โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สปท. เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมการเมือง เสนอตั้งองค์กรทำงานตามแผนแม่บท

Posted: 12 Jun 2017 10:48 AM PDT

สปท. ลงมติเห็นชอบรายงานการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และร่างพ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 150 ต่อ 5 เสียง เสนอดันการปฏิรูปการเมือง ทำกระบวนการสร้างนักการเมืองที่ดี พร้อมตั้งองค์กรราชการทำงานตามแผ่นแม่บท

12 มิ.ย. 2560 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) โดยเป็นการพิจารณารายงานการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่อง การปฏิรูปประเทศด้านการเมือง และร่างพ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง รายงานว่า เนื่องจากการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการเตรียมและพัฒนาคนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ ให้มีความพร้อมแก้ไขปัญหาประเทศและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาประเทศไทย4.0 จึงจำเป็นต้องจัดทำกฎหมายนี้ขึ้น เพื่อวางแนวทางและกลไกการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน มีการจัดทำหลักสูตรให้การศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ดีงามและถูกต้อง มีกระบวนการสร้างนักการเมืองที่ดี และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเหมาะสมกับประชาชนในแต่ละกลุ่มวัยและอาชีพ ตลอดจนสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน

เสรี กล่าวต่อว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีทั้งหมด 44 มาตรา โดยให้ ครม. สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนดำเนินการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามพ.ร.บ.นี้และกฎหมายอื่น รวมทั้งให้การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองฯ เป็นวาระแห่งชาติ และส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ ต้องมีคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทและรายงานรายละเอียดของแผนแม่บทและแผนงานการขับเคลื่อนแผนแม่บทต่อ ครม. ให้มีสำนักเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสนับสนุนและรองรับภารกิจของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บท นอกจากนั้นให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองฯ และการขับเคลื่อนแผนแม่บทต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สปท. ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 150 ต่อ 5 งดออกเสียง 9 คะแนน โดยจะส่ง พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองฯ ให้ครม. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ระหว่างการอภิปรายร่างพ.ร.บ.นายนิกร จำนง สปท. ได้กล่าวว่า ตนเตรียมลาออกจากการเป็นสมาชิก สปท. ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเตรียมตัวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไป

ที่มาจาก: มติชนออนไลน์ , ผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุ เชื่อการสรรหา กกต. ชุดใหม่ คงไม่มีใครโง่เลือกคนทำงานไม่เป็นมาทำงาน

Posted: 12 Jun 2017 10:11 AM PDT

รองนายกรัฐมนตรี เชื่อการสรรหา กกต. ชุดใหม่คงไม่มีใครโง่ไปสรรหาคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือทำอะไรก็ไม่เป็น มาทำงาน ย้ำหาก กกต. ชุดปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ด้านมีชัยเชื่อ คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต. ระบุเตรียมส่งกฎหมาย กสม. 19 มิ.ย. นี้ มีเซ็ตซีโร่ด้วย

12 มิ.ย. 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง(เซตซีโร่) หลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ประกาศใช้ว่า ตอนนี้การทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่เสร็จ อีกทั้งยังไม่ได้เริ่มการเซตซีโร่กกต. และตนไม่ทราบเรื่องการเซตซีโร่องค์กรอิสระอื่นๆ และเขายังไม่ได้ร่างกฎหมายตรงนี้ขึ้นมาสักตัว อย่างไรก็ตาม กรณีเซ็ตซีโรกกต. ถ้ากกต.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ไม่คัดค้านมติ สนช. สามารถส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที แต่ถ้าคัดค้าน จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างสนช.กับกรธ. ส่วนกกต.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เขาคงรู้วิธีการ อย่าไปเดากันก่อน

เมื่อถามว่าเป็นแนวทางปฏิรูปองค์กรอิสระหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ได้ปฏิรูปไปแล้วในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่าปฏิรูปอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติต้องดู ทั้งนี้กรณีของกกต.ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างโดยเพิ่มกรรมการจาก 5 คน เป็น 7 คนซึ่งถ้าองค์กรใดเข้าข่ายลักษณะเดียวกัน ก็ต้องถูกดำเนินการตามนี้ เมื่อถามต่อว่ามีบางฝ่ายมองว่าแม้กรรมการกกต.จะมีที่มาแตกต่างกัน ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ และจะทำให้มีการถ่วงดุลอำนาจกัน วิษณุ กล่าวว่า ตนได้ยินว่าเขาพูดอย่างนั้น ถ้าจะทานปลาหลายน้ำแล้วยิ่งอร่อย ก็ไม่เป็นอะไร ตนไม่มีอะไรไปตอบโต้และไม่มีอะไรผสมโรงด้วย

เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าการสรรหากกต. ชุดใหม่อาจจะวางคนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าไปด้วย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการสรรหากกต. ถ้าจะคิดถึงเรื่องวางตัวคนและเดาในแง่ร้าย ก็คิดกันไปได้หมดทั้งนั้น ปัจจุบันมีกรรมการกกต. 5 คน จะต้องสรรหามาอีก 2 คนซึ่งถ้าคิดจะวางคนเข้าไป ก็คงทำในส่วนของ 2 คนนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับ 5 คนที่มีอยู่ จะมีคนที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง 1 คน ผู้เกษียณอายุราชการ 2 คน และผู้ที่มีคดีอยู่ในการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) 1 คน จึงเหลือคนอยู่ในตำแหน่ง 1 คน

"ผมเห็นคุณสมชัย (ศรีสุทธิยากร กกต.) ให้สัมภาษณ์ในรายการทางโทรทัศน์ หลังถูกถามว่าหลังได้กกต.ชุดใหม่แล้วเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อยหรือไม่ คุณสมชัยตอบว่าต่อให้มีกกต.เก่าอยู่ เขาไม่กล้าพูดว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อย เพราะคำว่าเรียบร้อยหรือไม่นั้นอยู่ที่คนอื่นเป็นคนทำ อยู่ที่ผู้สมัคร อยู่ที่ประชาชน แต่คนเป็นกกต.มีหน้าที่ทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเก่าหรือไม่ เหมือนตำรวจกับโจร ถ้าบอกว่าปฏิรูปตำรวจแล้วโจรจะหมดไปมันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ปฏิรูป มันจะยิ่งแย่" วิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าบางฝ่ายเป็นห่วงว่ากกต.ชุดใหม่อาจไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการจัดการเลือกตั้ง วิษณุ กล่าวว่า "ผมพูดมาทั้งหมดนี้ จะยังเป็นห่วงอะไรกันอีก แล้วทำไมถึงจะโง่ไปสรรหาคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือทำอะไรก็ไม่เป็น ประสบการณ์มันต้องเริ่มแล้วจึงจะมีทั้งนั้น 5 คนนี้เมื่อก่อนก็ไม่มีประสบการณ์"

มีชัย เชื่อคนส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลเซ็ตซีโร่ กกต. พร้อมเตรียมส่ง พ.ร.ป. กสม. 19 มิ.ย. มีเนื้อเซ็ตซีโร่อยู้ด้วย

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กล่าวถึงกรณีที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เข้าใจเหตุผลการเซ็ตซีโร่ กกต.ของ กรธ. ว่า ไม่ต้องการตอบโต้กันไปมา แต่เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่เข้าใจถึงเหตุผลในการเซ็ตซีโร่ กกต. เนื่องจากมีโครงสร้างและที่มาของ กกต ที่มีปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมองว่า ไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบหรือไม่ ก็ต้องถูกฝ่ายการเมืองวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี  

มีชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากมองว่าการเซ็ตซีโร่ กกต. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีสิทธิจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคือ สนช.  ขณะที่ กกต. และ กรธ. มีหน้าที่แสดงความคิดเห็นว่า ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ หากมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ก่อนส่งก่อนสรุปผลแล้วส่งกลับไปยัง สนช. อีกครั้ง 

มีชัย  ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กรธ.พยายามอธิบายความจำเป็นของการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระอยู่แล้ว  โดยเฉพาะเรื่องปลา 2 น้ำ ที่เมื่อโครงสร้างและที่มาเปลี่ยนไป อาจจะเกิดความซ้ำซ้อนในการทำหน้าที่ และหากปล่อยผ่าน จะทำให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งในอนาคตได้

ส่วนกรณีที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง มองว่า กรธ ส่งร่างกฎหมายที่ไม่ดีให้ สนช. นั้น มีชัย กล่าวว่า เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ร่างกฎหมายดีหรือไม่ดี เพราะในระบบสภา สนช. เป็นถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการพิจารณาปรับแก้ ก่อนที่ออกกฎหมายอยู่แล้ว  

ทั้งนี้มีชัยระบุด้วยว่า กรธ. จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ สนช.ในวันที่ 19 มิ.ย. โดยมีเนื้อหาให้เซ็ตซีโร่กรรมการกสม. ด้วย

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย , มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'แพทย์ชนบท' ร้องหยุดแก้ ก.ม.บัตรทอง เกินคำสั่ง หัวหน้า คสช.

Posted: 12 Jun 2017 09:44 AM PDT

ชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ กรณีแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้ 3 เหตุผลสำคัญ ให้หยุดสร้างความขัดแย้งให้สังคมด้วยการซ่อนเร้นแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ และไม่ปรับแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกินกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.

12 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 มิ.ย.60) ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ กรณีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาสำคัญ 3 ข้อคือ 1. ให้ทีมงานศึกษาคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แถลงต่อที่ประชาคมโลกในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2558 ว่าจะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยให้ดี และยุติการกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ผิดขั้นตอนกฎหมาย การแก้ไขเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ...หรือ พ.ร.บ.บัตรทอง ที่ซ่อนเร้น ซึ่งจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งของสังคมและอาจเป็นประเด็นทางการเมืองให้รัฐบาลได้

2.ให้มีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.บัตรทอง ให้อยู่เฉพาะในกรอบ 6 ข้อของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2559 ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า การใช้อำนาจ ม.44 ของ คสช.ช่วยคลี่คลายความไม่ชัดเจนของ พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน

3.ให้การแก้ไข พ.ร.บ.บัตรทอง เป็นการแก้ไขเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรดำเนินการต่อด้วยความรอบคอบ และเปิดให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม และนำเอาทิศทางของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 37/2559 รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของคณะกรรมการวิชาการชุด ศ.ดร.อัมมาร์ สยามวาลา และคณะของ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แต่งตั้ง เป็นเนื้อหาประเด็นการแก้ไข พรบ.บัตรทองต่อไป

พร้อมทั้ง เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำในการหยุดยั้งการสร้างความขัดแย้งที่เกิดจากการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ที่ไม่โปร่งใส ด้วย  

รายละเอียดแถลงกานณ์ : 

แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่หนึ่ง

เรื่อง หยุดสุมไฟความขัดแย้งให้สังคม หยุดเพิ่มปัญหาให้นายกฯ และหยุดลักหลับยัดไส้แก้ พรบ.บัตรทองเกินกว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๙

อ้างถึง   ๑. ร่าง พรบ.หลักประกันสุขภาพ(ฉบับลักหลับ) ของคณะกรรมการยกร่างที่มีประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน และ ๒. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๙ (คำสั่งคลี่คลายให้ระบบบัตรทองเดินหน้าต่อไปได้)

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลักดันแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น ๑๔ ประเด็น โดยมีข่าวว่าได้ผ่านความเห็นชอบอย่างปิดเงียบ ลักหลับจากคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้แต่งตั้ง และกำลังเร่งรัดเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ ๔ ภาคในขณะนี้  ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ประท้วง walk out จากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ป่วยโรคต่างๆ และนักวิชาการ ว่าเป็นร่างแก้ไข พรบ.ที่จะล้มหลักการใหญ่แยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้จัดบริการสาธารณสุขของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.๒๕๔๕ เพราะมีเนื้อหาซ่อนเงื่อน วางระบบที่ริดรอนสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการมีส่วนร่วมของประชาชนในอนาคต  รวมทั้งสร้างพิธีกรรมประชาพิจารณ์ ขาดการมีส่วนร่วมแต่ต้นของภาคส่วนต่างๆตามที่มาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดไว้ (ได้มีการยกร่าง พรบ.ที่แก้ไขเสร็จเตรียมไว้แล้ว ตามที่อ้างถึง ๑ ก่อนทำประชาพิจารณ์ ๑๔ ประเด็น)    ส่งผลสร้างความขัดแย้งที่มีแนวโน้มขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นประเด็นเพิ่มปัญหาทางการเมือง พิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลปัจจุบัน

มีคำถามอย่างกว้างขวางในสังคมขณะนี้ว่า ประเด็นแก้ไขเพิ่มเติมใน ๑๔ ประเด็นที่มีหลายประเด็นเพิ่มเติมนอกเหนือจาก ๖ ข้อในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๙ (รวมทั้งที่แอบตัดสาระสำคัญในข้อ ๑ และ ข้อ ๒(๑) ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๙ ออกไป ตามที่อ้างถึง ๒) ที่คณะกรรมการแก้ไข พรบ.บัตรทอง ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่งเป็นรองประธานมีบทบาทสำคัญอยู่นั้น  มีประเด็นไหนบ้างที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น หรือทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยยั่งยืนขึ้นตามที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พูดให้สัญญาไว้กับประชาคมโลก และประประชาชนไทยทั่วประเทศ  

หรือประกฎการณ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เอาผลงานเก่าของรัฐบาลและรัฐมนตรีที่ผ่านๆมา ไปพูดบนเวทีองค์การอนามัยโลก โดยพูดตรงข้ามกับที่กำลังดำเนินการจริงภายในประเทศ หรือให้ข้อมูลการแก้ไข พรบ.บัตรทองต่อนายกรัฐมนตรีไม่ตรงกับประเด็นการแก้ไขที่กำลังทำอยู่ ทำให้ประชาชนสับสน เพราะข้อมูลที่ได้รับจากนายกรัฐมนตรีทุกเย็นวันศุกร์ ไม่ตรงกับที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังทำอยู่  การพูดให้ข้อมูลอันเป็นเท็จจากการกระทำจริงต่อชาวโลก และต่อประชาชนไทย  โดยไม่ตระหนักว่าภายหลังเมื่อความจริงปรากฎ ชื่อเสียงประเทศไทยจะเสียหาย(ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือ ขาด trust จากชาวโลก) นายกรัฐมนตรีจะเสียความน่าเชื่อถือ (รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ ขาด trust จากประชาชน)

เพื่อไม่เพิ่มความขัดแย้งในสังคมที่กำลังขยายตัวมากขึ้นจากการแอบยัดไส้แก้ไข พรบ.บัตรทอง และ ไม่ให้เพิ่มปัญหาทางการเมืองกับรัฐบาล ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วประเทศ ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประชาชน และขอกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรด

๑. ได้โปรดให้ทีมงาน ศึกษาคำแถลงที่ท่านนายกได้พูดกับประชาคมโลกในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘ ว่าจะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยให้ดีขึ้น พร้อมเป็นตัวอย่างของประเทศทั้งหลาย  และศึกษาคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๙ ทั้ง ๖ ข้อ รวมทั้งศึกษาประเด็นการยัดไส้แก้ไข ๑๔ ประเด็นในร่าง พรบ.ที่คณะคนรอบข้างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แอบยกร่างเสร็จก่อนทำพิธีกรรมจัดประชาพิจารณ์ ๔ ภาคเพื่อเลี่ยงมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ผิดขั้นตอนกฎหมาย และเนื้อหาการแก้ไข พรบ.ที่ซ่อนแร้น แอบแฝง เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมที่กำลังก่อต่อขึ้น และอาจจะเป็นประเด็นการเมืองเพิ่มขึ้นให้กับรัฐบาลในขณะนี้ได้

๒. ได้โปรดมีคำสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไข พรบ.บัตรทองในขณะนี้ ให้อยู่เฉพาะในกรอบ ๖ ข้อของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๙ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าเป็นการใช้อำนาจตาม มาตรา ๔๔ ของ คสช. ที่ช่วยคลี่คลายความไม่ชัดเจนของ พรบ.ปัจจุบัน และช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถพัฒนาต่อเนื่องได้ เป็นประโยชน์กับประชาชน และหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชน

๓. ได้โปรดมอบนโยบายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าการแก้ไข พรบ.บัตรทอง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น ควรดำเนินการต่อด้วยความรอบคอบ มีความมุ่งมั่นที่บริสุทธิ เปิดให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วม และนำเอาทิศทางของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓๗/๒๕๕๙  รวมทั้งข้อเสนอปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพของคณะกรรมการวิชาการชุด ศ.ดร.อัมมาร์ สยามวาลา      และคณะของ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แต่งตั้ง เป็นเนื้อหาประเด็นการแก้ไข พรบ.บัตรทองต่อไป

ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ทั่วประเทศ  คาดหวังจากท่านนายกรัฐมนตรี ว่าจะเป็นผู้นำหยุดยั้งการสร้างความขัดแย้งเกิดจากกลุ่มคนใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำลังแอบยัดไส้แก้ไข พรบ.บัตรทองขัดกับเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๓๗/๒๕๕๙ และคำมั่นสัญญาของท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้กับประชาคมโลก และประชาชนไทย  โดยดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น ก่อนที่ประชาชน คนป่วยไข้ จะได้รับความเดือดร้อน จากการแก้ไข พรบ. บัตรทองที่ซ่อนเงื่อน แอบแฝง ทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในครั้งนี้                                                             

ชมรมแพทย์ชนบท

๒ มิถุนายน ๒๕๖๐

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมออภิวัฒน์ แจ้ง ปอท.เอาผิดมือโพสต์บิดเบือน ยันไม่ต้องการล้มบัตรทอง แต่ให้ปรับตามเศรษฐกิจพอเพียง

Posted: 12 Jun 2017 07:57 AM PDT

นพ.อภิวัฒน์ กรรมการแพทยสภา กรรมการแพทยสภา เอาผิดมือโพสต์บิดเบือนในโลกออนไลน์ ยันไม่ต้องการล้มโครงการบัตรทอง แต่ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 

12 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภา นำหลักฐานที่เกี่ยวข้องการโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ที่โจมตีอย่างหนักทั้งหน้าเว็บเพจหลายเว็บ เข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษผู้นำข้อความการให้สัมภาษณ์ในหลายรายการไปโพสต์ในสื่อโซเชียล โดยตัดเพียงข้อความบางช่วงบางตอนออกมาเผยแพร่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง

นพ.อภิวัฒน์ ยืนยัน การออกมาเคลื่อนไหวไม่ต้องการล้มโครงการบัตรทอง 30 บาท แต่ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากบางโรค อาทิ โรคไต ผลการวิจัยพบว่า  การรักษาโดยใช้สูตรที่ถูกควบคุมโดย สปสช.จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่าการรักษานอกหลักสูตร  แต่การเคลื่อนไหวของตนกลับถูกนำไปบิดเบือนลงในโซเชียล ทำให้ความหมายในสิ่งที่ต้องการสื่อสารผิดไป จนถูกโลกโซเชียลสร้างกระแสต่อต้าน จนได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีการนำรูปภรรยาของตนไปลงในโซเชียล พร้อมแปะชื่อเป็นแพทย์หญิงท่านอื่น กล่าวอ้างถึงบางองค์กร ถือว่าไม่ถูกต้อง จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเว็บไซต์และบุคคลบางกลุ่มที่นำข้อความเหล่านั้นไปเผยแพร่ ขอย้ำว่า ไม่ต้องการล้มบัตรทอง เพียงต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงบางโครงการเท่านั้น

นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 

ทั้งนี้ นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูรและ อภิวัฒน์ กวางแก้ว แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ร่วมดีเบตในรายการ "เรื่องเด่นเย็นนี้" ช่วง "ดีเบต (Debate) โต้เหตุผล ค้นความจริง" ดำเนินรายการโดย สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) ออกอากศทางช่อง 3 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'bectero.tv' ได้ทำภาพของ นพ.อภิวัฒน์ ประกอบคำพูดในข้อความว่า "บางคนไม่ได้ป่วยอะไร ก็มานอนเล่นที่โรงพยาบาล เพราะมีที่พัก มีอาหารฟรี" ต่อมาภาพดังกล่าวถูกแชร์ต่อและวิพากษ์วิจารณ์กับคำพูดนี้จำนวนมาก

วันต่อมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ  'bectero.tv' โพสต์ข้อความระบุเป็นของ ทีมงานรายการดีเบต ถึง ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ว่า เนื่องจากทีมงานรายการดีเบต ได้นำเสนอข้อความ โดยระบุว่าเป็นคำพูดของท่านในรายการ ทั้งที่ท่านไม่ได้พูดประโยคดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และ อาจสร้างความเสียหายกับท่านได้

"รายการฯขอแสดงความขอโทษ และเสียใจ รวมทั้งได้ลบภาพและข้อความที่คลาดเคลื่อนออกไปจากเพจของรายการแล้ว จึงเรียนมาเพื่อขออภัยท่าน และขอชี้แจงกับสาธารณะว่าท่านไม่ได้เป็นผู้พูดประโยคดังกล่าว" ทีมงานรายการดีเบต ระบุ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

15 ปี งบฯ กลาโหม จาก 7.85 หมื่นล้าน สู่ 2.22 แสนล้าน พุ่งต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 49

Posted: 12 Jun 2017 06:06 AM PDT

 
 
ภาพแสดงการเพิ่มขึ้นของ งบฯกระทรวงกลาโหม 15 ปีที่ผ่านมา
 
จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 วาระแรก ด้วยคะแนน 216 เสียง แบบไร้เสียงค้านนั้น  ในการตั้งงบประมาณดังกล่าว คืองบฯ ของกระทรวงกลาโหมซึ่งได้รับการจัดสรรไว้ถึง 2.22 แสนล้านบาท เป็นรองแค่กระทรวงศึกษาธิการ, งบกลาง, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังเท่านั้น
 
โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงใน สนช. ตอนหนึ่งเกี่ยวกับงบที่เพิ่มขึ้นไว้ว่า กระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ และรองรับแผนงานด้านความมั่นคง ยุทธศาสตร์และบูรณาการ พร้อมยืนยันว่า จะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าให้มีประสิทธิภาพ ส่วนการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพนั้น จะจัดหาตามความจำเป็นตามแผนพัฒนากองทัพที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณน้อย แต่ก็ได้รับเพิ่มขึ้นตามลำดับจนถึงปัจจุบัน เพื่อจัดหาอาวุธทดแทนในส่วนที่หมดอายุหรือล้าสมัยเพื่อให้กองทัพทัดเทียบกับประเทศอื่นๆ
 
การเพิ่มขึ้นของงบฯ กระทรวงกลาโหมนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ หากแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากย้อนกลับไป 15 ปีที่ผ่านมาก็จะพบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 47 ได้งบ 7.85 หมื่นล้าน  คิดเป็น 7.63% ของงบรวม 1.028 ล้านล้าน หรือ 1.21% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 1.9 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 4.51 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 48 ได้งบ 8.12 หมื่นล้าน คิดเป็น 6.76% ของงบรวม 1.2 ล้านล้าน หรือ 1.145% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 2.03 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 4.50 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม  ปี 49 ได้งบ 8.59 หมื่นล้าน คิดเป็น 6.316% ของงบรวม 1.36 ล้านล้าน หรือ 1.03% ของ GDP  ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 2.25 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 5.265 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 50 ได้งบ 1.15 แสนล้าน คิดเป็น 7.37% ของ งบรวม 1.56 ล้านล้าน หรือ 1.35% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 2.82  แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 6.228 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 51 ได้งบ 1.43 แสนล้าน คิดเป็น 8.61% ของงบรวมที่มี 1.66 ล้านล้าน หรือ 1.57% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 3.010 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 6.543 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 52 ได้งบ 1.701 แสนล้าน คิดเป็น 9.27% ของงบรวม 1.835 ล้านล้าน หรือ 1.88% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 3.322 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 7.090 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 53 ได้งบ 1.540 แสนล้าน คิดเป็น 9.06% ของงบรวม 1.7 ล้านล้าน หรือ 1.52% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 3.467 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 7.162 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 54 ได้งบ 1.685 แสนล้าน คิดเป็น 8.14% ของงบรวม 2.07 ล้านล้าน หรือ 1.59% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 3.911 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 8.690 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 55 ได้งบ 1.686 แสนล้าน คิดเป็น 7.08% ของงบรวม 2.38 ล้านล้าน หรือ 1.36% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 4.204 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 9.199 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 56 ได้งบ 1.804 แสนล้าน คิดเป็น 7.52% ของงบรวม 2.4 ล้านล้าน หรือ 1.30% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 4.604 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 9.978 หมื่นล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 57 ได้งบ 1.838 แสนล้าน คิดเป็น 7.28% ของ งบรวม 2.525 ล้านล้าน หรือ 1.39% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 4.827 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.06 แสนล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 58 ได้งบ 1.92 แสนล้าน คิดเป็น 7.45% ของงบรวม 2.575 ล้านล้านหรือ 1.40% ของ GDP  ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.01 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.09 แสนล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 59 ได้งบ 2.06 แสนล้าน คิดเป็น 7.57% ของงบรวม 2.720 ล้านล้าน หรือ 1.43% ของ GDP ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.17 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.23 แสนล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 60 ได้งบ 2.135 แสนล้าน  คิดเป็น 7.30% ของงบรวม 2.923 ล้านล้าน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.139 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.311 แสนล้าน
 
- งบกระทรวงกลาโหม ปี 61 ที่เพิ่มผ่านวาระแรก ได้ 2.22 แสนล้าน คิดเป็น 7.65% งบรวม 2.9 ล้านล้าน ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ 5.109 แสนล้าน และกระทรวงสาธารณสุข 1.361 แสนล้าน
 

งบฯลดตั้งแต่ พ.ค.35 เพิ่มหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49

หากย้อนหลับไปไกลกว่านั้นจากงานศึกษาของ แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการสาขามานุษยวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเผยแพร่ในมติชนออนไลน์ วันที่ 04 ก.ย. 53 ยืนยันว่าตัวเลขงบประมาณกองทัพเทียบกับผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ดู ภาพ 2 )
ภาพ 2 จากงานศึกษาของ แอนดรูว์ วอล์คเกอร์  เผยแพร่ในมติชนออนไลน์ วันที่ 04 ก.ย. 53
 
กราฟที่แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ ทำแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์พฤษภา 35 งบประมาณทางด้านการทหารของไทยได้มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยมากกว่า 2.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ก็ค่อยๆ ลดต่ำลงจนเหลือจำนวนน้อยกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 49 แต่หลังจากรัฐประหาร 19 ก.ย.49 เป็นต้นมา งบประมาณทางด้านการทหารของไทยกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่ง โดยจากสถิติของธนาคารโลก งบประมาณของกองทัพไทยได้แตะถึงหลัก 1.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 51 และมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหาร-ตำรวจสกัดสื่อทำข่าว เวทีถกปัญหา ‘2 ร่างกฎหมายป่าไม้’ หลังขอเลิกแถลงข่าวไม่สำเร็จ

Posted: 12 Jun 2017 05:35 AM PDT

ตั้งทีมคุมเข้มทหาร-ตำรวจผสานกำลังประจำการหน้าปากซอย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ขอตรวจบัตรประชาชนคนเข้าร่วมเวทีถกปัญหา '2 ร่างกฎหมายป่าไม้' สกัดนักข่าวเข้างานเหตุมองว่าอาจจะเป็นงานแถลงข่าวที่กระทบรัฐบาล ขณะที่แกนนำชาวบ้านถูกตำรวจเข้าพบยามวิกาลเพื่อสอบถามเรื่องการเข้าร่วมเวที

12 มิ.ย. 2560 รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลวังทองหลาง เข้ามาปิดกั้นบริเวณทางเข้าและขอตรวจค้นผู้เข้าร่วมเวทีการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดท่าทีและจุดยืนของภาคประชาชนและชุมชนในเขตอนุรักษ์ต่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ..และร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. .ซึ่งจัดเข้าที่ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 463/1 ถนนรามคำแหง 39 (เทพลีลา) ซอย 17 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง

หลังจากที่เมื่อวานนี้ (11 มิ.ย.2560) เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.วังทองหลาง ได้เชิญตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move ร่วมพูดคุยทำความเข้าใจกรณีการจัดกิจกรรมแถลงข่าวที่อาจกระทบกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาได้ข้อตกลงอนุญาตให้จัดเวทีสัมมนาได้ แต่ไม่ให้แถลงข่าว และเจ้าหน้าที่จะเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ในเวทีสัมมนาตลอดทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษา P-move เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รายงานผลการเจรจาระหว่าง P-move กับผู้กำกับสน.วังทองหลางและฝ่ายทหารที่ควบคุมพื้นที่ ซึ่งยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. สรุปได้ว่า

1. กิจกรรมการสัมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกำหนดท่าที่ต่อร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในวันพรุ่งนี้ไม่เข้าข่ายฐานความผิดใด ทั้งตามคำสั่ง คสช.ที่ 3 /2557 (การสัมมนาวิชาการภายในเคหะสถานไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน)

และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพราะไม่ได้จัดในพื้นที่สาธารณะแต่จัดในสำนักงาน/ที่ทำการของ ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆต่อสาธารณะ จึงไม่เข้าข่ายต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

2.ฝ่ายความมั่นคงไม่สบายใจในเรื่องการแถลงข่าวเพราะจะเป็นเยี่ยงอย่างให้กลุ่มการเมืองอื่นใช้เป็นข้ออ้างได้ในการเคลื่อนไหว ทางฝ่ายความมั่นคงจึงขอให้ P-move ส่งหมายยกเลิกการแถลงข่าวต่อสู่มวลชน

ทาง P-move ยืนยันว่าไม่อาจทำตามข้อเสนอได้เนื่องจากการแถลงข่าวเป็นสิทธิของประชาชนที่จะกระทำได้ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่เนื้อหาในการแถลง การแถลงข่าวไม่ผิดกฎหมายใด

การแถลงข่าวของ P-move เป็นการแถลงผลการสัมมนาและความเห็นของผู้เข้าร่วมการสัมมนาที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับจึงไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่รับจะปรับวิธีการแถลงโดยไม่ตั้งโต๊ะแถลงเป็นการเฉพาะเท่านั้น

3. ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงให้ P-move จัดกิจกรรมการสัมมนาามกำหนดการเดิมแต่ไม่ตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยฝ่ายความมั่นคงจะใช้อำนาจจัดการกับสื่อที่จะเดินทางมาทำข่าวในวันพรุ่งนี้ (12 มิ.ย.2560) เอง (โดยไม่ได้บอกว่าจะใช้วิธีใด)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า P-move ได้เริ่มกระบวนการสัมมนาไปตามกำหนดการที่ได้วางไว้ โดยมีตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ดินและป่าไม้ร่วมรับฟังข้อมูล และแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. … ขณะที่นักข่าวหลายสำนักไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อรายงานข่าวได้

ตำรวจตะโกนถามหาชาวบ้านกลางดึก ต้องการรู้ว่าพรุ่งนี้จะไปร่วมเวทีหรือไม่

ด้านนิตยา ม่วงกลาง แกนนำชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ  ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อคืนวาน(11 มิ.ย.2560) มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาตะโกนเรียกชื่อตนที่บริเวณหน้าบ้านในยามวิกาล เวลาประมาณ 22.55 น. ซึ่งขณะนั้นตนได้ลืมไปแล้ว เมื่อได้ยินเสียงคนตะโกนเรียกจึงลุกขึ้นมาดู พบตำรวจในชุดเครื่องแบบค่อนท่อน 4-5 นาย ภายหลังทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรวังฒะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ตนจึงถามกลับไปว่าเข้ามาหาทำไมในยามวิกาลดึกดื่น ตำรวจแจ้งว่า เป็นงานด่วนได้รับคำสั่งจากนายให้เข้ามาถามว่าได้เข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมเวทีสัมมนาที่จัดขึ้นมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย(มพศ.)หรือไม่

นิตยาตอบกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ไม่ได้เข้าร่วม เพราะเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2560 ในพื้นที่ได้จัดเวทีสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ร่าง พรบ....อุทยานแห่งชาติ พ.ศ....พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ....ซึ่งทั้งตนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทยานแห่งชาติไทรทองได้รับทราบข้อมูลและเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อร่าง พรบ.ดังกล่าว ไปแล้ว

 "ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการระดมความคิดเห็น กำหนดจุดยืนและท่าทีของประชาชน และอยู่ในช่วงกรมอุทยานประกาศให้มีการเสนอข้อคิดเห็นในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 15 มิ.ย.2560 ซึ่งภาคประชาสังคมกำลังระดมเพื่อเสนอ ประกอบกับร่าง พรบ. 2 ฉบับ เพราะมีปัญหาตั้งแต่กระบวนการยกร่าง ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม รวมทั้งเนื้อหาในร่างก็มีข้อจำกัด และจะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อ ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า และจะสร้างปัญหากว้างขวางมากต่อประชาชน ซึ่งรัฐต้องรับฟังผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างละเอียด ไม่ใช่รวบรัดตัดตอน และมาพยายามสกัดกั้นประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องปัญหาผลกระทบความเดือดร้อนในพื้นที่" นิตยากล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนาระบุ สื่อประกอบสร้างข่าว 'เปรี้ยว' อย่างละคร หวั่นกระทบการตัดสินคดี

Posted: 12 Jun 2017 01:20 AM PDT

นักวิชาการด้านสื่อชี้ สื่อกระแสหลักปัจจุบันเสมือนการสร้างละครเรื่องหนึ่ง มีตัวละคร ความขัดแย้ง อารมณ์ ความรู้สึก กรณีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ สื่อนำเสนอแง่มุมชีวิตหลากหลายนอกจากเรื่องฆาตกรรม  นักกฎหมายอาญาระบุ สื่อปั่นดราม่าอาจสร้างอคติ กระทบรูปคดี ความเป็นกลางในกระบวนการยุติธรรม

ในภาพอาจจะมี 1 คน, กำลังนั่ง, หน้าจอ และ สถานที่ในร่ม

ภาพงานเสวนา (ที่มา: เฟซบุ๊ก สถานีวิทยุจุฬาฯ CU RADIO)

วันที่ 7 มิ.ย. 2560 มีงานเสวนา "ฆ่าหรือค่า สื่อดราม่าความรุนเเรงในสังคมไทย" นำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการในกรณีการนำเสนอข่าวผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพและอำพรางคดีที่ จ.ขอนแก่น ณ อาคารจามจุรี 4 ห้องประชุม 202 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ รศ.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักวิชาการด้านจิตวิทยา ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อ ผศ.ปารีนา ศรีวนิชย์ นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชสังคม ดำเนินรายการโดยอลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

นักวิชาการสื่อสะท้อนการประกอบสร้างความจริงอิงหลักละครผ่านข่าวเปรี้ยว  

มรรยาทกล่าวว่า ข่าวโปรเม เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟ มือวางอันดับ 1 ของโลก มีเรื่องราวสมบูรณ์ในตัวของมันอยู่แล้ว ขณะที่มุมมองเรื่องราวของเปรี้ยวมีความลึกลับ ซับซ้อน อาจมองว่า เปรี้ยวเป็นสินค้าที่ขายได้จากหน้าตารูปร่าง มีเรื่องราว มีแง่มุมชีวิต ในแง่ตัวละครกลมซึ่งมีหลายมิติ ทั้งความดี ความเลวของเปรี้ยว ไม่ได้มีมิติเพียงหนึ่งเดียวเหมือนตัวละครแบน  พยายามนำเสนอเป็นคน ไม่ได้ร้ายสุดๆ มีทั้งมุมมองทั้งร้ายและดี ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ขายได้ พร้อมทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและการกระทำที่ผิดแปลก โดยสามารถกระตุ้นเร้าสัญชาตญาณทางเพศ ความรุนแรง ขับเคลื่อนสองอย่างประกอบกัน ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ที่กล่าวว่า มนุษย์ขับเคลื่อนด้วยความก้าวร้าวรุนแรงและแรงขับทางเพศ โดยสื่อกระแสหลักนำเสนอเพื่อให้คนสนใจเป็นจำนวนมากต่อจากกระแสสื่อสังคมออนไลน์

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวอีกว่า ประชาชนในสังคมมีความอยากรู้อยากเห็น ตามทฤษฎีของเรื่องเล่าที่ว่า มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกของเรื่องเล่า ทั้งในแง่ของการเป็นผู้เล่าเรื่อง และชอบฟังเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วย อารมณ์ ตัวละครและความขัดแย้ง เนื่องจากมนุษย์ชอบตัดสินคนด้วยอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง มากกว่าตรรกะเหตุผลและความจริงที่ปรากฏโดยเรื่องเล่าเต็มไปด้วยอารมณ์มีพลังมากกว่าการอธิบายด้วยเหตุผลและส่งผลต่อปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ในทันที หลักการหลังความจริง หรือ Post-truth ที่กล่าวว่า คนใช้ความรู้สึกตัดสินใจมากกว่าการใช้เหตุผลจึงเป็นเรื่องที่เกิดมานานมากแล้ว

มรรยาท กล่าวย้ำอีกว่า ประชาชนในสังคมตัดสินคนด้วยหน้าตาเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งถูกกระตุ้นเร้าด้วยบริบทที่มีสื่อรอบตัวและเข้าถึงสื่อได้ทุกที่ ทุกเวลา ยกตัวอย่าง คนใช้มือถือสมาร์ทโฟนในการติดตามข่าวสารต่างๆ และผนวกทักษะการใช้สื่อ ทำให้อยากร่วมลงในการเล่าเรื่อง ท้าทายด้วยการร่วมสืบ ร่วมขุดคุ้ย ยิ่งได้ลึก ยิ่งเจ๋ง รู้สึกเป็นที่ยอมรับ เลยขุดอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพจนักสืบออนไลน์ เป็นจุดรวมของผู้อยากร่วมเล่าเรื่องและเล่าแบบลึกๆ และพอรู้มาอยากบอกต่อคนอื่นๆ บนสื่อสังคมออนไลน์  

ในมุมมองเชิงจิตวิทยา สมโภชน์ กล่าวว่า กรณีของหนังสือพิมพ์ในประเทศเยอรมันนำเสนอข่าวดีๆ กลับปิดตัวลง ขณะที่หนังสือพิมพ์อีกฉบับเสนอข่าวร้ายๆ ลึกลับพบว่า มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมองกรณีศึกษาข่าวเปรี้ยวและข่าวโปรเม คนสนใจข่าวเปรี้ยวมากกว่า เนื่องด้วยความเป็นข่าวร้าย ทั้งนี้ มรรยาท ค้นพบว่า จากยอดคำค้นหาคำว่า "เปรี้ยว" ผ่าน กูเกิล เทรนด์ มีสัดส่วนถึงร้อยละกว่า 80 ในช่วงค้นหาสูงสุดในวันที่ 3 มิถุนายน 2560 เวลาประมาณ 22.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เปรี้ยวถูกจับได้ขณะที่หนีออกไปแนวชายแดน ขณะที่ข่าว "โปรเม" ในช่วงค้นหาสูงสุดมีเพียงร้อยละ 5

นักกฎหมายชี้ ข่าวเปรี้ยวไม่เพียงดราม่า อ่านสนุก ยังสะท้อนผลกระทบการตัดสินคดี

การนำเสนอสื่อละครยังสร้างการรับรู้ที่ผิดออกไปจากความเป็นจริง ปารีนา นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา เห็นว่า ละครที่มีเรตติ้งดีพร้อมทั้งเป็นละครที่อยู่ในกระแสหลักมีภาพเกี่ยวกับความรุนแรงเยอะมาก และเป็นความผิดการกระทำทางอาญาแต่เรากำลังยอมรับ เราเห็นภาพพฤติกรรมของคนร้ายที่ทำการข่มขืน อาจทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งเลียนแบบ  มีภาพที่พระเอกข่มขืนนางเอก ลักพาตัวในตอนจบ กลับยกให้เขาเป็นฮีโร่ของเรื่อง  ซึ่งการกระทำของเขามันไม่ถูกต้องและไม่มีการดำเนินคดี แต่กลับใช้ประเด็นความรักเป็นตัวนำพาเนื้อเรื่องแทน

ในอีกมุมมองหนึ่งผลกระทบการพิจารณาคดีจากการนำเสนอสื่อมีผลเช่นกัน นักวิชาการด้านกฎหมายอาญา กล่าวว่า การประกอบสร้างนำเสนอของสื่อทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง การนำเสนอของสื่อมีดราม่านิดๆ ต้องมีเทคนิคในการนำเสนอ ด้วยการทำให้สมจริง การเล่าเรื่องเป็นฉากๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากข้อเท็จจริงที่เป็นจริงเสมอไป แต่เกิดจากข้อมูลที่สื่อมีอยู่และได้มา ณ เวลานั้น และเอามาเล่าเรื่องเชื่อมต่อกันเพื่อให้คนติดตามเท่ากับเป็นการชี้นำให้สังคมเชื่อว่า เรื่องต้องเป็นแบบนี้ แม้ว่าข้อเท็จจริงที่นำเสนอภายหลังจากการพิจารณาจะเป็นอย่างไร สังคมก็พร้อมที่จะไม่เชื่อถ้ามันแตกต่างจากข้อมูลที่สื่อนำเสนอตั้งแต่ครั้งแรก เพราะการอ่านคำพิพากษาของศาล ไม่สนุกเท่าเรื่องที่สื่อนำเสนอ   

ปารีนา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งนี้ข้อมูลที่สื่อมีอยู่ และเล่าออกมาเป็นเรื่อง ทำให้สื่อนำเสนอสนุกกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงข้อมูลของคดี หรือการอ่านคำพิพากษาของศาล ซึ่งข้อมูลเยอะมากที่สื่อเข้าถึงไม่ได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงข้อมูลได้ไม่เท่ากัน เพราะอำนาจและความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน การนำเสนอข้อมูลแบบที่สื่อนำเสนอ อาจทำให้เกิดอคติ และการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นกลางและไม่เป็นธรรม  

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลร้อยเอ็ดยกฟ้อง กรณีเหมืองเฮงดาฟ้องหมิ่นประมาทนักข่าวเดอะเนชั่น เหตุฟ้องซ้ำซ้อน

Posted: 12 Jun 2017 01:14 AM PDT

ศาลร้อยเอ็ดสั่งงดการไต่สวนมูลฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง กรณีเหมืองไทยในพม่า ฟ้องนักข่าวเดอะเนชั่น ปมรายงานข่าว "เหมืองแร่ไทยทำร้ายแหล่งน้ำในพม่า" ศาลชี้เหตุฟ้องซ้ำซ้อน หลังบริษัทยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันคดีเดียวกันไปแล้วที่ ศาลนครปฐม

ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ผู้สื่อข่าวบริษัท เนชั่น นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด

12 มิ.ย. 2560 เวลา 10.15 น. ที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด ได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีดำหมายเลย 2256/2560 กรณีเหมืองเฮงดา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ (จำเลยที่ 1) บริษัท เนชั่น นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (จำเลยที่ 2) ในข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 91, 326 และ 328 และการละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากกรณีการเขียนข่าวงานข่าวเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ "เหมืองแร่ไทยทำร้ายแหล่งน้ำในพม่า" โดยบริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ (Myanmar Phongpipat Co. Ltd. - MPC) ผู้ประกอบกิจการเป็นผู้ยื่นฟ้อง

ส รัตน์มณี พลกล้า ทนายจำเลยความได้ให้ข้อมูลว่า ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้อง ทั้งโจทก์ และจำเลยทั้ง 2 มาศาลตามนัด โดยทนายจำเลยได้อ้างต่อศาลว่า นอกจากโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองไว้เป็นคดีนี้แล้ว โจทก์ยังยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลกรณีเดียวกันเป็นคดีที่ศาลจังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2560 และคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง โดยศาลจังหวัดนครปฐมได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 17 ก.ค. 2560 และขอให้ศาลจำหน่ายคดีนี้

โดยศาลได้สอบถามคู่ความแล้วต่างยอมรับว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในเรื่องเดียวกันที่ศาลจังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2560 จึงให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง และวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อจำเลยทั้งสองในมูลคดี และข้อหาเดียวกัน เป็นการฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแห่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 พิพากษายกฟ้อง

ทนายความจำเลยได้ให้ความเห็นด้วยว่า การตัดสินของศาลครั้งนี้เป็นหลักการที่ยืนยันว่า การฟ้องคดีในลักษณะที่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อปิดปากสื่อ หรือเพื่อที่ต้องการจะลดทอนความเข้มแข็งของชาวบ้านไม่สามารถทำได้แล้ว เธอเห็นว่าแม้ว่าการฟ้องคดีความจะเป็นสิทธิที่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีที่ไหนก็ได้ แต่การฟ้องในคดีเดียวกัน แต่ฟ้องหลายศาลนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจำเลยต้องมีการเตรียมเพื่อมาศาล และยิ่งถ้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านก็ยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มภาระในการต่อสู้คดี

ทั้งนี้สำหรับคดีความที่ศาลนครปฐม ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 17 ก.ค. นี้ โดยก่อนหน้านี้ศาลได้นัดไกล่เกลี่ยไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 แต่โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะไกล่เกลี่ย คดีจึงต้องเดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2560 องค์กรไทยและพม่าได้ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีเหมืองไทยในพม่าฟ้องนักข่าว โดยระบุว่าพวกเราซึ่งมีชื่อด้านท้ายนี้ ขอกระตุ้นให้รัฐบาลไทยคุ้มครองเสรีภาพสื่อ ลดการเอาผิดทางอาญากับการหมิ่นประมาท และปรับปรุงเนื้อหาของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 ให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คมนาคม จ่อเสนอ คสช. ใช้ ม.44 ดันรถไฟไทย-จีนพรุ่งนี้

Posted: 12 Jun 2017 01:13 AM PDT

สมคิด ประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พร้อมเตรียมเสนอหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 เร่งรัดสร้างรถไฟไทย-จีน

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

12 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม หวังลดปัญหาอุปสรรคการก่อสร้าง โดยเฉพาะแผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอหัวหน้า คสช.ประกาศใช้มาตรา 44 ในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) เร่งรัดก่อสร้างหลังยืดเยื้อมานาน ประชุมร่วมกันมา 18 ครั้งแล้ว โดยยังคงมูลค่าก่อสร้าง แผนก่อสร้างเหมือนเดิม แต่หวังลดปัญหาอุปสรรคทุกขั้นตอนเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังหารือเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หลังจากรัฐบาลเห็นชอบให้สร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้นักลงทุน ผู้โดยสารเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภาให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายประมูลให้ได้ภายในปีนี้  อีกทั้งเมื่อญี่ปุ่นแสดงความสนใจแผนลงทุน เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเชื่อมต่อไปภาคตะวันออก เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้า จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาและหารือกับทางญี่ปุ่นให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นศึกษาแผนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 

เส้นทางดังกล่าวไม่อยากให้วัดเชิงเศรษฐกิจหรือรายได้จากจำนวนผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว  เพราะเครื่องวัดเชิงผลตอบแทนต่อสังคมและเศรษฐกิจรอบเส้นทางรถไฟจะเกิดขึ้นตามมาอย่างมาก  ดังนั้นเส้นทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไปยังภาคตะวันออก นับเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมต้องหารือร่วมกันเพิ่ม โดยโครงการสร้างรถไฟเส้นทางต่าง ๆจากนี้ไปจะมีความคืบหน้ามากนับจากเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 

สำหรับปัญหาสายการบินนกแอร์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องศึกษาแนวทางให้ชัดเจนว่าต้องเลือกการเพิ่มทุน หรือมีแนวทางดำเนินการอย่างไร เนื่องจากการบินไทยมีสายการบินไทยสไมล์ดูแลอยู่แล้ว หรือว่าต้องหาพาร์ทเนอร์ลงทุนเพิ่ม ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต้องเร่งแผนการขยายสนามบินให้ทันตามเป้าหมาย  ส่วนกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เมื่อพัฒนาเส้นทางแล้วต้องการให้เชื่อมเส้นทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่ชุมชนเพิ่ม จึงมองว่าจากนี้ไปช่วง 1 ปีจะมีเงินทุนออกสู่ระบบจำนวนมากจากความคืบหน้าก่อสร้างหลายโครงการ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นับจากนี้แผนก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่จะเริ่มทยอยเสนอ ครม.พิจารณา 9 เส้นทางในช่วงเดือนมิถุนายนนี้  อาทิ เตรียมเสนอแผนสร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ คือ บ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม และเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย -เชียงของ  รวมทั้งรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-หัวหิน ลงทุนในรูปแบบ PPP ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าจากท่าเรือน้ำลึก จังหวัดกาญจนบุรีฯ-กรุงเทพฯ - ระยอง อาจต้องปรับเส้นทางลงด้านใต้ของกรุงเทพฯ เพื่อเบี่ยงไปยังเส้นทางผ่านจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อค่าใช้จ่ายเวนคืนน้อยกว่าผ่านกรุงเทพฯ รองรับการขนส่งสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก 12 ฟุต เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าไปยังภาคตะวันออก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น