานบนแผ่นดิน เก็บ “ก๊าซ-น้ำมัน” รอสร้างองค์ความรู้มารองรับ
 
ประเด็นคือ เรามีทรัพยากรพลังงานที่unknown คือไม่รู้ อยู่ใต้ดิน และมีสิ่งที่รู้ วิเคราะห์ได้อยู่จำนวนหนึ่ง คือสิ่งที่เป็นทางเลือกพลังงานต่างๆ เราต้องทำทั้ง 2 ส่วนให้เข้าใกล้กันให้ได้ อย่าเสียง โดยส่วนตัวถือว่า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นสิ่งที่เก็บไว้รอให้เราสร้างองค์ความรู้เพื่อมารองรับได้ ไม่จำเป็นต้องรีบเอาขึ้นมา โดยหันมาให้ความสำคัญกับทรัพยากรพลังงานที่อยู่บนแผ่นดินและพัฒนาให้เต็มที่ สำหรับคำถามว่าหากไม่พอจะทำอย่างไร คำตอบคือการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ เช่น การเลือกโหมดของการขนส่งให้ดีขึ้น ทำให้กระบวนการในภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น และทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้าดีขึ้น ทำในสเกลใหญ่ๆ พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ แล้วจะสามารถบอกได้ว่าเราจะลดในส่วนไหนได้บ้าง
 
ดร.สุภิชัย กล่าวว่าถึงข้อเสนอต่อกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนของกระทรวงเข้าไปกำกับ โดยเข้าไปเป็นกรรมการนโยบายของบริษัทพลังงานว่าเป็นปัญหาจากการที่รัฐไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ควรมีการตั้งกติกาเพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งจะแก้ปัญหาได้เร็วกว่าการแก้กฎหมายที่ทำได้ยาก โดยเรียกร้องไปยังรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปต้องไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์เป็นเม็ดเงินจากการเป็นกรรมการ ใช้วิธีการสมัครเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปในฐานะตัวแทนของรัฐ โดยไม่ต้องกำกับตำแหน่ง เป็นการแก้ในส่วนนโยบายของแต่ละหน่วยงานเลย
 
ในส่วนสัมปทาน โดยทฤษฎีรัฐบาลสามารถปรับโครงสร้างได้ และมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ซึ่งบริษัทเอกชนก็ไม่มีการทิ้งแท่นขุดเจาะ แต่การปรับโครงสร้างก็ต้องทำให้บริษัทเอกชนอยู่ได้ด้วย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนะเลิกตรวจ "เอชไอวี" นศ.พยาบาล กีดกันโอกาสศึกษา-ทำงาน

Posted: 28 Aug 2012 12:54 PM PDT

กรณีนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยคริสเตียน นครปฐม รายหนึ่ง ทำหนังสือร้องเรียนมายังเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เนื่องจากถูกบังคับตรวจเลือด โดยเมื่อพบว่ามีเชื้อเอชไอวี ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนต่อ มีการยื่นข้อเสนอให้ต้องย้ายคณะ สุดท้ายนักศึกษาคนดังกล่าวจึงลาออกไป

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ให้สัมภาษณ์ว่า วานนี้ (27 ส.ค.55) เครือข่ายผู้ที่ทำงานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาทิ จอน อึ๊งภากรณ์ ประธานอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าเอดส์ อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และตนเอง ได้เข้าพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางส่วน หลังจากส่งหนังสือสอบถามไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา

สุภัทรา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ ให้เหตุผลว่า มีการตรวจเลือดกับนักศึกษา 3 สาขาคือ พยาบาล กายภาพบำบัดและชีวการแพทย์ ตั้งแต่สมัครเข้าเรียนและตรวจอยู่เสมอ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำ MOU กับโรงพยาบาล 30 แห่งทั้งในนครปฐมและที่อื่นๆ โดยหากนักศึกษามีเชื้อเอชไอวี จะไม่รับเข้าทำงาน

ขณะที่เครือข่ายฯ ได้เสนอให้มีการทบทวนและยกเลิกการตรวจเลือดดังกล่าว โดยส่งเสริมให้ตรวจเลือดโดยสมัครใจ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สถานศึกษาอื่นๆ และขอให้รับนักศึกษากลับเข้าเรียน ไม่เช่นนั้น จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับนักศึกษาคนดังกล่าว เนื่องจากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาคนดังกล่าวกู้เงินจาก กยศ.มากว่า 3 แสนบาทเพื่อเรียนหนังสือ โดยก่อนหน้านี้ สถานศึกษาคืนเพียงค่าลงทะเบียนเรียน เทอมล่าสุดเท่านั้น ขณะที่ทางวิทยาลัยฯ รับว่าจะนำไปปรึกษากับผู้บริหารอื่นๆ ต่อไป

สุภัทรา กล่าวว่า โดยทั่วไป ไม่มีทางติดเชื้อเอชไอวีผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น วัดความดัน ฉีดยา ได้อยู่แล้ว โดยมีหลักการการป้องกันการติดเชื้อจากบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข (Universal Precautions: Ups) ซึ่งถือว่าถ้าคนที่มาใช้บริการอาจติดเชื้อฯ พยาบาลก็ต้องป้องกันตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดๆ ว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีจากการบริการทางการแพทย์ จะมีก็เพียงกรณีเดียวที่คนไข้ติดจากทันตแพทย์เมื่อนานมาแล้ว

สุภัทรา กล่าวย้ำว่า หากการมีเชื้อเอชไอวีเป็นอันตรายในการทำงานจริง ทั่วโลกก็ต้องออกกฎห้ามแล้ว แต่นี่ไม่มี องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เอดส์ (UNAIDS) ก็ไม่มีแนวปฏิบัติเรื่องนี้ โดยเธอมองว่านี่เป็นเรื่องอคติ ความกังวลที่ไม่จริง ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้ นำมาซึ่งการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ถือเป็นการจำกัดโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพ

"หมดยุค ผู้ติดเชื้อเอชไอวีป่วยง่าย ตายไวแล้ว" สุภัทรากล่าวและว่า การติดเชื้อไม่ใช่การป่วย หากได้รับการรักษา ก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวได้ นอกจากนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลลงทุนจัดซื้อยาต้านไวรัสมารักษาผู้ป่วย ทั้งในระบบหลักประกันสุขภาพ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและประกันสังคม ทำให้คนสองแสนกว่าคนได้กินยาและมีสุขภาพแข็งแรง เมื่อลงทุนไปแล้ว ก็ควรให้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตในสังคมได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระ เพื่อให้การลงทุนไม่สูญเปล่า โดยคนเหล่านี้จะมีส่วนสร้างสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

"สิ่งที่ต้องกังวลคือเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันต่างหาก" สุภัทราทิ้งท้าย

 

 

ข่าวร้ายๆ โดยเฉพาะประเภท “การติดเชื้อเอดส์” และกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ความหลงเชื่อในข่าวนั้นก็แปรเป็นอุปาทานฝังแน่นอยู่ในจิตใจของชาวโลกอย่างยากแก่การชำระถอดถอน ดังเช่น ข่าวการติดเชื้อเอดส์จากการทำฟัน (ที่จริงคือ การอุดฟันอย่างง่ายๆ เพียงครั้งเดียว) ของมิสเบอกาลิสเป็นคนไข้ของทันตแพทย์อเมริกันผู้หนึ่งซึ่งติดเชื้อเอดส์และได้เสียชีวิตลง 3 เดือนก่อนการพบเชื้อเอดส์ในเลือดของมิสเบอกาลิส

ข่าวๆ นี้ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั้ง 5 ทวีป ซึ่งข้อเท็จจริงที่แสดงออกมาในภายหลังเป็นแต่เพียงว่าจากการสอบสวนทางวาจาและเอกสารที่เกี่ยวข้องบ่งชี้ว่า คนไข้น่าจะติดเชื้อเอดส์จากการทำฟัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นตราบมาจนทุกวันนี้ก็หาได้มีหลักฐานหรือข่าวคราวใดๆ ในทำนองนี้บังเกิดขึ้นอีกแม้สักกรณีเดียว ทั้งๆ ที่มีการทำฟันอยู่ทุกวันทั่วโลกโดยทันตแพทย์ประมาณ 2 ล้านคน


นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 168
เดือน/ปี: เมษายน 1993
คอลัมน์: สุขภาพของช่องปาก

http://www.doctor.or.th/article/detail/3308
อ่านเพิ่มเติม http://en.wikipedia.org/wiki/Kimberly_Bergalis

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว’ ศาลภูเขียวสั่งจำคุก 2 ชาวบ้านเพิ่ม ส่วนอีก 3 ยกฟ้อง

Posted: 28 Aug 2012 12:10 PM PDT

ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาคดีที่ดินสวนป่าโคกยาว สั่งจำคุกชาวบ้านทุ่งลุยลาย เพิ่มอีก 2 ราย ไม่รอลงอาญา ส่วนที่เหลือ 3 ราย ที่ถูกดำเนินคดีเดียวกัน ศาลยกฟ้อง ชาวบ้านใช้เงินกองทุนยุติธรรม 2 แสนบาท ประกันตัวสู้คดีต่อ

 
ชาวบ้านจำเลยในคดีรุกสวนป่าโคกยาว
 
เมื่อวันที่ 28 ส.ค.55 ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ พิพากษาคดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ให้นายเด่น คำแหล้ อายุ 60 ปี (จำเลยที่ 1) และนางสุภาพ คำแหล้ อายุ 57 ปี (จำเลยที่ 4) ชาวบ้านทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ สมาชิกเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน และเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ในข้อหาร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
 
สืบเนื่องจาก เมื่อเช้าวันที่ 1 ก.ค.54 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังของป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ประมาณ 200 นาย โดยการนำของนายอำเภอคอนสาร เข้าควบคุมพื้นที่กรณีพิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งชาวบ้านได้เข้าไปทำประโยชน์มาก่อน และจับกุมชาวบ้านรวม 10 ราย โดยต่อมามีการฟ้องรองคดีกับชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์ โดยแยกเป็น 4 คดี
 
นายบุญมี วิยาโรจน์ ผู้ตกเป็นจำเลยที่ 2 ในคดี กล่าวว่า การอ่านคำพิพากษา ในวันนี้ (28 ส.ค.55) ถือเป็นคดีที่ 4 จากทั้งหมดที่ได้มีคำพิพากษาไปแล้วก่อนหน้านี้แล้ว โดยศาลได้พิพากษายกฟ้องให้ตน และนางหนูพิศ วิยาโรจน์ จำเลยที่ 5 (ภรรยา) กับนางเตี้ย ย่ำสันเทียะ จำเลยที่ 3 (เพื่อนบ้าน) โดยวินิจฉัยว่า ทางโจทก์เพียงตั้งข้อสงสัยว่าร่วมกันกระทำความผิดในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ แม้จะยอมรับโดยการเคารพคำตัดสินของศาล แต่ส่วนตัวมองว่า ยังไม่มีความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน โดยเหตุเพราะจำเลยที่ 1 และ 4 นั้นยอมรับในชั้นการสืบพยานโจทก์ว่า พื้นที่ทำกินนั้นได้รับการสืบทอดมรดกมาจากพ่อตา และแม่ยาย ที่ได้เข้าทำประโยชน์มาก่อนมีการประกาศเขตป่าสงวนฯ กลับถูกดำเนินคดีมีความผิด ในข้อหาร่วมกันบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ
 
จำเลยที่ 2 เล่าต่อไปว่า ตนเองกับพวกที่ถูกยกฟ้อง รวมทั้งชาวบ้าน ต่างแสดงความเสียใจและได้ร่วมกันให้กำลังใจต่อนายเด่น และนางสุภาพ ที่ถูกศาลตัดสินดำเนินคดีในครั้งนี้ และมองว่าเหตุใดศาลจึงไม่มีคำสั่งยกฟ้องทั้ง 5 ราย ทั้งๆ ที่เป็นคดีเดียวกัน รวมทั้งจำเลยอยู่ในพื้นที่เดียวกันด้วย
 
นายบุญมี กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้ใช้เงินกองทุนยุติธรรม ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้ทำเรื่องขอความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในกรณีพิพาทสวนป่าโคกยาวนี้ประกันตัวออกมา เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ในวงเงิน คนละ 200,000 บาท โดยได้มีการสำรองไว้สำหรับคดีที่เหลืออยู่ก่อนหน้าแล้ว
 
“ทั้งตนและเพื่อนบ้าน ที่ถูกดำเนินคดีก็ยืนยันที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่พิพาท รวมทั้งจะจัดการบริหารที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนต่อไป” นายบุญมี กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผลคดีก่อนหน้านี้ ในคดีแรก ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.55 ให้จำคุกนายคำบาง และนางสำเนียง กองทุย (สามี-ภรรยา) 4 เดือน ไม่รอลงอาญา และคดีที่ 2 พิพากษาวันที่ 13 มิ.ย.55 สั่งจำคุก นายทอง กุลหงส์ และนายสมปอง กุลหงส์ สองพ่อลูก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา โดยคดีนี้ ศาลได้เพิ่มวงเงินประกันจากรายละ 100,000 บาท เป็นรายละ 200,00 บาท เป็นเหตุให้เงินที่เตรียมไว้ต้องถูกรวมมาประกันจำเลยเพียงรายเดียว คือนายสมปอง ลูกชายก็มีอาการพิการทางสมอง ต่อมาวันที่ 28 มิ.ย.55 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวนายทอง ส่วนคดีที่ 3 เป็นของนายสนาม จุลละนันท์ ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน เมื่อวันที่ 9 ส.ค.55
 
ทั้งนี้ ป่าโคกยาวถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 290,000 ไร่ และมีโครงการปลูกสวนป่า ทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528 จนเกิดเป็นกรณีพิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาวระหว่างชาวบ้านที่เคยทำกินในพื้นที่และหน่วยงานของรัฐ ก่อนจะมีมติ ครม.ปี 2553 เห็นชอบให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาถูกคุกคามและจับกุมอยู่
 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายนักศึกษาฯ ประมวลกิจกรรม ยื่นอธิการบดี มข. ยันค้าน ม.นอกระบบ

Posted: 28 Aug 2012 11:22 AM PDT

เครือข่ายนักศึกษาค้านนำ มข.ออกนอกระบบ ยื่นสำเนาชี้แจงกิจกรรมการเคลื่อนไหวคัดค้านที่ผ่านมา พร้อมรายชื่อนักศึกษา  ยันข้อมูลที่ผู้บริหารอ้างทำประชาพิจารณ์-ไม่มีกลุ่มบุคคลใดค้าน มข.ออกนอกระบบ

 
 
วันที่ 28 ส.ค.55 เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เข้าพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อยื่นหนังสือสำเนาชี้แจงกิจกรรมการเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกนอกระบบ จากการที่ผู้บริหารอ้างเหตุผลในการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบว่า ได้มีการทำประชาพิจารณ์แล้วและไม่มีกลุ่มบุคคลใดคัดค้าน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนหนึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อรณรงค์ค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 
 
ทั้งนี้ สำเนาดังกล่าวได้แสดงจุดยืนกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ  พร้อมทั้งลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ทางเครือข่ายได้มีบทบาท ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงรายชื่อนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบซึ่งทางกลุ่มได้รณรงค์ล่ามาด้วย 
 
นายวสันต์ เสตสิทธิ์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายนักได้กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการยืนยันว่ายังมีกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และมีการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของนักศึกษา
 
“ถ้าหากว่าการแปรสภาพนำมาซึ่งคุณภาพที่ดีการบริหารงานที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพขึ้น  เราเห็นด้วย  แต่เราไม่เห็นด้วยถ้าหากหากกระบวนการที่จะแปรสภาพมหาวิทยาลัยทั้งหมดนั้นไม่ถูกต้อง  ไม่โปร่งใส  ไม่มีการเปิดให้มีส่วนร่วมจากประชาคมต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น  เราก็จะขอคัดค้านต่อไป” นายวสันต์กล่าว
 
ในวันเดียวกัน เครือข่ายนักศึกษาฯ ยังได้ส่งหนังสือเรียนถึง เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ.เพื่อชี้แจงในประเด็นดังกล่าว และให้ สกอ.ส่งสำเนาดังกล่าวไปยังนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับทราบและชี้แจงในประเด็นที่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอ้างว่าไม่มีกลุ่มบุคคลใดคัดค้าน และได้ให้ข้อมูลนักศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว แต่จากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักศึกษาฯ ที่ผ่านมายังคงมีนักศึกษาที่ไม่รู้เรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
 
ทั้งนี้ เอกสารที่ยื่นต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
ที่พิเศษ/2555                                               
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
235/41 ถนนหลังศูนย์ราชการ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000
 
วันที่  28  สิงหาคม  2555
 
เรื่อง  ชี้แจงการเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
เรียน  เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา
 
สำเนาถึง         1. นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น
                        2. อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
สิ่งที่แนบมาด้วย
 
            1.ลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
            2.รายชื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
การที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายผลักดัน ให้นำมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) จึงทำให้เกิดกระแสการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบจากนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง  จากการคัดค้านดังกล่าวกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ได้มีข้อเรียกร้องให้คณะผู้บริหารจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ตามหลักวิชาการ) เพื่อนำไปสู่มีส่วนร่วมและการตัดสินใจโดยประชาคมมหาลัยขอนแก่นอย่างแท้จริง
 
จากเหตุดังกล่าว เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ จึงได้จัดทำ ลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เพื่อชี้แจงมายังท่านได้รับทราบข้อมูล ว่าประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
 
( นางสาวศศิประภา  ไร่สงวน )
ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษา
คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
 
000
 
 
ลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
โดย
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
 
9 ธันวาคม 2554
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ จำนวนกว่า 30 คน รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบต่ออธิการบดี โดยมีข้อเสนอให้ 
 
1. ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ  และเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ให้เป็นที่รับรู้ต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึง 
 
2. เปิดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบาย ในการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนักศึกษา และ ประชาชนในอีสานอย่างทั่วถึง 
 
http://prachatai.com/journal/2011/12/38259
 


10 ธันวาคม 2554 
แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ จัดเวทีวิชาการ เสวนาเรื่อง ม.นอกระบบ กับ อนาคตการศึกษา โดยจัดขึ้นที่ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
 
 
 
11 ธันวาคม 2554 
แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านม.นอกระบบ จัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้าน ม.นอกระบบ โดยมีการปาจรวดบอกความในใจถึงท่านอธิการบดี ที่หน้าตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปที่บริเวณหน้าป้ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อติดสติ๊กเกอร์สีชมพูแสดงถึงความรัก ความหวังดีที่มีต่อมหาวิทยาลัย 
 
 
 
14 มีนาคม 2554 
แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบยื่นหนังสือนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
 
 
 
6  มิถุนายน 2555 
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ  ยื่นหนังสือคัดค้านกรณีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอบกลับ สกอ. ว่าไม่มีประชาคมในมหาวิทยาลัยขอนแก่นใดคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ  โดยที่ข้อเท็จจริงนั้น ยังมีเครือข่ายนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ไม่ได้จัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง 
 
 
 
7 มิถุนายน 2555 
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ  เดินทางไปศาลปกครองเพื่อขอฟ้องให้เพิกถอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ยืนยันความพร้อมในการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบและ ยืนยันว่าไม่มีนักศึกษาหรือประชาคมคัดค้านแต่อย่างใด โดยที่ข้อเท็จจริงนั้น ยังมีเครือข่ายนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ได้จัดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง 
 
http://prachatai.com/node/40941 
 
 
11-12  มิถุนายน 2555
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ได้ทำการรณรงค์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ทุกคณะทั่วทั้งมหาวิทยาลัย
 
 
 
16 มิถุนายน 2555
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบทำการรณรงค์ให้ข้อมูล และล่ารายชื่อ คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
 
 
22 มิถุนายน 2555 
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบจัดเวทีเสวนา  ในหัวข้อ ม.นอกระบบ นโยบายการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของใคร ?  ที่เวทีองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ข้อมูลและทำความเข้าใจนโยบายการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ให้แก่นักศึกษาที่สนใจ โดยในเวทีดังกล่าว มีวิทยากรเข้าร่วมประกอบไปด้วย อ.เก่งกิจกิตติเรียงลาภ นักวิชาการอิสระ  นายปกรณ์  อารีกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา  นายวิทวัส แซงสีนวล ตัวแทนจากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตัวแทนจากเครือข่าย นศ. คัดค้าน ม.ขอนแก่น ออกนอกระบบ 
 
 
 
25 มิถุนายน 2555 
ที่ศูนย์อาหารและบริการ (คอมเพล็กซ์) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ กว่า 10 คน ทำกิจกรรมแฟลชม็อบ โดยการแต่งชุดนักศึกษา พร้อมด้วยผ้าปิดปากและป้ายข้อความรณรงค์แขวนคอเดินรอบบริเวณดังกล่าว เช่น ข้อความ “หยุดฆ่านักศึกษา หยุด ม.นอกระบบ” “การศึกษาไม่ได้มีไว้ขาย” เป็นต้น และยืนนิ่งเรียงแถวหน้ากระดานและตะโกนพร้อมกันว่า "การศึกษา เป็นสมบัติของชาติ อย่าเอาไปขาย หยุดม.ขอนแก่นออกนอกระบบ" โดยใช้เวลาดำเนินกิจกรรมประมาณ 30 นาที เพื่อให้นักศึกษาตื่นตัวเกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะออกนอกระบบ
 
http://prachatai.com/journal/2012/06/41259
 


27 มิถุนายน  5555
ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ยื่นหนังสือถึงคณบดีแต่ละคณะในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
 
 
2 ก.ค.5555
ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้าน มข. ออกนอกระบบ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสภามหาวิทยาลัย มข. ร้องทบทวนกรณีการย้ายสถานที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยไปจัดที่กรุงเทพฯ ชี้เลี่ยงปัญหา ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของนักศึกษาตามหลักการของประชาธิปไตย
 
 
 
3 กรกฎาคม 2555 
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบและแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ  ชุมนุมคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ โดยมีข้อเสนอดังนี้
 
1.ให้ยุติกระบวนการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
2. เปิดให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นจากนักศึกษา โดยเปิดให้มีตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาเข้าร่วมในการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 นี้ จำนวน 30 คน
 
3.ให้บรรจุวาระการประชุมเรื่องนโยบายการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ในวาระการประชุมสภามหาวิทยาลัย วันที่ 4 กรกฎาคม 2555 นี้ และจัดให้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
 
 
4 ก.ค. 2555 
ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ได้ทางไปยื่นหนังสือถึง นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อขอให้ยุติกระบวนการการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ  ณ โรงแรมพูลแมน กรุงเทพมหานคร   
 
 
 
24 กรกฎาคม 2555
ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ เดินทางไปยื่นหนังสือต่ออธิการบดี ที่ตึกอธิการ โดยมีข้อเสนอให้อธิการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นนอกระบบ
 
 
 
1 สิงหาคม 2555
ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบเดินทางไปติดตามความคืบหน้า หลังจากการยื่นข้อเสนอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อ รับฟังความคิดเห็นเรื่อง “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.55
 
หมายเหตุ :: จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทุนนิยาม: อุปสรรคของวาระแห่งงานที่มีคุณค่าในศตวรรษที่ 21

Posted: 28 Aug 2012 10:51 AM PDT

ก่อนเริ่มสหัสวรรษ ในปี ค.ศ. 1999 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization; ILO) ได้นำเสนอแนวคิด “วาระแห่งงานที่มีคุณค่า” (Decent work agenda) ที่มีเป้าหมายประกอบไปด้วย

การสร้างงาน ระบบเศรษฐกิจควรสร้างโอกาสเพื่อการลงทุนประกอบธุรกิจ การพัฒนาทักษะ การสร้างงานและการดำรงชีพอย่างยั่งยืน

สร้างหลักประกันสิทธิในการทำงาน สิทธิของคนงานควรมีการคุ้มครองคนงานทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ที่เสียเปรียบและคนงานที่ยากจน ทั้งนี้จำเป็นจะต้องมีตัวแทนการเข้ามามีส่วนร่วม และการบังคับใช้กฎหมายที่สนับสนุนสิทธิของคนงาน (ไม่ใช่ต่อต้านสิทธิคนงาน)

ความคุ้มครองทางสังคม ส่งเสริมเพื่อให้มีการคุ้มครองอย่างทั่วถึง และการเพิ่มผลิตผลโดยสร้างหลักประกันการทำงานในสภาพที่ปลอดภัยทั้งชายและหญิงจะมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยคำนึงถึงคุณค่าของครอบครัวและสังคม จัดให้มีการทดแทนอย่างเพียงพอในกรณีที่มีการสูญเสียรายได้ หรือรายได้ลดลง และอนุญาตให้มีการเข้าถึงการดูแลสุขภาพอย่างเพียงพอ

ส่งเสริมการเจรจาและการยุติข้อขัดแย้ง คนยากจนเข้าใจว่าต้องมีการต่อรองและยุติปัญหาต่างๆ ด้วยสันติ การเจรจาทางสังคม การเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรเสรีฝ่ายคนงานและนายจ้างที่เข้มแข็ง คือศูนย์รวมแห่งการเพิ่มผลผลิตและหลีกเลี่ยงการพิพาทในที่ทำงาน และสร้างความสมานฉันท์ให้สังคม

ทั้งนี้วาระแห่งงานที่มีคุณค่าได้ถูกนำเสนอต่อรัฐสมาชิก ILO เป็นครั้งแรกในการประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference) ครั้งที่ 87 เมื่อ ค.ศ. 2004 โดยมีความเชื่อมันว่า งานที่มีคุณค่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืน

 

อุปสรรคของวาระแห่งงานที่มีคุณค่า

ถึงแม้จะไม่ใช่ข้อบังคับของ ILO ที่มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม แต่หลักการสร้างงานที่มีคุณค่าก็ควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลของนานาประเทศนำไปปรับใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ ที่จะส่งผลให้ตลาดแรงงานและเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ มีความเข้มแข็ง

แต่กระนั้นหลายประเทศยังไม่สามารถไปถึงเป้าหมายของวาระนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผันผวนทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา รวมถึงการจัดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามแนวเสรีนิยมใหม่ ที่พยายามทำให้คนงานเป็นต้นทุนแปรผันยืดหยุ่น ควบคุมให้ใช้งานระยะสั้น-ยาว ได้ตามความประสงค์ของนายจ้างฝั่งเดียว

องค์กรสหภาพแรงงานเองก็โดนผลกระทบจากทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และการจัดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามแนวเสรีนิยมใหม่นี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสวัสดิการ-ตัดบำนาญของคนงานในประเทศที่มีสวัสดิการที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจ (ในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส กรีซ เป็นต้น) หรือข้อกำหนดการกีดกันไม่ให้มีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในเอเชีย (ประเทศไทยก็มีเขตปลอดสหภาพแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง)

นอกจากนี้การจัดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามแนวเสรีนิยมใหม่ที่ขัดกับหลักการสร้างงานที่มีคุณค่านั้น ยังมีเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานระยะสั้น, จ้างงานผ่านบริษัทซัพคอนแทรค, การกำหนดให้แรงงานหนุ่มสาวถูกเลิกจ้างได้ง่ายขึ้น (เช่นในกรณี ประเด็นเรื่องกฎหมายการทำสัญญาจ้างงานครั้งแรก (Contract Premier Embauche; CPE) ในฝรั่งเศส ที่อนุญาตให้นายจ้างสามารถปลดคนงานอายุต่ำกว่า 26 ปีได้ในช่วง 2 ปีแรกของการทำงาน โดยให้ถือเป็นช่วงทดลองงานโดยไม่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้รับแรงต้านจากนักศึกษาประชาชนและสหภาพแรงงานฝรั่งเศส อย่างกว้างขวางในปี ค.ศ. 2006) หรือการขยายระยะเวลาการเกษียณ (เช่น ในปี ค.ศ. 2010 รัฐบาลฝรั่งเศสมีแผนขยายเวลาการเกษียณอายุการทำงานจาก 60 ปี ไปเป็น 62 ปี และในปี ค.ศ. 2011นโยบายของรัฐบาลเบลเยียมที่จะปรับการเกษียณอายุจาก 59 ปี ไปเป็น 65 ปี ฯลฯ) และอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคของการสร้างงานที่มีคุณค่าให้เกิดขึ้นจริง ว่าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติการจัดการบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามแนวเสรีนิยมใหม่ ไปเป็นการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่มีการวางแผนเพื่อสร้างความเท่าเทียม โดยใช้สหภาพแรงงานเป็นแกนกลางในการรวมตัวของคนงานเพื่อทำการปรึกษาหารือกับนายจ้างแล้วละก็ โอกาสของงานที่มีคุณค่าจริงๆ นั้นก็จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก   

 

ประกอบการเขียน:

Decent work agenda (ilo.org, เข้าดูเมื่อวันที่ 28-8-2012)
http://www.ilo.org/global/about-the-ilo/decent-work-agenda/lang--en/index.htm

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

Posted: 28 Aug 2012 09:39 AM PDT

ไม่ควรจะมีเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารกันอีก แต่ขณะเดียวกันคนที่เป็นนักการเมืองต้องมีคุณธรรม และอย่าทำลายระบบ

มติชนออนไลน์, 28 ส.ค. 55

มองนิวเคลียร์ญี่ปุ่น: บทเรียน “การเชื่อฟังแบบอัตโนมัติ” ตัวการ “ฟุกุชิมะ”

Posted: 28 Aug 2012 08:21 AM PDT

เปิดรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ดูบทเรียนที่นอกจากความน่ากลัวของกัมมันตรังสี และคำพูดที่ว่า “ขนาดญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าก็ยังเจอวิกฤติ” สังคมไทยได้เรียนรู้อะไร

 
 
 
จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 แผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ได้เขย่าผืนแผ่นดินชายฝั่งภาคตะวันออกของเกาะญี่ปุ่น จนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 11 เครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่งหยุดเดินเครื่องโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ถึง 1 ชั่วโมงต่อมา คลื่นยักษ์สึนามิสูง 14 เมตรก็โถมเข้าสู่ชายฝั่ง สร้างความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ จนระบบป้องกันภัยเกิดการขัดข้อง นำไปสู่การระเบิดของอาคารเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีสู่บรรยากาศจนสร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก
 
ศุภกิจ นันทวรการ  นักวิจัยพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้หยิบยกเหตุการณ์เกี่ยวกับนิวเคลียร์ญี่ปุ่นดังกล่าว มานำเสนอถึงการผูกขาดความรู้ด้านพลังงาน กับ “กรณีความ (ไม่) ปลอดภัยของนิวเคลียร์ญี่ปุ่น” จากรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ของรัฐสภาญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 ก.ค.55 ในเวทีสนทนาสาธารณะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรม “แก๊สกับน้ำมัน: ทำไมถึงแพง” ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก จุฬา เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
นักวิชาการจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระซึ่งจัดตั้งโดยรัฐสภา เป็นชุดแรกในประวัติศาสตร์รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ the Act Regarding the Fukushima Nuclear Accident Independent Investigation Commission มีองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทั้งอดีตประธานสภาวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว รังสี นักกฎหมาย อัยการ หมอ การต่างประเทศ หอการค้าและอุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมทั้งสื่อมวลชนด้านวิทยาศาสตร์
 
รายงานฉบับนี้ระบุว่า ถึงแม้แผ่นดินไหวและสึนามิจะเป็นภัยธรรมชาติ แต่อุบัติภัยที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เป็นอุบัติภัยที่เกิดจากคน ซึ่งสามารถและควรจะคาดการณ์และป้องกันได้ รวมทั้งลดผลกระทบได้ด้วยระบบรับมืออุบัติภัยที่ดีกว่านี้
 
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ สาเหตุที่เป็นรากฐานของอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ อยู่ที่วิธีคิดที่ฝังอยู่ในขนบธรรมเนียมของวัฒนธรรมของญี่ปุ่น อันได้แก่ การเชื่อฟังแบบอัตโนมัติ การลังเลที่จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ การอุทิศทุ่มเทเพื่อ ‘ยึดติดกับโปรแกรม’ ความเป็นกลุ่มเดียวกัน และการทำอะไรอย่างโดดเดี่ยว หากไม่แก้ไขรากของปัญหาเหล่านี้ การป้องกันอุบัติภัยในลักษณะเดียวกันนี้จะไม่มีทางสมบูรณ์ได้ รายงานระบุชัด
 
ศุภกิจ กล่าวต่อมาว่า ประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่อยู่ที่ สังคมไทยไม่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวและสึนามิมากเหมือนประเทศญี่ปุ่น ประเด็นที่สังคมไทยควรเรียนรู้ คือ การไม่เตรียมพร้อมให้เพียงพอ และจุดอ่อนของระบบรองรับอุบัติภัย และที่สำคัญคือวิธีคิดและวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย (Safety culture) แต่ต้องไปให้ถึงวัฒนธรรมแห่งธรรมาภิบาล (governance culture)
 
คำถามคือ สังคมไทยจะใช้กลไก กระบวนการ รวมทั้งกฎหมายใด เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่สำคัญเหล่านี้ ให้มีความพร้อมในการรับมือกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ด้วย
 
ในแง่ความรู้ รายงานนี้สรุป ถึงความ (ไม่) ปลอดภัยของนิวเคลียร์ญี่ปุ่นว่า มาตรการความปลอดภัยพื้นฐาน ซึ่งควรจะมี กลับไม่มีการพัฒนาขึ้นมาให้ถูกต้อง กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ กลับไม่มีกลไกในการบังคับให้นำเทคโนโลยีล่าสุดในระดับโลก รวมทั้งระบบรองรับอุบัติภัยและมาตรการความปลอดภัยในระดับมาตรฐานนานาชาติมาใช้ ดังนั้นจึงเป็นผลให้ความเสี่ยงที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ กลับไม่มีการดำเนินการป้องกัน
 
“เดิมเราไม่เข้าใจนิวเคลียร์ เรื่องญี่ปุ่นแบบนี้ เราเข้าใจว่าญี่ปุ่นคือสุดยอดระดับโลกแล้วเรื่องนิวเคลียร์ แล้วเราก็เชื่อกันแบบนั้น แต่ว่ารายงานชิ้นนี้สรุปขอมูลออกมาที่ไม่เป็นไปตามนั้น แล้วในสังคมเรา ในสื่อมวลชนเรากลับไม่มีเรื่องนี้ออกมามากนัก”  นักวิจัยพลังงานกล่าว และว่าเราควรช่วยกันเรียนรู้เรื่องนี้
 
 


รายงานของคณะกรรมการอิสระ
เพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
รัฐสภา
 
3 กรกฎาคม 2555
 
 
ข้อสรุป (Conclusions) ของรายงานการสืบสวน
•                     ภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์
•                     ผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ไม่เฉพาะจากสึนามิเท่านั้น)
•                     ปัญหาในการดำเนินงาน
•                     ปัญหาของระบบตอบสนองภาวะฉุกเฉิน
•                     ปัญหาของระบบการอพยพ
•                     ประเด็นต่อเนื่องด้านสาธารณสุขและสวัสดิภาพของประชาชน
•                     ความจำเป็นในการปฏิรูปหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า รวมทั้งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ
•                     แนวทางแบบ ‘ผิวเผิน’ จะไม่ช่วยแก้ปัญหาได้
 
ข้อเสนอแนะของรายงานการสืบสวน
  1. การติดตามตรวจสอบองค์กรกำกับดูแลนิวเคลียร์โดยรัฐสภา
  2. ปฏิรูประบบจัดการภัยพิบัติ
  3. ความรับผิดชอบของรัฐบาลในด้านสาธารณสุขและสวัสดิภาพของประชาชน
  4. การติดตามตรวจสอบผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
  5. หลักเกณฑ์สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลใหม่
  6. ปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนิวเคลียร์
  7. พัฒนาระบบคณะกรรมการสืบสวนที่เป็นอิสระ
 
แนวทางในการศึกษาและสืบสวนอย่างอิสระ
•                     ดำเนินการสืบสวน โดยไม่มีอคติสนับสนุนหรือต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
•                     รักษากระบวนการสืบสวนให้ปลอดจากอิทธิพลภายนอก
•                     ผลจากการสืบสวน ควรให้ข้อเสนอแนะที่มุ่งประโยชน์ต่ออนาคตของชาติ
•                     ควรมุ่งเน้นมุมมองระดับโลก เพื่อให้ผลการศึกษาช่วยป้องกันอุบัติเหตุนิวเคลียร์ในประเทศอื่นๆ ได้ด้วย
 
ความโปร่งใสของกระบวนการสืบสวน
ระยะเวลาการทำงาน 6 เดือน
•                     รับฟังความคิดเห็นรวม 900 ชั่วโมงและสัมภาษณ์ 1,167 คน
•                     ลงพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างๆ 9 ครั้ง
•                     การประชุมทั้ง 19 ครั้งของคณะกรรมการ เปิดให้สาธารณะเข้าสังเกตการณ์ได้ และถ่ายทอดสดทาง internet ทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ โดยมีผู้รับชมรวมทั้งหมด 800,000 คน
•                     ใช้ social media และได้รับข้อคิดเห็นรวม 170,000 comments
ระยะเวลาการทำงาน 6 เดือน
•                     สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบ มีการจัดประชุมใน 3 เมือง และลงพื้นที่ 12 เทศบาล จัดทำแบบสำรวจประชาชน 10,633 คน และคนงานในพื้นที่โรงไฟฟ้าอีกประมาณ 500 คน
•                     มี 3 ทีมไปศึกษาเรียนรู้ในต่างประเทศ รวมทั้งสัมภาษณ์และรับฟังผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส
 

 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครูอัตราจ้างโวยรัฐลอยแพครูทั่วประเทศกว่า 3 พัน

Posted: 28 Aug 2012 07:42 AM PDT

ครูอัตราจ้างสายวิทย์-คณิตอีสานชุมนุมเรียกร้องให้รัฐทบทวนคำสั่งเลิกจ้าง ครูอัตราจ้างสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั่วประเทศกว่า 3,323 คน เหตุจากรัฐไม่มีเงินอุดหนุน

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์เนชั่นทันข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมหอสมุด 33 ปี พนมไพรวิทยาคาร อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด แกนนำครูอัตราจ้างสายวิทยาศาสตร์และสายคณิตศาสตร์ จำนวน 30 คนจาก 20 จังหวัดภาคอีสาน จัดประชุมหาทางออก สรุปปัญหาความเดือดร้อนและสรุปข้อเรียกร้องเพื่อยื่นผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร้อยเอ็ด และ นางเอมอร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ดเขต 5 ร้อยเอ็ด อดีตข้าราชการครู เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาทบทวนคำสั่งหลังจากที่ก่อนหน้านั้น มีคำสั่งให้ยกเลิกการจ้างครูอัตราจ้างสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั่วประเทศ 3,323 คน เพราะไม่จัดสรรงบประมาณให้ทุกพื้นที่จ้างต่อหลังจากที่มีการดำเนินการมาครบ 3 ปี ทำให้ทุกคนได้รับความเดือดร้อน จากการเลิกจ้างของรัฐบาล 

นายอมรัตน์ ทองสาดี ประธานชมรมครูอัตราจ้าง สพฐ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ครูตามโครงการดังกล่าวมีการทำสัญญาด้วยงบไทยเข้มแข็ง 2 โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2552 โดยมีการจ้างอยู่ 2 กลุ่มคือ ครูจ้างตามโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบ จำนวน 5,290 อัตรา ครูจ้างโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 3,323 อัตรา ซึ่งจะหมดสัญญาจ้างสิ้นเดือนกันยายน 2555 นี้

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ครูอัตราจ้างเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนครูประจำการทั่วไป มีภาระรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนและงานอื่นๆที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนโรงเรียนและชุมชน จากแนวโน้มที่รัฐบาลจะหยุดจ้างในครั้งนี้ ทำให้ครูอัตราจ้างกลุ่มนี้ มีผลกระทบทางจิตใจ และครอบครัวเป็นอย่างมากเพราะอาศัยรายได้จากเงินเดือนครูอัตราจ้างเดือนละ 9,140 บาท เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยไม่ได้ปรับเงินเดือนตามวุฒิปริญญาตรี เป็น 15,000 บาทแต่อย่างใด แต่ก็ยังต่อสู้ทำหน้าที่ด้วยดี

หลังจากหมดสัญญาจ้าง ตนได้ยื่นเรื่องราวผ่านสำนักงานเขตการศึกษาให้มีการจ้างต่อ แต่กลับไม่ให้คำตอบและโยนความรับผิดชอบไปยัง นายไกร เกษทัน ผอ.สำนัดพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวง ศึกษาธิการ แต่เมื่อตนไปยิ่นข้อเรียกร้อง กลับโยนเรื่องกลับมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัด และในที่สุดกลับมีมติเลิกจ้าง พวกตนจึงเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาให้คำตอบ และแสดงความรับผิดชอบ

หลังจากการประชุมในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า ทางชมรมครูอัตราจ้างจึงสรุปข้อเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล ผ่านนายสมาน รัญระนา เลขานุการของ นางเอมอร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย ที่เป็นอดีตข้าราชการครู เพื่อเสนอให้กระทรวงศึกษาและรัฐบาล ทบทวนการเลิกจ้าง และพร้อมกันนั้น ยื่นเงื่อนไข ขอให้ปรับเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท และเมื่อครบกำหนดจ้างต่อ 3 ปีแล้วขอ ให้ปรับเป็นพนักงานราชการ และเมื่อเป็นพนักงานราชการครบ 5 ปีแล้ว ก็ขอให้ปรับเป็นครูผู้ช่วยต่อไป และหากยังยื่นผ่านสส.แล้วไม่มีความ ชัดเจน และไม่มีการทบทวนก็จะมีการขับเคลื่อนรวมตัวกันทั้งประเทศเดินทางเข้าพบ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ช่วยเหลือต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะละครใต้ดิน 'เบลารุส' ศิลปะในประเทศเผด็จการสุดท้ายของยุโรป

Posted: 28 Aug 2012 06:22 AM PDT

คณะละคร 'เบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์' (Belarus Free Theater) เมื่อดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนคณะละครบันเทิงทั่วไปที่จัดแสดงละครให้ความบันเทิงกับผู้ชมที่ชื่นชมการแสดงละครของเช็คสเปียร์และอื่นๆ ตามโรงละครในยุโรป แต่เบื้องหลังคณะละครที่มีกันอยู่ราวสิบชีวิตนี้ กว่า 7 ปีของการก่อตั้งคณะละคร พวกเขาต้องเผชิญการคุกคามในรูปแบบต่างๆ จากรัฐบาลเบลารุส - ประเทศเผด็จการสุดท้ายในยุโรป - มาแล้วนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ถูกตำรวจเข้าบุกรุกระหว่างการแสดง ไปจนถึงการถูกประกาศตัวว่าเป็น "ศัตรูของรัฐ" เพียงเพราะละครที่พวกเขาจัดแสดง ทำให้สมาชิกบางส่วนต้องลี้ภัยออกมาอาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษปีกว่าแล้ว 

ในประเทศเบลารุส การเข้าไปชมละครของพวกเขา ก็ใช่ว่าจะสามารถตีตั๋วและเข้าไปชมได้เช่นเดียวกับที่อื่นๆ แต่ผู้ชมจะต้องแสดงความประสงค์ในการชม หาเบอร์โทรศัพท์ของผู้จัดการคณะ และโทรศัพท์ไปหาเพื่อจะรอนัดหมายสถานที่ และเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการแสดง ผู้ชมที่ได้รับการติดต่อ จะได้รับการนัดหมายไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง และจากนั้น จะมีรถมารับพาไปยังสถานที่ที่คณะเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์จะมีการแสดง ซึ่งก็มักจะเป็นตึก อพาร์ทเมนท์ หรือบ้านร้างที่ห่างไกลสายตาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากคณะละครเบลารุสฯ เป็นคณะละครที่ผิดกฎหมายภายในประเทศ เพราะรัฐอนุญาตให้มีเพียงโรงละครที่ควบคุมโดยรัฐเท่านั้น จึงทำให้พวกเขาต้องแสดงกันแบบ "ใต้ดิน" ผู้ชมมักได้รับคำแนะนำให้นำบัตรประชาชนติดตัวไปด้วยเสมอ เพราะถ้าหากถูกจับกุม จะได้รับการปล่อยตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากสามารถบอกชื่อเสียงเรียงนามของตนเองได้ 

"เพราะฉะนั้น เรามักพูดเสมอว่า ผู้ชมชาวเบลารุสเป็นผู้ชมที่มีความกล้าหาญมากที่สุดในโลก" นาตาเลีย โกเลียดากล่าว เธอและนิโกไล กาเลซิน สามีของเธอที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งคณะละครเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์ขึ้นมาในปี 2005 เพื่อแสดงละครเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนกลุ่มน้อยทางเพศ การลักพาตัว โทษประหารชีวิต ไปจนถึงนักโทษการเมือง พวกเขาได้มาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อมาเก็บข้อมูลเรื่องโทษประหารชีวิตในเมืองไทย ก่อนที่จะเดินทางต่อไปมาเลเซีย ในโอกาสนี้ พวกเขาได้นำเสนอกิจกรรมและผลงานของคณะละครให้กับผู้ที่สนใจในเมืองไทยด้วย 

นาตาเลียกล่าวว่า เธอไม่อยากจะฟันธงลงไปว่า ละครของเธอเป็นละครการเมืองหรือละครให้การศึกษา เพราะสุดท้ายแล้ว เธอเพียงต้องการที่จะแสดงละครที่มีความท้าทายให้ดีที่สุด เพื่อให้คนดูได้รู้สึกฉุกคิดบางสิ่งบางอย่าง

"ในความเป็นจริงแล้วฉันไม่อยากจะแบ่งแยกประเภทอะไร เพราะมีละครหลายประเภท ทั้งละครการเมืองหรือละครสตรี ฉะนั้นฉันจึงไม่เชื่อเรื่องนั้น แต่ที่สำคัญก็คือคำว่า "ละคร" เราทำละครเรื่องที่เรารัก และเราก็ไม่ได้สั่งสอนใครจากบทเวที เราแค่ชอบศิลปะที่เราทำอยู่ แต่ข้อสำคัญสำหรับเราก็คือความท้าทาย ถ้ามันเป็นหัวข้อที่ท้าทายทางอารมณ์และทางปัญญา เราก็จะแสดงเรื่องนั้น แต่หากเรารู้แล้วว่าเรื่องนี้ต้องแสดงอย่างไร เราก็จะไม่เล่นมัน ฉะนั้น การกำกับละครของเราโดยผู้กำกับวลาดิเมียร์ แชร์เบน และทีมของเรามักเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย และซับซ้อนอยู่เสมอ" นาตาเลียกล่าว

 "สำหรับเราแล้ว เราเพียงแค่ต้องการทำละครที่ดีที่สุด และการในการแสดงนั้น หากเราสามารถทำให้คนดูเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือฉุกคิดอะไรขึ้นมาได้ เราก็ถือว่าได้ทำอะไรบางอย่าง ในการเลือกเล่นละครแต่ละอัน เราจะเลือกแต่สิ่งที่เป็นท้าทายทางสติปัญญา ทางร่างกาย และอารมณ์เท่านั้น ถ้ามันง่ายเกินไปเราก็จะไม่ทำ"

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ถึงแม้คณะละครเบลารุส จะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการแสดงในประเทศ ทั้งด้านความปลอดภัยหรือด้านการเงิน แต่ความมุ่งมั่นและความตั้งใจ ทำให้พวกเขาได้การสนับสนุนจากนานาชาติ โดยเฉพาะนักแสดงอย่าง จู๊ด ลอว์, เซียนนา มิลเลอร์, อดีตประธานาธิบดีและนักเขียนบทละครเช็ค วาซลาฟ ฮาเวล, นักร้องวงเดอะโรลลิง สโตนส์ มิค แจ็กเกอร์ และผู้กำกับภาพยนตร์ สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นต้น 


นิโกไล และนาตาเลีย ถ่ายกับอดีตประธานาธิบดีเช็ค วาซลาฟ ฮาเวล (กลาง)

ทั้งนี้ ประเทศเบลารุส เป็นประเทศสุดท้ายที่ยังคงปกครองด้วยระบอบเผด็จการในยุโรป และประเทศเดียวในยุโรปที่ยังใช้โทษประหารชีวิต โดยมีประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเช็นโก ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1994 ถึงแม้จะมีการจัดการเลือกตั้งโดยเฉลี่ยทุกๆ 5 ปี และเขาจะชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ในปี 2010 ชาวเบลารุสกว่า 50,000 คน ออกมาเดินถนนเพื่อประท้วงการทุจริตการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับนาตาเลีย และนิโกไล ที่ถูกจับกุม ซ้อมทรมาน และจำคุกเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่ผู้สมัครประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่ร่วมประท้วงถูกจำคุกและกักบริเวณเป็นเวลาหลายปี 

โดยในปัจจุบัน ลูกาเช็นโก ยังคงใช้นโยบายจากสมัยโซเวียตในการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจทางการผลิตและเศรษฐกิจ ถึงแม้จะเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักจากประเทศตะวันตก นอกจากนี้ ยังปิดกั้นและกำจัดผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองด้วยวิธีลักพาตัว อุ้มหาย สังหาร และจับเข้าคุก โดยมีเคจีบี หน่วยงานตำรวจลับทำหน้าที่สอดส่องภัยต่อความมั่นคงของชาติ ไม่ต่างจากในสมัยโซเวียต ทำให้เบลารุสถูกจัดอันดับเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นอันดับท้ายๆ ของยุโรปและของโลกด้วย 

"เรามักจะมีมุกตลกในประเทศที่ชอบเล่ากันว่า วันหนึ่ง หัวหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ไปบอกข่าวแก่ประธานาธิบดีลูกาเช็นโกหลังการเลือกตั้งว่า 'ท่านประธานาธิบดีครับ ผมมีข่าวจะมาบอก มาเริ่มกันที่ข่าวดีก่อนแล้วกัน คือ คุณได้เป็นประธานาธิบดีอีกรอบแล้ว - แล้วข่าวร้ายอะไรคืออะไรล่ะ? - ก็ไม่มีใครโหวตให้คุณน่ะสิ" นาตาเลียกล่าวด้วยความขบขันกึ่งขมขื่น ก่อนที่จะเสียงหัวเราะของผู้ชมทั้งห้องจะตามมา 

เธอกล่าวว่า ในเบลารุสเอง ก็มีปรากฎการณ์เช่นเดียวกับวงดนตรีพุสซี ไรออต ในรัสเซีย หากแต่เบลารุส ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ไม่มีน้ำมัน หรือทรัพยากรอื่นๆ ทำให้ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับประเทศอื่นๆ ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุโรป และอยู่ห่างจากลอนดอนเพียงสองชั่วโมงด้วยเครื่องบินเท่านั้น  

ละครของคณะเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์ เรื่อง Numbers
บอกเล่าถึงสถิติสภาพทางสังคมและการเมืองในเบลารุส

จากผู้กำกับละคร ถึงบทบาทนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ

ทั้งนาตาเลีย และนิโกไลกล่าวที่ถึงมาของความสนใจเรื่องโทษประหารชีวิตว่า จุดเปลี่ยนเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว  เมื่อรถใต้ดินในกรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส เกิดเหตุระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 รายและบาดเจ็บกว่าอีก 200 ราย หลังเกิดเหตุไม่กี่วัน รัฐบาลเบลารุสสามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายหนุ่มพี่น้องวัย 25 สองคน ซึ่งต่อมารัฐบาลอ้างว่าพวกเขาสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือวางระเบิด ทำให้รัฐบาลตัดสินลงโทษประหารชีวิตในทันที

คำตัดสินดังกล่าว นำมาซึ่งการคัดค้านจากประชาชนภายในประเทศจำนวนมาก เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสินดังกล่าว โดยชี้ว่าผู้ต้องหาสองคนไม่ได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม และมารดาของเขาและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ออกมากล่าวว่า พวกเขาถูกบีบให้สารภาพด้วยการซ้อมทรมานอย่างโหดร้าย  ต่อเรื่องนี้ นาตาเลียเห็นว่า น่าจะเป็นฝีมือที่จัดฉากโดยเคจีบี เพื่อเบี่ยงเบนปัญหาอื่นๆ ภายในประเทศ ทำให้เธอหันมาสนใจประเด็นโทษประหารชีวิต ซึ่งเธอมองว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

"เรามาคิดว่า ถ้าเราพูดเรื่องโทษประหารชีวิตในเบลารุส ทำไมต้องพูดแต่เรื่องนี้ในเบลารุสด้วย เพราะเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาในอีกหลายๆ ประเทศ ถ้าเราต้องการจะหยุดมัน เราน่าจะต้องเจาะลึกและศึกษามันอย่างจริงจังในรายละเอียด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาและเอเซียเพื่อไปพูดคุยกับผู้คนต่างๆ" นาตาเลียกล่าว "อย่างที่เรามาไทย เราก็ได้รับความสนับสนุนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อศึกษาประเทศที่เรามาถึง โดยศึกษาเรื่องโทษประหารชีวิตราว 90% และเรื่องอื่นๆ ด้วย"​ 

โดยในการเดินทางมาครั้งนี้ ทางคณะละครเบลารุสยังได้เข้าไปเยี่ยมเรือนจำบางขวาง เพื่อเยี่ยมนักโทษประหารชีวิตต่างชาติสองคน ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในคดียาเสพติดด้วย นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยกับองค์กรสิทธิต่างๆ เช่น สมาคมเพื่อสิทธิและเสรีภาพประชาชน เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากม. 112 

 

(ที่มาภาพ: Sponsume- Belarus Free Theatre


ประชาไทสัมภาษณ์ นาตาเลีย โกเลียดา ผู้ก่อตั้งคณะละครเบลารุส ฟรี เธียร์เตอร์
(สามารถเลือกปุ่ม CC เพื่อแสดงคำบรรยายภาษาไทย)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลักเกณฑ์ประมูล 3G ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว คาดประมูล 15-20 ต.ค.นี้

Posted: 28 Aug 2012 04:18 AM PDT

(28 ส.ค.55) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากที่ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2555 เล่ม 129 ตอนพิเศษ 130 ง หน้า 53

ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นตอนการประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล ซึ่งจะเริ่มภายหลังจากการเผยแพร่สรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) หรือ ไอเอ็ม ประมาณวันที่ 29 ส.ค.55 เพื่อเชิญชวนผู้ที่มีศักยภาพเข้าร่วมประมูลเพื่อเป็นผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับการอนุญาตจะต้องยื่นแบบคำขอเพื่อพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรกต่อไป โดยประมาณวันที่ 14 ก.ย. 55 กสทช. อาจจะจัดให้มีการประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเข้าร่วมรับการอนุญาต (Public information session) และให้มีโอกาสซักถามเพื่อความเข้าใจในการกรอกแบบคำขอและกระบวนการประมูลได้ชัดเจนขึ้น จากนั้น 30 วัน หลังจากที่ได้เผยแพร่ไอเอ็ม จะเป็นการกำหนดเวลาในการยื่นคำขอรับใบอนุญาต ซึ่งในขั้นตอนนี้จะต้องมีการวางเงินหลักประกันการประมูลด้วย

หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนของคุณสมบัติและการดำเนินการของผู้ขอรับใบอนุญาตตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และจะประกาศรายชื่อผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีคุณสมบัติและดำเนินการครบถ้วนเป็นผู้เข้าร่วมการประมูล ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 15 วัน นับจากวันยื่นคำขออนุญาต

จากนั้นจะชี้แจงรายละเอียดการประมูล โดยมีการประมาณการว่าอาจจะจัดในระหว่างวันที่ 12 -13 ต.ค.55 เพื่อให้ข้อมูลในการเข้าร่วมประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลทั้งหมด เพื่อให้เรียนรู้วิธีการ หลักเกณฑ์ และกระบวนการต่างๆ ของการประมูล และจะมีการจัดการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมดได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมการประมูล เพื่อให้มีโอกาสซักซ้อมกระบวนการเสนอราคาโดยใช้โปรแกรมการประมูล ซึ่งจะถือเป็นการทดสอบโปรแกรมการประมูลด้วย

จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการประมูลต่อไป เบื้องต้นได้กำหนดวันในการประมูลไว้ระหว่างวันที่ 15 – 20 ต.ค. 2555 และหลังจากสิ้นสุดการประมูลจะประกาศผลผู้ชนะการประมูลภายใน 3วัน โดยจะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้ชนะการประมูล ภายหลังจากผู้ชนะการประมูลได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนรับใบอนุญาตอย่างครบถ้วน ถูกต้องภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อนุพงษ์' เลื่อนขึ้นศาลคดีสลายการชุมนุม ตามอภิสิทธิ์-สุเทพ

Posted: 28 Aug 2012 03:56 AM PDT

อ้างติดภารกิจขอเลื่อนเข้าเบิกความคดีพัน คำกอง ทนายเชื่อ 30 ส.ค.นี้ อภิสิทธิ์-สุเทพ จะมา หลังที่ขอเลื่อนไปก่อนหน้า ศาลเห็นว่าสามารถทำคำสั่งได้แล้ว

 วันนี้ (28 ส.ค.55) เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 909 ศาลอาญา รัชดา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ไม่ได้เดินทางมาเบิกความในการไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ ชาว จ.ยโสธร ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ตลิงค์ ที่เป็นจุดประจำการของทหาร เมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 พ.ค.ต่อกับวันที่ 15 พ.ค.53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ตามคำร้องขอต่อศาลของนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต โดย พล.อ.อนุพงษ์ ได้ส่งหนังสือมายังศาลเพื่อขอเลื่อน ให้เหตุผลเนื่องจากติดภารกิจ จึงไม่สามารถมาเบิกความได้ รวมถึง พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ขอเลื่อนโดยอ้างเหตุเนื่องจากไปดูงานต่างประเทศด้วย

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิต เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ยังคงติดใจอยู่จากการขอเลื่อนดังกล่าว เนื่องจากพยานซึ่งขอหมายเรียกไปนั้นก็เพื่อต้องการได้ข้อเท็จจริงจากพยานแต่ละปาก ซึ่งถ้าพยานแต่ละปากมา ก็จะได้ทราบว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างไร แต่ศาลก็เห็นว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีข้อมูลเพียงพอที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคดี (การเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ) ได้แล้ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ส.ค. จะมีพยานอีก 2 ปากที่จะมาเบิกความคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งได้มีหมายเรียกมา หลังจากขอเลื่อนไปก่อนหน้า โดยทนายความญาติผู้เสียชีวิต เห็นว่า มีแนวโน้มว่าทั้ง 2 คนจะมา เนื่องจากเมื่อวาน (27 ส.ค.) ทั้ง 2 คนได้ไปให้ปากคำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ คิดว่าน่าจะเตรียมพร้อมแล้ว เพราะเหตุผลที่ขอเลื่อนที่ผ่านมานั้นได้อ้างว่าเพื่อไปเตรียมเอกสาร

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
คำ พันกอง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ควันหลงรอมฎอนใต้ กำเนิด ‘Photo Peace’ นักสร้างสันติจากภาพถ่าย

Posted: 28 Aug 2012 03:41 AM PDT

ประชาชนให้ความสนใจภาพถ่ายในนิทรรศการภาพถ่าย "
บันทึกวิถีรอมฎอน 1433" 30 Days : Lives in Ramadhan 1433 
ระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม 2555 ที่ลานหน้ามัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี 
(ภาพถ่ายโดย ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์)

 

เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มุสลิมหลายคนคงนึกเสียดายอยู่ที่ไม่ได้ทำอะไรบางอย่างหรือทำบางสิ่งที่เกินเลยไป โดยที่ยังไม่ทันได้สำนึกหรอสารภาพบาป ทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะขอให้พระเจ้า(อัลเลาะห์)ให้อภัยตามคำสอนของศาสนาอิสลาม

แล้วอะไรคือสิ่งที่สมควร หรือไม่เหมาะสมที่จะทำสำหรับมุสลิมในช่วงเดือนนี้ สิ่งนั้นส่วนหนึ่งได้ถูกบันทึกไว้ในภาพถ่ายจำนวนหนึ่งที่กลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ ที่จะนำไปจัดแสดงต่างสถานที่ต่างๆ รวมได้จัดแสดงไปแล้วที่ลานหน้ามัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่ชื่อดังของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

เป็นนิทรรศการภาพถ่าย "บันทึกวิถีรอมฎอน 1433" 30 Days : Lives in Ramadhan 1433 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นผลงานภาพถ่ายบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มช่างภาพข่าวชายแดนใต้ (Deep South Photojournalism - DSP) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch - DSW) และกลุ่ม Bintang Photo

นายมูหมัดซอเร่ เดง ผู้ดูแลกลุ่ม Bintang Photo ในเว็บไซด์facebook.com บอกว่า ภาพเหล่านี้ อาจแสดงให้คนมุสลิมเองได้เห็นว่า ตลอดเดือนรอมฎอนตัวเองควรจะใช้ชีวิตอย่างไร โดยสะท้อนออกมาในรูปของภาพถ่าย ซึ่งจะทำให้มุสลิมที่อาจไม่ได้ปฏิบัติตามวิถีที่ควรจะเป็นได้ทบทวนตัวเองไปด้วย ส่วนคนนอกพื้นที่และคนที่ไม่ใช่มุสลิมก็สามารถเรียนรู้วิถีชีวิตรอมฎอนของคนชายแดนภาคใต้ได้

 “เดือมรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิมทั่วโลก เพราะฉะนั้นในช่วงเดือนนี้ คนมุสลิมจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากปกติ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตช่วงหนึ่งของมุสลิมในรอบปี ผ่านภาพถ่ายซึ่งแต่ละภาพจะมีคำบรรยายไว้ด้วย” นายมูหมัดซอเร่ อธิบาย

ถามว่าทำไมต้องจัดที่มัสยิดกรือเซะนั้น มูหมัดซอเร่ บอกว่า เพราะเป็นสถานที่ที่มีคนมาเยี่ยมเยือนจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงวันรายอ เพราะคนในออกไปทำงานยังที่ต่างๆ จะเดินทางกลับบ้านในช่วงนี้ ไม่ว่าคนที่ทำงานอยู่ที่มาเลเซีย หรือที่อื่นๆ

ภาพทั้งหมดที่จัดแสดงมาจากสมาชิกกลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ รวมกว่า 30 ชีวิต เป็นภาพที่ถ่ายตามสถานที่ต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางภาพถ่ายในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีสมาชิกที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย ด้วย

ในการถ่ายภาพ มีการตั้งหัวข้อให้ช่างภาพแต่ละคนส่งภาพที่ดีที่สุดของตัวเองมาแสดง โดยมีทั้งหมด 6 หัวข้อ และ 2 หัวข้อพิเศษ โดยแบ่งช่วงในการถ่ายภาพแต่ละหัวข้อออกเป็น 5 วัน ดังนี้

5 วันแรก หัวข้อ อาหารการกิน เป็นภาพถ่ายเกี่ยวกับอาหาร รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องการกับเตรียมอาหารละศีลอด

5 วันที่สอง หัวข้อ ละหมาดตะรอเวียะห์ ซึ่งเป็นพิธีละหมาดที่มีเฉพาะในเดือนรอมฎอน ทั้งหญิงและชายจะไปละหมาดตะรอเวียะห์กันที่มัสยิดในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ

5 วันที่สาม หัวข้อ อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ในเดือนนี้มุสลิมจะให้เวลากับการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานมาก เนื่องจากรอมฎอนเป็นเดือนที่พระเจ้าประทานอัลกุรอานโองการแรกให้กับนบีมูฮัมหมัด ศาสนทูตแห่งอิสลาม

5 วันที่สี่ หัวข้อ การละศีลอด เป็นภาพถ่ายในช่วงเวลาตะวันตกดิน อันเป็นเวลาที่ต้องละศีลอด เป็นภาพการรับประทานอาหารละศีลอดร่วมกันตามบ้านเรือน มัสยิดหรือตามสถานที่ต่างๆ เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้เกิดการพบปะญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านผ่านการละศีลอดร่วมกัน สลับกันในแต่ละบ้าน เป็นการสร้างความสนิทสนมอย่างดี

5 วันที่ห้า หัวข้อ เอี้ยะติกาฟ หมายถึง การเก็บตัวอยู่ในมัสยิดในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน โดยมีการลุกขึ้นละหมาดในตอนกลางดึก การอ่านคำภีร์อัลกุรอาน การรำลึกถึงพระเจ้า การขออภัยโทษ เป็นต้น ที่สำคัญเป็นการแสวงหาคืนลัยละตุล-ก็อดร์ ซึ่งมีความประเสริฐที่สุดตามที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีในคืนนั้น จะได้รับผลบุญเท่ากับ 1 พันเดือน

5 วันสุดท้าย คือหัวข้อ ต้อนรับฮารีรายอ หรือ วันอีดิ้ลฟิตรี อันเป็นวันฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งจะมีความคึกคักเป็นพิเศษ เพราะจะมีการเตรียมทำอาหารเลี้ยง การเตรียมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายชุดใหม่ที่สวยงาม รวมทั้งการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนที่ออกไปทำงานต่างถิ่น เป็นต้น

ส่วนหัวข้อพิเศษอีก 2 หัวข้อ ได้แก่ พหุวัฒนธรรม เป็นการแสดงภาพถ่ายที่นำเสนอกิจกรรมของคนต่างศาสนิก ไม่ว่าจะเป็นคนพุทธหรือคนจีน ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการถือศีลอดของชาวมุสลิม เช่น พ่อค้าชาวจีนขายวัตถุดิบให้ชาวมุสลิมไปทำอาหารละศีลอด เป็นต้น

อีกหัวข้อพิเศษ คือ การให้ เนื่องจากเดือนรอมฎอนเป็นเดือนของการให้ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอาหารให้กับคนที่ถือศีลอด การเชิญญาติมิตรหรือเพื่อนบ้านมาร่วมละศีลอดร่วมกัน ก็เป็นการให้ลักษณะหนึ่ง รวมทั้งการบริจาคทานบังคับ หรือที่เรียกว่าการจ่ายซะกาต ซึ่งจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับคนจน อนาถา รวมทั้งคนอื่นรวม 8 จำพวก ตามที่ศาสนาอิสลามกำหนด แม้กระทั่งวันฮารีรายอเองที่ผู้ใหญ่มักจะแจกเงินให้กับเด็กๆ เป็นต้น

นอกจากการจัดแสดงในงานแล้ว ในแต่ละช่วงก็มีการเลือกภาพมาแสดงทางเว็บไซด์เฟสบุ๊ก ในชื่อกลุ่ม Bintang Photo ไปด้วย

ส่วนการจัดแสดงภาพถ่ายชุดนี้ครั้งต่อไป คือ ในงาน"การประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียน" (The International Conference on Political Science, Public Administration and Peace Studies in ASEAN Countries) วันที่ 6 – 7 กันยายน 2555 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เปิดตัว Photo Peace นักสร้างสันติจากภาพถ่าย
นอกจากการแสดงภาพถ่ายแล้ว ในงานยังมีการเปิดตัวกลุ่ม Photo Peace of South หรือ PPS ทว่า เจ้าของงานข้องการให้เรียกกลุ่มว่า Photo Peace มากกว่า เพราะต้องการสื่อให้คนเห็นถึงบทบาทของกลุ่มในเรื่องการร่วมสร้างสันภาพโดยผ่านภาพถ่ายภายใต้ชื่อกลุ่ม ซึ่งหมายถึง สันติภาพภาพถ่าย

นายฟูอัด แวสะแม ประธานกลุ่ม Photo Peace ระบุว่า กลุ่ม Photo Peace ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555 ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันภายในกลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ที่จะให้มีการรวมกลุ่มกันของช่างภาพแนวสันติ ทำงานเชิงบวกสู่สังคม โดยมีการเปิดรับสมัครช่างภาพมาเป็นสมาชิกรอบแรกนี้ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังคนเดียวกับกลุ่มช่างภาพชายแดนใต้

หลังก่อตั้งกลุ่ม Photo Peace มีการจัดกิจกรรมแรกคือ กิจกรรมคืนภาพถ่ายสู่บุคคลในภาพ โดยถ่ายภาพกิจกรรมการละหมาดในช่วงรอมฎอนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี จากนั้นเลือกภาพที่ดีที่สุดมาทำโปสการ์ด จำนวน 300 ใบ เพื่อให้บุคคลที่อยู่ในภาพได้หยิบไป โดยขอรับบริจาคเป็นเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กกำพร้า ซึ่งเพียงคืนแรกได้รับเงินบริจาคถึง 4,600 บาท ซึ่งแสดงว่าประชาชนให้ความสนใจพอสมควร

ถามว่า แล้วภาพถ่ายเกี่ยวข้องกับสันติภาพได้อย่างไร ฟูอัด บอกว่า เพราะที่ผ่านมาชายแดนใต้ถูกบอกเล่าด้วยภาพของความรุนแรง ภาพของการต่อสู้และการใช้อาวุธ แต่ภาพถ่ายของสันติภาพอาจจะไม่ใช่ภาพแห่งความสวยงามเสียทีเดียว แต่สามารถมาแทนภาพแห่งความรุนแรงได้ และจะค่อยช่วยสรรค์สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด

ฟูอัดทิ้งท้ายว่า นี่เป็นการใช้ภาพแห่งความสวยงามมาสู้กับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั่นเอง โดยหวังว่า ภาพถ่ายของพวกเขาจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพ สันติสุขและสมานฉันท์ให้กับพื้นที่ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานโจทก์คดีแกนนำคนงานไทรอัมพ์ ชุมนุมเกิน 10 คนก่อความวุ่นวาย

Posted: 28 Aug 2012 03:23 AM PDT

สืบพยานโจทก์คดี 3 แกนนำคนงาน ชุมนุมเกิน 10 คนก่อความวุ่นวาย เมื่อปี 52 ผู้การแต้ม อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความระบุคนงานชุมนุมกีดขวางการจราจร ก่อความเดือดร้อน คนมาน้อยแต่นั่งกระจายเต็มพื้นที่

(28 ส.ค.55) ที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานโจทก์ ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ นายสุนทร บุญยอด และ น.ส.จิตรา คชเดช ในความผิดฐานมั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จากกรณีการชุมนุมของคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552

พยานโจทก์วันนี้คือ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ในขณะนั้น เบิกความว่า ตนเองดูแลความเรียบร้อยและเจรจาต่อรองในการชุมนุม โดยในวันดังกล่าว ผู้ชุมนุมคนงานบริษัทไทรอัมพ์ประมาณ 300-400 คนได้ปิดถนนหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรของประชาชน สถานที่ราชการ โรงเรียน และที่สำคัญเป็นเส้นทางหลักในการเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เมื่อเจรจาต่อรองให้เปิดช่องทางจราจร ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม แต่ยังปิดการจราจรเพิ่มเป็น 3 ช่องทางจากทั้งหมด 5 ช่องทาง รวมถึงปิดประตูทางเข้าทำเนียบ 1-4 ด้วย

พล.ต.ต.วิชัย เบิกความว่า ต่อมาเมื่อผู้ชุมนุมทราบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้นไม่มารับหนังสือร้องเรียนเพราะอยู่ที่รัฐสภา แกนนำทั้งสามจึงพาผู้ชุมนุมไปหน้ารัฐสภา มีการบอกให้ผู้ชุมนุมปิดการจราจร ทั้งที่มีผู้ชุมนุมเพียง 300-400 คน อยู่บนฟุตบาทได้ แต่ใช้วิธีนั่งกระจายปิดถนนทั้งหมด ซึ่งการปิดถนนเส้นอู่ทองใน ทำให้เกิดความเดือดร้อน คนในรัฐสภาเข้าออกไม่ได้ ประชาชนที่จะติดต่อราชการที่รัฐสภาเข้าไม่ได้ และเส้นทางดังกล่าวยังเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ

ทั้งนี้ พล.ต.ต.วิชัย เบิกความว่า การชุมนุมเป็นสิทธิที่ทำได้ ไม่ได้บอกให้เลิกชุมนุม แต่ขอให้เปิดการจราจร โดยหากเปิดช่องทางจราจร จะไม่ถือว่าก่อความเดือดร้อน และการใช้เครื่อง LRAD ก็เพื่อขยายเสียง ควบคุมผู้ชุมนุมเท่านั้น

ด้านทนายจำเลยที่ 1-3 ซักค้าน พล.ต.ต.วิชัย ย้ำว่า จุดที่ต้องการดำเนินคดีคือเหตุการณ์หน้ารัฐสภา เพราะหน้าทำเนียบ แม้ปิดช่องทางจราจรแต่รถยังผ่านได้ จึงอะลุ้มอะล่วย ทั้งนี้ ทราบว่าเจตนาของผู้ชุมนุมคือเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีถูกเลิกจ้าง ทนายถามว่า ทราบหรือไม่ว่ามีผู้ชุมนุมมาจากบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) และบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ด้วย พล.ต.ต. เบิกความว่า ไม่ทราบ รู้แต่ว่ามาจากไทรอัมพ์

กรณีการใช้เครื่อง LRAD พยานตอบว่า เคยชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) จากกรณีที่คนงานไปร้องเรียนว่าตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ว่า LRAD ใช้เพื่อขยายเสียงและควบคุมฝูงชน อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าในต่างประเทศ มีการใช้ LRAD เป็นอาวุธสงคราม โดยในวันดังกล่าว เปิดเครื่อง LRAD เพื่อตัดเสียงเครื่องขยายเสียงของผู้ชุมนุมไม่ให้ดังรบกวนในรัฐสภา ไม่ใช่เพื่อตัดการติดต่อ หรือสลายการชุมนุม เพราะถ้าใช้เพื่อสลายการชุมนุม เสียงจะดังมากและยาวนานกว่านี้

ทนายถามว่า เคยมีปากเสียงกับ จิตรา คชเดช จำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยบอกให้ไปจับผู้บริหารบริษัทแทนใช่หรือไม่ พยานยืนยันว่าไม่ได้มีปากเสียงกับจำเลย โดยตนเองเป็นผู้เจรจาที่ดีที่สุด

ทนายถามว่า เหตุการณ์หน้ารัฐสภา เป็นความผิดซึ่งหน้า ทำไมจึงไม่จับทันที พยานระบุว่า มีเหตุผลที่จะจับ แต่ใช้วิธีขอหมายศาลเพื่อความถูกต้อง และไม่จับทันทีเพราะผู้ชุมนุมมีมาก ทั้งนี้ ไม่มีประชาชนมาร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยตำรวจเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอง

พยานกล่าวว่า ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนก่อนเกิดเหตุ มีม็อบที่ทำเนียบจำนวนมาก ถ้ามาเยอะ ก็จะปิดช่องทางจราจรอยู่แล้ว ซึ่งศาลก็เคยมีคำสั่งว่าทำได้ ถ้าไม่ได้จงใจ สำหรับการชุมนุมหน้ารัฐสภา ถ้าจะปิดเต็มพื้นที่ ใช้คน1,000 คนเท่านั้น แต่วันนั้น ผู้ชุมนุมมาไม่เต็มพื้นที่ ฟุตบาทฝั่งเขาดินไม่มีคนยืนเลย

ทนายถามว่า การแจ้งความดำเนินคดีโดยใช้กฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.จราจร เป็นการขัดขวางการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.ต.ต.วิชัย ตอบว่า ไม่ใช่

ด้านอัยการถามติง ถึงผลสอบของ กสม. พล.ต.ต.วิชัย ระบุว่า รายงานดังกล่าวสรุปว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เป็นการละเมิดสิทธิฯ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในการสืบพยานโจทก์วันนี้ นอกจากสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จำนวนหนึ่งแล้ว ยังมี ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ สุดา รังกุพันธุ์ นักวิชาการเสื้อแดง ร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย

สำหรับการสืบพยานโจทก์ ยังมีอีกสองรายในวันพรุ่งนี้ ได้แก่ พ.ต.ท.สมบัติ เหมันต์ ในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน สน.ดุสิต และนายสิทธิชัย ซื่อสัตย์ดี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำทำเนียบรัฐบาล ผู้เห็นเหตุการณ์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คุกซ้อนคุก’ ชีวิต transgender ในเรือนจำ สิ่งแปลกปลอมที่ถูกกันออกและล่วงละเมิด

Posted: 28 Aug 2012 02:26 AM PDT

 
 

“ผมพบว่าผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมจากทางเรือนจำ ทั้งด้านความเป็นอยู่ รวมถึงการถูกดูหมิ่น เหยียดหยามในสถานะของผู้ชายที่แปลงเพศ จากผู้ต้องขังด้วยกันเองและจากผู้คุมที่ไม่ให้เกียรติกับผู้ต้องขังกลุ่มนี้” นี่คือตอนหนึ่งในจดหมายจากผู้ต้องขังชายในเรือนจำที่เขียนมาเกริ่นถึงเรื่องราวความทุกข์ของพวกเธอ และนั่นทำให้ ‘ประชาไท’ ได้มีโอกาสไปเข้าเยี่ยมเพื่อพูดคุยกับเจ้าตัว  

รัน (นามแฝง) คือหนึ่งในผู้ต้องขังสาวในเรือนจำชายแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร รันรับการผ่าตัดแปลงเพศมาเกือบ 20 ปีแล้ว เหมือนกับเพื่อนผู้ต้องขังอีก 3 คนที่อยู่ในเรือนจำเดียวกัน

แม้จะมีร่างกายเป็นหญิง 100% และจิตใจเป็นหญิงอาจจะเกินร้อย แต่สำหรับรัฐ เธอยังคงเป็นผู้ชาย มีคำนำหน้าชื่อเป็น นาย และหากกระทำผิดก็ต้องนำมากักขังไว้ในเรือนจำชาย

เธอเล่าว่า อาจเป็นเพราะเรือนจำคำนึงถึงความปลอดภัยของพวกเธอ จึงจำกัดบริเวณพวกเธอ ไม่ให้มีอิสระไปในมาไหนอย่างเช่นผู้ต้องขังทั่วไป เรียกว่าเธอเจอ คุกซ้อนคุก

พวกเธอถูกแยกออกไปอยู่ห้องขังเดี่ยวที่มีขนาดเล็กมาก โดยปกติเอาไว้ลงโทษนักโทษที่ทำผิดกฎเรือนจำ ห้องขังนี้มีขนาด 2x3 เมตร และต้องอยู่รวมกันถึง 3 คน อย่างแออัด

“การแยกขังแบบนี้มันทำให้เครียดมาก และเขาก็ไม่ค่อยสนใจเรา กว่าจะมาเปิดประตูให้เรา บางทีก็สายมาก เกือบสิบโมงก็มี กว่าจะได้ออกมากินข้าว ขณะที่คนอื่นเขาได้ลงจากเรือนนอนกันตั้งแต่หกเจ็ดโมงเช้าแล้ว แล้วที่นี่ทีวีก็ไม่ได้ดูเหมือนคนอื่น ลำบากกว่าคนอื่นมาก” รันว่า

อีกทั้งในห้องขังเดี่ยวมีกล้องวงจรปิด สามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา

หลายครั้งที่มีคนบอกเธอว่าเจ้าหน้าที่เปิดกล้องให้ผู้ต้องขังอื่นดูในขณะที่พวกเธออาบน้ำ ทำภารกิจส่วนตัว กลายเป็นเรื่องสนุกสนานของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังอื่น บางครั้งมีการบังคับให้นักโทษกลุ่มนี้เปิดหน้าอกให้ดู เป็นที่ตลกขบขัน โดยที่พวกเธอไม่ได้เต็มใจ

ยังไม่นับรวมการพูดจาหยาบคาย ดูหมิ่นเหยียดหยามทางเพศสำหรับเจ้าหน้าที่บางคนซึ่งไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย

นอกจากนี้เมื่อต้องออกไปขึ้นศาล จะต้องมีการตรวจร่างกาย โดยขั้นตอนจะต้องบังคับให้ผู้ต้องขังถอดเสื้อผ้าออกทุกชิ้น ทำให้ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ได้รับความอับอายจากผู้ต้องขังอื่นๆ

“กรณีตรวจค้นร่างกายนี้ เพศชายแท้ๆ ยังมีความอับอายเลย ทางที่ดีควรให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิงทำหน้าที่แทนจะเหมาะสมกว่า เพราะเรือนจำก็มีเจ้าหน้าที่หญิงอยู่บ้าง” ส่วนนี้เป็นความคิดเห็นจากนักโทษชายที่เขียนจดหมายมาบอกเล่าเรื่องของพวกเธอ

เมื่อถามว่าอยากจะเรียกร้องให้มีการย้ายผู้ที่แปลงเพศเป็นหญิงแล้วไปอยู่เรือนจำหญิงไหม รันตอบว่า โดยกฎหมายและระเบียบต่างๆ แล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ย้ายที่นั่น เมื่อเกิดมาเป็นเพศชายยังไงรัฐก็กำหนดเราเป็นเพศชายตลอดไป ซึ่งถึงที่สุดก็ทำใจได้ เพียงแต่อยากให้ปฏิบัติเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ไม่ใช่ทำเหมือนตัวประหลาดและขาดการดูแล

รันยังยกตัวอย่าง เรือนจำคลองเปรมว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยได้เข้าไปอยู่ที่นั่นและพบว่าที่มีการจัดการกับคนกลุ่มนี้ได้ดี มีความเข้าใจมากกว่า ไม่มีการกีดกันให้แยกขังเดี่ยว และปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้เหมือนผู้ต้องขังคนอื่นๆ พร้อมทั้งมีกิจกรรมให้ทำอย่างเหมาะสม

เมื่อถามว่าการอยู่รวมกับผู้ต้องขังชายอื่นๆ เกรงจะเกิดอันตรายหรือไม่ รันว่า สภาพการณ์ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นมีอันตราย ส่วนใหญ่เมื่อต้องอยู่ร่วมกัน พวกเธอก็จะมีคู่ของเธอและอยู่กับคู่ของเธอ ที่สำคัญคือ การได้รับการปฏิบัติแบบปกติและเท่าเทียม  

“พี่จะได้ออกแล้ว แต่ที่อยากบอกเรื่องนี้ เพราะสงสารคนอื่นๆ ที่ยังต้องอยู่ต่อ และที่จะเข้ามาอีก” รันกล่าว

เจษฎา แต้สมบัติ ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย กล่าวว่า กรณีนี้ก็เป็นที่สนใจของเครือข่ายฯ เช่นกัน เพราะเรือนจำเป็นพื้นที่ที่มืดมิดและน่าจะมีการละเมิดสิทธิบุคคลกลุ่มนี้ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหน่วยงานของไทยคงยังไม่มีความเข้าใจและยังไม่มีมาตรการจัดการกับเรื่องนี้อย่างเหมาะสม อย่างเช่นประเทศจีนก็ประสบปัญหาผู้ต้องขังแปลงเพศมีจำนวนมากเหมือนกัน เมื่อไม่รู้จะจัดการอย่างไร ก็ได้แต่แยกคนพวกนี้ออกมาไว้ที่เฉพาะ

“ถึงแม้จะผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แต่ระบบราชการยังยึดโยงกับคำนำหน้านาม กฎแบบนี้ใช้กับทุกสถานที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ระเบียบแบบนี้มีวิธีคิดโดยเห็นคนแค่ 2 เพศเท่านั้น” เจษฎากล่าว และว่า เบื้องต้นจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลและหากพบการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม อาจจะทำเรื่องถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ช่วยตรวจสอบและนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บรรยากาศลอยอังคารเถ้ากระดูก อากง SMS

Posted: 28 Aug 2012 01:27 AM PDT

14.00 น. เมื่อวันที่ 27 ส.ค.55 ที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดบางนานอก เขตบางนา กรุงเทพฯ ได้มีพิธีกรรมลอยอังคารเถ้ากระดูกศพนายอำพล หรือ อากง SMS ผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว หลังจากวานนี้(26 ส.ค.55) ได้มีงานฌาปนกิจศพ ที่วัดลาดพร้าว โดยในการลอยอังคารนี้มีนางรสมาลิน (ภรรยา) พร้อมด้วยญาติและประชาชนประมาณ 50 คน เช่น สุดา รังกุพันธุ์, จิตรา คชเดช และไม้หนึ่ง ก.กุนที เป็นต้น

ชมคลิปและภาพด้านล่าง

 

 

ห่อผ้าบรรจุเถ้ากระดูกศพอากง SMS

นางรสมาลิน (ภรรยาอากง SMS)

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น