โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘กฎหมายรับรองเพศ’ เพศของเรา...ทำไมต้องให้รัฐรับรอง?

Posted: 14 Mar 2017 07:01 AM PDT

พม.ศึกษาร่างกฎหมายรับรองเพศ หวังให้คนหลากหลายทางเพศได้รับการคุ้มครองสิทธิ ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย ด้านนักวิชาการระบุควรมีกฎหมายรับรองสิทธิมากกว่ารับรองเพศ ตั้งคำถามกฎหมายนี้จะช่วยให้คนหลากหลายทางเพศเข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างครอบคลุมหรือไม่ ชี้ประเด็นซ้ำว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิชุดหนึ่งมารับรองการที่บุคคลคนหนึ่งอยากจะมีเพศไหน

ปัจจุบัน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนมากขึ้น ขณะที่ผู้คนในสังคมก็เรียนรู้ที่จะยอมรับ เข้าใจ และอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการยอมรับหรืออดทนวิ่งไปในทิศทางเดียวกันกับสิทธิและโอกาส

กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในสังคมไทยยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกีดกัน และเข้าไม่ถึงสิทธิหลายประการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่ติดตามประเด็นนี้ต่างพยายามเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองสวัสดิภพาสตรีและบุคคลในครอบครัวขึ้นจากงบประมาณประจำปี 2559 ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่กำลังก่อรูปจากโครงการนี้คือ ร่าง พ.ร.บ.กฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ พ.ศ.... ในแง่นี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า พม. มีความก้าวหน้าไม่น้อยต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ

แต่เนื้อหาภายในร่างกฎหมายที่ปรากฏสู่สาธารณชนกลับสร้างข้อถกเถียงและความคิดเห็นขึ้นในกลุ่มที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้ จึงมีการจัดเสวนา 'การเสวนา (ร่าง) พ.ร.บ.การรับรองเพศ พ.ศ....' ขึ้น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ที่โรงแรมเอเชีย

ไตรรัตน์ ฟ้าปกาสิต นิติกรชำนาญการ กลุ่มกฎหมายสำนักงานเลขานุการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ อธิบายว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการศึกษาสภาพปัญหาของกลุ่มเพศทางเลือก โดยจะให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่แปลงเพศแล้ว กลุ่มที่ต้องการแปลงแต่ไม่มีเงิน และกลุ่มที่ไม่ต้องการแปลงเพศ โดยทำการศึกษาจากกฎหมายในต่างประเทศและทำการเปรียบเทียบเพื่อจัดทำร่างกฎหมายรับรองเพศที่สอดคล้องเหมาะสมกับสังคมไทย โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มและกลุ่มข้าราชการที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์

จากงานศึกษาพบว่า สังคมไทยยังมีทัศนคติทางลบจากเหตุผลความเชื่อทางศาสนา การศึกษา การสาธารณสุข การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ การจ้างงาน การมีที่อยู่อาศัย การก่อตั้งครอบครัว โดยไทยยังมีการแบ่งแยกกีดกันและจำกัดสิทธิประโยชน์ต่อประชาชนกลุ่มเพศทางเลือก ทว่า จากผลการสำรวจข้อมูลภาคสนาม พบว่า ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 81.2 เห็นว่าควรให้การคุ้มครองผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว

เนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย ไตรรัตน์ อธิบายว่า ต้องการให้เป็นกฎหมายที่สร้างดุลยภาพในการรับรองและคุ้มครองสิทธิประชาชนกลุ่มเพศทางเลือกและเป็นสิทธิเฉพาะตัว ตั้งคณะกรรมการระดับชาติเป็นกลไกกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักและทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ มีคณะบุคคลทำหน้าที่กึ่งตุลาการในการวินิจฉัยชี้ขาด การรับรองเพศ โดยที่คำวินิจฉัยมีสภาพบังคับชัดเจน สร้างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับรองเพศใน 3 กลุ่มข้างต้น รับรองสิทธิแก่ผู้แปลงเพศแล้วให้มีสิทธิหน้าที่ความรับผิดชอบเหมือนเพศนั้นโดยกำเนิด และมีกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับการรับรองเพศ

พิจารณาในเบื้องต้นร่างกฎหมายดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อคนหลากหลายทางเพศที่จะได้รับการรับรองสิทธิ แต่เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียด กลับมีหลายประการที่คนทำงานด้านนี้แสดงความวิตก ตั้งแต่ประเด็นรากฐานที่สุดที่ว่า

เหตุใดการที่ใครคนหนึ่งจะนิยามเพศของตนจึงต้องมีผู้อื่น ซึ่งในที่นี้คือรัฐ มารับรองด้วย

พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระ เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ แสดงทัศนะว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงอยู่ในกรอบของเพศชาย-หญิง ขณะที่เพศมีความหลากหลายไปมากกว่าแค่ชาย-หญิง หรือแค่การแปลงหรือไม่แปลงเพศ มีคนที่ยินดีจะนิยามตนเองว่าไม่มีเพศ เป็นเพศกลางๆ หรือคนหลากหลายทางเพศอื่นๆ ที่ไม่ต้องการแปลงเพศ พริษฐ์ตั้งคำถามว่า คนกลุ่มนี้จะมีพื้นที่อยู่ตรงไหนในกฎหมายนี้

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายระบุว่า ผู้ที่จะยื่นคำร้องให้มีการรับรองเพศได้เงื่อนไขหนึ่งคือต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของพริษฐ์เอง กล่าวว่า บุคคลหลากหลายทางเพศนั้นจะรู้ตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก การที่กฎหมายเขียนลักษณะนี้ ทำให้เขากังวลว่าจะส่งผลต่อเด็กและเยาวชนที่อาจจะถูกครอบครัวบังคับให้แสดงออกทางเพศที่ตัวเด็กไม่ต้องการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงในภายหลังได้

จำเป็นหรือไม่ที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิชุดหนึ่งมารับรองการที่บุคคลคนหนึ่งอยากจะเป็นเพศไหน

ด้าน สุชาดา ทวีสิทธิ์ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นว่าคงไม่มีใครในที่นี้คัดค้านว่าปัจจุบันสังคมไทยต้องมีการบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนหลากหลายทางเพศ แต่เธอก็ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า

"แต่กระบวนการออกกฎหมายอาจต้องพิจารณากันพอสมควร ตนเองก็มีปัญหากับชื่อกฎหมายนี้เหมือนกัน คือชอบที่จะมีกฎหมายรับรองสิทธิมากกว่าที่จะมีกฎหมายรับรองเพศ เพราะอย่างหลังอาจจะมีการตีความที่ค่อนข้างคับแคบ"

ร่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ตอบโจทย์ปัญหาที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเผชิญอยู่หรือไม่ หากยัง จะสามารถใช้กฎหมายนี้ได้หรือไม่ โดยการผลักดันอนุบัญญัติในการรับรองสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งสุชาดามีความเห็นว่า เรื่องการรับรองเพศควรเข้าไปอยู่ใน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งจะง่ายกว่าการผลักดันกฎหมายใหม่

"ที่จะต้องคำนึงถึงคือประโยชน์จากการออกกฎหมายฉบับนี้มีครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน ครอบคลุมเฉพาะคนที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วสามารถมีข้อมูลทางทะเบียนราษฎรสอดคล้องกับเพศที่เปลี่ยนไปแล้วแค่นั้นหรือ หรือได้เงินฟรีที่จะไปผ่าตัดแปลงเพศแค่นั้นหรือ ดิฉันคิดว่าคงไม่ใช่ ถ้าจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย มันควรครอบคลุมไปถึงสิทธิทุกด้านที่กว้างขวางและลุ่มลึกพอสมควร แล้วเราไม่ต้องผลักดันผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตอีก เป็นต้น มันควรสร้างผลสะเทือนไปถึงจุดนั้น"

อีกประเด็นที่สุชาดาตั้งข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฉบับนี้คือ ร่างกฎหมายควรคำนึงถึงการจำแนกคนตามระบบเพศใหญ่ 3 ระบบ คือระบบเพศทางสรีระ ระบบตามเพศภาวะหรือเพศสภาพที่คนสามารถแสดงตัวตนของตัวเองผ่านการแต่งกาย การทำหน้าที่ทางสังคมที่ไม่ตายตัว และระบบเพศวิถีซึ่งเกี่ยวข้องกับรสนิยม พฤติกรรมทางเพศ แต่ดูเหมืนอว่าร่างกฎหมายยังคงให้ความสำคัญกับการกำหนดระบบเพศที่ใช้เครื่องเพศเป็นตัวกำหนดเท่านั้น

สุชาดา เห็นว่า หากจะออกกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้จะต้องไปให้พ้น 3 เรื่องหลัก หนึ่ง-ต้องไม่มองกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในฐานะคนป่วยหรือเป็นโรค เพราะยังมีการระบุให้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทยศาสตร์และนักจิตวิทยา เธอตั้งคำถามว่าผู้ทรงคุณวุฒิสองคนนี้จำเป็นหรือไม่ หากมุมมองของผู้ออกกฎหมายไปพ้นจากการมองบุคคลหลากหลายทางเพศว่าเป็นผู้ป่วย

สอง-มีกฎหมายบรองเพศแล้วจะทำให้บุคคลเหล่านี้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้หรือไม่ ซึ่งเนื้อหาร่างกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนที่จะตอบโจทย์ข้อนี้

สาม-จำเป็นหรือไม่ที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิชุดหนึ่งมารับรองการที่บุคคลคนหนึ่งอยากจะเป็นเพศไหน และต้องก้าวให้พ้นเรื่องเพศที่ใช้เครื่องเพศกับฮอร์โมนเป็นตัวกำหนด

"ดิฉันคิดว่าจะเป็นปัญหามากในเรื่องสิทธิการที่จะได้รับเงินกองทุนในการผ่าตัดแปลงเพศมาปนกับสิทธิด้านอื่นๆ ดิฉันคิดว่ามันผูกติดเกินไปแล้วจะสร้างปัญหาและการละเมิดสิทธิซ้ำซ้อนตามมากับบุคคลที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้"

ขณะที่พระชาย วรธัมโม นักบวชในพุทธศาสนาที่สนใจประเด็นความหลากหลายทางเพศ ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า การถูกบังคับให้เป็นเพศใดเป็นเพศหนึ่งถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง แม้ว่ากฎหมายนี้อาจช่วยได้ แต่ก็ยังมีคนที่มีอวัยวะเพศไม่ชัดเจน ไม่เป็นทั้งชายและหญิง แต่ถูกแพทย์ระบุตั้งแต่เด็กให้มีเพศใดเพศหนึ่ง จนทำให้เกิดปัญหาเมื่อโตขึ้น ซึ่งร่างกฎหมายไม่ได้ระบุถึงคนกลุ่มนี้

"ไม่ควรมีกฎหมายที่บังคับให้คนเป็นเพศใดเพศหนึ่ง แต่ควรมีกฎหมายที่เปิดพื้นที่ให้คนเป็นเพศอะไรก็ได้ เพราะพอไปนิยามว่าเป็นชาย-หญิง จะทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน เพราะก็มีคนที่ไม่อยากเป็นชายหรือหญิงอยู่เหมือนกัน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'หมาเฝ้าบ้าน' แฉ! หลักสูตรเสนาธิการทหาร ทัวร์ยุโรป 13 วัน ดูงานมีทั้งดูบอล-ช็อป-ล่องเรือ

Posted: 14 Mar 2017 06:04 AM PDT

14 มี.ค. 2560 เว็บไซต์องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รายงานปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ว่าได้เปิดข้อมูลทริปศึกษาดูงานของวิทยาลัยเสนาธิการทหาร (วสท.) สถาบันการศึกษาชั้นสูงทางทหารขึ้นตรงกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย จัดทริปนำนักศึกษาและคณาจารย์ในหลักสูตรเสนาธิการร่วม รุ่น 57 รวม 107 คน ไปดูงานต่างประเทศ แบ่ง 3 สาย แต่ละสายใช้เวลาเกือบครึ่งเดือน ช่วงเดือนมี.ค. 2559

ข้อมูลจากหนังสือขอเดินทางไปราชการต่างประเทศอ้างว่า ทริปนี้เป็นการเดินทางดูกิจกรรมและศึกษาภูมิประเทศ ณ ต่างประเทศ สถานที่ที่จะไปเป็นหน่วยงานทางทหาร โรงงานผลิตยุทธภัณฑ์ สถาบันการศึกษาทางทหาร และสถานเอกอัครราชทูต โดยบอกว่าคณะจะได้ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและทางทหาร


รายงานปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ระบุว่า ข้อมูลชุดแรกนี้เป็นสายที่ 1 อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์และเยอรมนี ระหว่างวันที่ 5-18 มีนาคม 2559 ผู้ร่วมคณะ 33 คน รายละเอียดการเดินทาง

5 มี.ค. เริ่มออกเดินทางว ถึงลอนดอนประเทศอังกฤษเช้าตรู่วันที่ 6 มี.ค. ประเดิมด้วยการไปสโตนเฮนจ์ แล้วตามด้วยชมแลนด์มาร์คดังของลอนดอน ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์เซ็นต์ปอลล์ หอนาฬิกาบิ๊กเบน พระราชวังบักกิ้งแฮม และมหาวิหารเวสท์มินเตอร์ ค้างคืนที่โรงแรม Crowne Plaza Ealing

7 มี.ค. เช้าถึงเที่ยงนำชมพระราชวังวินเซอร์ บ่ายต่อด้วยทาวเวอร์บริดจ์สะพานยกและสะพานแขวนชื่อดังกลางลอนดอน กับ London Eye ชิงช้าสวรรค์ขนาดยักษ์ ตกเย็นเยี่ยมคำนับกงสุลใหญ่ประจำลอนดอน

8 มี.ค. เช้าล่องเรือแม่น้ำเทมส์ เข้าชมพิพิธภัณฑ์บริติช เวลาบ่ายไป The Design Museum London

9 มี.ค. ตรวจสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่บิสเตอร์ วิลเลจ สุดยอด Outlet ของยุโรปที่รวมแบรนด์แฟชั่นอังกฤษ แหล่งสวรรค์ของนักช็อปชาวไทย ต่อด้วยตรวจสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ห้าง Harrods

10 มี.ค. เดินทางไปยังเมืองอ๊อกฟอร์ด ดูงานที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด จากนั้นเดินทางไปยังเมืองคาร์ดิฟฟ์ แคว้นเวลส์ เยี่ยมชมสำนักผังเมืองแล้วค้างคืนที่ Mercure Holland House Hotel & Spa

11 มี.ค. ภาคเช้าเยี่ยมชมปราสาทคาร์ดิฟฟ์ ภาคบ่ายแวะชมโรงงานผลิตรถยนต์ Land Rover แล้วเดินทางไปยังเมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษ

12 มี.ค. วันแดงเดือด ศึกษาวัฒนธรรมเมืองแมนเชสเตอร์ เยือนสนามกีฬาทีมผีแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อด้วยสนามฟุตบอลของทีมหงษ์แดง ลิเวอร์พูลที่เมืองลิเวอร์พูล จบวันด้วยการเดินชมเมืองเก่าและศูนย์รวมความบันเทิงที่ท่าเรือ Albert Dock

13 มี.ค ไปเมืองวินเดอร์เมียร์ เพื่อล่องเรือในทะเลสาบวิลเดอร์เมียร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ แล้วไปต่อที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เที่ยวชมเมืองแล้วค้างคืนที่ Jurys Inn Glassgow

14 มี.ค. ครึ่งเช้าเยี่ยมชม BAE Systems บริษัทผลิตยุทโธปกรณ์และอากาศยานสัญชาติอังกฤษ ต่อด้วยชมการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม พอตกเย็นหมดโหมดจริงจัง เดินทางสู่เมืองเอดินบะระ (เอดินเบิร์ก) สกอตแลนด์ ชมปราสาทเอดินบะระและย่านเมืองเก่าแล้วเข้าพักที่ Holiday Inn Edinburgh

15 มี.ค. เดินทางสู่เมืองมิวนิก เยอรมนี เข้าชมพิพิธภัณฑ์รถยนต์ BMW แวะจิบเบียร์ที่ Hofbräuhaus München โรงเบียร์ชื่อดังประจำมิวนิก จากนั้นเดินทางสู่เมืองกามิช เพื่อศึกษาสภาพภูมิอากาศบน Zugspitze แหล่งเล่นสกีและยอดเขาที่สูงที่สุดในเยอรมนี

16 มี.ค. ดูงานที่ปราสาท Neuschwanstein ต้นแบบปราสาทเทพนิยายดิสนีย์ กลับสู่เมืองมิวนิก เยี่ยมชมเมืองเก่าจตุรัสมาเรียนพลาส ย่านช็อปปิ้งชื่อดังของมิวนิก

17 มี.ค. รับประทานอาหารเช้าแล้วเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงบ่าย ถึงสนามบินสุวรรณภูมิช่วงเช้าของวันที่ 18 มี.ค. เป็นอันจบทริป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอ เสนอ ‘ปฏิรูปรัฐ ปฏิวัติข้อมูล’ แก้โจทย์ยากของประเทศ

Posted: 14 Mar 2017 05:00 AM PDT

ทีดีอาร์ไอเสนอนโยบาย 'ปฏิรูปรัฐ  ปฏิวัติข้อมูล' ปลดล็อคอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แนะแนวทางจัดเก็บ เปิด ใช้ และเชื่อมโยงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยรูปแบบการจัดงานวิชาการที่สื่อสารเข้าใจง่าย สนุก อีกทั้งเปิดให้ผู้ร่วมงานได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ตลอดการจัดงาน

14 มี.ค. 2560 รายงานข่าวจากทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2560  "ฟื้นเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐ ด้วยปฏิวัติข้อมูล" (Boosting the Thai Economy and Reforming the Government by Data Revolution) ณ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลการศึกษา ให้ข้อเสนอแนะภาครัฐกำหนดนโยบายสาธารณะบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสถานการณ์ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำและคอร์รัปชัน ได้อย่างถูกต้องตรงจุด ภายใต้กรอบกฎหมายและการมีนโยบายเพื่อสร้างข้อมูลที่ดี

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเวทีสัมมนา และร่วมกับ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ เสนอประเด็นปฏิวัติข้อมูลเพื่อสร้างเศรษฐกิจสารสนเทศ โดยระบุปัญหาว่า ไทยยังมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำเพียงร้อยละ 70 ของประเทศระดับแนวหน้า ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีการใช้ข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น เช่น SMEs จำนวนมากยังไม่ทำบัญชีอย่างเป็นระบบ จึงเกิดความสูญเปล่า แม้การที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่ดี แต่การยกระดับเศรษฐกิจที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลเร็วกว่าคือ การใช้ข้อมูลสร้างมูลค่าเพิ่มของทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ   ทั้งนี้ หากสามารถรณรงค์ให้ภาคการผลิตใช้ข้อมูลจนทำให้ผลิตภาพของภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้นเพียง 1 ใน 5 ของตัวอย่างในกรณีศึกษา จะทำให้ GDP ขยายตัวขึ้น 0.82% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ยกระดับคุณภาพชีวิต

ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น  ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ เห็นว่า ภาครัฐควรเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาตามความจริงครบรอบด้าน และมีนโยบายป้องกันแก้ไขได้ถูกต้อง เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลด้านสาธารณสุข โดยทีดีอาร์ไอ ทำให้เห็นว่า อัตราการตายของมารดาที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และคลอดบุตรของไทยสูงกว่าที่เคยเข้าใจกัน และมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ต่างๆ มาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
 
อีกทั้งปัญหาการสูญเสียชีวิตบนท้องถนน สามารถลดลงได้หากติดตามรถสาธารณะด้วย GPS ที่จะช่วยให้ทราบว่าปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้น เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับหรือจากปัญหาของถนนเอง ซึ่งจะทำให้ภาครัฐกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้
 
คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีหรือไม่ยังขึ้นกับการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของนายจ้าง ดังนั้นควรนำข้อมูลประกาศหางานออนไลน์มาวิเคราะห์ เพื่อช่วยให้รัฐและสถาบันการศึกษาทราบทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการได้อย่างละเอียด รวดเร็วและแม่นยำกว่าการสำรวจ แต่การจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผล จะต้องมีการเปิดเผยผลการวัดคุณภาพของสถานศึกษาให้ประชาชนทราบ

สังคมที่เป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ แก้คอร์รัปชัน

ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ชยธร เติมอริยบุตร นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถช่วยภาครัฐกำหนดนโยบาย ลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและใช้โทรศัพท์มือถือมาช่วยระบุพื้นที่ยากจนที่ควรให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะแม่นยำกว่า วิธีการแจ้งจดทะเบียนคนจนเพื่อขอรับสวัสดิการต่างๆ ที่ประสบปัญหาข้อมูลไม่ตรงความจริง
 
ส่วนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรม ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ได้นำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของภาครัฐมาวิเคราะห์ พบว่า การจัดจ้างโครงการก่อสร้างในปัจจุบันน่าจะยังมีการแข่งขันไม่มากเท่าที่ควร โดยบางหน่วยงานมีผู้รับเหมาก่อสร้าง 5 รายใหญ่ได้งานเกินกว่าร้อยละ 60 หรือแม้กระทั่งร้อยละ 80 ของมูลค่าทั้งหมดในหลายจังหวัด และแม้ว่า ระบบอี-บิดดิ้งจะเพิ่มการแข่งขันได้มากกว่าระบบอี-ออกชั่น และทำให้รัฐได้รับส่วนลดมากขึ้นกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี แต่ระยะเวลาในการวิจารณ์ TOR เพื่อป้องกันการล็อคสเปค และระยะเวลาเตรียมตัวยื่นซองที่กำหนดไว้ในกฎหมายน่าจะสั้นเกินไปมาก ทำให้มีการแข่งขันจำกัด

การปฏิรูปการเปิดเผย-การจัดเก็บข้อมูลของรัฐ 

เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการปฏิวัติข้อมูลสูงสุด ภาครัฐจำเป็นต้องปฏิรูปบทบาทด้านการบริหารจัดการข้อมูล ตั้งแต่การเปิด การจัดเก็บ และการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นระบบ ดังที่  ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ และ ฉัตร คำแสง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ  เสนอ ว่า การปฏิรูปการเปิดเผยข้อมูล ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อย 15 ชุดให้ครบตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลไปพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และประชาชนสามารถตรวจสอบบริการของรัฐได้ดีขึ้น ควบคู่กับการประกาศนโยบายข้อมูลแบบเปิด โดยให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ
 
การปฏิรูประบบการจัดเก็บข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติ ควรกำหนดมาตรฐานการเก็บข้อมูลของภาครัฐ โดยให้ผู้ใช้ข้อมูล โดยเฉพาะภาควิชาการมีส่วนร่วมในการกำหนดชุดข้อมูลที่ควรจัดเก็บ และให้มีตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ร่วมกำหนดนโยบายด้านการจัดเก็บข้อมูลของประเทศ อีกทั้งภาครัฐต้องจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้กำหนดนโยบายของประเทศที่อยู่บนฐานข้อมูลแทนการคาดเดา  โดยอาจให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลัก
 
อีกทั้ง รัฐต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งของรัฐและเอกชนที่เป็นประโยชน์ได้ โดยแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นแนวปฏิบัติหลักและการปกปิดเป็นข้อยกเว้นที่มีกรอบชัดเจน เพื่อมิให้หน่วยราชการใช้เป็นข้ออ้าง ตลอดจนเร่งออกกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อกำกับการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลในเชิงพาณิชย์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล
 
การจัดสัมมนาทีดีอาร์ไอ ประจำปีนี้ ยังมีกิจกรรมที่เปิดให้ผู้ร่วมงานเป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลตั้งแต่ช่วงลงทะเบียนร่วมงานจนถึงวันจัดงาน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ถูกรวบรวมประมวลผลเป็นกิจกรรมให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมสนุกพร้อมสอดแทรกข้อเสนอเชิงนโยบายไว้อย่างน่าสนใจตามวัตถุประสงค์การจัดเวทีวิชาการที่สื่อสารเข้าใจง่าย และสนุก ตามทันยุค 4.0
 
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบที่ http://tdri.or.th/seminars/annual-conference-2017/
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า “คนปาตานี” ได้มั้ยครับ และ ICCPR

Posted: 14 Mar 2017 04:06 AM PDT


ขออนุญาติเรียกตัวเองว่า "คนปาตานี" ได้มั้ยครับ

ข้อความข้างต้นเป็นข้อความจากป้ายผ้าในกิจกรรมแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

หลังจากข้อความข้างต้นหลุดออกไปสู่โลกออนไลน์ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงคำว่า "คนปาตานี" บางคนถึงขั้นไล่ออกจากประเทศเพราะถือว่าไม่ใช่คนไทย แต่นับว่าเป็นเรื่องปกติเสียแล้วสำหรับโลกออนไลน์ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์

แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือการที่คณะผู้แทนรัฐบาลพิเศษร่วมกับมหาวิทยาลัยที่จะตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องป้ายผ้าข้างต้น

ผมไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนที่ต้องไปคาดคั้นและตั้งกรรมการสอบสวนนักศึกษากับเรื่องแบบนี้ เพราะคำว่า "ปาตานี" ได้ถูกนำมาใช้ทั่วไปและเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว ตั้งแต่ร้านน้ำชา ข้าวยำ ริมถนน ร้านอาหารที่มีราคาหน่อย จนถึงโลกออนไลน์ มีให้เห็นจนทั่วไป อาจจะนับรวมถึงกลุ่มมาราปาตานี (MARA PATANI) ที่ผู้แทนรัฐบาลกำลังพูดคุยอยู่ ก็ใช้คำว่าปาตานีเช่นกัน

มนุษย์ทุกคนย่อมมีอัตลักษณ์ ตั้งแต่อัตลักษณ์ที่คนอื่นหยิบยื่นให้เรา และเรียกตามถนัดปากเช่น เรียกกลุ่มคนเชื้อสายจีนว่าเจ๊ก เรียกพวกมุสลิมว่าแขก เรียกคนญี่ปุ่นว่ายุ่น เรียกพวกตะวันตกว่าฝรั่ง(ขี้นก) เรียกคนอีสานว่าพวกลาว ฯลฯ

แต่หากว่ามนุษย์จะเรียกตัวเองก็ย่อมเป็นสิทธิที่จะเรียกตามอัตลักษณ์ตัวเองตามความพึงพอใจของตัวเอง และไม่เห็นว่ามันจะรุนแรงและสั่นคลอนความเป็นไทยขนาดไหนที่ต้องตั้งกรรมการมาสอบสวนเรื่องนี้

หากผู้แทนพิเศษรัฐบาลคุณภานุ อุทัยรัตน์ จะตั้งกรรมการสอบสวนนักศึกษาและไม่สบายใจเรื่องป้ายผ้า "คนปาตานี" มันชวนทำให้ผมนึกถึงคำพูดของคุณอานันท์ ปันยารชน สมัยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้บอกว่าในการประชุมคณะกรรมการ กอส. เมื่อปี 2548 ว่า พ่อผมเป็นมอญและแม่เป็นเจ๊ก ใครบ้างที่เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ? ในที่ประชุมมีคณะกรรมการกว่า 50 คน ไม่มีใครบอกว่าตัวเองเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์

สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาจะสอบสวนนักศึกษาเรื่องป้ายผ้ากีฬาสี  คงต้องพิจารณาบทบาทของมหาวิทยาลัยหากใช่แต่เพียงคอยทำหน้าที่ ห้ามปรามนักศึกษา ปัญญาชน โดยเฉพาะการแสดงออกทางด้านเสรีภาพ เพราะหากพวกเขาเลือกและตัดสินใจแล้ว ก็ควรจะเคารพและสนับสนุนในทางด้านวิชาการ สร้างความเข้าใจร่วมกัน

เพราะท้ายสุดพวกเขาก็ต้องรับผิดชอบและเรียนรู้จากสิ่งที่กระทำ ไม่ว่าจะเป็นแง่บวกและลบ หากเป็นไปได้พร้อมกันนั้นมหาวิทยาลัยควรปกป้องเสรีภาพการแสดงออกของพวกเขาที่เลือกใช้วิธีการสันติวิธี แม้ว่าจะคิดต่างกับครูบาอาจารย์และผู้บริหารในมหาวิทยาลัยก็ตาม ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลาย

ระหว่างเขียนบทความสั้นๆ นี้ ตัวแทนรัฐบาลไทยได้เข้ารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐ ตามที่ไทยเป็นภาคีกับกติการะหว่างประเทศต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ว่าด้วย
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – หรือเรียกสั้นว่า ICCPR)

ข้อความของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ขออนุญาติเรียกตัวเองว่า "คนปาตานี" ได้มั้ยครับ ก็จะเข้ากรอบข้อบัญญัติ 26 ที่กล่าวว่า "บุคคลท้ังปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดย ปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ในกรณีนี้ กฎหมายจะต้องห้ามการเลือกปฏิบัติใด ๆ และต้องประกันการคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นผลจริงจังจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใด เช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็น ทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ"

ซึ่งตามกฎข้อที่ 26 กฎหมายต้องคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะเรื่องการแสดงอัตลักษณ์ของตัวตน ไม่ว่าบุคคลจะเชื่อในสิ่งใดก็ตาม รัฐก็จำเป็นต้องพิทักษ์และคุ้มครอง ฉะนั้นคำว่า "คนปาตานี" ก็ย่อมไม่มีความผิดใดๆในทางกฎหมาย

นักศึกษาได้เลือกใช้วิธีการสันติวิธี ในการแสดงออก พวกเขาไม่สมควรถูกตั้งกรรมการสอบสวนและเหมือนจะตัดสินไปแล้วด้วยซ้ำว่าป้ายนี้เป็นข้อความที่ผิดและต้องมีคนอยู่เบื้องหลัง จากสิ่งที่คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลได้ออกมาพูด

วิธีการคิดและด่วนตัดสินแบบนี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาชายแดนใต้/ปาตานี  ในทางกลับอาจจะทำให้พื้นที่สันติวิธีหดหายไปเหลือแต่ความอึดอัดใจให้แก่พวกเขา สำหรับนักศึกษาก็ต้องได้รับสิทธิเท่าๆกับคนอื่นๆที่ใช้คำว่า "คนปาตานี" การเร่งสอบสวนโดยได้รับกระแสปลุกเร้าทางสื่อออนไลน์โดยเข้าไปจัดการนักศึกษาไม่ได้เป็นเรื่องที่สง่างามและมีหลักเกณฑ์ใดๆเลย

คำว่า "ปาตานี" ซึ่งในแวดวงวิชาการ สื่อสาธารณะ ทีวีต่างๆได้ใช้คำนี้อย่างแพร่หลายในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักศึกษาควรได้รับการปกป้องตามกฎหมายอย่างน้อยๆ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังรายงานผลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ICCPR


ป.ล. คำว่า"ขออนุญาติ" จากป้ายผ้าสะกดผิด สำหรับเรื่องนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรเอาไปทบทวนมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษามลายูได้ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องและมีความมั่นใจเท่าๆกับภาษามลายู



หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน Patani Forum

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปมจัดระเบียบหอชาย-หญิง น.ศ.ย้ำอยู่เป็นคู่ไม่มีปัญหา ระบุแต่ละคนมีหลากเงื่อนไข

Posted: 14 Mar 2017 02:58 AM PDT

เด็กหลังห้อง เผยเสียงนักศึกษาและเจ้าของหอพัก ย่านจันทรเกษม ต่อการจัดระเบียบหอพักแยกชาย-หญิง ชี้การพักร่วมกันมีความหลากหลาย ย้ำอยู่เป็นคู่ไม่มีปัญหา ขณะที่เจ้าของหอมองวัฒนธรรมเปลี่ยน ควรดูที่ความพึ่งพอใจของผู้เช่า

14 มี.ค.2560 การจัดระเบียบหอพักนักศึกษาโดยเฉพาะการแยกหอพักหญิง-ชาย หลัง เม.ย.58 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่  พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ซึ่ง นิยาม "ผู้พัก" หมายความว่า ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีและมีอายุไม่เกิน 25 ปี  ม.7 ระบุว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับแก่หอพักของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ใช่สถานศึกษา และ ม.8 กำหนดว่า หอพักมี 2 ประเภท ได้แก่ (1) หอพักชาย และ (2 ) หอพักหญิง รวมทั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพัก พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยมีประเด็นการกำหนดลักษณะของหอพักต้องมีชื่อภาษาไทย ระบุประเภทห้องที่ชัดเจน ระบุจำนวนห้องพักและจำนวนผู้พักที่รับเข้าพักได้ และต้องแยกอาคารหอพักชายและหญิงเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน อีกด้วย

จากกรณีดังกล่าว อู่ทอง แข็งเจริญกสิกรณ์ ผู้สื่อข่าว เว็บไซต์เด็กหลังห้อง ได้สำรวจความเห็นของ ผู้ใช้เช่าและเจ้าของหอพัก ย่านมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ดังนี้

น.ศ.ชี้การพักร่วมกันมีความหลากหลาย ย้ำอยู่เป็นคู่ไม่มีปัญหา

ธัญชนก จำปาเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยรายหนึ่ง ย่านจันทรเกษม กล่าวว่า ตนอยู่หอรวม ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะถ้าทุกหอพักจดทะเบียนเหมือนเป็นการบีบบังคับให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะรับหรือไม่รับนักศึกษาซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของเขา

ธัญชนก มองว่า ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องแยกเพศ แต่ควรจะไปดูว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาทางเพศแล้วแก้ตรงจุดนั้นแทน แต่อีกด้านหนึ่งคือตนเป็นนักศึกษาเห็นพฤติกรรมวัยรุ่นมาหลากลาย เรื่องของเพศมันไม่มาสามารถมาห้ามกันได้ นักศึกษาควรจะดูแลตัวเอง มีความรับผิดชอบตัวเองให้สูงกว่าเดิมเพราะโตแล้ว เห็นหลายๆ คู่ก็อยู่ด้วยกันไม่เห็นมีปัญหาอะไร ตนเองก็มีแฟนซึ่งก็อยู่ด้วยกัน เรื่องแบบนี้อยู่ที่เราว่าจะควบคุมและจัดการตัวเองอย่างไร เหมาะสมหรือเปล่า

สุวโรจน์ บุญมา นักศึกษาชาย ย่านจันทรเกษมเช่นกัน กล่าวว่า หอพักส่วนใหญ่หลังมหาวิทยาลัยเป็นหอพักรวม ซึ่งหอที่แยกชาย-หญิง ตนคิดว่านักศึกส่วนมากก็อยากจะพักหอรวมมากกว่า ให้เหตุผลว่า บางครั้งเพื่อนจะมาพักด้วยบางอาทิตย์ หรือพ่อแม่มาหาซึ่งสะดวกสบายสามารถเข้าหอพักได้ แต่ถ้าเป็นหอพักหญิงบางหอซึ่งเป็นพ่อกับแม่หามายังไม่สามารถเข้าพักได้เลย ทั้งๆ ที่เป็นครอบครัวเดียวกัน นี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกที่จะพักหอรวม ในตัว พ.ร.บ. นี้เองกำหนดมาว่าจะบังคับใช้นักศึกษาที่มีอายุราว 18-25 ปีซึ่งทำให้เป็นไปได้ยากมาก เพราะนักศึกษาบางคนที่กำลังเรียนมีอายุมากกว่า 25 ปีก็มี

เจ้าของหอมองวัฒนธรรมเปลี่ยน ควรดูที่ความพึ่งพอใจของผู้เช่า

ด้านเจ้าของหอพัก ย่านจันทรเกษม กล่าวว่า  ตนทราบถึง พ.ร.บ.หอพักแยกชายหญิงนี้มาสักพักแล้ว ตนคิดว่าหากหอพักจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.แล้วจะทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลายเจ้า เพราะจะให้มีคนเข้ามาพักมาอาศัยอยู่ซึ่งให้เหตุผลอต่ออีกว่า ปัจจุบันนี้วัฒนธรรมมันเปลี่ยนไปมาก ใน พ.ร.บ.นี้ที่จะมาแก้ไขปัญหาก็อาจเป็นไปได้ยาก ตัวของวัยรุ่นเองที่เข้ามาพักเราจะห้ามให้เข้าอยู่ร่วมกันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับเขาจะปฏิบัติตัวอย่างไร พ่อแม่เองก็ไม่รู้ว่าลูกมาอยู่หอนอนกับใคร

"หอผมเป็นหอรวมมีทั้งคนวัยทำงานช่วงอายุ 20-25 ปี ไม่ใช่แค่นักศึกษา การที่ผู้พักอาศัยเช่าก็ขึ้นอยู่กับความพึ่งพอใจของเขาเอง บางคนมองถึงคุณภาพของหอ ความปลอดภัย การให้บริการ สิ่งแวดล้อมรอบหอพัก ถ้าทุกหอจดทะเบียนแยกชายหญิงกันมากๆ หอพักเองก็อยู่ไม่ได้" เจ้าของหอพัก ย่านจันทรเกษม กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานทูตแคนาดาฉายวิดีโอ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" พร้อมสนทนากับผู้กำกับ

Posted: 14 Mar 2017 02:13 AM PDT

สถานทูตแคนาดา ร่วมกับประชาไทโดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ฉายคลิปวิดีโอจากโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" พร้อมสนทนากับผู้กำกับและผู้ผลิตผลงานวิดีโอเพื่อเล่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายในสังคมไทย 3 เรื่อง "ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" "ภายใต้ผ้าคลุม" และ "สี่เสืออีสาน"

สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และประชาไทโดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (FCEM) จัดฉายภาพยนตร์ในโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" และจัดเสวนาในประเด็นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นกับผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ของไทย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมาที่ Bangkok Screening Room กรุงเทพมหานคร

หลังแนะนำโครงการโดยจุฑามาศ สุกิจจานนท์ ผู้ประสานงานโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" มีการฉายภาพยนตร์ 4 เรื่องจาก 10 เรื่องในโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" ได้แก่ 1) ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก ผลงานโดย จามร ศรเพชรนรินทร์ 2) ภายใต้ผ้าคลุม ผลงานโดย วรกร ฤทัยวาณิชกุล 3) บนแม่น้ำ ผลงานโดย ชัยภัทร แก้วจรัส 4) สี่เสืออีสาน ผลงานโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

ทั้งนี้มีการพูดคุยกับผู้กำกับภาพยนตร์ภายหลังการฉาย ดำเนินรายการโดย ไอยชา เรคิ ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา โดยกฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ ผู้กำกับสารคดี "สี่เสืออีสาน" กล่าวถึงผลงานของเขาว่า เพื่อนำเสนอเรื่องราวที่ไม่ถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์ โดยใช้เทคนิคการนำเสนอสำหรับแพลทฟอร์มแบบสื่อออนไลน์ นอกจากนี้เขากล่าวด้วยว่าเรื่องสี่เสืออีสานแม้จะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์การเมืองในอดีต แต่ก็ย้ำเตือนให้กับผู้ปกครองที่มีอำนาจในทุกสมัยว่าหากกระทำสิ่งใดลงไปแล้ว เมื่อหมดอำนาจเรื่องราวที่เคยกระทำไว้อย่างเช่นกรณีสังหาร ส.ส.อีสาน ในขณะที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ในที่สุดก็จะถูกชำระสะสาง

เขายังหวังว่าผลงานสารคดีของเขาจะนำไปสู่บทสนทนาและการถกเถียงถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบันด้วย

ด้าน วรกร ฤทัยวาณิชกุล กล่าวถึงผลงานสารคดี "ภายใต้ผ้าคลุม" ที่เขาเป็นผู้กำกับว่า เพื่อสำรวจเพศสภาวะของคนรักเพศเดียวกันในพื้นที่ประชากรมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ ในแง่กระบวนการทำงานแม้ว่าเขาจะมีโอกาสลงพื้นที่ราว 3 วัน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายที่ทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ และมีโอกาสพูดคุยกับคนที่เปิดใจกว้างบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา

ขณะที่ จามร ศรเพชรนรินทร์ ผู้ผลิตสารคดี "ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก" กล่าวว่า แรกเริ่มสนใจนำเสนอเรื่องราวของคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิแล้วถูกละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเขานึกถึง "ไผ่ ดาวดิน" หรือ จตุภัทร บุญภัทรรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำกิจกรรมปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสาน ตอนที่บันทึกสารคดี ไผ่ ดาวดิน ยังไม่ถูกควบคุมตัวในคดี ม.112 แต่หลังจากที่เขาถูกดำเนินคดีและถูกจับก็ทำให้งานสารคดีมีความยากในการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อผลิตสารคดีเสร็จ ก็อยากให้ "ไผ่ ดาวดิน" ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ด้วย

สำหรับคลิปวิดีโอในโครงการ "แตกต่าง หลากหลาย เหมือนกัน" ซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนและผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายในสังคม ประกอบด้วย 1) แปลไทยเป็นไทย ผลงานโดย รัชพงศ์ โอชาพงศ์ 2) สี่เสืออีสาน ผลงานโดย กฤติกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ 3) ไผ่ ยูโนมีอะลิตเติ้ลโก ผลงานโดย จามร ศรเพชรนรินทร์ 4) เข้า ใจ ผิด ผลงานโดย ปิยมาส วงศ์พลาดิสัย 5) วันท้าอำนาจ ผลงานโดย ณัฐนนท์ ราตรี 6) ประชาธิปไตยบนอินเทอร์เน็ต ผลงานโดย คิริเมขล์ บุญรมย์ 7) บนแม่น้ำ ผลงานโดย ชัยภัทร แก้วจรัส 8) 15 ปีอุดรธานี ไม่เอาเหมือง ผลงานโดย มิ่งขวัญ ถือเหมาะ 9) ทางเลือกของชาวนา ผลงานโดย ตาล วรรณกูล และ 10) ภายใต้ผ้าคลุม ผลงานโดย วรกร ฤทัยวาณิชกุล โดยผลงานวิดีโอ 9 เรื่องสามารถรับชมออนไลน์ได้ทาง YouTube ประชาไท และ Facebook ประชาไท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เรื่องพุทธแท้-พุทธเทียม

Posted: 14 Mar 2017 01:19 AM PDT


 

ฝ่ายที่โจมตีฝ่ายวัดพระธรรมกาย มักจะอ้างว่า คำสอนแบบธรรมกายไม่ใช้พุทธ อันที่จริงควรกล่าวให้ชัดเจนว่า คำสอนของฝ่ายธรรมกายมีความแตกต่างกับความเชื่อพุทธกระแสหลักของชนชั้นนำไทย แต่กระนั้น ความเชื่อพุทธหลักในสังคมไทยที่อธิบายกันว่าเป็น "พุทธเถรวาท" นั้น เป็นพุทธของแท้หรือไม่ ในทางประวัติศาสตร์ถือว่ายังเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณา

ทั้งนี้ ศาสนาพุทธถือกันว่าเริ่มต้นมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต้องเข้าใจว่า ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังคงพระชนม์ชีพ มิได้มีผู้ใดบันทึกคำสอนอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เชื่อกันว่า พระอานนท์ ซึ่งเป็นพุทธอนุชา ได้จดจำคำสอนของพระองค์ไว้ได้ทั้งหมด ดังนั้น หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน จึงเกิดการสังคยานาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กรุงราชคฤห์ โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน  ร่วมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป ประชุมกันอยู่ 7 เดือน พระอานนท์จะเป็นผู้สาธยายหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่จะเรียกกันว่า พระสูตร ส่วนพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชณาพระวินัย พระภิกษุรูปอื่นแสดงความเห็นให้มีข้อยุติร่วมกัน แล้วทั้งหมดท่องจำไว้

ในระยะต่อมา ได้มีพระสาวกสำคัญ นำเอาหลักธรรมในพระสูตรไปแต่งขยายความเพิ่มเติมให้ชัดเจน ในส่วนนี้ จะเรียกว่า พระอภิธรรม จากนั้น จึงได้รวมพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ไว้ด้วยกัน เรียกว่า "พระไตรปิฎก" และถือเป็นพระคัมภีร์หลักของศาสนาพุทธ และนับกันว่า การสังคยานาที่นำโดยพระมหากัสสปะนี้ เป็นการสังคยาพระไตรปิฎกครั้งแรก

แต่พระไตรปิฎก ก็มีข้อกังขาบางประการ ตั้งแต่มีการตั้งคำถามว่า เมื่อไม่ได้มีการบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเชื่อได้หรือไม่ว่า พระอานนท์ถ่ายทอดคำสอนได้ถูกต้อง ในข้อนี้ พุทธบริษัทรุ่นหลังต้องยอมรับตามพระอานนท์ มิฉะนั้น ก็ไม่อาจเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ปัญหาต่อมา คือเรื่องพระอภิธรรมว่า จะสามารถนับเข้าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่ พระภิกษุรูปสำคัญที่ก่อให้เกิดพระอภิธรรม คือ พระสังคีติกาจารย์ อ้างว่า พระอภิธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแน่แท้ เพราะได้ทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดา และเทพเจ้าทั้งปวงบนสวรรค์ จึงตกหล่นจากความทรงจำของพระอานนท์ ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ พุทธบริษัทในสมัยนั้น จึงยอมรับว่า พระอภิธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องพระอภิธรรมนี้ นำมาสู่การแยกนิกายของพุทธศาสนาในระยะแรก เพราะจะเกิดนิกาย เรียกว่า สรวาสติวาท ซึ่งเป็นนิกายนับถือพระอภิธรรมอย่างยิ่ง กับนิกายเสาตรนติกะ ซึ่งปฏิเสธพระอภิธรรมทั้งหมด

ปัญหาใหญ่ประการต่อมา ที่นำมาสู่การแตกแยกนิกาย คือปัญหาเรื่องพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้สามารถแก้ไขได้หรือไม่ เรื่องนี้ พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้า และได้รับคำตอบว่า สิกขาบทนั้นแก้ไขได้ ในส่วนที่เป็นสิกขาบทเล็กน้อย แต่ต่อมา พระมหากัสสปะได้อธิบายว่า แม้ว่าพระพุทธองค์จะบอกว่า สิกขาบทแก้ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าบทไหนแก้ได้บ้าง จึงมีมติว่า ให้คงคำสอนไว้ทุกบทไม่ให้แก้จะดีกว่า

เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 110 ปี ได้มีกลุ่มพระภิกษุวัชชีบุตรเสนอให้แก้พระวินัยเล็กน้อย 10 ข้อ โดยอธิบายว่า พระพุทธองค์ยินยอมให้แก้ไขสักขาบทได้ แต่ผู้ที่ห้ามแก้ไขคือพระมหากัสสปะต่างหาก เหตุการณ์นี้กลายเป็นกรณีใหญ่ นำมาสู่การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สอง โดยพระเจ้ากาลาโศก แห่งมคธเป็นผู้สนับสนุน พระสัพพกามีเป็นประธาน มีภิกษุ 700 รูปเข้าร่วม กลุ่มนี้จะเรียกว่า "เถรวาท" และลงมติว่า ฝ่ายวัชชีบุตรนั้นผิดวินัย แต่ฝ่ายวัชชีบุตร ก็ทำสังคยานาของฝ่ายตน มีภิกษุเข้าร่วมนับหมื่นรูป กลุ่มนี้ จะเรียกว่า "มหาสังฆิกะ" ซึ่งถือเป็นนิกายอาจาริยาวาท ในขณะนั้น ฝ่ายเถรวาทเป็นเสียงข้างน้อยในคณะสงฆ์

ในตำนานฝ่ายบาลีเล่าว่า ผลจากการแตกแยกนี้ ทำให้พุทธบริษัทแตกนิกายออกไปถึง 18 นิกาย นิกายที่ใหญ่ที่สุด คือ มหาสังฆิกะ ซึ่งมีการเพิ่มเติมพระอภิธรรม พระวินัย และ ชาดก เข้าไปจำนวนมาก เพื่อที่จะสั่งสอนผู้คนด้วยวิธีการที่กว้างขวางกว่าเดิม พระภิกษุอี้จิงที่เข้ามาในแคว้นมคธภายหลังเล่าว่า คัมภีร์ของมหาสังฆิกะมีถึง 300,000 โศลก และแบ่งเป็น 5 ส่วน ที่เพิ่มมาคือ พระสังยุกต์ และ วิทยาธร

นิกายวัชชีบุตร ยืนยันในหลักการว่า พระวินัยแก้ไขได้ตามสภาพของกาลเวลา และสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป การคงพระวินัยแบบเดิมไม่ยอมเปลี่ยน ถือว่าขัดต่อมติของพระพุทธองค์ ต่อมา คัมภีร์ของนิกายนี้ ยกย่องธรรมะของพระสารีบุตร และพระราหุล คัมภีร์สำคัญ คือ สารีปุตตธรรม แม้ว่าจะยังยึดหลักอนิจจัง แต่ก็คือว่า ในวัฏสังสาร สังขารบางทีก็ตั้งอยู่ได้ชั่วคราว หรืออยู่ในช่วงที่ยาวมาก เช่น ปฐพีสามารถตั้งอยู่ได้เป็นกัปป์

นิกายเถรวาท ถือว่า ยึดตามหลักการเดิมของพระมหากัสสปะ คือ พระวินัยแก้ไขไม่ได้ และพระไตรปิฎกมีองค์สาม โดยยอมรับพระอภิธรรมไว้ด้วย แต่ที่นิกายทั้งหลายมีความแตกต่างกันไม่มากนัก คือ เรื่องสภาวะของพระพุทธเจ้า คือถือว่าสภาวะของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นโลกกุตตระ ทรงทำอริยาบทเช่นมนุษย์ แต่จะไม่มีการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทรงสรงน้ำชำระกาย แต่ไม่มีเหงื่อไคลหรืออาจม ทรงทำความสะอาดพระทนต์ แต่ไม่มีกลิ่นปากหรือขี้ฟัน พระโอษฐ์จะหอมเหมือนดอกบัว กินอาหาร แต่ไม่มีความหิว เมื่อนิทราก็ไม่มีความหลับไม่มีพระสุบิน ทรงมีรูปขันธ์ แต่อยู่เหนือรูปขันธ์ ไม่ทรงแปดเปื้อนโลก เพราะไม่มีตัณหาอุปทาน พระพุทธวัจนะทุกคำเป็นประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์เสมอ เป็นสัจวาที ไม่มีประโยคไร้สาระ ทางฝ่ายอาจาริยาวาทจะเน้นลักษณะภาวะเช่นนี้ ส่วนฝ่ายเถรวาทก็อธิบายด้วยคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ

ในสมัยพระเจ้าอโศก ซึ่งขึ้นครองราชย์ที่เมืองปาฎลีบุตรราว พ.ศ.273 พระองค์เป็นผู้สนับสนุนนิกายเถรวาท ทางฝ่ายตำนานบาลีเล่าว่า พระองค์ดำเนินการจับพระภิกษุนอกรีตสึกถึง 60,000 รูป ซึ่งอาจตีความได้ว่า พระองค์ใช้อำนาจรัฐจับพระสงฆ์นิกายที่คิดต่างสึกนั่นเอง พระสงฆ์นิกายอื่นจึงต้องหนีออกจากอาณาจักรไปอยู่เมืองอื่น จากนั้น พระองค์ก็นิมนต์ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ผู้นำฝ่ายเถรวาท มาทำสังคยานาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่สามเมื่อสำเร็จแล้ว ก็ได้มีการส่งสมณทูตไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อเผยแพร่ศาสนา โดยมีคณะหนึ่ง นำโดยพระโอรสของพระองค์ คือ พระมหินทรไปเผยแพร่หลักธรรมเถรวาทที่สังกา ดังนั้น คณะสงฆ์ฝ่ายลังกาจึงรับหลักธรรมของเถรวาท ต่อมา หลักธรรมนี้ก็แผ่เข้าสู่เมืองมอญ นครศรีธรรมราช พม่า ล้านนา และสยาม ศาสนาพุทธในไทยจึงยึดหลักการเถรวาทตามแบบลังกามาตั้งแต่ครั้งนั้น

จึงต้องขอสรุปว่า พุทธเถรวาทแบบสยามก็เป็นเพียงพุทธนิกายหนึ่ง ที่มีกรอบการอธิบายของตนเองชุดหนึ่ง ส่วนใครจะอธิบายว่า นี่เป็นพุทธแท้ และถ้าคิดแบบอื่นจะเป็นพุทธเทียม ก็แล้วแต่การตีความครับ

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครังแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 607 วันที่ 11 มีนาคม 2560

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา: ทิศทางการสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่

Posted: 14 Mar 2017 12:32 AM PDT

การประชุม Mobile World Congress (ที่กรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน) ที่ผ่านพ้นไป นอกจากจะมีการนำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น 5G, IoT, Smart cities, AR/VR และอื่นๆ อีกมาก แต่ที่น่าสนใจคือการนำเสนอปัญหาของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่และทางออกที่เป็นไปได้ ซึ่งอาจพลิกโฉมรูปแบบทางธุรกิจของค่ายมือถือทั่วโลก

เป็นครั้งแรกที่สมาคมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSMA มีประธานเป็นชาวเอเชีย คือ Mr. Sunil Bharti Mittal จากอินเดีย ซึ่งได้แถลงถึงสภาพการณ์และทิศทางของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า ในปัจจุบันผู้ใช้บริการเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี แต่รายได้เติบโตเพียงร้อยละ 3 ส่วนปริมาณการใช้ Data ผ่านมือถือเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนโครงข่ายปีละประมาณสองแสนล้านเหรียญสหรัฐ หากไม่มีการปรับทิศทางอุตสาหกรรม ต่อไปนำเงินจำนวนนี้ไปฝากธนาคารอาจได้ผลตอบแทนที่ไม่ต่างไปจากการนำมาดำเนินธุรกิจมือถือ แล้วยังมีเวลาเหลือไปทำกิจกรรมอื่นได้อีก นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมมือถือในสายตาผู้บริโภค ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมยาสูบ ทั้งที่มือถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตยุคปัจจุบัน ประธาน GSMA ได้เสนอว่า ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีส่วนหนึ่งมาจากปัญหา Bill Shock จึงต้องมุ่งจัดการปัญหาค่าโรมมิ่งระหว่างประเทศที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการมือถือเมื่อผู้บริโภคเดินทางไปต่างประเทศ ในส่วนการลงทุนโครงข่ายนั้นผู้ประกอบการต่างค่ายอาจต้องจับมือกันหรือเปิดให้มีการใช้งานโครงข่ายร่วมกัน คล้ายคลึงกับการวางเคเบิลใต้สมุทรที่เป็นการร่วมลงทุนของผู้ประกอบการหลายราย และในบางประเทศอาจมีการควบรวมค่ายมือถือเพื่อให้มีจำนวนที่เหมาะสม รัฐบาลมักมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมมือถือสร้างรายได้เข้ารัฐและมุ่งหวังให้มีการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ที่สวนทางกัน จึงเรียกร้องให้พิจารณาอุตสาหกรรมมือถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มิใช่เป็นตัวสร้างรายได้มหาศาลโดยตรง จึงควรปรับอัตราค่าธรรมเนียมหรือภาระภาษีให้เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรมในขณะนี้

อย่างไรก็ดี มีผู้ร่วมเสนอมุมมองที่น่าสนใจ ต่อทิศทางของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังนี้

ในอดีต อุตสาหกรรมมือถือเชื่อมั่นว่า อนาคตของอุตสาหกรรมจะรุ่งโรจน์ เพราะประชาชนต้องใช้มือถือในชีวิตประจำวัน เสมือนหนึ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ที่ขาดไม่ได้ และคาดหวังว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนจากการโทรคุยกัน มาเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ค่ายมือถือจะมีผู้ใช้งานหลายพันล้านคน และจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากมาย อีกทั้งสิทธิ์ในการครอบครองคลื่นความถี่ ทำให้ผู้เล่นอื่นไม่สามารถมาช่วงชิงตลาดได้โดยง่าย

แต่ในความเป็นจริง เมื่อผู้บริโภคใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากขึ้น ค่ายมือถือต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับไปงอกเงยกับผู้ประกอบการ OTT (Over The Top) อย่างเฟซบุ๊ก หรือกูเกิล ประชาชนคิดว่าตนใช้งานบริการของ OTT ต่างๆ มากกว่าใช้งานโครงข่ายมือถือ ซึ่งเป็นเพียงเสมือนถนนหรือท่อรับส่งข้อมูลแบบ Dumb Pipe ในส่วน OTT ก็มีรายได้จากการโฆษณาและมีข้อมูลการใช้งานจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่นำไปต่อยอดทางธุรกิจได้อีกมาก

แม้แต่บริการรับส่งข้อความผ่านมือถือ ก็เปลี่ยนจาก SMS ซึ่งเป็นรายได้ของค่ายมือถือ ไปสู่ Messaging App ต่างๆ และบาง App ได้พัฒนาตนเองไม่ใช่เป็นเพียงบริการสื่อสารข้อความ แต่เป็นแพลตฟอร์มในการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยรวม เช่น WeChat หรือ Line ซึ่งให้บริการช่องทางสื่อสารกับบริษัทห้างร้านต่างๆ ผ่าน Official Account บริการชำระเงินหรือซื้อสินค้าออนไลน์ บริการข่าว และภาพยนตร์ เป็นต้น แต่หากเกิดปัญหาในการใช้งาน หรือการถูกแฮกข้อมูล ผู้บริโภคมักจะหันมามองค่ายมือถือเพื่อให้รับผิดชอบปัญหาที่พบเจอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาจนโครงข่ายมือถือเป็นโครงข่ายอัจฉริยะ (Intelligent Network) ไม่ใช่เพียง Dumb Pipe อีกต่อไป อุตสาหกรรมมือถือจึงมีโอกาสที่จะปรับโฉมเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ค่ายมือถือโดยตรง แทนที่รายได้จะวิ่งไปเข้ากระเป๋า OTT ได้แก่ การขายบริการโครงข่ายคุณภาพสูงให้อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยตรง ด้วยเทคโนโลยี Network Function Virtualization และ Software-Defined Network หรือแม้แต่การสร้างรายได้จาก Big Data ซึ่งค่ายมือถือต่างมีข้อมูลที่อาจจะมากกว่าข้อมูลที่ OTT มีด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการสร้างรายได้จากข้อมูลโดยไม่ละเมิดต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการเปลี่ยนให้โครงข่ายมือถือเป็นเกตเวย์สู่บริการออนไลน์อื่นๆ

ตัวอย่างเช่น แนวคิด Messaging as a Platform (MAAP) เนื่องจากค่ายมือถือมีจุดแข็งเรื่องการดูแลความปลอดภัยและคุณภาพของระบบรับส่งข้อมูล การให้บริการ MAAP แทน OTT จึงน่าจะมีความปลอดภัยและคุณภาพที่ดีกว่า และเป็นช่องทางในการทำธุรกรรมออนไลน์ที่สะดวกและปลอดภัยกว่าเว็บไซต์แบบเดิมๆ เพราะผู้บริโภคคุ้นเคยกับการสื่อสารแบบสนทนาผ่านการพิมพ์หรือการคุย (Conversation) มากกว่าการคลิกเมนูและการกรอกข้อมูลต่างๆ ในเว็บเพจ การเป็นแพลตฟอร์มจะทำให้บริษัทห้างร้านต่างๆ มาให้บริการผ่าน Official Account และการใช้ Artificial Intelligence อย่าง Chat Bot ในการสนทนากับผู้บริโภคก็จะมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่าการประกอบธุรกิจรูปแบบเดิม

และปฏิเสธไม่ได้ว่า สัดส่วนบริการที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงสุดคือ Video Streaming แม้แต่การฟังเพลง ผู้บริโภคก็เปลี่ยนจากการโหลดเพลงมาเก็บในมือถือแล้วเปิดฟัง เป็นการฟังผ่านบริการ Streaming ดังนั้น Premium Content จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ การควบรวมกิจการระหว่าง AT&T และ Time Warner แสดงให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการ Content ผ่านผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยมี User Interface ที่ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน คือ App หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นแหล่งรวมบริการต่างๆ ไว้ด้วยกัน

ในประเทศไทย เราเริ่มเห็นผู้ให้บริการมือถือหลายรายเปิดตัวความร่วมมือกับ Premium Content ต่างๆ เพราะนี่คือรูปแบบของการสร้างรายได้ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานในปัจจุบัน

โดยสรุป ข้อเสนอจากฝั่งผู้ประกอบการก็คือ อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ไม่สูงนัก การสร้างรายได้ใหม่ๆ จึงมีความจำเป็น ได้แก่ รายได้จาก Big Data รายได้จากการเป็น Internet Platform รายได้จากบริการ Premium Content และรายได้จากการให้บริการโครงข่ายเฉพาะกับอุตสาหกรรมอื่นๆ และทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในยุค Intelligent Network

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หวั่นฟังแล้วหัวร้อน ดีเอสไอ ชี้ MV เพลงแปลงธรรมกาย หากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น ดำเนินคดีได้ทันที

Posted: 13 Mar 2017 11:39 PM PDT

รองโฆษก ดีเอสไอ ชี้มิวสิควิดีโอเพลงแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับวัดธรรมกาย หากเจ้าของลิขสิทธิ์เห็นว่าได้รับความเสียหายก็ร้องทุกข์ได้ ส่วนเนื้อหาหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นดำเนินคดีได้ทันที ประยุทธ์ถกคสช.ครม. ไม่ตอบเลิกม.44 ธรรมกาย ขณะที่จนท.ยังตรึงกำลังตั้งด่านรอบวัด

14 มี.ค. 2560 จากกรณีสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลงแปลง เพื่อรณรงค์ให้ยุติการดำเนินการกับวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีผู้เข้ารับชมกว่า 7 แสนวิว ล่าสุด สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หากเจ้าของลิขสิทธิ์เห็นว่าได้รับความเสียหายก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ส่วนเนื้อหาหากเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีได้ทันที

สำหรับความคืบหน้าการติดตามจับกุม พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังยุติการเข้าตรวจค้นแต่ยังคงมาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายอยู่นั้น รองโฆษก ดีเอสไอ ยืนยันว่ายังจำเป็นต้องคง มาตรา 44 ไว้ เพื่อป้องกันมือที่สามที่อาจจะเข้ามาสร้างสถานการณ์ในช่วงนี้ซึ่งยอมรับว่ามีความเป็นห่วง ซึ่งดีเอสไอได้ประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งตำรวจทหาร สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อป้องกันทั้งในวัดและนอกวัด และกรณีการข่าวพบว่าพระธัมมชโยยังอยู่ในพื้นที่ควบคุมพิเศษ เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจเข้าไปตรวจค้นได้ทันที แต่หากอยู่นอกพื้นที่ประกาศควบคุมพิเศษ เช่น อาคารปริสุทโธ ก็จะดำเนินการขอหมายค้น แต่หากมีข้อมูลว่าหลบหนีไปต่างประเทศก็จะมีขั้นตอนการติดตามจับกุมโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่ยอมรับมีภาคประชาชนแจ้งเบาะแสมาจำนวนมากซึ่งฝ่ายสืบสวนต้องทำการตรวจสอบอีกครั้ง 

รองโฆษก ดีเอสไอ กล่าวว่า การออกหมายจับ พระธัมมโย ฐานขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัวเพิ่มอีก 1 หมาย เนื่องจากค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า พระธัมมชโย ไม่ได้อาพาธหนักจริงตามที่ทางวัดยืนยันก่อนหน้านี้ และมีเจตนาหลบหนีและไม่มารายงานตัว 

ประยุทธ์ถกคสช.ครม. ไม่ตอบเลิกม.44 ธรรมกาย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานการประชุม คสช. แล้ว ซึ่งในวันนี้มีการประชุม คสช. ก่อนจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติ โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุม คสช. จะพิจารณายกเลิกการใช้คำสั่ง คสช. มาตรา44 ในการควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย หรือไม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า ได้ตอบไปหมดแล้ว จะถามซ้ำอะไรอีก 

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึงเรื่องการปรับใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ในการดำเนินการกับวัดพระธรรมกาย ว่า เรื่องดังกล่าวทาง ดีเอสไอ จะเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงการปรับใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ด้วย ทาง ดีเอสไอ จะร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ซึ่งจะมีการลดระดับกำลังพลตามความเหมาะสม

จนท.ยังตรึงกำลังตั้งด่านรอบวัด

ขณะที่ บริเวณประตู 7 ตรงข้าม สภ.คลองหลวง ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำจุดเพื่อดูแลความเรียบร้อย โดยมีศิษยานุศิษย์เดินทางมาปฎิบัติกิจกรรมทางศาสนาภายในวัดตามปกติ ซึ่งบริเวณด้านหน้าทางเข้า ยังคงมีป้ายประกาศพื้นที่ควบคุมพิเศษของทางเจ้าหน้าที่ติดตั้งเอาไว้ส่วนบริเวณประตู 5 - 6 ถนนเลียบคลองแอน ตรงข้ามตลาดกลางคลองหลวง รถสามารถสัญจรผ่านได้ตามปกติแล้วหลังได้มีการรื้อถอนเต็นท์ และ สแลนกีดขวางออกไปทั้งหมด

ส่วนที่ตลาดกลางคลองหลวง วันนี้ได้เข้าสู่สภาวะปกติ ผู้ประกอบการค้า สามารถที่จะค้าขายได้ตามปกติ โดยไม่มีพระสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจอยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

 

ที่มา สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และโพสต์ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โค้ชทีมฟุตบอลในอิรักพูดไม่ได้ ใช้ภาษามือสื่อสารกับทีมจนนำชัยชนะ

Posted: 13 Mar 2017 09:03 PM PDT

สื่อเดอะเนชันแนลนำเสนอเรื่องราวของโค้ชฟุตบอลชั้นนำในอิรักผู้เคยเป็นมะเร็งจนต้องผ่าตัดกล่องเสียงออก แต่เขาก็ยังคงทำหน้าที่โค้ชต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งโดยใช้วิธีการสื่อสารกับทีมฟุตบอลด้วยภาษามือกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักฟุตบอลเยาวชนในอิรัก

14 มี.ค. 2560 โค้ชคนดังกล่าวชื่อ คาดัม ฟลาเยห์ อายุ 57 ปี เมื่อปี 2559 เขาสูญเสียเสียงของตัวเองไปหลังจากต้องตัดกล่องเสียงออกเพราะเป็นมะเร็ง แต่เขาก็ยังคงทำงานเป็นโค้ชให้กับทีมฟุตบอลเยาวชนของสโมสรทหารอากาศของอิรักต่อไป เขาใช้วิธีการอย่างการทำท่าเคาะนิ้ว 3 ครั้งเพื่อส่งสัญญาณให้เขี่ยบอลเริ่มเล่น หรือการชูนิ้ว 4 นิ้วเพื่อส่งสัญญาณให้ทีมฝ่ายตัวเองเล่นกดดันฝ่ายตรงข้าม

บางครั้งฟลาเยห์ก็สื่อสารโดยใช้กล่องเสียงอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สร้างแรงสั่นสะเทือนออกมาเป็นเสียงสังเคราะห์ หรือถ้าเขาเริ่มรู้สึกไม่อยากใช้เครื่องมือนี้เขาก็จะเขียนคำแนะนำลงในกระดาษให้ผู้ช่วยของเขาอ่านออกมา ฟลาเยห์บอกกับสื่อว่า "บางครั้งแค่แสดงท่าทางออกมาก็ทำให้พวกเขารู้แล้วว่าผมจะพูดอะไร"

ฟลาเยห์เปิดเผยต่อไปว่าอย่างไรก็ตามเขาเน้นใช้ภาษามือเวลาลงสนามไม่ว่าจะเป็นการบอกให้ตั้งสมาธิกับการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเน้นบอกให้พวกเขาไม่ไปทะเลาะกับกรรมการ เวลาเขาใช้ภาษามือบอกให้กดดันฝ่ายตรงข้ามผู้เล่นฝ่ายเขาก็เข้าใจ ในแง่ของการวางรูปแบบการเล่นของนักฟุตบอล ฟลาเยห์จะกางแขนออกทั้งสองข้างเพื่อบอกให้ผู้เล่นกระจายตัวทั่วสนาม เขาจะหุบแขนให้แคบลงเพื่อให้ผู้เล่นวางรูปแบบกระชับแคบลง เมื่อต้องการให้ผู้เล่นฝ่ายตัวเอง 2 คนเข้าประกบผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม 1 คน เขาจะบอกด้วยการใช้มือข้างหนึ่งชู 2 นิ้ว และมืออีกข้างชู 1 นิ้ว

ฟลาเยห์เป็นหนึ่งในโค้ชฟุตบอลที่มีชื่อเสียงที่สุดในอิรักนับตั้งแต่เขาทำงานให้กับทีมเยาวชนสโมสรทหารอากาศในปี 2541 สื่ออิรักขนานนามเขาว่าเป็น "ผู้เสาะหาดาวรุ่ง" จากที่เขาเป็นผู้ฝึกนักฟุตบอลระดับท็อปบางคนในวงการฟุตบอลอิรัก ขณะที่ผู้เล่นในทีมเขาเรียกเขาว่าเป็น "ผู้ให้แรงบันดาลใจ"

หนึ่งในผู้เล่นอายุ 17 ปีบอกว่าพวกเขาไม่มีปัญหาเลยกับการพยายามทำความเข้าใจภาษาท่าทางของฟลาเยห์ พวกเขาดีใจทุกครั้งที่ฟลาเยห์ทำท่ากำมือชูขึ้นทั้งสองข้างเพราะนั่นหมายความว่าเขาพึงพอใจกับทีม

ทีมเยาวชนสโมสรทหารอากาศอิรักชนะการแข่งขันในประเทศได้ในฤดูกาลนี้ แต่แม้จะประสบความสำเร็จทีมฟุตบอลของพวกเขาก็กำลังประสบปัญหาการเงินจนทำให้ผู้เล่นฝึกซ้อมมาเป็นเวลา 2 เดือนโดยที่ไม่ได้รับเงินเดือน ฟลาเยห์เองก็ต้องขายรถยนต์และทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อเป็นเงินเอาไปผ่าตัดกล่องเสียง ขณะที่ค่าผ่าตัดแพงมากและโครงการระดมทุนเพื่อการผ่าตัดของฟลาเยห์โดยอดีตนักฟุตบอลก็รวบรวมเงินได้แค่จำนวนเล็กน้อยไม่พอค่าผ่าตัด

เดอะเนชันแนลรายงานว่า แม้ว่าจะเจออุปสรรคทางการเงินและการเจ็บป่วยของฟลาเยห์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้โค้ชกับลูกทีมเยาวชนของเขามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น ผู้เล่นคนหนึ่งบอกว่าโค้ชของพวกเขามีความอดทนต่อปัญหาสุขภาพและความมุ่งมั่นของเขาก็ยิ่งทำให้ทีมมีความมุ่นมั่นตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาอยากจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ที่ทีมกำลังเผชิญ


เรียบเรียงจาก

Through signs and hand gestures, Iraqi coach inspires young footballers, The National, 12-03-2017
http://www.thenational.ae/world/middle-east/through-signs-and-hand-gestures-iraqi-coach-inspires-young-footballers

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น