ประชาไท | Prachatai3.info |
- แม่พยาบาลเกด เผาพริกเผาเกลือ ประท้วง ผบ.ทบ.บิดเบือน 6 ศพวัดปทุม
- เอ็นจีโอเผยโรงงานผลิตชิ้นส่วนส่งให้ซัมซุงในจีน ใช้แรงงานเด็ก
- รองนายกฯ รมว.กลาโหม ควง ผบ.ทบ.เยือนใต้ ปรับแผนระงับเหตุ-คุมเข้ม 10 วันรอมฎอน
- เผยดีเอสไอเตรียมออกหมายเรียกทหารให้การยิงสลายเสื้อแดง
- อนามัยโลก-ยูนิเซฟ ชมไทยมีมติ ค.ร.ม.คุมการตลาดและโฆษณานมทารกและเด็กเล็ก
- เอ็นจีโอชี้กรมเจรจาฯ มั่วข้อมูลไม่มีผลกระทบเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป
- จีนส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบสวนลูกน้องสนิท "หน่อคำ" อีกที่เชียงตุง
- วาด รวี: ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ, เหยื่อรายแรกของการเก็บค่ากระจายสินค้าร้านหนังสือซีเอ็ด-นายอินทร์
- เปิดข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อ UN ขจัดเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติชายแดนใต้
- เยียวยาอวนลากสตูลตายกลางทะเล เหยื่อมาตรการจับประมงทำลายล้าง
- "กูเกิล" เตรียมพัฒนา "วอยซ์ เสิร์ช" ภาษาไทย
- คุก 6 เดือน ชาวบ้านรุกที่สวนป่าโคกยาว เงินกองทุนยุติธรรม 2 แสนประกันตัวสู้คดีต่อ
- 12 สิงหา....ตามแม่ไปคุก
- คำประกาศแห่งโจรสลัด: ข้อเสนอการปฏิรูประบอบลิขสิทธิ์ของ ‘พรรคไพเรต’
- เปิดเอกสาร(ลับ)หน่วยเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป กับ 5 ประเด็นต้องจับตา
แม่พยาบาลเกด เผาพริกเผาเกลือ ประท้วง ผบ.ทบ.บิดเบือน 6 ศพวัดปทุม Posted: 10 Aug 2012 11:44 AM PDT พร้อมเผาข้อความ “งบเยอะ แต่สติน้อย” เตือนผู้นำกองทัพอย่าร้อนรนควรมีวุฒิภาวะ หากไม่หยุดจะร้องนายกฯ เล็งติดตามการทำงานกรรมการสิทธิฯ ต่อ
ภาพการเผาพริกเผาเกลือ หน้ากองทัพบก (ภาพโดย: Nithiwat Wannasiri)
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.55 เวลา 13.00 น. ที่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณวัดปทุมวนารามวรวิหาร ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม วันที่ 19 พ.ค.2553 พร้อมด้วยนายณัทพัช อัคฮาด น้องชายของ น.ส.กมนเกด และกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 10 คน ทำพิธีเผาพริกเผาเกลือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และเผากระดาษที่มีข้อความเขียนว่า “งบเยอะ แต่สติน้อย” เพื่อคัดค้าน ผบ.ทบ.ที่ได้ออกมาตีโพยตีพาย กล่าวหาว่าแม่พยาบาลเกดและพยายานในการไต่สวน 6 ศพวัดปทุมฯ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หลังการไปศาลโลกของนางพะเยาว์และพยานในการไต่สวนคดีดังกล่าวเปิดเผยว่าการเสียชีวิตเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร นอกจากนี้แม่พยาบาลเกดยังเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีวุฒิภาวะในการแสดงออกต่อสาธารณะในฐานะที่เป็นผู้นำกองทัพด้วย หากไม่หยุดจะร้องเรียนนายกรัฐมนตรีต่อ นางพะเยาว์ อัคฮาด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงการทำกิจกรรมดังกล่าวว่า เนื่องจากมีการไต่สวนกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน และมีการพูดว่าคิดว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็ได้พูดไว้ก่อนหน้าแล้ว แต่หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา กลับออกมาโต้ว่าคำไต่สวนของศาลว่าไม่น่าออกมาต่อสาธารณะและไม่ควรพูดว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารนั้น นางพะเยาว์ มองว่าในเมื่อกระบวนการยุติธรรมกำลังขับเคลื่อน กองทัพก็มีหน้าที่รอเวลา ถึงเวลาที่เขาจะเรียกเอาเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาไต่สวน ไม่ควรออกมาร้อนรนก่อนมาตีโพยตีพายว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำ แม้ว่าจะเป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะต้องปกป้องลูกน้อง แต่ไม่ควรที่จะหลับหูหลับตาปกป้อง แม่พยาบาลเกดได้โต้ การที่ ผบ.ทบ. ออกมาตำหนิการไปศาลโลกของตนเป็นเรื่องไม่เหมาะสมว่า เอาอะไรมาตัดสินว่าตนเองไปศาลโลกแล้วไม่เหมาะ การไปกลับเป็นผลดีกับสังคมไทยมากว่า เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินคู่ขนานกันไป นางพะเยาว์ เปิดเผยว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังออกมาพูดมากอีก จะไม่ยื่นกับกองทัพแล้ว แต่จะยื่นกับผู้บังคับบัญชากับเขาโดยตรงคือนายกรัฐมนตรี สำหรับกิจกรรมต่อไป จะมีการติดตามความคืบหน้าต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในเร็วๆนี้ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา นางพะเยาว์ อัคฮาด ได้เดินทางไปเบิกความต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีดังกล่าว โดยเชื่อได้ว่าการเสียชีวิตของบุตรสาวตนเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร สำหรับการไต่สวนในคดีนี้ ศาลได้นัดไต่สวนฯ ครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 16 ส.ค.55 โดยตามกำหนดจะเป็นการเบิกความของญาตินายสุวรรณ ศรีรักษา นายอัฐชัย ชุมจันทร์ และนายอัครเดช ขันแก้ว ผบ.ทบ. ซัดตำรวจแถลงคำไต่สวนไม่เหมาะสมจึงต้องส่งคนแจงบ้าง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีการพิจารณาไต่สวนพยานจากคดีการเสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม โดยหนึ่งในพยานที่เป็นตำรวจเชื่อว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารว่า เป็นเรื่องของการสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม สิ่งสำคัญต้องเข้าใจว่า กองทัพบกเป็นกองทัพที่ใหญ่ มีคนหลายแสนคน ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ การปกครองคนและการให้ความดูแลปกป้องให้ความเป็นธรรมผู้ใต้บังคับบัญชา ในการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งไม่ใช่หน้าที่เฉพาะของ ผบ.ทบ. แต่เป็นหน้าที่ของระบบที่จะต้องปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาในการทำหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมา เราก็มีการติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และเราก็ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนที่มีปัญหา หรือคนที่ถูกเรียกตัวไปไต่สวนต่างๆ เราก็ดูแล ไม่ใช่เราจะปล่อยให้เผชิญชะตากรรม ผู้บังคับบัญชาต้องดูแล และตนดูแลมาตลอด “จะถูกจะผิดก็ว่ากันในกระบวนการยุติธรรม แต่การที่นำออกมาพูดจาข้างนอก หรือแสดงความคิดเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมคิดว่าไม่เหมาะสม เมื่อไม่เหมาะสมกองทัพก็ต้องออกมาชี้แจง ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าเป็นเรื่องของกระบวนการไต่สวน หรือการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมใดๆ ก็ตาม คิดว่าควรจะอยู่ในชั้นความลับ ไม่ใช่ออกมาพูดให้ออกมาข้างนอก ถ้าพูดข้างนอกเราก็ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการตอบโต้ หรือกล่าวร้ายอะไรทั้งสิ้น ต่างคนต่างมองไปคนละมุมก็ว่าไป แล้วปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเขาว่าไปใครจะผิดจะถูก ถ้าไม่มีการพูดจาออกมาข้างนอกเราก็คงไม่อยากจะพูดออกไป ไม่ควรเอาออมาแพร่ในที่สาธารณะ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ไม่ห้าม “แม่พยาบาลเกด” ฟ้องศาลโลก ระบุเรื่องในไทยต้องใช้กฎหมายไทย ถามจะอยู่ร่วมกันไม่ได้หรือไง ชี้ถ้ารื้อแต่ส่วนไม่ดีประชาธิปไตยไม่เกิดแน่ หลังจากนั้น (26 มิ.ย.) ASTV ผู้จัดการออนไลน์ได้รายงานอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด ที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามฯ เดินทางไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อหารือแนวทางการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้อง และผู้สั่งการสลายการชุมนุมในปี 2553 ว่า ขณะนี้คดียังอยู่ในขั้นตอนของการไต่สวนของอัยการ แต่หากคิดว่าทำแล้วจะดีก็คงไม่สามารถห้ามได้ แต่โดยความเห็นส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะใช่ เพราะประเทศไทยก็ต้องใช้กฎหมายของเรา ใช้สิทธิให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากจะเอาทุกอย่างคงไม่ได้ ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องขึ้น ตนพูดไปก็จะทะเลาะกันอีก ดังนั้นจึงอยากพูดสั้นๆ ว่า ขอให้เข้าใจว่าทหารทุกคนทำหน้าที่และพยายามทำให้ดีที่สุด แต่หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ไปสอบสวนหาคนผิดก็ว่ากันไป ภาพกิจกรรม โดย Nithiwat Wannasiri
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ไต่สวนการตายวัดปทุมหลักฐานชัดกระสุนสงครามสีเขียวยิงจากบนลงล่าง http://prachatai.com/journal/2012/06/41138 ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม แม่น้องเกด-พี่ชายอาสาปอเต็กตึ๊ง เชื่อฝีมือทหาร http://www.prachatai.com/journal/2012/08/41984 เปิดเอกสาร DSI (?) : กรณี 6 ศพวัดปทุมฯ กองทัพบกแจง 6 ศพวัดปทุมฯ รายงานสถาบันนิติเวช เปิดผลชันสูตร 6 ศพวัดปทุมฯ “บิ๊กตู่” ซัด ตร.พูดคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ไม่เหมาะ-ทหารต้องแถลงโต้ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000076843 “บิ๊กตู่” ปัดปลด “ไก่อู” อ้างทำเบื้องหลัง ถามแดงจะอยู่ร่วมกันไม่ได้หรือไง http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9550000078498 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เอ็นจีโอเผยโรงงานผลิตชิ้นส่วนส่งให้ซัมซุงในจีน ใช้แรงงานเด็ก Posted: 10 Aug 2012 11:14 AM PDT กลุ่ม China Labor Watch เปิดเผยว่ามีแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานในโรงงานของบริษัท HEG Electronics ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ Samsung
แรงงานเด็กและแรงงานนักศึกษาฝึกงานในบริษัท HEG Electronics ในประเทศจีน ผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ Samsung (ที่มาภาพ: China Labor Watch) 10 ส.ค. 55 – กลุ่ม China Labor Watch เปิดเผยว่ามีแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีทำงานในโรงงานของบริษัท HEG Electronics ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ชิ้นส่วนเครื่องเล่นเอ็มพี 3 และชิ้นส่วนเครื่องเล่นดีวีดี ให้กับบริษัท Samsung ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าไอทีระดับโลกสัญชาติเกาหลีใต้ โดยในรายงานของ China Labor Watch พบว่าแรงงานเด็กจำนวน 7 คน ในโรงงานดังกล่าวมีสภาพการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานผู้ใหญ่ แต่กระนั้นพวกเขายังได้ค่าแรงเพียง 70% เมื่อเทียบกับแรงงานผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในโรงงาน (จากรายงานพบว่าเด็กที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี) นอกเหนือจากประเด็นการใช้แรงงานเด็กแล้ว ยังพบประเด็นละเมิดสิทธิแรงงาน ในบริษัท HEG Electronics ดังเช่น
- นอกเหนือจากการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีแล้ว ยังมีการใช้นักศึกษาฝึกงานซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ซึ่งมีสภาพการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานผู้ใหญ่ แต่บริษัทจ่ายค่าแรงเพียง 70% เมื่อเทียบกับแรงงานผู้ใหญ่คนอื่นๆ
- แรงงานนักศึกษาฝึกงานพบกับปัญหาการบาดเจ็บในการทำงานบ่อยครั้ง
- พนักงานที่ทำงานกะกลางคืนเป็นเวลา 11 ชั่วโมง มีเวลาพักรับประทานอาหารเพียง 40 นาที
- มีการบังคับให้พนักงานทำงานล่วงเวลาอีกวันละ 4-5 ชั่วโมง นอกเหนือจากเวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง นอกจากนี้ จากข้อมูลของ China Labor Watch พบว่าบริษัท HEG Electronics นอกเหนือที่จะผลิตชิ้นส่วนให้กับ Samsung แล้ว ยังผลิตให้แบรนด์ดังๆ อื่นๆ ด้วย อาทิเช่น Motorola และ LG เป็นต้น ด้าน Samsung ออกมาตอบโต้ว่าทีมสอบสวนของบริษัทได้ลงไปตรวจสอบโรงงานแห่งนี้แล้วในปีนี้เอง แต่ไม่พบการใช้แรงงานเด็ก แต่ทั้งนี้ก็จะลงไปตรวจสอบตามรายงานข้อสังเกตของ China Labor Watch อีกโดยทันที โดยโฆษกของ Samsung เปิดเผยว่าบริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานใน HEG Electronics ถึง 2 ครั้งในปีนี้ แต่ไม่พบว่ามีการกระทำผิดกฎระเบียบแต่อย่างใด และยืนยันว่าได้ส่งผู้ตรวจสอบจากบริษัทแม่ในเกาหลีใต้ไปยังเมือง Huizhouของจีน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และจะดำเนินการตรวจสอบโดยทันที ที่มา: Samsung’s Supplier Factory Exploiting Child Labor (China Labor Watch, 2-8-2012) Samsung Factory Exploiting Child Labor----Investigative Report on HEG Electronics (Huizhou) Co., Ltd. Samsung Supplier (China Labor Watch, 7-8-2012) Samsung investigates child labour claims at Chinese mobile phone factory (Telegraph, 9-8-2012)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
รองนายกฯ รมว.กลาโหม ควง ผบ.ทบ.เยือนใต้ ปรับแผนระงับเหตุ-คุมเข้ม 10 วันรอมฎอน Posted: 10 Aug 2012 09:58 AM PDT รองนายกฯ เผยชี้แจงแผนบูรณาการใหม่ของรัฐบาล คุมเข้ม 7 หัวเมืองเศรษฐกิจ 13 พื้นที่เฝ้าระวัง เน้น 10 วันสุดท้ายรอมฏอน เกรงความรุนแรงต่อเนื่องจะถูกนำไปถกใน OIC พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกเดินทางมาถึงค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2555 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามผลการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และร่วมประชุมกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี พล.อ.ยุทธศักดิ์เปิดเผยว่าการประชุมในครั้งนี้เป็นการชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแผนที่ได้มีการปรับใหม่เพื่อทำการบูรณาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หลังจากที่ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำแผนการที่ทางนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้สั่งการไว้มาชี้แจงให้ทราบ รวมถึงเตือนให้หน่วยต่างๆ ในพื้นที่เข้าใจว่าจะต้องระมัดระวังและตรวจสอบความรุนแรงที่ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหาของเราจะดีอย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็คงจะยังไม่ลดความรุนแรง โดยจะก่อเหตุต่อไปเพื่อสร้างสถานการณ์ว่าพวกเขายังมีอำนาจและมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ “โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และหากสถานการณ์ยังคงมีความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุม OIC ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9 กันยายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ได้” พล.อ. ยุทธศักดิ์กล่าว พล.อ.ยุทธศักดิ์ชี้แจงอีกว่าในที่ประชุมยังมีการชี้แจงในอีกหลายประเด็น อาทิ เรื่อง CCTV และการจัดหาเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งจะได้สรุปนำเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีต่อไป การประชุมวันนี้นับเป็นนิมิตรหมายอันดีอย่างยิ่งในการที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องการก็คือความเป็นเอกภาพของการทำงาน โดยทางผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ให้สิทธิแก่แม่ทัพภาคที่ 4 ในการที่จะเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในพื้นที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ได้กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เพิ่มมาตรการเข้มในการดูแลพื้นที่ 7 หัวเมืองเศรษฐกิจและ 13 พื้นที่เฝ้าระวังในชายแดนใต้ ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้มีการเตรียมแผนการดำเนินมาตรการในการดูแลพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ด้วยการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยหรือเขต safety zone เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับกรณีที่จะมีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้ามารายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่จำนวน 40 คนนั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าได้มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว แต่ติดเรื่องเงื่อนไขของการออกมารายงานตัวตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในช่วงเช้าวันเดียวกันที่หน้าค่ายสิรินธรได้มีกลุ่มชาวบ้านไทยพุทธและไทยมุสลิมกว่า 200 คน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมตัวกันมาเพื่อทวงถามเรื่องเงินเยียวยาหลังจากได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ ศอ.บต. มาแล้ว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ผ่านมา โดยมี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 ออกมารับหนังสือ โดยผู้ชุมนุมได้แสดงความไม่พอใจในการกำหนดเกณฑ์ในการเยียวยาต่างกันมากระหว่างผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เผยดีเอสไอเตรียมออกหมายเรียกทหารให้การยิงสลายเสื้อแดง Posted: 10 Aug 2012 09:35 AM PDT ดีเอสไอเตรียมออกหมายเรียกทหาร-ตำรวจที่ร่วมปฏิบัติการ ให้การภารกิจยิงกดดันสลายมวลชนเสื้อแดง มั่นใจหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไขความจริง 10 ส.ค. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าพ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน 91 ศพจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนจะนำเอกสาร การสั่งการของศอฉ.ที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจภูธร ไปประจำการในจุดใดบ้าง มีจำนวนกี่คน และหัวชุดปฏิบัติการณ์เป็นใคร รวมทั้งตำรวจทีี่เป็นกำลังเสริมมาจากกองบัญชาการต่างจังหวัด โดยตำรวจชุดนี้จะขึ้นตรงการสั่งการของศอฉ.ไม่ใช่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น. ) สำหรับกลุ่มแรกที่ดีเอสไอจะเรียกมาสอบปากคำ คือ ทหารที่ประจำการจุดต่างๆ และมีภาพปรากฎผ่านสื่อ ขณะทหารใช้ปืนยิงเพื่อกดดันมวลชนให้ถอยร่น ซึ่งจะสอบถามว่าใช้ปืนอะไร และนำกระสุนมาจากไหน เพื่อบันทึกปากคำในสำนวนคดี โดยจะมีการออกหมายเรียกมาให้ข้อมูล ไปยังต้นสังกัด ส่วนกลุ่มคนแต่งกายคล้ายทหาร 3 ราย ที่ปรากฎภาพผ่านสื่อมวลชน ขณะกำลังใช้ปืนยิงจากด้านสูงลงไปด้านล่าง และบริเวณที่เกิดเหตุก็มีบุคคลได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืน พนักงานสอบสวนจะเร่งหาข้อมูลว่าเป็นทหารจริงหรือไม่ หากเป็นทหาร อยู่สังกัดใด จากนั้นออกหมายเรียกมาสอบปากคำต่อไป พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมปฏิบัติการก็ต้องสอบปากคำเช่นกัน โดยจะสอบถาม ภาพเหตุการณ์โดยร่วมจุดที่ประจำการขณะนั้นว่ามีพบเหตุการณ์ยิงหรือการใช้อาวุธปืนลักษณะใดบ้าง ทั้งนี้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะเป็นหลักฐานสำคัญทางคดี เช่น หากให้การว่าใช้กระสุนซ้อม ที่ไม่มีหัวกระสุน ทางข้อเท็จจริงสามารถระบุได้ ว่าอาวุธที่เบิกมาใช้มีกระสุนซ้อม หรือกระสุนชนิดใดตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
อนามัยโลก-ยูนิเซฟ ชมไทยมีมติ ค.ร.ม.คุมการตลาดและโฆษณานมทารกและเด็กเล็ก Posted: 10 Aug 2012 08:08 AM PDT 10 ส.ค. 55 - องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟกล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการทำการตลาดและการโฆษณานมสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขว่า “เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมการเริ่มต้นชีวิตที่ดีที่สุดของเด็กทุกคนในประเทศไทย” เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติขอความร่วมมือสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกแห่งให้ปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการทำการตลาดและการโฆษณานมสำหรับทารกและเด็กเล็กตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ทั้งนี้มติ ค.ร.ม. กล่าวว่าสถานบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกแห่งไม่ควร: • ไม่ควรส่งเสริมหรืออนุญาตให้มีกิจกรรมด้านการขายและการตลาดทุกด้านที่ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ขวดนม จุกนม ไม่ควรแสดงผลิตภัณฑ์และสื่อที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ยกเว้นสื่อที่ได้รับอนุญาต • ไม่ควรมีการสาธิต หรืออนุญาตให้มีการสาธิตการใช้นมดัดแปลงสำหรับทารกและอาหารทารก โดยบริษัทฯ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย • ไม่ควรรับบริจาค หรือรับการสนับสนุนใด ๆ ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารทารกและเด็กเล็ก รวมทั้งการใช้เครื่องมือสิ่งของอื่น ๆ ที่ใส่ชื่อ เครื่องหมายบริษัทฯ หรือสื่อใด ๆ ที่เกี่ยวข้องที่สื่อความหมายถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นอกจากนี้มติค.ร.ม. ยังขอให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข “ปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” และไม่ควรเป็นตัวแทนของผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง การโฆษณาและการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ในสถานบริการสุขภาพต่างๆ นับเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (International Code of Breast-milk substitutes) ซึ่งเป็นมติในการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกในปี 2524 เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับทารกและความเสี่ยงต่างๆ ของการให้นมทารกอย่างไม่ถูกวิธี ตลอดจนการใช้อาหารแทนนมแม่อย่างไม่จำเป็นและไม่เหมาะสม การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การใช้อาหารทดแทนนมแม่อาจทำให้เกิดการตายในเด็กแรกเกิดมากขึ้น การเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการแย่ลง รวมทั้งทำให้การพัฒนาทางสมองและการเรียนรู้ต่ำลงด้วย นอกจากนั้นการเลี้ยงทารกด้วยนมผสมยังขัดขวางสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ทั้งยังจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภัยเรื้อรังในภายหลัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็งบางชนิดและโรคอ้วน นอกจากนั้นนมผงสำหรับเลี้ยงทารกไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อและมีสิ่งปนเปื้อนได้ง่าย นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีการเรียกคืนนมผงสำหรับเลี้ยงทารกมากกว่า 70 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรม แถลงการณ์ร่วมกันระหว่างผู้แทนองค์การยูนิเซฟและผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายพิชญะ ราชภัณฑารีและ ดร. มัวรีน เบอร์มิงแฮม กล่าวว่า “กลยุทธ์การตลาดและการโฆษณานมผงสำหรับเลี้ยงทารกและอาหารทดแทนนมแม่ชนิดอื่นๆ อย่างไร้จรรยาบรรณในสถานบริการสุขภาพเป็นสิ่งบ่อนทำลายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย มติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ซึ่งจะช่วยหยุดการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นก้าวสำคัญของการเสริมสร้างการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย” สมัชชาสุขภาพโลกแนะนำว่าเด็กควรได้รับนมแม่ในช่วงหกเดือนแรกของชีวิตเพื่อประกันสุขภาพและพัฒนาการที่ดีที่สุด ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขไม่นานนี้ระบุว่ามีแม่เพียงร้อยละ 15 ในประเทศไทยเท่านั้นที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก ในขณะที่การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีครั้งใหญ่เมื่อปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่ามีเด็กประมาณร้อยละ 15 ในประเทศไทยที่ไม่เคยทานนมแม่เลย “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวถือเป็นมาตรฐานที่สำคัญที่สุดในการประกันสุขภาพและพัฒนาการสูงสุดของเด็กๆ” นาย ราชภัณฑารีกล่าว “แม่ทุกคนควรได้รับกำลังใจและการสนับสนุนให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้” “ที่ผ่านมามีการละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่อย่างแพร่หลายในประเทศไทย และก็คงยังจะมีอยู่ต่อไป” ดร. เบอร์มิงแฮมกล่าว “ประเทศไทยควรมีกฎหมายเพื่อรับรองว่าแม่จะไม่ได้รับข้อมูลที่ผิดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ หรือรับรองว่าแม่จะทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเลี้ยงลูกด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว” ดร. เบอร์มิงแฮมยังกล่าวต่อไปว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการตลาดของผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพต่างๆ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เอ็นจีโอชี้กรมเจรจาฯ มั่วข้อมูลไม่มีผลกระทบเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป Posted: 10 Aug 2012 07:58 AM PDT คนรัฐบาลชี้ยาแพง-คนเมาเพิ่มไม่เป็นไร ต้องเดินหน้า เอฟทีเอกับสหภาพยุโรปให้ได้ รุมอัดกรมเจรจาฯ มั่วข้อมูลไม่มีผลกระทบ 10 ส.ค. 55 - ในการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทย วานนี้ มีการพิจารณาประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอร์และบุหรี่, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการเปิดตลาดสินค้าบริการ แหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะยืนยันว่าข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปด้านทรัพย์สินทางปัญญาจะเกินเลยไปกว่าความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ ดับเบิลยูทีโอ ซึ่งจะส่งผลต่อราคายา และการเข้าถึงยาของประชาชนไทย แต่รองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม กลับมีคำสั่งสวนคำแนะนำของหน่วยงาน เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เร่งการเจรจาเปิดการค้าเสรีกับทางสหภาพยุโรปเร่งด่วนที่สุด โดยให้เหตุผลว่ายอมให้คู่เจรจาเดียว (สหภาพยุโรป) เท่านั้น คงไม่เป็นไรมากนัก อีกทั้งยังมีท่าทียอมรับการเปิดเสรีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของบางประเทศในยุโรป นอกจากนี้รองนายกฯ ยังยกเลิกแนวทางของทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จะให้มีการนำร่างกรอบการเจรจามาจัดรับฟังความเห็นประชาชนก่อนเสนอต่อรัฐสภาอีกด้วย ต่อกรณีนี้ นายจักรชัย โฉมทองดี จากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ให้ความเห็นว่า น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมีท่าทีดังกล่าว ซึ่งสวนทางกับจุดยืนที่รัฐบาลไทยมีมาโดยตลอดคือการไม่ยอมรับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลยกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก เรื่องนี้อาจตีความได้สอง แบบคือหนึ่งการขาดความจัดเจนกลยุทธการเจรจาการค้า เนื่องจากหากยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปแล้ว ในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลบเลี่ยงข้อเรียกร้องเดียวกันจากคู่เจรจาสำคัญอื่นๆ หรือ สองรู้แต่แกล้งไม่รู้เนื่องจากผลประโยชน์ทางธุกิจด้านอื่นครอบงำการตัดสินใจอยู่ มากไปกว่านั้นรัฐบาลยังมีวามคิดที่จะยอมให้เหล้ายุโรปเข้ามาขายอย่างเสรีใน ประเทศไทยมากขึ้น โดยระบุเพียง การใช้กลไกภายในคือภาษีสรรพสามิตรองรับ ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยากยิ่งเช่นกัน "แต่ที่หน้าเป็นห่วงที่สุดเห็นจะเป็นความตั้งใจที่จะละเลยประชาชนโดยหลีกเลี่ยงการทำประชาพิจารณ์ก่อนเสนอสภา ซึ่งทั้งขัดหลักธรรมาภิบาล และ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งหากเป็นจริงรัฐบาลก็สุ่มเสี่ยงที่จะต้องกลับมาลุ้นคำตัดสินของศาลรัฐ ธรรมนูญอีกในที่สุด" จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนท่าทีดังกล่าว ซึ่งจะไม่ทำให้การเจรจาหากจะเกิดขึ้นล่าช้าแต่ประการใด โดยที่อาจส่งผลให้เร็วขึ้นเสียด้วยซำ ทางด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า รู้ตกใจกับท่าทีของกรมเจรจาฯที่เสนอให้ยอมรับการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา 5 ปี ทั้งที่งานวิชาการที่ทำโดยนักวิชาการอิสระและหน่วยราชการ อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังชี้ชัดว่า เป็นข้อเรียกร้องที่มีผลกระทบรุนแรง แค่ 5 ปี จะมีผลกระทบต่องบประมาณมากกว่า 81,000 ล้านบาท ประสบการณ์ในต่างประเทศทั้งโคลัมเบียและจอร์แดนก็ได้ผลกระทบชัดเจน ที่ผ่านมาทางฝ่ายไทยจึงมีท่าทีไม่รับข้อเรียกร้องนี้มาโดยตลอด "นี่แสดงให้เห็นว่า กรมเจรจาฯไม่เคยใช้ข้อมูลหรือความรู้นำการเจรจาเลย จึงให้ข้อมูลที่ผิดๆต่อฝ่ายนโยบายว่า รับไปเถอะจะไม่มีผลกระทบอะไร ขอให้รัฐบาลทบทวนท่าทีดังกล่าว" ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ตั้งข้อสังเกตการเร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย-อียู อย่างรวบรัดผิดปกติ และไม่ได้ให้ความสนใจกับข้อรับฟังความเห็นสาธารณะและข้อมูลวิชาการใดๆเลย ที่น่าเสียใจคือท่าทีของกรมเจรจาการค้าฯที่นอกจากจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสังคมเลย ยังโอนอ่อนต่อท่าทีของทางอียูเป็นอย่างยิ่ง จากเอกสารการประชุมจะเห็นว่าท่าทีของกรมเจรจาคือประเทศไทยควรยอมให้ทางอียูมาค้าขายเหล้าบุหรี่อย่างเสรี เพราะกลัวคำขู่ของทางอียูขู่ว่าจะไม่เจรจาต่อหากไม่รวมเหล้าบุหรี่ในกรอบการเจรจา ซึ่งในการยอมเปิดค้าเสรีนั้นทางกรมเจรจาการค้าฯจะผลักดันให้มีการล้มมติ ครม. ปี 2553 ว่าด้วยยุทธศาสตร์แอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่ระบุว่าจะคุ้มครองสุขภาพคนไทยไม่ยอมให้บรรจุน้ำเมาในรายการสินค้าและบริการในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การแยกสุราและยาสูบออกจากข้อตกลงการค้าว่าเป็นสิ่งสอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี 2553 และ 2554 ซึ่งพบว่าประชาชนไทยประมาณร้อยละ 68.4 ของประชาชนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยจะทำสัญญายอมให้ผู้ประกอบการสุราต่างชาติเข้ามาผลิต นำเข้า ขาย และโฆษณาสุราอย่างเสรี และร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วย กับการที่ รัฐบาลต่างชาติพยายามผลักดันรัฐบาลไทยทำสัญญาให้การเปิดเสรีสุรา นั่นแสดงให้เห็นว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลไทยมีความเข้มแข็งในการปกป้องสุขภาพของคนไทยโดยไม่ยอมตามแรงกดดันของต่างชาติ ดังนั้นจุดยืนที่อยากจะบรรจุเหล้าบุหรี่เข้าไปในการค้าเสรีระหว่างประเทศ จึงเป็นทิศทางที่ขัดแย้งกับข้อมูลวิชาการ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญปัญหาแอลกอฮอล์ขององค์การอนามัยโลกรายงานว่าความตกลงการค้าเสรีในระดับต่างๆ มีผลสำคัญต่อปัญหาแอลกอฮอล์และการพัฒนานโยบายการปกป้องสุขภาพของประเทศ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
จีนส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบสวนลูกน้องสนิท "หน่อคำ" อีกที่เชียงตุง Posted: 10 Aug 2012 07:45 AM PDT ทางการจีนส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบสวนนายอ่องเมียด (บองเมีย) ลูกน้องคนสนิทหน่อคำ ซึ่งสงสัยเป็นผู้ลงมือฆ่าลูกเรือจีนอีกครั้ง ที่เมืองเชียงตุง ของรัฐฉาน เผย นายอ่องเมียด ปฏิเสธข้อกล่าวหาและได้ให้ข้อมูลเรือจีนลอบขนยาเสพติดแทน ... 10 ส.ค. 55 - แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงกองทัพพม่า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 – 8 ส.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จีน 6 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากเขตปกครองสิบสองปันนา 3 คน เดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ สหภาพพม่า จากนั้นได้เดินทางมายังเมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก เพื่อสอบสวนนายอ่องเมียด หรือ นายบองเมีย ลูกน้องคนสนิทของหน่อคำ ที่สงสัยเป็นผู้ลงมือสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ ซึ่งถูกทางการพม่าควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำเมืองเชียงตุง ระหว่างเข้าทำการสอบสอบสวน เจ้าหน้าที่จีนได้นำภาพถ่ายนายอ่องเมียด และลูกน้องรวม 15 คน ขณะวางอาวุธให้ทางการพม่าที่ท่าขี้เหล็กให้นายอ่องเมียดดู จากนั้นได้สอบถามว่ามีผู้ที่อยู่ในภาพคนใดมีส่วนเกี่ยวข้องเหตุสังหารลูกเรือจีน 13 คน ซึ่งนายอ่องเมียดตอบว่า ไม่มีใคร เพราะในวันเกิดเหตุผู้ที่อยู่ในภาพถ่ายทั้งหมดไม่ได้อยู่บริเวณนั้น และจากนั้นเจ้าหน้าที่จีนได้พยายามสอบถามรายละเอียดกับนายอ่องเมียดว่าได้ลงมือสังหารลูกเรือจีนอย่างไร ซึ่งนายอ่องเมียดได้ตอบเลี่ยงประเด็นโดยที่ได้อธิบายข้อมูลเกี่ยวกับเรือขนสินค้าจีนในลำน้ำโขงมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดแทน "เขาได้อธิบายรายละเอียดด้วยภาษาไทลื้อ เกี่ยวกับเรือลำเลียงสินค้าจีนลักลอบขนยาเสพติด ซึ่งเขาได้ระบุวันเดือนปีที่พบเรือลำเลียงสินค้าจีนลักลอบลำเลียงยาเสพติด เรื่องนี้ทำให้ทางเจ้าหน้าที่จีนที่ทำการสอบสวนแสดงสีหน้าค่อนข้างไม่พอใจ ขณะที่ระหว่างการสอบสวนไม่ได้มีเจ้าหน้าที่พม่าเข้าร่วมด้วย" แหล่งข่าว กล่าว นายอ่องเมียด หรือ เจนหง อายุ 42 ปี เป็นคนบ้านน้ำเขิม อ.เมืองเลน จ.ท่าขี้เหล็ก เป็นอดีตทหารในกองทัพเมืองไตย MTA ภายใต้การนำของขุนส่า หลังขุนส่าวางอาวุธให้กับทางการพม่า นายอ่องเมียด ได้ร่วมจัดตั้งเป็นกองกำลังอาสาสมัครร่วมกับนายหน่อคำ โดยได้รับตำแหน่งเป็นรองของหน่อคำ เคลื่อนไหวในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจนกระทั่งหน่อคำถูกจับ และเขาได้วางอาวุธมอบตัวให้ทางการพม่าพร้อมด้วยลูกน้องรวม 15 คน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 55 มีรายงานว่า หลังจากเข้ามอบตัว นายอ่องเมียดได้ถูกควบคุมตัวทำการสอบสวน และได้ปฏิเสธเสียงแข็งตลอดว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับเหตุสังหารลูกเรือจีนทั้ง 13 ศพ แต่ต่อมาผู้ใกล้ชิดภรรยาน้อยของเขาเปิดเผยว่า นายอ่องเมียดได้ยอมรับสารภาพเป็นผู้ก่อเหตุลงมือสังหารลูกเรือจีน 13 ศพแล้ว เพราะถูกเจ้าหน้าที่ทางการพม่าทำการทารุณสอบสวนอย่างรุนแรง ล่าสุด มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่พม่าได้ผ่อนคลายการสอบสวนนายอ่องเมียด และเปิดอนุญาตให้ญาติของเขาเข้าเยี่ยมแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่พม่าจะทราบข้อเท็จจริงว่านายอ่องเมียดมีส่วนเกี่ยวข้องการตายของลูกเรือจีน 13 ศพหรือไม่ ขณะที่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่งานทะเบียนพม่ากำลังจะจัดทำบัตรประชาชนแบบพิเศษซึ่งสามารถเข้าออกหน่วยงานตำรวจพิเศษพม่าให้แก่นายอ่องเมียดด้วย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการจีนได้เดินทางไปสอบสวนนายอ่องเมียด (บองเมีย) ที่เรือนจำเมืองเชียงตุงแล้วครั้งหนึ่ง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จีนได้ขอตัวเขาไปสอบสวนและดำเนินคดีในจีน แต่ถูกทางการพม่าปฏิเสธโดยอ้างว่า นายอ่องเมียด เป็นผู้ยอมมอบตัวเองซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกจับกุมมาได้และอ้างว่าทางการพม่ากำลังสอบสวนเขาอยู่ ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
วาด รวี: ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ, เหยื่อรายแรกของการเก็บค่ากระจายสินค้าร้านหนังสือซีเอ็ด-นายอินทร์ Posted: 10 Aug 2012 07:44 AM PDT
หากถามว่าใครคือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดและอาจต้องตกที่นั่งลำบากมากที่สุดหากมีการเก็บค่ากระจายสินค้า 1% จากร้านหนังสือซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านนายอินทร์ คำตอบก็คือ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ (book distributors) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สายส่ง ผู้จัดจำหน่ายหนังสือคือใคร? ผู้จัดจำหน่ายหนังสือคือผู้ทำหน้าที่กระจายหนังสือไปยังร้านหนังสือทั่วประเทศ หรือจะเรียกว่าเป็นผู้ “ค้าส่ง” หนังสือ ก็คงไม่ผิด ผู้จัดจำหน่ายก็คือหน่วยสำคัญที่อยู่ตรงกลางระหว่าง สำนักพิมพ์ กับ ร้านหนังสือ ทำหน้าที่ให้บริการจัดจำหน่ายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และ ส่งหนังสือให้กับร้านหนังสือ ติดตามยอดขายจากร้านหนังสือ ดูแลหนังสือที่ส่งคืนกลับมาจากร้านหนังสือให้มาถึงมือสำนักพิมพ์ กล่าวคือ บรรดากิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับหนังสือที่อยู่ระหว่างเส้นทางจากสำนักพิมพ์กับร้านหนังสือ ล้วนมีผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้ดูแล บางครั้งสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเป็นจำนวนมาก ก็เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือของตนเอง สำหรับธุรกิจหนังสือในประเทศไทย สำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนมากจัดจำหน่ายหนังสือของตนเอง แต่ผู้จัดจำหน่ายที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน คือผู้จัดจำหน่ายอาชีพ ที่รับจัดจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เป็นหลัก ไม่ได้เป็นสำนักพิมพ์ หรือทำสำนักพิมพ์เป็นหลัก ผู้จัดจำหน่ายอาชีพที่ทำสายส่งอย่างเดียวเหล่านี้มีเป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นที่ที่สำนักพิมพ์จำนวนมาก โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เล็ก ๆ จะต้องใช้บริการ ค่า DC (distribution center fee) 1% ของราคาปกจากยอดส่งสินค้าทั้งหมด เรียกเก็บโดยร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านนายอินทร์ ให้ผู้จัดจำหน่ายทุกเจ้าต้องชำระหากต้องการวางจำหน่ายหนังสือในร้านทั้งสอง โดยปรกติ ผู้จัดจำหน่ายย่อมเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นระหว่างทางจากสายส่งไปถึงร้านหนังสือทุกแห่ง รวมทั้งค่าขนส่งหนังสือที่จำหน่ายไม่ได้ จากร้านหนังสือกลับคืนไปยังสายส่ง ในกรณีของร้านค้าต่างจังหวัด บางครั้งเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่งขากลับ (หนังสือคืน) แต่ร้านหนังสือที่มีสาขาจำนวนมากดังเช่นร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านนายอินทร์ จะมีศูนย์กระจายสินค้าของตนเอง เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการภายใน ผู้จัดจำหน่ายจึงไม่ต้องส่งหนังสือไปถึงร้านสาขาต่าง ๆ จำนวนมาก แต่จะส่งไปที่ศูนย์กระจายสินค้าของร้านเพียงแห่งเดียว ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเรียกเก็บค่ากระจายสินค้าจากทั้งสองร้าน เนื่องจาก แม้ว่าผู้จัดจำหน่ายจะไม่ต้องส่งหนังสือไปยังสาขาต่าง ๆ ของทั้งสองร้าน แต่ก็ชดเชยให้ด้วยส่วนลด หรือส่วนแบ่งกำไรให้กับร้านทั้งสองในสัดส่วนที่สูงกว่าร้านหนังสืออื่น ๆ 5 – 10% ค่า DC จึงเหมือนอยู่ในส่วนลดที่ผู้จัดจำหน่ายให้กับร้านหนังสือทั้งสองอยู่แล้ว ร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และ ร้านนายอินทร์ อ้างว่า ก่อนหน้านี้ ร้าน B2S ได้เรียกเก็บค่า DC มาก่อนแล้ว และขณะนี้ ร้านทั้งสองก็มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่า DC เช่นเดียวกับ B2S ข้อเท็จจริงก็คือ B2S เรียกเก็บค่า DC จริง แต่ไม่ใช่ว่าผู้จัดจำหน่ายทุกรายจะต้องจ่าย บางส่วนก็ไม่จ่าย (ไม่มีค่า DC) แต่ทดแทนให้ด้วยส่วนลดเช่นเดียวกับกรณีของร้านซีเอ็ด และร้านนายอินทร์ บางส่วนยินดีจ่ายค่า DC แต่ก็ให้ส่วนลดกับร้าน B2S น้อยกว่าร้านซีเอ็ด และร้านนายอินทร์มาก กรณี B2S จึงไม่ใช่การเรียกเก็บจากผู้จัดจำหน่ายทุกเจ้าเสมอเหมือนกัน แต่เป็นการต่อรองกันของคู่ค้าแต่ละราย และสัมพันธ์กับส่วนลดที่ผู้จัดจำหน่ายกับร้านหนังสือตกลงกัน แต่ร้านซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และ ร้านนายอินทร์ ซึ่งปรกติได้ส่วนลดสูงมากอยู่แล้ว ประกาศจะเรียกเก็บค่า DC 1% จากผู้จัดจำหน่ายทุกเจ้า และจะปรับเพิ่มอีกในอนาคต นโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้จัดจำหน่ายมีต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นทันที 1% เป็นต้นทุนที่ต้องเสียไม่ว่าหนังสือจะขายได้หรือไม่ ซึ่งกระทบกับความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้จัดจำหน่ายทั้งหมดโดยตรง ร้านหนังสือซีเอ็ด บุ๊ค เซ็นเตอร์ และร้านหนังสือนายอินทร์ เมื่อรวมกันแล้วมีทั้งจำนวนร้าน และส่วนแบ่งยอดขายของตลาดทั้งระบบ มากกว่า 50% ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะครอบงำตลาดที่ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือใด ๆ ก็ไม่สามารถปฏิเสธไม่จำหน่ายยังร้านหนังสือทั้งสองได้ นโยบายดังกล่าว จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ ทั้งระบบ ยกเว้นเพียงสองเจ้าที่ไม่ได้รับผลกระทบในทางลบ คือ บ.ซีเอ็ด และ บ.อมรินทร์ ซึ่งทำธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือด้วยเช่นเดียวกัน และถือเป็นสายส่งรายใหญ่ที่เป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจของสายส่งอื่น ๆ โดยปรกติส่วนแบ่งกำไร (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) ของผู้จัดจำหน่ายอยู่ที่ 15% ของราคาปกหนังสือ แต่เนื่องจากอำนาจต่อรองของร้านเชนสโตร์ที่มีสาขาจำนวนมากในปัจจุบัน ทำให้ต้องเพิ่มส่วนลดให้ร้านหนังสือรายใหญ่เหล่านี้ ส่งผลให้ ส่วนแบ่งของผู้จัดจำหน่ายในปัจจุบัน เหลือเพียง 5 – 10% โดยที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย หากต้องจ่ายค่า DC จากยอดส่งหนังสือ (ไม่ใช่ยอดขาย) จะทำให้ส่วนแบ่งกำไรของผู้จัดจำหน่ายลดลงมาอีกเหลือ 5 – 8% กว่า ๆ และอาจจะลดลงกว่านี้อีก หากร้านทั้งสองปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมดังกล่าว ผลกระทบนี้อาจส่งผลให้ บริษัทผู้จัดจำหน่ายอาชีพซึ่งไม่ได้ทำธุรกิจอื่น และถูกกดดันจากการที่ต้องแข่งขันกับบริษัทครบวงจรอย่างเช่น ซีเอ็ด และ อมรินทร์ อยู่แล้ว ต้องประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น และไม่สามารถอยู่รอดได้ ต้องเลิกกิจการไปหมด เหลือแต่ผู้จัดจำหน่ายที่เป็นบริษัทครบวงจรอย่างเช่น ซีเอ็ด และ อมรินทร์ ที่ยังแข็งแรงอยู่ และจะสามารถผูกขาดตลาดการจัดจำหน่ายได้ทั้งระบบในที่สุด หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ"ผู้จัดจำหน่ายหนังสือ, เหยื่อรายแรกของการเก็บค่ากระจายสินค้าร้านหนังสือซีเอ็ด-นายอินทร์ ข้อต่อสำคัญของห่วงโซ่อุปทานซึ่งกำลังถูกระบบผูกขาดไล่ล่า"
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เปิดข้อเสนอภาคประชาสังคมต่อ UN ขจัดเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติชายแดนใต้ Posted: 10 Aug 2012 07:24 AM PDT เปิดรายงานเงาการขจัดเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ภาคประชาสังคมเสนอยูเอ็นในเวทีที่เจนีวา เสนอรัฐเลิกกฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขจัดวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล แนะรัฐส่งเสริมการเรียนภาษามลายูด้วยอักษรยาวี ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - ICERD) มาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้วหลังจากที่ได้มีการให้สัตยาบันไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 แต่ประเทศไทยก็ยังไม่เคยส่งรายงานประเทศให้กับ สหประชาชาติ (UN) ทว่า ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่ไทยส่งรายงานสถานการณ์การดำเนินการในเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ให้กับคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD Committee) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights (UNOHCHR) ซึ่งมีการประชุมในกรณีของประเทศไทยระหว่างวันที่ 9 – 10 สิงหาคม 2555 นี้ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การประชุมจะได้พิจารณารายงานสถานการณ์การดำเนินการเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของรัฐบาล (state report) ควบคู่กับรายงานของภาคประชาสังคมที่เรียกกันว่า "รายงานเงา"(shadow reports) ซึ่งเป็นรายงานคู่ขนานกับของรัฐบาล ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้จึงมีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอรายงานดังกล่าวด้วย รายงานเงาที่ได้มีการส่งไปมี 4 ฉบับ คือ หนึ่ง รายงานที่จัดทำโดย “พันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ” (Coaliation of Racial Discrimination Watch) ซึ่งเป็นเครือข่ายหลวมๆ ขององค์กรภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมการเขียนรายงานนี้ โดยมีมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ปฎิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง เป็นองค์กรหลัก สอง รายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาม รายงานที่จัดทำโดยคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) และ สุดท้ายเป็นรายงานที่จัดทำโดย “Alliance for CERD Alternative Report on Racial Discrimination towards Malayu in Southern Border Provinces of Thailand” (ACARM) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประชาสังคม 21 กลุ่มและมีมูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชนเป็นเลขานุการ นางสาวเกาซัร อาลีมามะ ผู้ช่วยทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สำนักงานจังหวัดยะลาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนร่างรายงานของพันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติระบุว่าตนพยายามรวบรวมข้อมูลที่มีคนร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมบันทึกลงในรายงานคู่ขนานซึ่งจะได้เดินทางไปนำไปเสนอต่อ OHCHR ด้วยตัวเอง ซึ่งมี 8 ข้อ ส่วนหนึ่งของรายงานเงาของพันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติได้ยกประเด็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนในพื้นที่ และไม่ได้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังก่อให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด หรือการไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำผิดดังกล่าว (impunity) โดยรายงานฉบับดังกล่าวเสนอให้รัฐยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ และยกเลิกการเฝ้าระวังโดยใช้เหตุผลด้านเชื้อชาติ ซึ่งทำให้เกิดการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางชาติพันธุ์ (Racial Profiling) ในมาตรการปราบปรามการก่อความไม่สงบ และปราบปรามการกระทำผิดด้านความมั่นคง นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่อบุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมและการควบคุมตัวบุคคลของกฎหมายไทยและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยควรมีการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวที่กำหนดขึ้นตามกฎหมาย รายงานยังระบุด้วยว่าแม้ว่าปัจจุบันไม่มีกฎหมายห้ามการสอนภาษามลายูในโรงเรียนไทย แต่ก็ไม่มีหลักสูตรที่เป็นภาษามลายูและโรงเรียนต่าง ๆ ก็ไม่ใช้ภาษามลายูในการสอน แม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้มีโครงการส่งเสริมภาษามลายูที่เขียนโดยใช้ตัวอักษรไทย แต่โครงการดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกับความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นชาติพันธุ์มลายู พวกเขาต้องการพูดและเขียน ภาษามลายูด้วยอักษรยาวี หลังจาก OHCHR ได้พิจารณารายงานทั้งสองส่วนแล้ว จะมีการจัดทำข้อเสนอแนะและส่งกลับมายังรัฐบาลไทยเพื่อให้รัฐบาลปฏิบัติตาม น่าติดตามว่าทาง OHCHR จะมีข้อเสนอแนะอย่างไร และรัฐบาลไทยจะตอบสนองมากน้อยแค่ไหน และส่งผลต่อทิศทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจอ่านรายงานฉบับเต็มของรัฐบาลและของภาคประชาสังคมทั้ง 4 ฉบับโปรดดู http://www2.ohchr.org/english/bodies/cerd/cerds81.htm
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เยียวยาอวนลากสตูลตายกลางทะเล เหยื่อมาตรการจับประมงทำลายล้าง Posted: 10 Aug 2012 07:13 AM PDT ศึกถล่มเรืออวนลากเมืองสตูลยังเดือด ‘ประมงอาสา–กรมทรัพยากรทางทะเลฯ’ ลดแรงเสียดทาน ประกาศจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบครัวอวนลากเสียชีวิตสองแสนกว่าบาทอ้างเพื่อมนุษยธรรม นายเหลด เพ็งไทร อุปนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2555 ที่มูลนิธิอันดามัน ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังจัดประชุมประจำเดือนสิงหาคม 2555 มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน ประกอบด้วย สมาชิกชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง, สมาชิกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, มูลนิธิอันดามัน, ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จังหวัดตรัง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์กฎหมายและสิทธิมนุษยชนพื้นที่อันดามัน นายเหลด เพ็งไทร อุปนายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย แจ้งต่อประชุมว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ที่อ่าวเจ๊ะบิลัง จังหวัดสตูล เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จังหวัดตรัง 2 นาย ได้ร่วมกับประมงพื้นบ้านอาสา 4 คน เข้าจับกุมเรืออวนลากที่เข้าไปลากอวนในเขตหวงห้ามห่างจากชายฝั่งไม่เกิน 3,000 เมตร เกิดการปะทะเป็นเหตุให้นายสุรเดช เล็มเหล๊ะ เสียชีวิต นายเหลด กล่าวต่อที่ประชุมอีกว่า ทางสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 จังหวัดตรัง ตกลงร่วมกันว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับนางสุธิตา ยีละงู ภรรยาของนายสุรเดชผู้เสียชีวิต 240,000 บาท เป็นการจ่ายเงินเพื่อมนุษยธรรม ไม่ได้จ่ายเพราะทำให้นายสุรเดชถึงแก่ความตาย หรือจ่ายเพราะปฏิบัติผิดกฎหมาย ส่วนคดีให้ดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม นายอาเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กล่าวต่อที่ประชุมว่า จะทำอย่างไร เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และชาวบ้านที่ทำงานอนุรักษ์ ถูกตราหน้าว่ากระทำผิด ขณะที่เรือประมงอวนลากทำลายล้างทรัพยากร กลับกลายเป็นคนถูก มีการแห่ศพไปประท้วงที่บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าหาเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ ทั้งที่ถ้ายินยอมให้จับกุมจะไม่เกิดการสูญเสีย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
"กูเกิล" เตรียมพัฒนา "วอยซ์ เสิร์ช" ภาษาไทย Posted: 10 Aug 2012 05:45 AM PDT (10 ส.ค.55) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เอมี่ กุลโรจน์ปัญญา หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารและมวลชนสัมพันธ์ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า กูเกิลมีแผนพัฒนา "กูเกิล วอยซ์ เสิร์ช" ในไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด เพราะทีมงานพัฒนาต้องเข้าศึกษาเรียนรู้การออกเสียง หรือคำต่างๆ ในภาษาไทย "กูเกิลมีแผนที่จะพัฒนา วอยซ์ เสิร์ช เป็นภาษาไทย จากปัจจุบันที่ให้บริการเฉพาะในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และในภาษาอื่นๆ คงต้องใช้เวลาศึกษารูปแบบของการออกเสียงในภาษาไทยเพื่อให้ระบบของกูเกิลประมวลผลได้" เอมี่ กล่าวด้วยว่า เป็นไปได้ที่อาจจะต้องหาสำนักงานกูเกิลแบบถาวร เพื่อรองรับทีมงานที่มีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันออฟฟิศกูเกิลได้เช่าพื้นที่ของตึกเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งสำนักงานอยู่ ปัจจุบันมีทีมงานมากกว่า 20 คนแล้ว ซึ่งปีนี้จะครบ 1 ปี ของการเข้ามาเปิดสำนักงานกูเกิลในไทยด้วย เธอกล่าวด้วยว่า กูเกิลยังคงมีแผนจะพัฒนาบริการที่มีอยู่ให้เป็นเวอร์ชั่นท้องถิ่นที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะในไทยที่แนวโน้มการใช้งานเกือบทุกบริการของกูเกิลเติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี โดยเฉพาะบริการเสิร์ช เอ็นจิน ล่าสุด กูเกิล ได้แนะนำบริการเสิร์ชรูปแบบใหม่ "กูเกิล โนว์เลจ กราฟ" (google knowledge graph) ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยบริการใหม่นี้ จะสามารถค้นหาข้อมูลเชิงลึกในเชิงข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ค้นนั้นๆ เน้นข้อมูลที่เป็นสาธารณะเป็นหลัก นอกเหนือจากลิงก์ที่เกี่ยวข้อง หรือรูปภาพ โดยผู้ใช้งานจะสามารถเห็นข้อมูลที่ค้นหาทั้งหมดแตกแขนง แยกย่อยภายใน 1 หน้า อย่างไรก็ตาม บริการดังกล่าวในไทยยังใช้งานไม่ได้ เพราะระบบของกูเกิลจะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เรียนรู้เรื่องราวเชิงลึกของข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกในแบบฉบับภาษาไทย ซึ่งคงต้องใช้เวลาพัฒนาอีกสักระยะ
ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
คุก 6 เดือน ชาวบ้านรุกที่สวนป่าโคกยาว เงินกองทุนยุติธรรม 2 แสนประกันตัวสู้คดีต่อ Posted: 10 Aug 2012 04:20 AM PDT ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาคดีที่ดินสวนป่าโคกยาว สังจำคุกชาวบ้านทุ่งลุยลาย เพิ่มอีก 1 ราย ไม่รอลงอาญา ด้านชาวบ้านใช้เงินกองทุนยุติธรรม 2 แสนบาท ประกันตัวออกมาสู้คดีชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.55 ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ พิพากษาคดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ให้นายสนาม จุลละนันท์ อายุ 59 ปี ชาวบ้านทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ สมาชิกเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน และเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ในข้อหาร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์ ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้ใช้เงินกองทุนยุติธรรม ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้ทำเรื่องขอความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในกรณีพิพาทสวนป่าโคกยาวนี้ประกันตัวออกมา เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป ในวงเงิน 200,000 บาท โดยมีการสำรองไว้สำหรับคดีที่เหลืออยู่ด้วย สืบเนื่องจาก เมื่อเช้าวันที่ 1 ก.ค.54เจ้าหน้าที่สนธิกำลังของป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ จำนวนประมาณ 200 นาย โดยการนำของนายอำเภอคอนสาร เข้าควบคุมพื้นที่กรณีพิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินที่เข้าไปทำประโยชน์ และจับกุมชาวบ้านรวม 10 ราย โดยต่อมามีการฟ้องรองคดีกับชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์ โดยแยกเป็น 4 คดี คดีแรก ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.55 ให้จำคุกนายคำบาง และนางสำเนียง กองทุย(สามี-ภรรยา) 4 เดือน ไม่รอลงอาญา และคดีที่ 2 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.55 สั่งจำคุก นายทอง กุลหงส์ และนายสมปอง กุลหงส์ สองพ่อลูก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา โดยคดีดังกล่าวศาลได้เพิ่มวงเงินประกันจากรายละ 100,000 บาท เป็นรายละ 200,00 บาท เป็นเหตุให้เงินที่เตรียมไว้ต้องถูกรวมมาประกันจำเลยเพียงรายเดียว คือนายสมปอง ลูกชายก็มีอาการพิการทางสมองอีกด้วย กระทั่งวันที่ 28 มิ.ย.55 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวนายทอง ส่วนในคดีที่ 3 นี้เป็นของนายสนาม จุลละนันท์ ที่ศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน เมื่อวันที่ 9 ส.ค.55 สุดท้ายคดีที่ 4 ของนายวิโรจน์ กับพวกรวม 5 ราย ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ นายสนาม จุลละนันท์ และภรรยาหลังได้รับการประกันตัวกลับบ้าน นายสนาม จุลละนันท์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 1 ก.ค.54 นั้น เจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์ในลักษณะของการเตรียมการ วางแผนอย่างเป็นระบบ ประกอบกับเวลาที่เข้าควบคุมตัวอยู่ในช่วงเช้าตรู่ ชาวบ้านบางรายกำลังทำธุระส่วนตัว ก็มาฉุดกระชาก ลาก บังคับให้ไปขึ้นรถ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ กระทั่งนายอำเภอหว่านล้อมว่า จะนำตัวไปหารือกันที่ว่าการอำเภอคอนสาร เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ทำให้ชาวบ้านยินยอมเดินทางไปด้วย “เมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชาวบ้านมาที่ สภ.ห้วยยาง ได้กระจายกำลังล้อมพื้นที่บริเวณสถานีตำรวจไว้รอบด้าน กระทั่งชาวบ้านในสมาชิกเครือข่ายฯ ที่เดินทางมาที่ สภ.ห้วยยางในช่วงสาย ได้มีการเจรจากับตำรวจ และนายอำเภอคอนสาร สุดท้ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างว่าผมและพวกได้เข้าทำการบุกรุก ครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม” สนาม กล่าว ด้านนายบุญมี วิยาโรจน์ ชาวบ้านผู้ร่วมซะตากรรม เล่าด้วยว่า การเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายจับ หมายค้น เมื่อมาถึงสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง จึงตั้งข้อกล่าวหาในภายหลัง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้แยกชาวบ้านผู้ถูกกล่าวทั้ง 10 ราย ออกเป็น 2 ส่วน เพื่อนำไปสอบปากคำที่ สภ.ห้วยยาง และ สภ.คอนสาร กระทั่งเวลาประมาณ 01.00 น. จึงได้รับการประกันตัว โดยใช้ตำแหน่งผู้นำท้องที่ และ อบต.ทุ่งลุยลาย ทั้งนี้ ป่าโคกยาวถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามเมื่อปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 290,000 ไร่ และมีโครงการปลูกสวนป่า ทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528 จนเกิดเป็นกรณีพิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาวระหว่างชาวบ้านที่เคยทำกินในพื้นที่และหน่วยงานของรัฐ ก่อนจะมีมติ ครม.ปี 2553 เห็นชอบให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาถูกคุกคามและจับกุมอยู่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 10 Aug 2012 03:51 AM PDT เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ใครๆ ก็ต้องพูดเรื่องแม่ 'ประชาไท' จึงขอนำเสนอเรื่องราวของแม่ผู้ชราคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปเยี่ยมลูกชายซึ่งเป็นผู้ต้องหาและถูกคุมขังที่เรือนจำด้วยข้อหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และมาตรา 112
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
คำประกาศแห่งโจรสลัด: ข้อเสนอการปฏิรูประบอบลิขสิทธิ์ของ ‘พรรคไพเรต’ Posted: 10 Aug 2012 02:16 AM PDT ในหมู่ผู้ติดตามการเมืองโลกร่วมสมัยก็คงจะเห็นว่าปัญหาเรื่องระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ พยายามจะขยายมาตรการคุ้มครองลิขสิทธิ์จนมันเริ่มเข้ามาลุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชนในโลกไซเบอร์ และทำให้เกิดการต่อต้าน อย่างในกรณีของการต่อต้านร่างกฏหมาย SOPA ในอเมริกาหรือสนธิสัญญา ACTA ในยุโรป คนรุ่นใหม่จำนวนมากเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และทำให้เกิดขบวนการต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์ต่างๆ ขึ้นมาบนโลกมากมาย อย่างไรก็ดีขบวนการส่วนใหญ่ก็เป็นขบวนการที่มักจะต่อต้านโดยไม่อาศัยกลไกทางการเมืองเก่าๆ แบบระบบสภา เช่น การประท้วงกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมตามทั้งตามท้องถนนและในโลกออนไลน์หรือกระทั่งการทำสงครามแบบกองโจรกับระบอบลิขสิทธิ์ในโลกออนไลน์โดยการสนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์สารพัดรูปแบบ อย่างไรก็ดีในหมู่ขบวนการต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์เหล่านี้ ก็มีขบวนการหนึ่งที่ยืนหยัดต่อสู้ในวิถีทางการเมืองแบบเก่า ขบวนการนั้นคือพรรคไพเรต (Pirate Party) ถ้าหากจะกล่าวโดยรวบรัดตัดความแล้ว พรรคไพเรตคือพรรคการเมืองที่มีนโยบายสนับสนุนกิจกรรมที่ในปัจจุบันถือว่าเป็นกิจกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ โดยพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสวีเดน ก่อนจะมีการตั้งพรรคขึ้นอีกในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ผู้เขียนคงจะไม่สาธยายความเป็นมาเป็นไปของพรรคไพเรตในที่นี้ [1] แต่จะเน้นถึงเชิงนโยบายในการปฏิรูประบบลิขสิทธิ์ของทางพรรคในสภายุโรปซึ่งผู้เขียนพบว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกวันนี้คนจำนวนมากที่ได้ยินชื่อพรรคไพเรตแล้วก็ยังคิดว่านี่เป็นการเล่นตลกอะไรบางอย่าง เนื่องจากพวกเขาคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะตั้งพรรคที่สนับสนุนให้คนทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุคที่การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์แทบจะเป็นฉันทามติแห่งยุคสมัยเช่นนี้ อันที่จริงแล้วตั้งแต่ที่พรรคไพเรตแห่งแรกก่อตั้งมาในวันที่ 1 มกราคม 2549 ทางพรรคก็ไม่ได้มีแนวนโยบายที่ชัดเจนและจับต้องได้นักเกี่ยวกับกฏหมายลิขสิทธิ์เลย จนหลายๆ คนเข้าใจไปว่าเป้าประสงค์ของพรรคนี้ในภาพรวมคือการกวาดล้างให้กฏหมายลิขสิทธิ์หายไปจากโลกซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ทั้งถึงรากถึงโคนและเพ้อฝันเกินจะเชื่อว่าจะสามารถทำได้จริง อย่างไรก็ดีเมื่อเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา ทางสมาชิกพรรคในสภายุโรปก็ได้ร่วมกับกลุ่ม Green/EFA ในสภาผลักดันข้อเสนอในการปฏิรูปกฏหมายลิขสิทธิ์ที่มีในโลกออกมา ข้อเสนอนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกันยายน 2554 มันปรากฏในหนังสือเล่มเล็กๆ นามว่า The Case for Copyright Reform อันเป็นฝีมือการเขียนร่วมกันของ Rick Falkvinge ผู้ก่อตั้งพรรคไพเรตและ Christian Engstrom สมาชิกสภายุโรปที่เป็นตัวแทนจากพรรคไพเรตสาขาสวีเดน [2] ในสายตาของผู้เขียน หนังสือเล่มนี้น่าจะเปรียบเทียบได้กับ Communist Manifesto ของพรรคไพเรตเลยทีเดียว มันเต็มไปด้วยความเป็นมาเป็นไปในทางประวัติศาสตร์ของแนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์ พร้อมกันนั้น ก็เต็มไปด้วยการโจมตีระบอบลิขสิทธิ์ยุคปัจจุบันและบรรดาอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ต่างๆ ผ่านการยกหลักฐานต่างๆ มาสนับสนุนทั้งไม่ว่าจะเป็นหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์หรือหลักฐานเชิงสถิติร่วมสมัย และที่ขาดไม่ได้ก็คือการแสดงจุดยืนทางการเมืองและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูประบอบลิขสิทธิ์ที่เป็นแนวทางของพรรคที่เสนอร่วมกับกลุ่มแนวร่วมในสภายุโรป ในหนังสือจะพบว่าทางพรรค [3] มีความเห็นชัดเจนว่าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันเป็นภัยคุกคามเสรีภาพของพลเมืองที่ชัดเจนมาก เพราะอย่างน้อยที่สุด ในทางทฤษฎีแล้ว การตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ตที่ฝ่ายอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์เรียกร้องจะทำไม่ได้เลยหากปราศจากระบบที่จะดักจับข้อมูลการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตทั้งหมดโดยรัฐ กล่าวอีกแบบคือรัฐต้องสร้างระบบในการ “ดักฟัง” ทุกๆ กิจกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ขึ้น ที่ปัญหาคือการสร้าง “เครื่องจักร 1984” เช่นนี้เพื่อจะปกป้องอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ต่างๆ เอาไว้ไม่ให้พังพินาศเป็นสิ่งที่สังคมเสรีไม่ควรจะกระทำ หรือกล่าวอีกอย่างคือ เสรีภาพพลเมืองต่างๆ ไม่ควรจะถูกเอาไปเสี่ยงเพียงเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นแต่เพียงเท่านั้น เพราะสุดท้ายในทางทฤษฎีแล้วเครื่องมือในการสอดส่องอันสมบูรณ์แบบเช่นนี้ไม่ควรจะถูกสร้างขึ้นเพราะมันจะทำลายสิทธิในการสื่อสารส่วนบุคคลในโลกอินเทอร์เน็ตไปหมด มันจะทำให้รัฐมีอำนาจล้นพ้นในการกดทับขบวนการต่อต้านรัฐต่างๆ ทั้งหมดและเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมอย่างสมบูรณ์ และนี่ก็เป็นพันธกิจที่สำคัญพื้นฐานที่พรรคไพเรตจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่พรรคก็ไม่ได้มีแต่นโยบายเชิงรับเท่านั้น อย่างที่กล่าวมาข้างต้นทางพรรคก็มีนโยบายเชิงรุกด้วย และนโยบายเชิงรุกที่ว่าก็คือการปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์นั่นเอง แนวทางเชิงรุกนี่ก็ดูจะยิ่งสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และ “การสู้ระบอบลิขสิทธิ์กลับ” ที่ดูจะเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วที่การปราบปรามเริ่มขึ้นก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกลเกินไปในตอนนี้เสียด้วย เพราะหลังจากที่ข้อเสนอนี้ออกมาในรอบเกือบหนึ่งปี ก็เกิดกระแสต่อต้านกฏหมายและสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศที่จะทำให้กฏหมายลิขสิทธิ์เข้มงวดและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้คนมากขึ้นอย่างในกรณี SOPA ในอเมริกาและ ACTA ในยุโรป ซึ่งการต่อต้านเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย นี่นับเป็นชัยชนะครั้งแรกๆของฝ่ายต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์ในอเมริกาและยุโรปในรอบหลายต่อหลายปีที่การต่อต้านการขยายตัวของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในมิติต่างๆ ไร้ผล ปัจจุบันจึงเป็นช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากที่ข้อเสนอเชิงนโนบายของฝ่ายต่อต้านระบอบลิขสิทธิ์จะได้รับการผลักดันออกไปบ้าง ทั้งนี้ข้อเสนอการปฏิรูประบบลิขสิทธิ์ของทางพรรคไพเรตพอจอสรุปได้เป็น 6 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้
ข้อเสนอแต่ละข้อล้วนมีคำอธิบายโดยละเอียดในหนังสือ ผู้เขียนจะสรุปคร่าวๆ ดังนี้ ข้อแรก การคงสิทธิธรรมที่มีเหนืองานไว้ดังเดิม เป็นการแสดงจุดยืนของทางพรรคที่ไม่ได้ปฏิเสธการเป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์ดังที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ ทางพรรคเห็นว่า “เครดิต” ของผู้สร้างสรรค์งานยังเป็นสิ่งที่สมควรจะคงอยู่เสมอ และการ “ลอกงาน” (plagiarism) ก็ยังจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายที่เจ้าของงานสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้อยู่ ข้อสอง การแลกเปลี่ยนไฟล์ที่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อการค้าต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย เป็นการยืนยันจุดยืนร่วมกันกับนักกิจกรรมไพเรตทั้งหลายที่เห็นว่าการแลกเปลี่ยนไฟล์ควรจะถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมดหากการแลกเปลี่ยนนั้นๆ ไม่ได้เป็นการทำเพื่อการค้า ซึ่งทางพรรคก็ได้เน้นย้ำด้วยว่านิยามของ “การทำเพื่อการค้า” (commercialization) ควรจะเป็นนิยามแบบแคบที่ครอบคลุมเพียงกิจกรรมที่เป็นไปในเชิงธุรกิจอย่างชัดแจ้งเท่านั้นไม่ใช่นิยามแบบกว้างที่ปรากฎในหลายๆ ระบบกฎหมาย [4] ข้อสาม สิทธิผูกขาดลิขสิทธิ์ต้องลดลงเหลือ 20 ปีหลังจากมีการเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ดังที่หลายๆ ฝ่ายทราบกันว่าระยะในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้รับการขยายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทางพรรคเห็นว่าการขยายตัวดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานทางศิลปวัฒนธรรมโดยรวมๆ และมองเห็นว่าการคุ้มครองควรจะถูกจำกัดอยู่เพียงไม่เกิน 20 ปีหลังจากที่มันออกมาสู่สายตาสาธารณชนเท่านั้น ไม่ใช่คุ้มครองอย่างยาวนานหลังผู้สร้างสรรค์ตายไป 50-70 ปีดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในแทบทุกประเทศ ทั้งนี้ทางพรรคก็มองว่า 20 ปีก็เป็นช่วงเวลาที่มากเกินพอในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของนักลงทุนที่ลงทุนลงไปในงานทางศิลปวัฒนธรรมหนึ่งๆ แล้ว ก่อนที่มันจะกลับกลายเป็นปัญญาสาธารณะ (public domain) หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่สาธารณชนทั้งหมดถือครองร่วมกัน การคุ้มครองที่มากกว่านั้นแม้อาจให้ประโยชน์กับเจ้าของลิขสิทธิ์งานศิลปวัฒนธรรมในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไป แต่การรักษาผลประโยชน์ดังกล่าวก็คุ้มกับการที่สาธารณชนจะเสียประโยชน์ที่จะสามารถเข้าถึงและใช้งานทางศิลปวัฒนธรรมดังกล่าวได้อย่างอิสระ ข้อสี่ ต้องลงทะเบียนเพื่อรักษาลิขสิทธิ์ไว้ภายหลังสร้างงานมา 5 ปี ในมุมของผลิตศิลปวัฒนธรรม ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในแวดวงการผลิตศิลปวัฒนธรรมยุคปัจจุบันคือการต้องระมัดระวังไม่ให้งานของตนไปละเมิดลิขสิทธิ์งานของผู้อื่นเนื่องจากการละเมิดโดยไม่มีเจตนาและไม่รู้ตัวก็อาจมีความผิดได้ ในแง่นี้ระบบการคุ้มครองผลงานทางศิลปวัฒนธรรมโดยอัตโนมัติไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องอำนวยความสะดวกแก่ผู้สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมให้ได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องลงทะเบียนเท่านั้น แต่มันยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์งานต่อยอดงานอื่นๆ ด้วย เพราะในหลายๆ ครั้งการตามหาเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อขออนุญาตก็เป็นไปอย่างยากลำบากหรือเป็นไปไม่ได้เช่นในกรณีของงานกำพร้า (orphaned works) ต่างๆ อันเป็นงานที่ยังได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายแน่ๆ แต่ตัวผู้สร้างงานกลับไม่ปรากฏ ในแง่นีทางพรรคจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการบังคับให้งานทุกชิ้นต้องทำการลงทะเบียนกับหน่วยงานทางลิขสิทธิ์ของรัฐเพื่อจะให้ได้รับการคุ้มครองภายหลังการสร้างสรรค์งานขึ้นมาในระยะเวลาหนึ่ง ทั้งนี้การคุ้มครองโดยอัตโนมัติจะดำรงอยู่เพียง 5 ปีเท่านั้น หากต้องการการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต่อ เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องทำการลงทะเบียนเพื่อการคุ้มครองงาน ซึ่งจะขยายการคุ้มครองไปไม่เกิน 20 ปีและกลายเป็นปัญญาสาธารณะไปหลังจากนั้น ระบบนี้จะทำให้ผู้ต้องการใช้งานทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อผลิตงานต่อยอด สามารถทำสืบค้นเพื่อทำการขออนุญาติเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องก่อนใช้งานได้อย่างสะดวก และเป็นการแก้ปัญหางานกำพร้าจำนวนมากที่ค้างอยู่ในระบอบลิขสิทธิ์ด้วย เพราะงานเหล่านี้หากไม่ได้รับการลงทะเบียนก็จะถือว่าเป็นปัญญาสาธารณะภายหลังจากที่มันผลิตมา 5 ปีโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใดก็สามารถจะนำไปใช้สร้างสรรค์งานต่อยอดได้โดยอิสระ ข้อห้า การใช้ “แซมเปิล” ต้องเป็นสิ่งถูกกฎหมาย งานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมในยุคดิจิตัลจำนวนมากมีลักษณะที่ต้องพึ่งพิงอยู่กับการปะติดปะต่องานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงฮิปฮอป คลิปวีดีโอ การตัดต่อภาพเพื่อเล่นมีมหรือทำงานศิลป์ หรือกระทั่งการทำอินโฟกราฟฟิคในบางแบบ ภาษาทางเทคนิคที่ใช้เรียกของส่วนเล็กๆ ของงานทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้ประกอบเป็นงานอื่นคือ “แซมเปิล” อย่างไรก็ดีการใช้งานทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นเก่าเพื่อประกอบมาเป็นทางศิลปวัฒนธรรมชิ้นใหม่นี้แม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่มีกฎหมายรองรับความชอบธรรมชัดเจน ทางพรรคจึงเห็นว่าสมควรจะระบุกฎหมายเพื่อรองรับว่าการใช้ในรูปแบบนี้ให้เด่นชัดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้ตัวแบบจารีตทางลิขสิทธิ์ที่ทางพรรคใช้ก็หยิบยืมมาจากแวดวงทางวิชาการและแวดวงหนังสือที่การ “อ้างอิง” (quote) งานทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นตัวอักษรนั้นถือว่าไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทางพรรคก็เห็นว่าสิทธิอันชอบธรรมในการอ้างอิงนี้น่าจะขยายจากตัวอักษรไปรวมถึงสิทธิอันชอบธรรมในการอ้างอิง ตัวโน๊ต เสียง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวในงานด้วย และแน่นอนว่านี่หมายถึงการ “อ้างอิง” ที่จะต้องบอกที่มาหรือ “ให้เครดิต” เท่านั้น ไม่รวมถึงการใช้ข้ออ้างนี้เพื่อการ “ลอกงาน” เพราะนั่นเป็นการนำงานทางศิลปวัฒนธรรมของผู้อื่นมาแอบอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าของ ข้อสุดท้าย ยกเลิกการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ข้อกฎหมายที่รองรับการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลของระบบกฎหมายลิขสิทธิ์จำนวนมากมีผลในทางปฏิบัติคือการให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถกำหนด “เงื่อนไขการใช้” งานอันมีลิขสิทธิ์กับผู้บริโภคได้ดังใจปรารถนาและทำการ “ล็อค” ข้อมูลอิเล็กทรอนิกบางส่วนของสินค้าไว้ไม่ให้ผู้ใช้สามารถนำมันมาปรับเปลี่ยนดังที่ตนต้องการได้ เช่น การห้ามการแปลงไฟล์อิเล็กทรอนิกจากรูปแบบหนึ่งไปอีกรูปแบบหนึ่งเช่นการ “ริป” แผ่นซีดีที่ต้องแปลงไฟล์จาก WAV ไปเป็นไฟล์สกุลอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าเช่น mp3 การจำกัดเวลาและจำนวนครั้งในการใช้ไฟล์หนึ่งๆ ไปจนถึงการล็อคไฟล์อิเล็กทรอนิกไม่ให้มีการทำสำเนาซึ่งส่วนใหญ่มักจะรวมไปถึงการห้ามแบ็คอัพข้อมูลโดยอัตโนมัติด้วย ทางพรรคเห็นว่าแนวทางกฎหมายดังกล่าวมีความขัดแย้งกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรณีของสินค้าทั่วไปที่ถือว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะทำเช่นไรก็ได้กับสินค้าที่ตนซื้อหามาโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเสรี และเห็นควรให้มีการยกเลิกเสีย ทั้งนี้การยกเลิกการบริหารลิขสิทธิ์ดิจิตัลก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคจะสามารถนำไฟล์ดิจิตัลมาทำสำเนาขายแข่งกับเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ เพราะกิจกรรมดังกล่าวก็ยังมีความผิดในฐานการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าอยู่ซึ่งทางพรรคก็ยังเห็นว่าเป็นความผิดที่ควรจะคงไว้ในกฎหมาย แต่ต้องนิยามเงื่อนไขของกิจกรรม “เพื่อการค้า” ให้แคบและชัดเจนพอดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จากข้อเสนอทั้งหมด จะเห็นได้ว่าทางพรรคมีความใส่ใจกับผลประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมมาก อาจมากกว่าบรรดาผู้กล่าวอ้างว่าตนใส่ใจผลประโยชน์ของผู้สร้างสรรค์บางส่วนด้วยซ้ำ ทางพรรคตระหนักดีว่างานสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากสุญญากาศ และผู้สร้างทางศิลปวัฒนธรรมเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ใช้งานสร้างสรรค์ชิ้นอื่นๆ มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างงานสร้างสรรค์ต่อยอดขึ้นไป พร้อมกันนั้นทางพรรคก็ไม่ได้มองว่าชีวิตของนักสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมจะสุขสบายขึ้น เพราะในภาพรวมชีวิตของนักสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สุขสบายอะไรอยู่แล้ว ระบบการผลิตงานสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ไม่ได้การันตีความสำเร็จหรือความสุขสบายของนักสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม แต่มันจะสร้างโอกาสในการสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมที่มากขึ้นผ่านการเข้าถึงทรัพยากรที่จะใช้สร้างสรรค์งานและช่องทางการเผยแพร่ผลงานที่มากขึ้น ซึ่งหัวใจของระบบใหม่นี้ก็คือการเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงทางศิลปวัฒนธรรมเสมอ ไม่ใช่การใช้มาตรการทางกฎหมายและเศรษฐกิจการเมืองเพื่อแช่แข็งระบอบการผลิตศิลปวัฒนธรรมให้เป็นดังเดิมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อ้างอิง:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
เปิดเอกสาร(ลับ)หน่วยเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป กับ 5 ประเด็นต้องจับตา Posted: 09 Aug 2012 11:26 PM PDT การดำเนินการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ และเงียบงัน กลับมาเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้งเมื่อนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะนำกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ การขยับธงรุกของหน่วยงานดังกล่าวส่งผลให้องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการที่ติดตามศึกษาผลกระทบต่างของการทำเอฟทีเอ ตลอดจนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่ต้องการให้การทำเอฟทีเอเกิดความโปร่งใส รอบคอบ รัดกุมรวมถึงมีการรับฟังความเห็นอย่างเปิดกว้างจากทุกภาคส่วน ต่างออกมาทักท้วงถึงท่าทีและกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างของหน่วยงานรับผิด ชอบหลักอย่างกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลไทยว่าจงใจละเลยการปฏิบัติตามมาตรา 190 ไม่ว่าจะเป็นด้านเปิดเผยข้อมูลกรอบการเจรจา และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ขณะเดียวกันก็จุดประเด็นสาธารณะนำเสนอข้อห่วงกังวลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน หรือผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมจากการลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นต้น ย้อนรอย เอฟทีเอไทย-อียู ชื่อใหม่ใจความเดิม สำหรับ เส้นทางเดินของเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปนั้นต้องย้อนรอยกลับไปราวพ.ศ.2550 เวลานั้นประชาคมอาเซียนและสหภาพยุโรปเริ่มมีความพยายามเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน แต่กระนั้นด้วยเหตุแห่งความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการเปิดตลาดของทั้งสองฝ่าย รวมถึงระดับการพัฒนาที่ยังแตกต่างกันมากของทั้งภายในประเทศสมาชิกของอาเซียนด้วยกัน และระหว่างกลุ่มอาเซียนกับสหภาพยุโรป ต่อมาสหภาพยุโรปจึงพักการเจรจากับอาเซียน แล้วเปลี่ยนแนวทางการเจรจามาเป็นแบบทวิภาคีในปี 2553 โดยหันมาเริ่มการเจรจากับประเทศที่มีความพร้อม ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย (ปัจจุบันสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศสมาชิกในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่เป็นฝ่ายพยายามขอเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพ ยุโรป) เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ฝ่ายสหภาพยุโรปมีความต้องการให้มีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และการแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ระหว่างกันในระดับสูง ซึ่งสูงกว่าระดับที่ไทยเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC) และยังสูงกว่ากรอบการค้าเสรีของไทยกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะด้านบริการ นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังกำหนดให้คู่เจรจาร่วมจัดทำขอบเขตของการเจรจา Scoping exercise กำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีระหว่างกันเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้การเจรจาล้มเหลว แม้ว่าตัว Scoping exercise จะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องลงนาม หรือมีสถานะทางกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐต่อรัฐ ขณะที่ฝ่ายไทยก็ต้องการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปเช่นกัน เนื่องจากสภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญ เป็นตลาดส่งออกอันดับสามที่รองรับสินค้าได้แก่ กุ้ง ไก่ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งการลงทุนในประเทศไทยมาจากสหภาพยุโรปสูงเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น และประเด็นที่ถูกเน้นย้ำให้ความสำคัญที่สุดจากกระทรวงพาณิชย์ คือ การคาดการณ์ว่าไทยอาจถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ทุกรายการทั้งหมดภายในปี 2557-2558 ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับการส่งออก เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ขนส่ง รองเท้า กุ้งสดแช่เย็น ถุงมือยาง ยางรถยนต์ เป็นต้น ทั้งหมดจึงคือปัจจัยผลักและดันให้เกิดการเจรจาคืบหน้าไปตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาสัจธรรมของการทำเอฟทีเอ นั่นคือการได้อะไรบางอย่างมา และการยอมเสียสละอะไรบางอย่างไป คำถามสำคัญที่ยังลอยคว้างซ้ำซากวนเวียนอยู่ในสังคมนี้คือ การร่วมรับรู้ และใครจะเป็นผู้ตัดสิน? ท่ามกลางความมืดมัวของภาวะการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมสาธารณะ ยังมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันจัดทำโครงการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ : กรณีศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พยายามวิเคราะห์เนื้อหาของร่างความตกลงอาเซียน-สหภาพยุโรป ในหมวดทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา เพื่อเสนอขอบเขตการประเมินผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการ เข้าถึงยา และเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้ (ผู้สนใจสามารถเข้าไปโหลด(ร่าง)รายงานและแบบฟอร์มร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทั้งไทยและเทศนับ 4 ชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบในทางลบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุขหากมีการยอม รับ TRIPs-plus ตามที่สหภาพยุโรปเรียกร้องมา (ประเด็นนี้จะนำเสนออย่างละเอียดในงานลำดับต่อไป) เอฟทีเอแบบไทยๆ ใครตัดสิน ได้-เสีย อย่างไรก็ดีหากย้อนไปพิจารณาข้อห่วงความกังวล และข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกเมื่อครั้งในปี 2553 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เบื้องต้นของประชาชนทุกภาคส่วนเพื่อประกอบการตัดสินใจจะเดินหน้าเปิดการ เจรจากับสหภาพยุโรปหรือไม่นั้น กลับพบว่าข้อเสนอเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาจากหน่วยงานผู้รับผิด ชอบเจรจาแต่อย่างใด อาทิ - ภาคประชาสังคมยืนยันว่าสินค้าที่มีผลกระทบทางสังคมสูง เช่น ยา สุรา และบุหรี่ ต้องไม่นำเข้าสู่การเจรจาเปิดเสรี ในขณะที่ภาคธุรกิจเห็นว่า ต้องเจรจาในเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพราะเป็นสินค้าที่มีประเด็นทางสังคม และเนื่องจากผู้ประกอบการของไทยมีทั้งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ และเสียผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า - ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันไว้ในความตกลง ขององค์การการค้าโลกว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า คือไม่ยอมรับ TRIPs plus นั่นเอง - ไม่สนับสนุนเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ เหมืองแร่ และพันธุ์พืช) รวมทั้งที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร (การทำนา ธุรกิจพืช และเมล็ดพันธุ์) และที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุข และไม่สมควรให้มีการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทระหว่าง รัฐกับเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม - การเปิดเสรีบริการ และการลงทุนที่สามารถส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ อาทิ บริการสาขาโทรคมนาคม และ การสื่อสาร การเจรจาสินค้าเกษตรต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางการผลิต และบริโภคภายในประเทศ และสวัสดิการของเกษตรกรรายย่อยเป็นสำคัญ โดยต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทย - มาตรการกีดกัน และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีทั้งที่เป็นกฎเกณฑ์กลาง และที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิกที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก และการเปิดตลาด เช่น มาตรฐานสินค้า มาตรฐานสุขอนามัย และกฏระเบียบด้านการบริการ และการลงทุน - กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าควรสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยให้มากที่สุด - ขอให้มีความร่วมมือ และช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น วิชาการ เศรษฐกิจ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และเกษตรกร ข้อกังวลของประชาชน ประชาสังคม ทั้งหมดเหล่านี้ยังยากที่จะหาจุดพบกันกับความพยายามผลักดันขับเคลื่อนใน หน่วยงานเจรจา เช่นเดียวกับการจัดทำเอฟทีเอทุกฉบับที่ผ่านมาของไทย! จากเอกสารร่างระเบียบวาระการประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจา ความตกลงการค้าเสรีของไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล ลงวันที่ 9 ส.ค. 2555 ซึ่งแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์รายหนึ่งได้นำมาเปิดเผยนั้นฉายภาพ สะท้อนวิธีคิด และท่าทีของหน่วยงานเจรจา หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจได้อย่างชัดเจน เนื้อหาในวาระที่ 3 ของร่างระเบียบวาระการประชุมระดับสูงชิ้นนี้ ระบุถึงวาระพิจารณาซึ่งได้กำหนดให้หยิบยกประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจา การค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็นได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการเปิดตลาดสินค้าบริการ โดยนำเสนอภูมิหลัง ท่าทีของทั้งฝ่ายสหภาพยุโรป ฝ่ายไทย แล้วตามด้วย ความคิดเห็นของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (ฝ่ายเลขานุการ) แม้เอกสารชิ้นนี้จะไม่มีมติของที่ประชุมกำกับ แต่ลำพังความเห็นของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็เพียงพอจะสะท้อนเรื่องราวภายในผู้มีส่วนในการวางกรอบการเจรจาพอสมควร ซึ่งสาระสำคัญของทั้ง 5 ประเด็นมีรายละเอียดดังนี้ ล้วงไส้ ส่องเครื่องในกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หนึ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ระบุว่าภาคประชาสังคมเรียกร้องไม่ให้รวมสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และ บุหรี่ในการเจรจาการค้าเสรี อีกทั้งครม.ยังมีมติเมื่อเดือนก.ค.2553 เห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ของสมัชชาสุขภาพเพื่อสนับสนุนการถอนสินค้าเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ออกจากทุกความตกลง ขณะที่สหภาพยุโรปจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการเจรจา และเน้นย้ำว่านโยบายการยกเว้นสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่จากการ เจรจาเป็นไปเพื่อการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ไทยนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหภาพยุโรปถึงร้อยละ83.4 ของการนำเข้าจากทั่วโลก ฉะนั้นสหภาพยุโรปซึ่งเรียกร้องให้มีการลดภาษีเป็นศูนย์อย่างน้อยร้อยละ90 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด จึงอาจไม่ยอมถอนสินค้าดังกล่าวจากการเจรจา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนมติครม.เมื่อเดือนก.ค.53 สอง ภาคประชาสังคมและกระทรวงสาธารณสุขมีความกังวลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและ การเข้าถึงยา โดยเฉพาะการขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่อาจส่งผลต่อการเข้าถึงยาที่ จำเป็น เช่น ยารักษาโรคเอดส์ โรคหัวใจ และโรคติดต่ออื่นๆ ที่สำคัญยังไม่ต้องการให้ไทยทำข้อผูกพันในการค้าเสรีที่เกินความตกลงว่าด้วย ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า(TRIPs)ขององค์การการค้าโลก หรือไม่ต้องการ TRIPs Plus ขณะที่สหภาพยุโรปต้องการคุ้มครองข้อมูลยา (Data exclusivity) อย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ได้รับการอนุมัติการวางตลาด และเรียกร้องให้คู่เจรจาคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Gis) ที่ได้รับการคุ้มครองในสหภาพยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่น โดยอาจยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่า TRIPs หรือยอมรับ TRIPs Plus ใน การจัดทำการค้าเสรีเนื่องจาก การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาเพิ่มเติม 5 ปีจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน และการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยา อาจมีผลทำให้ยาสามัญ (Generic drugs) วางตลาดได้ช้าลงแต่ไม่เกิน 5 ปี จึงทำให้ผลกระทบต่อยามีจำกัด สาม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ กล่าวคือ หลักการสำคัญของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (GPA) คือ การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างสินค้าบริการ และผู้ให้บริการของประเทศภาคี กับสินค้า บริการ และผู้ให้บริการในต่างประเทศ ประกอบด้วย ความโปร่งใสในกระบวนการประมูล และขอบเขตของโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ต่อประเด็นนี้สหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีพันธกรณีที่สอดคล้องกับความตกลง GPA โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้พันธกรณีครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในสาขาสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในการค้า เสรีที่ผ่านมาแต่สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและข้อ บังคับ นโยบาย และแนวทางปฏิบัติ และกรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในคณะกรรมการ GPA ของ WTO กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นสนับสนุนให้ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง GPA เนื่องจากจะเป็นการขยายตลาดการค้าการลงทุนให้ผู้ประกอบการไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างสูงถึงร้อยละ 15-20 ของGDP โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเป็นมูลค่าสูงถึง 2.08 พันล้านยูโรต่อปี หรือประมาณร้อยละ 17 ของGDP นอก จากนี้กฎระเบียบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่ชดเจนและโปร่งใส ถือเป็นการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลในการบริหารภาครัฐ และลดปัญหาคอรัปชั่น สี่ นโยบายการแข่งขันทางการค้า สหภาพยุโรปเรียกร้องการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีความโปร่งใส มีกระบวนการชัดเจน เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจที่อาจมีอำนาจครอบครองตลาด สำหรับข้อบทเรื่องนโยบายทางการค้ามีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ การบิดเบือนอำนาจตลาด ครอบคลุมผู้ประกอบการทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าของไทยอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายให้ครอบ คลุมรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน หรือมีการแข่งขันกับเอกชนเท่านั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นสนับสนุนให้ปรับปรุงกฎหมายและ/หรือ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ทันสมัย ส่งเสริมให้ไทยสามารถเข้าร่วมการเจรจาเอฟทีเอในยุคใหม่ต่อไปได้ ห้า การเปิดตลาดสินค้าบริการ ประเด็นนี้คือการลดข้อจำกัดในการถือหุ้นของคนต่างด้าว โดยที่ผ่านมาสาขาบริการสำคัญของไทยจะมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดเกณฑ์การถือหุ้น ของคนต่างด้าว เช่น ธนาคาร ร้อยละ 25 โทรคมนาคม ร้อยละ 49 โดยสำหรับสาขาบริการอื่นๆ ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งต้องขออนุญาตก่อนการประกอบกิจการใน ประเทศไทย ต่อเรื่องนี้สหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการให้ครอบคลุมสาขาบริการจำนวนมาก ยกเลิกข้อจำกัดในการถือหุ้นของสหภาพยุโรป และเรียกร้องให้ยกเลิกอุปสรรคเชิงกฎระเบียบ ใบอนุญาตที่กีดกันการเข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นสนับสนุนให้ไทยสามารถเปิดเสรีภาคการค้าบริการได้เกินไปกว่ากรอบกฎหมายปัจจุบัน แต่ให้ดำเนินการไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดีควรผลักดันให้คู่เจรจายอมรับบทบัญญัติเพื่อให้ความยืดหยุ่นในการ รักษาสิทธิในการใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ทั้งหมดคือสิ่งที่พบเห็นและเคลื่อนไหวอย่างเป็นลายลักษณ์ของหน่วยงานผู้วางกรอบ การเจรจาเอฟทีเอของไทย ซึ่งทำให้สาระสำคัญของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ระบุว่า
เป็นข้อความที่เลือนลางลงไปทุกที. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น