โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ป.ป.ช. ลงดาบชี้มูล 'จุฑามาศ อดีตผู้ว่าฯ ททท.' ร่่ารวยผิดปกติ ลุยริบทรัพย์คืนแผ่นดิน

Posted: 24 Mar 2017 08:34 AM PDT

24 มี.ค.2560 รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ า จ.นนทบุรี ที่ประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในการ ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจ้างนักธุรกิจชาวอเมริกันในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพและโครงการอื่น ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.

กรณีดังกล่าวได้มีการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่่องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จนปรากฏตามพยานหลักฐานว่า จุฑามาศ มีทรัพย์สินเป็นเงินที่ฝากอยู่ในบัญชีประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซีย์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีบุตรสาวเป็นผู้ถือครองแทน และการชี้แจงถึงที่มาของเงินดังกล่าวไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ทั้งนี้ ทรัพย์สินดังกล่าว ป.ป.ช. ได้ประสานกับทางการสหรัฐอายัดไว้แล้ว และทางการสหรัฐมีพันธกรณีที่จะต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้รัฐไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 และสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องเนื่องจากเป็นทรัพย์สินของรัฐไทยที่เกิดจากการทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช. จะได้ประสาน กับทางการสหรัฐ เพื่อติดตามทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็วโดยอาจทำเป็น ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐ หรือกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้คดีนี้เป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ และเป็นคดีตัวอย่างของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการปราบปรามปัญหาการทุจริตข้ามชาติ โดย ป.ป.ช.จะไม่เพียงแค่มุ่งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษแต่ยังเน้นถึงการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกลับคืนสู่
แผ่นดินไทย 
 
ในส่วนของคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง จุฑามาศและบุตรสาวเป็นจำเลยจาก การทุจริตเรียกรับสินบนและเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจชาวอเมริกันในการดำเนินโครงการภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ พ.ศ. 2546 – 2550 และโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น ศาลอาญาได้ทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้ว และมีนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 29 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
 
สำหรับการดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ได้ดำเนินคดีกับ เจอรัลด์ กรีน และ แพทริเชีย กรีน สองสามีภรรยานักธุรกิจชาวอเมริกันในความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ อันเป็นความผิดตามกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐอเมริกา โดยจำเลยทั้งสองได้รับ โทษถึงที่สุดแล้ว และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับ จุฑามาศ และบุตรสาว ในความผิดฐาน ฟอกเงิน และดำเนินการริบทรัพย์ทางแพ่ง มีการอายัดเงินในบัญชีธนาคารต่าง ๆ ในต่างประเทศของบุตรสาวคือ ในอังกฤษ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซีย์และสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่ารวม 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ ประมาณ 65 ล้านบาท โดยปัจจุบันทางการสหรัฐอเมริกาได้พักคดีดังกล่าวไว้ เพื่อรอผลการพิจารณาคดีอาญาของศาล ในประเทศไทย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทักษิณส่งทนายฟ้อง 'สนธิญาณ-ยุคคล' กล่าวหาอยู่เบื้องหลัง 'โกตี๋'

Posted: 24 Mar 2017 08:07 AM PDT

ทักษิณมอบอำนาจทนายความแจ้งความดำเนินคดี 'เจ้าของ-พิธีกรทีนิวส์' ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและ พ.ร.บ.คอมฯ เหตุกล่าวหาออกอากาศอยู่เบื้องหลัง 'โกตี๋' ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

24 มี.ค. 2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า ชุมสาย ศรียาภัย ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ขอให้ดำเนินคดีกับ ยุคคล วิเศษสังข์ ผู้ดำเนินรายการ "ยุคคล ถามตรง สนธิญาณฟันธงตอบ"  และ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม บรรณาธิการอำนวยการสำนักข่าวทีนิวส์ ที่ร่วมกันดำเนินรายการและแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ชุมสาย กล่าวว่า บุคคลทั้งสอง ได้ดำเนินรายการดังกล่าว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไบรท์ทีวี ช่อง 20 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ระบุในทำนองให้เข้าใจว่า ทักษิณ และจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนาย วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ  หรือโกตี๋ 

"ในรายการมีการพูดในทำนองว่า หลังมีการจับอาวุธที่เกี่ยวพันกับโกตี๋แล้ว ทำไมอดีตนายกฯทักษิณถึงเงียบไม่ออกมาพูด และสรุปว่า อย่างนี้แปลว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับเครือข่าย  และยังมีการกล่าวให้ร้ายว่าอดีตนายกฯทักษิณในเรื่องอื่น  จึงอยากให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน เพราะเป็นคดีอาญา ถือว่าหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) (5) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสน" ชุมสาย กล่าว 

ชุมสายกล่าวด้วยว่าได้นำหลักฐานเป็นซีดีบันทึกรายการสนทนาในรายการดังกล่าว ความยาวประมาณ 30 นาที และถอดเทปเนื้อหารายการทั้งหมด มามอบให้พนักงานสอบสวน  เพราะต้องการเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เพราะเป็นการกล่าวหาที่รุนแรง  ซึ่งหลังจากนี้ถ้าพบว่ามีการกล่าวหาและเข้าองค์ประกอบความผิดก็จะมีการดำเนินคดี เพราะในคำร้องที่ขอต่อพนักงานสอบสวน ได้ขอให้พิจารณาว่า หากมีคนอื่นที่เกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินการ แต่ในเบื้องต้นที่พบคือสองคนที่เราดำเนินการ 

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย, ผู้จัดการออนไลน์ และ TNN24

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ยันยังไม่มีข้อสรุปคดีวิสามัญฯ ชัยภูมิ พบแคมเปญล่าชื่อขอ 'แม่ทัพภาคที่ 3' เปิดภาพวงจรปิด

Posted: 24 Mar 2017 08:01 AM PDT

หลังแม่ทัพภาคที่ 3 อ้าง 'ชัยภูมิ ป่าแส' เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขณะที่ ประยุทธ์เผยยังไม่มีข้อสรุปคดี ขอรอผลสอบจากผู้เกี่ยวข้อง ที่จะพิจารณาตามหลักฐาน วอนอย่ารีบตัดสิน พบแคมเปญล่าชื่อขอ 'แม่ทัพภาคที่ 3' เปิดภาพวงจรปิด

24 มี.ค. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก (อ่านที่นี่)

วันนี้ (24 มี.ค.60) สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดี ชัยภูมิ หลัง พล.ท.วิจักษณ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ชี้แจงข้อเท็จจริง กับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 5 พบชัยภูมิ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปและยังอยู่ระหว่างการสอบสวน ต้องหาหลักฐานให้ชัดเจนต่อไปตามกระบวนการ ทั้งนี้ หลังสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ ทหารแล้ว จะมีตำรวจและอัยการเข้ามาร่วมสอบสวน ซึ่งต้องพิจารณาจากหลักฐานว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัดสินกันไปก่อนว่าใครถูกหรือผิด ตนไม่เคยตัดสินใครก่อน หากใครทำผิดคือผิด ทหารทำผิดก็คือผิด ตนและสื่อไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ขออย่ารีบตัดสินกันเอง 

ล่าชื่อขอ 'แม่ทัพภาคที่ 3' เปิดภาพวงจรปิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 มี.ค.60) ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตส่วนหนึ่งได้เริ่มแคมเปญรณรงค์ ในเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ แม่ทัพภาคที่ 3 พล.ท.วิจักขฐ์ เปิดกล้องความจริง  ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1,400 คน

สำหรับแคมเปญดังกล่าวอธิบายไว้ว่า

เนื่องจากเรื่องราวของ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกวิสามัญในคดีครอบครองยาเสพติด และพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยการปาระเบิด ยังเป็นที่กังขาในสังคม เนื่องจากด่านตรวจนี้มีกล้องวงจรปิด แต่กลับยังไม่ถูกนำมาเปิดเผยสู่สาธารณะชน

เรื่องราวนี้สร้างความลำบากใจไม่น้อยให้กับสาธารณะชน เพราะเนื่องจาก ชัยภูมิ ป่าแสถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันความจริงใดๆได้นอกจากคำให้การปากเปล่าของแต่ละฝ่ายอันไม่สามารถสร้างความเชื่อถือได้เท่าที่ควร

และจากหัวข้อข่าวได้อ้างอิงว่า "พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การตั้งด่านเป็นการตั้งด่านปรกติ สามารถตรวจสอบได้จากกล้องวงจรปิด CCTV" นั้นก็หมายความว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ มีอำนาจการตัดสินใจในการเปิดเผยข้อมูลในกล้องได้

ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยคลายข้อกังขาคือการเปิดเผยข้อมูลของกล้องวงจรปิดทั้งสองตัวอย่างโปร่งใส เพราะไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเกิดประชาชนผู้บริสุทธิ์คนใดๆเกิดถูกกระทำโดยรัฐไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ ก็มีแนวโน้มว่าประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เพราะถ้าประชาชนไม่อาจตรวจสอบความจริงจากกล้องได้แล้ว ไม่เท่ากับว่ารัฐกำลังสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนด้วยการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ในการปิดบังหลักฐานได้หรอกหรือ ดังนั้นเพื่อให้รัฐมีความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ ความจริงจากกล้องวงจรปิดต้องถูกเปิดเผย

ถ้ารูปการณ์สามารถพิสูจน์ได้ว่า ชัยภูมิ ป่าแส กระทำผิดจริง ก็จะทำให้ข้อกังขาในสังคมลดลง แต่ถ้า ชัยภูมิ ป่าแส มิได้กระทำผิดจริง รัฐควรแสดงความรับผิดชอบต่อการตายของ ชัยภูมิ ป่าแส เพื่อให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกันว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแปที่ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ต่างอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อันเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยในสังคมนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จี้รัฐปฏิรูปการจัดทำ EHIA ใหม่

Posted: 24 Mar 2017 07:14 AM PDT

กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา จี้รัฐปรับรูปแบบกระบวนการจัดทำ EHIA ใหม่ หลังจาก คชก. ไม่อนุมัติ EHIA รอบที่ 4 บริษัทดับเบิ้ลเอเดินหน้าแก้ไขรายงานเตรียมยื่นอีก เหตุการทำ EHIA ไม่มีการจำกัดจำนวนครั้ง

24 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(23 มี.ค.60) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในที่ประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) มีมติไม่อนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รอบที่ 4 ของบริษัทดับเบิ้ลเอ โดยในวันเดียวกันเครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) จ.ฉะเชิงเทรา ออกแถลงการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา และเปิดตลาดสีเขียวสัญจรสื่อสัญลักษณ์ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อกระตุ้นให้สังคมมองว่าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาอาหารอินทรีย์ในพื้นที่จะไม่ปลอดภัย พร้อมกับเสนอให้รัฐปฏิรูปกระบวนการจัดทำ EHIA ใหม่ เนื่องจากการทำ EHIA ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ทำให้เจ้าของโครงการเดินหน้าแก้ไขอีกครั้ง

คชก. ไม่อนุมัติ EHIA รอบที่ 4 กลุ่มทุนเดินหน้าเตรียมยื่นใหม่

สำนักข่าว INN รายงานว่า กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงาน คตฟ. เปิดเผยว่า คชก. สังกัด สผ. มีมติยืนยันไม่อนุมัติ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งกลุ่มทุนบริษัทกระดาษชื่อดังได้ยื่นเสนอให้พิจารณาเป็นครั้งที่ 4 ขณะนี้ตนและชาวบ้าน ค่อนข้างรู้สึกพึงพอใจแต่ก็ยังไม่ถึงกับโล่งอก เพราะมีรายงานข่าวว่าทางบริษัทฯจะเดินหน้ากลับไปแก้ไขปรับปรุงรายงานเพื่อยื่นให้คชก. พิจารณาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นจุดอ่อนด้านนโยบายกระบวนการจัดทำ EHIA ของประเทศไทย ที่ออกมาเพื่อตอบโจทย์บริษัท รวมถึงเจ้าของโครงการ เนื่องจากการทำ EHIA นั้นไม่มีกำหนดระยะเวลา รวมถึงไม่จำกัดจำนวนครั้ง คือเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงได้อย่างเต็มที่เพื่อให้สอดคล้องกับแผนจนเกิดเป็นโครงการได้ ทั้งนี้ส่วนตัวตนอยากให้ภาครัฐปรับรูปแบบกระบวนการจัดทำ EHIA ใหม่ ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้าน แต่คงจะต้องมีการหารือร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีแนวคิดต่อต้านการก่อสร้างโครงการที่จะส่งผลต่อประชาชนอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางในการผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมและเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั่วทั้งประเทศต่อไป

อาหารกับถ่านหิน เราควรเลือกอะไร

"ห่างจากโครงการฯ 5 กม. คือ พื้นที่เพาะปลูกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลาง และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และผลผลิตอินทรีย์กว่า 200 ชนิด โดยผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะกับเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เหล่านี้เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อศูนย์เรียนรู้ ฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และจะกระทบกับผู้บริโภคกว่า 67,500 คน ซึ่งได้บริโภคผลผลิตอินทรีย์จากพื้่นที่" หนึ่งในข้อแถลงการณ์จาก คตฟ. และกลุ่มฯได้นำผลผลิตเกษตรอินทรีย์มาเปิดตลาดสีเขียวสัญจรหน้า สผ. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 60  สผ. ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน โพสต์แถลงการณ์เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ข้อความว่า

1. เมื่อ พ.ศ.2542 มีโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 47.4 MW ของเครือดั๊บเบิ้ลเอ มาตั้งในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน ส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำคลองท่าลาด ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง หลังจากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลนี้ ชุมชนเริ่มได้รับกลิ่นเหม็น พบปัญหาฝุ่นละออง และน้ำบ่อตื้นของชุมชนที่อยู่ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก็ไม่สามารถใช้การได้

2. พ.ศ.2550 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 MW ของเครือดั๊บเบิ้ลเอ ใน ต.เขาหินซ้อน ผ่านการประมูลตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2550 (PDP2007) ตามแผนจะตั้งข้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่เดิม เป็นผลให้ชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้าน และขอให้ยุติโครงการเรื่อยมา ตั้งแต่ที่ได้รับรู้ตราบจนปัจจุบัน

3. น้ำจากคลองท่าลาดส่วนหนึ่งไหลตามธรรมชาติลงสู่แม่น้ำบางปะกง ส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา เลี้ยงคนส่วนใหญ่ใน จ.ฉะเชิงเทรา และบางส่วนใน จ.ชลบุรี ส่วนหนึ่งถูกจัดสรรสู่พื้นที่ชลประทานมากกว่า 350,000 ไร่ เพื่อการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปศุสัตว์ ส่วนหนึ่งถูกใช้โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งเล็กและใหญ่ น้ำจากที่นี่มีความสำคัญกับผู้คนมากมาย ปัจจุบันมีปัญหาทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพน้ำ ถ้าโครงการฯนี้เกิดขึ้นเพิ่มอีก จะต้องใช้น้ำปริมาณมาก และมีน้ำทิ้งปริมาณมาก จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิมให้หนักหนาสาหัสเข้าไปอีก

4. ชาวสวนมะม่วงที่แต่เดิมปลูกมะม่วงได้ผลผลิตดี สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ปัจจุบันพบปัญหามะม่วงช่อไหม้ ดำ ร่วง ไม่ติดผล ทำให้สวนมะม่วงรอบๆโรงไฟฟ้าชีวมวล มีผลผลิตลดลง และหนักขึ้นถึงขั้นขาดทุนจนชาวสวนมะม่วงหลายรายตัดสินใจล้มสวน หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 MW มาตั้งเพิ่มอีก คงจะถึงยุคสูญสิ้นมะม่วงแปดริ้วที่ขึ้นชื่อเป็นหน้าเป็นตาของ จ.ฉะเชิงเทรา

5. ห่างจากโครงการฯ 5 กม. คือ พื้นที่เพาะปลูกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลาง และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และผลผลิตอินทรีย์กว่า 200 ชนิด โดยผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะกับเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เหล่านี้เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อศูนย์เรียนรู้ ฐานทรัพยากรชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และจะกระทบกับผู้บริโภคกว่า 67,500 คน ซึ่งได้บริโภคผลผลิตอินทรีย์จากพื้่นที่

6. ห่างจากโครงการฯ 7 กม. คือ แหล่งผลิตเห็ดฟางกองเตี้ยที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก และเป็นอันดับสองของประเทศ เป็นความหวังของชาวบ้านที่สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าเนื่องจากในกระบวนการผลิตเห็ดนั้นช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่เห็ดมีความอ่อนไหวต่อคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และอุณหภูมิ การมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อการทำเห็ดไม่ต่างจากมะม่วงเช่นกัน

7. ไม่มีถ่านหินใดเป็นถ่านหินสะอาด แม้เทคโนโลยีจะสามารถลดปริมาณซัลเฟอร์ได้บางส่วน แต่ก็ไม่สามารถป้องกันสารปรอท และโลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารหนู ตลอดจนสารอินทรีย์ระเหยและสารประกอบโพลีไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง สารเหล่านี้จะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จะมีการสะสมจนเป็นอันตรายต่อคนได้ นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบอีกมากมายจากการทำเหมืองถ่านหิน การขนส่งถ่านหิน และเถ้าที่เหลือจากการเผาถ่านหิน

8. ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ ประเทศไทยยังคงมีไฟฟ้าพอใช้ และหากผนวกแผนการอนุรักษ์พลังงานร่วมกันแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าเกินเกณฑ์ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอีกมาก

9. และแน่นอน เรามีทางเลือกในการผลิตพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะไปทำลายแหล่งผลิตอาหารอันสมบูรณ์ที่เราเหลืออยู่ไม่มากนัก อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และยังซ้ำเติมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเรา

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุผลที่ชี้ชัดว่า "โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทราไม่เหมาะสม อย่างยิ่งกับพื้นที่ต้นน้ำบางปะกง ที่ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ และไม่มีความจำเป็นเลยเนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีไฟฟ้าเกินเกณฑ์ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากจนถึง พ.ศ.2575 อีกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินยังเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะซ้ำเติมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) จึงมีข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ดังนี้ (1) ขอให้พิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา (2) ขอให้เสนอเรื่องความไม่เหมาะสมของโครงการนี้ถึงผู้ที่มีอำนาจเพื่อพิจารณายกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 600 เมกะวัตต์ ฉะเชิงเทรา"

ขณะที่ เพจหยุดถ่านหินกระบี่ โพสต์แถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฉบับที่ 5/2560 ให้รัฐปฏิรูประบบ EIA เช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560  ที่ผ่านมา ระบุว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อย้ำความทรงจำแก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะต้นสังกัดของ สผ. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอ ในขณะที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง ห้ามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงมือทำกระบวนการจัดทำรายงาน อีไอเอ เป็นอันขาด เนื่องจากข้อตกลงนั้นเมื่อยกเลิกรายงานแล้วจะต้องมีการแก้กติกาให้เกิดความเป็นธรรม ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.สิ่งแวดล้อมปี 2535 มิใช่ว่าให้เจ้าของโครงการจ้างบริษัทที่รับจ้างมาทำรายงาน อันเป็นเท็จเพื่อนำเสนอต่อ สผ.

ความขัดแย้งและการทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างมหาศาลในประเทศนี้เพราะกระบวนการจัดทำรายงานนั้นเอื้อให้กับเจ้าของโครงการมิได้เป็นไปเพื่อสร้างทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมต่อพื้นที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆตามตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สผ. อนุญาตให้มีการดำเนินการจัดทำรายงานอีไอเอของ กฟผ. ก่อนการแก้ไขกฎกระทรวง ถือว่ามีเจตนาณ์ละเมิด ข้อตกลง เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจะดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป ในการนี้การแก้ไขกฎกระทรวงจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการพัฒนาและการจัดการสิ่งแวดล้อมชีวิตประชาชนทั้งแผ่นดิน จึงขอเชิญชวนพี่น้องทั้งประเทศมาร่วมกันใช้กำลังและสติปัญญา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน กฎกระทรวง ที่เอื้ออำนวยให้ฝ่ายทุนมากกว่า เจตนาของการสร้างทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสม ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535

ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมใจกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ในเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนหลายภาคส่วนได้ตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการอีไอเอ และได้ร่วมกันศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ต่างมีมติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงขอย้ำไปยัง เลขาธิการ สผ.ว่า จงใช้สติดำเนินการให้ถูกต้องและเป็นธรรม โดยประชาชนจะจัดทำข้อเสนอแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้ง อีไอเอ และ การประเมินเชิงยุทธศาสตร์ ในเร็ววัน และขอย้ำว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวงก่อนเท่านั้น จึงจะมีการดำเนินการจัดทำรายงานฉบับใหม่ของ สผ.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารนำ 9 ผู้ต้องหาเครือข่ายโกตี๋ มอบให้ตำรวจ เจ้าตัวปฏิเสธเตรียมลอบสังหารนายก

Posted: 24 Mar 2017 06:06 AM PDT

ทหารนำตัวกลุ่มผู้ต้องหาเครือข่ายโกตี๋ 9 คน มาส่งมอบให้ตำรวจที่กองปราบปราม ก่อนที่ DSI จะรับตัวไปสอบต่อ โดยมีผู้ถูกหมายจับในข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ด้วย ด้านผู้ต้องหาปฏิเสธเตรียมลอบสังหารนายก ขี้โกตี๋ไม่มีศักยภาพพอ บางคนยัน จนท.ยึดเป็นแค่บีบีกัน 

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Banrasdr Photo 

24 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่กองปราบ เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว 9 ผู้ต้องหาเป็นชาย 5 คน หญิง 4 คนคดีครอบครองอาวุธสงคราม ซึ่งมีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อคนแดงปทุมธานี ส่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มาร่วมสอบปากคำ คาดจะมีการส่งมอบสำนวนให้ดีเอสไอ หลังโอนคดีไปให้ดีเอสไอดำเนินการ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารยังนำของกลางบางส่วนที่ยึดได้มาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เช่น อาวุธปืนสงคราม คอมพิวเตอร์ ลำโพงขยายเสียง

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังการสอบปากคำและสัมภาษณ์ 9 ผู้ต้องหา คดีครอบครองอาวุธสงคราม ซึ่งเป็นเครือข่าย วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงปทุมธานี หลังเจ้าหน้าที่ทหารส่งตัวให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ปฏิเสธเตรียมลอบสังหารนายก - ขี้โกตี๋ไม่มีศักยภาพพอ

ธีรชัย อุตรวิเชียร หนึ่งในผู้ต้องหาระบุว่า รู้จักโกตี๋ ตั้งแต่ปี 2556 โดยเข้าไปช่วยงานเกี่ยวกับสถานีวิทยุเรดเรดิโอโกตี๋ที่จังหวัดปทุมธานี ส่วนอาวุธปืนที่ยึดได้ โกตี๋ให้นำมาเก็บรักษาไว้บ้านตน ยืนยันว่าไม่เคยนำไปใช้ก่อเหตุความรุนแรง แค่มีไว้ป้องกันเวทีชุมนุมบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พร้อมยอมรับว่าเคยนำอาวุธออกไปพร้อมกลุ่มการ์ดเพื่อไปยึดเขตเลือกตั้งจากกลุ่ม กปปส.ที่แยกหลักสี่เมื่อปี 2557 แต่ถอนกำลังออกไปก่อนเกิดเหตุยิงปะทะ ตนไปพบกับโกตี๋ที่ประเทศลาว 3 ครั้ง ไม่มีการประชุมวางแผนก่อเหตุรุนแรงเพื่อขัดขวางเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นวัดพระธรรมกายตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่าโกตี๋เคยบอกกับตนว่ามีอาวุธในตู้คอนเทนเนอร์ อ้างผู้ใหญ่ซึ่งเป็นอดีตนักการเมืองเกี่ยวข้องด้วย พร้อมปฏิเสธประเด็นสะสมอาวุธสงครามไว้เตรียมลอบสังหารนายกรัฐมนตรี เพราะมองว่าโกตี๋ไม่มีศักยภาพเพียงพอ

ผู้ต้องหาระบุ จนท.ยึดเป็นแค่บีบีกัน 

วันไชยชนะ ครุฑไชยันต์ ผู้ต้องหาอีกคน ปฏิเสธว่าอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ยึดมาเป็นบีบีกัน ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ส่วนปืนพกอีก 2 กระบอกไม่ใช่ของตน เป็นปืนถูกกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ไปยึดมาจากบ้านของภรรยา พร้อมยืนยันว่าไม่เคยยุ่งเกี่ยวเรื่องวัดพระธรรมกาย กรณีไปพบ ธีรชัย เพื่อดื่มกาแฟกันเท่านั้น และไม่รู้จักโกตี๋เป็นการส่วนตัว 

พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 4 เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ถูกออกหมายจับ ข้อหาครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต, มีเครื่องยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองไม่ได้รับอนุญาต , มีวิทยุคมนาคมไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, มียาเสพติด (ยาบ้า) ในครอบครอง รวมทั้งข้อหาซ่องโจร จะถูกส่งให้ ดีเอสไอ สอบสวนต่อ เนื่องจากเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ยกเว้นผู้ต้องหา 1 คน คือ ว่าที่ร้อยตรีสุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล ถูกศาลทหารออกหมายจับในข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูงด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนกองปราบจะดำเนินคดีในส่วนนี้ก่อน  อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การยอมรับเป็นบุคคลตามหมายจับเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องหาอีก 4 คนถูกออกหมายจับในคดีเดียวกัน ซึ่งยังอยู่ระหว่างหลบหนี ในจำนวนนี้คือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามจับกุม 

สำหรับผู้ต้องหาที่ศาลออกหมายจับให้ทั้ง 9 คนประกอบด้วย ธีรชัย อุตรวิเชียร, ประเทือง อ่อนละมูล, ปาลิดา เรืองสุวรรณ, วันไชยชนะ ครุฑไชยันต์, เอมอร วัดแก้ว, อุดมชัย นพสวัสดิ์, จ่าสิบเอกธนโชติ วงศ์จันทร์ชมพู, ว่าที่ร้อยตรีสุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล และ บุญส่ง คชประดิษฐ์

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจสนธิกำลังตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายซึ่งต้องสงสัยเป็นแหล่งสะสมอาวุธ 9 จุด ใน 7 จังหวัด สามารถตรวจยึดอาวุธสงครามและเครื่องยุทธภัณฑ์ได้จำนวนมาก พร้อมควบคุมผู้ต้องหาได้ 9 คน 

ขณะที่ โกตี๋ หรือ  วุฒิพงศ์ นั้นเป็นนักจัดรายการวิทยุและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งได้ลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศไทย ในช่วงรัฐประหารปี 57 และได้ออกมาปฏิเสธผ่านทางยูทูบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมกับระบุว่าเรื่องทั้งหมดเป็นการจัดฉากจากรัฐบาล 

ในส่วนของวัดพระธรรมกายก็ได้ออกแถลงการณ์เช่นกันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโกตี๋ และอาวุธที่ถูกยึด เนื่องจากทางวัดถูกตรวจค้นแล้วทุกจุดและถูกปิดล้อมอย่างต่อเนือง จึงเป็นไปไม่ได้ที่อาวุธจะถูกนำออกจากวัด

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย เฟซบุ๊กแพจ Banrasdr Photo และสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สืบพยานโจทก์คดีประชามติราชบุรียังไม่จบ ต่อ 1 พ.ค.นี้

Posted: 24 Mar 2017 05:46 AM PDT


จำเลยทั้งห้าและทนายจำเลยทั้งห้า

24 มี.ค. 2560 ระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค. ที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2418/2559 ที่พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรี เป็นโจทก์ ฟ้อง ปกรณ์ อารีกุล กับพวกรวม 5 คน ในข้อหา ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง และขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความจำเลยที่ 1-5 ให้สัมภาษณ์ว่า การเบิกความสี่วันนี้ยังเป็นของผู้กล่าวหาและผู้ร่วมจับ โดยเป็นประเด็นเรื่องว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่เอกสารสติ๊กเกอร์ ขณะที่ทีมทนายฯ ต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้เผยแพร่ และตัวเอกสารไม่มีลักษณะไม่เป็นความจริงหรือปลุกระดม โดยตีกรอบเนื้อหาสติ๊กเกอร์เข้ากับร่างรัฐธรรมนูญว่า "อนาคตที่ไม่ได้เลือก" หมายถึงที่มาของนายกฯ ที่อาจมาจากการเลือกของ ส.ส.และส.ว. ซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน

คุ้มเกล้าระบุว่า วันนี้พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาและร่วมจับกุม ส่งภาพถ่ายและวัตถุพยานที่ไม่ได้ส่งในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ทนายจำเลยจึงคัดค้าน ประกอบกับวัตถุพยานซึ่งเป็นวิดีโอมีความยาวกว่าชั่วโมง ต้องใช้เวลาตรวจสอบพยานหลักฐานในการถามค้านและพยานปากนี้มีประเด็นต้องถามค้านจำนวนมากเนื่องจากเกี่ยวพันกับพฤติการณ์ความผิดของจำเลยทุกคน ของกลาง และพยานบุคคลอื่นๆ ศาลจึงให้เลื่อนถามค้านไปวันที่ 1 พ.ค. 2560 เวลาบ่ายโมง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ก่อนการพิจารณาคดี ศาลออกข้อกำหนดไม่ให้ผู้สังเกตการณ์บันทึกการสืบพยานและห้ามรายงานคำเบิกความระหว่างสืบพยาน

สำหรับจำเลยทั้งห้าคนประกอบด้วย นักกิจกรรม 4 คน และนักข่าว 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เหตุเกิดสืบเนื่องจากนักกิจกรรม 4 คนเดินทางเดินทางไปให้กำลังใจชาวบ้าน 23 คนที่ถูกเรียกรายงานตัวฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. จากกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ส่วนผู้สื่อข่าวได้ติดรถไปทำข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นตำรวจได้ตรวจค้นรถที่ทั้งหมดโดยสารมาและพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และรณรงค์โหวตโนหลายรายการในรถดังกล่าวจึงจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาโดยระบุว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะแจกจ่ายเอกสารดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามในคำสั่งฟ้องของอัยการระบุถึงสติ๊กเกอร์โหวตโนเพียงรายการเดียว โดยเขียนว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดโดยการแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ข้อความ "7 สิงหา Vote No ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อความในช่องทางอื่นใดที่ผิดจากข้อเท็จจริง มีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งให้ไม่ไปใช้สิทธิ ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ในการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ โดยอัยการขอให้ลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีและริบของกลางทั้งหมด

 

มาตรา 61  พ.ร.บ.ประชามติ ระบุว่า ผู้ใดกระทําการดังต่อไปนี้ 
 
(1) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

(2) ให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง 

(3) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สําคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการ ลงคะแนนออกเสียง 

(4) เปิด ทําลาย ทําให้เสียหาย ทําให้เปลี่ยนสภาพ ทําให้สูญหาย ทําให้ไร้ประโยชน์ นําไป หรือขัดขวางการส่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียง เว้นแต่เป็นการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ โดยชอบด้วยกฎหมาย

(5) เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง 

(6) เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอยางใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง 

(7) ขาย จําหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง
 
ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
ผู้ใดกระทําการตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับ ไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้ ในกรณีการกระทําความผิดตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) เป็นการกระทําความผิดของ คณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดสิบปี
 
ผู้ใดกระทําการตาม (7) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทําการตาม (6) เป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้าได้แจ้งถึงการกระทําดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ การเลือกตั้งมอบหมายก่อนหรือในวันออกเสียง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ผู้กล้า

Posted: 24 Mar 2017 04:47 AM PDT

 

ท่านกล้าทำในสิ่งที่ผู้อื่นไม่กล้า

ท่านกล้าหาญ  - ท่านกล้า  - ท่านกล้า  - ท่านกล้า

บอกว่าถ่านไม้เป็นสีขาว - ท่านกล้า

สังหารคนแล้วยัดข้อหา - ท่านกล้า

ใช้ทรัพย์ส่วนรวมเพื่อประโยชน์คน - ท่านกล้า

ปูนบำเหน็จญาติมิตรที่กระทำความผิดบกพร่อง - ท่านกล้า

กล่าววาจาเป็นเท็จ - ท่านกล้า

มโนธรรมสำนึกท่านไม่เคยมี - ท่านกล้า

- ท่านกล้า  - ท่านกล้า  - ท่านกล้า

ท่านกล้าที่จะถูกจดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตราบกาลนานเช่นนี้

โดยที่อำนาจฉ้อฉลของท่านไม่อาจจะทำสิ่งใดได้เลย

- ท่านกล้า  - ท่านกล้า  - ท่านกล้า

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.ผ่าน ร่าง กม.เกษตรพันธะสัญญา และแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

Posted: 24 Mar 2017 04:25 AM PDT

สนช. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา หวังให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน พร้อมผ่าน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ เป็นกฎหมาย หวังให้การบังคับคดีเร็วและมีประสิทธิภาพ

แฟ้มภาพ

24 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุวา วันนี้ (24 มี.ค.60) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. .... มีทั้งหมด 46 มาตรา โดย เป็นการพิจารณาต่อจากวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อใน มาตรา 4 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในวรรคสามที่ระบุว่า ในกรณีเขตท้องที่ใดมีความจำเป็นต้องกำหนดให้การทำสัญญาการผลิตผลิตผล หรือ บริการทางการเกษตรประเภทใดต้องนำระบบเกษตรพันธสัญญาไปใช้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สองรายขึ้นไป ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสมาชิก สนช. ประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก  นายวันชัย ศารทูลทัต  และนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสองรายขึ้นไปจะขัดกับร่างเดิมที่กำหนดไว้เป็นสิบรายหรือไม่และเกรงว่าจะซ้ำซ้อนกันในเรื่องของการตีความ ซึ่งสิ่งที่กรรมาธิการชี้แจงไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างไรในอนาคต

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ตั้งข้อสังเกตในมาตรา 39/1 วรรคสองที่ระบุว่า ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษหรือฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำว่า "ขจัดมลพิษ" ครอบคลุมถึงเรื่องน้ำเสีย อากาศและอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดมลพิษด้วยหรือไม่

กรรมาธิการ ชี้แจงว่า ถ้าระบุว่าหนึ่งรายจะขัดต่อคำนิยามของกฎหมาย เพราะสิบรายขึ้นไปจะต้องเข้าระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่แล้ว แต่กรณีที่ไม่ถึงสิบรายต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งการทำสัญญาไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันและในท้องที่เดียว แต่เป็นการนับทั่วประเทศโดยไม่นับเรื่องเวลา นอกจากนี้ การที่ระบุไว้เช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามแผนตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่สามารถรองรับเกษตรกรที่ไม่ถึงสิบรายเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาในอนาคต ส่วนคำว่า "ขจัดมลพิษ" นั้น จะรวมถึงมลพิษทั้งหมดตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดทุกประการ อย่างไรก็ตามในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. .... ด้วยคะแนน 190 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป 

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว  มีจำนวน 46 มาตรา กรรมาธิการฯ มีการแก้ไข 28 มาตรา โดยเหตุผลของกฎหมายนี้ เนื่องจากประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มีอาชีพเกษตรกรรม และที่ผ่านมามีความพยายามที่จะพัฒนาการภาคเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงมีสาระสำคัญ เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐานขณะที่ผู้ประกอบการจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและประเทศชาติจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมวิแพ่งฯ เป็นกฎหมาย

วันเดียวกัน สนช. ยังมีมติเห็นชอบประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 213 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 218 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ

ภัทรศักดิ์ วรรณแสง รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ คนที่หนึ่ง ได้กล่าวชี้แจงว่า ภายหลัง กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว มีการแก้ไขบางมาตรา อาทิ กำหนดให้ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน จากเดิม 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่จะขายหรือจำหน่ายมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกิดส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายหรือจำหน่ายได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร ทั้งนี้ กมธ.ได้ฝากข้อสังเกตข้อเสนอแนะให้หน่วยงานผู้บังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้เตรียมความพร้อมโดยการตรวจสอบกฎกระทรวง และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องว่ามีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งกับร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีต้องเร่งดำเนินการแก้ไขบทบัญญัติและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน และเมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบังคับคดีที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎหมายใหม่ให้บุคลากรในหน่วยงาน และสังคมได้รับทราบ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่บางส่วนไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปโดยล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี และเปิดโอกาสให้มีการประวิงคดี จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ที่มา : สำนักข่าวไทยและเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิบากกรรมไม่รู้จบของเกลืออีสาน

Posted: 24 Mar 2017 04:02 AM PDT

 

นับตั้งแต่การฟ้องคดีเมื่อปี 2548  ก็เป็นเวลาล่วงเลยมา 12 ปีแล้ว  แต่ถ้านับตั้งแต่การต่อสู้ของชาวบ้านก็เป็นเวลาล่วงเลยมามากกว่า 26 ปีแล้ว ที่ความยุติธรรมของชาวบ้านหลายหมู่บ้านในเขตตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ (อำเภอโนนไทยเดิม) จังหวัดนครราชสีมาได้รับจากศาลปกครองสูงสุดเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอกที่ทุกข์ระทมมานาน  ก็เพราะศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.219/2553  คดีหมายเลขแดงที่ อ.1188/2559 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 โดยแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอพระทองคำ) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 24 ตุลาคม 2534

และพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงฯฉบับเดียวกัน  ที่ตั้งอยู่ในและนอกเขตท้องที่บ้านโพนไพลทั้งสิ้น 10 โรงงาน  ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่อนุญาต

คดีนี้เริ่มต้นจากชาวบ้าน 22 คน จากหมู่บ้านทองหลางพัฒนา หมู่ที่ 19 ต.พังเทียม อ.พระทองคำ (อ.โนนไทย เดิม) จ.นครราชสีมา  ได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้ฟ้องคดี  เพราะเห็นว่าการประกอบกิจการทำเกลือสินเธาว์ในท้องที่หมู่บ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 ในเขตท้องที่ตำบลเดียวกัน  ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง  ชาวบ้านในหมู่บ้านทองหลางพัฒนาหลายครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจนไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติสุขได้  อันเนื่องจากโรงงานทำเกลือลักลอบปล่อยน้ำเสียลงไปในลำรางสาธารณะ  และจากสภาพภูมิศาสตร์  หมู่บ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 มีระดับพื้นที่สูงกว่าหมู่บ้านทองหลาง หมู่ที่ 6 และบ้านทองหลางพัฒนา หมู่ที่ 19  จึงทำให้น้ำเสียจากการทำเกลือไหลลงสู่ลำรางสาธารณะและกระจายสู่พื้นที่บ้านทองหลางและบ้านทองหลางพัฒนาซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตร  ทำให้สภาพทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป  สัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติและพืชผักที่เป็นอาหารของคนและสัตว์ได้ลดจำนวนลง  ไม่สามารถใช้น้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติในการอุปโภค บริโภค  และไม่สามารถนำไปให้สัตว์เลี้ยงกินได้  ในฤดูแล้งน้ำในสระที่ชาวบ้านหมู่บ้านทองหลางพัฒนากักเก็บไว้เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภคและให้สัตว์เลี้ยงกินก็ไม่สามารถใช้ได้  เพราะน้ำมีความเค็ม  อีกทั้งน้ำเสียดังกล่าวยังไหลลงสู่ที่นา  ทำให้ไร่นาของชาวบ้านหมู่บ้านทองหลางพัฒนาที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป  ไร่นาที่เคยให้ผลผลิตมากปัจจุบันผลผลิตตกต่ำมาก 

ถ้าย้อนดูตั้งแต่คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ที่วินิจฉัยไว้ได้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า  ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และมีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง  ซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว  ศาลจึงไม่จำต้องมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว  เพราะประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ในตัว  ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.47/2546

โดยศาลยกเหตุที่ว่า มาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 บัญญัติให้อำนาจกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกประกาศกำหนดจำนวนโรงงานแต่ละประเภทหรือชนิดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512)  และบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวที่จะอนุญาตให้ตั้งหรือขยาย  หรือที่จะไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งได้  แต่เมื่อพิจารณาประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเห็นว่าประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเป็นการออกประกาศเพื่อกำหนด 'ท้องที่' ที่จะอนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน  มิใช่เป็นการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนด 'จำนวน' โรงงานแต่ละประเภทหรือชนิดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512)  และบัญชีท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวที่จะอนุญาตให้ตั้งหรือขยาย  หรือที่จะไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งได้  จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว 

และกฎหมายได้กำหนดขั้นตอนที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติในการออกประกาศว่ากระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งร่างประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ  โดยที่มติ ครม. 9 กรกฎาคม 2534 เป็นมติ ครม. ที่ได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่และมาตรการในการควบคุมการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน  ซึ่งหลังจากที่ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการดังกล่าวแล้ว  กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว โดยได้นำหลักการตามมติ ครม. 9​ กรกฎาคม 2534 มากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะอนุญาตให้ทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดินว่าเป็นพื้นที่ใด  อยู่ในตำบล  อำเภอ  จังหวัดใด  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นไปตามหลักการตามมติ ครม. ดังกล่าว  และกำหนดมาตรการในการควบคุมการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน  ก่อนที่จะนำประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 อีกคราหนึ่ง  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมิได้นำประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวไปให้ ครม. เห็นชอบก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2534  อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้กำหนดไว้แล้ว  ประกาศกระทรวงฯฉบังดังกล่าวจึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่กล่าวไว้แล้ว

และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินของทั้ง 10 โรงงาน  ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกโดยอาศัยประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว  จึงเป็นการออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย  

จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ศาลปกครองสูงสุดแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอำเภอพระทองคำ) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเท่านั้น

ส่วนการให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวทั้งสิ้น 10 โรงงาน  ศาลปกครองสูงสุดยังพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเช่นเดิม

ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจึงส่งผลให้ยกเลิกโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเฉพาะในเขตท้องที่บ้านโพนไพลเท่านั้น  แต่ไม่สามารถยกเลิกโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินในเขตท้องที่อื่น ๆ ของจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอื่น ๆ ของภาคอีสานที่มีอยู่ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวทั้งหมดได้

ชาวบ้านในหมู่บ้านมีความหวังว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ทุกข์ทนมานานจากการทำเกลือของหลายโรงงานโดยรอบเขตท้องที่บ้านโพนไพลจะได้รับความสงบสุขอย่างถาวรเสียทีหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา  แต่มันก็เป็นเพียงความปลาบปลื้มดีใจที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ออกมาร่วมเฉลิมฉลองไชโยโห่ร้องกับชัยชนะจากการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วัน  เริ่มแรกก็นั่งเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่โรงงานเหล่านั้นที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตจะหยุดประกอบกิจการ  แม้ว่าสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาจะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาเกือบ 4 เดือน จึงได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เตือนมายังโรงงานเหล่านั้นให้หยุดประกอบกิจการ  มิฉะนั้นหากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายโรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง  ก็เริ่มเห็นวี่แววในทางที่ดีว่ามีบางโรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กหยุดประกอบกิจการ  แต่ยังมีอีกหลายโรงงานซึ่งทั้งหมดเป็นโรงงานขนาดใหญ่ไม่ยอมหยุดประกอบกิจการ  อาทิเช่น  บริษัท ศรีเอเซีย เคมิคอล จำกัด ทั้งโรงงาน 1 และโรงงาน 2 ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านโพนไพล หมู่ที่ 2 และบ้านทองหลาง หมู่ที่ 6 ตามลำดับ  และบริษัท สยามทรัพย์มณี จำกัด  ซึ่งทั้งสองบริษัทมีความเกี่ยวพันเป็นพี่น้องกันทางสายเลือดและมีที่ดินโรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่บ้านทองหลาง หมู่ที่ 6 ติดต่อกัน  จึงทำให้มีข้อสังเกตจากชาวบ้านว่าอาจจะมีการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างบริษัทศรีเอเซียฯที่อาจจะลักลอบสูบน้ำเกลือใต้ดินส่งให้แก่บริษัทสยามทรัพย์มณีฯ  เพราะในขณะที่บริษัทสยามทรัพย์มณียังทำการผลิตเกลือเม็ดต่อไปโดยอ้างว่าซื้อน้ำเกลือมาจากท้องที่อื่น แต่ก็ไม่เห็นมีรถขนส่งน้ำเกลือวิ่งเข้า-ออกบริษัทแต่อย่างใด  ซึ่งเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงข้อบังคับของกฎหมายโดยอ้างว่าไม่ได้เป็นการสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินในเขตท้องที่บ้านโพนไพลตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแต่อย่างใด  และการผลิตเกลือเม็ดก็อยู่นอกเหนือความหมายของการทำเกลือสินเธาว์ตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว  เพราะเป็นอุตสาหกรรมรูปแบบเดียวกับการผลิตเกลือเม็ดของบริษัท เกลือพิมาย จำกัด ที่ตำบลกระเบื้องใหญ่  อ.พิมาย  จ.นครราชสีมา  โดยนำน้ำเกลือไปพ่นผ่านความร้อนในท่อจนแห้งออกมาเป็นเกลือเม็ด  ต่างจากการทำเกลือสินเธาว์ที่ต้องต้มน้ำเกลือบนกระบะขนาดใหญ่หรือตากน้ำเกลือบนแปลงนาข้าว 

ส่วนบริษัทศรีเอเซียฯก็อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายโดยสูบน้ำเกลือใต้ดินในเขตท้องที่บ้านทองหลางซึ่งเป็นคนละท้องที่กับบ้านโพนไพลตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้เพิกถอนประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพลเป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน  อย่างไรเสียก็มีปัญหาทางกฎหมายให้ต้องปฏิบัติอยู่ดี  แต่กลับถูกละเลยเพิกเฉยจากหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  เพราะประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวระบุเงื่อนไขไว้ชัดว่าไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินในเขตท้องที่นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ในประกาศกระทรวงฯฉบังดังกล่าว  ซึ่งบ้านทองหลางเป็นเขตท้องที่ที่่ไม่ได้ถูกประกาศเอาไว้ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว 

ล่าสุดบริษัทสยามทรัพย์มณีได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่  โดยขอให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ระบุให้ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของตน  โดยยื่นขอเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 เพิ่มเข้ามา  ซึ่งศาลปกครองได้ประทับรับฟ้องเอาไว้เรียบร้อยแล้ว  

ต่อมา แทบที่จะไม่ได้ยกภูเขาออกจากอกเลย  ความตึงเครียดครั้งใหม่ของชาวบ้านก็ได้ก่อตัวขึ้น อันเนื่องมาจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงฉบับใหม่เพื่อต้องการล้างมลทินให้กับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้สามารถเปิดโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเดินเครื่องต่อไปได้  โดยจัดทำ '-ร่าง- ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กําหนด จํานวน ขนาด และประเภทหรือชนิดของโรงงานทําเกลือสินเธาว์  และโรงงานสูบหรือนําน้ําเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน  ที่ไม่ให้ตั้งในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ....' นี้ขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคม 2560 เพื่อจะนำมาแทนที่ประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว  ปัจจุบันร่างฯดังกล่าวอยู่ในมือของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำเรื่องเสนอเข้า ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบอยู่ในขณะนี้
 

ปัญหาของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ต่อนิยาม 'น้ำเกลือใต้ดิน'

สาเหตุหนึ่งที่ กพร. ต้องร่างประกาศกระทรวงฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่ประกาศกระทรวงฉบับเก่าที่ถึงแม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาให้ยกเลิกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเฉพาะข้อ 2.3 ที่กำหนดให้บ้านโพนไพลเป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินเท่านั้นก็ตาม  แต่หากไม่ยกเลิกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวทั้งฉบับก็อาจจะมีปัญหาการฟ้องร้องอีกหลายคดีจากชาวบ้านในพื้นที่อื่น ๆ ของภาคอีสานตามมาอย่างแน่นอน  รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นเองที่ว่าประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และมีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง  ซึ่งถือเสมือนว่าไม่มีการออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว  เพราะประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ในตัวแล้วนั้น  ยังมีสถานะนำมาอ้างอิงได้ในกรณีการฟ้องคดีอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกมากมายของชาวบ้านในท้องที่ที่ถูกระบุเอาไว้ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว  ด้วยเหตุที่กล่าวมามันจึงส่งผลเกือบจะอัตโนมัติให้ประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวมีสภาพใช้การไม่ได้ทั่วประเทศหากไม่รีบทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  เพื่อปิดโอกาสการฟ้องคดีของชาวบ้านในท้องที่อื่น  และไม่เปิดพื้นที่หรือโอกาสให้นำคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นมาอ้างอิงในการฟ้องคดีของชาวบ้านในท้องที่อื่นอีก  ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้สังคมหยุดหรือหันเหความสนใจในการวิพากษ์วิจารณ์ที่นำความเสียหายมาสู่หน่วยงาน กพร. เพื่อปิดบาดแผลความมักง่ายขององค์กร

อีกสาเหตุหนึ่งก็เพื่อเปลี่ยนรูปแบบจากการกำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินโดยใช้ 'เขตปกครอง' ซึ่งมีข้อผิดพลาดมากมายจนปล่อยปละละเลยโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตท้องที่ในประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวให้ประกอบการได้โดยไม่บังคับเอาผิด  มาเป็นการใช้ 'เขตแผนที่' เป็นเกณฑ์แทน  เพราะเห็นว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้ตอบสนองหรือสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการด้านธรณีวิทยาต่อแหล่งน้ำเกลือใต้ดินที่แม่นยำมากกว่า

แต่นั่นก็เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย  เพราะไม่ว่าจะเป็นการกำหนดท้องที่โดยใช้เขตปกครองหรือเขตแผนที่่ก็ไม่ได้ตอบคำถามสำคัญในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาวะอนามัยของประชาชนแต่อย่างใด  เหตุเพราะว่าถึงแม้จะตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือใต้ดินตามเขตท้องที่ที่กำหนดโดยเขตปกครองหรือเขตแผนที่ก็ตาม  ผลกระทบที่เกิดจากความเค็มของเกลือและน้ำเกลือก็สามารถไหลออกนอกเขตท้องที่ที่กำหนดได้อยู่เสมอ  รวมถึงหลักเกณฑ์ที่่ไม่ว่าจะกำหนดท้องที่ตามเขตปกครองหรือเขตแผนที่ก็มักพบเห็นว่าแหล่งเกลือหินใต้ดินซ้อนทับกับพื้นที่เกษตรกรรมบนผิวดินของชาวบ้านตามหมู่บ้านชุมชนต่าง ๆ อยู่เสมอเช่นเดียวกัน 

ในส่วนของกฎหมายแร่เองถึงแม้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือ 'กฎหมายแร่ฉบับใหม่' จะถูกประกาศใช้และประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560  แต่ก็ยังไม่มีผลใช้บังคับจนกว่าจะล่วงเข้าเดือนกรกฎาคม 2560 หลังพ้นกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ปัจจุบันจึงยังใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 หรือ 'กฎหมายแร่ฉบับเก่า' อยู่เช่นเดิม  แต่กฎหมายแร่ทั้งสองฉบับในส่วนที่เกี่ยวกับ 'น้ำเกลือใต้ดิน' ก็แทบไม่มีความแตกต่างกัน  กล่าวคือ  แม้กฎหมายแร่ฉบับใหม่จะตัดบทบัญญัติในหมวด 5 ทวิ การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ตั้งแต่มาตรา 91 ทวิ ถึงมาตรา 90 อัฎฐ ของกฎหมายแร่ฉบับเก่าทิ้งไปทั้งหมด  โดยไม่มีบทบัญญัติมาตราใดเกี่ยวกับน้ำเกลือใต้ดินหลงเหลืออยู่เลย  แต่เพียงแค่นิยาม 'น้ำเกลือใต้ดิน' ในมาตรา 4 ของกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับเพียงมาตราเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ กพร. สามารถออกประกาศกระทรวงหรือไม่ออกประกาศกระทรวงเพื่อทำให้ 'น้ำเกลือใต้ดิน' มีสภาพยกเว้นไม่จัดว่าเป็นแร่ตามกฎหมายแร่ได้

 

ตารางเปรียบเทียบนิยาม 'น้ำเกลือใต้ดิน' ระหว่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กับพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560

มาตรา 4  พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4  พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560
"แร่"  หมายความว่า  ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรีย์วัตถุ  มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย  ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่  และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน  หินน้ำมัน  หินอ่อน  โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม  น้ำเกลือใต้ดิน  หินซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม  และดินหรือทรายซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม  แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำเกลือสินเธาว์  ลูกรัง  หิน  ดินหรือทราย "แร่"  หมายความว่า  ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุ  มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่  และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน  หินน้ำมัน  หินอ่อน  โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม  น้ำเกลือใต้ดิน  หินตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม  และดินหรือทรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม  แต่ไม่รวมถึงน้ำ  หรือเกลือสินเธาว์
"น้ำเกลือใต้ดิน"  หมายความว่า  น้ำเกลือที่มีอยู่ใต้ดินตามธรรมชาติและมีความเข้มข้นของเกลือในปริมาณมากกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง "น้ำเกลือใต้ดิน"  หมายความว่า  น้ำเกลือที่มีอยู่ใต้ดินตามธรรมชาติ  และมีความเข้มข้นของเกลือในปริมาณมากกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

เดิมตามกฎหมายแร่ทั้งสองฉบับกำหนดให้ 'น้ำเกลือใต้ดิน' ถูกจัดเป็นแร่ชนิดหนึ่งที่ต้องดำเนินการขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่  และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่มีเทคนิคทางกฎหมายเพียงนิดเดียวเท่านั้นที่จะทำให้น้ำเกลืิอใต้ดินพ้นสภาพการเป็นแร่ได้  นั่นคือ  หนึ่ง-ออกประกาศกระทรวงกำหนดให้ความเข้มข้นของน้ำเกลือใต้ดินมีค่าสูงกว่าความเข้มข้นของน้ำเกลือที่มีอยู่ในใต้ดินตามธรรมชาติ  เมื่อน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติมีค่าความเข้มข้นต่ำกว่าที่ประกาศกำหนดก็จัดได้ว่าน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติไม่เป็นแร่อีกต่อไป  สอง-ในด้านตรงข้ามก็ทำได้เช่นเดียวกันคือไม่ออกประกาศกระทรวงกำหนดค่าความเข้มข้นของน้ำเกลือใต้ดิน  ปล่อยว่างไว้เช่นนั้น  เพียงเท่านี้ก็สามารถสูบน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติขึ้นมาโดยไม่จัดว่าเป็นแร่ได้  เพียงเท่านี้ในทั้งสองกรณีก็ทำให้การตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือใต้ดินตามธรรมชาติขึ้นมาไม่ถูกจัดว่าเป็นแร่ที่ต้องดำเนินการขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่และขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่  และไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่อย่างใด  โดยเลี่ยงเอากฎหมายโรงงานมาใช้บังคับแทน     


ต้นทุนราคาถูก  ชีวิตราคาถูก

เกลืออีสานเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีปริมาณมหาศาลฝังอยู่ใต้ดินไม่ต่ำกว่า 18 ล้านล้านตัน  นั่นคือตัวเลขปริมาณสำรองที่พิสูจน์เกือบจะแน่ชัดแล้วโดยนักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณีและ กพร.  โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญรองลงมาจากวัตถุดิบอื่นในอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี  เช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณลดน้อยลงเรื่อย ๆ  ต่างจากปริมาณสำรองเกลือในภาคอีสานที่มีปริมาณมหาศาลสามารถใช้งานได้อีกนานหลายร้อยปี  จึงถูกทำให้เป็นวัตถุดิบที่มีราคาถูกในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว  โดยละเลยความสำคัญอีกด้านหนึ่งของเกลือลงไป  นั่นคือ  การเป็นวัตถุดิบที่มีความเป็นอันตรายสูงจากการนำขึ้นมาใช้  บทเรียนที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเสียวในเขตหนองบ่อ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม  เมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้วทำให้เห็นศักยภาพของวัตถุดิบชนิดนี้ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดความล่มสลายทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่นั่น

ทั้ง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบที่มีอันตรายสูงต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน  แต่รัฐและผู้ประกอบการกลับไม่ใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น  กลับวางมาตรการ  กฎ  ระเบียบ  ข้อบังคับต่าง ๆ ในการดูแลเอาใจใส่ต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตประชาชนอย่างไม่เข้มงวดกวดขัน  โดยเฉพาะมาตรการทางด้านราคาซื้อขายที่ถูกกดให้ต่ำมาก  สภาวะเช่นนี้เองได้ทำให้ผู้ประกอบการผลิตเกลือในภาคอีสานไม่รับผิดชอบต่อปัญหาผลกระทบและความเสื่อมโทรมเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น  เนื่องจากไม่ยอมลงทุนป้องกันผลกระทบใด ๆ  เพราะเกรงจะได้รับกำไรน้อยลง  มุ่งแต่จะกอบโกยหาผลประโยชน์ด้วยการกดราคาการจ้างงานและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในการต้มและทำนาเกลือให้ต่ำลงมาเป็นทอด ๆ

เมื่อเกลืออีสานมีต้นทุนราคาถูก  จึงทำให้ชีวิตคนที่อยู่ในแหล่งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดินมีราคาถูกตามไปด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนช.มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ เป็นกฎหมาย

Posted: 24 Mar 2017 03:59 AM PDT

สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ตั้ง กก.แข่งขันทางการค้า 7 คน ด้าน สนช.สายเศรษฐกิจอัด ม. 51 ปมห้ามรวมธุรกิจที่ส่อผูกขาดหรือลดการแข่งขันเว้นแต่จะได้รับอนุญาต ด้าน กมธ.ยอมแก้แยกลดการแข่งขันกับผูกขาด ก่อนลงมติผ่านวาระ 2-3 เอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

ที่มาภาพ เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 

24 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ....ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 200 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 204 คน พร้อมเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ก่อนลงมติ มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จำนวน 7 คน ที่ต้องมีผลงาน ประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 10 ปีในสาขานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน อุตสาหกรรม การบริหารธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า และยังกำหนดคุณสมบัติต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดๆในสถาบันหรือสมาคมซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ร่วมกันทางการค้า โดยคณะกรรมการจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีออกกฎกระทรวง ออกระเบียบ กำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นรูปธรรม พิจารณากำหนดโทษปรับทางการปกครอง เป็นต้น ที่สำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้มีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแช่งขันทางการค้าขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและไม่เป็นรัฐวิสาหกิจและให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จากเดิมสังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดในเรื่องการป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการกำหนดราคา เงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบธุรกิจ การแทรกแซง และห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

สมาชิกในส่วนของ สนช.ที่เป็นสายธุรกิจ อาทิ สุพรรณ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อิสระ ว่องกุศลกิจ อดีตประธานหอการค้าไทย สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ กรรมการบริหาร บริษัท คอลเกต ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด สาธิต ชาญเชาวน์กุล อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยในมาตรา 51 ที่เป็นเรื่องของการควบรวมธุรกิจ ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเดิมที่กำหนดมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่ง กมธ.ฯ ได้มีการเติมข้อความตอนท้ายว่า "เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ" ซึ่งหมายความว่า การรวมธุรกิจที่ทำให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันทุกประเภทหากจะรวมธุรกิจจะต้องมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน นอกจากนี้ยังเพิ่มข้อความใหม่อีกหลายวรรคที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมธุรกิจ
       
โดยส่วนใหญ่เห็นว่า การควบรวมธุรกิจเป็นเรื่องปกติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขั้น แต่ กมธ.กลับมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการจากร่างเดิมที่มาจากคณะรัฐมนตรี ที่เดิมนั้นได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบธุรกิจและคณะกรรมการประสานงานจนลงตัว แต่ กมธ.กลับมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้การควบรวมธุรกิจที่อาจเกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขัน ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และยกเลิกการแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจออกไป ซึ่งการทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการผูกขาดไปในตัวเพราะคณะกรรมการจะเป็นผู้อนุญาตเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายจากธุรกิจและหากการไปขออนุญาตซึ่งจะมีการแจ้งข้อมูลต่างๆ ทางธุรกิจ อาจทำให้ความลับทางการค้าเกิดการรั่วไหล ทำให้คู่แข่งทางการค้ามีการได้เปรียบเสียเปรียบทันทีส่งต่อความเสียหายต่อธุรกิจ หรือทำให้ราคาหุ้นเกิดการเปลี่ยนแปลง
       
อย่างไรก็ตาม มาตราดังกล่าวได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสมาชิกยังคงยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.ฯ ทำให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ขอพักการประชุมเพื่อให้ กมธ.ไปดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับการอภิปรายของสมาชิก ซึ่งหากไม่ทบทวนการที่จะผ่านมาตรานี้คงเป็นไปได้ยาก ซึ่ง กมธ.ก็ยินยอมไปปรับปรุงมาตราดังกล่าวใหม่ โดยให้สมาชิกที่อภิปรายและกมธ.มาหารือและปรับแก้ไข ซึ่งภายหลังการหารือนอกรอบ ศิริพล ยอดเมืองเจริญ ประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า หลังจากการหารือ กมธ.ได้แก้ไขมาตรา 51 เป็น 2 ส่วนคือ 1. ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ และ 2. ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
       
พรนภา ไทยเจริญ อดีตคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่า กฎหมายการแข่งขันทางการค้าถือเป็นกฎหมายสากลที่ 133 ประเทศใช้บังคับโดยมีหลักการดูแลโครงสร้างและกำกับการควบรวมธุรกิจ เพื่อป้องกันการผูกขาดและลดการแข่งขัน อย่างมีนัยสำคัญเท่านั้นที่จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ ในมาตรา 51 ที่มีการปรับปรุงนั้นจะไม่รวมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี ที่จะไม่เข้าเกณฑ์หรืออยู่ในข่าย หรือธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีส่วนแบ่งการตลาด 30% หรือมียอดขายต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ก็ไม่ต้องทำอะไรและไม่ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจ แต่ในกรณีธุรกิจขนาดใหญ่เมื่อรวมแล้วเกิดการผูกขาด มีอำนาจเหนือตลาดและส่งผลกระทบต่อตลาดต้องมีการขออนุญาตก่อน
       
 หลังจากการปรับแก้ไขมาตรา 51 เรียบร้อยแล้วไม่มีสมาชิกคนใดติดใจอีก จากนั้นก็ได้มีการพิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนเสร็จสิ้นครบ 89 มาตรา ที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 2 และลงเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

ที่มา เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และผู้จัดการออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอเก็บภาษีผลได้จากทุน เปลี่ยน ‘การเมืองเรื่องหุ้นชิน’ เป็น ‘นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ’

Posted: 24 Mar 2017 03:00 AM PDT

นักเศรษฐศาสตร์เสนอรัฐผลักดันการเก็บภาษีผลได้จากทุนหรือภาษีกำไรจากการขายหุ้นนโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน เพิ่มรายได้รัฐ เพิ่มเสถียรภาพตลาดหุ้นในระยะยาว อาจกระทบการลงทุน ต้นทุนการระดมทุนสูงขึ้น แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำใหญ่กว่า เชื่อผลได้มากกว่าผลเสีย

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กำไรจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กกว่า 4 หมื่นล้านโดยไม่เสียภาษี เมื่อปี 2549 คือชนวนใหญ่ที่ทำให้เกิดการชุมนุมขับไล่และเรื้อรังเป็นปัญหาทางการเมืองจวบจนปัจจุบัน

ประเด็นภาษีหุ้นชินคอร์ปเงียบหายไปนาน กระทั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึงกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในครั้งนั้น เนื่องจากคดีกำลังจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560 กระแสจึงกลับมาอีกครั้ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกกับสื่อมวลชนว่าต้องใช้อภินิหารทางกฎหมายเพื่อเก็บภาษีก้อนนี้ ตามมาด้วยข่าวการเรียกเก็บภาษี 60 นักการเมือง นัยว่าเพื่อกลบกระแสการเลือกปฏิบัติ เลยต้องหว่านให้ถ้วนทั่ว

เป็นที่รู้กันดีว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หากผู้ขายได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น กำไรที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี แต่การขายหุ้นชินคอร์ปในครั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เห็นว่ามีการวางขั้นตอนอย่างซับซ้อนเพื่อหลบเลี่ยงภาษี แต่นั่นไม่ใช้ประเด็นที่จะพูดคุยกันในที่นี้

หากไม่ทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองที่มุ่งเล่นงานฝ่ายตรงข้ามแล้ว การหยิบยกเรื่องเก็บภาษีผลได้จากทุนหรือจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้นก็ดูจะเป็นตัวเลือกเชิงนโยบายข้อหนึ่งที่พึงพิจารณา เพราะจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

เก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มเสถียรภาพตลาด

จากงานศึกษา 'การสำรวจองค์ความรู้ภาษีผลได้จากทุนในตลาดหุ้น และข้อเสนอสำหรับประเทศไทย' ของภาวิน ศิริประภานุกูล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การแปลงเงินเป็นหุ้นและปล่อยให้มูลค่าของหุ้นที่ถือเพิ่มขึ้น ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าวิธีการนี้ให้ผลประโยชน์โดยรวมต่อสังคมมากกว่าการนำเงินไปลงทุนในด้านอื่น ทำให้การถือครองหุ้นไม่ต่างกับการสะสมที่ดินเพื่อเก็งกำไรแต่อย่างใด อีกทั้งการศึกษาในต่างประเทศยังพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นว่าการยกเว้นการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นจะช่วยให้เพิ่มการออมและการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ในแง่มุมข้างต้น ทำให้คนมีเงินเก็บ มีรายได้สูง มีแต้มต่อในการสั่งสมความมั่งคั่ง การไม่เก็บภาษีจากผลได้ตรงนี้จึงเท่ากับซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมองเห็นได้ชัดเจนในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง แต่ภาวินยังมองอีกว่า การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะยาว เนื่องจากจะมีการนำระยะเวลาการถือครองหุ้นมาคิดคำนวน อัตราภาษีที่เก็บจากนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะต่ำกว่านักลงทุนแบบเก็งกำไรที่ถือหุ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งจะช่วยลดนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นลง ในระยะยาวราคาและผลตอบแทนจากตลาดหุ้นจะปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพขึ้น ความผันผวนลดลง และนักลงทุนระยะยาวจะเข้ามาทดแทนสภาพคล่องที่หายไปในที่สุด

ประเด็นคือแนวคิดข้างต้นกำลังพูดถึงการเก็งกำไรในตลาดหุ้น ซึ่งเมื่อขายได้กำไรก็ควรต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริง กลุ่มตระกูลมหาเศรษฐีหุ้นไทยมิใช่กลุ่มที่ซื้อมาขายไปเพื่อหวังกำไรส่วนต่าง หากเป็นการถือครองหุ้นโดยไม่มีการขายออกและปล่อยให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลา เมื่อไม่มีการขายหุ้นออกไปเพื่อหวังกำไรจากส่วนต่างก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ แนวคิดภาษีผลได้จากทุนจึงอาจใช้ไม่ได้ผลกับกลุ่มนี้

ประเด็นนี้ ภาวิน แสดงความเห็นว่า ตัวภาษีสามารถออกแบบเพื่อเก็บจากกลุ่มนี้ได้ อย่างการจัดเก็บเมื่อมีการโอนย้ายหุ้นให้กับทายาท เป็นต้น เพียงแต่ในปัจจุบันยังอาจยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก

ยังไม่ถึงเวลาเก็บภาษีผลได้จากทุน

ด้านคนที่อยู่ในตลาดทุนมีมุมมองที่แตกต่างไปในเรื่องนี้ ข้อโต้แย้งหลักๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีผลได้จากทุนคือ

1.ตลาดทุนไทยยังไม่พัฒนาเพียงพอ การยกเว้นการเก็บภาษีจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในตลาดทุน

2.การลงทุนในหุ้นอาจขาดทุนได้ การเลือกเก็บเฉพาะภาษีจากกำไรอาจไม่เป็นธรรม แต่ประเด็นนี้สามารถแก้ไขได้โดยหากนักลงทุนขาดทุนสามารถนำผลขาดทุนไปใช้หักลดหย่อนหรือคืนภาษีได้

3.จะทำให้จำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นลดลง สภาพคล่องลด ซึ่งจะกระทบให้การระดมทุนในตลาดหุ้นขาดประสิทธิภาพและมีต้นทุนสูงขึ้น

4.เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เนื่องจากกำไรของบริษัทถูกหักภาษีไปแล้ว และเมื่อนำกำไรมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่นักลงทุนก็ถูกหักภาษีอีกรอบหนึ่ง หากยังเก็บจากส่วนต่างราคาหุ้นอีกย่อมเท่ากับเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนถึง 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสุดท้ายมีคำอธิบายว่า แม้ว่ากำไรของบริษัทที่จ่ายเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นถือว่าเก็บซ้ำซ้อนจริง แต่ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นคือมูลค่าสะสมของทุนที่สะท้อนแนวโน้มการเติบโตของบริษัท หุ้นจึงถือเป็นสินทรัพย์ การเก็บภาษีผลได้จากทุนจึงเป็นการเก็บภาษีสินทรัพย์เช่นเดียวกับการเก็บภาษีที่ดินหรือภาษีมรดก

ผลักดันให้เป็นนโยบายถาวร

ภาวิน กล่าวกับประชาไทว่า หากจะจัดเก็บโดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากคนที่อยู่ในตลาดทุนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน การจัดเก็บภาษีจากคนกลุ่มนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงสมเหตุสมผล

"มองอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่ค้านก็มองในด้านประสิทธิภาพ เพราะถ้าเราจัดเก็บในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราไปไม่ได้จัดเก็บ มันจะกระทบกับเรื่องการลงทุนทันที ไม่ใช่กระทบทางตรง แต่จะกระทบในทางอ้อม คือจะเพิ่มต้นทุนการระดมทุนในภาพรวมของบริษัทในไทย ถ้าคนลงทุนในตลาดหุ้นน้อย ราคาจะตก บริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นต้องอ้างอิงกับบริษัทที่อยู่ในตลาด จะทำให้ระดมทุนได้น้อย ขณะที่ต้นทุนยังใกล้เคียงของเดิม ต้นทุนต่อหน่วยของเงินที่ระดมได้จะสูงขึ้น

"บางคนก็คิดว่าต้นทุนมีความสำคัญมาก เพราะต้นทุนการเงินของเราสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ หากว่าตลาดทุนสูญเสียเรื่องนี้ไปอีกก็จะยิ่งทำให้เราเสียเปรียบประเทศรอบข้างขึ้นไปอีก"

แต่ความคิดของภาวินเห็นว่า เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะมีประโยชน์กว่า คือทั้งลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินและเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล

"ข้อถกเถียงเรื่องต้นทุนทางการเงินก็มีเหตุผลและเราอาจจะกระทบแน่ๆ แต่อยู่ที่ว่าเราจะให้น้ำหนักกับเรื่องไหนมากกว่ากัน ในมุมมองของผม ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทย และอาจสำคัญกว่าการสร้างความเติบโตด้วยซ้ำ เพราะคนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตส่วนใหญ่เป็นคนฐานะดี การลดการจัดเก็บภาษีจากคนฐานะดี ถึงจะสร้างการเติบโตได้ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับประโยชน์"

ส่วนกรณีการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป แม้ภาวินจะเห็นว่าควรต้องเก็บภาษี เพราะเป็นการซื้อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เพียงแค่ใช้วิธีกลวิธีที่ทำให้ดูเหมือนขายในตลาดเพื่อเลี่ยงภาษีเท่านั้น แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยที่จะใช้กระบวนการพิเศษเพื่อเล่นงานทางการเมืองเช่นที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่รัฐควรผลักดันการเก็บภาษีผลได้จากทุนเป็นนโยบายถาวรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินไปเลย

คำถามอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะกล้าเก็บภาษีจากคนรวยในตลาดหุ้นหรือไม่ ภาวินไม่ได้กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังพี่ชายชัยภูมิ ป่าแส ถูกขู่ถึงขั้นกระสุนปืนวางหน้าบ้าน

Posted: 24 Mar 2017 01:59 AM PDT

กรรมการสิทธิฯ เตรียมลงพื้นที่เกิดเหตุวิสามัญฯ ชัยภูมิ ป่าแส หลังรับเรื่องร้องเรียน กรณี ไมตรี พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิโดนคุกคามหนักถึงขั้นส่งกระสุนปืนมาวางหน้าบ้าน ส่วนปมวิสามัญชัยภูมิฯ กำลังรวบรวมข้อมูล รับใช้เวลานาน ต้องรอหลายฝ่าย

เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งองค์กรภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ที่มาภาพ เพจ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
 
24 มี.ค. 2560 วันนี้ ที่ห้องรับรอง 604 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งองค์กรภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงพื้นที่ติดตามกรณีวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส เพื่อให้คดีดังกล่าวได้ดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องและโปร่งใส และสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่และคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว 
 
ผู้สื้อข่าวประชาไท สัมภาษณ์ อังคณา นีละไพจิตร กสม. เกี่ยวกับความคืบหน้าภายหลังจากรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดย อังคณา ชี้แจงว่า ทาง กสม. มีประเด็นที่จะตรวจสอบ 2 ประเด็น หนึ่ง ประเด็นการวิสามัญฯ ชัยภูมิ นั้นต้องใช้เวลาพอสมควรเนื่องจากต้องรอผลชันสูตร และเชิญเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบถามที่สำนักงาน โดยขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลกันอยู่
 
ส่วน ประเด็นที่ สอง กรณีนักสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่ คือ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ซึ่งเป็นพี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ ที่กำลังถูกคุกคาม นั้น อังคณา ระบุว่า ตนได้รับแจ้งว่ามีการข่มขู่คุกคามด้วยการวางกระสุนปืนไว้หน้าบ้านไมตรี ซึ่งถือเป็นเรื่องฉุกเฉิน และทาง กสม. เป็นห่วงความปลอดภัยของไมตรี จึงจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน โดยกระบวนการตรวจสอบจะดำเนินผ่านการลงพื้นที่เพื่อพบชาวบ้าน ผู้เสียหายเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ตรวจเยี่ยมทัณฑสถานหญิงโคราช พบดูแลผู้ต้องขังตั้งครรภ์ครบวงจร

Posted: 24 Mar 2017 01:30 AM PDT

กสม. เผยที่ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา จนท.พาผู้ต้องขังไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล พบแพทย์ตามนัดและคลอดที่โรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยและยังทำให้เด็กไม่ต้องระบุในใบแจ้งเกิดว่าคลอดที่ทัณฑสถานฯ พร้อมมีพี่เลี้ยงที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาช่วยดูแล

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา

24 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เชิงกัลยาณมิตร ที่ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ฉัตรสุดา ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ทางคณะฯ​ จะดูตั้งแต่สภาพทางกายภาพ เช่นโครงสร้างสถานที่ สถานที่โรงฝึกงาน สถานที่เยี่ยมของญาติ การบริการทางการแพทย์ รวมไปถึงประเด็นด้านเด็กในกรณีที ซึ่งเป็นประเด็นที่มักเป็นปัญหาในหลายๆ แห่ง โดยที่ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมานั้น เมื่อมีผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์เข้ามาภายในทัณฑสถานฯ ทางเจ้าหน้าที่จะพาไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรวมถึงพาไปพบแพทย์ตามนัดจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดคลอด ก็พาไปคลอดที่โรงพยาบาลนอกจากเพื่อความปลอดภัยของมารดาแล้ว ยังทำให้เด็กที่เกิดมาไม่ต้องระบุในใบแจ้งเกิดว่าคลอดที่ทัณฑสถานฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กในอนาคตอีกด้วย

โดยเด็กทุกคนที่คลอดจากมารดาซึ่งเป็นผู้ต้องขัง จะได้รับวัคซีนครบถ้วนตามมาตรฐานของโรงพยาบาล และเมื่อกลับมายังทัณฑสถานฯ จะมีการแยกพื้นที่ให้เด็กได้อยู่กับมารดาเป็นสัดส่วนจากผู้ต้องขังในแดนต่างๆ และมีพี่เลี้ยงที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาช่วยดูแล และเน้นการให้เด็กได้ดื่มนมแม่เนื่องจากมีคุณประโยชน์และยังมีการให้นมผงช่วยเสริมโดยได้รับงบประมาณจากกรมราชทัณโดยมารดาซึ่งเป็นผู้ต้องขังสามารถอยู่กับบุตรได้จนถึงอายุ 1 ปี จากนั้นจะมีการติดต่อญาติให้มารับไปดูแล เพื่อการเจริญเติบโตของเด็กในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อไป

ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ชาติชาย กล่าวว่า สำหรับเรือนจำหญิงในประเทศไทยต้องขอบคุณข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเสนอเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เนื่องจากมีความเปราะบางกว่าผู้ต้องขังชาย จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกและรวมทั้งยังถูกนำมาใช้จริงในทัณฑสถานหญิงในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ซึ่งหลักการนี้ทำให้การควบคุม การปฎิบัติ และแนวทางการดูแลผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการฝึกทั้งด้านความเป็นอยู่ ด้านจิตใจและฝึกอาชีพที่หลากหลาย ทั้งนี้ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมาถือเป็นต้นแบบที่ดีในการปฎิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ จากที่เรามาดูวันนี้จะเห็นได้ว่ามีการรักษาความสะอาดดีที่มาก มีกิจกรรมที่ค่อนข้างเป็นระบบ ก็ต้องชมเชยที่สามารถดูแลผู้ต้องขังหญิงได้เป็นอย่างดี มีเพียงบ้างเรื่องที่ยังต้องมีการพูดคุยกันในเกี่ยวกับการทำงานของผู้ต้องขังหลังจากพ้นโทษ เนื่องจากมีกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ควบคุมการประกอบอาชีพพนักงานนวด โดยต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะสามารถทำงานได้และผู้ที่มีประวัติการทำความผิดไม่สามารถเป็นผู้ประกอบกิจการสปาได้ ทำให้ถึงแม้จะผ่านการฝึกชีพมาแล้วจากในทัณฑสถานก็ยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้

สุดารัตน์ ภู่พันธ์ ผู้อำนวยการส่วนปกครองและทัณฑปฎิบัติ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา

สุดารัตน์ ภู่พันธ์ ผู้อำนวยการส่วนปกครองและทัณฑปฎิบัติ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา กล่าวว่า ที่ทัณฑสถานฯ จะมีการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงมหาวิทยาลัย รวมถึงการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ต้องขังจากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งการศึกษานอกโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมไปถึงวิทยาลัยการอาชีพปากช่องที่จะเข้ามาสอนอาชีพให้กับผู้ต้องขัง โดยผู้ต้องขังที่นี่จะได้การฝึกทั้งวิชาชีพและแรงงานรับจาก ได้แก่การนวดแผนไทย ซัดรีดเสื้อผ้า ล้างรถ การทำสิ่งประดิษฐ์ ทำน้ำหอม เสริมสวย และวิชาการโรงแรม โดยผู้ต้องขังที่เหลือโทษน้อยกว่า 3 ปีครึ่ง จะได้รับโอกาสให้ออกไปทดลองฝึกอาชีพด้านนอก โดยบริเวณด้านหน้าทัณฑสถานจะมีร้านนวด ร้านล้างรถ เสริมสวย ร้านกาแฟ และร้านค้าขายสิ่งประดิษฐ์จากผู้ต้องขังและบริการโดยผู้ต้องขังหญิงที่ผ่านการฝึกอาชีพมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กิจกรรมสวตมนต์และนั่งสมาธิเพื่อฝึกจิตใจของผู้ต้องขัง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กิจการประเภทการผลิตและจำหน่ายเลิกจ้างสูงสุดระหว่าง 1 ต.ค.2559- 28 ก.พ.2560

Posted: 23 Mar 2017 10:51 PM PDT

กสร. เผย 5 อันดับ กิจการที่มีการเลิกจ้างมากสุดในไทย 1 ต.ค. 2559- 28 ก.พ.2560 อันดับ 1.กิจการประเภทการผลิตและจำหน่าย

 
มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมาว่านายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ( กสร. ) กล่าวว่า สถานการณ์การเลิกจ้าง ในภาพรวมของประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า สถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐบาล ที่เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนภาครัฐและให้สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ และธุรกิจ SMEs กู้ยืมเงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งนโยบายด้านอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวดีขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่างๆ
 
นายสุเมธ กล่าวว่า ในส่วนของการเลิกจ้างมีแนวโน้มลดลงโดยจะเห็นได้จากข้อมูลจำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและมายื่นคำร้องลดลง โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีสถานประกอบกิจการที่เลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด 172 แห่ง ลูกจ้างยื่นคำร้องรวม 4,290 คน เงินสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับรวม 123,149,121 บาท  สำหรับประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กิจการประเภทการผลิตและจำหน่าย คิดเป็นร้อยละ 41  2. กิจการประเภทอื่นๆ เช่น จัดทำเอกสาร ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ คิดเป็นร้อยละ 15   3. กิจการโรงแรม/สถานบันเทิง/งานบริการ คิดเป็นร้อยละ 11  4. กิจการสื่อสารคมนาคม คิดเป็นร้อยละ 9 และ 5. กิจการก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 7 ทั้งนี้ มีสถานประกอบกิจการที่มีแนวโน้มเลิกจ้าง 4 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 882 คน
 
อธิบดี กสร. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อัตราการเลิกจ้างในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มีจำนวนลดลง โดยในเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2559 มีจำนวนอัตราการเลิกจ้าง 31,570 คน / 30,570 คน / 29,748 คน ลดลงตามลำดับ เดือนมกราคม 2560 มีจำนวน 29,076 คน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากภาพรวมแล้วสถานการณ์การเลิกจ้างและแนวโน้มการเลิกจ้างมีทิศทางที่ดีขึ้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น