ประชาไท | Prachatai3.info |
- ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
- ไต่สวนคดีฟาบิโอนัดสุดท้าย นักข่าวดัทช์ถูกยิงในเหตุการณ์ยันกระสุนมาจากฝั่งทหาร
- จดหมายขอบคุณผู้บริหารไทยพีบีเอสที่ช่วยให้สังคมตาสว่าง
- จอม เพชรประดับ: ไทยพีบีเอส ควร หรือ มิบังควร วิจารณ์ “กษัตริย์”
- รักเท่าชีวิต:วิจักขณ์ พานิช สัมภาษณ์ ประมวล เพ็งจันทร์
- ภิญโญ ประกาศ"สละรายการ รักษาหลักการ" ถอนรายการตอบโจทย์ ฯ
- ทหารพม่าโจมตีฐานกองกำลังไทใหญ่ RCSS/SSA ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน
- แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยขอบคุณกลุ่ม “คนไทยผู้รักชาติ”
- ความตายของ เอียง สารี กับอนาคตของความยุติธรรมในกัมพูชา
Posted: 16 Mar 2013 05:40 AM PDT "เรายินดีเลือกที่จะสละรายการ เพื่อรักษาหลักการ เรายินดีที่จะถูกประนาม คุกคาม เพื่อจะจุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขลาดกลัวต่อการสนทนาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้สว่างไสว เพื่อนำการกล่าวร้ายโจมตีในที่มืดออกสู่ที่แจ้ง ให้คนได้ถกแถลงแสดงเหตุผลและหักล้างกันด้วยปัญญา มิใช่อารมณ์" 16 มี.ค.56, ประกาศ"สละรายการ รักษาหลักการ" ถอนรายการตอบโจทย์ ฯ |
ไต่สวนคดีฟาบิโอนัดสุดท้าย นักข่าวดัทช์ถูกยิงในเหตุการณ์ยันกระสุนมาจากฝั่งทหาร Posted: 16 Mar 2013 05:10 AM PDT เบิกพยานปากสุดท้ายคดี "ฟาบิโอ" ช่างภาพชาวอิตาลี เหยื่อกระสุน 19 พ.ค.53 มิเชล มาส นักข่าวชาวดัทช์ ผู้ถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์ ยันกระสุน M16 มาจากฝั่งทหาร น้องสาวฟาบิโอขอบคุณผู้มีส่วนผลักดันคดี ศาลนัดฟังคำสั่ง 29 พ.ค.นี้ 15 มี.ค.56 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 602 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดี ช.10/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาลี เพื่อทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยนายฟาบิโอถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) บริเวณแยกศาลาแดงถึงราชประสงค์ โดยในวันนี้มีการสืบพยานปากสุดท้าย นายมิเชล มาส นักข่าวชาวดัทช์ ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่เป็นเวลาและสถานที่ที่ถูกยิงใกล้เคียงกับที่นายฟาบิโอ ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากเบิกความแล้ว ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 พ.ค. 56 นี้ เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เนื่องจากพยานหลักฐานเพียงพอที่จะทำคำสั่งแล้ว มิเชล มาส สำหรับนายมิเชล มาส ได้เบิกความโดยสรุปว่า พยานเป็นนักข่าวอยู่ที่ เอ็นโอเอสเรดิโอแอนด์เทเลวิส ดูแลพื้นที่ทำข่าวในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเริ่มเข้ามาทำข่าวในไทยปี 2548 และ ปี 2553 มาทำข่าวการประท้วงของกลุ่มเสื่อแดงในไทย ช่วงเดือน พ.ค. ทำงานบริเวณที่มีการชุมนุมมาหลายวันแล้ว โดยพักโรงแรมอมารี วอเตอร์เกท ที่อยู่บริเวณ ถนนเพชรบุรี ย่านประตูน้ำ โดยทำข่าวตั้งแต่บริเวณดังกล่าวถึงสวนลุมพินี ในวันที่วันที 19 พ.ค.53 ช่วงเช้าพยานได้ดูข่าวโทรทัศน์ ได้ทราบว่าทหารได้บุกมาบริเวณสี่แยกศาลาแดง มีรถทหาร เคลื่อนที่เข้าทำลายแนวกั้นของผู้ชุมนุมเสื้อแดง จึงตัดสินใจเข้าไปในที่เกิดเหตุ และดูเหตุการณ์ อยู่ใกล้โรงแรม รีเจ้นท์ เฮ้าส์ ร่วมกับนักข่าวกลุ่มอื่น และบริเวณนั้นมีผู้ชุมนุมเสื้อแดงด้วย ซึ่งขณะนั้นมองไปที่แยกศาลาแดงเห็นกลุ่มทหาร แต่งกายในเครื่องแบบและพกอาวุธปืนติดตัวด้วย ห่างออกไปประมาณ 400-500 เมตร และขณะนั้นเกิดเหตุ พยานแต่งกายปกติ เสื้อเชิ๊ตสีชมพู แต่ไม่ได้มีสัญญาลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นนักข่าว โดยมีครื่องบันทึกเสียงและโทรศัพท์ที่สามารถถ่ายภาพได้ติดตัว ขณะนั้นพยานได้ยินเสียงปืนและเห็นคนบาดเจ็บ ขณะได้ยินเสียงปืน พยานหลบข่างๆ บริเวณใกล้เคียง แต่ยังอยู่บริเวณเดิม โดยเสียปืนนั้นมีหลายนัด มาจากทางฝังทหารที่กำลังเคลื่อนเข้ามา โดยมีทิศทางที่มาบริเวณศาลาแดง มุ่งไปที่บริเวณสีแยกราชประสงค์ และได้ยินเสียงคนร้องในที่เกิดเหตุ ได้ยินเสียงทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ช่วงที่มีเสียงปืนนั้น เวลาประมาณ 11.20 น. พยานได้หาที่หลบโดยหันหน้ามุ่งไปทางสีแยกราชประสงค์ และถูกยิงที่หลัง ด้านขวา หลังจากนั้นมีคนพาขึ้นรถจักรยานยนต์ไปโรงพยาบาลตำรวจ ขณะถูกยิงพยานกำลังรายงานสดไปที่สถานีวิทยุที่พยานจัดอยู่ด้วย หลังจากนั้นมีการผ่านำหัวกระสุนออกภายหลังการรักษาที่ โรงพยาบาลสมิติเวชมีการนำภาพหวักระสุนส่งศาล และหัวกระสุนดังกล่าวได้มอบให้กับดีเอสไอ โดยผู้เชี่ยวชาญบอกกับพยานว่า เป็นหัวกระสุน M16 เหตุที่ไม่ได้ผ่ากระสุนออกในทันทีแพทย์บอกว่าเนื่องจากกระสุนอยู่ในตำแหน่งที่ไม่อันตราย การผ่าออกภายหลังจึงปลอดภัยกว่า เบิกความต่อศาลด้วยว่าพยานได้เคยให้สัมภาษณ์กับ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ระบุว่า "ไม่เคยเห็นชายชุดดำในที่ชุมนุมเลยและกระสุนมีทิศทางมาจากฝั่งทหาร" ซึ่งหมายถึงทหารที่อยู่บริเวณสี่แยกศาลาแดง นายมิเชล มาส เบิกความว่าไม่ได้เห็นขณะที่นายฟาบิโอถูกยิง และไม่รู้จักนายฟาบิโอมาก่อน แต่ทราบภายหลังว่าบุคคลที่ถูกยิงบริเวณนั้นเวลานั้นประมาณ 11.00 - 11.20 น. ชื่อฟาบิโอ โดยก่อนหน้านี้พยานได้เคยให้ปากคำกับตำรวจและ ดีเอสไอ อิซาเบลลา โปเลงกี อิซาเบลลา โปเลงกี น้องสาวของฟาบิโอ ได้เดินทางจากอิตาลีมาร่วมฟังการสืบพยานด้วย กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังสืบพยานปากสุดท้ายในคดีเสร็จว่า พยานที่จะมาเบิกความนั้น หลายๆ ปาก เป็นพยานที่ดี แต่ศาลตัดออก(ศาลได้มีการตัดพยานโจทย์ไป 10 ปาก และพยานของทนายญาติผู้ตายไป 2 ปาก) จึงไม่ได้ขึ้นให้ปากคำต่อศาล อย่างไรก็ตามตนก็คาดหวังว่าศาลได้หลักฐานทั้งหมดครบแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ตนจะรอคำสั่งศาล หวังว่าคนไทยจะได้ทราบว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นจริงๆ และได้มีการเผยแพร่ความจริงนั้นไปทั่วโลกด้วย โดยปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก แม้กระทั้งอิตาลีก็ประสบปัญหานี้ หวังว่าเหตุการณ์ที่พี่ชายตนต้องเสียชีวิตนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก ท้ายที่สุดอยากให้คดีของฟาบิโอเป็นคดีของพวกเราทุกคนมากกว่าเป็นเพียงคดีของตนเอง ขอบคุณและซาบซึ้งกับทุกคนที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือตนและคดีนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จดหมายขอบคุณผู้บริหารไทยพีบีเอสที่ช่วยให้สังคมตาสว่าง Posted: 16 Mar 2013 03:31 AM PDT
เรียน บรรดาท่านผู้บริหารโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส
ปล. 1 มีผู้ชมในทวีตภพ ( @iGanesha) เพิ่งทวีตถึงผมว่าด้วยเรื่องนี้ดังนี้ครับ: 'เซ็นเซอร์และสั่งปิดหรือบล้อคเว็บ/ข่าว คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าไทยยังอยู่ใต้อุ้งตีนเผด็จการ แต่ที่ท้อแท้สุด คือ มีสื่อบางแห่งอาสาเชื่องเอง' ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
จอม เพชรประดับ: ไทยพีบีเอส ควร หรือ มิบังควร วิจารณ์ “กษัตริย์” Posted: 16 Mar 2013 02:17 AM PDT การตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์" ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 ซึ่งออกอากาศต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 11 – 15 มีนาคม โดยตอนที่ 4 ได้ออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา มีการเชิญ อาจารย์ ส.ศิวลักษณ์ และ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างน่าสนใจยิ่ง แม้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่รายการ ตอบโจทย์ พยายามที่จะนำประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดของสังคมไทย และเป็นประเด็นที่มีผลอย่างสำคัญที่สุดต่ออนาคตของประเทศไทย มานำเสนอ ผ่านการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีความรู้ในเรื่องนี้จริง มาพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยพยายามให้น้ำหนักในเหตุผล และข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและสมดุลที่สุด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในฟรีทีวี.ช่องใดมาก่อน แต่ครั้งนี้ แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา จนนำมาซึ่งการชุมนุมต่อต้านของกลุ่ม "คนไทยหัวใจรักชาติ" ทำอย่างไรถึงจะให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยดำรงอยู่ได้อย่างปลอดภัยในสังคมไทยที่จะเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นนับจากนี้ไป ขณะเดียวกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งนับวัน ยิ่งเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ลงไปเรื่อย ๆ ถ้ามองอย่างคนที่เห็นคุณค่าของ สถาบันพระมหากษัตริย์ จะเข้าใจ และรู้ได้ทันทีว่า อาจารย์ทั้งสองท่าน หรือ แขกรับเชิญท่านอื่น ๆ ที่เชิญมาออกอากาศก่อนหน้านี้ ล้วนแล้ว พยายามที่จะค้นหาวิธีการในการที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้ สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ไม่เป็น ปฎิปักษ์ กับ กระแสโลกาภิวัตน์ นี่ต่างหากละ ที่เป็นวิธีการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่ดีที่สุด แต่ทำไม หน่วยงาน หรือ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถึงได้นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ ไม่ได้ใส่ใจอย่างจริง ต่อ กระแสแห่งความผลิกผัน ความเปลี่ยนแปลง ที่โหมกระหน่ำ กระแทก สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่ตลอดเวลา แน่นอน เป็นเพราะ ทุกคนกลัว ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า ความกลัวนำมาซึ่งความเสียหาย ความเสื่อม และความล่มสลายในที่สุด พอเข้าใจได้หากเป็นความกลัวที่เป็นประชาชนทั่วไปรู้สึก แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะไร องค์กร หรือ บุคคลที่มีบทบาท มีความรู้และหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้ กลับถูกครอบคลุมไปด้วย "ความกลัว" เช่นกัน แต่ก็เข้าใจในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้บริหารไทยพีบีเอส ได้พิจารณาถึงความเที่ยงตรง ความเป็นธรรม ความเป็นกลาง ของการเป็นสื่อสาธารณะแล้ว ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารและพนักงานไทยพีบีเอส จะได้กลับมายืนอยู่บนหลักการและข้อบังคับแห่งจริยธรรมวิชาชีพอย่างเข้มแข็ง ต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้ต่อสู้กับ พลังอำนาจ หรือ กลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ กลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง กลุ่มใด มาทำให้หลักการสำคัญแห่งวิชาชีพต้องบิดเบี้ยวไปอีกในอนาคต เพราะหาก ไทยพีบีเอส ซึ่งถูกออกแบบให้เป็น สื่อสาธารณะ ที่เป็นต้นแบบ หรือ เป็นแม่แบบของสื่อมวลชนทุกแขนงในประเทศไทย แต่หากยอมจำนน ต่อการข่มขู่ คุกคาม จากกลุ่มพลังทางการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ได้แล้ว ก็ยิ่งจะเป็นการทำลาย ความเชื่อถือศรัทธา ที่ประชาชนมีต่อสื่อสารมวลชนทุกแขนงในประเทศนี้ในอนาคตอย่างแน่นอน ด้วยภารกิจที่สำคัญและยิ่งใหญ่นี้เอง ไทยพีบีเอส จึงถูกออกแบบให้มีกฎหมาย คุ้มครองความเป็นอิสระของการปฎิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพไว้อย่างชัดเจน ทั้งในตัวพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ( ม.42 และ ม43 ) รวมทั้งข้อบังคับที่ว่าจริยธรรมขององค์กรที่เน้น เรื่องความยุติธรรม ความเป็นอิสระ หลักสิทธิมนุษยชน และความเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะเรื่องของ "ความเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมือง หรือ กลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ" แต่ครั้งนี้ ต้องให้กำลังใจ และยอมรับว่า ผู้บริหารของ ไทยพีบีเอส พยายามพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า ดอกไม้ แม้จะออกมาจากปลายกระบอกปืน แต่หากสังคมไทยไม่ติดยึดกับที่มาจนไร้เหตุผลจนเกินไป ดอกไม้ ก็สามารถหน้าที่สร้างโลก ให้สวยงาม และสร้างความหวังให้กับมวลมนุษย์ได้เช่นเดียวกับดอกไม้ทั่วไป ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
รักเท่าชีวิต:วิจักขณ์ พานิช สัมภาษณ์ ประมวล เพ็งจันทร์ Posted: 16 Mar 2013 02:06 AM PDT หลังจากการตัดสินใจงดออกอากาศ รายการตอบโจทย์ : ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ของผู้บริหาร Thai PBS โดยอ้างว่าไม่ต้องการขยายความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดให้ลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า ความรัก ความเทิดทูน ความปรารถนาดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันนั้น เอาเข้าจริงสามารถเกิดขึ้นในรูปแบบใดได้บ้าง? ทำไมการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่อภิปรายถกเถียงกันในที่แจ้งบนพื้นที่สาธารณะ จึงสามารถถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า และการสร้างความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลาย ทว่ากลับไม่สามารถถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของความรัก ความเทิดทูน และความปรารถนาดี ที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ "รักเท่าชีวิต" คือ บทสนทนาว่าด้วยความรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เท่าชีวิต ซึ่งอาจจะช่วยเปิดมุมมองที่น่าสนใจว่า การที่เราจะรักและเทิดทูนสิ่งใดเท่าชีวิต ด้วยหัวใจที่ยอมรับและเผชิญสัจธรรมความจริงอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะช่วยให้เกิดท่าทีและบรรยากาศของสติปัญญา การอยู่ร่วมกัน/ทุกข์ร่วมกัน และความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่างได้อย่างไร?
___________________ วิจักขณ์: อย่างตอนนี้สลายการชุมนุมสำเร็จเรียบร้อย เสื้อแดงกลับบ้าน เราได้ยินบทเพลง "ขอความสุขคืนกลับมา" มี Big Cleaning Day มีมิวสิควีดีโอผู้คนยิ้มแย้ม เชิญชวนให้คนไทยรักกัน สามัคคีกัน ปรองดองกัน ... แล้วเราจะรักกันได้จริงไหมครับ
อ.ประมวล: เวลาได้ยินคนพูดว่า "คนไทยรักกัน" คำเหล่านี้ถูกใช้เพื่อจะให้ไม่ต้องไปสนใจเรื่องของปัจเจก การพูดเหมารวมในเชิงสังคมแบบนี้มันง่ายกว่า …แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก ที่จะให้มาคืนดีกัน ... "คืนดีกัน" คือ... (นิ่งนาน) .... คือ อะไร? (หัวเราะ) คำว่า "ปรองดอง" จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่เรายังคิดว่าฝั่งหนึ่งผิด แล้วรู้สึกว่าคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้นมันแย่มากๆ
ผมยกตัวอย่างนะ ถ้าสมมติผมรักในหลวง เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ แล้วถ้ามีใครสักคนบอกว่าสถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็น เป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมที่แพงมากที่เราต้องจ่ายเพื่อรักษาสถาบันนี้ไว้ ความรู้สึกของผมคืออะไร? ... นี่ขอโทษ ผมพูดจากประสบการณ์ของผมเองจริงๆ นะครับ ผมก็รู้สึกเหมือนคนทั่วๆ ไป ที่มีความรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกันผมก็มีเพื่อนรักจำนวนมากที่โดยทัศนะของเขาคือ มันเป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมที่แพงมากที่เราต้องจ่ายเพื่อรักษาสถาบันนี้ไว้ เป็นต้นทุนทางสังคมที่แพง แต่ไม่ได้เกื้อกูลประชาชน
วิจักขณ์: แต่การเข้าใจ มีอารมณ์ร่วมแบบนั้น ก็ไม่ได้ทำให้อาจารย์สูญเสียจุดยืนของอาจารย์เอง ซึ่งตรงนี้ดูเหมือนอาจารย์บอกว่า ก็ยังรู้สึกรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์
อ.ประมวล: ผมมีความรู้สึกของผมเองอีกส่วนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงที่เพื่อนผมพูด ผมไม่ปฏิเสธเลย แต่มันมีความหมายอีกความหมายหนึ่ง ความหมายที่… ขอโทษนะครับ คนแก่บ้านผมเนี่ย ไหว้ในหลวงไม่ต่างอะไรจากไหว้พระนะ หรือลึกๆแล้วอาจมีความรู้สึกลึกยิ่งกว่าพระภิกษุในพุทธศาสนาเสียอีก รูปในหลวงที่อยู่ที่บ้านเนี่ย มันเป็นอะไรที่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่มาก ขอโทษ ผมจะรู้สึกไปได้อย่างไรว่าป้าผม แม่ผม ยายผมเหล่านั้น ช่างโง่เง่าเสียเหลือเกิน (หัวเราะ) ไม่ ไม่.. ผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย ผมรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ละเอียด ที่ลึกซึ้งมาก ที่คนแก่ๆที่ผมเคารพรักเหล่านั้นมีความรู้สึกแบบนั้น ไม่ได้เป็นความรู้สึกที่แกล้ง แต่เป็นความรู้สึกจริงๆ ที่ว่า นี่คือเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินของพวกเขา
วิจักขณ์: ผมเข้าใจประเด็นอาจารย์นะครับ คือถ้าเป็นมิติของปัจเจก มันก็พอเข้าใจได้ ใครจะรู้สึกยังไงเราก็เคารพ หรือรู้สึกร่วมไปกับเขา ส่วนเราจะรู้สึกยังไงนั่นก็เป็นความรู้สึกของเรา แต่พอเป็นในมิติทางสังคมแล้วเนี่ย มันก็มีเรื่องกฏกติกาการอยู่ร่วมกัน ความเป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางการเมือง ที่เป็นพลวัตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางต่างๆ มันนอกเหนือไปจากแค่ คนคนนี้รักคนคนนี้ คนคนนี้ไม่รักคนคนนี้ แต่มันมีกฏหมายอาญามาตรา 112 มีค่านิยมทางสังคม ระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมโหนเจ้า และอะไรที่ตามมาอีกมากมาย ซึ่งสำหรับคนจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกว่าสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่เป็นอยู่ คืออุปสรรคต่อการที่สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้า มีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับคนเล็กคนน้อยอยู่ ซึ่งพวกเขาก็ต้องต่อสู้ เคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่อีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็รักของเขาแบบนี้ แถมทุกวันนี้ไม่รักก็ไม่ได้ด้วย อ.ประมวล: อืม.. มันเหมือนฝ่ายหนึ่งก็อยากให้หยุดอยู่ตรงนี้ อีกฝ่ายก็อยากให้เคลื่อนไปตรงโน้น เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่สองที่พร้อมๆ กัน
วิจักขณ์: ใช่ครับ ถ้ามันเลื่อนไปตรงโน้น [เลื่อนแก้วน้ำ] คนที่อยากให้มันแช่แข็งอยู่ตรงนี้ก็ย่อมไม่พอใจแล้ว (อ.ประมวล: ใช่ ใช่) มีคนบอกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีตรงกลาง ไม่เลือกข้างไม่ได้ ...แล้วแบบนี้จะทำไงครับ
อ.ประมวล: (นิ่งคิด) … ผมอาจจะมีคำตอบที่ไม่ชัดเจนนัก แต่เดี๋ยวเราก็คุยกันต่อได้… มันเป็นความรู้สึกของผม ที่ของเนี่ยจะอยู่ตรงนี้ก็ได้ ตรงนั้นก็ได้ ผมไม่ได้มีความรู้สึกว่าของชิ้นนี้ที่ถูกต้องเนี่ย จะต้องอยู่ตรงนี้เท่านั้น ห้ามไปอยู่ที่อื่น ....ความคิดของผมมันอาจจะดูคลุมเครือมาก ราวกับว่ากำลังจะมีความขัดแย้งในตัวผมเอง แต่ส่วนตัวผมมีความรู้สึกในใจที่ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่ง คือแท้จริงแล้วเนี่ย สถานะของสิ่งที่จะอยู่ตรงไหน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งนั้น (นิ่งนาน) ทีนี้ที่ผมพูดเรื่องชีวิตผม ก็เพื่อจะบอกว่า จริงๆ แล้วคำถามนี้มันเกี่ยวกับชีวิตผมอยู่นะ ไม่ใช่ว่าแก้วนี้จะเลื่อนไปไหนก็ได้ ทิชชูนี่จะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ นั่นมันแค่เรื่องวัตถุภายนอก มันง่ายที่จะตอบ แต่นี่คือเรื่องชีวิตผมจริงๆ เมื่อเป็นเรื่องชีวิตผมจริงๆ แล้วผมเกิดความรู้สึกแบบนี้ได้ มันทำให้ผมเชื่อมโยงไปในทางสังคม อ๋อ ในทางสังคม... มันก็เป็นเช่นนี้แหละ มันก็เป็นเช่นนี้แหละ สมมตินะครับ ผมอาจรักเทิดทูนในหลวงเสียเหลือเกิน แต่ถ้าสถาบันนี้ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนซึ่งเป็นเพื่อนผม หากคนที่อยู่ในสังคมนี้เขาไม่ปรารถนาเสียแล้ว สถาบันนี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อสถาบันนี้อยู่ไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะต้องไปตีโพยตีพาย สงสารยายผม หรือโกรธแทนยายผมจนไม่เป็นอันทำอะไร ผมก็เห็นใจยายเท่านั้นเอง
วิจักขณ์: อันนี้ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์จะต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่อาจารย์รักและเทิดทูนไม่ได้ใช่ไหมครับ?
วิจักขณ์: ซึ่งเมื่อผ่านการใคร่ครวญถึงความตายและการมีชีวิตอยู่ ก็ทำให้เราเข้าใจว่า...สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราหวงแหนเท่าชีวิต ก็ไม่ต่างกันเลย โลกใบนี้ สังคมที่เราอยู่ คนที่เรารัก ชีวิตที่เราหวงแหน... คือถึงจุดหนึ่งมันจะอยู่กับเราก็ได้ จะไม่อยู่กับเราก็ได้ (ประมวล: ใช่ ใช่) เราได้ปล่อยความกลัว วางความกลัวไป จะมีอยู่ก็ได้ จะไม่อยู่ก็ได้
ในความรู้สึกของผม สถาบันทางสังคมเนี่ย ถ้าเราจะกลัว... มันก็น่ากลัวจริงๆ นะ (หัวเราะ) ยิ่งมีภาษาวิชาการมาอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล แล้วเราก็คิดตาม คิดว่าน่ากลัว มันก็น่ากลัวจริงๆ ด้วยสถานะและโครงสร้างทางอำนาจของมัน ถ้าเราไปหวั่นวิตกและติดพันกับผลของสิ่งที่มันเคยมี ไม่ต่างกับที่เราหวั่นวิตกกับสุขภาพของเรา อย่างผมอายุปูนนี้ ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ที่ผมจะมีสุขภาพดีเหมือนกับสมัยที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นจึงอย่าไปกลัว คำว่าไม่กลัว หมายความว่าพร้อมจะรับได้ แล้วก็มีความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าวันพรุ่งนี้จะไม่มีสถาบันกษัตริย์
10 มิถุนายน 2553 ณ ห้องอาหาร โรงแรมศรีกรุง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ภิญโญ ประกาศ"สละรายการ รักษาหลักการ" ถอนรายการตอบโจทย์ ฯ Posted: 16 Mar 2013 01:36 AM PDT ภิญโญตั้งโจทย์ถามผู้บริหารไทยพีบีเอส ถามเหตุแบนรายการ หลังมีมติเอกฉันท์ให้เผยแพร่ได้ ยืนยันไม่มีอำนาจภายนอกแทรกแซง จากกรณีการตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 5 ที่มีกำหนดเผยแพร่ในคืนวันที่ 15 มีนาคม 2556 ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกรและผู้ผลิตรายการ ได้แถลงในนามทีมงานรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊ก แฟนเพจตอบโจทย์ประเทศไทย ว่าขอยุติการทำรายการตอบโจทย์ประเทศไทย โดยชี้ว่าแต่เดิม กรรมการนโยบายไทยพีบีเอสมีมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่า สามารถถ่ายทอดรายการในตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 5 ออกอากาศได้ แต่กลับมีคำสั่งยุติการออกอากาศก่อนช่วงถ่ายทอด ภิญโญปฏิเสธว่าไม่ได้มีการแทรกแซงจากรัฐบาล หรือบุคคลใกล้ชิดที่เชื่อมโยงกับสถาบันฯ พิธีกรรายการตอบโจทย์ ตั้งคำถามถึงผู้บริหาร ไทยพีบีเอส ว่าหากมีกรณีอย่างนี้แล้วจะรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกระบวนการยุติการเผยแพร่รายการดังกล่าวอย่างโปร่งใส ********************************************************************************* เรียนท่านผู้ชมที่รักทุกท่าน เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน ต่อการข่มขู่ คุกคาม และการแทรกแซงการทำงานจากภายใน อย่างไม่เป็นมืออาชีพ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อแสดงออกต่อความไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 5 ผมและทีมงานทุกคนมีมติเป็นเอกฉันท์ ขอยุติการทำรายการตอบโจทย์ประเทศไทย นับจากบัดนี้เป็นต้นไป เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป ว่าเรายังจะรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร เรายินดีเลือกที่จะสละรายการ เพื่อรักษาหลักการ เรายินดีที่จะถูกประนาม คุกคาม เพื่อจะจุดไฟท่ามกลางความมืดหวาดขลาดกลัวต่อการสนทนาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้สว่างไสว เพื่อนำการกล่าวร้ายโจมตีในที่มืดออกสู่ที่แจ้ง ให้คนได้ถกแถลงแสดงเหตุผลและหักล้างกันด้วยปัญญา มิใช่อารมณ์ ทั้งนี้ เพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สถาวรสืบไปในระยะยาวอย่างยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงอยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน น่าเสียดายที่หลักการและเหตุผล อันเป็นบทสรุปสุดท้ายของรายการที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งกรรมการนโยบายมีมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่า สามารถออกอากาศได้ กลับมีชะตากรรมที่พลิกผันในนาทีสุดท้าย จนนำมาสู่การยุติการออกอากาศ ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อศรัทธาที่มีต่อไทยพีบีเอสในวงกว้าง ทางทีมงาน จึงขอร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรมขององค์การอย่างเป็นทางการ ให้มีการตรวจสอบกระบวนการในการตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการอย่างโปร่งใส รวมทั้งตรวจสอบกระบวนการแทรกแซงรายการของผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง รวมทั้งขอให้ฝ่ายบริหารชี้แจง เหตุและผลที่แท้จริงของการตัดสินใจต่อสาธารณะ มากกว่าจะยกข้อกฎหมายมาอธิบายความย้อนหลัง อันนำมาสู่คำถามและความเสียหายมากขึ้นในวงกว้าง เพื่อเป็นการยุติข่าวลือทางร้าย ในนามรายการผมขอชี้แจงว่า การยุติการออกอากาศรายการนั้น มิได้เกิดจากการแทรกแซงของรัฐบาล ของบุคคลใกล้ชิดหรือเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่มีความพยายามจะกล่าวร้าย อีกทั้งมิได้เป็นการกดดันในระดับนโยบาย แต่กระบวนการตรวจสอบภายในสู่ภายนอกอย่างโปร่งใสและไม่สมยอมเท่านั้น ที่จะทำให้ฝ่ายบริหารตอบสังคมได้อย่างตรงไปตรงมาว่า เหตุผลที่แท้นั้นคืออะไร ในการตัดสินใจยุติการออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย และนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยพีบีเอสต้องร่วมกันตอบ ก่อนจะตอบโจทย์ประเทศไทยต่อไปได้ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ในนามทีมงานทุกคน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ทหารพม่าโจมตีฐานกองกำลังไทใหญ่ RCSS/SSA ตรงข้ามแม่ฮ่องสอน Posted: 16 Mar 2013 12:37 AM PDT
ทหารพม่าสนธิกำลังกว่า 200 นาย โจมตีฐานทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ด้านตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝ่าย SSA ไม่ตอบโต้ ด้านเจ้ายอดศึก เผย ไม่อยากทำลายสันติภาพที่สองฝ่ายกำลังทำอยู่ แหล่งข่าวชายแดนด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอนแจ้งว่า เมื่อเช้าวันนี้ (15 มี.ค.) ทหารพม่ากำลังพลกว่า 200 นาย สนธิกำลัง 3 จากกองพัน แบ่งกำลังออกเป็น 3 สาย ใช้ปืนค.ขนาด 81 มม. , 60 มม. รวมทั้งปืนกลหนัก ปืนกลเบา ยิงโจมตีเข้าใส่ฐานที่มั่นกองทัพรัฐฉาน SSA ของสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS หรือ กองกำลังไทใหญ่ RCSS/SSA ตรงบริเวณดอยนะกา และดอยลาน ซึ่งเป็นเนินสันเดียวกัน อยู่ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทหารพม่าได้ทำการโจมตีจากหลายจุดในเวลาเดียวกันรวม 2 ระลอก ระลอกแรกเมื่อช่วงเวลา 9.00 น. และช่วงเวลา 10.00-11.00 น. อีกหนึ่งระลอก อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า จุดที่ทหารพม่าโจมตีไม่มีกำลังทหารไทใหญ่ SSA ประจำอยู่ ซึ่งทหารไทใหญ่ SSA ได้ถอนกำลังออกไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา ตามคำร้องขอจากรัฐบาลพม่าก่อนหน้านี้ ขณะที่ทหารไทใหญ่ SSA ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ใกล้บริเวณนั้นก็ไม่ได้ตอบโต้กลับแต่อย่างใด ด้านพล.ท.เจ้ายอดศึก เปิดเผยว่า เหตุที่ทหารไทใหญ่ SSA ไม่ได้ตอบโต้การโจมตีจากฝ่ายทหารพม่า เพราะไม่ต้องการทำลายสันติภาพที่สองฝ่ายกำลังดำเนินอยู่ และการโจมตีจากทหารพม่าครั้งนี้ก็ไม่ได้สร้างความสูญเสียให้แก่ SSA ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ.โซวิน รองผบ.สส. และผบ.ทบ.พม่า พร้อมด้วยพล.ต.อ่องตานทุต ผบ.ยุทธการพิเศษในรัฐฉาน, แม่ทัพภาคตองจี และแม่ทัพภาคตะวันออกกลาง (โขหลำ) เดินทางมาตรวจเยี่ยมกำลังกำพลในพื้นที่กิ่งอ.หัวเมือง ซึ่งมีรายงานว่า ได้มีการพบหารือกับผบ.ยุทธการพม่าประจำหัวเมืองนานหลายชั่วโมง จากนั้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทางการพม่าได้ส่งหนังสือแจ้งขอให้ทหารไทใหญ่ RCSS/SSA ถอนกำลังออกจากฐาน 2 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่หัวเมือง (ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน) และเมืองทา (ตรงข้ามอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่) โดยกำหนดวันสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้เสริมกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในพื้นที่กิ่งอ.หัวเมือง สำหรับเนินดอยนะกา และดอยลาน อยู่ในพื้นที่ตำบลแม่ออ (ฝั่งรัฐฉาน) อยู่ห่างจากบ้านรักไทย (ชายแดนไทย) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 7 กม. และอยู่ห่างจากบ้านหัวเมือง (อดีตกองบัญชาการขุนส่า) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 20 กม. ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารพม่าและทหารไทใหญ่ RCSS/SSA บนเนินดอยนะกาแล้วครั้งหนึ่ง ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ http://www.khonkhurtai.org/ "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระของไทยใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า และตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยขอบคุณกลุ่ม “คนไทยผู้รักชาติ” Posted: 15 Mar 2013 05:54 PM PDT จากเหตุการณ์ที่รายการตอบโจทย์ประเทศไทยแห่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้นำเสนอการพูดคุยว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญยิ่งในสังคมและการเมืองไทย ในวันที่ 11-15 มีนาคม 2556 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ตอน โดยได้เชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย ได้แก่ คุณสุรเกียรติ เสถียรไทย พล.ต.อ.วศิษฐ เดชกุญชร อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาพูดคุยกันในเรื่องนี้ และได้ออกอากาศแล้ว 4 ตอน โดยในตอนล่าสุดเป็นการดีเบตกันระหว่างอาจารย์สมศักดิ์และอาจารย์สุลักษณ์ในรอบแรก มีเนื้อหากล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันและแก้ไข ม 112 เป็นเหตุให้กลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ" เกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่ารายการนี้จะมีเจตนาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักอย่างหาที่สุดมิได้ของปวงชนชาวไทย จึงได้ออกมาประท้วงกดดันสถานีโทรทัศน์ให้งดออกอากาศเทปบันทึกรายการตอนสุดท้าย เป็นการดีเบตระหว่างอาจารย์สมศักดิ์และอาจารย์สุลักษณ์ในรอบที่สอง ซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 15 มีนาคม 2556 จนเป็นผลสำเร็จนั้น กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยต้องขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อกลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ" ที่ได้ออกมาประท้วงกดดันในครั้งนี้ เนื่องจากการประท้วงของพวกท่านได้จุดกระแสให้เกิดการถกเถียงกันเป็นอันมากถึงการละเมิดเสรีภาพสื่อ เท่าที่เห็นได้ในระยะเวลาอันสั้นคือกระแสในสังคมออนไลน์ หลายๆ คนที่ไม่เคยพูดถึงก็อาจจะออกมาพูดกันมากขึ้น และก็ไม่วายจะต้องถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน การกระทำของพวกท่านทำให้หลายๆ คนจะได้มีเรื่องพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสนุกสนานมากขึ้น และก็เป็นการตอกย้ำปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมและการเมืองไทยยิ่งขึ้นไปอีก วันที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะถูกแก้ไขหรือยกเลิกก็จะเร่งเข้ามาใกล้มากขึ้นเช่นกัน กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยอยากจะขอเรียกร้องด้วยว่า ขอให้กลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ" กระทำการเช่นนี้ต่อไปในภายภาคหน้า ให้ปัญหาที่มีอยู่แหลมคมยิ่งขึ้นไป ทางกลุ่มขอกล่าวขอบคุณอีกครั้ง และจะขอจดจำคุณูปการครั้งนี้มิรู้ลืม หมายเหตุ1 : ทางกลุ่มได้อ่านหนังสือข้อเรียกร้องต่อสถานีโทรทัศน์ของกลุ่มท่านแล้ว มีจุดที่ต้องท้วงติงอยู่ คือ อาจารย์สมศักดิ์เขามีนามสกุลว่า เจียมธีรสกุล ไม่ใช่ เจียมสกุน หมายเหตุ 2 : ทางกลุ่มมีข้อสงสัยเล็กน้อยว่าเวลาเขียนชื่อกลุ่มของพวกท่านต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ ("") ด้วยทุกครั้งหรือเปล่า หมายเหตุ 3 : ทางกลุ่มต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่ต้องพิมพ์ชื่อกลุ่มของท่านว่า "คนไทยผู้รักชาติ" เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์ที่พิมพ์แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นรุ่นที่ค่อนข้างใหม่ แป้นพิมพ์จึงไม่มีตัว ค.คน แล้ว มีแค่ตัว ค.ควาย เท่านั้น ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
ความตายของ เอียง สารี กับอนาคตของความยุติธรรมในกัมพูชา Posted: 15 Mar 2013 05:31 PM PDT 14 มีนาคม 2556 เอียง สารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาประชาธิปไตย(ชื่อทางการของกัมพูชาภายใต้การปกครองของเขมรแดง) ซึ่งปัจจุบันตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติและอยู่ระหว่างการไต่สวนโดยศาลพิเศษเขมร(The Extra Ordinary Chambers in the Courts of Cambodia)ได้เสียชีวิตด้วยวัย87ปี ความตายของซารีก่อให้เกิดความกังวลในหมู่เหยื่อของเขมรแดงรวมทั้งญาติของพวกเขาว่าสุดท้ายและความยุติธรรมที่พวกเขารอมานานอาจจะโบยบินไปต่อหน้าต่อตา ระยะเวลาที่เขมรแดงปกครองกัมพูชานับว่าสั้นมากเพราะกินเวลาเพียงสี่ปี แต่ระยะเวลาเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดโศกนาฎกรรมซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปนับล้านคน หลังเขมรแดงพ้นจากอำนาจก็ไม่ได้มีความพยายามที่จะสถาปนาคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อแต่อย่างใดทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ในปี1979อันเป็นปีที่เขมรแดงหมดอำนาจ ไฟแห่งสงครามเย็นที่ลดความรุนแรงลงตลอดทศวรรษ1970กลับมาลุกโชนขึ้นอีกครั้ง เขมรแดงแม้จะหมดอำนาจแต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนบ้านอย่างรัฐไทยรวมทั้งมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกาให้เป็นผู้ต่อสู้ป้องกันการขยายอิทธิพลของเวียดนามและสหภาพโซเวียตซึ่งหนุนหลังรัฐบาลใหม่ กัมพูชาจึงตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมืองอีกครา หลังเขมรแดงสิ้นอำนาจรัฐบาลใหม่ได้จัดตั้งศาลพิเศษมาเพื่อดำเนินคดีกับพอลพตและเอียงสารี ผู้นำคนสำคัญของเขมรแดง ศาลที่ตั้งขึ้นมาถูกมองว่าเป็นแค่ปาหี่เพราะไม่ได้มีการนำตัวจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นธรรมแต่อย่างใด ศาลเพียงแต่พิจารณาคดีลับหลังและพิพากษาประหารชีวิตทว่าจำเลยทั้งสองซึ่งหลบหนีไปไปเมื่อพนมเปญแตกก็ไม่ได้ถูกนำตัวมาลงโทษตามคำพิพากษาแต่อย่างใดส่วนเหยื่ออธรรมชาวกัมพูชาก็ต้องรอคอยความยุติธรรมกันต่อไป หลังการเจรจาอันยาวนานในที่สุดรัฐบาลกัมพูชาสามารถบรรลุข้อตกลงในการตั้งศาลพิเศษเขมรเมื่อปี2003แต่กว่าศาลจะทำงานเต็มตัวก็ล่วงมาถึงปี2006 ศาลพิเศษเขมรแดงมีกำหนดจะพิจารณาคดีทั้งสิ้น4คดี คดี001ศาลพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสหายดุช อดีตผู้บัญชาการคุกตวลเสล็งอันลือลั่นไปแล้วเมื่อปี2012 คดี002ที่นายเอียง สารีตกเป็นจำเลยกำลังอยู่ในช่วงการสืบพยาน โดยคดีนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการในปี2011 นอกจากนายเอียงสารีแล้วยังมีผู้ตกเป็นจำเลยอีกสองคนได้แก่นายนวลเจียอดีตผู้นำหมายเลขสองและนายเขียว สัมพันธ์ อดีตประมุขของรัฐสมัยเขมรแดง(นางเอียง ทิริธ ภริยาของนายเอียงสารีก็ตกเป็นจำเลยในคดีนี้แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ศาลจึงได้มีคำสั่งในปี2012ให้เธอพ้นไปจากการพิจารณาคดี) การตายของนายเอียงสารีได้ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับความยุติธรรมถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง ผู้นำที่เหลืออีกสองคนได้แก่นายนวล เจียและนายเขียวสัมพันธ์ต่างก็มีอายุมากและมีโรคภัยแทรกซ้อน หากการพิจารณาคดียังคงดำเนินไปอย่างล่าช้าก็มีความเป็นไปได้สูงว่าบุคคลทั้งสองอาจเสียชีวิตไปก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าทั้งสองมีความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นก็น่าเป็นห่วงว่าความหวังของเหยื่ออธรรมที่จะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมาจะต้องมลายหายไป เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยว่าครั้งหนึ่งนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นเคยกล่าวไว้ว่าเพื่อประโยชน์แห่งการปรองดองคดี002ควรจะเป็นคดีสุดท้ายของศาลพิเศษเขมรแดง หากจำเลยอีกสองคนที่เหลือมาเสียชีวิตลงระหว่างกระบวนการพิจารณา คดี001จะเป็นคดีเดียวที่มีการตัดสิน เท่าการรอคอยความยุติธรรมของเหยื่ออธรรมกลายเป็นการรอคอยที่ศูนย์เปล่า อู วิรัค ประธานศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา(Cambodian Center for Human Right)กล่าวในแถลงการณ์ขององค์กรว่า การตายของนายสารีน่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้ศาลและประชาคมโลกโดยเฉพาะชาติบริจาคเงินจำนวนมหาศาลเป็นค่าดำเนินการของศาลเร่งรัดการทำงานของศาลให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้ศาลสามารถพิพากษาและสถาปนาคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อได้ทันเวลา การตายของนายสารีจึงเป็นเสมือนสัญญาณเตือนว่ากระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านของกัมพูชากำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อความล้มเหลว ก่อนหน้านี้การประกาศของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นก็แทบจะปิดทางการทำงานของศาลหลังพิจารณา002แล้วเสร็จ หากจำเลยในคดี002ทั้ง3คนต้องมาด่วนจากไปด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ความยุติธรรมที่เห็นแต่เพียงรางๆดังแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ดูจะดับวูบไปทันที หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านที่พิกลพิการนี้ก็อาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมกัมพูชาขยายเป็นวงกว้างและรอวันปะทุ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น