ประชาไท | Prachatai3.info |
- กวีประชาไท: แด่...ชัยภูมิ ป่าแส
- คำพิพากศาล#1 สาวตรี สุขศรี 112 กับกระบวนการยุติธรรมเชิงบังคับและสร้างความกลัว
- หมายเหตุประเพทไทย #149 K-pop ภาพหวิวสะท้อนสังคมขงจื้อใหม่จริงหรือ
- 'โกตี๋' โต้อาวุธไม่ใช่ของตัวเอง จวกรัฐจัดฉากไม่เนียน
- 'เรืองไกร' ร้องสอบภาษี 'พล.อ.ประวิตร ' กรณีเช็ค 1 ล้าน
- TCIJ: เปิดแฟ้มอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสาร 2559 ตก 102-เสียชีวิต 629
- อ่าน “ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน” ของโบฮุมิล ฮราบัล
- สรุปค้น 9 จุดเครือข่าย 'โกตี๋' ภาคกลาง-อีสาน รวบ 8 ผู้ต้องสงสัย
- กวีประชาไท: อาวุธ
- โพลล์เผยความทุกข์ประชาชน 80% คือเศรษฐกิจแย่ หนุนใช้ ม.44 ช่วงสงกรานต์
- 10 ปีล้างไตช่องท้อง รพ.อยุธยา ประสบความสำเร็จ ช่วยยืดชีวิตผู้ป่วย
- บ.ฟาร์อีสปั่นทอฯ นครปฐม จ่ายช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ย้ายงานมา กทม.
กวีประชาไท: แด่...ชัยภูมิ ป่าแส Posted: 19 Mar 2017 08:09 AM PDT
หนาวอสุภซากเศร้า นอนสงัด หนาวอสุภซากสะท้าน สะทกเข็ญ หนาวคืออสุภซากสิ้น ไอปราณ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
คำพิพากศาล#1 สาวตรี สุขศรี 112 กับกระบวนการยุติธรรมเชิงบังคับและสร้างความกลัว Posted: 19 Mar 2017 08:06 AM PDT งานเสวนา 'คำพิพากศาล' สาวตรี สุขศรี เผยการไม่ให้ประกันในคดี 112 ศาลใช้เหตุผลโดยไม่มีกฎหมายระบุ ใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามหลักการ กลายเป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับให้สารภาพ และเป็นกลไกของรัฐในการสร้างความหวาดกลัว ภายหลังการรัฐประหาร 2557 กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะสถาบันตุลาการถูกตั้งคำถามจากสังคมหลายประการ ความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมถูกมองด้วยความคลางแคลง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงจัดงาน 'คำพิพากศาล' ขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะในการถกเถียง วิเคราะห์ และชี้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย 'สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดี 112' เป็นประเด็นร้อนแรงประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย โดยสาวตรี สุขศรี จากกลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มอภิปรายโดยอ้างอิงข้อความจากกติการะหว่างประเทศและกฎหมายของไทยดังนี้ .......... มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลผู้อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี แต่ให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยอาจกำหนดให้มีการประกันว่า จะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา แล้วมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น เป็นข้อความในข้อ 9 (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผย ณ ที่ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี ข้อความนี้เป็นข้อ 11 (1) ในปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกกุมขังในระหว่างการดำเนินคดีอาญาพึงมีสิทธิได้รับการพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นข้อ 38 ของหลักการสหประชาชาติเพื่อการคุ้มครองบุคคลทุกคนที่ถูกกุมขังหรือจำคุก บุคคลต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาแล้วว่าได้กระทำความผิดและจะปฏิบัติกับเขาอย่างผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ อันนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ปี 2550 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ต้องขังหรือจำเลยมีสิทธิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อันนี้อยู่ในมาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อาจจะคิดในใจว่าจะพูดไปทำไม ในเมื่อไม่เคยถูกนำมาใช้บังคับในบางคดีเลย ทำไมคุณจตุภัทรหรือคุณสมยศจึงไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่มีหลักกฎหมายใหญ่โตแบบนี้และประเทศไทยก็เป็นภาคีอยู่ นักโทษคดี 112 จำนวนมากจะถูกจองจำ ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องสู้คดีอยู่ในคุก เพราะฉะนั้นจากสถิติไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมจากไอลอว์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ค่อนข้างสอดคล้องกันว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับการปล่อยตัวและออกมาสู้คดีนอกคุกในคดี 112 มีน้อยกว่าคนที่ถูกจองจำและต้องสู้คดีอยู่ในคุก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ระบุว่า การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจะกระทำได้ ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้ หนึ่ง-ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี สอง-ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน สาม-ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น สี่-ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และห้า-การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล อีกทั้งคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผลและต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ประเทศไทยรับหลักนี้มาอย่างช้าที่สุดน่าจะประมาณปี 2540 ก่อนหน้านี้ระบบการดำเนินกระบวนการยุติธรรมคดีอาญาจะใช้หลักการ Crime Control Model คือมุ่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเด็ดขาด โดยไม่สนใจหรือละเลยสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย จนในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นแบบ Due Process Model คือต้องมีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยความเป็นธรรม ลักษณะของแนวคิดนี้ก็คือการให้สิทธิหรือหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในทุกๆ ชั้นกระบวนพิจารณา นับตั้งแต่การถูกจับตัว ต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา การต้องได้รับการแจ้งสิทธิ เช่น มีสิทธิที่จะไม่ให้การ มีสิทธิที่จะให้ญาติมาเยี่ยม พอถึงชั้นศาลก็ต้องมีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และที่สำคัญจะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลักการแบบนี้ เป้าหมายคือต้องการให้หลักประกันสิทธิแก่จำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม ถามว่าเป็นธรรมอย่างไร เพราะเมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้ มีโอกาสในการปรึกษาทนายความอย่างเป็นส่วนตัว ดังนั้น ปล่อยชั่วคราวจึงต้องกระทำเป็นหลัก ถ้าไม่ปล่อย นั่นเป็นข้อยกเว้น ในกฎหมายอาญา ข้อยกเว้นต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่าเขากำหนดไว้แบบไหนก็ต้องใช้เหตุผลแค่นี้เท่านั้น ไม่ใช่ใช้เหตุผลอื่น ถ้าใช้เหตุผลอื่นเมื่อไหร่ แปลว่าคุณกำลังละเมิดสิทธิ คำถามคือแล้วยกเว้นทำไม ทำไมไม่ปล่อยให้หมดเลย คำตอบก็คือเป้าประสงค์ของการยกเว้นมีแค่ 2 หลักการใหญ่ๆ เท่านั้น หนึ่ง-เป็นหลักประกันว่าจะมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี สอง-บางครั้งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพลอาจจะไปรบกวนพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้นข้อยกเว้นจะต้องมีเป้าหมายแบบนี้เท่านั้น ดังนั้น ถ้ามีพฤติการณ์ว่าไม่หลบหนีหรือเป็นไปได้ว่าจะไม่หลบหนี กรณีแบบนี้ต้องปล่อยเป็นหลัก และในกรณีที่ไม่มีอิทธิพลหรือไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับพยานหลักฐาน กรณีนี้ก็ต้องปล่อยตัวไป แต่สิ่งที่เราเจอในคดี 112 เหตุผลของศาลคือมาตรา 112 มีโทษสูง หากปล่อยไปเกรงจะหลบหนี ถามว่าศาลเอามาจากไหน ทำไมอัตราโทษจึงกลายมาเป็นเหตุผลหลักและมีเหตุผลแบบนี้ประกอบอยู่ในทุกๆ คำสั่งไม่ให้ประกันตัว ลองดูมาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ หนึ่ง-ความหนักเบาแห่งข้อหา สอง-พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด สาม-พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร สี่-เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด ห้า-ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ หก-ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ และเจ็ด-ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้ ศาลจะเอาตรงนี้มาอ้างทันทีเมื่ออัตราโทษสูง คือหยิบข้อ 1 มาประกอบกับข้อ 5 พอมีอัตราโทษสูงโอกาสการหลบหนีจึงมีเยอะ ถามว่าพิจารณาแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ต้องเรียนว่าไม่ถูกต้องตามหลักการ เพราะต้องย้อนกลับไปมาตรา 108/1 เพราะมาตรา 108 เป็นแค่ข้อประกอบการพิจารณาเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดโดยอัตโนมัติว่าเมื่ออัตราโทษสูง ไม่ต้องให้ประกันตัว การฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรืออัตราโทษสูง ทำไมไม่ให้ประกันตัวโดยอัตโนมัติ ทำไมศาลจึงใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวออกมาสู้คดีได้ มาตรา 112 อัตราโทษสูงจริงๆ สูงเกินไปด้วยและขัดกับการได้สัดส่วน โทษคือตั้งแต่ 3-15 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี ถ้าทำให้เหยื่อถึงแก่ความตายด้วยจะมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่เราก็ยังเห็นศาลให้ประกันตัวออกมาสู้คดี แล้วทำไมกรณี 112 จึงให้ประกันตัวไม่ได้ สูงจริง แต่ก็ไม่สูงไปกว่าโทษในคดีอื่น มีเหตุผลอะไรอีก เหตุผลที่เรามักจะได้ยินกันคือการกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นกระทบความรู้สึกหรือกระทบจิตใจของประชาชน ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องมานั่งตีความกัน อันอื่นก็กระทบความรู้สึกจิตใจและขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเหมือนกัน แต่ประเด็นทางกฎหมายหนักกว่านั้น เพราะหากเราสำรวจดู เหตุผลที่ว่ากระทบความรู้สึกจิตใจของประชาชน มันเป็นเหตุผลในการไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น 108 หรือ 108/1 แล้วศาล ผู้พิพากษา ไปหยิบเอาเหตุผลอะไร จากที่ไหน มาตัดสินให้คนคนหนึ่งต้องสู้คดีในคุก ไม่ให้ปล่อยตัว ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด ทำไมไปหยิบเอาเหตุอื่นใดที่นอกเหนือจากกฎหมายมาใช้บังคับ กรณีนี้อธิบายได้หรือไม่ว่าเป็นการใช้กฎหมายอย่างบิดๆ เบี้ยวๆ คำตอบคือได้ มันไม่เป็นไปตามหลักการ ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ นี่คือสิ่งที่เราได้เจอตลอดเวลาในคำสั่งของศาลที่ไม่ให้ผู้ต้องหาในคดี 112 ได้รับการประกันตัว เหตุที่คุณจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน ถูกถอนประกัน เหตุผลมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรกบอกว่าผู้ต้องหาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์เชิงสัญลักษณ์ เย้ยหยันอำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และมีแนวโน้มจะทำเช่นนั้นต่อไปอีก ผู้ต้องหามีความเคลื่อนไหว พิมพ์ข้อความในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน กรณีที่ตนได้รับการประกันตัวไปจากศาล การใช้กฎหมายนี้ตรงไปตรงมาหรือไม่ หรือว่ามีความบิดเบี้ยว เราต้องเข้าใจก่อนว่าในระบบยุติธรรม เวลาที่ศาลจะถอนประกันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การถอนประกันจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดพฤติการณ์ใดๆ อันมีลักษณะฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ให้ประกัน หมายความต้องมีกำหนดเงื่อนไขในการให้ประกันของศาล แล้วถ้าฝ่าฝืนเงื่อนไข จึงถอนประกันได้ ประเด็นที่เกิดขึ้นคือเงื่อนไขแบบไหนที่ศาลจะใช้อำนาจกำหนดได้ คำตอบก็คือในวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้กำหนดไว้ เรื่องนี้ต้องดูมาตรา 108 วรรคท้ายประกอบกับข้อ 8 ของระเบียบข้าราชการตุลาการ ซึ่งอาจสรุปเงื่อนไขได้ 3 ประเภทเท่านั้น หนึ่ง-เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ได้ประกันตัว เช่น ต้องอยู่เป็นหลักแหล่งหรือศาลเรียกแล้วต้องมา สอง-เงื่อนไขเพื่อป้องกันการหลบหนี และสาม-เงื่อนไขเพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งสุดท้ายศาลจะกำหนดอะไรบ้างก็คงต้องดูจากพฤติการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับคดีที่ฟ้อง ตัวผู้ต้องหา และอื่นๆ
กรณีสำหรับผู้พิพากษาที่ไม่ใช้ดุลพินิจเรื่องนี้เกินเลย ก็มักจะกำหนดเงื่อนไขโดยยึดโยงกับ 108/1 คือทำยังไงไม่ให้หลบหนีหรือหยุงเหยิงกับพยาน มีแค่นี้ คำถามคือแล้วเย้ยหยันอำนาจรัฐหรือเยาะเย้ยเจ้าพนักงานเกี่ยวอะไรกับการหลบหนี เกี่ยวอะไรกับการยุ่งเหยิงกับพยาน มันไม่เกี่ยว ไม่ได้เป็นหลักการที่จะเอามาถอนประกันได้ ตรงนี้ชัดเจนว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมา ในคดีคุณจตุภัทร์ ศาลยังบอกอีกว่าผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟสบุ๊คของผู้ต้องหา ในคำสั่งเดียวกันยังบอกว่าผู้ต้องหายังแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา ซึ่งอาจจะเป็นการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัวไว้แบบไหน มีหรือไม่ที่ศาลบอกว่าให้คุณไผ่ลบข้อความนั้นออกด้วย ศาลจึงจะให้ประกันตัว ไม่มี ในส่วนของการให้ประกันตัวครั้งแรกไม่มีเงื่อนไขนี้เลย ถามว่าทำไมถึงไม่มี เป็นไปได้ว่าศาลก็ยังไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่าบทความที่แชร์มาผิดหรือเปล่า เมื่อไม่ได้ลบ ศาลจะบอกได้อย่างไรว่านี่คือการฝ่าฝืนเงื่อนไข บอกไม่ได้ เพราะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้ลบ แต่ประเด็นที่ย้อนแย้งอย่างมากคือ ศาลบอกว่าคุณไผ่ใช้เฟสบุ๊คอยู่ตลอดเวลา แสดงความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอาจจะมายุ่งเหยิงกับพยานได้ ในขณะที่คุณจตุภัทร์ใช้เฟสบุ๊คอยู่ทุกวัน แต่ไม่เคยแตะต้องบทความที่แชร์เลย ก็หมายความว่าไม่เคยยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเลย แต่ศาลบอกว่าคุณใช้เฟสบุ๊คทุกวัน คุณมีโอกาสยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ขณะเดียวกันก็บอกว่าทำไมไม่ลบข้อความ ข้อความนั้นเป็นพยานหลักฐานหรือไม่ คำตอบคือใช่ นี่คือความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในคำสั่งเดียวกัน การพิจารณาคำสั่งโดยใช้เหตุผลว่าผู้ต้องหาใช้เฟสบุ๊คตลอดเวลาหรือแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ตลอดเวลา จึงอาจเป็นอันตรายต่อพยานหลักฐาน นี่เป็นกรณีที่ศาลกำลังล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่มีปรากฏในกฎหมาย ศาลกำลังบอกว่าเมื่อไหร่ที่คุณตกเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลย คุณห้ามเล่นเฟสบุ๊ค ไม่อย่างนั้นเดี๋ยววันดีคืนดีศาลถอนประกัน ทั้งที่การแสดงความคิดเห็น การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เรากำลังถูกขยับแดนออกมาเรื่อยๆ ว่าห้ามทำแบบนี้ แบบนั้น ทั้งที่สิทธิของจำเลยต้องได้รับการคุ้มครองตลอดในกระบวนการพิจารณา ในคำสั่งของศาลจะมีอีกส่วนหนึ่ง ศาลระบุว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ย่อมรู้ดีว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ศาลใช้เหตุผลแบบนี้ ก็เลยสงสัยว่าคำสั่งศาลระบุว่าอย่างไร คำสั่งระบุว่า วิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน ผู้ต้องให้มาศาลตามนัดห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือความเสียหายใดๆ หลังปล่อยชั่วคราว หากผิดนัด ผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกัน และอาจไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีก เพราะฉะนั้นเงื่อนไขคือสิ่งนี้ มีมั้ย ห้ามเย้ยหยันอำนาจรัฐ ห้ามเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน ให้ลบข้อความทิ้ง ห้ามเล่นเฟสบุ๊ค ไม่มี ลักษณะนี้จึงเป็นการใช้กฎหมายที่ค่อนข้างไม่ตรงไปตรงมาและบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปพอสมควร คำถามที่เราต้องตั้งกลับไปคือทำไมศาลถึงทำแบบนี้ ทำไมผู้พิพากษาถึงทำแบบนี้ ทำไมถึงกล้าใช้ดุลพินิจนอกหลักกฎหมายที่ตัวเองเรียนมา จะลองวิเคราะห์แบบนี้ อาจจะได้คำตอบว่าทำไมคดี 112 ไม่ได้รับประกันตัวเลยหรือได้รับประกันตัวน้อยมาก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ใช้หลักนิติศาสตร์วิเคราะห์ไม่ได้ นอกจากจะบอกว่ามันผิด ถ้าจะใช้หลักนิติศาสตร์ที่ไม่เป็นหลักมาอธิบายปรากฏการณ์พวกนี้ต้องใช้อภินิหารทางกฎหมาย เพราะมันไม่ควรจะเกิดขึ้น มันจึงเป็นเรื่องอภินิหาร แต่ถ้าเราวินิจฉัยทางรัฐศาสตร์ อุดมการณ์ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลัง วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราน่าจะพอวิเคราะห์หรือหาคำตอบได้ ถ้าเอาสถานการณ์มาปะติดปะต่อ จะเห็นว่ามีอะไรที่ยืนอยู่เบื้องหลังเป็นเงาทะมึนอยู่ในหลักกระบวนการยุติธรรม คืออะไร ตอนนี้เราสามารถตีความได้หรือไม่ว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเฉพาะคดีมาตรา 112 เป็นกลไกหนึ่งที่ใช้สร้างความกลัวโดยรัฐ วิธีสร้างความกลัวโดยรัฐทำด้วยหลากหลาย ถ้ารุนแรงโจ่งแจ้งคือล้อมปราบ เบาลงมาหน่อยก็เรียกรายงานตัว ขึ้นศาลทหาร เรียกปรับทัศนคติ ถ้าไม่โจ่งแจ้งและเบาลงมาอีกก็ไปนั่งกินกาแฟด้วย แต่วิธีหนึ่งที่เนียนมากคือการใช้กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการสร้างความหวาดกลัว เป็นกลไกหนึ่ง กระบวนการยุติธรรมในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิงกับคดี 112 เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับ บังคับให้จนมุม บังคับให้เลือกระหว่างสารภาพหรือจะสู้คดี คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ออกมาบอกว่าสู้ติดแน่ แพ้ติดนาน ประโยคนี้ใช้ได้มากกับมาตรา 112 กรณีความผิดอาญาอื่นๆ จะมีประเด็นอื่นๆ ด้วย หมายความว่าสู้ก็ได้ อาจจะหลุด ในคดีอาญาอื่นถ้าท่านเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ท่านทำไม่ผิด ท่านก็สู้ได้ พอจะมีโอกาสชนะ สามารถฝากความหวังไว้กับพยานหลักฐานที่ท่านออกมาหานอกคุกได้ เหล่านี้คือคดีในฐานความผิดอื่นๆ แต่มาตรา 112 ไม่ใช่ ต่อให้ท่านเชื่อมั่นว่าไม่ผิด แต่ไม่มีความแน่นอนเลย เพราะทุกวันนี้การตีความมันขยับเพดานตลอด ถามว่าขนาดเชื่อมั่นว่าตนเองบริสุทธิ์ก็ไม่กล้าสู้ แถมฝากความหวังกับพยานหลักฐานก็ไม่ได้ เพราะไม่สามารถออกไปแสวงหาพยานหลักฐานได้ ลักษณะสู้ติดแน่ แพ้ติดนาน คือ 112 แล้วสุดท้ายคนก็จะพากันรับสารภาพ หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 มีผู้ต้องหารับสารภาพคดี 112 เยอะมาก มีน้อยมากที่ตัดสินใจสู้ คดีส่วนน้อยนั้นคือคดีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่ตัดสินใจสู้จนถึงชั้นฎีกา ไม่สารภาพ และยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด เพื่อที่จะทดสอบกระบวนการดำเนินคดีทางอาญาว่าถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน มีการตีความตรงไปตรงมาแค่ไหน กรณีคุณสมยศมีการส่งเรื่องขึ้นศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่ามาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ซึ่งเราก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าศาลต้องบอกว่าไม่ขัด การต่อสู้คดีของคุณสมยศน่านับถือจริงๆ เพราะเป็นการละทิ้งอะไรหลายอย่าง แต่สุดท้าย เพิ่งตัดสินฎีกาเมื่อไม่นานมานี้ คุณสมยศก็ดี พวกเราก็ดี ก็ได้รับข้อยืนยันสิ่งที่เราคิดว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ตรงไปตรงมา บิดเบี้ยว นั้นเป็นจริง พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราตำหนิคนที่ไม่สู้ เราไม่มีสิทธิตำหนิ และห้ามตำหนิด้วย เพราะท่านไม่รู้หรอกว่า เมื่อโดนกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับแบบนี้มันเจ็บปวดขนาดไหน ต้องสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง การไม่ให้ประกันตัวส่งผลอะไรต่อผู้ต้องหาบ้าง อะไรบีบบังคับให้เขารับสารภาพได้ หนึ่ง-การถูกจองจำยาวนานต่อเนื่องและถูกบั่นทอนกำลังใจสารพัดในช่วงที่ถูกจองจำ สอง-กระทบความสามารถในการต่อสู้คดีเพราะไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานภายนอกได้ สาม-ไม่ได้สิทธิในการปรึกษาทนายอย่างเป็นการส่วนตัว ทั้งที่เป็นสิทธิที่อยู่ในกฎหมาย จะเห็นว่าการไม่ให้ประกันตัวไม่ใช่กลไกเดียวที่สร้างความหวาดกลัวหรือบีบบังคับ ยังมีกลไกอื่นในกระบวนการยุติธรรม คืออะไร การพิจารณาคดีโดยลับ การแสดงอคติบางอย่างของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอุดมการณ์เบื้องหลังความไม่แน่ไม่นอนในการตีความกฎหมาย เหล่านี้มันบีบให้รับสารภาพ เปอร์เซ็นต์การรับสารภาพสูงมาก การรับสารภาพมีปัญหาต่อเนื่องด้วย แง่ดีคือสารภาพแล้วคุณได้ออกเร็ว แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญมากๆ ของการรับสารภาพเท่ากับสร้างความชอบธรรมให้กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว จำเลยรับเองว่าผิด ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ถามว่าเราเรียกร้องให้เขาไม่สารภาพได้หรือไม่ เราเรียกร้องไม่ได้หรอก เพราะมันเจอกระบวนการแบบนี้ มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้พิพากษา หมายความว่ารับสารภาพ จบ พิพากษาเลย ไม่ต้องตีความ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องหยิบบริบทมาพิจารณา ไม่ต้องเผยว่าตนเองมีอุดมการณ์แบบไหนในการตีความมาตรา 112 รับสารภาพปุ๊บ ทุกอย่างจบ
กระบวนการแบบนี้จึงเป็นการบีบบังคับ มันสร้างความหวาดกลัว ถามว่าเพื่ออะไร ก็เพื่อคุมเอาไว้ซึ่งระเบียบของสังคมที่ผู้กุมอำนาจต้องการ คงความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบัน ในกรณีของคุณไผ่มีการขยายแดนที่แตะต้องไม่ได้ออกไปอีก อำนาจรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ พูดถึงไม่ได้ สร้างความหวาดกลัวแบบนี้ และวิธีนี้ถ้าแบบไม่ต้องเสียอะไรมากก็เลือกเป้าหมายนิดหนึ่ง ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคุณไผ่ ดาวดินจึงเป็นคนเดียวที่โดนคดีนี้ ทั้งที่มีสองพันกว่าคนแชร์บทความ ทั้งที่บีบีซีไทยต้นตอบทความไม่โดนอะไรเลย นี่คือวิธีการในการเลือกเป้าหมาย สร้างความหวาดกลัว ทำไมต้องเลือกคุณไผ่ เพราะคุณไผ่ต่อต้านอำนาจรัฐ กรณีแบบนี้มันได้ผล ไม่ต้องลงมือมาก ไม่ต้องฟ้องหลายคน ไม่ต้องเสียพื้นที่คุก แต่นักรบไซเบอร์ นักกิจกรรม หยุดไลค์ หยุดแชร์ กล้าๆ กลัวๆ นี่คือการสร้างความหวาดกลัวที่ได้ผลแบบไม่ต้องเสียอะไรมากของภาครัฐ สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หน้าที่คือมีตัวผู้ต้องหาเป็นหลักประกันว่าจะไม่ยุ่งเหยิงกับพยาน แต่มาตรา 112 ไม่ได้ใช้ตรงนี้เลย แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัว เพื่อบีบบังคับ ไม่ต้องแปลกใจ ต่อให้เรามีเงินประกันห้าล้านสิบล้าน เขาก็ไม่ให้ ต่อให้นักวิชาการยกกันมาสามสิบห้าสิบคนมาประกัน เขาก็ไม่ให้ เพราะหน้าที่ของสิทธินี้มันเปลี่ยนไปเพื่อสร้างความหวาดกลัว ใครบ้างไม่กลัว ผู้ต้องหา จำเลย ครอบครัวของผู้ต้องหา จำเลยกลัว ประชาชน เพื่อนฝูงกลัว บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็กลัว ส่งตำรวจปุ๊บ ตำรวจรีบยื่นเลย ฟ้องได้ ส่งอัยการปุ๊บ ส่งฟ้องเลยทันทีอย่างรีบด่วน ชักช้าเดี๋ยวจะโดนข้อหาไม่จงรักภักดี เพราะฉะนั้นมันได้ทั้งกระบวนการเลย กว่าสิบปีที่ผ่านมาเป็นแบบนี้หมด เราจึงสามารถตอบคำถามได้ว่า ทำไมสุดท้ายไม่ได้สิทธิประกันตัว แต่การทำแบบนี้บ่อยๆ มันมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ด้านหนึ่งรัฐอาจกดปรามประชาชนได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนกลับไปยังกระบวนการยุติธรรม ต่อศาล ต่อผู้พิพากษา หรือต่อสถาบัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันบิดเบี้ยว บิดพริ้วกฎหมาย เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมา ประชาชนเห็น ต้นทุนที่คุณต้องเสียคือความเสื่อมศรัทธา ทุกวันนี้ศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด สถาบันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มมากขึ้น ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ก็เพราะมีกระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้นั่นเอง การกดปรามพฤติกรรมคน คุณอาจทำได้ แต่กดความคิดคน คุณทำไม่ได้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
หมายเหตุประเพทไทย #149 K-pop ภาพหวิวสะท้อนสังคมขงจื้อใหม่จริงหรือ Posted: 19 Mar 2017 06:32 AM PDT กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ได้ที่
หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ และชานันท์ ยอดหงษ์ อ่านบทความในบล็อก Medium ที่เขียนโดย Michael Hurt เปิดประเด็นว่า K-pop เป็นภาพโป๊แบบลัทธิขงจื้อใหม่ พร้อมๆ กับที่มีกระแสวิจารณ์ภาพถ่ายนักร้อง K-pop เช่นสมุดภาพของ Suzy Bae ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภาพแนวโลลิตา IU หรือ Lee Ji-eun สวมเสื้อผ้ามิดชิดแต่ถ่ายภาพเปลือยข้อเท้า รวมทั้งภาพในอินสตาแกรมของ Sulli และ Hara ที่สวมเสื้อยืดตัวเดียวที่พิมพ์ข้อความเหมือนขวดโลชั่น 'จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน' ก็ถูกวิจารณ์ ทั้งนี้แม้ในอดีตสังคมเกาหลีก็เช่นเดียวกับสังคมเอเชียตะวันออกไกล ที่ชายเป็นใหญ่และมีบทบาทครอบงำ และแม้แต่ในช่วงทศวรรษ 1970 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ Park Chung-hee ก็ออกกฎระเบียบควบคุมกระทั่งความยาวของทรงผม หรือแม้แต่ส่งตำรวจคอยตรวจตราความยาวชายกระโปรงผู้หญิง แต่ในปัจจุบันค่านิยมต่างๆ อาจไม่ได้ตายตัวเสมอไป โดยทั้งปองขวัญและชานันท์ ยังตั้งคำถามไว้ด้วยว่า ผู้เขียนบทความอาจจะยกตัวอย่างมาไม่พอ นอกจากนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าผู้เขียนบทความอาจจะมอง K-pop ด้วยแว่นมองแบบ Orentalism หรือบูรพาคตินิยม ที่สร้างภาพแทนของโลกตะวันออกด้วยมุมมองตะวันตกและวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามไปเสียทั้งหมดหรือไม่ ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'โกตี๋' โต้อาวุธไม่ใช่ของตัวเอง จวกรัฐจัดฉากไม่เนียน Posted: 19 Mar 2017 02:53 AM PDT 'โกตี๋' ชี้แจงผ่านยูทูปยืนยันอาวุธไม่ใช่ของตัวเองจวกรัฐบาลจัดฉากไม่เนียน ระบุออกจากเมืองไทยมา 3 ปีแล้ว และจะสะสมอาวุธไว้ทำไมในที่ใจกลางเมืองขนาดนั้น 19 มี.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำเสื้อแดง กล่าวถึงกรณีทหารบุกค้นบ้านแล้วอาวุธสงครามจำนวนมาก ผ่านช่องทางยูทูป ว่า วันนี้ตนเห็นลูกน้องที่โดนจับแล้วสงสารเขา เพราะตนไม่มีปัญญาไปช่วย เขาเป็นคนดีมาก วันนี้โดนยัดข้อหาขนาดนี้ นี่คือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตลอดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเมืองไทย ไม่รู้ว่าโดนจับเข้าไปเขาจะโดนทำร้ายมากขนาดไหน ในการที่จะให้เขาใส่ร้ายป้ายสีมาให้ตนให้ได้ ถ้าเป็นไปได้พี่น้องช่วยตามข่าวแทนตนด้วย ทั้งนี้ กองทัพไม่ต้องซื้ออาวุธหรอก ไปบุกบ้านไหนก็ของโกตี๋ เจออาวุธที่ไหนก็ของโกตี๋ โยงเข้าหาแม้กระทั่งวัดธรรมกาย บ้ากันไปใหญ่แล้ว อาวุธที่ค้นเจอนั้นตนยืนยันว่าไม่ใช่ของตนแน่นอน มีการจัดฉากต้องการเล่นงานเครือข่ายของตนทั้งหมด ตนห่วงอย่างเดียวคือห่วงความปลอดภัยของหัวหน้าการ์ดตน เพราะวันนี้เขาได้เสียสละแทนตนทั้งที่เขาไม่รู้เรื่อง ชีวิตตนไม่เคยมีบ้านเป็นหลัง นอกสถานีมาตลอด และออกจากเมืองไทยมา 3 ปีแล้ว อาวุธถ้ามีมากขนาดนั้นผมถล่มพวกเขาไปนานแล้ว ตนไม่เอาไว้หรอก นอกจากนี้ ตนจะสะสมอาวุธไว้ทำไมในเมืองไทย ที่ใจกลางเมืองขนาดนั้น จัดฉากไม่เนียนในการพยายามที่จะให้ตนเป็นคนก่อการร้าย ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
'เรืองไกร' ร้องสอบภาษี 'พล.อ.ประวิตร ' กรณีเช็ค 1 ล้าน Posted: 19 Mar 2017 02:17 AM PDT 'เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' เตรียมร้องสรรพากรตรวจภาษี 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' ที่เคยแจ้งบัญชีตอนเป็น รมว.กลาโหม ปี 2551 ว่ามีทรัพย์สินอื่นเป็นเช็คจำนวนเงิน 1 ล้านบาท ชี้การตรวจสอบต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับนักการเมืองที่กำลังถูกดำเนินการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 19 มี.ค. 2560 เว็บไซต์บ้านเมือง รายงานว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามข่าวการจัดเก็บภาษีในช่วงนี้ มีบุคคลสำคัญทางการเมือง 60 คนที่ถูกตรวจสอบ และพบเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็อาจเข้าข่ายที่ควรตรวจสอบด้วย ทั้งนี้จากการเปิดเผยของสำนักข่าวอิศราก่อนหน้านี้ พบว่า พล.อ. ประวิตร เคยแจ้งบัญชีคราวรับตำแหน่ง รมต.กลาโหม เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551 พล.อ.ประวิตร ได้แจ้งว่ามีทรัพย์สินอื่นเป็นเช็คจำนวนเงิน 1 ล้านบาท นายเรืองไกร กล่าวว่า หากพิจารณาจากข้อมูลที่คนของรัฐบาลเปิดเผยออกมาเกี่ยวกับมาตราต่าง ๆ ในประมวลรัษฎากรแล้ว ก็ทำให้เข้าใจได้ต่อว่า กรณีเช็ค 1 ล้านบาท ของพล.อ.ประวิตร ก็ควรมีการตรวจสอบเช่นกันว่า เช็คดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ ได้มีการเสียภาษีจากเช็คดังกล่าวหรือยัง หากยังไม่เสีย จะต้องออกหมายเรียกต่อไปหรือไม่ อย่างไรจะนำเรื่องเช็คจำนวน 1 ล้านบาทนี้ไปร้องขอให้อธิบดีกรมสรรพากรตรวจสอบโดยเร็วต่อไป โดยจะไปยื่นหนังสือที่กรมสรรพากร ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
TCIJ: เปิดแฟ้มอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสาร 2559 ตก 102-เสียชีวิต 629 Posted: 18 Mar 2017 10:45 PM PDT รายงานจาก TCIJ ปี 2559 เครื่องบินโดยสารขนส่งประสบอุบัติเหตุ 102 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 629 คน ทวีปอเมริกาประสบอุบัติเหตุบ่อยสุด เอเชียผู้เสียชีวิตสูงสุด อุบัติเหตุครั้งรุนแรงที่สุดในปี 2559 คือเหตุการณ์เครื่องบินตกที่รัสเซียเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2559 มีผู้เสียชีวิต ทั้งสิ้น 92 คน เหตุการณ์เครื่องบินลำเลียง Tupolev TU-154B-2 ของกองทัพรัสเซียตกในทะเลดำนอกชายฝั่งเมืองโซชี เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2559 ถือเป็นอุบัติเหตุการบินครั้งร้ายแรงที่สุดในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 92 ราย ที่มาภาพ: baaa-acro.com ข้อมูลจาก Bureau of Aircraft Accidents Archives (B3A) อันเป็นหน่วยงานที่เก็บรวบรวมสถิติอุบัติเหตุของเครื่องบินโดยสารและขนส่ง พบว่าในปี 2559 มีอุบัติเหตุทั้งหมด 102 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 629 คน โดยเหตุเครื่องบินตกครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี 2559 คือเหตุการณ์เครื่องบินลำเลียง Tupolev TU-154B-2 ของกองทัพรัสเซียตกในทะเลดำนอกชายฝั่งเมืองโซชี (Sochi-Adler, Krasnodar Krai) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2559 ขณะกำลังเดินทางไปซีเรีย เหตุการณ์นี้มีผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตรวม 92 ราย ซึ่งรวมทั้งสมาชิกคณะนักร้องประสานเสียงของกองทัพ 64 ราย ด้วย เครื่องบิน Avro RJ85 ของสายการบิน LaMia ประสบอุบัติเหตุตกเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 ที่มาภาพ: baaa-acro.com อีกเหตุการณ์สะเทือนใจชาวโลกเมื่อปี 2559 ก็คืออุบัติเหตุเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2559 เครื่องบิน Avro RJ85 ของสายการบิน LaMia (สายการบินของประเทศโบลิเวีย) เที่ยวบินที่ CP-2933 ประสบอุบัติเหตุตกที่ La Ceja, Antioquia ประเทศโคลัมเบีย มีผู้เสียชีวิตรวม 71 คน โดยนักฟุตบอลและทีมงานสโมสร Chapecoense จากบราซิล เสียชีวิตถึง 19 คนและผู้สื่อข่าวที่ติดตามไปทำข่าวเสียชีวิตถึง 20 คน ทั้งนี้จากการสอบสวนพบว่าสาเหตุอาจเกิดจากเครื่องบินน้ำมันหมด เครื่องบิน Piper PA-31-350 Navajo Chieftain เครื่องบินเล็กเช่าเหมาลำของ Rabbit Wings เป็นเครื่องบินโดยสารขนส่งลำล่าสุดที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 ที่มาภาพ: baaa-acro.com ส่วนในประเทศไทยมีเครื่องบินโดยสารขนส่งตก 1 ครั้ง คือเหตุการณ์เครื่องบิน Piper PA-31-350 Navajo Chieftain เครื่องบินเล็กเช่าเหมาลำของ Rabbit Wings ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559 ซึ่งถือว่าเป็นการเกิดอุบัติเหตุในรอบ 4 ปีเลยทีเดียว (อ่านเพิ่มเติม: เครื่องบินโดยสารตกในไทยปี 2474-2559 รวม 127 ครั้ง กองทัพอากาศตกบ่อยสุด และ เครื่องบินโดยสารที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2474 - 1 ส.ค. 2559) ทวีปอเมริกาอุบัติเหตุบ่อยสุด เอเชียตายมากสุด เดือน ธ.ค. เกิดบ่อยสุดเมื่อแยกเป็นทวีปพบว่าปี 2559 มีเครื่องบินโดยสารขนส่งประสบอุบติเหตุในทวีปแอฟริกา 5 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 8 คน ทวีปอเมริกา (ทั้งอเมริกาเหนือ-กลาง-ใต้) มีเครื่องบินโดยสารขนส่งประสบอุบติเหตุ 44 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 178 คน ทวีปเอเชียมีเครื่องบินโดยสารขนส่งประสบอุบติเหตุ 37 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 316 คน (การประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่ในพื้นที่ของประเทศรัสเซียถูกนำมานับรวมในทวีปเอเชีย ไม่ได้รวมในทวีปยุโรป) ทวีปยุโรป มีเครื่องบินโดยสารขนส่งประสบอุบติเหตุ 11 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 18 คน และทวีปโอเชียเนียมีเครื่องบินโดยสารขนส่งประสบอุบติเหตุ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 14 คน และจากอุบัติเหตุทั้ง 102 ครั้งนั้นเมื่อพิจารณาในช่วงเวลาที่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุพบว่าในเดือน ม.ค. มีเครื่องบินประสบอุบัติเหตุ 9 ครั้ง เดือน ก.พ. 6 ครั้ง เดือน มี.ค. 9 ครั้ง เดือน เม.ย. 10 ครั้ง เดือน พ.ค. 8 ครั้ง เดือน มิ.ย. 10 ครั้ง เดือน ก.ค. 9 ครั้ง เดือน ส.ค. 8 ครั้ง เดือน ก.ย. 6 ครั้ง เดือน ต.ค. 10 ครั้ง เดือน พ.ย. 4 ครั้ง และเดือน ธ.ค. 13 ครั้ง สถิติย้อนหลัง 2549-2559สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2549-2559 พบว่าในด้านจำนวนอุบัติเหตุนั้น ในปี 2549 มีอุบัติเหตุ 193 ครั้ง ปี 2550 มีอุบัติเหตุ 171 ครั้ง ปี 2551 มีอุบัติเหตุ 190 ครั้ง ปี 2552 มีอุบัติเหตุ 163 ครั้ง ปี 2553 มีอุบัติเหตุ 162 ครั้ง ปี 2554 มีอุบัติเหตุ 155 ครั้ง ปี 2555 มีอุบัติเหตุ 156 ครั้ง ปี 2556 มีอุบัติเหตุ 139 ครั้ง ปี 2557 มีอุบัติเหตุ 122 ครั้ง ปี 2558 มีอุบัติเหตุ 122 ครั้ง และปี 2559 มีอุบัติเหตุ 102 ครั้ง ส่วนในด้านจำนวนผู้เสียชีวิต ในปี 2549 มีผู้เสียชีวิต 1,298 คน ปี 2550 มีผู้เสียชีวิต 981 คน ปี 2551 มีผู้เสียชีวิต 952 คน ปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 1,108 คน ปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 1,130 คน ปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 828 คน ปี 2555 มีผู้เสียชีวิต 800 คน ปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 459 คน ปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 1,328 คน ปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 898 คน และปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 629 คน *รายงานชิ้นนี้ใช้ข้อมูลจาก Bureau of Aircraft Accidents Archives (B3A) ซึ่ง B3A รวบรวมเฉพาะข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของเครื่องบินโดยสารและขนส่ง ไม่ได้รวมการประสบอุบัติเหตุของเครื่องบินรบ เครื่องบินซ้อมรบ และเฮลิคอปเตอร์ไว้ในสถิตินี้ โดยเข้าถึงข้อมูลออนไลน์จากเว็บไซต์ www.baaa-acro.com เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2560 ซึ่งข้อมูลตัวเลขอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
อ่าน “ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน” ของโบฮุมิล ฮราบัล Posted: 18 Mar 2017 10:09 PM PDT หากว่าตามคำของชไลเออร์มาเคอร์ นักปรัชญาศาสตร์การตีความโรแมนติกแล้ว การแปลคือ 'การนำผู้อ่านเข้าหาผู้แต่ง' หรือ 'การนำผู้แต่งไปหาคนอ่าน' ในกรณีแรกคือการแปลโดยยึดตัวบทเป็นหลัก อย่างหลังคือการแปลโดยเน้นความคุ้นเคยของวัฒนธรรมภาษาปลายทาง ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน เป็นเรื่องราวของฮัญจา ซึ่งเป็นคนงานอัดบดกระดาษขยะในกรุงปราก เขาเป็นคนรักการอ่าน แต่กลับมีหน้าที่ทำลายหนังสือ บริบททางสังคมในช่วงนั้นคือสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกีย (ค.ศ. 1948-1990) มีนโยบายขจัดหนังสือและงานศิลปะที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจเผด็จการ ฮัญจาทำงานบดอัดกระดาษเป็นเวลาถึงสามสิบห้าปี ในท่ามกลางความโดดเดี่ยวนั้นเขาได้อ่านหนังสือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานปรัชญา รวมทั้งเขายังได้ซาบซึ้งกับงานศิลปะชิ้นเอกในรูปของงานผลิตซ้ำ แม้แต่งานผลิตซ้ำที่ถูกบีบอัดจนบิดเบี้ยวแล้ว ภาพของโกแกงก็ยังสร้างความประทับใจได้ ฮัญจาเองไม่ได้มองว่าการบดอัดกระดาษที่เขาทำเป็นการทำลาย หากแต่เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ย่อมสะท้อนว่าแม้มีพื้นที่และโอกาสจำกัดแคบยิ่ง คนเราก็ไม่ยอมทิ้งความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ แม้หลายครั้งเขาจะแสดงท่าทีกังขาต่อมนุษยธรรมในเพื่อนมนุษย์อยู่ซ้ำๆจนดูเมือนจะเป็นโมทีฟของเรื่องก็ตาม ผู้แปลเองได้กล่าวไว้ในคำนำว่าผู้อ่านไทยอาจจะพบอุปสรรคในการอ่านนวนิยายเรื่องนี้ เนื่องจากความแตกต่างทางสังคมการเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึงศาสนา ศิลปะและปรัชญา ผมคิดว่าความข้อนี้มิได้เกินเลยแต่อย่างใด ในด้านของบริบททางสังคมการเมืองนั้น ผู้แปลได้เขียน "บทแนะนำ" อันมีประโยชน์อย่างยิ่งไว้ในตอนท้ายหนังสือ แต่สำหรับแนวคิดทางปรัชญาและเทววิทยานั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว ที่กล่าวมาดูเหมือนว่านวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้จะหินและแห้ง ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ การดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ชวนติดตามอย่างยิ่ง เรื่องราวความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นความรักโรแมนติกระหว่างฮัญจากับผู้หญิงที่เขารัก ผู้แต่งก็เล่นกับ 'ขี้' เสียจนมันกลายเป็นสิ่งที่มีลักษณะเชิงสุนทรียะขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง การเอ่ยชื่อปรัชญาหรือผลงานของนักปรัชญา มิใช่เพียงการเอ่ยวิสามานยนามเท่านั้น แต่คำนามเหล่านี้ล้วนบีบอัดนัยทางปรัชญาอันลุ่มลึก รวมทั้งคำที่เป็นแนวคิดอย่าง 'ไดโอนีเชียน' ซึ่งแสดงนัยปรัชญาของฟรีดริช นีทเชอ ที่มุ่งอธิบายแรงผลักดันสองด้านที่ก่อให้เกิดศิลปะอันล้ำเลออย่างละครโศกนาฏกรรมกรีก นั่นคือ ไดโอนีเชียนกับอพอลโลเนียน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้คนอ่านที่ไม่คุ้นเคยปรัชญาตะวันตกเข้าใจตัวงานได้ยาก ทางออกที่มักจะทำกันคือการทำเชิงอรรถอธิบายความ แต่ในฉบับแปลนี้ทางสำนักพิมพ์ไม่ได้ตัดสินใจทำเช่นนั้น ซึ่งน่าจะทำถูกแล้ว หาไม่ตัวเชิงอรรถจะยาวกว่าตัวบทนวนิยายอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากจะถือตามที่ผู้แปลได้เกริ่นแนวทางการอ่านเอาไว้ในบทนำ ซึ่งแนะให้เราอ่านโดยใช้ใจสัมผัส เพราะตัวนักประพันธ์เองก็หาได้มุ่งยัดเยียดคุณค่าหรือแนวคิดทางการเมือง นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ดูจะเป็นเสียงตอบโต้เผด็จการได้อย่างแยบยล วัฒนธรรมหนังสือหรือวัฒนธรรมการอ่านดูจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะตอบโต้เผด็จการด้วยความคิด การเอ่ยอ้างนักปรัชญาเยอรมันอย่างคานท์ที่เชื่อในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเหตุผลอันเป็นรากฐานสำคัญของแนวคิดทางจริยศาสตร์ของเขา การกล่าวถึงนักปรัชญาเยอรมันอย่างเฮเกลที่เห็นว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือการคลี่คลายให้เห็นถึงเสรีภาพของมนุษย์อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐสมัยใหม่ หรือกวี/นักปรัชญาโรแมนติกเยอรมันอย่างชิลเลอร์ที่เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเหตุผลของมนุษย์อาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องเน้นอีกด้านคืออารมณ์ความรู้สึก สุนทรียศึกษาจึงควรจะมีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะมนุษย์ รากฐานทางความคิดเหล่านี้ มิใช่ว่าจะลงรอยหรือเห็นพ้องต้องกัน เนื่องจากนักคิดนักปรัชญามีข้อเสนอของตนซึ่งหลายกรณีเห็นแย้งกับกันเอง แต่นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ได้ตอกย้ำให้เห็นว่าตราบใดที่มีการอ่าน การครอบงำทางความคิดก็สัมฤทธิ์ผลได้ไม่ง่าย เนื่องจากมีการเปรียบเทียบหรือบทสนทนาทางความคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา ตัวอย่างที่ชวนขบขันคือตอนที่ฮัญจาวาดภาพพระเยซูเป็นหนุ่มไฟแรงและเล่าจื๊อเป็นชายชราผู้ล้าโรย "ศาสนาเปรียบเทียบ" ฉบับกระเป๋า ที่พรรณนาโดยโวหารของนักเขียนในที่นี้ก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะดังกล่าวได้ดี นอกจากนี้ ใช่ว่าฮัญจา จะเป็นดื่มด่ำหรือเชื่อนักปรัชญาไปเสียทั้งหมด หลายครั้งเขาแสดงท่าทีเสียดสีนักปรัชญาเหล่านี้ด้วยซ้ำ อย่างเช่นมีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาบอกว่าถ้าหากให้เฮเกลกับโชเพนฮาวร์มานำทัพแล้วละก็ จะต้องลงเอยที่หายนะเป็นแน่ การนำนักปรัชญาจิตนิยมเยอรมันที่เป็นคู่แข่งกันมาล้อเล่นเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่นักอ่านที่จะถูกครอบงำได้โดยง่าย (ที่จริงแล้วโชเพนฮาวร์เคยจัดชั่วโมงบรรยายให้ตรงกับเฮเกลเพื่อวัดกันดูสักตั้งว่าใครจะแน่กว่ากันโดยดูที่จำนวนนักศึกษาที่มาฟังบรรยาย) มุกขบขันบางอย่างก็เกิดจากการนำคำพูดของนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่มาล้อเลียน มีอยู่ตอนหนึ่งที่ฮัญจานำคำพูดของคานท์ที่เจ้าตัวเอ่ยด้วยน้ำเสียงเหมือนจะชื่นชมในตอนต้น แต่เขากลับนำมาล้อเลียนในตอนท้ายกลายเป็นคำบ่นเรื่องการงานอันไม่สิ้นสุดของเขา (ซึ่งเขาเปรียบเทียบกับงานเข็นก้อนหินของซิซิฟัสในงานเขียนของกามูส์ เมื่อเข็นไปถึงยอดปลาย หินก็ตกลงมาให้เข็นขึ้นไปอีก) นวนิยายเรื่องนี้ยังสะท้อนความห่วงกังวลต่อกระบวนการเข้ารีตหรือล้างสมองต่อเยาวชน ดังจะเห็นได้จากตอนที่นักเรียนช่วยกันอย่างขะมักเขม้นในการรื้อปกหนังสือแล้วโยนเข้าไปในเครื่องบีบอัดไฮโดรลิกกระดาษโดยมิพักต้องอ่าน ใช่หรือไม่ที่เผด็จการมุ่งเซ็นเซอร์หรือกวาดล้างหนังสือและงานศิลปะที่เป็นปฏิปักษ์กับตนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดการความคิดและความทรงจำ วรรณกรรมของโบฮุมิล ฮราบัล เรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างของการวิพากษ์อุดมการณ์ทางอ้อม เพื่อที่จะเตือนให้เราไม่ถลำลึกไปกับโฆษณาชวนเชื่อจนหันไปในทิศทางเดียวกันโดยไม่คิด ในตอนท้ายก่อนจบเรื่อง ฮัญจา ได้เอ่ยถึงนักปรัชญาสโตอิกอย่างเซเนกา ซึ่งเป็นอาจารย์และที่ปรึกษาของจักรพรรดิเนโร ในบั้นปลายชีวิตของเขานั้นถูกจักรพรรดิเนโรสั่งลงโทษด้วยการกรีดเส้นโลหิตให้เลือดไหลออกจากร่างจนตาย โดยข้อกล่าวหาคือการพยายามลอบสังหาร (ที่จริงแล้วผู้มีส่วนสมคบคิดคือหลานของเขา) เซเนกาในช่วงปัจฉิมวัยยินดีตายเพื่อรักษา "ความจริง" เอาไว้ เฉกเช่นที่โสเครตีส นักปรัชญากรีกก็ยอมรับโทษประหาร แทนที่จะหนีเอาตัวรอดตามคำเชื้อเชิญของมิตรสหาย ฮัญจาพูดว่า "กูกลับขอเลือกเป็นสาวกเดินตามรอยเท้าของเซเนกาและโสเครติส" (น. 116) มีนักทฤษฎีเสนอว่า การแปลย่อมมีนัยทางการเมืองอยู่เสมอ นั่นคือ การแปลมักจะตอบโจทย์ต่อภาษาปลายทางด้วยเช่นกัน นั่นคือ 'การนำผู้แต่งไปหาผู้อ่าน' แต่ไม่ว่าเจตนาของผู้แปลจะเป็นเช่นไร ใน พ.ศ. นี้ ความเปลี่ยวดายอันกึกก้องเกินต้าน ฉบับภาษาไทยช่างเหมาะกับห้วงยามเช่นนี้ของประเทศไทยอย่างยิ่ง เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมาชิกกลุ่ม Black Circle
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
สรุปค้น 9 จุดเครือข่าย 'โกตี๋' ภาคกลาง-อีสาน รวบ 8 ผู้ต้องสงสัย Posted: 18 Mar 2017 09:58 PM PDT สรุปปฏิบัติการ ตร.- ทหาร สนธิกำลังลุยคุ้น 9 จุด ในภาคกลาง และ อีสาน เครือข่าย 'โกตี๋' ผู้ต้องสงสัยคดีครอบครองอาวุธ-อั้งยี่ซ่องโจร-เตรียมการสร้างสถานการณ์ ด้านโฆษกรัฐบาลปัดจัดฉากพบอาวุธสงครามบ้านเครือข่ายโกตี๋ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2560 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบก.ป. หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช. และกำลังทหารร่วมปฏิบัติการตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 9 จุด หลังสืบทราบว่า เป้าหมายทั้ง 9 จุดนั้น มีการซุกซ่อนอาวุธปืนและอาวุธสงครามจำนวนมาก โดยเป้าที่ 1 จับกุม นายธีรชัย อุตรวิเชียร (ระพิน) ได้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม เวลา 06.00 น. หลัง ทหาร และ ตร. เข้าตรวจค้นบ้านพักของ นายธีรชัย อุตรวิเชียร (ระพิน) บ้านเลขที่ 1/16 หมู่ 6 ถ.ลำลูกกา 11 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี แนวร่วมหัวรุนแรงกลุ่มของ นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยคดีครอบครองอาวุธสงคราม อั้งยี่ซ่องโจร และเตรียมการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ทั้งนี้จากการตรวจค้นบ้านพักของ นายธีรชัย พบสิ่งของผิดกฎหมาย ได้แก่ 1. M16 จำนวน 4 กระบอก 2. เครื่องยิงลูกระเบิด M79 จำนวน 1 กระบอก 3. ปืนคาร์บิน จำนวน 1 กระบอก 4. ปืนลูกซองยาว จำนวน 1 กระบอก 5. กระสุนลูกซอง จำนวน 160 นัด 6. ลูกกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.จำนวน 4,566 นัด 7. ลูกกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. ซ้อมรบ จำนวน 8 นัด 8. ลูกกระสุนปืนขนาด .22 นิ้ว จำนวน 220 นัด 9. ลูกกระสุนปืนขนาด 7.62 มม. จำนวน 235 นัด 10. ลูกกระสุนปืนขนาด .45 นิ้ว (11 มม.) จำนวน 189 นัด 11. ลูกกระสุนปืนขนาด .38 นิ้ว จำนวน 78 นัด 12. ลูกกระสุนปืนขนาด .38 นิ้ว ซุปเปอร์ จำนวน 33 นัด 13. ลูกกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 38 นัด 14. ปลอกลดเสียง เอ็ม 16 จำนวน 3 อัน 15. ซองกระสุนปืน จำนวน 7 ซอง 16. กล้องสไนเปอร์ จำนวน 1 อัน 17. ขาทรายปืน จำนวน 1 อัน 18. ลูกระเบิด M79 จำนวน 8 นัด (LOT 1-12) 19. ลูกระเบิดขว้าง SFG75 จำนวน 1 ลูก 20. ลูกระเบิดขว้าง RGD5 จำนวน 10 ลูก และ เรือนชนวน จำนวน 16 อัน 21. ซองปืนพกขนาด 11 มม. จำนวน 1 ซอง 22. มีดดาบ จำนวน 12 เล่ม 23. เครื่องช็อตไฟฟ้า จำนวน 1 เครื่อง 24. วิทยุสื่อสาร ว.ดำ จำนวน 7 เครื่อง 25. วิทยุสื่อสาร ว.เเดง จำนวน 1 เครื่อง 26. พลั่วสนาม จำนวน 1 อัน 27. ป้ายทะเบียน จำนวน 2 ป้าย หมายเลขทะเบียน ภศ 8064 กรุงเทพฯ และ กธ 5011 ลพบุรี 28. เสื้อเกราะกันกระสุน จำนวน 1 ตัว 29. ยาบ้า จำนวนหนึ่ง ขณะที่เป้าที่ 2 จับกุม นายประเทือง อ่อนละมูล ได้เมื่อเวลา 06.00 น. จนท.ทหาร เข้าตรวจค้นบ้านพักของ นายประเทือง อ่อนละมูล เลขที่ 18/2 หมู่ 8 ต.ยางช้าย อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ พบสิ่งของต้องสงสัย ที่ตรวจยึดไว้ ประกอบด้วย 1. เอกสาร รร.นปช. เมื่อ 9 ต.ค.52 2. วิทยุสื่อสารแบบพกพา (ICOM) จำนวน 2 เครื่อง 3. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง 4. เมมโมรี่การ์ด จำนวน 2 อัน เป้าที่ 3 จับกุม นางปาลิดา เรืองสุวรรณ ได้เมื่อเวลา 07.00 น. จนท.ทหาร เข้าตรวจค้นบ้านพักของ นางปาลิดา เรืองสุวรรณ เลขที่ 106/19 หมู่บ้านชวนชื่นบรู๊คไซด์ ซอยชวนชื่น 10 ต.บางคูวัด จ.ปทุมธานี ผู้ต้องสงสัยเตรียมก่อเหตุสร้างสถานการณ์ พบเอกสารต้องสงสัย ดังนี้ 1. เอกสารลายมือเกี่ยวกับการจัดตั้งกองกำลัง และ ใบบันทึกรายการอาวุธของกลุ่ม 2. ซีดีเพลงที่อาจจะเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน 3. เอกสารเนื้อหาคำแถลงการณ์เกี่ยวกับ นักรบประชาธิปไตย 4. บัตรประจำตัว นปช. 5. บัตรกลุ่ม นปช.มหาสารคาม 6. รูปถ่ายร่วมกับกลุ่ม นปช. 7. เอกสารอื่นๆ จำนวนมาก เป้าที่ 4 จับกุม จ.ส.อ.ธนโชติ วงศ์จันทร์ชมภู เมื่อเวลา 05.30 น. จนท.ทหาร เข้าตรวจค้นบ้านพักของ จ.ส.อ.ธนโชติ วงศ์จันทร์ชมภู เลขที่ 8 หมู่ 6 บ้านสามขา ต.กองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือ จำนวน 3 เครื่อง เป้าที่ 5 จับกุม นายสุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล ได้เมื่อ เวลา 06.30 น. จนท.ทหาร / ตร. ได้นำหมายจับที่ 10/2560 แสดงต่อ นายสุริยศักดิ์ ฉัตรพิทักษ์กุล ชาวสุรินทร์ อายุ 49 ปี ที่อยู่ตาม ทร.14 เลขที่ 273,275 ถ.เทศบาล 3 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ในฐานความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ที่บ้านเลขที่ 21/1 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ทั้งนี้ จากการตรวจค้นภายในบ้าน ปรากฏสิ่งของดังนี้ 1. แผ่นซีดีกิจกรรมเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง 2. แผ่นตราสัญลักษณ์ นปช.จังหวัดสุรินทร์ 3. อาวุธปืนลูกโม่ .38 ขนาดลำกล้อง 4 นิ้ว 1 กระบอก ไม่มีลูกกระสุน 4. โทรศัพท์มือถือยี่ห้อซัมซุง รุ่น DUOS จำนวน 1 เครื่อง 5. สมุดธนาคารกรุงเทพ จำนวน 1 เล่ม 6. กระเป๋าสตางค์ พร้อมบัตร ปชช. และใบขับขี่ โดย จนท. ได้เชิญตัวไปสอบสวนเพิ่มเติม และนำวัตถุพยานส่งตรวจสอบต่อไป เป้าที่ 6 จับกุม นายบุญส่ง คชประดิษฐ์ ได้ จนท. เข้าตรวจค้นบ้าน นายบุญส่ง คชประดิษฐ์ ที่ จ.นครราชสีมา พบ 1. อาวุธปืนยาว จำนวน 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน 2. อาวุธปืนพกสั้น จำนวน 1 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน 3. ชิ้นส่วน และส่วนควบอาวุธปืนจำนวนหลายรายการ อาทิ พลุส่องสว่าง และ กล้องสไนเปอร์ 4. เอกสารและซีดีกิจกรรม กลุ่ม นปช. ในบ้านพักจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันกำลังตรวจสอบพื้นที่รอบบ้านโดยละเอียด และจะใช้เครื่องตรวจโลหะเพื่อคันหาอาวุธที่อาจซุกซ่อนฝังดินในฟาร์มของนายบุญส่งต่อไป เป้าที่ 7 จับกุม นายวันไชยชนะ ครุฑไชยันต์ เมื่อเวลา 06.00 น. จนท.ทหาร และ ตร. เข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 119/116 (หมู่บ้านสวัสดิการศูนย์การทหารราบ) หมู่ 9 ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่พักของ นายวันไชยชนะ ครุฑไชยันต์ อายุ 56 ปี เครือข่ายบุคคลเป็นภัยต่อความมั่นคง ภายในบ้านพบ นายวันไชยชนะ พักอาศัยอยู่กับ นางษุศรา สง่าเพ็ชร (ภรรยา) และ มารดา (มารดานางษุศรา) ผลการตรวจค้นพบ 1. สิ่งเทียมอาวุธปืน (บีบีกัน) จำนวน 8 กระบอก 2. แม็กกาซีน (บีบีกัน) จำนวน 25 ซอง 3. อาวุธปืนลูกซอง ขนาด เบอร์ 12 จำนวน 1 กระบอก 4. ปืนพกสั้น ยี่ห้อกล็อก ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก 5. ซองปืนพกสั้น จำนวน 3 ซอง 6. เครื่องกระสุนปืน ขนาด เบอร์ 12 จำนวน 29 นัด 7. เครื่องกระสุนปืน ขนาด 9 มม. จำนวน 26 นัด 8. เครื่องกระสุนปืน ขนาด .22 มม. 50 นัด 9. โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อไอโฟน 4S จำนวน 1 เครื่อง 10. โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อซัมซุง จำนวน 1 เครื่อง 11. แท็บเล็ต ยี่ห้อซัมซุง จำนวน 1 เครื่อง 12. โน้ตบุ๊ค ยี่ห้อ HP จำนวน 1 เครื่อง 13. เครื่องคอมพิวเตอร์ (PC) จำนวน 4 เครื่อง 14. แอร์การ์ด จำนวน 1 อัน 15. เมมโมรีการ์ด จำนวน 1 อัน 16. ฮาร์ดดิสก์บันทึกกล้องวงจรปิด 3 เครื่อง 17. พลุควัน (ไปร์ทบอม) 5 อัน จนท. จึงได้ทำการตรวจยึด และควบคุมตัวนายวันไชยชนะ เพื่อสอบสวนขยายผลต่อไป เป้าที่ 8 จับกุม นายอุดมชัย นพสวัสดิ์ (แสนรัก) ได้ เมื่อเวลา 07.00 น. จนท.ทหาร และ ตร. ได้ร่วมกันตรวจค้นที่พัก และยานพาหนะ หมายเลขทะเบียน ชฐ 3822 กรุงเทพฯ ซึ่ง นายอุดมชัย อ้างว่า ซื้อต่อมาจาก นายธีรชัย อุตรวิเชียร (ระพิน) ในราคา 30,000 บาท ซึ่งจอดอยู่หน้าที่พักในซอยรังสิต-นครนายก 33 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นรถทะเบียนปลอม และพบยาบ้า 1 ถุง ซุกซ่อนอยู่ใต้เบาะด้านหลังคนขับ และจะตรวจค้น จยย. อีก 2 คันที่เหลือต่อไป ขณะที่เป้าหมายที่ 9 นั้น ไปค้นแถวบางพลี จ.สมุทรปราการ โฆษกรัฐบาลปัดจัดฉากพบอาวุธสงครามบ้านเครือข่ายโกตี๋ 19 มี.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบุกเข้าตรวจค้นบ้านพักของเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำกลุ่มการเมืองฮาร์ดคอร์ จ.ปทุมธานี และพบระเบิด อาวุธสงคราม เครื่องกระสุนปืนจำนวนมาก รวมทั้งเอกสารสำคัญ เช่น สมุดบัญชีธนาคาร พาสปอร์ต ว่า ของกลางทั้งหมดเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า มีการครอบครองสิ่งผิดกฎหมายซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิด และเป็นอันตรายต่อสังคม โดยเจ้าหน้าที่จะต้องรวบรวมไว้เป็นหลักฐานและสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ การครอบครองอาวุธสงคราม ระเบิด และเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวถือเป็นภัยด้านความมั่นคงของประเทศ รัฐบาลจึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ปฏิบัติการอย่างตรงไปตรงมาและหาตัวผู้ครอบครองมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่อยากจะเชื่อมโยงหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต ซึ่งเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดของคนไทย ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไปด้วยกฎหมาย ผู้กระทำผิดทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนความเห็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่อาจมีการจัดฉากใส่ร้ายนายโกตี๋ เนื่องจากอาวุธสงครามและกระสุนปืนมีลักษณะค่อนข้างใหม่ และเจ้าของบ้านไม่ได้อาศัยอยู่นานแล้วนั้น พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนและเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่ง และขณะเข้าปฏิบัติการก็มีสื่อมวลชนร่วมเป็นพยานจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่ครอบครองอาวุธเหล่านี้ได้เก็บทุกอย่างไว้ในกล่องที่ปิดผนึกและซุกซ่อนไว้ในที่ลับเฉพาะ ทำให้ของกลางทั้งหมดดูใหม่ จึงไม่ใช่การจัดฉากแต่อย่างใด ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
Posted: 18 Mar 2017 09:41 PM PDT
ควงไขไปถล่มคน ด่าวดิ้น ไขความลับใน มนตร์มนุษย์ ควงไขใส่สมองสิ้น สับสนสาบสูญ
จ่อมจมมหาสมุทร สุดใต้ เรือดำน้ำอาวุธน่าขำ ขันฮา ใช้ไขควงก็ได้ ดำดิ่งดั่งหวัง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
โพลล์เผยความทุกข์ประชาชน 80% คือเศรษฐกิจแย่ หนุนใช้ ม.44 ช่วงสงกรานต์ Posted: 18 Mar 2017 09:30 PM PDT 'สวนดุสิตโพลล์' ระบุความทุกข์ที่ได้จากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือ เศรษฐกิจแย่ ข้าวของแพง ประชาชนลำบาก 80.15% ตรวจสอบการทำงานได้ยาก 73.87% ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 64.57% ด้าน 'ซูเปอร์โพลล์' ระบุคนหนุนใช้ ม.44 ช่วงสงกรานต์คุมไม่ให้คนเมาขับรถ 85.6% 19 มี.ค. 2560 สวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กับรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง" จำนวนทั้งสิ้น 1,194 คน ระหว่างวันที่ 14 - 18 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ระหว่าง "รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กับรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง" ประชาชนฝากความหวังไว้กับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มากกว่า ร้อยละ 53.27 รองลงมาไม่ฝากความหวังกับรัฐบาลทั้ง 2 แบบ ร้อยละ 18.59, ฝากความหวังกับรัฐบาลที่มาจากนักการเมืองมากกว่า ร้อยละ 14.82 และฝากความหวังกับรัฐบาลทั้ง 2 แบบพอๆกัน ร้อยละ 13.32 ทั้งนี้ ความสุขที่ประชาชนได้จาก"รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์" คือ การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ยาเสพติด ร้อยละ 79.65 รองลงมาบ้านเมืองสงบสุข ไม่มีความวุ่นวาย ร้อยละ 76.13 และทำงานเด็ดขาด ตรงไปตรงมา ร้อยละ 74.37 โดยในส่วนความทุกข์ที่ได้จาก"รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์" คือ เศรษฐกิจแย่ ข้าวของแพง ประชาชนลำบาก ร้อยละ 80.15 รองลงมา ตรวจสอบการทำงานได้ยาก ร้อยละ 73.87 และ ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 64.57 นอกจากนี้ ความสุขที่ประชาชนได้จาก"รัฐบาลที่มาจากนักการเมือง" คือ เป็นประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพ ร้อยละ 70.85 รองลงมาฟังเสียงประชาชน ใกล้ชิด ลงพื้นที่ ร้อยละ 65.08 และ ตรวจสอบการทำงาน วิพากษ์วิจารณ์ได้ ร้อยละ 61.31 โดยในส่วนความทุกข์ที่ได้จาก"รัฐบาลที่มาจากนักการเมือง" คือ ทุจริตคอรัปชั่น โกงกิน ไม่โปร่งใส ร้อยละ 83.42 รองลงมา ขาดคุณธรรม เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ร้อยละ 81.66 และ ทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก ร้อยละ 77.89 หนุนใช้ ม.44 ช่วงสงกรานต์คุมไม่ให้คนเมาขับรถ ด้านชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "โพลล์กังวลเจอคนขับรถไม่ดี คนเมาแล้วขับ บนถนนเส้นทางเดียวกัน กับ มาตรา 44 คุมเข้มอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์" จากกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,499 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 13 - 18 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า คนขับรถมอเตอร์ไซต์จำนวนมากสูงถึง ร้อยละ 52.9 ตั้งใจจะดื่มเบียร์ ร้อยละ 48.9 ตั้งใจจะดื่มเหล้า แสดงให้เห็นว่าในกลุ่มคนขับรถมอเตอร์ไซต์บางส่วนตั้งใจจะดื่มทั้งเหล้าและเบียร์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ในขณะที่ คนขับรถยนต์จำนวนมากเช่นกันตั้งใจจะดื่มเบียร์ ร้อยละ 46.6 และจะดื่มเหล้า ร้อยละ 41.9 ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มทั้งที่เป็นคนขับรถยนต์ ขับรถมอเตอร์ไซต์และกลุ่มคนไม่ขับ ร้อยละ 82.3 ร้อยละ 82.7 และร้อยละ 84.6 ระบุมีโอกาสจะเจอกับคนเมาแล้วขับบนถนนเส้นทางเดียวกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.9 กังวล คนขับรถไม่ดี คนเมาแล้วขับ บนถนนเส้นทางเดียวกัน ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ทำลายความสุขของคนไทย โดยในส่วนการใช้ มาตรา 44 คุมคนเมาแล้วขับ ให้ตำรวจตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์คนขับที่เกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ทุกรายไม่มียกเว้น ไม่ต้องใช้ดุลพินิจ ไม่ต้องเปิดช่องให้คนเมาแล้วขับหลุดรอด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 เห็นด้วย ในขณะที่ ร้อยละ 14.4 ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 เห็นด้วยกับมาตรการคุมเข้ม บริษัทประกันไม่ต้องจ่ายให้ฝ่ายคนเมาแล้วขับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
10 ปีล้างไตช่องท้อง รพ.อยุธยา ประสบความสำเร็จ ช่วยยืดชีวิตผู้ป่วย Posted: 18 Mar 2017 09:05 PM PDT โครงการนำร่องล้างไตผ่านช่องท้องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบ 10 ปีล้างไตช่องท้อง รพ.อยุธยา ประสบความสำเร็จ ยืดอายุการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มาก เหตุให้ความใส่ใจ เยี่ยมคนไข้ถึงบ้าน เน้นดูแล "กาย-จิต-สังคม" 19 มี.ค. 2560 พญ.เสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไตรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังและล้างไตทางช่องท้องมากว่า 14 ปี ประจำโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังจากทางโรงพยาบาลได้เข้าร่วมโครงการนำร่องล้างไตผ่านช่องท้องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งนำร่องร่วมกับ 25 โรงพยาบาลทั่วประเทศ มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเมื่อปี 2550 พบว่า สามารถช่วยยืดอายุการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้มาก โดยอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องที่โรงพยาบาลดูแลอยู่ ในปีที่ 1, 3, 5 และ 10 ปีเท่ากับ 91.81%, 80.41%, 77.78% และ 76.90% ตามลำดับ ทั้งนี้ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากโรงพยาบาลเน้นดูแลครบทุุกกระบวนการตั้งแต่ก่อนผ่าตัดกระทั่งหลังจากผู้ป่วยต้องไปล้างไตเองที่บ้าน โดยได้ส่งทีมแพทย์ไปดูแลและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคไตจะมีความรู้สึกเศร้า หมดหวัง หมดกำลังใจ ญาติพี่น้องทอดทิ้ง เมื่อได้กำลังใจ การดูแลตัวเองก็จะดีขึ้น พญ.เสาวลักษณ์ เล่าที่มาโครงการว่า เมื่อก่อนถ้าผู้ป่วยเป็นโรคไต ถ้าไม่มีเงินรักษา ก็จะเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการล้างไต แต่เมื่อ สปสช.มีโครงการนี้โดยให้คนไข้ที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง สามารถมาล้างไตทางหน้าท้องได้ก็ช่วยได้มาก อีกทั้งโดยปกติผู้ป่วยโรคไตเมื่อเป็นได้ 5 ปีจะเสียชีวิตไปครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่มาจากโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจกำเริบ เลือดออกในสมอง แต่โรงพยาบาลสามารถแก้ปัญหาได้ดี เพราะหลังผ่านไป 5 ปี คนไข้ยังอยู่รอดที่ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากโรงพยาบาลป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อ จนพบว่า 47 เดือนถึงจะติดเชื้อครั้งหนึ่งจากปกติอยู่ที่ 18-20 เดือน ซึ่งตรงนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลทางอ้อมด้วย อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าช่วงแรกที่ดูแล อัตราการตายของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์สูง เพราะคนไข้ที่มาอยู่ในสภาพย่ำแย่ ช่วงหลังทางโรงพยาบาลทำงานเป็นระบบ พร้อมกับคัดกรองผู้ป่วย และแนะนำกับคนไข้ตั้งแต่แรกว่า บัตรทองยังใช้ได้และควรล้างไตด้วยการวางสายล้างไตทางหน้าท้อง หลังจากวางสายก็มีทีมพยาบาลสอนผู้ป่วยเรื่องสุขอนามัย การล้างมือ การรับประทานอาหาร และการปล่อยน้ำยาเข้าออก รวมถึงสอนญาติเพราะต้องดูแลผู้ป่วยด้วย เนื่องจากคนไข้คนเดียว บางทีดูตัวเองก็ทำไม่ไหว ต้องให้ญาติช่วยสลับกันดูแล เราเห็นว่าถ้ามีผู้ดูแลที่ดี ผลการรักษาก็จะดี ช่วยกันดูแลทั้งครอบครัว สุขภาพจิตผู้ป่วยก็จะดีขึ้น ไม่ถูกทอดทิ้ง ทั้งนี้หลังจากที่เราวางสายไปแล้ว จากนั้น 1 เดือน จะส่งพยาบาลที่สอนเรื่องการล้างไต ร่วมกับเจ้าหน้าที่อนามัยไปเยี่ยมที่บ้านผู้ป่วยครบทุกคน เพราะปัญหามักจะเกิดหลังจากวางสายไปแล้ว 1 เดือน แต่ถ้าเราวางระบบให้ดี ก็จะดีไปตลอด สำหรับการวางสายคือ ขั้นตอนการล้างไตทางหน้าท้อง โดยจะมีสายที่พับเก็บได้ในถุงหน้าท้องซ่อนอยู่ในเสื้อ น้ำยาล้างไตจะเหมือนถุงน้ำเกลือ แล้วต่อกับสายใส่เข้าไปในช่องท้อง น้ำยาถุงหนึ่งมี 2 ลิตร ปกติจะทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง ช่วงนั้นของเสียในร่างกาย จะแพร่เข้าไปในน้ำยา หลังครบ 4 ชั่วโมงก็ปล่อยน้ำยาที่ระบายออกทิ้ง แล้วก็ใส่น้ำยาถุงใหม่เข้าไป ทำอย่างนี้วันละ 4 ครั้ง พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวว่าทั้งหมดอยู่ที่การดูแลคนไข้ ที่ต้องดูแลทั้งกาย จิตและสังคม เพราะคนไข้มักจะถูกทอดทิ้งให้ทำเอง เขาจึงแย่ขึ้น โรงพยาบาลจึงเน้นให้ญาติเข้าไปช่วย ส่วนการดูแลทางสังคมคือ ช่วงที่คนไข้มาตรวจรับยาจะมีการเข้ากลุ่ม Health Group ให้เขาช่วยเหลือกัน "คนเราอยู่ด้วยกำลังใจ เพราะโรคนี้มันก็สุดๆ แล้ว แถมยังต้องไปทำเองวันละ 4 ครั้ง มันก็เหนื่อยจากการดูแลตนเอง การส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลที่บ้าน มันเป็นความร่วมมือกันหลังจากเห็นผลว่า คนไข้ดีขึ้น เหมือนมันมีกำลังใจให้ทำกันต่อ แต่ค่าตอบแทนมันก็ไม่มีและก็อาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารของโรงพยาบาลเป็นสำคัญ" พญ.เสาวลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน โรงพยาบาลดูแลคนไข้โรคไต 300 กว่าคน แต่ละเดือนจะมีคนไข้วางสาย 10 คน เมื่อวางสายแล้ว ก็จะเซ็ททีม แจ้งไปที่อนามัย และออกไปดูแล ซึ่งบางกรณีต้องขับออกไปก็ไกล 40 กม. แต่โดยเฉลี่ย โรงพยาบาลดูแลได้อย่างมาก 4 ครอบครัว หรือ 4 บ้าน ซึ่งก็เยี่ยมคนไข้ที่วางสายทุกคนร้อยเปอร์เซ็นซ์ ส่วนน้ำยาล้างไต สปสช.ก็ให้ไปรษณีย์ไทยไปส่งที่บ้าน น้ำยาหนักถุงละ 2 ลิตร ใช้ 4 ถุง ก็ใช้ 8 ลิตร ไปรษณีย์ส่งให้เดือนละครั้ง คนไข้ก็เบาแรงตรงนี้ ไม่ต้องหารถ เสียค่าใช้จ่ายมาขน ตรงนี้เป็นระบบที่ดีมาก และยังต่อเนื่องไปถึงการปลูกถ่ายไต ซึ่งโรงพยาบาลทำสำเร็จไปหลายคนแล้ว ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
บ.ฟาร์อีสปั่นทอฯ นครปฐม จ่ายช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ย้ายงานมา กทม. Posted: 18 Mar 2017 08:43 PM PDT นายจ้าง-พนักงาน บริษัท ฟาร์อีสต์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด จ.นครปฐม ทำข้อตกลงจ่ายช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ประสงค์ย้ายไปทำงานที่โรงงานสำนักงานใหญ่ที่ กทม. ในอัตราร้อยละ 55 ของเงินค่าชดเชยตามอายุงานที่พนักงานมีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ก่อนหน้านี้ปี 2559 บ.ฟาร์อีสปั่นทอฯ จ.บุรีรัมย์ ก็ปิดโรงงานย้ายมา กทม. เช่นกัน เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟาร์อีสต์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด และตัวแทนพนักงานของบริษัทฯ ได้ลงนามในบันทึกการเจรจา ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครปฐม โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันโดยสมัครใจในเรื่องการช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ประสงค์โยกย้ายไปทำงานที่โรงงานของบริษัทฯ สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และมีพนักงานสมัครใจที่จะลาออก โดยผลการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายมีดังนี้ ข้อ 1.บริษัทฯ ตกลงจ่ายช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ประสงค์ย้ายไปทำงานที่โรงงาน (สำนักงานใหญ่) ในอัตราร้อยละ 55 ของเงินค่าชดเชยตามอายุงานที่พนักงานมีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด จำนวน 6 งวด จ่ายเข้าบัญชีเงินค่าจ้างของพนักงานทุกเดือนภายในวันที่ 22 ของทุกเดือนจนครบ งวดแรกจ่ายวันที่ 22 เม.ย. 2560 ข้อ 2. บริษัทฯ และพนักงานตกลงให้พนักงานไม่ต้องมาปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2560 เป็นต้นไป และข้อ 3. กรณีบริษัทฯ ขาดชำระเงินช่วยเหลือตามข้อตกลงนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าเป็นการที่นายจ้างบอกเลิกจ้างพนักงานทันที ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2559 พนักงานกว่า 240 คน ของบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 5 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ และ การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่ที่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้ขอความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนต่อต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ หลังบริษัทฯ ได้ติดประกาศ จะย้ายสถานประกอบกิจการไปยังกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ต.ค. 2559 ซึ่งทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถย้ายตามไปทำงานตามที่ทางบริษัทประกาศได้ เนื่องจากประสบปัญหาค่าครองชีพ ระยะทางไกล พร้อมกับนายจ้างไม่ระบุถึงสวัสดิการที่พนักงานจะได้รับหากย้ายตามไปทำงานด้วย ทำให้พนักงานกว่า 240 คน ปฏิเสธที่ย้ายตาม และต่อมาพนักงานจำนวน 138 คน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของพนักงานหรือครอบครัว จึงขอเลิกสัญญาจ้างและให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งในเดือน ธ.ค. 2559 บริษัทฯ และพนักงานสามารถเจรจาตกลงกันได้โดยนายจ้างยินยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่พนักงานทั้ง 138 คน ๆ ละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,380,000 บาท พนักงานได้รับเงินแล้วจึงถอนคำร้องและยุติเรื่อง ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 120 ฉบับแก้ไข ปี 2551การย้ายสถานประกอบการ หมายถึงการที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงาน หรือย้ายสถานที่ทำงานทั้งหมดไปตั้ง ณ.สถานที่อื่น อันไม่ใช่สถานที่ทำงานเดิมหรือสถานที่ทำงานสาขาของนายจ้างซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งการย้ายสถานประกอบการในลักษณะนี้บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 120 ฉบับแก้ไข ปี 2551 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1. ย้ายสถานประกอบการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น 2. ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง 3. แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันย้าย 4. ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายจ้าง หรือ 5. ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ในวันกำหนดย้ายสถานประกอบการ 6. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ เท่ากับอัตราค่าชดเชยตามกฎหมาย (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงานฯ) มาตรา 118 7. ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง และ 8. กรณีนายจ้างไม่แจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท. To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 1600 Amphitheatre Parkway, Mountain View, CA 94043, United States |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น