โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

กลาโหมยันพ.ร.บ.กำลังสำรอง เรียกอายุไม่เกิน 45 ปี ฝึกแค่ 10 วัน เตือนพวกบิดเบือนเจอ พ.ร.บ.คอมฯ

Posted: 28 Mar 2017 12:38 PM PDT

กลาโหม ยัน พ.ร.บ.กำลังสำรอง ไม่ใช่การสร้างกองกำลังทางอำนาจใหม่ของกลาโหม เรียกชายไทย อายุไม่เกิน 45 ปี ไม่ใช่ 60 ปี ฝึกแค่ 10 วัน ไม่ใช่ 2 เดือน ส่วนผู้จบ รด. ปี 5 ปี 3 ทหารปลดกองประจำการแล้ว จะโทรเรียกมาขึ้นบัญชีและรับทราบถึงบัญชีบรรจุกำลังในหน่วยที่ตนสังกัด เตือนพวกบิดเบือนอาจโดน พ.ร.บ.คอมฯ 

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม 

28 มี.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม กล่าวถึงกรณีการบิดเบือน พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ปี 2558 ว่า เป็นระบบบริหารทรัพยากรบุคคลของชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศในภาพรวม ซึ่งทุกประเทศมีและใช้กันอยู่ แม้กระทั่งประเทศอาเซียน อย่างเช่น สิงคโปร์ ถือเป็นการนำบทบัญญัติของกฎหมายเดิมที่มีอยู่หลายฉบับมาปรับปรุงให้ทันสมัย รวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยเกิดความชัดเจน เข้าใจง่าย และไม่ให้มีการสร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่า "กระทรวงกลาโหมจะสร้างกองกำลังทางอำนาจใหม่"

โฆษกกลาโหม ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของงบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นส่วนหนึ่งของงานปฏิรูปกองทัพในระบบงานกำลังพล และกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ชายไทยที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี จะต้องเป็นกำลังพลสำรองนั้น ในข้อเท็จจริงของกฎหมาย คือ กองทัพจะทยอยเรียกเฉพาะกำลังพลสำรองที่มีบรรจุเข้าไปในบัญชีบรรจุกำลังของหน่วยทหารที่อายุไม่เกิน 45 ปีเท่านั้น

"กำลังพลเหล่านี้เป็นกำลังพลที่มีสถานะเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรกองหนุน หรือ รด. ปี 5, ทหารประเภทกองหนุนที่ 1 หรือ รด.ปี 3 นายทหารที่ปลดประจำการแล้ว รวมทั้งทหารกองหนุนประเภทที่สอง ถึงพวกที่จับใบดำในแต่ละปีเท่านั้น ซึ่งยอดรวมมีประมาณ 70,000 คน คิดเป็น 1 - 2 เปอร์เซ็นต์ของกำลังพลสำรองทั้งหมดเท่านั้น" พล.ต.คงชีพ กล่าว

โฆษกกลาโหม ระบุว่า ระบุอีกว่า ผู้ที่เรียนจบ รด. ปี 5 ปี 3 ทหารที่ปลดกองประจำการแล้ว จะโทรเรียกเข้ามาเพื่อขึ้นบัญชี และเข้ามาทำการรับรู้รับทราบถึงบัญชีบรรจุกำลังในหน่วยที่ตนสังกัด กฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้กำลังพลสำรองที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถสมัครเข้าเป็นกำลังพลสำรอง เข้ามารับราชการเป็นกำลังพลสำรองได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 เหล่าทัพ เรียกกำลังพลสำรองเพื่อตรวจสอบ จำนวน 1 วัน เพื่อฝึกวิชาทหาร โดยเฉลี่ยฝึกไม่เกิน 10 วัน จากเดิมที่ต้องฝึก 60 วัน แต่เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของงบประมาณ ฉะนั้น จะไม่มีการฝึกกำลังพลสำรอง 2 เดือน ตามที่เข้าใจ

บุคคลที่ไม่ได้รับการบรรจุรายชื่อในหน่วยทหาร ที่อายุเกินเกณฑ์ คือ ตั้งแต่ 46 ปีขึ้นไป จะไม่มีโอกาสในการเรียกเข้ามาฝึกวิชาทหาร นอกจากนั้น กำลังพลสำรองยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติประกอบอาชีพปกติและได้รับสิทธิ์เบี้ยเลี้ยง. ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ที่พัก, เสื้อผ้า เหมือนเช่น ข้าราชการทหารอื่นๆ

"ขอทำความเข้าใจ หากมีการเสนอข่าวในลักษณะนี้ ขอให้ใช้ข้อมูลที่ชี้แจงให้เป็นประโยชน์ และพร้อมที่จะทำความเข้าใจประชาชนทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาเดิมๆ จากการบิดเบือนข้อมูล, การนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน หรือความไม่เข้าใจ นำไปขยายผลสร้างการรับรู้ความเข้าใจในโลกโซเชียลมีเดียหรือเครื่องมือต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ประชาชนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ตื่นตัวรับรู้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการเสพข้อมูลโดยไม่มีเหตุผล และขนาดนี้เรามี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อยู่ด้วย" โฆษกกลาโหม กล่าว

ที่มา เพจ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ แจงเปิดกล้องวงจรปิด ปมวิสามัญฯ ชัยภูมิ ไม่ได้ เหตุกระทบต่อคดี

Posted: 28 Mar 2017 12:24 PM PDT

หลัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แฉมีกลุ่มทหารแทรกแซงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมแห่งชาติ จัดตั้งบรรษัทน้ำมัน พล.อ.ประยุทธ์  โต้ไม่มีแนวคิดให้ทหารควบคุมกิจการพลังงาน ยันดำเนินการตามกฎหมายหากมีการรวมกลุ่มประท้วง ย้ำต้องปฏิรูประบบการศึกษา

28 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่สังคมต้องการให้มีการเปิดเผยกล้องวงจรปิดวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวล่าหู่ ที่ถูกทหารวิสามัญฯ ว่า การเปิดเผยกล้องวงจรปิดกรณีดังกล่าวยังไม่สามารถเปิดเผยได้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว จึงจะสามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นพยานวัตถุ และจะกระทบต่อคดี ซึ่งตอนนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่ ขออย่ารีบตัดสิน หากพิสูจน์แล้วมีความผิดต้องลงโทษตามกฎหมายไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม

ไม่มีแนวคิดให้ทหารควบคุมกิจการพลังงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีออกมาระบุว่ามี กลุ่มทหารเข้ามาแทรกแซงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมแห่งชาติ โดยให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันขึ้นมาว่า ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ กฎหมายฉบับนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2557 พยายามจะออกมาก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามาตำแหน่ง แต่ยังออกไม่ได้ เพราะหลายฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกัน  ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้รับฟังและรวบรวมข้อคิดเห็นเหล่านั้นส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้คณะกรรมาธิการพลังงาน พิจารณา  

ส่วนที่มีการมองว่าแอบใส่การจัดตั้งบรรษัทน้ำมัน เพื่อหวังให้ทหารเข้าไปดำเนินการนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกรมพลังงานทหาร   ซึ่งมีหน้าที่จำกัด ไม่สามารถทำได้ และไม่มีใครคิดนำผลประโยชน์มาเป็นของทหาร  ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่า เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนจากหลายเครือข่ายเท่านั้น  โดยคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณา และเคยแถลงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ว่าภาคประชาชนต้องการให้บรรจุการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของ สนช.ที่จะเป็นผู้พิจารณา

"ผมไม่เคยมีแนวคิดอะไรที่จะให้ทหารเข้ามาดูแลทั้งสิ้น สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือให้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมออกมาให้ได้ เพราะต้องดูเรื่องการลงทุนการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีหลายพื้นที่จะต้องมีการทำสัมปทาน ตอนนี้ยังไม่รู้ เนื่องจากวันข้างหน้าพลังงานเราจะขาดแคลน ไม่ใช่ว่าทำพรุ่งนี้ แล้วสามารถสร้างหรือเจาะแหล่งพลังงานได้ทันที ต้องใช้เวลาอีก 5 – 6 ปี กว่าบริษัทเขาจะเริ่มลงทุน ตัดสินใจหาเงินกู้ จึงต้องรีบทำในวันนี้ แต่หลายคนก็ชอบคิดว่าทำไมต้องรีบทำ แล้วก็ไม่ทัน หลายประเทศก็ไปลงทุนที่อื่น ไม่มาลงทุนประเทศที่มีปัญหาขนาดนี้ เพราะวุ่นวายไปหมด ทั้งที่ข้อมูลพื้นฐานเขารู้ว่าน้ำมันเรามีมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญเราเองไม่ยอมรับ กลุ่มพวกนี้ไม่เข้าใจทั้งสิ้น เรื่องนี้จะผิดหรือถูกไม่พิจารณากันมา ผมขี้เกียจยุ่งเกี่ยวด้วย ถ้ามันไม่ได้ขึ้นมาก็รับผิดชอบด้วยแล้วกัน"  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ยันดำเนินการตามกฎหมายหากมีการรวมกลุ่มประท้วง 

ต่อกรณีคำถามการเร่งรัดพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อจัดบรรษัทน้ำมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากการสร้างการรับรู้ที่ภาคใต้เรื่องพลังงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจปรากฏว่าไม่ค่อยเข้าใจกัน และเข้าใจไม่ตรงกันหมดเลย จึงเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง และท้ายที่สุดเราก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม พร้อมกล่าวยืนยันว่า หากมีการมาประท้วงอีก จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะให้อภัยไปหลายทีแล้ว ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขัดแย้งกับรัฐบาล  แต่ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนความคิดเห็นก็ขอให้ไปแสดงในช่องทางที่ถูกต้อง และขอให้ยอมรับกฎกติกา -

ย้ำต้องปฏิรูประบบการศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการคัดค้านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเรามีการปรับปรุง การพัฒนา และปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งจะต้องเริ่มดูตั้งแต่ครู ว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ สาขาที่เป็นความต้องการของประเทศมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าพูดถึงจำนวนคนที่จบครูออกมามีมากพอสมควร แต่บางวิชาสอนไม่ได้ เพราะไม่ได้จบด้านนั้นมา จึงต้องหาครูที่จบมาตรงกับวิชาเหล่านั้นที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นเสนอมาว่าถ้าต้องการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านเคมี วิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่จบด้านครูอาจไม่มีความชำนาญ ดังนั้น บุคคลด้านนี้จะมีจำนวนไม่มาก เฉพาะที่ขาดแคลนอยู่ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วไม่ใช่ว่าบรรจุได้เลย ก็ต้องมีการทดลองงานก่อนประมาณ 2 ปี ระหว่างการทดลองงานก็ต้องมีการประเมิน จึงต้องไปสอบให้ผ่านกฎเกณฑ์ถึงจะได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกวาารัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้ใครเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู เรื่องแพทย์ คือทุกคนต้องยอมรับว่าเรากำลังขาดแคลนบางสาขาวิชาอยู่ เราต้องเตรียมคนให้พร้อม รองรับตลาดแรงงาน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกต่างชาติแย่งงานไปหมด

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุสรณ์เตือนทบทวนการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ทำไทยถอยหลังครึ่งศตวรรษ

Posted: 28 Mar 2017 11:09 AM PDT

เตือนให้พิจารณาแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยให้รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดอย่างรอบคอบ ชี้เป็นการถอยหลังของนโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างน้อย 50-60 ปี และ ขอให้ดูตัวอย่างความหายนะทางเศรษฐกิจและกิจการพลังงานของเวเนซูเอลาและเม็กซิโก

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (กลาง) ที่มา แฟ้มภาพประชาไท

28 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง  เปิดเผยว่า ขออนุญาตแนะนำและเตือนให้พิจารณาแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติในมาตรา 10/1 ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฉบับใหม่อย่างรอบคอบ เนื่องจากแนวคิดจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติโดยให้ รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดนั้น เป็น แนวคิดสะท้อนการถอยหลังของนโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างน้อย 50-60 ปี แนวคิดแบบนี้ประสบความล้มเหลวในหลายประเทศ เพราะก่อให้เกิดการยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ จะเป็นการดำเนินกิจการพลังงานที่ผูกขาดโดยรัฐ (ขอให้นึกถึงกิจการปั๊มสามทหาร กับ ปั๊มของ ปตท และ บางจากต่างกันอย่างไร ขอให้นึกถึงโรงกลั่นน้ำมันของหน่วยงานพลังงานทหาร กับ โรงกลั่นของไทยออย ไออาร์พีซีและบางจากบริหารจัดการต่างกันอย่างไร) การกำกับดูแลโดยรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการบรรษัทพลังงานแห่งชาติซึ่งในช่วงแรกจะมีกรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบัน โครงสร้างระบบการกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระนั้นถูกวางระบบไว้ดีระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจุดอ่อนจุดด้อยที่ยังมีอยู่นั้นเป็นปัญหาในรายละเอียดไม่ใช่ทิศทางหรือหลักการใหญ่ ระบบที่ผูกขาดโดยอำนาจรัฐที่มาแทนที่ระบบการแข่งขันด้วยการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและการเปิดเสรีจะนำมาสู่ ความไร้ประสิทธิภาพ การคอร์รัปชันและหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคต   

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากมีการจัดตั้ง บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ตามร่างที่จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตอย่างแน่นอน ขอให้ดูกรณีของประเทศเวเนซูเอลาที่ประสบความล้มละลาย เกิดวิกฤติทางการคลัง จนต้องยอมทำสัญญาขายน้ำมันดิบล่วงหน้ากับจีนเพื่อแลกเงินกู้มาจ่ายเงินเดือนราชการและบริหารประเทศ ทั้งที่ประเทศเวเนซูเอลาเคยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและมีฐานะทางการคลังที่มั่นคงมาก่อน หากจะยกตัวอย่างกรณีบรรษัทพลังงานแห่งชาติแบบเปโตรนาสของมาเลเซียว่าประสบความสำเร็จก็ไม่

อนุสรณ์ กล่าวว่า สามารถพูดได้เต็มปากเพราะ เปโตรนาส เป็นทั้งผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) และ เป็นผู้ทำธุรกิจ (Operator) ด้วยในขณะเดียวกันจึงทำให้มีกำไรสูงแต่ระบบนี้ดีที่สุดกับประชาชนมาเลเซียหรือไม่ยังมีข้อสงสัย และ การไม่แยกระหว่าง การเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) กับ ผู้ทำธุรกิจ (Operator) ยังขัดกับหลักธรรมาธิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลอีกด้วย

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราเห็น ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่ควบคุมดูแลบรรษัทพลังงานแห่งชาตินอกจากนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบันก็มีข้อครหาพัวพันกับกองทุน 1-MDB ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและยังมีกรณีพัวพันกับการทุจริตให้สินบนของบริษัท Unaoil อีกด้วย และไม่มีใครไปกล้าตรวจสอบบัญชีของเปโตรนาสได้ ขณะที่ บมจ ปตท ถูกตรวจสอบทั้งจาก สตง ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และ กลต รวมทั้งผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและโปร่งใสกว่าแม้นไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม และขอให้ดูตัวอย่างความหายนะทางเศรษฐกิจและกิจการพลังงานของประเทศเม็กซิโกก่อนหน้านี้ด้วย ในที่สุดก็ยกเลิกระบบผูกขาดโดยรัฐ มาเป็นระบบเสรีเปิดให้มีการแข่งขันของภาคเอกชนผู้รับสัมปทาน หรือ แบ่งปันผลผลิต

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับนายกสมาคมนักข่าวคนใหม่ “เราไม่ได้บอกว่าการควบคุมสื่อโดยรัฐมันผิด แต่ตอนนี้มันหมดยุคไปแล้ว”

Posted: 28 Mar 2017 09:13 AM PDT

คุยกับปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวฯ คนใหม่ ระบุสื่อเป็นเครื่องทางการเมืองได้ แต่ต้องไม่สร้างความเกลียดชัง ย้ำในโลกนี้ไม่มีสื่อที่เป็นกลาง พร้อมยืนยันกรานค้าน พ.ร.บ.คุมสื่อฯ

ดูจะเป็นย่างก้าวที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง ควบคู่ศึกหนัก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในคราวเดียวกันสำหรับ ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยคนใหม่ เพราะช่วงเวลาที่เขาขึ้นรับตำแหน่งนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการปรากฎตัวขึ้นของร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สื่อฯ ซึ่งมีเนื้อหาและโครงสร้างหนักไปที่การเข้าควบคุมสื่อโดยรัฐ ทั้งยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการคาดหวังสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในนามของสมาคมนักข่าวฯ ของคนภายนอก และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์บทบาทหน้าที่ขององค์กรสื่อที่เป็นอยู่ และกำลังเป็นไปภายใต้ยุค คสช.

เราพูดคุยกับ ปราเมศ ภายหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งได้ 12 วัน (18 มี.ค. 2560) ภายนอกร้านกาแฟในปั้มน้ำมัน บนถนนวิภาวดี ตรงข้ามกับที่ทำงานของเขา สำนักข่าวไทยรัฐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีแถลงการของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนคำสั่ง กสท. ที่สั่งพักใบอนุญาต Voice TV เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพสื่อที่เราอาจจะไม่ได้เห็นบ่อยนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแม้บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะไม่ใช่การพูดเรื่องของการสั่งระงับการออกอากาศของ Voice TV แต่ก็พอจะมีส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง เพราะในฐานนะของการเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ สำคัญไม่น้อยกับการที่จะรู้ว่า เขาคิดอย่างไรกับเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

000000

ปราเมศ เริ่มต้นเดินทางเข้าสู่แวดวงสื่อมวลชนตั้งแต่ปี 2539 แน่นอนเขาบอกว่าเหตุการณ์การล้อมปราบประชาชนโดยกองทัพเมื่อเดือนพฤภษาคม ปี 2535 เป็นตัวจุดประกายให้เขาอยากทำงานข่าว ตลอดระยะเวลาที่เป็นนักข่าว 21 ปี เขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อฯ หลากหลายเรื่องราว เริ่มตั้งแต่การขยายตัวของคนทำอาชีพสื่อ ที่แตกแขนงออกไปหลากสาขา ประกอบกับการเกิดขึ้นของกลุ่มเป้าหมายใหม่ ที่แต่ละสำนักข่าว แต่ละเว็บ ต่างก็มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของตัวเอง

"คือมันชี้ให้เห็นว่า สังคมเรามีความหลากหลาย และมันคือความสวยงาม สื่อเองก็มีความหลากหลาย ฉะนั้นการเกิดขึ้นของเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ มันก็ทำให้สื่อปรับตัว สื่อใหญ่ก็มีอิทธิพลต่อสังคมลดลง แต่ก็ยังเป็นสื่อหลักอยู่ ขณะที่สื่อกระแสรองก็อยู่ในระนาบที่ค่อยๆ โตขึ้น กลุ่มเป้าหมายเองก็เพิ่มมากขึ้น เว็บไซต์ใหม่ก็เกิดขึ้นตามความต้องการ และเว็บไซต์ใหม่ๆ เหล่านี้ก็มีตัวตนชัดเจน ทำให้บริบทสื่อมันพัฒนาไปมาก แต่หลายๆ ครั้งก็จะติดกับดักในประเด็นเรื่องสื่อกับความรับผิดชอบ โดยเฉพาะสื่อที่เล่นกับโซเชียลมีเดีย คนที่บอกว่าตัวเองเป็นสื่อจะเสนออะไรก็ต้องระวัง และต้องมีความรับผิดชอบกับสังคม อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีตัวตนอยู่จริง"

การเป็นสื่อที่มีตัวตนสำหรับเขา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นสื่อที่จดทะเบียนมีใบอนุญาตแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องเป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดความผิดพลาด ขณะเดียวกันเขามองว่ารัฐเองก็มีกฎหมายอยู่ในมือหลายฉบับที่จะสามารถกำกับดูแลสื่อได้ แต่หลายครั้งรัฐก็ยังคงปล่อยให้กลุ่มบางกลุ่มใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้าง Hate Speech หรือสร้างความเกลียดชังมาตลอด

"สื่อมันต้องรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นสื่อมืออาชีพ เช่นว่าเราเห็นมา 100 แต่อาจจะเสนอได้แค่ 80 เราต้องชั่งใจตลอดว่าการนำเสนอข่าวๆ หนึ่งมันส่งผลกระทบต่อสังคม หรือส่งผลกระทบต่อแหล่งข่าว หรือญาติของแหล่งข่าวไหม หรือบางสื่ออาจจะเขียนข่าวผิด แต่ยังตะแบงและไม่ยอมแก้ไข ตรงนี้แหละคือการไม่แสดงความรับผิดชอบ"

สื่อเป็นได้ทั้งกระจก และเครื่องมือ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ และไม่สร้างความเกลียดชัง

ปราเมศกล่าวด้วยว่า ในมุมมองของเขาสื่อเป็นได้ทั้งกระจกสะท้อนสังคม และเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง ขึ้นอยู่สถานการณ์ เช่นสื่อในยุคอำนาจนิยม รัฐก็จะมีมุมมองกับสื่อในลักษณะหนึ่ง เช่นการออกกฎกติกาเพื่อที่จะเข้าควบคุมสื่อ เพื่อโปรโมทอุดมการณ์ของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้รัฐมั่นคง ในขณะที่ฝ่ายเสรีชนก็จะมองว่าสื่อคือเครื่องมือในการตรวจสอบอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามในยุคที่ทุกคนกลายเป็นสื่อได้หมด กล่าวคือทุกคนมีช่องทางในการสื่อสาร หรือสามารถที่จะทำสื่อได้ และทุกคน ทุกกลุ่มต่างก็พยายามจะใช้สื่อเรียกร้อง เพื่อเชื่อมสิทธิของตนเองให้เข้ากับรัฐ

ปราเมศมองว่า หากสื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ถูกต้อง ก็จะให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม แต่หากนำไปใช้ในทางการเมืองที่ผิด เช่นนำไปใช้เพื่อปลุกระดม สร้างความเกลียดชัง หรือมีการหยิบประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ มาใช้เพื่อปลุกระดมคนให้เกลียดชัง และเข้าห้ำหั่นกัน การใช้สื่อในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยยิ่งกว่ากับการที่รัฐอำนาจนิยมควบคุมสื่อ แม้จะมีความรุนแรงเท่าๆ กัน แต่การที่สื่อสร้างความเกลียดชัง จนคนสามารถฆ่ากันได้ เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากกว่า

"อย่างที่พี่บอกแหละ ถ้าเราใช้ถูกมันก็ถูก ถ้าใช้ผิดมันก็ผิด ถ้าพวกที่ใช้สื่อในกิจกรรมทางการเมือง อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิทธิของเขา แต่ถ้าใช้เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการปลุกระดม เราถือว่าอันนี้เริ่มไม่ใช่แล้ว เป็นการใช้ช่องทางของสื่อในการเป็นเครื่องมือของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้ตัวเองเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ เขาอาจจะคิดว่าเขาทำถูกก็ได้นะ แต่สำหรับเรามันไม่ถูกหรอกการที่ไปปลุกให้คนออกมาตีกัน"

เขาเล่าต่อว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีสื่อหลายต่อหลายสำนักที่ได้สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กลไกที่มีอยู่เดิมคือการกำกับควบคุมกันเองของสื่อไม่ฟังค์ชั่นเท่าที่ควร ขณะเดียวกันรัฐซึ่งมีเครื่องมือที่จะกำกับดูแลสื่อที่พยายามสร้างการปลุกระดมเหล่านั้น ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ต่างที่ควรทำ จนท้ายที่สุดท้ายเกลียดความเกลียดชังได้ขยายตัวจนคนพร้อมที่ฆ่ากัน

สื่อที่เป็นกลางเป็นภาพฝันที่ไม่มีอยู่จริง

เมื่อถามตอนไปถึงกระแสเรียกร้องของสังคมไทยที่ต้องการให้สื่อมีความเป็นกลาง ปราเมศเห็นว่า สื่อไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว เพราะคนทำสื่อเป็นมนุษย์ และมนุษย์ไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็นกลาง แต่ในทางทฤษฎีการนำเสนอข่าวจะต้องมีการนำเสนอที่มีสมดุล ไม่ให้น้ำหนักกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป และต้องมีความรอบด้าน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกพาดพิงได้แสดงความคิดเห็นและข้อมูลของตัวเอง

"สื่อไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว เราลองถามตัวเองก่อนว่าเราเป็นกลางไหม ไม่มีหรอก มนุษย์ไม่มีความเป็นกลางอยู่แล้ว แต่ในทางทฤษฎีก็คือ สื่อต้องนำเสนอข่าวรอบด้าน สร้างความสมดุลให้กับข่าว นายวิจารณ์เรา แล้วมาห้ามไม่ให้เราวิจารณ์นาย แบบนี้ไม่ใช่ มันต้องมีเสียงทุกเสียง ฝ่ายนี้คิดอย่างไร ฝ่ายนั้นคิดอย่างไร อาจจะมีเสียงนักวิชาการที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งมาประกอบ มีเสียงของคนทำงานภาคประชาสังคมมาเสริม แบบนี้เขาเรียกว่าความสมดุลของข่าว สื่อไม่มีความเป็นกลางหรอก ในโลกนี้สื่อที่เป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นไม่มี มีแค่การนำเสนอข่าวที่สมดุล"

รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคุมสื่อตลอด แต่ห่วงหลังการเลือกตั้งอาจจะมีการคุมสื่อมากกว่าเดิม

เมื่อถามประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 21 ปี เขาเห็นความพยายามควบคุมสื่อโดยรัฐอย่างไรบ้าง และคิดว่าครั้งไหนเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่สุด เขาตอบว่า พูดไม่ได้ว่าครั้งไหนหนักที่สุด แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน ทุกยุคทุกสมัยเวลาที่รัฐจะเข้ามาควบคุมสื่อ บริบทสังคมในขณะนั้นก็แตกต่างกันไป และมีการใช้เครื่องมือในการเข้ามาควบคุมที่ต่างกัน

"แต่ในยุคปัจจุบันนี้ ดูเหมือนมีกติกาที่ไม่ได้มาจากกฎหมายโดยตรง แต่มาจากคำสั่ง และตอนนี้ก็กำลังจะมีการออกกฎหมายใหม่ ตอนนี้ดูเหมือนจะแรง แต่ผมเชื่อว่าถ้าหลุดจากมือของพวกนี้ไป คนที่จะเข้ามาใช้อาจมองได้ว่าอาจจะแรงกว่านี้อีก เพราะเชื่อว่าตอนนี้ฝ่ายอำนาจนิยมพยายามประคองตัว บางคนก็บอกว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ยิ่งเราพูดแบบนี้เวลาเขาใช้อำนาจ เขาก็จะระวังตัวมากขึ้น แล้วแต่กรณี เราอาจจะเห็นว่าการคุมสื่อในรัฐบาลนี้แรง แต่หากกฎหมาย(พ.ร.บ.สื่อ) ออกมาแล้ว รวมทั้งคำสั่งประกาศต่างๆ ของ คสช. หากยังค้างคาอยู่ การบังคับใช้ของรัฐบาลถัดไปอาจจะแรงกว่านี้อีก คือรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ใช้หรอก เพราะเขามีเครื่องของเขาอยู่แล้วไง"

เมื่อถามต่อว่า มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามาก็อาจจะไม่มีอำนาจมาก เพราะหากดูจากร่างรัฐธรรมนูญ ก็พบว่ามีความพยายามควบคุมอำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น ปราเมศเห็นว่า สิ่งที่เราคาดคิดกันอาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เนื่องจากกติกาที่วางไว้ในร่างรัฐธรรมเป็นกติกาใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน เราอาจจะได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นขั้วอำนาจเดิมในปัจจุบัน หรืออาจจะได้รัฐบาลใหม่ที่เป็นนักการเมือง จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

สาเหตุที่ปราเมศเห็นว่า รัฐบาลชุดถัดไปอาจจะมีการควบคุมสื่อมากกว่ารัฐบาลชุดนี้ เพราะแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 แต่ก็ไม่มีการบังคับควบคุมทั้งหมด รัฐเพียงจับจ้องบางรายการ บางสถานี บางเว็บไซต์ ไม่ได้ควบคุมทั้งหมด แต่ถ้าเครื่องมือในการควบคุมเหล่านี้ยังอยู่ภายหลังการเลือกตั้งไม่มีความมั่นใจได้เลยว่าการควบคุมจะอยู่ในระดับไหน

"คือรัฐคล้ายๆ จับจ้องบางรายการ ไม่ได้เอาทั้งหมด จับจ้องบางสถานนี บางเว็บไซต์ แต่ไม่เหมารวมทั้งหมด เขาแค่เอกซเรย์บางส่วนเท่านั้น แต่หลังจากการเลือกตั้งพวกที่เข้ามานี่แหละจะสแกนทั้งหมด ตรงนี้แหละคือหายนะและอันตราย เพราะเวลาคนที่เข้ามาใหม่สิ่งแรกที่เขาต้องทำคือการจัดระบบ เอาคนของตัวเองเข้าไปคุมส่วนต่างๆ ซึ่งรวมถึงสื่อด้วย สังเกตดีๆ รัฐบาลทุกรัฐบาลเวลาเข้ามาอย่างน้อยเขาจะมีวิธีการจัดการกับสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ  ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาคุมสื่อเขาดูไว้อยู่แล้วแหละว่าช่องทางตรงไหนที่จะเข้าไปจัดการได้ เนื่องจากว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่รัฐบาลกลัวสื่อจะเข้าไปขุดคุ้ยตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นโลกที่เป็นเสรีประชาธิปไตย รัฐบาลเขาชอบสื่อที่จะเข้าไปตรวจสอบเพราะช่วยเป็นหูเป็นตาให้เขาอีกทางหนึ่ง ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล และต่อประเทศ แต่บ้านเราคนมีอำนาจส่วนใหญ่ไม่มองแบบนี้ เขาเห็นคนที่เข้าไปตรวจสอบเป็นศัตรู"

แต่เมื่อถามว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชน ในยุคไหนสามารถที่จะทำงานได้ง่ายกว่ากัน ปราเมศเห็นว่า ในยุคที่เป็นประชาธิปไตย จะมีความเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายกว่า

"ยุคที่เป็นประชาธิปไตย มันง่ายกว่าอยู่แล้ว เพราะเขาไม่ได้มาจับจ้องการเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว การจัดงานเสวนาก็ทำได้ แต่ตอนนี้เวลาจัดอะไรก็จะมีฝ่ายความมั่นคงมาติดตามตลอด แต่เราก็ทำเพราะต้องการสื่อสารไปสู่คนในสังคม เราก็อาจจะพูดอะไรได้ไม่เต็มร้อย เพราะคนพูดเองก็ต้องเซฟ เพราะไม่อยากมีปัญหากับรัฐ การนำเสนอ หรือการพูดก็ต้องมีศิลปะ การต่อสู้ไม่จำเป็นที่จะต้องรุนแรง ขอแค่ได้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ก็ถือว่าโอเคกับสถานการณ์ในยุคนี้ ซึ่งมีกติกาหยุมหยิมเต็มไปหมด แม้เราจะรู้ว่าเราไม่ใช่เป้าหมายของเขา แต่ก็ต้องระวัง เพราะถ้ามีปัญหามันจะเสียเวลาของเราในการทำอะไรอย่างอื่น"

ปราเมศ เห็นว่ายุคนี้ไม่ใช่ยุคที่สื่อต้องออกมาเรียกร้องให้มีการออกกฎหมาย แต่เป็นยุคที่เราควรออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก โดยเฉพาะคำสั่ง และประกาศต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าสังคมเองก็มองสื่อในด้านลบ เพราะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาสื่อเป็นปัญหา และอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสร้างความขัดแย้ง แต่เขาเห็นว่านั่นไม่ใช่สื่อในภาพรวมทั้งหมด แต่เป็นเพียงสื่อบางส่วนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองโดยเฉพาะ

ปราเมศกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเวลาองค์กรสื่อออกมาเคลื่อนไหว ช่วงหลังไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมมากนัก เพราะคนมองว่าที่ผ่านมาสื่อก็เป็นตัวปัญหา แต่จริงๆ แล้ว สิทธิเสรีภาพของสื่อ และสิทธิเสรีภาพของประชาชน อยู่ในระนาบเดียวกัน

"คือสื่อเรามีหน้าที่ถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆ ให้สังคมได้รับรู้ข่าวสาร เวลาประชาชนเดือดร้อนจะไปร้องรัฐเลยมันก็ยาก หากไม่ได้รับความสนใจ แต่ถ้าสื่อเป็นตัวกลางในการนำเสนอ สิทธิของประชาชนที่เรียกร้อง ก็จะได้รับการแก้ไขเยียวยามากกว่าการที่ภาคประชาชนไปเรียกร้องต่อรัฐโดยตรง"

เมื่อถามว่ากระแสสังคมเองก็มักจะมองว่า เมื่อเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อฯ สื่อเองกลับลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง แต่ที่ผ่านมาประชาชนถูกริดลอนสิทธิเสรีภาพสื่อกลับไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก ปราเมศเห็นว่า องค์กรสื่อไม่ได้จำเป็นที่จะต้องออกไปเคลื่อนไหวทุกประเด็น หน้าที่หลักของสื่อคือการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาสื่อต่างๆ ก็ได้รายงานไปตามข้อเท็จจริง และการนำเสนอข่าวก็หมายถึงการที่สื่อให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านั้นโดยตัวมันเองอยู่แล้ว

พ.ร.บ.(คุม)สื่อฯ ไทย เอาไงต่อ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ (พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อ) ฉบับ สปท. ที่เป็นประเด็นถูกกล่าวถึงกันมาพักใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดได้มีการปรับลดจำนวนคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ ที่เดิมตั้งไว้ 4 คนซึ่งมาจากการตำแหน่งปลัดกระทรวง 4 กระทรวง โดยปรับลดมาให้เหลือเพียง 2 ตำแหน่งที่มาจากข้าราชการ และเพิ่มตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และตัวแทนจากองค์กรคุมครองผู้บริโภคเข้าไปแทนที่ 2 คน  ปราเมศเล่าว่า แม้จะมีข่าวออกมาในลักษณะดังกล่าว แต่ตัวร่างจริงตอนนี้ยังไม่มีใครที่ได้เห็น แต่ถ้าดูจากโครงสร้างกฎหมายในปัจจุบัน และเท่าที่เขาได้คุยกับคนทำงานสื่อหลายๆ คนก็มีความเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วยกับตัว พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นตัวแทนที่เด่นชัดของอุดมการณ์อำนาจนิยม

"อำนาจนิยม เอะอะอะไรก็ชอบเข้ามาควบคุม ล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนก็ของประเทศอินโดนีเซีย ซูฮาร์โตก็ต้องการให้สื่อมีใบอนุญาต เพื่อที่จะดีดหูได้ หยิกได้ จับตีก้นได้ นี่แบบนี้เขาเรียกฝ่ายอำนาจนิยม แต่เราต้องการจะบอกว่าเฮ้ยนี่มันหมดยุคแล้ว จะมาอำนาจนิยมอะไรกันอีก ในเมื่อคุณบอกคุณมาทำงานเพื่อประเทศชาติ เข้ามาแบบมีวาระแห่งชาติเข้ามาจัดการคอร์รัปชัน เข้ามาวางแผนปฏิรูป เข้ามาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่นี่จะเอาอำนาจมาคุมสื่อ ฉะนั้น เรื่องการออกใบอนุญาตเราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และโดยเฉพาะการเปิดให้ตัวแทนของรัฐเข้ามาในสภาวิชาชีพ เราก็ไม่เห็นด้วย เราไม่ได้บอกว่าฝ่ายที่เขาคิดมันผิดหรือไม่ แต่เราบอกว่าตอนนี้มันหมดยุค ตอนนี้สิ่งที่คุณควรคิดคือจะออกแบบโครงสร้างอย่างไรให้สื่อมวลชนเขาตรวจสอบกันเอง และประชาชน ผู้บริโภค สามารถที่จะตรวจสอบสื่อได้ ตอนนี้สังคม โลกออนไลน์ เขาทำหน้าที่นี้กันอยู่แล้ว และตอนนี้ก็ไม่ใช่ว่ากฎหมายที่จะใช้กำกับดูแลสื่อฯ ต่างๆ จะไม่มี ที่ผ่านมา เรามีเยอะมาก และเท่าที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็แทบจะหายใจไม่ออกกันอยู่แล้ว นี่ยังไม่ได้นับรวม พ.ร.บ.คอมฯ นะ ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.สื่อ เรายืนกระต่ายขาเดียว อย่างไรก็ไม่ยอม"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความหวาดระแวง แก้ด้วย “สานเสวนา”: พื้นที่กลาง ถ่วงดุลอำนาจ สร้างความกล้าหาญ

Posted: 28 Mar 2017 08:58 AM PDT

เมื่อราวกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี ร่วมกับสำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดงานเปิดตัวหนังสือ "หลัง รอย ยิ้ม" เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่พลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้ จัดที่ TK Park

ช่วงหนึ่งในงานมีวิทยากรร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับ "การจัดการสานเสวนาในระดับชุมชน" ที่มีผลในทางปฏิบัติจริงมาแล้วใน 3 พื้นที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เริ่มจากการเป็นผู้เข้าร่วมกระบวนการสานเสวนาจนนำไปสู่การเป็นนักกระบวนกร เป็นคนกลาง เพียงเพื่อให้กลุ่มคนทั้งสองฝั่งที่มีความหวาดระแวงต่อกันกลับมาพูดคุยและเข้าใจกันและกัน

กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ ทำชาวบ้านระแวง – สานเสวนาฟื้นความไว้วางใจ 

นารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธี และผู้พัฒนากระบวนการ 'สานเสวนาระดับชุมชน' เปิดเผยว่า ในพื้นที่จะใช้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคง) และพ.ร.บ.อัยการศึก ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เปิดช่องให้คนในพื้นที่สามารถถูกจับตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ชาวบ้านที่เป็นมุสลิมก็จะถูกปิดล้อมทั้งหมู่บ้าน จับไป 30-40 คน เพื่อแยกปลาออกจากน้ำ วิธีการแบบนี้ในแง่ความรู้สึกมันถูกตัดสินไปแล้ว มันจึงดึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการห่างออกไป ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้จำเป็นต้องมีคนกลาง เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงกัน

สานเสวนาจึงเข้าไปช่วย เราพยายามให้ชาวบ้านทำความรู้จักเครื่องมือนี้ว่าหน้าตาและวิธีการเป็นอย่างไร โดยเราสร้างสถานการณ์จำลองให้แสดงตามบทบาทต่างๆ เช่น เป็นชาวบ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ และเป็นคนกลาง เพื่อให้พวกเขารู้สึกไว้วางใจเมื่อได้เปิดอกคุยกัน

เจ้าหน้าที่อาจเกิดความผิดพลาดบ้าง สานเสวนาอุดช่องว่าง สอดคล้องนโยบายการเมืองนำการทหาร

ชวลิต เรียนแจ้ง อดีต ผอ.สำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 เปิดเผยว่า เพราะความหวาดระแวงทำให้ต้องคุยกัน เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นที่เจ้าหน้าได้ปฏิบัติ เราต้องค่อยๆ ปรับความคิด ไม่อย่างนั้นจะไม่มีวันรู้ว่าเจ้าหน้าที่คิดอย่างไร

เหตุการณ์ในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรวบรัดใช้กฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ โดยไม่ผ่านกระบวนการขอหมายจากศาล ซึ่งอาจจะมีส่วนเป็นเงื่อนไขที่เกิดจากความผิดพลาดตามวิจารณญาณของผู้ใช้บ้าง

อย่างไรก็ตามหลังจากได้สานเสวนากัน วิธีคิดของเจ้าหน้าที่ก็ดีขึ้น เพราะการพูดคุยกันอย่างไรก็ต้องดีขึ้น มันคือการปรับตัวเข้าหากัน สามารถไกล่เกลี่ยความไม่เข้าใจระหว่างกันได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการเมืองนำการทหารที่นำมาใช้ในพื้นที่ แต่การพูดคุยคงไม่ได้ผลในระยะเวลาอันสั้น

ความสูญเสีย ทำให้เกิดความหวาดระแวง – สานเสวนา ทำให้เกิดความเข้าใจ

โซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และนักวิชาการ มอ.ปัตตานี เปิดเผยว่า เราเลือก 3 หมู่บ้านในจังหวัดชายแดนใต้ คือ บ้านยุโป จ.ยะลา บ้านพ่อมิง จ.ปัตตานี และบ้านกูจิงลือปะ จ.นราธิวาส เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการสูญเสียจำนวนมากส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงสูงขึ้นตามไปด้วย

ทำให้เราต้องจัดกิจกรรมสานเสวนาให้คนที่ต้องอยู่ด้วยกันแต่มีความคิดและวัฒนธรรมที่ต่างกันมาร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังกัน เพื่อลดความหวาดระแวงและสร้างความเข้าใจกันมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่เลือกผู้หญิงมาร่วมกิจกรรมคงเป็นเพราะผู้หญิงคือผู้ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่น รวมทั้งผู้หญิงมีพลังอำนาจในตัวที่สามารถพัฒนาศักยภาพ และเรียนรู้จากกิจกรรมสู่การเป็นวิทยากรกระบวนการจัดสานเสวนาในชุมชนของตนเองได้

จุดที่สร้างความหวาดระแวงไม่ใช่ศาสนา – สานเสวนาทำให้มองเห็น "เรา" มากขึ้น  

ละออ พรหมจินดา ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง (คนไทยพุทธ) กล่าวว่า ความจริงเราไม่ได้มีปัญหาระหว่างกัน เราอยู่ด้วยความรัก แบ่งปันกันและกันมานาน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาตามที่คนนอกพื้นที่เข้าใจ แต่ไม่รู้ว่ามีจุดอะไรที่ทำให้เราหวาดระแวงระหว่างกันและกัน แต่หลังจากไปร่วมกิจกรรมสานเสวนาทำให้เราได้พูดในมุมของพลังจากกลุ่มเล็กๆ ให้คนกลุ่มใหญ่ได้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของเราได้

ผู้นำศาสนาต้องกล้าอธิบาย - สานเสวนาทำให้มั่นใจนำพาชุมชนคุยกับรัฐ

ยาการียา สะแปอิง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง (คนมลายูมุสลิม) กล่าวว่า หลังได้ร่วมสานเสวนาทำให้เกิดความมั่นใจที่จะนำชุมชนไปร่วมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้ฟังความคิดของเจ้าหน้าที่ด้วย

ในฐานะที่เราเป็นผู้นำศาสนา อะไรที่เกี่ยวกับศาสนาเราก็ต้องกล้าอธิบายให้เจ้าหน้าที่เข้าใจ  มันคือการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อนำไปปรับปรุงและปฏิบัติต่อกันในครั้งต่อไปให้ดีกว่าเดิม

สานเสวนาทำให้เกิดความกล้า

คอลีเยาะ มะลี ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง กล่าวว่า หลังได้ร่วมกิจกรรมสานเสวนาทำให้ตนกล้าพูด กล้าต่อรอง กล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ และกล้าเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี อนัน ตายระหว่าง ตร.คุมตัว หมอจากนิติวิทย์ฯ เบิกความชี้เข้าลักษณะถูกทำร้ายร่างกาย

Posted: 28 Mar 2017 06:49 AM PDT

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าพิสูจน์ศพจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความถึงบาดแผลตามร่างกายของ อนัน เกิดแก้ว ที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของตำรวจฝ่ายสืบสวนชุดปราบปรามยาเสพติด ระบุว่าเข้าลักษณะการถูกทำร้ายร่างกาย

 
เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่าเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมาออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่ฝ่ายมารดาผู้ตายอ้างนำสืบ ในคดีหมายเลขดำที่ ช.3/2559 คดีไต่สวนการตาย อนัน เกิดแก้ว ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนชุดปราบปรามยาเสพติด ตำรวจภูธรนครราชสีมา พยานผู้เชี่ยวชาญที่เบิกความต่อศาลเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าพิสูจน์ศพจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เบิกความต่อศาลโดยพิจารณารายละเอียดประวัติการรักษา บันทึก และภาพถ่ายศพตามรายงาน

การชันสูตรพลิกศพของแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา ที่ทำการผ่าชันสูตรศพ ไว้แล้ว ได้ความว่า บาดแผลที่ปรากฏตามร่างกาย อนัน เกิดแก้ว ผู้ตาย เข้าลักษณะบาดแผลที่เกิดจากการถูกทำร้ายร่างกายมากกว่าเกิดจากอุบัติเหตุจากการวิ่งหกล้มและตกกระแทกของแข็งเพียงหนึ่งถึงสองครั้ง เนื่องจากตามร่างกายผู้ตายมีรอยช้ำจำนวนมาก และเป็นรอยช้ำที่มีลักษณะเกิดจากการกระแทกโดยของแข็งไม่มีคมซ้ำๆ กันหลายครั้งในระยะเวลาติด ๆ กัน ซึ่งปรากฏรอยช้ำแบบวงกลมติด ๆ กันเป็นจำนวนมาก ที่บริเวณใบหน้า ขมับ และศีรษะ ทั้งยังมีรอยช้ำที่หลังใบหูด้วย เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือนถึงเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมอง จนเกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดดำที่บริเวณใต้เยื่อหุ้มสมอง ทำให้ผู้ตายอยู่ในภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง เมื่อเลือดออกจับกันเป็นลิ่มจะเบียดเนื้อสมองให้เคลื่อนผิดตำแหน่งและกดทับก้านสมอง ระยะแรก ๆ ที่เลือดยังออกไม่มาก ผู้ป่วยจะมีอาการซึม มึนงง กระทั่งลิ่มเลือดใหญ่ขึ้นเบียดเนื้อสมองไปกดทับก้านสมองมากขึ้นก็จะทำให้ผู้ป่วยช็อกและหมดสติได้ ยิ่งระยะเวลานานขึ้นโอกาสที่จะรอดชีวิตก็ยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรณี อนัน ผู้ตาย ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

เมื่อพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความต่อศาลเสร็จแล้ว ทนายความมารดาผู้ตายแถลงต่อศาลว่า ยังมีพยานฝ่ายมารดาผู้ตายที่ต้องการนำมาสืบอีกจำนวน 3 ปาก ได้แก่ มารดาผู้ตาย น้องสาวผู้ตาย 2 คน ศาลจึงได้กำหนดนัดไต่สวนพยานทั้งสามปากดังกล่าว ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 
 
นอกจากคดีชันสูตรพลิกศพ อนัน นี้แล้ว ยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีการตายของ อนัน คือคดีแพ่ง ที่มารดาและบิดาของ อนัน ฟ้องเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย โดยยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งสตช. เป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตตำรวจผู้จับกุมและควบคุมตัว อนัน จนนำมาซึ่งการตายของ อนัน คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในเรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หลังจากนั้นศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงจะนัดพร้อมและพิจารณาคดีต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรอิสระด้านคุ้มครองผู้บริโภคสื่อร้อง กสทช.ถอนมติปิดวอยซ์ 7 วัน คืนสิทธิรับข่าวสารประชาชน

Posted: 28 Mar 2017 06:30 AM PDT

28 มี.ค. 2560 คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ออกแถลงการณ์คัดค้านมติ กสท. กรณีปิดสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วัน ชี้การปิดสถานีโทรทัศน์ทั้งสถานีเพียงเพราะว่ามีรายการที่มีผู้ร้องเรียนจาก คสช. เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนรายการต่างๆ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์เข้ามาเป็นจำนวนมากมากว่าห้าปี โดยที่มีหลายรายการละเมิดสิทธิผู้บริโภคและกระทำผิดกฎหมายอย่างมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ แต่ กสทช.ไม่เคยใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาต แต่ให้ใช้กระบวนการพิจารณาเป็นรายการแต่ละรายการไป อีกประการหนึ่ง ยังมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ แต่ กสทช. ยังไม่ได้นำมาพิจารณา

โดย คอบช. มีข้อเรียกร้องให้ กสทช.กำหนดมาตรฐานในการกำกับดูแลรายการ ให้เพิกถอนมตินี้ เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยทันที และเร่งกระบวนการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และส่งเสริมความเข้มแข็งผู้บริโภคสื่อ

 

คอบช. แถลงการณ์คัดค้าน มติ กสทช. กรณีปิดสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วัน

จากการที่ กสทช.มีมติปิดสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วันนั้น คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ขอคัดด้านการกระทำดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และนอกจากเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนแล้ว ยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ที่รับรองไวัในรัฐธรรมนูญทุกๆ ฉบับที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

แม้ กสทช.จะมีอำนาจที่จะเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุได้ แต่การมีมติใดๆ ก็ตามของ กสทช.ควรเป็นการใช้มติที่เคารพสิทธิของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 การปิดสถานีโทรทัศน์ทั้งสถานีเพียงเพราะว่ามีรายการที่มีผู้ร้องเรียนจาก คสช. เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ทั้งนี้เนื่องจากว่าที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนรายการต่างๆ ทั้งวิทยุและโทรทัศน์เข้ามาเป็นจำนวนมาก มากว่าห้าปี โดยที่มีหลายรายการละเมิดสิทธิผู้บริโภค อีกหลายรายการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.กสทช. อย่างมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ แต่ กสทช.ไม่เคยใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาต แต่ให้ใช้กระบวนการพิจารณาเป็นรายการแต่ละรายการไป อีกประการหนึ่ง ยังมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ แต่ กสทช. ยังไม่ได้นำมาพิจารณา

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ขอเรียกร้องให้

1. กสทช.ควรกำหนดมาตรฐานในการกำกับดูแลรายการโดยให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการพิจารณาข้อร้องเรียนเรื่องเนื้อหารายการ และการกำหนดโทษ เป็นรายการแต่ละรายการ

2. กสทช. เพิกถอนมตินี้ เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยทันที

3. กสทช.เร่งกระบวนการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และส่งเสริมความเข้มแข็งผู้บริโภคสื่อ

ทั้งนี้เพื่อดำรงไว้ซึ่งความศรัทธาของสาธารณชนที่มีต่อ กสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและโทรคมนาคม
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชี้ร่าง กม.ใหม่เปิดทางแปรรูปโรงงานยาสูบ เสียอธิปไตยคุมยาสูบของประเทศ

Posted: 28 Mar 2017 06:20 AM PDT

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ แถลงอัดร่างกฎหมายใหม่เปิดทางให้มีการแปรรูปโรงงานยาสูบ นำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยในการควบคุมยาสูบของประเทศไทย เปิดช่องบุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิต เปิดช่องบุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิต ชี้ความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ

 

28 มี.ค. 2560 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดแถลงข่าวเรื่อง ร่างกฎหมายใหม่เปิดทางให้มีการแปรรูปโรงงานยาสูบนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยในการควบคุมยาสูบของประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวในประเด็น ร่างกฎหมาย การยาสูบ ซุกหายนะใต้พรม เปิดช่องให้บุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิตในประเทศ  รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวในประเด็น ความเสียหายทางเศรษฐกิจหากการผลิตบุหรี่ดำเนินการโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ และ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550 – 2551) กล่าวในประเด็น ความเสียหายทางสุขภาพหากการผลิตบุหรี่ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ

โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

ร่าง กม.การยาสูบ ซุกหายนะใต้พรม เปิดช่องบุหรี่ต่างชาติเข้ามาผลิต

วศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการยกฐานะจากโรงงานยาสูบจากที่ไม่ใช่นิติบุคคล ให้อยู่ในสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบการทำธุรกรรมต่างๆของโรงงานยาสูบ แต่มีข้อควรระวังคือ การซ่อนข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้อุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติสามารถเข้ามาครอบงำกิจการยาสูบของไทยได้ ซึ่งเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น หรือมากำหนดนโยบายการควบคุมยาสูบของประเทศไทย

ความน่ากังวลต่อการควบคุมยาสูบของประเทศไทยในมิติของร่างกฎหมายนี้ คือ 1. กรณีถ้ามีการใช้ตราสารเพื่อใช้ในการลงทุน ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นตราสารประเภทใด เพราะถ้าเป็นตราสารที่มีลักษณะเป็น "บุริมสิทธิ" สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำกิจการของอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาเรื่อง "กุหลาบแก้ว" ที่เป็นกรณีศึกษาเรื่องการเป็นตัวแทนให้ต่างชาติในการถือหุ้นกิจการที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

2. การจัดตั้งบริษัทจำกัด หรือ บริษัทมหาชนจำกัดเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการของ ยสท. ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหากำไร การได้มาซึ่งกำไรย่อมต้องมาจากการจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคยาสูบของประชาชนโดยตรง และนอกจากนี้การจัดตั้งในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ต้องมีการจำหน่ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อาจทำให้อุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในกิจการยาสูบของประเทศไทยได้ ซึ่งประเทศไทยผูกขาดเพียงการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเท่านั้น ไม่ได้ผูกขาดการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นๆด้วย และ 3. แม้การออกตราสาร การจัดตั้งบริษัท การเข้าถือหุ้น หรือการลงทุน ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าอุตสาหกรรมยาสูบต่างชาติจะไม่เข้าแทรกแซงโดยอาศัยอิทธิพลและอำนาจเงินที่มีอยู่

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยให้ความกังวลว่า ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 บัญญัติให้การประกอบอุตสาหกรรมบุหรี่ซิกาแรตเป็นการผูกขาดของรัฐ เมื่อโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตบุหรี่ซิกา แรตการแปลงสภาพโรงงานยาสูบตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ เป็นบริษัท จำกัดอันอาจทำให้บริษัทจำกัดดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากรัฐแล้ว ควรต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวด้วย แม้ร่างกฎหมายการยาสูบนี้จะไม่ได้อาศัยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งบริษัท แต่ได้เขียนช่องทางการจัดตั้งบริษัทไว้ในกฎหมายเลย ซึ่ง ยสท. ก็ต้องไม่ลืมว่าพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่กำลังมีผลใช้บังคับก็ได้บัญญัติว่าการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเป็นกิจการผูกขาดของรัฐด้วยเช่นกัน

00000

ความเสียหายทางเศรษฐกิจหากการผลิตบุหรี่โดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ

รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพของประชาชนในเรื่องการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งมาโดยตลอด หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตมักสนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อหารายได้ ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะเห็นตรงข้าม ธนาคารโลกซึ่งเป็นองค์กรสำคัญทางเศรษฐกิจระดับโลกตระหนักดีถึงผลเสียของการสูบบุหรี่มานานแล้ว ในปี 2535 ก็ได้กำหนดนโยบายไม่ให้ประเทศสมาชิกกู้ยืมเพื่อการผลิต การนำเข้าหรือการตลาดสำหรับสินค้านี้ ไม่ว่าจะเพื่อการบริโภคในประเทศหรือเพื่อส่งออก

ในประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมองว่านโยบายของรัฐที่สนับสนุนการส่งออกสินค้ายาสูบขัดแย้งกับนโยบายสาธารณสุขทั้งในและนอกประเทศ ปัจจุบันฟิลิป มอร์ริส (PM) จึงย้ายฐานปฏิบัติการไปตั้งในประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่เข้มงวดในประเทศของตน ขณะที่ในประเทศไทย ร่างกฎหมายการยาสูบฯ กลับกำลังจะเปิดช่องให้หน่วยงานของรัฐเองขยายการผลิตและขยายการส่งออกไปต่างประเทศ อีกทั้งเปิดช่องให้มีการร่วมทุนกับบริษัทบุหรี่ต่างชาติด้วย

การเปิดช่องให้มีการร่วมทุนกับเอกชนเป็นการเปิดทางให้มีการแปรรูปโรงงานยาสูบ ซึ่งต่อไปในอนาคตหากการผลิตบุหรี่ดำเนินการโดยบริษัทข้ามชาติแล้ว พนักงานของ รยส.ส่วนหนึ่งจะถูกปลดจากงานเนื่องจากเครื่องผลิตบุหรี่รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพเพิ่มยอดผลิตได้มากขึ้น เกษตรกรชาวไร่ยาสูบก็จะตกงานจำนวนมากเนื่องจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะนำใบยาสูบจากประเทศที่ตนไปลงทุนไว้มาผลิตแทน ตัวอย่างเห็นได้จากประเทศโปแลนด์และบัลกาเรีย เป็นต้น (จากข้อมูลของนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ในประเทศโปแลนด์ จำนวนเกษตรกรที่เพาะปลูกใบยาสูบลดจาก 138,000 คน ในปี 2530 เหลือ 40,000 คน ในปี 2537 ส่วนในประเทศบัลกาเรีย การผลิตใบยาสูบลดลงจาก 120,000 ตันในปี 2529 เหลือ 25,000 ตันในปี 2538)

นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ระบุว่า เมื่อต้นปีนี้ WHO เปิดเผยผลการศึกษาที่ระบุว่าการสูบบุหรี่ก่อความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่ารายได้ที่ประเทศต่าง ๆ ได้รับจากภาษียาสูบ สำหรับประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศศึกษาพบว่าในปี 2552 การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 74,884 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บได้จากยาสูบรวมกับกำไรของโรงงานยาสูบ พิจารณาขนาดของธุรกิจยาสูบ ในปี 2558 บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่อย่าง PM มียอดขายทั่วโลกประมาณ 2,601,000 ล้านบาท (ขณะที่รัฐบาลไทยมีรายได้สุทธิจากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รายได้จากรัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น ๆ รวมกัน 2,495,000 ล้านบาท) รยส.มียอดขายในปีเดียวกัน 61,451 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.36 ของยอดขายของ PM เท่านั้น) โดยเป็นยอดขายในต่างประเทศ 50 ล้านบาท คำถามคือ โรงงานยาสูบของไทยจะเปิดสาขาต่างประเทศทำไม ? คิดจะแข่งขันกับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ในตลาดโลกหรือ ?

เมื่อครั้งที่ไทยเกิดกรณีพิพาทกับสหรัฐอเมริกาเรื่องการค้ายาสูบ รัฐบาลไทยคัดค้านการนำเข้าบุหรี่โดยอ้างถึงผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน คณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2533 สนับสนุนให้มีการลดสูบบุหรี่โดยมอบให้กระทรวงการคลังรับไปกำกับให้โรงงานยาสูบลดปริมาณการผลิตบุหรี่ลง รวมทั้งกระทรวงอื่น ๆ รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังออกกฎหมายเพื่อช่วยลดการสูบบุหรี่ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ถึงแม้เราต้องเปิดให้มีการนำเข้าในที่สุด แต่ GATT ก็มองว่าไทยอาจใช้การผูกขาดกิจการยาสูบในการควบคุมอุปทานในตลาด ในร่างกฎหมายการยาสูบฯ ที่กำลังพิจารณาอยู่นี้จึงสมควรอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะกลับไปทบทวนเรื่องราวความเป็นมาในอดีตเป็นบทเรียนด้วย

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลสำคัญท่านหนึ่งของไทยที่เป็นที่ยอมรับในวงการเศรษฐศาสตร์และได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2559 กล่าวในบทความเรื่องสรุปปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยและวิธีแก้ไขไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 สำหรับสินค้ายาสูบท่านว่า "ทำให้ประชาชนขาดสมรรถภาพในการทำงาน รัฐบาลน่าจะหาวิธีป้องกันมากกว่าจะส่งเสริม แล้วหาโอกาสเอารายได้เข้าคลังโดยวิธีอื่น" สรุปชัดเจนว่าสำหรับสินค้านี้ท่านมองเรื่องสุขภาพสำคัญกว่าการหารายได้เข้ารัฐ

WHO กำหนดคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ว่า ยาสูบเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนา (Tobacco – a threat to  development) สำหรับประเทศไทย การขยายช่องทางให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ประเทศสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้หนักขึ้นไปอีกเพราะรัฐจะต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ ขณะที่ประเทศก็กำลังมีภาระใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ

อุตสาหกรรมยาสูบเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีอิทธิพลมากและในหลายประเทศสามารถซื้อเสียงนักการเมืองได้ทุกระดับ โดยเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจและสั่งการ (ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1976 ในทวีปอเมริกาใต้ Securities and Exchange Commission Report รายงานว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 บริษัทฟิลลิป มอร์ริส และอาร์เจเรย์โนลด์ ได้ "จ่ายเงินอันน่าสังสัย" จำนวน 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ข้าราชการใน 7 ประเทศเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษในฐานการผลิตของตน)

รยส. กล่าวถึงการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันสังคมก็กลับได้เห็น รยส. คัดค้านการตั้งโชว์บุหรี่ รวมทั้งคัดค้านกฎหมายควบคุมยาสูบที่ฝ่ายสุขภาพและประชาชนทั่วไปหลายหมู่เหล่าพยายามผลักดันอย่างหนักด้วย รยส. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐยังคงมีประโยชน์และสามารถช่วยชาติได้หากผู้กำหนดนโยบายเรื่องยาสูบจะเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและดำเนินการตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างแท้จริง

00000

ความเสียหายทางสุขภาพหากการผลิตบุหรี่ซึ่งโดยบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550 – 2551) กล่าวว่า เมื่อโรงงานยาสูบของรัฐต้องเปลี่ยนเป็น โรงงานยาสูบของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ความเสียหายทางด้านสาธารณสุขจะเกิดขึ้นคือ 1. อัตราการสูบบุหรี่และจำนวนผู้สูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้น เพราะราคาบุหรี่จะถูกลง และบริษัทบุหรี่ข้ามชาติมีกลยุทธ์การส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิผลมาก โดยการบังคับใช้กฎหมายของรัฐอ่อนแอ และฎหมายไทยปรับตัวไม่ทัน และ 2. เยาวชนไทยจะเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุที่น้อยลง ด้วยเหตุผลเดียวกันกับข้อ 1

ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ระบุว่า การศึกษาโดย ERC Statistical International ของอังกฤษ พบว่าในประเทศยุโรปกลาง และตะวันออก การบริโภคยาสูบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.2 ระหว่างปี 2538 ถึง 2543 ทั้งนี้หลังจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติไปตั้งโรงงานผลิตบุหรี่ประมาณปี 2535 ปรากฎว่าอัตราการสูบบุหรี่ของชาย ชาวสาธารณรัฐเช็คเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 38 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 43 ในปี 2537 และหญิงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25-30 ที่ประเทศโรมาเนีย อัตราการสูบบุหรี่ของประชาชนในปี 2532 คือ  25.9 ในปี 2537 อัตรานี้เพิ่มเป็นร้อยละ 28 ในประเทศอุชเบกิสถาน อัตราการสูบบุหรี่ในผู้ชายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 49 ในปี 2537 ส่วนหญิงก็เพิ่มจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 9

3. การเจ็บป่วยและความพิการด้วยโรค 25 โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และ 4. หากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกการเจรจาทางการค้าที่ประกอบด้วยประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จะประสบปัญหายามีราคาสูงขึ้น ก็จะมีผลเสียต่อระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ

นพ.หทัย ระบุด้วยว่า ในประเทศญี่ปุ่น อัตราการสูบบุหรี่ในผู้ชายอยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ตั้งแต่ปี 1970 อัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง เมื่อกลางศตวรรษ 1980 รัฐวิสาหกิจของประเทศถูกแปรรูป มีผลให้เกิดการชะลอตัวของอัตราการสูบบุหรี่และในผู้หญิงอายุน้อยมีอัตราสูงขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูนิเซฟเผยเด็กไทยต่ำกว่า 5 ปี 1 ใน 10 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น 41% มีหนังสือเพียง 3 เล่มที่บ้าน

Posted: 28 Mar 2017 05:41 AM PDT

'ยูนิเซฟ-สถิติแห่งชาติ' เผยความไม่เท่าเทียมในวัยเด็ก ด้านสุขภาพ พัฒนาการ การศึกษาและการคุ้มครองเด็ก สะท้อนความเหลื่อมล้ำเป็นน่ากังวล พบความล้าหลังของเด็กในพื้นที่ชนบทและครอบครัวที่ยากจน คุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

28 มี.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(27 มี.ค.60) เวลาประมาณ 13.30  น. องค์การยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นความก้าวหน้าด้านเด็กและสตรีหลายด้าน เช่น อัตราการจดทะเบียนเกิด ร้อยละ 99 อัตราการใช้น้ำดื่มจากแหล่งน้ำสะอาด ร้อยละ 98 อัตราการเข้าเรียนในระดับในระดับชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 95 แต่ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวล โดยชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ในครอบครัวยากจน และเด็กที่พ่อแม่ขาดการศึกษายังคงล้าหลังทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษาและพัฒนาการ โดยรวมเมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ด้วย

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือที่เรียกว่า MICS (Multiple indictors Clusster Survey) จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วยการสนับสนุนหลักจากยูนิเซฟ โดยได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก จากครัวเรือนกว่า 28,000 แห่งทั่วประเทศระหว่างเดือน พ.ย. 2558 - มี.ค. 2559

ผลสำรวจชี้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในระเทศไทยประมาณ 1 ใน 10 คนมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งหมายถึงมีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเมื่อเทียบกับอายุ อัตรานี้สูงขึ้นในเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษา ร้อยละ 17 นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า เด็กผู้ชาย เด็กในภาคใต้ และเด็กในครัวเรือเรือนยากจนมากมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและมีภาวะโภชนาการเฉียบพลันสูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในประเทศไทยได้รับการพัฒนามากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจครั้งนี้ได้ตอกย้ำความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงของเด็กกลุ่มต่างๆ โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งเด็กอาศัยอยู่ ชาติพันธุ์ของเด็ก รายได้ของครอบครัว และระดับการศึกษาของแม่ ความไม่เท่าเทียมกันนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ซึ่งเราเชื่อว่าประเทศไทยสามารถจัดการได้

ขณะที่ นวลนภา ธนศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจที่สำคัญในงานแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราลาดพร้าวในวันนี้ โดยนอกเหนือจากด้านสุขภาพและโภชราการแล้ว ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ได้แก่

1.  มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศไทย ร้อยละ 41 ที่มีหนังสือเด็กอย่างน้อยสามเล่มที่บ้าน ทั้งที่หนังสือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก อัตรานี้ลดลงอีกในครัวเรือนที่ยากจนมาก กล่าวคือ มีเด็กในครัวเรือนยากจนมากเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่มีหนังสือเด็กอย่างน้อยสามเล่มที่บ้าน  เมื่อเทียบกับเด็กในครัวเรือนที่ร่ำรวยมากซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 73

2.  สำหรับการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยการทำกิจกรรมร่วมกันนั้น มีพอเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับลูกในช่วงสามวันก่อนสำรวจ โดยสัดส่วนพ่อที่ทำกิจกรรมร่วมกับลูกยิ่งน้อยลงอีกในครัวเรือนที่ยากจนมาก คือ เพียง 1 ใน 4 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับพ่อในครัวเรือนที่ร่ำรวยมาก (1 ใน 2 คน)

3.  หากพิจารณาระดับการศึกษาของแม่ พบว่า มีความสัมพันธ์กับสุขภาพ พัฒนาการและการศึกษาของลูก ผลสำรวจระบุว่า ร้อยละ 24 ของเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษาไม่ได้เข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา เมื่อเทียบกับเด็กเพียงร้อยละ 0.4 ที่แม่มีการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษา และพบว่าสัดส่วนนี้สูงสุดในเด็กที่มีหัวหน้าครัวเรือนที่ไม่ได้พูดภาษาไทย (ร้อยละ 34)

4.  สำหรับอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ในประเทศไทย พบว่าอยู่ที่ 51 คนต่อ 1,000 คน โดยในภาคเหนือมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ คือ 72 คน ต่อ 1,000 คน นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นที่มีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาให้กำเนิดบุตรสูงมาก คือ 104 คนต่อ 1,000 คน และวัยรุ่นในครัวเรือนยากจนก็ให้กำเนิดบุตรสูงเช่นกัน คือ 82 คนต่อ 1,000 คน เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่มีการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษา (3 คนต่อ 1,000 คน) และวัยรุ่นที่ร่ำรวยมาก (12 คนต่อ 1,000 คน)

5.  ด้านการอยู่อาศัยของเด็ก พบว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ประมาณ 1 ใน 5 คน หรือราว 3 ล้านคนในประเทศไทยไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ทั้งๆที่พ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่ อัตรานี้สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในกลุ่มเด็กที่มาจากครัวเรือนที่ยากจนมาก โดย เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในครัวเรือนยากจนมากประมาณ 1 ใน 3 คนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

โธมัส ดาวิน กล่าวอีกว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า เด็กในชนบทและเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนต้องเผชิญกับเส้นทางชีวิตที่ยากลำบากที่สุดในการเติบโตขึ้น ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้นเลย เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันในชีวิต ซึ่งยูนิเซฟมุ่งมั่นและพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบบริการทางสังคมตลอดจนนโยบายคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศไทย มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในชีวิต

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีวาระขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ มุ่งหวังให้ทุกพื้นที่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตประชารัฐ ซึ่งมีแผนติดตั้งอินเตอร์เน็ตให้กับ 24,000 หมู่บ้านภายในสิ้นปี 2560 และกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2,000 แห่ง เพื่อสนับสนุนนโยบาย E-commerce ชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้กระทรวงฯอยู่ระหว่างการสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้าสู่ระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขและประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง เป็นธรรมและปลอดภัย โดยเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลดีเป็นอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ไม่จำกัดเพียงเด็กและสตรีเท่านั้น

ผลสำรวจครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงข้อมูลเกี่ยวกับเด็กในด้านต่างๆอีกด้วย เช่น อัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การอบรม และดูแลเด็ก ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ เป็นต้น โดยสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม ฉบับย่อและรายงาน Every Child Counts : เด็กทุกคนสำคัญเสมอ ได้ที่ https://www.unicef.org/thailand/tha/resources.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: เปิดเครื่องมือเชือด Voice TV และเนื้อหา 3 รายการที่โดนลงโทษ

Posted: 28 Mar 2017 03:52 AM PDT

เปิดเนื้อหา 3 รายการหลักที่ถูก กสท.ลงดาบสั่งปิดทั้งสถานี 7 วันว่าพูดกันเรื่องอะไร แค่ไหน พร้อมวิเคราะห์กฎหมาย คำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ รวมถึง MOU ที่ผูกมัดบรรดาสถานีข่าวในทีวีดิจิตอล-ทีวีดาวเทียมไว้หลายชั้น จะได้เข้าใจตรงกันและไม่บ่นกันอีกต่อไปว่า "ทีวีเดี๋ยวนี้แทบไม่มีอะไรดู"

หลังเที่ยงคืนของเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) วอยซ์ทีวียุติการออกอากาศทั้งสถานี หลังจากถูก กสท.สั่งพักใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก

ย้อนกลับไปปีที่แล้ว กสทช.ลงดาบกับวอยซ์ทีวีหลายแบบ ทั้งสั่งปรับ สั่งระงับบางรายการเป็นการชั่วคราว 10 ครั้ง ไม่รวมการตักเตือน "อย่างไม่เป็นทางการ" อีกมากมายหลายครั้ง ส่วนปีนี้ลงโทษแล้ว 2 ครั้งแบบให้ผู้จัดบางคนยุติจัดรายการชั่วคราว

หากเหตุการณ์จอดำเกิดขึ้นช่วงหลังรัฐประหารทันทีก็คงเป็นเรื่องที่เราคุ้นชินเช่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นมาบรรยากาศดูเหมือนค่อยๆ คลี่คลายขึ้น เหตุใดจึงเกิดการปิดสถานีขึ้นในระยะนี้จากเหตุแห่งการแสดงความคิดเห็น และไม่ใช่โดย คสช. แต่เป็น กสทช. โดยผู้ตั้งต้นเรื่องในการร้องเรียนคือ หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเลขาธิการ คสช. 

ตามคำสั่ง กสทช. ระบุว่า รายการที่ "มีความผิด" ทำให้ กสทช.สั่งยุติออกอากาศทั้งสถานี คือ

1.รายการใบตองแห้งออนแอร์ ตอน จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ
2.รายการ In Her View ตอน ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร
3.รายการ Overview ตอน ยันกองทัพป้องทหารยังยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี

รายการทั้งสามมีลักษณะตั้งคำถามแหลมคมกับประเด็นร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระแส แน่นอนว่า ประเด็นธรรมกาย เด็กหนุ่มลาหู่ และโกตี๋ เป็นประเด็นหนามยอกอกของ คสช.อย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 รายการที่ถูกนำไปพิจารณาโทษในครั้งล่าสุดนี้ด้วยแต่หลุดโผมาได้ คือ

1.รายการ Over View หัวข้อ มีอะไรไปเคลียร์ในกรม อภิสิทธิ์ชนแถว 3 ทำสังคมเดือด (ไม่ได้ออกอากาศทางทีวี จึงไม่อยู่ในอำนาจของ กสทช.)
2.รายการ Voice News ช่วง Voice News Report เวลา 20.13 น. หัวข้อ นายวีระ สมความคิด แสดงความคิดเห็นกรณี บ่อนตาพระยา (ถูกนำมาพิจารณา แต่ท้ายที่สุดหลังการชี้แจงไม่มีการหยิบยกรายการนี้มาในคำสั่งพักใบอนุญาต)

รู้จัก กสทช. ดาบในมือนั้นท่านได้แต่ใดมา

ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและลงโทษสถานีโทรทัศน์คือ กสทช. มีคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน แบ่งออกเป็น กทช. รับผิดชอบในส่วนกิจการโทรคมนาคม  และ กสท. รับผิดชอบส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ปัจจุบัน กสท. มีคณะกรรมการเหลือเพียง 3 คน เนื่องจาก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการเสียงข้างน้อยตลอดกาล ได้ขอยุติปฏิบัติหน้าที่หลังจากศาลฎีกาสั่งให้มีความผิดตามศาลชั้นต้น และรอการกำหนดโทษ 2 ปี ในคดี "ปีนสภาค้านกฎหมาย สนช.ในปี 2550" กรรมการอีกคนคือ ทวีศักดิ์ งามสง่า พ้นสภาพจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปี

ใน กสท.นี้เองที่มีคณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งจะดูแลเนื้อหาของทีวีทุกช่อง โดยมีอำนาจลงโทษหลายแบบตั้งแต่

1.ตักเตือนเป็นหนังสือ
2.ปรับ 50,000-500,000 บาท
3.พักใช้ใบอนุญาต (ปิดสถานีชั่วคราว)
4.เพิกถอนใบอนุญาต (ปิดสถานีถาวร)

ทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรานี้กำหนดกรอบความผิดไว้ว่า

"ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน

ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้"

คลิ๊กดูภาพขนาดใหญ่

ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: ม.37 + ประกาศ คสช.คุมเนื้อหาสื่อ ยกเว้นโทษ กสทช.

ไม่เพียงมาตรา 37 ที่เป็นดาบคมกริบในการ "ควบคุมดูแล" เนื้อหาในทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอลที่ กสทช.เองก็เคยใช้มันบ่อยครั้งแล้วเท่านั้น (เช่น การลงโทษปรับ 5 แสนบาทกับรายการ 3  รายการ เช่น ไทยแลนด์ ก็อตทาเลนต์ ซีซั่น 2 นำเสนอภาพหญิงสาวเปลือยอกวาดภาพ ซีซั่น 3 เผยแพร่ภาพผู้เข้าแข่งขันเป็นออทิสติกแล้วถูกเหยียดหยามจากคณะกรรมการฯ รายการปากโป้ง ช่อง 8 เชิญมารดาและเด็กหญิงออทิสติกที่ถูกข่มขืนมาสัมภาษณ์)

เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 คสช.ยังได้ออกประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อฉบับหลักๆ คือ

ฉบับที่ 97/2557 ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนให้ระงับการเผยแพร่ทันทีละให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย

ฉบับที่ 103/2557 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมวิชาชีพสื่อ จึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ให้สื่อวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม

ที่เป็นประเด็นสำหรับวอยซ์ทีวีโดยเฉพาะ คือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 ซึ่งอนุญาตให้ทีวีดิจิตอลจำนวน 23 ช่อง ออกอากาศได้ตามปกติหลังหยุดไปนานช่วงทำรัฐประหาร แต่ยกเว้นช่องวอยซ์ทีวีเพียงช่องเดียวในบรรดาทีวีดิจิตอล อีกช่องหนึ่งที่ยกเว้นด้วยคือ ช่องทีนิวส์ในระบบทีวีดาวเทียม อาศัยตามคำสั่งตามกฎอัยการศึก นั่นทำให้สองช่องนี้ได้กลับมาออกอากาศช้ากว่าช่องอื่นๆ เกือบเดือน

"ช่องนี้พิเศษเพราะมี MoU กับ คสช. เขาต้องระวังเป็นพิเศษ แต่นี่เขาระวังแค่ปกติและผิดบ่อยมาก"  พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท. ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการกล่าว

ที่พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวเช่นนั้น เพราะวอยซ์ทีวีเป็นทีวีดิจิตอลหนึ่งเดียว ร่วมกับทีวีดาวเทียมอีก 13 ช่อง  (ตามประกาศคสช.ที่ 15/2557) ที่ถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงร่วม หรือ MoU เฉพาะกับ คสช.   

ไม่มีใครเคยเห็น MoU ที่ว่านั้นจะๆ แต่ไอลอว์อ่านมันโดยอ้อมผ่านงานวิจัย ระบุว่า "สาระของ MoU ตามที่เปิดเผยในร่างรายงานวิจัย หัวข้อ "การกำกับดูแลเนื้อหา: สื่อวิทยุและโทรทัศน์" ของโครงการการปฏิรูปสื่อ: การกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอยู่ว่า ทางสถานียินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที"

ล่าสุดในปี 2559 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการใช้ ม.44 ในการออกคำสั่ง เรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดสินและกำหนดกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดแพ่งและอาญาต่อคณะทำงาน นั้นหมายความว่า กสทช. สามารถออกคำสั่งควบคุมสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิด

ทั้งหมดนี้คือ กรอบกำหนดในการควบคุมเนื้อหาของสื่อทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียมอย่างเข้มข้น....และไม่อาจขัดขืน 

รายการใบตองแห้งออนแอร์: "จากธัมมี่ถึงทักกี้ ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ"

ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 19.10 น.

วิจารณ์เรื่องปฏิบัติการของรัฐต่อวัดพระธรรมกาย ใบตองแห้งตั้งคำถามว่า ปรากฏการณ์ที่สะท้อนในคดีธรรมกายกับเรื่องการเก็บภาษีทักษิณ ยังเป็นประเด็นสังคมที่จะปรองดองกันได้หรือเปล่า

ใบตองแห้งวิจารณ์ว่า สื่อกระแสหลักยังเป็นเหมือนเดิม ปลุกความเกลียดชังเข้าใส่ธรรมกาย โดยไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 53 คล้ายสังคมไทยไม่ไปไหน เป็นความไม่มีเหตุผล ใครไม่เห็นด้วยกับมาตรา 44 กลายเป็นเลวร้าย เป็นพวกเดียวกับธรรมกาย ไม่มีการสรุปบทเรียน แม้สื่อจะมีจุดร่วมต่อต้านพ.ร.บ.สื่อของสปท.ก็ตาม

กรณีเก็บภาษีทักษิณไม่ได้ตั้งต้นมาจากรัฐบาลเลย แน่นอน มันตั้งต้นมาจากองค์กรรัฐคือ สตง. แต่ขณะเดียวกันก็มีการปลุกกระแสทำนองว่าถ้าคุณไม่เก็บภาษีทักษิณแสดงว่าคุณเกี้ยเซียะกับทักษิณ

"ปรองดองไม่ได้อยู่ที่การที่คุณเกี๊ยเซียะ ปรองดองมันคือการที่สังคมมีเหตุผล มีสติ และรู้จักแยกแยะเรื่องต่างๆ จะเก็บภาษีทักษิณผมไม่ว่า แต่พูดให้มีเหตุผล"

ใบตองแห้งกล่าวว่า ทักษิณเป็นอำนาจนิยม แต่คนที่ไล่ทักษิณก็สนับสนุนอำนาจนิยมยิ่งกว่า การปรองดอง ของฝ่ายรัฐ รัฐต้องการคงอำนาจของรัฐราชการ ความเป็นรัฐที่มั่นคง ให้อยู่ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม แต่ไม่อาจนำไปสู่การปรองดองได้ตราบที่สังคมค่อนข้างไร้สติ

เขายังได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างธรรมกายกับเรื่องการเก็บภาษีของทักษิณว่า ธรรมกายคืออะไรที่แปลกแยก ประหลาด โอเว่อร์ อลังการ ทำให้รู้สึกต้องทำลายธรรมกายเพื่อไม่ให้พุทธเพี้ยน แต่พุทธที่เรานับถือคืออะไร เราก็มีหนังสือท่านพุทธทาส ท่านป.อ.ปยุตโตอยู่ด้านหนึ่ง แต่ก็มีการพ่นน้ำมนต์ปลุกเสก มันก็อยู่กันมาปกติ ทั้งพุทธทั้งผี ทำลายมันก็ไม่ใช่จะกลับมาสู่พุทธแท้อะไร ไม่ใช่คนจะกลับมาอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสหรือท่านปยุตฺโต

ทักษิณเป็นผู้แปลกแยกเหมือนกัน ทักษิณมีอำนาจมาก ทำลายระบบดั้งเดิมของเรา ซึ่งดั้งเดิมก็คือระบบเกี้ยเซียะอุปถัมภ์ โกงแบบผู้ดีหน่อย พอประมาณ นี่คือสิ่งที่เรารับได้อยู่ แต่ทักษิณแปลกแยกใหญ่โต เพราะงั้นทำลายมัน แต่ก็หวนกลับไปสู่สิ่งเดิมซึ่งเสื่อมไปเรื่อยๆ ก็ไปไม่ได้ ถึงที่สุดเราไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ถึงต้องอยู่กับ คสช.อยู่อย่างนี้ อาจจะต้องไปสู่ภาวะที่คุณต้องถดถอยหนักๆ คุณถึงจะคิดกันรึเปล่าก็ไม่รู้

หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการของใบตองแห้งมีการนำเสนอที่ไม่ได้ติชมโดยสุจริต วิพากษ์วิจารณ์ที่ขาดเหตุผล ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม

ช่วงหนึ่งของรายการ In Her View: "เปิดยุทธการจับอาวุธโกตี๋ สังคมกังขาจัดฉากหรือไม่?"

ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 18.30 น.

ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา อ้างบทวิเคราะห์ของมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งนำเสนอว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่โกตี๋เคยเคลื่อนไหวอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี หลักๆ จึงเป็นการตรวจค้นที่จังหวัดปทุมธานี ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ของวัดพระธรรมกายอยู่จังหวัดใด ยิ่งไปกว่านั้นโกตี๋มีภาพลักษณ์เป็นเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ บทวิเคราะห์จึงตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกันหรือไม่ นอกจากนี้ความจริงการตรวจค้นรังโกตี๋ไม่ใช่ครั้งแรก และสังคมก็รู้ว่าโกตี๋ไม่ได้อยู่เมืองไทย บทบาทของเขาอยู่ต่างแดน รัฐมีความพยายามหลายหนที่จะจัดการ มีการขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่เป็นผล เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริง และข้อกังขาของสังคมว่าเป็นการจัดฉากรึเปล่า

ลักขณาได้กล่าวว่า ทางฝั่งรัฐบาลบอกว่าไม่จัดฉาก ในวันที่ไปค้นมีสื่อมวลชนอยู่เป็นพยาน ทั้งหมดนี้เป็นอาวุธที่มีอยู่ตรงนั้นจริงๆ

หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการ In Her View ขาดการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน นำบทวิเคราะห์มาจากมติชนฉบับเดียว โดยไม่ได้นำของค่ายอื่นมาด้วย

รายการ Overview: "ยิงชัยภูมิ รัฐอย่าป้องทหารกว่าประชาชน"

ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 18.55 น.

ศิโรตม์ นำเสนอเหตุการณ์ว่า ชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมที่ใช้ศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อดึงคนรุ่นเดียวกันให้ออกจากวังวนยาเสพติด และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ คนที่รู้จักชัยภูมิหลายต่อหลายคนออกมาไว้อาลัย ทั้งยังกล่าวถึงความดีที่ผู้ตายได้ทำ โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานศพชัยภูมิที่มีคนมาไว้อาลัยมากมาย ผิดกับภาพที่อาชญากร ค้ายา ปาระเบิดควรจะเป็น

สังคมมีคำถามถึงพฤติการณ์ดังกล่าวมากมาย แต่โฆษกกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี กลับแถลงข่าวเข้าข้างเจ้าหน้าที่ ประหนึ่งว่าเหตุการณ์วิสามัญฯ ในไทยนั้นไม่เคยเกิดจากความเข้าใจผิด หรืออคติของเจ้าหน้าที่เลย ในชุมชนพื้นที่ที่เกิดเหตุ มีความเกี่ยวพันกับยาเสพติดจริง แต่ไม่ใช่ว่าชนพื้นเมืองทุกคนจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กองทัพควรจะรับฟังคนในพื้นที่บ้าง เพราะในพื้นที่มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่มานาน เคยมีเหตุการณ์ประทุษร้ายประชาชนเกิดขึ้น

ศิโรตม์ กล่าวว่า อย่าคิดว่าเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ ไม่ได้ ทำผิดไม่ได้ ทำไมไม่ฟังประชาชนก่อน อย่าลืมว่า 25 มีนาคม 2559 ที่ทุ่งยางแดง มีเหตุทหารวิสามัญฯ เด็กและเยาวชน ตอนนั้นมีข่าวว่าผู้ที่ถูกวิสามัญฯ เป็นโจรใต้ เป็นคนชั่ว เจ้าหน้าที่ทหารเองก็รายงานสอดคล้องกัน พร้อมอาวุธของกลาง เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องลุกลามใหญ่โต ผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพ กลไกฝ่ายปกครองสอบสวน ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนที่เสียชีวิต 4 คนไม่มีใครผิดเลย คนหนึ่งเป็นวัยรุ่นอายุ 24 ปีด้วยซ้ำไป มีการจับคนไป 22 ราย เรื่องนี้ถูกดำเนินคดีไปเรียบร้อยแต่ใช้เวลานานมาก เพิ่งมีการสอบสวนของศาลนัดสุดท้ายไป

"นี่คือตัวอย่างให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในกองทัพไม่ลืมว่า ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่เมื่อมีการวิสามัญฆาตกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ถูกไปหมดทุกครั้ง ประเทศเราเป็นประเทศซึ่งหลายครั้งมีการวิสามัญฯ โดยมาจากอคติของเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ทุ่งยางแดงอาจจะมีความเชื่อที่ผิดว่าคนมุสลิมจะเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นโจรใต้ไปหมด ในที่สุดมีการสังหารประชาชนเกิดขึ้น ภาษากฎหมายเรียกว่าวิสามัญฆาตกรรม ภาษาชาวบ้านเรียกว่ายิงทิ้ง กลไกกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า วิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่ใบสั่งให้เจ้าหน้าที่ยิงประชาชนทิ้งได้ตามอำเภอใจ" พิธีกรจากวอยซ์ทีวีกล่าว

ศิโรตม์ กล่าวว่า ในกรณีของชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ต้องทำแบบคดีอื่นๆ ที่มีความคลุมเครือ คือ มีการนำพนักงานปกครอง อัยการ เจ้าหน้าที่สอบสวนเข้ามา และทำการชันสูตรศพ เขายังกล่าวถึงข้อสงสัยในสังคมเกี่ยวกับพฤติการณ์การตายว่ามีระเบิดจริงหรือเปล่า กระสุนยิงเข้าข้างหน้าหรือข้างหลัง เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ปกป้องตนเอง แต่ประชาชนต้องระวัง และมีสิทธิ์จะซักถามได้ว่า เจ้าหน้าที่วิสามัญฯ โดยชอบ หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการ Overview คือ ศิโรตม์แสดงความเชื่อมั่นว่า ชัยภูมิไม่ได้ค้ายาเสพติด โดยบอกว่า ถ้าชัยภูมิมีประวัติค้ายาเสพติด ก็คงไม่มีคนมาร่วมงานศพมากมายและแสดงความเสียใจขนาดนั้น คือมีเนื้อหาที่ยังไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อน แต่นำเสนอสู่สาธารณะและไม่ได้ติชมหรือเสนอแนะความคิดโดยชอบธรรม

ส่วนในปี 2559 กสท. เว็บไซต์ผู้จัดการ ระบุว่า มีทั้งหมด 10 เรื่องที่กสท.สั่งลงโทษไม่ว่าจะเป็นการปรับหรือการระงับบางรายการเป็นการชั่วคราว แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวและสืบค้นได้จากข่าววาระการประชุม กสท.นั้น อาทิ

-          วันที่ 21 เม.ย. 2559 รายการ Wake Up News เสนอข่าวกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีเงื่อนไข

-          วันที่ 25 พ.ค. 2559 รายการ Tonight Thailand เสนอมีลักษณะเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช. (ไม่ได้ระบุหัวข้อ)

-          วันที่ 4 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาในช่วง "ห้องเรียนรัฐธรรมนูญ" มีเนื้อหาลักษณะส่อเสียด โดยการนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาเปรียบเทียบกับรัฐบาลปัจจุบัน

-          วันที่ 21 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และพูดแนะนำให้ประชาชนลงชื่อในเว็บไซต์ต่อต่านร่างรัฐธรรมนูญ

-          วันที่ 22 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหารถไฟฟ้าสีน้ำเงิน

-          วันที่ 29 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News ในช่วงห้องเรียนรัฐธรรมนูญ มีการสัมภาษณ์ รศ.สุขุม นวลสกุล เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

-          วันที่ 8 ส.ค. 2559 รายการ Wake Up News เสนอมีลักษณะเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช. (ไม่ได้ระบุหัวข้อ     

-          วันที่ 15 ส.ค. 2559 รายการ Wake Up News สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ "วิเคราะห์เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้" และวันที่ 16 ส.ค. 2559 วิเคราะห์เหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ ต่อด้วยนำเสนอในหัวข้อ "ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนัก" และ "มีชัย ชี้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว" มีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช.

-          วันที่ 6 ธ.ค. 2559 รายการ Wake Up News วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็น "กรธ.เล็งเปิดร่าง พ.ร.บ. พรรคการเมือง" และ "เพื่อไทยชี้ยุทธศาสตร์ฯ 20 ปี กับดักประเทศ" เข้าข่ายขัดต่อประกาศ คสช.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อแคนาดาเผย รัฐบาลเสรีนิยมแง้มจะประกาศให้กัญชาถูกกฎหมายในปี 2561

Posted: 28 Mar 2017 03:37 AM PDT

พรรคเสรีนิยมแคนาดากำหนดวาระจะประชุมหารือถึงแผนการออกกฎหมายกำกับดูแลการใช้กัญชาในเชิงกิจกรรมยามว่าง ซึ่งกำหนดเส้นตายประกาศใช้ภายในเดือน ก.ค. ปีหน้า โดยยกเหตุผลว่าเพื่อกำหนดอายุผู้ซื้อเพื่อลดจำนวนผู้เสพที่เป็นเยาวชน ป้องกันไม่ให้แก๊งอาชญากรใช้หาประโยชน์เข้าตัว และลดภาระตำรวจกับกระบวนการยุติธรรม

28 มี.ค. 2560 สื่อซีบีซีจากแคนาดารายงานว่ารัฐบาลพรรคเสรีนิยมนำโดยจัสติน ทรูโด จะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการทำให้กัญชาถูกกฎหมายในเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้และจะมีการชี้แนะจากคณะทำงานพิเศษที่แต่งตั้งเพื่อการนี้โดยเฉพาะนำโดยอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมพรรคเสรีนิยม แอนน์ แมคเลลลัน โดยมีแผนการจะประกาศให้การใช้กัญชาเพื่อเป็นกิจกรรมยามว่างถูกกฎหมายในแคนาดาภายในเดือน ก.ค. 2561

บิลล์ แบลร์ อดีตหัวหน้าตำรวจโตรอนโตผู้มักจะได้ทำคดีเกี่ยวกับกัญชาแถลงคร่าวๆ ในที่ประชุมพรรคเสรีนิยมเกี่ยวกับแผนการในเรื่องนี้โดยที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรคเสรีนิยมที่ไม่เปิดเผยนามบอกแผนการดังกล่าวต่อสื่อซีบีซี

แผนการณ์คร่าวๆ เกี่ยวกับการกำกับดูแลกัญชาคือรัฐบาลกลางแคนาดาจะเป็นผู้ตรวจสอบว่ากัญชาที่ผลิตมีความปลอดภัยและทางการจะเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับผู้ผลิต ขณะที่รัฐท้องถิ่นแต่ละรัฐในแคนาดาจะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการจัดจำหน่าย โดยที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้ที่มีสิทธิตั้งราคากัญชา นอกจากนี้ยังมีการกำหนดอายุผู้ซื้อขั้นต่ำที่ 18 ปีด้วย และให้สิทธิแต่ละรัฐกำหนดอายุผู้ซื้อเพิ่มขึ้นได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามในแง่ของการปลูกเองแล้วชาวแคนาดาจะถูกจำกัดให้เป็นเจ้าของพืชกัญชาได้ 4 ต้นต่อ 1 ครัวเรือนเท่านั้น

จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาเคยให้สัญญาว่าจะทำให้กัญชาถูกกฎหมายมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นข้อถกเถียงตั้งแต่สมัยที่เขาหาเสียงทางการเมือง แต่พรรคการเมืองเสรีนิยมของแคนาดาก็ให้เหตุผลในการทำให้กัญชาถูกกฎหมายว่าเพื่อทำให้กัญชากลายเป็นยาเสพติดที่สามารถกำกับดูแลได้และป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในมือเด็กหรือถูกใช้หาประโยชน์โดยกลุ่มอาชญากร รวมถึงลดภาระตำรวจและกระบวนการยุติธรรมด้วย

ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ทรูโดพูดถึงแผนการล่าสุดว่าในตอนนี้การใช้กัญชายังไม่ถือว่าเป็นเรื่องถูกกฎหมายในแคนาดาจนกว่าจะมีการออกกฎอย่างเป็นทางการและมีกรอบแนวทางการกำกับดูแลอย่างชัดเจน โดยในแคนาดายังคงมีการปราบปรามผู้มีกัญชาในครอบครองอยู่ทำให้เรื่องนี้ถูกพรรคการเมืองเอ็นดีพียกขึ้นมาโจมตีทรูโดว่ายังไม่ได้ทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้

สื่อบีบีซีระบุว่าการใช้กัญชาในทางการแพทย์เป็นเรื่องถูกกฎหมายในแคนาดามาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว และมีการออกใบอนุญาตผลิตจากรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 โดยที่แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้กัญชาสูงที่สุดในโลกโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ถ้าหากมีการผ่านร่างกฎหมายตามแผนการได้จริงแคนาดาจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ใหญ่ที่สุดที่ยกเลิกการห้ามใช้กัญชาในเชิงกิจกรรมยามว่าง


เรียบเรียงจาก

EXCLUSIVE : Liberals to announce marijuana will be legal by July 1, 2018, CBC, 26-01-2017
http://www.cbc.ca/news/politics/liberal-legal-marijuana-pot-1.4041902

Canada to legalise marijuana 'by 2018', BBC, 27-03-2017
http://www.bbc.com/news/world-us-canada-39411026

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ผบ.ทบ.' เมินกระแสร้องเปิดภาพวงจรปิด ปมวิสามัญฯ ชัยภูมิ เผยดูแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด

Posted: 28 Mar 2017 02:10 AM PDT

พล.อ.เฉลิมชัย ยันไม่โอบอุ้มทหารปมวิสามัญฯ ชัยภูมิ ย้ำกองทัพต้องยืนในจุดที่เหมาะสม พร้อมเมินกระแสร้องเปิดภาพวงจรปิด เผยดูแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ตร.ชี้หลักฐานหากเปิดแล้วกระทบรูปคดีก็ทำไม่ได้

ภาพชัยภูมิและเจ้าหน้าที่ทหารค้นรถคนเกิดเหตุที่ชัยภูมินั่งมาด้วย

28 มี.ค. 2560 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติการณ์การเสียชีวิตของชัยภูมิจากทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รวมไปถึงพยานในเหตุการณ์หลายปาก (อ่านที่นี่

'ผบ.ทบ.' เมินกระแสร้องเปิดภาพวงจรปิด

วันนี้ (28 มี.ค.60) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า เจ้าหน้าที่ทหารทำเกินกว่าเหตุในประเด็นวิสามัญ ชัยภูมิ ว่า คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ซึ่งได้ชี้แจงกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมแล้วว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว ทั้งนี้คดีดังกล่าวได้แยกเป็น 2 คดีโดยกองทัพบกพร้อมทำหน้าที่ หากผู้ใต้บังคับบัญชาของตนกระทำการเกินกว่าเหตุก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชี้แจงนั้น ตนคิดว่าตราบใดที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินลงมาก็ไม่ควรกล่าวหาว่าใครเป็นอย่างไร ส่วนที่มีการตั้งคณะกรรมการกองทัพภาคที่ 3 เป็นการสอบสวนคู่ขนานเมื่อสังคมเกิดความสงสัย อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะกรรมการได้รายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นมาให้ตนรับทราบแล้ว แต่ไม่ควรพูด เพราะจะเป็นการชี้นำคดีและคิดว่าไม่จำเป็นต้องนำผลสรุปของคณะกรรมการดังกล่าวไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)

ต่อกรณีที่มีการระบุว่าจะมีการเปิดเผยภาพเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด (CCTV) แต่ตอนหลังกลับนำภาพดังกล่าวส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่ได้พูดว่าให้เปิดเผยหรือไม่เปิดเผย แต่มีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานประกอบคดี ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและพิจารณาเปิดเผยหรือไม่ ตนไม่มีปัญหา 

เมื่อถามต่อว่าแต่ยังมีหลายกระแสเรียกร้องให้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิด พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ตนไม่สนใจกระแส เพราะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่ขอก้าวก่าย ทั้งนี้ได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว และเห็นว่าไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด หากมีการเปิดให้หลายคนดูก็เกรงว่าจะเกิดปัญหาต่างคนต่างมองประเด็นที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่มีความสงสัยอะไร ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมดำเนินการไป อย่าใช้กระแส และตนจะไม่ไปแทรกแซงหรือสั่งเขาว่าให้ดูหรือไม่ให้ดู

เผยดูแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่าว่า ได้ดูภาพซีซีทีวีแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปเพราะถือว่าเป็นพยานหลักฐานชิ้นหนึ่ง ดังนั้น จะพูดเรื่องนี้ให้น้อยที่สุด ในส่วนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กองทัพบกตั้งขึ้นได้รายงานผลเบื้องต้นแล้วไม่สามารถพูดได้เช่นกันเพราะจะกลายเป็นชี้นำ แต่จะเก็บไว้เป็นรายงานของกองทัพเท่านั้นไม่ส่งให้กับตำรวจ ซึ่งกรณีนี้แยกเป็น 2 คดี คือคดียาเสพติดและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

ยันไม่โอบอุ้ม ย้ำกองทัพต้องยืนในจุดที่เหมาะสม

สำหรับกรณีที่สมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ที่ระบุว่า "ถ้าเป็นผม ผมอาจกดออโต้ไปแล้วก็ได้" นั้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ยินดีให้ตรวจสอบ แต่ตนก็เข้าใจแม่ทัพภาคที่ 3 ที่พูดแบบนั้นหมายความว่าลูกน้องมีวินัยและฝึกมาดีจึงยิงไปแค่นัดเดียว ถ้าเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ก็อาจจะหลุดออโต้ออกไป โดยพยายามสื่อว่าลูกน้องฝึกมาดี แต่เมื่อมีการตัดประโยคนี้ออกไปก็ทำให้ดูเป็นคนก้าวร้าวและรุนแรง ซึ่งลักษณะนี้อยู่ที่การตีความ ตนคิดว่าสังคมเข้าใจแม่ทัพภาคที่ 3ว่าคิดอะไร บางครั้งอยู่หน้ากล้องสื่อมวลชนอาจรู้สึกตื่นเต้นคิดจะพูดอีกแบบ แต่อาจพูดไม่ครบก็ไปเข้าล็อคจนเกิดการตีความ แต่ทั้งนี้แม่ทัพภาคที่ 3ก็ยอมรับสิ่งที่พูดว่าเจตนาแบบหนึ่ง แต่เมื่อสังคมสงสัยแบบหนึ่งก็สามารถดำเนินการได้ ตนได้บอกว่าการมาอยู่ตรงนี้เรื่องการพูดจาต้องระมัดระวัง เพราะบางทีความจริงใจอาจใช้ไม่ได้ในทุกสถานการณ์

ต่อกรณีคำถามถึงการตั้งข้อสังเกตว่าคดีก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะคล้ายกัน พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ทุกเรื่องก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบ หากเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบ ตนจะไม่โอบอุ้มอย่างเด็ดขาด กองทัพต้องยืนในจุดที่เหมาะสม

ตร.ชี้หลักฐานหากเปิดแล้วกระทบรูปคดีก็ทำไม่ได้

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวถึงคดีนี้ว่า ได้กำชับให้ทำคดีตรงไปตรงมา เรื่องนี้ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ไม่หนักใจที่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นคดียาเสพติดทั่วไปพูดตามหลักกว้างๆไม่เฉพาะคดีนี้หากเจ้าหน้าที่ไม่ยิงเขา เขาก็ยิงเจ้าหน้าที่ เพราะผู้ต้องหาในคดียาเสพติดไม่ได้มาตัวเปล่าอยู่แล้ว ส่วนกรณีของนายชัยภูทิ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้รายงานมาว่ามีประวัติ เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ส่วนกรณีที่สังคมเรียกร้องให้ทางตำรวจเปิดภาพวงจรในที่เกิดเหตุนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ระบุว่า ตามหลักการพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งพยานหลักฐานต่างๆ ถ้าเปิดเผยแล้วกระทบรูปคดีก็ไม่สามารถเปิดเผยได้

พ.ต.อ.กฤษณะ ยังระบุีอีกว่า ในส่วนของตำรวจรับผิดชอบการทำคดี3 ส่วน คือ 1.เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาเสพติด 2.คดีเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากเป็นการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ และคดีที่ 3. เป็นเรื่องของทหารที่วิสามัญโดยอ้างว่ากระทำไปตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งการดำเนินคดีทั้ง3ส่วนจะดำเนินการไปตามกฎกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ ส่วนพนักงานสอบสวนจะสั่งฟ้องหรือไม่อย่างไรอยู่ที่การพิจารณาพยานหลักฐาน

 

ที่มา : ไทยพีบีเอส กรุงเทพธุรกิจออนไลน์และ TNN24

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความปลาสนาการไปของ “พุทธรัฐ”

Posted: 28 Mar 2017 01:57 AM PDT

 

ดูข่าวสาร "วัดพระธรรมกาย"ในเมืองไทยซึ่งเป็นปัญหาทั้งการเมืองและศาสนา อันเป็นข้อห้ามที่รู้กันทั่วไปแม้กระทั่งในอเมริกาว่า ทั้งสองเรื่องเป็นเป็นเรื่องห้ามสนทนา เพราะอาจทำให้ผู้สนทนาแตกคอกันได้

ข่าวดังกล่าว ทำให้มองได้ชัดขึ้นว่า เรื่องศาสนากับเรื่องการเมือง โดยเฉพาะในเมืองไทยนั้นแยกกันไม่ออก ต่างสัมพันธ์เชิงเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ในแง่ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลเชิงพุทธสัญลักษณ์เอง พระสงฆ์ไทยต้องอยู่ภายใต้กติกาหรือกฎระเบียบ 3 ชั้น ชั้นแรก คือ พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้พระวินัยในพระพุทธศาสนาเอง ชั้นที่สอง คือ พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสงฆ์ (พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับ พ.ศ. 2505 แก้ไข พ.ศ. 2535) และชั้นที่ 3 พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองเหมือนพลเมืองไทยโดยทั่วไป

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลเชิงสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจนคือ กระบวนการในชั้นที่สอง พระสงฆ์ไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสงฆ์ การอย่าภายใต้ร่างกม.ดังกล่าว แสดงให้เห็นบทบาทของรัฐที่เข้ามากำกับดูแลกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยมีองค์กรศูนย์กลางของศาสนาพุทธแบบทางการคือ มหาเถรสมาคม (มส.) และหน่วยงานของรัฐที่เพิ่งจัดตั้งมาได้ไม่กี่ปี คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อีกหน่วยงานหนึ่ง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยแยกไม่ออกจากการเมือง ด้วยเหตุที่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง มองอีกทีการเข้ามาเกี่ยวข้องของอำนาจรัฐดังกล่าว อาจเป็นผลดีกับพระพุทธศาสนาทั้งในแง่บุคคลและการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนอย่างเป็นทางการ หรือเป็นงานเป็นการ

แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งจารีตความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองตามแบบฉบับของไทยดังกล่าวก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในแง่ของความขัดแย้งทางด้านความเชื่อทางศาสนาของคนไทยแต่ละคน (ปัจเจก) แม้แต่พุทธศาสนิกชนด้วยกันนั่นแหละ

โดยเฉพาะในกลุ่มที่คิดว่าศาสนาพุทธแบบทางการ (รัฐ) คืออำนาจ และมีอำนาจที่จะกำหนดความเชื่อความศรัทธาของศาสนิกซึ่งก็คือชาวพุทธได้ ทั้งที่แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยเต็มทีในยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคโซเชียลมีเดีย ที่การนับถือศาสนาของผู้คนมีลักษณะของความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น คือ ต่างคนต่างนับถือศาสนาตามเหตุผลและความเชื่อของแต่ละคน มากกว่าการชี้นำโดยรัฐหรืออำนาจรัฐด้วยซ้ำไป ทำให้อำนาจการเมืองแบบรวมศูนย์กลาง(centralization) อย่างที่เคยเป็นมาในอดีตค่อยๆ เลือนหายไปโดยอัตโนมัติ

นัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นลักษณะของความเป็นไปของศาสนาและศาสนิกที่กำลังเป็นไปในโลก 2 ประการ ประการแรก คือ ความมีอิสระที่จะเชื่อหรือนับถือในลัทธิศาสนาที่ตนศรัทธา ประการที่สอง คือ การปรับตัวของระบบความเป็นอยู่ของศาสนาและศาสนิกเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกระแสสากลภายใต้รหัส 4.0 

ผู้คนเลือกเชื่อ นับถือในสิ่งที่ตนเห็นอยากเชื่อหรืออยากนับถือโดยไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่น รวมถึงการเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ก็เป็นทางเลือกของคนจำนวนมากภายใต้กระบวนทัศน์ 4.0 ในปัจจุบัน

กระบวนทัศน์ของการนับถือศาสนาทั้ง 2 ประการในปัจจุบัน กำลังบอกเราว่า อำนาจรัฐที่จะเข้าไปควบคุมดูแลศาสนา {ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (การเมือง) กับศาสนา} ดังกรณีการพยายามควบคุมวัดพระธรรมกายในเมืองไทยกำลังอ่อนลงเต็มที หน่วยงานทางการที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนามีกิจการศาสนาที่ต้องดูแลในมือน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ความหลากหลายของศรัทธาต่อพระศาสนาในรูปแบบทั้งเก่าและใหม่ของศาสนิกกลับโถมทับทวีเพิ่มมากขึ้นทุกที ดังกรณีพระสงฆ์บางกลุ่มที่แม้แยกออกไปจากองค์กรพระพุทธศาสนาแบบทางการ (รัฐ)แล้วหากยังรักษาฐานของศาสนิกผู้ศรัทธาเอาไว้ได้อย่างแน่นแฟ้นแถมศาสนิกอาจยังกลับเพิ่มพูนมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

มองในแง่นี้เท่ากับศาสนาพุทธแบบทางการที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด (เนื่องจากความเป็นทางการ แบบศูนย์กลางเดิมๆ) ถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่แค่ "พุทธรัฐ"หรือศาสนาประจำชาติ มิได้หมายถึงศาสนาสากล เมื่อมองในแง่การเผยแผ่พระศาสนาออกไปยังนานาชาติจึงย้อนแย้งกันอย่างยิ่ง ทั้งหลักการและวิธีการเผยแผ่ รวมถึงการตีความพระไตรปิฎกบนความเป็นทางการที่ถูกสงวนสิทธิ์ไว้โดยบุคคลของรัฐหรือที่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ในขณะที่ในยุค 4.0 นี้ ยังมีกลุ่มชาวพุทธอื่นๆ ตีความหลักธรรมออกไปอีกหลากหลายนับไม่ถ้วน

ดังการตีความเพื่อหาเหตุผลของความจำเป็นที่ภิกษุณีต้องเป็นบุคคลทางศาสนาแบบเดียวกับภิกษุ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายพุทธแบบทางการในเมืองไทย หากในที่สุดแล้วผู้นำภิกษุณีบางกลุ่ม เช่น กลุ่มของภิกษุณีธัมมนันทาหรือกลุ่มอื่นๆ ก็ยังคงดำรงสภาพความเป็นนักบวชหญิงในพุทธศาสนาอยู่ได้อย่างที่เป็น ยกเว้นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพภิกษุณีกับกฎหมายรัฐ

ถึงแม้ข้อเรียกร้องของภิกษุณีและผู้ที่เห็นแย้งกับฝ่ายพุทธรัฐ จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ในการลงหลักปักฐานของบรรพชิตชาวพุทธเพศหญิงในเมืองไทยนั้นต้องนับว่าประสบผลสำเร็จอยู่ไม่น้อย

หากมองจากความจริงเชิงพัฒนาการของพุทธศาสนาของโลกตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาก็จะเห็นได้ว่า รัฐประชาธิปไตยตะวันตกไม่ได้ค้ำจุนศาสนาแต่อย่างใด มีการแยกความเชื่อ และกิจการศาสนาออกจากรัฐ (การเมือง) ปล่อยให้ศาสนาเป็นไปตามเชื่อความศรัทธาของศาสนิกของศาสนานั้นๆ

รัฐประชาธิปไตยในโลกตะวันตกถือว่าการเมืองกับศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นการที่ศาสนาจะอยู่ในโลกตะวันตกได้ ก็เพราะความศรัทธาหรือพลังของศาสนิกของศาสนานั้นจริงๆ มิใช่การค้ำจุนโดยรัฐ

ในส่วนของเมืองไทยนั้น ความกังวล (ซึ่งที่จริงแล้วผู้ที่กังวลส่วนใหญ่ก็คือฝ่ายพุทธแบบรัฐ) ส่วนหนึ่งพุ่งไปการตีความพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ว่าอาจคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามพุทธประสงค์ แต่หากกลับไปศึกษาดูถึงพัฒนาการของพุทธศาสนาก็จะเห็นว่าระยะเวลาผ่านมา 2500 กว่าปีนั้นคำสอนของพุทธศาสนาถูกตีความมาตลอดจากรุ่นสู่รุ่น แตกแขนงออกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย อย่างน้อยที่เห็นอย่างชัดเจน คือ นิกายเถรวาทกับนิกายมหายานซึ่งมีการตีความคำสอนแตกต่างกัน

แม้ทั้ง 2 นิกายจะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ในเชิงอุดมการณ์การใช้ชีวิตกลับแตกต่างกัน พุทธเถรวาทนั้นให้ภาพเป้าหมายเชิงปัจเจก ขณะที่พุทธมหายานให้ภาพเป้าหมายเชิงส่วนรวม (ตามอุดมการณ์โพธิสัตว์)

การปรับเปลี่ยนความคิดต่อการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาจึงเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญเพื่อพลิกพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นที่พึ่งของตนเองจริงๆ ซึ่งหากเป็นไปตามเงื่อนไขด้านกฎหมายของไทยในปัจจุบันก็จะเห็นว่า รัฐศาสนาหรือพุทธแบบทางการนั้นน่าจะคลายความสำคัญลง จากความหลากหลายของศรัทธาในบรรดาชาวพุทธด้วยกัน โดยเฉพาะหากรัฐไทยโน้มไปแนวทางประชาธิปไตยสากล กระแสความเป็นไปดังกล่าวก็จะชัดเจนมากขึ้น

แต่แม้เป็นรัฐที่ปกครองแบบตรงกันข้ามก็ใช่ว่าจะสามารถยับยั้งกระแสนี้ได้

เพราะการใช้อำนาจรัฐผ่าน "ศีลธรรมแบบรัฐ"หรือ "รัฐศีลธรรม" เป็นตัวควบคุมพลเมืองในทางความเชื่อยิ่งทำให้ศรัทธาของพลเมืองต่อศีลธรรม (ศาสนา) แบบทางการลดน้อยลงไป แม้แต่ก่อให้เกิดการขัดขืนขึ้น วิธีการดังกล่าวเท่ากับทำให้รัฐกลายเป็นรัฐศาสนาแบบเต็มตัวมากขึ้น

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการสถาปนารัฐศีลธรรมหรือรัฐศาสนาก่อให้เกิดผลกระทบเชิงความขัดแย้งมากมายดังที่เคยเกิดเหตุการณ์ในยุโรปสมัยกลาง เพราะศีลธรรมหรือศาสนาจะอยู่ได้หรือคนจะปฏิบัติตามนั้น ขึ้นกับศรัทธาของชาวบ้าน ในทางตรงข้ามการออกกฎหมายบังคับเชิงศีลธรรมโดยรัฐ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจะกลับทำให้รัฐนั้นๆ กลายเป็นรัฐล้มเหลวมากยิ่งขึ้น


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกฟ้อง 'สุเทพ' คดีหมิ่นฯ แกนนำ นปช. กล่าวหาเผาบ้านเผาเมือง

Posted: 28 Mar 2017 12:27 AM PDT

ศาลอาญายกฟ้อง 'สุเทพ' คดีหมิ่นฯ แกนนำ นปช. เหตุกล่าวหาเอี่ยวเผาบ้านเผาเมือง-เป็นคนของพรรคเพื่อไทย ไม่หมิ่นประมาท และไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขณะที่คดี อริสมันต์ หมิ่นฯ อภิสิทธิ์ ศาลส่งคำพิพากษาฎีกา ไปศาลพัทยาอ่าน 21 เม.ย.เหตุจำเลยคุมขังที่นั่น โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยสั่งจำคุกยอริสมันต์ 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

ที่มาภาพเพจ Banrasdr Photo 

28 มี.ค. 2560 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกและประธาน กปปส. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และกระทำการใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53, 137 หมิ่นประมาทแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จากการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 54 พาดพิงแกนนำ นปช.ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองและเป็นคนของพรรคเพื่อไทย โดยศาลให้เหตุผลว่าจำเลยให้สัมภาษณ์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ ตามรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จึงไม่ได้เป็นการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

สำหรับคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2558 จากกรณีที่นายสุเทพให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวันที่ 22 พ.ค. 2554 ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เขตหลักสี่ กทม.ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2554 พาดพิง เหวง โตจิราการ, จตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ทำนองว่า เป็นผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ทั้งสามเเละพรรคเพื่อไทยได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งนายสุเทพ จำเลยให้การปฏิเสธและคดีนี้ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังได้ ขณะที่วันนี้ นายสุเทพ จำเลยสีหน้ายิ้มแย้ม เดินทางมาศาลพร้อมทนายความและบุคคลใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง
       
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า การที่ สุเทพ จำเลย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนระบุว่าผู้เสียหายทั้งสามมีส่วนร่วมในการเผาบ้านเผาเมืองนั้น ก็ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และได้รับข้อมูลจากรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช.ในปี 2553 มีการเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และศาลากลางจังหวัด 3 แห่ง ซึ่งการกระทำนั้นเป็นขบวนการที่มีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำ นปช.อยู่เบื้องหลัง กระทั่ง ศอฉ.ได้สั่งให้ยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 และวันเดียวกันแกนนำ นปช.ก็ได้เข้ามอบตัว ดังนั้นจึงมีเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจ ไม่มีเหตุว่าเป็นการกล่าวเท็จ และต่อมายังปรากฏว่าดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งอัยการยื่นฟ้องแกนนำ นปช.ในคดีก่อการร้ายต่อศาล ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. ขอเลื่อนคดี ดังนั้นสิ่งที่จำเลยกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่และเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามกรอบกฎหมาย ไม่ได้เป็นการสร้างข้อเท็จจริงขึ้นมาเอง

ส่วนที่จำเลยกล่าวว่า นปช.เกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทยนั้น พบว่านอกจากผู้เสียหายเป็นแกนนำ นปช. แล้ว ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยได้ส่งผู้เสียหายทั้งสามรายลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดย จตุพรอยู่ลำดับที่ 8  ณัฐวุฒิลำดับที่ 9 และ เหวง ลำดับที่ 19 ซึ่งถือเป็นรายชื่อในลำดับต้นๆ  แสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ และผู้เสียหายทั้งสามรายยังได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ
       
ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นความเท็จ เป็นการตอบคำถามโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความมา และเป็นการรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบในฐานะที่จำเลยเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
       

ส่งคำพิพากษาฎีกา อริสมันต์ หมิ่นฯ อภิสิทธิ์ ไปศาลพัทยาอ่าน 21 เม.ย.

วันเดียวกัน (28 มี.ค.60) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีดำที่ อ.4177/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกน นปช. เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท จากกรณีวันที่ 11, 17 ต.ค. 2552 อริสมันต์จำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. ปราศรัยหมิ่นประมาทที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและหน้าทำเนียบรัฐบาล
       
คดีนี้ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกนายอริสมันต์จำเลย 2 กระทงๆ ละ 6 เดือน รวม 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม คดีนี้ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษามาจากนัดที่แล้ว คือวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจาก อริสมันต์ จำเลยไม่ได้มาฟังคำพิพากษา โดยทนายยื่นเอกสารและแถลงต่อศาลว่าจำเลยปวดท้องอย่างรุนแรงเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ เทศบาลนครนครปฐม ศาลจึงให้เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้แทน แต่วันนี้ อริสมันต์ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษพัทยา ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกจำเลย 4 ปี กรณีเป็นแกนนำในการชุมนุมปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่ใช้เป็นสถานที่การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 เพื่อต่อต้านอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่เดินทางมาร่วมประชุม ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกาไปให้ศาลจังหวัดพัทยาเบิกตัวจำเลยมาสอบถามและอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังต่อไป และเมื่อได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้ว จากนั้นศาลอาญาจะนัดโจทก์ฟังคำพิพากษาฎีกาต่อไปในวันที่ 21 เม.ย. นี้ เวลา 9.00 น.

ศุชัยวุฒิ ชาวสวนกล้วย ทนายความ อริสมันต์ กล่าวถึงเรื่องการยื่นฎีกาและขอประกันตัวอริสมันต์กับพวกในคดีแกนนำในการชุมนุมปิดโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย การยื่นฎีกาจะต้องมีผู้พิพากษาที่ร่วมพิจารณาคดีเป็นผู้รับรองฎีกา จะต้องเขียนคำร้องขอให้ศาลรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องยังมีข้อโต้แย้งยังไม่เป็นที่ยุติ นำเสนอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีได้เห็นว่ายังมีปัญหาข้อสำคัญในคดี และให้เซ็นรับรองฎีกา และ ถ้ามีผู้พิพากษาเซ็นรับรอง ฎีกา แล้ว คดีของนายอริสมันต์และพวกก็จะได้ขึ้นสู่ศาลฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หลังจากนั้นถึงจะมีการยื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราวต่อไป

"คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นจำคุก 4 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งตามกฎหมายเมื่อมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหากจำเลยจำเลยทั้งหมดประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลที่นั่งพิจารณาคดีนี้จะต้องรับรองฎีกา ถือเป็นหลักทั่วไปทุกคดีไม่จำเป็นต้องคดีการเมือง โดยหลังจากนี้เราจะทำคำร้องยื่นต่อองค์คณะที่พิจารณาคดีนี้ทุกคน ขณะนี้ทีมทนายความกำลังพิจารณาร่างคำร้องอยู่เนื่องจากพึ่งได้รับคำพิพากษาฉบับเต็มมาศึกษา"  ศุชัยวุฒิ กล่าว

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ มติชนออนไลน์ และเพจ Banrasdr Photo 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาแล้ว! 2 สมาคมสื่อเรียกร้อง กสทช. ทบทวนคำสั่งจอดำวอยซ์ 7 วัน

Posted: 28 Mar 2017 12:17 AM PDT

2 สมาคมสื่อออกแถลงการณ์ เรียกร้อง กสทช. ทบทวนคำสั่งจอดำวอยซ์ทีวี 7 วัน ชี้มติ กสท.ขัดรัฐธรรมนูญ หากไม่ระมัดระวังในการใช้อำนาจ กสทช. จะเป็นองค์กรที่ทำลายเสรีภาพสื่อและองค์กรธุรกิจสื่อเสียเอง เตือนระวังอำนาจฝ่ายอื่นแทรกแซงความเป็นอิสระ แนะพิจารณารายกรณี ใช้กฎหมายปกติ-กลไกตลาดจัดาร

28 มี.ค. 2560 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนคำสั่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่สั่งพักใบอนุญาต Voice TV เป็นเวลา 7 วัน ชี้มติ กสท. ขัดรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดผลกระทบกับวอยซ์ทีวีในฐานะเป็นองค์กรธุรกิจและองค์กรสื่อ ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในหลายส่วนและอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการ หรือมีส่วนรับรู้ในการกระทำการของพิธีกรรายการแต่ได้รับผลกระทบไปด้วย

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การมีมติพักใบอนุญาตครั้งนี้เท่ากับ กสท.ยอมและเปิดทางให้อำนาจอื่นเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของกสทช.โดยตรงเสียเอง และมีผลกระทบต่อองค์กรสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสท.โดยตรง รวมทั้งทำลายน่าเชื่อถื่อของ กสท.และส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชนภายใต้การกำกับของ กสทช.ให้เลวร้ายลงไปอีก รวมถึง ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทยก็ลดลงไปเช่นกัน

ทั้งนี้ เสนอว่าหากรายการใดมีปัญหาก็ควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่ควรใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี หรือหากการเสนอเนื้อหาของ Voice TV หรือทีวีช่องใด มีผลกระทบต่อความมั่นคง หรือละเมิดสิทธิบุคคล หมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย ก็ชอบที่จะใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดี หรือฟ้องร้องตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว และในแง่ของผู้บริโภคข่าวสาร หากสื่อใดนำเสนอรายการที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือละเมิดสิทธิผู้คน กลไกตลาด ผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นคนตัดสินสื่อนั้นได้เช่นกัน

 

แถลงการณ์ร่วม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เรื่อง ขอเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนคำสั่ง กสท. ที่สั่งพักใบอนุญาต Voice TV


สืบเนื่องจาก กสท. สั่งพักใบอนุญาต Voice TV โดยอ้างเหตุผลว่า Voice TV กระทำผิดซ้ำซาก เพราะมีการออกอากาศรายการที่ขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 และ 103 ใน 3 รายการ ยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ยุยงให้เกิดความแตกแยก ประกอบด้วย 1.รายการใบตองแห้งออกอากาศ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 เรื่องธรรมกายกับรัฐบาล 2.รายการ In Her View ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม 2560 เรื่องเครือข่ายโกตี๋กับอาวุธสงคราม และ 3.รายการ Over View ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม 2560 เรื่อง การวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ นั้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอคัดค้านมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่สั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ Voice TV เป็นระยะเวลา 7 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.การสั่งพักใบอนุญาต ระงับการออกอากาศ Voice TV เป็นเวลา 7 วันได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับวอยซ์ทีวีในฐานะเป็นองค์กรธุรกิจและองค์กรสื่อ ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในหลายส่วนและอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการ หรือมีส่วนรับรู้ในการกระทำการของพิธีกรรายการแต่ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะลำพัง กสท.ใช้อำนาจสั่งพักรายการบางรายของ Voice TV ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง แต่การใช้อำนาจพักใบอนุญาต Voice TV ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงยิ่งกว่า

ดังนั้น กสท.เป็นส่วนหนึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ และกำกับผู้ได้รับใบอนุญาต หากไม่ระมัดระวังในการใช้อำนาจ กสทช. จะเป็นองค์กรที่ทำลายเสรีภาพสื่อและองค์กรธุรกิจสื่อเสียเอง

2. กสทช.เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจและมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันไม่ให้อำนาจฝ่ายอื่นเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์การสื่อที่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ กรณีที่ กสท. ได้อ้างถึงหนังสือร้องเรียนทางช่อง VoiceTV มาจากคณะกรรมการติดตามสื่อของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาจำนวน 4 รายการ มีมติพักใบอนุญาตครั้งนี้เท่ากับ กสท.ยอมและเปิดทางให้อำนาจอื่นเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของกสทช.โดยตรงเสียเอง และมีผลกระทบต่อองค์กรสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสท.โดยตรง รวมทั้งทำลายน่าเชื่อถื่อของ กสท.และส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชนภายใต้การกำกับของ กสทช.ให้เลวร้ายลงไปอีก รวมถึง ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทยก็ลดลงไปเช่นกัน

3. มติของ กสท. ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540, 2550 และฉบับที่ผ่านประชามติที่ให้การรับรองบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และใช้เสรีภาพเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ การให้นำข่าวสารหรือข้อความใดๆที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจัดทำขึ้นไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ จะกระทำมิได้เช่นกัน ดังนั้นมติ กสท. ครั้งนี้เป็นใช้อำนาจที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน และกระทบต่อสิทธิต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ กำหนดไว้ว่า "การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นจะกระทำไม่ได้" ก็เพื่อให้องค์กรสื่อในส่วนที่ไม่ได้สร้างปัญหายังคงทำหน้าที่ต่อไปได้

ในกรณีของ Voice TV หากรายการใดมีปัญหาก็ควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่ควรใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี หรือหากการเสนอเนื้อหาของ Voice TV หรือทีวีช่องใด มีผลกระทบต่อความมั่นคง หรือละเมิดสิทธิบุคคล หมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย ก็ชอบที่จะใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดี หรือฟ้องร้องตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว และในแง่ของผู้บริโภคข่าวสาร หากสื่อใดนำเสนอรายการที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือละเมิดสิทธิผู้คน กลไกตลาด ผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นคนตัดสินสื่อนั้นได้เช่นกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมทั้งสองขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนคำสั่งของ กสท. โดยด่วนและหากรายการใดมีปัญหา ก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วจัดการได้ แต่ต้องไม่ใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
28 มีนาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น