โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มอบทุนนักเรียนแล้ว 114 ราย 4 จังหวัด หลังศึกชกมวย 'หนมโก๋ฯ' - 'KEAKZA'

Posted: 26 Feb 2013 12:53 PM PST

หลังการชกมวยระหว่าง 'หนมโก๋ฯ' - 'KEAKZA' นั้น ล่าสุดมีการตระเวนมอบทุนการศึกษาที่ ร.ร.บ้านทุ่งกู่ด้าย จ.ลำปาง โรงเรียนแห่งแรกที่ 'หนมโก๋ฯ' เริ่มชีวิตการเป็นครู และช่วงสุดสัปดาห์นี้มีการมอบทุนที่ ร.ร.สามัคคีวิทยา อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี - ร.ร.บ้านคลองสำราญ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย และ ร.ร.คลองแขยงวิทยา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร โดยมีนักเรียนได้รับทุนแล้ว 114 ราย

​การมอบทุนการศึกษา​ให้กับนักเรียน 27 ทุน ที่โรงเรียนบ้านทุ่งกู่ด้าย อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 18 ก.พ. (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อโดยคุณหนมโก๋กินแล้วคอแห้ง/facebook.com/p.sridej)

ตามที่เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวการชกมวยสากลสมัครเล่นระหว่างผู้ใช้นามว่า "KEAKZA" และ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ที่สนามมวยของ อบต .คลองสาม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยการชกมวยดังกล่าว เกิดจากกรณีที่ "KEAKZA" ได้โพสต์แสดงความเห็นใน กระดานข่าวสนทนาพันทิพ ทำนองว่าถ้าเจอกรณีไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกล่าวจะเข้าไปกระโดดถีบ ทำให้ผู้ใช้นาม "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" เข้ามาเสนอขอชกมวยด้วยดังกล่าว และหลังการชกมวยทั้งคู่ได้จับมือกันและ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ได้ประกาศว่าเงินที่ได้จากการสมทบทุนค่าเดินทางมาชกมวยนั้น หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำไปเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนใน จ.ปทุมธานี จ.ลำปาง จ.กำแพงเพชร และ จ.สุโขทัย ขณะที่ "KEAKZA" ได้สมทบทุนให้อีก 2,000 บาทสำหรับทุนการศึกษาดังกล่าวด้วยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ผู้ใช้นาม "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ซึ่งมีอาชีพเป็นครูสอน ในโรงเรียน แห่งหนึ่งที่ จ.ลำปาง ได้โพสต์ภาพการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งกู่ด้าย ต.ปงแสนทอง อ .เมือง จ.ลำปาง ให้กับนักเรียนเป็นจำนวน 27 ทุน ทุนละ 1,000 บาท รวม 27,000 บาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

การมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่โรงเรียนสามัคคีวิทยา ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อภาพโดยลุงจุก)

ล่าสุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตระเวนมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่โรงเรียนอีก 3 แห่ง ใน 3 จังหวัด โดยในวันที่ 22 ก.พ. "ลุงจุก" ซึ่งรับเป็นโปรโมเตอร์จำเป็นจากคู่มวยดังกล่าว ก็มอบทุนการศึกษาให้ นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยา ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 24 ทุน โดยแบ่งเป็น มอบให้ทุนละ 1,000 บาท รวม 22 ราย มอบให้ทุนละ 500 บาท จำนวน 1 ทุน และ 400 บาท จำนวน 1 ทุน รวมเป็นเงิน 22,900 บาท โดยลุงจุกโพสต์สเตตัสในเฟซบุคว่า "ที่ต้องเปลี่ยนจากที่เคยบอกไว้ว่าจะมอบให้ทุนละ 1,100 บาทนั้น เนื่องจากมี นร.ยากจนจำนวนมากกว่าทุน จึงลดเงินลงทุนละ 100 เพิ่มได้อีก 2 ทุน แต่ยังมีเด็กที่ตกสำรวจอีก 2 คน พอดีผมพกเงินสดไปแค่ 900 จึงเพิ่มให้อีก 2 ทุนดังกล่าว"

 

คณะของ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" และ "ลุงจุก" มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองสำราญ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 23 ก.พ. [ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อภาพจากโดยลุงจุก]

คณะของ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" และ "ลุงจุก" มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองสำราญ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 23 ก.พ. [ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อโดยคุณหนมโก๋กินแล้วคอแห้ง/facebook.com/p.sridej]

คณะของ "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" และ "ลุงจุก" มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนคลองแขยงวิทยา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 24 ก.พ. [ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อภาพโดยลุงจุก]

ต่อมาในวันที่ 23 ก.พ. ผู้ใช้นาม "ลุงจุก" "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" และคณะได้เดินทางไปมอบทุนการศึกษาให้นักเรียน โรงเรียนบ้านคลองสำราญ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย จำนวน 29 ทุน ทุนละ 1,000 บาท รวม 29,000 บาท และช่วยซื้อเครื่องตัดหญ้าให้กับโรงเรียนอีก 5,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 34,000 บาท

และในวันที่ 24 ก.พ. คณะดังกล่าวได้เดินทางไปมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน โรงเรียนคลองแขยงวิทยา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร จำนวน 34 ทุน แบ่งเป็นนักเรียนอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 22 ทุน ทุนละ 1,000 บาท และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 12 ทุน ทุนละ 2,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 44,000 บาท

โดยการตระเวนมอบทุนการศึกษาทั้ง 4 จังหวัดดังกล่าว มีนักเรียนได้รับทุนการศึกษาทั้งสิ้น 114 ราย เป็นเงิน 127,900 บาท โดย "หนมโก๋กินแล้วคอแห้ง" ยังได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุคของตนสรุปการมอบทุนการศึกษาดังกล่าวและโพสต์ในตอนท้ายว่า "ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันจนกิจกรรมนี้เสร็จสิ้นไปด้วยดี ขอบคุณครับ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศราวุฒิ ประทุมราช

Posted: 26 Feb 2013 12:37 PM PST

"ถือว่าล้มเหลวก็คงจะได้ เพราะว่าในบางเรื่องไม่มีแอคชั่น ไม่มีความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อย่างความเห็นเรื่องมาตรา 112 กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องพูดออกมาให้ชัดเจนว่ามองอย่างไร แต่เนื่องจากตัวเองเกร็ง กลัวว่าจะไปขัดกับความเชื่อความจงรักภักดีของตัวเองก็เลยไม่กล้าออกมาเป็นคณะที่จะฟันธง"

แสดงความเห็นต่อการทำหน้าที่ด้านสิททธิทางการเมือง ของกสม.

เลิกจ้างคนงานลินฟ้อกซ์เพิ่ม 50 คน หลังนัดหยุดงาน นายจ้างปัดร่วมโต๊ะเจรจา

Posted: 26 Feb 2013 10:26 AM PST

นายจ้างลินฟ้อกซ์ปัดเจรจาลูกจ้าง ระบุผู้แทนเจรจาถูกเลิกจ้างแล้วไม่มีข้อผูกพัน หลังคนงานถูกเลิกจ้างเพิ่ม 50 คน เหตุนัดหยุดงานร้องบริษัทรับแกนนำสหภาพ 2 คนกลับเข้าทำงาน



ที่ชุมนุมหน้าศูนย์กระจายสินค้า เทสโก้ โลตัส สาขาลำลูกกา

สืบเนื่องจากการนัดหยุดงานและชุมนุมต่อเนื่องของสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทย ในส่วนที่เป็นคนงาน บริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัสไปยังโลตัสฯ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา บริเวณหน้าศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาลำลูกกา จ.ปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้บริษัท ลินฟ้อกซ์ฯ รับแกนนำสหภาพแรงงาน 2 คนที่ถูกเลิกจ้างด้วยข้อหาลักทรัพย์และทุจริตต่อหน้าที่ ในช่วงเจรจาปรับสภาพการจ้างงานระหว่างสหภาพฯ กับบริษัท กลับเข้าทำงาน โดยต่อมา เมื่อวันที่ 21 ก.พ. บริษัทได้เลิกจ้างคนงานที่ร่วมชุมนุมประท้วงอีก 50 คนด้วยข้อหาปฏิเสธการทำงานและร่วมชุมนุมเป็นการนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ถือเป็นการจงใจทำให้บริษัทซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย

หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง

ล่าสุด (22 ก.พ.56) ศรีไพร นนทรี ฝ่ายการศึกษาและประชาสัมพันธ์กลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า บริษัทแจ้งไปยังสำนักงานแรงงานจังหวัดปทุมธานี ยกเลิกนัดหมายการเจรจา วันที่ 22 ก.พ. โดยให้เหตุผลว่า ได้ประกาศเลิกจ้างผู้แทนการเจรจาทั้งหมดแล้ว จึงไม่ต้องคุยกันอีก

ต่อกรณีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพ 2 คนแรก ศรีไพร มองว่า นายจ้างเลิกจ้าง โดยอ้างว่า ลูกจ้างไปหยุดรถใน "พื้นที่สีแดง" ซึ่งเป็นจุดค้าขายน้ำมันเถื่อนโดยอ้างอิงจากแผนที่จีพีเอส ซึ่งตนเองมองว่า การที่ลูกจ้างไปหยุดรถบริเวณนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามีการซื้อขายหรือไม่ และลูกจ้างก็ไม่รู้ว่าตรงไหนบ้างที่ถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากลูกจ้างผิดจริง ก็สามารถแจ้งความจับได้ แต่นายจ้างก็ไม่ได้แจ้งความเพียงแต่เลิกจ้างเท่านั้น

ศรีไพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนงานลินฟ้อกซ์ประสบปัญหาสภาพการทำงาน ทั้งเรื่องค่าแรงและสวัสดิการที่ต่ำเกินไป ความปลอดภัยในการทำงานต่ำ จนเป็นเหตุให้คนงานต้องเคลื่อนไหวจัดตั้งสหภาพแรงงานและยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงสภาพการจ้างงาน

สำหรับการเคลื่อนไหวของคนงานกลุ่มนี้ ศรีไพร เล่าว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี  45 พนักงานบริษัทลินฟ้อกซ์เคยรวมกลุ่มก่อตั้งสหภาพแรงงานลินฟ้อกซ์ ประเทศไทย แต่ต่อมาบริษัทขอให้ยุบองค์กร ทำให้สหภาพแรงงานต้องยอมยุติลง หลังจากนั้นมีการก่อตั้งขึ้นใหม่เป็นสหภาพแรงงานขนส่งสินค้า ในเดือน ม.ค.46 จากนั้น คณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้งคณะถูกเลิกจ้าง มีการต่อสู้ในศาลแรงงานให้รับกลับเข้าทำงาน ซึ่งที่สุดมีการรับกลับ แต่ไม่จัดงานให้ ทำให้พนักงานขาดรายได้หลัก รวมถึงมีการสั่งพักงานเรื่อยมา  จนประธานสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้างอีกครั้งในเดือน ม.ค. 48 ทำให้สหภาพแรงงานตกอยู่ในสภาพระส่ำระสาย และต่อมา สมาชิกสหภาพแรงงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทลินฟ้อกซ์ จึงไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานขนส่งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรม เมื่อปี 55

บรรยากาศการชุมนุม :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซีรีส์ทบทวน 15 ปีองค์กรอิสระ2 ศราวุฒิ ประทุมราช: กสม. ล้มเหลวในการปกป้องสิทธิทางการเมือง

Posted: 26 Feb 2013 10:06 AM PST

นับแต่มีการต่อต้านรัฐบาลทักษิณเรื่อยมาจนถึงการรัฐประหาร กรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยถูกตั้งคำถามไม่น้อย ถึงบทบาทหน้าที่ในการปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประชาไทสัมภาษณ์ ศราวุฒิ ประทุมราช ซึ่งวิพากษ์การทำงานของกรรมการสิทธิรวมถึงที่มาซึ่งเขาเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและต้องแก้ไข

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนส่วนหนึ่ง ในช่วงนั้นศราวุฒิ ประทุมราช ก็อยู่ในเครือข่ายที่ร่วมผลักดันโครงสร้างกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น และยังได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการฯ ทั้งชุดแรกและชุดปัจจุบัน ในฐานะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง

แน่นอนว่า ในห้วงเวลานับแต่มีการต่อต้านรัฐบาลทักษิณเรื่อยมาจนถึงการรัฐประหาร กรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยนั้นถูกตั้งคำถามไม่น้อย ถึงบทบาทหน้าที่ในการปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมา ประชาไทได้สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการสิทธิทั้งชุดแรก คือ จรัล ดิษฐาอภิชัย และกรรมการสิทธิชุดปัจจุบันคือ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เพื่อทบทวนประสบการณ์ และเงื่อนไขข้อจำกัดของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการสิทธิมาแล้ว

เพื่อสะท้อนเสียงจากคนทำงานภาคประชาสังคม ที่ได้รู้เห็นและมีส่วนร่วมในการทำงานกับกรรมการสิทธิ ครั้งนี้ประชาไทคุยกับศราวุฒิในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามมาตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ เขาได้กรรมการสิทธิที่เขาคาดหวังหรือไม่ และมองการทำงานของกรรมการสิทธิอย่างไร

ศราวุฒิ ประทุมราช ผู้อำนวยการสถาบันหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน 

และอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม.

 

ประชาไท: ทำไมตอนนั้น (รณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ 2540) จึงมีแนวคิดเรื่องการก่อตั้งกรรมการสิทธิ

ศราวุฒิ: ช่วงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมืองไทยขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเกิดการละเมิดสิทธิโดยรัฐหรือโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระบวนการที่ใช้อยู่ตามปกติก็มีสองส่วนคือ กลไกของฝ่ายบริหารเอง เช่น ถ้าตำรวจละเมิดก็ไปร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรืออย่างมากก็ไปฟ้องศาล แต่ถามว่ากระบวนการพวกนี้ใช้เวลาไหม- ใช้เวลานาน

อีกกลไกหนึ่งก็คือไปที่สภาผู้แทน กรรมาธิการสามัญ ซึ่งก็ไม่มีอำนาจอะไร ทำได้เพียงเรียกคนนั้นคนนี้มาชี้แจง แล้วก็ทำรายงานต่อสภา สภาก็ทำการตรวจสอบกับรัฐบาลในการอภิปรายหรือในการตั้งกระทู้ถาม กระบวนการพวกนี้ไม่ได้ให้คุณให้โทษได้โดยตรง อาจจะทำให้เสียหน้าแต่ก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ แล้วก็ถ้าจะฟ้องศาลคุณก็ต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร ต้องมีทนายความ จะไปพึ่งสภาทนายความก็ได้ แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ทำคดีได้ยาก ก็เลยมีการศึกษาดูว่าในต่างประเทศเขามีกลไกอะไรที่พอจะเป็นหน่วยงานที่อิสระไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร ไม่ขึ้นกับศาล ทำหน้าที่กึ่งตุลาการ ก็ได้เจอหลักการเกี่ยวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เกิดขึ้นจากหลักการปารีส ระบุเอาไว้ว่ากลไกหรือองค์กรสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติที่รัฐต้องสนับสนุนให้มีขึ้นมา และทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ และเอกชนด้วย

ก็มีการผลักดันให้มีกรรมการสิทธิฯ บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และในรัฐธรรมนูญก็เขียนว่าการจะตั้งหน่วยงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็มีการร่างพ.ร.บ. กรรมการสิทธิฯ จนกระทั่งมีคณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อปี 2544 เป็นกรรมการสิทธิฯ ชุดแรก

ตามหลักการแล้ว กรรมการสิทธิมีอำนาจหน้าที่อยู่สองสามประการ หน้าที่หลักคือตรวจสอบ แต่ประเด็นของการตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ที่จะลงโทษหรือเอาใครเข้าคุก เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการทางอาญา หรือทางแพ่งอะไรก็ตาม แต่เป็นการไปแนะนำให้หน่วยงานนั้นปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ต้องให้มีการชดเชย สร้างหลักประกันให้ไม่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีก ทำรายงานให้รัฐบาลสั่งการเพราะรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ เช่น ถ้ากระทรวงผิด นายกฯ มีคำสั่ง แต่ถ้านายกฯ ไม่สั่ง ก็ต้องฟ้องสภาเพื่อให้ประชาชนจับตาดูว่าคุณจะทำแบบนี้อีกไม่ได้

ประการที่สองคือ การให้ความรู้ให้การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณะ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันในเรื่องของสิทธิมนุษยชนว่าจะอยู่กันอย่างไรที่จะไม่ไปละเมิด ไม่ไปเบียดเบียน อยู่บนหลักของความเสมอภาค เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ประการที่สาม ที่เป็นเรื่องสำคัญคือบทบาทของกรรมการสิทธิที่จะต้องประสานงานกับ องค์การ หน่วยงาน ที่สอดคล้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

ตัวบุคคลที่เป็นกรรมการสิทธิต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

ประชาไท: แล้วพอมีกรรมการสิทธิฯ ชุดแรก คุณมีข้อสังเกตอย่างไร

ศราวุฒิ: เราก็ได้คนที่หลากหลาย เนื่องจากว่ามี 11 คนในชุดแรก กรรมการสิทธิฯ ชุดแรกอาจจะดีหน่อยในแง่ที่ได้คนที่มีพื้นฐานทางด้านสิทธิมนุษยชนมาก่อนแต่ก็จะถูกจำกัดลงด้วยความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นความเข้าใจเฉพาะด้านที่ตัวเองถนัด เช่น มาจากองค์กรทำงานด้านสตรี เด็ก มีทนายความ นักวิชาการ ความหลากหลายเยอะ ทำให้การประสานงานขัดข้องกันอยู่ เนื่องจากทั้ง 11 คนไม่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน ต่างก็เป็นอิสระจากกัน

ประชาไท: กลายเป็นว่ามีความรู้เฉพาะด้าน แต่ไม่สามารถมองภาพรวมร่วมกัน

ศราวุฒิ: ไม่สามารถมองภาพรวมและทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งเราก็ไม่ได้คาดหวังว่ากรรมการทุกคนจะต้องมีภาพรวม หรือทำงานโดยรวมได้ แต่ว่าจะต้องไม่ยึดติดอยู่กับประเด็นของตัวเอง แต่เนื่องจากที่มาของกรรมการสิทธิฯ ในชุดแรก ภาคประชาชนไปผลักดันไว้เยอะ ทำให้การนำเสนอตัวบุคคลที่จะให้วุฒิสภาเป็นคนคัดเลือกก็ผลักดันเฉพาะเครือข่ายที่ตัวเองทำงานอยู่ด้วย โดยเราก็ไม่ได้มอง

คือเราเข้าใจว่าถ้าคนเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดพัฒนาการดีขึ้น ไม่มากก็น้อย ก็เลยเสนอเป็นด้านๆ ไป แต่ไม่สามารถผลักดันให้กลไกสิทธิมนุษยชนมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่มีนัยยะสำคัญหรือจับต้องได้

แต่ก็ต้องถือว่าเป็นองค์กรที่เป็นโมเดลนะ เพราะว่าที่มาของกรรมการสิทธิฯ เมืองไทยไม่ได้ มาจากการคัดเลือกของรัฐ แต่มาจากคณะกรรมการสรรหา ก็ถือว่าเป็นประโยชน์

แต่พอปี 2550 กรรมการสรรหามาจากภาคศาล มาจากองค์กรอิสระอื่นๆ เพราะฉะนั้นความจำกัดของผู้พิพากษา การดีไซน์ให้ผู้พิพากษาเป็นคนคัดเลือกองค์กรอิสระ ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวของสังคมไทยนะ เพราะผู้พิพากษาไม่ได้รู้ทุกเรื่อง และอาจจะเป็นการเลือกข้างทางการเมือง เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็อย่างที่ทราบกันว่าเกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและต้องการกำจัดระบอบทักษิณหรืออะไรก็ตามแต่จะเรียก ก็คือต้องการที่จะเอาคนที่ไม่สนับสนุนส่งเสริม หรืออยูในแวดวงของทักษิณเข้ามาทำงาน

เพราะฉะนั้นกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่นี่ก็เป็นข้าราชการเก่าทั้งหมด หรือเป็นคนที่ใกล้ชิดกับแวดวงราชการเพราะฉะนั้นก็จะไม่เข้าใจองค์ประกอบของการทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม หรือประชาชน องค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนก็อาจจะมีไม่มากนัก มีอยู่บางส่วนแต่จะไม่กว้างขวางรอบด้านเหมือนกับกรรมการชุดแรก

แต่เนื่องจากสถาบันนี้มันต้องดำรงอยู่ และมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ และต้องเป็นที่พึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่ากรรมการสิทธิฯ รุ่นต่อๆ ไป จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง เริ่มจากที่มา ที่ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน

ประชาไท: นี่คือการเสนอว่าถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญต้องแก้ส่วนของกรรมการสิทธิด้วย

ศราวุฒิ: ต้องแก้ไขในส่วนที่เป็นกรรมการสรรหาในทุกองค์กรอิสระ เพราะมาจากที่เดียวกันหมดเลย 7 คน ตัวแทนศาลฎีกา ตัวแทนศาลปกครอง ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และผมก็คิดว่าศาลเองก็ไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับนักการเมืองในลักษณะก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติแบบนี้ คือเรื่องนี้มันควรจะเป็นเรื่องของสภาที่จะคัดเลือกคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการดูภาพรวมของสิทธิมนุษยชน

ประชาไท: ส่วนที่เป็นสำนักงานกรรมการสิทธิ น่าจะมีความต่อเนื่องกว่าตัวกรรมการ ส่วนนี้คุณมองเห็นพัฒนาการไหม

ศราวุฒิ: ส่วนนี้เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน เนื่องจากว่าการออกแบบให้องค์กรนี้ไปขึ้นกับรัฐสภาในยุคแรก สำนักงานเป็นอิสระแต่ขึ้นกับเลขาธิการรัฐสภา ก็เลยทำให้เจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิเป็นข้าราชการในสังกัดรัฐสภา ซึ่งการเป็นข้าราชการรัฐสภาเป็นข้าราชการที่ทำงานเกื้อหนุนฝ่ายนิติบัญญัติ มีกองการประชุม มีกองการเจ้าหน้าที่ มีบุคลาการจดรายงานการประชุมที่เก่งมากแล้วก็ทำงานสนับสนุนกรรมาธิการชุดต่างๆ แต่ทีนี้พอมาเป็นเจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ ก็เป็นเพียงแต่ลอกกรอบที่มาของข้าราชการว่าแยกจาก ก.พ. ให้ขึ้นกับ ก.พ.ร. คือข้าราชการรัฐสภา

ในส่วนของการบังคับบัญชาตามกฎหมายให้เลขาธิการสำนักงานกรรมการสิทธิฯ ขึ้นกับประธานกรรมการสิทธิ ฉะนั้นกรรมการจะมี 11 คนหรือมี 7 คนก็ตามแต่ แต่ประธานกรรมการสิทธิฯ เท่านั้นที่จะสั่งเลขาธิการได้ โดยสายงานที่ติดยึดมาจาก ก.พ.ร. คือเลขาธิการขึ้นกับประธาน เมื่อกฎหมายเขียนเช่นนั้นว่าเลขาธิการขึ้นต่อประธาน ก็ขึ้นกับประธานคนเดียว ใครจะมาสั่งผมไม่ได้นอกจากประธานสั่ง มันก็เลยเกิดความอิหลักอิเหลื่อว่าจริงๆ แล้วเลขาธิการควรจะทำงานสนับสนุนกรรมการ เหมือนกับที่ข้าราชการรัฐสภาทำงานสนับสนุนการทำงานของกรรมาธิการหรือเปล่า กรณีของรัฐภาเขาไม่มีปัญหาในการทำงานสนับสนุน ในการจดการประชุมก็มีประสิทธิภาพมาก

แต่พอมาถึงกรรมการสิทธิฯ เนื่องจากเป็นองค์กรใหม่รับคนมาจากภาครัฐก็จะมีความหลากหลาย การทำงานก็ไม่เคยทำร่วมกันมาก่อนต้องมาสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ แต่ก็ติดกับวัฒนธรรมเดิมขององค์กรตัวเอง ปัดแข้งปัดขากัน พวกใครพวกมัน ซึ่งผมว่านี่เป็นข้ออ่อนนะ คือข้าราชการเข้ามาปุ๊บก็ได้เลื่อนหนึ่งขั้นจากตำแหน่งตัวเอง และก็ก้าวหน้าตามแท่งที่กรรมการสิทธิฯ จัดแบ่งระเบียบภายในของเขาไว้ ทีนี้ตัวข้าราชการเองควรจะมีการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย แต่กรรมการเองอาจจะไม่มีใครที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการบริหารงาน ไม่มีการสานต่อการทำงานก็เลยเหมือนกับกลายเป็นใช้อนุกรรมการซึ่งก็ยอมรับว่าการทำงานในกรรมการสิทธิมนุษยชนจำนวน 7 คนหรือ 11 คนนั้นไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีอนุกรรมการที่มาจากคนที่หลากหลาย แต่อนุกรรมการนี้ก็เกิดช่องว่างว่ากรรมการคนนั้นๆ รู้จักใครก็เชิญคนนั้นมาเป็นอนุกรรมการ

ถามว่าเขามีความเชี่ยวชาญเขียนรายงานตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพไหมก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ถ้าอนุกรรมการนั้นเกี่ยวข้องกับภาครัฐเยอะ การวินิจฉัยก็มักจะแคบว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะว่าต้องตั้งคำถามก่อนว่าอะไรคือเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดจากหลักเกณฑ์อะไร ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือละเมิดหลักการกฎหมายระหว่างประเทศอะไร อย่างไร แล้วถาละเมิดอย่างนี้ กรรมการสิทธิฯ มีความเห็นอย่างไร แล้วพอมีความเห็นให้ดำเนินการแก้ไขหน่วยงานของรัฐก็อาจจะไม่ทำตามก็ได้ เพราะไม่ใช่สายบังคับบัญชา

ผมว่านี่เป็นภาพรวมที่เป็นข้ออ่อนของกรรมการซึ่งผมเชื่อว่ากรรมการสิทธิฯ มีข้ออ่อนเรื่องเจ้าหน้าที่ของตัวเองที่ไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ เช่น การอบรม สั่งสมประสบการณ์ หรือไปเรียนจากต่างประเทศเพื่อจะกลับมาพัฒนางาน มัวแต่มาทะเลาะกันภายในสำนักงาน ภายในระหว่างการสั่งการ ระหว่างกรรมการ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้ามากนะ ประชาชนไม่มีที่พึ่งเลยถ้าหน่วยงานทีทำงานเป็นความหวังปัดแข้งปัดขากันเอง

ประชาไท: การทำงานของกรรมการสิทธิฯ ที่ต่อเนื่องมาสิบกว่าปีแล้ว อะไรที่ท้าทายกรรมการสิทธิที่สุด

ศราวุฒิ: จริงๆ แล้วสถาบันนี้ควรจะทำหน้าที่เป็นหลักของสังคม เป็นหลักเสาหนึ่งได้นะ คือสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยซึ่งมีสามส่วนใหญ่ๆ  คือหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ซึ่งต้องไปพร้อมๆ กัน หลักนิติธรรมนั้นเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนและเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นถ้ามันไปด้วยกันได้ รัฐที่ฟังเสียงขององค์กรอิสระเพื่อแก้ไขปัญหามันจะส่งเสริมประชาธิปไตยในระยะยาว

แต่ถ้าเกิดองค์กรอิสระเลือกข้างหนึ่งซึ่งเอียง ไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม นิติรัฐ ก็จะไม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และรวมไปถึงเรื่องไม่มีธรรมาภิบาลระยะยาวด้วย ผมเชื่อว่ามันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย นี่ตอนนี้บ้านเรา 4-5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ข้าราชการต่างๆ องค์กรอิสระต่างๆ เลือกข้าง ซึ่งมันไม่ควรจะเลือก  เราควรจะเลือกประเด็นความสนใจทางการเมือง พรรคการเมืองเรื่องแบบนี้เลือกได้อิสระ แต่เมื่อคุณทำงานในอาชีพที่ให้คุณให้โทษแล้วเลือกข้างไม่ได้ ข้างที่เลือกได้คือหลักการพื้นฐานและกลไกด้านสิทธิมนุษยชน

ทีนี้กรรมการสิทธิชุดใหม่นี้เองก็บางคนเลือกข้างชัดเจนว่าจะไม่เอาข้างรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็จะไม่ตรวจสอบรายงานที่เกี่ยวกับเรื่องสลายการชุมนุม ไม่กล้าฟันธง ผมก็ยังไม่แน่ใจนะว่าการไม่กล้าฟันธงเพราะกลัวปัญหาทางการเมือง หรือเป็นเพราะไม่มีองค์ความรู้เพียงพอที่จะเขียนรายงาน ถ้าเกิดเขียนรายงานวินิจฉัยแล้วมันอิหลักอิเหลื่อกับความถูกต้องกับคนที่เราเลือกเชียร์ แล้วตรวจสอบแล้วจะเจอข้อเท็จจริงมากมายว่าคำสั่งนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง นี่เป็นปัญหาที่ต้องก้าวข้ามพ้นให้ได้ ถ้าก้าวไม่พ้นประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิฯ อยู่ไม่ได้

ประชาไท: คุณมองว่ากรรมการสิทธิฯ ล้มเหลวในประเด็นสิทธิทางการเมืองใช่ไหม

ศราวุฒิ: ถือว่าล้มเหลวก็คงจะได้ เพราะว่าในบางเรื่องไม่มีแอคชั่น ไม่มีความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อย่างความเห็นเรื่องมาตรา 112 กรรมการสิทธิฯ ก็ต้องพูดออกมาให้ชัดเจนว่ามองอย่างไร แต่เนื่องจากตัวเองเกร็ง กลัวว่าจะไปขัดกับความเชื่อความจงรักภักดีของตัวเองก็เลยไม่กล้าออกมาเป็นคณะที่จะฟันธง นอกจากหมอนิรันดร์ที่ออกมาพูดหรือไปประกันนักโทษการเมืองบางคน แต่ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่ใช่องค์คณะของกรรมการสิทธิฯ ทั้งหมด

อนุกรรมการที่ทำเรื่องกระบวนการยุติธรรมไม่มีผลงานอะไรเลยในปีนี้ที่จะเสนอแนะแก้ไขปัญหาเรื่องกรอบในการใช้หลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรม เรื่องเด็ก เรื่องผู้หญิงก็ไม่เด่นชัด เรื่องความหลากหลายทางเพศอาจจะมีความเคลื่อนไหวแต่เป็นเพราะว่าเครือข่ายของกลุ่มนี้เขาเข้มแข็งมาอยู่แล้ว ไม่ได้เข้มแข็งเพราะกรรมการ

ส่วนประเด็นสิทธิอื่นๆ เรื่องทรัพยากรทางทะเล ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังจับจุดไม่ถูกว่าจะออกไปตรงไหนเพราะว่าคนที่มาร้องเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเครือข่ายของเอ็นจีโอในเรื่องนั้นๆ ผมคิดว่าเป็นข้ออ่อนเหมือนกันที่มีเพียงกลุ่มเดียวที่เชี่ยวชาญหรือแอคทีฟในเรื่องนี้ ตัวชาวบ้านถ้าไม่มีเอ็นจีโอหรือคนที่ไปทำงานในพื้นที่ เขาก็อาจจะไม่มีช่องทางที่จะมาร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ ได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นข้ออ่อนของกรรมการสิทธิฯ

ประชาไท: คุณเข้าไปทำหน้าที่อนุกรรมการฯ ในฐานะที่เป็นคนทำงานภาคประชาสังคม และได้เข้าไปร่วมงานบ้างในฐานะอนุกรรมการ พบปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง

ศราวุฒิ: กลไกการตรวจสอบมีปัญหาอยู่ คือแม้ว่ากรรมการสิทธิฯ จะสามารถมอบหมายให้อนุกรรมการฯ เป็นเจ้าพนักงานตรวจสอบตามกฎหมายได้ แต่ความสามารถของคนที่ไปตรวจสอบนั้นผมคิดว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน คือเป็นบุคลากรที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบบางเรื่องซึ่งผมคิดว่า...คือบางคณะบางอนุฯ เขามีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ซึ่งเชี่ยวชาญจริง แต่ถามว่าจะตรวจสอบรัฐหรือเปล่าก็อีกเรื่อง ซึ่งผมเห็นว่าอนุฯ เรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ตรวจสอบรัฐ เช่นมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิ คือพิจารณาเหมือนกับว่าตัวเองเคยเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งนั้นของรัฐมาก่อนก็เห็นใจพวกเดียวกัน ซึ่งผมว่ามันไม่ถูกเพราะคุณสวมหมวกเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องฟันธง แต่การจะอธิบายว่าเรื่องนี้ละเมิดหรือไม่ละเมิดไม่ได้เป็นการทำลายสี หรือเหล่าของตัวเองหรือภาคที่ตัวเองทำงานอยู่ แต่มันคือการสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนและสร้างมาตรฐานของการปฏิบัติในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน

ประชาไท: กรรมการสิทธิเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมากแค่ไหน

ศราวุฒิ: ก็เปิดอยู่นะ แต่ผมคิดว่ามันยังไม่หลากหลายมาก คือวนเวียนกันอยู่ไม่กี่กลุ่ม คือถ้าเป็นเอ็นจีโอใหม่ๆ ที่มีประเด็นใหม่ๆ อย่างเรื่องคอมพิวเตอร์ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะมีการเชิญใครเข้ามาเป็นอนุกรรมการในการตรวจสอบประเด็นเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากอาจารย์มหาวิยาลัยที่สอนเรื่องกฎหมายกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจารย์พวกนี้ก็จะมีภาระงานเยอะมากอยู่แล้ว เอ็นจีโอที่ทำงานด้านเสรีภาพเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็อาจจะถูกมองว่าเลือกข้างเลยไม่ได้รับเชิญเข้ามาเป็นอนุกรรมการ ผมคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน

ผมยังมีปัญหาอีกว่าบางเรื่องเอ็นจีโอบางกลุ่มทำงานเรื่องภาคใต้แต่เข้าไปเป็นอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐในภาคใต้ มันก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน นี่พูดตรงไปตรงมา เพราะคุณร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว แต่คุณใช้ขาของกรรมการสิทธิฯ ในการลงไปตรวจสอบแล้วเอาข้อมูล แต่ถามว่าข้อมูลแบบนั้นจำเป็นต่อสาธารณะไหม ก็จำเป็น คือโดยหลักถ้าเราคิดว่ากรรมการสิทธิฯ เป็นประโยชน์และมาพึ่งเอ็นจีโอเหล่านี้เพื่อขอข้อมูลซึ่งกรรมการสิทธิฯ อาจจะไม่ต้องพึ่งเอ็นจีโอก็ได้ ทำหน้าที่ตัวเองได้โดยตรงเพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ จะต้องมีความสามารถบางอย่างที่มีประสบการณ์ที่เอ็นจีโอทำอยู่แล้งลงไปทำ ซึ่งผมก็คิดว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ หลายคนที่มีความสามารถทำงานได้ แต่หลายส่วนก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา แล้วบางส่วนอยู่ในช่วงปัดแข้งปัดขากันแล้วไม่สนใจที่จะทำงาน (หัวเราะ)

ผมก็คิดว่านี่เป็นข้อที่น่าเสียดายอย่างยิ่งนะ ทำงานมาแปดปี สิบปี ไม่มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเลย กรรมการก็ไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่าน่าเสียดาย และคิดว่ารุ่นต่อๆ ไปก็ต้องหาคนที่มีวิสัยทัศน์ในด้านการบริหารเข้ามาดูแลเฉพาะเรื่องบุคลาการ

ประชาไท: กรรมการสิทธิฯ ในฝันของคุณ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ ตัวองค์กรควรจะเป็นอย่างไร ทั้งที่มา ทั้งรูปแบบ

ศราวุฒิ: รูปแบบโอเคแล้ว แต่ว่าการเชื่อมโยงระหว่างการบริหารงานระหว่างกรรมการกับเลขาฯ ต้องมีการเขียนอย่างไรที่จะไม่ให้เลขาฯ ฟังเฉพาะประธานอย่างเดียว เลขาธิการอาจจะมาจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ โอนมาจากภาคเอกชนได้ คือรับใครก็ได้ แต่มีประสบการณ์เพื่อให้สามารถมีความหลากหลายในมุมมองการทำงานไม่ติดกรอบระบบราชการ แยกออกจากระบบรัฐสภามาทำหน้าที่องค์กรอิสระ แต่ยึดโยงกับระเบียบ ก.พ.หรืออะไรก็ตามที่พออนุโลมได้ ดึงคนที่มาจากระบบราชการเก่ามาพัฒนาสำนักงาน แล้วเขียนไปเลยว่าการได้มาของเลขาธิการและบุคลากรมาจากความหลากหลาย มีสวัสดิการ งบประมาณ เงินเดือน

ที่มาของกรรมการ ผมคิดว่าย้อนกลับไปใช้แบบปี 2540 ก็จะดีกว่าในแง่ความหลากหลาย แล้วคนเหล่านี้ก็จะสมัครเข้ามาแล้วให้วุฒิสภาเป็นคนคัดเลือกและถอดถอนได้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมชุมนุมหน้าทำเนียบฯ จี้หากลไกหารือก่อน-หลังเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

Posted: 26 Feb 2013 09:56 AM PST

 

26 ก.พ.56 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) แถลงข่าวการชุมนุมของภาคประชาชนจากกรณีการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เอฟทีเอไทย-อียู ที่รัฐบาลกำลังจะไปเริ่มเจรจาในวันที่ 6-7 มี.ค.นี้ จะเจรจาในหลายประเด็นที่ไม่เคยเจรจาเปิดเสรีมาก่อนในเอฟทีเออื่นๆ และเป็นประเด็นที่มีผลกระทบสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดทำกรอบการเจรจา ไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากเวทีการรับฟังความคิดเห็นเสนอให้รัฐสภาพิจารณาด้วย

"วันพฤหัสบดีที่ 28 ก.พ.นี้ พวกเราภาคประชาสังคมจะไปชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลคำนึงถึงข้อเรียกร้องเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเดินหน้าทำเอฟทีเอ โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ดังนั้นระหว่างการเจรจารัฐบาลต้องจัดตั้งกลไกให้มีการจัดหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล ไม่ใช่ฟังแต่ความต้องการของภาคธุรกิจส่งออกเท่านั้น" ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยอมเซ็นสัญญาเอฟทีเอกับอียู และยอมรับข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาด้านยา จะทำให้ยารักษาโรคถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น ส่งผลให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงยา เข้าไม่ถึงการรักษา ซึ่งจะเพิ่มภาระให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ และงบประมาณของประเทศ "แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะอ้างว่า มีการตั้งคณะทำงาน 2 คณะ แต่ยังไม่มีรายละเอียดอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบที่ชัดเจนพอ ดังนั้น รัฐบาลต้องรับปากต่อสัญญาประชาคมว่า จะไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของอียูที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ และต้องให้ทีมวิชาการของ อย.และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทำงานเต็มศักยภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคธุรกิจและกรมเจรจาฯบีบคั้นตลอดเวลา

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลยอมรับข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ จะส่งผลให้บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และต้นทุนการผลิตด้านเกษตรกรรมและอาหารจะสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อยจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง ซึ่งอาหารจะถูกผูกขาด และถูกกำหนดราคาโดยบริษัท จากการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร "ดังนั้น การเจรจาต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการเจรจาทั้งเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งกลไกการรับฟังความคิดเห็นและหารือกับทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-อียู กรมเจรจาฯก็เคยจัดกลไกที่ว่ามาแล้ว"

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ชมรมเพื่อนโรคไต} เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่, เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, เครือข่ายพันธมิตรเพื่อการควบคุมยาสูบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATCA) และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี (จบ)

Posted: 26 Feb 2013 09:31 AM PST

 

หลังจากที่ทางกองบรรณาธิการ ปาตานี ฟอรั่มได้นำรายงานจากเวที ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี (1)  ตอนแรกเผยแพร่ไปแล้ว เนื้อหาของตอนแรกก็จะเป็นทัศนะต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมองของสื่อ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง รวมทั้งประชาชน ซึ่งในตอนที่ 2 ตอนจบนี้ ทางปาตานี ฟอรั่มจะนำเสนอมุมมอง ทัศนะ เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ของทนาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมไปถึงประเด็นสำคัญเพิ่มเติม เริ่มต้นที่มุมมองขอเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะกรณีของมะรอโซและ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
 
มะรอโซ มีคดีอยู่เท่าไหร่ ?
 
พ.ต.อ.สะท้านฟ้า วามะสิงห์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ของมะรอโซ มีคดีที่เป็น ป วิอาญาอยู่ 10 หมาย และหมาย พ.ร.ก. อีก 3 หมาย สำหรับอาวุธปืนที่มะรอโซใช้ก่อเหตุนั้น ทางกองพิสูจน์หลักฐานได้ทำการพิสูจน์ปอกกระสุนแล้วว่า ใช้ก่อเหตุมาแล้วทั้งหมด 35 คดี ซึ่งคดีทั้งหมดนี้เริ่มต้นในปี 2549 ล่าสุดเป็นคดีของครูชลธี
 
การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด?
 
ในมุมมองส่วนตัว การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจะมีความยากกว่าการดำเนินคดีในแบบปกติทั่วไป เพราะไม่สามารถที่จะสอบสวนเพื่อเชื่อมโยงไปหาผู้อื่นอีกได้
 
ต่อมาในส่วนของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่จะต้องได้รับการคุ้มครองในแง่ของ พ.ร.บ. ความมั่นคง และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก คำถามที่จะมีต่อคนกลุ่มดังกล่าวนี้ว่าเป็น "ทนายโจร" หรือไม่ คำถามเหล่านี้ได้ถูกตั้งขึ้นต่อกลุ่มทนายความมุสลิม ซึ่งลักษณะการทำงานของกลุ่มทนายความมุสลิมเป็นอย่างไร และลักษณะของกฎหมายในจังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ ม. 21 เป็นเช่นใด
 
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ในมุมมองของผู้ทำงานด้านกฎหมายต้องยอมรับเลยว่า เราถูกขนานนามว่าเป็น ทนายโจร ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ในการเริ่มทำคดี แต่อย่างจะเห็นให้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่จะต้องมีความเสมอภาคในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน เรามีความพยายามที่จะนำความขัดแย้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพและดีที่สุด โดยพื้นฐานแล้วประชาชนทุกคนสามารถที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้ ในส่วนของคดีที่บาเจาะ ไม่อยากให้มองไปที่เพียงแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ แต่จะให้มองย้อนไป ทำไมมะรอโซถึงเดินมาถึงจุดนี้ได้ จากปี 49-56 มะรอโซถูกกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างไรบ้าง มะรอโซถูกหมายจับป. วิอาญาถึง 10 หมายจะสู้คดีได้อย่างไร มีตัวอย่างจากหลายคดีเช่น จำเลยถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อสู้กันมา 3 ปี ศาลยกฟ้อง กำลังจะออกจากเรือนจำ หมายที่ 2 มา ซึ่งหากเป็นลักษณะเช่นนี้จำเลยต้องต่อสู้คดียาวนานถึง 7 ปี ฉะนั้นในส่วนนี้กระบวนการยุติธรรมต้องกลับมาทบทวน การที่บุคคลหนึ่งมีหมายจับถึง 10 หมายจะเป็นการผลักเขาไม่ให้กลับมาแล้ว
 
ต่อมาในกรณีของหมายฉุกเฉิน ซึ่งผู้ที่ถูกหมายเรียกดังกล่าวนี้เป็นเพียงแค่ผู้ต้องสงสัย ไม่ถึงกับเป็นผู้ต้องหา แต่สิทธิของผู้ต้องสงสัยกลับเลวร้ายกว่าผู้ต้องหาเสียอีก เพราะว่าคำว่า "ผู้ต้องสงสัย" ไม่ได้มีหลักประกันสิทธิในรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องสงสัยไม่มีสิทธิจะพบกับทนายความได้ในลักษณะโดยลำพัง
 
ทางด้านคดีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน ณ วันนี้ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาศูนย์ทนายความมุสลิมรับผิดชอบคดีมาทั้งสิ้น 600 กว่าคดี พิพากษาไปแล้วกว่า 400 คดี แต่ทุกวันนี้มีคดีลดลงเพราะว่ามีการสั่งไม่ฟ้องค่อนข้างเยอะ เพราะว่าขาดพยานหลักฐาน ส่วนใหญ่แล้วคดีถูกยกฟ้องถึงร้อยละ 70 หรืออาจจะมากกว่านั้น
 
มาตรา 21 จากพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในมุมมอมของทนายความ มองในลักษณะอย่างไร
 
มาตรา 21 จาก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ต้องใช้ควบคู่กับมาตรา 15 ซึ่งในมาตรานี้ได้ระบุไว้ว่า ในเขตพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ สถานการณ์เช่นนี้ถึงจะใช้มาตรา 21 ได้ แต่เมื่อจะนำมาตรา 21 มาใช้มันจะติดอยู่กับมาตรา 15 บุคคลที่จะเข้าข่ายในมาตรา 21 มีอยู่ชุดเดียวเท่านั้นคือ บุคคลที่เป็นผู้ต้องหา ผู้ต้องหาหมายถึง ผู้ที่ถูกหมาย ป.วิอาญา ผู้ที่ถูกหมายฉุกเฉิน แต่สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยไม่มีสิทธิ์ในมาตรา 21 ประเด็นสำคัญทั้งหมดของมาตรา 21 ผู้ต้องหาต้องรับสารภาพว่าเขาได้กระทำความผิด และพนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนและสรุปว่า สิ่งที่ผู้ต้องหาทำลงไปนั้น เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะหลงผิด และการที่นำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการทางมาตรา 21 นี้มันก็จะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้ต้องหาด้วย หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็ต้องเดินตาม ป.วิอาญาต่อ
 
ประเด็นสำคัญอีกประการในการเสวนาครั้งนี้คือเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้มะรอโซ รวมทั้งคนอื่นๆ ถูกผลักเข้าไปสู่ขบวนการ โดยที่คุณปกรณ์ได้กล่าวในประเด็นนี้ไว้ว่า การทำหน้าที่ของศูนย์ข่าวอิศราในกรณีตากใบ ได้มีการนำรายงานมาเผยแพร่ทุกครั้งในวันครบรอบเหตุการณ์ ซึ่งจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอดนั่นก็คือ ต้องมีการรื้อคดี ต้องสอบสวนหาคนผิด ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ประมาท แต่ครั้งนั้นได้มีคนตาย มีบาดเจ็บเป็นร้อย เหตุการณ์ครั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าเป็นต้นตอสำคัญต่อความรู้สึกที่ต่อต้านรัฐ ซึ่งรัฐได้จุดชนวนขึ้นมา ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะมานั่งคุยกันเพื่อที่จะยุติชนวนดังกล่าวนี้
 
ในมุมของสื่อตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มา ความเข้าใจต่อสถานการณ์ในภาคใต้ดีขึ้นหรือไม่ ?
 
ในเรื่องของสถานการณ์ภาคใต้ ผู้สื่อข่าวมีเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ได้ดีขึ้น และเริ่มมองต้นตอของปัญหามากยิ่งขึ้น แต่การพัฒนาทางเทคโนโลยี รวมทั้งวิธีการใหม่ๆ ของสื่อเช่น สังคมออนไลน์ การรายงานด้วยความเร็ว โดยไม่สนใจความถูกต้องของข้อมูล ตรงนี้เองเป็นแรงกดดันของสื่อที่ทำงานได้ยาก  ในช่วง 1-2 ปีหลังสื่อมีการทำข่าวที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น มีการคุยกับเจ้าหน้าที่ คุยกับชาวบ้าน คุยกับผู้เสียหาย รวมทั้งคุยกับบุคคลที่สามเพื่อหาทางออก แต่ปัญหาการแข่งขันเรื่องความเร็วยังเป็นปัญหาที่สำคัญอยู่ เพราะว่าจะทำให้การรายงานข่าวเกิดความผิดพลาด
 
ทั้งหมดนี้คือ  ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี ที่ปริศนาทั้งหมดถูกถ่ายมาในมุมมองของสื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ซึ่งข้อเสนอจากเวทีนี้ก็คือ ให้ยุติความรุนแรงทั้งสองฝ่าย นำไปสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี (1)
 
ที่มา:  Patani Forum
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมบัญชีกลางให้ สปสช.ทำฐานข้อมูลเบิกจ่ายสวัสดิการ ขรก.เริ่ม 1 ต.ค.นี้

Posted: 26 Feb 2013 09:20 AM PST

กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ให้ สปสช.ทำหน้าที่รับข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของข้าราชการกว่า 5 ล้านคน เริ่ม 1 ต.ค.นี้ หวังเพิ่มความสะดวกในการเบิกจ่าย-ช่วยการวิเคราะห์ข้อมูลระบบสุขภาพของไทย

(26 ก.พ.56) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ กระทรวงการคลัง นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่อง "การพัฒนาหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขผู้มีสิทธิข้าราชการ ระหว่างกรมบัญชีกลาง และ สปสช." เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประเทศให้ไปในแนวทางเดียวกัน  

นายมนัส กล่าวภายหลังลงนามฯ ว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้มีการบูรณาการระบบการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ทั้ง 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนประกันสังคม เพื่อให้โรงพยาบาลบริหารจัดการข้อมูลการเบิกจ่ายได้สะดวก อันจะส่งผลดีต่อการให้บริการผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนทั้ง 3 กองทุน เพราะจะทำให้เกิดการบูรณาการการรับส่งข้อมูลเพื่อการเบิกจ่าย สามารถวิเคราะห์ข้อมูลระบบสุขภาพของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียว และเกิดระบบข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่สอดคล้องกันทั้ง 3 กองทุน

ดังนั้น  กรมบัญชีกลาง จึงได้จัดทำบันทึกความร่วมมือพัฒนาหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่าย และระบบข้อมูลบริการสาธารณสุขผู้มีสิทธิข้าราชการกับ สปสช. โดยกรมบัญชีกลางได้มอบให้ สปสช.ทำหน้าที่ในการทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮาส์ (clearing house) หรือเป็นศูนย์รับข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล/สถานพยาบาลในโครงการของผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการทุกแห่ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป

สำหรับปีงบประมาณ 2556 ยังคงเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามระบบเดิม คือ สถานพยาบาลจะขอเบิกเงินกับกรมบัญชีกลางโดยตรง ขณะที่ข้อมูลการเบิกจ่ายงบกลางนั้น จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ได้มีการเบิกจ่ายงบกลางไปแล้วจำนวน 22,157.50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะบริหารจัดการให้เบิกจ่ายอยู่ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจำนวน 60,000 ล้านบาท
  
"สำหรับการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของสิทธิข้าราชการทั้งหมดยังเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลางทั้งหมด และข้าราชการที่อยู่ในกองทุนสวัสดิการข้าราชการนั้นยังคงได้รับการรักษาเช่นเดิมตามสิทธิที่พึงจะได้รับ โดยตั้ง สปสช.เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์ให้กับกรมบัญชีกลางเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ของสิทธิข้าราชการเท่านั้น" นายมนัสกล่าว 

ด้านนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอธิบดีกรมบัญชีกลางในการมองภาพรวมด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศ โดยได้มอบให้ สปสช. ทำหน้าที่ประมวลผลและออกรายงานการจ่ายเงินให้กับกรมบัญชีกลาง พร้อมทั้งจะออกรายงานการประมวลผลการรับข้อมูลและการเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการด้วย ซึ่ง สปสช.จะวิเคราะห์ข้อมูลการใช้บริการของข้าราชการ ข้อมูลการเงิน และจัดทำรายงานส่งให้กรมบัญชีกลางเป็นระยะ รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบข้อมูลการเงินของระบบประกันสุขภาพระดับประเทศ  (National Health Financing Information) และจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ (National Health Information System)

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บทบาทการกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ซึ่ง สปสช. ไม่ได้เข้าไปจัดการหรือกำหนดหลักเกณฑ์หรือสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด การทำหน้าที่ในครั้งนี้ สปสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการเบิกจ่าย กรมบัญชีกลางจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำหน้าที่ข้างต้น ให้กับ สปสช. ตามที่ลงนามข้อตกดำเนินการกันในแต่ละปีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับข้าราชการและญาติที่มีสิทธิกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ อีกทั้งจะใช้เป็นฐานข้อมูลกลางในการจัดสิทธิประโยชน์อื่นๆ ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อวัตถุศึกษากับอธิป: ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสิน การบล็อคทั้งเว็บไซต์ ละเมิดเสรีภาพการแสดงออก

Posted: 26 Feb 2013 06:17 AM PST

ประมวลข่าวด้านทรัพย์สินทางปัญญากับ 'อธิป จิตตฤกษ์' นำเสนอเรื่องคำตัดสินของศาลสิทธิยุโรปเรื่องการปิดกั้นเว็บ,  ศาลสหรัฐเตรียมตัดสินกรณีลิขสิทธิ์เมล็ดพันธุ์ 'มอนซานโต้', ฯลฯ

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก

 

Week 6

19-02-2013

The Pirate Bay แจ้งตำรวจหน่วยปราบปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจของฟินแลนด์ให้สอบส่วนเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เว็บไซต์ The Pirate Bay ของกลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว

โดยทาง The Pirate Bay บอกว่าถ้าพวกเขาชนะคดีนี้ เขาจะเอาเงินไปมอบให้เด็กที่ถูกคุกคามโดยองค์กรต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าพวกเขาแพ้ นี่ก็เป็นชัยชนะของ "การล้อเลียน" ในฐานะของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดี และถ้าการแจ้งความของพวกเขาไม่นำไปสู่การดำเนินคดีใดๆ นี่ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นสถาวะ "สองมาตรฐาน" ของระบบยุติธรรมฟินแลนด์

News Source:  http://torrentfreak.com/the-pirate-bay-reports-anti-piracy-outfit-to-the-police-130218/, http://www.techdirt.com/articles/20130218/10364722017/pirate-bays-lawsuit-against-anti-piracy-group-more-about-exposing-double-standards-enforcement.shtml 

 

ศาลสูงอเมริกากำลังจะตัดสินว่าการเอา "เมล็ดพืชรุ่นที่สอง" หรือเมล็ดของพืชที่มีสิทธิบัตรของ 'มอนแซนโต้' มาปลูกต่อโดยไม่ขออนุญาติเจ้าของสิทธิบัตรและไม่จ่ายอะไรเลยนั้น ถือว่าละเมิดสิทธิบัตรหรือไม่

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เข้าถือหางเจ้าของสิทธิบัตรพันธุ์พืช คือบริษัทยักษ์ใหญ่มอนแซนโต้ ด้วย โดยบอกว่าถ้าศาลตัดสินว่ากรณีนี้ไม่ละเมิดสิทธิบัตร ศาลก็กำลังให้ความชอบธรรมกับการทำสำเนาเถื่อนซอฟต์แวร์มากมาย (software piracy) ซึ่งจริงๆ มันดูไม่เกี่ยวกันเลยเพราะ "การทำสำเนาเถื่อน" โดยทั่วไปมันจำกัดอยู่แค่กรณี "ลิขสิทธิ์" เท่านั้น และนี่เป็นกรณี "สิทธิบัตร" กฎหมายมันคนละชุดกัน และแนวคิดที่เป็นฐานกฎหมายก็ต่างกัน

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130218/02022922012/supreme-court-set-to-hear-case-whether-not-planting-legally-purchased-seeds-infringe-monsanto-patent.shtml



รายงานของสมาคมยุโรปโดยนักกฎหมาย 19 คนเสนอว่าการโพสต์ลิงก์ไม่ควรจะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (แต่เป็นเหมือนการอ้างอิงมากกว่า)

ทั้งนี้คำถามว่าการโพสต์ลิงก์ลงบนเว็บไซต์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่เป็นคำถามที่สำคัญมากในด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ในยุคนี้ทั่วโลกเพราะเจ้าของลิขสิทธิ์จำนวนมากก็จ้องจะเอาผิดทั้งผู้โพสต์ลิงก์และเว็บไซต์ที่มีการโพสต์ลิงก์ฐานละเมิดลิขสิทธิ์

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130218/00185922010/european-copyright-society-says-hyperlinks-framing-should-not-be-infringing.shtml

 

20-02-2013

กลุ่มต่อต้านละเมิดลิขสิทธิ์ อยากให้ Google เพิ่มศักยภาพในการเซ็นเซอร์ผลค้นหาอีก 4 เท่า

กลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์จากเนเธอร์แลนด์ BREIN ก็ต้องการให้ Google เพิ่มขีดจำกัดการรายงานละเมิดลิขสิทธิ์ของกลุ่มหนึ่งไปจากปัจจุบัน 10,000 ลิงค์ต่อวัน ไปเป็น 40,000 ลิงค์ต่อวัน หรือเป็น 4 เท่าจากของเดิม

เรื่องตลกคือ ที่ผ่านมาตามรายงานความโปร่งใส่ของ Google นั้นก็ชึ้ว่า BREIN รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณวันละ 5,000 ลิงค์ต่อวันเท่านั้น หรือเพียงครึ่งเดียวของลิมิตที่ Google ให้รายงานได้เต็มที่ต่อวัน

ทั้งนี้ในปี 2012 ทาง Google ได้เอาผลค้นหาออกไป 50 ล้านผลแล้วภายใต้ขีดจำกัดการรายงาน 10,000 ลิงค์ต่อวันของบริษัทหนึ่งๆ ซึ่งก็เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนๆ

News Source:  http://torrentfreak.com/anti-piracy-groups-want-google-to-lift-dmca-takedown-cap-130219/

 

"กลุ่มพันธมิตรด้านสิทธิ" ของสวีเดนขู่จะเล่นงาน Pirate Party สวีเดนหากยังไม่หยุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ The Pirate Bay

ทั้งนี้ทางกลุ่มพันธมิตรฯ อ้างคำตัดสินคดี The Pirate Bay ว่าผู้ให้บริการโฮสต์ให้กับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธ์ก็สามารถมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน

ทาง Pirate Party ก็บอกว่านี่ก็เป็นแทคติกเดิมที่กลุ่มอุตสาหกรรมด้านลิขสิทธิ์ใช้บ่อยๆ ในการกดดันตัวกลาง

ทั้งนี้ทาง Pirate Party ก็ยังมีเวลาในการตัดสินใจจะทำอะไรต่อไปก่อนที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯ จะดำเนินคดีในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2013 นี้

News Source:  http://torrentfreak.com/pirate-party-threatened-with-lawsuit-for-hosting-the-pirate-bay-130219/, http://falkvinge.net/2013/02/19/copyright-industry-lobby-threatens-swedish-pirate-party-with-criminal-charges-over-providing-bandwidth-to-the-pirate-bay/

 

นักการเมืองจากรัฐอิลลินอยส์พยายามจะผ่านกฎหมายให้การคอมเมนต์บนอินเทอร์เน็ตแบบนิรนามเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ในร่างกฎหมายมีรายละเอียดว่าทุกๆ คอมเมนต์บนอินเทอร์เน็ตต้องมี IP Address, ชื่อตามกฎหมายและที่อยู่ของผู้โพสต์กำกับให้หมด ถ้าไม่มี เว็บไซต์มีหน้าที่ต้องลบคอมเมนต์นิรนามแบบนี้ออกให้หมด

อย่างไรก็ดีแนวทางแบบนี้ดูจะขัดกับที่ศาลสูงอเมริกันเคยตีความหลัก Free Speech ภายใต้รัฐธรรมนูญไว้ว่า การแสดงออกความเห็นทางการเมืองอย่างนิรนามนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมประชาธิปไตย เพราะมันเป็นเรื่องป้องกันความเห็นต่างของคนกลุ่มน้อย จากความเป็นทรราชของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่ไม่มีความอดกลั้น

ที่ย้อนแย้งที่สุดคือนักการเมืองคนเดียวกันนี้พยายามจะผ่านกฎหมายให้สามารถถือครองปืนได้อย่างนิรนาม

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130219/10065822029/illinois-politician-seeks-to-outlaw-anonymous-comments-allow-anonymous-gun-ownership.shtml 

 

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตัดสินว่าการปิดเว็บไซต์ทั้งเว็บเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะกระทำมิได้หากไม่มีการระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายของประเทศนั้นๆ

อนึ่ง คำตัดสินนี้ทำให้คำสังศาลของอังกฤษ เดนมาร์ค ฟินแลนด์ และเบลเยี่ยมที่ให้ปิดเว็บ The Pirate Bay ทั้งเว็บมีปัญหาทันที และนักกิจกรรมจากประเทศเหล่านี้ก็สามารถร้องเรียนศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปให้รัฐบาลยกเลิกการเซ็นเซอร์พร้อมจ่ายค่าเสียหายได้

News Source:  http://falkvinge.net/2013/02/20/verdict-in-human-rights-court-would-mean-wholesale-censorship-of-the-pirate-bay-is-illegal/

 

22-02-2013

คนแก่อายุ 104 ปีใส่อายุจริงลงใน Facebook ไม่ได้เพราะระบบไม่ให้มีอายุเกิน 2 หลัก

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130220/11211422040/facebook-apparently-doesnt-believe-anyone-over-100-could-use-service-108-year-old-has-to-lie.shtml

 

Universal Studios เคยฟ้องว่า Nintendo ละเมิดลิขสิทธิ์ King Kong ตอนทำเกม Donkey Kong แต่แพ้คดีไปเนื่องจากเหตุผลไม่มีความคงเส้นคงวา

ทั้งนี้ Universal ได้อ้างว่าแม้ว่าหนัง King Kong ของตนจะเป็นหนัง "รีเมค" ก็จริง แต่ตอนที่รีเมคทั้งตัวละคร King Kong และพล็อตเรื่องมันก็เป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นลิขสิทธิ์ King Kong ของจึงเป็นของ Universal

คนที่คุ้นเคยกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก็คงจะรู้ดีกว่าการโต้แย้งแบบนี้ขัดแย้งในตัวเองเพราะหลักกฎหมายลิขสิทธิ์โดยทั่วไปจะถือว่าอะไรที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะไปแล้วนั้นจะไม่สามารถกลับมามีลิขสิทธิ์ได้อีก ดังนั้นการที่ Universal Studios อ้างถึงภาวะความเป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะของ King Kong นั้นจึงเป็นการปฏิเสธสถานะการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวละครและพล็อตเรื่อง King Kong ไปโดยปริยาย

ศาลชั้นต้นเห็นเช่นนั้นเช่นกันจึงยกฟ้อง


ที่มาภาพ: http://www.gamexplain.com/

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130215/07520921998/historical-hypocrisy-donkey-kong-king-kong-public-domain.shtml

 

เนื่องจากกฎเหล็ก "ห้ามโป๊เปลือย" ของ App Store เมื่อทาง Playboy ออก App ของ iPhone มามันจึงมีแค่นางแบบใส่ชุดชั้นในปราศจากหัวนมและโยนี

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130221/06521322054/no-nudity-playboys-iphone-app-to-test-mens-articles-excuse.shtml

 

ความขัดแย้งระหว่างองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรีของเยอรมัน GEMA กับ YouTube ทำให้ฝ่ายหลังต้องแบนคลิปดาวตกในรัสเซียจำนวนมาก

เนื่องจากในคลิปดาวตกเหล่านี้มีเพลงที่ทาง YouTube ยังไม่ยอมชำระค่าลิขสิทธิ์ในการนำแสดงต่อสาธารณะต่อทางองค์กรแทรกอยู่ เช่นเพลงจากทางวิทยุเป็นฉากหลังในคลิปที่คนถ่ายจากในรถ ทาง YouTube ก็เลยต้องแบนคลิปเหล่านี้ให้เข้าชมในเยอรมันไม่ได้เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมาย

ทั้งนี้ GEMA ก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับทาง YouTube มานานในการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการนำแสดงงานดนตรีต่อสาธารณะกับ YouTube สูงลิบจน YouTube ปฏิเสธที่จะจ่าย และทั้งสองฝ่ายก็ยังต่อรองกันมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ลงตัว

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130221/03322822052/copyright-dispute-means-germans-cant-see-all-those-russian-meteor-videos.shtml

 

 

24-02-2013

เว็บ Megaupload ที่ถูกปิดไปกว่า 1 ปีแล้ว ตอนนี้ยังมีคนเข้าชมเดือนละหลายล้านคน

ทั้งนี้เว็บ Megaupload ถูกกระทวงยุติธรรมสหรัฐยึดไปตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2012 และไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่วันนั้น และคดี Megaupload ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องโดยที่ทางสหรัฐก็ไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ส่ง Kim Dotcom เจ้าของเว็บ Megaupload มาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมายังสหรัฐได้เนื่องจากทางสหรัฐไม่ยอมเปิดเผยหลักฐานที่นำไปสู่การจับกุม Dotcom

News Source:  http://torrentfreak.com/dead-megaupload-still-has-millions-of-visitors-130223/

 

นักการเมืองจากนิวแฮมป์ไชร์เสนอกฎหมายที่จะทำให้ภาพถ่ายทางอากาศที่ติด "ชาวบ้าน" ผิดกฎหมาย

ทั้งนี้กฎหมายนี้ถ้าผ่านจะทำให้บริการพวก Google Earth มีปัญหาทันที และนี่ก็เป็นกฏหมายด้าน "ความเป็นส่วนตัว" ที่ดูจะขัดแย้งกับศักยภาพของเทคโนโลยีในปัจจุบัน

News Source:  http://www.techdirt.com/articles/20130221/01395022046/new-hampshire-politicians-want-to-make-satellite-view-maps-criminal-offense.shtml

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิวาทะ ส.ศิวรักษ์ – สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าด้วย lesser- greater evil ในศึกผู้ว่าฯ

Posted: 26 Feb 2013 02:01 AM PST

 

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นอกเหนือจากรายงานข่าวการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เข้มข้นขึ้นแล้ว ก็ยังมีการถกเถียงซึ่งเป็นที่โด่งดังใน social media อย่างเฟซบุ๊กด้วย นั่นคือ การแสดงความเห็นของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดอาวุโสคนสำคัญ กับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประวัติศาสตร์คนสำคัญ

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น เมื่อมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของสุลักษณ์ ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนกว่า 15,000 คน โดยสุลักษณ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้คนกรุงเทพฯ ควรแสดงกึ๋นในการเลือกสุขุมพันธ์ จากประชาธิปัตย์ เพราะแม้จะไม่ได้มีความโดดเด่นอะไร แต่ยังแย่น้อยกว่าพรรคเพื่อไทย

 

สุขุมพันธ์ หรือ พงศพัศ

คือผู้ว่ากทม.ตัวเต็งมันมีอยู่สองคนใช่ไหม สุขุมพันธ์ เบอร์ 16 กับ พงศพัศเบอร์9 คือ 2คนเป็นตัวเก็ง ไอ้คนอื่นน่าสนใจนะ แต่ผมเสนอว่าอย่าเลือกคนอื่นเพราะถ้าเลือกคนอื่นคะแนนจะหัวแหลกหัวแตก เพราะเวลานี้ต้องสู้ระหว่างประชาธิปัตย์กับพรรคทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคดีเด่อะไรแต่พรรคทักษิณมันเหี้ยสุดๆ แล้วเวลานี้มันครองอำนาจอยู่ในบ้านเมืองแล้วเรายอมให้มีผู้ว่ากทม อีก แสดงว่าเราทั้งหมดแหย สยบกับมันทั้งหมดเลยผมจึงอยากเสนอว่าใครก็ตามที่มีจิตสำนึกต่อต้านทักษิณ ต่อต้านเผด็จการต้องไม่ใช่ไม่เลือกเบอร์9 อย่างเดียว ต้องเลือกสุขุมพันธ์เพราะเป็นอันเดียวที่จะเอาชนะเผด็จการทักษิณได้ เพราะตอนนี้มันใช้ทุกทางเลยมันปั่นกระทั่งโพล ทำได้ทั้งหมด แล้วมันจะเอาเงินซื้อ อะไรต่างๆทักษิณมันพูดเลย เอาเสาไฟฟ้ามาลงก็ได้รับเลือก เพราะฉะนั้นผมว่าคนกรุงเทพต้องแสดงกึ๋นหน่อย คือสุขุมพันธ์ไม่ได้ดีวิเศษอะไรนักหนาประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ดีวิเศษนักหนา แต่ระหว่างเขาเลือก ภาษาฝรั่งเรียก the lesser evil มันจำเป็น ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับผม ไม่เป็นไรผมอยากให้ปรากฏจุดยืนผมอยู่ตรงนี้

ส.ศิวรักษ์
22/2/56

 

จากนั้น สมศักดิ์ ได้โพสต์ตั้งคำถามการแสดงความคิดเห็นของสุลักษณ์ระบุว่า ปัญหาที่ติดใจไม่ใช่เพราะการวิเคราะห์ว่าประชาธิปัตย์เป็น lesser evil โดยตัวเอง แต่เพราะพรรคประชาธิปัตย์มักดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง และเป็นเรื่องขัดแย้งที่สุลักษณ์เสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยสนับสนุนพรรคที่มีวาระเช่นนี้

 

[กระทู้ที่ 1]
ผมไม่มีปัญหาที่ อ. SulakSivaraksaจะไม่เลือกเพื่อไทย ผมก็ไม่ได้เลือกเหมือนกัน คร้้งนี้
(ถ้าผมจะมีข้อให้บ่น คือ อ.สุลักษณ์ ไม่ได้ให้เหตุผลจริงๆว่าทำไมจึงไม่เลือก หรือไม่ควรเลือก นอกจากบอกว่า "พรรคทักษิณเหี้ย" ผมคิดว่าในฐานะปัญญาชน ถ้าจะเลือก หรือไม่เลือก ควรให้เหตุผลประกอบไม่ใช่เพียงแค่ด่าเท่านี้)

แต่ที่ผมมีปัญหาจริงๆคือ การเสนอว่า ถ้ามีตัวเลือกระหว่าง เพื่อไทย กับ ปชป จะต้องเลือกเลือก ปชป

ปัญหาของผม ไมใช่ว่า อ.สุลักษณ์ จะถือว่า ปชป เป็น lesser evil (คือแย่น้อยกว่า) โดยตัวเอง ที่ไมใช่ปัญหานี้ เพราะ ผมไม่รู้เหมือนกันว่า evil ในทีนี้ อธิบายยังไง เนืองจาก ว่า อ.สุลักษณ์ ไม่ได้อธิบาย ว่า "พรรคทักษิณเหี้ย" นั้น อย่างไร (และดังนั้นจะว่า ปชป "เหี้ย" "น้อยกว่า" (คือ lesser evil) ยังไง ก็เลยไม่รู้ หรือไม่มีเหตุผลเหมือนกัน

แต่ประเด็นที่ผมคิดว่า เป็นปัญหาจริงๆ คือ โดยการ ignore เมินเฉย ต่อการทีปชป เล่นการเมือง โดยการเชียร์เจ้า อิงอำนาจเจ้า (หรือในหลายด้านเป็นการเพิ่มอำนาจเจ้า) ในระยะไม่กี่ปีนี้

ถ้า อ.สุลักษณ์ เลือกเทากับเป็นการขัดแย้งกับ ข้อเสนอของ สุลักษณ์ เอง ที่พูดเรือง "ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์" (เรือง ต้องโปร่งใส วิพากษ์วิจารณ์ได้ ฯลฯ)

การเสนอให้เลือก ปชป เท่ากับขัดแย้งกับข้อเสนอ เรือง ปฏิรูปสถาบันฯ ที อ.สุลักษณ์ ว่าไว้เองดังกล่าว

เพราะ ในหลายปีนี้ จนถึงบัดนี้ ปชป เป็นตัวแทนสำคัญของการทิศทาง ตรงข้าม กับการปฏิรูปสถาบันฯ

(แน่นอน ผมตระหนักว่า เพือไทย หรือ "พรรคทักษิณ" เอง ก็ไม่สามารถ เคลม ว่ามีทิศทาง ปฏิรูปสถาบันฯ โดยแท้จริง แต่อย่างน้อย จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามพรรคนี ยังไมใช่ พรรคที่ อาศัยอำนาจเจ้า อิงเจ้า และเสริม สถานะเจ้าอย่างที ปชป เป็น ในหลายปีนี้)

.......................

[กระทู้ที่ 2]
เสริมจากที่เขียนเมื่อครู่

ที่ผมมีปัญหามาก ในการที่ อ. SulakSivaraksaเสนอให้เลือก ปชป

คือ ในทางปฏิบัติ เท่ากับ อาจารย์กำลัง เล่นเกมส์ "อิงอำนาจเจ้า" (ทั้งๆที่ เสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์)

นี่ไมใช่อะไรทีไม่เคยเกิดมาก่อน

อันทีจริง นี่เป็นสิ่งที อาจารย์ทำเป็นระยะๆ ในระยะหลายปีนี้ (และเป็นประเด็นใหญ๋ ทีผมตั้งใจจะพูดในงาน "80 ปี" ของอาจารย์ ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ... เรืองนี้ คิดไว้หลายสัปดาห์แล้ว ตังแต่ถูกชวนให้พูดและรับปากไป คือ ก่อนกรณีล่าสุด เรืองเชียร์ ปชป นี้หลายวัน)

ทีว่า ทำเป็นระยะๆ แบบนี้ เช่น การขึ้นเวทีพันธมิตร ในปี 2549 ในช่วงทีพันธมิตร ชูคำขวัญ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" (เรืองนี้ อาจารย์ย่อมจำได้ดีว่าผมมี "จดหมายเปิดผนึก" แสดงความไม่เห็นด้วยตั้งแต่ตอนนั้น)

หลังจากนั้น ก็ยังมีบทสัมภาษณ์ ทีเปรียบเทียบว่า ทักษิณ เลวกว่า สฤษดิ์เพราะอย่างน้อย สฤษดิ์ ยังจงรักภักดี (ทักษิณ จะเลว กว่าสฤษดิ์ โดยตัวเองไมใช่ประเด็นของผม ประเด็นในทีนี้ คือ การที ว่า ทักษิณ เลว ด้วยเรือง "ไม่จงรักภักดี" นี่คือ การ "เล่นเกมส์ อิงเจ้า")

มาถึงเรืองทีสร้างความฮือฮาทีกล่าวหาทักษิณตรงๆว่า ล้มเจ้า (คราวที่ อาจารย์ ไปฟังข่าวลือเรืองมีการเล่นละครหมิ่นเจ้า ในการชุมนุม นปช ตอนหลัง อาจารย์ ถอนเรืองละครแต่ไม่เคย ถอนคำกล่าวหาเรืองทักษิณล้มเจ้า)

มาถึงการกล่าวหา (ในการเดินยาตรา อะไร เมือ ปีทีแล้วและในการพูดครั้งอื่นอีก) ทำนองว่า การมีการใช้ 112 มาก เป็น "แผน" ทักษิณทีจะบ่อนทำลาย สถาบันฯ (นี่คือการ "เล่นเกมส์ อิงเจ้า" เช่นกัน)

มาถึงล่าสุด เรืองเชียร์ ปชป นี้ ซึงแม้ อาจารย์จะไม่ได้ให้เหตุผลจริงๆ แต่ใครทีติดตามการเมือง โดยเฉพาะใครที มีความตั้งใจเรื่องปฏิรูปสถาบันฯจริง ก็ควรรู้ว่า จุดที่สำคัญมากๆ ของการเมือง ของ ปชป ในระยะหลายปีนี้คือการ อิงเจ้า สงเสริม สถานะ ที ตรวจสอบไม่ได้ ของสถาบันกษัตริย์

และดังนั้น การเชียร์ ปชป. จึงเทากับเป็นการ เล่นเกมส์ อิงอำนาจเจ้า ไปด้วยโดยปริยาย


ทั้งหมดนี้ (เพราะอย่างทีเขียนมา ไมใช่ ครั้งเดียว) เป็นอะไรที่ disturbing (ชวนวิตก รบกวนใจ) มาก

และอย่างทีบอกว่า ผมตั้งใจจะ raise ประเด็นนี้ อยู่แล้ว ในการสัมมนาวันที่ 17

นี่เรียกว่า อาจารย์ มา เพิ่มประเด็นตัวอย่างรูปธรรม ถึง disturbing behavior ของ อาจารย์ ในเรืองการ "เล่นเกมส์ อิงเจ้า" เข้ามาให้อีกเรื่องหนึ่ง

 

ล่าสุด วันที่ 25 ก.พ. สุลักษณ์ได้ตอบประเด็นของสมศักดิ์ ระบุว่า ใครจะอ้างอิงสถาบันเป็นเรื่องของคนนั้น แต่สำหรับสุลักษณ์นั้นต้องการรักษาสถาบันนี้ และการที่เขาถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 3 ครั้งล้วนเกิดขึ้นในสมัยทักษิณทั้งสิ้น ซึ่งการดำเนินคดีนี้ถือเป็นการบ่อนทำลายสถาบัน
 

ตอบสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ตอบ:คุณสมศักดิ์ เป็นคนน่ารัก แต่ว่าคุณสมศักดิ์ต้องถามตัวเองบ้างว่าคุณเกลียดเจ้ามากไปหรือเปล่าคือเรื่องทักษิณอยู่ฝ่ายที่ทำลายสถาบันกษัตริย์มันชัดเจนผมไปพูดที่รัฐสภาเลยเรื่องมาตรา112 คนฟังผมเต็มรัฐสภาเลย แล้วผมบอกว่ามาตรา112 เป็นมาตราซึ่งทำลายสถาบันกษัตริย์พระเจ้าอยู่หัวเองก็รับสั่งว่าใครทำเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำร้ายพระองค์ท่าน และทำให้สถาบันเสื่อมทราม แน่นอนถ้าเผื่อคุณอยู่ฝ่ายไม่ต้องการเจ้า คุณอาจจะเห็นด้วยแต่ผมนี่อยู่ฝ่ายที่ต้องการรักษาสถาบัน นี่จุดยืนผมชัดเจน แล้วผมก็พูดด้วยผมพึ่งไปงานศพเสธ.หนั่นมาเมื่อเร็วๆนี้ผมก็บอกเสธ.หนั่นนี่เขาเคยพูดกับผมเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับเขาเลยว่า คุณสนั่นบอกตำรวจอย่าไปจับนะเรื่องคดีหมิ่น แล้วตลอดเวลาที่เสธ.หนั่นเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ไม่มีคดีเลยเพราะเขาบอกตำรวจไม่ให้จับ แน่นอนพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เป็นพระเจ้าอยู่หัวสมบูรณาญาสิทธิ์ท่านสั่งไม่ได้ท่านได้แต่เปรย แล้วเสธ.หนั่นเขาก็ทำตามพระราชดำรัส พอหมดเสธ.หนั่นแล้วทักษิณมาเป็นใหญ่ ตำรวจมันเป็นรัฐภายในรัฐตำรวจมันฟังทักษิณมากกว่าคนอื่นหมดสมัยที่ทักษิณเป็นใหญ่ผมถูกจับ3ครั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตำรวจหาเรื่องจับผมทั้งนั้น แล้วผมหลุดทุกครั้งคุณสมศักดิ์พึ่งจะโดนนิดๆหน่อยๆเท่านั้นเองอย่าพึ่งมาเผยอพูดเลยปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม มันจับผมไปที่ขอนแก่นผมได้รับประกันตัวตี2 แล้วผมต้องขึ้นไปทุกเดือน ไปปรากฏตัวที่ขอนแก่นอภิสิทธิ์โทรศัพท์มาหาผมว่าจะช่วย ไม่ช่วยห่าอะไรเลย ผมไม่รู้เหรอมันไม่เคยช่วยเลย ตีฝีปากทั้งนั้นผมไม่รู้หรือ ความเหี้ยของประชาธิปัตย์ทุกคดีครับ 3 คดีสมัยทักษิณ ต้องการจะทำลายสถาบันกษัตริย์ชัดเจนที่สุดถ้าคุณเห็นด้วยกับทักษิณต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณก็เห็นไปแต่ผมเห็นชัดเจนทักษิณต้องการทำลายพระมหากษัตริย์ สำหรับผมนี่ผมอยู่ฝ่ายที่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์สถาบันกษัตริย์มีอะไรจุดอ่อนเยอะเยาะ บกพร่องเยอะแยะแต่ผมเห็นรักษาไว้ดีกว่าไม่รักษา จุดยืนเราต่างกันเท่านั้นเองไม่ใช่เรื่องอิงเจ้าอะไรต่างๆ แล้วผมไม่ต้องการอิงเจ้าแต่ผมต้องการรักษาสถาบันเจ้าให้ดำรงคงอยู่ แล้วผมไม่ต้องการให้ใครไปอิงใครจะอิงก็เรื่องของเขา ไอ้อภิสิทธิ์จะไปอิงใครจะอิงก็เรื่องของเขาต้องแยกกันให้ชัดเจน

ใช่แต่เท่านั้น ทักษิณพูดด้วยว่าคนของเขาแม้เสาไฟฟ้าลงก็ชนะ นี่มันปรามาสคนกรุงเทพทั้งหมดเลยเอาเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ แล้วคุณจะให้มันชนะได้ยังไงเพราะฉะนั้นผมก็ต้องออกมาสิครับ ไม่ชนะมีทางเดียว ก็ต้องให้สุขุมพันธุ์ได้เพราะถ้าคุณไปเลือกคนอื่นๆ ผมชอบคนอื่นเยอะเยาะเลย ไอ้สยามวาลาผมชอบมันมากเลย คนรุ่นใหม่แล้วมันจะเล่นกับเด็กรุ่นใหม่ถ้าเด็กรุ่นใหม่ไปเชื่อเลือกสยามวาลานี่ คะแนนเด็กรุ่นใหม่จะเสียหมดเลยครับเพราะพวกไม่มีพรรคจะไม่มีทางได้ คุณอาจได้คะแนนเพิ่มขึ้นแต่ถ้าคะแนนหัวแหลกหัวแตก ไอ้เบอร์9ได้แน่ๆเบอร์9ได้หมายความว่าเสาไฟฟ้าก็ได้ก็หมายความว่าสมตามคำที่ไอ้ทักษิณมันพูดเลยว่าคนของมันจะต้องได้แน่ๆแล้วมันจะใช้ทุกวิถีทาง ทั้งโฆษณาชวนเชื่อทั้งปั่นโพลต่างๆ โกงต่างๆสารพัดที่มันจะทำได้ มันต้องการชนะเพื่อจะพิสูจน์ว่ามันเป็นตัวสำคัญ เพราะฉะนั้นเราต้องพิสูจน์ให้มันเห็นไม่ให้มันชนะ แล้ววิธีเดียวครับ ให้สุขุมพันธุ์มาสุขุมพันธุ์ไม่ใช่คนดีวิเศษ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเหี้ยมากเลยแต่ที่ผมยังยืนยันคำนี้ ว่า lesser evil ไอ้นั่นมัน greater evil คุณสมศักดิ์ไม่เข้าใจไม่เป็นไร แล้ววันที่17 เรามาดวลกันได้ตัวต่อตัว หรือของคุณ 3 รุม1ก็ได้ พวกคุณ 3 คน ผมคนเดียว วันที่ 17

ทั้งนี้ กิจกรรมวันที่ 17 ที่ สุลักษณ์ กล่าวท้าดวลกับสมศักดิ์ นั้น เป็นงานปาฐกถาปาจารยสาร ในหัวข้อ "สังคมสยามตามทัศนะ ของปัญญาชนไทยหมายเลข 10" โดย ส.ศิวรักษ์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่  17 มี.ค. 56 นี้ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป สวนเงินมีมาคลองสาน กรุงเทพฯ โดยในงานดังกล่าวจะมี สมศักดิ์ รวมด้วยในช่วง "สามัคคีวิจารณ์" ซึ่งนอกจากสมศักดิ์แล้วยังมี สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และ ไชยันต์ ไชยพร ร่วมดัวย โดยมี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจัดโดย มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, ปาจารยสาร, ป๋วยเสวนาคาร, สถาบันสันติประชาธรรม และเสมสิกขาลัย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: ความโปร่งใสในยุคออนไลน์ เมื่อศาลอังกฤษนำคำพิพากษาขึ้นยูทูบ

Posted: 26 Feb 2013 01:29 AM PST

 

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลฎีกาของอังกฤษได้สร้างช่องทางใหม่ๆ เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนทั่วไป โดยประกาศว่าจะมีคลิปวิดีโอคำตัดสินของศาลฎีกาลงใน Youtube

วิดีโอสรุปโดยหัวหน้าผู้พิพากษา ซึ่งมีความยาว 5 นาที และจะโพสต์ลงในเว็บยูทูบ ในเวลาไม่นานหลังการอ่านคำพิพากษา ความเคลื่อนไหวนี้เดินตามความสำเร็จของการสตรีมมิ่งเว็บถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักข่าวสกายนิวส์

นอกจากนี้ยังมีบทสรุปของคดี จัดทำขึ้นเพื่ออธิบายอย่างสั้นๆ ถึงภูมิหลังของการอุทธรณ์ คำตัดสินของศาล และเหตุผลของคำตัดสินนั้น ทั้งหมดนี้จะออนไลน์สำหรับนักศึกษากฎหมาย นักวิชาชีพ และใครก็ตามที่สนใจผลของการอุทธรณ์ จะเข้าดูได้ตามสะดวก ทั้งนี้ บทสรุปย่อเขียนโดยผู้พิพากษาเอง

ลอร์ดนูเบอเกอร์ ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ความต้องการดูถ่ายทอดสดกระบวนการพิจารณาคดีผ่านเว็บมีมากกว่าที่เราคาดไว้ โดยมีผู้ชม 20,000 รายในแต่ละเดือน

 


https://www.youtube.com/user/UKSupremeCourt

 


https://twitter.com/UKSupremeCourt

 

อดัม แวกเนอร์ ทนายความและบรรณาธิการ ukhumanrightsblog.com เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในเว็บเดอะการ์เดียน บอกว่า ในเดือนมกราคม มีวิดีโอที่ออนไลน์แล้ว 10 ชิ้น และจะมีการอัปโหลดเพิ่มขึ้นเมื่อมีคำตัดสินออกมา  เว็บศาลฎีกาสะอาดตาและสวยงาม มีการเผยแพร่บทสรุปสำหรับสื่อในเวลาเดียวกับที่มีการตัดสิน อีกทั้งยังเป็นศาลฎีกาแรกที่มีทวิตเตอร์ @uksupremecourt ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดตามกว่า 32,500 ราย


"การสรุปคำตัดสินเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากสามารถเข้าถึงบันทึกการพิจารณาคดีแบบเต็มบนยูทูบ แบบเดียวกับที่ ศาลรัฐบาลกลางบราซิลมีบนยูทูบ" แวกเนอร์ระบุ

เบน วิลสัน หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารของสำนักงานศาลฎีกา บอกว่าศาลสนใจการอัปโหลดการพิจารณาแบบเต็ม แต่ยังติดปัญหาเรื่องความยาวในการพิจารณาคดี มีแนวโน้มจะใช้เวลาเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อการอุทธรณ์ การตัดต่อ แปลงไฟล์ บีบอัดไฟล์ อัปโหลดฟุตเทจจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด และยูทูบก็ไม่รองรับความยาวขนาดนั้น

"เมื่อเทียบกับศาลฎีกาแล้ว การที่สาธารณะจะเข้าถึงศาลอื่นๆ ในสหราชอาณาจักร แบบออนไลน์ค่อนข้างน่าผิดหวัง แทบไม่มีนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมจากศาลสูงสุดตกทอดไปยังศาลที่ต่ำกว่า และนี่เป็นปัญหาใหญ่ในการเข้าถึงความยุติธรรม ในโลกของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ สำหรับการที่เอกสารศาล คำตัดสิน การพิจารณา ไม่สามารถเข้าถึงได้แบบออนไลน์" แวกเนอร์ สรุปถึงเพดานในการเข้าถึงข้อมูลในศาลระดับอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมในยุคนี้

เรื่องของศาลอังกฤษสร้างความตื่นเต้นให้ผู้สนใจด้านกฎหมายและเฝ้าติดตามกระบวนการพิจารณาคดีต่างๆ ในเมืองไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับศาลไทย สถานการณ์ดูเหมือนจะยังห่างไกลจากอังกฤษ 

สำหรับศาลไทย คำพิพากษาศาลฎีกาจะมีการเปิดเผยทุกปี เรียกว่าเป็นการรวมคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจประจำปี โดยคัดสรรเฉพาะคดีที่มีข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัย และจะช่วยสร้างบรรทัดฐานในคดีอื่นๆ คำพิพากษานอกเหนือจากนั้น เราไม่อาจเข้าถึงได้เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เฉพาะคู่ความที่สามารถร้องขอได้ รวมถึงคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีสำคัญๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจนั้น ศาลชั้นต้นจะเปิดให้สาธารณชนเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ เข้าฟังการพิพากษาคดีได้ ในช่วงหลังราวกลางปี 2555 ศาลชั้นต้นของไทยยังริเริ่มในการสรุป "คำพิพากษาย่อ" ในคดีสำคัญที่สื่อให้ความสนใจติดตาม ซึ่งโดยมากจะเป็นคดีเกี่ยวกับการเมือง ความมั่นคง และสถาบันกษัตริย์ อาจเป็นเพราะมีความกังวลว่าจะสรุปความผิดเพี้ยน ตกหล่น ซึ่งเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่แตกแยกและมีคำวิพากษ์วิจารณ์ทุกองคาพยพ รวมถึงศาลเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน แต่แน่นอนว่า คำพิพากษาฉบับย่อก็อาจไม่ครอบคลุมประเด็นบางอย่างที่น่าสนใจ

สำหรับความคืบหน้าทิศทางการทำงานของศาลไทย ในปี 2556 นั้น นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เมษายนนี้จะเปิดทำการศาลใหม่ 2 แห่ง คือศาลจังหวัดหัวหินที่แยกจากศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศาลจังหวัดเวียงสระที่แยกจากศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นศาลชั้นต้นเพื่อบริการประชาชน

อีกทั้งจะมีการพิจารณางบประมาณสร้างศาลแขวงเพิ่มในเขต 4 มุมเมืองกรุงเทพมหานคร โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและยังมีโครงการเปิดทำการศาลนอก เวลาราชการ คือ วันเสาร์-อาทิตย์และภาคค่ำ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่ความและประชาชน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาคดีที่เข้าโครงการแล้วเสร็จมีจำนวน 72,903 คดี

ส่วนทิศทางการทำงาน โดยเฉพาะการประสานงานกับนักข่าวศาลยุติธรรมในยุคโซเชียลมีเดียนั้น  เขาระบุว่า สื่อมวลชนใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข่าวสารมากขึ้นอย่างยิ่ง ซึ่งกระทำได้อย่างรวดเร็ว แต่หากไม่รอบคอบและถูกต้องครบถ้วน ก็อาจทำให้สาธารณชนผู้รับสารเข้าใจข้อกฎหมายและคำพิพากษาตัดสินคลาดเคลื่อนจากความจริง ทางศาลจึงจะตั้งข้อกำหนดรัดกุมในการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเข้ารับฟังคำพิพากษาและจะจัดทำบทคัดย่อคำพิพากษา โดยมีเลขาธิการศาลอาญาพิจารณาบทคัดย่อด้วยตัวเอง สำหรับแจกจ่ายให้สื่อมวลชนหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ

เรื่องระเบียบข้อปฏิบัติภายในศาลนั้นอยู่ในอำนาจของเลขาธิการศาลอาญา ซึ่งระดับความเข้มงวดก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน เช่น ปัจจุบันนี้ต้องมีการให้ชื่อสกุล เบอร์ติดต่อ และสำนักข่าวทุกครั้งเมื่อเข้าไปในศาล ส่วนบุคคลทั่วไปก็ต้องมีการจดเลขที่บัตรประชาชนไว้ ในขณะที่ในอดีตไม่มีข้อกำหนดทำนองนี้  หรือกระทั่งการเข้าฟังการพิจารณาคดีบางคดี ก็มีการให้ผู้เข้าฟังจดชื่อและหมายเลขบัตรประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ด้วย

ที่สำคัญ ความเข้มงวดดังกล่าวก็ยังขึ้นอยู่กับองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ ด้วย เช่น กรณีของการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.53  จะพบว่าหากเป็นที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวและผู้สังเกตการณ์คดีจากทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยสามารถจดข้อความได้ขณะฟังการไต่สวน แต่หากเป็นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลจะ "ขอความร่วมมือ" ไม่ให้จด เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเหตุผลหลักอาจเป็นเรื่อง "ความผิดพลาด" ที่อาจเกิดขึ้น

ว่ากันสำหรับแนวคิดในเรื่องนี้ ในทางหนึ่ง นักกฎหมายหรือทนายความเห็นว่าการจดและเผยแพร่ข้อมูลระหว่างการพิจารณาคดี อาจมีผลต่อรูปคดีและพยานปากต่อๆ ไป แต่อีกด้านหนึ่ง นักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมายด้านสิทธิเห็นว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เป็นการตรวจสอบการทำงานของศาลไปด้วยในตัว ซึ่งโดยโครงสร้างนั้นเป็นหน่วยงานที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบยากอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงเป็น "จารีต" ที่ต้องถกเถียงอีกนานในสังคมไทย ว่าข้อดีข้อเสียของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในกระบวนการยุติธรรมควรมีอย่างไร เข้าถึงได้เพียงไหน และในรูปแบบใดบ้าง แต่เชื่อว่าเรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากในยุคที่อะไรๆ ก็ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้ว และการมีส่วนร่วมของคนธรรมดาพุ่งขึ้นสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

 

ติดตามการถ่ายทอดสดของศาลฏีกาได้ที่ www.proav.com  ช่องยูทูป https://www.youtube.com/user/UKSupremeCourt
เว็บไซต์ศาลฏีกาอังกฤษ  http://www.supremecourt.gov.uk/news/court-on-camera.html


ที่มาบางส่วน :
http://www.guardian.co.uk/law/2013/jan/21/supreme-court-youtube-open-justice

http://www.moneychannel.co.th/0Live_0/programpage.php?listid=5

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาวถือป้ายประท้วงบน BTS ขอสรยุทธเปิดเบื้องหลังทักษิณให้เสื้อแดงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

Posted: 26 Feb 2013 01:05 AM PST

หญิงสาวชูป้ายประท้วงบนสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ ขอ 'สรยุทธ' พิธีกรดังทำข่าว อ้างต้องการเผยข้อมูลเบื้องหลัง 'ทักษิณ' ให้คนเสื้อแดงพิจารณาก่อนเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.

25 ก.พ.56 เวลา 17.20 น. บริเวณชั้นสองบนสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ หญิงสาวอายุประมาณ 25 - 30 ปี ยืนอยู่ขอบระเบียง พร้อมถือป้ายร้องนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ขอให้ทำข่าวตนเองเปิดเผยเบื้อหลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คนเสื้อแดงพิจารณาก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดยป้ายที่ถือนั้นมีข้อความว่า "ดิฉันเคยหอบเอกสารไปหาคุณสรยุทธ มาครั้งหนึ่งแล้ว เคยมีนักข่าวบอกให้ดิฉันสร้างกระแส ดิฉันก็จะสร้างเพื่อให้คุณสรยุทธ มาทำข่าว ดิฉันจะเปิดเผยเบื้องหลังอดีตนายกทักษิณ เพื่อให้คนเสื้อแดงพิจารณาก่อนการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ"

ภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ FM. 91 Trafficpro


ระหว่างนั้นมีรถกระเช้าของเจ้าหน้าที่จอดอยู่ด้านล่าง และไม่นานผู้หญิงคนดังกล่าวก็ยอมกลับเข้ามาอยู่ในจุดที่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำตัวส่ง สน.ทองหล่อ เพื่อสอบสวนต่อไป

วิดีโอคลิปเหตุการณ์ :

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนท่าศาลา จี้ ‘สผ.’ แจงกรณีเดินหน้า ‘ท่าเรือเชฟรอน’ ทั้งที่บริษัทฯ ประกาศยุติโครงการแล้ว

Posted: 25 Feb 2013 11:57 PM PST

ชี้ปมคำถามสำคัญ 'บริษัทเชฟรอน' เจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการท่าเรือแต่ สผ.ยังคงดำเนินการไปสู่กระบวนการอนุมัติเพื่อให้ได้ใบอนุญาตสร้างต่อไปเพื่ออะไร ร้อง 'บริษัทเชฟรอน' ยกเลิก EHIA อย่างเป็นทางการ

ภาพจาก: http://www.greenpeace.org
 
วันนี้ (26 ก.พ.56) ที่สำนักงานนโยบายแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และภาคีเครือข่ายชุมชนท่าศาลา รวมตัวทวงถาม สผ.เพื่อสร้างความกระจ่างกรณีที่บริษัทเชฟรอนประกาศยุติการก่อสร้างท่าเรือที่ อ.ท่าศาลา มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 แต่กลับพบว่ากระบวนการดำเนินการทางกฎหมายคือการส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) ยังคงดำเนินการต่อไปไม่หยุดยั้ง
 
เครือข่ายภาคประชาชนระบุด้วยว่า กระบวนการหยุดเหล่านี้กลายเป็นระบบที่บิดเบี้ยวและฟั่นเฟือนสำหรับกลไกการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบทเรียนจากกรณีเชฟรอนกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวล ห่วงใย ต่อการไม่เป็นธรรมในระบบ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปจนกระทั่งการอนุมัติและการออกใบอนุญาต
 
คำถามที่สำคัญคือ 'เจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการ แต่สผ.ยังคงดำเนินการไปสู่กระบวนการอนุมัติเพื่อให้ได้ใบอนุญาตการสร้างท่าเรือต่อไป?'
 
ประเด็นถัดมา คือ ชุมชนได้ร้องไปยัง สผ.ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เพื่อให้เกิดการทบทวนรายงาน EHIA ซึ่งพบว่าผิดพลาดจากข้อเท็จจริง โดยขอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ทบทวนมติเพื่อให้ยกเลิกรายงาน EHIA เพราะพบข้อผิดพลาดหลายประการในรายงาน EHIA อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งขณะนี้ยังไม่มีการทบทวนมติแต่อย่างใด ในขณะที่กระบวนการอนุมัติยังคงดำเนินการต่อท่ามกลางการประกาศยุติโครงการจากเจ้าของโครงการ
 
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และภาคีเครือข่ายชุมชนท่าท่าศาลา คือ ให้บริษัทเชฟรอนยกเลิกรายงาน EHIA อย่างเป็นทางการ และให้ สผ.ยุติการดำเนินการต่อในกระบวนการอนุมัติการสร้างท่าเรือดังกล่าว
 
ส่วนกิจกรรมในวันนี้ เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เครือข่ายลูกหลานท่าศาลาและภาคีติดตามกรณีเชฟรอน มีการเปิดการแสดงโดย เลน จิตติมา และเครือข่ายฯ มีการแสดงทางศิลปะ และอ่านบทกวี อ่านคำประกาศ จากนั้นในช่วงบ่ายมีการประชุมเจรจากับตัวแทน สผ.
 
แถลงการณ์ มีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา-เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา-เครือข่ายลูกหลานท่าศาลาและภาคีติดตามกรณีเชฟรอน
 
26 กุมภาพันธ์ 56

...สผ.กับเชฟรอนต้องหยุดเกมลวงโลก 
ถอนรายงาน อีเอชไอเอ เชฟร่อน ทันที!!!
 
ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ที่อำเภอท่าศาลากลายเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนนับแสนมาหลายชั่วอายุคน ทะเลท่าศาลาเป็นของทุกคนที่กินปลาและที่เป็นมนุษย์ทะเลนี้จึงมิใช่ของคนท่าศาลาเพียงหมู่เดียว หากแต่พวกเราเพียงทำหน้าที่เป็นคนรักษาทะเลและผลิตอาหารเลี้ยงผู้คน เราใช้เวลานับ 20 ปีสู้กับการทำลายร้างทะเลท่าศาลา เราใช้เวลา 10 กว่าปีสำหรับกระบวนการอนุรักษ์ให้ทะเลยังคงสมบูรณ์ เราอาจได้เงินมาจากการจับสัตว์น้ำ แต่เงินของเราก็คืออาหารของทุกคน

11 ก.ย.2555 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายใต้ฝ่ายเลขาคือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติรายงาน EHIA ให้บริษัทเชฟรอนสร้างท่าเรือเพื่อรองรับกิจกรรมปิโตรเลียมของบริษัท... วันนั้นคนท่าศาลาเพิ่งตระหนักว่ากลไกของรัฐมีไว้เพื่อรับใช้ทุนขนาดใหญ่ และนักวิชาการได้ใช้สติปัญญาอันโง่เขลาตัดสินว่าการสร้างท่าเทียบเรือที่นี่ชอบด้วยเหตุผลตามที่บริษัทเสนอ... ทั้งที่รายงาน EHIA ของบริษัทเชฟรอนน่าจะเป็นรายงานฉบับที่มักง่ายที่สุดเล่มหนึ่งตามการวิเคราะห์ และจัดสัมมนาของนักวิชาการและการจัดทำข้อมูลของภาคประชาชนมาเทียบเคียงชี้ข้อบกพร่องให้เห็นว่า รายงานฉบับนี้มักง่ายเกินไปที่จะอนุมัติ... แต่ สผ.และคชก.ก็ยังใช้นิสัยเดิมคือไม่ยอมรับ

7 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด ได้ประกาศยุติโครงการท่าเทียบเรือฯ หลังจากที่องค์กรภาคประชาชนรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง จนเกิดพลังอย่างมหาศาลของประชาชนท่าศาลาและพื้นที่ใกล้เคียงในการลุกขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์ปกป้องพื้นที่นี้ไว้สำหรับการผลิตอาหาร พร้อมกับประกาศหยุดยั้งภัยคุกคามใดก็ตามที่กระทำกับพื้นที่ผลิตอาหาร... วันที่บริษัทเชฟรอนประกาศยุติโครงการฯ เราคิดว่าจะสานต่อเจตานารมย์ปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารอย่างปราศจากภัยคุกคาม... หากแต่ สผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญสำหรับเส้นทางอนุมัติการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือประกาศเดินหน้าต่อด้วยการส่งรายงาน EHIA ไปยัง กอสส.และกรมเจ้าท่า... วันนั้นคนท่าศาลาและพื้นที่อื่นๆ กำลังงงว่าเรากำลังสู้อยู่กับอะไร
 
12 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนฯ ส่งหนังสือมายัง เลขาธิการ สผ.เพื่อขอแจ้งยุติโครงการสร้างท่าเทียบเรือฯ อย่างเป็นทางการ แต่ยังคงขอส่งรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์มายัง สผ.เพื่อดำเนินการต่อ คำถามที่สำคัญสำหรับคนท่าศาลาและสาธารณะที่รับรู้คือ ในขณะที่บริษัทประกาศยุติโครงการแต่ยังดำเนินการส่งรายงาน EHIA ซึ่งเป็นรายงานที่จะขอรับใบอนุญาตสร้างท่าเรือต่อไป... การกระทำทั้งสองประกาศขัดกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรามิอาจไว้วางใจบริษัทเชฟรอนที่ประกาศวิสัยทัศน์ว่า "เราซื่อสัตว์ต่อตนเองและผู้อื่น เราดำเนินธุรกิจทุกประเภทบนพื้นฐานของจรรยาบรรณ มาตรฐานสูงสุด เรารักษาคำพูดของเราเสมอ เรามีความรับผิดชอบต่อการกระทำและงานที่ได้รับมอบหมาย" วิสัยทัศน์ที่ขัดกับการกระทำเช่นนี้จะให้เราไว้วางใจได้อย่างไร
 
25 มกราคม 2556 สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา มีหนังสือถามมายังเลขาธิการ สผ.ขอให้ชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นเพราะได้รับความสับสนจากเส้นทางการอนุมัติรายงานจนถึงการขอใบอนุญาต โดย สผ.ได้มีหนังสือตอบคำถามมายังสมาคมลงวันที่ 6 ก.พ.2556 
 
ประการแรก ขอให้ทบทวนมติ คชก. สมาคมฯ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 22 พ.ย.2555 ขอให้ คชก.ทบทวนมติการอนุมัติรายงาน EHIA ของเชฟรอนเพราะพบข้อบกพร่องหลายประการ จนถึงปัจจุบัน บริษัทเชฟรอนยังไม่ส่งข้อมูลมายัง สผ.เพื่อประกอบการพิจารณาครั้งใหม่ของ คชก.ตามการร้องขอของ สผ.ลงวันที่ 30 พ.ย.2556 เวลาผ่านไปเกือบ 4 เดือน บริษัทเชฟรอนยังไม่ชี้แจงข้อมูล แต่กลับแข็งขันในการส่งรายงาน EHIA กลับมายัง สผ.เพื่อดำเนินการต่อ ตกลงพวกคุณ (สผ.กับ เชฟรอน) กำลังเล่นเกมส์อะไรกันอยู่ 
 
ประการสอง สผ. มีความเห็นว่าแม้ว่าบริษัทประกาศยุติโครงการฯ จะไม่มีผลต่อการเห็นชอบรายงานของ คชก. และหาก คชก. ยืนยันมติเห็นชอบรายงาน EHIA สผ.ก็จะส่งรายงานไปยังกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุญาตเพื่อจัดทำกระบวนการต่อไปรวมทั้งส่งให้ กอสส.เพื่อให้ความเห็นประกอบต่อไป คำถามสำหรับคนท่าศาลาจึงมีว่า การประกาศยุติโครงการฯ ของบริษัทเชฟรอน ไม่มีผลแต่อย่างใด กระบวนการยังคงเดินหน้าต่อจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตและเชฟรอนจะเปลี่ยนใจมาสร้างท่าเทียบเรือตอนไหนก็ได้ เพราะใบอนุญาตไม่มีหมดอายุ ในขณะที่บริษัทเชฟรอนยังทำงานมวลชนในพื้นที่แบบรุกหนักเช่นเดิม นี่อาจเป็นการเล่นละครตบตาประชาชนครั้งสำคัญภายใต้การเล่นแง่ตามกลไกกฎหมายที่ให้อำนาจกับ สผ. 
 
20 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีหนังสือตอบมายังสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จากการส่งหนังสือไปสอบถามเพื่อขอความชัดเจนกรณียุติโครงการฯ ลงหนังสือวันที่ 5 ก.พ. 2556 บริษัทยืนยันไม่ขอยกเลิกรายงาน EHIA โดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ...เหตุการณ์ที่สอดคล้องต้องกันยืนยันว่า ทั้งบริษัทเชฟรอนและสผ.จะยังคงยืนยันดำเนินการส่งรายงานEHIA ฉบับนี้ไปสู่กระบวนการขอใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าต่อไป... การประกาศยุติโครงการของเชฟรอนเป็นเพียงปาหยี่เยื้อเวลาเท่านั้นเอง

เราไม่ได้เรียกร้องเกินกว่าเหตุ แต่มิอาจไม่กระทำเพราะกลไกที่ขาดความโปร่งใสไร้ซึ่งความเป็นธรรมสำหรับกระบวนการพัฒนา ที่จะก่อให้เกิดความวิบัติทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในอนาคต คำถามก็คือหน่วยงานรัฐมีไว้สำหรับรับใช้ประชาชนหรือรับใช้นายทุนข้ามชาติ การประกาศยุติโครงการของเชฟรอนฯ ควรจะเพียงพอที่จะทำให้ทุกอย่างจบลง โดยมิต้องดำเนินการใดๆ แม้กระทั่งรายงาน EHIA ก็ต้องยกเลิกเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อ เหตุการณ์ที่กลับตาลปัตรดังกล่าว มิอาจทำให้การเคลื่อนไหวของลูกหลานชาวนครศรีธรรมราชและเครือข่ายที่เฝ้าติดตามเรื่องนิยุติลงได้ เพราะประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่แสดงถึงความฟั่นเฟือนของระบบ และความไม่ชอบมาพากลระหว่างหน่วยงานรัฐกับเจ้าของโครงการ
 
ข้อเรียกร้องของเราคือ ขอให้ยกเลิกรายงาน EHIA ฉบับนี้ทันที เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีความจำเป็นอย่างใดอีกที่จะดำเนินการเพราะเจ้าของโครงการประกาศยุติการดำเนินการแล้ว ข้อเรียกร้องของเรามีเพียงข้อเดียวเท่านั้นและคิดว่าสมเหตุผลสำหรับการปกป้องพื้นที่ชุมชน สมเจตนารมณ์ของบริษัทที่ต้องการยุติโครงการฯ... เหลือเพียงหน่วยงานรัฐ (สผ.) ที่ถึงเวลาต้องแสดงจุดยืน อย่าได้กลายเป็นศัตรูของประชาชนอีกเลย
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา
เครือข่ายลูกหลานชาวท่าศาลาและภาคีติดตามกรณีเชฟรอน
26 กุมภาพันธ์ 56
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลงอยู่ในเกม: ไทยพีบีเอสกับรายงานข่าวขบวนการนศ. ชายแดนใต้

Posted: 25 Feb 2013 11:38 PM PST

 

รายงานข่าวชิ้นหนึ่งเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 กพ.ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในโลกโซเชียลมีเดีย หลังจากออกอากาศไปได้ไม่นานก็มีการแชร์ลิงค์และดูซ้ำกันมากมายในหมู่คนที่สนใจเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มคนที่ดูแล้วระทึกเป็นพิเศษคือกลุ่มนักศึกษาและคนหนุ่มสาวในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องความไม่เป็นธรรมโดยหยิบประเด็นต่อเนื่องมาจากเรื่องการปะทะที่ค่ายทหารที่บาเจาะอันเป็นผลให้มีคนตาย 16 ศพเมื่อ 13 กพ.ที่ผ่านมา

คลิกเพื่อชมรายงานที่ http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/tpbs/2013-02-24/19/

งานของไทยพีบีเอสชิ้นนี้มีหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของการทำงานของสื่อสารมวลชนที่เป็นสื่อสาธารณะ และบอกเล่าถึงเกมการต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

1.ในรายงาน ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสหยิบประเด็นนักศึกษากับขบวนการที่ต่อต้านรัฐไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมานำเสนอเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างขบวนการนักศึกษา ขบวนการต่อต้านรัฐในภาคใต้ ทำให้เข้าใจว่ากิจกรรมหลายๆที่ที่พยายามจะเจาะลึกเบื้องหลังการหันหลังให้รัฐของคนอย่างมะรอโซ จันทราวดีล้วนเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดแนวรุกทางการเมืองให้กับขบวนการ รายงานหยิบเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอโดยเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่าในกลุ่มคนที่ไปโจมตีค่ายทหารและเสียชีวิตลงสิบหกรายนั้น หนึ่งในนั้นเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รายงานของไทยพีบีเอสชี้ต่อไปโดยอาศัยข้อมูลไม่แจ้งที่มาว่า ขบวนการมีคนของตนอยู่ในองค์กรของนักศึกษา มีรูปแบบการจัดตั้งที่ชัดเจน และให้ข้อมูลอย่างแหลมคมว่าคนของขบวนการสามารถเกาะกุมการเคลื่อนไหวกิจกรรมของนศ.ในองค์กรนักศึกษาคือสนนท. ได้ ยิ่งกว่านั้นยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงการทำงานขององค์กรนศ.ในส่วนกลางอีกด้วย

จากรายงานนี้ทำให้เราตีความได้ว่า คนของขบวนการที่รายงานนำเสนอเหล่านี้น่าจะอยู่ในระดับหัวขบวนและอยู่ในตำแหน่งสำคัญของสนนท.เพราะสามารถจะกำหนดงานกิจกรรมของนศ.ได้

อันที่จริงนักศึกษากับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้และมีตัวอย่างให้เห็นทั่วโลกรวมทั้งในไทยเอง แต่การหยิบโยงกรณีนักศึกษาหนึ่งคนเข้ากับกลุ่มนักศึกษาทั้งกลุ่มดูจะเป็นการตีความข้อมูลที่ค่อนข้างจะเกินพอดีไปมาก ที่น่าแปลกใจมากกว่าก็คือการอ้างข้อมูลที่ไม่มีที่มาที่ไปแต่อย่างใดในการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงขององค์กรนักศึกษากับขบวนการ  ประการนี้อย่างเดียวก็ทำให้รายงานชิ้นนี้ขาดดีกรีความเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือมากพอแล้ว อย่างไรก็ตามในหมู่ผู้ที่คุ้นชินกับการวิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะพบว่า ข้อมูลที่รายงานข่าวของไทยพีบีเอสนำมาออกนั้นมีความคล้ายคลึงกับข้อมูลการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ในกอ.รมน.เป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่รู้กันว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งข้อสงสัยกับคนในขบวนการนศ.จำนวนมาก หลายคนเคยถูกซักถามสอบปากคำและแม้แต่เจอไม้หนักมาแล้ว

2 ข้อเท็จจริงประการถัดมาที่รายงานข่าวของไทยพีบีเอสนำมาประกอบการนำเสนอให้ภาพว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อพลิกเรื่องราวของกลุ่มคนที่เสียชีวิตที่ค่ายทหารบาเจาะและโดยเฉพาะกรณีของมะรอโซ จันทราวดีทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่กลายเป็นฝ่ายตั้งรับ ก็คือการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องหลังความตายของมะรอโซและพวก โดยเฉพาะการจัดเสวนาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงจุดประเด็นถกในสังคมภายใต้หัวข้อ "มะรอโซ จันทรวดี (และพรรคพวก) กบฏรัฐสยามหรือวีรบุรุษนักรบปาตานี" ซึ่งรายงานไทยพีบีเอสระบุว่าเป็นการ "เบี่ยงเบน" นอกจากนั้นรายงานชิ้นถัดมาของไทยพีบีเอสยังระบุว่า การนำเสนอรายงานของ "สื่อสังคม" กระทบความรู้สึกของคนในพื้นที่ รายงานชิ้นหลังนี้นำเสนอความเห็นของอดีตโฆษกกอ.รมน.พอ.ปริญญา ฉายดิลกที่เตือนการทำงานของสื่อโซเชียลมีเดียจากในพื้นที่สามจังหวัดว่าเร้าอารมณ์ – แปลไทยเป็นไทยคือกำลังปลุกคนในพื้นที่ให้เห็นผิดเป็นถูก

อันที่จริงการนำเสนอเรื่องมะรอโซกับพวกในฐานะวีรบุรุษของคนในพื้นที่นี้ ไม่ได้ออกมาแค่สองเวทีดังกล่าว แม้แต่ในเวทีการเสวนา "ปริศนาความรุนแรง ณ ปาตานี" ในวันถัดมาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเมื่อ 23 กพ.ก็มีการพูดคุยที่ตั้งคำถามในแนวทางอันเดียวกัน ผู้ร่วมหารือบางส่วนพยายามเจาะปัญหาที่ว่า

มะรอโซและพวกเป็นกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมจึงได้ลงเอยด้วยการ "เป็นโจร" สิ่งหนึ่งที่พูดกันมากหลังความตายของมะรอโซ ผ่านการบอกเล่าของครอบครัวและผ่านหลักฐานจำนวนหนึ่งที่นำเสนอโดยตัวของมันเองคือความเชื่อมโยงเรื่องของคนที่เห็นต่างจากรัฐและจับอาวุธต่อสู้เข้ากับเรื่องของความคับแค้น คือความเชื่อมโยงกับกรณีตากใบ จากการตรวจสอบของสื่อบางส่วนในพื้นที่พบว่า ในบรรดาผู้คนที่เสียชีวิตสิบหกศพนั้น มีถึงครึ่งหนึ่งที่เคยถูกจับกุมในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบเมื่อปี 2547 หลายคนแม้จะรอดชีวิตมาได้จากการขนส่งแบบพิเศษรวมทั้งจากการถูกดำเนินคดี แต่ก็ถูกตามล้างตามเช็ดจนอยู่ไม่เป็นสุข ในความเห็นของผู้คนในครอบครัวคนที่ตายจากการปะทะที่ค่ายทหารที่บาเจาะที่บ่งบอกผ่านบทสัมภาษณ์ก็คือ พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการรังควานของอำนาจรัฐผ่านเจ้าหน้าที่ที่เชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่อยู่ในขบวนการ วิธีการก็คือการไปกดดันที่เรียกกันว่าการไปเยี่ยมเยียน ประกอบด้วยการไปหา ซักถาม ตรวจสอบข้อมูล และตรวจค้นแบบไม่หยุดหย่อนจนแทบทำอะไรไม่ได้ สร้างความหวาดกลัวจนหลายคนไม่อาจอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในพื้นที่ได้

นอกจากนั้นคนในครอบครัวยังเชื่ออีกว่า คนอย่างมะรอโซแบกรับภาระการเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆมากมายทั้งๆที่บางคดีพวกเขาเชื่อว่าคนของตัวเองไม่เกี่ยวข้อง หมายจับจำนวนมากก็อาจไม่มีหลักฐานมากมายและกลายเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดอาการ "จนตรอก" ในเรื่องนี้สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมซึ่งเข้าร่วมการเสวนาในวันเสาร์ที่ 23 กพ.ที่มอ.ปัตตานีก็กล่าวถึงเช่นกันโดยตั้งข้อสังเกตุให้วงเสวนาให้ผู้เกี่ยวข้องมองปัญหาการออกหมายจับของเจ้าหน้าที่ พร้อมเสนอให้ตรวจสอบ ว่าใช้หลักฐานที่แน่นหนาพอหรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ของการต่อสู้คดีความมั่นคง

ในพื้นที่มายาวนานเขาพบว่า การออกหมายจับและการสั่งฟ้องจำนวนมากอาศัยหลักฐานที่มาจากการซัดทอดรวมทั้งหลักฐานอื่นๆที่ถึงที่สุดแล้วไม่มีน้ำหนัก สิทธิพงษ์ชี้ว่าผลของการออกหมายจับจำนวนมากที่อาจไม่มีน้ำหนักนี้ทำให้คนที่ถูก "หมายหัว" อย่างเช่นมะรอโซหมดหนทางในอันที่จะสู้คดีเพราะเมื่อรวมกันเข้าแล้วอาจต้องใช้เกินเวลาทั้งชีวิตในคุก หรือหากไม่ต้องการเช่นนั้นก็ต้องจำใจยอมรับในความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อแล้วขอมอบตัวเข้าสู่หนทางของการใช้มาตรา 21 ของพระราชบัญญัติความมั่นคง ที่เจ้าหน้าที่

กำลังผลักดันอย่างแข็งขัน คือการนิรโทษกรรมคนที่ "กลับใจ" ซึ่งสำหรับคนที่ฆ่าได้หยามไม่ได้ หนทางเช่นนี้อาจไม่ต่างไปจากการยอมรับความตาย วงเสวนาอย่างเช่นที่มอ.ปัตตานีพบว่าหลายคนในพื้นที่ที่มีประเด็นร่วมกับมะรอโซโดยเฉพาะกรณีตากใบพยายามหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อผลักดันให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ "สาง" ความผิดพลาดในอดีต มีบางรายเสนอให้หยิบคดีตากใบขึ้นมาหาทางปัดฝุ่นใหม่ ในขณะที่คนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมวงการเสวนาร่วมอภิปรายกันอย่างคึกคัก บ้างมีข้อเสนอที่ค่อนข้างไปไกลกว่า เช่นให้มีการลงประชามติว่าคนในพื้นที่ต้องการหนทางในการแก้ปัญหาอย่างไร

ต้องยอมรับว่าคนหนุ่มสาวและนศ. จำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจจากความตายของมะรอโซและพวกอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากหลายต่อหลายคนในกลุ่มนี้มีประสบการณ์ร่วมกับคนอย่างมะรอโซ เพราะการถูกตั้งข้อสงสัย ถูก "เชิญตัว" ไปสอบปากคำและเป็นเป้าของการลงไม้ลงมือจนกระทั่งถูกติดตาม ข่มขู่ด้วยวิธีนานัปการ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะพยายามนำเสนอปัญหาของความไม่เป็นธรรม การนำเสนอของเหล่านี้แน่นอนว่า ท่วงทำนองอาจดุเดือดเลือดพล่านและแรงจนถึงขั้นนำระบุว่ามะรอโซและพวกคือวีรบุรุษของชาวบ้านจนทำให้คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยยากเปิดใจแม้แต่จะรับฟัง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ การนำเสนอปัญหาอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้โดยกลุ่มคนที่ปกติเกรงกลัวเจ้าหน้าที่อย่างมากถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมาก่อน ในด้านหนึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญของการถกเถียงปัญหาในพื้นที่ซึ่งเดิมทีเต็มไปด้วยความเงียบ หลายคนในพื้นที่เองก็อยากเห็นการถกเถียงเช่นนี้โดยเฉพาะให้ไปไกลถึงขั้นร่วมกันพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกใช้ความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การพูดคุยจริงจังที่ทำท่าว่ากำลังจะเกิดแม้ว่าอาจฟังดูแรงแต่ถ้าให้เวลาอาจถือได้ว่ายังมีโอกาสที่จะเป็นการถกเถียงที่ใช้สติได้ ทว่าการถกเถียงพูดคุยเหล่านี้กำลังถูกบีบให้เงียบลงด้วยกระบวนการที่นำไปสู่การติดยี่ห้อ (อีกครั้ง) ว่าคนที่นำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูดคือคนของขบวนการ ไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดเสียงเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในพื้นที่หลายคนหลังการนำเสนอรายงานของไทยพีบีเอสชิ้นนี้จึงดังออกมาว่า "อย่าผลักเรา"

เป็นที่รู้กันว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ต้องการให้มีการเจรจากับฝ่ายตรงข้าม ทางเลือกที่พวกเขาเสนอคือการปราบและกดดันให้สมาชิกมอบตัวยอมรับผิดและขอนิรโทษกรรมผ่านการใช้มาตรา 21 ส่วนการคลี่คลายปัญหาที่เป็นเงื่อนไขความรุนแรงโดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรมหลายกรณีที่มาจากจนท.รัฐกลับไม่ได้รับการส่งเสริมให้คืบหน้ายกเว้นความพยายามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ใช้เงินนำในการเข้าไปเยียวยาจิตใจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองได้แต่ตอกย้ำประเด็นว่า คนที่เข้าร่วมขบวนการตกเป็นเหยื่อของการชักจูงถูกผลักให้เป็นเบี้ยของการเดินเกมของขบวนการเพื่อให้ภาพประกอบว่ารัฐไทยอ่อนหัดในด้านการปกครองและสร้างเงื่อนไขไม่เป็นธรรมซ้ำซากเพื่อดึงคนที่เป็นเหยื่อให้เข้าสู่เกมการต่อสู้และเข้าสู่ขบวนการ

การใส่ยี่ห้อคนของขบวนการให้กับคนบางกลุ่มที่กำลังเริ่มเปิดปากและทำให้พวกเขาเงียบเสียงลงจึงเท่ากับว่า แทนที่จะเปิดเวทีสามัคคีคนหลายฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงให้พูดคุยถึงปัญหาอย่างเปิดใจ ถือว่าเป็นการเปิดแผลเก่าออกล้างทำความสะอาดใหม่ แต่สังคมเลือกที่จะปิดมันต่อไปพร้อมกับปล่อยให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงแก้ปัญหาด้วยวิธีการของตนเองซึ่งหลายเสียงบ่นมาเนิ่นนานแล้วว่าไมได้ผล

รายงานข่าวชิ้นนี้ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจึงกลายเป็นทัพหน้าของการเดินเกมของฝ่ายความมั่นคง มันทำหน้าที่ส่งเสียงเตือนแทนเจ้าหน้าที่ไปยังกลุ่มนศ.และคนหนุ่มสาวที่กำลังพลุ่งพล่านด้วยแรงบันดาลใจจากมะรอโซให้เงียบเสียง เป็นเสียงเตือนให้คนที่พยายามจะมองหาความเป็นเหยื่อของมะรอโซและพวกให้เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาอย่างยั่งยืนต้องเว้นระยะห่างจากการกระทำดังกล่าว พร้อมกับปล่อยให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆของตัวเองต่อไป  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ลดโทษกวีกาตาร์ ผู้ถูกกล่าวหายุยงล้มล้างระบอบฯ เหลือจำคุก 15 ปี

Posted: 25 Feb 2013 10:32 PM PST

มูฮัมหมัด ราชิด อัล-อาจามี กวีชาวกาตาร์ผู้เขียนบทกวีกล่าวถึงการลุกฮือที่ตูนีเซีย ถูกกล่าวหาว่ายุยงล้มล้างระบอบการปกครองได้รับลดโทษเป็นจำคุก 15 ปี จากเดิมที่ถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต โดยมีกลุ่มด้านสิทธิและกลุ่มวรรณกรรมหลายกลุ่มเรียกร้องให้ปล่อยตัวกวีผู้นี้

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2013 ในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ กวีชาวกาตาร์ที่เคยถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเขียนบทกวีต่อต้านรัฐบาล ได้รับการลดโทษจากศาลอุทธรณ์เหลือโทษจำคุก 15 ปี

เมื่อปีที่แล้ว กวีชาวกาตาร์มูฮัมหมัด ราชิด อัล-อาจามี ผู้ใช้นามปากกา อิบนฺ อัล-ดีบ ได้ถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ด้วยข้อหา "ยุยงให้มีการล้มล้างระบอบการปกครองของประเทศ" จากประมวลกฏหมายมาตรา 136 ซึ่งนักกิจกรรมคาดว่าเป็นเพราะเขาได้เขียนบทกวีเกี่ยวกับการลุกฮือที่ตูนีเซียช่วงปี 2010-2011

บทกวีดังกล่าวมีชื่อว่า 'ดอกมะลิตูนีเซียน' (Tunisian Jasmine) โดยเนื้อความในบทกวีเขียนว่า "พวกเราทุกคนล้วนเป็นชาวตูนีเซียเมื่ออยู่ต่อหน้าชนชั้นนำผู้กดขี่" และ "รัฐบาลอาหรับรวมถึงผู้ปกครอง ไม่ว่าใครผู้ใด ล้วนเป็นขโมย  ขโมย!"

โดยในเดือน ส.ค. 2010 มีผู้รายงานว่าอาจามีได้อ่านบทกวีชิ้นนี้ต่อหน้าเพื่อนหลายคนในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งเขากำลังเรียนวรรณกรรมอาหรับอยู่ในขณะนั้น และในเวลาต่อมาก็มีผู้บันทึกภาพการท่องบทกวีดังกล่าวอัพโหลดเป็นวีดิโอขึ้นเว็บยูทูบ อาจามีถูกจับกุมในเดือน พ.ย. 2011 และในปีถัดมาก็ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

ดร.นาจีบ อัล-นุอายมี ทนายความของอาจามีเปิดเผยว่าผู้พิพากษาทั้ง 5 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดโทษอาจามีเหลือจำคุก 15 ปี โดยจะมีการยื่นเรื่องต่อศาลฏีกาของกาตาร์เพื่อเปิดการพิจารณาอีกครั้งภายในสามสัปดาห์ถัดจากนี้ โดยที่นุอายมีกล่าวอย่างมีความหวังว่าลูกความของเขาอาจจะได้รับการอภัยโทษ "ทุกคนรู้ พวกเขาบอกเราว่า แม้เขาจะถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต หรือ 15 ปี หรือเท่าใดก็ตาม ก็มีโอกาสที่เขาจะถูกปล่อยตัวภายในอีกสองเดือนถัดมา"

นิโคลาส แมคกีฮัน จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ แสดงความเห็นโดยอ้างจากข้อมูลของคดีว่าบทกวีของอาจามีน่าจะเกิดขึ้นจากการประชันบทกวีกับกวีอีกคนหนึ่ง และในช่วงที่มีการประชันบทกวีดูเหมือนว่าอาจามีได้กล่าวหมิ่นเจ้าผู้ครองรัฐ (emir) ของกาตาร์ในระดับหนึ่ง

สตีฟ คาตอน ศาตราจารย์ด้านวัฒนธรรมอาหรับร่วมสมัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่าในโลกอาหรับบทกวีการเมืองจะมีความจริงจังกว่าในโลกตะวันตก แต่ก็มีอยู่น้อยกรณีมากที่กวีจะถูกต้องโทษจำคุกจากข้อความในบทกวี


กลุ่มด้านสิทธิและกลุ่มวรรณกรรมเรียกร้องปล่อยตัวอาจามี

ดร. อาลี บิน ฟาตาอีส อัล-มาร์รี อธิบดีกรมอัยการของกาตาร์กล่าวว่าเขาไม่พอใจคำตัดสินของศาลอุทธรณ์เพราะในฐานะของอธิบดีกรมอัยการแล้วเขาต้องการให้จำเลยรับโทษจำคุกตลอดชีวิตเช่นเดิม มาร์รีกล่าวอีกว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีหลักฐานแน่นหนา การกล่าวล่วงเกินเป็นสิ่งที่น่าตำหนิภายใต้กฏหมาย และตัวผู้กระทำผิดก็ยอมรับสารภาพ

อย่างไรก็ตาม นุอายมี โต้ว่าบทกวีของอาจามีที่เคยถูกอ่านในอียิปต์ไม่ได้ถูกนำมาอ่านซ้ำต่อหน้าสาธารณชนเขาจึงไม่ควรถูกตั้งข้อหายุยงให้ล้มล้างรัฐบาล เขาบอกอีกว่าอาจามีไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นด้วย

นุอายมี เป็นอดีตรมต. กระทรวงยุติธรรม ที่เคยทำงานเป็นหนึ่งในทีมทนายให้กับซัดดัม ฮุสเซน หลังจากที่ซัดดัมถูกโค่นล้มและตัดสินโทษประหารชีวิตในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

การตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิตกวีชาวกาตาร์ทำให้มีกลุ่มองค์กรด้านสิทธิและกลุ่มด้านวรรณกรรมออกมาเรียกร้องให้ทางการกาตาร์ทบทวนการพิจารณาคดีและปล่อยตัวอาจามี

กลุ่มองค์กรนิรโทษกรรมสากลก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินในครั้งนี้ โดยบอกว่ากาตาร์ดูเหมือนเป็นประเทศที่แสดงตนว่าสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่กลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิในการแสดงความเห็นเสียเอง นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวอาจามีโดยไม่มีเงื่อนไขและยกเลิกคำตัดสินในฐานะที่อาจามีเป็นนักโทษทางความคิด  (prisoner of conscience)

ขณะที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ได้วิจารณ์คำตัดสินโดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าอาจามีกระทำเกินกว่าสิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรี และการดำเนินคดีในครั้งนี้เป็นตัวอย่างของความสองมาตรฐานเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของกาตาร์

เรียบเรียงจาก

Qatari poet's sentence reduced to 15 years, Aljazeera, 25-02-2013


Qatari Human Rights Official Defends Life Sentence for Poet Who Praised Arab Spring Uprisings, Democracy Now, 07-12-2012

http://en.wikipedia.org/wiki/Mohammed_al-Ajami

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ศิลปะเพื่อเสรีภาพ"- สำรวจเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น-เพดานที่พร่าเลือน

Posted: 25 Feb 2013 08:46 PM PST

 

22 ก.พ.56 ที่ผ่านมา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มกวีราษฎร์  กลุ่ม ​Real Frame กลุ่ม FilmVirus เครือข่ายศิลปินอิสระ เครือข่ายเดือนตุลา กลุ่มศิลปินกานต์และเพื่อน และ เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ร่วมกันจัดงาน "นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ" ซึ่งงานเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. และจะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. นี้

วันที่ 22 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่สองของงาน มีการจัดเสวนา "สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร การแสดงออกและการควบคุมโดยรัฐ และกระบวนการยุติธรรม" มีวิทยาการจากหลากหลายวงการเข้าร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย วิภา ดาวมณี

 

 

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข - พัฒนาการเสรีภาพในสื่อและผลกระทบคดี "สมยศ"

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า ศิลปะในเมืองไทยไม่รับใช้เสรีภาพมากเท่าที่ควร เป็นไปในทางธรรม ศาสนา แนวคิดแบบพุทธเสียมาก  และไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่เปิดให้คนแสวงหาพระเจ้าของตนเอง ซึ่งประชาชนอาจจะเลือกพระเจ้าองค์เดิมก็ได้

นิทรรศการศิลปะเพื่อเสรีภาพ เป็นงานที่สร้างสรรค์และยิ่งใหญ่สำหรับสังคม ศิลปะเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออก แต่ศิลปะก็อาจถูกตีความไปในทางลบได้ เมื่ออยู่ในบริบทหรือกระแสสังคมที่มองอะไรก็หมิ่นเหม่ไปหมด

ที่ผ่านมาถือว่าเราได้มีบทเรียนกันอย่างเจ็บช้ำกันพอสมควรแล้ว และเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดว่าเราต้องกลับมาพูดเรื่องนี้กันอีกครั้ง การเกิดขึ้นของไอทีวี ซึ่งเรียกว่าเป็นทีวีเสรี ทีวีเพื่อสาธารณะ ก็เป็นผลมาจากการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในกรณีการนองเลือด พฤษภาคม 2535  

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 39-41 เป็นกฎหมายว่าด้วยเรื่องสื่อที่มีความก้าวหน้ามาก คือ การพยายามแยกออกจากกันระหว่างเสรีภาพของกอง บก. หรือนักข่าวสารที่จะนำเสนอข่าวสาร กับ เจ้าของกิจการหรือรัฐ คือเจ้าของกิจกาจหรือรัฐไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน และความจริงอยู่ไหนก็ไม่มีใครรู้ จึงต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเสนอความจริง

กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อไว้ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็เห็นพัฒนาการที่ดีระหว่างกอง บก. และเจ้าของกิจการ คือกอง บก. ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มต่อรองกับเจ้าของกิจการมากขึ้น ความเข้มแข็งในการปกป้องการนำเสนอข่าวสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก เราเห็นนักข่าวอย่าง ประวิตร โรจนพฤกษ์ มีสิทธิและเสรีภาพในการที่เขาจะนำเสนอข่าวสาร แม้คุณ สุทธิชัย หยุ่น อาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

แต่สุดท้ายเกิดการรัฐประหารขึ้น การพยายามทำให้หลักการเสรีภาพเหล่านี้แข็งแรง และหลุดพ้นจากมรดกของคณะเผด็จการในอดีตก็พังลง แม้เราจะมี พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ ที่มีผลยกเลิกมาตราเซ็นเซอร์สื่อ และยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ทุกฉบับ ข้อความที่กล่าวว่า การปิดทั้งสำนักพิมพ์จะกระทำมิได้ ก็ถูกยกเลิกลงไปด้วย แต่เสรีภาพสื่อกลับถูกปิดกั้นมากขึ้นผ่านเครื่องมือที่เรีบกว่าวัฒนธรรม

ความบิดเบี้ยวของสื่อวิชาชีพ ทำให้เกิดสื่อใหม่ๆ ซึ่งไม่แบ่งแยกระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนนำเสนอข่าวได้เองผ่านเฟสบุ๊ค หรือ โซเชียลมีเดียอื่นๆ เฟสบุ๊คบางท่านมีจำนวนคนกดติดตาม (Follow) มากกว่าสื่อมืออาชีพบางสื่อเสียอีก โลกมาไกลเกินกว่าจะผูกขาดความดีงามไว้กับกลุ่มสื่อวิชาชีพ ภูมิทัศน์ของวงสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไป ใครๆ ก็ทำสื่อได้ เราจะบอกว่า "Voice of Taksin" (ที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็น บก.) ไม่ใช่สื่อหรือเป็นสื่อเทียม เป็นสื่อที่ไม่รอบด้าน ก็เป็นสิ่งที่ดูจะตกยุคเกินไป หมดยุคที่จะสามารถผูกขาดความถูกต้องได้แล้ว

สถาบันต่างๆ ในสังคมไทยอยู่ในภาวะที่ล้มละลายทางความชอบธรรม และภาวะแบบนี้ได้เกิดขึ้นกับสถาบันสื่อมวลชนด้วย และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมการเสพข่าวก็เปลี่ยนไป เราไม่จำเป็นต้องหาซื้อหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ตทำให้เราสามารถอ่านข่าวจากหลายๆ สำนักพิมพ์ได้ หรืออย่างในเฟสบุ๊คก็จะพบว่ามีการแชร์ข่าวสารที่หลากหลาย

คำพิพากษากรณีคุณสมยศที่ว่า "ตำแหน่ง บก.บห. ต้องมีวิจารณญาณสูงกว่าประชาชนทั่วไป ย่อมต้องรู้ว่าบทความดังกล่าวหมิ่นประมาทกษัตริย์ และไม่มีความจริง แต่จำเลยยังคงลงพิมพ์ เผยแพร่ จึงเป็นการกระทำโดยเจตนา ส่วนที่ต่อสู้ว่ามีเวลาอ่านบทความจำกัดและเมื่ออ่านแล้วเห็นว่าสื่อถึงอำมาตย์ ไม่คิดว่าเป็นพระมหากษัตริย์นั้นก็ฟังไม่ขึ้น" ซึ่งหากมองในทัศนะของสื่อวิชาชีพก็ถือว่าถูกต้องที่ บก.ต้องรับผิดชอบ แต่หากมองด้วยทัศนะสื่อเล็กๆ อย่างประชาไท หรือ Voice of Taksin หรืออื่นๆ ก็อาจมีปัญหา

กรณีคุณสมยศเป็นการมองในลักษณะ "สื่อมีวิชาชีพแบบเดียว" และในทางปฏิบัติจะพบว่า บก. ในสื่อเล็กๆ อาจทำหน้าที่เป็นเจ้าของกิจการด้วย ต้องวิ่งหาแหล่งทุน ต้องทำหน้าที่หาคนเขียนบทความ และโดยมารยาท บก. หรือธรรมเนียมปฏิบัติก็จะไม่เข้าไปก้าวก่ายกอง บก. หรือแม้กระทั่งในฐานะ บก. คุณสมยศอาจจะต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่จะชี้ว่าได้กระทำโดยเจตนา ปล่อยให้บทความนั้นผ่านโดยจงใจ มันเกินเลยไปอยู่ดี

คำพิพากษากรณีคุณสมยศถือว่าสะเทือนวงการมาก คือ หากสามารถตีความได้หมดเลย ละครจักรๆ วงศ์ๆ ก็สามารถตีความให้หมิ่นได้ หากจะตีความกันจริงๆ กระเทือนถึงสื่อสำนักพิมพ์ นวนิยายอาจถูกตีความว่าหมิ่นได้เหมือนกัน จึงกลายเป็นเสรีภาพที่ผิดเพี้ยนไปหมด บก. ก็แทรกแซงสื่อทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าจะโดนเล่นงานเมื่อไร ก็ต้องถามว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมองสิ่งเหล่านี้ด้วยแว่นแบบไหน แว่นแบบสื่อวิชาชีพหรือเปล่า

 

ดิน บัวแดง - เสรีภาพในมหาวิทยาลัย มีจริงหรือ

ดิน บัวแดง นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างถึงคำพูดของเพื่อนนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่กล่าวว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ต้องใส่ชุดนักศึกษาไปเรียน ซึ่งมีอาจารย์หลายท่านก็สอนว่า เป็นเรื่องเสรีภาพของบุคคล แต่ก็มีเรื่องน่าตลกว่า หากเป็นเสรีภาพจริงๆ เหตุใดเมื่อถึงเวลาสอบต้องมีการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าสอบด้วย ซึ่งในที่สุดก็ตอบไม่ได้ว่ามันมีไว้เพื่ออะไร สิ่งนี้เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ที่ถือว่าเป็นเสรีนิยมแล้ว

หากได้สนทนากับผู้สนับสนุนให้ใส่ชุดนักศึกษาก็จะพบคำตอบที่ใช้อ้างกันอยู่เพียงไม่กี่คำตอบ เช่นว่า ชุดนักศึกษามีไว้เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ "หากคนรวยแต่งชุดหรูๆ มาเรียน แล้วคนจนหละ" หรือก็อาจกล่าวในทำนองว่า เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ ความเรียบร้อยและมีวินัย และสุดท้าย โดยเฉพาะที่จุฬาฯ ก็กลายเป็นเรื่องชุดพระราชทาน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การยกเลิกชุดนักศึกษามันใช่เรื่องที่กระทำได้โดยง่าย เพราะชุดนักศึกษาก็แฝงไปด้วยอุดมการณ์มากหลาย ทั้งเรื่องที่ต่ำที่สูง เรื่องกษัตริย์นิยม

นอกจากเรื่องเครื่องแต่งกายแล้ว ยังมีเรื่องการสั่งห้ามไม่ให้ขายวารสารฟ้าเดียวกัน ที่อาคารบรมราชกุมารี เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะว่ามีคนไปแจ้งว่าวารสารฟ้าเดียวกันเป็น วารสารเสื้อแดง วารสารล้มเจ้า นำมาขายได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็กลัวกัน มหาวิทยาลัยก็สั่งห้ามไม่ให้ขาย

 "มหาวิทยาลัยควรจะเป็นแหล่งที่เราเข้าถึงความรู้อะไรต่างๆ แม้แต่ Voice of Taksin ผมก็คิดว่าควรจะมีในห้องสมุด" คือหากต้องการจะสร้างบุคลากร สร้างนิสิตที่มีวิจารณญาณ นิสิตก็ต้องมีโอกาสที่จะเข้าถึงชุดความรู้ต่างๆ และตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ทุกอย่างถูกยัดเยียดไปหมด ซึ่งก็รวมไปถึงเรื่องชุดนิสิตที่กล่าวไว้แล้วด้วย

นิสิตจะไม่มีทางเลือกมากนัก แล้วนิสิตจะทำอะไรได้บ้างในภาวะที่ถูกควบคุมด้วยอุดมการณ์อะไรมากมาย หรือปิดกั้นความรู้ไม่ให้เข้าถึงอะไรต่างๆ

 

วสันต์ พานิช - กฎหมายซึ่งมีที่มาจากการใส่ร้ายป้ายสี

วสันต์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์การต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 4 ตุลาคม 2519 ก็มีการเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น วันที่ 4 ตุลาตม 2519 มีการแสดงละครล้อเลียนที่ลานโพธิ์ มีการแสดงโดยเอานักศึกษามาแขวนคอให้เห็น มีพระห่มจีวรสีแดงถืออาวุธปืน พอวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ก็ได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เกิดเรื่องประหลาดคือมีการโหมข่าวว่าภาพนักศึกษาแขวนคอนั้น ได้แต่งหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูง กลายเป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พอวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการล้อมปราบกลุ่มนักศึกษา และทำการรัฐประหาร หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ให้มีโทษสูงขึ้น จาก 3 ปี เป็น 15 ปี โดยไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ

คดีดังกล่าวก็มีการสอบพยาน และปากคำจากพยาน จากสื่อที่ได้ถ่ายภาพก็ยืนยันว่า ตอนถ่ายก็ไม่ได้รู้สึกว่า นักศึกษาที่ถูกแขวนคอมีใบหน้าคล้ายพระราชวงศ์ชั้นสูงแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมันเป็นการกล่าวร้ายให้นักศึกษาต้องรับโทษ ในที่สุดมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา ทำให้ไม่ได้เปิดเผยว่าความจริงคืออะไร สุดท้ายก็พบว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เกิดขึ้นจากการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง อย่างคดีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็แจ้งความจับโดยทหาร สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าคนเหล่านี้ที่ไปแจ้งความเป็นกลุ่มคนที่จงรักภักดีเสียเหลือเกิน

 

ชาญชัย ชัยสุขโกศล - อาณาเขตแห่งเสรีภาพจำกัดไว้ ณ ที่ใด

ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีการกล่าวเน้นในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาก แต่น้อยนักที่จะพิจารณากันว่าขอบเขตของเสรีภาพจำกัดไว้อยู่ ณ จุดใด

ยกตัวอย่างกรณีของกลุ่ม Neo-Nazism และกลุ่ม Ku Klux Klan  ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในปี ค.ศ.1977 ประเทศสหรัฐอเมริกา มีการเฉลิมฉลองในกลุ่ม Neo-Nazism มีการแต่งเครื่องแบบอย่างนาซี ตกแต่งเครื่องหมายสวัสดิกะ และมีการประกาศว่าจะเดินขบวนผ่านหมู่ Skokie ซึ่งปัญหาก็คือ หมู่บ้าน Skokie มีผู้คนกว่า 60% เป็นชาวยิวหรือผู้ที่เป็นญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ Holocaust (เหตุการณ์พันธุฆาตชาวยิว) ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและจะกระทบต่อความรู้สึกอย่างมากหากมีการเดินขบวนผ่านหมู่บ้านโดยกลุ่ม Neo-Nazism

กลุ่ม Neo-Nazism อ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตาม First Amendment ของสหรัฐอเมริกา ทางกรรมการหมู่บ้าน Skokie จึงได้ประชุมกันถึงแนวทางปฏิบัติและได้ข้อสรุปว่า ทางหมู่บ้านจะอนุญาตให้เดินขบวนผ่านได้ แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเดินผ่าน 300,000 ดอลล่าร์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างมากว่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ เรื่องราวใหญ่โตถึงศาลสูงของสหรัฐอเมริกา และสุดท้ายมีคำตัดสินออกมาว่าการกระทำของกลุ่ม Neo-Nazism ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออก

จากตัวอย่างดังกล่าวจะพบว่าก็ยังมีปัญหา ยิ่งหากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากก็ยิ่งมีปัญหามาก แม้แต่ในระดับสากลเองก็ยังไม่ลงตัวนัก ว่า Hate Speech มันมีขอบเขตเท่าไร หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต้องจำกัดไว้แค่ไหน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือการจะมีเสรีภาพได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีตัวเลือกให้มากเข้าไว้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเพียงเสรีภาพที่ถูกครอบงำจากตัวเลือกที่จำกัด แม้แต่ในการกล่าวถึงวาทกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพก็ตาม หลายคนให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอย่างมาก ประชาชนต้องเป็นใหญ่ ประชาชนต้องมีเสรีภาพต่างๆ นานา และคำถามที่ต้องฉุกคิดคือใครบ้างเป็นประชาชน เฉพาะคนที่เห็นด้วยกับเราใช่หรือไม่ คนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตย คนที่ไม่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมจะเป็นประชาชนด้วยหรือเปล่า ในหลายกรณีก็จะพบว่าเราก็ยังถูกครอบงำจากหลายๆ ความคิดซ้อนกันอยู่นั่นเอง

 

ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ - ทุนนิยมต้องเปิดเผย

ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ นักเขียนและนักจัดรายการวิทยุชุมชน กล่าวว่า เราเห็นการเผชิญหน้ากันเรื่องสิทธิเล็กๆ น้อยๆ ที่กระทบกระเทือนกับ "ทุน" เคยมีข่าวนักศึกษารามคำแหง ซึ่งได้ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านต่อต้านโรงโม่หินถูกฆ่าตาย คือโดนอำนาจเถื่อนเล่นงาน  ไม่แน่ใจว่าจะคาบเกี่ยวกับอำนาจในระดับอำนาจบริหารประเทศเลยหรือเปล่า แต่มันแสดงให้เห็นถึงภาวะการเติบโตของอำนาจทุน สื่อหรือนักเขียนก็หันมาสนใจเรื่องโลกาภิวัฒน์ โจมตีทุนนิยม ถ้านึกอะไรไม่ออกก็ใส่เรื่องคนชายขอบ สิทธิทำกินไปด้วย และแนวคิด  Postmodernism เริ่มเติบโตขึ้น ทฤษฎี  Postmodernism ถูกใช้มาอธิบายปรากฏการณ์นี้ แต่สุดท้ายมันก็ปฏิเสธความจริงของระบบทุนนิยม ไม่ได้กล่าวถึงพัฒนาการของทุนนิยมแบบแผนผัง

"มันน่าเกิดจากปัญหาป่าแตก" หลังจาก พ.ศ. 2523 แล้วเกิดการประนีประนอมกับทุนเก่า ไม่มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัด หากพูดตามข้อเท็จแล้วจะพบว่าการพัฒนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 มาเรื่อยจนรัชกาลที่ 5 ก็เป็นการพัฒนาโครงสร้างของระบบทุน เป็นการยกระดับการพัฒนาของระบบทุนโดยคนส่วนน้อยของประเทศ คนส่วนน้อยที่ในยุคปัจจุบันเรียกว่า "อํามาตย์" แต่ในยุคสมัยนั้นไม่มีคำอธิบายในเรื่องนี้จากนักเขียนหรือสื่อสารมวลชน หากแต่มีข้อจำกัดเฉพาะทุนร่วมสมัย หรือทุนที่แสดงตนอย่างเปิดเผย และทฤษฎี Postmodern ก็มีข้อบกพร่องในเรื่องการปฏิเสธความจริงอยู่ในตัวของมันเอง สิ่งนี้เองที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์โลกาภิวัฒน์ วิจารณ์ทุนเดิม ไม่อาจเกิดขึ้นได้ มันก็กลายเป็นตัดขาดความจริง ไม่สามารถวิเคราะห์หรือขยายความไปสู่การออกมาต่อต้านรัฐประหารในปี 2549 ได้

การรัฐประหารในปี 2549 เป็นเครื่องชี้ชัดเลยว่า คนในสังคมไทยเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ผ่านมาของสังคมไทย มันไม่ได้แค่เปิดหน้ากากฝ่ายเขา แต่เปิดหน้ากากฝ่ายเราด้วยว่าเราเข้าใจมากแค่ไหน

รัฐประหาร 2549 ไม่ใช่การรัฐประหารธรรมดา ก่อนการเกิดรัฐประหารมีการออกมาขององคมนตรี หรือการออกมาของผู้พิพากษาเป็นคณะ มันแสดงให้เห็นอะไรชัดเจนมาก และปรากฏการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นเยอะมากก่อนจะมีการรัฐประหาร 2549

สุดท้ายแล้วก็อยากเห็นถึงการเปิดเผยของทุนนิยม เปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในระบบทุนนิยม แน่นอนว่ามันจะหลีกเลี่ยงความจริงไม่ได้ และมันเกี่ยวข้องกับ ม.112 ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น