โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"พล.อ.ประยุทธ์" เตรียมเสนอฝึก นศท. ต้องเกณฑ์ทหาร

Posted: 04 Feb 2013 09:18 AM PST

ผบ.ทบ. ระบุต้องการนำ นศท. ไปสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ เรียนรู้เรื่องภัยคุกคามประเทศมากมาย และกำลังพิจารณาให้ผู้เรียน นศท. มาเกณฑ์ทหาร เพราะปัจจุบันมีคนเรียน นศท. มากกว่าสัดส่วนเกณฑ์ทหารถึง 3 เท่า เกรงจะเกิดความไม่เป็นธรรม และต้องขอชมผู้หญิงที่มาเรียน นศท. เพราะไม่ได้สิทธิอะไรทั้งสิ้น

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ว่า ต้องปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ และให้ทันต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยให้ช่วยเหลือการปฏิบัติการทางทหารเป็นหลัก ดังนั้น ต้องปลูกฝังให้เยาวชน โดยเฉพาะ นศท. ให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องให้เรียนรู้ถึงภัยคุกคามที่มีมากมายในทุกประเทศ ทั้งปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าว เพื่อทำให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็ง ประเด็นสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้มีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลประเทศชาติให้มากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต่อไปอาจจะเสนอให้ผู้ที่เรียน นศท. เมื่อถึงเวลาตรวจเลือกทหาร จะต้องมาตรวจเลือกด้วย เพราะขณะนี้มีปัญหาว่า ในแต่ละปีมีคนเข้ามาสมัครเรียน นศท. มากกว่า 3 เท่าของสัดส่วนการเกณฑ์ทหาร ที่กองทัพต้องการทหาร 80,000 นาย และเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ให้เพิ่มอัตรา นศท. ในแต่ละปี ต่อไปหากมีคนเรียน นศท. มากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้สัดส่วนคนเข้ามาเกณฑ์มีจำนวนลดลง และอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ต้องชมเชย นศท. หญิงที่สมัครเข้ามาเรียน ทั้งที่ไม่ได้รับสิทธิอะไรทั้งสิ้น ผู้หญิงไทยเก่งและเข้มแข็งดี

"ส่วนกฎหมายที่ห้ามเยาวชนต่ำว่า 18 ปีถืออาวุธนั้น เราแก้ปัญหาโดยให้เรียนแค่อาวุธศึกษา ไม่ต้องฝึกยิงปืน เราจะไม่ขัดกฎหมายอื่น ส่วนเรื่องทรงผมนักเรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่ในส่วนของนักศึกษาวิชาทหารต้องมีกติกา ดังนั้น ผมขอว่าเมื่อทุกคนแต่งเครื่องแบบทหาร ควรจะไว้ผมสั้น มิเช่นนั้นจะแยกแยะไม่ออก ระหว่างทหารกับพลเรือน ถ้าผมและหนวดยาว จะดูไม่เรียบร้อย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ทิศทางทีดีอาร์ไอกับบทบาทฝ่ายค้าน (นโยบาย)

Posted: 04 Feb 2013 08:12 AM PST

 

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รับตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ทิศทางที่พอจะเห็นได้คือ การที่ทีดีอาร์ไอกำลังปรับตัวสู่การเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ และงานวิจัยเชิงนโยบายซึ่งเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ผ่านการปรับปรุงเว็บไซต์และการพยายามสร้างสื่อเพื่อสื่อสารประเด็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของทีดีอาร์ไอในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญของสังคมแล้ว ก็ถูกจับตาไม่น้อยว่าทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทย-อดีตนายกทักษิณ ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ล่าสุดคือการออกมาท้วงติงนโยบายจำนำข้าว นี่น่าจะเป็นอุปสรรคอยู่ไม่น้อยต่อการนำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะ

 


 

ประชาไทคุยกับดร.สมเกียรติในฐานะผู้บริหารของทีดีอาร์ไอ ทั้งประเด็นภาพลักษณ์และบทบาทของทีดีอาร์ไอ ซึ่งประธานทีดีอาร์ไอก็ไม่ได้ปฏิเสธการเป็นฝ่ายค้าน เพียงแต่มีคำจำกัดความเพิ่มเติมคือ เขาค้านนโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการคลัง หาใช่ค้านรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งอย่างจำเพาะเจาะจง

 

ที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอ หรือตัวอาจารย์เองวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายสาธารณะบ่อย จะถูกตั้งข้อเกตว่าเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลชุดนี้

ยืนยันว่าไม่ได้เป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลชุดไหนซักชุด เพราะการวิเคราะห์นโยบาย เสนอแนะทางนโยบายนั้นไม่ใช่ไปวิจารณ์รัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องรัฐบาลไหน และไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายค้าน บางเรื่องก็ชมและสนับสนุน บางเรื่องชมแต่มีเงื่อนไขว่าเป็นอย่างนู้นอย่างนี้จะดีกว่า

ทำไมถึงถูกมองว่าเป็นฝ่ายค้านได้ ก็งงๆ อยู่

 

อาจเป็นเพราะช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ คนไม่เห็นทีดีอาร์ไอออกมาวิพากษ์วิจารณ์อะไรมากนัก

ก็มีนะ มีออกมาทุกยุคทุกช่วง มากบ้างน้อยบ้าง ในสายตาผมที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์เยอะเป็นพิเศษคือ เรื่องทุจริตคอรัปชั่นและเรื่องนโยบายที่ไม่มีวินัยทางการคลัง เรื่องหลังนี้ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปจะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจตรงนี้เยอะ

การมีวินัยทางการคลัง แปลว่า ในระยะกลางและระยะยาวคุณต้องไม่ขาดดุลการคลัง คือ รัฐบาลไม่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ส่วนระยะสั้นนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังเชื่อว่า ถ้าในช่วงเศรษฐกิจขาลงถ้ารัฐบาลไม่ยอมจ่ายเงินเข้าไปในระบบในระยะสั้นอาจจะฟื้นไม่ได้ เพราะคนจะตกงานมากขึ้น รัฐบาลต้องจ่ายเงินค่าสวัสดิการมากขึ้น ภาษีก็เก็บได้น้อยลง จึงทำให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องขาดดุล แต่ไม่ใช่ไปขาดดุลยาวๆ ต่อเนื่องกัน 5 ปี 15 ปี อย่างนั้นเรียกขาดวินัยทางการคลัง

 

ทำให้ต้องจับตานโยบายของเพื่อไทย ที่มีลักษณะประชานิยมมากกว่า

หลายนโยบายมีลักษณะที่มีความรับผิดชอบทางการคลังไม่สูงเท่าไร แต่ผมยังคิดว่า แม้นโยบายไม่รับผิดชอบทางการคลัง หรือที่เรียกว่า "ประชานิยม" จะริเริ่มแบบขนานใหญ่โดยคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยตอนนั้นก็ตาม แต่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นมรดกของพรรคไทยรักไทยหรือเพื่อไทยอีกต่อไปแล้ว มันเป็นของปกติในระบบการเมืองไทยแล้ว มันอาจกำเนิดโดยพรรคไทยรักไทยแต่มันเป็นสูตรที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจะได้รับเลือกตั้ง  จึงกลายเป็นสมบัติของการเมืองไทย

พอเป็นสมบัติของการเมืองไทยมันยิ่งน่ากลัว เพราะแทนที่จะมีพรรคไหนไปกระตุกขาพรรคอื่นว่าอย่าทำแบบไม่รับผิดชอบทางการคลังมาก ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว ทุกคนต่างแข่งกันลดแลกแจกแถม เรื่องอย่างนี้ยิ่งน่ากลัวกว่าอยู่ในกำมือของพรรคพรรคเดียวอีก

 

"ประชานิยมมีข้อดีของมันโดยธรรมชาติ

และต้องสะท้อนการเมืองในระบบเลือกตั้ง ประชาธิปไตย

ใครอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องสนองความต้องการของประชาชน

มันจึงเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย

แต่ถ้าจะให้สังคมเศรษฐกิจไปได้ยาวๆ ด้วยก็ต้องมีวินัยการคลังด้วย"

 

เรื่องนโยบายประชานิยมมีมุมบวกไหม เช่น การตลาดทางการเมืองแบบนี้ที่อาจจะหวือหวา ไม่มิวินัยทางการคลัง แต่เมื่อได้รับแรงสนับสนุนมากจากประชาชนก็ส่งผลให้นโยบายที่สัญญาไว้นั้นทำได้จริงมากขึ้น

ผมถึงไม่ได้ใช้คำว่า ประชานิยม  เพราะประชานิยมมีข้อดีของมันโดยธรรมชาติและต้องสะท้อนการเมืองในระบบเลือกตั้ง ประชาธิปไตย ใครอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องสนองความต้องการของประชาชน มันจึงเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย แต่ถ้าจะให้สังคมเศรษฐกิจไปได้ยาวๆ ด้วยก็ต้องมีวินัยการคลังด้วย วินัยการคลังจะเป็นตัวที่สำคัญ ถ้าแข่งขันก็ต้องแข่งขันในกรอบที่มีวินัยการคลังพอสมควร

ผมจึงเน้นว่าไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยม แต่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายที่ไม่ค่อยรับผิดชอบทางการคลัง

 

ดูเหมือในแวดวงนักวิชาการก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน เมื่อก่อนนักวิชาการจะวิจารณ์ความเป็น "ประชานิยม" โดยยกตัวอย่างหายนะในประเทศแถบละตินอเมริกา แต่ตอนนี้มันเคลื่อนตัวไป อย่างน้อยอาจารย์ก็บอกว่าประชานิยมไม่ใช่สิ่งเลวร้าย

ไม่ใช่ ถึงต้องแยกไง นโยบายพรรคการเมืองที่ต้องทำตามความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับอยู่แล้วในระบบประชาธิปไตย ไม่อย่างนั้นจะให้พรรคการเมืองแข่งอะไรกัน รัฐธรรมนูญก็ไปจำกัดอีกว่าแนวนโยบายแห่งรัฐต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นการจำกัดช่องที่จะแข่งขันกันว่าอย่างน้อยต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้เห็นด้วยตรงนี้ ไม่น่าจะดี ยกเว้นว่านโยบายต้องสอดคล้องกับเรื่องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพประชาชน ถ้าในมุมอย่างนี้คิดว่าโอเค เพราะรัฐธรรมนูญต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าไปล้วงลึกขนาดว่ารัฐบาลต้องมีแนวนโยบายยังไง ผมคิดว่าอันนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์สักเท่าไร

ฉะนั้น ส่วนตัวผมเองไม่ได้มีปัญหากับประชานิยมแต่ไหนแต่ไร ถ้าจะมีปัญหาก็คือ นโยบายที่สนองความต้องการของประชาชนแต่ไม่คำนึงถึงวินัยการคลัง ที่เรียกว่านโยบายที่ไม่มีความรับผิดชอบทางการคลังถึงเป็นปัญหา นโยบายอื่นก็วิจารณ์ได้ในแง่ดีหรือไม่ดี ผลประโยชน์ตกกับประชาชนมากหรือน้อย คงดูไล่ที่ละนโยบายได้ แต่ถ้าเป็นนโยบายที่ใช้เงินเยอะๆ มองสั้นๆ เอาเฉพาะผลประโยชน์เฉพาะหน้า ผลักภาระทางการคลังไประยะยาว อย่างนี้คิดว่าเป็นปัญหา

ในฐานะทีดีอาร์ไอ หลายคนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ตัวผมเองไม่ใช่แต่ก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง และเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ เรื่องไม่มีวินัยทางการคลัง มันเป็นไปไม่ได้ที่อะไรที่เราใช้จ่ายเกินตัวไปได้ยาวๆ ลองคิดถึงตัวเรา ถ้าเรากู้ทุกวัน เราจับจ่ายใช้สอยมากกว่ารายได้ทุกวี่ทุกวัน มันจะอยู่รอดในระยะยาวได้อย่างไร ประเทศก็แบบเดียวกัน

 

เวลานักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อวินัยทางการคลัง มีการหยิบยกบริบทอื่นๆ มาช่วยวิเคราะห์ด้วยไหม เช่น บริบททางการเมือง หรืออย่างเรื่องกองทุนหมู่บ้านที่โดนวิจารณ์เหมือนกัน แต่สุดท้ายผลลัพธ์ก็ไม่เลวร้ายอย่างที่คาด

เรื่องกองทุนหมู่บ้านเป็นโครงการที่หย่อนเงินตุบลงในหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท 70,000 กว่าแห่ง เงินนี้หย่อนครั้งเดียว ไม่ใช่ของต่อเนื่อง ที่เหลือก็เป็นการกู้ ปล่อยกู้แล้วเอามาคืน ในมุมนี้ความน่าเป็นห่วงทางการคลังมันเทียบไม่ได้เลยกับนโยบายอย่างจำนำข้าว เพราะจำนำข้าวถ้าขาดทุนปีหนึ่งเป็นแสนล้าน แล้วสะสมไปหลายๆ ปี มันเหมือนมีกองทุนหมู่บ้านหย่อนไปปีละกองแล้วใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญนโยบายจำนำข้าวมันไปทำลายกลไกตลาดด้วย

ผมเองไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์กองทุนหมู่บ้านมากมาย แต่ว่ามีเพื่อนร่วมงานในทีดีอาร์ไอเคยวิจารณ์ แต่ถ้าไปดูก็จะเห็นว่าไม่ได้วิจารณ์รุนแรง แต่เป็นการตั้งคำถามมากกว่าว่ามันจะก่อให้เกิดประโยชน์ไหม จะเกิดความเสี่ยงกับคนกู้เงินไหม เพราะกองทุนหมู่บ้านมี assumption (สมมติฐาน)ว่า การที่ประชาชนยกฐานะไม่ได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินทุน ฉะนั้น จึงให้มีเงินทุนเข้าไป มันจึงมีคำถามว่าประชาชนทุกคนมีความพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการหรือ และไม่ใช่เป็นโจทย์ว่าคนไทยเก่งไม่เก่ง ทุกประเทศจะเจอปัญหาเดียวกัน มีนโยบาย micro finance ในหลายประเทศและจะเจอข้อวิพากษ์วิจารณ์คล้ายๆ กัน  แต่ของเมืองไทยคือ กองทุนหมู่บ้าน เป็นกองที่ใหญ่ที่สุดและเกิดโดยรัฐ จึงเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามกันเยอะหน่อย เพราะถ้าเสียหายก็คือภาษีประชาชน

คำถามว่าจริงหรือที่ทุกคนพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ เพราะการประกอบการต้องมีทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้มีทุกคน ผมเองก็อาจไม่มี คนที่ไปกู้ไปทำธุรกิจก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะเจ๊ง แง่มุมเหล่านี้คิดกันครบแล้วหรือยัง เราท้วงติงแบบนี้ ไม่ได้วิจารณ์ว่านี่เป็นประชานิยมแบบที่จะทำให้ล่มจม

ถ้าจะดูผลก็ต้องดูว่ามันยกระดับความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้นจริงหรือเปล่า ซึ่งของพวกนี้เป็นประเด็นในเชิงประจักษ์ คือ ก่อนทำนโยบายมีข้อสังเกตได้ หลังทำนโยบายไปแล้ว ถ้ามีการศึกษาอะไรมาเราก็ดูได้ว่ามันสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ทีแรกหรือเปล่า

 

"ผมมี position ยังไง (เรื่องโทรคมนาคม) ก่อนรัฐประหารในเรื่องนี้

ผมก็ไม่ได้เปลี่ยน เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว

ผมคิดว่าใครเปลี่ยน position นั่นเป็นปัญหามากกว่า

เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่นิ่งแล้วถ้าคุณเห็นว่ามันเป็นปัญหา

แล้วจู่ๆ คุณคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพียงเพราะว่ามันมีปัญหาที่มันใหญ่กว่า ที่

คุณเรียกว่าปัญหาเผด็จการหรืออะไรก็แล้วแต่

ผมงงกับท่าทีแบบนี้"

 

ภาพทีดีอาร์ไอ พูดง่ายๆ ก่อนหน้านี้ 5-6 ปี สมัยทักษิณมีนโยบายออกมาเยอะ ทีดีอาร์ไอก็จับตาประเด็นเหล่านี้ แต่เมื่อผนวกกับสถานการณ์ทางการเมืองแล้วมันผลักทีดีอาร์ไอให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลด้วย

ถูกมองว่าเป็นอย่างนั้น ผมยังคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นธรรมชาติของนักการเมือง เขาแข่งขันเพื่อได้อำนาจรัฐ มันก็มี concept ว่าเป็นพวกเขาหรือไม่ใช่พวกเขา เขาอยู่ในโลกแบบนั้น วัฒนธรรมทางวิชาการมันเป็นอีกแบบ การต่อสู้กันก็คือสู้กันในทางความคิด งานที่เราทำคืองานวิจารณ์นโยบาย คือ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายออกมา เราวิจารณ์ว่ามันไม่ดี แล้วคุณเปลี่ยนเป็นนโยบายที่ดี เราก็จะมาชม มาเชียร์นโยบายได้ เพราะเราไม่ได้ยึดติดว่าเป็นรัฐบาลของพวกไหน ถ้าเรายึดพวกก็แปลว่าถ้ารัฐบาลนี้ไม่ว่าอะไรออกมาเราต้องตี รัฐบาลอีกชุดอะไรออกมาต้องชม

ความแตกต่างสำคัญของคนวิจารณ์นโยบายจึงแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ กับการเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายสนับสนุนพรรคการเมืองหรือรัฐบาลไหน

 

อาจารย์ขึ้นมาเป็นผู้บริหารของทีดีอีไอร์ แต่ขณะเดียวกันอาจารย์เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นฝ่ายต้านทักษิณ

อาจเป็นเพราะว่าผมห่วง 2 เรื่องใหญ่คือ เรื่องความไม่โปร่งใสและนโยบายที่ไม่รับผิดชอบทางการคลัง เรื่องกรณีคุณทักษิณ ถ้าผมจะแรงเป็นพิเศษ เพราะว่าผมทำวิจัยเรื่องโทรคมนาคมมา และผมเห็นว่ามันมีความพยายามแสวงหาผลประโยชน์ภายใต้สัมปทาน อะไรต่างๆ จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลคุณทักษิณที่มีปัญหาเรื่องนี้ หลังรัฐบาลคุณทักษิณก็มี ถ้าจำได้ รัฐบาลประชาธิปัตย์มีสัมปทานพิสดารขึ้นมา ผมก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่สมัยรัฐบาลทักษิณ อำนาจรัฐกับธุรกิจ อย่างน้อยในช่วงต้นมันคือกลุ่มเดียวกันเลย  การแสวงหาผลประโยชน์มันเกิดขึ้นค่อนข้างกว้างขวางกว่า อย่างน้อยในเรื่องโทรคมนาคม รัฐบาลก่อนทักษิณหรือหลังทักษิณ รัฐบาลเป็นพวกหนึ่ง ทุนโทรคมนาคมเป็นพวกหนึ่ง แม้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากทุนโทรคมนาคม แต่ก็เรียกว่าได้กันเป็นครั้งๆ แต่รัฐบาลทักษิณอาจเรียกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้น ตัวเนื้อของนโยบายที่ออกมาจึงเป็นปัญหามากๆ

แล้วช่วงนั้นถ้าไปไล่ดูใครต่อใคร ไม่ใช่เฉพาะผม ก็คิดคล้ายๆ กัน ยกตัวอย่างเช่น การออก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต เป็นปัญหา  กลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตั้งชื่อเป็นนิติราษฎร์ด้วยซ้ำก็เห็นว่าเป็นปัญหา แล้วผมก็จัดสัมมนา มีการพูดคุยกันกับอาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) อาจารย์จันทจิรา (เอี่ยมมยุรา) แล้วก็อดีตอาจารย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นคนละพวกกับอาจารย์วรเจตน์ อย่างอาจารย์บรรเจิด สิงคเนติ ด้วย ก็เห็นร่วมกันว่า พ.ร.ก.นั้นเป็นปัญหามาก

ผมเห็นว่าข้อเท็จจริงที่มันเป็นปัญหาก็ยังคงอยู่นะ มันไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นหรือไม่เกิด เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการมีรัฐประหาร ฉะนั้น ผมมี position ยังไงก่อนรัฐประหารในเรื่องนี้ ผมก็ไม่ได้เปลี่ยน เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ผมคิดว่าใครเปลี่ยน position นั่นเป็นปัญหามากกว่า เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่นิ่งแล้วถ้าคุณเห็นว่ามันเป็นปัญหา แล้วจู่ๆ คุณคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพียงเพราะว่ามันมีปัญหาที่มันใหญ่กว่า ที่คุณเรียกว่าปัญหาเผด็จการหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมงงกับท่าทีแบบนี้

 

"ผมก็คิดอยู่ว่า ผมควรไปให้การกับศาลฎีกาหรือเปล่า

ผมอยากเห็นคนที่ทำความผิดในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้

ต้องได้รับการตรวจสอบแล้วก็ลงโทษถ้ามีความผิดจริง

เป็นกระบวนการโดยศาลฎีกา

มันเป็นเส้นบางๆ นะ ผมก็ไม่รู้ผมตัดสินใจถูกหรือผิด

แต่ผมเลือกที่จะไม่ไปให้การกับ คตส. แต่ผมเลือกไปเป็นพยานของศาลฎีกา"

 

ถ้ามีรัฐประหารเฉยๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมต่างๆ มันเดินต่อปกติคงไม่เท่าไหร่ แต่พอหลังจากนั้นมี คตส.ขึ้นมา ที่กระบวนการตรวจสอบที่มาจากรัฐประหารซึ่งฝั่งหนึ่งเห็นว่าไม่ชอบธรรม และกระบวนการจากคตส. ก็ส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองซึ่งอาจารย์ไปเป็นพยาน จึงเกิดคำถามถึงหลักประชาธิปไตยของอาจารย์ขึ้นมา

ผมไม่ได้ไปหา คตส. หรือให้ข้อมูลคตส.นะครับ ผมไม่เคยให้การกับ คตส.ผมไปเป็นพยานในศาลฎีกา

ซึ่งตอนที่ผมไปให้การกับศาลฎีกา ผมเองก็คิด ตอนนั้นผมก็คิด หนึ่ง เรื่องของประชาธิปไตย เรื่องของนิติธรรม แล้วก็เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งมีอยู่จริง คนที่ปัจจุบันอาจเห็นไม่ตรงกันในสมัยนู้นก็ยังเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มีอยู่จริง ผมก็คิดอยู่ว่า ผมควรไปให้การกับศาลฎีกาหรือเปล่า ผมอยากเห็นคนที่ทำความผิดในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์แบบนี้ต้องได้รับการตรวจสอบแล้วก็ลงโทษถ้ามีความผิดจริง เป็นกระบวนการโดยศาลฎีกา

มันเป็นเส้นบางๆ นะ ผมก็ไม่รู้ผมตัดสินใจถูกหรือผิด แต่ผมเลือกที่จะไม่ไปให้การกับ คตส. แต่ผมเลือกไปเป็นพยานของศาลฎีกา เพราะเป็นพยานนั้น ไม่ได้เป็นพยานในฐานะพยาน คตส. แต่เป็นพยานที่ศาลฎีกาเรียกไปเอง ไม่ใช่คู่กรณี และการไปเป็นพยานนั้นก็ถูกซักค้านได้โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ในกรณีนี้ก็คือฝ่ายของจำเลย  ทนายความของคุณทักษิณก็ซักค้านผมเยอะมากในศาลฎีกา ซึ่งคุณทักษิณก็ยอมรับในกระบวนการศาลฎีกา ในแง่นี้ผมคิดว่าเป็นกระบวนการที่ชอบธรรม ส่วนหักล้างกันได้หรือไม่ได้ นักข่าวที่อยู่ในสถานที่นั้นก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

มันมีทางเลือกอื่นไหม ถ้าผมอยากจะเห็นความยุติธรรมมันเกิดขึ้น แล้วผมเป็นคนที่มีข้อมูลในเรื่องนี้อยู่ แล้วผมไม่ไปให้การกับศาล มันมีทางเลือกอื่นให้ผมไหม ทำไมเมืองไทยต้องพยายามขีดเส้นอยู่ตลอดเวลาว่า คุณต้องเลือกเอาระหว่างประชาธิปไตยหรือนิติรัฐ เอาสองอย่างไม่ได้ ถ้าคุณจะเลือกเอาประชาธิปไตยก็ต้องลืมนิติรัฐว่ามันเกิดอะไรขึ้น อะไรถูก อะไรผิด ผมก็ยอมรับจริงๆ ว่ามันเป็นเส้นบางอยู่เหมือนกัน สำหรับคนบางกลุ่มอาจคิดว่าไม่ค่อยต่างกัน ระหว่าง คตส.กับศาลฎีกา แต่สำหรับผมนั้นคิดว่าต่างกันอยู่ในแง่ที่ว่าอย่างน้อยผมเลือกไม่ให้การ คตส.

 

เขาเรียกไปให้การไหม (คตส.)

เรียก เรียกเป็นทางการหรือเปล่าจำไม่ได้ แต่อย่างน้อยเขาติดต่อมา แล้วผมก็ปฏิเสธว่าผมไม่ไป

 

ช่วงที่ผ่านมา อาจารย์บอกว่าวิจารณ์อย่างเสมอหน้า แต่จะเน้นอันที่มีปัญหามาก ซึ่งส่วนใหญ่มันมักมาจากรัฐบาลไทยรักไทย ซึ่งมีนวัตกรรมแปลกใหม่ทางนโยบาย

ถ้าภาพมันจะออกมาว่าวิพากษ์วิจารณ์เพื่อไทยหรือไทยรักไทยมาก อาจจะสะท้อนว่าพรรคอื่นมันไม่มีนวัตกรรมทางนโยบายเลยก็ได้ มันเป็นพรรคที่น่าเบื่อมาก (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งผมก็คิดอย่างนั้น ไม่มีสีสันเลย

 

สื่อเป็นปัจจัยไหมที่ทำให้ภาพของอาจารย์ออกมาเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลเพื่อไทยโดยเฉพาะ หรือเป็นเพราะคนในสังคมเลือกรับข้อมูลตามที่ตัวเองเชื่อ

คือผมก็คิดประเด็นนี้ไม่แตกเท่ากับคนในสื่อ ประชาไทก็บอกผมเองว่าสื่อเขาอาจมี agenda ของเขาที่จะปั้นใครไปสู้กับใคร ฉะนั้น ประเด็นนี้ ผมเข้าใจย้อนหลังมากกว่าจากการพูดคุย เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมได้เรียนรู้ จริงๆ ไม่ถึงกับไม่รู้ทีเดียว แต่ไม่ได้ตระหนักว่ามันไปไกลขนาดนั้น จนกระทั่งได้ยินคนในสื่อวิเคราะห์เอง

 

อาจารย์เชื่อแบบนั้นไหม เมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา

ก็อาจจะใช่นะ คือ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด แต่อย่างน้อยมีสื่อสิ่งพิมพ์บางกลุ่มที่ take side ชัดว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้

 

อาจารย์ให้ความสำคัญกับประเด็นคอรัปชั่น ตอนนี้อาจารย์น่าจะหนักใจพอสมควร ก่อนหน้ารัฐประหาร ประเด็นคอรัปชั่นของทักษิณถูกหยิบมาอ้างสูงมากและเป็นส่วนสำคัญเลยที่ทำให้คนออกมาหนุนให้โค่นรัฐบาลของเขาลงไป แต่....

ผมไม่เคยคิดว่าผมสนับสนุนรัฐประหารนะ

 

ทีนี้ หลังรัฐประหารมันเลยเกิดภาวะ swing ว่าถ้าเราพูดเรื่องประชาธิปไตย อาจต้องพักเรื่องคอรัปชั่นไว้ก่อน สังคมไทยกำลังเป็นอย่างนั้น

น่าเป็นห่วง ผมคิดว่าสังคมไทย extreme ไปทั้งสองด้าน กระแสหลังรัฐประหารก็อ้างว่า นักการเมืองคอรัปชั่นเป็นคนไม่ดี ดังนั้นต้องเลือกคนดี แล้วฝั่งที่ต้านกระแสนี้ก็บอกว่า คำว่า "คนดี" ไม่มีความหมาย ดูสิ ออกมาก็เละเหมือนกัน  ผมคิดว่านี่ก็ extreme ไปเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เราจะสอนเด็กยังไง คนดีไม่มีความหมาย ไม่ต้องไปเป็นคนดีก็ได้ เพียงเพราะเราไม่ชอบการยกอ้าง "ความดี" ที่ใช้กันในทางการเมือง

ความดีนั้นมีอยู่แต่อย่าไปใช้อ้างในทางการเมือง เพราะทุกคนต้องถูกตรวจสอบเหมือนกันหมด ไม่ว่าคนดี ไม่ดีก็แล้วแต่ แต่ถ้าไปไกลขนาดที่ว่าไม่ต้องไปเป็นคนดี แบบนี้มันไปกันใหญ่

 

มันเป็นปัญหาเรื่อง การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาหรือเปล่า บางคนอาจจะบอกว่า หลังรัฐประหารการตรวจสอบคอรัปชั่นอยู่ภายใต้โครงสร้างที่บิดเบี้ยว ซึ่งเขาเห็นว่านั่นสำคัญกว่า เช่น ผู้ที่จะมาตรวจสอบก็มาอย่างมีคำถาม

เพราะมันมีความชอบธรรมน้อย มันจึงต้องอ้างเรื่องความดีส่วนบุคคลขึ้นว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ก็เป็นปัญหาจริง ก็ตรวจสอบกันไปตรงนั้น แต่อย่าลากไปไกลขนาดว่า แม้จะมีการส่งเสริมคนดีนอกบริบทการเมืองก็จะลากไปว่าเป็นสิ่งไม่สมควรทำ ถ้าสังคมไม่พยายามส่งเสริมให้คนเป็นคนดีแม้ว่านอกบริบทการเมืองอีก สังคมคงจะอยู่ไม่ได้แล้ว

ผมเข้าใจประเด็นฝั่งที่ตั้งข้อสังเกตนะ มันก็เป็นการมองแบบ post modern เพราะก็รู้ว่ามีฝั่งที่ใช้วาทกรรมบางเรื่องมาสร้างความชอบธรรม ก็สมควรต้องหักล้างวาทกรรมนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบ ใครบอกว่าคนที่คณะรัฐประหารตั้งมาเป็นคนดี ก็ไปตรวจสอบแล้วในที่สุดมันก็ออกมาอย่างที่พบว่ามีคนถูกตรวจสอบแล้วบุบไปเบี้ยวไป คนก็หูตาสว่างขึ้น แต่อย่าไปทำลายคุณค่าของค่านิยมในสังคมโดยรวมไปหมด เพราะผมว่ามันน่าเป็นห่วง

 

ประเด็นคอรัปชั่นก็เหมือนกัน เวลาพูดว่าคนนี้คอรัปท์ ก็จะมีการโต้ตอบว่าฝั่งนี้ไม่คอรัปท์เหรอ

จึงไม่เป็นปัญหาเลยในมุมนี้ เพราะเรา treat คอรัปชั่นในประเด็นนโยบายสาธารณะ เราไม่ใช่หน่วยงานที่ไปไล่จับคนคอรัปชั่นแบบ ป.ป.ช.เราจึงไม่ได้มีปัญหาในการเล่นกับตัวบุคคล คนนี้เล่น คนนี้ไม่เล่น แต่เราเล่นกับปัญหาในนโยบายสาธารณะจะวางระบบว่าทำอย่างไร ให้ระบบที่เกิดขึ้นเอื้อต่อการคอรัปชั่นได้ยากขึ้น โปร่งใสมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ตรวจสอบได้มากขึ้น แต่บางส่วนก็ต้องมองย้อนกรณีศึกษา การมองย้อนกรณีศึกษาผมก็รู้ว่ามันมีความอ่อนไหว จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง วิธีที่ทำให้ง่ายที่สุดคือ เจอมันทุกรัฐบาลนั่นแหละ

 

ทีดีอาร์ไอ จับเฉพาะประเด็นของรัฐบาล

ประเด็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นมาเยอะที่สุดจากรัฐบาล ก็คือครม. เกิดจากนิติบัญญัติคือกฎหมาย และบางครั้งนโยบายสาธารณะก็เกิดจากฝ่ายตุลาการด้วย การตีความกฎหมายบางครั้งก็เป็นการกำหนดนโยบายสาธารณะได้แบบหนึ่ง แต่ไม่ชัดเจนเท่านิติบัญญัติกับบริหาร

 

คิดว่าอาจไม่ใช่หน้าที่ที่อาจารย์จะตอบ แต่มันเป็นวาทกรมที่ว่า การมุ่งตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองมันอาจไปสนับสนุนวาทกรรมเรื่องนักการเมืองเลว

ราชการก็ด้วย เป็น agent ที่เกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่นที่สำคัญ และแทบทุกคอรัปชั่นละเว้นไม่ได้เลยคือ ภาคธุรกิจ ที่ข้าราชการอมเงินรัฐเฉยๆ ก็มีแต่ไม่เยอะ ที่เยอะก็คือ การสมคบกันระหว่างราชการ นักการเมืองและธุรกิจ

 

นโยบายเริ่มเหมือนกันไปทุกที ระหว่างสองพรรคใหญ่ในเรื่องประชานิยม ในฐานะทีดีอาร์ไอที่กังวลมากเรื่องความรับผิดชอบทางการคลัง มองอนาคตอย่างไร เพราะแนวโน้มเป็นแบบนี้และไม่น่าจะมีทางเป็นอย่างอื่นเพราะต้องตัดสินกันที่การเลือกตั้ง

ใช่ และการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยก็คือคนลงคะแนนเสียง ฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามทำคือ เราจะให้ข้อมูลกับคนลงคะแนนเสียง เราจะมีประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลกับคนลงคะแนนเสียงเท่าพรรคการเมืองหรือเปล่านั้นช่วยไม่ได้ แต่วิธีการในระบบประชาธิปไตยก็คือ ไม่ใช่ไปเอากฎกติกาที่บิดเบี้ยวเข้าไปแล้วไปล้มนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากประชาชน

เช่น ไปใช้อำนาจองค์กรอิสระไปล้มนโยบายที่ไม่ว่าจะรับผิดชอบหรือไม่รับผิดชอบ ประชานิยมหรือไม่ประชานิยมก็แล้วแต่ของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เว้นแต่มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย เกินกว่าขอบเขตที่พรรคการเมืองจะสามารถทำได้ แต่ถ้าสอดคล้องกับกรอบกฎหมายที่มีอยู่ วิธีการตรวจสอบที่เหมาะสมที่สุดคือ การตรวจสอบกันทางการเมือง ไม่ใช่การตรวจสอบทางกฎหมาย ไม่ใช่เอาองค์กรอิสระ เอาศาล เอาใครต่อใครเป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลฝ่ายบริหารเพื่อระงับนโยบายที่ตัวเองไม่ชอบ การตรวจสอบที่ควรต้องทำคือการตรวจสอบทางการเมือง พรรคฝ่ายค้านไปถล่มกันเองในสภา แต่บทบาทพวกนี้เราไม่เกี่ยว บทบาทของเราคือ การให้ข้อมูลกับคนลงคะแนนเสียง

มันอาจต้องใช้เวลานานมากก็ได้กว่าที่ประชาชนจะเข้าใจและรู้ว่าเดินอย่างนี้เดินต่อไม่ได้ มันอาจต้องเกิดวิกฤตขึ้นก่อนก็ได้ อย่างหลายประเทศในละตินอเมริกาเท่าที่ผมทราบ นโยบายแบบนี้หยุดได้เมื่อเกิดวิกฤตและคนรู้ว่ามันไปต่อไม่ได้ ในภาวะปกติที่เศรษฐกิจมันโตอยู่ คนมองไม่เห็น เพราะหนี้สินที่สร้างขึ้นมาแม้มันจะงอกแต่เศรษฐกิจโตขึ้นเร็วกว่า มันดูเหมือนไปได้ แต่เมื่อใดที่เกิดวิกฤต เศรษฐกิจโตไม่ได้ พวกนี้สินและภาระการคลังที่เป็นปัญหาก็จะปูดออกมา มันอาจใช้เวลานานขนาดนั้นก็ได้ แต่ผมหวังว่า สังคมที่ฉลาด นอกจากเรียนรู้จากปัญหาหรือความล้มเหลวของคัวเองแล้ว ควรจะเรียนรู้จากปัญหาของชาวบ้านเขาด้วย เราไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดก่อน เพราะมันจะมีต้นทุนสูงมาก ถ้าเราเรียนรู้จากความล้มเหลวคนอื่นจะลดต้นทุนเราไปได้เยอะ

 

ถามหยาบๆ พรรคการเมืองที่อาจมีความเสี่ยงทางการคลังน้อย แต่มี innovation ทางนโยบายต่ำด้วย ขณะที่พวกมี innovation คิดนโยบายเยอะก็สร้างภาระเยอะ

จะพูดว่า Low Risk, Low Return High Risk, High Return

 

ประมาณนั้น ในเมื่อในความเป็นจริง สภาพมันเป็นแบบนี้ คนลงคะแนนเสียงเขาก็มีวิธีคิด มีมุมแบบหนึ่ง แต่สำหรับนักนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ อาจารย์จะเลือกอะไร?

สิ่งที่เราอยากจะทำ และพยายามสื่อสารกับประชาชน กับสังคมคือ เราอยากจะเห็น ดุลยภาพใหม่ ที่ไม่ใช่มีแค่สองตัวเลือก พวกไม่ทำอะไร กับพวกขยันทำอะไรแต่มีความเสี่ยงสูง จริงๆ การบริหารประเทศมันต้องมองไกลๆ มองยาวๆ แปลว่ามันต้องช่วยกันสร้างรากฐานเศรษฐกิจให้ยาวๆ มันไม่มีประเทศที่โตได้จากรัฐบาลอัดฉีกเงินไปเรื่อยๆ เพราะเงินมันก็ต้องมาจากที่ใดที่หนึ่งอยู่ดี ไม่จากภาษีก็จากพิมพ์แบงก์ ซึ่งพิมพ์แบงก์ก็ยากแล้วเพราะธนาคารกลางก็เป็นอิสระแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลจะแทรกแซงโดยตรงง่ายๆ ไม่ได้แล้ว เขาไม่พิมพ์แบงก์ให้รัฐบาลใช้หรอก ทางเลือกของรัฐบาลก็มีแค่สร้างหนี้ เอาเงินในอนาคตมาใช้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างหนี้เพื่อสร้างการเติบโตไปเรื่อยๆ ในระยะยาว มันจำเป็นบ้างในช่วงขาลง ติดหนี้ติดสินบ้างเพื่อให้มันกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้หนี้สินแล้วสร้างให้เศรษฐกิจโตเป็นไปไม่ได้ ใครๆ ก็รู้ กู้ทุกวี่ทุกวันแล้วไม่มีรายได้กลับมาพอ มันจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างไร

วิธีเป็นไปได้คือสร้างรากฐานเศรษฐกิจให้แข็ง ถ้าเป็นคนคือไปเรียนหนังสือ ฝึกทักษะ เรียนรู้จากการผิดพลาดของการประกอบกิจการแล้วแก้ไข แต่ไม่ใช่กู้หนี้ยืมสินไปเรื่อยๆ

 

รายได้จากภาษี และจากการเพิ่มผลิตภาพ

การเพิ่มผลิตภาพก็จะทำให้ได้ภาษีเพิ่มขึ้นนั่นแหละ

 

การปรับฐานภาษี คงเป็นไปได้ยาก

เพิ่มภาษีคือเอาเงินจากระบบที่มีอยู่มาเป็นเงินรัฐบาล ไม่ได้ทำให้อะไรใหญ่ขึ้นเลย ภาษีเพียงแต่มีผลทำให้เกิดการกระจายรายได้ดีขึ้น แค่นั้นเอง ถ้าเก็บภาษีทรัพย์สินก็เอาเงินจากคนรวยไปให้คนที่รวยน้อยกว่า เช่น ใช้จ่ายทำนู่นนี่ แต่เค้กก้อนใหญ่เท่าเดิม หรือเล็กลงด้วยซ้ำ แต่บางครั้งก็ต้องทำเพื่อความเป็นธรรม แต่วิธีที่ให้เค้กใหญ่ขึ้นต้องสร้างผลิตภาพอย่างเดียวเลย ไม่มีวิธีอื่น ไม่มีสูตรรัด

 

อาจารย์มองนโยบายเรื่องการเพิ่มผลิตภาพของรัฐบาลนี้อย่างไร

คิดว่าเขาเริ่มไปประเด็นที่เห็นชัดว่าจับจุดที่ตรงกับพวกเรา และพูดภาษาเดียวกัน "ไปให้พ้นรายได้ปานกลาง" แต่ของเราไม่ได้ตั้งเป้าหวือหวาแบบนายกฯ นายกฯ ตั้งเป้า 2 เท่า 3 เท่า ภายใน 15 ปี ซึ่งเป็นธรรมชาติของฝ่ายการเมืองที่ต้องทำ marketing แต่นักวิชาการไม่มีความจำเป็นต้องทำ marketing เราบอกว่าถ้าเพิ่ม 3 เท่าใน 15 ปี คุณต้องโตปีละ 8% แปลว่า productivity ของคนไทยต้องกระฉูด แต่ไม่มีมาตรการชัดๆ ในการทำเรื่องนี้เลยแล้วจะโตขนาดนั้นได้ยังไง เป็นเรื่องยากมากๆ ถ้าไม่ใช่ยุคเศรษฐกิจไทยซัก 20 ปีก่อน จะโตต่อเนื่อง 8% ยาวๆ 15 ปียากมาก แล้วตอนนี้คู่แข่งเราก็เยอะขึ้นมา ขณะที่เศรษฐกิจโลก อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรปขาลงหมด แล้วจะโต 8% ได้ยังไง มองไม่เห็น แต่ถ้าบอก โต 2 เท่าใน 15 ปี เท่ากับต้องโต 5% กว่าๆ ต่อปี ตรงนี้มีศักยภาพอยู่ แต่ต้องรักษาอัตราการโตให้คงเส้นคงวา อย่าหวือหวา ถ้าร้อนแรงเกินไป มีเศรษฐกิจฟองสบู่ เก็งกำไรกันเยอะๆ ก็จะมีขาลงเหมือนปี 2540

นโยบายที่ต้องการจะพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง คิดว่าเป็นนโยบายที่ดี เพราะมองไกลๆ ไม่มีวิธีอื่นนอกจากรักษาการเติบโตให้สม่ำเสมอ ซึ่งก็จะพบเองว่าไม่มีวิธีอื่นนอกจากเพิ่ม productivity การเพิ่ม productivity ก็คือ input ไม่ว่าเครื่องจักร แรงงาน พลังงานของคุณมีเท่าเดิม แต่ output ของคุณโตขึ้นกว่าเดิมได้ แปลว่าแรงงานคุณต้องเก่งขึ้น เครื่องจักต้องเปลี่ยนเป็นสมัยใหม่ วิธีการบริหารก็ต้องดีขึ้น ของเสียน้อยลง ประหยัดพลังงานมากขึ้น

ถ้ามองไกลๆ แล้วตั้งเป้าหมายอย่างสมเหตุสมผล คุณก็จะรู้สิ่งที่คุณจะต้องทำ

รัฐบาลมองไกล 15 ปี ดีกว่ารัฐบาลที่มองแค่ชนะการเลือกตั้งสมัยหน้าเท่านั้น วิธีที่มองสั้นกับมองยาว ผลจะต่างกันเลย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมวิถีชนเผ่าม้ง ผ่านงานปีใหม่ม้ง ที่เชียงดาว

Posted: 04 Feb 2013 08:02 AM PST

 

ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า "น่อเป๊โจ่วฮ์" แปลตรงตัวได้ว่า "กินสามสิบ" สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ

หากใครมาเยือนเชียงดาวในหน้าหนาว นอกจากจะได้สัมผัสความงามของธรรมชาติของผืนป่าอันอุดม ของดอยหลวงเชียงดาว และต้นกำเนิดของแม่น้ำปิงกันแล้ว วิถีวัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่า ก็ถือเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมกันได้ในแต่ละปี 

ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของอำเภอเชียงดาวได้เป็นอย่างดีและถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของพี่น้องชาวม้ง ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี หลังจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย ว่ากันว่า เป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวนั้นจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า และผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง ดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย  

แต่เดิมนั้น จะมีการจัดขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน โดยมีการฉลองกันตามวัน เวลา ที่สะดวกของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยน มีการรวมพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายๆ หมู่บ้าน โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ละหมู่บ้านที่มีความพร้อม   

เมื่อวันที่ 14 -16 ธันวาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดงานประเพณีปีใหม่ม้ง ขึ้นที่บ้านม้งแม่มะกู้ ตั้งอยู่บริเวณถนนสายปิงโค้ง-พร้าว ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เดินทางเข้ามาร่วมงานกันอย่างคับคั่งนับพันคน ทำให้บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนที่แต่งกายชุดประจำเผ่ากันอย่างงดงาม      

ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า "น่อเป๊โจ่วฮ์" แปลตรงตัวได้ว่า "กินสามสิบ" สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม         

ในวันดังกล่าว หัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง เป็นต้น    

การเล่นลูกช่วง หรือที่คนม้ง เรียกกันว่า "จุเป๊าะ" นั้นถือว่าเป็นการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่ม้งโดยเฉพาะ  เลยทีเดียว ลูกช่วง นั้นจะมีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย โดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนากับคู่ที่โยนได้  

"เขาโยนลูกช่วงกันไปมาทำไมเหรอ" นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นแอบตั้งคำถาม   

"ก็เพื่อความสนุกสนาน แล้วหนุ่มสาวยังจะได้มีเวลาคุยกัน จีบกันไป" หนุ่มม้งเจ้าถิ่นกระซิบบอกอย่างนั้น

ว่ากันว่า การเล่นลูกช่วง นั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหนุ่มสาวชาวม้ง เพราะนี่เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวชาวม้งได้รู้จักกัน เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน และที่สำคัญ ถ้าหนุ่มสาวพึงใจชอบพอกันแล้ว ก็นำไปสู่การแต่งงานกันในอนาคตได้          

"แล้วแม่หญิงม้ง ที่แต่งงานแล้ว สามารถเล่นลูกช่วงได้มั้ย" นักท่องเที่ยวเอ่ยถาม  

"หญิงที่แต่งงานแล้ว เขาจะห้ามไม่ให้เล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมของม้ง แต่ฝ่ายชาย สามารถเล่นได้นะ แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายหญิงสาวคนนั้น" หนุ่มม้ง บอกเล่าให้ฟัง           

จุดเด่นของชนเผ่าม้ง ที่เราพบเห็น ทั้งหญิงและชาย ต่างพากันสวมชุดประจำเผ่ากันทุกคน ด้วยเครื่องแต่งกายอันวิจิตรงดงาม ซึ่งแต่เดิมนั้นจะนิยมสวมใส่เสื้อสีดำแขนยาว ปลายแขนเสื้อจะมีการปักลวดลายอย่างสวยงาม ขอบแขนเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยผ้าที่ต่างสีจากตัวเสื้อ นั้นคือจะเป็นผ้าสีฟ้า ขาว เหลือง เป็นต้น ส่วนด้านหน้าของตัวเสื้อ จะมีการปล่อยสาบเสื้อปักเป็นลวดลายอย่างสวยงาม ด้านหลังเสื้อจะมีปกเสื้อที่ปักเป็นสีสันลวดลาย ต่างๆไว้ด้านหลัง นิยมโชว์ด้านที่ปักไว้ด้านนอก ผู้หญิงม้งดำไม่นิยมใส่กางเกง ส่วนมากแล้วนิยมใส่กระโปรงมากกว่า พร้อมกับใช้ผ้าพันน่องขาไว้ด้วย          

แต่ภายในงานปีใหม่ม้ง ที่ผ่านมา เราจะมองเห็นว่า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของหญิงม้งนั้นเริ่มมีหลากหลายสีสัน ทั้งเสื้อ กระโปรง เต็มไปด้วยสีที่ฉูดฉาด สดใส มีทั้งสีแดง ชมพู แสด เขียว ฟ้า ม่วง เหมือนกับการเป็นงานแฟชั่นของชนเผ่าไปเลยก็ว่าได้          

นั่นทำให้ผู้ศึกษาวิถีชนเผ่าหลายคนเริ่มสับสนและมึนงง เพราะแต่เดิม ชุดแต่งกายชนเผ่าม้ง นั้นสามารถบ่งบอกและแยกกลุ่มระหว่างม้งขาวกับม้งดำได้อย่างชัดเจน แต่ตอนนี้เราจึงแยกไม่ออกกันแล้ว นั่นจึงไม่แปลกใจเลยว่า ปีใหม่ม้งครั้งนี้ เราจึงมองเห็นสาวชาวม้งสวมใส่ชุดแต่งกายหลากสี ใส่รองเท้าหุ้มส้นสูง สวมแว่นตาดำ กางร่มกันแสงแดดจ้า บางคนถือไอแพดเดินถ่ายรูปกันไปมาบนลานดินกว้าง  ทำให้เราสัมผัสได้ว่า งานนี้มีทั้งความงามและความเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจริงๆ       

ถัดไปบนลานดินใกล้ๆ กัน เรามองเห็นหนุ่มม้งหลายสิบคน กำลังยืนล้อมรอบกันเป็นวง ข้างในลาน กำลังมีการแข่งขันเล่นลูกข่าง หรือที่ชาวม้ง เรียกกันว่า "เดาต้อลุ๊" เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันขึ้นปีใหม่ของม้ง เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ การเล่นลูกข่างในโอกาสเช่นนี้จะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็ก การละเล่นชนิดนี้ ก็เพื่อความสนุกสนานสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยกัน   

เมื่อหันไปมองข้างบนเวทีนั้น หญิงสาวม้งจากหลายหมู่บ้าน กำลังสับเปลี่ยนกันขึ้นไปเต้นรำประจำเผ่า ซึ่งการแสดงเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ม้ง จะมีหลายรูปแบบและเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าม้ง เช่น การรำกระด้ง ว่ากันว่าเป็นการสื่อถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของม้ง ซึ่งอดีตนั้นม้งนิยมใช้กระด้งในการฟัดข้าว หรือยังใช้กระด้งเป็นอุปกรณ์ในการทำขนมม้งอีกด้วย ซึ่งถือว่า กระด้งนั้นมีความสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก   

นอกจากนั้น ยังมีการรำเก็บใบชา ซึ่งจะมีการแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ม้ง และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของม้ง ซึ่งอดีตม้งนิยมเก็บใบชานำมาต้มเป็นน้ำชาดื่มในชีวิตประจำ ม้งจึงได้มีการรำลึกถึงคุณค่าของใบชา เป็นต้น         

แต่ก็มีหญิงสาวชาวม้งหลายคน สวมใส่ชุดม้งอันงดงามตระการตา ขึ้นไปเต้นเพลงฝรั่งประกอบท่วงทำนองท่าเต้นแนวฮิบฮอป ทำให้นักท่องเที่ยวหันมาหยุดมองกันด้วยความตื่นใจและแปลกใจ   

ในงานประเพณีปีใหม่ม้ง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ 'การเป่าขลุ่ยม้ง' จะแสดงในงานเทศกาลและวันสำคัญอื่นๆเท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องดนตรีของม้ง และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของม้ง ซึ่งขลุ่ยนั้นเป็นเครื่องดนตรีคู่กายของชายม้งเลยทีเดียว ว่ากันว่า ในอดีตนั้น ชายม้งจะไม่ค่อยกล้าที่จะบอกรักสาว ดังนั้นจึงต้องอาศัย ขลุ่ยเป็นสื่อในการบอกรักสาว 

อีกมุมหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้กับงานปีใหม่ม้ง นั่นคือ 'การนั่งรถสามล้อไม้'  การแข่งขันรถสามล้อไม้จะมีเฉพาะในเทศกาลปีใหม่เท่านั้น เป็นการเล่นของเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งว่ากันว่า สมัยก่อนม้งไม่มีรถ หรือยวดยานพาหนะใช้ในการเดินทาง และไม่มีของเล่นให้กับเด็ก ๆ ได้เล่นกัน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากความเจริญมาก ดังนั้นไม่สามารถที่จะหาซื้อของเล่นให้กับเด็ก ๆ เล่นได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงได้คิดค้นทำสามล้อไม้ ขึ้นมา เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นกัน ต่อมา จึงได้มีการนำมาประดิษฐ์ทำเป็นรถสามล้อไม้ ไว้นั่งขี่แข่งขันกัน และได้มีวิวัฒนาการที่จะพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถที่จะเล่นได้ จนกระทั่งมีการประกวดแข่งขันกันว่า รถสามล้อไม้คันไหนแล่นลงดอยไปไกลที่สุด และรถคันไหนตกแต่งได้สวยงามที่สุด จะเป็นผู้ชนะ    

จะเห็นได้ว่า ประเพณีใหม่ม้ง ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น ได้ช่วยสร้างสีสัน มีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองเชียงดาวให้คึกคักอีกครั้ง ซึ่งนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานนั้น นอกจากจะได้รับทั้งความเพลิดเพลินใจแล้ว ยังได้เรียนรู้ในวิถีชนเผ่าไปพร้อมๆ กันอีกด้วย    

และแน่นอน  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบนี้  เป็นสิ่งที่รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหันมาสนับสนุนและส่งเสริมอย่างยิ่ง เพราะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเช่นนี้ ไม่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อลงทุนอะไรมากมายเลย  เพราะทุกอย่างล้วนฝังอยู่ในรากเหง้า วิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชนเผ่าอยู่แล้วนั่นเอง.

ข้อมูลประกอบ : พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประสบการณ์อาเจะห์สู่ปาตานี: ชนะด้วยแรงหนุนต่างประเทศ

Posted: 04 Feb 2013 06:30 AM PST

การเดินทางร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์คลี่คลายความขัดแย้งกับภาคประชาสังคมอาเจะห์ ชี้อาเจะห์มีเครือข่ายโพ้นทะเลที่เดินหน้ารณรงค์ในต่างประเทศจนเป็นที่รับรู้ทั่วโลก

คณะภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและผู้นำชุมชนปาตานี 20 ชีวิต เยือนภาคประชาสังคมอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้โครงการเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน สำหรับการสร้างชุมชนสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2556 แลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนเพื่อสันติภาพ รับฟังบทบาทของนักข่าวในการสนับสนุนนักศึกษาและภาคประชาสังคม งานสื่อข่าวในสถานการณ์ความความขัดแย้งและช่วงการสร้างสันติภาพ

นายมูฮัมหมัด ฮัมซา นักข่าวจากพื้นที่ความขัดแย้งในอาเจะห์กล่าวว่า การรายงานข่าวในพื้นที่ปฏิบัติการทางการทหารรุนแรงในช่วงปี 1999-2000 ซึ่งเป็นช่วงที่มีต่อสู้อย่างชัดเจน ยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ขัดแย้ง เพราะต้องเผชิญทั้งความไม่ไว้ใจจากกองกำลังของอาเจะห์เพื่อเอกราชหรือ GAM และกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งในช่วงที่มีการประกาศกฎหมายทหารในพื้นที่ การรายงานข่าวไม่เป็นอิสระ ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างอิสระ

"พวกเราเคยถูกฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชอาเจะห์ หรือ GAM จับไปเพื่อให้เขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์รายวันของพวกเรา โดยเป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่า GAM ได้สังหารฝ่ายตรงข้ามเท่าไหร่ ซึ่งความจริงชาวบ้านทราบว่าสถานการณ์จริงๆเป็นอย่างไร หนึ่งเดือนหลังจากประกาศใช้ปฏิบัติการทางทหาร GAM โทรหาเราทุกวันเพื่อให้ลงแถลงการณ์ของเขาในหนังสือพิมพ์ของเรา" นักข่าวดังกล่าว

ในขณะเดียวกันก็ได้กล่าวว่า สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพให้ทหารของรัฐเช่นกัน นักข่าวถูกเกณฑ์ไปในค่ายเพื่อให้สื่อสารว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ปฏิบัติต่อกลุ่มขบวนการที่จับอาวุธต่อต้านรัฐอย่างให้เกียรติ ทั้งๆ ก่อนหน้านี้มีการสังหารฝ่ายตรงข้ามมาแล้วจำนวนมาก

"กลุ่มเราจึงต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระในการสื่อสาร เพราะการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งต้องเสนอข้อเท็จจริง แม้เราจะไม่สามารถทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้ แต่เราจะไม่ทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นเพราะการรายงานของเรา" นักข่าวกล่าว

ข้อเสนอจากนักข่าวอาเจะห์คือ สื่อมีความจำเป็นในการสร้างเครือข่ายสื่อภายในและต่างประเทศเพื่อส่งข้อมูลที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ออกสู่ข้างนอกให้มากที่สุด มีทั้งการส่งรายงานไปโดยตรงผ่านองค์กรข่าว หรือส่งรายงานไปยังองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนให้มีการรณรงค์ต่อไป

"พวกเรารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่นี้ และเราได้มองเห็นอย่างหนึ่งว่า นักข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งต้องไม่ใช่นักสื่อสารเพื่อรายงานเหตุการณ์อย่างเดียว แต่ต้องมีเป้าหมายเพื่อสันติภาพด้วย" นักข่าวคนเดิมกล่าว

แนะปาตานีต้องสร้างเครือข่ายต่างประเทศ
ในช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถูกจัดที่สำนักงานขององค์กร ACEH Civil Security Taskforce ครั้งนี้ ภาคประชาสังคมปาตานีได้รับข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมอาเจะห์ว่า ภาคประชาสังคมปาตานีต้องหาจุดร่วมการขับเคลื่อนว่าจะพาปาตานีไปสู่ทิศทางไหน และต้องสร้างเครือข่ายกับองค์กรอื่นๆ ในพื้นที่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระหว่างประเทศและระดับโลก เพื่อให้ประเด็นออกไปข้างนอกมากที่สุด

ภาคประชาสังคมอาเจะห์สะท้อนว่า อาเจะห์จะแก้ปัญหาโดยลำพังไม่ได้ เพราะการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมอาเจะห์ส่วนใหญ่เกิดในต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายกับสื่อต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของอาเจะห์ให้ออกไปข้างนอกให้มากที่สุด เมื่อมีคนรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีคนเข้ามากดดันรัฐบาลให้จัดการปัญหามากขึ้น

"วิธีการเพื่อป้องกันเครือข่ายนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของเรา โดยการสร้างเครือข่ายทั้งคนอาเจะห์ทั้งในและนอกประเทศ และเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งเมื่อเราสร้างความเข้าใจให้เครือข่ายรับรู้ว่าสถานการณ์ของอาเจะห์เป็นอย่างไร เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับ เขาจะรีบปล่อยภายใน 24 ชั่วโมงเพราะเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศจะโทรสอบถามข้อมูลวันละเป็นพันสาย เป็นการกดดันให้ทหารไม่สามารถละเมิดสิทธิได้ แต่ต้องมีการติดต่อประสานงานเพื่อให้เครือข่ายกดดันก่อน 24 ชั่วโมง ถ้าช้ากว่านั้นอาจจะมีการละเมิดสิทธิกับนักพิทักษ์สิทธิที่ถูกจับไปได้" นักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งกล่าว

การรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิต่อประชาชนอาเจะห์โดยทหารรัฐบาลอินโดนีเซีย ในช่วงการประกาศใช้ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ หรือที่อินโดนีเซียเรียกว่า DOM ในช่วงปี 2000 กลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานกรณีการละเมิดสิทธิในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกวันอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักของเวทีระหว่างประเทศ และมีกลุ่มคนอาเจะห์พลัดถิ่นที่ลี้ภัยในประเทศได้สร้างเครือข่ายกับองค์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ เพื่อรับเรื่องของอาเจะห์ไปรณรงค์ด้วย

"เราได้สร้างเครือขายในต่างประเทศ จนเป็นที่รับรู้ขององค์กรทั้งในและต่างประเทศว่าเกิดอะไรขึ้นในอาเจะห์ โดยมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง จนมีการเปรียบเปรยว่า แม้เข็มเล่มเดียวตกในแผ่นดินอาเจะห์ คนต่างประเทศก็จะรู้สึก" นักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งกล่าวกับคณะจากปาตานี

นายมุสลาฮุดดิน ดาวุด อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของฟอรั่มภาคประชาสังคมอาเจะห์ ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์กับนักขับเคลื่อนสันติภาพว่า ตนได้ลงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้หลายครั้ง ตั้งแต่ 2550 โดยการสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงมากในพื้นที่ เพื่อพบภาคประชาชนที่ทำงานในพื้นที่ปาตานี

นายมุสลาฮุดดิน กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่ทำให้เห็นข้ออ่อนของการขับเคลื่อนสันติภาพในปาตานีหลายข้อ เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ เนื่องจากกรณีอาเจะห์ทุกภาคส่วนของสังคมหนุนการขับเคลื่อนเพื่อเอกราชในอาเจะห์ แต่นำโดยกลุ่มจับอาวุธที่เรียกร้องเอกราชหรือที่เรียกว่า GAM โดยประชาชนและภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศต่างสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้เป็นขบวนเดียวกัน แต่ในปาตานี ยังคงมีความหลากหลายในความเห็นอยู่

นายมุสลาฮุดดิน ยังกล่าวอีกว่า ปาตานีมีกลุ่มภาคประชาสังคมที่มีบทบาทสูงมากที่สุดในโลก จากบรรดาประเทศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ตนมองว่า กลุ่มภาคประชาสังคมที่มีความเป็นกลางจะเป็นนักขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งดีขึ้น

"ผมยังไม่เคยเห็นการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมที่ไหนจะมีบทบาทมากกว่าของปาตานี ซึ่งมีหลากหลาย แต่ปัญหาคือความไม่เป็นเอกภาพในความเห็น ถ้ามีการขับเคลื่อนเป็นเอกภาพได้ จะเป็นตัวเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการกดดันเพื่อให้ดำเนินการสันติภาพได้" นายมุสลาฮุดดิน กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ผสานวัฒนธรรม’ อบรมเครือข่ายบันทึกการถูกซ้อมทรมาน

Posted: 04 Feb 2013 06:16 AM PST

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)  จับมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อบรมอาสาสมัครในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการบันทึกข้อมูลการร้องเรียนการซ้อมทรมาน โดยนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ เมื่อวันที่ 23 - 24 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะในการเก็บข้อมูลการร้องเรียนได้อย่างครบถ้วน การรวบรวมพยานหลักฐานที่ระบุได้ว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นจริง รวมถึงร่วมทราบถึงวิธีการประสานงาน การส่งต่อเรื่องร้องเรียน วิธีการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น

โครงการอบรมครั้งนี้เพื่อเรียนรู้การบันทึกข้อมูลการร้องเรียนการถูกซ้อมทรมาน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กระทำละเมิดนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่มีอำนาจหน้าที่และกระทำโดยเจตนา ทำให้บุคคลเกิดความเจ็บปวด หรือทุกข์ทรมานอย่างสาหัส โดยมุ่งประสงค์เพื่อให้ได้รับคำสารภาพ เพื่อการลงโทษ เพื่อการข่มขู่ หรือเพื่อเหตุผลใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่า "เริ่มจากการที่เรารับทราบสภาพปัญหาของการทรมานที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จริง ๆ สภาพปัญหานี้ก็เกิดขึ้นมานานแล้ว แล้วเราก็ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น แล้วก็ดำเนินการแก้ไขเยียวยาไปแล้วบ้าง แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการทรมาน คงมีเหตุการณ์ลักษณะเช่นนั้นเกิดขึ้นอยู่ หมายถึงการทำร้ายร่างกาย ทำให้เกิดบาดแผล ทางด้านจิตใจ จนกระทั่งสาหัส แล้วก็เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่"

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น กลับไม่ได้รับการรวบรวมอย่างเป็นระบบทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม มีเพียงเรื่องร้องเรียนที่กระจัดกระจายไปยังที่ต่างๆ จึงได้จัดทำโครงการการรวบรวมข้อมูลการร้องเรียนการทรมานขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลการทรมานที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้

แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลได้ลงนามเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาที่ว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมาน ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลต้องจัดทำรายงานต่อองค์การสหประชาชาติถึงความก้าวหน้า การแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง จนกระทั่งถึงห้ามไม่ให้มีการซ้อมทรมาน ไม่ว่าสถานการณ์ใดๆ และรัฐบาลได้เขียนรายงานในนามของรัฐเพื่อรายงานให้กับสหประชาชาติไปแล้ว คณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบการส่งรายงานฉบับนี้แล้ว

ประเด็นปัญหาคือ ข้อมูลในรายงานของรัฐบาลอาจจะไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมถึงทุกประเด็น รวมทั้งการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบโดยตรง  มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงริเริ่มที่จะจัดทำรายงานนี้ที่เรียกว่ารายงานเงา หรือรายงานคู่ขนานจากประชาสังคมเพื่อจะส่งให้องค์การสหประชาชาติ

การทำบันทึกข้อมูลการร้องเรียนการซ้อมทรมานนี้จะมีประโยชน์คือ สามารถทำให้รัฐบาลเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า สถานการณ์การละเมิดในเรื่องของการซ้อมทรมาน มีประเด็นรายละเอียดอะไรบ้าง ผู้ได้รับผลกระทบเป็นใครบ้าง ข้อจำกัดในเรื่องของการเยียวยา การช่วยเหลือ การนำคนผิดมาลงโทษ หรือขั้นตอนของการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุมีอะไรที่ขาดตกบกพร่องบ้าง

"เราก็เลยรวบรวมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นรูปเป็นร่างเป็นรายงานคู่ขนานขึ้นมา  แต่หลายๆ กรณีอาจจะต้องเริ่มเก็บข้อมูลใหม่ เราจึงได้มีการจัดอบรมความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาฉบับนี้กับเครือข่ายอาสาสมัครของเรา เพื่อให้เข้าใจกลไกการช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น เพราะเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผู้ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยาเบื้องต้น  เช่น ถ้าเขาถูกทำร้ายร่างกายอยู่ในระหว่างการควบคุม เราจะดำเนินการให้มีการตรวจเยี่ยม มันมีการตรวจสอบการใช้อำนาจ ว่าการควบคุมเป็นไปโดยพลการ ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า"

ส่วนหนึ่งการรายงานด้านการซ้อมทรมานจะส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญแล้วก็เห็นว่าประเด็นปัญหามีอยู่จริง ต้องการให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ  มามีส่วนช่วยในการช่วยเหลือเยียวยาแก้ไขด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ พยาบาล หน่วยงานด้านสาธารณสุข เพราะผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ไม่ถึงมือแพทย์ กว่าจะถึงมือแพทย์ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติก่อน คือไปที่เรือนจำ การรักษาบาดแผลก็ต้องรักษาไปตามธรรมชาติ บาดแผลทางด้านจิตใจก็ไม่ได้รับการรักษาอีกด้วย

ดร.พญ.ปานใจ  โวหารดี จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นผู้มาให้ความรู้ในเรื่องวิธีและหลักของการเก็บพยานหลักฐาน หรือกับบุคคลที่ถูกทรมานตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงประโยชน์ของการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ว่า นิติเวช และนิติวิทยาศาสตร์เป็นการหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เอามาใช้  เหมือนเป็นการป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เพราะเมื่อนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาใช้  เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่จำเป็นต้องไปซ้อมผู้ต้องสงสัย เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ ประการที่สอง นิติเวช หรือนิติวิทยาศาสตร์ เป็นเครื่องบันทึก หรือเป็นเครื่องตรวจสอบข้อมูล ในกรณีที่มีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น เช่นการบันทึกบาดแผล หรือว่าการตรวจหาผลข้างเคียงจากการซ้อมทรมานหรือที่มีผลต่อจิตใจ

น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมในโครงการเก็บข้อมูลในเรื่องของคนที่ถูกซ้อมทรมานครั้งนี้ ได้แสดงความคิดเห็นว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า คนที่มองต่างหรือคนที่ถูกกล่าวหาเป็นคนที่สมควรถูกทำร้าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักของความเป็นธรรม ก็เลยต้องมีกลไกเพื่อจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก

"คนที่ถูกซ้อมทรมานแม้ถูกยกพ้องแล้ว แต่เขาจะมีบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป  เขาจะมีความรู้สึกต่อต้านรัฐ ต่อต้านกระบวนการยุติธรรม เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงตอบโต้ ซึ่งมันจะทำให้เหตุความรุนแรงจะขยายขึ้น ความขัดแย้งก็ยิ่งมากขึ้น"

ปัญหาการถูกซ้อมทรมานเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อมูล เช่น ครอบครัวไม่ได้รับรู้ในเรื่องของถูกซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น จะรู้ก็ต่อเมื่อได้ไปฟังการพิจารณาคดีในชั้นศาล เพราะคนที่ถูกซ้อมทรมานกลัวว่าทางครอบครัวไม่ปลอดภัย กังวล เสียใจ จึงให้ข้อมูลได้ไม่มากพอ ส่วนตัวผู้ที่ถูกซ้อมทรมานเองจะสามารถให้ข้อมูลมากพอแต่ก็ขึ้นอยู่กับพูดคุยและความไว้เนื้อเชื่อใจ

จากที่ทีมงานได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในการทำความเข้าใจเรื่องการถูกซ้อมทรมาน  ส่วนใหญ่ชาวบ้านเข้าใจว่าการถูกทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่นั้นสามารถทำได้ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นมีกรณีที่ควบคุมตัวที่อิงคยุทธบริหาร ชาวบ้านบอกว่าช่วยบอกเขาหน่อยว่า อย่าทำแรงๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการทำร้ายร่างกายเป็นการกระทำที่ผิดทางกฎหมาย

ในความเป็นจริงการซ้อมทรมานไม่ใช่เพียงการทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการกระทำอื่นๆ เช่น การใช้คำพูดที่ข่มขู การปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม  การใช้คำไม่สุภาพในที่ที่ไม่เหมาะสม การไม่ได้รับการปฎิบัติตามหลักศาสนา หรือการที่ได้อยู่ในที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเหล้า มีสุนัขอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นความรู้ที่ต้องขยายให้กับชาวบ้านให้เข้าใจมากขึ้น

ด้านนายธรรมรัตน์  อาลีลาเต๊ะ จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ ได้เล่าประสบการณ์จากการถูกคดีความมั่นคงตั้งแต่ปี 2550 ว่าจากที่อยู่ในเรือนจำประมาณปีกว่าๆ แม้ไม่เคยโดนซ้อมทรมาน แต่ได้ฟังจากเพื่อนๆ ที่ถูกควบคุมตัวและที่ได้เห็นกับตาตัวเองของคนที่ถูกซ้อมทรมาน บางคนตาเขียว เดินไม่ได้ บอบช้ำ หลังจากการที่ได้สอบถามเรื่องการทรมาน รู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ไม่โดนทรมาน แค่ถูกข่มขู่เหมือนกับจะทำร้าย แต่เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่รู้ว่าทำงานเป็นครูจึงไม่ได้ลงมือทำร้าย

นายธรรมรัฐกล่าวว่า การทรมานจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะสิ่งที่ภาครัฐได้ทำเช่น การข่มขู่ทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ แต่พอขึ้นชั้นศาลจำเลยกลับปฏิเสธไม่ให้คำสารภาพในกระบวนการยุติธรรม การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกาย หรือกระทำการทรมานต่อประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้คำรับสารภาพถือว่าเป็นการล้มเหลว การอบรมเพื่อการเก็บข้อมูลครั้งนี้ถือว่าเป็นฐานข้อมูลในการที่จะได้ไปพูดคุย เพราะจะได้เห็นกระทำของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนว่าเป็นอย่างไงบ้าง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ม.ค. - 4 ก.พ. 2556

Posted: 04 Feb 2013 04:00 AM PST

 

"สหภาพบัวหลวง" ชุมนุมต่อ เตรียมขอกระทรวงแรงงานตั้งตัวแทนชี้ขาดข้อพิพาท-เงินโบนัส

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลา 12.00 น. สหภาพแรงงานธนาคากรุงเทพ ได้รวมตัวกันที่ลานบัว หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม จำนวนหลายร้อยคน เพื่อชุมนุมกดดันผู้บริหารเรื่องการขอขึ้นเงินโบนัสพิเศษและข้อเรียกร้อง ทั้ง 4 ข้อที่ได้เสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ และการไกล่เกลี่ยที่กระทรวงแรงงานเมื่อสัปดาห์ก่อนยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการเสนอมติต่อมวลชน ก่อนที่จะเข้าไกล่เกลี่ยกับตัวแทนธนาคารในวันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคมนี้ ที่กระทรวงแรงงานอีกครั้ง
 
นายชัยวัฒน์ มาคำจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า คณะกรรมการสหภาพแรงงานมีมติหลังหารือร่วมกันที่จะยกระดับการเจรจาให้เข้มข้น หลังจากที่การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้แทนธนาคารหลายครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ข้อ สรุปและยืดเยื้อมานาน และยังไม่มีท่าทีจากฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ ซึ่งทางฝ่ายบริหารส่งนักกฎหมายเข้าเจรจากับทางสหภาพและอ้างอิงกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจและไม่ได้มีความชัดเจนให้กับทางสหภาพ รวมทั้งพยายามกดดันให้สหภาพฟ้องศาลเพื่อตัดสินเอง ซึ่งกระบวนการทางศาลเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม สหภาพยินดีที่จะเจรจากับทางฝ่ายบริหารตลอด ทั้งนี้อยากให้เรื่องนี้จบให้เร็วเพื่อผลดีของทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากขณะนี้มีกระแสข่าวลือทั้งเรื่องกรรมการสหภาพรับเงินเพื่อยุติการ ชุมนุม รวมทั้งข่าวลือเรื่องฝ่ายบริหารไม่ให้พนักงานใส่ชุดดำ

"สหภาพจะรอความชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 30 มกราคมนี้ หากยังไม่มีข้อสรุปจะเดินหน้าต่อ โดยจะขอให้กระทรวงแรงงานแต่งตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานในวันพฤหัสบดีนี้ โดยจะมีการเสนอชื่อคนกลางฝ่ายละหนึ่งคน ซึ่งตัวแทนของฝ่ายสหภาพจะขอให้ทางกระทรวงแรงงานพิจารณา และเรียกร้องให้ฝ่ายนายจ้างส่งนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เป็นตัวแทนฝ่ายบริหารเพื่อชี้ขาดข้อพิพาท"

โดยข้อเสนอของสหาพแรงงานธนาคารกรุงเทพคือ 1.ขอโบนัส 4 เดือน จากปัจจุบันที่ธนาคารจ่าย 2 เดือน และเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 1 เดือน ข้อที่ 2.เงินประทังชีวิตหลังเกษียณจากปัจจุบัน 3 แสนบาทต่อราย เป็น 4.5 แสนบาทต่อราย ข้อที่ 3 ขอขึ้นอัตราเงินเดือน 6% เท่ากันทั้งธนาคาร หลังจากที่ปรับให้พนักงานประจำ 3% การตลาดฝ่ายขาย 6% และข้อที่ 4.ขอให้มีการแก้ไขการจ่ายคืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากปัจจุบันคิดเป็นอันดับขั้น ให้คิดเป็น 7% เท่ากันทั้งธนาคาร

(มติชนออนไลน์, 29-1-2556)

 

ยังไม่มีลูกจ้างใน 25 จังหวัดขึ้นทะเบียนว่างงานหลังปรับค่าแรง 300 บาท

29 ม.ค. 56 - รมว.แรงงาน เผย ยังไม่มีลูกจ้างใน 25 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้าง 300 บาทแบบก้าวกระโดดขึ้นขึ้นทะเบียนว่างงาน ขณะที่พบการเลิกจ้างเนื่องจากการปรับค่าจ้าง 7 แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1-25 มกราคม 2556 มีสถานประกอบกิจการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 16 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,264 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือนที่ผ่านมา 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน โดยสถานประกอบการที่เลิกจ้างเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีจำนวน 7 แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน จำนวน 435 คน และสถานประกอบการที่เลิกจ้างเนื่องจากผลกระทบอื่นๆ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ธุรกิจขาดทุนสะสมมีทั้งหมด 9 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 598 คน ลูกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน แบ่งเป็นสถานประกอบการที่ปิดกิจการ 3 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 186 คน เพิ่มขึ้น 4 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วน 6 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างรวม 643 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือน 217 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการ ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แปรรูปอาหาร และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า

ขณะเดียวกันจากการรายงานของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่า จ้างขั้นต่ำใน 25 จังหวัด ที่มีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดพบว่ายังไม่มีลูกจ้างรายใดแจ้งขึ้นทะเบียน ว่างงาน เนื่องจากผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท แต่เป็นการแจ้งเลิกจ้างกรณีอื่นๆ จำนวน 99 คน ทั้งลาออกเองและเลิกจ้างในสถานประกอบการ 94 แห่ง

(สำนักข่าวไทย, 29-1-2556)

 

ไฟเขียวลดเงินสมทบประกันสังคมอุ้มเอสเอ็มอี

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากการปรับขั้นค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยปรับลดเงินจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎกระทรวงเดิมที่กำหนดให้ทั้ง รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บ ป่วยทุพพลภาพ/ตาย/คลอดบุตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 เป็นต้นไปที่อัตรา 1.5% ของค่าจ้าง โดยปรับอัตราจ่ายสมทบลงเหลือฝ่ายละ 0.5% ของค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2556 และให้กลับมาเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 1.5% ของค่าจ้างตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2557 เป็นต้นไป ซึ่งการลดเงินสมทบตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดอัตราเงินสมทบด้วย จากเดิมออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท เป็นออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 336 บาทด้วย

สำหรับเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ให้ปรับอัตราเงินสมทบตามกฎกระทรวงเดิมที่รัฐบาลจ่ายสมทบในอัตรา 1% ของค่าจ้าง โดยปรับอัตราสมทบที่รัฐบาลจะต้องจ่ายในส่วนนี้เป็น 2% ของค่าจ้างไปจนสิ้นสุดปี 2556 ส่วนนายจ้างและผู้ประกันตนให้จ่ายสมทบในอัตรา 3% ของค่าจ้างต่อไปเช่นเดิม

นพ.ทศพรกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กรมทางหลวงก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจ้างเหมาะก่อสร้างทางบริการ (โลคัลโรด) ทางหลวงหมายเลข 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง จ.ชลบุรี ตอนที่ 1-2 ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงิน 1,190 ล้านบาท รวมทั้งขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีจากปีงบ 2555-56 เป็นปีงบ 2555-58 ก่อนที่กรมทางหลวงจะไปลงนามในสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาต่อไป

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

(ข่าวสด, 30-1-2556)

 

แจงกมธ.จี้ "รัฐ"เยียวยาผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บ.

(30 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร มีนายนิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานในที่ประชุม มีการพิจารณา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาสถานประกอบการและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งได้รับผลกระทบการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยเชิญนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)มาชี้แจง

นายมนัส กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น300 บาท สร้างความพอใจให้กับแรงงาน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการปิดตัวของโรงงาน แต่ไม่ใช่ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากผลกระทบจากน้ำท่วมปี54 ไปจนถึงการไม่มีคำสั่งซื้อด้วย และยังส่งผลกระทบทำให้เกิดแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ กัมพูชา พม่า ลาว ทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น  จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามา ในประเทศ  นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบางโรงงานใช้วิธี ลดค่ากะ ลดเบี้ยเลี้ยง เพื่อนำไปนับรวมเป็นค่าแรง 300 บาท  จึงอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น

ด้านนายชาลี กล่าวว่า ในปี54 เคยทำการการสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานโดยเฉลี่ยจะอยู่คนละ 348  บาท ซึ่งการขึ้นค่าแรง 300 บาท แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่แท้จริง  เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ผลสำรวจล่าสุดพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแรงงานอยู่ที่ 421 บาท เพิ่มสูงขึ้น 32 % ถามว่าพอใจหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า "พอใจ"แต่ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย  จึงอยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมดูแลราคาสินค้าโดยเฉพาะตัวแปรสำคัญคือค่าแก๊สหุง ต้ม และน้ำมันที่กระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ

นายชาลี กล่าวต่อว่า การขึ้นค่าแรงมีทั้งผลบวกและผลลบ ซึ่งหลังจากขึ้นค่าแรกล็อตแรก7จังหวัด ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย0.5% เป็น0.6 % เพราะส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีบริษัทขนาดใหญ่  แต่ก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 83 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องนำสวัสดิการ ค่าอาหาร ค่ารถนำมาคำนวณเป็นค่าแรงใน300 บาท และบางโรงงานก็ไม่ขึ้นค่าแรงตามที่กำหนด โดยข่มขู่ลูกจ้างไม่ให้ไปฟ้องร้องไม่เช่นนั้นจะถูกปลดออกจากงาน จึงอยากให้ไปสำรวจทุกบริษัทกว่า 4 แสนแห่งทั่วประเทศว่าขึ้นค่าแรง300 บาท จริงหรือไม่

นายชาลี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องลูกจ้างเข้าใหม่ 1 เดือนได้ค่าแรงเท่ากับลูกจ้างที่อยู่มาแล้ว7-8 ปี บางทีคนเป็นหัวหน้าได้เงินน้อยกว่าหรือเท่ากับลูกจ้างเข้าใหม่ ที่สร้างปัญหาในการบริหารงาน หรือมีช่องว่าเรื่องพนักงานที่เหมาช่วงค่าแรง จะไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงในส่วนนี้ด้วย  ในขณะที่โรงงานซึ่งปิดตัว บางครั้งก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอยากเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานตั้งกองทุนขึ้นมา จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชยก่อน หลังจากนั้นเมื่อทางโรงงงานจ่ายเงินมาแล้วก็นำไปใช้คืนกองทุน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ใช้แรงงงาน.

(เดลินิวส์, 30-1-2556)

 

"บีโอไอ" ระบุความต้องการแรงงานของบริษัทรับส่งเสริมการลงทุน 2,000 โครงการปี55 สูงกว่า 2.5 แสนคน

31 นางวาสนา มุทุตานนท์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่ง เสริมการลงทุนใน ปี 2555 (ม.ค.-ธ.ค.) พบว่ามีโครงการที่แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ รวมถึงการขยายการลงทุนในโครงการต่างๆรวม 2,131 โครงการ โดยมีความต้องการแรงงานรวม 254,569 คน แบ่งเป็น กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วไป (ป.6-ม.6) จำนวน 156,877 คน ช่างเทคนิค (ปวช.-ปวส.) จำนวน 48,705 คน และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 34,220 คน

โดยปริมาณความต้องการแรงงานดังกล่าว มีจำนวนใกล้เคียงกับปริมาณความต้องการในปี 2554 ซึ่งมีโครงการแจ้งความต้องการแรงงานจำนวน 1,828 โครงการ และมีปริมาณความต้องการแรงงานรวม 302,115 คน แรงงานที่ต้องการมากอยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วไป (ป.6-ม.6) 204,008 คน ช่างเทคนิค 45,889 คน และปริญญาตรี 36,337 คน

ทั้งนี้ปี 2555 อุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด อยู่ในอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค รองมาเป็นผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำดับ โดยช่างเทคนิค เป็นกลุ่มที่ความต้องการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2554 อาทิ ช่างกลโรงงาน ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้าเครื่องกล ช่างเชื่อมโลหะในขณะที่ระดับการศึกษาปริญญาตรี กลุ่มที่มีความต้องการมากคือ วิศวกรในสาขา เครื่องกล อุตสาหการ ไฟฟ้า รองมาเป็นสายบริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

บีโอไอตระหนักถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนาคต จึงไม่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป แต่จะเน้นอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

(กรุงเทพธุรกิจ, 31-1-2556)

 

ส.จัดหางานลงสัตยาบัน ไม่เอาเปรียบการจัดส่งแรงงาน

นายเกริกศักดิ์ ศักดิ์บดินทร์ นายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับ Tier 2 Watchlist หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ในอนาคตอาจถูกนานาชาติใช้มาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ประเทศชาติโดยรวมได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งในเรื่องนี้สมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ พร้อมด้วยสมาชิกจำนวน 70 บริษัท ทั่วประเทศ ได้ให้สัตยาบันร่วมกันว่าเราจะเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานใน การจัดส่งไปทำงานต่างประเทศไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และจะควบคุมตรวจสอบกันเอง หากมีการฝ่าฝืนจะเพิกถอนจากการเป็นสมาชิก และแจ้งกรมการจัดหางานดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดยในวันที่ 31 ม.ค.2556 จะมีการลงนามให้สัตยาบันกับกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการจัดส่งคนหางานไปทำงาน ไต้หวัน เชื่อว่าต่อไปการเอารัดเอาเปรียบคนหางานก็จะหมดไป คนหางานก็จะได้รับประโยชน์ ก็ต้องขอขอบคุณท่าน รมว.แรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ที่เอาจริงเอาจังและห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงาน ต่างประเทศด้วย

(แนวหน้า, 31-1-2556)

 

บริษัท ฟูจิโคคิ จำกัด หนองแค สระบุรี ปลดคนงานกว่า 100 คน
      
2 ก.พ. 56 - ที่บริเวณหน้าบริษัท ฟูจิโคคิ ประเทศไทย จำกัด หนองแค ตั้งอยู่เลขที่ 35/1 หมู่ 4 ตำบลบัวลอย อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ได้มีพนักงานกว่า 100 คน ได้ชุมนุมกันอยู่หน้าบริษัทฯ เพื่อฟังข้อตกลงเกี่ยวกับพนักงานหยุดงานประท้วง เพื่อต้องการเจรจาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้โบนัสของบริษัทฯ ที่ไม่เป็นธรรม โดยพนักงานเคยขอร่วมเจรจากับนายวิเชียร เฉกไชยเชษฐ์ ผู้จัดการบริษัทฯ แต่ทางบริษัทฯ ไม่รับเจรจาด้วย
      
จนกระทั่งนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสระบุรี ได้เป็นตัวแทนพนักงานเข้าเจรจาเมื่อวานนี้ แต่ปรากฏว่า ทางบริษัทไม่ยอมเจรจา และไม่รับเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นของพนักงานทั้งหมดที่เคยรวมกลุ่มประท้วงไม่เข้าทำงาน
      
ต่อมา นายวิเชียร เฉกไชยเชษฐ์ ได้ออกมาพบพนักงานบริเวณหน้าบริษัทฯ โดยเปิดเผยกับกลุ่มพนักงานว่า ทางบริษัทฯ ยื่นเงื่อนไขให้พนักงานทั้งหมดออกอย่างเดียว พร้อมกับนำกระดาษเปล่าให้กลุ่มพนักงานบางส่วนเซ็นชื่อ โดยอ้างว่า หากผู้ใดมีความประสงค์จะลาออก โดยทางบริษัทฯ จะกรอกข้อความเอง ซึ่งมีพนักงานบางส่วนได้เซ็นชื่อไป และมีบางส่วนที่ไม่ยอมเซ็นชื่อเพราะเกรงจะเสียรู้ให้บริษัทฯ โดยพนักงานทั้งหมดจะได้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรง งานจังหวัดสระบุรี เพื่อขอทราบขั้นตอนในการเลิกจ้างของบริษัทฯ ในครั้งนี้
      
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อถึงนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเลิกจ้างของบริษัทฯ ซึ่งนายกิตติพงษ์ ได้เผยว่า ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงจาก พนักงานทั้งหมดที่เข้าร้องเรียนว่าถูกหรือผิดในกรณีนี้ และพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมในด้านกฎหมายแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-2-2556)

 

สปส.ชี้สธ.เพิ่มค่ารักษาไม่กระทบประกันสังคม

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมให้โรงพยาบาลในสังกัดปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล 10 -15% ว่า กรณีดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม กองทุนยังคงสามารถใช้อัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเดิมซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1,446 บาทต่อคนต่อปีต่อไปได้โดยไม่น่าจะต้องมีการปรับเพิ่ม เนื่องจากก่อนหน้านี้สปส.ได้ช่วยลดภาระด้านงบค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรค ร้ายต่างๆให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่ายระบบประกันสังคมโดยการจัดงบสรรงบกว่า 4,460 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินค่ารักษาให้แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่มีค่า ใช้จ่ายสูงตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม(DRG )ที่มีค่าระดับความรุนแรงของโรค(RW)ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป

"ผมคิดว่าการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบายาลของสธ. ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม จนทำให้ต้องปรับอัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพราะสปส.ได้แยกค่ารักษาโรคร้าย แรงออกมาต่างหากแล้ว ทั้งนี้ สปส.มีคณะกรรมการการแพทย์คอยศึกษาถึงค่ารักษา ค่ายา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากคณะกรรมการการแพทย์เห็นว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มงบอัตราเหมาจ่ายค่ารักษา พยาบาล ก็จะเสนอผลการศึกษาต่อบอร์ดสปส.เพื่อให้พิจารณาปรับเพิ่มงบอัตราเหมาจ่ายค่า รักษาพยาบาล ที่ผ่านมาจะมีการปรับเพิ่มงบนี้โดยเฉลี่ย 2 ปีต่อ 1 ครั้ง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการการแพทย์ยังไม่มีการนำเสนอในเรื่องนี้" เลขาธิการสปส. กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 4-2-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ ลำดับพระราชประวัติและบทบาทที่น่าสนใจของพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ

Posted: 04 Feb 2013 02:52 AM PST

คลิกดูภาพขนาดใหญ่

 

31 ตุลาคม  2465 พระราชสมภพ

25 เมษายน 2484 ขึ้นครองราชย์ครั้งแรก 

15 มิถุนายน 2495 กษัตริย์สีหนุในขณะนั้นได้รณรงค์เรียกร้องให้ฝรั่งเศสคืนอำนาจปกครองแก่กัมพูชาแต่ไม่สำเร็จ

มิถุนายน 2495 เสด็จออกจากพนมเปญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯ จากนั้นได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ยื่นคำขาดกับฝรั่งเศสให้คืนเอกราชที่แท้จริง มิฉะนั้นกัมพูชาจะถอนตัวออกจากสหพันธ์ฝรั่งเศส จากการกดดันของนานาชาติ ในที่สุดฝรั่งเศสรับปากให้เอกราชแก่กัมพูชา สีหนุจึงสิ้นสุดการลี้ภัยในไทยประมาณ 5 เดือน

8 พฤศจิกายน 2495 เสด็จกลับกรุงพนมเปญพร้อมกับปิดฉากอาณานิคมฝรั่งเศสในกัมพูชาที่นานกว่า 90 ปี

15-21 ธันวาคม 2496 เสด็จเยือนไทยเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสตั้งข้อสังเกตว่า "ทรงเป็นหนุ่มหล่อคล้ายดารา เรียกเสียงกรี๊ดจากสาวไทยได้ไม่แพ้สมเด็จพระราชาธิบดี จิ๊กมี เคเซอนัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏานทีเดียว"

2 มีนาคม 2498 สละราชสมบัติให้แก่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต พระราชบิดา เพื่อทรงดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา

2 มี.ค. 2498-5 มิ.ย. 2503 ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา

5 มิ.ย. 2503-18 มี.ค. 2513 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ

มีนาคม 2513 นายพลลอนนอลโค่นล้มอำนาจของพระองค์ ในขณะเสด็จเยือนกรุงมอสโคว์ รัสเซีย จนต้องลี้ภัยในจีนอยู่นานปี

ปี 2518-2521 เข้าป่าเข้าร่วมกับฝ่ายเขมรแดงเพื่อต่อต้านนายพลลอนนอลในยุคที่เขมรแดงปกครอง

19 ส.ค. 2518-2 เม.ย 2519 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ แต่ไร้อำนาจที่แท้จริง ระบอบพลพตดำเนินการซ้ายสุดกู่ ประมาณการว่ามีชาวกัมพูชาสิ้นชีวิตในทุ่งสังหารเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีลูกชาย 5 คนและหลาน 14 คนของสีหนุรวมอยู่ด้วย  ความวุ่นวายของการเมืองตามมาด้วยทหารเวียดนาม 2 แสนนายยึดครองกัมพูชาและสถาปนาระบอบเฮงสัมรินขึ้น  ชาวกัมพูชาลี้ภัยทะลักเข้าแดนไทย ทำให้ประเทศไทยในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่ชูคำขวัญ "แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า" แสดงบทบาทการไกล่เกลี่ยให้เขมรสี่ฝ่ายปรองดอง

มิถุนายน 2534 มีการทำข้อตกลงการหยุดยิงกันที่กรุงเทพฯ จากนั้นกองกำลังนานาชาติปกครองกัมพูชาชั่วคราว จัดการเลือกตั้งและกำเนิดกัมพูชาใหม่  ตอนนั้นนอกจากร้านค้าเปิดใหม่แล้ว เด็กทารกเพศชายเกิดใหม่หลายคนก็ได้รับการตั้งชื่อว่า 'สันติเพียบ' ซึ่งแปลว่า 'สันติภาพ' ด้วย

พ.ศ. 2535-2536 องค์การสหประชาชาติเข้าไปจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ  ครั้งนั้นได้นายกรัฐมนตรี 2 คน คือ สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ และสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน โดยต่อมาฮุนเซนก่อรัฐประหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541เป็นต้นมา

14 พ.ย. 2534-24 ก.ย. 2536 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ

24 กันยายน 2536 ครองราชย์ครั้งที่ 2

7 ตุลาคม 2547 สละราชสมบัติให้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระราชโอรส และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น "พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติกัมพูชา"

15 ตุลาคม 2555 เสด็จสวรรคต ด้วยพระอาการพระหทัยวาย ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ทรงพระประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในพระอันตะ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมพระชนมายุ 89 พรรษา

4 ก.พ. 2556 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยพระราชพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.

บทบาทและสีสันอันเกิดจากกิจกรรมทางการเมืองของกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของชาวกัมพูชา อาจสรุปได้ชัดเจนที่สุดจากคำกล่าวของ ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอชัยตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในวันที่พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุสิ้นพระชนม์ ว่า "จะดีหรือชั่ว กษัตริย์สีหนุเล่นการเมืองแบบ "เปิดเผย" ยอมสละราชบัลลังค์เพื่อเข้าสู่วิถีทางทางการเมือง หรือเมื่อรู้ตัวว่าประชวรมาก ก็ยอมหลีกทางให้พระโอรสสืบราชสมบัติแทน (สีหมุนี) เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างความจงรักภักดีแค่ตัวบุคคล แต่ให้เกิดกับสถาบัน"

 

หมายเหตุ

ข้อมูลและเกร็ดข่าวบางส่วนจากผู้สื่อข่าวอาวุโส สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ซึ่งประจำการอยู่ที่กรุงพนมเปญในช่วงเขมรสามฝ่าย อ่านเพิ่มเติมที่

สีหนุ..กษัตริย์หลากสีสัน ในสายตาสื่อ

http://www.mediainsideout.net/world/2012/10/63

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่ให้ประกัน 'สมยศ' รอบ13 นักกิจกรรม 398 ชื่อส่ง จม.ถึงนายกฯ ประธานศาลฎีกา

Posted: 04 Feb 2013 02:40 AM PST

4 ก.พ.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศแจ้งว่าในวันนี้ได้เดินทางเข้าไปยังศาลอาญาเพื่อรับคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องการขอประกันตัว หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องไปทันทีหลังคำพิพากษาเมื่อวันที่  23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.แล้ว ระบุเหตุผลว่า "พิเคราะห์ตามข้อหาและรูปการณ์แห่งคดี กับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้น ได้พิจารณามาแล้ว นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยถึงกระทงละ 5 ปี รวมสองกระทง 10 ปี หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้จำเลยและผู้ร้องขอประกันตามเป็นหนังสือโดยเร็ว" ทั้งนี้ การยื่นขอประกันตัวครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 13 แล้ว

วันเดียวกัน นักกิจกรรมทางสังคมและประชาชนทั่วไปรวม 398 คน ส่งสำเนาจดหมายเปิดผนึกถึง 1. ประธานรัฐสภา 2. นายกรัฐมนตรี 3. ประธานศาลฎีกา สำเนาถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากออก "แถลงการณ์นักกิจกรรมสังคมและประชาชนทั่วไปกรณีการตัดสินจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข" ซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊กในวันที่ 24 มกราคม จนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2556 จนมีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด 398 คน โดยจุดมุ่งหมายของการส่งจดหมายนี้คณะผู้ริเริ่มแถลงการณ์ระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานทั้งหมดจะรับฟังเสียงของประชาชนและพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม มิให้มีการนำตัวบทกฎหมายมาเป็นเครื่องมือมาจัดการคุมขังผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง และร่วมผลักดันให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง
 
สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ 
 
แถลงการณ์นักกิจกรรมสังคมและประชาชนทั่วไป
กรณีการตัดสินจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2556
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556 ศาลอาญามีการพิพากษาตัดสินให้จำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอยซ์ออฟทักษิณ เป็นเวลา 10 ปี ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นความผิดในฐานะบรรณาธิการ ที่ต้องรับผิดชอบการเผยแพร่บทความ 2 ชิ้นในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว
 
นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งทำงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์ และประชาชนทั่วไปตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้เห็นว่า เป็นบทลงโทษที่รุนแรงจนไม่อาจยอมรับได้ สำหรับสังคมที่แสดงตัวว่าเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนเช่นประเทศไทย
 
จึงมีความเห็นต่อกรณีนายสมยศ ดังต่อไปนี้
 
1. นายสมยศ และนักโทษทางการเมือง และผู้ที่ถูกตั้งข้อหา หรืออยู่ระหว่างดำเนินคดีทางการเมืองทุกคนต้องได้รับการประกันตัวในระหว่างการสู้คดี เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ
 
2. การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ไม่ว่าในกรณีใดก็ตามพึงได้รับการคุ้มครอง
 
3. การเคารพสิทธิในการแสดงความเห็น และอดกลั้นต่อความเห็นต่างเป็นคุณสมบัติของสังคมอารยะ ที่เราต่างต้องเรียนรู้ อดทน และข้ามผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช้เครื่องมือตัวบทกฎหมายมาจัดการคุมขังผู้คนที่เห็นต่างจากตน
 
4. การตัดสินลงโทษสมยศ โดยมีโทษจำคุกถึง 10 ปี เป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป การกระทำผิดโดยข้อหาดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ควรได้รับการตัดสินให้จำคุกและได้รับโทษเยี่ยงอาชญากร
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลำดับพระราชประวัติและบทบาทที่น่าสนใจของพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ

Posted: 04 Feb 2013 02:25 AM PST

คลิกเพื่อชมภาพขนาดใหญ่

31 ตุลาคม  2465 พระราชสมภพ

25 เมษายน 2484 ขึ้นครองราชย์ครั้งแรก  

15 มิถุนายน 2495 กษัตริย์สีหนุในขณะนั้นได้รณรงค์เรียกร้องให้ฝรั่งเศสคืนอำนาจปกครองแก่กัมพูชาแต่ไม่สำเร็จ

มิถุนายน 2495 เสด็จออกจากพนมเปญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯ จากนั้นได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ยื่นคำขาดกับฝรั่งเศสให้คืนเอกราชที่แท้จริง มิฉะนั้นกัมพูชาจะถอนตัวออกจากสหพันธ์ฝรั่งเศส จากการกดดันของนานาชาติ ในที่สุดฝรั่งเศสรับปากให้เอกราชแก่กัมพูชา สีหนุจึงสิ้นสุดการลี้ภัยในไทยประมาณ 5 เดือน

8 พฤศจิกายน 2495 เสด็จกลับกรุงพนมเปญพร้อมกับปิดฉากอาณานิคมฝรั่งเศสในกัมพูชาที่นานกว่า 90 ปี

15-21 ธันวาคม 2496 เสด็จเยือนไทยเป็นทางการในฐานะราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสตั้งข้อสังเกตว่า "ทรงเป็นหนุ่มหล่อคล้ายดารา เรียกเสียงกรี๊ดจากสาวไทยได้ไม่แพ้สมเด็จพระราชาธิบดี จิ๊กมี เคเซอนัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏานทีเดียว"

2 มีนาคม 2498 สละราชสมบัติให้แก่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต พระราชบิดา เพื่อทรงดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา

2 มี.ค. 2498-5 มิ.ย. 2503 ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา

5 มิ.ย. 2503-18 มี.ค. 2513 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ

มีนาคม 2513 นายพลลอนนอลโค่นล้มอำนาจของพระองค์ ในขณะเสด็จเยือนกรุงมอสโคว์ รัสเซีย จนต้องลี้ภัยในจีนอยู่นานปี

ปี 2518-2521 เข้าป่าเข้าร่วมกับฝ่ายเขมรแดงเพื่อต่อต้านนายพลลอนนอลในยุคที่เขมรแดงปกครอง

19 ส.ค. 2518-2 เม.ย 2519 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ แต่ไร้อำนาจที่แท้จริง ระบอบพลพตดำเนินการซ้ายสุดกู่ ประมาณการว่ามีชาวกัมพูชาสิ้นชีวิตในทุ่งสังหารเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีลูกชาย 5 คนและหลาน 14 คนของสีหนุรวมอยู่ด้วย  ความวุ่นวายของการเมืองตามมาด้วยทหารเวียดนาม 2 แสนนายยึดครองกัมพูชาและสถาปนาระบอบเฮงสัมรินขึ้น  ชาวกัมพูชาลี้ภัยทะลักเข้าแดนไทย ทำให้ประเทศไทยในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีที่ชูคำขวัญ "แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า" แสดงบทบาทการไกล่เกลี่ยให้เขมรสี่ฝ่ายปรองดอง

มิถุนายน 2534 มีการทำข้อตกลงการหยุดยิงกันที่กรุงเทพฯ จากนั้นกองกำลังนานาชาติปกครองกัมพูชาชั่วคราว จัดการเลือกตั้งและกำเนิดกัมพูชาใหม่  ตอนนั้นนอกจากร้านค้าเปิดใหม่แล้ว เด็กทารกเพศชายเกิดใหม่หลายคนก็ได้รับการตั้งชื่อว่า 'สันติเพียบ' ซึ่งแปลว่า 'สันติภาพ' ด้วย

พ.ศ. 2535-2536 องค์การสหประชาชาติเข้าไปจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ  ครั้งนั้นได้นายกรัฐมนตรี 2 คน คือ สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ และสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน โดยต่อมาฮุนเซนก่อรัฐประหารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541เป็นต้นมา

14 พ.ย. 2534-24 ก.ย. 2536 ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ

24 กันยายน 2536 ครองราชย์ครั้งที่ 2

7 ตุลาคม 2547 สละราชสมบัติให้พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระราชโอรส และทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น "พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติกัมพูชา"

15 ตุลาคม 2555 เสด็จสวรรคต ด้วยพระอาการพระหทัยวาย ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ทรงพระประชวรด้วยพระโรคมะเร็งในพระอันตะ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง รวมพระชนมายุ 89 พรรษา

4 ก.พ. 2556 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยพระราชพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.

 

บทบาทและสีสันอันเกิดจากกิจกรรมทางการเมืองของกษัตริย์ผู้เป็นที่รักของชาวกัมพูชา อาจสรุปได้ชัดเจนที่สุดจากคำกล่าวของ ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอชัยตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในวันที่พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุสิ้นพระชนม์ ว่า "จะดีหรือชั่ว กษัตริย์สีหนุเล่นการเมืองแบบ "เปิดเผย" ยอมสละราชบัลลังค์เพื่อเข้าสู่วิถีทางทางการเมือง หรือเมื่อรู้ตัวว่าประชวรมาก ก็ยอมหลีกทางให้พระโอรสสืบราชสมบัติแทน (สีหมุนี) เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างความจงรักภักดีแค่ตัวบุคคล แต่ให้เกิดกับสถาบัน"

 

 

หมายเหตุ

ข้อมูลและเกร็ดข่าวบางส่วนจากผู้สื่อข่าวอาวุโส สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ซึ่งประจำการอยู่ที่กรุงพนมเปญในช่วงเขมรสามฝ่าย อ่านเพิ่มเติมที่

สีหนุ..กษัตริย์หลากสีสัน ในสายตาสื่อ

http://www.mediainsideout.net/world/2012/10/63

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ได้เวลาเกิด ถึงเวลาดัน: ถามตอบ ‘องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’

Posted: 04 Feb 2013 02:09 AM PST

4 ก.พ.56 เครือข่ายรณรงค์มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ออกเอกสารรณรงค์ ในรูปแบบถาม-ตอบ เพื่อทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ตลอดจนประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ ไปจนถึงกระบวนการผลักดันและความคืบหน้ากฎหมายนี้ โดยเอกสารรณรงค์ดังกล่าว มีเนื้อหา ดังนี้

0 0 0

ทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61

รัฐบาลเดินหน้าแล้ว... เดินให้สุดทาง เป็นอีกหนึ่งผลงานฝากไว้กับประชาชน

 

ทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61

ถาม ช่วงนี้ทำไมมีข่าวผู้บริโภคถูกต้มถูกหลอกบ่อยจัง โดนฟิตเนสหลอกบ้างล่ะ ซื้อรถใหม่ป้ายแดงแต่ต้องซ่อมแล้วซ่อมอีกบ้างล่ะ ดูทีวีดาวเทียมก็มีแต่โฆษณาหลอกขายยาอาหารเสริมบ้าบอเต็มไปหมด แถมเวลามีฟุตบอลจอกลับดำดูไม่ได้ และเมื่อได้รับซิมฟรี ยังไม่ทันใช้ก็มีใบแจ้งค่าบริการส่งมาให้ถึงบ้าน ยังไม่นับรวมปัญหาเก่าเรื่องบัตรเติมเงินที่วันหมด ถูกยึดเงิน ถูกยึดเบอร์

ตอบ โอ๊ย...ผู้บริโภคไทยถูกต้มถูกหลอกจากการซื้อหรือใช้สินค้าบริการต่างๆมานานแล้วล่ะ ไม่ใช่เพิ่งมามีช่วงนี้หรอก และอันที่จริงเราก็ตกเป็นเหยื่อจากโฆษณาขายสินค้าในรูปแบบต่างๆ แทบทุกวันอยู่แล้ว หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐก็มีอยู่เยอะนะ ทั้ง สคบ. อย. กสทช. กรมการค้าภายใน กรมขนส่งทางบก ฯลฯ ...แต่ว่าหน่วยงานเหล่านี้ถือกฎหมายกันคนละฉบับ ปฏิบัติหน้าที่กันคนละมุม อยู่กันคนละกระทรวง ทบวง กรม ทิศทางการทำงานเพื่อดูแลผู้บริโภคก็เลยออกมาหลายทาง ดูตามความเชี่ยวชาญแต่ไม่มีพลัง เพราะไม่มีใครคอยชี้เป้าให้เห็นถึงปัญหาที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และต้องรีบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

เช่น กรณีจอดำเป็นตัวอย่างที่ดี สคบ.ลุกขึ้นมาเต้นแล้วเงียบหายไป กสทช.อ้างทีวีดาวเทียมยังไม่มีการให้อนุญาต เลยทำอะไรไม่ได้ เหมือนจัดการรถตู้เถื่อนยัดผู้โดยสารเกิน 14 ที่นั่ง เบียดกันเป็นปลากระป๋อง กระทำความผิดสองเด้งคือไม่ได้รับอนุญาตและนั่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด

วิธีการจัดการปัญหาให้สะเด็ดน้ำก็ไม่มี ปล่อยให้เกิดปัญหาซ้ำซาก ความซวยมันก็เลยตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างนี้แหละ

 

ถาม อ้าว...แล้วอย่างนี้ เราจะทำอะไรได้ล่ะ หรือต้องทนกับสภาพปัญหาการถูกหลอกถูกต้มแบบนี้ไปเรื่อยๆ

ตอบ  มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ จะทำให้เราสามารถจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมาจากพวกเรากันเอง คอยเป็นหูเป็นตาร่วมกันกับทุกคน เมื่อรู้สึกถูกละเมิดสิทธิเมื่อไหร่ก็บอกไป องค์การอิสระเขาจัดให้ เป็นปากเป็นเสียง เป็นตัวแทน และปกป้องผู้บริโภคได้ต็มๆ ก็แหงล่ะ ไม่มีใครรู้ปัญหาและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้ดีกว่าพวกเรากันเองนะ แถมให้รัฐสนับสนุนงบประมาณด้วย

เราก็ทำเหมือนกลุ่มธุรกิจที่เขามีการรวมตัวกันเป็นสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม มีสมาชิกสาขาอยู่ทั่วประเทศ ช่วยกันกำหนดทิศทางเป้าหมายการผลิตการขายสินค้า ขอลดภาษี ขอส่งเสริมการลงทุน หรือจัดทำข้อเสนอกับรัฐบาลเพื่อขอการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ

 

มีแล้วมีประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างไร

1. เปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว ที่ปิดกิจการ หากเรามีองค์การอิสระก็จะออกมาเตือนให้ผู้บริโภคระวัง ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังจะไปเป็นสมาชิก ก็น้อยลง แทนที่จะถูกหลอกถูกโกงกันเกือบสองแสนคน ก็น่าจะน้อยลง เสียหายกันน้อยลง

2. ป้องกันปัญหาและเป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุก กรณีที่จะมีการเอารัดเอาเปรียบ เช่น กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาท เป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบภายใน 30 วัน แต่หากมีองค์การอิสระ กรมทางหลวงต้องจัดส่งเรื่องนี้ ขอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้โดยใช้ข้อมูลความรู้ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การทำหน้าที่ให้ความเห็นจะช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภคและช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจากตัวแทนของผู้บริโภคมากขึ้น แทนที่กลุ่มผู้บริโภคต้องอาศัยการฟ้องคดีในการคัดค้านการขึ้นราคาซึ่งก็เป็นปลายเหตุ

3. เท่าทันปัญหาและใช้ชีวิตทันสมัยได้อย่างไม่ถูกหลอกถูกโกง เช่น ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า และโฆษณาในโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เคเบิ๊ลทีวี เพราะแม้แต่เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1 % แต่กลับโฆษณารังนกแท้ 100 %

4. เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จหรือครบวงจร (one stop service) ผู้บริโภคสามารถไปร้องเรียน ตรวจสอบ ขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และติดตามความคืบหน้าได้ในทุกประเด็นปัญหา ทุกข้อเรียกร้อง  แม้องค์การนี้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งห้าม สั่งปิด สั่งรื้อ หรือสั่งปรับ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาก เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหน โทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร

5. ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น กรณีแร่ใยหินที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เดิมประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลาก หากมีองค์การอิสระ ต้องขอความคิดเห็นจากองค์การนี้ ซึ่งจะมีโอกาสเสนอให้ยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือถึงแม้ในปัจจุบันจะมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกการนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกลับโยกโย้ จะทำงานวิจัยใหม่ แทนที่จะปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี องค์การอิสระ ก็จะช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการคุ้มครองผู้บริโภค แทนที่หน่วยงานอื่น ๆ ต้องแก้ปัญหาจากการตีรวนไม่ทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม

6. ผลักดันให้กฎหมายเป็นกฎหมาย เช่น กสทช.กำหนดกติกาให้บริษัทมือถือห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน แต่ในความเป็นจริงทุกบริษัทกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินกันทั้งนั้น ไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด กสทช.ก็มีมาตรการปรับวันละ 100,000 บาท รวม 3 บริษัทก็ตกเดือนละ 9 ล้านบาท แต่บริษัทก็อุทธรณ์ เพราะการไม่ทำตามคำสั่งได้ประโยชน์มากกว่าเพราะมีตัวเลขชัดเจนว่า ผู้บริโภคที่ร้องเรียน ถูกยึดเงินไปเฉลี่ยคนละ 517 บาท หากคิดว่าถูกยึดเงินเพียงร้อยละ 1 จากจำนวน 70 ล้านเลขหมาย บริษัทจะได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท

 

ถาม องค์กรอิสระที่ว่านี้ ใช่ สคบ. หรือเปล่า?

ตอบ ไม่ใช่หรอก สคบ.หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ยังเป็นหน่วยงานของรัฐเหมือนเดิมที่ทำหน้าที่ดูแลผู้บริโภคในเรื่องสัญญาซื้อขาย และการโฆษณาสินค้าและบริการทั่วๆไปเป็นหลัก รวมทั้งยังมีอำนาจปรับ สั่งจับ บริษัทเหมือนเดิม แต่ก็มีปัญหาของผู้บริโภคอีกมากมายเกินกำลังของ สคบ. จะดูแลได้ อย่างเรื่องการขึ้นค่าแก๊ส ค่าไฟ ค่าทางด่วน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่น ซึ่งสคบ. มีข้อจำกัดที่จะตรวจสอบนโยบาย หรือหน่วยงานรัฐกันเอง ที่มักมีปัญหาความไม่โปร่งใสหรือผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐธรรมนูญก็เลยเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ และคนทำงานให้มาจากตัวแทนผู้บริโภคเท่านั้น ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่พ่อค้านักธุรกิจ เพราะรัฐธรรมนูญเชื่อว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาและทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวผู้บริโภคไงล่ะ

 

ถาม ว้าว...อย่างนี้ผู้บริโภคในประเทศไทยก็ไฉไลเลิศประเสริฐสุดแล้วสิ ที่มีองค์กรอิสระนี้มาช่วยเหลือ แถมยังมาจากตัวแทนผู้บริโภคทั้งหมดด้วย

ตอบ ยังหรอก...อย่าเพิ่งดีใจ ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ แต่ก็ต้องมีการออกกฎหมายมารองรับด้วย ที่ผ่านมาประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนได้ช่วยกันลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา

ตอนนี้ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  คณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว รอบรรจุวาระให้สภาผู้แทนราษฎร(สส.) และวุฒิสภา(สว.) พิจารณาเห็นชอบจากทั้งสองสภา

 

ถาม เดี๋ยว ๆๆๆ ตอนนี้กฎหมายนี้ก็สำคัญมากเลยซิ

ตอบ ใช่ เพราะหากสส. หรือ สว. ไม่เห็นชอบกฎหมายก็จะตกไปเลย ที่ทำๆกันมา 15 ปี ก็จะต้องไปนับหนึ่งใหม่ หลับตาไม่ได้เลย ต้องช่วยกันบอกสส.สว. ที่เรารู้จักให้ช่วยออกกฎหมายเพื่อผู้บริโภค

ถ้าเห็นชอบทั้งสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ต่อไป

 

ถาม เอ๊ะ แต่ถ้าสส. เห็นชอบแล้วสว. ไม่เห็นชอบจะเป็นอย่างไร

ตอบ  ถ้าสส.เห็นชอบและวุฒิสภาไม่เห็นชอบ วุฒิสภาจะต้องดำเนินการส่งร่างพระราชบัญญัติคืนให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร สามารถนำร่างกฎหมายองค์การอิสระนี้ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน และถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ ให้ถือว่าร่าง พรบ.ได้รับความเห็นชอบ

 

ถาม แล้วมีเหตุที่สส.จะไม่เห็นชอบกฎหมายฉบับนี้มั้ย ซึ่งจะทำให้กฎหมายตกไปเลย

ตอบ มีหลายเหตุผลทีเดียว เช่น

1. ไม่ให้ตรวจสอบภาคธุรกิจเอกชน ไม่ให้เปิดเผยชื่อสินค้าที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค เพราะอ้างว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ตรวจสอบหน่วยงานรัฐเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ให้ตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค (ซึ่งแปลว่า สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและบริการที่กระทำการละเมิดผู้บริโภคได้?) ซึ่งการตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นการตรวจสอบธุรกิจเอกชนหรือรัฐที่ให้บริการเพราะเป็นผู้ละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญ ซึ่งมีความสำคัญต้องเปิดเผยชื่อเพื่อให้ข้อมูลเพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็ความจริง หากตรวจสอบแล้วพบความจริงผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับทราบ

2. ไม่อนุญาตให้ส่งเรื่องฟ้องคดีต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาดำเนินคดี โดยอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจทำหน้าที่ที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ข้อโตแย้งเหล่านี้เคยได้รับการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ผู้แทนอัยการสูงสุดเป็นผู้แนะนำ หรือแม้แต่ผู้บริโภคในฐานะปัจเจกชน องค์กรผู้บริโภคต่างมีสิทธิในการฟ้องคดีซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานเพื่อให้ได้รับการเยียวยาความเสียหาย หรือเพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง แต่องค์การอิสระ กลับทำหน้าที่ฟ้องแทนผู้บริโภคไม่ได้  หรือหากพูดให้ถึงที่สุดการส่งเรื่องฟ้องคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชี้ถูกหรือผิด เพราะศาลย่อมเป็นผู้วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

3. ไม่เห็นด้วยกับการออกแบบงบประมาณต่อหัวประชากร โดยต้องการให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้กำหนดงบประมาณ เพื่อให้เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ออกแบบให้มีงบประมาณที่แน่นอนทุกปี โดยรับประกันงบประมาณขั้นต่ำในการทำงานไว้ไม่น้อยกว่า 3 บาทต่อประชากร 1 คน หากคิดคำนวณจาก 65 ล้านคน องค์กรนี้ควรได้งบประมาณขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 195 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ว่าได้เงินมาโดยอัตโนมัติ องค์การนี้ก็ต้องทำโครงการแผนงานขององค์กรเหมือนหน่วยงานอื่น ๆ และรวมทั้งต้องรายงานผลงานต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และสาธารณชนทุกปี รวมทั้งทุก 3 ปี จะต้องมีนักวิชาการประเมินผลการทำงานของหน่วยงานนี้

น่าห่วงว่าถ้าประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนโดยไม่มีองค์การอิสระฯ นี้เป็นเกราะกำบัง สงสัยผู้บริโภคไทยเละแน่ ต้องขอแรงผู้บริโภคไทยส่งเสียเชียร์ดังๆ ให้สภาผู้แทนราษฎรออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้แล้ว

 

ถาม หากเป็นเช่นนี้ พลเมืองไทยในฐานะผู้บริโภค จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง?

ตอบ ทำได้หลายอย่างเลย ลองดูกันมั้ย ?

1.สื่อสารกับ สส.ในเขตของท่าน (แปะลิงค์ชื่อ สส.เขต)

2. ให้ load badge ไปแปะที่ FB

3. เขียนความเห็นสนับสนุนแปะลิงค์ไปที่ FB ของ รมต.สำนักนายกฯ

4. ลงชื่อสนับสนุนออนไลน์ F มาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือที่ www.consumerthai.org

5. ติดตามร่วมกิจกรรมหากทำได้และมีโอกาสนะจ๊ะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด สปสช.มีมติชดเชยผู้ให้บริการ 2 เท่าเหมือนผู้รับบริการ กรณีได้รับความเสียหายทาง สธ.

Posted: 04 Feb 2013 01:54 AM PST

มติบอร์ด สปสช.เพิ่มเงินช่วยเหลือแพทย์-พยาบาลที่เสียหายจากการบริการสาธารณสุขตามมาตรา 18(4) อัตราที่จ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยตามมาตรา 41 พร้อมเห็นชอบให้เพิ่มในพื้นที่เสี่ยงภัยในอัตราจ่ายเป็น 2 เท่า มี 3 ระดับ ตั้งแต่สูงสุด 4 แสน กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ 2.4 แสนบาท และบาดเจ็บ 1 แสนบาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังให้แพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการสาธารณสุข

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง "การทบทวนและปรับปรุงอัตราการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ตามมาตรา 18 (4)"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีระบบการชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ให้ทั้งผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข และผู้รับบริการหรือประชาชน โดยผู้รับบริการมีมาตรา 41 ชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยแล้วนั้น สำหรับในส่วนของผู้ให้บริการ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็มีมาตรา 18(4) ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้การคุ้มครองดูแล เพราะเนื่องจากที่ผ่านมา มีแพทย์-พยาบาล ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็ป)  ติดเชื้อโรคจากเหตุสุดวิสัย  ดังนั้น การมีระบบเยียวยาชดเชยดังกล่าว ก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้เจ้าหน้าที่ เป็นการสร้างความมั่นใจถึงระบบการปฏิบัติงานสาธารณสุขการเยียวยาและชดเชยรองรับให้ เป็นสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับทุกฝ่าย

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในส่วนของอัตราการจ่ายชดเชยสำหรับประชาชาชนผู้รับบริการนั้น ได้มีการปรับอัตราเพิ่มไปแล้วในวงเงิน 2 เท่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ดังนั้นมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ได้มอบให้ สปสช. เสนอการปรับปรุงข้อบังคับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ให้บริการให้อัตราการจ่ายเท่าเทียมกับข้อบังคับของผู้รับบริการ ซึ่งที่ประชุมได้   มีมติเห็นชอบให้เพิ่มอัตราการจ่ายช่วยเหลือสำหรับผู้ให้บริการเท่ากับผู้รับบริการ และกรณีพื้นที่เสี่ยงภัยจะเพิ่มอัตราจ่ายเป็นสองเท่าของอัตราที่กำหนดเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น ที่ผ่านมาในกรณีพื้นที่เสี่ยงภัยตั้งแต่ปี 2547-2555 มีการพิจารณาจ่าย 4 ราย เป็นเงิน 160,000 บาท

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สำหรับการปรับอัตราการจ่ายใหม่เป็นดังนี้ 1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวรหรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต ข้อบังคับเดิมจ่ายไม่เกิน 200,000 บาท ข้อบังคับใหม่จ่าย 240,000-400,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ข้อบังคับเดิมจ่ายไม่เกิน 120,000 บาท ข้อบังคับใหม่จ่าย 100,000-240,000 บาท และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ข้อบังคับเดิมจ่ายไม่เกิน 50,000 บาท ข้อบังคับใหม่จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท หลังจากนี้ สปสช.จะจัดทำร่างข้อบังคับเสนอประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาลงนามต่อไป

ทั้งนี้  มีมาตรา 41 ชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยมติดังกล่าวมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา 1. กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ ตั้งแต่240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท 2.กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ ตั้งแต่ 100,000บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท 3.กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องให้จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับชีวิตข้างถนนที่ขาดการเหลียวแล

Posted: 04 Feb 2013 12:56 AM PST

ในปี 2555 ที่ผ่านมา จากการทำงานในพื้นที่เขตพระนครโดยเจาะลึกเฉพาะเจาะจงในพื้นที่สนามหลวง คลองหลอด พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(คนข้างถนน) เสียชีวิตสะสมตลอดทั้งปี 49 คน โดยที่มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่สามารถแจ้งตายในฐานะพลเมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์
 
ผ่านปี 2556 มาเพียง 34 วัน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ(คนข้างถนน) ที่อยู่ในบริเวณ สนามหลวงและคลองหลอด เสียชีวิตแล้ว 6 คน โดยที่ทั้งหมดเสียงชีวิตในสภาพที่อยู่ข้างถนน ภาพที่เกิดขึ้นจนไม่อยากจะเรียกว่า "ชิน" คือ เมื่อใดก็ตามที่ เขตพระนคร เปลี่ยนผู้อำนวยการเขตคนใหม่ มักจะแสดงแสนยานุภาพด้วยการไล่รื้อคนที่ไร้ที่ไปในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ของเขตพระนคร โดยใช้ข้ออ้างเดิม ๆ ได้แก่ เพื่อความสวยงาม การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งแอบอ้างเบื้องสูงว่า เป็นเขตพระราชฐาน ทั้งที่ ข้ออ้างต่าง ๆ ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
 
ในช่วงรณรงค์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่อยู่ในระหว่างการหาเสียงกันอย่างดุเดือด พยายามไล่เรียงหานโยบายจากผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เขาว่ากันว่าเป็นตัวเต็งอย่างน้อย สองสามคน ก็ให้สะท้อนใจว่าไม่มีใครให้ความสำคัญกับชีวิตข้างถนนเลยแม้แต่คนเดียว จะมีก็แต่ผู้สมัครอิสระอย่างน้อยสามคน คือ  นายโสภณ นายโฆษิต และ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์ ที่มีนโยบายเล็ก ๆ อ้างถึงเข้ามาให้สังคมสะกิดหูเล็ก ๆ บ้าง
 
ซึ่งสองในสามคนเน้นการทำให้คนที่อยู่ข้างถนนหายไปจากถนน ด้วยการพาออกจากพื้นที่เป็นสำคัญ ไม่มีแนวทางในการฟื้นฟูหรือค้นหาคำตอบที่แท้จริงของการออกมาใช้ชีวิตข้างถนน เพื่อนำไปสู่การเยียวยา และฟื้นฟูอย่างครบถ้วน เพื่อบรรเทาปัญหาอย่างยั่งยืน
 
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครมีไม่เกิน 3,000 คน แต่หากรวมกลุ่มที่เป็นขอทานทั้งขอทานไทยและขอทานต่างด้าวเข้าไปด้วยแล้วคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน คนเหล่านี้ ต้องได้รับการดูแลในกรณีที่เป็นคนไทยที่ขาดรายได้และไร้ที่พึ่ง ในกรณีที่เป็นคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประสานงานช่วยเหลือหรือส่งกลับอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบมนุษยธรรม และภายใต้เงื่อนไขของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 
 
คำถามคือ จะมีว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนไหนมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้อย่างเข้าใจและนำเสนแนวทางการบรรเทาปัญหานี้อย่างเป็นระบบ แม้ว่า เขาเหล่านี้ เกือบทั้งหมดไม่ใช่ผู้ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ แต่เขาก็ถือได้ว่า เป็นพลเมืองของประเทศไทยที่ต้องได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างเสมอภาคไม่แตกต่างจากพลเมืองคนอื่น ๆ หรือแม้ว่าเขาจะไม่ใช่พลเมืองชาวไทย แต่เขาก็คือ พลเมืออาเซียน ที่ประชาคมอาเซียนต้องดูแลเช่นกัน
 
นายนที  สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยมูลนิธิอิสรชนร่วมกับบ้านมิตรไมตรี กรุงเทพมหานคร ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2555 ถึง 31 ธันวาคม 2555 พบว่า มีจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น 2,846 คน  โดย 5 เขต ที่มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากที่สุด ได้แก่
 
1. เขตพระนคร  518  คน
2. เขตบางซื่อ  263  คน
3. เขตจตุจักร  215  คน
4. เขตปทุมวัน  202  คน
5. เขตสัมพันธวงศ์  173  คน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรแรงงานสากลตีข่าวสหภาพแรงงาน Electrolux ต่อสู้กับการเลิกจ้าง

Posted: 03 Feb 2013 08:12 PM PST

IndustriALL Global Union ยังคงเกาะติดกรณีบริษัท Electrolux เลิกจ้างคนงานในประเทศไทย ด้าน เลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ IF Metall สวีเดนระบุว่าการที่ผู้บริหารบริษัทฯ จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงานนั้น เป็นไปไม่ได้จนกว่าจะรับคนงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน

 
 
บริษัทสวีเดนผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านเล่นตลกโดยการกล่าวอ้างว่าบริษัทรักษาหลักการมาตรฐานสิทธิแรงงานในโรงงานอีเล็คโทรลักซ์ทั่วโลกรวมถึงคำประกาศที่ให้ไว้ในข้อตกลงสากล (Global Framework Agreement) ที่บริษัทลงนามกับ IndustriALL Global Union
 
นับจากวันที่ IndustriALL รายงานเรื่องการกักขังและเลิกจ้างสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงานมากกว่า 100 คนเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 ที่โรงงานผลิตเครื่องซักผ้า Electrolux ที่ระยองประเทศไทย คนงานได้ชุมนุมค้างคืนอย่างต่อเนื่องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสำนักงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี  สหภาพแรงงานได้ทำการรณรงค์สื่อมวลชนเพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน
 
ในจดหมายที่ Electrolux เขียนถึงเลขาธิการ IndustriALLเยอกี้ ไรน่า บริษัท Electrolux กล่าวอ้างอย่างไร้สาระโดยการโยนความผิดให้กับคนงาน และยังอ้างอีกว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานและสหภาพแรงงาน ซึ่งขัดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงงาน
 
วันที่ 25 มกราคม 2556 สหภาพแรงงาน Electrolux พร้อมกับสมาชิก IndustriALL TEAM เดินทางไปที่สำนักงานของบริษัท Electrolux ที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน  มีการประชุมกับผู้บริหารสำนักงานกรุงเทพฯ ซึ่งอ้างว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อขัดแย้งที่โรงงานระยองและอ้างว่าพวกเขาดูแลด้านการขาย
 
วันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2556 สหภาพแรงงานสวีเดน IF Metall และผู้แทนสหภาพแรงงาน Electrolux สวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัท Electrolux (Union Representative on the Electrolux Board of Directors) จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบกับสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์ประเทศไทยและผู้บริหารในประเทศ  เนื่องจากสหภาพแรงงานสวีเดนเป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบบริษัทในด้านการปฏิบัติตามข้อตกลงสากลที่ Electrolux ลงนามร่วมกับ IndustriALL Global Union   
 
Erik Andersson เลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ IF Metall สวีเดนกล่าวว่า "ผู้บริหารบริษัทบอกว่าพวกเขาต้องการฟื้นความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน  ซึ่งเป็นไปไม่ได้จนกว่าคนงานและสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดจะกลับเข้าทำงาน"     
 
นับตั้งแต่วันที่สหภาพแรงงานก่อตั้งสำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2554  ผู้บริหารที่ระยองไม่เคารพสิทธิสหภาพแรงงานตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลในทุกด้าน  และในปี 2555 บริษัท Electrolux ยังยื่นใบสมัครและได้รับรางวัลจากรัฐบาลไทยในด้าน  "สถานประกอบดีเด่นประเภทไม่มีสหภาพแรงงาน"
 
โรงงานระยองมีกำลังการผลิตเครื่องซักผ้าปีละกว่า 1 ล้านเครื่อง
 
ประธานสหภาพแรงงาน ไพวัลย์ เมธา กล่าวในการชุมนุมวันที่ 31 มกราคม ที่กรุงเทพฯ ว่า "Electrolux ควรที่จะเคารพสิทธิสหภาพแรงงานของพวกเราเหมือนกับที่บริษัทปฏิบัติในประเทศสวีเดน"  
 
IndustriALL Global Union ส่งข้อความสมานฉันท์ไปยังสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์ประเทศไทย 
 
ที่มา: http://www.industriall-union.org/dismissed-thai-electrolux-workers-fight-against-dismissal

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น