โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปธ.บอร์ดสปสช. โต้ แก้ ก.ม.บัตรทอง ไม่ริดรอนสิทธิ์เดิมของประชาชน

Posted: 07 Jun 2017 11:54 AM PDT

ปิยะสกล รมว.สธ. ในฐานะ ปธ.บอร์ดสปสช. โต้ แก้ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้ริดรอนสิทธิ์เดิมใดๆ ของประชาชน แต่เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ได้สิทธิ์เท่ากับเดิมหรือดีกว่าเดิม     

แฟ้มภาพ

7 มิ.ย. 2560 จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.....(ฉบับที่...) ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ได้ยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.....(ฉบับที่....) ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แล้วเสร็จและเข้าสู่ขั้นตอนของการประชาพิจารณ์ ส่งผลให้มีภาคประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รวมทั้ง คัดค้านทั้งกระบวนการประชาพิจารณ์ที่ขาดการมีส่วนร่วม รวมทั้งตัวเนื้อหาในการยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

ล่าสุดวันนี้ (7 มิ.ย. 60) สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทำตามขั้นตอน กระบวนการที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น และอยู่ระหว่างการรับฟังและการทำประชาพิจารณ์  หากมีความคิดเห็นอย่างไรก็ให้ไปเสนอในเวทีดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) หากเห็นว่าส่วนใดในการบยกร่าง พ.ร.บ.แล้วไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ก็แสดงความคิดเห็นออกมาในเวทีนี้ แต่ขอย้ำว่าในร่างพ.ร.บ.ไม่ได้ริดรอนสิทธิ์เดิมใดๆ ของประชาชน แต่เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ได้สิทธิ์เท่ากับเดิมหรือดีกว่าเดิม     

"การแก้กฎหมายนั้น เรื่องไหนที่คิดว่าไม่สมดุล ก็ไปเสนอแนะได้ ไม่ว่าจะเรื่ององค์ประกอบของบอร์ด เรื่องการจัดซื้อยา  เป็นต้น ขอย้ำว่าการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 77 ที่ระบุว่าการพิจารณากฎหมายต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทุกอย่างทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีอคติใดๆ แต่ต้องการให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นในการปรับกฎหมายก็ให้ไปแสดงในเวทีประชาพิจารณ์ ไม่เห็นความสำคัญของการแสดงความคิดเห็นนอกรอบและปลุกปั่นให้เกิดความระส่ำระสาย ซึ่งก็จะมีการรวบรวมความคิดเห็นจากการประชาพิจารณ์ มาประกอบการยกร่างกฎหมาย ก่อนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาและเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนออกกฎหมาย" ปิยะสกล กล่าว     

ต่อข้อถาม ประชาชามองว่าบัตรทองดีอยู่แล้วทำไมต้องมีการปรับแก้กฎหมาย ปิยะสกล กล่าวว่า บัตรทองดีอยู่แล้ว และการปรับแก้กฎหมายก็ไม่ได้ลดสิทธิ์ของประชาชน แต่ที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้กระบวนการดูแลประชาชนได้ดีขึ้น ถ้าหากไม่มีการปรับแก้กฎหมาย ปัญหาเดิมที่ต้องอาศัยม.44 ในการแก้ปัญหาแบบที่ผ่านมา ก็จะกลับมาอีก เมื่ออำนาจตามม.44 หมดลง อย่างเช่น กรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และคณะกรรมการตรวจสอบและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ  (คตร.) ทักท้วงว่า เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถนำมาใช้เป็นการจ่ายชดเชยเบื้องต้นให้กับผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข เพราะเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ก็ได้มีการออกม.44  ให้สามารถใช้เงินส่วนนนี้ในการช่วยเหลือเยียวผู้ให้บริการได้ และข้อหนึ่งของการแก้ พ.ร.บ.ก็มีการเพิ่มเติมให้สามารถนำเงินมาใช้ในการเยียวยาผู้ให้บริการได้ จากเดิมที่กฎหมายระบุว่าให้จ่ายชดเชยเฉพาะผู้รับบริการที่ได้รับควมเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นต้น

 

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี ‘เปรี้ยว’ สื่อกำลังสร้างอคติและดูถูกคนในสังคม

Posted: 07 Jun 2017 10:19 AM PDT

นักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้การนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักกำลังสร้างความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นกลาง และอคติในคดีเปรี้ยว อาจเป็นอุปสรรคในการทำงานของกระบวนการยุติธรรม ด้านนักวิชาการสื่อสารมวลชนระบุสื่อกำลังดูถูกคนในสังคม แนะเร่งปรับตัว

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ได้มีการจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 6 ขึ้น ในหัวข้อ 'ฆ่า หรือ ค่า: สื่อกับดราม่าความรุนแรงในสังคมไทย' ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนามีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นวิทยากรทั้งหมด 5 ท่าน และมีสื่อมวลชนตลอดจนผู้ที่สนใจเข้าร่วมการเสวนาเป็นจำนวนมาก

ผศ.ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าสื่อกระแสหลักบางสื่อที่กำลังเผยแพร่ข่าวสารตามกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้มีส่วนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ความไม่เป็นกลาง ตลอดจนเกิดอคติขึ้นในหมู่ผู้เสพสื่อ และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกระบวนการยุติธรรม

ผศ.ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ (คนกลาง)

"หลักสำคัญในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีก็คือต้องเป็นธรรม เป็นธรรมแปลว่าต้องให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์กับผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีเฉพาะแค่ผู้ต้องหา แต่มีผู้เสียหายด้วย"

ในขณะเดียวกัน ปารีณายังกล่าวถึงความเป็นกลางและอคติ โดยมองว่าเป็นการชี้นำให้สังคมเชื่อไปตามที่สื่อประโคมข่าวไปแล้ว เพราะการนำเสนอของสื่อน่าสนใจและน่าติดตามมากกว่าการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือแม้กระทั่งคำพิพากษาจากศาลเอง ด้วยเหตุที่สื่อใช้วิธีการนำเสนอโดยเล่าเป็นเรื่อง ทำให้น่าติดตามและทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อไปแล้ว ซึ่งปารีณามีความเห็นว่า การเล่าเรื่องนี้สามารถทำได้ แต่ควรทำหลังจากการพิจารณาคดีสิ้นสุดลงแล้ว

"แม้ว่าข้อเท็จจริงที่นำเสนอมาภายหลังจากการสืบสวนสอบสวน หรือกระทั่งจากการพิจารณาจากผู้พิพากษาเองจะออกมาเป็นอย่างไร สังคมก็พร้อมที่จะไม่เชื่อ ถ้ามันแตกต่างจากข้อมูลการนำเสนอของสื่อในครั้งแรก เพราะว่าเรื่องของสื่อมันน่าสนใจกว่าเยอะ ดูน่าเชื่อถือกว่าการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาก นั่นคือเทคนิคการนำเสนอที่สื่อมี แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มี ยิ่งถ้าเป็นศาลซึ่งไม่สามารถออกมาอธิบายได้ว่าทำไม อ่านคำพิพากษาของศาลไม่สนุกเท่ากับการดูละครหรือเรื่องที่นำเสนอผ่านสื่อ"

ทั้งนี้ ปารีณามองว่าการที่สื่อนำเสนอก็มีข้อดีอยู่บ้างในแง่ของการติดตามคดี การหาพยานหลักฐาน การเร่งรัดและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก็อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในเรื่องความปลอดภัยของพยานบุคคล

"พยานที่กำลังจะเข้ามาก็อาจเกรงกลัว เพราะไม่อยากตกเป็นเป้าความสนใจว่าเป็นพยานบุคคล"

ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ (คนซ้าย)

ด้าน ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าปรากฏการณ์นี้จะทำให้สื่อพากันตาย เพราะสื่อกระแสหลักเสนอแต่ข้อมูลที่นำมาจาก 'ชาวเน็ต' หมายความว่าสื่อกำลังทำงานตามหลัง ไม่ได้แข่งขันอย่างแท้จริง และเพียงทำตามกระแสเพื่อความอยู่รอดในกระแสทุนนิยม ทั้งๆ ที่ความสนใจของคนในสังคมมีไม่เหมือนกัน

"นั่นแปลว่าเรากำลังดูถูกคนในสังคมว่าต้องการทิศทางเดียว มันไม่ควรเป็นเช่นนั้น คนจะได้ไม่เหมารวมว่าสื่อก็เป็นเหมือนกันหมด เลวเหมือนกันหมด เป็นผู้ร้ายเหมือนกันหมด"

มรรยาทยังมองว่า สื่อกระแสหลักไม่ควรแข่งขันกันที่ปริมาณเพียงอย่างเดียว แต่ควรแข่งขันกันที่คุณภาพด้วย และควรต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวสื่อเอง ไม่ควรอ้างว่าเพราะสังคมต้องการเสพข่าวเช่นนี้ สื่อจึงต้องนำเสนอ

"เหมือนเป็นไก่กับไข่ที่มันก็วนเวียนไปไม่รู้จักจบ ถ้ามัวแต่พูดแบบนี้เราจะไม่มีทางแก้ปัญหาอะไรได้เลย เราจะวนอยู่แต่ว่าไม่ใช่ความผิดของฉัน เพราะสังคมอยากได้ ฉันเลยเสนอ ถ้าจะแก้ก็ไปแก้สังคมสิ สังคมก็บอกว่า ไม่ใช่มาเปลี่ยนคนในสังคม ก็เป็นเพราะสื่อเสนอมา มันจะวนอยู่ในอ่าง เราจึงต้องหยุด ไม่ต้องพูดว่าอะไรเกิดก่อนอะไรหรือทำให้เกิดอะไร แต่เรามาปรับปรุงและแก้ไขที่ตัวเราเอง"

นอกจากนี้ มรรยาทยังมีความเห็นต่อเรื่องเสรีภาพกับการควบคุมสื่อ โดยมองว่าสื่อยังต้องการสิทธิเสรีภาพ เพราะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำเสนอข้อมูลนั้นออกไปได้ แต่ในเสรีภาพนั้นก็ยังมีเรื่องที่สื่อต้องคิดและตั้งคำถามกับตนเอง

"แต่มันต้องตั้งคำถามว่าทำไปทำไม เสนอข่าวนี้ไปทำไม เสนอแล้วได้อะไร จะไปรู้ทำไมว่าเขามีแฟนกี่คน หรือการไปสัมภาษณ์นักบินที่พาเขามา เหมือนใครเกี่ยวข้องหรือแตะแค่นิดเดียวเราก็ไปถามเขาหมด โดยที่ไม่รู้ว่าถามไปแล้วสังคมได้อะไร เราก็ต้องกลับไปถามตัวเอง"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Low Love เปิดโหวตอีกรอบ ถูกใจนโยบายใคร เพื่อไทย 5.4 หมื่น คสช. 7.5 พัน ปชป. 3.3 พัน

Posted: 07 Jun 2017 09:57 AM PDT

เพจ Low Love เปิดโหวตอีกรอบ  นโยบายของนายกคนไหน ถูกใจประชาชนชาวไทยมากที่สุด ?  ผล ยิ่งลักษณ์ ได้ 54,369 โหวต รองลงมาคือ ประยุทธ์ 7,548 โหวต ขณะที่อภิสิทธิ์ ได้ 3,358 โหวต 

7 มิ.ย .2560 หลังจากเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ Low Love ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 9 แสน ได้เปิดโหวตอยากให้ใครเป็นนายกฯ ล่าสุดวันนี้ (7 มิ.ย.60) เพจดังกล่าวได้เปิโหวตอีกรอบ โดยครั้งนี้ใช้คำถามที่ว่า นโยบายของนายกคนไหน ถูกใจประชาชนชาวไทยมากที่สุด ? โดยมี 3 ตัวเลือกคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คสช. ใช้เวลาโหวต 4 ชั้วโมง มีการรับชม 642K ครั้ง จำนวนโหวตเกือบ 7 หมื่น

ผลปรากฎว่า ยิ่งลักษณ์ ได้ 54,369 โหวต รองลงมาคือ ประยุทธ์ 7,548 โหวต ขณะที่อภิสิทธิ์ ได้ 3,358 โหวต นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็น 20K สนับสนุนสิ่งที่ตัวเองโหวตด้วย

สำหรับการโหวตก่อนหน้านี้ของเพจดังกล่าวใช้คำถามว่า อยากให้ใครเป็นนายกฯ ผลปรากฏว่า ทักษิณ ชินวัตร ได้ 34,595 โหวต, ประยุทธ์ 15,940 โหวต, อภิสิทธิ์ 1,769 โหวต ขณะที่สุเทพ เทือกสุบรรณ 771  โหวต

ก่อนหน้านั้น 29 พ.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'YouLike (คลิปเด็ด)' ซึ่งมียอดผู้ติดตาม 13 ล้าน ได้แชร์โพสต์ตั้งคำถาม "ถ้าประเทศนี้ไม่มีตระกูลชินวัตรคุณจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี?" โดยมีตัวเลือก 4 ตัวเลือกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่เลือกใครเลยสักคน ผ่านไปประมาณ 5 ชั่วโมง มีผู้โหวตประมาณ 1.16 แสน  ผู้โหวตไม่เลือกใครเลยสักคน 9.2 หมื่น โหวตประยุทธ์ 1.4 หมื่น โหวตอภิสิทธิ์ 5.2 พัน ขณะที่โหวตสุเทพ 1.8 พัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสียงคนอยู่กับป่า ชี้ ป่า ร่าง ก.ม.อุทยาน-สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ขัดวิถีชีวิตชุมชน - ขาดส่วนร่วม

Posted: 07 Jun 2017 08:06 AM PDT

เสียงจากคนอยู่กับป่า ค้าน ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ระบุขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ชี้ จะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบ ปชช.ที่อยู่อาศัยในเขตป่า ด้าน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร แนะรัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)ได้จัดเวทีสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.... พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.... เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน และให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชน โดย  ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร,  บุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) ทีมผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พีมูฟ, หนูเกณฑ์ จันทาสี ผู้ประสานงานเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน และศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีตัวแทนประชาชนของสมาชิกเครือข่ายฯ คปอ.ในหลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า เข้าร่วมเวทีเสวนา รวมกว่า 150 คน ณ บ้านซอกตะเคียน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ

ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้ว่า ตัวร่าง พรบ.ดังกล่าว มีปัญหาตั้งแต่กระบวนการยกร่าง ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม รวมทั้งเนื้อหาในร่างก็มีข้อจำกัด และจะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อ ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลนำไปสู่การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และข้อเสนอแนะต่อ พรบ.ดังกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุด้วยว่า ทางมูลนิธิฯ เล็งเห็นถึงความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ฉะนั้นภาครัฐต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตร โดยมีข้อตกลงร่วมกับชุมชนในการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ยอมรับสภาพความเป็นจริงจากข้อมูลที่มี และมีข้อพิจารณาจนเกิดข้อตกลงร่วมกัน เพราะชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครอง ดังนั้นภาครัฐจึงต้องให้การยอมรับเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่อยู่กับป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งในความเป็นไปได้ คือ รัฐต้องมีข้อกฎหมายหรือการบริหารจัดการที่เป็นไปได้จริง สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่กับป่า เพราะเจตนารมณ์การจัดทำร่าง พรบ.ดังกล่าว เน้นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มากกว่าการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกันดูแลทรัพยากร ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่เขตป่า ตรมร่าง พรบ.ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ดำเนินวิถีชีวิตอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม

"ส่วนการกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินอยู่แล้ว แต่ไม่ถือว่าได้สิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยกำหนดให้อยู่ทำกินได้คราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี อีกกรณีคือการให้สิทธิ์ตกทอดถึงทายาทได้หากกรณีที่ผู้ขอเสียชีวิต ทายาทที่ประสงค์จะอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อไป ให้ยืนคำขออนุญาตต่ออธิบดีภายใน 180 วัน และอนุญาตได้เพียงเท่าระยะเวลาที่เหลือ ตัวอย่างคือผู้ขอทำกินได้รับอนุญาตระยะเวลา 20 ปี แต่อยู่มาได้ 18 ปี แล้วเสียชีวิตลง ทายาทจะต้องทำเรื่องขออนุญาตอยู่ทำกินสืบต่อไปภายใน 180 วัน และอนุญาตอยู่ต่อได้อีกแค่ 2 ปี จากนั้นต้องเสนอขออนุญาตจากอธิบดีใหม่ตามกระบวนการใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อกำจัดที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรต่างๆได้เสนอความเห็นต่อกระทรวงทรัพยากร และมีเวทีหารือร่วมกัน แต่ประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนที่ประชาชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับป่าควรต้องรับรู้ รับทราบ และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย จึงมาให้ข้อมูลกับเครือข่ายในครั้งนี้" ภานุเดช ระบุ

บุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พีมูฟ,กล่าวว่า หลังจากที่ สปท.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ นั้น ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน มีหลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งเสนอให้เพิ่มหมวดสิทธิชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์เข้ามาด้วย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นสิทธิชุมชนในการเข้าถึงความหลากหลายพันธุกรรม เพราะเป็นการป้องกันการถูกทุนเข้ามาใช้ประโยชน์แบบผูกขาดโดยการจดสิทธิบัตร จะส่งผลกระทบให้ชุมชนซึ่งเป้นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง เสียสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ์ จากการจดสิทธิบัตร

ส่วนทาง นิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ บอกว่า จากเวทีให้ความรู้ ความเข้าใจ ต่อร่าง พรบ.ดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ารัฐมีกฎหมายแบบนี้ออกมา ทั้งที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเองและชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เพราะเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่มีมาอย่างต่อเนื่องของชาวบ้านที่อยู่กับป่า ในการที่อุทยานไทรทองดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและถูกดำเนินคดีความมาอย่างต่อเนื่อง

นิตยา บอกอีกว่า หลังจากได้มีการร่วมจัดเวที ก็เข้าใจว่าการที่รัฐออกกฎหมายแบบนี้ จะยิ่งส่งผลกระทบตามมาอีก ทั้งในเรื่องการถูกตัดสิทธิ์ในที่ดินทำกิน การถูกดำนินคดีตามมาอีก และสุดท้ายจะกลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกิน สิ่งที่อยากแสดงคือการที่รัฐจะออกกฎหมายใดก็ตามควรให้สอดคล้องกับปัญหาปัจจุบัน และผู้ได้รับประโยชน์ควรเป็นประชาชนที่อยู่ในป่าอย่างแท้จริง ให้ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย โดยเฉพาะกฎหมายล่าสุด ร่าง พรบ.ดังกล่าวนั้น รัฐไม่ควรมองข้ามเสียงสะท้อนจากผู้คนที่อยู่กับป่า ควรคำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์อยู่ในพื้นที่ด้วยความปกติสุข

นิตยา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง กว่า 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ ได้รับผลกระทบ เช่น ห้ามมิให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และเข้ายึดพื้นที่ ทั้งถูกบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความเดือดร้อนต่อชาวบ้านจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมาได้เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการเข้าร่วมประชุมกับภาครัฐเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าและในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อคนในพื้นที่ และให้สามารถทำประโยชน์ตามปกติสุข แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ ไม่มีการดำเนินการตามที่ร่วมตกลงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหา รวม 15 คน ซึ่งตนก็ถูกดำเนินคดีด้วย โดยเฉพาะถ้าร่าง พ.ร.บ.ผ่าน การถูกดำเนินคดี และการถูกอพยพออกจากพื้นที่ จะส่งผลกระทบตามตามมาอีก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุโจมตีรัฐสภาอิหร่าน-สุสานโคไมนี

Posted: 07 Jun 2017 04:09 AM PDT

มีผู้ก่อเหตุวางระเบิดสุสานอิหม่ามโคไมนี ในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน รวมทั้งเกิดเหตุบุกยิงและจับตัวประกันในอาคารรัฐสภาอิหร่านด้วย นับเป็นเหตุโจมตีร้ายแรงที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในอิหร่าน

แผนที่แสดงที่ตั้งอาคารรัฐสภา และสุสานอิหม่ามโคไมนี ที่เกิดเหตุโจมตีกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านเมื่อ 7 มิถุนายน 2560 (ที่มา: Google Maps)

ภาพจากสำนักข่าว ISNA แสดงให้เห็นรถตำรวจมุ่งหน้าไปยังรัฐสภาที่เกิดเหตุโจมตี ที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน (ที่มา: ISNA.ir)

เกิดเหตุระเบิดที่สุสานอิหม่ามโคไมนี กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน โดยจับกุมผู้หญิงรายหนึ่งหลังเกิดเหตุ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวฟาร์ส ระบุว่าผู้ก่อเหตุโจมตียังถูกปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงอิหร่าน

นอกจากนี้กลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตียังบุกอาคารรัฐสภาอิหร่านและจับคนเป็นตัวประกัน โดยเจ้าหน้าที่อิหร่านพยายามสืบเสาะว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีรวมทั้งใครบ้างที่ร่วมมือก่อเหตุบ้าง

ทั้งนี้มีมือปืนราว 4 ราย ใช้ปืนไรเฟิลและปืนพกสั้นบุกเข้าไปในรัฐสภา และมีมือปืนรายหนึ่งจุดระเบิดฆ่าตัวตายที่ชั้น 4

สำนักข่าว Tasnim อ้างแหล่งข่าวที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ระบบว่ามีผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 รายรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งถูกจับเป็นตัวประกัน

ภาพของสำนักข่าว Fars ยังเผยให้เห็นชายคนหนึ่งกำลังหย่อนเด็กชายจากหน้าต่างรัฐสภาเพื่อหนีออกไปทางถนน ขณะที่ชายอีกคนก็ถือปืนและมองพวกเขาจากหน้าต่างอีกฝั่ง ทั้งนี้มีรายงานว่าชายที่ถือปืนนั้นคือตำรวจที่พยายามช่วยคนหลบหนีออกจากอาคาร (ชมภาพ)

เหตุโจมตีนี้เกิดขึ้นน้อยมากในอิหร่าน ซึ่งมีการตรวจตราเข้มงวดในเมืองหลวง รวมทั้งพื้นที่ท่องเที่ยวและอาคารของรัฐสภาก็มีการรักษาการณ์เข้มงวด

ทั้งนี้การครอบครองอาวุธปืนในอิหร่านมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้มีสมมติฐานว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุลักลอบนำปืนเข้ามาในประเทศ

สำหรับอาคารรัฐสภา หรือ สมัชชาที่ปรึกษาอิสลาม (Islamic Consultative Assembly/Majlis) มีสมาชิกทั้งหมด 290 คน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิง ผู้แทนทางศาสนาที่เป็นคนส่วนน้อยทั้งคริสเตียน โซโรอัสเตอร์ และยิว

ส่วนที่ตั้งของอาคารสุสานนั้นถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นสุสานของผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและผู้นำสูงสุดคนแรกคือ อายะตุลเลาะห์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ซึ่งนำการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าชาห์ในปี 2522 และเป็นผู้นำอิหร่านถึง 10 ปี โดยที่ตั้งของสุสานห่างจากรัฐสภา 25 กิโลเมตรไปทางทิศใต้

สำหรับประเทศอิหร่านมีประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์ ซึ่งมีส่วนร่วมปฏิบัติการทางทหารต่อต้านกลุ่มซุนหนี่ เช่น ISIS ซึ่งมองว่ามุสลิมชีอะห์เป็นผู้ละทิ้งศาสนา

เมื่อปีก่อนรัฐบาลอิหร่านระบุว่าได้ขัดขวางเหตุก่อเหตุร้ายที่จะเกิดในเตหะรานและเมืองใหญ่ในช่วงเดือนรอมฎอน ในขณะที่เหตุโจมตีวันนี้เกิดขึ้นหลังจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเริ่มมาแล้วตั้งแต่ 26 พฤษภาคม

เหตุโจมตีใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในอิหร่านคือเมื่อปี 2553 เมื่อกลุ่มสุดขั้วที่เป็นฝ่ายซุนหนี่ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่มัสยิดในซิสตาน-บาลูชิสถานจนมีผู้เสียชีวิต 39 ราย นอกจากนี้กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดก็ก็เหตุโจมตีเจ้าหน้าที่กองทัพอิหร่านบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

แปลและเรียบเรียงจาก

Iran attacks: Twin assaults on parliament and shrine rock Tehran, CNN, Updated 1025 GMT (1825 HKT) June 7, 2017

Iran: several dead in suicide attacks on parliament and shrine in Tehran, The Guardian, 11.15 BST, 7 June 2017
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ แจง 'ไปนั่งสังเกตการณ์' หลัง 3 ปียุค คสช. ทหารนั่งเต็มบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

Posted: 07 Jun 2017 02:28 AM PDT

หลัง บีบีซีไทย รายงาน 3 ปีการรัฐประหารของ คสช. จำนวนทหารนั่งประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ ประยุทธ์ แจง 'ไปนั่งสังเกตการณ์' 

ภาพโดย อิศเรศ เทวาหุดี

7 มิ.ย. 2560 จากกรณี บีบีซีไทย ได้เปิดเผยข้อมูลเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารของ คสช. ท่ามกลางกระแสการปฏิรูป หนึ่งในองค์กรที่มีการปฏิรูปคือ รัฐวิสาหกิจ แต่ปรากฏว่า 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนทหารนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วน จำนวนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ

ประยุทธ์แจง ไปนั่งสังเกตการณ์

ซึ่งวานนี้ (6 มิ.ย.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ได้ตอบว่า ช่วงที่ผ่านมา ก็มีปัญหาภายในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ได้มีการจัดให้ทหารเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ไปนั่งยกมือแสดงความคิดเห็น หลายเรื่องรัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วโดยได้รับข้อมูลเป็นสัดส่วนของกรรมการในบอร์ดตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการเอาทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดจำนวนมาก แล้วตัดส่วนอื่นออกและเป็นบอร์ดกรรมการทั่วไปไม่ได้เป็นบอร์ดกรรมการเฉพาะทาง

3 ปียุค คสช. ทหารนั่ง ปธ.บอร์ดเพิ่มขึ้น 5 เท่า

สำหรับรายละเอียดของรายงานดังกล่าวของ บีบีซีไทย ระบุว่า จากการตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากชุดก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา ผ่านรายงานประจำปี ปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจ กับชุดปัจจุบัน ผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ พบว่ารายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน "เพิ่มขึ้น" จาก 42 คน ใน 24 แห่ง เป็น 80 คน ใน 40 แห่ง หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี "ประธานบอร์ด" เป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว

นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง" บางคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากต้องทำงานหลายแห่งในเวลาเดียวกัน

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า ขออย่ามองเรื่องจำนวนอย่างเดียว อยากให้ดูเรื่องการศึกษารวมถึงประสบการณ์ด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจเข้าใจผิด เช่น พล.อ.วิวรรธ์ สุชาติ ประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เคยเป็นทหารช่างมาก่อน อาจจะเคยทำงานช่างมากกว่าบอร์ดคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ

ส่วนการตั้งทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจอื่น โฆษก คสช. กล่าวว่า เชื่อว่าน่าจะมีเหตุผลอยู่ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย เพราะบอร์ดทำหน้าที่แค่ให้นโยบาย ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริต เช่น การเปลี่ยนบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด

"เวลาพูดถึงทหาร คนมักจะนึกถึงทหารราบเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะในกองทัพมีคนอยู่มากมายหลายอาชีพ ทั้งหมอ วิศวะ นักเคมี นักบัญชี ฯลฯ เนื่องจากโรงเรียนทหาร เช่น โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) นอกจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านต่าง ๆ ยังมีทุนให้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ดังนั้น คนจบโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็ไม่ต่างกับจบจากจุฬาลงกรณ์ เพราะมีผู้ก่อตั้งคนเดียวกัน อย่าไปมองแค่ว่าเป็นทหารหรือพลเรือน อยากให้ดูเรื่องความรู้ ความสามารถด้วย" พ.อ.วินธัย กล่าว

ส่วนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้ง "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" ที่มีเป้าหมายช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ป้องกันการล้วงลูกจากผู้มีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคนที่เหมาะสมเข้ามาเป็นบอร์ด ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า หลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2559

รายชื่อรัฐวิสาหกิจที่มีทหารหรืออดีตทหารเป็นประธานบอร์ด ที่บีบีซีไทย รวบรวม

ก่อน คสช.

1. สถาบันการบินพลเรือน

2. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

3. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

3 ปีหลัง คสช.เข้ามา

1. สถาบันการบินพลเรือน

2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย

3. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

4. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

5. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

7. องค์การเภสัชกรรม

8. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

9. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

10. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

11. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

12. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

13. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

14. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

15. โรงงานยาสูบ

16. การยางแห่งประเทศไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พ่อเมืองลอนดอนแนะ อย่าให้ทรัมป์มาเยือน ข่าวระบุ ผู้นำยุโรปแห่เพลียจิต ปธน.มะกัน

Posted: 07 Jun 2017 02:09 AM PDT

ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนระบุ ควรยกเลิกทรัมป์เยือนลอนดอนเพราะนโยบายต่างจากคุณค่าชาวสหราชอาณาจักร หลังโดนทวีตจวก "น่าสมเพช" เรื่องเหตุการณ์โจมตีสะพานลอนดอน ทำเนียบขาวโทษสื่อปั่นจนเป็นเรื่อง วอชิงตัน โพสต์ รายงาน ผู้นำยุโรปเพลียกับท่าทีของทรัมป์ สภาอียูจับมือกับจีนแล้ว

เมื่อ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตีที่สะพานลอนดอน บริเวณร้านอาหารและผับที่อยู่ใกล้เคียง โดยผู้ก่อการ 3 คน ได้ขับรถตู้พุ่งเข้าชนผู้คนบนสะพาน จอดรถ แล้วใช้มีดวิ่งไล่แทง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 48 ราย ในนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัส 21 ราย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุทั้งหมด

ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน (ที่มา: วิกิพีเดีย)

หลังเหตุการณ์โจมตี นายกเทศมนตรีประจำกรุงลอนดอน ซาดิก ข่าน ได้ออกมาแถลงการณ์แสดงความเสียใจ ประณามผู้ก่อเหตุ และเรียกร้องให้ชาวลอนดอนตั้งอยู่ในความสงบและไม่ประมาท ซึ่งต่อมา ข่าน หนึ่งในชาวมุสลิมที่โด่งดังในอังกฤษ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการเพิ่มจำนวนตำรวจในกรุงลอนดอนว่า ประชาชน "ไม่มีเหตุผลที่ต้องตื่นตระหนก (no reason to be alarmed)"  

 

 

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ทวีตว่า "มีคนตายอย่างน้อย 7 คน บาดเจ็บ 48 คนในเหตุการณ์ก่อการร้าย แต่นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนบอกว่า 'ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนก'" ซึ่งทางสำนักงานนายกเทศมนตรีได้บอกปัดไปก่อนว่า ข่าน มี "เรื่องที่สำคัญกว่าการตอบทวีตที่ได้รับสาส์นมาอย่างผิดๆ ของทรัมป์"

 

 

ทรัมป์ได้ทวีตตอบโต้สำนักงานนายกเทศมนตรีอีกครั้ง ใจความว่า "คำแก้ตัวน่าสมเพชโดยนายกเทศมนตรีลอนดอน ซาดิก ข่าน ที่ต้องคิดเร็วๆเกี่ยวกับแถลงการณ์ 'ไม่มีเหตุผลให้ตื่นตระหนก' ของเขา [สื่อกระแสหลัก] กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อขายข่าวเรื่องนี้"

 

 

ในคืนวันจันทร์ ข่าน ได้ปรากฏตัวในข่าวค่ำของช่อง แชนแนล 4 กล่าวว่า ทรัมป์นั้นผิดในหลายเรื่อง และควรยกเลิกการมาเยือนสหราชอาณาจักรเสีย

"ผมไม่คิดว่าเราควรจะปูพรมแดงเชื้อเชิญประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงที่นโยบายของเขานั้นค้านกับสิ่งที่เรายึดถือทุกอย่าง"

"เมื่อคุณมีความความสัมพันธ์ที่พิเศษนั้น มันไม่ต่างจากการที่คุณมีเพื่อนสนิท คือคุณเป็นคนอยู่เคียงข้างเขาในช่วงทุกข์ยาก แต่ก็ต้องตักเตือนเขาเมื่อเขาทำผิด มีหลายสิ่งที่ทรัมป์นั้นทำผิดไป"

"ผมไม่มีเวลามาตอบทวีตจากโดนัลด์ ทรัมป์" ข่านตอบในประเด็นการถูกวิจารณ์ 

เทเรซา เมย์ นายกฯ สหราชอาณาจักร กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยไม่ต้องการไปมีส่วนร่วมในวิวาทะว่า พ่อเมืองลอนดอนปฏิบัติหน้าที่ได้ดีแล้ว

อย่างไรก็ดี ทวีตของทรัมป์ก่อนหน้าวิวาทะครั้งนี้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีกรุงลอนดอน มีใจความว่า "เราต้องการนโยบายจำกัดการเดินทางเพื่อยกระดับความปลอดภัยขึ้น" และอีกทวีตที่ตามมา ใจความว่า "สหรัฐฯ จะทำในสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยลอนดอนและสหราชอาณาจักร เราอยู่เคียงข้างพวกคุณ ขอให้พระเจ้าอวยพร!"

ทางด้านโฆษกทำเนียบขาว ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส ปฏิเสธว่าทรัมป์ต้องการหาเรื่องนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน เธอกล่าวว่า แนวคิดเรื่องที่ทรัมป์วิจารณ์ข่านเพราะเขาเป็นมุสลิมนั้นเป็นเรื่อง "ไร้สาระที่สุด" และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทรัมป์ไปอ้างข้อความของข่านอย่างผิดๆ ทำไม แซนเดอร์สตอบว่า "ฉันไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉันคิดว่าสื่อต้องการปั่นให้มันเป็นเรื่องแบบนั้น แต่ประเด็นก็คือ มันมีเหตุผลที่ต้องตื่นตระหนกเพราะมีการโจมตีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ไม่เพียงแต่ที่สหราชอาณาจักร"

ทรัมป์ มีกำหนดการเยือนกรุงลอนดอนในปีนี้ แต่ยังไม่กำหนดวัน สหราชอาณาจักรมีเป้าหมายในการมาเยือนคือการโน้มน้าวให้ทรัมป์เซ็นข้อตกลงการค้ากับสหราชอาณาจักรหลังแยกตัวจากสหภาพยุโรปแล้ว การไปเยือนกรุงลอนดอนครั้งนี้ ทรัมป์จะได้ร่วมงานเลี้ยงที่พระราชวังบัคกิงแฮมกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และยังไม่มีวี่แววว่าจะถูกยกเลิกแต่อย่างใด ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนไม่มีสิทธิ์สั่งยกเลิกการมาเยือนของทรัมป์แต่อย่างใด

ท่าทีทรัมป์ทำสัมพันธ์กับยุโรปย่ำแย่ ผู้นำยุโรปไม่ไหวจะผูกมิตร สภาอียูจับมือจีนแล้ว

สำนักข่าว เดอะ วอชิงตัน โพสท์ ของสหรัฐฯ รายงานว่า หลังทรัมป์เถลิงอำนาจได้ 4 เดือน หลายประเทศในยุโรปเริ่มแสดงความระหองระแหงกับสหรัฐฯ ดูจากถ้อยแถลงของแองเจลา แมร์เคิล ประธานาธิบดีเยอรมนี หลังประชุมกับโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่า "ช่วงเวลาที่เราจะพึ่งพาคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียวนั้นจบแล้ว" ซึ่งผู้สื่อข่าววอชิงตัน โพสท์รายงานว่า เป็นการพาดพิงถึงทรัมป์

นอกจากนั้น พันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรปต่างใช้โอกาสที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงป้องกันโลกร้อนปารีส ครั้งที่ 21 แสดงความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีที่พวกเขาไม่เคยชื่นชอบ นอกจากนี้ ประธานของสภาสหภาพยุโรป โดนัลด์ ทัสค์ ยังได้เข้าพบกับ หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และ ทัสค์ ออกมาแถลงว่า "วันนี้จีนและยุโรปได้แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีกับคนรุ่นหลังและความรับผิดชอบต่อโลกทั้งใบ พวกเราเชื่อว่าการตัดสินใจเมื่อวาน (สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส) เป็นข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง"

ที่ผ่านมาทรัมป์ไม่ค่อยแสดงความสนใจในภูมิภาคยุโรปมากนัก บ่อยครั้งที่เขาพูดถึงจะเป็นการพูดในเชิงตัวอย่างของสิ่งที่อเมริกาไม่ควรทำ ยกตัวอย่างเช่นการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ฟอกซ์ ในเดือน ม.ค. หลังรับตำแหน่งไม่นาน ใจความว่า

"แต่พอคุณที่ประเทศอื่นและดูเมืองนีซ (เมืองที่มีเหตุก่อการร้ายในฝรั่งเศสเมื่อปี 2559) และคุณดูที่อื่นๆทั่วยุโรป และคุณดูว่าเกิดอะไรขึ้นในเยอรมัน มันยุ่งเหยิงไปหมด อาชญากรรมที่นั่นมันเหลือเชื่อ และเราจะไม่ให้มันเกิดขึ้นที่นี่ (สหรัฐฯ)"

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังมีท่าทีเชิงตำหนิติเตียนมากกว่าพยายามจะผูกมิตรเมื่อครั้งไปเยือนยุโรปในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยเหตุปัจจัยทั้งหมด ผู้สื่อข่าววอชิงตัน โพสท์ ระบุว่า ผู้นำของยุโรปต่างพากันล้มเลิกความตั้งใจที่จะสานสัมพันธ์กับทรัมป์แล้ว

แปลและเรียบเรียงจาก

The Washington Post,Sadiq Khan spat continues Trump's bad few weeks with Europe, 6 Jun. 2017

Tฺhe Guardian, Cancel Donald Trump state visit, says Sadiq Khan, after London attack tweets, 6 Jun. 2017

Bloomberg, Trump Risks Diplomatic Fight With U.K. After Targeting London Mayor With 'Pathetic' Tweet , 5 Jun. 2017

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารไปบ้านชลธิชา แจ้งเร็ว บอกแม่ขอพบลูกเพราะต้องการให้หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง

Posted: 07 Jun 2017 01:51 AM PDT

ทหารไปบ้านขอคุยกับชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เพื่อขอพูดคุยให้หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง และห้ามออกนอกประเทศ ระบุเคยทำ MOU กับ คสช. ไว้ตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่พบเจ้าตัว ทหารย้ำจะมาอีกจนกว่าจะได้คุย

7 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เขตลาดหลุมแก้ว ได้เดินทางเข้าไปที่บ้านพักของชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกรณีที่ชลธิชา ได้เคยทำข้อตกลงเรื่องการไม่เคลือนไหวทางการเมืองไว้กับ คสช. เมื่อปี 2557 ทั้งนี้การทำข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากการถูกควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมกินแซนวิชต้านรัฐประหาร และในเวลานั้นลูกเกด และเพื่อนอีกหลายคนภายใต้การควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ชลธิชล ให้ข้อมูลว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร แต่งกายในเครื่องแบบทหารจำนวนประมาณ 4-5 คน ไปขอพบเธอที่บ้านพัก แต่ในเวลานั้นเธอไม่อยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้พูดคุยกับแม่ของเธอแทน โดยเจ้าหน้าที่ทหารชี้แจงว่า ที่มาในวันนี้เพราะต้องการที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับเธอ เนื่องจากเธอได้เคยข้อตกลงกับ คสช. ไว้เมื่อปี 2557 โดยตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และจะไม่ออกนอกประเทศ

ชลธิชา เล่าต่อไปว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร และเธอเริ่มออกไปเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร นอกจากจะถูกจับกุมดำเนินคดีแล้ว เธอยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารมาหาที่บ้านอยู่หลายครั้ง ซึ่งประมาณได้ว่าไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง โดยการมาแต่ละครั้งของเจ้าหน้าที่ทหารส่วนมาก จะเป็นเพียงการมาถ่ายรูปบริเวณหน้าบ้านแล้วกลับไป ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใส่เครื่องแบบทหารมา และจะมีเพียงบางครั้งที่เข้ามาพูดคุยกับครอบครัวของเธอ แต่สำหรับครั้งนี้มีลักษณะที่แปลกไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารได้อ้าง MOU กับ คสช. ว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร เพื่อเข้ามาพูดคุยกับเธอ

ทั้งนี้ ชลธิชา ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารมีคำถามเป็นพิเศษกรณีที่เธอ สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ โดยต้องการรู้ว่าเพราะอะไรเธอจึงสามารถออกจากประเทศไทยได้ทั้งที่ยังมี MOU ดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตามเธอเล่าว่าการเดินทางออกไปต่างประเทศนั้นเป็นการเดินทางไปร่วมวงเสวนาเชิงวิชาการเพียงเท่านั้น ไม่เป็นการเคลื่อนทางการเมืองแต่อย่างใด และกิจกรรมที่เธอยังทำอยู่ในปัจจุบันก็มีเพียงการจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ชลธิชา เล่าด้วยว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารไม่พบว่าเธออยู่ที่บ้านพัก เขาได้ฝากเบอร์โทรติดต่อกลับ เพื่อให้เธอโทรหาเพื่อนัดหมายวันเวลา เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับเขา และระบุในลักษณะว่า จะมาหาอีกครั้งจนกว่าจะได้คุย

"เราก็เพิ่งคุยกับเพื่อนนะว่าทำไมเขาถึงหยิบเรื่อง MOU ของปี 2557 มาอ้าง ซึ่งมันแปลกมากเพราะก่อนหน้านี้เวลามาบ้านก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ สำหรับเราเห็นว่าตัว MOU มันไม่น่าจะมีสภาพบังคับแล้วนะ เพราะในตอนที่ทำเข้าใจว่า คสช. ต้องการขอเวลาทำงานตามโรดแมปที่วางไว้ แต่ตอนนี้มันเลยเวลาตรงนั้นมาแล้ว" ชลธิชากล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประวิตร์' ยกหูเคลียร์ 'เตีย บันห์' ปมสื่อไทยเสนอเอี่ยวรถขนอาวุธ ยันไม่ได้ติดใจเอาความ

Posted: 07 Jun 2017 01:22 AM PDT

พล.อ.ประวิตร เผยโทรศัพท์พูดคุยกับ พล.อ.เตีย บันห์ แล้ว หลังสำนักวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงกลาโหมกัมพูชา ออกหนังสือแจงกรณีสื่อมวลชนไทยเสนอข่าวพาดพิงเอี่ยวรถขนอาวุธ ยันไม่เป็นความจริง และยันไม่ได้ติดใจเอาความ

7 มิ.ย. 2560 จากกรณีที่สำนักวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงกลาโหมกัมพูชา ออกหนังสือถึงสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เรียกร้องให้สื่อมวลชนไทยบางสำนักแสดงความรับผิดชอบและขอโทษอย่างเป็นทางการ ภายหลังนำเสนอข่าวพาดพิง พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชา 

ล่าสุดวันนี้ (7 มิ.ย.60) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ พล.อ.เตีย บันห์ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีความเข้าใจดีต่อกัน ทาง พล.อ.เตีย บันห์ ไม่ได้ติดใจเอาความอะไร เพียงแต่อยากให้มีการแสดงความรับผิดชอบและขอโทษอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลกัมพูชา

ทั้งนี้ จึงอยากขอให้สื่อไทยระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่พาดพิงถึงบุคคลระดับสูงของกัมพูชา หากยังไม่ได้มีการพิสูจน์ หรือสอบสวนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ที่ดีมาโดยตลอดและผู้บริหารประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอดเช่นกัน

พล.อ.ประวิตร ย้ำด้วยว่า การนำเสนอข่าวใดหากเกี่ยวกับผู้นำระดับสูงของต่างประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้านต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง และมีข้อมูลหลักฐานที่แน่ชัด ต้องระมัดระวัง อย่ารีบร้อนดำเนินการ เพราะอาจเกิดความเสียหายและจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งทุกเรื่องควรรอการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงเสียก่อน 

สำหรับหนังสือที่สำนักวิเทศสัมพันธ์กระทรวงกลาโหมกัมพูชา ส่งถึงสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา นั้น ระบุว่า ปฏิเสธรายงานที่ปรากฏในสื่อทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า รถยนต์บรรทุกอาวุธผิดกฎหมายที่เป็นสิ่งของผิดกฎหมาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของกัมพูชา ไม่เป็นความจริง 

สำนักวิเทศสัมพันธ์ของกระทรวงกลาโหมกัมพูชา จึงได้ทำหนังสือทักท้วงพร้อมทั้งเรียกผู้ช่วยทูตทหารไทยประจำกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เข้าพบเพื่อรับหนังสือส่งผ่านมายังสื่อมวลชนของไทย พร้อมทั้งชี้แจงว่า การนำเสนอข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงและขอให้สื่อไทยดำเนินการ ดังนี้ 

1. ขอให้ทราบว่า พล.อ.เตียบัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนอาวุธผิดกฎหมายแต่อย่างใด 

2. ขอให้สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และออนไลน์ ถอดบทความดังกล่าวที่รายงานออกไปโดยที่ไม่มีการสืบสวนที่เหมาะสม สร้างความเสื่อมเสียเกียรติกับพลเอกเตียบัน โดยขอให้ถอดข่าวดังกล่าวออกจากสารระบบ 

3. ขอให้ลงบทความขอโทษ รวมถึงออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปชช. 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จ่อร้องหน่วยงานรัฐไทยปมสร้างเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง

Posted: 07 Jun 2017 12:44 AM PDT

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยืนฟ้องหน่วยงานรัฐไทยกรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้

 

7 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ว่า ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ กลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จะยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง กรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ในแขวงอุดมไซ ลาว โดยจะเป็นเขื่อนที่ 3 ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ถัดจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า โครงการเขื่อนปากแบง จะกั้นแม่น้ำโขงในลาว ซึ่งอยู่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปเพียงราว 92 กิโลเมตร บริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป ประเทศจีน เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยคาดว่าจะผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทยเป็นหลัก 

โครงการเขื่อนปากแบง  Pak Beng Dam กำลังอยู่ในขั้นตอนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ตามในข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน วันที่ 19 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) แห่งชาติ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ได้นำเสนอผลรายงานการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคต่อรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ซึ่งมีการพิจาณาประเด็นสำคัญ ๆ 5 ด้านคือ ระบบน้ำและการระบายตะกอน การประมงและทางปลาผ่าน ความปลอดภัยของเขื่อน การเดินเรือ และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ จากการศึกษาผู้เชี่ยวชาญได้พบว่ารายงานจำนวน 20 เล่มที่ บริษัทต้าถัง ส่งให้กับเอ็มอาร์ซี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่ามีข้อบกพร่องจำนวนมาก เช่น การประมงและปลา พบว่ามีการเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาเพียง 2 ช่วงคือ ฤดูแล้ง เดือนมกราคม และฤดูฝน เดือนกรกฎาคม 2554 และมีจุดเก็บตัวอย่างของชนิดพันธุ์ปลาเพียง 6 จุดใกล้ ๆ กับบริเวณก่อสร้างโครงการเขื่อนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บตัวอย่างที่จำกัด และผลการศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์ปลาที่พบนั้นน้อยกว่าข้อมูลของ MRC ที่เคยศึกษาไว้ และกรณีทางปลาผ่าน (Fish passage) ซึ่งออกแบบมาอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพของปลาได้ เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยมีการจัดเวทีไปแล้ว 4 ครั้ง และพบว่าประชาชนประเทศไทยมีความกังวลเรื่องผลกระทบท้ายน้ำจากโครงการเขื่อนปากแบงเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีการกั้นลำน้ำโขงและยกระดับน้ำขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร -1 เมตร ก็จะทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน ชาวบ้านเป็นกังวลว่าน้ำจะท่วมถึงไหน เขื่อนจะกักเก็บน้ำมากเพียงใด เนื่องจากข้อมูลที่เผยแพร่ในเวทีนั้นน้อยมาก ทุกวันนี้ช่วงที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำมาในช่วงฤดูแล้งก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมสูงแล้ว และถ้าหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้น ชาวบ้านที่ จ.เชียงราย ก็เท่ากับอยู่ตรงกลางของ 2 เขื่อน ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้นก็จะไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ

อนึ่ง การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้จะเป็นคดีที่ 2 ที่เป็นการฟ้องหน่วยงานรัฐไทยเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการที่อยู่นอกประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิ์ เมื่อรักเรา (ศักดิ์ศรี) ไม่เท่ากัน

Posted: 07 Jun 2017 12:16 AM PDT

วิจารณ์ร่าง กม.คู่ชีวิต ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้สิทธิหน้าที่น้อยที่สุด โฟกัสการจัดการทรัพย์สินเป็นหลัก ไม่เปิดให้รับบุตรบุญธรรม ย้ำคู่รักต่างเพศและคู่รักเพศเดียวกันศักดิ์ศรีต้องเท่ากัน ด้านนักกิจกรรมแอลจีบีทีคัดค้านเพราะกระบวนการ คสช. ไม่ชอบธรรม เนื้อหาผลิตซ้ำการเลือกปฏิบัติ เรียกร้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อความเสมอภาค

9 สิงหาคม 2555 คู่รักชายรักชายคู่หนึ่งตั้งใจเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่ทั้งสองคนถูกปฏิเสธจากนายทะเบียน ไม่อนุญาตให้พวกเขาทั้งสองจดทะเบียนสมรส เรื่องไม่จบแค่นั้น ทั้งสองร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งสองถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ 2550 ผลที่ตามมาคือคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ยกร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ.... ขึ้น ตามมาด้วยอีก 1 ร่างที่ร่วมกันจัดทำขึ้นระหว่างภาคประชาชนและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

แต่ทุกอย่างก็สะดุดลงจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

กลางปี 2559 มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือยูพีอาร์ (Universal Periodic Review: UPR) ของไทย องค์กรภาคประชาสังคมรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์แอลจีบีทีในไทย ซึ่งคาดการณ์ว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ นำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับมาทบทวนและปรับปรุงจนปัจจุบันเข้าสู่เวอร์ชั่นที่ 3

ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตของกรมคุ้มครองสิทธิฯ เวอร์ชั่น 3 ให้สิทธิน้อยที่สุด

ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความและนักวิจัยประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศ ผู้รับทุนวิจัย จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หัวข้อวิจัยเรื่อง 'สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย' อธิบายว่า ในร่างกฎหมายร่างที่ 1 ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ฐานคิดคือออกกฎหมายให้สั้นและรวดเร็วที่สุด ลดประเด็นโต้แย้งในสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นเวลาในการร่างจึงใช้แค่ 3 เดือนและมีเพียง 15 มาตรา หลักการคือให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต มาตราที่สำคัญคือให้อนุโลมสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องสิทธิหน้าที่ต่างๆ มาใช้ใน พ.ร.บ.คู่ชีวิต และบัญญัติว่าให้คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่าคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ รวมทั้งกฎหมายอื่นด้วย เช่น ประกันสังคม ประมวลรัษฎากร เป็นต้น

"แต่ร่างนี้ไม่มีการระบุถึงการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันเลย เพราะการรับบุตรบุญธรรมมี 2 แบบคือรับเดี่ยวกับรับร่วม ถ้าเป็นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สามารถรับร่วมกันได้ แต่ร่างของกรมคุ้มครองสิทธิร่างแรกไม่พูดถึงเลย"

ต่อมาในร่างกฎหมายเวอร์ชั่นที่ 2 ของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ในปี 2559 ที่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการยูพีอาร์ ชวินโรจน์กล่าวว่าหลักการยังคงเดิมคือให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ แต่ไม่ให้สิทธิรับบุตรบุญธรรมเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจำนวนมาตราเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 15 มาตราเป็น 60 มาตรา

"เพิ่มมาได้ยังไง เพิ่มจากการนำแนวคิดจากร่างของภาคประชาชนมาผนวก แต่ก็ไม่ได้เอามาทั้งหมด เพราะในร่างของภาคประชาชน อะไรที่อยากได้สิทธิจะมีการบัญญัติไว้ชัดเจน แต่ร่างของกรมคุ้มครองสิทธิร่างนี้จะลดการใช้คำว่าอนุโลม เพราะภาคประชาชนกังวลว่าการใช้คำว่าอนุโลม อาจอนุโลมไม่ได้ เช่น การอุ้มบุญอนุโลมไม่ได้ เพราะกฎหมายอุ้มบุญบอกว่าผู้ที่มีหน้าที่อุ้มบุญต้องเป็นสามีภรรยาตามกฎหมายเท่านั้น"

ขณะเดียวกันในร่างเวอร์ชั่น 2 อีกประการหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือการมีข้อยกเว้นในมาตรา 10 ที่ระบุว่าคู่สมรสมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรส เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ที่ไม่อาจปรับใช้กับคู่ชีวิตได้ หลังจากนั้นกรมคุ้มครองสิทธิได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและทำการปรับปรุงจนได้เป็นเวอร์ชั่น 3 โดยยังคงหลักการเหมือนเดิมและยังคงไม่ให้สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจำนวนมาตราเพิ่มขึ้นจาก 60 มาตราเป็น 63 มาตรา และจากเดิมที่ทุกร่างให้มหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายก็เปลี่ยนเป็นให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รักษาการ มีการตัดคำว่าสิทธิและหน้าที่เหมือนคู่สมรม ด้วยเหตุนี้เมื่ออ่านเนื้อหากฎหมายคู่ชีวิตจึงให้ความรู้สึกเหมือนกับการบัญญัติแค่ว่าคู่ชีวิตจะมีการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต และเรื่องมรดกเท่านั้น

"จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของร่างเหมือนกับจำกัดสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างที่ 3 จึงเป็นร่างที่ให้สิทธิหน้าที่น้อยที่สุดในบรรดาร่างที่กรมคุ้มครองสิทธิเคยร่างมา"

กระบวนการ คสช. ไม่ชอบธรรม-เนื้อหายังผลิตซ้ำการเลือกปฏิบัติ

ด้านชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มโรงน้ำชา ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวกับประชาไทว่า มี 2 ประเด็นที่ทำให้เธอไม่เห็นด้วยกับกฎหมายคู่ชีวิตเวอร์ชั่น 3 ของกรมคุ้มครองสิทธิ

ประเด็นแรกคือความชอบธรรมในการออกกฎหมายในรัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย ขาดการยอมรับ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ละเลยมิติชีวิต ความเป็นอยู่

"ถ้าต้องแก้แบบให้เกิดความเสมอภาคต้องแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคนเท่ากัน แล้วหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ทุกคนต้องใช้กฎหมายเหมือนกันหมด ผมจึงเสนอเรื่องนี้ในงานวิจัย ศักดิ์ศรีของคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักต่างเพศต้องเท่ากัน"

"ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศที่ออกมาในยุค สนช. แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีร่างของภาคประชาชนที่นำความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาบรรจุในตัวกฎหมาย แต่พอผ่านขั้นตอน สนช. หรือกฤษฎีกา กลับมีการต่อเติม ตัดแต่ง กระทั่งกลายเป็นกฎหมายที่พิการ ไม่การันตีความเท่าเทียมกันได้เลย เพราะเขาไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่อยู่กับความทุกข์ร้อนของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วม นี่คือการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตย"

ประเด็นที่ 2 เนื้อหาของร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งชุมาพรเห็นว่าไม่ว่าจะมีกฎหมายแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกันหรือไม่ แต่ถ้ากฎหมายนั้นเป็นกฎหมายสำหรับพลเมืองชั้นสองก็ยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติอยู่ดี เธอแสดงความเห็นว่า เหตุใดจึงไม่แก้ที่หัวใจของเรื่องนี้ นั่นก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ระบุว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

"นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถามว่าทำไมไม่แก้ตรงจุดนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าด้วยสถาบันครอบครัว เป็นสิ่งที่กลุ่มแนวคิดอนุรักษ์นิยมเดิมกอดไว้แน่นมากว่าเป็นสถาบันครอบครัวที่ต้องเคารพบูชา ความจริงของสังคม สถาบันครอบครัวมีความหลากหลาย

"ตัวร่างกฎหมายก็ยังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ เช่น ไม่แน่ใจกับคำว่า อนุโลม เพื่อให้ใช้ได้กับกฎหมายทุกตัวจะใช้ได้จริงหรือไม่ แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่รับรอง เช่น เรื่องบุตรบุญธรรม การรับรองบุตร หรือการใช้เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์เพื่อให้ตั้งครรภ์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขายังมีอคติ ยังมีการตีตราว่าคนที่เป็นแอลจีบีทีหรือคนหลากหลายทางเพศไม่ควรมีลูก หรือมองที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ ถ้าดูกรณีน้องคาร์เมน เขาบอกเลยว่าพ่อน้องคาร์เมนไม่สามารถเอาน้องคาร์เมนไปได้ เพราะเป็นการแต่งงานเพศเดียวกันซึ่งประเทศไทยยังไม่ยอมรับ แต่เขาให้คาร์เมนกลับไปกับคู่เกย์เพราะมองที่ผลประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก เพราะพ่อน้องคาร์เมนรวยกว่าแม่ที่ตั้งครรภ์ ทำให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีการกีดกันที่ไม่ใช่แค่มิติเรื่องเพศ แต่ยังมีเรื่องชนชั้น

"ยิ่งเราใช้กฎหมายที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มันยิ่งไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะคุ้มครองได้จริงๆ มันมีครอบครัวแอลจีบีทีอยู่จริง แต่กลายเป็นคุณพ่อ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ถือสิทธิในตัวเด็ก ปัญหาคือคู่ชีวิตที่ดูแลกันมาด้วยความรัก ถ้าเกิดการสูญเสียผู้ที่มีสิทธิปกครองเด็กตามกฎหมาย มันอาจจะตัดสิทธิคู่ชีวิตอีกคนในการดูแลเด็ก นี่เป็นเรื่องที่เรากังวล"

คู่รักเพศเดียวกัน-คู่รักต่างเพศ ศักดิ์ศรีต้องเท่ากัน

ในส่วนของชวินโรจน์ เขาเห็นว่าประเด็นที่น่ากังวลคือการให้กระทรวงยุติธรรมรักษาการ คู่ชีวิตต้องการจดทะเบียนต้องไปจดที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งมีเพียงจังหวัดละ 1-2 แห่งเท่านั้น อีกทั้งจะเท่ากับเป็นการแบ่งพลเมืองของรัฐออกเป็นชั้นๆ คู่รักเพศเดียวกันจะมีสภาพเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง

อีกทั้งการที่ร่างกฎหมายคู่ชีวิตตัดคำว่า คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่เท่ากับคู่สมรส เท่ากับว่าสิทธิต่างๆ ที่คู่สมรสได้ เช่น ประกันสังคม ประมวลรัษฎากร คู่ชีวิตก็จะไม่ได้รับ ก็เท่ากับเป็นการไปลงทะเบียนไว้เฉยๆ ภาครัฐจะไม่ให้สิทธิใดๆ ชวินโรจน์ยังมีทัศนะไปในทิศทางเดียวกับชุมาพรว่า

"ถ้าต้องแก้แบบให้เกิดความเสมอภาคต้องแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะคนเท่ากัน แล้วหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ทุกคนต้องใช้กฎหมายเหมือนกันหมด ผมจึงเสนอเรื่องนี้ในงานวิจัย ศักดิ์ศรีของคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักต่างเพศต้องเท่ากัน"

กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงกำลังนำร่างมาปรับปรุง

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นไปส่วนหนึ่ง ขณะนี้ทางกรมได้นำร่างกฎหมายคู่ชีวิตกลับมาปรับปรุงอีกครั้ง ในเรื่องระบบการจดทะเบียน หน่วยงานรับผิดชอบ การหารือกับผู้นำทางศาสนา การจัดการให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เช่น ควรศึกษากฎหมายต่างประเทศหลายๆ แบบหรือไม่

กับข้อสังเกตที่ว่า เนื้อหาในร่างกฎหมายมีให้ความรู้สึกของการทำสัญญาแลกเปลี่ยนซื้อขายมากกว่าการจดทะเบียนสมรส นรีลักษณ์ กล่าวว่า

"มันมีความคล้ายกับสัญญามาก เราจึงต้องมาปรับปรุง จริงๆ ไม่ต้องมี พ.ร.บ. นี้ก็ได้ ก็ทำเหมือนนิติกรรมสัญญาไป แต่สถานะปัจจุบันของร่าง พ.ร.บ. นี้เน้นเฉพาะทรัพย์สินกับมรดกจึงต้องโฟกัสแค่นั้น แต่ทีมที่เรากำลังปรับคิดว่ายังไม่พอ ควรจะต้องรีวิวให้ครอบคลุมกว่านี้

"ส่วนประเด็นการรับบุตรบุญธรรมก็มีการพูดคุยกัน แต่มองว่ายังไกลไป ยากที่คนจะยอมรับ ยากที่จะผลักดัน อาจจะถูกกระแสสังคมต่อต้าน เราจะผลักดันในสิ่งที่เราคิดว่าผลักดันได้ในระยะต้น จึงจำกัดแค่เรื่องทรัพย์สินมรดก เรื่องบุตรบุญธรรมจะไว้เป็นขั้นต่อไป"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิงสกัดผู้ก่อเหตุใช้ค้อนทุบตำรวจหน้ามหาวิหารน็อทร์-ดามกรุงปารีส

Posted: 07 Jun 2017 12:16 AM PDT

ชายคนหนึ่งตะโกน "นี่เพื่อซีเรีย" ก่อนที่ใช้ค้อนทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้ามหาวิหารน็อทร์-ดาม แหล่งท่องเที่ยวดังในกรุงปารีสก่อนที่จะถูกตำรวจยิงบาดเจ็บและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ทั้งนี้ฝรั่งเศสมักจะเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายแต่ก็มีการเฝ้าระวังที่แน่นหนาและตอนนี้ก็กำลังสืบสวนต่อว่าเหตุนี้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือไม่

มหาวิหารน็อทร์-ดาม (ที่มาของภาพประกอบ: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

เมื่อบ่ายวันที่ 6 มิ.ย. 2560 ตามเวลาของฝรั่งเศสเกิดเหตุชายคนหนึ่งโจมตีเจ้าหน้าที่ด้วยค้อนที่นอกมหาวิหารน็อทร์-ดาม กรุงปารีส ก่อนจะถูกตำรวจยิงได้รับบาดเจ็บ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของฝรั่งเศสเปิดเผยว่าชายคนดังกล่าวตะโกนคำว่า "นี่เพื่อซีเรีย" ในขณะที่ก่อเหตุด้วย ทางอัยการกำลังสืบสวนในเรื่องนี้อยู่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือไม่

สื่อบีบีซีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกโจมตีด้วยค้อนได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยขณะที่ผู้ต้องสงสัยถูกยิงจนเป็นแผลที่หน้าอกจากตำรวจอีกคนหนึ่ง ในขณะเกิดเหตุนักท่องเที่ยวพากันหนีหาที่หลบซ่อนโดยที่ในตอนนั้นมีคนอยู่ในมหาวิหารหลายร้อยคน มีภาพของผู้อยู่ในอาคารกำลังยกมือขึ้นเหนือศรีษะเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลมีเดีย

ประเทศฝรั่งเศสอยู่ในภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาหลังจากเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายสังหารประชาชน 130 ราย

เจราด โคลลอมบ์ รัฐมนตรีกิจการภายในของฝรั่งเศสเปิดเผยว่าผู้ก่อเหตุพกพามีดทำครัวและบัตรประจำตัวนักเรียน-นักศึกษาชาวแอลจีเรียไว้กับตัว หลังจากนั้นก็มีการส่งตัวผู้ก่อเหตุไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลและจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อ

ฮิวจ์ สโกฟิลด์ นักข่าวบีบีซีในปารีสรายงานว่าถึงแม้เป้าหมายการก่อการร้ายดูจะเบี่ยงมาเป็นที่อังกฤษในช่วงไม่นานมานี้ แต่ทางฝรั่งเศสก็ยังคงเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเพราะฝรั่งเศสยังมักจะเป็นเป้าหมายหลักของการโฆษณาชวนเชื่อจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าไอซิสหรือไอเอส

สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับสโกฟิลด์คือวิธีการที่ผู้ก่อเหตุในฝรั่งเศสใช้ในการก่อเหตุ 4 ครั้งหลังสุดไม่ว่าจะเป็นการใช้มีดโต้ การพยายามแย่งปืนจากทหาร กรณีที่คนร้ายยิงตำรวจก่อนจะถูกยิงเสียชีวิต หรือกรณีล่าสุดที่ใช้ค้อน ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างจากกรณีที่เกิดขึ้นในอังกฤษและในกรณีที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสก่อนหน้า 4 เหตุการณ์นี้คือการโจมตีแบบสุ่มเป้าหมาย การโจมตี 4 เหตุการณ์หลังมีการก่อเหตุคนเดียวโดยที่จงใจโจมตีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐอย่างชัดเจน

มหาวิหารน็อทร์-ดาม เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้าชมมากที่สุด โดยที่หลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ประกาศว่าสามารถ "ควบคุมสถานการณ์" เอาไว้ได้แล้ว

มีผู้เห็นเหตุการณ์เป็นนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันชื่อ เคลลิน กอร์แมน กล่าวว่าเขากำลังจะเข้าไปในตัวมหาวิหารแต่ก็ได้ยินเสียงเอะอะ ได้ยินเสียงปืน พอหันไปมองก็เห็นผู้ก่อเหตุนอนอยู่บนพื้นที่เขาถูกยิงแล้ว

เรียบเรียงจาก

Paris's Notre-Dame: Attacker shot outside cathedral, BBC, 07-06-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ไม่ควรแม้แต่จะคิดว่ามีคนอย่างนี้อยู่” วิษณุ ตอกนักข่าวหลังถาม กรณีสอบคุณสมบัติ 9 รมต.

Posted: 07 Jun 2017 12:07 AM PDT

"ไม่ควรแม้แต่จะคิดว่ามีคนอย่างนี้อยู่"  รองนายกรัฐมนตรีตอกกลับนักข่าว หลังถูกถามว่ากรณีที่ กกต. ยกเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติ 9 รมต. จะส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต. หรือไม่ เผยเรื่องเซ็ตซีโร่ได้ให้ความเห็นไปหลายครั้งแล้ว

แฟ้มภาพทำเนียบรัฐบาล

7 มิ.ย. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่า  ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ยังมีข้อขัดแย้งเรื่องการเซตซีโร่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงองค์กรอิสระอื่นๆ โดยอ้างเหตุผลเรื่องปลาสองน้ำว่า รับทราบเสียงวิจารณ์แต่ไม่ขอตอบอะไร เพราะถ้าพูดออกไปก็จะกลายเป็นการปะทะคารม ทั้งนี้ ไม่ตั้งใจจะไปโต้เถียง โต้แย้งใดๆ กับใคร เพียงแต่ก่อนหน้านี้ได้เล่าให้ฟังถึงเหตุผลของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. ส่วนคำว่าปลาสองน้ำนั้นก็มาจากคำถามของผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามขึ้นมา ไม่ได้อุปมาขึ้นมาแต่อย่างใด แต่ถ้าคำนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ก็ไม่เป็นอะไร ทั้งนี้ ไม่ขอตอบอะไรในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ว่าเมื่อ กกต.ระบุว่าจะหยิบยกเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของ 9 รัฐมนตรีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถือเป็นเงื่อนไขต่อประเด็นเซตซีโร่ กกต.หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า เรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี 9 คนนั้น ได้มีผู้นำไปร้องเรียนต่อ กกต.มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ซึ่ง กกต.ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ และคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะ กกต.เขาก็ต้องทำตามหน้าที่

เมื่อถามว่า คิดว่าเหตุใดจึงเพิ่งจะหยิบขึ้นมาพิจารณาในช่วงนี้ วิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่พูด และไม่คิดว่าเป็นการตั้งเงื่อนไขเพื่อต่อรองอะไร รู้สึกเฉยๆ เพราะคิดว่าเป็นการทำหน้าที่ตามปกติ เมื่อมีคนไปร้องเรียน กกต.ก็ต้องตรวจสอบ ตนยังนึกว่าเขาตั้งกรรมการตรวจสอบเสร็จไปตั้งนานแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้วินิจฉัยอะไร แต่ปรากฏว่าเขายังไม่ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาก็ไม่เป็นไร

เมื่อถามถึงกรณีที่ 9 รัฐมนตรีถูกร้องให้ตรวจสอบเรื่องการถือหุ้นนั้นจะเป็นปัญหาได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่า กรณีของคนอื่นตนไม่สามารถตอบแทนเขาได้ แต่กรณีของตนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการถือหุ้น แต่ถูกทักท้วงในเรื่องอื่น ซึ่งผู้ที่ทักท้วงก็ไม่ใช่ กกต. แต่เป็นบุคคลอื่นที่ไปยื่นร้อง แต่กรณีของตนถูกนำไปพูดปะปนกับของคนอื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่าการนำเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี 9 คนนี้มาเป็นเงื่อนไขกับการไม่เซตซีโร่ กกต.หรือไม่ วิษณุย้อนถามว่า "แล้วคุณมองอย่างนั้นหรือไม่" ผู้สื่อข่าวกล่าวกลับไปว่า ก็สามารถมองได้ วิษณุจึงกล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้นคุณก็ไปเขียนว่าคุณมองอย่างนั้น แต่สำหรับผมไม่ทราบ ไม่สมควรคิด และไม่กล้าคิด ซึ่งทางพระใช้คำว่า อจินไตย ไม่ควรแม้แต่จะคิดว่ามีคนอย่างนี้อยู่"

เมื่อถามว่า กรณีของ กกต.จะมีผลกระทบต่อองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วยหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ก็เอาไว้ให้ไปถึงกฎหมายองค์กรอิสระอื่นๆ ก่อนแล้วค่อยมาพูดกัน หรือมาถามตนอีกครั้ง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึง เมื่อถามย้ำว่า จะเป็นบรรทัดฐานต่อองค์กรอิสระอื่นหรือไม่ วิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่สิ่งที่ตนเคยตอบแล้วก็ชัดเจน ถ้าใครยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นอะไร อีกไม่กี่วัน ในวันที่ 9 มิ.ย. นี้ สนช. ก็จะลงมติอยู่แล้ว

"ผมเคยตอบไปมากแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ เราพูดกันถึงเรื่องโครงสร้าง ดังนั้น คำว่าโครงสร้างแปลว่าอะไร ถ้าปัญหาเรื่องโครงสร้างเกิดขึ้นกับองค์กรอื่น ก็ต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ส่วนคุณสมบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โครงสร้างก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ช่วยไปศึกษาหน่อยนะครับ หรือไปถาม กรธ. ก็ได้เพราะเห็นไปนั่งสัมภาษณ์กันอยู่ทุกวัน ไปถาม กรธ.ดูว่า โครงสร้างของ กกต.ต่างกับโครงสร้างองค์กรอิสระอื่นๆ อย่างไรตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเหมือนกันก็ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน จะมาตรฐานซ้าย มาตรฐานขวา หรือมาตรฐานเซตซีโร่หรือมาตรฐานอื่นก็ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันถ้าอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน" วิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า กรธ.เคยระบุความเห็นแนบส่งให้ กมธ.ฯว่าไม่จำเป็นต้องเซตซีโร่ กกต. วิษณุกล่าวว่า วันนี้ (7 มิ.ย.) ก็รอฟังเขาแถลง เห็นว่าจะมีคนไปสัมภาษณ์เขา เมื่อถามว่า กกต.ระบุทำนองว่ามาเล่นแง่กับ กกต.เพียงองค์กรเดียว ทำไมไม่ทำกับองค์กรอิสระอื่นด้วย เช่น ป.ป.ช. วิษณุ กล่าวว่า เรื่องขององค์กรอื่นยังมาไม่ถึง ในเมื่อเรื่องของ กกต.มาถึงก่อนก็ต้องพูดถึงก่อน เช่นเดียวกับถ้าคุณไปจอดรถในที่ห้ามจอด แล้วตำรวจมาจับ คุณก็ถามตำรวจว่ามาจับผมทำไมทั้งที่มีรถอีกหลายคันที่จอดเหมือนกัน ตำรวจก็บอกว่ามาเจอรถของคุณก่อนเลยจับก่อน เดี๋ยวไปเจอรถคันอื่นก็ค่อยว่ากัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าจะกลายเป็นมีเรื่อง มีปัญหามารุมเร้ารัฐบาลจนกระทบต่อการทำงานหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า แล้วจะให้ตนตอบว่ากลัวหรือไม่กลัว ตนไม่ตอบ

ทั้งนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 9 มิ.ย. 2560 นี้ จะมีการนำผลการศึกษาและมติของคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยกกต. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. โดยในประเด็นเรื่องการเซ็ตซีโร่ กกต. นั้นมีสมาชิก สนช. ขอแปรญัตติถึง 10 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสต สัม ผัส | กรงในกะลา #5

Posted: 06 Jun 2017 11:48 PM PDT

ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์แน่หรือเปล่า เราหลงลืมใครบางคนไปไหม และสื่อออนไลน์ให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้พิการ ติดตามชมชีวิตของ "ชลณภัทร" นักเขียนผู้พิการทางสายตาใน "โสต สัม ผัส" ผลงานของพิทักษ์ ไพรพล

ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เผยแพร่คลิปวิดีโอผลงานเยาวชนในประเด็น 'เสรีภาพออนไลน์ Online Freedom' ทั้งหมด 10 คลิป เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นักโทษการเมือง การอยู่ในโลกเสมือนจริง และ Single Gateway โดยก่อนหน้านี้มีการฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในงานมอบรางวัลให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานวิดีโอ ภายใต้ชื่องาน "กรงในกะลา"

รับชมคลิปจากงาน "กรงในกะลา" ที่ https://goo.gl/UkDElt

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านตั้งวงถกปัญหาร่าง พ.ร.บ.อุทยาน และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ขัดต่อวิถีชีวิตชุมชน

Posted: 06 Jun 2017 11:06 PM PDT

เสียงจากคนอยู่กับป่า ค้าน ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ชี้ จะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า ด้านเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้รัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านระบุ ไม่รู้เลยว่ารัฐกำลังร่างกฎหมายนี้

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2560 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) ได้จัดเวทีสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ...และ ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ... เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและเสนอแนะข้อคิดเห็นต่อร่าง พรบ.ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน และให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชน โดย ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, บุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด คปบ. และทีมผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พีมูฟ, หนูเกณฑ์ จันทาสี ผู้ประสานงานเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน และศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีตัวแทนสมาชิกเครือข่ายฯ คปอ.ในหลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า เข้าร่วมเวทีเสวนา รวมกว่า 150 คน ณ บ้านซอกตะเคียน ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ

ผิดตั้งแต่เริ่ม: กระบวนการยกร่างขาดส่วนร่วมจากประชาชน

ภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้ว่า ตัวร่าง พรบ.ดังกล่าว มีปัญหาตั้งแต่กระบวนการยกร่าง ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม รวมทั้งเนื้อหาในร่างก็มีข้อจำกัด และจะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อ ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลนำไปสู่การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และข้อเสนอแนะต่อ พรบ.ดังกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุด้วยว่า ทางมูลนิธิฯ เล็งเห็นถึงความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ฉะนั้นภาครัฐต้องมีกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตร โดยมีข้อตกลงร่วมกับชุมชนในการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ยอมรับสภาพความเป็นจริงจากข้อมูลที่มี และมีข้อพิจารณาจนเกิดข้อตกลงร่วมกัน เพราะชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครอง ดังนั้นภาครัฐจึงต้องให้การยอมรับเสียงสะท้อนของชาวบ้านที่อยู่กับป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งในความเป็นไปได้คือ รัฐต้องมีข้อกฎหมายหรือการบริหารจัดการที่เป็นไปได้จริง สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่กับป่า เพราะเจตนารมณ์การจัดทำร่าง พรบ.ดังกล่าว เน้นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่มากกว่าการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกันดูแลทรัพยากร ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่เขตป่า ตามร่าง พรบ.ดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ดำเนินวิถีชีวิตอยู่ในพื้นที่มาแต่เดิม

"ส่วนการกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลดังกล่าวสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินที่ได้อยู่อาศัยหรือทำกินอยู่แล้ว แต่ไม่ถือว่าได้สิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมาย โดยกำหนดให้อยู่ทำกินได้คราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี อีกกรณีคือการให้สิทธิ์ตกทอดถึงทายาทได้หากกรณีที่ผู้ขอเสียชีวิต ทายาทที่ประสงค์จะอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อไป ให้ยืนคำขออนุญาตต่ออธิบดีภายใน 180 วัน และอนุญาตได้เพียงเท่าระยะเวลาที่เหลือ ตัวอย่างคือผู้ขอทำกินได้รับอนุญาตระยะเวลา 20 ปี แต่อยู่มาได้ 18 ปี แล้วเสียชีวิตลง ทายาทจะต้องทำเรื่องขออนุญาตอยู่ทำกินสืบต่อไปภายใน 180 วัน และอนุญาตอยู่ต่อได้อีกแค่ 2 ปี จากนั้นต้องเสนอขออนุญาตจากอธิบดีใหม่ตามกระบวนการใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อกำจัดที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรต่างๆ ได้เสนอความเห็นต่อกระทรวงทรัพยากร และมีเวทีหารือร่วมกัน แต่ประเด็นดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนที่ประชาชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่กับป่าควรต้องรับรู้ รับทราบ และมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย จึงมาให้ข้อมูลกับเครือข่ายในครั้งนี้" ภานุเดช กล่าว

ร่างกฎหมายกฎหมายควรมีหมวดสิทธิชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ด้วย

ด้าน บุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกล่าวว่า หลังจากที่ สปท.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ นั้น มีหลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมทั้งเสนอให้เพิ่มหมวดสิทธิชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์เข้ามาด้วย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะเป็นสิทธิชุมชนในการเข้าถึงความหลากหลายพันธุกรรม เพราะเป็นการป้องกันการถูกทุนเข้ามาใช้ประโยชน์แบบผูกขาดโดยการจดสิทธิบัตร จะส่งผลกระทบให้ชุมชนซึ่งเป้นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง เสียสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ์ จากการจดสิทธิบัตร

เสียงสะท้อนของชาวบ้านไม่รู้ว่ารัฐกำลังร่างกฎหมาย ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตตัวเอง

นิตยา ม่วงกลาง ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ บอกว่า จากเวทีให้ความรู้ ความเข้าใจ ต่อร่าง พรบ.ดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ารัฐมีกฎหมายแบบนี้ออกมา ทั้งที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเองและชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เพราะเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่มีมาอย่างต่อเนื่องของชาวบ้านที่อยู่กับป่า ในการที่อุทยานไทรทองดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านและถูกดำเนินคดีความมาอย่างต่อเนื่อง

นิตยา บอกอีกว่า หลังจากได้มีการร่วมจัดเวที ก็เข้าใจว่าการที่รัฐออกกฎหมายแบบนี้ จะยิ่งส่งผลกระทบตามมาอีก ทั้งในเรื่องการถูกตัดสิทธิ์ในที่ดินทำกิน การถูกดำนินคดีตามมาอีก และสุดท้ายจะกลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกิน สิ่งที่อยากแสดงคือการที่รัฐจะออกกฎหมายใดก็ตามควรให้สอดคล้องกับปัญหาปัจจุบัน และผู้ได้รับประโยชน์ควรเป็นประชาชนที่อยู่ในป่าอย่างแท้จริง ให้ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย โดยเฉพาะกฎหมายล่าสุด ร่าง พรบ.ดังกล่าวนั้น รัฐไม่ควรมองข้ามเสียงสะท้อนจากผู้คนที่อยู่กับป่า ควรคำนึงถึงปัญหาผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์อยู่ในพื้นที่ด้วยความปกติสุข

"ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง กว่า 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ ได้รับผลกระทบ เช่น ห้ามมิให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และเข้ายึดพื้นที่ ทั้งถูกบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนำมาสู่ความเดือดร้อนต่อชาวบ้านจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมาได้เข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการเข้าร่วมประชุมกับภาครัฐเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าและในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนต่อคนในพื้นที่ และให้สามารถทำประโยชน์ตามปกติสุข แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ ไม่มีการดำเนินการตามที่ร่วมตกลงแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหา รวม 15 คน ซึ่งตนก็ถูกดำเนินคดีด้วย โดยเฉพาะถ้าร่าง พ.ร.บ.ผ่าน การถูกดำเนินคดี และการถูกอพยพออกจากพื้นที่ จะส่งผลกระทบตามตามมาอีก" นิตยากล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น