โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

สื่อเฉ่ง ‘กสทช.’ ประเคน ‘ทีวีดิจิตอลสาธารณะ’ ส่อเค้ายกคลื่นให้รัฐ! ด้าน TDRI ชี้เสี่ยงผิด ก.ม.

Posted: 31 Mar 2013 12:59 PM PDT

เสวนา 'ประเคนทีวีดิจิตอลสาธารณะ... กสทช.รัฐประหารการปฏิรูปสื่อ?' ผอ.TDRI ชี้ประเคนช่องสาธารณะให้โดยที่ยังไม่ขอ เสี่ยงผิด ก.ม. ด้าน ส.ว.ย้ำ บอร์ดเล็กตัดสินมีผลต่อบอร์ดใหญ่ทั้งชุด 'ชวรงค์' ห่วงอ้าง ก.ม.ยกคลื่นให้รัฐ ไม่ต่างมีช่อง 11 อีก 10 ช่อง จี้ 'ไทยพีบีเอส' ประกาศจุดยืน อย่าร่วมกระบวนการปล้นคลื่นความถี่จากประชาชน

 
 
ประเด็นร้อนการจัดสรรคลื่นทีวีใหม่ในช่องดิจิตอลสำหรับบริการสาธารณะ ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติ 3:2 แบ่งช่องบริการสาธารณะ 4 ใน 12 ช่อง ให้กับผู้ประกอบการรายเดิม คือ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส ได้สิทธิทดลองออกอากาศคู่ขนาดไปกับระบบอนาล็อกเดิม โดยไม่ต้องทำเงื่อนไขใหม่
 
ก่อให้เกิดคำถามต่ออนาคตการปฏิรูปสื่อที่อาจไม่เป็นดังหวังของใครหลายคนอีกต่อไป และผู้ทำหน้าที่อย่าง กสทช.ใช้เหตุผลอะไรในการยกคลื่นความถี่ใหม่ให้กับผู้ประกอบการช่องต่างๆ โดยไม่มีการกำหนดกติกาและเงื่อนไขที่ชัดเจน
 
วันนี้ (31 มี.ค.56) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา "ประเคนทีวีดิจิตอลสาธารณะ... กสทช.รัฐประหารการปฏิรูปสื่อ?" ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวฯ ระดมความคิดนักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ ก่อนกำหนดทิศทางเดินหน้าต่อ
 
ข้อสรุปในเวทีนี้คือการเรียกร้องให้ กสทช.ทบทวนและกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับการให้ใบอนุญาต 12 ช่องดิจิตอลทั้งสำหรับบริการสาธารณะ ธุรกิจ และบริการชุมชน โดยมีการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นที่เข้าใจ แล้วประกาศต่อสาธารณะ
 
 

TDRI ชี้ 'ปฏิรูปสื่อครั้งใหม่' เสี่ยง แข่งขันไม่เป็นธรรม-ราชการครองทีวีสาธารณะ

 
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ทีวีสำหรับบริการสาธารณะจำเป็นต้องมี เพื่อตอบโจทย์ผลประโยชน์สาธารณะที่ทีวีเอกชนเชิงพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ หรือไม่ต้องการที่จะทำ เช่น กลุ่มผู้ชมที่ไม่มีตลาด กรณีของกลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็ก กลุ่มคนด้อยโอกาส หรือรายการบางประเภทที่ต้องการคุณภาพสูงกว่าที่ตลาดโดยทั่วไปมีให้
 
ส่วนทีวีดิจิตอลนั้นถือเป็นโอกาสในการปฏิรูปสื่อ ซึ่งความเสี่ยงในการปฏิรูปครั้งนี้มี 2 ข้อ คือ 1.เป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีมีผู้ได้ใบอนุญาตสาธารณะแต่นำไปบริการเชิงพาณิชย์ เพราะใบอนุญาตได้มาโดยไม่ต้องประมูลเหมือนใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ แต่ถูกนำไปโฆษณาแข่งขันกัน การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้น 2.หน่วยราชการต่างๆ พาเหรดเข้ามายึดครองทีวีสาธารณะ ทำให้ทีวีสาธารณะกลายเป็นทีวีของราชการ ซึ่งทำเพื่อประโยชน์ของราชการไม่ใช่ประโยชน์ของสาธารณะ
 
 

ประเคนช่องสาธารณะให้โดยที่ยังไม่มีใครขอ เสี่ยงเข้าข่ายผิด ก.ม.

 
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อมาถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า อาจเข้าข่ายการประเคนช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะ เพราะ กสทช.ยังไม่ได้มีการออกหลักเกณฑ์ ตามที่กฎหมายกำหนดว่าผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะจะต้องมีหน้าที่อย่างไรบ้าง และยังไม่มีใครขออนุญาตเข้ามาเลย แต่ทำท่าว่าจะให้ไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงอาจเข้าข่ายผิดต่อเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ และผิดกฎหมาย อาทิ 1.ตามกฎหมายกำหนดเรื่องผังรายการไว้ว่า ถ้าจะเป็นบริการสาธารณะ ผังรายการจะต้องมีข่าวสารสาระเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หากขอบริการสาธารณะ ข่าวสารสาระที่ว่าก็ต้องเกี่ยวกับความมั่นคง
 
2.เรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะขอใบอนุญาต การจัดทำเช่นนี้เป็นการออกใบอนุญาตใหม่ เป็นการจัดสรรคลื่นใหม่ ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 11 ระบุไว้ว่าผู้ที่จะมาขอใบอนุญาตหากเป็นกระทรวง ทบวง กรมของรัฐซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ จะต้องมีหน้าที่หรือมีความจำเป็นในการดำเนินกิจการ แต่เมื่อยังไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ขึ้นมากำหนด แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอสมีหน้าที่ความจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด
 
3.การออกประกาศหลักเกณฑ์ในเรื่องที่กระทบประโยชน์สาธารณะจะต้องมีการรับฟังความเห็น ตามมาตรา 28 ของกฎหมาย กสทช.ซึ่ง กระบวนการที่ผ่านมายังไม่มีการรับฟังความเห็น
 
 

แม้ ก.ม.เกิดสมัยรัฐประหาร แต่ยุค ปชต.กลับละเมิดเจตนารมณ์ 'ปฏิรูปสื่อ'

 
สำหรับประเด็น 'กสทช.รัฐประหารการปฏิรูปสื่อหรือไม่?' ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า แม้กฎหมายสำคัญที่ กสทช.นำมาใช้จะเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภาที่ตั้งโยคณะรัฐประหาร แต่มีเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่ออย่างน้อยตั้งแต่ปี 2540 อยู่ และเนื้อหาโดยรวมก็มีความก้าวหน้าและมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปสื่อพอสมควร มีเนื้อหาที่เป็นปัญหาบ้าง เช่น การอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐด้านความมั่นคงสามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการสาธารณะด้านความมั่นคง โดยยังมีโฆษณาได้ ซึ่งตรงนี้เป็นการประนีประนอม
 
"ส่วนตัวคิดว่าเป็นการประนีประนอมที่จำเป็นในเวลาแบบนั้น แต่สิ่งที่แย่ก็คือ แม้แต่สมัยประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการไปละเมิดเจตนาของการปฏิรูปสื่อ จะเรียกว่ารัฐประหารการปฏิรูปสื่อหรือไม่ก็ตาม" ดร.สมเกียรติ กล่าว
 
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงข้อเสนอด้วยว่า กสทช.ควรทบทวนมติที่ได้ออกไป เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและส่วนตัวเห็นว่าอาจผิดกฎหมายในหลายมาตรา แล้วประชุมตั้งต้นกันใหม่ กำหนดเงื่อนไขการทำ Beauty Contestตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องตอบสนองต่อกลุ่มผู้ฟังที่ถูกละเลยโดยกลไกตลาด รายการจะต้องมีความสมดุล มีการแสดงความเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน และมีกลไกต่างๆ เพื่อประกันคุณภาพรายการ มีการออกใบอนุญาตในระยะเวลาที่ไม่ยาวจนเกินไป หากประเมินแล้วไม่ได้ทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตควรเพิกถอนใบอนุญาต
 
ส่วนข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ช่อง 5 ควรมีการปรับผังรายการให้สอดคล้องกับกฎหมายหากต้องการขออนุญาต ช่อง 11 จะต้องวางกลไกการรับเรื่องร้องเรียน กลไกนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนรอบด้าน ส่วนไทยพีบีเอสก็ควรพิจารณาทบทวนว่ามีส่วนไหนที่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่
 
 

ส.ว.ย้ำ บอร์ดเล็กตัดสินเป็นเสียงข้างน้อยใน 11 คน แถมมีผลต่อบอร์ดใหญ่ทั้งชุด

 
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรองประธานกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กล่าวว่า กสทช.ถูกตั้งขึ้นโดยการยุบ 2 องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ 40 ให้มี กสทช.ตามรัฐธรรมนูญ 50 โดยให้มีคณะกรรมการชุดเล็ก 2 คณะในคณะกรรมการใหญ่ ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ แต่วันนี้กำลังมีการตีความกฎหมายไปในทางที่ผิดเพี้ยน กสทช.มีทั้งหมด 11 คน แต่เรากำลังใช้คณะกรรมการ 5 คน แยกเป็นด้านโทรคมนาคม และด้านวิทยุโทรทัศน์ ตัดสินโดยเสียงข้างมากแต่เป็นเสียงข้างน้อยใน 11 คน
 
ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า 3 ใน 11 จะกำหนดอนาคตทีวีสาธารณะ ซึ่งกว่าจะมีการปฏิรูปโครงสร้างสื่อหรือกว่าจะได้ทีวีแต่ละช่องถือเป็นเรื่องที่ยากเย็นมาก แต่กลับให้คณะกรรมการ 3 คนอนุมัติโดยไม่มีการร้องขอไป จึงต้องตรวจสอบว่าหลักเกณฑ์วิธีการขัดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาได้พิจารณานำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเมือวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาแล้ว และจะมีการเชิญ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท.มาชี้แจง
 
"การตัดสินใจของ กสทช.มีผลผูกพันกันทั้งคณะ ไม่ได้หมายความว่า กสทช.3 คน หรือ 4 คน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในคณะเล็กแล้วตัดสินใจไป หากพบว่ามีปัญหาทางข้อกฎหมาย ความรับผิดชอบของ กสทช.ทั้ง 11 ท่าน ไม่ได้อยู่เพียงแค่ 3 ท่าน" นายสมชายกล่าว
 
 

แนะช่อง 5, 11 ปรับตัวเอาให้ชัด - ไทยพีบีเอสให้ได้แค่คลื่นเดียว

 
นายสมชายกล่าวต่อมาถึงการที่ กสทช.อนุมัติคลื่นความถี่ 4 คลื่น โดยไม่มีความชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปดิจิตอลว่า กรณีช่อง 5 ไม่สามารถตัดเรื่องช่องความมั่นคงออกไปได้ แต่จะมีช่องทางที่เหลืออยู่คือ หากต้องการทำช่องธุรกิจที่มีการโฆษณาแข่งขันกับรายอื่นจะต้องเข้าประมูล แต่หากทำเป็นช่องเพื่อความมั่นคง จะต้องมีเนื้อหาสาระเพื่อความมั่นคง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องวางกรอบให้ชัดเจน สำหรับ ช่อง 11 มีเจตนารมณ์ให้เห็นช่องทีวีสาธารณะเช่นเดียวกับไทยพีบีเอส เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าสู่การเปลี่ยนไปอยู่ในกรอบทีวีด้านความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ไม่ใช่กรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลอีกต่อไป
 
"ช่อง 5 กับช่อง 11 ถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มที่เหมือนยกไปให้ก่อน 2 ช่อง โดยยังเว้นเรื่องความมั่นคงและความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชนไว้อีก นั่นทำให้เห็นเจตนารมณ์ว่าไม่ได้เอาไปตรงตามสล็อตที่ได้วางเอาไว้แค่ 2 ช่อง แต่กำลังจะเอาไปให้คนอื่นอีก เพิ่มเติมหรือไม่" นายสมชายตั้งข้อสังเกต
 
ส่วนช่องไทยพีบีเอสก็มีหน้าที่ที่ต้องทำทีวีสาธารณะ และคิดว่าวันนี้เพิ่งเริ่มต้น ยังเตาะแตะอยู่มาก มีความจำเป็นที่ต้องทำตัวเองให้สมบูรณ์ก่อน แต่ กสทช.ทำเอ็มโอยูอนุมัติคลื่นความถี่ให้ทีพีบีเอสไปอีก 1 คลื่น ทั้งที่ควรได้เพียงคลื่นเดียว ประเด็นอยู่ที่การตีความว่าเอ็มโอยูไม่น่าจะเหนือกฎหมายการจัดสรรคลื่นได้ เพราะฉะนั้นสิทธิที่ไทยพีบีเอสจะได้ช่องเพิ่มจึงไม่มีความจำเป็น
 
 

ชี้ช่อง 'ยื่นวุฒิสภา' พิจารณามีมติ 2 ใน 3 ให้ กสทช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะได้

 
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า มีความคาดหวังที่จะให้ กสทช.ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา คงความหน้าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่ออย่างชัดเจน อย่าพยายามตะแบงตีความทางกฎหมาย ลอดช่องเล็กช่องน้อย อย่างไรก็ตาม กสทช.มีความรับผิดอยู่ ตามกฎหมายระบุว่าหาก กสทช.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดในสภา หรือ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดในสภา และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติ 2 ใน 3 เพื่อให้ กสทช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
 
 

'ผอ.มีเดีย มอนิเตอร์' เผยแยกย่อย 12 ประเภท ส่อเจตนาที่ประเคนให้ภาครัฐ

 
น.ส.เอื้อจิตร วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดีย มอนิเตอร์) ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์ ซึ่งมีการอธิบายเพิ่มเติมว่าใบอนุญาตมี 3 ประเภท และตามมติที่ออกมามีการแยกย่อยจาก 3 ประเภทออกไปอีก 12 ประเภท ทั้งที่เมื่อมีอำนาจแล้ว กสทช.สามารถทำข้อกำหนดในกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้นได้ แต่ กสทช.ไม่ได้ดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่กลับแยกย่อยโดยแบ่งความ เช่น เน้นการศึกษา เน้นสุขภาพ ทั้งที่หากเป็นบริการสาธารณะแล้วเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อคนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและองค์ความรู้ ไม่สามารถแยกออกไปได้
 
นอกจากนั้น ที่ผ่านมายังมีการตั้งคำถามถึงนิยาม 'ความมั่นคงของรัฐ' และ 'ความปลอดภัยสาธารณะ' ในหลายเวทีที่มีการพูดคุย ซึ่งก็มีการทำคำอธิบายเอาไว้ในหลายแหล่ง ทั้งโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และในงานศึกษาของผู้บริหารระดับสูงของกองทัพ แต่ กสทช.กลับไม่ทำคำอธิบาย ปล่อยทิ้งค้างแล้วมาแบ่งแยกย่อยเป็นช่องเพื่อความมั่นคงของรัฐ และช่องเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ อีกทั้งมีการแบ่งช่องเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน/รัฐสภากับประชาขน ดังนั้น จึงเหมือนกับส่อเจตนาที่จะจัดการลักษณะการบริการสาธารณะอย่างชนิดที่ว่าประเคนให้กับหน่วยงานภาครัฐ
 
น.ส.เอื้อจิตร กล่าวด้วยว่า เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีเดีย มอนิเตอร์ ได้ทำการศึกษาผังรายการของฟรีทีวี โดยเฉพาะช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนดว่าหากจะเข้าข่ายทีวีบริการสาธารณะต้องมีสารประโยชน์ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ กรณีช่อง 5 พบว่า มีอยู่ 44 เปอร์เซ็นต์ และการศึกษาตั้งข้อสังเกตว่ารายการค่อนข้างมีบันเทิงสูง มีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงตามคำอธิบายที่ออกแบบไว้
 
ทั้งนี้ เห็นด้วยว่า กสทช.ต้องทำหลักเกณฑ์ และภายใต้หลักเกณฑ์นั้นต้องมีข้อมูลในเชิงประจักษ์ให้เห็นชัดว่าลักษณะการใช้คลื่นของทีวีที่จะได้ใบอนุญาตต่อเนื่องเป็นบริการสาธารณะ มีสภาพการประกอบการปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีผังที่แสดงถึงการปรับตัวก่อนที่จะยกให้ทันที
 
 

'ชวรงค์' ห่วงอ้าง ก.ม.ยกคลื่นให้รัฐ ไม่ต่างมีช่อง 11 อีก 10 ช่อง

 
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงข้อห่วงใยต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า 1.การให้คลื่นโดยไม่กระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทั้งที่กฎหมายระบุไว้ว่าเรื่องสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนควรต้องรับฟังความเห็นสาธารณะ แต่เรื่องนี้กลับไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเลยเป็นการตัดสินใจโดยบอร์ดเล็ก 2.เรื่องการยกคลื่นให้กับหน่วยงานราชการ ซึ่ง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กทค.ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่กำหนดประเภทของทีวีสาธารณะ แต่หากมีการกำหนดเช่นนี้ก็พิจารณาได้ว่าใครเป็นผู้มีศักยภาพที่จะขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินการ ซึ่งหนีไม่พ้นหน่วยราชการ และคงไม่ต่างกับการที่จะมีช่อง 11 อีก 10 ช่อง เพราะมีหน่วยราชการเป็นเจ้าของและมีภาคเอกชนร่วมผลิต
 
"เมื่อเป็นช่องของหน่วยงานรัฐเนื้อหาก็จะไม่แตกต่างจากนโยบายรัฐ ไม่สามารถมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือการให้ความคิดเห็นที่ครบถ้วนรอบด้าน เพราะฉะนั้น เจตนารมณ์ของความเป็นสาธารณะ ในการที่จะให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้านคงไม่เกิด" ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงข้อห่วงใย
 
นอกจากนี้ ยังมีข้อห่วงใยถึงผลกระทบต่อเอกชน เรื่องการหารายได้ในทีวีสาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงสามารถหาโฆษณาเชิงธุรกิจได้ เพื่อให้เพียงพอต่อการประกอบกิจการเท่านั้น โดยยังไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่าแค่ไหนจึงเพียงพอ ส่วนช่องทีวีที่ไม่ใช่ด้านความมั่นคงสามารถโฆษณาได้ในเชิงภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น และถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดผังรายการ ยังไม่มีการระบุรายละเอียดของข่าวและสาระ 70 เปอร์เซ็นต์ที่กำหนดไว้
 
 

เตือน 'พ.อ.นที' ใช้กรณี 'ประมูล 3 จี สมัย กทช.ล่ม' เป็นบทเรียน คิดให้รอบคอบ

 
นายชวรงค์ กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการพูดกันมากถึงปัญหาทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ในขณะที่วันนี้เราอยู่สังคมที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองฝากรัฐบาลที่บอกว่าจะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นโอกาสที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากมี ส.ส.พรรครัฐบาลกล้าลุกขึ้นมาบอกว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เฉพาะในเรื่องทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคง
 
พร้อมเตือน กสท.หากยังดึงดันทำตามมติ ให้ระวังการฟ้องร้องจากผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบในอนาคตโดยเฉพาะหลังจากที่มีการเปิดให้มีการประมูลคลื่นทีวีธุรกิจดิจิตอล แม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องในตอนนี้ก็ตาม อีกทั้ง ยังกล่าวถึง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท.ให้นึกถึงบทเรียนการเดินหน้าอะไรที่ไม่รอบคอบ กรณีการยกเลิกประมูล 3 จี สมัย กทช.เพื่อนำพิจารณาทบทวนการดำเนินการต่อสำหรับทีวีดิจิตอลสาธารณะ
 
 

จี้ 'ไทยพีบีเอส' ประกาศจุดยืน อย่าร่วมกระบวนการปล้นคลื่นความถี่จากประชาชน

 
ขณะที่ ดร.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับนายชวรงค์ ในการเรียกร้องให้กรรมการนโยบายไทยพีบีเอสในฐานะที่เป็นทีวีสาธารณะตามกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการประกาศจุดยืนในการไม่ขอรับทีวีดิจิตอลสาธารณะ โดยไปทำหลักเกณฑ์ก่อน ระบุเรียกร้องอย่าร่วมกระบวนการปล้นคลื่นความถี่จากประชาชน ชี้ธุรกรรมครั้งนี้ไม่ควรเกี่ยวข้อง
 
ดร.สุวรรณา กล่าวด้วยว่าสิ่งที่ห่วงใยในวันนี้ คือ ระบบปฏิรูปสื่อที่ทำกันมาไม่ต่ำกว่า 14 ปี ในการทำให้เกิด กสทช.แต่ กสทช.กำลังใช้เวลาเพียง 3 เดือน ในการจัดสรรคลื่นทีวีสาธารณะให้สังคม พร้อมระบุว่าในภาพใหญ่ กสทช.ไม่มีความพยายามทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น การจัดระเบียบ การพูดคุยถึงเรื่องความจำเป็นของคลื่นเดิม และการออกใบอนุญาตคลื่นเดิม แต่กลับลัดคิวไปทำเรื่องการจัดสรรคลื่นใหม่ ถือเป็นการให้ความสำคัญในมิติที่ต่างกัน
 
 

เผย 'องค์กรวิชาชีพสื่อ' ร่วม 'ภาคสังคม' ตามติด เตรียมกำหนดท่าทีต่อไป

 
ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยว่า สิ่งที่ กสท.ทำนั้นบิดเบือนเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ ที่ต้องการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสื่อสาธารณะจากรัฐและเอกชนมาเป็นของสังคม แต่วันนี้ทั้งหมดกลับย้อนยุค และเห็นว่าควรต้องเรียกร้องให้ กสทช.ปรับท่าที หากไม่เปลี่ยนก็อาจมีช่องทางในการฟ้องร้องทางกฎหมาย
 
ยังไม่สายหาก กสทช.คิดทบทวน หรือวางมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมากับสิ่งที่ให้ใบอนุญาตไปแล้ว คือต้องหาทางเยียวยา เช่น ประกาศสัดส่วน การรับฟังความเห็น การปรับผังรายการให้ชัดเจน ซึ่งก็ สทช.ยังมีโอกาสที่จะทำได้อยู่
 
"นี่คือโอกาสสำคัญของ คุณที่จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผุ้มีส่วนร่วมสำคัญในการวางโครงสร้างการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย แต่ถ้าคุณทำนอกเหนือไปจากนี้ คุณก็จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ หรือถึงขึ้นประณามคุณได้" นายประดิษฐ์ กล่าวถึงสัญญาณ ที่ส่งไปถึง พ.อ.นที ประธาน กสท.พร้อมระบุด้วยว่า ยังคงต้องดูเหตุการณ์ และองค์กรวิชาชีพสื่อจะร่วมกับภาคสังคมเพื่อกำหนดท่าทีในการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
 
 

กสทช.รับนำข้อเสนอ 7 ข้อ จากนักวิชาการ ถกบอร์ด กสท.พรุ่งนี้

 
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.1 ใน 2 เสียงข้างน้อยในการลงมติ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า บอร์ด กสท.ยกคลื่นความถี่ใหม่ในระบบดิจิตอลให้กับช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส โดยยังไม่มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ ทุกเรื่องผ่านมาโดยการเซ็น MOU ความร่วมมือกว้างๆ ซึ่งไม่มีรายละเอียด และผ่านคณะอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านดิจิตอล ซึ่งมีองค์ประกอบของฟรีทีวี 6 ช่องร่วมอยู่ด้วย จึงอาจมี conflict of Interest (ความขัดกันของผลประโยชน์)
 
อีกทั้ง ไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าจะมีการคืนช่องในระบบอนาล็อกเร็วขึ้นหรือไม่ และผู้ประกอบการดังกล่าวอาจได้สิทธิในการใช้ระบบดิจิตอลคู่ขนาดไปจนกว่าระบบอนาล็อกจะยุติ โดยไม่มีเงื่อนไขให้เปลี่ยนผังรายการ ตรงนี้ บอร์ด กสท.เสียงข้างมากให้ความเห็นว่า ยังไม่ได้เป็นการออกใบอนุญาตแต่เปลี่ยนการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นการตีความแบบกำปั้นทุบดิน คือไม่ได้ให้ใบอนุญาต แต่ให้สิทธิ์ในการใช้คลื่น 5-10 ปี นั่นก็เทียบเท่ากับการให้ใบอนุญาต
 
น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่า ในส่วนเนื้อหาที่ยังไม่มีเกณฑ์กติกาที่ชัดเจน ซึ่งอาจมีการนำไปฟ้องศาลปกครองทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดความล่าช้าได้นั้น ล่าสุดได้เสนอวาระเข้าที่ประชุม บอร์ด กสท.โดยนำข้อเสนอ 7 ข้อ จากนักวิชาการนิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เข้าหารือในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (1 เม.ย.56)
 
ข้อเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย 1.กสท.ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเดิม ช่อง 5, ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ปรับตัวให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการสาธารณะ ไม่ใช่ได้รับสิทธิในการออกอากาศในระบบดิจิตอลโดยอัตโนมัติ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2550 2.กสท.ต้องสร้างเกณฑ์การตรวจสอบ 'หน้าที่' และ 'ความจำเป็น' ของผู้ประกอบการรายเดิม และหน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ ที่ขอเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของ
 
3.กสท.ต้องจัดทำคำนิยาม 'บริการสาธารณะ' และเนื้อหารายการ รวมทั้งพันธกิจสำคัญในแต่ละช่องรายการให้ชัดเจน และขอให้ทบทวนการจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ของทั้ง 12 ช่อง 4.กสท.ต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าของสำหรับภาคประชาชนเพื่อใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในทุกพื้นที่ของการประกอบกิจการ 5.กสท.ต้องกำหนดให้แต่ละช่องเสนอโครงสร้างการบริหารที่สะท้อนความเป็นอิสระจากภาคการเมืองและภาคธุรกิจ และมีแผนการจัดสรรและที่มาของงบประมาณที่ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้
 
6. กสท.ต้องมีเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ช่องบริการสาธารณะ (Beauty Contest) ที่ชัดเจน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ และ 7.กสท.ควรชะลอการพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่บริการสาธารณะ 12 ช่อง จนกว่าจะสำรวจและรับความเห็นจากทุกภาคส่วนและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการใช้ดุลพินิจของ กสท.
 
"ถ้าไม่ทำอะไรเลย ยืนยันตาม 3:2 ดิฉันคิดว่าจะมีจุดอ่อนมากพอที่จะทำให้กระบวนการมันสะดุด แต่ถ้าบอร์ดรับฟัง 7 ข้อนี้และมีเกณฑ์แน่นอนมันก็จะดีขึ้น แต่ก็ต้องดูว่า สุดท้ายพอมีเกณฑ์แล้วมันจะเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่" น.ส.สุภิญญาระบุ
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.56 กสท.ได้มีมติ 3-2 อนุมัติกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ประเภทสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ช่อง 1-3 อนุญาตให้ช่อง 5, เอ็นบีที และไทยพีบีเอส ทำการออกอากาศคู่ขนานไปกับการออกอากาศแบบอนาล็อกเดิม โดยยังไม่ต้องทำเงื่อนไขของช่องทีวีดิจิตอลใหม่ มีระยะเวลาเท่ากับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่เดิม
 
สำหรับกลุ่มที่ 2 ช่อง 4-12 นั้น ได้กำหนดรายละเอียดวัตถุประสงค์การให้บริการโทรทัศน์ประเภททีวีสาธารณะ ประกอบด้วย
 
ช่อง 4 จะจัดสรรให้กับไทยพีบีเอส ที่จะต้องเน้นรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว
 
ช่อง 5 จะเน้นรายการให้ความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
 
ช่อง 6 เน้นรายการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ
 
ช่อง 7 เน้นรายการสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
 
ช่อง 8 เพื่อความมั่นคงของรัฐ
 
ช่อง 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ
 
ช่อง 10 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน/รัฐสภากับประชาขน
 
ช่อง 11 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาเกี่ยวกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
ช่อง 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงเด็กและเยาวชนหรือความสนใจกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
 
ทั้งนี้ ระยะเวลาการอนุญาต ช่อง 4-12 จะมีอายุการอนุญาต 4 ปี หลังจากนั้น กสทช.จะพิจารณาการออกใบอนุญาตให้อีกครั้งว่าจะอนุญาตให้ 15 ปีตามที่กฎหมายกำหนด ขึ้นอยู่กับการประกอบกิจการในช่วง 4 ปีที่ได้รับอนุญาตว่าเป็นไปตามคำนิยามการประกอบกิจการสาธารณะหรือไม่
 
คาดว่า กสท.จะประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจ ยื่นขอรับใบอนุญาตได้ในช่วงเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม ส่วนใบอนุญาตคาดว่าจะออกประมาณเดือนมิถุนายน 
 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเปราะบางและการต่อรองของชาวนาในอุตสาหกรรมข้าวภาคกลาง [1]

Posted: 31 Mar 2013 10:59 AM PDT


บทความชิ้นแรกในชุดบทความ ข้าวนาปรัง : ความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งของสังคมไทยในชุมชนเกษตรภาคกลาง โดยจะทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต  ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมไทย ในการศึกษาชุดความรู้นี้ ทางประชาไทจะทยอยนำเสนอบทวิเคราะห์ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นข้างต้นจำนวน 6ชิ้น

อนึ่ง ภายในไตรมาสที่สองของปี  2556 ประชาไท จะทยอยนำเสนอบทความที่จะพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและความสัมพันธ์การผลิตของชนบทไทยในปัจจุบัน 4ประเด็นคือเกษตรอินทรีย์, เกษตรพันธสัญญากรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภาคเหนือ,พืชเศรษฐกิจในภาคอีสาน และการทำนาปรังในภาคกลางที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้


คำแนะนำของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ให้ชาวนาไทยเลิกปลูกข้าวปรัง เพราะต้นทุนในการปลูกข้าวของไทยเริ่มสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงลดการผลิตพืชหลัก 6 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพด และควรนำเงินที่อุดหนุนสินค้าเกษตรดังกล่าวเอาไปพัฒนาระบบชลประทาน[2]   ออกมาหลังจากที่ก่อนหน้าข่าวกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้ปรับลดราคารับจำนำลงจากตันละ 15,000 บาท เหลือ 13,000 บาท  [3]  ซึ่งต่อมานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ประธาน  กขช. ได้จะออกมายืนยันหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า รัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการจำนำข้าวในรอบการผลิตข้าวปี 2555/56 ตามเดิม   แต่นาปรัง ปี 2557 จะมีการทบทวนราคาใหม่ให้สอดคล้องกับแผนการปรับเขตพื้นที่ปลูก (zoning)  ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ  ได้ออกประกาศ เรื่องการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556  อีกทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับกรมการข้าว ได้ทำการวิจัยซึ่งจะเสร็จใน ปี 2556 และเตรียมจะออกประกาศเขต zoning ภายในเดือนมิถุนายน  และหากนำระบบนี้มาใช้ ประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวประมาณ 38% ของพื้นที่ปลูกข้าวในปัจจุบัน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีราว 67 ล้านไร่ และข้าวนาปรังราว 16 ล้านไร่[4]    โดยพื้นที่เหมาะสมกับการลูกข้าวนี้กระจายอยู่ใน 75 จังหวัด 793 อำเภอ 5,669 ตำบล   นั่นคือมีเพียง พังงา จังหวัดเดียวที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว [5]

หรือนี่จะเป็นทางลงให้กับโครงการจำนำข้าวหลังจากที่ โครงการจำนำซึ่งข้าวถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์  ชินวัตร ประกาศให้มีการดำเนินโครงการครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่ง?    

 

โครงการจำนำข้าว :  โอกาสที่เลือกได้จากนโยบายพรรคการเมือง

โครงการจำนำข้าว   เป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับ ชาวนา  แรงงาน และอุตสาหกรรมข้าวของไทย  ดัง  นิธิ เอียวศรีวงศ์ ออกมาสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวว่าเป็นนโยบาย  "เปลี่ยนประเทศไทย"  ชาวนาอาจนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปใช้ในการเลื่อนสถานภาพทางสังคม [6] และพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตนเองและหรือลูกหลานในตลาดแรงงานในอนาคต  และเห็นว่าการคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของฝ่ายจารีตนิยมนั้นเป็นเพียงเพื่อเก็บชาวนาให้เป็นเพียงปัจเจกบุคคลตัวเล็ก ที่เป็นแรงงานราคาถูก และอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของปราชญ์ชาวบ้านที่สยบยอมต่อระบบเท่านั้น[7]   

ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวไม่ใช่แต่เพียงกลุ่มชาวนาเท่านั้น   ยังไม่นับรวมแรงงานรับจ้างรายวันที่ได้อานิสงค์การเพิ่มค่าจ้างจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ แรงงานรับจ้างในอุตสาหกรรมข้าวมี ทั้งประเภท ;   การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช   หว่านปุ๋ย  แช่ข้าวพันธุ์   กีดน้ำ  ตัดข้าวดีด   ปั่นนา  ตีเทือก  บรรทุกข้าวส่งโรงสี   คนขับและเด็กรถเกี่ยว  ที่บางรายก็เป็นชาวนารายย่อย มีทุนสะสมต่ำที่ออกรับจ้างหารายได้เพิ่มอีกทางจากการทำนา 

นอกจากนี้ยังมีหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง    อาทิ  กลุ่มโรงสีและท่าข้าว  ซึ่งหากนับเฉพาะที่อยู่ในโครงการจำนำข้าวนั้นมีอยู่  ในสุพรรณบุรี 87 จุด และ พระนครศรีอยุธยา 32 จุด   , เครือข่ายผู้ประกอบการรถเกี่ยวนวดข้าว  21 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง รวม 882 ราย ซึ่งในสุพรรณบุรีมากที่สุด  คือมีถึง 203 ราย และในพระนครศรีอยุธยา  มี 82 ราย  เป็นอันดับ 4 ของกลุ่ม    รวมไปถึงเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องเกี่ยวนวดไทย และเครือข่ายผู้เกี่ยวข้าว ซึ่งให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจการเกี่ยวข้าว เช่น รถเกี่ยวข้าวและความเหมาะสมต่อการใช้งาน  บริการขนย้ายรถ และอื่นๆ   ซึ่ง ในปี 2556 นี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประมาณการร์ว่านโยบายประชาจำนำสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว จะสร้างมูลค่าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในไทย  มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือมากกว่า  1.1  แสนล้านบาท[8]  

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวครบวงจรรายใหญ่ของไทยอย่าง บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด  ได้ออกมาสนับสนุนโครงการจำนำข้าวว่าต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสมากขึ้นแล้ว  ภาครัฐฯและภาคเอกชนจำเป็นต้องผนึกกำลังปรับประสิทธิภาพการส่งออกข้าวไทยเพื่อสร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันภายใต้โครงการรับจำนำ โดยเน้นการผลิตข้าวคุณภาพดี ประหยัดต้นทุนด้วยพันธุ์ข้าวดีที่เพิ่มผลผลิต/ไร่สูงขึ้น  [9]   ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์เตรียมความพร้อมเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ปี 2558 โดยทุ่มงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทเพื่อธุรกิจข้าวสารครบวงจร  ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในพื้นที่กว่า 270 ไร่  มีกำลังการผลิต 3,600 ตัน/วัน หรือกว่า 1,080,000 ตัน/ปี ซึ่งผลิตผล 80% จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ 120 ประเทศทั่วโลก  [10]

 

การเมืองเรื่องข้าวกับชาวนายุคโลกาภิวัตน์

ขึ้นชื่อว่า "ข้าว" พืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีพื้นที่ปลูกกว่า 61 ล้านไร่ และไทยที่ผลิตส่งออกข้าวจนเป็นอันดับหนึ่งผู้ส่งออกข้าวชาวนาไทยรู้กันดีว่าราคาข้าวที่ตนผลิตขายนั้นถูกตีราคามาจากราคาค้าขายข้าวในตลาดโลก     พ่อค้าส่งออกข้าวไทยก็ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวได้เอง และใช้วิธีไล่เบี้ยเอากับชาวนา  

และการขายข้าวได้ราคาดี  ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมีพ่อค้าข้าวคนดี หรือรัฐบาลคนดีมารับซื้อในราคาที่พวกเขาพึงพอใจ

ภายใต้โครงสร้างตลาดข้าวที่ชาวนาผู้ผลิตข้าวจะไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวของตัวเอง    ยังมีนโยบายของรัฐที่เข้ามาควบคุมเสถียรภาพราคาข้าวให้กับผู้บริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และส่งผลกระทบต่อชาวนามาตั้งแต่เริ่มมีการส่งออกข้าว 

นับตั้งแต่มีการส่งออกข้าวในอดีต ซึ่งยังใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวยังอิงกับสภาพธรรมชาติ  การเพาะปลูกมีจำกัด และผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค    จนถึงยุคที่มีการบุกเบิกคลองชลประทานเพื่อส่งเสริมการทำนาเพื่อการค้าสมัยรัชกาลที่ 5     และเดินหน้าเข้าสู่ยุคปฏิวัติเขียว ซึ่งพัฒนารูปแบบการผลิตจนอุปทานข้าวมีมากกว่าอุปสงค์และราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง   การเก็บค่าพรีเมี่ยมจึงได้ยกเลิกไป ปี 2529   จนกระทั่งต่อมามีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้ามากขึ้นจนผลผลิตข้าวมีอุปทานมากเกินอุปสงค์จนราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ตกต่ำ สร้างผลกระทบต่อความอยู่รอดของชาวนา  มีผลทำให้รัฐต้องเปลี่ยนมาใช้นโยบายการแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้การอุดหนุนแก่ผู้ผลิตแทน [11]    ดังเราจะเห็นภาพคุ้นชินกับกลุ่มชาวนาเช่น สมาคมชาวนาไทย   และเครือข่ายชาวนากลุ่มต่างๆ  ออกมารวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐหันมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพวกในเรื่องต่างๆ     

 

ความเปราะบาง กับโอกาส และการต่อรอง  

สิ่งที่สร้างความเปราะบางต่อชาวนาไม่ใช่แค่เพียงต้องราคาขายที่ถูกกำหนดจากตลาดโลกท่ามกลางความเสี่ยงที่ต้อง เผชิญกับน้ำ ฝน  ชลประทาน  และสภาพอากาศ  ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเจริญเติบ การให้ผลผลิตข้าว  และนำมาถึงกระบวนการต่อรองระหว่างชาวนากับรัฐอยู่เป็นระยะๆ

 

กรณีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดด และสร้างความเสียหายต่อชาวนาทั้งในประเทศไทย และเวียดนาม ประเทศคู่แข่งส่งออกข้าวของไทย  ในไทยมีรอบการแพร่ระบาดทุกๆ 10 ปี สร้างความเสียหายต่อชาวนาอย่างรุนแรงและกว้างขวาง อยู่เป็นระยะๆ[12]    เวียดนาม คู่แข่งของไทยก็เผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกับไทย    ใน ปี 2550  มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาว และสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ปลูกข้าวของเวียดนามเกือบทั้งหมด [13]  ประกอบกับช่วงกลางปี 2550  สต๊อกข้าวโลกลดลงเหลือ 8 % เพราะผลิตข้าวในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางมีผลผลิตลดลง โดยเฉพาะจีน และอินเดีย หยุดส่งออก  น้ำมันดิบราคาแพงขึ้นจนเกษตรกรส่วนหนึ่งหันไปปลูกพืชพลังงานทดแทนมากขึ้นเพราะได้ราคาดีกว่า แต่ปริมาณความต้องการบริโภคข้าวโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.5 หรือ 6.3 ล้านตัน ส่งผลให้การค้าข้าวโลกปี 2550 จะเพิ่มขึ้นเป็น 29.7 ล้านตัน ในปีช่วงต้นปี 2551 จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมส่งออกข้าวไทย  [14]  และช่วงนี้เองที่ชาวนาได้เรียกร้องให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกในขณะนั้น   ประกาศราคารับจำนำในฤดูนาปรังปี 2551  ให้เท่ากับราคาตลาดซึ่งในขณะนั้นราคาข้าวเปลือกที่ระดับฟาร์มได้ขึ้นไปสูงถึงตันละ 15,000 บาท  มีผลทำ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังและ ธกส. ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังความชื้นไม่เกิน 15% ที่ตันละ14,000 บาท [15]

กรณี ภัยแล้ง น้ำท่วม: ความเสี่ยงที่ชาวนาภาคกลางเจอจนชิน

การปรับโครงสร้างการผลิตและระบบชลประทาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกข้าวของชาวนาก็ยังเป็นที่ต้องสงสัยต่อกลุ่มชาวนาเสมอๆ   โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง และอุทกภัย   ซึ่งนับวันปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวนาด้วยกันเองในช่วงการผลิต  และชาวนากับเมืองและอุตสหากรรม 

ในพระนครศรีอยุธยา ในอดีต ช่วงพฤษภาคม – มกราคม พื้นที่นาลุ่มที่น้ำท่วมในหน้าน้ำมีระดับความสูงของน้ำ    1.50 – 4 เมตร   นั้น เคยปลูกพันธุ์ข้าวฟางลอย  ซึ่งเป็นการทำนาที่อาศัยน้ำฝนโดยปลูกพันธุ์ข้าวข้าวที่สามารถยืดตัวลอยขึ้นตามระดับน้ำได้โดยไม่ตาย  ทั้งในเขตพระนครศรีอยุธยาบางส่วน รวมถึง อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี เคยมีที่นาฟางลอยกว่า 6 ล้านไร่   แต่ปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปีที่เป็นข้าวฟางลดลงเป็นจำนวนมาก   เนื่องมาจากการเปลี่ยนโครงการการจัดการน้ำและที่ดินให้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำท่วม และตลาดไม่เป็นที่นิยมข้าวฟางลอยเพราะเป็นข้าวด้อยคุณภาพ และให้ผลผลิตต่ำ [16]   อีกทั้งการปลูกข้าวฟางลอยในยุคปัจจุบันยังมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำกับกลุ่มชาวนาปรังในพื้นที่เดียวกันที่กำลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น  ระดับน้ำที่ท่วมสูงและไวในปี 2549 และ 2554 มีผลทำให้ ปริมาณผลผลิตข้าวฟางลอยลดต่ำ   รวมทั้งการปลูกข้าวฟางลอยปนกับข้าวนาปรังยังส่งผลกระทบถึงการระบายน้ำเพื่อให้น้ำท่วมนองในทุ่งนาแทนเขตเมืองด้วย[17]     ปัจจุบัน  พระนครศรีอยุธยาจึงมีรูปแบบการผลิตข้าวมีรอบการเพาะปลูกไม่แตกต่างกับทางสุพรรณบุรีมากนัก     จะยังมีอยู่บางพื้นที่เท่านั้นที่น้ำท่วมสูงและโครงสร้างทางชลประทานยังไม่ดีพอจนชาวนาไม่กล้าเสี่ยงลงทุนปรับแปลงนา ดังเช่น ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่   

หากเข้าใจถึงสภาพภูมิศาสตร์และปัญหาการจัดน้ำที่เกิดขึ้นกับชาวนาแล้ว เราอาจะเข้าใจได้ว่า  การเลือกปลูกข้าวอายุสั้นกว่า 110 วัน ของชาวนากับโครงการจำนำข้าวที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้มีความสำคัญและจำเป็นจะต้องปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในระดับพื้นที่ 

ชาวนาอยุธยาส่วนใหญ่ที่เปลี่ยนรูปแบบมาทำนาปรัง    ต้องเร่งการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ให้ทันในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม  แล้วจึงปล่อยให้น้ำท่วมนองนาน 4 เดือน คือ  กันยายน –ธันวาคม หรืออาจจะเลยไปยังต้นเดือนมกราคมในปีที่น้ำมากอยู่เสมอ  หลังวิกฤตน้ำท่วมเฉียบพลัน ปี2549 สร้างทั่วทั้งพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง  ความเฉพาะพื้นการเกษตรของ อ.ผักไห่ เสียหายถึง 206,000 ไร่        ต่อมาที่นารอบเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและเขตอุตสาหกรรมจึงกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่รับน้ำนองในโครงการพระราชดำริ แก้มลิงบางบาล1 [18]  และกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในโครงการรับน้ำนองที่มีขึ้นหลังปีมหาอุกทกภัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2554 [19]  

ประสบการณ์ในภาวะขาดแคลนน้ำทำนาปรังครั้งที่2 ในช่วงฤดูแล้ง  และต้องเป็นที่รับน้ำนองในช่วงฤดูน้ำหลาก ของชาวนาในเขตพระนครศรีอยุธยา มักทำให้เกิดข้อร้องเรียนต่อปัญหาการจัดการน้ำที่ไม่เท่าเทียม  เมื่อเทียบเคียงชาวนาสุพรรณบุรี  ซึ่งมีบางพื้นที่ที่ติดต่อกันกับเขตพระนครศรีอยุธยา[20]  ดังกรณีที่ชาวนาในพระนครศรีอยุธยาไม่สามารถทำนาในฤดูหน้าแล้ง และต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่2 ไปตามแผนการส่งเสริมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน แต่ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมและเกี่ยวข้าวเขียวหนีน้ำในฤดูปลูกนั้น เมื่อปี 2553 นั้นที่มีพื้นที่ขัดแย้งรุนแรงกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 4 ล้านไร่ จนถึงกับมีคำสั่งจากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกกำชับให้ทหารประสานงานกับฝ่ายปกครองในพื้นที่เฝ้าระวังประตูกั้นน้ำที่ พระนครศรีอยุธยา และ สุพรรณบุรี [21]   

ชาวนาไทยหรือที่ไหนในโลกก็คงไม่นึกว่า ตนต้องเจอ ภัย 3 เด้ง ในรอบปีเดียว !?

ต้นปี 2553  ชาวนาในภาคกลางยังต้องเผชิญภัยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2552    และถูกซ้ำเติมด้วยภาวะภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง  จนกระทั่งช่วงปลายสิงหาคม  น้ำไหลบ่าลงมาจากตอนบน ก็ได้เอ่อนองท่วมพื้นผืนนาในเขตนี้ไว้กว่าปกติกว่า 10  ทำให้ข้าวที่กำลังเขียวและต้องถูกกลืนหายไปกับน้ำ   โดยรัฐบาลยุคนายกอภิสิทธิ เวชชาชีวะ  จ่ายค่าชดเชยน้ำท่วมให้ชาวนาเพียง 55 % ของต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย หรือ 2,098 บาท/ไร่ รวม 1.4 หมื่นล้านบาท [22]      

หลังจากเจอ 3 เด้งในรอบปีเดียวไปหมาดๆ   แต่ชาวนาก็ยังความหวังกับข้าวซึ่งเป็นพืชอายุสั้นอยู่บ้างหากไม่โดนภัยธรรมชาติซ้ำเติมอีก    แต่ข้อเท็จจริงก็คือเรามี ปี 2554 เป็นปีมหาอุทกภัย  ซึ่งสร้างปัญหาให้กับผู้คนหลากอาชีพได้อย่างกว้างขวาง  

เฉพาะต้นเดือนกันยายน ปี 2554   ที่  อ.ผักไห่  ซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่าง จ.พระนครศรีอยุธยา – สุพรรณบุรี และ อ่างทอง  มีเหตุประท้วงจากปัญหาการจัดการน้ำท่วมที่ไม่สามารถแก้ไขให้ลงรอยกันได้ ถึง 4 ครั้ง ซึ่ ง 3 ครั้งแรกเกิดที่จุดประตูน้ำลาดชะโด  โดย ชาวบ้าน กับชาวนา ผักไห่     ชาวนาจากสุพรรณบุรีกับชาวบ้านผักไห่ [23]  และชาวบ้านผักไห่ราว 300 คนออกมากดดันให้เปิดประตูน้ำอีกรอบ    ส่วนครั้งสุดท้ายที่ชาวบ้านริมน้ำต้องออกมาประท้วงให้เปิดบานประตูน้ำระบายน้ำลาดชิด  ซึ่งหลังจากวันที่มีการเปิดประตูน้ำนี้แล้ว คาดว่ามีชาวนาผักไห่ต้องเกี่ยวข้าวเขียวกลางน้ำนับ 100,000 ไร่ [24]

สรุปความเสียหายของชาวนาทั่วประเทศในปี 2554  พบมี พื้นที่นาเสียหาย 7 ล้านไร่  ชาวนากว่า 3.5 แสนครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม  รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จ่ายค่าชดเชยไร่ละ 2,222 บาท และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ละ 10 กก. แต่ไม่เกิน 10 ไร่  ส่วนชาวนาที่เร่งเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน  ประมาณ 8.8 ล้านไร่ จำนวนผลผลิต 4.5 ล้านตัน จะได้รับเงินเยียวยาเพิ่มตันละ 1,437 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนเนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรปิดโครงการเมื่อ 15 กันยายน 2554 และโครงการจำนำข้าว ภายใต้เงื่อนไขว่าชาวนาที่ได้รับการเยียวยาดังกล่าวแล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวครั้งที่ 1 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการ 7 ตุลาคม 2554 ได้อีก   (แทรกภาพที่ 005)

โครงการจำนำข้าวที่ประกาศรับซื้อข้าวตันละ 15,000 บาท ที่ความชื้น 14 % ทันทีในเมื่อตุลาคม 2554 จึงเป็นฝันที่เป็นจริงของชาวนาใน เขต ม.9 ต.หนองน้ำใหญ่  อ.ผักไห่   ที่ต้องการปรับโครงสร้างการผลิตที่ส่วนใหญ่ยังทำนาฟางลอยแต่กำลังให้กลายเป็นนาปรังทั้งทุ่ง  เพื่อหลีกหนีจากการเผชิญกับหายนะจากภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก ผลผลิตตกต่ำ  และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดน้ำทั้งกับชาวนาปรังด้วยกันเองและกับการจัดการน้ำภาพรวมของโครงการชลประทาน  โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถทำนาปรังได้ปีละ 2 ครั้ง ขายข้าวตันละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท   ไปพร้อมๆ กับยอมรับภาวะจำยอมเป็นพื้นที่รับน้ำนองให้กับเมืองและอุตสาหกรรมในยามน้ำหลาก

น่าสนใจว่า ชาวนาหนองน้ำใหญ่   และเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมข้าวจะ ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างจากความล้มเหลวในการนาปีข้าวฟางลอย  มาสู่วิถีการทำนาปรัง ที่แม้จะมีความเสี่ยงและลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ให้ผลผลิตได้มากขึ้นด้วย   พวกเขาจะปรับตัวและงัดกลยุทธ์ใดมาใช้ท่ามกลางภาวะที่ยังหวั่นวิตกว่าในฤดูนาปรังหน2 ที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ อาจจะไม่มีน้ำให้ทำนาอย่างที่คาดไว้ ?    (โปรดติดตามตอนหน้า) 

 

 

 


[1] บทความชุดที่สังเคราะห์ขึ้นจาก กรณีศึกษา  "โครงการจำนำข้าว: โอกาสและกลยุทธ์การลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตของชาวนารายย่อยและแรงงานในอุตสาหกรรมข้าว"  กรณีศึกษา  ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา  และ  ต.สระแก้ว  อ.เมือง  จ.สุพรรณบุรี   ระหว่าง มกราคม – พฤษภาคม 2556   โดยการสนับสนุนของ ประชาไท และ  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[2] ขย่มล้มนาปรังแนะโยกงบฟื้นอีสเทิร์นซีบอร์ด โพสต์ทูเดย์  19-03-56  http://bit.ly/ZWrDrV   

[3] ปลดล็อกโครงการรับจำนำข้าว ถอยคนละก้าวหาสมดุลชาวนา-ส่งออก ไทยรัฐ  11-03-56  http://www.thairath.co.th/column/eco/ecoscoop/331480

[4] รัฐถังแตกดัน"โซนนิ่ง"คุมจำนำข้าว ดีเดย์นาปรังปี"57เลิกซื้อทุกเมล็ด   ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  13-03-56  http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1363153049&grpid=09&catid=19&subcatid=1900

[5] โซนนิ่งพืช 6 ชนิด พังงาไม่เหมาะปลูกข้าว  ไทยรัฐ  19-02-56  http://www.thairath.co.th/content/edu/327401

[6] นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำนำข้าว  มติชนรายวันรายวัน 5-11-55  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352088566&grpid=03&catid=03

[7] เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการจำนำข้าว (อีกที) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์  มติชนรายวัน  3-12-55  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354506138&grpid=03&catid=03

[8] จำนำดันเครื่องจักรกลเกษตรโต  ฐานเศรษฐกิจ   11-01-56 http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=163302:2013-01-11-09-22-18&catid=87:2009-02-08-11-23-26&Itemid=423

[9] บิ๊กซีพี ชี้ "จำนำข้าว" จะดีมาก ถ้าเพิ่มอีก 5 เรื่องที่ต้องทำ !!!  มติชนออนไลน์  26-12-56   http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356511798&grpid&catid=05&subcatid=0500

[10] ซีพีทุ่ม 3 พันล้านยกระดับข้าว เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคม AEC  ไทยรัฐ  20-12-55

http://www.thairath.co.th/content/edu/314415

[11] นโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องข้าว , สมพร อิศวิลานนท์

[12] การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย เมื่อประมาณปี 2520  ต่อมาใน ปี  2532 - 2533  , ปี 2540- 2541   และล่าสุดคือ ปี 2552 - ช่วงต้นปี 2553   (ดูตารางประกอบ)  

[13] งานวิจัย "ดำรงชีวิตท่ามกลางความเสี่ยง :  การรับมือและการปรับตัวต่อภัยพิบัติของชาวนารายย่อยภาคกลาง กรณีศึกษาภัยน้ำท่วมและภัยจากเพลี้ยกระโดด"  โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ นิรมล ยุวนบุณย์ และ นันทา กันตรี  ,  เมษายน 2554

[14] ตลาดข้าวปี"51 แนวโน้มสดใส ไทยคาดส่งออก 9 ล้านตัน   ประชาชาติธุรกิจ 12-11-50

[15]  สมพร อิศวลานนท์  , 2555  (อ้างแล้ว , หน้า 16)

[16] ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวขึ้นน้ำภาคกลาง กรณีศึกษา ต.บ้านขล้อ อ.บางประหัน จ.พระนครศรีอยุธยา , สุขสรรค์ กันตรี 2554

[17] ชลิตา บัณฑุวงศ์ นิรมล ยุวนบุณย์ และ นันทา กันตรี  ,  เมษายน 2554 (อ้างแล้ว)

[20] "ชาวนาจวก4ส.ส.พท.1ชทพ.อยุธยาอมอะไรไว้ในปาก ไม่คิดช่วยถูกน้ำท่วม"   มติชนออนไลน์  29-10-53   http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1288331280&catid=no

[21] กลางระส่ำศึกน้ำ ใต้หลอนฝันร้ายหาดใหญ่  โพสต์ทูเดย์ 30-10-53  

[22] ชาวกรุงเก่าเปิดฉากทะเลาะกันเรื่องน้ำท่วม  ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1-09-54 http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110646

[23] ถนนกรุงเก่าขาด ผวาน้ำทะเลหนุน จี้รัฐเร่งช่วยเหลือ น.ส.พ.เดลินิวส์ 3-09-54 (หน้า 1, 15)

[24] ชลประทานผักไห่เสริมกระสอบทรายป้องกันน้ำเซาะประตูระบายน้ำพัง   มูลนิธิเตือนภัยพิบัติ 3-09-54

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับคนพา 'สมยศ' ไปงานหนังสือ ทวงหาเสรีภาพการอ่าน-เขียน

Posted: 31 Mar 2013 09:19 AM PDT

สร้างความปั่นป่วนไปไม่น้อย กับ "ทีมไร้หน้า" การรวมกันของคนหนุ่มสาวจากหลากหลายที่มาราว 10 คน มาใส่หน้ากากรูป "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" พร้อมถือป้าย "เสรีภาพในการอ่าน" "เสรีภาพในการเขียน" ทั่วงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
 
โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้เคยเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อประชาธิปไตย ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ในฐานะบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ซึ่งศาลพิจารณาว่ามีบทความ 2 บทความที่ละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา
 
การ "ป่วนทางวัฒนธรรม" ครั้งนี้ ได้ผลอย่างไร ผู้คนรู้จัก "สมยศ" มากขึ้นหรือไม่ ไปคุยกับตัวแทนของ "ทีมไร้หน้า" ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม และกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
 
 
0000
 
ประชาไท: จุดประสงค์จัดกิจกรรมนี้เพื่ออะไร?
 
โดยพื้นเพเราเป็นกลุ่มนักอ่านที่ไปงานหนังสือเป็นประจำทุกปี และในปีนี้มีการจัดกิจกรรมวาระกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก 2556 เราจึงอยากส่งสารถึงผู้ร่วมงานที่เป็นเพื่อนนักอ่านด้วยกัน ว่าสถานการณ์การอ่านบ้านเรายังถูกจำกัดเสรีภาพ เราอยากส่งสารเรื่องเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ พูด โพสต์ เผยแพร่ จำหน่ายจ่ายแจก
 
อีกอย่างเราอยากส่งสารถึงสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ ให้ตระหนักถึงบทบาทของตนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสืออย่างคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการ Voice of Taksin และ Red Power ที่ถูกตัดสินจำคุกด้วยข้อหาที่ตนไม่ได้กระทำ เราอยากให้สมาคมฯ แสดงบทบาทปกป้องเสรีภาพของบรรณาธิการ รวมถึงคุ้มครองเสรีภาพในการเผยแพร่สารคดีข่าวและเอกสารวิกิลีกส์ของคุณเอกชัย หงส์กังวานด้วย
 
ประชาไท: อยากจะสื่อสารอะไรกับคนที่มาร่วมงาน?
 
การที่เราสวมหน้ากากและเสื้อลายขวางระหว่างปฏิบัติการ เพราะมันเป็นสารเดียวที่ต้องการสะกิดให้คนเดินงานหนังสือได้ฉุกคิดว่าสมยศคือใคร ทำไมต้องมางานหนังสือ ทำไมต้องเรียกร้อง Freedom to Read ทำไมต้องเรียกคืนเสรีภาพในการอ่าน เขียน พิมพ์ พูด เผยแพร่ เพราะมันเป็นเสรีภาพพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
 
ภายใต้หน้ากากสมยศ เราทำกิจกรรมด้วยความสงบ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนใคร เราส่งสารอย่างเป็นมิตร เดินแถวตอนเรียงหนึ่งอย่างสุภาพ ท่ามกลางความวุ่นวายเบียดเสียด เราเดินช้าๆ และมั่นคง ไปตามจุดแลนด์มาร์ก เช่น สนพ.ใหญ่ๆ หน้าเวที บันไดจุดนั่งพัก ฯลฯ เราเชื่อว่าคนที่ได้เห็นย่อมรับสารที่เราต้องการสื่อออกไปไม่มากก็น้อย
 
 
ประชาไท: มีใครเป็นแกนนำหรือเปล่า
 
เรื่องผู้นำหรือใครเป็นแกนนำนี่ เอาเข้าจริงเป็นเรื่องตอบยากเหมือนกันนะ คือปฏิบัติการแบบนี้ มันถูกออกแบบมาให้ง่าย จัดการตนเองได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีใครคอยออกคำสั่งใคร แต่จะเป็นการตกลงกันคร่าวๆ ให้เห็นภาพรวมด้วยกันทุกคน เห็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน จากนั้นแต่ละคนก็จะสามารถออกแบบตัวเองได้ ระหว่างปฎิบัติการก็คุยกันบ้างนิดๆ หน่อยๆ
 
ประชาไท: ปฏิกิริยาคนอื่นๆ เป็นไงบ้าง?
 
ปรกติงานหนังสือจะมีมาสคอตหรือคอสเพลย์เดินโปรโมตหนังสือเรียกร้องความสนใจอยู่แล้ว แต่เราคนเสื้อลายขวางกับหน้ากากสมยศที่เดินอย่างนิ่งสงบ มันจึงกระตุกความสนใจของผู้คนได้มาก เด็กๆ ถามพ่อแม่ว่าทำไมเขาต้องใส่หน้ากาก บางคนซุบซิบกันนั่นสมยศๆ บางคนตกใจบางคนฉงนสนเท่ห์ เราไม่ได้แจกอะไร เราเพียงเดิน หยุด นั่ง เช่นเดียวกับคนที่มางานหนังสือทั่วไป แต่มันทำให้คนสนใจอย่างที่เราคาดไม่ถึง
 
เราเดินมาได้รอบโซน C เข้าโซนเพลนนารี่ฮอล กำลังจะไปโซน Plaza แต่โดนเจ้าหน้าที่สกัดเสียก่อน ตอนนั้นเขาถามว่ามาจากสำนักพิมพ์ไหน เราเงียบ เขาถามว่าใครผู้นำกลุ่ม เราไม่ตอบโต้ ทุกคนพร้อมใจบอกว่ามากันเอง ไม่มีผู้นำ เขาไม่ให้เดินต่อ เราก็นั่ง พอเรานั่ง คนยิ่งมารุมล้อมถ่ายรูป ให้ความสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น พอเจ้าหน้าที่กำลังปรึกษากันว่าจะทำยังไงกับพวกเรา เราก็พร้อมใจกันสลายตัว ถอดหน้ากากถอดเสื้อกลมกลืนไปกับฝูงชนคนละทิศละทาง
 
 
ประชาไท: ส่วนใหญ่คนงงไหม รู้จักมั้ยว่าสมยศคือใคร
 
เป็นธรรมดาว่าคนต้องงง สมยศเป็นที่รู้จักน้อยมากอยู่แล้วในสังคมไทย ปฏิบัติการของเราคือทำให้เขาเกิดคำถาม มองเห็น และอยากรู้ว่าสมยศคือใคร ทำไมต้องสมยศ
 
ตอนเตรียมงานหน้ากากอยู่ที่จุดนัดพบ น้องกลุ่มหนึ่งนั่งข้างๆ หันมาถาม พวกพี่สมยศใช่ไหมครับ อย่างน้อยมีคนรู้จักนะเราว่า ส่วนเจ้าหน้าที่เดินตามคนถ่ายรูป ถามว่าคนนี้ใช่ที่ออกข่าวรึเปล่า เราว่าย่อมมีคนเคยเห็นหน้าสมยศและรู้เลาๆ มาบ้างละน่า
 
ประชาไท: คิดว่าท้ายที่สุดกิจกรรมแบบนี้จะนำไปสู่อะไร สามารถส่งผลกระทบได้แค่ไหน
 
กิจกรรมนี้คาดหวังสูงสุดให้สมยศถูกบรรจุเป็นประเด็นเล็กๆ ในวงการหนังสือ แม้มันจะไปไม่ถึงแต่อย่างน้อยงานหนังสือครั้งต่อๆ ไปยังมี ตราบใดที่คนพิมพ์ คนเผยแพร่ คนเขียน คนอ่าน ยังถูกจำกัดเสรีภาพภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราเชื่อว่าการรณรงค์นี้ก็ยังต้องทำต่อไป นอกจากนี้เรายังคิดว่ามันน่าจะส่งผลให้คนเข้าร่วมตระหนักว่า คุณก็ทำได้ ง่ายๆ แต่มีพลัง
 
สุดท้ายกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยได้เติบโต สร้างสรรค์กิจกรรมของตัวเอง ตระหนักว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ลุกขึ้นนำการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องรอแกนนำ
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณภาพจาก "น้องต้น มาแล้วจ้า"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์นิติม่อน (1) : “ม่อนเป็นม่อน ไม่เหมือนใคร มีอะไรมั้ย”

Posted: 31 Mar 2013 08:53 AM PDT



ในเพจเฟซบุค "นิติม่อน"ที่มียอดคนกดไลค์วันนี้อยู่แค่พันเศษ คงไม่เพียงพอจะทำให้รู้จักนิติม่อนได้  บางคนอาจส่ายหัวว่านิติม่อนมันเป็นใครทำไมจะต้องไปรู้จักด้วย 

แต่ย้อนกลับไปเดือนเศษๆ ที่มีปรากฏการณ์ป่วนวัฒนธรรม (culture jamming) ครั้งใหญ่ด้วยการใส่หน้ากากรูปใบหน้าสมยศ  พฤกษาเกษมสุข  ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา  ในสถานที่ต่างๆ โดยเริ่มก่อหวอดด้วยการ "บูมบัณฑิตใหม่" ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ส่งผ่านสู่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์  ถ้าบอกว่านิติม่อนมีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลังการป่วนเช่นนั้น  และเคยผลิตผลงานทั้งที่ได้เรื่องและไม่ได้เรื่องอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายชิ้น  จะอยากรู้จักตัวตนของนิติม่อนกันหรือยัง

ในบรรยากาศที่งานรณรงค์เคลื่อนไหวประเด็นสังคมการเมืองกระจุกศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  นักศึกษาศิลปะสื่อ 4-5 คนที่มีฐานกำลังหลักอยู่ในเชียงใหม่รวมตัวกันเพื่อจะสร้างกิจกรรมที่แหวกขนบเดิมๆ เราได้พูดคุยกับสมาชิกหลัก 4 คนที่ยืนยันว่าการเปิดเผยใบหน้าชื่อเสียงเป็นสิ่งไม่จำเป็น  ไม่ใช่ด้วยกลัวจะถูกคุกคาม  แต่เพราะว่างานของพวกเขาคืองานกลุ่มที่มุ่งเป้าที่ผลักประเด็นปัญหาสังคมมากกว่า  ไม่ได้หวังเครดิตสำหรับสมาชิก 

การสนทนานี้กินเวลากว่าสามชั่วโมง  ผู้สัมภาษณ์ได้เอาวงเล็บ "(หัวเราะ)" ออกทั้งหมด  เนื่องจากหากต้องกำกับเสียงหัวเราะไว้อาจจะต้องเพิ่มความยาวให้กับบทสัมภาษณ์นี้โดยไม่จำเป็น

 

-งานป่วนหน้ากากสมยศที่เหมือนว่าติดเชื้อไปไกลนี่  นิติม่อนมองยังไง

 งานหน้ากากสมยศตั้งใจจะให้เป็น viral (แพร่กระจายเหมือนติดเชื้อไวรัส) แต่ไม่สำเร็จ  ไม่ใช่ทุกโปรเจคท์ที่เราอยากให้เป็นไวรัล  อันนี้เป็นโปรเจคท์ที่ต้องการ awareness (ความตื่นตัว) จริงๆ  แต่ไม่ใช่แค่ให้จดจำได้  ต้องให้ทุกคนเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมสมยศถึงมาอยู่ในพื้นที่นั้นนี้  เหมือนที่อ.นิธิเขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์อย่างกับอ่านทะลุลงไปถึงงานได้ว่า  การที่สมยศปรากฏในงานรับปริญญามันหมายถึงอะไร  ซึ่งจริงๆ ถ้ามีคนไปทำต่อ  เช่นไปใส่หน้าศาล  หรือในพื้นที่ที่สมยศไม่น่าไปได้  แค่ไปยืนเฉยๆ ก็สร้างความขัดแย้งแล้ว  ทำให้พื้นที่ที่อยู่ในระเบียบสังคมปกติมันถูกเบนความหมายอยู่แล้ว  เลยต้องการทำให้เป็นไวรัล 

ลองเทียบระหว่างหน้ากากกายฟอล์คกับแพลงกิ้ง  แพลงกิ้งใครๆ ก็ทำได้  ทำที่ไหนก็ได้ขอให้แปลก  จริงๆ เราอยากให้สมยศไปในทิศทาง อย่างนั้น  สมยศไปอยู่ตรงนั้นได้ไงวะ  แต่กลายเป็นว่าคนเห็นหน้ากากแล้วกลับไปคิดถึงหน้ากากกายฟอล์ค  ความเป็นหน้ากากมันกลับไปชนกับวัฒนธรรมหน้ากาก V for Vendetta  ซึ่งถูกเอาไปใช้โดยหมอตุลย์  ใช้ไปเรื่อยเหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ปลดปล่อยจากเผด็จการ ... นายทุนวอลลสตรีทเผด็จการ นายทุนรัฐสภาก็เผด็จการ  เล่นกันจนไม่มีความหมายไปเรียบร้อยแล้วในสังคมไทย  แพลงกิ้งกำกับด้วยความสนุก  แต่หน้ากากสมยศมันไม่ใช่อะไรก็ได้  เวลาเราเห็นหน้ากากสมยศถูกใช้เพียงแค่ดึงดูดความสนใจ  หรือกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้และเสรีภาพ  เราก็รู้สึกว่ามันกำลังเริ่มทำลายความหมายของตัวคุณสมยศเอง  มันกระทบทั้งในแง่การรณรงค์ และในแง่สิทธิของตัวเจ้าของใบหน้าในฐานะที่เป็นคนที่มีชีวิตจริงๆ ด้วย  พอเป็นหน้ากากสมยศแล้วเราคุมความหมายมันไม่ได้  มันกระจาย

 คือเล่นให้มันให้สนุกต้องเข้าใจเกมก่อน  แต่เหมือนเขาสร้างเกมขึ้นมาใหม่เลย  เหมือนความหมายมันไปสู่เรื่องอื่นๆ  เอ็นจีโอ  แอ๊คทิวิสต์ไทยชอบเอาหลายๆ ประเด็นตบรวบเข้ามาเป็นเรื่องเดียว เช่น พอพูดถึงสมยศปุ๊บต้องพูดเรื่อง freedom (เสรีภาพ) จน  simplify (ลดทอนให้ง่าย) ให้กลายเป็นเรื่อง universal  (สากล) ไปหมด  ทุกเรื่องขอให้เป็นเรื่องเสรีภาพเราจะเอาหน้ากากสมยศไปใส่หมด จริงๆ แล้ว  โจทย์หน้ากากสมยศมาจากการที่เขาไปขัดแย้งกับระเบียบสังคม  เหมือนแพลงกิ้งที่เข้าไปขัดแย้งกับระเบียบของพื้นที่ต่างๆ  แต่พอถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพแล้วมันกว้างเกินไป ผลที่ได้คือสมยศจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ  แล้วสมยศได้อะไรล่ะ  ก็ยังถูกขังเหมือนเดิม  โจทย์หลักตอนนี้คือ  เราต้องทำให้ทุกคนที่ถูกขังอยู่ในคุกออกมาไม่ใช่หรือ  ไม่ใช่แค่ให้คนสำเหนียกถึงเสรีภาพอย่างเดียว

ส่วนแผ่นพับหน้ากากจังหวะมันเสีย  ถ้าเป็นหนึ่งหรือสองวันที่สมยศเพิ่งโดนตัดสินที่ข่าวยังรันอยู่เราว่าผลจะอีกแบบ  แต่อันนี้สะดุดไป  แต่ถ้ามีเรื่องสมยศอีกทีก็ยังกลับไปใช้ได้อีก  ตอนทำคู่มือก็กังวลอีกขั้นหนึ่งว่าจะทำให้คนไม่กล้าเล่น  เหมือนกับเราแสดงความเป็นเจ้าของ  วางกรอบตายตัวเกินไป  จนอาจเกิดความรู้สึกว่า  เฮ้ย ต้องขอเขาก่อนไหม  โปรเจคท์หน้ากากเราไม่ได้เอาหน้ากากไปใส่หน้าเขา  แต่เขาจะต้องเป็นฝ่ายเลือกเอง  ไวรัลเราต้องทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นของที่เขาเล่นได้

ตอนแรกเราอยากได้แฮนด์บิลแบบวิธีการกู้ภัยที่อยู่บนเครื่องบิน  ให้คนทั่วไปเห็นแล้วตื่นตัวตื่นเต้น  อยากให้ทุกคนใช้เป็นคู่มือประกอบการใช้ชีวิตบนความเสี่ยง  ความมากขึ้นกว่าปกติด้านใดด้านหนึ่งของตัวสื่อมันช่วยให้เตะตามากกว่าสื่อที่แค่พยายามวางสารให้เป็นรูปเป็นร่างเฉยๆ  เหมือนอย่างตอนหน้ากากสมยศที่ถ่ายเป็นแฟชั่น  ทำให้กลายเป็นไอแพด  แล้วถ่ายให้ลุคออกมาเหมือน Cheeze Magazine หรืออะไรอย่างเงี้ย  มันเนียนกว่า  มันแทรกซึมไปได้กับคนทั่วไป  ให้มันดูแบบว่าออกห่างจากเซนส์ของความเป็นแอ๊คทิวิสต์ปกติทั่วไปที่ต้องจริงจัง  แบบสีแดงสีดำเยอะๆ  มีเชือก  มีโซ่  มีเลือด


 " Jailbreak SOM-YOT 1.1.2" 

คัลเจอร์ของไอโฟนไอแพดเป็นชีวิตป๊อปๆ  โจทย์คือ Somyot Is Everywhere  ที่ปกติเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีรูปสมยศไปอยู่  ไม่ต้องไปง้างก็ได้  แค่ไปป่วนก็พอ  แค่ไปถ่ายเขาก็ถามแล้วว่า  นี่ใครอ่ะ  อ่อ ญาติฮะ  เพื่อนมนุษย์ทุกคนเป็นญาติกันฮะ  เราพยายามจะมีท่าทีเป็นมิตรอยู่แล้ว  มากมาก  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนเริ่มต้นอย่างไร  อะไรเป็นแรงบันดาลใจ  รวมกลุ่มได้อย่างไร

ตอนแรกเป็นกลุ่มกินเหล้าฮะ  เริ่มต้นจากวันที่อากงโดนจับเข้าคุกก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง  ตอนนั้นกระแสน้ำท่วมมันแรงจนกลบข่าวอื่นหมด  แต่พอมีคนทำสื่อคลิปวิดีโอ ชุด "รู้สู้ฟลัด"  (https://www.youtube.com/watch?v=b8zAAEDGQPM) เราเบื่อการประชาสัมพันธ์แบบเอ็นจีโอหัวโบราณอยู่แล้ว  เลยรู้สึกอยากทำสื่อแบบนี้บ้าง  ให้เข้าถึงคนได้เยอะๆ  ตอนแรกก็นึกว่ารวมกันแล้วจะทำอะไรแบบป๊อปๆ ได้  แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้วแม่งโคตรไม่ป๊อปเลย  ถ้าในแง่ป๊อปคัลเจอร์นี่พวกเราป๊อปนะ  หมายถึงโดยรสนิยมโดยอะไรอย่างนี้  แต่ในแง่การทำงานเราไม่ป๊อปเลยสักอย่าง  มันไม่ productive (มีผลผลิต) แบบป๊อป  เป็นอินดี้ของอินดี้อีกที  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนเป็นตัวอะไรกันแน่

ชื่อนี้อยู่ดีๆ ก็โพล่งขึ้นมา  ช่วงแรกๆ ไม่ได้มีคอนเสปท์กันมาก่อน  สมมติเกิดเป็นคนก็อยากให้เป็นคนที่กวนตีนนิดๆ แต่พูดจาสุภาพ  เวลามีใครมาถามว่าตกลงนิติม่อนเป็นกลุ่มหรือเป็นอะไร  ก็หลวมๆ  มีคนอยู่ประมาณสี่ห้าคน  ในแต่ละงานก็จะมีกำลังเสริมอยู่  outsource (ใช้คนนอก) ไง  นิติม่อนเลยเหมือนเป็น topic (หัวข้อ) มากกว่า  คือเป็นหัวข้อที่พวกเราต้องการชนประเด็นนี้ๆ  แล้วพวกเราเองก็ทำกันหลายโปรเจคท์ไง  เวลาจะคุยก็เริ่มต้นแบบว่า...เอ่อ..โปรเจคท์ม่อนละกัน  บางโปรเจคท์ก็มีคนถอนตัวบ้าง  แต่ไม่รู้สึกว่าหดเลย  คิดว่าเท่าเดิม  คือต่อให้มันถอนตัวเราก็จะให้มันทำอยู่ดี..  ม่อนม่อนๆ

จริงๆ ท่าทีแบบนิติม่อนก็ใหม่กับพวกเราทุกคนเหมือนกัน  คือเราพยายามจะเรียนรู้  เหมือนสร้าง identity (อัตลักษณ์) ใหม่  คล้ายๆ จะเป็น parody  (ภาพล้อ) เล่นกับสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคม  เราไม่ได้คิดว่าจะทำรูปแบบอะไรที่มันชัดๆ แต่คิดให้เคลียร์ก่อนว่าเรื่องนี้ปัญหาจริงๆ อยู่ไหนกันแน่  ถ้าแทงจุดนี้จะแทงยังไงดี  ผลที่สุดคือเราพยายามทำให้ใกล้ชิดสังคมทั่วไปที่ไม่ใช่แค่กลุ่มนักเคลื่อนไหวปกติทั้งหลาย  เพราะนักเคลื่อนไหวเขารู้อยู่แล้วว่าเขาทำอะไรกันอยู่  แต่ว่าทำยังไงให้คนนอกเหนือจากนั้นได้รู้สึก  ได้เห็น  ต้องกับรสนิยมของเขา  เราก็เลยหยิบเอาของที่ใกล้ชิดชีวิตของเขา  แล้วก็ใส่คอนเทนท์ใหม่ๆ ที่เราต้องการสื่อสารเข้าไป  บางทีเลยออกไปในทิศทางที่ค่อนข้างล้อเลียนเสียดสี  เป็นการฉุดให้คิด  ทิศทางก็คล้ายๆ กับเพจที่ชอบล้อเลียนนู่นนี่นั่นทั้งหลาย  แต่เราทำให้เนื้อหามันจริงจังมากขึ้น

อยากให้รู้สึกว่า "อุ้ย น่ารักจังเลย ขอแชร์นะคะ" พอแชร์ไป อ้าว เหี้ยพวกนี้มัน... เสื้อแดงนี่  .. กูไม่ได้เป็นเสื้อแดงนะฮะ  ม่อนม่อนๆ


- นิติม่อนเป็นคาแรกเตอร์ที่ดึงเอานิติราษฎร์มารวมร่างกับโดเรม่อนหรือเปล่า

เปล่าเลย  เป็นเรื่องของเสียงพูดน่ะ  ช่วงนั้นมันเริ่มมีนิติราษฎร์  บางคนยังว่าเป็นดิจิม่อนเลย  อยู่ดีๆ เราก็พูดขึ้นมาว่า "นิติม่อนว่ะ" แล้วก็แถไปเรื่อย  เอาโดเรม่อนมาใช้ในงานหน้ากากสมยศก็เหมือนกับแถหน้างานน่ะ

โจทย์ของนิติม่อนคือทำให้คนที่ไม่สนใจหันมาสนใจ  หันมาเข้าใจ  คือค่อยๆ ทำอ่ะ  คืออย่างที่เคยทำ (พูดถึงประสบการณ์ของสมาชิกคนหนึ่งที่เคยมีผลงาน "ปิดปากในโรงอาหารมหาวิทยาลัย" ช่วงพรก.ฉุกเฉินจนสื่อระดับ CNN เอาไปเผยแพร่ต่อ http://www.prachatai.com/english/node/1903) ไม่ใช่ว่าไม่มีคนสนใจ  จากปรากฏการณ์ที่อยู่ในบรรยากาศที่คนมันไม่กล้าพูด  แต่หลังจากนั้นถึงตอนนี้มันถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติไปหมด  แม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ปกติก็สามารถทำให้ปกติ  เพราะทุกคนมันเหนื่อย  คนมันอยากจะอยู่อย่างปกติอยู่แล้ว  สิ่งที่เราต้องคิดมากคือ  เราไม่อยากไปรบกวนชีวิตความสุขสบายของท่านขนาดนั้น  แต่เราก็อยากจะกระตุ้นว่า  เมสเสจเหล่านี้มันยังมีตัวตนอยู่

อย่างน้อยเราตั้งเป้าให้คนขัดแย้งกับนิติราษฎร์น้อยลง  โจทย์แรกสุดที่โยนใส่เข้ามาคือ  ทำนิติราษฎร์ให้คนทั่วไปเข้าใจได้  ทำให้สิ่งที่นิติราษฎร์พูดเป็นสิ่งที่สังคมไม่รู้สึกว่าต้องป้ายสีแดงแล้วรังเกียจก่อน  ทำให้เป็นเรื่องของคนทั่วไป  เสรีภาพทางการแสดงออกเป็นเรื่องของทุกคน  ไม่ใช่แค่เรื่องของอากง  ม่อนม่อนๆ


-อะไรที่นิติม่อนถนัด

 เราไม่สามารถยืนยันว่าเราเป็น expert (ผู้เชี่ยวชาญ) จริงๆ ในด้านไหน  ทำ media (สื่อ) เราก็งูๆ ปลาๆ  แต่ละคนก็มีพื้นฐานทางด้านศิลปะกับสื่อพอสมควร  สื่อหลักที่เราเล่นก็คือ ออนไลน์ กับวิดีโอ  มีกราฟฟิคบ้าง  บางทีก็มีนักเขียนการ์ตูนอยู่ด้วย  เหมือนกับเรา improvise  (ด้นสด) มากๆ  แล้วเราก็เอาจากอิมโพรไวซ์มาวิเคราะห์กันดู  เหมือนเราเล่นเพลงมามั่วๆ แล้วก็ไปดูว่าตรงไหนเพราะ  ก็แกะตรงนั้นมา  เออตรงนี้มันเข้าท่า  ชอบอันนี้ฮะ  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนทำงานอย่างไร  คิดอย่างไรกับการทำงานเป็นทีม

ที่ผ่านมาเคยทดลองมาเค้นกันว่าจะทำอะไรด้วยกัน  แล้วมันไม่ออกจริงๆ  เหมือนอย่างตอนอากงที่เราเริ่มต้นทำอนิเมชั่น  พยายามเขียนบท  หาทีมงาน  ประชุมแบบเป็นวาระ  คุยแตกประเด็น ฯลฯ  แต่ครั้งนั้นคือโปรเจคท์ที่ล้มเหลวที่สุด  ทำทีเซอร์เรื่องอากงออกมาแล้ว 1 ชิ้นโดยใช้รู้สู้ฟลัดเป็นโมเดล  แต่พอเริ่มเขียนบทก็พบว่า 112 มันซับซ้อนจนเราไม่สามารถทำให้ง่ายได้  เอาให้ครบประเด็นก็ยาก  แล้วเวลาทำก็ไม่พอ  ทุกคนมีงานอย่างอื่นด้วย  สุดท้ายจังหวะก็เสียไป  เราควานหาคนเยอะ  บางทีได้แต่คอนเนคชั่น  ไม่ได้งาน  ช่วงมนุษย์ล่องหนเราก็ต้องไปร่วมงานกับคนที่ไม่คุ้นเคยอีกเยอะเลย 


  "ตามรอยมนุษย์ล่องหน"

อย่างที่ว่าจริงๆ แล้วนิติม่อนเป็น topic ชนกับเรื่อง 112 ที่ไม่ได้อยู่แค่แง่กฎหมาย  มันอยู่ในหลายมิติของชีวิตเรา  ทั้งวัฒนธรรม  ชีวิตประจำวัน  ใครคิดอะไรได้ก่อนก็ชวน  เฮ้ย  จะเล่นยังไงดี  จะเอาไงกับมันดี  ด้วยวิธีอะไรดี  คิดอะไรได้ก็เริ่มเลย  ไม่ได้ชวนกันเป็นรูปธรรมนัก  เอางานเป็นที่ตั้งแล้วเอาคนใส่เข้าไปในแต่ละด้านให้งานสำเร็จขึ้นมาเป็นชิ้น  บางโปรเจคท์ไม่ได้คิดด้วยกัน  มีคนสตาร์ทเป็นเชื้อมาก่อน  แล้วค่อยๆ ขยาย  ช่วยกันปรับท่าทีแล้วขยายผลให้มันไปได้มากขึ้น กว้างขึ้น ไกลขึ้น เท่าที่ทำได้  อย่างตอนหน้ากากสมยศก็ถูก กลุ่มห้องเรียนประชาธิปไตย @Book Re:Public  (ปัจจุบันเป็นกลุ่ม "วันใหม่") เรียกไปเป็นมือเป็นตีนให้เขา  แต่พอไปปุ๊บแล้วแบบ..  เฮ้ย  เล่นงี้ดิ่  เฮ้ย  ทำงั้นดิ่  เฮ้ยมันว่ะ  เอาอันนี้ดิ่ฮะ ฮาฮา  ไปขโมยเขานี่หว่า  แทนที่จะเป็นมือเป็นตีน  กลายเป็นขโมยเครดิตอีกตะหาก  นี่คือวิธีทำงานแบบนิติม่อน  ม่อนม่อนๆ

แล้วพอรวมกันแบบหลวมๆ  หน้าที่มันก็ปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ น่ะ  เพราะคนมันน้อยก็ต้องอย่างนี้แหละ  โยนๆ กัน .. เอ้ย ช่วยๆ กัน

สมาชิกบางคนอาจจะเคยทำงานโปรเจคท์เป็นทีมมาเยอะ  แต่คนอื่นไม่ค่อยไง  ระดับประสบการณ์เราว่ามันวัดจากจำนวนครั้งที่ทำไม่ได้  ที่สุดแล้วมันอยู่ที่ว่าแต่ละครั้งเราทุ่มเทตัวเองลงไปในงานขนาดไหน  บางคนมาทำงานเดียวแต่ก็เรียนรู้ทุกอย่างได้หมด  แต่ละคนอาจจะไม่เท่ากันในปริมาณงาน  แต่ว่าความสร้างสรรค์ก็มีพอๆ กันหมดนั่นแหละ  แต่ไม่ใช่แบบคิดปุ๊บ ทำปั๊บ วางตู้ม  สังคมรับรู้เลยทันทีไง  มันต้องมาถกกันอยู่ดี  แต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน  มีความเข้าใจ  มีความเห็นที่น่าจะช่วยให้งานพวกเราดีขึ้นได้  ม่อนม่อนๆ


-การทำงานแต่ละครั้งทำให้ตกตะกอนด้วยวิธีอะไร

คุยกันในกรุปเฟซบุค  ส่วนมากเห็นจะด้วยกันอยู่แล้วในเรื่องคอนเทนท์  ถ้าเป็นเอกฉันท์  ทุกคนก็รันไปเลย  แต่ถ้าเกิดขัดกันจริงๆ ก็ใช้การโหวต  เป็นการโหวตว่าจะเอาแบบไหน  ไม่ใช่โหวตว่าจะทำหรือไม่ทำ  อาจมีล็อบบี้ในการโหวตอะไรอย่างนี้  บางทีเรื่องวิธีการ  เรื่องท่าทีที่จะพูด  รูปแบบต้องตอบคอนเทนท์นั้นได้  ถ้าเราไม่สามารถอธิบายได้ว่ารูปแบบที่แต่ละคนทำออกมามันตอบสนองคอนเทนท์ยังไงก็แปลว่างานชิ้นนั้นยังไม่เวิร์ค  ต้องมาช่วยกันดูว่าจะปรับยังไง  การออกแบบงานกิจกรรมมันมีคอนเสปท์อยู่ในตัวที่จะต้องส่งสารให้ถึงผู้รับ  แล้วพวกเรานี่แหละที่ทำตัวเป็นคนดูก่อนเสมอ  ถ้าเราเป็นคนดูแล้วรู้เรื่อง  เอ้อ  โอเค  เอ้อเฮ้ย อันนี้เวิร์คว่ะ มันว่ะ  ม่อนม่อนๆ


-วิธีการคุยเป็นแบบดีเบตหรือเปล่า

เราดีเบตกันเป็นปกติมาก  เจอกันเกือบทุกวัน  ก็เพราะงี้แหละ  เราถึงมีไอเดียฟาร์มเต็มไปหมด  ถ้าพูดว่าเป็นส่วนหนึ่งในลมหายใจจะเว่อร์ไปมั้ย  คือการทำงานแบบนี้มันต้องเป็นเพื่อนกัน  ทั้งการสนทนาจริงๆ และทั้งในออนไลน์  คือเรามีกรุปแชร์กันอยู่  จะทำอันนี้  เอากันป่ะ  แล้วก็ไม่ค่อยมาตอบ  กดไลค์กัน ฮาฮา ม่อนม่อนๆ

 

- ต้องคุยให้ขาดหรือเปล่า  อย่างแปดข้อสมศักดิ์  หรือว่าแนวครก.112  จุดยืนต้องเด็ดขาดไหม

ไม่นะ  แต่พวกเราเจอกันแล้วคุยกันตลอดเวลา  อัพเดทสถานการณ์กันอยู่เสมอ  แต่ถ้าให้ชนกับคนไม่เคยคิดเลย  ในเมื่อโปรเจคท์ปะทะเรื่อง 112 เราต้องปรับจากฐานสำนึกของเราเองก่อนว่าจะอยู่กับคนที่แตกต่างจากเรายังไง  ทำให้เราเริ่มประสานงาน  อดทนอดกลั้นกับคนที่คิดต่างจากเรา  เลยทำให้คนเหล่านั้นเริ่มจับมือแล้วก็ช่วยๆ กันทำ  สิ่งที่เราสะสมจากการที่เราได้คิดคุยกันตลอดเวลาทำให้เราเลือกใช้ได้ทันที  ลุยได้เลย  แต่จะลุยด้วยวิธีอะไรมันอีกเรื่องนึงเพราะบางทีก็คิดไม่ออก  ม่อนม่อนๆ


-แนวนิติม่อนเหมือนหรือต่างจากคนอื่นยังไง

เท่าที่เห็นในประเทศไทย  แอคทิวิสต์ทำงานกันไม่ค่อยสนุก  สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดจากกลุ่มอื่นที่เคลื่อนไหวเรื่องพวกนี้คือ  ไม่ค่อยหลากหลายทางรูปแบบ  เน้นสร้างการสะเทือนอารมณ์และ awareness (ความตื่นตัว) เป็นหลัก  แต่เราคิดว่าแค่นั้นมันไม่พอ  เราต้องการให้คนเข้าใจมากกว่านั้น  awareness มันสร้างแค่การจดจำ  แต่นิติม่อนต้องการสร้างให้คนเห็นความจริงว่า  มันต้องช่วยกันบอกต่อนะ  ช่วยกันทำต่อนะ  มาเลยดีกว่า  เรื่องแบบนี้คุณก็ทำได้  เราก็ทำได้  เน้นว่าไม่ใช่ทำเพื่อประกาศ  แต่ทำเพื่อให้คนอื่นเข้ามาจอยได้ด้วย  ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่ค่อยสำเร็จก็เหอะ  แต่ก็ค่อยๆ ทำไป  จากโปรเจคท์แรกมาถึงโปรเจคท์ปัจจุบันมันก็ค่อยๆ ถูกกระจายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ  แรกๆ ก็เงียบเหมือนกัน  เงียบจนแสบแก้วหูเลย


คลิปวิดีโอ "เงียบจนแสบแก้วหู"

 มีงานของกลุ่มแสงสำนึกที่น่าสนใจอย่างโปรเจคท์ "แขวนเสรีภาพ" เราชอบมาก  แต่นอกจากนั้นแล้วยังค่อยไม่เห็นอะไร  อย่างการเขียนอ่านกวีเฉยๆ นี่มันก็จำกัดกลุ่ม  ตอบสนองเฉพาะคนบางกลุ่ม


กิจกรรมแขวนเสรีภาพของกลุ่มแสงสำนึก

นอกจากงานแอ๊คชั่นก็คือเป็นแล็บทดลองหาวิธีการใหม่ๆ  ทดลองตลอด  ทดลองแม้แต่การทำงานของทีมเราเอง  ถ้ามีคนอื่นเอาไปทำแล้วเวิร์คกว่าก็เอาไปเลย  ก็ไม่ได้ห้าม  อย่างน้อยในประเทศไทยก็ยังไม่มีแอ๊คชั่นแล็บ  ยังไม่มีใครเขียนรีพอร์ทอย่างจริงจัง  ถ้ามีเยอะกว่านี้อาจจะต้องเริ่มเขียนรีพอร์ทแล้ว  เราเก็บหมดทุกครั้งที่มีข่าวลงสื่อ


-นิติม่อนประเมินผลอย่างไร  อย่างงานป่วนวัฒนธรรม (culture jamming) นี่วัดผลยังไง

นี่แหละฮะปัญหา  คุยกันในแต่ละวันว่า เฮ้ย เวิร์คหรือไม่เวิร์คฮะ ทำไรใหม่ดีไหม หรือว่าจะขยายของเก่ายังไง  อาจวัดง่ายๆ จากฟีดแบคว่า คนโดนแจมรู้ตัวเป็นสัดส่วนเท่าไหร่  แต่ก็..แล้วรู้ได้ไง  วัดในแง่ปริมาณหรือคุณภาพ  สังคมขนาดใหญ่จะวัดยังไง  เชิงคุณภาพเราพอวัดได้  เช่นมีคนมาขอสัมภาษณ์  หรือถูกพูดถึงในว๊อยซ์ทีวี  หรือถูกเอาไปเขียนอธิบายต่อ  อย่าง อ.นิธิเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ก็ทำให้งานไม่ได้อยู่แค่ visual (ทางสายตา) อย่างเดียว  แต่ข้ามไปสู่เรื่องคอนเทนท์ได้ด้วย  ซึ่งเราถือว่าสำเร็จ  โจทย์ของไวรัลต้องส่งแพร่กระจายข้ามสื่อไปสู่สังคมวงกว้างด้วย  ไม่ใช่จบอยู่แค่สื่อที่เราทำในตอนต้น  แต่จะมันกว่านี้มากถ้ามันลงช่อง 3, 5, 7, 9 ได้  คงยากอ่ะนะ  ยังล็อบบี้สื่อไม่สำเร็จ

จริงๆ แล้วงานทางวัฒนธรรมมันไม่สามารถวัดเอาจากจำนวนคน  แต่เราดูรีแอ๊คชั่นได้  อย่างน้อยก็ดูที่แต่ละคนแชร์เขาแชร์ในทีท่าแบบไหน  ทีท่าเหล่านั้นมันสะท้อนว่าเขาคิดยังไง  แล้วเขาปรับระบบวิธีคิดยังไงบ้างกับสิ่งที่เขาเผชิญ  ตรงนั้นน่าประเมินกว่า  แต่บางโปรเจคท์การนับจำนวนก็ยังช่วยเหมือนกัน

ต้องคิดทั้งสองแบบ  เรื่องเชิงปริมาณเรายังไม่สำเร็จ  แต่เรื่องการเรียนรู้คิดว่าสื่อนิติม่อนเป็น slow knowledge  คือเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนๆ  สร้างการเรียนรู้แบบช้าๆ ที่สำคัญกว่า fast knowledge ที่ฉาบฉวยแบบแชร์แล้วก็หายไป  เหมือนคือเราทำดีแต่ไม่ดังมันก็ยังอยู่อย่างนั้น  แต่ว่าสักวันต้องมีคนเห็น  เปลี่ยนแปลงคนได้จริงๆ ได้ไม่ถึงร้อยคน  แต่มันก็ยังเปลี่ยนแปลง  แล้วคิดดูว่าอีกสิบปีคนเหล่านี้จะไปทำงานอะไร  จะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้  เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่เราง้างกับมันอยู่มันใหญ่และแข็งมาก  ไม่คิดว่าจะมีอะไรสักชิ้นหนึ่งที่ใส่เข้าไปแล้วได้ผลลัพธ์ที่ทำลายมันลงได้ในทีเดียวอยู่แล้ว  เหมือนปลูกต้นไม้  ปลูกไปเรื่อยๆ   เหมือนเราหาเพื่อนใหม่ไปเรื่อยๆ  อย่างน้อยได้มาหนึ่งคน  ก็ไม่รู้ว่าคนนี้จะไปทำอะไรต่อในอนาคต  และยังมีโอกาสที่จะเกิดคอนเวอร์เซชั่นได้อีก  แหม่ แม่งดูเป็นคนดีจังว่ะ ม่อนม่อนๆ


- คาดหวังกับความดังยังไง  การเรียกหาความนิยมคือเป้าหมายของเราหรือเปล่า

 ดังก็ดี  ไม่ดังก็มีเพื่อน  ดังนี่หมายถึงผลงานนะ  ไม่ได้เกี่ยวกับตัวเรา  เพราะว่าเราไม่มีตัวตนอยู่แล้ว  เราอยากให้งานดัง  ไม่ได้อยากให้ตัวเราดัง ม่อนม่อนๆ


-ความดังอย่างเซเล็บมีผลกับงานบ้างไหม

อย่างฝ่ามืออากงที่มันจุดติดกันได้ก็เพราะว่ามีเซเล็บนำ  อีกอย่างเอาเข้าจริงคือสมยศมี organizing force (พลังจัดตั้ง) น้อยกว่าอากงตรงที่ขาดความดราม่า  เราไม่ได้ต้องการใช้พลังเซเล็บ  แต่ถ้าเอาเซเล็บจริงๆ ตอนงานเงียบจนแสบแก้วหูแต่ละคนที่มาร่วมนี่ก็มีเซเล็บเหมือนกันนะ  ดึงคนทั่วๆ ไปให้มามีส่วนร่วม  เราเตรียมแพลทฟอร์มให้คนมามีส่วนร่วม  เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนต้องรับความเสี่ยงอะไรบ้าง

 ยังไม่คิดว่าเราไปปะทะกับจุดเสี่ยงเท่าไหร่  ตามตัวบทกฎหมายเรายังไม่เคยเสี่ยงเลย  แต่ถ้าในแง่ที่กฎหมายไม่ทำงานตามตัวบทก็น่ากลัว  ทุกงานเรามีความกลัวเป็นปัจจัยรบกวนในการทำงาน  ความเป็นนิรนามบางอย่างมันช่วยพรางเราไว้ได้เหมือนกัน  งานมันไม่ดังไงฮะ  พวกเราเลยปลอดภัย  เป็นเซลฟ์เซนเซ่อร์อย่างหนึ่ง  แต่ละคนมันไม่เหมือนกันน่ะ  ตอนงานมนุษย์ล่องหน Emily (Emily Hong) กับ อ.เกี๊ยง (เกรียงศักดิ์  ธีระโกวิทขจร) เขาจะกังวลบางเรื่องที่เราไม่กังวล  แล้วเราก็ไปกังวลบางเรื่องที่เขาไม่กังวล  บางเรื่องไม่ต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองชีวิตเราก็ต้องเจออยู่แล้ว  ม่อนม่อนๆ


-ออนไลน์ ออฟไลน์  งานไหนที่เราถนัดกว่า

ควบคู่กันไปนะ  แล้วแต่ว่างานนั้นต้องการกลยุทธ์แบบไหน  อย่างไวรัลต้องการออนไลน์ก็ออนไลน์  อย่างงานศิลปะต้องการออฟไลน์ก็ออฟไลน์  คือเรายังไม่มีกลยุทธ์ที่ดีพอที่จะฉวยเอาไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง

อย่าง "เงียบจนแสบแก้วหู" ออฟไลน์มันก็มันนะ  เอาขึ้นออนไลน์ในฐานะพื้นที่เผยแพร่เฉยๆ  แต่ตอน "มนุษย์ล่องหน" ก็เป็นออฟไลน์ตอบสนองโจทย์ในโลกศิลปะเป็นหลัก  รู้สึกว่าเราทำงานออนไลน์น้อยไปนะ  ปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์เรายังไม่เก่งพอ  แต่คาแรคเตอร์มันชัดจากตัวเพจ  หลังจากสองแคมเปญล่าสุด  แฟนๆ เราเข้ามากันบ่อยมาก

เรายังไม่สามารถผลักงานให้ไปหาคนได้มากนัก  แต่ในแวดวงคนทำงานศิลปะ  "มนุษย์ล่องหน" (https://www.facebook.com/unseenthai?ref=ts&fref=ts) ถือว่าคนกดไลค์เยอะนะในแง่ของการทำเพจ exhibition น่ะ เกือบพัน  ม่อนม่อนๆ


-คาดหวังกับโซเชียลมีเดียขนาดไหน

 คาดหวังฮะ  เพราะว่ามันฟรี  เป็นช่องทางที่น่าจะเข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ได้  ส่วนตัวอยากจะขยายไปทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรมบ้าง  แต่เราก็ยังไม่แข็งแรงพอเหมือนเพจอื่นๆ เยอะแยะ  เรายังมีพลังไม่พอ  ไม่ต่อเนื่องด้วย  หมายถึงว่าเวลาจะเคลื่อนไหวทีก็ต้องรอประเด็นร้อน  ประเด็น 112 มันไม่มีอะไรที่ปรากฏในสังคมตลอดเวลา  แล้วเราก็ไม่สามารถเล่นไปเรื่อยได้  ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนมีแผนไตรมาสไหม

 ตอบสนองต่อสถานการณ์มากกว่า   แต่ปีนี้มีแผนทำหนังสืออยู่หนึ่งเล่ม  ม่อน ม่อนๆ


-อะไรคือพลังสำคัญของนิติม่อน

เนตเวิร์กกิ้ง คอนเนคชั่น  มีอยู่อย่างเดียวที่มีพลัง  คือถ้าเราไม่มีเพื่อนเราจบเลยในยุคสมัยนี้  การมีเพื่อนนี่สำคัญมาก  โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือทำไงให้คนที่ไม่มีที่ยืนถูกกีดกันทางวัฒนธรรมจะมีพื้นที่อยู่กันได้คือ  ก็สร้างเครือข่ายสังคมขึ้นมา  อย่างน้อยเวลาคนเหล่านี้คิดอะไร หรือต้องการจะสื่อสารอะไร  ก็มีเพื่อนนั่งคุยกันได้  เพื่อนที่ร่วมทำงานกันได้  และมันค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่เราทำงานจริง  ทำให้เราเจอคนใหม่ๆ เยอะมาก

สังคมมันปกติอยู่ได้เพราะคนกลุ่มใหญ่ถือชุดความหมายเดียวกัน  แต่คนที่อยู่ในความปกติแบบนั้นไม่ได้  มีชีวิตอยู่เกินกว่ากรอบความปกติแบบนั้น  เขาอยู่ตรงไหนในสังคมไทย  ตอนนี้คนเหล่านี้เริ่มเจอกันมากขึ้นและจับมือกัน  ทุกครั้งที่คนจับมือกันมันสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นเครือข่าย  และเครือข่ายเหล่านี้จะช่วยขยายความปกติ  ความเป็นระเบียบแบบนิ่งๆ แบบเดิมออกไป  ยังไงก็ต้องยืนยันสิ่งที่อยู่นอกเหนือความปกติเดิมให้ได้ก่อน  นี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องการ ..มั้ง ม่อนม่อนๆ


-นิติม่อนสีอะไร

นิติม่อนหลายสีมาก  นิติม่อนเป็นหลากสี  จริงๆ ดูโลโก้ก็จะเห็นชัดเจน  ดูดีๆ ช่องหนึ่งที่มันไม่มีสี  โปร่งแสง  ตอนนี้เราเปิดพาร์ท "นิติมี่" แล้ว  รู้จักนิติมี่หรือเปล่า  นิติมี่เป็นน้องสาวของนิติม่อน  นิติมี่สีเหลืองเลย ม่อนม่อนๆ

(ยังไม่จบนะ  โปรดติดตามตอนต่อไป...)

สัมภาษณ์วันที่ 7 มีนาคม 2556

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“โลกมันเปลี่ยนไปแล้วค่ะท่าน!” คำตอบหลังจากพาสมยศไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือฯ

Posted: 31 Mar 2013 05:10 AM PDT

บ่ายคล้อยวันที่สองของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คนเสื้อลายขวางสวมหน้ากากสมยศราว 10 คนตั้งแถวตอนเรียงหนึ่งเดินท่อมๆ เข้างานท่ามกลางสายตาผู้คนที่เดินสวนกันขวักไขว่


ภาพโดย:น้องต้น มาแล้วจ้า

จากโซนซี ไอ้เสื้อลายขวางหยุดเป็นพักๆ พวกมันก้าวไปช้าๆ เบียดเสียดกับผู้คนเป็นบางช่วง  พอเจอเก้าอี้ว่างมันก็นั่ง พอเจอสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อย่างอมรินทร์ อย่างบ้านพระอาทิตย์ มันก็หยุด  พอเจอคนดังมันก็ทำเนียนเดินเข้าไปใกล้ๆ  พอเจอบู๊ทสมาคมนักเขียนฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มันรีบปรี่เข้าไปหยุดยืนแถวหน้ากระดานที่บู๊ทนั้นโดยอัตโนมัติ

พวกมันสอดส่ายสายตาลอดหน้ากากสังเกตสีหน้าผู้คนที่เดินสวนไปมา ส่วนใหญ่พวกเขาจะหยุดมองด้วยความแปลกใจ บางส่วนทำท่าเหมือนรู้ว่ามันเรื่องอะไร บางส่วนมองผ่านเลยไม่ได้สนใจใดๆ พวกเด็กๆ พอเห็นก็ร้องบอกแม่ "แม่ แม่ ทำไมเขาต้องใส่หน้ากากล่ะ" "น่ากลัววววว" หึหึ


ภาพโดย:น้องต้น มาแล้วจ้า

พอถึงโซนเวทีกลาง ไอ้พวกเสื้อลายขวางอาศัยจังหวะเดดแอร์เดินเป็นขบวนไปเรียงหน้ากระดานตรงหน้าเวที คนที่นั่งรอชมรายการต่อไปบนเวทีคงนึกว่าไอ้เสื้อลายขวางพวกนี้มาโฆษณาคั่นรายการ

จากนั้นพวกมันเข้าไปเพิ่มความแออัดในแพลนนารีฮอลล์ก่อนจะทะลุออกมาอย่างหายใจไม่ค่อยออก 


ภาพโดย:น้องต้น มาแล้วจ้า

"ถ่ายรูปกันมั้ยคะ" "มาๆ มาถ่ายรูปกัน"  

ฮ่าๆ เสร็จไอ้เสื้อลายขวาง ก็คนเอ่ยปากชวนเป็นเหล่าสาวคอสเพลย์ชุดจีนหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรากำลังโปรโมตหนังสือออกใหม่อยู่น่ะซี่

ต่อๆ ขบวนเสื้อลายขวางกำลังจะไปถึงเป้าหมายสุดท้าย โซน Plaza                

แต่แล้วไอ้เสื้อลายขวางคนหน้าสุดมันก็หยุดเดินเมื่อเจอเจ้าหน้าที่กางแขนสกัดไว้ตรงทางขึ้นบันไดพอดิบพอดี

"ใครเป็นแกนนำ" "ใครส่งมา" "นี่กลุ่มไหนสังกัดใคร" "มาด้วยกันรึเปล่า" "อะไรนะมากันเอง" ???

คำถามของเจ้าหน้าที่ศูนย์สิริกิติ์ที่ดูแลงานสัปดาห์หนังสือทำเอาพวกเราได้แต่อมยิ้ม แต่คนถามไม่อาจเห็นรอยยิ้มชวนหัวของเราเพราะใบหน้าเราอยู่ใต้หน้ากาก

และผู้ถามก็ต้องมึนงงหนักขึ้นเมื่อไอ้พวกเสื้อลายขวางมันไม่พูดไม่ตอบโต้ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ มันนั่งเฉยเชิดหน้ากากแป้นแล้นทำไม่รู้ไม่ชี้

เอาละ ถามไม่ตอบอย่างนี้ต้องเชิญไปสอบสวน!

แต่เอ สอบสวนเรื่องไรหว่า เดี๋ยวนะโทร.ถามนายก่อน นี่มาทำอะไรกันนะ แต่ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ (ขึ้นเสียงสูง) ไม่ดีนะ  บลา บลา บลา...

อ้าวไปไหนกันหมด!

จู่ๆ ไอ้พวกนี้มันก็ลุกเดินไปคนละทิศละทางพร้อมถอดหน้ากากกลืนหายไปกับฝูงชนจนเจ้าหน้าที่ไม่รู้จะตามใครดี

............................................................................

 

"พวกพี่เจ๋งมากครับ" น้องคนหนึ่งที่มาร่วมปฏิบัติการบอกเราหลังจากสลายตัวแล้วมาเจอกันโดยบังเอิญ เราขอบคุณน้องที่มาร่วมกับเรา       

เราอยากบอกน้องคนนี้เหลือเกินว่า ปฏิบัติการที่ "ง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่แพง ส่งผลสะเทือน" ไม่ว่าใครก็ทำได้ เพียงแต่เคล็ดลับที่จะทำให้มันประสบผลยิ่งขึ้นก็มีอยู่ อย่างปฏิบัติการครั้งนี้ก็มีอาทิ

  1. เตรียมพร้อม เข้าใจสถานที่ สำรวจเส้นทางก่อนซักรอบ จุดไหนคนเยอะ จุดไหนวิกฤต จุดไหนน่านั่ง ฯลฯ
  2. พูดคุยทำความเข้าใจข้อตกลงกันแต่ต้น เช่น เดินเงียบๆ ไม่ป่วนไม่ขัดขวางกิจกรรมของคนอื่น ไม่ตอบโต้ เส้นทางเดินเดินอย่างไร จะหยุดเมื่อไร จะประสานงานกันยังไงระหว่างปฏิบัติการ ฯลฯ
  3. ไม่มีใครนำใคร ผู้ริเริ่มคือผู้จุดประกายไอเดีย แต่ผู้ปฏิบัติการมีภาวะผู้นำกันอยู่เต็มเปี่ยม ภาวะผู้นำหมายถึงรับผิดชอบตนเองแต่ฟังกลุ่ม  ปฏิบัติการอาจไม่ประสบผลหากใครคนใดคนหนึ่งแตกแถวหรือทำตัวโดดเด่นกว่ากลุ่ม
  4. ยึดมั่นข้อตกลง แต่พร้อมจะพลิ้วไหวตามสถานการณ์


ภาพโดย:น้องต้น มาแล้วจ้า

ไม่น่าแปลกใจที่เจ้าหน้าที่และการ์ดจะงงเป็นไก่ตาแตก ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะวิธีรับมือกับม็อบแบบเดิมๆ มันใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว อาทิ จัดการแกนนำควบคุมตัวพวกมันไว้ หรือตั้งข้อหา หรือสกัดกั้น ซึ่งไม่มีทางทำอย่างนั้นได้อีกแล้ว เพราะพวกเราไม่ได้มาป่วนงาน เรามาอย่างสงบเงียบปะปนกับฝูงชนมากหน้าหลายตา เราอยากบอกดังๆ ว่า โลกมันเปลี่ยนไปแล้วค่ะท่านทั้งหลาย...


ภาพโดย:Kittichai ngamchaipisit


ภาพโดย:Kittichai ngamchaipisit


ภาพโดย:Kittichai ngamchaipisit
 


ภาพโดย:Kittichai ngamchaipisit
 

วันนี้เราพาสมยศไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือ สมยศกินข้าว สมยศนั่งอ่านหนังสือ สมยศรอเพื่อน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้สำเร็จ หวังว่าสมยศจะสะกิดต่อมนักอ่าน นักเขียน นักพิมพ์ นักช้อป ฯลฯ ถึงสถานการณ์ที่จำกัดและลิดรอนเสรีภาพของเราทุกคนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติได้บ้างสักนิด


ปล. ช่วงนี้ใครไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือ เดินสวนกับสมยศกลางทางก็ทักทายเขาหน่อยนะคะ จุ๊บๆ สวัสดี

 

หมายเหตุ : พวกเราคือกลุ่มกิจกรรมอิสระ เคยรวมกันเฉพาะกิจในชื่อ "ขบวนการคนไร้หน้า" ออกปฏิบัติการ "แฟลชม็อบเราคืออากง"  ชวนกันมาสวมหน้ากากขาวปะปนกับผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมาบนทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสนามกีฬาฯ กรุงเทพฯ พร้อมตะโกนบอกฟ้า "อากงตายแล้ว" "อากงคือใคร" "เราคืออากง" "อากงถูกจับเพราะถูกกล่าวหาว่าส่ง sms ที่เข้าข่ายผิด 112"  "อากงไม่ได้สิทธิประกันตัว" "อากงต้องตายในคุกๆๆๆๆๆ"  นอกจากนี้ยังเดินไปตะโกนที่ลานสยามพารากอน บนขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีสยามไปราชประสงค์ และในที่ชุมนุมคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์เมื่อปีที่แล้ว (บอกไว้เผื่อท่านไม่รู้จัก ฮา)

 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหพันธ์แรงงานอินโดนีเซียขอความร่วมมือสหภาพไทยกดดันบริษัท

Posted: 31 Mar 2013 05:09 AM PDT

สหพันธ์แรงงานกระดาษอินโดนีเซีย ขอความสมานฉันท์จากนักสหภาพแรงงานไทย ส่งจดหมายเรียกร้องให้บริษัทกระดาษและบริษัทรักษาความปลอดภัย จัดสวัสดิการพื้นฐานตามข้อตกลงสภาพการทำงานให้กับพนักงานเพื่อส่งเสริมการจ้างงานที่ดี และรับกลับนักสหภาพแรงงาน

 
 
31 มี.ค. 56 - สหพันธ์แรงงานกระดาษอินโดนีเซีย (Indonesian Pulp and Paper Workers Federation - FSP2KI) ขอความสมานฉันท์จากนักสหภาพแรงงานในประเทศไทยในการส่งจดหมายเรียกร้องให้บริษัทกระดาษและบริษัทรักษาความปลอดภัย จัดสวัสดิการพื้นฐานตามข้อตกลงสภาพการทำงานให้กับพนักงานเพื่อส่งเสริมการจ้างงานที่ดีและคุณภาพชีวิตของพนักงานรักษาความปลอดภัย
 
ทั้งนี้พนักงานต้องทำงานยาวนานชัวโมงโดยได้รับค่าจ้างเพียงน้อยนิด สิ่งที่บริษัทละเลยคือไม่จัดสวัสดิการการดูแลสุขภาพค่ารักษาพยาบาล รองเท้าเซพตี้ และชุดสำหรับใส่ทำงาน นอกจากนี้ บริษัทยังเลิกจ้างนักสหภาพแรงงานที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอย่างไม่เป็นธรรมถึง 3 คน   
 
สามารถร่วมสนับสนุนการรณรงค์ของสหพันธ์แรงงานกระดาษอินโดนีเซีย ในการรวมกล่มพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานกระดาษ ได้มีการทำข้อตกลงสภาพการทำงานครอบคลุมพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานกระดาษ  แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่จัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยส่งอีเมล์ไปที่
 
อีเมล์เพื่อการส่งจดหมาย:
 
Board Of Direction TanjungEnim Lestari 
email address : BOD@telpp.com
 
Mr.Rudi Fajar as General Director Tanjungenim Lestari Pulp & Paper  
email address : rudifajar@telpp.com
 
Mr.HM Arifin as General Director of Tangkas Security 
email address : tangkas88@gmail.com
 
Mr.Teguh Wibisono as President Director Tangkas Security 
email address : s_tangkas@yahoo.co.id
 
 
ส่งสำเนาจดหมายไปที่:  
 
Brother Hamdani as  President FSP2KI  
email address : hamdani_fsp2ki@yahoo.com
 
Brother Nelson F Saragih as General Secretary FSP2KI  
email address : nelsonfsaragih@gmail.com
 
Ikhsan Prajarani as Head of Campaign FSP2KI  
email address : ikhsan.FSP2KI@gmail.com
 
Ashal as Head of Advocacy AND Law  FSP2KI 
email address : ashalj@yahoo.com
 
SPS-PT.TEL  
email address : spspttel.fsp2ki@gmail.com
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนอุบลฯ เสนอตั้งมูลนิธิจัดงานแห่เทียนพรรษาแทนภาครัฐ

Posted: 31 Mar 2013 04:43 AM PDT

ภาคประชาชนจัดเสวนาระดมความเห็นกรณีเหลียวหลังแลหน้าเทียนพรรษาเมืองอุบล ชี้ "โคราช-สุพรรณ" แค่โปรโมทท่องเที่ยว อุบลราชธานีคือจิตวิญญาณบรรพบุรุษต้นแบบของแท้ ตุ่นปัดบรรหารไม่เกี่ยว

 
 
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ลานเทียนเฉลิมพระเกียรติ สนามทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมกับภาคประชาชนจัดเสวนาระดมความเห็นกรณีเหลียวหลังแลหน้าเทียนพรรษาเมืองอุบล โดยโครงการสะพานเพื่อประชาธิปไตยจากการสนับสนุนของ USAID  มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีภาคประชาชนจากหลายสาขาอาชีพ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานจังหวัด สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดเข้าร่วมแสดงความเห็นอย่างคับคั่ง
 
นายกมล ผู้ดำเนินรายการได้สอบถามความเห็นจาก พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการประทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาอุบลถึงการจัดงานแห่เทียนพรรษาที่ผ่านมา
 
พล.ต.อ.ชิดชัยให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เป็นประธานการจัดงานแห่เทียนพรรษามาหลายครั้งและการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี แตกต่างจากการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอื่นที่พยายามมาแข่งขัน เพราะจังหวัดอุบลราชธานีจัดงานด้วยจิตวิญญาณที่รับสืบทอดจากบรรพบุรุษ เพื่อทำเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา ผิดจากจังหวัดสุพรรณบุรี หรือนครราชสีมา ซึ่งจัดงานแห่เทียนเพียงเป็นรูปแบบ เพื่อโปรโมทดึงนักท่องเที่ยวไปเที่ยงานในจังหวัดตัวเองแต่การจัดงานของจังหวัดอุบลราชธานี ต้องมีการปรับปรุง เพราะยังมีความล้าหลัง วิธีการคือให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของงานแทนสำนักงานเทศบาล ททท. หรือจังหวัด เพราะผู้ว่าราชการมารับตำแหน่งแล้วก็ไป แต่ชาวบ้านอยู่กับภูมิปัญญามีความรู้ความเข้าใจและมีจิตวิญญาณเรื่องการจัดทำต้นเทียนพรรษา โดยตั้งเป็นมูลนิธิหารายได้จากการรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป หารายได้จากการจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง หารายได้จากพื้นที่โฆษณาที่ต้องการมาแสดงในงานแห่เทียนเข้าพรรษา
 
"จังหวัดอุบลราชธานี มี ส.ส.ตั้ง 11 คน ทุกคนต้องออกหน้ามาช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องรอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐก็ได้" ด้านนายวิชุกร กุหลาบศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุบลราชธานี กล่าวว่าทาง ททท.ไม่มีนโยบายที่จะโยกการจัดงานประติมากรรมเทียนนานาชาติไปจังหวัดอื่น พร้อมยืนยันว่าการจัดงานเทียนนานาชาติ มีจุดประสงค์ใช้โปรโมทการจัดงานแห่ต้นเทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้ชาวโลกรับรู้ จึงไม่สามารถย้ายการจัดงานไปจัดที่จังหวัดอื่นได้  สำหรับงบประมาณที่ให้มาน้อยลงทุกปี จากเดิมปีละเกือบ 10 ล้านบาท แต่ปีนี้อาจเหลือเพียง 3 แสนบาท ผู้อำนวยการ ททท.ยังไม่ยืนยันตัวเลข แต่คาดจะได้งบประมาณมากกว่าตัวเลขนี้แน่นอน พร้อมกล่าวว่า ททท.ยังให้ความสำคัญต่อการจัดงานประเพณีแห่ต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนการจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอื่น เป็นเพียงงานที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับท้องถิ่นเท่านั้น ททท.ไม่ได้เข้าไปสนับสนุน
 
ขณะที่นายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี พูดถึงเรื่องการจัดงานแห่เทียนพรรษาว่า ชาวเมืองอุบลราชธานี ทำต้นเทียนจากใจและแรงศรัทธา เพราะทุกคนเกิดมาก็อยู่กับต้นเทียน จึงรับสืบทอดกันมาถึงปีนี้ก็ 112 ปี อดีตที่ผ่านมาชุมชนจัดทำต้นเทียนพรรษาแบบมัดรวมติดตาย นำไปถวายวัดในวันสำคัญทางศาสนา โดยไม่คิดจะเกิดเป็นประเพณีใหญ่โต แต่ลูกหลานคนรุ่นต่อมาก็ต้องรับสือทอด แล้วนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงให้การจัดทำต้นเทียนน่าดูยิ่งขึ้น กระทั่งโด่งดังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมความงดงามการจัดทำต้นเทียนจำนวนมาก
 
จังหวัดมีรายได้จากการจัดงานกว่า 20 ล้านบาท และเห็นด้วยกับแนวความคิดตั้งมูลนิธิมาดูแลการจัดงานแทนภาคราชการ เพราะคนอุบลราชธานีมีกว่า 1.8 ล้านคนบริจาคคนละ 1-2 บาท ก็ได้เงินจำนวนมากใช้จัดงาน ไม่ต้องรอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนที่ผ่านมา
 
ส่วนนายชัยยุทธ โยธามาตย์ รองปลัดเทศบาลนครอุบลราชธานี ระบุว่า เทศบาลจัดงบสนับสนุนการจัดงานเทียนไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านบาท แต่ตนฐานะเป็นคนเมืองนี้ สามารถพูดได้ว่า แม้ไม่มีเงินสนับสนุนแม้แต่บาทเดียว คนตามชุมชนก็ยังต้องทำต้นเทียนพรรษา เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ และอยากบอกให้รู้ว่า ต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอื่น เป็นช่างทำต้นเทียนจากจังหวัดอุบลราชธานีทั้งหมด แต่เป็นช่างมือรองไม่ใช่เบอร์หนึ่ง ถ้าต้องการดูศิลปะอ่อนช้อยงดงามของฝีมือช่าง ต้องมาดูของจริงที่จังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
 
ขณะที่ภาคประชาชนเสนอว่า การจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษา ไม่ต้องการเห็นการแสดงสินค้าที่นำพื้นที่รอบสถานที่จัดงานแบ่งขายเป็นล็อก แต่ต้องการให้นำพื้นที่มาให้ชาวบ้านนำสินค้าที่ระลึกพื้นเมืองวางจำหน่าย เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของจังหวัด ส่วนการละเล่นไม่ต้องการเห็นการปาเป้า เล่นบิงโก โยนห่วงเอาของพนัน ให้เปลี่ยนเป็นการละเล่นของเด็กพื้นเมือง เพื่อให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่บังคับให้มาแต่งตัวฟ้อนรำนำขบวน โดยเยาวไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยจิตวิญญาณเหมือนในอดีต
 
นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานีพรรคชาติไทยพัฒนาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ก่อนการจัดเวทีว่าตนไม่รู้เรื่องการตัดงบประมาณและการย้ายงานประติมากรรมเทียนไปสุพรรณของททท.และได้สอบถามนายบรรหาร ศิลปอาชาก็ไม่ทราบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เป็นการดำเนินงานของ ททท. เอง เรื่องงบประมาณหากททท.ให้เพียง 3 แสนจริงตนจะหาเงินมาช่วยไม่ให้ต่ำกว่า 2 ล้านแน่นอน
 
หลังการเสวนาประชาชนที่มาติดตามรับชมจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ากระแส Social media ทำให้ ททท.ยอมถอยว่าไม่มีนโยบายย้ายประติมากรรมเทียนนานาชาติไปที่อื่น การหั่นงบยังไม่ชัดเจน ทั้งที่เวปมาสเตอร์ไกด์อุบลดอตคอมเป็นผู้โพสต์ข้อความทาง Facebook ชื่อน้าไกด์ อุบล ขณะร่วมประชุมกับทางจังหวัดและ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พูดเรื่องนี้เอง ว่าจ.สุพรรณแย่งซีนเราย้ายงานประติมากรรมเทียนหั่นงบเหลือ 3 แสน ปรากฎในรายการผู้ว่าฯพบประชาชนเมื่อวันที่ 16  มีนาคม 2556   
 
สำหรับการเสวนาเรื่องนี้ สามารถชมได้ที่รายการร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิ้ลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่อง ของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM. 102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz ชมเทปย้อนหลังได้ที่ sangsook.net และ App.สื่อสร้างสุข
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมธา มาสขาว: เวลาของเราหายไปไหน? (Lost in Time)

Posted: 31 Mar 2013 04:34 AM PDT

 

 
"คนทำงาน" หลายคนตื่นเช้ามาทำงาน พักเที่ยงและกลับบ้านในตอนเย็น, หาอาหารอร่อยๆ ทาน อาบน้ำ ดูละคร แล้วเข้านอนในตอนดึก เพื่อจะตื่นขึ้นมาทำงานในเช้าวันใหม่ แลกกับ "เสรีภาพ" ที่จะมีที่พัก อาหารและการเดินทางท่องเที่ยวบ้างจากค่าตอบแทนที่เรียกว่า "เงินเดือน"
 
ย้อนกลับไปในวันนักเรียนและนักศึกษา เราไม่มีภาระผูกพันเหมือนคนในวัยทำงาน ที่จะต้องหารายได้มาหล่อเลี้ยงจุนเจือ "ครอบครัว" ดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เพื่อจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ในเมืองใหญ่, เราตื่นเช้าไปโรงเรียน กลับมาเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ทำการบ้าน อ่านหนังสือและเข้านอนในตอนดึก เพื่อที่จะตื่นขึ้นไปเรียนในเช้าวันใหม่ ชีวิตไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นจริงๆ แม้กระทั่งการจะหาคำตอบว่า เราเรียนไปเพื่ออะไร?
 
คนเรานอนพักผ่อน 6-8 ชั่วโมง ทำงาน 8-9 ชั่วโมงต่อวัน แล้วเวลาที่เหลือของเราถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง? การเดินทางบนรถสาธารณะ 3 ชม. หรือบนทางด่วน 1 ชม.? และทานข้าวอีก 2 ชม.? และมันหมดไปไม่นานเมื่อคิดได้ว่า เราน่าจะมีเวลาได้ทำอะไรสักอย่างที่เราอยากทำ เหตุใดเราไม่มีเวลาเหล่านั้น เราทำเวลา (Time) หล่นหายไปไหน หรือใครแย่งชิงเอาเวลาของเราไป? เราฝากไว้ที่ธนาคารไว้มากพอหรือไม่?
 
ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง In Time ที่จำลองโลกในยุคสมัยใหม่ในอันไกลโพ้น ในยุคที่เราต้องทำงานแลกกับ "เวลา" เป็นค่าตอบแทนที่จะมีชีวิตอยู่ เวลาที่จะพักผ่อนและมีอาหารกินอย่างเพียงพอ ใครที่ร่ำรวยมากหน่อยก็จะฝากเวลาไว้ที่ธนาคารจำนวนมาก เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขและมีเวลามากพอ, แต่สำหรับคนจนแล้ว ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำเพื่อแลกกับเวลาที่จะมีชีวิตต่อในวันพรุ่งนี้แบบวันต่อวัน และหากวันไหนไม่ได้ทำงาน ก็คงจะไม่มีเวลาเหลือพอที่จะมีชีวิตอยู่ในวันพรุ่งนี้อีกต่อไป
 
วิถีชีวิตผู้คนในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ซึ่งส่งเสริมการบริโภคนิยมเป็นว่าเล่นในปัจจุบันนี้ ก็อาจจะไม่แตกต่างอะไรกันนัก หากเราเปรียบเทียบ "เงินเดือน" เป็น "เวลา" ที่จะถูกใช้เพื่อให้มีชีวิตที่มีความสุข คนทำงานในโรงงาน หรือเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ก็จะได้รับค่าตอบแทนเป็น เงินเดือน/เวลาน้อยหน่อยในขณะที่คนที่มีฐานะดีจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่า และเราก็ฝากชีวิตไว้กับเงินเดือน/เวลา ที่เราดิ้นรนหาได้มาในแต่ละวัน ระบบทุนนิยมเสรีบอกเราว่า "ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" ก็คงจะจริง, เพราะทุกวันนี้ หากเราจะฝากสุขภาพไว้กับโรงพยาบาล ก็ต้องมีเงินฝากในธนาคารมากพอด้วย.
 
"นับจากยุคเครื่องปั่นด้าย Arkwright's Spinning Jenny มาจนถึงยุค Bill Gates' web browser Explorer พวกเราก็ต่างทราบดีว่า เทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่คิดขึ้นมานั้น ก็เพื่อไล่ตามความก้าวหน้า สิ่งประดิษฐ์หลายอย่างตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า การทำอะไรหลายอย่างมากขึ้นและด้วยเวลาที่เร็วกว่านั้น ดีกว่าการทำอะไรได้น้อยอย่างและด้วยเวลาที่นานกว่า" (Wolfgang Sachs)
 
ความสามารถในการประหยัดเวลาของมนุษยชาติที่ถูกพัฒนาขึ้น เริ่มต้นก็เพื่อเสริมส่งเจตนารมณ์สำคัญของ "คุณค่า" มนุษย์ที่มีชีวิตเกิดมาเพื่อ "เสรีภาพ" เพื่อเข้าถึง "เวลา" ที่จะทำงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ หรืออ่านหนังสือเพิ่มพูนความรู้ของตนเอง หรือจะเป็นการสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรม เพื่อพัฒนาอารยะธรรมของมนุษย์ต่อไป สมัยหนึ่งเราจึงมีการเรียกร้อง "สิทธิแรงงาน" ให้คนทำงานเพียง 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และมีเวลาสร้างสรรค์เหล่านั้นอีก 8 ชั่วโมง หรือระบบสามแปด, ซึ่งน่าจะเหมาะสม เพราะในสมัยก่อน โดยเฉพาะหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เราทำงานกันหนักมาก ถูกบังคับให้ใช้แรงงานมากกว่าวันละ 16 ชั่วโมงเพื่อแลกกับขนมปังและเศษอาหาร เราทำงานเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าของแรงงาน ไม่ใช่จักรกลในโรงงานเสียเมื่อไหร่  แต่ระหว่างทางไปล่ะ? เราพัฒนาระบบทุนนิยมมามากกว่า 200 ปี ความคิดในอดีตที่ว่าความเร็วจะนำมาซึ่งการมีเวลามากขึ้น ได้ล่าสัตว์ ได้ตกปลา ได้สนใจในศิลปวัฒนธรรมนั้น มาถึงทุกวันนี้ เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่? 
 
เราปั่นด้ายได้เร็วขึ้นและปั่นมันต่อเรื่อยไปเพื่อผลผลิตที่มากขึ้นและเวลาจึงเหลือน้อยลงเหมือนเดิม, เราสามารถเดินทางได้เร็วขึ้น แต่เราก็เหมือนจะอยากเดินทางไปต่อ เช่นเดียวกับเราเดินทางมาถึงนครราชสีมาได้เร็วขึ้น แต่เราก็มีเส้นทางที่จะไปต่อถึงหนองคาย "เวลา" ที่เหลือปลายทางจึงไม่ได้มากขึ้นแต่อย่างใด, เมื่อเราเดินทางได้เร็วขึ้น เราก็อาจใช้เวลาไปกับการเดินทางมากขึ้นตามลำดับ เช่นในเยอรมัน ทุกวันนี้ทุกคนเดินทางถัวเฉลี่ยมากกว่า 15,000 กิโลเมตรต่อปี แต่ 50 ปีก่อนพวกเขาเดินทางโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 กิโลเมตรต่อปีเท่านั้น การพัฒนาความเร็ว เพียงทำให้เราทำอะไรหลายอย่างได้มาก แต่เราก็ต้องสูญเสียบางอย่างไปเช่นกัน ก็คงไม่ต่างอะไรที่เราพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้ใช้งานได้เร็วมากขึ้น แต่ไม่ได้เพื่อให้เล่นเกมหรือทำงานเสร็จเร็วขึ้นเพื่อมีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้นแต่อย่างใด เพราะเราก็ได้ใช้เวลากับมันมากขึ้นเช่นเดียวกัน ท่ามกลางโลกที่พัฒนาเทคโนโลยีได้รวดเร็วทันสมัยมากขึ้นนั้น เราสามารถทำอะไรได้เร็วขึ้นก็จริง แต่เรากลับมีเวลาให้ตนเองน้อยลง ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง? ซึ่งมันนำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วเวลา (Time) ของเราสูญหายไปไหน? ทำไมเราไม่มีเวลาทำอะไรมากขึ้นในขณะที่โลกง่ายขึ้นเช่นนี้
 
นับจากยุคปฏิทินโบราณ, เลขฐานหกสิบของชาวสุเมเรียน มาจนถึงยุคนาฬิกาแดดและนาฬิกาอะตอมในปัจจุบัน วันที่โลกค้นพบว่า "วินาที" มีค่าเท่ากับระยะเวลาที่เกิดการแผ่รังสีกลับไปมาระหว่างอะตอม 2 อะตอม(ซีเซียม-133) จำนวน 9,192,631,770 ครั้ง แต่ดูเหมือนว่า 1 วันมี 24 ชั่วโมง เราได้อยู่ใช้เวลากับมันจริงๆ ไม่กี่นาที หลายคนต้องตื่นเช้ามาทำงาน พักเที่ยงและกลับบ้านในตอนเย็น หาอาหารอร่อยๆ ทาน อาบน้ำ ดูละคร แล้วเข้านอนในตอนดึก เพื่อจะตื่นขึ้นมาทำงานในเช้าวันใหม่, เราทำงานวันละ 8-9 ชั่วโมง +โอที 2-3 ชั่วโมง เดินทางอีก 2-3 ชั่วโมง กว่าจะถึงบ้านและได้พักผ่อน
 
"เวลา" ที่เราอาจมีเหลือบ้างก็ยังอาจหมดไปกับเทคโนโลยีทันสมัยหลายชนิด บางคนอาจจะใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับ Facebook หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ Social Network อื่นๆ บนโทรศัพท์ดีๆ สักเครื่อง จนเราอาจสงสัยไปเองว่า ทุนนิยมบังคับซื้อเวลาของเราไปทำงาน หรือเราตั้งใจขายเวลาของเราให้กับเขากันแน่ และถ้าเงินเดือนคืออย่างเดียวที่จะได้รับในแต่ละเดือนสำหรับคนทำงาน (Worker) ไม่แปลกเลยที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะสนับสนุน "รัฐสวัสดิการ" ที่มั่นคงแก่ประชาชนของตนเอง และกำหนด "เวลา" ที่เหมาะสมที่พวกเขาควรทำงานในกลไกตลาด
 
เวลาของเราหายไปไหน? เราใช้เวลาหมดไปกับชีวิตแบบใด คือคำถามที่ทุกคนควรหาคำตอบให้ตนเอง ผมนึกถึงนิทานก่อนนอนริมทะเลเรื่องหนึ่ง, ที่เล่าโดยนักเขียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า Heinrich Boll เขาเล่าว่า
 
นักท่องเที่ยวคนหนึ่งกำลังเพ่งมองด้วยความสนใจไปที่ภาพฉากภูมิประเทศชายหาดอันงดงาม, มันเป็นภาพของชายคนหนึ่ง ที่อยู่ในชุดเสื้อผ้าที่แสนจะธรรมดา กำลังโงกไปโงกมาในเรือตกปลาที่ถูกโยกคลอนด้วยกระแสคลื่นที่ม้วนกลิ้งเข้ามายังหาดทราย. เขากดชัตเตอร์กล้องถ่ายรูปของเขาดังคลิ๊ก! พลันคนตกปลาผู้นั้นก็ตื่นขึ้นมาทันที. นักท่องเที่ยวยื่นบุหรี่ให้คนตกปลามวนหนึ่ง และเริ่มต้นพูดคุย
 
"วันนี้อากาศดีนะ มีปลาชุมไปหมดเลย ทำไมคุณถึงยังอยู่ตรงนี้ล่ะ แทนที่จะออกไปจับปลาให้มากกว่านี้ ?" คนตกปลาตอบว่า  "ก็เพราะผมจับมาพอแล้วเช้านี้"
 
"แต่นั่นคุณคิดเอาเอง" นักท่องเที่ยวกล่าว "คุณน่าจะออกไปวันละ 3-4 เที่ยว แล้วก็เอาปลากลับไปที่บ้านถ้ามันมีมากเกินไป! คุณก็รู้ดีว่าถ้าทำเช่นนี้ทุกๆวัน อะไรจะเกิดขึ้น ?" คนตกปลาสั่นหัว.
 
นักท่องเที่ยวพูดต่อไปว่า "หลังจากนั้นเพียงแค่ปีเดียว คุณก็จะสามารถซื้อเรือยนต์ได้ลำหนึ่ง และหลังจากนั้นสองปีคุณก็ซื้อเรือยนต์เป็นลำที่สองได้ และหลังจากนั้นสามปีคุณก็สามารถมีเรือประมงลำหนึ่งหรือสองลำได้. คิดเข้าซิ! สักวันหนึ่งคุณอาจสามารถมีห้องเย็นสำหรับแช่ปลาขึ้นมา หรือโรงแช่แข็งขนาดใหญ่ และท้ายที่สุด คุณอาจมีเฮลิคอปเตอร์ของคุณเองเพื่อติดตามฝูงปลาและนำทางให้กับกองเรือประมงของคุณเองได้ หรือคุณอาจจะมีรถบรรทุกหลายคันขนส่งปลาไปยังเมืองหลวง, และที่อื่นๆอีกมากมายจิปาถะ…" 
 
"และอะไรต่อไปอีกล่ะ?" คนตกปลาถาม 
 
"และต่อจากนั้น" นักท่องเที่ยวตอบอย่างอิ่มอกอิ่มใจ, "คุณก็สามารถจะนั่งเล่นที่ชายหาดด้วยความรู้สึกสบายอกสบายใจ, พักผ่อนอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็ม่อยหลับหรือสัปหงกไปตามเรื่องตามราวภายใต้แสงอาทิตย์อันอบอุ่น และมองไปยังท้องทะเลอันงดงามไงล่ะ!"
 
คนตกปลาจ้องมองไปที่นักท่องเที่ยวคนนั้น 
 
"แต่นั่นมันไม่ใช่สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ก่อนที่คุณมาถึงที่นี่หรอกหรือ?
 
เผยแพร่ครั้งแรก: วารสารเบิกฟ้า มูลนิธิดำรงชัยธรรม  ฉบับเดือนเมษายน 2556
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนธิ ลิ้มทองกุลระบุ 10 ปีไม่มีรถไฟความเร็วสูง ประเทศไม่เจ๊ง

Posted: 31 Mar 2013 04:10 AM PDT

แถมจะดีขึ้นถ้าพัฒนาเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถ้ามีรถไฟความเร็วสูง และไม่ได้จับปัญหาใหญ่จริงๆ ประเทศไทยเจ๊งแน่นอน - หวั่นเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน ทำประเทศเจ๊งไม่เกิน 4 ปี อัดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหัวกุด-ไม่สามารถเชื่อมเพื่อนบ้านได้จริง และมี "คนใส่หูกระต่าย" อยู่เบื้องหลัง

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ที่มา: แฟ้มภาพ/เอเอสทีวี)

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ "คุยทุกเรื่องกับสนธิ" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ช่วงหนึ่ง ถึงกรณีพันธมิตรฯถูกดำเนินคดีปิดสนามบิน ว่าเป็นเกมซึ่งนายอธิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องการที่จะกั๊กพันธมิตรฯ เพราะเขาคิดว่าจะได้เป็นรัฐบาลต่อไป จึงเอาเชือกมาแขวนคอทุกคนไว้ เพื่อไม่ให้พันธมิตรฯออกมาประท้วง เพราะว่าคำสั่งศาลจะต้องบอกว่าห้ามก่อความวุ่นวาย ห้ามชุมนุม เพราะถ้าทำมีสิทธิถูกถอนประกัน เพราะผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ฉะนั้นผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์ที่ยุให้พันธมิตรฯออกไปชุมนุมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำไมไม่ออกเอง เราจะนั่งให้กำลังใจ ก็ในเมื่อพวกคุณขอยืมมืออัยการล็อกคอเราไว้

"ก็มันจะผิดได้ยังไง เราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เราไม่ได้ไปยึดสนามบิน เราไปประท้วง ตามสิทธิอันชอบธรรมของเรา สนามบินสุวรรณภูมินี่มีแท็กซี่ไปปิดตั้งไม่รู้กี่ครั้ง ไม่ใช่แค่เราคนเดียว แล้วก็ไม่ได้ไปทำอะไร กระจกสักบานก็ไม่ได้แตก เสร็จเรียบร้อยแล้วการส่งมอบคืนสนามบินนั้น เจ้าหน้าที่สนามบิน กรรมการสนามบิน ก็กรรมการของการท่าอากาศยาน ก็มายืนยันกับพี่ลอง บอกว่าทุกอย่างเรียบร้อยหมด คืนดี เสร็จเรียบร้อยเราก็ไม่ได้ไปบล็อก คนจะเดินทางไปต่างประเทศ กรรมการผู้จัดการสนามบินเป็นคนสั่งปิดสนามบินเอง ไม่ใช่เรา ทั้งๆ ที่เวลาตอนนั้นจะมีการไปจาริกบุญที่เมกกะ เรายังจำได้ เราเป็นคนเปิดทางให้เขาเข้าไป แต่เขาตัดสินใจ เขาต้องการปิดเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่าเพราะเรา เขาถึงต้องปิดสนามบิน แต่สมัยที่แท็กซี่มา ทำไมเขาไม่ปิดสนามบิน เขาจงใจไง แล้วในการนำสืบในคดีแพ่ง ทางเจ้าหน้าที่สนามบินเขาก็ยืนยัน ว่าเราไม่ได้ปิด เขาเป็นคนสั่งปิดเอง เขายืนยันด้วยตัวเขาเองนะ" นายสนธิ กล่าวตอนหนึ่งในรายการ

ส่วนกรณี "ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..." เป็นวงเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น นายสนธิกล่าวว่า การที่เป็นรัฐบาลจะทำหนี้ก้อนมโหฬารมันต้องหันกลับมาดูประเทศก่อนว่าปัญหาของประเทศจริงๆ มันอยู่ที่ไหน มันไม่ได้อยู่ที่ไม่มีรถไฟความเร็วสูง และไม่ได้อยู่ตรงที่ต้องขนส่งได้เร็ว แต่ประเทศไทยตอนนี้ต้องพัฒนาคุณภาพคนและพัฒนาการเกษตรให้ยั่งยืน แต่ 2.2 ล้านล้านบาท เราพูดถึงโครงการก่อสร้างทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงการพัฒนาคุณภาพคนเลยแม้แต่นิดเดียว

"ถามว่าถ้าเราไม่มีรถไฟความเร็วสูง อีก 10 ปีค่อยทำ ประเทศไทยเจ๊งไหม ไม่เจ๊ง แต่จะดีขึ้นถ้าพัฒนาเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถ้ามีรถไฟความเร็วสูง และเราไม่ได้ไปจับปัญหาใหญ่จริงๆ ประเทศไทยเจ๊งแน่นอน"

"วันนี้คนบอกว่าเป็นหนี้ 50 ปี มองแต่ว่าต้องผ่อนถึง 50 ปี แต่ผมมองอีกประเด็นนึง สมมุติว่าไม่ถึง 50 ปี ไม่เกิน 4 ปีประเทศไทยเจ๊ง เพราะไอ้หนี้ก้อนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นอะไรรู้ไหม สิ่งที่เกิดขึ้นคือว่า ค่าเงินบาทจะกลายเป็น 38 - 42 บาทต่อ 1 ดอลลาร์เหมือนเดิม ถูกไม่ถูก ประเทศไทยอยู่ในสภาวะล้มละลาย ทรัพย์สินต่างๆ ถูกเลหลังขายหมด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องถูกขายไป องค์การโทรศัพท์ถูกขายไป รัฐวิสาหกิจที่ทำเงินถูกขายไปหมด ปตท.ต้องขายหมด 100 เปอร์เซ็นต์ การบินไทยขายหมด 100 เปอร์เซ็นต์ในราคาถูก และวันนั้นใครจะมาซื้อฝรั่งหัวดำ ที่มันมีเงินรออยู่แล้วจากการซึ่งมันคดโกงไป และเอาเงินออกไปข้างนอก เข้าใจหรือยัง เพราะฉะนั้นแล้วไอ้พวกนี้มันมีทางออกเผื่อของมันไว้เรียบร้อยแล้ว ทำไปถ้าไปก็ดีถ้าไปไม่ได้เจ๊งกูเข้ามาช้อนซื้อ ไม่ใช่เงินกู เงินของประเทศไทยเข้าใจไหม" นายสนธิกล่าว

นายสนธิ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพยายามบอกว่าใช้รถไฟความเร็วสูงขนส่งผัก ถามว่ามูลค่าของผัก ผลไม้ หรือดอกไม้ มันคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์กันของยอดเงินที่ลงไปทำรถไฟ และที่อ้างว่าต้องการเชื่อมภูมิภาค มันหลอกได้เฉพาะคนโง่ วันนี้จีนต้องการให้ไทยทำรถไฟความเร็วสูง เพราะจีนเริ่มจากปักกิ่งลงมาเซี่ยงไฮ้ ลงกวางโจว จะเป็นกวางสี ต่อไปเวียดนาม ผ่านดานัง ลงไปที่ลาว แล้วไปจ่อตรงหนองคาย แล้วถ้าข้ามจากหนองคายก็เชื่อมกับความเร็วสูงของไทย ลงจากหนองคายไปสู่มาเลเซีย จะเป็นสายที่สมบูรณ์ตามที่จีนต้องการ เส้นนี้ต่างหากจะเป็นเส้นที่เชื่อมต่อภูมิภาคนี้ แต่คุณจะไปเชื่อมต่อพม่าหรืออย่างไร จะไปทะลุเทือกเขาตะนาวศรีหรือ บ้าหรือเปล่า มันไม่ได้ มันมีอยู่เส้นเดียว แล้วถ้าเส้นนี้มันเป็นยุทธศาสตร์ที่จีนต้องการทำไมเราต้องเสียเงินหลายแสนล้านเพื่อสร้าง แค่ให้สัมปทานจีนไปสร้างแล้วเก็บค่าเช่าเอา แล้วเรามาทำรถรางคู่ทั้งหมด ให้เชื่อมถึงกัน ใช้เงินไม่กี่แสนล้าน

ทั้งนี้นายสนธิ เสนอในรายการด้วยว่า ควรพัฒนารถไฟรางคู่ที่สามารถทำความเร็วที่ 160 กม. ต่อ ชม. เชื่อมภูมิภาค เพื่อทำให้คนที่ทำงานใน กทม. ย้ายออกไป ซึ่งจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้

"ใช้สูตรที่ผมบอก ถ้าเชียงใหม่ 160 โลมาที่ไหน เชียงใหม่ก็ลงมาได้ ลงมาเกือบๆ ถึงพิษณุโลกถูกไหม ทั้งหมดลงทุนไม่กี่ตังค์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร รถไฟความเร็ว 160 กิโลเท่านั้นเอง รางคู่ เติมอยู่ตรงปราณบุรี เติมไปซื้อบ้านที่ปราณบุรี เติมนั่งรถไฟ 1 ชั่วโมงเข้ามากรุงเทพฯ มาทำงาน พอลงจากสถานีรถไฟ เติมลงสถานีรถไฟใต้ดินไปที่ไหนก็ได้ มาขึ้นเอเอสทีวีมาลงบางลำพู และเดินมาที่ตึก เติมเสร็จแล้วตอนดึกเติมก็นั่งรถไฟกลับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เหมือนที่เขาต้องการให้เกิด ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ อสังหาริมทรัพย์มันเกิดหมดทั่วไปเลย มันเกิดที่ปราณบุรี เกิดที่หัวหินเข้าใจยัง ทุกอย่าง รถคนก็จะย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ มีเมืองใหม่เกิดขึ้น มีชุมชนเกิดขึ้น เบ็ดเสร็จทั้งหมดเศรษฐกิจมันฟื้นฟู มันเกิดขึ้นมาทันที ด้วยเงินเพียงไม่กี่แสนล้านบาท"

"นี่คือปรัชญาการลงทุนไง ทีนี้การลงทุนแบบนี้ หรือการลงทุนแบบสร้างโรงงานทำวัตถุแปรรูปของยางพวกนี้ มันใช้เวลา วันนี้เขาต้องการที่จะทำรถไฟความเร็วสูง ประเภทบ้าๆ บอๆ เชื่อมทุกอย่าง แต่เชื่อมอะไรของมันก็ไม่รู้ ทางเหนือไปจบที่พิษณุโลก ทางอีสานไปจบที่โคราช คุณเชื่อมอะไรของคุณ"

วันนี้ที่รัฐบาลต้องการทำรถไฟความเร็วสูงบอกจะเชื่อมทุกอย่าง แต่เชื่อมอะไรก็ไม่รู้ ทางเหนือไปจบที่พิษณุโลก ทางอีสานไปจบที่โคราช ทั้งที่มันหัวกุด เชื่อมอยู่ได้เพียงจุดเดียวคือหนองคายและเข้าลาว จากลาวเข้าเวียดนาม จากเวียดนามเข้ากวางสี จากกวางสีไปเชื่อมจากจีน มีอยู่แค่นั้นเอง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมันต้องการที่จะใช้เงินประมูล เมื่อเกิดการประมูลแล้วจะมีผลประโยชน์ตามมา เพราะฉะนั้นแล้วตรรกะของการออกแบบทุกอย่าง ไม่มีแม้กระทั่งตัวเลข ไม่มีโมเดลเลย และก็บอกพูดให้ดูสวยหรู

"และถ้าคุณบอกรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ลงเกือบ 4 แสนล้านบาท คุณรู้ว่าผมมาเช็กแล้วสายการบินที่บินจากกรุงเทพฯ ถ้าออกจากสุวรรณภูมิไปเชียงใหม่ วันละ 26 เที่ยว เฉลี่ยมีคนขึ้นประมาณวันละเบ็ดเสร็จ 26 เที่ยว ประมาณ 3,000-4,000 กว่าคน เติมว่า 4,000 คน ถ้ามีรถไฟความเร็วสูง จะมีสักกี่คนนั่งรถไฟความเร็วสูง ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ผมให้ 30 เปอร์เซ็นต์ 1,200 คน มันคุ้มหรือ แล้วเห็นว่าค่าตั๋วแพงกว่าเครื่องบินโลว์คอสต์อีกแล้วใครจะขึ้น"

นายสนธิ กล่าวต่อว่า มันเป็นการใช้เงินเกินตัว ไม่มีเหตุผลในการลงทุนเลยแม้แต่นิดเดียว ตรรกะในการสร้างเส้นทางโน้นเส้นทางนี้ ทำขึ้นมาเพื่อแค่ให้ความชอบธรรมในการกู้เงินแค่นั้นเอง แล้วพูดแบบสร้างฝัน เป็นสไตล์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บอกเพื่อการแข่งขันในอนาคต เราจะไปแข่งอะไรกับใครได้ถ้าคุณภาพของคนยังห่วย และที่สำคัญต้องเจียมเนื้อเจียมตัวในการใช้เงิน

"คือพูดแบบสร้างฝัน เป็นสไตล์ของทักษิณ ชินวัตร และเป็นสไตล์ของคนใส่หูกระต่าย นิสัยแบบเดียวกัน นิสัยแบบเดียวกันเลย มันต้องเชื่อมอย่างโน้น ต้องเชื่อม เพื่อการแข่งขันในอนาคต เราจะไปแข่งขันอะไรกับใคร คุณจะไปแข่ง การที่คุณมีระบบคมนาคมที่ดี ที่คุณฟุ้งเฟ้อว่าดี แต่คุณภาพของคนแม่งห่วย คุณจะแข่งอะไรกับเขา"

สรุปทั้งหมดที่พูดมา กู้มาเพื่อโกง เหตุผลที่เขียนมาโกหกทั้งสิ้น ต้องการกู้มาเพื่อมีการประมูลแล้วโกงกัน เพราะถ้ากู้เพื่อพัฒนาประเทศจริง ข้อแรกต้องคำนึงสถานภาพทางความมั่นคงทางการเงินของเรา วันนี้ถ้าหบวกกับที่กู้มาทำเรื่องน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หนี้ต่อจีดีพีของเราแตะที่ 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว และเศรษฐศาสตร์ของประเทศก็ไม่มีใครออกมาพูด ถ้านักวิชาการไทยเก่งแต่เฉพาะในห้องเรียนแบบนี้ อย่ามีดีกว่า

ในรายการ นายสนธิ ยังกล่าวถึง น.ส.กานดา นาคน้อย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเน็ตทิคัต สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขียนบทความเรื่อง "กานดา นาคน้อย: ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน" โดยกล่าวว่า "เขากล้าพูด และเขาก็พูดมีเหตุมีผลด้วย ผมค่อนข้างยอมรับการวิเคราะห์ของเขา ใช้ได้ แต่ไอ้นักเศรษฐศาสตร์คนอื่น มันอมหัวแม่ตีนอยู่หรือไง นี่คือบทบาทนักวิชาการ ถ้าเรามีนักวิชาการไทยที่ตู้แบบนี้ โง่แบบนี้ ไม่ใส่ใจแบบนี้ เก่งเฉพาะในห้องเรียน เก่งเฉพาะนั่งออกทีวี อธิบายเรื่องจีดีพี อย่ามีดีกว่า" 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนบ้านหัวทุ่ง จัดงานความรู้คู่ภูมิปัญญา ย้ำชุมชนพึ่งพาตนเองได้

Posted: 30 Mar 2013 09:50 PM PDT

 


"จะสังเกตว่าในช่วงหน้าแล้ง หมู่บ้านอื่นเจอกับปัญหาภัยแล้ง แต่หมู่บ้านของเราไม่เจอปัญหาภัยแล้งเลย เพราะเราดูแลป่าต้นน้ำ มีน้ำซับไหลออกมาจากดอยหลวงเชียงดาว แล้วยังไหลไปหล่อเลี้ยงชาวบ้านข้างล่างอีก 4-5 หมู่บ้าน นอกจากนั้น เรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่าเราแก้ไขได้ เราก็ช่วยกันทำแนวกันไฟ ไฟไหม้พื้นที่ไหนเราก็พากันไปช่วยกันดับ ทุกวันนี้ เราจึงบอกได้เลยว่า เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้"

นายสุขเกษม สิงห์คำ
ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหัวทุ่ง
อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ชาวบ้านชุมชนบ้านหัวทุ่ง หมู่ 14 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT-I สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ กศน.จังหวัดเชียงใหม่ จะได้ร่วมกันจัดงาน"ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน" ณ ลานกีฬา โรงเรียนบ้านทุ่งละคร อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

โดยงานดังกล่าวมีกิจกรรมหลากหลาย  อาทิเช่น โดยภายในงาน มีการสาธิต ถ่ายทอด เพื่อสื่อสารภายใต้แนวคิด ชุมชนจัดการความมั่นคงทางอาหารสู่การพึ่งตนเองโดยแบ่งเป็น 6 โซน ได้แก่ (1) ดิน น้ำป่า (2) คน วัฒนธรรม สุขภาพ (3) เกษตรพึ่งตนเอง (4) การท่องเที่ยว (5) อาหารท้องถิ่น และ (6) ข้อมูลชุมชนพึ่งตนเอง(รวมเรื่องเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ) รวมทั้งการขายสินค้าพื้นบ้านภายใต้แนวคิดการจัดงาน ได้เน้นผักพื้นบ้านและสมุนไพร เป็นหลัก

โดยงานดังกล่าว มีวงเสวนา"ความรู้คู่ภูมิปัญญาสู่การจัดการชุมชนอย่างยั่งยืน" โดยได้มีการหยิบยกผลงานวิจัย "โครงการวิจัยการปรับตัววิถีพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากรของชุมชนบ้านหัวทุ่ง" ที่ชาวบ้านบ้านหัวทุ่งได้เป็นผู้วิจัย โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ภาคเหนือ เป็นฝ่ายหนุนเสริม ซึ่งแน่นอนทำให้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยเพื่อชุมชน โดยคนในชุมชนอย่างแท้จริง

นางหล้า ศรีบุญยัง ปราชญ์ชาวบ้านบ้านหัวทุ่ง ได้บอกเล่าให้ฟังว่า ทำไมคนบ้านหัวทุ่งถึงลุกขึ้นมาดูแลผืนดินผืนป่าและสายน้ำ ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ก็เพราะว่าป่านั้นเป็นปัจจัยสี่ มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนบ้านหัวทุ่งมาโดยตลอด

"เมื่อก่อนนั้น บ้านหัวทุ่งของเรานั้นต้องเจอกับปัญหามาตั้งแต่ยุคแรกๆ คือยุคสัมปทานป่า โดยรัฐได้ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสัมปทานป่า ตัดไม้สักออกไปจนหมด เหลือไว้เพียงไม้กระยาเลย ไม้แงะ ไม้เหียง ไม้ตึง ต่อมา หลังจากนั้น รัฐก็ยังให้ทาง อ.อ.ป.(องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้)เข้ามาสัมปทานป่าต่ออีก ทำให้ผืนป่านี้ลดหายลงไปอย่างมาก ประกอบกับชาวบ้านสมัยนั้นก็ได้บุกเบิกที่ดินทำกิน ถางป่าเพื่อทำใช้ทำไร่ ทำให้ป่าหาย และเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำแห้ง ทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นปัญหาและได้ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ จนเกิดป่าชุมชนบ้านหัวทุ่งขึ้นมาในช่วงปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งพื้นที่ป่าชุมชนนี้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว แต่ทางชาวบ้านได้ตัดสินใจร่วมกันว่าขอจัดทำเป็นป่าจึงได้ประสานงานเพื่อขอใช้พื้นที่ตรงนี้มาเป็นป่าชุมชน ให้ชาวบ้านช่วยกันจัดการดูแลกันเอง"

ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ ปลาสุวรรณ ตัวแทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ป่าไม้เป็นของเราทุกคนที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ และที่พื้นที่ป่าบริเวณนี้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก็เพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ไม่ให้มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า ส่วนกรณีที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำเป็นป่าชุมชนนั้น ในทางกฎหมายในขณะนี้ ก็ยังถือว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ชุมชนสามารถเข้ามาช่วยกันดูแลได้ ก็เนื่องจากว่า โดยลำพังจะให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปดูแลพื้นที่ป่าทั้งหมด กำลังเจ้าหน้าที่เราก็ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าหากชาวบ้าน ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าก็ยิ่งเป็นส่วนดี โดยเฉพาะในเรื่องของการฟื้นฟู ปลูกป่าเสริม เป็นต้น

ในขณะที่ นายสุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านหัวทุ่ง ก็ได้บอกเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนว่า ในช่วงที่ตนเองได้เข้ามาเป็นผู้นำชุมชน ถือว่าเป็นยุคสืบสานพัฒนา เป็นการสานต่องานมาจากผู้นำรุ่นก่อนๆ ตั้งแต่สมัยพ่อหลวงติ๊บ ศรีบุญยัง ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้มีป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง จนมาถึงยุคของพ่อหลวงประจักษ์ บุญเรือง แล้วก็มาถึงรุ่นของตนในตอนนี้

ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่งคนปัจจุบัน บอกเล่าให้ฟังว่า ซึ่งถ้าหากย้อนกลับไปในช่วงยุคแรกๆ นั้น ชุมชนชาวบ้านหัวทุ่งได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของป่าชุมชนกันมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มาถึงตอนนี้ หมู่บ้านของเรามีความพร้อมในเรื่องฐานทรัพยากรในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดิน น้ำ ป่า เราช่วยกันจัดการดูแลกันอย่างจริงจัง

"จะสังเกตว่าในช่วงหน้าแล้ง หมู่บ้านอื่นเจอกับปัญหาภัยแล้ง แต่หมู่บ้านหัวทุ่งของเราไม่เจอปัญหาภัยแล้ง เพราะเราดูแลป่าต้นน้ำ มีน้ำซับไหลออกมาจากดอยหลวงเชียงดาว แล้วยังไหลไปหล่อเลี้ยงชาวบ้านข้างล่างอีก 4-5 หมู่บ้าน นอกจากนั้น เรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่าเราแก้ไขได้ เราก็ช่วยกันทำแนวกันไฟ ไฟไหม้พื้นที่ไหนเราก็พากันไปช่วยกันดับ ทุกวันนี้ เราจึงบอกได้เลยว่า เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เพราะเราทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้เราพึ่งพาตนเองได้" ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวทุ่ง บอกเล่าให้ฟัง

ด้านนางสาวจิราวรรณ คำซาว ซึ่งถือว่าเป็นแกนนำเยาวชนของชุมชนบ้านหัวทุ่ง ก็ได้บอกเล่าทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาของชุมชนบ้านหัวทุ่งในอนาคตว่า ตนเองเป็นเยาวชนรุ่นแรกๆ ตั้งแต่มีการก่อตั้งหมู่บ้านหัวทุ่ง อายุ 14-15 ปี ก็ได้รับการปลูกฝัง ปลุกจิตสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนจากผู้ใหญ่มาโดยตลอด มีการเรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกป่า พิธีกรรม ความเชื่อ การเลี้ยงผีขุนห้วย การบวชป่า เป็นต้น

"จนกระทั่งได้มีโอกาสออกจากหมู่บ้าน เข้าไปเรียนหนังสือในระดับอุดมศึกษาในเมืองเชียงใหม่ เมื่อเลือกเรียนสาขาชีววิทยา ในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าในพื้นที่ชุมชนบ้านหัวทุ่งของเราก็มีหลายเรื่องให้เรียนรู้ศึกษา และเห็นว่ายังมีปัญหาหลายอย่างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็ได้มาปรึกษากับทางพ่อหลวงสุขเกษม สิงห์คำ และแม่หล้า ศรีบุญยัง ซึ่งผู้ใหญ่ทั้งสองก็ให้โอกาสเราได้แสดงศักยภาพในการทำงานในชุมชนอย่างเต็มที่ จึงได้มีส่วนในการช่วยเขียนโครงการขอทุนกับทาง สกว.ภาคเหนือ แล้วได้ดึงน้องๆ เยาวชนเข้ามา ชวนนักศึกษาเข้ามาเป็นเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรมนับตั้งแต่นั้นมา"

จากการขับเคลื่อนกิจกรรมภายในหมู่บ้านมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยพลังของชาวบ้านหัวทุ่ง จากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับรางวัลมากมายหลายรางวัล โดยเฉพาะเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา ปี 2555 จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมควบคุมมลพิษ หรือรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านปลอดการเผา "ชุมชนสีเขียว" ระดับจังหวัด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมาอีกด้วย

และแน่นอนว่า ในที่สุดแล้ว หมู่บ้านหัวทุ่งได้ตกลงใจกันว่าจะขับเคลื่อนชุมชนให้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ จะร่วมกันอนุรักษ์ฐานทรัพยากรในชุมชนของตนเองให้มีทิศทางที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเน้นให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวต้นแบบเชิงนิเวศ

"เราตั้งใจอยากจะให้ชุมชนบ้านหัวทุ่งนั้นได้มี 6 ดี 6 ด้านด้วยกัน นั่นคือ ป่าดี น้ำดี ดินดี อากาศดี อาหารดี และคนดี ซึ่ง ณ เวลานี้เรามีครบทุกอย่างแล้ว" ตัวแทนเยาวชนบ้านหัวทุ่ง บอกเล่าให้ฟัง

ในขณะที่ นางสาวเบญจวรรณ วงศ์คำ ตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น พื้นที่บ้านหัวทุ่งนั้นเคยมีการทำวิจัยกันเยอะมาก แต่คนนอกเป็นคนทำวิจัย ชาวบ้านเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น แต่งานวิจัยครั้งนี้ เราได้ให้ชาวบ้านบ้านหัวทุ่งได้ใช้ศักยภาพของตนเอง เป็นผู้ลงมือทำวิจัยชุมชนด้วยตนเอง งานวิจัยชิ้นนี้จึงเหมือนกลับไปสำรวจตรวจสอบ ค้นหารากเหง้า ภูมิปัญญาของตนเองอีกครั้ง

"จะเห็นได้ว่า พอชาวบ้านได้ลงมือทำงานวิจัยกันเอง ทำให้รู้ว่ามีภูมิปัญญา ความรู้ของชาวบ้านมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจหลงลืมกันไปบ้าง บางข้อมูลก็จะพบว่าปัญหาเก่าเปลี่ยน ปัญหาใหม่เข้ามา ฉะนั้น งานวิจัยของชาวบ้านครั้งนี้ก็จะทำให้ชาวบ้านรู้ทิศทางในการจัดการกับปัญหา ค้นหาสาเหตุ และมีการบันทึกเอาไว้ ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้ทำงานซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ใช้ความรู้สึก แต่ได้นำงานวิจัยมาปรับใช้ในการทำงาน เป็นเครื่องมือในการทำงานให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี"

ตัวแทน สกว.ภาคเหนือ บอกในตอนท้ายอีกว่า งานวิจัยจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้นั้น ชุมชน ชาวบ้านจะต้องมีความพร้อมและมองเห็นปัญหาในชุมชนของตนก่อน ในขณะทาง สกว.นั้นเป็นเพียงตัวหนุนเสริม ลงมาสนับสนุนให้เกิดกระบวนการงานวิจัย แล้วให้ชาวบ้าน คนในชุมชนได้ร่วมกันทำจนสำเร็จลงได้ นอกจากนั้น ภาคีองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้นำงานวิจัยนี้ไปพัฒนาต่อยอด สานต่อก็จะทำให้งานวิจัยนั้นมีคุณค่ามากยิ่งๆ ขึ้น

ด้านนายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ปลัดอำเภอเชียงดาว  กล่าวว่า เชื่อว่างานวิจัยของชาวบ้านบ้านหัวทุ่งชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ในหมู่บ้านหัวทุ่งเท่านั้น แต่จะช่วยตอบโจทย์ให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ได้ว่า ทำอย่างไรชาวบ้านในชุมชนจึงจะอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง บนฐานทรัพยากรในชุมชน ลดการพึ่งพาคนอื่นและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร อาชีพ และสุขภาพอนามัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน หมู่บ้านอื่นๆ ได้

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai