โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'โสภณ พรโชคชัย' ว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-โชว์ปัญหาสิ่งแวดล้อม

Posted: 20 Feb 2013 12:40 PM PST

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โชว์ว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาระบุมีการระบายน้ำเสียลงแม่น้ำ ประชาชนริมฝั่งไม่สามารถใช้น้ำได้ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขคุณภาพน้ำเจ้าพระยา ด้าน 'สุหฤท สยามวาลา' ปล่อยแอพพลิเคชั่น สำหรับใช้ชีวิตใน กทม. ส่วน 'จ่าพิชิตฯ' ติงแคมเปญไวรัล "สุหฤทได้แน่" นอกจากจะไม่ได้ผล-อาจทำให้สุหฤทเป็นตัวตลก

'โสภณ พรโชคชัย' ว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา-แถลงเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม

โสภณ พรโชคชัย ว่ายน้ำข่ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านสะพานพระราม 8 ก่อนจะขึ้นเรือมาแถลงนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา (ที่มา: เฟซบุคโสภณ พรโชคชัย)

บรรยากาศหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) นั้น เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. นายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 ได้ไปหาเสียงที่เชิงสะพานพระราม 8 และได้จัดกิจกรรม Urban Swim ด้วยการลงไปว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระบุในคำแถลงว่าเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกรักษาความสะอาดแม่น้ำลำคลอง

โดยนายโสภณ ได้โพสต์สเตตัสเผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 36 "แม่น้ำเจ้าพระยากับการรักษาสิ่งแวดล้อม" ระบุว่า "ผมไปเดินหาเสียงในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า คุณภาพน้ำในแม่น้ำลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบายน้ำเสียจากคูคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำ จะไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคได้ ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นอีกด้วย ที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่คุณภาพน้ำก็ยังลดลง

ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 จึงมุ่งหวังที่จะช่วยกระตุ้นสำนึกในการรักษาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปัญหาจากน้ำทิ้งของชุมชน น้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม และน้ำทิ้งจากเกษตรกรรม เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงหมู เป็นต้น ทั้งนี้ถือเป็นการทวงคืนทวงคืนและรักษาแม่น้ำให้แก่ประชาชน เพราะปัจจุบันนี้แม่น้ำเจ้าพระยากลายสภาพคล้ายที่ระบายน้ำเสีย หรือถูกใช้เพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์เท่านั้น

สำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาควรดำเนินการดังนี้ 

1. กรณีน้ำทิ้งจากชุมชน การขยายจำนวนระบบบำบัดน้ำเสียรวม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน การเข้มงวดให้บ้านเรือนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียให้มีการจัดการน้ำเสียโดยเฉพาะบ้านเรือนและอาคารที่อยู่ริมน้ำด้วยการติดตั้งถังดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับบ้านเรือนและอาคาร  และให้มีการกำหนดค่าบริการบำบัดน้ำเสียรวมไว้กับค่าน้ำประปาตามปริมาณที่ใช้ไป

2. กรณีน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม ปราบปรามให้เด็ดขาดและต่อเนื่องในกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำ ส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด รวมทั้งการจับเก็บภาษีมลพิษทางน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ

3. กรณีน้ำทิ้งจากเกษตรกรรม เข้มงวดต่อการปล่อยน้ำทิ้งและให้มีระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพสำหรับกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การเลี้ยงปลาในกระชัง เป็นต้น

ผมยังขอเสนอให้สร้างถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างละ 2 ช่องทางจราจร รวม 4 ช่องทางจราจร พร้อมลู่วิ่งและช่องทางจักรยานกว้างประมาณ 24 เมตร  โดยให้มีสภาพเป็นเขื่อนกั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทะลักท่วมกรุงเทพมหานคร และยังเป็นเขื่อนปิดที่ป้องกันการแอบระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย  ทั้งนี้ในบางช่วงที่มีพื้นที่จำกัด ยังอาจสร้างเป็นทางยกระดับ 2 ชั้น ไป-กลับเพื่อประหยัดพื้นที่

ในการก่อสร้างอาจทำให้กระทบกับประชาชนริมแม่น้ำให้น้อยที่สุด เช่น การก่อสร้างถนนและเขื่อนดังกล่าวล้ำลงในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากทำประชาพิจารณ์แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครไม่เห็นด้วย ก็อาจต้องเวนคืนบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในนครต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างริมแม่น้ำสายหลัก  

ทั้งนี้การเวนคืนต้องดำเนินการเวนคืนแนวใหม่ คือ การจ่ายค่าทดแทนสูงและเร็ว ไม่ใช่ ต่ำ-ช้า หรือการจ่ายต่ำ ๆ กว่าราคาตลาดและจ่ายช้า ๆ เช่นที่เคยเป็นในอดีต สำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับเงินและย้ายออก กทม. อาจจัดหาที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง โดยก่อสร้างเป็นอาคารชุดที่มีความสูงไม่มากนัก เพื่อผู้อยู่อาศัยไม่ต้องปรับตัวมากนัก และเมื่อก่อสร้างเสร็จจึงค่อยรื้อถอนอาคารออกไป ยิ่งกว่านั้นยังอาจจัดซื้อห้องชุดของภาคเอกชนในการทดแทนที่อยู่อาศัยเดิม เป็นต้น 

และเพื่อเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม กทม. พึงจัดกิจกรรม Urban Swim (http://urbanswim.org) หรือ Open Water Swimming (http://en.wikipedia.org/wiki/Open_water_swimming) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงน้ำธรรมชาติอย่างปลอดภัย กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง  เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีที่เคารพในแม่น้ำลำคลองด้วยการลงไปสัมผัสถึงปัญหาและร่วมใจกันแก้ไข

Urban Swim นี้ ยังถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของคนในกรุงเทพมหานคร เพราะปัจจุบันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาหรือคลองหลัก ๆ ของกรุงเทพมหานคร มีไว้เพื่อการระบายน้ำ และการขนส่งสินค้าทางน้ำในเชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ  ประชาชนที่อยู่ริมน้ำ และลงว่ายน้ำกลับถูกมองว่าเป็นประชาชนที่ "ไม่มีระดับ" ไม่สามารถซื้อหาบริหารว่ายน้ำในสระว่ายน้ำสมัยใหม่ได้" แถลงการณ์ของโสภณ ระบุ

แถลงการณ์ยังระบุต่อไปว่า "ในนครนิวยอร์ก หรือมหานครอื่น ๆ มีการจัดกิจกรรม Urban Swim หรือ Open Water Swimming กันอย่างกว้างขวาง แต่มหานครเหล่านี้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถว่ายน้ำได้ตลอดปี เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นต่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือประเทศไทยโดยรวมที่สามารถว่ายน้ำได้ตลอดปี กิจกรรมว่ายน้ำหมู่เช่นนี้จึงควรได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่ควรรณรงค์ให้เกิดขึ้นก็คือ การรณรงค์อาสาสมัครรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา เช่นที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำฮัดสัน นครนิวยอร์ก โดยมีจุดตรวจที่ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ 18 จุด ในกรณีกรุงเทพมหานคร อาจสามารถตรวจและรายงานได้นับร้อยจุดตลอดวัน และหากจุดใดมีการปล่อยน้ำเสีย ก็สามารถแจ้งกับทางราชการและสื่อมวลชนมาตรวจจับได้ทันที

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น กิจกรรมพายเรือในวันหยุดในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือไปตามลำคลองต่าง ๆ เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม อาจจะได้ดมกลิ่นน้ำเน่าบ้าง เราจะได้เรียนรู้ ไม่ใช่มาร่วมงานแบบประเดี๋ยวประด๋าว เพราะประชาชนสองฝั่งคลองดมอยู่ตลอดวัน ตลอดปี ตลอดชาติอยู่แล้ว นอกจากนี้สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ยังอาจมาร่วมบริจาคเงินเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนที่ขาดน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา หรือในพื้นที่กันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือไปช่วยเหลือหมู่บ้านกันดารในประเทศอินโดจีนหรือเมียนมาร์ เพื่อการสร้างสมานฉันท์อันดีระหว่างประเทศ

มาร่วมกันทวงคืนแม่น้ำเจ้าพระยา และแสดงความเคารพอย่างแท้จริงต่อแม่น้ำของเรา"

 

สุหฤทปล่อยแอพฯ สำหรับใช้ชีวิตใน กทม. "จ่า Drama Addict" ติงแคมเปญไวรัล "สุหฤทได้แน่"

แอพฯ สำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ โดยสุหฤท สยามวาลา (ที่มา: DJ Suharit Siamwalla)

ขณะเดียวกัน สุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17 เมื่อวานนี้ ได้โพสต์นโยบาย "แอพฯสำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ" โดยโพสต์ว่า "คงจะดีไม่น้อยถ้าได้ความรู้สึกใหม่ในการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้ข้อมูลและวางแผนชีวิตชีวิตได้ คงจะดีไม่น้อยถ้าไปติดต่อหน่วยงานในกรุงเทพฯแล้วสามารถใช้มือถือบอกได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง นัดคิวติดต่องาน เรามี smartphone ในกรุงเทพฯ ร่วมสองล้านเครื่องและในอีกสี่ปีคงเพิ่มอีกเท่าตัว มาเปลี่ยนชีวิตในกรุงเทพฯกันครับ"

นอกจากนี้สุหฤทยังได้โพสต์ม็อตโต้ "สุหฤทได้แน่" โดยหวังให้เป็นไวรัลแคมเปญ ให้มีการแชร์และบอกต่อกันไปมากๆ ทั้งนี้หลังการโพสต์ได้มีคนกดไลค์ และแชร์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" แอดมินเพจ Drama Addict ซึ่งเคยประกาศเป็นผู้สนับสนุนสุหฤท ได้โพสต์สเตตัส เตือนว่า "ขอเตือนกลุ่มคนที่คิดจะใช้แคมเปญไวรัล "สุหฤทได้แน่เลยว่ะ" หาเสียงให้สุหฤทสยามวาลาการที่ประโยคๆนึงจะกลายเป็นไวรัลได้นั้น มันไม่ใช่ว่าคนจำนวนนึงพูดถึงคำนั้นแล้วจะกลายเป็นไวรัลขึ้นมา มันต้องมีเนื้อเรื่องที่กระแทกใจคนอยู่เบื้องหลัง มีประโยคที่โดนใจโดยธรรมชาติ เป็นเรื่องราวที่ตลกขำขัน น่าเสียดสี น่าบอกต่อด้วยตัวเอง การที่คนกลุ่มนึงคิดแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่อให้สุหฤทสยามวาลาข้ามฟากจากโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงนั้น นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังจะทำให้สุหฤทสยามวาลากลายเป็นตัวตลกไปในทันที กลับไปคิดแคมเปญมาใหม่เหอะ ไปปรึกษามาร์เก็ตติ้งหรือคนที่รู้จริงเรื่องไวรัล อย่าไปฟังคำพูดของพวกมือสมัครเล่น มีแต่จะพากันไปตายหมู่เปล่าๆ"

 

"นิด้าโพล" ระบุความนิยมคุณชายตีตื้นพงศพัศ

นอกจากนี้ เดลินิวส์ ได้รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง "คนกรุงฯ  กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โค้งที่ 5" โดยสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 ก.พ. จาก 1,485 หน่วยตัวอย่าง กับคำถามว่า "หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่า กทม."  โดยพบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 26.80 ระบุว่าจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมา ร้อยละ 25.86 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 4.58 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ ร้อยละ 1.62 จะเลือก นายสุหฤท  สยามวาลา ร้อยละ 0.67 จะเลือก นายโฆษิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.34 จะเลือกผู้สมัครอิสระ อื่นๆ เช่น นายณัฐดนัย  ภูเบศร์อรรถวิช นายสมิตร สมิทธินันท์ ร้อยละ 36.84 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 3.30 ระบุว่าไม่ลงคะแนนเสียง

โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้สัมภาษณ์เดลินิวส์ว่า คะแนนของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เริ่มไล่กระชั้นคะแนนของ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเดิมห่างกันประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคะแนนของผู้สมัครรายอื่นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่จำนวนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเริ่มมีจำนวนลดลง โดยผู้ที่เลือก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนผู้ที่เลือก พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานอิเล็คโทรลักซ์และนักสหภาพแรงงาน ร้องทูตฯ เม็กซิโก เคารพสิทธิแรงงงาน

Posted: 20 Feb 2013 09:51 AM PST

นักสหภาพแรงงานไทยร่วมกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์สมานฉันท์กับขบวนการแรงงานเม็กซิโก ชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ร้อง รบ.ปกป้องสิทธิแรงงาน-มนุษยชน ด้านเอกอัครราชทูต แจงทางการเม็กซิโกกำลังสืบสวนแต่ละกรณีปัญหา

ภาพกิจกรรมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก

20 ก.พ. 56 เวลา 10.30 น.ที่หน้าอาคารไทยวาห์ ถ.สาทรใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก ประจำประเทศไทย นักสหภาพแรงงานประมาณ 40 คน จาก สหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ กลุ่มสหกรณ์คนงานธาร์ยอาร์ม กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ชุมนุมแสดงสมานฉันท์ร่วมกับขบวนการแรงงานเม็กซิโกและสหภาพแรงงานสากลอินดัสตรีออล (IndustriALL Global Union) ในการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลเม็กซิโกเคารพ ปกป้องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองเพื่อมาตรฐานการจ้างงานและการดำรงชีพที่ดีสำหรับคนงานทุกคน โดยการชุมนุมดังกล่าวจัดขึ้นในสัปดาห์นี้พร้อมๆ กับประเทศอื่นทั่วโลก

โดยในแถลงการณ์ของนักสหภาพแรงงานกลุ่มนี้ระบุถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนในประเทศเม็กซิโก อาทิ กรณีบริษัท PKC บริษัทสัญชาติฟินแลนด์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เลิกจ้างสมาชิกและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งคณะกว่า 100 คน ที่เมือง Ciudad Acuna ประเทศเม็กซิโก หลังจากที่พวกเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเหล็กและเหมืองแร่ Los Mineros กรณีสมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้า (SME) ถูกเลิกจ้าง 16,599 คน หลังจากคณะกรรมการกิจการไฟฟ้าเข้ามาบริหารแทนรัฐวิสาหกิจ แม้ศาลแรงงานเม็กซิโกออกคำสั่งคุ้มครองไม่ให้เลิกจ้างและให้โอนพนักงานทั้งหมดมาเป็นพนักงานของคณะกรรมการกิจการไฟฟ้า แต่คณะดังกล่าวไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาล และกรณีการเรียกร้องให้เร่งค้นหาคนงานเหมืองกว่า 63 ชีวิตที่เสียชีวิตและติดอยู่ในเหมืองหลังเกิดอุบัติเหตุเหมืองแร่บริษัท GRUPO ถล่ม เมื่อ ก.พ.49 แต่รัฐบาลเม็กซิโกและบริษัทไม่ยอมค้นหาร่างคนงานที่ยังถูกฝัง รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุ

ต่อมา เวลา 11.00 น. เอกอัครราชทูตโคร์เฆ่ เชน (Jorge Chen) อนุญาตให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าพบพร้อมรับหนังสือ พร้อมชี้แจงผ่านล่ามว่า กรณีปัญหาต่างๆ ตามที่ระบุมาในหนังสือร้องเรียนนั้น ทางการเม็กซิโกกำลังดำเนินการและสืบสวนอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ปัญหา ประกอบกับมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ล่าช้า ส่วนบางกรณีที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมนั้น ประเทศเม็กซิโกก็เหมือนในหลายประเทศที่ต้องใช้เวลา

สำหรับกรณีเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายแรงงาน เอกอัครราชทูตฯ ชี้แจงว่า เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลใหม่และรัฐสภาขณะนี้ไม่ได้มีพรรคใดมีเสียงข้างมาก ดังนั้นการจะปฏิรูปกฎหมายแรงงานให้มีความเป็นธรรมนั้นจึงไม่ได้อยู่ที่อำนาจของรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่ต้องได้รับความเห็นฟ้องจากฝ่ายค้านด้วย

สุดท้ายเอกอัครราชทูตฯ ได้รับปากกับตัวแทนนักสหภาพแรงงานที่เข้าพบว่าจะนำข้อร้องเรียนดังกล่าวส่งถึงรัฐบาลเม็กซิโก และแสดงความขอบคุณที่คนงานไทยมีความห่วงใยในสิทธิของคนงานเม็กซิโกด้วย พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่าหากมีประเด็นใดเพิ่มเติม ก็ยินดีให้หารือได้ในอนาคต

เอกอัครราชทูตโคร์เฆ่ เชน รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนคนงาน

น.ส.จิตรา คชเดช ตัวแทนเข้าพบเอกอัครราชทูตและผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงานธาร์ยอาร์ม กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการแสดงออกซึ่งการสมานฉันท์ระหว่างคนงานทั่วโลก เพราะไม่ว่าเรื่องจะเกิดขึ้นที่ใด เราเชื่อว่าคนงานทั่วโลกก็จะเห็นเป็นประเด็นร่วมกัน และจะออกมาสนับสนุนสิทธิการรวมตัวการเจรจาต่อรอง ความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน รวมถึงการป้องกันการคุกคามนักสหภาพแรงงาน

ขณะที่ น.ส.สมพร ตราพระสาโธ กรรมการสหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ ซึ่งประสบปัญหาการถูกเลิกจ้าง และชุมนุมต่อเนื่องร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลที่หน้าทำเนียบตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา กล่าวหลังการเข้าพบเอกอัครราชทูตว่า วันนี้ต้องการมาช่วยคนงานที่เม็กซิโกที่เป็นคนงานเหมือนกัน ซึ่งถูกกระทำเหมือนกับพวกตน จึงเดินทางมาเรียกร้องให้พวกเขาได้กลับเข้าทำงานเหมือนที่พวกตนต้องการ มองว่าการเลิกจ้างที่ตนเองและที่คนงานเม็กซิโกประสบนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากผู้ที่ถูกเลิกจ้างมักเป็นแกนนำสหภาพแรงงาน

หนังสือร้องเรียน(ฉบับแปล)ที่ยื่นต่อเอกอัครราชทูตฯ :

สถานเอกอัครราชทูตเม็กซิโก

กรุงเทพฯ

                                               20 กุมภาพันธ์ 2556

เรียนฯพณฯ เอกอัครราชทูต

ขบวนการแรงงานในประเทศไทยได้รับแจ้งจากขบวนการแรงงานสากลอินดัสตรีออล (IndustriALL Global Union) เรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนในประเทศเม็กซิโก

พวกเรามีความเป็นห่วงในเรื่องต่อไปนี้:

  • Protection Contracts: ปัญหาข้อตกลงสภาพการจ้างที่บริษัทในเม็กซิโกทำกับสหภาพแรงงานที่นายจ้างแทรกแซง/จัดตั้งขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการกีดกันการรวมกลุ่มสหภาพแรงงานที่แท้จริงของคนงานในเม็กซิโก ข้อตกลงฯ ดังกล่าวมักมีสาระเพียงแค่มาตรฐานขั้นตำที่ระบุในกฎหมายแรงงานอยู่แล้ว และทำให้คนงานที่รวมตัวกันเพื่อต่อรองสภาพการจ้างหรือต้องการปรับปรุงสภาพการจ้างทำไม่ได้เพราะติดปัญหา Protection Contracts (ข้อตกลงผูกมัดคนงานในสถานประกอบการ)  
  • ปัญหาอุบัติเหตุเหมืองแร่เมื่อปี 2549 ซึ่งคนงานเสียชีวิตถึง 65 คน  รัฐบาลและบริษัทเหมืองแร่ Grupo ไม่ได้ดำเนินการให้มีการสอบสวนถึงสาเหตุที่แท้จริงรวมถึงไม่มีการนำร่างคนงานที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเหมืองแร่ครั้งนั้น 63 ขึ้นมา
  • การแก้ไขกฎหมายแรงงานในทางที่ไม่ก้าวหน้า

นอกจากนี้เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของประเทศเม็กซิโกพาผู้นำแรงงานเม็กซิโก คุณนโปเลียน โกเมซ กลับเม็กซิโกอย่างปลอดภัย คุณโกเมซขณะนี้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา เนื่องจากถูกกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องคดีความภายใต้รัฐบาลที่ผ่านมา คุณโกเมซเป็นคณะกรรมการบริหารอินดัสตรีออล

คนงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ถูกบริษัท PKC บริษัทสัญชาติฟินแลนด์เลิกจ้างในเม็กซิโกหลังจากที่คนงานเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหล็กและเหมืองแร่ Los Mineros  บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานและคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งคณะจำนวนกว่า 100 คน

สมาชิกสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้า SME จำนวนมากกว่า 16,500 คนถูกเลิกจ้างหลังจากรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการกิจการไฟฟ้าซึ่งไม่ยอมรับการโอนพนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงาน ศาลฏีกาเม็กซิโกได้ออกคำสั่งคุ้มครองไม่ให้เลิกจ้างพนักงานแต่คณะกรรมการกิจการไฟฟ้าไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาล

ถึงเวลาที่รัฐบาลประเทศเม็กซิโกจะต้องเคารพและปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการรวมกลุ่มและแก้ปัญหาเรื่องการทำข้อตกลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับคนงาน    

ขอแสดงความนับถือ

กลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุเทพ' ขอคนกรุงเลือกสุขุมพันธุ์เป็นปราการยับยั้งลัทธิแดง - ไม่ให้ลูกหลานน้ำตาตกใน

Posted: 20 Feb 2013 09:48 AM PST

ประชาธิปัตย์หาเสียงช่วยสุขุมพันธุ์ที่อ่อนนุช สุเทพ เทือกสุบรรณ ย้ำกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงด่านสุดท้ายยับยั้งลัทธิแดง ถ้ากรุงเทพฯ แตกพังไปถึงภาคใต้ ฝากพี่น้องกรุงเทพฯ  ช่วยเป็นปราการให้ลูกหลานคนไทยไม่ต้องน้ำตาตกในอนาคต

"สุขุมพันธุ์" หาเสียงอ่อนนุช ชูอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำและแก้จราจร

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ปราศรัยหาเสียงที่อ่อนนุช 39 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ด้านหลังมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.ประชาธิปัตย์ กำลังหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ที่มา: เพจ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร)

บรรยากาศการหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. นั้น เมื่อวานนี้ (20 ก.พ. 56) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 พรรคประชาธิปัตย์ ช่วงเย็นเดินทางมาหาเสียงที่ซอยอ่อนนุช 39 จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้โพสต์ลงสเตตัส ว่า "วันนี้ดีใจที่ได้มาพบพี่น้องย่านอ่อนนุช ปัญหาสองเรื่องที่พี่น้องในพื้นที่นี้อยากให้แก้ไข หรือช่วยบรรเทาคือ เรื่องน้ำท่วมและแก้ปัญาหาจราจร

การป้องกันน้ำท่วมกทม.เหนือและตะวันออก สร้างประตูน้ำใหม่ 5 แห่งตามแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ ระยะทาง 28 กม.เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ประเวศ สวนหลวง บางนา พระโขนง 

สร้างประตูระบายน้ำ และเขื่อนกั้นน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณถนนศรีนครินทร์ โดยดำเนินการในคลองภูมิพล คลองพระขโนงเก่า คลองปากน้ำ คลองหนองบอน และก่อสร้างปรับปรุงระบบระบายน้ำในคลองบางอ้อ 

มีอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 ทำเสร็จไปแล้ว ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ในปี 54 จะสร้างอีกหนึ่งแห่งรับน้ำจากบึงหนองบอนลงเจ้าพระยาที่เขตบางนา และอุโมงค์ยักษ์ไปคลองสุวรรณภูมิ 

จะแก้ปัญหาน้ำจากคลองประเวศที่ไหลลงพระขโนงช้าและล้นตลิ่งด้วยการสร้างแนวเขื่อนฝังเขตประเวศ งบ 700 ล้านพร้อมเดินหน้าทันที 

ส่วนปัญหาจราจรแก้ไม่ได้เพราะต้องยอมรับว่าเรากำลังจะเจอวิกฤตรถล้น รถเยอะ แต่ผู้ว่าฯ มีหน้าที่บรรเทา และวางแผนแก้ไขในระยะยาว ผมจะสร้างระบบขนส่งมวลชนแบบรางขนาดเล็ก เริ่มจาก BTS บางนา ตัดสายสีเหลืองที่วัดศรีเอี่ยม ไปถึง Airport Rail Link ที่สุวรรณภูมิ อีกเส้นที่จะศึกษาเพื่อทำเพิ่มคือบริเวณถนนอ่อนนุชและใกล้เคียง เพราะรถติดมาก ต้องหาทางแก้ต่อไป"

 

"สุเทพ" ขอคนกรุงเทพฯ เป็นปราการยับยั้งลัทธิแดง

สำหรับบรรยากาศการหาเสียงที่ซอนอ่อนนุช 39 เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีปราศรัย กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สั่งมาจากต่างประเทศว่าต้องยึดกรุงเทพฯ ให้ได้ และเหตุการณ์ที่ตนและนายอภิสิทธิ์ เคยเจอถูกล้อมรถจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด จากพวกเสื้อแดงทำให้ตนกลัวเพราะเจอมากับตัวเองในการถูกล้อมรถ ซึ่งคนเหล่านี้มีการดำเนินการทุกอย่างเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเขาไม่เอาระบอบปัจจุบัน เขาประกาศเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นรัฐไทยใหม่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีแผนต้องการปลุกระดมให้คนไทยเกลียดกันเข่นฆ่ากัน ให้เกิดสงครามกลางเมือง ลุกฮือยึดอำนาจเรียกว่าปฏิวัติภาคประชาชน สร้างวาทะกรรม "ไพร่กับอำมาตย์" ลุกขึ้นทำสงครามชนชั้น ให้ออกมาขับไล่อำมาตย์ เพื่อยึดประเทศ

นายสุเทพกล่าวว่า ที่นายอภิสิทธิ์ให้ยุบสภาเพราะไม่ต้องการเห็นกรุงเทพฯ เป็นทะเลเพลิง แต่พอพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล นางธิดา ถาวรเศรษฐ ชนะแล้วก็ยังไม่ยอมหยุด มีการแถลงว่าจะเอาคนเสื้อแดง 2 หมื่นคนมาคุมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะมาข่มขู่คนกรุงเทพฯ ถึงขนาดข่มขู่ว่า สน.ไหน พื้นไหนแพ้สุขุมพันธุ์ จะโดนย้าย ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เป็นศึกชิงเมืองหลวง ผมมองไม่ออกว่าเขาหวังดีอย่างไรต่อประเทศ กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเป็นด่านสุดท้ายยับยั้งลัทธิแดง ถ้ากรุงเทพฯ แตกพังไปถึงภาคใต้ จึงฝากพี่น้องกรุงเทพฯ  ช่วยเป็นปราการให้ลูกหลานคนไทยไม่ต้องน้ำตาตกในอนาคต เหลือเวลา 10 วันช่วยกันคนไม้คนละมือวันที่ 3 มีนาคม ทำหน้าที่เจ้าของประเทศและเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ  อย่างเต็มภาคภูมิ"นายสุเทพ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมมนาทิศทางไฟฟ้าไทย นักวิชาการชี้ PDP ต้องมาจากข้อสรุปในทางสาธารณะ

Posted: 20 Feb 2013 09:44 AM PST

 

คณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา จัดงานสัมมนา "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2010 (ฉบับที่ 3) กับทิศทางไฟฟ้าไทย" นักวิชาการชี้การทำแผน PDP ต้องมาจากข้อสรุปในทางสาธารณะ ไม่ใช่รวบรัดเหมือนที่เคยทำมา

 
 
20 ก.พ. 56 - ที่สโมสรทหารบก คณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง "แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2010 (ฉบับที่ 3) กับทิศทางไฟฟ้าไทย" 
 
โดยนายวิบูลย์ คูหิรัญ ส.ว.สรรหา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา ด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ปฐกถาพิเศษ "บทบาทนิติบัญญัติกับทิศทางไฟฟ้าของไทย" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ....
 
"ที่ผ่านมาเรามีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าทุกประเภทมาโดยตลอด แม้แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งที่จริงแล้วจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ที่อ่าวไทย แต่ก็ถูกต่อต้านจนเลิกไป ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ต่อต้านกันตลอด ที่พอจะสร้างได้ก็ใช้เชื้อเพลิงก๊าซเป็นส่วนใหญ่ โดยจะสร้างตามแนวท่อที่มีอยู่ ทำให้เกิดผลเสียอยู่เหมือนกัน เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะกระจุกตัวตามแนวท่อ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาก๊าซจากพม่าขาดก็จะเกิดปัญหาขึ้นเพราะโรงไฟฟ้ากระจุกตัวตาม ส่วนพลังน้ำผลิตได้ 2% กว่า พลังงานไฟฟ้าจากลาว 4%  แต่ที่ใช้ก๊าซสูงถึง 68% ลิกไนต์ ถ่านหิน 20% พลังน้ำ 8% เชื้อเพลิงอื่นเล็กน้อย
 
ทางออกขณะนี้ การจะต้องเร่งทำตามแผน PDP 2010 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ตามแผนนี้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ เนื่องจากเราเห็นว่าที่ผ่านมาใช้ก๊าซมากเกินไป เวลาเกิดปัญหาจะลุกลามทั่วไปหมด เราจึงคิดว่าน่าจะต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่นเช่น ถ่านหิน ซึ่ง กฟผ.ก็มีโครงการจะสร้างที่กระบี่ 4,000 เมกกะวัตต์ และอีกส่วนคือ พลังงาน เราน่าจะต้องเร่งรัดรัฐบาลให้ช่วยอย่างจริงจังในการเจรจาสร้างเขื่อนที่พม่า เพราะรัฐบาลพม่าการเจรจาจะยาก หากจะให้ กฟผ.เจรจาแต่ผู้เดียวความหนักแน่นจะน้อยไปหน่อย ควรให้รัฐบาลเป็นผู้ประสานอย่างจริงจังโดยที่ท่านซางกับฮัตจีรวมกันแล้วกว่าแปดพันเม็กกะวัตต์ ซึ่งจะลดการใช้แก๊ซในประเทศได้ รวมทั้งการสร้างเขื่อนในลาว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้เร็วที่สุด รวมถึงการเจรจากับชาวบ้านในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ ของไทยเทคโนโลยียังไม่ดีนัก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องสิ่งแวดล้อมมีมาตรฐานดีขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน
 
ทั้งนี้ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านถ่านหินน่าจะไม่มีปัญหา แต่ที่เรายังคงเป็นห่วงก็คือเรื่องระบบขนส่ง ซึ่งเท่าที่เราไปดูมาบตาพุดใช้ระบบปิด ไม่มีมลพิษ จะเห็นว่ามีการแก้ไขตลอด ซึ่งก็วางใจได้ระดับหนึ่ง อีกส่วนที่น่าต้องเตรียมการคือ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนต้องมี 2 โรง ต้องเตรียมการโดยเฉพาะกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ที่จะมาควบคุมมาตรฐานในการก่อสร้าง วิธีการควบคุมตรวจสอบการดำเนินการ ทาง กฟผ.ตอนนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาอยู่ เพียงแต่ว่ากฎหมายยังไม่ได้ออก คงต้องรีบออกให้เป็นไปตามมาตรฐานให้ได้ 
 
ปัญหาทั้งหมดควรต้องเร่งด้านนิติบัญญัติที่จะต้องมาช่วยแก้ไข เช่น การเร่งการออก พ.ร.บ.เพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 67 วรรค 2 ในมาตรานี้จะระบุว่าในการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมระดับใหญ่ต้องมีการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทำประชาพิจารณ์ แต่ในขณะนี้ไม่มี พ.ร.บ.มารองรับมาตรานี้ มีแต่เพียงกฎระเบียบของกระทรวง ควรเร่งออกเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจน ถ้ามีออกมาแล้วเมื่อจะก่อสร้างโรงไฟฟ้า ถ้าทำอีไอเอ ประชาพิจารณ์แล้ว ถ้ามันดีกว่ากฎหมายกำหนด ประชาชนก็น่าจะยอมรับได้ การต่อต้านก็น่าจะเบาบางลง
 
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า มักมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ ที่ตั้ง ทางนิติบัญญัติได้มีส่วนในการพิจารณาปัญหา เห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการการพลังงาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการรอนสิทธิเพื่อนำมาสร้างเขื่อน สายส่ง สถานีย่อย แต่ไม่มีเรื่องโรงไฟฟ้าอยู่ในนั้น เพราะปี 2550 ที่ออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี IPP แล้ว กฟผ.เปิดประมูลให้เอกชน การมารอนสิทธิทำไม่ได้ เราเสนอว่าควรหาทางเพิ่มเติม พ.ร.บ.นี้ หรือสร้าง พ.ร.บ.ใหม่เพื่อรองรับ ให้ครอบคลุมเพื่อจะรอนสิทธิเพื่อสร้างโรงไฟฟ้า หรืออาจรวมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ว่าจะให้เป็นจุดสร้าง แม้แต่ IPP ก็อาจให้ กฟผ. และกระทรวงพลังงานรอนสิทธิ แล้ว IPP เป็นผู้เช่า 
 
อีกประเด็นคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะนี้เรามีกฎหมายที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์เฉพาะด้านสันติเท่านั้น ไม่มีเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้า เรานำเสนอไปว่า น่าจะต้องเร่งทำกฎหมายนี้ออกมาเพื่อที่จะมีมาตรฐานในการควบคุม ถ้ามีกฎหมายแล้วน่าจะเป็นทางออกช่วยให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไปได้ 
 
นอกจากนี้ในแผน PDP มีเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน เราทำแต่เฉพาะแต่หน่วยงานด้านพลังงานอย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายยังไม่มีกฎระเบียบ เช่น ผังเมือง หรือ นิคมอุตสาหกรรม น่าจะต้องมีกฎระเบียบที่ออกมาช่วยให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นไปตามเป้าหมายในแผน" 
 
รองปลัด ก.พลังงาน ชี้วิกฤตที่จะเกิดใน เม.ย. เกิดจากพึ่งก๊าซมากเกินไป
 
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงกรณีวิกฤตภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจเกิดในเดือนเมษายน 2556 นี้ที่จะเป็นช่วงพีคของการใช้ไฟฟ้า เหตุเนื่องมาจากก่อนปีใหม่ ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย แปลง B17 ผลิตก๊าซได้สูงสุด 330 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีเรือสินค้าใหญ่ทอดสมอ สมอเกี่ยวกับท่อขนก๊าซธรรมชาติเหลว หรือน้ำมันเบา ระหว่างแท่นผลิตไปยังเรือกักเก็บ ท่อจึงรั่ว มาตรฐานความปลอดภัยของการผลิตก๊าซเจอสภาพนี้ต้องหยุดทันที เรือที่เก็บก็เต็มด้วยจึงต้องหยุดผลิต จะหาใครซ่อมก็ลำบากคนหยุดกันหมด ใช้เวลาซ่อม ก๊าซหายไปจากระบบ 350 ล้านลูกบากศ์ฟุต พอดี B17  ส่งมาไทยทั้งหมด
 
พื้นที่ร่วมไทยมาเลย์ ผลิตก๊าซได้ 1,200 ล้านลูกบากศ์ฟุตต่อวัน มาไทย 800 (จะนะ 120 , เอ็นจีวี 5, ที่เหลือขึ้นมาที่ระยองหมด เป็นก๊าซผลิตไฟฟ้าและแอลพีจี) ส่วนแหล่งยาดานา ผลิต 600 ล้านลูกบากศ์ฟุตต่อวัน ทำการผลิตมาสิบกว่าปีแล้ว จำเป็นต้องปิดซ่อมเพราะตรวจสอบแล้วว่าพื้นทะเลที่แท่นผลิตตั้งอยู่มีการทรุดตัว เขาแจ้งจะหยุดตั้งแต่เดือนมีนา เราขอให้ประวิงเวลา มาได้นานสุด 4 เม.ย. ทั้งนี้ก๊าซยาดานามีความร้อนสูง ถ้าเอามาเข้าผลิตไฟฟ้าของไทยจะเกิดอาการเครื่องน๊อค ต้องผสมกับความร้อนต่ำที่เยตากุน ทำให้เยตากุนหยุดผลิตไปด้วย รวมแล้ว 1,100 ล้านลูกบากศ์ฟุตต่อวัน เท่ากับ 1 ใน 4 ของความต้องการใช้ก๊าซที่เราคาดว่าจะใช้ในเดือนนั้น โชคดีว่าแหล่งก๊าซ JDA ซ่อมท่อเสร็จแล้ว กลับมาผลิตแล้ว 
 
ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมเมื่อปีที่แล้ว (2555) ในภาวะการฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยเมื่อปี 2554 มียอดการใช้ไฟฟ้าพีคถึง 26,161 MW ทั้งที่เคยคาดว่าจะพีค 25,000 MWเท่านั้น ดังนั้นเรื่องไฟฟ้าที่คนเราสุขสบายมาตลอด ไม่เคยเห็นไฟฟ้าดับ ก็เลยนึกว่ามันจะต้องติดเสมอไป กว่าจะได้ไฟฟ้ามาต้องวางแผน ลงทุน ป้องกัน ฯลฯ ฉะนั้น กระทรวงพลังงานได้ออกมากระตุกความคิดแจ้งข่าว เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ 
 
โดยอุทธาหรณ์วิกฤตไฟฟ้า อยากเน้นว่า วิกฤตที่จะเกิดใน เม.ย. ไม่ใช่เกิดจากการที่เรามีกำลังผลิตไม่พอ แต่เกิดจากเรามีความเสี่ยงเรื่องเชื้อเพลิงที่อาจไม่มาให้โรงไฟฟ้าใช้ เหตุเพราะโรงไฟฟ้าหลักของประเทศใช้ก๊าซธรรมชาติ พึ่งพาก๊าซมากเกินไป 
 
อภิปรายทิศทางไฟฟ้าไทย นักวิชาการชี้ PDP ต้องมาจากข้อสรุปในทางสาธารณะ
 
ในช่วงการอภิปราย "ทิศทางการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย" ซึ่งผู้นำการอภิปรายประกอบไปด้วย นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, นายมงคล สกุลแก้ว รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
 
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงอุปสรรคหนึ่งในการเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานนั่นก็คือการต้านของภาคประชาชนในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ เสมอใจระบุว่าในเรื่องของการประท้วงของชาวบ้านในที่ต่างๆ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ นั้น ตนเองสนับสนุนด้วยซ้ำให้ชาวบ้านฟ้องศาลปกครองควบคู่กันไปด้วย เพราะจะทำให้หน่วยงานที่จะเดินหน้าสร้างในที่ต่างๆ ต่อมีข้อกำหนดด้านกฎหมายที่ชัดเจน ว่าสิ่งไหนทำได้หรือทำไม่ได้
 
ส่วนเรื่องพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานนั้น ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงต่างประเทศเองก็มีการนำเรื่องเหล่านี้ใส่ไปในข้อกีดกันทางการค้าบ้างแล้ว
 
ด้านความท้าทายเรื่องการวางแผนด้านพลังงานนั้น สะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้เราต้องมี PDP เพราะหน่วยงานด้านการผลิตไฟฟ้าของไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถามว่าเรากล้าไหมที่จะเปลี่ยนให้หน่วยงานรับผิดชอบด้านการผลิตไฟฟ้าแปรรูปไปเป็นเอกชนเลย รวมทั้งเราต้องมองถึงเรื่อง ASEAN Power Grid ส่วนอนาคตด้านพลังงานของประเทศก็ต้องทำให้เกิดการสะท้อนราคาด้านต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งสนับสนุนตลาดเสรีในด้านพลังงาน
 
นายมงคล สกุลแก้ว รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ระบุว่าปัจจุบันเราทำสัญญาซื้อไฟจากลาวจำนวนมาก ซึ่งในสัญญาระบุว่าการเชื่อมโยงสายส่งมาที่ กฟผ.นั้นต้องขายให้ กฟผ.ผู้เดียว ทางกายภาพก็ส่งให้คนอื่นไม่ได้ จึงไม่มีความเสี่ยงมากนัก และในสัญญาระบุไว้ด้วยว่ารัฐบาลลาวจะไม่แทรกแซงด้วย ซึ่งความมั่นคงด้านพลังงานของไทยก็ต้องพึ่งพาต่างประเทศ หากเชื้อเพลิงไม่เพียงพอก็ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศแบบนี้ 
 
และเมื่อเทียบเรื่องเชื้อเพลิงแล้ว เมื่อเทียบถ่านหินกับก๊าซเป็นตัวเลือก พบว่าถ่านหินมีปริมาณสำรองในโลกสูงมาก ราคาไม่เคลื่อนไหวมากไม่เหมือนก๊าซ และถ่านหินก็มีความเสี่ยงต่ำ แต่ปัจจุบันไทยกลับผูกเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานไว้กับก๊าซแทน
 
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการแผน PDP นั้นถูกล๊อคไว้ในหลายมิติซึ่งน่าเห็นใจ ทั้งนี้เมื่อพูดถึงการวางแผน ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือเรื่องความพอเพียงและมั่นคง ซึ่งต้องมีการสร้างสมดุลย์ในสองเรื่องนี้
 
ส่วนเรื่องแผน PDP ปัจจุบันของไทย นั้นมีการพยากรณ์โหลด ซึ่งยังคงใช้ระบบ End Use Model อยู่ ทำให้ผลการพยากรณ์ในปีท้ายๆ มักจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง แต่เมื่อมองในความเป็นจริงตามสถิติ 20 ปีก่อนพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยเป็นแบบ Linear มาตลอด ซึ่ง ศ.ดร.บัณฑิต มองว่าการพยาการณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงเกินจริงไปหรือไม่ โดยเฉพาะปีท้ายๆ ของแผน PDP
 
ในเรื่องการกระจายด้านเชื้อเพลิงก็พบว่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศยังกระจุกตัวที่การใช้ก๊าซมากเกินไป รวมถึงเรื่องกำลังการผลิตสำรองซึ่งถ้ามีมากเกินไปก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งนี้การสำรองการผลิตไว้ปริมาณมากๆ นั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชนิดเดียวมากเกินไปอีกด้วย ซึ่งหากมีการกระจายเชื้อเพลิงให้มีหลายประเภทมากขึ้นก็จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ส่วนเรื่องพลังงานนิวเคลียร์นั้นก็คงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยยากมากขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนถ่านหินที่มีเทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น แต่คนก็ยังติดกับภาพในอดีตที่ถ่านหินเคยสร้างปัญหาไว้ ซึ่งตอนนี้ก็คงจะต้องเพิ่มปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 15%
 
นอกจากนี้ ศ.ดร.บัณฑิต ยังได้ระบุว่าสิ่งที่แผน PDP ขาดไปอีกหนึ่งอย่างก็คือ การพูดถึงเรื่องระบบสายส่งไว้อย่างละเอียดด้วย ส่วนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนนั้น การจัดทำแผน PDP ในแต่ละครั้งที่ทำมาก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ใช้กระบวนการรวบรัดเกินไป ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและเปิดรับฟังให้มากกว่านี้
 
นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กระบวนการจัดทำแผน PDP นั้นเกิดมานานมากแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 หรือก่อนหน้านั้น แผน PDP มันเป็น State Center Approach ที่ยึดแนวทางของรัฐบาลเป็นหลัก แต่ท่าในขณะนี้สังคมเราซับซ้อนมากขึ้น มีความห่วงและความคาดหวังแตกต่างกันมากขึ้น จำเป็นที่กรบะวนการต้องเปลี่ยนจากเดิมเป็น Society Center Approach ซึ่งเป็นการวางแผนที่ได้ "ข้อสรุปในทางสาธารณะ" จากที่ตอนนี้เราได้เพียง "มติ" ของหน่วยงาน
 
ทั้งนี้ปัจจุบันการตัดสินใจว่าจะใช้โรงไฟฟ้าอะไรบ้างเท่าไรนั้น รวบรัดมาก ในการ Revision ครั้งที่ 3 นี้เราใช้เวลาเพียง 9 วัน จัดเวทีรับฟังครั้งเดียว สะท้อนว่าตัดสินใจมาก่อนล่วงหน้า แล้วก็ประกาศ พร้อมปกป้องสิ่งที่ประกาศไป นำมาสู่ความขัดแย้ง การเชิญประชุมก็ประกาศสาธารณล่วงหน้า 5-6 วัน ช่องทางหลังจัดเวทีก็ไม่มี ควรต้องมีช่วง Public Input ที่จะมาปรับแผน และควรมีทางเลือก การเปรียบเทียบทางเลือกอย่างจริงจัง
 
โดยเดชรัตน์ มองว่าจากนี้ไปการทำ PDP จะต้องตอบโจทย์ทางวิชาการ ดังนี้ 
 
1.การจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องพยากรณ์ ซึ่งเป็นความต้องการปกติ แต่หลังจากนั้นมีมาตรการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟได้หรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในการวางแผน PDP เรามีแผนอนุรักษ์พลังงานในปี 2554 เราควรเอาเรื่องนี้มาอย่างเป็นระบบมากขึ้น 
 
2.ระบบสายส่ง เรามีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเยอะในแต่ละพื้นที่ แต่เกิดคอขวดในระบบสายส่ง ในแง่มุมของพลังงานหมุนเวียน บางจังหวัดไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ (บางจังหวัดผลิตได้ 40% ของที่ใช้) ควรมีการอภิปรายกันว่าจะลงทุนตรงจุดไหนอย่างไร และจะมากน้อยแค่ไหนเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน 
 
3.ต้องทำแผน PDP ย่อยในรายภูมิภาค เพราะประชาชนจำนวนมากไม่เข้าใจชัดเจนว่า การมีโรงไฟฟ้า ฟอสซิลก็ตาม หมุนเวียนก็ตาม มันมีความจำเป็นอย่างไร ทุกภาคควรมีส่วนรับผิดชอบในการผลิตเหมือนกัน จะไม่เกิดความรู้สึกนั้นถ้าไม่ย่อยแผนให้ใกล้ตัว ตอนนี้ทดลองทำที่ภาคใต้ และพยายามย่อยไประดับจังหวัด มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าไร มาจากไหนได้บ้าง ในทางปฏิบัติอาจไม่ใช่ส่วนหลักของ PDP แต่จะเป็นหัวใจในการแสวงหาการยอมรับร่วมกัน 
 
4.การจัดทำ PDP ควรทำในลักษณะแผนการจัดการความเสี่ยง ควรมีการยกความเป็นไปได้ในเรื่องความเสี่ยงมาให้หมด เช่น ท่อก๊าซ 2 ท่อหยุดพร้อมกัน จะรับมืออย่างไร น้ำท่วมราชบุรี เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในภาคตะวันออก เศรษฐกิจซบเซายาวนาน ฯลฯ ซึ่งควรยกเป็นหนึ่งบทของการทำแผน PDP เลย 
 
5.หลังทำแผน PDP ต่อไปควรมี Monitoring and Accountability หลังทำแผนเสร็จไป อะไรจะเกิดขึ้นบ้างภายในสิ้นปีนี้ เราแทบไม่รู้เลย ทำได้จริงไหม สมมติฐานต่างๆ ที่พูดไว้มันเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ควรออกรายงานเป็นรายปีของการติดตาม PDP ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าควรจะปรับแผนหรือยัง ปรับเล็กหรือปรับใหญ่ อาจบอกว่าทำอยู่แล้ว แต่ไม่มีการสื่อสารกับสาธารณะ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า’ ยันค้าน ‘เขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง’ จวก ‘ปลอดประสพ’ อย่าลุแก่อำนาจ

Posted: 20 Feb 2013 09:01 AM PST

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ประกาศยืนยันคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง พร้อมเรียกร้องปลอดประสพ อย่าลุแก่อำนาจ จี้ทำตามขั้นตอนกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แนะหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน ชี้ใช้งบน้อยกว่า กระทบต่อป่า-ชุมชนน้อยกว่า

 
20 ก.พ.56 กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ประกาศแถลงการณ์ 'ยืนยันคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เรียกร้องปลอดประสพ อย่าลุแก่อำนาจ จงทำตามขั้นตอนกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ' ณ ศาลาวัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
จากการที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กบอ.ได้ตัดสินใจเลือกที่จะสร้าง เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง โดยจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์
 
แถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่า นายปลอดประสพ และ กบอ. ลุแก่อำนาจ ทำตามอำเภอใจ โดยข้ามขั้นตอนทางกฎหมาย ไม่มีการศึกษาปลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อชุมชน และไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมยืนยันคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เหมือนที่ได้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมาแล้ว 24 ปี
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ระบุด้วยว่า เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จะทำให้เกิดท่วมที่ทำกินเกือบทั้งหมด และยังท่วมป่าสักทองอีกเหมือนเดิม และเสนอให้นายปลอดประสพ และ กบอ.หันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน ที่กระทบต่อป่าและชุมชนน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณน้อยกว่า และยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติด้วย
 
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
 
 
แถลงการณ์ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า
ยืนยันคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง
เรียกร้องปลอดประสพ อย่าลุแก่อำนาจ จงทำตามขั้นตอนกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ
20 กุมภาพันธุ์ 2556 ณ ศาลาวัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
....................
จากการที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กบอ. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กบอ.ได้ตัดสินใจเลือกที่จะสร้าง เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ โดยจะไม่กระทบกับป่าสักทองและชุมชนสะเอียบ นั้น
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่า นายปลอดประสพ และ กบอ. ลุแก่อำนาจ ไม่เคารพกติกาบ้านเมือง ทำตามอำเภอใจ ข้ามขั้นตอนทางกฎหมาย ไม่มีการศึกษาปลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อชุมชน ไม่มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐ ปฏิบัติโดยมิชอบ ข้ามขั้นตอนทางกฎหมาย ขัดต่อ พรบ. สิ่งแวดล้อม 2535 และขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย  การรวบรัดขั้นตอนจนนำไปสู่การขายสัมปทานให้บริษัทข้ามชาติ จึงไม่ต่างกับการขายชาตินั่นเอง กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเรียกร้องให้นายปลอดประสพ กลับไปอ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 และรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งคัด อย่าถือว่าตนมีอำนาจแล้วจะใช้อำนาจตามอำเภอใจ
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนยันว่าหากนายปลอดประสพ และ กบอ. ยังดึงดัน ที่จะสร้างเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นแบ่งออกเป็น 2 ตอน เว้นชุมชนสะเอียบให้อยู่กลางน้ำนั้น เราก็ยืนยันที่จะคัดค้าน เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เหมือนดั่งที่เราได้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมาแล้ว 24 ปี เพราะเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ก็จะท่วมที่ทำกินเราเกือบทั้งหมด และยังท่วมป่าสักทองอีกเหมือนเดิม การตัดไม้สวมตอ การชักไม้ลงอ่างเป็นบทเรียนและประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นมาแล้วกับทุกเขื่อนที่ผ่านมา
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอแนะให้นายปลอดประสพ และ กบอ. ได้หันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน ที่กระทบต่อป่าและชุมชนน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และยังใช้งบประมาณน้อยกว่า และยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติอีกด้วย
 
ด้วยจิตรคารวะ
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศิลปะแนวล้อเลียนการเมืองเบ่งบานช่วงก่อนเลือกตั้งในเคนย่า

Posted: 20 Feb 2013 08:12 AM PST

เคนย่า ประเทศที่มีการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างผู้มีอิทธิพลต่างชนเผ่าจนเคยทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเชื้อชาติมาแล้วในปี 2007-2008 แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ต้องการต่อต้านอิทธิพลทางการเมืองเช่นนี้ผ่านศิลปะแนวล้อเลียนเสียดสีที่ผลิบานขึ้นท่ามกลางบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ผู้สื่อข่าวเจมส์ เรนล์ จากสำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานเรื่องศิลปะล้อเลียนการเมืองในประเทศเคนย่า ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 4 มี.ค. ที่จะถึงนี้

ในเนื้อความได้กล่าวถึงภาพกราฟฟิตี้การ์ตูนรูปอีแร้งในชุดนักการเมืองบนกำแพงของย่านกลางเมืองกรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนย่า อีแร้งในรูปพูดจาเยาะเย้ยกลุ่มชนเผ่าที่ลงคะแนนเสียงให้เขา ขณะเดียวกันก็สื่อถึงการวิพากษ์วิจารณ์การลงคะแนนเสียงโดยคำนึงแค่เรื่องชาติพันธุ์เดียวกันและการทุจริตในการเมืองระดับชาติ

 ผลงาน 'อีแร้ง' ของ มวังกิ
ที่มา http://www.bbc.co.uk

การประท้วงเผาโลงศพเพื่อต่อต้านการเอื้อผลประโยชน์แก่ตนเองของนักการเมือง
ที่มา http://www.trust.org

ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่ากล่าวว่าประเทศเคนย่าเต็มไปด้วยสื่อล้อเลียนทางการเมืองช่วงหนึ่งเดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทั้งจากการ์ตูน, รายการโทรทัศน์ และศิลปะบนท้องถนน

เจมส์ แคมบา เจ้าของร้านของขวัญซึ่งตั้งอยู่ติดกับกำแพงกราฟฟิตี้บอกว่ามีข้อความซ่อนอยู่ในรูปนี้ เขาตีความรูปว่ามันได้สื่อถึงการที่รัฐบาลเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองขณะที่ประชาชนกำลังอดตาย "ภาพนี้เป็นการให้ความรู้ เมื่อคนเห็นมัน พวกเขาก็จะเรียนรู้ แล้วจะไม่ลงคะแนนแบบเดิมอีกต่อไป"

สาธารณรัฐเคนยาเป็นประเทศที่เคยปกครองแบบพรรคการเมืองเดียวคือพรรคสันนิบาตชาติแอฟริกันเคนย่า (Kenya African National Union หรือ KANU) นานกว่า 28 ปี ในช่วงหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1963 ก่อนเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคในเดือน ธ.ค. 1991

พรรค KANU เข้าสู่อำนาจผานการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1964 โดยมีโจโม เคนยัตตา เป็นปธน.คนแรก ก่อนมีการสืบทอดอำนาจโดย แดเนียล อะรับ มอย และแดเนียลก็ได้รับตำแหน่งอีกครั้งจากคะแนนเสียงข้างมากหลังมีการเปลี่ยนแปลงระบอบแล้ว แต่ในการเลือกตั้งปี 2002 ผู้ได้รับชัยชนะกลายเป็น มไว คิบาคิ จากพรรค PNU ซึ่งข้อมูลจากทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยเปิดเผยว่าเป็นครั้งที่แสดงให้เห็น "บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองเคนยา"

อย่างไรก็ตามอัลจาซีร่าเปิดเผยว่าช่วงก่อนการเลือกตั้งวันที่ 4 มี.ค. ชาวเคนย่าต้องเผชิญกับความขัดแย้ง เรื่องบุคคล, เรื่องเชื้อชาติ และเรื่องนโยบาย นอกจากนี้แล้วยังบอกอีกว่า 'กลุ่มผู้สืบทอดอำนาจจากชนเผ่า' ได้หันมามีอำนาจโดยการลงสมัครประธานาธิบดีของเคนย่านับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ อาทิเช่น ไรลา โอดิงกา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มาจากชุมชนชาว Luo ส่วนอูฮูรู เคนยัตตา บุตรชายของโจโม มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเคนย่าคือชาว Kikuyu

ก่อนหน้านี้เคนย่าเคยเหตุการณ์ความไม่ลงรอยกันในช่วงการเลือกตั้งปี 2007 ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างเผ่าพันธุ์จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คนจนทำให้เคนย่าเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองก็ถือเป็นความมัวหมองของประเทศ โดยที่เคนยัตตายังต้องรอขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในเหตุการณ์ปี 2007-2008 ด้วย


'มวังกิ' ศิลปินข้างถนนผู้ได้แรงบันดาลใจจาก 'แบงค์ซี่'

บอนีฟาซ มวังกิ
ที่มา http://hotsecretz.blogspot.com

วิดีโอตัวอย่างรายการ The XYZ Show

บอนีฟาซ มวังกิ เจ้าของผลงานภาพสเปรย์อีแร้งในชุดสูทกล่าวว่าเขาต้องการต่อว่าทั้งนักการเมืองและผู้ลงคะแนน เนื่องจากตัวเก็งหลักๆ ของการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้คือ เคนยัตตาและโอดิงกา ต่างก็เป็นผู้มีอิทธิพลในกลุ่มชนเผ่า

"พวกเขาถูกเลือกเข้ามาโดยคนโง่ คือทั้งตัวผมเองและชาวเคนย่าคนอื่นๆ ที่ยอมให้ฆาตกร, คนข่มขืน และนักปล้นชิงขึ้นสู่อำนาจ ผมไม่ได้อยากทำให้คนหัวเราะ ผมต้องการทำให้พวกเขาโกรธ เพื่อให้พวกเขาได้คิด" มวังกิกล่าว

มวังกิเป็นศิลปินข้างถนนผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปินข้างถนนรุ่นพี่อย่างแบงค์ซี่ (Banksy) ในประเทศอังกฤษเจ้าของผลงาน 'Love is in the Air' ซึ่งเป็นภาพผู้ประท้วงกำลังทำท่าขว้างดอกไม้ มวังกิเคยนำการประท้วงในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาโดยการให้ผู้ประท้วงเผาโลงศพ 221 โลง ชูและป้าย "ฝังอีแร้งไว้ด้วยคะแนนเสียงคุณ" เพื่อเป็นการต่อต้านกลุ่มนักการเมืองที่พยายามแก้กฏหมายให้เงินโบนัสหมดวาระกับตนเอง 107,000 ดอลลาร์ และให้ประโยชน์แก่ตนเองอย่างการจัดงานศพแบบรัฐพิธี

การ์ตูนล้อเลียน การสื่อสารที่เรียบง่ายและทรงพลัง

ขณะที่นักวาดการ์ตูนในหนังสือพิมพ์ดูจะใช้วิธีการจิกกัดที่เบากว่า การ์ตูนชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ The Star วาดภาพของเคนยัตตา และคู่หูของเขา วิลเลี่ยม รุโต สวมชุดนักโทษขณะกำลังใช้แผงควบคุมคอมพิวเตอร์ในคุก ซึ่งสะท้อนเหตุการณ์ที่ผู้สมัครถูกถามอยู่เสมอว่า พวกเขาจะปกครองเคนย่าได้อย่างไรขณะที่ยังต้องรอขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งพวกเขาให้คำตอบที่น่าประหลาดใจมากคือบอกว่าพวกเขาดูแลจัดการเคนย่าได้ผ่านอินเตอร์เน็ตจากฮอลแลนด์

ก็อดเฟรย์ มวัมเปมบวา เป็นนักวาดการ์ตูนผู้มีประสบการณ์เป็นที่รู้จักในนาม 'กาโด' กล่าวว่าการ์ตูนเป็นสิ่งที่สื่อสารไปยังผู้อ่านได้เรียบง่ายและทรงพลัง "มันเข้าถึงง่าย ดูจริง และภาพๆ หนึ่งก็พูดได้เป็นล้านคำ แม้แต่คนที่อ่านหนังสือไม่ออกก็มองภาพการ์ตูนแล้วเข้าใจความหมายง่ายๆ ได้"

กาโด ยังเป็นผู้ทำรายการ The XYZ Show ซึ่งเป็นรายการล้อเลียนการเมืองรายสัปดาห์โดยใช้หุ่นยางขนาดเท่าคนจริงทำล้อเลียนคนดังต่างๆ เช่นครั้งหนึ่งเคยล้อเลียนนายกรัฐมนตรีออกมาร้องเพลงแร็บแบบศิลปินฮิปฮอป Dr.Dre

รายการอีกตอนหนึ่งจัดเป็นฉากแต่งงานเพื่อล้อเลียนการร่วมมือทางการเมืองระหว่างเคนยัตตาและรุโต ซึ่งการร่วมมือกันของทั้งสองคนนี้เป็นเรื่องน่าตกใจมาก เพราะรุโตผู้ที่มาจากชนเผ่า Kalenjin ก็เคยถูกกล่าวหาเรื่องการอยู่เบื้องหลังการนองเลือดเช่นเดียวกับเคนยัตตาแต่ทั้งสองอยู่คนละฝ่ายกันในช่วงวิกฤติปี 2007-2008


เสรีภาพในการแสดงความเห็น และ 'อีแร้ง' ที่ต้องคำนึงถึงประชาชน

กาโดกล่าวว่าการล้อเลียนการเมืองเริ่มบูมในประเทศเคนย่าตั้งแต่เขาเริ่มเป็นนักวาดการ์ตูนลงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ก่อน 20 ปีที่แล้ว ในยุคนั้นเคนย่าอยู่ภายใต้การนำของปธน. แดเนียล อะรับ มอย ผู้นำเผด็จการที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตและละเมิดสิทธิมนุษยชน

"พวกเราก้าวกระโดดไปไกลกว่าเดิมมากและสามารถพูดในบางเรื่องที่เมื่อสิบปีที่แล้วไม่สามารถพูดผ่านโทรทัศน์ได้" กาโดกล่าว "แน่นอนว่ามันเคยมีการต่อสู้ แต่พวกเราก็เข้มแข็งขึ้นและขยายพื้นที่ให้กับการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น"

องค์กรเฝ้าระวังเรื่องเสรีภาพของสหรัฐฯ Freedom House ผู้ทำการวัดระดับเสรีภาพของประชาชนในประเทศต่างๆ ได้จัดให้เคนย่าเป็นประเทศที่ "มีเสรีภาพบางด้าน" ซึ่งถือว่าดีกว่าประเทศในทวีปแอฟริกาหลายประเทศ

แต่ขณะเดียวกันนักล้อเลียนเองก็ถูกวิจารณ์ เช่น รัฐมนตรีดาสมัส ออเตียโน กล่าวหาว่า The XYZ Show เอาคนดังมาล้อเลียนเพียงเพราะต้องการให้ทำเงิน

เรื่องราวการ์ตูนล้อเลียนของเคนย่าทำให้ แองเจลลิค พิธลูด ภริยาเอกอัครราชทูตสวิตเซอแลนด์ประจำกรุงไนโรบีเกิดความสนใจ และได้เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรรศการศิลปะล้อเลียนขึ้น โดยแองเจลลิคเคยประสบกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาปี 1994 มาก่อน เธอบอกว่าก่อนหน้าเหตุนองเลือดรวันดาไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น

"นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสิ่งที่นักเขียนการ์ตูนชาวเคนย่ากำลังทำถึงเป็นสิ่งที่กล้าหาญและมีความสำคัญ การเสียดสีประชดประชันที่เป็นเครื่องมือในการสร้างเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับประชาธิปไตย"

แม้ว่านักเสียดสีจะคอยจิกกัดระบบการเลือกตั้ง แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งเท่าใดนัก จากการสำรวจโพลล่าสุดในเคนย่าเผยให้เห็นว่าเคนยัตตาและโอดิงกานำผู้ลงสมัครคนอื่นๆ อยู่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีสิ่งใดชี้วัดว่าใครจะชนะได้ในรอบแรก

จอย โบยา เจ้าของศูนย์ศิลปะ GoDown ในกรุงไนโรบีกล่าวว่า แม้ศิลปะแนวเสียดสีจะไม่สามารถเปลี่ยนผลการลงคะแนนของผู้คนในทันที แต่มันก็มีความสำคัญอยู่ลึกๆ ต่อการเมืองเคนย่า "นักการเมืองในตอนนี้เล็งเห็นแล้วว่าพวกเขาไม่สามารถวิ่งหนีจากประชาชนและจากสื่อได้ และพวกเราก็รู้สึกว่ามันมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน" จอยกล่าว

ทางด้านมวังกิกล่าวว่า ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งก็ตามแต่เขาก็ยังจะทำงานในเชิงป่วนวัฒนธรรมต่อไป

"ข้อความของเรากำลังส่งไปถึงมวลชนและพวกเราก็ได้เปลี่ยนภาษาของประเทศ" จอยกล่าว "พวกเราไม่ได้เรียกนักการเมืองอีกต่อไปแล้ว พวกเราเรียกพวกเขาว่า 'อีแร้ง' หวังว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคะแนนเสียงตามที่เราต้องการได้"


เรียบเรียงจาก

Kenyan satire takes aim at 'corrupt leaders', Aljazeera, 18-02-2013


ข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อมูลสาธารณรัฐเคนย่า จากเว็บไซต์ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

http://en.wikipedia.org/wiki/Kenya

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไฟจะดับจริงหรือ? ข้อเท็จจริงอีกด้าน - ภาระของใครก็ยกให้ผู้บริโภค

Posted: 20 Feb 2013 07:25 AM PST

 

หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนให้ประชาชนเตรียมรับวิกฤติไฟฟ้าขาดในเดือนเมษายนนี้ โดยสาเหตุเกิดจากจะมีการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาในพม่าระหว่างวันที่ 4-12 เม.ย. นี้ เนื่องจากต้องหยุดซ่อมบำรุง เพราะเกิดการทรุดตัวของแท่นขุดเจาะ ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ โดยก๊าซที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด ประกอบกับท่อก๊าซจากแหล่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ถูกสมอเรือเกี่ยวขาด

 

1.ท่อก๊าซเจดีเอ (ไทย-มาเลเซีย) ที่รั่ว ไม่เกี่ยวข้องกับการปิดซ่อม

ตามที่ รมว.กระทรวงพลังงานกล่าวถึงสมอเรือที่ทำให้ท่อก๊าซรั่ว และขาดก๊าซไป 270 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดเตั้งแต่วันที่ 24  ธ.ค. 2555 และซ่อมเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ตอนนี้ใช้ได้ปกติ ฉะนั้น เรื่องเจดีเอ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทางกระทรวงอ้างว่ามีความเสี่ยงไฟฟ้าไม่เพียงพอในเดือนเม.ย.

 

2.ซ่อมท่อก๊าซพม่า ไม่เหนือความคาดหมาย วางไว้ในแผนแล้ว

แม้จะมีปัญหาที่ต้องซ่อมแซม แต่การซ่อมบำรุงใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน และมีแผนรองรับอยู่แล้วหากมีการหยุดส่งก๊าซ เพื่อมาผลิตไฟประมาณ 6,961 เมกะวัตต์ เพราะมีโรงไฟฟ้าจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ดีเซลและน้ำมันเตาแทนได้ ส่วนที่จะไม่สามารถแทนได้มีเพียง 2 โรง รวมแล้ว 1,380  เมกะวัตต์  

(เว็บไซต์ของกฟผ.http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=category&id=141:2011-05-08-06-52-33&layout=blog&Itemid=715)

ดังนั้น เรื่องไฟดับทั้งประเทศเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะขณะนี้ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ 32,600 เมกะวัตต์

ปัญหาของวันที่ 4 เม.ย.ที่ระบุว่าอาจจะเกิดความต้องการสูงสุด (พีค)  26,500 เมกะวัตต์  ก็ยังคงต่ำกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบที่เรามี ฉะนั้น หากเกินความต้องการสูงกว่าคาดไว้จริง  เราก็ยังมีไฟฟ้าสำรองอีก  7,100 เมกะวัตต์ กรณีที่ท่อก๊าซส่งไม่ได้ทำให้การผลิตไฟฟ้าขาดไป 4,000 เมกะวัตต์  ก็ยังมีอีก 3,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย  และหากเรายังใช้น้ำมันเตาและดีเซลแทน ก็ขาดไปเพียง 1,300 กว่าเมกะวัตต์ดังที่กล่าวไป  

ตัวเลขเหล่านี้คือตัวเลขของ กฟผ.เอง และถูกระบุอยู่ในแผนอยู่แล้ว

 

3.กฟผ.มีกำลังสำรองสำหรับการปิดซ่อมบำรุงอยู่แล้ว

กฟผ.มีแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ปี 2007 (ฉบับปรับปรุง 2) ที่ระบุเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเขียนไว้เลยว่า ในปี 56 จะต้องหักบำรุงกำลังสำรองอยู่ที่ 13% นอกจากนี้มีการปรับแผนเพิ่มกำลังสำรองไม่ต่ำกว่า 15% กรณีท่อก๊าซภาคตะวันตกขัดข้อง เขาวางแผนไว้แล้วและปรับเพิ่มไว้แล้วว่า หากมีการขัดข้องต้องมีกำลังสำรองไม่ต่ำกว่า 15%

 

4.สามารถเลื่อนการซ่อมไปอยู่ในช่วงหลังเกิดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้

ดูตัวอย่างจากปีก่อน เดือน เม.ย.วันที่ความต้องการขึ้นสูงสุดคือวันที่ 5 เม.ย. และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 6-17 เม.ย. ความต้องการไฟฟ้าทั้งระบบลดลงเหลือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งเลยเพราะหยุดสงกรานต์ ดังนั้น ถ้าอยากจะหลีกเลี่ยงปัญหาไฟดับ ก็สามารถเลื่อนการซ่อมได้

 

5.รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานควรเจรจากับ ปตท. รัฐบาลพม่าไม่ได้เกี่ยวข้อง

เมื่อรัฐบาลกล่าวว่าจะต้องเจรจากับรัฐบาลพม่าและอาจไม่ประสบผลในการเลื่อน ส่วนนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพราะรัฐบาลพม่าไม่เกี่ยวข้องเลย ท่อก๊าซเป็นของผู้ร่วมทุนที่ขายก๊าซให้กับ ปตท. ซึ่งในผู้ร่วมทุนก็รวม ปตท. สผ. ด้วย และเขาไม่มีสิทธิ์ขายก๊าซให้ใครได้เลยนอกจากขายให้กับ ปตท.รายเดียว ฉะนั้น ปตท. จะไม่มีอิทธิพลในการต่อรองได้เชียวหรือ ปตท.สามารถเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้และสามารถบอกกับคู่ค้าของตัวเองได้ ดังนั้น รัฐมนตรีควรจะเจรจากับ ปตท. ทั้ง ปตท. เองก็อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน

 

6.ใครคือผู้รับผิดชอบ - ไม่ใช่ประชาชน

การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบเมื่อก๊าซขาดไป ปตท.คือผู้ผูกขาดเพียงรายเดียว ที่จะส่งก๊าซให้กับ กฟผ. หากจัดส่งไม่ได้ ตามหลักธุรกิจแล้วก็ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น  ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำมันเตาทำให้ค่าไฟแพงขึ้น ผู้บริโภคไม่ควรเป็นผู้รับภาระ แต่ที่ผ่านมาก็ผลักภาระมาที่ค่าไฟให้ผู้บริโภคจ่ายโดยตลอด จึงฝากไปยังรัฐมนตรีและองค์กรกำกับกิจการพลังงานด้วยว่า ควรเลิกการให้ผู้บริโภคซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยต้องมารับผิดชอบ

หากไฟดับ กฟผ. ก็ควรรับผิดชอบด้วย เพราะขณะนี้ กฟผ.เอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดไปคลุมกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 32,600 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังผลิตที่พร้อมจ่ายไฟ จะอ้างว่าไม่พร้อมไม่ได้ เพราะผู้บริโภคจ่ายเงินให้แล้ว กฟผ.ต้องพร้อมที่จะดูแลรักษาให้พร้อมที่จะจ่ายไฟตามนั้น หากยูนิตไหนไม่พร้อมก็ต้องไม่นับมารวมแต่ต้น

เรื่องความเสี่ยงที่ไฟจะดับนี้ หากไม่จริง ย่อมทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่น เท่ากับเป็นการทำลายเครดิตของระบบความมั่นคงของไฟฟ้าบ้านเรา รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ

คนระดับรัฐมนตรี ไม่น่าที่จะไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้ เพราะข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นของรัฐบาล เป็นของ กฟผ.อยู่แล้ว

ในช่วงท้ายที่ รมต. ออกมากล่าวว่า ระบบไม่มั่นคงเพราะเอ็นจีโอ ชาวบ้านคัดค้านไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้า ไม่ให้สร้างเขื่อน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ เท่ากับรัฐมนตรีพยายามใช้ประเด็นนี้เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าสถานการณ์ไม่มั่นคง จะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้า

ขณะนี้นอกจาก กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้แล้ว ยังจะมีการเปิดประมูลไอพีพีอีก 6 โรง ขนาดรวม 5,400 เมกะวัตต์  โดยได้ขายใบประมูลแล้ว และจะประมูลภายในเดือน มิ.ย. นี้

ทั้ง รมต.กระทรวงพลังงาน ปตท. กฟผ. ต้องชี้แจงกับประชาชน มิฉะนั้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

2 ปีที่แล้ว รัฐบาลบอกว่ามีอุบติเหตุกับท่อก๊าซจึงปล่อยน้ำออกจากเขื่อนที่กาญจนบุรีเพื่อผลิตไฟฟ้าแล้วทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งขณะนั้นภาคการท่องเที่ยวออกมาแสดงความเห็นไม่พอใจ ครั้งนั้นมีค่าเสียหายเกิดขึ้นเป็นพันล้าน แต่จนในขณะนี้ เท่าที่สอบถามว่า ปตท. จ่ายค่าเสียหายหรือไม่ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บอกว่า ยังใช้ไม้นวมไม่สำเร็จ ความหมายก็คือ เราต้องเป็นคนจ่ายส่วนเกินเหล่านี้ผ่านค่าเอฟที เมื่อใดก็ตามที่ค่าไฟเพิ่มขึ้นไม่ว่าเพราะสาเหตุใด บริโภคล้วนเป็นคนที่แบกภาระทั้งสิ้น

ค่าเอฟทีที่จะขึ้นนั้นมีเหตุผลหลักคือ กรณีที่ค่าเชื้อเพลิงที่คำนวณเอาไว้ในไฟฐานเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางบวกและทางลบ ทุกๆ 4 เดือน เขาเอาส่วนต่างอันนั้นมาคิดเป็นค่าเอฟที เพื่อให้สะท้อนความจริง  แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ค่าเอฟทีของเราไม่ใช่เพราะราคาเชื้อเพลิง แต่เอามาเป็นตัวที่จะเข้าไปเพื่อประกันให้รายได้ของ กฟผ.และผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามเป้าหมาย ความหมายก็คือ เกิดความผิดพลาดอะไรก็ตาม ประชาชนรับผิดชอบแทน โดยจ่ายเป็นค่าเอฟที

สรุปคือ  โดยข้อมูลทางเทคนิคแล้วไม่มีทางที่ไฟฟ้าจะดับทั้งประเทศ

การทำเรื่องนี้ให้ดูแตกตื่นเกินจริง และการไม่พยายามทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบออกมาชี้แจงเหตุผลตรงไปตรงมา ดูโดยรวมแล้วไม่ทราบว่ามีวัตถุประสงค์ใด ที่แน่ๆ มันส่งผลทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นกลัว และรู้สึกว่าประเทศเราต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพราะว่าไม่มั่นคง  ขณะที่ตอนนี้กำลังจะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) ถึง 6 โรงด้วยกัน

กรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา มีระบบที่เรียกว่าการสำรองก๊าซ สำหรับประเทศไทยทำระบบสำรองอยู่แล้ว คือ ก๊าซเหลว ปตท.บอกว่ามีอยู่แล้ว 5 ล้านตัน ซึ่งสามารถจ่ายทดแทนได้วันละ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต หากก๊าซขาดไป 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ฉะนั้น ตัวนี้ก็น่าจะเป็นตัวที่บอกได้ว่าไม่น่าจะวิกฤตอะไร ส่วนในระยะยาว เราควรทำสิ่งที่เรียกว่าการสำรองก๊าซ ซึ่งจะช่วยเรื่องการผันผวนด้านราคาด้วย

หวังว่าเราคงจะได้รับการชี้แจงจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปตท. และ กฟผ.

ฐานานุกรม กับเรื่องขมๆ ในดงขมิ้น (ปฐมบท)

Posted: 20 Feb 2013 06:48 AM PST

จากกรณีที่พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ได้แต่งตั้ง พระพายัพ ชินวัตร ให้มีสมณศักดิ์เป็น "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณาจารย์" ฐานานุกรมในสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย พุกพุ่มพวง) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส และกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น ก็เป็นเรื่องที่พูดกันเกรียวกราว ทั้งในหมู่ญาติโยม และคณะสงฆ์ แต่วันนี้ (19 กพ 56) จากข่าวที่ให้สัมภาษณ์ โดยอธิบดีกรมศาสนาก็ดี หรือตัวพระพายัพเองก็ดี อีกทั้งรวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของคนบนโลกไซเบอร์ ทำให้ผู้เขียนเล็งเห็นว่า ตั้งแต่อธิบดีกรมฯ จนไปถึงประชาชนผู้ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้นั้น ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสมณศักดิ์น้อยมาก กล่าวคือ

กรณีแรก
กรณีที่อธิบดีกรมศาสนาออกมาติงว่า "สังคมเข้าใจผิด ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯตั้ง คือฉายา มิใช่ ฐานาฯ หรือสมณศักดิ์ใดใด ด้วยความเคารพแต่คงต้องขออภัยท่านอธิบดีจริงๆ.. การตั้งฉายาพระที่กรมของท่านตั้งเป็นภาษาไทยว่า "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณาจารย์" หรือขอรับท่าน เป็นที่รู้กันว่า ฉายาของพระพายัพ เป็นภาษามคธคือ เขมคุโณ แล้วท่านอธิบดีไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยขาดข้อเท็จจริงและองค์ความรู้ได้อย่างไรกัน

หรือคำว่า "เขมคุโณ" กับ "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณาจารย์" มันใกล้เคียงกันมากจนท่านอธิบดีแยกไม่ออกเลยหรืออย่างไร       

คนในวงการไม่ว่าจะพระหรือโยม แค่เห็นก็รู้กันแล้วว่า "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณาจารย์"  เป็นฉายา หรือฐานาฯ  ดีไม่ดีแทบจะระบุได้ด้วยซ้ำว่า เป็นฐานาฯนี้ ของพระเดชพระคุณรูปใด ตำแหน่งนี้ว่างอยู่หรือไม่

แต่ท่านอธิบดีกลับไปให้สัมภาษณ์แบบนั้นได้อย่างไร.............

กรณีที่สอง
การที่พระพายัพออกมาอธิบายว่า "การรับสมณศักดิ์ก็เหมือนการรับดุษฎีบัณฑิต เพราะปฏิบัติมามาก สร้างวัดมามาก" ผู้เขียนเข้าใจว่าพระผู้ใหญ่คงบอกพระพายัพมาอย่างนั้น  เรื่องนี้จะโทษผู้รับอย่างเดียวคงจะไม่ได้ คงต้องถามผู้ให้ว่าให้กันไปได้อย่างไรเช่นกัน  ในเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี เป็นถึงเจ้าคณะภาคถึง 5 ภาค (ไม่ใช่ภาค 5 แต่มีถึง 5 ภาคในปกครองได้แก่ ภาค 1,2,3,12,13) พระเดชพระคุณท่านไม่มีพระภายใต้ปกครองที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างประจักษ์เลยหรืออย่างไร การที่แต่งตั้งพระนวกะที่ไม่มีพรรษา   ไม่มีภูมิธรรมใดใดให้มาดำรงสมณศักดิ์ที่สูงกว่า พระเถระหลายพรรษาเช่น พระครูสัญญาบัตรชั้น ตรี-โท-เอก หรือพระเปรียญธรรมเก้าประโยคเกือบค่อนประเทศ เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมตรงไหน อย่าสักจะอ้างแต่ว่า สิทธิของฉัน อำนาจของฉัน ฉันจะตั้งใครก็ได้ จนไม่เห็นหัวพระรูปอื่นๆในประเทศ ที่ก็ต่างทำงานเพื่อพระศาสนา ยิ่งกว่าที่พระพายัพทำมาก่อนบวช

หรือต่อไปในอนาคตมันก็จะกลายบรรทัดฐาน ถ้าใครก็ตามก่อนออกบวช ทำบุญสร้างวัดเกินร้อยล้าน นั่งปฏิบัติธรรมมาเกิน 300 ชั่วโมง ก็มีสิทธิเป็นพระครูปลัดในสมเด็จฯได้ หลังจากบวชมาไม่กี่วัน ให้พรก็ยังไม่เป็น สวดมนต์ก็ยังไม่ได้ วินัยก็ยังไม่รู้ แต่ก็ไม่เป็นไร

เพราะทั้งจ่าย ทั้งปฏิบัติมาก่อนบวชแล้ว.....

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น จะไปว่าผู้รับคงไม่ได้ เพราะผู้รับคงไม่รู้ว่า "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณาจารย์" มีความสำคัญอย่างไร ก็คงต้องตำหนิผู้ที่ให้นั่นแหละว่า คิดใคร่ครวญกันมาดีแค่ไหน

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วาทกรรม 'เบื่อความรุนแรง' กับเส้นทาง 'เอกราชอาบเลือด' ที่ปาตานี

Posted: 20 Feb 2013 06:35 AM PST

                เริ่มเข้าเดือนแรกของปีที่ 10 ของสถานการณ์สงครามนอกระบบระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีกับรัฐไทย ก็พอเห็นแสงแห่งความหวังของสันติภาพบ้างแบบคลุมเครือ โดยผ่านวาทกรรม "เบื่อความรุนแรง" ตามป้ายริมถนนสายหลักทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการเดินทางหารือเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียในการคลี่คลายปัญหาความรุนแรงของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กับ ดาโต๊ะศรีฮัจญี มูฮำหมัดนายิบ บินต่วนฮัจญีอับดุลรอซัก นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย 

                เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ชนวนเหตุการณ์สู้รบระลอกใหม่ครั้งนี้ ถูกจุดด้วยยุทธการปล้นปืนที่ค่าย ร.5 พันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 มกราคม พ.ศ.2547 จากนั้นมากลิ่นอายของบรรยากาศสงครามประชาชนก็เกิดขึ้นอย่างมีพัฒนาการชัดขึ้นและชัดขึ้นเรื่อยๆ ของภาพการมีหุ้นส่วนสำคัญในการดำเนินการสงครามจรยุทธ์ที่มาจากบทบาทของประชาชนผ่านทั้งกองกำลังติดอาวุธและแนวทางทางการเมืองทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ก่อนปี พ.ศ.2547 นั้นสถานการณ์อยู่ในภาวะสงบ เพราะชนวนเหตุของสงครามนอกระบบในดินแดนมลายูแห่งนี้ ตามที่หลายชุดข้อมูลทางวิชาการประวัติศาสตร์ปาตานีกับสยามได้อ้างถึง ชัดเจนว่ามาจากอุดมการณ์ปลดแอกจากการยึดครองดินแดนของสยามโดยคนมลายูปาตานีกับอุดมการณ์รักษาดินแดนอันเป็นผลลัพธ์ของการล่าอาณานิคมสำเร็จของสยามหรือกรุงเทพฯโดยรัฐไทย ซึ่งเริ่มต้นภาวะสงครามด้วยเหตุการณ์แรกที่อาณาจักรปาตานีถูกตีแตกโดยอาณาจักรสยามเมื่อปี ค.ศ.1786

                จนกระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เกิดเหตุการณ์สลดใจแบบภาคภูมิใจของมวลชนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี และแบบหมั่นไส้อย่างสมน้ำหน้าต่อเหล่ากองกำลังปลดแอกทั้ง 16 คน ที่เสียชีวิตจากยุทธการบุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 32 นราธิวาส ของมวลชนรัฐไทย

                โดยผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสังคมไทยและสังคมโลกก็มีท่าทีสนใจเป็นพิเศษต่อความเป็นไปของสถานการณ์สู้รบที่ปาตานีว่าจะมีจุดจบอย่างไร

                โดยเฉพาะกระบวนการคลี่คลายปัญหาความรุนแรงของ กอ.รมน. ด้วยวิธีการครอบงำความคิดความรู้สึกของคนต่อการจับอาวุธสู้ของประชาชนปาตานีว่า "เป็นพวกนิยมความรุนแรงอย่างบ้าคลั่งเพื่อผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มไม่ใช่เพื่อประชาชน" ผ่านการบีบแนวร่วมหรือสมาชิกขบวนการฯ ที่มีหมายจับ ป.วิอาญาให้มอบตัว กลับใจเป็นคนดี ร่วมพัฒนาชาติไทย แลกกับการได้รับอิสรภาพจากการตามล่าของเจ้าหน้าที่ และล่าสุด ผ่านวาทกรรมทางการเมือง คือคำว่า "เบื่อความรุนแรง"

                สำหรับคนที่ไม่ได้มีอคติกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี และมีชุดข้อมูลองค์ความรู้อย่างรอบด้านและซื่อสัตย์ต่อความจริงนั้น ก็คงจะเข้าใจว่า ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีในรูปแบบสงครามประชาชนแบบจรยุทธ์นั้น เป็นผลพวงของการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยยุทธการ "ดิสเครดิต ปิดล้อม ตรวจค้น  ไล่ล่า จับกุม สังหาร" จนทำให้การสู้ในทางการเมืองอย่างเดียวเพื่ออุดมการณ์ปลดปล่อยจากการยึดครองของการล่าอาณานิคมของสยามหรือรัฐไทยในปัจจุบันนั้นเจอทางตัน จนเป็นเหตุให้เกิดขบวนการติดอาวุธต่างๆ เช่น BRN และ PULO

                โดยความหมายตรงๆ ซึ่งอิงกับข้อเท็จจริงของวาทกรรม เบื่อความรุนแรง ที่ กอ.รมน.เป็นเจ้าของ ก็น่าจะหมายความว่า กอ.รมน.เองก็เบื่อการรบด้วยกองกำลังทหาร ตำรวจ ชรบ. อรบ. อส.แล้ว

                แต่ถ้าเบื่อความรุนแรงจริงๆ ก็น่าจะเร่งบรรยากาศของการเจรจาโดยมีคนกลางอย่างจริงๆ จังๆ สักที เพราะสาเหตุของการรบด้วยอาวุธ หรือที่นักสันติวิธีจ๋าชอบเรียกว่า "ความรุนแรง" นั้น  มาจากภาวการณ์ที่จะพูดคุยหรือเจรจากันไม่ได้อย่างสิ้นเชิงไม่ใช่หรือ?

                ถ้าเบื่อความรุนแรงจริง ก็ต้องเจรจา แต่ไม่ใช่การเจรจาจัดฉากเพื่องานการข่าวเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่า อารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนและสมาชิกขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานี ก็คงเบื่อภาวะความรุนแรงไม่ต่างกับทาง กอ.รมน. เหมือนกัน และในเวลาเดียวกันก็ "เบื่อการเจรจาจัดฉาก" ด้วยเหมือนกัน

                ท่าทีที่ไม่ชัดเจนของรัฐไทยว่า กำลังทำสงครามเพื่อยุติสงครามกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีด้วยความรุนแรงโดยใช้การทหาร หรือด้วยสันติวิธีที่ต้องสิ้นสุดที่การเจรจาแบบมีคนกลางที่มีความเป็นรัฐโดยใช้การเมือง ทำให้เหลือพื้นที่การต่อสู้สำหรับประชาชนปาตานีที่ต้องการเอกราชเป็นทางเลือกแห่งสันติภาพด้วยการหลั่งเลือดเท่านั้น

                นี่คือสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ความไม่สงบ บนเส้นทางเอกราชอาบเลือดที่ปาตานีหรือชายแดนใต้ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระทิงแดง รีเทิร์น เปิดตัว 'แนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ' เน้นป้องสถาบัน

Posted: 20 Feb 2013 04:38 AM PST

'บวร ยสินทร' นำหน่วยปฎิบัติการ (พิเศษ) กระทิงแดง เปิดตัว 'แนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ' ปกป้องสถาบัน ชี้ภาวะวิกฤติชาติเกิดจากการปลุกปั่นยุยงส่งเสริมให้มีการลบหลู่สถาบันและคุกคามศาล ระบุพวกเผาเมืองต้องถูกลงโทษค้านนิรโทษกรรม

20 ก.พ.56 เว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า รายงาน ที่ห้องประชุม 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง กทม. นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน นายทอง ทัศนมณเฑียร ตัวแทนหน่วยปฎิบัติการ(พิเศษ)กระทิงแดง นายอัณคามิลโล เพียรพบ อดีตผู้นักเรียนอาชีวะ 14ตุลา 16 พร้อมกับกลุ่มสมาชิกเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน เปิดตัวแนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ เพื่อปกป้องสถาบัน

นายบวร อ่านแถลงการณ์แนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติฉบับที่1/2556 ถึงประชาชนชาวไทย ว่า ในเวลานี้บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อันเกิดจากบุคคลบังอาจเอื้อมปลุกปั่นยุยงส่งเสริมให้มีการลบหลู่สถาบัน ทำการคุกคามศาล เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอาญา ปล่อยคนเผาเมือง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิด การที่ผู้มีอำนาจทำตามใจไม่ปกป้องชาติ บริหารบ้านเมืองตามหน้าที่ คำนึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว จนเป็นการข่มเหงรังแกบ้านเมือง ดังนั้นกลุ่มคนรักระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงต้องออกมาต่อต้านให้นักการเมืองบางคนหยุดพฤติกรรมดังกล่าว

นายบวร กล่าวอีกว่า กลุ่มแนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ ไม่ใช่เป็นตัวแทน หรือเป็นศัตรูของกลุ่มใดๆ แต่เป็นกลุ่มผู้เคยต่อสู้เพื่อประเทศชาติในอดีต และบุคคลเหล่านี้บางคนยังมีชีวิตอยู่ มองเห็นการบริการประเทศล้มเหลวรุนแรง ถึงเวลาต้องรวมตัวกันอีกครั้งของกลุ่มอาชีวะ 14 ตุลา16 อาชีวะ 6 ตุลา 19 หน่วยปฎิบัติการ(พิเศษ)กระทิงแดง และกลุ่มอาชีวะพิทักษ์สถาบัน

"ทั้งนี้วิกฤติชาติในครั้งนี้ขอให้ผู้ที่เคยร่วมต่อสู้กันมา จงมารายงานตัวที่กองบัญชาการ 103 เดิม ทั้ง กลุ่มนวพล ลูกเสือชาวบ้าน ประชาชน และนักเรียนอาชีวะเก่าและใหม่ทุกสถาบัน เพื่อร่วมต่อสู่กอบกู้ชาติ จะมีการอบรมให้ความรู้กับอาชีวะรุ่นเก่าขยายสู่อาชีวะรุ่นปัจจุบันและขยายไปสู่ทุกสถาบันอาชีวะ 500 กว่าแห่งทั่วประเทศ เพื่อออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศ หวังเปลี่ยนแปลงรัฐใหม่ และส่งเครือข่ายแทรกซึมในหมู่บ้านคนเสื้อแดงสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆด้วย"

นายอัณคามิลโล กล่าวว่า กลุ่มบางองค์กรมีพฤติกรรมมุ่งทำลายสังคม และองค์กรทางการปกครองอ่อนแอ เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีคนในชาติ วิธีการที่นำมาใช้ล้วนแต่เป็นยุทธ์ของคอมมิวนิสต์ในอดีตเรียกว่า "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ดังนั้นต้องระดมอาชีวะทั่วประเทศให้มีความรู้ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวลุกขึ้นปกป้องสถาบัน และประเทศชาติ เนื่องจากสถาบันอาชีวะเป็นสถาบันที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด

"หลังรายงานตัวจะทำทำเนียบ และอบรมให้กับเครือข่ายนำไปขยายต่อไป ในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ แต่จะไม่มีการขอความร่วมมือกับสถานบันการศึกษา แต่เราเคลื่อนไหวตามที่นักเรียนอาชีวะทำได้ ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวใหญ่ในอนาคตจะแจ้งให้ทราบต่อไป และคิดว่าผู้ที่เคยเสียสละเลือดเนื้อ จะกลับมาร่วมกอบกู้ชาติสร้างสันติสุขให้กับสังคมอีกครั้ง"

ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บริเวณแยกรัชวิภาขาเข้า ภาพจากเพจ Oak Panthongtae Shinawatra (ตัวปลอม)

 

แถลงการณ์ของหน่วยปฏิบัติการ(พิเศษ)กระทิงแดง หนึ่งในแนวร่วมกอบกู้วิกฤตชาติ

ที่มา เฟซบุ๊ก นายบวร ยสินทร

แถลงเปิดตัว แนวร่วมกอบกู้วิกฤตชาติ ที่มา เฟซบุ๊ก นายบวร ยสินทร

สำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษกระทิงแดงนั้น เป็นองค์กรหนึ่งที่ถูกระบุว่าเป็น "ขวาพิฆาตซ้าย" ในยุค 6 ตุลา 19 ซึ่งนำโดย พล.ต.สุตสาย หัสดิน โดย 2519.net ได้เคยเปิดเผยคำสัมภาษณ์ของเขา เกี่ยวกับความเป็นมาของหน่วยปฏิบัติการพิเศษกระทิงแดง ที่มีนักเรียนอาชีวะที่ส่วนหนึ่งเคยทำงานร่วมกับศูนย์กลางนิสิตฯ มาก่อน เป็นกำลังสำคัญ ว่า กลุ่มกระทิงแดงเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เนื่องจากเห็นว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเริ่มมีการเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ และเดินขบวนประท้วงรัฐบาลบ่อยครั้ง ถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยที่ได้มาอย่างเกินเลย ไม่ถูกต้อง เป้าหมายที่ควรเป็น คือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ในขณะนั้นแกนนำส่วนหนึ่งของศูนย์กลางนิสิตฯ นิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์

ทั้งนี้กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ต.ค. 19 ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'จอน อึ๊งภากรณ์' ขึ้นเบิกความคดี 'ปีนสภา' ชี้สนช. ไม่มีความชอบธรรม

Posted: 20 Feb 2013 04:26 AM PST

ระบุการคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายของสนช. เมื่อปี 50 จำเป็น เพราะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ชี้สนช. ยังถือว่า 'บุกรุก' มากกว่าเพราะมาโดยไม่ชอบธรรมแต่ทำหน้าที่แทนประชาชน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 56 จอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยในคดีที่นักเคลื่อนไหวจำนวน 10 คน ปีนรั้วสภาเพื่อคัดค้านการผ่านกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2550 ได้ขึ้นเบิกความที่ห้อง 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาพิเษก ถึงข้อเท็จจริงและเจตนา โดยกล่าวว่า การคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากมองว่า กฎหมายที่สนช.ผ่าน อาทิ พ.ร.บ. ความมั่นคง จะสถาปนาอำนาจของทหาร และกระทบต่อประชาธิปไตยของไทย 

ทั้งนี้ นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และผู้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ รวมนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมอีก 10 คน อาทิ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ฯลฯ ถูกตั้งข้อหาฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้ายจากเหตุการณ์ดังกล่าว  
 
จอน เบิกความว่า การผ่านกฎหมายของสนช. ในช่วงปี 2550 เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรมด้วยหลายเหตุผล ทั้งจากที่มาของสนช. ซึ่งมาจากรัฐบาลทหาร สมาชิกส่วนใหญ่มาจากส่วนของราชการ มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่มาจากภาคประชาชน หรือระยะเวลาของการพิจารณากฎหมายที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อีกทั้งในระหว่างการพิจารณากฎหมาย ก็ไม่มีองค์ประชุมของสมาชิกที่ครบตามกำหนด  
 
ทั้งนี้ ในระยะเวลาที่สนช. เปิดสมัยประชุม ระหว่างวันที่ 23 ต.ค 50- 21 ธ.ค. 50 มีการผ่านกฎหมายทั้งสิ้น 215 ฉบับ ซึ่งถูกวิจารณ์จากบางส่วนว่า เป็นการเร่งพิจารณากฎหมายที่เร็วผิดปรกติ 
 
ในการชุมนุมคัดค้าน จอนกล่าวว่า มีจุดประสงค์เพื่อคัดค้านการผ่านกฎหมายหลายฉบับ ที่สำคัญคือ พ.ร.บ. ความมั่นคง ที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายความมั่นคงมากเกินไปจนละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน อาทิ กฎหมายป่าชุมชน กฎหมายการจัดการน้ำ ที่โอนสิทธิของการจัดการทรัพยากรจากชุมชนมารวมศูนย์ไว้ที่รัฐ นอกจากนี้ ยังมีพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่ให้อำนาจการบริหารจัดการสูงสุดอยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลกระทบเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ และค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น 
 
เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้พยายามทำการคัดค้านการผ่านกฎหมายของสนช. แล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะด้วยการ ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อโฆษกของสนช.ในขณะนั้นคือมีชัย ฤชุพันธ์ุ เพื่อแสดงการคัดค้านการผ่านร่างกฎหมาย การขอเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ และการจัดชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา
 
อย่างไรก็ตาม จอนกล่าวว่า สมาชิกของสนช. มิได้ปรากฎว่าจะเอาข้อคัดค้านและข้อเสนอไปรับฟังประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายแต่อย่างใด แม้แต่การเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์เพื่อหารือ ก็ได้รับคำตอบจากนายกฯ ว่า ทางกลุ่มผู้คัดค้านสามารถมีข้อเสนอแนะได้ แต่ทางรัฐบาลคงจะให้ผ่านกฎหมายพ.ร.บ. ความมั่นคง เนื่องจากเป็นความต้องการของฝ่ายกองทัพ จึงไม่สามารถหยุดยั้งได้ 
 
ในวันที่ 12 ธ.ค. 50 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปีนรั้วสภา มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมมาร่วมคัดค้านจากหลายเครือข่ายราว 1,000 คน และราว 11 นาฬิกา ผู้ชุมนุมบางส่วนราว 100 คน ได้ใช้บันไดพาดรั้วรัฐสภาและปีนข้าม เพื่อเข้าไปนั่งประท้วงบริเวณหน้าห้องประชุมของสนช. และส่งเสียงคัดค้าน ทำให้ต่อมา สนช. ต้องยุติการประชุมในที่สุด 
 
เมื่อทนายจำเลยซักถามว่า คิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการสร้างความเสียหายและใช้ความรุนแรงหรือไม่ จอนตอบว่า คิดว่าเป็นวิธีการแสดงออกที่สันติเพื่อแสดงการคัดค้านการผ่านกฎหมายโดยผู้ที่ไม่ชอบธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องร้ายแรง และอย่างการชุมนุมของสมัชชาคนจน ก็ใช้วิธีที่คล้ายกันคือการปีนรั้วสภา ในต่างประเทศก็ใช้วิธีแบบนี้เพื่อคัดค้านการกระทำต่างๆ ของรัฐเป็นเรื่องปรกติ 
 
"สนช. เองไม่มีความชอบธรรม ผมคิดว่าเขาเองบุกรุกมากกว่าเรา เพราะเข้าไปทำงานของประชาชนโดยได้รับการแต่งตั้งจากผู้ใช้กำลังประทุษร้ายประเทศชาติ พวกผมมามือเปล่า ไม่ได้ทำร้ายใคร" เขากล่าว และเสริมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ต่างบัญญัติไว้ว่า การต่อต้านการยึดอำนาจที่ไม่ถูกต้องด้วยวิธีสันติ ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ 
 
ทั้งนี้ จะมีการสืบพยานจำเลยรวม 24 ปาก ระหว่างวันที่ 19 ก.พ. 56- 14 มี.ค. 56 (เว้นวันจันทร์) ประกอบด้วย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สื่อมวลชนในเหตุการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และนักสันติวิธี  
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปัญหารอยต่อทางเสรีภาพของเพศวิถีในประเทศไทย

Posted: 20 Feb 2013 04:23 AM PST


ภาพชายในชุดนักพรตชาวคริสต์ ถือป้ายรณรงค์การสมรสของเพศเดียวกันในวันแรกของการอนุญาตให้มีกฎหมายนี้ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดย Alex Handy ปี 2008
เกริ่นนำ
เพศวิถี (Sexuality) นิยามสั้นๆ คือ ความคิดเกี่ยวกับคู่รักและกามกิจ [1] ซึ่งน่าสงสัยว่า เป็นชนกลุ่มน้อยหรือไม่ในประเทศไทย (sexual minorities) แน่นอน จากการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์แบบไม่เคร่งครัดต่อระเบียบวิจัยทางสถิติ ทุกคนคงสังเกตได้ว่า "เพศที่สาม" มีแนวโน้มปรากฏตัวให้เราเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านสื่อประเภทต่างๆ ในสิบปีที่ผ่านมานี้ และเป็นพิเศษในปี 2013 เพราะมีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสสำหรับเพศที่สามขึ้น นั่นจึงเป็นปรากฏการณ์แบบเสรีนิยม (Liberalism) ในสังคมที่น่าสนใจ แต่ปัญหาคงอยู่ที่ "ความเป็นประเทศไทย" ซึ่งกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางเสรีภาพเชิงมโนทัศน์ เนื่องจาก ในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีภาพในฐานะมนุษย์เป็นปัจเจกบุคคลเอง ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองและมีความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศนี้ด้วยซ้ำ ประสาอะไรกับเพศที่สามซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย (minorities) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงกระบวนทัศน์แบบผู้ชายเป็นใหญ่ในวัฒนธรรมไทยและอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทไทย ที่ยังเสนอว่า "เพศที่สาม" เป็นผลมาจากกรรมตามการตีความของนักบวชและนักวิชาการศาสนาบางคน ซึ่งปัญหาที่ใกล้เคียงกัน แต่ในระดับความเข้มข้นที่น้อยกว่า คือ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ของไทย นั่นเอง


เนื้อหา
เรื่องทางนิติศาสตร์ว่าด้วยเพศที่สามยังคงเป็นที่น่ากังขาถึงความสำเร็จเชิงสังคม นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ที่คู่สมรสภายใต้การรับรองการกฎหมายนี้จะได้รับเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพราะประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายนั้นอาจส่งผลให้เป็นการรับรองความชอบธรรมบางอย่าง นอกเหนือไปจากการคืนความชอบธรรมทางเสรีภาพแต่เพียงอย่างเดียว และบางทีปัญหานี้อาจเรียกร้องให้ทุกคนฝึกฝนที่จะมองโลกอย่างทรงกลม (Sphere) มากกว่ามองโลกแบบแบนๆ (Flat) อย่างที่เคยเป็นมา เพราะความซับซ้อน (Complex) ของเพศวิถี เป็นต้น อารมณ์และปัจจัยทางจิตวิทยา อาจเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งปัญหาเชิงซ้อนก็เป็นได้ เช่น ปัญหาเมียหลวงเมียน้อยแบบเพศสภาพที่กลายเป็นปัญหาของเพศวิถีด้วย
 
อย่างไรก็ตาม การได้รับการรับรองทางกฎหมาย ก็ไม่ได้แปลว่า ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการเรียกร้องเสรีภาพในระดับหนึ่ง เพียงแต่จะได้รับประโยชน์เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่มีกฎหมายมาผูกพันอย่างเท่าเทียมเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติฐานะ "คู่สมรสเพศที่สาม" ก็ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับสังคมไทย เนื่องจากวิถีในการดำเนินชีวิตเช่นนี้ สั่นคลอนจนถึงรากต่อกระบวนทัศน์แบบโบราณที่ถือเพศชายเป็นใหญ่ ทั้งนี้ การปลดปล่อยเกี่ยวกับเพศที่สามในสังคมไทย ยังทำให้เกิดคำถามเชิงปรัชญา และ จริยศาสตร์ขึ้นมาอีกหลายประเด็น  เป็นต้น อิสระในการร่วมเพศ (Free sex) ? สิทธิในการบวช? ความเท่าเทียมกันทางศาสนาที่ต้องได้รับการรับรองจากผู้นำทางศาสนา? การทบทวน-ถอดรื้อ-รื้อสร้าง วรรณกรรมและตัวแบบทางวัฒนธรรมไทยที่ต่อต้านหรือประณามเพศวิถี? ซึ่งจะซับซ้อน (Complex) ขึ้นไปอีก เพราะ ในระบบการศึกษาที่กำลังล่มสลายในประเทศไทย เพศวิถีย่อมมีปัญหา เกี่ยวกับสถานะผู้ปกครองของบุตรหลาน เช่น ในกิจกรรมทางสังคมที่จำเป็นต้องร่วมมือกับโรงเรียน เป็นต้น วันแม่ หรือ วันพ่อ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบทางจิตวิทยาที่บุตรหลานจะได้รับจากช่วงการปะทะกันของแนวคิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถูกยั่วล้อจากเพื่อน หรือ ครูหัวโบราณ
 
ที่สำคัญ ในยุคที่เทคโนโลยีมีแนวโน้มเปิดกว้างและเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เยาวชนระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษาย่อมเข้าถึงการเคลื่อนไหวเชิงเสรีนิยมแบบนี้ไม่มากก็น้อย แต่ทว่า ความคิดเห็นอันเสรีของเยาวชนเหล่านั้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการปะทะกันของแนวคิดในครอบครัวได้ เพราะมโนทัศน์ของแต่ละครอบครัว อันเป็นผลมาจากกระบวนทัศน์แบบโบราณที่ยังทรงอิทธิพลอยู่มากในสังคมไทย ย่อมส่งผลกระทบทางจิตวิทยาระดับมหภาคเช่นเดียวกัน ความจริง เป็นเรื่องของผู้ใหญ่บางคนที่ไม่อาจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ เมื่ออำนาจจะถูกกระจายออกไปอยู่ในมือของผู้อื่น ฉะนั้น ปัญหานี้เรียกร้องให้ทุกคนฝึกฝนที่จะมองโลกอย่างทรงกลม (Sphere) มากกว่ามองโลกแบบแบนๆ (Flat) แต่ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ ความรุนแรง (Violence) เพื่อกลบเกลื่อนความกลัวเรื่องการสูญเสียอำนาจก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้น ถ้าจะให้การปะทะกันของแนวคิดในครอบครัวดังกล่าวลดความรุนแรงลง ผู้เคลื่อนไหวควรนำเสนอตัวแบบ (Model) ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นจากครอบครัวที่ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปแล้วด้วย (Paradigm Shift)
 
สิ่งที่จะช่วยให้การเคลื่อนไหวลักษณะนี้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในประเทศที่เสรีภาพยังเป็นที่น่ากังขา? คือ การเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทางเสรีภาพ เพราะ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาแนวร่วมและรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนอย่างรอบด้าน เป็นต้น ปัญหาเชิงวิธีวิทยาในการดำเนินการ และ ปัญหาทางสังคมศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังทางความคิดในประเทศนี้ อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเสรีภาพในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งจริงๆ กลุ่มต่างๆ ที่มีแนวคิดเสรีนิยม ก็น่าจะได้รับผลจากการปลดปล่อยเสรีภาพในระดับนั้นได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย ซึ่งประเด็นนี้ ต้องระวังความต้องการส่วนตัวที่จะให้ได้มาซึ่งเสรีภาพเพราะอาจถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการชักจูงให้กลายเป็นสัญลักษณ์จอมปลอมของเสรีภาพ ในประเทศที่ไม่ได้มีเสรีภาพเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองอย่างแท้จริง
 
ฉะนั้น เกี่ยวกับร่างกฎหมายที่สร้างพื้นที่ในสังคมให้กับเพศวิถี จึงยังเป็นสิ่งที่ซับซ้อน (Complex) และควรทำการบ้านเพิ่มเติมอีกมากในหลายประเด็น เพราะการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง นอกจากเป็นสิทธิที่รับมาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมแล้ว ก็ยังหมายถึง รับเอาปัญหาที่ส่งผลมาจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแบบเดียวกันและอาจซับซ้อนกว่าด้วย ฉะนั้น เพื่อให้ครอบคลุมที่สุด (Generalize) การทบทวน-ถอดรื้อ-รื้อสร้าง ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยกรรมสิทธิ์ที่คู่สมรสชาย-หญิง น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่น่าจะออกแรงทุ่มเทศึกษาควบคู่กัน เพราะความเท่าเทียมทางกฎหมาย ไม่ได้แปลว่า ต้องร้องขอเพื่อให้ได้รับพื้นที่ครอบคลุมทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึง การตกลงกันเสนอให้ลดทอนบางอย่างเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมก็ได้ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ เป็นแนวคิดที่เน้นการตั้งคำถามกับเรื่องเล่ากระแสหลัก แล้วพยายามถอดรื้อดูในทุกความเป็นไปได้ (Possibility) เช่น การลดทอนอำนาจในมือของชนชั้นปกครองบางอย่างแล้วคืนกระจายอำนาจในประชาชน เป็นต้น

 
สรุป
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์แบบเสรีนิยมลักษณะนี้ ก็ยังน่าสนใจและน่าให้กำลังใจ แน่นอนที่สุด กลุ่มผู้เคลื่อนไหวย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรคืออุปสรรคและการปะทะกันของกระบวนทัศน์ กระนั้น ก็ดี คงจะปลอดภัยกว่าถ้าจะหาเพื่อนร่วมทางแห่งเสรีภาพ และทำการบ้านให้มากที่สุด เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะตามมาอีกมากมายในอนาคต เพราะมโนทัศน์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ง่ายแน่ๆ ในประเทศไทย แต่เขาจะแสร้งยอมรับกันแบบใดนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง




อ้างอิง
[1] http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVII/Download/2011-Article-03.pdf
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'มัลลิกา' จี้ดีเอสไอดำเนินคดี 'จักรภพ' ในฐานะผู้เขียนบทความ คดี 'สมยศ' หมิ่นสถาบัน

Posted: 20 Feb 2013 03:20 AM PST

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และประธานชมรมนักรบไซเบอร์ เข้าพบ ธาริต เพ็งดิษฐ์ พร้อมหลักฐาน จี้เอาผิด 'จักรภพ เพ็ญแข' อ้างคำให้การคดี 'สมยศ' ระบุเป็น 'จิตร พลจันทร์' ผู้เขียนบทความหมิ่นสถาบัน

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "Mallika Boonmeetrakool"

20 ก.พ.56 นางสาวมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และประธานชมรมนักรบไซเบอร์ (Fight Bad Web) ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Mallika Boonmeetrakool ระบุว่า ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนรียกร้องให้ดำเนินการจับกุมตัวนายจักรภพ เพ็ญแข มาลงโทษตามกฎหมาย โดยรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าตนเองรับผิดชอบการสกัดกั้นการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเกี่ยวกับเว็บไซต์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม กฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในนามของทีม Fight Bad Web หรือชมรมนักรบไซเบอร์ฝ่ายคุณธรรม โดยให้ความร่วมมือกับทางราชการเสมอมา บัดนี้ได้รับเรื่องร้องเรียนและการติดตามจากสมาชิกชมรมรวมทั้งประชาชนถึงความคืบหน้าจากราชการเพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาล คดีอาญา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกโทษจำคุก 10 ปี หลังถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยคำพิพากษาศาลสืบเนื่องจากนายสมยศเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของ "จิตร พลจันทร์" หมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 112 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จากการให้การในชั้นศาลเมื่อมีการถามว่า "จิตร พลจันทร์" เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศ ตอบว่า "จักรภพ เพ็ญแข" ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารตั้งแต่ฉบับแรกๆ ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็น บรรณาธิการบริหาร หรือ บก.บห.โดยผู้ประสานงานติดต่อให้นายจักรภพ มาเป็นคอลัมนิสต์ คือ "นายประแสง มงคลศิริ" ปัจจุบันเป็น เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นผู้กระทำผิดที่ทางราชการจะต้องดำเนินการจับกุมเพื่อเอาตัวมาลงโทษตามกฎหมายด้วย คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งมีประวัติเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และเป็นโฆษกรัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซ้ำยังเป็นนักโทษหนีคดีอาญาหลายคดีด้วยกัน

นางสาวมัลลิกา ระบุข้อเรียกร้องของชมรมนักรบไซเบอร์ ถึง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยตรงด้วยว่า เนื่องจาก ดีเอสไอ มีกำลังคนกำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความสามารถเฉพาะทาง ประกอบกับได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อ้างอิงข้างต้นนั้นเสมอมา จึงขอให้ท่านพิจารณารับเรื่องเข้าดำเนินการพร้อมมอบหมายงานนี้โดยเป็นลายลักษณ์อักษร ลงลายมือท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นหลักฐานเพื่อตนและสมาชิกรวมทั้งประชาชนจะได้ติดตามการปฏิบัติหน้าที่หรือให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสได้อย่างทันท่วงที โดยจะทำหนังสือติดตามทวงถามท่านเป็นระยะทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการพิทักษ์รักษากฎหมาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถาบันการเงินกับชุมชน

Posted: 20 Feb 2013 02:51 AM PST

ภายใต้กระแสทุนนิยมจัดจ้าน ดูเผินๆ สถาบันการเงินของอเมริกันจะห่างเหินกับชุมชนท้องถิ่น (local community) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ และบริษัทการเงินต่างๆ หามีลักษณะเป็นดังกล่าวแต่อย่างใดไม่

ในอเมริกาเองมีสถาบันการเงินของท้องถิ่นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ด้านธุรกรรมสำหรับคนท้องถิ่นเอง เข้าทำนองคนในท้องถิ่นนั้นๆ รู้ปัญหาของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ดีกว่าคนท้องถิ่นอื่น ดังปรากฏว่าก่อนหน้านี้มีการรวมกลุ่มกันของคนเอเชีย ในลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา จัดตั้งแบงก์ขึ้นมาตามกฎหมายของรัฐ โดยเน้นการทำธุรกรรมให้กับประชาชนในเนวาดา โดยเฉพาะเมืองลาสเวกัส

การเปิดโอกาสให้แบงก์ท้องถิ่นเกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้การประชาชนหรือนักลงทุนมีทางเลือกในการใช้บริการการเงินผ่านธนาคารมากขึ้น สินเชื่อหรือธุรกรรมที่ต้องดำเนินการผ่านแบงก์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงธนาคารขนาดใหญ่อย่างเช่น Bank of America หรือ Wells Fargo อีกต่อไป เพราะยังมีธนาคารท้องถิ่นให้ประชาชนได้เลือกในเชิงการแข่งขัน

เรียกว่า แบงก์ใหญ่ ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันกับแบงก์ท้องถิ่นเช่นเดียวกัน อาศัยที่แบงก์ท้องถิ่นมีขนาดเล็ก จึงมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการค่อนข้างสูง ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นให้เงื่อนไขผ่อนปรนในการทำธุรกรรม (แต่ต้องเป็นไปตามกติกาหรือกฎหมายของรัฐซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายของรัฐบาลกลาง เช่น เรื่องทุนสำรอง เป็นต้น) ทำให้แบงก์ขนาดย่อมเหล่านี้ สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ และทำให้ธุรกรรมการเงินไม่ได้ถูกกินรวบโดยแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ

ขณะที่แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่เหล่านี้เอง เมื่อมาดำเนินกิจการในรัฐต่างๆ ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขหรือกติกาของแต่รัฐนั้นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น , ความผิดพลาดครั้งที่ผ่านมาที่ก่อให้เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ สาเหตุจึงไม่ได้มาจากกฎกติกาของแบงก์ในแต่ละรัฐ แต่มาจากความหละหลวมเชิงการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะที่ผ่านสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ส่วนแบงก์ขนาดย่อมนั้นได้รับผลกระทบน้อย สามารถเลี่ยงออกไปจากปัญหาระดับชาตินี้ได้ เช่น ในรัฐเนวาดา ซึ่งเป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินมากที่สุดเมื่อคราวที่ผ่านมา แบงก์ขนาดย่อม อย่าง Nevada State Bank กลับประคองตัวเองให้รอดพ้นภัยได้เป็นอย่างดี

ผมเคยเป็นลูกค้าของแบงก์นี้ ปรากฏว่าเขาบริการลูกค้าดีมาก มีการติดตาม (ในรูปแบบที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ) ดีมาก แม้ว่าช่วงต่อมาผมจะไม่ได้เป็นลูกค้าของแบงก์นี้แล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสวงหาและรักษาลูกค้า ในแง่ของการบริการลูกค้าของแบงก์ประเภทนี้ จึงดีกว่าแบงก์ขนาดใหญ่ระดับประเทศเสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถึงแม้จะมีการมองว่า การทำธุรกิจหลายอย่างในอเมริกาเป็นไปในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้เป็นความจริงเสียทั้งหมด การปกป้องธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันยังมีอยู่ ไล่ตั้งแต่ส่วนกลางตลอดถึงส่วนท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อตั้ง "ธนาคารจำเพาะ" หรือ "ธนาคารเฉพาะกิจ" แต่อย่างใด

ความแตกต่างที่ว่านี้ เห็นได้ชัดหากเทียบกับเมืองไทยที่มีการ (ออกกฎหมาย/พระราชบัญญัติ) จัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจกันหลายแห่ง โดยรัฐ เจ้าของระบบอุปถัมภ์ใหญ่ทางการเงินเป็นผู้ให้การสนับสนุน ธนาคารเหล่านี้อยู่ได้ด้วยเงินของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชน การทำงานจึงเป็นไปในลักษณะเดียวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ข้า ราชการ) เช่นเดียวกัน คือ ทำอย่างเสียไม่ได้ ค่อนข้างเฉื่อยเนือยและไร้ประสิทธิภาพ

อย่างเช่น ระบบการทำงานของ ธ.ก.ส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และอีกหลายธนาคาร รวมทั้งธนาคารเฉพาะที่เพิ่งเกิดใหม่โดยมีเจตนาเพื่อสนองตอบความอยากในเชิงการเมือง และระบบเส้นสายอุปถัมภ์ แม้กระทั่งบางธนาคารยังเกิดจาก "การเมือง"ที่มุ่งผลประโยชน์ที่ได้จาก "ความเชื่อความศรัทธา" แต่กลับสนองความต้องการของคนเพียงไม่กี่กลุ่มในองค์กรเท่านั้น

ที่สำคัญกว่านั้น การเกิดขึ้นของธนาคารเฉพาะแห่งใหม่นี้ แม้จะตอบโจทย์เรื่องสินเชื่อสำหรับชาวบ้านโดยทั่วไปก็จริง แต่การณ์ส่วนหนึ่งเป็นการมุ่งวางเส้นสายภายในองค์กร โดยที่ตัวผู้บริหารธนาคาร (เช่น กรรมการธนาคาร) เหล่านี้ ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเงินการธนาคารแต่อย่างใดเลย หากได้มาด้วยระบบพวกมากลากไปเท่านั้นเอง

การยกข้ออ้างเรื่อง "ความเท่าเทียมกันในการอนุญาตจัดตั้งธนาคาร" ที่กำลังดำเนินการเรียกร้องกันอยู่ เช่น การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา จึงน่าคิดว่า สถานการณ์ทางการเงินการธนาคารของไทยจะออกมาในรูปแบบใดในอนาคต

ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดตั้งธนาคารพิเศษ (เฉพาะ) เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนในเรื่องเครื่องมือทางการเงินเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันในระบบธนาคารไทยแต่อย่างใดเลย มิหนำซ้ำ ยังดำเนินการกันเสมือนคนละระบบ ธนาคารพาณิชย์ไปอีกทาง ธนาคารเฉพาะโดยการอปุถัมภ์ของรัฐไปอีกทาง ไม่ได้สะท้อนอะไรที่ถือได้ว่าเป็นไปตามกลไกทางการเงินเชิงอุปสงค์อุปทานที่แท้จริงเลย และเป็นการตำน้ำพริกการเมืองละลายแม่น้ำการเมืองเสียก็มาก

อีกแง่หนึ่งที่เห็น คือดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศเองก็มุ่งแสวงหาหนทางที่เรียกว่า "อาศัยรัฐเป็นที่พึ่งทุกอย่าง" นโยบายประชานิยมก่อให้เกิดความใหญ่โตอลังการของรัฐบาลขึ้น เอะอะอะไรก็ต้องพึ่งรัฐบาล (ไม่พึ่งตนเอง) ทำให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่รู้จักจบจักสิ้น  ในภาคการเงินการธนาคารก็เช่นเดียวกัน

เท่าที่ได้สดับมา หลายคน รวมทั้งตัวผมมีความเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) รู้ แต่แกล้งหลับตาเพียงข้างเดียว หรือทำหูทวนลม !

แต่ก็จะเห็นได้ว่า การทำงานของแบงก์ชาติ (ไทย) ต้องยุ่งยากมากเพียงใด เพราะนอกจากต้องดูแลธนาคารพาณิชย์ทั่วไปแล้ว ยังต้องดูแล "ธนาคารเฉพาะ" เหล่านี้อีกด้วย ซึ่งว่าไปแล้วไม่ได้เป็นเรื่องง่ายดายแต่อย่างใดเลย แถมดูแลได้ยากกว่าแบงก์พาณิชย์เสียด้วยซ้ำ เพราะมีการเมือง (ที่โยงถึงรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร หรือแม้กระทั่งคนในกองทัพ) เข้ามากำหนดหรือกุมนโยบายอีกด้วย

แค่นี้แบงก์ชาติก็ปวดขมับมากพอแล้ว !

แล้วระบบการเงินที่ผ่านแบงก์เฉพาะเหล่านี้ก็มีขนาดใหญ่มากเสียด้วย ความสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงมีสูง และปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งมีสถาบันการเงินประเภทนี้มากเท่าใด ก็ยิ่งแยก "มาตรฐานในการกำกับควบคุม" ที่แบงก์ชาติจำต้องปฏิบัติตามหน้าที่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในแง่ของการกำกับควบคุมนโยบายด้านเงินที่ควรเป็นมาตรฐานแล้ว จึงถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก

แต่ก็มีแต่แบงก์ชาติไทยเท่านั้นที่ทำได้ !!!

ทำไปทำมา การเกิดของธนาคารเฉพาะเหล่านี้จึงไม่ได้สนองตอบต่อลูกค้าเฉพาะหรือลูกค้าที่เป็นประชาชนหรือนักลงทุนทั่วไปที่สมควรได้รับการสนับสนุน หากแต่มุ่งสนองตอบต่อนโยบาย (ประชานิยม) ของรัฐ สนองความต้องการของหน่วยงาน และความต้องการของคนบางกลุ่มที่ต้องการควบคุมสถาบันการเงินประเภทนี้เพื่อประโยชน์กลุ่มและพวกพ้อง

รวมทั้งที่สำคัญ คือ เพื่อตำแหน่งที่สามารถอำนวยความสมบูรณ์พูนสุขของพรรคพวก (ใครพรรคพวกมัน) ในธนาคารเฉพาะแห่งนั้นๆ

ธนาคารเฉพาะบางแห่งในเมืองไทยเกิดจากการรัฐประหารก็มี กลุ่มรัฐประหารแต่งตั้งกรรมการธนาคารเสร็จสรรพก็มี

ในวาทกรรมทางการเมือง "ทหารกับรัฐบาล" มีคำกล่าวซึ่งรู้จักกัน ได้แก่ "รัฐซ้อนรัฐ" แต่ในทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ จำเพาะในเมืองไทยก็มีวาทกรรมใหม่เกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง ก็คือ "แบงก์(ของ)ชาติซ้อนแบงก์ชาติ"

เพราะแท้ที่จริง ในทางปฏิบัติ แบงก์ของรัฐเหล่านี้ แทบจะแยกเป็นเอกเทศออกไปจากการควบคุมกำกับของแบงก์ชาติเสียด้วยซ้ำ

เป็น "อภิสิทธิ์แบงก์" ดีๆ นี่เอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นวลน้อย ธรรมเสถียร

Posted: 19 Feb 2013 11:12 PM PST

"การตอบโต้กันในหน้าโซเชี่ยลมีเดียที่แม้ว่าจะฟังดูรุนแรงหรือบางรายเข้าใกล้อาการเจียนคลั่ง แต่โดยภาพรวมแล้วน่าจะถือได้ว่าเป็นอาการของการโต้แย้งทางความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องภาคใต้อันเป็นเรื่องที่ควรจะเกิดมานานแล้วกับปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งอันนี้ ว่าเหตุใดจึงมีคนจับอาวุธลุกขึ้นสู้รัฐ"

ใน "มันไม่ใช่ความสำเร็จ" กรณีสิบหกศพกับการเปิดแนวรบ (ไม่ใหม่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น