ประชาไท | Prachatai3.info |
- 'พล.ต.อ.สมยศ-อนุทิน' ร้องเอาผิดมือโพสต์ข้อหาหมิ่นประมาท ปมกล่าวหาเปิดบ่อนกาสิโน
- เกิดเหตุร้ายใกล้รัฐสภาอังกฤษ ตร.ยันเสียชีวิต 4 คน ระบุเป็น 'เหตุก่อการร้าย'
- รายงาน: ‘วิสามัญฆาตกรรม’ เกินกว่าเหตุหรือไม่ ใครเป็นคนกำหนด
- ศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว 'อริสมันต์-12 แกนนำนปช.พัทยา' คดีป่วนประชุมอาเซียนซัมมิท 52
- ระดุมทุน 'The reading room' ต่อชีวิตให้พื้นที่เล็กๆ ในอุดมคติสำหรับคนศิลปะ
- มีแต่ 'ทหาร-ข้าราชการ' คสช. ตั้ง กก.-อนุฯ รับความเห็นสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าภาคใต้
- ปมฆ่า “ชัยภูมิ ป่าแส” ความจริงยังไม่ปรากฏ–เหตุการณ์ในอดีตสะท้อนโดนรัฐกดขี่ยาวนาน
- 'จ่านิว' โพสต์ถ้าติดทหาร ถูกกระทืบตายแน่ 'เนติวิทย์' ระบุปีนี้จะผ่อนผัน
- อัยการ ร้อง ปธ.สนช.ขอมีส่วนพิจารณาร่างพ.ร.บ.อัยการ หวั่นขัดร่าง รธน. ฉ.ผ่านประชามติ
- เสวนาว่าด้วยป้ายผ้า “ขออนุญาตเรียกตนเองว่าปาตานีได้ไหมครับ”
- เวทีกระท่อม -กัญชา ชี้รัฐต้องเอื้อให้ทำวิจัย นักกฎหมาย แนะ ควรยกเครื่องกฎหมายใหม่
- กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน นัดเปิดตลาดสีเขียวสัญจร หน้า สผ. พรุ่งนี้
- จิตวิทยาว่าด้วยเรื่องของความ 'ปกติทั่วไป' ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในมุมมองผู้คน
- ส.นักข่าว ชวนสื่อตั้งสโลแกน 'วันเสรีภาพสื่อโลก' ยึดเนื้อหาคัดค้านกม.คุมสื่อ
- ฎีกาตัดสินกะเหรี่ยงแม่อมกิไม่ผิดรุกป่า-อยู่ก่อนประกาศป่าสงวน-แต่ยังต้องออกจากพื้นที่
'พล.ต.อ.สมยศ-อนุทิน' ร้องเอาผิดมือโพสต์ข้อหาหมิ่นประมาท ปมกล่าวหาเปิดบ่อนกาสิโน Posted: 22 Mar 2017 01:19 PM PDT เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษสื่อโซเชียล ที่มีการโพสต์ข้อความระบุว่า มีอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อักษรย่อ "ชื่อ ส. นามสกุล พ." ร่วมกับอดีตนักการเมืองดังลงทุนเปิดบ่อนกาสิโนในประเทศกัมพูชา พล.ต.อ.สมยศ ระบุว่า ข้อความดังกล่าว มีลักษณะทำให้คนอ่านเข้าใจว่าเป็นตน ซึ่งไม่เป็นความจริง พร้อมระบุหากเป็นประเด็นไปร่วมลงทุน ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือเดือดร้อน เนื่องจากที่ผ่านสนับสนุนแนวคิดเปิดบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในเมืองไทย แต่ขณะนี้ไม่มีอำนาจ จึงไม่สามารถออกมาผลักดันได้ ทำได้เพียงสนับสนุนแนวคิดเท่านั้น และส่วนตัวเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ มักไปใช้บริการบ่อนกาสิโนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เดือดร้อนคือ การกล่าวอ้างสถาบันเบื้องสูงด้วย โดยยืนยันว่าไม่เคยมีกล่าวถึงสถาบันเบื้องสูง เช่นเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เดินทางมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ระบุชื่อย่อ "อนท. ช." ว่ามีส่วนร่วมหุ้นในการเปิดบ่อนกาสิโน โดย อนุทิน ระบุว่า ชื่อย่อดังกล่าวมีลักษณะทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นตน โดยยืนยันว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ตนไม่เคยมีหุ้นส่วนหรือมีแนวคิดที่จะลงทุนเรื่องการพนัน และไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีชื่อย่อของตัวเองไปปรากฏในข้อความดังกล่าว ส่วนที่มาแจ้งความในวันนี้ไม่ได้นัดแนะกับ พล.ต.อ.สมยศ ที่มาแจ้งความเมื่อเช้านี้ แต่เห็นว่าเป็นการใส่ร้ายที่ทำให้เสียชื่อเสียง และที่รับไม่ได้อย่างยิ่งคือมีการกล่าวอ้างถึงสถาบันเบื้องสูงด้วย จึงตัดสินใจมาแจ้งความและแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และขอให้ตำรวจติดตามจับกุมผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวมาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด และส่วนตัวไม่เคยมีแนวคิดผลักดันให้มีบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าคงเป็นเรื่องยากมาก ที่มา : สำนักข่าวไทย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เกิดเหตุร้ายใกล้รัฐสภาอังกฤษ ตร.ยันเสียชีวิต 4 คน ระบุเป็น 'เหตุก่อการร้าย' Posted: 22 Mar 2017 12:58 PM PDT 23 มี.ค. 2560 บีบีซีไทย รายงานว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (22 มี.ค. 60) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุร้ายใกล้กับรัฐสภาในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่ง สรุปเบื้องต้น ตำรวจยืนยันมีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน หลังคนร้ายขับรถพุ่งชนบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ ผู้เสียชีวิตรวมถึงตำรวจหนึ่งนายที่ถูกคนร้ายใช้มีดแทงที่ด้านนอกอาคารรัฐสภา ชายต้องสงสัยเป็นคนร้ายถูกตำรวจยิงเสียชีวิต และตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนระบุเป็น "เหตุก่อการร้าย" ตำรวจเชื่อว่าคนร้ายลงมือเพียงคนเดียว ขับรถไปบนทางเดินเท้าบนสะพานเวสต์มินสเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตในจุดนั้นสองคน หลังจากนั้นได้เข้าไปแทงตำรวจในบริเวณรัฐสภา ล่าสุด เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ "คอบรา" ซึ่งเป็นคณะกรรมการรับมือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ขณะที่ แอมเบอร์ รัดด์ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ถึงเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นว่าขณะนี้ยังไม่ได้ทราบผลกระทบโดยรวมที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรก และขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบแต่ระแวดระวัง หากเห็นสิ่งใดที่น่าเป็นห่วง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ กล่าวด้วยว่า คนอังกฤษจะร่วมมือกันทำให้ผู้ที่ต้องการทำลายค่านิยมของความเป็นประชาธิปไตย ความอดทนอดกลั้น และหลักนิติธรรม ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะไม่มีทางที่ค่านิยมเหล่านี้จะถูกทำลาย ขณะที่วันนี้ เบลเยียมรำลึกครบรอบ 1 ปีเหตุก่อการร้ายในเมืองหลวง เช่นกัน สถานทูตไทย ยันยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือผลกระทบขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน รายงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Royal Thai Embassy, London UK' ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุกราดยิงคนบริเวณอาคารรัฐสภา และเหตุรถยนต์ชนคนบนสะพาน Westminster กรุงลอนดอน ในช่วงบ่ายวันนี้ (22 มี.ค. 60) สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอให้ผู้ที่อยู่ในกรุงลอนดอนติดตามข่าวสารของทางการสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด เพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบริเวณที่เกิดเหตุและพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ Parliament Square, Whitehall, Westminster & Lambeth Bridge, Victoria Street จนถึงแยกที่ตัดกับ Broadway & Victoria Embankment และสถานี Westminster ทั้งนี้ ในชั้นนี้ ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่ง สอท.ฯ จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รายงาน: ‘วิสามัญฆาตกรรม’ เกินกว่าเหตุหรือไม่ ใครเป็นคนกำหนด Posted: 22 Mar 2017 12:11 PM PDT ตอนนี้ความสนใจเรื่อง 'วิสามัญฆาตกรรม' น่าจะพุ่งสูงเพราะข่าวคราวของหนุ่มลาหู่ หลายคนอาจเกิดคำถามมากมาย แต่เรื่องนี้ไม่มีนิยามแน่ชัดในกฎหมาย แม้มีระบบตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรม แต่ด้วยผู้ยิงเป็นทหาร หากเป็นคดีความ ไม่แน่ว่าคดีนี้จะได้พิจารณาในศาลทหาร ทำความเข้าใจเรื่องนี้เต็มๆ ที่นี่ เหตุวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นข่าวที่เห็นได้อยู่บ่อยครั้งในบ้านเรา แต่กรณีที่กำลังเป็นกระแสมาก คือ การวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ ซึ่งญาติระบุว่าอายุ 17 ปีแต่ตำรวจระบุว่าอายุ 21 ปี เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 (อ่านที่นี่) ขณะเดียวกันผู้คนในโลกออนไลน์ซึ่งร่วมกันติดแฮชแท็ก #RIPชัยภูมิ ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบสาเหตุการตายของชัยภูมิให้กระจ่างชัด จากคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิด กล่าวว่า ชัยภูมิเป็นเด็กไร้สัญชาติ พ่อและแม่มีโรคประจำตัว จึงต้องรับมาดูแลตั้งแต่อายุประมาณ 7-8 ขวบ และไม่เชื่อว่าผู้ตายจะขัดขืนเจ้าหน้าที่ รวมถึงลักลอบขนยาเสพติด เพราะที่ผ่านมาชัยภูมิทำกิจกรรมทางสังคมและเป็นเด็กดี หาเลี้ยงครอบครัว และไม่มีข้อมูลว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามถึงกระบวนการตรวจสอบ "การวิสามัญฆาตกรรม" ว่า มีความเป็นกลางจริงหรือไม่ พยานได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมหรือเปล่า มีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้กระบวนการเป็นไปอย่างโปร่งใส ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เพราะกระบวนการยุติธรรมควรเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ การทราบถึงขอบเขตการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งจะทำให้เราติดตามกรณีของชัยภูมิได้อย่างจริงจังและถูกจุด พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูนสุข พูนสุขเจริญ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิยามและหลักเกณฑ์ของ "วิสามัญฆาตกรรม" ทางกฎหมายคือ?พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วิสามัญฆาตกรรม คือหลักการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ คือการที่เจ้าหน้าที่รู้สึกมีภัยอันตรายที่มีการละเมิดกฎหมาย ใช้กำลังเพื่อตอบโต้ต่อภัยอันตรายนั้น แล้วมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น "อย่าไปเข้าใจเรื่องวิสามัญว่าเป็นเรื่องวิเศษอะไร จริงๆ วิสามัญคือการป้องกันตัวเองของเจ้าหน้าที่ แล้วก็มีผลทำให้ผู้ละเมิดกฎหมายถึงแก่ความตาย หลักเกณฑ์คือมีภยันอันตรายอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตได้หรือมีการละเมิดกฎหมายเกิดขึ้น เป็นหลักความรับรู้ที่สังคมทั่วไปยอมรับว่าเป็นภยันอันตรายจริงๆ สมมติมีคนจะยิงเราเราก็มีสิทธิป้องกันตัวเอง คิดง่ายๆ เรามีสิทธิป้องกันตัวเองแค่ไหน หลักของตำรวจก็มีแค่นั้น" พ.ต.อ.ศิริพล กล่าว พูนสุข พูนสุขเจริญ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การวิสามัญฆาตกรรมไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะ แต่คือการตายเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 150 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "ไต่สวนการตาย" และต้องมีอีกส่วนคือการสอบสวนเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญเพื่อดูว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ โดยท้ายที่สุดอัยการสูงสุดจะเป็นผู้สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อศาล สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้ปรากฎคำว่า "วิสามัญฆาตกรรม" โดยตรง แต่ซ่อนอยู่ตามมาตราหรือบทที่กำหนดหน้าที่ของอัยการหรือศาล เช่น ในมาตรา 143 วรรคสุดท้าย กล่าวว่า "...ในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง" หมายความว่าหากเป็นการวิสามัญฆาตกรรม กฎหมายกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นคนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญ โดยไม่ให้พนักงานอัยการปกติเป็นคนสั่ง เพราะมองว่าคดีวิสามัญหากคนที่สั่งคดีเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับที่ไม่ห่างกันมาก อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม มีการช่วยกันจนอาจจะไม่สั่งฟ้องคดี เริ่มต้นที่การชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตายกรณีวิสามัญฆาตกรรมสาวตรีอธิบายว่า ในกระบวนการสอบสวน ขั้นต้นจะเป็นการชันสูตรพลิกศพและไต่สวนการตาย หากการตายนั้นเป็นเหตุทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเจ้าพนักงานรัฐ จะมีแค่พนักงานสอบสวนและแพทย์เท่านั้น แต่หากเป็นกรณีวิสามัญฆาตกรรม กฎหมายกำหนดให้นอกจากพนักงานสอบสวน แพทย์ และอัยการเข้าไปร่วมชันสูตรด้วย เพื่อดูว่าผู้ตายเป็นใคร ตายอย่างไร เมื่อไร เจ้าพนักงานเป็นคนทำให้ตายหรือไม่ แต่ยังไม่ระบุว่าผิดหรือไม่ผิด อัยการมีหน้าที่ส่งสำนวนไปยังศาลเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 ป.วิอาญา ซึ่งการไต่สวนนี้ญาติของผู้ตายสามารถมีส่วนร่วมได้ แต่ไม่ใช่การไต่สวนเพื่อหาคนรับผิด จึงเท่ากับเป็นการชันสูตรสองรอบคือโดยเจ้าพนักงานและโดยศาล ที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะคนที่มาเกี่ยวข้องกับการตายเป็นเจ้าพนักงานรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าให้เจ้าพนักงานรัฐในระดับเดียวกันหรือระดับที่ไม่สูงมากมาเป็นคนชันสูตร สุดท้ายอาจจะไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนทั่วไปหรือญาติผู้เสียหาย นอกจากนี้การไต่สวนการตายศาลก็ต้องกระทำอย่างเปิดเผยด้วย การสอบสวนคดีเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญมีขั้นตอนอย่างไร?สาวตรี อธิบายต่อว่า ส่วนอีกขั้นหนึ่งเป็นการสอบสวนคดีว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเจ้าพนักงานในความผิดทางอาญา โดยพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการสูงสุด รวมทั้งรอให้กระบวนการชันสูตรพลิกศพเสร็จก่อน สำนวนชันสูตรจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการดำเนินคดี อัยการสูงสุดจะเป็นคนสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีอาญา หากอัยการเห็นว่ากรณีเช่นนี้สั่งฟ้องก็จะไปสู่ศาลเพื่อพิจารณาว่าเจ้าพนักงานนั้นมีความผิดหรือไม่ แต่หากอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ถ้าญาติหรือผู้เสียหายยังติดใจอยู่ก็สามารถส่งฟ้องศาลเองได้โดยตรง พูนสุข เพิ่มเติมว่า กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าปฏิบัติเกินหน้าที่ก็จะฟ้องเป็นคดีอาญา กฎหมายไม่มีบทบัญญัติป้องกันเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะ แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถอ้างมาตรา 68 ในประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับคนทั่วไปในเรื่องการป้องกันตัวเอง อย่างในกรณีของชัยภูมิ ป่าแส เจ้าพนักงานอ้างว่าผู้ตายมีระเบิดในมือ จึงต้องยิงเพื่อป้องกันการต่อสู้ ในกรณีที่ทหารเป็นคนยิง ขึ้นศาลทหาร?สาวตรีตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของชัยภูมิ มีโอกาสที่เมื่อทหารเป็นผู้กระทำการก็จะไปขึ้นศาลทหาร เพราะศาลทหารมีอำนาจในเรื่องที่ทหารทำผิดอาญาด้วย กระบวนการที่ต้องให้ความสนใจคือ การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญ ซึ่งในกรณีนี้เป็นทหาร คำถามคืออำนาจการสั่งฟ้องจะเป็นของอัยการทหารหรืออัยการสูงสุด เพราะการชันสูตรหรือการไต่สวนการตายพระธรรมนูญศาลทหารไม่ได้กำหนดเรื่องไว้ จึงต้องเป็นไปตามวิธีพิจารณาความอาญา คนที่มีอำนาจเป็นทางฝั่งพลเรือนหมด ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ อัยการ และศาลยุติธรรม แต่ถ้าเป็นการดำเนินคดีการสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำของทหารว่าผิดหรือไม่ เกรงว่าจะกลายเป็นเรื่องของอัยการทหาร ซึ่งหากเป็นอัยการทหารจริง ก็ต้องติดตามกันต่อไปดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น อนึ่ง ศาลทหารนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ควรมีอำนาจในการทำคดีอาญาที่เกี่ยวพันกับอุ้มหาย หรือคดีอาญาร้ายแรง เพราะคำถามที่ตามมาคือจะสามารถมั่นใจได้หรือไม่ว่า ด้วยกลไกของศาลทหาร คุณสมบัติผู้พิพากษาศาลทหาร ลักษณะกระบวนพิจารณาในศาลทหาร ทหารด้วยกันเป็นผู้จับกุมกันเอง องค์คณะในการพิจารณาคดีมีคนหนึ่งเป็นทหารผู้บังคับบัญชาของทหารที่กระทำผิด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายได้ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ไม่มีการใช้อำนาจหรืออิทธิพลมาแทรกแซงกระบวนการพิจารณาจริงหรือ (อ่านเพิ่มเติมบทความศาลทหารมีไว้ทำไม?) พูนสุข เพิ่มเติมว่า กรณีนี้หากไปสู่การพิจารณาของศาลทหาร ญาติหรือผู้เสียหายจะไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ด้วย ระบบตรวจสอบเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ?สาวตรีกล่าวว่า พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการชันสูตรพลิกศพคือ พนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่พบศพ แต่พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจในการสอบสวนเพื่อทำคดีอาญา (กับเจ้าพนักงานผู้กระทำการวิสามัญ) คือพนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่ความผิดเกิด เพราะฉะนั้นทั่วไปถ้า นาย ก.ถูกฆ่าตายในพื้นที่นั้นๆ พนักงานชันสูตรและพนักงานสอบสวนคดีก็จะเป็นพนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่เดียวกัน พูนสุข ให้ความเห็นว่า มันจะกลายเป็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest) เมื่อบางครั้งพนักงานสอบสวนกับพนักงานชันสูตรอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน อาจมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ประการแรก การไต่สวนการตายแม้จะมีก็จริง แต่การตายในระหว่างควบคุมของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่มีคนเห็น คนเตรียมพยานหลักฐานก็เป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำการวิสามัญ จึงกลายเป็นว่าคนกระทำกับคนที่ตรวจสอบอาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ประการที่สอง เรื่องพยานหลักฐาน การไม่สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุ (crime scene) ในช่วงเกิดเหตุซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิดหรือพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ควบคุม ก็อาจไม่มีพยานเห็นเหตุการณ์นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุอาชญากรรม พอระยะเวลาล่วงเลยก็อาจทำให้ที่เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงได้ กระบวนการตรวจสอบถ้าเลยจากนี้ก็คือการตรวจสอบในชั้นศาล ญาติสามารถเป็นผู้ร้องคัดค้าน เข้าไปร่วมกับอัยการในการจะนำคดีหรือพยานหลักฐานอีกด้านหนึ่งเข้าสู่การพิจารณาคดี ญาติรวบรวมหลักฐานได้ แต่เข้าไม่ถึงที่เกิดเหตุ คนที่เข้าถึงก่อนคือเจ้าพนักงานซึ่งมีองค์ความรู้เรื่องพยานหลักฐาน ประการที่สาม กฎหมายแจ้งให้ญาติทราบและเชิญญาติเข้ามาด้วย แต่หลายคดีญาติไม่ได้รับทราบและไม่ได้อยู่ร่วมในกระบวนการ อย่างกรณีหมอหยองเป็นการตายระหว่างควบคุมตัว ญาติไม่ได้รับทราบ ไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตร ตายในพื้นที่ปิดลับ เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย ในขณะที่พ.ต.อ.ศิริพล ให้ความเห็นว่า ถ้าจะบอกว่าเป็นกลุ่มเดียวกันก็เป็นแน่ๆ เพราะเป็นตำรวจเหมือนกัน แต่เป็นคนละองค์กร คนที่จะไปเก็บหลักฐานว่ามีการฆาตกรรมคือพนักงานสอบสวน ขณะที่คนกระทำการวิสามัญเป็นฝ่ายป้องกันปราบปราม "ถ้าจะวิจารณ์ว่าเป็นหน่วยเดียวกัน องค์กรเดียวกันก็วิจารณ์ได้หมด อัยการก็องค์กรเดียวกัน ศาลก็องค์กรเดียวกัน องค์กรข้าราชการเหมือนกัน ทีนี้ประเด็นที่คนทั่วไปสงสัย จริงๆ มันถูกตรวจสอบโดยแพทย์กับอัยการในการชันสูตร คือ ถ้าคนจะเบี้ยวก็เบี้ยวหมด ใครจะตรงก็ตรง แต่ระบบมันก็วางไว้อย่างนี้ ระบบมันก็วางไว้ค่อนข้างโอเค มันอยู่ที่คนที่ดำเนินการต่อ" พ.ต.อ.ศิริพลกล่าว ส่วนเรื่องการที่ญาติไม่อาจเข้าถึงที่เกิดเหตุ พ.ต.อ.ศิริพล เห็นว่า สถานที่เกิดเหตุคนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้อยู่แล้ว เข้าถึงก็อาจไปทำลายหลักฐาน กฎหมายทั่วโลกก็ไม่มีระบุให้คนทั่วไปเข้า แต่เจ้าพนักงานก็จะถูกควบคุมด้วยระบบจรรยาบรรณ บางเรื่องเป็นเรื่องทางเทคนิคที่คนทั่วไปไม่เข้าใจและอาจเกิดความเสียหายได้ง่าย เช่น พนักงานเก็บหลักฐานใช้ผงทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบหลักฐานซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าไป แต่ว่าเพื่อความโปร่งใสในอนาคตจะทำก็อีกเรื่องหนึ่ง สาวตรี กล่าวว่า ภาพรวมในกระบวนการไต่สวนค่อนข้างโอเค หากเป็นไปตามกฎหมายทั้งหมด มีการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างองค์กร แต่ในกรณีของชัยภูมิอาจต้องให้ความสำคัญกับ พงศนัย แสงตะหล้า ผู้ขับรถและถูกจับกุม พยานคนเดียวที่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา อาจมีการข่มขู่ให้การเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่คดีในชั้นพิสูจน์ความผิดเป็นคดีของศาลทหาร ก็เป็นสิ่งที่สื่อและภาคประชาชนเองต้องร่วมกันจับตาต่อไป คำว่า 'วิสามัญฆาตกรรม' ไม่มีการบัญญัติคำนิยามในกฎหมาย การจะตัดสินว่าเจ้าพนักงานกระทำความผิดหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล แม้ตัวระบบและกระบวนการสอบสวนจะออกแบบมาเพื่อให้แต่ละฝ่ายถ่วงดุลกัน แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ อาจต้องเป็นหน้าที่ของประชาชนต้อง(พยายาม)ร่วมตรวจสอบและถ่วงดุลเจ้าหน้าที่รัฐ ดังเช่นกรณีของชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งมีความพยายามในการเรียกร้องให้เกิดกระบวนการที่เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อที่ว่าครั้งต่อไป ก่อนเจ้าหน้าที่รัฐจะตัดสินใจลั่นไกปืน เขาจะตระหนักถึงอำนาจ ความรับผิดชอบ และผลลัพธ์ที่จะตามซึ่งขึ้นอยู่กับปลายนิ้วมือของเขา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว 'อริสมันต์-12 แกนนำนปช.พัทยา' คดีป่วนประชุมอาเซียนซัมมิท 52 Posted: 22 Mar 2017 10:32 AM PDT ศาลฎีกายังไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อริสมันต์ และ 12 แกนนำนปช.พัทยา หลังถูกศาลอุทธรณ์พิพากษา จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา คดีบุกรุกก่อความวุ่นวายการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่โรงแรมรอยัล คลิฟบีท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ปี 2552 22 มี.ค.2560 จากรณีวานนี้ (21 มี.ค.60) ที่ศาลจังหวัดพัทยา ศาลอุทธรณ์โดยตัดสินพิพากษายืน จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง กับแกนนำกลุ่ม นปช.พัทยา อีกจำนวน 12 คน (จำเลยที่ 2-13) เป็นแกนนำ คดีบุกรุกก่อความวุ่นวายการประชุมอาเซียน ซัมมิท ที่โรงแรมรอยัล คลิฟบีท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ปี 2552 นอกจากนี้ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก่อนนำส่งไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษหนองปลาไหล อ.บางละมุง ตั้งแต่ช่วงค่ำของวานนี้นั้น ล่าสุดวันนี้ (22 มี.ค.60) สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงผลการประกันตัว อริสมันต์ กับพวก 13 คน จำเลยคดีดังกล่าวว่า จำเลยทั้งหมดได้ยื่นหลักทรัพย์คนละ 1-2 ล้านบาทขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลฎีกามีคำสั่งปล่อยชั่วคราวว่า วันนี้ศาลฎีกาได้มีคำสั่งที่จำเลยขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ปรกอบกับคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1- 6 และที่ 10 -13 และจำเลยที่ 15-17 คนละ 4 ปีแล้วเห็นว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ยื่นฎีกา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยแล้วจะหลบหนี ดังนั้นยังไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงให้ยกคำร้องของจำเลย ขณะที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้โพสต์ภาพตนเองและแกนนำ นปช. เข้าเยี่ยมจำเลยทั้ง 13 คน ที่เรือนจำพิเศษพัทยา ที่มา : เฟซบุ๊ก Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์, มติชนออนไลน์ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ระดุมทุน 'The reading room' ต่อชีวิตให้พื้นที่เล็กๆ ในอุดมคติสำหรับคนศิลปะ Posted: 22 Mar 2017 10:06 AM PDT The reading room ห้องสมุดเล็กๆซ่อนตัวอยู่บริเวณใจกลางเมืองย่านสีลม ทำขึ้นตามความตั้งใจที่อยากจะแบ่งปันความรู้ แหล่งข้อมูลด้านศิลปะ และเปิดเป็นพื้นที่ให้คนที่สนใจได้มาแลกเปลี่ยนทำกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ ทั้งยังให้เข้าใช้บริการ และสามารถยืมหนังสือได้ฟรี ปัจจุบันได้เปิดทำการมานานกว่า 7 ปีแล้วส่งผลให้เครื่องใช้ต่างๆภายในห้องสมุดเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ผู้ก่อตั้งห้องสมุดจึงได้โพสต์ขอระดมทุนเพื่อต่อชีวิตให้กับห้องสมุดดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจึงได้พูดคุยกับเธอถึงการระดมทุนในครั้งนี้ นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ผู้ก่อตั้งห้องสมุด The reading room ตอนนี้ประกาศขอระดมทุน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการระดุมทุนสำหรับห้องสมุดมาก่อน เกิดอะไรขึ้น ? คือเนื่องจากห้องสมุดเราเปิดมานาน 7 ปีแล้วทำให้ข้าวของในห้องสมุดเสื่อมโทรมลงเป็นธรรมดา เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายตัวพังพร้อมๆกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งช่วงนี้ไม่ได้รับงานพิเศษอะไร ก็เลยขอระดุมทุนเพื่อที่เราจะได้ดูแลแล้วก็ปรับปรุงห้องสมุดให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็จะปรับปรุงเรื่องระบบการจัดการหนังสือซึ่งต้องใช้งบประมาณพอสมควร แต่ก็ทำให้สะดวกขึ้น เริ่มต้นมีแรงบันดาลใจอะไรถึงทำห้องสมุดแห่งนี้ขึ้นมา ? ที่ทำห้องสมุดนี้ขึ้นมาไม่ได้มีแรงบันดาลใจมาจากไหน เดิมทำงานวิจัยและรวบรวมข้อมูลด้านศิลปะกับองค์กรแห่งหนึ่งของฮ่องกง ซึ่งทำให้มีหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะเป็นจำนวนมากจนเริ่มไม่มีที่เก็บอีกทั้งหนังสือเฉพาะทางย่อมหายาก โดยปกติแล้วแม้ว่าจะมีหนังสือประเภทนี้อยู่แต่ค่อนข้างกระจัด แต่เพียงแค่คิดทำอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์กับชุมชนมากกว่า คนเข้ามาใช้บริการเยอะไหม คนที่เข้ามาเป็นใคร ? แล้วแต่ละวัน ถ้าปกติก็มีบ้าง บางวันก็ไม่มี แต่ถ้ามีกิจกรรมคนก็จะเยอะพอสมควร ส่วนคนที่เข้ามา ก็จะแบ่งได้หลายแบบคือ คนที่แวะเข้ามาอ่านหนังสือ พักผ่อน กับคนที่เข้ามาทำกิจกรรมซึ่งจะแล้วแต่ลักษณะงานเช่น ถ้าเป็นงานศิลปะ ก็จะเป็นคนอาร์ตๆ ถ้าเป็นงานฉายหนัง ก็จะเป็นคนหนังมา หรือถ้าเป็นงานเสวนาวิชาการ ก็จะเป็นพวกมนุษย์วิชาการ ตัวอย่างกิจกรรมที่จัดขึ้นที่ The reading room เช่น ซีรีย์เสวนา Right Here, Right Now: ทำความเข้าใจแนวคิด"ฝ่ายขวา" #1: Fascism โดย ศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล และ อ.ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ดำเนินรายการโดย อ.ปรีดี หงษ์สต้น เมื่อ วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม จัดร่วมกับศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซีรีย์เสวนา Right Here, Right Now: ทำความเข้าใจแนวคิด"ฝ่ายขวา" #1: Fascism โดย ศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล
เทศกาลภาพยนตร์พม่า Wathann Film Festival มีคนในชุมชนเข้ามาใช้บริการบ้างไหม ? ถ้าหมายถึงชุมชนคนที่อยู่ใกล้ๆห้องสมุดไม่ค่อยมี เพราะว่ารอบๆบริเวณนี้เป็นออฟฟิศ คำว่าชุมชนที่นี้หมายถึง คือคอมมูนิตี้ของศิลปะมากกว่า คือเป็นพื้นที่ที่เราอยากให้คนในแวดวงเดียวกัน มีความชอบด้านศิลปะ ความเกี่ยวข้องกับศิลปะได้เข้ามาใช้ มาแบ่งปันกันมากกว่า ที่เปิดให้ยืมหนังสือได้ฟรี ยืมได้อย่างอิสระแบบนี้ไม่กลัวหาย ? ส่วนสำหรับที่เราให้ยืมนั้นด้วย น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านมากกว่า บางครั้งเขามาเจอข้อมูลสำคัญการนำกลับไปอ่านที่บ้านด้วยน่าจะสะดวกกว่า ถามว่ากลัวหนังสือหายไหม ก็กลัวนะแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เชื่อว่าโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจขโมย แต่น่าจะลืมมากกว่า ตามชื่อที่ลงไว้เดือนหนึ่งแล้วยังไม่มาคืน ถ้าเราโทรตามแล้ว อีเมลล์ตามแล้วไม่สามารติดต่อได้เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงเหมือนกัน ก็ต้องปล่อยไป เปิดให้บริการฟรีแบบนี้แล้วใช้เงินจากไหนมาดูแลห้องสมุด ? จริงๆ ก็ไม่ใช่เงินเราทั้งหมด เป็นเงินของพ่อบ้าง ขอทุนจากที่นั่นที่นี่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นเงินของตัวเอง คือเราไม่ได้รวยหรือมีเงินเยอะ แต่เราดูแลตามที่เราสามารถทำได้ ถ้าช่วงไหนเรารับงานเยอะ ก็จะมีเงินเยอะ ก็สามารถนำเงินมาดูแลห้องสมุดได้เยอะ หลายคนบอกให้เราทำของมาขายเพื่อนำเงินเข้าห้องสมุด แต่เราจำนวนคนที่เข้ามาแต่ละวันไม่แน่นอน ถ้าทำไว้เผื่อ คิดว่าน่าจะไม่ค่อยเวิร์ค ห้องสมุดดำเนินงานในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแบบนี้อยู่ยากไหม ? จะเรียกว่าเป็นองค์กรไม่แสดงหาผลกำไรก็คงได้ ส่วนถามว่าอยู่ยากไหม คนที่ทำงานอิสระและงานแนวไม่แสวงหาผลกำไร (nonprofit) มันอยู่ยากอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้มองว่าเราอยู่ยากกว่าคนอื่นๆ เพราะว่าเราทำของเราไปเรื่อยๆเท่าที่จะทำได้ตามความสามารถแล้วก็เงินของเราที่มี อยู่ในขอบเขตที่เราสบายใจที่จะทำ ไม่ทำอะไรที่เกินตัว เคยมีปัญหาอะไรบ้างไหม คิดว่าจะทำไปอีกนานเท่าไหร่ ? สำหรับปัญหาจริงๆแล้วมีข้อดีอย่างหนึ่งคือเราทำเองคนเดียว แล้วก็ไม่ได้เป็นองค์กรอะไรใหญ่มาก ทำให้เราเรียนรู้ข้อผิดพลาดและปรับปรุงได้ด้วยตัวของเราเอง ไม่เป็นปัญหากับใคร คิดว่าคงทำไปเรื่อยๆเท่าที่ทำได้ เคยคิดที่จะเลิกทำบ้างไหม ? จริงๆ แล้วเคยนะ ตอนที่ช่วงรัฐประหาร แล้วมีทหารเข้ามาที่ห้องสมุดของเรา เคยมายกเลิกงาน และเคยมาตามมอนิเตอร์ วิทยากรเวลาจัดเสวนาหลายครั้ง เข้าใจว่าบางส่วนก็เข้ามาถามหาคนที่เขาคิดว่าอยู่ที่เรา พยายามถามว่าเราซ่อนไว้รึเปล่า หรือไม่ก็ถามเราว่าเราจัดกิจกรรมนู่นนี่เกี่ยวข้องกับที่เข้าห้ามรึเปล่า เขาก็เข้ามาดูมาสังเกตการณ์ แต่เราก็ไม่ได้มีอะไร หลังๆเราก็เลยชี้แจง คุยกับทหารที่มาคุมว่าข้อมูลบางอย่างที่เขาได้มาไม่ถูกต้อง บางอย่างผิด เราไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นอย่างที่เขากล่าวหา นอกนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร มีแค่ตอนนั้นจริงๆที่คิดอยากที่จะเลิกทำ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ส่วนอยากช่วยต่ออายุให้ห้องสมุดแห่งนี้ยังคงอยู่ได้สามารถที่ตามนี้ สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะแวะเวียนไปที่ห้องสมุดสามารถเดินทางได้ดังนี้ โดยห้องสมุดเปิดให้บริการ ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 13.00 – 19.00น. ห้องสมุดตั้งอยู่บริเวณ ชั้น4, 2 สีลม ซอย 19,กรุงเทพ 10500 Facebookpage:https://www.facebook.com/thereadingroombkk/
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
มีแต่ 'ทหาร-ข้าราชการ' คสช. ตั้ง กก.-อนุฯ รับความเห็นสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าภาคใต้ Posted: 22 Mar 2017 09:45 AM PDT คสช.ออกคำสั่ง 2 ฉบับ ตั้ง คณะกรรมการและอนุฯ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ พบมีเพียงทหาร ข้าราชการ นั่งเต็ม 22 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกฤษจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2 ฉบับเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย คำสั่ง คสช. ที่ 4/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ และคำสั่ง คสช. ที่ 5/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ สั่ง ณ วันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. สำหรับ คำสั่ง คสช. ที่ 4/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ นั้น ระบุว่า เพื่อให้การดําเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อันเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้ องค์ประกอบ 1) ผู้บัญชาการทหารบก/เลขาธิการ คสช. เป็น ประธานกรรมการ พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก/ รองเลขาธิการคสช. รองปลัดกระทรวงพลังงาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ สำหรับกรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เลขาธิการสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทนกรรมการผู้อํานวยการ ใหญ่ บริษัท อสมท. จํากัด (มหาชน) ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ แม่ทัพภาคที่ 4 รวมทั้ง พล.ท. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองเสนาธิการทหารบก/ หัวหน้าส่วนอํานวยการ สํานักเลขาธิการ คสช. เป็น กรรมการและเลขานุการ ขณะที่ แม่ทัพน้อยที่ 4 และผู้แทนสํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและ ผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีอํานาจหน้าที่ 1) กําหนดกรอบแนวทางการสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในภาพรวมโดยกําหนดให้มีการจัดกิจกรรมภายใน 31 มี.ค. 2560 2) อํานวยการ และประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในระดับนโยบายเพื่อให้ การสร้างความรู้ ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 3) เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล หรือจัดส่งเอกสารที่จําเป็นแก่คณะกรรมการฯ สําหรับใช้ประกอบการพิจารณาตามความเหมาะสม 4) รายงานผลการดําเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นฯ รวมทั้งจัดทําข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแก่รัฐบาล ภายใน 28 เม.ย. 2560 ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการดําเนินการของคณะกรรมการฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สําหรับการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จําเป็นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทํางานที่แต่งตั้งขึ้น ภายใต้คําสั่งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พุทธศักราช 2547 หรือตาม ระเบียบของทางราชการแล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากต้นสังกัด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขณะที่ คำสั่ง คสช. ที่ 5/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า นั้น ระบุว่า เพื่อให้การดําเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อันเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้ องค์ประกอบ แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็น ประธานกรรมการ พล.ต.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น รองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เป็น กรรมการ นอกจากนี้ กรรมการยังประกอบด้วย ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41-46 ผู้แทนผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 และ 3 ผู้แทนผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 8 ผู้แทนผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 9 โดย มี เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 เป็น กรรมการและเลขานุการ ผู้อํานวยการกองกิจการพลเรือนกองทัพภาคที่ 4 และรองผู้อํานวยการกองกิจการพลเรือนกองทัพภาคที่ 4 เป็นทั้ง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ สำหรับอํานาจหน้าที่ ประกอบด้วย 1) ดําเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม 2) ประสานงาน กํากับดูแล และเร่งรัดการดําเนินการของส่วนราชการ และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องภายในพื้นที่รับผิดชอบ 3) รับผิดชอบงานการรักษาความสงบเรียบร้อย และกําหนดมาตรการการรักษา ความปลอดภัยที่จําเป็น สําหรับการดําเนินการ ตามข้อ หนึ่ง 4 ) จัดการประชุมหรือเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และ หน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนในพื้นที่รับผิดชอบมาให้ข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการเตรียมการ และ ดําเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคใต้ 5) รายงานผลการดําเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นฯ ในระดับพื้นที่แก่คณะกรรมการการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับ สถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ภายใน 21 เม.ย. 2560 6) มีอํานาจแต่งตั้งคณะทํางานฯ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสม และ 7) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการดําเนินการของคณะอนุกรรมการฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สําหรับการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จําเป็นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการ และคณะทํางานที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้คําสั่งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พุทธศักราช 2547หรือตามระเบียบของทาง ราชการแล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากต้นสังกัด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ปมฆ่า “ชัยภูมิ ป่าแส” ความจริงยังไม่ปรากฏ–เหตุการณ์ในอดีตสะท้อนโดนรัฐกดขี่ยาวนาน Posted: 22 Mar 2017 07:50 AM PDT เหตุวิสามัญฆาตกรรม "ชัยภูมิ ป่าแส" ยังคลุมเครือ ล่าสุดตำรวจภาค 5 แถลงว่าผู้ตายเอี่ยวค้ายา อ้างใช้เงินฟุ่มเฟือย-มีรถขับ - แต่ "ชัยภูมิ" ไม่ใช่รายแรก เพราะเดือนที่แล้วก็มีเหตุวิสามัญในพื้นที่ ขณะที่แกนนำชาวลาหู่เผยในยุคสงครามยาเสพติดสมัย "ทักษิณ" พวกเขาก็ตกเป็นเป้าหมาย และถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามโดยตลอด รวมไปถึงเหตุวิสามัญด้วย
ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิตที่ด่านตรวจรินหลวง เมื่อ 17 มีนาคม 2560 (ที่มา: ภาพจาก Kowit Phothisan) สภาพที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 (ที่มา: TNN) เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ และการจับกุมพงศนัย แสงตะหล้า เพื่อนร่วมทางในคดียาเสพติด สร้างแรงกระเพื่อมบนโลกโซเชียลมีเดียและสังคมไทยระยะหนึ่งแล้ว มีความเห็นและข้อเท็จจริงจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ พยานในเหตุการณ์และคนที่รู้จักผู้ตายประเดประดังเข้ามา โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ประมวลได้ดังนี้ 17 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทหารจาก ร้อย.ม.2.บก.ควบคุมพื้นที่ 1 ฉก.ม.5 ร่วมกับ ชสท.ที่ 5 กกล.ผาเมือง ได้กระทำการวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ชื่อดัง (อ่านที่นี่) จากคำให้การของเจ้าหน้าที่ ระบุว่า ทหารเรียกตรวจค้นรถ Honda Jazz ป้ายทะเบียน ขก 3774 ที่ชัยภูมิ เดินทางมาโดยมีพงศนัยเป็นคนขับ ทหารอ้างว่าตรวจพบยาบ้าจำนวนราว 2,800 เม็ด ชัยภูมิพยายามขัดขืนการจับกุม โดยหยิบมีดจากหลังรถพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และวิ่งหลบหนีไปในป่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตามไปพบว่า ผู้ตายกำลังจะปาระเบิดชนิดขว้างสังหารใส่ จึงได้ทำการวิสามัญโดยยิงเข้าที่ตัวผู้ตาย 1 นัด พงศนัยถูกนำไปฝากขังที่เรือนจำ จ.เชียงใหม่ ส่วนศพชัยภูมิถูกนำไปชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ 18 มี.ค. มีรายงานการตายออกมาจาก ร.พ.นครพิงค์ ระบุว่า ชัยภูมิ ป่าแส "เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนลูกโดดทำลายอวัยวะในช่องอก (GUN SHOT WOUND TO THE CHEST)" (อ่านที่นี่) สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความที่ปรึกษาแก่กลุ่มองค์กรที่ติดตามสถานการณ์ ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า ผลชันสูตรปากเปล่าที่แพทย์รายงานกับญาตินั้น ระบุว่า กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายและทะลุเข้าไป มีลูกปืนบางส่วนแตกในลำตัวซึ่งแพทย์ได้ผ่าออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถกำหนดระยะยิงได้ เนื่องจากเป็นการยิงจากปืนความเร็วสูงและแพทย์ไม่มีความรู้ด้านนี้ สุมิตรชัยคาดว่า รายงานชันสูตรพลิกศพจากแพทย์จะใช้เวลาในการจัดทำทั้งสิ้น 1 เดือน ก่อนที่จะส่งให้กับอัยการต่อไป ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า พงศนัย ผู้รอดชีวิต ยังต้องคดียาเสพติด ศาลเรียกหลักทรัพย์ประกันตัว 2 ล้านบาท แต่ญาติไม่มีเงินประกัน 20 มี.ค. ศพของชัยภูมิ ถูกฝังตามประเพณีท้องถิ่น (อ่านที่นี่) 21 มี.ค. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องทางการไทยให้ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเห็นผลต่อกรณีการสังหาร ชัยภูมิ (อ่านที่นี่) ภาคีองค์กรและเครือข่าย 31 องค์กร ร่วมลงนามแถลงการณ์ท่าทีและข้อเรียกร้องต่อเหตุการณ์ดังกล่าว 3 ประเด็น ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ และขอให้มีการตรวจสอบความจริง (อ่านที่นี่) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้นำคนผิดมาลงโทษเยียวยาผู้เสียหาย กรณีทหารวิสามัญนักเรียนมัธยม เยาวชนต้นกล้าชาวลาหู่ คุ้มครองพยานในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง (อ่านที่นี่) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติที่ประชุมว่าจะหยิบยกเรื่องนี้มาตรวจสอบ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้เสียหาย และขอให้พนักงานสอบสวนนำความจริงมาตีแผ่ให้ได้ว่ายาเสพติดจริงๆแล้วเป็นของใคร 22 มี.ค. มติชน รายงานว่า พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภ.5 แถลงข่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบหลักฐานการโอนเงินและตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินที่มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบ มีเงินฝากในธนาคารบัญชีโรงเรียนสัปดาห์ละหลักพันบาท ส่วนรถที่ใช้นั้นเป็นรถของนางแสงหล้า ชาวอำเภอฝาง ขณะนี้หลบหนีเรื่องยาเสพติด ปรามโซเชียลมีเดียจะโพสท์อะไรก็อย่าเอาอารมณ์เป็นตัวตั้ง ระวังโดนดำเนินคดีหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ (อ่านที่นี่) ในขณะที่ เดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมจากคำแถลงของตำรวจภาค 5 อ้างว่า สายของ สภ.สันทราย เคยล่อซื้อยาบ้าจากชัยภูมิ 600 เม็ดเมื่อเดือนมกราคม แต่ชัยภูมิไหวตัวทัน โดยระบุว่าได้ลงบันทึกประจำวันเงินค่ามัดจำไว้ที่ สภ.สันทราย (อ่านที่นี่)
เจ้าหน้าที่พูดอย่าง คนในเหตุการณ์พูดอย่าง เพื่อนผู้รอดชีวิตในคุกคือกุญแจสำคัญแม้ร่างไร้วิญญาณของชัยภูมิ จะถูกกลบฝังอยู่ใต้พื้นดินแล้ว แต่ยังคงมีการให้ข้อมูลเพิ่มมาอีก มีข้อมูลใหม่จากทั้งผู้ที่อ้างว่าอยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์พยานในที่เกิดเหตุ ระบุว่า ในช่วงที่เกิดเหตุชาวบ้านเห็นเหตุการณ์ ตอนที่ชาวบ้านจะเข้าไปใกล้ๆ เจ้าหน้าที่บอกว่า "ไม่ต้องเข้าใกล้ มันไม่มีอะไร มันยังไม่ตาย" และมีคำให้การพยานแวดล้อมสถานที่เกิดเหตุยืนยันว่าได้ยินเสียงปืน 3 นัด โดย 2 นัดแรกเกิดขึ้นก่อนที่นายชัยภูมิจะวิ่งไปในที่จุดที่ถูกยิงเสียชีวิต ต่อมาได้ยินเสียงปืนอีก 1 นัด และเห็นชัยภูมิล้มลง "ชาวบ้านเห็นเยอะแยะ อยู่ในรถลากเขาออกมาซ้อม เหยียบหน้าเขาไว้ แล้วยิงขู่สองนัด พอหลุดจากที่ทหารซ้อม พอหลุดไป ก็วิ่งหนี พอวิ่งหนี ทหารก็ไล่ยิง แล้วไม่ให้ชาวบ้านเข้าใกล้ด้วย" พยานแวดล้อมรายหนึ่งให้ข้อมูล ผู้ปกครองของชัยภูมิมาก็ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า รู้จักกับผู้ตายมาตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมและมีความประพฤติดี และไม่เชื่อว่าผู้เสียชีวิต จะขัดขืนเจ้าหน้าที่ รวมถึงลักลอบขนยาเสพติด ขณะที่ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Chainarong Sretthachau ตั้งข้อสังเกตว่า 1.เป็นความจริงหรือไม่ที่ชัยภูมิจะขนยาบ้าผ่านจุดเกิดเหตุในวันที่ถูกสังหาร เนื่องจากจุดที่เกิดเหตุเป็นด่านถาวร ซึ่งทราบกันดีว่ามี ฉ.ก.ม.5 ตรวจจับยาเสพติดเข้มขันตลอดเวลา ขณะที่ข้อมูลจากคนในพื้นที่ระบุว่า พวกที่ขนยา ไม่มีใครขนทางรถผ่านด่านกัน แต่จะใช้ช่องทางอื่นเพื่อหลบหลีกด่าน ด่านตรวจรินหลวง เป็นด่านตรวจยาเสพติดของทหาร ตั้งอยู่กลางสามแยก มีการตั้งบังเกอร์ มีสิ่งปลูกสร้างถาวร และมีการตั้งเครื่องกีดขวางทุกทิศทาง โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่คนในชุมชนบ้านกองผักปิ้ง ใช้เดินทางเข้าออกเป็นประจำ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Googlmaps) ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ได้ให้การว่าเป็นการกระทำที่สุดวิสัย จากการบอกเล่าพฤติการณ์ที่ชัยภูมิพยายามขัดขืนการจับกุม ไปจนถึงพยายามที่จะขว้างปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ นำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. พีพีทีวี รายงานว่า ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจแล้ว โดยถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยพนักงานสอบสวนให้ประกันตัวไปสู้คดีในชั้นศาล มติชน ได้รายงานว่า พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภ.5 ก็ได้รายงานต่อสื่อมวลชนว่าทหารได้กระทำการค้นหาตามยุทธวิธี การวิสามัญเป็นไปเพื่อป้องกันตัว เพราะจากการสอบสวนพงศนัยแล้ว พบว่าชัยภูมิมีการติดต่อกับบุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ผ่านโทรศัพท์ระหว่างขับรถบ่อยครั้ง โดยพูดคุยกันเป็นภาษาพื้นเมือง และได้ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินภายหลังการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ว่ามีการจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบ มีเงินฝากในธนาคารบัญชีโรงเรียนสัปดาห์ละหลักพันบาท ทั้งยังสงสัยว่าทหารจะพยายามยัดยาบ้าจำนวน 2800 เม็ด ราคาประมาณ 2.8 แสนบาทเพื่ออะไร เดลินิวส์ รายงานจากถ้อยแถลงของพูลทรัพย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยทำการล่อซื้อจากนายชัยภูมิ นัดส่งยาบ้า 600 เม็ด มีการโอนเงินที่มีการลงบันทึกประจำวันไว้ที่สภ.สันทราย เป็นค่ามัดจำ เข้าบัญชีนายชัยภูมิ และนัดส่งของกันที่หลังมหาวิทยาลัยชื่อดัง ต.หนองป่าครั่ง ซึ่งขณะนั้นนายชัยภูมิ เดินทางมาส่งยาด้วยตัวเองโดยใช้รถคันที่เกิดเหตุ แต่นายชัยภูมิ ไหวตัวทัน ซิ่งรถหลบหนีไปได้ก่อน ซึ่งทางตำรวจมีหลักฐานและพยานในเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมา ความคลุมเครือของอายุชัยภูมิก็เป็นอีกเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพื่อนที่รู้จัก และทำกิจกรรมร่วมกับชัยภูมิมานานเชื่อว่า ชัยภูมิอายุ 17 ย่าง 18 ปี เพราะยังเรียนอยู่ชั้น ม.4 ส่วนในบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนหมายเลขศูนย์ระบุว่าชัยภูมิ เกิดปี พ.ศ. 2539 คำนวณอายุได้ 21 ปี ท่ามกลางความคลุมเครือที่ปกคลุมสถานการณ์นี้ พงศนัย แสงตะหล้า เพื่อนร่วมทางของชัยภูมิ ที่ถูกศาลฝากขังเอาไว้ที่เรือนจำ จ.เชียงใหม่ เห็นจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความจริงที่เกิดขึ้น ณ ที่เกิดเหตุ ปัจจุบัน พงศนัยต้องคดียาเสพติด ทางเจ้าหน้าตำรวจกำลังสอบปากคำจากพยานอยู่ โดยศาลได้เรียกหลักทรัพย์ประกันตัวแก่พงศนัยเป็นจำนวน 2 ล้านบาท ซึ่งดูจะเป็นจำนวนที่มากเกินไปสำหรับญาติของเขา (อ่านที่นี่)
ชัยภูมิ ไม่ใช่รายแรก เดือนที่แล้วก็มีเหตุวิสามัญแบบนี้อนึ่ง ต้องบันทึกด้วยว่า พฤติการณ์การวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ ไม่ได้เกิดกับ "ชัยภูมิ ป่าแส" เป็นครั้งแรก เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเหตุวิสามัญ "อาเบ แซ่หมู่" อายุ 32 ปี โดยทหารในเขตพื้นที่รับผิดชอบของร้อย ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม 5 เช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ได้ตรวจยาเสพติดและติดตามจับกุม แต่ "อาเบ" ได้ขัดขวางการจับกุมด้วยการหลบหนี และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ด้วยการขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่วิสามัญ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าต่อปมการเสียชีวิตนี้ (อ่านที่นี่)
ลาหู่ และผลกระทบในช่วงสงครามยาเสพติด-เผยโดนคุกคามหนักถึงชีวิตประชาไท สัมภาษณ์ สีละ จะแฮ ประธานสมาคมชาวลาหู่เกี่ยวกับความเป็นมาของชาติพันธุ์ลาหู่ สีละ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ลาหู่นั้นต้องนับถอยหลังไป 200 ปีนับตั้งแต่อพยพมาจากประเทศจีน ชาติพันธุ์ลาหู่นั้นบางส่วนอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบันก็มี บางส่วนก็อพยพมาจากจีนตอนใต้ อพยพมาบนเส้นทางที่ปัจจุบันคือพม่า เรื่อยมาจนถึงไทย จากการตั้งถิ่นฐานก่อนการเข้ามาของระบบรัฐสมัยใหม่ สัญชาติ ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ทำให้เกิดการปะทะ ความขัดแย้งระหว่างนโยบายสาธารณะจากกรุงเทพฯ กับชาติพันธุ์ลาหู่ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการถูกลิดรอนสิทธิ์ในการรับของอุปโภคบริโภคจากบางหน่วยงาน หรือขาดการเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐพบว่าไม่มีสัญชาติ หรือการถูกเอาผิดจากการเข้าไปทำไร่ทำนาบนที่ที่เคยทำมาแต่เดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นพื้นที่ป่าสงวน อย่างไรก็ดี ชาติพันธุ์ลาหู่นั้นเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานตามชายแดนไทย - พม่า ที่ได้รับผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สินจากนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดด้วยนโยบาย "สงครามต่อต้านยาเสพติด" ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อช่วง พ.ศ. 2546 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของชาวลาหู่ที่มีถิ่นฐานในบริเวณที่มีการขนยาเสพติดข้ามแดนชุกชุม รายงานพิเศษ "ขยี้เกลือบนปากแผล: ชาวลาหู่กับ 10 ปี แห่งบาดแผลของอาชญากรรมโดยรัฐ" เผยแพร่ในประชาไท ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงการปราบปรามยาเสพติด เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้ความรุนแรงคุกคามชาวลาหู่ด้วยการบุกรุกเคหสถาน ยึดทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย อุ้มหาย จับกุมคุมขังโดยพลการ รวมไปถึงการสังหาร รายงานจาก Human Rights Watch ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้ใช้มาตรการรุนแรงในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2546 เรื่อยไปจนถึง พ.ศ. 2549 ภายหลังการกระทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ โดยผู้เสียชีวิตหลายรายเป็นประชากรของชนพื้นเมืองในภาคเหนือ ซึ่งรายงานระบุว่า เป็นผู้ที่มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐบ่อย ผู้เสียชีวิตถูกระบุเอาไว้ใน "บัญชีดำ" จากทางรัฐในฐานะผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติด รายงานระบุว่าผู้ "[ผู้เสียชีวิต]หลายรายถูกฆ่าตรงด่านตรวจ หรือไม่ก็หลังจากถูกเรียกไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจหรือค่ายทหารในท้องที่ไม่นาน"
ชาวบ้านกับ จนท. ทะเลาะกันบ่อยจนไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่เรื่องที่ทำกินยันโพสต์คลิปในเฟซบุ๊กในชุมชนบ้านกองผักปิ้งของ ชัยภูมิ ป่าแส ก็มีความบาดหมางกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทหารบุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อปลูกป่า ทั้งยังใช้กำลังเข้าทำร้ายชาวบ้านที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวทำการเกษตรเมื่อ พ.ศ. 2548 (อ่านที่นี่) รวมไปถึงเหตุการณ์ทหารตบตีทำร้ายชาวบ้านกองผักปิ้ง และแจ้งความไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ เนื่องจากเจ้าตัวโพสท์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องราวดังกล่าว ความทรงจำของชุมชนที่ผูกติดอยู่กับการถูกใช้ความรุนแรงจากภาครัฐดังกล่าวนำไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างทหารและชนพื้นเมืองในลักษณะที่ไม่ไว้วางใจกัน ชาวบ้านยังรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมักมีท่าทีก้าวร้าวเมื่อพวกตนใส่ชุดพื้นเมืองหรือแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ออกมา สีละ ยังได้ให้ข้อมูลว่า มีเหตุขัดแย้งระหว่างชาวลาหู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเป็นระยะ ประธานสมาคมชาวลาหู่ได้ให้ข้อมูลว่า ในหน้าเพาะปลูกจะมีชาวลาหู่ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากเนื่องจากไปทำการเกษตรในพื้นที่ปัจจุบันกลายเป็นป่าสงวนหรืออุทยาน บางทีทหารก็ทำร้ายชาวบ้าน โดยระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ใช้กำลังทำร้ายชาวบ้านจนต้องเข้าโรงพยาบาล ประธานสมาคมชาวลาหู่ให้ความเห็นว่า ไม่ไว้ใจทหาร ตำรวจ บางทีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารและตำรวจก็เข้ามาสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา รู้สึกว่าทหารตำรวจไม่สามารถพึ่งพาได้ ในขณะที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่าได้พึ่งพระเมตตาของในหลวงพระองค์ก่อน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'จ่านิว' โพสต์ถ้าติดทหาร ถูกกระทืบตายแน่ 'เนติวิทย์' ระบุปีนี้จะผ่อนผัน Posted: 22 Mar 2017 06:48 AM PDT ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ยันเข้าเกณฑ์ทหาร ไม่ต้องกลัว ไม่มีกลั่นแกล้ง ด้าน 'เนติวิทย์' แจงจะผ่อนผัน ยันไม่สังฆกรรมในการเกณฑ์ทหารใดๆ 'จ่านิว' ชี้เข้าไปถูกกระทืบตายแน่ 22 มี.ค. 2560 จากกรณีมีการเปิดเผยรายชื่อ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยประกาศไว้ในคำประกาศความเป็นไทเมื่ออายุ 18 ปี ว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเกณฑ์ทหารของกองทัพไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) 'จ่านิว' สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มีชื่อต้องเข้ารับตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2560 นั้น ผบ.นรด. บอกไม่ต้องกลัว ไม่มีกลั่นแกล้งวานนี้ (21 มี.ค.60) มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กล่าวถึงกรณี เนติวิทย์ ว่า เนติวิทย์ เมื่อได้รับหมายก็ต้องเข้ารับการตรวจเลือกตามวันเวลาที่กำหนด คือวันที่ 4 เม.ย. นี้ หากไม่มาก็เท่ากับหลีกเลี่ยง และขัดขืนก็จะถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยทางหน่วยทหาร จะไปแจ้งความ ดำเนินคดีตามกฎหมาย และศาลก็จะเป็นผู้ตัดสินความผิด หลังจากถูกตัดสินแล้วและในปีต่อไปก็จะต้องเข้ามาเป็นทหารทันทีโดยไม่ต้องผ่านการตรวจเลือก และนายเนติวิทย์จะต้องเป็นทหารทันทีโดยไม่ต้องมีการจับใบดำใบแดง พล.ท.วีรชัย กล่าวว่า การเกณฑ์ททหารมีสิทธิ์ผ่อนผันได้จนจบการศึกษา ไม่ว่าจะรับการศึกษาทั้งในหรือต่างประเทศ หากจบการศึกษาแล้วก็ต้องได้รับการตรวจเลือก ส่วนที่นายเนติวิทย์เคยเรียกร้องให้ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราเป็นคนไทยซึ่งชายไทยทุกคน มีหน้าที่ต้องรับเข้าราชการทหารด้วยตัวเอง เพราะเป็นกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหารปี 2497 "ไม่ว่า เนติวิทย์ จะหนีไปไหน ก็หนีไม่พ้นต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหาร เพราะการตรวจเลือกทหารนั้น เป็นหน้าที่ที่ชายไทยทุกคนจะต้องปฏิบัติเท่าเทียมกันหมด ถือเป็นกฎหมาย และคนที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องมีโทษ มีคดีติดตัว และไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ และเข้ารับราชการก็ไม่ได้ รวมถึงทำงานด้านอื่นๆ ขอให้ความมั่นใจกับนายเนติวิทย์ว่าการเข้ามาเป็นทหารไม่ต้องกลัวว่าจะโดนกลั่นแกล้งเพราะ เราไม่เคยคิดที่จะไปกลั่นแกล้งใคร การเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อบังคับและกฎหมาย ซึ่งไม่มีใครสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ หากเจ้าหน้าที่ไปกลั่นแกล้งใครก็จะมีความผิด" พล.ท.วีรชัย กล่าว เนติวิทย์ แจงจะผ่อนผัน ยันไม่สังฆกรรมในการเกณฑ์ทหารใดๆขณะที่ เนติวิทย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Netiwit Ntw' ระบุว่า ตนประกาศตัวเองว่าเป็น "ผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรม" ตนเข้าใจว่าหลายๆ คนอาจจะงงว่าสิ่งที่ตนกำลังต่อสู้แบบนี้ เป็นลักษณะอย่างไร ขอแนะนำให้ไปดูเรื่อง Hacksaw Ridge พระเอกของเรื่องซึ่งมีตัวตนจริงก็เป็นผู้ต่อต้านแบบตน แต่สถานการณ์ของเขากับของเราต่างกัน ลองหากันดู "ปีนี้ผมเลือกที่จะผ่อนผัน แต่ผมตัดสินใจมั่นว่าผมจะต่อสู้และผมจะไม่สังฆกรรมในการเกณฑ์ทหารใดๆ ผมไม่เห็นด้วยกับการรักชาติในรูปแบบนี้ ทำไมผมไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ ทำไมนักร้อง นักแสดง หรือทุกๆ คนไม่อาจจะรักชาติในรูปแบบอื่น ทำไมชิน ชินวุฒิ ไม่ไปร้องเพลง ทำไมมาริโอ้ต้องอ้างเป็นโรคหอบ ใครเป็นคนกำหนดว่าอย่างไหนคือการ "รักชาติ" เรารักชาติโดยไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องถืออาวุธ ไม่ต้องถูกล้างสมองให้เหมือนกันได้ไหม ประเทศที่เดินตามทางทหารเดียวๆ ทุกวันนี้ การรักชาติทหารนิยามกลุ่มเดียวใช่ไหม นี่ไม่ใช่ประเทศที่ผมต้องการ ผมเห็นแล้วว่า 3 ปีมานี้กับแนวคิดบ้าบออ้างรักชาตินี้ เราสูญเสียโอกาสไปขนาดไหน ผมขอต่อสู้เพื่อสิทธิของผม และสิทธิแห่งอนาคตของประเทศนี้ ผมขอย้ำอีกทีด้วยว่า ผมขอผ่อนผัน ผมกำลังยุ่งวุ่นรับใช้ชาติในแบบของผมอยู่ครับ" เนติวิทย์ โพสต์ จ่านิว ชี้เข้าไปถูกกระทืบตายแน่ขณะที่วันนี้ (22 มี.ค.60) สิรวิชญ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Sirawith Seritiwat' ในลักษณะสาธารณะเช่นกันว่า "ถ้าผมเข้าไปถูกกระทืบตายแน่" พร้อมระบุด้วยว่า คงไม่ได้มีแค่เนติวิทย์หรือตนหรอกครับที่กังวลเรื่องในการเกณฑ์ทหาร คนทั่วไปเขาก็กลัวและกังวลเหมือนกัน มีหลักประกันอะไร ว่าจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้ อมโบสถ์วัดพระแก้วมายืนยัน ตนก็ไม่เชื่อและไม่มีใครเชื่อด้วย สิรวิชญ์ ระบุว่า ความสัมพันธ์ในแง่อำนาจระหว่างครูฝึกกับทหารผู้ถูกไม่เท่าเทียมกัน ในรูปแแบบการบังคับบัญชาของทหาร ก็เป็นลักษณะนี้ทุกที่ แต่ของไทยมักจะปรากฏเรื่องราว ความบ้าอำนาจของครูฝึก การใช้ อำนาจ้บังคับบัญชาในเรื่องไม่เป็นเรื่อง และไม่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติหน้าที่ ความบ้าอำนาจใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน และเกินกว่าเหตุนำไปสู่การใช้ความรุนแรงอย่างหนักและทำให้อับอาย ทั้งๆ ที่การใช้อำนาจนั้นไม่ได้มีอยู่ในข้อบังคับ แต่สุดท้ายคนพวกนี้ก็หาเหตุผลข้างๆ คูๆ มาอธิบาย ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการฝึกเลย พูดง่ายๆ แทนที่จะใช้อำนาจบังคับบัญชาตามที่ทำได้อย่างถูกกฎเกณฑ์ กับใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่งและป่าเถื่อน จนนำไปสู่การกระทำที่เกินกว่าต่อคนที่เข้าไปเป็นพลทหาร ทำกับเขาประดุจไม่ใช่คน จนบางครั้งนำไปสู่การสูญเสียแทบทุกปี ภาพจากกล้องวงจรปิด จะเห็นรถปิคอัพสีบรอนซ์เงินจอดหน้าประตูเชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และมีเจ้าหน้าที่เดินลงมาอย่างน้อย 5 นาย เพื่อควบคุมตัวสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่กำลังเดินกลับเข้ามาในเขตมหาวิทยาลัย (มุมซ้ายของจอภาพ) ก่อนนำตัวขึ้นรถปิคอัพสีบรอนซ์เงิน ที่จอดขวางประตูเชียงราก (กลางจอภาพ) และขับรถมุ่งไปทางถนนพหลโยธิน ขณะที่มีรถปิคอัพสีน้ำเงิน ขับตามประกบ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559 (อ่านรายละเอียด) สำหรับกลไกกระบวนการยุติธรรมนั้น สิรวิชญ์ ระบุว่า ไม่ช่วยไขข้อสงสัยหรือเยียวยา เหตุการณ์ เหล่านี้ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีที่คุณนริศรา(หลานสาวพลทหารวิเชียรที่ถูกซ้อมจนเสียชีวิตในค่ายทหาร) เรียกร้องความเป็นธรรมและฟ้องร้องกรณีที่พลทหารที่เป็นญาติของเขาถูกซ้อมในค่ายทหาร จนบัดนี้ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แถมถูกคู่กรณีฟ้องกลับ และคู่กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าซ้อมพลทหารคนนั้น กลับได้รับการเลื่อนยศอีก อีกทั้งในส่วนของทหารก็มีวิถีปฏิบัติที่เป็นเหมือนระเบียบ ที่เปิดช่องให้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าได้ เช่น สั่งซ่อม โดนซ่อม ก็คือซ้อม จำหน่ายตาย หมายถึง ให้มีการตายได้ ตนจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ 5% หรือ 5 คน แม้จะไม่มีระบุชัดเจน แต่การพูดลักษณะนี้ มันสะท้อนว่ามันต้องมี แทนที่จะทำให้ศูนย์แต่กับเปิดช่อง จึงไม่แปลกที่จะมีการใช้ความรุนแรง จนเกินกว่าและนำไปสู่ความตาย สิรวิชญ์ ระบุอีกว่า ใครจะไปมั่นใจกับสิ่งที่กองทัพพูด และไม่ต้องรอให้ผมไปเป็นทหารเกณฑ์หรอก แค่ตนเป็นพลเรือนที่ต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพ ก็เคยถูกทำความรุนแรงจากทหารบางคน ก็หลายครั้ง เช่นเหตุการณ์ 1)วันที่ 22 มิ.ย.2014 ทหารนอกเครื่องแบบไปควบคุมตัวผมกับเพื่อนๆที่สยามพารากอนอย่างรุนแรง 2) วันที่ 7 ธ.ค. 2015 ที่ สห. 6 คน ไปรุมตนเพื่อล็อคตัวขึ้นรถบัสทหาร และ 3) วันที่ 20 ม.ค. 2016 ที่มีทหารไปอุ้มตัวจากประตูเชียงราก มธ.รังสิต ที่จับตนคุมหัว แล้วพาไปป่าหญ้า เพื่อข่มขู่และลงไม้ลงมือ ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายตน ยังไม่นับเหตุการณ์ที่มาข่มขู่ตนและที่บ้าน "จากปรากฏการณ์ที่เป็นข่าวทุกปีและสิ่งที่ผมต้องประสบ ผมไม่มีทางมั่นใจและเชื่อมั่นเรื่องที่บอกว่า ไม่มีการกลั่นแกล้ง ไม่มีการใช้ความรุนแรง จากปากของคนระดับสูงในกองทัพได้แน่นอน" สิรวิชญ์ โพสต์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อัยการ ร้อง ปธ.สนช.ขอมีส่วนพิจารณาร่างพ.ร.บ.อัยการ หวั่นขัดร่าง รธน. ฉ.ผ่านประชามติ Posted: 22 Mar 2017 06:10 AM PDT อัยการยื่น จม.ประธาน สนช.ขอมีส่วนร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ ห่วงมีใจความสำคัญที่ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ขัดต่อยุทธศาสตร์ประชารัฐและการมีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ที่มาภาพประกอบ : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา 22 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับยื่นหนังสือจาก ชนิญญา ชัยสุวรรณ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลกและคณะ เป็นตัวแทนอัยการเพื่อขอมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 ตามยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาล ชนิญญา กล่าวว่า จากที่มีรายงานข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อกรณีที่อัยการสูงสุดร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 แล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวันที่ 30 มี.ค. 2560 นั้น กลุ่มอัยการมีข้อห่วงใยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการดำเนินการ เนื้อหาและใจความสำคัญที่ขัดหรือแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ขัดต่อยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาล ในเรื่องการมีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตยที่รัฐบาลประกาศอย่างชัดเจน กระทบโครงสร้าง สร้างความแตกแยก ไม่เป็นธรรม ไม่มีการสอบถามความคิดเห็น กระทบสิทธิ์และไม่เคารพสิทธิของพนักงานอัยการที่ได้รับผลกระทบจากร่างดังกล่าว 2 ส่วน คือ พนักงานอัยการที่อยู่ในส่วนของงานด้านบริหาร 519 คน และอัยการอาวุโส 287 คน อาทิ กำหนดให้อัยการอาวุโสไม่มีสิทธิได้รับเลือกเป็นกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กำหนดให้ ก.อ.จัดให้มีการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอัยการซึ่งจะมีอายุครบหกสิบห้าปี ดังนั้น เพื่อให้สมาชิก สนช.ได้รับข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณาร่างกฎหมายอย่างรอบด้านและครบถ้วน ตนในฐานะตัวแทนของกลุ่มพนักงานอัยการที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อ สนช. โดย พรเพชร กล่าวว่า สนช.จะพิจารณาด้วยความรอบคอบ ไม่ให้ใครเสียสิทธิ โดยในชั้นกรรมาธิการจะขอให้อัยการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และการพิจารณาจะไม่ใช้กรรมาธิการเต็มสภา พิจารณา 3 วาระรวดอย่างแน่นอน
ที่มา : สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เสวนาว่าด้วยป้ายผ้า “ขออนุญาตเรียกตนเองว่าปาตานีได้ไหมครับ” Posted: 22 Mar 2017 05:49 AM PDT ภาพจากองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2559 องค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดงานเสวนาในหัวข้อ "ขออนุญาตเรียกตนเองว่าปาตานีได้ไหมครับ" ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากกรณีนักศึกษาชูป้ายผ้าข้อความดังกล่าวในขบวนพาเหรดงานมหกรรมกีฬาจันทน์กะพ้อเกมส์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.จนกลายเป็นประเด็นข่าวและสร้างการถกเถียงในวงกว้าง (อ่านที่นี่) การสานเสวนาครั้งนี้มี รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง "การเมืองของถ้อยคำในชายแดนใต้/ปาตานี: การประกอบสร้าง 'สันติภาพ' ในความขัดแย้งชาติพันธุ์การเมือง" อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และฮาซัน สารีมา นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รอมฎอน ปันจอร์ ฉายให้เห็นพัฒนาการของถ้อยคำการนิยามตนเองของนักกิจกรรมในพื้นที่ จากการใช้คำว่า SOUTH สู่การใช้คำว่า PATANI รอมฎอนให้ความเห็นว่าคำว่า ปาตานี เป็นคำใหม่หมายถึงใหม่ในรูปที่ถูกใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองรอบใหม่ ซึ่งกระแสการใช้คำว่าปาตานีเริ่มจากการรณรงค์ของกลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมที่จัดงานงานเสวนา "สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่อย่างไร" หรือเป็นที่รู้จักกันในนามเวที สาตูปาตานี SATU PATANI นั้นคือจุดเริ่มต้นของการหยิบใช้คำว่า ปาตานี ในรอบใหม่ (อ่านที่นี่) รอมฎอนเน้นย้ำว่า ปาตานี เป็นคำที่สำคัญที่มีความเป็นมาและข้อถกเถียงจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นการถกเถียงตั้งแต่ในพื้นที่ของนักกิจกรรมจนถึงบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีการเถียงกันด้วยว่าจะเรียกพื้นที่ความขัดแย้งนี้ว่าอะไร ระหว่าง "จังหวัดชายแดนใต้" หรือ "ปาตานี" อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามของอาจารย์อันธิฌา ในทำนองว่าเราเคยมีบทเรียนจากการกดทับทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เองเคยมีการห้ามไปละหมาดประกอบศาสนกิจต่างๆ เป็นต้น การกดทับทางอัตลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรงในระยะต่อมา คำถามสำคัญสำหรับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์ปาตานีคือ เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไรท่ามกลางอัตลักษณ์ที่หลากหลาย จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ร่วมกันกับอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันได้โดยไม่ฆ่ากัน ปาตานีจะอยู่ร่วมกันกับอัตลักษณ์อื่นอย่างไร ภายในความเป็นปาตานีเองจะจัดการกับความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต ค่านิยมที่แตกต่างกันอย่างไร และสำคัญที่สุดคือปาตานีจะอยู่ร่วมกันกับชาวโลกอย่างไร "มันไม่ใช่ปัญหาเลยว่าคุณจะเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าอะไร แต่มันจะเป็นปัญหา ก็ต่อเมื่อคุณคิดว่า คนอื่นคิดต่างจากคุณไม่ได้" อันธิฌากล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
เวทีกระท่อม -กัญชา ชี้รัฐต้องเอื้อให้ทำวิจัย นักกฎหมาย แนะ ควรยกเครื่องกฎหมายใหม่ Posted: 22 Mar 2017 04:42 AM PDT เวทีสัมมนา กระท่อม-กัญชา ถกประเด็นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้ร่วมสัมมนาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เห็นพ้องแก้ไขสถานะกระท่อม-กัญชาในกฎหมาย รัฐต้องเอื้อให้มีการวิจัยอย่างจริงจัง วอนสังคมไทยลดมายาคติกัญชารักษามะเร็ง ในแง่สังคมควรดูเสรีกัญชาในสหรัฐฯ เป็นตัวอย่าง เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2560 คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้มีงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "กระท่อมกัญชา ข้อเท็จจริงสำหรับประชาชน" โดยมี อ.ภก. คณิต สุวรรณบริรักษ์ รศ.ภก. ธงชัย สุขเศวต จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ภญ. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี จากศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชฯ จุฬาฯ และไพศาล ลิ้มสถิตย์ จากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร ฟลอร์คำถามโต้ประเด็นกัญชาในการแพทย์ หนุนเพิ่มวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ ดูตัวอย่างสหรัฐฯ เสรีกัญชาเป็นตัวอย่างด้านสังคมงานสัมมนาวิชาการเป็นที่สนใจจากหลายภาคส่วน ทั้งบุคลากรจากสายงานสุขภาพ ผู้ป่วยมะเร็งที่มีควาสนใจเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ผสมผสานกับการรักษาสมัยใหม่ และบุคคลทั่วไปจำนวนไม่น้อย มีการแบ่งปันความเห็นจากหลากหลายแง่มุม โดยประเด็นที่เห็นต้องกันนั้นคือการให้นำกัญชามาวิจัยทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ไปจนถึงการให้มีการวิจัยในมนุษย์ในไทย อย่างไรเสีย การกำหนดนโยบายควรมองในภาพรวมต่อบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองด้วย ควรเข้าใจว่าการวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ข้อบังคับ กฎหมาย รวมไปถึงกลไกการดำเนินคดียาเสพติดก็เป็นข้อปัญหาที่ควรจะต้องพิจารณา ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้าร่วมสัมมนา ได้ให้ความเห็นว่า การใช้กัญชาเพื่อประกอบการรักษามะเร็งนั้นไม่ควรจะรอกฎหมาย ประเด็นกัญชาในเมืองไทยนั้นมีนัยยะแอบแฝงทางการเศรษฐกิจการเมืองอยู่ มีผู้ป่วยมะเร็งที่พร้อมใจเข้ารับการวิจัยในมนุษย์อยู่จำนวนมาก และสนับสนุนให้ทำการวิจัยกับมนุษย์ให้เร็วที่สุด ผู้เข้าร่วมงานสัมมนารายหนึ่งใช้นามว่า เพชร แพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้กล่าวว่า ตนกังวลต่อความเชื่อที่ว่า กัญชารักษามะเร็ง เนื่องจากเป็นคำกล่าวที่เกินจริง และการพูดคุยควรอยู่บนพื้นฐานการชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียซึ่งการทำงานวิจัยนั้นเป็นทางออกเดียวต่อการค้นหาคำตอบดังกล่าว เบื้องต้น ไทยควรจะดูตัวอย่างจากสหรัฐฯ ที่มีการเปิดเสรีกัญชาในมลรัฐโคโลราโดมาสี่ปีแล้ว ทั้งนี้ยังได้สนับสนุนให้มีการผลักดันให้เกิดการวิจัยอย่างเต็มที่ทั้งในห้องทดลองและกับตัวมนุษย์ แต่ต้องเข้มงวดกับเรื่องของกฎ ข้อบังคับในการใช้กัญชา "สิ่งที่วงนี้ขาดไปคือไม่ได้เอาโมเดลสหรัฐฯ ที่ใช้กัญชาถูกกฎหมาย แต่ไม่มีการหยิบเอามา เอามาแต่การทดลองในระดับหลอดทดลอง ถ้าไม่พูดว่าเป็นกัญชา แต่เป็นยา x ทำการทดลองกับสัตว์ทดลองแล้วได้ประโยชน์ แล้วจะเอามาใช้กับคนได้ 9 เปอร์เซนต์จะลองมั้ย มันเป็นการรับรู้สื่อของสังคมที่อาจจะนำไปแปลต่อได้ ปัจจุบัน ยาที่มีใช้บรรเทาปวด คลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยมะเร็งที่ราคาไม่แพงมีประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่ากัญชา และมีการทดลองแล้วแต่ในเวทีสัมมนาไม่มีใครกล่าวถึง ในอเมริกาเก็บบันทึกหมดว่ามีเด็กเรียนไม่จบกี่คน คนออกจากงานกี่คน ปัจจุบัน เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีในโคโลราโดมีการเข้าถึงกัญชามากที่สุดในสหรัฐฯ แล้วเราอยากจะให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นในบ้านเราหรือเปล่า...เรื่องกฎ ข้อบังคับจะต้องเข้มกว่านี้" "สิ่งที่ผมกังวลคือความเชื่อที่ว่า กัญชารักษามะเร็งได้ มีคนไข้หลายคนที่เชื่อ ถ้าในผู้ป่วยระยะสุดท้ายมันสมเหตุสมผล แต่ในระยะเริ่มต้นที่มีโอกาสรักษาหาย แต่กลับไปใช้กัญชา สิทธิ์ในการเลือกใช้ยามันมี แต่ต้องมีบนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ไม่ใช่ข้อมูลด้านเดียว งานวิจัยจะเป็นตัวคำตอบว่าต้องใช้ในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอเหมาะพอดี เราทิ้งงานวิจัยไม่ได้" "เรามีเคสที่ใช้แล้วมันไม่ยุบครับ แต่ถ้าใช้บรรเทาอาการ ผมสนับสนุนให้ใช้เต็มที่ แต่อย่าบอกว่าใช้กัญชาเพื่อรักษามะเร็ง แม้แต่หมอที่ออกมาเขียนหนังสือ ณ ปัจจุบันก็อยู่ในกระบวนการสอบสวนทางจริยธรรม เพราะการอ้างอิงเหล่านี้มันเกินจริง ก็คงต้องหาจุดสมดุลระหว่างกัน หมอก็อยากให้คนไข้หาย แต่ก็ต้องพิจารณาผลข้างเคียง หรืออาจารย์จะบอกว่ากัญชาไม่มีผลข้างเคียง ทุกอย่างมีข้อดีและเสีย" กระท่อม-กัญชา อยู่คู่แพทย์ไทยมานานนม นัก กม. ตั้งข้อเปรียบเทียบต่างประเทศ ชี้ ของไทยควรแก้ไขคณิต ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้กระท่อมและกัญชาว่า มีการใช้ประโยชน์จากกระท่อมมาอย่างยาวนานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยมีการใช้ผ่านกรรมวิธีต่างๆ เช่น คั่ว ปิ้ง เพื่อลดสารที่เป็นพิษ รวมไปถึงใช้เป็นส่วนผสมในยาแผนโบราณหลายตำรับเพื่อใช้ในการระงับปวด คลายกล้ามเนื้อ แก้ท้องเสีย ลดการไอ ส่วนกัญชานั้นมีการใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ ศาสนาและเพื่อความรื่นเริงตลอดมาในหน้าประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากมีสรรพคุณที่ให้ผลด้านจิตประสาท ในไทยมีบันทึกการใช้ในยาถึง 56 ตำรับเพื่อใช้แก้อาการปวดท้อง พิษไข้และใช้ปรุงอาหาร ในขณะเดียวกันก็มีการนำกัญชาและกัญชงที่มีเส้นใยดี มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อย มาใช้เป็นส่วนผสมในการทำวัสดุก่อสร้าง ชุดเกราะ เป็นต้น ไพศาล อธิบายความเป็นมาทางกฎหมายว่า การบรรจุกระท่อม เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายใต้ พ.ร.บ. พืชกะท่อม พ.ศ. 2486 ให้ผู้เสพพืชกระท่อมมีความผิดอาญา ยกเว้นผู้ที่ใช้ประกอบโรคศิลปะและงานวิทยาศาสตร์ เหตุผลที่เกิด พ.ร.บ. ดังกล่าวเนื่องจากรัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีจากฝิ่นที่ตนจัดสรรให้มีการบริโภคอย่างถูกกฎหมาย การเข้ามาของกระท่อมในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำให้รัฐบาลสมัยนั้นสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลเนื่องจากประชาชนหันไปบริโภคกระท่อมที่มีราคาถูกกว่าฝิ่น สำหรับกัญชานั้น เริ่มมี พ.ร.บ. บัญญัติให้เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายใน พ.ศ. 2477 โดยห้ามการผลิตและซื้อขาย ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ร่วมกับพืชกระท่อม ใน พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ไพศาลได้ยกตัวอย่างการตีความกฎหมายเกี่ยวกับกระท่อมในต่างประเทศว่า ในสหรัฐฯ นั้นมีเพียง 5 มลรัฐที่ควบคุมการเสพและจำหน่าย ออสเตรเลียอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาและวิจัย มาเลเซียบรรจุกระท่อมไว้ใน พ.ร.บ. สิ่งมีพิษ (Poison Act) มีการควบคุมการนำเข้า - ส่งออก การบริโภคและการจัดจำหน่าย การมีต้นกระท่อมไม่ใช่ความผิดในมาเลเซีย และในนิวซีแลนด์ก็บรรจุกระท่อมไว้ในกฎหมายระดับเดียวกันกับบุหรี่ วิทยากรจากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่ากระท่อมเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายว่า ขาดเหตุผลทางวิชาการมารองรับ ทำลายภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย สิ้นเปลืองงบประมาณและกำลังคนในการดำเนินคดี รวมไปถึงทำให้เกิดตราบาปกับผู้ถูกดำเนินคดีจากกระท่อม และได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เยาวชนที่เคี้ยวกระท่อมถูกทางเจ้าหน้าที่จับไปเข้าค่ายสำหรับผู้ติดยาเสพติด แต่พอออกมาแล้วกลับติดยาเสพติดประเภทอื่นเพิ่มมาด้วย ไพศาล เสนอว่าควรจะมี พ.ร.บ. เกี่ยวกับพืชกระท่อมและกัญชาต่างหาก เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องมีระบบการควบคุมแบบใหม่เพราะกระท่อมและกัญชาไม่ได้เป็นสารสังเคราะห์เหมือนกับยาเสพติดประเภทอื่น ควรให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาและวิจัย อนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ ไม่ใช้บทลงโทษอาญาแก่ผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย จัดระบบขึ้นทะเบียนผู้ปลูก โดยให้มีการปลูกจำนวนไม่มาก ใช้มาตรการทางภาษี และการจัดการกันเองภายในชุมชน รวมถึงปรับปรุงกระบวนการการขอใช้กระท่อมและกัญชาในการวิจัย เนื่องจากในปัจจุบันมีกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานเกินไปในการขออนุญาต และยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้วิจัยกับมนุษย์ ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญาที่เข้าข่ายการเสพ และยุยงให้เสพ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน นัดเปิดตลาดสีเขียวสัญจร หน้า สผ. พรุ่งนี้ Posted: 22 Mar 2017 04:35 AM PDT เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน นัดเปิดตลาดสีเขียวสัญจรใน 23 มี.ค. นี้ หน้าสํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมติดตามผลพิจารณา EHIA ที่กลุ่มทุนยื่นเป็นรอบที่ 4 แฟ้มภาพประชาไท 22 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มี.ค.60) เวลาประมาณ 15.00 น. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน (คตฟ.) จ.ฉะเชิงเทรา ประกาศนัดติดตามการพิจารณาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ครั้งที่ 4 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวยืนยันว่าโรงไฟฟ้านี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคกลาง ทำให้เกิดวิกฤติในลุ่มน้ำคลองท่าลาดซึ่งเป็นต้นน้ำบางปะกง พร้อมทั้งตั้งคำถามด้วยว่า ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองเหลือเฟือ ไม่มีเหตุผลต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก คตฟ. ประกาศว่า ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจทุกท่าน ชมนิทรรศการชีวิตจริง 10 ปี บนเส้นทางการต่อสู้หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน-ฉะเชิงเทรา และช็อปตลาดสีเขียวสัญจร ที่จะนำอาหาร ผัก และผลไม้อินทรีย์มาจำหน่าย และร่วมติดตามการพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ณ สํานักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในวันที่ 23 มี.ค. 60 ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป ด้วยคำถามที่สำคัญ ที่ว่า "ระหว่าง "อู่ข้าวอู่น้ำ" กับ "ถ่านหิน" คชก. จะเลือกปกป้องอะไร ?" ทั้งนี้ คตฟ. ระบุว่า หลังจากตามคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ไม่ผ่านความเห็นชอบ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เขาหินซ้อน-ฉะเชิงเทรา ของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ในเครือดั๊บเบิ้ลเอ มาแล้ว 3 ครั้ง แต่บริษัทยังเดินหน้าแก้รายงานและส่งให้ คชก. พิจารณาอีกเป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 23 มี.ค. 60 ชาวบ้านจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตข้าว ผัก ผลไม้ และผลผลิตเกษตรอินทรีย์กว่า 200 ชนิด โดยผลกระทบจะไม่จำกัดเฉพาะกับเกษตรกรเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรชีวภาพ ฐานการเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และจะกระทบไปถึงผู้บริโภคจำนวนมาก นอกจากนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินยังต้องใช้น้ำและมีน้ำทิ้งมากซึ่งจะทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำและคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกงวิกฤติยิ่งขึ้นไปอีก และโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ไม่มีความจำเป็น เพราะประเทศไทยยังคงมีไฟฟ้าพอใช้ และหากผนวกแผนการอนุรักษ์พลังงานร่วมกันแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก ประเทศไทยจะมีไฟฟ้าเกินเกณฑ์ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอีกมาก นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา นันทวรรณ หาญดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา เคยให้สัมภาษณ์ว่า จากเดิมที่ คชก. แจ้งไว้จะมีการพิจารณา EHIA ของกลุ่มทุนที่ยื่นเป็นรอบที่ 4 ในวันที่ 16 มี.ค. 60 เวลา 13.30 น. ทาง สผ. ขอเลื่อนกระทันหัน เนื่องจากคณะกรรมการได้ประชุมหารือกรณีที่ชาวบ้านยื่นหนังสือขอรับฟังผลพิจารณาร่วมด้วยประมาณ 100 คน แต่ตนได้รับการติดต่อจาก สผ. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.60 ว่า ขอเลื่อนวันพิจารณามาเป็นวันที่ 23 มี.ค.นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จิตวิทยาว่าด้วยเรื่องของความ 'ปกติทั่วไป' ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในมุมมองผู้คน Posted: 22 Mar 2017 02:29 AM PDT สิ่งที่ถูกมองว่า 'ปกติ' หรือ 'ไม่ปกติ' นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเช่นนั้นแต่แรก แต่เป็นการกำหนดคุณค่าเอาเองของคนในแต่ละสังคม เรื่องเหล่านี้จึงเป็นได้ทั้งเครื่องมือทางการเมือง บางมุมก็กลายเป็นอุปสรรคทางวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนให้คนที่เคยถูกมองว่าเป็นคนนอกของสังคมอย่างคนพิการหรือมีปัญหาทางการเรียนถูกมองเป็นคนเหมือนปกติทั่วไปมากขึ้นได้ ที่มาของภาพประกอบ: Yanping Nora Soong/วิกิพีเดีย/CC BY SA 2.0 22 มี.ค. 2560 ฮิลลารี คลินตัน ผู้เคยลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ เคยบอกว่าไว่าการรณรงค์หาเสียงของเธอคือการพยายามไม่ปล่อยให้สิ่งที่ทรัมป์กระทำกลายเป็น "สิ่งปกติทั่วไป" คำกล่าวนี้มาจากความวิตกกังวลว่าการแสดงความคิดเห็นเหยียดผู้หญิงหรือท่าทีล่วงละเมิดทางเพศของทรัมป์จะกลายเป็นสิ่งที่ดูปกติสามัญจนคนนำมาทำตามกัน โดยที่หลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งแล้วบรรณาธิการของนิวยอร์กไทม์ก้บอกว่าเขารู้สึกถึงการที่พฤติกรรมแบบของทรัมป์ถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง "ปกติทั่วไป"มาสักระยะหนึ่งแล้ว ในโลกของเราการมองว่าอะไรเป็นเรื่อง "ปกติ" หรือ "ไม่ปกติ" นั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของบุคคลเหล่านั้นเอง และมุมมองเรื่องความ "ปกติ" ก็เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย การที่อะไรๆ ถูกกำหนดให้ "ปกติ" และ "ไม่ปกติ" นั้น ต่างก็กลายเป็นพลังอำนาจในการปั้นแต่งแปรเปลี่ยนโลกได้ โดยที่รายงานเจาะลึกเชิงจิตวิทยาโดยเจสสิกา บราวน์ ในสื่อบีบีซี นำเสนอว่า "การทำให้เป็นสิ่งปกติทั่วไป" (normalisation) ส่งผลต่อสังคมในหลายๆ แง่อย่างไรบ้าง อดัม แบร์ และ โจชัวร์ โนบ จากมหาวิทยาลัยเยลส์ต่างก็เป็นคนที่ศึกษาเรื่อง "การทำให้เป็นสิ่งปกติทั่วไป" เมื่อไม่นานมานี้พวกเขาเขียนบทความถึงเรื่องนี้ในนิวยอร์กไทม์ว่า ผู้คนมักจะสับสนกันระหว่างสิ่งที่ "พึงปรารถนา" และสิ่งที่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วไปกับ "การตัดสินคุณค่าความปกติสามัญแบบถูกต้องหนึ่งเดียว" นั่นหมายความว่าถ้าหากทรัมป์ยังทำสิ่งที่เคยมีคนมองว่า "แปลกประหลาด" ต่อไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ ก็มีโอกาสที่คนจะมองว่ามันเป็นเรื่อง "ปกติ" เพราะข้อจำกัดการมองโลกของมนุษย์ไม่แยกแยะระหว่าง "ความปกติ" กับ "สิ่งที่เป็นอุดมคติ" "การทำให้เป็นสิ่งปกติทั่วไป" ไม่ใช่แค่เพียงในเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นส่งที่มีอยู่ในทุกอาณาบริเวณของชีวิตประจำวันตั้งแต่ในที่ทำงานจนถึงที่บ้าน มันเป็นกลไกที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความเชื่อและการตัดสินใจของพวกเราทุกคน บีบีซีระบุว่าคนเรามักจะหวงแหนสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความปกติในชีวิต เป็นค่าดั้งเดิม (default) ในสังคม เป็นสิ่งที่เรียกว่าอาณาเขตที่ทำให้รู้สึกสบายใจ (comfort zone) แต่การจะตัดสินว่าอะไร "ปกติ" หรือ "ผิดปกติ" นั้นก็ไม่ได้ตายตัวแต่มักจะขึ้นอยู่กับมุมมองค่านิยมทางสังคม ทางศีลธรรม ที่บางครั้งก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกแต่บางครั้งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลงหนักมาก เช่น เคยมีการศึกษาเรื่องเพศสภาพและเพศวิถีโดยจูลี ลิปป์มัน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยระบุว่าการที่ผู้ชมได้ชมแต่ภาพยนตร์โรแมนติคคอมเมดีที่ฝ่ายชายมีลักษณะตามตื๊อแบบ "สะกดรอยตาม" หรือที่เรียกว่า "สตอลเกอร์" ทำให้ผู้ชมปล่อยปละละเลยกับพฤติกรรมแบบนี้ได้มากขึ้น ทั้งที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับบางคนที่ถูกติดตามรังควาญ ในบางมุมของชีวิตการที่คนมอง "ความปกติธรรมดา" แบบยึดติดมากเกินไปก้กลายเป็นปัญหาได้ เช่น เรื่องมาตรฐานความงาม อาจจะกลายเป็นเครื่องมือตัดสินคนได้อย่างไม่เป็นกลาง เช่นที่เครือข่ายบิวตีดีมานด์ซึ่งเป็นกลุ่มนักทฤษฎีทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และนักสังคมวิทยา ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เคยนำเสนอเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องค่านิยมความงามเอาไว้เมื่อปี 2559 ระบุว่าการที่ค่านิยมความงามคับแคบและเคร่งครัดเกินไปกับการให้ความหมายว่าอะไรที่เป็น "ความงามแบบปกติ" ส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในตนเองของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง อย่างไรก็ตามมุมมองในเรื่องที่ว่าอะไร "ปกติ" หรืออะไร "ไม่ปกติ" ของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรืออาจจะเปลี่ยนไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางภาษาของคนเราด้วยก็ได้ บางครั้งก็เป็นการพยายามเปลี่ยนคำให้เบาลงของพวกกลุ่มขวาจัด เช่นพวกกลุ่มขวาจัดที่เรียตัวเองว่า "กลุ่มขวาทางเลือก" เพื่อทำให้มุมมองสุดโต่งทางการเมืองของพวกเขาถูกมองว่า "ปกติ" ได้ ปรากฎการณ์คล้ายกันนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเมื่อผู้สมัครฝ่ายขวาอย่างเคียร์ต วิลเดอร์ส ที่การแสดงออกในเชิงกีดกันคนนอกของวีลเดอร์สส่งอิทธิพลให้พรรคการเมืองใหญ่อื่นๆ หันมาเล่นเกมการเมืองแบบเอียงขวาตามแม้จะเป็นการแย้มเปรยเล็กๆ น้อยๆ มีนักรัฐศาสตร์ทฤษฎีอธิบายเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ช่วงยุคคริสตทศวรรษ 90s เขาคือโจเซฟ โอเวอร์ตัน เขาอธิบายเรื่องนี้ไว้ในแนวคิดที่ชื่อว่า "หน้าต่างโอเวอร์ตัน" หรือในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า "หน้าต่างแห่งวาทกรรม" (window of discourse) ที่หมายถึงแนวคิดต่างๆ ที่ผู้คนทั่วไปจะยอมรับในช่วงนั้นๆ เป็นสิ่งที่สรุปบรรยากาศทางการเมืองในยุคสมัยนั้นและเป็นสิ่งที่คนลงคะแนนเสียงเลืออกตั้งมองว่าเป็นสิ่งที่รับได้ ซึงอาจจะเป็นการเอียงซ้ายหรือเอียงขวา ขึ้นอยู่บนโยบาย พรรคการเมือง นักการเมืองแต่ละคน และเหตุการณ์ที่ส่งอิทธิพลต่อผู้ออกเสียงเลือกตั้งด้วย การให้คุณค่าความหมายว่าอะไร "ปกติ" ของคนเราเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแม้กระทั่งภายในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งคำที่เราใช้ วิธีการแต่งตัว บทบาททางเพศในที่ทำงานและในครอบครัว รวมถึงเรื่องทัศนคติต่างๆ เช่นการยอมรับในสิ่งที่ดูแตกต่างจาก "ค่าดั้งเดิม" ของสังคมมากขึ้น เช่นในอังกฤษมีการสำรวจพบว่าผู้คนยอมรับและเข้าใจผู้มีอาการป่วยทางจิตใจมากขึ้น ในสำรวจเกี่ยวกับคำถามที่ว่าพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้าน่าจะมีโอกาสเลื่อนขั้นได้เท่ากับพนักงานอื่นๆ หรือไม่ ผลสำรวจเมื่อปี 2543 ระบุว่าร้อยละ 41 มองวามีโอกาสน้อยกว่าที่จะเลื่อนขั้น แต่ในปี 2558 ผลสำรวจออกระบุว่าคนที่เชื่อเช่นนี้ลดลงเหลือร้อยละ 35 การเปลี่ยนแปลงให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติในเชิงวัฒนธรรมก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นผลได้ แม้แต่เรื่องทัศนคติต่อการใช้ยาเสพติดต่างๆ เริ่มมีคนมองว่าเป็น "กิจกรรมยามว่าง" มากขึ้น แทนที่จะถูกมองว่าเป็น "การกระทำที่ดูขบถ" แบบแต่ก่อน การทำให้ดูเป็นเรื่อง "ปกติ" ก็มีการเอามาใช้ผิดๆ ได้เหมือนกัน เช่นในกรณีของการทำอะไรผิดพลาดแล้วไม่มีการเล็งเห็นปัญหาและป้องกันข้อผิดพลาดจากความผิดนั้น แม้แต่การปล่อยปละละเลยที่ดูเหมือนจะเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็ก่อให้เกิดหายนะใหญ่อย่างกระสวยอวกาศระเบิดหลังปล่อยขึ้นฟ้าไม่นาน เหตุนี้เกิดในปี 2529 ในกรณีกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ เพราะไม่มีใครฟังคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญที่เตือนว่าสภาพอากาศหนาวเย็นในฟลอริดาเดือน ม.ค. จะสร้างปัญหาให้กับยางรูปวงแหวนที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดบูสเตอร์ โดยที่นักฟิสิกส์ทฤษฎี ริชาร์ต ไฟยน์แมน ชี้ว่ามีการทดสอบยานนี้ซ้ำหลายครั้งพบว่าการที่ยางรูปวงแหวนถูกกัดกร่อนจากสภาพอากาศไม่มีปัญหาอะไร เลยเชื่อเอาเองว่ามันไม่มีความเสี่ยง "คนเราลดมาตรฐานของตัวเองลงไปเล็กน้อยเพราะการกระทำครั้งก่อนหน้านี้แล้วรอดจากมันได้" ไฟยน์แมนกล่าว เรื่องนี้จึงมีนักสังคมวิทยาชี้ว่าเป็นเรื่องของความเคยชินกับการทำนอกเหนือหลักเกณฑ์จนทำให้ไม่สนใจหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัย ขณะเดียวกันการทำให้เป็นเรื่อง "ปกติ" ก็อาจจะทำให้คนเปลี่ยนทัศนคติในทางที่ดีได้ เช่น ทัศนคติต่อคนที่มีปัญหาด้านการเรียน โดยที่หลักการทำให้คนที่มีปัญหาด้านการเรียนเป็น "ปกติ" ร่วมกับสังคมเช่นนี้เริ่มพัฒนาจากในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่างในเดนมาร์กเคยมีการร่างกฎหมายปี 2502 ระบุให้คนที่มีปัญหาด้านการเรียนควรได้รับคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนอื่นๆ ในสังคม ผู้ที่ส่งเสริมในเรื่องนี้คนแรกๆ คือ เบงจต์ นีร์เย จากที่ก่อนหน้านี้สังคมมองว่าคนที่มีปัญหาด้านการเรียนเป็น "คนผิดปกติ" จึงถูกปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น การเปลี่ยนแปลงนี้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการดูแลสวัสดิการสังคมทั่วโลกด้วย และนำไปสู่การยกเลิกระบบการอยู่โรงพยาบาลในระยะยาวและการอยู่ในสภาพถูกทำให้เป็นสถาบันคล้ายสถานพินิจ และเรื่องนี้ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้คนทั่วไปที่มีต่อคนพิการด้วย แนวคิดเรื่องของคนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ คนพิการ และผู้ป่วยทางใจ เป็นที่รับรู้ของสหรัฐฯ ทีหลัง โดยในปี 2517 วิลเลียม บรอนสตัน ผู้เรียกร้องสิทธิคนพิการพูดในงานประชุมดาวน์ซินโดรมครั้งที่ 2 ในสหรัฐฯ ว่าในยุคสมัยนั้นคนยังมองผู้ป่วยทางใจว่าเป็นส่งที่อยู่ต่ำกว่ามนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นผัก หรือเป็นสิ่งของ เขาเสนอให้มีการทำให้สิ่งเหล่านี้ดูเป็นปกติในสังคมด้วยการเปลี่ยนคำในเชิงตีตราพวกเขาหรือดูเป็นอื่น ให้กลายเป็นภาษาในเชิงบวกแทน เพราะภาษา คำเรียกและการแปะป้ายต่างๆ เหล่านี้ควรจะทำให้พวกเขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำให้สังคมมีภาพจำหรือมีคาดหวังกับพวกเขาแบบคนทั่วไป ในแง่ดีที่พยายามจะเอามาใช้กันอีกคือเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นการพยายามเปลี่ยนทัศนคติให้คนมองว่าการทำตัวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องปกติทั่วไปในกระแสหลักไม่ใช่เรื่องฮิปๆ กิ๊บเก๋ ที่ดูผิดแผกจากชีวิตรอบตัว มีการนำเสนอในเรื่องนี้จากนักวิจัยของวิทยาลัยธุรกิจคิงสตันในปี 2554 ทำให้สื่อบีบีซีระบุว่าไม่น่าแปลกใจที่กระแสการรีไซเคิลและพฤติกรรมเชิงอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้นในระดับโลกช่วงสิบปีที่ผ่านมาและมีการพูดถึงมากขึ้นด้วย "การถูกบอกว่า 'ปกติ' นั้นส่งอิทธิพลถึงพฤติกรรมของพวกเราได้โดยที่ไม่รู้ตัว พวกเรายอมรับความปกติ พวกเราปกป้องมัน พวกเราตกหลุมพรางมัน พวกเราอาจจะกังวลเมื่อีสิ่งหนึ่งเริ่มจะกลายเป็นปกติ ในขณะที่อีกสิ่งหนึ่งกระเด็นเข้ามาหรือออกไปนอกกรอบหน้าต่างของความปกติในระดับที่ใกล้เพียงแค่อยู่ใต้จมูกเราเท่านั้นเอง ความปกติแผ่ซึมไปทั่วโลกของเรา และถึงแม้ว่ามันเป็นส่งที่แพร่หลายทั่วไปก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรจะใส่ใจมัน" บราวน์ระบุในรายงานบีบีซี
เรียบเรียงจาก The powerful way that 'nomalisation' shapes our world, Susan Brown, BBC, 20-03-2017 เนเธอร์แลนด์ขวาหัน? ลุ้น 'วิลเดอร์ส' จะชนะเลือกตั้ง 15 มี.ค.หรือไม่, 11-03-2017, ประชาไท ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ส.นักข่าว ชวนสื่อตั้งสโลแกน 'วันเสรีภาพสื่อโลก' ยึดเนื้อหาคัดค้านกม.คุมสื่อ Posted: 22 Mar 2017 01:32 AM PDT สมาคมนักข่าวเชิญชวนสื่อมวลชน ประกวดสโลแกน วันเสรีภาพสื่อโลก 3 พ.ค.นี้ ยึดเนื้อหาคัดค้านกม.คุมสื่อ ผู้ชนะเลิศได้รางวัล 5,000 บาท 22 มี.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิ "ร่างกฎหมายคุมสื่อดังกล่าวเปิ โฆษกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวต่อว่า การส่งสโลแกนประกวดครั้งนี้ ต้องอธิบายเหตุผลประกอบ พร้อมทั้งระบุว่าสังกัดสื่อที่ สโลแกนที่สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับองค์กรสื่อใช้รณรงค์วันเ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ฎีกาตัดสินกะเหรี่ยงแม่อมกิไม่ผิดรุกป่า-อยู่ก่อนประกาศป่าสงวน-แต่ยังต้องออกจากพื้นที่ Posted: 22 Mar 2017 01:18 AM PDT ศาลฎีกาตัดสิน 2 ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิไม่ผิดฐานบุกรุกป่าสงวน-ขาดเจตนา ยอมรับจำเลยอยู่ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ก่อนประกาศเขตป่าสงวน แต่ยืนยันให้ออกจากพื้นที่และริบของกลาง เพราะรัฐประกาศเขตป่าสงวนแล้ว โดยคดีดังกล่าวมีการรื้อฟื้นคดีใหม่หลัง 2 จำเลยรับสารภาพในศาลชั้นต้นทั้งที่ไม่รู้ภาษาไทย ไม่มีทนาย และล่ามไม่ได้ให้สาบาน ทำให้กระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในรายงานของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 มี.ค. เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดแม่สอด จ.ตาก มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดี 2 ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ คือ นางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายดิแปะโปหรือดิ๊แปะโพ ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาสรุปความได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาบุกรุก เนื่องจากเป็นคนดั้งเดิมอยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวน แต่อย่างไรก็ดี ศาลฎีกายังคงยืนยันให้จำเลยทั้งสองและบริวารต้องออกจากพื้นที่ นายดิ๊แปะโพ และ นางหน่อเฮมุ้ย เวียงวิชชา ชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยง แห่งบ้านแม่อมกิ ตำบลแม่ว่าหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมในปี 2551 ล่าสุดศาลฎีกาตัดสินว่าไม่มีความผิด แต่ยังคงต้องออกจากพื้นที่เพราะประกาศเขตป่าสงวนแล้ว (ที่มา: เพจสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน) ทั้งนี้ศาลนัดอ่านคำพิพากษาเฉพาะคดีของนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา คดีหมายเลขดำที่ อ.1770/2551 หมายเลขแดงที่ 1737/2551 คดีความผิดต่อพ.ร.บ ป่าไม้ และพ.ร.บ ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกาในคดีของนายดิแปะโปหรือดิ๊แปะโพ หมายเลขดำที่ อ.1771/2551 หมายเลขแดงที่ 1738/2551 ด้วยในวันเดียวกันนี้ จากเดิมที่ศาลนัดอ่านในวันที่ 23 มีนาคม 2560 คดีนี้สืบเนื่องจากชาวกะเหรี่ยง 2 คนคือ นางน่อเฮมุ้ย เวียงวิชชา และนายดิแปะโป ที่มีอาชีพทำไร่หมุนเวียนเพื่อเลี้ยงชีพ ในชุมชนบ้านแม่อมกิ ตำบลแม่ว่าหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมในที่ดินที่ตนเองได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าบุกรุกทำลายป่า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ.2507 การต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นช่วงแรก จำเลยทั้ง 2 คนรับสารภาพตามคำฟ้อง เพราะทั้งสองไม่ได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ พอรับสารภาพก็เลยไม่มีการสืบพยานต่อ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าทั้ง 2 มีความผิด โดยคดีของนายดิ๊แปะโพให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือนรับ สารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 3 เดือน สำหรับคดีของนางหน่อเฮหมุ่ยลงโทษจำคุก 2 ปีรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี ไม่มีการรอลงอาญา อย่างไรก็ดี ภายหลังที่ทนายความได้ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเห็นว่าทั้งสองไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะจำเลยไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือ จำเลยไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เลย แต่ล่ามที่มาแปลภาษาให้ไม่ได้สาบานตนต่อศาล การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญ ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอดในวันที่ 29 ตุลาคม 2551 วันที่ 22 พฤษภาคม 2552 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลจังหวัดแม่สอด โดยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะล่ามแปล ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่โดยให้ล่ามปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ให้ยกฟ้องทั้งสองคดี เพราะเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจากจำเลยได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อนแล้ว บริเวณข้างเคียงล้วนมีราษฎรคนอื่นเข้าทำประโยชน์อยู่ทั่วไป และมีการเข้ายึดถือก่อนที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยได้รับตกทอดมาจากบิดามารดาเข้าใจได้ว่ารัฐอนุโลมผ่อนผันให้ราษฎรที่ทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วได้ทำประโยชน์ต่อไป เป็นการกระทำที่ขาดเจตนา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง หลังมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการได้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาช่วงปลายปี 2554 แยกเป็น 2 คดี ดังนี้ คดีนางหน่อเฮหมุ่ย ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 วินิจฉัยสรุปได้ความว่า ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจริง ดังนั้นเมื่อได้ข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน ไม่สามารถพูดอ่านและเข้าใจภาษาไทยได้ และได้เข้าทำประโยชน์มาก่อนแล้ว ทำให้จำเลยเข้าใจว่าสามารถเข้าทำประโยชน์ได้เหมือนที่เคยทำมาก่อน จึงเป็นการขาดเจตนา ย่อมไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ดี ศาลเห็นว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวน แม้การกระทำของจำเลยจะขาดเจตนา แต่ก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุได้ ดังนั้นจำเลยจึงต้องออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ คดีนายดิ๊แปะโพ ศาลอุทธรณ์มีพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธุ์ 2555 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า แม้จำเลยจะทำกินในที่ดินดังกล่าวต่อจากบิดามารดาอันเป็นเวลาก่อนที่จะมีการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน และแม้ว่าจำเลยไม่ทราบว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อกฎกระทรวงกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายและจำเลยจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุมีไม่มากและจำเลยอายุมากแล้ว โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปีพร้อมทั้งให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่เกิดเหตุ (อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม) ล่าสุดในวันนี้ (22 มีนาคม 2560) ศาลจังหวัดแม่สอด ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาทั้ง 2 คดี ว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวน เพราะขาดเจตนา แต่ยังคงยืนยันให้ออกจากพื้นที่ โดยคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮมุ้ย ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ คือให้ยกฟ้อง เพราะเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด และให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ ส่วนคดีนายดิแปะโปหรือดิ๊แพะโป ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ลงโทษจำเลย โดยศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงพิพากษาให้ยกฟ้องเช่นเดียวกับคดีนางน่อเฮมุ้ยหรือหน่อเฮมุ้ย และให้จำเลยกับบริวารออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งริบของกลางทั้งหมด ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในคำพิพากษาศาลฎีกาของนายดิ๊แพะโป ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยโดยยกประเด็นเรื่องวิถีชีวิตดั้งเดิมของกะเหรี่ยงในการทำไร่หมุนเวียนมาประกอบ โดยศาลเห็นว่าจำเลยและชุมชนทำมาหากินในที่ดินพิพาทในลักษณะของการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทั้งสองได้ทำประโยชน์มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และทำกินเรื่อยมาโดยไม่ปรากฎว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการใดๆต่อภายหลังจากนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยถือทำประโยชน์โดยสุจริตใจไม่มีเจตนาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน แต่ศาลก็ยังคงเห็นว่าจำเลยและบริวารจะต้องออกจากพื้นที่นั้น เพราะเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายหลังจากมีคำพิพากษา นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความในคดี เห็นว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ออกมาถือว่าเป็นผลดีที่ศาลยกฟ้องทั้ง 2 กรณี แต่อย่างไรก็ตามคำสั่งให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากเหมือนว่าศาลยอมรับในวิถีชุมชนและเจตนาของจำเลยทั้งสองก็จริง แต่ยังคงให้จำเลยทั้งสองออกจากพื้นที่อยู่ดี แม้ผลของคดีจะเป็นเฉพาะตัวบุคคลแต่ประเด็นนี้ก็เป็นที่น่าเป็นห่วงคือชุมชนที่อยู่ทั้งหมดในพื้นที่จะมีปัญหาใดๆในภายภาคหน้าหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีผลตามมาภายหลังก็ได้ กรณีนี้ยังต้องประเมินกันต่อไป ในวันนี้ชาวบ้านชุมชนบ้านแม่อมกิได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาและให้กำลังใจจำเลยทั้งสอง และมีความรู้สึกพึงพอใจต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแต่ก็ยังคงกังวลในเรื่องของการต้องออกจากพื้นที่เนื่องจากได้ทำกินในพื้นที่ตรงนั้นมาเป็นเวลานานแล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น