โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โต้ไทย มุสลิมกัมพูชาเข้ามาทำงานไม่มีเอี่ยวก่อการร้าย

Posted: 23 Aug 2012 07:59 AM PDT

โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาโต้ไทยมุสลิมกัมพูชาไม่มีส่วนรู้เห็นก่อการร้ายภาคใต้ แจงแค่เข้ามาทำงาน ตรวจสอบได้ ด้านตำรวจทหารสระแก้วตรวจค้นเข้ม 31 มุสลิมกัมพูชาที่จะเดินทางลงชายแดนใต้

 

Koy Kuong โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ระบุมุสลิมกัมพูชาเข้ามาทำงาน ไม่มีเอี่ยวก่อการร้าย (ที่มาภาพ: http://khmerization.blogspot.com)

23 ส.ค. 55 – สืบเนื่องจากกรณีที่มีรายงานข่าวแจ้งว่าชาวมุสลิมกัมพูชาจำนวนมากขอใช้เส้นทางประเทศไทยทางจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางไปยังมาเลเซีย แต่เมื่อเข้ามาแล้วไม่ปรากฏว่าเดินทางออกจากประเทศไทย จากนั้นก็มีการนำประเด็นนี้ไปโยงกับการก่อความไม่สงบในภาคใต้ และพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตรวจสอบชาวมุสลิมกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,000 คนนั้น

ล่าสุดเว็บบลอก khmerization ของกัมพูชาได้อ้างข่าวสำนักข่าว Xinhua ว่านาย Koy Kuong โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ได้ออกแถลงข่าวแสดงความไม่พอใจต่อปฏิกิริยานี้ของไทย โดยนาย Koy Kuong ระบุว่าชาวกัมพูชาเหล่านี้เข้ามาหางานทำในประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย และยังระบุว่ากระแสข่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอคติมากกว่า และเจ้าหน้าที่ไทยก็สามารถตรวจสอบชาวกัมพูชาเหล่านี้ได้ในขณะที่พวกเขาอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว

ค้นเข้ม 31 มุสลิมกัมพูชาจะเดินทางลงชายแดนใต้

ความคืบหน้าล่าสุดวันนี้ (23 ส.ค. 55) เนชั่นทันข่าวรายงานว่าพ.อ.มล.ประวีร์ จักรพันธ์ ผบ.ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา (ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 กองกำลังบูรพา) ได้สั่งการให้ ร.อ.อภินันท์ สงครามชัย ผบ.ร้อย ทพ.1206 ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา(ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 1206 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 กองกำลังบูรพา) ประสานความร่วมมือกับ พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว และ พ.ต.ท.จตุรภัทร สิงหัษฐิต สวป.สภ.คลองลึก จ.สระแก้ว นำกำลังร่วมกันตั้งจุดตรวจค้น บริเวณจุดตรวจร่วมทางเข้าตลาดโรงเกลือ หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อตรวจสอบการเดินทางเข้าประเทศของชาวเขมรมุสลิม ต่อมา จนท.ได้ตรวจพบแรงงานต่างด้าวชาวเขมรตามข้อตกลง MOU ประมาณ 300 คน เดินทางข้ามด่านพรมแดนอรัญประเทศ จากฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา เข้ามาในประเทศไทย โดยมีตัวแทนบริษัทฯ ในประเทศไทยมารอรับเพื่อพาเดินทางไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยกว่า 10 บริษัทฯมารอรับถึงหน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ เมื่อถึงจุดตรวจ จนท.ได้ตรวจสอบพบว่าในกลุ่มของแรงงานต่างด้าวชาวเขมรตาม MOU ได้มีชาวเขมรมุสลิมที่จะเดินทางไปชายแดนภาคใต้ของไทยเดินทางปะปนเข้ามาด้วย จนท.จึงได้นำตัวชาวเขมรทั้งหมดลงมาตรวจสอบและคัดแยกชาวเขมรมุสลิมออกมาจากกลุ่มแรงงานฯตาม MOU ที่กองร้อยทหารพรานบ้านคลองลึก หน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว

จากการคัดแยกพบว่ามีชาวเขมรมุสลิมที่เดินทางปะปนมากับแรงงานเขมรฯตามMOU จำนวน 31 คน เป็นชาย 19 คน หญิง 12 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจำนวน 13 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 3 คน อ้างว่าจะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ชายแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อ จนท.ตรวจสอบพบว่ามีหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต)ใหม่เอี่ยมพึ่งเดินทางครั้งแรก กันทุกคน จนท.จึงทำการตรวจค้นพร้อมทั้งถ่ายภาพทำประวัติเก็บไว้ ส่วนชาวเขมรมุสลิมอีกกลุ่มจำนวน 18 คน เป็นชาย 9 คน หญิง 9 คน พฤติกรรมต้องสงสัยเนื่องจากไม่มีกระเป๋าเสื้อผ้ามาให้ จนท.ตรวจค้นและพูดไม่ตรงกันโดยบางคน อ้างว่าจะเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซีย แต่บางคนอ้างว่าจะไปท่องเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต แต่เนื่องจากสภาพการแต่งตัวไม่น่าจะใช่นักท่องเที่ยวอีกทั้งในตัวมีเงินคนละไม่กี่ร้อยบาท และไม่มีกระเป๋าเสื้อผ้ามาให้ จนท.ตรวจค้น จนท.จึงทำการกักตัวไว้ จากนั้นได้แจ้งประสานไปยัง จนท.ชุดปฎิบัติการข่าวที่ 3 กองกำลังบูรพา มาร่วมกันสอบสวน นานกว่า 2 ชม.ชาวเขมรมุสลิมทั้ง 18 คน จึงยอมนำกระเป๋าเสื้อผ้ามาให้ จนท.ทำการตรวจค้นอย่างละเอียด แต่ไม่พบสิ่งผิดกฏหมายใดๆ

นอกจากนี้ ขณะ จนท.ตรวจค้น พบว่านายมาร์ช โรแฟต อายุ 29 ปี ชาวกัมพูชามุสลิม มีพาสปอร์ตคนเดียวถึง 2 เล่ม มีชื่อที่อยู่เหมือนกัน พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว จึงตรวจสอบไปยัง จนท.ตม.ปอยเปต ของกัมพูชา โดย จนท.ตม.ปอยเปต ของกัมพูชายืนยันว่ารัฐบาลกัมพูชามีสิทธิออกพาสปอร์ตให้ชาวกัมพูชา 2 เล่มได้ โดยเฉพาะนายมาร์ช โรแฟต เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่รัฐบาลกัมพูชาส่งไปศึกษาที่ประเทศเกาหลี แต่นายมาร์ช โรแฟต มีลุงอยู่ประเทศมาเลเซีย นายมาร์ช โรแฟต จึงทำพาสปอร์ตใหม่อีกเล่มเพื่อเดินทางไปเยี่ยมลุงที่ประเทศมาเลเซีย หลัง จนท.ตรวจสอบเอกสารแล้วพบว่ามีการประทับตราเข้าประเทศอย่างถูกต้องจึงอนุญาตให้เดินทางต่อไปได้ โดยได้ถ่ายภาพทำประวัติไว้ทุกคน หากชาวเขมรมุสลิมเหล่านี้ไปก่อเหตุหรือไปร่วมสนับสนุนกับกลุ่มโจรภาคใต้ จะได้มีหลักฐานและประวัติไว้ตรวจสอบได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ ยัน ศอฉ. ควรร่วมรับผิดชอบสลายชุมนุม ‘สุเทพ’ โอดย้ายข้างกันหมด

Posted: 23 Aug 2012 06:47 AM PDT

 

23 ส.ค.55 เว็บไซต์ Springnews TV รายงาน นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 เห็นว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ ควรต้องรับผิดชอบร่วมกับฝ่ายปฏิบัติการในการสั่งการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 รวมถึงนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะคำสั่งทุกอย่างในที่ประชุม ได้มีการกลั่นกรองและปฏิบัติตามหลักสากล แต่เห็นว่าขณะนี้มีข้อกล่าวหาต่างๆ ต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการ ทั้งที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินอย่างชัดเจน

นายถวิลยังยอมรับว่า เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนข้อมูลก็เปลี่ยนไป และถูกเปิดเผยผ่านสื่อมากขึ้น พร้อมไปกับถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้สถานการณ์กลับตาละปัด และส่วนตัวก็พร้อมรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้น รวมถึงการถูกโยกย้ายออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ทั้งนี้นายถวิล ยังเห็นว่า ขอให้กำลังใจนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในการทำหน้าที่ เพราะหากไม่มีนายธาริตงานต่างๆ ก็จะไม่มีความคืบหน้า ซึ่งเชื่อว่า นายธาริต ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เหมือนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต แต่เชื่อว่า อาจมีความจำเป็นและภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทำให้บางเรื่องไม่สามารถพูดได้ ส่วนการเสียชีวิตของประชาชน 98 ศพ และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก เจ้าหน้าที่รัฐ ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

อดีตผอ.ศอฉ. เปรียบกำลังเข้าสู่การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่โดยคนชนะ
ขณะที่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า หลังจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และอดีตผอ.ศอฉ.ร่วมหารือร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและฝ่ายกฎหมายของพรรค ได้เปิดเผยถึงการทำหนังสือขอเลื่อนไปอีก 15 วัน เพื่อเตรียมข้อมูล จากวันที่ 21 ส.ค. ที่มีนัดในการที่จะไปให้เป็นพยานในการไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม ใกล้สถานีรถไฟฟ้าราชปรารภ เมื่อ 15 พ.ค. 53 นายสุเทพ กล่าวอีกว่า หมายเรียกดังกล่าวเรียกให้ตนเป็นพยานฝ่ายทนายโจทก์ แต่กลับมีความพยายามเสนอข่าวให้ดูเหมือนว่าตนเป็นจำเลย ในคดีนี้นายอภิสิทธิ์ ได้รับหมายเช่นกัน และได้ส่งหนังสือเลื่อนการให้ปากคำเหมือนกันด้วย แต่ตนไม่ได้คิดว่าจะมีนัยยะอะไร คอยทำใจให้เกลี้ยง ๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเรียกไปให้การด้วยนัยยะอะไรก็แล้วแต่ทั้งพยานโจทก์หรือเป็นโจทก์เอง เราก็จะพูดแต่ในสิ่งที่เรารู้ เห็นและปฏิบัติ

“เรื่องนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ จะพูดอะไรก็พูดไป แต่ผมยืนหยัดต่อสู้บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยไม่ได้หารือกับอดีตศอฉ. รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ด้วย เพราะรัฐบาลและ ร.ต.อ.เฉลิม มีเป้าหมายผมและนายอภิสิทธิ์เท่านั้น จึงไม่ต้องเป็นห่วงกรรมการ ศอฉ.คนอื่น รวมถึงนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะเขาย้ายข้างไปแล้ว ส่วนเรื่องนี้จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อมวลชนอย่างไรนั้น ถือเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากกัน แต่ผมเป็นห่วงประชาชน เพราะรัฐบาลพูดข้างเดียว ร.ต.อ.เฉลิมก็พ่นอยู่ข้างเดียว ใส่ร้ายป้ายสีทุกวัน ขอเรียกร้องประชาชนให้เปิดใจฟังเรื่องนี้ เพราะเขาพยายามใส่ร้ายทหาร เพื่อโยนความผิดให้กับผมและนายอภิสิทธิ์ ทั้งที่ผมและนายอภิสิทธิ์ ไม่เคยสั่งการให้มีการฆ่าประชาชน ผมมั่นใจว่าจะสู้ได้ด้วยความจริง” นายสุเทพ กล่าว

เมื่อถามว่ามักจะมีคำขู่ว่าจะเอานายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ เข้าคุกให้ได้ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่กลัว ถ้าต้องติดคุกเพราะเราตั้งใจดีต่อบ้านเมืองก็ให้มันรู้ไป แต่ก็ยอมรับว่าตอนนี้กำลังเข้าสู่การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่โดยคนชนะ แต่ไม่มีใครลบความจริงได้ เพราะประชาชนเห็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ มีหลักฐานมากมาย แต่ขณะนี้มีความพยายามไม่พูดถึงชายชุดดำ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องพูด ถ้าดีเอสไอจงใจบิดเบือนข้อมูลเพื่อเอาใจรัฐบาลและ ร.ต.อ.เฉลิม ตนจะดำเนินคดีกับดีเอสไอ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานเข้าชื่อร่วมหมื่น เสนอกฎหมาย หวังยกระดับคุณภาพชีวิต

Posted: 23 Aug 2012 06:39 AM PDT

วานนี้ (22 ส.ค.55) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะ นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำรายชื่อจำนวน 12,567 รายชื่อ ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน ต่อประธานรัฐสภา

โดยแถลงการณ์ระบุว่า เป้าหมายสำคัญของการนำเสนอร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่นี้ คือ การก้าวข้ามอุปสรรคที่ขวางกั้นการใช้สิทธิของคนงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการรวมตัวอย่างกว้างขวางของแรงงานทุกกลุ่ม พี่น้องแรงงานมีโอกาสได้รับการปกป้องคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรอง อันจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสู่การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังเป็นปัจจัยเสริมหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกระแสที่ประชาคมโลกยอมรับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านแรงงาน ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อนึ่ง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และคณะ ประกอบด้วยสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (Team), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF), สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต, กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง, กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลโกรว์, กลุ่มสหภาพแรงงานอมตะ, กลุ่มสหภาพแรงงานพื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี, กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกพื้นที่บ่อวิน จังหวัดระยอง, กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่, กลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง, กลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรี, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, สหภาพแรงงานอาหารและการบริการแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญดังนี้

1. มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักการอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

2. สอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 64 ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น…”

3. ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานในระบบอุตสาหกรรม แรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานข้ามชาติ

4. คนทำงานไม่ว่าอาชีพใดหรือประกอบกิจการใด มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการรวมตัวเพื่อจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กร ลักษณะหรือรูปแบบใดก็ได้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเต็มที่จะละเมิดมิได้

5. จำกัดบทบาทมิให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุม กำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวเพื่อจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กรของคนทำงาน

6. ผู้จ้างงานต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งองค์การคนทำงาน หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดขวางให้เกิดการรวมตัวของคนทำงาน

7. เปลี่ยนนิยามและคำจำกัดความ “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” เป็น “ผู้จ้างงาน” และ “คนทำงาน” ที่ครอบคลุมการจ้างงานทุกประเภทไม่ว่าอยู่ภายใต้สัญญาจ้างใดๆ

8. เปลี่ยนกรอบคิดแรงงานสัมพันธ์จากเดิมที่เป็นแบบ“นายกับบ่าว” ที่ให้อำนาจแก่ฝ่าย “นายจ้าง” ให้มีเหนือ “ลูกจ้าง” ไปสู่ “หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” (Social partnership) ที่มองว่า “ผู้จ้างงาน” กับ “คนทำงาน” เป็น “หุ้นส่วน” กัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การตัดสินใจที่จะมีผลกระทบกับทั้งสองฝ่ายในการทำงานร่วมกันจึงต้องใช้หลักการตัดสินใจร่วมกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม

9. ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างผู้จ้างงานและคนทำงาน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการมีส่วนร่วมในสถานประกอบการ และคณะกรรมการคนทำงานในสถานประกอบกิจการ

10. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเปิดเผยข้อมูลการประกอบการ การจ้างงาน อย่างโปร่งใส โดยผู้จ้างงานมีหน้าที่แสดงข้อมูลแก่คณะกรรมการคนทำงานเมื่อมีการร้องขอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการคนทำงาน

11. ส่งเสริมการจ้างงานตามหลักการ “งานที่มีคุณค่า (Decent Work)” ที่เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน อันได้แก่ การไม่บังคับใช้แรงงาน การคุ้มครองแรงงานเด็ก เสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม และการไม่เลือกปฏิบัติ การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน การมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการจ้างงานหรือการทำงาน และการคุ้มครองทางสังคม

12. กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ การรวมตัวและการบริหารจัดการองค์การคนทำงานให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และอย่างเท่าเทียม ทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นมา คือคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการการมีส่วนร่วมในสถานประกอบกิจการ และคณะกรรมการคนทำงานในสถานประกอบกิจการ

13. การดำเนินงานที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ การปิดกิจการชั่วคราว การย้ายฐานการผลิต การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ การยุบแผนก การควบรวม การจ้างเหมาทุกลักษณะงาน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคนทำงาน

14. การแจ้งข้อเรียกร้อง คนทำงานที่เป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง มีสิทธิแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้จ้างงาน หรือเข้าร่วมกับคนทำงานซึ่งเป็นลูกจ้างโดยตรงของผู้จ้างงาน

15. ในการเจรจาข้อเรียกร้อง ผู้จ้างงาน คนทำงาน สามารถเพิ่มผู้แทนและที่ปรึกษาในการเจรจาต่อรองร่วมได้เพื่อประโยชน์ในการเจรจาข้อเรียกร้อง

16. คนทำงานในทุกกิจการมีสิทธินัดหยุดงานได้ ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานหรือปิดงาน คนทำงานมีสิทธิชุมนุมในเขตพื้นที่สถานประกอบกิจการ สาธารณูปโภคและสวัสดิการอื่นที่ผู้จ้างงานจัดให้ก่อนนัดหยุดงานหรือปิดงาน

17. เมื่อมีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน ผู้จ้างงานไม่สามารถนำแรงงานเข้ามาทำงานในกระบวนการผลิต แทนคนทำงานเดิมระหว่างการใช้สิทธินัดหยุดงานหรือปิดงานได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงงานสัมพันธ์อันดีและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

18. คุ้มครองสิทธิในการเจรจาต่อรอง เมื่อองค์การคนทำงานปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกหรือสาธารณะ ต้องไม่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือแพ่ง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สู่ปีที่ 20 ของการผลักดัน 'สถาบันความปลอดภัยฯ' ไม่แท้งก็พิการ!

Posted: 23 Aug 2012 06:07 AM PDT

ความต้องการจะแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ก็คือ การมองที่ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เกิดซ้ำซากแบบแก้ไขไม่ได้มาเป็นระยะเวลายืดเยื้อยาวนาน อย่างกรณีเคเดอร์ที่เกิดไฟไหม้ คนงานตายพร้อมกัน 188 ศพ บาดเจ็บถึง 469 ราย จนกลายเป็นโศกนาฏกรรม ที่มีการกล่าวขานไปทั่วโลก ทั้งในและต่างประเทศ เป็นภาพพจน์ที่เลวร้ายต่อการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัยในเมืองไทย

ปัญหาตามมามากมายเมื่อคนงานต้องเจ็บป่วยและประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน การยอมรับของนายจ้าง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงชะตากรรมที่ตกอยู่ที่ตัวคนงาน ครอบครัว ที่ต้องสูญเสีย หรือ กลายเป็นภาระของสังคม ปัญหาของสถานประกอบการที่ต้องเสียชื่อเสียง เสียเงินค่ารักษาเยียวยา ค่าทดแทน จนเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความมากมาย กลับมาถูกปฏิเสธทางกฎหมายด้วยการไม่ยอมรับการวินิจฉัยของแพทย์เชี่ยวชาญสาขาอาชีวเวชศาสตร์

กว่าจะได้สิทธิคนป่วยจากการทำงาน ต้องเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิ ในนามสมัชชาคน นานถึง 99 วัน ถึงได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน จากวันนั้นมาวันนี้คนงานก็ยังถูกปฏิเสธเช่นเดิม กองทุนวินิจฉัยกลับคำแพทย์เชี่ยวชาญมือหนึ่งของเมืองไทยจากป่วยในงาน ว่าไม่ป่วยในงาน

หลายภาคส่วนที่เห็นพ้องต้องกัน ทั้งผู้ถูกผลกระทบ นักวิชาการ เอ็นจีโอ ทั้งในและต่างประเทศ พูดคุยกันว่า จะทำอย่างไรถึงแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เพื่อลดปัญหาภาระทุกภาคส่วน และยังไม่เกิดการสูญเสีย จึงมองไปที่นโยบาย กฎหมาย ภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ ได้มองเห็นปัญหาร่วมกันว่า ไทยยังขาดระบบกลไกที่สำคัญที่จะมารองรับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม จึงมีความเห็นพร้องต้องกันว่า ควรจะมีองค์กรอิสระด้านความปลอดภัยเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองป้องกัน ส่งเสริม และพัฒนา งานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างมีส่วนร่วม

จากผลการตั้งวงคุยกันหาข้อสรุป ได้ตุ๊กตา รูปแบบการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ มาจากการริเริ่มของอาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ท่านโดดเด่นเรื่องผู้หญิงกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงการณ์ มหาวิทยาลัย พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล คุณจะเด็จ เชาน์วิไล ตอนนั้นท่านอาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร ท่านได้นำเอาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ เข้าสู่วงพิจารณาของผู้ที่ถูกผลกระทบจากการทำงาน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเพื่อปรับปรุง จนเป็นที่เห็นชอบร่วมกัน

ขยายวงไปสู่ NGO เช่น อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิฟรีดิชเอแบรท FES มูลนิอารมณ์ฯ มูลนิธิเพื่อนหญิง ผู้นำแรงงานในพื้นที่ต่างๆ สภาแรงงาน สมาพันธ์แรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ เช่น คุณสมศักดิ์ โกศัยสุข คุณอรุณี ศรีโต คุณวันเพ็ญ เปรมแก้ว (และท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าว) เกิดการพูดคุยครั้งแรกที่สำนักงานกลางคริสเตียน โดยการประสานของคุณจะเด็จ เชาว์วิไล จนเกิดเป็นมติเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย นำมาสู่ข้อเรียกร้องกับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจน จนได้เปิดโต๊ะเจรจากับรัฐบาลสมัยนั้น

ผลการชุมนุมสมัชชาคนจน ทำให้ ครม.มีมติเห็นชอบ ในหลักการให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มติ.ครม. 3 เมษายน 2538 และ 26 มีนาคม 2540 ตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.ร่วมกัน 6 เดือนแล้วเสร็จ ขณะเจรจายังต้องประชุมทำความเข้าใจ ถามความเห็นชอบจากวงประชุมกรรมการกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน วงประชุมที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และภาคีเครือข่ายต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน แล้วนำผลไปประชุมกับร่วมกับคณะกรรมการยกร่าง ที่รับการแต่งตั้งจากนายฉัตรชัย เอียสกุล รมว.แรงงาน 32 คนโดยมีคุณเอกพร รักความสุข รมช.แรงงานเป็นประธาน ศ.นิคม จันทรวิฑูร รองประธาน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ กรรมการเลขานุการ คุณทวีป กาญจนวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ สมัชชาคนจน ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการ ประกันสังคม ผู้นำแรงงาน แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ สภาองค์การลูกจ้าง นายจ้างฯสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ รัฐบาล สำนักงบประมาณ สำนักกฎหมาย กฤษฎีกา กระทรวงพัฒนาสังคม สำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น หลังจากที่ได้ร่างที่ยกเสร็จเป็นที่ยอมรับกันทั้งฝ่ายประชาชน และฝ่ายรัฐบาล ราชการ ต่างๆ แต่ร่างกฎหมายฉบับประชาชน ก็ถูกปฏิเสธบ่ายเบี่ยงโดยกระทรวงแรงงานไป ร่างกฎหมายฉบับกระทรวง แรงงานที่ไม่มีส่วนร่วมมา ยื่นเข้า ครม.

ทางออกของเครือข่ายแรงงาน คือ ยับยั้งไปที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และยับยั้งได้สำเร็จ เรียกร้องต่อรัฐบาล ระงับการพิจารณาร่างสถาบันฯ ฉบับไม่มีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานและประชาชน

ต่อมาในที่ประชุมหารือกันมีมติใช้กระบวนการเข้าชื่อตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 170 ซึ่งต้องเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อ มีขั้นตอนการนำแบบฟอร์ม การประชุมทุกเครือข่าย ทุกภาคี วางแผนในการเข้าชื่อและประชาสัมพันธ์ ร่วมกันลงขันการเข้าชื่อ เตรียมคนโดยระบุคนกับพื้นที่ในการเข้าชื่อสนับสนุน ที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจกับตัวแทนที่จะเข้าชื่อสามารถอธิบายสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันฯ ได้ โดยตั้งศูนย์กลางบัญชาการที่คลินิกอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รพ.ราชวิถี ที่มี พ.ญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล เป็นหัวหน้าคลินิก มีผู้พิมพ์รายชื่อและแจ้งสถานการณ์เข้าชื่อให้เครือข่ายทราบ โดยมีการประชุมสรุปผลกันเป็นระยะ ใช้เวลาร่วม 1 ปี คือ ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2541 - 10 พฤษภาคม 2542 สำเร็จได้ 55,000 รายชื่อ

เครือข่ายแรงงานมาจากพื้นที่ต่างๆ จำนวนคน 200 คน ร่วมยื่นรายชื่อกับประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นับเป็นกฎหมายฉบับแรกๆ ของประชาชนที่ได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติในขณะนั้น แต่การยื่นกฎหมายครั้งนั้นต้องล้มเหลว เพราะกฎหมายลูกที่มาออกทีหลังระบุว่า ให้แนบหลักฐานเอกสาร คือ ใบสำเนาบัตร ปปช. และสำเนาทะเบียนบ้าน กฎหมายจึงตกไป

หาแนวร่วมโดยการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 2545 -2555 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ลงพื้นที่ทำงานขยายผลเผยแพร่ทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน โดยจัดอบรม สัมมนา ฝึกอบรมผู้นำแรงงาน ตามที่ร่างหลักสูตรร่วมกัน ให้เป็นวิทยากรเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน สร้างเครือข่ายแกนนำด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานในหลายพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี รังสิต ปทุมธานี อ่างทอง อยุธยา สุมทรปราการ อ้อมน้อยอ้อมใหญ่ นครปฐม สมุทรสาคร สระบุรี ชลบุรี ระยอง ทำงานรณรงค์ จนเกิดความตระหนักร่วมกันผลักดัน การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ให้เป็นข้อเรียกร้องต้นๆ ของขบวนการแรงงาน ในวัน 8 มีนา (วันสตรีสากล) 1 พฤษภา (วันกรรมกร) 10 พฤษภา (วันความปลอดภัยแห่งชาติ) จนเป็นกระแสของสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 19 ปี

เจรจากับทุกรัฐบาล สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ในฐานะแกนนำสมัชชาคนจน ก็ร่วมเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในนามสมัชชาคนจน มาทุกยุคทุกสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ปี 2544 วงประชุมกระทรวงแรงงานมีการนำร่างของฝ่ายราชการกระทรวงแรงงาน กับร่างของผู้ใช้แรงงาน มาบูรณาการร่วมจนเป็นฉบับเดียวกันใน ปี 2545 เป็นร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ผู้นำเครือข่ายแรงงานด้านสุขภาพในพื้นที่ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ เข้าทำความเข้าใจกับภาคการเมืองอย่างต่อเนื่องหนักหน่วง โดยช่วงนั้นเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้ใช้สื่อต่างๆ เช่น การจัดรายการวิทยุเสียงกรรมกร ออกสื่อต่างๆ แจกแผ่นพับ จุลสารไปชี้แจงกับวุฒิสภา และยื่นหนังสือต่อประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จนปี 2550 กฎหมายรัฐธรรมนูญบรรจุเรื่องของผู้ใช้แรงงานเป็นครั้งแรก โดยในมาตรา 44 บุคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันในการทำงานรวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นสภาพการทำงาน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนด นับว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ใช้แรงงานโดยตรงเป็นครั้งแรกในเมืองไทย นอกจากนี้ยังได้ยื่นหนังสือต่อพรรคการเมืองต่างๆ จนเกิดเป็นนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่บรรจุให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

เข้าชื่อสนับสนุนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 163 เป็นมติคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีมติ 5 สิงหาคม 2550 แต่มีปัญหาอุปสรรคยังต้องมีเอกสารแนบซึ่งคนงานส่วนใหญ่ไม่ได้พกสำเนาทะเบียนบ้าน จึงเข้าชื่อไม่สำเร็จ 10,000 รายชื่อ โดยใช้เวลาถึง 3 ปีจนถึง กรกฎาคม 2552 ได้เพียง 7,000 รายชื่อ

สมัชชาคนจนได้เจรจากับรัฐบาลชุดท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการช่วยเหลือจากนักการเมืองทั้งสองพรรค คือ ท่าน ส.ส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท พรรคประชาธิปัตย์และ ท่าน ส.ส.สถาพร มณีรัตน์ พรรคเพื่อไทย (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เข้าชื่อ ส.ส. 20 ท่าน ยื่นกฎหมายภาคประชาชนประกบกับร่างรัฐบาล 1 ฉบับและ ส.ส.อื่นอีก 5 ฉบับ รวมเป็น 7 ฉบับ

อีกทั้งมีเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงานเกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จนทำให้กฎหมายผู้ใช้แรงงานและประชาชนได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 และแต่งตั้งผู้แทนแรงงานและได้โควต้ารัฐบาล 1 คน ได้แก่ คุณสมบุญ สีคำดอกแค โควต้าจากพรรคเพื่อไทย 1 คน ได้แก่ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ร่วมพิจารณา พ.ร.บ. ทั้ง 7 ฉบับ เข้าด้วยกัน ออกมาเป็น พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 โดยได้บรรจุให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ...ในหมวด 7 มาตรา 52 ให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ในการจัดตั้งสถาบันฯ ถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นตอนหนึ่ง

เริ่มยกร่าง พ.ร.ฎ.สถาบันฯ ประมาณมีนาคม 2554 จนถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมยกร่างกับกระทรวงแรงงานคือ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ นางสมบุญ สีคำดอกแค นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ในขณะนั้นมีคณะทำงานวางแผนยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการทำกิจกรรมขับเคลื่อนสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อทำความเข้าใจให้ความรู้ ลงพื้นที่จัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็น ทำข้อมูลเอกสารเผยแพร่ สื่อสารสังคม และจัดแถลงข่าว เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน และสังคม สาธารณะชน ได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

การยกร่าง พ.ร.ฎ.สถาบันฯ ส่อเค้าไปด้วยกันยาก ด้วยมีความคิดที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างอนุฝ่ายผู้ใช้แรงงานกับฝ่ายราชการ ซึ่งคอยปฏิเสธข้อเสนอเครือข่ายแรงงาน และด้วยโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม การลงมติย่อมเป็นวิธีการที่ยอมรับไม่ได้ ข้อเสนอการให้ตั้งศูนย์รับร้องเรียน และที่มาของคณะกรรมการมาให้มาจากการสรรหา ประธานไม่ควรมีตำแหน่งราชการกินเงินเดือน กรรมการโดยตำแหน่งจากให้มีแค่สองคน ส่วนตัวแทนลูกจ้าง นายจ้างให้มาจากการใช้ประชาธิปไตยทางตรงคือเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง จึงถูกปฏิเสธ และการขอเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ไม่มีผล รัฐมนตรีไม่ว่างพบ ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามเห็นชอบตามความเห็นของราชการ โดยไม่ฟังเสียงข้อเสนอของฝ่ายผู้ใช้แรงงานเลย

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน โดยมีทั้งตัวแทนภาครัฐเอกชน นักวิชาการ อย่าง เช่น รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คุณพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อ.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อ.สุนี ไชยรส คณะกรรมการปฎิรูป ผู้นำแรงงาน คุณชาลี ลอยสูง เครือข่ายแรงงาน และ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ

ศาสตร์จารย์คณิต ณ นคร ประธานสำนักงานคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย ส่งความเห็นไปยังรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนังสือตอบจากรองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ว่ารัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ให้ความเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯ ที่ยังปฏิเสธการตั้งศูนย์รับร้องเรียน โดยให้เหตุผลว่า จะเป็นการทำงานเกินหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ อีกทั้งไปทำงานซ้ำซ้อนกับกรมสวัสดิการ และการร้องเรียนผ่านสถาบันฯ แล้ว ส่งให้กรมสวัสดิการจะทำให้เกิดความล่าช้า ไม่เป็นผลดีต่อผู้ใช้แรงงาน

ประธานที่ไม่ควรเป็นข้าราชการกินเงินเดือน รัฐมนตรีให้ความเห็นว่าต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ จึงสมควรเปิดกว้างไว้ กรรมการที่มาโดยตำแหน่งรัฐมนตรีให้มา 3 คน กรมสวัสดิการ กรมควบคุมโรค เลขาธิการประกันสังคม เครือข่ายแรงงานขอให้มีแค่ 2 คน คำตอบยืนยันให้มาโดยตำแหน่ง 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนเหมาะสมแล้ว และการได้มาของกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามรัฐมนตรีกำหนด แต่เครือข่ายแรงงานเสนอว่า ที่มาของคณะกรรมการมาจากการสรรหา ส่วนตัวแทนลูกจ้าง นายจ้างฝ่ายละ 2 คน ให้มาจากการใช้ประชาธิปไตยทางตรงคือเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง รัฐมนตรีตอบว่า เห็นสมควรให้เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของลูกจ้างในสถานประกอบการ และลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ ลูกจ้าง 50 คนเลือก 1 คนมาเป็นผู้แทนไปเลือก โดยผู้อยู่ในสถานประกอบการให้ใช้ฐานข้อมูลจากประกันสังคม และใช้สถานประกอบการเป็นหน่วยเลือกตั้ง

19 ปีที่แล้วสินะ ปีหน้าจะเข้าปีที่ 20 จนปัจจุบัน การเรียกร้อง “สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย” ยังเหมือนการพายเรือในอ่าง ถูกหลอกล่อ บ่ายเบี่ยง ด้วยการคิดล้าหลัง หวงอำนาจ การไม่เปิดใจ ต่อการมีส่วนร่วม บริหารจัดการ สถาบันฯ ทำให้ปัจจุบัน การคลอดสถาบันฯ ส่อแววจะแท้ง ! หรือไม่ก็คลอดออกมาอาจไม่ครบสามสิบสอง อาจจะหูแหว่ง ตาบอด แขนกุด ก็เป็นได้

ความไม่จริงใจของภาครัฐ และฝ่ายการเมือง ที่ไม่ยอมตัดสินใจต่อการจัดตั้งองค์กรอิสระที่สำคัญกับชีวิตความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน...เข้าสู่วังวนเดิม .พี่น้องเพื่อนผู้ใช้แรงงาน..ยังต้องเผชิญกับอันตรายและความตาย อยู่อย่างเงียบๆ ทุกๆ นาที มันทำให้ผู้ผลักดันต้องกัดฟันเดินหน้า เดินหน้าต่อไป แล้วก็ฉงนใจยิ่งนักว่า ข้อเสนอที่ดีๆ อย่างนี้ การเรียกร้อง ที่เรียกร้องเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานจำนวนมากอย่างนี้ ทำไม มันถึงยากเย็น ทำไมมันถึงต้องใช้เวลายาวนาน.....แล้ว.ครั้งนี้จะมี.ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกไหม ??

เราจะฝากความหวังไว้ .ให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้ และ ส.ส.อันทรงเกียรติทั้งหลาย ???? ในระหว่างนี้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย โปรดระวังความปลอดภัยกันเองไปพลางๆ ก่อน ได้แต่ภาวนา ว่าอย่าได้เกิดโศกนาฎกรรมอะไรขึ้นมาระหว่างนี้อีกนะ...........

 

หมายเหตุ: ปัจจุบัน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ยังเรียกร้องในนามสมัชชาคนจน โดยวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2555 ร่วมชุมนุมในนามสมัชชาคนจน โดยท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล มารับผิดชอบดูแลแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน และท่านนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 ปัจจุบันรอนัดเจรจายังไม่คืบหน้า

10 พฤษภาคม 2556 จะครบรอบ 20 ปีของโศกนาฎกรรมเคเดอร์

 

 

////////////////////////////////////

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: 19 ปีบนเส้นทางการผลักดัน การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ส่อแววแท้ง..หรือ...คลอดออกมาอย่างพิการ !!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุจิตต์ วงษ์เทศ: "วัฒนธรรมร่วม" ในอุษาคเนย์ รากเหง้าเก่าแก่ของประชาคมอาเชียน

Posted: 23 Aug 2012 05:45 AM PDT

คลิปการบรรยายของสุจิตต์ วงษ์เทศ หัวข้อ "วัฒนธรรมร่วมราก วัฒนธรรมเริ่มแรกในอาเซียน?" เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2555 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

อุษาคเนย์แผ่นดืนเดียวกัน เมื่อล้านๆปีมาแล้ว มี “แผ่นดินซุนดา” (พื้นที่สกรีนดำ) เชื่อมโยงถึงกันทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะปัจจุบัน ตั้งแต่ตอนเหนือ (คือทางใต้ของจีนปัจจุบัน) ลงไปหมู่เกาะทั้งของฟิลิปปินส์, บรูไน, จนถึงตอนใต้สุดของอินโดนีเซีย เช่น สุมาตรา, ชวา ฯลฯ  

เหตุเพราะเมื่อล้านๆปีที่แล้วระดับน้ำทะเลต่ำมากกว่าปัจจุบัน ทำให้พื้นท้องทะเลในมหาสมุทรทุกวันนี้เป็นผืนดินยืดยาวแผ่นเดียวกัน เรียกแผ่นดินซุนดา (Sunda Land) นักธรณีวิทยาเรียกว่ายุคน้ำแข็ง หรือไพลสโตซีน มีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่หลายบริเวณของโลก ทำให้แหล่งน้ำทั้งหลายเหือดแห้งลงจนเกิดสะพานแผ่ˆนดินŽเชื่อมติดกัน

 

อุษาคเนย์ มีแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ

อุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) ถ้าพิจารณาด้านสังคมและวัฒนธรรมเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว มีขอบเขตครอบคลุมบริเวณกว้างขวางกว่าปัจจุบัน โดยแบ่งกว้างๆได้ 2 ส่วนคือ แผ่นดินใหญ่ และหมู่เกาะ

 

แผ่นดินใหญ่

ทิศเหนือ ถึงบริเวณทะเลสาบเตียนฉือที่เมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน (จีน)

ทิศตะวันออกถึงมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง (จีน)

ทิศตะวันตก ถึงลุ่มน้ำพรหมบุตรในแคว้นอัสสัม (อินเดีย)

ทิศใต้ ถึงมาเลเซีย-สิงคโปร์

 

หมู่เกาะ

นอกจากรวมถึงหมู่ˆเกาะอันดามัน (Andaman Islands) กับหมู่ˆเกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) ในทะเลอันดามันแล้ว ยังมีขอบเขตครอบคลุมถึงฟิลิปปินส์และหมู่เกาะทางทะเลใต้ เช่น หมู่เกาะในอินโดนีเซีย ติมอร์ และบรูไน ฯลฯ

 

ไทย

ประเทศไทย นอกจากจะตั้งอยู่ˆกึ่งกลาง (โดยประมาณ) ของภูมิภาคแล้‰ว ลักษณะภูมิศาสตร์ยังเกื้อกูลให้‰เกิดผลดี เนื่องจากมีพื้นที่เป็นแผ่นดินทอดยาวยื่นลงไปทางทิศใต้‰เป็นคาบสมุทรŽมีทะเลขนาบ 2 ด้านคือ ทะเลจีน ในมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ทางตะวันออกกับ ทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดีย อยู่ทางตะวันตก ทำให้‰รับประโยชน์Œจากลมมรสุมทะเลอย่างน้อย 2 อย่าง คือการกสิกรรมและการค้า

การกสิกรรม ลมมรสุมจากทะเล 2 ด้าน ทำให้มีฝนตกชุก ส่งผลให้การเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารและการประมงในทะเลอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ

การค้า ลมมรสุมจากทะเล 2 ด้าน ทำให้‰มีการเดินเรือทะเลค้าขายกับบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกล บริเวณประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของเส้นทางคมนาคมค้าขายทางทะเลมาแต่โบราณกาล เท่ากับเป็นตัวเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่าง           โลกตะวันออก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุƒน ฯลฯ กับโลกตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ เปอร์Œเซีย ยุโรป ฯลฯ จึงส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติในสมัยนั้น

คนไทย, ความเป็นไทย, วัฒนธรรมไทย มีบรรพชนและมีรากเหง้าความเป็นมาร่วมกันอย่างแยกไม่ได้จากอุษาคเนย์

 

1. “วัฒนธรรมร่วม” ในอุษาคเนย์

อุษาคเนย์มี “วัฒนธรรมร่วม” หลายอย่าง มานานหลายพันปีแล้ว แบ่งกว้างๆเป็น 2 ระยะ คือ ก่อนอินเดียและหลังอินเดีย

 

ก่อนอินเดีย

ก่อนอินเดีย หมายถึง ก่อนรับอารยธรรมจากอินเดีย ตั้งแต่หลายแสนหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว จนถึงราว พ.ศ. 1000

คนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ในอุษาคเนย์ มีวัฒนธรรมร่วมอยู่แล้วก่อนรับอารยธรรมจากอินเดีย เช่น (1) กินข้าวเป็นอาหารหลัก, (2) กับข้าวเน่าแล้วอร่อย, (3) เรือนเสาสูง, (4) ผู้หญิงเป็นหัวหน้า, (5) เซ่นวักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์, (6) พิธีศพหลายวัน, (7) ฆ้อง, (8) ท่าฟ้อนระบำรำเต้น 

(1)      กินข้าวเป็นอาหารหลัก

คนอุษาคเนย์รู้จักปลูกข้าวแล้วกินข้าวเป็นอาหารหลักตั้งแต่ราว 5,000 ปีมาแล้ว

พันธุ์ข้าวเก่าสุดคล้ายข้าวเหนียว (หรือข้าวนึ่ง) พบที่ถ้ำปุงฮุง (แม่ฮ่องสอน)  กับที่โนนนกทา (ขอนแก่น) แล้วพบพันธุ์ข้าวเจ้าด้วย  แต่ไม่มาก 

(2)     กับข้าว “เน่าแล้วอร่อย”

คนอุษาคเนย์กินกับข้าวประเภท “เน่าแล้วอร่อย” เหมือนกัน เช่น ปลาแดก, ปลา ร้า, ปลาฮอก, น้ำบูดู, ถั่วเน่า, กะปิ, น้ำปลา, ปลาเค็ม, ผักดอง  ฯลฯ

การทำให้เน่าแล้วอร่อยเป็นเทคโนโลยีถนอมอาหาร เกี่ยวข้องกับพิธีศพที่มีประเพณีเก็บศพ (ให้เน่า) นานหลายวันตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้ว

(3)     เรือนเสาสูง

คนอุษาคเนย์ปลูกเรือนเสาสูงตั้งแต่ตอนใต้ลุ่มน้ำแยงซีลงไปจนถึงหมู่เกาะ

เรือนเสาสูง ต้องยกพื้น มีใต้ถุนเป็นบริเวณทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน เช่น หุงข้าว, ทอผ้า, เลี้ยงสัตว์, เลี้ยงลูก ตกกลางคืนจึงขึ้นนอนบนเรือนเพื่อหนีสัตว์ร้าย แล้วชักบันไดออก

ใต้ถุนบ้านไม่ได้ทำไว้หนีน้ำท่วม เพราะคนบางกลุ่มปลูกเรือนบนที่สูงเชิงเขาซึ่งไม่มีน้ำท่วมก็ยังทำใต้ถุนสูง

หลังคาทรงสามเหลี่ยมมีไม้ไขว้กัน แล้วคนบางกลุ่มเรียก กาแล เป็นเทคโนโลยีค้ำยันของไม้ไผ่สองลำไม่ให้หลังคายุบ มีในทุกชาติพันธุ์ คนบางพวกใช้กาแลเป็นที่แขวนหัวสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ก็มี  เช่น  หัวควาย

(4)     ผู้หญิงเป็นหัวหน้า

คนอุษาคเนย์ยกย่องหญิงเป็นหัวหน้าพีธีกรรมเข้าทรงผีบรรพชน  เช่น  ผีฟ้า (ลาว), ผีมด (เขมร), ผีเมง (มอญ), ฯลฯ  ผีบรรพชนไม่ลงทรงผู้ชาย เท่ากับหญิงเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์

คำเรียกหญิงว่า แม่ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ใช้เรียกสิ่งสำคัญ เช่น แม่น้ำ (ทางลาวเรียกน้ำแม่), แม่ทัพ, แม่เหล็ก ฯลฯ

สืบตระกูลทางสายแม่เป็นหลัก ลูกสาวสืบทอดมรดกที่ดินและเรือน ส่วนลูกชายไปเป็นบ่าว คือ ขี้ข้าบ้านผู้หญิง

สืบราชสันตติวงศ์ทางสายแม่ เห็นได้จากวังหน้าต้องเป็นพี่น้องท้อง “แม่” เดียวกันกับวังหลวง ยกเว้นใครก็ได้ยึดอำนาจในหมู่เครือญาติ

(5)     เซ่นวักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์

คนอุษาคเนย์ดั้งเดิมนับถือศาสนาผี (หมายถึง ระบบความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ) แล้วเซ่นวักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ (หรือคางคก), จระเข้, ตะกวด (เหี้ย), ฯลฯ ที่คนยุคนั้นเชื่อว่าเป็นผู้มีอำนาจบันดาลให้ฝนตกเพราะพบสัตว์เหล่านี้ทุกครั้งที่ฝนตก และพิทักษ์แหล่งน้ำให้ความอุดมสมบูรณ์

สัตว์พวกนี้มีภาพเขียนบนผนังถ้ำไว้เซ่นวัก บางทีสลักรูปเป็นลายเส้นบนเครื่องมือสัมฤทธิ์ โดยเฉพาะทำประติมากรรมรูปกบบนหน้ากลองทองไว้ตีขอฝน

(6)     พิธีศพหลายวัน

คนอุษาคเนย์  ตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว  เมื่อมีคนตายไปจะเก็บศพหลายวันให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยย่อยสลายเหลือแต่กระดูก แล้วเก็บกระดูกมาทำพิธีอีก เรียก พิธีศพครั้งที่สอง

กระดูกที่เก็บมานี้ อยู่ในภาชนะพิเศษทำด้วยดินเผา เรียกหม้อดินเผาหรือแค็ปซูล และหิน มีตัวอย่างสำคัญ เช่น ไหหินในลาว, หีบหินบนปราสาทนครวัดกับหมู่เกาะ

(7)     ฆ้อง

คนอุษาคเนย์ ใช้ฆ้องทำด้วยโลหะ ประโคมตีมีเสียงศักดิ์สิทธิ์ดังกังวาน สื่อสารกับผีหรือเทวดา (หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ)

ฆ้องมีหลายขนาด ล้วนสืบประเพณีจากกลองทอง (หรือมโหระทึก) แรกมีขึ้นเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว บริเวณมณฑลยูนนานกับมณฑลกวางสี  แล้วแพร่กระจายลงไปถึงหมู่เกาะ

ระฆัง อยู่ในวัฒนธรรมฆ้อง ประโคมด้วยไม้ตีจากข้างนอก (ต่างจาก bell ของตะวันตก มีลูกกระทบแขวนตีจากข้างใน)

วัฒนธรรมฆ้องไม่มีในตะวันตก จึงไม่มีศัพท์อังกฤษเรียกฆ้อง ต้องใช้ทับศัพท์พื้นเมืองว่า gong

(8)     ท่าฟ้อนระบำรำเต้น

คนอุษาคเนย์กางแขน ถ่างขา ย่อเข่า เป็นหลักในการฟ้อนระบำรำเต้น เรียกสามัญลักษณะ ที่ศัพท์ละครไทยเรียกท่ายืด (ทำเข่าตรง) กับ ท่ายุบ (ทำย่อเข่า)

ท่าเต้น ถ่างขา ย่อเข่า เป็นมุมฉาก ได้จากทำเลียนแบบให้เหมือนกบศักดิ์สิทธิ์  เรียกท่ากบ ยกย่องเป็นท่าเต้นศักดิ์สิทธิ์  มีหลักฐานภาพสลักตามปราสาทหินในกัมพูชาและไทย เช่น ท่ารำศิวนาฏราช บนหน้าบันปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) และท่าโนรา, โขน, ละคร (พระ นาง ยักษ์ ลิง) กับ legon ของอินโดนีเซีย

 

หลังอินเดีย

หลังอินเดีย หมายถึง หลังรับอารยธรรมจากอินเดีย

คนพื้นเมืองรับวัฒนธรรมจากอินเดียมาประสมประสานวัฒนธรรมดั้งเดิม แล้วเกิดวัฒนธรรมใหม่ที่มีทั้งคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน มี 2 ระยะ คือ (1) รับศาสนาพราหมณ์-พุทธ กับ (2) รับศาสนาอิสลาม

(1)     หลัง พ.ศ. 1000 รับศาสนาพราหมณ์-พุทธ

คนอุษาคเนย์รับศาสนาพราหมณ์-พุทธราวหลัง พ.ศ. 1000 ทำให้รับประเพณีพิธีกรรมอื่นๆพร้อมกันด้วย  ดังนี้

ตัวอักษร ปัลลวะจากอินเดียใต้ หลังจากนั้นพัฒนาขึ้นเป็นอักษรของตนเอง เช่น  อักษรมอญ, อักษรขอม, อักษรกวิ (ใช้ในดินแดนทางใต้ของไทยถึงมาเลเซียและหมู่เกาะอินโดนีเซีย) เป็นต้นทางให้มีความแตกต่างต่อไปข้างหน้าเป็นพวกมอญ, พวกเขมร, เป็นต้น

กราบไหว้ รับจากอินเดียพร้อมพราหมณ์-พุทธทั้งประเพณีกราบและไหว้ 

บวช รับจากอินเดีย แต่ประสมประเพณีพื้นเมือง ไทยเรียกบวชนาค, ทำขวัญนาค

มหากาพย์ รับทั้งรามายณะและมหาภารตะ แต่ยกย่องรามายณะมากกว่า ไทยเรียกรามเกียรติ์

ลายกระหนก รับจากอินเดียแล้วปรับใช้เรียกต่างกัน เช่น ลายไทย, ลายเขมร, ลายลาว

อาหาร รับพันธุ์ข้าวเจ้าจากอินเดีย และกับข้าวบางอย่าง เช่น แกงใส่กะทิ, ขนมต่างๆ เช่น  กระยาสารท

(2)     หลัง พ.ศ. 1800 รับศาสนาอิสลาม

คนอุษาคเนย์รับศาสนาอิสลามราวหลัง พ.ศ. 1800 แต่แพร่หลายเฉพาะหมู่เกาะ กับดินแดนชายทะเลบางแห่งเท่านั้น เช่น มาเลเซีย, เวียดนาม นับแต่นี้ไปอุษาคเนย์จะแตกต่างทางศาสนา

 

2. วัฒนธรรมไทยก้าวหน้า-ล้าหลัง

ล้าหลัง 

วัฒนธรรมไทยถูกสร้างขึ้นมาโดยคนชั้นนำแล้วเป็นสมบัติของคนชั้นนำภาคกลาง  ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ถูกใช้เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจของคนชั้นนำ โดยได้รับความเห็นชอบจากคนชั้นกลางๆขึ้นไป (คนกลุ่มนี้เป็นผู้คุมสื่อและกลไกกฎหมายไว้ในมือ และอาจลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่อาจเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมไทย)

เนื้อหาของวัฒนธรรมไทยคือกล่อมเกลาให้ยอมจำนนต่อความไม่เท่าเทียมและยอมจำนนต่อโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ ดังแสดงออกด้วยการขัดเกลาให้รู้จักที่ต่ำที่สูง, ยกย่องมารยาทของผู้ดี, นอบน้อมต่อผู้มีอำนาจเหนือกว่า เป็นต้น

ด้านพหุวัฒนธรรม คนชั้นนำไทยยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม แต่เป็นการยอมรับพหุวัฒนธรรมอย่างจำยอม และอย่างปลอมๆ คือทำให้เซื่องๆ  เป็นเพียงวัสดุอุปกรณ์การท่องเที่ยวอย่างหนึ่งเท่านั้น จึงไม่มีบริบท ไม่มีประวัติศาสตร์  และไม่มีพลังทางการเมืองเพื่อต่อรองสร้างความมั่นคงให้กลุ่มตัวเอง ในที่สุดก็ถูกทางการ “กลืน” ให้เป็นไทย

 

ก้าวหน้า

ขณะที่วัฒนธรรมไทยของคนชั้นนำถูกแช่แข็งอยู่ข้างบน แต่วัฒนธรรม “ไม่ไทย” ของชาวบ้านมีชีวิตชีวา เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง เห็นได้จากสิ่งที่เรียกว่าอาหารไทยและการแสดงอย่างลิเก, หมอลำซิ่ง

อาหารไทย ล้วนประสมกับอาหารนานาชาติ แล้วเกิดสิ่งใหม่ที่ “อร่อย” เรียกว่าอาหารไทย

การแสดง เช่น ลิเก มีขึ้นจากการเลียนแบบดิเกร์ของมลายูปัตตานีสมัย ร.5 แล้วประสมกับจำอวดและละครนอกดั้งเดิม จนเกิดสิ่งใหม่ที่สนุกสนาน เรียกลิเก

หมอลำซิ่ง มีขึ้นจากหมอลำดั้งเดิม ประสมการแสดงดนตรีสากลแบบลูกทุ่ง เพิ่งเกิดใหม่ไม่นาน ราว 50 ปีนี้เอง

 ทั้งลิเกและหมอลำซึ่งไม่มีกรอบครอบงำ จึงเคลื่อนไหวไปกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างกลมกลืน

 

3. ความเป็นไทยในวัฒนธรรมอาเซียน

เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปจะเห็นว่าวัฒนธรรมไทยไม่ตอบรับวัฒนธรรมอาเซียน  หรือตอบรับอย่างไม่เต็มใจ ก็เพราะความเป็นไทย

ความเป็นไทย  แสดงออกด้วยอาการยกตนข่มท่าน ดังกรณีเพลงออกภาษา หรือเพลงสิบสองภาษาในดนตรีไทยที่ชื่อเพลงขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์ต่างๆ

ชื่อเพลงดนตรีไทยขึ้นต้นด้วยชื่อชาติพันธุ์ เริ่มนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 2400 หรือราวรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เพื่อแสดงความเป็นอื่นที่ด้อยกว่า และอวดความเป็นสยามที่เหนือกว่า

แต่อีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือญาติของสยามกับเพื่อนบ้านโดยรอบที่ระบุชื่อชาติพันธุ์ เช่น เขมรพายเรือ, พม่าแทงกบ, มอญดูดาว, ลาวกระทบไม้, ญวนทอดแห, จีนขิมเล็ก, แขกต่อยหม้อ, ฯลฯ

เพลงออกภาษา หรือสิบสองภาษา แสดงความด้อยกว่าของคนอื่น และเหนือกว่าของสยาม เห็นได้จากเริ่มต้นด้วยเพลงกราวนอก ถือเป็นทำนองไทย เนื้อร้องแสดงการยกทัพที่มีไทยเป็นแม่ทัพ เพลงต่อไปมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่ายกทัพไปจับมอญและคนอื่นๆ  ทำนองเพลงต่อจากนั้นเป็นลักษณะที่ไทยยกตนข่มท่านคือเหยียดชาติพันธุ์อื่นๆ ล้วน            ล้าหลังตลกคะนอง, โง่เง่าเต่าตุ่น, และบ้านนอก เป็นต้น

ไทยยกตนข่มท่าน มีเหตุจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยย้ำการไม่เป็นเมืองขึ้นของยุโรป “อย่างเป็นทางการ” แต่ทำมองไม่เห็นการเป็นเมืองขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ

 

ทางแก้ไข

ไทยต้องชำระประวัติศาสตร์แห่งชาติ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อุษาคเนย์  รวมทั้งคนไทยและความเป็นไทยไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ แยกจากอุษาคเนย์ แต่เกิดจากการประสมประสานทั้งทางชาติพันธุ์และทางสังคมวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ แล้วมีบรรพชนร่วมกันกับคนอุษาคเนย์

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาเกือบทุกอย่าง ต้องแก้ไขตรงนี้ก่อน ถึงจะแก้ไขเรื่องอื่นๆต่อไปได้ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ เรื่องอื่นๆก็แก้ไขไม่ได้ หรือแก้ได้อย่างเปลือกๆ ปลอมๆ ซึ่งเป็นความถนัดของไทยที่ไม่ใกล้ชิดเรื่องจริง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ.เกาหลีใต้เตรียมส่งผู้สมัครสตรีเข้าชิงเลือกตั้งปธน.ปลายปีนี้

Posted: 23 Aug 2012 05:43 AM PDT

พรรครัฐบาลเกาหลีใต้จะส่งสตรีลูกอดีตประธานาธิบดี Park Chung-hee เป็นตัวแทนในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งปธน. ปลายปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองหลักของเกาหลีใต้เสนอชื่อผู้หญิงลงชิงตำแหน่งปธน.  

สำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา รายงานเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ผู้สนับสนุนจำนวนมากตอบรับการเสนอชื่อ คุณ Park Gyeun-hye  (ปาร์ค กึน เฮ) ให้เป็นตัวแทนพรรค  New Frontier ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้ในขณะนี้ ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และมีโอกาสไม่น้อยที่เธออาจจะเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศเกาหลีใต้

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองหลักของเกาหลีใต้เสนอชื่อผู้หญิงลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอได้รับเสียงสนับสนุนถึงร้อยละ 84 ในการคัดตัวภายในพรรค นอกจากนั้นข้อมูลสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเธอคือ สตรีวัย 60 ปีผู้นี้เป็นลูกของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ Park Chung-hee (ปาร์ค จอง ฮี) อดีตผู้นำกองทัพเกาหลีใต้และประธานาธิบดีที่ปกครองเกาหลีใต้อย่างเข้มงวดระหว่างปี 1961- 1979 

ในคำแถลงรับหน้าที่ลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี ของ Park Gyeun-hye เธอพูดถึงสิ่งที่ท้าทายประเทศเกาลีใต้ในขณะนี้ ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจโลก ภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ และข้อขัดแย้งทางดินแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เธอกล่าวว่า ขณะนี้เกาหลีใต้ต้องการผู้นำที่มีความมั่นคงและมีความพร้อมเพื่อเผชิญกับสิ่งที่จะเข้ามาท้าทายที่สำคัญในอนาคต เธอกล่าวว่าตนจะไม่ยอมรับการกระทำใดๆ ที่จะคุกคามความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศ

 Park Gyeun-hye ส.ส. แบบแบ่งเขตสี่สมัยระหว่างปี 1998- 2012 และส.ส. แบบสัดส่วนสมัยที่ 5 ในปัจจุบัน 
โดยเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตัวเก็งสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปลายปีนี้

ที่มาภาพ: ASDFGH via Wikimedia Commons

 ขณะเดียวกัน พรรคคู่แข่งของ New Frontier ซึ่งก็คือพรรคฝ่ายค้านขณะนี้ที่ชื่อ Democratic United Party  หรือ DUP จะเลือกตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนหน้า โดยที่ทางพรรคจะเลือกจากผู้เข้ารอบสุดท้ายห้าคน โดยตัวเก็งของพรรค DUP ขณะนี้คือ คุณ Moon Jae-in ที่มีตำแหน่งสำคัญในสมัยที่ประธานาธิบดี Roh Moo-hyun ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยม

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ติดตามการเมืองเกาหลีใต้ที่มีแนวคิดสายกลางกึ่งเสรีนิยมเห็นว่า ผู้ที่มีโอกาสชนะ Park Gyeun-hye มากที่สุดคงจะเป็น นาย Ahn Cheol-soo อาจารย์มหาวิทยาลัยคนดัง ผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากกิจการคอมพิวเตอร์ Software ของเขา

ขณะนี้นาย Ahn ยังไม่ได้เข้าร่วมพรรคการเมืองใด แต่มีสัญญาณว่าเขาอาจลงสมัครชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่หลายฝ่ายกำลังรอว่าเมื่อใดเขาจะมีคำประกาศอย่างเป็นทางการ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงอีกสี่เดือนข้างหน้า

ผู้สันทัดกรณีบางคนเป็นกังวลว่า ถ้า คุณ Ahn ลงเลือกต้งในฐานะผู้สมัครอิสระ ประชาชนที่สนับสนุนแนวทางเสรีนิยมจะแบ่งเสียงกันลงคะแนนให้กับ ตัวแทนพรรค DUP และ คุณ Ahn และนั่นจะหมายถึงโอกาสที่  Park Gyeun-hye จะผงาดขึ้นมาชนะการเลือกตั้งและกลายเป็น ผู้หญิงคนแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีมากขึ้น

อาจารย์ Park Chang-hwan จากมหาวิทยาลัย Jangan University กล่าวว่าทางออกทางหนึ่ง คือ คุณ Ahn และพรรคฝ่ายค้าน DUP ผนึกกำลังกันเพื่อเสนอชื่อตัวแทนร่วมกันเพื่อสู้กับ Park Gyeun-hye จากพรรครัฐบาล

สำหรับประวัติของ ปาร์ค กึน เฮ เธอไม่ได้แต่งงาน สตรีผู้นี้เป็นลูกของอดีตประธานาธิบดี Park Chung-hee ผู้ที่อยู่ในอำนาจในเมื่อประมาณห้าสิบปีก่อน ต่อมาภรรยาของประธานาธิบดี Park Chung-hee ซึ่งเป็นแม่ของ Park Gyeun-hye ถูกลอบสังหารในปฏิบัติการที่มีเกาหลีเหนืออยู่เบื้องหลัง ในปี 1974 และห้าปีหลังจากนั้น เธอต้องเสียบิดาของเธอ หลังจากที่เขาถูกฆ่าโดยหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองภายในทำเนียบประธานาธิบดีของเกาหลีใต้

Park Gyeun-hye เคยกล่าวว่า สำหรับเธอแล้ว การไม่มีลูก และพ่อแม่อยู่รอบข้างทำให้ความตั้งใจของเธอมีอยู่เพียงเรื่องของการทำงานเพื่อประชาชนเพียงอย่างเดียว 

ที่มา: สำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิทยาศาสตร์คิดค้นภาษาใหม่ ไว้คุยกับหุ่นยนต์

Posted: 23 Aug 2012 04:56 AM PDT

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนเทอร์บิวรี คิดค้นภาษาใหม่ที่เรียกว่า ROILA เพื่อคุยโต้ตอบกับหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ไอที แก้ปัญหาการออกเสียงที่ต่างกันของผู้คนในต่างวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา Livescience เว็บไซต์ข่าววิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ รายงานข่าวเรื่องนักวิจัยได้คิดค้นภาษาใหม่ซึ่งจะเป็นสื่อกลางเอาไว้สื่อสารกับหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ไอทีชื่อว่าภาษา ROILA

Livescience รายงานว่า บางครั้งมันก็เป็นเรื่องยากที่จะให้ระบบจำแนกเสียงในสมาร์ทโฟนของคุณ เข้าใจในสิ่งที่คุณพูด แต่ในตอนนี้มีกลุ่มนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง คิดแก้ปัญหาด้วยวิธีการไม่เหมือนใคร คือการประดิษฐ์ภาษาใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้พูดกับหุ่นยนต์โดยเฉพาะ โดยมีการพยายามประดิษฐ์ให้มีความชัดเจนมากที่สุดตามหลักวิทยาศาสตร์
 
ภาษาดังกล่าวคือ ROILA หรือภาษาโต้ตอบกับหุ่นยนต์ มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2009 และในตอนนี้นักวิจัยก็ได้นำเสนอเครื่องมือเพื่อให้คนทั่วไปเรียนรู้วิธีใช้ภาษานี้ โดยมีทั้งหนังสือเรียนภาษา ROILA ชั้นเรียนออนไลน์ และซอฟท์แวร์เรียนฟรีที่จะติดตั้งภาษา ROILA ลงในอุปกรณ์อิเล็กโทรนิค
 
ผู้สร้างภาษา ROILA ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและหลักการเชิงตรรกะในการพัฒนาภาษานี้ คริสโตเฟอร์ บาร์ทเนค นักวิจัยด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแคนเทอร์บิวรีกล่าวว่า พวกเขาทบทวนภาษาที่มีอยู่แล้ว 22 ภาษา ค้นหาเสียงที่คล้ายกันในหลายภาษา พวกเขาต้องการให้ภาษาใหม่นี้มีหน่วยเสียงพื้นฐานที่ทุกคนสามารถออกเสียงร่วมกันได้
 
จากนั้นแล้ว บาร์ทเนคและผู้ช่วยงานวิจัยของเขาก็ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นำหน่วยเสียงพื้นฐานเหล่านั้นเรียงร้อยเข้าหากันโดยอัตโนมัติ โดยทำให้คำต่างๆ มีเสียงแต่งต่างจากกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้หุ่นยนต์ไม่สับสนกับคำที่มีเสียงคล้ายกัน
 
ในที่สุดแล้ว เหล่าผู้สร้าง ROILA ก็ได้พัฒนาภาษาใหม่ที่มีไวยากรณ์ที่เรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย
 
Livescience เปิดเผยอีกว่า เรายังไม่อาจทราบได้ว่าภาษา ROILA จะได้รับความนิยมหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีเด็กคนหนึ่งที่ได้เรียนรู้ภาษานี้เมื่ออายุยังน้อย รายการข่าว Close Up ของประเทศนิวซีแลนด์เผยให้เห็นเด็กหญิงอายุ 6 ขวบกำลังพูดคุยกับหุ่นยนต์ Nao ด้วยภาษา ROILA เด็กหญิงคนนี้ชื่อฮันน่า เธอสามารถพูดภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และเยอรมันได้ 
 
 
คลิกชมวีดิโอ รายการ Close Up : http://youtu.be/wxhEnLEdWEA
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปคำพิพากษาศาลปกครองย้ายหมู่บ้านม้งแม่ตะละไม่ชอบ

Posted: 23 Aug 2012 04:20 AM PDT

ระบุชัด ทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตนโดยการยุบรวมกับอีกชุมชนหนึ่ง ย้ำมหาดไทยต้องคำนึงความสมัครใจของราษฎร 

 ตามที่ เมื่อวัน 27เม.ย.2555 ที่ผ่านมา ชาวบ้านแม่ตะละ ต.ยั้งเมิน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ จำนวน 249 คน ได้เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ หลังถูกแจ้งย้ายและจำหน่ายทะเบียนเพื่ออพยพชาวบ้าน หมู่ที่6 ต.ยั้งเมิน อ.สะเมิง ไปรวมกับหมู่ที่ 7 ต.แม่แดดอ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอำเภอที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่นั้น

นั่นทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าว จึงตัดสินใจใช้กระบวนการต่อสู้ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้มีแถลงผลการวินิจฉัยให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบังคับให้ชุมชนบ้านแม่ตะละ ทำให้สูญเสียอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตน โดยการยุบรวมกับอีกชุมชนหนึ่ง ย้ำมหาดไทยต้องคำนึงความสมัครใจของราษฎร และต้องมีมติเห็นชอบจาก สภา อบต.เป็นต้น

จึงขอสรุปคำพิพากษา จากคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีชาวบ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ รวม 249 คน ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1, ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ 2, และนายอำเภอสะเมิง ที่ 3 โดยได้มีการสรุปคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ เอาไว้ 3 ประเด็นดังนี้ คือ

1.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวเขตบ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่าปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้คือ การตั้งหมู่บ้านแม่ตะละตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่าประกาศทั้งสองฉบับ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบ้านแม่ตะละนั้น คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่  แม้ว่าทางผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการจังหวัด) จะอ้างว่าการดำเนินการออกประกาศทั้งสองฉบับนั้นชอบด้วยหมายแล้วเนื่องจากไม่ราษฎรรายใดคัดค้านหรือโต้แย้งประกาศทั้งสองฉบับ อีกทั้งการย้ายหมู่บ้านมาตั้ง ณ ที่ปัจจุบันนั้นผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้แจ้งให้ทางราชการทราบ ทางผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ทราบได้ว่ามีหมู่นี้ตั้งอยู่

จากการพิจารณาของศาลเห็นว่า การอพยพของราษฎรนั้นจะไม่ได้แจ้งให้ทางการทราบ ทางผู้ถูกฟ้องคดีย่อมต้องทราบโดยปริยาย เนื่องจากที่ผ่านมาทางผู้ถูกฟ้องคดีก็ยอมรับการมีอยู่ของหมู่บ้านดังกล่าวและให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรมาโดยตลอดอยู่แล้ว อีกทั้งประกาศกระทรวงทั้งสองฉบับออกประกาศหลังจากที่ราษฎรมีการอพยพโยกย้ายมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 20 ปี หากมีการตรวจสอบแนวเขตการปกครองอย่างแท้จริงย่อมต้องทราบว่าแนวเขตพื้นที่ของบ้านแม่ตะละ ตะละ หมู่ที่ ๖ ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในแนวเขตการปกครองอำเภอใด ดังนั้นข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้

ศาลจึงได้มีคำพิพากษาและคำบังคับให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 เฉพาะในส่วนของการกำหนดเขตหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการกำหนดเขตหมู่บ้านแม่ตะละ (คือย้อนไปตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2540) ให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 180 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

2.การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้ดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่

ศาลเห็นว่าการกำหนดแนวเขตหมู่บ้านและตำบลต้องปฏิบัติให้ตรงตามข้อเท็จจริง ตามพรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ และหลักเกณฑ์ของหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีลักษณะเป็นกฎ ซึ่งให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดแนวเขตการปกครองคำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ต้องคำนึงถึงความสะดวกของราษฎร ในการเดินทางไปติดต่อราชการ

(2) เขตท้องที่ควรใช้สิ่งที่เป็นเส้นเขตได้แน่นอนและเห็นได้ง่ายเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครอง

(3) ให้คำนึงความสมัครใจของราษฎร โดยก่อนดำเนินการปรับปรุงเขตท้องที่ ต้องประชุมราษฎรในท้องที่ที่ของปรับปรุงเพื่อฟังความเห็นของราษฎรเสียก่อน

(4) การเปลี่ยนแปลงเขตท้องที่การปกครองระดับหมู่บ้านหรือตำบล ให้สภาตำบล(ปัจจุบันคือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล) ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องในการตรวจสอบแนวเขตดังที่ศาลวินิจฉัยไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวต้องเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ประกอบกับไม่เคยปรากฏว่ามีการถามความสมัครใจของราษฎรและมติที่ประชุมของ อบต.  ฉะนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ในส่วนที่เกี่ยข้องกับบ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน ฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

3.คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (นายอำเภอสะเมิง) เรื่องการแจ้งย้ายและจำหน่ายทะเบียนบ้านเพื่ออพยพราษฎรบ้านแม่ตะละ หมูที่ 6 ตำบลยั้งเมิน ฯ ไปรวมกับ บ้านแม่ตะละม้ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยานิวัฒนา ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ต้องแก้ไขให้ตรงตามข้อเท็จจริง การใช้วิธีการแก้ไขโดยการยุบรวมหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน ฯ ไปรวมกับหมู่บ้านอื่นเป็นวิธีการที่มิอาจทำได้ เพราะนอกจากจะขัดต่อประกาศประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 ข้อที่ 5 ที่กำหนดว่า เขตตำบลยั้งเมิน ให้มีเขตการปกครอง รวม 7  หมู่บ้าน คือ .....หมู่ที่ 6 บ้านแม่ตะละ ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่(หมายความว่าหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมินฯ ยังคงมีสถานะความเป็นหมู่บ้านโดยชอบด้วยกฎหมาย)แล้ว ยังเป็นการบังคับให้ชุมชนบ้านแม่ตะละ ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตนเองโดยเฉพาะต้องสูญเสียอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของตน โดยการยุบรวมกับอีกชุมชนหนึ่ง ที่มิได้มีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องยึดโยงกันในทางสังคมวัฒนธรรมและวงศ์วานเครือญาติ  เพียงเพราะหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องมุ่งแต่จะให้ประกาศกำหนดเขตท้องที่ของทางราชการซึ่งกำหนดโดยคลาดเคลื่อนนั้นยังคงความถูกต้องไว้ ดังนั้นคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จากทั้งสามประเด็นดังกล่าวศาลจึงมีคำพิพากษาและคำบังคับดังต่อไปนี้

(1)ให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 เฉพาะในส่วนของการกำหนดเขตหมู่บ้านแม่ตะละ หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการกำหนดเขตหมู่บ้านแม่ตะละ (คือย้อนไปตั้งแต่วันที่29 พฤษภาคม 2540) ให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 180 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

(2)ให้เพิกถอนประกาศสำนักทะเบียนอำเภอสะเมิง เรื่อง การแจ้งย้ายและจำหน่ายทะเบียนบ้าน เพื่ออพยพราษฎร หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ไปรวมกับหมู่ที่ 7 ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 และให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ให้แจ้งย้ายรายการบุคคลในทะเบียนบ้านของผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยสี่สิบเก้าคนและราษฎรที่เหลือของหมู่ที่ 6 ทั้งหมดเข้าทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียนอำเภอสะเมิง และเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายรายการเลขที่บ้านของผู้ฟ้องคดีทั้งสองร้อยสี่สิบเก้าคนและราษฎรที่เหลือของหมู่ที่ 6 นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งดังกล่าว

(3)ให้คำสั่งศาลเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักทะเบียนอำเภอสะเมิง เรื่องการแจ้งย้ายและจำหน่ายทะเบียนบ้าน เพื่ออพยพราษฎร หมู่ที่ 6 ตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ไปรวมกับหมู่ที่ 7 ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 ไว้เป็นการชั่วคราว คงมีผลบังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งย้ายหมู่บ้านม้งแม่ตะละ
http://www.prachatai3.info/journal/2012/08/42212

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ฮิวแมนไรท์วอทช์' จี้กองทัพอย่า "แทรกแซง" การสอบสวนสลายชุมนุม '53

Posted: 23 Aug 2012 04:09 AM PDT

องค์กรสิทธิชี้ผบ.ทบ. ควรหยุดคุกคามกระบวนการฟ้องร้องกองทัพเหตุสลายการชุมนุมปี 53 ชี้ต้องอยู่ภายใต้กฏหมายเท่าเทียมกัน และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

23 ส.ค. 55 - องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลไทยสั่งการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกหยุดการแทรกแซงในกระบวนการสอบสวนค้นหาความจริงกรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเดือนเม.ย. -พ.ค. 2553 และชี้ด้วยว่าผบ.ทบ. ควรหยุดการข่มขู่คุกคามโดยการใช้วิธีฟ้องหมิ่นประมาทผู้ที่เกี่ยวข้อง

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีการสอบสวนคดีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่า ดีเอสไอไม่ควรกล่าวหาว่ากองทัพมีส่วนในการทำให้ประชาชนเสียชีวิต และปฏิเสธว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการสังหารประชาชนครั้งนั้น 

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า การที่พล.อ. ประยุทธ์ ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฟ้องนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นการข่มขู่เพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ

"การกระทำที่รุนแรงของทหารเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาสังคมไทยและสื่อนานาชาติอย่างชัดเจน แต่ผบ.ทบ.ของไทยก็กลับพยายามจะข่มขู่ฝ่ายสอบสวนและผู้วิพากษ์วิจารณ์ให้ปิดปากเงียบ" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์กล่าวในแถลงการณ์ 

"รัฐบาลควรดำเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 รวมถึงทหารที่ไม่ควรอยู่เหนือกฎหมายด้วย" อดัมส์ระบุ

ต่อกรณีที่มีเอกสารภายในเผยแพร่คำสั่งของกองทัพให้ใช้สไนเปอร์ในการสลายการชุมนุม ซึ่งภายหลังโฆษกกองทัพบก พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมายอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจริง ในขณะที่พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่าใช้เพื่อ "ระวังป้องกัน" แต่ไม่ได้ใช้สังหารประชาชน แบรด อดัมส์กล่าวว่า 

"เป็นเรื่องน่าขันมากที่ผบ.ทบ. อ้างว่าทหารไม่ได้ใช้สไนเปอร์มายิงใส่พลเรือน...แทนที่เขาจะมัวแต่ไล่จัดการคนที่วิพากษ์วิจารณ์ เขาน่าจะห่วงเรื่องการตรวจสอบภายใต้บังคับบัญชาเขามากกว่า" 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวไทใหญ่ในประเทศไทยเปิดตัว "สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรม"

Posted: 23 Aug 2012 03:12 AM PDT

ชาวไทยใหญ่ในประเทศไทยจัดงานเปิดตัว "สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่" หวังเป็นศูนย์ศึกษาฟื้นฟูและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยใหญ่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ 19 ส.ค. ที่วัดกู่เต้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชาวไทยใหญ่หลายกลุ่มองค์กร หลายสาขาอาชีพร่วมงานพิธีเปิดสำนักงานที่ทำการสมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ ซึ่งเป็นสมาคมชาวไทยใหญ่ในประเทศไทยที่ได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย โดยเมื่อเวลา 09.00 น. ได้มีพิธีทำบุญเปิดป้ายสำนักงานภายในวัดกู่เต้า มีพระครูประภัสธรรมรังสี เจ้าคณะตำบลศรีภูมิและเจ้าอาวาสวัดกู่เต้า เป็นประธานพิธีสวดชัยมงคลคาถา

ต่อมาในช่วงเย็นเวลา 19.00 – 22.30 น. ทางสมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ได้จัดงานเลี้ยงขันโตกเปิดตัวแนะนำสมาคมอย่างเป็นทางการ ณ ลานเอนกประสงค์ของวัดกู่เต้า มีสมาชิกสมาคมฯ รวมถึงตัวแทนชมรม องค์กรไทยใหญ่จากหลายที่ เช่น กรุงเทพฯ อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย อ.ปาย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน อ.ฝาง อ.ไชยปราการ อ.แม่อาย และ อ.เมืองเชียงใหม่ พร้อมด้วยนิสิตนักศึกษาและกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมในงานกว่า 500 คน

ระหว่างพิธีเปิดงานนายแสงเมือง มังกร นายกสมาคมฯ ได้กล่าวแนะนำคณะกรรมการสมาคมฯ พร้อมเล่าถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์สมาคมฯ จากนั้นตัวแทนชมรมองค์กรไทยใหญ่ที่ร่วมงานกล่าวคำแสดงความยินดี ภายในงานมีการแสดงนิทรรศกาลภาพกิจกรรมของสมาคมฯ มีการแสดงทางวัฒนธรรมหลากหลายของชาวไทยใหญ่ อาทิเช่น การฟ้อนนก รำโต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยใหญ่ มีการร้องเพลงไทยใหญ่เดิม การแสดงการฟ้อนรำหนุ่มสาวชาวไตยจากหลายชมรมองค์กรที่มาร่วมในงาน

นายแสงเมือง มังกร นายกสมาคมฯ กล่าวว่า สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ได้ยื่นขอจดทะเบียนตั้งแต่ 16 ก.ค. 2552 และได้รับการอนุมัติเป็นทางการเมื่อ 30 มี.ค. 2555 ที่ผ่านมา ใช้เวลาเกือบ 3 ปี การก่อตั้งสมาคมฯ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจพี่น้องชาวไทยเชื้อสายไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักคือส่งเสริมการศึกษาและอนุรักษ์วัฒนธรรม เป็นศูนย์ศึกษาฟื้นฟูและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยใหญ่ อันเป็นเอกลักษณ์แห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ มีชื่อย่อคือ สศวท. ชื่อภาษาอังกฤษ Taiyai Education and Culture Association และชื่อภาษาไทยใหญ่ "สมาคมปายปัญญาและฟิงแง่ไตย" วัตถุประสงค์ตามคำยื่นร้องขอจดทะเบียนของสมาคม คือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน ในด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยใหญ่ในประเทศไทย เพื่อให้อยู่คู่แผ่นดินล้านนา, ศึกษาและฟื้นฟูศิลประวัฒนธรรม ชนบธรรมเนียมอันดีงามของไทยใหญ่ในประเทศไทย, สนับสนุนให้สมาชิกตระหนักและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เป็นศูนย์ประสานงานเผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมกับองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐ, สมาคมจะไม่ตั้งโต๊ะบีลเลียด หรือ ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องการเมืองการทหารใดๆ

สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยใหญ่ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เลขที่ 60 วัดกู่เต้า ถ.กู่เต้า ต.ศรึภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อีเมล์ติดต่อ taiyai.eca@gmail.com เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 080-3167443

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/



"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: นักโทษ112 ชวนส่ง 'อีเมลหยดน้ำ'– โปสการ์ดฝีมือ‘หลานอากง’

Posted: 23 Aug 2012 02:43 AM PDT

หนุ่ม เรดนนท์ หนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ก่อตั้งโครงการร่วมส่งอีเมลเพื่อให้กำลังใจนักโทษการเมือง เขาเคยบอกว่าการสื่อสารจากคนภายนอกนั้นเป็นเสมือนหยดน้ำที่ทำให้พวกเขามีกำลังใจ กระทั่งมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบการมาเยี่ยม จดหมาย โปสการ์ด หรือกระทั่งอีเมล และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ที่อยากส่งกำลังใจแต่ไม่สามารถไปเยี่ยมได้ ไม่มีตังค์ ไม่มีเวลา ไม่มีฯลฯ  เพียง “คลิ๊ก” เดียวข้อความของท่านก็จะไปถึงพวกเขา โดยผ่านอีเมลที่ทีมงานจะปริ๊นท์นำไปส่งตรงให้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และ/หรือ เรือนจำใหม่หลักสี่

อันที่จริงเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็มีอีเมลที่ให้ญาติมิตรพี่น้องของผู้ต้องขังส่งหาได้ แต่เหตุที่หนุ่ม เรดนนท์ ไม่แนะนำช่องทางนั้นก็เพราะเกรงว่าอาจมีการกลั่นแกล้ง หรือป่วนระบบอีเมลกลางของเรือนจำ

ผู้สนใจสามารถส่งอีเมลมาได้ที่   freedom4pp@gmail.com    (PP ย่อมาจาก Political Prisoners) 

(อ่านจดหมายหนุ่ม เรดนนท์ เกี่ยวกับโครงการนี้ได้ในล้อมกรอบด้านล่าง)

เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยมาตรา 112 เองก็มีการรณรงค์เรื่องทำนองเดียวกันนี้มาก่อนหน้านี้

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของผู้ต้องขังคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าให้ฟังว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เครือข่ายญาติฯ ได้ร่วมกันสร้างโครงการ “ร่วมจุดเทียนของท่านให้เพื่อนนักโทษคดี 112 ด้วยการเขียนจดหมายให้กำลังใจ” มีสโลแกนว่า "It's better to lighten a candle better than curse the darkness" หรือ “ย่อมเป็นการดีกว่าที่พวกเราจะจุดเทียนขึ้นมาสักเล่ม แทนการสาปแช่งความมืดมิด”

จากนั้นในเดือนต่อมาก็ได้ผลิตโปสการ์ด ซึ่งปรากฏสัญลักษณ์ของเครือข่ายอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก(ด้านหลังโปสการ์ด) โดยเป็นการออกแบบร่วมกันระหว่างคนในคุก (หนุ่ม เรดนนท์) และคนนอกคุก (พริตตี้บอย)

 

ส่วนรูปภาพของโปสการ์ดนั้นเป็นรูปจดหมายที่หลานคนหนึ่งส่งให้อากงในเรือนจำครั้งยังมีชีวิตอยู่ โปสการ์ดใบนี้ ราคา 10 บาท รายได้จากการขายจะร่วมสมทบทุนในกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของเครือข่ายญาติฯ

สุกัญญาบอกว่า ในเบื้องต้นจะวางขายโปสการ์ดนี้ในงานฌาปนกิจศพของ ‘อากง’ ที่จะมีขึ้นที่วัดลาดพร้าว ในวันที่ 25-26 ส.ค.นี้ และมีแผนจะวางขายตามงานเสวนาต่างๆ รวมถึงการฝากขายตามหน่วยงานต่างๆ ด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างติดต่อประสานงาน ในระยะเฉพาะหน้านี้ ผู้ที่ต้องการสั่งซื้อโปสการ์ด สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ 112familynetwork@gmail.com

สำหรับผู้ที่ต้องการส่งจดหมาย หรือโปสการ์ดให้กำลังใจนักโทษการเมือง สามารถส่งไปได้ที่

สำนักงาน Red Power 2539

อาคารอิมพีเรียลเวิร์ล ชั้น 5 ห้อง Al28-29

ถ.ลาดพร้าว แขวง/เขต วังทองหลาง กทม. 10310

 

นี่ก็จะเป็นอีกจุดรวมจดหมายและโปสการ์ดเพื่อนำไปส่งให้กลุ่มเป้าหมายที่เรือนจำ หรือจะส่งตรงไปที่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ได้  

เลขที่ 33 ถนนงามวงศ์งาน
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร 10900

โทร 02-9517060  ต่อ  24  (งานทะเบียนผู้ต้องขัง)

ถือเป็นการสื่อสารตรงที่ต้นทุนถูกที่สุด ปลอดภัย และหากอยากรู้ว่ามันมีความหมายแค่ไหนสำหรับเขา ก็เขียนที่อยู่แนบไปในอีเมลหรือจดหมายด้วย เพราะแม้เขาจะตอบกลับอีเมลไม่ได้ ตอบเฟซบุ๊คก็ไม่ได้ แต่เขาสามารถส่งจดหมายจากเรือนจำออกไปข้างนอกได้ (แต่ใช้เวลานานหน่อย)

คงไม่มากเกินไปหากจะบอกว่า นี่คือการสร้างบทสนทนาพิเศษท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่คุณทำได้ด้วยตัวคุณเอง  


 




 
พวกเราอยู่กันจนถึงวันนี้ได้...ด้วยกำลังใจ

หนุ่มแดงนนท์

6 สิงหาคม 2555

 

 สองปีกว่าๆ แล้วที่พวกเราหลายสิบชีวิต ต้องถูกคุมขังอยู่ในสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านของพวกเรา คนไม่เคยติดคุกคงไม่รู้หรอกว่า วันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน มันทุกข์ใจขนาดไหน ผมอยากให้เพื่อนๆ ข้างนอกแค่ลองคิดดูก็ได้ว่าถ้าสักวันหนึ่ง อาจต้องมาอยู่ในคุก เอาแค่วันเดียวก็พอ ที่ๆ เราไม่มีใครรู้จัก แวดล้อมด้วยนักโทษคดีต่างๆ อยู่ในพื้นที่ที่ล้อมด้วยกำแพงสูง มีลวดหนามแน่นหนา อาหารการกินก็เทียบกันไม่ได้กับข้างนอก ต้องอาบน้ำและนอนรวมกันกับผู้ต้องขังหลายสิบชีวิตและเปิดไฟตลอดทั้งคืน ไม่ได้กอกคนรัก ไม่ได้พูดคุยกับพี่น้องญาติมิตร และอะไรต่างๆ อีกมากมาย เพื่อนๆ จะอยู่กันได้ไหม?

แต่พวกเราอยู่กันได้ อยู่โดยไม่ได้อยากจะอยู่ แต่มันประกันไม่ได้ เขาไม่ให้ บ้างก็ตัดสินมาแล้ว รอความช่วยเหลืออยู่ และรอมานานแล้ว ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทางเลย คนอย่างพวกเราจะทำอะไรได้จริงมั้ย? ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเราเคยมีความภาคภูมิใจในการออกมาต่อสู้ เรียกร้องประชาธิปไตยโดยใช้สิทธิของประชาชน พลเมืองตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ความเป็นคนเสื้อแดงในวันนั้น มันช่างยิ่งใหญ่เสียจริงๆ เสียงปลุกเร้า กระตุ้นจิตใจให้ฮึกเหิม เสียงโห่ร้องของมวลชน ทำให้เรามีกำลังใจ และมีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเราคงจะนึกภาพออก

พวกเราที่ถูกขังอยู่ในวันนี้คือพวกที่พลาดในวันนั้น หรือจะเรียกว่า ซวย ก็ได้ ซวยที่ถูกจับในฐานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเสื้อแดง ที่ซวยที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่เราซวยที่ถูกจับแล้วยังต้องอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไร้การเหลียวแล ช่วยเหลือจาก..ใครดีล่ะ เพื่อนๆ คิดว่าควรจะเป็นใครดี บอกตามตรงเลยว่าค่อนข้างผิดหวังมากๆ ไม่เชื่อถามพวกที่เพิ่งประกันตัวออกไปได้ล่าสุดดูสิ มุกดาหาร มหาสารคาม ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร

แต่พวกเราก็โชคดีที่ยังมีมวลชนกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คนที่เห็นว่าพวกเราก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เป็นแดงที่ไม่ใช่แดงคอนเสิร์ต แต่เป็นแดงที่มีจิตใจงดงาม แวะเวียนมาให้กำลังใจคนตัวเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้แม้วันที่ไม่มีคนระดับแกนนำอยู่ในนี้แล้ว พวกเขาก็ยังมา (ขออนุญาตสดุดีความดีของพวกเขาในอนาคตแบบรวบยอดอีกที ผมไม่ลืมแน่นอน) มาอย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบันนี้

อยากจะบอกว่า พวกเราได้กำลังใจจากคนกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่เราคาดหวังที่จะได้กำลังใจจากคนอีกกลุ่มหนึ่งมากกว่า  เพราะเหมือนนำเรามา กำลังใจน้อยนิดนี้สามารถเติมเต็มให้เรามีความหวังและรู้สึกมีค่าขึ้น และไม่รู้สึกเสียดายที่เราต้องมาเผชิญชะตากรรมในคุก เรามีความหวังและรู้สึกมีค่าขึ้น ไม่รู้สึกเสียดายที่เราต้องมาเผชิญชะตากรรมในคุก

นอกจากกำลังใจที่ได้จากมวลชนกลุ่มเล็กๆ นี้แล้ว อีกทางหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจได้เหมือนกันก็คือ จดหมาย หรือไปรษณียบัตร เขียนข้อความสั้นให้กำลังใจพวกเรา ที่เห็นมีทำอยู่ช่วงหนึ่งในช่วงที่แกนนำยังอยู่ แต่หลังจากนั้นก็หายไป

เช่นกัน เราได้รับจดหมายจากบุคคลภายนอกน้อยมาก แทบไม่มี แม้แต่คนระดับหัวขบวนอย่างคุณสมยศ คุณสุรชัย ที่มีชื่อเสียงมากกว่าพวกเรา ก็ยังแทบไม่มีเลย แต่จดหมายน้อยๆ เหล่านี้อีกนั่นแหละที่เปรียบเสมือนสิ่งที่มีค่าที่สุดของพวกเรา ที่เราจะทนุถนอมเก็บเอาไว้อย่างดี เมื่อวันที่ท้อแท้ หมดกำลังใจ จดหมายพวกนี้แหละจะช่วยเพิ่มกำลังใจให้เรามีรอยยิ้มได้ (อากงผู้ล่วงลับ เวลาดูจดหมายของหลานๆ ของป้าอุ๊ อากงยังร้องไห้ทุกครั้งเลย) สร้างน้ำตาด้วยก็ได้ ผมเองก็มักจะหยิบจดหมายเก่าๆ ที่เก็บเอาไว้มาอ่านเสมอ บ่อยที่สุดก็ของลูก ของป๊า ส่วนของเพื่อนๆ แทบไม่มีใครส่งมา ดูแล้วไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ

จุดนี้เองจึงเป็นที่มาของโครงการที่ผมอยากชักชวนเพื่อนๆ ชาวไซเบอร์ ส่งอีเมลมาให้กำลังใจพวกเราหน่อย ก็ขอกันตรงๆ แบบนี้ ในฐานะที่ก็เป็นคนไซเบอร์เหมือนกัน เพราะผมรู้ว่ากำลังจากคนข้างนอก มันสุดแสนจะมีค่าเพียงใดกับคนข้างใน แค่อีเมลครับ ไม่ต้องหยุดงานมาเยี่ยม ไม่เสียเงินด้วย อยากฝากกำลังใจให้ใครแบบเดี่ยวๆ หรือแบบกลุ่มก็ตามสะดวกครับ ส่วนรายละเอียด วิธีการส่ง รายชื่อผูต้องขังในแต่ละเรือนจำมีอย่างไร ขอแยกไว้อีกส่วนละกันนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมหวังว่าคงจะไม่เป็นการขอมากเกินไป ผมเชื่อว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จ พวกเราในนี้ก็คงจะมีกำลังใจมากขึ้นอีกเยอะเลย จริงๆ ครับ *0* 



เชื่อมั่นและศรัทธา

หนุ่มแดงนนท์


 

 



 

รายชื่อผู้ต้องขัง

 

 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

 

คดี 112

1.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์               แดน 1  (มี 5 คดี)

2.สมยศ พฤกษาเกษมสุข               แดน 1

3.ธันย์ฐวุฒิ (สงวนนามสกุล)            แดน 1

4.สุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล)              แดน 1

5.สุชาติ นาคบางไทร หรือวราวุธ      แดน 1

6.วันชัย (สงวนนามสกุล)                แดน 1 (มี 2 คดี)

7.สุริยันต์ (สงวนนามสกุล)              แดน 1

8.เสถียร (สงวนนามสกุล)               แดน 1

 

 

คดีอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับการชุมนุม

1.พิทยา แน่นอุดร             แดน 3

2.ทองสุข หลาสพ            แดน 8

 

 

เรือนจำชั่วคราวหลักสี่

 

กลุ่มกรุงเทพฯ

1.เอกชัย มูลเมษ

2.เพชร แสงมณี

3.พินิจ จันทร์ณรงค์

4.คำหล้า ชมชื่น

5.สายชล แพบัว

6.เอนก สิงขุนทด

7.ประสงค์ มณีอินทร์

8.โกวิทย์ แย้มประเสริฐ

9.บัณฑิต สิทธิทุม

 

กลุ่มอุบลราชธานี

10.สมศักดิ์ ประสานทรัพย์

11.สนอง เกตุสุวรรณ

12.วีระวัฒน์ สัสสุวรรณ

13.ปัทมา มูนมิน (หญิง)


กลุ่มอุดรธานี

14.อาทิตย์ ทองสาย

15.วันชัย รักสงวนศิลป์

16.กิตติพงษ์ ชุยกัง

17.เดชา คมขำ

18.บัวเรียน แฝงสา

 

กลุ่มอื่นๆ

19.ชาตรี ศรีจินดา

20.ปริญญา มณีโคตม์

 

ทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ

 คดี 112

1.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล แดน 1

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ เสนอชะลอโครงการขุดลอกลำห้วยโมง

Posted: 23 Aug 2012 12:52 AM PDT

มติกรรมการสิทธิฯ ชะลอโครงการขุดลอกลำห้วยโมง เสนอให้มีการศึกษาทั้งระบบ ยึดหลักการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านแจงในปี 2543 เคยสูญเสียที่ดินไปแล้วหลายไร่ ถ้ามาขุดขยายอีกที่นาคงไม่เหลือ

 
 
วานนี้ (21 ส.ค.55) ที่ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ภายใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เชิญตัวแทนจาก ส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี กรมทรัพยากรน้ำ และองค์การบริหาส่วนตำบลจำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านผู้มีที่ดินติดลำห้วยโมงร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ว่าโครงการขุดลอกลำห้วยโมงละเมิดสิทธิชุมชน และกระบวนการดำเนินการไม่ชอบธรรม
 
ทั้งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีที่ดินติดลำห้วยโมง ได้มีการร้องเรียนต่ออนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยมีสถานการณ์ที่ส่วนราชการออกหนังสือให้ชาวบ้านลงรายชื่อในเอกสารเพื่อยินยอมอุทิศที่ดินในการขุดลอกลำห้วยโมง เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่กลุ่มชาวบ้านเห็นว่าการออกเอกสารในลักษณะดังกล่าวเป็นการริดรอนสิทธิของชาวบ้าน จึงรวมกลุ่มกันคัดค้าน เพราะเคยมีบทเรียนได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การขุดลอกเมื่อปี 2543 แต่ส่วนราชการไม่ยอมรับฟังยังคงเดินหน้าโครงการขุดลอกลำห้วยโมงต่อ ล่าสุดคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วนำมาสู่การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสู่เวทีตรวจสอบในครั้งนี้
 
 
นางคำพอง ทาสาลี แกนนำชาวบ้าน ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนเองไม่ยอมลงชื่อให้มอบที่ดินให้กับราชการในการขุดลอกลำห้วยโมง เพราะในปี 2543 ตนเองก็เคยสูญเสียที่ดินไปกับการขุดลอกลำห้วยโมงไปแล้วหลายไร่ ถ้ามาขุดขยายอีกที่นาคงไม่เหลือ
 
“ที่แม่ตั้งข้อสังเกตดูว่าการดำเนินการมันไม่โปร่งใส ชาวบ้านบางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็หลงเซ็นเอกสารไปให้แล้ว แม่จึงได้รวมกลุ่มกับชาวบ้านที่มีที่ดินติดลำห้วยโมงอีกกว่า 30 ราย คัดค้าน ไม่ให้มีการขุดลำห้วยโมง เพราะชาวบ้านเจ้าของที่ดินยังไม่รู้ข้อมูลของโครงการ โดยที่ผ่านมาก็มีการร้องเรียนไปยังส่วนราชการ และคณะกรรมการสิทธิฯ ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย” นางคำพอง กล่าว
 
ด้าน นายจีรศักดิ์ คำรณฤทธิ์ศร ปลัดจังหวัดอุดรธานี กล่าวที่ประชุมว่า ในฐานะตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ตามที่ได้รับรายงานมาเกี่ยวกับโครงการขุดลอกลำห้วยโมง ขอชี้แจงต่อที่ประชุมว่า โครงการขุดลอกลำห้วยโมงนั้น เป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่าง องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง โดยให้ อบต. สนับสนุนค่าน้ำมัน อบจ. สนับสนุนเครื่องจักรในการดำเนินการ และให้ราษฎร สนับสนุนที่ดิน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว  
 
“แต่เมื่อมีการร้องเรียนของชาวบ้านเกิดขึ้น ซึ่งได้รับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากที่ประชุมแล้ว จึงเห็นควรให้มีการหยุดโครงการขุดลอกลำห้วยโมงไปก่อน” นายจีรศักดิ์ กล่าว
 
 
สอดคล้องกับ นายสงวน ปัทมธรรมกุล ผู้จัดการโครงการศึกษาระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤติ 19 พื้นที่ ซึ่งเป็น ตัวแทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า โครงการขุดลอกลำห้วยโมงตลอดทั้งสายเป็นการพัฒนาที่ผิดศักยภาพของแหล่งน้ำ ควรมีการศึกษาสภาพแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาให้ถูกต้องตามศักยภาพ
 
“ลำห้วยโมงเป็นลำน้ำที่กินพื้นที่ในหลายเขตตำบล ก่อนการดำเนินการพัฒนาหรือขุดลอก ควรมีการศึกษาทางวิชาการในการออกแบบให้สามารถระบายน้ำได้ และออกแบบฝายให้มีลักษณะเป็นขั้นบันได แต่โครงการขุดลอกลำห้วยโมงในครั้งนี้ อบต. อบจ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการศึกษาศักยภาพในการพัฒนาโครงการอย่างรอบด้าน เพราะว่าขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ฉะนั้น ถ้าจะมีการขุดลอกหรือพัฒนาลำห้วยโมงก็ควรมีการศึกษาอย่างรอบด้านก่อนดำเนินโครงการ และในการดำเนินโครงการลักษณะนี้ ถ้ามีชาวบ้านในพื้นที่เพียงคนเดียงออกมาคัดค้าน โครงการก็ควรหยุดไว้ก่อน” นายสงวน กล่าว
 
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อนุกรรมาธิการสิทธิชุมชน ภายใต้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สรุปมติที่ประชุม และข้อเสนอต่อการตรวจสอบโครงการขุดลอกลำห้วยโมงในครั้งนี้ว่า เมื่อรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว สรุปประเด็นเพื่อเขียนรายงานผลการตรวจสอบโครงการขุดลอกลำห้วยโมงดังนี้ ประเด็นแรก การดำเนินโครงการขุดลอกในครั้งนี้ ควรชะลอการขุดไปก่อน แล้วกลับไปตรวจสอบดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขุดลอกไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งท่านปลัดจังหวัดอุดรธานีก็เห็นพ้องในส่วนนี้
 
ประเด็นที่สองหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องควรมีการประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำเพื่อทำการศึกษาทั้งระบบในด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยดูรายละเอียดจากผลการศึกษาแล้วจึงค่อยออกแบบวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ และประการสุดท้าย ฝากถึงกรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในกระบวนการศึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำ ควรยึดหลักการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ ให้ชาวบ้านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาวบ้านในพื้นที่
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รณรงค์ จี้ "การไฟฟ้าซิมบับเว" ยุติสั่งพักงาน 135 แกนนำสหภาพฯ

Posted: 23 Aug 2012 12:20 AM PDT

IndustriALL Global Union สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ พลังงานและการผลิต ซึ่งมีสมาชิกกว่า 50 ล้านคนจาก 140 ประเทศทั่วโลก ร่วมกับ LabourStart หนึ่งในเว็บไซต์ให้บริการข่าวสารการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก รณรงค์ระดับสากลขอให้ผู้อ่านทั่วโลก ส่งจดหมายถึงผู้ว่าการการไฟฟ้า ZESA ซิมบับเว Mr J. Chifamba ผ่านเว็บ LabourStart campaign  ให้ยุติการสั่งพักงานแกนนำสหภาพแรงงานไฟฟ้าซิมบับเว (ZEWU) 135 คนโดยไม่มีกำหนดและไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแกนนำสหภาพแรงงานไฟฟ้าซิมบับเว (ZEWU) 135 คนถูกสั่งพักงานโดยไม่มีกำหนด และไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการ หลังจากที่สหภาพแรงงานประกาศว่าจะนัดหยุดงาน เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซิมบับเว (ZESA) ประกาศว่าจะไม่ขึ้นค่าจ้างให้กับคนงานไฟฟ้าตามที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ตัดสินชี้ขาดให้ ZESA ขึ้นค่าจ้างคนงานไฟฟ้าซึ่งมีค่าจ้างต่ำในซิมบับเว

ฝ่ายบริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซิมบับเว บอกว่าจะยกเลิกคำสั่งพักงานนักสหภาพแรงงานต่อเมื่อสหภาพแรงงานไฟฟ้า ZEWU ยอมที่จะไม่ขึ้นค่าจ้างตามที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดมา ใน 135 คนที่ถูกสั่งพักงานประกอบด้วยประธานสหภาพแรงงานและกรรมการบริหาร IndustriALL แองเจลีน ชิตตัมโบ (Angeline Chitambo)

 

ที่มา: http://www.labourstartcampaigns.net/show_campaign.cgi?c=1540

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น