โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ญี่ปุ่นให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไทใหญ่ - กลุ่มชาติพันธุ์พม่าที่ชายแดนเชียงใหม่

Posted: 24 Feb 2013 12:26 PM PST

รัฐบาลญี่ปุ่นให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่และกลุ่มชาติพันธฺุ์จากสหภาพพม่าที่เข้ามาอาศัยในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านนายอำเภอ และนายกฯ อบต. จำนวนเงินกว่า 3 ล้านบาท ตามโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงทางด้านมนุษย์

สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ แถลงเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงให้การสนับสนุนแก่ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ ในอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในด้านปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย การศึกษาและส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ ผ่านโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงทางด้านมนุษย์ [Grant Assistance for Grassroots Human Security Projects Scheme (จีจีพี)] เป็นมูลค่า 1,022,000 บาท โดยพิธีลงนามในความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือดังกล่าวมีขึ้นระหว่าง นายคะซึโอะ ชิบะตะ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่กับนายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช นายอาเภอเวียงแหง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ณ สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่

แถลงการณ์สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ.2545 ได้เกิดการปะทะกันตามแนวชายแดนไทยพม่า (รัฐฉาน) ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยชาวพม่าเชื้อสายไทยใหญ่ทะลักเข้ามาในพื้นที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจานวนมากกว่า 600 คน เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือทางรัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวที่กุงจ่อ สาหรับผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันผู้ลี้ภัยสงครามเหล่านี้นอกจากที่ต้องอาศัยการช่วยเหลือในด้านอาหารที่ค่อนข้างจำกัดจากองค์กรเอกชนแล้ว ยังมีรายได้ที่จำกัดจากการออกไปทางานนอกศูนย์พักพิง และยังคงต้องอาศัยศูนย์ผู้ลี้ภัยชั่วคราวเป็นแหล่งพักพิงที่สำคัญ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการดำรงชีวิตที่ขาดความมั่นคง

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงพิจารณาเห็นควรให้การสนับสนุนตามคำขอจากที่ว่าการอาเภอเวียงแหง ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการศูนย์พักพิงดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลี้ภัย ในด้านงบประมาณการซ่อมแซมบ้านพักอาศัยชั่วคราวภายในศูนย์พักพิงฯ การจัดซื้อเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อใช้ในการผลิตเอกสารประกอบการเรียนสำหรับเยาวชนผู้ลี้ภัยและการจัดซื้อยานพาหนะเพื่อใช้สาหรับการเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมทักษะอาชีพ การเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมต่างๆ และการเดินทางไปเข้ารับการรักษายังสถานพยาบาล

จึงเป็นที่คาดหมายว่าจากการสนับสนุนในครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในด้านสภาพที่อยู่อาศัย อุปกรณ์การศึกษาตลอดจนความสะดวกในการเดินทางเพื่อเข้ารับการอบรม เข้าร่วมการประชุมหรือแม้กระทั้งการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังนอกสถานที่ นอกเหนือจากนี้แล้วการสนับสนุนดังกล่าวคงจะส่งผลในการดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงขึ้นภายหลังที่ผู้ลี้ภัยได้เดินทางสู่ประเทศตนเองแล้ว และนอกจากนี้ยังจะมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมของประเทศพม่าให้มีเสถียรมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นตกลงให้การสนับสนุนแก่โครงการพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์พม่าในตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงทางด้านมนุษย์ (จีจีพี)] เป็นมูลค่า 1,852,000 บาท อีกด้วย  โดยพิธีลงนามในความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือดังกล่าวมีขึ้นระหว่าง นายคะซึโอะ ชิบะตะ กงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ กับนายอนุสรณ์ คำอ้าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง ณ สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นนครเชียงใหม่

โดยแถลงการณ์สถานกงศูลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ระบุว่า ในพื้นที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า (รัฐฉาน) มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 14,740 คน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยชาวพม่าเชื้อสายไทยใหญ่ที่อพยพเข้ามาเนื่องจากภัยคุกคามต่างๆ ในประเทศพม่า และปรากฏว่าปัจจุบันนี้สภาพความเป็นอยู่และการทางานของผู้ลี้ภัยเหล่านี้อยู่ในภาวะค่อนข้างลำบาก

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงพิจารณาเห็นควรให้การสนับสนุนตามคาขอจากองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง ในด้านงบประมาณเพื่อการจัดสร้างอาคารศูนย์พัฒนาชุมชนจำนวนสองหลัง และการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ฝึกอบรมด้านทักษะการประกอบอาชีพต่างๆ เช่น เกษตรกรรม คอมพิวเตอร์ การทอผ้าและเย็บปักถักร้อย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในด้านภาษา วัฒนธรรมและสังคมไทยใหญ่ตลอดจนภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายหลังที่ได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดตนเองยังประเทศพม่า

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนโครงการความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และสนับสนุนโครงการความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อย่างสืบเนื่องต่อไปในอนาคต โดยผ่านทางโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ (จีจีพี)

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Science Space : วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ กทม.

Posted: 24 Feb 2013 06:43 AM PST

รายการ Science Space เทปตัวแรกเปิดตัวด้วยหัวข้อ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และกรุงเทพมหานคร" เพื่อเป็นการต้อนรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะมาถึงในวันที่ 3 มี.ค.56 นี้

เวทีเสวนาว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Science Space Forum ครั้งที่ 1 จึงจัดเสวนาว่าด้วย การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มาจัดการเมืองใหญ่ในต่างประเทศ และโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะสามารถใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาบริหารจัดการมีมากน้อยเพียงใด และอย่างไร

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนะวราหะ จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ผอ.ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสวนาครั้งนี้จัดโดย ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บ.โนวิสเคป คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด และ เว็บไซต์ประชาไท

 



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี (1)

Posted: 24 Feb 2013 06:37 AM PST

ขบวนการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจริงหรือไม่? สงครามของใคร? เราจะจัดการตัวเองอย่างไร? เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?  มีทางเลือก ทางต่อสู้อื่นอีกหรือไม่? คำถามเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นในเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 


 
ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีนำเสนอ ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ซึ่งเป็นเวทีที่นำ ความคิด มุมมองจากกลุ่มคน หลากหลายกลุ่ม เพื่อมาถกเถียง พูดคุย เพื่อที่จะนำสันติภาพกลับคืนสู่สังคม เวทีสาธารณะ ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี เป็นความร่วมมือกันของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี,ปาตานี ฟอรั่ม,สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันสลาตัน 3 จังหวัด และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กรเครือข่าย ได้เปิดพื้นที่ให้กับการพูดคุยปริศนาที่เกิดขึ้น โดยมีวิทยากรทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่จาก ศอ.บต. และภาคประชาชน มาร่วมพูดถึง ความเป็นไปของปริศนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้คือ  ศิโรจน์  แวปาโอะ  (ตัวแทนชาวอำเภอบาเจาะและประธานเครือข่ายที่ดินบูโด)  สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ (ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม)  ปกรณ์ พึ่งเนตร (บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้สถาบันอิศรา)  อดินันท์ ปากบารา (รองเลขาธิการ ศอ.บต) นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ และ พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส  โดยมี  เอกรินทร์  ต่วนศิริ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินรายการ 
 
การเสวนาครั้งนี้เริ่มต้นโดยผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงความสำคัญและความเป็นไปในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่ม RKK ที่นำโดยนายมะรอโซ จันทราวดี (ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และ พรก.ฉุกเฉินหลายคดี) กับเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน  ประจำฐานปฏิบัติการทหารร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา[1]  คำถามจากเหตุการณ์ครั้งนี้เราได้เห็นผู้คนในสังคมออกเป็นสองขั้ว มีข้อถกเถียงอันหลากหลายเกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้ ทำให้สังคมไทยมาดูเรื่องภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง ปัญหาการแบ่งขั้วสองขั้วที่สุดโต่ง ทั้งมุมมองที่กล่าวว่าคนเชิดชูกลุ่มนี้ หรือมองว่า คนเหล่านี้สมควรที่จะถูกกวาดล้างให้หมด
 

สื่อมองปรากฏการณ์ความรุนแรงภาคใต้อย่างไร
 
ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้สถาบันอิศรา ในมุมมองของสื่อ สื่อก็มองภาคใต้อย่างหลากหลายเช่นเดียวกันกับสังคมไทย มีทั้งกลุ่มที่มองผู้ตายในเชิงบวก หรือมองในเชิงลบ และในขณะเดียวกันก็มีมุมมองที่เป็นกลาง เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรที่จะแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่ใช้ความรุนแรง ในการนำเสนอข่าวของสื่อ มีทั้งเสนอในประเด็นของอาชญากรรม ในเชิงที่ว่ามีการตายเกิดขึ้น ใครทำอะไร? ที่ไหน? แต่อาจจะลืมเรื่องอย่างไร? ในส่วนตรงนี้ก็จะมีสื่ออีกบางประเภทที่จะค้นหาว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ที่ไปมากกว่านั้นสื่อบางสื่อจะช่วยในการแก้ปัญหา จะมีการเปิดเวที ให้ผู้คนแสดงความเห็น ซึ่งจะเป็นสื่อออนไลน์โดยส่วนใหญ่ แต่สื่อลักษณะนี้จะมีค่อนข้างน้อย สื่อพวกนี้จะเป็นสื่อกระแสรอง โดยในขณะที่สื่อกระแสหลัก จะถูกยึดพื้นที่ด้วยข่าวสารขององค์ความรู้หลัก กล่าวคือจะเป็นสื่อที่นำข่าวมาจากคนของรัฐ
 
แต่สิ่งที่ได้สังเกตเห็นในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ ฝ่ายรัฐมีสติมาก ซึ่งสังเกตุจาก กอ.รมน. ได้ออกข่าวในช่อง 9 คำแรกที่ได้กล่าวก็คือ "ขอแสดงความเสียใจ" ความพยายามในสิ่งที่พยายามที่จะปฏิรูป ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 9 ปี เริ่มทีจะเห็น "สติ" โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ครั้งนี้รัฐสื่อสารได้ค่อนข้างที่จะดี ซึ่งจะเห็นได้ทั้งคำพูดที่ว่า เสียใจและอย่าเพิ่งไปดีใจ เพราะว่าการตายที่ฐานปฏิบัติการไม่ใช้ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าวนั้นมันเป็นจุดเปลี่ยนต่อสถานการณ์สื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงของภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็น "มุมดี" ที่แสดงถึงความมีสติมากยิ่งขึ้น
 
 

มุมมองของทหาร มองเหตุการณ์นี้อย่างไร
 
นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร เวทีนี้จะเป็นเวทีที่ดีที่สุด หากเรามีเป้าหมายร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ภาคใต้ตอนล่าง กลับคืนสู่ความสงบและสันติสุข  ประการแรกขอกล่าวว่าในนามของผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ "ขอแสดงความเสียใจ" ต่อผู้ที่สูญเสีย เหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มคนที่เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการทุกคนสวมชุดเกราะ มีอาวุธสงคราม มีระเบิด 3-5 ลูก แม็กกาซีน 3-5 แม็ก อย่างไรก็ตามท่านก็คือ บุคคลที่เกิดร่วมแผ่นดินเดียวกัน การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารทุกคน เพื่อรักษาชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน แต่เราต้องป้องกันฐานที่มั่น เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคง
 
หลังจากเกิดเหตุการณ์ ภายในวันเดียวกันนั้น นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ได้กล่าวว่า 16 คนที่เสียชีวิตไม่ใช่ชัยชนะของเจ้าหน้าที่ ไม่เคยมีชัยชนะจากความสูญเสียของผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน ในทุกกรณีที่ผ่านมา
 
ต่อจากนั้น นาวาเอก สมเกียรติ ผลประยูร ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่บาเจาะว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากในอดีตได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทุกๆ สามวัน ในปัจจุบันนี้ได้ดีขึ้นตามลำดับ ต่อเนื่องจากสถานการณ์ในบาเจาะ คุณศิโรจน์  แวปาโอะ  ได้กล่าวถึงพื้นที่ของบาเจาะว่า เดิมบาเจาะมีกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวอยู่จริง แต่ปัจจุบันนี้ไม่แน่ใจว่ามีการกลายพันธุ์ไปแล้วหรือไม่ เพราะว่าในทุกวันนี้มีหลายฝ่าย เข้ามายุ่งเกี่ยวเช่น กลุ่มยาบ้า กลุ่มของเถื่อน เป็นต้น ที่ได้เข้าไปปะปนในสังคมของชาวบาเจาะ เกิดความสับสนอยู่ในพื้นที่ของบาเจาะ
 
 
ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ในมุมมองของ ศอ.บต.
 
อดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการ ศอ.บต เรามีปริศนาที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ทางภาคใต้ที่เป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลาย อะไรคือ? ปริศนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติพันธ์เป็นปริศนาที่คนรุ่นใหม่เริ่มมีความสับสน โดยตัวอย่างจากคำว่า ตนเองเป็นคนมลายูหรือไม่ ? มลายูที่ไม่พูดภาษามลายูปาตานี หรือยาวีนี้ เป็นมลายูหรือไม่ ไม่เคยมีความกระจ่างชัด ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ภาคประชาชนที่จะให้คำตอบต่อประชาชนที่ชัดเจน หรือว่ามี แต่ถูกปฏิเสธโดยบางกลุ่ม
 
ประการต่อมาในเรื่องของศาสนา ปริศนาที่สำคัญนั่นก็คือว่า การที่เปิดโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ว่าเปิดได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวนี้ก็ถูกคลี่คลายลงในปัจจุบัน การแต่งกาย เมื่อก่อนถูกตั้งคำถามว่า แต่งกายคลุมฮิญาบได้หรือไม่ ซึ่งก็เป็นปริศนาดำมืด ต่อมารัฐบาลยอมรับก็ออกระเบียบอนุญาตคลุมฮิญาบได้ ประการถัดไป การมีส่วนร่วมในการปกครองมีความหลากหลาย มีตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการแย่งชิงอำนาจเกิดขึ้นตามมาด้วย เศรษฐกิจก็เป็นปริศนาในเรื่องของการจัดการทรัพยากรที่เดิมทีนั้นไม่ได้มีความลงตัวเท่าไหร่ นี้ก็เป็นปริศนาที่เกิดขึ้นที่ต้องคลี่คลาย ในขณะเดียวกันยาเสพติดที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นปริศนากันว่า ผู้ใดเป็นใครทำ
 
ปริศนาเหล่านี้ทำให้เกิดความกดดัน นำไปสู่การต่อสู้ทางความคิด และปริศนาเหล่านี้ได้นำไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม แล้วสร้างความคิดใหม่ให้มาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
สำหรับขบวนการที่เคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นขบวนการที่มีอยู่จริง ซึ่งจะชื่ออะไรก็ตาม มีขวบวนที่มีกำลังคน มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วมีการทำซ้ำ แต่ ศอ.บต. ก็มีการยอมรับว่า กลุ่มคนเหล่านั้นคือผู้ที่มีความเห็นต่าง คำถามที่เกิดขึ้นว่า เรากำลังทำสงครามกับใคร คำตอบก็คือ เราทำสงครามกับคนไทยด้วยกันเอง ที่ไม่มีวันชัยชนะกันเลย จะพบกับความพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่าย
 
 
 
 
ที่มา: Patani Forum
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อควรเฝ้าระวัง! 'โกงเลือกตั้ง'

Posted: 24 Feb 2013 05:43 AM PST

คนไทยยุคใหม่...ต้องใส่ใจดูแลบ้านเมือง...ไม่ว่าท่านจะเรียนมาสาขาใด...เรียนรัฐศาสตร์หรือไม่...ต้องรู้เรื่องการเมืองการปกครอง และคนเรียนการเมืองการปกครองต้องรู้เบื้องลึกของการเลือกตั้ง เพราะ หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง และหัวใจของประเทศไทย อยู่ที่ กรุงเทพมหานคร มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.หนนี้ จะมีการนำยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการต่อสู้ทั้งในแบบ และนอกแบบ ทั้งใต้ดิน บนดินมาใช้อย่างครบเครื่อง เพราะ เป็นการต่อสู้ที่แพ้ไม่ได้ เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ฝ่ายหนึ่ง คือผู้กุมอำนาจรัฐ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ครองพื้นที่เดิม...ผู้สมัครอิสระทั้งหลายก็คือคนซึกฝ่ายเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ คือจุดเปลี่ยนประเทศไทย
 
เตรียมความพร้อมทบทวนองค์ความรู้ "วิชาการเมืองการปกครองของไทย"
 
ไม่ว่าท่านจะเรียนวิชาการเมืองการปกครองของไทยหรือไม่ หรือเป็นเพียงคนไทยแต่ไม่เคยใส่ใจดูแลบ้านเมือง ขอได้โปรดเตรียมความพร้อมด้วยการไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.เพราะศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินกว่าที่เราจะนิ่งดูดาย ใครจะแพ้...ใครจะชนะ ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราต้องรู้ให้ได้ว่า ทำไมผู้ชนะ จึงเป็นผู้ชนะ และทำไมผู้แพ้ จึงต้องเป็นผู้แพ้ และเพื่อนำประเด็นปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อสรุปผลสุดท้ายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้...สุจริต โปร่งใสและเที่ยงธรรม ควรค่าแก่การเชื่อถือหรือไม่..อย่ายอมให้ผู้ใดได้อำนาจมาโดยการปล้นสะดม จุดจับตามอง 6 ประการ ประเด็นปัญหาที่เป็นข้อเคลือบแคลงในการเลือกตั้งตลอดมา และขอมอบหมายให้คนไทยผู้ห่วงใยบ้านเมืองหาข้อมูลเพื่อไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง เตรียมตอบคำถาม 6 ประการ ดังนี้ 
 
1.จุดแตกหัก...พิสูจน์ผลแพ้ชนะของการเลือกตั้ง เขตใด...อยู่ที่ใด กทม.มีเขตการปกครอง 50 เขต มีหน่วยเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 6,548 หน่วย จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,333,157 คนแต่พื้นที่ที่เป็นจุดแตกหักมิใช่ทั้งหมด ขอให้สนใจพล๊อตจุดออกมาให้ได้ว่า เขตอิทธิพลอันเป็นขุมกำลังจุดแตกหักของแต่ละฝ่ายคือ พื้นที่เขตใด หน่วยเลือกตั้งใด มีจุดสังเกตได้ไม่ยาก คือ เขตใดที่มี สส. สก. สข. สังกัดพรรคใด หรือนักการเมืองผู้นำพรรคใด มีภูมิลำเนาอยู่พื้นที่ใด พื้นที่นั้นคือ จุดแตกหักที่แพ้ไม่ได้... (ข้อมูลทุกอย่างสืบค้นได้ในอินเตอร์เน็ต) นี่คือ...พื้นที่ที่คนไทยผู้ห่วงใยบ้านเมืองต้องไปสังเกตการณ์หาคำตอบ...ว่า ทำไม...เลือกตั้งทีไรก็ต้องได้ทุกครั้ง 
 
2. จุดที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งในบางชุมชนกระจุกตัว มีข้อน่าเคลือบแคลงหรือไม่ เพราะในบางชุมชนกำหนดจุดที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง 4-5 หน่วยหรือมากกว่านั้นไปรวมอยู่กระจุกเดียว จนทำให้เกิดการคับคั่งแออัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน มีผู้คนไปชุมนุมกันอยู่อย่างมากมายจนแทบไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หน่วยใดเป็นหน่วยใด...มีข้อน่าเคลือบแคลงว่า เจตนาจะให้เกิดการคับคั่งเช่นนั้น...ใช่หรือไม่ เพราะหากต้องการความโปร่งใส ควรกำหนดที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งห่างจากกันตามสมควร ไม่จำเป็นต้องเอาหน่วยเลือกตั้งหลายๆหน่วยไปรวมอยู่ติดกันกระจุกเดียว หากไม่มีเจตนาจะเอื้อประโยชน์ให้เหล่ามิจฉาชีพทางการเมือง แต่ละหน่วยเลือกตั้งควรแยกห่างจากกัน 10-20 เมตรเป็นอย่างน้อย (พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ พ.ศ. 2545 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2546 ม.17 –ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรฯท้องถิ่น (ในกรณีนี้คือ ปลัด กทม.)กำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งที่จะพึงมีในแต่ละเขต และ ม.18 –การกำหนดหน่วยเลือกตั้งให้คำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน สำหรับในเขตเทศบาล เขต กทม.หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้ใช้แนวถนน ตรอก หรือซอย คลอง หรือแม่น้ำเป็นแนวเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้...ที่เลือกตั้งตาม ม.17 ต้องเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าออกได้สะดวก...) หากพบเห็นสภาพแออัดเช่นว่านี้...ถ่ายรูปไว้...ให้สังคมรับรู้ทาง Social Media 
 
3. บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีข้อน่าเคลือบแคลงหรือไม่ มีข้อกล่าวหาอยู่ตลอดมาว่า มีการย้ายคนเข้ามาในพื้นที่โดยมิชอบ โดยไม่มีตัวตนอยู่จริง บางบ้านมีคนย้ายเข้ามาเป็นร้อย ทั้งๆที่มิใช่โรงงาน บางบ้านพอประกาศรายชื่อออกมา มีบางตนที่ไม่เคยรู้จัก เจ้าบ้านต้องออกมาโวยวาย ( พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ม.43 –ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ กรณีต่อไปนี้ให้สันนิษฐานว่า เป็นการย้ายบุคคลเข้ามาเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ...(1) การย้ายบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าของบ้าน) ขอให้คนไทยร่วมกันตรวจสอบข้อมูลนี้ดูว่า ในพื้นที่ที่เป็นจุดแตกหัก พิสูจน์ผลแพ้ชนะ มีบ้านใดที่มีจำนวนคนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากมายผิดสังเกต และมีนามสกุลต่างกันไปจากเจ้าบ้าน (ข้อมูลนี้สามารถไปเปิดดูบัญชีรายชื่อได้ก่อนวันเลือกตั้ง ตามที่ประกาศไว้ ณ ศาลาว่าการ กทม. ที่ทำการเขต หรือ ณ ที่เลือกตั้งซึ่งกฎหมายบังคับให้ประกาศไว้ล่วงหน้า ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน (ม.38) หากมีบ้านใดผิดสังเกต...ถ่ายรูปไว้รายงานทาง Social Media เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบตอบต่อสังคม... 
 
4. การมอบอุปกรณ์การเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้ง...จุดอันตรายที่(ยัง)แก้ไม่ได้ นี่คือจุดล่อแหลมที่มีผลต่อความสุจริตในการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง เลือกตั้งครั้งใดก็เป็นเช่นนี้ไม่เคยแก้ได้จึงใคร่ขอเชิญชวนคนไทยผู้รักชาติจงช่วยกันจับตามอง ณ จุดนี้ เพราะก่อนวันเลือกตั้ง 1 วันจะมีการมอบอุปกรณ์การเลือกตั้ง หัวใจสำคัญคือ บัตรเลือกตั้ง สถานที่มอบอุปกรณ์มักจะเป็นหอประชุมโรงเรียน หรือหอประชุมเขต (วันเวลา สถานที่สามารถโทรศัพท์สอบถามได้จากทางเขต) จุดสำคัญที่ต้องจับตามอง 3 ขั้นตอน คือ
 
1) หีบเลือกตั้งกระดาษเจ้าปัญหา ที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะต้องมารับและบรรจุอุปกรณ์การเลือกตั้งใส่ไว้ภายใน ขณะนี้พูดได้ว่า หีบเลือกตั้งเกือบทั้งหมดที่นำมาใช้คือ หีบกระดาษ (หีบโลหะแบบเก่าแทบไม่มีแล้ว) เหตุผลในการนำมาใช้ คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย สะดวกในการขนส่งดูแลรักษา เป็นกล่องที่อยู่ในสภาพแผ่นกระดาษแข็งแบนๆที่จะต้องกางขึ้นมาเพื่อใช้บรรจุอุปกรณ์ โดยเฉพาะบัตรเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริง มักจะไม่ได้กาง หรือกางแบบหลวมๆ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปกวดขันดูแลเป็นรายหน่วยได้ ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ บางเขตเลือกตั้งก็แก้ปัญหาโดยกางหีบเลือกตั้งเอาไว้ให้ แต่ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้คือ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า หีบเลือกตั้งใดปฏิบัติตามระเบียบฯหรือไม่ ในการปิดกล่องกระดาษ (ข้อกำหนด กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 ข้อ 43 – เมื่อได้ตรวจและนับจำนวนบัตรเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิฯ แบบพิมพ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลือกตั้งแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งทั้งหมดบรรจุลงในหีบบัตรเลือกตั้ง แล้วให้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งใส่กุญแจประจำครั่งทับรูกุญแจหรืออุปกรณ์อื่นแทนกุญแจและมัดหีบบัตรเลือกตั้งด้วยเชือก ผูกปมเชือกไว้ด้านข้างหีบบัตรเลือกตั้งแล้วประจำครั่งทับปมเชือกและปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้ง แล้วให้เก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยตามที่ กกต.ประจำองค์กรท้องถิ่นกำหนด โดยให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย) จากประสบการณ์ที่เคยไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง...ขอเรียนว่า ส่วนน้อยเท่านั้นที่ปฏิบัติครบถ้วนถูกต้อง
 
2) หีบเลือกตั้งเอาไปเก็บไว้ที่ไหนในคืนหมาหอน เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เคยสังเกตการณ์ในบางเขตเลือกตั้งของ กทม.ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถึงขนาดจับหีบเลือกตั้งทั้งหมดล่ามเชือกไว้ในห้องเย็นล็อคกุญแจให้ตำรวจเฝ้าทั้งคืน นัดให้มารับตอนรุ่งสาง แต่ก็มีปัญหามารับล่าช้า มาไม่พร้อมกันมีปัญหาการจราจร เสี่ยงต่อการเดินทางกลับไปเปิดการเลือกตั้งไม่ทันเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ 8 นาฬิกา สำหรับหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ไกล เดินทางลำบาก จึงมีเสียงบ่นจากกรรมการประจำหน่วยฯเพราะในทางนิตินัย หีบเลือกตั้งพร้อมอุปกรณ์อยู่ในความรับผิดชอบของกรรมการแล้วตั้งแต่ลงนามเซ็นรับไว้ในเอกสาร บางหน่วยเลือกตั้งถึงขนาดพูดออกมาว่า ยิ่งให้ตำรวจมานอนเฝ้า...นั่นแหละเขายิ่งไม่ไว้ใจตำรวจ ฉะนั้น เลือกตั้งหนนี้ก็ต้องถาม กกต.ประจำท้องถิ่น (กทม.) ผู้มีอำนาจตามข้อกำหนด กกต. ข้อ 43 ว่า...จะให้เอาหีบเลือกตั้ง (ซึ่งมีบัตรเลือกตั้งบรรจุอยู่ข้างใน) ไปเก็บไว้ที่ไหนในคืนหมาหอน...ก่อนวันเลือกตั้ง (คืนที่ 2 มีนาคม 2556)
 
3) การตรวจนับบัตรเลือกตั้งก่อนรับมอบของคณะกรรมการประจำหน่วยฯ นี่ก็เป็นจุดที่ต้องจับตามองเพื่อตอบโจทย์ว่า การเลือกตั้งสุจริตหรือไม่ เพราะความพยายามที่จะกระทำการทุจริตอยู่ที่ความสำเร็จในการลักลอบนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากระบบ ในการปฏิบัติจริง ทุกเขตจะนัด ผอ.ประจำหน่วยเลือกตั้ง และกรรมการประจำหน่วยไม่น้อยกว่า 2 คนมารับมอบตั้งแต่ฟ้าสางก่อนวันเลือกตั้ง (บางเขตมอบไปก่อนวันเลือกตั้ง 2 วัน) เมื่อผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้งไปรับมอบมาแล้วก็จะต้องแจกจ่ายบัตรเลือกตั้งไปนั่งนับกันเพื่อตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนคนละปึก 2 ปึก แยกกันไปนั่งนับหลายซอกหลายมุม เคยไปสังเกตการณ์แล้วพบว่ามีพิรุธ ณ จุดนี้ มีหลายอย่างน่าเชื่อว่า บัตรเลือกตั้งจะถูกลักลอบนำออกไปจากระบบในจุดนี้ที่เอาไปนับแล้วคืนมาไม่ครบ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 7 คนผู้อาสามาปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสุจริตควรตรวจสอบกันเอง ต้องตรวจนับบัตรเลือกตั้งให้ครบก่อนปิดหีบเลือกตั้ง และต้องนับบัตรเลือกตั้งให้ครบก่อนเปิดการลงคะแนน ความจริงแล้ว บุคคลซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในหน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2549 ข้อ 47 เปิดโอกาสให้แต่งตั้งจากบุคคลถึง 3 ประเภทเพื่อป้องกันปัญหาความขาดแคลน คือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตจังหวัด ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งละ 1 คน แต่ในตอนหลังเพื่อตัดข้อครหาเกี่ยวกับความสุจริต ผอ.เลือกตั้งประจำท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของ กกต.ท้องถิ่นจึงมักจะแต่งตั้งจากข้าราชการเพียงอย่างเดียว เพราะถึงอย่างไรก่อนตัดสินใจทำสิ่งที่มิชอบก็คงห่วงอนาคตราชการ สิ่งสำคัญที่สุด คือ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้ง 7 ท่านที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองด้วยความเสียสละ ต้องจับตามอง ตรวจสอบกันเอง..อย่ายอมให้มิจฉาชีพทางการเมืองแอบแฝงเข้ามาทำการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งของเราเป็นอันขาด 
 
5. การนำส่งหีบเลือกตั้งไปยังสถานที่นับคะแนนล่าช้าเกินเหตุ...ปมทุจริตสุดท้ายในการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้ ขอให้คนไทยช่วยกันจับตามอง สอดส่องว่า มีหน่วยเลือกตั้งใดมีพิรุธ อ้างเหตุจราจรติดขัด อ้างหิวข้าวต้องพากันไปกินข้าวก่อน อ้างสารพัดอ้างทำให้นำส่งหีบเลือกตั้งไปถึงสถานที่นับคะแนนตอน 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม...ทำให้เกิดคำถามว่า...ไปแวะทำอะไรที่ไหนมาหรือเปล่า...หากมีหน่วยเลือกตั้งใดเป็นเช่นว่านี้ อย่าเพิ่งเปิดหีบบัตรเทรวมกลบเกลื่อนเป็นอันขาด ขอให้ทำบันทึกไว้ให้ชัดเจนว่า หน่วยใด ใครเป็นผู้นำส่ง มีตำรวจผู้อำนวยความปลอดภัยหีบบัตรมาด้วยชื่อ ยศอะไร ออกจากหน่วยเวลาเท่าใด...มาถึงสถานที่นับคะแนนเวลาเท่าใด...ขอให้ตรวจสอบบันทึกไว้ให้ชัดเจนว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบในการปิดหีบบัตรหรือไม่ คาดสายรัด คาดเทปรอบหีบบัตร กรรมการเซ็นชื่อคาดทับรอยต่อ เพราะในประสบการณ์ตรวจสอบการเลือกตั้งที่มีปัญหา...พอเปิดหีบเข้าไปมักจะพบพิรุธ...บัตรเลือกตั้งที่ใส่เข้าไปใหม่ยังวางเรียงอยู่เป็นตั้ง เมื่อคลี่ออกมา รอยกากะบาดดูก็รู้ว่า คนกาเป็นคนเดียวกัน...เอาออกไปเท่าใด ใส่คืนมาเท่านั้น...เขาเอาบัตรเลือกตั้งที่ไหนมา...ขอยืนยันด้วยประสบการณ์ที่เคยเห็นมาว่า ไม่มีใครลงทุนพิมพ์บัตรปลอม มีแต่บัตรจริงที่ถูกลักลอบนำออกมานอกระบบ...ลักลอบนำออกมาตอนไหน คำตอบมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นตอนการพิมพ์ และกกต.รับจากโรงพิมพ์มาอยู่ในความครอบครองก่อนส่งมอบให้ กทม. แต่โดยประสบการณ์ของ กกต.มักจะไม่ยอมอุ้มเผือกร้อนไว้นาน อย่างดีก็แค่แตะผ่าน ส่งต่อไปเท่านั้น 2. ขั้นตอนที่ กทม.ครอบครองไว้ก่อนวางแผนส่งมอบให้ กกต.จังหวัด/ กกต.ท้องถิ่นเพื่อวางแผนส่งมอบให้ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)... เก็บไว้ที่ไหน อย่างไร แต่ละขั้นตอนใครรับผิดชอบ 3. ขั้นตอนที่ กปน. รับมาอยู่ในความครอบครองซึ่งมีจุดจับตามองอยู่ 3 ช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว คือ ช่วงแบ่งกันนับตรวจสอบความครบถ้วน ช่วงการเก็บรักษาในคืนหมาหอน ก่อนวันเลือกตั้ง และช่วงแอบเอาบัตรนอกระบบคืนใส่หีบเลือกตั้ง... 
 
ต้องพิสูจน์ให้รู้ว่า...นี่คือคำตอบที่ว่า...เลือกตั้งครั้งใดก็ต้องชนะ...หรือไม่
 
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เกิดเป็นคนไทย อย่านิ่งดูดาย...ยอมให้ใครได้อำนาจไปโดยการปล้นสะดม...
 
ด้วยความห่วงใย...
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 มีนาฯ กาตามสติปัญญาท่าน?

Posted: 24 Feb 2013 05:30 AM PST

นักวิทยาศาสตร์สร้างโปรแกรมดัดแปลงเสียงเพลงจากคลื่นสมองหวังแก้ซึมเศร้า

Posted: 24 Feb 2013 04:55 AM PST

นักวิจัยด้านดนตรีจากคอมพิวเตอร์ใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์จากโปรแกรมช่วยวิเคราะห์การทำงานที่วัดจากคลื่นสมองของผู้ฟังเพลงหลังจากนั้นจึงปรับแต่งเพลงเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกมีความสุขจากเสียงเพลง เปิดทางต่อการช่วยรักษาโรคซึมเศร้าและการนำไปใช้กับอุตสาหกรรมบันเทิง

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพลีมัธ ในอังกฤษ กำลังพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถวิเคราะห์การทำงานของสมองขณะฟังเสียงเพลง และแต่งเพลงขึ้นใหม่เพื่อทำให้ผู้รับฟังรู้สึกมีความสุข ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่าซอฟท์แวร์โปรแกรมแต่งเพลงที่พวกเขาพัฒนาสามารถปรับเปลี่ยนสภาพอารมณ์และช่วยในการลดความเครียดรวมถึงต่อสู้ดับโรคซึมเศร้าได้

โครงการวิจัยชิ้นนี้นำโดย ดร. เอดดูอาโด มิรันดา ศาตราาจารย์และนักแต่งเพลงจากศูนย์สหวิทยาการเพื่อการวิจัยด้านดนตรีจากคอมพิวเตอร์ (ICCMR) ของมหาวิทยาลัยพลีมัธ และ ดร. สลาโวเมียร์ นาสุโตะ ศาตราจารย์จากทีมวิจัยไซเบอร์เนติกส์ มหาวิทยาลัยเรดดิง

ทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคของปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยการให้คอมพิวเตอร์เล่นเพลงและวิเคราะห์การทำงานของสมองผู้ฟังเพื่อตรวจวัดอารมณ์ เมื่อได้การตรวจวัดอารมณ์มาแล้ว คอมพิวเตอร์ก็จะสร้างเสียงดนตรีใหม่ขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนอารมณ์ของผู้ฟัง

โดยเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้จัดแสดงคอนเสิร์ทในชื่อ 'Symphony of Minds Listening' ซึ่งเป็นการนำมูวเมนท์ที่ 2 ของบทเพลงซิมโฟนี่หมายเลข 7 ซึ่งประพันธ์โดยบีโธเฟนมา 'รีมิกซ์' ปรับแต่งใหม่ ให้เป็นไปตามผลการสแกนสมองของอาสาสมัคร 3 คน ได้แก่นักเต้นบัลเลย์คลาสสิค, ทหารผ่านศึกสงครามอ่าว และตัวดร. มิรันดาเอง พวกเขารับผลการสแกนสมองด้วยระบบการสะท้อนคลื่นแม่เหล็ก (fMRI) ขณะกำลังฟังเพลง

"พวกเราทราบว่าดนตรีส่งผลต่ออารมณ์ของเรา แต่เรายังไม่รู้ว่ามันทำได้อย่างไร" ดร.มิรันดากล่าว "พวกเราต้องการทราบว่าจังหวะหรือเมโลดี้ในเพลงมีผลต่อการกระตุ้นอารมณ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง หรือส่วนประกอบใดในดนตรีที่ทำให้เกิดรูปแบบเฉพาะในการส่งสัญญาณจากสมอง โครงการของเราคือการสร้างระบบใหม่ในการประพันธ์เพลง"

มิรันดากล่าวถึงผลการสำรวจคลื่นสมองพบว่าแต่ละคนก็มีวิธีการฟังเพลงต่างกันไป เช่นนักเต้นบัลเลย์คลาสสิคจะพบการทำงานในสมองส่วนการสั่งการหรือมอเตอร์คอร์เท็กซ์ (motor cortex) สูงมาก เพราะนักบัลเลย์จะตีความดนตรีตามความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายของตัวเธอเอง

จากการที่นักวิจัยเรียบเรียงจังหวะและเมโลดี้ของเพลงซิมโฟนี่ขึ้นมาใหม่ตามการทำงานของสมอง พวกเขาพบว่าเพลงที่เรียบเรียงจากข้อมูลสมองของนักบัลเลย์มีจังหวะแตกต่างจากบทเพลงเดิมมากที่สุด ขณะที่ฉบับที่เรียบเรียงจากข้อมูลสมองของมิรันดามีทำนองประสานต่างจากเดิมมากที่สุด

ทีมวิจัยเปิดเผยอีกว่าดนตรีปรับเปลี่ยนอารมณ์ที่แต่งโดยคอมพิวเตอร์อาจนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้ เช่น นำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้าแทนการใช้ยา นอกจากนี้แล้วยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมบันเทิงได้ เช่น ในภาพยนตร์หรือในงานโฆษณา โดยการใช้เพลงที่ตรงกับความต้องการเร้าอารมณ์ของผู้ชม

แต่นักดนตรีผู้ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คนอาจกังวลว่าจะถูกคอมพิวเตอร์แย่งงานเอาได้

มิรันดาได้ทำนายอีกว่าผลการวิจัยของเขาจะกลายเป็นการปฏิวัติวงการฮอลลิวูด โดยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์วิเคราะห์สีหน้าของตัวละครในภาพยนตร์ จากนั้นระบบก็จะดำเนินการแต่งเพลงซาวน์แทร็กให้กับภาพยนตร์อย่างรวดเร็ว มิรันดาบอกว่าถ้าหากผลการทดลองของเขาออกมาแล้วเขาจะนำเสนอเรื่องนี้ให้กับทั้งอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงและด้านสุขภาวะ

เจสซี่ แวร์ นักร้องผู้เข้าชิงรางวัลบริทอวอร์ดกล่าวว่า โครงการณ์นี้น่าตื่นเต้นและอยากเห็นว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ขณะเดียวกันเจสซีก็หวังว่ามันคงไม่ถึงขั้นทำให้นักดนตรีไม่มีงานทำ "จากประสบการณ์ของฉันในฐานะนักร้องคนหนึ่ง ฉันคิดว่านักดนตรีเองก็มีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจและทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกต่างๆ ได้"

"เช่นตอนที่ฉันทำกับข้าวอยู่ฉันจะชอบฟังเพลงแจ๊ซ" เจสซีกล่าว "มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ"


เรียบเรียงจาก

Computer designed by scientists to compose music which makes the brain feel happy, The Independent, 22-02-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชุมชนต่อสู้เพื่อสิทธิฯ ที่ดิน รับทุน ‘โกมล คีมทอง’ หนุนงานในพื้นที่

Posted: 24 Feb 2013 01:52 AM PST

เครือข่ายปฏิรูปทีดินภาคอีสาน (คปอ.) และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ 1 ใน 10 เครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ รับทุนสนับสนุนการทำงานมูลนิธิโกมลคีมทอง

 
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.56 ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 256 ครั้งที่ 39  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ได้มอบทุนสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ จำนวน 10 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ชุมชมโคกอีโด่ย จ.สระแก้ว 2.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) 3.สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
 
4.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5.กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีตอนล่าง 6.กลุ่มฅนรักบ้านเกิด ต.ทุ่งเขาหลวง จ.เลย 7.กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำท่าแซะ จ.ชุมพร 8.กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเชียงทา จากกรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร 9.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ 10.เครือข่ายติดตามผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
 
นางบัวลา อินอิ่ม หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ที่มาร่วมงานในวันนี้กล่าวว่าเงินที่ได้รับจำนวน 50,000 บาทเพื่อสนับสนุนการต่อสู้นี้ ถือเป็นความภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งของเครือข่ายฯ ที่ได้รับรางวัลในการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน โดยส่วนตัวรู้จัก ครูโกมล คีมทอง มาจากการได้อ่านหนังสือถึงประวัติพอได้ความว่า เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อสังคม เสมือนเป็นอิฐก้อนแรกที่ถมทางให้คนรุ่นหลังได้ก้าวเดิน
 
นางบัวลา กล่าวด้วยว่า บนเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านกว่า 30 กว่าปี และในช่วงเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมา ภายหลังเข้าไปยึดที่ดินกลับคืนมา เมื่อ ปี 52 นั้น สมาชิกชุมชนบ่อแก้ว ได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบริหารจัดการองค์กรประชาชนอย่างสำคัญ ขณะเดียวกัน เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ประชาชนในท้องถิ่นอำเภอคอนสาร นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย รัฐบาล หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไป ก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า มีแต่การยืนหยัดต่อสู้อย่างอดทนเท่านั้นที่จะฝ่าข้ามความอยุติธรรม ไปสู่สังคมที่เป็นธรรมได้
 
ทั้งนี้ นางบัวลาเป็นหนึ่งในอีกชาวบ้านกว่า 200 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ายึดที่ดินไปปลูกยูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 กว่า  4,401 ไร่ ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพ กลายเป็นแรงงานรับจ้าง บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย เพราะไม่มีที่ดินทำกิน จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม กระทั่ง 17 ก.ค.52  ได้เข้ามายึดพื้นที่ทำกินเดิมกลับคืนมา และปักหลักในพื้นที่จัดตั้ง หมู่บ้านบ่อแก้ว ที่ ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ขึ้นมา เป็นเหตุที่ทาง อ.อ.ป. นำมาเป็นข้ออ้าง และดำเนินคดีกับชาวบ้านรวม 31 ราย ให้ออกไปจากพื้นที่ ล่าสุดคดีดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ของศาลจังหวัดภูเขียวได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นไปเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.55 ว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก
 
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ทำกินเดิมมาโดยตลอด และได้ร่วมกันประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบโฉนดชุมชนในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เพื่อให้มีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิในที่ดิน กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน อีกทั้งในโอกาสครบรอบ 3 ปี ในวันที่ 17 ก.ค.2555 ชุมชนบ่อแก้วได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่การพัฒนาระบบการผลิตในชุมชน เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้สามารถพึ่งตนเองได้
 
นอกจากนั้น ในวันดังกล่าวได้มีการมอบโล่ประกาศบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง 4 คน คือ 1.ประยงค์ ดอกลำไย ด้านสิทธิมนุษยชน 2.ณิชชญา น้อยแก้ว ด้านการศึกษา 3.พุทธิพร ลิมปนดุษฎี ด้านสาธารณสุข และ 4.กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการปาฐกถาโกมลคีมทอง ประจำปี 2556 ครั้งที่ 39 โดย เพียรพร ดีเทศน์ ในหัวข้อ "เขื่อนข้ามพรมแดน ทุนข้ามชาติ คำถามถึงธรรมาภิบาลอุษาคเนย์"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปฏิรูปการศึกษา ต้องกล้ากระจายอำนาจ

Posted: 23 Feb 2013 06:59 PM PST

สังคมไทยมีความหลากหลายทางสภาพภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ภูเขาสูง ที่ราบลุ่มแม่น้ำ พี้นที่แอ่งกระทะจนถึงทะเล และมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่ม ซึ่งมีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ความเชื่อของชุมชนที่แตกต่างหลากหลาย แต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชนดำรงอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ไปมาหาสู่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมระหว่างกันมาอย่างยาวนาน

วิถีชีวิตที่ดำรงอยู่บนฐานวิถีวัฒนธรรม สอนลูกสอนหลานผ่านการเรียนรู้จากครอบครัว ลูกชายเรียนรู้จากพ่อ ลูกสาวเรียนรู้จากแม่ มีประเพณีการบวชเรียนที่วัด และการร่วมกิจกรรมในชุมชนทุกๆกิจกรรมของชีวิต  มีวัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านประเพณีพิธีกรรมทั้ง 12เดือนในรอบปี มีผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้รู้ เป็นพ่อครู แม่ครูถ่ายทอดความรู้ โดยเป็นฐานความรู้ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต การหาอยู่หากินในสภาพแวดล้อมที่ชุมชนตั้งรกรากอยู่มาอย่างยาวนาน

ความเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชนครั้งสำคัญนั้น เกิดขึ้นเมื่อการศึกษาสมัยใหม่เริ่มเข้าสู่ชุมชน มีการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ความรู้จากส่วนกลางเข้ามาแทนที่ความรู้ท้องถิ่น ตำราการเรียนการสอนทั้งหมดมาจากส่วนกลาง มุ่งเน้นใช้การศึกษาสร้างความเป็นเอกภาพของชาติความมั่นคงทางการปกครอง และเพื่อการผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการเป็นสำคัญ ต่อมา เมื่อมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ปี ๒๕๐๔ การศึกษาเริ่มมีการปรับเป้าหมาย เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมโดยลำดับ โดยนำเอาการศึกษาจากประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกมาเป็นแม่แบบ และขยายโรงเรียนไปทั่วทุกหมู่บ้าน

ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าการศึกษามีเป้าหมายเพื่อผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รับใช้ภาคเมืองและอุตสาหกรรมเป็นหลัก เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาจะถูกหล่อหลอมให้มีวิถีชีวิตที่ทันสมัยแบบในเมือง ขณะที่ผู้ปกครองต่างมุ่งหวังส่งเสียลูกหลานให้เรียนสูงๆ เพื่อที่จะได้รับการจ้างงานในหน่วยราชการ บริษัทธุรกิจและโรงงานอุตสาหกรรม

ผลที่เกิดขึ้น คือ เด็กละทิ้งถิ่นฐาน เรียนหนังสือแล้วไม่อยากกลับบ้าน อยากอยู่ในเมือง ต้องการแสวงหางานทำในเมือง ไม่อยากทำนา ทำไร่ ทำสวน หรืออาชีพของพ่อแม่ เกิดความด้อยอายที่จะต้องพูดภาษาถิ่น อายที่จะแต่งตัวแบบพื้นบ้าน ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง ในวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง

เด็ก เยาวชนส่วนใหญ่จึงทำตัวให้ดูดีและทันสมัยโดยต้องตามกระแสการโฆษณาของสื่อ ตามให้ทันเทคโนโลยีทุกรุ่น ตามให้ทันแฟชั่นในแต่ละยุค และสนุกกับการอยู่ในกระแสบริโภคนิยมอย่างบ้าคลั่ง

 กระบวนการศึกษาสมัยใหม่จึงเป็นกระบวนการถอนรากถอนโคนองค์ความรู้ ภูมิปัญญาเดิมของชุมชน ด้วยวาทกรรมที่ว่าล้าสมัยไม่ทันยุค การอยู่แบบดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่วัดโดย GDP

แน่นอนเมื่อไม่มีลูกหลานเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญาเดิม พ่อแม่ ชุมชนต้องต้องละทิ้งองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่ได้สืบทอดต่อกันมาหลายรุ่นคน การขายที่นา ขายวัวควาย ขายสวนไม้ผล เก็บตำราสมุนไพรทิ้งไว้บนหิ้ง เก็บกี่ทอผ้าทิ้งไว้หลังบ้าน "มรดกความรู้ ภูมิปัญญาถูกทิ้งโดยการศึกษาสมัยใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย"

ด้วยการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เรียนแต่ในห้อง ท่องจำหนังสือแบบนกแก้วนกขุนทอง เพียงเพื่อนำไปสอบแข่งขันเลี่อนขั้นสูงขึ้น นอกจากไม่เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงที่สามารถนำมาปฏิบัติ นำมาใช้ในชีวิตได้แล้ว ยังสร้างความเห็นแก่ตัว ที่จะต้องเป็นผู้ชนะในลู่แข่งขันทางการศึกษา จึงเกิดภาวะที่เรียนหนังสือจนไม่รู้จักมนุษย์ ไม่รู้จักโลก ขนาดเรียนหนักจากห้องเรียนแล้วก็ยังต้องไปกวดวิชาเพิ่มเติมอีก  เป็นความทุกข์ที่เกิดจากการศึกษากันทั่วบ้านทั่วเมือง

ความเห็นแก่ตัว ต้องเป็นผู้ชนะที่แพ้ไม่ได้ การไหลตามกระแสสังคมแบบยอมจำนน ล้วนเป็นสะท้อนถึงระบบการศึกษาที่ไม่ก่อให้เกิดความงอกงามของชีวิต ไม่เพิ่มพูนคุณค่าความเป็นมนุษย์ การศึกษากำลังทำให้เด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของสังคมจมดิ่งลงไปสู่เส้นทางอบายและนรกภูมิ

แม้ว่ารัฐได้มีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษา ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากมายในรอบกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า การปฏิรูปการศึกษาสามารถปฏิรูปได้เฉพาะในด้านการปรับโครงสร้างบุคคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก แต่ไม่สามารถปฏิรูปไปถึงฐานคิดและกระบวนการเรียนรู้ดังที่มุ่งหวังได้ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองในช่วงปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไปไม่ถึงไหน

รัฐเองทำได้เพียงจ่ายงบประมาณตามแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากระบบการศึกษาผ่านกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นการทำงานแบบแยกส่วนที่นอกจากไม่ได้ผลแล้วยังต้องสูญเสียงบประมาณมากมหาศาล

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ทางกลุ่มองค์กรต่างๆ อันหลากหลายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  ที่ดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือกและรวมตัวกันในนามสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันหลายครั้ง โดยมีความเห็นเบื้องต้นว่า การปฏิรูปการศึกษาโดยภาครัฐฝ่ายเดียวนั้นไม่น่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่ทุกคนคาดหวังไว้ จึงมีความจำเป็นที่กลุ่ม องค์กร ที่จัดการศึกษาทางเลือก และทุกภาคส่วนในสังคม ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงในอนาคต

ได้มีการวิเคราะห์ปัญหาทางด้านการศึกษา พบว่า วิกฤติการศึกษาในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเชื่อมโยงเข้ากับโลกาภิวัฒน์ ขณะที่ระบบการศึกษาของไทยลอกเลียนแบบมาจากประเทศตะวันตกซึ่งมีปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งปรับตัวไม่ทันต่อสภาวการณ์ใหม่ก่อลุกลามเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย นับตั้งแต่ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำมีเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันจำนวนเพิ่มมากขึ้น เด็กและเยาวชนที่ผ่านการศึกษาในระบบขาดทักษะชีวิต ขาดคุณธรรม และขาดจิตอาสา มีชีวิตที่อยู่บนความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรง การเสพสิ่งเสพติด การมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนวัยอันควร และเป็นนักบริโภคตัวยง หลงไปกับสื่อที่กระตุ้นการบริโภค ไหลไปตามกระแสแฟชั่นตลอดเวลา  ภาพรวมของผลผลิตของระบบการศึกษาเช่นนี้จึงเป็นสภาวะที่สังคมไม่พึงประสงค์

ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กจบการศึกษามาแล้ว ตลาดงานก็หดตัวแคบลง ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างก็รับบุคลากรน้อยลง ผู้สำเร็จการศึกษาจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะตกงานพร้อมๆ กับการต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการกู้เรียนตามนโยบายของรัฐ เด็กและเยาวชนเหล่านี้จึงต้องเผชิญกับความเครียดและความทุกข์มากขึ้น จะกลับสู่ท้องถิ่นบ้านเกิดก็อยู่ไม่ได้ อยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะการเรียนในระบบที่ผ่านมาเป็นการตัดความสัมพันธ์เด็กออกจากครอบครัวและชุมชนตนเอง ขาดการเชื่อมโยงต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็กและเยาวชนที่ผ่านระบบการศึกษาจึงไม่เห็นคุณค่าการใช้แรงงาน ช่วยการช่วยงานของพ่อแม่ไม่ได้ และไม่สามารถสร้างสรรค์งานเพื่อการพึ่งตนเองได้ จากสภาวะที่เด็กและเยาวชนของสังคมรุ่นปัจจุบันถูกทำให้ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ จะยิ่งส่งผลกระทบให้กลายเป็นปัญหาของสังคมที่ใหญ่ขึ้นและจะส่งผลต่อคุณภาพการพัฒนาสังคมไทยโดยรวมในอนาคต

วิกฤติการศึกษาที่กำลังขยายตัวอยู่นั้น กล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญเกิดมาจาก

การมีหลักคิดการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่ผิดพลาด คือ ตั้งอยู่บนฐานคิดพิชิตธรรมชาติ อยู่เหนือและเอาชนะธรรมชาติ แปรธรรมชาติเป็นทุน เป็นกำไร ฐานคิดการบริโภคแบบไม่ยับยั้งชั่งใจ ฐานคิดแบบอัตตาธิปไตย และไม่ตั้งบนฐานคิดการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ

กระบวนการจัดการเรียนรู้ เรียนแต่ในห้อง ท่องจำ ขาดการคิด วิเคราะห์ เน้นการสอบแข่งขันผ่านชั้นที่ทำให้เด็กที่อยู่ชนบทห่างไกล  ครอบครัวยากจน  เป็นพวกแพ้ถูกคัดออก กลุ่มที่ประสบผลสำเร็จส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนดี  พร้อมทั้งสามารถส่งไปกวดวิชาเพิ่มเติมอีก แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นคือโรงเรียนในกรุงเทพฯ  ในเมืองใหญ่ มีความพร้อมได้รับการสนับสนุนเต็มที่  ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนในชุมชนที่ห่างไกล  ขาดแคลนทั้งอาคาร สถานที่อุปกรณ์การเรียน ทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มถึง ๑๔,๓๙๗  โรง กลายเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งที่รัฐธรรมนูญและ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกันและมีคุณภาพ

การบริหารจัดการศึกษารวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง บริหารสั่งการจากตรงกลาง ใช้หลักสูตรแบบเดียวกันทั่วประเทศ และมีการกำหนดมาตรฐานจากส่วนกลางแบบเดียว เป็นความรู้ที่ไม่สามารถตอบสนองความหลากหลายของคนแต่ละคน กลุ่ม ชุมชนที่มีความหลากหลายได้ ส่งผลทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ  ผู้ที่สามารถแข่งขันประสบผลสำเร็จมีจำนวนน้อยลงทุกที

ดังนั้นทางสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยจึงขอเรียกร้องให้เกิดกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้กับพ่อแม่ สถาบันศาสนา องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมต่างๆตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยมีหน่วยงานที่ดูแลอย่างชัดเจน สนับสนุนให้มีการปรับใช้หลักสูตรและการกำหนดมาตรฐานและการประเมินให้เหมาะสมกับสภาพจริงของแต่ละพื้นที่ ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์  รวมทั้งการการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กไปสู่การเป็นโรงเรียนชุมชนโดยการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายแทนการยุบและควบรวม

และเสนอให้รัฐบาลกำหนดให้การศึกษาเป็นวาระของชาติที่ระดมสรรพกำลังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการศึกษามามองทางออกร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อให้การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาคน พัฒนาประเทศในการเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ในอนาคตได้อย่างแท้จริง    

 

 

                                                                               

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น