โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

คนจนไร้ที่ดินใต้หนุน ‘ชาวบ้านบ่อแก้ว’ ร้องสิทธิ์ใช้ไฟ้ฟ้า-มีที่ดินทำกิน

Posted: 13 Feb 2013 12:26 PM PST

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด-สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หนุนการชุมนุมเพื่อทวงคืนผืนดินให้สำเร็จ ระบุหากทาง อ.อ.ป.ยังไม่คืนผืนดินให้กับชาวชุมชนบ่อแก้ว จะมีการรวมตัวมาร่วมชุมนุมด้วย

 
วันที่ 13 ก.พ.56 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมยืดเยื้อเป็นวันที่ 3 ของชาวบ้าน ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ร่วม 100 คน ที่บริเวณที่ทำการอำเภอคอนสาร โดยช่วงเช้าชาวบ้านได้ร่วมกันทำความสะอาด จัดตั้งที่ชุมนุมใหม่ให้กลายเป็นค่ายดูมั่นคง มีการตั้งเต็นท์โรงครัว และทำป้ายกระดานข่าว เพื่อติดตามข่าวสาร รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลให้แก่คนที่มาติดต่อราชการและเจ้าหน้าที่อำเภอ
 
สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เนื่องจากถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) สั่งให้รื้อถอนไฟฟ้าซึ่งติดตั้งอยู่ในชุมชนพื้นที่พิพาทกรณีสวนป่าคอนสาร โดย อ.อ.ป.ได้ทำหนังสือไปถึงผู้จัดการการไฟฟ้าสาขาย่อยคอนสารขอให้ทำการยกเลิกและรื้อถอนระบบไฟฟ้าในชุมชนบ่อแก้ว รวมทั้งยังได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจภูธรคอนสาร เมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 เพื่อกดดันชาวบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้ส่งแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนการชุมนุมเพื่อทวงคืนผืนดินให้สำเร็จ พร้อมระบุด้วยว่าหากทาง อ.อ.ป.ยังไม่คืนผืนดินให้กับชาวชุมชนบ่อแก้ว จะมีการรวมตัวของคนจนไร้ที่ดินจากทั่วประเทศมาร่วมชุมนุมด้วย
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
แถลงการณ์
สิทธิในการพัฒนา  กระแสไฟฟ้าคือความจำเป็นพื้นฐาน
 
ถึง พี่น้องบ่อแก้ว และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ทุกท่าน
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ขอส่งความปรารถนาดี และกำลังใจ มายังพี่น้องชาวบ่อแก้ว และ คปอ. ทุกท่าน ที่กำลังปฏิบัติภารกิจในการเรียกร้องสิทธิ
 
ชาวบ้านบ่อแก้ว ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาน จังหวัดชัยภูมิ ในฐานะคนจนไร้ที่ดิน ใช้เวลายาวนานและใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวดในการตรวจสอบ และปฏิบัติการโต้แย้งสิทธิในที่ดินโดยสันติวิธี เป้าหมายคือ ปฏิรูปที่ดิน กระจายสิทธิการถือครอง และรับรองสิทธิฯ โดยระบบที่เป็นธรรมและมั่นคง นี่ย่อมเป็นเป้าหมายที่มุ่งไปที่ประโยชน์สาธารณะ แต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ยังคงผูกขาดการครอบครองที่ดินแปลงใหญ่เพื่อการปลูกสร้างสวนป่าไม้โตเร็วเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการค้า การแสวงหากกำไร
 
สองด้านนี้สวนทางกัน ปะทะขัดแย้งกันอย่างแหลมคม ฝ่ายหนึ่งมีที่ดินทั่วประเทศนับแสนไร่ อีกฝ่ายระบุความต้องการต่อลมหายใจเพียงพันไร่เศษ แตกต่างห่างไกลราวฟ้ากับดิน ฝ่ายใดชูธงคุณธรรมย่อมยืนยง ฝ่ายใดที่ขัดขวางเท่ากับเร่งเร้าวันแตกหัก
 
เพียงแค่กระแสไฟฟ้า เพื่อโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาอาชีพ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ เหตุใดต้องขัดขวาง  ข้อพิพาทสิทธิในที่ดินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไฟฟ้าต้องมาก่อน
 
อ.อ.ป. เป็นเจ้าของแผ่นดินนี้มาแต่ปางไหน ใครกันเล่าหักร้างถางพงลงแรง  ใครกันเล่าเข้ามาชุบมือเปิบ บ้านเมืองนี้ใครสร้างใครเลี้ยง หากมิใช่ประชาชนผู้ใช้แรงงาน เสียงใดเล่าคือเสียงสวรรค์ หากมิใช่เสียงประชาชน สิทธิในการพัฒนา คือสิทธิในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน
 
เมื่อมีความขัดแย้ง หน้าที่ของรัฐบาลต้องแสวงหาทางออกที่ทำให้การอยู่ร่วมในสังคมมีดุลยภาพ และสงบสุข ในเร็ววัน
 
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเลือกระหว่างการอุ้มชูให้ อ.อ.ป. ได้เสวยสุขจากทรัพยากรของชาติของประชาชนต่อไป กับ การสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนได้กินอิ่มนอนอุ่น ได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
 
รัฐบาลต้องดำเนินการให้ประชาชนตระหนักและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจตามครรลองประชาธิปไตย กับรัฐบาลที่คลอดออกมาจากค่ายทหาร มีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัด แตกต่างถึงขั้นที่สัมผัสได้ว่า ประชาธิปไตยทำให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นจริง
 
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของท่านทุกประการและหวังว่าการผลักดันเพื่อความก้าวหน้า  ของชุมชนในครั้งนี้จะบรรลุผลในเร็ววัน
 
 
คนจนทั้งผองเป็นพี่น้องกัน
ด้วยความสมานฉันท์
สุรพล สงฆ์รักษ์
สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
แถลง ณ  วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๖
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ต้องโทษฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน

Posted: 13 Feb 2013 06:18 AM PST

ข้อเสนอให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ต้องโทษฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน กำลังทำให้ข้อเรียกร้องการนิรโทษกรรมบิดเบี้ยว ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่า พรรค ปชป.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

นักวิชาการอิสระ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ก็เสนอว่าให้ออก พ.ร.บ. เป็นสองฉบับ ๆ แรกนิรโทษคนที่ทำความผิดเล็ก ๆ เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ส่วนคนที่โดนคดีอาญาอื่น ๆ ต้องมาดูอีกทีว่าจะให้นิรโทษหรือไม่

ก่อนที่ใครจะเสนออะไรนั้น ควรต้องทำความใจข้อมูลเบื้องต้นเสียก่อน

ประการแรก  บรรดาผู้ชุมนุม 1,019 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ในขณะนี้ พวกเขาได้พ้นโทษไปหมดแล้ว! (มีทั้งโทษปรับ จนถึงจำคุก 6 เดือน- 1 ปีครึ่ง)

คนกลุ่มนี้จึงไม่ใช่เป้าหมาย "เร่งด่วน" ของการเคลื่อนไหวให้นิรโทษกรรมที่นำโดยกลุ่ม "แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง"

แน่นอนว่า คนกลุ่มนี้ก็สมควรได้รับนิรโทษกรรม "ลบล้างความผิด" ให้กับพวกเขา เพราะข้อมูลที่ ศปช.รวบรวมขึ้นมา ชี้ว่าขั้นตอนการจับกุมและดำเนินคดีมีปัญหามาก มีการซ้อมทรมานในระหว่างการจับกุม, เจ้าหน้าทีสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงภาพถ่ายในบริเวณที่ชุมนุม, ตำรวจจูงใจว่าหากรับสารภาพ ศาลก็จะรอลงอาญาเพราะโทษไม่สูง แต่ปรากฏว่ากลับถูกตัดสินจำคุกโดยศาลใช้เวลาพิจารณาไม่กี่นาที

ข้อหาที่ติดตัวคนเหล่านี้จะกลายเป็นตราบาป สร้างความลำบากในอาชีพการงานให้กับพวกเขาอย่างยิ่ง จึงสมควรนิรโทษกรรมให้กับคนเหล่านี้ด้วย แต่มันเป็นการนิรโทษกรรม "ย้อนหลัง" ลบล้างความผิด ที่ยังพอรอกันได้

แต่เป้าหมาย "เร่งด่วน"ของการนิรโทษกรรม คือ ชาวบ้านธรรมดาที่ยังติดอยู่ในคุกอีก 20 คน ที่โดนฟ้องด้วยข้อหาหนัก เช่น เผาทำลายสถานที่ราชการ เผาเซ็นทรัลเวิรล์ด ก่อการร้าย  มีอาวุธในครอบครอง ก่อความวุ่นวาย บุกรุก ฯลฯ ในจำนวนนี้  ศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว 18 คน ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 6-35 ปี ส่วนอีก 2 คนอยู่ในศาลชั้นต้น

ชะตากรรมที่ไร้อนาคตของคนเหล่านี้ต่างหากที่เรากำลังเรียกร้องให้นักการเมืองและสังคมหันมาเหลียวแล

การบอกว่า "คนเผา" ไม่สมควรได้รับนิรโทษกรรม ก็เป็นการพูดโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงหลายประการ (กรุณาดูข้อมูลเหล่านี้ในรายงานของ ศปช. "ความจริงเพื่อความยุติธรรม") ได้แก่

  • คดีเผาศาลากลาง จ.อุบล ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยก่อเหตุเผาอย่างชัดเจน ศาลจึงใช้พยานหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย ประกอบคำรับสารภาพหรือลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายในชั้นสอบสวนเป็นสำคัญ
  • แม้ภาพถ่ายจำเลยจะบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่ากำลังกระทำการอะไรที่เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ศาลากลาง แต่ศาลก็ไม่ได้วินิจฉัยยกประโยชน์ให้จำเลย เนื่องจากศาลปักใจเชื่อว่าการที่จำเลยมีภาพถ่ายเกาะกลุ่มร่วมกับกลุ่มคนที่บุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินและเผาศาลากลางหลายภาพ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรู้เห็น และมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • แม้ว่าพยานฝ่ายโจทย์ เบิกความที่เป็นคุณต่อจำเลย ศาลกลับไม่หยิบมาเป็นเหตุผลประกอบการวินิจฉัย เช่น กรณีนายสนอง เกตุสุวรรณ์ ศาลชั้นต้นลงโทษถึง 34 ปี ข้อหาร่วมกับพวกเผาศาลากลางอุบล แม้ว่า จสอ.พัสกร อุ่นตา จนท.กอ.รมน. เบิกความว่า หลังจากที่เขาเห็นบุคคลกลุ่มหนึ่งพยายามทำการเผาอาคาร เขากับนายสนอง จึงเข้าไปในตัวอาคารเพื่อช่วยดับไฟ แต่ศาลก็ยังตัดสินให้นายสนองมีความผิดอยู่ดี
  • กรณีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด ประชาชนจำนวนมากถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและตกเป็นจำเลย เพียงเพราะมีภาพถ่ายอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเท่านั้น
  • หลายรายศาลยกฟ้อง แต่กว่าจะยกฟ้อง พวกเขาติดคุกอยู่เป็นปี ไม่ได้รับการประกันตัว ไม่มีการเยียวยา


กรณีการเผาเซ็นทรัลเวิล์ด

  • มีคนถูกสั่งฟ้องทั้งหมด 9 คน ยกฟ้องไปแล้ว 7 คน ยังคงเหลือนายสายชล แพบัว   นายพินิจ จันทร์ณรงค์
  • ล่าสุด รายงานข่าวจากประชาไท http://prachatai.com/journal/2013/01/45013 ระบุว่าเมื่อวันที่ 28 มค.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร เลขาธิการสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลฯ มากว่า 20 ปี ได้เป็นพยานในการพิจารณาคดีของนายสายชล เขาได้ระบุว่า คนเสื้อแดงทั้ง 9 คนนั้น ไม่มีความสามารถจะเผา CTW ได้ เพราะมีระบบป้องกันที่ดีที่สุดในเอเชีย

พ.ต.ท. ชุมพลกล่าวว่า "ตลอดเวลา 2 เดือนเต็มๆเราได้ประสานไมตรีกับผู้ชุมนุมมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพวกการ์ดแทบจะรู้จักกันทุกคน แต่ในวันเกิดเหตุเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ขอบอกว่าไม่เห็นหน้าคนเหล่านั้นเลย มีแต่พวกที่เรียกตัวเองว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่าย กลุ่มนี้แหละที่เขาบอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อการร้ายที่แม้แต่ตำรวจและทหารก็ไม่กล้าแตะ ถ้าแตะมันก็ต้องมีศพกันบ้างหละ แต่นี่ไม่ คนกลุ่มนี้เข้าออกในที่เกิดเหตุโดยไม่มีใครกล้าทำอะไรพวกเขา เจ้าหน้าที่มีข้อมูลทุกอย่างแต่ทำไมถึงจับคนร้ายไม่ได้"

"ประมาณ 15.00 น. จากกล้อง CCTV เห็นว่ามีกลุ่มคนประมาณ 7-8 คน แต่งกายคล้ายทหารและมีอาวุธด้วยเข้ามาทางด้านห้างเซ็นทรัลเวิลด์รปภ. พยายามต้านทานไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาแต่กลับถูกปาระเบิดใส่ ตำรวจในเครื่องแบบเข้ามาช่วยก็ยังต้องถอนกำลังออกไป"

ทนายยังได้นำภาพผู้ถูกจับกุม 9 คน ให้ พ.ต.ท.ชุมพลดู เขาได้ยืนยันต่อศาลว่า 9 คนนี้เป็นพวกที่หลบอยู่ในห้างไม่มีอาวุธและไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอาวุธดังกล่าว โดยเขาได้รับการยืนยันจากหัวหน้า รปภ.ที่อยู่ในที่เกิดเหตุด้วย

"ทีมงานเราอยู่ภายในถ้าไม่ไล่เราออกไป มันเรื่องเล็กสำหรับไฟขนาดนั้น ในอาคารมีอุปกรณ์พร้อม น้ำในห้างก็มีจำนวนมหาศาลทั้ง 3 อาคารเชื่อมต่อกัน ระบบแรงดันน้ำภายในห้างก็ใช้ได้ ถ้าไม่ไล่เราออกไม่มีทางจะไหม้ ส่วนคนที่ไล่เราออกไปนั้นคือกลุ่มคนที่มีอาวุธ มีการโยนระเบิด ขนาดตำรวจยังต้องหนี.... "ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เขาไม่เคลียร์พื้นที่ให้กับทีมดับเพลิง ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น"พ.ต.ท.ชุมพล กล่าว

ฉะนั้น ข้อหา "เผาบ้านเผาเมือง" อาจเปลี่ยนจากคนเสื้อแดง เป็นชายในชุดพรางกายแทนก็ได้ แต่สังคมก็เชื่อกันไปแล้วว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน

ที่จริงข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจับกุมและดำเนินคดีร้ายร้ายต่าง ๆ ยังมีอีกมาก แต่ข้อมูลแค่ที่ยกมาให้ดูข้างต้นก็ชี้ได้ว่า กระบวนการยุติธรรมปกติที่ปฏิบัติต่อคนเสื้อแดงนั้นมีปัญหามาก ๆ การเรียกร้องให้นิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องของการช่วยคนผิดให้กลายเป็นถูก ไม่ใช่ "พวกมากลากไป" ที่ไม่สนใจหลักความถูกต้องชอบธรรมใด ๆ

เมื่อกระบวนการยุติธรรมปกติไม่สามารถบรรเทาความขัดแย้งให้กับสังคมได้  เราจึงจำเป็นต้องหันไปใช้กระบวนการทางการเมืองแก้ปัญหาแทน

ประการสำคัญ แรงจูงใจของการกระทำของคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมใน เมษา-พค. 2553 เป็นเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลเพื่อก่ออาชญากรรมกับใครหรือสถานที่ใดเป็นการส่วนตัว พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ รบ.ในขณะนั้น ยุบสภา-เลือกตั้ง   ความรุนแรงใดๆ ที่เกิดจากผู้ชุมนุมก็เป็นผลของอารมณ์โกรธแค้นที่เกิดขึ้นในช่วงนาทีวิกฤตนั้น ๆ  และในทางกลับกัน สังคมต้องมองการใช้ความรุนแรงของรัฐ ที่มุ่งปราบปรามคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ในฐานะปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ชุมนุมด้วย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. : วรัญชัย-พงศพัศ-โฆษิต-เสรีพิศุทธิ์-สุขุมพันธุ์-สุหฤท

Posted: 13 Feb 2013 05:27 AM PST

ดีเบตวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร – พงศพัศ พงษ์เจริญ – เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส – สุหฤท สยามวาลา – วรัญชัย โชคชนะ – โฆษิต สุวินิจจิต

<--break->ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทยฯ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาสาธารณะ ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2556 ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปอย่างคับคั่ง

โดยมีผู้สมัคร 5 คนบนเวทีได้แก่

1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16
2.พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9
3.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11
4.นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17
5.นายวรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครหมายเลข 2
6.นายโฆษิต สุวินิจจิต ผู้สมัครหมายเลข 10

 

แนะนำตัวผู้สมัคร

วรัญชัย โชคชนะ

พื้นเพเป็นคนอุบลราชธานี เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลเผด็จการทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เมื่อปี 2521 นอกจากนี้ยังเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ มานานที่สุด สมัครทุกครั้งตั้งแต่ปี 2531 สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

"ถ้าที่ผ่านมาแก้ปัญหาได้ ผมคงไม่ต้องสมัคร"

มีวิสัยทัศน์ 1.แก้ปัญหาจราจร 2. คูคลองสะอาด 3. หาบเร่แผงลอยเป็นระเบียบ ส่วนสนามหลวงจะทำให้เหมือนเดิม เปิดเป็นเวทีประชาธิปไตยของคนเล็กคนน้อย 4.บริหารเมือง ประสานงานได้ทุกหน่วย 5.ปราบทุจริต

 

พงศพัศ พงษ์เจริญ

ที่ผ่านมาปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขลงพื้นที่เยอะเห็นปัญหามาก ซึมซับเต็มร้อย วิสัยทัศน์หลักอยากเห็นทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้มเพิ่มมากขึ้น

แต่เนื่องจากงบประมาณ และอำนาจของกทม.จำกัด แล้วยังต้องดูแลคนที่มีภูมิลำเนาในกทม. 5.67 ล้าน ซึ่งทรัพยากรที่มีนั้น "ทำอะไรได้น้อย" การหาเสียงจึงวางยุทธศาสตร์บริหาร กทม.ร่วมรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ ส่วนไหนที่เป็นอำนาจหน้าที่จะทำทันที แต่นอกเหนือจากนั้นส่วนที่ยังเป็นปัญหาคนกทม.ก็ต้องคิดนอกกรอบ แสวงหาความร่วมมือกับรัฐบาล รวมถึงภาคเอกชน

สิ่งที่วางแผนจะทำมี 3 ส่วน ได้แก่ การจัดการปัญหากลุ่มของการจราจร อาชญากรรม ยาเสพติด อัคคีภัย, ปัญหาความสะอาด สิ่งแวดล้อม มลพิษ, การดูแลผู้สูงอายุ พิการ เด็ก รวมทั้งการพยายามเพิ่มรายได้ เปิดตลาดการท่องเที่ยว

 

โฆษิต สุวินิจจิต

พื้นเพเป็นคนชลบุรี เป็นเด็กหาบเร่แผงลอย แม่หาบผลไม้ขาย ต่อมาดิ้นรนจนทำศูนย์การค้าที่ชลบุรี เข้า กทม.ทำระบบความปลอดภัย SOS ต่อมาทำงานสื่อ เป็นประธานบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดีย และทำธุรกิจบันเทิงครบวงจร ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เช่นเดียวกับนักธุรกิจส่วนใหญ่แต่ก็ฟื้นฟูกิจการขึ้นมาได้ จากนั้นทำบริษัทที่ปรึกษา ต่อมาบ้านเมืองมีปัญหาสื่อเลือกข้าง จึงก่อตั้งทำ spring news นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาลแทบทุกรัฐบาล แทบทุกพรรคการเมือง รวมถึงหน่วยราชการต่างๆ ด้วย

"ปัญหาแก้ไม่ได้ ถ้าติดกับความขัดแย้งทางการเมือง ผมเชื่อว่าท้องถิ่นต้องอิสระจากพรรคการเมือง ผู้ว่าฯ ควรมาจากผู้บริหารโดยตรง ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นเรื่องนักบริหารเมือง เพราะผู้ว่าฯ ต้องประสานทุกฝ่าย จึงมีเหตุจำเป็นที่จะไม่ต้องสังกัดพรรค"

วิสัยทัศน์ ต้องการพัฒนา กทม.เป็นเมืองหลวงของประเทศและของคนไทยทั้งประเทศ เป็นศูนย์กลางอาเซียน ให้ประชาชนมีส่วนรวมโดยมีนโยบาย กทม. 24 ชม. ให้ 50 เขตมี 50 ยุทธศาสตร์ ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาคมในแต่ละเขตมามีส่วนร่วมในการพัฒนายุทธศาสตร์ มีนโยบายทำกทม.เป็น creative city และเป็นมหานครแห่งวัฒนธรรม ศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งอาเซียน และทำสิ่งที่ถนัดคือ ใช้สื่อและความบันเทิงในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม

 

เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส

พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่นี่ ทำงานที่นี่ จากนั้นไปรับราชการตำรวจที่ในหลายจังหวัด และดำรงตำแหน่งสูงสุดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีประวัติการทำงานดีเด่นมากมาย รวมถึงการปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จนราบคาบ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ผ่านการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา มีจุดเด่นเรื่องการไม่โกงกิน ตรงไปตรงมา ที่ผ่านมาปราบเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลจำนวนมาก และได้รับรางวัลด้านคุณธรรมอย่างมากมาย

วิสัยทัศน์ คือ คน กทม.ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ ต้องเป็นเมืองที่ปลอดอาญากรรม ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล เป็นเมืองที่น่าอาศัย น่าท่องเที่ยว การจราจรไม่ติดขัดจึงต้องมีโครงการรถเมล์แอร์ฟรี เป็นเมืองปลอดขยะ สีเขียว ประชาชนมีการศึกษา มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย เพียงพอต่อการบริการประชาชน เด็กและผู้สูงอายุได้รับการดูแล

"ผมมั่นใจ ไม่มีใครจัดการเรื่องความปลอดภัยได้เท่าผม เพราะผมทำมาทั้งชีวิต"

 

สุขุมพันธุ์ บริพัตร

รายละเอียดของนโยบายต่างๆ นั้นมีอยู่ในเอกสาร ที่สำคัญคือแนวคิดเบื้องหลังมาตรการและนโยบายเหล่านี้ การทำงานด้านนโยบาย กทม.จะทำสองสามเรื่องไม่ได้ ต้องมีแนวนโยบายที่ครบถ้วน มีอำนาจหน้าที่เต็มแค่ไหนไม่สำคัญแต่ต้องพยายามทำให้ครบถ้วน เป็นที่มาคำขวัญว่า "ทั้งชีวิตเราดูแล" นั่นคือ เราตั้งใจดูแลคนตั้งแต่การให้คำปรึกษาคู่สามีภรรยาในการวางแผนมีบุตร แนะนำการดูแลทารกแรกเกิด สร้างศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ทำให้ระบบการเรียนการสอนมีคุณภาพ สร้างแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ห้องสมุด ศูนย์เยาวชนมิติใหม่ต่างๆ เมื่อถึงวัยทำงานก็อำนวยความสะดวกในการเดินทาง หากเป็นหนี้ต้องแก้ไขให้ มีศูนย์ฝึกอาชีพ ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาให้ความรู้วิชาชีพแก่ประชาชนไปแล้ว 1 แสนคน เมื่อเกษียณแล้วเรามีระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร มีนโยบายสตรี ดูแลผู้หญิงอย่างครบวงจรรวมทั้งดูแลผู้พิการด้วย

"ทั้งชีวิตเราดูแล ไม่ได้เป็นแต่เพียงคำขวัญ แต่ผู้ว่าฯ ต้องตั้งเป้าที่จะทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ควรมาเป็นผู้ว่าฯ"

 

สุหฤท สยามวาลา

หลายคนว่าเป็นผู้ว่าเด็กแนว แต่นั่นเป็นเพียง 10% ของชีวิต ที่ผ่านมาทำงานบริหารมาทั้งชีวิต หน้าที่ผู้ว่าฯ ต้องกำกับดูแลงานที่ข้าราชการต้องทำอยู่แล้ว ที่ไม่ใช่เป็นนโยบาย เช่นพวกถังขยะ ไฟส่องสว่าง แต่มันยังส่วนนโยบายซึ่งเราเน้นการเปลี่ยนความรู้สึกของทุกคนในกทม. ไม่ใช่ด้วยเงินอย่างเดียว แต่ต้องเป็นภาคสังคมที่ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนด้วยกัน หลายคนถามว่าเป็นไปได้เหรอ ทำได้เหรอ ถ้าเราไม่เปลี่ยนที่ตัวเอง ใช้ไม้เรียวอย่างเดียวทำไม่ได้ ต้องเริ่มจากทุกคนคนร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลง

เราจะขอความร่วมมือเรื่องอะไรบ้าง ดูจากนโยบาย 1 โหล คือ

ทุกชีวิตปลอดภัยบนทางเท้า, แก้ปัญหาจราจรจาก 0 เริ่มต้นที่ตัวเอง, เอาขยะมาแลกสวนสาธารณะ นำขยะไปรีไซเคิลเอามาสร้างสวน, 50 เขต 50 เสน่ห์ เอานักการตลาดเข้าไปพัฒนา เขตเศรษฐกิจเฉพาะแต่ละเขต, ดูแล ร.ร.ด้วยหัวใจ และเพิ่มงบประมาณ, โฆษณาสีเขียว อยากเปลี่ยนให้บ้านเมืองสวยขึ้น ไม่ใช่มีป้ายโฆษณาเต็มไปหมด, จักรยานไม่ใช่ลูกเมียน้อย, เครือข่ายการเดินทางสาธารณะ ทำให้คนรู้สึกว่าขับรถเองดีน้อยกว่าใช้บริการรถสาธารณะ, ผู้หญิงอยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย พัฒนาแหล่งชอปปิ้ง, ชีวิตที่เป็นสองด้าน ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก, เมืองแห่งแอพลิเคชั่น

 

คำถามจากทางบ้าน

ผู้ดำเนินรายการ จับชื่อผู้สมัคร 2 คนสำหรับตอบแต่ละคำถาม

 

คำถาม: มีแนวทางจัดการเมืองอย่างไร ระหว่างเขตเศรษฐกิจ เมืองเก่า สถานบันเทิง ฯลฯ

สุขุมพันธุ์ เมืองเก่ากับเมืองใหม่ขีดเส้นชัดเจนไปแล้ว เกาะรัตนโกสินทร์รัฐบาลโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งรับผิดชอบโดยตรง อย่างไรก็ตาม 3 ปีที่ผ่านมาได้สั่งยกร่างผังเมืองรวมฉบับที่ 3 (เรามีแค่ 3 ฉบับ) การที่จะแบ่งแยกพื้นที่พาณิชย์ พื้นที่พักอาศัย พื้นที่สถานบันเทิง ทำได้ยาก เพราะความเป็นจริงได้ผสมกันหมดแล้ว เช่น พื้นที่สุขุมวิท ในการร่างผังเมืองรวมได้ตั้งโจทย์ไว้คือ 1.ดูแลพื้นที่สีเขียวเดิมให้ดี 2.ทำตามมติ ครม.พื้นที่ใดเป็นแก้มลิงอยู่แล้ว เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไม่ได้ 3. สะท้อนถึงความเป็นจริง พยายามสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งปลูกสร้างกับธรรมชาติ ระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา ขณะนี้ร่างผังเมืองรวม กทม. ส่งให้คณะกรรมการผังเมืองรวมใหญ่เรียบร้อยแล้ว

สุหฤท เรื่องผังเมืองมีร่างผังเมืองอยู่แล้ว แต่แนวที่ต้องพัฒนาในระยะยาวคือ เรามีไข่ดาวที่มีไข่แดงใบเดียว จึงควรมีไข่ดาวทั้งหมด 50 ใบกระจายในทุกเขต มันจะได้ประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเจริญไม่ได้หมายความว่าต้องพังของเก่า ใส่เทคโนโลยีหรือทำตึกสูง มันสามารถปนอยู่กับสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของกทม.ได้ สถานที่เก่าต้องรักษาไว้ แต่บางแห่งเราก็พัฒนาเป็น shopping street ได้ ในแต่ละเขตจะมีจุดเด่นของเขาเอง มีถนนเศรษฐกิจหลักของแต่ละเขต

 

คำถาม : ในทางกฎหมาย อำนาจของ กทม. มีจำกัด เช่น รถเมล์ เป็นของคมนาคม ถนนบางสายเป็นของกรมทางหลวง ฯลฯ ท่านคิดว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะดึงอำนาจการบริหารจัดการมาจากรัฐบาลกลาง มีแนวทางอย่างไร ด้วยวิธีการใด

พงศพัศ อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โครงสร้างอำนาจผู้ว่าฯ ทำได้ในแทบทุกมิติ เราเห็นข้ออ่อนตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้จะอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง การแก้กฎหมายต้องใช้เวลา แต่เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาประชาชนทันที เราจึงมุ่งเน้นเรื่องการทำงานกับรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ อย่างคล่องตัว

สำหรับประเด็นรถโดยสารสาธารณะนั้น เห็นว่า 30% ของรถเมล์ที่มีควรจะนำมาวิ่งในพื้นที่ชายขอบชานเมือง เป็นการออกรถจากพื้นผิวจราจรออกไปรอบนอก และจะมีการจัดโซนนิ่ง 3 ส่วน ใจกลางเมือง เมืองระดับกลาง และชายขอบ ซึ่งจะต้องออกแบบขนาดรถและเส้นทางรถให้เหมาะสม

โฆษิต เนื่องจากทำงานบริหารซึ่งต้องเป็นนักประสานสิบทิศ คิดว่าเรื่องเหล่านี้ประสานได้ เราสามารถแก้จราจรได้ ด้วยนโยบาย กรุงเทพฯ 24 ชม. ทุกวันนี้คนต้องลางานไปติดต่อ กทม. คนต้องเดินทางไปรวมกันตอนกลางวัน ทำไมเราไม่ขยายเวลาทำการ ธนาคารก็ขยายเวลาทำการ ซึ่งช่วยคลี่คลายปัญหาจราจรได้ รถไฟฟ้าให้บริการ 24 ชม. แต่ละเขตมีความสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ ความเจริญกระจายทุกเขต ไม่ต้องทำงานข้ามเขตก็ได้

 

คำถาม: มีแนวทางในการสร้างความสมดุลในการใช้พื้นผิวทางเท้า ระหว่างหาบเร่แผงลอยกับคนเดินทางอย่างไร

วรัญชัย อยากตอบคำถามแรกๆ ก่อน แม้ไม่ได้ถามผม อำนาจบางส่วนแม้จะไม่อยู่ผู้ว่า แต่เป็นผู้ว่าอย่างอมืองอเท้า ต้องเจรจาได้ ประสานงานได้ ส่วนเรื่องทางเท้า ทั้งคนเดินเท้าและหาบเล่แผงลอยต้องไปด้วยกันให้ได้ มีการกำหนดระยะเวลาว่าขายได้เมื่อใด มีบัตรประจำตัว มีซุ้มชัดเจน และทำให้เป็นระเบียบสวยงาม ให้ ผอ.เขตจัดประชุมแล้วหาทางออกว่าจะขายเวลาใด เลิกเวลาใด

เสรีพิสุทธิ์ หลักสำคัญให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ ต้องมีอาชีพ มีรายได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทางเท้าก็ต้องให้เขาสัญจรไปมาได้ ไม่ใช่ยึดไปทั้งหมด เราจะหาพื้นที่ตลาดให้ขาย มีตลาดตรงไหนคุณต้องเข้าจะอ้างว่าไม่เข้าไม่ได้ ที่เหลือปล่อยขายไปก่อน ปัญหาก็จะเบาบางลง อีกอย่างคือ การทำตลาดลอยฟ้า เหมือนสะพานลอย แต่กว้าง 20 เมตร มีบันไดเลื่อน ติดแอร์ ให้พี่น้องประชาชนขายข้างบน ส่วนด้านล่างก็ปลูกต้นไม้ร่มรืนให้คนเดิน

คำถามจากในห้องประชุม

ผู้ฟัง: การมีส่วนร่วมคน กทม. มีอย่างจำกัด ในการออกบัญญัติ กทม.ทำได้ยาก ต้องเข้าชื่อไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ต้องใช้เสียงถอดถอด 3 ใน 4 ของผู้มาใช้สิทธิ ประมาณ 2 ล้าน คำถามคือ ท่านมีท่าทีเชิงนโยบายที่จะขยายการมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไร

สุขุมพันธุ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้จำกัดอยู่ตรงนั้น ทำได้หลายระดับ ระดับชุมชน หมู่บ้าน เขต ฯ ชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เรามีเพดานให้ 1 ล้านบาท 1 ชุมชน ประชาขนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการทำตรงนี้ เรายังสร้างแอพ iBangkok สร้างปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้ว่าฯ กับปชช. ส่วนการแก้ในด้านกม.นั้นทำได้ นำเสนอร่างไปแล้ว เพื่อให้การมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญเหล่านี้เข้มข้นมากขึ้น

เรื่องไม่มีการตรวจสอบเพียงพอ ไม่จริง กทม.ถูกตรวจสอบตลอดเวลา กมธ.ของสภา ถ้าไปด้วยตนเองถูกเรียกทุกสัปดาห์ 5-15 คณะ ไม่รวมองค์กรอิสระ สภากทม. และดีเอสไอที่รักของผม ผมไม่เข้าใจคำถามจริงๆ

พงศพัศ กระบวนการมีส่วนร่วมทำได้หลากหลายระดับ การออกสิทธิเลือกตั้งก็ร่วมอย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นพ่อบ้าน เราต้องใส่ใจ นอกเหนือจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความต้องการมาบริหารจัดการ ยังน่ามีปชช.หลายส่วนที่ไม่มีโอกาสนำเสนอ ควรเพิ่มช่องทาง อาจมีคนไม่พอใจในการบริหาร การจัดการ ต้องเปิดโอกาสให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น หากมีข้อบัญญัติที่เป็นอุปสรรค เราก็ต้องช่วย การตรวจสอบเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในระบอบปชต. ควรเปิดโอกาสให้มีส่วร่วมในการถอดถอดผู้บริหารระดับต่างๆ

 

คำถาม: มีนโยบายเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนอย่างไร

โฆษิต ขนส่งมวลชนที่ไม่เชื่อมโยงกัน ส่วนหนึ่งเป็นของรัฐบาล ส่วนหนึ่งเป็นของ กทม. ถ้าเป็นนักบริหารก็ต้องทำแผนเสนอ ปรึกษาหารือกับรัฐบาล เพราะเป็นเป้าหมายเดียวกัน หน้าที่เดียวกัน แนวคิดที่จะเชื่อมโยง จริงๆ คนไม่อยากออกรถใหม่ แต่เดินทางไม่สะดวก จะทำยังไงลดปริมาณรถบนถนน แก้ระยะสั้น เชื่อมมโยงชุมชนและหมู่บ้านมาสู่ขนส่งมวลชน ทำ Shuttle Bus มาส่งที่รถไฟฟ้า รถใต้ดิน ตลอด 24 ชม. ขณะเดียวกันมีที่จอดรถเพิ่มให้สะดวกในการต่อรถใต้ดิน ทำที่จอดหลายชั้น พื้นที่เกาะหลาง เราสามารถ สร้าง feeder สร้างโมโนเรลได้ สร้างทุกอย่างเป็นโครงข่าย คนสะดวก คนก็จะลดการใช้รถ การบูรณาการทั้งหมดสามารถทำทันทีได้

สุหฤท เราต้องเชื่อมการเดินทางให้เหมือนใยแมงมุม ไม่มีใครจิงจังกับรถสาธารณะ ต้องเริ่มต้นจากหน้าบ้าน จะเอาคุณออกมาจากบ้านอย่างไร ไปถึงรถสาธารณะได้อย่างไร สายเดินรถวันนี้ล้าหลัง ทุกอย่างต้องพุ่งเข้าศูนย์กลางรถไฟฟ้า แล้วกระจายออก

 

คำถาม: จะมีนโยบายสร้างเพิงพักให้บริการน้ำดื่ม ที่เว้าโค้งให้มอเตอร์ไซด์ แท็กซี่หรือไม่ / ควรให้จังหวัดอื่นได้เลือกตั้งผู้ว่าของตัวเองด้วย / ขนส่งมวลชน ต้องใช้ระบบขนคนมากกว่าขนรถ ต้องประสานงานให้ประสิทธิภาพ, สร้างเพิงพักวินมอไซด์ เรื่องเล็กมาก

เสรีพิสุทธิ์ คนต่างจังหวัดทั้งนั้น เป็นเพราะเราไม่ได้ทำตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์ ไปอยู่ที่ไหนต้องย้ายทะเบียนบ้านด้วย แต่งบประมาณต้องใช้ตามจำนวนคนในทะเบียนบ้าน แต่คนต่างจังหวัดมีอีกเท่าตัว นักท่องเที่ยวอีก กทม.เลยพัฒนาไม่ได้ตามรูปแบบที่ถูกต้อง เพราะคนเราไม่เคารพกฎหมาย คำถามต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น เพราะพวกนี้ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่เลย เป็นเรื่องที่เขตเขาจัดการได้ ไม่ต้องมาให้หนักสมองผู้ว่าฯ

 

คำถาม: กทม.ใช้งบมากแก้ปัญหาปากท้องให้กทม. ซึ่งส่วนหนึ่งเอามาจากงบรวมทั้งประเทศ แล้วจังหวัดอื่นที่ประชาชนยากจนกว่าเขาจะคิดอย่างไร มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

เสรีพิสุทธิ์ คำถามนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับผม เพราะประกาศว่าจะมีโครงการรถเมล์แอร์ฟรี มีโรงทาน ความจริงคนใน กทม.มี 4 ล้าน คนต่างจังหวัดอีก 4 ล้าน นักท่องเที่ยวต่างประเทศอีก 2 ล้าน รวมเป็น 10 ล้าน งบ กทม.ที่ได้มาจึงไม่ได้ใช้เพื่อคนกรุงเทพฯ แต่ไปใช้เพื่อคนต่างจังหวัดด้วย คำถามมันกลับตาลปัตร ตรงนี้งบกรุงเทพฯ เก็บเงินได้ 6 หมื่นกว่าล้าน ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะมากกว่านี้แน่นอน เพราะเคยปราบคอรัปชั่นที่สนามม้า จากที่มีรายได้วันละ 90 ล้าน เพิ่มเป็น 160 ล้าน เพราะผมไม่กลัวอิทธิพล ปัญหาอะไรยากๆ เสรีฯ จัดการได้หมด รถเมล์แอร์ฟรีที่บอกไปก็ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการแก้ปัญหาจราจร

สุขุมพันธุ์ เรื่องเรียนฟรีนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่รองรับไว้ ส่วนโครงการอาหารเช้าสำหรับนักเรียนฟรี งบประมาณไม่ได้มากมายแต่มีคุณค่ามหาศาล เพราะเด็กๆ มักไม่ได้ทานอาหารเช้าที่บ้าน เรื่องความจน ไม่จน ขอให้เข้าใจตรงกันว่า คนจนเมืองมีเยอะมาก และชีวิตของเขารันทดมาก ในชนบทแก่แล้วอาจมีลูกหลานดูแลแต่ในเมืองอาจไม่มี การเดินทางก็ลำบาก ค่าครองชีพก็สูงกว่า หน้าที่ของพ่อเมืองก็ต้องสร้างระบบการดูแลคนจนเมืองด้วย ที่ผ่านมา กทม.จ่ายภาษีเป็น 70% ของทั้งประเทศ แต่ที่ได้งบประมาณมาไม่สมดุล เพราะประชากรจริงมี 10 ล้าน แต่ที่มีทะเบียนบ้าน 5 ล้านกว่า กทม.ต้องแบกรับส่วนต่างตรงนี้ นอกจากนี้แม้งบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้าน เป็น 2 ล้านล้าน แต่งบกทม.กลับได้น้อยลงกว่าเดิมด้วย

 

คำถามจากนิสิตภาควิชาปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ : ผู้สมัครแต่ละท่านมีนโยบายอย่างไรในการสนับสนุนการอ่านของคนกรุงเทพฯ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้อ่านหนังสือที่มีคุณภาพ

สุหฤท ไม่ใช่เรื่องการนั่งสร้างห้องสมุดไปเรื่อยๆ แล้วปล่อยให้ว่างเปล่า การกระตุ้นการอ่านวันนี้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ด้วย ห้องสมุดนั้นดีสำหรับผู้รักการอ่านแล้ว สำหรับผู้ยังไม่รักการอ่าน หลักสูตรในโรงเรียนเริ่มได้เลย การทำหนังสือสาธารณะ หยิบไปอ่านบรถไฟฟ้า สถานีหน้าวางคืนก็อำนวยให้คนอ่านมากขึ้น การสร้างนิสัยแต่เด็กก็สำคัญ พ่อต้องอ่านให้ลูกฟังตั้งแต่เล็ก สำหรับเรื่องคุณภาพหนังสือ เราต้องสนับสนุนสำนักพิมพ์ มีหนังสือดีมากมายที่น่าแปล ต้องมีงบสนับสนุน ห้องสมุดต้องสนุกมากขึ้น เด็กๆ เข้าไปแล้วอาจไปเล่นเกมก่อน

สุขุมพันธุ์ นโยบายส่งเสริมการอ่านเป็นของผมเอง คนไทยอ่าน 4-5 เล่มต่อปี คนเวียดนามอ่าน 60-70 เล่ม เราจึงต้องเร่งส่งเสริมโดยเฉพาะเยาวชน โครงการที่นำเสนอยูเนสโกจนเราได้เป็นเมืองหนังสือโลก ส่วนหนึ่งก็คือการทำหอสมุดเมือง และพิพิธภัณฑ์การ์ตูน ตอนนี้มีห้องสมุดการ์ตูนแห่งแรกแล้วที่เขตห้วยขวาง อีกแห่งกำลังเกิดคือย่านฝั่งธน นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มพื้นที่อ่านในห้องสมุด ห้างสรรพสินค้า แท็กซี่ รถประจำทาง

เสรีพิศุทธิ์ การพัฒนาประเทศชาติ ต้องเตรียมประชาชนให้มีความพร้อมทุกด้าน การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะความรู้ การอ่านหนังสือ คนต่างประเทศเขาจะถือหนังสืออ่านกันตลอด แต่บ้านเราไม่ค่อยจะมี หากได้เป็นผู้ว่าจะยกศาลาว่าการปัจจุบันเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จัดตั้งห้องสมุดทุกโรงเรียนในเขตกทม. มีห้องสมุดที่ประชาชนจะเข้าไปหาความรู้ได้ และจะคัดเลือกหนังสือที่มีคุณภาพ และใน 50 เขตก็จะจัดทำห้องสมุดประชาชน

โฆษิต ต้องสร้างฮีโร่ของการอ่าน เช่น แชมป์อ่านเอาเรื่อง ส่วนเรื่องห้องสมุด จากที่ไปเห็นที่แต้จิ๋ว น่าเข้ามาก ที่นั่งเป็นเธียเตอร์นั่งลงไป แล้วเป็นกระจก ด้านนอกเป็นทิวไผ่สวยงาม ห้องสมุดเท่มาก ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สันทนาการด้วย มีปลั๊กให้เสียบไอโฟน wi-fi อำนวยความสะดวกทุกอย่าง นอกจากนี้ยังต้องให้รางวัลหนังสือที่คนอ่าน เป็นการให้กำลังใจ จัด Bangkok book award ส่งเสริมภาพยนตร์ ละคร และเพลงให้ตัวละครเป็นนักอ่าน

พงศพัศ กระบวนการอ่านอยู่ที่แรงจูงใจ ทุกคนอยากอ่านแต่สถานที่อาจไม่เหมาะ ไม่เปิดโอกาสให้ไปใช้บริการ ห้องสมุดเราทำมาเยอะ สถานที่อาจไม่ต้องใหญ่มากแต่เข้าไปแล้วอยากอ่านหนังสือมีเทคโนโลยีเสริม ไปได้ทั้งครอบครัว หากกทม.ต้องไปช่วยในการจัดพิมพ์หนังสือดีๆ ก็จำเป็น หนังสือต้องมีความหลากหลาย

วรัญชัย จัดพื้นที่สาธารณะทุกเขตที่จะให้คนมีหนังสืออ่านฟรี วารสาร หนังสือพิมพ์อ่านฟรี ประสานงานขนส่งสาธารณะให้มีหนังสือวางไว้ให้เต็มที่ ขึ้นแล้วต้องได้อ่าน

 

คำถามจากชุมชนเขตปทุมวัน: เขตปทุมวันส่วนใหญ่เป็นที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถ้ามีการไล่รื้อ เมื่อเป็นผู้ว่าฯ จะดูแลชุมชุนอย่างไรให้อยู่คู่เมืองใหญ่ / จะมีแนวทางจัดการปัญหาขยะอย่างไร เพราะขยะไม่มาเก็บหลายวัน

วรัญชัย เรื่องขยะนอกจากจะต้องขยันเก็บแล้วจะต้องจัดการที่ทิ้งให้เพียงพอด้วย / ส่วนเรื่องไล่รื้อ อย่าว่าแต่ที่ทรัพย์สิน ที่ราชพัสดุ ที่เอกชน ไล่เขาแล้วมีที่ให้เขาอยู่ต่อไหม ถ้าจะให้เช่าจะเช่าอย่างไร ผู้ว่าฯ ต้องไปคุยกับเจ้าของที่ให้ได้ เพื่อหาทางออกร่วมกันที่เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย

พงศพัศ กทม.ประกอบด้วย 2,038 ชุมชน ควรมีกระบวนการแยกขยะระดับชุมชุน ปัจจุบันแยกขยะมีน้อยและขนไปไกล แต่การแยกตั้งแต่ต้น บริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุมชน เตาเผาขยะขนาดเล็กในชุมชน อะไรทำได้ก็น่าจะทำให้เสร็จสิ้นในชุมชนเลย

เรื่องที่ดินทรัพย์สินฯ มีหลายกระบวนการ กระบวนการทางกฎหมายจะใช้หลังสุด ไม่มีใครอยากทำ เพราะเป็นพี่น้องคนจนแทบทั้งสิ้น มีหลายแห่ง กระบวนการเจรจาเป็นเรื่องสำคัญ

โฆษิต เรื่องปัญหาขยะนั้น ลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นกำเนิด ทำอย่างไรให้เกิดแฟชั่นใหม่ ใช้ถุงผ้า ถือปิ่นโต เหล่านี้เป็นเรื่องที่สร้างได้

เสรีพิสุทธิ์ ผู้ว่าฯ จะดูแลให้เกิดความเป็นธรรม เขตปทุมวันมีปัญหาที่ดินทรัพย์สิน ที่ผู้ถามใช้ภาษาว่า "ไล่รื้อ" จะทำอย่างไร เข้าใจว่าเป็นของจุฬาฯ ดูแลอยู่ ถ้ามองทั้งสองด้าน เจ้าของที่ที่ดูแลอยู่ก็ต้องดูว่าผ่านมา 40-50 ปีแล้ว สัญญาหมดแล้วจะใช้ที่ดินพัฒนาสูงสุดได้อย่างไร ผู้อยู่อาศัยก็คิดว่าอยู่มาตั้งนานแล้ว คนไทยมักติดกับพื้นที่ ไม่ค่อยคิดยอมเปลี่ยนแปลง ผมเห็นว่า กทม.มีอยู่ 230 ปีก็ไม่ไปไหนเพราะไม่พัฒนากัน เห็นใจทั้งสองฝ่าย มีข้อเสนอแนะว่าเจ้าของที่ดิน คือสำนักงานทรัพย์สิน จะต้องให้โอกาสประชาชนในการมีสิทธิอยู่ เช่า ก่อนบุคคลอื่น

สุขุมพันธุ์ 4 ปีที่ผ่านมา กทม.ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินฯ หลายเรื่อง โดยเฉพาะการทำ "บ้านมั่นคง" ร่วมกัน 30 แห่งแล้ว เรื่องไร่รื้อ เป็นห่วงและทำความเข้าใจตรงกันแล้ว และได้แบ่งที่ดินออกเป็น 3 ประเภท ถูกภาครัฐเวนคืน ส่วนนี้เป็นเรื่องกฎหมาย สำนักทรัพย์สินช่วยอะไรไม่ได้ ยกเว้นจะช่วยค่าใช้จ่าย 2.พื้นที่ซึ่งมีอาคารมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทางสำนักทรัพย์สินก็จะคงไว้เหมือนเดิม 3.ที่ดินที่มีที่พักอาศัย ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง สำนักทรัพย์สินอยากปรับปรุงไปในทางอื่น ขณะเดียวกันเราก็เข้าใจตรงกันว่าถ้ามีการปรับเปลี่ยน สำนักทรัพย์สินจะจัดหาที่พักอาศัยในรูปแบบใหม่ในพื้นที่เดียวกันให้ประชาชน

สุหฤท กฎหมายที่มีอยู่สามารถปกป้องชุมชนได้ระดับหนึ่ง ต้องดูรายกรณีว่า ผู้ถามถูกละเมิด ไม่ได้รับความเป็นธรรมในแง่กฎหมาย หรือไม่อยากเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นกรณีแรกเราต้องดูแลให้ได้รับความเป็นธรรม แต่ถ้าเป็นประเด็นอื่น เราอาจต้องเริ่มพูดคุยกัน หาจุดตรงกลางร่วมกัน

 

คำถามจากนักศึกษารัฐศาสตร์ จุฬาฯ: พัฒนาอย่างไรให้ประชาชนกรุงเทพฯ พร้อมเข้าสู่ AEC ตามทันสิงคโปร์ / ถามผู้ไม่สังกัดพรรค โอกาสที่ชนะน้อยมาก ทำไมยังสมัครรับเลือกตั้ง ใช้วิธีเหมือนชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หรือเปล่าที่ใช้เวทีผู้ว่าฯ หยั่งเสียงเพื่อลง ส.ส.

สุหฤท เรื่องพัฒนาสู่ AEC ทำพื้นฐานง่ายๆ ให้เรามีความสุขก็จะไปได้ หลักสูตรการศึกษาเราก็ยังไม่ถึงไหน มีแนวคิดโรงเรียนทางเลือกอยู่ กทม.ก็ต้องขยายแนวทางตรงนี้ เด็กถนัดอะไรต้องส่งเสริมตรงนั้น ไม่ใช่การบังคับเหมาเข่ง ไม่งั้นเรากำลังแพ้ ส่วนเรื่องการเป็นผู้สมัครอิสระนั้น ไม่ได้มาแบบชูวิทย์ ผมชื่อสุหฤท ไม่มีงบ 49 ล้านที่ กกต.กำหนด ตอนนี้ใช้ยังไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่ที่ออกมาเพราะมันถึงเวลาที่ทุกคนต้องเริ่มลุกขึ้นมาปลดปล่อยกรุงเทพฯ ไม่ให้พรรคการเมืองเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ไม่เช่นนั้นแล้วแล้วกรุงเทพฯจะเป็นอิสระและหลุดจากความขัดแย้งได้อย่างไร

สุขุมพันธุ์ คนมาเยือนกทม.ต้องการความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทาง ฯ ผู้ว่าต้องทำอยู่แล้ว แต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติมากขึ้น ได้มีการเตรียมการแล้ว เช่น สังขยนาระบบภาษาอังกฤษชื่อถนน , สอนภาษาอังกฤษ พัฒนาทักษะการเรียนการสอนของครู , ศูนย์ฝึกอาชีพ 24 แห่ง โรงเรียนฝึกอาชีพ 10แห่ง จะมีการสอนภาษาอังกฤษ จีน มลายู ฟรี ด้วย นอกจากนั้นสอนภาษาอังกฤษให้คนขับแท็กซี่ ซึ่งได้เริ่มต้นแล้ว ต้องขยายต่อให้อาชีพอื่น , เตรียมการเฉพาะตลาดพิเศษ เช่น ตลาดพี่น้องชาวมุสลิม สร้างแอพลิเคชั่นที่ระบุรายการที่ตั้งของมัสยิดทั่วกทม., ร้านอาหารฮาลาล

เสรีพิสุทธิ์ น้องเรียนที่ไหนมา สงสัยอาจารย์ต้องสอนใหม่ ปีสองยังพอให้อภัยได้ ถ้าปีสี่จะไม่ให้อภัย ต้องศึกษาด้วยว่าผู้ว่าฯ มีความเป็นมาอย่างไร แรกเริ่มมาจากการแต่งตั้ง ถูกสั่งซ้ายหันขวาหัน รัฐบาลสั่งยังไงต้องทำ กรุงเทพฯ ถึงไม่เจริญ จากนั้นจึงได้เปลี่ยนเป็นระบบการเลือกตั้ง มี พ.ร.บ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ 2528 ให้ผู้ว่ามาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ ต้องปลอดจากการเมือง ไม่ให้การเมืองมายุ่งเกี่ยวก้าวก่าย "ตำแหน่งผู้ว่าฯ การเมืองไม่ควรเข้ามายุ่ง ยุ่งแล้วมันชิบหาย ไม่งั้นผู้ว่าก็ถูกดำเนินคดีหมด คุณรู้รึเปล่า ผมเสียสละมาทำงานให้พวกคุณ"

โฆษิต การปกครองท้องถิ่น เจตนารมณ์กำหนดชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ผู้บริหารสังกัดพรรค ต้องการให้หลุดจากการครอบงำของรัฐบาลกลาง มีความคล่องตัว แต่เราเผลอไผลพลาดไปเป็นสิบปี มันเลยไปเป็นอย่างนี้ และทุกจังหวัดก็ควรต้องอิสระจากการเมืองเหมือนๆ กัน ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็งประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง การลงสมัครครั้งนี้ไม่ใช่ไม้ประดับ คนเลือกอิสระตลอด ถ้าจะดูคะแนนที่ผ่านมา มีการเลือกผู้สมัคร 5 แสนกว่าคน อีก 2 ล้านไม่เลือกใครเลยเพราะเบื่อการเมืองหรือเชื่อว่าเลือกไปก็สู้พรรคไม่ได้ แต่รวมแล้วมัน 60% ของผู้มาออกเสียง ถ้าพวกเขาเห็นศักยภาพและร่วมใจลุกขึ้นมาเลือกเราก็จะเปลี่ยนแปลงได้

พงศพัศ เราจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ในการบูรณาการ หยิบยกปัญหาหมักหมมขึ้นมาบนโต๊ะ ดูว่าหน่วยงานไหนต้องจัดการ เอาความทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นหลัก เรากำลังก้าวสู่ AEC เราไปไม่ได้ถ้าปัญหาพื้นฐานต่างๆ ไม่ได้รับการแก้ไข การค้าขาย การบริการ การสร้างบุคลากรที่ต้องสร้างมารองรับ AEC ก็ต้องทำคู่ขนานกันไป แต่ถ้าเอาปัญหาประชาชนเป็นที่ตั้งไม่เกี่ยวกับการเมืองก็จะทำให้ไปได้ดีขึ้น เราอยากเปลี่ยนแปลง และพยายามคิดนอกกรอบเพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่ได้ต้องมาพูดซ้ำอีกใน 4 ปีข้างหน้า

วรัญชัย ทุกวันนี้ประเทศไทยก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว เป็นได้แน่ ไม่ต้องห่วง ที่ถามว่ารู้ว่าไม่ได้มาลงสมัครทำไม อยากเรียนว่า กทม.เลือกตั้งครั้งแรกปี 2518 ยกเลิกไปเป็นแต่งตั้งในสมัยเผด็จการ แล้วหวนกลับอีกครั้งเมื่อปี 2528 ตลอดเส้นทางที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าได้แต่ผู้ว่าอิสระทั้งสิ้น ไม่เคยได้คนมาจากพรรคเลย เพิ่งมามีสังกัดพรรคเมื่อ 2547 และ 2552 เท่านั้นเอง "ตัดสินใจให้ดีครับ คิดไม่ออกก็เลือกวรัญชัยก็ได้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งให้แกนนำสหภาพ GM ออกนอกพื้นที่บริษัท

Posted: 13 Feb 2013 05:14 AM PST

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าจากกรณีที่ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีความขัดแย้งกับพนักงานในเรื่องที่มีการกำหนดระเบียบการปฏิบัติงานของพนักงานสายการผลิต ให้บรรจุวันเสาร์ ซึ่งเป็นหยุดของพนักงาน และเป็นวันที่ได้โอที ให้เป็นวันทำงานตามปกติ ซึ่งบริษัทฯ และสหภาพแรงงานไม่สามารถตกลงกันได้ จนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัทฯ ได้มีคำสั่งให้พนักงานสมาชิกสหภาพแรงงานหยุดงาน ทำให้พนักงานฝ่ายผลิต รวมกับสมาชิกสหภาพแรงงานต้องหยุดงาน ทั้งนี้ ทำให้พนักงานได้ทยอยกันมาสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมากขึ้น และพร้อมที่จะร่วมการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ          

       
ล่าสุด วันนี้ (12 ก.พ.56) บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขออำนาจให้ศาลจังหวัดระยองสั่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ 217/2556 ให้ นายสุริยา โพธิ์ชัยเลิศ นายอัศวุฒิ สินทวี นายชัยวัฒน์ วงษ์สุวรรณ์ นายสุชาติ เป็นวงศ์ นายอนุรักษ์ สุพร นายธวัชชัย เชยพร นายธีรศักดิ์ กองก่อ นายบำเพ็ญ บุญเสริฐ นายรังสรรค์ วงศ์ศรีแก้ว น.ส.จีรนันท์ อ่อนฤทธิ์ นางสุมามาลย์ สอนสี น.ส.นิภา เพียรทำดี น.ส.ทองม้วน ทองลาด ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของบริษัทฯ อย่างเด็ดขาด         
       
นายสุริยา โพธิ์ชัยเลิศ ประธานสหภาพแรงงานของบริษัทฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้พวกตนพร้อมคณะรวม 13 คน ไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่ของบริษัทฯ ได้ แต่ก็มีการประสานการปฏิบัติการตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในการรวมคนจำนวนมาก โดยปราศจากอาวุธ และสุรา อีกทั้งให้ทุกคนอยู่อย่างสงบ ไม่มีการตอบโต้เจ้าหน้าที่ หรือชายชุดดำที่ทางบริษัทฯ ได้ว่าจ้างมาเพื่อข่มขวัญพนักงานที่ร่วมชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งจากการชุมชุมครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศหยุดงานสายงานการผลิตต่อเนื่องถึง 3 วัน โดยจ่ายค่าแรงให้แก่พนักงานที่ไม่เป็นธรรม จ่ายค่าแรงให้แต่เพียงพนักงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเท่านั้น         
       
ในวันนี้ทางบริษัทฯ ได้ส่งตัวแทนมาตั้งโต๊ะเจรจากับสหภาพแรงงาน โดยมีตัวแทนของการนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์น ซีบอร์ด แรงงานจังหวัดระยอง และตัวแทนสหภาพแรงงาน โดยทางบริษัทฯ ได้ขอให้ยุติการชุมนุมก่อนจึงจะมีการเจรจากัน แต่ทางสหภาพไม่ยอมรับกติกานี้ และได้มีการพูดถึงชายชุดดำหลายสิบคนที่มีอาวุธประจำกายเข้ามาสร้างความหวาดกลัวนั้น ทางบริษัทฯ ยอมรับว่ามีจริง โดยบริษัทฯ รักษาความปลอดภัยเป็นว่าจ้างมา โดยมีคนมีสีอยู่ด้วย         
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้พนักงานจำนวนมากได้เดินทางเข้ามาร่วมการชุมนุมตลอดเวลา พร้อมมีผู้บริหารภายในบริษัทฯ เอง นำเงิน และเสบียงแอบมาช่วยผู้ชุมนุมจำนวนมาก ซึ่งภายในคืนนี้ (12 ก.พ.) มีข่าวว่าจะมีการสลายการชุมนุมด้วยการใช้รถน้ำฉีด ทำให้พนักงานที่หยุดงานทยอยกันเข้ามาเป็นกำแพงมนุษย์ พร้อมที่จะต่อสู้ถ้าทางบริษัทฯ กระทำความรุนแรงต่อพนักงานก่อน และพร้อมจะปักหลักต่อสู้จนถึงที่สุด อีกทั้งมีการเพิ่มระดับการต่อสู้ การป้องกันการสลายม็อบ เพราะศาลได้สั่งห้ามบุคคลใด หรือกลุ่มใดเข้ารื้อ ทำลายสถานที่ชุมนุมในยามวิกาล         
       
ด้านนายวีโจ้ วาร์จี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ สื่อสารผลิตภัณฑ์ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า สหภาพแรงงาน และสมาชิกฯ ได้มีการบุกรุก และเข้าครอบครองพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ โดยปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลจังหวัดระยองที่สั่งให้กลุ่มสหภาพออกจากพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ         
       
พร้อมกันนี้ ทางบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอยืนยันว่า ทางเราไม่ได้มีการพกพาอาวุธแต่อย่างใด โดยมีหลักฐานทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว สำหรับชายชุดดำที่ปรากฏในข่าวเป็นหนึ่งในทีมงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทฯ โดยได้อยู่ประจำพื้นที่เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ทั้งสองฝ่าย          
       
อย่างไรก็ตาม ในการตั้งโต๊ะเจรจาในวันนี้ ทางบริษัทฯ พร้อมที่จะเจรจาและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย แต่ทางสหภาพแรงงานไม่ยอมส่งตัวแทนมาเจรจา ส่วนวันหยุดงานนั้น ทางบริษัทยังไม่ยืนยันเพราะยังไม่ทราบอนาคตว่าการเจรจา หรือเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คงต้องขอดูเหตุการณ์วันต่อวันไปก่อน
 
ส่วนเรื่องการกระทำที่ไม่ดีต่อสื่อมวลชนนั้น ทางบริษัทฯ ต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ชุลมุนจึงไม่ทราบว่าใครเป็นใคร และขอยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก           
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

Posted: 13 Feb 2013 04:44 AM PST

'ตราบเท่าที่อวกาศยังคงอยู่ ตราบเท่าที่สรรพสัตว์ยังมีชีวิตอยู่ ข้าฯขอดำรงคงอยู่เท่าตราบนั้น เพื่อทำลายความทุกข์ในโลกให้หมดสิ้นไป' ผมชอบคำภาวนานี้ เพราะมันทำให้ระลึกว่า เราจำเป็นต้องมีอุดมการณ์ต่อสู้ต่อไป ผมจะหลับตาภาวนาบทนี้ 3 ครั้ง แล้วเข้านอน"

บรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร วัย 16 ปี จาก บทสัมภาษณ์ ใน Way Magazine, ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2556

สัมภาษณ์ธเนศวร์ เจริญเมือง #1: อยู่ต่างจังหวัดมองเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

Posted: 13 Feb 2013 02:21 AM PST

ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนี้ ประชาไท มีโอกาสสัมภาษณ์ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะนำเสนอออกเป็น 2 ตอน ตอนแรก เป็นเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในมุมมองของคนนอกกรุงเทพฯ และข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจสำหรับท้องถิ่นทั่วประเทศ และตอนต่อไปจะเป็นเรื่องการคืนพื้นที่สาธารณะให้กับเมือง กรณีทุบเรือนจำที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อคืนพื้นที่ให้สาธารณะ โดยรายละเอียดของการสัมภาษณ์ตอนแรกมีดังนี้

 

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ บรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก และพลอยทำให้คนในต่างจังหวัดซึ่งไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการของจังหวัดตัวเอง ต้องมาสนใจข่าวนี้ด้วย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราอย่างไรบ้าง

สะท้อนสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง เพราะว่า สื่อมวลชนแทบทุกแขนง แทบทุกหน่วยงานในประเทศของเราตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ และคนที่ทำงานเกี่ยวพันกับสื่อมวลชนก็มีสิทธิเลือกตั้ง ก็เลยเป็นความสนใจ ทั้งสนใจเรื่องงานด้วย เรื่องส่วนตัวด้วย เพราะฉันไปติดตามผู้สมัครเหล่านี้ แล้วฉันจะเลือกใคร ฉันตัดสินใจ เพราะฉะนั้นข่าวเลยออกมาทุกวัน

เรื่องที่สอง ก็สะท้อนถึง อำนาจการตัดสินใจต่างๆ เรื่องสำคัญๆ ของประเทศรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ หมด เราไม่มีสถานีสำคัญๆ ในภาคอื่นเลย ทุกอย่างรวมศูนย์ที่นั่นหมด เพราะฉะนั้นเมื่ออำนาจการตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ หมด ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ การศึกษา ทุกอย่างก็รวมที่นั่น ก็ยังเป็นรัฐที่ยังรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ยังไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

 

จากที่เราเห็นการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครฯ และคนต่างจังหวัดก็ไม่มีโอกาสเลือกตั้งในระดับที่ใหญ่อย่างนั้น มีข้อเสนอสำหรับโมเดลการกระจายอำนาจสำหรับจังหวัดอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา มีระดับการปกครองเพิ่มขึ้นอีกอันหนึ่งคือส่วนภูมิภาค และหลังจากนั้นเราก็มีการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล ต่อมาก็มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต่อมาก็มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเวลานี้ อบต. อบจ. กับเทศบาล ก็มีเต็มพื้นที่แล้ว ทุกระดับก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็ถือว่าเติบโตขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือการปกครองส่วนภูมิภาคซ้ำซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ แล้วในประเทศที่ก้าวหน้าไปเช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี เขาไม่มีระบบการปกครองส่วนภูมิภาคแล้ว ที่ฝรั่งเศสเขาก็เปลี่ยนภูมิภาคมาเป็นการตรวจสอบกำกับดูแลท้องถิ่น ขอเราก็ควรเป็นแบบนี้ คือเอาภูมิภาคกับท้องถิ่นมารวมกัน เราจะเรียกว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป หรือจะเรียกเป็น อบจ. ก็ได้ แต่ควรจะมีหน่วยงานเดียว แล้วก็ดูแลท้องถิ่น ก็จะเป็นการปกครองท้องถิ่น 2 ระดับ คือระดับหนึ่งดูทั้งจังหวัดเรียกว่า ผู้ว่าฯ หรือนายกฯ อบจ. อีกอันหนึ่งก็เป็นเทศบาลอยู่ในเมือง ส่วน อบต. ก็ดูแลชนบท

ซึ่งตอนนี้มีข่าวว่าจะเปลี่ยนชื่อหมดเลยก็คือเป็นเทศบาลเมือง กับเทศบาลชนบท เพราะฉะนั้นนี่คือทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนในแต่ละจังหวัดควรจะมีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตน และตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต การบริหารงาน และการจัดการท้องถิ่นของเขา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.บุกสภา แก้ผ้า ร้องเลื่อนพิจารณา 'ร่าง พ.ร.บ.ม.นอกระบบ'

Posted: 13 Feb 2013 01:56 AM PST



ภาพโดย คุณากร เมืองเดช


วันนี้ (13 ก.พ. 56) เวลาประมาณ 10.30 น. แนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ และกลุ่มนักศึกษาอีกกว่า 50 คน จากหลากหลายสถาบัน รวมกลุ่มกันหน้ารัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือขอให้สภาผู้แทนราษฎรเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้มีการทบทวนเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และขอให้นิสิตนักศึกษาของแต่ละสถาบันมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยของตน โดยมีนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นผู้มารับหนังสือ ทั้งนี้ นอกจากการยื่นหนังสือแล้ว กลุ่มนักศึกษายังถอดเสื้อผ้าประท้วง โดยมีป้ายข้อความคัดค้าน ม.นอกระบบพันรอบตัวด้วย เพื่อสื่อว่า ม.นอกระบบทำให้ประชาชนหมดเนื้อหมดตัว พร้อมตะโกนว่า "ไม่มีตังค์เรียนแล้ว ค่าเทอมแพง"

แกนนำกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ปราศรัยบนเวทีว่า ท่านจะผลักภาระให้นักศึกษาไม่ได้ ท่านต้องให้ความสำคัญของนักศึกษา ต้องปกป้องผลประโยชน์ของนักศึกษา เราอยากเห็นว่าปริญญาตรีเรียนฟรีด้วยซ้ำไป แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อย ก็ขอให้เลื่อนการพิจารณาเรื่อง ม.นอกระบบ ออกไปก่อน อย่าเพิ่งรีบโยนภาระให้นักศึกษา ผู้ปกครอง อย่าทำร้ายนักศึกษา  ทั้งนี้ เราไม่ได้มองแค่ประโยชน์ของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง หรือนักศึกษารุ่นใดรุ่นหนึ่ง เราคิดว่านี่เป็นประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวพันไปถึงอนาคตของเด็กๆ รุ่นต่อไปด้วย และเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่ไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวาย เรามาทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคน

วรารัตน์ กิติธรากุล กลุ่มเสรีนนทรีย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มของตนยังมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษา ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเรื่อง ม.นอกระบบ มีผลกระทบต่อนิสิตโดยตรง  แต่มหาวิทยาลัยกลับไม่เคยให้ข้อมูลกับนิสิตเลย แม้แต่ข้อมูลขั้นพื้นฐานว่า ม.นอกระบบ คืออะไร ดีร้ายอย่างไรบ้าง กว่านิสิตจะทราบเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ใกล้จะออกเป็นกฎหมายจริงๆ มาบังคับใช้แล้ว แล้วจะมีอะไรมาประกันว่าค่าเทอมจะไม่ขึ้น ผลประโยชน์ของนิสิตจะไม่สูญไป

ขณะที่ รุ่งรัตน์ เดชะช่วย กลุ่มเสรีนนทรีย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอำนาจของสภามหาวิทยาลัยในการบริหารกิจการมหาวิทยาลัยที่จะเพิ่มมากขึ้น หลังออกนอกระบบราชการไปแล้ว

ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อพูดว่าการศึกษาที่ดี เราต้องนึกถึงคำว่า "คุณภาพการศึกษา" และ "การเข้าถึงการศึกษา" หากไม่สามารถกระจายการเข้าถึงการศึกษาให้แพร่หลายได้ทั่วไปแล้ว คงจะเรียกว่าเป็นระบบการศึกษาที่ดีไม่ได้ แล้วต้องอย่าลืมว่า การศึกษาจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เมื่อค่าเทอมแพงขึ้นจะทำอย่างไร หากสภาพทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาสำหรับการเข้าถึงการศึกษาแล้ว คนจนก็จะยิ่งจน  เพราะไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งเลวร้ายขึ้น ปล่อยไว้นานๆ เราก็คงจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เลย

ตัวแทนกลุ่มรามอาสา จากมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง กล่าวว่า ทางกลุ่มทราบดีว่าเรื่อง ม.นอกระบบ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่วันนี้ทางกลุ่มได้ออกมาเรียกร้องสิทธิ ออกมานำเสนอในอีกแง่มุมหนึ่งของเรื่อง ม.นอกระบบ และเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของสังคมด้วย คือ ต้องมองถึงสภาพสังคมโดยรวมด้วยว่า หากค่าเทอมแพงขึ้นระดับหนึ่ง จะเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับหลายๆ ครอบครัว หากมาจากครอบครัวที่ไม่สามารถจ่ายได้ แต่เขามีศักยภาพเพียงพอ และอยากเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เราจะทำอย่างไร มันก็จะกลายเป็นว่า อยากเรียนก็ไม่ได้เรียน

ปกรณ์ อารีกุล กลุ่มลูกชาวบ้าน จากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ทางกลุ่มมาเพื่อเรียกร้องขอให้เลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกไปอย่างไม่มีกำหนดก่อน หากยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเลื่อนหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วไม่มีการเลื่อนการพิจาณาออกไป เราจะยกระดับกิจกรรมการชุมนุมนี้ต่อไปอีก เพื่อแสดงให้คนที่มีอำนาจทำเรื่อง ม.นอกระบบ เขาเห็นถึงพลังของนักศึกษา

ปกรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมีความชัดเจนให้กับสาธารณะว่า เรื่อง ม.นอกระบบ จะส่งผลดีผลเสียอย่างไร ไม่เคยมีข้อมูลอะไรเลย แล้วที่วันนี้ทางรัฐสภากำลังจะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ของเกษตรศาสตร์ และราชภัฏสวนดุสิต แต่เราเน้นที่ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นหลักเพราะมีปัญหามากกว่า โดย ม.สวนดุสิต อย่างน้อยๆ เขาก็มีการเตรียมความพร้อมมานาน เขามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน มีการให้ข้อมูลกับนักศึกษาของเขา แต่เกษตรศาสตร์ไม่มี นิสิตเกษตรเพิ่งรู้เรื่องไม่นาน เพราะเขาไปแอบทำกันอยู่ไม่กี่คนในห้องประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล สัญญาว่าจะขอให้สภาฯ เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กลุ่มนักศึกษาจึงยุติการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การลาออกของสันตะปาปาในประวัติศาสตร์

Posted: 13 Feb 2013 01:34 AM PST

อธิบายภาพ : ภาพแสดงให้เห็นฟ้าผ่ายอดมหาวิหารนักบุญเปโตร บันทึกโดย BBC

เกริ่นนำ

ประกาศสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013 ยืนยันข่าวการสละตำแหน่งผู้นำศาสนจักรของสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 (02.00 น. ของวันที่ 1 มีนาคม 2013 ตามเวลาในประเทศไทย) พร้อมกับเน้นว่า ประหลาดใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตลอด 600 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีสันตะปาปาทรงลาออกเลย [1] เหตุการณ์นี้ ชวนให้นักวิชาการด้านศาสนจักรทั่วโลก วิเคราะห์ไปต่างๆนานา ว่ามีอะไรที่มากไปกว่าเหตุผลเรื่องพระสุขภาพของพระองค์หรือไม่ และเพื่อชวนให้ผู้อ่านตั้งข้อสังเกต เราอาจวิเคราะห์ได้ดีขึ้นเมื่อพิจารณาข้อมูลการลาออกของอดีตสันตะปาปาในประวัติศาสตร์ศาสนจักร เพราะต้องไม่ลืมว่า คาร์ดินัล ยอแซฟ รัตซิงเกอร์ (สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) ผู้นี้ เป็น นักวิชาการสายอนุรักษนิยม อันการที่พระองค์ทรงลาออกก่อนวันครบรอบสมณสมัยปีที่ 8 ในวันที่ 19 เมษายน 2013 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่นาน และยังเป็นการลาออกในระหว่างเทศกาลถือพรต (Lent) ของชาวคริสต์คาทอลิกอีกด้วย จะไม่มีความหมายอื่นเลยหรือ?


เนื้อหา

ตามประวัติศาสตร์อันยาวนานของศาสนจักร มีสันตะปาปาเคยลาออกทั้งสิ้น  8 พระองค์ (เบเนดิกต์ที่ 16 เป็นองค์ที่ 9) และแต่ละพระองค์ก็มีเหตุผลของการลาออกที่น่าสนใจ ดังข้อมูลต่อไปนี้

(1) สันตะปาปานักบุญปอนสิอานูสมรณสักขี (St.Pontianus the Martyr) [2] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 230-235 เป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่สละตำแหน่ง เหตุการณ์สำคัญในสมณสมัยของพระองค์ คือ เรื่องของนักคิดหัวรุนแรงอย่างนักบุญฮิปโปลีตูส (St.Hippolytus the Martyr) [3] สังฆราชแห่งกรุงโรม ผู้เป็น "สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" (Anti-Pope) พระองค์แรก (สัญญาณเกี่ยวกับการประกาศแบ่งแยกการปกครองระหว่างนิกายคาทอลิกกับนิกายออร์โธดอกซ์) ต่อมาในปลายสมณสมัย พระองค์และฮิปโปลีตูส ถูกเนรเทศโดยจักรพรรดิแม๊กซีมีนูส ชาวธรากซ์ (Maximinus Thrax) ให้ไปทำงานหนักในเหมืองบนเกาะซาร์ดิเนีย (Sardinia Island) ฉะนั้น เพื่อให้ศาสนจักรเดินหน้าไปต่อได้จึงสละตำแหน่งในเดือนกันยายน คริสตศักราช 235 ซึ่งสันตะปาปาที่รับตำแหน่งต่อจากพระองค์ ก็ครองสมณสมัยได้ไม่ยาวนานอีกเช่นกัน เหตุเพราะการเมืองการเบียดเบียนศาสนจักร

(2) สันตะปาปานักบุญมาร์แชลลีนูส (St. Marcellinus) [4] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 296-304? เป็นสันตะปาปาในยุคการเมืองเบียดเบียนศาสนจักรอีกเช่นกัน (สมัยจักรพรรดิไดโอกลีเตียน – Diocletian) ต่อมาในปลายสมณสมัยของพระองค์ จักรพรรดิไดโอกลีเตียนและบรรดาผู้สำเร็จราชการได้ออกประกาศ 5 ฉบับ เพื่อเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองที่เป็นคริสตชน รวมถึง การทำลายศาสนสถาน คัมภีร์ นักบวชในศาสนาคริสต์ เหตุการณ์นี้เป็นการประหัตประหารใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ (Great Diocletianic Persecution) [5] เชื่อกันว่า พระองค์สละตำแหน่งและมรณภาพแบบมรณสักขี (แม้ว่าจะไม่ชื่อบันทึกไว้ในสารบบมรณสักขีก็ตาม) ภายหลังการมรณภาพของพระองค์ในปี 304 ตำแหน่งสันตะปาปาว่างลงเป็นเวลา 4 ปี เนื่องจากการเบียดเบียนศาสนจักรยังไม่คลี่คลาย

(3) สันตะปาปาลีเบรีอูส (Liberius) [6] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 352-366 ทรงเป็นสันตะปาปาท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับเทววิทยาเรื่องพระธรรมชาติของพระเจ้า พระองค์ต่อต้านคำสอนตามแนวคิดแบบแอเรียน (Arianism) ที่เผยแพร่อย่างกว้างขวาง (พวกแอเรียนเชื่อว่า พระเยซูไม่ได้มีพระธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้สร้าง เป็นแต่เพียงสิ่งถูกสร้างในฐานะผู้ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง คือ เป็นสิ่งที่ต่างกัน-hetero-ousios) และฝ่ายสนับสนุนแนวคิดแบบแอเรียนยังมีการแต่งตั้ง "สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" (Anti-pope) ทรงพระนามว่า "เฟลิกซ์ที่ 2" (Felix II) [7] เพื่อต่อต้านความคิดเดิมที่ว่า พระเยซูมีพระธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้สร้าง เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันมิได้ (homo-ousios) ถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีความขัดแย้งภายในมากช่วงหนึ่ง ที่สุดแล้ว พระองค์จึงสละตำแหน่ง

(4) สันตะปาปายอห์นที่ 18 (John XVIII) [8] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1004-1009 ประวัติศาสตร์ในสมณสมัยของพระองค์ไม่แน่ชัดนัก นักประวัติศาสตร์เสนอว่าเป็นไปได้ที่พระองค์จะไม่ได้สละตำแหน่งด้วยพระองค์เอง [9] แต่อาจเนื่องมาแรงกดดันจากความขัดแย้งภายในของการเมืองระหว่างตระกูลนักบวช ทรงมรณภาพในสถานะฤาษี (monk) ที่อารามนักบุญเปาโลใกล้กรุงโรมในปีเดียวกันกับที่สละตำแหน่ง

(5) สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 9 (Benedict IX) [10] ครองสมณสมัยอย่างไม่ต่อเนื่องระหว่างปีคริสตศักราช 1032-1047ทรงได้รับเลือกขณะมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ช่วงเวลานี้มีความวุ่นวายเกี่ยวกับการแก่งแย่งชิงดีอำนาจผู้นำศาสนจักร พระองค์ครองสมณสมัย 3 รอบ ในช่วงเวลาสั้นๆ คือ ครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1032-1044 ครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1045 (ประมาณ 20 วัน) ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 1047 ซึ่งมีข่าวลือว่าทรงสละตำแหน่งให้ (หรือขายให้?) พ่อทูนหัว (God father) ของตน คือ สันตะปาปาเกรโกรีที่ 6 (Gregory VI-1045-1046) ประวัติศาสตร์ช่วงนี้แม้จะมีความสับสนเกี่ยวกับการหากินกับศาสนาอย่างเปิดเผย แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ในปี 1046 สันตะปาปาเกรโกรีที่ 6 จัดตั้งกองทัพของศาสนจักรด้วย ส่วนสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 9 ในบั้นปลายมรณภาพที่อารามกร๊อตตาแฟรราตา (Grottaferrata)

(6) สันตะปาปาเกรโกรีที่ 6 (Gregory VI) ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1045-1046 พระองค์ถูกตัดสินฐานซื้อตำแหน่งสันตะปาปา [11] ไม่นานหลังจากการถูกบีบให้สละตำแหน่งโดยที่ประชุมที่ซูตรี (Sutri) ก็สิ้นพระชนม์

(7) สันตะปาปานักบุญเซเลสตีนที่ 5 (Celestine V) [12] ครองสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1294 (สิงหาคม– ธันวาคม) ทรงมีชาติกำเนิดที่ยากจนและเป็นนักพรตในคณะเบเนดิกติน (Order of St.Benedict) เรื่องการดำรงตำแหน่งของพระองค์เกิดจากการที่บรรดาคาร์ดินัล (ฐานันดรที่มีสิทธิ์เลือกสันตะปาปา) ตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขศาสนจักร จึงจับผลัดจับผลูมาเลือกพระองค์ (นักพรต Pietro da Morrone) ต่อมา เพราะพระองค์ไม่รู้ภาษาลาตินซึ่งเป็นภาษาราชการ ทั้งยังมีพระทัยปรารถนาชีวิตบำเพ็ญพรต จึงขอลาออกท่ามกลางบรรดาคาร์ดินัล แต่พระองค์โชคร้ายยิ่ง เพราะ สันตะปาปาองค์ต่อไป คือ โบนิฟาซที่ 8 (Boniface VIII) ไม่อนุญาตให้กลับไปบำเพ็ญพรตที่อาราม เพราะกลัวว่า จะมีใครยุยงให้พระองค์ทวงสิทธิ์ความเป็นสันตะปาปาหรือตั้งตนเป็นสันตะปาปาอีกครั้ง (Anti-Pope)  จึงจำกัดบริเวณพระองค์ให้บำเพ็ญพรตอยู่ในค่ายทหารเท่านั้น [13]

(8) สันตะปาปาเกรโกรีที่ 12 (Gregory XII) [14] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1406-1415 อันเป็นยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในศาสนจักรสะสมมาถึงจุดใกล้แตกหัก ซึ่งจำเป็นต้องอธิบายถึงการลี้ภัยของสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 (Clement V) ไปยังเมืองอาวีญง ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1309 อันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา และต่อมาสันตะปาปายอห์นที่ 22 (John XXII) ก็ประทับอยู่ที่อาวิญง เช่นเดียวกัน แต่พร้อมกันนั้นกรุงโรมกลับมีการแต่งตั้ง "สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" (Anti-pope) ภายใต้อุปถัมภ์ของเชื้อพระวงศ์ อย่างไรก็ตาม แม้ตอนหลังเรื่องการแต่งตั้งซ้อนจะจบลง แต่สันตะปาปาอีกพระองค์ถัดจากยอห์นที่ 22 คือ เบเนดิกต์ที่ 12 (Benedict XII) ซึ่งเป็นนักพรตคณะคาร์ธูสเซียน (Carthusian) ก็ประทับที่อาวีญงเช่นเดิมอีก จนที่สุด เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในปะทุขึ้นอีกครั้ง จึงทำให้คาร์ดินัลแบ่งออกเป็นสองฝ่าย และต่างสถาปนาสันตะปาปาของตนในระหว่างปี 1378 ซึ่งเมื่อสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 12 ครองสมณสมัยจึงทำให้พระองค์ต้องประสบกับปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระองค์พยายามแก้ไขปัญหาเรื่อง "สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" (Anti-pope) ที่เมืองอาวีญง แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายกว่านั้น เมื่อมีการแต่งตั้งสันตะปาปาซ้อน (Counter pope) ขึ้นมาอีกองค์จากเมืองปีซ่า ประเทศอิตาลี พระนามว่า อเล็กซานเดอร์ ที่ 5 (Alexander V : 1409) และที่สุดพระองค์ทรงจำนนต่อข้อตกลงของสภาสังคายนาเมืองคอนแตนซ์ (Constance Council: 1414-1418)จึงสละตำแหน่งสันตะปาปาในปี 1415 โดยหวังว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น [15]

600 ปีต่อมา สันตะปาปาองค์ปัจจุบัน เบเนดิกต์ที่ 16 (Benedict XVI) ผู้ได้รับเลือกจากบรรดาคาร์ดินัลในระยะเวลาอันรวดเร็วเพียง 2 วัน ในวันที่ 19 เมษายน 2005 ผู้ทรงเป็นสันตะปาปาที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือก (78 ปี) ผู้เป็นพระราชาคณะที่ดำรงตำแหน่งสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อมาโดยตลอด เช่น ประธานสมณกระทรวงพระสัจธรรม ในปี 1981 (Congregation for the Doctrine of the Faith) ซึ่งมีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการพิทักษ์ข้อคำสอน (Doctrine) ของศาสนจักร จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย [16] ตัดสินพระทัยสละตำแหน่งผู้นำศาสนจักร

แม้พระองค์จะให้เหตุผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับพระสุขภาพและพระชันษาที่สูงวัย แต่ในทัศนะของนักวิชาการด้านเทววิทยาหลายคน เช่น ฮันส์ คุง (Hans Kung) กลับมีความเห็นว่า "แม้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับการสละตำแหน่ง แต่หวังว่า รัตซิงเกอร์ (สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) จะไม่เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนใครขึ้นมาแทนที่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ในสมณสมัยของเบเนดิกต์ที่ 16 มีการแต่งตั้งฐานันดรคาร์ดินัลสายอนุรักษ์นิยมมากมาย ซึ่งการแก้ไขความขัดแย้งภายในศาสนจักรนั้นไม่ใช่เรื่องที่คนเพียงคนเดียวจะจัดการได้อีกต่อไป" [17] การสละตำแหน่งในครั้งนี้จึงยังน่าจับตามองอยู่นั่นเอง


สรุป

ไม่ว่าเหตุผลในการสละตำแหน่งของสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จะมีมากกว่าที่พระองค์ชี้แจงหรือไม่ แต่ประวัติศาสตร์การลาออกของสันตะปาปาในศาสนจักรสะท้อนให้เห็นถึงเครื่องหมายของความขัดแย้งภายในอยู่เสมอ เพราะในฐานะนักวิชาการทางเทววิทยาที่สำคัญคนหนึ่ง รัตซิงเกอร์ (สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) จะไม่รู้เชียวหรือว่า เคยเกิดอะไรขึ้นบ้างในศาสนจักรที่ตนเองได้รับเลือกให้ปกครองนี้ และไม่รู้เชียวหรือว่ามีความขัดแย้งอะไรบ้างในสันตะสำนัก (Curia-สำนักงานบริหารส่วนกลาง) ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยคงไม่ได้รับคำตอบในเร็วๆนี้ แต่เราสามารถเก็บเกี่ยวเอาแบบอย่างที่ดีอย่างผู้นำศาสนจักรคนนี้ได้อย่างน้อยที่สุด คือ "การรู้จักปล่อยวางตนเองจากเกมอำนาจ"



อ้างอิง
[1] http://www.catholic.or.th/service/download/document/2013/bsthai2013.jpg
[2] http://www.newadvent.org/cathen/12229b.htm
[3] http://www.newadvent.org/cathen/07360c.htm
[4] http://www.newadvent.org/cathen/09637d.htm
[5] http://www.fourthcentury.com/notwppages/persecution-timeline.htm
[6] http://www.newadvent.org/cathen/09217a.htm
[7] http://www.fourthcentury.com/index.php/avellana-1-english
[8] http://www.newadvent.org/cathen/08429a.htm
[9] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope4/pope_John_XVIII_/pope_john_xviii_.html
[10] http://www.newadvent.org/cathen/02429a.htm
[11] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope3/Benedict_IX_/benedict_ix_.html
[12] http://en.wikipedia.org/wiki/Pope_Celestine_V
[13] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope2/St__Celestine_V/st__celestine_v.html
[14] http://www.newadvent.org/cathen/07001a.htm
[15] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope2/Gregory_XII/gregory_xii.html
[16] http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-11141340
[17] http://protectthepope.com/?p=6727

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก. จัดฟังความเห็นแก้ กม.ประกันสังคม

Posted: 13 Feb 2013 12:25 AM PST

กระทรวงแรงงานแจงเร่งแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน ห่วงรื้อทั้งฉบับใช้เวลานาน ผู้ประกันตนเดือดร้อน

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  –นางสุนี  ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม เป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....โดยได้มีนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และนายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้อำนวยการกองนิติการร่วมชี้แจงให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนทางกระทรวงฯก็ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากรอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมทั้งฉบับในคราวเดียวอาจใช้เวลานาน 2 ปี ก็ไม่แน่ชัดว่าจะแล้วเสร็จ ดังนั้นความจำเป็นของผู้ประกันตนจึงต้องมาก่อน เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนบางกรณีจึงต้องเร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงในบางมาตรา หากจะแก้ไขกฎหมายทั้งหมดคงไม่ทันการณ์

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า โดยหลักการยังเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในรายละเอียดอาจจะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง ซึ่งคิดว่ายังมีเวลาได้หารือกันต่อไป แต่ตรงจุดนี้จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ เนื่องจากประเด็นเรื่องประกันสังคมนั้นส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากถึง 11 ล้านคน และยังไม่มีใครตอบได้ว่ารูปแบบใดจึงจะดีที่สุด จึงจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ  แต่ถ้าทำแล้วเกิดความเสี่ยงก็ไม่ทำ เพราะเราเอาเงินคนอื่นมาลงทุน ในจุดเริ่มต้นตรงนี้จึงพยายามจะทำอะไรให้เสี่ยงน้อยที่สุดเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนและประชาชนทุกคน ทั้งนี้หากพิจารณาในหลักการตามที่ประชุมให้ข้อสังเกตไว้ยังไม่ได้เห็นว่ามีขัดแย้งกันทั้งหมด ยังมีความเห็นตรงกันกันว่าอยากให้ผู้มีรายได้มีส่วนร่วมจ่าย โดยกระทรวงแรงงานจะรับไปพัฒนาต่อ นอกจากนี้กระทรวงฯก็กำลังขยายสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา39 เพื่อพัฒนาระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น สำหรับแนวทางการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน นั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบนโยบายให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ยิ่งขึ้น หากคปก.มีข้อเสนอที่ดีสามารถเสนอมาได้และทางเรายินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้อำนวยการกองนิติการ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม คือ การปรับปรุงแก้ไขเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น การขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างส่วนราชการ รวมถึงลูกจ้างองค์กรท้องถิ่น การแก้ไขประเด็นมาตรา 40 ในบทนิยามให้ครอบคลุมถึงแรงงานที่ไม่อยู่ในสถานประกอบการ เรื่องบำนาญชราภาพ เรื่องการประสบภัยพิบัติของผู้ประกันตน  กรณีลูกจ้างหรือผู้ประกันตนเสียชีวิตและไม่มีทายาทพี่น้องสามารถรับผลประโยชน์แทนได้ การเปลี่ยนนิยามเรื่องทุพพลภาพให้ครอบคลุมการสูญเสียอวัยวะ นอกจากนั้น ยังแก้ไขเรื่องการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ และยังขยายเรื่องสิทธิในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนจากหนึ่งปีเป็นสองปี หากเกินสองปี เลขาธิการฯมีอำนาจขยายให้ได้หากมีเหตุผล นอกจากนี้ ยังระบุให้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับไม่อยู่ในการบังคับคดีของเจ้าหนี้ด้วย ด้านการบริหารได้เพิ่มคุณสมบัติคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อให้คณะกรรมการบริหารงานมีคุณภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แก้ไขส่วนเงื่อนไขการเสียสิทธิ เนื่องจากเรื่องหลักๆ ที่เร่งด่วน คือเจ็บป่วยและเสียชีวิต

นายโกวิท กล่าวว่า  ประเด็นตามมาตรา 55 เราได้ปรึกษากับกฤษฎีกาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะกลุ่มผู้ได้รับความคุ้มครองจะหมดในอีกห้าถึงหกปี ส่วนนิยามการว่างงาน ที่มีสาเหตุมาจากการลาออกที่ถูกบังคับ ซึ่งมีปัญหาการตีความในทางกฎหมายว่าเป็นการลาออกนั้น เมื่อพิจารณาแล้ว การเลิกจ้างโดยการลาออก เจตนารมณ์ในการเลิกจ้างคือ ไม่ประสงค์จะทำงาน ซึ่งเห็นว่าควรคุ้มครองผู้ประกันตนส่วนนี้ด้วย ทั้งนี้  ต้องมีการตรวจสอบเป็นกรณีไป โดยในทางปฏิบัติให้กรมสวัสดิการฯ เข้ามาดูแล และพิจารณา ว่าเข้ากรณีถูกบีบบังคับให้ลาออกหรือลาออกโดยความสมัครใจแท้จริง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ในส่วนนี้ก็ยังต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะมีการปรับแก้อย่างไร

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากการศึกษาการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมอาจจะเป็นแนวคิดในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แต่การดำเนินการแก้ไขปัญหาตามงานวิจัยที่มีอาจมีข้อจำกัดหลายประการเช่น สภาวะสังคม เป็นต้น  ขณะที่ประเด็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานที่ถูกจัดส่งไปต่างประเทศ ได้มีการพูดคุยกันตลอด เช่น อิสราเอล ไต้หวัน  เป็นต้น ซึ่งสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้ปล่อยผ่านไปแต่อย่างใด ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับข้อตกลง(MUO) ของประเทศไทยกับประเทศนั้นๆด้วย

"ปัญหาเรื่องการลงทุน ที่สำนักงานบริหารการลงทุน สามารถไปลงทุนในภาคเอกชน ซึ่งอาจจะทำให้รัฐกลายเป็นรัฐวิสาหกิจหากถือหุ้นเกิน 50%นั้น ปัญหานี้ก็น่าเป็นห่วง แต่การลงทุนจะต้องศึกษาให้รอบด้านก่อนการลงทุนจริง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทำนองนี้ที่อาจจะเกิดขึ้น และจะหารือกับกลต.ในประเด็นดังกล่าว" นายจีรศักดิ์ กล่าว

ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม กล่าวว่า มีข้อสังเกต  3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. บทนิยามคำว่า "ลูกจ้าง" นั้น ยังไม่ครอบคลุมของลูกจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน กรณีที่นายจ้างเป็นบุคคลธรรมดาและประกอบธุรกิจซึ่งมิได้มีลักษณะเพื่อหากำไร ควรระบุให้คุ้มครองด้วยด้วย 2. เงินสมทบตามมาตรา 55 ยังมีความไม่เสมอภาคปรากฏอยู่ เนื่องจากลูกจ้างที่เข้ามาก่อนที่จะมีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.นี้ได้ประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว 3. เรื่องการว่างงานนั้น ไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้รอครบ 7 วันจึงจะมีสิทธิรับเงินทดแทน เนื่องจากความเดือดร้อนเกิดขึ้นทันทีนับแต่ว่างงานแล้ว และไม่ได้คำนึงถึงภาระของผู้ว่างงานว่าได้รับความเดือดร้อนมากน้อยเพียงใด 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรผู้บริโภคโวย กทค.แอบทำมติลับ 'พรีเพด' เอื้อ บ.มือถือ

Posted: 13 Feb 2013 12:16 AM PST

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เรียกร้อง กทค.แจงเหตุมีมติกำหนดระยะเวลาพรีเพด 30 วัน ทั้งยังให้สิทธิบริษัทไม่ต้องคืนเงินสดกับผู้บริโภคหากยกเลิกสัญญา พร้อมสับองค์กรโทรคมนาคมเผยแพร่มติผ่านเว็บไซต์ล่าช้าเป็นเดือน



นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงการกำหนดระยะเวลาโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า หรือพรีเพดว่า ขณะนี้เกิดความสับสนสำหรับผู้บริโภคเป็นอย่างมากเนื่องจากมี กสทช.บางท่าน ออกมาให้ข่าวผ่านสาธารณะว่า บอร์ดกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้มีมติให้มีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าแล้ว คือ เติมเงินแต่ละครั้งสามารถใช้บริการได้ 30 วัน ตั้งคำถามว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงเหตุใดมติดังกล่าวจึงไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะให้เป็นที่ชัดแจ้งกว่าที่เป็นอยู่นี้

"ถ้ายังจำได้เมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว 8 ก.พ.55 กทค.ได้จัดให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ระหว่าง กทค. ตัวแทนผู้ให้บริการ และตัวแทนผู้บริโภค เพื่อหาข้อยุติและแนวทางแก้ไขปัญหานี้ และจากนั้น ทรูมูฟ ได้เสนอให้มีการกำหนดวันใช้งาน 60 วัน แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด กทค. พอมาปีนี้ เดือนกุมภาพันธ์เช่นกัน เมื่อบริษัทเดียวกันนี้เสนอมาที่ 30 วันต่อการเติมเงินหนึ่งครั้ง กทค. กลับรีบมีมติอนุมัติ โดยไม่มีการเชิญตัวแทนผู้บริโภคเพื่อหารือด้วยเลย มันแปลกไหม ครั้งนี้ บริษัทเสนอ กทค.ก็รีบสนอง แล้วบอกว่าเป็นปีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่เรื่องที่มีผลกระทบกับผู้บริโภคจำนวนกว่า 70 ล้านเลขหมายกลับไม่ให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อยุติร่วมกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา และหากมีมติจริง ขอให้ กทค.ชี้แจงเหตุผล และการอนุญาตให้ผู้ประกอบการบังคับให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการตามเวลาที่ผู้ประกอบการกำหนด มันคุ้มครองผู้บริโภคตรงไหน" ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าว

นางสาวบุญยืนกล่าวต่อไปว่า ยังมีประเด็นที่เห็นว่ามติ กทค. ครั้งนี้ถอยหลังเข้าคลองคือ กรณีที่ระบุว่า หากผู้บริโภคเลิกใช้บริการพรีเพด หรือเมื่อเลิกสัญญากันแล้ว กทค.ได้มีมติให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการโอนเงินค่าบริการที่ชำระล่วงหน้าไว้ไปยังเลขหมายอื่นที่อยู่ในโครงข่ายเดียวกันด้วยก็ได้ ซึ่งหมายความว่า หากสัญญาเลิกกันอย่างไรเสียเงินที่อยู่ในระบบก็ยังเป็นของบริษัท และบริษัทไม่จำเป็นต้องคืนเป็นเงินสดให้กับผู้บริโภค ทั้งที่เป็นเงินที่ผู้บริโภคชำระค่าบริการล่วงหน้าให้กับบริษัทและเป็นการขัดต่อ ประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549ข้อ 34 ซึ่งระบุว่า เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยการคืนเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ อาจคืนด้วยเงินสด เช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการ หรือตามวิธีการที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้

"พิจารณากันอย่างไรถึงมีมติที่ถอยหลังเช่นนี้ ทั้งที่ประกาศที่มีอยู่ก็ก้าวหน้าและคุ้มครองผู้บริโภคไว้อย่างดี ถ้าเช่นนี้เท่ากับท่านมีมติที่ขัดต่อประกาศของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นมติที่ทำให้ผู้บริโภคเสียหายกว่าเดิม เพราะเดิมเมื่อสัญญาเลิกกัน ผู้บริโภคพรีเพดสามารถไปขอเงินในระบบคืนจากผู้ให้บริการได้" นางสาวบุญยืนกล่าว

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวต่อไปว่า หลักการสำคัญของการแก้ไขปัญหาการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพด คือ การไม่เร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องเร่งเติมเงินเข้าสู่ระบบ หรือไม่เร่งรัดผู้บริโภคให้ใช้บริการมากเกินไป ซึ่งหากผู้บริโภคยังคงมีเงินเหลืออยู่ในระบบและยังมีการใช้งานอยู่ต้องสามารถใช้บริการได้ ถึงแม้บริษัทจะมีสิทธิขออนุมัติจากกรรมการกิจการโทรคมนาคมเพื่อกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ แต่การกำหนดวันในการใช้งานก็สมควรอยู่ในหลักการที่ไม่เร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการ
 
"อีกประการที่อยากฝาก กทค. และสำนักงาน กสทช. คือ ให้เร่งรัดการดำเนินงานนำมติของ กสทช.และ กทค. เผยแพร่ให้สาธารณะรับทราบบ้าง ไม่ทราบว่า ท่านได้เคยเข้าเว็บไซต์ขององค์กรท่านเองหรือไม่ ตอนนี้ก็เดือนกุมภาพันธ์เข้าไปแล้ว แต่มติ กทค. ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยังเป็นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วอยู่เลย ศักยภาพตกต่ำลงอย่างมาก หากเทียบกับตอนเป็น กทช. ที่จะลงมติเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทันที ดังนั้นหากมีมติแล้วก็กล้าๆ เผยแพร่กันหน่อยให้ประชาชนเขารู้บ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาในการใช้บริการโทรคมนาคม" นางสาวบุญยืนกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกจากสนาม: เส้นทางโรฮิงญา ตอนที่ 1 การเข้ามาในเมืองไทย

Posted: 13 Feb 2013 12:16 AM PST

ภูมิหลังเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาในพม่า

          ชาวโรฮิงญาเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่และมีถิ่นกำเนิดทางตอนเหนือของรัฐอาระกัน หรือยะไข่ของพม่าซึ่งเป็นเขตแดนติดกับบังคลาเทศ  "โรฮิงญา" มาจากชื่อ "Rohang" หรือ "Rohan" ซึ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่มีภาษาเป็นของตนเอง ในช่วงศตวรรษที่ 9 – 10 อาณาบริเวณนี้ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ "ยะไข่" เป็นชนชาติส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮินดูและชาวมองโกลด้วย นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ชาวโรฮิงญาได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายการแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษ และได้พยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ค.ศ. 1947 ได้ก่อตั้งกองกำลังต่อสู้ด้วยอาวุธพร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากจีนและปากีสถาน ทำให้ชนกลุ่มนี้ไม่เป็นที่ไว้วางใจของรัฐบาลพม่ามาตราบเท่าทุกวันนี้

          หลังรัฐประหารใน ค.ศ. 1962 รัฐบาลพม่าได้ออกมาตรการจำกัดเสรีภาพของโรฮิงญาและมีความพยายามที่จะขับไล่คนกลุ่มนี้ออกจากประเทศ ด้วยวิธีการต่างๆ และไม่ยอมรับสถานภาพความเป็นพลเมืองของชนชาติโรฮิงญา ใน ค.ศ. 1970 ได้ออกพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉุกเฉินโดยกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องมีใบรับรองการลงทะเบียนแห่งชาติ (NRCs) แต่ชาวโรฮิงญาจะได้รับเฉพาะบัตรลงทะเบียนในต่างประเทศ (FRCs) ทำให้นายจ้างและหน่วยงานท้องถิ่นไม่ยอมรับ สถานภาพของชาวโรฮิงญาในฐานะพลเมืองพม่า ในค.ศ. 1977 – 1978 ชาวโรฮิงญามากกว่า 200,000 คนหลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลพม่าเข้าไปในบังคลาเทศ แต่ต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากในค่ายอพยพที่ค็อกบาซาร์ ในที่สุดผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบทั้งหมดได้หวนกลับคืนถิ่นเดิม

การอพยพครั้งใหญ่  ค.ศ. 1991 – 1992

          เมื่อรัฐบาลทหาร (SLORC) ยึดอำนาจใน ค.ศ. 1988 นโยบายของพม่าที่มีต่อ ชาวโรฮิงญาแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆเลย ตัวอย่างเช่น ภายใต้จากบทบัญญัติกฎหมายสัญชาติ ค.ศ. 1982 ผู้เป็นพลเมืองพม่าจะต้องสืบสาวความเป็นพม่าจากบรรพบุรุษพม่าตั้งแต่ ค.ศ.1823 ลงมา จึงจะได้รับการพิจารณาสถานะพลเมือง ดังนั้นชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นพลเมืองและถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน  รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาและเสรีภาพอื่นๆ

          ค.ศ. 1991-1992 ชาวโรฮิงญาถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ถูกฆ่า ข่มขืน และทรมานโดยทหาร ถูกบังคับให้ทำงาน  เช่นไพร่ส่วยอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงหลบหนีเข้าไปลี้ภัยในค่ายค็อกบาซาร์ บังคลาเทศถึง 260,000 คน

วันที่ 28 เมษายน 1992 รัฐบาลพม่าและบังคลาเทศลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมทวิภาคีที่จะยอมรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่สามารถสร้าง "ที่อยู่อาศัยโดยสุจริต" ในพม่าและที่ส่งกลับโดยสมัครใจอย่างปลอดภัย และในปี 1993 บังคลาเทศและพม่าร่วมกับ UNHCR ได้ลงนามข้อตกลงในการส่งกลับผู้ลี้ภัยกว่า 50,000 คน 

          ช่วงเวลา ปี 1992 – 1993 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัย (UNHCR) ถอนตัวออกจากทุกค่ายเพื่อประท้วงการส่งกลับดังกล่าว การส่งกลับถูกกำหนดให้สิ้นสุดในเดือนธันวาคมปี 1995  แต่ภัยธรรมชาติ และความไม่สงบทางการเมืองในพม่าทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไม่เต็มใจที่จะกลับบ้าน ได้ชะลอกระบวนการพิจารณาส่งกลับผู้ลี้ภัย จำนวน 35,000 คนยังคงอยู่ในค่ายอพยพ  และสถานการณ์โดยรวมในรัฐอาระกัน ไม่ดีขึ้น ชนกลุ่มน้อยยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและภัยประหัตประหารจากเจ้าหน้าที่รัฐ  เนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติและไม่ยอมรับความเป็นพลเมือง จึงไม่ได้รับสิทธิในการเดินทาง รวมทั้งการเข้าถึงบริการของรัฐ ในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อย ชายโรฮิงญาเสี่ยงต่อการจับกุม การฆ่า การบังคับใช้แรงงาน  ถูกขูดรีดภาษีอากร ในปี 1999  ชาวมุสลิมพม่ามากกว่า  20,000 คน ได้เข้าพักพิงลี้ภัยในบังคลาเทศและมีผู้ลี้ภัยใหม่ทุกวัน การปราบปราม การบังคับใช้แรงงานและการจับกุมโดยพลการอย่างรุนแรงทำให้มุสลิมพม่าเกือบล้านคนได้กลายเป็น "คนพลัดถิ่นภายในประเทศ"

การเข้ามาเมืองไทยของชาวโรฮิงญา

                 การจากสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย พบว่ามีการเข้ามาตั้งแต่ 30 ปีก่อน เช่น นายกาลัม กับเพื่อนรวม 3 คนหนีการเกณฑ์แรงงานแบบไพร่ส่วยของทางการพม่า ได้เดินเท้าเก็บผลไม้ป่าแทนอาหารใช้เวลาหลายเดือนจนมาถึงเมืองเมียวดี ก็ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเมยขึ้นฝั่งแม่สอด

             ในช่วงเวลาต่อมา กลุ่มชายฉกรรจ์โรฮิงญาจะเตรียมเรือพร้อมเสบียงอาหารน้ำและน้ำมันจำนวนหนึ่งเพื่อผ่านทางน่านน้ำอันดามันไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า การมีชีวิตที่แร้นแค้นในบ้านเกิด โดยมาเป็นแรงงานรับจ้างในสวนยางพารา

การเข้ามาเมืองไทยของชาวโรฮิงญาจะอยู่ในช่วงหลังคลื่นลมมรสุมสงบลง ระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มโรฮิงญาเหล่านี้จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะในปีนี้กลุ่มโรฮิงญา ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน เตรียมที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อขึ้นฝั่งที่ จ.ระนอง และนับว่าเป็นครั้งแรกที่การอพยพผ่านเข้ามาในคราวนี้มีเด็กอ่อน ทารก เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีและผู้หญิง(รวมทั้งหญิงมีครรภ์แก่)ติดสอยห้อยตามมาเป็นจำนวนมากด้วย เนื่องจากในปี 2555 ที่ผ่านมา ในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ชาวโรฮิงญามีปัญหากระทบกระทั่งกับชาวยะไข่ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ และนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในลักษณะการกีดกันทางชนชาติ มีการเข่นฆ่า ทำร้ายและเผาผลาญบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา  จนไม่อาจอยู่ในถิ่นเกิดได้อีกต่อไป ต้องหนีภัยลงเรือจากเมืองมองโด .เกาะซันดามา ,เมืองมีบุง,เมืองปกจู้,เมืองซักตู้,เมืองซิตตเหว่ ,เจาก์ตาว ว่า "ไปที่ใดก็ได้แล้วแต่พระผู้เป็นเจ้า" ดังข้อมูลจากปากคำของคนเหล่านี้ที่ได้เล่าให้เจ้าหน้าที่กสม.บันทึกไว้

ข้อมูลจากฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อเดือน ต.ค. 2555 ผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคน ประกอบกับการที่รัฐบาลพม่าได้ควบคุมการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชุมชนชาวโรฮิงญา ทำให้มีชาวโรฮิงญาราว 104,000 คน ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องอาหาร ที่พัก และการดูแลสุขภาพ มีผู้อพยพภายในประเทศ (Internally displaced persons - IDP) 75,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 40 แห่งในเมืองซิตตเหว่ และเจาก์ตาว

สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาที่ถูกกักตัวในประเทศไทย นั้น ปรากฏตามลำดับ ดังนี้

 

ปีที่เข้ามา

สถานการณ์การเข้ามาของชาวโรฮิงญา

2542

มกราคม 2542 มีกระแสข่าวผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่สื่อต่างชาติ และกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ต่อสายตาชาวโลก ว่า ทหารเรือไทยกระทำการผลักดันกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาอย่างทารุณกรรม โดยปล่อยทิ้งให้ลอยเรืออยู่กลางทะเล

2549

กองทัพเรือ ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ด้านฝั่งทะเลอันดามัน ได้ตรวจพบการหลบหนีเข้าเมือง และจับกุมชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก

จำนวนชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับชาวโรฮิงญาที่เข้ามาทั้งหมดเป็นผู้ชายและนับถือศาสนาอิสลาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยตั้งข้อสังเกตว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญาอาจจะมีส่วนเกี่ยวพันกับปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

2550

กองทัพเรือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จับกุมชาวโรฮิงญาได้ 1,158 คน พร้อมเรือ 21 ลำ

การดำเนินนโยบายจับกุมและผลักดันผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญาออกนอกน่านน้ำ เป็นนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต

2551

ธันวาคม 2551 กองทัพเรือได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานของหมู่เกาะสุรินทร์ว่า พบกลุ่มชาวโรฮิงญา จำนวน 205 คน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนแยก 1 เป็นหน่วยอำนวยการหลักในการแก้ไขปัญหาผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยผิดกฎหมายกลุ่มชาวโรฮิงญาด้านพื้นที่จังหวัดระนองและพังงา

2552

มกราคม  2552 กองทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตรวจพบผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวโรฮิงญา จำนวน 78 คน ที่ปากน้ำระนอง รวมยอดคนต่างด้าวผิดกฎหมายกลุ่มชาวโรฮิงญาถูกกักตัว ณ อาคารควบคุม ผู้ต้องกักด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง เพื่อรอการกำหนดนโยบายส่งตัวกลับจำนวนทั้งสิ้น 86 คน

กุมภาพันธ์ 2552 ชาวโรฮิงญา ถูกกักตัวอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ตัวแทนสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยได้เข้ามาตรวจสอบประวัติความเป็นมาและบันทึกถิ่นที่อยู่ สอบถามประวัติครอบครัว บิดา มารดา อาชีพ ได้พิมพ์ลายนิ้วมือของ ทุกคน และบันทึกเหตุการณ์ที่ชาวโรฮิงญาเดินทางโดยเรือ ชาวโรฮิงญาได้ตอบว่าเจ้าหน้าที่ทหารไทยทำร้ายพวกตนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

มีนาคม  2552 สถานเอกอัครราชทูตบังคลาเทศ มาพิสูจน์สัญชาติและจากการตรวจสอบสถานะบุคคลพบว่ามีชาวโรฮิงญาสัญชาติบังคลาเทศ จำนวน 29 คน ซึ่งได้ดำเนินการส่งกลับประเทศบังคลาเทศเรียบร้อยแล้ว คงเหลือผู้ต้องกักกลุ่มชาวโรฮิงญา  ณ  อาคารควบคุมผู้ต้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง จำนวน 57 คน

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน ของทุกปี ตรวจพบกลุ่มชาวโรฮิงญา ที่เดินทางมากับเรือจะมีแต่เพศชายในวัยฉกรรจ์เป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยพบว่ามีผู้หญิงหรือเด็กเล็กมากับเรือ จำนวนที่พบในแต่ละครั้งประมาณ 50 – 100 คน

ชาวโรฮิงญามีเป้าหมายเดินทางไปประเทศที่สามโดยใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย เพื่อหางานทำ

กลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นชาวบังคลาเทศ จำนวน 29 คน ถูกส่งตัวไปกักตัว ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร

กลุ่มชาวโรฮิงญาอีกกลุ่มที่เหลืออีก จำนวน 49 คน ถูกควบคุมตัวไว้เพื่อรอการดำเนินการของรัฐบาลไทยซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลพม่า

 

มิถุนายน  2552 ชาวโรฮิงญาในกรุงเทพมหานครได้แจ้งข่าวว่า นายอับดุล ซาลัม อายุประมาณ 20 ปี ได้เสียชีวิตในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง

 

กรกฎาคม  2552 ชาวโรฮิงญาจึงได้ขอความช่วยเหลือต่อองค์กรสิทธิมนุษยชน จัดทำหนังสือขอให้รัฐบาลไทยระงับการส่งตัวกลับไปยังพม่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวโรฮิงญา

กันยายน  2552 ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง กลุ่มชาวโรฮิงญามักถูกตรวจพบพร้อมพาหนะเรือขนาดประมาณ 30 ฟุต โดยกองทัพเรือภาคที่ 3

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับคำร้องเรียนและลงตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายอับดุล ซาลัม อายุ20 ปี และนายฮามมะ ดูละ อายุ 15 ปี ได้เสียชีวิตในห้องกักของด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง(รายละเอียดปรากฏตามรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ 49/2554 ซึ่งพบว่าในที่สุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1  รายหลังจากถูกส่งตัวจากห้องกักตม.ระนองไปยังห้องกักตม.สวนพลู) จากการตรวจสอบของกสม.พบว่ามีผู้ต้องกักชาวโรฮิงญาอยู่ในห้องกักตม.สวนพลูถึง 78 คน ซึ่งถูกกักไว้นานเกือบ 2 ปี เพราะไม่อาจส่งกลับประเทศต้นทางได้ สร้างความเครียดแก่คนเหล่านี้เป็นอย่างมาก และตม.ก็เป็นภาระในการดูแลแตกต่างจากผู้ต้องกักที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายรายอื่นๆที่ถูกกักไว้ไม่เกิน 30 วันก็จะถูกส่งกลับคืนประเทศต้นทางได้

หลังจากกสม.ได้ประสานความช่วยเหลือในการประกันตัวชาวปากีสถานนิกายอมาดียะห์ได้  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีนโยบายให้ปล่อยชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ โดยผลักกลับบริเวณชายแดนด้านตะวันตกและให้ถือว่าชาวโรฮิงญานั้นต้องการผ่านทางไปประเทศอื่น จึงควรช่วยเหลือให้อาหาร น้ำและน้ำมันตามหลักมนุษยธรรม

2554

โรฮิงญาทะลักเข้าไทยในช่วง พ.ย. 2554 - ก.พ.2555 แล้วกว่า  2,000คน พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบจากกลุ่มใหญ่ เป็นทะลักในรูปแบบกลุ่มย่อย

2555

กลุ่มผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาในช่วงตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2554 ถึง 2555 พบมีการดำเนินการแล้วรวม 28 ครั้ง มีชาวโรฮิงญาที่หน่วยงานเข้าควบคุมและสกัดกั้นพร้อมผลักดันออกนอกเขตอาณาจักรไทยรวม 2,177 คน

2556

ณ วันที่ 25 มกราคม  2556 จำนวน 1,390  คน โดยแยกรายละเอียดสถานที่ควบคุมตัวชาย-หญิง-เด็ก ปรากฏตามตารางที่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสรุปไว้ โดยกักตัวชาวโรฮิงญาในห้องควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา ปาดังเบซาร์ พังงา ระนอง บ้านแรกรับของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และที่สถานีตำรวจต่างๆในพื้นที่ จ.สงขลาเพื่อรอนโยบายจากรัฐบาลไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับชาวโรฮิงญาเหล่านี้

ณ วันที่ 28 มกราคม 2556 จำนวน 1,486 คน ตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตม.ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯที่ห้องประชุม 709 และเจ้าหน้าที่สมช.แจ้งว่า ต้องกักตัวไว้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรอนโยบายของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกเหนือจากความผิดฐานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองพ.ศ.2522

31 มกราคม 2556 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการควบคุมชาวโรฮิงญาไว้ชั่วคราว โดยกักตัวไว้ไม่เกิน 6 เดือนว่า ไม่ถือเป็นการยกระดับ แต่เป็นการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลชั่วคราว ซึ่งหากเกิน 6 เดือนต้องให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) รับไปดูแล ไทยยังยืนยันจะไม่มีการตั้งศูนย์อพยพ ส่วนที่ชาวโรฮิงญาอพยพเข้าไทย เพื่อหลบหนีเข้าประเทศมาเลเซียนั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของยูเอ็นเอสซีอาร์และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ สมช.ได้ประสานไปแล้วทางหนึ่ง ทางยูเอ็นเอสซีอาร์ก็ต้องช่วยประสานมาเลเซียอีกทางหนึ่งด้วย เพราะถือเป็นประเทศที่ 3 ส่วนการอพยพเข้าไทยมากขึ้น ก็ต้องควบคุมให้มีการรวมตัวกันเป็นจุดๆ ไม่ให้มีการกระจัดกระจายเพื่อความเรียบร้อย ทั้งนี้ สำหรับจำนวนชาวโรฮิงญาล่าสุดที่เข้ามาในไทยมีจำนวน 1,400คน เราช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม คือ ให้น้ำ ให้อาหาร แล้วผลักดันออกนอกประเทศ

ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาว่า ขณะนี้มีผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญาที่สามารถขึ้นฝั่งได้ และถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบและจับกุมจำนวน 1,752คน แบ่งเป็นชาย จำนวน 1,442 คน หญิงและเด็ก จำนวน 310คน โดยทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522โดยจัดระเบียบให้ผู้ต้องหาชายอยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลาและจังหวัดใกล้เคียง สถานีตำรวจในพื้นที่ จ.สงขลา ส่วนผู้หญิงและเด็กอยู่ในความดูแลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จ.สงขลา ทั้งนี้ได้กระจายอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่สถานที่ในสังกัด สตม. จำนวน 1,177คน สถานที่นอกสังกัด สตม.จำนวน 265 คน พื้นที่พักเด็กฯ (ผู้หญิงและเด็ก) จำนวน 310 คน

 

ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ยอดผู้ต้องกักชาวโรฮิงญาทั้งหมดมีจำนวน 1,759 คนตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตม.ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สงขลา

การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 กลุ่มคณาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม และนิสิตนักศึกษา เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มหาสารคามร่วมกันลงนามเรียกร้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา

โดยข้อเรียกร้องมี 3 ข้อ คือ

          ประการแรก   ขอเรียกร้องให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของรัฐสภา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั้งของไทยและสากล เข้ามีบทบาทในการเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาโดยเร่งด่วน โดยกดดันให้รัฐบาลไทยยุตินโยบายและปฏิบัติการที่เป็นการผลักดันชาวโรฮิงญากลับพม่า  เพราะชาวโรฮิงญาแตกต่างจากผู้อพยพหรือแรงงานข้ามชาติกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาเป็นคนไร้รัฐ การผลักดันพวกเขาออกนอกประเทศกลับไปยังพม่าจะทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และหากพวกเขาหลบหนีออกมาอีกครั้งก็จะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียชีวิตระหว่างหลบหนีหรือไม่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์อีก

สำหรับนโยบายในการแก้ปัญหาชาวโรฮิงญา รัฐไทยต้องให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการของรัฐไทยต่อชาวโรฮิงญาเป็นกรณีเฉพาะ

          ประการที่สอง ขอเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเข้ามีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาในประเทศพม่า โดยกดดันให้รัฐบาลพม่าและชาวพม่ากลุ่มอื่น ยุติการปราบปรามเข่นฆ่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆต่อชาวโรฮิงญาโดยทันที และให้การช่วยเหลือชาวโรฮิงญาทั้งที่ยังอยู่ในประเทศพม่าและที่หลบหนีออกมา รวมทั้งที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์โดยเร่งด่วน หากประชาคมอาเซียนและรัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียนเพิกเฉยต่อชาวโรฮิงญา  ก็เท่ากับแสดงให้เห็นว่าประชาคมอาเซียนเป็นเพียงการรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวโดยไม่ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาคมอาเซียนเอง

          ประการที่สาม ขอให้สังคมไทยร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลไทยดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 อย่างจริงจัง รวมทั้งทำการรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยโดยเร่งด่วน สำหรับกรณีของชาวโรฮิงญาที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่ภาคใต้ใน ขณะนี้ ขอให้สังคมไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พวกเขาโดยเร่งด่วน โดยไม่มีอคติทางศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ถือว่าชาวโรฮิงญา คือเพื่อนร่วมโลกของเรา ภายหลังจากมีการเผยแพร่และรณรงค์ผ่านเฟซบุ๊ก มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า  25,000 คนภายในวันเดียว

ท่าทีของรัฐบาลไทยและนักวิชาการต่อปัญหาการจับกุมชาวโรฮิงญา ปรากฏตามรายงานของหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2556 หน้า 10 ว่า

                   เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 นายสุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" กรณีชาวโรฮิงญาอพยพหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ต้องตีความแบบนั้น และทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมายไทย แต่การดูแลเบื้องต้นตกลงกันได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้งบประมาณให้การสนับสนุนไปก่อนในระยะสั้น ส่วนระยะยาวต้องมีการพูดคุยกันกับองค์กรระหว่างประเทศด้วยว่าจะเข้ามามีบทบาทได้มากน้อยเพียงใด และจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างที่จะต้องพิสูจน์หรือแยกกลุ่มออกมาด้วยว่ากลุ่มนั้นจะมีโทษหรือไม่ หรือเป้นกลุ่มที่มีภัยต่อประเทศหรือไม่ โดยต้องทำทุกอย่างตามขั้นตอน ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยสั่งให้ทุกหน่วยงานดูแลให้ความสะดวก ให้การรักษาพยาบาลโดยยึดหลักมนุษยธรรม การจะผลักดันผู้ตกยากลำบากออกไปทันทีเลยคงไม่ใช่สิ่งที่ต้องการทำ ส่วนการจะให้สถานที่พักพิงนั้น คงต้องพูดคุยกับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร อย่างองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และกาชาดสากล (ICRC) นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรยูนิเซฟ

                   นายสุรพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องชาวโรฮิงญานี้อาจจะเกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยถูกกล่าวหาจากสังคมโลกจนอาจจะต้องตกระดับ ที่ทางสหรัฐอเมริกาออกมาระบุว่าอยู่ในระดับ 2 ต้องเฝ้าระวัง หรือระดับ 3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้ง สิ่งทอ หรืออื่นๆ ไปยังประเทศยุโรปหรืออเมริกา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง ดังนั้น จึงต้องมีการแยกแยะเรื่องนี้ออกมา โดยตนได้เรียนกับผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ว่าเรื่องขบวนการค้ามนุษย์จะต้องปราบให้หมด และกรณีที่มีชาวโรฮิงญากลุ่มนี้หลบหนีเข้ามานั้นปรากฏว่ามีคนให้สถานที่พักพิง หรือตามที่เขาให้ข่าวว่ามีการใช้รถขนอำนวยความสะดวกต่างๆ เหล่านี้อาจจะเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ เพราะไปเรียกเงินจากพวกเขา และนำไปกักขังไว้ ดังนั้นต้องดูเรื่องเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องการค้ามนุษย์นั้น ประเทศไทยได้ยื่นรายงานแผนการต่างๆ ที่จะดำเนินการปราบปราม ซึ่งทางอเมริกาก็ยินดีที่จะช่วยไม่ให้ปรับระดับ ให้อยู่ที่ระดับ 2 เฝ้าระวัง เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

                   รศ.ดร.ปณิธาน  วัฒนายากร อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิของไทยประจำอาเซียน กล่าวว่า มีการพิสูจน์ทราบแล้วว่า ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้ามาเชื่อมโยงกับขบวนการค้าแรงงานและการค้ามนุษย์ ซึ่งในทางกฎหมายต้องจับกุม โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาจะต้องเร่งปราบปรามการค้ามนุษย์ และสกัดกั้นไม่ให้ชาวโรฮิงญาลักลอบเข้ามาอีก เนื่องจากยังมีแนวโน้มที่ชาวโรฮิงญายังคงทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็ก เนื่องจากปัญหาการสู้รบในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า แม้ว่าปลายทางจะลั้ยไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ก็ต้องฝานไทย แต่ไทยไม่มีสถานภาพที่จะรับชาวโรฮิงญาในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้ เพราะไม่ได้เป็นภาคีของสหประชาชาติในเรื่องผู้ลี้ภัย เพียงแต่ยึดหลักมนุษยธรรมการช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น ที่สำคัญไทยจะต้องยืนยันให้ชัดเจนว่าชาวโรฮิงญาเหล่านี้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและอยู่ในสถานภาพที่ต้องส่งกลับ

                   รศ.ดร.ปณิธานฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาขณะนี้คือการส่งกลับ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและศาสนา หากส่งกลับไปแล้วชาวโรฮิงญาได้รับอันตรายก็จะถูกมองในแง่ลบ และถูกต่อต้านจากองค์กรต่างๆ และในทางตรงกันข้ามหากไทยไม่สามารถผลักดันไปอยู่ในประเทศที่ 3 ได้ และไม่สามารถสกัดกั้นกลุ่มใหม่ๆ ที่จะเข้ามาได้ เพราะทราบว่าได้รับการดูแลจากไทยเป็นอย่างดี ชาวโรฮิงญาก็จะยิ่งลักลอบเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญรัฐบาลก็ยืนยันแล้วว่าจะปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม แต่ก็ต้องส่งกลับ ดังนั้น ทางออกคือไทยจะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นตอของปัญหาโดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่า ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการประสานงานผ่านอาเซียน และมีการประชุมกันที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงจะต้องคุยกับอินเดียและบังกลาเทศด้วย เพื่อให้เข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา แต่ขณะนี้จะต้องสกัดกั้นไม่ให้มีกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก

                   ด้านนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ คือต้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้โดยฝ่ายเดียว และไม่สามารถใช้เวทีเพื่อเจรจาทีละฝ่าย สองฝ่ายได้ เพราะเป็นปัญหาทั้งภูมิภาคสมควรจะหาเวทีที่มีประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางมาพูดคุยกัน โดยภาระจะตกเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ แม้ว่าประเทศไทยพร้อมจะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของประชาคมโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกกดดันจนไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย หรือไม่มีทางเลือก หรือไม่ให้คนอื่นเข้ามาร่วมรับรู้ กระทรวงการต่างประเทศน่าจะจัดหรือหาเวทีให้ทุกฝ่ายยอมรับว่า ปัญหาชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข

                   ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยในอนาคตจะกลายเป็นศูนย์ถาวรและมีผู้หลบหนีเข้าเมืองมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ฯ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องรีบเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามารับทราบว่า จะมาคาดหวังว่าประเทศไทยจะรับภาระในทุกเรื่องไม่ได้

                   วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์  อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป. กล่าวถึงการช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้รัฐบาลแบ่งเป็น 3 ระยะ คือต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ และต้องทำไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้ครบจะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรม และชาวโรฮิงญาเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ โดยระยะที่ 1. ต้นทาง คือชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองจากประเทศพม่า และประเทศบังกลาเทศ ทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ จึงอยากให้รัฐบาลไทย เจรจากับทั้ง 2 ประเทศให้ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง เพื่อลดปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานและลดปัญหาให้กับประเทศไทย และประสานความร่วมมือองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อช่วยเจรจาต่อรองกับทั้ง 2 ประเทศ

                   นายชวนนท์ฯ กล่าวต่อว่า ระยะที่ 2. เป็นส่วนกลางทาง เมื่อชาวโรฮิงญาลักลอบเข้ามาในประเทศไทยควรต้องมีระบบจัดการที่ดี เช่น การช่วยเหลือให้ชาวโรฮิงญามีงานทำ โดยลงทะเบียนกลุ่มแรงงานและหางานที่ประเทศไทยไม่มีคนทำงาน เช่น แรงงานที่ไม่ต้องใช้ฝีมือแต่ต้องจัดโซนนิ่งให้ชาวโรฮิงญาอยู่ในพื้นที่เฉพาะ นอกจากนี้ด่านตรวจคนเข้าเมืองต้องมีความเข้มงวดให้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดเสี่ยง และระยะที่ 3. รัฐบาลควรประสานขอความร่วมมือกับสหประชาชาติ และยูเอ็นเอชซีอาร์ เพื่อหาประเทศที่ 3 ที่มีความพร้อมในการรับชาวโรฮิงญาเข้าไปอยู่ในประเทศ ซึ่งรัฐบาลควรจะเร่งดำเนินการและควรทำอย่างระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นชาวโรฮิงญาจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และจะไม่สามารถหาประเทศที่ 3 ให้เขาไปได้

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน ชาติพันธุ์ ของสภาทนายความได้จัดงานเสวนา "โรฮิงญา หนีเสือปะจระเข้ : อนาคตและทางออกสำหรับประเทศไทย"เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556สรุปข้อคิดเห็น และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

1.รัฐบาลไทยควรประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสถานการณ์โรฮิงญา  รวมทั้งสถานทูตพม่า บังกลาเทศ และมาเลเซีย ให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องบทบาทและทิศทางการแก้ปัญหา  ทั้งควรจัดให้มีการประชุมในระดับภูมิภาคเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันด้วย 

2.รัฐบาลควรให้ UNHCR มีบทบาทในการคัดกรองชาวโรฮิงญาว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่  โดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับคนเชื้อชาติอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของประเทศไทย

3.รัฐบาลควรให้ UN และองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาอย่างเต็มรูปแบบ  โดยเฉพาะเรื่องสัญชาติของชาวโรฮิงญา  เพื่อการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้เพราะปัญหาสถานการณ์ชาวโรฮิงญามิได้มีเฉพาะในประเทศไทย  แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลายประเทศอีกด้วย

4.จัดหาประเทศที่ 3 เพื่อเป็นทางเลือกให้ชาวโรฮิงญากรณีที่พบว่าเป็นผู้ลี้ภัย

5.จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราวแก่ชาวโรฮิงญา  โดยไม่ให้ใช้ตม. เพราะพวกเขาไม่ใช่คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย  แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่

6.รัฐบาลไทยและสภาความมั่นคงแห่งชาติ ควรแถลงนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ทั้งมิติการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน และปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งนี้เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2555 กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติดูแลรับผิดชอบปัญหาชาวโรฮิงญา แต่ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไร

7.รัฐบาลไทยควรดำเนินการปราบปรามขบวนการนำพาและขบวนการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด ทั้งนายหน้าคนไทย คนพม่า คนบังคลาเทศ และเจ้าหน้าที่ไทยที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

8.จัดหาและฝึกอบรมล่ามแปลภาษาให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันความเสี่ยงจากการแทรกแซงของขบวนการค้ามนุษย์ต่อผู้เสียหาย

9.ให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรฮิงญาด้วย

10.มีระบบการส่งกลับชาวโรฮิงญาที่มีการติดตามผลด้วย

11.ให้รัฐบาลกำชับและตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายในเรื่องการผลักดันอย่างจริงจัง

12.รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำข้อมูลเรื่องสถานการณ์ชาวโรฮิงญาในประเทศไทยมาใช้ในการแก้ปัญหา

คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร จัดประชุมเรื่องโรฮิงญาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 โดยเชิญสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าชี้แจง การซักถามจะมุ่งพยายามเชื่อมโยงปัญหาความมั่นคงกับการที่ชาวโรฮิงญาเข้าไปเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ชี้แจงว่า ชาวโรฮิงญาไม่ได้ถูกบังคับแต่สมัครใจเข้ามาในเมืองไทย จึงไม่เข้าองค์ประกอบฐานความผิดการค้ามนุษย์ ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ชี้แจงในมิติหลักสิทธิมนุษยชนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับใช้พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 จึงนิยามคนกลุ่มนี้เป็น "ผู้หลบหนีเข้าเมือง" ไม่ใช่ผู้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ และไม่ใช่ผู้หนีภัยประหัตประหารตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 เพราะประเทศไทยไม่ได้ให้การรับรองอนุสัญญาฉบับนี้  ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้จะถูกกักไว้อย่างน้อย 6 เดือน  เพราะไม่สามารถปล่อยกลับประเทศต้นทางได้เหมือนคนหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติลาว กัมพูชาและพม่าโดยทั่วไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในห้องกักด่านตม.สะเดา ปาดังเบซาร์ บ้านพักเด็กสงขลา ห้องกักด่านตม.กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บ้านพักเด็กประจวบคีรีขันธ์  ห้องกักด่านตม.ระนอง ห้องกักด่านตม.พังงา และบ้านพักเด็กสตูล และได้นำข้อเท็จจริงขึ้นมาหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เมื่อวันที่28 มกราคม 2556 และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 (รายละเอียดรายงานสถานการณ์ความจริงที่โหดร้ายของทหารนาซาการ์ซึ่งเกิดขึ้นในรัฐอาระกัน   มิตรภาพจากทหารคะฉิ่น และชาวประมงไทยระหว่างการล่องเรือ   ความทารุณจากนายหน้าค้ามนุษย์ในแผ่นดินไทยและประเด็นข้อค้นพบจากผู้อพยพชาวโรฮิงญาทั้งชาย หญิงและเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 8 – 18 ปี  จะนำเสนอในตอนต่อไป "หลักมนุษยธรรมกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อ ชาวโรฮิงญาของคนไทย" )

 

หมายเหตุผู้เขียน  : เกศริน  เตียวสกุล เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้ทำหน้าที่เลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระเป็นประธาน  ผู้เขียนได้สนใจศึกษาปัญหาของชาวโรฮิงญาตั้งแต่ ปี 2552 เมื่อครั้งตรวจสอบคำร้องเรียน กรณีมีผู้เสียชีวิต 2 รายในห้องกักตม.ระนอง  จนขณะนี้ได้ลงไปสัมภาษณ์ผู้อพยพกลุ่มนี้ตามห้องกักตม.และบ้านพักเด็กและผู้หญิงต่างๆ และกำลังทยอยเรียบเรียงข้อมูลรวมทั้งแปลเอกสารที่คนเหล่านี้เขียนเล่าเหตุการณ์ด้วยภาษาพม่าไว้

 

12 กุมภาพันธ์ 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สังคมลาวเผชิญกับปัญหาครอบครัวแตกแยกมากขึ้น

Posted: 12 Feb 2013 10:57 PM PST

สังคมลาวกำลังเผชิญกับปัญหาครอบครัวแตกแยกและการล่วงละเมิดทางเพศมากชึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการข่มขืนในเยาวชนถือเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

กรมคุ้มครองระบบยุติธรรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรมของลาวรายงานว่า ในปี 2012 ที่ผ่านมา กรมคุ้มครองระบบยุติธรรมได้ให้การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแบบไม่คิดมูลค่าสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ทั้งในสังคมและภายในครอบครัวจำนวนทั้งหมด 1,897 ครั้ง

สถิติดังกล่าวนี้ ได้เพิ่มขึ้นจากปี 2011 คิดเป็นอัตราเฉลี่ยเกินกว่า 50% กล่าวคือได้มีผู้ร้องขอการช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองระบบยุติธรรมจำนวนทั้งหมด 660 คน ซึ่งในนี้รวมถึงเยาวชนลาวเพศหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีถึง 130 คน

ทั้งนี้ ปัญหาที่บรรดาผู้หญิงและเด็กเหล่านี้ได้ร้องขอความช่วยเหลือมายังกรมคุ้มครองระบบยุติธรรมนั้น มีทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับการหย่าร้าง ความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา เกี่ยวกับสินสมรส เกี่ยวกับสิทธิการเลี้ยงดูบุตร การกระทำอนาจารต่อเด็ก การร่วมเพศกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี การข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ข้ามชาติเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของกรมคุ้มครองระบบยุติธรรม ยอมรับว่าการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากปัญหาเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพระดับต่ำมาก โดยในปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้เยาว์ได้เพียง 86 รายเท่านั้นจากการร้องขอความช่วยเหลือทั้งหมด 660 คน

ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจด้วยการสุ่มตรวจเลือดประชาชนลาวผู้ที่สมัครใจในปี 2012 ที่ผ่านมา ก็พบว่ามีประชาชนลาวที่ติดเชื้อ HIV ทั้งหมด 5.260 คน โดยเสียชีวิตไปแล้ว 1,334 คน และ54% ในจำนวนทั้งหมดดังกล่าวเป็นเพศหญิง โดยสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงติดเชื้อมากกว่าผู้ชายนั้น ท่านบุญกอง สีหาวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า

"พวกเรายังมีสิ่งท้าทายหลายอย่างที่อาจเป็นสิ่งเอื้ออำนวยที่จะทำให้โรคเอดส์ระบาดมากขึ้น เช่นโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภค การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า สร้างถนนหนทาง หรือว่าการลงทุนของต่างประเทศที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของบ้านพัก สถานบันเทิงต่างๆ ที่ขาดการควบคุมพร้อมกัน และทำให้จำนวนหญิงบริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย"

 เกร็ดภาษาลาวจากข่าว

ສິນສົມສ້າງ - (สินสมส้าง) : สินสมรส, community property

กฎหมายว่าด้วยครอบครัว (แก้ไขปรับปรุงปี 2008) แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้บัญญัติเกี่ยวกับ ສິນສົມສ້າງ ไว้ในมาตรา 26 (ปรับปรุง) ดังนี้

ສິນສົມສ້າງ ແມ່ນ ຊັບສົມບັດທີ່ຄູ່ຜັວເມີຍນັ້ນ ສ້າງສາ ແລະ ຫາມາໄດ້ໃນເວລາເປັນຜັວເມີຍນຳກັນ ເວ້ນເສັຍແຕ່ ຊັບສິ່ງຂອງທີ່ເປັນເຄື່ອງໃຊ້ສ່ວນຕັວ ຊື່ງບ່ມີມູນຄ່າສູງ

สินสมรสคือ ทรัพย์สมบัติที่คู่ผัวเมียนั้นสร้างและหามาได้ในเวลาที่เป็นผัวเมียกัน เว้นเสียแต่ทรัพย์สิ่งของที่เป็นเครื่องใช้ส่วนตัว ซึ่งมิได้มีมูลค่าสูง

 

ที่มา: http://lao.voanews.com

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใต้เคอร์ฟิว 6 ตำบล ห้ามออกจากบ้าน 24 ชม. หลังปะทะเดือดดับ 16

Posted: 12 Feb 2013 10:40 PM PST

เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุกลุ่มคนติดอาวุธประมาณ 50 คน ใช้อาวุธสงครามและระเบิดเข้าโจมตีฐานฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 ชุดเฉพาะกิจนราธิวาส 32 หมู่ 3 บ.ยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงตอบโต้  หลังเหตุการณ์สงบ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุพบผู้เสียชีวิต 16 ศพ ที่เหลือหลบหนีไปได้ ยึดอาวุธสงครามได้ในจุดเกิดเหตุ เป็นปืนชนิดเอ็ม 16 จำนวน 13 กระบอก และปืนพกสั้นอีก 3 กระบอก รวม 16 กระบอก

รายงานข่าวจากเว็บไซต์มติชน รายงานปากคำของเจ้าหน้าที่ว่า กลุ่มติดอาวุธนี้นำอาวุธปืนสงครามร้ายแรงชนิดติดลำกล้อง มีแสงอินฟราเรดยิงในเวลากลางคืน จึงขอให้ตำรวจที่ร่วมสกัดคนร้ายในอำเภอยี่งอ รือเสาะ และเมืองนราธิวาส รวมถึงอำเภอสายบุรี ไม้แก่น กะพ้อ จังหวัดปัตตานี ระมัดระวังอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งตรวจสอบโรงพยาบาลทุกแห่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัว ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า เหตุการณ์บุกฐานทหารครั้งนี้ มีการแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ ใส่เสื้อเกราะกันกระสุน และมีผ้าพันคอแสดงสัญญลักษณ์ทุกคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งข่าวล่วงหน้าจึงได้เตรียมรับมืออย่างดี ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกนายปลอดภัย
 
มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ก่อนเข้าเคลียพื้นที่ พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และน.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน (ผบ.ฉก.นย.) ภาคใต้ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน ภ.จ.นราธิวาส ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า มีการวางระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ไว้ในถังแก๊สหุงต้มหนัก 50 กิโลกรัมจุดชนวนด้วยแบตเตอรี่ที่ลากสายไฟยาวไปในป่ารกทึบริมทางที่วางไว้เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าสนับสนุน โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการจุดต่างๆ นานกว่า 1 ชั่วโมงจึงสามารถเข้าไปยังฐานปฏิบัติการได้อย่างปลอดภัย
 
เมื่อถึงที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าฐานซึ่งเป็นสวนยางพารา พบศพกลุ่มบุคคลที่แต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ทหารนอนเสียชีวิตอยู่ แต่ละศพสวมหมวกไหมพรม และมีอาวุธปืนอาก้า และเอ็ม 16 สวมเสื้อเกราะ สภาพถูกกระสุนปืนจนพรุนไปทั้งร่าง ในเบื้องต้นตรวจสอบพบผู้เสียชีวิตเป็นระดับแกนนำกองกำลังติดอาวุธอาร์เคเคที่เคลื่อนไหวก่อเหตุร้ายในพื้นที่ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ ของ จ.นราธิวาส และ อ.กะพ้อ ของ จ.ปัตตานี 
 
นอกจากนี้ห่างจากถนนทางเข้าฐานปฏิบัติการประมาณ 50 เมตร เจ้าหน้าที่พบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า สีบรอนซ์ ทะเบียน บค-7968 ยะลา คาดว่าเป็นของผู้ก่อเหตุโจมตีจอดอยู่ในสภาพถูกกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่พรุนไปทั้งคัน โดยเฉพาะในกระบะหลังเจ้าหน้าที่พบเป้สนามจำนวน 8 ใบที่ภายในบรรจุอาวุธปืนพกสั้น ระเบิดแสวงเครื่องชนิดขว้าง โทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า และเครื่องยังชีพในป่าของคนร้ายที่ทิ้งไว้
 
ทั้งนี้การตอบโต้การโจมตีครั้งนี้ รายงานข่าวอ้าง น.ท.ธรรมนูญ วรรณา ผบ.ฉก.นราธิวาส 32 ซึงระบุว่า ในช่วงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังเจ้าหน้าที่สามารถวิสามัญนายสุไฮดี ตาเห อายุ 31 ปี ที่เข้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นหนึ่งในผู้ก่อเหตุบุกยิงครูชลธีเสียชีวิต เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดแผนผังและเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการบุกโจมตีฐานปฎิบัติการร้อยปืนเล็กที่ 2 ฉก.นราธิวาส 32 เจ้าหน้าที่จึงวางมาตรการป้องกันในการรับมือการบุกถล่มเพื่อแก้แค้นให้กับนายสุไฮดี
 
"จนกระทั่งในช่วงคืนของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ กลุ่มคนร้ายวางแผนบุกโจมตีฐานทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังพร้อมๆ กัน เจ้าหน้าที่ซึ่งได้วางกำลังพร้อมรับมืออยู่แล้วได้ใช้อาวุธปืนยิงปะทะกับกลุ่มคนร้ายเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง โดยกลุ่มคนร้ายอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ตัดต้นไม้ขวางถนน โปรยตะปูเรือใบ และวางระเบิดแสวงเครื่องสกัดกั้นเจ้าหน้าที่ จนกลุ่มคนร้ายเพลี่ยงพล้ำถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตรวม 16 ราย ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 30 คนสามารถนั่งรถยนต์กระบะหลบหนีไปได้ ในจำนวนนั้นถูกเจ้าหน้าที่ยิงได้รับบาดเจ็บไปด้วยเช่นกัน" น.ท.ธรรมนูญกล่าว
 
ทัพภาค 4 ประกาศเคอร์ฟิว 6 ตำบลนราธิวาส-ปัตตานี
ภายหลังเหตุการณ์ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งเคอร์ฟิว ใน 6 ตำบล ตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันนี้ - 06.00 น. วันพรุ่งนี้ 14 กุมภาพันธ์ รวมเวลา 24 ชั่วโมง โดย 6 ตำบลดังกล่าวประกอบด้วย ต.บาเระใต้ ต. บาร์เระเหนือ ต.บาลูกาสาเมาะ ต. กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และอีกสองตำบลคือ ต.ดอนทราย ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี
ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการประกาศเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันที่ 13 ก.พ.ถึง 06.00 น.ของวันที่ 14 ก.พ. ว่า เป็นการห้ามประชาชนออกจากเคหสถานเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และการเข้าเคลียร์พื้นที่หลังเกิดเหตุ ป้องกันการก่อเหตุซ้ำ เพราะเชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลับมาล้างแค้นแน่ และไม่ใช่ป้องกันแค่สนามบินเท่านั้น แต่รวมไปถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ด้วย
 
เฉลิม สั่งเยียวยาครอบครัว 16 ศพโจรใต้
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ปฏิบัติการที่เสียชีวิต โดยได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. และผู้ว่าฯ นราธิวาส หาทางเยียวยาครอบครัว และบอกพี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศว่า รัฐบาลไม่มองพวกท่านเป็นอื่น นอกจากเป็นคนไทยเหมือนกัน การเสียชีวิตครั้งนี้ รัฐบาลและตนเสียใจด้วย เพราะถือว่าเป็นคนไทยด้วยกัน แต่เจ้าหน้าที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะบุกไปในฐานเขา ก็ถือว่ามีเจตนา และต้องชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานที่ตั้ง 
 
"บางครั้งลดความสุขน้อยๆ มีกติกาควบคุมเพิ่มเติมได้หรือไม่ หากปล่อยไว้แบบนี้ ก็ต้องมีแบบนี้อีก ตนยังมีแนวคิดว่าในพื้นที่สำคัญๆ ที่เหตุร้ายมักเกิดบ่อยๆ ถ้าเราเคอร์ฟิว บางเวลา สุจริตชนขออนุญาตไปไหนมาไหนได้ คนที่มีความคิดแตกต่าง ก็ออกปฏิบัติการไม่ได้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
 
 
 
 
เรียบเรียงบางส่วนจาก:  มติชนออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น