โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักวิชาการแนะเลิกดึงดันแก้ ก.ม.บัตรทอง ชี้หากเดินหน้าให้ประชาชนยอมรับคงสู้กันไม่จบ

Posted: 21 Jun 2017 12:20 PM PDT

นพ.สุธีร์ อาจารย์คณะแพทย์ มศว แนะนับหนึ่งใหม่แก้กฎหมายบัตรทอง ชี้กระบวนการไม่เป็นธรรมตั้งแต่เริ่มต้น หากเดินต่อโดยขาดการยอมรับจากประชาชน เรื่องคงไม่จบลงง่ายๆ

21 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ว่า การแก้กฎหมายในรอบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรมรอบใหม่โดยที่รัฐเป็นคนก่อให้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากกระบวนการแก้กฎหมายไม่แฟร์กับประชาชน หากเดินหน้าต่อหรือข่มเหงความรู้สึกกันให้ยอมรับแบบนี้ เชื่อว่าการต่อสู้จะไม่จบลงง่ายๆ

นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ความไม่เป็นธรรมเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดประเด็นแก้ไขกฎหมาย 14 ประเด็น โดยไม่ผ่านการถกเถียงวิเคราะห์ทางวิชาการด้วยมุมมองที่รอบด้าน แต่เป็นการหยิบยกประเด็นขึ้นมาตามที่กรรมการส่วนใหญ่เห็นสมควร แล้วนำไปสู่กระบวนการรับความความคิดเห็นเลย ซึ่งโดยขั้นตอนที่ควรจะเป็นแล้ว ก่อนจะผ่านไปถึงขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นได้ ควรจะต้องทำการศึกษาในเชิงวิชาการอย่างรอบด้านจนสะเด็ดน้ำเสียก่อน

"การประชาพิจารณ์จะเริ่มก็ต่อเมื่อสะเด็ดน้ำจากวิชาการแล้ว มองครบทุกมุมแล้ว แต่นี่ชงปุ๊ปตบปั๊ป ยังไม่ได้ส่องดูให้รอบด้านเลย แบบนี้มันไม่ใช่" นพ.สุธีร์ กล่าว พร้อมกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ในขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็มีตัวแทนประชาชนเข้าไปมีสิทธิมีเสียงเพียง 2 คน ซึ่งมติใดๆ ก็ตามที่ต้องโหวตสู้กันก็ไม่มีทางชนะอยู่แล้ว

"ให้คนหนึ่งทำ แต่ผลกระทบไปตกอยู่กับอีกคนหนึ่ง ถ้าคุณกล้าเอาข้าราชการมาทำให้ประชาชน อย่างนั้นกล้าเอาประชาชนไปออกแบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไหม แล้วส่งตัวแทนไป 2 คนท่ามกลางประชาชน 10 คน ผลออกมาอย่างไรก็เอาแบบนั้น อย่างนี้เอาไหม" นพ.สุธีร์ กล่าว

นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากขั้นตอนการกำหนดประเด็นแก้ไขกฎหมาย สัดส่วนคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแล้ว กระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่เป็นธรรม เพราะมีการเร่งรัดดำเนินการอย่างรวดเร็วทั้งๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้มีกว่า 40 ล้านคน ซึ่งการทำให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจคงไม่เร็วขนาดนี้

"ดูตอนวันที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้ แต่เวลาแก้ใช้เวลาปุ๊ปปั๊ปแค่ 2 เดือน" นพ.สุธีร์ กล่าว และกล่าวว่า นอกจากนี้ บรรยากาศในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่เอื้อต่อการพูดคุย ยกตัวอย่างเช่นตนไปร่วมเวทีรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา บรรยากาศเหมือนอยู่ในสนามรบ มีตำรวจ มีหมวกแดง มีการสแกน มีการตรวจค้นกระเป๋าซักถามตลอดเวลา เมื่อเดินเข้าไปแล้วเหมือนมีคนจับจ้องอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่ไปร่วมแสดงความคิดเห็นรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดหรือสื่อสารอย่างเปิดอก

"ผมเดินออกมาเจอรถกรงขังจอดอยู่ข้างหน้า สีดำมืดเลย มันรู้สึกว่าประชาชนมาแสดงความคิดเห็นถึงขนาดต้องเอารถกรงขังมาจ่อแบบนี้เลยเหรอ รัฐบาลทหารไม่จำเป็นต้องมาสร้างบรรยากาศตรงนี้ มันสามารถเปิดพื้นที่ให้คนพูดคุยได้ หากทำได้มันก็จะเกิดความชอบธรรมในเชิงกระบวนการไปในตัว" นพ.สุธีร์ กล่าว

นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการไม่ยอมรับและกลายเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายประชาชนและผู้ให้บริการที่มาทะเลาะกัน มุมมองในการพูดคุยก็กลายเป็นการต่อสู้เพื่อเอาชนะกัน ไม่มีมุมมองจากคนกลางมาไกล่เกลี่ย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นชนวนลุกลามในอนาคต ตนเสนอว่าควรเริ่มนับหนึ่งกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ โดยที่ต้องใช้ประเด็นปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพเป็นตัวตั้ง อย่าพึ่งไปเริ่มที่จำนวนหรือสัดส่วนกรรมการแก้กฎหมาย

"ตอนนี้ยังไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดการแก้กฎหมายเพราะเริ่มต้นมันก็ผิดแล้ว ผมเลยไม่อยากไปวิเคราะห์องค์ประกอบสัดส่วนกรรมการหรือเนื้อหาอื่นๆ ตอนนี้มันอยู่ในขั้นตอนการสร้าง platform ถ้าเวทีมันดี เนื้อหามันก็เดินไปได้ แต่ถ้าพื้นที่มันไม่ดี ไม่ชอบธรรม ต่อให้ประเด็นดียังไง มันก็ไม่ยอมรับกัน แล้วคนเราถ้ามันข่มเหงข่มความรู้สึกกันแล้วมันไม่จบหรอก ต้องเริ่มใหม่เอา issue มาตั้งก่อน แล้วพูดคุยให้มันสะเด็ดน้ำ ขืนเดินหน้าไปแบบนี้มันอึดอัดกันหมด เมื่อไหร่มันร้อนขึ้นมา คนลุกขึ้นมา ประเทศชาติมันไม่สงบสุข" นพ.สุธีร์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

30 องค์กรสื่อ พบ 'วิษณุ' แจงข้อดีองค์กรสื่อควบคุมกันเอง ไม่เห็นด้วย ร่าง ก.ม.คุมสื่อ

Posted: 21 Jun 2017 11:16 AM PDT

ตัวแทน 30 องค์กรสื่อเข้าพบวิษณุแจงข้อดีองค์กรสื่อควบคุมกันเอง เตรียมตั้งคณะทำงานวางกรอบทำ ก.ม.คุ้มครองสื่อ พร้อมยัน ไม่เห็นด้วยกับการร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

21 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ตัวแทน 30 องค์กรสื่อ นำโดย ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิพม์แห่งประเทศ ชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี  ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  มานิตย์ สุขสมจิตร  ที่้ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือถึงร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน  ที่คณะกรรมาธิการในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมายังรัฐบาลให้พิจารณาออกเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ ตัวแทนองค์กรสื่อ ยืนยันในหลักการว่า ไม่เห็นด้วยกับการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะเปิดช่องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงสื่อมวลชน เนื่องจากให้มีตัวแทนภาครัฐเข้ามาเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งผิดหลักตรวจสอบถ่วงดุล ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แ แต่องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นด้วยกับการกำกับกันเองโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้เริ่มผลักดันให้มีระบบ ผู้ตรวจการของสื่อในแต่ละสังกัด ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และวินิจฉัยปัญหาสื่อที่ละเมิด  นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีปัญหาการนิยามความหมายสื่อมวลชน ที่หมายรวมถึง ประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ หรือ สื่อบุคคล ที่จะควบคุมโดยภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ในอดีตเคยมีการยกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ มาแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และผ่านความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่มี มีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน แต่ไม่ ได้มีการประกาศใช้ ซึ่งมีหลักการให้มีสภาวิชาชีพสื่อที่สื่อควบคุมดูแลกันเอง โดยที่รัฐบาลไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากต้องมีกฎหมายมาบังคับใช้ องค์กรสื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้

 จากการหารือของทั้งสองฝ่าย ได้ข้อสรุปว่า สนับสนุนให้มีการปฏิรูปสื่อ โดยจะมีการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนโดยมีกฎหมายรองรับ  หลักการสำคัญ จะให้มีองค์กรขึ้นมา 1 องค์กร และต้องมีนิยามสื่อ ที่ชัดเจน และหารูปแบบว่า สมาชิกขององค์กรควรจะเป็นใคร กรรมการหรือบอร์ดขององค์กรนั้นจะมาจากไหนให้เกิดการยอมรับและเป็นอิสระ ต้องมีมาตรการที่จะดูแล ควบคุม สมาชิก ตลอดจนส่งเสริมด้านวิชาชีพ ขณะที่รัฐบาลจะเชิญตัวแทน สปท. มาหารือ  รวมถึงฝ่ายที่สามที่อาจจะเป็นนักวิชาการสื่อ จากนั้นการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อวางกรอบและยกร่างกฎหมายขึ้

อนึ่ง สำหรับตัวแทน 30 องค์กรสื่อที่เข้าพบ วิษณุครั้งนี้ ประกอบด้วย มานิจ  สุขสมจิตร สุวัฒน์  ทองธนากุล  ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์  ที่ปรึกษา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์  นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พีระวัฒน์ โชติธรรมโม เลขาธิการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กนกพร ประสิทธิ์ผล  นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ สมาคมนักข่าวฯ  ชนะ ผาสุกสกุล รองเลขาธิการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ สมาคมนักข่าวฯ ปรัชญาชัย  ดัชถุยาวัต โฆษกสมาคมนักข่าวฯ จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวฯ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปรัศนีชน | กรงในกะลา #10

Posted: 21 Jun 2017 09:29 AM PDT

ในสังคมที่ต้องการความสงบเรียบร้อย คนเห็นต่าง คนตั้งคำถามต้องโดนจัดการ การล้างสมองด้วยความรุนแรง การปรับทัศนคติโดยการคุมขัง เพื่อให้ทุกคนคิดเหมือนกันคือความสงบที่แท้จริงแน่หรือ นี่คือเหตุการณ์สมมติที่อิงความเป็นจริง ติดตามได้ใน "ปรัศนีชน" ผลงานของ ณัฐนนท์ ราตรี

ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา"

รับชมคลิปจากงาน "กรงในกะลา" ที่ https://goo.gl/UkDElt

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งานวิจัยค้นพบว่าแมวเป็นฝ่ายเข้าหามนุษย์ก่อน-มาตั้งแต่ 9 พันปีที่แล้ว

Posted: 21 Jun 2017 08:59 AM PDT

ผลการวิจัยที่เปิดเผยในสัปดาห์นี้ ระบุว่าเหมียวจอมกวนที่ปีนป่ายอยู่รอบตัวเรา วางแผนครองโลกกันมานานแล้ว โดยย้อนไปเมื่อ 9,000 ปีก่อนในบริเวณที่เป็นตุรกีในปัจจุบัน พวกแมวเป็นฝ่ายเข้าหามนุษย์ก่อน แล้วกลายเป็นเพื่อน (หรือเป็นเจ้านาย?) ของมนุษย์ ก่อนที่จะถูกมนุษย์จับลงเรือแล้วแพร่พันธุ์ไปทั่วจนกระทั่งกลายเป็นแมวบ้านในปัจจุบัน

ที่มาของภาพประกอบ: allen watkin/Wikipedia

Cat domestication: From farms to sofas (ที่มา: YouTube/Nature Video)

21 มิ.ย. 2560 แมวเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของมนุษย์ หรืออาศัยอยู่ร่วมพื้นที่กับมนุษย์ในหลายๆ เมืองของโลก อย่างไรก็ตามยังคงมีความพยายามค้นคว้าว่าแมวบ้านทั้งหลายเริ่มกลายมาเป็นสัตว์ที่สนิทสนมกับมนุษย์ (โดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นนายใครเป็นลูกน้อง) ตั้งแต่เมื่อใดกันแน่ และด้วยวิธีการใด

ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งสมมุติฐานและงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่พูดถึงเรื่องแมวมาบ้าง แต่ในงานวิจัยล่าสุดจากนักวิจัยหลายสถาบันก็เปิดเผยว่าเป็นพวกแมวเองที่เริ่มเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเมื่อราว 9,000 ปีที่แล้วในดินแดนอานาโตเลียยุคโบราณ จากการที่พวกมันมาล่าหนูที่เข้ามากินเมล็ดธัญพืชในยุ้งฉางของชาวนายุคหินใหม่ แมวจึงเป็นสัตว์ที่เข้ามาหามนุษย์เพราะมีสังคมเกษตรกรรม ทำให้คนใช้เจ้าสี่ขานักล่าผู้นี้ช่วยกำจัดสัตว์รบกวนให้ตัวเอง

พื้นที่ที่แมวเริ่มเข้าหามนุษย์ที่ว่าปัจจุบันคือประเทศที่เรียกว่าตุรกีนั่นเอง นักวิจัยระบุว่าหลังจากนั้นเหล่าแมวที่เป็นมิตรกับมนุษย์ก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ข้ามช่องแคบบอสพอรัสไปสู่ยุโรป

แต่ทว่าเจ้าแมวยุคโบราณเหล่านี้ก็ยังไม่ได้มีลักษณะร่างกายแบบเดียวกับแมวบ้านในปัจจุบันเสียทีเดียว มันยังคงเป็นสปีชีส์ใหญ่ๆ ที่เรียกว่า Felis silvestris ซึ่งรวมเอาแมวบ้านในสปีชีส์ย่อยที่เรียกว่า Felis silvestris catus เอาไว้ด้วย จนกระทั่งถึงยุคกลางเจ้าแมวพวกนี้บางตัวก็เริ่มมีขนที่มีลักษณะเป็นแต้มสีต่างๆ และเมื่อไม่นานนี้ในยุคศตวรรษที่ 19 นี้เองที่พวกมันเริ่มมีพันธุ์ที่มีขนงามสง่าแบบแมวในปัจจุบัน

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ อีวามาเรีย เกย์กี ผู้อำนวยการการวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสกล่าวว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ปล่อยให้เวลาผ่านไปนานทีเดียวถึงจะเพิ่งมาเริ่มเพาะพันธุ์แมวจนเกิดเป็นพันธุ์ต่างๆ ในยุคปัจจุบัน

รูปปั้นแมวทำจากสำริดพบในอียิปต์ กำหนดอายุไว้ราว 664 ถึง 350 ปีก่อนคริสตกาล (ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia)

จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีสมมุติฐานจากนักโบราณคดีว่าชาวอียิปต์เป็นพวกแรกที่เริ่มนำแมวเข้ามาเลี้ยงในบ้านเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว แต่มีข้อโต้แย้งสมมุติฐานนี้มาตั้งแต่ปี 2547 เมื่อมีนักวิจัยค้นพบว่าเมื่อ 9,500 ปีที่แล้ว มีการฝังแมวร่วมกับมนุษย์ที่ไซปรัส และในปี 2556 ก็มีงานวิจัยอีกหนึ่งงานวิจัยที่พบว่าในประเทศจีนเริ่มมีการนำแมวเข้ามาเลี้ยงเมื่อราว 5,300 ปีที่แล้ว

โดยที่งานวิจัยล่าสุดที่ระบุว่าแมวเริ่มเข้าหาผู้คนในพื้นที่ที่ปัจจุบันตุรกีนั้นใช้วิธีศึกษาจากดีเอนเอของซากแมวบ้านที่เหลือตั้งแต่อายุ 100 ปี ถึง 9,000 ปี ผู้นำการวิจัยครั้งนี้คือเคลาดิโอ อ็อตโตนี นักพันธุศาสตร์บรรพกาล จากมหาวิทยาลัยลิวเวน ประเทศเบลเยียม พวกเขาทำการศึกษาซากแมวที่ถูกเก็บรักษาไว้แบบมัมมีที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงลอนดอน

สาเหตุที่พวกเขาต้องจริงจังถึงขั้นสำรวจดีเอนเอนี้เพราะแค่ดูจากโครงกระดูกจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างแมวบ้านกับสปีชีส์ย่อยอื่นๆ อีก 5 สปีชีส์ได้ จึงต้องมีการวิเคราะห์ดีเอนเอจากแมวหลายๆ พื้นที่รวมถึงยุโรปและแอฟริการ่วมด้วย

นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานว่าแมวบ้านในปัจจุบันมีความเป็นไปได้ที่จะมาจากพันธุ์แมวป่า 2 สปีชีส์ย่อย สมมุติฐานแรกมองว่าน่าจะมาจากสปีชีส์ย่อย Felis silvestris lybica ที่แถบตะวันออกใกล้รวมถึงอานาโตเลีย จนต่อมามนุษย์เป็นผู้ทำให้พวกมันแพร่กระจายไปสู่ยุโรปในพื้นที่ๆ ปัจจุบันคือประเทศบัลแกเรียเร็วสุดน่าจะช่วงราวปี 4,400 ก่อนคริสตกาล และพื้นที่โรมาเนียในช่วง 3,200 ปีก่อนคริสตกาล

แมวบนเกาะอาโอชิมะ หรือ "เกาะแมว" ประเทศญี่ปุ่น (ที่มา: 暇・カキコ/Wikipedia

เกย์กีพูดถึงสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าแมวไม่ได้เดินทางข้ามทวีปด้วยตัวมันเอง เพราะแมวเป็นสัตว์ที่มักจะยึดติดกับพื้นที่อาณาเขตเดิมของตัวเองจึงน่าจะเป็นพวกมนุษย์นี่แหละที่เป็นคนนำแมวไปยังพื้นที่อื่นๆ

โดยถ้าพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นไปได้ว่าแมวจะถูกย้ายถิ่นผ่านทางเรือเป็นส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพราะคนเรือเอาแมวขึ้นเรือไปด้วยเพื่อช่วยล่าพวกสัตว์รบกวน พอเรือจอดเทียบท่าแล้วแมวบนเรือก็ออกจากเรือไปผสมพันธุ์กับแมวในท้องถิ่นจนเกิดเป็นแมวลูกผสมเพิ่มขึ้น หนึ่งในหลักฐานของเรื่องนี้คือมีการพบซากแมวอียิปต์บนท่าเรือแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวไวกิงในช่วงศตวรรษที่ 7 อย่างไรก็ตาม เคลาดิโอ อ็อตโตนี หัวหน้านักวิจัยอีกคนหนึ่งบอกว่ายังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าแมวอียิปต์มีเชื้อสายมาจากแมวแถบตุรกีหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งที่นักวิจัยสนใจคือลายบนตัวของแมว ในปัจจุบันเราจะได้เห็นแมวที่มีทั้งลายแต้มและลายแถบแบบเสือ โดยที่แมวยุคโบราณจะมีลายแถบ แบบแมวป่าที่เป็นบรรพบุรุษของพวกมันมากกว่า จนกระทั่งมีการผ่าเหล่าในยีนส์ทำให้ลักษณะดีเอนเอตัวหนึ่งของแมวเปลี่ยนไปจนทำให้เกิดแมวลายแต้ม ลายจุด ขึ้นทีหลัง โดยที่ในยุคอียิปต์โบราณยังพบภาพของแมวแบบลายแถบอยู่จนกระทั่งถึงช่วงยุคกลางราวศตวรรษที่ 13 นี้เองที่เพิ่งจะมีแมวลายแต้มมากขึ้น

เกย์กิบอกว่าเรื่องเหล่านี้แสดงให้เห้นว่าแมวไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักหลักจากเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์แล้ว ภาพของแมวในสายตาของชาวอียิปต์โบราณก็วาดภาพพวกมันเป็นสัตว์จากป่าที่ล่าเหยื่ออย่างดุดัน ช่วยสังหารงูที่เป็นศัตรูของเทพ "รา" เทพแห่งแสงอาทิตย์ ยุคต่อมาจึงมีภาพแมวเดินเคียงคู่มนุษย์ร่วมกันล่านกตามหนองบึง แล้วยุคหลังจากนั้นก็เป็นภาพแมวนั่งอยู่ใต้เก้าอี้ของชนชั้นสูง

งานวิจัยเรื่องนี้ใช้เวลานานมากถึง 10 ปี ตั้งแต่การวางแนวคิดไปจนถึงกระบวนการจัดพิมพ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักฐานชิ้นส่วนที่เหลือของแมวนั้นหายาก รวมถึงสภาพชิ้นส่วนที่เหลือของแมวโบราณทั้งหลายก็ผ่านสภาพภูมิอากาศที่ไม่เป็นผลดีต่อหลักฐานดีเอนเอ เช่นในตะวันออกกลางก็เจออากาศร้อน มัมมีแมวในอียิปต์ก็เจอความชื้นสูงทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องทำการสกัดดีเอนเออย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตามผลการค้นคว้าก็ทำให้เราพบว่าเจ้าเหมียวรอบตัวเรามันอยู่กับเรามานานเกือบหมื่นปีแล้ว และยังคงทำตัวเป็นนักล่า (ผู้น่ารัก?) มาจนถึงปัจจุบัน โดยที่มันอาจจะเพิ่มบทบาทอื่นเข้ามาด้วยอย่างการความเป็นตัวกวน เป็นดาราโซเขียล รวมถึงเป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับมนุษย์ได้

 

เรียบเรียงจาก

Cat Tale: Ancient DNA Reveals How Your Kitty Came to Be, Livescience, 19-06-2017

How Cats Used Humans to Conquer the World, The Atlants, 19-06-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Wildcat

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมัชชาคนจน ลั่นค้านแก้ไข ก.ม.บัตรทองจนถึงที่สุด

Posted: 21 Jun 2017 08:58 AM PDT

สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุ15 ปีที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาระบบบริการได้ดีขึ้นเป็นระยะ จำนวนผู้ล้มละลายจากการรักษาพยาบาลลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่รัฐบาลเผด็จการทหารกลับใช้อำนาจดำเนินการแก้ไขโดยไม่เป็นหัวคนจน

21 มิ.ย. 2560 สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์สมัชชาคนจน เรื่อง ขอคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า จากการที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร ได้ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็น แต่ก็มีการจำกัดจำนวนคนที่ให้เข้าแสดงความเห็น และยังมีการกำหนดเวลาให้พูดเพียงคนละ 3 นาที ระยะเวลาเพียงวันเดียว ทั้งที่มีประเด็นที่จะแก้ไขอยู่นับสิบประเด็น จนทำให้มีกลุ่มประชาชนได้ออกมาคัดค้านการรับฟังความเห็นดังกล่าว 

สมัชชาคนจนเห็นว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพหรือที่พวกเราคนจนรู้จักกันในชื่อ บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นสวัสดิการที่สำคัญต่อชีวิตของคนจน โดยนับตั้งแต่มีการตั้งกระทรวงสาธารณสุขและยึดอำนาจในการดูแลรักษาสุขภาพไปจากชุมชน ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพก็สูงขึ้นมาโดยตลอด การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง อาจถึงขั้นต้องขายที่นา บ้านช่อง หรือถึงขั้นล้มละลายกันเลยทีเดียว แม้กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามหาโครงการเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ทำได้เพียงการช่วยเหลือรักษาในขั้นต้นเท่านั้น ถ้าขั้นที่สูงขึ้นไปคนจนต้องรับผิดชอบเอง แต่เมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีคณะกรรมการจากหลายฝ่ายเข้ามารับผิดชอบผลักดันนโยบายตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากจะทำให้คนจนเกิดความมั่นใจในการเข้าไปรับการรักษาพยาบาลตั้งแต่การเจ็บป่วยในระยะแรกแล้ว ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็ยังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ แม้ในระยะเริ่มแรกจะไม่ได้รับการรักษาทุกโรค แต่ในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาระบบบริการได้ดีขึ้นเป็นระยะ จำนวนผู้ล้มละลายจากการรักษาพยาบาลลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ความพึงพอใจของผู้รับบริการอยู่ในขั้นสูงมาตลอด นี่คือบริการสาธารณะที่รัฐมีหน้าที่จัดให้กับประชาชน แต่รัฐบาลเผด็จการทหารกลับใช้อำนาจดำเนินการแก้ไขโดยไม่เป็นหัวคนจนเลยแม้แต่น้อย 

"ขอประณามการกระทำของรัฐบาลเผด็จการทหาร และขอคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจนถึงที่สุด เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" สมัชชาคนจน ระบุท้ายแถลงการณ์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศรีสุวรรณ' เตรียมยื่นศาลรธน. ปม คสช.ใช้ ม.44 ปลดล็อกที่ดิน สปก. ขัด ม.53

Posted: 21 Jun 2017 07:23 AM PDT

ศรีสุวรรณ จรรยา แถลงค้านใช้ ม.44 ปลดล็อคใช้ที่ดิน ส.ป.ก. ชี้เอื้อปิโตรเลียม-อุ้มเหมืองแร่-อวยไฟฟ้าพลังงานลม-แสงอาทิตย์ ขัดวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้ใช้เฉพาะด้านการเกษตรและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่เกษตรกร

แฟ้มภาพ

21 มิ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์สมาคมฯ เรื่องค้านใช้ ม.44 ปลดล็อคใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เอื้อปิโตรเลียม-อุ้มเหมืองแร่-อวยไฟฟ้าพลังงานลม-แสงอาทิตย์ แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ที่ประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ในการปลดล็อกให้ 3 กิจการที่ได้ดำเนินการไปแล้วบนที่ดินของ ส.ป.ก. ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ประกอบด้วย 1.การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2.การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ 3.การทำเหมืองแร่ โดยให้ถือว่าไม่เป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ต้องการจะให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เฉพาะด้านการเกษตรและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่เกษตรกรนั้น

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเห็นว่าแนวคิดที่จะใช้อำนาจ ม.44 ดังกล่าว เป็นการขัดต่อสัญญาประชาคมที่หัวหน้า
คสช.และฯพณฯนายกรัฐมนตรีเคยประกาศต่อประชาชนและสาธารณชนมาโดยตลอดว่า "ให้ทุกคนเคารพกฎหมาย" ซึ่งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจของข้าราชการที่เกี่ยวข้องที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายมาโดยตลอด และเมื่อมีกรณีพิพาทจนมีการฟ้องร้องกันถึงศาลปกครองสูงสุดโดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว สมควรที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ/อนุญาตให้มีการเข้าไปใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม, การวางกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และการทำเหมืองแร่ จะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงเพราะการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อไป แต่ทว่า คสช. และ ครม. นอกจากจะไม่ลงโทษข้าราชการ กลับพยายามออกมาเอื้อประโยชน์ปกป้องนายทุน และกลุ่มผลประโยชน์อย่างออกหน้าออกตา ด้วยการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมในการใช้ ม.44 ดังกล่าว

นอกจากนั้น การใช้ ม.44 อย่างพร่ำเพรื่อดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 53 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด" ดังนั้นหาก คสช.ใช้อำนาจและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนจริงสมาคมฯจำต้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 ในการนำข้อพิพาทนี้ยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจของ คสช.ดังกล่าว "เป็นโมฆะ" ขัดต่อมาตรา 53 ดังกล่าวหรือไม่ต่อไปด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: พินิจความมั่นคงชายแดนพม่า-ประชาธิปไตยเปลี่ยนไม่ผ่าน

Posted: 21 Jun 2017 05:39 AM PDT

ASEAN Weekly สัปดาห์นี้ พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ พูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดุลยภาค ปรีชารัชช ชวนพินิจประเด็นความมั่นคงชายแดนพม่า หลังจากรัฐบาลพม่าได้รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่นำโดยประธานาธิบดีถิ่น จ่อ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี ที่แม้จะมีการริเริ่มการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อผ่านมา 1 ปีเศษก็ยังไม่มีความคืบหน้า มิหนำซ้ำหลายพื้นที่สถานการณ์กลับย่ำแย่ เช่น การปะทะกันระหว่างพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือกับกองทัพพม่า หรือเหตุความไม่สงบจนบานปลายไปสู่วิกฤตมนุษยธรรมระลอกใหม่ในรัฐยะไข่

ทั้งนี้ดุลยภาคชี้ว่าความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในพม่านั้นซ่อนปมชนวนมาเนิ่นนานและมีบริบททางประวัติศาสตร์ ร้าวลึก ยากที่จะประสาน แม้พม่าดูเข้าใกล้ประชาธิปไตยมากขึ้น มีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เหตุที่ยังมีความรุนแรง มีการปะทะทางทหารประปรายนั้น เป็นเพราะหนึ่ง ประเด็นคลาสสิกของพม่าที่มีสภาพเป็นรัฐซ้อนรัฐ และรัฐขุนศึก มีการเมืองของขุนศึกที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดอย่างเดียว แต่มีทั้งความคับข้องใจของชุมชนชาติพันธุ์ตนเองต่อการครอบงำของชนชาติพม่าแท้ และประเด็นในมิติเชิงทรัพยากรท้องถิ่นด้วย

สอง คำถามต่อมาคือ ตกลงพม่าเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกันแน่ เพราะยังมีความขัดแย้งซ้อนอยู่ คำตอบอาจไม่ได้กินความเฉพาะประเด็นการทหารอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงมิติในเชิงศาสนาและชาติพันธุ์เพราะความรุนแรงไม่ใช่แค่เฉพาะในรัฐยะไข่ แต่ยังอยู่ในโครงสร้างรัฐและสังคม

โดยดุลยภาคเสนอด้วยว่าปัจจุบันพม่าเป็นรัฐเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนผ่านจากรัฐเผด็จการอำนาจนิยมเต็มพิกัดใต้เงากองทัพ ไปสู่รัฐเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย คือเนื้อในยังมีความเป็นเผด็จการอำนาจนิยม ซึ่งสะท้อนลักษณะของระบอบพันธุ์ทาง หรือระบอบลูกผสม (Hybrid) มีทั้งของเก่าและของใหม่มาปะทะกัน ซึ่งบางทีก็รอมชอม บางทีก็ยันกัน พม่าในปัจจุบันจึงเป็นรัฐเปลี่ยนผ่านจากรัฐอำนาจนิยมแบบเข้ม ไปสู่รัฐอำนาจนิยมแบบอ่อน และหากเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เชิงบวกก็อาจนำไปสู่การโจนทะยานมีประชาธิปไตยที่เป็นปึกแผ่น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพม่าอยู่ในช่วงตั้งไข่ กำลังแปลงสัณฐาน เปลี่ยนรูปโฉมไปสู่องค์ประกอบแบบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลพลเรือน แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่ ซึ่งเหตุไม่ใช่แค่กองทัพพม่าห้ำหันกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความรู้สึกของผู้คนในพม่าเองที่อาจจะไม่พอใจชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศ โดยพม่าอยู่ในทางแพร่งที่มี 2-3 ทางเลือก 

ได้แก่ หนึ่งไปทางประชาธิปไตยเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องระวังระบบเลือกตั้งแบบกินรวบ เอื้อให้ชนชาติพม่าแท้ แต่ไม่เอื้อให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิมีเสียง ซึ่งผิดฝากับประชาธิปไตยประเภทที่สอง คือประชาธิปไตยแบบแสวงหาฉันทามติ ที่จะเปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่ามีส่วนรวมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

นอกจากนี้ ทางแพร่งที่สามคือประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ หรือ Consociational Democracy ที่ให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามาแบ่งอำนาจปกครอง ซึ่งเหมาะกับโครงสร้างรัฐที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งถ้าพม่าสามารถพัฒนาประชาธิปไตย 2 ข้อหลังนี้ได้ก็จะแก้ไขจุดอ่อนของระบบการเมืองพม่าได้ อย่างไรก็ตาม พม่ายังคงอยู่ในจุดของประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมาก ใช้ระบบ Winner takes all ใช้ความมั่นคงเป็นตัวตั้ง ซึ่งพม่ายังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของสังคมที่แตกแยก ร้าวลึก เปราะบาง ซึ่งรัฐอื่นๆ ที่มีโครงสร้างเหมือนรัฐพม่าเน้นย้ำเรื่องนี้ แต่กรณีของพม่าประเด็นเหล่านี้ยังคงถูกตีตกไป

ติดตาม ASEAN Weekly ย้อนหลังที่ 

https://www.facebook.com/AseanWeekly/ หรือ https://www.youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรากรณ์ยันสิทธิไม่ลด ร่วมจ่ายมีไว้เพื่อความคล่องตัวในอนาคต ภาคปชช.เสนอตัดร่วมจ่ายออก

Posted: 21 Jun 2017 03:54 AM PDT

สธ.จัดสัมมนาชนเวทีปรึกษาสาธารณะแก้ กม.หลักประกันสุขภาพ วรากรณ์ย้ำสิทธิประชาชนไม่ลดลง ร่วมจ่ายเป็นเนื้อหาเดิม มีไว้เผื่ออนาคต ด้านภาคประชาชนจัดแถลงหน้าห้องสัมมนา เหตุผู้จัดไม่ให้ถามและแสดงความเห็น เสนอแนวทางแก้กฎหมาย ด้านเลขาฯ สปสช. ยันไม่มีการนำเงินประหยัดจากการซื้อยาให้เอ็นจีโอ เชื่อปิยะสกลไม่ได้พูด ฟาก สช. เตรียมเคลื่อนสมัชชาฯ วาระพิเศษ

ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นหนังสือแก่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

21 มิ.ย. 2560 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ได้มีการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) ในเรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... จัดโดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ....

ขณะที่ชั้นล่างของเวทีนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้จัดการสัมมนาวิชาการ ทำไมต้องปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ปีงบประมาณ 2560 แก้กฎหมายบัตรทองประชาชนได้อะไร บัตรทองอาจหายไปหากไม่มีการแก้ไขหลักประกันสุขภาพขึ้นพร้อมกันในช่วงที่เวทีปรึกษาหารือกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มย่อย โดยหนึ่งในผู้ร่วมสัมมนาในเวทีของ สธ. นี้คือ วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวใช้มา 15 ปี ควรมีการปรับปรุง และระบุเนื้อหาเกี่ยวกับการให้บริการให้มีความชัดเจนขึ้น

วรากรณ์ยันแก้ กม.หลักประกัน สิทธิไม่ลดลง

"ผมขอยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีใครที่เสียสิทธิ เลวร้ายลงกว่าเดิม ใครที่ได้รับการรักษาพยาบาล ได้รับยา เหมือนเดิมทุกอย่าง มีแต่จะมากขึ้นจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่รัฐจะให้เพิ่มเติมขึ้น เพราะฉะนั้นอย่าได้ตื่นตระหนก ทุกคนได้สิทธิเหมือนเดิม มีแต่ดีขึ้นกว่าเดิม ยืนยันครับ"

กรณีร่วมจ่ายซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกคัดค้านจากภาคประชาชนและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ วรากรณ์ กล่าวว่า มาตราที่เกี่ยวกับการร่วมจ่ายในร่างกฎหมายไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ โดยนำมาจากกฎหมายเดิมทั้งหมด เพราะข้อความนี้เหมาะสมแล้ว

"สำหรับการจ่ายค่าบริการ บางครั้งกรรมการกำหนดให้คนที่รับบริการจ่ายเงินร่วมด้วย ยกเว้นคนยากไร้จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ใช้มาตราเดียวอย่างนี้เลย เพราะเราคิดว่ากฎหมายจะต้องคล่องตัว ไม่มีการแก้อะไร ไม่มีการเก็บในประเทศไทยตอนนี้ ทุกคนฟรีหมด ทีนี้ ถ้าเราแก้ว่าต้องฟรีสำหรับทุกคน อันนี้จะทำร้ายคนยากจน เพราะว่าคนที่มีเงินก็ไม่ต้องจ่าย ก็ไปบีบคนยากไร้ให้ได้รับประโยชน์น้อยลง การเขียนอย่างนี้ไว้ ในอนาคตถ้ามีการรักษาพยาบาลที่มีราคาแพง เราก็สามารถให้คนที่มีเงินร่วมจ่ายได้ แล้วก็มีความคล่องตัว แต่ ณ ขณะนี้ไม่มีการร่วมจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และผมคิดว่าก็คงมีเหตุผลในอนาคตจำเป็นที่ต้องร่วมจ่าย เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ก็เหมือนเก่า ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสวัสดิการถ้วนหน้าโดยไม่ต้องร่วมจ่ายแม้แต่บาทเดียว"

ส่วนเรื่องการไม่มีส่วนร่วมของประชาชน วรากรณ์ กล่าวว่า คงไม่สามารถให้ประชาชนเป็นพันคนมาร่วมร่างกฎหมายได้ แต่ทางคณะกรรมการฯ ก็ไม่ได้มีแต่นักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างเดียว แต่ยังมีตัวแทนภาคประชาชนด้วย เพียงแต่การที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็คือการมีเวทีรับฟังความคิดเห็นในสี่ภาค โดยทางคณะกรรมการฯ มีความจริงใจอย่างยิ่งในการรับฟังความคิดเห็นและจะนำไปพิจารณาในคณะกรรมการฯ

ภาคประชาชนแถลงนอกห้องสัมมนา หลังถูกห้ามไม่ให้ถาม

ในช่วงท้ายของการสัมมนา ผู้ดำเนินรายการไม่ให้ผู้ร่วมฟังแสดงความคิดเห็นและซักถาม แต่ให้ใช้วิธีการเขียนคำถามลงในกระดาษแล้วส่งให้ผู้ดำเนินรายการแทน ทำให้สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เดินออกไปที่โพเดียมเพื่อขอแสดงความคิดเห็น แต่ผู้ดำเนินรายการไม่อนุญาต

สุนทรีจึงเดินออกมาแถลงบริเวณหน้าห้องสัมมนา โดยอธิบายถึงสิ่งที่กลุ่มคนรักหลักประกันฯ เห็นด้วย 4 ประเด็น เห็นต่าง 5 ประเด็น และ 7 ประเด็นที่เห็นว่าหากแก้ไขแล้วจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดีขึ้น

4 ประเด็นที่เห็นด้วยคือ หนึ่ง-มาตรา 14 ห้ามดำรงตำแหน่งสองคณะในขณะเดียวกัน สอง-มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกินสองสมัย สาม-มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และสี่-ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ย

5 ประเด็นที่เห็นต่างกับคณะกรรมการฯ คือ หนึ่ง-ไม่เห็นด้วยเรื่องการเพิ่มนิยาม 'เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ' และการแก้ไขนิยาม 'สถานบริการ' ตามมาตรา 3 สอง-ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 13 ในการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาม-แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41 ที่ระบุเพียงให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ควรต้องเพิ่มเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ สี่-ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 46 ที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และห้า-ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 48(8) ที่มีการเสนอเพิ่มเฉพาะวิชาชีพและผู้ให้บริการ

ส่วน 7 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอใหม่เพื่อการปฏิรูปการแก้ไขกฎหมายคือ หนึ่ง-แก้ไขมาตรา 5 ให้บริการสาธารณสุขคนไทยทุกคน รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ รวมถึงยกเลิกการเก็บการร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการหรือในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ สอง-แก้ไขมาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน สาม-แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับประชาชนทุกคนและรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน สี่-เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 18 แก้ไขอำนาจของคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ห้า-แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส หก-แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร และเจ็ด-เสนอให้ตัดบทเฉพาะพาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 และมาตรา 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุนด้านสุขภาพ

(อ่านรายละเอียดได้ในไฟล์แนบหนังสือ ขอให้ชี้แจงแนวทางการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมาย ด้านล่าง)

ทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังเตรียมหนังสือชี้แจงในประเด็นข้างต้นเพื่อยื่นให้แก่วรากรณ์ อย่างไรก็ตาม ทางวรากรณ์ไม่ได้มารับหนังสือฉบับดังกล่าว นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... จึงเป็นผู้รับแทน

เลขาฯ สปสช. ยันไม่มีการนำเงินที่ประหยัดจากค่ายาไปให้เอ็นจีโอ เชื่อ รมว.สธ. ไม่ได้พูด

ทางด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวประชาไท กรณีที่พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอ้างคำพูดของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สปสช. นำเงินที่ประหยัดได้จากการจัดซื้อยามาแบ่งให้กับเอ็นจีโอนั้น เป็นความจริงหรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า

"อันที่หนึ่งผมต้องเรียนก่อนว่า ผมไม่เชื่อว่าท่านรัฐมนตรีพูด ผมเชื่อว่าท่านรัฐมนตรีไม่ได้พูดอย่างนั้น อาจจะมีคนตีความผิด เพราะท่านรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ท่านทราบและรู้ดีว่า สปสช. บริหารเรื่องนี้อย่างไร ท่านชื่นชมเรื่องการบริหารด้านเวชภัณฑ์ของเราว่าประหยัดได้เยอะ สามารถนำส่วนที่ประหยัดไปใช้ในการบริการ มันเป็นเงินของประชาชนและมีกระบวนการตรวจสอบอยู่ เพราะฉะนั้น ผมไม่เชื่อว่าท่านพูดอย่างนั้น"

ประเด็นที่ว่ามีการนำเงินที่ประหยัดจากการซื้อยาไปให้เอ็นจีโอ นพ.ศักดิ์ชัย ยืนยันว่า

"ไม่มีครับ ไม่จริงครับ เพราะผิดกฎหมาย ปกติเหมาจ่ายรายหัวจะมีหมวดงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งเงินส่วนนี้จะให้กับกลุ่มมูลนิธิ หน่วยราชการอื่นๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการไปทำเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน สาธารณสุขจังหวัดก็ได้ สาธารณสุขอำเภอ ให้กับเอ็นจีโอ ให้กับมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้สุขภาพ เรามีให้"

หมอพลเดชเตรียมเคลื่อนสมัชชาวาระพิเศษ แต่บอกคงทำไม่ทัน คกก.ชุดวรากรณ์

ในส่วนของเวทีปรึกษาสาธารณะ ภายหลังจากเสร็จสิ้นลงในเวลาประมาณ 16.00 น. นพ.พลเดช ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ข้อคิดเห็นที่ได้จากเวทีใน 14 ประเด็นบวก 3 จากผู้มีส่วนร่วมต่างๆ จะถูกบันทึกไปตามจริง ไม่มีการสรุป แต่จะทำการประมวลทุกข้อคิดเห็น ทั้งที่เห็นร่วม เห็นต่าง และประเด็นที่เสนอใหม่ พร้อมกับให้เหตุผลประกอบส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ชุดของวรากรณ์

ขณะที่ประเด็นการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติวาระพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ นพ.พลเดช กล่าวว่า ประเด็นใดที่เป็นงานระยะยาว ต้องการการศึกษาวิจัย ต้องการการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม คงไม่สามารถทำเสร็จทันการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทาง สช. มีแผนในใจแล้วว่าจะต้องทำ

"เราคงไม่ทันงานของคณะกรรมการนี้ เขาก็เดินของเขาไป อันนี้คืองานระยะยาว และไม่ว่าเขาจะมีการแก้ไขกฎหมายอย่างไร กฎหมายก็มีการทบทวนเป็นระยะๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวล อันไหนที่ไม่ควรรอก็อย่าไปรอ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด อะไรที่รอได้ ก็รอ เราก็พร้อมที่จะทำการบ้านช่วย แต่ถ้าเขาไม่รอ แต่ประชาชนยังติดค้างอยู่ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำการศึกษา เพราะในกระบวนการสมัชชาสุขภาพจะมีกระบวนการ เมื่อได้ผลแล้วจะถูกนำเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะฉะนั้นเรามีช่องทางปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว" นพ.พลเดช กล่าว

AttachmentSize
ขอให้ชี้แจงแนวทางการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมาย.docx1.59 MB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ประยุทธ์ บอกเป็นรัฐบาลที่ใจดีที่สุดในโลก ท้าพวกหนีคดี กลับมาเข้ากระบวนการยุติธรรม

Posted: 21 Jun 2017 03:17 AM PDT

ประยุทธ์ ปาฐกถาพิเศษขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ย้ำรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนในหลาย ๆ ด้านให้เกิดเป็นรูปธรรม บอกเป็นรัฐบาลที่ใจดีที่สุดในโลก ท้าพวกหนีคดี กลับมาเข้ากระบวนการยุติธรรม

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

21 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (21 มิ.ย.60) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ อาคารศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมคณะ ปฏิบัติราชการ ณ จังหวัดขอนแก่น  เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมเยี่ยมชมผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ตอนหนึ่งถึงคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลทำทุกคดีที่มีปัญหา และไม่ได้ละเลยที่จะจับคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย รัฐบาลนี้จะทำสิ่งใดก็ตาม ต้องนึกถึงความรู้สึกของทุกคน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขอให้ทุกคนเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร อย่าพยายามสร้างความขัดแย้งกัน ต้องรักประเทศชาติให้มาก เพื่อความสงบสุขของคนไทยทุกคน 

"ที่ผ่านมา พวกไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม คิดว่าคนดีหรืออย่างไร แล้ววันนี้มาบอกว่าผมไปไล่ล่า ยอมรับกติกาสิครับ ผมถือว่าเป็นรัฐบาลที่ใจดีที่สุดในโลกนะจะบอกให้ ไม่มีรัฐบาลไหนทำแบบนี้หรอก นึกถึงคนทุกคน นึกถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะทุกคนคือคนไทย แต่เขามองผมว่าคนไทยหรือเปล่า เขามองพวกเราว่าคนไทยหรือเปล่า พอไม่ได้อะไรขึ้นมาก็ทำลายประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือเปล่า มันใช่หรือเปล่า อยากเข้าสู่ระบบก็กลับสู่บ้านมา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่กลับมาเองไม่ใช่เหรอ ให้กลับมาทั้งหมดนั่นแหละ ผมไม่ได้พูดถึงใครคนใดคนหนึ่ง หนีแล้วไปนั่งด่าโก้ๆ ไม่รักประเทศไทยเหรอ ขอถามหน่อย แล้วจะให้ผมอยู่เฉยๆ จะด่าอะไรก็ด่า ผมก็มีชีวิตจิตใจ และผมก็สุภาพที่สุดแล้ว ปกติผมเป็นทหารไม่สุภาพแบบนี้ ไม่อย่างนั้นปกครองทหารไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคอับดับ ต้น ๆ ของประเทศ ถือเป็นความภูมิใจของคนภาคอีสาน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแนวหน้าด้านการเรียนการสอน และดีเลิศทางด้านการวิจัย รวมถึงการพัฒนา ซึ่งเปิดการเรียนการสอนมากกว่า 300 หลักสูตร
 
สำหรับนโยบาย Thailand 4.0  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนในหลาย ๆ ด้านของประเทศไทยให้เกิดเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในหลาย ๆ ด้านอย่างเฉียบพลัน  ทำให้คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 21  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มีโอกาส ภัยคุกคาม และข้อจำกัดมากมายเกิดขึ้น ทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
 
สำหรับโมเดล Thailand 4.0 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการนำประเทศไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนำหลักคิดจากบทเรียนและกับดักในอดีตมาเป็นบทเรียน บนหลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสมดุลในเรื่องของมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณค่าความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เน้นการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ควบคู่กับศึกษา และนำสิ่งที่ดี ๆ จากอดีตมาพิจารณาและวิเคราะห์เพื่อสร้างเป็นรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับปัจจุบัน โดยผ่านกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง คือ การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สมดุลระหว่างมิติในทุก ๆ ด้าน หากไม่เพียงพอก็ต้องมีการปรับเติมเสริมเข้าไป แต่เมื่อเพียงพอแล้วก็ต้องรู้จักหยุด และรู้จักแบ่งปัน รวมถึงต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในแทนการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเพียงอย่างเดียว
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า  Thailand 4.0  ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความสมดุลตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างทั่วถึงไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงอย่างแท้จริง และสิ่งที่จะตอบโจทย์ทั้งหมดภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ "คน" ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมให้คนไทยมีความสมบูรณ์ที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีศักดิ์ศรีความเป็นไทยอยู่ในโลกร่วมกับประชาคมโลกได้ ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ นำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มทำให้อุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจนำไปสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่สังคมโลก โดยรัฐบาลชุดนี้จะเน้นเรื่องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ลดน้อยลง เพิ่มความเข้มแข็งให้กระจายลงสู่พื้นที่ ไม่ให้กระจุกอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ๆ
 
พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณประชาชนจังหวัดขอนแก่น ที่ร่วมกันตอบ 4 คำถามของนายกรัฐมตรีมากที่สุดกว่าหมื่นคน   พร้อมกล่าวชี้แจงว่า การตั้งคำถามดังกล่าวนี้ เพื่อต้องการรับทราบถึงปัญหาของประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย และต้องการให้ทุกคนช่วยกันตอบ เพื่อไม่ให้ถูกนำไปบิดเบือนว่านายกรัฐมนตรีตั้งคำถามแล้วไม่มีคนตอบ  เช่นเดียวกับเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ถูกบิดเบือนว่า จะเป็นการยกเลิกโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งไม่เป็นความจริง 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

[คลิป] ล้านนาคดีในทศวรรษหน้า | ธเนศวร์ เจริญเมือง-แสวง มาละแซม

Posted: 21 Jun 2017 02:39 AM PDT

เสวนาหัวข้อ "ล้านนาคดีในทศวรรษหน้า" ปิดท้ายโดยธเนศวร์ เจริญเมือง และแสวง มาละแซม โดยตอนหนึ่งธเนศวร์ เสนอให้ขยายขอบเขตศึกษาให้พ้นไปจากกรอบของ "พงศาวดารโยนก" หรือ "พงศาวดารลาวเฉียง" ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) แต่ต้องค้นคว้าเอกสารเก่าที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มากกว่านี้ การที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้ภาวะรัฐรวมศูนย์อำนาจนานเกินไป รวมทั้งระบบการศึกษาด้วย อาจทำให้ไม่มีการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง หรือศึกษาแต่ใช้เอกสารอย่างจำกัด และรีบด่วนสรุปการศึกษาเกินไป

ส่วนแสวงเสนอด้วยว่า มีเอกสารชั้นต้นจำนวนมากที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติที่ยังไม่มีการเปิดเผยโดยอ้างเรื่องความมั่นคง โดยเขาเสนอว่าควรเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาเข้าถึงเอกสารเหล่านั้น ล้านนาคดีศึกษายังมีความท้าทายอีกมาก ขอให้คนรุ่นหลังทำการศึกษาต่อเนื่อง ไม่ควรจะยุติ ใครที่ว่าค้นคว้ามาแล้วเรียบร้อย เขาเชื่อว่ายังไม่มีข้อยุติเพียงแค่นี้ จะต้องค้นคว้ากันต่อไป

เสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับชมคลิปจากเวทีวิชาการ "ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่" ทั้งหมดที่ https://goo.gl/Ltzjrz

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนหน้าคล้าย 'ประยุทธ์' โผล่ MV เพลงใหม่ ลำไย ไหทองคำ

Posted: 21 Jun 2017 02:22 AM PDT

21 มิ.ย. 2560 จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.กล่าวถึงการแต่งกายและท่าเต้นของ 'ลำไย ไหทองคำ' หรือ สุพรรณษา เวชกามา นักร้องเพลงผู้สาวขาเลาะ ว่า "ก็ไปเตือนกันเอง สื่อก็ไปช่วยกันเตือนหน่อย อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นนิสัยคนดูก็ชอบดู"  โดยแนะนำให้สื่อช่วยแนะนำ

จนกระทั้งวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ลำไย พร้อมคณะเดินทางเปิดการแสดงคอนเสิร์ตที่บริเวณสนามตลาดนัดจ่าหมาย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี  ท่ามกลางการกดดันจากเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือไม่ไห้ลำไยแต่งตัวโป๊และขอไม่ให้เต้นในท่าที่หวาดเสียวซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากทีมงานของนักร้องสาวเป็นอย่างดี

ล่าสุดวานนี้ (20 มิ.ย.60) ยูทูบ ช่อง 'ple nakorn CHANNEL' ของ เปิ้ล นาคร ศิลาชัย ได้เผยแพร่เพลงและมิวสิควิดีโอใหม่ที่ร้องโดย ลำไย ชื่อ ผู้สาวขาเฟี้ยว ในมิวสิควิดีโอมีฉากที่คนหน้าคล้าย พล.อ.ประยุทธ์ ปรากฎตัวขึ้นมาในชุดทหารด้วย 

สำหรับเพลงดังกล่าว แต่งคำร้อง-ทำนอง โดย นราธิป ปานแร่ ขณะที่คำร้องภาษาอีสาน โดย ธนัสสรณ์ ภูตินันท์ เรียบเรียง โดย ละมุนละไมไทยแลนด์ โปรดิวเซอร์ โดย นาฬิกา สุทธิลักษณ์ ออกแบบท่าเต้น โดย แคนดี้ รากแก่น และอำนวยการผลิต มิวสิควีดิโอ โดย ประจักษ์ชัย ไหทองคำ และ นาคร ศิลาชัย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อมูลส่วนตัวประชาชนสหรัฐฯ เกือบ 200 ล้านคน รั่วไหลสู่สาธารณะ

Posted: 21 Jun 2017 01:43 AM PDT

บริษัทที่ทำสัญญากับพรรครีพับลิกันของสหรัฐฯ ตั้งระบบผิดพลาดทำให้ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงความเชื่อทางศาสนาหรือการเมือง แพร่สะพัดออกไปสู่สาธารณะจำนวน 1.1 เทราไบต์ สร้างความกังวลด้านสิทธิความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยไซเบอร์ และความกังวลว่าจะมีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในทางที่ผิดหรือไม่

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 เกิดเหตุข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวของประชาชนสหรัฐฯ เกือบ 200 ล้านคน รั่วไหลออกไปสู่สาธารณะ ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวเช่นนี้คือบริษัทมาร์เก็ตติงที่ทำสัญญากับคณะกรรมการแห่งชาติของรีพับลิกัน (Republican National Committee)

ข้อมูลที่รั่วไหลออกไปมีขนาดใหญ่มากราว 1.1 เทราไบต์ (1.1 ล้านล้านไบต์) ที่ประกอบด้วยวันเกิด ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และแนวคิดทางการเมืองของคนเกือบ 200 ล้านคน คิดเป็นราวร้อยละ 62 ของประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ถูกทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้จากเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตของบริษัทบริการไอที "แอมะซอน" (Amazon) โดยที่เพียงแค่มีลิงก์ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้

ผู้ที่ค้นพบในเรื่องนี้คือ คริส วิคเกอร์รี นักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านไซเบอร์จากบริษัทความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต "อัปการ์ด" (UpGuard) ข้อมูลเหล่านี้ดูเหมือนจะมีการเก็บรวบรวมมาจากหลายแหล่ง แม้กระทั่งจากการโพสต์บนกระทู้ที่ถูกแบนในเว็บบอร์ด Reddit ไปจนถึงข้อมูลที่มาจากคณะกรรมการจัดระดมทุนของพรรครีพับลิกัน

ข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บในรูปแบบตารางจัดการ (spreadsheets) ที่อัปโหลดขึ้นเซอร์เวอร์ของดีพรูทอนาไลติคส์ มีการอัปเดทครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ม.ค. เมื่อมีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

อเล็กซ์ ลุนดรี ผู้ก่อตั้งอีพรูทอนาไลติคส์กล่าวว่าพวกเขายอมรับผิดชอบอย่างเต็มที่กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเนื่องจากเท่าที่ข้อมูลของพวกเขามี เขาไม่พบว่ามีการแฮ็กระบบของพวกเขา และเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้รับรู้ในวงกว้างแล้วพวกเขาก็จะอัพเดทการเข้าถึงและวางเกณฑ์วิธีเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้าถึงโดยคนทั่วไปได้ในอนาคต

นอกจากข้อมูลส่วนตัวแล้ว ข้อมูลของประชาชนที่รั่วไหลออกไปยังระบุถึงความเอนเอียงทางการเมือง การเข้าร่วมศาสนา เชื้อชาติ และประเด็นความคิดอื่นๆ เช่นมีความคิดเห็นเรื่องการควบคุมอาวุธปืนอย่างไร คิดเรื่องสิทธิในการทำแท้งอย่างไร และคิดเรื่องการวิจัยสเต็มเซลล์อย่างไร

ชื่อไฟล์และแฟ้มเก็บไฟล์แสดงให้เห็นว่าองค์กรการเมืองของรีพับลิกันมีเป้าหมายจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ โดยการพยายามสำรวจข้อมูลของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นหมายความว่ามีบางส่วนที่เว้นว่างไว้ถ้าหากไม่ทราบข้อมูล

ถึงแม้ว่าพรรคการเมืองมักจะเก็บข้อมูลของผู้ที่โหวตให้พวกเขาอยู่แล้ว แต่การรั่วไหลของข้อมูลครั้งใหญ่เช่นนี้ก็ทำให้เกิดความน่ากังวลเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เฟรเดอริเก คัลทอยนาร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายขององค์กรด้านความเป็นส่วนตัวไพรเวซีอินเตอร์เนชันแนลบอกว่าเหตุการณ์นี้เป็นปัญหาหนักมากไม่เพียงแค่เป็นเรื่องอ่อนไหวแต่ยังเป็นข้อมูลส่วนตัวของคนที่มีผลต่อการคาดการณ์พฤติกรรม เป็นความคิดเห็นและความเชื่อที่บุคคลนั้นๆ ไม่เคยตัดสินใจเปิดเผยให้กับผู้อื่นมาก่อน

การเก็บข้อมูลเพื่อคาดเดาพฤติกรรมนั้นไม่ได้มีแค่บริษัทการตลาดที่นำมาใช้ แต่การโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตก็อาศัยข้อมูลเหล่านี้ในการกำหนดระบบนิเวศของข้อมูลอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้ต่างๆ ซึ่งคัลทอยนาร์มองว่าเรื่องนี้ "เป็นภัยต่อประชาธิปไตย" เพราะเป็นไปได้ว่าข้อมูลเหล่านี้อาจจะถูกนำมาตั้งเป้าหมายทางการเมืองกับผู้ใช้งานได้ โดยที่ไม่รู้ว่าผู้ใช้จะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อเป้าหมายใด

อีกทั้งการที่ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลออกสู่สาธารณะจึงกลายเป็นสิ่งที่อาจจะถูกนำไปใช้แบบอันตรายได้ เช่น การใช้ข่มขู่คุกคามผู้คนที่เห็นต่างทางการเมืองหรือการหลอกลวงทางตัวตนเพื่อกลั่นแกล้ง พอล เฟล็ชเชอร์ จากบริษัทด้านความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตอเลิร์ทโลจิคกล่าวว่ามีความเป็นได้สูงมากที่ข้อมูลเหล่านี้อาจจะถูกนำไปเผยแพร่ให้เห็นในพวกเว็บลับใต้ดิน

เรียบเรียงจาก

Personal details of nearly 200 million US citizens exposed, BBC, 19-06-2017

http://www.bbc.com/news/technology-40331215

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ้าวเฮ้ย! พบ กอ.รมน.ยังไม่ถอนแจ้งความ 3 นักสิทธิฯ ปมแฉซ้อมทรมานชายแดนใต้

Posted: 21 Jun 2017 12:12 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผย กอ.รมน.ยังไม่ถอนแจ้งความ 3 นักสิทธิฯ ปมแฉซ้อมทรมานชายแดนใต้ ตามที่ตกลงกันเมื่อ 7 มี.ค.60 ล่าสุดอัยการจังหวัดปัตตานีต้องนัดพบสามผู้ต้องหาอีกครั้ง 27 ก.ค.นี้

แฟ้มภาพ

21 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้มอบหมายให้ทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมไปพบพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีตามที่ได้นัดหมายไว้  พบว่าคดีสามนักสิทธิฯ กอ.รมน.ภาค 4 ยังไม่ได้ถอนแจ้งความหรือคำร้องทุกข์ตามที่ได้เคยประกาศไว้ต่อสาธารณะชน ทำให้พนักงานอัยการต้องกำหนดวันนัดให้ไปรายงานตัวอีกในวันที่ 27 ก.ค. 2560  

สืบเนื่องมาจากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดย พ.ท.เศรษฐสิทธิ์ แก้วคูณเมือง ร้องทุกข์ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานีเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 ให้ดำเนินคดีกับสามนักสิทธิมนุษยชน คือ สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (ในขณะนั้น) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอัญชนา หีมินะ หัวหน้าของกลุ่มด้วยใจ ในข้อหาความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์และเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 โดย ต่อมา กอ.รมน. ภาค 4  ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2560 ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพ ว่าไม่ติดใจดำเนินคดีกับสามนักสิทธิฯไปในทุกข้อหา และจะดำเนินการถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวต่อไป แต่เมื่อทนายความได้พบกับพนักงานอัยการ กลับพบว่า ขณะนี้ กอ.รมน. ยังไม่ได้ถอนคำแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใด ซึ่งการถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.)  หรือผู้บัญชาการทหารบกในฐานะ รอง ผอ.รมน. เป็นผู้ลงนาม และ กอ.รมน.ภาค 4 จะต้องส่งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการประกอบการถอนแจ้งความร้องทุกข์คดีดังกล่าว

"คดีนี้เป็นคดีตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงถึงบทบาททางวิชาการและการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญของประชาชนในการให้ข้อมูลและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายและต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ที่มีความอ่อนไหว  การดำเนินการถอนแจ้งความนักสิทธิมนุษยชนทั้งสามเป็นแนวทางที่เชื่อว่าจะช่วยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้กว้างขึ้น เจ้าหน้าที่จะได้นำข้อมูลและข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยนชนต่างๆ ไปปฎิบัติได้จริงอย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์ความรุนแรง" สุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว

รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 ได้จัดทำขึ้นตามโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของสหประชาชาติ โดยวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเสียหายทั้งทางกายและจิตใจ  ฟื้นฟูและสนับสนุนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าวสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาจากรัฐ และเพื่อเสนอแนะต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการทั้งทางนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติเพื่อป้องกันและขจัดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการใช้บังคับกฎหมายพิเศษ ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บางรายกล้าที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมและดำเนินคดีเพื่อให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐรับผิดชอบ แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกทรมานฯแต่ไม่กล้าร้องเรียนหรือดำเนินคดี  ปัญหาการทรมานฯเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ต้องหาทั้งสามซึ่งเป็นนักสิทธิมนุษยชนทำงานขับเคลื่อนให้เกิดการตรวจสอบ เพื่อให้หน่วยงานรัฐปกป้อง คุ้มครองประชาชน รวมทั้งผลักดันเชิงนโยบายต่อภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาเพราะหากไม่แก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและยุติการทรมานฯ แล้ว จะส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งหันหลังให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ยากที่จะสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ได้" สุรพงษ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตามอง 'เอ็มมานูเอล มาครง' จัดตั้งรัฐบาลใหม่ หลังชนะเสียงข้างมากในสภาฯ

Posted: 21 Jun 2017 12:04 AM PDT

ฝรั่งเศสมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีกับการเลือกตั้ง ส.ส. แยกกัน แม้มาครงจะชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำแล้ว แต่ก็ต้องลุ้นว่า ส.ส. พรรคแนวร่วมฝ่ายเขาจะได้เสียงในสภาแค่ไหน ซึ่งในตอนนี้ก็ทำให้นักการเมืองคนหนุ่มอย่างมาครงคลายกังวลได้แล้วเพราะพรรคแนวร่วมของเขากวาดที่นั่งไปถึง 350 ที่นั่งจาก 577 แต่จำนวนผู้มาใช้สิทธิน้อยก็บ่งบอกว่าการออกนโยบายของพรรคสายกลางของเขาก็ต้องระมัดระวัง

เอ็มมานูเอล มาครง

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 หลังจากที่ เอ็มมานูเอล มาครง เอาชนะการเลือกตั้งได้อีกครั้งศึกการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ ฝรั่งเศสเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 มิ.ย. 2560) จากการที่พรรคร่วมรัฐบาลของเขากวาดที่นั่งในสภาถึง 350 ที่นั่งจาก 577 ที่นั่ง ทำให้ขบวนการสายกลางอย่างอองมาร์ช (La Republique En Marche! หรือ La REM) ที่ร่วมกับพรรคขวากลางอย่างพรรคขบวนการประชาธิปไตยหรือโมเดม (MoDem) ได้เสียงข้างมากในสภา

ในฝรั่งเศสมีระบบที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีแยกออกมาต่างหากจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ โดยที่ก่อนหน้านี้มาครงเคยเอาชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้แล้วจากการขับเคี่ยวกับผู้นำฝ่ายขวาจัดอย่างมารีน เลอ แปน แต่ก็มีความกังวลว่าเขาจะไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภาเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ ในเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้ความกังวลสำหรับมาครงหมดไป

คริสตอฟ คาสตาเนอร์ โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่า เอ็ดดูอารด์ ฟิลิปป์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสจะลาออกหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาในครั้งนี้เสร็จสิ้นและจะมีการตั้งผู้นำรัฐบาลใหม่ภายในไม่กี่วันหลังจากนี้ นอกจากนี้คาสตาเนอร์ยังบอกอีกว่าการที่มาครงได้เสียงข้างมากในสภาทำให้มีโอกาสปรับคณะรัฐมนตรีสูง

อย่างไรก็ตามคาสตาเนอร์ก็ชี้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ของฝรั่งเศสมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิน้อยมากเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ร้อยละ 43 ซึ่งเน้นย้ำว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากนี้ยังเป็น "ความล้มเหลวร่วมกัน" ของชนชั้นนำทางการเมืองของฝรั่งเศส โดยที่คาสตาเนอร์ให้คำมั่นแทนรัฐบาลใหม่ว่าภายใน 5 ปีนี้พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดชัยชนะที่แท้จริง

นอกจากนี้สื่อเดอะการ์เดียนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าเหล่า ส.ส. ในรัฐสภาใหม่ของฝรั่งเศสแตกต่างออกไปจากเดิมเนื่องจากมีถึงร้อยละ 75 เป็น ส.ส. ใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในรัฐสภามาก่อน มีอายุโดยเฉลี่ยน้อยลงอยู่ที่ประมาณ 48 ปี และมีถึงร้อยละ 38.7 ที่เป็นผู้หญิง โดยมาครงเองก็กลายเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศสนับตั้งแต่นโปเลียน โบนาปาร์ต ด้วย

ในขณะที่สื่อฝรั่งเศสนำเสนอว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นชัยชนะของพวกสายกลาง ขณะที่พรรคดั้งเดิมของฝรั่งเศสทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาต่างก็ถูกอองมาร์ชแย่งชิงพื้นที่ไป พรรคฝ่ายขวากลางอย่างเลส รีพับลิแกน (Les Republicains) และแนวร่วมของพวกเขาก็ชนะมาได้ 137 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคผู้นำหลักของฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม ส.ส. ภาคส่วนของพวกเขาก็ให้คำมั่นว่าจะเป็นพันธมิตรกับอองมาร์ช

พรรคที่สูญเสียหนักที่สุดคือพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสที่ชนะเพียง 29 ที่นั่ง น้อยกว่าครั้งก่อนหน้านี้ 250 ที่นั่ง เดอะการ์เดียนระบุว่าน่าจะเป็นเพราะประชาชนเริ่มขาดความเชื่อมั่นจากสมัยของประธานาธิบดีฟรองชัวส์ ออลลองด์ และปัญหาการว่างงานสูง

อย่างไรก็ตามฝ่ายซ้ายจัดที่นำโดย ฌอง-ลุค เมลองชง ก็ถูกจับตามองว่าจะเป็นกลุ่มหลักๆ ที่คอยคัดค้านมาตรการต่างๆ ของมาครง โดยที่พรรคของเมลองชงได้ไป 17 ที่นั่ง ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ไป 10 ที่นั่ง ส่วนพรรคขวาจัดของเลอ แปน ก็ได้ไป 8 ที่นั่งซึ่งยังไม่บรรลุเป้หมายในการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แต่ก็วางตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายค้าน

มีการประเมินว่ารัฐบาลมารงจะออกมาตรการต่างๆ ทั้งเรื่องการเพิ่มความเข้มแข็งด้านความมั่นคง การออกกฎหมายเกี่ยวกับจริยธรรมที่มีผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นและการปฏิรูปกฎหมายการจ้างงาน โดยจะเริ่มการประชุมสภานัดพิเศษในวันที่ 27 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

เดอะการ์เดียนระบุว่ามาครงมีภาพลักษณ์เชิงบวกในสายตาสื่อโลก แต่เรื่องที่คนออกไปเลือกตั้งน้อยมากก็ทำให้มาครงต้องระมัดระวังในการปฏิรูปเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ในฝรั่งเศสยังมีการประท้วงตามท้องถนนหลายครั้งมากจนทำให้รัฐบาลต้องผ่อนปรนด้านมาตรการต่างๆ ฝ่ายสหภาพแรงงานเองก็เตือนว่าพวกเขาจะต่อต้านกฎหมายแรงงานของมาครงที่จะทำให้สิทธิแรงงานอ่อนแอลง นอกจากนี้มาครงยังต้องพยายามหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นในการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะจากภาคส่วนคนรายได้น้อยและคนงานที่ใช้แรงงานซึ่งจนถึงตอนนี้ไม่สนับสนุนโยบายของเขา

 

เรียบเรียงจาก

Emmanuel Macron plans cabinet reshuffle after parliamentary win, The Guardian, 19-06-2017

https://www.theguardian.com/world/2017/jun/19/emmanuel-macron-promises-new-brand-of-french-politics

 

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, การเมือง,

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝูงชนช่วยกันรุมจับตัวผู้ก่อเหตุขับรถพุ่งชนชาวมุสลิมหน้ามัสยิดฟินส์บูรี อังกฤษ

Posted: 20 Jun 2017 11:32 PM PDT

มีผู้ก่อเหตุขับรถชนคนหน้ามัสยิดแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนที่ชาวมุสลิมใช้เป็นสานที่ประกอบพิธีกรรมรอมฎอน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนผู้ก่อเหตุถูกฝูงชนรุมจับตัวไว้ได้

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2560 สื่อดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่ามีผู้ก่อเหตุขับรถตู้พุ่งชนชาวมุสลิมที่หน้ามัสยิดแห่งหนึ่งใกล้กับสวนสาธารณะฟินส์บูรีในกรุงลอนดอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 รายและได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่

เจ้าหน้าที่ตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายในลอนดอนกำลังสืบสวนในเรื่องนี้ โดยมีการไต่สวนผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งเป็นชายอายุ 48 ปี ที่ประชาชนในละแวกนั้นช่วยกันจับตัวเอาไว้ได้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไว้เพราะต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 

สำนักงานตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ดในลอนดอนเปิดเผยว่าในตอนนี้ศูนย์บัญชาการต่อต้านการก่อการร้ายกำลังทำการสืบสวนในกรณีนี้และมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ชาวมุสลิมในช่วงรอมฎอน

ผู้พบเห็นเหตุการณ์เล่าว่ามีรถขับเบี่ยงออกมาจากถนนพุ่งเข้าสู่ชาวมุสลิมในฟินส์บูรีที่เพิ่งออกมาจากการละหมาดหลังเที่ยงคืนไม่นาน หรือเป็นไปได้ว่าบางส่วนอาจจะออกมาจากศูนย์สวัสดิการชาวมุสลิมที่อยู่ใกล้กัน หญิงคนหนึ่งเล่าว่าเธอได้ยินเสียงตะโกนและกรีดร้องจากหน้าต่าง ทุกคนตะโกนว่ามีรถตู้ชนคน จนกระทั่งรถคันดังกล่าวนี้หยุดอยู่ที่หน้ามัสยิด 

ผู้เห็นเหตุการณ์อีกรายหนึ่งบอกว่ามีผู้คนผ่านไปมาโดยรอบรวมตัวกันช่วยเหลือคนชราที่ล้มลงบนถนนและมีการพยายามช่วยปั้มหัวใจจนกระทั่งรถตู้พุ่งเข้ามา และช่วงหนึ่งฝูงชนก็สามารถรวมกลุ่มกันจับตัวผู้ก่อเหตุเอาไว้ได้

อีกคนหนึ่งพูดถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบ มีชายคนหนึ่งบาดเจ็บมีเลือดไหลจากหัวและขา มีหญิงคนหนึ่งตกจากรถเข็นทำให้พวกเขาเข้าไปช่วย มีเลือดไหลนองอยู่บนทางเท้า 

มีภาพวิดีโอถ่ายเหตุการณ์เอาไว้เผยให้เห็นคนบาดเจ็บนอนนิ่งอยู่บนทางเท้า ในขณะที่ฝูงชนที่กำลังโมโหล้อมชายผิวขาวคนหนึ่งที่น่าจะเป็นคนขับรถไว้

ฮารุน ข่าน เลขาธิการสภามุสลิมแห่งอังกฤษบอกว่าเหตุการณ์ที่มีรถตู้จงใจพุ่งเข้าชนชาวมุสลิมที่เพิ่งออกจากพิธีรอมฎอนเป็นเรื่องที่น่าตระหนกและโหดร้าย

มีนักกิจกรรมขวาจัดรายหนึ่งชื่อ ทอมมี โรบินสัน ผู้มีชื่อจริงว่าสตีเฟน เลนนอน อ้างว่าการขับรถไล่ชนคนหน้ามัสยิดแห่งนี้มีความชอบธรรมเพราะเขาเชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรงในอดีต แต่เลนนอนก็ถูกประณามในเรื่องการพยายามให้ความชอบธรรมการสังหารผู้คนในครั้งนี้ ทำให้ต่อมาเลนนอนโพสต์ทวิตเตอร์ด้วยท่าทีอ่อนลงว่าเขาหวังว่า "ผู้บริสุทธิ์" ที่ตกเป็นเป้าโจมตีหน้ามัสยิดจะไม่เป็นอะไร

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ และนักการเมืองพรรคแรงงานเจเรมี คอร์บิน ต่างก็แสดงความเสียใจต่อเหยื่อในเหตุการณ์ เมย์ประณามว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้แย่มากและเธอขอส่งใจให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ ญาติของเหยื่อ และหน่วยฉุกเฉินในพื้นที่

เรียบเรียงจาก

Finsbury Park attack: Counter terror police investigating after one man killed in van attack near London mosque, The Independent, 19-06-2017

http://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/van-pedestrians-hit-run-over-casualties-latest-police-finsbury-park-mosque-muslims-seven-sisters-a7796551.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น