ประชาไท | Prachatai3.info |
- เตรียมพบรายการใหม่ “Science Space” เร็วๆ นี้
- ตอบโต้วิสามัญ 16 ศพ บึ้มป่วนปัตตานี 10 จุด อส.ตาย 3
- ยอดพล เทพสิทธา: ว่าด้วยเรื่องเสียบ้านเสียเมือง ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ
- เสวนา“การเมือง ความยุติธรรม สถาบันกษัตริย์” เนื่องในวันแพะแห่งชาติ
- เผยรองผู้ว่าระยองเรียก บ.Electrolux เจรจาพุธนี้ แต่ผู้บริหารยังไม่ตอบรับ
- สังคมวิทยาสงครามว่าด้วย Immortal combat ของมะรอโซ
- ส.ว. รสนา เสนอเจรจาพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซช่วงใช้ไฟฟ้าไม่สูง
- ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ: ความสงสัยต่อความรุนแรงในภาคใต้ระยะหลัง...
- ครก. 112 แถลง โต้ประธานรัฐสภา ปัดตกขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญาม. 112
- 'อเมซอน' ถูกกล่าวหาจ้างยามนีโอนาซี คุมลูกจ้างต่างชาติในเยอรมนี
เตรียมพบรายการใหม่ “Science Space” เร็วๆ นี้ Posted: 17 Feb 2013 08:35 AM PST ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนรู้สึกอีกต่อไป จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ในแต่ละวันเราต้องพึ่งพาหรืออยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยามหลับและยามตื่น เป็นต้นว่า การหลับสบายบนที่นอนหนานุ่ม การทำงานในห้องแอร์เฉียบ การติดตามสาระบันเทิงจากโทรทัศน์ การสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ กระทั่งความสะดวกสบายอื่นๆ เช่น การเดินทางและอาหารการกินต่างๆ "Science Space" เป็นรายการใหม่ที่นำเสนอมุมมองจากวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ความเชื่อ และทัศนะของผู้คนในสังคม รวมถึงเป็นเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับศาสตร์สาขาอื่นๆ รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยนักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นักนวัตกรรม และนักวิชาการจากหลากหลายสาขา พบกับรายการ "Science Space" ได้เร็วๆ นี้ ที่ prachatai.com
พบกับวงเสวนาครั้งแรกของ Science Space
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ตอบโต้วิสามัญ 16 ศพ บึ้มป่วนปัตตานี 10 จุด อส.ตาย 3 Posted: 17 Feb 2013 08:09 AM PST ลอบวางระเบิด อส.ปัตตานี ตาย 3 ประชาชนเจ็บ 9 ราย ปัตตานีป่วนตั้งแต่เที่ยงคืน วางบึ้มเพลิงลุกไหม้ห้าง ตำรวจชี้ตอบโต้เหตุวิสามัญ 16 ศพที่บาเจาะ
เมื่อเวลา 11.45 น.วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 เกิดเหตุลอบวางระเบิดบริเวณหน้าร้านบิ๊กเบ็น คอฟฟี่ เยื้องสี่แยกวงเวียนหอนาฬิกา ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ทำให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) อ.เมือง จ.ปัตตานี เสียชีวิต 3 นาย ชื่อ อส.วิโรจน์ จันทรศิริ อส.สุกรี ดือเร๊ะ อส.อิทธิพล อาแซ มีประชาชนได้รับบาดเจ็บอีก 9 ราย ได้แก่ นายอิบรอฮิม โต๊ะซาตู นางกิ่งกาญ มหาวรรณ นายวสันต์ จันบุญทา นายสมศักดิ์ แก้วมณี ด.ช.อำนาจ แซ่วา นายคฐาศักดิ์ สินสนอง นางดารุณี เสมียนมงคล นายสุกิด ยูโซ๊ะ นางสาวโต๊ะกียะ เปาะจิ ถูกนำส่งโรงพยาบาลปัตตานี ขณะเกิดเหตุอาสาสมัครรักษาดินแดน ทั้ง 3 นาย กำลังรักษาความปลอดภัยบริเวณดังกล่าว ในที่เกิดเหตุพบ ระเบิดแสวงเครื่อง บรรจุในถังน้ำยาเคมีดับเพลิงจุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร วันเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค 4 สน.)รายงานก่อนหน้านี้ว่า เวลา 01.40 น.วันเดียวกัน เกิดเหตุลอบวางระเบิดและวางวัตถุต้องสงสัยหลายแห่งในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี รวม 9 จุด จุดที่ 1 พบวัตถุต้องสงสัยหน้าร้านไพศาล (ร้านขายของชำ) เลขที่ 23 ซ.ตลาดโต้รุ่ง ถ.พิพิธ โดยนายสมศักดิ์ เชาวฤทธิ์วรกุล เจ้าของร้านแจ้งว่ามีคนร้ายแต่งกายด้วยชุดดาวะห์คล้ายผู้หญิง 1 คนเข้ามาในร้านแล้วรีบออกเดินออกไป จึงเดินเข้าไปสำรวจรอบร้านพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกล่องกระดาษขนาดกว้าง 3 นิ้ว ยาว 3 นิ้ว สูง 8 นิ้ว จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้าตรวจสอบพบเป็นระเบิดเพลิงต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์จุดชนวนระเบิดด้วยนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอลตั้งเวลา โดยตั้งเวลาระเบิดไว้ที่ 23.58 น.ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 จุดที่ 2 พบวัตถุต้องสงสัยหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ถ.หนองจิก ต.สะบารัง เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานปัตตานี (EOD) เข้าตรวจสอบพบวัตถุต้องสงสัยเป็นกล่องกระดาษเปล่า จุดที่ 3 เกิดเหตุระเบิดบริเวณหน้าร้านบัวขาว ซ.ปั๊มน้ามันเอสโซ ถ.รามโกมุทต ต.อาเนาะรู โดยคนร้ายเป็นชายวัยรุ่น 2 คนขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ทราบยี่ห้อและหมายเลขทะเบียนนำวัตถุต้องสงสัยเป็นกล่องกระดาษมาวางไว้บริเวณดังกล่าว ก่อนเกิดระเบิดขึ้นแรงระเบิดทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย จุดที่ 4 ห่างจากจุดที่ 3 ประมาณ 10 เมตร เจ้าหน้าที่ EOD พบระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในถังแก๊สน้าหนักประมาณ 50 กิโลกรัมจุดชนวนด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์และมีแกลลอนน้ามันเชื้อเพลิง จำนวน 8 แกลลอน โดยคนร้ายนำมาวางบนรถจักยานยนต์ แบบพ่วงข้าง (โชเลย์) มาจอดทิ้งไว้เจ้าหน้าที EOD เก็บกู้ได้ทัน จุดที่ 5 พบวัตถุต้องสงสัยบริเวณหน้าวัดตานีนสโมสร ต.อาเนาะรู วัตถุสงสัยเป็นกล่องกระดาษขนาดกว้าง 3 นิ้วยาว 3 นิ้ว สูง 8 นิ้ว จากการตรวจสอบพบเป็นระเบิดเพลิงต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์จุดชนวนระเบิดด้วยนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอลตั้งเวลาเจ้าหน้าที EOD เก็บกู้ได้ทัน จุดที่ 6 พบวัตถุต้องสงสัยบริเวณร้านรุ่งเรืองการค้า ถ.ฤดี วัตถุสงสัยเป็นกล่องกระดาษขนาดกว้าง 3 นิ้ว ยาว 3 นิ้ว สูง 8 นิ้วจากการตรวจสอบพบเป็นระเบิดเพลิงต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์จุดชนวนระเบิดด้วยนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอลตั้งเวลาเจ้าหน้าที EOD เก็บกู้ได้ทัน จุดที่ 7 เกิดเหตุระเบิดภายในร้านไดอาน่ามินิมาร์ท ถ.อุดมวิถี ต.อาเนาะรู ทำให้เกิดเพลิงไหม้ร้านค้าได้รับความเสียหายไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บคาดว่าคนร้ายนำระเบิดเพลิงต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์จุดชนวนระเบิดด้วยนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอลตั้งเวลาและตั้งเวลาไว้ที่ 23.58 น.มาซุกซ่อนไว้ภายในร้าน จุดที่ 8 เกิดเหตุระเบิดภายในร้านเมืองไทย (ร้านขายอะไหล่และอุปกรณ์ก่อสร้าง) แยกสุวลัย ต.อาเนาะรู ได้รับความเสียหายเล็กน้อยเนื่องจากเจ้าหน้าที่ สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ไม่มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บคาดว่าคนร้ายนำระเบิดเพลิงต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์จุดชนวนระเบิดด้วยนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอลตั้งเวลาและตั้งเวลาไว้ที่ 23.58 น.มาซุกซ่อนไว้ภายในร้าน จุดที่ 9 เกิดเหตุระเบิดภายในร้านขายเครื่องครัว ถ.สุวรรณมงคล ต.จะบังติกอ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ร้านค้าได้รับความเสียหายเล็กน้อย เนื่องจากเจ้าของร้านสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บโดยคาดว่าคนร้ายนำระเบิดเพลิงต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์จุดชนวนระเบิดด้วยนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอลตั้งเวลาและตั้งเวลาไว้ที่ 23.58 น.มาซุกซ่อนไว้ภายในร้าน พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ศชต.) เปิดเผยว่า การก่อเหตุดังกล่าวเป็นการตอบโต้ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลังจากเจ้าหน้าที่วิสามัญผู้ความก่อความไม่สงบ 16 ราย ในเหตุการณ์บุกเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการทางทหารบ้านยือลอ ฉก. 32 ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ป้องกันการก่อเหตุอย่างเต็มกำลัง แต่ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาก่อเหตุได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ยอดพล เทพสิทธา: ว่าด้วยเรื่องเสียบ้านเสียเมือง ประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ Posted: 17 Feb 2013 07:10 AM PST
ในวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่จะถึงนี้ จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขึ้น โดยที่การเลือกตั้งในคราวนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่างคุณชาย สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย และผู้สมัครอิสระอื่นๆ ที่น่าจับตามองคงไม่พ้น คุณ สุหฤท สยามวาลา ในห้วงเวลาตั้งแต่เริ่มมีการให้ว่าที่ผู้สมัครเริ่มแนะนำตัวได้นั้นเราจะได้เห็นวาทะกรรมต่างๆที่ออกมาโดยมากจะออกมาจากทางฝั่งของผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เช่น "หากท่านเห็นแก่บ้านเมือง ท่านต้องออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนให้คุณชายสุขุมพันธุ์ มิฉะนั้นเราอาจจะ เสียกรุงเทพ ฯ ให้แก่ข้าศึก.." วสิษฐ เดชกุญชร, 21 ม.ค.56 "..บ้านเมืองต้องไม่ชั่วร้ายไปกว่านี้ ผมจำต้องเลือกคุณชายสุขุมพันธุ์เป็น "ไม้กันหมา" ปู จิตกร บุษบา, 25 ม.ค.56 " 3 มีนา ตั้งใจไว้แล้ว ต้องไปกาเบอร์16 ไม่ได้พิศวาสอะไร กับหม่อมสุขุมพันธ์เป็นพิเศษหรอก แต่เกลียดคนพรรคเผาไทยเป็นพิเศษ เป็นตายร้ายดียังไง ต้องต่อต้านไม่ให้พวกมึงมายึดกรุงเทพฯของเรา เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่เลือกผู้ว่ากทม. เท่านั้น สำหรับพวกมัน มันเป็นสงครามยึดประเทศไทยเลยเชียวแหละ หมู่นี้เริ่มรำคาญพวกที่ชอบพูดว่า ไม่เลือกสุขุมพันธ์เพราะแก่ เพราะอุ้ยอ้าย เพราะพูดไม่เก่ง .....ห่......เอ้ย 3มีนา เขาให้มึงหาคนมาเป็นผู้ว่าฯนะโวย ไม่ได้ให้มึงมาหาผัว" หรือในกรณีล่าสุดที่นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์เอง ได้ออกมากล่าวเองว่า จะให้กรุงเทพเป็นเมืองขึ้นหรือเมืองหลวง สุขุมพันธุ์ กับประชาธิปัตย์ ปกป้องทุกอย่างให้กรุงเทพเป็นเมืองหลวงไม่ใช่เมืองขึ้นใครทั้งสิ้น วาทกรรมดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นอะไร ? สะท้อนให้เห็นถึงความคิดเมื่อยุคสมัยหลายร้อยปีที่ผ่านมากล่าวคือ เมื่อเสียเมืองหลวงแล้วย่อมจะแพ้สงครามทันที แต่สิ่งที่ผู้กล่าวเหล่านั้นคงหลงลืมไปว่า การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจาก การเลือกตั้ง ปัญหาที่ต้องนำมาพิจารณากันต่อคือสถานะของกรุงเทพมหานครทั้งในทางกฎหมายและในทางความคิดหรือจินตนาการว่าแท้จริงแล้วกรุงเทพมหานครมีสถานะอย่างไรกันแน่ ในทางกฎหมายกรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นเพียงแค่ องค์กรปกครองส่วนื้องถิ่นรูปแบบพิเศษเท่านั้น โดยที่ในปี พ.ศ. 2518 ได้มรการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครขึ้นและเปลี่ยนสถานะจากหน่วยราชการกึ่งภูมิภาคมาเป็นราชการส่วนท้องถิ่นแบบเต็มรูปแบบ สถานะของกรุงเทพมหานครจึงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายหรือสัญลักษณ์อะไรที่มากมายไปกว่านั้น อาจะเป็นเพราะตัวกรุงเทพมหานครเองมีสถานะอีกอย่างนั่นคือการเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยจึงทำให้มีการเข้าใจกันไปแบบผิดๆว่าแท้จริงแล้วกรุงเทพคือประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนยืนยันเลยว่ากรุงเทพมหานครมีสถานะที่ไม่แตกต่างจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ที่มีสถานะพิเศษนั่นเป็นเพราะมีความเป็นเมืองหลวงอยุ่ในตัว กลับมาสู่วาทกรรมต่างๆที่ออกมาจากวาทกรรมที่ผู้เขียนได้ยกมาจะเห็นได้ว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือแท้จริงแล้วเข้าใจแต่แสร้งทำเป็นไม่เข้าใจเกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยยแบบผู้แทน หรือ การเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบสากลนั้นยึดถือหลัก หนึ่งคนหนึ่งเสียงหรือ one man one vote หมายความว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครอยู่ในฐานะหรือศักดินาเท่าไหร่คุณก็มีสิทธิเลือกเพียงแค่หนึ่งคะแนน ไม่มีสิทธิมากหรือน้อยไปกว่านั้น เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาทุกคนก็ต้องเคารพผลการเลือกตั้งที่ทาง กกต ได้ประกาศรับรอง เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเลือกตั้ง ประเด็นปัญหาที่สำคัญจากวาทกรรมดังกล่าวคือ การเสียเมืองให้ศัตรู ผู้เขียนแทบไม่เชื่อว่ายังมีแนวคิดแบบนี้หลงเหลืออยู่ในรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การเลือกตั้งนั้นเป็นการออกมาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของแต่ละปัจเจกว่าต้องการเลือกผู้ใดหรือลงคะแนนให้ใคร เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันในการตัดสินใจตามแบบที่ ฝรั่งเรียกว่า souveraineté populaire แล้วการนิยามคำว่าศัตรูคืออะไรและใคร ในที่นี้เข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย นอกจากนั้นยังหมายความรวมถึงผู้ที่คิดจะลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยและอาจหมายรวมไปถึงผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ หากมองในแง่ของความเป็นรัฐชาติแล้วการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ในการเลือกผู้แทนย่อมที่จะไม่ได้หมายความว่าเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู ดังที่คิดกันแต่มันคือเสน่ห์ของระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายของความคิดเห็น การจะนิยาม ข้าศึกหรือศัตรูกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นข้อพิจารณาที่ค่อนข้างคับแคบและขาดความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขากหัวบทความจะเห็นว่าผู้เขียนเลือกที่จะใช้หัวเรื่องว่าประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพ หมายความว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเช่นไร ประเทศไทยก็ไม่ได้ล่มสลายไปตามผลการเลือกตั้ง แน่นอนว่าเมื่อคนที่ต้องการไม่เข้าวิน ย่อมเกิดความผิดหวังต่อการลงคะแนนแต่ก็ต้องเคารพกติกาของการลงคะแนนเช่นกันว่าเมื่อเสียงส่วนใหญ่เลือกแล้วก็ควรที่จะเคารพจะไปกำหนดกะเกณฑ์ว่าเป็นข้าศึกนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ผิดวิสัย ต่อประเด็นเรื่องการเป็นเมืองขึ้นผู้เขียนเข้าใจมาตลอดในการเรียนว่าการเป็นเมืองขึ้นนั้นถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัยมีการปฏิรูประบบราชการ มีการสถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้น ปัญหาคือเป็นเมืองขึ้นของใคร ของพรรคเพื่อไทย ของทักษิณ หรือของใครกันแน่ ต้องเข้าใจก่อนว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแห่งอาณาเขตของรัฐแต่อย่างใดเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผู้บริหารเท่านั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ไม่ใช่ตัวแทนอย่างเป็นทางการของรัฐไทยแต่อย่างใด หากลองถามคนต่างชาติดูจะพบว่าเมื่อพูดถึงเมืองไทยสิ่งที่ชาวต่างขาติพูดเป็นอันดับแรกของการสนทนาคือเชียงใหม่และภูเก็ต ไม่ใช่กรุงเทพอีกต่อไป ภาพซ้อนของกรุงเทพและประเทศไทยคงเลือนหายไปตามบริบทแห่งกาลเวลาและความสำคัญในทางต่างประเทศ ในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะถึงนี้ ประเด็นที่ผู้เขียนพบมากในโชเชี่ยลเนตเวิร์กคือการที่อยากให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำเนินการตามอำนาจที่มีเพื่อฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์ หลายแห่งที่สังกัด กทม ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์เด็กเป็นต้น ซึ่งหากมีโอกาสผู้เขียนจะมาเล่าถึงการดำเนินการพิพิธภัณฑ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างประเทศในโอกาสต่อไป การสร้างวาทกรรมให้เกิดความหวาดกลัวแก่การลงคะแนนให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้นถือว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงต่อสาธารณชนซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย นอกจากนั้นการมองผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองว่าเป็นข้าศึกหรือศัตรูของชาติยิ่งเป็นความคิดที่ล้าหลังอย่างมากจนไม่น่าเชื่อว่าบางความเห็นนั้นออกมาจากนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในหลักการรัฐสภา สุดท้ายผู้เขียนอยากจะส่งสาสน์ไปถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าขอให้เลือกคนที่คิดว่าจะมีประโยชน์แก่ท้องถิ่นมากที่สุดอย่าเลือกเพราะความสงสารเพราะอคติเพราะความหวาดกลัวอีกฝ่ายไม่อย่างนั้นสังคมเราจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้หากมีการส้รางวาทกรรมแห่งความหวาดกลัวยัดเยียดเข้าหัวประชาชนอยู่เสมอ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสวนา“การเมือง ความยุติธรรม สถาบันกษัตริย์” เนื่องในวันแพะแห่งชาติ Posted: 17 Feb 2013 06:08 AM PST 17 ก.พ. 2556 กลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตยและไทยแลนด์มิเรอร์ จัดเสวนา "การเมือง ความยุติธรรม สถาบันกษัตริย์"โดยมีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ประวิตร โรจนพฤกษ์ วาด รวี และปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย จอม เพชรประดับ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ย้อนอดีตวันแพะแห่งชาติ คือวันที่มหาดเล็ก 3 คนถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีสวรรคต โดยข้อเท็จจริงต่อมาปรากฏว่ามหาดเล็กทั้งสามคนไม่มีความผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนพิจารณาว่ามีอะไรผิดพลาดและต้องทบทวนหรือไม่ แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีการทบทวนการพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น และกระบวนการที่ผิดพลาดนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉะนั้นคดี มหาดเล็กทั้ง 3 คนนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็เป็นกระบวนการที่เกิดซ้ำของความผิดพลาดในการตัดสินคดีของศาลไทย ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยนั้น เริ่มต้นจากโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน พันห้าร้อยบาท เมื่อปี พ.ศ. 2442 อย่างไรก็ตาม มีการเอาความผิดฐานนี้มาโจมตีกันมาก หลัง 14 ตุลาคม 2516 คดีแรก ซึ่งศาลยกฟ้อง มีคดีอื่นๆ อีก เช่น คนเขียนบทความตอบโต้พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่ไปมีพระราชดำรัสที่โรงเรียนนายร้อย เรื่องความเป็นมนุษย์ บทความนั้นตอบโต้ว่าการพูดเช่นนั้นเป็นการแบ่งชั้นคน มีคดีที่ถูกดำเนินคดี เพราะไม่ยืนและกล่าววิจารณ์เพลงสรรเสริญฯ ต่อมามีคดีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปี 2535 และคดีวีระ มุสิกพงศ์ ที่กล่าวในการปราศรัยหาเสียง "สรุปง่ายๆ คดี 112 ที่เกิดก่อนปี 2549 มีน้อยมาก และเกิดตามกระแสการเมือง โดยเฉพาะช่วงการเมืองแหลมคม คดีใหญ่มากคือ คดี 6 ตุลาคม ที่ผู้นำนักศึกษา 19 คน ซึ่งโดนหลายคดี และหนึ่งในนั้นคือ คดี 112" โดยหลังจากการรัฐประหาร 2519 มีการเพิ่มโทษตามประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ปี 2519 ด้วย และได้ใช้อัตราโทษสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ต้องถือว่า คดี 112 หลังรัฐประหาร 2549 คดีหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากมายมหาศาล เมื่อเทียบกับจำนวนคดีก่อนหน้านี้ "มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาแต่ต้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มาตรา 112 จะถูกนำมาใช้เล่นงานฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเอง และเราเห็นได้ชัด คำตอบที่ว่าทำไมหลังปี 2549 มีการใช้และลงโทษมาก เพราะมันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คนที่ถูกตัดสินลงโทษเป็นฝ่ายเสื้อแดงทั้งหมด" สุธาชัยตั้งข้อสังเกตประการที่ 2 การใช้มาตรา 112 เป็นการลงโทษผู้มีความเห็นต่างทั้งหมด แทบจะไม่พบการทำความผิดแต่ถูกลงโทษด้วยเหตุผลทางการเมือง ประการที่ 3 การลงโทษคดีนี้โดยมากทุกคดีหลักฐานอ่อน และใช้การตีความให้ผิดเป็นหลัก" โดยสุธาชัยยกตัวอย่าง กรณีนักวิชาการรายหนึ่งที่ถูกฟ้องข้อหาดังกล่าว เนื่องจากตั้งคำถามในข้อสอบว่า สถาบันกษัตริย์สอดคล้องกับการปกครองประชาธิปไตยหรือไม่ ให้อภิปราย,,, สุธาชัยกล่าวต่อไปว่า การพิจารณาคดี 112 นั้นเป็นการพิจารณาที่ขัดหลักนิติธรรม เริ่มตั้งแต่ไม่มีการให้ประกันตัว การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน เป็นประเทศที่มีการลงโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสูงที่สุดในโลก ประเทศที่มีระบบกษัตริย์สองร้อยกว่าประเทศ มีราว 25 ประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นฯ และในบรรดา 25 ประเทศนี้ไม่มีประเทศไหนมีการลงโทษที่แรงเท่าประเทศไทย และ 112 นั้นเป็นกฎหมายที่ยอมรับอำนาจเผด็จการโดยไม่ดูที่มาของกฎหมายซึ่งมาจากประกาศคณะรัฐประหารเมื่อปี 2519 ส่วนการให้เหตุผลว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีน้ำพระทัยให้พระราชทานอภัยโทษผู้กระทำผิดนั้เนป็นคนละประเด็นกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพราะกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต้องได้รับการแก้ไข ประวิตร โรจนพฤกษ์ ส่วนแรกคือ ข้อโต้แย้ง เวลาที่มีการถกเถียงเรื่อง 112 จะมีคนโต้แย้งว่าผู้เสนอแก้ไขม. 12 สนใจเฉพาะคนที่หมิ่นเจ้าเท่านั้นหรือ แต่ข้อดีเบตที่ยังไม่เพียงพอคือผลกระทบมาตรา 112 ต่อการใช้เหตุผลของสังคมไทยมีมากน้อยเพียงใด ประวิตรกล่าวว่า ข้อถกเถียงนั้นมักเหมารวมว่า คนไม่เอามาตรา 112 นั้นเป็นคนที่ต้องการล้มเจ้า โดยไปไม่ถึงข้อถกเถียงอีกส่วนคือการใช้เหตุผลในที่สาธารณะ "คือด้านหนึ่ง เราถูกสังคมสอนให้ไม่ตั้งคำถามกับสถาบันษัตริย์ให้เชื่อในข้อมูลดีๆ ด้านเดียว สำหรับคนที่สงสัยก็จะถูกบังคับแทน พูดง่ายๆ คือผู้ที่สอนแล้วไม่ฟัง สอนแล้วไม่เชื่อก็จะถูกบังคับว่าพวกคุณหรือพวกเราควรจะเชื่อโดยไม่ต้องสงสัยว่าสถาบันกษัตริย์มีแต่ด้านดีๆ ด้นเดียว ซึ่งเป็นข้อมูลที่พบได้ในสื่อกระแสหลัก" เขากล่าวว่า บ่อเกิดของการใช้สติปัญญาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์สามารถตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น กาลิเลโอ โสเกครติส หรือนิกายโปรแตสแทนต์ก็เกิดจากการไม่ยอมรับอำนาจของสันตะปาปาและการที่มีประชาชนประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่เอาคริตศาสนจักร หรือไม่เอาศาสนา แต่มาตรา 112 ทำให้กลัวที่จะตั้งคำถามในที่สาธารณะ และเชื่อแต่ข้อมูลที่ส่งผ่านในสื่อกระแสหลัก สังคมไทยก็จะเป็นสังคมเชื่องๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนในระดับปริญญาตรี หรือแม้แต่ในระดับมัธยมปลายก็เช่นกัน ซึ่งต้องการทักษะในการตั้งคำถาม "ปัญหาคือผมคิดว่าสังคมไทยเองรวมถึงพุทธศาสนาไม่ได้มีการท้าทายอย่างถึงแก่น ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่ประชาชนจะต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นอย่างเท่าทันซึ่งต่างจากการหมิ่นหรือขู่อาฆาตต่อทั้งสถาบันและต่อพุทธศาสนา" อีกประการคือ สถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมโดยรวม ซึ่งกว้างกว่าสังคมด้วยซ้ำไป เปิดวิทยุต้นชั่วโมง และกลางชั่วโมงมีการเผยแพร่พระราชดำรัส แต่ถ้าตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เมื่อตั้งคำถามก็จะถูกจำคุก ก็แปลว่าพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวมีสถานะเป็นเหมือนคำสอนอของพระผู้เป็นเจ้าในคริสตศาสนา และคล้ายคลึงกับผู้นำของเกาหลีเหนือ ซึ่งนี่เป็นปัญหา "และในแง่นี้ ผมจึงเชื่อว่าในบางมิติของประเทศไทยมีความละม้ายคล้ายคลึงกับเกาหลีเหนือมากอย่างน่าตกใจ" ประวิตรกล่าว "อย่าให้คนที่รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง ไปผูกขาดความรักเจ้าเพราะมันไม่เป็นประโยชน์มันทำให้การถกเถียง" ประวิตรกล่าวและเสนอว่า ข้อเสนอของเขาต่อฝ่ายรักเจ้าที่ยังพอมีสติอยู่บ้างคือ ควรจะตระหนักถึงปัญหาของพวกรักเข้าอย่างไม่พอเพียง และเสนอแก้ไขมาตรา 112 ก็จะช่วยลดแรงเสียดทาน ที่เกิดขึ้นกับสถาบันกษัตริย์ "การใช้มาตรา 112 มันจะส่งผลอย่างไรต่อการใช้ตรรกะของสาธารณะ ประเทศนี้จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร ถ้าคนรุ่นลูกหลานของคุณไม่สามารถใช้เหตุผลได้" ประวิตร โรจนพฤษก์กล่าว ประวิตร กล่าวว่า ยังรอคอยแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย คือใครยืนตรงไหนไม่เป็นไร ควรออกแถลงการณ์มาเลย แสดงจุดยืนมาเลย ว่าจะเพิ่มโทษ"เท่านี้ก็ฉาวโฉ่พอแล้วที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแถลงก่อนสมาคมสื่อของไทยว่าด้วยกฎหมายไทย" ประวิตรกล่าวต่อไปว่า ที่เป็นเช่นนี้เพระสื่อกระแสหลักทำให้การเซ็นเซอร์เรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ไทยจากสื่อต่างประเทศออกทุกเดือน ประวิตรกล่าวต่อไปว่าสื่อกระแสหลักมีบทบาทในการทำสิ่งที่เรียกว่าทำให้การเซ็นเซอร์ข้อมูลเท่าทันเจ้าหรือข้อมูลด้านลบ คำวิพากษ์เจ้าเป็นเรื่องปกติ การเซ็นเซอร์เกิดขึ้นทุกเดือน เขาคิดว่าโดยเฉลี่ยแล้วทุกเดือนจะมีบทความที่เรียกว่าเท่าทันหรือเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ไทยเขียนโดยสื่อต่างประเทศแล้วสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้โผล่ในสื่อกระแสหลัก เพราะสื่อกระแสหลักก็จะทำหน้าที่เซ็นเซอร์สิ่งเหล่านี้ นอกจากนั้นก็เซ็นเซอร์ไม่ให้มีดีเบตมุมตรงข้าม เช่น คุณอาจจะหาอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่องขบวนการเกลียดชังเจ้าได้ในโพสต์ทูเดย์ แต่เขาก็เชื่อว่าโพสต์ทูเดย์ไม่มีพื้นที่ให้กับนักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่จะโต้ประเด็นเหล่านี้ "หนึ่งคุณเซ็นเซอร์ กรองหรือไม่ให้ข้อมูลต่างประเทศที่เท่าทันเจ้าเข้ามาสู่ประเทศไทยในระบบที่ถูกทำนองคลองธรรม ผมรู้ว่ามันเข้ามาทางอินเตอร์เน็ตแบบผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพ์เยอะ มันไม่ได้เข้ามาหรอก จริงๆ มันอยู่ในอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่พ.ร.บ.คอมพ์พยายามจะทำให้มันผิดกฎหมายเอง แต่อีกด้านคุณก็ยังเซ็นเซอร์แม้ทั่งในระดับในประเทศตัวเอง ของมูลของคนที่เท่าทัน ดูอย่างวันนี้ก็ได้ว่ามีสื่อกระแสหลักกี่ที่มาทำข่าววันนี้ ในขณะเดียวกันเขาก็จะสร้างหน้าที่ของสื่อกระแสหลักจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ได้สร้างความเชื่อในข้อมูลดีๆ ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เช่น กระเทือนคนไทยทั้งแผ่นดิน คนทั้งประเทศรักในหลวง อะไรต่างๆ แล้วที่หนักไปกว่านั้นก็คือเขาทำเหมือนกับว่าสื่อกระแสหลักไทย หรือสื่อไทยทุกวันนี้มีเสรีภาพ อันนี้แหละผมถึงบอกว่ามันยิ่งกว่าเกาหลีเหนือ ผมไม่รู้ว่าเกาหลีเหนือเนียนขนาดนี้หรือเปล่า คือมีมายาคติว่าสื่อไทยจริงๆ แล้วมีเสรีภาพ ไม่ได้เป็นแบบประเทศเกาหลีเหนือ " เขากล่าวต่อไปว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มีพลานุภาพมากกว่าไม่ใช่การใช้อำนาจหรือการใช้กำปั้นทุบดินชนชั้นนำเห็นว่าทุกครั้งที่มีคนโดนตัดสินโทษ 112 อย่างกรณีของสมยศนั้นส่งผลสะเทือน "ที่ผมยอมรับไม่ได้คือการเสแสร้งว่าสังคมไทย สื่อมีเสรีภาพ ประชาชนมีเสรีภาพ มีที่ทางในสังคมสำหรับการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเชิงวิพากษ์และมีที่ทางสำหรับข้อมูลที่เท่าทันเจ้า ในความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้นเลยครับ" พร้อมย้ำว่า เขายังรอว่าเมื่อไหร่สมาคมนักข่าวของไทยจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคดี สมยศ พฤกษาเกษมสุขและมาตรา 112 เสียที สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฟันธงรัฐบาลไม่แก้ไขมาตรา 112 อยู่แล้ว และเขาสนใจคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรา 112 อยู่ในขณะนี้ซึ่งแม้จะตัดสินใจไม่สู้คดีกยังต้องใช่ระยะเวลาเป็นปีกว่ากระบวนการอภัยโทษจะส่งผล และได้รับการปล่อยตัว โดยสมศักดิ์ เสนอว่าคนที่จะเจรจาได้มีแต่คนระดับทักษิณเท่านั้น ที่จะเจรจากับทางวังเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 "ปัญหาคือคุณทักษิณได้วางยุทธศาสตร์ไว้ว่าต่อจากนี้จะไม่แตะประเด็นนี้เลยตั้งแต่ปี 2554" เขาบอกว่าตอนนี้ชนชั้นนำอาจจะรู้ตัวแล้วว่าการใช้มาตรา 112 นั้นเป็นดาบสองคม แต่ตอนนี้มุ่งเป็นรายบุคคลอย่าง สมยศ แต่คนที่เป็นนปช. นั้นว่านอนสอนง่ายกว่า ถ้าผมไม่ได้เป็นอาจารย์มีงานประจำอยู่ เขาก็คงอยากจับผมไปเหมือนกัน โดยสรุปเฉพาะหน้า เขาสนใจว่ามีวิธีอะไรที่จะช่วยนักโทษคดี 112 เขาบอกตรงๆ ว่ายาก และน่าหดหู่ยกเว้นแต่จะสามารถกดดันทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ได้ ส่วนการเคลื่อนไหวของครก. 112 คงได้ประโยชน์ในระยะยาวที่จะไม่เกิดกรณีแบบนี้อีก อย่างไรก็ตาม 112 ถ้าแก้ได้ให้ดีกว่าปัจจุบันไม่ว่าจะแก้ยังไงก็ดีกว่าปัจจุบันทั้งนั้น แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์และ ครก.112 นั้นมีบางอย่างไม่ถูก เขาเชื่อว่าในระยะยาวชนชั้นนำไทยจะแก้ 112 โดยถอยกลับไปก่อน 6 ตุลาคม ซึ่งก็จะคล้ายๆ ของ ครก. คือโทษสูงสุด 7 ปี ไม่มีโทษขั้นต่ำ และเชื่อว่าในที่สุด กรรมการสิทธิมนุษยชนไทยจะเสนอเช่นเดียวกัน และอาจจะเพิ่มข้อยกเว้น และให้สำนักพระราชวังเป็นคนฟ้อง เขาเชื่อว่าที่สุดชนชั้นนำไปจะกลับไปใช้แบบนี้ แต่เขาก็ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน เขาย้ำว่าเขายังไม่เห็นด้วยกับ นิติราษฎร์และ ครก. โดยยก 2 ประเด็น คือ การเชื่อว่าประมุขของรัฐต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองจากการถูกด่าต่างจากชาวบ้านธรรมดา เพราะถ้ากฎหมายที่มีอยู่มันดีพอสำหรับชาวบ้านธรรมดาก็ต้องดีพอสำหรับเจ้าด้วย และข้อดีที่ดีของนิติราษฎร์ที่เหนือชั้นกว่านักวิชาการในไทยคือการเริ่มต้นจากหลักการ แต่การยืนยันหลักการว่าจะคุ้มครองประมุขจากการวิพากษ์วิจารณ์เหนือกว่าคนอื่นนั้นเขาคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผิดทางหลักการอย่างยิ่ง และในที่สุดแล้วสิ่งทีเป็นฐานของ นิติราษฎร์และ ครก.112 นั้นเป็นฐานคิดเดียวกันกับพวกรอยัลลิสม์ ที่ไม่ตรงกันเพียงแค่การกำหนดว่าจะให้การลงโทษกี่ปีดี แต่ตรงกันตรงความหมายว่าถ้าเป็นประมุขต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษจากการวิพากษ์วิจารณ์ เท่ากับการยืนยันหลักการว่าคนที่เป็นประมุขสำคัญกว่าชาวบ้าน ซึ่งเขาเห็นว่าผิดจากหลักสังคมประชาธิปไตย "ถ้าคุณด่ายิ่งลักษณ์ว่าเป็นกะหรี่เป็นควายได้ ด่าอภิสิทธิ์ว่าหมีหน้าฮากได้ แล้วทำไมต้องคุ้มครองประมุขของรัฐด้วย ถ้ามันยังผิดอยู่แปลว่าข้อเสนอนี้ไม่เพียงพอต่อโลกที่เป็นจริงแล้วและแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าฝรั่งก็มีแต่ถึงมีเขาก็ไม่ได้ใช้กฎหมายนี้แล้ว และมีการเรียกร้องให้เลิกกฎหมายลักษณะนี้เช่นกัน " เขากล่าวว่าการรณรงค์ ครก. 112 นั้นเป็นการรณรงค์ทางความคิด ดังนั้นหลักการพื้นฐานในเรื่องการแก้ไข ม. 112 จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องสำหรับเขา "สังคมไทยจะก้าวสูความเป็นสังคมประชาธิปไตยนั้นเราต้องยืนยันว่าเจ้ากับคนธรรมดานั้นมีฐานะเท่ากัน เราจะบอกว่าเจ้าต้องมีสถานะพิเศษกว่าคนธรรมดาในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้" ประเด็นต่อมาที่สมศักดิ์์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ นิติราษฎร์ และ ครก. 112 คือการมีกฎหมาย อาญา ม.112 นั้น มีอีกด้านคือสถาบันกษัตริย์นั้นมีบทบาทอย่างมหาศาลในสังคมไทย "มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องอุดมการณ์เฉยๆ ด้วยซ้ำ มันเป็นปัญหาเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์เป็นแพกเกจ ดังนั้นปัญหา 112 มันแก้ไม่ได้ถ้าไม่ได้เสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นแพกเกจด้วย" เขากล่าวว่า การแก้กฎหมายจะไม่มีผลอะไรถ้าไม่มีการยกเลิกการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว และข่าวสองทุ่ม ซึ่งเป็นการยัดเยียดมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงข่าวและการโปรโมทตลอดทั้งวัน และสิ่งนี้เองที่ส่งผลให้เกิดการต่อต้านการแก้ไข ม. 112 สมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะมีเหตุการณ์อย่างการเสด็จไปงานศพน้องโบว์ ข้อความที่เกิดขึ้นใน sms นั้นโยงกับงานศพน้องโบว์ มันไม่ใช่ปัญหากฎหมายโดยตรง ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง แต่ที่มันยากเพราะมันโยงเข้ากับบทบาทและสถานะของสถาบันกษัติรย์ในปัจจุบันที่ไม่สามารถโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณืได้ และตราบเท่าที่นักวิชาการไม่พูดกันตรงๆ เรื่องก็วนเวียนและรักษาสังคมตอแหลเอาไว้ "อย่างคำว่าอำมาตยาธิปไตยนี่ผมถามจริงๆ ว่ามันคืออะไร –ปัญหาขอคำว่าอำมาตยาธิปไตยคือปัญหาของบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ครับ....จนกว่านักวิชาการและสื่อมวลชนจะพูดแบบนี้ตรงๆ อีกสิบปีก็ไม่มีอนาคต" สมศักดิ์กล่าวในท้ายสุด วาด รวี นักเขียนคณะแสงสำนึก และครก. 112 กล่าวถึงคำพิพากษาคดีสมยศ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าสมยศ พฤกษาเกษมสุขนั้นพ้นไปจากความรับผิดตาม พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ 2484 ซึ่งกำหนะโทษสำหรับบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ที่มีบทความหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว แต่ศาลวินิจฉัยก็ยังวินิจฉัยว่าสมยศมีความผิดเนื่องจากเป็นบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ที่มีบทความหรือข้อความหมิ่นประมาท ในส่วนของการตีความนี้น เขาเห็นว่ามีความสำคัญ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกที่ศาลเอามาพิพากษาว่าเป็นความผิดคือการตีความของพยานโจทก์มีปัญหา เป็นการตีความที่กว้างและมีปัญหา มีตัวอย่างการตีความ คือเมื่ออ่านบทความของ จิตร พลจันทร์ แล้วพยานตีความเป็นสองอย่าง คืออ่านแล้วคิดว่าหลวงนฤบาลคือพระเจ้าอยู่หัวกลุ่มสองคืออ่านแล้วไม่รู้เลย ในส่วนพฤติการณ์ของศาลเอง วาด รวี กล่าวว่า ศาลอ่านบทความแล้ววินิจฉัยไม่ได้ต้องเรียกพยานโจทก์มาตีความให้ฟัง ซึ่งต่างจากคดีอากงซึ่งศาลไม่ต้องเรียกเลยว่าขอความในเอสเอ็มเอสหมิ่นหรือเปล่า "แล้วถ้าเกิดศาลมาเป็น บ.ก.อ่านแล้วไม่รู้ว่าหมิ่น คุณจะไม่มีสิทธิปล่อยให้บทความนี้เผยแพร่ออกไปหรือ นี่เป็นสิ่งที่ฟ้องว่าเอาพยานมาเบิกความเอาผิดจำเลยไม่ได้ แล้วสมยศไม่มีสิทธิตีความเป็นอย่างอื่นหรือ" วาด รวี ตั้งคำถาม และกล่าวย้ำว่า "มันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในฐานะที่ผมเป็นบรรณาธิการ คนเป็นบรรณาธิการไม่มีทางจะยอมรับคำตัดสินแบบนี้ได้" เขากล่าวว่าจากคำพิพากษายังไม่พบความเชื่อมโยงความผิดกับพฤติกรรมของสมยศเลย บทความสองชิ้นยังไม่มีการพิสูจน์ด้วยซ้ำว่าผู้เขียนมีเจตนาหมิ่นประมาท และหาไม่เจอเลยว่าอะไรคือพยานหลักฐานการชี้เจตนาของสมยศ และเมื่อตั้งคำถามก็มีการโต้แย้งว่า อย่ากล่าวเสียดสีใช้ถ้อยคำทิ่มแทงความรู้สึกศาล และเห็นว่าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมนั้นครอบงำสติของผู้พิพากษาไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงโทษที่สูงจนไม่ได้สัดส่วน คำพิพากษาไม่มีตรรกะ ไม่มีเหตุผลอะไรเลย ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ตอบประเด็นของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลที่วิจารณ์พื้นฐานข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ยอมรับการคุ้มครองประมุขของรัฐมากกว่าคนทั่วไปว่า มาจากแนวคิดเรื่องตัวแทนรัฐ ซึ่งทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นระบอบที่เป็นประธานาธิบดี หรือราชอาณาจักรเขาก็มีแต่ไม่ใช้ การยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีนั้นเป็นการยกเว้นอย่างยิ่ง แต่ประธานาธิบดีทั่วไปก็มีแต่เขาไม่ใช้ อย่างกรณีของเยอรมันนั้นก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าสู่ตำแหน่งจะต้องมีการทำหนังสือฉบับหนึ่งเพื่อสละสิทธิ์นี้ ในฝรั่งเศสก็มีเช่นกัน เขากล่าวถึงคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขว่า กรณีของสมยศ ไม่ได้เป็นเหยื่อที่สำคัญกว่าคนอื่นๆ แต่เขาพยายามเอาตัวเข้ามาแลกกับกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางการต่อสู้มีอยู่สองอย่างคือ ถ้าจำเลยสารภาพ ก็จะถูกตัดสินโทษสามปี ถ้าไม่สารภาพก็ลงโทษห้าปี ถ้าใครสารภาพก็โดนสามปี แล้วรอลุ้นให้ถึงที่สุด จากนั้นปิยบุตรวิจารณ์คำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนุญกรณีวินิจฉัยว่ามาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งสมยศ เป็นผู้ร้องให้ตีความ พบว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่กระทบเสรีภาพเกินจำเป็น โดยต่างอ้างเอามาตรา 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ โดยปิยบุตรอธิบายว่าแนวคิดพื้นฐานของมาตรา 8 รัฐธรรมนูญนั้นเขียนไว้เพื่อรับรองหลัก The King can do no wrong คือพระมหากษัตริย์ไม่ทำอะไรผิดแพราะไม่ทำอะไรเลย เพราะในระบบประชาธิปไตยใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่อยากให้พระมหากษัตริย์รับผิดชอบ ต้องถูกวิจารณ์ ถูกตรวจสอบ ดังนั้นจึงต้องมีผู้สนองรับพระบรมราชโองการ ส่วนคำว่า ทรงเป็นที่เคารพสักการะนั้น ต้องตีความว่า เป็นการเขียนเพื่อเชิดชูไว้ ไม่ใช่มีผลในการบังคับการให้ไปจำคุกคน บังคับให้กราบไหว้กษัตริย์ทั้งหมด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้สะท้อนเปลือยความคิดของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนเปลือยอุดมการณ์กษัตริย์นิยมของไทยออกมาให้เห็นเป็นตัวอักษร" และทำให้คนไทยได้อ่านบทอาเศียรวาทในรูปคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทน เช่น การอ้างว่ามีกฎหมายนี้เพื่อป้องกันคนไม่ให้มีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นมากจนคนที่เคารพรักสถาบันกษัตริย์ไม่พอใจจนลุกฮือขึ้นมา "นี่คือท่านจินตนาการไปเอง แล้วทำไมท่านไม่ลองจินตนาการกลับบ้างว่าถ้ายังเอาคนไปติดคุกแบบนี้ มันจะไม่ลุกเป็นไฟเข้าสักวัน" ปิยบุตรกล่าวว่า แม้จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์จนคนวิจารณ์ปากฉีกถึงหูก็ยังเหมือนเดิมเพราะศาลก็ยังเป็นศาล สุดท้ายก็สะท้อนวิธีคิดคนในระบบตุลาการของไทย แล้วสะท้อนต่อไปว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบอะไร "การอ้างว่าถ่าสถาบันกษัตริย์มีสรรพคุณเต็มไปหมด ท่านยิ่งต้องไม่มีกฎหมายอาญามาตรา 112 ยิ่งต้องวินิจฉัยว่ามาตรา 112 นั้นไม่จำเป็น ถ้าคนทั้งประเทศรักกษัตริย์ กฎหมายอย่างนี้ยิ่งไม่จำเป็น มันจึงเป็นเรื่องทียอกย้อนที่สุดในสายตาประชาคมระหว่างประเทศ มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศที่โฆษณากับคนทั้งโลกว่าเป็นประเทศที่คนรักกษัตริย์มาก แต่กลับมีคนติดคุกด้วยคดีแบบนี้มากที่สุดในโลก" ปิยบุตรกล่าวแย้งท่าทีจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในที่สุด สำหรับคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขนั้น เขาตั้งข้อสังเกตว่าศาลอ้างอิงพยานต่างกันมาก คือพยานโจทก์อ้างเป็นสิบหน้า แต่พยานจำเลยอ้างเพียงสี่บรรทัด ส่วนต่อมาคือ การพิสูจน์เจตนาว่ากระทำผิดตามกฎหมายอาญาต้องตีความเคร่งครัด ถ้าจำเลยเขาอ่านแล้วไม่หมิ่น ทำไมไม่เอาเจตนาของจำเลยแต่ไปอ้างเจตนาของคนอื่น แล้วอ้างเรื่องมีการศึกษาสูง ส่วนเรื่องข้ออ้างว่ากฎหมายมีโทษสูงศาลจึงต้องลงโทษสูงตามที่กฎหมายบัญญัติไปด้วย โดยเขาเทียบกับคดีฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ซึ่งศาลผ่อนหนักผ่อนเบาได้ ไม่ได้สั่งประหารชีวิตหรือกำหนดโทษสูงทั้งหมด "การที่เขาเอาคนไปเป็นศาลเพื่อให้ใช้สมองของคนไปใช้ตีความกฎหมาย ถ้าคุณอ้างแบบนี้ใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้" ปิยบุตรกล่าวและย้ำว่านี่เป็นเรื่องที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สำหรับเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ตอนนี้ไม่ใช่แค่กฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว แต่เป็นภาพแทนสถาบันกษัตริย์องค์ปัจจุบัน สามารถพูดเรื่องเสรีภาพได้หมดเลย แต่พอมาตรา 112 กลายเป็นข้อหาล้มเจ้า การแก้ 112 คือการกระทบกระเทอนพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันทั้งๆ ที่เป็นเพียงกฎหมายอาญามาตราเดียว การแก้มาตรา 112 ให้มีผลในทางปฏิบัติยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ "ผมต้องการส่งสัญญาณให้ฝ่ายรอยัลลิสม์ที่ยังมีเหตุผล ว่าคุณต้องจัดการกับมาตรา 112 การจะให้คนรักสถาบันกษัตริย์แล้วเอาคนไปติดคุกมันทำไม่ได้ พลังของกฎหมายมันไม่สามารถบังคับคนให้รักกันได้ แล้วทำอย่างนี้แล้วจะมีคนรักเพิ่มขึ้นหรือ ท่านควรทบทวนได้แล้วว่าสถานการณ์ทีเป็นอยู่ไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์และไม่เป็นคุณต่อศาลด้วย ท่านมีสติปัญญาอยู่แล้ว ท่านรู้แต่ท่านก็ซุบซิบตามวงกินข้าววงเหล้า แต่การพูดแบบนั้นมันไม่มีประโยชน์ท่านต้องสื่อไปยังที่สาธารณะ อย่าคิดระยะสั้นด้วยสายตาสั้นว่าทนๆ ไปก่อน ของตักตวงประโยชน์จากระบอบแบบนี้ไปก่อน แล้วพอเกิดการเปลี่ยนแปลงก็มาขึ้นเป็นแถวหน้าที่จะเปลี่ยน กว่าจะถึงวันนั้นมันสายไปหรือเปล่า" ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย คลิป วิดีโอโดย: ขอลุงก่อน ลุงแก่แล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เผยรองผู้ว่าระยองเรียก บ.Electrolux เจรจาพุธนี้ แต่ผู้บริหารยังไม่ตอบรับ Posted: 17 Feb 2013 06:02 AM PST
17 ก.พ. 56 - สืบเนื่องจากกรณีการเลิกจ้างคนงานบริษัทอิเล็คโทรลักซ์ตั้งแต่เดือน ม.ค. 56 ที่ผ่านมา วันนี้ (17 ก.พ.) ตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็คโทรลักซ์ ระบุว่าแรงงาน จ.ระยอง ได้เปิดเผยกับคนงานว่าทางรองผู้ว่าราชการ จ.ระยอง ได้ทำหนังสือเรียกตัวแทนผู้บริหารของบริษัทอิเล็คโทรลักซ์เข้ามาเจรจากับคนงานในวันพุธที่ 20 ก.พ. 56 นี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายบริหารของบริษัท ทั้งนี้ในการชุมนุมในกรุงเทพฯ คนงานก็ยังคงปักหลักตั้งเต้นท์อยู่ที่สะพานชมัยมรุเชฐ โดยมีนักกิจกรรมและสหภาพแรงงานหมุนเวียนกันเข้าไปให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สังคมวิทยาสงครามว่าด้วย Immortal combat ของมะรอโซ Posted: 17 Feb 2013 04:29 AM PST นักสังคมวิทยามักจะสนใจค้นหาการอธิบายการดำรงอยู่รวมกันของคนในสังคม และชุดของความสัมพันธ์ของสมาชิกที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นความรู้ของนักสังคมวิทยามีอยู่ชุดหนึ่งเรียกว่า 'สังคมวิทยาสงคราม' หรือ sociology of war จะศึกษาเกี่ยวกับสันติภาพ สงคราม และความขัดแย้งในสังคม มีทฤษฏีในการอธิบายและระเบียบวิธีวิจัยเพื่อเข้าใจพลวัตรของความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า การศึกษาความขัดแย้งที่ว่าจะเน้นที่สถาบันที่รับผิดชอบด้านความมั่นคง เช่น ทหาร และความขัดแย้งระหว่างประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ การเคลื่อนไหวด้านการเมือง และกลุ่มศาสนา รวมทั้งสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันของรัฐ หรือองค์กรอิสระ และกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่นี้ลองวิเคราะห์การเข้าจู่โจ่มฐานปฏิบัติการทหารกองร้อยปืนเล็กที่ 2 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือของกลุ่มแนวร่วม ในมุมมองสังคมวิทยาสงคราม โดยแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นสองชั้น คือสิ่งที่เห็นและสิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่เห็น ประการแรก 'เป้าหมาย' การปฏิบัติการในครั้งนี้มีค่อนข้างมีความชัดเจนว่าเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะสถานที่ในการปฏิบัติการเชื่อกันว่าคือทหารกองร้อยปืนเล็กที่ 2 สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ ซึ่งต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในตลาด โรงแรม หรือท้องถนน ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ของคู่ความขัดแย้ง คือ รัฐที่เป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มกับกลุ่มแนวร่วม ตามข่าวที่ปรากฏตามหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รัฐในที่นี้คือ ทหารกองร้อยปืนเล็กที่ 2ฯ และกลุ่มแนวร่วม RKK สิ่งที่เห็น ประการที่สอง คือ 'ใบปลิว' จากกลุ่มแนวร่วมที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอ โดยมีข้อความว่า "การทารุ(น)ณ จับกุม ข่มขู่ ยัดเยียด ซ้อมทรมาน และวิสามัญผู้บริสุทธิ์ในภาวะขัดขืน การจับกุมด้วยการสร้างภาพและตีข่าว (การฆ่าผู้บริสุทธิ์ให้ดูดี) วันนี้เราจะไม่นิ่งนอนใจ เราจะทำการตอบโต้ทุกรูปแบบด้วยกำลังความพร้อมทางอาวุธ กำลังทรัพย์ และทุกมวลชนเพื่อทุกความเจ็บปวด ทุกหยดเลือด ทุกชีวิตที่เกิดจากความรุนแรงของรัฐทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น วันนี้และหลังจากนี้ ชีวิตและลมหายใจที่ประชาชน ครู อาจารย์ ชุมชนไทยพุทธ พวกมันเองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ใช้เส้นทางถนน ชีวิตประจำวัน คุ้มกันอย่างไรก็ตาม เราจะปลิดชีพมัน และทวงคืนทุกชีวิตที่เราสูญเสียไป (หยดเลือดมุสลิมผู้บริสุทธิ์ มีค่ามากกว่าไทยพุทธเป็น 10 เท่า)" Carl von Clausewitz (1976 cited in Scruton, 1987) ได้ให้นิยามสงครามว่า การกระทำที่รุนแรงเกิดจากความต้องการที่จะขจัดคู่ความขัดแย้งออกไป ด้วยวิธีต่างๆ ต่อมานิยามดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นจนกระทั่งหมายถึง 'สู้จนตัวตาย' (fight to the death) โดย Roger Scruton (1987) ให้ความหมายของการต่อสู้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่คนมากกว่าสองคนต้องการจะจบชีวิตของตนลง และเขากล่าวว่า การต่อสู้ดังกล่าวมีหลักคู่ตรงข้ามกันคือ 'ความรักและความเกลียด' (hatred and love) ถ้าการต่อสู้เกิดขึ้นจากความเกลียดและผนวกกับความรัก ผลของทั้งรักและเกลียดจะเป็นตัวที่จบชีวิตของมันเองได้ในท้ายที่สุด ถ้าข่าวรายงานถูกต้อง กรณีการบุกโจมตีฐานปฏิบัติการทหารนำโดย นายมะรอโซ จันทรวดี เป็นผลของทั้งความรักและความเกลียด ความรักในพวกพ้องที่ไม่เห็นชอบและอดทนไม่ได้กับที่ 'กลุ่มผู้บริสุทธิ์' ถูกทารุน จับกุม ข่มขู่ ซ้อมทรมาน จนไปถึงการวิสามัญ และด้วยความรักเช่นนี้ นายมะรอโซ และกลุ่มพรรคพวกจำนวนมากกว่า 50 นาย เปลี่ยนเป็นพลังความเกลียดชังที่มีอำนาจเพียงพอและพร้อมที่จะจบชีวิตทั้งของตนเองและฝ่ายตรงข้ามกับเขาในเวลาเดียวกัน โดยปรากฎผลก็คือ ความพ่ายแพ้ของกลุ่ม RKK และการจบชีวิตลงของกลุ่มแนวร่วมเกือบ 16 ชีวิตที่มีนายมะรอโซเป็นแกนนำ ส่วนสิ่งที่ไม่เห็นคือ 'ชั้นของความทรงจำ' ซึ่งตั้งคำถามโดย Kestnbaum (2009) ว่า สงครามได้เปลี่ยนไปสู่ประสบการณ์ที่เหนือกว่าธรรมดาได้อย่างไร? กรณีของนายมะรอโซ จันทรวดี อายุ 31 ปี ถูกนำเสนอว่าเป็นแกนนำ RKK ตัวจริง และถ้าสมมติว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นายมะรอโซ เมื่อครั้งนั้นมีอายุ 22 ปี ผู้ชายที่อายุ 22 ปี ส่วนใหญ่ทำอะไรกัน? เรียนต่อปริญญาโท หางานทำ แต่งงาน? ถ้าใบปลิวเป็นของกลุ่มนายมะรอโซจริง ก็น่าเชื่อได้ว่า นายมะรอโซและพรรคพวกเติบโตขึ้นมาด้วยความทรงจำที่เชื่อว่า ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐรังแก และที่ผ่านมาการถูกรังแกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ถือว่าพอมีประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ไม่ใช่ถึงกับไม่มีเลย มีเหตุการณ์ไหนบ้างที่ชาวบ้านจะรู้สึกคับแค้นใจกับเจ้าหน้าที่รัฐถึงขนาดสามารถผันตัวไปเป็นกลุ่มแนวร่วม และสามารถลงมือโจมตีฐานทัพ จนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ในรายงานข่าวของเอกรินทร์ ต่วนศิริ เรื่อง "มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK" ถ้ารายงานข่าวเป็นจริง ถ้าเรื่องที่มารดาของนายมะรอโซเล่าเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกรณีตากใบ ที่จับกุมนายมะรอโซซึ่งอ้างว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่ถูกทรมานระหว่างการควบคุม เป็นเรื่องจริง นายมะรอโซและพรรคพวก นอกจากมีชั้นของร่างกายที่เจ็บปวดแล้วยังมีชั้นของความทรงจำที่เจ็บปวดอีกด้วย ความเจ็บปวดเหล่านี้ส่งผลให้นายมะรอโซและพวกต้องการจบชีวิตทั้งของตนเองและฝ่ายตรงข้าม เพียงแต่ว่านายมะรอโซสูญเสียมากกว่า จะว่าไปแล้ว ความทรงจำที่เจ็บปวดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอยู่อีกมาก ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ตากใบเท่านั้น หากจะยังไม่ลืมกัน ยังมีเหตุการณ์การนำเครื่อง GT200 หรือ "เครื่องตรวจร่องรอยสสารระยะไกล" ผลิตโดย Global Technical สหราชอาณาจักร ซึ่งเคยถูกนำมาใช้จำนวนมากโดยกองทัพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ GT200 นี้นำไปสู่การจับกุมประชาชนจำนวนมาก!! โดยที่ชาวบ้านจำนวนมาก ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงเท่าที่ควรเพราะรัฐเองเชื่อเครื่องมือวิทยาศาสตร์ประเภทนี้ มากกว่ากระบวนการสืบค้นข้อเท็จจริงอย่างจริงจังและจริงใจ ภายหลังเครื่องมือดังกล่าวถูกตรวจสอบประสิทธิภาพ โดย ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าอุปกรณ์ประเภทนี้ไม่สามารถใช้งานได้จริง นอกจากนี้ยังมีคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (หน้า 1/1) เรื่อง การทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที ข้อ 3.2 ระงับการนำเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT 200 ไปใช้กับบุคคล GT200 ณ ปัจจุบันนี้ หายเงียบไปแล้วจากสังคมไทย และยังไม่มีใครได้ศึกษาผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงๆ จังๆ !! แต่ที่แน่ๆ มีชาวบ้านที่ถูกเชิญไปพูดคุยที่ทั้งที่ค่ายทหารและที่โรงพักเป็นจำนวนไม่น้อยและนานหลายปี จนนำไปสู่การสร้างข่าวลือในหมู่ของชาวบ้านเองว่า 'ไปแล้วไม่ได้กลับมา' และหลายคนอ้างว่า ตนเองถูกซ้อมและถูกทรมาน ระหว่างการถูกควบคุม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เป็นองค์กรหนึ่งที่ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภายหลังก็มีการจับมือกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อบรมอาสาสมัครในพื้นที่ เรียนรู้การนำหลักนิติวิทยาศาสตร์มาใช้เพื่อการร้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดช่องว่างเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ ถ้ารายงานข่าวของเอกรินทร์ถูกต้อง นายมะรอโซและพรรคพวก ก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม RKK ตั้งแต่ต้น แต่ปัจจัยทางสังคมที่เรียกว่า องค์กรของรัฐ มีส่วนผลักดันให้พวกเขาเหล่านี้อยู่ไปอีกฝ่ายอาจจะโดยไม่เจตนา ข้าพเจ้าเชื่อว่า หลายฝ่ายทำงานกันหนักเพื่ออยากให้ได้สันติภาพคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การทำงานหนักก็ต้องการ การตรวจสอบด้านคุณภาพ เพื่อลดขอบเขตความรุนแรง และปัจจัยทางสังคมอื่นๆ ที่อาจจะทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายขอบเขตโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่สำหรับครั้งนี้ ชีวิตของนายมะรอโซและพวก ได้สร้างความทรงจำอีกชุดใหม่อีกชุดหนึ่งให้กับคนในพื้นที่ โดยได้ผุดความทรงจำอันแสนจะเจ็บปวดเดิม ผสมกับความทรงจำใหม่ โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตและความตายของนายมะรอโซและพวกผนวกเข้าไป ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็น สงครามอมตะ (Immortal combat) ที่ยากจะมีวันตาย บรรณานุกรม Kestnbaum, M. (2009). The Sociology of War and the Military. The Annual Reviews of Sociology. 35. 235-54. Scruton, R. (1987). Note on the Sociology of War. The British Journal of Sociology. 38(33). 295-309. ทวีธรรม ลิมปานุภาพ. (2554). เกาะติดเรื่องราว ไม้ล้างป่าช้าไฮเทคกับ gt200.org (1-4). Update. กรุงเทพ: บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน). เอกรินทร์ ต่วนศิริ. มะรอโซ จันทราวดี จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK. ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ASTVผู้จัดการออนไลน์. พบใบปลิวป้ายสี "รัฐฆ่าผู้บริสุทธิ์" ที่ อ.บาเจาะ จ.นราฯ. ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ส.ว. รสนา เสนอเจรจาพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซช่วงใช้ไฟฟ้าไม่สูง Posted: 17 Feb 2013 01:16 AM PST จากกรณีที่ รมว.พลังงานระบุให้ประชาชนเตรียมรับวิกฤตไฟฟ้าขาด เม.ย.นี้ สาเหตุจากพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซ ส.ว. รสนา เสนอเจรจาพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซช่วงใช้ไฟฟ้าไม่สูงเช่นเดือน ก.พ. หรือ เดือน มี.ค. ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถวางแผนได้ 17 ก.พ. 56 - จากกรณที่ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าในช่วงเดือน เม.ย. นับแต่วันที่ 4 เม.ย. ประเทศไทยอาจพบกับวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุการทิ้งสมอเรือ เป็นผลให้ก๊าซหายไปจากระบบ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับแท่นขุดเจาะก๊าซของประเทศพม่า ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของไทยเกิดการทรุดตัว ต้องหยุดซ่อมบำรุง จะเริ่มในวันที่ 4 เม.ย.นี้ จะทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าหายจากระบบถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแผนรับมือนำโรงไฟฟ้าที่ปิดใช้แล้วกลับมาใช้ผลิตรองรับชั่วคราว แต่คิดว่าไม่เพียงพอ ดังนั้น กระทรวงพลังงานเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉิน ขอความร่วมมือจากภาคประชาชน หน่วยงาน ให้ประหยัดการใช้พลังงานในช่วงดังกล่าว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไปต่อได้ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมใหญ่ ที่กระทรวงพลังงานเพื่อวางแผนซักซ้อมรองรับวิกฤติ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งเจรจากับพม่าให้เลื่อนกำหนดการซ่อมบำรุงท่อก๊าซออกไปเป็นวันที่ 7 - 8 เม.ย. เพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยลงได้ ในอดีตเราก็เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้แต่ไม่หนักเท่า ดังนั้นเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่คนไทยต้องพึงสังวรณ์ เพราะเราพึ่งก๊าซธรรมชาติมากซึ่งก็กำลังจะหมดไปขณะเดียวกันก็มีคนต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สัมปทานก๊าซก็ไม่ให้ต่อ จึงถึงเวลาที่ทุกคนต้องตัดสินใจอนาคตประเทศร่วมกัน ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ในเร็วๆนี้ยังไม่มีโครงการและโอกาสได้ใช้เพราะการศึกษาของไทยในเรื่องดังกล่าวยังไม่เพียงพอ วันนี้ (17 ก.พ. 56) นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภาได้แสดงความเห็นผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กของตนเองต่อกรณีนี้ดังต่อไปนี้ อ่านข่าวที่รมต.พลังงานระบุให้ประชาชนเตรียมรับวิกฤติไฟฟ้าขาดในเดือนเมษายนนี้ สาเหตุจากพม่าปิดซ่อมท่อก๊าซ และอุบัติเหตุจากท่อก๊าซไทย-มาเลเซียขาดเพราะโดนสมอเรือ ต้องปิดซ่อมเช่นกัน อ่านข่าวนี้แล้วมีข้อเสนอดังนี้ 1) รมต.พลังงาน หรือ ปตท.ที่เป็นคู่ค้ากับพม่าควรเจรจาให้พม่ากำหนดเวลาปิดซ่อมท่อก๊าซในช่วงเดือนที่ความต้องการไฟฟ้าไม่สูงมากเช่นเดือนก.พ หรือ เดือนมี.คซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถวางแผนได้ 2) กระทรวงพลังงานควรปรับปรุงระบบการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่เรียกว่า Feed in Tariff ที่่เรารับรูปแบบต่างประเทศมาใช้ แต่รับมาไม่หมด ต่างประเทศจะกำหนดการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนก่อนพลังงานจากเชื้อเพลิงชนิดอื่น และรับไม่อั้น ราคารับซื้อต่อหน่วยจะลดลงทุกปี เพื่อบีบให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาเทคโนโลยี่ให้มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนลดลงเรื่อยๆ แต่ก.พลังงานรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเป็นโควต้า แม้ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนจะสามารถผลิตได้มากขึ้นก็ไม่รับซื้อ อ้างว่าการจ่ายadder 6.50บาทให้กับพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นภาระค่าไฟ ทำให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศต้องพึ่งพลังงานจากก๊าซธรรมชาติถึง80% แล้วก็มักมีปัญหาจากก๊าซขาดเพราะปัญหาทางเทคนิค หรือปริมาณที่คาดการณ์ว่าจะน้อยลง แต่ก็ไม่สนใจพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมาแทนที่ ยังทู่ซี้จะใช้ก๊าซธรรมชาติต่อไป ตอนนี้ก็มีข่าวจะเปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPPขนาด 5,400เมกกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติอีกแล้ว กำลังเร่งรีบจะประมูลกันในเดือนมิถุนายน2556 3)การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้ หลังคาบ้านติดแผงโซล่าเซลล์ มีการส่งเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจังในมาเลเซีย อิตาลี และเยอรมัน ยกเว้นประเทศไทย ทั้งที่ควรส่งเสริมก่อนที่จะส่งเสริมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จาก Solar Farm เพราะลงทุนสูงกว่ามาก แต่ก.พลังงานส่งเสริมการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ด้วยSolar Farm ถึง 99.9% การส่งเสริมการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านเป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด และมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ต้องไปสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่ และจะเป็นมิติใหม่ที่เปลี่ยนโฉมหน้าประชาชน จากการเป็นเพียงผู้บริโภคพลังงานให้เป็นผู้ผลิตพลังงานด้วย ก.พลังงานควรให้แรงจูงใจเพื่อให้คนอยากลงทุนติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน ตั้งแต่การรับซื้อพลังงานที่ผลิตได้จากครัวเรือนเหมือนรับซื้อจากโซล่าฟาร์ม คือ6.50บาทต่อหน่วย แต่ใช้ในราคา 3บาทต่อหน่วย และสนับสนุนแผงโซล่าเซลล์ในราคาถูกเพื่อจูงใจให้ครัวเรืิอนอยากลงทุน ก.พลังงานยังยอมเอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปให้แท๊กซี่เปลี่ยนถังก๊าซเป็น NGV ก.พลังงานยังให้แรงจูงใจกับโรงกลั่นที่ขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นให้คนไทยในราคานำเข้าจากสิงคโปร์ ทั้งที่โรงกลั่นเวลานี้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับ4ของประเทศด้วยมูลค่า 3.98แสนล้านบาทในปี2555 ในขณะที่ข้าวส่งออกแค่ 1.42แสนล้านบาท แต่เราก็ยังทู่ซี่ให้แรงจูงใจโรงกลั่นน้ำมันอย่างไม่ยอมเลิก ก็ควรส่งเสริมประชาชนคนเล็กคนน้อยบ้างเพื่อให้มีส่วนร่วมในการผลิตพลังงาน จะได้ไม่รอเป็นเพียงผู้บริโภคพลังงานเท่านั้น 4) ก.พลังงานควรเปลี่ยนทัศนคติเรื่องรณรงค์ให้คนประหยัดพลังงานที่ใช้แต่งบจัดอีเว้นท์ ให้เป็นเรื่องจริงจังว่าการประหยัดเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน และส่งเสริม โดยมีแรงจูงใจ และมีการวัดผลด้วย ไม่ควรเป็นแค่การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเท่านั้นซึ่งได้ผลน้อย เมื่ออาทิตย์ก่อนอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภาจัดสัมนาเรื่องปฏิรูปนโยบายพลังงาน ประสบการณ์ของไทยและเยอรมัน สมาชิกสภาผู้แทนจากพรรคกรีนเยอรมัน มาเล่าประสบการณ์ ความก้าหน้าของการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนว่า ในปี2000เมื่อเริ่มส่งเสริมมีการจ้างงาน 30,000คน 10ปีต่อมาในปี2010 มีการจ้างงาน 400,000ตำแหน่ง ในปี 2013 การจ้างงานจะสูงถึง 500,000ตำแหน่ง ( รายละเอียดจะเล่าเป็นอีกตอนหนึ่งในภายหลัง) ก.พลังงานควรปรับปรุงก.ม ระเบียบที่เปิดทางให้ประชาชนได้ขยายความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานอย่างจริงจัง ในเมื่อก.พลังงานยังใช้เงินปีละหลายหมื่นล้านบาทชดเชยการใช้ก๊าซ LPGของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ แต่ประชาชนในชุมชนที่ผลิต Biogas ใช้เอง ลดการใช้ก๊าซLPG ของส่วนกลาง ควรมีกองทุนเป็นแรงจูงใจ เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี่การผลิตที่มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น รวมถึงการหาวิธีให้มีการขายเข้าสู่ระบบได้ นี่จะเป็นวิธีการส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขวิกฤติพลังงานได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ: ความสงสัยต่อความรุนแรงในภาคใต้ระยะหลัง... Posted: 17 Feb 2013 12:15 AM PST หลังจากเดินทางมาสอนหนังสือที่ชายแดนภาคเหนือได้เกือบหนึ่งปี ผมห่างเหินกับการติดตามสถานการณ์ทางภาคใต้ไปมาก แต่ความรุนแรงในภาคใต้ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ได้กระตุ้นให้ผมอยากติดตามข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์หลังจากครูชลธีเสียชีวิตและหลังเหตุการณ์ "ผู้ก่อการ" บุกตีค่ายนาวิกโยธินที่ จ.นราธิวาส หลังจากติดตามข่าวได้สักพัก ผมพลันรู้สึกผิดที่รู้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ น้อยมากและสถานการณ์มันต่างไปจากความคุ้นเคยของผมไปพอสมควร ผมมีเพื่อนสนิทหลายคนที่นั่น ขณะที่ตัวเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางอุตสาหกรรมงานวิจัยในภาคใต้ คงมีแต่การตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ความรุนแรงนี่แหละที่จะเป็นการชดเชยอะไรได้บ้าง ข้อแรก ผมเห็นด้วยกับการตั้งข้อสังเกตเรื่องการสู้รบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใตในระยะหลังของ อ.เกษียร (ซึ่งปรากฏในสเตตัสของเขา) โดยเฉพาะแง่มุมที่ว่าในระยะหลังปีกทางทหารของผู้ก่อการมีพลังเหนือกว่าปีกการเมือง รวมไปถึงการพยายามเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางการเมืองมากกว่าการทหาร แต่อย่างไรก็ตามความเห็นที่ว่า มวลชนในพื้นที่เริ่มตีตัวออกห่างผู้ก่อการนั้นออกจะสำเร็จรูปไปสักนิด ทั้งนี้ ผมมิได้หมายความว่ามวลชนและผู้ก่อการมีความเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ก่อการกับ "มวลชน" นั้น ค่อนข้างสลับซับซ้อน เพราะมวลชนไม่จำเป็นต้องเห็นร่วมกับผู้ก่อการเสมอไปในทุกเรื่อง หากคือกลุ่มคนที่พร้อมรู้สึกร่วมในบางเรื่อง และพลังของความรู้สึกนี่แหละที่ประมาทไม่ได้ ข้อสอง สืบเนื่องจากข้อแรก พลังของความรู้สึกหรือพลังทางอารมณ์ อาทิ คับแค้น อับอาย ไม่เท่าเทียม ความรู้สึกต่อความอยุติธรรม รวมไปถึง Islamic sentiment และAnti-Islamic sentiment ล้วนส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ให้มีความชอบธรรมในการกระทำความรุนแรง สนับสนุนหรือต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการได้ เช่น ไม่เห็นด้วยที่ผู้ก่อการวางระเบิดทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์ แต่รู้สึกคับแค้นที่เห็นเพื่อนมุสลิมถูกทหารเข่นฆ่า สถานะภาพของคำว่ามวลชนจึงเป็นเส้นแบ่งเบาบาง แต่ความบางนั้นส่งผลให้เกิดความรุนแรงที่ยากคาดเดา เราจึงไม่น่าจะสร้างกรอบกว้างๆ เพียงแค่ปีกการเมืองและปีกทหาร เพราะเหมือนจะเป็นการอภิปรายขั้นพื้นฐาน ในช่วงสามถึงสี่ปีแรกของเหตุการณ์ความรุนแรงนับจากปี 2547 ข้อสาม ผมคิดว่าความรุนแรงในระยะหลังนี้สะท้อนข้อจำกัดการพยายามทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ระยะสั้นในภาคใต้หรือความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเป็นอย่างมาก เรารู้น้อยเกินไป ท่ามกลางการตอกย้ำหรือพยายามอธิบายในกลุ่มคำสำคัญที่จำกัด เช่น ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีกับรัฐไทย อัตลักษณ์มลายู (ผมก็อยู่กลุ่มนี้) ชีวิตในความรุนแรง การปรับตัว การแก้ไขความรุนแรง กลุ่มขบวนการ การสร้างสันติสุข เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงที่ยังเป็นปริศนาคือความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างรัฐไทย คนในท้องถิ่น และ "กลุ่มผู้ก่อการ" (ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอีกมากเรื่องนิยามและความหมาย) แต่เราอาจเรียกได้ว่าในรอบเกือบทศวรรษมานี้แทบไม่มีการพยายายามทำความเข้าใจว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความคลี่คลายและแปรผันอย่างไร ผมคิดว่าจากเหตุการณ์ความรุนแรงในระยะหลัง พวกเราน่าจะกลับไปเริ่มต้นวิเคราะห์จากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปัตย์ของรัฐไทย อำนาจอธิปัตย์ของรัฐปาตานี และบรรดากลุ่มคนที่อยู่ท่ามกลางอำนาจทั้งสอง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเชิญชวนกันจัดเวทีโดยเชิญ อ.อนุสรณ์ มาวิเคราะห์ปัญหานี้กันดีกว่า ข้อสี่ กรณีความตายของคุณมะรอโซก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าพลังของความรู้สึกและนิยามความหมายของคำว่ามวลชนนั้นเบาบางเพียงไร ด้านหนึ่งวิธีการเล่าเรื่องของ Patani Forum สะท้อนถึงวิธีการเล่าเรื่อง "ฮีโร่" ท้องถิ่นที่ต่อสู้กับรัฐที่ไม่เป็นธรรม พล็อตแบบนี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเล่าและส่งต่อกันมาหลายรุ่น คำถามคือ ทำไมการเล่าพล็อตที่ซ้ำไปซ้ำมาแบบนี้ยังคงมีพลัง จากประสบการณ์ภาคสนามที่ผ่านมานานแล้วของผม ก็มักปรากฏการเล่าเรื่องฮีโร่แบบนี้ในแทบทุกท้องถิ่น ทั้งฮีโร่ที่มีชื่อเสียงและไร้นาม ข้อห้า กรณีความตายของคุณมะรอโซรวมไปถึงคนที่เสียชีวิตอีกนับสิบนั้น นับเป็นความตายที่เกี่ยวพันกับตัวแทนอำนาจและสัญลักษณ์ทางอำนาจของรัฐไทยอย่างเลี่ยงมิได้ อาทิ ครู และค่ายทหาร ไม่แปลกที่สื่อกระแสหลักและนักวิเคราะห์จะมุ่งกระแสข่าวยืนยันถึงสถานะภาพของผู้ก่อการ แต่การหลงลืมพลังของความรู้สึกที่เป็นภูมิหลัง ก็จะรังแต่เอาไฟไปสุมไฟ มิใช่การดำเนินการภายใต้แนวทางการเมืองที่ดี ศอบต.และรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร จะสามารถห่วงใยความรู้สึกและดูแลชีวิตของพ่อแม่หรือลูกเมียของบุคคลที่ตนเองเชื่อว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ได้เท่าเทียมกับ "คนไทยทั่วๆไป" ได้ไหม หรือจะเดินตามเกมส์ของทหารคือตาต่อตาฟันตาฟัน ข้อหก กรณีใบปลิวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ผมคิดว่ามันมีความชัดเจนมาก คือการสื่อสารกับชาตินิยมไทย ซึ่งมันมีความซับซ้อนในตัวเอง กล่าวคือ เมื่อก่อนใบปลิวของกลุ่มก่อการมักเขียนเป็นภาษายาวีซึ่งเน้นสื่อสารและปลุกเร้าคนที่อยู่ในศาสนาและชาติพันธุ์เดียวกัน ใบปลิวที่เน้นการสื่อสารเป็นภาษาไทยนั้นมิได้ต้องการสื่อกับคนไทยพุทธเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเตือนและตั้งคำถามต่อบรรดาคนมลายูมุสลิมที่มีสำนึกชาตินิยมไทยว่าคุณคือใครด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในบรรทัดสุดท้ายซึ่งผมคิดว่าเป็นถ้อยคำที่แหลมคมและเปราะบางมาก สุดท้ายผมนึกถึงฉากที่นายกยิ่งลักษณ์สวมผ้าคลุมผมสีแดงเดินลงจากเครื่องบินโดยมีบรรดาสตรีมุสลิมยืนต้อนรับ เธอเดินพบปะกับบรรดาสตรีมุสลิมและถูกเรียกในภาษาอาหรับว่า ยามีล่ะห์ (แปลว่าสวยงาม) ภาพเหตุการณ์เหล่านี้มีพลังมาก เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่เหนือชั้น เพราะมันสลายคำว่าการเมืองในความหมายของการแสแสร้งไปสู่การเปิดใจยอมรับ ทำไม นักการเมืองและทีมงานจึงคิดเรื่องนี้ขึ้นได้ตอนหาเสียง แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรง แผนดำเนินการทางการเมืองกลับถอยร่นเข้าคลอง หรือว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้ รัฐบาลไม่มีอารมณ์และไม่มีพลังทางความรู้สึก ผ้าคลุมผมของยิ่งลักษณ์ก็ช่างคล้ายคลึงกับพวงดอกไม้ของ อองซาน ซูจี ผมภาวนาว่าอย่าได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเลย เพราะยามที่ อองซาน ซูจี เหน็บพวงดอกไม้สวยงามไว้ที่มวยผม ดอกหญ้าไร้นามยังคงย่อยยับไปเรื่อยๆ ยามที่ยิ่งลักษณ์มิได้ชายตามองผ้าคลุมผืนนั้นอีกแล้ว ใต้ผ้ายังคงปรากฏน้ำตา รอยเลือด และความคั่งแค้นอยู่ภายใน หมายเหตุ: ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เป็นนักวิจัยในโครงการกลุ่มวิจัยความขัดแย้งและพหุวัฒนธรรม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และอาจารย์ประจำ สาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษา วิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ครก. 112 แถลง โต้ประธานรัฐสภา ปัดตกขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญาม. 112 Posted: 16 Feb 2013 11:06 PM PST ครก.112 เตรียมส่งหนังสือโต้แย้งคำสั่ 13.00 น. วันที่ 17 ก.พ.2556 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. และ วาด รวี นักเขียนจากคณะแสงสำนึกตัวแทน คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 (ครก. 112) ร่วมกันแถลงโต้ประธานรัฐสภา ที่พิจารณาไม่รับข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่ง ครก. 112 ได้รณรงรงค์รวบรวมรายชื่อได้กว่า 30,383 คน พร้อมร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยประธานรัฐสภาบอกปัดโดยบอกว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้อยู่ในหมวดที่ประชาชนสามารถเข้าชื่อแก้ไขได้เพราะไม่อยู่ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและ หมวด 5 ที่ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในหมวด 2 โดยอ้างอิงกับมาตรา 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้พระมหากษํตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้" ยุกติ ระบุว่า ตามร่างฯ ที่ทาง ครก. เสนอไปนั้นไม่ได้แปลว่าจะทำให้ประชาชนสามารถละเมิดกษัตริย์ได้โดยเสรีไม่มีความผิด แต่ทางครก. เห็นว่าข้อโต้แย้งของประธานสภาบิดเบือน และไม่เข้าใจร่างฯ ที่ครก. เสนอไป และย้ำว่า มาตรา 112 ถูกนำไปใช้ในการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือแมแต่ในทางส่วนตัวไม่ได้ถูกใช้ในการปกป้องสถาบัน ยุกติกล่าวต่อไปว่า การใช้มาตรา 112 ถูกใช้ไปในทางละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายประการ ได้แก่ การจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แม้ว่าประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมูญใยนการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นโดยสุจริต ประการต่อมาคือการริดรอนสิทธิในร่างกาย มีการจำกัดสิทธิในการสู้คดีของผู้ต้องหา มีการริดรอนสิทธิจากการถูกจับกุมคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัว และโอกาสที่จะรวบรวมพยายามหลักฐานในการสู้คดีก็มีน้อยกว่าคดีอื่น อีกประการคือ มาตรานี้มีโทษสูงเกินไปไม่ได้สัดส่วนความผิดที่มีอยู่ เมื่อเทียบกับตัวกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทอื่นๆ หรือเมื่อเทียบกับนานาอารยะประเทศ สัดส่วนของโทษอันเนื่องจากมาตรา 112 สูงกว่าทุกประเทศในโลกที่ใช้กฎหมายนี้ ครก. จึงเห็นว่าร่างฯ ที่นิติราษฎร์ร่างมานั้นจะช่วยแกปัญหาได้ โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 3 วาด รวี กล่าวว่า สิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่กล่าวว่า พระมหากษํตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ นั้นทางเราเห็นว่าประธานสภาอ้างผิด คำว่า ผู้ใดจะละเมิดมิได้ นั้นหมายถึงไม่มีผู้ใดจะฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ได้ เพราะไม่ได้ทรงดำเนินการใดโดยลำพังต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ การดำรงฐานะอยู่ในที่เคารพสักการะ เป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายในลักษณะประกาศ ไม่ได้บังคับบุคคลให้ต้องกระทำ ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิของบุคคลได้ การใช้มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญในหลายข้อหลายมาตรา และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่าง ครก. ที่เสนอไปนั้นพื่อแก้ไขปัญหานี้ เราจึงได้ทำหนังสืออุทธรณ์คำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา และหนังสือนี้จะไปถึงประธานรัฐสภาต้นสัปดาห์หน้าเป็นอย่างช้า เพื่อให้ประธานสภาได้วินิจฉัยอีกครั้ง ถ้ายังยืนยันตามความเห็นเดิม ต้องปฏิบัติใหม่ให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. วิธีปกครองฯ และ พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ คือต้องยกให้ตัวแทนผู้ยื่นหนังสือของครก. 112 เข้าพบและเปิดโอกาสให้ตัวแทนได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและโต้แย้งแสดงเหตุผลอย่างเต็มที่ก่อนมีคำสั่ง ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'อเมซอน' ถูกกล่าวหาจ้างยามนีโอนาซี คุมลูกจ้างต่างชาติในเยอรมนี Posted: 16 Feb 2013 08:05 PM PST สารคดีทีวีเยอรมันเผย 'อเมซอน' บริษัทอีบุ๊คและสินค้าออนไลน์จ้างยามเป็นกลุ่มนีโอนาซีคอยจับตาดูและข่มขู่คนงานจากต่างประเทศที่มาทำงานในสายงานบรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่ายในเยอรมนี ซึ่งทางอเมซอนออกมายอมรับว่าจะตรวจสอบในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ ARD ของประเทศเยอรมนีได้เผยแพร่สารคดีซึ่งมีการกล่าวหาว่าบริษัทขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังอย่างอเมซอนจ้างยามรักษาความปลอดภัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลัทธินีโอนาซี (หรือกลุ่มนาซีใหม่ที่พยายามรื้อฟื้นแนวคิดเหยียดเชื้อชาติของนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) เพื่อข่มขู่คนงานต่างชาติ อเมซอนมีศูนย์การบรรจุหีบห่อและจัดจำหน่ายในเยอรมนีซึ่งมีลูกจ้างชั่วคราวทำงานอยู่มากกว่า 5,000 คน ในสารคดีเผยให้เห็นยามรักษาความปลอดภัยมีอยู่ทั่วทุกที่ พวกเขามาจากบริษัทรักษาความปลอดภัย HESS ที่มีชุดฟอร์มสีดำและตัดผมทรงทหารและถูกสงสัยว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มนีโอนาซี ยามกลุ่มนี้ถูกจ้างให้รักษาระเบียบคนงานในหอพักและโรงแรมราคาถูกที่คนงานต่างชาติพักอาศัยอยู่ ซึ่งผู้ดำเนินรายการบอกว่าคนงานจำนวนมากกลัวยามกลุ่มนี้ สารคดีได้เผยแพร่หลักฐายภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่ายามมักจะคอยตรวจค้นที่นอนและครัวของคนงานต่างชาติ มีคนงานบางส่วนถูกค้นตัวเพื่อตรวจหาว่าพวกเขาไม่ได้ขโมยขนมปังที่เป็นอาหารเช้าไป"พวกเขาบอกเราว่าพวกเขาเป็นเหมือนตำรวจของที่นี่" คนงานหญิงชาวสเปนกล่าวตัดพ้อ คนงานอีกคนหนึ่งชื่อมาเรียเล่าว่าเธอถูกไล่ออกจากกระท่อมรูหนูที่ร่วมเช่ากับคนอีก 5 คนหลังจากที่เธอพยายามทำให้ผ้าแห้งด้วยเครื่องทำความร้อนติดกำแพง เธอเล่าว่าเธอเผชิญหน้ากับยามรูปร่างล่ำสันและมีรอยสักซึ่งบอกให้เธอออกไป จากนั้นจึงพยายามข่มขู่เธอในขณะที่กำลังเก็บของด้วยการเปิดไฟหน้ารถใส่ ยามหลายคนใช้เสื้อผ้ายี่ห้อ Thor Steinar ซึ่งเป็นยี่ห้อของดีไซเนอร์ขวาจัดในเยอรมนี โดยที่ทั้งสมาคมฟุตบอลลีคบุนเดสลิก้าและรัฐสภาเยอรมนีสั่งห้ามยี่ห้อนี้เนื่องจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับนีโอนาซี ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2009 อเมซอนก็เคยสั่งห้ามขายเสื้อยี่ห้อดังกล่าวด้วยเหตุผลเดียวกัน โทรทัศน์ช่อง ARD กล่าวว่า ชื่อของบริษัทรักษาความปลอดภัย HESS Security เป็นการอ้างถึงชื่อรูดอล์ฟ เฮส (Rudolf Hess) มือขวาของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และมีผู้อำนวยการบริษัทคือชายที่ชื่ออูเว แอล ผู้ที่ตำรวจรู้จักดีในฐานะอันธพาลฟุตบอลและผู้มีแนวคิดนีโอนาซี ผู้สร้างสารคดีซึ่งเข้าไปพักอยู่ในโรงแรมราคาถูกแห่งเดียวกับที่คนงานอเมซอนพักอยู่ถูกยามของบริษัท HESS จับได้และสั่งให้ยกฟิล์มให้พวกเขา แต่ผู้ทำสารคดีปฏิเสธจึงถูกกักตัวอยู่ราวหนึ่งชั่วโมงก่อนที่ตำรวจจะเข้ามาปล่อยตัวพวกเขา ภาพจากฟิล์มแสดงให้เห็นยามต่อสู้กับช่างกล้องเพื่อพยายามปิดหน้ากล้อง ARD เปิดเผยว่าคนงานชั่วคราวของอเมซอนทำงานกะละ 8 ชั่วโมง ในสายงานบรรจุหีบห่อที่ศูนย์ของเมืองบาด เฮร์สเฟลด์, คอนสตานซ์ และออกสเบิร์ก หลายคนต้องเดิน 17 ก.ม. เพื่อไปทำงานหนึ่งกะและอาจถูกเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ พวกเขาบอกอีกว่าพวกเขาถูกตัดค่าแรงลดต่ำกว่าที่สัญญาไว้ตอนที่สมัครกับอเมซอน "พวกเขาไม่มีวิธีการใดเลยที่จะร้องเรียน" ไฮเนอร์ ไรมานน์ โฆษกสหพันธ์แรงงานประเทศเยอรมนี (Ver.di) กล่าว "พวกเขาทั้งหมดกลัวว่าจะถูกส่งกลับบ้านโดยไม่มีงานทำ" จากข้อกล่าวหาของช่องโทรทัศน์ ARD ทางบริษัทรักษาความปลอดภัย HESS ยังไม่ออกมาโต้ตอบใดๆ แต่ขณะเดียวกันข้อกล่าวหาก็ทำให้หน้าเฟซบุ๊คของบริษัทอเมซอนเต็มไปด้วยคำวิจารณ์ต่อว่า ทำให้ทางอเมซอนออกมาเปิดเผยว่าพวกเขาจะตรวจสอบในเรื่องนี้ "แม้ว่าทางอเมซอนจะไม่ได้ติดต่อสัญญากับบริษัทรักษาความปลอดภัยดังกล่าวโดยตรง แต่แน่นอนว่าพวกเรากำลังตรวจสอบข้อกล่าวหาด้านพฤติกรรมของยามรักษาความปลอดภัยตามที่ถูกกล่าวหามา และจะดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมโดยทันที พวกเราจะไม่ยอมให้มีการกระทำเชิงเหยียดหยามและข่มขู่เกิดขึ้นต่อไป" อเมซอนกล่าว
Amazon 'used neo-Nazi guards to keep immigrant workforce under control' in Germany, The Independent, 14-02-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น