โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

โรงเรียนสอนกฎหมายชายขอบระบบทุนนิยมโลก

Posted: 10 Feb 2013 07:41 AM PST

ทุนนิยมต้องอาศัยระบบตลาดที่มีการควบคุมให้เกิดความแน่นอนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงในการค้า การลงทุน และระงับข้อพิพาท

การสร้างความมั่นคงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับตลาดภายในต้องอาศัยกฎหมายของรัฐ และต้องสร้างเสถียรภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับตลาดโลกหรือข้ามชาติโดยอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศ

ดังนั้นทุนนิยม คือ เหตุผลหลักในการผลิตแรงงานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายออกมาสู่ตลาดแรงงาน นักกฎหมายจึงมีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนกลไกตลาดแบบทุนนิยม โดยเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ใช้กฎหมายเอกชนทางเศรษฐกิจ และมหาชนทางเศรษฐกิจ ที่มีระบบตลาดและเสรีภาพในทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจหลัก

แม้ไทยมิได้เป็นอาณานิคม? แต่อิทธิพลของระบบกฎหมาย และเนื้อหาของกฎหมายแบบตะวันตกมีอย่างเข้มข้น เนื่องจากเป็นต้นทางของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์จึงกลายเป็นต้นแบบหลักในการร่างกฎหมาย สร้างกระบวนการต่างๆ ตามมา เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจและสร้างตลาดที่มีกติกาสอดคล้องกันไปทั้งระบบ

โรงเรียนสอนกฎหมายที่กระจายอยู่ในรัฐต่างๆ ทั่วโลกซึ่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องออกแบบหลักสูตรให้รองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติ หรือเลียนแบบรูปแบบการดำเนินธุรกิจต่างๆ เข้ามาในชาติ เช่น การซื้อขาย บริการ ลงทุน ขนส่ง ประกันภัย ฯลฯ

อย่างไรก็ดี กฎหมายก็มีวัตถุประสงค์ที่รัฐสมัยใหม่สร้างขึ้นเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลนับตั้งแต่เกิดการสถาปนารัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองมิให้บุคคลทั้งหลายละเมิดสิทธิกันจนกระทั่งบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ทำให้กลไกตลาดชะงักงัน วัฏจักรทางเศรษฐกิจหยุดลง และระบบทุนนิยมทำงานไม่ได้

ความเป็นธรรมเป็นประเด็นหลักของการพูดถึงการประกันสิทธิของบุคคลอย่างเสมอภาคในระบบเศรษฐกิจ แต่ความเป็นธรรมเป็นนามธรรมที่ต้องแปลงให้เกิดรูปธรรม บังคับใช้จริง และประกันสิทธิได้

กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจสร้างขึ้นมาเพื่อกิจกรรมระดับเศรษฐกิจมหภาค เพื่อกำกับผู้เล่นทางเศรษฐกิจมิให้ทำลายตลาด บิดเบือนกลไกการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นธรรม เป็นเครื่องมือผลักดันให้กงล้อแห่งการแข่งขันอย่างเป็นธรรมยังหมุนไป

ส่วนกฎหมายเอกชนทางเศรษฐกิจจะใช้ในระดับเศรษฐกิจจุลภาค เพื่อควบคุมพฤติกรรมของบุคคลและนิติบุคคลมิให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เป็นเครื่องมือรักษาที่ยืนในระบบเศรษฐกิจมิให้บุคคลถูกเบียดขับออกไป

วิชากฎหมายที่สอนในโรงเรียนสอนกฎหมายตะวันตกเองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับความต้องการของสังคมโดยชั่งน้ำหนักระหว่างการขับเคลื่อนระบบทุนนิยมด้วยการคุ้มครองสิทธิของเอกชนที่มีอำนาจขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และรักษาความเป็นธรรมให้ผู้ที่ด้อยกว่าแต่จะต้องมีที่ยืนในระบบตลาดเช่นกัน

หากพิเคราะห์ถึงคำอธิบายวิชากฎหมายทางเศรษฐกิจที่สอนกันในหลักสูตรโรงเรียนสอนกฎหมายตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายทรัพย์สิน กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายการลงทุน กฎหมายป้องกันการผูกขาด หรือแม้กระทั่งวิชานิติกรรมสัญญา จะพบถึงการเน้นเนื้อหาในเชิงวิพากษ์ถึงความเป็นธรรมในการคุ้มครองคู่กรณีไว้ด้วยเสมอ มิได้มีลักษณะการอธิบายเพียงว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจควรมีรูปแบบใดเพื่อให้สมบูรณ์ตามกฎหมาย

ยิ่งถ้าพินิจจากตำราและงานวิจัยของอาจารย์ผู้สอนในวิชาเหล่านั้นจะเห็นทิศทางของการนำหลักศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มาเชื่อมโยงอธิบายเหตุผลของกฎหมาย และแนวทางที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมแห่งยุคสมัย โดยที่มีพื้นฐานความคิดประการหนึ่ง คือ กฎหมายต้องปรับตามหรือออกแบบให้ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการรักษาสิทธิธรรมให้แก่ประชาชน

หากสำรวจประวัติความเป็นมาของอาจารย์และนักวิจัยที่โรงเรียนสอนกฎหมายคัดเลือกเข้ามาจะยิ่งเห็นประวัติการศึกษาและทำงานแบบเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ  จนกลายเป็นทิศทางหลักในการคัดเลือกบุคลากร ผลักดันดันงานวิจัย ตำรา หรือการออกแบบหลักสูตรเพื่อนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักเรียนโดยเฉพาะในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ให้เข้ามาแสวงหาความท้าทายทางวิชาการและออกไปผจญภัยในโลกวิชาการที่กว้างขวางออกไป

ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลที่สำเร็จการศึกษาก็ย่อมกลายเป็นผู้ขยายฐานความรู้ทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นไปสู่สถาบันอื่นๆ  ที่บุคลากรเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาไป กลายเป็นการปักธงนำให้กับสถาบันเหล่านั้นเหนือสถาบันอื่น

อย่างไรก็ดี อาจมีข้อท้วงติงว่าเหตุใดจึงมองข้ามการผลิตนักศึกษากฎหมายออกไปทำงานภาคปฏิบัติ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษา ซึ่งอาจต้องเน้นตัวบทและขั้นตอนทางกฎหมายที่เป็นอยู่ โรงเรียนกฎหมายชั้นนำก็อาจคิดถึงการสร้างความสามารถในการชี้นำและกำหนดทิศทางสังคม หรือแม้กระทั่งวิชาชีพ มากกว่าการผลิตคนไปรับใช้องค์กรกฎหมาย หรือเป็นเพียงสถาบันที่เดินตามสิ่งที่องค์กรวิชาชีพกำหนด

สิ่งที่น่าชื่นชมอยู่ตรงที่โรงเรียนสอนกฎหมายเหล่านั้นตัดสินใจเลือก "เป็นอิสระ" และหลุดพ้นจากการครอบงำขององค์กรวิชาชีพ เนื่องจากความจำเป็นในการสร้างตำแหน่งแห่งที่ของโรงเรียนสอนกฎหมายเหล่านั้นในระดับโลก รวมถึงการกำหนดบทบาทของสถาบันการศึกษาในรัฐหรือประชาคมระหว่างประเทศ

หากโรงเรียนสอนกฎหมายมีเพียงหน้าที่ผลิตแรงงานกฎหมายเข้ารับใช้องค์กรก็จะไม่อาจสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย เนื่องจากการรอให้องค์กรวิชาชีพกฎหมายปรับตัวก็อาจต้องใช้เวลาเพราะองค์กรเหล่านั้นยังคงต้องทำงานประจำไปทุกเมื่อเชื่อวันและสูญเสียประสาทสัมผัสต่อความเปลี่ยนแปลงสังคม

บทบาทของโรงเรียนสอนกฎหมายระดับโลกจึงอยู่ในลักษณะการศึกษาวิจัยให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง แล้วนำข้อเสนอแนะให้กับองค์กรวิชาชีพ หรือฝ่ายการเมืองที่มีส่วนในการสร้างกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เลื่อนไถลไปตลอดเวลา ซึ่งรักษาความเป็นแนวหน้าในทางวิชาการและนำสังคม

ความสำคัญในการพยายามสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยและงานวิชาการอันเป็นอิสระจากองค์กรวิชาชีพแต่ตอบสนองสังคมอีกประการ คือ ผลงานวิจัย ตำรา และโครงการทั้งหลายซึ่งมีลักษณะเป็นการค้นหาความเปลี่ยนแปลง ความไม่ลงรอยระหว่างกฎหมายกับสังคม แล้วคิดค้นและพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ออกมาแก้ไขนั้น กลายเป็นผลคะแนนในการไต่บันไดฝันสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการระดับโลก เนื่องจากบุคคลภายนอกสถาบันคงไม่อาจทราบได้ว่าสถาบันนั้นสอนดีอย่างไร แต่กลับรับรู้คุณภาพของโรงเรียนสอนกฎหมายนั้นได้ผ่านผลงานวิชาการรูปแบบต่างๆ ที่ผลิตออกสู่สายตาชาวโลก

สิ่งที่ สกอ. หรือ มหาวิทยาลัยไทยกำลังทำอยู่ คือ ผลักดันให้มหาวิทยาลัยและคณะวิชาทั้งหลายกลายเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย" ก็ดูจะสอดคล้องกับทิศทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สถาบัน เพื่อดึงคนเข้ามาสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัย หรือเป็นน้ำหนักในการจัดสรรงบประมาณเพื่อมาดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย หรือคณะวิชาต่อไป แต่สิ่งที่พึงระวังให้มาก คือ เกณฑ์และตัวชี้วัดทั้งหลาย ซึ่งนำไปสู่การให้คะแนนและจัดวางสถาบันต่างๆ ลงบนอันดับโลกนั้น "ใครเป็นผู้กำหนด"

หากมองต้นทางที่มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยจะพบว่า มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหลายสำนัก ทั้งที่เป็นสถาบันเกี่ยวกับวิชาการ องค์กรธุรกิจทางการศึกษา หรือสำนักข่าว ผลที่ได้ออกมาจากการจัดอันดับก็แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก คือ ไม่น่าจะมีเกณฑ์ไหนซึ่งนำเอาลักษณะอุดมการณ์ชาตินิยมของตนเข้าไปชี้วัดสถาบันการศึกษาของชาติตนเพื่อแข่งกับสถาบันอื่นๆ ในระดับโลก

ยิ่งหากมองเฉพาะโรงเรียนสอนกฎหมายที่เป็นส่วนหนึ่งของสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ยิ่งน่าแปลกใจ หากนำเกณฑ์ของสายวิทยาศาสตร์มาใช้วัด เพราะการวิจัยทางสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกับสังคม และมีเงื่อนไขทางสังคมในการตอบปัญหาบางประการของสังคมเสมอ มิได้จำกัดอยู่ในห้องทดลองหรือปัจจัยคงที่

บทความนี้ไม่ลงย่อยในรายละเอียด เกณฑ์ การวัด หรือผลงานว่าควรเลือกใช้แบบใด วิธีใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า แต่ละมหาวิทยาลัย ต้องพยายามดูจุดแข็งจุดอ่อนซึ่งเป็นต้นทุนในการแข่งขันของตนเสียมากกว่า เพื่อวางตำแหน่งโรงเรียนสอนกฎหมายให้เป็นที่ดึงดูดใจต่อนักศึกษา นักวิจัย หรือนักวิชาการในระดับระหว่างประเทศที่จะมาเรียน มาร่วมทำวิจัย หรือแลกเปลี่ยนบุคลากร

สิ่งที่โรงเรียนสอนกฎหมายและบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องคิดให้หนัก คือ โลกกำลังชี้ว่าการทำงานวิชาการด้านกฎหมายต้องออกนอกตัวบทและมุ่งไปสู่บริบททางสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางอำนาจซึ่งเป็นที่มาของ "ความไม่เป็นธรรม" แล้วพยายามแสวงหาแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง โดยลงลึกในรายละเอียดว่าต้องเปลี่ยนวิธีการผลักดันกฎหมาย นโยบาย และการบังคับตามอย่างไร และสามารถสรุปสังเคราะห์ขึ้นเป็นทฤษฎีหรือหลักการใหม่ที่มางานวิจัยรองรับ และมีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งแตกต่างและเป็นที่ปรารถนาในตลาดโลก

โรงเรียนสอนกฎหมายที่เป็นชายขอบในประเทศไทย ก็อาจพลิกเป็นโรงเรียนสอนกฎหมายที่มีจุดดึงดูดระดับโลก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“การแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ประชาชน (2)”

Posted: 10 Feb 2013 04:14 AM PST

ก่อนที่จะไปสู่การอธิบายปัญหาบางประการที่ได้กล่าวไว้ในบทความที่แล้ว  ก็ได้พบว่ามีผู้สนใจแสดงแง่คิดที่แตกต่างกัน  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้แสดงความคิดเห็นในเชิงหลักการเพิ่มเติม  เพื่อทำให้ความคิดเห็นในด้านหลักการการแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ประชาชนอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  กล่าวคือ
 
ประการแรก  ข้อเสนอสามประการคือ
 
"สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี"
"รักษาโรคเพื่อช่วยคน"  และ
"แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง"
 
นั้นใช้กับทุกส่วนในหมู่มิตร  ไม่ใช่เรียกร้องกับเฉพาะผู้วิพากษ์วิจารณ์นปช.  เพราะนปช.และผู้ถูกวิจารณ์อื่น ๆ ก็ต้องใช้เช่นเดียวกัน  ถือว่าใช้กับทุกส่วนในหมู่มิตร  เพราะเมื่อมีผู้วิจารณ์ออกไปด้วยท่วงทำนองไม่ถูกต้องประหนึ่งท่าทีต่อศัตรู  และที่สำคัญคือ "เนื้อหาไม่ถูกต้อง" โดยจงใจบิดเบือนความจริงหรือบนข้อมูลไม่ครบถ้วน  ก็จะทำให้เกิดการวิจารณ์ตอบโต้กลับเช่นกัน  ดังนั้นหลักการเช่นนี้ก็ต้องใช้กับ "ทุกฝ่าย" ในความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเพื่อรักษามิตรมิใช่ทำลายมิตร
 
นี่ไม่ใช่การเรียกร้องต่อผู้วิจารณ์  องค์กร นปช.  แต่หมายถึงฝ่ายประชาชนทุก ๆ ฝ่ายต้องพยายามยึดกุมให้ได้ด้วยความอดกลั้น  อดทน  โดยเอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง  การพยายามอธิบายความเข้าใจที่ไม่ตรงกันหรือแก้ไขสิ่งที่ถูกบิดเบือนผิด ๆ ก็ควรอยู่บนผลประโยชน์ของขบวนทั้งขบวน
 
ประการที่สอง "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง"  เราจะใช้เมื่อผ่านการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผลและข้อมูล  แล้วยังมีความเห็นไม่ตรงกัน  เราก็ต้องยึดหลักการนี้โดยเอาเรื่องใหญ่เพื่อการต่อสู้ของประชาชนได้บรรลุเป้าหมายเป็นสำคัญ  นี่จึงเป็นหลักการที่ใช้กับองค์กรคนละองค์กร  ใช้กับคนละกลุ่ม  หรือใช้ในแนวร่วมสำหรับขบวนการคนเสื้อแดงนั้นต้องใช้ตลอดเวลา  เพราะขบวนการประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงนั้นหลากหลายด้วยจุดยืน  ด้วยเป้าหมาย  และวิธีการ  ดังนั้นคำพูดนี้จึงต้องใช้ให้มากสักหน่อย  ยามที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน  ทั้งที่มีเป้าหมายใหญ่ในการต่อสู้ร่วมกัน  เพราะท่ามกลางการเคลื่อนไหวในสถานการณ์ใหม่ที่ฝ่ายประชาชนได้เป็นรัฐบาล  เป็นเรื่องยากที่จะเกิดความเป็นเอกภาพทางความคิดและการกระทำทั่วทั้งขบวนในการขับเคลื่อน
 
ประการที่สาม  สิ่งที่เร่งความขัดแย้ง  เพิ่มความขัดแย้งในหมู่ประชาชนให้พุ่งขึ้นสูง  ที่สำคัญมิใช่ท่วงทำนองประหนึ่งเป็นศัตรู  แต่เป็นเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริงโดยจงใจบิดเบือน  ใส่ร้าย  ให้มิตรถูกดูถูกเหยียดหยามและถูกเกลียดชัง  เพราะถ้าจงใจใส่ความเท็จ  นี่จะเป็นตัวเร่งความขัดแย้งให้พุ่งสูงขึ้นทันที
 
และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น  แม้ว่าขบวนประชาชนนั้นจะไม่ใช่ขบวนปฏิวัติก็ตาม  เพราะการใช้ความจริงนั้นเป็นอาวุธที่ทรงพลังของประชาชนผู้ถูกกระทำจากผู้ปกครอง  และแม้แต่ต่อพวกปฏิปักษ์ต่อประชาชน  ประชาชนก็ต้องใช้ความจริงไปโจมตี  ใช้การโป้ปดมดเท็จไม่ได้เป็นอันขาด  ดังนั้นในขบวนการประชาชนไม่อนุญาตให้กล่าวเท็จใส่ร้ายต่อฝ่ายประชาชนด้วยกันเองเป็นอันขาด  และต้องถือเรื่องนี้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ  มิใช่ข้อเรียกร้องขั้นสูงแต่ประการใด
 
ประการที่สี่  มีผู้เสนอประโยคที่ว่า  "ผู้พูดไม่ผิด  ผู้ฟังพึงสังวรณ์"  นี่เป็นข้อเสนอที่เรียกร้องต่อ  "ผู้ถูกวิจารณ์"  โดยที่ต้องเข้าใจว่า  ประโยคนี้ใช้เมื่อไร?  นั่นคือ  ถ้าผู้พูดที่บอกว่าไม่ผิด (แม้ว่าจะพูดอย่างผิด ๆ)  คือมวลชนที่ถูกป้อนข้อมูลผิด ๆ  หรือมวลชนปฏิกิริยา (มวลชนระบอบอำมาตย์)  ผู้ฟังคือฝ่ายประชาชน "พึงสังวรณ์"นี่ย่อมถูกต้อง  ไม่จำเป็นต้องเป็นแกนนำของประชาชน  เพราะในขบวนประชาธิปไตย  แกนนำมิใช่ผู้นำแบบพรรคปฏิวัติ  ฝ่ายประชาชนทั้งหมดพึงสังวรณ์  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดเช่นกัน
 
แต่ถ้าผู้พูดเป็นผู้มีบทบาทในฝ่ายประชาชน  และมีภาวะเป็นแกนนำระดับใดระดับหนึ่ง  (ทางความคิดและการเคลื่อนไหว)  จะพูดอะไรแล้วอ้างเอาว่า "ผู้พูดไม่ผิด  ผู้ฟังพึงสังวรณ์"  ก็คงไม่ได้แน่  เพราะเท่ากับว่าตนสามารถพูดอะไรก็ได้  พูดผิด ๆ พูดใส่ร้าย  บิดเบือนความจริงก็พูดได้  เป็นหน้าที่ของผู้ฟังพึงสังวรณ์เช่นนั้นหรือ
 
ถ้าเป็นเช่นนั้นผู้พูดดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับมวลชนของพวกปฏิกิริยาล้าหลัง  หรือเป็นแบบเดียวกับนักการเมืองพรรคปฏิกิริยาล้าหลังบางพรรคที่ "พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น"  และนี่จะเป็นแบบอย่างของการไร้ความรับผิดชอบต่อคำพูดหรือการกระทำของตนที่ส่งผลร้ายต่อขบวน  และถ้าพูดกันให้ถึงที่สุด  นี่ไม่ควรเป็นวิธีคิดของฝ่ายประชาชน  "ผู้พูดไม่ผิด  ผู้ฟังควรสังวรณ์"  บ่งถึงความต่างชั้น  ต่างระดับของผู้พูดและผู้ฟังดังตัวอย่างเช่น ชาวบ้านกับหัวหน้าพรรคการเมือง  มีหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่บางพรรคก็จะโต้ตอบกับประชาชนที่เป็นผู้หญิง 2-3 ท่านอย่างเอาเป็นเอาตายในตลาด
 
ดังนั้น  ตรงข้าม  ผู้เขียนคิดว่าจะถูกต้องกว่า ถ้าใช้ "ไม่สำรวจ (ข้อมูล) ย่อมไม่มีสิทธิวิจารณ์"  นี่ควรจะเป็นเนื้อหาที่เอามาใช้ในการแก้ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน  ไม่ใช่ผู้พูดไม่ผิด  ผู้ฟังพึงสังวรที่จะเติมเชื้อไฟและเร่งให้ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเพิ่มสูงขึ้น  อาจมีบางท่านกล่าวว่า  นี่เป็นการเรียกร้องต่อผู้วิจารณ์อีกเช่นกัน  เพราะนี่จึงจะนำไปสู่ "สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี" ได้  และไม่ใช่เรื่องของการ "ประจาน" ที่หมายความว่าเอาเรื่องความจริงที่เป็นความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในหมู่ประชาชนมาบอกเล่าต่อสาธารณะ  เพราะการวิจารณ์ที่อยู่บนพื้นฐานของการสำรวจข้อมูลมาพอสมควรจึงจะสามารถนำเสนอได้โดยไม่มีอคติ  และความมุ่งร้ายทำลายต่อกันจึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชนได้  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดในหมู่ประชาชน
 
ถามว่าอนุญาตให้มีข้อมูลไม่ครบถ้วนวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่  ย่อมได้แน่นอน  และอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ผิดได้  โดยผู้พูดไม่มีความผิดในแง่เจตนาทำลายขบวน  แต่บกพร่องในเรื่องข้อมูล  เพราะไม่ได้มีเจตนาพูดเท็จใส่ร้ายป้ายสีและอยู่บนพื้นฐานแห่งการสำรวจระดับหนึ่ง  ข้อนี้อาจจะเป็นการเรียกร้องต่อผู้พูดที่มีความรับผิดชอบพอสมควร  เพราะการพูดวิพากษ์วิจารณ์ผิด ๆ หรือจงใจเท็จ  แม้อาจมีคนเชื่อถือในตอนแรก ๆ  แต่นาน ๆ ไปคนก็จะรู้ว่าความจริงคืออะไร  ผู้พูดก็หมดความน่าเชื่อถือเอง
 
เช่นพวกที่อ้างวาทกรรม "ล้มเจ้า"  "เผาบ้านเผาเมือง"  "มีชายชุดดำ"  หรือในหมู่ประชาชนเองที่แกนนำกลุ่มหนึ่งหรือคนหนึ่งโจมตีแกนนำอีกกลุ่มหนึ่งด้วยความเท็จ  หรือการโต้ตอบผู้วิจารณ์กลับด้วยความเท็จ  ผู้พูดก็จะหมดความน่าเชื่อถือ  และที่สำคัญคือการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาชนด้วยกันให้สูงยิ่งขึ้น  เนื้อความที่ว่า  "ไม่สำรวจ  ไม่มีสิทธิวิจารณ์"  จึงทำให้ทุกฝ่ายเกิดความยับยั้งชั่งใจก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือโต้ตอบการวิพากษ์วิจารณ์อีกที  โดยพยายามตรวจสอบข้อมูลให้มากสักหน่อย  นี่จึงจะเป็นการยกระดับความรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตนว่าจะมีผลเสียหายต่อขบวนหรือไม่  นี่ยอมมิใช่การจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันการสื่อสารสมัยใหม่  เพียงแค่คิดว่าเครียด, ดีใจ, หิวข้าว, กินข้าวอิ่ม  ก็กดแป้นระบายความรู้สึกออกมาแล้วโดยไม่ต้องคิด  จึงมีโอกาสที่จะสื่อสารได้เร็วมาก  ก่อนที่จะมีข้อมูลและเนื้อความก็จะถูกส่งออกไปอย่างรวดเร็ว  จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่การโจมตีวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลหรือด้วยอารมณ์ไม่พึงพอใจจะระบาดลุกลามอย่างรวดเร็ว  จึงเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต้องอดทนที่จะชี้แจง  ผู้เขียนซึ่งเคยชินกับการสื่อสารยุคโบราณจึงไม่สันทัดในโลกไซเบอร์  โดยทั่วไปก็จะคิดว่าประเดี๋ยวคนก็จะรู้เองว่าอะไรเป็นอะไร  เพราะความจริงนั้นจะทนต่อการพิสูจน์  แต่ปัจจุบันก็พบว่า  ถ้าความเชื่อถูกสร้างให้เกิดขึ้นเร็วในโลกไซเบอร์  และความจริงมาช้าเกินไป ก็ส่งผลเสียหายใหญ่หลวงเช่นกัน
 
รูปธรรมในการนำเสนอเพื่ออธิบายความสงสัยในหมู่ประชาชนนั้น  ผู้เขียนยังไม่ได้นำเสนอในบทความนี้  รวมถึงมีปัญหาบทเรียนการต่อสู้ของประชาชน  แต่ขอพูดประเด็นเดียวในการอธิบายประกอบหลักการคือ  เหตุใดนปช.ไม่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล  นปช.ได้แถลงข่าวในวันพุธที่ 6 ก.พ. 56 แล้วว่าจะไม่ใช้วิธีนำมวลชนมาชุมนุมกดดันรัฐบาลเพราะจะใช้ท่วงทำนองมิตรในการนำเสนอพระราชกำหนดนิรโทษกรรม  โดยให้คุณณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ เป็นตัวแทนไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี  แต่เนื้อหาคือ  การออกพระราชกำหนดโดยอาศัยอำนาจบริหารซึ่งจะเกิดผลเร็วที่สุด  นั่นคือมีผลในทางปฏิบัติต่อรัฐบาลที่หนักหน่วงอย่างยิ่งว่าจะยินดีปฏิบัติหรือไม่  โดยอ้างเหตุผลวิกฤตประเทศที่ฝ่ายประชาชนยากที่จะอดทนต่อไปอีกแล้ว  และเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่จะมาสู่ความมั่นคงของประเทศในเวลาอันใกล้นี้  ถ้าไม่หาทางออกให้แก่ประเทศไทย
 
แต่เราก็ใช้ท่วงทำนองอย่างมิตรที่ขอให้ใช้เวลาไม่นานเกินไป  ขอให้มีการปฏิบัติการโดยเร็วที่สุด  จะเลือกใช้ พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. หรือร่างรัฐธรรมนูญ  ก็ขอให้ทำให้เร็วที่สุดดังนี้เป็นต้น  เพื่อตอบคำถามว่า  ทำไมไม่ไปกดดันรัฐบาลด้วยการชุมนุม
เพราะเราใช้หลักความเป็นมิตรไม่สร้างหรือขยายความขัดแย้งในหมู่ประชาชน  แต่จุดยืนและเนื้อหานั่นต่างหากที่แสดงออกถึงความมั่นคง  ยืนหยัดต่อข้อเรียกร้องบนผลประโยชน์ของการต่อสู้ของประชาชน  พูดง่าย ๆ คือกดดันด้วยเนื้อหาของฝ่ายประชาชนนั่นเอง  สำหรับคำชี้แจงในเรื่องอื่น ๆ  จะอธิบายประกอบหลักการต่อไป  แม้ว่าได้ชี้แจงกันมาหรือมีข้อมูลนำเสนอมาก่อนนี้ก็ตาม  แต่เมื่อมีการพูดซ้ำ ๆ ก็จำเป็นต้องอธิบายชี้แจงและปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาษามลายู สุนทรียภาพและความลึกซึ้งที่ “ภาครัฐ” ยังเข้าไม่ถึง

Posted: 10 Feb 2013 03:17 AM PST

 
ความพยายามของภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้พัฒนารูปแบบกันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้บางครั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองแทบจะตั้งตัวไม่ติดในการตั้งรับกับการแก้ไขสถานการณ์ ทั้งปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าและแนวทางการป้องกันแก้ไขในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นหลักการทฤษฎีที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรต่างๆ ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ล้วนถูกแกะออกมาใช้อย่างหมดเปลือกก็ว่าได้ และแทบจะไม่มีเครื่องมืออะไรเหลือในคลังสมองอีกแล้ว
 
แม้กระทั่งทฤษฎีการแยกปลาออกจากน้ำของเหมาเจ๋อตุงเองก็ดี ก็เคยนำมาปัดฝุ่นออกมาใช้แล้วเช่นกัน ที่ถือว่าเป็นสุดยอดบิดาแห่งสงครามสำหรับนายทหารไทยบางคน และไม่เว้นแม้แต่ทฤษฎีทางจิตวิทยาต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง ที่เคยนำไปใช้กับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในอดีตจนประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงอีกด้วย
 
วัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการที่จะสยบความเคลื่อนไหวของผู้ที่กำลังพยายามต่อสู้กับอำนาจรัฐ ที่รัฐเองก็เชื่อว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิดอุดมการณ์เพื่อปลดแอกจากการปกครองของรัฐไทย โดยหวังอย่างลึกๆ ว่าด้วยแนวทางและทฤษฎีดังกล่าว จะสามารถช่วยลดแรงสนับสนุนจากมวลชน ที่เป็นดั่งสายน้ำคอยหลอเลี้ยงกลุ่มดังกล่าว
 
แต่ท้ายที่สุดแล้วความพยายามทั้งหมดก็ล้วนแต่คว้าน้ำเหลวมาโดยตลอด เฉกเช่นงบประมาณที่ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ได้เอาไปใช้ให้ถูกที่ถูกทางและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ที่เปรียบเสมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือบางครั้งก็อาจเปรียบได้กับการขี่ช้างจับตักแตน ในประเด็นที่ได้มีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดต่างๆ มาใช้ในการปฏิบัติภารกิจที่เกินความจำเป็นฉันใดก็ฉันนั้น
 
ในจำนวนทฤษฎีทั้งหลาย ฝ่ายความมั่นคงเองก็ไม่ลืมที่จะงัดเอากลเม็ดเคล็ดลับเกี่ยวกับงานการสร้างมวลชนเพื่อจะเอาชนะทางจิตวิทยาอีกด้วย เพื่อต้องการที่จะต่อกรกับฝ่ายตรงข้ามอย่างทุกวิถีทางให้จนถึงที่สุด โดยการอาศัยเรื่องประเพณีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่น หรือที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ที่เคยถูกนำมาเป็นข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในอดีต เพื่อต้องการดึงมวลชนไม่ให้เข้าไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม และที่สำคัญเพื่อให้กลุ่มมวลชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชนของตนเองแทนเจ้าหน้าที่ อย่างเช่นโครงการตาสับปรด เป็นต้น
 
อัตลักษณ์ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในงานด้านการแย่งชิงมวลชนที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การนำเอาอัตลักษณ์ทางด้านภาษามลายูอักษรญาวีมาใช้ในงานการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย ทั้งการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ตามท้องถนนหนทางทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้สองภาษาควบคู่กับภาษาไทย อันเป็นภาษาของชาติ
 
ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น นับวันดูเหมือนภาษามลายูอักษรญาวีจะยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัวโดยปริยาย อันเนื่องมาจากการที่รัฐเองเริ่มมีความเข้าใจถึงความเป็นไปและความจำเป็นในการใช้ภาษาของคนในท้องถิ่น เพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับพี่น้องประชาชน ผ่านภาษาของแม่หรือภาษาแห่ง "ภูมิบุตร" (bahasa ibunda) และเหนือสิ่งอื่นใดนั้น ก็เพื่อเป็นการมุ่งเน้นในด้านภารกิจงานจิตวิทยาในการเรียกร้องความสนใจของประชาชน ให้มีความรู้สึกถึงการให้ความเคารพของรัฐ ที่มีต่อสิทธิทางการเมืองและภาษาของคนมลายู และยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับอักษรญาวีไปในตัวอีกด้วย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
การเปิดพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์แก่คนมลายู ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะหากย้อนไปในอดีตช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น ล้วนแต่มีการปิดกั้นพื้นที่และโอกาสสถานเดียวในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์คนหนึ่งสมควรจะได้รับ ในประเทศที่อ้างว่าได้ใช้ระบอบประชาธิปไตยในการบริหารการปกครอง
 
จริงอยู่ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะปกครองโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่รู้กันอยู่ก็ตาม แต่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ค่อยจะเต็มใบเสียเท่าไหร่นัก เพราะกลุ่มชนบางกลุ่มไม่สามารถที่จะใช้สิทธิที่ควรมีได้อย่างเสรี กล่าวคือยังไม่ได้รับสิทธิเท่าที่ควร แม้กระทั่งการเชิดชูภาษาของคนในพื้นที่เอง ก็ยังถูกปิดกั้นแทบไม่มีช่องว่างให้ได้หายใจแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ กลุ่มชนที่พยายามลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนกลับโดนตราหน้าว่า เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่มีแนวคิดความเป็นชาตินิยมสูงเกินขอบเขต
 
แต่ในความหวังดีที่ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องภาษาที่มีความละเอียดอ่อน ก็ย่อมไม่เกิดผลกำไรในทางปฏิบัติแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นการสร้างบรรยากาศความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน กล่าวคือ เป็นการบ่งบอกถึงความมักง่าย ความไม่เอาใจใส่ ความไม่จริงใจของภาครัฐในการแสดงออกถึงมิตรไมตรีที่แท้จริง 
 
และเหนือสิ่งอื่นใดนั้นก็คือ เป็นการเพิ่มความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย ในฐานะผู้ที่เป็นเจ้าของภาษาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการทำลายภาษา การสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของคนในพื้นที่โดยที่รัฐเป็นผู้ที่ก่อขึ้นมาเอง ซึ่งประเด็นความรู้สึกดังกล่าวเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
 
จากการที่รัฐเองขาดความเข้าใจและความละเอียดอ่อน หรืออาจจะเป็นความอ่อนด้อยเองของรัฐ ในประเด็นที่ค่อนข้างจะมีความอ่อนไหวเช่นนี้ ยิ่งเป็นเรื่องที่ข้องเกี่ยวกับความเป็นศักดิ์ศรีและอัตลักษณ์ของหมู่ชน ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่พึงต้องระวังเป็นอย่างมาก ถึงแม้ความเสียหายจะไม่เท่ากับการก่ออาชญากรรมก็ตาม แต่ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนโดยรวมแล้ว ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมและความเสียหายที่ไม่สามารถจะประเมินเป็นมูลค่าได้ในเชิงคุณค่าของวัฒนธรรมในด้านภาษา
 
ในจำนวนป้ายข้อเขียนต่างๆ ที่รัฐได้เขียนขึ้นมาโดยส่วนใหญ่แล้ว ล้วนมีความบกพร่องแทบทั้งสิ้น ซึ่งในขณะเดียวกัน มันได้ส่อถึงความรู้ของบุคลากรของรัฐเองที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องการใช้ภาษาของคนในพื้นที่ และยังได้บ่งถึงศักยภาพของรัฐที่มีอยู่อีกด้วย ในการใช้ทรัพยากรบุคคลได้อย่างดีโดยที่ไม่ต้องมีคำอธิบาย
 
ในประเด็นการใช้คำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาและการเรียบเรียงประโยค มักจะพบความไม่เหมาะสมแทบทุกครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าว แทนที่รัฐจะได้คะแนนบวก กลับได้คะแนนติดลบโดยปริยาย ถึงแม้ว่า ความไม่รู้ที่เกิดขึ้นจะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม แต่สิ่งที่ได้สะท้อนในความรู้สึกของผู้ที่เป็นเจ้าของภาษามาตั้งแต่กำเนิดนั้น ก็คือ การไม่ให้เกียรติและการไม่เอาใจใส่ในความลึกซึ้งและความละเอียดอ่อนของภาษามลายูทั้งอักษรญาวีและโรมัน
 
ในประเด็นนี้จะขอหยิบยกตัวอย่างเพียงบางส่วนเท่านั้น จากหลายๆ กรณีที่ภาครัฐเป็นเจ้าของผลงานหรือโครงการ อย่างเช่น ป้ายการประชาสัมพันธ์ขนาดยักษ์ของโครงการ "ทางสายใหม่" หรือโครงการ "ญาลันนันบารู" ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า หรือ กอ.รมน.ภ.4 เป็นเจ้าภาพ ที่ถูกติดตั้งตามสี่แยกต่างๆ ทั่วทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
กล่าวคือ การสะกดคำบางคำ กลับไม่ตรงกับหลักการเขียนของภาษามลายู ซึ่งตรงจุดนี้เองได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องประชาชนไปในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ที่มีความรู้ทั้งหลาย
 
ซึ่งในที่นี้ ขออนุญาตอธิบายมาพอสังเขปสั้นๆ ดังนี้ คำว่า JALANNANBARU นั้นถือว่าเป็นการเขียนที่มีความผิดพลาดที่มิน่าผิดพลาดในการใช้ภาษาของรัฐ ถึงแม้ว่าอักษรญาวีจะเขียนได้อย่างถูกต้องแล้วก็ตาม แต่การเขียนทับศัพท์ที่เป็นภาษาไทยนั้น กลับไม่ตรงกับความเป็นจริง
 
โครงการ ทางสายใหม่ ในภาษามลายูอักษรโรมัน เขียนว่า jalannanbaru อ่านว่า ญาลันนันบารู ที่มีการเขียนอย่างผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มตัว n ลงไปเป็นสองตัวซ้อน ทำให้เกิดความเสียหายในเชิงการเขียนและความหมาย ซึ่งหากตามความเป็นจริงแล้ว การเขียนในลักษณะดังกล่าว จะไม่ให้ความหมายใดๆ เลยในทางวิชาการ 
 
และยิ่งไปกว่านั้น การจัดพิมพ์ป้ายของโครงการดังกล่าวในครั้งล่าสุด (ครั้งที่สอง) ก็ยิ่งผิดพลาดไปกันใหญ่ นั่นก็คือ จากเดิมที่เขียนขึ้นต้นด้วยอักษร j แต่กลับใช้อักษร y ซึ่งมันเหมือนกับการเขียนทับศัพท์คำที่มาจากภาษามลายูที่เขียนด้วยพยัญชนะไทยอย่างชัดเจน นี่คือประเด็นที่บางฝ่ายอาจมองไม่เห็นในจุดนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของคนในพื้นที่อย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนแต่ประการใด
 
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เขียนได้นำเสนอในประเด็นดังกล่าวนี้ มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะโฆษณาเปิดโปงถึงความบกพร่องของภาครัฐอย่างเดียวไม่ หากแต่เพื่อเป็นบทเรียนและแนวทางในการดำเนินงานในครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดอย่างซ้ำซากอย่างนี้อีก ในประเด็นที่ควรจะต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบในการใช้สำนวนภาษามลายู
ภาษามลายูเปรียบเสมือนศิลปะแขนงหนึ่งที่มีอัตลักษณ์และความเป็นสุนทรียภาพสูงในตัวของมันเอง หากไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คงจะไม่มีวันที่จะเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ของความหมายที่แท้จริงได้
 
การเขียนภาษามลายูอักษรญาวีตามอำเภอใจของภาครัฐ โดยที่ปราศจากหลักการที่คู่ควรและความสมเหตุสมผล คงจะไม่เกิดประโยชน์เลยแม้แต่น้อยในการที่จะเข้าใจ เข้าถึง และการพัฒนา นอกเหนือจากที่ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังเป็นการตอกย้ำถึงความไม่รู้ ความไม่เข้าใจของภาครัฐต่อภาษาของคนมลายูในพื้นที่นี้อีกด้วย อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: ข้าราชการในดงกระสุน นายอำเภอกลางไฟใต้

Posted: 10 Feb 2013 02:50 AM PST

เปิดใจ 'พิศาล อาแว' นายอำเภอมายอ ชีวิตเฉียดคมกระสุนและแรงระเบิด กับงานมวลชนที่ต้องเดินหน้า ชี้ไฟใต้เป็นปัญหาการเมืองที่อยู่เหนือความสามารถของพื้นที่แล้ว

 

เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เพียงไม่ถึงสัปดาห์ก็เกิดเหตุรุนแรงในชายแดนใต้ถึง 7 ครั้ง มีคนตายไปถึง 11 คน โดยมีเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ เหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มใส่รถกระบะของนายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ในช่วงเย็นของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 แต่นายพิศาลพร้อมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนที่นั่งมาด้วยไม่ได้รับอันตราย เนื่องจากเป็นรถกันกระสุน เหตุเกิดบนถนนสาย 4061 บ้านจาแบปะ หมู่ที่ 4 ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

ทำไมนายอำเภอมุสลิม ซึ่งมีพื้นเพดั้งเดิมเป็นคนในพื้นที่จึงต้องถูกตามยิง หลังเกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้สัมภาษณ์นายพิศาลในช่วงที่มีผู้คนจากที่ต่างๆเดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจอย่างเป็นระยะ แม้เจ้าตัวยังมีสีหน้าที่เป็นกังวลอยู่ก็ตาม
 

ชีวิตเฉียดคมกระสุนและแรงระเบิด
 
พิศาลเล่าว่า เหตุการณ์นี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับเขา เพราะเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 เคยเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดนายอำเภอมายอขณะทำพิธีปล่อยปลาในพื้นที่ตำบลกระเสาะ อำเภอมายอ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย ซึ่งขณะนั้นพิศาลอยู่ในเหตุการณ์ด้วยแต่ไม่ได้รับอันตราย ทั้งที่อยู่ห่างจากนายอำเภอมายอประมาณ 1 เมตรเท่านั้น
"ขณะนั้น ผมมีตำแหน่งเป็นจ่าจังหวัดปัตตานี ก่อนจะมาเป็นรักษาการนายอำเภอมายอ หลังจากนายอำเภอคนเดิมได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
 
เหตุการณ์ครั้งล่าสุดก็เกิดขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์เช่นกัน ซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่ แต่เชื่อว่าคนร้ายคงต้องการทำร้ายผมมาหลายครั้งแล้ว"
 
พิศาล บอกว่า การป้องกันตัวนั้น คิดว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากตนเองต้องลงพื้นที่เป็นประจำ เช่น ลงไปเยี่ยมครู เยี่ยมเจ้าหน้าที่โครงการต่างๆ ในพื้นที่ แต่ก็ไม่ประมาท และไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองอย่างจังแบบนี้
 
"คิดว่าคนร้ายต้องการก่อเหตุกับบุคคลระดับสูงในพื้นที่ เพราะถ้าทำได้ก็จะทำให้คนในพื้นที่สูญเสียกำลังใจ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเขาที่ต้องสร้างความสูญเสียและเป็นเรื่องยากมากที่จะไปเปลี่ยนความคิดของเขาได้ในเวลาสั้นๆ"
 
หลังเกิดเหตุ มีผู้ใหญ่มาให้กำลังใจเยอะ แต่ยังไม่มีคำสั่งอะไรจากต้นสังกัด ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการหลังจากนี้
แม้อำเภอมายอมีสถิติเกิดเหตุไม่สงบบ่อยครั้ง แต่พิศาล ระบุสั้นๆว่า ยังเข้าถึงได้ทุกที่ บางพื้นที่มีความเข้มแข็งมาก มีเพียงบางจุดที่ยังไม่เข้มแข็ง
 
 
"สู้มาตลอด มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน"
 
พิศาล เล่าว่า ที่ผ่านมางานด้านมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ของอำเภอมายอได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดงานวันเด็กที่แต่ละปีมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การเมืองท้องถิ่น ทั้งองศ์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และเทศบาล มาร่วมกันจัดงาน ดังนั้นแต่ละปีจึงมีเด็กมาร่วมงานจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการฟื้นฟูนาร้าง เนื่องจากในอำเภอมายอ มีพื้นที่นาร้างประมาณ 1,000 ไร่ อยู่ในตำบลกระหวะ ตำบลสะกำและตำบลถนน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553
 
ในปี 2554 ที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) 1,000,000 บาท นำมาใช้ขุดคลองระบายน้ำออกจากพื้นที่นาร้างและกำจัดวัชพืช โดยให้ทหารช่างมาดำเนินการ ขณะนี้สามารถทำนาในพื้นที่นาร้างได้แล้ว 400-500 ไร่
 
ที่ผ่านมา ทางอำเภอได้ส่งประชาชนในพื้นที่เดินทางไปเรียนรู้การทำนาที่ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 63 คน และจะมีครูชาวนามาช่วยฟื้นฟูนาร้างในอำเภอมายอด้วย หลังจากเกิดเหตุร้ายกับครูชาวนาที่อำเภอยะหริ่ง ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น
 
พิศาลระบุว่า การฟื้นฟูนาร้างเป็นเรื่องที่ตนเน้นมาก เพราะจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ได้
"ผมอยู่ที่นี่มานาน ผมสู้มาตลอด โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แต่เนื่องจากในพื้นที่นี้มีมิติของความมั่นคง ทำให้ต้องให้เวลากับงานด้านความมั่นคงมาก จึงไม่มีเวลาให้กับมิติด้านการพัฒนามากนัก เช่น ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลครู โรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งต้องดูแลอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ของอำเภอ"
 
พิศาล ยังบอกด้วยว่า ในอนาคตคนมุสลิมจะมีโอกาสดำรงตำแหน่งระดับสูงในพื้นที่มากขึ้น เช่น นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะข้าราชการคนเก่าๆ และคนนอกพื้นที่จะขยับออกไปจำนวนมาก คนในพื้นที่จะเข้ามาแทนที่ แต่ก็ไม่ใช่ว่า การที่จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งระดับนี้ได้มาจากความเป็นมุสลิมหรือมีจุดขายอยู่ที่ความเป็นมุสลิม
 
"คนที่จะขึ้นมาระดับนี้ได้ มันต้องมีความสามารถ เพราะตำแหน่งระดับนี้มีการแข่งขันกันสูง ไม่เกี่ยวกับความเป็นมุสลิมหรือไม่"
"แม้ผมไม่ได้เรียนปอเนาะมาก่อน แต่ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ศาสนา ก็ต้องการที่จะรับราชการในพื้นที่ อยากได้ยินเสียงอาซานทุกวัน ซึ่งหากอยู่ในบรรยากาศอย่างนี้ เราก็จะไม่ไปทำในสิ่งที่ผิดหลักศาสนา"
 
 
"มันเกินความสามารถของพื้นที่ไปแล้ว"
 
ถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะแก้ไขอย่างไร พิศาล ระบุว่า "ข้าราชการเล็กๆ อย่างผมก็คงทำอะไรได้ไม่มากแล้ว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกินความสามารถของพื้นที่ไปแล้ว ปัญหานี้มันเกิดมา 9 ปีแล้วหน่วยงานในพื้นที่ก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องแก้ด้วยการเมือง"
"เรื่องเจรจาเพื่อหาทางออก ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำทำอะไรไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามฝ่ายการเมือง"
พิศาล ยังแสดงความเห็นในเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว(การห้ามออกนอกเคหะสถาน)ในพื้นที่ด้วยว่า ไม่น่าจะต้องไปกังวลมากนัก เพราะตลอด 9 ปีที่ผ่านมา คนก็ไม่ออกจากบ้านในเวลากลางคืนอยู่แล้ว และประชาชนก็รู้ว่าควรจะปรับตัวอย่างไร 
"ถึงจะการประกาศหรือไม่ประกาศเคอร์ฟิว ประชาชนก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่เคยเป็นอยู่มาตลอดอยู่แล้ว แต่การประกาศเคอร์ฟิวอาจมีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่จะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการปิดล้อม ตรวจค้นมากกว่า"

 
นายอำเภอมุสลิมลูกหลานคนชายแดนใต้
 
นายพิศาล อาแว ดั้งเดิมเป็นคนย่านตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มเข้ารับราชการในปี 2522 ส่วนใหญ่รับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 รักษาการแทนนายอำเภอมายอ (ตำแห่นงขณะนั้นเป็นจ่าจังหวัด) จากนั้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ขึ้นเป็นนายอำเภอมายอครั้งแรก ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 ย้ายไปเป็นนายอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และวันที่ 13 ธันวาคม 2554 กลับมาเป็นนายอำเภอมายออีกครั้งจนถึงปัจจุบัน โดยมีอายุราชการอีก 2 ปี

 
แนวโน้มแรงขึ้น สถิติไม่สงบในอำเภอมายอ
 
อำเภอมายอ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ 216.1ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี อำเภอทุ่งยางแดง และอำเภอยะรัง ซึ่งทุกอำเภอล้วนแต่มีข่าวเกี่ยวกับเหตุไม่สงบมาตลอดเช่นกัน โดยมี 13 ตำบล 59 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรประมาณ 54,000 คน ความหนาแน่น 521.5 คนต่อตารางกิโลเมตร
จากการรวบรวมสถิติเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่อำเภอมายอ ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ตั้งแต่ ปี 2547-2556 ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 พบว่า มีทั้งหมด 262 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 124 คน โดยเป็นชาวบ้านมากที่สุด คือ 50 คน รองลงมาเป็นทหารและลูกจ้างของรัฐอย่างละ 15 คน มีผู้บาดเจ็บรวม 140 คน โดยเป็นชาวบ้านมากที่สุดถึง 66 คน รองลงมาคือทหาร 32 คน ตำรวจ 22 คน
 
จากสถิติพบว่า ในปี 2555 มีเหตุร้ายเกิดขึ้นมากกว่าปี 2554 ถึง 3 เท่า โดยมีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายขับรถยนต์กระบะ 3 คันประกบยิงทหารเสียชีวิต 4 ราย ซึ่งกล้องวงจรปิดเก็บภาพไว้ได้ จนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว และเหตุการณ์คนร้ายบุกเข้าไปยิงครูในโรงเรียนบ้านบาโง ตำบลปานัน เสียชีวิต 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียน จากนั้นผ่านไปเพียงเดือนเศษของปี 2556 ก็มีเหตุร้ายเกิดขึ้นแล้ว 5 ครั้ง
ส่วนเหตุคนร้ายยิงถล่มนายพิศาล แม้จะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอยะรัง แต่ก็เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับอำเภอมายอและไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอมายอมากนัก
 

  สถิติเหตุไม่สงบในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556) ดังนี้

ปีที่เกิดเหตุ

2547

2548

2549

2550

2551

2552

2553

2554

2555

2556

รวม

จำนวนเหตุการณ์

31

54

40

26

24

25

35

13

39

5

292

เสียชีวิต

5

19

15

12

13

11

20

10

17

2

124

บาดเจ็บ

5

17

12

20

21

12

10

24

17

2

140

 

 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐไทยกำลังก้าวสู่ความเป็นรัฐตำรวจ..?

Posted: 10 Feb 2013 02:29 AM PST

 
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้อ่านพบข่าวนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ออกมาแถลงการณ์โจมตีรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร(1) ว่ากำลังนำรัฐไทยไปสู่การเป็น "รัฐตำรวจ " (Police State) ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธหรือจะมาแก้ตัวแทนรัฐบาลเพียงแต่ต้องการแสดงความสงสัยว่าการที่คนเหล่านั้นอ้างว่า รัฐไทย"กำลังก้าวสู่"ความเป็นรัฐตำรวจนั้นมันจริงหรือไม่ ผู้เขียนไม่อยากจะวิเคราะห์เป็นเชิงดูถูกว่าพวกเขาเห็นว่ายุคก่อนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2) รัฐไทยไม่เคยเป็นรัฐตำรวจเลยเพราะพิจารณาดูจากทั้งภูมิหลังและการศึกษาของคนเหล่านั้น  ก็เป็นไปได้ว่าพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลชุดก่อนหน้านี้เป็นรัฐตำรวจอยู่บ้าง แต่ไม่กล่าวถึงเพราะต้องการเน้นให้การโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีพลังยิ่งขึ้น  แต่ที่ผู้เขียนมั่นใจที่สุดว่าพวกเขาต้องเห็นว่ารัฐบาลทหารอย่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะไม่มีสภาพเป็นรัฐตำรวจเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าต้องค้นหาว่ามุมมองเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ 
 
ก่อนอื่นเราจะต้องให้คำนิยามของรัฐตำรวจเสียก่อนว่าหมายความว่า รัฐซึ่งรัฐบาลเผด็จการเข้ามาควบคุมประชาชนทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมักโดยการใช้อำนาจตามอำเภอใจของตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจลับโดยผ่านองค์กรยุติธรรมและบริหารของรัฐบาลที่ตั้งอยู่บนกระบวนการทางกฏหมายอันเป็นที่ประจักษ์ชัด (3)
 
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่ารัฐตำรวจคือเฉพาะยุค "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" หรือยุคที่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์เป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี (2491-2500) เป็นยุคที่ตำรวจมีความยิ่งใหญ่มาก มีองค์กรที่หลากหลายเหมือนกับทหารเช่นตำรวจรถถัง ตำรวจพลร่ม ตำรวจน้ำ ตำรวจม้า  สามารถคะคานอำนาจกับทหารบกซึ่งนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ได้อย่างดี  สาเหตุประการหนึ่งที่ชีวประวัติของเผ่ามีความเด่นขึ้นมาในปัจจุบันก็เพราะมีคนต้องการยกมาโจมตีทักษิณซึ่งเคยเป็นตำรวจเหมือนกัน
 
อย่างไรก็ตามผู้เขียนกลับเห็นว่าในยุคช่วงระหว่างหลังเผ่าและก่อนทักษิณ รัฐไทยก็ยังมีความเป็นรัฐตำรวจอยู่แม้ว่าการทำรัฐประหารปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ จะส่งผลให้ทั้งจอมพล ป.และเผ่าต้องลี้ภัยไปยังญี่ปุ่นและสวิสเซอร์แลนด์ตามลำดับและกรมตำรวจจะถูกลดทอนอำนาจไปมาก (4)แต่จอมพลสฤษดิ์เองก็ยังต้องการใช้ตำรวจในการค้ำจุนอำนาจของรัฐไว้ เพราะตำรวจเป็นองค์กรของรัฐที่รักษาความสงบภายในซึ่งใกล้ชิดและแทรกซึมเข้าไปในมวลชนมากกว่าทหาร โดยเฉพาะตำรวจลับ ภายใต้ชื่อว่าตำรวจสันติบาล (5)  อันสะท้อนว่ารัฐตำรวจเป็นภาวะที่ดำรงอยู่ต่อมาอย่างยาวนานแม้ยุคของเผ่าจะจบสิ้นไป เพราะจากคำนิยามแบบกว้าง ๆ ดังกล่าวสามารถตีความได้ว่าถึงแม้ตำรวจจะมีอำนาจด้อยกว่าทหาร แต่รัฐไทยก็ยังสามารถเป็นได้ทั้งรัฐทหาร (ทหารมีอำนาจปกครองประเทศ) และรัฐตำรวจไปในตัว ตราบใดที่ทั้ง 2 องค์กรยังคงสามารถประสานงานเพื่อทำประโยชน์ใหักับผู้นำรัฐ  โดยตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่เกสตาโปของเยอรมันนาซี สตาซีของเยอรมันตะวันออก เอนเควีดีของโซเวียต และตำรวจยังทำหน้าที่คานอำนาจกับกองทัพได้ด้วยเช่นหน่วยเกสตาโปได้ทำการจับกุมบรรดานายทหารที่พยายามทำรัฐประหารฮิตเลอร์ในวันที่   20 กรกฎาคม  1944
 
ในเวลาที่การเมืองไทยกลายเป็นเผด็จอันยาวนานในยุคของสฤษดิ์ จนไปถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐไทยกำลังพบกับภัยคุกคามกับคอมมิวนิสต์ ตำรวจได้ร่วมประสานกับกองทัพในการเป็นเครื่องมืออย่างดีสำหรับควบคุมพฤติกรรมของพลเมืองไม่ว่าผ่านกระบวนการทางกฏหมาย ซึ่งแน่นอนว่าถูกร่างขึ้นมาเพื่อตอบสนองเรื่องความมั่นคงเป็นหลักหรือวิธีการนอกกฏหมาย เช่นการวิสามัญฆาตกรรมอย่างอุ้มไปฆ่า หรือเผานั่งยาง ซึ่งเหยื่ออาจจะเป็นทั้งอาชญากรตัวจริงหรือชาวบ้านตาดำๆ  หรือผู้นำขบวนการประชาสังคมก็ได้ เหตุการณ์หนึ่งซึ่งสามารถบอกได้ชัดเจนคือจอมพลประภาส จารุเสถียรผู้มีอำนาจหมายเลข  2 ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจควบคู่ไปกับตำแหน่งอื่นของกองทัพ  เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 6  ตุลาคม 2519 ซึ่งตำรวจตระเวนชายแดนมีส่วนร่วมกับกลุ่มพลเรือนติดอาวุธซึ่งได้รับสนับสนุนจากทหาร (Militia) เข้าเข่นฆ่านักศึกษาผู้บริสุทธิ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เป็นที่น่าสนใจว่าสำหรับประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ชนชั้นนำซึ่งหลายคนส่งเสียงต่อว่ารัฐบาลปัจจุบันกลับเคยนิ่งเฉย เพราะตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาโรคประสาท และความหวาดผวาต่อผีคอมมิวนิสต์ที่พวกเขาเชื่อว่ากำลังแทรกซึมเข้ามาในสังคม 
 
อย่างไรก็ตามนิยามของรัฐตำรวจไม่น่าจำกัดอยู่ที่ตำรวจเพียงประการเดียวแต่น่าจะรวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมสิทธิการแสดงออกของพลเมืองในลักษณะเช่นเดียวกับตำรวจเช่นกระทรวงวัฒนธรรมดังเช่นกลุ่มนักการเมืองที่ยังประนามรัฐบาลโดยยกกรณีการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายโดยกระทรวงวัฒนธรรม และละครโทรทัศน์เรื่องเหนือเมฆเป็นตัวอย่างสนับสนุนความเป็นรัฐตำรวจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพียงรัฐบาลเดียว ทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ได้จัดการภาพยนตร์ซึ่งรัฐถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหรือศีลธรรมอันดีงามอย่างเช่นภาพยนตร์แสงศตวรรษของอภิชาตพงษ์  วีระเศรษฐกุลก็ถูกสั่งตัดฉากสำคัญออกไป 4 ฉากโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในยุคพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์หรือแม้แต่ในยุคของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เองก็ได้สั่งห้ามภาพยนตร์นอกกระแสอย่างเช่น   Insects in the Backyard ออกฉาย
 
นอกจากนี้เรายังรวมไปถึงตัวกฎหมายซึ่งริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังเช่น กฎหมายอาญามาตรา 112  พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  รวมไปถึง พรก.ฉุกเฉินทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลทุกรัฐบาลตั้งแต่ทักษิณเป็นต้นมาเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงกันข้าม  ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยเล่นงานนายอภิสิทธิ์ตามที่กลุ่มนักการเมืองดังกล่าวโจมตีตั้งแต่ต้นก็ไม่ต่างกับการที่รัฐบาลสุรยุทธ์กับอภิสิทธิ์เล่นงานฝ่ายปรปักษ์หลังรัฐประหาร
 
รัฐไทยจึงเป็นรัฐตำรวจมายาวนานจนถึงปัจจุบันไม่ว่าผู้นำรัฐบาลเป็นพลเรือนหรือทหาร มาจากการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งจนกลายเป็นความเคยชิน สังคมไทยเป็นสังคมที่หมกมุ่นกับความมั่นคงและ ยกย่องอำนาจเผด็จการมากกว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจว่าในยุค พตท.ทักษิณ ชินวัตรที่มีการฆ่าตัดตอนกว่า 3,000 ศพภายใต้นโยบายสงครามต้านยาเสพติด สังคมไทยอยู่ในภาวะที่เงียบงันเสียเป็นส่วนใหญ่  จวบจนเมื่อทักษิณพ้นจากอำนาจ จึงได้มีการกล่าวอ้างโดยคมช.เเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร 
 
ทั้งหมดนี้สามารถสะท้อนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์  ไม่ได้ "กำลังนำ"ประเทศสู่การเป็นรัฐตำรวจเลย เพียงแต่รัฐไทย "ได้เป็นรัฐตำรวจ"อยู่นานแล้วโดยที่ตัวรัฐบาลเองก็ไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงอะไรเพราะได้ประโยชน์จากมรดกนี้อยู่แล้ว (แถมยังส่งเสริมอีกด้วย)ข้อกล่าวหาของบรรดานักการเมืองตั้งแต่ต้นล้วนขึ้นอยู่กับอคติเสียเป็นส่วนใหญ่
 
 
 
 

(1) อ่านคำประนามได้ที่่ http://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/331188/thailand-edges-closer-toward-a-police-state
 
(2) แน่นอนว่ายังพาดพิงไปยัง รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร  สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ สมัคร สุนทรเวช โดยอัตโนมัติ  จึงขอเรียกรวมๆ ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์
 
(3)อ้างอิงมาจาก  http://www.merriam-webster.com/dictionary/police%20state
 
A political unit characterized by repressive governmental control of political, economic, and social life usually by an arbitrary 
exercise of power by police and especially secret police in place of regular operation of administrative and judicial organs of the government according to publicly known legal procedures
 
(4) นอกจากนี้ใน ปี 2500  มีการรื้อฟื้นคดีฆ่า 4 รัฐมนตรีซึ่งเกิดขึ้นในปี  2492 ว่าเป็นฝีมือของตำรวจ 5 นายซึ่งมีความใกล้ชิดกับพลตำรวจเอกเผ่า  สาเหตุหนึ่งก็เพราะรัฐบาลต้องการให้เป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงของเผ่าอดีตเพื่อนและคู่แข่งของสฤษดิ์ 
 
(5) กองบัญชาการตำรวจสันติบาลถูกก่อตั้งในปี 2473 สมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถ้าใครสนใจประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะรู้ว่าสมาชิกคณะราษฎรต้องวางแผนแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะความหวาดกลัวว่าจะถูกตำรวจสันติ
บาลจับกุม  อันสะท้อนถึงเครือข่ายและการแทรกซึมของตำรวจลับได้ดี ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสยามยุครัชกาลที่ 7 เป็นรัฐตำรวจครั้งแรกของประวัติศาสตร์ ส่วนความเป็นรัฐตำรวจในยุคนี้จะมีความเข้มข้นขนาดไหนก็ต้องมีการศึกษาทางประวัติศาสตร์โดยเปรียบเทียบกับรัฐสมบูร
ณาสิทธิราชอื่นเช่นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย  พระเจ้าชาร์ปาลาวีของอิหร่าน ฯลฯ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.มือถ่ายคลิปคนแต่งกายคล้ายทหาร บนราง BTS เข้าเบิกความคดี 6 ศพวัดปทุมฯ

Posted: 10 Feb 2013 12:43 AM PST

ไต่สวนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ 3 ตำรวจมือถ่ายภาพ-คลิปกลุ่มคนแต่งกายคล้ายทหารบนรางรถไฟฟ้าเข้าเบิกความ ชี้กลุ่มคนดังกล่าวเล็งปืนเข้าไปในวัดและยิงปืนด้วยกระสุนจริงอย่างต่อเนื่อง ยันที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารปิดล้อมพื้นที่ไว้ทั้งหมด

ภาพที่ถูกถ่ายจากดาดฟ้า สตช.เย็นวันที่ 19 พ.ค.53(คลิกดูภาพขนาดใหญ่)

7 ก.พ.56 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 พนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย ส.ต.อ.อดุลย์ พรหมนอก กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2,  จ.ส.ต.สุชาติ ขอมปวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 และ ด.ต.อานนท์ ใจก้อนแก้ว กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 31 พิษณุโลก

ส.ต.อ.อดุลย์ พรหมนอก เบิกความว่า วันเกิดเหตุ ประจำอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นหน่วยปราบจลาจล กองกำลังสนับสนุน เวลาประมาณ 17.00 น. เศษ เห็นไฟไหม้ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จึงขึ้นไปดูบนดาดฟ้า ชั้น 12 อาคาร 19 พร้อมกับ จ.ส.ต.สุชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่คนอื่นประมาณ 10 กว่าคน อยู่บนนั้นด้วย สักพักได้ยินเสียงปืนดังขึ้น พยานจึงหมอบลงและฟังว่าเสียงปืนมาจากทิศทางใด ทราบว่าดังมาจากทางวัดปทุมวนาราม จึงใช้กล้องถ่ายรูปยี่ห้อโซนี่ที่สามารถถ่ายภาพได้ในระยะ 100-200 เมตร ซึ่งพกติดตัวไป บันทึกภาพไปยังจุดที่ได้ยินเสียงปืน โดยมองผ่านจอมอนิเตอร์ของกล้อง พบคนแต่งกายคล้ายทหารใส่ชุดสีเขียวลายพรางและสวมหมวก 5-6 คน ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นล่าง บริเวณป้ายวัดปทุมวนารามด้านหน้า ห่างจากจุดที่พยานอยู่ประมาณ 100 เมตรกว่า และเห็นอีก 2 คน อยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นบน โดยทั้งหมดถือวัตถุคล้ายอาวุธปืน

ส.ต.อ.อดุลย์ เบิกความต่อว่า บุคคลที่แต่งกายคล้ายทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นล่าง อยู่ในลักษณะย่อตัวลงและยกปืนประทับบ่า โดยชี้ปลายกระบอกปืนไปทางวัดปทุมวนาราม แต่ไม่ทราบว่ามีการยิงหรือไม่ เพราะไม่เห็นควันและประกายไฟออกจากปากกระบอกปืน เนื่องจากขณะนั้นยังมีแสงสว่างอยู่ และหากจะเห็นได้ชัด ต้องอยู่ในระยะน้อยกว่า 50 เมตร แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืนจะมองเห็นได้ ขณะที่พยานถ่ายภาพอยู่นั้น กลุ่มคนดังกล่าวมีการเคลื่อนตัวไปมาระหว่างหน้าวัด แต่ไม่เห็นว่ามีการหลบการตอบโต้จากฝั่งตรงข้ามแต่อย่างใด ขณะนั้นมีเสียงปืนดังอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์มั่นใจว่าเป็นเสียงปืนที่ยิงโดยใช้กระสุนจริง ในบริเวณดังกล่าวนอกจากเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมแล้ว บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าออกได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารปิดล้อมพื้นที่ไว้ทั้งหมด พยานอยู่บนชั้นดาดฟ้าจนกระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. เศษ จึงลงมาด้านล่าง

จ.ส.ต.สุชาติ  ขอมปวน เบิกความว่า เป็นผู้ถ่ายคลิปวิดีโอวันที่ 19 พ.ค. 2553 ปกติจะออกเวรแล้ว แต่ไม่สามารถออกไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารปิดล้อมด้านนอกไม่ให้เข้าออก ส่วนภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ปิดไม่ให้เข้าออกจากสำนักงานฯ เวลาประมาณ 17.00 น. เห็นไฟไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จึงขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้า อาคาร 19 พร้อมกับ ส.ต.อ.อดุลย์ สักพักได้ยินเสียงปืนดังมาจากรางรถไฟฟ้า ระหว่างประตูหน้าวัดปทุมวนาราม พยานจึงนำกล้องถ่ายภาพยี่ห้อฟูจิ เลนส์ 300 มม. ซึ่งถ่ายได้ชัดในระยะ 300 เมตร ขึ้นมาถ่ายคลิปวิดีโอ  ขณะนั้นเห็นชายแต่งกายคล้ายทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นล่าง ระหว่างประตูเข้าหน้าวัดปทุมวนาราม ประมาณ 5-6 คน และเห็นอีก 2 คน อยู่ที่รางรถไฟฟ้าชั้นบน กลุ่มคนดังกล่าวมีการเดินไปมาช่วงหน้าวัด ทั้งหมดถือปืนยาวไม่ทราบชนิด โดยเล็งปากกระบอกปืนชี้ต่ำลงไปทางวัดปทุมวนาราม และยืนอยู่ในลักษณะเตรียมยิง แต่ไม่เห็นว่ามีลักษณะของการยิงต่อสู้ เหตุที่พยานมองเห็นได้ชัด เพราะยังมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ส่วนเสียงปืนที่ได้ยินนั้น เป็นเสียงกระสุนจริง คาดว่าเกิดจากกลุ่มคนที่แต่งกายคล้ายทหาร เพราะพยานเห็นคนในวัดประมาณ 2 คน มีลักษณะเคลื่อนไหวคล้ายหลบเสียงปืนที่ดังมาจากด้านหน้าวัด และหันหน้าขึ้นมามองทางรางรถไฟฟ้า ในขณะที่มีเสียงปืนนั้น  กลุ่มชายที่แต่งกายคล้ายทหารไม่มีท่าทีหลบกระสุนจากฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใด พยานอยู่บนดาดฟ้ากระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน จึงลงมาด้านล่าง

ขณะที่ ด.ต.อานนท์ ใจก้อนแก้ว เบิกความว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในชุดควบคุมฝูงชน โดยเป็นผู้บันทึกภาพ ในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 16.00 น. เศษ มีการจุดไฟเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จึงขึ้นไปดูที่ตึกชั้นดาดฟ้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับเจ้าหน้าที่หลายคน เมื่อมองไปตรงตึกที่เกิดไฟไหม้ จึงเห็นคนวิ่งไปมาบริเวณถนนหน้าวัด และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะจากทางหน้าวัด ขณะนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. เศษ พยานจึงใช้กล้องยี่ห้อโซนี่ที่สามารถซูมภาพได้ประมาณ 100 เมตร บันทึกภาพตั้งแต่ไฟไหม้และคนวิ่งไปมา ซึ่งจุดที่พยานอยู่ ห่างจากหน้าวัดประมาณ 100 เมตร จากนั้นเห็นคนแต่งกายชุดลายพรางคล้ายทหาร และสวมหมวก เดินไปมาอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นล่าง บริเวณหน้าประตูวัดปทุมวนารามประมาณ 3-4 คน และเห็นอีก 2 คน นั่งซุ่มอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นบน แต่ไม่ได้เคลื่อนไหว ทั้งหมดถืออาวุธปืนยาว

ด.ต.อานนท์ เบิกความต่อว่า กลุ่มชายที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นล่างมีการยกปืนประทับไหล่ โดยเล็งปลายกระบอกปืนชี้ต่ำลงไปยังวัดปทุมวนาราม ขณะนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. เศษ พยานได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ซึ่งเป็นเสียงของกระสุนจริง ดังมาจากบุคคลที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นล่าง และเห็นกลุ่มคนในวัดจำนวนมากพยายามวิ่งหลบกระสุนปืนมีลักษณะหันหน้ามองขึ้นมาบนรางรถไฟฟ้า ขณะที่มีเสียงปืนดังขึ้นนั้น กลุ่มชายดังกล่าวที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าไม่มีท่าทางหลบกระสุนปืนจากฝ่ายตรงข้ามแต่อย่างใด พยานอยู่บนชั้นดาดฟ้าประมาณ 18.00 น. เศษ จึงลงมาด้านล่าง ต่อมาวันที่ 20 พ.ค. เวลาประมาณ 09.00 น. เศษ พยานได้รับคำสั่งให้เข้าไปในวัดปทุมวนาราม เพื่อนำผู้ชุมนุมที่หลบอยู่ไปไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็พบผู้ชุมนุมหลบอยู่ตามตึกภายในวัด ในเหตุการณ์การชุมนุม พยานเป็นผู้บันทึกภาพการควบคุมตัวแกนนำหลังการสลายการชุมนุม บันทึกภาพบุคคลที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า และบันทึกภาพขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้าไปชันสูตรพลิกศพ  ภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งพบผู้เสียชีวิต 6 ศพ โดยทราบจากคนที่อยู่ในวัดว่า ผู้เสียชีวิตถูกทหารยิงเมื่อเย็นวันที่ 19 พ.ค. 2553

ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป วันที่  14 ก.พ. เวลา 09.00 น.

 

วิดีโอคลิปจากชั้นดาดฟ้า สตช. :

ภาพนิ่งบางส่วนที่ถูกถ่ายจากดาดฟ้า สตช. :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพ GM เผยบริษัทฯ ส่งคนเจรจารื้อเต้นการชุมนุม

Posted: 09 Feb 2013 11:31 PM PST

สหภาพ GM เผยบริษัทส่งผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยพร้อมชายในชุดดำมากกว่า 20 คนบุกเข้าพื้นที่ชุมนุมของสหภาพแรงงานด้านหน้าโรงงาน เพื่อเจรจาให้ทางสหภาพรื้อเต็นท์ออกนอกบริเวณพื้นที่โรงงาน โดยอ้างคำสั่งศาล จ.ระยอง

 
 
 
 
 
 
10 ก.พ. 56 - สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้แจ้งข่าวว่าในวันนี้ (10 ก.พ.56) ทางบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ส่งผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัยพร้อมชายในชุดดำมากกว่า 20 คนบุกเข้าพื้นที่ชุมนุมของสหภาพแรงงานฯด้านหน้าโรงงาน เพื่อเจรจาให้ทางสหภาพรื้อเต็นท์ออกนอกบริเวณพื้นที่โรงงาน โดยอ้างคำสั่งศาลจังหวัดระยอง แต่ถูกทางสหภาพแรงงานต่อต้านและขอให้กลับไป 
 
ล่าสุดในช่วงเช้า ชายชุดดำได้ออกนอกพื้นที่ของทางสหภาพแรงงานไปแล้ว ในขณะที่ทางโรงงานได้นำผ้ามาล้อมพื้นที่ตั้งเต็นท์ของสหภาพแรงงานฯ ไว้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น