ประชาไท | Prachatai3.info |
- ประมวลภาพและคำวิพากษ์ 15 ปี องค์กรอิสระ (ตามรัฐธรรมนูญ)
- ชำนาญ จันทร์เรือง: บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านเมื่อไม่มีราชการส่วนภูมิภาค
- สาระ+ภาพ: ใครเพิ่มใครลด? เทียบคะแนน กทม. 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' รอบ 5 ปี
- ลาวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเขตสามเหลี่ยมทองคำ
- ศาลสั่งอีกเทเวศประกันภัยจ่ายเซ็นทรัลเกือบ 2 พันล้าน ชี้ไฟไหม้ปี 53 ไม่ใช่ก่อการร้าย
- ผู้สื่อสารเรื่องราวว่า “การฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก”
- นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
- รายงานทีดีอาร์ไอ: แนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย
- คนงานเอ็นเอ็กซ์พีฯ ชุมนุมหน้าโรงงานวันที่ 3 ตร.แจ้งให้ย้ายชี้ผิด กม.จราจร
- ศาลอุทธรณ์สั่งศาลแพ่งรับคดี ประชาไทฟ้อง ศอฉ. บล็อคเว็บ ทนายชี้สร้างบรรทัดฐานใหม่
- MIO: เลือกนายก(นักข่าว)โดยตรงซะดีมั้ย
- แพทย์สหรัฐฯ รักษาเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อ HIV ได้สำเร็จ
- ศูนย์วิจัยครอบครัวในสหรัฐฯ เผยคนรักเพศเดียวกันเลี้ยงลูกได้ดีเท่าคนรักต่างเพศ
- นายกรัฐมนตรีมาเลเซียสั่งตอบโต้นักรบสุลต่านซูลู
ประมวลภาพและคำวิพากษ์ 15 ปี องค์กรอิสระ (ตามรัฐธรรมนูญ) Posted: 05 Mar 2013 11:00 AM PST เก็บตกจากสัมมนา 15 ปีองค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย มุมมองจากผู้เป็น เคยเป็น หรือเกี่ยวข้องกับ "องค์กรอิสระ" พงศ์เทพ เทพกาญจนา-วิษณุ วรัญญู- เมธี ครองแก้ว-โคทม อารียา-สุภิญญา กลางณรงค์-สุนี ไชยรส ฯ
เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ประชาไทร่วมกับโครงการสะพาน ได้จัดสัมมนาว่าด้วย "องค์กรอิสระ" ขึ้น โดยมีกำหนด 3 ครั้ง ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก ได้รับเกียรติเปิดงานจาก 'คริสตี้ เคนนี่ย์' เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ 'พงศ์เทพ เทพกาญจนา' รองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีปาฐกถายาวนานว่าด้วย ประวัติศาสตร์ พัฒนาการรัฐธรรมนูญ การก่อกำเนิด และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดย รศ.วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด จากนั้นต่อด้วยวงเสวนาช่วงเช้า จากผู้มีประสบการณ์ตรงกับองค์กรอิสระ และเวทีช่วงบ่ายซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับ องค์กรอิสระกับสื่อมวลชน (รายละเอียดกำหนดการ)
นอกจากนี้วันที่ 1 แล้ว ยังมีการจัดสัมมนาต่อเนื่องในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งจะว่าด้วย 'ภาคธุรกิจและองค์กรอิสระ การหนุนเสริมเพื่อสร้างธรรมาภิบาล' มีผู้อภิปราย ได้แก่ ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. , พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน, วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการบริษัทสวนเงินมีมาจำกัด และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ปิดท้ายด้วยเสวนาในวันที่ 15 มี.ค. ว่าด้วย 'ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ' มีผู้อภิปรายได้แก่ ศ.กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กกต., จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการฯ ในกรรมการสิทธิฯ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ เพื่อเป็นการเปิดประเด็น เรียกน้ำย่อยสำหรับการถกเถียงในเรื่องใหญ่ว่าด้วยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประชาไทรวบรวมโควทที่น่าสนใจของวิทยากรซึ่งได้ร่วมอภิปรายไปแล้วในวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้
คริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยหัวข้อในวันนี้ค่อนข้างถูกใจฉัน ไม่ใช่เพราะฉันเป็นทูต หรือเป็นตัวแทนรัฐบาล แต่เพราะฉันเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และคิดว่าพวกเราที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็อยากให้รัฐบาลและประเทศเข้มแข็ง และสะท้อนความเห็นของประชาชน และการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องทำให้แน่ใจว่าพลเมืองไม่ว่าพรรคการเมืองใด มีความคิดทางการเมืองแบบใดได้แสดงความเห็น และเรามีสถาบันที่ช่วยเป็นช่องทางแสดงความเห็นของพลเมือง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทำตามที่ประชาชนต้องการ
พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540)- 1 - เรื่องขององค์กรอิสระกับธรรมาภิบาลเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องมาขบคิดในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ผมเองอาจเป็นคนไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสทำงานอยู่ในกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจ ผมเริ่มจากฝ่ายตุลาการแล้วก็มา เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ได้เห็นหมดว่าคนในกลไกต่างๆ ทั้งสามอำนาจมีคนประเภทไหนบ้าง ทำงานอย่างไร และพูดได้ว่าไม่ว่าจะองค์กรไหน มีคนทุกประเภทปนอยู่เหมือนๆ กันทั้งสิ้น ไม่มีองค์กรไหนจะมีแต่คนที่เก่งคนที่ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ ดีเหมือนกันทุกคน ปนกันอยู่ทั้งสิ้น และการที่ปนกันอยู่ไม่ใช่ปนกันเฉพาะในประเทศไทย ทั่วโลกเหมือนกัน - 2 - ผมเองมีส่วนร่วมในการที่ก่อให้เกิดขึ้น ช่วงระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นก็คิดว่าทำอย่างไรที่จะมีกลไกการตรวจสอบขึ้นมาใหม่ ที่สามารถตรวจสอบทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ก็ต้องยอมรับว่า ส.ส.ร.ในปี 2540 ก็ผิดพลาด ตัวผมเองก็ผิดพลาด เพราะคิดว่าเราจะหาคนที่เพียบพร้อม ด้วยคุณธรรมความรู้ ตรงไปตรงมา เข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระ ซึ่งมีเยอะ คนประเภทที่ต้องบอกว่า ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย แต่ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายนั้นมีแต่ในหนังสือการ์ตูน ในชีวิตจริงหายาก ...และผู้ที่ได้รับการยกย่องชื่นชมทั้งหลาย หลายครั้งก็ได้กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเยอะแยะมากมาย - 3 - สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเราสร้างองค์กรอิสระขึ้นมา ซึ่งหลายองค์กรมีบทบาทในการตรวจสอบ แต่องค์กรเหล่านี้ซึ่งมีอำนาจมหาศาล อาจจะมากกว่าองค์กรเดิมๆ ด้วยซ้ำไป แล้วใครล่ะมาตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ ใครจะรักษาประโยชน์ของตัวเขาได้ดีที่สุด .... เราก็เห็นว่าเขาไม่มีทางสามารถรักษาประโยชน์ของคน 60 กว่าล้านคนได้ ทำอย่างไรที่จะจัดกลไกถ้ามีองค์กรอิสระ องค์กรอิสระนี้ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนอย่างไร องค์กรอิสระเหล่านี้ต้องถูกตรวจสอบอย่างไร
วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด- 1 - องค์กรหรือสถาบันใดก็ตามถ้าไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ มีแต่เสื่อม ศาลก็เหมือนกัน ศาลก็ต้องถูกตรวจสอบได้ การตรวจสอบศาลนั้นตรวจสอบผ่านคำพิพากษาว่า คำพิพากษามีเหตุมีผลไหม ถูกต้องตามกฎหมายไหม ผมเชิญชวนให้เราตรวจสอบคำพิพากษาทั้งของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตรวจสอบไม่อย่างนั้นศาลจะเสื่อม - 2 - พอองค์กรอิสระอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วเกิดความเข้าใจไปว่าเป็นองค์กรระดับเดียวกับองค์กรใช้อำนาจอธิปไตย ปฏิเสธการถูกตรวจสอบ ก็ทำให้ผิดฝาผิดตัว รัฐธรรมนูญ 2540 ยังดีที่ใส่องค์กรเหล่านี้ใส่ไว้เฉยๆ เพื่อให้ได้รับอานิสงค์ของการเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะไม่ถูกแก้ไขโดยง่าย แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ไปไกลเลย เพราะองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกจัดหมวดหมู่ว่าเป็น "องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ" ในทางความรับผิดชอบ การถูกตรวจสอบ มาตรา 223 ของรัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจศาลปกครองไว้เลยว่า ถ้าเป็นการใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรเหล่านี้ไม่ได้ ศาลปกครองไปตรวจสอบไม่ได้ เท่ากับว่าองค์กรเหล่านี้มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหลุดพ้นจากการถูกตรวจสอบ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจผิดอย่างมาก ....ซึ่งจะเป็นปัญหามากทำให้องค์กรอิสระกลายเป็นองค์กรที่จะมาขบ ทับซ้อนกับการใช้อำนาจขององค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการทับซ้อนในลักษณะที่ไม่มีใครไปตรวจสอบได้ด้วย - 3 - องค์กรอิสระของบ้านเราขาดการจินตนาการแบบหลากหลายที่จะให้ที่มา อำนาจหน้าที่ องค์ประกอบโครงสร้างเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าดูองค์กรอิสระที่มีอยู่มันอิงกับราชการอย่างสำคัญ ยกเว้นคณะกรรมการสิทธิฯ และ กสทช. ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการได้ - 4 - นอกจากจัดที่ทางให้องค์กรอิสระมีสถานะที่ถูกต้องแล้ว ไม่เกินที่ตัวเองเป็น ควรจัดให้องค์กรอิสระต้องมีความรับผิดชอบ ต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ถ้าองค์กรอิสระไม่สามารถมีความรับผิดชอบหรือไม่สามารถถูกตรวจสอบได้ อันนี้เป็นหายนะจริงๆ เพราะองค์กร ถ้าเป็นอิสระ แล้วเกิดคนที่อยู่ในองค์กรไม่เป็นกลาง แล้วเป็นอิสระไม่ถูกตรวจสอบ ทำอะไรก็ทำได้ สามารถเขย่ารัฐให้เกิดวิกฤตได้เลย ทั้งในทางการเมืองและการบริหาร
เมธี ครองแก้ว อดีต ป.ป.ช.- 1 - การเกิดขึ้นและมีอยู่ขององค์กรอิสระอย่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ แท้ที่จริงแล้วก็คือการสร้างฐานอำนาจที่สี่ขึ้นมา โดยมีลักษณะเด่นเฉพาะในเรื่องที่ว่าฐานอำนาจทั้งสามฐานในไทยมีความไม่สมบูรณ์ในการทำงาน ซึ่งไม่สามารถจะแก้ไขได้ในระบบในตัวของมันเอง จึงจำเป็นต้องมีองค์กรฐานอำนาจที่สี่ขึ้นมาสร้างการถ่วงดุล หรือการตรวจสอบฐานอำนาจทั้งสาม - 2 - ฝ่ายตุลาการ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน เห็นว่าความน่าเชื่อถือของฝ่ายตุลาการของเราเป็นที่ยอมรับได้ แต่ปัญหาคือด้วยความที่ฝ่ายตุลาการของไทย เป็นคนตรงไปตรงมา จุดไม่สมบูรณ์คือฝ่ายตุลาการไม่มี บทบาทมากนักในการดูว่า ถ้ากฎหมายไม่เป็นธรรม จะมีบทบาทแก้ไขกฎหมายหรือไม่ เป็นลักษณะ passive มากกว่า active แน่นอนอาจบอกว่าศาลมีหน้าที่ตีความตามตัวอักษรเท่านั้นไม่ต้องทำอย่างอื่น แต่ส่วนตัวเห็นว่า ในสภาพปัจจุบัน การทำเช่นนั้น อาจไม่ใช่การทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ - 3 - คนสงสัยว่า องค์กรเหล่านี้จะมีอำนาจเกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ มีใครสามารถตรวจสอบองค์กรเหล่านี้อย่างเช่น ป.ป.ช.ได้หรือไม่ ตอบเลยว่า ระหว่างที่ผมอยู่ในหน้าที่ไม่เคยคิดเลยว่า จะเป็นองค์กรที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่กับองค์กรใด รู้สึกถ่อมตัวด้วยซ้ำที่เขามอบหมายความไว้วางใจและกังวลที่ทำให้ไม่ได้ดังที่เขามอบหมายให้ทำ เช่นทำงานช้า คดีค้าง ตรวจสอบได้ไม่เต็มที่ - 4 - เรื่องการตรวจสอบองค์กรอิสระ สำหรับการตรวจสอบโดยสังคมโดยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมีอยู่แล้ว ถ้ามีกรรมการจะกร่าง กรรมการคนอื่นคงไม่ยอม คงบี้กันในที่ประชุม แต่การตรวจสอบโดยทางการ มีวุฒิสภาที่มีอำนาจเหนือ ป.ป.ช. เวลาเข้ารับตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้วุฒิสภาตรวจสอบรายชิ้น หมดวาระก็ต้องยื่นเหมือนคนอื่นๆ นอกจากนี้เมื่อชี้มูลใครก็จะถูกฟ้องทุกครั้ง เมื่อเขาเห็นว่าเราทำงานไม่สมบูรณ์จะถูกฟ้องได้ ทั้งฟ้องวุฒิสภา ฟ้องศาลอาญาได้ มีหลายคนโดนพิจารณาถอดถอนมาแล้ว และ ป.ป.ช.ยังต้องทำรายงานให้กับสภาทุกปี โดยต้องแถลงผลงานแต่ละปี ต้องอธิบายให้ประชาชนทราบด้วย
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี- 1 - เขาวางระบบ ต้องการให้ได้รัฐบาล พรรคการเมือง ผู้นำ ผู้บริหารที่เข้มแข็ง นายกฯ รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เมื่อได้มาอย่างนั้นแล้ว รัฐบาลได้ฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้ว เขาก็คิดว่าต้องมีคนมาตรวจสอบ โดยมีหลักคิดคือ องค์กรตรวจสอบนั้นต้องไม่ขึ้นกับฝ่ายผู้ถูกตรวจสอบ ในตอนนั้นความจริงก็มีทั้งข้อดีและมีทั้งปัญหา แต่เราไม่ได้แก้กันบนวิถีทางของการแก้รัฐธรรมนูญ หรือแก้กฎกติกาต่างๆ เกิดการรัฐประหารเสีย ก็เลยทำให้ปัญหาที่ค้างคาตอนนั้นไม่ได้รับการแก้ไข - 2 - ป.ป.ช. มีปัญหาเรื่องของอำนาจ ถ้าอำนาจจะมากไปคือเรื่องที่หากชี้มูลแล้ว ต้องพักปฏิบัติหน้าที่ อันนี้มันพอชี้มูลนายกฯ แล้วนายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่มันมีปัญหามาก เท่ากับว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน โดยหลักที่บอกว่า ถ้าศาลยังไม่ตัดสินต้องถือว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จะปฏิบัติเหมือนเขาไม่บริสุทธิ์ไม่ได้ - 3 - ปัญหาเรื่องการตรวจสอบไม่ได้ อันนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรอิสระ ตรวจสอบไม่ได้ เฉพาะการฟ้องต่อศาลไม่พอ เพราะการตรวจสอบองค์กร ต้องดูว่าการทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ เลือกปฏิบัติหรือไม่ เลือกปฏิบัติหรือไม่นั้นฟ้องศาลไม่ได้ว่าทำไมตรวจสอบแต่ฉัน ไม่ตรวจสอบคนนั้นไม่ตรวจสอบคนนี้ ทำไมปล่อยให้เรื่องค้างเต็มไปหมด แล้วเลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาเร็ว ไม่รู้จะไปร้องกับใคร อาจจะค้นหามาว่าบกพร่องแล้วบอก กับ ส.ว.ให้ทำหน้าที่ถอดถอน หรือร้องให้ถอดถอน ปรากฏว่า ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของกรรมการ ที่มีประธาน ป.ป.ช.อยู่ด้วย แล้วถ้า ส.ว.สรรหาหลายคนไม่เอาด้วยกับการถอดถอนเสียแล้ว ก็ไม่มีทางถอดถอนได้ เพราะต้องใช้เสียงมากในการถอดถอน - 4 - การเมืองประเทศไทยแบ่งเป็นสองฝ่าย พอแบ่งเป็นสองฝ่าย ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ย่อมกระทบต่อสถานะการดำรงอยู่ขององค์กรอิสระทันที องค์กรอิสระโดยธรรมชาติก็ต้องเลือกข้างที่รักษารัฐธรรมนูญไว้ ทำให้องค์กรอิสระกลายเป็นสังกัดฝักฝ่าย ที่ว่าอิสระนั้นไม่ได้อิสระจริงอยู่แล้ว เพราะมาจากฝ่ายที่ยึดอำนาจ แล้วยังถูกผลักให้ไปสังกัดฝักฝ่าย คือฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นฝ่ายเดียวกับ คมช. เพราะว่า คมช. ก็ต้องการรักษารัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ไว้
โคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)- 1 - หากสังเกตดูที่มาก็ดี องค์ประกอบก็ดี อำนาจหน้าที่ก็ดี คล้ายกับว่าจะเป็นส่วนขยายของราชการ แต่ทำไมจำเป็นต้องมี เพราะมันมีบางหน้าที่ที่ไปฝากไว้กับฝ่ายบริหารแล้วเหมือนกับเป็นการเอาปลาย่างไปฝากไว้กับแมว เช่น การให้ฝ่ายบริหารตรวจสอบการทุจริตเอง ซึ่งก็มีคนไม่เห็นด้วย เพราะเขาอาจเป็นตัวจำเลย หากผู้ตรวจสอบเป็นจำเลยเสียเองมันลำบาก - 2 - คำถามที่อาจารย์วิษณุตั้งไว้ว่า แล้วจะทำอย่างไรกันดีหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมคิดว่าเป็นเวลาดี เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มาทบทวนสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งทบทวนว่าอำนาจตุลาการเอง ซึ่งเป็นอำนาจส่วนขยายของราชการจะทำอย่างไรให้ยึดโยงกับฝ่ายประชาชนมากขึ้น โดยไม่เสียความเป็นอิสระ ไม่เสียความเป็นกลาง ไม่เสียความน่าเชื่อถือ อันนี้อาจจะต้องไปคิดให้ละเอียด - 3 - ขณะเดียวกันองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เราพูดถึง เราจะเอาป้ายชื่อออกไหม แต่ถ้าจะเอาป้ายชื่อออก แล้วคุณไม่จัดเป็นหมวดให้พิเศษว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผมยังเสียดายอยู่นิดหนึ่ง ผมยังอยากจะเสนอ อันนี้คิดโดยฉับพลัน อาจไม่ละเอียดรอบครอบ ผมอยากเสนอว่า ในรัฐธรรมนูญสามารถมีบทบัญญัติได้ว่าเรื่องใดควรมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ คือเราเห็นว่าองค์กรอิสระดีอยู่แล้ว ป.ป.ช. กกต. หรืออะไรก็ตาม ก็รับรองโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วก็บัญญัติว่าองค์กรใดมีฐานะ 3 เรื่องนี้ให้มันชัดเจน การมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญรองรับเพื่อให้ยากต่อการแก้ไข แต่ไม่ใช่ยากจนเกินไป สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง ไม่ต้องถึงกับต้องไปแก้รัฐธรรมนูญเสียทุกครั้งไป - 4 - เราบัญญัติหลักการใหญ่ๆ ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไว้ว่า มีความเป็นอิสระ ตรวจสอบได้ มีความเป็นกลาง มีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน แล้วก็ไม่ไปขัดขวางการทำงานตามปกติ ตามครรลองประชาธิปไตยของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ไปก้าวก่าย
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.- 1 - เวลาเราพยายามจะปิดจุดอ่อนในตัวบทกฎหมาย แต่ก็มักมีจุดอ่อนใหม่เสมอ กฎหมายเกี่ยวกับ กสทช.ปรับกันมายาวนาน เมื่อกลุ่มทุนเข้ามามากเราพยายามกีดกัน แต่สุดท้ายสัดส่วนกรรมการก็เหมือนหนีเสือปะจระข้ มีภาครัฐราชการทหารพลเรือนเข้ามามาก ไม่ว่าจะรอบคอบอย่างไรก็อยู่ที่คนที่เข้ามาด้วยโดยเฉพาะ และน่าจะต้องมีการระบุในกฎหมายให้ชัดเจนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของกสทช.ด้วยโดยเฉพาะการตัดสินใจของกรรมการ เพราะ กสทช.นับเป็น "Super องค์กรอิสระ" - 2 - อยากส่งเสริมให้สนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกรรมการในองค์กร อิสระ ตอนนั้นเราก็สู้ว่า 30-65 แต่ไม่สำเร็จ มันถูกแก้เป็น 35-70 ปี ดิฉันก็หวุดหวิด 35 พอดีก็เลยได้เป็น พอเราให้เปิดถึง 70 ก็จะเห็นว่ามันเป็นที่ฮอลิเดย์ของหลายคน แล้วท่านเหล่านี้พอจบวาระแล้วท่านไม่ต้องกังวลอะไรแล้ว ถ้าดิฉันอายุ 40 ดิฉันต้องมีอนาคตต่อ ถ้าดิฉันทำไม่ดี มันจะหลอกหลอนดิฉันไปอีก 20 ปี มันก็ทำให้เรามีหิริโอตัปปะมากกว่า .... ดิฉันคิดว่าถ้าเราสนับสนุนให้คน รุ่นใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้เก่ง เข้าสู่องค์กรอิสระให้มากขึ้น มันจะเปลี่ยนวัฒนธรรม และช่วยเรื่องธรรมาภิบาล โดยเฉพาะรุ่นใหม่ที่เชื่อในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น แต่ไม่ง่าย เพราะองค์กรอิสระจะเป็นที่อยู่ของคนที่เกือบเกษียณหรือเกษียณ นี่ทำให้วัฒนธรรมไม่ได้ถูกท้าทาย
สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายการร่วมมือกันระหว่างองค์กรอิสระและสื่อมวลชนจะทำให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในสังคมเพื่อส่งเสริมธรรมภิบาลได้มาก โดยหลักการเราจึงต้องเน้นให้มีเสรีภาพสื่ออย่างสูงสุดในสังคมประชาธิปไตย แต่ทั้งสองส่วนก็ต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ อย่างไรก็ตาม องค์กรอื่นอาจจะถูกสื่อถูกประชาชนวิจารณ์ได้มาก แต่องค์กรอิสระอย่างศาล ดูเหมือนคำวิจารณ์ยังไปไม่ค่อยถึง
ภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์- 1 - เวลาพูดเรื่ององค์กรอิสระ เมื่อมองระยะสั้นจะเห็นเพียงการถกเถียงกันเพียงแต่ว่าควรมีหรือไม่มีองค์กรอิสระ จากฝ่ายที่ชอบและไม่ชอบทักษิณ ทั้งที่เราควรมองยาวไปกว่านั้น เพราะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่เกิดมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ - 2 - รัฐธรรมนูญ 40 ก็ดีหรือปี 50 ก็ดี มันไม่มีอะไรดีกว่ากัน เราต้องใช้ไปเรียนรู้ไป แล้วเราก็พบว่ามันมีช่องว่าง มีปัญหา มีความไม่สมบูรณ์ มีปัญหาใหม่ๆ มีสภาพการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะแก้ไขกติกาของการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ. พ.ร.ก. อะไรก็ตาม เราก็ต้องสรุปบทเรียนจากสิ่งเกิดขึ้นแล้วเอาไปแก้ไขมัน
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยปัญหาสำคัญของการทำงานร่วมกับระหว่างสื่อและองค์กรอิสระคือ แม้องค์กรอิสระจะเป็นช่องทางข้อมูลที่สำคัญ แต่ยังมีปัญหาการประสานข้อมูล หรือการที่องค์กรอิสระมีเรื่องต้องเก็บรักษาความลับ ปัจจุบันสถาบันอิศราพยายามสร้างความร่วมมือกับป.ป.ช.ในการอบรมให้ความรู้ผู้สื่อข่าวถึงบทบาทหน้าที่และช่องทางการเข้าถึงข้อมูล แต่ก็ยังไม่มีการสร้างกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ชำนาญ จันทร์เรือง: บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านเมื่อไม่มีราชการส่วนภูมิภาค Posted: 05 Mar 2013 09:07 AM PST เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ถูกรับเชิญให้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการปกครองของวุฒิสภาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯที่กำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา โดยมีประเด็นข้อซักถามมากมายจากกรรมาธิการถึงหลักการเหตุผลและความเป็นไปได้ หลายท่านได้ให้กำลังใจว่าเป็นพัฒนาการของการบริหารราชการแผ่นดินที่จะต้องก้าวเดินไปข้างหน้า แต่ก็มีหลายท่านที่ทักท้วงและแสดงความไม่เห็นด้วย เช่น ประชาชนยังไม่พร้อม จะขาดการเชื่อมโยงระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นกับส่วนกลาง จะกระทบต่อความมั่นคง ฯลฯ ซึ่งผมก็ได้ชี้แจงและได้ทำเป็นคำถามคำตอบไว้สำหรับเผยแพร่ต่อผู้สนใจไว้แล้ว(ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1663) แต่มีประเด็นที่สำคัญที่ผมอยากจะทำความเข้าใจอีกสักเล็กน้อยก็คือ ในวันนั้นได้มีกรรมาธิการท่านหนึ่งได้ถามผมเกี่ยวกับหลักการของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯที่ให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเหลือเพียงราชการส่วนกลางกับราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่แล้วเหตุใดจึงยังคงให้มีกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคอยู่อีก "กลัวกำนันผู้ใหญ่บ้านลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านใช่ไหมล่ะ" และยังแถมอีกว่า "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" เสียอีกด้วย กอปรกับเมื่อ 27 ก.พ.56 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานผลการตรวจพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่..) พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่..) พ.ศ.. รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย รับไปดำเนินการปรับปรุง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ให้เหมาะสมโดยให้เหตุผลว่านายอำเภอจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่จะเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อนำนโยบายของรัฐไปสู่ประชาชน แต่การจะจัดให้มีข้าราชการเพื่อไปดำเนินการดังกล่าวนั้น ย่อมสิ้นเปลืองงบประมาณ และขาดความเชื่อมโยงทางธรรมชาติระหว่างรัฐกับประชาชน ดังนั้น กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่มีอยู่จึงจำเป็นที่สุด และเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุด จึงจำเป็นต้องมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต่อไป แต่ต้องแก้ไขกฎหมายบางส่วน และต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน โดยให้มีบทบาทใหม่เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ ผมอยากเรียนให้ทราบว่าตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนที่ 2 มาตรา 51 ถึง มาตรา 68 บัญญัติไว้เกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้เพียง จังหวัดและอำเภอ เท่านั้น ส่วนบทบาทอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติปกครองท้องที่พุทธศักราช 2457 ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะยังคงมีตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เช่น ใน อบต.หรือ กทม. และในเชียงใหม่มหานคร เป็นต้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าปัจจุบันตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ หากยังคงมีความจำเป็นอยู่ จะคงอยู่ในสถานะและบทบาทเช่นไร ก่อนที่จะตอบคำถามนี้เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าอวัยวะของร่างกายเรานั้นส่วนใดหากไม่ได้ใช้หรือใช้ผิดหน้าที่มันจะฝ่อไปหรือใช้ไม่ได้ในที่สุด ตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ถือได้ว่าเป็นแขนขาของการบริหารราชการแผ่นดินก็เช่นกัน หากไม่ค่อยได้ใช้หรือใช้ผิดบทบาทหน้าที่ ความจำเป็นของตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านก็จะหมดไป แต่หากเรากำหนดบทบาทหรือวางตำแหน่งแห่งหนให้ถูกที่ถูกทาง ตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านก็จะยังประโยชน์ได้สูงสุด เพราะกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นเป็นผู้นำหรือหัวหน้าของลูกบ้านโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นวิถีทางการเมืองอย่างหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อเรามาดูบทบาทหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านกับผู้นำขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่ทับซ้อนกันอยู่ในพื้นที่เดียวกันแล้วเราจะเห็นได้ว่า ในบางครั้งบางคราวเวลามีงานพิธีหรืองานประเพณีท้องถิ่นก็เกิดปัญหาในลำดับพิธีการในพิธีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะ "ประธาน"ในพิธี แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการพัฒนาท้องที่ซึ่งกำนันผู้ใหญ่บ้านอยากจะทำแต่ไม่มีงบประมาณในมือ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมี จึงเกิดการลักลั่นกันเกิดขึ้น ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ จึงยังกำหนดให้มีตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ โดยไม่ได้ถูกยุบหรือยกเลิกไปตามการปั่นกระแสเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้แต่อย่างใด นอกจากร่าง พ.ร.บ.นี้จะยังคงตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ตามเดิมแล้ว ยังได้กำหนดบทอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนขึ้นว่าบทบาทหน้าที่ไหนเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบทบาทหน้าที่ไหนเป็นของกำนันผู้ใหญ่บ้าน แน่นอนว่าในด้านการพัฒนาย่อมเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเพราะมีงบประมาณอยู่ในมือ ส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ทำหน้าที่ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยดังเช่นในอดีตที่ผ่านมาอย่างยาวนาน และแทนที่จะทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นในปัจจุบันก็แปรสภาพเป็นผู้นำของตำรวจหรือเป็นเจ้าพนักงานในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพืนที่ของตนเองโดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสีย ส่วนอำนาจหน้าที่อื่นที่ขัดกันระหว่างอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ฯกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ในการดูแลบำรุงรักษาที่สาธารณประโยชน์ ฯลฯ นั้น ก็อาศัยหลักกฎหมายทั่วไปมาพิจารณาในแง่ที่ว่าหากมีการขัดกันในเรื่องเดียวกันระหว่างกฎหมายทั่วไปกับกฎหมายเฉพาะก็ให้ใช้กฎหมายเฉพาะ หรือหากมีการขัดกันในเรื่องเดียวกันระหว่างกฎหมายที่เกิดก่อนกับกฎหมายที่เกิดทีหลังก็ต้องใช้กฎหมายที่เกิดทีหลัง ซึ่งก็จะเป็นผลดีเสียอีกที่กำนันผู้ใหญ่บ้านจะได้ไม่ต้องตกเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองในข้อหาละเลยต่อหน้าที่ให้ต้องยุ่งยากลำบากใจ ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็เนื่องเพราะความซ้ำซ้อนและความไม่ชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทับซ้อนและการขัดกันระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่น อย่าลืมว่าไทยกับญี่ปุ่นเรามีความเจริญทัดเทียมกันมาโดยตลอด รถไฟก็เข้ามาพร้อมๆกัน แต่ภายหลังเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง มีการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายการปกครองท้องถิ่น(Local Autonomy Law) ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค มีเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ ญี่ปุ่นก็เจริญเอาเจริญเอา รถไฟวิ่งได้ชั่วโมงละเป็นสองสามร้อยกิโลเมตร แต่ของเรายังไปไม่ถึงไหนเลย โลกข้างนอกก้าวไปไกลแล้วครับ อย่ามัวแต่ท่องคาถาว่า "ประชาชนยังไม่พร้อมๆ" เลย เพราะประชาชนนั้นเขาพร้อมนานแล้วมีแต่ภาครัฐและนักการเมืองหัวโบราณที่หวงอำนาจเท่านั้นแหละครับที่ยังไม่พร้อม
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 6 มีนาคม 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
สาระ+ภาพ: ใครเพิ่มใครลด? เทียบคะแนน กทม. 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' รอบ 5 ปี Posted: 05 Mar 2013 06:40 AM PST ที่มาของข้อมูล คณะกรรมการการเลือกตั้ง, วิกิพีเดีย และเว็บไซต์ กทม. ดูภาพขนาดเต็ม คลิกที่นี่ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,244,465 คน ผู้มาใช้สิทธิ 2,715,640 คน คิดเป็นร้อยละ 63.98 โดยคะแนน 5 อันดับแรกได้แก่ 1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 1,256,349 คะแนน ทั้งนี้หากนำผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เทียบกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 ครั้งหลัง พบว่าพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น จากคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสัดส่วนที่สูงกว่าคะแนนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 5 ตุลาคม 2551 อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 991,018 คะแนน ส่วน ประภัสร์ จงสงวน ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชน ได้ 543,488 คะแนน ผลต่างคะแนน 447,530 คะแนน ส่วนผู้สมัครที่ได้คะแนนรองลงมาคือชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ผู้สมัครอิสระได้ 340,616 คะแนน และเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้สมัครอิสระได้ 260,051 คะแนน ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 11 มกราคม 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 934,602 คะแนน ส่วน ยุรนันท์ ภมรมนตรี ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้ 611,669 คะแนน ผลต่างคะแนน 322,933 คะแนน ส่วนผู้สมัครที่ได้คะแนนรองลงมาคือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระได้ 334,846 คะแนน และแก้วสรร อติโพธิ ผู้สมัครอิสระ ได้ 144,779 คะแนน ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุด 3 มีนาคม 2556 คะแนนระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งทะลุ 1 ล้านคะแนนทั้งคู่ มีผลต่างคะแนนห่างกัน 178,450 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนหน้านี้คือ 11 มกราคม 2552 พรรคประชาธิปัตย์ได้เพิ่มขึ้น 321,747 คะแนน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากคะแนนในปี 2552 ส่วน พรรคเพื่อไทยได้เพิ่มขึ้น 466,230 คะแนน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 76 จากคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2552 โดยคะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นของสองพรรคใหญ่ มีผลก็ทำให้คะแนนผู้สมัครอิสระมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นกัน แต่หากนำผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุด ไปเทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติ คือการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งในเลือกตั้ง ส.ส.ระบบแบ่งเขตใน กทม. พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 23 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 10 ที่นั่ง โดยคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อใน กทม. พรรคประชาธิปัตย์ได้ 1,277,669 คะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 1,209,508 คะแนน นั้น จะเห็นได้ว่าคะแนนเหล่านี้หากนำมาเปรียบเทียบกับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนลดลง 21,320 คะแนน หรือลดลงร้อยละ 1.67 จากคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ส่วนพรรคเพื่อไทยได้คะแนนลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าคือ ลดลง 131,609 คะแนนหรือลดลงร้อยละ 10.88 เทียบกับคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 ส่วนปฏิกิริยาสองพรรคหลังผลการเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกสมาชิกพรรค หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่า คะแนนพรรคเพื่อไทยลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าคะแนนที่พรรคประชาธิปัตย์ลดลง แต่อยากให้เปรียบเทียบสถิติ ไม่ต้องตกใจ "ขอให้ลงพบปะชาวบ้านให้มากขึ้นในทุกพื้นที่ อย่าประมาท" ส่วนภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทยทวีตว่า ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น "ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้ โดยเฉพาะคำปลอบใจที่มอบให้... "แพ้แต่ชนะ" หรือ "ชนะในความพ่ายแพ้" และระบุด้วยว่า "เห็นจุดอ่อนและจุดแข็ง เห็นโอกาสและข้อจำกัดของกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้" ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ลาวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเขตสามเหลี่ยมทองคำ Posted: 05 Mar 2013 03:24 AM PST ลาวก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเขตสามเหลี่ยมทองคำชายแดนรอยต่อแม่น้ำโขงระหว่าง ลาว-ไทย-เมียนมาร์ แต่ลาวยังเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าต่อไทยตลอดมา เฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ได้ยืนยันว่า สภาวะการค้าระหว่างไทยกับลาว, เมียนมาร์ และจีนในเขตสามเหลี่ยมทองคำ ได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 25% ในปี 2012 ที่ผ่านมา โดยคิดเป็นมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับลาว เมียนมาร์ และจีน ที่เพิ่มขึ้นกว่า 35,000 ล้านบาท หรือ 9.275 แสนล้านกีบ หรือประมาณ 1,160 ล้านดอลลาร์ ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะการค้าชายแดนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำในปีที่ผ่านมาดังกล่าวนี้ ก็ยังถือว่าเป็นปีแรกที่ลาวได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ซึ่งปกติแล้วเมียนมาร์จะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด ตามด้วยลาวเป็นอับ 2 และจีนเป็นอันดับ 3 พร้อมกันนี้ ท่านเฉลิมพลยังยืนยันอีกว่า ไทยยังคงเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบดุลการค้าทั้งต่อลาว เมียนมาร์ และจีนในปีที่ผ่านมา และในปี 2013 นี้ ไทยก็ยังจะได้เปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศลาวที่อาจต้องขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการลงทุนของต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในแขวงทางภาคเหนือของลาว ทำให้ลาวต้องนำเข้าวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จากไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ท่านนาม วิยะเกด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้แถลงยืนยันเมื่อไม่นานมานี้ว่า เป้าหมายสำคัญในด้านการค้าต่างประเทศของรัฐบาลลาวนับแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงปี 2015 ก็คือการเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศให้ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ลาวไม่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดดุลการค้ากับต่างประเทศอีกภายในปี 2015 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของลาวในปัจจุบันคือ ไทย จีน เวียดนาม กลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ โดยเฉพาะไทย จีน และเวียดนาม นั้นถือเป็น 3 ประเทศที่มีมูลค่าการค้ารวมถึงกว่า 90% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของลาวอีกด้วย ในปี 2012 ที่ผ่านมานั้น ลาวกับไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเกินกว่า 4,300 ล้านดอลลาร์ โดยลาวส่งออกสินค้าไปไทยมูลค่า 1,200 กว่าล้านดอลลาร์ สินค้าหลักคือไม้แปรรูปและทองแดง และนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าหลักคือสินค้าอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้าง ทำให้ลาวขาดดุลการค้าต่อไทยมากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 54,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านกีบ ส่วนการค้ากับจีนนั้น มีมูลค่ารวมมากกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ โดยลาวได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท หรือ 2.3 แสนล้านกีบ ส่วนการค้าระหว่างลาวและเวียดนามในช่วงเดียวกัน มีมูลค่ามากกว่า 900 ล้านดอลลาร์ โดยลาวเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 200 ล้านดอลลาร์ โดยลาวตั้งเป้าหมายจะขยายการค้าระหว่างลาวและเวียดนามให้เพิ่มขึ้นถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2015 ให้ได้ ในขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มมูลค่าการค้ากับจีนให้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าการค้ากับไทยให้ถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ทั้งนี้ ทางการลาวคาดว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง จะส่งผลดีต่อดุลการค้า โดยการส่งออกกระแสไฟฟ้าไปยังประเทศไทย เวียดนาม และจีนตอนใต้ จะช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกของลาวโดยรวมเพิ่มขึ้น และลดการขาดดุลการค้าในระยะยาว
เงินกีบลาวในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการค้า เนื่องจากการรณรงค์ให้ใช้เงินกีบภายในประเทศและการออกธนบัตรกีบชนิดใหม่ที่มีมูลค่ามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลาวยังต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ทำการค้าชายแดนต้องการรับเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะบาทไทยและดอลลาร์สหรัฐมากกว่าจะรับเงินกีบที่ผ่านการแลกเปลี่ยน ปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยต่อเงินกีบ อยู่ที่ประมาณ 262-264 กีบต่อ 1 บาท และดอลลาร์สหรัฐที่ 7,880-7950 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หากไปใช้เงินบาทซื้อสินค้าในประเทศลาวแล้ว โดยมากพ่อค้าแม่ค้าจะคิดในอัตรา บาทละ 250 กีบ หรือ พันกีบต่อสี่บาท และดอลลาร์ละ 7,500 กีบ ดังนั้นการแลกเงินกีบไปใช้ในประเทศลาวจึงทำให้ผู้ใช้จ่ายได้รับผลประโยชน์ รวมถึงทำให้เศรษฐกิจของลาวมีความมั่นคงมากขึ้นด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศาลสั่งอีกเทเวศประกันภัยจ่ายเซ็นทรัลเกือบ 2 พันล้าน ชี้ไฟไหม้ปี 53 ไม่ใช่ก่อการร้าย Posted: 05 Mar 2013 03:04 AM PST ศาลแพ่งพิพากษาให้เทเวศ ประกันภัย จ่ายสินไหมทดแทน แก่ห้างเซนกรณีถูกเผา 19 พ.ค.53 และ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กว่า 1.9 พันล้าน ชี้ไม่ใช่การก่อการร้าย โดยก่อนหน้าศาลพึ่งสั่งให้จ่ายไปแล้วกว่า 3 พันล้าน ด้าน เทเวศฯ ยัน ไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน 5 มี.ค. 56 - มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลแพ่งพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 1212/2554 ให้บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด(มหาชน)ชำระค่าสินไหมทดแทนให้กับบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด หรือ ห้างเซน และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามสัญญาประกันวินาศภัย และสัญญาประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจากกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ที่ห้างสรรพสินค้า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ภายหลังการกระชับพื้นที่ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ห้างเซนเกิดเพลิงไหม้ไม่ได้เป็นการกระทำจากเหตุก่อการร้ายจึงพิพากษาให้บริษัทเทเวศชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ห้างเซนเป็นเงินกว่า1,647ล้านบาท นอกจากนี้ศาลยังสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามคำขอของโจทก์เพิ่มเติม เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับประกันภัยซึ่งทราบดีถึงข้อตกลงและข้อยกเว้น รวมถึงการตีความถึงขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์แต่กลับปัดความรับผิดตามกรมธรรม์ จนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้นจึงเห็นควรให้จ่ายค่าเสียหายในเชิงลงโทษอีกกว่า 329 ล้านบาท รวมยอดที่บริษัท เทเวศฯ ต้องจ่ายให้บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด จำนวน 1,977 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ด้านนายนริศ เชยกลิ่นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่าพอใจกับผลการพิพากษาดังกล่าว ด้าน บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของบริษัท deves.co.th ว่า บริษัท เทเวศฯ ดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยด้วยหลักธรรมาภิบาลเสมอมา และเคารพในคำวินิจฉัยของศาล แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดและในการรับประกันภัยตามกรมธรรม์ทั้งสองฉบับนี้ บริษัท เทเวศฯ ได้กระจายความเสี่ยงโดยจัดให้มีการประกันภัยต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Re-insurer) หลายบริษัท ดังนั้น บริษัท เทเวศฯ จึงจำเป็นต้องปรึกษาและประสานงานกับบริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurer)เพื่อขอแนวทางในการดำเนินการต่อไป โดย กรณีเพลิงไหม้อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริษัทฯ มิได้เพิกเฉยต่อผู้เอาประกันภัย ได้ตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฐานะการเงินของบริษัทฯ ยังคงมีความมั่นคง ดังนั้น คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของ บริษัท เทเวศฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ผบ.4326/2554 ให้ บ.เทเวศ ฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์คือ กองทุนรวมธุรกิจไทย 4 และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัดผู้ประกอบการศูนย์การค้าค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กับพวก รวม 4 ราย ซึ่งเป็นค่าเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวน 2,719,734,979.29 บาท และค่าความเสียหายต่อธุรกิจหยุดชะงักจำนวน 989,848,850.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 31 มี.ค.54 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชดใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ด้วยอีก 60,000 บาท โดยก่อนหน้านี่ บ.เทเวศ ฯ ปฏิเสธจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ศูนย์ค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) เมื่อเดือน พ.ค.53 ที่ผ่านมา โดย บ.เทเวศ ฯ อ้างเหตุว่าเพลิงไหม้ เกิดจากการก่อการร้าย ซึ่งกรมธรรม์ไม่คุ้มครอง สำหรับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) นั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัทระบุว่า เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2490 เป็นเสมือนหน่วยงานส่วนหนึ่งของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ อาคารเลขที่ 173 วังลดาวัลย์ ถนนราชสีมาเหนือ เทเวศร์ กรุงเทพฯ และได้ย้ายจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาดำเนินธุรกิจที่มั่นคงด้วยหลักการ "คุ้มภัยด้วยหลักฐาน บริการด้วยไมตรี" เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 30 ณ อาคารเทเวศประกันภัย ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร 10200 นอกจากการประกันอัคคีภัยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ในระยะแรก ๆ แล้ว บริษัทฯ ยังได้ขยายกิจการรับประกันภัยอัคคีภัยทั่วไป รับประกันภัยทางทะเลและขนส่งในปี 2518 และขยายกิจการรับประกันภัยเบ็ดเตล็ดในปี 2521 ซึ่งมีแบบกรมธรรม์ที่สามารถให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวางแก่ทุกประเภทของภัย สำหรับการประกันภัยรถยนต์ บริษัทฯ ได้เปิดบริการขึ้นเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 32 สำหรับข้อมูลผู้ถือหุ้นจากเว็บไซต์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ 98.54% คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือ ที่ 49,269,939 หุ้น ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษานี้ด้วย ส่วน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถือหุ้นจำนวน 69,000 หุ้น คิดเป็น 0.14% ด้วย ข้อมูลผู้ถือหุ้นจากเว็บไซต์ บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) deves.co.th สำหรับคดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์นั้น มีจำเลย 4 คน แบ่งเป็น เยาวชน 2 คนซึ่งได้รับการประกันตัวและต่อมาศาลเยาวชนได้พิพากษายกฟ้องไปเมื่อ 12 ธ.ค. 55 (อ่านที่ศาลยกฟ้อง 2 เยาวชน จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าตัววอนเยียวยา "เรียนและงาน") ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้ใหญ่ คือ สายชล แพบัว และ พินิจ จันทร์ณรงค์ ซึ่งทั้งคู่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และถูกคุมขังในเรือนจำมาเกือบ 3 ปีแล้วนั้น ปัจจุบันกระบวนการพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จแล้ว และศาลได้นัดพิพากษา 25 มี.ค.นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ผู้สื่อสารเรื่องราวว่า “การฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก” Posted: 05 Mar 2013 12:51 AM PST ครั้งหนึ่งเราอาจสะใจหรือสมน้ำหน้าในความตายของตัวผู้ร้าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อเราดูหนังสักหนึ่งเรื่อง นั้นคือจุดเริ่มต้นสู่ความรู้สึกในโลกความเป็นจริงเช่นกัน สำหรับการตายของผู้ร้ายสักคนในชีวิตจริง คำถามว่าเรายังรู้สึกอย่างนั้นอยู่อีกไหม? บางคนรู้สึกปลอดภัยขึ้นเมื่อเห็นภาพข่าวว่ามีการวิสามัญโจรผู้ร้ายในโทรทัศน์ บางครั้งเราพลอยสะใจไปกับภาพการรุมประชาทัณฑ์ในขณะที่ตำรวจนำคนร้ายไปทำแผนรับสารภาพ ช่องป้อมปืนสำหรับต่อสู้ศัตรูของจริง"การฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก" ในช่วงสัก 15 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงในโลกของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนไป อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การสื่อสารที่ไร้พรมแดนในโลกอินเตอร์เน็ต ที่ทวีความเข้มข้นมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดพื้นที่สื่อสาร 3 ทางระหว่างผู้เสพ ผู้รับสาร และผู้ส่งสาร พบได้ใน Facebook พื้นที่ของการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกมากมายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งโกรธเกรี้ยว ประณามหยามหยัน ดีใจ สมน้ำหน้า ด้วยความพยายามปั้นแต่งข้อความให้มีน้ำหนัก มีเหตุผลรองรับ ถ้อยคำโดนใจในกลุ่มเป้าหมายของตนเอง เราอาจไม่มีเวลาสับสนมึนงง เพราะเรากลายเป็นส่วนหนึ่งในผู้เสพ ผู้รับ และผู้ส่งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไปแล้ว และกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เราอาจสนุกไปกับการฆ่ากันโดยรู้ตัวอยู่ลึกๆ ความรู้สึกหวาดกลัว ความเคียดแค้นชิงชัง ของผู้คน เกิดขึ้นหลังจากได้รับฟังคำบอกเล่า รับข่าวสารทางสื่อ การเข้าไปติดตามข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ต บวกรวมกับสถานการณ์ตรงที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน นำสู่การพยายามหาทางออกในระดับปัจเจก เพราะปุถุชนโดยทั่วไปนั้น ความรู้สึกโดยสามัญย่อมเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ในความรู้สึกที่ทุกข์ใจ หรือคับข้องใจ โดยธรรมชาติ มนุษย์จึงดิ้นรนเพื่อความรู้สึกที่สบายกว่า จากความรู้สึกหนึ่งที่หายไป ทดแทนด้วยความรู้สึกใหม่เข้ามา นั้นคือกระบวนการปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์ความรุนแรงของจิตใต้สำนึกอย่างไม่รู้ตัว ความสนุกเป็นความรู้สึกหนึ่งที่เข้ามาทดแทน ความสนุกเกิดขึ้นเมื่อทราบข่าวโดนใจ แม้เป็นข่าวร้ายแต่มีความสะใจแฝงมาด้วย ความสูญเสียของฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ด้วยความรู้สึกชอบใจในความคิดว่านั้นคือเป็นหมู่พวกตนเอง ข้อความที่แสดงออกอย่างรุนแรงในเฟสบุ๊ค เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือครูเสียชีวิต โดยกล่าวว่านี้คือบทลงโทษที่สาสมแล้วสำหรับผู้รุกราน ถ้อยคำประณามหยามหยันของสมาชิกที่เป็นชาวไทยพุทธ(หัวรุนแรง)บางกลุ่มก็แสดงออกมาได้เผ็ดร้อนไม่น้อยไปกว่ากัน เมื่อปรากฏข่าวฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐสามารถสังหารฝ่ายแนวร่วม จากการสังเกตข้อความและถ้อยคำโดยรวม การแสดงออกที่ชัดเจนว่า ในกลุ่มเฟสบุ๊คหน้า "กลุ่มติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้" แยกสมาชิกออกเป็น 2กลุ่มคนอย่างชัดเจน คือฝ่ายสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ กับฝ่ายสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการฯ ส่วนสมาชิกที่แสดงความคิดเห็นแบบเป็นกลาง ส่วนหนึ่งไม่สามารถทนกับแรงกดดันกับชุดข้อมูลที่นำมาลงได้ ส่วนใหญ่มักถูก 2 กลุ่มแรงส่งข้อความให้พิจารณาตัวตนว่า จุดยืนที่แท้จริงอยู่ข้างไหน มีความพยายามโพสข้อมูลเพื่อโน้มน้าวกันอย่าง "สนุกสนาน!" อย่างไรก็ตามพื้นที่ในโลกอินเตอร์เน็ตถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น สามารถคัดกรองชุดข้อมูลที่น่าสนใจได้อย่างอิสระ การแสดงออกทางความรู้สึกของผู้คนในแต่ละกลุ่ม ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ความรู้สึกชิงชังระหว่าง 4 กลุ่มคน คือ ชาวไทยพุทธ(สยาม/ซีแย),ชาวไทยเชื้อสายมลายูมุสลิม(นายู) เจ้าหน้าที่รัฐ และแนวร่วมขบวนการฯ ที่แสดงออกอย่างรุนแรงตรงไปตรงมา ถ้อยคำเสียดสีที่กระทบต่อ ความเชื่อ ความศรัทธา และอุดมการณ์รัฐชาติ นั้นคือเวทีสาธารณะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนที่ยังไม่มีองค์กรใดสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นในระดับนี้ได้ เมื่อมีข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งหนึ่ง ยกตัวอย่าง กรณีระเบิดรถทหารมีทหารเสียชีวิตได้รับบาดเจ็บ ในกลุ่มติดตามสถานการณ์มีเรื่องขึ้นมาพูดคุยครั้งหนึ่ง ช่องทางสื่อสาร โดย ผู้เสพสาร ผู้รับสาร ผู้ส่งสาร ในระดับชาวบ้าน วงคุยร้านน้ำชา วงคุยสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยที่สุดในกล่องความคิดที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่คือกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ไม่นิยมใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตในการสื่อสาร หากอยู่ในกลุ่มพูดคุยที่ต่างความคิดก็มักระมัดระวังในการพูดคุย การสงวนท่าทีแบบชาวบ้านแสดงออกมาอย่างจริงใจ โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไม่คิดว่าพลังของชาวบ้านนั้น มีศักยภาพมากพอที่จะแสดงออกไปถึงสังคมโดยรวม หรือชาวบ้านเข้าใจว่าพลังภาคประชาสังคมยังไม่มากพอที่จะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์ฆ่ารายวันที่เกิดขึ้นอยู่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว ถ้าหากตนเองประกาศจุดยืนในแนวทางที่ไม่อิงกับอำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับผู้คนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรมภาคประชาสังคม เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหรือกระบวนการด้านสันติภาพนั้น เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือมีคนใกล้ชิดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หรืออย่างน้อยก็ได้รับผลกระทบด้วยต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเงื่อนไขจากอำนาจที่มาจากภายนอกพื้นที่มากกว่า ทางออกในการผ่อนคลายความรู้สึกกังวล ความเคียดแค้น และความเครียดสะสมจากสถานการณ์ แสดงออกมาในพื้นที่จำกัดของวงคุยเล็กๆ ในร้านกาแฟของชุมชน ในมัสยิดระหว่างเดินทางไปละหมาด วงคุยหลังทำบุญไว้พระ วงคุยของกลุ่มครูในโรงเรียน กลุ่มข้าราชการในหน่วยงานต่าง ซึ่งมีชุดข้อมูลที่ต่างกันออกไป และมีกรอบของความหวาดกลัวครอบอยู่อีกชั้นหนึ่ง หากในพื้นที่เฟสบุ๊คใน ยกตัวอย่าง "กลุ่มติดตามสถานการณ์ชายแดนภาคใต้" ได้เกิดพื้นที่การถกเถียงกันอย่างร้อนแรง เต็มไปด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงอารมณ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจน ในความสะใจในการเสียชีวิตของฝ่ายทหารอันเป็นภาพสัญลักษณ์ของขั้วรัฐไทย เช่นเดียวกับกรณีการยิงชาวบ้านที่เป็นมุสลิม หรือกลุ่มผู้ที่คาดว่าเป็นแนวร่วม คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมาราวเป็นผู้ที่ร่วมก่อเหตุการณ์จริงๆ ของบรรดาสมาชิก ทำให้พื้นที่ดังกล่าววิวาทะประสาสะกันอย่างร้อนแรงในความรู้สึกนึกคิดที่มากกว่าโลกของความเป็นจริง การสร้างน้ำหนักของข้อมูลเพื่อเพิ่มเหตุผลด้านบวกและลบในการตายของคนคนหนึ่ง เป็นเรื่องราวและหน้าที่ของคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้นหรืออย่างไร? อย่างน้อยผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือญาติพี่น้องของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนใกล้ชิด คนรักในครอบครัว ภรรยา สามี บุตร พ่อแม่ บุคคลใกล้ชิดเหล่านี้ เป็นตัวแทนในการรับรู้ในเรื่องราวที่สังคมบอกเล่า หากเขาเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมหรือเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เป็นประเด็นร้อนในการวิภาควิจารณ์โดยสังคมรวม ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคลใกล้ชิดของผู้ตาย เรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ เรื่องส่วนตัวหรือสถานการณ์ ข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาแน่ชัด เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของบุคคลใกล้ชิดผู้ตาย สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือการกระทำของบุคคลรอบข้างของบุคคลผู้ใกล้ชิดผู้ตาย เช่น ครูที่แสดงออกต่อนักเรียนที่พ่อเสียชีวิตในสถานการณ์ โดยข้อเท็จจริงบางส่วนที่ครูรับทราบ ว่าพ่อของเด็กที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นหนึ่งในแนวร่วมขบวนการฯ แน่นอน!ว่า ความรู้สึกหวาดระแวงของครูส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สอนนักเรียนคนดังกล่าว ซึ่งประเด็นนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของสื่อสาธารณะ สื่อจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างบทบาทหน้าที่กับความรับผิดชอบต่อแหล่งข่าว เครือญาติของผู้ได้รับผลกระทบ และ ผู้เลือกพื้นที่สื่อสารในโลกอินเตอร์ควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก และเราในฐานะผู้เสพสาร ผู้รับสาร และผู้ส่งสาร อาจกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการฆ่ากันทางความรู้สึก ที่สนุกกับความตายของใครสักคน ร่วมละเลงความรู้สึกบนหน้ากระดานความคิด โดยไม่คิดว่า วันหนึ่งความคิดของเราจะส่งผ่านไปถึงบุคคลใกล้ชิดของเขา ซึ่งอาจให้ผลทั้งร้ายและดี ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมนั่งเครื่องบินกลับบ้านที่นราธิวาส มีโอกาสได้พบผู้บริหารโรงเรียนมัธยมท่านหนึ่งซึ่งเป็นสตรีมุสลิมเชื้อสายมลายู พึ่งเดินทางกลับจากการร่วมประชุมผู้บริหารการศึกษาที่จังหวัดอุดรธานี ท่านได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น "เหตุการณ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อมีการยิงกลุ่มเจ้าหน้าที่ หรือชาวบ้านไทยพุทธ แล้วไม่นานมักมีเหตุยิงชาวบ้านมุสลิม ผู้ก่อเหตุหวังผลในการสร้างความแตกแยก" อาจเป็นมุมมองในฐานะผู้บริหารโรงเรียนมากกว่าความเป็นคนเชื้อสายมลายูมุสลิม ท่านได้กล่าวว่ามันหมดยุคของการกู้เอกราชแล้ว "เรากำลังเสียโอกาสในหลายๆด้าน โดยเฉพาะเด็กๆที่คุณภาพการศึกษาอ่อนลงมาก น่าห่วงการทำงานของครูรุ่นใหม่ๆที่เป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ เรื่องความเข้มข้นของการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐาน" และประเด็นที่น่าสนใจคือการชักจูงเด็กรุ่นใหม่เข้าสู่ขบวนการ ด้วยโรงเรียนของรัฐไม่สามารถสร้างความมั่นใจในกระบวนการเรียนการสอนได้ เด็กเล็กๆที่อยู่ในช่วงประถมถึงมัธยมต้นกำลังถูกชักจูง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาส่วนหนึ่งกำลังเข้าสู่วงจรของเกมการฆ่า เขากำลังกลายเป็นผู้เล่นเกม ไม่ใช่แค่ผู้กดปุ่มออกคำสั่งเหมือนในคอมพิวเตอร์ และไม่ใช่แค่ ผู้เสพสาร ผู้สื่อสารและผู้ส่งสาร ชาวไทยพุทธในพื้นที่คนหนึ่ง เขาเคยเป็นคนที่ทำงานเพื่อส่วนร่วมในหมู่บ้านที่มีประชากรพุทธมุสลิมในสัดส่วน 30 :40 สามารถพูดได้สองภาษาคือไทยกับมลายูได้อย่างคล่องแคล่ว ในระดับที่สามารถเล่าเรื่องราว ทำหน้าที่โฆษกภาคภาษามลายูได้อย่างสนุกสนาน ในความสามารถตรงนี้จึงรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานปกครอง แต่ในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ต้นปี 2547 เขาถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส พักรักษาตัวในห้องICU ประมาณ ครึ่งเดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาไม่ออกจากบริเวณบ้านเป็นเวลาเกือบครึ่งปี เขาเลิกทำกิจกรรมเพื่อส่วนร่วม เก็บตัวอยู่ในบ้าน พออาการเริ่มทุเลาจึงเริ่มออกจากบ้าน แต่ความหวาดระแวงสูงมากกระทั่งพวกพ่อค้าเศษเหล็กรับซื้อของเก่าที่รู้ว่าพูดภาษามลายูหรือพูดไทยสำเนียงแปร่งๆ เขาจะไม่อนุญาตให้เข้ามาหาซื้อเศษเหล็กของเก่าในบริเวณรั้วบ้าน หลังจากนั้นไม่นานจึงเริ่มประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคง ขออนุญาตพกปืนและขอใช้วิทยุสื่อสาร พกติดตัวอยู่แทบทุกขณะกระทั่งเข้าห้องน้ำ วิทยุสื่อสารเป็นอุปกรณ์ที่สามารถรับฟังการติดต่อของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ เกิดเหตุการณ์ที่ไหนโดยเสียงวิทยุรายงานออกมาสดๆ ตัวเลขของทหารตำรวจที่เสียชีวิต กับตัวเลขของฝ่ายขบวนการ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผ่านวิทยุ ซึ่งสามารถสร้างความรู้สึกหดหู่ใจ หรือความสะใจได้บ้างในวันที่ได้ข่าวว่ามีการวิสามัญผู้ก่อเหตุ "หนักไปข้างหน้า" คือเสียงสะท้อนต่อเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ซึ่งหมายความว่าเขาไม่เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถสงบโดยง่าย ในวิถีชีวิตประจำวันจึงต้องอยู่กันไปอย่างนี้ นั้นคือ พกปืนและระวังตัว และชีวิตที่หมกหมุ่นอยู่ในความรู้สึกที่เกิดจากข่าวสารสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ในวันที่มีข่าวลอบยิงภารโรงและภรรยาเสียชีวิตขณะขับมอเตอร์ไซค์บนถนนสายบ้านโต๊ะเด็ง ตำบลโต๊ะเด็ง จังหวัดนราธิวาส ช่วงปลายเดือนมกราคม 2556 ผมและตูแว ได้ดูภาพข่าวด้วยกัน ตูแวซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สะท้อนความรู้สึกว่า "ดูภาพ คนไม่เคยมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อนสามารถทำได้...แสดงให้เห็นอะไร?" นั้นเป็นคำถามที่เราสอบทานกันในคืนนั้น การสนทนาปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของผมกับตูแวเกิดขึ้นในทุกโอกาสไปประชุมแล้วพักห้องเดียวกัน จริงๆ แล้วตูแวเป็นนักเคลื่อนไหวสายประเด็นร้อน เขามีบทบาทนำในการเคลื่อนไหว จากช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ที่ร้อนขึ้น เขาเองกำลังหาทางออกสู่ความสงบเช่นกัน ด้วยการหาคำอธิบายให้กับพี่น้องและผู้ร่วมต่อสู้ ในประเด็นคำถามที่ว่า สันติภาพของใคร? ระหว่างรัฐไทย กับฝ่ายขบวนการ "นั้นหมายถึงคำอธิบายต่อนักรบปาตานีที่เสียชีวิตไป" คำอธิบายที่บอกว่า แนวคิดในเรื่องเอกราชนั้นมีกลุ่มคนที่ต่อสู้อยู่ชัดเจน แต่ไม่สามารถออกมาร่วมสร้างกระบวนการสันติภาพบนโต๊ะและเวทีพูดคุยได้ หลายครั้งที่ปีกฝ่ายการเมืองฉกฉวยเอาดอกผลที่หอมหวานของการต่อสู้ไป ฟังดูคล้ายชะตากรรมของทหารผ่านศึกที่ถูกทิ้งไว้อย่างไม่ใยดีทุกครั้งเมื่อสถานการณ์สู้รบยุติ บทสนทนาที่ตูแวพยายามอธิบายว่า เป็นสิ่งที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก คือหลายคนต้องเผชิญกับทางสองแพร่งระหว่างอุดมการณ์กับชีวิตจริง ภาพคนบริสุทธิ์ ชาวบ้านที่ถูกยิง ถูกระเบิด เขาเล่าด้วยรู้สึกเป็นนัยๆว่าเหนื่อยใจ นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ ตูแวเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีประชุมในเวทีต่างๆ ผมมักเจอเขาในหลายเวทีสาธารณะ ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยองค์กรที่ขับเคลื่อนพื้นที่เวทีสาธารณะและสร้างพลังภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผมในฐานะคนพุทธในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมคือ คือ DEEPSOUTH ,สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ ,สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ในแต่ละกระบวนการสันติภาพนั้นเป็นโอกาสที่ได้พบกับผู้มีชุดความคิดมากมาย เวทีที่ทำให้รับรู้ความเจ็บปวดของคนสองกลุ่มคือพุทธกับมุสลิมในพื้นที่ ปรากฏการณ์เล็กๆที่เกิดขึ้นคือ การจับมือกันระหว่างผมกับตูแวเพื่อขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในฐานะคนธรรมดาสามัญ ที่เห็นว่า "การฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก" ในความเป็นคนตายย่อมไม่มีสิทธิเอ่ยปากแก้ต่างให้กับตนเอง และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะความเคียดแค้นชิงชัง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอธิบายหรือทำความเข้าใจได้อย่างชัดเจน ในม่านข่ายของเส้นลาก ที่ตรึงมุดความคิดไว้ด้วยปม 3 ปม คือ ความยุติธรรม ความจริง และความกลัว ซึ่งเราคาดว่าหากมีการขับเคลื่อนเวทีสาธารณะ นำเรื่องราวต่างๆมาเล่าสู่กันและกัน จากพื้นที่แคบๆในชุมชนของตนเอง และสื่อสาธารณะเช่นรายการวิทยุท้องถิ่น รายการโทรทัศน์ และที่สำคัญคือโลกอินเตอร์เน็ต สร้างพื้นที่เพื่อเชิญชวนผู้คนมาร่วมกันหาทางออกของปัญหามากกว่าการเลือกใช้ความรุนแรงอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี นี่คือสถานการณ์ใหม่ ในชุดความคิดเก่า คนทำงานด้านสันติภาพมากมายต้องพบกับความโดดเดี่ยวในชุมชนของตนเอง คำครหาว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จากกลุ่มคนหรือชุมชนที่คิดว่าเป็นพวกเดียวกันนั้นเอง ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดความอึดอัดใจและหว่าเหว่ทางความคิด เมื่อเขาไม่อาจรู้สึกสนุกกับการสูญเสียของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เขารู้สึกเจ็บปวดอย่างไม่ดัดจริต เมื่อได้ยินวงสนทนาที่สนุกสนานกับการฆ่ากันตาย บทเรียนจากการสร้างพื้นที่และเวทีสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก นั้นคือผลผลิตที่มากกว่าทฤษฎีหรือตำราเล่มใหม่ เพราะสายใยที่เกิดจากการชักนำผู้คนเหล่านี้มาพบกัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เขาอึดอัดคับข้องจากชุมชนของตัวเอง สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของกลุ่มคนผู้ไม่มีบทบาททางการเมืองมากนัก หรือกระทั่งกลุ่มคนที่เคยสนุกกับความสูญเสียของฝ่ายศัตรู พวกเขาจะได้รับบทบาทใหม่ในการบอกเล่าเรื่องราว ในข้อคิดเห็นจากมุมมองที่กว้างขึ้นจนหลุดขอบออกมาจากชุมชนของตน แต่เขาคือผู้เป็นปากเสียงในบทบาทที่ชุมชนหล่อหลอมมาโดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน และผู้คนอีกจำนวนมากจะสามารถต่อเชื่อม และรับหน้าที่ในฐานะผู้กำหนดบทบาทร่วมกัน ถ้าเขายังสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันได้อย่างสนุกใจ และคำถามที่ว่าเราสามารถพูดคุยกันอย่างปกติธรรมดาได้อย่างไร? ถ้าหากมีคนใกล้ชิดของเราเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าอันเจ็บปวดเหล่านั้น... เพราะการฆ่ากันไม่ใช่เรื่องสนุก. ที่มา: Deepsouth Watch ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
Posted: 04 Mar 2013 11:16 PM PST | |
รายงานทีดีอาร์ไอ: แนวทางการปฏิรูปอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย Posted: 04 Mar 2013 11:11 PM PST ทีดีอาร์ไอเปิดงานวิจัย "การศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย" โดย วิโรจน์ ณ ระนอง และคณะ ได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานในสัดส่วน 70:30 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525/26 ควรได้รับการปรับปรุงให้เป็นระบบที่พึ่งตัวเองได้ ให้โรงงานมีแรงจูงใจและมีอิสระในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต แต่ในขณะเดียวกันก็ควรแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการที่โรงงานมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากอ้อยมากขึ้น ทางคณะผู้วิจัยยังมีความเห็นว่า การแทรกแซงของรัฐในอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสที่จะสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากรณีที่ไม่มีการแทรกแซง
2. ข้อเสนอในการกำหนดราคาอ้อยและการปรับบทบาทของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในด้านการรักษาเสถียรภาพราคาอ้อย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
คนงานเอ็นเอ็กซ์พีฯ ชุมนุมหน้าโรงงานวันที่ 3 ตร.แจ้งให้ย้ายชี้ผิด กม.จราจร Posted: 04 Mar 2013 11:03 PM PST สหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง กว่า 400 คน ชุมนุมต่อเนื่อง วันที่ 3 หน้าโรงงาน ค้านบริษัทเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ชี้ต้องทำงานต่อวันมากขึ้นแม้มีวัดหยุดเพิ่มขึ้น ด้าน ตร. แจ้งให้ย้ายชี้ผิด พรบ.จราจร ผู้ชุมนุมยันปักหลังจนกว่านายจ้างเจรจา 4 มี.ค. 56 บริเวณหน้าสำนักงาใหญ่บริษัทเอ็นเอ็กซ์พีแมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์)จำกัด แยกหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ คนงานซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง กว่า 400 คน ชุมนุมต่อเนื่องบริเวณบาทวิถีและล้นลงผิวจราจร 1 ช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาปรับสภาพการจ้างงานระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงานไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทำให้ตัวแทนสหภาพแรงงานใช้สิทธินัดหยุดงานและฝ่ายนายจ้างใช้สิทธิปิดงานตาม พรบ. แรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องได้นำประกาศแจ้งให้คนงานกลุ่มนี้ขนย้ายคนและสิ่งของออกจากที่ชุมนุม ภายใน 17.00 น. ของวันที่ 4 มี.ค. โดยระบุว่าการกระทำของคนงานเหล่านี้เป็น ผิดพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 109, 114 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 โดยในประกาศระบุด้วยว่าการกระทำของคนงานกลุ่มนี้ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในถนนแจ้งวัฒนะและต่อเนื่องไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ประกาศเตือนที่ ตำรวจนำมาปิด และนำออกไปแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมยังคงยืนยันที่จะปักหลังชุมนุมบริเวณเดิม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการจราจรให้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจราจรบริเวณดังกล่าวยังคงเคลื่อนตัวได้ และล่าสุดเวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำประกาศดังกล่าออกไปแล้ว สภาพการจราจรบริเวณที่ชุมนุม 17.30 น. ซึ่งรถยังคงสามารถเคลื่อนตัวได้ นายวัลลภ ชูจิตร์ ประธานสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าวถึงสาเหตุที่มาชุมนุมว่าเกิดจากกรณีที่นายจ้างปิดงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน เรื่องรูปแบบการทำงาน ที่นายจ้างยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนสภาพการจ้างจากทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน เป็น ทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน ซึ่งสหภาพแรงงานได้คัดค้าน เนื่องจากการทำงาน 4 วันนั้นต้องทำวันละ 12 ชั่วโมง ประธานสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พีฯ กล่าวถึงการชุมนุมบริเวณดังกล่าวว่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เวลา 23.00 น. เนื่องจากนายจ้างเริ่มปิดงาน จึงเริ่มชุมนุม และในวันที่ 27 และ 28 ก.พ. นายจ้างก็มีการคัดคนว่ามีใครยอมรับระบบการทำงานแบบใหม่หรือไม่ หากยอมรับก็จัดให้ลงชื่อรับเงื่อนไขสละข้อเรียกร้อง หากใครไม่ยอมก็ให้ออกจากนอกพื้นที่เลย ซึ่งบางคนถูกให้ออกมาในยามวิกาลประมาณตี 1 ตี 2 โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เพราะสวนใหญ่คนงานที่นี่เป็นคนงานหญิงและเป็นลูกจ้างรายวัน ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เวลากลาคืนจะที่เปลี่ยว นายวัลลภ กล่าวต่อว่า สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องในวันที่ 25 ก.ย. 55 และทางบริษัทยื่นข้อเรียกร้องปรับรูปแบบการทำงานดังกล่าวสวนกลับมาในวันที่ 16 ต.ค. 55 โดยที่ผ่านมามีการเจรจา 2 ฝ่าย ระหว่างบริษัทกับสหภาพแรงงาน 5 ครั้ง ไกล่เกลี่ยแบบไตรภาคี 13 ครั้ง รวมทั้งหมด 18 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบการทำงาน เนื่องจากระบบการทำงานใหม่นี้จะเสมือนบังคับการทำงานล่วงเวลาเรา เพราะ ทำงาน 4 วัน หยุด 2 วัน ต้องทำวันละ 12 ชั่วโมง แต่ระบบเดิมทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน นั้นทำวันละ 8 ชั่วโมง เพราะทำให้คนงานรายวันจำเป็นต้องทำล่วงเวลาเพื่อชดเชยวันหยุดที่เพิ่มขึ้นมา เพราะต่อเดือนจะได้ค่าจ้างที่น้อยลง นอกจากนี้ การที่คนงานหยุดไม่ตรงกันนั้นก็จะส่งผลต่อการจัดกิจกรรมสหภาพแรงงานและครอบครัวด้วย เพราะจากระบบเดิมที่จะมีการหยุดวันอาทิตย์ จึงมีเวลาให้กับครอบครัวในวันอาทิตย์ แต่ระบบใหม่มันจะตรงบ้างไม่ตรงบ้างและในแต่ละวันที่เวลาทำงานเพิ่มขึ้นทำให้เวลาในครอบครัวลดลง โดยประธานสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พีฯ กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทแรงงานพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาโดยตลอด แต่ถึงที่สุดนายจ้างไม่ไกล่เกลี่ยหรือเจรจากับเรา ดังนั้นพวกตนจึงยังคงชุมนุมต่อเนื่องจนกว่านายจ้างจะยอมเจรจา โดยขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อเพื่อเจรจา สำหรับสหภาพแรงงานเอ็น เอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง เป็นสหภาพที่คนงานทำงานอยู่ในบริษัทเอ็นเอ็กพี เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รับผลิตให้กับลูกค้ายี่ห้อดังหลายยี่ห้อ ทั้งโทรศัพท์มือถือ ทีวี โทรทัศน์ เครื่องเสียง รวมถึงรถยนต์ สหภาพฯ เป็นสหภาพระดับผู้ปฏิบัติการ มีสมาชิก 2,522 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานแบบรายวันกว่า 2,000 คน ที่เหลือเป็นรายเดือน อายุคนงานเฉลี่ย 30 ปี ส่วนอายุงานเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี ส่วนมากเป็นคนงานหญิง ภาพบรรยากาศที่ชุมนุม : ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศาลอุทธรณ์สั่งศาลแพ่งรับคดี ประชาไทฟ้อง ศอฉ. บล็อคเว็บ ทนายชี้สร้างบรรทัดฐานใหม่ Posted: 04 Mar 2013 10:42 PM PST 5 มี.ค.56 ที่ศาลแพ่ง รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 19386/2555 ซึ่งเว็บไซต์ประชาไทอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งที่พิพากษายกฟ้องเมื่อ 23 เม.ย.53 กรณีประชาไทเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง 5 ราย หลังจากถูก ศอฉ.สั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ในช่วงเหตุการณ์ประท้วงทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 โดยศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รับฟ้องจำเลยที่ 4-5 คือ กระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลัง แต่ไม่อาจฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. และ ศอฉ. ได้ คำพิพากษาลงชื่อโดย นายนิติ เอื้อจรัสพันธุ์ นายประพันธ์ ทรัพย์แสง นายราเชนทร์ เรืองทวีป ต่อมา วันที่ 21 ธ.ค.53 คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป เป็นเหตุให้อำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์หมดไป อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ประชาไท ภายใต้โดเมน www.prachatai.com ยังไม่สามารถเข้าชมได้ตามปกติกับผู้ให้บริการทุกราย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
MIO: เลือกนายก(นักข่าว)โดยตรงซะดีมั้ย Posted: 04 Mar 2013 09:51 PM PST เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 3 มี.ค. 2556 หลังทำข่าวเลือกตั้งผู้ว่า กทม.วันอาทิตย์นี้ ไม่ว่าจูดี้หรือคุณชายหมูเป็นผู้ชนะ ก็จะถึงวาระนักข่าวเลือกนายกฯ ใช่แล้ว อย่าลืมสิ วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าว และวันที่ 4 มีนาคม ก็เป็นวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี เลือกตั้งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่บอกก่อนว่าจะไม่มีการเลือกตั้งจริงๆ หรอก เพราะเขา "สรรหา" กันไว้แล้ว (ไม่อยากใช้คำว่าล็อบบี้หรือเตี๊ยม อิอิ) ถึงเวลาก็จะมีใครซักคนเสนอชื่อนายกฯ เสนอชื่อกรรมการ 14 คน ชุดเดียวไม่มีคู่แข่ง เป็นอันเสร็จพิธี ที่ประชุมก็จะรับรองว่า นาย ป.ด. ร.ด. ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนใหม่ แอ่นแอ๊น แหม ไม่ต้องเขียนชื่อย่อแบบสยามดาราก็ได้ บอกไปเลยสิว่า ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นักข่าวอาวุโส ค่ายบางกอกโพสต์ อดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าว อดีตกรรมการหลายสมัย และเจ้าบ่าวหมาดๆ แต่กว่าจะได้ผลลงเอย งานนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังซับซ้อน ไม่แพ้ข่าวปรับ ครม.หรือแต่งตั้งโยกย้าย เพราะตอนแรก มีข่าวที่แทบจะ "ฟันธง" หรือ "คอนเฟิร์ม" ว่า เสด็จ บุนนาค "เด้" บก.หน้า 1 คมชัดลึก ได้รับการวางตัวมาแทน "เดอะป๋อง" ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ซึ่งเป็นมา 2 ปี เป็นอีกไม่ได้แล้ว เจ้าตัวประกาศอำลา ไม่ขอมีตำแหน่งในสมาคมอีก อย่างไรก็ดี พอข่าวออกไป ก็มีกระแสต้าน "ป๋องไม่เป็นให้เด้" โดยเฉพาะฝั่งบางกอกโพสต์ ตอนแรก ภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าวโพสต์ทูเดย์ อดีตนายกสมาคมนักข่าว (ผู้เข้าไปเป็น สนช.) จะสนับสนุน ณกาฬ เลาหะวิไลย บรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ แต่ณกาฬไม่เคยทำงานสมาคมนักข่าว ไม่เคยเป็นกรรมการ เคยแต่ทำงานให้สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ มาคนละ line คนละเหล่า จะขึ้นเป็นนายกสมาคมนักข่าวได้ไง ณกาฬก็ไม่เอา เพราะถือเป็นผู้บริหารแล้ว จากนั้นก็มีข่าวจะไปดัน วันชัย วงศ์มีชัย จากแนวหน้า แต่ "ไอ้แว่น" เพื่อนผมก็กำลังยุ่งๆ เพราะวาริน พูนศิริวงศ์ ไปเอา "น้องปอง" อัญชลี ไพรีรักษ์ มาเป็นใหญ่ในแนวหน้า ฮิฮิ ท้ายที่สุด จึงมีชื่อประดิษฐ์โผล่มา และได้แบคอัพสนับสนุนเกรียวกราว ใช้สำนวนกอดฟาเธอร์ก็ต้องบอกว่า "นี่เป็นเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว" คือไม่ใช่เรื่องระหว่าง "เด้" กับ "ดิษฐ์" แต่เพราะ "เด้" ถูกมองเป็นทายาท "เดอะป๋อง" ซึ่งพวกพ้องอยากให้ถอนรากออกจากสมาคมเสียที ตัว "เด้" ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีพิษมีภัยกับใคร เป็นคนประนีประนอมทุกฝ่าย เจ้าตัวก็บอกว่าไม่กระหายอยากเป็น แต่พี่ๆให้เป็นก็เป็น ฉะนั้นพอเสียงสนับสนุนหันไปทาง'ดิษฐ์ เด้ก็ยอมถอนตัว นัยว่าค่ายเนชั่นก็ไม่อยากให้ลงแข่ง โดยเฉพาะ "จอกอ" จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผู้ชอบชูหลักการ เห็นหนวดหนาแต่หน้าบ๊างบาง หนุนว่าค่ายเนชั่นไม่ควรควบสองตำแหน่ง ใครบ้างที่ล็อบบี้จนโผพลิก ต้องไปถามเดอะป๋อง ฮิฮิ น่าจะเห็นนมงู แต่เท่าที่รู้ มีใครบางคนในค่ายหัวเขียว มีนาตยา เชษฐโชติรส อดีตนายกฯ ของค่ายบางกอกโพสต์ แล้วก็มี "พี่ติ๋ม" วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย (สลิ่มที่ผมแสนรัก) เป็นอาทิ พี่ติ๋มนี่มีบารมีในสมาคมไม่ใช่ย่อย เพราะแกเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำหนังสือหาทุนได้ทีละ 2-3 ล้าน โผล่าสุดจึงมีประดิษฐ์เป็นนายก เด้รับเป็นอุปนายกเหมือนเดิม โดยมีสัญญาใจว่ารอ 2 ปีจะได้เป็น "เด้" กับ'ดิษฐ์เป็นนักข่าวรุ่นไล่เลี่ยกัน แต่รายแรกโลว์โปรไฟล์ ไม่ใช่ผู้กว้างขวาง ไม่เหมือนรายหลัง ที่เก่งทางกว้าง สังสรรค์สมาคมกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ นักวิชาการ อย่างหมอประเวศ วะสี, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ฯลฯ ไปจนนักการเมืองทุกค่าย ได้ยินว่างานแต่งงานเมื่อปลายปีที่แล้ว ส.ส.ปชป.แทบจะเหยียบกันตาย แต่ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้าน รัฐบาลก็เพียบ พวกรู้ลึกรู้จริงกระซิบว่าแม้แต่ "ไอ้ตู่" "ไอ้เต้น" ก็ซี้ปึ้กเพราะเด็กรามด้วยกัน ประดิษฐ์จะส่งการ์ดเชิญแต่ทางบ้านห้ามไว้ คนใต้นี่ครับ เกลียดเสื้อแดงยังกะอะไร เท่าที่รู้ เฉพาะพิธีแต่งตอนกลางวันก็มีสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กับเถ้าแก่เปลว สีเงิน ในฐานะปูชนียบุคคลวงการสื่อ เป็นเจ้าภาพจัดให้ เท่าที่ไม่รู้....ก็ไม่รู้นะสิ ฮิฮิ ตอนแรก'ดิษฐ์ยังมีอุปสรรคเล็กๆ คือ บก.ทำท่าจะไม่อนุญาต ค่ายโพสต์มีคำสั่งภายในว่า ใครจะไปรับตำแหน่งในกอง บก.ต้องขออนุญาตก่อน 'ดิษฐ์เป็นนักข่าวคนสำคัญประจำทำเนียบ ขยันส่งข่าวยามดึกยามดื่น จน บก.เรียกไปพบ ฮิฮิ จะยอมให้ไปทำงานสมาคมได้ไง กระนั้นท้ายที่สุด เมื่อเห็นว่า 'ดิษฐ์ได้เป็นนายกฯ แน่ ค่ายโพสต์ก็ยอมเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล ล่าสุดได้ข่าวว่ากำลังฟอร์มทีมอยู่ แต่ก็ปวดขมับอีก เพราะโควตามีไม่เยอะ แต่มีผู้กระตือรือร้นอาสามาทำงานเพื่อส่วนรวมเพียบ ว่าแต่ใครจะมาเป็นกรรมการชุดใหม่ ช่วยไป delete ภาพคู่กับมัลลิกา บุญมีตระกูล หรือบรรดา ส.ส.ปชป.ในเฟซบุคเสียด้วยนะครับ คริคริ........... อ่านฉบับเต็มได้ที่ Media Inside Out ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
แพทย์สหรัฐฯ รักษาเด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อ HIV ได้สำเร็จ Posted: 04 Mar 2013 09:32 PM PST ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการแพทย์ด้วยการรักษาการติดเชื้อ HIV ในเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง จากการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัสอย่างเร่งด่วนช่วง 30 ชั่วโมงหลังเด็กเกิด โดยเด็กไม่จำเป็นต้องพึ่งยาอีกต่อไป เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มแพทย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่าพวกเขาสามารถรักษาเด็กที่ติดเชื้อ HIV มาแก่กำเนิดได้เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเรื่องราวสำคัญจองประวัติศาสตร์การแพทย์ ทีมแพทย์กล่าวว่า เด็กทารกหญิงอายุ 2 ขวบครึ่งจากรัฐมิสซิสซิปปีผู้ติดเชื้อมาแต่กำเนิด ได้รับการรักษาอาการติดเชื้อทำให้เธอสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องรับยา ซึ่งเธอไม่แสดงอาการของการติดเชื้อ มีอายุไขเท่าคนทั่วไปและมีโอกาสน้อยมากที่จะส่งผ่านเชื้อไปสู่คนอื่น แต่อย่างไรก็ตามทีมแพทย์ก็ยังไม่แน่ใจว่าเหตุใดการรักษาถึงได้ผลในรายนี้ พวกเขาต้องทดลองเพิ่มเติมโดยหวังว่าการรักษาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ต้นชั่วโมงแรกของเด็กแรกเกิดเช่นที่ทำกับรายนี้ จะสามารถนำไปใช้กับเด็กที่ติดเชื้อรายอื่นได้ ดร.เดบอราห์ เพอร์ซอต นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ กล่าวว่านี่ถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นในเรื่องเชื้อ HIV สามารถรักษาได้ตั้งแต่ยังเป็นทารก สำนักข่าว BBC ระบุว่าเมื่อปี 2007 ก็เคยมีกรณีของ ทิโมธี บราวน์ ผู้ที่สามารถต้านทานเชื้อไวรัส HIV ไว้ได้ โดยผ่านการรักษาร่วมกับอาการโรคลูคิเมียซึ่งต้องมีการทำลายระบบภูมิคุ้มกันและรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากบริจาคที่มีการผ่าเหล่าของยีนส์ระดับหายากที่สามารถต้านทานการติดเชื้อ HIV ได้ ในทางตรงกันข้ามกรณีของเด็กทารกหญิงคนล่าสุดมาจากการรับยาหลายตัวผสมกัน ซึ่งรู้จักกันในนามการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral therapy) ซึ่งมีการนำมาใช้กับเด็กทารกที่ติดเชื้ออยู่แล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่าการรักษาอย่างรวดเร็วจะสามารถขจัดเชื้อ HIV ไปได้ทันก่อนที่เชื้อจะพบที่ซ่อนตัวในร่างกาย เด็กทารกรายนี้เกิดที่โรงพยาบาลในชนบทซึ่งแม่ของเธอเพิ่งได้รับการตรวจเชื้อ HIV และได้ผลเป็นบวก (มีเชื้อในเลือด) และจากการที่ไม่ได้รับการบำบัดตั้งแต่อยู่ในครรภ์เด็กจึงมีโอกาสสูงในการติดเชื้อ ต่อมาเด็กจึงถูกย้ายไปรักษาที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี หลังจากนั้น ดร.ฮันนาห์ เกย์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านเชื้อ HIV ก็ได้ให้ยาผสมสามชนิดซึ่งทั้งหมดเป็นยาพื้นฐานในการต้านเชื้อ HIV ภายในช่วงเวลาเพียง 30 ชั่วโมงหลังกำเนิด ก่อนที่ผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการจะยืนยันว่าเด็กคนนี้ติดเชื้อ ซึ่งฮันนาห์ให้เหตุผลว่า เธอรู้สึกว่าเด็กทารกคนนี้มีความเสี่ยงมากกว่าปกติจึงควรได้รับการรักษาอย่างดีที่สุด การรักษาดำเนินต่อไปอีก 18 เดือน ก่อนจะหายไป 5 เดือน และเมื่อกลับมาอีกครั้งเด็กก็เข้ารับตรวจสอบการติดเชื้อ แต่ก็พบว่าไม่มีการกลับมาติดเชื้อซ้ำอีก ฮันนาห์กล่าวว่านี่เป็นกรณีแรกที่สามารถรักษาการติดเชื้อได้ในทางปฏิบัติ (functional cure) สำหรับเด็ก การตรวจสอบเชื้อไวรัสได้ผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อในเลือด) แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่ายังคงมีเชื้ออยู่จำนวนเล็กน้อยในร่างกาย แต่เด็กก็อยู่ได้หนึ่งปีโดยไม่ต้องรับยาและยังไม่พบเชื้อในกระแสเลือด ทีมแพทย์เชื่อว่าการรักษาอย่างเร่งด่วนหลังเด็กกำเนิดให้ผลดีที่สุดเนื่องจากตัวยาได้ยับยั้งไม่ให้ไวรัสแบ่งตัวในเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีอายุน้อย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมันสามารถยับยั้งการติดเชื้อในเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีอายุยาวนานกว่าเรียกว่า CD4 ที่สามารถต้าน HIV ได้หลายปี ตัว CD4 นี้จะทำหน้าที่คล้ายแหล่งกบดานของเชื้อและจะสร้างเชื้อ HIV ใหม่เมื่อเซลล์ภูมิคุ้มกันตายไป อย่างไรก็ตามการรักษาแบบนี้ไม่สามารถใช้ได้เด็กที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่เนื่องจากได้เกิดการติดเชื้อไวรัสใน CD4 เซลล์ไปแล้ว และฮันนาห์ก็กล่าวย้ำว่าวิธีการที่ดีที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้เด็กได้รับเชื้อตั้งแต่แรก ซึ่งฮันนาห์ยืนยันว่าพวกเขามีวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อในเด็กแรกเกิดได้ร้อยละ 98 โดยการวินิจฉัยและรักษาผู้หญิงที่มีเชื้อ HIV
เรียบเรียงจาก US HIV baby 'cured' by early drug treatment, BBC, 04-03-2013 US doctors cure child born with HIV, The Guardian, 04-03-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
ศูนย์วิจัยครอบครัวในสหรัฐฯ เผยคนรักเพศเดียวกันเลี้ยงลูกได้ดีเท่าคนรักต่างเพศ Posted: 04 Mar 2013 09:26 PM PST ก่อนหน้านี้อาจมีข้อสงสัยว่าคู่รักเพศเดียวกันจะสามารถเลี้ยงดูบุตรธิดาได้ดีมากเท่าพ่อแม่ที่เป็นคู่ชายหญิงหรือไม่ แต่ล่าสุดศูนย์วิจัยครอบครัวของ ม.เคมบริดจ์ ก็ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างครอบครัวที่รับอุปการะเด็กอายุ 4-8 ปี พบว่ากลุ่มคนรักเพศเดียวกันเลี้ยงลูกได้ดีเทียบเท่าคู่รักต่างเพศ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยครอบครัวของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้เปิดเผยการวิจัยระบุว่า พ่อแม่ที่เป็นเกย์และเลสเบี้ยนมีความสามารถในการเลี้ยงดูลูกเทียบเท่ากับคู่ชายหญิง เด็กๆ ในกลุ่มสำรวจไม่มีข้อเสียเปรียบและส่วนใหญ่ไม่ถูกรังแกที่โรงเรียน ทีมวิจัยทำการสำรวจโดยอาศัยกลุ่มตัวอย่างเป็นครอยครัวเกย์ เลสเบี้ยน และคู่ชายหญิง ในอังกฤษ ที่รับอุปการะเลี้ยงดูบุตรธิดาที่มีอายุระหว่าง 4-8 ปี โดยเน้นสำรวจเรื่องคุณภาพความสัมพันธ์ในครอบครัว การจัดการปัญหาของพ่อแม่ และการปรับตัวของเด็ก โดยผลการทดลองสรุปว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนสมมุติฐานที่ว่าเด็กมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบบางอย่างจากการมีพ่อแม่เป็นคู่เกย์และเลสเบี้ยน ซึ่งชีวิตครอบครัวและคุณภาพความสัมพันธ์ในครอบครัวทุกแบบมีความคล้ายคลึงกันไม่ว่าพ่อแม่จะมีรสนิยมทางเพศแบบใดก็ตาม ศจ.ซูซาน โกลอมบ็อก หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า สิ่งที่เธอไม่ชอบคือการที่ผู้คนมักจะคาดคะเนไปก่อนว่าครอบครัวเช่นที่มีคู่เป็นแบบชาย-ชาย จะเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับเด็ก รวมถึงกังวลว่าคุณพ่อที่เป็นเกย์จะมีอิทธิพลในแง่ลบต่อเด็ก ซึ่งจากการวิจัยแล้วไม่พบว่าจะเกิดผลใดๆ อย่างที่ผู้คนคาดคะเนไว้ ซูซานกล่าวอีกว่า กลุ่มเกย์จะมีโอกาศเกิดภาวะซึมเศร้า, ความกังวล, ความเครียด และปัญหาความสัมพันธ์จากการเลี้ยงดูบุตรธิดาน้อยกว่า เหตุผลหนึ่งคือคู่รักเพศเดียวกันไม่ต้องเผชิญกับปัญหาภาวะไม่สามารถมีบุตรธิดาด้วยวิธีสืบพันธุ์เพราะพวกเขาจะเลือกการอุปการะลูกบุญธรรมเป็นทางเลือกแรก นอกจากนี้แล้วพ่อที่เป็นเกย์มักจะมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า อย่างไรก็ตามในเรื่องการถูกล้อหรือถูกรังแกที่โรงเรียนนั้น แม้ในการวิจัยครั้งนี้จะพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีพ่อแม่เป็นคนรักเพศเดียวกันไม่ได้ถูกรังแกในโรงเรียน แต่ในรายงานผลการวิจัยก็เตือนว่าการล้อและการรังแกกันมักจะเกิดขึ้นในระดับชั้นมัธยมศึกษามากกว่า ซึ่งเด้กที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้มีอายุระหว่าง 4-8 ปี ยังไม่ได้เข้าระดับชั้นมัธยมฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป ก่อนหน้านี้ประเด็นการอุปการะเด็กกำพร้าโดยคู่ที่เป็นกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเคยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก่อน โดยเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เดวิด โจนส์ รัฐมนตรีว่าการแคว้นเวลส์ ได้กล่าวไว้ว่าคู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัยเหมาะสำหรับการเลี้ยงดูลูกๆ ได้ แต่ก็ออกตัวว่าเขาไม่ได้ต่อต้านการอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยคนรักเพศเดียวกัน ขณะที่เซอร์ มาร์ติน นาเรย์ ผู้ให้คำปรึกษาด้านการอุปการะบุตรธิดาเคยกล่าวไว้ว่ากลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศควรได้รับการสนับสนุนให้เปิดเผยตัวออกมา อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังมีความกระตือรือร้นและความแน่วแน่ในการอุปการะลูกบุญธรรมเนื่องจากเป็นทางเลือกแรกหากพวกเขาต้องการมีลูก
เรียบเรียงจาก Children in gay adoptions at no disadvantage, The Independent, 03-03-2013 ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai | |
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียสั่งตอบโต้นักรบสุลต่านซูลู Posted: 04 Mar 2013 06:10 PM PST เมื่อเช้านี้ 'นาจิป ราซัค' นายกรัฐมนตรีแถลงว่าได้สั่งให้กองกำลังรัฐบาลมาเลเซียปฏิบัติการตอบโต้ "กองทัพสุลต่านซูลู" หลังเผชิญหน้ามา 3 สัปดาห์ และระบุด้วยว่าพยายามเจรจาอย่างสันติให้กองกำลังดังกล่าวยอมถอยออกจากรัฐซาบาห์แล้ว แต่ล้มเหลว และเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องปฏิบัติการตอบโต้เพื่อรักษาอธิปไตย แผนที่มาเลเซียด้านตะวันออก แสดงที่ตั้งเมือง "ลาฮัด ดาตู" จุดที่ "กองทัพสุลต่านซูลู" กองกำลังติดอาวุธจากมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา และล่าสุดวันนี้ (5 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้แถลงว่ากองทัพมาเลเซียได้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้แล้ว หลังกองทัพสุลต่านซูลูดังกล่าวไม่ยอมถอนกำลังกลับ และมีการยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียเสียชีวิตไป 8 นาย
หลังการเผชิญหน้ามา 3 สัปดาห์ ระหว่างกองกำลังที่ระบุว่าเป็น "กองทัพสุลต่านซูลู" นั่งเรือยนต์มาจากเกาะสิมุนุน จากจังหวัดตาวี ตาวี ใกล้กับเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เข้ามายังเมืองลาฮัด ดาตู เมืองชายแดนตะวันออกสุดของรัฐซาบาห์ มาเลเซีย เมื่อ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่ออ้างกรรมสิทธิเหนือรัฐซาบาห์ว่าเป็นดินแดนของสุลต่านซูลูที่เคยยกให้อังกฤษเช่านั้น และเมื่อสัปดาห์ก่อนกองกำลังดังกล่าวได้ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียเสียชีวิตไปหลายรายนั้น ล่าสุดเมื่อเวลา 8.28 น. วันนี้ (5 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 7.28 น. ตามเวลาในประเทศไทย The New Straits Times ของมาเลเซีย รายงานว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียนาจิป ราซัคได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า จากกรณีที่มีการบุกรุกเข้ามาโดยกลุ่มกองกำลัง บริเวณเมืองลาฮัด ดาตู รัฐบาลมาเลเซียได้พยายามคลี่คลายสถานการณ์โดยหลีกเลี่ยงการนองเลือด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปพบและเจรจา โดยหวังว่ากลุ่มผู้บุกรุกจะเห็นด้วย และออกจากพื้นที่อย่างสันติ โดยไม่ต้องใช้มาตรการรุนแรง อย่างไรก็ตาม การบุกรุกดังกล่าวได้ล่วงเลยมานาน และเป็นที่แน่ชัดว่าผู้บุกรุกไม่มีเจตนาที่จะออกจากรัฐซาบาห์ และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาพวกเขาได้ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย และต่อมาตำรวจอีก 6 นายที่ตำบลเซ็มโปนา ก็ถูกยิงเสียชีวิต นาจิป แถลงต่อไปว่า หลังเกิดเหตุโจมตีขึ้น เขาได้ยืนยันอีกว่าผู้บุกรุกจะต้องมอบตัว มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะมีปฏิบัติการ เขากล่าวด้วยว่า ในฐานะประเทศอิสลามที่รักสันติ และเชิดชูการต่อสู้เพื่อยุติความขัดแย้งด้วยวิธีเจรจา อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดที่ลาฮัด ดาตูนั้นล้มเหลว เจ้าหน้าที่มาเลเซียถูกโจมตีและเสียชีวิต ชาวมาเลเซียโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในรัฐซาบาห์ต่างกังวลในสวัสดิภาพ รัฐบาลจึงต้องปฏิบัติการเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและอธิปไตยของประเทศ ตามคำเรียกร้องของประชาชน และในเวลา 7.00 น. เช้าวันนี้ (6.00 น. เวลาประเทศไทย) กองกำลังรักษาความมั่นคงของมาเลเซียได้เปิดการโจมตีที่กังปง ตันเดา นายกรัฐมนตรีระบุ โดยมาเลเซียกินี รายงานด้วยว่า ฝ่ายกองทัพรัฐบาลมาเลเซียได้ใช้เครื่องบินเจ็ทในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย โดยเมื่อเวลา 8.24 น. ตามเวลาท้องถิ่น มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นใกล้กับ กัมปง ตันเดา ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ กองทัพสุลต่านซูลูควบคุมอยู่ และมีทหารมาเลเซียเข้ามาเสริมกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียอีกประมาณ 7 กองพัน ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai |
You are subscribed to email updates from ประชาไท To stop receiving these emails, you may unsubscribe now. | Email delivery powered by Google |
Google Inc., 20 West Kinzie, Chicago IL USA 60610 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น