โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ข่าวเจาะอังกฤษเผย กรณีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เกี่ยวโยงกับการทารุณกรรมผู้ต้องขังในอิรัก

Posted: 10 Mar 2013 05:57 AM PDT

เดอะ การ์เดียน และ บีบีซี รายงานเชิงเจาะลึกกรณีที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ส่งทหารเกษียณระดับสูงซึ่งเคยผ่านประสบการณ์ช่วยติดอาวุธให้ฝ่ายขวาในอเมริกากลาง เข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับการทรมานนักโทษในเรือนจำอิรักและแต่งตั้งคนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกนิกายเป็นรมต. หลังสหรัฐฯ เข้ายึดอิรักแล้ว

เมื่อวันที่ 6 มี.ค 2013 สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน และบีบีซีของอังกฤษรายงานข่าวเชิงเจาะลึกกรณีที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับคุกทรมานนักโทษในอิรัก

เดอะ การ์เดียน เปิดเผยว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ส่งทหารผ่านศึกที่เคยทำ 'สงครามสกปรก' ในอเมริกากลางเข้าไปตรวจตราการทำงานในเรือนจำและคุกทรมานนักโทษของหน่วยตำรวจคอมมานโดผู้ทำสงครามแบ่งแยกนิกายในอิรัก โดยเรือนจำดังกล่าวมีการทรมานนักโทษกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพื่อเค้นเอาข้อมูลออกมา

เดอะการ์เดียนเปิดเผยอีกว่า หน่วยดำรวจคอมมานโดของอิรักหน่วยนี้เป็นกลุ่มที่มีการทรมานนักโทษอย่างรุนแรงที่สุดในช่วงที่าสหรัฐฯ ยึดครองและเร่งให้ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ

จากการสืบสวนของผู้สื่อข่าวเดอะ การ์เดียน และ บีบีซีอาร์บิคโชว์ ทำให้ทราบว่า พันเอก เจมส์ สตีลล์* เป็นทหารผ่านศึกหน่วยรบพิเศษอายุ 58 ปี ที่ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว ได้รับการแต่งตั้งจากโดนัลด์ รัมเฟลด์ ให้เป็นผู้จัดตั้งกองกำลังผสมเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนิกายซุนนี โดยหลังจากที่กลาโหมสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งห้ามการให้กลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์เข้าร่วมกับกองกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยตำรวจคอมมานโดพิเศษ (SPC) ก็มีสมาชิกจากกลุ่มหัวรุนแรงนิกายชีอะฮ์เพิ่มมากขึ้นเช่น กลุ่มกองพันบัดร (Badr Brigades)

มีที่ปรึกษาพิเศษอีกรายคือพันเอก เจมส์ เอช คอฟแมน ผู้ทำงานร่วมกับสตีลในเรือนจำ ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยเงินทุนสหรัฐฯ หลายล้านดอลลาร์

คอฟแมน รับคำสั่งโดยตรงจากนายพลเดวิด เพเทรอุส เขาถูกส่งไปยังอิรักเมื่อเดือน มิ.ย. 2004 เพื่อจัดตั้งและฝึกฝนกองกำลังความมั่นคงของอิรักชุดใหม่ ขณะที่สตีลผู้ที่อยู่ในอิรักตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2005 และกลับประเทศในปี 2006 ได้รับคำสั่งโดยตรงจากรัมเฟลด์

พยานชาวอิรักและสหรัฐฯ ในสารคดีของเดอะ การ์เดียน และบีบีซีให้การซัดทอดที่ปรึกษาสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกถึงเรื่องการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยหน่วยคอมมานโด นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เพเทรอุสผู้เคยถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอจากเรื่องอื้อฉาวทางเพศยังถูกโยงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิโดยผ่านทางที่ปรึกษาอีกด้วย

คอฟแมน ซึ่งรับคำสั่งจากเพเทรอุสได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางหนังสือพิมพ์ของกองทัพสหรัฐฯ สตาร์แอนด์สไตรปส์ว่าเขาเป็นหูเป็นตาให้กับเพเทรอุสอยู่ในเขตพื้นที่

นายพล มันทัดเดอ อัล-ซามารี ผู้เคยทำงานร่วมกับสตีลและคอฟแมนหนึ่งปีในช่วงที่กำลังจัดตั้งหน่วยคอมมานโดกล่าวว่า พวกเขาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันโดยแทบไม่เคยแยกกัน มีอยู่ 40-50 ครั้งที่เห็นพวกเขาอยู่ด้วยกันในเรือนจำ พวกเรารู้เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นในนั้นรวมถึงเรื่องการทรมานอย่างโหดเหี้ยม

จากการรายงานเพิ่มเติมของเดอะ การ์เดียน ทำให้ได้รับการยืนยันรายละเอียดเรื่องระบบการไต่สวน ซามารีบอกว่าในเรือนจำแต่ละแห่งจะมีคณะกรรมการไต่สวนของตนเอง เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยรายละเอียดในเรื่องนี้

"แต่ละคณะจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าว 1 คนและพนักงานสอบสวนอีก 8 คน คณะกรรมการนี้จะทำการทรมานทุกวิถีทางเพื่อทำให้ผู้ต้องขังสารภาพ เช่นการใช้ไฟฟ้าช็อตหรือการแขวนเอาหัวห้อยลงพื้น การถอนเล็บ และการทุบทีในส่วนที่ละเอียดอ่อนของร่างกาย" ซามารีกล่าว

ยังไม่มีหลักฐานว่าสตีลหรือคอฟแมนเป็นผู้ลงมือทรมานนักโทษด้วยตนเอง เพียงมีบางครั้งที่พวกเขาปรากฏตัวในเรือนจำที่มีการทรมาน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการกับผู้ต้องขังหลายพันคน

ทางการ์เดียนและบีบีซีได้ริเริ่มในการสืบสวนเรื่องนี้จากการได้อ่านแฟ้มลับของกองทัพสหรัฐฯ ที่ถูกเผยแพร่ผ่านทาง WikiLeaks ที่มีข้อมูลรายละเอียดกรณีที่ทหารสหรัฐฯ รู้เห็นเป็นใจกับการทรมานนักโทษในเรือนจำหลายแห่งทั่วอิรักที่มีตำรวจคอมมานโดดูแลอยู่ ผลทหาร แบรดเลย์ แมนนิง อายุ 25 ปี ถูกสั่งจำคุก 20 ปีลงไป หลังจากที่เขายอมรับสารภาพความผิดตามที่แฟ้มลับกล่าวหา

ซามารีกล่าวอีกว่าการทรมานนักโทษเป็นเรื่องที่ทำเป็นประจำในเรือนจำที่ควบคุมโดยหน่วย SPC "ผมจำได้ว่ามีคนอายุ 14 ปีถูกผูกไว้กับเสาในห้องสมุด เขาถูกผูกไว้โดยห้อยหัวลงมา ตัวเขามีรอยฟกช้ำไปทั้งตัวจากการถูกโบยตีด้วยสายไฟ"

กิลเลส เปเรส ช่างภาพผู้มีโอกาสได้พบปะกับสตีลตอนทำงานให้นิวยอร์กไทม์เปิดเผยว่าเขาได้เข้าไปในห้องสมุดห้องเดียวกันในซามาร์ราขณะสัมภาษณ์สตีลและพบว่ามีรอยเลือดอยู่ทุกที่

ผู้สื่อข่าว ปีเตอร์ มาส ก็เคยไปที่เดียวกันเพื่อไปทำข่าวกับเปเรส เขาบอกว่าขณะกำลังสัมภาษณ์ผู้ทำสงครามศาสนาชาวซาอุฯ โดยที่มีจิม สตีล อยู่ในห้อง ก็มีเสียงกรีดร้องโหยหวน มีใครบางคนตะโกน "อัลลาห์ อัลลาห์ อัลลาห์!" แต่ไม่ใช่มาจากความชื่นชมในศาสนา มันเป็นเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดและความกลัว

รูปแบบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิรักมีความคล้ายคลึงกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกากลางเมื่อช่วง 1980s โดยทหารกองผสมที่ได้รับคำแนะนำและได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ สตีลก็เคยเป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษาพิเศษที่ช่วยฝึกหน่วยทหารด้านความมั่นคงของเอล ซัลวาดอร์ เพื่อต่อต้านการก่อความไม่สงบ เพเทรอุส ได้ไปเยือนเอล ซัลวาดอร์ ในปี 1986 ขณะที่สตีลยังอยู่ที่นั่นและกลายเป็นคนสำคัญที่ผลักดันวิธีการต่อต้านการก่อความไม่สงบ

สตีลไม่ได้ตอบในเรื่องใดๆ ที่เดอะ การ์เดียน และบีบีซีอาร์บิกตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของเขาในเอล ซัลวาดอร์ และอิรัก ก่อนหน้านี้เขาเคยปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทรมานและกล่าวต่อหน้าสาธารณชนว่าเขาต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนคอฟแมนก็ปฏิเสธไม่ยอมแสดงความเห็น

โฆษกประจำตัวของเพเทรอุสกล่าวว่า "ในช่วงที่นายพลเพเทรอุสอยู่ในอิรัก เขาได้ทราบรายงานเรื่องกองกำลังอิรักทำการทรมานนักโทษ และในทุกๆ กรณี เขาก็ได้รายงานข้อมูลให้กับผู้อยู่ในสายบังคับบัญชาของสหรัฐฯ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงแบกแดด และผู้นำอิรักที่เกี่ยวข้อง"

เดอะ การ์เดียน ทราบว่าหน่วย SPC ที่เกี่ยวข้องกับการทรมานเป็นที่รับรู้ของประชาชนในอิรักเมื่อมีเหยื่อบางรายถูกนำมาแห่ประจานต่อหน้าผู้ชมโทรทัศน์ในรายการที่ชื่อว่า "การก่อการร้ายใต้เงื้อมมือของความยุติธรรม" (Terrorism In The Hands of Justice)

เรือนจำของ SPC ได้ใช้เงินทุนสนับสนุนของกองทัพสหรัฐฯ ในการจัดหากล้องเพื่อมาถ่ายทำผู้ต้องขังในรายการ ซามารีบอกว่าเมื่อรายการนี้สร้างความโกรธเคืองแก่ประชาชนชาวอิรัก เขาก็ได้รับแจ้งจากหน่วยงานของเพเทรอุสให้พวกเขาหยุดเผยแพร่รายการโทรทัศน์ โดยในตอนนั้นซามารีอยู่ที่บ้านกับอัดนัน ธาบิต หัวหน้าหน่วยพิเศษคอมมานโด

"ล่ามพิเศษของนายพลเพเทรอุส ซาดี โอธมัน โทรมาพูดแทนนายพลเพเทรอุสบอกให้พวกเราหยุดแสดงภาพนักโทษหลังจากที่พวกเขาถูกทรมานออกอากาศ" ซามาดีกล่าว "จากนั้นอีก 20 นาทีต่อมาพวกเราก็มีสายเข้ามาจากกระทรวงมหาดไทยของอิรักบอกพวกเราอย่างเดียวกัน ว่านายพลเพเทรอุสไม่อยากให้นำภาพเหยื่อที่ถูกทรมานออกโทรทัศน์"

โอธมัน ซึ่งตอนนี้อยู่ในนิวยอร์กยืนยันว่าเขาได้โทรศัพท์ไปพูดกับหัวหน้าหน่วย PSC แทนเพเทรอุสจริงโดยบอกให้หยุดการแสดงภาพนักโทษที่ถูกทรมาน "แต่นายพลเพเทรอุสก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการทรมาน" โอธมันกล่าวเสริม "การบอกว่าเขาสนับสนุนการทรมานถือเป็นการพูดสุ่มสี่สุ่มห้า"

แต่ธาบิตไม่เห็นด้วยในเรื่องที่ว่าเจ้าหน้าที่อเมริกันที่เขาร่วมงานด้วยไม่รู้ว่าหน่วยคอมมานโดทำอะไรไปบ้าง "ก่อนที่ผมจะออกมา คนอเมริกันรู้ทุกอย่างที่ผมทำ พวกเขารู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในการไต่สวนและพวกเขาก็รู้เรื่องผู้ต้องขัง ข่าวสารบางเรื่องเกี่ยวกับผู้ต้องขังพวกเขาก็เป็นคนบอกพวกเรา พวกเขากำลังโกหก"

ก่อนหน้าที่เพเทรอุสและสตีลจะออกจากอิรักในเดือน ก.ย. 2005 ก็มีการแต่งตั้ง จับร อัล-ซุลาจ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่ของอิรัก ภายใต้การดำรงตำแหน่งของซุลาจผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกลุ่มติดอาวุธกองพันบัดร แนวโน้มการทรมานและการทารุณกรรมโดยหน่วยคอมมานโดก็เพิ่มสูงขึ้น และเป็นที่เชื่อกันในวงกว้างว่าหน่วยนี้ได้กลายเป็นหน่วยที่สังหารผู้คนอย่างผิดกฏหมาย

ทาง เดอะ การ์เดียน ทราบมาว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิรักที่ทำงานร่วมกับสหรัฐฯ หลังจากการบุกโจมตีของสหรัฐฯ ได้เตือนเพเทรอุสเรื่องผลที่ตามมาหากมีการแต่งตั้งสุลาจ แต่คำร้องนี้ก็ถูกเมิน

ผลกระทบในระยะยาวจากการสนับสนุนเงินและติดอาวุธให้กับกลุ่มทหารกองผสม คือการปลดปล่อยกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกนิกายที่คอยสร้างความหวาดกลัวต่อกลุ่มชุมชนนิกายซุนนี และเร่งปฏิกิริยาให้เกิดสงครามกลางเมืองที่จะทำให้คนนับหมื่นล้มตาย ท่ามกลางจุดเดือดของความขัดแย้งระหว่างนิกาย ก็ทำห้เกิดการนองเลือดจนมีผู้คนเสียชีวิตบนท้องถนนของอิรัก 3,000 คนต่อเดือน

 

หมายเหตุ


*ในเนื้อความจากหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ยังเปิดเผยด้วยว่า เจมส์ สตีลเคยมีประสบการณ์ในสงครามเวียดนามปี 1965-1975 ต่อมาหลังปี 1979 การรัฐประหารก็เกิดขึ้นทั่วประเทศเล็กๆ ในแถบอเมริกากลางและเกิดสงครามกลางเมืองโดยสหรัฐฯ เป็นฝ่ายฝึกฝนและสนับสนุนรัฐบาลฝ่ายขวาของประเทศเหล่านั้น ซึ่งสตีลก็มีบทบาทเป็น "ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อความไม่สงบ" ซึ่งถูกส่งลงไปช่วยฝึกหน่วยทหารของเอล ซัลวาดอร์ และเปลี่ยนสภาพจากสงครามเต็มรูปแบบให้กลายเป็นการเน้นเรื่องการข่าวและการไต่สวน นอกจากนี้สตีลยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกื้อหนุนด้านอาวุธแก่กลุ่ม 'คอนทรา' กลุ่มกองโจรฝ่ายขวาที่ต่อสู้กับรัฐบาลฝ่ายซ้ายของนิคารากัว


เรียบเรียงจาก
Revealed: Pentagon's link to Iraqi torture centres, The Guardian, 06-03-2013
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น