โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ตะลึง ผู้สมัครอิสระฯ ผู้ว่าฯ กทม. ติดป้ายหาเสียงแบบทำมือ

Posted: 19 Feb 2013 01:13 PM PST

ด้าน "สุุขุมพันธุ์" ระบุร่วมฝ่าวิกฤตมากมายกับคน กทม. ทั้งอุทกภัยและไฟ "เผาเมือง" และจะขอเดินหน้าต่อไป "สุหฤท" ชูทางเท้าปลอดภัย ขยะแลกสวนสาธารณะ "โสภณ" ขอวิจารณ์นโยบายผู้สมัครรายอื่น-เตรียมว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโชว์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วน "พงศพัศ" สรุปนโยบายจราจรไร้รอยต่อ หวังลดเวลาเดินทาง 20-30%

ตะลึงป้ายหาเสียง "วรัญชัย" แบบทำมือ ระบุลงสมัครเป็นครั้งสุดท้าย

ป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 2 (ที่มา: เฟซบุคคุณ Soma Cruz)

บรรยากาศการหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. นั้น ล่าสุดเมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ผู้ใช้นามว่า Soma Cruz ได้โพสต์ภาพป้ายหาเสียงของ วรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครหมายเลข 2 ซึ่งเป็นกระดาษแข็ง เขียนหมายเลขด้วยสีแดง และติดรูปของตัวเองที่มุมขวาล่าง เขียนอักษรว่า "ผู้ว่า" โดยมีผู้กดไลค์ และแชร์เป็นจำนวนมาก อนึ่งวรัญชัย เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาหลายครั้ง สำหรับการลงสมัครครั้งนี้เขากล่าวกับ สปริงนิวส์ ว่า ตัวเขาเองไม่มีเงินที่จะทำป้ายแข่งขันกับผู้สมัครรายอื่น หวังเพียงให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหาเสียงของพวกเขาบ้าง โดยเขาจะนำเสนอเป็นผู้ว่าราชการที่จะคอยกระตุ้นและประสานให้รัฐบาลปรับปรุงและสร้างระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้คนกรุงเทพเต็มใจที่จะจอดรถไว้บ้าน และเปลี่ยนใจมาใช้รถสาธารณะแทน และการลงเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการลงสมัครครั้งสุดท้าย

 

สุหฤทชูทางเท้าปลอดภัย และขยะแลกสวนสาธารณะ

นโยบาย "ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า" ของสุหฤท สยามวาลา (ที่มา: Suharit Siamwalla)

ด้านสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17 ได้โพสต์ในเฟซบุค Suharit Siamwalla สดงนโยบาย "ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า" และระบุว่า "สำหรับผมแล้วทางเท้าคือการแสดงสิทธิ์พื้นฐานที่ประชาชนพึงมีครับ การจัดความปลอดภัยพื้นฐานเช่น ความขรุขระ จัดป้ายโฆษณาของกทม. และอื่นๆ ไม่ให้เกะกะ ขอทางเดินจากพ่อค้าแม่ขายให้อยู่รวมกันโดยเคารพสิทธิ์กัน และเราไม่ควรไปเดินบนถนนครับผมไม่เห็นด้วย"

 

คลิปอธิบาย "ขยะแลกสวนสาธารณะ" ของสุหฤท สยามวาลา

และก่อนหน้านี้ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16 ก.พ.) สุหฤท สยามวาลา ได้โพสต์ลงในเฟซบุค DJ Suharit Siamwalla เสนอนโยบาย "ขยะแลกสวนสาธารณะ" โดยมีคำอธิบายประกอบว่า "เราผลิตขยะกันเกือบวันละ 10,000 ตัน ผมเชื่อว่าเราน่าจะนำมันมาทำประโยขน์ทำเงินได้ครับ เป็นรายได้มหาศาลที่ทำทุกอย่างให้ขึ้นมาอยู่ในระบบและเริ่มนำรายได้นั้นมาเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะครับ และมีการแจ้งรายได้การขายอย่างชัดเจนครับ..."

 

โสภณขอวิจารณ์นโยบายผู้สมัครอื่นระบุมุ่ง "ติเพื่อก่อ" พร้อมเตรียมว่ายน้ำเจ้าพระยาโชว์

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้เผยแพร่บทวิจารณ์นโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลขอื่น โดยระบุว่า "ในช่วงหาเสียงนี้ ผมได้พบการแถลงนโยบายของผู้สมัครอื่นที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เกรงว่าหากนำไปปฏิบัติ อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ กลายเป็น "เข้ารกเข้าพง" ไป ผมจึงขออนุญาตวิพากษ์วิจารณ์แบบ "ติเพื่อก่อ" ให้มีการคิดต่อเพื่อพัฒนานโยบายที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ไม่ได้เป็นการโจมตีบุคคลแต่อย่างใด"

"กรณีรถรางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ - หากเป็นรถรางแท้ๆ ที่มี "ราง" คงสิ้นเปลืองงบประมาณมาก และกีดขวางการจราจรยุคใหม่ หากเพื่อการท่องที่ใช้รถหน้าตาคล้ายรถราง ก็มีอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คือกลางวันร้อนมากเหลือเกิน ควรให้มีช่วงกลางคืนที่การจราจรไม่หนาแน่น และเสริมด้วยการเปิดตลาดไนท์บาซาร์ที่ใหญ่และดีที่สุดในโลกในเกาะรัตนโกสินทร์ รอบสนามหลวง ศาลอาญาและคลองหลอด (โปรดดูแถลงการณ์ฉบับที่ 16) ผมยังขอเสนอให้ทำเรือท่องเที่ยวตามคลองโอ่งอ่างเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองหลอด อย่างนี้จะน่าจะมีความเป็นไปได้ น่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนมากกว่า"

"กรณีเพิ่มเส้นทางจักรยาน - มีข้อเสนอให้เพิ่มเส้นทางจักรยานอีก 30 เส้นทาง หรือบ้างก็ให้เพิ่มเส้นทางรอบถนนวงแหวนรัชดาภิเษกทั้งเส้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีผู้ใช้สักกี่คน ผมเสนอไว้ตั้งแต่ 27 มกราคม 2556 (ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 และต่อมาฉบับที่ 32) แล้วว่าให้ทำโซนจักรยานใจกลางเมืองเพื่อรณรงค์ให้เกิดการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรในชีวิตเป็นหลัก โดยทั้งนี้ต้องรณรงค์ต่อเนื่องด้วยการให้เช่ารถจักรยาน 40,000 คันใน 1,000 จุดจอดในเขตเมืองชั้นในและกลาง เมื่อจักรยานออกมามากๆ และมีการคุ้มครองในถนนใจกลางเมืองเพื่อความปลอดภัย ปริมาณรถยนต์ก็จะลดน้อยลง ทางจักรยานก็ไม่ต้องมีอีกต่อไป เพราะเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครได้กลายเป็น "เมืองจักรยาน" ที่แท้จริง"

และล่าสุดในเพจของโสภณ ได้ระบุว่าในเวลา 9.30 น. วันนี้ (20 ก.พ.) จะพาสื่อมวลชนไปดูปัญหาการปล่อยน้ำเสีย ที่เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี โดยระบุว่า "เจ้าพระยากลายเป็นที่ปล่อยน้ำเสีย และเดินเรือพาณิชย์ ประชาชนไม่ได้ใช้ สิ่งแวดล้อมเสียหาย ยิ่งกว่านั้นควรสร้างสะพานเพิ่มเพื่อกระจายความเจริญบนแนวคิดใหม่ที่ดูแลผู้ถูกเวนคืนอย่างดี ควรให้เกียรติและเคารพในสายน้ำ ผมจะลงว่ายน้ำและพยายามว่ายข้ามเจ้าพระยา ตามแนวคิดสากล urban swimming ร่วมสัมผัสเพื่อร่วมแก้ไขสภาพน้ำ"

 

"เสรีพิศุทธ์" ชูกรุงเทพฯ ปลอดภัย

นโยบาย  "BKK 011 กรุงเทพรหัสปลอดภัย" (คลิกเพื่อดูภาพที่นี่) (ที่่มา: Sereepisutht)

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11 เมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) ได้โพสต์ในเพจ Sereepisutht อธิบายนโยบาย "BKK 011 กรุงเทพรหัสปลอดภัย" ซึ่งเป็นนโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยใน กทม. โดยอธิบายว่า "ผมนำรายละเอียดนโยบาย BKK011 มาอธิบายจะได้เห็นภาพกันครับ ที่เราจะเปลี่ยนจากกล้องCCTVเป็นIPTV โดยไม่ใช้สาย ไม่ใช่เสา และครอบคลุมทั่วกทม.นั้น เป็นระบบคลื่นไมโครเวฟ เพราะจริงแล้ว CCTV แบบเดิมล้าสมัย ไม่มีคนทราบมากนะครับว่าแบบเดิมนั้นใช่ครับกล้องถูกแต่สายไฟแพง คุณสมบัติของ IPTV คือบอกรูปพรรณ ลักษณะได้แม่นยำ ผ่านอินเตอร์เนต GPS กรุงเทพจะปลอดภัยขึ้นครับ ผมขอย้ำอีกครั้งนะครับ ถ้าไม่มีคนโกง ไม่มีคนเอาเงินใส่กระเป๋าตัวเอง กรุงเทพมีงบประมาณพอครับที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างๆ ได้"

 

สุุขุมพันธุ์ระบุร่วมฝ่าวิกฤตมากมายกับคน กทม.และจะไม่ยอมแพ้ให้กับผู้คิดร้ายต่อกรุงเทพฯ

ด้านเพจของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์คลิป "เรามาไกลเกินกว่าจะตั้งต้นใหม่" และอธิบายว่า "เกือบสิบปีที่ตัวแทนจากปร­ะชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันสร้างกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ว่าฯ เรื่อยมา ผมได้สานต่อแนวคิด พัฒนาเมือง และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้อง กทม. จนผ่านวิกฤติต่างๆ มากมาย แต่กรุงเทพฯ ยังไม่ถึงจุดที่ฝันไว้ กรุงเทพฯ ยังสามารถเดินต่อได้อีก และผมจะพาทุกคนเดินหน้าต่อไป"

ทั้งนี้ในคำอธิบายของคลิปดังกล่าวระบุว่า "เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้วที่ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันสร้างเมืองใหญ่แห่งนี้ที่ชื่อกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เรื่อยมาจนถึง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งก็ได้สานต่อแนวคิด และการพัฒนา ให้กรุงเทพได้กลายเป็นมหานครที่สำคัญของโลกอย่างสมบูรณ์ จนได้รับรางวัลเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน เราผ่านวิกฤติไฟเผาเมือง เราผ่านวิกฤติมหาอุทกภัยที่ทำร้ายคนกรุงเทพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ลูกผู้ชายที่ชื่อสุขุมพันธุ์ก็เคียงบ่าเคียงไหล่คนกรุงเทพฯ ก้าวผ่านวิกฤติเหล่านั้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะกรุงเทพฯ คือบ้านของเขา คือเมืองที่เขารัก

เราจะไม่ยอมแพ้ให้กับผู้คิดร้ายต่อกรุงเทพ เราจะไม่ยอมให้อุปสรรคใดใดมาขัดขวางการเป็นมหานครแห่งอาเซียน เราจะไม่ยอมให้ประชาชนชาว กทม. ล้าหลังและก้าวไม่ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ เราจะไม่มีวันยอมให้พี่น้องชาว กทม. ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงจากภยันตรายหลากรูปแบบ ทั้งโดยธรรมชาติและไม่ใช่ธรรมชาติ เรายังไปไม่ถึงจุดที่เราฝัน แต่เราจะไม่หยุด เราจะเดินหน้าต่อไป ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อีกครั้ง เพื่อให้กรุงเทพฯ เดินหน้าต่อทันที"

 

"พงศพัศ" สรุปนโยบายจราจรไร้รอยต่อ หวังลดเวลาเดินทาง 20-30%

ด้านพงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์คลิป "สรุปนโยบายจราจร" และอธิบายว่า "สรุปนโยบายจราจร สู่เป้าหมายการลดเวลาเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนลง 20-30% ครับ"

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. เพจของพงศพัศ ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โดยระบุว่า "หลายๆท่านอาจสงสัยว่า รถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail นั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร คืนนี้ผมและทีมงานขอนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟังครับ รถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยวเป็นระบบที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา มาเริ่มต้นกันที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ครับ

กัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย Monorail ในกัวลาลัมเปอร์ หรือ KL Monorail เปิดใช้เมื่อปี 2003 มีทั้งหมด 11 สถานี ระยะทาง 8.6 กิโลเมตร มีราง 2 รางขนานกันลอยฟ้า เชื่อมต่อกันที่สถานีศูนย์กลางสามารถต่อไปยังรถไฟฟ้าอื่นๆได้ แนวเส้นทางผ่านใจกลางเมืองกัวลาลัมเปอร์ที่เป็นย่านการค้าสำคัญ โดยวิ่งด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนส่งผู้โดยสาร 3,120 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ให้บริการทุก 3-4 นาที ปัจจุบันชาวเมืองกัวลาลัมเปอร์ใช้บริการรถโมโนเรลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 40 บาท

สิงคโปร์ แม้มีรถไฟฟ้าสายหลักให้บริการอยู่แล้ว 4 สาย สิงคโปร์ก็ยังมีโมโนเรลเป็นระบบเสริมเชื่อมโยงถ่ายเทคนจากระบบหลัก หน้าตาก็คล้ายๆกับของกัวลาลัมเปอร์ สามารถขนส่งผู้โดยสารได้หลายหมื่นคนต่อวัน วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 25-30 บาท 

โมโนเรลในสิงคโปร์ ยังถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดโมโนเรลสายใหม่เส้นทางไปยังเกาะ Sentosa แห่ลงท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เปิดบริการมาแล้ว 2 ปี เป็นรถโมโนเรลรุ่นใหม่ล่าสุดและมีขนาดเล็กที่สุด เหมาะสมทั้งต่อจุดประสงค์การใช้งานและใช้งบประมาณที่ไม่สูงมากครับ

เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครชั้นนำของอาเซียนอย่างแท้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องศึกษาและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ทันสมัยทัดเทียมกับมหานครชั้นนำต่างๆของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วยกัน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ต้องยุติการโจมตีพลเรือน

Posted: 19 Feb 2013 09:49 AM PST

องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุติการโจมตีต่อพลเรือน


แถลงการณ์ดังกล่าวเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทยได้กระทำการโจมตีพลเรือนหลายครั้งซึ่งสามารถเทียบเท่าได้กับ "อาชญากรรมสงคราม" โดยในวันที่ 10 ก.พ. เกิดเหตุโจมตีพลเรือนชาวพุทธในอำเภอหนองจิก ปัตตานี ทำให้มีผู้บาดเจ็บสี่ราย รวมถึงเด็กหญิงวัยสี่ขวบ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ผู้ก่อความไม่สงบบุกที่พักของคนขายผลไม้ชาวพุทธใน อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา และกราดยิง ทำให้มีผู้เสียชีวิตสี่ราย และวันที่ 1 ก.พ. ได้โจมตีชาวนาชาวไทย-พุทธ ในอำเภอยะหริ่ง ปัตตานี ทำให้เสียชีวิตสองราย และบาดเจ็บอีก 10 ราย

"ไม่มีความชอบธรรมใดๆ เลยสำหรับการจ่อยิงพลเรือนด้วยปืนไรเฟิล" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียกล่าว "วิธีการเลวร้ายของกลุ่มก่อความไม่สงบที่สร้างความรุนแรงและความหวาดกลัวต่อครูและพลเรือน ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและทำลายเป้าหมายของพวกเขาเอง"

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ซึ่งผู้ก่อการไม่สงบ ภายใต้การนำของมะรอโซ จันทราวดี บุกเข้าโจมตีค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้ก่อการเสียชีวิตจำนวน 16 ราย และต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. มีการเผยแพร่ใบปลิวข่มขู่ครูและพลเรือนชาวไทยพุทธว่า จะมีการเอาคืน และจากนี้ไปจะมีการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการ โดยจะมุ่งเป้าที่ชุมชนไทย-พุทธในพื้นที่ และว่า หนึ่งชีวิตมุสลิม ต้องจ่ายคืนด้วยชีวิตชาวไทยพุทธ 10 คน

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า การประกาศใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ กฎอัยการศึก และพ.ร.บ. ฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเพียงพอ และยังทำให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ไม่มีพื้นที่เพียงพอด้านความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ซึ่งอดัมส์กล่าวว่า รัฐบาลควรต้องจำกัดการใช้เคอร์ฟิวอย่างเข้มงวด และมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิ

"นโยบายที่หว่านแหและกว้างมากเกินไปในการจำกัดเสรีภาพต่อการเคลื่อนไหว อาจจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่แย่ลง และทำให้ประชากรชาวมุสลิมรู้สึกแปลกแยก" เขากล่าว

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ระบุว่า กลุ่มก่อการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายบีอาร์เอ็น ดำเนินการด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมมลายูและมุสลิมแบบสุดขั้วซึ่งมีเป้าหมายว่าจะปลดปล่อยจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยให้เป็น "ปาตานี ดารุสซาลาม" ซึ่งจะไม่ยอมให้มีประชากรที่ไม่ใช่ชาวมลายูมุสลิมอยู่ในพื้นที่

ฮิวแมนไรท์ วอทช์ประณามการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการไม่สงบในภาคใต้ ที่ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือกฎหมายสงคราม ซึ่งห้ามการโจมตีพลเรือน หรือกระทำการโจมตีที่ไม่เลือกหน้าระหว่างพลเรือนและเจ้าหน้าที่ทหาร

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลต้องดำเนินการกับผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และยุติวัฒนธรรมการงดเว้นการรับโทษด้วย



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“มันไม่ใช่ความสำเร็จ” กรณีสิบหกศพกับการเปิดแนวรบ (ไม่ใหม่)

Posted: 19 Feb 2013 09:25 AM PST

ผลการพบปะสื่อมวลชนของเจ้าหน้าที่ทหารและ ศอ.บต.เมื่อ 18 กพ.ที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ค่อยมีข้อมูลใหม่อะไรออกมามากนัก แต่ท่วงทำนองการตอบข้อซักถามเรื่องกรณีการปะทะที่บาเจาะดูโดยภาพรวมแล้วให้อารมณ์ประหนึ่งว่าในทางการเมืองนั้น เจ้าหน้าที่ได้กลายเป็นฝ่ายถูกรุกไปแล้วเรียบร้อย<--break->

ข่าวเหตุการณ์ค่ายทหารที่บาเจาะถูกบุกที่ลงเอยด้วยความตายของฝ่ายบุกจำนวน 16 ศพ (ซึ่งมีนักข่าวอย่างน้อยสองคนอ้างข้อมูลทางฝ่ายชาวบ้านบอกว่าอันที่จริงมีมากกว่านี้) เจ้าหน้าที่ระบุว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการเตรียมตัวรอรับไว้ล่วงหน้าแล้วเป็นอย่างดี เนื่องจากมีชาวบ้านไปปูดข่าวบวกกับการที่ได้ข้อมูลมาจากปฏิบัติการจับกุมครั้งก่อนหน้า สรุปอย่างสั้นคือพวกเขากำลังบอกว่า งานข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แรกทีเดียวนั้นกองเชียร์ต่างก็ตื่นเต้นดีอกดีใจเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ค่ายทหารโดนบุกแต่กลับพลิกเกมกลายเป็นฝ่ายกระทำ ก่อนๆหน้านี้มีแต่บาดเจ็บล้มตายแถมถูกปล้นอาวุธมาโดยตลอด อีกประการหนึ่งนั้น ข่าวปะทะหนนี้กลายเป็นเครื่องคลี่คลายโจทก์ในใจหลายคน ในแง่ของคนที่ไม่เชื่อ ในที่สุดก็เห็นได้ชัดว่ามีตัวจริงเสียงจริงหลังจากที่รู้สึกว่าสู้กับเงามาโดยตลอด ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็เชื่อว่าพวกเขาพบคำอธิบายที่จะคลี่คลายปมข่าวลือที่ทำให้ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับเรื่อยมาว่าทหารทำร้ายประชาชน เนื่องจากการเข้ากระทำของกลุ่มคนในค่ำคืนนั้น มาในชุดเครื่องแบบนักรบเต็มที่

ทว่ากองเชียร์อารมณ์ดีได้ไม่กี่ชั่วโมงก็พบว่า กระแสตอบรับของชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนตีกลับ ปรากฏข่าวที่กลายเป็นการจุดชนวนให้มีการตั้งคำถามมากหลาย และแต่ละอย่างล้วนแล้วแต่พัฒนากลายเป็นคำถามที่ถาโถมเข้าสู่สาระสำคัญของวิธีการจัดการปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ของฝ่ายรัฐทั้งสิ้น

ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นก็คือการเปิดปากพูดของบรรดาสมาชิกครอบครัวผู้ที่ถูกยิงตาย ซึ่งไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นเพราะส่วนใหญ่ตายแล้วมักเงียบแต่กลายเป็นพลังแค้นไปโผล่ที่ความรุนแรงแทน แถมในงานนี้สื่อกระแสหลักขยัน คือนำบทสัมภาษณ์เหล่านั้นไปออก เท่ากับช่วยเปิดประเด็นสู่วงกว้าง คำให้สัมภาษณ์โดยเฉพาะจากปากของภรรยามะรอโซ จันทรวดี ที่บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับสามี บวกกับภาพจากการจัดงานศพที่มีคนเข้าร่วมมากมาย วิธีปฏิบัติต่อศพและอื่นๆที่รวมแล้วบ่งบอกถึงความรู้สึกของชาวบ้าน- อย่างน้อยก็ในกลุ่มที่ไปร่วมงานศพ -ว่าคิดอย่างไร สองประการนี้ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามทำให้สังคมไทยต้องขบคิดกันอย่างหนัก การตอบโต้กันในหน้าโซเชี่ยลมีเดียที่แม้ว่าจะฟังดูรุนแรงหรือบางรายเข้าใกล้อาการเจียนคลั่ง แต่โดยภาพรวมแล้วน่าจะถือได้ว่าเป็นอาการของการโต้แย้งทางความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องภาคใต้อันเป็นเรื่องที่ควรจะเกิดมานานแล้วกับปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งอันนี้ ว่าเหตุใดจึงมีคนจับอาวุธลุกขึ้นสู้รัฐ

อุดมการณ์ชาตินิยมนั้นมีอยู่แน่นอน แต่ปัญหาสำหรับรัฐไทยและเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ประเด็นหลักคือคำถามถึงต้นตอของปัญหาอันหนึ่ง – แม้ไม่ใช่ทั้งหมด - คือปัญหาความไม่เป็นธรรม โดยมีกรณีที่นับเป็นประสบการณ์ตรงของคนจำนวนหนึ่งในบรรดาสิบหกคนที่เคยถูกจับและถูกกระทำในเหตุการณ์ตากใบ สิ่งที่น่าสนใจคือปฏิกิริยาของจนท.ฝ่ายความมั่นคงต่อประเด็นนี้ที่ส่งผ่านมาจากบรรยากาศการตอบข้อซักถามนักข่าว

สิ่งหนึ่งที่ จนท.พยายามอธิบายคือสถานการณ์ของการปะทะนั้นพวกเขาไม่ได้เลือกที่จะวิสามัญคนเหล่านั้น นาวาเอกสมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้บอกว่า "ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต" พร้อมอธิบายว่าฝ่ายขบวนการที่บุกค่ายทหารในวันนั้นไปกันพร้อมอาวุธครบมือ "การกระทำของจนท.เป็นการป้องกันตัวเอง ถ้าไม่ทำอย่างดี คนที่ตายจะกลายเป็นทหาร" พร้อมกับบอกว่า "มันไม่ใช่ความสำเร็จของเจ้าหน้าที่ เพราะพวกเราต่างก็เกิดบนแผ่นดินเดียวกัน"

นับเป็นท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนที่ไม่ค่อยได้เห็น

สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างแม้จะยังเห็นน้อยมาก ก็คือความเห็นต่อผลกระทบต่อกรณีตากใบ หลังจากที่มีข้อมูลออกมาระบุว่า ผู้ตายจำนวนหนึ่งเป็นคนที่เคยถูกจับและดำเนินการจากกรณีตากใบ ทำให้มีการตั้งคำถามที่ใหญ่กว่าว่า ผลสะเทือนจากการจัดการที่ผิดพลาดของเหตุการณ์ตากใบที่มีส่วนร่วมสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้ร้าวลึกนั้นมีมากน้อยเท่าใดกันแน่ เนื่องจากที่ผ่านมาที่ยังไม่เคยมีใครศึกษาชัดเจนเพราะกระแสในเรื่องของตากใบถูกกลบด้วยแรงปรารถนาในหมู่เจ้าหน้าที่และสังคมไทยในอันที่จะลืมความผิดพลาด และโดยที่ไม่เข้าใจหรือไม่พยายามเข้าใจด้วยว่า การเยียวยาที่เห็นเป็นตัวเงินนั้นไม่ได้ช่วยอะไรมากนักเพราะสิ่งที่ผู้คนในพื้นที่ต้องการนั้นคือความเป็นธรรม

ในตอนแรกเจ้าหน้าที่บอกเราว่าความเชื่อมโยงระหว่างกรณีสิบหกศพและตากใบนั้นไม่เกี่ยวข้องกันหรือว่าเกี่ยวข้องน้อยมาก โดยให้ข้อมูลว่าจากที่ไปพูดคุยกับครอบครัวที่สูญเสีย พวกเขายืนยันมาเช่นนั้น

ถึงแม้ว่าอาจจะจริง แต่ว่านั่นก็คือการตีความแบบแคบ ถ้ามองให้กว้างออกไปจะพบว่า ความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่ ไม่ว่าใคร เมื่อกล่าวถึงกรณีตากใบมันคือเหตุการณ์ที่กลายเป็นการต่อยอดความขัดแย้งและการเยียวยาที่เป็นตัวเงินช่วยแทบไม่ได้โดยเฉพาะเมื่อบวกรวมกับอีกหลายกรณีที่ตอกย้ำในประเด็นเดียวกัน คำขอโทษจากปากผู้นำรัฐบาลแม้จะออกมาแต่ไม่มี

มาตรการทางกระบวนการยุติธรรมรองรับก็กลายเป็นถ้อยคำที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผลพวงอันนี้ขอเพียงแค่เป็นคนที่คลุกคลีกับปัญหาในพื้นที่ก็ต้องมองเห็น จึงไม่แปลกที่ผู้นำกองทัพที่ลงพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุตากใบอย่าง พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 จะยอมรับในตอนหนึ่งของการตอบข้อซักถามว่า แม้เหตุการณ์ตากใบจะเป็นการผลักดันของฝ่ายต่อต้าน จนท.เชื่อว่าชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกหลอก และ"เมื่อได้เข้าไปแล้วจะถูกกระทำเรื่อยๆ" แต่แม่ทัพภาคสี่ก็ยอมรับว่าความเคียดแค้นจากเหตุการณ์นั้นมีจริง และความชิงชังยังคงอยู่ แม้รัฐบาลจะพยายามทำหลายอย่าง "แต่ความเคียดแค้นมันไม่หายไปสำหรับคนบางคน"

นับว่าน้อยครั้งจะได้ยินการยอมรับเช่นนี้ โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายความมั่นคง แต่ทว่าก็ยังห่างไกลจากจุดที่จะทำให้เริ่มมีการแก้ไขปัญหาอีกมากโข ที่สำคัญคำพูดของแม่ทัพภาคสี่ยังไม่ทันได้รับการบอกเล่าออกไป เรากลับได้ยินเสียงจากกรุงเทพฯดังมาจากปาก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ว่าขอให้หยุดพูดเรื่องตากใบเสียที "จะมาอ้างตากใบหรือกรือเซะแล้วทำให้ฆ่าคนได้หรือ ไม่ใช่เอาเรื่องเก่ากลับมาพูดกันใหม่"  

ตอกย้ำแนวเดิมๆแบบไทยๆ คืออะไรที่แล้วก็ให้แล้วกันไป – ปัญหาก็คือ คนอื่นเขาไม่แล้วด้วยน่ะซิ

นอกจากนี้ จนท.หลายคนยังเชื่อว่าปัจจัยเงื่อนไขเรื่องของตากใบและปัญหาเก่าๆไม่มีนัยสำคัญเทียบเท่ากับปัจจัยเรื่องความคิดชาตินิยมในแง่ของการเป็นเหตุผลสนับสนุนการต่อสู้แยกดินแดน ในความเห็นของพวกเขา มีหรือไม่มีกรณีตากใบก็ครือกัน – ซึ่งก็อาจจะจริงก็ได้ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า อย่างน้อยที่สุดกรณีตากใบได้เพิ่มน้ำหนักให้กับความเชื่อที่ว่ารัฐไทยไม่ "เวิร์ค" คือไม่เป็นจริงไม่อาจตอบสนองพวกเขาได้ ซึ่งเรื่องนี้ควรจะสำรวจกันอย่างจริงจังว่า มีหรือไม่ผู้คนที่ลงเอยด้วยข้อสรุปอันนี้เพราะประสบการณ์กรณีตากใบโดยตรง รวมทั้งเรื่องที่ว่าความไม่เป็นธรรมโดยรวมเป็นสาเหตุให้ผู้คนปฏิเสธรัฐไทยอย่างไรและแค่ไหน

ถ้าอ่านอาการของจนท.จากการตอบคำถามเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ถึงความลำบากของพวกเขาที่ต้องปะทะกับปัญหาสองด้าน ด้านหนึ่งคือในพื้นที่ที่ต้องรับมือปัญหาความไม่สงบที่กำลังแถมด้วยความฮึกเหิมของคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐที่ถูกปลุกขึ้นมาแล้วด้วยความตาย 16 ศพ อีกด้านที่ต้องเผชิญ ก็คือแนวรบที่นำโดยฝ่ายกองเชียร์ในกรุงเทพฯที่ไม่ยอมถอยร่นและเปิดพื้นที่ให้ได้ทำงาน พวกเขาส่งเสียงอึงมี่คัดค้านการใช้ไม้นวมหรือมาตรการการเมือง เห็นตัวอย่างได้จากประเด็นเรื่องของการเยียวยาที่โดนตอกกลับผ่านในโซเชี่ยลมีเดียจนเละว่าเป็นการเยียวยา "โจร"  เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการศอ.บต. ต้องออกมาบอกนักข่าวว่า เงินช่วยเหลือห้าพันบาทต่อครอบครัวนั้นอันที่จริงเป็นการควักกระเป๋าส่วนตัวของเลขาธิการ ศอ.บต. พตอ.ทวี สอดส่อง มิได้ใช้เงินหลวงแต่อย่างใด  

สำหรับ จนท. หากจะใช้นโยบาย "การเมืองนำหน้า" ให้ได้อย่างที่ประกาศมา ภารกิจหลักอันหนึ่งอาจจะเป็นการที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมไทยให้รับเผือกร้อนก้อนนี้เอาไว้ให้ได้ ตั้งสติเพื่อให้ถกถึงปัญหากันได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนับว่ายากเย็นอย่างยิ่งเพราะผู้คนสะสมเอาไว้ทั้งความโกรธ เกลียดชังและไม่เข้าใจอย่างเต็มเปี่ยมจนหลายคนแทบไม่เหลือช่องว่างให้คิดเป็นอื่น  

ที่สำคัญการขจัดเงื่อนไขอันเกิดเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมอย่างเช่นในกรณีตากใบนั้นเป็นเรื่องระดับนโยบายที่ต้องคิดและทำกันมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะฝากความหวังไว้กับทหารตัวเล็กๆแต่ละคนในพื้นที่ให้แสดงบทบาทได้ยกเว้นแต่ให้ทำงานอย่างทหารมืออาชีพและไม่ไปละเมิดชาวบ้านเพิ่มเติม แต่ จนท.ระดับนโยบายต้องถามตัวเองอย่างตรงไปตรงมาพร้อมหาทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แทนที่จะนั่งทับระเบิดเวลาไว้รอให้หลักฐานมาปูดอยู่เบื้องหน้าแล้วรับมือไม่ได้เหมือนในกรณีปัจจุบัน ซึ่งทำให้การทำงานของจนท.ระดับปฏิบัติงานในพื้นที่ยากหนักขึ้นไปอีก  

โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ผลของความตายสิบหกศพได้กลายเป็นมือที่มองไม่เห็น ผลักให้ความขัดแย้งในสามจังหวัดเข้าประชิดตัวสังคมไทยในชั่วพริบตา มันได้ทำให้แนวหลังกลายเป็นแนวหน้าและเป็นแนบรบอีกด้านไปแล้วเรียบร้อย
 
 
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก Noi Thamma

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทสนทนาไม่รู้จบของนักแปล

Posted: 19 Feb 2013 08:46 AM PST

 
"ทำไมงานเขียนทำนองนี้ถึงไม่ค่อยมีใครแปล?" 
 
นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามเมื่อพวกเขาได้อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองวัฒนธรรมในต่างประเทศ  บทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารหัวนอกทางเลือก บทวิจารณ์ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ แนวคิดงานรณรงค์หรือปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งบ่อยครั้งต้องหาอ่านเอาจากภาษาต่างประเทศ  
 
คงจะดีไม่น้อยถ้ามีการแปลเป็นภาษาไทย...ความคิดเบื้องต้นนี้นำมาสู่โครงการนำร่องเพื่อสร้างนักแปลรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสังคมการเมืองและวรรณกรรม  เกิดเป็นคอร์สอบรมการแปลสำหรับนักกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่  เมื่อวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2550 โดยวิทยากรนักแปลอาชีพ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
 
ในสนามอบรมการแปล วิทยากรได้ออกแบบหลักสูตรพื้นฐานอันเป็นหลักการสำคัญของการแปลซึ่งกลั่นมาจากประสบการณ์ในการทำงานแปลมาทั้งชีวิตของสองวิทยากร ไม่ว่าเรื่องหัวใจของการแปล ทริกในการแปล อุปสรรคของการแปล เครื่องมือในการทำงานแปล รวมถึงมุมมองต่ออาชีพนักแปลและการทำงานร่วมกับบรรณาธิการและสำนักพิมพ์  ก่อนจะมาเป็นหลักสูตร "นักแปลข้างถนน" ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ Book Re:public จ. เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19-21 ตุลาคม 2555   
 
เสียงตอบรับอย่างดีจากคราวนั้นเป็นเหตุให้ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ วิทยากรหลักสูตร "นักแปลข้างถนน" จะเปิดอบรมขั้น 1 อีกครั้งที่กรุงเทพฯ  ในการนี้เราจึงรวบรวมเก็บตกคำถามสำหรับมือใหม่หัดแปล รวมทั้งบทสนทนาบางส่วนระหว่างวิทยากรทั้งสองกับผู้เข้าร่วมมาเล่าสู่กันฟัง

 
1. นักแปลต้องเก่งภาษาจริงหรือไม่?
 
พิภพ : "การเป็นนักแปล/ล่ามที่ดี ผมให้ความสำคัญกับความรู้ด้านภาษา 50% ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งผมให้น้ำหนักกับความไม่ลำเอียง ไม่ด่วนสรุปตีความ มีจิตใจใฝ่รู้ มีความสงสัยตลอดเวลา คุณจะเป็นนักแปลที่ดีได้ ต้อง unlearn สิ่งที่คุณ 'รู้' มาก่อน คนเก่งภาษาไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักแปลที่ดีเสมอไป"
 
"ความไม่ลำเอียงสำคัญที่สุดในการทำงานล่ามหรืองานแปล ความไม่ลำเอียงไม่ใช่เป็นกลาง แต่คือการให้ความเป็นธรรมกับคนพูดหรือคนเขียน  
 
"ไม่ต้องเกร็งว่าเราไม่เก่งภาษาจะทำงานแปลได้ไหม ผมว่าเป็นไปได้ เพราะชีวิตคนเราทำงานแปลอยู่ตลอดเวลา เราฟังคนพูดหรือดูเขาแสดงท่าทางเราต้องแปลทั้งนั้น แล้วในระหว่างที่เราแปลความรู้ด้านภาษาจะเพิ่มพูนขึ้นเอง"
 
ภัควดี :  "พี่เป็นคนเชื่อเรื่องพรแสวง ถ้ามีความตั้งใจและขยัน ดังภาษิตว่า 'อัจฉริยะแพ้อดทน' โดยเฉพาะงานแปลเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูง  คนรุ่นใหม่มักมองว่างานแปลเป็นงานโรแมนติก แต่เอาเข้าจริงงานแปลเป็นงานสุดยอดของความน่าเบื่อ มันเป็นงานซ้ำซาก ทุกวันคุณต้องทำงานอยู่หน้าจอคนเดียว ทำงานกับหนังสือเล่มหนึ่งเป็นเดือนเป็นปี อยู่กับตัวอักษรทุกตัวในหนังสือเล่มนั้นไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ เป็นงานที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลยแม้แต่นิดเดียว  แต่มันสนุกสำหรับพี่ 
 
"การทำงานแปลต้องมีความชอบเป็นอันดับแรก ต้องมีความต้องการที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ในสิ่งที่เราอ่าน ได้รู้สึกในสิ่งที่เรารู้สึกเวลาอ่าน  
 
"บางคน ภาษาต่างประเทศดี ภาษาไทยดี แต่บางคนเป็นนักแปลที่ดีไม่ได้ เพราะมีโลกทัศน์แคบ เห็นอะไรดึงเข้าทางความคิดตัวเองหมด  เขาจะแปลได้ดีก็ต่อเมื่อแปลงานต้นทางที่เข้ากับความคิดตัวเอง พอแปลงานที่ไม่เห็นด้วยก็พังเลย คือลากผิดหมดก็เป็นไปได้"
 

2. อย่างไรถึงจะเรียกว่างานแปลที่ดี นักแปลที่ดี ล่ามที่ดี?
 
ภัควดี :  "จริงๆ แล้วหน้าที่ของการแปลคือการเปิดพรมแดนความรู้ของมนุษย์ให้กว้างขึ้น ให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น  ในต่างประเทศบางทีนักแปลพูดด้วยซ้ำว่างานแปลได้สัก 60% ก็ดีแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจงใจละทิ้งหรือบิดเบือนต้นฉบับ แต่เราต้องยอมรับว่าในการแปลมันมีอะไรบางอย่างสูญหายไปเสมอ ไม่มีทางที่ต้นฉบับแปลจะเทียบเท่าหรือสมมาตรกับต้นฉบับ 
 
"ชไลเออร์มาเคอร์ (Friedrich Schleiermacher) บอกว่า การแปลมีอยู่ 3 ส่วน คือ ผู้เขียน ผู้แปล และผู้อ่าน  เขาถามว่างานแปลที่ดีคืออะไร ระหว่างดึงผู้เขียนไปหาผู้อ่าน หรือดึงผู้อ่านมาหาผู้เขียน  
 
"แนวคิดทางการแปลยุคหลังมองว่าถ้าดึงผู้เขียนไปหาผู้อ่าน แปลว่าคุณได้เปลี่ยนงานผู้เขียนไปมากเพื่อให้ผู้อ่านอ่านแล้วสบายใจราบรื่น  ชไลเออร์มาเคอร์ไม่เห็นด้วยกับการดึงผู้เขียนไปหาผู้อ่าน เพราะเขาคิดว่ามันทำให้คุณค่าของงานแปลหายไปพอสมควร และมันเป็นไปไม่ได้เพราะความจริงแล้วความคิดของมนุษย์ก่อรูปขึ้นในภาษากับวัฒนธรรม ฉะนั้นในภาษาวัฒนธรรมที่ต่างออกไปความคิดก็ไม่เหมือนกัน  ถ้าเราแปลงานโดยที่ทำให้คนอ่านอ่านได้อย่างราบรื่นจนเหมือนกับว่าไม่ได้อ่านงานแปล นั่นหมายความว่าความคิดได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว  เขาคิดว่าการแปลที่ดีคือการดึงผู้อ่านไปหาผู้เขียน แปลด้วยสำนวนภาษาที่แตกต่างออกไปที่คนอ่านไม่คุ้นเคย ทำให้คนอ่านได้รับรู้อรรถรสใหม่ มีมโนทัศน์หรือมโนภาพแบบใหม่ขึ้นมา  ตัวอย่างที่ทำได้สำเร็จคือ นิยายจีนกำลังภายใน  
 
"ตอนเด็กๆ ครูสอนภาษาไทยเคยบอกว่านิยายจีนกำลังภายในทำให้ภาษาไทยวิบัติ แต่จริงๆ แล้วเป็นภาษาที่มีอิทธิพลกับภาษาไทยมากจนกระทั่งพี่เชื่อว่าทำให้ภาษาไทยมีลักษณะเปลี่ยนรูปไปเยอะ อย่างการใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ การใช้โครงสร้างประโยคเช่น 'กลางห้องยืนไว้ด้วยบุรุษผู้หนึ่ง'  นี่ถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่มาก และเป็นไปตามแนวคิดของชไลเออร์มาเคอร์ คือดึงผู้อ่านไปหาผู้เขียน  พี่เชื่อว่านิยายจีนกำลังภายในได้อัดฉีดสำนวนแบบใหม่เข้ามาในภาษาไทย และมีอิทธิพลต่อนักเขียนไทยจำนวนมากทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา
 
"แต่ขณะเดียวกันก็มีงานแปลประเภทที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง  จะเอาอะไรวัดว่างานแปลไหนดี ตรงนี้มันมีแต่ข้อยกเว้นในงานแปล ซึ่งเวลาปฏิบัติจริงยากมากที่จะบอกหรือวัดได้"
 
"งานแปลที่ดีในความเห็นของพี่คือ มันขยายพรมแดนความรู้หรือเปล่า  มันได้ฉีดสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในกระบวนการรับรู้ของคนในชาติเราหรือเปล่า  มันสร้างมโนทัศน์ใหม่ๆ หรือเปล่า  ถ้าทำได้ก็ถือว่างานแปลนั้นได้ทำหน้าที่ของมันได้ดีพอสมควรแล้วในฐานะการเป็นงานแปล"
 
พิภพ : "ความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานของคนทำงานแปล เริ่มต้นจากอ่านแล้วแปลได้หรือไม่ได้ ถ้าคิดว่าไม่ควรแปลก็ใช้วิธีเก็บความเรียบเรียงซึ่งนั่นไม่ใช่การแปล การเรียบเรียงคือการเอาสิ่งที่เราคิดว่าดีหรือน่าสนใจหรือส่วนที่เซ็กซี่ที่สุดมาถ่ายทอด แต่การแปลแม้แต่ส่วนที่ไม่เซ็กซี่เราก็ต้องแปล งานล่ามก็เช่นกัน คนพูดพูดไม่ดีเราก็ต้องแปลตามนั้นเพราะอย่างที่พูดไปตอนต้นหน้าที่ของเราคือเป็นปากเป็นหูให้เขา
 
"งานล่ามต่างกับงานแปลมากพอสมควร  สำคัญที่สุดสำหรับงานล่ามคือคุณต้องทำการบ้าน ต้องทำความเข้าใจเรื่องนั้นๆ ก่อนล่วงหน้า  สองคือต้องเป็นนักฟัง ฟังให้เข้าใจก่อน จากนั้นเรื่องแปลก็อาศัยประสบการณ์เพราะหลายๆ คำใช้ซ้ำๆ เราก็คุ้นกันอยู่แล้ว ยกเว้นบางคำที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศศึกษา เรื่องเอดส์ ฯลฯ ซึ่งยังไม่มีคำแปลที่ลงตัว เช่นคำว่า stereotype จะแปลว่าการเหมารวมทางเพศก็ได้ แต่บางคนอาจไม่คุ้น คนเป็นล่ามก็ต้องตัดสินใจว่าจะใช้คำไหน  เทคนิคหนึ่งที่ผมใช้ในงานล่ามคือแปลคู่กันใช้สองคำที่คล้ายๆ กัน เช่นคำว่า vision แปลว่าวิสัยทัศน์ แต่บางทีชาวบ้านไม่เข้าใจผมก็ใช้วิสัยทัศน์บ้างภาพฝันบ้างสลับกัน แต่ทั้งนี้ต้องสังเกตผู้ฟังว่าเข้าใจและตามทันด้วย  ขณะที่งานแปล ความสม่ำเสมอของคำที่ใช้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะกรณีที่เป็นตำราหรือเอกสารทางกฎหมาย ถ้าคำไม่ตรงกันในทางกฎหมายจะมีปัญหาไม่สามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้นในงานแปล คำศัพท์รูปเดียวกันใช้ว่าอะไรก็ต้องใช้อย่างนั้นตั้งแต่ต้นจนปลายให้สม่ำเสมอ"
 

3. สิ่งที่นักแปลควรทำเมื่อลงมือแปล?
 
ภัควดี : "คุณต้องเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นก่อน  งานแปลไม่ว่าประเภทไหน เราต้องรู้แนวคิดเบื้องหลังของสิ่งที่เราจะแปล เพราะถ้าเราไม่รู้แนวคิดเบื้องหลังของสิ่งที่เราจะแปลเลย โอกาสที่จะแปลผิดมีเยอะ  เราจะแปลงานของใครยิ่งอ่านงานของนักเขียนคนนั้นเยอะเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้แนวคิดเบื้องหลังของนักเขียนคนนั้นมากขึ้น
"เวลาแปลเราต้องพยายามสร้างโลกของนักเขียนคนนั้นขึ้นมาในหัวเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจนักเขียนคนนั้นดีที่สุด  นี่เป็นเรื่องสำคัญ คือคนอ่านทุกคนมีสิทธิตีความ ไม่ใช่คนแปลตีความถูกคนเดียว"  
 
พิภพ : "ในการแปลต้องคำนึงถึงแบกกราวนด์คนเขียนหรือคนพูดว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมไหน เพราะภาษานั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นวัฒนธรรม ถ้าไม่เข้าใจวัฒนธรรมก็ยากจะแปลได้ ดังนั้นคนที่จะทำงานแปลหรือทำงานล่ามควรดูหนังฟังเพลงเยอะๆ  
 
"เมื่อรู้แบกกราวนด์แล้วก็ต้องเข้าใจแนวคิดของนักเขียนคนนั้นว่าเขาต้องการสื่ออะไร ข้อสำคัญคือดูบริบท ต้องเข้าใจบริบท ถ้าไม่เข้าใจบริบทก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่แปลแม้คำง่ายๆ อย่าง give out, give in, give up หรือคำว่า fuck เป็นคำที่แปลยากมากที่สุดคำหนึ่งในภาษาอังกฤษ สำนวนที่มีคำว่า fuck มีมากมาย ถ้าเราไม่เข้าใจบริบทเราจะแปลผิดทันที บริบทถึงสำคัญ ถ้าให้ดีควรอ่านทั้งเล่มก่อน จากนั้นทำความเข้าใจผู้เขียน ทำความเข้าใจบริบท
 
"เพราะการแปลเริ่มจากการอ่าน อ่านไม่เข้าใจแปลไม่ได้แน่นอน  หลักการอ่านที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือแบ่งประโยค ต้องเข้าใจเรื่องอนุประโยคหรือประโยคย่อย  นักแปลที่ดีต้องละเอียดอ่อน สังเกตสัญลักษณ์ให้ดีเพราะสัญลักษณ์มีนัยยะในภาษาอังกฤษเสมอ ไม่ว่าการเว้นวรรค การใส่อัญประกาศ การใช้เครื่องหมาย : หรือ ; การใช้ตัวใหญ่ตัวเล็ก ตัวเอน ฯลฯ มีความหมายทั้งนั้น ต้องอ่านสัญลักษณ์ให้ได้ มิเช่นนั้นก็จะแปลไม่ถูกหรือแปลไม่ครบ"
 
 
4. คงรูปหรือความหมาย?
 
พิภพ : "ปัญหาเรื่องจะคงรูป (form) หรือจะเอาความหมาย (matter) เป็นปัญหาคลาสสิก จะใช้เกณฑ์อะไรระหว่างรักษารูปคำ รูปประโยค โครงสร้างประโยค หรือเลือกจะสื่อความหมายให้คนอ่านเข้าใจ เรื่องนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่เป็นศิลปะของการแปล ว่าจะหาจุดสมดุลของคุณเองว่าควรจะคงรูป โครงสร้างประโยค หรือควรจะให้ความสำคัญกับความหมายมากกว่า"
 
ภัควดี : "ขึ้นอยู่กับว่าแปลอะไร ถ้าแปลข่าว บทความ งานวิชาการ ส่วนใหญ่จะต้องเอาความไว้ก่อน ต้องแปลให้อ่านง่ายที่สุด แปลโดยคำนึงถึงการถ่ายทอดให้ชัดเจนที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามแปลให้ได้บุคลิกของนักเขียนคนนั้นด้วย  แต่ถ้าแปลวรรณกรรมก็ต้องคำนึงเรื่องใช้คำ สำนวนหรือวรรณศิลป์ในเชิงวรรณกรรมประกอบ เพราะงานวรรณกรรมต้องการอรรถรส เช่นนักเขียนคนนี้ชอบเขียนประโยคยาวๆ ประโยคหนึ่งสามบรรทัด เราก็ต้องแปลให้ได้ยาวอย่างนั้น  ยิ่งบทกวียิ่งแปลยากเพราะรูปแบบกับความหมายเนื้อสารมันเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวร้อยกันอย่างแยกไม่ได้ ส่วนใหญ่คนที่แปลบทกวีได้ดีจึงเป็นกวีด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักษารูปของต้นฉบับไว้ได้ ส่วนใหญ่ก็จะสร้างฟอร์มในภาษาตัวเองขึ้นมามากกว่า"
 

5. จะมั่นใจได้อย่างไรว่าแปลถูก
 
พิภพ : "การแปลสำคัญที่สุดคือใช้สามัญสำนึก เราอ่านแล้วสะดุด คนอื่นอ่านก็สะดุด คำศัพท์บางคำดูเหมือนง่ายๆ แต่บางทีเราก็แปลผิดได้  บางครั้งตอนแปลเราไม่รู้ว่าแปลผิดหรือน่าจะแปลได้ดีกว่านี้เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราแปล แต่ถ้าทิ้งไว้สักพักรอให้เป็นภาพสะท้อนในใจจนกว่าเราจะเอาตัวเราออกมาจากงานแปลได้จึงกลับมาอ่านทวนอีกรอบเหมือนส่องกระจกเราก็จะเห็นข้อผิดพลาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายจึงต้องมี reader/ editor ช่วยอ่านช่วยเกลาสำนวนในแง่ความราบรื่น 

"ถามว่าจะมั่นใจยังไง ผมคิดว่าก็ทำผิดเยอะๆ แล้วจะมั่นใจเอง ทำผิดแล้วไม่ต้องอาย เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ให้คนโยนงานเราลงถังขยะให้ได้สักครั้งหรือสิบครั้งก่อนจะมั่นใจขึ้น การที่เรามีประสบการณ์แบบนี้เป็นเรื่องที่ดี และผมก็ได้เรียนรู้จากคนที่แก้งานให้  นอกจากนี้ก็ต้องหาความจริงจากเสียงวิจารณ์  คำวิจารณ์เป็นสิ่งที่คนแปลเลี่ยงไม่พ้น นักแปลพึงใจเย็น รับผิดชอบและน้อมรับคำวิจารณ์ ระลึกไว้ว่าถ้าเราไม่เคยทำผิดเลยแสดงว่าเราไม่ได้ทำอะไรหรือทำไม่มากพอ ถ้าทำมากพออย่างไรก็ต้องผิดสักครั้ง"
 
ภัควดี : "ปัญหาของคนแปลผิดส่วนใหญ่คือไม่ได้คิดตอนแปล
"แต่การแปลผิดไม่ใช่อาชญากรรม  อารยธรรมมนุษย์เกิดขึ้นจากการแปลผิดด้วยซ้ำไป  ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุโรปที่เรียกว่าเรอเนซองซ์ เกิดจากการแปลงานของอริสโตเติล และความจริงแปลผิด  เขาไม่ได้แปลจากภาษากรีกแต่แปลจากภาษาอาหรับ หากแต่อิทธิพลของมันทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการคิดอย่างมีเหตุผล ความเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญาจนนำมาสู่ยุคเรอเนซองซ์
 
"กล่าวกันว่าอารยธรรมตะวันตกเกิดมาจากการแปล  เกอเธ่พูดว่าในบรรดากิจกรรมทุกอย่างในโลก งานแปลถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของมนุษย์  การแปลสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกมากมาย บทบาทของการแปลในสังคมมนุษย์มีสูงมาก และภารกิจของนักแปลจึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น" 
 
........................................................................
 
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของการอบรมนักแปลเท่านั้น จะว่าไปเรื่องการแปลก็เปรียบเสมือนบทสนทนาไม่รู้จบ มีข้อควรคำนึงถึงและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายที่สำคัญในการทำงานแปล ซึ่งการได้ทดลองแปลและแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะเป็นนักแปลที่ดีต่อไปในกาลข้างหน้า 
 
ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมอบรมบ้างว่าได้อะไรจากการอบรมนักแปลข้างถนนกันบ้าง...
 
"ส่วนหนึ่งจากบันทึกของฉันที่ร่วมการอบรมนักแปลข้างถนน ทำให้คิดถึงวลีที่ว่า 'ไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ' มีแต่ความพยายาม มุ่งมั่น และโชคชะตา  หลังอบรมฉันยังไม่มีโอกาสแปลเป็นชิ้นเป็นอัน แต่แปลแบบเก็บความสั้นๆ ง่ายๆ จากสิ่งที่อ่านให้เพื่อนๆ ในแวดวงคนทำงานเพศศึกษาได้อ่านกัน"  อุษาสินี ริ้วทอง
 
"ชอบตรงที่มีการเอางานแปลแต่ละคนมาแปลร่วมกันค่ะ เพราะปกติตอนที่เรียนมหาลัยในคลาส อาจารย์จะไม่เอางานของนักศึกษาทุกคนมาดูกันในคลาสเพราะเวลามีจำกัด จึงทำให้บางครั้งไม่รู้ว่างานแปลที่เราส่งนั้นผิดถูกตรงไหนอย่างไร"  เวลิกา มามูล
 
"เนื้อหาครอบคลุมหลักใหญ่และหัวใจของการทำงานแปล ได้ฝึกแปลไปพร้อมๆ กันทำให้ได้เห็นวิธีการแปลของเพื่อนๆ ในรูปแบบต่างๆ และวิธีการสรุปของวิทยากรที่ให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมดีมาก ได้เก็บตกจากการแลกเปลี่ยนพูดคุย ทั้งวิธีทำงานแปลอย่างเคร่งครัดกับต้นฉบับ ความอดทนของนักแปล การไม่ปล่อยผ่านสิ่งที่แปลไม่ออก บางทีการแปลเป็นเรื่องการต่อรอง ยอมเสียจุดหนึ่งเพื่อไปชดเชยจุดอื่น ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมาจากประสบการณ์ของวิทยากรที่ยากจะหาอ่านได้จากคู่มือการแปล"  วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
 
"การแปลไม่ต้องเก่งภาษาอังกฤษ แต่สำคัญอยู่ที่การค้นคว้าหาความหมายให้ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อมากที่สุด" พรพิมล สันทัดอนุวัตร
 
"ดีที่ให้ทำแบบฝึกหัดมาก่อนและเอามาดูกัน ทำให้ผ่านประสบการณ์ก่อน เวลาเอามาเรียนกันทำให้มีประเด็นแลกเปลี่ยน วิทยากรทั้งสองท่านมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน แต่เสริมกัน ให้วิชาแบบไม่หวงวิชาเลย ^ ^"  กิติพร พรหมเทศน์
 
"ข้าพเจ้ากำลังกลับมาแก้งานที่ทำค้างไว้ พอเริ่มตรวจทานใหม่ก็เริ่มรู้แล้วว่าทำไรผิดไปบ้างและจะแก้ปัญหาที่ค้างคาไว้อย่างไร ถ้าไม่ได้คุยกับพี่ทั้งสองก็คงแช่งานไว้จนเน่าไม่มีสติปัญญาจะทำต่อ ใช้หลักที่พี่เป็ดบอกว่าถ้าแปลออกมาแล้วมันอ่านแปลกๆ ต้องเช็กคำศัพท์ใหม่ เช็กไปเช็กมาก็เจอค่ะ"  อัจฉรา รักยุติธรรม
 
"ไปเรียนรู้เรื่องการแปลข้างถนนครั้งที่ผ่านมา เหมือนมาอยู่อีกที่หนึ่งที่ต่างจากงานที่ทำ ได้ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นไปอีกแบบ สนุกดี ได้รู้หลักรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้าง ตอนนี้กำลังเลือกใช้ทำงานกับส่วนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็ทำให้สนุกกับการดูหนัง ฟังเพลงสากล และอ่านภาษาอังกฤษมากขึ้น"  ภาวิณี ไชยภาค
 
"เครื่องมือแปลที่ดีที่สุดในโลกยังไม่มี แต่การแปลให้ดีที่สุดยังพอจะมีหากเราแปลให้เสร็จโดยที่รู้ว่าตรงไหนแปลไม่ได้หรือไม่ตรงเป๊ะ แปลผิดจึงไม่ใช่อาชญากรรม ที่สุดแล้วนักอ่านก็ยังจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของนักแปลอยู่บ้าง การแปลให้ดีที่สุดจึงควรอย่าหยุดแปล"  ธีระพล คุ้มทรัพย์  (ล่าสุดเขาแปลงเพลงประกอบหนัง Les Misérables "do you hear the people sing?" เป็นภาษาไทย   อ่านเบื้องหลังการแปลงได้ที่ ardisto-เดอะภารโรง/ได้ยินผู้คนร้องเพลงไหม-เพี้ยนแน่ๆ-แต่ไม่บิด)
 


หมายเหตุ : งานอบรม "นักแปลข้างถนน ขั้นที่ 1 ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นอีกครั้งวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์นี้ ณ สวนเงินมีมา เจริญนคร กรุงเทพฯ  ติดตามรายละเอียดได้ทาง www.wechange555.com หรือเฟซบุ๊ก : นักแปลข้างถนน ขั้นที่ 1 http://www.facebook.com/events/331018830332058/?fref=ts
 
 
 
 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: เสื้อเหลือง เสื้อแดง และโจรใต้

Posted: 19 Feb 2013 08:26 AM PST

 หลายคนที่ไม่ใช่คนใต้มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ด้วยความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงมีการก่อความไม่สงบเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงไม่ปราบปรามให้สิ้นซากไปเสีย หลายคนมองด้วยความสะใจที่มีการเสียชีวิตถึง 16 ศพจากการบุกเข้าโจมตีหน่วยทหาร วิทยุชุมชนบางสถานีออกข่าวอย่างเมามัน บางสถานีมีข้าราชการการเมืองแดงจัดในระดับสูงของพรรครัฐบาลออกมาให้ความเห็นอย่างสุดโต่งในทำนองประณามหยามเหยียดผู้ที่เสียชีวิต คอลัมนิสต์เหลืองจัดบางคนออกมาเรียกร้องให้ใช้มาตรการเด็ดขาดจัดการเสียให้สิ้นซาก (ซึ่งใครๆก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้) ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงความเห็นที่รุนแรงและกราดเกรี้ยวในสื่อสังคม (Social Network) ของทั้งเหลืองและแดง
 
แต่ในทางกลับกันในพิธีฝังศพผู้เสียชีวิตบางคนมีชาวบ้านไปร่วมพิธีอย่างมากมายเยี่ยงวีรบุรุษและคนในครอบครัวของผู้ตายต่างภาคภูมิใจในการตายที่เขาเหล่านั้นถือว่าเป็นการตายที่มีเกียรติผู้คนที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายต่างออกมาสดุดีว่าผู้ตายนั้นได้ทำหน้าที่สมศักดิ์ศรีแล้ว โดยไม่เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างก็อธิบายถึงความคับแค้นใจที่ผู้ตายว่ามีแรงจูงใจจากเหตุการณ์กรณีตากใบที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จึงเกิดคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในผืนแผ่นดินแห่งนี้ ทำไมผู้คนที่อยู่ร่วมผืนแผ่นดินเดียวกันจึงมองปัญหาได้ต่างกันมากมายชนิดที่เป็นคนละขั้วกันเลยทีเดียว
 
ผมค่อนข้างแปลกใจและเห็นว่าเป็น"ตลกร้าย"ที่คนหรือสื่อที่เป็นทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่างออกมาประณามหยามหมิ่นผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณีปัญหาของเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงที่มีการชุมนุมประท้วงจนเสียชีวิตจำนวนมากนั้นมีสาเหตุร่วมเดียวกันกับปัญหาของผู้ตายซึ่งถือกันว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ซึ่งก็คือการไม่พอใจต่อการปฏิบัติของรัฐต่อพวกเขาทั้งสิ้น เสื้อเหลืองไม่พอใจการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของทักษิณและพวก เสื้อแดงไม่พอใจต่อการรัฐประหารเตะรัฐบาลที่เขาชื่นชอบออกไปและเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ได้อำนาจกลับมากลับถูกอำนาจตุลาการเตะออกจากตำแหน่งแล้วรวมหัวกันไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
 
ส่วนปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นั้นแน่นอนว่าสาเหตุของปัญหานั้นซับซ้อนและสั่งสมมาอย่างยาวนานกว่าแต่ก็อยู่บนประเด็นพื้นฐานของความไม่พอใจกับการปฏิบัติของรัฐไทยต่อพวกเขา และย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางคนบางกลุ่มที่อยากแยกรัฐออกไปถึงแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ แต่ประเด็นสำคัญที่เกิดปัญหาความไม่สงบนั้นมีมากกว่าปัจจัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการค้าของเถื่อน ยาเสพติด หรือประเด็นของผลประโยชน์๋ที่ได้รับจากงบประมาณที่มากมายมหาศาลที่ทุ่มลงไปในพื้นที่ฯลฯ แต่ประเด็นของการโจมตีค่ายทหารของเด็กหนุ่มที่มีการศึกษาดีเหล่านั้นเราต้องวิเคราะห์ไปให้ลึกกว่านั้นว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น เพราะผมเองนั้นไม่เคยเห็นด้วยหรือสนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาหรือในการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดทั้งสิ้น ทั้งฝ่ายรัฐหรือฝ่ายที่ต่อต้านรัฐ
 
ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุถ้าเข้าใจเหตุของปัญหาก็ย่อมแก้ปัญหาได้ แต่การแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐในปัจจุบันนี้นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุดแล้วยังพยายามเพิ่มปัญหาลงไปเหมือนเติมน้ำมันลงไปในกองไฟ อย่าลืมว่าผู้ตายทุกคนมีญาติ มีเพื่อน มีพี่ มีน้อง มีครอบครัว อาจจะไม่ถึงกับตายสิบเกิดแสน แต่จำนวนของผู้ที่ไม่พอใจต่อการปฎิบัติของรัฐยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น
 
เหตุการณ์ความไม่สงบที่ี่เกิดขึ้นในอดีตไม่ว่าจะเป็นการทะลายคุกบาสติลของฝรั่งเศส, การปฎิวัติรัสเชีย ,การปฎิวัติจีน, การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕, การเผากองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือกองสลากเมื่อ ๑๔ ตุลา ๑๖, การยึดทำเนียบหรือสนามบินของเสื้อเหลือง หรือแม้กระทั่งการเผาศาลากลางภายหลังการสังหารหมู่ในเหตุการณ์พฤษภา๕๓ ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการไม่พอใจที่รัฐกระทำต่อเขาทั้งสิ้น(ไม่รวมการเผาเซ็นทรัลเวิลด์เพราะยังไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือใคร)
 
เมื่อวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดต่อเสื้อเหลือง เสื้อแดงหรือผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้นั้นล้วนมาจากพื้นฐานของปัญหาการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ทำเนียบรัฐบาลหรือส่วนกลางนั่นเอง หากให้ท้องถิ่นสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่งเหมือนในนานาอารยประเทศทั้งหลายแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ย่อมน้อยลงอย่างแน่นอน
 
ปัญหาของกบฎโมโรในเกาะมินดาเนา ฟิลิปปินส์ ที่ยืดเยื้อยาวนานก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้มีการจัดการตนเองได้ในระดับหนึ่ง จีนที่ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าปกครองในระบอบสังคมนิยมแต่ก็ยังให้แต่ละท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองได้จนประเทศจีนมีความเป็นปึกแผ่นยิ่งกว่าครั้งไหนๆในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และบางพื้นที่ถึงกับยินยอมให้ใช้ "หนึ่งประเทศ ๒ ระบบ"ได้ด้วยซ้ำไป เช่น ฮ่องกงหรือมาเก๊า เป็นต้น
 
หากเราให้แต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้แล้ว เสื้อแดงก็ไม่ต้องขบวนมาถูกเข่นฆ่าที่กรุงเทพ เสื้อเหลืองก็ไม่ต้องยึดทำเนียบรัฐบาล ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ก็ไม่ต้องไปโจมตีค่ายทหารจนต้องเสียชีวิต
 
ฟังเสียงคนในพื้นที่บ้างครับว่าเขาต้องการที่จะจัดการกับชีวิตเขาเองอย่างไร หมดสมัยที่รัฐส่วนกลางจะทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีไปเสียทุกเรื่อง อุ้มเขาไว้จนโตแล้วก็ยังไม่ปล่อยให้เดินเสียที ใหม่ๆอาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่อีกสักพักก็จะเดินได้เอง ถ้าขืนยังอุ้มไว้อย่างนี้นอกจากผู้ถูกอุ้มจะเดินไม่ได้แล้วคนอุ้มเองนั่นแหละแขนจะหักเพราะตัวอย่างมีให้เห็นมามากมายแล้ว ไกล้ตัวที่สุดก็คือติมอร์ตะวันออกนั่นเอง
 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดผลศึกษา 'มีเดียมอนิเตอร์': ความเป็นพลเมืองใน นสพ. กรณีการผลักดัน พรบ.องค์การอิสระผู้บริโภค

Posted: 19 Feb 2013 08:20 AM PST

จากผลการศึกษาเรื่อง"ความเป็นพลเมืองในสื่อหนังสือพิมพ์ : กรณีการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" ของมีเดียมอนิเตอร์ ซึ่งเป็นการศึกษาข่าวจากหนังสือพิมพ์และจากเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ คือ ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ และ ASTV ผู้จัดการ ในช่วงเวลาสำคัญ 2 ช่วง คือ วันที่ 9 สิงหาคม - 8 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เครือข่ายผู้บริโภค ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนหลากหลายรูปแบบเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.นี้ ให้เข้าสู่สภาภายใน  60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด  และ ช่วงวันที่ 5 กันยายน - 15 พฤศจิกายน 2555  ซึ่งเป็นช่วงประมาณ 70 วันแรก ในการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ...          

ผลการศึกษา พบว่า
ด้านจำนวนข่าว ในช่วงที่มีการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.เข้าสภา มีจำนวนข่าวมากกว่าช่วง 70 วันแรกของการทำงานของคณะกรรมาธิการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. โดย  ASTV ผู้จัดการ นำเสนอข่าวมากที่สุด (8 ข่าว) รองลงมาเป็นมติชน (5 ข่าว) และโพสต์ทูเดย์ (4 ข่าว)

ด้านวิธีการนำเสนอ โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 5 ลักษณะ คือ

1) การนำเสนอในลักษณะการรายงานข่าว พบ ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนข่าวมากที่สุด 8 ข่าว รองลงมาคือมติชน 5 ข่าว โพสต์ทูเดย์ 4ข่าว ในขณะที่เดลินิวส์และกรุงเทพธุรกิจมีจำนวนข่าวเท่ากัน 2 ข่าว

2) การนำเสนอสาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ  พบว่า ASTV ผู้จัดการมีจำนวนมากที่สุด 5 ข่าว รองลงมาเป็นมติชน 2 ข่าว ในขณะที่เดลินิวส์และโพสต์ทูเดย์นำเสนอเท่ากัน 1 ข่าว

3) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญหรือประโยชน์ของ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ พบว่า  ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนมากที่สุด 3 ข่าว รองลงมาเป็นโพสต์ทูเดย์ 2 ข่าว ในขณะที่มติชนและกรุงเทพธุรกิจนำเสนอเท่ากัน 1 ข่าว

4) การให้ข้อมูลสนับสนุน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนมากที่สุด 5 ข่าว รองลงมาเป็นโพสต์ทูเดย์ 2 ข่าว

5) การนำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนขบวนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. พบว่า ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดนำเสนอ

ในขณะที่ ไทยรัฐ ไม่นำเสนอเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับเรื่อง (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีสาระใน มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

ในการนี้ ผู้เข้าร่วม การเสวนาเรื่อง "สื่อกับบทบาทการเสริมสร้างความเป็นพลเมือง" ซึ่งจัดขึ้นหลังการแถลงผลการศึกษาเมื่อวันที่5 กุมภาพันธ์ 2556 ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความเห็นต่อสิ่งที่พบจากการศึกษา ดังนี้

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า "วารสารศาสตร์พลเมือง"จากแนวคิดของยูเนสโก  (UNESCO) คือ สถานภาพความเป็นสื่ออาชีพ เกิดทีหลังความเป็นพลเมือง เพราะฉะนั้น สื่อจึงพึงเป็นวารสารศาสตร์พลเมือง ที่ใช้วิชาชีพพัฒนาความเป็นพลเมือง ด้วยการปลุกจิตสำนึกสาธารณะ  การเปิดประเด็น หรือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสนใจในประเด็นที่เป็นประโยชน์หรือเป็นปัญหาสาธารณะ เพื่อระดมความคิดเห็นที่หลากหลาย ให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ประโยชน์สาธารณะหรือปัญหาที่ประสบร่วมกัน เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สื่อต้องทำให้คนไม่สยบยอม ไม่จำนน ต่อสิ่งที่ทำให้ประโยชน์สาธารณะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่ดี สื่อพึงเป็นสถาบันการศึกษา ที่ทำให้คนในสังคมรู้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในสังคม สื่อต้องสร้างพื้นที่สาธารณะ  เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคม และประเด็นที่เป็นประโยชน์ของประชาชน

 

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นต่อผลการศึกษา โดยสรุปเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ

 1) ความเป็นนักข่าวหรือสื่อที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปที่ดิน หรือการจัดการน้ำ เป็นต้น เมื่อนักข่าว รวมไปถึงโครงสร้างในการจัดการของกองบรรณาธิการที่ไม่เอื้อให้ตัวนักข่าวสามารถฝึกฝนความสามารถเฉพาะด้านได้ จึงทำให้นักข่าวมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่จะรายงานน้อยเพราะฉะนั้น สื่อกระแสหลักควรมีการฝึกให้นักข่าวสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มากขึ้น

 2) การศึกษาครั้งนี้ ศึกษาสื่อเชิงพานิชย์ทั้ง 6 ฉบับ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าสิ่งที่นำเสนอจะขายได้หรือเปล่า เสนอไปแล้วจะมีคนอ่านไหม ดังนั้นจำเป็นต้องดูว่าจะมีวิธีการในการนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจ กล่าวคือ ทำอย่างไรให้ประเด็นดังกล่าวสามารถขายได้ เช่น ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องใกล้ตัว และต้องมีความสำคัญด้วย เป็นต้น ในปัจจุบันมีเพียงสถานีไทยพีบีเอสเท่านั้นที่มีการจัดโครงสร้างกองบรรณาธิการให้มีแผนกข่าวพลเมือง อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในขณะที่สถานีโทรทัศน์อื่นมีเพียงการรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ซึ่งแตกต่างจากการทำหน้าที่วารสารศาสตร์พลเมือง

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้สรุปว่า สื่อเชิงพานิชย์มีหน้าที่ในการสร้างความเป็นพลเมือง เพราะในความเป็นจริงอาจไกลเกินไป  แต่สื่อท้องถิ่นนั้นอาจมีความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ โดยมีการลงมือสร้างความเป็นพลเมืองผ่านสื่อท้องถิ่น ประเภทหนังสั้น ละคร หรือการจัดอีเว้นท์ (Event) ฯลฯ โดยอาศัยการสร้างประเด็นจากเรื่องราวในพื้นที่ ที่มีความใกล้ตัวกับประชาชน  รวมทั้งผู้ผลิตสื่อมีความเชี่ยวชาญในการสร้างสื่อดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม และน่าสนใจ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนในพื้นที่มีความสนใจในประเด็นที่มีการนำเสนอได้เป็นอย่างดี จนส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในชุมชนนั้นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เรื่องกสทช. ในประเด็นการสรรหา หรือการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช. สื่อหรือประชาชนอาจไม่ให้ความสนใจมากนัก  แต่พอมี เรื่องให้สัปทาน 3 G ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ สื่อและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความใกล้ตัวกับสื่อเชิงพาณิชย์เอง ดังนั้นเมื่อกลับมามองในแง่ขององค์กรผู้บริโภค ต้องนำเสนอการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์อะไรสักอย่างให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ สิ่งนั้นจะส่งผลให้สื่อมองเห็นความน่าสนใจและจับไปนำเสนอต่อไป ในขณะที่ เรื่องของมาตรา 61 ดูเข้าใจยากและไม่ค่อยน่าสนใจ จึงนำไปสู่คำตอบที่ว่า ทำไมประเด็นดังกล่าวจึงถูกนำเสนอน้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบกับประชาชนก็ตาม      

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า เรื่องของผู้บริโภคนั้นมีเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน แม้เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่หน่วยงานเรามุ่งทำงานแต่ละประเด็นจนเสร็จสิ้น ในขณะที่การทำข่าวของนักข่าว ให้ความสำคัญกับความสดใหม่ของข่าว จึงสวนทางกับการทำงานของหน่วยงาน  ในเรื่องมาตรา 61 ที่ดูเข้าใจยาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่เราทำงานกันอย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่อง จึงทำให้สื่อมองว่า ประเด็นดังกล่าวเริ่มไม่น่าสนใจ และเลือกที่จะนำเสนอประเด็นอื่นแทน

ที่สำคัญคือการที่สื่อมองว่า (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่ม NGO เพียงอย่างเดียว  ทั้งที่เป็นวาระของสังคม ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากมาก เพราะหน่วยงานของเราต่อสู้กับหน่วยงานของรัฐที่ไม่ทำงาน หรือหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคน้อยไป เพราะฉะนั้นจึงทำให้หน่วยงานของรัฐหรือแม้กระทั่งภาคเอกชนเอง ไม่ให้การสนับสนุน ทั้งที่เราต้องการสร้างกลไก เพื่อการติดตามและรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค ที่ในความเป็นจริง ผู้บริโภคได้รับความไม่เป็นธรรมมากมาย  เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน สายการบินจะส่งข้อความ (SMS) แจ้งผู้โดยสาร ซึ่งจ่ายเงินเพียง 3 บาท ในขณะที่ถ้าผู้โดยสารขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 500 บาท เป็นต้น  สิ่งที่เกิดกับผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของสังคม รวมทั้งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องมีองค์การอิสระตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญปี 2550  มาทำหน้าที่

ดร.วัฒนา อัคคพานิช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม และแกนนำร่วมก่อตั้งกลุ่ม Thai Civic Education  กล่าวว่า ทุกวันนี้ ไม่มีวันไหนที่เราไม่เป็นผู้บริโภค แต่ทุกวันนี้ เรากลับให้ความสำคัญกับฐานะความเป็นผู้บริโภคของเราน้อยเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในสิทธิของตนเอง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการบริโภคอุปโภคสินค้า และบริการทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องสิทธิเรื่องการเมือง  ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าประชาชนยังขาดความรู้และความสำนึกในอำนาจความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งจากการขายเสียงในการเลือกตั้ง หรือการเลือกนักการเมืองที่มีประวัติไม่โปร่งใสเข้ามาทำงานอยู่เรื่อยๆ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลักดัน  (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่มีความเป็นรูปธรรม  ปัญหาดังกล่าวต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ การพัฒนาคนให้ตระหนักถึงความเป็นพลเมืองที่ใส่ใจในเรื่องรอบตัว ตลอดจนผลประโยชน์ของตนเองและส่วนรวม  ทั้งนี้โดยผ่านสื่อมวลชนในฐานะสถาบันที่สำคัญของสังคม ที่ต้องพยายามทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจ และเข้าใจในสิทธิความเป็นผู้บริโภค และความพลเมืองของตนเองให้ได้ เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ ภาควิชาวารสารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่าวารสารศาสตร์พลเมืองมีลักษณะที่สวนทางกับธรรมชาติสื่อ ที่ปัจจุบันมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบทั้งในแนวตั้งและแนวนอน  จึงส่งผลให้สื่อที่ทำหน้าที่ในลักษณะวารสารศาสตร์พลเมืองมีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้เราอาจพบความเป็นสื่อพลเมืองได้ในสื่อท้องถิ่น แต่ก็ยังเป็นประเด็นเฉพาะ ไม่สามารถแพร่กระจายไปในวงกว้างได้  แต่หากต้องผลักดันในระดับชาติ คงต้องอาศัยสื่อที่มีทุนและความเป็นอิสระสูงอย่างช่องไทยพีบีเอส

ดร.พิรงรอง กล่าวต่อไปว่า เราสามารถมองเงื่อนไขความเป็นวารสารศาสตร์พลเมืองได้ 3 มิติ คือ 1)ทฤษฎีการสื่อสารทางการเมือง ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อ กับแหล่งข่าว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคือนักการเมือง  และกลุ่มผู้รับสารในฐานะประชาชน หรือพลเมือง  ทั้งนี้โดยมีบุคคล 2 กลุ่มแรก คือ สื่อ และนักการเมือง เป็นผู้ผูกขาดการกำหนดวาระข่าวสาร โดยที่ประชาชนจะเป็นเพียงผู้คอยติดตามข่าวสารเท่านั้น   

2) พื้นที่สาธารณะ ซึ่งหมายถึง การมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สื่อสารของภาคประชาสังคม  แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากลักษณะโครงสร้างสื่อที่มีความเป็นสื่อเชิงพาณิชย์สูง จึงทำให้เป็นเรื่องยากในการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือเข้าถึงได้

3) มุมมองเชิงวัฒนธรรมศึกษา ที่มองเรื่องการสร้างความหมายของความเป็นพลเมืองที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละ สังคม  ในสังคมและวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ อาจจะไม่ได้สร้างความหมายของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งเท่าที่ควร   และถึงแม้จะมีพื้นที่ให้กับข่าวสารภาคพลเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การนำเสนอข่าวสารดังกล่าว จะนำไปสู่การส่งเสริม ประชาธิปไตย หากประชาชนยังรู้สึกว่าประเด็นดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง  ดังนั้นผู้ผลักดันวาระนั้นๆ อาจจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอเพื่อให้สื่อหันมาสนใจมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อใหม่ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ค่านิยม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่ส่งผลให้สื่อกระแสหลักให้ความสนใจในประเด็นนั้นๆ ได้ในที่สุด   สุดท้าย ดร.พิรงรอง กล่าวถึง การปั่นกระแสข่าวของสื่อต่างๆ เพื่อดึงความสนใจของประชาชนจากวาระสำคัญทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "ทฤษฎีสมคบคิด" ระหว่างสื่อ ภาคธุรกิจ หรือ ภาคการเมือง ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวสรุปว่า คงไม่ใช่เรื่องของสื่อเพียงอย่างเดียว เพราะสื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของสังคมด้วย ทำอย่างไรทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา การพัฒนาประชาธิปไตย การสนับสนุนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน จะร่วมกันทำหน้าที่สร้างสำนึกความเป็นพลเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ ย้อนดูสถิติอุบัติเหตุไทย หลังอ่านข่าวคู่รักนักปั่นเสียชีวิต

Posted: 19 Feb 2013 05:15 AM PST

ดูภาพขนาดจริงคลิกที่นี่

 

คู่รักนักปั่นจักรยานจากอังกฤษ เสียชีวิตหลังประสบอุบัติเหตุในไทย

เว็บไซต์ นสพ.เดลิเมล์ ของอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่า ปีเตอร์ รูท (Peter Root) และแมรี่ ทอมป์สัน (Mary Thompson) อายุ 34 ปี คู่สามีภรรยาชาวอังกฤษ ซึ่งอยู่ระหว่างการปั่นจักรยานท่องเที่ยวรอบโลก ได้เสียชีวิตจากเหตุรถชนในประเทศไทย ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร

ทั้งคู่เริ่มเดินทางรอบโลกมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2554 โดยปั่นจักรยานจากเกาะเกิร์นซีย์ เกาะทางใต้ตรงช่องแคบอังกฤษ มายังฝรั่งเศส เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย อิตาลี โครเอเชีย สโลเวเนีย ฮังการี เซอร์เบีย มาซีโดเนีย กรีซ จอร์เจีย ตุรกี อิหร่าน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน จีน เวียดนาม กัมพูชา และไทย โดยทั้งคู่ยังบันทึกประสบการณ์การเดินทางไว้ในเว็บไซต์ twoonfourwheels.com

จากข้อมูลของ ไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเวลา 14.30 น. วันที่ 13 ก.พ. 56 บนทางหลวงสาย 304 ช่วงผ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โดยรถยนต์ที่ขับชนเป็นรถกระบะ ผู้ขับขี่คือนายวรพงษ์ สังขวัต อายุ 25 ปี ชาว จ.อุบลราชธานี ให้การกับตำรวจว่าได้ขับรถมาตามเส้นทางดังกล่าว ขณะถึงจุดเกิดเหตุหมวกที่สวมใส่ตกจึงก้มลงเก็บ ซึ่งรู้ตัวอีกทีก็คือรถพุ่งลงข้างทางและเข้าชนกับต้นไม้ที่อยู่ห่างจากถนนออกไปกว่า 80 เมตร และสามีภรรยาชาวอังกฤษถูกรถกระบะคันดังกล่าวพุ่งชนกวาดตกถนนไปด้วย โดยพบศพในป่าหญ้าข้างทางใกล้ที่เกิดเหตุ ส่วนนายวรพงษ์ก็ได้รับบาดเจ็บและหลังรับการรักษาตัวเบื้องต้นได้ใช้หลักทรัพย์ 3 แสนบาทประกันตัวออกไป ขณะนี้อยู่ระหว่างรอส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดี

โฆษกสำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพ กล่าวว่า ทราบถึงการเสียชีวิตของพลเมืองสหราชอาณาจักรทั้งคู่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ก.พ. โดยจะให้การช่วยเหลือด้านกงสุล และการเคลื่อนศพกลับมายังบ้านเกิด

เว็บไซต์ นสพ.เดลิเมล์ของอังกฤษ ระบุว่า ปีเตอร์ รูท เกิดที่เกาะเจอร์ซีย์ ตรงช่องแคบอังกฤษ ก่อนมาโตที่เกาะเกิร์นซี ส่วนแมรี่ ทอมป์สันเกิดที่บริสตอล ทั้งคู่พบกันเมื่อ 14 ปีก่อนที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในฟาลเมาท์ ที่เมืองคอร์นวอลล์ ทั้งนี้ปีเตอร์ รูท เป็นศิลปินที่มีความสามารถและยังเป็นอาจารย์บรรยายวิชาศิลปะและสื่อ ส่วนแมรี่ ทอมป์สัน ซึ่งจบด้านศิลปะมาจากมหาวิทยาลัยที่ฟาลเมาท์ในปี 2544 ก็เป็นศิลปินเช่นกัน โดยทั้งคู่เคยจัดแสดงผลงานทั้งที่เกิร์นซี และที่เกาะบริเตนใหญ่

 

อุบัติเหตุจราจรไทย อุบัติเหตุจราจรโลก

ทั้งนี้จากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในรอบ 10 ปีมานี้ เฉลี่ยในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรนับหมื่นราย โดยในปี 2546 เคยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงถึง 14,012 ราย บาดเจ็บสาหัส 17,066 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 62,626 ราย แม้ระยะหลังมีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2554 ประเทศไทยยังคงมีรายงานอุบัติเหตุจราจร 68,296 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 9,060 ราย บาดเจ็บสาหัส 4,047 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 17,123 ราย

ในระดับโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่ามีประชากรโลกเสียชีวิตบนท้องถนนเกือบ 3,500 คนต่อวัน และในแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บและทุพลภาพปีละกว่า 10 ล้านคน ทำให้องค์การอนามัยโลกพยายามร่วมมือกับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนทั่วโลก ในการออกมาตรการลดอุบัติเหตุ

ประเทศที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อประชากรสูง 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 เอริเทรีย มีผู้เสียชีวิต 48.4 ราย ต่อประชากร 100,000 คน อันดับ 2 หมู่เกาะคุก มีผู้เสียชีวิต 45 ราย ต่อประชากร 100,000 คน อันดับ 3 อียิปต์ มีผู้เสียชีวิต 41.6 รายต่อประชากร 100,000 คน อันดับ 4 ลิเบีย มีผู้เสียชีวิต 40.5 ราย ต่อประชากร 100,000 คน และอันดับ 5 อัฟกานิสถาน มีผู้เสียชีวิต 39 ราย ต่อประชากร 100,000 คน

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อประชากรคิดเป็น 19.6 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี ในกรณีประเทศไทยจำนวนผูู้เสียชีวิตร้อยละ 69.7 เป็นผู้ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 11 เป็นผู้ขับขี่หรือโดยสารรถยนต์ 4 ล้อขึ้นไป ร้อยละ 8.3 เป็นคนเดินเท้า และเป็นผู้ขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานเพียงร้อยละ 2.8 

สำหรับสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกต่อประชากร 100,000 ราย ต่อปี ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียงจากมากไปหาน้อย มีดังนี้

มาเลเซียมีผู้เสียชีวิต 23.6 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี พม่ามีผู้เสียชีวิต 23.4 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี ฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิต 20 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี ไทยมีผู้เสียชีวิต 19.6 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี

ลาวมีผู้เสียชีวิต 100,000 ราย ต่อ 18.3 คน ต่อปี อินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิต 16.2 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี ติมอร์ตะวันออกมีผู้เสียชีวิต 16.1 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี เวียดนามมีผู้เสียชีวิต 16.1 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี บรูไนมีผู้เสียชีวิต 13.8 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี กัมพูชามีผู้เสียชีวิต 12.1 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี และ สิงคโปร์มีผู้เสียชีวิต 4.8 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี

ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง จีนมีผู้เสียชีวิต 16.5 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 13.9 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี เกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิต 12.8 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี สหราชอาณาจักร มีผู้เสียชีวิต 5.4 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี และญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิต 5.0 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี

 

ที่มาของข้อมูล

เรียบเรียงจาก Global status report on road safety. Geneva, World Health Organization, 2009.

คดีอุบัติเหตุจราจรทางบกและมูลค่าความเสียหาย ทั่วราชอาณาจักร ปี พ.. 2541 – 2554, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

www.twoonfourwheels.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อยันพบวัตถุกันเสียในขนมปังจริง ย้ำแล็ปตรวจมีมาตรฐานสากล

Posted: 19 Feb 2013 04:59 AM PST

เมื่อเวลา 14.00 น. วันอังคารที่ 19  กุมภาพันธ์ 2556 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ โครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน จัดเวทีสื่อสารสาธารณะ 'การใช้วัตถุกันเสียในอาหาร : จากกรณีพบวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐานในขนมปังของห้างค้าปลีกชื่อดัง' หลังจากนิตยสารฉลาดซื้อเผยแพร่ผลการทดสอบขนมปังพร้อมบริโภค

นางสาวทัศนีย์  แน่นอุดร  หัวหน้าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อ  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มีหน้าที่ในการเฝ้าระวังสินค้าให้กับผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการทดสอบ เราทำอย่างตรงไป ตรงมา ใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน   โดยในกรณีขนมอบ เราส่งทดสอบที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และผลการทดสอบที่ได้แจ้งไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 143   ว่าพบว้ตถุกันเสียในขนมอบนั้นเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด การที่ บ.เทสโก้ฯ มีจดหมายเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้แก้ไขข้อความวัตถุกันเสียต่ำกว่ามาตรฐานนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอชี้แจงดังนี้

1. การให้ข้อมูลของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่ร่วมกับ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ถูกต้องตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน ๒๕๔๗ และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ โดยประกาศฉบับดังกล่าว ในข้อ 2. ได้กำหนดให้ "การใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ต้องมีปริมาณรวมกันแล้วไม่เกินปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุด" ซึ่งในกรณีขนมปังไส้ถั่วแดง Tesco the Bakery ที่พบการใช้วัตถุกันเสียสองชนิดคือกรดซอร์บิก 650  มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) และกรดโปรปิโอนิค 1,006 มก./กก. โดยมีมาตรฐานระบุไว้ว่า วัตถุกันเสียชนิดแรกให้ใช้วัตถุกันเสียได้ไม่เกิน 1,000 มก./กก. และวัตถุกันเสียชนิดที่สองให้ใช้วัตถุกันเสียได้ตามปริมาณที่เหมาะสม นี้ จักต้องใช้ปริมาณของวัตถุเจือปนอาหารชนิดที่กำหนดให้ใช้ได้น้อยที่สุดคือกรดซอร์บิกที่ไม่เกิน 1,000 มก./กก. เป็นเกณฑ์ พร้อมต้องนำวัตถุกันเสียทั้งสองชนิดมารวมกันประกอบการพิจารณา มิได้เป็นไปตามที่ทางบริษัทได้ชี้แจงมาแต่อย่างใด

2. การระบุว่า "ไม่ใช้วัตถุกันเสีย" ย่อมหมายความว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายกับผู้บริโภคต้องไม่พบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์(End Product) ดังนั้นตามที่บริษัทได้ชี้แจงมาว่าไม่มีการใช้สารกันบูดในกระบวนการผลิต และอาจเกิดจากสารที่อยู่ในส่วนผสมของขนมปัง เช่น แป้ง เนย นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารมีหน้าที่ตรวจสอบวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตอาหารและเมื่อผลิตเป็นอาหารแล้วย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจสอบต่อเนื่อง ว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือตามที่กล่าวอ้างบนผลิตภัณฑ์ของตนเองหรือไม่ และในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก ยังพบว่า มีการใช้วัตถุกันเสียเกินมาตรฐานกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งไม่น่าจะเป็นมาตรฐานของของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและระหว่างประเทศพึงกระทำ

และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ขอให้บริษัทฯ ขอโทษผู้บริโภคเป็นการทั่วไปที่ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐาน และมีการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่อาจจะเข้าข่ายอาหารปลอมด้วยไม่เป็นไปตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก ตลอดจนดำเนินการแก้ไขให้สินค้าของบริษัทมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคต่อไปด้วย

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่า "ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทย์ฯ เป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล มีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ผ่านการรับรอง ในการทดสอบขนมปังที่ทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ส่งมานั้น ทางศูนย์วิทย์ฯ ก็ใช้เกณฑ์การวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้จึงขอยืนยันผลการวิเคราะห์ตามรายงานผลการทดสอบที่ทางศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้เผยแพร่ลงในนิตยสารฉลาดซื้อ 

ผศ.ปรัชรัชต์  ธนวิยุธท์ภักดี  จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุกวันนี้มีการใช้วัตถุเจือปนในอาหารจำนวนมากเพื่อทำให้อาหารเป็นไปตามคุณลักษณะที่ต้องการ เช่น ยืดอายุ หรือปรุงแต่งรสชาติ วัตถุกันเสียก็ถูกพบว่ามีการนำมาใช้กันมากขึ้น เพื่อการยืดอายุอาหารออกไป ที่พบได้บ่อยคือ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น น้ำผลไม้ แยม เนื้อสัตว์แปรรูป ส่วนกรดโปรปิโอนิก จะนิยมมากในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งเป็นไปภายใต้กฎหมายกำหนด คือบางชนิดอนุญาตให้ใช้แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน ถ้ามีการใช้วัตถุกันเสียมากกว่า 1 ตัว ก็ต้องดูว่าเมื่อนำค่าทั้งหมดมารวมกันแล้วต้องไม่เกินค่าต่ำสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ ไม่ใช่ดูทีละตัว ค่ามาตรฐานของวัตถุกันเสียที่กฎหมายกำหนดก็คำนวณจากค่าความปลอดภัยที่คนเราบริโภคแล้วจะไม่เป็นอันตราย สำหรับอันตรายของวัตถุกันเสียก็จะเสี่ยงต่อระบบขับถ่ายและภาวะภูมิแพ้ได้ 

ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ   ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า อย.ทำงานภายใต้กฎหมายอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีระเบียบปฏิบัติที่มีขั้นตอนเฉพาะ ตั้งแต่การอนุญาตผลิต การดูเรื่องโรงงาน สถานประกอบการ ฯลฯ การเก็บตัวอย่างสินค้าอาหารก็เช่นกัน ต้องทำภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมาย และต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สำหรับกรณีการใช้วัตถุกันเสียนั้น ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทาง อย.เฝ้าระวังมาโดยตลอดและพบว่ามีปัญหาการใช้เกินมาตรฐานในหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งการใช้วัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งเกณฑ์นี้ก็อิงตามหลักสากล คือ Codex  ตามกฎหมายกำหนดให้ ซอร์บิกและเบนโซอิก ต้องไม่เกิน 1000 มก./กก. และหากมีการใช้มากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ก็ต้องไม่เกินค่าต่ำสุดของตัวใดตัวหนึ่งที่ใช้ สำหรับกรณีการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค อย.สามารถเข้าไปขอเก็บสินค้าจากผู้ประกอบการได้ทันที ซึ่งกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร้องเรียนเข้ามานั้น ทางอย.ได้เก็บตัวอย่างส่งให้ทางกรมวิทย์ตรวจวิเคราะห์แล้ว ก็ต้องขอขอบคุณที่ทางเครือข่ายผู้บริโภคได้ช่วยทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะลำพังกำลังของทางหน่วยงานเองก็ต้องยอมรับว่าทำได้ไม่เต็มที่ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.ห่วงรัฐบาลดองกองทุนออมฯ ปชช.เสียโอกาส

Posted: 19 Feb 2013 04:53 AM PST

เผยพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมานานพอสมควรแล้ว เสนอนายกฯเร่งเปิดรับสมาชิก-จัดสรรวงเงิน เป็นหลักประกันให้ประชาชน

19 กุมภาพันธ์ 2556 - นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง การบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

คปก.มีความเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 โดยไม่ชักช้า เนื่องจากพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการเปิดรับสมาชิกกองทุนรวมทั้งการจัดสรรเงินให้กองทุนการออมแห่งชาติ จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งกำหนดไว้ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อประโยชน์และเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการมีเงินออมไว้รองรับการเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคต

คปก. พิจารณาเห็นว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เป็นการรองรับสภาพสังคมไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) รวมทั้งสิ้น 7.79 ล้านคน หรือประมาณ 12.38% ของจำนวนประชากรในประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 17.5%ในปี พ.ศ. 2563 และ 25.1% ในปี พ.ศ.2573

อีกทั้งเป็นการดำเนินตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 กำหนดให้การส่งเสริมและสร้างวินัยการออมของประชาชนเป็นมาตรการสร้างหลักประกันด้านรายได้เพื่อวัยสูงอายุ ตามยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคแรงงานนอกระบบ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ปี พ.ศ.2555 พบว่ามีแรงงานนอกระบบจำนวน 24.8 ล้านคน (62.2%) จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 39.6 ล้านคน ซึ่งแรงงานนอกระบบเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองให้มีหลักประกันทางสังคมเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น ข้าราชการ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เป็นต้น

คปก.จึงเห็นว่าพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนในการที่จะสร้างหลักประกันการดำรงชีวิตในวัยสูงอายุ โดยรัฐบาลร่วมสนับสนุน และจากหลักการของกองทุนการออมแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการออม (การสะสมเงิน)และการสมทบร่วมของรัฐบาล โดยกำหนดให้มีการสะสมเงินของประชากรวัยทำงานจากอายุ 15 ถึง 60 ปี

ดังนั้น การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมัครสมาชิก จึงก่อให้เกิดผลเสียหายโดยตรงกับประชาชน ที่มีความตั้งใจจะสร้างหลักประกันยามชราภาพในช่วงอายุดังกล่าว และหากยังมีการเลื่อนเวลาออกไปก็ยิ่งทำให้ระยะเวลาของจ่ายเงินสะสมและการได้เงินสมทบจากรัฐบาลต้องลดลงตามระยะเวลาที่เลื่อนออกไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุใกล้ 60 ปี ก็จะเสียโอกาสในการได้รับหลักประกันและการมีรายได้ในยามชรา นอกจากนั้น การที่รัฐบาลยังไม่ดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่กลับมีนโยบายมอบให้กระทรวงการคลังยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 โดย ซึ่งประเด็นที่จะแก้ไขนั้นยังไม่ได้บังคับใช้ตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.นี้ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัฒนธรรมการเมืองของคนต่างภาค

Posted: 19 Feb 2013 02:47 AM PST

ถ้าวัดกันด้วยป้ายข้างถนน คนภาคใต้น่าจะมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สูงกว่าคนทุกภาค เพราะริมถนนหลวงในภาคใต้ จะเต็มไปด้วยป้ายแสดงความจงรักภักดีอย่างหนาแน่นกว่าถนนหลวงในทุกภาคของประเทศไทย
 
ผมตั้งข้อสังเกตนี้แก่เพื่อนชาวใต้ที่สงขลา เขาแสดงความเห็นว่า คงมาจากกระทรวงมหาดไทยในสมัยพรรคภูมิใจไทยได้ว่ามหาดไทย อาจสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางหรือแนะนำให้ใช้งบประมาณท้องถิ่นในการจัดทำขึ้น และในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคใต้อย่างกว้างขวาง
 
ข้อนี้เห็นได้ชัด เพราะภาพและคำขวัญใต้ภาพ จากชุมพรยันสงขลา เหมือนๆ กันทั้งนั้น จนแน่ใจได้ว่าต้องมี "ศูนย์" ในการกำกับอยู่ข้างหลังแน่ แม้ทำออกมาในนามขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของแต่ละท้องที่
 
แต่ที่น่าสนใจแก่ผมมากกว่าก็คือ คนภาคใต้เองก็ต้องรู้สึกรับได้กับป้ายเหล่านี้ด้วย หรือรับได้ที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะเล่น "การเมือง" แบบนี้ อย่างน้อยก็ไม่มีอันตรายอะไรแก่กลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น พรรค ปชป. เป็นต้น
 
ผมอยากอธิบายได้ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมในภาคอื่นๆ ซึ่งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็คงได้รับการสนับสนุนจากมหาดไทยของภูมิใจไทยเหมือนกัน จึงไม่ตั้งป้ายอย่างหนาตาเท่าภาคใต้

ผมไม่เชื่อว่าคนในภาคอื่นมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์น้อยกว่าคนในภาคใต้ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ย่อมมีความหมายไม่เหมือนกัน แก่คนซึ่งมีปูมหลัง มีผลประโยชน์เฉพาะหน้า มีทัศนะทางการเมือง ฯลฯ ต่างกัน
 
ที่ผมอยากอธิบายได้ก็คือ คนภาคอื่นกับคนภาคใต้ต่างกันอย่างไรในทัศนะทางการเมือง ซึ่งเป็นผลรวมของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม
 
โดยยังไม่พอใจนัก ผมอยากอธิบายว่า ทั้งหมดนั้นเกิดจากประวัติศาสตร์ หรืออีกนัยยะหนึ่งคือพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ต่างกันระหว่าง คนเหนือ-อีสาน และคนใต้
 
สังคมภาคใต้นั้นหลุดออกไปจากสังคมชาวนาก่อนใครทั้งหมด เป็นคนกลุ่มแรกที่ยังชีพด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจคือยางพารา
 
วัฒนธรรมของยางพารานั้นแตกต่างจากข้าวอย่างมาก เริ่มตั้งแต่กินต่างข้าวไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องขายให้ได้ แม้แต่ปลูกในสวนขนาดเล็กที่พอใช้แรงงานในครอบครัวได้ แต่แรงงานครอบครัวไม่เคยอยู่คงที่ เมื่อแรงงานขาดด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ต้องจ้างวาน คนใต้จึงเคยชินกับงานจ้าง ทั้งจ้างเขาและถูกเขาจ้าง เพราะวิสาหกิจในภาคใต้ (เช่น ทำเหมืองและขนส่ง) ทำให้มีความต้องการแรงงานจ้างสูงมาแต่อดีต
 
ตลาดยางพาราไม่ได้อยู่ในประเทศ แต่อยู่ที่สิงคโปร์ คนใต้จึงถูกดึงเข้าสู่เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ก่อนใคร ศาสตราจารย์อาคม พัฒิยะ เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเป็นเด็ก คุณพ่อของท่านต้องคอยฟังวิทยุจากสิงคโปร์เพื่อรู้ราคายางประจำวัน จึงสามารถกำหนดราคายางที่จะรับซื้อได้
 
คนใต้เข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากชาวนา และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงขึ้นใหม่ เพราะกลไกเก่าใช้ไม่ได้แล้ว

ทั้งนี้โดยไม่มีรัฐคอยช่วยเหลือแต่อย่างใด

คนเหนือ-อีสานถูกดึงเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่เมื่อไม่เกิน 30 ปีมานี้เอง ทั้งถูกดึงเข้ามาด้วยเจตนาของรัฐเอง การผลิตข้าวเพื่อยังชีพมีความสำคัญลดลงตามลำดับ การผลิตต้องใช้ทุนสูงขึ้น แรงงานถูกปลดปล่อยออกจากที่นา ไปสู่อาชีพอื่นๆ ที่หลากหลาย ผู้คนจำนวนมากออกรับจ้างแรงงานทั้งในบริเวณใกล้เคียง และไกลออกไปถึงซาอุฯ อาชีพรับจ้างกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนส่วนใหญ่
 
ที่พอจะมีทุนอยู่บ้าง ก็หันเข้าสู่การประกอบการในภาคพาณิชย์หรือบริการ การศึกษาของลูกหลานเป็นมรดกสำคัญกว่าที่นา และผู้คนลงทุนกับการศึกษาของลูกหลานเป็นสัดส่วนที่สูงมากในรายได้ของตน
 
และในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา รัฐค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทตนเองเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของเศรษฐกิจชนบท โครงการของรัฐทำให้เกิดงานจ้างกระจายไปยังชาวบ้าน หากมีการก่อสร้างในโครงการนั้นด้วย ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้รับเหมารายย่อยในหมู่บ้าน ซึ่งจ้างงานคนในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีก การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดึงเอาโครงการของรัฐมาลง
 
ยิ่งในทศวรรษ 2530 เมื่อมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น งานจ้างของราชการส่วนท้องถิ่นก็มีความสำคัญขึ้น บางหมู่บ้านในภาคเหนือ คนในวัยทำงานครึ่งหนึ่งรับราชการ ทั้งราชการส่วนกลางและราชการท้องถิ่น
 
ในกระบวนการปรับเปลี่ยนของคนเหนือ-อีสาน เขาต้องการรัฐ หรือต้องการการอุปถัมภ์จากรัฐ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน
 
ไม่ใช่ว่าเขายังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนนะครับ เพราะมีแหล่งทุนของเอกชนที่ลงไปถึงชนบทในหลายรูปแบบ นับตั้งแต่เกษตรพันธสัญญา ไปจนถึงการกู้เพื่อการทำนาเชิงพานิชย์ แต่ก็ไม่พอ
 
ไม่พอในสองลักษณะคือ ในด้านปริมาณ เนื่องจากยังต้องการทุนมากกว่านี้อีกมาก ที่จะทำให้คนที่ต้องการปรับเปลี่ยนช่องทางทำมาหากินมีโอกาสทำได้ และไม่พอในด้านการประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับการเกษตร (กู้ ธ.ก.ส. ก็ไม่ได้) ไม่มีที่ดินวางประกัน ฯลฯ
 
ผมรู้จักช่างอ๊อกเหล็กฝีมือดีคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเป็นแรงงานฝีมือของผู้รับเหมารายย่อยในหมู่บ้าน เพราะเขาไม่มีทุนจะซื้อเครื่องอ๊อกเอง และไม่มีเงินจะซื้อปิกอัพไปตระเวนหางานและรับส่งลูกน้องได้ แต่ผู้รับเหมาก็ไม่มีงานให้เขาทำทั้งปี จึงยังจนดักดานอยู่อย่างนั้น
 
การปรับเปลี่ยนเข้าสู่อาชีพที่มั่นคงนอกภาคเกษตรเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ในชนบท ที่ได้เรียนหนังสือและได้งานรับเงินเดือนก็แล้วไป แต่คนที่ไม่ได้เรียนสูงเท่านั้นยังมีอีกมาก โดยไม่มีนาให้ทำด้วย ความไม่พอของแหล่งทุนในแง่นี้จึงกระทบต่อคนจำนวนมาก
 
การมองหาการอุปถัมภ์จากรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแบมือร้องขอเฉยๆ แต่เป็นส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนตนเองเพื่อรับสถานการณ์ใหม่ได้ดีขึ้น
 
ตรงกันข้ามกับคนใต้ ที่อยากให้รัฐอยู่ห่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐอุปถัมภ์หรือไม่ก็ตาม ส่วนคนเหนือ-อีสานต้องการรัฐอุปถัมภ์ แค่เรียนฟรีก็ช่วยให้การลงทุนมรดกแก่บุตรหลานเป็นภาระน้อยลง จัดแหล่งเงินกู้ที่ยืดหยุ่นได้มากๆ นับตั้งแต่การอนุมัติเงินกู้ไปจนถึงการผัดผ่อน ก็ยิ่งช่วยให้ปรับตัวได้สะดวกขึ้น
 
ทำไมคนใต้จึงอยากให้รัฐอยู่ห่างๆ ก็เพราะรัฐไม่ได้ทำอะไรนอกจากเก็บค่าหลวงค่าสัมปทานกลับกรุงเทพฯ แล้วเงียบหายไป ที่ดินซึ่งทำสวนยางจำนวนอีกมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะรัฐก็แทบไม่ค่อยได้ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้ใครสักเท่าไร รัฐจะจัดระเบียบที่ดินเมื่อไร ก็มีคนใต้จำนวนมากที่พบว่าตัวเป็นผู้บุกรุก (ทั้งที่ไม่รู้ว่าบุกรุกใคร) ต้องวิ่งเต้นเสียเงินเสียทองกว่าจะได้เอกสารสิทธิ์มาระดับหนึ่ง
 
คนใต้ปรับตัวเองเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่ก็ยังทำเกษตรอยู่คือสวนยาง ไม่เหมือนคนเหนือ-อีสานซึ่งทิ้งนาไปเลยแล้วก็เข้าไปอยู่ในภาคการผลิตอื่น เปรียบเทียบกับที่นา สวนยางทำแล้วก็ต้องทำเลย จะโยกย้ายไปหาที่ใหม่เมื่อหมดหน้านาไม่ได้ง่ายๆ ปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคจึงกระทบต่อคนใต้มากกว่า
 
ในสายตาของคนใต้ รัฐอยู่ห่างๆ ปล่อยให้เขาจัดการกันเองจะดีกว่า ถึงอย่างไรตลาดผลผลิตของเขาก็อยู่นอกประเทศอยู่แล้ว
 
ผมเดาว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้คนใต้รักประชาธิปัตย์ไงครับ เพราะ ปชป. เป็นพรรคการเมืองที่ยึดถือนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงตลอดมา ตั้งแต่สมัยที่ คุณควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว แต่เสรีนิยมของ ปชป. เป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่มีอะไรข้องแวะกับเสรีนิยมทางการเมืองเอาเลย จึงอยู่คงทนร่วมกับเผด็จการมาได้ ทั้งเผด็จการเต็มใบและครึ่งใบ
 
เสรีนิยมทางเศรษฐกิจก็คือรัฐอย่ายุ่ง ปล่อยๆ เขาทำเขาไปเอง เดี๋ยวก็ดีเอง ตรงกับทัศนะทางการเมืองของคนใต้พอดี

สมมติว่าคำอธิบายของผมถูก (ซึ่งผมไม่แน่ใจเอาเลย) ทัศนะทางการเมืองของคนเหนือ-อีสานและคนใต้ จึงต่างกันมาก แต่ไม่ใช่เพราะใครฉลาดทางการเมืองกว่าใคร ต่างมีเหตุผลทางเศรษฐกิจ-สังคมรองรับทัศนะทางการเมืองเช่นนั้น
 
อย่างไรก็ตาม ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า ไม่มีอะไรหยุดนิ่งคงที่ รวมทั้งรัฐไทยและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมด้วย เช่น ในระยะหลังมานี้ คนใต้เริ่มเรียกร้องให้รัฐเขยิบเข้ามาใกล้ๆ เพื่อประกันราคาปาล์มบ้าง, ยางบ้าง, และจัดการให้การท่องเที่ยวยิ่งเฟื่องฟูขึ้นไปกว่านี้อีกบ้าง ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของคนเหนือ-อีสานก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนวันหนึ่งก็อาจไม่อยากได้รัฐอุปถัมภ์อีกแล้ว (เช่น คนที่เรียกร้องจังหวัดจัดการตนเองส่วนใหญ่ก็เป็นคนชั้นกลางในเมืองของภาคเหนือและอีสาน) วันหนึ่งชาวบ้านก็อาจคิดอะไรแบบคนชั้นกลางในเมืองได้เหมือนกัน
 
ถึงวันนั้นแผนภูมิครองพื้นที่พรรคการเมืองในวันนี้ก็คงเปลี่ยนไป
 
แต่ก่อนที่จะเปลี่ยน ผมคิดว่าคนใต้ยังมองสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของรัฐที่ตนต้องการ นั่นคือรัฐมีแต่พระคุณแต่ไม่มีหรือไม่ใช้พระเดช ยิ่งในยามที่เห็นได้อยู่ว่ารัฐซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ คือรัฐที่พร้อมจะแทรกเข้ามาในชีวิตของผู้คนไปทุกเรื่อง ใช้ทั้งพระคุณและพระเดชปะปนกันอย่างแยกไม่ออก
 
พระบรมฉายาลักษณ์และคำขวัญจึงปลอบประโลมคนใต้ให้อุ่นใจเป็นพิเศษ
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการเลื่อนฟังคำสั่ง คดี 112 ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ เป็น 3 เม.ย.

Posted: 19 Feb 2013 12:31 AM PST

 

19 ก.พ.56 เว็บไซต์มติชน รายงานว่า อัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ได้เลื่อนฟังคำสั่งในคดีที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ออกไป เป็นวันที่ 3 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น. โดยอัยการให้เหตุผลว่า ขั้นตอนการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีคำสั่งเลื่อนการสั่งคดีออกไป

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่กองทัพบกได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีที่สมศักดิ์ เขียนบทความ 2 ชิ้นลงในเว็บไซต์ต่างๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพระราชทานสัมภาษณ์ของจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ในรายงานวู้ดดี้ เกิดมาคุย  สมศักดิ์รับทราบข้อกล่าวหาเมื่อ 11 พ.ค.54 จากนั้นสมศักดิ์โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 พ.ย.55 แจ้งว่า ตำรวจส่งฟ้องคดีของเขาแล้วและต้องไปรายงานตัวในชั้นอัยการต่อไป

ทนายจำเลยจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมแก่พนักงานอัยการเพื่อขอให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมนักวิชาการ 3 ปาก ได้แก่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เพื่อให้ความเห็นทางกฎหมายและตีความเนื้อหาที่ถูกฟ้องดังกล่าวเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฟผ.เตรียมแผนรับมือวิกฤตท่อก๊าซพม่า ไม่ให้ไฟดับ

Posted: 18 Feb 2013 07:44 PM PST

18 ก.พ. 56  สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยถึงกรณีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา วันที่ 4-12 เมษายน 2556 ปตท.แจ้งว่ามีการทรุดตัวของแท่นขุดเจาะที่แหล่งยาดานา ประเทศพม่า ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปวันละ 1,030 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งก๊าซที่หายไปจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด ได้แก่ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้าบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด และโรงไฟฟ้าบริษัทไตรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด โรงไฟฟ้า พระนครใต้ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าวังน้อย
 
นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ระหว่างวันที่ 4-12 เมษายน 2556 จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 26,500 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ช่วงดังกล่าวมีกำลังผลิตสำรองในระบบต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งในส่วนของ กฟผ.ได้เตรียมมาตรการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบไม่ให้เกิดไฟดับ 8 แนวทาง คือ 1. เตรียมนำโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเดินเครื่องทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซที่หายไป คาดการณ์ว่าจะดึงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงน้ำมันเตามาทดแทน 130 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซล 75 ล้านลิตร 2.รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (เอสพีพี) เพื่อเสริมระบบ 3.เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเต็มที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ขนาด 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ขนาด 960 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเทิน-หินบุน ขนาด 440 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าห้วยเฮาะ ขนาด 126 เมกะวัตต์ 4.เร่งรัดและจัดแผนทดสอบโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่อยู่ในข่ายต้องเดินเครื่องด้วย เชื้อเพลิงดีเซลให้มีความพร้อมในการเดินเครื่องก่อนเริ่มหยุดผลิตก๊าซ ธรรมชาติจากแหล่งยาดานา 5. ประสานงานกรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำในการผลิตไฟฟ้า ลดใช้น้ำมันให้น้อยลง 6.เลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงหยุดผลิตก๊าซ 7.ประสานงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ย้ายโหลดสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว และสถานีไฟฟ้าแรงสูงรัชดาภิเษก และประสานงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ย้ายโหลดออกจากบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงสามพราน 1 ประมาณ 200 เมกะวัตต์ ไปสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียง เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง บางกอกน้อย และ 8.ประสานงาน กฟภ. และ กฟน. เตรียมแผนดับไฟฟ้า สำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหน่วยงานละ 350 เมกะวัตต์

โฆษก กฟผ. กล่าวว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะหมดลงในอีก 10  ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ อาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในระบบไฟฟ้า ทางเลือกในการนำก๊าซธรรมชาติเหลวในรูปของแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ มีราคาสูงเป็น 2 เท่า ทำให้มีผลต่อราคาค่าไฟที่จะต้องปรับขึ้นในอนาคต ทางเลือกเหมาะสมที่สุดที่จะคลี่คลายปัญหาดังกล่าว คือ การพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศ โดยแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นทดแทนก๊าซธรรมชาติ ที่สำคัญควรเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเสถียรต่อระบบไฟฟ้า ทำให้ราคาค่าไฟถูก ซึ่งกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เล็งเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุดในขณะนี้ด้วย เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สามารถกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งนานาประเทศได้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินมาแล้วอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มจะผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดังกล่าวในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น