โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประยุทธ์ นำประชุม หน.ส่วนราชการ ตั้งเป้าภายในปี 65 คนไทยไม่มีใครจน

Posted: 29 Jun 2017 10:04 AM PDT

ประยุทธ์ นั่งประธานประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการ เร่งพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เตรียมแรงงานรองรับ Thailand 4.0 ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล วางเป้าหมายภายในปี 65 คนไทยไม่มีใครจนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่มาภาพ เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

29 มิ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2560 ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการ กพ. ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ทั้ง 20 กระทรวง

โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานสถาบันพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ทั้งนี้ นายกฯ ได้กล่าวก่อนการประชุมว่า การประชุมวันนี้ถือว่าสำคัญเพราะเหลือเวลาอีก 3 เดือนจะสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือน ก.ย.และงบประมาณใหม่จะเริ่มขึ้นในเดือน ต.ค.เป็นต้นไป ดังนั้น 3 เดือนนี้ต้องเตรียมการทั้งหมด เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนให้ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องบูรณาการร่วมกัน เช่น การค้ามนุษย์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนสำคัญที่เราต้องแก้ไขต่อไป รวมถึงวาระแห่งชาติอื่นด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้รับทราบจากปลัดกระทรวงแรงงานว่า มีการหารือในระดับปลัดกระทรวงร่วมกันในช่วงเย็นหรือมืดค่ำอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องขอขอบคุณที่ทุกคนร่วมมือกัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ติดเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการทำงานนั้นจำเป็นที่จะต้องกำหนดกรอบการทำงานในช่วง 3 เดือนนี้ และในปีงบประมาณต่อไปที่จะต้องเดินหน้าไปตามโรดแมปที่ได้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ซึ่งต้องติดตามและกำกับดูแลให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ที่รัฐบาลต้องการ อย่างน้อยก็มีการเริ่มต้นในสิ่งใหม่ เป็นการต่อยอด รวมไปถึงการแก้ปัญหาเดิมที่ทุกกระทรวงต้องร่วมมือกัน
       
รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ กระทรวงแรงงานสรุปถึงภารกิจที่สำคัญในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งการดูแลแรงงานในระบบและนอกระบบ การเร่งพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมแรงงานไทยรองรับ Thailand 4.0 และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาและเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมเสนอประเด็นการวางรากฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ ตามเป้าหมาย PM TARGET พัฒนาสู่แรงงาน 4.0 พร้อมขอความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกันบนฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2565 คนไทยไม่มีใครจนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2559 พบว่า จำนวนประชากรวัยแรงงานมีมากถึง 38.68 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 65.72 ล้านคน ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่ายดูแลและเตรียมความพร้อม ให้ก้าวสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ต่อไปในอนาคต 

ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงแรงงานและผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มขอรับเงินสมทบที่จ่ายเกินประกันสังคม 29 มิ.ย.นี้

Posted: 29 Jun 2017 09:34 AM PDT

29 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(28 มิ.ย.60) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบสํานักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นําส่งไว้เกินจํานวนที่ต้องชําระคืน พ.ศ. 2560 ลงนามโดย สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสํานักงานประกันสังคม

โดยมีเนื้อหาระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขปรับปรุงระเบียบในการยื่นคําขอรับเงินสมทบที่นายจ้าง และผู้ประกันตนนําส่งไว้เกินจํานวนที่ต้องชําระคืน เพื่อให้การปฏิบัติงานในการคืนเงินสมทบเป็นไปด้วยความรวดเร็วคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตนยิ่งขึ้น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 47 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537เลขาธิการสํานักงานประกันสังคม จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ 

ข้อ 1 ระเบียบเรียกว่า "ระเบียบสํานักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นําส่งไว้เกินจํานวนที่ต้องชําระคืน พ.ศ. 2560" 

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

ข้อ 3 ให้ยกเลิก 
(1) ระเบียบสํานักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นําส่งไว้เกินจํานวนที่ต้องชําระคืนพ.ศ. 2549 
(2) ระเบียบสํานักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นําส่งไว้เกินจํานวนที่ต้องชําระคืน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 

ข้อ 4 ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนที่นําส่งเงินสมทบให้แก่สํานักงานประกันสังคมเกินจํานวน ที่ต้องชําระยื่นคําร้องขอรับเงินคืนเป็นหนังสือต่อสํานักงานประกันสังคมแห่งใดแห่งหนึ่งที่สะดวกในการติดต่อ 

ข้อ 5 คํารองขอรับเงินคืนตามข้อ 4 อย่างน้อยต้องมีรายการสําคัญและหลักฐานประกอบ 
ดังต่อไปนี้ 
5.1 กรณีนายจ้างเป็นผู้ยื่นคําร้อง 
(1) ชื่อ ที่อยู่และเลขที่บัญชีทะเบียนนายจ้าง 
(2) เหตุผลในการขอรับเงินคืน และหลักฐานประกอบ (ถ้ามี) 
(3) กรณีมีกิจการหลายสาขา ให้ระบุสาขาที่ขอรับเงินคืน 
(4) ลายมือชื่อผู้ยื่นคําร้อง 
(5) วันที่ยื่นคําร้อง 
5.2กรณีผู้ประกันตนเป็นผู้ยื่นคําร้อง 
(1) ชื่อ ที่อยู่และเลขประจําตัวประชาชน (กรณีคนต่างด้าว ให้ใช้เลขบัตรประกันสังคม) 
(2) ลายมือชื่อผู้ยื่นคําร้อง 
(3) วันที่ยื่นคําร้อง 

ข้อ 6 การคืนเงินสมทบให้แก่นายจ้างหรือผู้ประกันตน สํานักงานประกันสังคมจะคืนเงินโดยวิธีผ่านธนาคารที่สํานักงานประกันสังคมกําหนด

ข้อ 7 ในกรณีที่มีการตรวจสอบพบว่านายจ้างหรือผู้ประกันตนมีการนําส่งเงินสมทบเกินจํานวนที่ต้องชําระ ให้สํานักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งนายจ้างหรือผู้ประกันตนเพื่อยื่นคำร้องขอรับเงินคืนตามข้อ 6 ทั้งนี้ สํานักงานประกันสังคมจะคืนเงินสมทบให้ตามข้อ 7

ข้อ 8 ให้ข้าราชการซึ่งดํารงตําแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีอํานาจอนุมัติสั่งจ่ายเงินคืนให้แก่ 
นายจ้างหรือผู้ประกันตน 
(1) เลขาธิการ หรือผู้ว่าราชการ หรือผู้ที่เลขาธิการ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย 
(2) ผู้อํานวยการสํานักเงินสมทบ ผู้อํานวยการสํานักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 
ประกันสังคมจังหวัด หรือหัวหน้าสํานักงานประกันสังคมสาขา แล้วแต่กรณี สําหรับการอนุมัติสั่งจ่ายเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท 

ข้อ 9 ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกท. ไม่ส่งนักกีฬา eSports เข้าร่วมแข่ง Ashgabat 2017 ชี้เป็นเพียงกีฬาสาธิต

Posted: 29 Jun 2017 09:16 AM PDT

สมาคมไทยอีสปอร์ตเผย กกท. จะไม่ทำการส่งนักกีฬา eSports เข้าร่วมการแข่งขัน Ashgabat 2017 ชี้เป็นเพียงกีฬาสาธิต แถมอยู่ในระหว่างจัดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาอยู่

29 มิ.ย. 2560  Blognone และ TGPL.IN.TH รายงานว่า หลังจากที่ปล่อยให้เกมเมอร์ชาวไทยรอคอยกันมานาน ล่าสุดเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การกีฬาแห่งประเทศไทยหรือ กกท. จะไม่ทำการส่งนักกีฬา eSports เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ 2017 Ashgabat Asian Indoor and Martial Arts Games หรือ Ashgabat 2017 จากกรณีที่ สันติ โหลทอง นายกสมาคมไทยอีสปอร์ต เป็นผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลนี้ ผ่านทางรายการ NowFC @Digital Life วิทยุครอบครัวข่าว ส.ทร.FM106 เมื่อคืนวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับเหตุผลของ กกท. ในการตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬา eSports ไปนั้น สันติ ได้กล่าวว่ามีด้วยกัน 2 ข้อคือ กกท. มองว่า eSports ยังเป็นเพียงแค่กีฬาสาธิต และ สมาคมไทยอีสปอร์ต ซึ่งขอสิทธิ์เป็นตัวแทนคัดเลือกนักกีฬาไปยังคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยผ่านทาง กกท. ยังไม่ได้เป็นสมาคมกีฬา ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนดำเนินการจัดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาอยู่ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้สมาคมไทยอีสปอร์ตไม่สามารถส่งรายชื่อนักกีฬาให้ทางสภาโอลิมปิคแห่งเอเชียได้ เพราะจะต้องส่งในนามของคณะกรรมการโอลิมปิกของแต่ละชาตินั่นเอง

นายกสมาคมไทยอีสปอร์ตยังขยายความเกี่ยวกับสถานะของสมาคมต่อว่า ตอนนี้เราเป็นแค่สมาคมซึ้งอยู่ภายใต้กรมปกครอง คนละหน่วยงานกัน ต้องทำการจดทะเบียนใหม่กับการกีฬาแห่งประเทศไทย ถึงจะได้ขึ้นชื่อว่า เป็นสมาคมกีฬา

นายกสมาคมฯ กล่าวต่อว่า Asian Indoor & Martial Arts ที่จะมีการแข่งล่าสุดจะไม่มีนักกีฬาไทยไปแน่นอน และการที่จัดตั้งสมาคมไทยอีสปอตที่ขึ้นตรงกับการกีฬาแห่งประเทศไทย จะช้าหรือเร็ว จะได้หรือไม่ได้ มีตัวแปร 4 อย่าง 1. กระแสโลก  วงการอีสปอร์ตโลกยังพัฒนาเร็วอย่างนี้และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเป็นตัวเร่งที่ดีที่สุด 2. คนในวงการอีสปอร์ต ถ้านักกีฬาในไทยหรือเกมเมอร์ในไทยไม่ได้สร้างปัญหาที่ส่งผลกับเกม 3. ความสามารถของนักกีฬา ที่สามารถคว้ารางวัลต่างๆ มาได้ ทำให้แสดงความพร้อมของนักกีฬาให้การกีฬาแห่งประเทศไทยได้เห็น  และ 4. ภาคการศึกษา ถ้าสถาบันการศึกษาไม่หันมามองตรงจุดนี้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทำให้เสียโอกาสการเรียนรู้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์  ถึงแม้ว่าตอนนี้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ประเทศไทยจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมในการแข่งขันอีสปอร์ตที่ Asian Indoor & Martial Arts แต่ไม่ได้หมายความว่า ทางสมาคมจะล้มเหลว หรือหยุดนิ่ง เพราะต่อให้ไม่ได้รับโอกาสในครั้งนี้ การขับเคลื่อนวงการอีสปอร์ตในบ้านเราก็ยังเดินหน้าต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

AIC แถลงการณ์ โต้ ข้อบังคับ OTT ของ กสทช. ชี้ สวนทาง Thailand 4.0

Posted: 29 Jun 2017 08:57 AM PDT

แถลงการณ์ AIC ถึงข้อบังคับ OTT ของกสทช. ชี้ ไทยหันหลังให้นวัตกรรม กระทบการลงทุน สวนทาง Thailand 4.0 หวั่น ผู้บริโภคและผู้ผลิตในไทยเสียเปรียบด้านการเข้าถึงข้อมูล แนะ ข้อบังคับไม่ควรปิดบังต่อสาธารณะ

จากกรณีกสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT- Over The Top) มาลงทะเบียน เพื่อสามารถให้บริการ OTT ในประเทศไทยต่อไปได้ ทั้งนี้ Google และ Facebook เป็นสองบริษัทที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่งกสทช. ประกาศว่าบริษัทโฆษณา (และรวมถึงบริษัทอื่นๆ) ที่โฆษณาผ่านผู้ให้บริการ OTT ที่ไม่มาลงทะเบียน เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ตามความผิดที่เกิด ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

Asia Internet Coalition หรือ AIC เป็นองค์กรความร่วมมือ ที่มีสมาชิกคือ Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter รวมถึง Yahoo, LINE และ Rakuten ได้ออกแถลงการณ์ต่อกฎระเบียบที่ กสทช. ออกมาเพื่อควบคุม OTT โดยมีเนื้อหาดังนี้

พวกเรามีความกังวลอย่างสุดซึ้งที่ประเทศไทยได้หันหลังให้กับนวัตกรรมด้วยข้อบังคับที่ กสทช. ได้นำเสนอให้กับการให้บริการในระบบ OTT ข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจและนวัตกรไทยเป็นอันดับแรก แต่กลับเพิ่มภาระด้านข้อบังคับ และอาจทำให้การเติบโตนั้นถูกจำกัดลง ทั้งยังเป็นการปิดกั้นคนและบริษัทสัญชาติไทยจากการใช้แพลทฟอร์มแบบเปิดในระดับโลกเพื่อสร้างธุรกิจออนไลน์ พวกเราเองยังคงกังวลว่ากฎดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยลงนาม

ด้านล่างเป็นจดหมายที่เขียนขยายความถึงพื้นเพและเหตุผลแห่งความกังวลที่พวกเรามี ซึ่งได้ส่งไปยัง กสทช. ไปก่อนแล้วในวันนี้ คุณสามารถใช้เนื้อหาดังต่อไปนี้ประกอบกับเรื่องราวของพวกคุณ

29 มิ.ย. 2560

ประธานกรรมการ ธเรศ

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

87 พหลโยธิน 8 (ซ.สีลม)

สามเสนใน พญาไท

กรุงเทพฯ 10400

ประเทศไทย

ถึงท่านประธานกรรมการ ธเรศ

ข้อตอบรับจากองค์กรความร่วมมือทางอินเตอร์เน็ตแห่งเอเชีย (AIC) เกี่ยวกับข้อบังคับของ OTT ของไทยที่ได้ประกาศไป

ด้วยระบบอินเตอร์เน็ตที่เสรีและเปิดเผย ทำให้ผู้บริโภค นักธุรกิจและผู้ผลิตคอนเทนท์ (เนื้อหา) ได้เติบโตขยายตัวไปทั่วเอเชียและโลก AIC และบริษัทที่เป็นตัวแทนมีความกังวลว่าข้อบังคับที่ กสทช. ได้เสนอในเรื่อง "บริการ OTT" จะส่งผลในทางลบให้กับประเทศไทย สร้างความไม่แน่นอนในการเกิดธุรกิจ ชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำกัดการลงทุนในเศรษฐกิจภาคดิจิทัลของไทยที่กำลังโต พวกเรายังกังวลว่านโยบายใหม่ที่กำลังจะออกมาโดยไม่ผ่านการปรึกษาจากสาธารณะ ทั้งนโยบายยังไม่สอดคล้องกับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศของไทยที่จะเป็นทำลายความมั่นใจในการลงทุน

AIC ยินดีเข้าร่วมกับรัฐไทยในเรื่องข้อบังคับของ OTT อย่างไรก็ตาม กสทช. ไม่ได้เปิดเผยร่างข้อบังคับดังกล่าวต่อสาธารณชน เราได้ดูรายงานจากสื่อมวลชนที่รายงานว่า กสทช. จะให้บริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนเป็นบริการ OTT ภายในเวลา 30 วัน การเรียกลงทะเบียนดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาลงทะเบียนเพื่ออยู่ภายใต้การควบคุมโดยข้อบังคับซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ AIC จึงขอส่งเสริมให้ กสทช. เปิดเผยร่างข้อบังคับและมีกระบวนการปรึกษากับภาคส่วนสาธารณะอย่างโปร่งใสทันที

นอกจากนั้น กสทช. ยังได้มีการแถลงต่อสาธารณะว่าบริษัทที่ไม่ได้เข้าประชุมร่วมกับ กสทช. จะพบกับ "แรงกดดัน" หากต้องการดำเนินธุรกิจต่อไป ถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้เราคิดว่า กสทช. อาจจะสร้างแรงกดดัน หรือใช้วิธีทำให้ความสัมพันธ์กับผู้ทำโฆษณาซับซ้อนยิ่งขึ้นเพื่อสร้างแรงกดดัน ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม(ธุรกิจดิจิทัล - ผู้สื่อข่าว) ตกที่นั่งลำบากในฐานะที่ต้องพบแรงกดดันให้ยอมถูกกำกับโดยข้อบังคับที่ไม่เป็นที่เปิดเผย

ข้อเสนอสำหรับข้อบังคับเรื่อง OTT ทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อหาของไทยเสียเปรียบประเทศอื่นในภาพรวม ข้อบังคับดังกล่าวจะทำลายความมั่นใจในการลงทุนและยังยั้งการเติบโตผ่านผลกระทบเชิงลบระยะยาวในเศรษฐกิจของไทยทั้งหมด ทั้งยังฉุดรั้งความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะเป็นประเทศไทย 4.0 อีกด้วย นอกจากนั้น ด้วยความไม่แน่นอนของข้อบังคับและทัศนคติที่ไม่ต้อนรับสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดนวัตกรดิจิทัล นักสื่อสารและผู้ผลิตเนื้อหาอาจทำลายความมั่นใจในการลงทุนจากทุนต่างประเทศต่อไป

AIC หวังว่ารัฐบาลไทย (รวมไปถึง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) จะพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของตัวแสดงเกี่ยวกับ OTT ทั้งในและต่างประเทศบนฐานที่สัมพันธ์กับขีดความสามารถในการแข่งขัน ในฐานะที่เป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุน รวมถึงในฐานะประเทศที่ให้โอกาสสำหรับผู้ผลิตเนื้อหา และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

AIC ยังขอเน้นข้อพิจารณาที่สำคัญดังต่อไปนี้

ผลกระทบจากข้อเสนอของ กสทช. ในระดับโลก

-          การควบคุมบริการ OTT ตามข้อเสนอของ กสทช. ทำให้ไทยแปลกแยกไปจากโลก

-          การควบคุมจะต้องสอดคล้องกับข้อบังคับของไทยภายใต้ข้อตกลงทั่วไปในด้านการค้าและการบริการ (GATS) ในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยภายใต้ GATS ไทยได้ตกลงอนุญาตให้ "บริการการเข้าถึงฐานข้อมูล" และ "บริการข้อมูลออนไลน์" ที่มีลักษณะข้ามพรมแดนและไม่หวงห้ามจำนวนมาก ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้รวมไปถึงการบริการที่จัดโดยผู้ให้บริการ OTT

-          การนำข้อตกลง GATS มาใช้ในการควบคุม OTT มีความซับซ้อน หนทางที่ดีที่สุดและเป็นหนทางเดียวสำหรับ กสทช. ที่จะสร้างความมั่นใจว่า ข้อบังคับที่ออกมาจะไม่นำไปสู่ผลกระทบในทางลบกับประเทศคู่ค้าของไทยใน WTO ได้แก่การเปิดให้ร่างข้อบังคับดังกล่าว ทำให้มีความโปร่งใสในกระบวนการร่าง และให้เวลากับผู้ที่ได้รับผลกระทบกับร่างฯ ดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นและให้คำแนะนำ

-          ตามที่ข้อตกลงต้องการให้ผู้ให้บริการ OTT เสียภาษีในไทย แม้ในทางกายภาพจะไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ตาม ขัดกับสนธิสัญญาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนนานาชาติและฉันทามตินานาชาติว่าด้วย 1.) กฎว่าด้วยการป้องกันการหลีกเลี่ยงสถานะจัดตั้งถาวร (rules for the prevention of artificial avoidance of permanent establishment status) และ 2.) กฎว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเศรษฐกิจดิจิทัล (rules for taxing the digital economy)  โดยประเทศไทยเพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือในประเด็น BEPS (Base Erosion and Profit Shifting - รูปแบบหนึ่งของการหลบเลี่ยงภาษีโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานหลายสาขาทั่วโลก (ที่มา:สำนักนโยบายภาษี กระทรวงการคลัง)) ซึ่งการเข้าร่วมถือเป็นสัญญาณว่าไทยจะรับเอาคำแนะนำจากกรอบความร่วมมือมาใช้

-          การบังคับให้มีภาษีพิเศษเฉพาะกับผู้ให้บริการ OTT สร้างภาพลักษณ์ว่าไทยไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานนานาชาติ ซึ่งอาจทำลายการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้โดยไม่เจตนา

ผลลัพธ์เฉพาะหน้าด้านเศรษฐกิจในประเทศ

-          กรอบความร่วมมือ OTT ของ กสทช. สร้างความเสียเปรียบให้กับธุรกิจขนาดเล็กในทางปฏิบัติ เพราะธุรกิจขนาดเล็กไม่พร้อมจะปฏิบัติตามข้อบังคับที่ยากเช่นนั้น

-          การควบคุมบริการ OTT ในแบบของไทยอาจไม่ได้ผลดังต้องการ เพราะผลของข้อบังคับจะเป็นการไปบังคับการบริการที่มีลักษณะต่างไปจากการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิม ให้มาอยู่ภายใต้ระบอบการควบคุมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพตามธรรมชาติของบริการ OTT ข้อเสนอของ กสทช. จึงมีแนวโน้มชะลอการพัฒนาของ OTT ในไทยมากกว่าการสนับสนุน

-          ผู้ผลิตเนื้อหาของไทยจำนวนนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิมของไทยจะถูกลงโทษอย่างหนักเกินไปเพียงเพราะใช้แพลตฟอร์มแบบเปิดในการส่งเนื้อหาที่พวกเขาผลิตไปสู่ผู้ชมในวงกว้าง

AIC ยินดีที่จะได้รับโอกาสให้อ่านและเสนอแนะต่อข้อเสนอใดๆ ที่ได้ร่างขึ้น รวมทั้งเสนอแนะให้ กสทช. ทบทวนการนำแผนการลงทะเบียนและควบคุม OTT ไปใช้ดังที่ได้วางแผนเอาไว้

เจฟฟ์ เพน

กรรมการผู้จัดการ

องค์กรความร่วมมือทางอินเตอร์เน็ตแห่งเอเชีย

สำเนาถึง: พ.อ.นที รองประธานกรรมการ กสทช.

ขอขอบพระคุณ

โจเซลิน อเล็กซานเดอร์

เลขาธิการ AIC

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: ปัญญาชนกับการกลับสู่ประชาธิปไตย

Posted: 29 Jun 2017 08:10 AM PDT


"...คนมีโอกาสจะโหวตแบบคนเสื้อแดงมากกว่าแบบคนเสื้อเหลือง คนเสื้อเหลืองมีแนวโน้มเป็นเสียงข้างน้อยยาวนาน เพราะฉะนั้นความคับข้องใจคือ เลือกตั้งกี่ครั้งเขาก็ไม่ชนะ ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ ถ้าทั้งสองฝ่ายอยากกลับไปสู่ประชาธิปไตยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ และเข้าใจความคับข้องใจของกันและกัน แทนที่จะหาวิธีแบ่งแยกพวกเราพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนของทั้งสองฝ่าย มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกคนอีกฝั่ง

ถ้าทั้งสองฝั่งอยากเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องเข้าใจ ให้เกียรติ และเห็นอกเห็นใจคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองต่างจากตนมากขึ้น และหา "จุดร่วม" ร่วมกันเพื่อกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย และสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบที่สมบูรณ์มากขึ้น "

บางส่วนจากปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2560 "ประชาธิปไตย กลไกตลาด รัฐ และทุน" โดยสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
(ที่มา http://prachatai.org/journal/2017/06/72102?utm_source=dlvr.it)

ผมตีความว่ามุมมองแบบนี้คือส่วนขยายของ "ทฤษฎี 2 นคราประชาธิปไตย" ที่ว่าคนต่างจังหวัด คนชนบทตั้งรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล ตอนนี้ก็ขยายมาเป็นเลือกตั้งกี่ครั้งฝ่ายเสื้อแดงก็ชนะเพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ฝ่ายเสื้อเหลืองมีแต่แพ้ เพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย

คีย์เวิร์ดอยู่ที่ข้อความว่า "ถ้าเสียงข้างมากไปใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกลายเป็นทรราชเสียงข้างมาก คนที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ในระบบก็จะหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ" ข้อความนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับวาทกรรมทางการเมืองที่สร้างความเชื่อว่ามี "ทรราชเสียงข้างมาก" และประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเลือกรัฐบาลที่ต่อมากลายเป็นทราชเสียงข้างมาก ก็ยินดีกับการเป็นทรราชเสียงข้างมากด้วย หรือไม่สามารถมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง และไม่ตรวจสอบ หรือไม่ต่อต้านอำนาจทรราชนั้นเลย จึงจำเป็นที่อีกฝ่ายต้องหันไปใช้วิธีล้มโต๊ะ

ผมไม่ได้ปกป้องทักษิณหรือพรรคเพื่อไทย และยังเห็นว่าพวกเขาทำสิ่งที่เป็นปัญหาหลายอย่าง ตามที่วิจารณ์กัน ตั้งแต่เรื่องฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรณีกรือเซะ ตากใบ มีข้อบกพร่องในโครงการรับจำนำข้าว เรื่อยมาถึงแทนที่จะนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองระดับชาวบ้าน กลับจะออกกฎหมาย "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" เป็นต้น

แต่ถ้าทั้งหมดนั้นอาจารย์สมเกียรติหรือฝ่ายเสื้อเหลืองจะเรียกว่า "ทรราชเสียงข้างมาก" แล้วจะเรียกรัฐบาล คสช.ว่าอะไร เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจาก "การใช้วิธีล้มโต๊ะ" ที่ไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบในสภา และประชาชนก็ไม่มีเสรีภาพตรวจสอบ แต่ทำโครงการใหญ่ๆ ใช้งบประมาณมหาศาลกว่ารัฐบาลที่เรียกกันว่าทรราชเสียงข้างมากและออกกฎหมายอื่นๆ ทำสิ่งอื่นๆ มากกว่าอีกหลายเท่า

คำถามคือ มันมีการสร้างมายาคติ "ทรราชเสียงข้างมาก" ไหม? เหมือนกับการสร้างมายาคติเรื่อง "ความโปร่งใส ตรวจสอบได้" ที่เป็นวาทกรรมสงวนไว้ใช้กับนักการเมืองเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้กับรัฐบาลที่มาจากวิธีการล้มโต๊ะที่พวกตนสนับสนุน (ขณะที่เคยกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่ตรวจสอบรัฐบาลทรราชเสียงข้างมากที่พวกตนเลือกมา)

ย้อนไปประเด็น "เลือกตั้งเมื่อไรฝ่ายเสื้อแดงก็ชนะ" คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? ข้อเท็จจริงก็คือการเลือกตั้งเป็นเวทีต่อรองทางการเมืองเวทีเดียวที่เป็นรูปธรรมที่สุดของคนต่างจังหวัด คนชนบท ขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองมีเครื่องมือต่อรองอื่นๆ ที่เหนือกว่าเช่น สื่อมวลชน เวทีวิชาการ สถาบันวิชาการ (อย่างทีดีอาร์ไอเป็นต้น) กองทัพ ศาลรัฐธรรมนูญและอื่นๆ ฉะนั้น การเกิดปรากฏการณ์เสื้อแดงที่ "ยึดการเลือกตั้ง" เป็นเวทีต่อสู้ต่อรองทางการเมืองมันก็คือผลสะท้อนจากการที่คนต่างจังหวัด คนชนบทมีเวที/เครื่องมือ/อำนาจต่อรองน้อยกว่ามายาวนานนั่นเอง

ขณะที่คนเสื้อเหลืองที่อาจารย์สมเกียรติบอกว่าเป็น "เสียงข้างน้อย" นั้น เป็นเสียงข้างน้อยที่ผูกโยงกับอำนาจรัฐราชการใช่หรือไม่ และมีอำนาจต่อรองทางการเมืองเหนือกว่ามาตลอดใช่หรือไม่ เช่นอำนาจต่อรองผ่านช่องทางสื่อ เวทีวิชาการ สถาบันวิชาการ เวทีการเมืองบนท้องถนนในกรุงเทพฯ และยังอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือต่อรองได้อีกด้วย (ซึ่งคนชนบท คนต่างจังหวัดไม่มีปัญญาใช้เครื่องมือต่อรองทางการเมืองที่ทรง "ประสิทธิภาพชั้นเทพ" นี้ได้เลย)

ก่อนรัฐประหาร 2549 พรรคไทยรักไทย (ขณะนั้น) เสื่อมความนิยมลงมากแล้วจากการเปิดโปงของ พธม.แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร จึงเกิดคนเสื้อแดง และยิ่งเกิดการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ยิ่งเกิดกระแสคนเหนือ คนอีสานเลือกพรรคการเมืองพรรคเดียว ขณะที่ภาคใต้เขาเลือกพรรคการเมืองพรรคเดียวมาก่อนหน้านานมากแล้ว

คำถามคือ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอให้ใช้มาตรา 7 ไม่ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ไม่มีการสลายการชุมนุมที่มีคนตายร่วม 100 คน แต่ผู้สั่งการไม่มีความผิด และไม่มีแกนนำพรรคมาเป็นแกนนำ กปปส.จนทำให้เกิดการล้มเลือกตั้ง (เป็นต้น) มันจะเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าเลือกตั้งทีไรคนเสื้อแดงก็ชนะ

พูดตรงๆ คือ ถ้าเสื้อเหลืองและพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์มี "จุดยืน" ที่ชัดเจนหนักแน่นว่า จะต่อสู้ผลักดันวาระทางการเมืองของพวกตนผ่าน "กระบวนการประชาธิปไตย" เท่านั้น มันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดสภาวะทางการเมืองแบบเสื้อแดงชนะเลือกตั้งตลอด

ยิ่งเมื่อลงลึกในรายละเอียด ก็ไม่ใช่การเมืองระหว่างมวลชนเหลือง-แดงที่เป็นพลังมวลชนอิสระ แต่เป็นมวลชนที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกกันว่าระบบอำนาจรัฐราชการอย่างซับซ้อน และดำเนินไปภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ระบบอำนาจรัฐราชการพยายามดึงอำนาจจากประชาชนมาไว้ที่พวกตนเองมากขึ้นโดยลำดับ (อย่างที่นักวิชาการอื่นๆ วิเคราะห์) เวลาพูดถึง "ทรราช" จึงไม่ได้มีแต่ "ทรราชเสียงข้างมาก" ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ก็นั่นแหละการพูดถึงทรราชจากการเลือกตั้งย่อมถนัดปากนักวิชาการยุคนี้มากกว่า เพราะปลอดภัยดี

ส่วนประเด็นที่ว่า "กลุ่มปัญญาชนของทั้งสองฝ่าย มักมีถ้อยคำเหน็บแนมกระทบกระแทกคนอีกฝั่ง" นี่ก็คล้ายกับข้อวิจารณ์ว่านักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยทำตัวเป็น "เจ้าสำนักเฟซบุ๊ก" และ "สำนึกหายไป" นั่นแหละ

เป็นข้อวิจารณ์ที่ไม่ดูบริบทและความซับซ้อนของปัญหา ละเลยหรือมองข้ามปัญญาชนที่มีส่วนสนับสนุน "วิธีการล้มโต๊ะ" ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ไม่พูดถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักวิชาการ สื่อจำนวนมากที่เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐบาลจากรัฐประหาร เป็นเนติบริกร รัฐศาสตร์บริกรเต็มไปหมด ขณะที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐทั้งวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย และใช้นักวิชาการฝ่ายตนเสนอความเห็นผ่านสื่อกระแสหลักได้ทุกช่องตลอดเวลา คุกคาม ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแม้กระทั่งทางเฟซบุ๊กตลอดเวลา สภาพการณ์ทั้งหมดมันคือเงื่อนไขให้เกิดปรากฏการณ์อย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุลและอาจารย์สมเกียรติวิจารณ์นั่นแหละ

แต่ว่าตามจริง โลกของเฟซบุ๊กก็ไม่ได้เป็นแค่ที่วิจารณ์กันดอก ยังมีการสร้างความรู้ ความคิดที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ตาสว่าง" ในเรื่อง "ปัญหาแกนกลาง" มาก่อนที่ปัญญาชนผู้นำทางความคิดนำมาพูดถึงในปาฐกถาเสียอีก

สำหรับผม การแซะหรือกระแทกกันระหว่างปัญญาชนเหลือง-แดง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เป็นอุปสรรคของการกลับไปสู่ประชาธิปไตย เพราะเรื่องแซะหรือกระแทกกันในแวดวงปัญญาชนก็ไม่ได้มีแต่ยุคนี้ ถ้าจะหา "จุดร่วม" ต้องเริ่มจากทุกฝ่ายแสดง "จุดยืน" ปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

พูดอย่างซีเรียสคือ ถ้าประเทศนี้มี "ปัญญาชน" อยู่จริง ย่อมจะเกิดพลังปัญญาชนสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยได้ ด้วยการที่ปัญญาชนเหลือง-แดง หรือฝ่ายเป็นกลาง หรือปัญญาชนของสถาบันวิชาการต่างๆ อย่างเช่นทีดีอาร์ไอเป็นต้น ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิดอย่างไผ่ ดาวดิน และคนระดับชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ถูกขังลืม

ถ้าปัญญาชนในประเทศนี้ช่วยกันพูด ช่วยกันเขียน หรือรวมกลุ่มแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิเสรีภาพของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือใครก็ตามที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือถ้าปัญญาชนทุกฝ่ายหรือที่ไม่เลือกฝ่ายร่วมกันส่งเสียงปฏิเสธการละเมิดสิทธิเสรีภาพจากอำนาจรัฐ และยืนยันวิถีทางประชาธิปไตยเป็นทางออกกันอย่างพร้อมเพรียงจริงๆ ก็ยังพอมีหวังครับ

แต่เท่าที่เห็น ปัญญาชนแถวหน้าที่นานๆ ทีจึงจะออกมาเทศนา ก็ไม่เคยพูดคำว่า #ปล่อยสมยศ #ปล่อยไผ่ เลยสักแอะ และแทบจะไม่เคยเห็นออกมายืนหยัดปกป้องเสรีภาพของคนทุกสี ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเท่าที่ควรจะเป็น นี่ไม่ใช่ "แซะ" นะครับ แต่พูดความจริง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การต่อสู้แย่งชิงอำนาจนำจากชนชั้นนำภาครัฐ ตามแนวทาง อันโตนิโอ กรัมชี่

Posted: 29 Jun 2017 07:58 AM PDT

                                                                     

"...สภาวะปัจจุบัน มีการปะทะกันรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
......หวังว่าการปะทะกันระหว่างพลังเก่าและพลังใหม่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย...."

รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด,23 มิ.ย.2560

จากการปาฐกถาของ รศ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่กล่าวว่า การเมือง การปกครองของไทย ตกอยู่ในอำนาจนำของชนชั้นนำภาครัฐ ( หรือที่ "ใบตองแห้ง" เคยให้คำจำกัดความกับคำว่า " Deep State " ของ เออ เชนี เมริโอ ว่า"รัฐพันลึก" และ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี๊ด มักจะเรียกกลุ่มนี้ว่า "กลุ่มพลังเก่า"  )

นอกจากนี้ รศ.ดร.เสกสรรค์ยังทำนายการเมืองล่วงหน้าอีกว่า "ประเทศไทยจะตกอยู่ใต้อำนาจนำของกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐนี้ อีกถึง 9 – 10 ปีเป็นอย่างน้อย" ซึ่งจากการทำนายประเด็นนี้เอง ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ สั่นสะเทือนต่อผู้สนใจการเมืองไทย ชนิดที่ว่าเกิด อาฟเตอร์ช๊อค ติดตามมาอีกหลายระลอกทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน แต่หากพิจารณาถึงปัจจัยหลักที่ รศ.ดร.เสกสรรค์ นำมาวิเคราะห์ฟันธงก็คือ การที่กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐได้อาศัยวางกฎเกณฑ์ เงื่อนไขการสืบทอดอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว ก็เชื่อว่าทุกท่านก็คงเห็นคล้อยตามเช่นเดียวกับ รศ.ดร.เสกสรรค์ ส่วนผู้เขียนก็คงไม่วิพากษ์ถึงความเห็นของ รศ.ดร.เสกสรรค์ แต่ผู้เขียนสนใจว่า หากกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐครองอำนาจนำยาวนานเช่นนั้นจริง กลุ่มพลังประชาธิปไตย (กลุ่มพลังใหม่) จะกำหนดแนวทางการต่อสู้กับ " กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ"(พลังเก่า)นี้อย่างไร

รศ.ดร.เสกสรรค์ ได้ใช้คำว่า "อำนาจนำ" ( Hegemony) ซึ่งเป็นคำที่มาจากเจ้าทฤษฎีที่ชื่อ"อันโตนิโอ กรัมชี่" ดังนั้นผู้เขียนจึงใคร่จะนำแนวทางของกรัมชี่ มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์กว้างๆ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้ของกลุ่มพลังประชาธิปไตย(พลังใหม่) กับกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐดู เผื่อผู้อ่านจะได้มีความหวังอยู่ที่ปลายอุโมงค์บ้าง

แนวคิดของกรัมชี่นั้น ต่อยอดมาจากแนวคิดของมาร์กซ์ โดยกรัมชี่ได้เสนอแยกโครงสร้างส่วนบนออกเป็นสองพื้นที่ คือพื้นที่ civil society กับพื้นที่ political society  โดยโครงสร้างส่วนบนสองพื้นที่นี้เกี่ยวข้องกันในการทำภารกิจครอบงำสังคม(พื้นที่สังคมอุดมการณ์) และการควบคุมกำกับโดยตรง (พื้นที่สังคมการเมือง) โดยใช้อำนาจรัฐ  ประเด็นหลักคือกรัมชี่นั้นเห็นต่างจากมาร์กซ์ เรื่องความขัดแย้งว่าไม่ใช่โครงสร้างพื้นฐานส่วนล่างที่จะก่อให้เกิดการขัดแย้งอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐตามที่มาร์กซ์เสนอ แต่เป็นโครงสร้างส่วนบนต่างหากที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจครอบงำของพื้นที่อุดมการณ์ (civil society) หลักของชนชั้นนำทางสังคมที่มีต่อส่วนต่างๆของสังคม และเห็นว่าการใช้กำลังอำนาจบังคับในพื้นที่สังคมการเมือง (political society) โดยอาศัยกลไกของรัฐนั้น หาใช่เป็นการทำให้เกิดการยอมรับจากฝ่ายที่ถูกปกครองไม่ ดังนั้นทั้งแนวคิดหรือจิตสำนึกในการอธิบายความเป็นไปของสังคม ซึ่งชนชั้นปกครองเป็นฝ่ายกำหนดจิตสำนึกนี้ จนกลายเป็นสามัญสำนึกของมวลชนเป็นปรัชญาของมวลชน ทำให้เกิดการยอมรับระบบศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและพฤติกรรมสังคม และกรัมชี่เห็นว่าโครงสร้างส่วนบนนี้เป็นปัจจัยสำคัญเป็นสิ่งที่มีพลวัตผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ได้มากกว่าโครงสร้างส่วนล่าง ดังนั้นกรัมชี่ จึงเห็นว่าอำนาจของจิตสำนึกและอุดมการณ์นั้นเป็นจุดสำคัญในการทำความเข้าใจกับการมีอำนาจครอบงำหรืออำนาจนำ (hegemony) เพราะอำนาจนำนี้ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ยอมรับด้วยความเต็มใจ และสมัครใจ มิใช่เพียงเพราะการถูกบังคับ (ชัยอนันต์ สมุทวณิช,รัฐ,2552,หน้า 61-62) กล่าวโดยสรุปการจะครองอำนาจนำได้นั้น จะต้องสามารถควบคุม "โครงสร้างอำนาจประวัติศาสตร์" กล่าวคือ การมีอำนาจนำต่อ ความสามารถทางความมั่นคงและเศรษฐกิจและมีอำนาจเชิงอุดมการณ์หรืออำนาจนำทางความคิด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตและพลังสังคม

กลุ่มพลังสังคม พอจะแยกได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มพลังสังคมชนชั้นปกครอง หรืออาจเรียกได้ว่า กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ (กลุ่มพลังเก่า/กลุ่มรัฐพันลึก) และกลุ่มพลังสังคมผู้ถูกกดขี่หรือกลุ่มพลังประชาธิปไตย/กลุ่มพลังใหม่ ทั้งสองกลุ่มต่างท้าทาย  เพื่อแย่งชิงการสร้างดุลยภาพอำนาจ ในการครองอำนาจนำรัฐ ปัจจุบัน กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐพยายามสร้างอำนาจนำระดับสูงสุด อันเป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน และกีดกันกลุ่มพลังประชาธิปไตยออกจากการมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยใช้กลไกรัฐ ในพื้นที่สังคมการเมือง (political society) จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนนี่แหละที่จะทำให้เกิดการกดขี่ทางชนชั้น จนเกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้

สองสงครามใหญ่ของกลุ่มพลังประชาธิปไตย สงครามแรกคือ War of Position อันหมายถึงสงครามยึดพื้นที่สังคมการเมือง (political society) สงครามนี้กลุ่มพลังเก่าได้วางกฎเกณฑ์ อย่างรัดกุมเพื่อป้องกันการกลับมาของกลุ่มพลังประชาธิปไตยโดยเฉพาะ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ฉะนั้นเพียงพรรคเพื่อไทยที่ประกาศตัวเป็นหัวหอกของพลังประชาธิปไตย คงยังไม่เพียงพอต่อการชนะศึกครั้งนี้ แต่จะต้องอาศัย ปัญญาชนอินทรีย์(Organic Intellectual) กลุ่มพลังสังคมประชาธิปไตยอื่น ที่อาจไม่ใช่นักการเมืองดั้งเดิมมาก่อน อาจจะเป็น กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มสายอาชีพ กลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นต่างๆ ต้องกระโดด เข้ามาสู่สงครามเลือกตั้งครั้งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อาจจะเป็นกลุ่มที่อาสาเข้ามารักษานโยบายสำคัญที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นกลุ่มพิทักษ์นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นต้น เพื่อแย่งชิงเป็นตัวแทนฝั่งพลังประชาธิปไตยในระบบบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2560 

สงครามที่สอง คือ  War of Movement หรือสงครามเพื่อยึดพื้นที่สังคมอุดมการณ์ ความคิด (civil society) สงครามนี้นอกจากจะต้องใช้ ปัญญาชนอินทรีย์ (Organic Intellectaul) จำนวนมากทุกกลุ่ม ทุกหมู่เหล่า และต้องอาศัยปัญญาชนอินทรีย์หรือปัญญาชนจัดตั้งนี้อย่างมาก และปัญญาชนนี้จะต้องมีต้นทุนทางสังคมสูง และค่อนข้างจะเป็นกลางทางการเมือง เช่นนักรัฐศาสตร์อย่าง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักนิติศาสตร์อย่าง ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สื่อมวลชนอย่าง สำนักข่าวอิศรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำสงครามใน Social media ฯลฯ และต้องไม่ใช่บุคคลลักษณะขาประจำ แต่เป็นบุคคลที่เมื่อออกมาแสดงความคิดเห็นแล้วทรงอิทธิพลต่อสังคมในวงกว้าง โดยปัญญาชนเหล่านี้จะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สอดแทรกความคิดอุดมการณ์ ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีกลยุทธ์ในการสร้างวาทกรรมทางการเมืองขึ้นมา เพื่อช่วงชิงอำนาจนำในพื้นที่สังคมอุดมการณ์ให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองให้กลุ่มพลังประชาธิปไตยในที่สุด ดังนั้นปัญญาชนชุดนี้จะต้องไม่ผลุบๆโผล่ๆแต่ต้องมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ โดยขยายฐานการต่อสู้ทางชนชั้นและสร้างแนวร่วมประชาชนที่มีจากผู้คนในกลุ่มต่างๆให้มากที่สุด

ความสามารถทางเศรษฐกิจ (การผลิต) นับเป็นจุดอ่อนสุดของ กลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ เพราะความสามารถด้านนี้รัฐจะต้องปรับตัวตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของทุนนิยมโลก อันหมายถึงพลังภายนอก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งของไทยที่ผ่านมา พลังภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องมาโดยตลอด ปัจจุบันกลุ่มชนชั้นนำภาครัฐ ศ.ดร.สรชาติ บำรุงสุข ก็ได้สรุปชัดเจนเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า "ไทยได้ถูกปฏิเสธจากทุนนิยมโลกแล้วอย่างชัดเจน โดยจำเป็นต้องหันเข้าไปพึ่งพาจีน อันเป็นเดินตามรอยรัฐเมียนม่าร์เมื่อปี 2531 " ซึ่งก็เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ไทยภายใต้การนำของชนชั้นนำภาครัฐไม่สามารถเชื่อมต่อกับทุนนิยมโลกได้ ซึ่งก็เป็นข้อได้เปรียบของกลุ่มพลังประชาธิปไตย

ดังนั้นแม้กลุ่มพลังประชาธิปไตย จะไม่ชนะการเลือกตั้ง เพื่อเข้าสู่พื้นที่สังคมการเมือง แต่กลุ่มพลังประชาธิปไตยหลายๆกลุ่มที่โดดเข้าสู่พื้นที่สังคมการเมืองมากๆ ก็จะส่งผลต่อชัยชนะเด็ดขาดของกลุ่มพลังเก่า ยิ่งสามารถเข้ายึดกุมพื้นที่ ความคิด อุดมการณ์ได้ และพยายามเชื่อมต่อพลังภายนอก (ทุนนิยมโลก) ให้ได้ เชื่อว่าระยะยาวก็จะเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเพราะกลุ่มพลังเก่าย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของตนและกดขี่ประชาชนที่เห็นต่างมากขึ้น เมื่อนั้นไตรภาคีอำนาจ (ศักดิภัท เชาวน์ลักษณ์สกุล,ปรองดอง,2560) ระหว่างพลังเก่า พลังใหม่และพลังภายนอก เกิดความสัมพันธ์ไม่ลงตัว ทำให้ขาดดุลยภาพพลังทางสังคมขึ้น......ฤาการปะทะกันระหว่างพลังเก่าและพลังใหม่ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย.
         
    
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Me-Pride: ภูมิใจในความเป็นแอลจีบีที

Posted: 29 Jun 2017 07:01 AM PDT

ไพรด์ ( Pride ) ไม่ใช่คำภาษาไทย  แต่พักหลัง ๆ มา ดูเหมือนว่าคำ ๆ นี้กำลังใกล้ที่จะเป็นคำในภาษาไทยเข้าไปทุกที โดยเฉพาะในวงการ LGBTIQ ซึ่งก็ไม่ใช่คำภาษาไทยอีก ( และก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นคำในภาษาไทยอีกไม่นาน )

ไพรด์ แปลเป็นไทยว่า "ความภาคภูมิใจ " 

ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีเรามักจะได้ยินคำนี้บ่อยเป็นพิเศษในบริบทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTIQ ( แอลจีบีทีไอคิว เป็นคำย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษเต็ม ๆ ว่า Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, intersex, Queer หรือ เลสเบี้ยน,เกย์,ทรานสเจนเดอร์,อินเตอร์เซ็กส์ และเควียร์ แปลจากภาษาไทยที่ทับศัทพ์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอีกทีว่า หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลข้ามเพศ บุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม และ เควียร์ คำสุดท้ายแปลไม่ได้ ไม่มีคำศัพท์ มีแต่คำอธิบายว่าหมายถึง บุคคลที่ไม่ต้องการนิยามตนเองว่ามีเพศภาวะ เพศวิถีแบบใดแบบหนึ่ง เพราะเชื่อว่าเรื่องเพศวิถี และเพศภาวะ เป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอด )

ทำไมเราถึงได้ยินคำว่า "ไพรด์" บ่อย ๆ ในเดือนมิถุนายน เพราะ เดือนนี้เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์แอลจีบีทีไอคิวตะวันตก เนื่องจากเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ตำรวจเมืองนิวยอร์คบุกเข้าไปในบาร์ของโรงแรมชื่อสโตนวอลล์ในย่านกรีนิช  วิลเลจ ของเมืองนิวยอร์ค  ซึ่งเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของ แอลจีบีที และได้เกิดการปะทะกันขึ้น โดยตำรวจได้ทำร้ายแอลจีบีทีที่อยู่ในบาร์หลายคนในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2512 และนับจากนั้นเป็นต้นมาในเดือนมิถุนายนของทุก ๆ  ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาและเมืองใหญ่ ๆ หลายเมืองทั่วโลก จะมีการจัดงานเดินขบวนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่แอลจีบีทีไอคิวถูกทำร้ายในครั้งนั้น  และเฉลิมฉลองอย่างภาคภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีไอคิว เพื่อต่อสู้กับอคติและความรังเกียจกีดกันการไม่ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแอลจีบีทีที่ยังมีอยู่ในสังคมทุก ๆ สังคม

อันที่จริงในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แอลจีบีทีในยุโรป อาจจะเน้นไปที่จี ( เกย์ ) มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ก็โดนจับเข้าค่ายกักกันของนาซีและถูกสังหาร เช่นเดียวกับชาวยิว ที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และโดยติดป้ายสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพู เพื่อจัดประเภท แต่เรื่องราวของการทรมานและสังหารเกย์ในสงครามโลกครั้งที่สองอาจได้รับการรับรู้น้อยกว่าเหตุการณ์สโตนวอลล์ แต่ก็สรุปได้ว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้ล้วนเป็นเหตุการ์ในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชัง การเหยียดหยาม การทำร้ายแอลจีบีทีจนถึงชีวิต และความเกลียดชังรังเกียจการทำร้ายเหล่านี้ก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างที่เราจะได้ยินข่าวบ่อย ๆ อย่างในกรณีนโยบายที่กีดกัน ไม่ยอมรับแอลจีบีทีในรัสเซีย หรือเชชเนีย จึงไม่น่าแปลกใจที่แอลจีบีทีในตะวันตก จะ "รู้สึก" มากขนาดไหนกับคำว่า "ไพร์ด" หรือ รู้สึก "ภาคภูมิใจ"ใน "ความเป็นแอลจีบีที" และภูมิใจใน "การต่อสู้เพื่อสิทธิของแอลจีบีที"

ที่ผ่านมาในเมืองไทยก็มีการจัดงาน "ไพรด์" มาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการจัดในปี พ.ศ. 2542 ที่กรุงเทพ ฯ ( ห่างจากไพร์ดในอเมริกาถึง  30 ปีกันเลยทีเดียว ) อย่างไรก็ตามดูเหมือนงานไพร์ดของไทยแต่ละครั้งที่ผ่านมาอาจไม่ได้จัดตรงกับเดือนมิถุนายน  เพราะหลาย ๆ ครั้ง มักจะไปอิงกับงานรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์บ้าง เพราะภาพของบุคคลรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะชายรักชาย หรือชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง บวกกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิของชายรักชาย และสาวประเภทสองหลายองค์กร เป็นองค์กรที่ทำงานในประเด็นสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานด้านการป้องกันเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายโดยตรง ทำให้แทบทุกครั้ง "เนื้อหา" หรือ "แนวคิดหลัก" ของการจัดงานจะต้องมีการรณรงค์เรื่องการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเสมอ งานไพร์ดหลายครั้งจึงมักไปจัดในช่วงเดือนธันวาคม เนื่องจากวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก นอกจากนี้ในช่วงหลัง ๆ ขบวนการแอลจีบีทีก็ยังมีวาระให้จัดงานเฉลิมฉลองวันสีรุ้งอีกหลายครั้ง ทั้งวันที่ 29 พฤศจิกายน หรือวันที่เครือข่ายความหลากหลายทางเพศได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกรณีการต่อสู้เรื่องการเปลี่ยนคำที่ระบุในเอกสารสด. 43 และวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันรณรงค์สากลแห่งการขจัดความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน

จากประสบการณ์ส่วนตัว ฉันเคยเข้าร่วมงานไพร์ดอยู่หลายครั้ง ( จำไม่ได้ว่ากี่ครั้ง ) เคยแม้กระทั่งร่วมประชุมเตรียมงานในบางปี ในฐานะตัวแทนองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิของบุคคลรักเพศเดียวกัน   และเคยมีโอกาสเข้าร่วมงานไพร์ดในต่างประเทศอยู่ 2 ครั้ง เมื่อนานมาแล้ว ครั้งหนึ่งคือที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งงงานไพร์ดในครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจ ในวันครอบรอบที่ฟิลิปปินส์ประกาศอิสรภาพจากการเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาครบรอบร้อยปีพอดีด้วย และที่อัมสเตอร์ดัม ในปีที่อัมสเตอร์ดัมเป็นเจ้าภาพจัดงานเกย์เกมส์พอดีอีกเหมือนกัน 

วัดจากความรู้สึกของตัวเอง ในบรรดางานไพร์ด ที่เคยไปร่วมมาทั้งหมด  มีแค่ไม่กี่ครั้งที่ฉันในฐานะแอลจีบีทีคนหนึ่ง และนักกิจกรรมคนหนึงรู้สึก "ภูมิใจ" หรือ "อิน" กับบรรยากาศแห่งความภาคภูมิใจนี้จริง ๆ

งานไพร์ดที่ฉันรู้สึก "อิน" คืองานไพร์ดที่อัมสเตอร์ดัม และที่เชียงใหม่เนื่องในวาระวันรำลึกถึงเหตุการณ์ "เสาร์ซาวเอ็ด"หรือเหตุการณ์ที่กลุ่มการเมืองมาเฟียมาหาเรื่องปิดล้อมขบวนพาเหรดรณรงค์ของแอลจีบีทีที่พุทธสถานกลางเมืองเชียงใหม่ เพราะอ้างว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นองค์กรแอลจีบีทีก็เคยจัดงานรณรงค์ต่อต้านเอชไอวีมาแล้วหลายครั้ง 

ในฐานะแอลจีบีทีคนหนึ่ง แน่นอนว่า ฉันชัดเจนยอมรับและรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็นเสมอ และก็ในฐานะแอลจีบีทีคนเดียวกันนี้นี่แหละ ฉันกลับไม่รู้สึกว่า ฉันภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของงานไพร์ดในประเทศไทยหลาย ๆ ครั้ง

ก็แปลกดี ที่อัมสเตอร์ดัม ฉันเป็นแค่คนดู เหมือนคนอื่น ๆ  ท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนานครื้นเครง อบอุ่น  ทุก ๆ คนพากันมาจับจองที่นั่งริมถนน ริมคลองเพื่อที่จะได้เห็นขบวนเรือสีรุ้งจากองค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ชัดมากที่สุด แม้จะฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ด้วยภาษาที่แตกต่าง แต่ก็สัมผัสได้ถึง ความตั้งใจ ความภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีที่เรือแต่ละลำสื่อออกมาผ่านการตกแต่งประดับประดา การแต่งตัว การแสดงโชว์บนเรือ หรือป้ายต่าง ๆ ที่ติดตามลำเรือ

ในขณะที่อยู่เมืองไทย ในบ้านของตัวเองแท้ ๆ  แถมยังอยู่ท่ามกลางคนรู้จัก คนกันเอง ที่สื่อสารด้วยภาษาของเราเองด้วยซ้ำ แต่ ฉันกลับรู้สึกแปลกแยก เพราะบรรยากาศรอบตัว คนบนถนน บนรถเมล์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดงานยังคงส่งสายตาที่เต็มไปด้วยคำถาม ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไร พวกนี้มาปิดถนนสีลมไปหนึ่งเลนให้รถติดเพื่ออะไร ทำไมมีผู้ชายแต่งตัวโป๊ ๆ มายืนเต้นบนรถ ฯลฯ พวกเขาไม่ได้ทั้งเข้าใจ และไม่ได้สนุกด้วย คนที่มาเดินในขบวนก็เช่นเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าจะมีสักกี่คนที่มาเดินด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อนหลายคนบอกว่า เดี๋ยวจะไปแอบ ๆ ยืนเชียร์อยู่ข้างถนนนะ เพราะถ้าไปเดินร่วมขบวน กลัวถูกถ่ายรูป ยังไม่ได้บอกที่บ้านว่าเป็นแอลจีบีที ส่วนน้อง ๆ หนุ่ม ๆ ที่ใส่ชุดเซ็กซี่หลายคนก็มาเพราะถูกเกณฑ์มา มาเดินโฆษณาให้กับบาร์ที่ตัวเองทำงาน

อยากรู้เหมือนกันว่าคำพูดที่ปรากฏอยู่บนป้ายผ้าหลากสีสันที่เราเขียนไปว่า เคารพในศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม ตัวตนของเรา คนที่เดินผ่านไปผ่านมา เขาจะเข้าใจกับเราไหมว่า ทำไมเราต้องพูด ทำไมเราต้องภูมิใจ  เราอยากได้รอยยิ้ม กำลังใจ เสียงเชียร์ เสียงปรบมือ  และเหนืออื่นใด เราอยากได้ "ความเข้าใจ"

แต่...นอกจากพวกเรากันเอง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางส่วนแล้ว เราไม่เคยแน่ใจว่า เราเคย...ได้ หรือได้รับในสิ่งเหล่านั้น แล้วพอวันรุ่งขึ้น เราก็จะเห็นภาพหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์กรอบเล็ก ๆ แค่เป็นภาพที่ดูมีสีสัน และรายงานว่า เมื่อวานมีการจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นที่นั่นที่นี่....เท่านี้จบ

ในขณะที่ขบวนพาเหรดในงานไพร์ดของไทย มีแต่น้อง ๆ เกย์ กะเทยที่ทำงานสถานบริการที่ถูกเจ้าของสถานบริการเกณฑ์มา กับนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแอลจีบีทีไม่กี่คนในประเทศไทยที่เปิดตัวได้ และกองเชียร์ที่ไม่อยากเปิดเผยตัวจำนวนหนึ่งซึ่งแฝงตัวเข้าไปปะปนกลืนไปกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา

มันทำให้ฉันนึกถึงงานไพร์ดที่อัมสเตอร์ดัมอีกครั้งว่า เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วนั้นขบวนพาเหรดของเขา มีทั้งขบวนเรือของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นแอลจีบีที เรือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีพนักงานเป็นเกย์ หรือสนับสนุนสิทธิของแอลจีบีที หลายขบวนพวกเขาก็นุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนกัน แต่พวกเขามาพร้อมกับ "สาร" ที่ต้องการจะสื่อถึงสิทธิและเสรีภาพ และมาด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีของตนเองอย่างเต็มที่  คนที่มาชม ต้องแย่งกันมาจับจองที่นั่ง แน่นขนัดทั้งสองฝั่งคลอง ทั้งริมคลอง และในบ้านในละแวกนั้น ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส คอยส่งเสียงปรบมือเชียร์ ให้กำลังใจเต็มที่ ฉันคิดผู้ชมทุกคนที่นี่ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแอลจีบีที แต่ทุกคนต้อนรับ และสนับสนุนแอลจีบีที จากปฏิกิริยาที่พวกเขาแสดงออกมา บรรยากาศของงานมันจึงอบอวลไปด้วยพลังงานบวก ๆ ด้วยรอยยิ้ม มิตรภาพ และกำลังใจ ที่มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ภูมิใจ และเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ฉันอยากเห็นงานไพร์ดที่กรุงเทพ เป็นแบบงานไพร์ดที่อัมสเตอร์ดัม งานไพร์ดที่ไม่ได้มีแค่องค์กรแอลจีบีที และธุรกิจของเกย์  งานไพร์ดที่ได้รับการสนับสนุน ได้รับความร่วมมืออย่างเข้าใจจากหน่วยงานต่าง ๆ  งานไพร์ดที่ใคร ๆ ก็อยากมาเข้าร่วม อยากมาเป็นสปอนเซอร์ เพื่อแสดงการสนับสนุน ให้กำลังใจกับบุคคลที่เป็นแอลจีบีที  งานไพร์ดที่ทุกคนทุกเพศภาวะทุกเพศวิถีและทุกวัยสามารถสัมผัสได้ เข้าถึงได้

งานไพร์ดแบบนั้นสิ ถึงจะเป็นงานไพร์ดที่จะทำให้คนที่เป็นแอลจีบีที รู้สึกภาคภูมิใจอย่างแท้จริง

แต่ก็เถอะ...ถึงวันนี้จะสังคมไทยจะยังไปไม่ถึง บริบทที่จะส่งเสริมให้เกิดงานไพร์ดแบบนั้น

ฉันก็ยังภาคภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็นอยู่ดี และฉันก็จะพยายามทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป เพื่อที่ว่าสักวัน....

"เธอ"  อาจจะอยากมาเดินโบกธงสีรุ้งในงานไพร์ดกับฉันด้วยความรู้สึก "ภาคภูมิใจ" ในความเป็นแอลจีบีทีของเธอ...

หรือภูมิใจในความเป็นแอลจีบีทีของ "ฉัน" ที่เป็นเพื่อน...เป็นพี่...เป็นน้อง...เป็นลูก...หรือเป็นพ่อแม่ของเธอ

หรือเป็น...ใครก็ได้ ที่เธออาจจะรู้จัก หรือไม่รู้จักในสังคม ๆ นี้....สังคมที่มีเราอยู่ด้วยกัน

เขียนถึง "ความภาคภูมิใจ ในวัน และเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ด้วยความภาคภูมิใจ"
       

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ธนารักษ์' แจง 'หอชมเมืองกทม.' เอกชนลงทุน 4.62 พันล้าน ดำเนินงาน 'ประชารัฐ' ไม่ต้องเปิดประมูล

Posted: 29 Jun 2017 06:25 AM PDT

อธิบดีกรมธนารักษ์ แจงแผนโครงการก่อสร้าง 'หอชมเมืองกรุงเทพฯ' ระบุเอกชนเป็นผู้ลงทุน 4.62 พันล้านบาท ชี้ไม่ใช่โครงการเชิงพาณิชย์ ดำเนินงาน 'ประชารัฐ' ร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงไม่ต้องเปิดประมูล  รมว.การคลัง ระบุเป็นที่ดินตาบอด ซึ่งใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มาก

29 มิ.ย. 2560 จากกรณี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติให้ยกเว้นโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ โดยไม่ใช้วิธีประมูลตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ

ล่าสุดวันนี้ (29 มิ.ย.60) อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินตาบอด ซึ่งใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้มาก แต่ทางมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความน่าสนใจ

"เราพิจารณาแล้วว่าโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดิน เพราะโครงการก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และหากมีการเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนมาพัฒนาพื้นที่ ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครสนใจหรือไม่ เนื่องจากมูลค่าโครงการที่ค่อนข้างสูง รวมทั้งไม่รู้ว่าทำแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่ และก็ไม่ได้มีการใช้เงินงบประมาณดำเนินการเลย โดยแผนการการก่อสร้างก็จะทำเป็นหอสูง ชั้นบนสุดจะเป็นโถงเพื่อจัดแสดงเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับศาสตร์ของพระราชา และพื้นที่ให้ความรู้ โดยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแนวคิดของพระราชา โดยทราบว่าจะมีการเก็บค่าเข้าชมด้วย" อภิศักดิ์ กล่าว

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระบวนการหลังจากนี้กรมธนารักษ์ จะต้องเร่งทำสัญญาเช่าที่ดินกับมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กระบวนการในการพัฒนาพื้นที่เดินหน้าต่อไปได้ สำหรับสาเหตุที่โครงการนี้ต้องเสนอเข้า PPP เพราะเป็นเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของรัฐ และมีวงเงินลงทุน 1-5 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของ PPP

ข่าวกรมธนารักษ์ รายงานว่า พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขอชี้แจงกรณีข้อวิจารณ์โครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ตามที่สื่อมวลชนและสื่อโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์ กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้โครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล ในประเด็นดังนี้ 

ประเด็นที่ 1 ที่มาและความจำเป็นของโครงการดังกล่าวมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด เหตุใดจึงต้องอนุมัติงบประมาณจำนวนมาก

คำชี้แจง 

ปี 2558 กรมธนารักษ์มีนโยบายจัดทำโครงการเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับประชาชนคนไทย บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 4 - 2 - 34 ไร่ 

ภาคเอกชน (บริษัทเอกชนและสถาบันการเงิน 50 องค์กร) มีความประสงค์ที่จะทำโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกรมธนารักษ์ โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างหอชมเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรวมใจของคนไทยทั้งประเทศ (The Unity Tower) มูลค่าโครงการ 4.62 พันล้านบาท 

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้โครงการนี้เป็นโครงการการตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ปรัชญาแห่ง "ศาสตร์พระราชา" ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเพื่อมุ่งเน้นที่จะน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ "ประชารัฐ" 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 และวันที่ 29 มีนาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเห็นชอบรูปแบบโครงการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรียกเว้นให้โครงการสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชน โดยไม่ต้องประมูล ตามประกาศคณะกรรมการฯ ข้อ 24 

เมื่อ 27 มิถุนายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเว้นให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล โดยเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง มูลค่า 4.62 พันล้านบาท ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล และโครงการของหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน 

ประเด็นที่ 2 ข้อมูลการก่อสร้างไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นของรัฐหรือหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งข้อมูลการนำเสนอข่าวของสื่อมีความคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบงบประมาณ 7.6 พันล้านบาท จากเดิมที่เสนองบประมาณเพียง 4.6 พันล้านบาท

คำชี้แจง 

เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง มูลค่า 4.62 พันล้านบาท 

ประเด็นที่ 3 การไม่ใช้วิธีประมูลงานเป็นการแสดงถึงความไม่โปร่งใสในการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทุจริตหรือเอื้อประโยชน์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

คำชี้แจง 

เนื่องจากโครงการมีลักษณะเชิงสังคมไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับ เป็นการดำเนินงานประชารัฐ ตามแนวนโยบายประชารัฐที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล อันจะสามารถสนับสนุนการเผยแพร่ถึงการน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้ง จะเป็นสถานที่ ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคที่จะเป็น New Global Destination ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งผลเกื้อหนุนต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศและรายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล ซึ่งโครงการได้มีเงื่อนไข ให้มูลนิธิฯ จะวางข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะนำเงินดังกล่าวสนับสนุนโครงการและหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายของรัฐบาล "ไทยแลนด์ 4.0" โดยใช้เทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูงทั้งทางด้านการออกแบบ วิศวกรรมและการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงด้วยหลักการ Zero Discharge และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้นักเรียนนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมเรียนรู้ในขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูทูบปลดบล็อกหนัง 'จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่' แล้ว 'พลเมืองเน็ต' ชี้ปิดกั้นเพื่อไม่ให้ทำกิจกรรม

Posted: 29 Jun 2017 05:06 AM PDT

'ศูนย์ทนายสิทธิ' เผยยูทูบปลดบล็อกหนัง 'จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่' หลังเป็นข่าวทั้งในไทย-เทศ ขณะที่ 'พลเมืองเน็ต' ชี้เป็นการปิดกั้นเพื่อไม่ให้ทำกิจกรรม ไม่ใช่ที่ตัวเนื้อหา

29 มิ.ย. 2560 จากกรณีการปิดกั้นการเข้าถึงภาพยนตร์เรื่อง "จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่" (The Great Dictator) จากตำแหน่งที่เป็นประเทศไทย ในยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=B8DDvRbffeE พร้อมแจ้งข้อความว่า "เนื้อหานี้ไม่สามารถรับชมได้บนโดเมนของประเทศนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล" หลังจากเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันฉายและแชร์ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ในช่วงเวลา 19.00 ของวันที่ 24 มิ.ย. 60 เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 85 ปี การอภิวัฒน์สยาม

ล่าสุดวันนี้ (29 มิ.ย.60) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้แจ้งมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่าลิงก์ยูทูปที่ถูกบล็อกดังกล่าว สามารถเข้าถึงได้แล้ว ขณะที่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. รายงานเรื่องการที่ยูทูบปลดบล็อกลิงก์ดังกล่าวในประเทศไทยเช่นกัน ทั้งยังระบุว่าก่อนคลิปนี้จะถูกบล็อก มีผู้เข้าชมไม่มากนัก แต่ถึงวันที่ 27 มิ.ย. มีผู้คลิกเข้าไปดูคลิปดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 13,000 คลิก

ขณะเดียวกัน Global Voices สื่อที่ติดตามการเซ็นเซอร์บนโลกออนโลน์และสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกในประเทศต่างๆ ก็นำเรื่องนี้ไปรายงานว่ายูทูบได้ยินยอมบล็อกคลิปภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1940 เรื่องนี้ ตามข้อร้องเรียนของรัฐบาลไทย แม้ต่อมาจะมีการปลดบล็อกลิงก์ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ทำให้มีผู้คลิกเข้าชมจำนวนมาก และกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสื่อไทย

สำหรับ The Great Dictator (จอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป็นภาพยนตร์อเมริกันปี ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) นำเสนอเนื้อหาล้อเลียนการปกครองของเผด็จการ โดยเฉพาะในช่วงระบอบการปกครองของนาซีที่กำลังมีบทบาทในการเมืองโลกในขณะนั้น ภาพยนตร์มีชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) ดาราภาพยนตร์ตลกชื่อดังนำแสดง

ลิงก์ยูทูบที่ถูกบล็อกดังกล่าวเป็นการตัดบางส่วนในช่วงท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ลงเผยแพร่ เป็นช่วงที่ชาร์ลี แชปลิน กล่าวถ้อยความปิดท้ายในลักษณะสุนทรพจน์ ความยาวคลิปทั้งหมด 3.46 นาที และมีการทำบทบรรยายภาษาไทยประกอบด้วย (ดูสุนทรพจน์ดังกล่าวที่แปลโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมหลายเล่ม) ขณะที่ลิงก์ภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้รูปแบบอื่นๆ ที่มีผู้นำลงในเว็บไซต์ยูทูปยังสามารถเข้าดูได้เป็นปกติ

'พลเมืองเน็ต' ชี้เป็นการปิดกั้นเพื่อไม่ให้ทำกิจกรรม ไม่ใช่ที่ตัวเนื้อหา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความเห็นของ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ต่อกรณีการปลดบล็อกลิงก์ภาพยนตร์ดังกล่าวของยูทูบนี้ ว่า ยิ่งแสดงให้เห็นว่ากรณีนี้การปิดกั้นไม่ใช่อยู่ที่ตัวเนื้อหา แต่เป็นการบล็อกเพราะไม่ต้องการให้เกิดการทำกิจกรรมตามที่ทางเครือข่ายนักวิชาการเชิญชวน โดยไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลไทยอ้างอาศัยอำนาจตามข้อกฎหมายใด และมีคำสั่งศาลในการขอปิดกั้นหน้าเว็บไซต์ส่งไปให้ยูทูปหรือไม่ แต่เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นการขอความร่วมมือไปยังยูทูป โดยไม่มีคำสั่งศาล

อาทิตย์ ระบุว่าแม้ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับปี 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา จะระบุเรื่องการให้เจ้าหน้าที่ต้องยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูล แต่ในมาตรา 15 ได้ระบุเรื่องการที่ผู้ให้บริการที่ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทําความผิด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิด แต่ให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลสามารถออกประกาศกําหนดขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรี ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

อาทิตย์เห็นว่ามาตราดังกล่าวได้เปิดช่องให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์โดยใช้วิธีการแจ้งเตือนไป และทำให้ผู้ให้บริการยินยอมปิดกั้นเอง โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล โดยขณะนี้ทางฝ่ายรัฐเองก็กำลังมีการจัดทำกฎหมายลูกของมาตรา 15 และ 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ และยังมีการเตรียมการจัดตั้งศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ ภายใต้กระทรวงดิจิทัล เพื่อคอยสอดส่องเว็บไซต์และผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สถานการณ์การปิดกั้นและสอดส่องบนโลกออนไลน์ของไทยขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ โดยต้องเป็น

(1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายอื่นซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ โดยในกรณีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยสหรัฐฯ อนุมัติขายแบล็คฮอล์คให้ไทยอีก 4 ลำ หลังชะงักช่วง คสช.เข้ามา

Posted: 29 Jun 2017 03:55 AM PDT

ผบ.ทบ.เผยสหรัฐฯ ได้อนุมัติขายเฮริลคอปเตอร์แบล็คฮอล์คให้ไทยอีก 4 เครื่อง วงเงินกว่า 300 ล้าน โดยที่ผ่านมา ทบ.มีเข้าประจำการแล้ว 12 เครื่อง และมาชะงักลงเมื่อช่วงที่ คสช. เข้ามา

 

29 มิ.ย. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุถึงการจัดซื้อเฮริลคอปเตอร์แบล็คฮอล์ค (UH-60M) ให้ครบ 1 ฝูงบิน และอาจมีการพูดคุยระหว่างพบปะกับ นายกฯไทย และ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า โครงการจัดหาแบล็คฮอล์คผ่านไปแล้ว เพราะในข้อเท็จจริงได้ดำเนินโครงการมานาน โดยกองทัพบกต้องการการจัดหาเฮริลคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวเพื่อดำเนินการทางยุทธวิธี 1ฝูงบิน จำนวน 16 เครื่อง เพื่อใช้เคลื่อนย้ายกำลังทหารราบทางอากาศ 1 กองร้อยไปสู่พื้นที่ปฏิบัติการ ที่ผ่านมา ทบ.มีเข้าประจำการแล้ว 12 เครื่อง และมาชะงักลงเมื่อช่วงที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้อนุมัติและดำเนินการผ่านขั้นตอนของสภาคองเกรสไปเมื่อเดือน ต.ค. – พ.ย.2559 ขายให้ไทยอีก 4 เครื่อง จึงเป็นไปตามที่ พล.อ.ประวิตร ที่ระบุว่าจะมีครบฝูง จำนวน 16 เครื่อง โดยเมื่อเดือน ก.พ.2560 ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ไปแล้ว ผูกพันงบประมาณ 60-62 ทั้งนี้การจัดหาเป็นไปตามโครงการช่วยเหลือทางทหารระหว่างไทย –สหรัฐฯ หรือ เอฟเอ็มเอส ซึ่งราคาใกล้เคียงกับที่เราจัดหามาก่อนหน้านี้ .

อย่างไรก็ตาม ผบ.ทบ.เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ มีการสาธิตปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน ของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ศตก.) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยไม่มีหลักฐานว่ากลุ่มก่อการร้ายจะเข้ามาก่อเหตุ แต่ก็ไม่ประมาท โดยมีการเตรียมพร้อมรับมือเช่นเดียวกับสากล เน้นย้ำงานด้านการข่าว มีการประสานข้อมูลกับต่างประเทศ

มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการจัดหา เฮริลคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในวงเงินกว่า 300 ล้านบาท (รวม 4 เครื่อง) โดยการอนุมัติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการชะลอโครงการไปช่วงหลังปี 2557 ที่มีการรัฐประหารของ คสช

 

ที่มา : ไทยโพสต์และสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับโจชัว หว่องและผู้ประท้วงก่อน 'สี จิ้นผิง' เหยียบแผ่นดินฮ่องกง

Posted: 29 Jun 2017 02:16 AM PDT

ผู้ประท้วงกว่า 30 รายรวมทั้งโจชัว หว่อง และนาธาน หลอ ถูกตำรวจฮ่องกงจับกุมตัว ก่อน 'สี จิ้นผิง' ผู้นำจีนจะเยือนฮ่องกงในวันนี้เพื่อร่วมงานฉลอง 20 ปีการส่งมอบฮ่องกง ด้านโจชัว หว่องระบุถูกควบคุมตัวมาค่อนวัน-แต่ตำรวจไม่ยอมสอบปากคำ คาดเตะถ่วงและกันท่าเพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวช่วง 'สี จิ้นผิง' เยือนฮ่องกง

ตำรวจฮ่องกงพยายามควบคุมตัวผู้ประท้วงเมื่อคืนวันที่ 28 มิถุนายน 2560 (ที่มา: Facebook/HKFP)

เฟสบุ๊กของโจชัว หว่อง เผยภาพของตำรวจฮ่องกงมาปิดล้อมบริเวณที่เขาประท้วงก่อนจับกุมตัวผู้ประท้วง (ที่มา: Joshua Wong Chifung)

 

29 มิ.ย. 2560 - เมื่อคืนวานนี้ (28 มิ.ย.) กลุ่มนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยฮ่องกงนำโดยโจชัว หว่อง ถูกตำรวจควบคุมตัวเหลังจัดชุมนุมต่อต้านจีนก่อนการเยือนของสี จิ้นผิง ผู้นำจีน

โจชัว หว่อง และผู้ประท้วงราว 30 คนนั่งประท้วงกินเวลา 3 ชั่วโมงที่ประติมากรรมดอกชงโคทองคำ ย่านฮาร์เบอร์ฟรอนท์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมตัวพวกเขาไป

ในการประท้วงพวกเขาตะโกนว่า "พวกเราเป็นชาวฮ่องกง" รวมทั้งคำขวัญ "การปฏิวัติร่มจงเจริญ" โดยเมื่อ 3 ปีก่อนในปี 2557 เยาวชนและประชาชนฮ่องกงซึ่งรวมทั้ง โจชัว หว่อง ด้วยออกมาชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย ซึ่งถูกเรียกว่า "การปฏิวัติร่ม" แต่อย่างไรก็ตามการประท้วงใหญ่ครั้งนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมชาวจีน หลิว เสี่ยวโป วัย 61 ปี ซึ่งในสัปดาห์นี้ เขาเพิ่งถูกส่งตัวจากเรือนจำไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาการป่วยมะเร็งตับขั้นสุดท้าย ทั้งนี้เขาเป็นนักเขียนและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ และถูกตัดสินจำคุก 11 ปี มาตั้งแต่ปี 2552 ในข้อหาบ่อนทำลาย เนื่องจากเขาเป็นหัวหอกล่ารายชื่อให้จีนปฏิรูปประชาธิปไตย

ทั้งนี้ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน สี จิ้นผิง เตรียมเยือนฮ่องกงในโอกาสครบรอบ 20 ปีที่จีนได้รับมอบฮ่องกงคืนจากสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกันก็ความกลัวว่ารัฐบาลปักกิ่งจะกระชับอำนาจควบคุมเขตบริหารพิเศษแห่งนี้มากขึ้น

สำหรับประติมากรรมดอกชงโคทองคำ เป็นประติมากรรมที่ได้รับมอบจากจีนเพื่อเป็นที่ระลึกการส่งมอบฮ่องกงกลับสู่จีน

ทั้งนี้ใน Facebook Live ของ HKFP ก่อนถูกจับกุม ผู้ประท้วงได้ปีนขึ้นไปอยู่บนส่วนยอดของประติมากรรมด้วย โดยตำรวจฮ่องกงได้เข้าเคลียร์พื้นที่ ปิดล้อมบริเวณประติมากรรม และควบคุมตัวผู้ประท้วงที่ละราย โดยส่วนมากถูกพาเดินออกไป แต่โจชัว หว่อง และสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง นาธาน หลอ ได้ล้มตัวลงนอนทำให้ตำรวจต้องอุ้มออกจากจุดดังกล่าว

พรรคเดโมสิทโธซึ่งเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตของฮ่องกง ระบุในแถลงการณ์ว่ามีนักกิจกรรมที่เป็นสมาชิกพรรค 8 ราย ในจำนวนนี้รวมทั้งโจชัว หว่อง และนาธาน หลอด้วย

ขณะที่ในเฟสบุ๊กของโจชัว หว่อง ซึ่งโพสต์เมื่อเวลา 14.12 น. ตามเวลาท้องถิ่น ระบุด้วยว่า ตำรวจควบคุมตัวเขามากินเวลา 17 ชั่วโมงแล้ว และยังไม่เริ่มการสอบปากคำเขาแต่อย่างใด และการควบคุมตัวเกิน 16 ชั่วโมงนับว่าผิดปกติอย่างยิ่ง ทั้งนี้เขาคาดว่าตำรวจจะควบคุมตัวเขาให้ได้ 48 ชั่วโมง และจะส่งตัวเขาขึ้นศาลในวันที่ 1 กรกฎาคม เพื่อกันท่าไม่ให้เขาไปประท้วงในช่วงเวลานั้น อย่างไรก็ตาม หากตำรวจไม่ยอมปล่อยตัวเขา เพื่อนนักกิจกรรมก็จะไปที่หน้าสถานีตำรวจเพื่อเรียกร้องการควบคุมตัวที่ไม่มีเหตุผลนี้

อนึ่ง สี จิ้นผิง จะเยือนฮ่องกงในวันพฤหัสบดีนี้ (29 มิ.ย.) โดยจะเป็นการเยือน 3 วันเพื่อฉลอง 20 ปีการส่งมอบฮ่องกง และร่วมพิธีสาบานตนของแครี หลำ ผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

ปัจจุบันฮ่องกงซึ่งอยู่ในสถานะเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกปกครองภายใต้ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ซึ่งยังคงยอมให้มีสิทธิเสรีภาพหลายอย่างซึ่งไม่มีในแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และระบบศาลที่เป็นอิสระ

อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่าจีนกำลังก้าวก่ายกิจการของฮ่องกงในหลายด้าน นับตั้งแต่การเมือง การศึกษา ไปจนถึงสื่อมวลชน ท้งนี้ความคับข้องใจที่เกิดขึ้น ทำให้นักรณรงค์รวมทั้งโจชัว หว่อง และนาธาน หลอ เรียกร้องสิทธิการกำหนดอนาคตของฮ่องกง ขณะที่นักกิจกรรมอื่นๆ ก็เรียกร้องให้แยกตัวออกจากจีน

สำหรับประติมากรรมดอกชงโคทองคำ ที่โจชัว หว่อง และนักกิจกรรมมาประท้วงนั้น อยู่ภายนอกศูนย์ประชุมที่สี จิ้นผิง จะมาร่วมงาน รวมทั้งอยู่ในบริเวณโรงแรมที่สี จิ้นผิงจะมาพักด้วย โดยก่อนหน้านี้ผู้ประท้วงหลายราย รวมทั้งโจชัว หว่องด้วยได้มาแขวนธงสีดำที่ประติมากรรมแล้วตั้งแต่เช้าวันจันทร์เพื่อประท้วงต่อต้านจีน ก่อนที่ตำรวจจะเก็บธงดังกล่าวออก

แปลและเรียบเรียงจาก

Hong Kong activist Joshua Wong detained by police before Xi visit, The Guardian, 29 June 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.แจง 'สัญญาประชาคม' ไม่ใช่ ก.ม.หรือให้คนมาจับมือกัน แค่ให้รัฐเอา 10 เรื่องไปทำ

Posted: 29 Jun 2017 01:35 AM PDT

คาดชงร่างสัญญาประชาคมเข้า ป.ย.ป.สัปดาห์หน้า ยันไม่ได้ให้คนมาจับมือกัน แต่รวมความเห็นร่วมกัน 10 ประเด็น ไม่ได้เป็นกฎหมาย แค่ให้รัฐไปทำในสิ่งที่ ปชช.ต้องการ ทบ.ตั้ง 12 ชุดวิทยากรปลุกจิตสำนึกรักชาติไทย ย้ำกองทัพประคับประคองบ้านเมืองไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป
แฟ้มภาพ

29 มิ.ย.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (29 มิ.ย.60) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคม ในพื้นที่ 4 กองทัพภาคว่า ในเรื่องการสร้างความปรองดอง คณะอนุกรรมการฯ ของตนได้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยส่งไปให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง จากนั้น พล.อ.ประวิตรก็จะส่งไปให้คณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหญ่พิจารณา คาดว่าจะกำหนดประชุมสัปดาห์หน้า และเมื่อ ป.ย.ป.อนุมัติร่างสัญญาประชาคมแล้ว จากนั้นจะไปจัดเวทีสาธารณะชี้แจงร่างสัญญาประชาคม โดยทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ทั้ง 4 กองทัพภาค จะเป็นผู้ดำเนินการ

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับร่างสัญญาประชาคมที่ตนดำเนินการนั้น ไม่ใช่ทำให้คนมาจับมือ ตกลงปรองดองกัน แต่เราไปรวบรวมความคิดประชาชนทั้ง 4 ภาค และกลุ่มต่างๆ นำข้อคิดเห็นมาเป็นข้อสรุป ประมาณ 200 กว่าประเด็น ตามที่ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ได้ชี้แจง โดยระบุว่ามีกรอบ 3 งาน คือ สิ่งที่ทำได้เลย สิ่งที่ต้องปฏิรูป และสิ่งใดที่ต้องเข้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นจึงเป็นความคิดเห็นร่วมกันของคนในชาติว่าเราจะเดินร่วมกันใน 10 ประเด็นว่าจะเดินอย่างนี้ แล้วแต่ละส่วนงานก็ดำเนินการไป
       
"สัญญาประชาคมเป็นสัญญาระหว่างคนไทยกับชาติไทย ไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องไปทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ส่วนจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคนจะทำให้เกิดผลหรือไม่เกิดผล มันไม่ใช่กฎหมายที่เห็นเป็นรูปธรรมบังคับว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ นี่คือความคิดเห็นของคนในชาติ ทางรัฐบาลก็เอาไปดู และเอาไปบริหารประเทศในแต่ละเรื่องตามกรอบที่เสนอ" พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

ตั้ง 12 ชุดวิทยากรปลุกจิตสำนึกรักชาติไทย

นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมชัย พร้อมด้วยนายทหารระดับสูงและกำลังพลภายในกองบัญชากองทัพบก รับชมบรรยายพิเศษเรื่อง "การปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติในระดับกองทัพบก" ณ หอประชุมกิตติขจร  ซึ่งเนื้อหาเป็นการบรรยายประกอบแสง สี เสียง เกี่ยวกับความเป็นมาของชาติไทย การเสียดินแดน 14 ครั้ง และความเสียสละของสถาบันพระมหากษัตริย์ 

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวภายหลังด้วยว่า ต้องยอมรับว่าในอดีตประเทศไทยเป็นสังคมที่อบอุ่น มีความรักความสามัคคี มีขนบธรรมเนียมประเพณี ยึดมั่นศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีประวัติศาสตร์ ที่น่าภาคภูมิใจ แต่สถานการณ์ปัจจุบัน บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น และต้องพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็รับวัฒนธรรมด้านตะวันตกเข้ามา จึงทำให้เกิดปัญมากมาย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง

"กองทัพบกพยายามสร้างความรัก ความสามัคคี โดยชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ การเสียสละของบรรพบุรุษ เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า เราจะร่วมกันนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ร่วมกันแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ทั้งนี้ ชุดวิทยากรทั้งหมดมี 12 ชุด โดยได้นำมาขยายผลให้กับทุกกองทัพภาคในการสร้างคนเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มต้นการปลูกจิตสำนึกข้าราชการใหม่ของหน่วย นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป หากสนใจและเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สามารถประสานได้ที่กรมกิจการพลเรือนกองทัพบก หรือกองทัพภาคต่างๆ โดยเป็นการบรรยาย 2 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุขสร้างความรักความสามัคคี" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

ย้ำกองทัพประคับประคองไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวถึงผลโพล ระบุประชาชนเกิน 50% เสนอให้มีการตั้งพรรคการเมือง สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ว่า เป็นความเห็นโดยรวมของโพล ตนขอไม่ออกความเห็น แต่ในภาพรวมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกองทัพ จะประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองให้เรียบร้อยเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งให้ได้ ในส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของประชาชนที่จะตัดสินใจ เมื่อเลือกตั้งแล้วว่ากันตามกฎหมาย รัฐบาลใหม่ก็บริหารงานไปเป็นตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ต่อข้อถามถึงกรณีที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ จะไม่มีการเลือกตั้งปลายปี 2561เพราะ สนช.คว่ำกฎหมายลูก เพื่อให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ผบ.ทบ. กล่าวว่า ไม่มีเรื่องดังกล่าว เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไปแล้ว  เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งและการตั้งพรรคลงเลือกตั้งอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต  พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องการเมือง แต่ในฐานะเลขาธิการ คสช. ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ก็จะทำหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคง ก็คาดหวังว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็เดินไปตามโรดแม๊ปตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดไว้ ส่วนจะมีการตั้งพรรคทหารหรือไม่ ไม่ทราบ ตนเกษียณ ตนก็จบ

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์และสำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักโทษหญิงอดอาหารประท้วงการปฏิบัติอย่างย่ำแย่ของเรือนจำเอกชนสหรัฐฯ

Posted: 29 Jun 2017 12:37 AM PDT

Waging Nonviolence นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มนักโทษหญิงในสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลและให้ผู้คุมปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น ถึงแม้ว่าข้อเรียกร้องของพวกเธอจะไม่ได้ตามเป้าทั้งหมดและเรือนจำเอกชนที่หากำไรจากความเจ็บปวดของนักโทษผู้อพยพจะยังจำกัดการเข้าเยี่ยมก็ตาม

Adelanto Detention Facility รัฐแคลิฟอเนีย (ที่มา: Google Maps)

29 มิ.ย. 2560 มีผู้หญิง 33 รายที่ถูกจับกุมและคุมขังโดยสำนักบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร (ICE) ของสหรัฐฯ โดยมีการคุมขังพวกเธอที่เรือนจำอเดลันโต เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา พวกเธอทำการอดอาหารประท้วงสภาพชีวิตที่ย่ำแย่ในเรือนจำรวมถึงนโยบายของเรือนจำที่กีดกันไม่ให้พวกเธอได้พบกับลูกๆ หรือคนที่เธอรัก

เรือนจำอเดลันโดสามารถจุนักโทษได้ 1,940 ราย นับเป็นเรือนจำของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ผู้ดูแลคือบริษัท จีอีโอกรุ๊ป (GEO Group) เรือนจำแห่งนี้จะได้รับเงินจาก ICE ตามจำนวนนักโทษ 111 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน (ราว 3,700-3,800 บาท) สำหรับการคุมขังนักโทษ 975 รายแรก ถ้าหากมีนักโทษอยู่มากกว่า 975 ราย GEO จะได้รับเงินตามจำนวนนักโทษรายหลังจากนั้นในอัตราที่น้อยลงคือ 50 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน ในอัตราเช่นนี้ทำให้ GEO ได้รับเงินสนับสนุนอย่างน้อย 40 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 1,360 ล้านบาท)

องค์กรด้านสิทธิผู้อพยพอย่างองค์กรชุมชนริเริ่มเพื่อคนเข้าเมืองที่ถูกคุมขัง (CIVIC) และเครือข่ายดีเทนชันวอทช์ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์เรือนจำอเดลันโตในเรื่องการละเมิดสิทธินักโทษอย่างเป็นระบบและเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเรือนจำ

นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตในเรือนจำอเดลันโตแล้ว 3 ราย นอกจากนี้ยังมีการละเลยไม่ให้นักโทษได้รับการรักษาทางการแพทย์รวมถึงมีการลงโทษนักโทษที่พยายามเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ กรณีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังหญิงที่อดอาหารประท้วงชื่อ นอร์มา กูเทียเรซ ผู้มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกหลายแห่งแต่แทนที่เธอจะได้รับการรักษาทางการแพทย์ เธอกลับถูกจับไปขังเดี่ยว

ทาง CIVIC และองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจพบว่าเรือนจำอเดลันโตมักจะล้มเหลวเรื่องการดูแลผู้ต้องขังให้ได้รับการรักษาทางแพทย์อย่างทันท่วงที มีการประวิงเวลาผู้ที่เรียกร้องรับการรักษา ให้ยาผู้ป่วยทางจิตมากเกินไป มีการใช้ล่ามกุญแจมือเวลาพบกับจิตแพทย์ ไม่มีการดูแลรักษากรณีผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง บางครั้งก็ปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์หรือตรวจวินิจฉัยโรคผิดในกรณีผู้ป่วยที่อาการหนักหรือมีโรคร้ายแรง

หนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ต้องขังหญิงของเรือนจำอเดลันโตคือการเรียกร้องการดูแลรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเคารพในความเป็นคนมากขึ้น เรียกร้องให้ยกเลิกค่าการประกันตัวที่สูงมากอย่างไม่มีเหตุผล และขอให้พวกเธอได้พบกับลูกๆ และครอบครัวอีกครั้ง ซารา ซัลซิโด หนึ่งในผู้ต้องขังที่อดอาหารประท้วงบอกกับผู้ร่วมก่อตั้ง CIVIC ว่า "พวกเราต้องการให้พวกเขาพูดกับพวกเราเหมือนกับเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ พวกเราไม่ต้องการถูกสบถด่าทอหรือแสดงความไม่เคารพในความเป็นคนของพวกเรา"

นี้ไม่ใช่การอดอาหารประท้วงเป็นครั้งแรกในอเดลันโต ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการอดอาหารประท้วงของนักโทษชายที่ต้องการประท้วงสภาพที่ย่ำแย่ในคุกเช่นกัน นักโทษเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัยที่มาพร้อมกับขบวนคาราวานจากประเทศลาตินอเมริกาหลายประเทศอย่าง เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส และกัวเตมาลา พวกเขายื่นขอเป็นผู้ลี้ภัยที่พรมแดนสหรัฐฯ แต่กลับถูกจับกุมและส่งตัวไปที่อเดลันโต

การประท้วงของนักโทษชายเริ่มต้นในวันที่ 12 มิ.ย. ด้วยการที่นักโทษทั้ง 9 ราย ล็อกแขนกันไว้ไม่ยอมกลับไปที่เตียงนอนเพื่อให้มีการนับตัวผู้ต้องขัง ทำให้ผู้คุมฉีดสเปรย์พริกไทยใส่พวกเขาแล้วก็จับพวกเขาไปขังเดี่ยว มีนักกิจกรรมบอกว่าผู้คุมยังได้ทุบตีนักโทษด้วยซึ่งทางเจ้าหน้าที่ ICE แก้ต่างว่าพวกเขาแค่ "ใช้กำลังตามจำเป็น" หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ก็เริ่มมีนักโทษ 6 รายอดอาหารประท้วง

กลุ่มนักโทษชายมีข้อเรียกร้อง 9 ประการคือ ต้องการให้มีการประกันตัวอย่างเป็นธรรมกับผู้ต้องขังทุกคน ต้องการที่สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ต้องการเสื้อผ้านักโทษใหม่โดยเฉพาะกางเกงในแทนการใส่ของเดิมที่คนอื่นเคยใส่มาแล้ว ขอเวลาทำกิจกรรมทางศาสนามากขึ้น ขอให้เอกสารต่างๆ มีภาษาของพวกเขาอยู่ด้วย ขอเข้าถึงน้ำสะอาดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขออาหารที่ดีขึ้นและเลิกนำข้าวของเครื่องใช้ของพวกเขาไปทิ้ง

คริสตินา แมนส์ฟิลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหนึ่งในผู้อำนวยการบริหารของ CIVIC กล่าวว่า กลุ่มนักโทษหญิงรับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของคนในเรือนจำชายก็พยายามไม่ให้ถูกโต้ตอบจากผู้คุมด้วยวิธีการเดียวกันจึงขอให้นำชื่อของพวกเธอเผยแพร่ต่อสาธารณะ แมนส์ฟิลดืบอกอีกว่าผู้หญิงเหล่านี้เริ่มประท้วงต่อต้านหลังจากที่พวกเธอถูกคุมขังมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว

การประท้วงของนักโทษหญิงเริ่มต้นด้วยการที่นักโทษ 33 ราย ปฏิเสธไม่กินอาหารเช้า มีนักโทษหญิงแจ้งแมนส์ฟิลด์ว่าผู้คุมข่มขู่พวกเธอว่าจะใช้สเปรย์พริกไทย จับพวกเธอไปขังเดี่ยว และยึดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของพวกเธอถ้าหากพวกเธอยังปฏิเสธอาหารอีก

อย่างไรก็ตามหลังการประท้วงของพวกเธอก็ทำให้ในช่วงบ่ายวันนั้นมีการนำตัวนักโทษหญิง 20 รายที่เคถูกปฏิเสธบริการทางการแพทย์มาก่อนไปพบกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายแพทย์ กลุ่มผู้คุมยอมตกลงว่าจะปฏิบัติกับพวกเธอด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์และเคารพในเสรีภาพทางศาสนาของพวกเธอ อย่างไรก็ตามทาง ICE ก็บอกว่าพวกเธอไม่สามารถควบคุมอะไรในเรื่องการประกันตัวได้ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิที่คอยกำกับดูแล ICE อยู่มีอำนาจในการสั่งปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไขหรือทำทัณฑ์บนไว้แทนวิธีการประกันตัว

ถึงแม้ว่าหลังจากวันนั้นดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี ข้อเรียกร้องบางส่วนของนักโทษได้รับการตอบสนอง ไม่มีรายงานว่าพวกเธอถูกลงโทษแก้แค้น เย็นวันนั้นพวกเธอกลับไปกินอาหารเย็นตามปกติ แต่ก็ต้องระวังว่าอเดลันโตและบริษัท GEO อาจจะเตรียมพร้อมปราบผู้ประท้วงในเรือนจำอีก

หนึ่งสัปดาห์หลังจากการประท้วงของนักโทษหญิงและสองสัปดาห์หลังจากการประท้วงของนักโทษชาย องค์กร CIVIC และเหล่าทนายกับผู้นำศาสนามากกว่า 60 คนเดินทางยาวไกลจากตัวเมืองลอสแองเจลิส 85 ไมล์ไปเยี่ยมพวกเขาที่เรือนจำ มีการทำพิธีสวดภาวนาร่วมกันของคนต่างศาสนา 5 นาที หลังจากพวกเขาลงจากรถ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของ GEO โต้ตอบด้วยการไม่ยอมให้ผู้เดินทางมาเยี่ยมเข้าไปเยี่ยม แต่ยังสั่งปิดล็อกเรือนจำและสั่งให้ทนายความและครอบครัวของนักโทษที่มารออยู๋ก่อนล่วงหน้าแล้วกลับไปด้วย

แม้ว่าหลักการมาตรฐานของ ICE ในระดับรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะสั่งให้เรือนจำต้องเปิดรับการเข้าเยี่ยมนักโทษจากทนายความตลอด 24 ชั่วโมง แต่ทนายความ และเจ้าหน้าที่จาก CIVIC ก็ถูกปฏิเสธไมให้เข้าเยี่ยมนักโทษ 14 คน ที่เป็นลูกความของพวกเขาแม้ว่าจะได้รับการอนุญาตจาก ICE แล้ว นอกจากนี้ทนายความรายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่นั่งรถจากลอสแองเจลิสพากันไปเยี่ยมก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบนักโทษด้วย

คริสตินา ฟิอาลโย ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้ง CIVIC กล่าวว่าเมื่อพวกเขาเห็นการข่มเหงรังแกในเรือนจำ เธอรู้สึกว่าพวกเขามีหน้าที่ทางจริยธรรมที่ต้องช่วยเปล่งเสียงและยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมกับผู้อยู่ในเรือนจำ ฟิอาลโยบอกอีกว่าการที่พวกเธอถูกขัดขวางไม่ให้เข้าเยี่ยมนั้นถือเป็นการที่บังคับให้พวกเขาต้องเลือกว่าจะอ้างใช้สิทธิในการการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือเลือกที่จะเข้าเยี่ยมเพื่อนหรือลูกความในเรือนจำ นี่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลมีสิทธิจะบีบให้เราเลือกแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

 

เรียบเรียงจาก

'We are humans, not animals' — women in California's largest immigrant prison hold hunger strike, Waging Nonviolence, 23-06-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช. เห็นชอบ ร่าง ก.ม.คุ้มครองแรงงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ใช้เป็นกฎหมาย

Posted: 29 Jun 2017 12:27 AM PDT

เพิ่มบัญญัติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม ลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับการทำงาน เกษียณอายุ นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย ภายใน 30 วัน หลังลูกจ้างใช้สิทธิ ใช้เกณฑ์อายุครบเกษียณตามที่ตกลงกันไว้ แต่ถ้าหากไม่มีใช้ที่อายุ 60 ปี  

29 มิ.ย. 2560 เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบในวาระ 3 ให้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ .. )พ.ศ. ....  ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 208 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี  งดออกเสียง 3 เสียง

ในร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ

1. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทดังกล่าว ซึ่งอาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป โดยค่าจ้างต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด    

2. ปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับการทำงาน   นายจ้างไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  แต่ให้ประกาศไว้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป   โดยต้องเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง  หรือเพิ่มเติมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยก็ได้     

3. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ และการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ โดยในร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม  กำหนด ให้การเกษียณอายุ หมายถึง การเลิกจ้าง  และนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย ภายใน 30 วัน  หลังลูกจ้างใช้สิทธิ  และมีบทลงโทษหากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย

4. การกำหนดเวลาเกษียณอายุตามร่างกฎหมายฉบับนี้  กำหนดให้เป็นไปตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไว้  แต่ถ้าหากไม่มีการระบุอายุเกษียณไว้ในสัญญาจ้างงาน  ก็ให้ใช้เกณฑ์อายุครบเกษียณที่อายุ 60 ปี ซึ่งเท่ากับว่า ในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุและได้รับค่าชดเชยแล้ว  นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงทำสัญญาจ้างใหม่ โดยแตกต่างไปจากสัญญาเดิมก็ได้   หรือในกรณีไม่มีการระบุอายุเกษียณไว้ในสัญญาจ้างงาน อายุครบเกษียณก็จะอยู่ที่ 60 ปี โดยจะได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างงานทันทีและหลังจากนั้นอาจทำสัญญาฉบับใหม่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่แตกต่างจากเดิมก็ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

85 ปี 24 มิถุนายน 2475: กุลลดา เกษบุญชู มี้ด หรือเราจะเห็น Thailand Spring?

Posted: 28 Jun 2017 10:57 PM PDT

'กุลลดา' ชี้ 2475 เกิดจากชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มีฐานอำนาจแคบ สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยหลายครั้ง เชื่อว่าการปะทะครั้งนี้รุนแรงกว่าที่เคยปรากฏและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เศรษฐกิจฝืดเคืองจะเป็นเชื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด (คนซ้าย)

รายงานการเสวนาชิ้นสุดท้าย ในวาระครบรอบ 85 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ประชาธิปไตย ในหัวข้อ 'การเมืองกับประวัติศาสตร์-ประวัติศาสตร์กับการเมือง ตอน การเมืองในชีวิตประจำวัน (Politics of Everyday Life' จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักวิชาการอิสระ ที่วิเคราะห์การเมืองไทยผ่าน 4 แนวคิด และคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจกำลังมาถึง

"เราอาจเริ่มต้นด้วยการถามว่ามีแนวคิดหรือทฤษฎีทางรัฐศาสตร์อะไรที่จะอธิบายการเมืองไทยตั้งแต่หลัง 2475 ดิฉันเลือกมา 4 ทฤษฎี หนึ่ง-Critical International Political Economy การพูดถึงบทบาทของทุนนิยมศูนย์กลางที่มีต่อโครงสร้างทางสังคม ทางการเมืองของไทย การใช้ทฤษฎีนี้จะทำให้เรามีความตระหนักกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคม ซึ่งประกอบด้วยพลังทางสังคมต่างๆ แล้วก็บทบาทของศูนย์กลางในกระบวนการทางการเมืองของไทย

"วิธีการที่ 2 คือ Comparative Politic ดิฉันตอนคิดเรื่องนี้ก็ไปอ่านประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส คิดอยู่นานเหมือนกันว่าเราจะพูดสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสดีหรือไม่ เพื่อจะเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย แต่ว่าอาจารย์กนกรัตน์ทำหน้าที่นี้แล้ว ดิฉันก็จะขอพูดถึงส่วนอื่นที่จะมาเสริมการมองของอาจารย์กนกรัตน์ ดิฉันคิดว่าจะใช้ Comparative Politic ในการมองขบวนการชาตินิยมของประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามักจะเข้าใจกันว่าขบวนการชาตินิยม ภาพที่ปรากฏเป็นขบวนการต่อต้านอาณานิคม แต่ถ้ามองเข้าไปให้ลึกๆ แล้ว ขบวนการชาตินิยมก็คือการต่อต้านระบบโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นเราอาจจะรวม 2475 ในฐานะขบวนการชาตินิยม ในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ทฤษฎีที่คิดว่าสำคัญที่อยากให้มองกันในการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่ผ่านมาคือแนวคิดเรื่องอำนาจทางการเมือง อำนาจทางการเมืองคือความสามารถในการควบคุมและจัดสรรทรัพยากร ดังนั้น เวลาจะดูการเมืองไทยก็ต้องดูด้วยว่าอำนาจตรงนี้อยู่ที่ใคร แล้วเป็นไปเพื่อเหตุผลใด

"แนวคิดสุดท้ายที่ดิฉันคิดว่ามีความสำคัญคือคุณลักษณะของผู้นำ เราอาจจะอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างในการเมืองไทยได้เหมือนกัน

"เริ่มต้นนำ Critical International Political Economy มาดู เราก็จะเห็นว่าไทยไปเชื่อมกับระบบทุนนิยมโลก และเราจะเห็นว่ามันเป็นฐานที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐศักดินาสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงนั้นมีระยะเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับรัฐตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส กระบวนการตรงนี้ในที่อื่นทำให้เกิดชนชั้นใหม่ๆ หรือพลังทางสังคมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง แต่ในกรณีของไทยเป็นเรื่องของผู้นำกับชนชั้นข้าราชการที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่จำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

"สิ่งที่อยากจะเสนอภาพการมองการเมืองไทยหลัง 2475 อาจจะเป็นอีกภาพหนึ่งที่ต่างไปจากของอาจารย์ธเนศคือ ดิฉันอาจจะมีความหวังมากกว่าหรือเป็นคนมองโลกในแง่ดีมากกว่า ดิฉันจึงคิดว่ามันก็มีความเป็นเส้นตรงที่มันยักเยื้องอยู่ แต่ในที่สุดแล้ว เรามองฝรั่งเศสพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย เราก็อาจอยู่ในเส้นทางตรงนั้นได้เหมือนกัน

"การยักเยื้องที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร ดิฉันขอให้ใช้คำง่ายๆ ว่า มันเป็นการปะทะกันระหว่างพลังเก่ากับพลังใหม่ สภาวะในปัจจุบันนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ อาจจะขอให้มองว่าเป็นการปะทะกันที่มีนัยสำคัญมาก นั่นคือพลังใหม่ก็สามารถรวบรวมฐานอำนาจของตนขึ้นมาที่จะทำให้พลังเก่ามีความหวั่นไหวในการที่ตนต้องสูญเสียอำนาจไป ปรากฏการณ์ที่เราเห็น ดิฉันคิดว่าเป็น Action กับ Reaction หวังว่าอาจจะเป็นการปะทะกันครั้งสุดท้าย เพราะเป็นการปะทะกันที่รุนแรงมากที่สุด ส่วนปี 2475 เราต้องเข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยชนชั้นนำรุ่นใหม่ที่มีฐานอำนาจที่แคบมาก

"จากการขึ้นมามีอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ก็เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการขึ้นมาของจอมพลสฤษดิ์ เพราะเอกสารมันบอกชัดว่าเขาต้องการผู้นำแบบไหน แล้วในที่สุดเราก็มีจอมพลสฤษดิ์ที่เหมาะกับเงื่อนไขต่างๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการได้ สหรัฐฯ ที่มองว่าไทยตอนนั้นเป็นฐานปฏิบัติการสำคัญในสงครามเวียดนาม จึงต้องการผู้นำแบบจอมพลสฤษดิ์

"ตัดมาถึงการเลือกตั้งในสมัยจอมพลถนอมใน ค.ศ.1969 เรามีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังจากมีการยืดเยื้อในการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลานาน ถ้าเราไม่มีความเข้าใจบทบาทของสหรัฐฯ เราก็อาจบอกว่าเพราะร่างรัฐธรรมนูญมานานก็เลยต้องมีสักที จริงๆ แล้วผู้นำไทยไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งครั้งนั้นเลย แล้วการเลือกตั้งครั้งนั้นก็เกิดขึ้นทั้งโดยการผลักดัน ชักจูง ของสหรัฐฯ เขาให้แม้กระทั่งเงินที่จะไปสร้างพรรคสหประชาไท เขาบอกเราว่า เราควรจะหาเสียงอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้รัฐบาลที่เป็นทหารเปลี่ยนเสื้อผ้ามาเป็นผู้นำที่เป็นพลเรือน

"ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างมาก จากการที่ดิฉันศึกษาประวัติศาสตร์มานาน ดิฉันเชื่อว่าพลังอะไรที่กระทบกับความเป็นอยู่ของสังคม มันก็จะเป็นพลังกลับที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้"

"เพราะฉะนั้นที่ดูเหมือนเป็นการเริ่มต้นของประชาธิปไตย แม้จะจบไปในระยะเวลาสั้นในปลายปี 1971 มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการภายใน แต่เกิดจากความต้องการของสหรัฐฯ แล้วเมื่อระบบรัฐสภาไม่รองรับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในการปฏิบัติการในสงครามอินโดจีน เพราะการผลักดันงบประมาณที่จะนำไปใช้ในกัมพูชาให้ไปอยู่ในงบพัฒนาของเรา เป็นไปด้วยความยากลำบาก 1 วันก่อนมีการรัฐประหาก็มีคนระดับสูงของสหรัฐฯ หิ้วเงินสดเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก บอกว่าเพื่อช่วยในการปราบยาเสพติด สรุปว่าประชาธิปไตยครั้งแรกในสมัยใหม่หลังยุคจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของเรา

"แล้ว 14 ตุลา เราจะเข้าใจมันได้อย่างไร 14 ตุลาเป็นการรวมพลังที่ต่อต้านรัฐบาลทหารของกลุ่มต่างๆ ทั้งพลังภายในและภายนอก ถ้าอย่างนั้นพลังของนักศึกษาอยู่ที่ไหน พลังของนักศึกษาก็เป็นหนึ่งในหลายๆ พลังที่มารวมกันที่ทำให้เกิดการล่มสลายของรัฐบาลทหาร

"เราเห็นภาพจากภายนอกว่าเป็นชัยชนะของขบวนการนักศึกษา แต่ถ้าจะให้น้ำหนักในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่ไปดูข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็อาจจะบอกว่า พลังนักศึกษาเป็นแค่ส่วนประกอบของการเกิดขึ้นของ 14 ตุลา มันมีคำอธิบายต่อไปว่า คือถ้าเราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย แล้วเกิด 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจว่า 14 ตุลาเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำด้วยกันเอง แล้วเกิดขึ้นจากบทบาทผสมโรงของสหรัฐฯ ด้วย ถ้าไปดูรายละเอียดมีการสมคบคิดมากมายที่จะอธิบายเหตุการณ์ 14 ตุลา เราอาจต้องคิดเรื่อง 14 ตุลากันใหม่ เอกสารเท่าที่ดูที่อังกฤษก็ชี้ให้เห็นว่า คุณกฤษณ์ สีวะรา เป็นคนสำคัญในการทำให้คุณถนอมและคุณประภาสลงจากตำแหน่ง

"ถามว่าระบบที่เกิดขึ้นหลัง 14 ตุลาคืออะไร เราก็บอกว่าเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าทหารภายใต้การนำของคุณกฤษณ์ สีวะราก็ยังมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง คุณสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ไม่อยากจะเป็นนายกฯ เท่าไหร่ พอมีปัญหาขึ้นก็ต้องให้คุณกฤษณ์มาปลอบใจให้อยู่ต่อไป มีการช่วยเหลือกันทุกอย่าง สิ่งที่ต้องเข้าใจคือโครงสร้างอำนาจของทหารไม่ได้หมดไปหลัง 14 ตุลา ไม่ใช่การแทนที่กัน แต่เป็นการหลบมา แล้วก็มีหุ่นเชิดไว้ แต่ที่น่าแปลกใจคือพวกทหารที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตอนนั้น พอหลัง 14 ตุลาเขาก็มีความตระหนักว่าการมีรัฐบาลทหารจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ดังนั้น แม้กระทั่งจะคิดว่าจะมีรัฐประหารตอนต้นปี 1976 ก่อนเกิด 6 ตุลา ทหารคิดวางแผนมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เขาก็ยังต้องการหาพลเรือนมาบังหน้า

"สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของการเมืองในยุค 3 ปีนั้นคือการเติบโตของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ซึ่งผนวกกับข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากไทย แล้วก็ผูกกับการที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถบริหารราชการอย่างเรียบร้อยได้ ความพอใจตรงนี้ ความอึดอัดคับข้องใจของทั้งทหารและพลเรือน มันก็นำมาสู่เหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่สำคัญที่ดิฉันคิดว่าเราไม่ค่อยจะแยกกันก็คือ การฆ่าหมู่ในธรรมศาสตร์ในตอนเช้าและการยึดอำนาจในตอนเย็น เท่าที่ศึกษามาถึงจุดนี้ขอเสนอว่า มันเป็นการกระทำของผู้นำทหาร 2 กลุ่ม

"แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อทหารยึดอำนาจแล้วก็ให้พลเรือนขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี แล้วรัฐบาลพลเรือนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ แต่กลับทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดก็มีผู้นำทหารยึดอำนาจจากคุณธารินทร์ในปลายปี 1977 ผู้นำคนนั้นก็คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

"ตอนนี้ดิฉันอยากจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าภาวะผู้นำ เพราะว่าคุณเกรียงศักดิ์เป็นทหารก็จริง แต่มีคุณลักษณะที่พิเศษ ไม่เหมือนกับทหารทั่วไป คือเป็นคนที่ฉลาดมาก มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ โดยที่ไม่ค่อยจะมีผลประโยชน์แอบแฝงส่วนตัว

"พอคุณเกรียงศักดิ์ยึดอำนาจมา ก็เตรียมตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ผู้แทนที่มาจากพรรคการเมืองที่สำคัญ ฝ่ายกองทัพ ข้าราชการ และนักธุรกิจ ก็อาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีฉันทามติพอสมควร ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญนี้อยู่มาจนถึงการปฏิวัติของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) คนมักจะเรียกว่าเปรมโมเดล แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นรัฐธรรมนูญที่คุณเกรียงศักดิ์อยู่เบื้องหลังการร่าง แล้วแกก็กำกับดูแลอย่างมีกลยุทธ์ คือไม่ได้มีการสั่งการให้ดำเนินการ แต่มีการสั่งการให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยนัก ให้คนต่อต้าน แล้วตัวแกก็เข้ามาและบอกว่ารัฐธรรมนูญจะต้องถอยหลัง เพราะฉะนั้นหน้าตาของแกคือผู้นำที่ดูมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ดิฉันคิดว่ามันเป็นกลยุทธ์ของผู้นำที่ 'เป็น' ทางการเมือง มันก็เป็นรัฐธรรมนูญที่พอจะประสานประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองได้

"การศึกษาของดิฉันที่ดูจากเอกสารชั้นต้นแค่รัฐบาลคุณเกรียงศักดิ์ สิ่งที่จะพูดต่อไปอาจจะเป็นข้อสังเกตและได้จากการศึกษา แต่ก็ทำให้ตั้งคำถามต่อมาถึงการเมืองในยุคสมัยใหม่นี้ด้วย รัฐธรรมนูญของคุณเกรียงศักดิ์ยืนยาวมาจนถึงสมัยคุณชาติชาย แล้วก็ถูกรัฐประหาร แล้วหลังจากนั้นก็มีความพยายามที่ทหารจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่และเกิดการต่อต้าน

"ข้อสังเกตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ หลังจากยุคสงครามเย็นแล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นยุคของการผลักดันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่ เราจะเจอกับคำว่า ธรรมาภิบาล ความเป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใส โลกาภิวัตน์ แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่นำเข้ามาในสังคมไทย มีการยัดเยียด มีนักวิชาการบางคนได้รับเชิญไปดูงานที่วอชิงตัน ดี.ซี. แล้วก็กลับมาเป็นคนเริ่มต้นคำว่า โลกานุวัตน์ สหรัฐฯ มีบทบาทในการเข้ามากำหนดวิธีคิด อุดมการณ์ ในสังคมไทยในยุคต้นทศวรรษที่ 1990 การต่อต้านรัฐบาลทหารที่เราเรียกกันว่า พฤษภาทมิฬ เราก็เห็นบทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้ามาก่อนหน้านั้น เข้ามาอบรมหน่วยต่างๆ ของภาคสังคมในประเทศไทยให้มีการตื่นตัวทางประชาธิปไตย เอกสารชั้นต้นยังมองไม่เห็น แต่ก็พอจะมองเห็นบทบาทของมูลนิธิเอเชียในการเข้ามาจัดประชุมเรื่องการทำให้เป็นประชาธิปไตย ที่เน้นมากคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน เขาเห็นบทบาทการสนับสนุนการฝึกอบรมสหภาพแรงงานของประเทศไทย เป็นบทบาทที่สำคัญของอำนาจภายนอกที่มีต่อการเมืองภายใน

"เราบอกไม่ได้ว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองภายในแค่ไหน แต่พูดได้อย่างหนึ่งว่าเขายังมีความสนใจต่อสถานการณ์ภายในของประเทศไทย และถ้าเผื่อว่ามีผลประโยชน์ที่จะรักษารูปแบบทางการเมือง ดิฉันไม่ได้บอกว่าต้องเป็นประชาธิปไตยนะคะ แต่เป็นรูปแบบทางการเมืองที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เราก็อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ Bangkok Spring หรือ Thailand Spring ก็เป็นได้ มันก็เป็นเงื่อนไขตัวหนึ่งของพลวัตรทางการเมืองภายใน

"เมื่อกี้เราพูดกันว่า ทุนนิยมโลกทำให้เกิดพลังสังคมต่างๆ มากขึ้น สังคมก็มีความสลับซับซ้อนและความหลากหลายมากขึ้นด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นในการเมืองปัจจุบันคือการตื่นตัวของชนชั้นล่างในสังคม เอกสารที่ดิฉันไปนั่งอ่านที่อังกฤษ แม้กระทั่งปลายทศวรรษที่ 1970 คนไทยก็ยังไม่มีความสนใจการเมือง มองว่าการเมืองเป็นเรื่องนอกตัว เพราะทักษิณ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไร เขาได้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยมีความตื่นตัวทางการเมือง เขาได้ทำให้คนชั้นล่างของสังคมมีความตระหนักว่าผลประโยชน์ของเขาผูกกับระบบทางการเมือง

"เราพูดถึงตอนต้นว่า เรามีขบวนการชาตินิยมที่เป็นผู้นำกลุ่มเล็กๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2475 แต่สิ่งที่จะบอกก็คือ เราอาจจะกำลังเห็นปรากฏการณ์ของส่วนหลังของขบวนการชาตินิยม ก็คือ Mass Movement Mass Movement ที่เกิดขึ้นในประเทศอาณานิคมคือ Mass Movement ที่ต่อต้านทุนนิยม แต่เราอาจจะมีความผกผันว่า Mass Movement ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยอาจจะเป็นขบวนการที่เติบโตมาพร้อมกับระบบทุนนิยมและได้ประโยชน์จากทุนนิยมก็ได้

"เพราะฉะนั้นภาพที่อาจารย์กนกรัตน์บอกว่านโปเลียนที่ 3 อยู่นานถึง 23 ปีนั้น ขอติงนิดหนึ่งว่า 23 ปีของนโปเลียนที่ 3 นั้นเศรษฐกิจเติบโตอย่างมาก เป็นยุคของการขยายลัทธิอาณานิคมอย่างเข้มแข็งมาก ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างมาก จากการที่ดิฉันศึกษาประวัติศาสตร์มานาน ดิฉันเชื่อว่าพลังอะไรที่กระทบกับความเป็นอยู่ของสังคม มันก็จะเป็นพลังกลับที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจจะต้องมองการมีส่วนร่วมของภาคสังคมของประเทศไทยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมที่เราพบได้ในที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น