โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สลาวอย ชิเชก: เราต้องลุกออกมาจากซากปรักหักพังของระบอบเสรีประชาธิปไตย

Posted: 12 Mar 2017 09:57 AM PDT

 

สุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ถือเป็นอุดมการณ์ในรูปแบบที่ชัดเจนที่สุด ข้อความอันแสนเรียบง่ายของมันวางอยู่บนความไม่คงเส้นคงวาที่ชัดเจนโดยพื้นฐานที่สุด สุนทรพจน์ของทรัมป์ฟังดูเหมือนสิ่งที่เบอร์นีย์ แซนเดอร์ก็สามารถพูดได้ ตัวอย่างเช่น  ผมพูดเพื่อคนทำงานหนักทุกคนที่ถูกหลงลืม ถูกละเลยและถูกกดขี่ขูดรีด ผมเป็นเสียงของพวกคุณ ตอนนี้พวกคุณมีอำนาจแล้ว อย่างไรก็ตาม นอกจากความขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างถ้อยแถลงของทรัมป์กับผู้ที่เขาเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วงแรกๆ (เช่น เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน[1]ซึ่งจะถือเป็นเสียงของคนทำงานหนักที่ถูกกดขี่ขูดรีดได้จริงหรือ?) ร่องรอยหลายอย่างชี้ให้เห็นว่าข้อความของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน

ทรัมป์พูดถึงชนชั้นนำในวอชิงตัน ไม่ได้พูดถึงนายทุนและนายธนาคารขนาดใหญ่ เขาพูดถึงการถอนตัวจากบทบาทของตำรวจโลก แต่ให้สัญญาว่าจะทำลายล้างกลุ่มก่อการร้ายมุสลิม ในบางครั้งเขาก็พูดว่าจะป้องกันการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและจำกัดวงการเข้ายึดครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของจีน ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังได้รับคือการแทรกแซงทางการทหารในระดับโลกซึ่งกระทำอย่างซึ่งหน้าในนามผลประโยชน์แห่งอเมริกันชน โดยปราศจากข้ออ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ 1960 คำขวัญของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในช่วงแรกคือ "คิดในระดับโลก ลงมือทำในระดับท้องถิ่น!" ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นั่นคือ "คิดในระดับท้องถิ่น ลงมือทำในระดับโลก" ในศตวรรษที่ยี่สิบ ไม่มีใครจำเป็นต้องมาประกาศว่า "อเมริกาต้องมาก่อน" เพราะในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น การที่ทรัมป์ประกาศเรื่องนี้ออกมาจึงบ่งชี้ว่า ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด การแทรกแซงในระดับโลกของอเมริกาจะยิ่งดำเนินไปในทางที่โหดร้ายมากยิ่งขึ้น ตลกร้ายที่ฝ่ายซ้ายซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การทำตัวเป็นตำรวจโลกของสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน กลับเริ่มคิดถึงวันวานเก่า ๆ สมัยที่สหรัฐฯ ยัดเยียดมาตรฐานด้านประชาธิปไตยให้แก่(ประเทศต่างๆ ทั่ว)โลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าหดหู่ที่สุดในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ไม่ใช่นโยบายของทรัมป์ แต่คือปฏิกิริยาของกลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคเดโมแครตที่มีต่อความพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ของตนเอง พวกเขาแกว่งไปมาระหว่างแนวคิดสุดขั้วสองอย่าง ได้แก่ ความหวาดผวาต่อตัวปัญหาอย่างทรัมป์ กับแนวคิดขั้วตรงข้ามที่เห็นว่าสถานการณ์ยังปกติดี ไม่ได้มีอะไรที่ผิดธรรมดาเกิดขึ้น ด้านหนึ่ง คริสต์ แมทธิว แห่งช่อง MSNBC กล่าวว่าเขาพบข้อความที่ "ฟังดูเหมือนฮิตเลอร์" ในสุนทรพจน์รับตำแหน่งของทรัมป์ อีกด้านหนึ่ง จอห์น เบรสแนนของสำนักข่าว Politico รายงานว่า แนนซี เปโลซี "เอ่ยถึงเหตุการณ์ในทศวรรษที่แล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่า สำหรับเธอ บทเรียนนั้นชัดเจน อดีตเป็นอารัมภบทสิ่งที่เคยใช้ได้ผลแล้ว ก็จะใช้ได้ผลอีกครั้ง ทรัมป์และรีพับลิกันจะล้มเหลว และเดโมแครตต้องพร้อมกระโจนคว้าโอกาสเมื่อพวกนั้นพลาดท่า"

ในอีกแง่หนึ่ง [บางคนมองว่า] ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์เป็นเพียงการสับเปลี่ยนประธานาธิบดีระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตที่เกิดขึ้นอีกครั้ง นับจากสมัยของเรแกน บุช คลินตัน บุช โอบามา จนถึงทรัมป์ในปัจจุบัน ท่าทีดังกล่าวละเลยความหมายที่แท้จริงของชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์อย่างสิ้นเชิง นั่นคือทรัมป์ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ก็เพราะความอ่อนแอของพรรคเดโมแครต และชัยชนะของเขาก่อให้เกิดการปรับโครงสร้างของพื้นที่ทางการเมืองทั้งหมดอย่างถอนรากถอนโคน

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากโครงการต่างๆ ของทรัมป์ เช่น การคุ้มครองทางการค้าแบบพอประมาณ (moderate protectionism) การสร้างงานและสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ผนวกกับมาตรการความมั่นคงที่ต่อต้านผู้อพยพ และการสร้างสันติภาพรูปแบบใหม่ที่ผิดทิศผิดทางกับรัสเซีย เกิดเดินหน้าได้ดีและก่อให้เกิดผลในระยะสั้นบางอย่าง  นี่เองเป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายเสรีนิยมที่กำลังตื่นตระหนักรู้สึกหวาดกลัวกันจริงๆ พวกเขากลัวว่าทรัมป์อาจจะไม่ใช่หายนะแต่อย่างใด

เราไม่ควรยอมจำนนให้กับความหวาดกลัวดังกล่าว ต่อให้ทรัมป์ดูจะประสบความสำเร็จ แต่ผลลัพธ์ของการเมืองของเขาจะไม่มีความชัดเจนสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ซึ่งจะรู้สึกเจ็บปวดต่อความสำเร็จนี้ในไม่ช้า หนทางเดียวในการเอาชนะทรัมป์และกอบกู้สิ่งที่มีคุณค่าต่อการรักษาในระบอบเสรีประชาธิปไตย คือการแยกตัวเองออกจากซากศพของระบอบเสรีประชาธิปไตยและสร้างฝ่ายซ้ายแบบใหม่ขึ้นมา องค์ประกอบของแผนการสร้างฝ่ายซ้ายแบบใหม่นี้ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินจินตนาการ ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะยกเลิกข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ซึ่งสนับสนุนโดยคลินตัน ฝ่ายซ้ายทางเลือกจึงควรเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติที่สดใหม่และแตกต่างจากข้อตกลงทั้งสองอย่างนั้น  ข้อตกลงของฝ่ายซ้ายรูปแบบใหม่จะสร้างอำนาจสาธารณะในการกำกับดูแลธนาคาร สร้างมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การปกป้องคนกลุ่มน้อยทางเพศและชาติพันธุ์ ฯลฯ บทเรียนใหญ่ของระบบทุนนิยมโลกคือรัฐชาติเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำงานเหล่านี้ได้ มีเพียงความร่วมมือทางการเมืองในระดับนานาชาติเท่านั้นที่จะมีโอกาสเหนี่ยวรั้งทุนนิยมโลกเอาไว้

ครั้งหนึ่ง ฝ่ายซ้ายเก่าที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เคยบอกกับผมว่า ข้อดีเพียงอย่างเดียวของสตาลินก็คือเขาทำให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกขวัญผวาได้จริงๆ และเราสามารถพูดถึงทรัมป์แบบเดียวกันนี้ได้ว่า ข้อดีเพียงอย่างเดียวของเขา คือเขาทำให้พวกเสรีนิยมหวาดหวั่นได้จริงๆ

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มหาอำนาจตะวันตกตอบโต้ต่อภัยคุกคามจากโซเวียตด้วยการให้ความสนใจข้อบกพร่องของตนเอง ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการของรัฐสวัสดิการ คำถามคือฝ่ายซ้ายเสรีนิยมในปัจจุบันจะสามารถทำอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกันนี้ได้หรือไม่?

 

เชิงอรรถ

[1] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ คนปัจจุบันของรัฐบาลประธานาธิดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

หมายเหตุ: แปลจากบทความ Slavoj Zizek. We Must Rise from the Ashes of Liberal Democracy (2017). ทั้งนี้ผู้แปลขอขอบคุณ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ และ ธรรมชาติ กรีอักษร ที่ให้ความช่วยเหลือในการตรวจทานและขัดเกลาภาษาของผู้แปลให้ดียิ่งขึ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน: สลาวอย ชิเชก เป็นนักปรัชญาและนักจิตวิเคราะห์ชาวสโลวาเนีย ที่ได้รับการยอมรับและมีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงนักวิชาการปัจจุบัน 

ผู้แปล: ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี รัฐศาสตร์บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปท.เล็งชงลดหย่อนโทษชุมนุมการเมืองเสนอ ป.ย.ป.

Posted: 12 Mar 2017 09:15 AM PDT

สปท.การเมือง เล็งชงแนวทางลดหย่อนโทษผู้กระทำผิด ทั้ง "การรอลงอาญา-การถอนฟ้อง-การจำหน่ายคดีชั่วคราว" ส่ง ป.ย.ป.พิจารณา วางแนวทางป้องกันความขัดแย้งในอนาคต ห้ามนักการเมืองสนับสนุนการชุมนุมฝ่ายตัวเอง ใครฝ่าฝืนถูกยื่นถอดถอน

 
12 มี.ค. 2560 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่านายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอรายงานแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง ว่า ขณะนี้ สปท.การเมืองได้ข้อสรุปรายงานดังกล่าวเกือบสมบูรณ์แล้ว คาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะเสนอรายงานต่อที่ประชุม สปท.การเมือง เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อที่ประชุม สปท.ชุดใหญ่ และส่งต่อให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รับไปดำเนินการต่อไป ในรายงานดังกล่าวจะพูดถึงสาเหตุสภาพปัญหาความขัดแย้งในประเทศช่วงที่ผ่านมา แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ให้มีคนกลางทำหน้าที่รวบรวมแนวทางแก้ปัญหาไปสู่การปฏิบัติ การทำความเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่มีความขัดแย้ง การแก้ปัญหาคดีความต่างๆ ทางการเมือง ตลอดจนมาตรการป้องกันความขัดแย้งในอนาคต
 
นายเสรี กล่าวต่อว่า ในส่วนการแก้ปัญหาคดีความทางการเมืองนั้น ยืนยันว่า สปท.การเมืองจะไม่เสนอให้ใช้การนิรโทษกรรมในการแก้ปัญหา แต่เสนอให้ใช้เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และกระบวนการให้โอกาสทางคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด อาทิ การรอลงอาญา การถอนฟ้อง การจำหน่ายคดีชั่วคราว แลกกับการไม่ไปปลุกม็อบสร้างความวุ่นวาย นำมาใช้ในคดีความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท อาทิ กรณีการปิดสนามบิน การยึดทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่ครอบคลุมถึงความผิดทุจริต มาตรา 112 และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ส่วนผู้ที่จะอยู่ในข่ายได้รับการให้โอกาสทางคดีอาญา จะเป็นเฉพาะประชาชนที่มาร่วมชุมนุม หรือรวมถึงแกนนำการชุมนุมด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับ ป.ย.ป.เป็นผู้พิจารณารายละเอียด สปท.การเมืองจะเสนอเพียงหลักการกว้างๆ เท่านั้น ส่วนมาตรการป้องกันความขัดแย้งในอนาคตนั้น สปท.การเมืองเสนอมาตรการห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตั้งม็อบมาสนับสนุนรัฐบาล หรือสนับสนุนฝ่ายของตัวเอง หากใครฝ่าฝืนจะถูกส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สมชาย นีละไพจิตร" ยังอยู่: การต่อสู้ภาคต่อและแรงบันดาลใจสู่ทนายรุ่นเยาว์

Posted: 12 Mar 2017 05:39 AM PDT

เรื่องราวของทนายความรุ่นเยาว์ ทนายความชนเผ่าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการคลุกคลีทำงานกับทนายสมชาย สำนักงานที่ไม่มีเงินแต่มีข้าวแบ่งกันกิน เรื่องเล่าจากครอบครัวที่สะท้อนการต่อสู้กับการต่อต้านการบังคับสูญหายที่ไม่หยุดหย่อน ไม่ย่อท้อ และขยายสู่ความพยายามแก้ปัญหาในระดับกฎหมาย โครงสร้าง แม้ยังต้องเดินต่ออีกยาวไกลนัก

 

 

วันที่ 11 มี.ค. 2560 กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อรำลึกถึง 13 ปี แห่งการสูญหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร "สมชาย ไหน ไหน สมชาย 13 ปี" และการประกาศรางวัล สมชาย นีละไพจิตร ปี 2560  โดยในปี 2560 นี้ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้คว้ารางวัลประจำปี ส่วนรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องประจำปี 2560 มีจำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 2. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย 3. กลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คน ที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

เมื่อกระบวนการยุติธรรมไร้คำตอบ ปล่อย "โชคชะตา" รับผิดชอบผู้ถูกบังคับสูญหาย

อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "งานคือชีวิตของ สมชาย นีละไพจิตร และชีวิต คืองานของครอบครัว นีละไพจิตร" ว่า การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เขาอาจถูกมองว่าเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหา บางคนอาจคิดว่าปัญหาจะหมดไป ถ้าสมชายหายไป แต่เราคงประจักษ์ว่าถึงแม้วันนี้เขาไม่อยู่ แต่ก็มีคนอีกมากมายที่ลุกขึ้นมา มีชาวบ้านมากมายที่คิดว่า 13 ปีก่อนพวกเขายังอยู่กับความกลัว ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง แต่วันนี้เรามีคนเล็กคนน้อยมากมายที่ขึ้นมายืนอยู่ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะตรวจสอบและตามหาความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

"ดิฉันคิดว่าถ้าสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ในวันนี้ เขาจะดีใจ และภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำมา และดิฉันก็รู้สึกเสียใจ ผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อปลายปี 2558 ศาลฎีกามีการพิพากษาว่า จำเลยที่เป็นตำรวจ 5 คนไม่มีความผิด เพราะไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่สำคัญศาลยังเห็นว่าครอบครัวไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิในการที่จะเป็นผู้เสียหายเพื่อทวงถามหาความเป็นธรรมให้กับสมชาย"

"สำหรับดิฉันแล้วกระบวนการยุติธรรมไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองถึงความรู้สึก ไม่ได้มองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กระบวนการยุติธรรมจะยืนอยู่ได้อย่างไรในเมื่อคนเล็กคนน้อยยังถูกเอารัดเอาเปรียบ คนเล็กคนน้อยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม"

เมื่อไม่นานมานี้ในฐานะที่ตนเองเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นผู้ที่ดูแลว่าด้วยเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยจึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมมาเพื่อจะถามว่า กรณีของบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกรอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี) หายไปประมาณ 3 ปี แล้ววันนี้จะให้ทำอย่างไร หลังจากที่กรรมการคดีพิเศษไม่รับให้เป็นคดีพิเศษและตำรวจก็ยุติการสอบสวนแล้ว ต่อไปจะทำอย่างไร กระทรวงยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมต้องมีข้อเสนอแนะที่จะบอกว่าจะให้ทำอย่างไร แต่ปรากฏว่าไม่มีใครตอบ

"สิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้ดินฉันในฐานะของเหยื่อได้เรียนรู้ว่าในการบังคับให้คนสูญหายว่า วันนี้ยังคงความคุลมเครือ วันนี้ถ้าหากบังคับให้คนสูญหาย คนที่จะต้องรับผิดชอบ หรือสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบก็คงเป็นคำว่า "โชคชะตา" หรือเป็นเวรเป็นกรรมของคนๆ นั้นเอง ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมปฏิเสธความรับผิดชอบ ดิฉันเชื่อว่า ถึงแม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถนำตัวผู้ถูกบังคับสูญหายให้กลับคืนมาได้ แต่กระบวนการยุติธรรมไทยก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธในการให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อและครอบครัว"

เมื่อกระบวนการยุติธรรมยังยอมรับ "การซ้อมทรมาน"

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตัวเองไม่เคยรู้จักทนายสมชายเป็นการส่วนตัว แต่ช่วงที่ทนายสมชายหายตัวไป ตนรู้ว่ามีการสูญหายเนื่องจากนั่งรถเมล์ผ่านเห็นมีการติดป้ายหน้าสภาทนายความ โดยในช่วงแรกจะมีการนับวันที่ทนายสมชายหายตัวไป จึงเกิดความสงสัยว่าทนายสมชายเป็นใคร

ช่วงนั้นมีกำลังเรียนเรื่องสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา ทางมหาวิทยาลัยเชิญอาจารย์ที่เป็นอาจารย์พิเศษมาจากข้างนอก และอาจารย์ที่ถูกเชิญมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่านเล่าว่าท่านเคยทำคดีหนึ่งซึ่งมีทนายสมชายเป็นทนายในคดีนั้นด้วย จริงๆ ท่านพูดเชิงปฏิเสธว่า ไม่มีใครอุ้มทนายสมชายหรอก ถ้าใครที่อยากจะอุ้มทนายสมชายก็อาจจะเป็นเขาเอง เพราะว่าทนายสมชายเป็นคนทำให้คดีความมั่นคงหลุดไป หรือไม่ได้รับการลงโทษ ตำรวจคนนั้นก็รู้สึกว่าทนายสมชายไปช่วยผู้กระทำความผิด ซึ่งตอนที่เราฟังตอนนั้นเรารู้สึกโกรธมากว่าทำไมคณะเลือกอาจารย์แบบนี้มาสอนนักศึกษา ในฐานะที่เป็นนักศึกษากฎหมายในตอนนั้นก็รู้ว่าทนายความไม่ว่าจำเลยจะกระทำความผิด หรือไม่กระทำความผิด ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทุกคนมีสิทธิที่จะมีตัวแทนทางกฎหมาย ดังนั้นในการทำหน้าที่ทนายความ ไม่ใช่ทนายความเป็นตัวความเสียเอง ทนายความจะทำหน้าที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องจริงจะเป็นอย่างไรมันก็ขึ้นอยู่กับศาลที่จะตัดสิน แต่ว่าเมื่อศาลตัดสินยกฟ้อง แสดงว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสวงหาหลักฐานมาอย่างเพียงพอที่จะพิสูจน์กับศาลได้

หลังจากเรียนจบปี 2551 ก็เริ่มจากงานอาสาสมัครนักกฎหมายที่เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมัยนั้นเป็นช่วงรัฐบาลทหารปี 2550 หลังจากที่ประเทศไทยให้สัตยาบันกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เมื่อไทยเป็นภาคี องค์กรที่ทำงานอยู่ก็มีความสนใจว่าจะทำให้เรื่องราวของการต่อต้านการซ้อมทรมานเข้ามาเป็นกฎหมายไทยได้อย่างไร เพราะว่าในระบบกฎหมายบ้านเรา เวลาเราไปเป็นภาคีกับกฎหมายต่างประเทศยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้โดยตรง เพราะต้องนำมาเป็นกฎหมายภายในก่อน องค์กรเราก็พยายามที่จะร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมาน นั่นทำให้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ทำงานร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมด้วย ทำให้ได้เห็นปัญหาการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีปัญหาหลายอย่าง หากเราเป็นนักกฎหมายทั่วไปเราจะรู้ว่า การทรมานพยานนั้นถือว่าเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบ แต่พอไปถึงศาลเวลาต่อสู้คดี ศาลก็จะยังคงรับฟังหลักฐานนั้น แล้วบอกว่าเรื่องการทรมานเป็นอีกคดีหนึ่ง

เรื่องการทรมานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นว่ามีการทำร้ายร่างกาย แต่เพราะว่ามันเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนนั้นกลับเป็นผู้กระความผิดเสียเอง ตรงนี้ทำให้ปัญหาการทรมานรวมทั้งการอุ้มหายมีความยากลำบากที่เราจะต้องผลักดันกฎหมายและเรียกร้องโทษที่สูงมากกว่าการซ้อมทรมานหรือการทำร่างกายทั่วไป เพราะมันเป็นเรื่องร่างกายบวกกับเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย

เรามี พ.ร.บ.ไม่ให้บังคับบุคคลสูญหายในปี 2555 และเมื่อวาน สมช.พึ่งมีมติว่าจะมาให้สัตยาบันอนุสัญญาไม่ให้บังคับบุคคลสูหาย แต่ว่าตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2560 รวม 10 ปีในความพยายาม ต้องบอกว่าทุกภาคส่วน เหยื่อที่เสียหายที่ร้องเรียนว่ามีการทรมาน มีการอุ้มหายเกิดขึ้น เราเห็นความกล้าหาญของเขา รวมถึงหัวหอกในเรื่องของการรณรงค์เรื่องการอุ้มหายก็ต้องถือว่าเป็นคุณูปการของครอบครัวนีละไพจิตรที่ผลักดันประเด็นนี้มาตลอด ทนายสมชายเองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่พยายามเรียกร้องสิทธิของคนที่ถูกกระทำ และถือว่าเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นน้องในความกล้าหาญที่จะทำหน้าที่ตามวิชาชีพ

ลายมือยุ่งเหยิง ศึกแย่งกระเป๋า และข้าวหมกไก่

วาสนา ภัทรนันทกุล ทนายความกลุ่มชาติพันธ์ ทนายความสายเลือดอาข่า กล่าวว่า เจออาจารย์สมชายครั้งแรกเมื่อปี 2543-2544 ตอนไปสอบตั๋วทนายความ อาจารย์เป็นผู้มาบรรยายให้กับผู้ไปสอบใบอนุญาตทนายความ และทุกคนจะต้องไปฝึกงาน ปกติสภาทนายความจะสุ่มส่งไป แต่ตนจะไปฝึกงานกับอาจารย์สมชาย พอแจ้งไปอาจารย์ตอบว่า ไม่ๆ ไม่รับผู้หญิง เรียกว่าถูกปฏิเสธตั้งแต่วันแรกที่เจอกันวันที่ท่านไปบรรยาย แต่อย่างไรก็อยากจะไปเป็นทนายความกับอาจารย์ จึงพยายามที่จะไปอยู่กับอาจารย์และตามหาว่ามีใครบ้างที่พอจะฝากตนไปฝึกงานกับอาจารย์ได้บ้าง สุดท้ายอาจารย์ก็ได้รับไว้

วันที่ไปสำนักงานครั้งแรกอาจารย์ก็จะบอกว่าที่นี่ไม่มีเงินเดือน ที่นี่จะอยู่กันแบบพี่น้อง จะอยู่กันแบบมีอะไรก็แบ่งกันกิน อาจารย์จะมีสมุดนัดอยู่ 2 เล่ม เล่มหนึ่งอาจารย์จะถือติดตัว อีกเล่มหนึ่งอาจารย์จะเอาไว้ที่สำนักงาน ทุกคนในสำนักงานจะรู้ว่าวันนี้อาจารย์มีคดีที่ไหนบ้าง วันต่อไปอาจารย์มีคดีที่ไหนบ้าง และจะจดไว้ในสมุดนัดส่วนตัวของเรา หลังจากนั้นก็จะตามอาจารย์ไปทุกเช้าโดยเราจะไปถึงก่อนอาจารย์

อาจารย์ขับรถฮอนด้าสีเขียว มาถึงอาจารย์จะจอดด้านหลังสำนักงาน ทุกคนก็จะดูว่ามาถึงแล้วหรือยัง สำนักงานอยู่ตรงข้ามศาลรัชดา จะต้องข้ามสะพานลอยเพื่อที่จะไปศาล บางทีก็ไปศาลแพ่ง บางทีก็จะไปศาลอาญา พออาจารย์มาถึงปุ๊บ เราก็จะบอกว่า "หนูถือกระเป๋าให้ค่ะอาจารย์" อาจารย์ก็ตอบว่า "ไม่ต้อง คุณเป็นผู้หญิง" เรียกว่าจะมีศึกการแย่งกระเป๋าอยู่ทุกวัน บางวันก็แย่งสำเร็จ บางวันก็แย่งไม่ได้ ซึ่งกระเป๋าใบนี้จะหนักประมาณ 5 กิโลกว่า

อาจารย์เขาจะไม่สอนว่าต้องทำอย่างนั้นหรือย่างนี้ แต่เราจะสามารถเรียนรู้จากตัวอาจารย์เอง อยากรู้อะไรก็ตามอาจารย์ไปแล้วก็ดูเอาเอง มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยถามอาจารย์ว่า จะเป็นทนายความที่ดีที่และเก่งเหมือนอาจารย์ต้องทำอย่างไรบ้าง อาจารย์ก็บอกว่า ไม่มีคำตอบ แต่อีก 20 ปี ข้างหน้าคุณจะรู้คำตอบเอง

อาจารย์เป็นคนใจดี สำนักงานจะมี 2 ชั้น ปกติอาจารย์จะอยู่ชั้นสอง ที่นั่นมีทนายความอยู่ 3 รุ่น รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นเล็ก ซึ่งตนจะเป็นรุ่นเล็กที่สุดแล้ว เวลาจะเขียนสำนวนอาจารย์ก็จะร่างด้วยดินสอใส่กระดาษ พอเขียนเสร็จแล้วก็จะเรียกรุ่นเล็กสุดอย่างเราเป็นคนพิมพ์ดีด สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ตนก็จะไปรับเอกสารกับอาจารย์เพื่อที่จะพิมพ์คำฟ้อง คำร้อง หรือคำแถลงต่างๆ ซึ่งอาจารย์จะเป็นคนร่างให้ในปีแรกที่ตนไปอยู่ พอหลังๆ อาจารย์ไม่ร่างให้แล้ว ให้ไปทำเองและส่งให้อาจารย์อีกทีหนึ่ง

ครั้งแรกที่อาจารย์ให้ ลายมืออาจารย์ยิ่งกว่านายแพทย์ อ่านไม่ออก รุ่นที่สามก็อ่านไม่ออก ก็จะไปหารุ่นที่สองให้ช่วยอ่าน บางครั้งรุ่นที่สองก็อ่านได้ แต่ถ้าอ่านไม่ได้ก็ต้องไปหารุ่นแรก พอรุ่นแรกอ่านไม่ออก ก็จะขึ้นไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็ให้ไปถามพี่รุ่นแรกคนหนึ่งที่จะอ่านลายมืออาจารย์ออก ปรากฏว่าพี่เขาก็อ่านไม่ออก ก็ไปบอกอาจารย์อีกครั้งว่าพี่เขาก็อ่านไม่ออกเหมือนกัน อาจารย์ก็จะเขียนใหม่ให้ พอเขียนใหม่ก็อ่านไม่ออกอีก แล้วอาจารย์ก็บอกถ้าอย่างนั้นคุณก็เขียนไป ปกติลายมืออาจารย์จะเป็นเอกลักษณ์ที่อ่านไม่ค่อยได้

ทุกวันที่อาจารย์มาสำนักงานก็จะซื้อกับข้าวมาด้วย ซึ่งหลังๆ ไม่ค่อยซื้อกับข้าวมาแล้ว แต่จะซื้อข้าวหมกไก่มาแทน วันไหนที่อาจารย์เข้ามาสำนักงานพวกเราก็จะได้กินข้าวหมกไก่ แต่วันไหนที่อาจารย์ไม่เข้าพวกเราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ในสำนักงานจะมีอยู่กัน 5 คน ตนจะเป็นรุ่นน้องสุดที่จะต้องไปหาซื้อกับข้าวฝั่งศาลรัชดา วันไหนที่อาจารย์เข้ามาตนจะเป็นคนที่ดีใจที่สุดเพราะไม่ต้องไปซื้อข้าวให้กับรุ่นพี่

"ตั้งแต่วันนั้นก็สาบานกับตัวเองว่าเราจะทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของชนเผ่า"

มิงจู อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนชนเผ่าอาข่า กล่าวว่า ครั้งแรกที่พี่น้องชนเผ่าลงมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิของตนเองที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ปี 2541-2542 และต่อสู้กันจนมาถึงปี 2545 เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องอยากจะขอสัญชาติ เพราะเราอยากพิสูจน์สถานะบุคคล

ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ากฎหมายเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าทำไมเราเป็นคนไทยแล้วทำไมเขาถึงมาไล่จับเรา อยู่บ้านดีๆ ก็มาเผาหมู่บ้าน ลงมาข้างล่างก็ไม่มีบัตร มีแค่กระดาษสามนิ้วก็จับ พี่น้องก็เดือดร้อน แล้วถ้าขายที่ขายผลผลิตไม่ได้เขาก็จับอีก เอาเป็นว่าจับทุกอย่าง และหากไม่มีเงินจ่ายเขาก็ให้เอาผู้หญิงไปขัดดอกให้เขา เราต้องขายนา ขายบ้าน ขายช่อง ขายทุกอย่างที่เรามีเพื่อจะได้ถูกปล่อยตัว

ที่ต่อสู้คือไม่ได้ไปต่อสู้ไปฆ่าไปแกงใคร แต่เราเรียกร้องสิทธิเพื่อที่จะขอมีบัตรประชาชน เพราะไม่มีบัตรประชาชนเราจะเดินทางก็ไม่ได้ จะรักษาพยาบาลก็ไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้ แปลว่าเราไม่มีตัวตนของความเป็นมนุษย์ หรือตัวตนในสังคมเลย

มีอยู่วันหนึ่ง มีหลายเผ่ามาชุมนุมหน้าศาลากลางเชียงใหม่ แต่พวกเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ เขาก็บอกให้เราช่วยมาเป็นล่ามแปลให้ เขาบอกว่าเขาไม่มีบัตร ตำรวจก็มาจับเขา ไปไหนมาไหนก็จับเขา ด้วยความที่เราไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร ก็มาแจ้งเรื่องไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและไปสภาทนายความ แล้วทางสภาทนายความก็มอบหมายให้อาจารย์สมชายลงมา

อาจารย์สมชายก็นั่งอยู่หัวโต๊ะ และพวกเราที่ไปประมาณ 10 กว่าคนก็ได้นั่งอยู่ตรงนั้น อาจารย์ถามว่าคดีมันเริ่มกันอย่างไร อะไร แบบไหน

ทุกครั้งเราไปหาทนาย เขาก็จะถามเกี่ยวกับเงินก่อนว่าคุณจะจ้างเขาเท่าไร แต่อาจารย์สมชายจะไม่ถาม พออาจารย์ไม่ถาม เราก็ถามว่าอาจารย์รับค่าทนายเท่าไร อาจารย์บอกว่าแล้วคุณมีเท่าไร เราบอกว่าตอนนี้ไม่มี แต่จะไปหามาให้ถ้าต้องการ สุดท้ายเราไม่ทันได้ให้ค่าตอบแทนอาจารย์ แต่อาจารย์ให้เงินเรา 1,500 บาท บอกว่าเอาไว้เป็นค่ารถกลับ

ทำให้เราคิดว่า อาจารย์คนนี้ทำไมไม่เหมือนคนอื่น และหลังจากวันนั้นสาบานกับตัวเองว่าเราจะทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของชนเผ่า และคนที่เดือดร้อนจากการถูกรังแกของสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

"ไม่ต้องพูดเก่ง แต่ขอให้มีจิตใจจะช่วยเหลือเขาจริงๆ" 

วัชรินทร์ นิลสกุล กรรมการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวในวงพูดคุยถึงประสบการณ์ที่เคยมีร่วมกับสมชาย นีละไพจิตรว่า ยังจำได้ดีว่าเคยบอกอาจารย์สมชาย นีละไพจิตร ว่าตัวเองคงจะเป็นทนายไม่ได้ เพราะพูดไม่ค่อยเก่ง อาจารย์ตอบว่าไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง แต่ขอให้ตั้งใจทำงานและมีจิตใจที่จะช่วยเหลือเขาจริงๆ

หลังจากที่ฝึกงานกับอาจารย์เสร็จ อาจารย์ก็เรียกพวกเราทั้ง 3 คนที่ฝึกงานกับอาจารย์ไปพบ แต่จะเรียกเข้าไปกันทีละคน ตอนนั้นอาจารย์มอบเงินให้กับคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งอาจารย์มอบเสื้อสูทให้ ส่วนตนเองนั้นอาจารย์มอบเสื้อครุยให้ ซึ่งเสื้อตัวนี้อาจารย์น่าจะยังไม่ได้ใส่ เพราะอาจารย์พึงสั่งตัดมา คงตรงกับจังหวะพอดีอาจารย์ก็เลยมอบให้ตน แล้วอาจารย์ก็บอกตนว่าลองไปทำดูนะ จึงบอกอาจารย์ไปว่า ตัวเองไม่รู้จักทนายที่ไหนเลย ขออยู่กับอาจารย์ต่อได้หรือไม่ อาจารย์ก็บอกว่าได้แต่ที่นี่ไม่มีค่าจ้างให้ คำตอบตอนนั้นก็คือ "ขอทำต่อครับ"

หลังจากนั้นอาจารย์ก็เริ่มให้ทำคดี แต่ก็ไม่บอกไม่สอนอะไร เพราะอาจารย์ให้เราเรียนรู้กับอาจารย์มาแล้วปีกว่า ตอนเช้าอาจารย์เอาเอกสารคดีมรดกให้ทำ บอกแค่ว่าวันนี้อาจารย์ไม่ไปศาลนะ ให้เราไปศาลแพ่งคนเดียวทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงถามอาจารย์ว่าต้องถามอย่างไรบ้าง อาจารย์ก็ตอบว่าในคำร้องมันมีหมดแล้ว ครั้งนั้นเป็นวันแรกที่เราไม่รู้อะไรเลยแต่ต้องไปศาลคนเดียว โชคดีที่เสื้อครุยที่ใส่ไปดูใหม่เอี่ยมอยู่ ศาลก็เลยช่วยเหลือในการตรงไหนที่เราถามไม่ครบ

คดีแรกที่ได้ทำร่วมกับอาจารย์สมชายคือ คดีระเบิดซี4 ถูกจับมา 3 คน อาจารย์เข้าไปยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังไว้แต่แรกเลย สุดท้ายมี 2 ใน 3 ที่ไม่มีใครยืนยันว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด หลังจากนั้นตัวเองก็ทำคดีความมั่นคงต่อมาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นทนายร่วมกับอาจารย์

ส่วนวิถีชีวิตอาจารย์เท่าที่จำได้ ทุกครั้งที่อาจารย์มาสำนักงาน อาจารย์จะซื้อกับข้าวใส่ถุงติดมือมาด้วย แล้วพวกตนก็จะหุงข้าวกินกันตอนเที่ยงพร้อมกับอาจารย์ ยกเว้นวันจันทร์กับวันพฤหัส เพราะว่าอาจารย์ถือศีลอด จึงไม่กินข้าวกับพวกเรา อาจารย์จะเป็นคนเรียบง่าย ไม่ค่อยมีอะไรมาก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายภาวิณี' รับรางวัลสมชายฯ ย้ำ 'ถ้าคนไม่สู้ ทนายก็ทำอะไรไม่ได้'

Posted: 12 Mar 2017 05:15 AM PDT

'ภาวิณี ชุมศรี' ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560 ระบุ "บทเรียนที่เราได้ในฐานะที่เป็นทนายความคือ ถ้าคนไม่สู้ ทนายก็ทำอะไรไม่ได้ จริง ๆ แล้วมันมาจากความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเขาเอง" ด้าน 'ไผ่ ดาวดิน–ฅนรักษ์บ้านเกิด–14 แรงงานพม่า' ได้รับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่อง

 

ภาวิณี ชุมศรี รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560 จากจอน อึ๊งภากรณ์
 
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ในงานรำลึก 13 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประกาศรางวัลนักสิทธิมนุษยชนปี 2560 โดยคณะกรรมการคัดเลือกรายชื่อจากที่ประชาชนร่วมเสนอกว่า 20 รายชื่อ มีมติให้ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560
 
สำหรับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องประจำปี 2560 มีจำนวนสามรางวัล ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย และกลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คน ที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ
ภาวิณี ชุมศรี เจ้าของรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560 กล่าวว่า งานของเธอคืองานทนายความ ซึ่งความจริงต้องชื่นชมกลุ่มต่างๆ ที่กล้าหาญออกมาต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมอย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว จนเสี่ยงถูกดำเนินคดี ถูกสังหารนอกระบบ รวมถึงถูกทำให้หายไป
 
"บทเรียนที่เราได้ในฐานะที่เป็นทนายความคือ ถ้าคนไม่สู้ ทนายก็ทำอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วมันมาจากความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเขาเอง"
 
ภาวิณีกล่าวว่า อุปสรรคที่ทำให้การทำงานยากก็คือโครงสร้างของรัฐที่มีความเป็นอำนาจนิยมสูง แม้มีอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่อำนาจเหล่านั้นไม่ทำหน้าที่ถ่วงดุลกัน คือ ฝ่ายบริหารเอนเอียงไปทางฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนที่น่าสะท้อนใจคือฝ่ายตุลาการก็ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการออกกฎหมายที่ไม่ชอบ
 
ภาวิณีกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ปลายน้ำ คดีต่างๆ ควรได้รับการตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิ และต้องได้รับแรงใจจากคนในสังคมด้วย
 
ขณะที่ วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งปกป้องชุมชนจากผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวทำนองเดียวกันว่า อุปสรรคที่ทำให้การทำงานปกป้องสิทธิชุมชนเป็นไปอย่างยากลำบากไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่มาจากคนในชุมชนด้วยกันเอง
 
"เราเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน เราต่อสู้มาต่อเนื่อง ไปยื่นหนังสือแต่ก็ไม่เป็นผล ชุมชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ตอนแรกคนก็ช่วยเหลือกัน แต่พอโดนทำร้าย โดนคดี ทุกคนก็เริ่มถอย คนอื่นเขาทำมาหากิน แต่ทำไมเราต้องมาวุ่นวายเรื่องเหมือง แล้วกลุ่มก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านหัวรุนแรง เราถูกมองแบบนั้น ก็พยายามสื่อสารกับพี่น้องว่า การที่เราสื่อสารมันไม่ผิด เรามีสิทธิที่จะพูด"
 
"แต่ถ้าแม้คนในชุมชนเองยังไม่เข้าใจ มันก็บั่นทอนกำลังใจ ถ้าชุมชนไม่ช่วยกันดูแล ก็ยากที่จะเดินหน้าต่อ" วิรอนกล่าว
 
 
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย
 
วิรอนกล่าวว่า "เรา 'คิด' ท้อได้ แต่ท้อไม่ได้ ถ้าเราไม่สู้ มันก็อยู่ไม่ได้" วิรอนกล่าวพร้อมย้ำว่า พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่จะสร้างผลกระทบที่หนักขึ้นกว่าเดิม ในฐานะคนในพื้นที่ จะขอคัดค้านเต็มที่โดยจะใช้ความเข้มแข็งสามัคคีสู้ให้ถึงที่สุด
 
ด้านพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของ ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กล่าวรับรางวัลแทนไผ่ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำว่า คำว่ามนุษยชนมันยิ่งใหญ่ ไผ่เองเป็นเด็กวัยรุ่นที่ได้มองสภาพปัญหาสังคม การที่จะเข้าไปเห็นปัญหาชาวบ้านหรือความเดือดร้อนของคนในหมู่บ้านนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่มโนขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และการต่อสู้มันใช้เวลานาน จะให้รัฐเป็นฝ่ายสำนึกเองนั้นมันยาก เขาจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันบ้าง ซึ่งประเทศไทยน่าจะภูมิใจมากกว่าการใช้อำนาจกดขี่จำกัดสิทธิคนอื่น
 
 
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน
 
 
​พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของ ไผ่ จตุภัทร์
 
"ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้แก่อำนาจรัฐโดยไม่ท้วงติง สภาพต่างๆ ก็จะเป็นอย่างทุกวันนี้ ความชอบด้วยกฎหมายมันก็ต้องมีจิตสำนึกด้วย"
 
ในฐานะแม่ของนักต่อสู้ พริ้มกล่าวว่า "ลูกชายกับแม่ หัวใจเดียวกัน ไผ่เขามีจิตสาธารณะ แม่ภูมิใจในตัวลูกมาก"
 
ด้านแยแย ตัวแทนกลุ่มแรงงานพม่า 14 คนที่เผชิญหน้าทั้งในฐานะเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องจากนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตไก่รายใหญ่กล่าวว่า ในสภาพการทำงานที่ยากลำบากที่ต้องทำงานเกินเวลา ลูกจ้างทั้ง 14 คนยังถูกนายจ้างเก็บพาสปอร์ตและใบอนุญาตทำงานไว้ เมื่อเธอและเพื่อนพยายามเรียกร้องสิทธิ ก็ถูกฟ้องกลับด้วยข้อหาลักทรัพย์เพราะขโมยใบตอกบัตร รวมทั้งตำรวจเองก็พยายามจะให้เซ็นเอกสารที่มีแต่ภาษาไทยที่เธออ่านไม่ออก ปัจจุบันเธอและเพื่อนๆ ลาออกจากโรงงานแห่งนี้แล้ว แต่ยังมีคดีความอยู่หลายคดี รวมถึงคดีที่กลุ่มแรงงานเป็นฝ่ายฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกละเมิดเป็นระยะเวลาหลายปี
 
 
​แรงงานพม่า 14 คนที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี
 
 
สำหรับกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ก่อตั้งเมื่อปี 2548 จากส่วนหนึ่งของเงินรางวัลแมกไซไซที่ จอน อึ๊งภากรณ์ได้รับ โดยรางวัลนี้มุ่งเน้นเป็นกำลังใจให้คนทำงานที่เสนอปัญหาการละเมิดและปกป้องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเสนอชื่อ บุคคล กลุ่มบุคคล ผลงานสื่อ และผลงานวิจัย ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์
 
ปัจจุบัน กรรมการกองทุนได้แก่ จอน อึ๊งภากรณ์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประทับจิต นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อังคณา นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #148 เพศและสังคมในบทเพลงลูกทุ่ง

Posted: 12 Mar 2017 01:15 AM PST

กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ที่

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ และชานันท์ ยอดหงษ์ แนะนำและวิจารณ์บทความ "เพศวิถีและสังคมไทยในวรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง" ของอรวรรณ ชมดง และอรทัย เพียยุระ ที่เผยแพร่ในปี 2557 (อ่านบทความ) พร้อมชวนพิจารณาเพลงลูกทุ่งที่มีพลวัตและมุมมองด้านเพศ พร้อมไปกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เริ่มจากยุคพัฒนาในทศวรรษ 2500 จนถึงยุคฟองสบู่ จากบทเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ จาก "สาวนาสั่งแฟน" จนถึง "กระแซะเข้ามาซิ" หรือ "ห่างหน่อย-ถอยนิด" ฯลฯ หรือในยุคลูกทุ่งไฮบริดที่แนวเพลงประเภทต่างๆ ผสานเข้าหากัน เช่น "เห็นนางเงียบๆ ฟาดเรียบนะคะ" ของจ๊ะ อาร์สยาม หรือ "รักต้องเปิด(แน่นอก)" ของ 3.2.1 กับใบเตย อาร์สยาม ฯลฯ

บทเพลงลูกทุ่งสามารถถูกอ่านใหม่ ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเพศ ศิลปะร่วมสมัยและคลังศัพท์สมัยใหม่ได้อย่างไร ติดตามได้ในหมายเหตุประเพทไทย ตอน "เพศและสังคมในบทเพลงลูกทุ่ง"

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์หนุนเลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อน

Posted: 12 Mar 2017 12:41 AM PST

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต สนับสนุนการเลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อนเพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนภาษีทางตรงเพิ่มขึ้น หากเพิ่มภาษีทางอ้อมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มยังมีความจำเป็นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลได้ต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้วและอาจมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต 

 
12 มี.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นว่า สนับสนุนการเลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อนอีก 1 ปี โดยคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของภาคการบริโภคจะเพิ่มขึ้น 2.7-2.8% เท่านั้น หากปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในปีนี้อาจทำให้ภาคการบริโภคชะลอตัวลง โดยที่ภาคการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-51% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การยืดหรือเลื่อนการปรับขึ้นภาษี VAT จึงเป็นการช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนภาษีทางตรงเพิ่มขึ้น หากเพิ่มภาษีทางอ้อมมากเกินไปในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มยังมีความจำเป็นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลได้ต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้ว มีความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจชนเพดาน 60% ในปี พ.ศ. 2564
   
แม้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แต่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าให้มีการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี พ.ศ. 2561 เพราะมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก จึงต้องกู้เงินเพิ่มมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในช่วงปีงบประมาณ 2552-2559 ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณสะสมอยู่ที่ 2,687,027 ล้านบาทหรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละ 335,878 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 14.4 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 (พูดง่าย ๆ มีเงิน 100 บาทแต่จ่าย 114.40 บาท)  
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอให้ปรับกรอบความยั่งยืนการทางคลังใหม่เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ต้องการให้จัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560-2561 กรอบเดิมทำไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับข้อเท็จจริงและเหตุปัจจัยต่างในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้น โดยอาจเลื่อนไปให้สามารถดำเนินการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568-2570 โดยต้องเร่งให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% เป็นอย่างน้อย ปรับโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินและภาษีบาป ภาษี E-commerce และการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าว เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น ตามแผนยุทธศาสตร์กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ได้ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ในปีงบประมาณ 2560 นั้นต้องลดการขาดดุลมาอยู่ที่ระดับ 93,000 และ ทำงบประมาณสมดุลหรือเกินดุลได้ 15,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ. เวลานี้ คือ งบประมาณปี พ.ศ. 2560 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท และ ปี พ.ศ. 2561ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก การลงทุนเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการบูรณาการในระยะยาวให้ประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อลดภาระทางการคลัง และต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและลดการรั่วไหล รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังขึ้นมาใหม่   
 
ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าในฐานะที่เคยทำหน้าที่ กรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวเน้นย้ำว่า กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรต้องกำหนดขึ้นใหม่นี้ มีความจำเป็นมาก เพราะกรอบเก่าทำไม่ได้แล้ว ต้องกำหนดใหม่เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทางการคลังให้สอดคล้องกับเป้าหมายกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่ โดยกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่นี้ ต้องสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศโดยยึดหลักเสถียรภาพและความมีวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและยั่งยืนขึ้น มีความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์และงบประมาณให้กลุ่มต่างๆในสังคม ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น มีหลักประกันว่า ระบบสวัสดิการต่างๆที่ประชาชนเคยได้รับทั้งเรื่องการศึกษาฟรี สวัสดิการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์จะมีงบประมาณในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การมีกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ชัดเจนจะช่วยกำกับไม่ให้มีการสร้างภาระหนี้สินให้กับลูกหลาน ภาระการใช้หนี้ของรัฐบาลในอนาคตและเป็นภาระภาษีในอนาคตต่อประชาชนมากเกินไป รวมทั้ง ให้เกิดหลักประกันและความมั่นใจว่าประเทศจะมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าได้เคยมีการเสนอให้มีการปฏิรูประบบการคลัง ขณะที่ทำหน้าที่เป็นทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อหลายปีก่อน แต่ข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวไม่มีการดำเนินการ เวลานี้อยากเสนอปฏิรูประบบการคลังเฉพาะในส่วนการปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี  กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต จะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล 1-2% ของภาษีที่จัดเก็บได้ ยกตัวอย่าง เก็บภาษีได้ 1 ล้านล้านบาท จะได้รับส่วนแบ่ง 10,000-20,000 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการของกรมสรรพากร เช่น เงินเดือนของคณะกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สรรพากร รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีด้วย หากกรมสรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า บอร์ดที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บภาษีต้องออกไป หรือ อีกวิธีหนึ่ง คือ การเปลี่ยน กรมจัดเก็บภาษี จากระบบราชการ เป็น องค์กรของรัฐ แบบเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับคนทำงานมากขึ้น หรือ ให้สัมปทาน "เอกชน" ในการทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแทนรัฐบางส่วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ 
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงขึ้น ไม่หาทางเก็บภาษีเพิ่มหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้ภาวการณ์ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก   
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นักบินหญิง' เริ่มเพิ่มมากขึ้น แต่ขึ้นสู่ ‘กัปตัน’ ยาก

Posted: 11 Mar 2017 11:37 PM PST

แม้ว่า 'นักบินหญิง' จะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ล่าสุดของโลก แต่ทุก ๆ ช่วงวันสตรีสากลก็มักจะมีการนำความสามารถทางการบินของผู้หญิงนี้มาประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรต้นสังกัด หรือประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิสตรีก็มักจะประโคมข่าวนี้ พบปัจจุบันผู้หญิงก้าวสู่โลกแห่งการ(ขับเครื่อง)บินมากขึ้น แต่ก็ยังขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพยาก

นักบินหญิงมากขึ้น แต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพยาก

ผู้หญิงเริ่มเข้าไปสู่ 'โลกแห่งการ(ขับเครื่อง)บิน' ซึ่งเคยเป็นแค่ 'โลกสำหรับผู้ชาย' จำนวนมากขึ้น ทั้งการขับเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินรบ รวมถึงเครื่องบินอวกาศ ในภาพคือ Kate Mcwilliams เมื่อปีที่แล้ว (2559) เธอได้ทำสถิติเป็นกัปตันหญิงในสายการบินพาณิชย์ที่มีอายุน้อยที่สุด (ที่มาภาพ: express.co.uk)

สืบเนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในหลายพื้นที่ของโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่นในภูมิภาคเอเชียส่งผลต่อการเกิดปัญหาขาดแคลนนักบิน ทำให้เราเห็นผู้หญิงทำอาชีพ 'ขับเครื่องบิน' มากขึ้น โดยใน รายงานของสำนักข่าว Bloomberg เมื่อเดือน เม.ย. 2559 ระบุว่าจากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ประเมินว่าในปี 2577 การโดยสารการบินจะเพิ่มเป็น 2 เท่า อยู่ที่ 7,000 ล้านครั้ง และความต้องการนักบินใหม่จะเพิ่มเป็น 558,000 อัตรา

นอกจากนี้ข้อมูลจากฝ่ายบริการการบินของโบอิ้ง (Boeing) ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ระบุว่าการเดินทางของผู้โดยสารใหม่ในเอเชียเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนทุกปี และอุตสาหกรรมการบินเอเชียต้องการนักบินเพิ่มอีก 226,000 คนภายในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่มุมมองด้านอคติทางเพศในอาชีพนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญปัจจุบันหลายสายการบินมีความพยายามปรับสมดุลจำนวนนักบินชายและหญิงเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนนักบินในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้หลายสายการบินเริ่มให้ความสำคัญกับการฝึกฝนและสร้างนักบินหญิงขึ้นมารองรับ ตัวอย่างเช่นสายการบินอีวา แอร์เวย์ (EVA Airways) ก็มีการประชาสัมพันธ์รับสมัครนักบินหญิงเพิ่มจากที่มีนักบินหญิง 50 คน จากนักบินทั้งหมด 1,200 คน และก็พึ่งมีกัปตันหญิงคนแรกของสายการบินไปเมื่อไม่นานนี้, สายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ส (Vietnam Airlines) ก็ได้ปรับปรุงตารางทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนักบินหญิง ยิ่งไปกว่านั้นสายการบินอีซีเจ็ท (EasyJet) ของอังกฤษก็มีการตั้งทุนการศึกษาสำหรับนักบินหญิงโดยเฉพาะ (อีซีเจ็ทยังมีโครงการเพิ่มจำนวนนักบินหญิงให้ได้จนมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 12 ภายในระยะเวลา 2 ปี) และสายการบินบริติช แอร์เวย์ (British Airways) มีนักบินหญิง 200 คน จากนักบินทั้งหมดที่ 3,500 คน ซึ่งถือว่าเป็นสายการบินที่มีนักบินหญิงมากที่สุดในอังกฤษ

สำนักข่าว BBC รายงานข่าวเมื่อปี 2558 ว่ามีนักบินหญิงทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 4,000 คน จากนักบินทั้งหมด 130,000 คนทั่วโลก และจากรายงานของ The Independent เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ซึ่งเป็นการอัพเดทข้อมูลล่าสุดในปีนี้พบว่าปัจจุบันทั่วโลกมีนักบินหญิงต่อนักบินชายอยู่ที่สัดส่วน 1:16 และเที่ยวบินที่ใช้นักบินหญิง 2 คน มีสัดส่วนอยู่ที่ 1:1,000 เลยทีเดียว

ทั้งนี้ประเด็น 'ภาพจำนักบินที่เป็นผู้ชาย' ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าอาชีพนักบินเป็นตัวเลือกหนึ่งของอาชีพสำหรับผู้หญิง เคยมีการทำการสำรวจความเห็นผู้หญิงเรื่องนี้ในอังกฤษโดยร้อยละ 20 ระบุว่าตั้งแต่พวกเธอเติบโตมาพวกเธอเห็นนักบินในทีวีหรือภาพยนตร์ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย อีกร้อยละ 20 ระบุว่าผู้หญิงเป็นได้เพียงพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และอีกร้อยละ 13 ระบุว่าพวกเธอไม่เคยขึ้นเครื่องบินโดยสารที่มีผู้หญิงเป็นกัปตันของเครื่องเลย

ปัญหาการขาด 'บุคคลต้นแบบ' นี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ได้กระตุ้นให้ผู้หญิงเข้ามาสู่อาชีพนี้มากนัก นอกจากนี้ประเด็นความก้าวหน้าในอาชีพก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสมาคมนักบินหญิงระหว่างประเทศ (International Society of Women Airline Pilots) ก็ได้ระบุว่านักบินหญิงทั่วยากที่จะได้ขึ้นเป็นกัปตันประจำเครื่องเมื่อเทียบกับนักบินผู้ชาย

แต่กระนั้นเมื่อปีที่แล้วสื่ออังกฤษได้รายงานว่า Kate Mcwilliams แห่งสายการบินอีซีเจ็ทได้ทำสถิติเป็นกัปตันหญิงในสายการบินพาณิชย์ที่มีอายุน้อยที่สุดที่อายุ 26 ปี โดยสมาคมนักบินหญิงอังกฤษ (British Women Pilots' Association: BWPA) ได้ระบุว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ของ Mcwilliams จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินในฐานะนักบินมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้เป็นการแสดงว่าหญิงสาวอายุน้อยคนอื่น ๆ ก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งกัปตันของเครื่องบินโดยสารได้เช่นกัน

'ผู้หญิงขับเครื่องบิน' กับการประชาสัมพันธ์สายการบินในช่วงวันสตรีสากล

3 นักบินหญิงของสายการบินรอยัล บรูไน แอร์ไลน์ (Royal Brunei Airlines) ขับเครื่อง Boeing 787 Dreamliner (เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ 500 กว่าที่นั่ง) พาผู้โดยสารไปยังเมืองเจดดาห์ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงวันสตรีสากลปี 2559 (ที่มาภาพ: Royal Brunei Airlines)

นอกจากนี้พบว่าในบางประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพของกลับได้นำเสนอความสามารถของผู้หญิงในวิชาชีพต่าง ๆ ในการรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีด้วย โดยเฉพาะความสามารถของผู้หญิงในอุตสาหกรรมการบินที่มากกว่าการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่อง เช่น ประเทศกลุ่มเอเชียใต้ และประเทศในโลกมุสลิม เป็นต้น

อย่างเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา สำนักข่าว CNN รายงานว่าสายการบินแอร์อินเดีย (Air India) ได้ระบุว่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ในเที่ยวบินไปกลับ Delhi - San Francisco ทางสายการบินใช้นักบิน ลูกเรือหญิง ไปจนถึงพนักงานควบคุมการบิน เป็นผู้หญิงทั้งหมดครั้งแรกของโลกโดยเที่ยวบินแคมเปญนี้เป็นการร่วมเฉลิมฉลองวันสิทธิสตรีสากล 8 มี.ค. นี้ (แต่ก่อนหน้านี้พึ่งมีข่าวว่า Air India พึ่งให้แอร์โฮสเตสไปทำงานภาคพื้นดินด้วยข้อหาน้ำหนักเกิน)

ทั้งนี้ในช่วงวันสตรีสากลของปีที่แล้ว (2559) สายการบินรอยัล บรูไน แอร์ไลน์ (Royal Brunei Airlines) ก็ได้จัดให้มีเที่ยวบิน 'ผู้หญิงล้วน' ทั้งนักบิน ลูกเรือหญิง และพนักงานภาคพื้นดิน เที่ยวบินครั้งประวัติศาสตร์นั้นใช้เครื่อง Boeing 787 Dreamliner เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ 500 กว่าที่นั่ง พาผู้โดยสารไปยังเมืองเจดดาห์ประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างปลอดภัย (ทั้งบรูไนและซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ห้ามผู้หญิงขับรถ) อนึ่งกัปตัน Sharifah Czarena Surainy Syed Hashim กัปตันของเที่ยวบินนี้ ถือว่าเป็นนักบินหญิงคนแรกของประเทศบรูไนและคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอได้รับตำแหน่งกัปตันหญิงคนแรกของสายการบิน Royal Brunei Airlines เมื่อปี 2555 ซึ่งยังถือว่าเธอเป็นกัปตันหญิงคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ออกหมายจับ 'วีระ สมความคิด' ทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

Posted: 11 Mar 2017 08:27 PM PST

ศาลออกหมายจับ 'วีระ สมความคิด' ทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โพสต์เฟสบุ๊กทำโพลล์วัดว่าประชาชนเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก่อนจะสรุปผลโพลล์จากจำนวนผู้เข้ามาตอบในเฟสบุ๊กดังกล่าวว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

 
12 มี.ค. 2560 มติชนออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญา รัชดาภิเษก ที่จ.642 /2560 ออกหมายจับนายวีระ สมความคิด อายุ 59 ปี ในข้อหา นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
 
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเฟสบุ๊ก ชื่อ "วีระ สมความคิด" ได้โพสต์ทำโพล 8 ข้อที่อ้างว่าเป็นการทำโพลล์เพื่อวัดว่าประชาชนเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก่อนจะสรุปผลโพลล์จากจำนวนผู้เข้ามาตอบในเฟสบุ๊กดังกล่าวทำนองว่าประชานส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี จากนั้นนำไปโพสต์แสดงผลโพลล์ที่หน้าเฟสบุ๊กเพจ ชื่อ "Veera Somkwamkid" โดยจากการตรวจสอบทั้ง 2 เฟสบุ๊กเป็นของนายวีระ โดยนายวีระนั้นถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) จึงทำให้เป็นที่รู้จัก จึงอาจทำให้ผู้ที่เห็นข้อความเหล่านั้นหลงเชื่อได้ จนสร้างความสับสน เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้ ประกอบกับการจัดทำโพลดังกล่าวนั้นก็เป็นเพียงการจัดทำความเห็นกับกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้นผลจึงอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง ทางพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท.จึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดก่อนขอศาลออกหมายจับในที่สุด
 
โพสต์ทำโพล 8 ข้อที่อ้างว่าเป็นการทำโพลเพื่อวัดว่าประชาชนเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก่อนจะสรุปผลโพลจากจำนวนผู้เข้ามาตอบในเฟซบุ๊กดังกล่าวทำนองว่าประชานส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เชียงใหม่เสวนา “วิกฤตธรรมกาย วิกฤตสังคม?”

Posted: 11 Mar 2017 08:16 PM PST

วิวาทะจากหลายมุมมองจาก ปัญญาชน นักวิชาการ สมณะ ฆารวาส ถึงเรื่องพุทธแท้ วิกฤตธรรมกาย ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐชาติ การปฏิรูปพุทธศาสนา รวมไปถึงบทบาทของรัฐบาล คสช.และการใช้ ม.44 ต่อธรรมกาย


 

เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2560 เวลา 13.30 - 16.00 น. ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง "วิกฤตธรรมกาย วิกฤตสังคม?" ขึ้น ณ ห้องประชุมสีฟ้า ชั้น 3 อาคาร 3 คณะสังคมศาสตร์ โดยมีวิทยากรได้แก่ พระครูพิพิธสุตาธร (พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร ) ผศ.ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ผศ. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

อภิญญา ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า กรณีธรรมกายนั้น แม้ว่าจับธัมมชโยได้ ก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเพราะธรรมกายมีเป็นแสนๆ คน ดังนั้น สังคมควรคิดว่า จะมีท่าทีอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันได้ ตำแหน่งแห่งที่ของสงฆ์ควรจะอยู่ตรงไหนของสังคม จึงจะทำให้เกิดแรงเสียดทานน้อยที่สุด ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น มีที่มาจากการวางตำแหน่งของสงฆ์ในความสัมพันธ์ระหว่าง รัฐ คณะสงฆ์ และฆราวาส

อภิญญาได้ย้อนประวัติศาสตร์ของปัญหาว่า เริ่มมานับตั้งแต่การปฏิรูปสถาบันสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพยายามจะสร้างความทันสมัยด้วยการนำเอาส่วนที่เกี่ยวกับสมาธิออกจากการศึกษาของสงฆ์ ทั้งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา และทำให้สงฆ์อ่อนแอลง  นอกจากนั้นยังมีการให้สมณศักดิ์ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาลำดับชั้นในหมู่พระ  สร้างปัญหาความสมดุลระหว่าง ความอยู่เหนือทางโลกกับการอยู่ในโลก รัฐชาติสมัยใหม่ทำลายสมดุลย์นี้ของสถาบันสงฆ์ลง

การสร้างความทันสมัย ยังก่อให้เกิดการไม่ยอมรับสิ่งที่อยู่นอกสิ่งที่เรียกว่า "พุทธแท้" ส่วนที่ถูกกีดกันออกไปนี้ก็ไม่ได้ถูกควบคุม จึงเติบโตอย่างมาก อภิญญาเห็นว่า ธรรมกายใหญ่เกินไปจึงถูกมองว่าเป็นปัญหา โดยเปรียบเทียบว่า เหมือนตึกสูงที่อยู่ๆก็ขึ้นโดดเดี่ยวท่ามกลางบ้านเรือนธรรมดา ขณะเดียวกันภายในองค์กรของธรรมกายเองก็เหมือนเป็นรัฐ รัฐเองก็ย่อมยอมไม่ได้ที่จะมีสิ่งที่เหมือนเป็นรัฐซ้อนอยู่ในรัฐของตัวเอง และสำหรับฝ่ายประชาธิปไตยที่เห็นใจธรรมกาย ต้องตระหนักด้วยว่า ธรรมกายนั้นไม่อดทนต่อความเชื่อที่แตกต่าง ไม่เอาพุทธ version อื่น ไม่อดทนต่อศาสนาอื่น ถ้าต่อไปมีอิทธิพลเต็มที่ฝ่ายประชาธิปไตย อาจจะต้องคิดใหม่

อภิญญาเห็นว่า ความสำเร็จของการเป็นพระนั้น  อยู่ที่การที่อยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก  การที่พระสงฆ์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย เป็นที่มาของปัญหา  กระบวนการสร้างความทันสมัย กับกระบวนการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ได้ domesticate พุทธศาสนา และทำให้สมดุลย์ นี้เสียไป  นอกจากนี้ rationality แบบตะวันตกก็ไม่สามารถตอบโจทย์มนุษย์ในยุคทันสมัยได้  ยิ่งทันสมัย มนุษย์ยิ่งโหยหาแฟนตาซี  และ magic ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า rationality กับ magic เป็นคู่ตรงข้ามกัน หากแต่มันประทะประสานกันอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน พุทธวิทยาศาสตร์ก็ไม่เอาไสยศาสตร์ เราจึงเห็นการทำให้ศาสนาเป็นพาณิชย์แบบตรงๆ ในขณะที่รัฐก็สนใจแต่ความมั่นคง ซึ่งช่องว่างตรงนี้ ทำให้พื้นที่ประชาสังคมเติบโตขึ้น สิ่งที่มีร่วมกันคือ การตีความเส้นแบ่งระหว่างโลกียะ กับโลกกุตระ  ยกตัวอย่างเช่น พุทธทาส ก็ตีความว่านิพพาน คือ here and now  ส่วนธรรมกาย ทำให้นิพพาน เป็นสิ่งที่เห็นได้  โดยทำให้เป็นวัตถุจับต้องได้ ทำให้บุญขายได้  ส่วนสันติโศก ทำด้วยมิติทางการเมือง ไปสร้างชุมชนในอุดมคติ ซึ่งสำเร็จในระดับหนึ่ง สันติอโศกบอกว่าไม่เล่นการเมือง แต่จะทำการเมือง  ทุกศาสนากำลังตีความเส้นแบ่งนี้ เพื่อให้มีที่ยืนในสังคม  และวิธีตีความ เป็นกลยุทธ์ของพวกเขา  ในขณะที่คณะสงฆ์อ่อนแอ รัฐก็สนใจแต่ความมั่นคง ตรงนี้ทำให้พื้นที่ประชาสังคม ขยับเขยื้อนขึ้น ปัญหาจึงได้แก่ จะจัดการพื้นที่ประชาสังคม อย่างไรกัน

ในเรื่องพุทธแท้ ไม่แท้ อภิญญาเห็นว่า พุทธศาสนา ตัดสินกันที่ประสบการณ์  พระไตรปิฎก เป็นวจนะ  พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าไปเชื่อ จงลงมือทำเอง จุดแข็งของพุทธศาสนาคือ เป็นสิ่งที่วัดกันไม่ได้ เป็นประสบการณ์เชิงอัตวิสัย  ตัววัดความก้าวหน้าง่ายๆคือ การละคลายการยึดมั่นถือมั่น  การเป็นประสบการณ์เชิงอัตวิสัย มีข้อดีคือ ทำให้ไม่มี authority กลาง หลังพุทธกาล มีการแตกนิกายเป็นสิบ แต่ไม่มี authority กลาง ก็อยู่กันได้ เพราะการละคลายการยึดมั่นถือมั่น เป็นหมุดหมาย จึงทำให้สามารถดีเบตกันได้  จารีตของการไม่ปฏิเสธ authority เป็นจารีตพุทธดั้งเดิม  แต่ก็มีจุดร่วมกันได้ว่า อะไรเป็นพุทธแท้ ไม่แท้

วิกฤตธรรมกาย สะท้อนถึงวิกฤตสังคมไทย ในวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องมหาบุรุษ ของสังคมไทย ปัญหาของวิธีคิดนี้ คือการมองสังคมแบบก้านไม้ขีดที่มัดรวมกัน แล้วมีผู้นำที่เป็นมหาบุรุษอยู่ข้างบน  ทำให้มองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มองไม่เห็นปัญหาว่าโครงสร้างกระทบปัจเจกด้วย เราจึงเห็นความคิดที่แยกเป็นสองขั้วใน กรณีพระธัมมชโย คนที่รักก็เกาะติด คนที่เกลียด ก็บอกว่าไม่เป็นพุทธ  ในเรื่องเล่ามหภาค ของวัดธรรมกาย บอกว่าธัมมชโย เป็นต้นธาตุ ต้นธรรม พล๊อตเรื่องนี้ บอกว่า มีธรรมกายขาว และธรรมกายดำ โดยมีจุดร่วมกันที่ตรงที่หลวงพ่อผู้สร้างจักรวาล  อันนี้ไม่ใช่พุทธ  เพราะในพุทธ ไม่มีผู้สร้างจักรวาล ทุกวันนี้ ก็เน้นที่ จับได้ หรือจับไม่ได้ จัดการกับคนๆนี้ แล้วปัญหาจบ  เป็นการมองที่ผิดพลาดอย่างมาก ต้องก้าวข้ามวิธีคิดนี้ไปให้ได้  เพราะปัญหาเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

อภิญญาได้เสนอโมเดลให้การแก้ปัญหาพุทธศาสนา ด้วยการคืนอิสรภาพให้คณะสงฆ์  ทำให้คณะสงฆ์ปลอดจากอำนาจรัฐ  decentralize จากอำนาจรัฐ คืนพระกลับให้ชาวบ้าน ไม่จำเป็นต้องกลับไปที่ 2484 รวมทั้งการดูแล สาธารณสมบัติ  ต้องมีองค์กรสังคมเข้าไปจัดการสมบัติ ร่วมกับรัฐ  ต้องแก้เชิงโครงสร้าง  ต้องเปิดพื้นที่ในการดีเบต จะแท้ไม่แท้ ก็ดีเบตไป  แต่เรื่ององค์กร  พระต้องระวังไม่ให้การเมืองมาเล่นพระ  ตัวอย่างเช่น ดาไลลามะ เคยมีคนให้ทุน ให้ทำกองกำลังจัดตั้งทิเบต  แต่ท่านไม่เอา ท่านไม่เอาการเมืองแบบนั้น ในเมืองไทย พิธีศพ ซึ่งเผาท่านพุทธทาสกลางแจ้ง  เป็นการจัดการการเมืองแบบหนึ่ง เป็นการเลือกที่จะอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก ไม่เอารัฐพิธี   ดังนั้นในเชิงองค์กร ทำอย่างไร จึงจะทำให้เหมือนกับไม่มีองค์กรอยู่ สลายไปในประชาสังคม ไม่มีการจงรักภักดีต่อองค์กร ให้ต้องไปเสียดสีกับที่อื่น  การคิด model อย่างไร ที่จะต้องทำให้การไปแชร์พื้นที่กับองค์กรอื่น จะไม่สร้างปัญหา เช่นกับกลุ่มมุสลิม หรือกลุ่มศาสนาอื่น เป็นต้น


ภิญญพันธุ์  ได้เสนอแย้งกับอภิญญาว่า โลกก่อน ร.ศ. 121 (ก่อนกฎหมายลักษณะปกครองคณะสงฆ์) ไม่ได้เป็นโลกในอุดมคติ หรือมีความกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยากเสนอให้มองว่า ศาสนาทุกศาสนา เป็นอุดมการณ์ที่กดทับสังคมอยู่แล้ว รวมทั้งพุทธด้วย อยากจะชวนให้ดูว่า พุทธที่เป็นโครงสร้างที่กดทับสังคม เป็นอย่างไร โดยภิญญพันธุ์เห็นว่า พุทธนั้นเป็นองคาพยพที่ไต่อยู่บนเส้นของอำนาจรัฐมาแต่ไหนแต่ไร นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  สำหรับฝ่ายพุทธ อาจจะมองว่าเป็นความงดงาม ความรุ่งเรือง  ในการเปลี่ยนอำนาจอาณาจักร ให้เป็นศาสนาจักร ในการขยายอำนาจของตนเอง ปัญหาจึงเป็นเรื่องการขาดกลไกในการถ่วงดุลย์ทางอำนาจของโครงสร้างที่เป็นอยู่ ให้อภิสิทธิ์แก่พุทธศาสนา มาแต่ไหนแต่ไร  พระเจ้าอโศก ถูกมองว่าเป็นมหาบุรุษ แต่แท้จริงแล้วใช้อำนาจกษัตริย์ กำจัดพระที่นอกรีต

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  พุทธก็ทำตัวเป็นมิชชันนารี ขยายอำนาจของตนเอง เข้าไปแทนที่ความเชื่อแบบผีของท้องถิ่น เบียดขับศาสนาอื่น ในกรณีพราหมณ์เมื่อพุทธสู้ไม่ได้ ก็ใช้วิธีร่วมมือ  และพุทธก็ยังขัดแย้งกันเอง  ทั้งร่วมมือ ทั้งขัดแย้ง ดังเห็นได้ในกรณีประวัติความขัดแย้งระหว่างนิกายสวนดอก กับนิกายวัดป่าแดง มีการเขียนคัมภีร์ด่ากัน อันเป็นความขัดแย้งทางศาสนา ที่ย้อนไปได้ถึง 500 ปี

นอกจากนี้ แนวคิดที่ว่า ศาสนาพุทธจะเสื่อมลงเรื่อยๆ เชื่อกันว่าพุทธนั้นมีอายุ 5000 ปี ทำให้เกิดความคิดเรื่องการชำระศาสนา ซึ่งทำนายไว้ว่าพุทธจะหายไปแน่ๆ ต้องมีการฟื้นฟูศาสนาขึ้นมาใหม่ ในสมัยร.4 จึงมีการปฏิรูปศาสนา นำเอาพุทธที่ดีเข้ามา จึงได้เกิดนิกายธรรมยุติ  ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องการเมืองแล้ว ยังเป็นการสร้างพุทธบริสุทธิ์ขึ้นมา มีการตีความใหม่ นุ่งห่มใหม่ ไปจนถึงวิธีปฏิบัติที่เคร่งครัดขึ้น ในเรื่องแนวคิดเรื่องชำระศาสนา  แนวคิดที่ว่า ศาสนาพุทธจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จึงมีความคิดว่า จะต้องฟื้นฟูศาสนาขึ้น  สมัยวชิรญาณ สมัยร.4 ซึ่งเป็นการอ้างว่าเอาพุทธที่ดีเข้ามา ในทางพุทธศาสนาเอง ก็มีความพยายามที่จะปฏิรูป มีส่ิงที่เรียกว่าสัทธรรมปฏิรูป ซึ่งในทางพุทธ ถือเป็นคำด่า สัทธรรมปฏิรูป มีความหมายว่าการบิดเบือนศาสนา

ภิญญพันธุ์เห็นว่า สัทธรรมปฏิรูปนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในสนามการแข่งขันระหว่างพุทธ ภายใต้การพยายามทำให้เกิดพุทธแท้ เมื่อหลายปีก่อน พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ ซึ่งต่อมาได้บวชเป็นพระ (พระภิกษุอนันต์ ชยานนฺโท) ก็ได้เคยวิจารณ์ทั้งพุทธทาส และสันติอโศก โจมตีพุทธทาสว่าเป็นอลัชชี ทำให้นิพพานเป็นเรื่องยาก  หรือกรณี นรินทร์ (กลึง) ที่ส่งลูกสาวไปบวชสามเณรี ในช่วง 2475  แต่ก็ถูกสึก หรือกรณีหลวงปู่มั่น ที่ลูกศิษย์พยายามไปที่อีสาน ชาวบ้านรู้จักแต่พระบ้าน ไม่รู้จักพระป่ามาก่อน ก็เรียก บักเหลือง ในช่วงเริ่มแรก แต่ตอนหลังสายของหลวงปู่มั่นก็ขยายแนวคิดได้  กรณีพระพิมลธรรมที่โดนหลายข้อหา และถูกจับสึก ฯลฯ กรณีต่างๆเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ศาสนาเข้ามาคลุกกับการเมืองมาโดยตลอด แม้ว่าพระจะไม่สามารถเลือกตั้งได้ แต่พระเกี่ยวข้องกับการเมืองมาตลอด ในการต่อต้านเบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้น สันติอโศกก็ร่วมมือกับธรรมกายเป็นม็อปพระ  สันติอโศกเข้าร่วมกับม็อปพันธมิตร หรือกรณีพุทธอิสระ หรือการเคลื่อนไหวของพระในการผลักดันให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้น 

ในกรณีของโรงเรียน จะพบว่ามีการจัดพื้นที่วางพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง ทั้งที่โรงเรียนไม่ควรเป็นพื้นที่กำหนดความเป็นศาสนา มีการนำนโยบายเกี่ยวกับโรงเรียนวิถีพุทธที่รัฐได้ความคิดจากท่านประยุทธ์  ปยุตฺโต เข้าไป ธรรมกายก็มีโครงการเด็กดีมีคุณธรรม ศาสนาเข้าไปชิงพื้นที่ในโรงเรียน ต่อให้ปราบธรรมกายได้ ก็จะมีลัทธิอื่นๆเข้าไปแทน  ภิญญพันธุ์เห็นว่า ศาสนายังเป็นองค์กรที่ใช้ทรัพยากรรัฐจำนวนมาก และไม่มีการตรวจสอบ มีเงินทองไหลเวียนมหาศาล ซึ่งคนไม่ค่อยมอง โดยเฉพาะคดีพิพาทเรื่องที่ดิน ธรณีสงฆ์  กรณีที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตในสังคม ที่ดินมีทั้งที่ถูกกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมย  เช่น กรณีวัดป่าสุคะโต เว็ปไซต์บอกว่า ชาวบ้นศรัทธาจึงมอบวัดให้ 500 ไร่ วัดๆหนึ่งมีที่ดินถึง 500 ไร่  กรณีหลวงตาบัว ขอที่ดินสปก 391 ไร่ และรุกพื้นที่ป่า  900 กว่าไร่   กรณีพิพาทแบบนี้ รัฐไม่ค่อยอยากเข้าไปยุ่งด้วย  ยกเว้นกรณีธรรมกาย ความเชื่อเรื่องถวายที่ให้วัด ก็เชื่อกันว่าได้อานิสงฆ์  พระได้ที่ดินเยอะขนาดนั้น แต่ชาวบ้านกลับถูกประกาศเขตทับที่ทำกินของชาวบ้าน  ปัญหาสำคัญคือ ทำอย่างไร ทรัพยากรสาธารณะควรถูกจัดการอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ภิญญพันธุ์เสนอว่า  ควรสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบ ไม่เฉพาะศาสนาพุทธ ศาสนาควรเป็นวิสาหกิจอย่างหนึ่ง พระและกิจของพระ ต้องเป็นสิ่งที่ควรถูกตรวจสอบ เราปล่อยให้วัดจัดการกันเอง จะพบว่าโอกาสที่พระออกนอกลู่นอกทาง เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ  ควรมีกลไกในการควบคุมกำกับ ในทางโลกมี กสทช ควบคุมสื่อ ในโลกของสงฆ์ ก็ควรมี กสทศ ควบคุมศาสนาให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย  ข้อเสนอนี้ ควรคุยกันในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย  ไม่ใช่รัฐบาลนี้  สสส.เก็บภาษีบาปจากเหล้าเบียร์  ก็ควรมีศสส.เก็บภาษีบุญ อาจแบ่งสัดส่วนไปตามศาสนา ควรเอาภาษีมาจัดการด้านการศึกษา ที่ไม่ใช่การศึกษาทางธรรม แต่ควรอุดหนุนการศึกษาประเภทที่ขาดแคลนทุน เช่น ในการจัดการพิพิธภัณฑ์ หรืออื่นๆ เป็นต้น


พิภพ เริ่มต้นด้วยการถกเถียงกับอภิญญาว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่การกลับไปหาศาสนา หากแต่เป็นการเลิกเชื่อในพระเจ้า (atheism) ต่างหาก มีการสำรวจความเชื่อศาสนาในที่ต่างๆทั่วโลก พบว่าตัวเลขผู้ไม่นับถือศาสนานั้นสูงมาก ในฮ่องกงสูงถึง  70% ในอังกฤษ คนที่ระบุว่ามีศาสนามีเพียงหนึ่งในสาม  ซึ่งน่าจะเป็นที่เดือดร้อนสำหรับผู้ที่ประกอบการศาสนา  พิภพเห็นว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะว่า ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การควบคุมเสรีภาพทางความเชื่อและความคิดจะมีน้อย เช่นในอเมริกา ชัดเจนว่า ไม่มีทางที่จะเอาศาสนามาใช้ปฏิบัติ ในรัฐธรรมนูญได้  คำสั่งของทรัมพ์ ที่ควบคุมการเข้าเมืองของคนมุสลิม ถูกศาลตีตกไป เพราะในคำสั่งมีการระบุว่าเป็นการห้ามคนมุสลิม ดังนั้นจะเห็นได้ว่า คำสั่งของประธานาธิบดีฉบับใหม่ ไม่มีการระบุคำว่ามุสลิม คริสเตียน เพื่อไม่ให้ศาลตีตก  เนื่องจากกฎหมายไม่สามารถใช้ศาสนาเป็นตัวกำหนดในการเลือกรับคนได้ 

พิภพเห็นว่า อารยธรรมตะวันตกนั้นรุ่งเรืองได้ ก็เพราะแยกศาสนา ออกจากรัฐ  ในคัมภีร์กรีก เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลาง โคเปอร์นิคัส พลิกทฤษฎี ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มีโลกเป็นดาวบริวาร กาลิเลโอ ก็ตามโคเปอร์นิคัส แต่ยุคนั้นพูดไม่ได้  ผู้ที่ขู่ไม่ให้พูดก็คือ ศาสนาจักร ดังนั้น การไม่เอาศาสนามายุ่งกับการเมือง จึงทำให้โลกตะวันตกเจริญได้

ในทางกลับกัน ประเทศที่เป็นเผด็จการจะใช้ศาสนามาแทรกแซงการเมือง การเอาม.44 มาควบคุมวัด มีแต่รัฐบาลที่ปล้นอำนาจรัฐมาเท่านั้นจึงจะทำได้ การเอากฎหมายมาจัดการกับเฉพาะบุคคล เฉพาะวัดนั้นขัดกับหลักนิติธรรม

พิภพเห็นว่า คนในสังคมควรมีเสรีภาพในความเชื่อ หากจะเชื่อว่าสปาเก็ตตี้เป็นพระเจ้า จะเชื่อว่าดาร์ก เวเดอร์ เป็นพระเจ้า ก็เชื่อไป หลังสงครามโลกใหม่ๆ มีปฏิญญาสากลที่บัญญัติให้ทุกคนมีสิทธิในความเชื่อ สิทธิในการเปลี่ยนศาสนา และแสดงออกทางศาสนา ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ ก็ประกาศ การขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ มีการกำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าสิทธิเด็ก ข้อ 14 ที่ไทยเป็นภาคี ว่ารัฐจะต้องรับรองสิทธิของเด็ก พ่อแม่เชื่ออะไร และอยากให้ลูกเชื่ออะไร รัฐเข้าไปเกี่ยวไม่ได้ เสรีภาพในการความเชื่อของตน รัฐเข้าไปยุ่งไม่ได้  ตั้งไว้เป็นข้อจำกัดเท่านั้น เสรีภาพทางศาสนาเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เป็นอนุสัญญา ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ต้องมีการแจ้งไป  เชื่อเถิดว่า ประเทศไทย ไม่ได้แจ้ง เพราะสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารละเมิดสิทธิเต็มไปหมด แจ้งแค่ครั้งเดียว ทั้งนี้ อาทิตย์หน้า จะมีการประชุม ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights – การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา) ไทยก็คงจะอ้างว่า ประเทศมีความแตกแยกอยู่ ต้องรักษาความสงบเรียบร้อย

การใช้อำนาจตาม ม.44 ให้เป็นพื้นที่ควบคุมตามกฎหมาย จึงไม่ชอบตามกฎหมาย ถ้าจะควบคุมวัด ต้องควบคุมวัดทั้งหมด ไม่ใช่ใช้เฉพาะตามกรณี  และไม่ชอบด้วยเหตุผล  ต้องการจับผู้ต้องหาเพียงคนเดียว แต่ปิดล้อม  ต้องถามว่า ได้สัดส่วนไหมกับการดำเนินงาน  ส่งเจ้าหน้าสามพันกว่าคน และทหารอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ พิภพยังเห็นว่า ต่อให้จับพระธัมมชัยโยได้ ก็ไม่แก้ปัญหา  พระไพศาลได้ออกมาบอกว่า ธัมมชโยต้องมอบตัว และต้องได้ประกันตัวด้วย แต่ประเด็นคือ ในช่วงสามปีมานี้ เราเห็นอยู่ว่า มีกรณีจับกุม แล้วซ้อมทรมาน เกิดขึ้น เช่นกรณีระเบิดราชประสงค์ ระหว่างที่ถูกส่งขึ้นศาล ผู้ต้องหาก็ตะโกนบอกว่า เขาไม่ใช่สัตว์ที่จะถูกซ้อมทรมาน  ศาลไทยก็ไม่เคยบอกว่า หลักฐานจากการซ้อมทรมานนั้น รับฟังไม่ได้  เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายที่ห้ามการใช้พยานหลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมาน เช่นนี้แล้ว ย่อมยากที่จะเกิดการมอบตัว นอกจากนี้ คนธรรมกายมีเป็นแสน เป็นล้าน การใช้วิธีนี้จัดการนั้นย่อมไม่ได้ผล

พิภพกล่าวว่า ตนเองรู้จักธรรมกาย ตั้งแต่สมัยที่เรียนบัญชีที่ธรรมศาสตร์ สมัยนั้นธรรมกายได้รางวัลแผนการตลาดดีเด่นของสมาคมการตลาด ราวปี 2531 หรือ 32  ซึ่งก็ชัดว่าวิธีของเขาใช้วิธีการตลาดเป็นหลัก  ท่าน ทัตชีโว ก็บอกชัดว่า พุทธศาสนานั้นทำการตลาดไม่ดี  การใช้วิธีที่จัดการเรื่องธรรมกายเรื่องคนดี ไม่ดี ไม่แก้ปัญหา พุทธศาสนิกชน ควรที่จะดูว่าธรรมกายทำได้อย่างไร  พิภพกล่าวว่าตนเองนั้นไม่เห็นด้วยกับธรรมกายมาตลอด แต่เห็นว่า ควรต้องดูว่าธรรมกายสามารถมีสาวกจำนวนมากได้อย่างไร  นิวยอร์กไทม์บอกเลยว่า ธรรมกายเป็นศาสนารูปโฉมใหม่ มีแผนการตลาด ถ้าเป็นพุทธแท้ ควรถือเป็นบทเรียน ไม่ใช่ไปเห็นว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดในโลก

พิภพเห็นว่า วาทกรรมพุทธแท้ พุทธเทียม ซึ่งสร้างการแบ่งแยกพวกเขา พวกเรา นั้นสร้างปัญหา แถวบ้านที่ตนอยู่ เวลามีงานปอยทีไร กิจการที่ขายดีคือ ร้านเหล้า เต้นจ้ำบ๊ะ วัดที่บ้าน สร้างซุ้มทางเข้าเป็นสิบล้าน แต่โรงเรียน ครูแทบจะไม่มี  อาคารซอมซ่อ  อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร อะไรคือพุทธแท้ อะไรคือพุทธเทียม

พิภพเสนอให้แก้ไขปัญหาธรรมกายด้วยการใช้กฎหมายปกติ แต่เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีทางที่จะใช้กฎหมายปกติได้ เพราะในกรณีอื่นๆ รัฐก็เลือกที่จะไม่ใช้กฎหมายปกติ  และชี้ว่า มีแนวโน้มที่การไม่ใช่กฎหมายปกติ จะทำให้รัฐเป็นฝ่ายแพ้ในที่สุด

พระมหาบุญช่วย ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ปัญหาที่พบมาตลอดคือ การมีอคติต่อการนับถือศาสนา ซึ่งก็ต้องตรวจสอบกับหลักฐาน คือพระไตรปิฎก แต่เมื่อพุทธศาสนาเข้าไปในวิถีของคนแล้ว ก็จะกลายเป็นทั้งวัฒนธรรมของตนเอง และทั้งวัฒนธรรมของชุมชน ตนเองเพิ่งไปฟิลิปปินส์มา เจอพี่น้องมุสลิมที่นั่น ที่น่าสนใจคือ มีการอธิบายความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นวิถีชีวิตของชุมชน

พระมหาบุญช่วยได้กล่าวว่า ตนเองนั้นได้สอนวิชากระบวนการเป็นพุทธใหม่ในสมัยปัจจุบัน และเห็นว่าธรรมกายก็ถือเป็นพุทธใหม่ สิ่งที่ต้องทำคือ ถอยออกมาจากความถูก ผิด ทำใจให้เป็นกลาง ต่อกระบวนการใหม่ๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  ทั้งนี้ ถามว่า สังคมเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่มีกระบวนการใหม่ๆย่อมเป็นไปไม่ได้  ในต่างประเทศก็เหมือนกัน เกิดหมู่บ้านพลัม (ของพระติช นัท ฮันห์) เกิดแนวคิดของพระโพธิสัตว์  สังคมเปลี่ยนขนาดนี้ ไม่มีสิ่งใหม่ๆจะทดลอง คงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น เมื่อกลับมาที่มหาเถรสมาคม ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนเมื่อไหร่ องค์กรที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ให้เข้ากับยุคสมัยก็อาจไม่เป็นที่ต้องการของสังคมก็ได้  คำถามคือ องค์กรแบบพุทธจะอยู่อย่างไร  องค์กรแบบธรรมกาย ก็อาจจะน่าสนใจในแง่การจัดองค์กรพุทธแบบใหม่ เมื่อพูดถึงวัด เรามีเจ้าอาวาส  ที่สอนกรรมฐาน ควรได้รับการสืบทอดต่อไปไหม  คำถามคือ จะได้รับการสืบทอดอย่างไร  พระที่เป็นปฏิปทา อาจไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสก็ได้  อาจมีการส่งพระมา กรรมฐานก็อาจหายไปก็ได้  ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ความเป็นองค์กร ไม่สามารถปรับตัวเพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อคนที่มาใช้ศาสนา

กรณีธรรมกาย จึงเป็นบทเรียนสำคัญ ในการนำไปปฏิรูป ปรับปรุง จัดการศาสนาในสังคมไทย ที่ระบุว่าตนเองเป็นพุทธ เคยมีการเสนอมาเยอะ พระไพศาล เคยเสนอปฏิรูปศาสนาปี 2546 ไพบูลย์ นิติตะวัน ก็เสนอในปี 56  คำถามคือ เสนอแล้วไปไหน ใครจะทำต่อ  เรื่องการปฏิรูปกิจการศาสนา ถ้ารอเถรสมาคม ก็เป็นเรื่องกฎหมาย มีข้อสังเกตว่า ไทยไม่มีกฎหมายที่ช้ดเจน ตนเองเห็นว่า ข้อเสนอข้อตกลงร่วม ไม่ให้กิจการไปอยู่ในมือพระ  เป็นเรื่องน่าสนใจ พรบ.คณะสงฆ์ ไม่มีเรื่องพระพุทธศาสนามีแต่เรื่องสงฆ์ในขณะที่ของอิสลาม ก็เห็นว่าไปไกลแล้ว กฎหมายว่าด้วยอิสลามครอบคลุมหลายเรื่อง  ของพุทธ ไม่มีแม่บท ตรงนี้ ถ้าดูลึกลงไป เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ต้องทำ คือ กิจการของคณะสงฑ์ ตอนนี้เป็นอย่างไร เป็นไปตามธรรมวินัย มีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร นอกจากนี้ การเรียนปัจจุบัน ยังขาดด้านวิปัสสนา เช่น กรรมฐาน เมื่อวัดกันไม่ได้ ก็ถูกถอดออกไป เพราะตรวจสอบให้เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้ เหลือแต่นักธรรม เหลือแต่บาลี ปัญหาคือ การปฏิบัติก็หายไป ทำอย่างไร ความรู้ทางศาสนาและวิถีปฏิบัติ จะไปด้วยกัน เรามักพูดถึงกฎระเบียบที่เป็นเรื่องทำร้ายกันเสียมาก มองแต่ภาพที่เป็นภาพลบ แต่ไม่เคยมองกฎเกณฑ์ที่สร้างความสามัคคี

พระมหาบุญช่วยยังเห็นอีกว่า มีความจำเป็นต้องมีระบบจัดการทรัพยากรสาธารณะของวัด ปัจจุบันจัดการโดยสำนักงานพุทธศาสนา ซึ่งเป็นองค์กรที่อ่อนปวกเปียก ในเรื่องการปฏิรูปจึงต้องหาระบบจัดการบริหารที่เกิดประโยชน์ที่สุด และต้องให้ความสำคัญกับแม่ชี สามเณรี ภิกษุณี ในฐานะพุทธบริษัท 4 รวมทั้งสร้างความเข้าใจในเรื่องความต่างทางศาสนา องค์กรพุทธเป็นองค์กรเดียวที่ไม่มีการพูดเรื่องความต่างทางศาสนา เราจะสานเสวนากันอย่างไรในพื้นที่พหุทางศาสนา

ในวงเสวนา มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆกันอย่างกว้างขวางจากผู้เข้าร่วมทั้งที่เป็นพระและฆราวาส  อาทิ กรณีธรรมกายที่สะท้อนวิกฤตความเป็นมนุษย์ของคนไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธแต่กลับดีใจที่เห็นคนตาย  ข้อสงสัยว่า กรณีธรรมกาย เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทหารเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ หรือการต้องการเข้าควบคุมการเงินขององค์กรสงฆ์  ข้อสังเกตที่ว่ากรณีธรรมกาย เป็นวิกฤตการเมือง ไม่ใช่วิกฤตศาสนา และไม่ว่าจะจบอย่างไร ทั้งรัฐ และธรรมกาย ก็แพ้ทั้งคู่ เพราะต่างก็สูญเสียทั้งสองฝ่าย การที่องค์กรศาสนาไม่สามารถสื่อสารกับชาวบ้านที่อยู่ทางโลกได้  การใช้อำนาจที่ทำลายธรรมาธิปไตยของรัฐ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเด็นคำถามที่ว่า รัฐกับพุทธศาสนา ควรจัดวางความสัมพันธ์กันอย่างไร และปฏิรูปไปในทิศทางใด ระหว่างการแยกกันเด็ดขาด การพัฒนาองค์กรสงฆ์ให้มีความเข้มแข็งเป็นวิสาหกิจ หรือการสร้างพื้นที่ประชาสังคมของสงฆ์และประชาชนร่วมกัน ยังคงเป็นข้อถกเถียง และมีความเห็นที่แตกต่างกันที่ควรถกเถียงอย่างกว้างขวางต่อไป


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซูเปอร์โพลล์ระบุประชาชนรับรัฐบาลทุจริตได้ แต่ต้องได้ประโยชน์ด้วย

Posted: 11 Mar 2017 08:14 PM PST

ซูเปอร์โพลล์เผยผลสำรวจ ประชาชน 46.7% รับได้หากรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นแต่ต้องได้ประโยชน์ด้วย

 
12 มี.ค. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "คนไทยพอเพียงจริงหรือ" จากกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,201 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6 - 11 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.7 ระบุ ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องของประชาชน เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 16.3 ระบุ ไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.6 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ว่า หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกในการป้องกันแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และร้อยละ 80.8 ระบุ กำลังใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในเวลานี้ 
 
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้ทำ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่า ใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้ทำอะไรไปบ้าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.0 ระบุ เวลาใช้จ่ายเงิน อยากกินอะไรก็กิน อยากซื้ออะไรก็ซื้อ ไม่วางแผนไว้ก่อน รองลงมา หรือร้อยละ 84.2 ระบุ เมื่อมองดูข้าวของในบ้าน พบว่า ยังมีหลายอย่างที่ซื้อมากอง ๆ ไว้ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยร้อยละ 67.1 มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และร้อยละ 54.9 เสี่ยงโชค เล่นหวยใต้ดิน ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล 
 
อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนจำนวนมาก ร้อยละ 46.7 มีทัศนคติอันตราย คือ ถ้ามีรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ทำให้คุณได้ประโยชน์มาแบ่งกันบ้างก็เป็นที่พอจะยอมรับได้ และมีเพียงร้อยละ 36.7 เท่านั้น ที่มีการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายส่วนตัวอย่างเป็นระบบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบ รพ.เอกชนบางแห่งจ่ายคูปองน้ำมันให้ จนท.กู้ชีพนำผู้ป่วยไปส่ง

Posted: 11 Mar 2017 07:44 PM PST

สพฉ.ยันไม่มีส่วนร่วมกับกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจ่ายคูปองน้ำมันให้กับเจ้าหน้าที่กู้ชีพนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลของตนเอง พร้อมเตรียมตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนพร้อมแจงระบบการทำงานสายด่วน 1669 จะนำส่งผู้ป่วยวิกฤตไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย วอนโรงพยาบาลเอกชนให้หยุดการกระทำดังกล่าวเพราะส่งผลเสียต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

 
12 มี.ค. 2560 ร.อ.นพ. อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ กล่าวถึงกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อข้อมูลกรณีของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้แจกคูปองน้ำมันให้กับมูลนิธิที่นำผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุทุกกรณีมาส่งยังโรงพยาบาลแห่งนั้นว่า  กรณีที่เกิดขึ้นนี้ สพฉ.ได้รับทราบข่าวแล้ว โดยในคูปองที่มีการส่งต่อกันในโลกออนไลน์นั้นได้มีการใส่โลโก้และตัวการ์ตูนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเข้าไปด้วย  ตนขอชี้แจงว่า สพฉ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแจกคูปองดังกล่าว การที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้นำโลโก้และตัวการ์ตูนของ สพฉ.ไปพิมพ์บนคูปองนั้นเป็นการเข้าข่ายการแอบอ้างที่ส่งผลเสียต่อ สพฉ. ซึ่งฝ่ายกฎหมายของเราจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการแอบอ้างแบบนี้อีก
 
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว ทั้งนี้ตนอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าบุคลลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ทำงานผ่านระบบของสายด่วน 1669 มีมาตรฐานรองรับการทำงานที่เป็นระบบ โดยเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ขึ้นทะเบียนกับสพฉ.นั้นผ่านการฝึกฝนที่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะวิธีในการคัดแยกผู้ป่วยและหากพบว่าเป็นเป็นผู้ป่วยฉุกวิกฤต เจ้าหน้าที่จะนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นทะเบียนกับสพฉ.จะไม่มีใครนำผู้ป่วยไปส่งให้กับโรงพยาบาลที่จ่ายอามิสสินจ้างในลักษณะดังกล่าวนี้ ทั้งนี้ในส่วนที่ สพฉ.มีหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าเคสให้กับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ออกปฏิบัติงานในแต่ละครั้งนั้นเป็นเงินที่มาจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนอุดหนุนชดเชยการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินโดยการจ่ายก็จะเป็นไปตามระเบียบและมีมาตรฐานไม่ได้นั่งโต๊ะแจกจ่ายให้กูชีพทั้งหมด แต่จ่ายให้กับหน่วยแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูลของสพฉ.
 
"ซึ่งหลักเกณฑ์คู่มือแนวทางการจ่ายเงินกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อสนับสนุน อุดหนุนหรือชดเชยการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะมีการจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ 100-1,000 บาทให้กับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินที่ปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยและชุดปฏิบัติการฉุกเฉินว่าเป็นระดับสูง กลาง ต้น หรือเบื้องต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้เมื่อเทียบกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพที่อยู่ในระบบของ 1669 ได้ทำงานด้วยใจและด้วยความมุ่งมั่นโดยไม่หวังผลตอบแทนแล้วสิ่งนั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่าบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในระบบสายด่วน 1669 สามารถให้บริการประชาชนด้วยระบบที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เราจะรีบทำการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนและอยากขอร้องโรงพยาบาลเอกชนที่มีการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้ให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวนี้เพราะจะส่งผลต่อโอกาสที่ผู้ป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาที่เป็นธรรมและทันท่วงทีด้วย "ร.อ.นพ. อัจฉริยะกล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น