โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

iLaw: คุณคัดค้านนิรโทษกรรมแบบไหน

Posted: 04 Nov 2013 10:59 AM PST

สัปดาห์นี้ใครๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลายคนตัดสินใจออกมาชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ และไม่น้อยที่แสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดียโดยเปลี่ยนภาพในเฟซบุคขึ้นข้อความ "คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม" บรรยากาศการเมืองในจังหวะนี้ เรียกได้ว่า แม้แต่คนที่คิดต่างกันเรื่องการเมืองตลอดมา ต่างก็หันมาพูดเรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ดี ภายใต้การคัดค้านเหมือนกัน แต่เหตุผลของแต่ละฝ่ายก็แตกต่างกันอยู่มาก

"จุดพีค" ของเรื่องนี้ เกิดเมื่อตีสี่ของวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2556 สภาผู้แทนราษฎรเร่งผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนนเสียง 310 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยที่ส.ส.ฝ่ายค้านพากันวอล์คเอาท์จากที่ประชุม

ปัญหาสำคัญของเรื่องอยู่ที่มาตรา 3 ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการที่ให้ไว้ในการประชุมวาระแรก เพราะในวาระแรกสภาผู้แทนฯ รับหลักการร่างกฎหมายที่มีใจความสำคัญว่าจะเป็นกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ทว่าเมื่อร่างผ่านการแก้ไขจากกรรมาธิการ เนื้อหาก็ถูกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพิ่มเติมการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลอีกหลายกลุ่ม ดังที่เรียกกันว่าเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ "เหมาเข่ง"

 

ก่อนกรรมาธิการ  หลังกรรมาธิการ

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างพ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้การนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำการในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

การกระทำในตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

ร่างพ.ร.บ.เหมาเข่งจึงนำมาสู่กระแสคัดค้านของมวลชนหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจุดยืนการคัดค้านที่แตกต่างกัน ลองสำรวจตัวคุณเองว่า คุณเชื่อแบบไหน และสอดคล้องกับกลุ่มใด

ค้านนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการฆ่าประชาชน และแกนนำ

แม้ตอนแรกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอเข้าสู่สภาจะมีวรรคหนึ่งเขียนย้ำว่า การนิรโทษกรรมนี้ "ไม่รวมถึง" การกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าจะไม่รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือทหารผู้มีอำนาจสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุม และไม่รวมถึงแกนนำสีเสื้อต่างๆ แต่ปรากฏว่าเนื้อหาส่วนนี้ถูกแก้จากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่เขียนว่า "ไม่" นิรโทษกรรม ก็แก้ไขเป็น "ให้" นิรโทษกรรม

กลุ่มที่คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้ผู้สั่งการให้ล้อมปราบและใช้อาวุธกับประชาชน เช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ซึ่งนำโดย บ.ก.ลายจุด คณะนิติราษฎร์ บางส่วนของกลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จากเหตุการณ์ปี 53 นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายกล้าคิด ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7 สถาบันการศึกษา ภาคใต้ องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

ค้านนิรโทษกรรม ไม่เอาทักษิณ

ก่อนหน้านี้ ในสังคมไทยมีข้อเสนอต่อร่างกฎหมายสองแบบ คือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และร่างพ.ร.บ.การปรองดองฯ เนื้อหาสำนวนการเขียนกฎหมายของสองเรื่องค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ความต่างของสองเรื่องนี้คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเน้นการยกเว้นความผิดให้คนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ปรองดองมีลักษณะเหมาเข่งที่ให้นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงนิรโทษกรรมให้ในคดีทุจริตของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย ขณะที่ร่างพ.ร.บ.การปรองดองฯ ยังไม่เคยถูกสภาหยิบมาพิจารณา

เมื่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา แม้ในวาระรับหลักการจะเน้นที่การนิรโทษกรรมให้ประชาชน แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการแล้ว ได้มีการคัดลอกข้อความจากร่างพ.ร.บ.ปรองดองเข้ามา โดยเขียนว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้พ้นจากความผิดได้

ความหมายของประโยคนี้ ส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และต่อมาถูกศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตคอรัปชั่น พ้นจากความรับผิดไปด้วย

กลุ่มที่ออกมาค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น เช่น องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นประเทศไทย คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำโดยอธิการบดี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่าย มอ.รักชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์ และม็อบสามเสน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มนักธุรกิจย่านสีลม กลุ่มคนจันท์รักชาติ กลุ่มแดงเสรีชนอิสระ (คนเสื้อแดงกลุ่มจากเชียงใหม่-ลำพูน) คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) คณาจารย์และบุคลากร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จาก 24 สถาบันการศึกษา

ค้านนิรโทษทักษิณ ให้ทักษิณกลับมาสู้คดีตามปกติ

นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่มีเหตุผลในรายละเอียดต่างกัน เช่น คณะนิติราษฎร์ เพราะเแม้คณะนิติราษฎร์เคยเสนอไว้ว่า ต้องลบล้างผลหรือมติที่เกิดขึ้นจากองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แต่คณะนิติราษฎร์เห็นว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในแนวทางแก้ไขเพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหารซึ่งต้องแก้เป็นระบบ ไม่ใช่การแต่งเติมมาอยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งนี้ กลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดนี้ร่วมกับคณะนิติราษฎร์ เช่น ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.)

 


(คลิกดูภาพขนาดใหญ่)

 

นิรโทษกรรม อย่าลืมคดี 112

ช่วงแรกของข้อเสนอเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะมีข้อถกเถียงที่ตีความกันอย่างมากว่า นิยามของคำว่า ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองนั้น จะรวมถึงผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยหรือไม่ สุดท้าย ร่างที่ผ่านออกมานั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากเล่นบทปลอดภัยไว้ก่อนโดยการพยายามแสดงตัวว่าจะไม่ข้องเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 และระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในร่างเลยว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ ไม่รวมถึงคดีมาตรา 112

ประเด็นนี้นำมาสู่เสียงค้านของนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการจำนวนหนึ่ง เพราะเห็นว่าคดีมาตรา 112 จำนวนมากเป็นผลจากการแสดงออกจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องตีความ กลุ่มที่แสดงท่าทีชัดเจนออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพราะเลือกปฏิบัติ ไม่รวมคดีมาตรา 112 เช่น คณะนิติราษฎร์ และ เครือข่ายกล้าคิด (กลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาจาก7สถาบันการศึกษา ภาคใต้) นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

ค้านนิรโทษกรรม เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง

ใจความหลักของการนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมไม่ว่าสีเสื้อใด ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคดีปิดสนามบิน ประชาชนที่ออกมาชุมนุมทั่วประเทศในปี 2553 และอีกหลายๆ เหตุการณ์ ได้รับอานิสงก์จากการนิรโทษกรรมไปด้วย

แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการเห็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีผลให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ออกมาชุมนุมในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 โดยเห็นว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง กลุ่มที่คัดค้านนิรโทษกรรมในลักษณะนี้ ปรากฏให้เห็นได้ในบางส่วนของการปราศรัยที่ม็อบสามเสน กลุ่มรวมพลคนรักชาติ เมืองช้าง จังหวัดสุรินทร์ และรวมถึงบางส่วนของการปราศรัยในม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ตามจังหวัดต่างๆ

ค้านนิรโทษกรรม เกลียดนักการเมืองในสภา

ด้วยโอกาสของการปฏิบัติหน้าที่กับความอุบาทว์ของเหล่านักการเมืองเสียงข้างมากในสภาอันทรงเกียรติ ที่เร่งผ่านกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงประชาชน ส่วนฝ่ายค้านเองก็มีเสียงไม่พอที่จะไปสร้างแรงถ่วงดุลอะไรได้ ผลการปฏิบัติงานครั้งนี้จึงนำมาสู่กระแสลุกฮือของมวลชน ที่ใช้เรื่องการค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาล
กลุ่มที่มีจุดยืนลักษณะนี้ เช่น กลุ่มนักวิชาการประชาชนหาดใหญ่ แฟตเรดิโอ

การแก้ไขเนื้อหาร่างแล้วรวบรัดผ่านกฎหมายอย่างน่าแปลกประหลาดของส.ส.พรรคเพื่อไทยครั้งนี้ สร้างกระแส "คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ให้ลุกขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญบนถนนประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเกมส์นี้คนใส่สูทในสภามีประชาชนที่นอนอยู่ในคุกเป็นตัวประกัน น่าหวั่นเป็นอย่างยิ่งว่า กระแสการคัดค้านเกมการเมืองเรื่องนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะทำให้การเรียกร้องหาความจริง และการเรียกร้องอิสรภาพของ "นักโทษการเมือง" จำนวนมากอันเป็นสาระสำคัญของเรื่องการนิรโทษกรรม กลายเป็นเสียงที่ริบหรี่ กว่าเสียงใดๆ

ที่มา: http://ilaw.or.th/node/2980

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ “สภาหน้าโดม”ค้านนิรโทษสุดซอย พลังคนรุ่นใหม่ที่ พท. ต้องฟัง

Posted: 04 Nov 2013 10:49 AM PST

สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรวาระ2-3 ไปอย่างรวดเร็ว เป็นชนวนการชุมนุมให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ในขณะเดียวกัน หลายกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ก็ได้คัดค้านและ แสดงความไม่เห็นด้วย กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง-สุดซอย เช่นกัน

หนึ่งในกลุ่มที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในประเด็นนี้ บนจุดยืนที่ไม่ยอมไปซบอกฝ่ายอำมาตย์ คือกลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มต่างๆ เป็นแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษา คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ออกมาแถลง เตรียมยื่นต่อวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้าน พ.ร..บ.ดังกล่าว

ตัวแทนจาก "สภาหน้าโดม" "สิรวิชญ์ เสรีวิวัฒน์" หรือ นิว เลขาธิการกลุ่มสภาหน้าโดม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 3

"กิตติสัณห์ อุตสาหประดิษฐ" หรือ เอิร์ธ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาหน้าโดม และสมาชิกสภานักศึกษา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี1 และ  "ศรัณย์ ฉุยฉาย" หรืออั้ม เนโกะ หนึ่งในแนวร่วม ได้ให้สัมภาษณ์แนวคิดที่มาในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

นิว อั้ม เอิร์ท

-สภาหน้าโดม มีสมาชิกกี่คน

นิว : มีประมาณ 14-15 คน ทำงานประสานประมาณ 6-7 คน

-ชื่อนี้ เกี่ยวข้องกับสภาหน้าโดม ยุค 14 ตุลา 2516 หรือเปล่า

นิว : ไม่ได้เชื่อมโยงติดต่อโดยตรง ไม่ได้ไปขอใช้ชื่อ แต่ได้เลือกใช้ไปเลย ถ้าจะมีความเกี่ยวโยงก็น่าจะเป็นเรื่องราว ความเหมือนกัน ในการทำเวที พูดคุย วงเสวนา คอนเสปต์คล้ายกัน ผมเลยนำชื่อสภาหน้าโดมกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

-แล้ว "สภาหน้าโดม" ในเจนเนอเรชั่นนี้ เคลื่อนไหวประเด็นอะไรที่คิดว่าสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก

นิว : เรื่องต่อต้านระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็งานแรกคือ งิ้วธรรมศาสตร์ วันที่ 19 มิ.ย. 56 จากนั้น เดือนกรกฎามาเคลื่อนเรื่องต่อต้านระบบโซตัส ทำให้มีแรงกระเพื่อมในธรรมศาสตร์มากพอสมควร อีกเรื่อง คือ ต่อต้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษา

อั้ม : สภาหน้าโดมเคลื่อนไหวตอนที่มีกรณี วิชา TU130 บังคับต่างชุดนักศึกษา

-ตอนที่อั้มทำโปสเตอร์ หรือเปล่า

อั้ม : ใช่ แต่สภาหน้าโดมเขาแจกใบปลิว

นิว : บังเอิญมาทำวันเดียวกัน แต่คนละแคมเปญ สุดท้ายสานไปด้วยกันได้ 

-กลุ่มสภาหน้าโดม ไปถ่ายโปสเตอร์กับอั้ม หรือ เปล่า

อั้ม : ไม่ใช่คะ เพราะเราคิดเห็นไปในทางเดียวกัน แต่เคลื่อนไหวคนละแบบกัน

นิว : สภาหน้าโดม เป็นคนเอาไปเผยแพร่ครับ

อั้ม : เอาโปสเตอร์ ไปโพสต์ในเฟซบุคครั้งแรก โดยสภาหน้าโดม

-เนื่องจากเป็นกลุ่มอิสระ ทำให้ไม่ถูกอาจารย์มาควบคุมหรือเปล่า

นิว : ก็มีความพยายามจะเล่นงานอยู่บ้าง เช่น ฝ่ายการนักศึกษา เรียกไปคุยว่า ใครเป็นผู้เผยแพร่ แล้วทำไมสภาหน้าโดมทำกับเพื่อนแบบนี้ แล้วเขาอ้างว่า คุณอั้ม เนโกะ เป็นคนซัดทอดมาที่สภาหน้าโดม (ทุกคนหัวเราะ)

อั้ม : ไม่จริง(หัวเราะ)

นิว : ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมฝ่ายการนักศึกษาเราทำไมเป็นแบบนี้ เหมือนจะพูดให้เราขัดแย้งกัน แล้วกลุ่มอิสระทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้งบอะไรจากมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว อุปสรรคก็เยอะ เจอระบบราชการยุ่งยาก

-ตอนอั้ม ไปแสดงละคร นอนตายอยู่หน้าพรรคเพื่อไทย ต่อต้าน ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง สภาหน้าโดมได้ไปด้วยไหม

นิว : ผมไปในนามส่วนตัวครับ ไม่ได้ไปในนามสภาหน้าโดม

อั้ม : งานนั้น ตัวหลักคือกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย มีคุณไท ปณิธาน ลูกคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข อยู่ในกลุ่ม

-ทำไมมาเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรม

นิว : ผมคิดว่า มันเป็นประเด็นทางสังคมขึ้นมาตอนนี้ และสังคมจับจ้องอยู่ และเป็นประเด็นที่ควรตั้งคำถามถึงการกระทำ ว่า ขัดต่อหลักนิติรัฐ หรือขัดต่อหลักการนิรโทษกรรมทั่วไป ซึ่งต้องมีการสำนึกผิด การขอขมาต่อเหยื่อ  แต่ปรากฏว่าไม่มีขั้นตอนพวกนี้เลย ต่อให้เหมาเข่ง คนทำผิดก็ต้องมีการขอขมา สำนึกผิดก่อน

จริงๆ เราก็ไม่อยากไปเคียดแค้นคุณอภิสิทธิ์ กับคุณสุเทพ และทหาร แต่เราต้องการเห็นการสำนึกผิด ขอขมา ไม่ลงโทษก็ไม่ว่าอะไรแต่ต้องสำนึกผิด ขอขมา ซึ่งเหยื่อก็ยังไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้

-ความรู้สึกแย่ ตอนนี้มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคเพื่อไทยมากกว่ากัน

นิว : ผมมีความรู้สึกต่อพรรคเพื่อไทยมากกว่า รู้สึกถึงการกระทำที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ฟังฉันทานุมัติของคนในสังคม และโดยจุดประสงค์หลัก ไม่ได้มุ่งไปที่ประชาชน แต่มุ่งไปที่กลุ่มอำนาจ ชนชั้นนำ พรรคเพื่อไทยก็คือกลุ่มอีลีท กลุ่มชนชั้นนำเช่นกัน กลุ่มชนชั้นนำเก่า กับกลุ่มชนชั้นนำใหม่ ในพรรคเพื่อไทยก็คงกำลังประนีประนอมกันอยู่ โดยไม่สนใจประชาชนว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เลือกพรรคเพื่อไทยไป ก็หวังว่าอยากจะให้เขาช่วยเหลือคนเสื้อแดง ถึงแม้ผมจะไม่ได้เชียร์คนเสื้อแดงเต็มที่ ก็เห็นใจคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมตรงนี้ ก็อยากให้ไปช่วยแก้ไข

-เหตุผลที่ทางพรรคบอกว่า นิรโทษกรรมแบบนี้เพื่อช่วยคนที่อยู่ในเรือนจำให้ออกมาเร็วขึ้น  และถ้าไม่เหมาเข่ง ก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องความเสมอภาค

เอิร์ธ : ฟังไม่ขึ้นครับ เพราะผ่านวาระแรกไปแล้ว แสดงว่า เขาก็ต้องรู้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

นิว : ถ้าร่างหลักการ เป็นเหมาเข่ง ยังว่าไปอย่าง แต่ร่างหลักการมาอีกอย่างแล้วมาเพิ่มอีกอย่าง

อั้ม : คือเป็นการตีความเพื่อจะช่วยกลุ่มชนชั้นนำ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จริงๆ แล้วความเสมอภาคทางกฎหมาย มันต้องแยกระหว่าง ประชาชนผู้เป็นเหยื่อความรุนแรง กับผู้กระทำ ว่ามันไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ความเสมอภาค ต้องเป็นเรื่องระหว่างผู้ตกเป็นเหยื่อและนักโทษทางการเมือง เช่น คดี 112 ด้วย เพราะหลังปี 2549 มาตรานี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

-ทุกคนเห็นด้วยกับร่างนิรโทษกรรมของ คุณวรชัย เหมะ หรือไม่

เอิร์ธ : ใช่ครับ เห็นด้วย

นิว : เห็นด้วยระดับหนึ่ง

- เมื่อร่างนิรโทษฉบับเหมาเข่งผ่านวาระ2-3  แล้วความรู้สึกแรก ที่สามารถอธิบายเป็นคำพูดคือคำว่าอะไร
เอิร์ธ : ผ่านไปเร็วมากเลยครับ 19 ชั่วโมง 2 วาระนี่ถือว่าสุดยอด สำหรับพรรคเพื่อไทย

นิว : พ.ร.บ.ลักหลับ แต่ผมก็เข้าใจ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่างๆ 3 วาระรวดในเวลา ไม่ถึง 3 วันอยู่แล้ว โอเคเข้าใจ ว่าต้องรวดเร็ว แต่ผมอยากพูดเรื่องความเสมอภาคหน่อย ตอนเกิดเหตุการณ์ มันไม่มีความเสมอภาค นะครับ เจ้าหน้าที่รัฐทำ มีกฎหมาย มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจในการสั่งการ แต่ประชาชนไม่มีอะไร นี่จึงไม่ใช่ความเสมอภาค

ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ ไม่สามารถนำมารวมกับประชาชน เพื่อจะบอกว่าไม่เสมอภาค เพราะยังไงก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว ขณะที่ประชาชนไม่มีอะไรเลย

อั้ม : ที่วาระ2-3 ผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก มีคนแซวว่า ทีเรื่องอย่างนี้ขยันตั้งใจทำงานรีบออกกฎหมาย ทั้งที่ควรไตร่ตรองและฟังเสียงประชาชนบ้าง ถ้าเป็นแค่การเกี้ยเซี๊ยระหว่างกลุ่มบุคคล กลุ่มพรรคการเมือง แต่ไม่ได้มองผลประโยชน์ประชาชน ว่าคนที่สูญเสียจะได้รับการพิสูจน์ ความจริงให้พวกเขาหรือเปล่า อย่างเราเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองแน่นอน แต่เราไม่นิรโทษกรรม ให้กับแกนนำ หรือผู้มีส่วนสั่งการ เพราะ อย่างที่ นิว บอก คือเราอยากได้ การรู้สึกสำนึกผิด แต่อั้ม ก็อยากได้มากกว่านั้น คือ การค้นหาความจริง

มันจะเหมือนกับที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย เพราะว่าที่ผ่านมา ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังในการสังหารหมู่ประชาชนทั้งหลายแหล่ ต่างรอดพ้นข้อครหาทางกฎหมาย ด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การนิรโทษกรรม โดยรัฐสภาที่ออกกฎหมายมาช่วยเหลือตัวเอง หลังจากที่ตัวเองก่อการแล้ว

แต่ที่มันน่าเจ็บใจที่สุดก็คือเรื่องที่พรรคเพื่อไทย ที่เคยต่อสู้ร่วมกันมา ไปลบความผิดให้กับคนที่เราต่อสู้หรือคนที่สังหารหมู่ประชาชนมาก่อนหน้านี้  แล้วรีบโหวตตอนตีสี่

นิว : คือเวลาโจรก่อการลักขโมย ในยามวิกาลต้องได้รับโทษหนักใช่ไหมครับ อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาพรรคเพื่อไทย กระทำในยามวิกาล ส่วนใหญ่เขาก็หลับกัน พรรคเพื่อไทยเองก็ควรจะได้รับการลงโทษจากสังคมอย่างหนักเช่นกัน เพราะ การกระทำ ที่ไม่ฟังเสียงประชาชน แล้วยังทำยามวิกาลที่ประชาชนแทบจะไม่รับรู้เท่าไหร่

อั้ม : เป็นพฤติกรรมเยี่ยงโจร

-ด้านหนึ่งพรรคก็บอกว่า ต้องนำประเทศไปข้างหน้าจะปรองดองหรืออะไรก็ตามแต่ แต่อีกด้านก็มีคำให้สัมภาษณ์ จาก ส.ส.เสื้อแดง อ้างผู้อาวุโสของประเทศพูดคุยกับอำมาตย์ในพรรค

อั้ม : อย่างที่คุณวรชัย ให้สัมภาษณ์ เราก็มีความเห็นว่า ตราบใดที่คุณยังไม่กล้าพูดความจริงออกมาได้ คุณก็อย่าหวังเลยว่ามันจะมีความปรองดองสมานฉันท์ ตราบใดที่มันยังมีอำนาจนอกระบบที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ เข้ามาแทรกแซงการเมือง โดยเฉพาะกับรัฐบาลของประชาชน มันจะมีประโยชน์อะไรกับการที่บอกว่าต้องนิรโทษกรรมเพื่อปรองดองกัน แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ภายใต้ คำถามว่า ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นรวมทั้ง พ.ร.บ.นี้ซึ่งไม่สามารถพูดออกมาได้ ก็เหมือนกับการที่เรารู้ว่าฆาตกรคือใคร แต่พูดออกมาไม่ได้ หรือใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารปี 2549 แต่ให้ตายยังไงก็พูดไม่ได้

ตราบใดที่เราจะปรองกัน โดยความจริงความยุติธรรม ยังไม่ปรากฏในสังคม อั้มว่าชาติหน้าก็ไม่ขอปรองดองคะ

นิว : เรื่องผู้อาวุโส ก็เป็นข้ออ้างที่น่าเกลียดมาก ในฐานะผู้แทนประชาชน ระหว่างคำสั่งผู้อาวุโส มติพรรค กับความต้องการของประชาชน คุณจะเลือกอะไร ถ้าคุณเลือกผู้อาวุโสในพรรค ผู้อาวุโสในประเทศนี้ หรือเลือกมติพรรค แล้วคุณจะมองหน้าประชาชนกันยังไงครับ

อั้ม : หรือไม่ก็ให้พวกนั้น มาลงเลือกตั้ง แล้วให้มีเสียงเป็นฐานันดรที่ 1 ไป แล้วให้ประชาชน 10 ล้านคนจึงจะถือเป็นเสียง 1 เสียงก็ว่าไป จะเอาแบบนั้นไหม ... อย่ามาโกงโควตาประชาธิปไตย

เอิร์ธ : ตอนสู้ร่วมกับคนเสื้อแดงก็มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ตอนนี้ พรรคเพื่อไทยมีอุดมการณ์คนละโยด เลยครับเป็นอีกอย่างเลย

นิว : เช่น เอาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศมาหลอก ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

อั้ม : หลอกฝ่ายตรงข้ามไม่เท่ากับหลอกคนเสื้อแดง คือเหมือนหลอกคนในครอบครัวกันเอง

เอิร์ธ : เหมือนแบบว่า ดูถูกประชาชนนะครับว่าประชาชนไม่มีความรู้อะไรเลย สุดท้ายคุณก็ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง

อั้ม : ทำเพื่อประโยชน์พรรคพวกตัวเอง

-เตรียมจะไปยื่นวุฒิสภา หวังอะไรแค่ไหน

อั้ม : ต้องยื่นให้ สว. ซึ่งต้อง Approve ร่าง พ.ร.บ. ก่อน เราก็หวังว่า สว.จะมองเห็นข้อผิดพลาดของ พ.ร.บ.นี้ แล้วทำหน้าที่ในทางรัฐสภา ต้องมีหน้าที่นี้อยู่แล้ว  ดังนั้น ความหวังของเรา เหลือ 2 อย่างคือ ถ้าไม่ สว. ก็ศาลรัฐธรรมนูญ

นิว : ถ้า ส.ส. จะดันทุรังทำจริงๆ ก็อยากให้ สว.เสนอแนะแก้ไขบางส่วน ส่วนที่มันผิดต่อหลักการในวาระ1 ก็ให้แก้ไขกลับไปในวาระนั้น

-พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกัน  ในขณะที่เดิมทีฝ่ายเสื้อแดง หรือประชาธิปไตยอยากให้จำกัดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีนี้ จะหวังพึ่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เพราะอะไร

อั้ม : เราก็คิดแบบอุดมคติว่า จะไม่มองเรื่องที่ผ่านมาว่ามีความยุติธรรมหรือไม่ แต่กรณีนี้ ถ้าศาลตีความตามกฎหมาย ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ หยุดได้ อย่างน้อยก็ทำให้ พ.ร.บ.เหมาเข่ง ไม่ผ่าน

-มองว่า เนื้อหา และ กระบวนการของ พ.ร.บ.นี้ไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว ถ้าศาลสามารถวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอย่างนั้นหรือ

นิว : ที่ผ่านมา ศาลพยายามจะทำตัวเป็น  Judicial review คือเหมือนพยายามจะสถาปนาคำพิพากษาเป็นกฎหมายใหม่ขึ้นมา แต่กฎหมายนี้ มันขัดโดยหลักของมันอยู่แล้ว ไม่ต้องตีความอะไรเกินกว่ากฎหมาย

-เมื่อเรามีความเห็นต่างจากพรรคเพื่อไทยแล้ว จะแยกตัวไปอยู่กับม็อบอุรุพงษ์ หรือม็อบสามเสน ซึ่งต่อต้านรัฐบาลหรือไม่

อั้ม : ไม่มีทาง

เอิร์ธ  : ไม่ไป

นิว : ไม่ไป

อั้ม : ส่วนตัวอั้ม ต่อให้เราไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทยในประเด็น ร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่เราจะไม่เปลี่ยนจุดยืนไปซบ กับทางเผด็จการ หรืออำนาจนอกระบบเด็ดขาด คืออย่างน้อย เรายังคาดหวังต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยเช่นเดิม เรายังเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง เรายังเชื่อมั่นว่า อำนาจนอกระบบ ควรที่จะถูกลดบทบาทและกำจัดออกไปเพื่อให้เสียงประชาชน มีอำนาจอย่างแท้จริง เรายังใช้กระบวนการตามประชาธิปไตย เช่น ยื่นไปที่ส.ว. หรือ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความตามกฎหมาย  ไม่เหมือนม็อบอุรุพงษ์ที่ต้องการ ล้มรัฐบาลไปเลย

เอิร์ธ : เขาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาธิปไตย

อั้ม : ซึ่งเราไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะล้มพรรคเพื่อไทยนะ แต่คือบอกให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนได้แล้ว เปลี่ยนวิธีคิดที่คุณจะหลอกลวงประชาชนเดี๋ยวนี้  ในครั้งนี้ คุณจะอยู่ได้ก็พึงตระหนักในความชอบธรรมในการที่คุณมีทุกวันนี้ได้ เราก็ยังคงเป็นนักต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ จะไม่มีทาง หันไปซบอก เผด็จการ หรือพึ่งการรัฐประหารในการแก้ไขปัญหา เพราะนั่นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องและมีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย

เอิร์ธ : ม็อบอุรุพงษ์ ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายไล่รัฐบาล และอุดมการณ์ก็คนละอุดมการณ์ด้วยครับ อุดมการณ์ของเราคือ คัดค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ต่อสังคมไทย

นิว : เรื่องม็อบสามเสน ม็อบอุรุพงษ์ ผมมองว่า ก็เป็นสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญที่จะไปได้ แต่ปัญหาคือ เมื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว คุณจะใช้สิทธิที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญไหม เช่น การทำลายล้างอำนาจรัฐที่มาจากประชาชน ผมคิดว่า มันก็ขัดหลักอยู่แล้ว คนที่จะไปควรคำนึงถึงว่า อำนาจรัฐที่มาจากประชาชน เรามีสิทธิที่จะคัดค้าน ไม่ใช่การทำลายล้างหรือใช้สิ่งที่ไม่เป็นกระบวนการประชาธิปไตย หรือการเรียกร้องรัฐประหาร

เอิร์ธ : พวกเรากลุ่มแนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษา คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เราก็ได้เชิญ กลุ่มก้านพะยอม ที่ ม.รังสิต มาร่วม แต่เขาไม่มาเพราะเขาต้องการขับไล่รัฐบาล กับม็อบอุรุพงษ์ เขาต้องการขับไล่รัฐบาลเป็นอุดมการณ์คนละชุด กันเลย

อั้ม : บางที่อั้มก็งง ที่สลิ่มบางคน มาเห็นด้วยกับแนวทางคัดค้านนิรโทษกรรมเหมาเข่งของเราโดยที่ไม่ได้ดูเนื้อหาเปรียบเทียบ บางคนบอกให้เราสู้ๆ และบอกว่า ถ้าเราเคลื่อนไหวเรื่อง มาตรา 112 เมื่อไหร่ เขาถึงจะกลับมาด่าเรา (หัวเราะ) เราคิดว่า มันมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น เราเรียกร้องนิรโทษกรรม เพราะไม่ต้องการ ให้ผู้สังหารกระทำการผิดลอยนวล และเราไม่ได้ต้องการช่วยคุณทักษิณรวมไปถึงคดีตากใบ กรือเซะ หรือคดีหลังรัฐประหาร

ขณะที่คนค้านนิรโทษกรรมสุดซอยอีกกลุ่ม ไม่ได้มองมิติที่มีการสังหารหมู่คนเสื้อแดง เพราะยังมีการด่าควายแดง ด่าว่าเสื้อแดงโดนหลอก โดนจูงจมูกไปชุมนุม ซึ่งมันก็เป็นวิธีที่ดูถูกเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ส่วนตัวเราต้องการความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย

-คิดอย่างไรกับการที่ถูกเย้ยว่า ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล "ถูกหักหลัก" "หลอกใช้" "อกหัก"

นิว : ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะถ้าพูดถึงเรื่องอำนาจ พรรคเพื่อไทยทำอย่างนั้นได้ไหม ก็ทำได้ครับ อำนาจของคุณมีที่มาจากประชาชน ถึงแม้มีความชอบธรรมตามกฎหมาย มีเสียงข้างมากในสภา  แต่คำถามคือ คุณจะย้อนกลับมาถามประชาชน ที่เป็นที่มาของอำนาจคุณหรือเปล่านะครับ ขัดหลักประชาธิปไตยไหม คุณต้องย้อนมาฟังที่มาอำนาจและเจตนารมย์ของประชาชนด้วย ขัดต่อหลักเสรีนิยมด้วย เพราะไม่ใช่เสียงข้างมากทำได้ทุกอย่าง ต้องเชื่อในกลวิธีขั้นตอน

อั้ม : ต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐบาล ที่ไม่ใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมาย เราต้องการให้รัฐบาลทำตามหลักนิติรัฐ ไม่ใช่ ใช้ข้อกฎหมายบางอย่างมาตีความให้ตัวเอง และแม้คุณผ่านกระบวนการตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องมีจิตสำนึกทางคุณธรรมว่า คุณจะยอมปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล ให้ความจริงยังถูกกลบฝัง ให้ศพถูกกวาดใต้พรหมอยู่อีกหรือ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นต่อมว่า คุณธรรมในฐานะเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่คุณธรรมในแบบพุทธ ในแบบศาสนา แต่คือสิ่งที่เป็นสากลความมีมนุษยธรรม มี moral แบบนี้ คุณมีหรือเปล่า

คุณจะยอมปล่อยให้ประชาชนที่ทุกข์ยากมากับคุณ ถูกเหยียบย่ำ ดูถูก หรือเปล่า เราเองก็เหมือนกัน เราสนับสนุนท่านมาตลอดตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 แต่กลับถูกหักหลังดังเป๊าะ แล้วตัวเองก็กลายไปเป็นอำมาตย์เสียเอง สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนการกระตุ้นต่อมศีลธรรมความเป็นมนุษย์ของพรรคเพื่อไทย ว่าจะเป็น "ไพร่สันดานอำมาตย์" หรือจะเป็นอะไรก็บอกตรงๆ อย่ามาทำตัวกลับกลอกอย่างนี้

เอิร์ธ : ก็ประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้งอย่างเดียว ตอนเลือกตั้ง ผู้สมัคร ส.ส. มาหาเสียง แทบจะกราบเท้าประชาชน พอหลังเลือกตั้งกลับไม่หันหลังมาดู การที่ ส.ส. จะเป็นตัวแทนประชาชน ก็ควรจะฟังประชาชนบ้างนะครับ ไม่ว่าประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่คุณก็ต้องฟัง แล้วมาพิจารณา กันอีกทีครับ กระบวนการมันอยู่ที่ต้องมีการพูดคุยกัน ไม่ใช่ว่า ให้เงิน ให้ผู้สูญเสีย 7.5 ล้านโดยไม่ฟังอะไรอีก มันพอหรือเปล่า มันใช่หรือเปล่าครับ

อั้ม : เราไม่ได้ต้องการฟังแค่ตัวเลข 7.5 ล้าน แต่เราเรียกร้องค่าประชาธิปไตย จะมีใครยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสิทธิการแสดงออกของตนเองได้ การกล่าวหาว่า โดนซื้อเพื่อมาตายในที่ชุมนุม เป็นวาทกรรมลวงๆ ที่ ฝ่ายตรงข้ามใช้โจมตี ขณะที่ทุกวันนี้เราเห็นลุงนวมทอง เอาชีวิตตนเองเข้าแลก

เอิร์ธ : โดนดูถูกว่าทำเพื่อทักษิณ แต่สุดท้ายเขาก็บอกว่า ทำเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ก็ยอมผูกคอตาย

อั้ม : ประชาชนเสื้อแดง ก็ต้องการเรียกร้องสิทธิของเขา แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือลูกกระสุน ถามว่าพรรคเพื่อไทย ต้องการให้เรื่องนี้มันเงียบไปเหรอ ในเมื่อเขาสนับสนุนพรรคคุณ โดยยอมแลกกับชีวิตเขา ทั้งที่ไม่มีใครอยากจะเสียชีวิต แต่คุณกลับไปมองเพียงการเยียวยาด้วยตัวเลข ไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดขอขมาต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชน การนิรโทษกรรม ไม่ใช่ให้เงินก็จบ แต่มีเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกัน

-ในธรรมศาสตร์ มีองค์ความรู้หลายชุด มีทั้งแบบ "นิติราษฎร์" มีทั้งแบบ อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตอนนี้บรรยากาศเป็นอย่างไร

นิว : อาจารย์สมคิดก็เป็นนักกฎหมายมหาชน แต่บางครั้งอาจารย์ก็ลืมมิติ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เช่น อาจารย์บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการนิรโทษกรรมให้คนทุจริต และการสังหารคน อาจารย์บอกว่านี่เป็นครั้งแรก แต่ขอโทษนะ ผมคิดว่า ลวงโลกมาก เพราะนิรโทษกรรมทุกครั้งที่ผ่านมาก็มีเรื่องทุจริตคอรัปชั่นทั้งนั้นแหละครับ งบประมาณลับตรวจสอบได้ไหม ทหารไม่ได้มีแค่การเคลื่อนรถถัง เพราะเงินคือส่วนหนึ่งในการเจรจา นี่ก็คือการทุจริตคอรัปชั่น ก็นิรโทษกรรมหมดทุกครั้ง แม้กระทั่งปี 2549 ที่อาจารย์ร่วมสังฆกรรมกับเขาด้วย แล้วก็เรื่องการสังหารประชาชนเนี่ย ก็มีทั้ง 14ตุลา 16 , 6ตุลา 19, พฤษภาทมิฬ 35 ทั้ง 3 ครั้งเห็นจะๆ สุดท้าย ทุกวันนี้แก่ตายอย่างสบายใจ ไม่ได้รับโทษอะไร เป็นผลพวกจากการนิรโทษกรรม ซึ่งก็คือ ฉบับเหมาเข่งเหมือนกันถ้าพูดแบบยุคนี้ ตอนแรกเราคิดว่า หลังพฤษภา35 จะไม่มีอีกแล้วนะ แต่ก็มาเจอปี 52-53 อีก  ครั้งต่อๆ ไปก็คงจะเจออีกเรื่อยๆ  ถ้าเป็นอย่างนี้

ส่วนองค์ความรู้ของนิติราษฎร์ แน่นอน เป็นนักกฎหมายมหาชนส่วนใหญ่ แล้วอาจารย์เขามีมิติ การมองเรื่องราว เช่น อาจารย์ปิยบุตร มีเรื่องราวประวัติศาสตร์เปรียบเทียบด้วย ซึ่งมิติกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในการพูดเรื่องนี้  อาจารย์สมคิดก็เก่ง แต่พูดไวไป

หน้าที่ของคนธรรมศาสตร์ก็คือ พยายามตรวจสอบองค์ความรู้ของคนเหล่านี้ ไม่ควรเชื่อทั้งหมด ควรจะมีการพิสูจน์ ตรวจสอบ แล้วเราก็เอาองค์ความรู้ไม่ว่าจะของอาจารย์สมคิด หรือของนิติราษฎร์มาปรับใช้ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เราจะมองปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ได้

เอิร์ธ : ทั้ง 14ตุลา 6ตุลา พฤษภาทมิฬ มีการนิรโทษกรรมเหมาเข่งหมดเลย มันจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมไปเรื่อย อย่างเหตุการณ์ 52-53 ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณา ถ้ากฎหมายนิรโทษเหมาเข่งผ่านบุ๊ป ผมว่าครั้งต่อไป ทหารหรือคนที่จะมาปราบประชาชนด้วยอาวุธปืน เขาก็รู้อยู่แล้วว่า โอเค ทำไปก็ไม่มีความผิด เพราะ เดี๋ยวรัฐก็จัดการให้หมด มันก็จะเป็นวัฒนธรรม

นิว : ศพต่อไป อาจจะเป็นผม หรืออาจจะเป็นพี่ก็ได้ เพราะพี่ก็เป็นสื่อมวลชน พี่ก็เสี่ยง

อั้ม : ในสมัย 14ตุลา 6ตุลา มีคนออกมาคัดค้านนิรโทษไหม ก็คัดค้านไม่ได้หรอก เพราะรัฐบาลหลักจากนั้น ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการแต่งตั้งกันมา แต่ทุกวันนี้ มันต่างกันตรงที่ว่า เรามีประชาธิปไตยที่ค่อนข้างเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประชาชนมีสิทธิมีเสียง อย่าง พฤษภา 2535 ก็เกิดขึ้นหลังพ้นยุค พล.อ.เปรม มีอำนาจอย่างยาวนาน ประชาชนเพิ่งเริ่มออกมาแต่ยังไม่ได้เรียนรู้กัน

ขณะที่เราผ่านปี 35 มา 20 กว่าปีแล้ว เราควรจะเรียนรู้ได้แล้ว ทุกวันนี้ ถ้าเราไม่ออกมาแล้วยังเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็จะไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอน การที่เราออกมาพูดเพราะอยากให้เหตุการณ์นี้ หยุดอยู่แค่ตรงนี้การนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดต้อง ไม่เกิดขึ้นอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ญาติผู้เสียชีวิตชุมนุม 53 เข้าพบนายกฯ หนุนร่างนิรโทษฯ

Posted: 04 Nov 2013 09:54 AM PST

4 พฤศจิกายน 2556 เว็บไซต์วอยซ์ทีวี รายงานว่า ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุม ปี 53 เข้าให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี พร้อมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้บ้านมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และไม่ผิดหวังหากนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพจะพ้นผิด เนื่องจากยังมีคดีอื่นที่รอการตัดสินอยู่

 
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนการเดินหน้าร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 
 
 โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ ที่เสียสละ และเห็นแก่ประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ พร้อมรับปากจะยึดหลักความถูกต้องในการบริหารประเทศต่อไป ส่วนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่นั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อภัยซึ่งกันเสียก่อน ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปได้ 
 
ขณะที่ นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ แกนนำญาติผู้เสียชีวิต และนายสมชาย เจียมพล บิดาของนายทิพเนตร เจียมพล ผู้เสียชีวิต ที่ซอยรางน้ำ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ระบุถึงเหตุผลที่ออกมาสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า ยอมรับคำตัดสินของสภา ที่เป็นเสียงข้างมากจากประชาชนและเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ 
 
แม้กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พ้นจากความผิดกรณีสั่งการสลายชุมนุม ก็สามารถรับได้ เพราะเชื่อว่าทั้ง 2 คนจะหนีไม่พ้นจากคดีอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายนิรโทษกรรม 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐสภาผ่านร่างรธน. ม. 190 แล้ว

Posted: 04 Nov 2013 09:50 AM PST

4 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รายงานว่า บรรยากาศการประชุมกันร่วมของรัฐสภา ที่มี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อลงมติ วาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมใน มาตรา 190 ว่าด้วยลักษณะหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา โดยจะใช้วิธีการขานชื่อ
 
ทั้งนี้หลังใช้เวลาลงมติ กว่า 2 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมใน มาตรา 190 ด้วยคะแนน 381 ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะต้องนำขึ้นทูลเกล้า ทูลกระหม่อม ภายใน 20 วัน รอลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้
 
ทั้งนี้ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้การทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมมีมล้อภาพ “คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม”

Posted: 04 Nov 2013 09:46 AM PST

4 พ.ย.2556 หลังสภาผู้แทนราษฏรผ่าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เคลื่อนไหวคัดค้าน ร่างฯ ฉบับเหมาเข่ง สุดซอย หรือ set zero ดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่จะนิรโทษฯรวมเอาคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และที่สำคัญคือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นอกจากการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพื่อแสดงจุดยืนแล้ว ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ไม่แพ้กัน มีการใช้รูปโปรไฟล์หรือโพสต์รูปในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมแสดงการคัดค้าน ซึ่งมีลักษณะที่เป็นรูปแบบเดียวกันคือรูปสี่เหลี่ยมสีดำมีข้อความด้านในสีขาวว่า "คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ภาพนี้ยังปรากฏอยู่บนป้ายโฆษณาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วย

ภาพป้ายคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาพโดย Prainn Rakthai

อย่างไรก็ตามเนื่องจากในโซเชียลเน็ตเวิร์กมักพบวัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญคือการล้อเลียน(parody)กับกระแส และภาพสี่เหลี่ยมจตุรัสสีดำ (ซึ่งบางคนเรียก "แผ่นรองแก้ว") นี่ก็ถูกหยิบขึ้นมาเป็นมีม พร้อมข้อความการคัดค้านต่างๆที่ผุดขึ้นมามากมายในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งประชาไทได้รวบรวมไว้บางส่วนดังนี้

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป

โดยผู้ที่คัดค้าน ร่างฯ ฉบับนี้ ซึ่งเน้นประเด็น เรื่องการคัดค้านการปราบปรามหรือสลายการชุมนุม โดยเฟซบุ๊กแฟนเพจ "อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป" พร้อมกล่าวด้วยว่า "ของพวก สามเสน มีแค่สามบรรทัดบน ของพวก สามแสน ต้องมีสองบรรรทัดล่าง" รวมทั้งมีการทำป้ายโดยมีข้อความตามชื่อแฟนเพจตัวเองด้วย

ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า "Ratthapol Supasopon" ขึ้นรูปประจำตัวหรือรูปโปรไฟล์ว่า "สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทากรรมฉบับนิติราษฏร์ ดำเนินคดีคนสั่งฆ่าประชาชน เอาทักษิณกลับมาพิจารณาคดี ปล่อยประชาชน ปล่อยนักโทษการเมือง ปล่อยนักโทษคดี 112"

Thanathip Suntorntip Gorlph "ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตทุกฝ่าย พาผู้บงการมารับผิด(ย้อนถึงปี2497เลยก็ดีนะ)"

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจนี้ยังนำกระแสของดาราดังอย่างบอย ปกรณ์ มาล้อเลียนกับมีมดังกล่าว โดยใช้ข้อความว่า "อยากดูคลิปหลุด บอยปกรณ์" ด้วย 

 

 

เพจอย่าง "วิวาทะ" ซึ่งเป็นเพจที่รวมโควทประเด็นต่างๆ ก็มีการนำเอามีมนี้มาล้อเลียน ด้วยการนำเอาโควทคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่า "Unfortunately, some people died " (หรือ"โชคร้ายที่มีประชาชนเสียชีวิต") ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ในรายการ BBC World News ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ เมื่อวันที่  10 ธ.ค.55 มาโพสต์ รวมทั้งคำว่า "ค.ว.ย." ซึ่งหมายถึง คิด วิเคราะห์ และ แยกแยะ ด้วย

 

รวมไปถึงการใช้คำว่า "คัดค้านอะไรยังไม่ได้คิดขึ้นป้ายไว้ก่อนกลัวตกเทรนด์" และ "กูไม่รู้กูอยากอินเทรนด์"

เฟซบุ๊กชื่อ "กู ชื่อ เบิร์ด" มีการล้อเลียนโดยการเขียนข้อความในภาพผิดว่า "คัดค้าน พ.ร.บ.ทิรโนษกรรม" และ ใส่คำว่า "ค้าน" ไว้จำนวนมากในป้าย 

"ป้ายจราจรกำลังไว้ทุกข์" ของ Joey Senchanthichai

รวมทั้ง "คัดค้านการต่อรองราคาศิลปิน" "รับสมัครนางแบบสาวสวย" "คัดค้านการใช้ฟองน้ำดันนม" "คัดค้านการขึ้นคานของเธอ" "ขอคัดค้านก๋วยเตี๋ยวใส่ถั่วงอก" "คัดค้านการไปทำงานวันจันทร์" "อาร์เซน่อลจะเป็นแชมป์พรีเมียลีก" "ผัวด่ามาหาพี่" "ต่อต้านอะไรต่อต้านได้ แต่สาวแว่นต่อต้านไม่ได้" "รับทำ พ.ร.บ.ประกันรถยนต์" "คัดค้านอีกลำยอง หยุดทำร้ายวันเฉลิม" "คัดค้านการเซนเซอร์หนัง AV, คัดค้านการเป็นหนุ่มซิง, คัดค้านการทำป้ายดำคัดค้าน, สนับสนุนเสรีกัญชาเพื่อประชาธิปไตย, รักคนอ่าน, รับทำ พ.ร.บ.รถยนต์, นิรโทษกรรมให้ความโสดของตัวเอง และ "สนับสนุน พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือน" เป็นต้น

โดยเมื่อบ่ายวันที่ 4 พ.ย. แอปพลิเคชัน Molome แอปแชร์ภาพ ซึ่งพัฒนาโดยคนไทย ได้เพิ่มกรอบรูปลักษณะเดียวกันเข้ามาให้โหลดไปเล่นด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจสร้างมีมหรือป้ายข้อความของตัวเองสามารถเข้าไปทำได้ที่ http://text.patinya.com/ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำได้สะดวก

 

ทั้งนี้คำว่า มีม(meme) หรือ mimeme หมายถึงการทำตามกัน และเมื่อใช้อธิบายพฤติกรรมในอินเตอร์เน็ตหมยถึงสิ่งที่เผยแพร่อย่างแพร่หลายไปทั่วอินเทอร์เน็ต สามารถเป็นได้ทั้งรูปภาพ วิดีโอ ชื่อ คำพูด วลี หรือประโยคต่างๆ เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มรักษ์คอนสาร เฮ! โจทก์ถอนฟ้อง 4 แกนนำหมิ่นประมาท ซื้อ-ขายที่ดินสร้างโรงงานยางพารา

Posted: 04 Nov 2013 09:40 AM PST

ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสารกว่าร้อยคนรวมตัวที่ศาลจังหวัดภูเขียว ชัยภูมิ ให้กำลังใจ 4 แกนนำถูกฟ้องหมิ่นประมาท สุดท้ายไกล่เกลี่ยยอมความ โจทก์ถอนฟ้อง ยอมรับจำเลยใช้สิทธิชุมชนคัดค้านโรงงานผลิตยางพาราฯ ไม่ได้ขัดขวางการประกอบอาชีพซื้อขายที่ดิน
 
 
4 พ.ย.2556 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คอนสารกว่าร้อยคนรวมตัวกันที่ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อให้กำลังใจ 4 แกนนำกลุ่มรักษ์คอนสารซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีการรณรงค์คัดค้านโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่งรมควันขนาดใหญ่ ของบริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ โดยศาลได้มีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันนี้ (4 พ.ย.2556) ที่ศาลจังหวัดภูเขียว
 
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา หมายศาลจากศาลจังหวัดภูเขียวส่งถึงแกนนำกลุ่ม รักษ์คอนสาร ระบุว่า นายศราวุฒิ ทวันเวทย์ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายที่ดิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท โดยมีสมาชิกกลุ่มรักษ์คอนสาร จำนวน 4 คน เป็นจำเลยที่ 1 – 4 คือ นายวิเชษฐ อุสันเทียะ นายปราโมทย์ ผลภิญโญ นางอรนุช ผลภิญโญ และนางฉลอง ประสงค์ศิลป์ ตามลำดับ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประมาณ 09.30 น.โจทก์และทนายโจทก์ รวมทั้งผู้จำเลย 4 ราย และทนายจำเลยได้มาตามนัดไต่สวนมูลฟ้อง แต่จากการที่คู่ความแจ้งความประสงค์ขอให้นำคดีเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ดังนั้นผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาได้ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในเวลาประมาณ 10.00 น.
 
ต่อมาเวลา 11.00 น. ศาลได้ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้แก่คู่ความแล้ว ปรากฏว่าคดีสามารถตกลงกันได้ โดยมีข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยทั้ง 4 ดังนี้
  1. โจทก์ยินยอมที่จะถอนฟ้องจำเลยทั้ง 4
  2. จำเลยทั้ง 4 ยอมรับว่าโจทก์ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าซื้อขายที่ดิน เพื่อรวบรวมขายให้โรงงานศรีตรัง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่ง
  3. โจทก์ยอมรับว่าจำเลยทั้ง 4 ใช้สิทธิชุมชนในการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานศรีตรัง แต่จำเลยทั้ง 4 จะต้องไม่ขัดขวางการประกอบอาชีพซื้อขายที่ดินของโจทก์
  4. โจทก์และจำเลยทั้ง 4 ไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดต่อกันอีก
พร้อมกันนี้ ทนายโจทก์ ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตถอนฟ้องจำเลยทั้ง 4 ปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่ 14 พ.ย.56 ศาลอนุญาตตามขอ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบทความ
 
นายวิเชษฐ อุสันเที๊ย ประธานกลุ่มรักษ์คอนสาร จำเลยที่ 1 กล่าวว่า ตามที่โจทก์ระบุในหมายศาลว่าตนเองเป็นแกนนำชาวบ้านในนามกลุ่มรักษ์คอนสาร และได้พูดให้ร้าย ดูถูก หมิ่นประมาท ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อตัวผู้ฟ้องให้แก่ชาวบ้านอำเภอคอนสาร เช่น ซื้อที่ดินมาถูกๆ แล้วขายแพง โดยข้อเท็จจริงนั้นตนเองไม่ได้ขัดขวางการประกอบอาชีพซื้อขายที่ดินของโจทก์ แต่เพราะทางกลุ่มฯ คัดค้านโรงงานยางพาราฯ โดยใช้สิทธิของชุมชน ด้วยสภาพพื้นที่จะก่อสร้างนั้นไม่มีความเหมาะสม และมีความวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้าง เนื่องจากมีบทเรียนจากกรณีอื่นๆ ในพื้นที่ต่างๆ มาแล้ว
 
ทางกลุ่มได้รวมกันในนามกลุ่มรักษ์คอนสาร เมื่อวันที่ 15 ส.ค.56 ภายหลังจากทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานยางพาราของบริษัทศรีตรังฯ ที่ได้มีการกว้านซื้อที่ดินไปกว่า 291 ไร่ ในบริเวณพื้นที่บ้านหินรอยเมย หมู่ที่ 8 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้าน เพราะหากมีโรงงานเกิดขึ้นจะนำมาซึ่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

24 อธิการบดี ลงชื่อค้านกม.นิรโทษกรรม ชี้บ่มวัฒนธรรมคอร์รัปชั่น

Posted: 04 Nov 2013 09:35 AM PST

 
4 พฤศจิกายน 2556 เว็บไซต์อิศรานิวส์ รายงานว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันคัดค้านการผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุว่า "เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรมการกระทำความผิด" ในสังคมไทย 
 
แถลงการณ์ดังกล่าว มีอธิการบดีจาก 24 สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาร่วมลงชื่อ รวมถึง ศ.ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจากม.มหิดล ม.เกษตรศาสตร์ สถาบันบัณฑืตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น  
 
0000
 
แถลงการณ์ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
 
 
ตามที่ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่มีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมแก่บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้ง องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 - 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงแต่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษให้แก่การกระทำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระทำในลักษณะการทุจริตคอรัปชั่นด้วย
 
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เห็นว่า การที่ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม มีเนื้อหาดังกล่าวข้างต้นเท่ากับเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นมิใช่สิ่งร้ายแรง และในท้ายที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรม การกระทำความผิด
 
ในเรื่องทุจริตคอรัปชั่นจะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอรัปชั่นในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบผลสำเร็จและจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับการกระทำในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
 
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เห็นว่า การรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากการจัดโครงการ "บัณฑิตไทยไม่โกง" ขึ้น ที่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ.2556 การรณรงค์ดังกล่าว จะประสบความสำเร็จได้ดีต่อเมื่อมีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คนที่กระทำการทุจริตคอรัปชั่นจะต้องถูกลงโทษโดยไม่มีการนิรโทษกรรม
 
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ดังมีรายนามต่อไปนี้ จึงขอคัดค้าน ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนี้ร่วมกัน
 
 ลงวันที่ 4 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มประชาคม ม.อ.ปัตตานี ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 04 Nov 2013 09:11 AM PST

กลุ่มประชาคม ม.อ.ปัตตานี ชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมออกแถลงการณ์ แสดงเหตุผลคัดค้าน 3 ข้อ ระบุขัดรัฐธรรมนูญ ทำลายมาตรฐานทางจริยธรรม เปิดทางให้คนละเมิดสิทธิในชายแดนใต้ไม่ต้องรับโทษ ส่งผลทางลบต่อกระบวนการสันติภาพ

 
4 พฤศจิกายน 2556 กลุ่มประชาคม ม.อ.ปัตตานีรักประชาธิปไตย จำนวนประมาณ 200 คน ได้รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูป หน้าสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพื่อชุมนุมคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ กลุ่มประชาคม ม.อ.ปัตตานี พร้อมออกแถลงการณ์คัดค้าน
 
โดยในแถลงการณ์ระบุว่า จากการที่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่ง กระทำความผิดเนื่องจากการชุมชนทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ….. และกำลังเข้าพิจารณาของวุฒิสภา
 
 
กลุ่มประชาคม ม.อ.ปัตตานีรักประชาธิปไตย ขอแสดงความคิดเห็นคัดค้านการกระทำดังกล่าว โดยมีเหตุผล ดังนี้
 
1.ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ มีการเปลี่ยนแปลงสาระไปจากเดิมที่ได้รับหลักการไว้ในวาระที่ 1 ออก ไปเป็นอย่างมากและมีการครอบคลุมถึงผู้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงในการสลายชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขัดรัฐธรรมนูญ
 
2.มีการขยายเนื้อหาและเวลาให้ครอบคลุมการไม่ต้องรับการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมในคดีการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ หลายคดี ซึ่งเป็นการทำลายมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคม 
 
3.ในการขยายระยะเวลาให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ กรือเซะ ตากใบ และเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้ผู้มีส่วนในการใช้ความรุนแรงที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม และละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม และจะนำมาซึ่งผลกระทบในทางลบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่
 
กลุ่มประชาคม ม.อ.ปัตตานีรักประชาธิปไตยเห็นว่า เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตยของสังคม จึงขอเรียกร้องและสนับสนุนให้ประชาชนได้ร่วมลงชื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับนี้ และขอเรียกร้องให้วุฒสภาทำหน้าที่อย่างเป็นธรรมและคำนึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยไม่รับหลักการพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักโทษการเมืองหลักสี่ ออกจดหมายลงชื่อหนุนนิรโทษกรรม

Posted: 04 Nov 2013 08:55 AM PST

 

4 พ.ย.56  เพจเพื่อนนักโทษการเมืองไทย "Friends of Thai Political Prisoners (FTP)" เผยแพร่จดหมายจากผู้ต้องขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ชื่อว่า "เสียงจากผู้ปราศจากอิสรภาพ" พร้อมลงลายมือชื่อของผู้ต้องขังทั้ง 26 คนซึ่งถูกคุมขังอยู่นั่น โดยเนื้อหลักเป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้ประเทศชาติก้าวไปข้างหน้าได้

รายละเอียดมีดังนี้

 

พวกกระผมที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ จำนวน 26 ชีวิต ได้เฝ้าติดตามกฎหมานิรโทษกรรมอย่างตั้งใจ มีกระแสโจมตีในกรอบกฎหมายนิรโทษกรรมแบบนิรโทษกรรมให้แก่ทุกฝ่าย จากทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายเสื้อแดง ทั้งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดที่จะหลุดพ้นข้อกล่าวหาจากคดีอาญาสั่งฆ่าประชาชน หรือที่เขาไม่วิตกต่อข้อกล่าวหาเป็นเพราะเขาไม่มีวันถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย หรือเขามั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไม่สามารถเอาผิดเขาได้ และอีกฝั่่งคือ คนเสื้อแดงที่เป็นฝ่ายถูกกระทำโดยอำนาจรัฐในยุครัฐบาลที่แต่งตั้งในค่ายทหาร ซึ่งหลายท่านได้เป็นวีรชน หลายท่านบาดเจ็บ พิการ จึงต้องการให้ดำเนินคดีกับผู้สั่งการ พวกกระผมได้นำข้อคิดและการแสดงออกจากทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักปกครองมากรองแล้ว พวกกระผมเห็นด้วยกับร่างของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากที่เสนอร่างแก้ไขโดยให้มีผลกับทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำการปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 ซึ่งกรรมาธิการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกจากพรรคเพื่อไทยซึ่งล้วนเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ มีประสบการณ์ด้านกฎหมาย ด้านการเมือง ด้านการปกครอง รวมไปถึงอำนาจที่มองไม่เห็นเป็นอย่างดี การนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย ก็คือการให้อภัยแก่กัน ผลที่ได้รับหาใช่แค่พวกกระผมที่เป็นนักโทษการเมืองเท่านั้น แต่หากเป็นประเทศไทยของพวกเราทุกคน ประเทศชาติจะได้ก้าวไปข้างหน้าได้ จะก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าพัฒนาสิ่งที่ดีงามให้กับคนรุ่นลูกหลานต่อไป จะได้ก้าวทันโลกที่มีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว

ผู้สูญเสียญาติมิตร ผู้ที่บาดเจ็บและพิการ โปรดกรุณาสร้างความเข้าใจ พวกเรานักโทษการเมืองหลักสี่รับรู้และเข้าใจว่าการสูญเสียเป็นอย่างไร เพราะพวกกระผมก็เป็นผู้สูญเสียเช่นกัน การเสียชีวิตพิการเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ การสูญเสียอิสรภาพนั้นทรมานเช่นกัน แต่การให้อภัยแก่กันนั้นยิ่งใหญ่และยิ่งการให้อภัยแล้วสามารถทำให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ สมควรที่เราจะเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐ

 

ลงชื่อ

เอกชัย มูลเกษ

สุริยา โพธิ์เงิน

กอบชัย บุญปลอด

จิรวัฒน์ จันทร์เพ็ง

เดชพล พุทธจง

สมศักดิ์ ประสานทรัพย์

เพชร แสงมณี

โกวิทย์ แย้มประเสริฐ

ปริญญา มณีโคตม์

วรนุช ศรีวันทา

พรชัย อักษรวิทย์

เอนก สิงขุนทด

อุไร ศิริสุวรรณ

ชาตรี ศรีจินดา

ธวัชชัย เอี่ยมนาค

คำหล้า ชมชื่น

ปัทมา มูลมิล

ประสงค์ มณีอินทร์

กำพล คำคง

จักรกริช จอมทอง

วีระ สายพิมพ์

ธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ

สกันต์ แสงเฟื่อง

ณัทกร ชยธรดำรงสุข

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มนศ. จี้ตลาดหุ้น ร้องสอบเหมืองทุ่งคำผิดหลักจรรยาบรรณธุรกิจ

Posted: 04 Nov 2013 08:48 AM PST

เครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ พร้อมชาวบ้านจากจ.เลย ประท้วงหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อคัดค้านการจัดเวทีศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมืองทุ่งคำ จ.เลย 
 
4 พฤศจิกายน 2556 เครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ประเทศไทย ประกอบไปด้วยกลุ่มเยาวชน 9 กลุ่มจากหลายภูมิภาค พร้อมกับชาวบ้าน ทั้งหมดรวม  ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทุ่งคำ ต.นาโป่ง อ.เมือง จ. เลย ได้เดินทางไปชุมนุมบริเวณหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริเวณศูนย์ประชุมสิริกิตติ์ ถนนรัชดาภิเสก เพื่อเรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ยกเลิกผลการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดทำไปในชุมชนที่ได้รับผลกระทบเมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้านและนักศึกษาในพื้นที่
 
นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้เรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ ตรวจสอบจริยธรรมและธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัททุ่งคำ ด้วยการตรวจสอบและเผยแพร่รายงานการตรวจสอบต่อสาธารณะ ว่าด้วยการกระทำที่ทางกลุ่มมองว่าขาดจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ ด้วยการฟ้องดำเนินคดีในทางแพ่งและอาญาต่อชาวบ้านที่ทำการคัดค้านการเข้ามาสร้างเหมืองแร่ 
 
 
นายจตุภัทร์ บุญภัทรักษา หนึ่งในนักศึกษาจากกลุ่มดาวดิน จากม.ขอนแก่น ที่คัดค้านการสร้างเหมืองทองคำกล่าวถึงเหตุผลที่มาประท้วงบริเวณตลาดหลักทรัพย์ว่า เป็นการประท้วงต่อสถาบันที่เป็นสัญลักษณ์ของนายทุน ซึ่งต้องมีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ 
 
"จรรยาบรรณ ธรรมาภิบาลของนักลงทุน ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคม แค่ลอยตัวอยู่มาตลอด เลยอยากให้เห็นว่านี่เป็นบทบาทของทุนที่ต้องรับผิดชอบต่อการลงทุน ไม่เพียงแต่รัฐเท่านั้น" เขากล่าว 
 
ทางกลุ่มได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากผู้บริหารได้ออกมารับจดหมาย
 
0000
 
แถลงการณ์
 
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ประเทศไทย
เรื่องการขาดจริยธรรมอย่างร้ายแรงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด
 
ในวันที่ 8 กันยายน 2556  การจัดเวทีกำหนดขอบเขตศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือพับลิก สโคปปิง เพื่อประกอบการขอประทาน ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่วัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ. เลย  นั้นมีการปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น  โดยใช้กองกำลังตำรวจมากกว่า 700 นาย การกระทำดังกล่าวได้กระทำราวกับว่าชาวบ้านเป็นอาชญากร ทั้งๆ ที่พวกเขาต้องการเดินทางมาเพื่อแสดงความคิดเห็นเท่านั้น  ใครกันแน่ที่เป็นอาชญากร?  ใครกันแน่ที่ปล้นชิงทรัพยากรของผู้อื่นราวกับอาชญากร  ทั้งนี้ ตลอดการดำเนินการของทุ่งคำในการทำเหมืองแร่ทองคำเกือบสิบปีที่ผ่านมา ในท้องที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  นั้น ได้ก่อเกิดปัญหาและผลกระทบต่างๆ มากมาย พบชาวบ้านหลายร้อยคนมีสารพิษและโลหะหนักปนเปื้อนสะสมอยู่ในร่างกายจนเกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  
 
จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการของทุ่งคำ  ซึ่งจริยธรรมและธรรมาภิบาลนั้นเป็นข้อกำหนดหนึ่งของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพวกเรารู้ดีว่าของทุ่งคำเป็นธุรกิจหลักของบริษัทแม่คือบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ 
 
แต่ทุ่งคำและทุ่งคาฮาเบอร์ไม่เคยเกิดสำนึกรับผิดชอบใดๆ  มิหนำซ้ำยังฟ้องคดีชาวบ้านให้สาแก่ใจ  ด้วยเหตุที่ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองด้วยการก่อกำแพงขวางถนนเพื่อปิดกั้นรถขนสารเคมีเป็นพิษในกระบวนการทำเหมืองแร่ แต่งแร่และถลุงแร่ แต่ทุ่งคำกลับโกรธแค้นชาวบ้านด้วยการฟ้องคดีทั้งอาญาและแพ่ง 
 
ในวันนี้เรากลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย ได้มารวมตัวกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เพื่อมาบอกกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ ซึ่งท่านกำลังร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมครั้งนี้  ถ้าหากท่านนิ่งดูดายปล่อยให้อาชญากรเหมืองแร่ฆ่าชาวบ้านอย่างเลือดเย็น เหมือนตายทั้งเป็น-ตายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  เรามาเพื่อให้ท่านตั้งคำถามกับตัวท่านเองว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมครั้งนี้หรือไม่  ท่านกำลังส่งเสริมให้มีการซื้อขายหุ้นบนกองเลือดของประชาชนหรือไม่  นั่นเท่ากับว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้กำลังจะเปื้อนไปด้วยเลือดของประชาชน
 
พวกเรามีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ  ดังนี้ 
1. ขอให้ยกเลิกผลของการจัดเวทีพับลิก สโคปปิง  เพื่อจัดทำรายงาน EHIA   เพราะเป็นเวทีที่ขาดความชอบธรรมขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ โดยใช้กองกำลังตำรวจปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งสองเวที 
2. ขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. แสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนโดยดำเนินการสอบจริยธรรมและธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของทุ่งคาฮาเบอร์ ที่เป็นบริษัทแม่ของทุ่งคำอย่างเร่งด่วน และต้องเผยแพร่รายงานการตรวจสอบสู่สาธารณะ การไร้จริยธรรมและธรรมาภิบาล  การกลั่นแกล้งชาวบ้านด้วยการฟ้องคดี  และอื่นๆ ประกอบการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน  
3. ขอให้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  และ.คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ  เพิกถอนหลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเป็นการลงโทษขั้นร้ายแรง ต่อการก่ออาชญากรรมขั้นร้ายแรงกับชาวบ้านในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย 
4. ขอให้กำกับจริยธรรมและธรรมาภิบาลด้วยการสั่งให้บริษัททั้งสองถอนฟ้องคดีชาวบ้านทั้งหมด
 
เครือข่ายคนรุ่นใหม่ติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจาการทำเหมืองแร่ประเทศไทย วันที่  4  พฤศจิกายน  2556
 
รายชื่อกลุ่มที่ร่วมเครือข่าย 
- กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด
- กลุ่มเผยแพร่สิทธิมนุษยชนเพื่อนสังคม (ดาวดิน) 
- ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา (ชนพ.) ม.ขอนแก่น 
- กลุ่มนกกุญแจ มหาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
- กลุ่มเยาวชนสร้างสันต์สุราษฎร์ธานี
- อาศรมต้นบาก
- กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
- คนรุ่นใหม่ตะวันออก
- กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้าคลองยัน จ. สุราษฐ์ธานี
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: สองร้อยเวที “จัดการตนเอง”: เผชิญความท้าทายของสันติภาพด้วยเสียงประชาชน

Posted: 04 Nov 2013 08:45 AM PST

 

ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในชายแดนใต้ในรอบหลายปีมานี้อย่างใกล้ชิดก็คงพอจะคุ้นเคยกับข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งในฐานะที่เป็นข้อเสนอทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ นั่นคือการเสนอให้มีการปฏิรูปการบริหารปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและลักษณะเฉพาะของพื้นที่และผู้คน ข้อเสนอเหล่านี้วางอยู่บนกรอบการมองปัญหาที่ว่าใจกลางของความขัดแย้งที่ปะทุเป็นความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่ลงรอยกันระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับ "ท้องถิ่น" ซึ่งผูกโยงกับเงื่อนไขที่ขัดแย้งกันในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของผู้คน ตลอดจนความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารปกครองในปัจจุบันและที่ผ่านมา

หลายครั้งที่ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะรู้จักกันในนามและ "ตัวแบบ" อันหลากหลาย ในระยะเวลาของความรุนแรงที่เข้มข้นตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา ข้อเสนอในทำนองนี้ก็ถูกพัฒนาและนำเสนอมาอยู่เป็นระยะ ทั้งในรูปแบบของการอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ งานวิจัย การสำรวจความคิดเห็น บทความ ฯลฯ กระทั่งว่าได้พัฒนาจากประเด็นที่เคยเป็น "เรื่องต้องห้าม" และมีความพยายามสร้างความอันตรายเกินจริงโดยทำให้กลายเป็นเนื้อเดียวกันกับข้อเสนอแบ่งแยกดินแดนมาสู่ประเด็นที่สามารถถกเถียงได้อย่างกว้างขวางและเปิดเผย แต่กระนั้นหลายครั้งการอภิปรายถึงเรื่องดังกล่าวก็ก่อคำถามสำคัญขึ้นมาว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นคิดเห็นอย่างไร

 

"เขตปกครองพิเศษ" ในเงื่อนไขของบีอาร์เอ็น

หนึ่งในแนวทางการปฏิรูปการเมืองการปกครองชายแดนใต้อย่างข้อเสนอ "เขตปกครองพิเศษ" ได้กลับมามีชีวิตในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง ภายหลังการริเริ่มพูดคุยสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนฝ่ายไทยซึ่งนำโดย สมช. กับขบวนการปลดปล่อยปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นได้ก่อตัวขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการหยิบยกข้อเสนอ 5 ประการ อันเป็นเงื่อนไขบีอาร์เอ็นในการเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งก่อให้เกิดความอึดอัดใจฝ่ายทางการไทยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือเนื้อหาที่เรียกร้องให้มีการยอมรับ "สิทธิความเป็นเจ้าของ (Hak Petuanan)" ของชนชาติมลายูปาตานีเหนือดินแดนปาตานี ในบันทึกที่ทางคณะพูดคุยบีอาร์เอ็นจัดทำส่งมายังผู้อำนวยความสะดวกตามข้อเรียกร้องของคณะผู้แทนฝ่ายไทยก็ขยายรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความหมายของหลักการดังกล่าวพร้อมข้อแลกเปลี่ยน พร้อมระบุรูปธรรมเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทยที่เป็นทางออกร่วมกัน

ข้อเสนอที่ว่าด้วยการอ้างอิงถึง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" อยู่ในรายละเอียดของข้อเรียกร้องประการที่สี่ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของเนื้อหาหลักที่เรียกร้องให้ฝ่ายทางการไทยยอมรับการดำรงอยู่และ "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ของประชาชาติมลายูปาตานีเหนือดินแดนปาตานี  คำอธิบายในรายละเอียดยังเน้นย้ำถึงการยอมรับการดำรงอยู่ของประชาคมมลายูปาตานีและสิทธิในความเป็นเจ้าของดินแดนที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดินแดนและผู้คน ในรายละเอียดดังกล่าวก็เน้นย้ำถึงความหมายของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (Right for Self Determination) ว่าอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญไทยและไม่ได้หมายความถึงความต้องการในการที่จะแบ่งแยกดินแดนออกไปจากอาณาเขตของรัฐไทยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยังกำหนดให้การตระหนักยอมรับถึงสิทธิดังกล่าวนั้นต้องได้รับการกำหนดเป็นวาระของรัฐสภาไทย รวมทั้งระบุไว้เช่นกันว่าการพิจารณารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวนี้อาจต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะหนึ่งภายหลังจากบรรลุการหยุดยิงอย่างเป็นทางการตามวาระที่เหมาะสมแล้ว

ควรต้องกล่าวด้วยว่า หัวใจเบื้องหลังข้อเรียกร้องดังกล่าวประการหนึ่งคือการเรียกร้องให้มีการยอมรับหรือตระหนักรับรู้ถึงสถานะทางการเมืองของ "ปาตานี" อันเป็นเคยมีอดีตที่เป็นอิสระและสิทธิอำนาจของ "ชนชาวมลายูปาตานี" เหนือดินแดนดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองโดยปกติของชนกลุ่มน้อยต่อรัฐประชาชาติที่มีสิทธิอำนาจเหนือตน และแน่นอนว่าจากมุมมองของรัฐ สิ่งเหล่านี้รบกวนอำนาจที่ดำรงอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือการเมืองของการตระหนักรับรู้ (politic of recognition) ที่ฝ่ายรัฐเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะกดทับไม่ให้เผยตัวแจ่มชัด ในขณะที่ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเองก็จำต้องหยิบยกขึ้นมาเพื่อเจรจาต่อรอง

ความยากลำบากในการขบคิดหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นความท้าทายที่สะท้อนความเป็นจริงของกระบวนการสันติภาพอย่างยิ่ง การพูดคุยสันติภาพที่ดูเหมือนจะหยุดชะงักเมื่อเผชิญกับอุปสรรคดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น หากบรรลุเงื่อนปมดังกล่าวไปได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อนาคตของการเจรจาสันติภาพจึงจะพอเป็นไปได้

"เขตปกครองพิเศษ" ในความหมายนี้จึงสามารถพิจารณาได้ว่านี่เป็นการถอยในทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายขบวนการปาตานี ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาจำต้องเผชิญกับคำถามหนักหน่วงมวลชนสนับสนุนและแนวร่วมทางการเมือง แต่ท่าทีดังกล่าวก็ยากจะสร้างความสบายใจให้กับผู้นำทางการเมืองและกองทัพไทยได้โดยง่ายนัก เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะเปิดช่องให้สถาปนาหน่วยการเมืองการปกครองชนิดใหม่ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นได้ แต่สังคมไทยก็มีแรงต้านทานอยู่สูงไม่น้อย

ปัจจัยชี้ขาดจึงขึ้นอยู่กับว่าประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นอย่างไรต่ออนาคตของพวกเขา แม้ว่าการพูดคุยจะเป็นเรื่องระหว่าง "ตัวแทน" ของคู่ขัดแย้งที่มีกำลังอยู่ในมือ แต่นอกเหนือจากปัญหาเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนแล้ว ปัญหาของความชอบธรรมทางการเมืองก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กล่าวอีกทางก็คือข้อตกลงทางการเมืองใดๆ ที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคตก็จำต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

 

ฟังเสียงประชาชน: จะเลือกอนาคตของตนเองอย่างไร?

ในบริบทของความขัดแย้งที่ชายแดนใต้/ปาตานี ข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองการปกครองชายแดนใต้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันพบว่ามี "ตัวแบบ" ที่ถูกนำเสนอมากกว่าสิบโมเดล อาทิเช่น ข้อเสนอ "ทบวงชายแดนใต้" (กรุณาดูรายละเอียดที่นี่) ข้อเสนอ "ปัตตานีมหานคร" ที่ผลักดันโดยเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ (กรุณาดูร่าง พ.ร.บ.บริหารราชการปัตตานีมหานคร พ.ศ. ... และเอกสารประกอบการหารือที่นี่) ข้อเสนอ "นครปัตตานี" ที่เคยถูกเสนออย่างต่อเนื่องโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แนวคิดบางส่วนได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทยในเวลาต่อมา แต่แล้วก็ไม่ได้รับการผลักดันต่อจนถึงปัจจุบัน (กรุณาดูร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครปัตตานี พ.ศ. ...) หรือแม้แต่ข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง "มณฑล" ในฐานะหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ (กรุณาดูบทความที่นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นที่นี่) นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงการเสนอให้จัดตั้งทบวงและเปลี่ยนผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด (กรุณาดูรายละเอียดที่นี่) หรือข้อเสนอจากงานวิจัยที่เรียกร้องจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ (กรุณาดูรายละเอียดที่นี่) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ท้าทายก็คือประชาชนในพื้นที่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงนั้นคิดเห็นต่อข้อเสนอเหล่านี้อย่างไร พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองการปกครองจะตอบโจทย์ของปัญหาที่พวกเขาเผชิญได้จริงหรือไม่ นี่คือที่มาของ "สองร้อยเวที" ภายใต้โครงการเวทีนโยบายสาธารณะ "ชายแดนใต้จัดการตนเอง" ซึ่งทำทยอยจัดวงตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม 2556 กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และบางอำเภอของสงขลา แม้จะตั้งเป้าเอาไว้ 200 เวที (จนกล่าวกันติดปากว่าสองร้อยเวที) แต่ด้วยเงื่อนไขความพร้อมต่างๆ เวทีดังกล่าวจัดขึ้นทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะรวม 146 เวที ครอบคลุมตั้งแต่ชุมชนมลายูมุสลิม ชุมชนไทยพุทธ ทั้งที่เป็นชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอย่างนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มสตรี กลุ่มนักศึกษา ตลอดไปจนถึง "กลุ่มผู้มีความคิดเห็นต่าง" (ดูรายละเอียดการจัดเวทีที่นี่)

เวทีดังกล่าวร่วมกันจัดขึ้นระหว่างสภาประชาสังคมชายแดนใต้กับสำนักงานปฏิรูป โดยใช้คณะทำงาน 17 คณะ ที่มาจากกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิกของสภาฯ และใช้เครื่องมือของกระบวนการเวทีวิจารณญาณสาธารณะ (Public Deliberation) เพื่อรับเสียงสะท้อนของประชาชนและพิจารณา "เหตุผล" ที่ประชาชนในพื้นที่อภิปรายถึง "ทางเลือก" ต่างๆ ซึ่งรวบรวมและสังเคราะห์ออกเป็น 6 ทางเลือก ซึ่งทั้งหมดเคยได้รับการนำเสนอในพื้นที่สาธารณะหลากหลายช่องทาง มีลักษณะเป็น "โมเดล" หรือ "ตัวแบบ" ที่มีรายละเอียดชัดเจน และที่สำคัญอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ (ดังรายละเอียดในเอกสารสรุปประเด็นเชิงนโยบาย "ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?") ด้วยเหตุนี้ แนวทางของการแยกตัวเป็นรัฐอิสระจึงไม่ได้รวมในอยู่ในบรรดาทางเลือกเหล่านี้ เพราะนอกจากจะไม่มีรายละเอียดที่เปิดเผยแล้ว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแจ้งชัด

ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?

แต่ถึงกระนั้น กระบวนการยังเปิดช่องให้มีการอภิปรายถึงทางเลือกต่างๆ เป็น "ทางเลือกที่ 7" เอาไว้ เป้าหมายของกระบวนการดังกล่าวนั้นไม่ได้ต้องการแสวงหาฉันทามติหรือสำรวจความคิดเห็นในลักษณะของโพลล์ หากแต่มุ่งพิจารณาเหตุผลที่ผู้เข้าร่วมใช้แลกเปลี่ยนเพื่อถ่วงดุลให้เห็นแนวทางการเลือกของพวกเขาอย่างรอบด้านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ฉบับภาษามลายู

ในสถานการณ์ที่ "เขตปกครองพิเศษ" ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอีกครั้งอย่างกว้างขวางเช่นนี้ การหันกลับไปสนใจทัศนะของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงดังที่เครือข่ายเหล่านี้พยายามริเริ่มขึ้นมาก่อนหน้าที่จะมีการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่าง สมช. และ บีอาร์เอ็น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง

รายงาน "เลือกอนาคต: บทสังเคราะห์การพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในเวทีนโยบายสาธารณะ 'ชายแดนใต้จัดการตนเอง'" (กรุณาดาวน์โหลดอ่านฉบับเต็มที่นี่) ซึ่งเป็นการประมวลบทสรุปจากเวทีดังกล่าว ได้สะท้อนข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก ผู้เข้าร่วมโดยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะให้เหตุผลสนับสนุนแนวทางใดก็ตามต่างก็มีความเห็นว่าการตั้งประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องซึ่งเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของพวกเขาในอนาคตนั้นสำคัญและเรียกร้องให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดเวทีในลักษณะเช่นนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพวกเขา พวกเขาบางส่วนยังรู้สึกว่าแม้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองเช่นนี้จะเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่ก็รู้สึกแปลกใจที่สามารถทำให้การพูดคุยในลักษณะเช่นนี้เป็นไปได้ แต่กระนั้น ก็ยังมีผู้เข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่าไม่ควรหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาอภิปราย ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตามแต่

ความปรารถนาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอนาคตของตนเองเป็นลักษณะร่วมที่พบได้ในแทบจะทุกเวทีที่คณะทำงานลงไปจัด นี่เป็นสัญญาณของความตื่นตัวทางการเมืองครั้งสำคัญของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ สิ่งนี้ยืนยันผ่านการจัดเวทีอภิปรายในทางการเมืองที่เกิดขึ้นหนาตาในระยะหลัง และแน่นอนว่าผู้เข้าร่วมนั้นล้นหลาม

รายงาน "เลือกอนาคต: บทสังเคราะห์การพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง
ในเวทีนโยบายสาธารณะ 'ชายแดนใต้จัดการตนเอง'"

เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของผู้เข้าร่วมที่ "เลือก" ทางเลือกต่างๆ ก็สามารถจัดกลุ่มความคิดเห็นต่างๆ ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก คือ แนวทาง ศอ.บต. กล่าวคือการยืนยันว่าโครงสร้างการบริหารที่มี ศอ.บต. เป็นหน่วยงานบูรณาการนั้นยังถือว่าเป็นโครงสร้างที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและพื้นที่อยู่ จุดแข็งสำคัญที่อยู่ในเหตุผลของผู้เข้าร่วมคือการมีผลการทำงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารในปัจจุบัน แม้ว่าการบริหารและที่มาของผู้บริหารจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่โครงสร้างที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน อีกทั้งยังมีสถานะพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรงจึงทำให้สามารถผลักดันเรื่องต่างๆ ให้บรรลุผลโดยเร็วชัดเจน ในขณะที่ข้อวิจารณ์กลับพุ่งตรงไปที่ข้อจำกัดของ "บุคคล" มากกว่าที่เป็นตัวโครงสร้าง แง่มุมที่น่าสนใจอีกประการคือเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนไทยพุทธสะดวกใจที่จะเลือกแนวทางนี้มากกว่าแนวทางอื่นๆ เหตุผลหลักๆ โดยรวมสำหรับพวกเขาคือความไม่มั่นใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารในพื้นที่ แนวโน้มดังกล่าวนี้มีอยู่ทั้งในชุมชนในเมืองและชุมชนนอกเมือง

กลุ่มที่สอง คือ แนวทางทบวงหรือกระทรวงที่ดูแลเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งมีที่มาจากงานวิจัยเป็นหลัก แม้ในเวทีจะมีการอภิปรายถึงทางเลือกนี้ไม่มากนัก เหตุผลสนับสนุนคือเป็นแนวทางที่น้ำหนักและการให้ความสำคัญที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล แนวทางนี้ยังได้รับการกล่าวสนับสนุนอย่างมากเมื่อพิจารณาถึงบทบาทของประชาชนใน "สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้" แต่กระนั้น ข้อวิจารณ์หลักก็ยังมองว่าเป็นแนวทางที่ศูนย์กลางยังคงผูกขาดการกำหนดทิศทางอยู่เช่นเดิม แม้ว่าจะมีรัฐมนตรีมาจากรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งก็ตามที กล่าวอย่างถึงที่สุด ผู้เข้าร่วมมองว่าถึงจะมีการปรับเปลี่ยนไปในแนวทางนี้ แต่สาระก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก

กลุ่มที่สาม ซึ่งรวมเอาทางเลือก 3, 4, 5 และ 6 เข้าไว้ด้วยกัน (นั่นคือ สามนครสองชั้น, สามนครชั้นเดียว, มหานครสองชั้น และมหานครชั้นเดียว) โดยจุดร่วมสำคัญที่ผูเข้าร่วมให้น้ำหนักถกเถียงคือการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุด เหตุผลสนับสนุนหลักคือโอกาสที่ประชาชนในพื้นที่ "สามารถ" เลือกผู้นำได้เอง ผู้นำที่มีที่มาเช่นนี้จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่พวกเขาประสบได้ดีกว่าการมีผู้บริหารที่มาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง สำหรับผู้เข้าร่วมที่เป็นชาวมุสลิมบางส่วน ทางเลือกเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้มุสลิมเป็นผู้นำและบริหารกิจการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขา ทว่าสำหรับชุมชนชาวไทยพุทธในอีกบางส่วนกลับกังวลในเรื่องเดียวกันและหวั่นเกรงว่าเสียงสะท้อนของพวกเขาจะไม่ถูกรับฟัง

ผู้เข้าร่วมมองเห็นเช่นกันว่าแนวทางเหล่านี้อาจนำมาซึ่งปัญหาที่ตามหลายประการ ดังเช่น ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในท้องถิ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อแย่งชิงตำแหน่งและโอกาสทางการเมืองเหล่านี้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ผู้ทรงอิทธิพลและผู้มีฐานะร่ำรวยจะได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งการบริหาร ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะทุจริตตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ได้รับการอภิปรายเพื่อถ่วงน้ำหนักอย่างมาก ผู้สนับสนุนแนวทางเหล่านี้เชื่อว่าสิ่งที่ต้องแลกมาเช่นนี้เป็นเรื่องที่พอยอมรับได้

ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่อง "ขนาด" ของหน่วยการปกครองนั้นพุ่งตรงไปที่ความยากง่ายในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงรายจังหวัดนั้นดูจะง่ายกว่าการรวมเขตเป็น "มหานคร" แม้ว่าอย่างหลังจะสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์มาก่อนก็ตาม ในขณะที่การคงให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นสองระดับดูจะเป็นการง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะบทบาทของ อบต. และเทศบาลในปัจจุบันก็ยังคงดำรงอยู่

การให้เหตุผลเกี่ยวกับแนวทางการเลือกตั้งผู้ว่าราชการหรือฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวางในเวทีนโยบายสาธารณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของประชาชนบางส่วนที่มุ่งหวังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองการปกครอง แม้ว่า "รูปแบบ" จะเป็นเช่นไร แต่เหตุผลสนับสนุนและข้อกังวลที่ถ่วงน้ำหนักระหว่างการพิจารณาก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายไม่มากก็น้อย

กลุ่มที่สี่ แนวทางอื่นๆ ที่มีการนำเสนอเพิ่มเติมในเวที เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วในเวทีสามารถแสดงความคิดเห็นเสนอแนวแนวทางใหม่ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลง มีขัอเสนอจากในเวทีหลากหลายน่าสนใจ อาทิเช่น การเสนอให้มีการเลือกตั้งเลขาธิการ ศอ.บต. การเสนอให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการคัดกรองนายทหารระดับสูงที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการเลือกและถกเถียงก็ยังคงจำกัดอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าหากมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนถึงทางเลือกในอนาคตอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

การจัดกลุ่มข้างต้น สามารถพิจารณาได้จากการให้น้ำหนักของทางเลือกต่างๆ ที่เมื่อรวมเอาทางเลือกที่ 3 – 6 เข้าไว้ด้วยกัน (ในแนวทางเลือกตั้งผู้ว่าฯ) ซึ่งมีข้ออภิปรายที่มีจุดร่วมสำคัญคือการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดในหน่วยการเมืองการปกครอง ก็จะเห็นแนวโน้มสำคัญ ดังภาพประกอบข้างล่าง (ภาพประกอบที่ 5 ในรายงาน)

สัดส่วนของกลุ่มทางเลือกในแนวทางต่างๆ โดยสรุป

บทสรุปของสองร้อยเวทีได้รับการนำเสนอครั้งแรกเมื่อคราวการประชุมสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 หรือหลังการลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเวลาสองเดือน ข้อเสนอที่อยู่ในรายงานดังกล่าวยังได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์ศาสนาในพื้นที่ความขัดแย้งต่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขา กล่าวในอีกด้านก็คือกระบวนการสันติภาพหาใช่เป็นเรื่องของ "ตัวแทน" ของแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันเท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจของประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะการเปิดโอกาสให้ประชาชน "เลือก" นั้นจะรักษาเนื้อหาสาระที่เป็นจริงและความยั่งยืนของสันติภาพที่จะก่อตัวขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอแนะต่อคู่สนทนาจึงพุ่งไปสู่ประเด็นที่ว่าในโต๊ะพูดคุย/เจรจาสันติภาพจำต้องหยิบยกข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองการปกครองในชายแดนใต้/ปาตานีขึ้นมาพิจารณาอย่างรอบด้านในฐานะทางออกทางการเมืองที่จะทำให้ชัยชนะเป็นของทุกฝ่าย ในขณะเดียวกัน ทั้งฝ่ายรัฐไทยและขบวนการปลดปล่อยปาตานีเองก็ต้องเปิดโอกาสและสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เอื้อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้พูดคุยและถกเถียงเกี่ยวกับทางออกดังกล่าวอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยเพียงพอ

ข้อเสนอเหล่านี้ดำรงอยู่ก่อนหน้าที่จะมีการหยิบยกประเด็นเขตปกครองพิเศษจากขบวนการเคลื่อนไหว โดยที่ก่อนหน้านี้มีความเคลื่อนไหวผลักดันและถกเถียงอยู่ก่อนบ้างแล้ว แต่ก็ยิ่งตอกย้ำประเด็นทางการเมืองที่เป็นใจกลางสำคัญซึ่งหล่อเลี้ยงให้ความขัดแย้งดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน ความท้าทายไม่ได้มีแต่เฉพาะตัวแทนของคู่สนทนาเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมกินความกว้างขวางไปถึงสังคมไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนกลุ่มต่างๆ ในชายแดนใต้/ปาตานีอีกด้วย หากไม่เผชิญหน้ากับโจทย์เหล่านี้ซึ่งหน้า ก็ยากจะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในปัจจุบันไปสู่สิ่งอื่น ความท้าทายประการต่อมาที่สำคัญก็คือเสียงของประชาชนจะในพื้นที่จะมีน้ำหนักต่อการสร้างความชอบธรรมเพียงใดเพื่อรองรับการสร้างอนาคต (สันติภาพ) ที่สำคัญ เราจะแสวงหาเสียงของประชาชนให้สะท้อนออกมาในรูปแบบใด นี่คือบทสรุปที่สองร้อยเวทีได้ริเริ่มทิ้งเอาไว้ให้กับทุกฟากฝ่าย

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน : http://www.deepsouthwatch.org/node/4887

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ม.อุบลฯ แถลงไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 04 Nov 2013 08:05 AM PST

4 พ.ย. 2556 คนรุ่นใหม่จังหวัดอุบลราชธานี อาทิ นักศึกษา 10 คณะ 1 วิทยาลัยสังกัดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เครือข่ายนักศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะ กลุ่มแว่นขยาย และเครือข่ายเยาวชนส่งเสริมธรรมาภิบาล จัดแถลงคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

โดย ทศพล หงษ์ศรี นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ่านแถลงการณ์ของสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักศึกษาทั้ง 10 คณะ 1 วิทยาลัย ระบุขอคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และเน้นย้ำจุดยืนว่า บรรดาคดีในฐานความผิดคอร์รัปชั่นและคดีอาญาทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด จะถูกหรือผิดต้องตัดสินด้วยกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมในสังคม

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมชูป้ายบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และการแต่งตัวล้อเลียนจากกลุ่มแว่นขยาย ด้วยการใส่หน้ากาก "?" แสดงสัญลักษณ์ด้วยความสงสัย และการชูป้ายเขียนข้อความลงกล่องกระดาษ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ทักษิณ-เพื่อไทยเลี้ยวเข้าซอยตัน?

Posted: 04 Nov 2013 07:53 AM PST

หลังจากไล่บี้กันจนพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งผ่านวาระสามของสภาผู้แทนฯแล้ว พรรคเพื่อไทยก็มาถึงจุดที่ "ไม่มีทางถอยกลับ" Point of no return.

ถ้าถอยตอนนี้ เสื้อแดงที่สนับสนุนเหมาเข่งจะผิดหวัง ขณะที่เสื้อแดงที่ค้านเหมาเข่งก็ไม่มีทางยกโทษให้ ส่วนม็อบฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็จุดติดไปซะแล้ว คุณทักษิณ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลโดนด่าฟรี ขาดทุนไปแล้ว โอกาสที่จะโดนตุลาการเชือดต่อมีสูง

พรรคเพื่อไทยจึงจำต้องเดินหน้าไปจนถึงที่สุด ให้ผ่านวุฒิสภา ศาล รธน. แล้วขึ้นทูลเกล้า ได้รับโปรดเกล้าแล้วประกาศเป็นกฎหมาย มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่จะเสียหายน้อยที่สุด นักโทษได้ออกจากคุก ได้ใจเสื้อแดงที่หนุนเหมาเข่ง ก็ได้แค่นั้น

แต่สูญเสียเยอะ เพราะเสื้อแดงที่ค้านเหมาเข่งก็คงไม่หวนกลับมาอีกแล้ว ความเกลียดคุณทักษิณในหมู่คนไทยจำนวนมากที่เริ่มคลายไป ได้หวนกลับมา ผู้คนจำได้แต่เพียงว่า คุณทักษิณใช้เล่ห์กลทางสภา หมกเม็ดยัดไส้กฎหมายล้างผิดให้ตัวเอง ใช้วิธีอย่างนี้ ถึงกลับมาประเทศไทยได้ ก็ไม่สง่างาม คนเกลียดมากขึ้นกว่าตอนรัฐประหาร 2549 ซะอีก อยู่แล้วก็ไม่มีทางสงบหรือปลอดภัย อาจไม่ได้กลับมาอยู่ดี หรือกลับมาแล้ว ประเดี๋ยวก็ต้องออกไปอีกเพราะอยู่ลำบาก เส้นทางนี้เสียหายน้อยที่สุด แต่ก็ไม่คุ้มค่ากับที่แลกไป

แต่ถ้าพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งติดขัดและแท้ง ณ ขั้นตอนใดก็แล้วแต่ คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะเสียหายอย่างที่กู้คืนได้ยาก เพราะเสื้อแดงที่หนุนเหมาเข่งและเชื่อน้ำลายของพรรคว่า "มีลับลวงพราง มีซุปเปอร์ดีล ฯลฯ" จะผิดหวังอย่างแรง หลายคนคง "ตาสว่างครั้งที่สอง" ส่วนเสื้อแดงที่ค้านเหมาเข่งก็คงสมน้ำหน้า ม็อบฝ่ายตรงข้ามยิ่งได้ใจ ได้กระแส รุกไล่มากขึ้น รัฐบาลจะเจอกับตุลาการในคดีจำนำข้าวและคดีประมูลโครงการน้ำ ทหารจะกระด้างกระเดื่อง นายกฯยิ่งลักษณ์โดนเชือดแน่นอน แต่ที่เสียหายหนักที่สุดคือ คุณทักษิณ สูญเสียน้ำยา หมดความน่าเชื่อถือ เสียเพื่อนและเสื้อแดงไปจำนวนมาก โดดเดี่ยวมากขึ้น ได้ศัตรูเพิ่มรอบทิศ ไม่ได้ล้างคดีที่ติดตัว จะไม่ได้กลับบ้านอีกนานนนนมาก หรือไม่ได้กลับเลย

สรุปคือ การดันเหมาเข่งครั้งนี้ เป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่ร้ายแรงที่สุด มีแต่เสียหายเป็นด้านหลัก เพียงแต่จะเสียหายหนักหน่วงแค่ไหนเท่านั้น

นี่แหละ วัฒนธรรม "นายใหญ่-ลูกน้อง" ในพรรคเพื่อไทย ไม่ฟังใครชี้แจง ไม่ฟังใครทัดทาน นายใหญ่จะเอาอย่างนี้ ใครไม่เห็นด้วย เฉดหัวออกไป!!

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ต.ค. - 4 พ.ย. 2556

Posted: 04 Nov 2013 01:49 AM PST

รอง ปธ.สภาประชาชนกวางตุ้ง เข้าหารือปลัด ก.แรงงาน เสนอให้มีเอ็มโอยู

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังนายเซียว ยื่อ เหิง รองประธานสภาประชาชน มณฑลกวางตุ้ง  สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าคารวะว่า วัตถุประสงค์ที่นายเซียว ยื่อ เหิง เดินทางมาที่ประเทศไทยนั้นก็เพื่อศึกษาถึงระบบประกันสังคมของไทย ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น รองประธานสภาประชาชนเสนอให้มีบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับกระทรวงแรงงานของไทยในการดูแลคนงานของทั้งสองประเทศ ที่เดินเข้าไปทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมามีคนไทยเดินทางเข้าไปทำงานในระดับผู้บริหารบริษัท ระดับวิศวกร ในมณฑลกวางตุ้งกว่า 200 คนตามหลักฐานทางทะเบียน นอกจากนี้ก็มีคนจีนที่มณฑลทกกวางตุ้งเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยจากการคุยกันเบื้องต้นทางกระทรวงแรงงาน และมณฑลกวางตุ้งจะจัดตั้งจุดติดต่อระหว่างกัน โดยกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ทางกรมการจัดหางาน(กกจ.)รับผิดชอบ ส่วนทางมณฑลกวางตุ้งได้มอบหมายให้อธิบดีกรมแรงงานของมณฑลรับผิดชอบติดต่อ ประสานงานในเรื่องการดูแล การคุ้มครองแรงงานระหว่างทั้งสองประเทศ

"นายเซียว ยื่อ เหิง เกิดข้อกังวลใจว่าหากคนจีนเดินทางเข้ามาทำงานในไทยหากไม่มีการคุ้มครองดูแล ที่ดีอาจถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งทางกระทรวงแรงงานก็ได้ฝากให้ช่วยดูแลคนไทยที่เดินทางไปทำงานที่มณฑล กวางตุ้งด้วย ส่วนเรื่องของเอ็มโอยูระหว่างกระทรวงแรงงานกับมณฑลกวางตุ้งนั้น เบื้องต้นได้รับหลักการไว้เพราะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์สำหรับทั้ง สองฝ่าย โดยจะนำเรื่องนี้เข้าปรึกษากับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป" นายจีรศักดิ์ กล่าว

(มติชนออนไลน์, 29-10-2556)

ติวเข้มคนครัวบนเรือ รุ่น 2 หวั่นตกมาตรฐานกระทบส่งออก-ไร้งาน

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยเรือเดินทางทะเลระหว่างประเทศของไทยจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่า ด้วยแรงงานทะเล 2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับเรือเดินทะเลระหว่างประเทศขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสส์ขึ้นไป ในวันที่ 20 สิงหาคม 2556 โดยหนึ่งในข้อบังคับ 14 ข้อของอนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้คนครัวบนเรือต้องผ่านการอบรมการประกอบ อาหารที่ถูกสุขลักษณะ การจัดการเก็บอาหาร การควบคุมห้องจัดเก็บอาหาร การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการจัดเตรียมอาหารจากสถาบันที่ผ่านการรับรอง หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ กพร.จึงร่วมกับสมาคมเจ้าของเรือไทยจัดอบรม "หลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ" ขึ้นเพื่อเป็นการฝึกอบรมให้แก่คนครัวบนเรือ เช่น การแต่งกาย การเลือกวัตถุดิบ การแช่แข็งอาหาร สุขอนามัยในการประกอบอาหาร การกำจัดเศษอาหาร ซึ่งหากประเทศเจ้าของท่าเทียบเรือมาตรวจสอบมาตรฐานข้อบังคับแล้วไม่ผ่าน มาตรฐานข้อบังคับดังกล่าว ประเทศเจ้าของท่าเทียบเรือก็มีสิทธิไม่ให้เรือดังกล่าวเข้าจอดเทียบท่าได้ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เรือของไทยได้ และมีผลสืบเนื่องให้ขนส่งสินค้าไม่ได้ แรงงานไทยก็อาจจะตกงาน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่จำนวน 4 ราย มีมูลค่าการขนส่งรวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
      
นายนคร กล่าวอีกว่า ในขณะนี้มีการฝึกอบในรุ่นที่ 2 โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 30 คน ระยะเวลาการฝึกอบรม 24 ชั่วโมงจะเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เช่น วิธีการจัดเก็บอาหาร สุขอนามัยในการประกอบอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย แบ่งกลุ่มปฏิบัติการประกอบอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตได้มีการปรึกษาหารือกับทางสมาคมในการจัดทำหลักสูตรภาษา อังกฤษให้แก่แรงงานในเรือทุกคน เพื่อเป็นการยกระดับทักษะฝีมือและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC ด้วย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29-10-2556)

การท่องเที่ยวขาดแรงงานปฏิบัติการ

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านปฏิบัติการภาคการท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคนว่า ที่ผ่านมาทาง กพร.มีโครงการร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และผู้ประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน เดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีฐานะ ยากจนและต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เข้ามาฝึกงานกับทางบริษัทหรือสถานประกอบการด้านต่างๆ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการ เป็นระยะเวลา 4 เดือนและหลักจากนั้นก็จะรับเข้าทำงานต่อไป

ทาง กพร. สพฐ.และบริษัทที่สนใจจะนำรายละเอียดการทำงานทั้งหมดไปอธิบายและทำความเข้าใจ กับทางผู้ใหญ่ในชุมชน รวมทั้งครอบครัวของเด็กที่ต้องการเดินทางไปทำงานให้รับทราบ ทั้งความเป็นอยู่ ที่พัก ลักษณะการทำงาน ระยะเวลาการทำงาน สวัสดิการ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทางไปทำงาน รวมทั้งการที่ทาง กพร.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เดินทางเข้าไปร่วมให้ข้อมูลก็ทำให้เกิดความมั่นใจและไว้วางใจมากขึ้น ซึ่งบางชุมชนเด็กสนใจและเดินทางไปทำงานที่บริษัทเดียวกันเป็นจำนวน 20-30 คนก็มี เนื่องจากเมื่อมีเพื่อนๆ ไปทำงานเด็กก็จะเกิดความอุ่นใจว่ามีคนที่รู้จักไปด้วย

ทั้งนี้ หากสถานประกอบการใดต้องการแรงงานสามารถติดต่อมาที่ กพร.เพื่อแจ้งรายละเอียด เช่น จำนวนแรงงาน  ลักษณะแรงงานที่ต้องการ ลักษณะงาน สวัสดิการฯลฯ เพื่อร่วมกันหาแรงงานเข้าสู่สถานประกอบการต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 30-10-2556)

กรมจัดหางานชี้แรงงานขนยาบ้าไม่กระทบส่งแรงงาน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยถึงการจับกุมแรงงานไทยขนยาบ้าจำนวน 16,320 เม็ด ขณะกำลังจะเดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศอิสราเอล ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ยืนยันไม่กระทบต่อการจัดส่งแรงงานไปประเทศอิสราเอล เพราะแรงงานที่ขนยาเสพติดนั้นมีส่วนน้อย โดยที่ผ่านมามีการป้องกันอย่างเข้มงวด ซึ่งแรงงานทุกคนที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศต้องเข้ารับการอบรมถึงข้อห้าม ของประเทศต่างๆรวมถึงยาเสพติด อีกทั้งปัจจุบันประเทศอิสราเอลมีความต้องการแรงงานด้านเกษตรจำนวนมาก

"ทั้งนี้ กกจ.ยินดีหากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) จะเชิญไปหารือ เพราะที่ผ่านมามีการประสานงานกันมาโดยตลอดเช่น การแจ้งเบาะแสยาเสพติด ขณะเดียวกันเคยเสนอโครงการดูแลป้องกันยาเสพติดของผู้ใช้แรงงานที่ทำงานใน ต่างประเทศไปเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว เพราะเป็นคณะกรรมการในศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ศพส.)และเร็วๆ นี้จะเชิญ ป.ป.ส.ร่วมเดินทางไปประเทศอิสราเอลกับ กกจ.ที่ต้องไปขยายตลาดแรงงานที่ประเทศอิสราเอลทุกปีเพื่อแก้ปัญหายาเสพ ติด"อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

(สำนักข่าวไทย, 30-10-2556)

สปส.ชี้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมสุดอืด ทำผู้ประกันตนกว่า10 ล้านคนเสียสิทธิ์

นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. ... ว่า ร่างดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาในวาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าไม่น่าจะทันการประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป พ.ศ.2556 ที่จะปิดสมัยลงในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจ่อคิวรอพิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้นหากเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติในต้นปี 57 ก็ไม่แน่ใจว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะหยิบยกขึ้นมาหรือไม่ ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก เช่น การให้คุ้มครองไปถึงกรณีผู้ประกันตนฆ่าตัวตาย ซึ่งกฎหมายเดิมในมาตรา 61 จะไม่คุ้มครองกรณีดังกล่าวทั้งที่ผู้ประกันตนที่มีปัญหาแล้วนำไปสู่การฆ่า ตัวตาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสุขภาพ ปัญหาครอบครัว ถ้าไม่ได้รับการคุ้มครองจะไม่มีสิทธิในการรับเงินค่าทำศพ หรือกรณีที่ฆ่าตัวตายแต่ไม่ตาย และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัว ทางสถานพยาบาลสามารถปฏิเสธการรับคนไข้ได้ อีกทั้งหากเป็นกรณีฆ่าตัวตายแล้วและเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เป็นต้น

นายโกวิท กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังให้ความคุ้มครองไปถึงกรณีลูกจ้างรายวันและรายชั่วโมง เช่น ลูกจ้างกรมป่าไม้ ลูกจ้างกรมที่ดิน ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ให้ความคุ้มครองกับลูกจ้างที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงาน ด้านเกษตร ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1-2 แสนคน รวมไปถึงการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน แต่มีเหตุให้ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางจะทำให้ได้รับสิทธิในเงินกรณี ชราภาพ โดยไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 55 ปี ที่สำคัญกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม จากเดิมที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานซึ่งเรื่องนี้ยังมีข้อถก เถียงกันมาก จึงมีกรรมาธิการหลายคนสงวนคำแปรญัตติไว้ ทั้งนี้หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความล่าช้าไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยเร็วก็จะทำให้ผู้ ประกันตนกว่า 10 ล้านคน รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมอีก 1 ล้านคนต้องเสีย สิทธิประโยชน์แน่นอน

(บ้านเมือง, 30-10-2556)

ไฟไหม้ รง.ย่านอ้อมน้อย บาดเจ็บ 4 สาหัส 1

เมื่อเวลา 23.50 น. มีรายงานว่า ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณ โรงงาน บริษัท หยงฟอง เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตั้งบริเวณปากซอยแปซิฟิก ถ.เศรษฐกิจ ที่ตั้งบริเวณ ปากซอยแปซิฟิก ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน สมุทรสาคร โดยเพลิงไหม้ได้ลุกอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยขณะเกิดเหตุ มีพนักงานกำลังทำหน้าที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว 4 คน ส่งผลให้พนักงานทั้ง 4 ได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนนี้ มีผู้บาดเจ็บสาหัส 1 ราย เพราะร่างกายถูกไฟไหม้กว่า 80 เปอร์เซนต์

ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้แล้ว ในเวลา 00.15 น. (วันที่ 31 ต.ค.) ซึ่งหน่วยกู้ภัยฯ ได้นำร่างผู้บาดเจ็บทั้ง 4 คน ส่งโรงพยาบาลวิชัยเวช อ้อมน้อย เพื่อรักษาตัว ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่จะสืบสวนต่อไป.

(ไทยรัฐ, 31-10-2556)

"หมอประดิษฐ" ยืนยัน พนักงาน กสธ. 1.4 แสนกว่าคน มีเงินจ้างแน่นอน ไม่มีคำว่าไม่มีเงินจ่าย ขอให้พนักงานสบายใจ

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวว่า โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ในบางพื้นที่ ไม่มีเงินจ่ายเป็นเงินเดือนค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข หรือ พกส. ต้องนำเงินสวัสดิการ ร.พ. มาจ่ายเป็นค่าจ้างแทนเงินบำรุงนั้น เป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากการจ่ายค้าจ้างลูกจ้างชั่วคราวที่ผ่านมา จะจ่ายด้วยเงินบำรุง และเมื่อเปลี่ยนสถานะจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข การจ่ายค่าจ้างยังคงจ่ายเงินบำรุงเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การบรรจุลูกจ้างชั่วคราว 1.4 แสนกว่าคน เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ทุกคนจะได้รับเงินจ้างบำรุงจากเงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลเหมือนเดิมอย่าง แน่นอน ประกันวงเงินรายได้เท่าเดิมหรือมากขึ้น และไม่มีคำว่าไม่มีเงินจ่าย ขอให้พนักงานทุกคนสบายใจได้ และทำตามสัญญาจ้างย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 56

(msn ข่าว, 31-10-2556)

กยศ.พึ่งประกันสังคม-สรรพากรทวงหนี้

น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้ จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ.อยู่ระหว่างเจรจากับกอง ทุนประกันสังคม และกรมสรรพา กร เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลของลูกจ้างเอกชนที่เป็นหนี้กองทุน กยศ. ว่าทำงานใน หน่วยงานใดบ้าง และมีจำนวนเท่าไร หลังจากที่ผ่านมาได้ประ สานงานกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อขอข้อมูลผู้กู้ที่เป็นราชการแล้ว

หากพบว่ากลุ่มคนที่เป็น ลูกหนี้ไม่มาชำระหนี้ จะถูกพิจารณาเรื่องเงินเดือน หรือตำแหน่งในการทำงานจากนาย จ้าง เพราะจะทำให้นายจ้างรู้ว่าบุคคลคนนั้นไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีวินัยต่อตนเอง และ อาจทำให้ความไว้วางใจในการ ทำงานลดลง พร้อมทั้งจะเร่งดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่มาชำระหนี้ โดยจะเริ่มในปีหน้าเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า กองทุนฯ จะส่งข้อมูลให้กับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าบุคคลที่ชำระหนี้ปกติจะมีเครดิตดีในการยื่นขอกู้ หรือขอสินเชื่อประเภทอื่นๆ แต่บุคคลที่มีรายได้และไม่นำมาชำระหนี้ จะมีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินในอนา คตสำหรับปีการศึกษา 2557 กองทุนฯ ต้องใช้เงินจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้นักเรียนและนักศึกษาทั้งสิ้น 8 แสนราย จึงเห็นว่าหากลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้นำเงินกลับมาชำระหนี้ 50% จากจำนวนผู้กู้ที่ยังค้างชำระทั้งหมด 1.2 ล้านราย วงเงิน 1.2 หมื่นล้าน จากจำนวนผู้ครบกำหนดชำระหนี้ทั้งหมด 2.7 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นวงเงิน 7 หมื่นล้านบาท จะช่วยให้กองทุนฯ มีเงินมาปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษาใหม่และเก่าที่กำลังศึกษาอยู่ได้

ส่วนยอดการฟ้องร้องที่ผ่านมามีประมาณ 6 แสนราย และอยู่ระหว่างการบังคับคดี (ฟ้องร้องแล้วแต่ยังไม่จ่าย) มีประมาณ 4 พันราย ซึ่งหากไม่มีเงินจ่ายภายในกำหนด ก็จะต้องถูกยึดทรัพย์ตามจำนวนเงินที่ขอกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่ขอกู้กองทุน 70% มีงานทำ โดยสัดส่วน 50% เป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ และสัด ส่วน 20% เป็นผู้ที่มีรายได้ไม่ประจำ.

(ไทยโพสต์, 1-11-2556)

คนตกงานเดือน ส.ค.เพิ่ม 9.3 หมื่นคน

1 พ.ย. 56 - นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ รับทราบรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์แรงงานในเดือนสิงหาคม 56 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 9.3 หมื่นคน โดยเพิ่มจาก 2.24 แสนคน เป็น 3.17 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากเทียบกับเดือนกรกฎาคม 56 มีผู้ว่างงานลดลง 3.8 หมื่นคน ลดลงจาก 3.55 แสนคน เป็น 3.17 แสนคน
 
โดยผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.31 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.95 ล้านคน ผู้ว่างงาน 0.32 ล้านคน และผู้ที่รอฤดูกาล 0.04 ล้านคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 55 จำนวน 4.9 แสนคน จากยอด 39.80 ล้านคน ลดลงเป็น 39.31 ล้านคน โดยผู้ว่างงานทั่วประเทศ จำนวน 3.17 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน โดยมีผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.44 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.73 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคบริการและการค้า 1.04 แสนคน ภาคการผลิต 5.3 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.6 หมื่นคน

(สำนักข่าวไทย, 1-11-2556)

"จาตุรนต์" มอบ กรอ.อศ.พัฒนาหลักสูตร ปวช.-ปวช.คาดอีก 5 ปี ขาดแคลนแรงงาน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคน อาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ครั้งแรก เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่ง ศธ.เรื่องการแต่งตั้ง กรอ.อศ.มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน มีกรรมการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายและทิศทางพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ขยายความร่วมมือระบบทวิภาคีในการร่วมมือกับภาคการผลิตและสถานประกอบการมาก ขึ้น และร่วมกันวางแผนสร้างค่านิยมเพื่อจูงใจเด็กเลือกเรียนสายอาชีวะมากขึ้น โดย ศธ.มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญ เป็น 50:50 ภายในปี 2558 นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกลุ่มอาชีพ (Skill Cluster) ที่เน้นกลุ่มอุตสาหกรรม 14 กลุ่ม อาชีพ ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มแม่พิมพ์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มอาหาร กลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว กลุ่มอัญมณี กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รวมโทรคมนาคม) กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มเกษตรกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ
      
สำหรับคณะอนุกรรมการทั้ง 10 กลุ่ม มีหน้าที่สำรวจและรวบรวมความต้องการกำลังคนในแต่ละกลุ่ม วางแผนพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรม รวมถึงศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินรายได้สำหรับผู้ที่จบระดับประกา ศนียบัติวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้วย ซึ่งในส่วนของการฝึกอบรมได้มอบนโยบายให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงปิดภาค เรียนโดยจัดเป็นคอร์สสั้นๆ ส่วนระยะปานกลาง และระยะยาวต้องทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่หรือปรับปรุงที่ทำไว้อยู่เดิม ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน โดยต้องเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2557 และต้องทำต่อเนื่องคือจัดทำระบบผลิตกำลังคนในอีก 5 ปีข้างหน้าสอดคล้องกับที่ภาคเอกชนต้องการ ขณะเดียวกันจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างอาชีวะเอกชนและภาคเอกชนด้วย เมื่อกำหนดเป้าหมายแนวทางที่ชัดเจนแล้ว สอศ.พบว่ามีปัญหาติดขัดในเรื่องใดก็ขอให้แจ้งมา ศธ.ก็จะหาทางสนับสนุนให้
      
นายถาวร ชลัษเฐียร เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานปฏิบัติการจำนวนมาก โดยคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าเราภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานอีก 3 แสนคน โดยเฉพาะสาขาช่างต้องการถึง 1.2 แสนคน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ รมว.ศธ.วางระบบให้มี กรอ.อศ.ทั้งนี้ ยังพบว่าการจัดการศึกษาของอาชีวะ ได้แก่ จำนวนผู้เรียนไม่พอ วิชาที่สอนของวิทยาลัยไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ 100% หรือผลิตไม่ตรงความต้องการ และคุณภาพของนักเรียน นักศึกษาไม่ถึงเกณฑ์ แต่เรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ หากมีการทำทวิภาคีระหว่างวิทยาลัยและสถานประกอบการมากขึ้น ซึ่งหากมีการร่วมมืออย่างจริงจัง คิดว่าภายใน 3-5 ปี ก็จะเริ่มเห็นผลลัพธ์แน่นอน
      
ด้าน นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความต้องการของตลาดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในปี 2557 และ 2558 จำนวน 28 ล้านคน และ 30 ล้านคน ตามลำดับ และต้องเร่งพัฒนาคนเพื่อเข้าสู่อาเซียนอีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันมี 2 เรื่องคือ ค่านิยมต่ออาชีพบริการ และแรงงานที่ผลิตได้ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทำให้แรงงานที่สถานศึกษาผลิตออกมาไม่สามารถทำงานได้ในตำแหน่งที่มี ทั้งที่มีการผลิตแรงงานในด้านนี้จำนวนมาก รวมถึงการปรับทัศนคติของผู้เรียนให้รักการบริการด้วย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-11-2556)

เครือข่ายแรงงานออกแถลงการณ์ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษ ชี้สามารถชุมนุมได้อิสระ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายองค์การแรงงานออกแถลงการณ์เรื่อง หยุด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอัปยศ หยุดนิรโทษกรรมแก่คนสั่งฆ่าประชาชนและคนโกงชาติบ้านเมืองว่า ทาง คสรท.และเครือข่ายองค์กรแรงงานเห็นว่า การที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม จนผ่านสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ โดยไม่คำนึงถึงกระแสคัดค้านจากสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวและยังถือเป็นการนิรโทษกรรมแก่คนคิดทรยศต่อประเทศชาติและ ประชาชนในการโกงบ้านเมือง มีเจตจำนงที่แอบแฝงในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนและผู้ทุจริต ต่อบ้านเมือง ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยก้าวสู่ความขัดแย้ง

คสรท.จึงขอประกาศจุดยืนต่อต้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และองค์กรสมาชิกใดและสมาชิกในสังกัดที่เห็นว่าการออก พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีความชอบธรรมและพร้อมจะแสดงจุดยืนในการต่อต้าน สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมได้อย่างอิสระ หรือเข้าร่วมกับองค์กร เครือข่ายที่มีเจตนารมณ์เดียวกันตามแต่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อร่วมกันหยุดร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ให้ดำเนินการได้ทันที

(มติชนออนไลน์, 4-11-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายศิลปินชำแหละพ.ร.บ.มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

Posted: 04 Nov 2013 01:43 AM PST

"มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดนำมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปเผยแพร่เพื่อวัตถุประสงค์อันมีลักษณะเนการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนา กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นไปในทางที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้"

นี่คือมาตราหลักที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทันทีที่ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. ... ที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอนั้นผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ต.ค.56 เพื่อเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา และสภาผู้แทนราษฎรต่อไป  

วัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายนี้ เป็นไปเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง และส่งเสริม มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ใน 7 สาขา ได้แก่ ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม วรรณกรรมพื้นบ้าน กีฬาภูมิปัญญาไทย แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรมและงานเทศกาล ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาลและภาษา

เป็นการจัดทำ พ.ร.บ.เพื่อรองรับพันธกิจในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโกด้วยอีกโสตหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้มีการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2552-2556 แล้ว จำนวน 218 รายการ ได้แก่ สาขาศิลปะการแสดง 51 รายการ งานช่างฝีมือดั้งเดิม 42 รายการ วรรณกรรมพื้นบ้าน 43 รายการ กีฬาภูมิปัญญาไทย 20 รายการ แนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรมและงานเทศกาล 22 รายการ ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 25 รายการ และภาษา 15 รายการ

อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายศิลปินร่วมสมัย ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้จัดเสวนา "ร่าง พรบ.มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : คุ้มครอง หรือ ควบคุม" โดยมีศิลปินและผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรมร่วมแลกเปลี่ยนหลายคน

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ วิจารณ์บทกำหนดโทษของร่างกฎหมายนี้ว่า เป็นการเพิ่มเครื่องมือในการเซ็นเซอร์อีกอันหนึ่งให้รัฐ ทั้งที่วัฒนธรรมนั้นโดยตัวมันเองต้องปลดแอกให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้เนื้อหาในกฎหมายยังขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับเจตนารมณ์ของปฏิญญายูเนสโก

"คนที่ทำหนังดีๆ ตอนนี้เขาไม่มีหวังแล้ว  ทำหนังดีๆ ก็กะฉายเมืองนอกกันหมด คนไทยไม่ต้องได้ดูแล้ว นี่เป็นการฆ่าศิลปะที่มีความก้าวหน้าและมีคุณค่า ซึ่งโดยปกติก็เกือบตายอยู่แล้วยังจะลงโทษเพิ่มอีก"

"ในยุคของความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้ เชื่อว่ารัฐบาลผ่านกฎหมายนี่แน่ เพราะต้องการควบคุมสังคมอยู่แล้ว เพื่อเอาอกเอาใจเจ้าขุนมูลนายหรืออะไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคม รับประกันได้เลยว่าจะมีคนมองว่าคุณหมิ่นศาสนา ความมั่นคง หรือสถาบันกษัตริย์ ติดคุกง่ายมาก และในสภาก็จะผ่านกฎหมายนี้ ไม่มีใครกล้าแตะเมื่อเห็นประเด็นเกี่ยวกับสถาบัน มันจะเป็นมรดกบาปของพวกคุณ"

สกุล บุณยทัต กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นเหมือนกฎหมายลิขสิทธิ์ ส่วนมาตราว่าด้วยความมั่นคง สถาบันกษัตริย์และศาสนาก็เป็นของตายทุกยุคสมัยที่แตะต้องไม่ได้ กระทรวงวัฒนธรรมอย่าติดหล่มตัวเอง อย่างการเลือกละครนอกมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ถามว่าจะเอาละครนอกสมัยไหน ละครนอกของจริงในอดีตนั้นไม่ถือยศศักดิ์ คนใช้ตบหัวกษัตริย์ได้ ถามว่ายุคนี้แสดงได้ไหม

"สิ่งที่กระทรวงวัฒนธรรมทำ เป็นวัฒนธรรมที่ไม่จริงใจ ไม่ซื่อสัตย์กับภาวะการรับรู้ของมนุษย์ และเราจะไม่สามารถคิดอะไรใหม่ได้"

"ศิลปะเป็นด้านในของมนุษย์คนหนึ่ง มีความเป็นอัตตะสูง สังคมก็ดัดแปลงกันมาไม่รู้เท่าไร แต่เรากลับทำให้ตัวเองแคบ" สกุลว่า และยกตัวอย่างหมอลำที่เกือบสูญหายไปหากไม่มีหมอลำซิ่งเกิดขึ้น ส่วนในทางวรรณกรรมนั้น การดัดแปลงช่วยส่งเสริมให้พัฒนาไปได้อีกไกล

บรูซ แกสตัน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทย "ฟองน้ำ" กล่าวว่า สำหรับดนตรีไทยแล้วค่อนข้างลื่นไหล เล่นแต่ละครั้งแทบไม่เหมือนกันซักครั้ง แล้วจะจดทะเบียนว่าอันไหนเป็นของจริง นอกจากนี้แต่ละบ้านก็เล่นเพลงเดียวกันในคีย์ที่ต่างกัน และตีความดนตรีต่างกัน มีทางเลือกในการเล่นหลายทาง เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกดนตรี

"กฎหมายนี้มองศิลปะเป็นวัตถุมากๆ ดนตรีไทยไม่เหมือนงานบีโธเฟ่นที่สองร้อยปีไม่เคยเปลี่ยนแม้ตัวโน้ตเดียว แต่ดนตรีไทยไม่มีโน้ตชัดเจน มีการประยุกต์เยอะ ผมจะจดทะเบียนตรงไหนเป็นของจริง ในเมื่อของจริงมันเปลี่ยนตลอดเวลา เราคิดจะบังคับให้อยู่อย่างนั้นอย่างนี้ตายตัว มันขัดกับความเป็นดนตรีไทย เพราะเสน่ห์ของดนตรีไทย หรือความคิดแบบไทยๆ คือ ไม่มีมาตรฐาน ต้องคิด สร้างสรรค์ตลอดเวลา" บรูซ กล่าว

มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างหนัง shakespear must die กล่าวว่า นี่คือกฎหมายเซอร์เซอร์ฉบับใหม่ในด้านวัฒนธรรม และมีปัญหาอย่างยิ่งในตีความว่าอะไรกระทบความมั่นคง ศาสนา สถาบัน และศีลธรรมอันดี โดยเฉพาะความมั่นคงนั้นความหมายกว้างมาก ต่อไปประเด็นเรื่องการเมืองก็จะแตะต้องไม่ได้เลย กรณีกระทบสถาบันนั้นมีมาตรา 112 อยู่แล้ว และปัจจุบันยังเป็นปัญหากล่าวหาว่าใช้กฎหมายนี้กลั่นแกล้งกัน ขณะที่เรื่องศาสนาเป็นสิ่งที่ศิลปินวิพากษ์วิจารณ์เยอะ จะยังทำได้หรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรเสนอกฎหมายนี้ด้วยซ้ำ เพราะเปิดโอกาสให้นักการเมืองเลวๆ ทำลายเสรีภาพประชาชน หรือหากจะปรับแก้ก็ควรตัดมาตรา 39, 40 และบทลงโทษออกไปเลย สิ่งที่กระทรวงควรทำคือ การศึกษา ส่งเสริมงานวิจัยในด้านวัฒธรรม

เจ้าหน้าที่จากองค์กรยูเนสโก ประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนภายหลังงานสัมมนาว่า อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโก ไม่ได้ห้ามการพลิกแพลง ไม่เช่นนั้นผลที่ตามมาจะเป็นไปในทางตรงข้ามกับหัวใจสำคัญของอนุสัญญานี้ นั่นคือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้พยายามทำงานในเรื่องนี้อย่างหนัก และเรื่องของเนื้อหากฎหมายยังเป็นสิ่งที่หารือและร่วมกันแก้ไขได้

AttachmentSize
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ.....475.32 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น