ประชาไท | Prachatai3.info |
- ทหารพม่าเสียชีวิตหลายสิบ จากการปะทะกับทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ"
- สุณัย ผาสุข
- สหพันธ์แรงงานสวีเดนเจรจา บริษัทตกลงรับคนงาน Electrolux กลับเข้าทำงาน-คงสภาพการจ้างเดิม
- เอกชัย หงส์กังวาน: “ประวัติศาสตร์นิรโทษกรรม” 14 ตุลา- 6 ตุลา- พฤษภา 35
- พม่าหวังไทยต่ออายุการพิสูจน์สัญชาติเพิ่มอีกจากเดือนมี.ค.
- นักอนุรักษ์เฮ! ศาลปกครองให้เพิกถอน มติตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ กก.สิ่งแวดล้อม
- รายงาน: กลัวอะไรนักหนากับ FTA สหภาพยุโรป? ดูโพยคำตอบจากอินเดีย
- ผอ.วิจัยแรงงาน TDRI เผย คนงาน 5 ล้าน ยังได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300
- ‘โอฬาร’ หัวหน้าเจรจารับปาก FTA ไทย-อียู ไม่หมกเม็ด ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
- สุณัย ผาสุข: นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับอย่างเปิดเผยว่าต้องเจรจา
- กสทช.ตั้งทีมตรวจข้อ กม. กรณี 'ดาวเทียมไอพีสตาร์ไทยคม'
- บีบีซีเผยไทยลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับ 'บีอาร์เอ็น'
- พงศ์เทพเปิดห้องประชุม ศธ. ถกแกนนำนักศึกษา หาทางออกเรื่อง ม.นอกระบบ
- ความลักลั่นทางจริยศาสตร์ : ปัญหาทั่วไปของสังคมไทย
- ตำรวจตั้ง 3 ปมสังหาร ‘ผู้ใหญ่จบ’ น้องชายชี้ปมต้านนายทุนทิ้งกากสารพิษ
ทหารพม่าเสียชีวิตหลายสิบ จากการปะทะกับทหารกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" Posted: 28 Feb 2013 11:18 AM PST
มีการปะทะกันระหว่างทหารพม่ ทหารรายหนึ่งซึ่งไม่ต้องการเปิ อีกด้านหนึ่ง กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA ระบุตามข้อมูลของแหล่งข่าวเผยว่ ทั้งนี้ แม้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้สั่งให้กองทัพยุติโจมตีกลุ่ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่่ผ่านมา ทางฝ่ายทหารพม่าได้แจ้งให้ทหาร SSPP/SSA ถอนกำลังออกจากดอยลาน หากไม่ต้องการที่จะทำให้เกิ
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 28 Feb 2013 10:55 AM PST "แม้ผมจะรู้สึกว่า เป็นก้าวสำคัญ แต่รู้สึกว่ายังทำได้ไม่พอ น่าจะทำได้มากกว่านี้ คือกระบวนการที่คุยกันเป็นการคุยแบบไทย เน้นความอาวุโสโดยเชื่อว่าคุยกับตัวหัวหน้าได้ ก็กล่อมลูกน้องได้ แต่สิ่งที่รัฐไทยไม่เคยยอมรับก็คือ สิ่งที่ทำให้เราเอาชนะใจคนไม่สำเร็จ ทำให้เป็นเงื่อนไขของการเข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและใช้ความรุนแรงก็คือ ความยุติธรรม เรามัวแต่หาแกนนำจริงปลอม แต่เงื่อนไขที่ทำให้เขาหาสมาชิกใหม่ได้ทุกวันเพราะเขายังรู้สึกว่าเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง รัฐยังปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เท่าเทียม รัฐไทยยังไม่ได้ให้ความยุติธรรม และไม่ได้ยุติวัฒนธรรมการทำผิดและไม่ได้รับการลงโทษของเจ้าหน้าที่" ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประเทศไทย |
สหพันธ์แรงงานสวีเดนเจรจา บริษัทตกลงรับคนงาน Electrolux กลับเข้าทำงาน-คงสภาพการจ้างเดิม Posted: 28 Feb 2013 09:15 AM PST
ตัวแทนจาก IF Metall และผู้แทนสหภาพแรงงานในบอร์ดของบริษัทแม่ที่สวีเดนเจรจาผู้บริหารไทย ได้ข้อตกลงเบื้องต้นรับคนงานกลับเข้าทำงานทั้งหมดภายใต้สภาพการจ้างเดิม นัดสหภาพแรงงานกับผู้บริหารสานต่อแรงงานสัมพันธ์ 29 มี.ค. นี้ 28 ก.พ. 56 - ตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา ตัวแทนองค์กรสหพันธ์แรงงาน IF Metall ประเทศสวีเดน ซึ่งสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์สวีเดนเป็นสมาชิก และผู้แทนของสหภาพแรงงานอีเล็คโทรลักซ์สวีเดนในบอร์ดของบริษัทอิเล็คโทรลักซ์ ได้เข้าเจรจากับผู้บริหารของบริษัทอิเล็คโทรลักซ์ ประเทศไทยที่ จ.ระยอง สืบเนื่องจากกรณีการเลิกจ้างคนงานอิเล็คโทรลักซ์ในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายได้บันทึกข้อตกลงการประชุม 8 ข้อ มีรายละเอียดดังนี้ 1. ทบทวนข้อเท็จจริง รายละเอียด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำเสนอโดยบริษัท 2. IF Metall แจ้งให้ฝ่ายบริหารทราบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกับที่ IF Metall ได้รับแจ้งจากสหภาพแรงงานฯ 3. ตกลงกันในหลักการว่าถึงแม้จะมีความแตกต่างในด้านข้อมูลการนำเสนอจากทั้งสองฝ่าย แต่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรองดอง 4. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานและบริษัทที่โรงงานใน จ.ระยอง 5. ตกลงกันว่าคนงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดสามารถกลับเข้าสู่การทำงานที่บริษัท Electrolux สภาพการจ้างเดิมเหมือนก่อนที่จะถูกเลิกจ้าง ตำแหน่งงานอาจเปลี่ยน (ตามสภาพงานที่มีอยู่) แต่ไม่ได้หมายความว่าอนุญาติให้บริษัท โอนย้ายไปทำงานอะไรก็ได้ที่อาจเห็นได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือ ลงโทษพนักงาน 6. ในกระบวนการกลับเจ้าทำงาน พนักงานต้องไปแจ้งความจำนงเพื่อกลับเข้าทำงานภายใน 14 วัน ซึ่งบริษัทจะขอให้พนักงานยอมรับเงื่อนไขบางประการก่อนเริ่มงาน ซึ่ง IF Metall จะได้รับแจ้งและสามารถวิพากษ์วิจารณ์เงื่อนไขที่บริษัทเสนอต่อพนักงานได้ ทั้งนี้คณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 8 คน (รวมประธานสหภาพ) กลับเข้าทำงานในสภาพการจ้างเดิม 7. ได้มีการพูดถึงการสร้างแรงงานสัมพันธ์ต่อไปในอนาคตเพื่อทำให้แรงงานสัมพันธ์ที่โรงงาน จ.ระยอง สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานไทย คณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 8 คน (ซึ่งปัจจุบันถูกพักงาน) จะเข้าร่วมในการประชุมเพื่อการสร้างแรงงานสัมพันธ์ โดยการประชุมนัดนี้จะจัดขึ้นที่สำนักงานแรงงาน จ.ระยอง วันที่ 29 มีนาคม 2556 8. IF Metall และบริษัท Electrolux สำนักงานใหญ่จะทำงานอย่างต่อเนื่องในการติดตามและจัดประชุมสมมนาร่วมกันกับบริษัทในประเทศไทยและสหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ ประเทศไทย เพื่อการสร้างแรงงานสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จะมีการปรึกษาหารือกันถึงเรื่องการปฏิบัติตามข้อตกลงสากล ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เอกชัย หงส์กังวาน: “ประวัติศาสตร์นิรโทษกรรม” 14 ตุลา- 6 ตุลา- พฤษภา 35 Posted: 28 Feb 2013 08:50 AM PST (อ่านตอนแรกได้ที่ลิงก์ด้านล่าง)
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ 3 ครั้งคือ เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516, เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 และเหตุการณ์ 17 พ.ค. 2535 ทั้ง 3 ครั้งก่อให้เกิดการนองเลือดและการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ในเวลาต่อมา ผู้เขียนเห็นว่า ประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งนี้น่าสนใจ และสามารถนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 53 จึงขอนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาออกกฎหมายนิรโทษกรรม ในเร็วๆ นี้ 14 ตุลาคม 2516-6ตุลาคม 2519 กับการนิรโทษกรรม 9 ต.ค. 2516 ธีรยุทธ บุญมี และสมาชิกกลุ่มที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ อีก 10 คนเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมดถูกตำรวจจับกุม และถูกกล่าวหาว่า กระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ (ก้องเกียรติ คงคา นักศึกษา ม.รามคำแหง ถูกจับกุม แต่ ไขแสง สุกใส อดีต ส.ส.นครพนม เข้ามอบตัวกับตำรวจในเวลาต่อมา) สร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากจนนำไปสู่การ ชุมนุมครั้งใหญ่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิติขจร ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนก่อนเวลา 12.00 น. ของวันที่ 13 ต.ค. 2516 แต่รัฐบาลอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515 มาตรา 17 ที่ให้อำนาจรัฐบาลสามารถปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรได้ 13 ต.ค. 2516 รัฐบาลจอมพลถนอมไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอ นักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากจึงเดินขบวนจาก ม.ธรรมศาสตร์ ผ่าน ถ.ราชดำเนิน สู่พระบรมรูปทรงม้า แกนนำการประท้วงบางส่วนเข้าเจรจากับรัฐบาล รัฐบาลยอมรับเงื่อนไขปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด และยอมที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปีหน้า 14 ต.ค. 2516 ช่วงเช้าตรู่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อตำรวจขัดขวางการเดินขบวนกลับของนักศึกษา/ประชาชนจนเกิดการปะทะอย่างรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ช่วงเย็น จอมพลถนอม ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร.9 ทรงแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แม้ จอมพลถนอม จะประกาศลาออกแล้ว แต่เหตุการณ์ยังคงตึงเครียด นักศึกษา/ประชาชนยังคงชุมนุมกันอยู่ "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 นักศึกษา/ประชาชนชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และนัดหยุดงานประท้วงบ่อยครั้ง จนทำให้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบ ต่อมาบุคคลที่ต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษา/ประชาชนจัดตั้งกลุ่มต่างๆขึ้นหลายกลุ่ม เช่น นวพล, กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการฝึกการใช้อาวุธจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอ้างเรื่องการรักษาความมั่นคงของประเทศ เดือน ส.ค. 2519 จอมพลถนอมเดินทางกลับเข้าประเทศไทย แต่ถูกนักศึกษา/ประชาชนชุมนุมขับไล่จึงต้องยอมเดินทางออกนอกประเทศ แต่แอบกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง โดยบวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2519 นักศึกษา/ประชาชนจึงชุมนุมขับไล่อีกครั้งที่ ม.ธรรมศาสตร์ 24 ก.ย. 2519 วิชัย เกษศรีพงษา และ ชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม เสียชีวิตระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ตำรวจสรุปสำนวนคดีว่า เกิดจากการผิดใจกับคนในที่ทำงาน สร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษา/ประชาชนเป็นอย่างมากจึงชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 25 ก.ย. 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ถูกกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่ายจนประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับการเลือกกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันเดียวกัน 4 ต.ค. 2519 อภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ แสดงละครล้อเลียนการเสียชีวิตของพนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม ด้วยการแขวนคอ วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์บางฉบับแสดงภาพการแขวนคอดังกล่าว สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกร้องให้กลุ่มคนที่ต่อต้านฯออกมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล 6 ต.ค. 2519 เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างนักศึกษา/ประชาชนที่ชุมนุมอยู่ใน ม.ธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ/กลุ่มคนที่ต่อต้านฯจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากถูกจับกุม ช่วงค่ำ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผบ.สส. นำทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ โดยอ้างเหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษา/ประชาชนของรัฐบาล คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 8 ซึ่งสาระสำคัญในข้อ 1 กำหนดให้การกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ต้องอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร 8 ต.ค. 2520 ธานินทร์ กรัยวิเชียร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 24 ธ.ค. 2519 รัฐบาลธานินทร์ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร ของราชบัลลังก์และเพื่อความสงบสุขของประชาชนก็ดี และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้นรวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง" พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ก่อการรัฐประหาร/เจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา/ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมใน ม.ธรรมศาสตร์ ส่งผลให้นักศึกษา/ประชาชนจำนวนมากยังต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แม้นักศึกษา/ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา แต่ยังเหลือผู้ต้องหา 19 คนที่ไม่ได้รับการประกันตัวคือ บุญชาติ เสถียรธรรมมณี ผู้จัดการแสดงละครล้อเลียนการเสียชีวิตของพนักงานการไฟฟ้า จ.นครปฐม ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อหาอื่น (คดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา) ส่วน สุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) และพวกอีก 17 คนถูกฟ้องในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์และข้อหาอื่น (คดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ) 20 ต.ค. 2520 พล.ร.อ.สงัด นำทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ โดยอ้างว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ/สังคม/อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ, ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน และท่าทีของรัฐบาลต่อการลอบสังหาร ร.9 ที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2520 11 พ.ย. 2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปี 2521 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้มี 3 มาตราคือ "มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง มาตรา 4 ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องในคดีตามวรรคหนึ่งถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น" พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา/ประชาชนที่ถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 รวมทั้งคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ และคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา นับเป็นเรื่องแปลกที่มีการระบุคดีที่จะนิรโทษกรรมไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ หากมองประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จะเห็นได้ว่า หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 นักศึกษา/ประชาชนแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน สิ่งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายตรงข้ามจนนำมาซึ่งการปลุกระดมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกของนักศึกษา/ประชาชนเหล่านี้จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างนักศึกษา/ประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯ สิ่งนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ที่เริ่มจากการที่สื่อมวลชนบางแห่งพยายามปลุกระ ดมประชาชนต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2549 และการจัดตั้งรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากการสนับสนุนของทหาร ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ กับทหาร การนิรโทษกรรมเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 รัฐบาลสัญญาเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะนักศึกษา/ประชาชนเท่านั้น ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนักศึกษา/ประชาชน โดยเฉพาะ "ทหาร" ต้องถูกไต่สวนเช่นเดียวกับที่ DSI ส่งฟ้องเพื่อให้ศาลอาญาไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ในปัจจุบัน สิ่งนี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างความไม่พอใจต่อทหารอย่างมาก เนื่องจากหลายคดีถูกไต่สวนจนใกล้จะมีคำตัดสิน ต่างจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งรัฐบาลธานินทร์ที่มาจากการรัฐประหารโดย พล.ร.อ.สงัด เลือกที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯ ไม่รวมนักศึกษา/ประชาชน จนทำให้นักศึกษา/ประชาชนนับพันคนต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับผู้ ชุมนุม นปช. ในปัจจุบัน ก่อนที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ที่มาจากการรัฐประหารโดย พล.ร.อ.สงัด เช่นเดียวกัน แต่เปลี่ยนบทเป็น "พ่อพระ" เลือกที่จะนิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา/ประชาชนในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า หลังการรัฐประหาร 6 ต.ค. 2519 คดีไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ก็สะดุดหยุดลงทั้งหมด โดยไม่สามารถลงโทษเจ้าหน้ารัฐเหล่านี้ได้แม้แต่รายเดียว บทเรียนนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ การเลือกที่จะนิรโทษกรรมให้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีผลสร้างความไม่พอใจให้กับอีกฝ่ายที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรมได้ นอกจากนี้ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็มักจะมีการนิรโทษกรรมเสมอ พฤษภาทมิฬ 2535 กับการนิรโทษกรรม คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ., พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทบ. และ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. โดยอ้างว่า รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย มีพฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง, ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต, เป็นเผด็จการทางรัฐสภา, ทำลายสถาบันทางทหาร และบิดเบือนคดีลอบสังหาร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และบุคคลสำคัญอื่นๆ เมื่อปี 2525 25 ก.พ. 2534 รสช. ออกประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 เรื่อง ให้อายัดและห้ามจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน โดยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ซึ่งมี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน และทำการอายัดทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย จำนวน 25 คนจาก 7 พรรคการเมือง พล.อ.ชาติชาย เดินทางลี้ภัยไปเดนมาร์ก 2 มี.ค. 2534 อานันท์ ปันยารชุน รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จากการเสนอชื่อของ รสช. บุคคลหลายคนใน รสช. ได้รับตำแหน่งในรัฐบาลอานันท์ 2 พ.ค. 2534 รัฐบาลอานันท์ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 โดยสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น รวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง" พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับ รสช. ซึ่งก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลชาติชาย ส่งผลให้ คตส. ยังคงพิจารณาคดีกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชาติชายต่อไป 3 ม.ค. 2535 พรรคสามัคคีธรรมถือกำเนิดขึ้นจากรวบรวมนักการเมืองจากหลายพรรคการเมือง และบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ รสช. โดยมี ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และ น.ต.ฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค 22 มี.ค. 2535 พรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. มากที่สุด 79 คนจากเก้าอี้ ส.ส. ทั้งหมด 360 ที่นั่ง และพยายามรวบรวมพรรคการเมืองอื่นอีก 4 พรรคคือ พรรคชาติไทย (74 ที่นั่ง), พรรคกิจสังคม (31 ที่นั่ง), พรรคประชากรไทย (7 ที่นั่ง) และพรรคราษฎร (4 ที่นั่ง) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล 195 ที่นั่ง ณรงค์ วงศ์วรรณ ถูกกล่าวหาว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการออกวีซ่าเข้าประเทศให้กับเขา เนื่องจากเขามีความใกล้ชิดกับขบวนการค้ายาเสพติด แม้เขาจะปฏิเสธ แต่ 5 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหันไปสนับสนุน พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรีแทน 7 เม.ย. 2535 พล.อ.สุจินดา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายอย่างมาก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ รสช. 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านคือ พรรคความหวังใหม่, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ออกแถลงการณ์คัดค้านการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา เนื่องจากเขาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 8 เม.ย. 2535 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ประกาศอดข้าวประท้วงหน้ารัฐสภาจนกว่า พล.อ.สุจินดา จะลาออก แต่หลายวันต่อมาเขาเกิดอาการช๊อกจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แม้จะมีบุคคลจากหลายฝ่ายร้องขอให้เขาเลิกล้มการอดอาหารในประท้วงครั้งนี้ แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะอดอาหารประท้วงต่อไป จนทำให้มีผู้สนับสนุนหลายคนร่วมอดอาหารประท้วงด้วย 17 เม.ย. 2535 ร.9 ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้หลายคนเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับ รสช. หรือเป็นอดีตรัฐมนตรีที่ถูกยึดทรัพย์ตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ทั้งที่การพิจารณาคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก 20 เม.ย. 2535 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านจัดการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประท้วงรัฐบาล พล.อ.สุจินดา โดยมีประชาชนเข้าร่วมฟังการปราศรัยนับแสนคน การชุมนุมยุติลงอย่างสงบในวันเดียวกัน 6 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาวันแรก โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการอดอาหารประท้วงของบุคคลต่างๆ และอ้างว่า รัฐบาลชุดนี้ชอบด้วย รธน. ส.ส. ฝ่ายค้านหลายคนประกาศไม่เข้าร่วมการแถลงนโยบายรัฐบาลในครั้งนี้ และเข้าร่วมประท้วงกับผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภา พรรคชาติไทยเตรียมนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้ง 7 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเป็นวัน ที่ 2 โดยกล่าวหาว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยแบบ "สภาเปรซิเดียม (ระบอบสภาสูงสุดก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต)" จนถูก ส.ส. ฝ่ายค้านหลายคนประท้วง หลังจากนั้น อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาประกาศปิดการแถลงนโยบายรัฐบาล พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.สส. ประกาศเตรียมสลายการชุมนุม ส่งผลให้แกนนำการชุมนุมต้องเคลื่อนผู้ชุมนุมนับแสนคนที่กำลังประท้วงที่หน้ารัฐสภาไปชุมนุมที่สนามหลวงแทนเพื่อความปลอดภัย 8 พ.ค. 2535 พล.ต.จำลอง ยื่นเงื่อนไขให้ พล.อ.สุจินดา ออกมาแถลงการณ์ด้วยตนเองว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายใน 1 เดือน และต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ต่อมาผู้ชุมนุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกติดตาม พล.ต.จำลอง ไปชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน ขณะที่ส่วนหลังชุมนุมต่อที่สนามหลวง 9 พ.ค. 2535 พล.ต.จำลอง ขอมติจากผู้ชุมนุมเลิกการอดอาหารประท้วงเพื่อชุมนุมต่อไป และประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมเพื่อป้องกันข้อครหา แต่ ร.ต.ฉลาด และผู้สนับสนุนหลายคนยังไม่ยอมยุติการอดอาหารประท้วง อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแถลงข่าวมติการประชุมของพรรคการเมืองในรัฐสภา 9 พรรค โดยอ้างว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็น เช่น ประธานสภาผู้เป็นแทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยจะยื่นวาระให้ประธานรัฐสภาในวันที่ 15 พ.ค. 2535 11 พ.ค. 2535 แกนนำการชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมชั่วคราวเพื่อรอท่าทีจาก 9 พรรคการเมือง โดยนัดที่จะจัดการชุมนุมที่สนามหลวงอีกครั้งในวันที่ 17 พ.ค. 2535 15 พ.ค. 2535 5 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่า เป็นการให้สัมภาษณ์โดยพลการของประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียงผู้เดียว และยืนยันว่า จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อให้ พล.อ.สุจินดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบวาระ 4 ปี รัฐบาล พล.อ.สุจินดา ออกคำสั่งไปถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้ามาในกรุงเทพเพื่อชุมนุม และเตรียมจัดคอนเสิร์ต "รวมใจต้านภัยแล้ง" ที่สนามกีฬากองทัพบกในวันที่ 17 พ.ค. 2535 17 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา เดินทางไป จ.น่าน พรรคราษฎรแสดงความไม่เห็นด้วยหากนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต รัฐบาลจัดงานคอนเสิร์ต "รวมใจต้านภัยแล้ง" ที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ มีผู้ร่วมงานนับหมื่นคน ส่วนแกนนำการชุมนุมจัดการชุมนุมที่สนามหลวง โดยมีผู้ร่วมชุมนุมนับแสนคน กลุ่มรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประกาศบนเวทีพร้อมจะหยุดงานทันทีหากรัฐบาลให้กำลังสลายการชุมนุม แกนนำการชุมนุมประกาศบนเวทีเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามคำตอบจาก พล.อ.สุจินดา ผู้ชุมนุมบางส่วนจึงเดินทางออกจากสนามหลวงไปทำเนียบรัฐบาลผ่านทาง ถ.ราชดำเนิน ขณะที่ผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งยังคงปักหลักที่สนามหลวง เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศเกิดการปะทะกับตำรวจ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก การปะทะยุติลงชั่วคราว โดยผู้ชุมนุมสามารถยึดสะพานผ่านฟ้าลีลาศได้ ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกยึดสถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง อีกบางส่วนเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แกนนำการชุมนุมประกาศบนเวทีปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น 18 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา และ พล.อ.อ.อนันต์ กลินทะ รมว. มหาดไทย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยห้ามมีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 10 คน ทหาร/ตำรวจใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 2 ครั้งจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จนต้องมีการเจรจาระหว่างแกนนำการชุมนุมและ พล.ต.ฐิติพงษ์ เจนนุวัตร ผู้บัญชาการกองพล 1 ทหารปิดกั้นสะพานพระปิ่นเกล้า, ท่าพระจันทร์, สี่แยกคอกวัว และ ถ.ราชดำเนิน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมใหม่เข้ามา ซึ่งขณะนั้นมีผู้ชุมนุมนับหมื่นคน พล.อ. สุจินดา ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์กล่าวหา พล.ต.จำลอง และบุคคลบางคนเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายสถานที่ราชการจึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย ทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศอีกครั้ง เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงอีกครั้ง ผู้ชุมนุมจำนวนมากต้องแตกกระจาย พล.ต.จำลอง ยอมมอบตัว ผู้ร่วมชุมนุมถูกจับกุมนับพันคน แม้ว่า พล.ต.จำลอง จะถูกจับกุมตัวไปแล้ว แต่ผู้ชุมนุมที่เหลือยังคงไม่ยุติการชุมนุม และรวมตัวกันอีกครั้งที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกยึดรถบรรทุกน้ำ/เสบียงของทหารและเผาทำลาย ขณะที่ 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านออกประกาศร้องขอให้รัฐบาลยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม และขอให้มีการสอบสวนการสลายการชุมนุมในครั้งนี้ รัฐบาล ออกประกาศจับแกนนำ 7 คนคือ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, น.พ.เหวง โตจิราการ, น.พ.สันต์ หัตถีรัตน์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, น.ส.จิตราวดี วรฉัตร และ วีระ มุสิกพงศ์ ต่อมา น.ส.จิตราวดี วรฉัตร เข้ามอบตัวต่อตำรวจ ขณะที่ผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บย้ายเข้าไปหลบในโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกเผาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อีกบางส่วนพยายามเผากรมประชาสัมพันธ์ แต่ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งดับได้ทัน นอกจากนี้ยังมีขบวนการมอเตอร์ไซค์เคลื่อนขบวนไปตามถนนหลายแห่งในกรุงเทพ เช่น ถ.พระรามสี่, สะพานขาว, เยาวราช, ราชวงศ์, สถานีรถไฟหัวลำโพง, ท่าพระ เพื่อทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และชักชวนประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวง ตำรวจจึงจัดชุดไล่ล่าเพื่อปราบปรามขบวนการมอเตอร์ไซด์ 19 พ.ค. 2535 เกิดเหตุไฟไหม้กรมประชาสัมพันธ์ซ้ำ โดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศอีกครั้ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมากอีกครั้ง ผู้ชุมนุมต้องถอยร่นไปโรงแรมรัตนโกสินทร์ และถูกทหารจับกุมจำนวนมาก วีระ มุสิกพงศ์ เข้ามอบตัวกับตำรวจ โดยไม่ขอประกันตัว ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกเผากรมสรรพากร พ.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการกองทัพบก แถลงข่าวที่หอประชุมกองทัพบกปฏิเสธข่าวทหารยิงประชาชน ประชาชน/สถาบันการศึกษา/แพทย์ชุมนุมในหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, ภูเก็ต, อุบลราชธานี, สงขลา และเชียงใหม่ ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรง และให้ พล.อ.สุจินดา ลาออก พรรคความหวังใหม่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว พล.ต.จำลอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามมิให้จับกุม ส.ส. ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ชุมนุมบางส่วนย้ายมาชุมนุมที่ ม.รามคำแหง โดยสร้างแนวรั้วป้องกันการสลายการชุมนุม ขณะที่ทหารเตรียมกำลังเพื่อสลายการชุมนุมที่ ม.รามคำแหง 20 พ.ค. 2535 สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เผยแพร่ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯประทานสัมภาษณ์ที่ฝรั่งเศสถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย โดยทรงร้องขอให้ทุกฝ่ายเลิกรุนแรง ผู้ชุมนุมบางส่วนรวมตัวกันที่ ถ.ราชดำเนิน แต่ทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็ว ขณะที่ต่างจังหวัดยังมีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง พล.อ.สุจินดา ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บ 600 คนเท่านั้น ต่อมารัฐบาลออกประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. แต่ผู้ชุมนุมยังคงปักหลักใน ม.รามคำแหง นับแสนคน โทรทัศน์ เผยแพร่การเข้าเฝ้าของ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง ต่อในหลวง ร.9 โดยทรงชี้แนะให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ต่อมา พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง ออกแถลงข่าวร่วมกัน โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่า จะปล่อยตัว พล.ต.จำลอง และออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุม และจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต.จำลอง แถลงว่า ขอให้ผู้ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ 21 พ.ค. 2535 แกนนำการชุมนุมตัดสินใจสลายการชุมนุมในเวลา 4.00 น. แม้จะผิดหวังที่ พล.อ.สุจินดา ยังไม่ประกาศลาออก 23 พ.ค. 2535 รัฐบาล พล.อ.สุจินดา ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า "บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าวไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง" พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ให้กับผู้ชุมนุม/เจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุการณ์การชุมนุมทางเมืองระหว่างวันที่ 17-21 พ.ค. 2535 สร้างความกังขาให้กับหลายฝ่ายที่มองว่ากฎหมายนิรโทษกรรม นี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับการสังหารผู้ชุมนุม 24 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ มีชัย ฤชุพันธ์ รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 48 วัน มีชัยมีคำสั่งให้ยกเลิกประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น ส่วน ร.ต.ฉลาด ประกาศยุติการอดอาหาร ปลาย พ.ค. 2535 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (ในขณะนั้นยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังเป็นส่วนหนึ่งของศาลฎีกา) วินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจตาม รธน. มาตรา 173 3 มิ.ย. 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 1/2535 โดยวินิจฉัยว่า "ตามบทบัญญัติของมาตรา 173 วรรคหนึ่งจะเห็นได้ว่า กรณีที่สมาชิกวุฒิสภาก็ดี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดี จะมีสิทธิเสนอความเห็นว่า พระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะต้องเป็นกรณีที่ พระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 172 วรรคหนึ่งเท่านั้น กล่าวคือ พระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอความเห็นให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนอกเหนือจากกรณีเงื่อนไขตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งไม่ได้" จากสาระสำคัญในส่วนนี้ชี้ชัดว่า 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่สามารถอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 173 เพื่อขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ดังนั้นความหวังในการคัดค้าน พรก. ฉบับนี้ในครั้งที่ 1 จึงต้องจบสิ้นลง 9 มิ.ย. 2535 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้อีกครั้ง โดยอ้างว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 172 10 มิ.ย 2535 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ตัดสินใจนำชื่อ อานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯแทน ส่งผลให้อานันท์ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 30 มิ.ย. 2535 อานันท์ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 13 ก.ย. 2535 5 พรรคร่วมรัฐบาลถวายฎีกาคัดค้าน แต่ไม่เป็นผล 22 ก.ค. 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 โดยวินิจฉัยว่า "การตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ก็เป็นวิธีที่แก้ไขเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นให้เรียบร้อยลงได้ และให้เกิดความสามัคคีในประชาชนชาวไทยและเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติต่อไป ดังนั้นการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษารักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ส่วนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และคณะเห็นว่า การออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนี้ คณะรัฐมนตรีมิได้มีการประชุมปรึกษาหารือกัน เพียงแต่ออกหนังสือเวียนแทนการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมตินั้น เป็นปัญหาตามมาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยให้ได้ เพราะมาตรา 173 ให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอความเห็นเพื่อให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เฉพาะความเห็นที่ว่า พระราชกำหนดไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งเท่านั้น" จากสาระสำคัญในส่วนนี้ชี้ชัดว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ส่วนวรรคสองนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยให้ได้ ดังนั้นความหวังในการคัดค้าน พ.ร.ก. ฉบับนี้ในครั้งที่ 2 จึงต้องจบสิ้นลง 13 ก.ย. 2535 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. มากที่สุด 79 คนจากเก้าอี้ ส.ส. ทั้งหมด 360 ที่นั่ง และรวบรวมพรรคการเมืองอื่นอีก 4 พรรคคือ พรรคความหวังใหม่ (51 ที่นั่ง), พรรคพลังธรรม (47 ที่นั่ง), พรรคกิจสังคม (22 ที่นั่ง) และพรรคเอกภาพ (8 ที่นั่ง) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล 207 ที่นั่ง 23 ก.ย. 2535 ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 9 ต.ค. 2535 รัฐบาลชวนออกประกาศประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การไม่อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ระบุว่า "ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอขอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 นั้น ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประจำปี พ.ศ.2535 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญ ครั้งที่หนึ่ง) วันพุธที่ 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว จึงทำให้พระราชกำหนดตกไป จึงประกาศมาตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้เป็นการยกเลิก พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพื่อเปิดทางสู่การดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นำมาซึ่งข้อสงสัยว่า แม้จะมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ออกมา แต่จะมีผลย้อนหลังต่อการนิรโทษกรรมจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้หรือไม่ 28 ต.ค. 2535 รัฐบาลชวนส่งคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้มีผลย้อนหลังต่อการนิรโทษกรรมจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้หรือไม่ 9 พ.ย. 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535 โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
จากสาระสำคัญในส่วนนี้ชี้ชัดว่า แม้ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้จะตกไป แต่การนิรโทษกรรมยังมีผลอยู่ตลอดไป ดังนั้นความหวังในการคัดค้าน พ.ร.ก. ฉบับนี้จึงต้องจบสิ้นลงตลอดกาล หากมองประวัติศาสตร์ช่วงพฤษภาทมิฬจะเห็นได้ว่า การปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐนำมาซึ่งเหตุการณ์เผา/ทำลายสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งไม่ชัดเจนว่า เกิดจากผู้ชุมนุมหรือเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ชุมนุม สิ่งนี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 แต่การนิรโทษกรรมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รัฐบาล พล.อ.สุจินดา เลือกที่จะนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย โดยการออกเป็น พ.ร.ก. เพื่อความรวดเร็ว แม้ว่าจะมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะคัดค้านการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ แต่ก็ไม่เป็นผล ผู้เขียนเห็นว่า บทเรียนนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับ การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะที่ยังมีอำนาจ แม้ภายหลังจะหมดสิ้นอำนาจ กฎหมายนิรโทษกรรม นั้นก็ยังมีผลบังคับใช้ตลอดไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พม่าหวังไทยต่ออายุการพิสูจน์สัญชาติเพิ่มอีกจากเดือนมี.ค. Posted: 28 Feb 2013 08:47 AM PST รองรมต. แรงงานพม่าระบุ หวังไทยจะต่อเพิ่มเวลาจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเพิ่มอีก จากเดิมขยายจากธ.ค. เป็นมี.ค. เสนอให้อาจเพิ่มเป็นถึงเดือนพ.ค. 56 หากจำเป็น เนื่องจากยังมีแรงงานพม่าอีกราว 1.2 ล้านคน ที่ยังตกค้างจากการจดทะเบียน 28 ก.พ. 56 - รองรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานพม่า อู เมียน เทียน กล่าวในการมาเยือนประเทศไทยในงานสัมมนาเรื่องแรงงานข้ามชาติที่กรุงเทพฯ ว่า ทางพม่าหวังจะให้ไทยขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติเพิ่ม หลังจากคณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาเส้นตายการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าแล้วจากเดือนธ.ค. 55 มาเป็นกลางเดือนมี.ค. 56 โดยชี้ว่ายังมีแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกกว่าล้านคน จึงอาจต้องขยายเวลาเพิ่ม ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ต้องร่วมหารือกับรัฐบาลไทยต่อไป อู เมียน เทียน กล่าวว่า ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยและพม่าในการขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติ และเพิ่มศูนย์จดทะเบียนแรงงานอีก 11 ศูนย์ เป็นเรื่องที่นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เนื่องจากทำให้แรงงานพม่าในไทยได้รับการพิทักษ์สิทธิต่างๆ ตามกฎหมายแรงงาน รวมถึงทำให้ลูกๆ ของแรงงานข้ามชาติที่ปัจจุบันมีราว 200,00 มีสิทธิได้รับการศึกษา ข้อมูลจากรองรมต. กระทรวงแรงงานพม่า ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานพม่าในไทยราว 2.5 ล้านคน มีแรงงานพม่า 1.3 ล้านคน ที่จดทะเบียนแล้ว ในขณะที่อีก 1.2 ล้านคน ยังไม่ได้จดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะทำให้ถูกส่งกลับประเทศ และไม่ได้รับการพิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย อู เมียน เทียน กล่าวว่า เนื่องจากมีแรงงานจำนวนมากที่ยังตกค้างจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ อาจเสนอให้รัฐบาลขยายเวลาเพิ่มอีก เป็นจากเดือนมี.ค 56 ถึงเดือนพ.ค. 56 หากจำเป็น ในแง่ของการพิทักษ์สิทธิแรงงานข้ามชาติ เขากล่าวว่า ได้ดำเนินการโทรศัพท์ฮอตไลน์ที่ศูนย์จดทะเบียนแรงงานทั้ง 11 แห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ยังไม่มีแรงงานพม่าได้ใช้บริการฮอตไลน์ดังกล่าวเท่าที่ทราย เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าต้องติดต่อหน่วยงานใดในเรื่องอะไรบ้าง อู เมียน เทียนกล่าวว่า หลังจากกลับไปพม่าแล้วหวังว่าตนจะได้สร้างความเข้าใจเรื่องนี้ในหมู่แรงงานพม่าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในงานแถลงข่าวที่จัดโดยเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง ที่โรงแรมไอบิส ริเวอร์ไซด์ ยังได้มีการแถลงเรื่องข้อเสนอจากเครือข่ายองค์กรประชาสังคมจากไทย กัมพูชา และพม่า หลังจากมีการสัมมนาว่าด้วยเรื่อง "แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มนํ้าโขง ความมุ่งมั่นที่จะอยู่ร่วมกัน" โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในลุ่มแม่น้ำโขง อาทิ ให้จัดตั้งคณะกรรมการในระดับภูมิภาคเพื่อตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติ ให้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาในหัวข้อที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การย้ายถิ่น และการย้ายถิ่นในปัจจุบัน ให้ดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐ ครู พยาบาล เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
นักอนุรักษ์เฮ! ศาลปกครองให้เพิกถอน มติตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ กก.สิ่งแวดล้อม Posted: 28 Feb 2013 04:41 AM PST คดีเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมฟ้องศาลปกครอง ร้อง ครม.แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองกลางให้เพิกถอนมติ มีผลทันทีนับแต่วันที่ 4 ธ.ค.50 เป็นต้นมา วันนี้ (28 ก.พ.56) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่าเมื่อเวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีที่สมาคมฯ และองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต่อศาลปกครอง ฐานเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณี คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.50 มีมติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชุดใหม่ 8 คนแทนชุดเดิมที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 50 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้องค์กรนักอนุรักษ์ไม่ยอมรับและนำข้อพิพาทมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง จนศาลได้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติดังกล่าวในวันนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวให้ข้อมูลว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ) กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องมีตัวแทนจากภาคเอกชนไม่เกิน 8 คน และกึ่งหนึ่งต้องแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แต่คณะรัฐมนตรีกลับหยิบยกรายชื่อบุคคลอื่น ซึ่งไม่ได้มาจากการเสนอชื่อขององค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมมาแต่งตั้ง ทั้งนี้ องค์กรนักอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีมติร่วมกันเสนอรายชื่อตัวแทนให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีทั้งหมด 4 คน คือ ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ว่าที่ ร.ต.สุรพล ดวงแข นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ แต่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่งตั้ง กลับไม่มีรายชื่อผู้แทนองค์กรเอกชนทั้ง 4 คน โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง คือ นายพนัส ทัศนียานนท์ นางปราณี พันธุมสินชัย นายสนิท อักษรแก้ว นายจงรักษ์ ผลประเสริฐ และนายประสงค์ เอี่ยมอนันต์ ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ จึงไม่อาจถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้แทนภาคเอกชนแต่อย่างใด อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 12 แห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 275/2556 พิพากษาเพิกถอนมติการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว และให้มีผลทันทีนับแต่วันที่ 4 ธ.ค.50 เป็นต้นมา นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ต้องพิจารณาต่อไปว่า การดำเนินการกระทำนิติกรรม หรือมีมติใดๆ ของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งถูกเพิกถอนมติการแต่งตั้งไปนั้น จะถือได้ว่าเป็นมติที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นโมฆะหรือไม่ โดยเฉพาะการให้ความเห็นชอบในโครงการหรือ EIA ต่างๆ ที่สมาคมฯ ฟ้องร้องเพิกถอนต่อศาลอยู่หลายคดี อาทิ โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และโครงการต่างๆ ทั่วประเทศซึ่งจะต้องถือว่าโมฆะตามไปด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: กลัวอะไรนักหนากับ FTA สหภาพยุโรป? ดูโพยคำตอบจากอินเดีย Posted: 28 Feb 2013 04:20 AM PST
เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ ตามแผนการเดินทางเยือนสหภาพยุโรปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม จะมีการประกาศเปิดการเจรจาโดยมีกรอบครอบคลุมในด้านการค้า การลงทุน และลดอุปสรรคการค้า "ยืนยันว่าไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ และเอฟทีเอจะทดแทนกรณีอียูตัดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ในปี 2557" บุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีพาณิชย์กล่าว สิทธิพิเศษทางภาษีดูจะเป็นประเด็นที่รัฐบาลและภาคเอกชนให้ความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมันกำลังจะหมดลงภายในปี 2557 นี้ และหากไม่มีการเจรจาเอฟทีเอ อียูก็อาจไม่ต่อสิทธิพิเศษนี้ให้ ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมก็ส่งเสียงค้านกันจ้าละหวั่น เพราะเห็นว่าในเนื้อหาส่วนที่ไม่ใช่เรื่องการค้าโดยตรง อย่างบทว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีปัญหาที่จะทำให้ราคายาพุ่งสูง และการคุ้มครองสิทธิของนักลงทุนจะมีความสำคัญมากกว่าสวัสดิการของประชาชน สิ่งที่เป็นคีย์เวิร์ดในเรื่องนี้ที่เราได้ยินบ่อยก็คือ "ทริปส์พลัส" หรือข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มากไปกว่าที่องค์การการค้าโลกกำหนด และแน่นอน มันถูกบรรจุอยู่ในเอฟทีเอฉบับต่างๆ ทั้งของอเมริกาและยุโรป แม้ว่ารัฐมนตรีพาณิชย์ จะออกมายืนยันว่า "การเจรจาจะไม่เกินหลักเกณฑ์องค์การการค้าโลก" แต่คำพูดสวยหรูนี้ก็ไม่อาจเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 1. กระบวนการเจรจาขาดความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ 2. ความเคี่ยวของประเทศมหาอำนาจเอง ในกรณีหลังนี้เราจะลองเทียบจากประสบการณ์ของอินเดียที่เริ่มต้นเจรจากับอียูมาก่อนหน้านี้หลายปี และยังยื้อกันอยู่อย่างแข็งแกร่ง เพราะอะไร? มีอะไรน่ากังวล?
มหากาพย์ของ 'เด็กดื้อ' - อินเดียKajal Bhardwaj นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มเอ็นจีโอไทย เธอเล่าประสบการณ์ของอินเดียให้ฟังว่า อินเดียนั้นเป็น 'เด็กดื้อ' ตั้งแต่สมัยองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เริ่มสร้างหลักเกณฑ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่เรียกว่า ทริปส์ (TRIPS) ในปี 2538 แล้ว เพราะอินเดียเห็นว่าให้การคุ้มครองเจ้าของสิทธิบัตรมากเกินไปถึง 20 ปี จึงไม่รับ และยอมรับกติกานี้อีก 10 ปีให้หลัง ทำให้อุตสาหกรรมยาของอินเดียวพัฒนาไปได้ไกลมากจนกลายเป็น "เบอร์หนึ่ง" ของการผลิตยาราคาถูกเป็นที่พึ่งให้ประเทศยากจนทั่วโลก ปี 2548 เมื่ออินเดียรับทริปส์ กฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียก็แข็งแกร่งมาก และใส่กลไกยืดหยุ่นต่างๆ เต็มที่ และมีการนำไปใช้จริงมากที่สุด ยาสำคัญ อย่างยาต้านไวรัสจะไม่ติดสิทธิบัตรในอินเดียว โดยมีการคัดค้านคำขออย่างเต็มที่ ทั้งก่อนขอสิทธิบัตร หลังขอสิทธิบัตร หรือกระทั่งฟ้องร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตร การผลิตยาชื่อสามัญของอินเดียมีผลอย่างสำคัญต่อราคายาในตลาดโลก ยกตัวอย่าง ยาต้านไวรัสในสหรัฐ ราคา 10,439 เหรียญต่อคนต่อปี เมื่อบราซิลผลิตยาชื่อสามัญตัวนี้ได้ ราคายาตัวนี้ลดลงเหลือ 2,700 เหรียญต่อคนต่อปี เมื่ออินเดียสามารถผลิตยาชื่อสามัญตัวนี้ได้ ราคายาก็ลดลงไปอีก เหลือ 295 เหรียญต่อคนต่อปี
ปี 2544 มีการเจรจากันที่โดฮา ต้องให้มีการแปลความทริปส์ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์การเข้าถึงยามากขึ้น โดยระบุช่องทางการใช้กลไกยืดหยุ่นในการใช้หลักเกณฑ์ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ เช่น การบังคับใช้สิทธิเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น แต่เอฟทีเอ เป็นกลไกกีดกัดประสิทธิภาพของความยืดหยุ่นเหล่านี้ "ทริปส์เป็นข้อตกลงที่ประนีประนอม ประเทศพัฒนาแล้วอยากได้หลายอย่างกว่านี้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมตัวกันต่อรอง ประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่พอใจทริปส์มากนัก แล้วหันไปเจรจาแบบจับคู่" นักกฎหมายด้านสิทธิฯ จากอินเดียกล่าว กล่าวสำหรับเอฟทีเอที่อียูเริ่มเจรจากับอินเดียนั้น เริ่มตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว Kajal บอกว่าภาคสังคมของอินเดียได้เห็น กรอบการเจรจาเกือบทุกฉบับของอียูที่ทำกับประเทศอื่นๆ แล้วนำมาถอดบทเรียน โดยเฉพาะกรณีเอฟทีเออียู-เกาหลีใต้ ที่มีผลบังคับใช้แล้วและมีการเปิดเผยกรอบข้อตกลง ปรากฏหมาย มีทริปส์พลัส เต็มไปหมด และอียูยังบอกอีกว่าจะใช้กรณีนี้เป็นต้นแบบในการเจรจากับทุกประเทศ "เป็นเรื่องน่าห่วงมก เพราะเอฟทีเอเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย รัฐบาลเอาตัวออกมาไม่ได้ และถ้าเซ็นแล้วต้องแก้กฎหมายภายในให้เป็นไปตามข้อตกลงเท่านั้น" Kajal กล่าว สำหรับรัฐบาลอินเดีย น่าสนใจว่านิสัย 'เด็กดื้อ' ยังคงติดตัวมาจนปัจจุบัน การเจรจาระหว่างอียูและอินเดีย 'ปิดลับ' (เหมือนกรณีอื่นๆ รวมทั้งไทยด้วย) ก็จริง แต่ก็มีเอกสารหลุดรอดออกมาให้ได้ศึกษาโดยตลอด เท่าที่แอบดูและวิเคราะห์สรุปได้ว่า ปี 2009 รัฐบาลอินเดีย ปฏิเสธ ความต้องการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของอียู ทั้งหมด ปี 2010 อียู ส่งรายละเอียดขยายความสิ่งที่ต้องการให้ใหม่ รัฐบาลอินเดียยืนยันว่าจะรับเพียงทริปส์เท่านั้น ปี 2011 อียู ขอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการยึดจับยาที่ "สงสัย" ว่าละเมิดสิทธิบัตร ณ ท่าเรือ และมีบทว่าด้วย การลงทุน เพิ่มเติม สำหรับเนื้อหาเด่นๆ ในส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของอียู ได้แก่ 1.การขอขยายอายุสิทธิบัตร, 2.การผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity-DE), 3.การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, 4.การคุ้มครองการลงทุน 1.สิทธิบัตรว่ากันเฉพาะการขอขยายอายุสิทธิบัตรเกิน 20 ปี มีที่น่าสังเกตคือ ในข้อตกลงไม่ได้กล่าวตรงๆ เหมือนของสหรัฐอเมริกา แต่ใช้คำว่า 'supplement certificate' ต้องอ่านดีๆ จึงจะรู้ว่ามีนัยยะเพิ่มอายุสิทธิบัตร โดยอ้างว่ากระบวนการขอสิทธิหรือขึ้นทะเบียนยานั้นล่าช้าจึงต้องชดเชยให้ด้วยการขยายอายุสิทธิบัตร คนส่วนใหญ่เห็นแล้วก็ไม่ตะขิดตะขวงอันใดนัก คิดว่าการเพิ่มการคุ้มครองอีก 3-4 ปีคงไม่เป็นไร แต่โชคดูไม่เข้าข้างอียู เมื่อภาคสังคมของอินเดียพบข้อมูลว่าที่เกาหลีใต้ สปสช.ของเกาหลีใต้คำนวณไว้ว่า ผลกระทบจากเอฟทีเอที่ทำกับสหรัฐ ซึ่งขยายอายุสิทธิบัตรอีก 3 ปีนั้น ทำให้เกาหลีใต้เสียค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้น 727 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนออสเตรเลียก็พบว่าหลังเจรจาเอฟทีกับอียูแล้ว ยาตัวสำคัญ 5 อันดับแรกที่มีการขยายอายุสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น 2 ปีนั้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 1,500 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี จากนั้น เสียงประท้วงในอินเดียวก็เกิดขึ้นทั่วสารทิศ จนล่าสุด อียูประกาศถอนข้อเรียกร้องเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรแล้ว ! 2.ผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusive)ในส่วนการผูกขาดข้อมูลยา Kajal บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกังวล มากที่สุด เพราะเป็นลักษณะผูกขาดไม่ว่ายาตัวนั้นจะมีสิทธิบัตรหรือไม่ก็ตาม หายอธิบายให้เข้าใจง่าย โดยระบบการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญ เมื่อมียาต้นแบบ(ของบริษัท)แล้ว องค์กรที่ผลิต เช่น องค์การเภสัช ไม่จำเป็นต้องทำการทดลองใหม่ เพียงแค่พิสูจน์ให้ได้ว่ายาที่จะขึ้นทะเบียนนี้มีคุณสมบัติเหมือนยาต้นแบบ ทำให้ประหยัดเวลาและประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้เร็ว การผูกขาดข้อมูลยานั้นจะทำให้ เมื่อยาต้นแบบขึ้นทะเบียนแล้ว ในช่วง 10-15 ปี ยาชื่อสามัญจะขึ้นทะเบียนไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความน่ากังวลว่าสมุนไพรพื้นฐานซึ่งมีมากในประเทศแถบร้อน จะถูกบริษัทนำไปศึกษาทดลองแล้วนำไปขึ้นทะเบียนยา ซึ่งจะเป็นการผูกขาดตลาดทำให้สมุนไพรที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่อาจใช้ได้อีก
Kajal ยกตัวอย่างกรณีสมุนไพร Colchicum ซึ่งทราบกันดีว่าใช้รักษาโรคเก๊าต์ และมีการสกัดขายเป็นแคปซูลกันทั่วไปเพราะไม่มีสิทธิบัตร ใช้กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ต่อมามีบริษัทในสหรัฐอเมริกานำสมุนไพรนี้ไปทดลองในมนุษย์ แล้วทำรายงานขอขึ้นทะเบียนยาเป็นเจ้าแรกในสหรัฐ ซึ่งได้รับ Data Exclusivity ด้วย ทำให้เจ้าอื่นๆ ต้องออกไปจากตลาด ราคายาจึงพุ่งจาก 0.09 เหรียญเป็น 4.85 เหรียญ ส่วนประสบการณ์ Data Exclusivity ในประเทศอื่นๆ ที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา (ระหว่าง 2544-2547) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ของการผูกขาดข้อมูลยาด้วยนั้น มีดังนี้
3.การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฉบับเข้ม
การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้น Kajal ระบุว่า ภาคสังคมเพิ่งเห็นเรื่องนี้โผล่มาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งจะพบว่าอียูและสหรัฐอเมริกาต่างก็เน้นเรื่องนี้ค่อนข้างมาก Kajal อธิบายนัยยะของมันว่า เนื้อหาส่วนนี้จะทำให้รัฐต้องแบกภาระเพื่อพิทักษ์เอกชน เพราะเรื่องของสิทธิบัตรนั้นถือเป็นเรื่องทรัพย์สินเอกชน เอกชนต้องเป็นผู้ชี้ผู้กระทำผิด ตำรวจจะจับเองไม่ได้ แต่การกำหนดเงื่อนไขนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ทริปส์พลัส จะทำให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด ไม่ว่า ตำรวจ ศาล เจ้าหน้าที่องค์การอาหารและยา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้น จากที่แต่เดิมเมื่อเกิดการละเมิดก็จะฟ้องคนผลิต ก็เปลี่ยนมาเป็นการฟ้องทั้ง supply chain พูดง่ายๆ ว่า คนงานที่ผลิต คนขนส่ง ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องล้วนมีสิทธิถูกหางเลขด้วย "มันสร้างบรรยากาศความกลัว ทำให้คนไม่อยากสังฆกรรมกับอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ" Kajal กล่าว เธอให้ข้อมูลอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเกี่ยวกับกา ยึดสินค้าต้องสงสัยว่าละเมิดสิทธิที่ท่าเรือได้ด้วย ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นอยู่แล้วและกำลังเป็นกรณีอยู่ในองค์การการค้าโลก คือ กรณีที่อินเดียจะส่งยาชื่อสามัญไปยังบราซิล แต่ต้องผ่านและจอดยังท่าของประเทศในยุโรป ยุโรปได้ทำการยึดยาเหล่า เพราะถือว่าละเมิดสิทธิบัตรตามกฎหมายยุโรป ทำให้ยาตกค้างที่ยุโรปหลายล็อตแม้ว่าจะเป็นแค่ 'การผ่านทาง' ก็ตาม
4.การคุ้มครองการลงทุนในบทว่าด้วยการลงทุนนั้นก็มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ด้วย โดยระบุว่าหากมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าโดยเอกชนด้วยกันหรือรัฐ แล้วส่งผลต่อผลกำไรของนักลงทุน ให้นักลงทุนฟ้องอนุญาโตตุลาการได้
ยกตัวอย่าง ประเทศอุรุกวัย ไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลอุรุกวัยมีนโยบายควบคุมยาสูบ โดยขยายคำเตือนบนซองบุหรี่ บริษัท Philips Moris (สาขาสวิสเซอร์แลนด์) ได้ฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยชี้ว่านโยบายนี้กระทบต่อเครื่องหมายการค้า โดยอ้างข้อตกลงด้านการลงทุนที่ระบุอยู่ในเอฟทีเอระหว่างอุรุกวัยกับสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีนโยบายเกี่ยวกับยาสูบเช่นกัน โดยกำหนดให้มีซองบุหรี่สีเดียว บริษัท Philips Moris ฟ้องร้องศาลในประเทศว่าการทำเช่นนี้กระทบต่อการค้าการลงทุนของบริษัท แต่ศาลสูงของออสเตรเลียตัดสินว่ารัฐสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นนโยบายเรื่องสุขภาพ บริษัทบุหรี่ (สาขาฮ่องกง) จึงได้ฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการโดยอ้างถึงข้อตกลงระหว่างออสเตรเลียกับฮ่องกงซึ่งมีกรอบการตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน
ความคืบหน้าล่าสุดของการเจรจาระหว่างอินเดียกับอียู ทีมเจรจาอินเดียยังคงยืนยันเรื่องไม่เอาทริปส์พลัสทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะ 4 ประเด็นที่กล่าวมา ยันมาได้เรื่อยๆ ทุกรอบจนถึงปัจจุบัน โดยเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การนำเอาภาคประชาสังคมที่เชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้เข้าไปมีส่วนให้ข้อมูล รวมถึงมีการทำความเข้าใจภายในคณะเจรจาอย่างทั่วถึง เนื่องจากแต่ละคณะอาจมุ่งแต่ประเด็นของตัวเองโดยไม่เห็นผลกระทบข้ามประเด็น ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ ข่าวสารที่เดินทางไกลมาจากอินเดียให้คนไทยร่วมพิจารณา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ผอ.วิจัยแรงงาน TDRI เผย คนงาน 5 ล้าน ยังได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300 Posted: 28 Feb 2013 02:22 AM PST ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ผลกระทบนโยบายค่าแรงวันละ 300 บาท รอบ 2 โดยภาพรวมเป็นนโยบายที่ดีแต่ยังมีลูกจ้างอีกเกือบ 5 ล้านคนยังได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท ส่วนผลกระทบกับผู้ประกอบการ ธุรกิจขนาดใหญ่ไร้ปัญหาแต่เอสเอ็มอีขนาดเล็กกว่าแสนรายไปไม่รอด แนะรัฐเพิ่มช่องทางช่วยเหลือครอบคลุมทั่วประเทศ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ 28 ก.พ. 56 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย รายงานว่า ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เผยถึงผลจากการติดตามผลกระทบนโยบายค่าแรงวันละ 300 บาท โดยเปรียบเทียบข้อมูลจากปี 2554 และ 2555 รายไตรมาส ว่า มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนนายจ้าง การจ้างงาน และค่าจ้าง สะท้อนการปรับตัวของผู้ประกอบการและการมีงานทำของแรงงาน รวมถึงอัตราค่าจ้างที่ได้รับ โดยพบว่า ในส่วนจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ปี 2553 ซึ่งหยุดกิจการไปจำนวนมากนั้น ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ได้กลับมาฟื้นกิจการใหม่ โดยมีจำนวนนายจ้างเพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ในระดับเกือบ 1.05 ล้านราย มีเพียง 1 หมื่นรายที่ล้มหายไป และในช่วงเดียวกันนี้ได้มีการประกาศใช้นโยบายค่าแรงวันละ 300 บาทและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผลไตรมาส 3 พบว่ามีจำนวนนายจ้างลดลงเหลือราว 9.3 แสนราย หายไปราว 1.1 แสนราย กระจายอยู่ในสถานประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีขนาด1-9 คน โดยปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้คือ ผลกระทบจากน้ำท่วม และการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในระยะเวลาต่อเนื่องกันทำให้กิจการขนาดเล็กกระทบกระเทือนมาก สำหรับผลกระทบต่อลูกจ้างในส่วนของจำนวนผู้ว่างงานและภาวะการมีงานทำ พบว่า เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้าง300 บาทรอบแรก ส่งผลมีอัตราการว่างงานขยับขึ้นเล็กน้อย จาก 0.6 เป็น 0.8 เปอร์เซ็นต์นายจ้างชะลอการรับคนงานใหม่ โดยผู้ได้รับผลกระทบคือแรงงานใหม่ไม่มีประสบการณ์และแรงงานระดับล่าง ความรู้น้อย แต่ในไตรมาส 3 พบว่าอัตราการว่างงานดีขึ้นโดยมีอัตราการว่างงานลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ โดยภาพรวมแทบไม่เห็นผลกระทบ เนื่องจากมีการปรับตัว และการขึ้นค่าจ้างทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าไปมีการดูดซับแรงงานเข้าไปในส่วนทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนตึงตัวอยู่แล้ว ขณะเดียวในประเด็นค่าจ้าง แม้จะมีผลดีที่แรงงานกลุ่มใหญ่จะได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท แต่ในทางกลับกันผลทางลบคือในระหว่างการปรับตัวยังมีลูกจ้างจำนวนมากเกือบ 5 ล้านคน จากการปรับค่าจ้างทั้งสองรอบที่ยังได้ค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างเอกชน ซึ่งไม่มีศักยภาพเพียงพอจะจ่ายได้ และเป็นความสมัครใจร่วมกันของลูกจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งบางส่วนเป็นการปรับตัวในลักษณะร่วมทุกข์ร่วมสุขเพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ ขณะที่ในส่วนของสถานประกอบการขนาดใหญ่สามารถปรับตัว ได้ประโยชน์จากผลกระทบ เช่น หาแรงงานได้ง่ายขึ้น โดยแรงงานนั้นอาจเคยเป็นเจ้าของหรือลูกจ้างของธุรกิจขนาดเล็กมาก่อน ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า นโยบายค่าจ้างวันละ 300 บาททั่วไทยนั้นสามารถทำได้ในเชิงนโยบาย แต่ต้องดูแลผลกระทบ โดยเฉพาะที่ชัดเจนตอนนี้คือส่งผลกระทบให้กับผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กที่มีลูกจ้าง 1-9 คน ที่ต้องอยู่ในภาวะสูญเสียคนงานให้กับสถานประกอบการที่ใหญ่กว่า ซึ่งสามารถจ่ายค่าจ้างที่สูงกว่าได้ส่งผลให้คนงานในกลุ่มกิจการขนาดเล็กที่มีอยู่ประมาณ 5.8 ล้านคน เหลือเพียง 5.5 ล้านคน หายไปเกือบ 3 แสน ยิ่งทำให้ขาดแคลนแรงงานตึงตัวมากขึ้น และนายจ้างส่วนหนึ่งที่อยู่ไม่รอดก็ต้องผันตัวเองกลับไปเป็นลูกจ้างในกิจการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะนายจ้างในกลุ่มธุรกิจที่มีลูกจ้าง 6-9 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำไรจากผลประกอบการต่ำอยู่แล้วไม่มีความสามารถในการจ่ายจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น กลุ่มทำสินค้าโอท็อป สินค้าชุมชน และผู้ประกอบการภาคบริการ ซึ่งน่าเป็นห่วงโดยอาจจะมีวิธีแก้โดยให้หันมาธุรกิจครอบครัวทดแทน "ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงคือจะทำให้การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทำได้ยากขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กเกิดยากและอยู่รอดได้ยาก จากผู้ประกอบหรือนายจ้างจะกลายเป็นลูกจ้างของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่สูญเสียความมั่นใจในการสร้างฐานะซึ่งสวนทางกับการสร้างผู้ประกอบการใหม่ จึงควรดูแลเป็นพิเศษ" ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือภาครัฐจึงควรเพิ่มช่องทางให้นายจ้างสามารถแจ้งความเดือดร้อนได้สะดวกมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐกระจายอยู่ทั่วพื้นที่พร้อมให้คำแนะนำในการปรับตัว โดยอาจจะใช้เครือข่ายชมรม เอส เอม อี มหาวิทยาลัยซึ่งรัฐเคยให้การอบรมเพื่อตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ โดยบางรายอาจจะเข้าไปช่วยเหลือด้านการจัดทำระบบการบริหารจัดการภายใน เทคนิคการบริหารต้นทุนหรือของเสีย ช่วยเหลือด้านช่องทางการตลาดและเทคโนโลยี เงินอุดหนุน แม้กระทั่งการฝึกอบรม ปรับเปลี่ยนอาชีพ และชี้แนะช่องทางอาชีพใหม่ๆหากจำเป็นรวมถึงความร่วมมืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่สนับสนุนกิจการขนาดเล็กในเรื่องการบริหารจัดการ ในลักษณะ B to B (Business to Business)หรือการบริหาร แบบ LEAN เป็นต้น. ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
‘โอฬาร’ หัวหน้าเจรจารับปาก FTA ไทย-อียู ไม่หมกเม็ด ให้ประชาชนมีส่วนร่วม Posted: 28 Feb 2013 02:16 AM PST
ภาพจาก : กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน 28 ก.พ. 56 เครือข่ายภาคประชาชนจาก 28 องค์กร ราว 300-400 คน นัดหมายชุมนุม และมีการเดินเท้าจากลานพระบรมรูปทรงม้ามายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงความห่วงใยต่อกรณีที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางไปกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม เพื่อเริ่มต้นเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในวันที่ 6-7 มี.ค.นี้ โดยรัฐบาลกำหนดจะเร่งกระบวนการเจรจา เพียง 10 รอบ ใช้เวลา 1 ปีครึ่งเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเห็นชอบของรัฐสภาให้ทันการต่อสิทธิพิเศษทางการค้า (จีพีเอส) ระหว่างไทยกับยุโรปที่จะสิ้นสุดในปี 2557 ทางเครือข่ายได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะเจรจาฯ แสดงจุดยืนต่อข้อเรียกร้อง 5 ประการของทางเครือข่าย
ภายหลังการหารือระหว่างตัวแทนเครือข่ายประชาชนกับนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ทำให้ได้ข้อสรุปที่ยอมรับกันเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติได้แก่
ภาพจาก : กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สุณัย ผาสุข: นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับอย่างเปิดเผยว่าต้องเจรจา Posted: 28 Feb 2013 02:13 AM PST
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้สัญญาณบวกจากกรณีรัฐบาลไทยและมาเลเซียมีความตกลงร่วมกันในการเปิดเจรจาสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน BRN ชี้เป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญ
ภายหลังข่าว สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ลงนามข้อตกลงร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิม BRN เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อกว่า 10 ปี โดยข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลไทยลงนามร่วมกับ "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" หรือ "บีอาร์เอ็น" (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย เพื่อเตรียมแก้ปัญหาความขัดแย้ง สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ ทวีตผ่าน @sunai แสดงความยินดีต่อกระบวนการดังกล่าวว่า "การลงนามประกาศเจตนารมณ์พูดคุยสันติภาพคือการยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทยต่อการคงอยู่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่ง BRN เป็นกองกำลังหลัก" ความเห็นของเขาเป็นความเห็นแรกๆ ที่ออกมาวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในเชิงบวก พร้อมทั้งแสดงความหวังว่ากระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าต่อไป ประชาไทสัมภาษณ์เขาเพิ่มเติม โดยเขามีข้อเสนอแนะด้วยว่า นอกเหนือจากความน่ายินดีที่รัฐบาลนี้ก้าวหน้าพอที่จะยอมรับว่ามีกลุ่ม BRN อยู่จริง และยอมรับความสำคัญของการเจรจาแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือกระบวนการคืนความยุติธรรมให้คนในพื้นที่และขจัดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยลงเสีย ไม่เช่นนั้น ก้าวต่อไปของขบวนการสันติภาพคงเกิดขึ้นได้ยาก จากการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ดูเหมือนคุณเห็นว่านี่คือก้าวสำคัญของกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ เป็นกระบวนการที่สำคัญมาก ถือเป็นความสำคัญมากและเป็นครั้งแรกที่ทางการไทยยอมรับอย่างเปิดเผยและเป็นทางการต่อการคงอยู่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่บีอาร์เอ็นเป็นแกนนำ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกระบวนการพูดคุยมาตลอดแต่ไม่มีใครยอมรับอย่างเปิดเผยมาก่อน และอีกประการคือ เป็นการยอมรับอย่างเปิดเผยต่อกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ก็คือกระบวนการเจรจา ผมขอชมว่านี่เป็นความกล้าหาญทางการเมืองที่สำคัญมากของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่นี่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าสถานการณ์ภาคใต้จะดีขึ้นในวันนี้พรุ่งนี้ เพราะเป็นเพียงข้อตกลงว่าจะพูดคุยกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ร่วมลงนามในนามบีอาร์เอ็นไม่ใช่แกนนำ และฝ่ายขบวนการอาจจะยังไม่ได้นำเสนอข้อเสนอของตัวเอง เป็นข้อสังเกตกันมาทุกครั้ง แต่ถ้าเรามาเกี่ยงกันว่าคนไหนตัวจริงก็ไม่มีทางได้พูดคุยกัน การพูดคุยกันนั้นหลักการก็คือว่าการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยมีลักษณะกระจายตัวค่อนข้างมาก ถ้าการพูดคุยกับกลุ่มหนึ่งทำได้ดี สามารถเชื่อใจกันไว้วางใจกันได้ ก็สามารถขยายผลไปยังการพูดคุยกับแกนนำกลุ่มอื่นๆ แล้วหวังว่าในที่สุดรัฐไทยก็จะสามารถประสานกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ยอมรับกระบวนการเจรจาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะยังเหลือกลุ่มที่รุนแรงที่เชื่อว่าการเจรจาขัดหลักการของกลุ่ม แต่ก็จะสามารถแยกคนสองกลุ่มออกจากกันได้ อย่างไรเสีย การสู้รบกันด้วยกำลังทหารก็บาดเจ็บล่มตายกันไป ก็ส่งผลกระทบอย่างมาก จากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมีคนเสียชีวิตห้าพันกว่าคน เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เป็นพลเรือน ถ้ามีช่องทางอื่นก็จะเป็นความหวัง อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะรู้สึกว่า เป็นก้าวสำคัญ แต่รู้สึกว่ายังทำได้ไม่พอ น่าจะทำได้มากกว่านี้ คือกระบวนการที่คุยกันเป็นการคุยแบบไทย เน้นความอาวุโสโดยเชื่อว่าคุยกับตัวหัวหน้าได้ ก็กล่อมลูกน้องได้ แต่สิ่งที่รัฐไทยไม่เคยยอมรับก็คือ สิ่งที่ทำให้เราเอาชนะใจคนไม่สำเร็จ ทำให้เป็นเงื่อนไขของการเข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและใช้ความรุนแรงก็คือ ความยุติธรรม เรามัวแต่หาแกนนำจริงปลอม แต่เงื่อนไขที่ทำให้เขาหาสมาชิกใหม่ได้ทุกวันเพราะเขายังรู้สึกว่าเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง รัฐยังปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เท่าเทียม รัฐไทยยังไม่ได้ให้ความยุติธรรม และไม่ได้ยุติวัฒนธรรมการทำผิดและไม่ได้รับการลงโทษของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ผลการเจรจาจะยังไม่เกิดตราบที่คนในพื้นที่ยังอยู่ในสภาพเงื่อนไขที่ปลูกฝังอุดมการณ์ความรุนแรง ทุกเมื่อเชื่อวัน ยังมีเงื่อนไขอย่างตากใบ กรณี 16 ศพหรือกรณีของมะรอโซ ซึ่งกรณี 16 ศพและมะรอโซควรเป็นบทเรียน เหมือนนาฬิกาปลุก ให้เข้าสู่การเจรจา และลดความอยุติธรรมในพื้นที่ สิ่งที่ต้องเร่งทำหลังจากนี้คือต้องคืนความยุติธรรมให้กับคนมลายูมุสลิม ผมต้องข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ทุกคนยกการ์ดสูงมากแต่ก็เกิดน้ำท่วมเสียก่อน ไม่อย่างนั้นอาทิตย์นี้เราเหนื่อยแน่
ก่อนหน้านี้ฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงการณ์เรียกร้องอย่างชัดเจนและรุนแรงต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เมื่อมีกระบวนการเจรจาเกิดขึ้น มีข้อเสนอต่อขบวนการอย่างไร ฝั่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเองเมื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือให้เคารพหลักการระหว่างประเทศ หลักกฎหมายสงคราม ยุติการโจมตีทำร้ายพลเรือนโดยทันที นี่เป็นสิ่งที่เขาจะแสดงความบริสุทธ์ใจได้เป็นอย่างแรก ประกาศออกมาเลย จะเป็นการประกาศฝ่ายเดียวก็ได้ว่าจะขอให้ยุติการโจมตีพลเรือนทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนาในพื้นที่โดยทันที เพื่อแสดงความจริงใจ มากกว่าแค่ลงนามกับรัฐ การต่อสู้กับกำลังรบอาจจะดำเนินต่อไป แต่ไม่แตะต้องพลเรือน สถานพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น
ปรากฏการณ์ที่สื่อไทยตามข่าวไม่ทัน คุณมองว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ สื่อไทยตามไม่ทัน ผมเข้าใจว่าสื่อไทยโดนกัน ก็สะท้อนวิธีคิดฝ่ายความมั่นคงที่เข้ามาเป็นกระบวนการสำคัญ คือฝ่ายไทยมักจะมองว่าเวอร์ชั่นสำหรับคำอธิบายมันต้องเป็นเวอร์ชั่นที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้สังคมไทยไม่มีโอกาสเข้าใจสถานการณ์ภาคใต้ อย่างกรณีบาเจาะ 16 ศพเป็นครั้งแรกที่สื่อไทยพยายามอธิบาย แต่พออธิบายไม่เท่าไหร่ก็ถูก ผบ.ทบ. ตวาดให้หยุด แล้วก็หยุดหมดเลย ถ้ามองสกู๊ปเกี่ยวกับผู้ที่เสียชีวิตกรณี 16 ศพ ที่บาเจาะ ก็น่าสนใจเชิงสถิติ ว่าเป็นคนที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงเท่าไหร่ ผ่านเหตุการณ์ตากใบเท่าไหร่ การละเมิดสิทธิครั้งใหญ่เป็นจุดพลิกผันให้คนติดอาวุธฆ่าฟัน ข้อมูลเหล่านี้น่าสนใจ แต่เมื่อ ผบ.ทบ. ตวาดสื่อก็หยุดหมด วัฒนธรรมตรงนี้ต้องเปลี่ยน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กสทช.ตั้งทีมตรวจข้อ กม. กรณี 'ดาวเทียมไอพีสตาร์ไทยคม' Posted: 28 Feb 2013 12:10 AM PST สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานศึกษาการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารไอพีสตาร์ ของบริษัทไทยคม กำหนดหาคำตอบแนวทางการอนุญาตประกอบกิจการใน 30 วัน สังคายนาปัญหา 'ดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน' (28 ก.พ.56) รายงานข่าวจากสำนักงาน กสทช. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. มีคำสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ (IP STAR) ของบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสถานะของการประกอบกิจการที่ชัดเจน โดยจะพิจารณาทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดไว้ชัดเจนว่า กิจการโทรคมนาคมนั้นรวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารด้วย ทำให้การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตประกอบกิจการ ทั้งนี้ ตามคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานของคณะทำงานไว้ 30 วัน ก่อนหน้านี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. และประธาน กสทช. แจ้งว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำพิพากษาชี้ว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่อยู่นอกสัญญาสัมปทาน โดยไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 และไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน ดังนั้นจึงเห็นควรมีการเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือ การให้บริการในปัจจุบันของไอพีสตาร์ที่ใช้วงโคจรของประเทศไทยถือเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และ กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้บริษัทได้หรือไม่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บีบีซีเผยไทยลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับ 'บีอาร์เอ็น' Posted: 27 Feb 2013 11:55 PM PST บีบีซีรายงานเลขาธิการสมช. ลงนามกับตัวแทน 'บีอาร์เอ็น' ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางการเจรจา ในขณะที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้าพบนายกฯ มาเลเซียเพื่อหารือเรื่องปัญหาภาคใต้ เศรษฐกิจและการลงทุน
28 ก.พ.56 - สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า รัฐบาลไทยได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบมุสลิม เพื่อหวังยุติเหตุความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ลงนามข้อตกลงร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิม BRN เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อกว่า 10 ปี โดยข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลไทยลงนามร่วมกับ "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" หรือ"บีอาร์เอ็น" (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย เพื่อเตรียมแก้ปัญหาความขัดแย้ง สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า การลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจ หรือ พูลาโพล ในถนนเสมารัค กรุงกัวลาลัมเปอร์ ขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ได้ออกเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเมื่อช่วงสายที่ผ่านมา และมีกำหนดการที่เข้าพบกับ นายนาจีบ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในช่วงบ่ายถึงค่ำวันนี้ (28 ก.พ.) มาเลเซียได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานของการเจรจาครั้งนี้ และคาดว่าจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาที่คาดว่าจะมีขึ้นเร็วๆนี้ โดยเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า เอกสารต่างๆที่มีการลงนามในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จะเป็นจุดเริ่มของกระบวนการเจรจา รายงานระบุว่า การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามครั้งสำคัญในการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้านพลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า นี่ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลไทยในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยุติความรุนแรงได้ในทันที ส่วนนายฮัสซัน ทาอิบ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในการลงนาม กล่าวว่า เขาขอขอบคุณพระอัลเลาะห์ และจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะแก่บอกประชาชนเพื่อให้ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย ในขณะที่เว็บไซต์บางกอกโพสต์ รายงานคำพูดของพลโทภราดร ก่อนที่จะเดินทางไปยังมาเลเซียว่า เขาได้ตรวจเช็คว่ากลุ่มดังกล่าวตั้งอยู่ที่มาเลเซียจริงหรือไม่ และการเจรจาเป็นไปได้หรือไม่ก่อนที่จะขอความร่วมมือจากมาเลเซีย นอกจากนี้ ประเมินว่า น่าจะมีแนวร่วมอยู่ในมาเลเซียน้อยกว่า 1,000 คน โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามเจรจาหลายครั้งที่ท้ายสุดก็ล้มเหลว แต่ที่แตกต่างสำหรับครั้งนี้ คือการลงนามในข้อตกลงก่อนการเจรจา และเกิดขึ้นในทางสาธารณะจากนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามขั้นตอน และเป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับการมีตัวตนของกลุ่มก่อความไม่สงบ และมีการพูดคุยเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มาเลเซียได้เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และขบวนการแบ่งแยกมุสลิมในเกาะมินดาเนา ทำให้ยุติการต่อสู้ที่ยาวนานนับสิบปี ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ในปี 2547 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 5,000 ราย เนื้อหาบางส่วนจาก มติชนออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
พงศ์เทพเปิดห้องประชุม ศธ. ถกแกนนำนักศึกษา หาทางออกเรื่อง ม.นอกระบบ Posted: 27 Feb 2013 11:38 PM PST แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ แจง ร่างพิมพ์เขียว พ.ร.บ. ฉบับนักศึกษา ที่มาของสภามหาวิทยาลัย ต้องยึดโยงกับประชาชน กำหนดค่าเทอมมาจากมติที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย สนับสนุนอิสระและเสรีภาพในการวิชาการ ด้าน รมว. ศึกษาฯ รับข้อเสนอ พร้อมจะนำเรื่องไปปรึกษากับประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อ 28 ก.พ. 56 เวลา 9.10 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการให้ตัวแทนนักศึกษาจากแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบประมาณ 20 คน เข้าร่วมพูดคุยจากกรณีที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งความประสงค์ให้กลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยที่เตรียมการออกนอกระบบ เช่น กรณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของ "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ..." ที่นิสิตและบุคลากรในมหาวิทยาลัยไม่มีส่วนร่วม นอกจากนี้การถูกลิดรอนสิทธิ์การประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลในการออกนอกระบบที่จัดทำขึ้นโดยนักศึกษา จากการติดใบปลิวประชาสัมพันธ์แต่โดนดึงออก และโดนกีดกันการจัดเวทีเสวนาด้วย ในขณะที่ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย นายปรีชญา นงนุช ประธานสภานักศึกษาและตัวแทนองค์การนักศึกษา กล่าวถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ... เช่นกัน ซึ่งเสนอว่าการร่างพ.ร.บ.ควรจะร่วมกันร่างจากประชาคมในมหาวิทยาลัย โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาคมส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อร่างพ.ร.บ.เดิม ไม่ชอบธรรมแล้ว ทางตัวแทนนักศึกษาก็ขอยับยั้งร่างพ.ร.บ.ที่จะรอเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้นั้น กลับมาพิจารณาใหม่จากประชาคมในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง และอยากให้มีการทำประชามติ ด้านนายปกรณ์ อารีกุล นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ได้กล่าวถึงปัญหาที่ยังค้างคาใจของกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาฯ ว่า ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 เอื้ออำนาจให้กับสภามหาวิทยาลัยมากเกินไป ขาดการตรวจสอบการภาคประชาคม นอกจากนี้ นายปกรณ์ในฐานะคณะทำงานข้อมูล ของกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาฯ ยังได้กล่าวเสนอกรอบแนวคิด (ร่างพิมพ์เขียว พ.ร.บ.) ของนักศึกษา 5 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ 1. ต้องมีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ให้มีการยึดโยงกับประชาคมมหาวิทยาลัย และภาคประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด หรือกึ่งหนึ่งต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้นๆ 2. ต้องมีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบการบริหารงานของสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารสภามหาวิทยาลัย โดยประชาคมในมหาวิทยาลัยนั้นๆ 3. ต้องมีการบัญญัติมาตราที่เกี่ยวกับการกำหนดเพดานค่าเทอม และการเปลี่ยนแปลงระเบียบเกี่ยวกับค่าเทอมในมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมีการมติที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือ สภามหาวิทยาลัย ตัวแทนฝ่ายนักศึกษาหรือผู้ปกครอง และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พร้อมทั้งอยู่ภายใต้หน่วยงานกลาง ที่รัฐตั้งขึ้นเพื่อควบคุมอัตราค่าเทอมในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง 4.ต้องมีการบัญญัติมาตราเกี่ยวกับความคล่องตัว อิสระและเสรีภาพในการวิชาการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบริการทางวิชาการแก่สังคมและประชาชน ทั้งนี้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างเพียงพอให้มหาวิทยาลัยประสบกับภาวะขาดแคลนงบประมาณ 5. จากข้อ4.จึงไม่ต้องมีบทบัญญัติมาตราที่เกี่ยวข้องกับการให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่าหรือให้เช่า กู้หรือให้กู้เงิน จากนิติบุคคลต่างๆ ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ ได้กล่าวรับข้อเสนอ และจะนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก ในขณะนี้ สถานการณ์ ร่างพ.ร.บ. มก.อยู่ในลำดับการพิจารณาที่ 4 และก่อนหน้านั้นคือร่าง พ.ร.บ.ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในวาระด่วนที่ 17 แต่ยังไม่เลื่อนวาระขึ้นมา ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ ยอมรับว่า ประเด็นเรื่อง ม.นอกระบบมีการผลักดันมานาน แน่นอนว่าจะต้องมีการคัดค้านและกล่าวอ้างโดยผู้บริหารว่ามีการมีส่วนร่วมแล้ว แต่จะพยายามหาทางออก โดยได้มีการเสนอว่า ในกรณีที่ร่างของมก.ที่จะต้องเข้าสภาฯนั้น จะให้นักศึกษาเข้าเป็นมีส่วนเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง แต่ทางตัวแทนนิสิตมก.ไม่รับข้อเสนอ เพราะเป็นการมีส่วนร่วมที่ปลายทาง ไม่มีการเห็นชอบตั้งแต่ต้น และคิดว่าการดึงร่างกลับมาเพื่อให้มหาวิทยาลัยนำกลับไปให้ประชาคมร่วมพิจารณา คือ ทางออกที่ดีที่สุด ทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับที่ตัวแทนแนวร่วมฯ ยืนยันจุดประสงค์ไม่ได้คัดค้านการพัฒนามหาวิทยาลัย แต่อยากให้กลับไปมีส่วนร่วมอย่างชอบธรรมและเต็มที่ จากประชาคมในแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งหากเสียงของระชาคมพร้อมที่จะออกนอกระบบจริง กระบวนการต่างๆก็จะต้องเป็นไปตามข้อเสนอ เนื่องจาก ข้อเสนอดังกล่าวถึงเป็นข้อเสนอที่ประชาคมจะได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด นอกจากนี้ตัวแทนนิสิต มก. ชี้แจงอีกว่าเคยยื่นหนังสือให้ประธานวิปรัฐบาล โดยวิปรัฐบาลส่งแฟกซ์ไปให้ทางมหาวิทยาลัยเพื่อให้เร่งรัดการจัดเวทีทำความเข้าใจต่อนิสิต ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่ทางผู้บริหารกลับมาจัดเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาคมในวันนี้ ( 28 ก.พ.) ซึ่งก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีความพร้อมที่จะให้ประชาคมรับรู้อย่างเต็มที่เลย โดยตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมฯ เล่าความเป็นมาของม.นอกระบบ ที่ไม่เป็นธรรมจากในอดีต และเล่าเรื่องของการประท้วงของ มรภ.สวนสุนันทา พร้อมทั้งแสดงความคาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะให้ความเป็นธรรมแก่นักศึกษาและมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็รับปากจะติดตามเรื่องนี้ให้อย่างเต็มที่ ในท้ายที่สุด นายพงศ์เทพ รับปากว่าจะประสานงานไปยังนายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล เพื่อปรึกษาว่าจะสามารถดำเนินการตามที่ตัวแทนแนวร่วมนิสิตนักศึกษาเสนอได้หรือไม่ โดยในระหว่างการสนทนา นายพงศ์เทพ ได้กดโทรศัพท์หานายอำนวย ทันที แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความลักลั่นทางจริยศาสตร์ : ปัญหาทั่วไปของสังคมไทย Posted: 27 Feb 2013 09:26 PM PST เกริ่นนำ สมมติมีคำกล่าวว่า "ที่ไหน ก็มีความลักลั่นทางจริยศาสตร์ทั้งนั้น" นั่นเป็นความจริงหรือไม่สำหรับทศวรรษนี้ ?ตอบได้เลยว่า "จริง" และ ถ้ากล่าวต่อไปอีกว่า "ที่ใด มีความลักลั่นทางจริยศาสตร์ที่น่าสนใจ"? "ประเทศไทย" น่าจะเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศเหล่านั้น เพราะภาวะที่คร่อมกันอยู่ระหว่าง ความเป็นทุนนิยมแบบพ่อค้า กับ ความเป็นทุนนิยมระบบเจ้าบุญนายคุณ ทำให้เกิดหลายประเด็นที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ย่อมบ่งบอกร่องรอยของการตัดสินใจที่จะกระทำการบางอย่าง ซึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับฐานทางจริยศาสตร์ เพราะเป็นศาสตร์ที่ใช้อธิบายชุดความคิดและการตัดสินใจของประชาชน เฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 เมื่อสังคมไทยมิได้เป็นสังคมปิดอีกต่อไป และทุกอย่างในประเทศลู่เข้าสู่ปลายเปิดมากขึ้น ฐานทางจริยศาสตร์ในประเทศนี้จึงมีแนวโน้มแบบพหุลักษณะมากขึ้น ดังนั้น การปะทะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของ จริยศาสตร์สมัยใหม่ กับ จริยศาสตร์แบบหลังสมัยใหม่จึงเกิดขึ้น และอาจมากเป็นพิเศษในสังคมที่มีความย้อนแย้งทางตรรกวิทยาสูง เนื้อหา ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เราพบว่า มนุษย์มีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสังคมเปิดกว้างอย่างเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบรรดานักคิดได้พยายามคิดค้นระเบียบวิธีทางจริยศาสตร์ เพื่อช่วยให้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม เป็นไปได้ และเบียดเบียนกันน้อยที่สุด โดยการเคลื่อนไหวระดับแรกๆ ของนักคิดตะวันตก คือ หยุดการทำลายชีวิตในนามของศาสนา นั่นหมายถึง การไม่ให้การตีความตัวบททางศาสนาของผู้มีอำนาจทำลายชีวิตมนุษย์ด้วยการอ้างเหตุผลว่าเป็นความชอบธรรมจากสวรรค์ และไม่ว่าพฤติกรรมที่ใครก็ตามชวนเชื่อว่า "สมควรต้องตาย" จะน่าเชื่อว่าขัดกับประสงค์ของฟ้าสวรรค์มากเพียงไรก็ตาม การทำลายชีวิตมนุษย์หรือแม้กระทั่งการทารุณกรรมสัตว์ก็เป็นสิ่งที่ควรยุติ ฉะนั้น ข้อความในประวัติศาสตร์ไทย เช่น "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" [1] จึงสะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินทางจริยศาสตร์ที่มีปัญหา เพราะสำหรับนักคิดตะวันตกแล้ว การเรียกร้องให้หยุดทำลายชีวิตในนามศาสนามีมาก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว มากไปกว่านั้น ในศตวรรษหลังๆ นักคิดตะวันตกยังพบปัญหาว่า "เป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตชุดคำอธิบายที่ครอบคลุม" ซึ่งนั่นหมายความว่า "ทฤษฎีทางจริยศาสตร์" ตามความคิดแบบ อิมมานูแอล ค้านท์ (Immanuel Kant) อันเป็นแม่แบบของเกณฑ์การตัดสินทางจริยศาสตร์ในระบบยุติธรรมของรัฐต่างๆ ไม่อาจจะเป็นแม่แบบเดียวได้อีกต่อไป ซึ่ง ซิกมุนด์ บาวมัน (Zygmunt Bauman) ในฐานะนักคิดหลังสมัยใหม่จึงเสนอว่า "จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเรายอมรับความหลากหลายแทนที่จะคงไว้ซึ่งความมีแบบแผน หรือจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราจะยอมรับความกำกวมบ้าง แทนที่จะคงไว้ซึ่งความแม่นตรงโปร่งใส" [2] เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้อย่างจริงที่สุด ปัญหา คือ ในสังคมปิด บางเรื่องที่ควรจะปล่อยให้กำกวมกลับถูกกระทำให้โปร่งใส และบางเรื่องที่ควรโปร่งใส เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบในสังคม กลับถูกกระทำให้กำกวม และลักษณะเช่นนี้เป็นความลักลั่นแบบหนึ่งในสังคมที่อวดอ้างความมีจริยศาสตร์แบบสมัยใหม่ เพราะโลกของนักคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) จะไม่ผูกขาดกับระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ หรือ ความโปร่งใสทางระเบียบวิธี เหมือนนักคิดยุคโครงสร้างนิยม (Structuralism) ฉะนั้น ความไม่ต่อเนื่องทางตรรกะ หรือ ความไม่ปะติดปะต่อทางแนวคิด เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ด้วยซ้ำ เนื่องจาก ทุกๆการสื่อสาร "ผู้รับสาร" จำเป็นต้องตีความและชี้นำตัวเอง จะไม่มีการชี้นำจาก "สาร" หรือ "ผู้ส่งสาร" อีกต่อไป นั่นคือ เหตุผลหนึ่งที่วลีอมตะของซารตร์ (Sartre) ถูกผลิตซ้ำอยู่เสมอ ที่ว่า "มนุษย์ราวกับถูกสาปให้มีเสรีภาพ" เพราะ มนุษย์จำเป็นต้องรับผิดชอบในทุกกระทำทางจริยศาสตร์เอง โดยที่ไม่สามารถอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ สถาบัน เพื่อความชอบธรรมหรือปลอบประโลมจิตใจได้อีก ขณะเดียวกัน เมื่อกลับมามองคู่ขนานกับสังคมไทย เราพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับการรับผิดชอบตนเอง นั่นหมายถึง ไม่เข้าใจเรื่องการตีความด้วยตนเอง ราวกับเป็นผลที่มาจากความเป็นทาสหรือไพร่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นทาสในยุคเก่า หรือ ทาสของสังคมนายทุนยุคใหม่ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ สังคมไทยอยากจะเห็น "ผู้ส่งสาร" ในลักษณะ "พระโพธิสัตว์" หรือ "คนดีในอุดมคติ" หรือ "คนที่มีภาพลักษณ์ดี" และไม่ว่า"สาร" จะเป็นอย่างไร จะมีอรรถประโยชน์หรือไม่ คนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะเชื่อและปกป้อง "ผู้ส่งสาร" มากกว่าจะอภิปราย "สาร" ที่ถูกส่งออกมา ซึ่ง ความลักลั่นนี้สวนทางกับความคิดหลังสมัยใหม่ในศตวรรษใหม่ และจะมีผลอย่างไม่ต้องสงสัยกับการตัดสินทางจริยศาสตร์ เป็นต้น ในระบบศาลสถิตยุติธรรม? ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความลักลั่นเหลื่อมล้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดมาในประวัติศาสตร์ ปัญหาเรื่องชนชั้นปกครองหรือนายทุนมีอภิสิทธิ์กว่าตาสีตาสากลายเป็นเรื่องปกติไป นักคิดหลังสมัยใหม่บางคน ให้ความเห็นอย่างสุดโต่งด้วยซ้ำว่า "ยุคนี้เป็นยุคหลังหน้าที่" (Post-deontic) เช่น ลีโปเวสกี้ (Lipovetsky) ถึงกับกล่าวว่า "ไม่มีกฎทางศีลธรรมอะไร ที่จะบังคับเราให้ทำหน้าที่อีกต่อไปแล้ว ขอแค่อย่าทำอะไรต่อมิอะไรให้มากเกินพอดีก็พอ เพราะ โลกได้เข้าสู่ความเป็นปัจเจกนิยมอย่างสมบูรณ์แล้ว" [3] คำพูดของเขาได้สะท้อนให้เห็นถึงการสวนทางอย่างสิ้นเชิงในโลกที่ประชาชนยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อศีลธรรม เพราะ ความคิดแบบลีโปเวสกี้ยอมรับการทุจริตแต่ในระดับที่ไม่มากจนเกินพอดี แน่นอนที่สุด ความใหม่ในระดับนี้ยังเป็นที่น่าสงสัย และไม่ต้องรอนักคิดอนุรักษ์นิยมวิภาษแต่ประการใด เพราะแม้แต่ นักคิดหลังสมัยใหม่ด้วยกันอย่าง บาวมัน ก็มีความเห็นแย้งต่อสารของลีโปเวสกี้ ว่าไม่ชอบด้วยตรรกะ ถึงกระนั้นก็ดี นักคิดหลายคนต่างยอมรับและรู้จักแยกแยะว่า ลีโปเวสกี้ กำลังสะท้อนความจริงอันโหดร้ายของโลกยุคหลังสมัยใหม่ หากแต่ ทุกคนยังต้องการ "สาร" ที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดมากไปกว่าการได้รับรู้ความจริงเพียงเท่านั้นว่า "แล้วถ้าเป็นแบบนี้ ฉันควรจะทำอย่างไรต่อไป?" คิดในทางกลับกัน ถ้าลีโปเวสกี้ มีชีวิตอยู่ในสังคมปิดที่ไม่อนุญาตให้เขาพูดจาจาบจ้วงต่อศีลธรรมแบบนี้ เสรีภาพและสวัสดิภาพในชีวิตของเขาจะเป็นอย่างไร? ทั้งที่ ความผิดของเขาจะมีก็แต่เพียงที่ไม่ได้บอกคนอื่นว่า จะต้องทำอย่างไร ก็เท่านั้น? เพราะในสังคมปิด เกือบทุกอย่างจะมีลักษณะตายตัว (Uniformity) นั่นหมายถึง ทุกอย่างมีหน้าที่ (Duty) และหน้าที่เหล่านั้นถูกกำหนดไว้ตายตัวจนไม่สามารถเลือกหรือประกอบสร้างขึ้นใหม่ได้อีก โลกทัศน์แบบนี้ คนทำผิดกฎหมายจึงเป็นคนชั่วในภาพลักษณ์ของสังคมอยู่วันยันค่ำ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าการกระทำผิดนั้นเพราะเหตุผลอะไร เพราะเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานอยู่แล้วว่า ทุกคนต้องไม่ละเมิดกฎที่เขียนไว้ดีแล้ว และในสังคมที่มีโลกทัศน์แบบนี้ การละเมิดกฎเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องรับฟัง หรือ ทำความเข้าใจ ใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเป็นลักษณะของความมืดบอดทางสติปัญญา เนื่องจาก ยังไม่เคยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดยืนยันได้ว่า มีสังคมที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ มากไปกว่านั้น ในสังคมที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น มักมีการสังเวยชีวิตอย่างมากมาย เพียงเพราะต้องการปกป้องกฎที่มีลักษณะตายตัวดังกล่าว ทั้งที่ กฎนั้นไม่มีชีวิตและความรู้สึก เมื่อเทียบกับ ความเจ็บปวดจากการถูกพรากอิสรภาพของมนุษย์ นั่นจึงเป็นวังวนที่สะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวังทางศีลธรรมของมนุษย์ เราจึงเข้าใจ ลีโปเวสกี้ ได้ไม่ยาก เพราะเราเองก็ไม่เคยเห็นมาตรฐานทางศีลธรรมที่ตั้งไว้สวยหรูจะถูกปฏิบัติให้ได้ผลจริงๆ ในสังคมมนุษย์ แต่สิ่งที่ต้องก้าวไปให้ไกลกว่า ลีโปเวสกี้ คือ จะต้องทำอย่างไร ถ้าได้รู้ความจริงนี้แล้ว? สำหรับประเทศไทย "การสะท้อนว่าเกิดอะไร" ? ยังเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นอยู่ แม้ว่า จะสิ้นหวังกันไปในระดับหนึ่งแล้ว กับ "เรื่องการแก้ปัญหา?" ไม่ว่าจะเนื่องด้วยเหตุผลเรื่อง ความเป็นรอยต่อของยุคสมัยก็ดี หรือ ความลักลั่นทางจริยศาสตร์ก็ดี เพราะสิ่งที่เกิดอย่างต่อเนื่องในประเทศนี้ เช่น ท่าทีเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม หรือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ แม้กระทั่ง กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของเพศทางเลือก ยังเป็นเรื่องที่ชัดเจน (Obvious) ว่า ผู้อำนาจหรือชนชั้นปกครองได้เลือกข้างแล้วว่าจะใช้วาทกรรมใดสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง ซึ่งภาพลักษณ์ของความเป็นคนดี คนใจบุญใจกุศล แบบที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงกลางของตะวันตก เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเบ่งบานในยุคปัจจุบันของประเทศไทย ที่สำคัญ ใครก็ตามที่ต้องการครอบครองทรัพยากรไว้ทั้งหมด จำต้องผูกขาดความดีให้มีแบบเดียว และ ไม่อนุญาตให้การตัดสินทางจริยศาสตร์แบบอื่นเรียกว่า ความดี หรือ ความถูกต้อง หลักฐานเกี่ยวกับการผูกขาดนี้ เห็นได้จากวาทกรรมบนเวทีของนักการเมืองประเทศไทยที่จับแพะชนแกะจริยศาสตร์เรื่องหน้าที่อยู่เสมอ (โดยไม่รู้ตัว) ฉะนั้น การขับเคี่ยวทางการเมืองในประเทศไทยทศวรรษหลังๆ จึงเป็นการตัดสินใจทางจริยศาสตร์ว่า จะเลือกอยู่ข้างใดโดยปริยาย เช่น เชื่อว่าเลือกพรรคนี้จะไม่มีการโกงกินอย่างแน่นอน เนื่องจากยอมรับจากโกงกินไม่ได้ หรือ เลือกพรรคนี้แล้วตนเองจะได้รับประโยชน์มากกว่าเพราะทุกพรรคก็โกงกินอยู่แล้ว ปัญหาทางจริยศาสตร์ลักษณะนี้ในประเทศไทย ยังพัฒนาไปต่ออีกว่า สมมติถ้าจะเลือกปีศาจตัวที่ร้ายน้อยที่สุด ใครเป็นปีศาจตัวนั้น? และอะไรเป็นเกณฑ์ทางจริยศาสตร์ที่จะชี้วัดว่า ปีศาจตัวหนึ่งจะชั่วร้ายมากหรือน้อยกว่าปีศาจอีกตัวหนึ่ง? ยังไม่นับว่า การศึกษาเรื่องนี้ตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับความจริงหรือไม่ เพราะ ถ้าเรื่องหักมุมเป็นว่า "คนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดีอุดมคติ คือ ปีศาจตัวที่ชั่วร้ายมากที่สุด" จะเป็นอย่างไร? สรุป สมมติเราตั้งต้นว่า มีความลักลั่นทางจริยศาสตร์ในประเทศไทย และสมมติว่าเรามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในระดับที่จะชวนให้ผู้อื่นเชื่อได้ว่า น่าจะเป็นความจริง อะไรน่าจะเป็นประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการศึกษานี้? กล่าวคือ อย่างน้อยที่สุด เราน่าจะเข้าใจมากขึ้นว่าอะไร คือ ความหลากหลาย ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ ความเหลื่อมล้ำ เพราะการที่ประเทศไทยมีฐานทางจริยศาสตร์หลากหลาย ย่อมไม่เหมือนกับ ประโยคที่บอกว่า ประเทศไทยมีฐานทางจริยศาสตร์เหลื่อมล้ำ เช่น เราจะไม่กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกันตัวนักโทษที่เป็นญาติผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมือง ในขณะที่ ไม่อนุญาตให้ประกันตัวนักโทษที่เป็นประชาชนธรรมดา เป็นความหลากหลายทางจริยศาสตร์ แต่นั่นเป็นความเหลื่อมล้ำ ที่สะท้อนให้เห็นภาพของชนชั้น ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยที่ยอมรับการถูกกดขี่ทางสังคมด้วยการยอมจำนนตามโลกทัศน์แบบโบราณ ซึ่งใครก็ตามที่ฉลาดแกมโกงพอที่จะฉวยโอกาสการสร้างภาพเป็นคนดี ก็จะอาศัยช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนี้ประกอบสร้างความเป็น "คนดีในอุดมคติ" ขึ้นมา และ ถ้าเรื่องหักมุมเป็นว่า "คนที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดีอุดมคติ คือ ปีศาจตัวที่ชั่วร้ายมากที่สุด" จะเป็นอย่างไร? หรือเป็นไปแล้ว? อ้างอิง [1] พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย. http://thaipolitictionary.com/2012/04/10/ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป [2] Zygmunt, Bauman. Postmodern Ethics , Oxford and Cambridge: Blackwell, 1993. P.5 [3] Gilles Lipovetsky.Le devoir du crepuscule,1992
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตำรวจตั้ง 3 ปมสังหาร ‘ผู้ใหญ่จบ’ น้องชายชี้ปมต้านนายทุนทิ้งกากสารพิษ Posted: 27 Feb 2013 08:46 PM PST
จากเหตุการณ์มือปืนใช้รถเก๋งไม่ทราบยี่ห้อ สีดำ เป็นพาหนะใช้อาวุธปืนขนาด 11 ม.ม. บุกยิงนายประจบ เนาวโอภาส หรือผู้ใหญ่จบ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ 14 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ต.หนองแหน ขณะนำรถกระบะมาซ่อมที่อู่ใน อ.พนมสารคาม ถูกกระสุน 3 นัดเสียชีวิต สอบสวนพบว่าผู้ตายเป็นแกนนำต่อต้านทิ้งกากสารเคมีในพื้นที่ คาดว่าอาจเป็นสาเหตุให้จ้างวานมือปืนมายิงเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. พล.ต.ต.นิวัฒน์ รัตนาธรรมวัฒน์ รองผบช.ภาค 2 นำกำลังตำรวจเข้าตรวจสอบอู่ซ่อมรถยนต์ก่วยเซอร์วิส ตั้งอยู่ริมถนนพนมสารคาม-บ้านสร้าง ต.พนม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิง เทรา จุดเกิดเหตุมือปืนยิงนายประจบ เนาวโอภาส เสียชีวิต เพื่อหาวัตถุพยานหลักฐานเพิ่มเติม และพบมีกล้องวงจรปิดที่บริเวณหน้าร้านถัดไป จึงนำมาตรวจสอบเพื่อหาเบาะแสคนร้าย จากนั้นเดินทางไป สภ.พนมสารคาม เรียกประชุมนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง พล.ต.ต. นิวัตรกล่าวว่า คดีมีความคืบหน้ามาก สเกตช์ภาพคนร้ายได้แล้ว ส่วนรถยนต์ต้องสงสัยที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด เป็นรถเก๋งยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีดำ จึงส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบตามรายชื่อของผู้ครอบครองแล้ว ส่วนสาเหตุนั้น จากการสอบปากคำคนใกล้ชิดผู้ตาย พบว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องชู้สาว และปมขัดแย้งธุรกิจถมที่ดิน จึงเหลือประเด็นเดียวคือการลักลอบนำกากสารเคมี หรือสารพิษทิ้งในพื้นที่ รอง ผบช.ภาค 2 กล่าวว่า เรื่องที่ 1 เมื่อปี 2552 นายประจบเป็นแกนนำร้องเรียนส่วนราชการต่างๆ เกี่ยวกับบริษัทรีแห่งหนึ่งสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ผู้ตายในฐานะผู้ใหญ่บ้านจึงร่วมกับชาวบ้านคัดค้านบริษัทดังกล่าว จนถึงเคยกระทบกระทั่งข่มขู่กัน ต่อมาบริษัทฟ้องร้องผู้ตายกับพวก และศาลยกฟ้อง อีกทั้งในส่วนของฝ่ายชาวบ้านเองก็แจ้งความดำเนินคดีบริษัทฐานทำให้ เสียทรัพย์ และบางเรื่องก็จบไปแล้ว เรื่องที่ 2 เมื่อปลายปี 2555 นายประจบร่วมกับนายจร เนาวโอภาส พี่ชาย ร้องเรียนบริษัทอีกแห่งลักลอบนำกากสารเคมี หรือสารพิษทิ้งในบ่อลูกรังร้าง จนหน่วยราชการเข้าตรวจสอบ และดำเนินคดีกับบริษัท พร้อมทั้งให้เร่งแก้ไขปัญหา พล.ต.ต.นิวัตรกล่าวต่อว่า จากทั้ง 2 เรื่องนี้ ทางเจ้าหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมว่า เรื่องไหนน่าจะนำไปสู่การสังหาร ผู้ตายรู้ถูกปองร้ายและระวังตัวมาตลอด ระหว่างเกิดเหตุผู้ตายมีอาวุธปืน 2 กระบอกในรถ หลังถูกยิงก็พยายามกระเสือกกระสนไปเปิดประตูรถหยิบปืนยิงต่อสู้ แต่หมดกำลังเสียก่อน เพราะถูกยิงเข้าจุดสำคัญ และ จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่านายประจบถูกยิงเวลา 13.04 น. ส่วนคนร้ายเป็นมือปืนรับจ้างแน่นอน เพราะสุขุม เยือกเย็น หวังผล ส่วนจะเป็นซุ้มไหน กลุ่มไหน อยู่ระหว่างสืบสวนหาข่าว คงจะใช้เวลาไม่นานความจริงจะปรากฏ ส่วนพล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.ภาค 2 กล่าวว่า ตำรวจติดตามเจอรถเก๋งยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีดำ ของมือปืน แต่ต้องตรวจสอบทะเบียนอย่างละเอียดอีกครั้ง ด้าน นายจร เนาวโอภาส อายุ 46 ปี ประธานสภา อบต.หนองแหน พี่ชายนายประจบ กล่าวว่า มั่นใจว่าสาเหตุไม่ได้มาจากเรื่องขัดแย้งธุรกิจรับเหมาถมที่ดิน เพราะแต่ละรายนั้น ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของงานเอง ไม่มีการแข่งขันประมูลงานแต่อย่างใด ส่วนเรื่องชู้สาวนั้นแม้น้องชายจะมีภรรยา 2 คน แต่ก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่เคยทะเลาะวิวาทกัน ดังนั้น ปมสำคัญจึงมีเรื่องเดียวเท่านั้น คือต่อต้านกลุ่มนายทุนลักลอบทิ้งขยะกากสารเคมีในพื้นที่หมู่ 7 และหมู่ 14 ต.หนองแหน นายจรกล่าวว่า เมื่อปี 2552 น้องชายเป็นแกนนำร้องเรียนบริษัทนายทุน ต่อมาทั้งน้องชาย อบต. และชาวบ้าน ถูกบริษัทฟ้องร้อง และขณะร้องเรียนคัดค้านก็ถูกข่มขู่ด้วย แม้ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องไปแล้ว แต่สำนักงานอัยการสูงสุดเรียกผู้ใหญ่บ้าน อบต. และชาวบ้านไปสอบปากคำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อปลายปี 2555 ตนและน้องชายกับอบต.ในพื้นที่อีกหลายคน เป็นแกนนำคัดค้านลักลอบทิ้งกากสารเคมีอุตสาหกรรมในพื้นที่หมู่ 7 ต.หนองแหน จนทำให้หน่วยงานต่างๆ มาตรวจสอบ และดำเนินคดีนายทุน พร้อมสั่งให้เร่งกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เรียบร้อย แต่ปัจจุบันก็ยังไม่แก้ไข ดังนั้น น้ำหนักของคดีน่าเป็น 2 เรื่องนี้มากที่สุด พี่ชายผู้ใหญ่จบกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ นายสุเทพ ทองคำ อายุ 50 ปี อดีตสมาชิก อบต.หนองแหน 2 สมัย แกนนำอีกคนหนึ่งที่ร่วมกันต่อต้านปล่อยน้ำเสียจากสารเคมีในพื้นที่หมู่ 14 ต.หนองแหน ก็ถูกยิงเสียชีวิตหน้าอบต.หนองแหน เมื่อเดือนธ.ค.2555 จนขณะนี้ก็ยังจับคนร้ายไม่ได้ เชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์และสาเหตุที่เชื่อมโยงกัน และก่อนหน้าน้องชายถูกยิงประมาณ 2 สัปดาห์ ยังบอกกับตนว่าให้ระวังตัว เพราะมีกลุ่มมือปืนเข้ามาในพื้นที่ และยังบอกว่าถ้าตนเองหรือคนใดคนหนึ่งในกลุ่มเป็นอะไรไป มีสาเหตุเพียงเรื่องเดียว คือการต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่สร้างปัญหาให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น