โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เดินสายรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หวังคุ้มครองสิทธิตามกม.คนรักเพศเดียวกัน

Posted: 22 Feb 2013 10:08 AM PST


(22 ก.พ.56) ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต และมีการแสดงความคิดเห็นต่อการร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. ...  ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วิรัตน์ กัลยาสิริ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีกฎหมายนี้ เพราะคนในสังคมส่วนใหญ่ยังมีอคติ เมื่อต้องติดต่อกับราชการหรือเอกชน คนกลุ่มนี้ยังถูกเลือกปฏิบัติ ถูกปฏิเสธ ความเชื่อของสังคมเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลง เหมือนที่เราเคยประนามเด็กที่ถนัดซ้าย และบังคับให้เขาใช้มือขวา แต่ปัจจุบันการถนัดซ้ายหรือขวาเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนการรักในเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็เป็นเรื่องตามธรรมชาติ

นพ.แท้จริง ศิริพาณิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่กฎหมายบอกผมว่าผมจะอยู่กับใครสักคน มีความผูกพัน ดูแลกัน คนนั้นต้องเป็นคนละเพศกับผม เป็นเพศเดียวกันไม่ได้นั้นไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน ในรัฐธรรมนูญจะใช้คำว่า 'บุคคล' ก็คือมนุษย์หนึ่งคน ไม่มีแบ่งแยกเพศ  สิทธิก็จะต้องเท่าเทียมกัน ต้องทำสิ่งต่างๆ ตามความต้องการของตนเองได้เสมอเหมือนกัน ตราบใดที่เป็นไปตามกฎกติกาของสังคม แต่กฎเหล่านั้นต้องเอื้อให้ทุกคนอยู่ในสังคมได้อย่างผาสุก ไม่ใช่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ

"ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรคอีกต่อไปแล้ว วิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบอะไรใหม่ๆ โลกเราไม่ได้มีแต่เพศหญิงชายที่แบ่งแยกเหมือนขาวกับดำ แต่มีหลายสี นี่คือธรรมชาติ และคนที่แตกต่างหลากหลายบางกลุ่มกำลังถูกกีดกันทางกฎหมาย ทำให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้ไม่ปกติสุข พวกเขาเสียสิทธิอันชอบธรรมในฐานะบุคคลคนหนึ่ง กฎหมายเหล่านี้คือการคืนสิทธินั้นให้เขา" นพ.แท้จริง กล่าว

ผู้ร่วมรับฟังแสดงความเห็นว่าอยากฟังรายละเอียดมาตราใน พ.ร.บ.ชัดเจนกว่านี้ และแสดงความกังวลว่าไม่อยากให้กฎหมายแยกความรักเพศเดียวกันออกจากความรักต่างเพศโดยการกำหนดให้ พ.ร.บ.นี้มีไว้จดทะเบียนคู่เพศเดียวกันเท่านั้น เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการแบ่งแยกตีตราบุคคลที่รักเพศเดียวกัน และเสนอว่าให้ออกกฎหมายที่ไม่มีการจำกัดเพศ แทนที่จะออกกฎหมายที่ยังจำกัดความเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นว่าไม่อยากให้มีการออกกฎระเบียบที่เป็นการแบ่งแยกเลือกปฏิบัติต่อการจดทะเบียนของคู่เพศเดียวกัน เช่น การตรวจสอบคู่เพศเดียวกันที่จะจดทะเบียน ในขณะที่คู่ต่างเพศไม่ต้องผ่านการตรวจสอบใดๆ ก่อนจดทะเบียน 

เมื่อมีผู้แย้งจากกลุ่มผู้ฟังว่าอาจมีการนำกฎหมายนี้ไปใช้ในการหาผลประโยชน์ นพ.แท้จริงตอบว่า การหาผลประโยชน์จากกฎหมายมีในทุกที่ ไม่เว้นคู่ชายหญิง ไม่ใช่เหตุผลที่จะระแวงและกีดกันการเข้าถึงสิทธิของคนบางกลุ่ม เป็นหน้าที่ของผู้ใช้กฎหมายที่จะควบคุมดูแลการกระทำมิชอบของคนทุกกลุ่ม 

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตนี้ร่างขึ้นจากการทำงานของคณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 4 ภูมิภาค

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศหวังว่าความพยายามในการให้การคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายดังกล่าวนี้จะทำให้สังคมเปิดใจยอมรับครอบครัวของคู่ชีวิตเพศเดียวกันและคู่ของคนข้ามเพศมากขึ้น ในขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้ติดตามเนื้อหาในพระราชบัญญัติอย่างใกล้ชิด โดยหวังว่าจะตอบโจทย์ความเดือดร้อนจากสถานการณ์จริงของคู่ชีวิตได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันได้แก่ การคุ้มครองสิทธิในฐานะคู่ชีวิตในการตัดสินใจแทนในการรักษาพยาบาล การดำเนินการแทนในกระบวนการยุติธรรม การจัดการทรัพย์สินในครอบครัว การทำนิติกรรมสัญญา การรับสวัสดิการหรือสิทธิอันพึงได้ในฐานะคู่ การรับสิทธิในการพำนักอาศัยในประเทศในฐานะคู่สมรส รวมไปถึงสวัสดิการและอำนาจในการดูแลบุตร 

เวทีเสวนาวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นี้จะจัดขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งถัดไปคือ 1 มีนาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ครั้งสุดท้ายจะจัดที่รัฐสภา กรุงเทพฯ โดยจะประกาศวันเวลาในภายหลัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

7 ประเทศที่มีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวดีที่สุดในยุโรป

Posted: 22 Feb 2013 07:39 AM PST

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือเรียกสั้นๆ ว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านทางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในภาครัฐ โดยภาคเอกชนและภาคครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าและบริการจากตลาดโดยคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมักจะมีงบประมาณจำนวนมากและถือเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดจนสามารถกำหนดทิศทางของตลาดได้ในระดับหนึ่ง

เนื่องจากการบริโภคของภาครัฐโดยทั่วไปมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะมีอิทธิพลกระตุ้นตลาดให้ปรับฐานการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในประเทศต่างๆ มีขนาดประมาณ 10-30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยมีขนาดประมาณ 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนอกจากจะเป็นการสร้างอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการสีเขียวแล้ว ยังถือเป็นการทำตนเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนในประเทศได้ปฏิบัติตามในด้านจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างสูง หนึ่งในความคิดริเริ่มของสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็คือการให้ภาครัฐเป็นหักหอกในการพัฒนาตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ผ่านทางการจัดซื้อจ้ดจ้างภาครัฐสีเขียว (Green Public Procurement: GPP) โดยสหภาพยุโรปได้นิยาม GPP ไว้ว่าหมายถึงแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐผนวกเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการค้นหาและเลือกผลลัพธ์หรือทางออกที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุดผ่านการพิจารณาวัฏจักรของสินค้าตลอดวัฏจักร

ทั้งนี้ บางประเทศได้ดำเนินงานไปไกลกว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ขยายขอบเขตไปเป็น "การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยั่งยืน" (Sustainable public procurement (SPP)) ซึ่งได้นำปัจจัยทางสังคมเข้ามาพิจารณาด้วย เช่น การค้าที่เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน และเงื่อนไขทางแรงงาน เป็นต้น

ระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวของยุโรปเริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2004 โดยหลังจากใช้ระเบียบไป 2 ปีและมีการประเมินก็พบว่ายังคงมีอุปสรรคที่สำคัญบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพบว่าเอกสารข้อเสนอการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในสหภาพยุโรปเพียง 36% เท่านั้นที่ตั้งเกณฑ์การพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง โดยมีบางประเทศเช่นสวีเดนและเยอรมนีที่มีเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 60% ของเอกสารข้อเสนอการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในยุโรป

จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีผลการดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ดี มี 7 ประเทศ หรือเรียกกันว่ากลุ่ม "Green 7" ประกอบไปด้วยประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลดน์ เยอรมนี เนเธอรแลนด์ สวีเดน และอังกฤษ โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้กลุ่ม Green 7 ประสบความสำเร็จประกอบด้วย

·         การมีการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากฝ่ายการเมืองและการมีแนวทางการปฏิบัติระดับประเทศ (Strong political drivers and national guidelines)

·         การมีโครงการระดับชาติ (national programes) และต่อเนื่องหลายปี

·         ความพร้อมด้านข้อมูลสารสนเทศ (Information sources) ผ่านเว็บไซต์และฉลาก Eco-labels

·         การมีเทคนิคการจัดซื้อจัดจ้างที่มีนวัตกรรม (Innovative procurement techniques) เช่นการคิดตลอดวัฎจักรสินค้า

·         หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างใช้ระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Purchasing organizations apply environmental managements systems (EMS))

ประเทศอังกฤษได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็น 75% ของงบประมาณและตั้งเป้าว่าการก่อสร้างของรัฐบาลกลางและการขนส่งจะเข้าเกณฑ์คาร์บอนสมดุลได้ในที่สุด โดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของอังกฤษครอบคลุมสินค้าเหล่านี้คือ กระดาษ ซองจดหมาย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อุปกรณ์สำนักงาน การก่อสร้าง การขนส่ง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า สิ่งทอ และบริการการจัดสวน ส่วนประเทศไอร์แลนด์ กระทรวงการคลังของไอร์แลนด์มุ่งเน้นให้ "ความยั่งยืน" เป็นส่วนสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยนำเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ์ (MDG) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ในขณะที่ประเทศเบลเยี่ยม เป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยั่งยืนที่ขยายขอบเขตไปพิจารณาด้านสังคม โดยเบลเยี่ยมได้คำนึงถึงการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) โดยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน

ผลการสำรวจต่อคำถามที่ว่า "เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ถูกนำไปพิจารณาในองค์กรของคุณในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่" (Are there environmental criteria taken into account in your organisation when purchasing?)

จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการยุโรปพบว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายประเทศยังไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิผลเกิดจากทัศนคติต่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่ามีราคาแพง การขาดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การขาดการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร การขาดข้อมูลและเครื่องมือ และการขาดการฝึกอบรม อุปสรรคเหล่านี้ความจริงแล้วสามารถแก้ไขได้โดยการนำแนวทางปฏิบัติที่ดีหรือ Good practice จากกลุ่ม "Green 7" เข้าไปประยุกต์ใช้ในประเทศต่างๆ ได้ ซึ่งประเทศไทยสามารถศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาว่ากลุ่ม Green 7 ทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไรและทำอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น อุปสรรคที่สำคัญที่มักเกิดขึ้นในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในกรณี การขาดสินค้าและบริการสีเขียวในตลาด การแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวทำได้โดยการเจรจากับซัพพลายเออร์เป็นกรณีพิเศษ การลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมให้กับผู้ผลิต และการลดภาษีนำเข้าสินค้าสีเขียวที่ต้องการ เป็นต้น

ผลการสำรวจอุปสรรคที่สำคัญต่อการผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว

OECD (2012) ได้ศึกษากลุ่มสินค้าและบริการที่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่ากลุ่มสินค้าและบริการอื่นๆ หรือเรียกว่า กลุ่ม "Easy wins" ซึ่งประเทศต่างๆ ควรเริ่มจากลุ่มสินค้าเหล่านี้ก่อน

 

กลุ่มสินค้าและบริการที่มีความยากง่ายต่างกันในการผลักดันการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว

กลุ่ม Easy Wins ประกอบด้วย

·         สินค้าและบริการทำความสะอาด

·         บริการจัดสวน

·         ยาและการแพทย์

·         พลังงาน

·         ผลิตภัณฑ์เคมี ยาง พลาสติก

·         ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงภัตราคารและการจัดเลี้ยง

·         สถาปัตยกรรม

·         งานก่อสร้าง

·         การกำจัดของเสียและขยะ

·         บริการสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย

·         อุปกรณ์สำนักงาน

·         เฟอร์นิเจอร์

·         กระดาษ การพิมพ์

·         การขนส่งและการสื่อสาร

กล่าวโดยสรุป การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือการนำปัจจัย "ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้า" มาพิจารณาเป็นปัจจัยหลักในการซื้อสินค้าและบริการของภาครัฐ ในระยะยาว นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียวจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่จุดที่มีความล้มเหลวของตลาดสูง หรือกลุ่มสินค้าและบริการที่ผลกระทบทางลบภายนอก (externalities) ยังไม่ได้ถูกนำมาคิดเป็นราคาตลอดผ่านนโยบายต่างๆ ในปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยมีขนาดประมาณร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งถือว่าเป็นอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่มีขนาดใหญ่พอจะเป็นผู้นำในการกระตุ้นให้ตลาดปรับตัวสู่การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางควรดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานต่างๆ  โดยบูรณาการกับแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2555-2559 (โดยกรมควบคุมมลพิษ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย แล้วจึงขยายขอบเขตสู่ "การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ยั่งยืน" (Sustainable public procurement (SPP)) โดยนำปัจจัยทางด้านสังคมมาพิจารณาต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ควรจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยกระตุ้นตลาดสีเขียวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และเพื่อให้ภาคการผลิตของประเทศไทยปรับตัวเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการสีเขียวเพิ่มมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยกัมพูชาจับ 4 คนไทยรุกล้ำดินแดน

Posted: 22 Feb 2013 07:16 AM PST

 

ทหารกัมพูชาจับ 4 คนไทยรุกล้ำดินแดน กองทัพภาคที่ 2 เร่งเจรจาทันควันจนปล่อยตัวทั้งหมด เหตุพลัดหลงและไม่มีเจตนารุกล้ำ

 
22 ก.พ. 56 - เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ ได้รับแจ้งจาก นายสนิท ปานทอง หรือสหายไร้นาม ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายร่วมพลังปกป้องแผ่นดินไทย (อีสาน-ตะวันออก)ว่า ได้ทราบจากพี่น้องที่อยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ว่า เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ผ่านมา ที่หลักเขตแดนที่ 12 ช่องปริง ชายแดนไทยกัมพูชาระหว่าง อ.สังขะ  กับ อ.บัวเชด  ทหารกัมพูชาได้จับกุมตัว ราษฎรไทย จำนวน 4 คน เป็นชาวจ.อุบลราชธานี 1 คน และชาว จ.สุรินทร์ 3 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังตรวจสอบรายชื่อ แต่ขอยืนยันว่าราษฎรไทยทั้ง 4 คนไม่ใช่กลุ่มธรรมยาตรา
 
นายสนิท กล่าวอีกว่า ในวันที่ 23 ก.พ.นี้กลุ่มเครือข่ายฯ กองทัพปลดแอกอีสาน กลุ่มธรรมยาตรา และกลุ่มพันธมิตรอีสานใต้ จะนัดรวมพลัง เพื่อคัดค้านอำนาจศาลโลก ในเวลา 09.00 น.ที่ศาลหลักเมือง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ อยากให้ทหารและรัฐบาลจริงใจในการรักษาอธิปไตยชาติไทย เพราะได้รับการยืนยันว่าราษฎรทั้ง 4 คนอยู่เขตแดนไทย ไม่ได้รุกล้ำแดนแดนประเทศกัมพูชาแม้ก้าวเดียว วอนรัฐบาลเร่งให้การช่วยเหลือด่วน
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อเวลา 16.45 น.ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ยืนยันว่า ได้ประสานงานกับทหารกัมพูชาเพื่อปล่อยตัวคนไทยทั้ง 4 คนแล้ว  เหตุจากพลัดหลงและไม่มีเจตนารุกล้ำไปยังฝั่งกัมพูชา ทั้งนี้เป็นข้อตกลงของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนทั้ง 2 ฝ่ายก่อนหน้านี้ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระว่างประเทศ และไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธรรมยาตราที่จะนัดรวมพลัง เพื่อคัดค้านอำนาจศาลโลก แต่อย่างใด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เผยผลศึกษาปฏิรูปกระบวนการชันสูตรพลิกศพ

Posted: 22 Feb 2013 06:11 AM PST

 

คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เผยผลศึกษาปฏิรูปกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ขยายคุ้มครองสิทธิ-ประโยชน์สาธารณะ ญาติเหยื่อ "คดีฆ่าตัดตอน" ระบุไม่เชื่อมั่นตำรวจ

 
22 ก.พ. 56 – คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจัดการประชุมรับฟังความเห็นเพื่อปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ โดยการการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชันสูตรพลิกศพร่วมให้ข้อมูลด้วย    
 
นายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า ความตายเป็นเรื่องสำคัญมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ การชันสูตรพลิกศพ โดยที่ผ่านมาการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ญาติต้องการรู้ว่าสามี หรือลูกที่เสียชีวิตจากสาเหตุใด ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้จนกว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจะเสร็จสิ้น หรือบางกรณีที่การบันทึกรายงานการรับศพ ซึ่งมีการบันทึกในรายงานว่า เสียชีวิตจากกระสุนปืน ซึ่งเมื่อเจาะลึกพบว่า ไม่ได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนแต่เป็นการเสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด ประกอบกับมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย ก็เห็นได้ชัดว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่มีความแม่นยำเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา
 
"นอกจากนี้ยังปัญหาเรื่องการไต่สวนการตายที่ยังมีปัญหาทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุด้วย พบว่ามีความยุ่งยากไม่สามารถกระทำได้และถูกบิดเบือนไป ซึ่งจะเห็นว่าผู้ที่ไปถึงที่เกิดเหตุคนแรกไม่ใช่เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำให้มีการเคลื่อนย้ายวัตถุ และส่งผลให้พยานหลักฐานสูญหายไปด้วย ดังนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเชิญบุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการฯจะนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความเห็นครั้งนี้ไปประมวลและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป" นายสมชาย กล่าว
 
นางสาวฐิตารีย์ เอื้ออำนวย คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์  กล่าวนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "การปฏิรูปกฎหมายกระบวนการชันสูตรพลิกศพ"ว่า จากการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ พบว่า วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ การตายอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือป.วิอาญามาตรา 148 จะไม่ได้รับการชันสูตรพลิกศพ เพื่อตรวจสอบค้นหาความจริงอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสอบสวนเท่านั้น มิได้กระทำไปทั้งกระบวนการ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะ การสร้างมาตรการป้องกันความเสียหายในอนาคต เป็นต้น และกระทบถึงประสิทธิภาพ มาตรฐาน ความเป็นธรรมและความโปร่งใส  ส่วนมาตรฐานในการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาขาดเอกภาพและการบูรณาการร่วมกัน มีมาตรฐานต่างกัน เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน นอกจากนั้น การเข้าถึงข้อมูลยังอยู่ในวงจำกัด เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวน จึงไม่สามารถนำข้อมูลไปดำเนินการที่เป็นประโยชน์อื่นๆได้
 
 นางสาวฐิตารีย์  กล่าวว่า กฎหมายเกี่ยวกับชันสูตรพลิกศพมีวัตถุประสงค์ที่แคบ ควรขยายกรอบวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ควรปรับปรุงเดิมหรือออกกฎหมายใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและโปร่งใน นอกจากนั้น ยังควรพัฒนาหน่วยงานและบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ และโดยผลักดันให้การชันสูตรพลิกศพได้มาตรฐาน เข้าถึงได้ ตรวจสอบได้ และมีสภาพบังคับ เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินการได้
 
"ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ต้องตระหนักว่า การตายไม่ใช่สิทธิของผู้ตายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม และกระบวนการนี้ เป็นการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการตายเป็นการใช้อำนาจของรัฐรูปแบบหนึ่ง ย่อมก่อให้เกิดการกระทบสิทธิได้ ดังนั้น กฎหมายต้องกำหนดขอบเขตและการตรวจสอบเอาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน บนหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นธรรม และโปร่งใส"นางสาวฐิตารีย์  กล่าว
 
รศ.ณรงค์ ใจหาญ อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า หากพิจารณาผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯมีประเด็นที่จะขยายความบางประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกัน ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายและน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง และกฎหมายปัจจุบันยังไปไม่ถึงจุดนี้ ประการที่สอง ส่วนที่เป็นกฎหมายเดิมที่ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญายังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ในเรื่องที่ว่า กรณีที่ความตายเกิดจากเจ้าพนักงาน ในตัวบทระบุว่า  ต้องอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นส่วนหนึ่งต้องปรับปรุงและลงลึกในรายละเอียด นอกจากนี้บทบาทของเจ้าพนักงาน เรายังไม่แน่ชัดว่ากระบวนการตรงนี้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจนหรือไม่ ฉะนั้นการปรับปรุงตรงนี้จำเป็นต้องมี4 ฝ่ายหรือใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นในการตรวจพิสูจน์
 
"ประเด็นเรื่องญาติของผู้ตายจะทำอะไรได้บ้าง ในชั้นศาลหากเป็นไปได้ให้แจ้งญาติแสดงว่าญาติเข้ามาในลักษณะไม่ถูกบังคับ เท่าที่เข้าใจเพราะบางกรณีเราไม่รู้กระทั่งผู้ตายเป็นใคร หากเรารู้ว่าญาติเป็นใคร กฎหมายปัจจุบันได้เอื้อให้ญาติเข้ามาหรือไม่ คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาจะทำอย่างไรให้เขาสามารถเข้ามาตรวจสอบได้" รศ.ณรงค์ กล่าว
 
นางพิกุล พรหมจันทร์ ผู้ได้รับผลกระทบจากคดีเยาวชนอายุ 17 ปี เสียชีวิตระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ ควบคุมตัวในช่วงสงครามยาเสพติดเมื่อปี 2547 ซึ่งศาลตัดสินให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1-3 กล่าวว่าคดีนี้มีความยุ่งยาก และยืดเยื้อพอสมควร มีการปิดบังอำพรางคดี มีการคุกคาม ข่มขู่พยาน และแม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาประหารชีวิต แต่พบว่ายังไม่มีการสั่งพักราชการ เป็นที่น่ากังวลมากของประชาชนที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างไร และขณะนี้ทุกคดีก็ยุติการสืบสวนสอบสวน และไม่มีบันทึกทางการแพทย์ ดังนั้นจึงอยากเสนอ ให้มีหน่วยงานอื่นนอกจากตำรวจเข้ามาดูแล นอกจากนี้ควรมีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านในการตรวจพิสูจน์ และชันสูตรศพ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงในการเก็บรักษาสภาพศพ
 
ศ.เกียรติคุณ น.พ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง กรณีเด็กอายุประมาณสิบปี มีอาการชักและเสียชีวิตขอให้รับรองสาเหตุการตาย โดยบิดาเด็กไม่ยินยอมให้ตรวจพิสูจน์ศพ จนในที่สุดบิดาเด็กยินยอมจึงพบว่า เด็กกะโหลกร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชักและเสียชีวิต บิดาของเด็กก็มิได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและแพทย์เองก็ไม่มีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ จะเห็นว่า การตรวจหาสาเหตุการตายควรเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องนอกจากญาติผู้ตายควรมีสิทธิร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ(Coroner) จะเป็นแกนหลักในการสอบสวนสาเหตุการตายโดยตรง อีกกรณีหนึ่ง คือ หากเป็นชิ้นส่วนของศพเกิดความยุ่งยากว่า ในการพิจารณาว่าถือว่าเป็นศพหรือไม่ ต้องชันสูตรหรือไม่ เป็นต้น จากตัวอย่างดังกล่าว เห็นว่า กฎหมายเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพยังมีปัญหาและคลุมเครือ อีกทั้ง การรวมกระบวนการชันสูตรพลิกศพเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับการสอบสวน ทำเกิดช่องโหว่มากมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในกระบวนการชันสูตรพลิกศพได้
 
นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำ จ.ปัตตานี กล่าวว่า สถานการณ์ทางภาคใต้จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอยู่ด้วย ประกอบกับลักษณะพื้นที่มีความแตกต่างด้านศาสนาและความเชื่อ ซึ่งเป็นอุปสรรคของเจ้าหน้าที่และประชาชนในการเข้าถึงความยุติธรรม กรณีการวิสามัญฆาตกรรม เห็นว่า ในเบื้องต้นควรพิจารณาว่าเป็นการฆาตกรรมหรือไม่ บางครั้งข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลสองด้านสารวัตรป้องกันและปราบปรามจึงแก้ไขปัญหาโดยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมาย เป็นเพียงการสอบข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายเท่านั้นและไม่แน่ใจว่ามีผลในชั้นศาลหรือไม่ จากประสบการณ์ที่เคยเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบปัญหา คือ ชาวบ้านเองเข้าถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุได้ยาก ทำให้เข้าถึงศพหรือหลักฐานต่างๆได้ยาก และก็มีกรณีที่ชาวบ้านเองขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่เข้าเก็บพยานหลักฐานเพราะไม่ไว้วางใจ เป็นต้น นอกจากนี้ การขอข้อมูลหรือเอกสารจากเจ้าหน้าที่ยังเป็นอุปสรรค แม้จะขอข้อมูลในฐานะที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเองก็ตาม ดังนั้น ควรมีกระบวนการที่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลข้อเท็จจริงได้ในทันทีโดยกลไกกระบวนการเอง ไม่ใช่โดยแรงกดดันของสังคม
 
นายภัคพงษ์ วงศ์คำ นักวิชาการด้านกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสำนักงานได้ร่างแผนยุทธศาสตร์ มีส่วนเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต ซึ่งในทางปฏิบัติ ยังมีปัญหาการแจ้งการตายกรณีที่ผู้ป่วยเข้าขอกลับมาเสียชีวิตที่บ้าน โดยมักระบุสาเหตุการเสียชีวิตในใบมรณะบัตรว่า อุบัติเหตุ ทำให้หลานกรณีต้องเข้าสู่กระบวนการชันสูตรพลิกศพโดยไม่จำเป็นหลายกรณี ประกอบกับการที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ปัญหาลักษณะนี้ก็จะมีมากขึ้นในอนาคต
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มูลนิธิมิตรภาพบำบัดจับมือ สปสช.จัดงานมิตรภาพบำบัดมหกรรมคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

Posted: 22 Feb 2013 05:45 AM PST

 

22 ก.พ. 56 - มูลนิธิมิตรภาพบำบัดร่วมกับ สปสช.จัดงานมิตรภาพบำบัด มหกรรมคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน รำลึกห้าปีที่จากไปของนายแพทย์สงวน วันที่ 27 ก.พ.นี้ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตอาสามิตรภาพบำบัด และมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่นนพ.สงวนประจำปี 55 ยกย่องเชิดชูเกียรติและระลึกถึงคุณงามความดีนพ.สงวน เผยสปสช.สนับสนุนจัดตั้งศูนย์มิตรภาพบำบัดตั้งแต่ปี 49 ปัจจุบันมีกว่า 200 ศูนย์ทั่วประเทศ
 
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)  กล่าวว่า เป้าหมายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยยึดหลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข จิตอาสา มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทุกภาคส่วน ส่งผลให้นานาชาติให้การยอมรับระบบหลักประกันสุขภาพของไทยและขอมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศนั้นๆ
 
"บุคคลที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพสำเร็จและดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง คือนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสปสช.ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญและเป็นผู้นำในการสร้างระบบสุขภาพหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้มีอาสาสมัครมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อนขึ้นในระบบบริการสุขภาพอย่างกว้างขวาง ดังนั้นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจที่จะสืบสานปณิธานมุ่งขยายงานจิตอาสามิตรภาพบำบัดเข้าสู่ชุมชนเต็มพื้นที่ประเทศไทยให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความยั่งยืน จึงได้จัดงาน "มิตรภาพบำบัด มหกรรมคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน รำลึกห้าปีที่จากไปของนายแพทย์สงวน"ขึ้นในวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ ครบรอบ 5 ปีการจากไปของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสปสช." เลขาธิการฯสปสช.กล่าว
 
แพทย์หญิงเรณู ศรีสมิต กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิมิตรภาพบำบัด(มมบ.) กล่าวว่า  ปัจจุบันมูลนิธิฯถือกำเนิดขึ้นมา 5 ปีแล้ว มีศูนย์มิตรภาพบำบัดกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน เจตนารมณ์คุณหมอสงวน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับจิตใจผู้ป่วย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อส่งเสริมดำเนินกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต เอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว สังคม เพื่อส่งเสริม เชิดชูเครือข่ายองค์กร  อาสาสมัคร ที่ทำงานมิตรภาพบำบัด เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสาธารณะ รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับงานมิตรภาพบำบัดและเผยแพร่สู่การรับรู้ในสังคม ส่งเสริมฝึกอบรมให้เกิดผู้มีความรู้ความชำนาญ ในการบริหารจัดการเพื่อสร้างทีมงานมิตรภาพบำบัดบนฐานความรู้ทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนทุนรางวัลแก่ผู้ดำเนินงานมิตรภาพบำบัดดีเด่นหรือบุคคลผู้มีจิตอาสาดีเด่น
 
ทั้งนี้ สปสช.ร่วมกับมูลนิธิมิตรภาพบำบัดจึงได้จัดงานมหกรรมคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน และรำลึกห้าปีที่จากไปของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ขึ้น โดยมีคำขวัญของงานว่า รวมพลังพื้นที่ รวมพลคนจิตอาสา ร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 ที่จะถึงนี้ เวลา 08.00-17.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ รายละเอียดเพิ่มเติม www.nhso.go.th หรือ โทร.02-1414000
 
สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายพิเศษ "จากหลักประกันสุขภาพ สู่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน" โดย นพ.ประเวศ วะสี, ปาฐกถาเกียรติยศ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ครั้งที่ 5 โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิมิตรภาพบำบัด, ทอล์กโชว์ "จิตอาสา มิตรภาพบำบัด คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน" โดย ศุ บุญเลี้ยง และวงเสวนาเล่าสู่กันฟัง... เพื่อหลักประกันสุขภาพที่ โดยนางสาวรสนา โตสิตระกูล และนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นต้น ที่สำคัญภายในงานจะมีการแจกรางวัลเชิดชูเกียรติเครือข่ายจิตอาสาที่ทำงานด้านมิตรภาพบำบัดดีเด่นประจำปี 2555 เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาธารณะต่อไป และระลึกถึงคุณงามความดีของ นายแพทย์สงวน ที่ได้ริเริ่มบุกเบิกงานมิตรภาพบำบัด  
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และสถานการณ์ชายแดนใต้

Posted: 22 Feb 2013 04:50 AM PST

เหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้สาธารณชนและสื่อมวลชนกระแสหลักกลับมาจับจ้องและให้ความสนใจกับสถานการณ์ในพื้นที่อีกครั้ง หลังจาก 9 ปีที่ผ่านมา, แม้จะมีความสูญเสียเกิดขึ้นอย่างมหาศาล [1] แต่ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์การปะทะครั้งใหญ่เกิดขึ้น ก็ดูคล้ายกับว่าสังคมไทยออกจะชาชินกับข่าวร้ายรายวันและไม่ได้ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่าใดนัก

นอกเหนือจากแถลงการณ์และบทวิเคราะห์ต่างๆ แล้ว กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) อาจจะเป็นอีกแง่มุมที่สามารถนำมาใช้เป็นกรอบในการมองปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจุดประสงค์หลักของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศคือเพื่อจำกัดผลกระทบและความเสียหายจากความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ และเพื่อปกป้องบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอีกต่อไป รวมถึงผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ, เชลยสงคราม และพลเรือน [2]

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมีเพื่อบังคับใช้ในสงครามระหว่างรัฐ แต่ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ [3] ระบุตรงกันถึงข้อปฏิบัติของความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธซึ่งเกิดขึ้นภายในอาณาเขตของรัฐภาคี (และอนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ทุกประเทศทั่วโลกให้สัตยาบัน) ทำให้มาตรา 3 นี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Common Article 3 ซึ่งมีใจความว่า

มาตรา 3 ในกรณีที่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธไม่ใช่ความขัดแย้งระดับนานาชาติ หากแต่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตของรัฐภาคี อย่างน้อยที่สุด ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งมีพันธะผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังต่อไปนี้

(1)     บุคคลใดที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง รวมถึงสมาชิกของกองกำลังที่วางอาวุธ และสมาชิกของกองกำลังที่เจ็บป่วย, บาดเจ็บ, ถูกคุมขัง หรือเหตุอื่นๆ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อ เพศ กำเนิดหรือความมั่งมี หรือเกณฑ์อื่นที่ใกล้เคียงกัน

จนถึงที่สุดแล้ว การกระทำต่อไปนี้ถือเป็นการกระทำต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นในเวลาหรือสถานที่ใด ต่อบุคคลที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น

(a) การใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆาตกรรมทุกชนิด การทำให้พิการ การปฏิบัติที่โหดร้าย และการทรมาน
(b) การจับเป็นตัวประกัน
(c) การประทุษร้ายต่อศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการทำให้อับอาย
(d) การลงโทษจำคุกและประหารชีวิตโดยไม่ผ่านการพิพากษาของศาล ซึ่งรับรองอำนาจในการพิจารณาคดีและจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากอารยชน

(2) ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษา

องค์กรด้านมนุษยธรรมที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด เช่นคณะกรรมการกาชาดสากล อาจเสนอความช่วยเหลือให้แก่ฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง

ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งควรพยายามนำมาตราอื่นในอนุสัญญาไปปฏิบัติโดยวิธีสร้างข้อตกลงพิเศษ

การนำอนุสัญญาทั้งหมดไปปฏิบัติจะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง

นอกเหนือจาก Common Article 3 แล้ว กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอีกฉบับที่กล่าวถึงความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติ (Non-International Armed Conflict) โดยตรงคือพิธีสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญาเจนีวา 1949 ว่าด้วยการปกป้องเหยื่อในความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติ (Protocol Additional to the Geneva Conventions of 12 August 1949, and relating to the Protection of Victims of Non-International Armed Conflicts (Protocol II)) แม้ว่ารัฐไทยจะมิได้เข้าเป็นภาคีของพิธีสารฉบับนี้ แต่หลายมาตราในพิธีสารเพิ่มเติมแห่งอนุสัญญาเจนีวา 1949 ว่าด้วยการปกป้องเหยื่อในความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Customary International Humanitarian Law)  ซึ่งกฎหมายจารีตประเพณีฯ นี้รวมถึงข้อห้ามในการโจมตีพลเรือน, ข้อบังคับในการเคารพและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และศาสนา, หน่วยแพทย์และการขนส่ง, ข้อห้ามในการทำให้เกิดความอดอยาก, ข้อห้ามในการโจมตีสาธารณูปโภคที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของพลเรือน, ข้อบังคับในการเคารพการรับรองขั้นพื้นฐานต่อบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือหยุดมีส่วนร่วมในการสู้รบโดยตรง, ข้อบังคับในการค้นหาและเคารพและปกป้องผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วย และผู้ที่เรืออับปางลง, ข้อบังคับในการค้นหาและเก็บศพผู้เสียชีวิต, ข้อบังคับในการปกป้องบุคคลที่สูญเสียอิสรภาพ, ข้อห้ามในการบังคับการย้ายถิ่นฐานพลเรือน และการปกป้องผู้หญิงและเด็กโดยเฉพาะ

การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศถือเป็นอาชญากรรมสงครามตามคำนิยามของมาตรา 8 ในธรรมนูญกรุงโรม 1998 (Rome Statue 1998) [4] โดยเฉพาะมาตรา 8 (c), (e), (d) ที่กล่าวถึงความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติโดยตรง

ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติ (Non-International Armed Conflict)

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อการดำเนินคดีกับผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงในอาณาบริเวณของอดีตประเทศยูโกสลาเวียตั้งแต่ปี 1991 (The International Tribunal for the Prosecution of Persons Responsible for Serious Violations of International Humanitarian Law Committed in the Territory of Former Yugoslavia since 1991 หรือ ICTY) ได้ตีความความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติไว้ว่า "เป็นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่ปรากฏเมื่อใดก็ตามที่มีกองกำลังระหว่างรัฐ หรือการใช้ความรุนแรงในระยะเวลาหนึ่งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกองกำลังที่มีการจัดตั้ง หรือระหว่างกลุ่มเหล่านั้นภายในรัฐ" [5]

คณะกรรมการกาชาดสากลได้ตีความไว้ว่า "ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติคือการเผชิญหน้าด้วยอาวุธที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่งระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งกลุ่ม หรือระหว่างกลุ่มติดอาวุธในอาณาบริเวณของรัฐ (ที่เป็นภาคีของอนุสัญญาเจนีวา) การเผชิญหน้าด้วยอาวุธนั้นต้องไปถึงขั้นต่ำสุดของระดับความตึงเครียด และฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนั้นต้องแสดงให้เห็นถึงขั้นต่ำสุดของการจัดตั้ง" [6]

กล่าวโดยสรุปความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ 1) เกิดขึ้นภายในอาณาบริเวณของรัฐใดรัฐหนึ่ง 2) มีการใช้กำลังอาวุธเป็นระยะเวลาหนึ่งระหว่างกองกำลังของรัฐและกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ หรือระหว่างกลุ่มติดอาวุธเหล่านั้น 3) กลุ่มเหล่านั้นต้องมีลักษณะการจัดตั้งภายในกลุ่ม

หากพิจารณาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะสำคัญครบทั้งสามประการ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธและเกิดขึ้นภายในอาณาบริเวณของรัฐไทย มีการใช้กำลังอาวุธเผชิญหน้ากันในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นระยะเวลาเก้าปีเต็ม และกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีลักษณะการจัดตั้งและการบังคับบัญชาภายในกลุ่ม แม้ว่าจะไม่มีการอ้างความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ แต่การปะทะล่าสุดที่บาเจาะซึ่งฝ่ายขบวนการเสียชีวิตถึง 16 ศพและการเรียกขานกลุ่มผู้เสียชีวิตว่า "ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี" นั้นแสดงให้เห็นลักษณะการเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีการจัดตั้ง (ซึ่งลักษณะสองข้อหลังนี้ทำให้การลุกฮือหรือความวุ่นวายทางการเมืองโดยทั่วไปไม่ถือว่าเป็น Non-International Armed Conflict เพราะไม่มีทั้งองค์ประกอบของระยะเวลาและการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ แม้จะมีความรุนแรงและการใช้อาวุธเกิดขึ้นก็ตาม โดยอาจจะมีข้อยกเว้นในกรณีที่ความวุ่นวายทางการเมืองได้ยกระดับขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองเช่นกรณีของซีเรีย แต่ปกติแล้วการตีความความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติจำเป็นต้องมีสามองค์ประกอบสำคัญ ต่างจากที่ บทความชิ้นนี้ กล่าวอ้างอย่างสิ้นเชิง)

ด้วยองค์ประกอบของการตีความตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจัดอยู่ในประเภทของความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธที่มิใช่ระดับนานาชาติ (Non-International Armed Conflict)

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศสำคัญอย่างไรในความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ท่ามกลางควันระเบิดและเสียงปืนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลาเก้าปีที่ผ่านมา หากพิจารณาตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศจะพบว่าทั้งฝ่ายกองกำลังของรัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบได้ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหลายประการ เป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผชิญหน้าตกเป็นเหยื่อความขัดแย้งซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรจะเกิดขึ้นในความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ

การละเมิด Common Article 3 ในอนุสัญญาเจนีวาของฝ่ายความมั่นคงและรัฐไทย (เช่นกรณีตากใบที่มีการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณและมีการทรมานผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบโดยตรง) ทำให้เกิดความคับแค้นและปฏิกิริยาโต้กลับจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจนกลายเป็นวงจรความรุนแรงที่ไม่มีวันสิ้นสุด [7]  รวมถึงการขาดการบังคับใช้กฎการใช้กำลัง (Rules of Engagement) จนเป็นที่มาของการละเมิดทั้งกฎหมายมนุษยธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยกองกำลังของรัฐ

ในขณะเดียวกัน การละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ถือเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีพลเรือน, บุคลากรทางศาสนา หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ฝ่ายความมั่นคงและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง การกระทำในลักษณะนี้ถือเป็นการลดทอนความชอบธรรมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในการเคลื่อนไหวเพื่อบรรลุเป้าหมายของขบวนการ แม้หลายฝ่าย (รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง) จะอ้างว่ามีเพียง 20% ของความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดจากปฏิบัติการของขบวนการ แต่เมื่อพูดถึงชีวิตและความสูญเสียของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพียงแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะมากเกินไป

ข้อเสนอนี้มิใช่ข้อเสนอที่ต้องการให้องค์กรนานาชาติเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ความขัดแย้งภายใน เพราะถึงที่สุดแล้ว ปัญหาความขัดแย้งหรือแม้แต่การเผชิญหน้าด้วยกำลังอาวุธจำเป็นต้องแก้ด้วยการเจรจา รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ข้อเสนอนี้เป็นเพียงแต่ข้อเสนอตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยพันธะกรณีและหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีข้อยกเว้น เพื่อจำกัดผลกระทบของการเผชิญหน้าและการใช้อาวุธ

รัฐไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาเจนีวาจำเป็นที่จะต้องแสดงความจริงใจในการปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้เรื่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในทุกระดับ รวมทั้งการบังคับใช้กฎการใช้กำลัง (Rule of Engagement) อย่างเคร่งครัด แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ทำให้เขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ครอบคลุมแม้ในกรณีของอาชญากรรมสงครามตามความหมายของมาตรา 8 ในธรรมนูญกรุง แต่ในฐานะที่รัฐไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมนานาชาติ พันธะกรณีตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากต้องการให้ประชาคมโลกมองเห็นรัฐไทยในฐานะรัฐอารยะที่เคารพกฎหมายมนุษยธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ในส่วนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีเช่นกัน ไม่ว่าปลายทางของการเคลื่อนไหวจะอยู่ที่ใด แต่ระหว่างทางนั้น วิธีการย่อมสำคัญไม่แพ้เป้าหมาย อิสรภาพ (ในความหมายกว้าง อาจจะเป็นเอกราชหรือเขตปกครองตนเองหรือรูปแบบการปกครองใดก็ตามที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐไทยในอนาคต) ที่อาจจะต้องแลกมาด้วยเลือดและน้ำตาของผู้บริสุทธิ์จำนวนมากย่อมไม่ใช่อิสรภาพที่ชาวปาตานีจะสามารถบอกเล่าแก่ลูกหลานได้ด้วยความภาคภูมิใจ

จริงอยู่ว่าในสถานการณ์การเผชิญหน้าด้วยอาวุธ, ความสูญเสียเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่อย่างน้อยที่สุด, ความสูญเสียนั้นควรจำกัดวงอยู่แค่ผู้ที่จับอาวุธเท่านั้น บาดแผลของสงครามไม่ควรลุกลามออกไปกัดกินผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากทั้งสองฝ่ายยังยืนยันที่จะไม่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศซึ่งเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของการจำกัดวงความขัดแย้ง สันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงเป็นได้แค่ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง

  




[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361089198&grpid&catid=19&subcatid=1903

[2] http://www.icrc.org/eng/war-and-law/overview-war-and-law.htm

[3] http://www.icrc.org/eng/war-and-law/treaties-customary-law/geneva-conventions/overview-geneva-conventions.htm

[4] http://www.icrc.org/ihl.nsf/FULL/585

[6] http://www.icrc.org/eng/resources/documents/article/other/armed-conflict-article-170308.htm

[7] http://www.prachatai3.info/journal/2013/02/45315

 

จากบทความเดิมชื่อ : ว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) และสถานการณ์ชายแดนใต้

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ผมไม่อินกับเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

Posted: 22 Feb 2013 04:22 AM PST

ในรายการเสวนาเรื่อง "การเมือง ความยุติธรรม และ สถาบันกษัตริย์" ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครตอนหนึ่งว่า เขาจะไม่เลือกคุณพงศพัศ พงษ์เจริญ ตราบเท่าที่พรรคเพื่อไทย ยังไม่อาจสัญญาได้ด้วยซ้ำว่า จะช่วยปล่อยพี่น้องประชาชนเสื้อแดงออกจากคุก โดยความหมายของสมศักดิ์ก็คือ พรรคเพื่อไทยไม่อาจจะเรียกร้องการสนับสนุนจากประชาชนเพียงข้างเดียว โดยไม่ช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยที่ประชาชนเลือกไปบริหารประเทศแล้ว เอาแต่ประนีประนอมกับชนชั้นนำแบบจารีตประเพณี โดยวางเฉยต่อประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิถอนการสนับสนุนได้
 
ในกรณีนี้ ผมเองก็เห็นพ้องกับคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในประเด็นที่ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยช่วยเหลือพี่น้องคนเสื้อแดงที่ยังคงติดคุกน้อยเกินไป ยอมจำนนต่อศาลและผ่อนปรนต่อฝ่ายอำมาตย์มากเกินไป ถ้าหากมีสิทธิที่จะเลือก ผมก็คงจะเลือกคุณโสภณ พรโชคชัย เบอร์ 4 แทนที่จะเลือกคุณพงศทัต แต่น่าเสียดายว่าผมไม่มีสิทธิในการเลือก เพราะทะเบียนบ้านอยู่สามพราน นครปฐม เพื่อนผมบางคนไม่มีสิทธิเลือกเพราะทะเบียนบ้านอยู่นนทบุรีบ้าง ปากน้ำบ้าง พวกเราเลยกลายเป็นพวกไม่อินกับการเลือกตั้ง กทม. และอิจฉาชาวกรุงเทพฯที่มีโอกาสสนุกอย่างนี้
 
ที่ชวนแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้ เพราะสถานการณ์การเลือกตั้งในกทม.กำลังเข้มข้น ก่อนการลงคะแนนในวันที่ 3 มีนาคม โดยคุ่แข่งขันหลักคือ พล.ต.อ.พงศพัศ เบอร์ 9 จากพรรคเพื่อไทย กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เบอร์ 16 จากพรรคประชาธิปัตย์ พวกปีกขวาจัด เช่น ฝ่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ พยายามจะผลักดันให้เลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวศ เบอร์ 11 โดยหวังกันว่า ถ้าพลังเงียบออกมาลงคะแนนเสียงกันมาก พลังเหล่านี้จะปฏิเสธพรรคการเมือง และหันมาเลือก คุณเสรีพิศุทธิ์ ซื่งอ้างกันมีพร้อมทั้งความซื่อสัตย์ และกล้าทำประเภท"จัดหนักได้ทุกเรื่อง" แต่น่าเสียดายว่า พลังเงียบในกรุงเทพฯนั้นเป็นพลังเงียบตลอดกาล ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ต่อการเปลี่ยนแปลง โอกาสที่คุณเสรีพิศุทธิ์ หรือผู้สมัครคนอื่นจะชนะการเลือกตั้งจึงแทบจะไม่มีเลย
 
มาถึงขณะนี้ น่าจะเป็นที่ชัดเจนว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีความนิยมที่นำหน้า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ทั้งนี้เนื่องจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ได้โอกาสบริหารงานมาแล้ว 4 ปี แต่ก็เป็นที่ประเมินกันว่า ไม่มีผลงานใดที่น่าประทับใจ และยังมีข้อผิดพลาดมากมายที่เห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาน้ำท่วมฝั่งธนบุรี เรื่องสนามฟุตซอล เรื่องอุโมงค์ยักษ์ และเรื่องอื่น ขณะที่ คุณพงศพัศมีความสดใหม่ ไร้ข้ออ่อน ภาพลักษณ์ดี ประนีประนอม จึงเป็นตัวเลือกอันมีข้อเด่นอย่างมาก
 
ดังนั้น ปัญหาจึงเกิดแก่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะหาเสียงโดยใช้ผลงานอันโดดเด่นก็ไม่มี นโยบายใหม่ที่จับใจประชาชนก็ไม่มี ตัวบุคคลก็น่าประทับใจน้อยกว่า พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มผู้สนับสนุนจึงต้องออกมาสร้างคะแนนนิยมด้วยเหตุผลแปลก เช่นที่ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร อธิบายว่า การเลือกตั้งกทม.เป็นสงครามชิงเมืองไทย ถ้าไม่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ จะเสียกรุงเทพมหานครแก่ข้าศึก ส่วนชัย ราชวัตร ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า การเลือกตั้ง กทม.เป็นสงครามชิงประเทศ ต้องเลือก เบอร์ 16 เพราะเกลียด"พรรคเผาไทย"เป็นพิเศษ คำของ ชัย ราชวัตร คือ "เป็นตายร้ายดียังไง ต้องต่อต้านไม่ให้พวกมึงมายึดกรุงเทพฯของเรา" และอาจเป็นด้วยเหตุผลลักษณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์จึงหาเสียงโค้งสุดท้าย โดยนำเอาเรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง"มาเป็นประเด็น หวังให้ประชาชนชาว กทม.รังเกียจพรรคเพื่อไทย และทำลายคะแนนเสียงของฝ่าย พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งจะทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์มีโอกาสมากขึ้น
 
คงต้องอธิบายก่อนว่า การสร้างกระแสต่อต้านพรรคเพื่อไทยในลักษณะเช่นนี้ล้วนไม่ถูกต้อง เพราะพรรคเพื่อไทยก็เป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ส่งผู้สมัครให้ประชาชนเลือกตัดสินใจ ไม่ใช่ข้าศึกที่ไหน ไม่มีใครไปชิงประเทศไทยจากคุณวสิษฐ์ เดชกุญชร เรื่อง"เผาบ้านเผาเมือง"ก็เป็นวาทกรรมลวง ในกรณีของการเผาเซ็นทรัลเวิร์ล ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่จะเชื่อมโยงได้ว่า ประชาชนเสื้อแดงเป็นคนทำ ยิ่งกว่านั้น กระแสการเผาสถานที่ราชการก็เป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้การเข่นฆ่าสังหารประชาชนของฝ่ายรัฐบาลประชาธิปัตย์ ประเด็นในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ควรนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง กทม. และยิ่งเป็นการชี้ถึงความน่าสงสารและจนแต้มของฝ่ายประชาธิปัตย์
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมยังยืนยันเช่นเดิมว่า ไม่สามารถชื่นชมการเลือกตั้ง กทม.ได้ เพราะยังหาเหตุผลอันชอบธรรมมาอธิบายไม่ได้ว่า เหตุใดประชาชนกรุงเทพมหานครจึงเหมาะสมที่จะเป็นประชาชนกลุ่มเดียว ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการของตน ทำไมชาวนครปฐม นนทบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี หนองคาย ปัตตานี และเมืองอื่นอีก 76 จังหวัด จึงไม่สามารถมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าการจังหวัดของตนบ้าง  สมมติว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ชนะเลือกตั้งใน กทม. ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่แย่ แต่ก็ยังดีที่ประชาชนมีสิทธิได้เลือก ขณะที่จังหวัดอื่นอยู่ใต้ผู้ว่าการที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง
 
การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปบริหารท้องถิ่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลงานการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ตามแบบการปกครองของบริติชอินเดีย ดังนั้น จึงตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปเป็นผู้ว่าการมณฑล และจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสะดวกแก่การควบคุม ต่อมา เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475รัฐบาลใหม่พยายามดำเนินการให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตั้งให้มีเทศบาล และปรับการบริหารมณฑลและจังหวัดแบบเดิม มาเป็นการบริหารส่วนภูมิภาค แต่เมื่อเวลาผ่านไป การบริหารส่วนภูมิภาคเข้าครอบงำการบริหารท้องถิ่น อำนาจการบริหารจึงกลายเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะในสมัยเผด็จการทหารครองเมือง
 
จนระบอบเผด็จการพังทลายเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ชาวกรุงเทพมหานครจึงได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งแรก โดย ธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2518 อย่างไรก็ตาม เมื่อเผด็จการกลับคืนมา สิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ก็ถูกยึดไปอีกครั้ง โดยรัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่า กทม. จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2528 การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ได้ถูกรื้อฟื้นมาอีกครั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งไม่สังกัดพรรค ชนะเลือกตั้งครั้งนั้น ด้วยการหาเสียงแบบสมถะ หลังจากนั้น ประชาชนชาว กทม.ก็ได้สิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าเสมอมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 โดยที่จังหวัดอื่นไม่ได้รับสิทธิเช่นนี้ ก่อนหน้านี้ เคยมีพรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เคยหาเสียงด้วยนโยบายที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการทั่วประเทศ แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากมหาดไทยและกำนันผู้ใหญ่บ้าน จนไม่อาจดำเนินการได้ และที่สำคัญคือ พรรคไทยรักไทย ไม่เคยมีนโยบายลักษณะนี้เลย เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2544 กลับคิดที่จะใช้นโยบายผู้ว่าซีอีโอ กับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยไม่สนใจว่า จะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ การผลักดันเรื่องนี้ในฝ่ายพรรคเพื่อไทยจึงไม่เคยเกิดขึ้น
 
เมื่อมาถึงขณะนี้ จึงน่าจะเป็นเวลาที่มี่การทบทวนว่า ถึงเวลาแล้วยังที่ประเทศไทย จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าการทุกจังหวัด ประชาชนต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสสนุกเช่นคนกรุงเทพบ้าง ที่จะลุ้นว่า เขาจะได้ผู้สมัครคนไหนพรรคใด มาบริหารเมืองของเขา ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการในการกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ในปัจจุบัน การบริหารท้องถิ่น ก็มีหลายรูปแบบ ทั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด( อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) จึงควรที่จะจัดการให้เป็นระบบ โดยการยกเลิกการบริหารส่วนภูมิภาคเสีย แล้วยกฐานะการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยให้ประชาชนเลือกผู้ว่าการจังหวัดของเขาโดยตรง ประชาชนชาวจังหวัดอื่นจะได้เลิกมองชาวกรุงเทพฯด้วยความอิจฉา
 
ด้วยการดำเนินการเช่นนี้ ประเทศไทยก็จะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างทั่วถึง โดยไม่ต้องไปสู้กับข้าศึกที่ไหน
 
 
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
 
ที่มา: โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 400 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2556
 
 
หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ "ผมไม่อินกับเลือกตั้ง กทม."
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เสรีภาพ ประชาธิปไตยกับสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

Posted: 21 Feb 2013 07:11 PM PST

21 ก.พ.56 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปาฐกถาในหัวข้อ "เสรีภาพ ประชาธิปไตยกับสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน" ในงาน "นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ" ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ สุขุมวิท 55 ซึ่งจัดโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย,กลุ่มกวีราษฎร์, กลุ่ม Real Frame, กลุ่ม FilmVirus, เครือข่ายศิลปินอิสระ เครือข่ายเดือนตุลา, เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ระหว่างวันที่ 21-28 ก.พ. ตลอดทั้งงานมีกิจกรรมแสดงภาพวาด ภาพถ่าย บทกวี ศิลปะจัดวาง ภาพยนตร์ ละคร ดนตรี อ่านบทกวี ปาฐกถา ฉายภาพยนตร์

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานอินเดียกว่า 100 ล้านคนหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่

Posted: 21 Feb 2013 02:47 PM PST

11 องค์กรสหภาพแรงงานระดมคนกว่า 100 ล้านคน เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาอาหารที่พุ่งสูง - เพิ่มค่าแรง-สัญญาจ้างที่เป็นธรรมและปรับปรุงสภาพการทำงาน ต้านนโยบายการเปิดเสรี

 
 
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 56 ที่ผ่านมากลุ่มสหภาพแรงงานอินเดีย 11 องค์กรประกอบไปด้วย BMS, INTUC, AITUC, HMS, CITU, AIUTUC, AICCTU, UTUC, TUCC, SEWA, LPF และกลุ่มสหภาพแรงงานอิสระ ได้หยุดงานงานทั่วประเทศเป็นเวลาสองวันเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ก.พ. - 21 ก.พ. โดยได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อรัฐบาล อาทิ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแก่แรงงานทุกประเภท เป็นเดือนละ 10,000 รูปี (ประมาณ 5,550 บาท) ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ, จัดให้มีสวัสดิการสังคมแก่แรงงานทุกคน, เรียกร้องให้มีการออกกฎในการทำสัญญาจ้างที่เป็นธรรมและปรับปรุงสภาพการทำงาน และอื่นๆ 
 
ทั้งนี้มีรายงานแจ้งว่ามีแรงงานอินเดียข้าร่วมการหยุดงานในวันแรก (20 ก.พ.) ถึง 100 ล้านคน โดยการประท้วงเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐสภาอินเดียจะเริ่มการพิจารณางบประมาณ และรัฐบาลจะเสนองบรายจ่ายประจำปีงบประมาณประจำปี  2013-2014 ในสัปดาห์หน้า โดยมีข่าวระบุก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลจะปรับลดเป้าหมายงบประมาณรายจ่ายภาคสาธารณะลงถึง 10% รวมถึงมีนโยบายการเปิดเสรีภาคการค้าปลีก ธนาคาร และการบิน แก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
 
ตัวแทนขององค์กรสหภาพแรงงานอินเดียระบุว่า แรงงานเหล่านี้ถูกเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงนโยบายต่อต้านแรงงานของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เกิดความรุนแรงปะทุขึ้นในพื้นที่บางแห่ง ขณะที่กลุ่มคนงานซึ่งไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมาก พยายามกีดขวางรถยนต์ และมีสมาชิกสหภาพคนหนึ่งเสียชีวิตในเมืองทางตอนเหนือของประเทศ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น