โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ผมไม่เชื่อ! ประยุทธ์ บอกเงินจ้างได้หมด โพล-กดไลก์ น่าห่วง - ยิ่งลักษณ์ฉลองเพจ 6 ล้านไลก์

Posted: 13 Jun 2017 11:31 AM PDT

ประยุทธ์ ระบุสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการทำโพล กดไลก์ ชี้มีการรับจ้างกดไลก์ ย้ำไม่ต้องมาไลก์ให้ตนเพราะไม่เชื่อหรอก ในวันนี้เงินจ้างได้หมด ด้านยิ่งลักษณ์ ฉลองเฟซบุ๊กแฟนเพจ 6 ล้านไลก์ 

13 มิ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra' เนื่องจากเพจดังกล่าวมียด 6 ล้านไลก์ ว่า ในที่สุดเราก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไลก์ จากปีที่แล้ว รวมเป็น 6 ล้านไลก์ ในโอกาสนี้ตนจึงอยากขอร่วมพบปะพูดคุยง่ายๆตามสไตล์ครอบครัวเดียวกัน ในช่วงบ่ายๆ ด้วยการจิบน้ำชา ทานของว่างร่วมกันสำหรับสมาชิกใหม่ที่เข้ามาเป็นไลก์ที่ 6 ล้าน และแน่นอนแฟนเพจเดิมที่เรามีกันและกันเสมอมาก็ไม่เคยลืมนะคะ ก็ขอเรียนเชิญท่านที่เข้ามาคอมเม้นต์ใต้ภาพนี้ 20 ท่านแรกด้วย แล้วพบกัน

ล่าสุดวันนี้ (13 มิ.ย.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า กล่าวถึงกรณีการเปิดให้ประชาชนตอบ 4 คำถามของนายกรัฐมนตรี ว่า ทุกคนให้ความสำคัญกับ 4 คำถามของตนมากไปหรือเปล่า ตนไม่ได้บอกว่าประชาชนจะต้องมาไลก์ทั้ง 6 ล้านคน มันไม่ใช่ จะกี่ล้านตนไม่รู้ จะคนเดียวหรือ 10 คน ตนก็รับฟัง มี 100 คนก็รับฟัง 100 คน ว่าเขาว่าอย่างไร ทั้งนี้ ไม่ได้ถามว่าจะเลือกตั้งเร็วหรือไม่ ไม่ได้ถามแบบนั้น เลือกตั้งก็เป็นไปตามกระบวนการอยู่แล้ว ขั้นตอนกฎหมายมีอยู่ แล้วจะไปถามทำไม จะให้เลือกตั้งเร็วกกว่าเดิมอะไรนั้น ไม่ได้สนใจ 

"อย่าไปเป็นเครื่องมือของใครเขา นั่นแหละสำคัญ วันนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการทำโพล กดไลก์ เห็นหรือไม่ ที่มีการจับชาวต่างชาติที่ไปตั้งกันอยู่จังหวัดสระแก้ว เพื่อรับจ้างกดไลก์ ปัดโธ่ ฉะนั้นคุณไม่ต้องมาไลก์ให้ผม เพราะผมไม่เชื่อหรอก ในวันนี้เงินจ้างได้หมด เทคโนโลยีไปไกล ถ้าไปให้ความสำคัญในการสร้างความรับรู้ทางโซเชียลอย่างเดียวคงไม่ได้ มันต้องสร้างอย่างที่ผมพยายามจะพูด ซึ่งอาจจะไม่มีใครเขาพูดกัน อาจจะเข้าใจบ้างหรือไม่เข้าใจบ้าง ฟังไม่ครบหรือพูดไม่จบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศเผยถูกทหารปรามโพสต์เฟซบุ๊กปม 'เผด็จการ-ข่าวคอร์รัปชัน' ขู่นำตัวปรับทัศนคติ

Posted: 13 Jun 2017 10:38 AM PDT

สุรพศ ทวีศักดิ์ โพสต์ระบุ ทหารแจ้งตักเตือนเรื่องโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ ข่าวคอร์รัปชัน และใช้คำว่า 'เผด็จการ'  พร้อมขู่ เตือนแล้วไม่ยุติจะนำตัวไปปรับทัศนคติ - ชาวบ้านตกใจ ทหาร 8 นาย บุกบ้านอดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แค่ให้ตอบ 4 ข้อ ประยุทธ์

สุรพศ ทวีศักดิ์ (แฟ้มภาพ ประชาไท)

13 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 มิ.ย.60) เมื่อเวลา 19.32 น. ที่ผ่านมา สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า บ่ายวันนี้ (13 มิ.ย.2560) ได้รับทราบจากภรรยาว่าผู้บังคับบัญชาที่เทศบาลเมืองหัวหินเรียกพบ เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีทหารจากกรุงเทพฯ มาประสานขอทราบเลขที่บ้านและตำแหน่งบ้าน เพื่อจะตามหาตัวตัวตนเอง เนื่องจากได้รับคำสั่งให้มาตักเตือนเรื่องที่โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การเมือง เช่นเรื่อง ข่าวคอร์รัปชัน และใช้คำว่า "เผด็จการ" โดยระบุว่า เตือนแล้วไม่ยุติจะนำตัวตนเองไปปรับทัศนคติที่กรุงเทพฯ ซึ่งทหารชุดดังกล่าวเคยมาตามตัวตนเองแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2560 แต่ไม่ได้พบกัน และทหารชุดดังกล่าวแจ้งแก่ผู้บริหารเทศบาลเมืองหัวหินว่า ก่อนจะมาที่เทศบาลเมืองหัวหินพวกเขาได้ไปสืบข้อมูลผมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอหัวหินมาแล้ว

สุรพศ โพสต์อีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้มีโอกาสพบทหารชุดดังกล่าวและรับฟังข้อมูลจากพวกเขาโดยตรง จึงไม่ทราบรายละเอียดอื่นๆ เช่นมีข้อความอะไรบ้างที่ตนโพสต์และเป็นเหตุให้พวกเขาต้องมาพบ เป็นต้น เท่าที่ผ่านมาก็ถือว่าตนเองได้ "ทำหน้าที่" ในฐานะนักวิชาการหรือประชาชนคนหนึ่งที่รักประชาธิปไตย ด้วยการเขียนบทความทางวิชาการบ้าง, บทความแสดงทัศนะทางสื่อต่างๆ บ้าง เป็นวิทยากรในเวทีสาธารณะต่างๆ บ้าง แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กบ้าง ที่ยังยึดมั่นอยู่ในหลักของการใช้เหตุผล สันติวิธี และอยู่ในขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพทางวิชาการตามที่ "รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช." รับรอง ซึ่งก็เป็นการทำหน้าที่เช่นเดียวกับบรรดาเพื่อนนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนที่รักประชาธิปไตยพยายามแสดงออกอยู่บนจุดยืนที่ "ต้องการให้สังคมเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ" ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างเปิดเผยและโดยสุจริตใจ

"ที่กล่าวมาผมเพียงต้องการชี้แจงเหตุผลให้ทราบ และเราต่างก็ทราบกันดีว่า ทั้งบรรดานักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ล้วนแต่เรียกร้องให้รัฐบาล คสช.ผ่อนคลายให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางการเมืองมากยิ่งขึ้นเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ จึงหวังว่ารัฐบาล คสช.จะรับฟัง "เหตุผล" ของนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนที่อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยในอนาคต" สุรพศ โพสต์ 

ชาวบ้านตกใจ ทหาร 8 นาย บุกบ้านอดีต ส.ส.เพื่อไทย แค่ให้ตอบ 4 ข้อ ประยุทธ์

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 2 นำคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาให้ตอบถึงที่บ้าน ซึ่งตนได้รับเกียรติโดยไม่ต้องเดินทางไปถึงที่ว่าการอำเภอเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ให้ลูกน้องเดินทางมาพบถึงที่พัก โดยนำคำถาม 4 ข้อมาให้ตอบ ซึ่งข้อ 1.ถามว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ ตนตอบว่าไม่ทราบ เพราะยังไม่รู้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร 2. หากไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร ตนตอบว่าก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนจากผลการเลือกตั้งที่ออกมา 3.ถามว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของไทยและเรื่องอื่นๆ นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ตนตอบไปว่าการเลือกตั้งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย เพราะไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ส่วนเรื่องการปฏิรูปอยากถามรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า 3 ปีที่ผ่านมาปฏิรูปไปถึงไหนแล้ว และ 4.ที่ถามว่ากลุ่มการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สมควรได้เข้ามาสู่การเลือกตั้งหรือไม่ ได้ตอบว่าทุกอย่างขึ้นกับผลการเลือกตั้งตามกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2560 และทุกฝ่ายต้องยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมาเพื่อให้ประเทศชาติเกิดความสงบและเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ บ้านพักตนอยู่ตรงข้ามตลาดสด ซึ่งมีทหารกว่า 8 คน เต็มอัตราศึก พร้อมรถจี๊ปทหาร 2 คันรถบุกมา ทำให้ชาวบ้านตกใจอย่างมากว่าเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ระบุเองว่าคำถาม 4 ข้อไม่ได้ถามนักการเมือง แต่ถามประชาชน ก็แปลกใจว่าทำไมมาถามถึงที่บ้าน ทั้งที่มีการระบุอยู่แล้วว่าให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นผ่านศูนย์ดำรงธรรม
 
มติชนออนไลน์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับเนื้อหาในหนังสือได้ระบุถึงคำถาม 4 ข้อ และระบุชัดเจนว่าให้หน่วยรายงานการเข้าพบปะบุคคลเป้าหมายในพื้นที่รับผิดชอบโดยให้นำประเด็นคำถาม 4 ข้อไปถึง ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.พรรค พท. ถ้าอยู่ในพื้นที่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย ก็ขอเข้าพบก่อนที่จะกลับกรุงเทพฯ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ส่งไปรษณียบัตรถึงกรมอุทยานฯ ขอชะลอ ‘2 ร่างกฎหมายป่าไม้’

Posted: 13 Jun 2017 09:33 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานส่งไปรษณียบัตรถึงอธิบดีกรมอุทยาน ให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในเขตป่า ขณะที่ พีมูฟ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ด้าน12 องค์กรภาคประชาชนออกแถลงการณ์หลังถูกทหารปิดกั้นเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อแสดงจุดยืนของชุมชนในเขตอนุรักษ์ต่อร่าง พรบ.ทั้ง 2 ฉบับ

13 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน รายงานว่า  ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กว่า 150 คน เดินทางไปยังที่ทำการไปรษณีย์หนองบัวระเหว เพื่อส่งไปรษณียบัตรถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ระบุว่า การส่งไปรษณียบัตร ส่งข้อความถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ชะลอการนำร่าง พรบ.ทั้ง 2 ฉบับ ที่จะส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในเขตป่า คือ ร่าง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ...และร่าง พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ...เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วนำกลับมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

นิตยา บอกอีกว่า ไปรษณียบัตรที่ส่งไปมีราว 300 แผ่น ซึ่งมาจากชาวบ้านที่ร่วมกันซื้อมาเพื่อส่งไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยหัวหน้าไปรษณีย์หนองบัวระเหว เป็นผู้ออกมารับการส่งด้วยตนเอง พร้อมยืนยันว่าจะส่งถึงปลายทางก่อนวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ซึ่งกรมอุทยานฯ ประกาศให้มีการเสนอข้อคิดเห็น  รวมทั้งได้ออกค่าจัดส่ง(อีเอ็มเอส)ให้ทั้งหมด ด้วยเงินส่วนตัวอีกด้วย

ในวันเดียวกันขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขปส.หรือพีมูฟ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อให้ชะลอการออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน

นอกจากนี้หลังจากกรณีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2560 ทหาร ตำรวจเชิญตัวคณะกรรมการบริหาร พีมูฟ เข้าไปชี้แจงกับ ผกก.สน.วังทองหลาง เรื่องการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนและชุมชนในเขตอนุรักษ์ต่อร่าง พรบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ..และร่าง พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ..ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ณ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และในวันที่จัดงานเวทีสัมมนา(12 มิ.ย.2560) ทหาร ตำรวจ ได้เข้ามาปิดกั้นบริเวณทางเข้าและขอตรวจค้นผู้เข้าร่วมเวทีการสัมมนาดังกล่าว แม้หลังจากการเจรจาได้ข้อตกลงตามที่เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ สามารถให้จัดเวทีสัมมนาได้ แต่ไม่ให้แฉลงข่าว และเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในเวทีสัมมนาตลอดทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันสื่อมวลชน รวมทั้งนักข่าวสถานีโทรทัศน์หลายสำนัก ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นมิให้เข้าไปรายงานข่าวได้เช่นกัน

เครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กร ประกอบด้วย 1.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  2.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 3.เครือข่ายสลัมสี่ภาค 4.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด 5.สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ 6.สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 7.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคม และการเมือง 8.กลุ่มจับการปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) 9.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน 10.สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม 11.เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และ12.เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ ได้ร่วมออกแถลงการณ์ต่อการถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจปิดกั้น มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร

เรื่อง ขอให้รัฐบาลชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ และเปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา 77

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ… ร่างพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ…. ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน และร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเครือข่ายองค์กรพันธมิตร ได้ติดตามเนื้อหาเนื้อหาและกระบวนการยกร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยได้จัดให้มีการจัดสัมมนารับฟังเพื่อกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ณ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ก่อนการจัดสัมมนา 1 วัน ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจวังทองหลาง ได้เดินทางมายังมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเชิญตัวแกนนำพีมูฟไปยัง สน. เพื่อหว่านล้อมให้ยกเลิกการจัดสัมมนาและการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเนื่องจากอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะและคำสั่ง คสช. ซึ่งได้ใช้เวลาในการเจรจาพูดคุยและอธิบายถึงความเป็นมาของการจัดเวทีสัมมนาดังกล่าว ว่าไม่มีเนื้อหาใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ระบุให้การออกกฎหมายใดรัฐจะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้มีกระบวนการและกลไกการแก้ไขปัญหาและผลักดันนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนร่วมกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าการจัดเวทีในครั้งนี้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในวันนี้ (วันที่ 12 มิถุนายน 2560) เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.วังทองหลาง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าดำเนินการตั้งจุดสกัด เพื่อขัดขว้างไม่ให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการสัมมนาและนำเสนอข่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ยังมีการตรวจค้นประชาชนที่เดินทางมาเข้าร่วมเวทีดังกล่าวอย่างเข้มงวด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและองค์กรร่วมจัดตามรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอแถลงจุดยืนและท่าทีอย่างเป็นทางการดังต่อไปนี้

1. P-move และองค์กรร่วมจัด มีความกังวลและห่วงใย ในท่าที และการปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง ที่สกัดกั้นมิให้สื่อมวลชน เข้าไปทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว ในการสัมมนาครั้งนี้ ทั้งที่ได้มีการเจรจาและทำความเข้าใจถึงความเป็นมาประเด็นเนื้อหาและกระบวนการในการสัมมนาจนได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า ไม่มีเนื้อหาและกระบวนการใดเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองและเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือขัดต่อคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวจึง เป็นการปฏิบัติที่หมิ่นเหม่ต่อการคุกคามสื่อมวลชน และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

2. ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ ,ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมนโยบายที่ดินแห่งชาติไว้ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา77 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 จึงทำให้ การตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

p-move และองค์กรร่วมจัด เห็นว่า การเร่งรัดตรากฎหมาย โดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรอบด้านนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังส่งผลให้กฎหมายที่ตราออกมาสร้างผลต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรง ยากจะเยียวยา ดังปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วจากการใช้ พ.ร.บ. จราจรและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเดินเรือในเขตน่านน้ำไทย ฉบับที่ 17 พ.ศ.2560 ที่สร้างผลกระทบกับชุมชนชายฝั่ง และชาวประมงพื้นบ้านอย่างกว้างขวางอยู่ในปัจจุบัน

3. P-moveและองค์กรร่วมจัด เห็นว่ากระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น ต่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานฯ พ.ร.บ.สงวนและคุมครองสัตว์ป่า ผ่านทางเว็บไซต์ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตรากฎหมายดังกล่าวสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึงและรอบด้าน

4. ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเดินการจัดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจากชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงให้เป็นไปตาม รธน.มาตรา 77 อย่างเคร่งครัด ก่อนนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เนติวิทย์ ยันสภานิสิตไม่ได้นิ่งนอนใจ ปมค่าฝึกงานซัมเมอร์ วิศวะ จุฬาฯ

Posted: 13 Jun 2017 09:23 AM PDT

13 มิ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษณ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีต่อกิจการนิสิตของคณะขึ้น หลังจากที่กิจการนิสิตออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่นิสิตฝึกงานภาคบังคับในภาคฤดูร้อนทุกคนต้องจ่ายเงิน 5,000 บาท โดยนิสิตจำนวนมากมองว่าการชี้แจงนี้เป็นการตอบไม่ตรงคำถาม และไม่แสดงให้เห็นว่าเงินที่ต้องจ่ายไปนั้นทางคณะฯ นำไปใช้จ่ายอะไรบ้าง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (13 มิ.ย.60) เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ โพสต์ข้ความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Netiwit Chotiphatphaisal' ยืนยันว่า "สภานิสิตไม่ได้นิ่งนอนใจ ถูกเลือกมาแล้วก็ต้องทำงาน ฝ่ายพิทักษ์สิทธิสภาได้ส่งเรื่องแจ้งไปที่คณะแล้ว รอคณบดีตอบ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน จะแจ้งเรื่องต่อไปให้ทราบ

"เราจะพิทักษ์สวัสดิการและผลประโยชน์ของเพื่อนนิสิตอย่างเต็มที่ร่วมกับเพื่อนนิสิต" เนติวิทย์ โพสต์ พร้อมระบุอีกว่า ส่งเรื่องเพิ่มเติมเพื่อให้สภานิสิตทราบได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSe_9Quh0cg-j7l1A32byvvnisuXPta-Ormv8PV4ypLjqEP94A/viewform?c=0&w=1
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผนภาพเคลื่อนไหวผู้ลี้ภัย เผยเส้นทางผู้ลี้ภัยทั่วโลกตั้งแต่ปี 2543-2558

Posted: 13 Jun 2017 09:01 AM PDT

ขณะที่เรื่องราวกระแสหลักเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมักจะมีแต่ภาพของผู้ลี้ภัยจากซีเรียหรือตะวันออกกลางจำนวนมากเข้าสู่ยุโรป แต่ทว่าภาพเคลื่อนที่จาก UNHCR สร้างโดยสถานีวิจัย CREATE เผยให้เห็นว่าจริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยไปยังประเทศกำลังพัฒนาถึงร้อยละ 90 รวมถึงปรรเทศอูกันดาซึ่งตนรับผู้ลี้ภัยดี และมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากแอฟริกาที่เดินทางไปที่อื่นแต่ไม่เป็นข่าว

สื่อฟาสต์คอมพานีวิเคราะห์แผนภาพเคลื่อนไหวขององค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่บันทึกการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานผู้คนตั้งแต่ปี 2543-2558 ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องราว "วิกฤตผู้ลี้ภัยยุโรป" แบบที่นำเสนอกันในสื่ออาจจะแตกต่างจากที่คนทั่วไปเข้าใจก็ได้ นั่นคือการอพยพย้ายถิ่นเหล่านี้มีต่อเนื่องมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งมีในช่วงวิกฤตเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และผู้อพยพไม่เพียงแค่มาจากตะวันออกกลางเท่านั้นแต่ยังมาจากวิกฤตที่เกิดในแอฟริกาด้วย

แผนภาพเคลื่อนที่ของ UNHCR แสดงให้เห็นจุดสีเหลืองและสีแดงเคลื่อนย้ายอยู่บนแผนที่ โดยที่จุดสีเหลืองแทนจำนวนผู้ลี้ภัย 17 คน เดินทางออกจากประเทศตัวเอง จุดสีแดงแทนผู้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง จากแผนภาพเคลื่อนที่นี้จะเห็นว่ามีผู้ลี้ภัยจากจำนวนมากที่หนีจากประเทศที่มีความขัดแย้งอย่างอัฟกานิสถานหรือซูดานมาตั้งแต่ปี 2544 ในปี 2549 สงครามก็ทำให้ชาวเลบานอนอพยพไปซีเรีย ขณะที่ชาวศรีลังกาก็หนีสงครามกลางเมืองไปอินเดีย ในปี 2550 ความขัดแย้งในโคลอมเบียก็ทำให้มีผู้ลี้ภัยหนีไปอยู่ประเทศใกล้เคียงอย่างเวเนซุเอลา

เข้ามาใกล้แถวบ้านเราในปี 2550 เช่นกันจากปรากฏการณ์ที่พระเมียนมาร์ร่วมกับประชาชนประท้วงเผด็จการทหารจนถูกปราบปรามทำให้บางส่วนหนีมาอยู่ในไทย ในปี 2551 ก็มีผู้ลี้ภัยทิเบตหนีไปที่อินเดีย ขณะที่ชาวอัฟกัน อิรัก และโซมาเลีย ต่างก็หนีออกจากประเทศจำนวนมาก ในปี 2552 เยอรมนีรับผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ จำนวนมากรวมถึงอิรัก ปี 2553 มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากออกจากเมียนมาร์อีกครั้ง จำนวนหนึ่งหนีออกมาจากคิวบา จนกระทั่งถึงปี 2555 ถึงจะเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียทำให้มีผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมากเดินทางไปยังจอร์แดน ในปี 2556 ก็เกิดวิกฤตในยูเครนทำให้มีคนจำนวนหนึ่งอพยพออกจากประเทศและมีคนอพยพมากขึ้นอีกในปี 2557

ในขณะที่มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากซีเรียจริงในปี 2558 แต่ก็มีผู้ลี้ภัยจากที่อื่นๆ ที่เป็นข่าวน้อยกว่าโดยเฉพาะในแอฟริกาอย่างซูดานใต้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มุ่งเดินทางไปที่อื่นนอกจากยุโรป แม้ว่าจะมีจำนวนตัวเลขที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ รับผู้ลี้ภัยจำนวนหลายหมื่น แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับเป็นประเทศที่แบกรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากถึงร้อยละ 90 ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดในโลก

อิลลา นูร์บัคช์ ผู้อำนวยการสถานีวิจัยด้านหุ่นยนต์ การศึกษา เทคโนโลยี และการเสริมพลัง ชุมชน (CREATE) จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน กล่าวว่า ในการถกเถียงเรื่องผู้ลี้ภัยมักจะเต็มไปด้วยการใช้อารมณ์และแนวคิดแบบสุดโต่งจำพวกที่กล่าวหาว่า "ผู้ลี้ภัยกำลังรุกรานสหรัฐฯ" ถ้าก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ไม่ได้ก็ไม่สามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันในการพูดถึงประเด็นปัญหาที่แท้จริงและวิธีการแก้ไขปัญหาได้ 

โดยที่สถานีวิจัยของนูร์บัคช์เป็นผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้สร้างแผนภาพเคลื่อนไหวนี้ นูร์บัคช์บอกว่าแผนภาพเคลื่อนไหวนี้จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยได้โดยตรงในเชิงหลักฐานอย่างไม่ต้องผ่านโวหารต่างๆ

เทคโนโลยีของสถานีวิจัย CREATE นี้เรียกว่า "ฐานข้อมูลขนาดใหญ่" หรือ "Big Data" คือการนำข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีความหลากหลายมารวและสามารถนำไปวิเคราะห์ได้หลากหลายแนวทาง โดยที่ CREATE กำลังมีโครงการเอ็กพลเรเบิล (Explorables) ที่จะรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีการเปลี่ยนแปลงชั่วเวลาหนึ่งให้เข้าถึงง่าย มีการใช้ระบบทำงานร่วมกับกูเกิลเอิร์ธรวมถึงใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพกราฟฟิคโดยอาศัยการ์ดจอแบบวิดีโอเกมในการนำเสนอข้อมูล

นักวิจัยจาก CREATE ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียม การปล่อยก็าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสถาบันวิจัยอิการาเปในบราซิลเพื่อทำข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเปราะบางของเมืองตั้งแต่เรื่องการว่างงาน มลภาวะ ไปจนถึงความเสี่ยงต่อความรุนแรง

แผนภาพเคลื่อนไหวของ CREATE ยังชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยในซีเรียไม่ได้อพยพไปยังยุโรปจำนวนมากแต่มักจะไปยังประเทศสามประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันมากกว่า ขณะที่ผู้ลี้ภัยจากแอฟริกากลางจำนวนมากกลับไม่ค่อยเป็นข่าว อย่างอูกันดาเป็นประเทศที่มีนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยมานานแล้ว รวมถึงให้สิทธิผู้ลี้ภัยในการทำงานและการตั้งบริษัท พวกเขาเพิ่งรับผู้ลี้ภัย 4,500 คน เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มมีปัญหากดดันจากผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าประเทศไม่รู้จบ

แคธลีน นิวแลนด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและนักวิจัยอาวุโสของสถาบันนโยบายการอพยพเปิดเผยว่าปัญหาส่วนใหญ่ในสถานการณ์เหล่านี้คือการที่กลุ่มที่ดูแลผู้ลี้ภัยได้รับงบประมาณน้อยมากแม้ว่าจะร่วมมือกับรัฐบาล ทาง UNCHR เองก็ได้งบน้อยในปี 2560 นิวแลนด์เปิดเผยอีกว่าฝ่ายรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ดำเนินการเรื่องผู้ลี้ภัยแบบทีละนิดทีละหน่อย แต่ก็มีความกังวลอย่างหนักว่าพวกเขาจะไม่มีประสิทธิภาพพอที่แม้แต่จะสร้างปัจจัยพื้นฐานแก่ประชาชน ซึ่งนิวแลนด์มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นจุดกำเนิดของ "การขาดเสถียรภาพและเรื่องน่าเศร้า"

เรียบเรียงจาก

Watch The Movements Of Every Refugee On Earth Since The Year 2000, Fast Company, 31-05-2017

https://www.fastcompany.com/40423720/watch-the-movements-of-every-refugee-on-earth-since-the-year-2000

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขอ รบ.ไทยแก้ ก.ม. 112

Posted: 13 Jun 2017 08:53 AM PDT

แถลงการณ์ระบุ คนโดนดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่จำนวนคนแก้ต่างและได้รับการยกฟ้องน้อยลงจากร้อยละ 24 เหลือร้อยละ 4 วอนแก้กฎหมายให้สอดคล้องมาตรฐานนานาชาติ

13 มิ.ย. ในเฟซบุ๊ก UN Human Rights-Asia ได้โพสต์แถลงการณ์ที่ออกโดยสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในประเด็นการดำเนินคดีในกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทย

แถลงการณ์มีขึ้นหลังการพิพากษาคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยศาลทหารตัดสินจำคุก 'วิชัย' กรณีสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมด้วยชื่อและภาพคนอื่น พร้อมโพสต์ผิดตาม ม.112 รวม 10 ครั้ง เป็นจำนวน  70 ปี สารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 30 ปี 60 เดือน ถือเป็นสถิติคำพิพากษาที่รุนแรงที่สุดภายใต้กฎหมายมาตรานี้

แถลงการณ์มีใจความดังนี้

เรามีความกังวลในประเด็นการเพิ่มจำนวนของผู้ถูกดำเนินคดีและได้รับโทษในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2014 รวมถึงการตัดสินโทษจำคุก 35 ปีแก่วิชัย เทพวงศ์ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ศาลทหารไทยตัดสินว่าวิชัยมีความผิด หลังจากโพสต์รูป วิดีโอและคอมเมนท์บนเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาดูหมิ่นราชวงศ์ เขาถูกตัดสินให้จำคุก 70 ปี แต่ลดโทษเหลือ 35 ปีเนื่องจากจำเลยสารภาพ

คำตัดสินข้างต้นถือว่าเป็นคำพิพากษาที่รุนแรงที่สุดภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่รู้จักกันในนามกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ โดยคำพิพากษาที่หนักที่สุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2015 กรณีศาลทหารตัดสินจำคุกจำเลย 3 รายเป็นเวลาคนละ 25-30 ปีตามจำนวนกรรมที่กระทำการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์

ระหว่างปี 2011 และ 2013 มีผู้ถูกสอบสวนในคดีหมิ่นฯ ถึง 119 คน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2014-2016 จำนวนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าโดยมีจำนวนทั้งสิ้นอย่างน้อย 285 คน

สถิติจากทางการไทยระบุว่า จำนวนผู้ที่แก้ต่างในคดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ได้สำเร็จมีจำนวนลดลงอย่างมาก ช่วงปี 2011-2013 มีประมาณร้อยละ 24 เท่านั้นที่ได้รับการยกฟ้อง แต่หลังจากนั้นอีก 3 ปี จำนวนผู้ได้รับการยกฟ้องลดลงเหลือร้อยละ 10 โดยประมาณ และในปีที่แล้วมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ขณะที่ทางสำนักงานของพวกเราตระหนักถึงประเด็นที่มีความซับซ้อนและอ่อนไหวที่รายล้อมกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ของประเทศไทย พวกเรายังคงมีความกังวลใจถึงอัตราการดำเนินคดีและการพิพากษาด้วยโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรี ซึ่งหมายรวมถึงการวิจารณ์บุคคลสาธารณะด้วย

การกักขังบุคคลเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีนั้น ละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) มาตราที่ 19 ซึ่งเป็นกติกาที่ไทยเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2499 และในปี 2560 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทำการทบทวนรัฐบาลไทยในประเด็นการนำข้อกติกาของ ICCPR ไปใช้ และได้ข้อสรุปว่าไทยควรทบทวนกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยทำให้มีความสอดคล้องกับมาตราที่ 19 ของข้อกติกา

เรายังมีความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการไต่สวนตั้งแต่การรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2557 คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ส่วนมากได้รับการไต่สวนในศาลทหาร และเป็นการพิจารณาคดีลับ โดยจำเลยส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว และบางรายถูกฝากขังก่อนไต่สวนเป็นเวลานาน ในขณะที่เรามีความยินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลที่ยกเลิกการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในศาลทหาร ทางเราขอย้ำให้ภาครัฐนำข้อเรียกร้องของเราไปปฎิบัติกับคดีที่ค้างอยู่โดยให้มีผลย้อนหลัง

ทางสำนักงานข้าหลวงฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์โดยทันที ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานของสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ และขอให้ทบทวนคดีที่ถูกพิจารณาภายใต้อาญามาตรา 112 ทั้งหมด

โฆษกสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ:

รูเพิร์ท คอลวิลล์

สถานที่:

กรุงเจนีวา

ที่มา: เฟซบุ๊ก  UN Human Rights - Asia
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์แจงใช้ ม.44 ดันรถไฟไทย-จีน เพราะติด ก.ม. ชี้มองแต่เอื้อประโยชน์ก็จะก้าวต่อไปไม่ได้

Posted: 13 Jun 2017 08:47 AM PDT

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงใช้ ม.44 ในการเร่งโครงการสร้างรถไฟไทย - จีน เพราะติดข้อกฎหมายอยู่ เช่น กฎหมายพื้นที่ สปก. กฎหมายของกรมป่าไม้ ฯลฯ ระบุเอาแต่ไปมองว่าไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเเละทุจริต เอื้อประโยชน์ก็จะก้าวต่อไปไม่ได้ 

13 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (13 มิ.ย.60) ที่ทำเนียบรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมกรณีข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 ในการเร่งโครงการสร้างรถไฟไทย - จีน เเละกรณีศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนระเบียบการนำทรัพยากรธรรมในเขตปฎิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ซึงผู้รับสัมปทานอาจจะได้รับผลกระทบต้องหยุดการผลิตปิโตรเลียมว่า ตอนนี้มีหลายโครงการของรัฐบาลที่เดินหน้าไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายอยู่ เช่น กฎหมายพื้นที่ สปก. กฎหมายของกรมป่าไม้ หรือของกระทรวงเกษตรล้วนเเล้วเเต่คนละฉบับทั้งสิ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ต้องหาวิธีบูรณาการให้ได้ ทุกหน่วยงานทั้งฝ่ายบริหารเเละตุลาการต้องมาดูว่า ประเทศชาติจะพ้นกับดักนี้ได้อย่างไร หากมีโครงการใหม่ที่ไม่เคยทำเเบบนี้มาก่อน ต้องหาทางทำให้ได้ เพราะนี่คือคำตอบว่าเราจะเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไร ถ้ายังติดปัญหาเดิม เอาแต่ไปมองว่าไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเเละทุจริต เอื้อประโยชน์ก็จะก้าวต่อไปไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายต้องพึ่งพากันในการก้าวข้ามกับดักนี้ไป

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงถึงความจำเป็นของการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ว่า เรื่องใดที่มีปัญหาข้อขัดข้องไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ด้วยกฎหมายปกติ ต้องให้ประชาชนทุกคนรับรู้ถึงเหตุผล และแนวทางของการแก้ไขดังกล่าว รวมถึงความจำเป็นของการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เช่น การดำเนินการเรื่องรถไฟไทย – จีน  พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างกรณีที่มีวงเงินเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไปต้องมีชุปเปอร์บอร์ดพิจารณาตรงนี้ต้องยกเว้นเพื่อให้สามารถดำเนินการเร่งรัดได้ตามโรดแมปหรือแผนงานที่วางไว้ การจัดซื้อจัดจ้าง G to G ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน กรณีเส้นทางรถไฟที่อาจผ่านพื้นที่ป่าสงวน หรือพื้นที่ สปก. การขุดเจาะน้ำมันที่ลานกระบือ การติดตั้งระบบโซลาร์ฟาร์ม เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งหมดดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตร 44 โดยยืนยันจะไม่ทำให้ระบบงานที่มีอยู่เดิมเสียหาย และยังเป็นการแก้ไขปัญหาให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนตามโรดแมปที่วางไว้ เพื่อสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และรองรับการเร่งรัดการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาล

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: วินัยแบบทหารในโรงเรียน

Posted: 13 Jun 2017 08:19 AM PDT


 

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ'โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม' และเว็บไซต์ของโรงเรียนโพสต์ภาพบรรยากาศปฐมนิเทศนักเรียนระดับชั้น ป.3 - ป.4 ประจำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม โดยภาพดังกล่าวมีภาพทหารแต่งกายในเครื่องแบบ เข้าร่วมงานปฐมนิเทศของนักเรียนครั้งนี้ด้วย เมื่อภาพเช่นนี้เผยแพร่ออกมา ก็นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามว่า เหตุใดทหารจึงต้องไปยืนคุมแถวเด็กประถมด้วย?
ต่อมา คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว  รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ  ได้อธิบายว่า การเอาทหารฝึกวินัยเด็กชั้นประถมปีที่ 3-4 เป็นเรื่องดี และโรงเรียนทำแบบนี้มานานแล้ว โดยได้ความคิดมาจากโรงเรียนเครือเซนต์คาเบรียล และยังมีโรงเรียนดังในกรุงเทพอีกมากที่เอาทหารฝึกเด็กในปัจจุบัน คณบดีศึกษาศาสตร์ย้ำว่า เด็กนักเรียนสาธิตประสานมิตรวันนี้ไร้วินัย เพราะพ่อแม่เลี้ยงลูกมาอ่อนแอ แม้แต่เข้าแถวยังยืนบิดไปบิดมา และผู้ที่ฝึกวินัยที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นทหาร การเอาทหารมาฝึกจึงไม่ได้ทำเด็กประถมเสียความคิดสร้างสรรค์ แต่เพื่อให้นักเรียนใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีวินัย เช่น ในการเข้าคิว เข้าแถวในการรับประทานอาหาร การเข้าแถวเวลาเช้า และ การเดินขึ้นลงบันไดของนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองต้องขอบคุณโรงเรียนที่สอนวินัยให้ลูก

ที่น่าสนใจ คือ คุณประพันธ์ศิริ สุเสารัจ เป็นคนเขียนหนังสือสำคัญ เช่น เรื่อง การพัฒนาการคิด และ การคิดวิเคราะห์ และยังเป็นวิทยากรอภิปรายในเรื่องลักษณะนี้เสมอ แต่ในกรณีนี้ คุณประพันธ์ศิริและโรงเรียนสาธิตถูกโจมตีอย่างหนักว่า เป็นการสร้างความคิดให้เด็กประถมคุ้นเคยกับเผด็จการ และเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในยุคทหารครองเมืองเช่นนี้ เพราะการฝึกและสร้างวินัยในเด็กไม่ควรที่จะเอาวินัยทหารมาเป็นต้นแบบ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง กรณีนี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยโดยกระแสหลักนั้น เป็นสังคมอำนาจนิยมมาช้านาน เพราะให้การยอมรับและเชื่อถือการใช้อำนาจแบบทหาร จึงมีความพยายามในการเปิดบทบาทให้ทหารกระทำการเกินหน้าที่เสมอ เรื่องที่ใหญ่กว่านี้ คือ กรณีที่ชนชั้นนำไทยเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหาความขัดแย้ง ก็จะพิจารณาว่ากองทัพจะทำหน้าที่เป็นองค์กรแก้ปัญหา จึงชักชวนและเปิดทางให้ฝ่ายทหารก่อการรัฐประหาร เอาทหารมาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ทั้งที่ไม่มีความรู้ความสามารถ และจะมีแนวคิดในทางชื่นชมว่า ทหารเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย จัดวินัยให้สังคม เรื่องวินัยจึงถูกทำให้เป็นเรื่องสำคัญ จากความเห็นที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมไร้วินัย จึงสร้างจินตภาพว่า กองทัพน่าจะเป็นองค์กรที่มีวินัยที่สุด และกลายเป็นเหตุผลของการนำวินัยแบบทหารมาสู่โรงเรียน

คำว่า "วินัย" (Discipline) โดยทั่วไปหมายถึง ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ข้อปฏิบัติในทางที่จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคล วินัยที่เก่าแก่และใช้กันมานานแล้ว คือ วินัยสงฆ์ ซึ่งออกมาใช้กับพระสงฆ์ที่เป็นพุทธบริษัท คือ ศีล 227 ข้อ การกระทำผิดวินัยของสงฆ์เรียกว่า "อาบัติ" ซึ่งจะถูกลงโทษหนักเบาต่างกัน ถ้าหากว่า โรงเรียนสาธิตจะเอาพระสงฆ์มาสอนวินัยเด็ก ก็จะได้ภาพในอีกลักษณะหนึ่ง

แต่ในทางหลักการนั้นถือว่า การสร้างวินัยอาจทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การบังคับโดยใช้การลงโทษหรือให้รางวัลเป็นเครื่องสนับสนุน ซึ่งถือเป็นการสร้างวินัยเชิงลบเพราะมีลักษณะบังคับ หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้การสั่งสอนอบรม ให้เกิดจิตสำนึกในความรับผิดชอบให้เกิดวินัยด้วยตนเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนในสังคม เช่น การสร้างวินัยในการจราจร ถ้าเป็นวินัยแบบบังคับคือ ให้ตำรวจจราจรควบคุม จับกุม และลงโทษ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎ แต่ถ้าเป็นวินัยโดยสมัครใจ คือ การสร้างจิตสำนึกให้เห็นหน้าที่หรือความสำคัญในการเคารพกฎจราจร ในกรณีนี้ หมายความว่า ถึงจะไม่มีตำรวจและมาตรการบังคับ พลเมืองก็อาจปฏิบัติตามกฎจราจรได้เอง และถือว่านี่คือการสร้างวินัยเชิงบวก

สำหรับวินัยในโลกสมัยใหม่ ยังถือกันว่า จะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หมายความว่า การสร้างวินัยต้องมาจากการเคารพซึ่งกันและกัน และเห็นประโยชน์ร่วมกันในการสร้างกฎเกณฑ์ วินัยลักษณะนี้ จึงเน้นความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษากฎเกณฑ์ และยอมรับให้การละเมิดกฎเกณฑ์นั้นจะต้องถูกลงโทษ ดังนั้น การสร้างวินัยในสังคมแบบอารยะ จึงต้องเป็นไปตามหลักเหตุและผล และไม่ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ในกรณีของการสร้างวินัยในเด็ก ก็คือ การสร้างความรู้สึกนึกคิดที่นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการพูดคุยให้เหตุผล หรือสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และสิ่งสำคัญยังได้เน้นว่า วินัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กเข้าใจว่าพวกเขานั้นต้องรับผิดชอบต่อตนเองและคนหมู่มาก วินัยก็จะสร้างขึ้นได้ด้วยการสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่ง

ปัญหาของวินัยแบบทหารไทย คือ การใช้วินัยแบบใช้อำนาจบังคับ เป็นวินัยแบบลำดับชั้น ให้ทหารชั้นผู้น้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายทหารชั้นบนเสมอ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษ ทหารไทยจะถูกฝึกให้ปฏิบัติเช่นนี้ เพราะอธิบายกันว่า ในเวลาสงคราม คำสั่งของฝ่ายบัญชาการต้องเด็ดขาดและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่มีข้อสงสัย ดังนั้น การสร้างวินัยแบบทหารไทย จะนำมาสู่การปฏิบัติตามคำสั่งแบบไม่มีเหตุผล ตัวอย่างในกรณีนี้ คือ การที่ทหารระดับบัญชาการสั่งให้ทหารชั้นผู้น้อยไปฆ่าประชาชนที่คิดต่าง หรือเห็นว่าเป็นภัยต่อรัฐ ทหารชั้นผู้น้อยก็พร้อมที่จะดำเนินการตามคำสั่งเสมอ เพราะขาดระบบกลั่นกรองเหตุผล และนี่คือ ที่มาของการสังหารหมู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า สังคมไทยจะถูกสร้างให้คุ้นเคยกับการใช้การบังคับลงโทษมากกว่าการสร้างจิตสำนึก หมายความว่า ถ้าปราศจากการบังคับควบคุม วินัยจะหมดความหมายไปทันที และในกรณีของโรงเรียน ก็จะพบว่า เป็นเวลานานมาแล้ว ที่สังคมไทยเอาวินัยทหารมาใช้กับเด็กนักเรียน ตั้งแต่บังคับให้นักเรียนเข้าแถวแบบทหาร ให้ตัดผมสั้นเกรียนสำหรับเด็กชายและผมสั้นระดับใบหูสำหรับนักเรียนหญิง และยังบังคับให้แต่งเครื่องแบบนักเรียนอย่างเคร่งครัด และการใช้วินัยเช่นนี้ ยังข้ามจากโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัย อันนำมาซึ่งการฝึกฝนแบบบังคับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเพณีรับน้องแบบบังคับ ซึ่งรุ่นพี่จะใช้ระบบว้ากและใช้อำนาจนิยมให้รุ่นน้องยอมรับในกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่ถูกตั้งขึ้น และเมื่อรุ่นน้องไม่ยอมรับก็ถูกลงโทษตามที่รุ่นพี่จะกำหนด โดยข้ออ้างที่ว่า วิธีรับน้องแบบนี้จะเป็นการสร้างความรักต่อสถาบัน และจะสร้างพลเมืองที่ดีให้กับสังคมได้ แต่ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า การสร้างวินัยทั้งหมดนี้ล้มเหลว สังคมไทยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นสังคมขาดวินัยอย่างมากแห่งหนึ่งของโลก

ความจริงแล้ว อุดมการณ์ดั้งเดิมของโรงเรียนสาธิตในสังคมไทยที่ตั้งขึ้น ก็เพื่ออบรมบ่มเพาะหรือสอนเด็กให้ตื่นรู้แบบสมัยใหม่ ตามปรัชญาการศึกษาแนวก้าวหน้า เพื่อให้มีการทดลองการพัฒนาความรู้และการพัฒนาพฤติกรรมเด็กให้พ้นจากกรอบที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสาธิตแต่เดิมมา จึงให้อยู่ในสังกัดของแต่ละมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนคณะศึกษาศาสตร์หรือคุรุศาสตร์ ไม่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะเห็นได้ว่า เมื่อโรงเรียนสาธิตเหล่านี้ พัฒนาต่อมา ก็กลายเป็นโรงเรียนแบบธรรมดาที่มิได้มีความแตกต่างกับโรงเรียนลักษณะอื่น เราจึงพบว่า เมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2557 โรงเรียนสาธิตก็มิได้ต่างจากโรงเรียนแบบอื่น ในการสอนให้เด็กท่องค่านิยม 12 ประการ ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาตามอำเภอใจ และยึดถือราวกับว่า ค่านิยมแบบรัฐประหารนี้เป็นสิ่งดีงามในสังคม โรงเรียนสาธิตจึงกลายเป็นอีกแห่งหนึ่งที่สอนเด็กให้คิดในกรอบของกระแสหลัก

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า แนวคิดแบบผู้บริหารโรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตรที่ว่า จะต้องใช้ทหารมาฝึกเด็กตั้งแต่ยังเล๊ก จึงจะทำให้เด็กเข้าแถวเป็น เข้าคิวได้ และจะกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยในสังคม จึงไม่น่าจะถูกต้อง แต่ที่ถูกน่าจะเป็นการฝึกให้เด็กตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ของตนเอง และเคารพสิทธิของคนอื่นในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งวินัยลักษณะนี้ ทหารไทยคงสอนไม่ได้

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 620 วันที่ 10 มิถุนายน 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปประเด็น "ทบทวน ท้าทายล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่"

Posted: 13 Jun 2017 08:00 AM PDT

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และรายการนำเสนอ

ในงาน "ทบทวน ท้าทายล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่"[1]มีการเสนอทิศทางของการศึกษาล้านนาคดีในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เราเห็นร่วมกัน และสิ่งที่เราเห็นต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเวทีที่มองไปข้างหน้า และมองย้อนกลับไปข้างหลังเพื่อสะท้อนย้อนคิดในเรื่องต่าง ๆ ในล้านนา สิ่งที่เราเห็นร่วมกัน คือ

ประการแรก ล้านนาเป็นสิ่งที่ประกอบสร้าง และเมื่อประกอบสร้างแล้ว ย่อมนำมาสู่ความหลากหลาย ทั้งนิยามว่าอะไรคือ ล้านนาคดี เราจะนับทุกเรื่องที่ศึกษาในล้านนาประเทศนี้เป็นล้านนาคดี หรือในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็นก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

ประการที่สอง การศึกษาล้านนาคดีต้องการข้ามขอบเขตพื้นที่ทั้งหมู่บ้าน ชุมชน จังหวัด ประเทศ เพราะการติดยึดกับพื้นที่ในทางกายภาพ ทำให้เราไม่เห็นพลวัตของความเปลี่ยนแปลง อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เสนอให้ดูที่ความสัมพันธ์ของผู้คนภายเงื่อนไขของบริบท

ประการที่สาม ควรหลุดพ้นจากการมองอะไรอย่างโรแมนติก หยุดนิ่ง เก่าแก่โบราณ เพราะไม่มีสิ่งใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว ปรับปรุงในเวลาที่แปรเปลี่ยน ยกเว้นอะไรที่ตายเเล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเป็นการประกอบสร้างในช่วงเวลาหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไข ซึ่งเราต้องหันมาดูที่กระบวนการที่ประกอบสร้างมากกว่าภาพที่ปรากฏให้เห็น

ประการที่สี่ เราควรหลุดพ้นการศึกษาแบบตัดแปะ ร้อยเรียง เชื่อตาม ต้องหันมาใช้วิธีวิทยาแบบใหม่ในการศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ดนตรี พิธีกรรม ขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อทำความเข้าใจสังคมล้านนาในมิติของการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการใช้ concept ทางสังคมศาสตร์มาช่วยในการจัดเรียงข้อมูลเพื่อให้เกิดพลังในการอธิบาย

บรรยากาศภายในงาน (1)

ประการที่ห้า เราควรหลุดพ้นจากการศึกษาล้านนาแบบเอารัฐชาติ และเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง โดยหันมาสนใจบ้านเมืองอื่น ประเด็นอื่นที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลง โดยไม่ติดยึดกับพื้นที่

ประการที่หก เราไม่สามารถศึกษาเรียนรู้เรื่องอะไรเอง โดยไม่ดูว่าคนอื่นทำอะไร ไม่มีใครศึกษาเรื่องนั้น ๆ เป็นคนแรก ๆ โดยไม่อาศัยบ่าของคนอื่นขึ้นไป เราจึงเสนอให้ทำเครือข่ายเพื่อร่วมกันเสนอ paper ในเรื่องที่เราศึกษา แล้วหาคนวิพากษ์ เวียนไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภาคเหนือ เพื่อเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเจ้าภาพและงบประมาณแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงในล้านนาคดีหลายเรื่องเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของ "โลกสมัยใหม่"[2] ที่นำมาสู่การจัดความสัมพันธ์ของผู้คน สิ่งของ ความเชื่อ ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ ๆ และหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เชื่อโยงกับอดีต เริ่มที่ อ.สมหมาย เปรมจิตต์ อ.วสันต์ ปัญญาแก้ว อ.ศรีเลา เกษพรหม เสนอให้มองความสัมพันธ์ของดินแดนล้านนาผ่านดินแดนอื่น ๆ ตั้งแต่สิบสองปันนา รัฐฉาน ลาว รวมไปถึงลังกา ผ่านตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่ผูกร้อยผู้คนผ่านการหยิบยืม แลกเปลี่ยน ปรับใช้ผ่านตำนานฉบับนี้ รวมถึงเสนอให้มองตำนานในฐานะประวัติศาสตร์ของวิธีคิด (อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ก็เสนอเช่นนี้ในงานวิทยานิพนธ์ ป.โท) มากกว่าการไปหาความจริงจากตำนาน เพราะตำนานไม่ได้แสดงแต่ภาพที่ปรากฎแต่สะท้อนการเมืองในตำนานระหว่างองคาพยพต่าง ๆ (สุวิภา จำปาวัลย์) รวมถึงขยายการศึกษาตำนานฉบับอื่น เช่น ตำนานเชียงรุ่ง เชียงตุง เมืองยอง และอื่นๆ มากกว่าติดยึดกับตำนานของเชียงใหม่ตั้งต้นในการอธิบายประวัติศาสตร์ล้านนา (ภูเดช แสนสา)

ในการศึกษาล้านนาคดีเราควร De-Centering ความเป็นศูนย์กลางของเชียงใหม่ เพราะการมองจากศูนย์กลาง (รวมถึงรัฐไทยด้วย) ทำให้เราไม่เห็นพลวัตของสิ่งอื่น ๆ (ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์) การศึกษาควรให้ความสำคัญกับแง่มุมใหม่ ๆ หลุดพ้นไปจาก "การศึกษาแบบน้อย/หนาน" ในแง่วิธีคิด รวมถึงหลุดพ้นไปจากมายาภาพความโรแมนติกต่าง ๆ (ชัยพงษ์) เพราะปรากฏการณ์ทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนา ตำแหน่งทางศาสนา การตอบโต้ความด้อยกว่าของคนลาว (เมือง/ล้านนา) เป็นการเมืองของการช่วงชิงความหมายการนิยาม (พิสิษฏ์ นาสี, ธรรศ ศรีรัตนบัลล์, สุนทร คำยอด)

บรรยากาศภายในงาน (2)

ที่น่าสนใจและคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ คือ พิสิษฏ์ นาสี เสนอเรื่อง "ครูบาอุ๊กแก๊ส" ที่มิได้มีความหมายทางลบ แต่คือ การต่อรอง ตอบสนองต่อบริบท ศรัทธาใหม่ เขาให้ความสำคัญกับปฏิบัติการและกิจกรรมผ่านการมองแบบพุทธประชานิยมของครูบาสมัยใหม่ มากกว่าการแขวนป้ายว่าเป็นครูบาอุ๊กแก๊ส โดยพิสิษฏ์มองว่าครูบามี ๒ แบบ คือ ครูบาสาระถะนิยม และครูบาอุ๊กแก๊ส ซึ่งครูบาแบบหลังเกิดใต้เงื่อนใครต่างๆ ของสังคม ภายใต้การหยิบยืมเปลี่ยนปรับความเชื่อ พิธีกรรมที่มีแต่เดิม และภายใต้กระแส "ล้านนานิยม" ทำให้ครูบาเหล่านี้มีตำแหน่งแห่งที่ที่ตั้งมั่น ซึ่งเขาได้อธิบายผ่านพิธีกรรมเข้านิโรธกรรม และการสร้างพระเจ้า "โครต" ทันใจ รวมถึงเขาได้เข้าไปวิวาทะกับงานศึกษาครูบาก่อนหน้าอย่าน่าสนใจ (ขออ่านจากคนเสนอเอง)

ภายใต้ความเป็นล้านนานิยมที่เป็นชายขอบ ทำให้เกิดการตอบโต้ความด้อยกว่าของเป็นล้านนา โดยสุนทร คำยอด ได้ใช้งานของ อ.ไชยวรศิลป์ มาเป็นตัวอย่าง ที่สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ แย่งชิง เพื่อทำลายมายาภาพความเป็นลาว คนเมือง ใจง่ายของคนในล้านนาประเทศชายขอบ ที่เกิดมาเนิ่นนานแล้ว และมีการใช้วรรณกรรมในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างไทเหนือกับไทยใต้ (สุนทร)

นอกจากนี้เราไม่สามารถศึกษาล้านนาแบบตะตึ่งโนง ตะต่อนยอนแบบเดียว โดยไม่มองว่ามันมีการปรับเปลี่ยน หยิบยืม แล้วเถลิงความเป็นปราชญ์ ผู้รู้ ความเก่าแก่แบบเบ้า เพื่อสถาปนาความจริงแท้แต่ฝ่ายเดียว แต่หลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Invented of Traditions หรือประเพณีประดิษฐ์ แต่เรากับติดยึดว่าคือ ความจริงแท้ จนไม่อาจไถ่ถอน เดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้ แลไปข้างหลังก็ลำบาก ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้จากศึกษาดนตรีล้านนา และอื่น ๆ (สงกรานต์ สมจันทร์) รวมถึงหลักสูตรการศึกษาที่นำเอาซอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผ่าน "ปราชญ์" ที่ศรีนวลตั้งคำถามว่าใครเป็นคนสถาปนา (ธนาพงษ์ หมื่นแสน)


บรรยากาศภายในงาน (3)

ท้ายที่สุดเราไม่สามารถอธิบายล้านนาแบบโดดเดี่ยว โดยไม่เหลียวมองกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในงานนี้ ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ ได้พาเราเข้าไปสู่โลกของไต ผ่านตำแหน่งทางศาสนาที่แสดงตำแหน่งแห่งที่ของคนไทใหญ่ และตำแหน่งทางศาสนานั้นก็มีการเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง มีการต่อรองปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ เช่น การทำสัมปทานป่าใหม่ ในลักษณะลูกข่าม-พ่อ/แม่ข่าม ซึ่งการทำสัมปทานป่าไม้ได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในหลายระดับทั้งการค้าข้ามแดน นโยบาย และแรงงานที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ รวมถึงล้านนาที่เป็นยุทธศาสตร์ของการต่อสู้แย่งชิงของมหาอำนาจสยาม อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งหลายเรื่องเรายังไม่เข้าใจ และยังไม่ได้ศึกษา (อำนวยวิทย์ ธิติบดินทร์)

ท้ายสุดผู้สรุปก็ได้ฟังบ้างไม่ได้ฟังบ้าง ขาดตกบกพร่องในการสรุป ลดทอน/เกินเลยการตีความของผู้นำเสนอไปบ้าง แต่ทั้งคือสิ่งที่เราสามารถทำได้ต่อไปในอนาคต และหลายเรื่องก็เห็นต่างกัน

 

เชิงอรรถ

[1] การประชุมวิชาการเรื่อง "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" ๑๒ มิถุนายน  ๒๕๖๐ ห้องประชุมชั้น ๔ อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา ครั้งที่ ๑๓ ในงานนี้ต้องขอขอบคุณ อาจารย์ ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง, อ.แสวง มาละแซม
และ ผศ.ดร. วสันต์ ปัญญาแก้ว ที่ช่วยเหลือร่วมคิด ร่วมจัด เพื่อขับเคลื่อนล้านนาคดีให้ก้าวไปข้างหน้า

[2] คงมีหลายเรื่องที่ผมอาจตกหล่นไป แต่สาระหลักคงประมาณนี้ และที่สำคัญในเรื่องที่แต่ละท่านเสนอในงานก็มีความสำคัญอย่างมาก ควรเริ่มที่ของ อ.อานันท์ ไปฟังในคลิปนะครับ อ.เสนอหลายเรื่อง ๕๕๕

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ความเป็นไทย" บนพื้นที่ออนไลน์ version 4.0 | กรงในกะลา #9

Posted: 13 Jun 2017 04:55 AM PDT

เมืองไทยกำลังจะก้าวไปข้างหน้าสู่ยุคสร้างสรรค์ แต่เสรีภาพการแสดงออกยังถูกกดทับ เยาวชนคนไทยคิดอย่างไรกับยุทธศาสตร์ชาติที่ย้อนแย้ง ติดตามได้ใน "ความเป็นไทย" บนพื้นที่ออนไลน์ version 4.0 ผลงานของพุธิตา ชัยอนันต์

ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา"

รับชมคลิปจากงาน "กรงในกะลา" ที่ https://goo.gl/UkDElt

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไกล่เกลี่ยกันไม่ได้ ศาลแพ่งนัดสืบพยานคดีฟ้อง ทบ. ปมซ้อมสิบโทกิตติกร ตาย ธ.ค. นี้

Posted: 13 Jun 2017 04:40 AM PDT

ศาลแพ่งนัดชี้สองสถานพร้อมกำหนดนัดวันสืบพยาน คดีมารดาสิบโทกิตติกร ฟ้องคดีแพ่งต่อกองทัพบก จากเหตุการณ์สิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำ พวกร่วมกันทำร้ายร่างกาย จนเสียชีวิต เริ่ม 6 ธ.ค.นี้ ส่วนคดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย ปม ร.ต.สนาน ตายระหว่างฝึก เริ่มสืบพยานแล้ว

13 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า วันนี้  (12 มิ.ย.60) เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งนัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดี โดย บุญเรือง สุธีรพันธุ์ มารดาสิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกองทัพบก เพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวน 18,072,067 บาท ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559 ณ เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ บุตรชายของตนถูกสิบเวรหรือผู้คุมเรือนจำในวันเกิดเหตุ กับพวก ร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ในขณะที่ตกเป็นผู้ต้องหาและถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวน และศาลได้รับฟ้องคดีดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 1131/2560

โดยในวันดังกล่าวระหว่างการพิจารณาผู้พิพากษาศาลแพ่งได้สอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายว่าสามารถตกลงกันไกล่เกลี่ยกันได้หรือไม่ ซึ่งคู่ความแถลงร่วมกันว่าไม่สามารถตกลงกันได้ ขอให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป ศาลได้ตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทดังนี้

1. โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่

2 .จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด

3. ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ประเด็นข้อพิพาททั้งสามดังกล่าว โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ ในการนำสืบข้อเท็จจริงเพื่อให้ทราบว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำฟ้องและฟ้องโจทก์ไม่ได้ขาดอายุความ จำเลยได้ให้การปฏิเสธต่อข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงให้นำสืบพยานแก้ต่างภายหลังโจทก์นำสืบพยานเสร็จสิ้น ฝ่ายโจทก์แถลงต่อศาลขอสืบพยานรวม 8 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด ทนายจำเลยแถลงสืบพยาน 8 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด โดยศาลอนุญาตให้กำหนดวันนัดสืบพยานเพิ่มเติมได้ หากปรากฏว่าวันที่กำหนดไว้ไม่เพียงพอ

สำหรับกำหนดนัดสืบพยานโจทก์นั้น คือ วันที่ 6 และ 7 ธ.ค. 2560 เวลา 9.00-16.30 น. ส่วนสืบพยานจำเลยในวันที่ 8 และ 12 ธ.ค. 2560 เวลา 9.00-16.30 น. ณ  ศาลแพ่ง (ถ.รัชดาภิเษก)

ขณะที่คดีที่หวาน ทองดีนอก และธัญญารัตน์ วรรณสถิตย์ ฟ้อง กองทัพบก กรณีพิพาทเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์ ร.ต.สนาน ทองดีนอก เสียชีวิตในระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 โดยหลักสูตรดังกล่าวได้จัดให้มีการทดสอบความสามารถโดยการว่ายน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกองทัพบกเป็นครูฝึกและมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการฝึก ขณะเกิดเหตุร้อยตรีสนานได้ถูกบังคับให้ว่ายน้ำไป-กลับ ภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบ ซึ่งเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะรับได้ เป็นเหตุให้ร้อยตรีสนานจมลงไปก้นสระเป็นเวลานาน โดยที่ครูฝึกซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้เข้ารับการฝึกกลับปล่อยปละละเลยไม่เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที 

โดยกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13, 14, 15 และ 16 มิ.ย. 2560 เวลา 9.00-16.30 น. สืบพยานจำเลยในวันที่ 20 และ 21 มิ.ย. 2560 เวลา 9.00-16.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 517ศาลแพ่ง (ถ.รัชดาภิเษก)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาสนาเพื่อสันติภาพฯ ร้องศาสนิกชนละเว้นความรุนแรง ใช้วิจารณญาณเสพสื่อ

Posted: 13 Jun 2017 04:29 AM PDT

โต้คาร์บอมบ์บิ๊กซีปัตตานี โซเชียลปั่นเนื้อหาสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนา หากสงสัยเรื่องศาสนาหรือแนวทางแก้ปัญหาให้ถามสำนักงานกลางศาสนาและหน่วยงานราชการ

เมื่อ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ศาสนาเพื่อสันติภาพ-สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศเทยและองค์กรภาคี ได้แก่ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนาอันจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง" สืบเนื่องจากเหตุวางระเบิดรถยนต์หน้าห้างบิ๊กซีในวันที่ 9 พ.ค. 2560 ที่จังหวัดปัตตานี และการใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่เนื้อหาเพื่อสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนา

ศาสนาเพื่อสันติภาพฯ และองค์กรภาคีมีข้อเรียกร้องยังศาสนิกทุกคนให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเว้นการใช้ความรุนแรง การกล่าวหาโดยปราศจากมูลความจริงเพื่อหวังก่อความสับสน โดยใช้วาจาที่สุจริตอันเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ใช้วิจารณญาณในการรับและเผยแพร่ข่าวสารออนไลน์ และหากมีข้อสงสัยในประเด็นที่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือคลางแคลงใจที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ให้สอบถามไปยังสำนักงานกลางของแต่ละศาสนา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตามลำดับ

แถลงการณ์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่อง 7 จ่อปล่อย 'ซีรีส์ภารกิจรัก' 4 เหล่าทัพ ก.ค.นี้ หวังสร้างอุดมการณ์รักชาติ

Posted: 13 Jun 2017 04:02 AM PDT

ช่อง 7 ระดม 8 พระนาง เปิด 'ซีรีส์ภารกิจรัก' 4 เรื่อง 4 เหล่าทัพ ก.ค. นี้ สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับความรัก มิตรภาพ และ การเสียสละเพื่อประเทศชาติ 

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ข่าวประจำวัน กองทัพอากาศ'

13 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ข่าวประจำวัน กองทัพอากาศ' โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า นาวาอากาศเอก นินาท มูลจนะบาตร์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักกิจการพลเรือนและประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เป็นผู้แทนกองทัพอากาศ ร่วมงานแถลงข่าว ซีรีส์ภารกิจรัก เพื่อเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติในส่วนของกองทัพอากาศ เรื่อง "ยึดฟ้าหาพิกัดรัก" เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งซีรีส์ภารกิจรัก จะออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ในเดือน ก.ค. นี้

เว็บไซต์ช่อง 7 สี รายงานด้วยว่า ซีรีย์ดังกล่าว สร้างโดย บริษัท "พอดีคำ" โดยมี 8 นักแสดงนำ ประกอบด้วย เวียร์-ศุกลวัฒน์, พีค-ภัทรศยา, อ๋อม-อรรคพันธ์, แซมมี่ เคาวเวลล์, พอร์ช-ศรัณย์, ขวัญ-อุษามณี, มิกค์ ทองระย้า และ เซฟฟานี่ อาวะนิค เป็นละครแนวโรแมนติก แอ็กชั่น ที่สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับความรัก มิตรภาพ และ การเสียสละเพื่อประเทศชาติ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนอุบลฯ โวยงบประชารัฐไม่โปร่งใส ชี้ ผญบ. ปลอมเอกสาร ผญบ.โต้ไม่ได้โกงและมีพยานบุคคล

Posted: 13 Jun 2017 03:02 AM PDT

ชาวบ้านหนองสองห้อง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ร้องภาครัฐฯโครงการประชารัฐไม่โปร่งใส อ้างผู้ใหญ่บ้านปลอมแปลงลายมือชื่อเบิกงบ 5 แสนบาท นำเงินไปต่อเติมบ้านตนเอง ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านยืนยันมีการจัดประชาคม แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์ใจต่อเติมบ้านเพื่อทำร้านค้าชุมชน

12 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหนองสองห้อง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และผู้ใหญ่บ้านหนองสองห้อง ได้เดินทางไป สภ.วารินชำราบ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้านได้มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบเอกสารในการเบิกงบจากการโครงการประชารัฐจำนวน 500,000 บาท ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการเบิกงบที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน เนื่องจากว่าไม่มีกระบวนการจัดประชาคมขอความคิดเห็นจากชาวบ้านก่อน โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลเพียงแค่ว่า กรณีดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายมือชื่อ ต้องรอการพิจารณาต่อไป

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากวันที่ 30 ก.ย. 2559 ชาวบ้านหนองสองห้องกว่า 50 ราย เดินทางไปร้องเรียนที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากมีข้อกังวลว่ามีการเบิกจ่ายงบประชารัฐโดยไม่ชอบ ซึ่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งเชื่อว่าผู้ใหญ่บ้านได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปต่อเติมบ้านของตนเอง

จตุพร  สังเพชรรัตน์  ตัวแทนชาวบ้านบ้านหนองสองห้อง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ทราบเรื่องงบประชารัฐจากหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หมู่บ้านของตนกลับไม่มีการประชาคมเรื่องงบประชารัฐจากผู้นำหมู่บ้าน จึงไปสอบถามสำนักงานกองทุนหมู่บ้าน (สทบ.8) อ.วารินชำราบ ได้ความว่าทางผู้ใหญ่บ้านเบิกเงินไปแล้ว 500,000 บาท จากนั้นตนและชาวบ้านได้ไปตามเรื่องที่อำเภอพร้อมทำหนังสือยื่นต่อเจ้าหน้าที่ แต่ได้ความว่าหากไม่ได้เป็นคณะกรรมการหรือสมาชิกในกองทุนหมู่บ้านไม่สามารถดูข้อมูลได้ จึงให้ผู้ที่เป็นสมาชิกเป็นคนเขียนหนังสือเพื่อไปขอดูโครงการ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูล ชาวบ้านจึงเขียนหนังสือไปถึงผู้ใหญ่บ้าน 5 ข้อ คือ 1.บ้านผู้ใหญ่บ้านที่กำลังทำอยู่เป็นเงินส่วนตัวใช่ไหม 2. โครงการเงินประชารัฐ 500,000 บาท ผู้ใหญ่บ้านได้นำเงินออกมาแล้วใช่ไหม 3. ยังอยู่ครบหรือเปล่า อยู่กับใคร 4. นำหลักฐานมาแสดงได้ไหม 5. ทำไมถึงไม่แจ้งให้ชาวบ้านทราบ แจ้งหอประกาศด้วย แต่จนถึงสิ้นเดือนกันยายนก็ยังไม่มีประกาศกลุ่มชาวบ้านจึงไปศาลากลางจังหวัดไปร้องเรียนผู้ว่าผู้ใหญ่บ้านเอาวาระการประชุมรายชื่อเท็จไปทำโครงการนำเงินประชารัฐมาสร้างบ้านตนเอง

 "การตรวจสอบไม่เป็นไปในทางที่โปร่งใส ทางอำเภอก็บ่ายเบี่ยงที่จะเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งเกี่ยงความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่มีฝ่ายไหนที่จะทำให้เรื่องกระจ่าง แต่กลับทำให้เรื่องมันแย่ลง ทั้งๆ ที่เราเป็นคนในหมู่บ้านกลับไม่สามารถทราบรายละเอียดโครงการเลย ผิดกลับหมู่บ้านใกล้เคียงที่โครงการเป็นไปอย่างโปร่งใส ชาวบ้านในหมู่บ้านรับรู้ทุกอย่าง แต่หมู่บ้านเราทำเป็นเหมือนความลับที่ชาวบ้านไม่มีสิทธิอะไรเกี่ยวกับโครงการเลย"จตุพรกล่าว

ศุภชัย นามแก้ว ให้ข้อมูลว่า รายชื่อที่ผู้ใหญ่บ้านส่งให้ สทบ.8 เพื่อไปเบิกเงินโครงการประชารัฐหมู่บ้านละ 500,000 บาท เจ้าหน้าที่เเจ้งว่ามีคนมาประชุมทั้งหมด 66 คนในวันที่ 16 เม.ย. 2559 ซึ่งบางรายชื่อมีชื่อซ้ำกัน และบางรายชื่อมีลักษณะที่ผิดสังเกต

ด้าน อภัย สุกัญตั้งใจ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองสองห้อง อ.วารินชำราบ จ,อุบลราชธานี กล่าวยืนยันว่า ตัวเองบริสุทธิ์ใจ และสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงยังมีพยานบุคคลมากกว่า 80 คนที่สามารถยืนยันความบริสุทธิ์ใจของตนได้ว่า มีการประชาคมชาวบ้าน และมีมติให้ทำโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2560 และกรรมการโครงการได้คืนเงินไปแล้ว ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินที่ใช้ในการมัดจำค่ารับเหมาก่อสร้าง และมัดจำสินค้าที่จะนำมาขายในร้านค้าชุมชน แม้จะคืนเงินไปแล้วแต่ชาวบ้านยังไม่ยอมยุติเรื่องราว อภัยยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะชาวบ้านบางส่วนกลัวว่าร้านค้าชุมชนจะขัดผลประโยชน์ต่อธุรกิจส่วนบุคคล

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หรือกองทุนหมู่บ้านประชารัฐ หมู่บ้านละไม่เกิน 500,000 นี้สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2559 ซึ่งกระทรวงการคลังเสนอให้มีการใส่เงินให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,556 กองทุนๆ ละ ไม่เกิน 5 แสนบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้แต่ละหมู่บ้านนำเงินทุนนี้ไปดำเนินการเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลการเกษตร โรงสีชุมชน แหล่งเก็บน้ำ เครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตการเกษตร หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ชุมชนเห็นว่ามีประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ของชุมชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

27 องค์กรประชาสังคม ค้านแก้ผังเมืองนครนายก-นัดร้องผู้ว่าฯ ต่อ

Posted: 13 Jun 2017 02:29 AM PDT

ภาคประชาสังคม จ.นครนายก 27 องค์กร ออกแถลงการณ์ค้านแก้ผังเมืองนครนายก ชี้ควรรอผังเมืองรวมนครนายกฉบับใหม่ที่เสร็จสิ้นการฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับตำบลมาแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะเร่งรัดรีบร้อน

13 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 มิ.ย.60) ภาคประชาสังคม จ.นครนายก 27 องค์กร ออกแถลงการณ์ภาคประชาสังคมคัดค้านการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2555 พร้อมทั้งนัดหมายแสดงเจตนารมณ์ต่อ ดร.ประดิษฐ์ ยมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ในวันที่ 14 มิ.ย. 2560 ที่ศาลากลางจังหวัดนครนายก เวลา 09.00 น. และแสดงเจตจำนงร่วมกันต่อที่ประชุมคณะกรรมการผังเมือง ณ ห้องประชุมกรมโยธาธิการและผังเมือง 2101 ชั้น 1 อาคาร 2 ถนนพระราม 9 กรุงเทพ เวลา 09.30 น.

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์ภาคประชาสังคมคัดค้านการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2555

วันที่ 14 มิถุนายน 2560

สืบเนื่องจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมทั้งจังหวัดของชาวนครนายก เมื่อ พ.ศ. 2558 ในการคัดค้านการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก ฉบับ พ.ศ. 2555 บัดนี้กระบวนการแก้ไขได้ดำเนินมาถึงการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 นี้ ก่อนที่จะถูกส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดทำเป็นกฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ภาคประชาชนมีความกังวลใจต่อการพิจารณาแก้ไขในขั้นตอนสุดท้ายนี้ เพื่อเป็นการยืนยันในเจตนารมณ์ของชาวนครนายกที่จะคงผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2555 ไว้ทั้งฉบับ ยกเว้นเฉพาะการพัฒนาสาธารณูปโภคสำหรับชาวนครนายกที่จำเป็นเท่านั้นเช่นเสาส่งสัญญาณ เป็นต้น เนื่องจากการแก้ไขที่ส่วนราชการทำในปี พ.ศ. 2558 นั้นไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ภาคประชาสังคมจังหวัดนครนายกจึงเห็นควรให้รอผังเมืองรวมนครนายกฉบับใหม่ที่เสร็จสิ้นการฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับตำบลมาแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะเร่งรัดรีบร้อนแต่ประการใด ประกอบกับชาวจังหวัดนครนายกเชื่อมั่นในกฎหมายผังเมืองที่จะเป็นปราการด่านสุดท้ายของการปกป้องรักษาธรรมชาติซึ่งเป็นมรดกที่บรรพบุรุษรักษาไว้ให้ชาวนครนายกได้สร้างอาชีพและรายได้จากผลผลิตทางเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกรณีความขัดแย้งของการขุดบ่อดิน การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่แยกประชาเกษม การสร้างฟาร์มไก่ขนาดใหญ่ กฎหมายผังเมืองรวมนครนายก พ.ศ. 2555 มีบทบาทช่วยยุติปัญหาไว้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการแก้ไขผังเมืองที่เสนอมานั้นไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศพื้นที่ของจังหวัดนครนายกที่เป็นธรรมชาติป่าเขาที่ก่อให้เกิดน้ำตก แม่น้ำและลำน้ำตามธรรมชาติไหลลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงซึ่งมีศักยภาพพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและการพักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศธรรมชาติและยังเป็นแก้มลิงให้กับพื้นที่ปริมณฑลมากกว่าการทำอุตสาหกรรมตามที่มีการขอแก้ไขและยังสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดที่มุ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนี้สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครนายกซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน ภาคราชการ และนักวิชาการมีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาให้มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทำจังหวัดนครนายกให้ปราศจากปัญหามลพิษ

ในการนี้ประชาชนจากภาคประชาสังคมจังหวัดนครนายกทั้ง 27 องค์กรจึงมีมติร่วมกันที่จะยืนยันคำร้องที่เคยยื่นไว้แล้วเมื่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้กลับไปใช้ผังเมืองรวมนครนายก พ.ศ. 2555 ทั้งฉบับโดยให้ยกเว้นเฉพาะการสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับชาวนครนายกเท่านั้น จึงขอให้ชาวนครนายกพร้อมเพียงกันแสดงเจตนารมณ์ต่อ ดร.ประดิษฐ์ ยมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ในวันที่ 14 มิถุนายน 2560 ที่ศาลากลางจังหวัดนครนายก เวลา 09.00 น. และแสดงเจตจำนงร่วมกันต่อที่ประชุมคณะกรรมการผังเมือง ณ ห้องประชุมกรมโยธาธิการและผังเมือง 2101 ชั้น 1 อาคาร 2 ถนนพระราม 9 กรุงเทพ เวลา 09.30 น.

ภาคประชาสังคม 27 องค์กรประกอบด้วย

1. สมาคมพลเมืองนครนายก

2. สมาคมสื่อมวลชนเพื่อการท่องเที่ยว

3. สมาคมชาวนครนายก

4. สมาคมลูกเสือนครนายก

5. สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครนายก

6. สภาองค์กรชุมชนจังหวัดนครนายก

7. สภาเกษตรกรจังหวัดนครนายก

8. ชมรมชาวใต้ จังหวัดนครนายก

9. ชมรมจักรยาน นครนายก

10. ชมรมกีฬาจักรยาน นครนายก

11. เครือข่ายพลเมืองนครนายก

12. กองทุนสวัสดิการชุมชน

13. ชุมชนท่องเที่ยวไทยพวน

14. ชมรมข้าราชการพลเมืองบำนาญ นครนายก

15. ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นครนายก

16. ชมรมคนรักสัตว์ป่า จังหวัดนครนายก

17. กลุ่มเยาวชนต้นกล้า จังหวัดนครนายก

18. สมาพันธ์ส่งเสริมพัฒนาเกษตรแห่งชาติ สาขานครนายก

19. อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นครนายก

20. เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ นครนายก

21. กลุ่มคนรักพระอาจารย์

22. คณะกรรมการผู้ใช้น้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล

23. ชมรมท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดนครนายก

24. เครือข่ายตลาดนัดชุมชน อำเภอองครักษ์ นครนายก

25. เครือข่ายผังเมืองจังหวัดนครนายก

26. กลุ่มรวมใจต้านภัยบ่อดิน ชุมพล บึงศาล

27. กลุ่มรักษ์นาหินลาด

 

ล่าสุดเมื่อเวลา 0.07 น. 14 มิ.ย.60  แหล่งข่าวแจ้งว่า มีการยกเลิกการเข้าพบผู้ว่าฯ ตามกำหนดเวลาเดิม พร้อมทั้งแจ้งให้รอฟังแถงการณ์อีกครั้ง 

 

หมายเหตุ : ประชาไท ได้อัพเดทข้อมูล พร้อมปรับแก้พาดหัวข่าวเมื่อเวลา 1.04 น. วันที่ 14 มิ.ย.60

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น