โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศาลสั่งจำคุกอดีตผู้ว่าฯททท. 66 ปี คดีรับสินบนบางกอกฟิล์มฯ ลูกสาวโดน 44 ปี

Posted: 29 Mar 2017 12:28 PM PDT

เจ้าหน้าที่คุมตัว 'จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีต ผู้ว่าฯททท. และบุตรสาว ไปทัณฑสถานหญิงกลาง เหตุยังไม่มีคำสั่งให้ประกันตัว หลังศาลพิพากษาจำคุก 66 ปี และ 44 ปี คดีรับสินบนบางกอกฟิล์มฯ

ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo  

29 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษา ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และ จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว ตกเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล กรณีเรียกรับเงินจาก เจอรัลด์-นางแพทริเซีย กรีน สามีภรรยานักธุรกิจภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เพื่อให้ได้รับสิทธิจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ บางกอกฟิล์ม เฟสติวัล เมื่อปี 2545-2550 มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท  

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องจริง โดยจำเลยที่ 2 ได้รับการโอนเงินจากนักธุรกิจชาวอเมริกันเข้าบัญชีของ จิตติโสภา เมื่อปี 2546-2550 เพื่อให้ได้รับสิทธิจัดงานเทศกาลดังกล่าวฯ และมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เซ็นอนุมัติ จึงพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ตามความผิด 11 กระทง กระทงละ 6 ปี รวม 66 ปี แต่ตามกฎหมายหากทำความผิดหลายกระทง ให้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมเป็น 44 ปี และสั่งริบเงินจำนวนกว่า 62 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน 

ด้านทนายความยื่นหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างขออุทธรณ์คดี ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยจะหลบหนี จึงเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งประกันต่อไป ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมทั้ง 2 คน ไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อควบคุมตัวชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งให้ประกันหรือไม่ประกันตัวจากศาล

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และเพจ Banrasdr Photo  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก กมธ.วิสามัญฯ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยัน ทหาร-กมธ.ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

Posted: 29 Mar 2017 11:57 AM PDT

29 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เคยศึกษาและเสนอเรื่องนี้ ไปยังรัฐบาล สมัยที่  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว แต่ร่างที่ ครม. เสนอกลับมา ไม่ได้กำหนดให้ตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมาธิการจึงพิจารณาถึงความจำเป็น ที่ต้องกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่าง พ.ร.บ. เพื่อกำกับดูแลระบบการแบ่งปันผลประโยชน์  จึงได้กำหนดเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ. นอกเหนือจากเดิมที่มีเพียงระบบพลังงาน  พร้อมยืนยันว่า ผ่านมาได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้ว  ทหาร และ กรรมาธิการทั้ง 21 คน ที่ร่วมพิจารณา ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนการที่ไม่กำหนดโครงสร้างของบรรษัทน้ำมันที่ชัดเจน ไว้ในมาตรา 10 / 1 มองว่า หากเขียนแบบผูกขาดจนเกินไป  จะยากต่อการปฏิบัติของรัฐบาล  ซึ่ง ไม่มั่นใจว่า ในอนาคต จะมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงโครงสร้าง หรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะบริหารจัดการ

พล.อ.อกนิษฐ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  ระบุว่าในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเปิดช่องให้ กรมพลังงานทหาร เข้ามาดูแลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ว่า  ส่วนตัวมองว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกรณีนี้ ผู้ที่มีอำนาจสูงสุด คือ รัฐมนตรีว่าการการทรวงพลังงาน แต่กรมพลังงานทหารขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคิดค้นพลังงานใช้ในการปกป้องประเทศ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจน้ำมัน

ยันพรุ่งนี้ ไม่เลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างดังกล่าว ของที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เมื่อวานนี้ ว่า ที่ประชุมวิปสนช. ได้พูดคุยเรื่องความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และได้รับการอธิบายจากพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ถึงการเพิ่มมาตรา 10/1ว่าด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากกรรมาธิการชุดดังกล่าว ที่มีข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมาธิการที่รับฟังความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ เสนอว่า ควรจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการดำเนินการเรื่องปิโตรเลียม เนื่องจากระบบการปิโตรเลียมของไทยเป็นการให้สัมปทาน แต่การเพิ่มเรื่องนี้อยู่นอกหลักการของกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉบับที่รัฐบาลส่งมา เป็นระบบสัมปทาน ดังนั้น จึงต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกรรมาธิการก็ได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนได้ตรวจสอบพบว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าว บัญญัติเพียงว่า หากจะดำเนินการในลักษณะของบรรษัทเช่นนี้ จะต้องศึกษาความพร้อมอย่างไร ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายแบบเปิดทางไว้เท่านั้น ยังไม่ได้มีการจัดตั้ง เนื่องจากมีแนวคิดว่า นอกจากระบบสัมปทานแล้ว ก็ควรมีรัฐบาลแห่งชาติเข้าไปดำเนินการเอง โดยจัดในรูปแบบของบรรษัทของรัฐบาล  แต่ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าว ทำให้มองได้ 2 ทาง  คือฝ่ายที่ผลักดันมองว่าร่างกฎหมายเพิ่มเติมมาไม่สมบูรณ์และไม่ชัดเจน ส่วนอีกฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายเดิม ก็มองว่า เพิ่มประเด็นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร  อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า กังวลที่มีกลุ่มเตรียมชุมนุมต่อต้านการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่อยากให้เข้าใจว่า กฎหมายสามารถปรับปรุงแก้ไขได้เสมอในอนาคต เพราะกฎหมายไม่ตายตัว วันนี้ทำให้ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลนี้ ส่วนจะดำเนินการพิจารณากฎหมายตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบว่าจะต้องทำเมื่อใด แต่ยืนยันว่า ขณะนี้เปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว  รวมถึงการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายที่มีต่อประชาชนด้วย

พรเพชร ยืนยันว่า ที่ประชุม สนช.จะไม่เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวันพรุ่งนี้ (30มี.ค.) เนื่องจากต้องพิจารณาหลักการอื่นๆของกฎหมายด้วยโดยเฉพาะเรื่องการค้นหาพลังงานของประเทศ ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะต้องหาข้อยุติโดยการอภิปรายของสมาชิกสนช. ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือร่างของรัฐบาล แต่ที่ระบุว่าต้องเดินหน้าต่อไป คือ เดินหน้าในส่วนที่ไม่ได้ขัดแย้ง ส่วนข้อเสนอใหม่จะต้องพิจารณาว่าดำเนินการอย่างไร หากดำเนินการได้ก็เดินหน้าต่อ แต่หากยังดำเนินการไม่ได้ก็ต้องหาทางออกต่อไป ขณะนี้ยังคาดเดาอนาคตไม่ได้ว่าจะได้ข้อยุติหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา สนช.เคยแก้ไขกฎหมายในชั้นกรรมาธิการเช่นนี้มาแล้ว 3-4ครั้ง และการพิจารณาของ สนช.มีหลายรูปแบบ ทั้งการโหวต การประนีประนอม หรือบางครั้งกรรมาธิการจะนำร่างกลับไปพิจารณา จึงต้องดูสถานการณ์และเปิดให้อภิปรายก่อน เพื่อให้ทราบความคิดเห็นของสมาชิกสนช.และขอย้ำว่าจะพยายามให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

อภิสิทธิ์ แนะตั้งองค์กรกำกับด้านดูแลด้านพลังงานต้องชัดเจน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวช่วยเปิดทางเลือกให้กับประเทศด้วยการจำแนกระบบแบ่งปันผลผลิต ระบบการจ้างผลิต ซึ่งนอกเหนือจากเดิมที่มีระบบสัมปทานอย่างเดียว แต่การปรับเปลี่ยนย่อมต้องปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับด้านพลังงานทั้งหมด จึงต้องมีการตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาดูแล ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มเนื้อหาสาระลงในร่างกฎหมายให้ชัดเจนว่าควรมีองค์กรเข้ามาบริหารจัดการในประเด็นต่างๆ เมื่อใด พร้อมกำหนดกรอบเวลา และอำนาจขององกรค์ที่จะเข้ามาทำงานแต่ละด้าน อาทิ การผูกขาดท่อก๊าซ การสำรวจผลผลิต ผู้เข้ามาทำหน้าที่ควรมีทักษะที่เหมาะสมในแต่ละงาน ทั้งนี้ การดำเนินการควรอยู่บนทางสายกลาง หากจัดตั้งเป็นบรรษัทที่ใหญ่เกินไปอาจเกิดปัญหาการแทรกแซงผูกขาด

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลควรจริงจังในการใช้โอกาสนี้ปฏิรูปพลังงาน ส่วนการพิจารณาของร่างกฎหมาย สนช. ในวันที่ 30 มี.ค.นี้เห็นว่า กรรมาธิการสามารถรับความเห็นของสมาชิกไปปรับแก้ไขได้ตามกระบวนการของสภา ซึ่งอาจพิจารณาดูว่าจะปรับแก้ร่างเดิม หรือเสนอรัฐบาลเพิ่มร่างกฎหมายฉบับใหม่

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 อำเภอชายแดนตาก-มอบบัตรประจำตัวให้นักเรียนไร้สถานะทางทะเบียน

Posted: 29 Mar 2017 11:14 AM PDT

มอบบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนให้นักเรียน 280 ราย 5 อำเภอชายแดนตาก เผยสำรวจพบนักเรียนไร้สถานะ 8.1 พันราย ออกบัตรให้แล้ว 1.6 พันราย อีก 1.5 พันรายกำลังดำเนินการ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่ตาว เผยเด็กไร้สถานะหากมีบัตรประจำตัวจะช่วยเรื่องระบุตัวตน โอกาสในการศึกษาต่อ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต หากในอนาคตเข้าเกณฑ์ขอสัญชาติก็สามารถดำเนินการได้

5 อำเภอชายแดน จ.ตาก มอบบัตรประจำตัวให้นักเรียนไร้สถานะทางทะเบียน 280 ราย

พิธีมอบบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานทางทะเบียนให้กับนักเรียน 280 ราย ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากเขต 2 หรือพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก ได้แก่ แม่สอด พบพระ อุ้มผาง แม่ระมาด และท่าสองยาง

29 มี.ค. 60 - ที่ห้องประชุมโรงเรียนแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก (สพป.ตาก) เขต 2 อโณทัย ไทยวรรณศรี ผอ.สพป.ตาก เขต 2 และ สุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ ร่วมพิธีมอบบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานทางทะเบียนให้กับนักเรียน 280 ราย ในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากเขต 2 หรือพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก ได้แก่ แม่สอด พบพระ อุ้มผาง แม่ระมาด และท่าสองยาง

โดยผลสำรวจ 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก มีนักเรียน 45,731 คน เป็นผู้ไร้สถานะทางทะเบียน 8,151 คน ขอยื่นมีบัตรประจำตัวเพื่อแสดงตน 5,431 คน เข้าเกณฑ์ 3,213 คน ออกบัตรแล้ว 1,687 คน กำลังดำเนินการ 1,526 คน

สุรพงษ์ กล่าวว่า การให้บัตรประจำตัวแก่บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนดังกล่าว ยังไม่ใช่การให้สัญชาติไทย แต่มีผลดีคือเพื่อให้รัฐได้มีข้อมูล และเด็กก็มีข้อมูล เพื่อป้องกันการถูกแอบอ้างตัวตน หรือการสวมสัญชาติก็สามารถตรวจสอบได้ ขณะที่เด็กก็จะรู้ว่าตัวเองเป็นใครอยู่ที่ไหน เรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ โดยภายในวันที่ 5 เมษายนนี้ จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการสำหรับเด็กที่เหลือที่ยังไม่มีบัตรแสดงตัวด้วย

เศรษฐพงษ์ ศรีสุวรรณ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก

เศรษฐพงษ์ ศรีสุวรรณ ผอ.โรงเรียนบ้านแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก คณะอนุกรรมการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียนในสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยด้วยว่า การมอบบัตรดังกล่าวเป็นการมอบครั้งที่ 2 แล้ว สำหรับนโยบายสำรวจเด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนก็เป็นการสนองต่อนโยบายรัฐบาล เป็นความร่วมมือกันของสถานศึกษาในพื้นที่เขตการศึกษาประถมศึกษาเขต 2 จ.ตาก ร่วมกับ สำนักทะเบียน 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก และสถานศึกษาที่มีเด็กๆ เหล่านี้มาเรียน โดยทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการให้เด็กนักเรียนในสถานศึกษามีเอกสารแสดงตนและเลข 13 หลักทุกคน

เมื่อเด็กๆ เหล่านี้ได้โอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว การมีบัตรประจำตัวบุคคลก็จะทำให้เขาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความสะดวกในการศึกษาต่อ การยืนยันตัวตน สิทธิด้านสาธารณสุข หรือหากเข้าเกณฑ์ขอสัญชาติก็จะดำเนินการได้ในอนาคต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เห็นมากันน้อย 'สุรพงษ์' เสนอนับองค์ประชุม สนช.โต้วุ่น ไม่ให้นับ อ้างคนนอกไม่มีสิทธิเสนอ

Posted: 29 Mar 2017 11:09 AM PDT

สนช. แถลงปิดคดีด้วยวาจาคดี สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.การต่างประเทศ ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ก่อนนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน 30 มี.ค. นี้

แฟ้มภาพ

29 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (29 มี.ค.60) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินกระบวนการถอดถอน สุรพงษ์  โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในคดีใช้อำนาจโดยมิชอบ ออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยวันนี้เป็นการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา ยืนยันว่า หลักฐานทุกอย่างที่ ชี้มูล สุรพงษ์ มีความถูกต้อง ย้ำ สุรพงษ์ อย่าเอาสถานภาพ คุณสมบัติของ กรรมการ ป.ป.ป. บางคน มาอ้าง เพื่อให้เอกสารกลายเป็นเท็จ พร้อมชี้ว่า การออกหนังสือเดินทางต้องมีการตรวจสอบ โดย กระทรวงการต่างประเทศต้องต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ร้องขอ ตามขั้นตอน และ กระทรวงการต่างประเทศสามารถยับยังการออกหนังสือเดินทางได้  หากพบว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้กำลังรับโทษในคดีอาญา หรือถูกออกหมายจับแล้ว อีกทั้งกรณีที่ สุรพงษ์ ใช้อำนาจโดยอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจ รมว.กระทรวงการต่างประเทศทางนโยบาย ลงความเห็นให้ยกเลิกคำสั่งห้ามออกหนังสือเดินทางของรัฐบาลชุดก่อน เพื่อออกหนังสือเดินทางให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ จนในที่สุดอดีตนายกฯทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่กลับมาอีกเลย จึงแสดงให้เห็นได้ว่า  สุรพงษ์ ได้ใช้อำนาจ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น โดยมิชอบ เพื่อช่วยผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับหลายคดีและเป็นผู้ต้องหาที่ศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ และมีคำพิพากษาให้จำคุกถึงที่สุด ให้หลบหนีอยู่นอกประเทศโดยสะดวก ทำให้กระทรวงการต่างประเทศเสียหาย กระบวนการยุติธรรมหยุดชะงัก  

ขณะที่ สุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา ยืนยันว่า กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติขัดต่อประกาศ คปค. รวมทั้งองค์ประชุมและเอกสารของ  ป.ป.ช.  ขณะลงมติในสำนวนชี้มูลความผิด  ทำให้การประชุมเป็นโมฆะและมีปัญหาแน่นอน ไม่สามารถให้เป็นสำนวนถอดถอนตนได้ อีกทั้งคำร้องของ วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และส.ส. รวม 139 คน  ที่ไม่ปรากฎการลงรายมือชื่อ  ก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้เป็นเอกสารร้องให้ถอดถอนตนได้ ซึ่งเมื่อตนได้แจ้งเรื่องนี้ให้ ป.ป.ช. ทราบ เพื่อให้ดำเนินการให้ถูกต้องก่อนใช้คำร้องดังกล่าวในการไต่สวน  ป.ป.ช. ก็กลับอ้างว่า  มีเลขที่ ส.ส. ซึ่งเพียงพอต่อการแสดงตนของผู้ร้อง และวุฒิสภาตรวจสอบแล้ว  การกระทำดังกล่าวของ ป.ป.ช. จึงแสดงชัดว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และมุ่งหวังให้ตนถูกถอดถอน  พร้อมระบุว่า การปฏิเสธการออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ถูกฟ้องร้องได้  และตนได้วางนโยบายในฐานะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจสั่งการให้ออกหนังสือเดินทางให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่อย่างใด และหากการออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นการทำผิดกฎหมายจริง  เหตุใดตนจึงถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเพียงคนเดียว  โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้ออกหนังสือเดินทางให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่มีความผิดใด ๆ  จึงขอให้ สมาชิก สนช. ให้ความเป็นธรรมด้วย

สุรพงษ์ ได้แถลงปิดคดี ซึ่ง สุรงพษ์แถลงปิดคดีไม่ถึง 10 นาที ก็ได้ร้องขอให้ตรวจสอบองค์ประชุม โดยอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 13 ที่ระบุว่า การประชุมต้องมีสมาชิกมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง แต่เท่าที่ดูเห็นสมาชิกสนช.เข้ามาร่วมประชุมฟังการแถลงปิดคดีแค่ประมาณ 50 คน ทั้งๆ ที่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัดสินลงมติตนในวันพรุ่งนี้ จน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานต้องกดออดเพื่อนับองค์ประชุม ทำให้สมาชิกสนช.ต่างทยอยเข้ามาในห้องประชุม พร้อมทั้งได้ลุกขึ้นอภิปรายทักท้วงคัดค้านการทำหน้าที่ของประธาน ที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิเสนอนับองค์ประชุม อีกทั้งยังปล่อยให้พูดจากล่าวร้ายเสียดสี ทำให้รัฐสภาอันทรงเกียรติเสื่อมเสียเหมือนสภาในอดีต แถมผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งยังนำบุคคลภายนอก คือ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่เป็นบุคคลที่เคยแถลงข่าวข่มขู่ ใส่ร้าย ตีปลาหน้าไซ และจะแจ้งความเอาผิดประธาน รองประธานและสมาชิก สนช. อย่างไรก็ตามสมาชิกอภิปรายคัดค้านพฤติกรรมของ สุรพงษ์อย่างดุเดือดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 149 เสียง ไม่ให้ตรวจนับองค์ประชุม จากนั้นนายสุรชัยเชิญคู่กรณีกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยให้นายสุรพงษ์ แถลงปิดคดีต่อจนจบในเวลา 16.35 น ซึ่งประธานได้นัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในวันที่ 30 มี.ค. เวลา 10.00 น. 

 

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และคมชัดลึกออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์เผยผู้โดยสาร 75.1% หนุนอูเบอร์-แกร็บ เหตุเป็นทางเลือก กระตุ้นแท็กซี่พัฒนาบริการ

Posted: 29 Mar 2017 09:25 AM PDT

ผู้โดยสาร 85.5% พบ เรียกแท็กซี่แล้วไม่ไป แท็กซี่ในฝันคือ คนขับซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ และ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร  75.1% หนุนบริการอย่าง อูเบอร์-แกร็บ เหตุสร้างมีทางเลือก และจะได้มีการแข่งขันพัฒนาคุณภาพการให้บริการของแท็กซี่
 
 

29 มี.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นของผู้โดยสารเรื่อง "หัวอกผู้โดยสารกับการสร้างทางเลือก : แท็กซี่ หรือ อูเบอร์คาร์" โดยเก็บข้อมูลจากผู้โดยสารในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,193 คน พบว่า ปัญหาที่ผู้โดยสารเคยพบจากการเรียกแท็กซี่หรือนั่งรถแท็กซี่มากถึงร้อยละ 85.5 คือ เรียกแล้วไม่ไป (รีบไป ส่งรถ/แก๊สจะหมด/รถติด/ไกล) รองลงมาร้อยละ 42.4 คือ พาขับวน/ขับอ้อม/ออกนอกเส้นทาง และร้อยละ 35.2 คือ คนขับมารยาทไม่ดี/พูดจาไม่เพราะ

เมื่อถามว่ารูปแบบการให้บริการแท็กซี่ที่ผู้โดยสารต้องการมากที่สุด ร้อยละ 34.1 ระบุว่า ต้องการคนขับซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ รองลงมา ร้อยละ 33.0 ระบุว่าแท็กซี่ต้องไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร  และร้อยละ 11.4 ระบุว่าหากแท็กซี่รีบไปส่งรถหรือแก๊สหมด ไม่ควรขึ้นป้าย "ว่าง"

ทั้งนี้เมื่อมีตัวเลือกในการให้บริการ อย่าง  อูเบอร์คาร์ และ แกร็บคาร์ เกิดขึ้น ผู้โดยสารส่วนใหญ่ร้อยละ 75.1 สนับสนุน (โดยร้อยละ 57.6 ให้เหตุผลว่าผู้โดยสารจะได้มีทางเลือก และร้อยละ 37.3 ให้เหตุผลว่าจะได้มีการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของแท็กซี่) ในขณะที่ผู้โดยสารร้อยละ 24.9 ไม่สนับสนุน โดยร้อยละ 47.5 ให้เหตุผลว่าเป็นการแย่งอาชีพคนหาเช้ากินค่ำ และร้อยละ19.2 ให้เหตุผลว่าเป็นการบริการที่ไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อถามว่าเคยเรียก/ใช้บริการอูเบอร์คาร์ และ/หรือ แกร็บคาร์ หรือไม่ ผู้โดยสารส่วนใหญ่ร้อยละ 75.9 ระบุว่าไม่เคยใช้บริการ (โดยร้อยละ 23.8 ให้เหตุผลว่าไม่รู้จักบริการ อูเบอร์คาร์ และแกร็บคาร์ และร้อยละ  20.8 ให้เหตุผลว่าใช้รถส่วนตัวอยู่แล้ว) ในขณะที่ร้อยละ 24.1 ระบุว่าเคยใช้บริการ โดยร้อยละ 41.8 ให้เหตุผลว่า สะดวกและรวดเร็ว มีเวลาที่แน่นอน และร้อยละ 16.2 ให้เหตุผลว่าสามารถเรียกมารับและส่งถึงที่หมายได้แน่นอน

ส่วนความเห็นต่อมาตรการจัดการและบริหาร รถยนต์รับจ้างสาธารณะ อูเบอร์คาร์ และแกร็บคาร์ ผู้โดยสารร้อยละ 51.4 เห็นว่าควรใช้กฎหมายควบคุมและขึ้นทะเบียนเป็นรถรับจ้างให้ถูกต้อง รองลงมาร้อยละ 19.4  เห็นว่าควรเปิดกว้างสร้างทางเลือกให้กับผู้โดยสารไม่ผูกขาดการเดินทาง  และร้อยละ 15.5 เห็นว่า ควรเร่งรัดพัฒนาระบบ สมาร์ทแท็กซี่ ให้ผู้โดยสารได้ใช้สะดวกขึ้น

รายละเอียดในการสำรวจ : 

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ เพื่อสอบถามความคิดเห็นผู้โดยสารที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกในการใช้บริการรถแท็กซี่ อูเบอร์คาร์และแกร็บคาร์ ในประเด็นต่างๆ อาทิ ปัญหาที่ประสบจากการใช้บริการแท็กซี่ รูปแบบแท็กซี่ที่ต้องการ ความเห็นต่อทางเลือกในการใช้บริการอย่างอูเบอร์คาร์และแกร็บคาร์ รวมถึงมาตรการในการจัดการบริหารรถยนต์รับจ้างสาธารณะ เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของผู้โดยสารให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ระเบียบวิธีการสำรวจ การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากผู้โดยสารอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) จากนั้นจึงสุ่มพื้นที่ไปยังประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,193 คน  เป็นเพศชายร้อยละ 49.5 และเพศหญิงร้อยละ 50.5

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview)โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal)และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบตอบได้เองอย่างอิสระ(Open Ended)  จากนั้นจึงนำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล :  24-27 มี.ค. 2560

ข้อมูลประชากรศาสตร์

 

จำนวน

ร้อยละ

เพศ

 

 

            ชาย

590

49.5

            หญิง

603

50.5

รวม

1,193

100.0

อายุ

 

 

            18 ปี - 30 ปี

272

22.9

            31 ปี - 40 ปี

240

20.1

            41 ปี - 50 ปี

252

21.1

            51 ปี - 60 ปี

232

19.4

            61 ปี ขึ้นไป

197

16.5

รวม

1,193

100.0

การศึกษา

 

 

            ต่ำกว่าปริญญาตรี

767

64.3

            ปริญญาตรี

357

29.9

            สูงกว่าปริญญาตรี

69

5.8

                                 รวม

1,193

100.0

อาชีพ

 

 

          ลูกจ้างรัฐบาล

99

8.3

          ลูกจ้างเอกชน   

353

29.6

          ค้าขาย/ ทำงานส่วนตัว/ เกษตรกร

430

36.0

          เจ้าของกิจการ/ นายจ้าง 

58

4.9

          ทำงานให้ครอบครัว

17

1.4

          พ่อบ้าน/ แม่บ้าน/ เกษียณอายุ

142

11.9

          นักเรียน/ นักศึกษา 

81

6.8

          ว่างงาน/ รวมกลุ่ม

13

1.1

รวม

1,193

100.0

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช. กล้ามั้ย? ‘ปฏิรูปภาษี’ เพิ่มรายได้รัฐ ลดเหลื่อมล้ำ เก็บภาษีคนรวย

Posted: 29 Mar 2017 09:17 AM PDT

ไทยปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง คน 20 เปอร์เซ็นต์ถือครองทรัพย์สินสุทธิมูลค่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ รัฐรายได้ไม่พอรายจ่าย การคลังขาดดุลตลอด 20 ปี นักวิชาการระดมหาทางออก แนะ 10 กรอบแนวทางปฏิรูปภาษี เก็บภาษีฐานทรัพย์สินจากคนรวย ลดมาตรการลดหย่อนเพื่อคนรวยได้ประโยชน์ แต่คนจนไม่ได้อะไร

ภาษี นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หากที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์ประการหลังยังไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็ใช่จะนอนใจได้ว่าจะจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือแม้กระทั่งว่าจะเก็บได้จริงหรือไม่ เนื่องจากชนชั้นนำทางเศรษฐกิจย่อมมีวิธีการจัดสรร จัดการทรัพย์สินของตนเพื่อเลี่ยงภาษี

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดดุลการคลังมาโดยตลอด กล่าวคือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ปัจจุบัน ไทยเก็บรายได้ภาษีต่ำกว่าศักยภาพที่ประเทศมี ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 25 ของจีดีพี แต่เก็บจริงได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ทำให้รัฐบาลต้องก่อหนี้เพิ่มทุกปี หนี้ที่ครบกำหนดมีบางส่วนที่จ่ายคืน บางส่วนต้องขอต่ออายุหนี้ออกไป ซึ่งหนี้ส่วนนี้กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ภาระในการดูแลผู้สูงอายุจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยก็กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จึงจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพื่อมารองรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ใช้ในการพัฒนาประเทศและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ภาษีทรัพย์สินเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ

ส่องดูโครงสร้างรายได้ภาษีโดยแบ่งตามประเภทฐานภาษี ปี 2557 พบว่ามาจากภาษีฐานการบริโภคถึงร้อยละ 56.53 ภาษีฐานเงินได้ร้อยละ 42.32 ขณะที่ภาษีฐานทรัพย์สินเก็บได้เพียงร้อยละ 1.15 เท่านั้น ทั้งที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาไปสำรวจความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน พบว่า การถือครองที่ดินของกลุ่มร้อยละ 20 แรกเทียบกับกลุ่มร้อยละ 20 สุดท้าย มีความต่างกันถึง 325 เท่า มีคน 1 เปอร์เซ็นต์ถือครองที่ดินประมาณร้อยละ 24 ของประเทศ ส่วนผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดมีที่ดินรวมกันมากถึง 631,263 ไร่

ขณะที่การถือครองทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเมื่อหักด้วยหนี้สินแล้ว พบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 20 ถือครองทรัพย์สินสุทธิมูลค่ามากกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดในประเทศไทย ช่วงปี 2549-2552 โดยที่ครัวเรือนอีกร้อยละ 80 ที่เหลือถือครองทรัพย์สินสุทธิไม่ถึงร้อยละ 50

"ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สินอย่างชัดเจน"

การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินจึงเป็นแนวทางที่ควรพิจารณา หากเทียบกับในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีทรัพย์สินกับในไทย พบว่า ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในต่างประเทศเก็บที่ร้อยละ 1.5-2

"การเพิ่มรายการลดหย่อนและการหักค่าใช้จ่าย ขณะที่ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงไปเรื่อยๆ แน่นอนคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่มีรายได้ค่อนข้างดี คนที่ใช้ประโยชน์จากแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟลดหย่อนได้เต็มเพดาน 5 แสนบาท ไม่ใช่คนที่มีฐานะยากจนแน่ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ฐานะไม่ดี ไม่ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้วย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเพิ่มการลดหย่อนหรือการลดอัตราภาษีนี้"

ดวงมณี แสดงความเห็นว่า แต่การที่กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกกำหนดให้ที่พักอาศัยหลังแรกที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ถือเป็นมูลค่าที่สูงเกินไป ซึ่งไม่ช่วยขยายฐานภาษีเท่าภาษี ส่งผลให้รายได้ที่จัดเก็บอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอในการให้บริการสาธารณะกับประชาชน เธอเห็นว่ามูลค่ายกเว้นที่เหมาะสมควรอยู่ในระดับอย่างมากก็แค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนกฎหมายภาษีมรดกเป็นภาษีฐานทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งที่มีการประกาศใช้ โดยจะเก็บจากมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

"ตอนนี้เก็บได้แค่รายเดียว ซึ่งก็ไม่น่าแปลก เพราะคงมีการถ่ายโอนไปหมดแล้ว จึงยากที่ปีแรกๆ ของการเก็บภาษีมรดกจะเก็บได้ แต่ในระยะยาว การเก็บภาษีมรดกจะลดความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง แต่จะมีผลกระทบในเรื่องอื่นๆ เช่น คนอาจจะไม่เลือกที่จะเก็บเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ในประเทศ เพราะอาจมีการสืบค้นได้ง่ายกว่า อาจมีวิธีจัดการทรัพย์สิน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่ต้องเสียอยู่ดี อาจต้องดูว่าต้นทุนการจัดเก็บภาษีมรดกคุ้มหรือไม่กับรายได้ภาษีที่ได้รับ แต่ถ้าเราสามารถภาษีมรดกได้จริงๆ เราก็จะมีรายได้เข้ามาค่อนข้างมากในระดับแสนล้านจากตระกูลมหาเศรษฐีของไทย"

ลดหย่อนยิ่งมาก คนรวยยิ่งได้ประโยชน์

การหักค่าใช้จ่ายและมาตรการลดหย่อนต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ภาวิน ศิริประภานุกูล เริ่มเรื่องด้วยการอธิบายว่า โครงสร้างการลดหย่อนและการปรับอัตราภาษีโดยเน้นที่อัตราภาษีเงินได้ของไทย ในทางเศรษฐศาสตร์การคลังเรียกว่า รายจ่ายภาษี จากงานศึกษาของเขาให้นิยามว่าเป็นรายรับที่สูญเสียไปจากข้อกำหนดของกฎหมายที่ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้กับผู้เสียภาษีเป็นกรณีพิเศษจากภาษีพื้นฐาน ซึ่งรายจ่ายภาษีนี้จะลดความสามารถในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลง และคนที่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมักจะเป็นคนที่มีฐานะดีในสังคม ขณะที่คนฐานะไม่ดีมักไม่ได้รับประโยชน์

จากการศึกษาเปรียบเทียบ 3 ช่วงเวลาคือในปี 2540, 2550 และ 2560 แสดงให้เห็นว่า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีการหักค่าใช้จ่ายและรายการลดหย่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากลับสวนทางกัน

"การเพิ่มรายการลดหย่อนและการหักค่าใช้จ่าย ขณะที่ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงไปเรื่อยๆ แน่นอนคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่มีรายได้ค่อนข้างดี คนที่ใช้ประโยชน์จากแอลทีเอฟ (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) และอาร์เอ็มเอฟ (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) ลดหย่อนได้เต็มเพดาน 5 แสนบาท ไม่ใช่คนที่มีฐานะยากจนแน่ๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ฐานะไม่ดี ไม่ต้องจ่ายภาษีอยู่แล้วย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเพิ่มการลดหย่อนหรือการลดอัตราภาษีนี้"

ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล ในปีงบประมาณ 2559 มีการประเมินว่าการลดหย่อนภาษีสิทธิพิเศษบีโอไอมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนำตัวเลขของธุรกิจมาหากำไรก่อนหักภาษีเงินได้ แล้วคำนวณด้วยอัตราปกติ ภาวินพบว่า ในปีงบประมาณ 2559 รายจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลมีมูลค่าทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท

"ประเด็นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถถกเถียงกันได้ว่าสร้างความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและมาตรการลดหย่อนจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง เป็นการบิดเบือนพฤติกรรม เพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนในการคำนวณภาษี และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้"

10 กรอบการปฏิรูปภาษี

เมื่อเห็นแนวโน้มภาษีของไทยที่ยังไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหา ธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอกรอบ 10 ประการในการปฏิรูปภาษี ประกอบด้วย

1.กรอบคิดใหญ่คือต้องพยายามตอบเป้าหมายการสร้างความมั่งคงทางการคลังและการลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมๆ กัน

2.มุ่งขยายฐานภาษีเงินได้ ลด เลิก การลดหย่อนที่ไม่จำเป็นและความซับซ้อนในระบบภาษีเงินได้ ที่มักจะเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มที่มีรายได้สูง เพราะการลดหย่อนลดศักยภาพในการกระจายรายได้ และต้องดึงคนเข้าฐานภาษีเงินได้บุคคลให้ได้

3.เพิ่มรายได้จากภาษีฐานทรัพย์สิน ทบทวนรายละเอียดของภาษีมรดก รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพการกระจายรายได้ เพราะเป็นภาษีที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกระจายรายได้และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตรง

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปภาษีก็คือการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง สภาพที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไปได้ดีที่สุด คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตรวจสอบนโยบายรัฐได้

4.ควรมีการทบทวนการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนว่ามีความคุ้มค่าเพียงใด พร้อมกับประเมินผลในการบรรลุเป้าหมายของมาตรการเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอว่าได้ผลจริงหรือไม่ และนำมาซึ่งต้นทุนที่ไม่ควรจะเป็นหรือเปล่า เช่น ขาดรายได้สำหรับปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

5.ในกรณีที่รัฐบาลต้องการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมุ่งปรับปรุงโครงสร้างรายจ่ายภาครัฐให้ไปในทางที่เพิ่มสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกระจายรายได้ อีกประเด็นที่ต้องถามคือเงินที่รัฐได้จากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกนำไปใช้จ่ายอย่างไร

6.พิจารณาความเป็นไปได้ในการนำภาษีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ ยกตัวอย่างภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเป็นภาษีที่ระบุชัดเจนว่ารายได้จะถูกใช้ในวัตถุประสงค์ใด เช่น ภาษีที่เก็บจากการก่อมลพิษ แต่ปัญหาของภาษีลักษณะนี้คือไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ ดังนั้น จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

7.ปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสิรมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการบริหารจัดการทางการคลังด้วยตนเอง มีความสามารถและมีบทบาทมากขึ้นในการให้บริการสาธารณะ ลดบทบาทของเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง การกระจายอำนาจต้องเกิดการกระจายอำนาจทางการคลังไปในเวลาเดียวกัน

8.ควรมีการพิจารณาออกมาตรการทางภาษีเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดยทางเลือกประกอบไปด้วยการนำภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีคาร์บอน (เก็บจากการใช้เชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และภาษีในการลดมลพิษและขยะ เช่น ภาษีบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

9.รัฐบาลต้องมุ่งสร้างความโปร่งใสทางการคลังโดยพัฒนาฐานข้อมูลทางการคลังที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น ฐานข้อมูลทั้งด้านภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาล รวมทั้งสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของเงินภาษีที่ย้อนกลับมาสู่ตนเอง

10.สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปภาษีก็คือการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง สภาพที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีเป็นไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไปได้ดีที่สุด คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดและตรวจสอบนโยบายรัฐได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับซีอีโอวอยซ์ทีวี ในวันที่เสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น

Posted: 29 Mar 2017 08:43 AM PDT


ภาพจากเว็บไซต์วอยซ์ทีวี

ตั้งแต่เที่ยงคืนของเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) วอยซ์ทีวีได้ยุติการออกอากาศทั้งสถานี หลังจากมีมติจาก กสทช. สั่งพักใบอนุญาตวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก

ตามคำสั่ง กสทช. ระบุว่า รายการที่ "มีความผิด" ทำให้ กสทช.สั่งยุติออกอากาศทั้งสถานี คือ
1.รายการใบตองแห้งออนแอร์ ตอน จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ
2.รายการ In Her View ตอน ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร
3.รายการ Overview ตอน ยันกองทัพป้องทหารยังยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี
(ดูเนื้อหารายการที่ประชาไทสรุปไว้ได้ที่ http://prachatai.org/journal/2017/03/70787)
ประชาไทชวนคุยกับเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ถึงสถานการณ์ปัจจุบันและผลกระทบในอนาคต บรรยากาศตอนโดน 'เรียกคุย' กับ กสทช. และความเห็นต่อโทษในครั้งนี้


ประชาไท: ขั้นตอนในห้องพิจารณาเป็นอย่างไร
เมฆินทร์:
ทุกครั้งเป็นการเปิดเทปให้ดู แล้วเขาจะนำมาวิพากษ์วิจารณ์ละเอียดเลย เราก็ชี้แจงไป หลักๆ เราก็ยืนยันว่าเนื้อหาของเราเป็นไปตามข้อเท็จจริง มีการให้ความเห็นบนข้อเท็จจริง ในแง่ความเป็นข้อเท็จจริงก็มีข้อทักท้วงจากเขาว่ารอบด้านไหม เราเห็นด้วยว่าอาจขาดๆ เกินๆ ในตอนแรก เราก็ปรับข้อเท็จจริงให้รอบด้านแล้ว ครั้งหลังๆ ก็สรุปตรงกันแล้วว่ารอบด้าน

อีกส่วนคือความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ เขายืนยันว่าต้องการให้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญมีทั้งซ้ายกับขวาเท่ากัน ไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่เห็นด้วย เรายืนยันว่าผู้เชี่ยวชาญมีความถนัดไม่เหมือนกัน จะให้เขามาพูดอีกด้านก็เป็นเรื่องที่เขาไม่ถนัดความเห็นเป็นสิ่งที่ผู้ชมเป็นผู้เลือก ตราบใดที่เราไม่ได้หมิ่นประมาทใคร ซึ่งถ้าหมิ่นจริงก็มาฟ้องกันได้อยู่แล้ว เป็นหลักของสื่อทั่วไป

ครั้งล่าสุดที่ประชุมเราก็ยืนยันว่าทั้งสามเทปเราทำด้วยความเคร่งครัดตามหลักของเนื้อหารอบด้าน และความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เราเห็นว่าไม่ได้นำไปสู่ปัญหาความมั่นคงใดๆ ตามที่เขาบอก เป็นการคาดการณ์ วิพากษ์ว่าสังคมเป็นอย่างไร เราพร้อมใช้สามเทปนี้ในการชี้แจงตามขั้นตอนกฎหมายต่างๆ ด้วย

บทบาทต่อจากนี้ มีการเตรียมการจะฟ้องศาลไหม
เตรียมการ มีช่วงเวลาดำเนินการสามเดือนอยู่แล้ว แต่เรื่องการคุ้มครองคงไม่ทัน ในเมื่อมีผลไปแล้ว ทางตลาดทางอุตสาหกรรมรับรู้ ผลเสียหายก็มีแล้ว เราก็ทำตามขั้นตอนทางกฎหมายในการเรียกร้อง โดยเมื่อปีที่แล้ว มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมา (คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559) ว่า กสทช. ไม่ต้องรับผิดทางอาญาและแพ่ง แต่เราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้

แต่ผมไม่ได้เน้นเรื่องค่าเสียหายมากเท่ากับการกระทบในหลักการของสื่อ จุดสำคัญคือ หนึ่ง เรื่องหลักการของสื่อมวลชนเราต้องยืนหยัดเรื่องความเห็นต่าง สื่อที่นำเสนอความเห็นที่แตกต่างหลากหลายรอบด้าน ส่วนรวมได้ประโยชน์ ทำให้การตัดสินใจใดๆ เป็นไปอย่างรอบด้าน เรายืนยันว่าความเห็นต่างเป็นประโยชน์และไม่ได้ไปละเมิด ผิดข้อเท็จจริง หรือมีปัญหากับความมั่นคง

สอง สื่อเป็นสถาบันมีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร การปิดช่องทางการสื่อสารเป็นเรื่องใหญ่มาก ทำให้มีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น เราไม่เห็นด้วย เราต้องเรียกร้องในกรอบกติกาที่เราคัดค้านและเรียกร้องได้ในทุกช่องทาง สถาบันสื่อต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คุณต้องเป็นที่พึ่งของสังคมได้

รายการวิเคราะห์การเมืองซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ Voice TV จะยังมีต่อไปไหม ในรูปแบบที่เปลี่ยนไปหรือไม่
ยังมี แต่ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่วนรูปแบบของการวิเคราะห์ข่าวจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเป็นโครงสร้างเป็นแนวทางหลักของเรา เราไม่ได้ปรับอะไร แต่เรื่องการจำกัดเนื้อหาขณะนี้ก็จำเป็น

กระทบต่อพนักงานไหม
ก็มีบ้าง คุยกับพนักงานทั้งหมดว่าเราได้รับผลกระทบในเชิงอุตสาหกรรมนะ

ค่าเสียหายใน 7 วัน และผลกระทบต่อจากนี้
ตัวเลขที่เป็น direct อาจไม่ได้เยอะมาก แต่ indirect ในการประสานให้เอเจนซี่ไม่มีข้อกังวลอาจจะมีผล โดยเฉพาะโฆษณาที่ต้องชะลอตัว มูลค่าก็ต้องประเมินอีกที แต่ไม่มีโฆษณาที่จะถอนออก มูลค่าโฆษณาช่วงนี้ลงแบบออนไลน์เยอะขึ้น เป็นช่วงเวลาที่แคมเปญลูกค้าไม่ได้พีค คนลงโฆษณาไม่ได้เยอะ แต่การที่ลูกค้าชะลอตัวหรือลดสัดส่วนลงก็มีมูลค่าสูง ตอนนี้ได้รับผลกระทบประปรายและกำลังเจรจากันอยู่

หลังจากนี้ จะมีการปรับยุทธศาสตร์อย่างไร
ตั้งแต่ปีที่แล้วเราปรับโครงสร้างองค์กรมุ่งเน้นพัฒนาทางออนไลน์ควบคู่กับทีวี เพื่อตอบสนองผู้บริโภคทั้งสองแบบ เราก็ทำคู่ขนานกันไป ช่วงนี้ก็ทำรายการออนไลน์ไป แค่หยุดออกอากาศทางทีวี


ผมไม่เข้าใจว่าสามประเด็นนี้มีอะไรน่ากลัว เอาแค่ว่าผมเลือกประเด็นผิดเหรอ
ห้ามพูดใช่ไหม พูดบิดเบือนหรือกระทบความมั่นคงยังไง ผมไม่เข้าใจ 



ทำไมโทษครั้งนี้ถึงดูรุนแรง มีข้อสังเกตอะไรไหม
เราให้ความร่วมมือมาตลอด พยายามปรับให้ทุกมิติ การพูดคุยครั้งนี้พูดคุยทุกฝ่าย ส่วนใหญ่เวลามีข้อกังวลหรือห่วงใยมาถึงทางเราเขาจะมากันหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกับ คสช. หน่วยทหาร และ กสทช. แต่สุดท้ายพอคุยเป็นทางการก็จะไปคุยกับ กสทช. ซึ่งเราก็พยายามให้ความร่วมมือมาตลอด ที่ผ่านมาเราก็ให้ผู้ดำเนินรายการปรับบ้าง แก้ไขรายการบ้าง เพิ่มสัดส่วนข้อมูลรอบด้าน

ผมไม่เข้าใจว่าสามประเด็นนี้มีอะไรน่ากลัว เอาแค่ว่าผมเลือกประเด็นผิดเหรอ ห้ามพูดใช่ไหม พูดบิดเบือนหรือกระทบความมั่นคงยังไง ผมไม่เข้าใจ เขาสรุปว่าเป็นการให้ความเห็นในแนวทางเดียวกัน เช่น เทปเด็กนักกิจกรรมชาวลาหู่ เขาบอกว่าผู้ดำเนินรายการพูดให้เด็กคนนี้ถูกต้องทุกอย่าง พูดชี้นำไป ขณะที่ดูเนื้อหาผมว่าเป็นการแจ้งให้ทราบว่าเด็กคนนี้เขามีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร แล้วมีเหตุการณ์ของวิสามัญฯ ผิดพลาดในอดีตไว้อยู่แล้ว ก็ขอให้ทางการสืบสวนอย่างรัดกุม ส่วนอารมณ์ของผู้ดำเนินรายการก็แสดงเหมือนกับว่าเด็กคนนั้นน่าเห็นใจ เขาจะห้ามในรูปแบบไหนผมก็อยากรู้

ที่วอยซ์ไม่เหมือนคนอื่นคือเรื่อง MoU (อ่านรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.org/journal/2017/03/70787) เคยมีการหารือแล้วว่าจะเซ็น MoU ใหม่ เพราะของเก่าไม่ได้สอดคล้องกับเงื่อนไขสถานการณ์แล้ว ผมเคยให้ความเห็นไป แต่ตอนหลังเขาก็เงียบไป ผมก็ยินดีให้ความร่วมมือ แต่ความรู้สึกลึกๆ คืออยากให้เขียนกรอบกติกาแนวการในการทำเนื้อหา ให้ทำความเข้าใจและใช้ร่วมกัน ข้อเท็จจริงตรรกะเหตุผลเป็นอย่างไรจะได้ยอมรับด้วยกัน เราก็ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะฟาดฟันกัน


ถ้ามาถึงวันที่เราโดนกระทำเกินหลักการเราก็จะเรียกร้อง
และถ้ามีจะมีสื่ออื่นโดนปิด ผมก็จะอยู่ฝั่งที่เรียกร้องสิทธิให้กับเขาด้วยเหมือนกัน


เมื่อเปรียบเทียบตัวเองกับสื่อช่องอื่นๆ ที่อาจจะพูดในประเด็นที่ดูแรงเหมือนกัน รู้สึกเป็นธรรมไหม
ผมยืนยันหลักการตัวเองว่า ถ้าคุณมีปัญหากับใคร ฟ้องหมิ่นประมาทเขา ใครโดนอะไรเขาก็ต้องรักษาสิทธิในการฟ้องหมิ่นประมาทเอาเอง ส่วนความเห็นหรือความเชี่ยวชาญของแต่ละคนเป็นอิสระ ผมไม่เห็นด้วยที่จะไปลงโทษใคร ให้ผมไปร้องเรียนใครผมก็ไม่เอา ผมเห็นว่าทุกคนควรมีอิสระในการเห็นต่าง ผมเห็นว่าทุกคนไม่ควรโดนลงโทษ ถ้าผมร้องเรียนเขาแปลว่าผมกำลังจะจำกัดสื่อทั้งหมดทั้งอุตสาหกรรม ผมไม่ทำหรอก แต่ถ้ามาถึงวันที่เราโดนกระทำเกินหลักการเราก็จะเรียกร้อง และถ้ามีจะมีสื่ออื่นโดนปิด ผมก็จะอยู่ฝั่งที่เรียกร้องสิทธิให้กับเขาด้วยเหมือนกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บลูมเบิร์กเปิด 6 ข้อกังขา-ทำไมไทยจึงไม่จัดเลือกตั้งเสียที

Posted: 29 Mar 2017 08:22 AM PDT

บลูมเบิร์กนำเสนอข้อกังขาของต่างชาติ 6 ข้อ ว่าเหตุใดรัฐประหารประเทศไทยรอบนี้จึงกินเวลายาวนานนักและไม่มีการจัดเลือกตั้งใหม่เสียที และเมื่อหลังเลือกตั้งแล้วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่รัฐบาลพลเรือนจะถูกอำนาจรัฐราชการกดทับต่อไปหรือไม่ แล้วเศรษฐกิจไทยมีอนาคตหรือไม่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

หลังจากที่ประชาชนกลุ่มใหญ่เดินทางมาแจ้งความที่ สน.พญาไท เนื่องจากถูก กปปส. ปิดหน่วยเลือกตั้ง จนไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พวกเขาได้จัดเลือกตั้งจำลองเพื่อประท้วงการปิดหน่วยเลือกตั้งด้วย (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

29 มี.ค. 2560 สื่อบลูมเบิร์กมีบทวิเคราะห์การเมืองเกี่ยวกับประเทศไทยจากคำถามว่าเหตุใดประเทศไทยถึงไม่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่เสียที โดยบลูมเบิร์กต้งข้อสังเกตว่าหลังจากปี 2475 ไทยก็มีการรัฐประหารตลอดและดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่ายๆ ยิ่งในการรัฐประหารครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 2557 กำหนดการการเลือกตั้งครั้งถัดไปก็ดูเหมือนจะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดคำถาม 6 คำถามที่กลายเป็นข้อกังขาดังนี้

 

1) ไทยจะได้เลือกตั้งเมื่อใด?

ในตอนนี้ไทยยังไม่มีกำหนดการเลือกตั้งที่แน่นอน หลังจากที่มีผู้ลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2560 นี้ แต่ความล่าช้าในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ทำให้เกิดข้อกังขา ทำให้มีการประเมินว่าอาจจะเลื่อนไปอีกเป็นปี 2561 ซึ่งโฆษกของเผด็จการทหารไทยแง้มว่าอาจจะเป้นเดือน ก.ย. 2561

 

2) มีอะไรที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดการเลือกตั้งหรือไม่?

บลูมเบิร์กระบุว่าไม่มี โดยหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อเดือน ต.ค. 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ขึ้นทรงราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ใช้เวลาหลายเดือน ทางสภานิติบัญญัติเองก็ออกกฎหมายข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ

บลูมเบิร์กก็ระบุด้วยว่าทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรที่หยุดยั้งไม่ให้กระบวนการกำหนดวันเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป เทียบกับการรัฐประหารในปี 2549 แล้วรัฐบาลทหารใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่และจัดการเลือกตั้งภายในช่วงเวลา 16 เดือน เท่านั้น

 

3) รัฐธรรมนูญใหม่มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง?

บลูมเบิร์กกล่าวถึงมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เขียนโดยคณะกรรมการร่างที่เผด็จการทหารคัดเลือก มาตราดังกล่าวอนุญาตให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ ส.ว. เป็นภาคส่วนที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และให้อำนาจพิเศษเพิ่มแก่ศาล อีกทั้งยังมีการวางแนวทางนโยบายโดยละเอียดให้รัฐบาลในอนาคตต้องทำตามแผนการพัฒนา 20 ปีของรัฐบาลทหาร ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บอกว่ามันจะแก้ไขปัญหาเรื่องการติดสินบนและส่งเสริมเสถียรภาพ ขณะที่ฝ่ายวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แย้งว่ามันเปิดโอกาสให้คนถูกบีบเค้นโดยการปกครองของอำนาจทหารที่ฝังราก

 

4) ทำไมกองทัพจึงยึดอำนาจในปี 2557?

บลูมเบิร์กตอบเรื่องนี้ว่ามันเป็นผลรวมกลายสิบปีจากความพยายามของชนชั้นนำรอยัลลิสต์ไทยที่พยายามสกัดอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ซึ่งเหล่าพันธมิตรของทักษิณต่างก็ชนะการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้งในอดีต ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณพยายามมาเป็นเวลาหลายปีที่จะทำให้ทักษิณเสื่อมความนิยมจากกลุ่มคนที่ยากจนกว่าและมีประชากรมากกว่าในทางตอนเหนือ ผู้ที่เลือกทักษิณชื่นชมนโยบายส่งเสริมราคาพืชผลการผลิตและให้สวัสดิการราคาถูก โดยที่ประเทศไทยยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ทางชนชั้นและภูมิภาค

 

5) แล้วการเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายทักษิณจะกลับมามีพลังอีกไหม?

ถึงแม้ว่าทักษิณจะไม่ได้ย่างเท้าเข้ามาในประเทศไทยนานเกือบสิบปีแล้ว แต่ความนิยมของเขาก็ยังคงอยู่ กลุ่มคนเสื้อแดงยังคงสนับสนุนเขาโดยเฉพาะคนในพื้นที่ชนบท แม้ว่ากองทัพจะพยายามลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม เผด็จการทหารยังใช้อำนาจต่อทักษิณและน้องสาวของเขา อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ถูกสั่งปรับคดีจำนำข้าวหลายล้านบาท

เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลทหารขุดคดีเก่าเกือบสิบปีเกี่ยวกับภาษีทักษิณขึ้นมาเล่นอีกครั้งและกล่าวหาว่ามีกลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณพยายามลอบสังหาร พล.อ. ประยุทธ์ สรุปคือถึงแม้วาจะมีการจัดการเลือกตั้งแล้วกลุ่มพันธมิตรของทักษิณชนะรัฐธรรมนูญก็เปิดทางให้มีการแต่งตั้งกลุ่มอำมาตย์ ทหาร และผู้พิพากษา มีอำนาจมากพอจะสกัดกั้นการเคลื่อนไหวที่พวกเขาไม่ชอบจากนักการเมืองทีมาจากการเลือกตั้ง

 

6) ความวุ่นวายทางการเมืองนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจหรือไม่?

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี ซึ่งถือว่าว่าเติบโตน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันซึ่งมีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย และถึงแม้ว่าราคาสินค้าจะตกต่ำลง แต่การเติบโตด้านการส่งออกก็ยังลดลง และความต้องการในตลาดโลกลดลงจะมีส่วนในการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่บริษัทต่างๆ ก็เริ่มมองหาที่อื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อลงทุน

ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาปี 2557 และ 2558 ระบุว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในประเทศไทยลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซีย ทางธนาคารโลกก็เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าไทยจะสามารถฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกครั้งผ่านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มการแข่งขันผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และการลงทุนกับกลุ่มคนชั้นล่างร้อยละ 40 มากขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต

 

เรียบเรียงจาก

Thailand's Road to Election Keeps Getting Longer: QuickTake Q&A, Bloomberg, 27-03-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพบกเผยปี 2560 ต้องการกำลังทหารเกณฑ์ 1 แสน 3 พันนาย

Posted: 29 Mar 2017 07:52 AM PDT

รองโฆษกกองทัพบก เผยปีนี้มีความต้องการทหารเกณฑ์จำนวน 103,097 นาย โดยกำหนดวันตรวจคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 1-12 เม.ย. ยกเว้นวันที่ 6 เม.ย. หนึ่งวัน

29 มี.ค. 2560 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ได้กล่าวถึงกำหนดทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการว่า ในปีนี้กองทัพบกได้กำหนดวันทำการตรวจเลือกทหารกองประจำการ ระหว่างวันที่ 1-12 เม.ย.นี้ ยกเว้น 1 วัน คือวันที่ 6 เม.ย. โดยจะทำการตรวจเลือกทหารพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด 928 อำเภอ รวมทั้งจัดสรรคณะกรรมการตรวจเลือกฯ 153 คณะ

ทั้งนี้จะดำเนินการจัดสรรคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในการรายงานผลการตรวจเลือกเพื่อยืนยันตัวตน ควบคู่กับคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ด้วย เพื่อป้องกันการปลอมแปลงบุคคลอื่นเข้ามาตรวจเลือกทหารแทน สำหรับผู้ที่ได้รับเรียกหมายให้เข้ารับการตรวจเลือกฯ จะต้องเข้ารับรายงาน ตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่ได้ระบุไว้ตามเอกสารหมายเรียก พร้อมนำเอกสารสำคัญติดตัวไปประกอบการตรวจเลือกฯ อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ใบสำคัญทหารกองเกิน (แบบ สด.9) หมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35) หลักฐานการศึกษา ใบรับรองแพทย์ เป็นต้น

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนทางด้านนิสิตนักศึกษาหรือบุคคลที่จะขอผ่อนผันนั้น ก็ให้เดินทางไปติดต่อแสดงตนต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ด้วยเช่นกัน หากเกิดเหตุสุดวิสัยหรือเจ็บป่วยกะทันหัน และไม่สามารถไปแสดงตนต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ให้แจ้งต่อฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่งตัวแทนเข้าแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ทันที โดยที่ผ่านมา ปี 2559 มีชายไทยร้องขอ สมัครเป็นทหารกองประจำการสูงถึงร้อยละ 46 ทั้งนี้ขอย้ำถึงใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด.43) จะต้องได้รับจากประธานกรรมการตรวจเลือกฯ ทั้งนี้ขอย้ำถึงใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด.43) จะต้องได้รับจากประธานกรรมการตรวจเลือกฯ ในวันที่เข้ารับการตรวจเลือกฯ เท่านั้น หากได้รับจากบุคคลอื่น ถือว่าไม่ใช่เอกสารที่ทางราชการออกให้ ไม่สามารถนำไปแสดงในการสมัครงานได้ ทั้งนี้ผู้ที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองประการในปีนี้ ได้แก่ ผู้ที่เกิด พ.ศ.2539 (อายุ 21 ปีบริบูรณ์) กับผู้ที่เกิด พ.ศ.2531-2538 (อายุ 22-29 ปีบริบูรณ์ เฉพาะคนที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก) ทั้งนี้จำนวนที่กองทัพบกต้องการทั้งสิ้น 103,097 นาย แบ่งแยกเป็นกองทัพบก 76,953 นาย, กองทัพเรือ 16,000 นาย, กองทัพอากาศ 8,420 นาย, กองบัญชาการทหารสูงสุด 1,173 นาย และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 551 นาย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.เทพพงษ์ ทิพยจันทร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า มีรายชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งในแวดวงสังคม การเมือง และวงการบันเทิง ที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารเกณฑ์ในปีนี้ เช่น มิกค์ ทองระย้า พระเอกช่อง 7 สี , เปิ้ล ปทุมราช นักร้องลูกทุ่งค่ายอาร์สยาม , เศรณี ชาญวีรกุล ลูกาวหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย , ธนนท์ จำเริญ หรือ นนท์ เดอะวอยซ์ , ศรราม น้ำเพชร พระเอกลิเกชื่อดัง

รวมทั้ง นายสิรวิทย์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) หรือ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษานักเคลื่อนไหวทางการเมือง และยังมี พีท พชร จิราธิวัฒน์ ดาราหนุ่มทายาทไฮโซ และ อนรรฆ โกษะโยธิน ลูกชายของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ครบกำหนดผ่อนผันในปีนี้

เรียบเรียงจาก : ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ดีเอสไอ' ส่งจนท.สอบปากคำ 'เป๊ปซี่ ชาวลาว' ยันไม่จัดฉากคดีจับอาวุธสงครามเครือข่ายโกตี๋

Posted: 29 Mar 2017 07:17 AM PDT

'เป๊ปซี่ ชาวลาว'  แจงทำงานรับส่งสินค้าไปลาว ยันไม่รู้จักโกตี๋ ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบลังกระดาษทั้ง 7 ลังพบเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียง เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 

29 มี.ค.2560 มติชนออนไลน์รายงานว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าการคดีกับเครือข่ายของ เครื่องเสียง  กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ได้มีจับกุมตัว หัดสะดี ทิพะสอน หรือ เป๊ปซี่ ชาวลาว ได้ที่ในเขตเมือง จ.หนองคาย เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีความเชื่อมโยงกับ วุฒิพงศ์ ซึ่งก็มีข้อมูลตรงกันในการติดต่อกับ ธีรชัย อุตรวิเชียร หรือ ระพิน 1 ใน 9 ผ้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นความเกี่ยวข้องกันและเราจะขยายผลต่อไป ซึ่งขณะนี้เราได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำแล้ว ทั้งนี้ เท่าที่ทราบข่าวตามสื่อ ก็จะเห็นว่าเขามีการรับสารภาพเองว่ามีการติดต่อ ส่งของให้ วุฒิพงศ์ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ต้องไปดูว่าที่เขาให้การมาเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีหรือไม่ ส่วนอาวุธสงครามที่ตรวจค้นได้ก่อนหน้านี้ ขณะนี้มีเพียงปืน 1 กระบอก ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ที่เหลือก็ต้องตรวจสอบต่อไป

ต่อกรณีที่เป็นลังกระดาษ เป็นเครื่องเสียงหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า หลังจากมีการตรวจสอบข้อความสนทนาในแอพพลิเคชั่นไลน์ ก็จะพบว่าการติดต่อของ ธีรชัยกับกลุ่มนี้ มีการติดต่อกันจริง และหลายครั้งที่บางสื่อบอกว่าเรื่องนี้เป็นการจัดฉากนั้น ก็อยากให้เห็นชัดเจนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การจัดฉาก มันมีข้อเท็จจริงอยู่ อีกทั้ง ตัวละครก็ดี ข้อมูลต่าง ๆ ก็ดี มันเป็นข้อเท็จจริงที่เราตรวจสอบพบ และตัวเขาก็รับเองว่ามีการติดต่อกันจริง ส่วนจะมีการส่งเครื่องเสียงและอาวุธกันจริงหรือไม่นั้น ในการตรวจสอบก็จะต้องตรวจสอบต่อไป แต่ในข้อเท็จจริงหลังจากมีการตรวจค้น บางสื่อบางฉบับก็พูดกันว่าเป็นการจัดฉาก ดังนั้น ตรงนี้เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการจับกุมครั้งนี้มีหลักฐานจริง และเป็นการสืบสวนขยายผลจริง

สำหรับคำถามในส่วนของวุฒิพงศ์จะมีการประสานกับต่างประเทศอย่างไรบ้าง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า เราจะต้องประสานอยู่แล้ว อีกทั้ง คดีนี้ก็ต้องมีหมายจับเพิ่มเติม ซึ่งเดิมเรามีหมายจับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่แล้ว ที่ดำเนินการอยู่ แต่พอเรื่องนี้หากสามารถออกหมายจับได้ ก็จะต้องมีการประสานต่อไป ส่วนที่มีข่าวว่านายวุฒิพงศ์เดินทางออกจาก สปป.ลาว ไปแล้วนั้น ทางการข่าวก็ยังต้องพิสูจน์ทราบว่าจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากทราบที่อยู่ที่ชัดเจนแล้ว ทางเราก็คงจะต้องมีการประสานต่อไป

หัดสะดี แจงทำงานรับส่งสินค้าไปลาว ยันไม่รู้จักโกตี๋ 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า จากการสอบสวน หัดสะดี ให้การว่า ตนเข้ามาทำงานในไทยได้ 10 ปี โดยทำงานรับจ้างกับบริษัทส่งของ "แม่แอ" ซึ่งเป็นคนลาวด้วยกัน รับส่งสินค้าจากไทยไปลาว และตนมีภรรยาชาวไทย พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน ต.หนองกอมเกาะ อ.เมืองหนองคาย เมื่อวันที่ 27 ม.ค.60 มีชายชาวลาวติดต่อทางไลน์มาหาตน ถามว่า "ใช่ขนส่งแม่แอมั้ย" พร้อมบอกว่า ชื่อ เหรียญทอง ทำงานอยู่ที่ลาวสตาร์ (สถานีโทรทัศน์ของลาว)

โดย เหรียญทอง บอกต่อว่า จะมีคนเอาของมาฝากมาให้ ให้เอามาส่งที่ลาวสตาร์ในวันที่ 30 ม.ค.60 ซึ่งจะมีผู้ชายโทร.ติดต่อตนเอง และคนที่จะเอาของมาส่งจะเป็นคนขับรถเอาของมาส่งให้ที่โกดังแม่แอ หลังจากนั้น ก็มีชายคนหนึ่งโทรศัพท์มาหาตนบอกว่า จะเอาของมาฝาก ตนได้บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ พบว่า ขึ้นไลน์ชื่อ "ระพินทร์" จากนั้น ระพินทร์ ได้ขับรถยนต์โตโยต้า วีออส สีบรอนซ์ ทะเบียน ชฐ 3822 กรุงเทพมหานคร มีผู้หญิงนั่งมาด้วย มาที่โกดัง แล้วนำลังกระดาษ 7 ลัง แต่ละลังหนักประมาณ 20-30 กก. ให้ตนรับ และนำมาเก็บไว้ที่โกดัง
       
จากนั้นวันที่ 31 ม.ค.60 มีรถสิบล้อจากฝั่งลาวมารับลังกระดาษทั้งหมดไปโดยตนไมได้ไปส่งเอง จากนั้น เหรียญทอง ได้ไลน์มาถามตนว่า ของมาถึงรึยัง ตนตอบไปว่าของส่งไปแล้ว หลังจากนั้นอีกหลายวันตนเห็นข่าวการจับกุมเครือข่ายโกตี๋ มีข้อมูลการสนทนากับ ระพินทร์ และโกตี๋ โดยมีชื่อ และหมายเลขโทรศัพท์ของตนปรากฏอยู่ด้วย ตนตกใจมาก เพราะไม่ได้รู้จักกันทั้ง ระพินทร์ และ โกตี๋  ทั้งยังมีคนอ้างตัวว่าเป็นทหารชายแดนที่ภาคใต้โทร.มาหาตนหลายครั้ง ขอให้ตนพาข้ามไปลาวแล้วจะให้ค่าจ้าง แต่ตนกลัวจึงปฏิเสธไป และได้ยกเลิกหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวไป ซึ่งขอยืนยันว่าตนไม่ได้รู้จักกับ โกตี๋ แต่อย่างใด

ลังทั้ง 7 คือเครื่องเสียง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทราบว่า ภายในลังกระดาษทั้ง 7 ลังนั้น เป็นอุปกรณ์เครื่องเสียง มูลค่า 40,350 บาท และเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองหนองคาย ดำเนินการ และยังต้องตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอีกหลายส่วน 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อัยการจ่อแถลงคืบหน้าคดีทายาทกระทิงแดงขับรถพุ่งชนตำรวจเสียชีวิตปี 55 พรุ่งนี้

Posted: 29 Mar 2017 06:32 AM PDT

อัยการเตรียมแถลงข่าวถึงความคืบหน้าคดีทายาทกระทิงแดงขับรถพุ่งชนตำรวจเสียชีวิต ปี 55 พรุ่งนี้ หลังสื่อต่าง ปท. เสนอชีวิตในต่างประเทศด้วยความสบายใจโดยยังไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ 

29 มี.ค.2560 จากกรณีสื่อมวลชนตั้งถามต่อ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณีความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเจ้าของกระทิงแดง หลังสำนักข่าวเอพีในนิวยอร์ก สหรัฐฯ นำเสนอชีวิต วรยุทธ ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศด้วยความสบายใจโดยยังไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ ทั้งที่คดีใกล้จะหมดอายุความภายในปีนี้ และถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกแล้วไม่เข้ารายงานตัวหลายครั้ง 

โดย พล.ต.ท.ศานิตย์ ยืนยันว่า ตำรวจได้ส่งสำนวนคดี วรยุทธ ให้อัยการตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2555 โดยคดีนี้เกิดเหตุก่อนที่ตัวเองเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และเมื่อพบความล่าช้าและช่องว่างกฎหมาย ได้ย้ำให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการให้ชัดเจน

พ.ต.ท. อาชวิน บุญธรรมเจริญ รองผู้กำกับฝ่ายสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ อัยการนัดฟังคำสั่งคดีนี้ ซึ่งผู้ต้องหาจะมาฟังคำสั่งหรือมอบหมายทนาย ความมาแทนก็ได้ หากอัยการสั่งฟ้อง แต่ผู้ต้องหาไม่มาและไม่สามารถตามตัวมาส่งฟ้องต่อศาลได้ อัยการสามารถเสนอศาลออกหมายจับตามข้อหาที่สั่งฟ้อง หรือถ้าอัยการสั่งฟ้องแล้วทนายความยืนยันสามารถตามตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องต่อศาลได้ อัยการก็จะนัดวันส่งฟ้องต่อศาล แต่หากสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา คดีถือว่าสิ้นสุด

มีรายงานข่าวว่า พรุ่งนี้ (30 มี.ค.60) เวลา 10.00 น. สำนักงานอัยการสูงสุด โดย ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด จะ แถลงข่าวถึงความคืบหน้าคดีดังกล่าว ที่ ห้องประชุม 303 ชั้น 3 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าคดีนี้ล่าช้าเกือบ 5 ปี โดย วรยุทธ ไม่เข้าพบเจ้าหน้าที่ตามหมายเรียก แต่ให้ทนายความเดินทางไปแทนและอ้างว่า ป่วยหรือเดินทางไปทำธุรกิจต่างประเทศ และพบว่าเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งนั้น ตำรวจ บอกว่า ต้องขอตรวจสอบก่อน

 

ที่มา : ไทยพีบีเอส Voice TV และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ จี้อุตสาหกรรม หลังหนังสือค้านเหมืองโปแตช ไม่คืบ

Posted: 29 Mar 2017 06:20 AM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จี้ขอคำตอบ หลังยื่นหนังสือคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี แล้ว กลับไม่คืบหน้า ด้านอุตสาหกรรมจังหวัด แจงเรื่องอยู่ในชั้นศาลไม่ขอก้าวล่วง

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี จากพื้นที่ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี โดยมี  สุชัย บุตรสาระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และ ศิริกัลยา กิจรักษา นายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ให้การต้อนรับกลุ่มชาวบ้านและร่วมรับฟังปัญหาข้อร้องเรียน ณ ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี

มณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

มณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า จากการที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ได้อ้างว่าผ่านขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการขอประทานบัตรไปแล้วนั้น จึงอยากมาทวงคำตอบหนังสือที่กลุ่มฯ เคยยื่นคัดค้าน และเรียกร้องให้อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ชี้แจงใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.) การคัดค้านการปักหมุดรังวัด และขึ้นรูปแผนที่ 2.) การคัดค้านการปิดประกาศเขตเหมืองและรายงานในใบไต่สวน ซึ่งชาวบ้านได้รวบรวมรายชื่อกว่า 5,000 รายชื่อ และสำเนาโฉนดที่ดินเกือบ 2,000 แปลง คัดค้านตามขั้นตอนกฎหมายภายใน 20 วัน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้กลุ่มชาวบ้านยื่นคัดค้านตั้งแต่ปี 53-54 ประเด็นที่ 3.) การประชาคมหมู่บ้านในค่ายทหารเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ และ4.) การที่อบต. ห้วยสามพาด เป็นอบต.ในเขตเหมือง มีมติไม่เห็นด้วยต่อการทำโครงการฯ มีผลต่อการขออนุญาตประทานบัตรหรือไม่ อย่างไร

"กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ยื่นคัดค้านในขั้นตอนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานรัฐและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง วันนี้จึงได้มายื่นหนังสือเพื่อทวงถาม และให้อุตสาหกรรมจังหวัดทำหนังสือชี้แจงภายใน 7 วัน" มณี กล่าว

ธนวรรธน์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงว่า ตนยินดีที่จะทำเป็นหนังสือตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งในเบื้องต้นก็อยากเรียนชี้แจงว่า ในประเด็นที่ 1 คือการปักหมุด รังวัด และขึ้นรูปแผนที่ และประเด็นที่ 2 คือการยื่นคัดค้านการปิดประกาศเขตเหมือง และรายงานในใบไต่สวน ทั้งสองประเด็นนี้เมื่อกลุ่มชาวบ้านเห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงได้พากันไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่ง ณ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในการพิจารณาในชั้นศาล ศาลยังไม่ตัดสินออกมาว่าอย่างไร เราจะไม่ก้าวล่วงเข้าไป

"ก็ขึ้นอยู่ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร ถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการปักหมุดรังวัด และการปิดประกาศไม่ถูกต้อง โครงการที่ทำมาจะต้องหยุด คือจบเลย ส่วนประเด็นการประชาคมในค่ายทหารเป็นขั้นตอนดำเนินการของกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เขาตกลงร่วมกันว่าจะไปใช้สถานที่ตรงนั้น อุตสาหกรรมเป็นเพียงผู้ไปชี้แจงให้ข้อมูล และประเด็นสุดท้ายคือกรณีมติอบต.ห้วยสามพาดที่ไม่เอาเหมืองทางกพร.(กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ก็ได้มีหนังสือมาให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จังหวัดตรวจสอบเสร็จก็ได้รวบรวมเอกสารส่งไปส่วนกลางแล้ว ซึ่งรายละเอียดในประเด็นทั้งหมดผมจะทำหนังสือชี้แจงพร้อมแนบเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่งให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ อีกครั้ง" อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี  กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงาน เผยเตรียมคุยหน่วยงานอื่นวางมาตรการโซนนิ่งแรงงานข้ามชาติ 5 หมื่น 13 จังหวัด

Posted: 29 Mar 2017 06:02 AM PDT

โฆษกกระทรวงแรงงาน แจ้งการจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานข้ามชาติ เตรียมหารือร่วมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพื้นที่ หวังแก้ปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด สุขภาพอนามัยจากโรค ขยะมูลฝอยและที่พักอาศัยไม่ได้มาตรฐาน

29 มี.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ  ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ จากการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ  ในระยะที่ผ่านมา พบว่า การพักอาศัยร่วมกันเป็นชุมชนอย่างกระจัดกระจายของแรงงานเหล่านี้ ได้เกิดปัญหาขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาด้านอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยจากโรคต่าง ๆ ปัญหาขยะมูลฝอย และปัญหาที่พักอาศัยไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัย เป็นต้น  โดยเฉพาะจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ระนอง สมุทรสาคร เป็นต้น 

จากกรณีดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงมีแนวคิดการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 50,000 คน ที่มีอยู่ประมาณ 13 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระนอง ปทุมธานี ชลบุรี สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นนทบุรี นครปฐม ระยอง ภูเก็ต สงขลา และตาก โดยได้ขอความร่วมมือจังหวัดในการพิจารณาจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว (Zoning) เพื่อให้สถานประกอบการหรือนายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวเข้าพักอาศัย อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้นายจ้างดูแลด้านสวัสดิการ สามารถจัดบริการรถรับ-ส่งได้โดยสะดวก มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งการพักอาศัยและการเดินทาง ขยายผลถึงการป้องกันปัญหาด้านสาธารณสุข การจัดการปัญหาขยะในพื้นที่  ตลอดจนการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งชุมชนและสังคมโดยส่วนรวม จัดเป็นมาตรการที่เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ 

"กรณีจัดเขตพื้นที่ส่งเสริมที่พักอาศัยแรงงานต่างด้าว (Zoning) ขณะนี้เป็นเพียงแนวคิดเริ่มต้นในการจัดพื้นที่เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นข้อยุติเนื่องจากจะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมที่ดิน ถึงความเหมาะสมของการจัดพื้นที่ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมของคนไทยในพื้นที่ก่อนในเบื้องต้นอย่างไรก็ตาม ในการจะดำเนินการใด ๆ จะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นทั้งจากประชาชน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเหมาะสม" โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวท้ายสุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 องค์กรสิทธิฯ ขอรัฐย้ายทหารที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ กรณี’ชัยภูมิ’ เพื่อสร้างปลอดภัยให้พยาน

Posted: 29 Mar 2017 04:10 AM PDT

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีทหารยิงชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต เรียกร้องรัฐย้ายทหารที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ เพื่อให้พยานรู้สึกปลอดภัย จี้ตั้งกรรมการกลางตรวจสอบข้อเท็จจริง

29 เม.ย. 2560 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ร่วมกันจัดตั้ง"คณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมทางสังคม และประธานเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา และต่อมามีการกล่าวหาว่านายชัยภูมิ ป่าแส มียาเสพติดไว้ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและพยายามฆ่าเจ้าหน้า ได้ออกแถลงการณ์ร่วม โดยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการฆ่านอกระบบกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (Extra judicial killings) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ทั้งยังเรียกร้องให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และ/หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้การคุ้มครองพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์การวิสามัญดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้รัฐย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวออกจากพื้นที่โดยทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และไม่ยุ่งเหยิงข่มขู่พยาน โดยแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้



แถลงการณ์ร่วมองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

กรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงนายชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต

                สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนสงครามยิงนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมทางสังคม และประธานเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา และต่อมามีการกล่าวหาว่านายชัยภูมิ ป่าแส มียาเสพติดไว้ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่นั้น

                มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมกันจัดตั้ง"คณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี" แก่ผู้เสียหายในกรณีดังกล่าวขึ้น ประกอบด้วยทนายความนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน โดยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการฆ่านอกระบบกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (Extra judicial killings) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" (พิจารณาประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4) ตามหลักการดังกล่าวนอกจากเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ยังเป็นหลักการสำคัญที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องนำผู้ที่ถูกกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ตามกฎหมาย และเป็นการป้องกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการใดๆ ต่อผู้ต้องสงสัยหรือผู้ถูกกล่าวหาตามอำเภอใจของตน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นระบบแทนที่กระบวนการยุติธรรมหรือที่เรียกว่า"ศาลเตี้ย"

                ทั้งนี้ การปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ต้องดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย หลักนิติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชน รัฐโดยผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยงาน ต้องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของตน และไม่ควรแสดงอาการชื่นชมหรือกล่าวในเชิงให้ท้ายหรือสนับสนุนการใช้วิธีการรุนแรงหรือละเมิดกฎหมาย และควรมีการสอบสวนดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ เพื่อรักษามาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความระมัดระวังต่อไป

                องค์กรสิทธิมนุษยชนดังมีรายชื่อดังกล่าวข้างต้นและคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี มีความเห็นว่า

                1. ประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ป่าแส พึงได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และ/หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้พยานมีความมั่นใจและอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ตนรู้เห็นเหตุการณ์ได้โดยปราศจากความหวาดกลัวและการข่มขู่คุกคาม ทั้งให้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวออกจากพื้นที่โดยทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์และไม่ยุ่งเหยิงข่มขู่พยาน

                2. การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารควรได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งนี้ โดยการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มีความเป็นอิสระและมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม

                3. เมื่อมีการผ่าชันสูตรศพและจัดทำรายงานโดยแพทย์นิติเวชแล้ว มารดาของนายชัยภูมิ ป่าแส ควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลรายงานการผ่าพิสูจน์ศพของแพทย์โดยเร็ว ในฐานะที่มารดาและเป็นผู้เสียหายพึงจะได้รับรู้รายละเอียดการตายของบุตรชายตนรวมทั้งความคืบหน้าของคดีและข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆตามสมควร

                4. ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะต้องไม่แทรกแซงทั้งโดยเปิดเผยหรือในทางลับ ต่อการสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการไปได้โดยอิสระเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

                องค์กรสิทธิมนุษยชนและคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีจะดำเนินการทางกฎหมายต่อกรณีของนายชัยภูมิ ป่าแส ตามระบบกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความจริงปรากฏและเพื่อคุ้มครองหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิด Timeline จากปากคำชาวกองผักปิ้ง วัน ชัยภูมิ ป่าแส ถูกทหารวิสามัญฯ

Posted: 29 Mar 2017 01:46 AM PDT

ลำดับเหตุการณ์จากปากคำชาวกองผักปิ้ง เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 'ชัยภูมิ ป่าแส' ช่วงเช้าพาเพื่อนไปตัวเมืองเชียงดาวที่บ้านของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ดูรายละเอียดอุปกรณ์เดินไฟ ก่อนโพสต์เฟซบุ๊กไปเที่ยวพระธาตุ แถวบ้านกับเพื่อน ช่วงสาย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ภาพชัยภูมิและเจ้าหน้าที่ทหารค้นรถคนเกิดเหตุที่ชัยภูมินั่งมาด้วย

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ด่านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก (อ่านที่นี่)  

​รายงานข่าวจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่า ร้อย ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม5 ร่วมกับชสท.ที่ 9 กองกำลังผาเมือง ที่ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง ได้ขอตรวจค้นรถยนต์ฮอนด้าแจ๊สสีดำและพบยาบ้าจำนวนรวม 2800 เม็ด ชัยภูมิ ซึ่งนั่งข้างคนขับต่อสู้โดยหยิบมีดขึ้นมา วิ่งหนีไปทางป้อมตำรวจเก่าบ้านอรุโณทัย เมื่อเจ้าหน้าที่ติดตามไป ชัยภูมิ ควักระเบิดมาจะขว้างใส่ จึงยิงตอบโต้และเสียชีวิต  ทราบชื่อผู้ยิงคือ พลทหารสุรศักดิ์ รัตนสุวรรณ์

ลำดับเหตุการณ์จากปากคำชาวบ้านบ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

​เช้าวันที่ 17 มี.ค.2560 ชัยภูมิ พาเพื่อนที่เรียนหนังสือด้วยกันที่ตัวเมืองเชียงดาวมาที่บ้านของ ไมตรี จำเริญสุขสกุล กลุ่มรักษ์ลาหู่ เพื่อดูรายละเอียดอุปกรณ์สำหรับจะเดินไฟบ้านให้ไมตรี  หลังจากนั้น ชัยภูมิ กับเพื่อนที่ทราบชื่อภายหลังคือ พงศนัย แสงตะหล้า (ยิว) จึงออกไปราว 8.30 น. และในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ชัยภูมิ โพสต์บนเฟซบุ๊กว่าไปเที่ยวที่พระธาตุ (อยู่แถวบ้าน) กับเพื่อน

​ข้อมูลจากเพื่อนผู้หญิงของชัยภูมิ ซึ่งอาศัยอยู่ที่ตัวอำเภอเชียงดาว ระบุว่า ตนได้มาเที่ยวบ้านกองผักปิ้งพร้อมกับพงศนัยและชัยภูมิ และกลับไปในวันที่ 16 มี.ค. โดยมีชัยภูมิกับพงศนัยขับรถไปส่ง แต่ตนลืมกระเป๋าสตางค์ไว้บนรถ จึงได้นัดกับชัยภูมิว่าจะมาพบกันในเมืองเพื่อเอากระเป๋าสตางค์มาคืนในวันที่ 17 มี.ค. 

​ในเวลาราว 11.00 น. ฉันทนา ป่าแส ลูกพี่ลูกน้องของชัยภูมิกำลังเดินทางกลับบ้านจากธุระที่เชียงใหม่และผ่านด่านรินหลวง พบว่าที่มีการกั้นส่วนหนึ่งของด่านไว้และเห็นรถของชัยภูมิจอดอยู่ มีทหารตำรวจอยู่เต็มไปหมด มีเจ้าหน้าที่ใส่สูทและผู้หญิงใส่กระโปรง (ทราบทีหลังว่าแนะนำตัวว่าเป็นอัยการ) และหมอใส่เสื้อกาวน์สีขาว เธอสอบถามจากคนที่อยู่บนรถอีกคันที่จอดดูอยู่ เขาบอกว่า ทหารยิงคนส่งยา ในตอนนั้นฉันทนาเห็นเพื่อนของชัยภูมิและศพถูกคลุมผ้าไว้ไกล ๆ จึงรีบโทรศัพท์กลับบ้านและก็พบว่ายังไม่มีใครทราบเรื่อง ฉันทนาโทรศัพท์บอกพี่สาวที่ทำงานอยู่ในอำเภอหางดง (ไพรนภา ป่าแส) ไพรนภารีบโทรศัพท์ถามคนในหมู่บ้านเช่นกัน คนในหมู่บ้านนั้นจึงได้โทรศัพท์บอกไมตรี เพราะไมตรีเป็นเสมือนพี่ชายที่ดูแลชัยภูมิมาตลอดแทนแม่และพ่อเลี้ยง

​ไมตรี เดินทางไปถึงด่านรินหลวงราวเที่ยง มีทหารตำรวจมากมาย 30-40 คน ทหารให้นั่งรอฝั่งตรงข้ามป้อมตำรวจร้าง ไมตรีพยายามจะเข้าไปดู เห็นศพอยู่หลังป้อมตำรวจในระยะไกล ๆประมาณ 2-300 เมตร แต่ทหารกั้นเอาไว้และมีการโต้เถียงกัน จากนั้นมีทหารที่ดูเหมือนเป็นหัวหน้าหน่วยเข้ามาคุยอย่างสุภาพว่าเขาเสียใจ ไม่ต้องการให้เป็นแบบนี้ แต่ชัยภูมิต่อสู้และจะขว้างระเบิดใส่ คนของเขาจึงต้องยิง ไม่ได้เป็นการเล็งยิงให้โดนจุดสำคัญ จะให้โดนมือ แต่พลาดไปโดนอวัยวะสำคัญ

​ในขณะเดียวกัน ทหารได้เข้าตรวจค้นบ้านของชัยภูมิที่บ้านกองผักปิ้ง ฉันทนาซึ่งกลับมาจากด่านแล้วได้สอบถามว่ามีการยิงอะไรที่ด่าน ทหารตอบว่า ไม่มีการยิงอะไรเลย ใครเป็นคนบอก ไม่มีการยิง จากนั้นพ่อเลี้ยงของชัยภูมิได้พาทหารไปที่บ้านของไมตรี เนื่องจากชัยภูมิมักมานอนบ้านของไมตรี เมื่อไมตรีทราบข่าวว่าทหารจะไปค้นบ้านจึงรีบกลับ แต่เมื่อถึงบ้านทหารก็กลับไปแล้ว ส่วนฉันทนานั้นได้กลับมาที่ด่านรินหลวงอีกครั้งราวบ่าย ซึ่งศพไม่อยู่บริเวณนั้นแล้ว  อัยการกับตำรวจแจ้งเธอว่าให้ไปรับศพน้องที่โรงพยาบาลนครพิงค์ราวบ่ายโมง และไม่ต้องเป็นห่วง จะให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

​ข้อมูลเบื้องต้นจากแพทย์นิติเวชฯ แจ้งกับญาติในวันที่ 18 มี.ค. ว่า ชัยภูมิถูกยิงเข้าด้านข้างของต้นแขนซ้ายด้วยปืน M16 กระสุนเข้ารูเล็ก ทะลุออกใหญ่ที่ต้นแขนและเข้าที่ลำตัว พบกระสุนแตกอยู่ในตัว และยังไม่ทราบระยะยิงเนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญกับอาวุธความเร็วสูงแบบ M16 รายงานการชันสูตรศพฉบับเต็มนั้นยังไม่เสร็จ และแพทย์แจ้งว่าจะต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน

​ในวันที่ 19 มี.ค. ชาวบ้านพาแม่ของชัยภูมิไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนาหวาย ได้รับทราบจากตำรวจว่า มีบันทึกประจำวันว่า ไมตรี ซึ่งเป็นญาติของชัยภูมิ ได้รับทราบข้อมูลจากทหารแล้ว และได้อนุญาตให้มีการชันสูตรศพเบื้องต้นที่ด่านแล้ว ซึ่งไมตรีบอกว่าไม่ได้อนุญาต ไม่ได้มีการถามเรื่องนี้ และตนไม่ได้มีโอกาสเห็นศพเลย 

​ข้อสงสัยของชาวบ้าน ได้แก่ จริงหรือไม่ ? ที่ชัยภูมิจะขนยาบ้าในวันเกิดเหตุ, จริงหรือไม่ ? ที่คนจะส่งยาโดยเอายาซ่อนไว้ในรถและขับผ่านด่านถาวรซึ่งทราบกันดีว่ามีฉ.ก.ม.5 ตรวจจับยาเสพติด, จริงหรือไม่ ? ที่ชัยภูมิจะมีอาวุธระเบิดอีกทั้งยังกล้าถือระเบิดต่อสู้, สมควรหรือไม่ ? ที่จะวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิจากเหตุการณ์ดังกล่าว

รวมถึงข้อสงสัยที่ว่า ยาบ้าที่ทหารนำมาแสดงให้ดูนั้นหีบห่อเป็นยาบ้าของกลุ่มว้า (รัฐฉาน ประเทศพม่า) ซึ่งมีราคาแพง ในขณะที่ยาบ้าจากกลุ่มลาหู่ (รัฐฉาน ประเทศพม่า) ซึ่งอาจมีการจ้างคนส่งยาเป็นชาวลาหู่ จะเป็นอีกแบบหนึ่งและราคาถูกกว่า 

เกี่ยวกับนายชัยภูมิ

ชัยภูมิ ป่าแส หรือ "จะอุ๊" เป็นชาวลาหู่วัย 17 ย่าง 18 ปี ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0) ที่ระบุว่าอายุ 21 ปี เนื่องจากความผิดพลาดของข้อมูลตั้งแต่การสำรวจ กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม 

​ตั้งแต่เด็กเล็ก ชัยภูมิเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มรักษ์ลาหู่ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มเยาวชนในกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ และกิจกรรมวัฒนธรรมอื่น ๆ เพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด ผลงานเพลงของชัยภูมิ ได้แก่เพลงเพื่อคนไร้สัญชาติ ชื่อ "จงภูมิใจ" ผลงานภาพยนตร์สั้นได้แก่การเป็นทีมงานภาพยนตร์เรื่อง "เข็มขัดกับหวี" (รางวัลช้างเผือกพิเศษดีเด่น เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 จัดโดยมูลนิธิหนังไทย) และ "ทางเลือกของจะดอ" (รางวัลชมเชยรัตน์ เปสตันยี จากเทศกาลเดียวกัน) รวมถึงร่วมเป็นทีมงานในสารคดีที่ผลิตโดยกลุ่มรักษ์ลาหู่ เช่นรายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส นอกจากนี้ ชัยภูมิยังได้เป็นผู้นำในการฟื้นฟูการเต้นแจโก่ของชาวลาหู่จนได้รับการยอมรับในหมู่บ้าน เป็นผู้นำคณะเด็กและเยาวชนกลุ่มรักษ์ลาหู่จากบ้านกองผักปิ้งออกแสดงในหลายพื้นที่  ล่าสุด ได้ร่วมกับศิลปินญีปุ่นจากเมืองโอซากาทำนิทานเพลงเรื่องขนมออฟุและตำนานภาษาลาหู่ มาจัดแสดงในงาน ดี ต่อ ใจ ณ แพร่งภูธร เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2560 

​ในด้านสังคม ชัยภูมิเป็นหนึ่งในกำลังเยาวชนที่ร่วมรณรงค์เรียกร้องการแก้ปัญหาภาวะไร้สัญชาติของคนชาติพันธุ์ เป็นแกนนำในการจัดค่ายเยาวชนชนเผ่าและได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายต้นกล้าเยาวชนพื้นเมือง และเป็นตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าร่วมในการประชุมสัมมนาในระดับประเทศมาหลายครั้ง ชัยภูมิเคยให้สัมภาษณ์หลายต่อหลายครั้งว่า ตนเติบโตมาในหมู่บ้านที่แวดล้อมด้วยปัญหายาเสพติดและเคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน การร่วมกิจกรรมกับรักษ์ลาหู่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้าย ได้มีโอกาสเอาใจใส่เลี้ยงดูน้องชายและแม่มากขึ้น เขามีความฝันอยากให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านมีชีวิตที่ดี และตนเองอยากเรียนจบปริญญาตรีและกลับมาเป็นครูสอนหนังสือเด็กในหมู่บ้าน 

หมายเหตุ : 

1. พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดจริง เด็กวัยรุ่นหลายคนเคยทดลองใช้ยาและรู้จักว่ายาบ้ามีหลายประเภท หีบห่อต่างกันอย่างไร
2. ด่านรินหลวงเป็นสถานที่จอแจ บริเวณนั้นมีศาลาพักรอรถโดยสาร มีแม่ค้าขายของ บ้านชาวบ้านและไม่ไกลจากโรงเรียน
3. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 เวลาประมาณ 14.30 น. ฉ.ก.ม.5 ได้วิสามัญ อะเบ แซ่หมู่ อายุ 32 ปี ชาวลีซูรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาวเช่นกัน โดยอ้างว่าผู้ตายมีเฮโรอีนและอาวุธระเบิดรวมถึงต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ เหตุเกิดที่ถนนลูกรังไร่ข้าวโพด
 
 
หมายเหตุ : ประชาไทได้รับรายงานลำดับเหตุการณ์ปากคำชาวบ้านบ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่  จากแหล่งข่าวเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น