โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ปีศาจ, ทองปาน และการรำลึกสิบสี่ตุลา

Posted: 11 Nov 2013 12:53 PM PST

14 ตุลาคม 2516 มักพูดถึงในฐานะเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นสำนึกอันบริสุทธิ์ของปัญญาชนในการต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่ แม้จะไม่ค่อยมีใครขยายความว่ารูปธรรมของความเป็น "เพื่อคนส่วนใหญ่" หมายถึงอะไร  สำนึกแบบนี้มีอยู่ในปัญญาชนเอง หรือเป็นผลของเงื่อนไขภายนอกบางอย่าง  และทำไมถึงต้องหมกมุ่นกับความบริสุทธิ์ของปัญญาชนกันขนาดนี้  แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าสิบสี่ตุลาคมเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของพลังบริสุทธิ์จริงๆ

การรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ก็พูดเรื่องนี้บ่อยครั้ง ต่อให้ไม่รู้ว่าจะวัดความเป็นพลังบริสุทธิ์จากอะไร ปัญญาชนบริสุทธิ์จริงหรือไม่ รวมทั้งมีอะไรพิสูจน์ว่าความบริสุทธิ์นั้นเท่ากับ "เพื่อคนส่วนใหญ่" ทุกกรณี

พูดให้โหดร้ายกว่านั้นคือเราแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาปัญญาชนกับคนกลุ่มที่เรียกว่า "คนส่วนใหญ่" ในช่วงสิบสี่ตุลาคม   คำอธิบายว่าปัญญาชนบริสุทธิ์คือปัญญาชนที่มีค่าต่อคนส่วนใหญ่นั้นเป็นภาพสะท้อนความเข้าใจตัวเองของปัญญาชนแน่ๆ แต่คำถามคือคนส่วนใหญ่เขาคิดถึงปัญญาชนแบบเดียวกันจริงหรือ?

หนึ่งในวรรณกรรมที่มีอิทธิพลในยุคนั้นคือนวนิยายเรื่อง "ปีศาจ" ซึ่งเสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนลงนิตยสารสยามสมัยเป็นตอนๆ ช่วง พ.ศ.2496-2497 และพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี 2500 ก่อนจะพิมพ์ใหม่อีกครั้งในปี 2514 และได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างน้อยสามครั้งในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ไม่รวมถึงการคัดบางตอนไปเผยแพร่ต่อในหนังสือของนักศึกษา  และการเขียนถึงหนังสือเล่มนี้โดยวิทยากร เชียงกูล, เสถียร จันทิมาธร และ พิรุณ ฉัตรวณิชกุล

ปีศาจมีตัวละครเอกคือ สาย สีมา ลูกชาวนาผู้อาศัยวัดเป็นที่ซุกหัวนอนจนจบมหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพทนาย อีกรายคือรัชนี อักษรศาสตร์บัณฑิตลูกผู้ดีที่พ่อไม่ให้ทำงานนอกบ้านเพราะกลัวลูกจะเกลือกกลั้วกับพวกไม่มีชาติตระกูล ตัวละครสำคัญที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงคือนิคมซึ่งเป็นปลัดที่จงใจไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล ส่วนกิ่งเทียนเป็นเพื่อนร่วมคณะกับรัชนีที่เลือกทำอาชีพครูเพื่อคนด้อยโอกาสและภูมิใจกับการมีมือหยาบกร้านเหมือนแม่ผู้หาบเร่ขายขนมรายวัน

ปีศาจแสดงพัฒนาการของตัวละครจากภาวะยอมจำนนเป็นการตั้งคำถามและขบถต่อสังคมทั้งหมด สายในช่วงแรกมีบุคลิกถ่อมเจียมเหมือนรัชนีที่เชื่อบัญชาพ่อทุกอย่าง แต่จากนั้นทั้งคู่ก็เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์และความไร้เหตุผลของระบบเก่าจนทนเป็นส่วนหนึ่งต่อไปไม่ได้ สายผันตัวเองไปว่าความให้ชาวนาจนผู้กำลังจะถูกยึดที่ดิน ส่วนรัชนีก็หางานทำแบบมนุษย์ไร้ฐานันดรคนอื่น  ท้ายที่สุดคนคู่นี้จึงเหมือนกันในแง่ละทิ้งฐานะทางชนชั้นของตัวเอง

แม้สายและรัชนี จะเลือกเดินเส้นทางแบบที่นิคมและกิ่งเทียนเลือกไปก่อนนานแล้ว แต่ความเป็นลูกผู้ดีที่ทรยศชนชั้นหรือกระฎุมพีใหม่ที่หันหลังให้โอกาสแห่งชีวิตนั้นมีเสน่ห์เสมอเมื่อเทียบกับลูกแม่ค้าที่ทำเพื่อชนชั้นของแม่ตัวเอง

ฉากอมตะของนวนิยายเรื่องปีศาจคือการตอบโต้ของสายต่อพ่อรัชนีบนโต๊ะอาหารของผู้ดีชั้นสูง สายปราศรัยด้วยภาษาซึ่งไม่แปลกหากจะได้อิทธิพลจาก The Communist Manifesto ว่า "ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความก้าวหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ... ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน"

ภาพยนตร์เรื่องปีศาจซึ่งฉายในปี 2522  ก็ให้น้ำหนักกับฉากนี้ แต่ฉากที่มีความสำคัญไม่น้อยคือคำประกาศของรัชนีเพื่อไปเป็นครูที่ภาคอีสาน เราจะเห็นสายเดินจากงานเลี้ยงกลับบ้านเช่าซอมซ่อด้วยท่าทีของคนที่ตกผลึกกับอะไรบางอย่าง เขาพบรัชนีนั่งรอที่บ้านตลอดคืน จากนั้นเธอบอกว่าผละจากงานเลี้ยงมาเพราะไม่ต้องการอยู่ในสังคมเดิมต่อไปอีกแล้ว หนุ่มสาวเดินเคียงคู่สู่ท้องทุ่งยามตะวันหัวรุ่งฉายฉานเห็นทุ่งรวงทองเรืองรองอยู่เบื้องหน้าก่อนภาพยนตร์จะปิดฉากลง

ด้วยฉากจบแบบนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าหนังชวนให้ซาบซึ้งกับเขาและเธอผู้อุทิศตัวให้มหาประชาชนในชนบทอันห่างไกล

น่าสนใจว่าภาพยนตร์เรื่องปีศาจออกฉายเมื่อ 6 ตุลาคม เพิ่งผ่านไปแค่ 3 ปี โดยผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดใช้นามแฝงในการทำหนังเรื่องนี้ เราทราบในภายหลังว่าผู้กำกับชื่อหนุ่ม 22 คือ สุพรรณ บูรณพิมพ์ ส่วนผู้สร้างคือ ขรรค์ชัย บุนปาน ในนามพิฆเนศภาพยนตร์ซึ่งมีนัยถึงโรงพิมพ์พิฆเนศจนปัจจุบัน สายแสดงโดย โปรยชัย ผดุงธรรม ซึ่งเป็นนามแฝงของพี่ชายของประแสง มงคลศิริ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชนผู้ได้ใบแดงเพราะมีรูป พ.ต.ท.ทักษิณ บนป้ายหาเสียงหลังปี 2549

ภาพยนตร์เรื่องปีศาจเดินเรื่องคล้ายนวนิยาย แต่เข้มข้นขึ้นในแง่ให้ตัวเอกเป็นเครื่องมือในการผลักอุดมคติเรื่องปัญญา-ชนกับการรับใช้ประชาชนไปจนถึงที่สุด ภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกร่วมของยุคสมัยที่ปัญญาชนเชื่อว่าคนหนุ่มสาวพึงละทิ้งสถานะดั้งเดิมเพื่อมหาประชาชนคนส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่นไปรับราชการเป็นครูในชนบทแบบ ครูบ้านนอก เป็นหมอแบบ เขาชื่อกานต์ หรือเป็นนักปฏิวัติแบบ สงครามประชาชน

อนึ่ง โปรดสังเกตว่าตุลาเป็นเรื่องของปัญญาชน "หนุ่ม" และ "สาว" แต่ไม่มีเกย์ กะเทย ทอม พวกได้ทุกรูปแบบ ฯลฯ

 

ภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน ไม่เกี่ยวกับ 14 ตุลาคม  2516 โดยตรง แต่เหตุการณ์นั้นเป็นฉากหลังที่ทำให้เกิดตัวภาพยนตร์เองและเรื่องในภาพยนตร์ทั้งหมด ซ้ำผู้แสดงและทีมงานเบื้องหลังก็เป็นคนรุ่นตุลาคมด้วย เฉพาะที่คนรุ่นหลังแทบไม่รู้จักก็ได้แก่ ไพจง ไหลสกุล, พัทยา สายหู, ยุทธนา มุกดาสนิท,  เสน่ห์ จามริก และ Peter F.Bell รวมทั้งคนที่ไม่มีใครรู้จักแน่ๆ อย่างชาวบ้านอำเภอบัวใหญ่ และภารโรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยยังไม่ต้องมีคำสร้อยว่าท่าพระจันทร์

ทองปานมีตัวละครหลักคือนักศึกษาและทองปานที่ฝ่ายแรกพบฝ่ายหลังในขณะที่กำลังมองหาตัวแทนชาวนาไปสัมมนาเรื่องผลกระทบจาโครงการสร้างเขื่อนปากชมที่จังหวัดเลย โครงเรื่องของหนังแสดงทองปานในฐานะตัวแทนชาวนาจนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนลำปาวที่กาฬสินธุ์จนต้องอพยพไปเป็นคนตัดไม้ฝั่งลาว ต่อมาเป็นกรรมกรสนามบินโคราช รับจ้างเลี้ยงไก่ เป็นนักมวยปลายแถว เป็นคนถีบสามล้อรับจ้างที่เชียงคาน และในที่สุดก็อพยพไปที่ซึ่งไม่มีใครรู้อีกเลย

ภาพยนตร์เปิดด้วยภาพเมียทองปานหาบน้ำเดินใต้เสาส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงซึ่งวิ่งข้ามหัวพวกเขาไปไหนสักแห่ง ต่อมาคือภาพทองปานและลูกเมียวิดน้ำเข้านาซึ่งอยู่พื้นที่ใต้เขื่อน แต่แห้งแล้งและแร้นแค้นจนคนในหมู่บ้านอพยพไปหมด ที่น่าอเนจอนาถคือเขื่อนกักน้ำเพื่อผลิตไฟให้เมืองโดยครอบครัวทองปานไม่เคยได้ใช้น้ำใช้ไฟแม้แต่หยดเดียว ยิ่งกว่านั้นคือเมียทองปานไม่มีโอกาสเข้าถึงหมอจนตายด้วยเหตุโง่ๆ อย่างเป็นไข้ ส่วนลูกก็อดอยากและไม่ได้เรียนหนังสือสักคน

เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์นี้แสดงความไม่เป็นธรรมที่เกิดแก่คนวรรณะเดียวกับทองปานอีกมหาศาล แต่ที่แหลมคมกว่านั้นคือการนำการดำรงอยู่ของปัญหาสังคมแบบนี้ไปตั้งคำถามถึงคุณค่าของเหตุการณ์ตุลาคม 2516 ในเวลาที่การเฉลิมฉลองเดือนตุลาผ่านไปเพียงสองครั้ง   ในแง่นี้ ทองปาน เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ที่เหลืออยู่ไม่กี่ชิ้นซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามทำให้สังคมไทยหลังเดือนตุลาคิดถึงคนส่วนใหญ่ยิ่งกว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในส่วนกลาง

ปีศาจกับทองปานมีโครงเรื่องและวิธีเล่าซ้อนกันในแง่ปัญญาชนเล่าเรื่องหนุ่มสาวกับการรับใช้ประชาชน เพียงแต่ปีศาจถ่ายทอดผ่านมุมมองปัญญาชนล้วนๆ ส่วนทองปานทิ้งร่องรอยให้เห็นวิธีที่ปัญญาชนสัมพันธ์กับ "ประชาชน" ตั้งแต่การพบพานซึ่งปัญญาชนเป็นผู้แต่งตั้งทองปานเป็นตัวแทนประชาชนในเวลาที่กำลังโหยหาใครสักคนประชาชนไปงานสัมมนาซึ่งปัญญาชนจัดขึ้น ส่วนการสัมมนาก็มีบางตอนป็นภาษาอังกฤษ เต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะ หรือพาดพิงไปถึงเขื่อนในพื้นที่ไกลแสนไกลอย่างเขื่อนผามองและเขื่อนไชยะบุรี  ต่อให้ "ประชาชน" จะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม

ในฉากที่น่าตื่นเต้นจนเป็นไฮไลท์ที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมจะเห็นการปะทะของตัวละครที่แต่ละฝ่ายเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์และทรรศนะต่อการพัฒนาที่แตกต่างกันตั้งแต่นายช่าง นักวิชาการ ผู้แทนราชการ นักอนุรักษ์ นักศึกษา ตัวแทนธนาคารโลก การเผชิญหน้าระหว่างปัญญาชนฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายไม่เห็นด้วยดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน ส่วนประชาชนได้พูดเป็นคนสุดท้ายในท่าทีที่ไม่มีความมั่นใจอะไรเลย

แน่นอนว่าโครงเรื่องหลักทั้งหมดส่งผลให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนคือพระเอก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ฉากนี้เผยโดยไม่ตั้งใจคือปัญญาชนเป็นฝ่ายผูกขาดอำนาจในการกำหนดว่าใครเป็นตัวแทนประชาชน และเวลาไหนที่ประชาชนควรมีโอกาสพูดในพื้นที่สาธารณะ ปัญญาชนฝ่ายค้านเขื่อนรายหนึ่งจึงอภิปรายเชื่อมโยงปัญหาความอยุติธรรมในการพัฒนากับความสูญเสียในเดือนตุลาคมอย่างน่าประทับใจก่อนจะสัมผัสหัวไหล่ทองปานเบาๆ เพื่อแสดงความเข้าใจประชาชน

ในแง่นี้ ภาพยนตร์เรื่องทองปานแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคระหว่างปัญญาชนกับประชาชน ประชาชนระดับปัจเจกไม่มีความหมายในตัวเองจนกว่าปัญญาชนให้ความหมายว่าเขาหรือเธอเป็นตัวแทนของ "ประชาชน" กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเสียก่อน เสียงของประชาชนจึงเป็น noise ซึ่งจะเป็น voice ได้เฉพาะรายที่ปัญญาชนรับรองให้มีสถานะพิเศษแล้วเสมอ ปัญญาชนในย่อหน้าที่แล้วจึงเป็นตัวละครที่น่าประทับใจที่สุดและอยู่ในมุมมืดที่สุดในขณะเดียวกัน

น่าสนใจว่าภาพยนตร์จงใจทำให้ทองปานไร้ตัวตนถึงขั้นไม่มีใครสังเกตว่าเขาหายไปจากห้องสัมมนา ยิ่งไปกว่านั้นคือตอนจบของภาพยนตร์ทำให้ทองปานหายไปซ้ำสองในรูปของการอพยพจากเชียงคานไปที่ซึ่งแม้กระทั่งยายแก่บ้านใกล้เรือนเคียงก็ไม่รู้ว่าไปไหน ทองปานถูกโครงการพัฒนาของรัฐและความยากจนบีบคั้นจนต้องอพยพแล้วอพยพอีก ส่วนปัญญาชนฝ่ายวิพากษ์รัฐก็หมกมุ่นกับการหาตัวแทนประชาชนเกินกว่าจะสนใจทองปานในฐานะปัจเจกจริงจัง

แม้โดยผิวเผินแล้วภาพยนตร์เรื่องทองปานจะเป็นสัญลักษณ์ของคำขานรับซึ่งคนหนุ่มสาวเดือนตุลาคมมีต่อเส้นทางเดินของปัญญาชนจากสังคมเก่าในเขตเมืองสู่มวลชนชาวนาในชนบทซึ่งสายและรัชนีเริ่มไว้ตั้งแต่ พ.ศ.  2500 แต่โดยเนื้อแท้แล้วทองปานสะท้อนความสัมพันธ์อันแสนประดักประเดิดระหว่างปัญญาชนกับประชาชนซึ่งถึงที่สุดแล้วมีช่องว่างและวางอยู่บนสถานะที่ไม่เคยเท่ากัน  สิ่งที่ปัญญาชนคิดเรื่องประชาชนจึงไม่แน่ว่าจะเท่ากับประชาชน

คำเตือนจากทองปานคือความใฝ่ฝันแสนงามของปัญญาชนเพื่อปลดปล่อยมวลชนผู้ทุกข์ยากนั้นมีเพดานจำกัดเท่ากับที่มีความอ่อนหวาน ความโหยหาบทบาทปัญญาชนแบบ 14 ตุลาจึงไม่ควรเดินเลยไปถึงจุดที่เห็นว่าปัญญาชน "ต้อง" เป็นผู้คุ้มครองประชาชนผู้ถูกอนุมานว่าเปราะบาง  ปกป้องตัวเองไม่ได้  และถึงจุดหนึ่งก็อ่อนแอทางปัญญา 

หนึ่งในนัยยะของทฤษฎีปัญญาชนชนชั้นแบบกรัมชี่คือปัญญาชนไม่ใช่เรื่องของวุฒิการศึกษาหรืออาชีพขายปัญญา แต่ปัญญาชนคือคุณสมบัติซี่งมีได้แม้ในคนที่ด้อยการศึกษา หรือมีอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับหลักวิชา การเชิดชูปัญญาชนบริสุทธิ์ในเดือนตุลามีด้านกลับตรงที่ไปกลบความสำคัญของสภาวะที่ประชาชนได้คิด ได้พูด และได้เป็นตัวแทนของตัวเองแบบที่ 14 ตุลาเป็นแรงบันดาลใจและเป็นหลักฐานว่าประชาชนเป็นได้ 

การทำให้ 14 ตุลา เป็นวันสำคัญแห่งชาติอย่างเซื่องๆ กำลังจะกลายเป็นด้านหลักของความเข้าใจ 14 ตุลา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภูมิซรอลก่อนวันพิพากษาของศาลโลก

Posted: 11 Nov 2013 12:27 PM PST

ท่ามกลางกระแสการเมืองอันร้อนระอุด้วยการประท้วง Hwfh8iyพ.ร.บ.นิรโทษแบบเหมาเข่ง มองไปอีกด้านก็มีการลุ้นว่าศาลโลกจะพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารอย่างไรในวันที่ 11 พฤศจิกายน  2556  ผู้ที่อ้างตัวเองว่าเป็นคนไทยรักชาติบางกลุ่มกำลังตั้งหลักจะประท้วงคำตัดสินของศาลโลก หากว่าศาลโลกตัดสินออกมาว่าแล้วไม่เป็นที่พอใจ  รวมทั้งการพยายามเชื่อมโยงประเด็นคดีปราสาทพระวิหารเป็นประเด็นทางการเมือง  คนชั้นกลางผู้นิยามตนเองว่ารักชาติทั้งหลายอาจสงสัยว่า ชาวบ้านภูมิซรอล พวกเขาเป็นใคร หรือ หมู่บ้านนี้มีอยู่ในแผนที่ประเทศไทย บทความนี้ผู้เขียนต้องการบอกเล่าชีวิตของชาวบ้านภูมิซอลผู้อยู่ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา ว่าพวกเขามีสภาพอย่างไร ในทุกครั้งที่ประเด็น "เขาพระวิหาร" ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ในภูมิซรอล เราจะพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและรัฐกัมพูชาในหมู่บ้านได้ทั่วไป พวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบทางตรงต่อสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว อาทิ มีคนในหมู่บ้านที่เป็นทั้งผู้พิการแขนขาด ขาขาด หูหนวก  ตาบอด เพราะโดนทุ่นระเบิด ในสถานะที่แตกต่างกันออกไป  ชาวบ้านยังเคยทำงานเป็นสายลับที่เคยทำงานให้หน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐไทย  เป็นชาวบ้านที่เคยรับจ้างจากรัฐไทย เพื่อไปเป็นทหารในกองทัพเฮงสัมรินและฮุนเซน ในยุคที่รัฐไทยสนับสนุนช่วยเฮงสัมรินและฮุนเซนช่วงชิงอำนาจรัฐคืนจากเขมรแดงและเวียดนามที่ปกครองประเทศในทศวรรษ 2520-2530   ชาวบ้านบางคนไม่ใช่ขาขาดครั้งเดียว แต่ขาดแล้วขาดอีกถึงสามครั้ง  ขาจริงขาดไปแล้วใส่ขาเทียม ขาเทียมก็โดนทุ่นระเบิดอีก   

เช่นเดียวกัน ในเหตุการณ์การปะทะระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มผู้นิยามตนเองว่ารักชาติ ที่เดินทางไปประท้วงทวงคืนในปี พ.ศ.2551-2552 ทำให้ชาวบ้านถูกให้ความหมายว่าเป็นคนไทยไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร นำมาซึ่งความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหว่างรัฐไทยและกัมพูชา จนในปี พ.ศ.2554 เกิดการปะทะกันของทหารทั้งสองประเทศ หมู่บ้านโดนระเบิด ชาวบ้านหนีตายสุดชีวิตหากพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ หนียางตายออก หลังจากนั้นก็อยู่กันแบบหวาดผวาในวิถีที่เรียกว่า "เตรียมของให้พร้อมและวิ่งให้เร็ว" จะขึ้นภูหาอยู่หากินก็ไม่ได้ เพราะหมู่บ้านถูกประกาศเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก ในแง่มุมของชาวบ้าน พวกเขาได้อธิบายตัวเองว่า พวกเขาคือคนไทยรักชาติไม่ต่างจากพวกคุณ เรามาลองฟังดูว่าชาวบ้านเขาบอกว่าอย่างไร

คำถามคือ แล้วชาวบ้านภูมิซรอลรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกให้ความหมายว่า "เป็นคนไทยหัวใจเขมร เป็นคนไทยแต่ไม่รักชาติไทย" คำถามต่อมาคือชาวบ้านภูมิซรอลอธิบาย  ตลอดจนให้ความหมายของความรักชาติของพวกเขาอย่างไร และพวกเขาแสดงความรักชาติอย่างไร

เมื่อผู้เขียนถามชาวบ้านภูมิซรอลในเรื่องว่าด้วยความรักชาตินั้น  บางครั้งเสมือนการเข้าไปสะกิดบาดแผลแห่งการสูญเสียของชาวบ้าน ความเจ็บปวด ความข่มขื่น ความระทมทุกข์ ซึ่งมีริ้วรอยมากน้อยแตกต่างกันไป ตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน เรื่องราวของพวกเขาล้วนมีสงครามและความขัดแย้งเป็นแกนเรื่อง เรื่องที่ชาวบ้านภูมิซรอลเล่าถึงความรักชาติมักมาควบคู่กับการสูญเสียอวัยวะของร่างกาย ขาขาด นิ้วขาด ตาบอด  หรือไม่ก็สูญเสียญาติพี่น้อง สูญเสียครอบครัวที่เคยอบอุ่น

จากการสนทนากลุ่มและสัมภาษณ์รายบุคคล ชาวบ้านภูมิซรอลเป็นจำนวนมาก สรุปได้ว่าโดยภาพรวมแล้วทุกคนบอกว่า ชาวบ้านภูมิซรอลทุกคนรักชาติ ถ้าไม่รักชาติก็คงหนีไปอยู่ที่อื่นหมดแล้วล่ะ ทุกคนเป็นคนไทย มีสัญชาติไทย ในกรณีคนที่ยังไม่มีสถานะบุคคลก็มีการพิสูจน์สัญชาติ กันทั้งหมู่บ้านแล้ว  ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าโรงเรียนเพื่อให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ นอกจากนี้ ชาวบ้านภูมิซรอล ยังเป็นหมู่บ้านอาสาสาสมัครปกป้องชายแดนมาทุกยุคทุกสมัย      มีคำย่อจนแทบจำไม่ได้มานานแล้ว ชาวบ้านทำตามที่เจ้านาย(หมายถึงหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐไทย)บอกว่าคนไทยที่รักชาติต้องทำ   เป็นเหตุผลเพียงพอในการอธิบายความรักชาติหรือไม่ เป็นคำถามของชาวบ้าน   ขณะสัมภาษณ์ชาวบ้านในประเด็นนี้ ผู้เขียนทราบทันทีว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว     ที่ต้องระมัดระวังมาก  ผู้เขียนได้เห็นสีหน้าท่าทางของชาวบ้านโกรธมาก พูดภาษาชาวบ้านคือ โมโหเลือดขึ้นหน้า แต่ทุกครั้งที่ถามเหมือนการไปตอกย้ำภาพแทนความจริง "เป็นคนไทยแต่ไม่รักชาติ เป็นคนไทยหัวใจเขมร"

ชาวบ้านภูมิซรอลเล่าว่า พวกเขาอยู่ที่นี่ด้วยความรู้สึกว่าบ้านภูมิซรอลคือบ้าน อยู่แล้วมีความสุข ทำมาหากินภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจนมาก่อน  การทำมาหากินมาจนถึงปัจจุบันก็พอลืมตาอ้าปากได้  ถ้าชี้วัดกันด้วยเงินออมและภาระหนี้สิน บางคนก็ยังถือว่ายากจนอยู่ ที่ผ่านมาศึกสงครามครั้งไหน ๆ ก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับการปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาใน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านจึงไม่ได้รู้สึกว่าสงครามและความขัดแย้งในอดีตเป็นอุปสรรคใหญ่โตในการดำเนินชีวิต ผิดกับครั้งนี้ความขัดแย้งนำมาซึ่งอุปสรรคทุกอย่างในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการทำมาหากิน ชาวบ้านอธิบายว่า รู้สึกโกรธมากเมื่อกลุ่มคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนไทยรักชาติ ประณามชาวบ้านภูมิซรอลว่าเป็นคนไทยไม่รักชาติ  

"หมู่บ้านเรารักชาติทุกคน รักมานาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำตามที่เจ้านายบอกว่าชาวบ้านทำแล้วเกิดประโยชน์เพื่อบ้านเพื่อเมือง" ในแง่คือการที่ชาวบ้านตอบสนองต่อนโยบายความมั่นคงของรัฐไทยมาโดยตลอด

 เรื่องเล่าว่าด้วยคนบ้านภูมิซรอลกับสงครามและความรักชาตินั้นมีอยู่ว่า ตั้งแต่ประมาณก่อนทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา หมู่บ้านภูมิซรอล มีคนที่รับใช้ชาติจำนวนมาก เช่น เป็นสายลับให้เจ้านายไปสืบข่าวเมืองลุ่มซึ่งหมายถึงประเทศกัมพูชา  เป็นทหารรับจ้างในสงครามเวียดนาม เป็นทหารพราน เป็นทหารรับจ้างให้กองทัพเฮงสัมริน เป็นนักเก็บกู้ระเบิด คนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะดังกล่าวต่างเป็นชาวบ้านอาสาสมัครไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) เพิ่งเปลี่ยนมาเรียกว่า ชุดอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้าน(ชรบ.) เมื่อไม่นานมานี้  หากแบ่งผลกระทบจากสงคราม

ยุคก่อตั้งชุมชน(พ.ศ.2484-2513) - ยุครัฐบาลลอนนอลแห่งกัมพูชา(พ.ศ.2513- 2518)

ชาวบ้านเล่าว่า การอยู่ที่นี่เหมือนมีศึกรอบด้านทั้ง ทหารป่าหรือไทยแดงรบกับตชด. เขมรแดงรบกับเขมรลอน นอล บ้านภูมิซรอลรวมทั้งหมู่บ้านชายแดนแถบนี้ เจ้านายได้จัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านไทยอาสาปัองกันชาติ(ทสปช.)ประเภทป้องกันตันเอง  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องภัยคุกคามจากทหารป่าหรือที่เจ้านายเรียกว่าคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ตามแนวชายแดน[1]     การเป็นหมู่บ้าน ทสปช.นั้น ผู้ที่เป็นอาสาสมัครสามารถติดอาวุธได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) และตชด.[2] เป็นผู้ฝึกอบรมปลูกฝังแนวคิดการรักชาติและวิธีการใช้อาวุธ นอกจากนี้ยังมีการอบรมปลูกฝังแนวคิดความรักชาติผ่านกิจกรรมลูกเสือชาวบ้าน[3]

 (2) ยุครัฐบาลเขมรแดงพอล พต ( พ.ศ.2518-2522 ) – ยุครัฐบาลเฮงสัมริน  และฮุนเซน ( พ.ศ.2522 -2531)

ชาวบ้านหลายคนเล่าว่าในหมู่บ้านช่วงนี้เต็มไปด้วยเขมรอพยพและหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ  ตลอดจนหน่วยงานเพื่อมนุษยธรรมต่าง ๆ  เช่น กาชาดสากลและอีกหลายหน่วยงานส่วนใหญ่ชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ชาวบ้านจำไม่ค่อยได้  ในยุคนี้หมู่บ้านภูมิซรอลยังคงเป็นหมู่บ้านไทยอาสาป้องกันชาติ รวมทั้งมีชาวบ้านสมัครไปเป็นทหารพราน  ไปเป็นทหารรับจ้างให้กองทัพเฮงสัมริน ชาวบ้านหลายคนที่เป็นทหารรับจ้างกองกำลังเขมรแดงเฮงสัมรินบนเขาพระวิหารนานถึง 8  ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 -2531)ได้ค่าจ้างเดือนละ 17,000.-เรียว[4] ในช่วงที่ไปเป็นทหารรับจ้างให้กองทัพเฮงสัมรินนั้น บางคนพาลูกเมียขึ้นไปอยู่ด้วย ลูกๆ จึงไม่ได้เข้าโรงเรียน ส่วนเมียทำอาหารขายให้กับตชด. บางคนเป็นทหารพราน  ยุคนี้มีทุ่นระเบิดรอบหมู่บ้านมากที่สุด รวมทั้งการเก็บกู้ทุนระเบิดไปขายให้หน่วยงานกรอ.มน.ลูกละยี่สิบห้าบาท ปริมาณของทุนระเบิดมีเป็นจำนวนมาก  บางเดือนชาวบ้านเก็บมาขายได้เงินมากถึงสองแสนบาท สงครามในยุคนี้ได้ส่งผลต่อชีวิตชาวบ้านภูมิซรอลในหลายด้าน เช่น มีชาวบ้านที่โดนทุ่นระเบิดเสียชีวิตและขาขาดขณะเดินทางไปทำไร่บนภูจำนวนมาก ชาวบ้านบางคนโดนจับไปเป็นเชลยสงคราม บางคนต้องเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์โดยไม่สมัครใจ

 (3) ประมาณพ.ศ.2531 – ถึงประมาณ พ.ศ.2551

จากสงครามจาก 2 ยุคที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อชีวิตชาวบ้านภูมิซรอลโดนทุ่นระเบิดเสียชีวิตและขาขาดเพราะไปทำมาหากินบนภู นโยบายรัฐในยุคนี้คือการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ช่วงแรกรัฐให้ชาวบ้านเก็บทุ่นระเบิดมาขายให้ทหารกร.อมน.ลูกละ 25  บาท โดยไม่มีการอบรมการเก็บกู้ระเบิดแต่อย่างใด ชาวบ้านเล่าว่าบางเดือนเก็บรวมกันหลาย ๆ คนเอาไปขายได้ครั้งละประมาณ 2 แสนบาท ทำให้มีคนตายและขาขาดเพราะเก็บกู้ทุ่นระเบิดไปขาย จนประมาณปี พ.ศ.2548 จึงมีหน่วยงานที่อบรมการเก็บกู้ระเบิดให้ชาวบ้านอย่างเป็นทางการ และเปิดรับสมัครชาวบ้านเข้าทำงานดังกล่าว

จากคำบอกเล่านี้เห็นได้ว่า ถึงแม้สถานภาพของชาวบ้านแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน  แต่ได้ใช้ชีวิตในหมู่บ้านภูมิซรอลด้วยภาระหน้าที่ลักษณะพลเมืองที่ดีของรัฐไทย  ประเด็นที่สำคัญกว่าการได้รับค่าจ้างคือความรักชาติ "ถ้าไม่รักชาติไทยคงไม่ไปทำหน้าที่อันสำคัญแต่มีความเสี่ยงขนาดนั้น"  เรื่องราวของตชด. นั้นพอเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่ต้องมาประจำการเป็นตำรวจเฝ้าปราสาทพระวิหาร  แต่การเป็นสายลับให้นายฝรั่ง(C.I.A.) ชาวบ้านบอกว่ารู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะน้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสหน้าที่นี้สำคัญแบบนี้ ไม่ใช่ว่าพูดภาษาเขมรได้แล้วจะได้เป็นสายลับ แต่ต้องเข้าใจความเป็นตัวตนคนเขมรลุ่มได้ ต้องรู้ทางหนีทีไล่  แม้ว่าค่าจ้างที่ได้รับนั้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับความเสี่ยง  หากเขมรลุ่มจับได้อาจโดนฆ่าตาย และที่สำคัญชาวบ้านบอกว่าเพราะรักชาติไทย ช่วยนายฝรั่งเท่ากับช่วยนายไทยให้รอดพ้นจากสงคราม

ในช่วงทศวรรษ 2531-2551 รัฐไทยได้มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ชาวบ้านก็พอลืมตาอ้าปากได้ด้วยธุรกิจการท่องเที่ยว รัฐเองก็มีรายได้จาการเก็บค่าผ่านแดนไปฝั่งกัมพูชาจากนักท่องเที่ยว รวมทั้งปันส่วนค่าธรรมเนียมเข้าชมปราสาทจากรัฐกัมพูชา แต่ความเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวจบลงทันทีพร้อมเสียงปืนและเสียงระเบิดในปี พ.ศ.2554

ชาวบ้านบอกว่าเจ้านายอยากให้เป็นแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไทยอาสาป้องกันชาติหรือ หมู่บ้านแห่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ชาวบ้านล้วนทำตาม การเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้นำเงินเข้าประเทศมากมาย  แล้วกลุ่มผู้นิยามตนเองว่ารักชาติมาประท้วงแล้วจากไปทำให้ทั้งชาวบ้านและรัฐสูญเสียรายได้ส่วนนี้ แล้วใครกันแน่ที่ไม่รักชาติ นี่คือการตอบโต้และคำอธิบายความรักชาติของชาวบ้าน  อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในช่วงรอฟังคำพิพากษาศาลโลกนี้ เราก็พบว่าท่าทีของรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ คือ ไทยและกัมพูชา ดูจะระมัดระวังและไม่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกกระแสการเมืองภายในประเทศตัวเอง ทำให้สถานการณ์แบบที่พบในหลายปีที่ผ่านมายังไม่เกิดขึ้น แต่ที่ยังเหมือนเดิมคือ การใช้นิยามคำว่า "รักชาติ" ออกมาปลุกระดมกันทางการเมือง




[1] อดีตแกนนำนักศึกษาและชาวบ้านที่เคยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)ยืนยันว่า พื้นที่บริเวณบ้านภูมิซรอลนั้น เป็นพื้นที่จรยุทธ์ของพคท.(สัมภาษณ์,ไม่สามารถเปิดเผยชื่อและนามสกุลผู้ให้ข้อมูลได้)

[2]กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลาง เพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มุ่งทำลายผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ

[3] ลูกเสือชาวบ้านเป็นกลุ่มของชาวบ้าน เป็นชาวบ้านจัดตั้งของรัฐเพื่อนโยบายด้านความมั่นคง 

[4]สกุลเงินเรียว (Riel) ของประเทศกัมพูชา อัตราแลกเปลี่ยนใน พ.ศ.2555 เงินกัมพูชา 100 เรียวแลกได้ 1 บาทไทย

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์: วิกฤตสองพรรคการเมืองใหญ่ และโอกาสของพรรคทางเลือก

Posted: 11 Nov 2013 11:31 AM PST


นี่เป็นช่วงเวลาที่สองพรรคการเมืองใหญ่ของไทยคือเพื่อไทย และประชาธิปัตย์จะต้องฝาวิกฤตศรัทธาของมวลชนผู้สนับสนุนพรรค โดยเพื่อไทยได้ทำการอัตวินิบาตกรรมตัวเองจากกรณี "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์คนเสื้อแดงออกมาแสดงความไม่พอใจพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน บรรยากาศในโซเชียลมีเดียสะท้อนความผิดหวังของมวลชนส่วนหนึ่งที่สนับสนุนพรรคผ่านการวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน เลยไปถึงการออกมาจัดกิจกรรมประท้วง

ขณะที่กระแสของประชาธิปัตย์นั้นทรงๆ ทรุดๆ เพียงไม่กี่เดือนก่อนมีเรื่องราวของความไม่ลงรอยเรื่องการปฏิรูปพรรคมาจากคนในพรรคเอง ทำให้หัวหน้าพรรคอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องชิงออกมาชี้แจงว่าแนวทางปฏิรูปพรรคเป็นเรื่องที่อยู่ในแนวทางของพรรคอยู่แล้ว ไม่มีการผิดคิวกันแต่อย่างใด แต่การเลือกตั้งที่ไม่เคยชนะเลือกตั้งมาเลยติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี ก็เป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ติดสอยห้อยตามชื่อพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน

การเมืองหลังจากรัฐบาลผลักนิรโทษกรรมสุดซอยผ่านสามวาระรวดในคืนเดียว ทำให้การเมืองไทยพลิกผันมาสู่การต่อสู้กันบนท้องถนนอีกครั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ก็กระโจนลงสู่ท้องถนนอย่างเต็มตัวแล้ว จากการประกาศของสมาชิกพรรคระดับนำอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ขณะที่มวลชนผู้ผิดหวังกับเพื่อไทยจำนวนไม่น้อย ยอมหันไปแตะมือกับพรรคเพื่อไทยเพราะเห็นว่าประเด็นต้านนิรโทษกรรมนั้นขณะนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นเขย่ารัฐบาลเสียแล้ว

ท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบกันทางการเมืองของสองพรรคใหญ่ ที่ต่างพิสูจน์ตัวเองว่าตอบสนองต่อประชาชนได้ย่ำแย่ พื้นที่ทางเลือกอื่นๆ จะมีโอกาสเบียดแทรกขึ้นมาได้หรือไม่ ประชาไทไปพูดคุยกับ 2 นักรัฐศาสตร์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประจักษ์ ก้องกีรติ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) เคยเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปโดยเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคเสียใหม่ ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้เขาเห็นว่าประชาธิปัตย์เผชิญกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อเลือกเดินเกมนอกสภา ลงมานำการเมืองบนท้องถนนเสียเอง เขายังเห็นว่าโอกาสที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะดึงมวลชนคนเสื้อแดงเข้ามาเป็นแนวร่วมนั้นได้ผ่านเลยไปเสียแล้ว และสุดท้ายเขามองว่าขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับพรรคทางเลือก และพื้นที่ทางเลือกที่จะเสนอตัวให้คนที่กำลังเบื่อหน่ายผิดหวังสองพรรคใหญ่ ได้ลองพิจารณา

ประชาไท: จากปรากฏการณ์การเมืองล่าสุดที่เกิดขึ้น ทั้ง 2 พรรคการเมืองถูกตั้งคำถามมากว่ายังเป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่ดีของประชาชนอยู่หรือเปล่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์

ระบบพรรคการเมืองของเราไม่ตอบสนองประชาชนพลเมือง เพราะถ้าพรรคการเมืองสามารถตอบสนองได้ เราจะไม่มีความขัดแย้ง การเผชิญหน้า การประท้วงบนท้องถนนอย่างต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ ฉะนั้นเราต้องถามว่าพรรคการเมืองของเราไม่พร้อม มีข้อบกพร่อง มีข้อจำกัดตรงไหนบ้างที่จะมาปรับปรุงแก้ไข
ส่วนหนึ่งมันเป็นตัวสะท้อนของสังคมเราเอง จะไปโทษพรรคการเมืองนักการเมืองทั้งหมดไม่ได้ มันสะท้อนว่าสังคมเราก็แตกแยกเอง

ที่สังคมแตกแยกนั้น เพราะเรามีความเข้าใจต่ออนาคตไม่ตรงกัน อดีตที่ผ่านมานั้นเราก็มีความเข้าใจไม่ตรงกันและตีความต่างกันด้วย เราจะเห็นได้ว่าตอนนี้มองอนาคตไปเป็นช่วงผลัดแผ่นดิน ช่วงปลายรัชสมัยที่ในอนาคตที่ระบอบประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ปฏิเสธแล้วต้นทุนสูง จะไปยึดอำนาจโดยใช้รถถัง กระบอกปืน ในที่สุดแล้วก็จะไปไม่รอด จะอยู่ยาก ได้ไม่คุ้มเสีย เราก็เห็นมาแล้ว

ขณะเดียวกัน การที่จะแทรกแซงโดยตุลาการ โดยใช้วิธีอื่นๆ ที่ไม่ยึดอำนาจโดยรถถังก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน ในที่สุดแล้วประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งก็กลับมาอีก ขณะเดียวกันประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งนั้นก็ไม่ตอบสนองประชาชนชาวไทยกลุ่มหนึ่งส่วนหนึ่งที่เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งก็ได้นักการเมืองที่เข้ามาคดโกง ทุจริต คอร์รัปชั่น ก็มีความไม่พอใจ ต่อต้านคอร์รัปชั่น ต้องการหาคนดี คือสังคมมีความแตกแยกตรงนี้ และอนาคตกับอดีตเรามองไม่ตรงกัน

ในสุดแล้ว ผมคิดว่าจะเลี่ยงไม่ได้แล้วประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้ง แต่จะทำยังไงให้ประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งตอบสนอง มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพที่จะทำให้คนพอใจมากกว่านี้ และตราบใดที่เราอยู่ในช่วงปลายรัชสมัย ที่ผ่านมาเราต้องไม่ลืมว่า เราอยู่รอดมาได้จากภัยคอมมิวนิสต์และอะไรมิต่ออะไร ระหกระเหินแต่ก็อยู่รอดมาได้เป็น 60 ปีเลย แต่ว่าระบบนั้นที่ยึดกับการสร้างสังคม สร้างโครงสร้างการเมืองที่ยึดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กับกองทัพ ระบบราชการ รวมไปถึงตุลาการด้วย ระบบนั้นก็สร้างโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองขึ้นมาแบบหนึ่ง

โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองนั้น ไม่เน้นนักการเมือง นักการเมืองจะเป็นผู้ร้ายมาตลอด และจะเป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ทีนี้โครงสร้างนั้นมาถึงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่ตอบสนองแล้ว

ผมคิดว่า ความผิดอันมหันต์ที่สุด ที่ร้ายแรงที่สุดที่คุณทักษิณได้ทำเอาไว้ที่คนโกรธเกลียดเขามาก เรื่องคอร์รัปชั่นมีส่วน เรื่องลุแก่อำนาจ การที่เผด็จการมีส่วนแน่นอน คนที่คอร์รัปชั่นในบ้านเรามีเยอะนะ มันแฝงไปหมด อยู่ในวัฒนธรรม เรียกว่าฝังรากเลย แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันไม่ใช่คอร์รัปชั่นของนักการเมืองไปกินงบประมาณอย่างเดียว มันก็คือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน

คิดดูว่าใครบ้างที่จะไม่มีผลประโยชน์ในประเทศนี้ ทุกคนในประเทศนี้มีผลประโยชน์กันทั้งนั้น แต่ใครที่มาเสียสละทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ก็คือทำตามกฎระเบียบ เสียสละให้ส่วนรวม มีน้อย เราต้องเน้นตรงนั้น

เพราะฉะนั้น ระบบเดิมที่ได้ก่อสร้างขึ้นมาในช่วงสงครามเย็น ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ และคนที่ได้ผลประโยชน์จากระบบนั้น ระบบนั้นก็เปิดอยู่พอสมควร มันไม่ได้ปิด ไม่จำเป็นต้องมีความมั่งคั่งมีสตางค์หรือเป็นคนรวยถึงจะได้ดิบได้ดี คนที่ไม่มีก็มีได้ ก็ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศกลับมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเยอะแยะเลย โดยรวมแล้วสังคมมีความเจริญก้าวหน้าได้เหมือนกันในระบบเดิม แต่มันไม่ทันใจคน

เมื่อคุณทักษิณมา เรียกว่าเปิดระบบเลย เอาให้ทันใจคนทันทีเลย ทันใจ ทันที ทั่วหน้า คนก็เลยชอบตรงนี้ มันตอบสนองโจทย์คนในยุคสมัยใหม่ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเยอะ เขาอาจมีความคาดหวังสูงขึ้นแต่ระบบเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ เมื่อคุณทักษิณเข้ามาตอบสนองอย่างนี้ เขาเลยได้รับความนิยมมาก นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเขาทำให้เมืองไทยไม่เหมือนเดิม การทำให้เมืองไทยไม่เหมือนเดิมนั้นทำให้เขาถูกเกลียดชังมากๆ เข้าเลือด เข้าเนื้อ เข้ากระดูกเลย

สำหรับพวกที่ต่อต้านคุณทักษิณ คอร์รัปชั่นก็ยิ่งเป็นเชื้อเพลิงให้เป็นวิธีการ เป็นเครื่องมือ เป็นทางผ่าน เป็นเหตุผลที่จะต่อต้านเกลียดชัง แต่ก็เป็นตัวสะท้อนว่าคนอื่นก็มีคอร์รัปชั่นเหมือนกัน คุณทักษิณอาจจะคอร์รัปชั่นลึกซึ้งหน่อย แยบยลมาก ใช้การแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้กับพรรคพวกตัว บริษัทตัวเอง ครอบครัวตัวเอง การเลื่อนขั้นตำแหน่ง พรรคพวกตัวเองอาจจะได้เป็นหลัก คือเขากินรวบโต๊ะ แต่การกินรวบโต๊ะของเขา คนเดิมๆ ก็ไม่ชอบ

นอกจากนั้น คุณทักษิณเป็นคนนอกด้วยที่มีค่านิยมแบบคนรวยใหม่ ต้องฟุ้งเฟ้อ ขับรถปอร์เช กินสตาร์บัค มันไม่มีคุณสมบัติภาพลักษณ์ของผู้ดี ก็เป็นคนรวยใหม่ไม่ใช่ผู้ดีเก่า ก็ยิ่งตอกย้ำให้ไม่ชอบเข้าไปอีก ทีนี้ ปัญหาก็คือเขาทำสิ่งที่เขาทำไป ในที่สุดกระแสก็ตีกลับ ก็มีการประท้วงขับไล่คุณทักษิณ คุณทักษิณก็ไปอยู่นอกประเทศ ก็แก้รัฐธรรมนูญใหม่เลือกตั้งใหม่

ผมคิดว่าตอนนี้วาทกรรมของประเทศไทยมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ หนึ่งก็คือ ทุกอย่างเพราะทักษิณคนเดียว ก่อนทักษิณมา เราก็อยู่กันสุขสบายดี พอทักษิณเลือกเข้ามาแล้วมาเติบใหญ่ ลุอำนาจ มาทุจริตคดโกง มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อผลประโยชน์แต่พรรคพวกตัวเอง กินรวบโต๊ะ ในที่สุดแล้วก็โดนขับไล่ออกไป ขับไล่ไปแล้วก็ไม่เลิก ก็มายุแยงมาชักใยอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชนมีนายกเป็นคุณสมัคร คุณสมชาย ทักษิณก็ชักใยอยู่ กดปุ่มอยู่ข้างหลังจากข้างนอก ผ่านปี 51, 52, 53 คุณทักษิณก็ชักใยคนเสื้อแดงมาประท้วง ทำให้บ้านเมืองเราเดือดร้อนลุกเป็นไฟ กลับมาเลือกตั้งก็ยังอาน้องสาวมาเป็นนายก ยังชักใยอยู่ข้างนอกอีก บิดเบือนต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ตัวเองอย่างเดียว ต้องการได้ทรัพย์สินคืนมา ต้องการล้างมลทินตัวเอง นั่นเป็นวาทกรรมหนึ่งที่เราจะได้ยินโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

อีกวาทกรรมหนึ่งก็คือ แน่นอนคุณทักษิณก็มีปัญหาติดตัว มีเรื่องทุจริตแน่นอน แต่ระบบก็ต้องจัดการไป คุณทักษิณก็เป็นหนึ่งคนในระบบ ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยระบบ ถ้าไม่พอใจเรื่องคอร์รัปชั่นก็ไล่ออกไปก็ได้ ก็มีการยึดอำนาจรัฐประหาร รัฐประหารแล้วก็ไม่เป็นไร คนก็ไม่ออกลุกฮืออะไร ก็ผ่านไป ก็คิดว่ากฎไม่ดีทำให้คุณทักษิณขึ้นมาใหญ่และรวบอำนาจได้ ก็กลับไปแก้กฎเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา แต่ว่าถึงเวลาที่คนจะได้ออกเสียง คนที่สมัยก่อนผมคิดว่ารู้สึกว่าไม่ได้มีเสียง เดี๋ยวนี้ไปออกเสียง พอออกเสียงแล้วเขายึดกับเสียงที่เขาออก ไม่ว่าจะในระบบใดก็ตาม ในเมื่อไปแก้ระบบแล้ว ในเมื่อไปแก้กฎแก้ระบบแล้ว เมื่อมาถึงคิวเขา เขาก็ไปใช้สิทธิออกเสียง เขาก็ได้พรรคพลังประชาชนขึ้นมาสู่อำนาจ

เมื่อไปโค่นล้มพรรคพลังประชาชนลงโดยใช้อำนาจศาล และอะไรต่ออะไรที่เราเห็นมา ตุลาการภิวัฒน์ต่างๆ ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน เขาก็ไม่ยอม เพราะเขาถือว่าเป็นเสียงเป็นสิทธิ์ของเขา แล้วการโค่นล้มก็ดิบๆ เลยคือจะเล่นงานคุณทักษิณ การเล่นงานคุณทักษิณและทำลายระบบคือความไม่พอใจของฝ่ายๆ หนึ่ง กรณีคุณสมัครโจ๋งครึ่มเลย คือไปทำอาหารจะหมดสภาพนายกฯ ได้ยังไง มาถึงคุณสมชายก็มีประท้วงกันทั้งปีเมื่อปี 2551 ก็ถึงคิวของเสื้อแดงประท้วงเมื่อได้นานยกฯ จากฝั่งตรงข้ามขึ้นมา เขาก็รู้สึกว่าสิทธิที่ใช้เสียงที่ออกโดนปล้น เสื้อแดงก็ออกมาประท้วงปี 2552-2553 แล้วก็มีการปะทะกัน โดยเฉพาะเมษา-พฤษภาปี 53 มีคนบาดเจ็บล้มตาย เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ พอมาเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาก็ใช้สิทธิออกเสียงเหมือนเดิมอีก ออกมาได้พรรคคุณทักษิณอีก

เพราะฉะนั้น วาทกรรม 2 อันนี้ก็ขัดแย้งกันอยู่ มันไปด้วยกันก็แล้วแต่ว่าเราจะถามใคร ถ้าถามข้างหนึ่งก็จะบอกว่าเพราะคุณทักษิณคนเดียว แต่ถ้าถามอีกข่างหนึ่งว่าศัตรูคุณทักษิณแหละตัวปัญหา คุณทักษิณก็แค่หนึ่งคนที่ระบบต้องจัดการไป ต้องยึดระบบนั้นเป็นหลัก เพราะระบบนั้นคือเสียงที่เขาออกระบบที่เขาใช้ น่าจะเป็นอย่างนั้น

ประชาไท: เรื่องนิรโทษกรรมทำให้ต้องกลับมาคิดว่าแม้คนตื่นขึ้นมา รู้สึกถึงสิทธิเสียงของตัวเอง แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมากับพรรคเพื่อไทย อาจารย์คิดว่าสิ่งนี้ทำให้คนเสื้อแดงที่เคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะกลับมาตั้งคำถามไหม

ฐิตินันนท์: มีหลายส่วนประกอบ องค์ประกอบทั้งสองข้างมีหลายขั้น มีหลายส่วน เราพูดว่าพรรคการเมืองไม่ตอบสนองก็เพราะว่าสังคมเรามีความแตกแยกแล้วก็เรายังไม่สามารถที่จะหาจุดลงตัวระหว่างสถาบันกับระบอบประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งได้ พอเรามาดูเรื่องพรรคการเมืองเราก็เห็นว่ามีจุดบกพร่องข้อจำกัด และเราต้องแยกระหว่างเพื่อไทย นปช. คุณทักษิณ ออกจากกัน แกนนำนปช. ก็เป็นตัวเชื่อมของคุณทักษิณกับเสื้อแดง และแกนนำนปช. ก็เป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับเสื้อแดง และก็มีความทับซ้อนกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงคิวนี้ผมคิดว่ามีการผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม มันก็เป็นการประเมินผิดของคุณทักษิณอย่างใหญ่หลวง ซึ่งสำหรับคุณทักษิณแล้วเขาอาจจะคิดว่านี่คือวิธีการปรองดองของเขา เขาก็เหมาเข่งให้ทุกคนเลย รวมทั้งตัวเขาด้วย ย้อนกลับไปถึงตากใบเลย ก็อาจจะเป็นวิธีที่เขาคิด ซึ่งเขาก็อาจจะเป็นคนอย่างนี้ที่คิดว่ามั่นใจในตัวเอง อย่างการขายหุ้นชินคอร์ปเมื่อต้นปี 2549 เขาก็คงไม่คิดนะครับว่าการขายหุ้นชินคอร์ปจะทำให้ประเทศลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบทักษิณได้ขนาดนั้น

มารอบนี้เขาก็คิดว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผมคิดว่าเขาก็คงไม่คิดว่าจะทำให้คนลุกฮือขึ้นมาได้ขนาดนี้ และทุกภาคส่วนด้วย เสื้อแดงก็ไม่เอา เสื้อเหลืองเสื้อหลากสี หน้ากากขาวก็ไม่เอา ประชาธิปัตย์ไม่เอา ก็คือเจ้าเดิมๆ มีพรรคเพื่อไทยที่เห็นด้วย รัฐบาล

เป็นครั้งแรกนับแต่การรัฐประหารปี 2549 ที่เราเห็นว่าเป็นงานที่เรียกแขกได้ถ้วนหน้าเลย แล้วก็มีการผนึกกำลังกันอย่างทั่วถึง ก็เป็นการประเมินผิด แต่การประเมินผิดนี้คุณทักษิณก็เสียรังวัดไปเยอะ แต่ว่าคู่ต่อสู้คุณทักษิณก็เสียรังวัดไปเยอะเหมือนกันนะครับ

พรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้เป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาแต่ว่าออกมานำม็อบเอง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันจะมีผลเสียระยะยาวต่อระบบพรรคการเมืองของไทย เมื่อพรรคเก่าแก่ที่สุดมานำม็อบเนี่ยถือว่าเกหมดหน้าตักแล้ว นี่ก็คือจะเลยเถิดไปถึงการโค่นล้มรัฐบาลไปเลย จะตัดสินความผิดที่เขาบอกว่าจะให้ศาลประชาชนมาตัดสินเนี่ยนะครับ นี่ก็ต้องดูว่าผบลต่อไปเขาจะมาปรับอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ก็เสียหายหนัก

คุณทักษิณนั้นเสียหายหนักมากเลย เพราะว่ารอบนี้เป็นรอบแรกที่เสื้อแดงไม่เอาด้วยเลย เหมือนว่าโดนทรยศ คุณทักษิณทรยศเสื้อแดงนปช. พรรคเพื่อไทยก็คงสองจิตสองใจเพราะว่าถึงแม้ว่านี่จะเป็นนายใหญ่แต่ว่าฐานเสียงไม่เอาด้วยเขาก็เลยคงจะกระอักกระอ่วนเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเรามีโอกาสที่จะขยับไปหาทางออกร่วมกันแต่เรากำลังพลาดโอกาสนี้

สิ่งทีน่าจะเกิดก็คือ ฝ่ายที่ต่อต้านคุณทักษิณทั้งหลาย น่าจะยื่นไม้ยื่นมือเอ่ยปากพูดคุยกับฝั่งเสื้อแดงแล้วก็บอกเสื้อแดงเขาว่า เห็นไหม ทักษิณเขาไม่จริงใจหรอก เขาก็ใช้พวกท่านทั้งหลาย เขาก็ต้องการเอาตัวเองให้รอด เขาต้องการเอาทรัพย์สินคืนมา มันก็คือเรื่องของทักษิณคนเดียวเท่านั้น ถ้าพูดอย่างนั้น พวกเสื้อแดงในจังหวะนั้นเขาอาจจะฟังบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน พวกที่ต่อต้านคุณทักษิณก็ต้องยอมรับด้วยว่าพวกเสื้อแดงที่เลือกพรรคของคุณทักษิณมาตลอด เขามีตัวมีตนจริงๆ เขามีปากมีเสียงจริงๆ เขาไม่ได้เป็นคนโง่ คนไม่เป็นคนไร้การศึกษา ต้องยอมรับเขาตรงนั้น ถ้ายอมรับเขาและก็คุยกับเขา นี่คือทางออกประเทศไทย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ผมคิดว่าเราพลาดโอกาสนั้นแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาฝ่ายที่ต่อต้านคุณทักษิณทั้งหลายโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เขาไม่ได้ไปสนใจพวกเสื้อแดงเลย เสื้อแดงคัดค้านต่อต้านนิรโทษกรรมเขาชอบเพราะว่าไปทางเดียวกันแต่เขาไม่เคยไปถามเลยว่าเราจะหาทางออก เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ไหม มันจะมีทางไหนไหม เขี่ยทักษิณให้ตกไปแล้วเรามาคุยกันเอง เขาไม่ทำอย่างนั้น เมื่อไม่ยอมรับพวกเสื้อแดงแล้วพยายามไปโค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้ามา ขี้หมูขี้หมาแล้วในเวลาเข้าตาจนแล้วพวกเสื้อแดงเขาก็ต้องกลับไปหาเพื่อไทยอยู่ดี เพราะว่าระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ เขาต้องเอาเพื่อไทยอยู่แล้ว

ก็เสียดายว่าถ้าเกิดฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับคุณทักษิณเขาให้พื้นที่ ให้เกียรติ ยอมรับพวกเสื้อแดงมากขึ้นซะบ้าง ไม่ต้องมากขึ้นก็ได้ สักนิดเดียว มันก็จะทำให้เกิดเชื้อใหม่ๆ เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองไทย ทำให้เราอาจจะนำไปสู่อนาคตของเราได้
ผมคิดว่าทางฝั่งที่คัดค้านคุณทักษิณเขาไม่สามารถทำได้เพราะว่าถ้าไปยอมรับพวกเสื้อแดงเมื่อไหร่แล้วมันก็จะเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง นั่นคือการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ประเทศไทยในอนาคตมันไม่ใช่เป็นประเทศไทยที่เหมือนสมัยสงครามเย็น มันจะเป็นประเทศไทยที่ตาสีตาสา คนที่เขาไม่ค่อยได้มีเสียง เขาก็จะหันมามีสิทธิมีเสียง แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นคนที่เคยมีศักยภาพสูงได้ประโยชน์จากระบบเดิม เขาก็จะมีคนเข้ามามากขึ้น จะแออัดมากขึ้น แต่ว่าอนาคตผมคิดว่าคงจะเลี่ยงตรงนั้นยาก

ประชาไท: ทั้งสองพรรคควรจะเรียนรู้อะไรบ้าง จากการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้

ทั้งสองพรรคต้องเรียนรู้ว่าประชาชนมีความแตกแยก แล้วก็พยายามพัฒนาตัวเอง ขยายฐานมาดูนโยบาย ไปดึงอีกข้างหนึ่งเพื่อที่จะขยายฐานให้เรามีความรอมชอมกันขึ้น

พูดง่ายๆ ว่าเพื่อไทยถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคเสียงข้างมาก ต้องสนใจพรรคเสียวข้างน้อย คนที่สนับสนุนพรรคเสียงข้างน้อยมากขึ้น มันแปลกนะครับการเมืองโลกเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ พรรคที่มีเสียงข้างมากไม่ใช่ขึ้นมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เสียงข้างน้อยก็สามารถคว่ำบาตรปิดประเทศได้ เขาสามารถมาประท้วง มีข้อมูลข่าวสาร มีการจัดตั้งที่ทำให้รัฐบาลเสียงข้างมากทำงานยาก เพราะฉะนั้นต้องสนใจเขาด้วย

ในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีพื้นที่ ในเมื่อแพ้ก็ต้องฟังเสียงประชาชนแล้วก็มีการต่อตานที่มันเสนอทางออก ถ้าไม่เอานโยบายแบบนี้จะเอานโยบายแบบไหนล่ะ แล้วก็พยายามทำนโยบายแบบที่ตัวเองเสนอให้ชนะใจคน

ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์สุกงอมมากเลยที่จะมีทางเลือกอื่นขึ้นมา เป็นทางเลือกอื่นที่อาจจะมีพรรคการเมืองอื่นหรือว่าพื้นที่อื่นๆ ที่จะตอบสนองตรงนี้ ตอนนี้มีคนที่ผิดหวัง หงุดหงิด ไม่พอใจมากมายทั้งสองฝั่ง ฝังของพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาประท้วง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม หลายๆ คนผมเชื่อว่าเขาไม่ได้ศรัทธาหรือว่ามีความตื่นเต้นกับพรรคประชาธิปัตย์นักหรอกแต่ว่าเขาไม่เอาคุณทักษิณ ในขณะที่ฝั่งเพื่อไทยเขาก็เห็นแล้วล่ะว่าคุณทักษิณทรยศเขา แต่ว่าถ้าเกิดไปโค่นล้มรัฐบาลที่เขาเลือกมาซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เป็นรัฐบาลที่เขาเลือกมา ใครจะมาโค่นล้มเขาก็รับไม่ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็ไม่ได้หวือหวามากนักหรอกครับกับพรรคประชาธิปัตย์แต่เขาไม่เอาคุณทักษิณ อีกฝั่งหนึ่งก็
ไม่ได้หวือหวากับคุณทักษิณมากหรอกครับแต่ต้องการจะยึดระบบ ยึดเสียงยึดสิทธิของตัวเอง

ทีนี้การที่จะหาจดที่จะทำให้มีการสลับสับเปลี่ยนปรับขั้วต่างๆ เพื่อจะสลายสองขั้วนี้ ทางหนึ่งก็คือว่ามีพรรคอื่นและก็พื้นที่อื่นที่มาตอบสนองคนที่ผิดหวัง อกหัก ไม่พอใจ ต่างๆ ทั้งสองข้าง ก็อาจจะมีพรรคการเมืองที่สาม เราเคยมีพรรคภูมิใจไทยที่ตอนนี้ก็ไปกับพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นพรรคที่สามผมเห็นได้เลยว่าแนวนโยบายน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง

หนึ่ง ต้องเล่นเรื่องความสุจริต จริยธรรม  ในเชิงเปรียบเทียบ คือไม่มีที่ไหนหรอกครับในการเมืองไทยหรือการเมืองในประเทศที่จะเป็นขาวกับดำ คือนักการเมือง กลุ่มการเมืองที่มาแบบขาวจั๊วะ สะอาดทุกอย่างมันไม่มีหรอก แต่ว่าเรื่องสกปรกเนี่ยมันต้องน้อยที่สุดแล้วก็เป็นระบบที่สุดแล้วก็ตรวจสอบได้มากสุดแล้วก็จัดการกันได้ อย่างนั้นถ้าเขาขึ้นมามีแนวนโยบายเรื่องจริยธรรม สุจริตมากกว่าคนอื่น

สอง เน้นสิทธิเสียงของคนที่เขาไม่เคยมีให้เขาได้แสดงออก เขาก็จะได้เสียงเยอะ เขาต้องให้เกียรติ ต้องยอมรับคนเหลานั้น และก็ต้องทำให้คนอีกข้างหนึ่งคือคนที่มาจากขั้วอำนาจเดิมมีความอุ่นใจอยู่บ้าง แล้วก็ให้เกียรติ ยอมรับสิทธิเสียงของคนที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้ง

สาม ต้องหาคนที่จะเป็นผู้นำ บ้านเมืองเรามีคนเก่งๆ มีความรู้เยอะนะครับ ผมเห็นมีประสบการณ์มาหลายประเทศ ประเทศไทยไม่ได้ด้อยไม่ได้น้อยหน้าใครในเรื่องคนที่มีความรู้ ไปเรียนหนังสือมาเก่งๆ แต่ว่าที่จะมีความเป็นผู้นำพอในเวลานี้ก็ต้องหากัน ผมไม่อยากจะระบุชื่อ แต่มี มีคนที่อยากจะไปหาทางออกร่วมกัน

สี่ ต้องมีแรงสนับสนุน มีสะตุ้งสตางค์ มาทำป้ายพรรค มาทำสำนักงานต่างๆ ระบบเราเป็นอย่างไรก็ต้องมีปัจจัยที่จะชนะให้ได้
ห้าเขาไม่ต้องชนะหมด ถ้ามีพรรคที่สาม ชนะได้ ส.ส. แค่ 40-60 มันจะพลิก จะเป็นทางออก สลายสองขั้วเผชิญหน้าแบบนี้ในเวทีการเมืองเชิงเลือกตั้งได้

ประชาไท: แต่ว่าที่ผ่านมาเราก็มีพรรคทางเลือกที่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมหรือชนะคะแนนในการเลือกตั้งได้ อะไรคือเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคของพรรคทางเลือกในประเทศไทย

คือหลายประการ เหตุผลหลักคือโครงสร้างสนามเลือกตั้งบ้านเราที่ยึดระบบอปุถัมภ์สูงโดยเพาะในต่างจังหวัดซึ่งสะท้อนความบกพร่องของภาครัฐที่จะเข้าไปหาคนในต่างจังหวัด คือถ้าเกิดคนในต่างจังหวัดไม่เดือดร้อนหรือเดือดร้อนแล้วมีที่พึ่งจากภาครัฐเขาก็ไม่ต้องเข้าไปหานักการเมืองท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งคือนักการเมืองท้องถิ่นก็เติบโตมาจากการโกงกินได้งบประมาณกลางออกมาไปสร้างถนน เป็นทุนท้องถิ่นขึ้นมา เมื่อมีสตางค์ไปหากากรมเอง ก็เอาการเมืองมาหาสตางค์เพิ่มก็เป็นระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา เราต้องยอมรับก่อนว่าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องไปพยายามหาทางเลือกอื่นขึ้นมาในอนาคต

ทีนี้นอกจากระบบอุปถัมภ์แล้ว พรรคการเมืองนอกจากพรรคของคุณทักษิณทั้งสามพรรค ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เน้นหานโยบายที่จะได้ใจคน ชนะใจคน ที่จะตอบสนองใจคนและมีภาพให้คนรู้สึกว่าทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมทำ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะทำก็ต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรค เปลี่ยนแกนนำพรรค หาคนหน้าใหม่ หาเลือดใหม่ที่จะได้ใจประชาชน และเขาต้องหานโยบาย อย่างนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเนี่ยขายไม่ออก เขาพยายามขายก็ขายไม่ออกก็แพ้เลือกตั้งมาตลอดเขาต้องยอมรับว่าคนต้องการอะไรบ้าง และประเทศไทยจะเดินหน้าแล้วก็ค่อยๆ ผันความคิดเหล่านี้

หลักๆ มันมาจากความเข้าใจ มีการเห็นพ้องต้องกันต่ออนาคตก่อนแล้วมาคิดว่าประเทศไทยจะเดินไปตรงนั้นอย่างไร จะขยับไปข้างหน้าอย่างไร แล้วก็นำมาสานต่อนโยบายมาขาย ให้คนชอบตรงนี้ มาเลือกเขา ก็จะต้องเป็นการต่อสู้กันในที่สุดแล้วนอกจากระบบอุปถัมภ์ทีเป็นอยู่ เดี๋ยวนี้เรามีพื้นที่ในการต่อสู้โดยนโยบายโดยความคิดมากกว่าที่เราเคยมีมา เพราะฉะนั้นในอนาคตนี่จะเป็นทางออก และในที่สุดแล้วประชาชนจะไปเลือกกันเอง

ประชาไท: ขอตัวอย่างของพรรคการเมืองที่มีการปรับตัวในต่างประเทศ

หลายประเทศ มีการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองเหมือนสัตว์มีชีวิต เมื่อเขาเป็นที่นิยมเขาก็จะมีพัฒนาการ แล้วก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะมีอายุมากขึ้นก็ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอด เพื่อให้มีความกระปรี้กระเปร่า มีพลวัตร อย่างพรรคแรงงาน ( Labor Party) ตอนที่โทนี แบลร์จะขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงาน พรรคนั้นก็ไม่ไหวแล้ว โทรม เนือย อืด เข็นไม่ขึ้น ขายไม่ออก โทนี แบลร์ก็ทำให้เป็น New Labor  หลักๆ คือทำให้เห็นว่าธุรกิจเอกชนไม่ได้เป็นศัตรู คือสมัยก่อนพรรคแรงงานเขาเน้นแรงงาน แรงงานเป็นใหญ่พวกนายจ้าง เอกชน ทุนนิยม ถูกมองว่าเป็นศัตรู เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยโต ไม่ค่อยเกิดพลวัตร โทนี แบลร์เข้ามาปรับให้เข้ากันได้ คือสวัสดิการก็ยังมีอยู่ แรงงานก็ยังสำคัญ แต่ธุรกิจต้องเดินหน้าได้เศรษฐกิจต้องโต เขาก็ไม่ได้เน้นแรงงานโดยที่ไปทำให้นายทุนเสียหาย คือนายทุนกับแรงงานต้องไปด้วยกันได้ นิวเลเบอร์ก็ประสบความสำเร็จชนะใจคน โทนี แบลร์เป็นนายกถึงสิบกว่าปี

พรรครีพับลิกันตอนนี้ที่สหรัฐอเมริกา มีปัญหามาก กระอักเลยเพราเขาไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้ เขาไม่ยอมขยับมาตรงกลาง เขาอยู่ทางขวาๆ ถ้าเขาจะขยับมาตรงกลางก็คือเขาต้องเน้นบางประเด็นให้น้อยลง เขาเน้นประเด็นที่ว่ารัฐบาลไม่ควรมีสวัสดิการมาก ไม่ควรจะเก็บภาษีสูง ให้เอกชนทำเอง ให้คนมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจดำเนินชีวิตอย่าไปอุ้มคนมากทำให้คนเคยตัว กลาโหมต้องแข็ง อเมริกาต้องแกร่ง ส่วนของโอบามา(เดโมแครต) เขาชนะใจคนได้มากกว่า แต่ก็ชนะกันเฉียดฉิวนะ สวัสดิการสังคมสำคัญ สาธารณสุขทุกคนต้องเข้าถึงได้ เขาก็ชนะใจคน กลาโหม ทหารกองทัพ ก็แข็งพอจัดการบินลาเด็นได้ แต่ไม่บุกใครแล้ว ถอนกำลังจากอิรักและอัฟกานิสถาน แต่ริพับลิกันเขากำลังหาอยู่พยายามจะมีความคิดจะปรับแนวนโยบายอย่างไรที่จะชนะใจคนได้อีกครั้ง

ออสเตรเลียเพิ่งจะมีการเลือกตั้งมาเมื่อไม่นานนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง โทนี แอบบ็อตต์ก็มาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ขายบางเรื่องนะครับ วัดดวงนะว่าคนจะเอาหรือเปล่า เช่น เขาจะแกร่งขึ้น เข้มขึ้นเรื่องของการลักลอบเข้าเมือง ไม่เช่นนั้นเขาจะเสียงานไป คนจะว่างงาน ตกงาน เขาจะเอาพวกการช่วยเหลือต่างประเทศพวก AUSAID เข้ามาพ่วงอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศเลย ก็คือเน้นประโยชน์ของออสเตรเลียเป็นหลัก ไม่ได้ต้องไปช่วยให้มีสันติภาพโลกอะไรพวกนี้ ก็ลดลงแล้ว แต่คนก็เลือกเขา

เพราะฉะนั้นเรา พรรคการเมืองต้องมีความกระปรี้กระเปร่า มีความตื่นตัวอยู่ตลอดในการที่จะประเมินอุณหภูมิของเวที ของประเทศ ของสังคม และชีพจรของสังคมว่าตอนนี้อยู่ตรงไหน เขาต้องการอะไร

เราเห็นกันแล้วว่าสิลกว่าปีที่ผ่านมาสังคมเปิดกว้างขึ้นมาก จากเครื่องมือต่างๆ ความมั่งคั่งที่สะสมมา เศรษฐกิจก็โต คนก็มีอยู่มีกิน ดีขึ้นแล้วก็คนรู้เรื่องมากขึ้นมากเป็นประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้จะทำอะไรต้องตอบสนองคนเยอะๆ พูดง่ายๆ ว่ายุคนี้ ในศตวรรษที่ 21 คือยุคที่ชาวบ้านเป็นใหญ่ สมัยก่อนชาวบ้านก็อยู่แบบชาวบ้านไป นักการเมืองเป็นใหญ่ ผู้มีอำนาจเป็นใหญ่ กองทัพเป็นใหญ่ ใครต่อใคร ข้าราชการอาวุโสเป็นใหญ่มีคนเป็นใหญ่เยอะในเมืองไทย เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเป็นใหญ่ ถ้าเกิดเราไม่ยึดตรงนี้ เริ่มนับหนึ่งจากตรงนี้เดินหน้าลำบาก ถ้าทุกคนนับหนึ่งจากตรงนี้เราจะหาทางเข้าใจกัน เห็นพ้องต้องกัน เดินหน้าร่วมกันได้


โปรดติดตามตอนต่อไป สัมภาษณ์ประจักษ์ ก้องกีรติ: พื้นที่ทางเลือกภายใต้การเมืองสองขั้ว
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหพันธ์ รร.เอกชน ปากีสถานแบนหนังสือ 'มาลาลา' หวั่นเนื้อหากระทบศาสนา

Posted: 11 Nov 2013 11:27 AM PST

หนังสือชื่อ "I am Malala" ที่ร่วมกันเขียนโดยมาลาลา ยูซาฟไซ วัยรุ่นหญิงนักรณรงค์การศึกษาในปากีสถานที่ถูกกลุ่มตาลีบันยิง กับนักข่าวอังกฤษ ถูกสหพันธ์รร.เอกชนของประเทศเธอสั่งแบน โดยอ้างว่าเนื้อหาไม่เป็นไปตามหลักศาสนา ขณะที่กลุ่มฝ่ายขวาในประเทศพากันวิจารณ์ว่ามาลาลาตกเป็นเครื่องมือของชาติตะวันตก

12 พ.ย.2556 เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวดิอินดิเพนเดนท์ กล่าวถึงกรณีที่องค์กรสหพันธ์สถานศึกษาเอกชนปากีสถาน ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษา 152,000 แห่งทั่วประเทศปากีสถานสั่งแบนหนังสือ "I am Malala" โดยเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้เกิด "ผลเสีย" ต่อเด็กนักเรียน เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือไม่เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม

หนังสือชื่อ "I am Malala" มีผู้ร่วมเขียนคือ มาลาลา ยูซาฟไซ หญิงวัยรุ่นชาวปากีสถานอายุ 16 ปี นักรณรงค์สนับสนุนการศึกษาผู้เคยถูกกลุ่มตาลีบันยิง กับนักข่าวชาวอังกฤษ คริสติน่า แลมบ์ หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว โดยเนื้อหาเล่าถึงชีวิตของมาลาลาขณะอาศัยอยู่ในหุบเขาสวัดซึ่งพ่อของเธอเป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนช่วงที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน เนื้อหาเหล่านี้นำมาจากการเขียนบล็อกในบีบีซีและจากโครงการรณรงค์ให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา

การแบนหนังสือดังกล่าวทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาหรือในห้องสมุดของโรงเรียนเอกชน โดยแม้ว่ารัฐบาลปากีสถานจะไม่นำหนังสือเล่มนี้มาสอนในโรงเรียนของรัฐ แต่ก็ยังไม่มีการสั่งแบน

เมอซา คาซีฟ ประธานองค์กรสหพันธ์สถานศึกษาเอกชนปากีสถานกล่าวว่า ทางสหพันธ์ได้ทำการตรวจสอบหนังสือเล่มนี้แล้วลงความเห็นว่าเป็นหนังสือที่ไม่เหมาะสมกับเด็กๆ ชาวปากีสถาน โดยเฉพาะเด็กนักเรียน เนื่องจากปากีสถานเป็นประเทศในเชิงอุดมการณ์และมีอุดมการณ์วางอยู่บนรากฐานของศาสนาอิสลาม หนังสือของมาลาลามีความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์ดังกล่าว

คาซีฟอ้างอีกว่าในหนังสือของมาลาลามีการปกป้องงานเขียนของนักเขียนซัลมาน รัชดี (นักเขียนลูกครึ่งอินเดีย-อังกฤษ ผู้เขียนเรื่อง "The Satanic Verses" ที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวมุสลิม) บนพื้นฐานเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น และไม่มีการใช้วลี "ขอความสันติจงมีแต่ท่าน" เมื่อกล่าวอ้างถึงนบีมูฮัมหมัด คาซีฟบอกอีกว่าเขาสงสัยว่ามาลาลาไม่ได้เป็นผู้เขียนเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะมีการกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ก่อนที่เธอจะเกิด

อย่างไรก็ตาม คาซีฟปฏิเสธว่าที่พวกเขาสั่งแบนไม่ใช่เพราะกลัวถูกโจมตี และเสนออีกว่าหากมาลาลาเปลี่ยนเนื้อหาไม่ให้มี "การทำร้ายจิตใจชาวมุสลิม" ในหนังสือ ทางสหพันธ์ฯ จะพิจารณาการตัดสินใจอีกครั้ง

"พวกเราเป็นผู้สนับสนุนมาลาลารายใหญ่ที่สุด มีโรงเรียนเอกชนถูกปิด (ตอนที่เธอถูกยิง) พวกเราสนับสนุนเธอ ไม่ได้ต่อต้านเธอ เธอเป็นเสมือนลูกสาวของพวกเรา" คาซีฟกล่าว

ชาวปากีสถานมีท่าทีต่อหนังสือเล่มนี้แตกต่างกัน มีคนจำนวนมากบอกว่าหนังสือของเธอถูกชาติตะวันตกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ขณะที่ฝ่ายตาลีบันขู่ว่าจะมีการโจมตีร้านหนังสือที่มีหนังสือเล่มนี้ในสต็อก

แต่ผู้เฝ้ามองสถานการณ์ในปากีสถานก็บอกว่าการแบนหนังสือเล่มนี้มีเหตุผลมาจากข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในสังคมปากีสถานจากการกระทำของมาลาลา โดยเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข้อถกเถียงกันเรื่องที่โรงเรียนลาฮอร์เริ่มมีการสอนวิชาเพศศึกษา

บินา ชาห์ นักเขียนนิยายและนักรณรงค์ด้านการศึกษาจากเมืองการาจีกล่าวว่า การตัดสินใจแบนหนังสือเล่มนี้มาจากการพยายามต่อต้านมาลาลาและหนังสือของมาลาลาโดยนักวิจารณ์ฝ่ายขวา ชาห์บอกอีกว่าการวิจารณ์ของนักวิจารณ์ฝ่ายขวาทำให้คนรู้สึกสับสนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้จนทำให้ผู้ใหญ่หลายคนพยายามต่อต้าน

มาลาลาอาจได้รับการสนับสนุนจากชาวปากีสถานหลายคนโดยเฉพาะนักเรียนหญิง แต่ในโรงเรียนบลูมฟิลด์ฮอลล์มีการแสดงความเห็นต่อหนังสือของมาลาลาต่างกันไป เช่น ซูนาช ราซา หญิงวัยรุ่นอายุ 15 ปี กล่าวว่าแม้เธอจะเห็นใจมาลาลา แต่คิดว่าสุนทรพจน์ของมาลาลาที่สหประชาชาติจะเป็นการทำลายความภาพพจน์ของประเทศปากีสถาน

นักเรียนอีกคนขื่อ ยุมนา อัฟซัลอายุ 16 ปี กล่าวว่ามาลาลาเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงทั่วประเทศเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของการศึกษา เธอคิดว่าการสั่งแบนหนังสือเป็นเรื่องที่ผิดและเป็นการสมคบคิดเพื่อทำให้คนคิดว่ามาลาลาเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐฯ

รามชา โชเอบ นักเรียนหญิงอายุ 15 ปี กล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้วเธอคิดว่าการส่งมาลาลาเป็นตัวแทนของปากีสถานไปยูเอ็นเป็นเรื่องที่มีอคติ ในปากีสถานมีเด็กหญิงคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตยากลำบากกว่ามาลาลาแต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล และเธอคิดว่าในฐานะที่มาลาลาเป็นผู้หญิง เธอควรแสดงให้เห็นภาพด้านบวกของประเทศมากกว่า

อนึ่ง มาลาลา ยูซาฟไซ ถูกคนของกลุ่มตาลีบันพยายามลอบสังหารโดยการยิงที่ศีรษะเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2555 ขณะกำลังเดินทางด้วยรถโดยสารจนถูกส่งไปรักษาตัวที่อังกฤษและกลายเป็นที่รู้จักของทั่วโลกในเวลาต่อมา

องค์กรสิทธิเด็กยูนิเซฟเปิดเผยว่าสถานการณ์ด้านการศึกษาในปากีสถานมีความท้าทายหลายด้าน โดยปากีสถานจัดเป็นประเทศที่มีจำนวนเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษามากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากไนจีเรีย ขณะเดียวกันก็มีเด็กผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการศึกษาโดยเฉพาะในเขตชายแดนติดกับประเทศอัฟกานิสถาน จากการสำรวจพบว่าทั่วปากีสถานมีผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 45 ที่ได้รับการศึกษา ขณะที่ผู้ชายมีอยู่ร้อยละ 70

 

เรียบเรียงจาก

Inspiration or danger? Private schools in Pakistan ban Malala Yousafzai's book, The Independent, 10-10-2013
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/inspiration-or-danger-private-schools-in-pakistan-ban-malala-yousafzais-book-8930925.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 พ.ย. 2556

Posted: 11 Nov 2013 09:06 AM PST

คสรท.ถกเครือข่ายแรงงานสรุปท่าทีเคลื่อนไหวค้าน กม.นิรโทษ 10 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า คสรท.และเครือข่ายแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบทั่วประเทศรวม 30 องค์กร ต่างไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และก่อนหน้านี้ได้ออกแถลงการณ์ไปแล้ว เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวมีเจตจำนงแอบแฝงซ่อนเร้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองให้พ้นผิดจากการสั่งฆ่าประชาชน และการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการทุจริตต่อชาติบ้านเมืองและประชาชน โดยทาง คสรท.และเครือข่ายจะประชุมหารือกันในวันที่ 10 พฤศจิกายน เพื่อกำหนดท่าทีว่าจะไปร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อวุฒิสภาหรือไม่ ขณะนี้เป็นสิทธิของแรงงานแต่ละคนแต่ละองค์กรที่จะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มผู้ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยจะไปร่วมกับกลุ่มใดก็เป็นสิทธิของแต่ละคนและแต่ละองค์กร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่กระทรวงแรงงานนั้น ข้าราชการกระทรวงแรงงานไม่ได้ออกมารวมตัวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ข้าราชการบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเห็นว่า เมื่อนักการเมืองทำทุจริตก็ควรถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการทำลายความถูกต้องของกฎหมาย สร้างความเสียหายกับบ้านเมือง เพราะในอนาคตหากมีการทำความผิด ก็สามารถออกกฎหมายล้างผิดได้

(มติชนออนไลน์, 5-11-2556)

แรงงานทวงความคืบหน้าสัญญาไอแอลโอขู่เตรียมบุกทำเนียบ

(5 พ.ย.) นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยสมาชิก จากองค์การแรงงานต่างๆ กว่า 50 คน เดินทางมาทวงความคืบหน้าการรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรอง กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องและทวงถามความชัดเจนจากรัฐบาล โดยขอให้รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว และกำหนดกรอบเวลา กระบวนการ ขั้นตอนที่รัฐบาลจะดำเนินการให้สัตยาบันให้ชัดเจน โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 หาก ร.ต.อ.เฉลิม ยังเพิกเฉย ที่จะให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน จะไปชุมนุมเรียกร้องที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.....ในปัจจุบัน
       
ด้านนางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานต้องการผู้บริหาร ที่ใส่ใจและเข้าใจปัญหาแรงงานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน และแรงงานควรมีส่วนในการตรวจสอบการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ในฐานะเจ้าของเงิน ทั้งนี้ หาก ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ต้องการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ควรลาออกจากตำแหน่ง เปิดโอกาสให้คนที่ใส่ใจแรงงานมาบริหารงาน เพื่อผู้ใช้แรงงานจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
       
ด้าน นายพานิช จิตต์แจ้ง ว่าที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ลงมารับหนังสือเรียกร้องกับผู้ใช้แรงงาน หลังนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยสมาชิก จากองค์การแรงงานต่างๆ กว่า 50 คน เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าอนุสัญญาดังกล่าวและรอพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่เวลา 10.00 น.แต่ก็ไร้แววที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะเดินทางมารับหนังสือด้วยตนเอง โดยนายพานิช กล่าวว่า จะพยายามช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานให้ดีที่สุด เพราะเห็นใจผู้ใช้แรงงาน จะดูแลไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติและทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนการมายื่นข้อเรียกร้องในวันนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุเข้าวาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่าจะบรรจุเข้าที่ประชุมเมื่อใด ทั้งนี้กระทรวงแรงงานเป็นเพียงช่องทางในการเรียกร้องเท่านั้น การจะรับอนุสัญญาฯ ไอแอลโอทั้ง 2 ฉบับหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรี  แต่จะพยายามสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานให้รัฐบาลรับทราบอย่างเต็ม ที่
       
ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยประกาศว่าจะให้เวลารัฐบาล ในการสร้างความชัดเจนเรื่องการรับอนุสัญญาฯ ไอแอลโอ ทั้ง 2 ฉบับ ภายใน 5 วัน นับจากนี้ หากครบกำหนดไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากรัฐบาลในการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผู้ใช้แรงงานจะออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่แน่นอน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-11-2556)

ผู้ว่าการ กฟผ. ไม่ตำหนิพนักงานออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

5 พ.ย.-ผู้ว่าการ กฟผ. ไม่ตำหนิพนักงานออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงกระทำตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า  การที่พนักงาน กฟผ.ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่กระทำได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขั้นพื้นฐาน แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย และยืนยันว่าพนักงานที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจะไม่ถูกลงโทษหรือ ภาคทัณฑ์ เพราะใช้ช่วงเวลาพักเที่ยง ตั้งแต่เวลา 12.30-13.00 น. ซึ่งเป็นช่วงนอกเวลาการทำงาน
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. จะขึ้นเวทีร่วมประกาศจุดยืนต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของสหภาพรัฐวิสาหกิจ กฟผ. และวันที่ 7 พ.ย. จะนำทีมพนักงานที่ร่วมคัดค้านเดินทางไปชุมนุมที่เวทีราชดำเนินต่อไป
 
นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ร่วมมือกับจังหวัดลำปางและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม 2556 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาช่วงฤดูหนาว โดยการจัดงานครั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างโรงไฟฟ้าและชาวบ้านในชุมชนรวมถึงการดูแลคุณภาพชีวิต และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วที่ทาง กฟผ. ได้ควบคุมคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีการติดตั้งระบบกำจัดมลภาวะที่สมบรูณ์ และตรวจสอบคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง จากกรมควบคุมมลพิษ ทั้งนี้ การพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติรวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้การทำ เหมืองลิกไนต์ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย
 
ด้านนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบรูณ์ทางธรรมชาติ และมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม รวมถึงมีสถาปัตยกรรมและศาสนาที่เก่าแก่ ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวทางภาคเหนือกันมาก และงาน เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ จะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวจังหวัดลำปางประมาณ 4 แสนคน และคาดว่า ในปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมา 700,000-800,000 คน เฉลี่ยใช้จ่าย 3,000 ต่อคน จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 2,400 ล้านบาท

(สำนักข่าวไทย, 5-11-2556)

ดีเอสไอจ่อชงคดีแรงงานไทยถูกนายหน้าตุ๋นค้าแรงงานที่สวีเดนเป็นคดีพิเศษ

ที่กระทรวงยุติธรรม เวลา 10.00 น.วันที่ 6 พ.ย. นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ตามที่ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมสู่ประชาชน โดยใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 1 ชม.
      
นายธาริตกล่าวภายหลังการประชุมถึงกรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปเก็บผลไม้ป่า ที่ประเทศสวีเดน ว่าสืบเนื่องจากตัวแทนผู้ใช้แรงงานมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อดีเอสไอ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 401 หมู่ 9 ต.ช่องสามหมอ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ หลอกลวงคนงานให้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน แต่ภายหลังเมื่อคนงานเดินทางไปทำงานที่ประเทศสวีเดนแล้ว บริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กลับไม่ยอมจ่ายเงินค่าแรงงานเก็บผลไม้ให้แก่คนงาน และคนงานไทยที่เดินทางไปกับบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในครั้งนี้มีประมาณ 250 คน มาจากหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ชัยนาท ฉะเชิงเทรา แพร่ สมุทรปราการ ทั้งนี้คนงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเดินทางไปเก็บผลไม้ให้แก่ บริษัทดังกล่าวรายละประมาณ 75,000-100,000 บาท ซึ่งบางรายอาจจ่ายเป็นเงินสดให้แก่บริษัทฯ แต่บางรายไปกู้เงินกู้นอกระบบมาจ่ายเป็นค่าเดินทาง หรือบางรายไปกู้เงินที่ ธ.ก.ส. จากนนั้นก่อนออกเดินทางบริษัทจะให้คนงานลงชื่อในสัญญาจ้างแรงงานและเอกสาร การกู้ยืมเงินโดยให้นำเอกสารสิทธิในที่ดินเอกสารคู่มือรถยนต์ หรือหลักทรัพย์อื่นมาวางค้ำประกันไว้กับบริษัท
      
อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า เมื่อเดินทางไปที่ประเทศสวีเดนแล้วจะถูกเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ยึดหนังสือเดินทางเอาไว้ แล้วให้ทำงานเก็บผลไม้ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-22.00 น. และมีความเป็นอยู่ลำบากนอกจากนี้คนงานจะมีค่าใช้จ่ายในการพักอยู่ที่แคมป์คน งานประมาณวันละ 1,300 บาท หรือ 280 โครนสวีเดน แต่ไม่เคยได้รับเงินค่าจ้างจากการเก็บผลไม้จากบริษัท จึงได้เข้าไปประท้วงและร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของประเทศสวีเดน กระทั่งมีคนงานไทยที่กู้ยืมเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเกิดความเครียด ถึงขั้นฆ่าตัวตายที่ประเทศสวีเดน จนปัจจุบันคนงานเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วก็ยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง จากบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด แต่อย่างใด
      
นอกจากนี้ จากการสืบสวนเบื้องต้นยังพบว่า บริษัทดังกล่าวจะเชิดลูกจ้างหรือพนักงานในบริษัทเป็นกรรมการหรือผู้จัดการ แทนเจ้าของตัวจริง ส่วนตัวบงการซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงนั้นจะไม่มีชื่อปรากฏในเอกสารจด ทะเบียนของบริษัท ทั้งนี้ยังพบว่าเจ้าของบริษัทที่แท้จริงมีพฤติการณ์หลอกลวงคนงานในลักษณะ เช่นนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ในการหลอกลวงคนงานไปทำงานในหลายประเทศ อันเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงแรงงาน" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 344 อย่างไรก็ตาม ลักษณะคดีดังกล่าวมีความซับซ้อนซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบ รวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดอาญาอื่น ตนในฐานะเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษ จะนำเรื่องนี้ส่งไปที่ประชุมของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เพื่อให้มีมติรับไว้เป็นคดีพิเศษ ตาม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และขณะนี้คณะทำงานสืบสวนสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนปากคำชาวบ้านผู้เสียหาย เพื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดของ บริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด แล้ว นอกจากนี้เรามีข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนบางส่วนรู้เห็นเป็นใจ อย่างเช่นการตั้งบูทหรือตั้งโต๊ะหลอกลวงในต่างจังหวัดก็จะมีเจ้าหน้าที่แรง งานในจังหวัดนั้นๆเข้ามาปรากฏตัว และเหยื่อจะมีการไปสอบถามทางแรงงานบางจังหวัดก็ยืนยันว่าเป็นบริษัทถูกต้อง นอกจากนี้ดีเอสไอยังได้รับข้อมูลเชิงลึกจากผู้ใหญ่ระดับซี 10 ของกระทรวงแรงงานว่าเรื่องนี้มีการเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีการ เก็บหัวคิวและมีการส่งซ่วย และหลังจากนี้ตนจะประสานงานกับ ป.ป.ท.เพื่อส่งข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติมเมื่อมีความชัดเจนกว่านี้เพื่อ ดำเนินการต่อไป
      
นายธาริตกล่าวอีกว่า นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ดีเอสไอทำการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิดทางอาญา อันเข้าข่ายความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงแรงงาน" 2. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าไปดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานดังกล่าวทั้งเรื่องสิทธิ และให้คำแนะนำข้อกฎหมายต่างๆ และ 3. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ติดตามตรวจสอบบริษัท เอ็ม ฟีนิกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือไม่ หากปรากฏว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที
      
ทั้งนี้ นายชัยเกษมฝากประชาสัมพันธ์และเตือนประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อหรือให้ระมัดระวังบริษัทที่อ้างว่าจัดหาแรงงานไปเก็บผลไม้ป่า ที่ประเทศสวีเดน เนื่องจากตนเคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศสวีแดน ซึ่งได้ทราบว่าเวลาไปเก็บผลไม้ป่าที่นั้นจะไม่มีนายจ้างที่ชัดเจน และค่าแรงจะไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าปริมาณผลไม้ป่าที่เก็บได้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6-11-2556)

แรงงานการบินไทย ประกาศต้านนิรโทษหน้าสำนักงานใหญ่ พรุ่งนี้เที่ยง

การบินไทย นัดแต่งชุดดำรวมตัวคัดค้านแสดงจุดยืนไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หน้าสำนักงานใหญ่ 8 พฤศจิกายน เวลาเที่ยงตรง

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ประกาศเชิญชวนพนักงานที่รักชาติ แต่งชุดดำร่วมกันประกาศจุดยืนต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น บริเวณหน้าเสาธง สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิน วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12.00 น. ซึ่งการประกาศจุดยืนของสหภาพแรงงาน มิใช่เพียงการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น แต่ประชาชนต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในหลัก จริยธรรม ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐ จึงขอรณรงค์ให้พนักงานที่มีสำนึกรักชาติ รักความยุติธรรม ร่วมกันใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงจุดยืนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ร่วมกันแสดงพลัง หยุดกฎหมายอัปยศ ทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย มีนโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและรัฐวิสาหกิจ คัดค้านเผด็จการทุกรูปแบบ ต่อต้านการแปรรูปและทำลายรัฐวิสาหกิจ ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามหลักนิติรัฐจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างความ สมานฉันท์ในชาติตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

(RYT9.COM, 7-11-2556)

เตือนแรงงานถูกหลอกทำงานญี่ปุ่น

นางอธิษฐาน พันธุ์ฟัก จัดหางานจังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่า จากกรณีรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้าไปท่องเที่ยวใน ญี่ปุ่นได้เป็นระยะเวลา 15 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า (FREE VISA) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ทำให้มีคนไทยบางส่วนถือโอกาสเข้าประเทศและลักลอบทำงาน โดยจ่ายค่านายหน้าคนละ 300,000 บาท สำนักงานจัดหางาน จ.อำนาจเจริญ มีความห่วงใยประชาชนมาก เนื่องจากญี่ปุ่นมีบทลงโทษบุคคลที่ทำผิดกฎหมายเป็นเงินสูงสุดไม่เกิน 3,000,000 เยน และสำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมผิดประเภทของวีซ่าที่ได้รับอนุญาต เป็นเงินไม่เกิน 2,000,000 เยน หากไม่มีเงินชำระค่าปรับ จะต้องถูกกักขังและใช้แรงงาน สำนักงานจัดหางานขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว หากจะเดินทางไปทำงานในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องได้รับวีซ่าการทำงานหรือฝึกงานโดยเฉพาะ และต้องได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นเท่า นั้น.

(ไทยโพสต์, 7-11-2556)

สปส.อัด 3 โปรโมชันจูงใจแรงงานนอกระบบ เสนอจ่าย 100 บาท นาน 420 เดือน รับเงินบำนาญชราภาพ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตั้งเป้าหมายจะส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อให้มีหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคง ตามนโยบาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานให้ได้ทั้งหมด 2 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันประกันสังคมมาตรา 40 มีทั้งหมด 3 ทางเลือกโดยทางเลือกที่ 1 จ่ายเดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 70 บาท และรัฐร่วมจ่าย 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ค่าทำศพ และทางเลือกที่ 2 จ่ายเดือนละ 150 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท รัฐร่วมจ่าย 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กรณีและเพิ่มกรณีเงินชราภาพ
      
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนทางเลือกที่ 3 รับสิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีชราภาพนั้น ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของ ประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของ บุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกัน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2556 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 โดยจะจ่ายเงินสมทบ เดือนละ 200 บาท ผู้ประกันตนจ่ายเอง 100 บาท รัฐบาลร่วมจ่าย 100 บาท และสามารถส่งเงินออมเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ หากจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 420 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพแต่หากจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 420 เดือนจะได้รับเงินบำเหน็จพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ สปส.ประกาศแต่ละปีโดยเงินกรณีชราภาพจะได้รับเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ และไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนอีก
      
"สปส.จะเริ่มรับสมัครขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.นี้ โดยภายใน 1 ปี นับแต่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2556 จนถึงวันที่ 8 ธ.ค.2557 แรงงานนอกระบบที่มีอายุ 15-65 ปี จะสมัครทางเลือกใดก็ได้หรือสมัครทางเลือกที่ 1 กับ 3 หรือ ทางเลือกที่ 2 กับ 3 ได้ตามต้องการ แต่หากผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี จะสามารถสมัครได้เฉพาะทางเลือกที่ 3 หลังจากนั้นนับตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2557 จะรับสมัครเฉพาะผู้ที่มีอายุ 15-60 ปีเท่านั้น คาดว่าจะมีผู้สมัครมาตรา ดังกล่าว ประมาณ 6 แสนคนจากเป้าหมายผู้สมัครมาตรา 40 ที่ตั้งไว้ 2 ล้านคน" นายจีรศักดิ์ กล่าว
      
ประธานบอร์ด สปส.กล่าวต่อว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวยังกำหนดให้กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตให้จ่ายเงิน ประโยชน์ทดแทนค่าทำศพ 2 หมื่นบาท ต่อเมื่อภายในเวลา 12 เดือน ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่จะเสียชีวิต เว้นแต่ผู้ประกันตนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ให้จ่ายเงินค่าทำศพต่อเมื่อภายในเวลา 6 เดือน ผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือนก่อนเสียชีวิต นอกจากนี้ กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินชราภาพให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็น จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับก่อนถึงความตายให้แก่สามี ภรรยา บิดา มารดาหรือบุตรของผู้รับเงินบำนาญชราภาพในจำนวนที่เท่ากัน และกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพไม่มีทายาท หรือญาติก็ให้ทำหนังสือระบุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ
      
"สปส.ได้รับจัดสรรงบจากรัฐบาลในปี 2557 เป็นเงินอุดหนุนให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 กว่า 723 ล้านบาท และงบดำเนินงานกว่า 180 ล้านบาท และเตรียมการรองรับโดยแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขออัตรากำลังข้าราชการและจ้างพนักงาน สปส.เพิ่มรวม 395 อัตรา เตรียมระบบไอที การขึ้นทะเบียน รับชำระเงินสมทบ จ่ายประโยชน์ทดแทน อีกทั้ง สปส.จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดสั่งให้หน่วยงานภายในจังหวัดช่วย รณรงค์ทั่วทุกพื้นที่" นายจีรศักดิ์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-11-2556)

ก.เกษตรฯ จับมือ 8 ภาคเอกชน ต้านแรงงานประมงเถื่อน

11 พ.ย. - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือ 8 ภาคเอกชน การใช้แรงงานเถื่อนในอุตสาหกรรมประมง ลดปัญหากีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ มั่นใจสามารถปลดไทยออกจากบัญชี 2 ประเทศปัญหาแรงงานเถื่อน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ 8 สมาคมภาคเอกชน ประกาศจุดยืนลงนามต่อต้านและหยุดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ในภาคการประมงและอุตสาหกรรมการประมง

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมงไทย เป็นจุดอ่อนในการส่งออกและเพิ่มศักภาพการประมงไทยให้ยกระดับมากขึ้น ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ภาครัฐจะเร่งดำเนินการบังคับทางกฎหมาย และรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการใช้แรงงานถูกกฎหมาย

ซึ่งจากรายงานสหรัฐอเมริกา จัดอันดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มบัญชี 2 หรือกลุ่มบัญชีความรุนแรงที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ โดยมองว่าไทยยังเป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ และอยู่ในความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยการจัดลำดับดังกล่าวอาจส่งผลกระทบถึงขั้นการกีดกันทางการค้า สินค้าจากไทย 5 ประเภทได้แก่ กุ้ง ปลา เสื้อผ้า และน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

โดยหารือภาคเอกชนวางแนวทางแผนยุทธศาสตร์ภายใน 1 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติถึงความจริงจังของไทยในการแก้ปัญหา ตั้งเป้าลดระดับและให้ไทยหยุดจากบัญชี 2 ด้านความรุนแรงให้ได้อย่างเร็วที่สุด

(สำนักข่าวไทย, 11-11-2556)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ ลั่น รบ.ไม่ชอบธรรม 13 พ.ย. เตรียมใช้มาตรการเฉียบขาด

Posted: 11 Nov 2013 08:43 AM PST

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ขึ้นเวที กปท. ระบุรัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว-ช่วยพี่ชาย-ทำให้เสียดินแดน จึงมีมติเอกฉันท์ให้ทุกสหภาพแรงงานนัดประชุมวิสามัญ 13 พ.ย. เตรียมใช้มาตรการปฏิบัติขั้นเฉียบขาด

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อ่านแถลงการณ์ประกาศยกระดับการต่อสู้ของ สรส. ที่เวทีการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เมื่อคืนวันที่ 11 พ.ย. (ที่มา: FMTV)

11 พ.ย. 2556 - บนเวทีการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณเมื่อคืนนี้นั้น (11 พ.ย.) ภายหลังที่ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ประกาศยกระดับการต่อสู้ "ปฏิวัติประชาชน" และจะเดินทางไปถวายฎีกาที่พระบรมหาราชวัง ในเช้าวันที่ 12 พ.ย. เพื่อขอตั้งสภาประชาชนเพื่อบริหารประเทศนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดบนเวที กปท. ในเวลา 22.50 น. ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ประกาศ "แถลงการณ์ประกาศยกระดับการต่อสู้ของ สรส." โดยระบุว่า รัฐบาลปัจจุบันบริหารประเทศไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจช่วยเหลือพี่ชายและพวกพ้องให้พ้นผิดตามคำพิพากษาเป็นการทำลายหลักนิติธรรม ทำลายหลักนิติรัฐ

สำหรับ สรส. ซึ่งร่วมต่อสู้กับประชาชนมาตลอด เพราะสมาชิกทั้งหมดรับใช้และบริการประชาชนนั้น ในวันนี้ 11 พ.ย. 2556 ได้ปรากฏชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน และยอมรับอำนาจศาลโลก ทำให้ศาลโลกมีคำพิพากษาให้ประเทศไทยเสียดินแดนบางส่วน โดยที่ไม่ควรจะเสียแม้แต่ 1 ตารางนิ้ว ชาวรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติ เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ สรส. ได้มีการประชุมกรรมการบริหารและประธานสหภาพแรงงานทุกแห่ง มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทุกสหภาพยกระดับการต่อสู้ร่วมกับประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นของประชาชน โดยประชาชนเพื่อประชาชน อันเป็นหลักการประชาธิปไตยแท้จริง โดยกำหนดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 13 พ.ย. 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป เพื่อกำหนดมาตรการที่จะปฏิบัติอย่างเฉียบขาดต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วุฒิสภาลงมติเอกฉันท์ 141 ต่อ 0 เสียง คว่ำร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง

Posted: 11 Nov 2013 08:25 AM PST

วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมไว้พิจารณา หลังจากพิจารณาร่างนี้กว่า 10 ชม. ครึ่ง เตรียมส่งร่างกลับไปยังสภาผู้แทนฯ ในขณะที่ก่อนหน้านี้สี่พรรคร่วมรัฐบาลลงนามในสัตยาบรรณว่าจะถอนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมทุกฉบับ

 
11 พ.ย. 2556 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 22.30 น. ภายหลังจากส.ว. อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... อย่างกว้างขวางนายวิชาญ มีนชัยอนันต์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า เมื่อพี่น้องประชาชนไม่ยอมรับพวกตนก็คิดเช่นเดียวกันพี่น้อง ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการไม่ได้รับคำสั่งใครทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ซึ่งขณะนี้วิปรัฐบาลได้เสนอถอนร่างที่คล้ายกันทั้ง 6 ฉบับออกไปแล้ว และรัฐบาลยังได้แสดงเจตจำนงกับ 4 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่าจะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ
 
ด้าน นายชัยเกษม นิติศิริ รมว.ยุติธรรมกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้เป็นดุลยพิจนิจของสภาฯในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ด้วย
 
ต่อมาเวลา 22.35 น. ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 141 เสียง ต่อ 0 เสียง จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานการประชุม จึงสรุปต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 (2) และมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ให้วุฒิสภาส่งร่างกฎหมายนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาไม่ได้แจ้งว่าเป็นพ.ร.บ.การเงิน ดังนั้นสภาผู้แทนจะสามารถนำกฎหมายดังกล่าวนี้มาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 180 วัน และตามมาตรา 149 ยังระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภาผู้แทนฯ จะเสนอร่างพ.ร.บ.ที่คล้ายกันนี้ไม่ได้อีก จากนั้น นายสุรชัย จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 22.40 น. รวมเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกว่า 10 ชั่วโมงครึ่ง
 
 
โดยก่อนหน้านี้ 4 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชลได้ลงนามในสัตยาบรรณระบุว่าจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 6 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในชั้นวุฒิสภานั้น "เพื่อให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลจึงขอแสดงเจตนาร่วมกันให้สัตยาบันเป็นสัญญาประชาคมต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยว่า พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เสนอให้ สภาผู้แทนราษฎรหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา โดยจะปล่อยให้ตกไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ"  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทปอ.ประชุมนัดพิเศษ วอนทุกฝ่ายใช้ปัญญาแก้ปัญหา

Posted: 11 Nov 2013 07:22 AM PST

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ย้ำต้องต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง
 
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 พ.ย. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประชุมวาระพิเศษ เพื่อหารือถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ที่อาจนำมาซึ่งความรุนแรง โดยมีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานทปอ. น.พ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) น.พ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) และนายกีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ร่วมแถลงข่าว โดยนายสมคิด กล่าวว่า ที่ประชุมทปอ.ได้ออกแถลงการณ์ ทปอ.ฉบับที่ 2 ระบุว่า ​ตามที่ทปอ.มีแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ ….. ไปแล้ว และทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ต้องการให้มีการตราพ.ร.บ.ดังกล่าว
 
นายสมคิด กล่าวต่อว่า ทปอ. เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอาจนำมาซึ่งความรุนแรง และเมื่อทุกฝ่ายได้แสดงออกชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย ทปอ. จึงขอเสนอว่า  
 
​1. รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ตลอดจนต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาของประเทศ มิให้เกิดความรุนแรง ด้วยการควบคุมหน่วยงานของรัฐและกลไกอื่นให้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธี  
2.ให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาด้วยสติและปัญญา หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความบอบช้ำและเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้พัฒนาต่อเนื่องสถาพรตลอดไป
 
อนึ่ง ทปอ. ยืนยันหลักการในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยทปอ.เห็นว่า 1. รัฐบาลจะต้องรณรงค์ต่อต้านเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลจะต้องขจัดปัญหาความคลางแคลงใจของประชาชนในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล 2. รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยการออกกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบการนิรโทษกรรม แต่ต้องไม่รวมถึงการนิรโทษกรรมในประเด็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ​ทั้งนี้ ทปอ. จะตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
 
 ประธานทปอ. กล่าวต่อว่า ทปอ.ห่วงสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจยืดเยื้อออกไป เพราะตอนนี้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ได้ระดมคนมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะคุมไม่อยู่ จนทำให้เกิดการปะทะกันและถ้าไปบุกรุกในพื้นที่ควบคุมรัฐบาลอาจใช้กำลัง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประเทศเกิดความบอบช้ำ จึงอยากให้ทุกฝ่ายใช้สติปัญญา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความสงบ  
 
 ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทปอ.สร้างความเข้าใจแก่ทั้งสองฝ่ายนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอที่จะให้ทั้งสองฝ่ายหารือกัน และมีข้อเสนอให้ทปอ.เป็นตัวกลาง  แต่ตนคิดว่าข้อเสนอของทปอ.ที่ทำอยู่ในปัจจุบันที่ให้ทุกฝ่ายใช้สติปัญญา และสันติวิถี เป็นทางออกที่ดีอยู่แล้ว ส่วนการที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะไปหารือกันก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งทปอ.สนับสนุนให้เกิดการหารือดังกล่าว 
 
 เมื่อถามว่า กรณีที่ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าการที่อธิการบดีออกมาเคลื่อนไหวเป็นการไม่เหมาะสม และเป็นการบังคับให้นักศึกษา และบุคลากรออกมาเรียกร้องโดยไม่ได้สมัครใจนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่า ไม่มีมหาวิทยาลัยใดบังคับนักศึกษา เจ้าหน้าที่ ให้มาร่วมชุมนุม ซึ่งคนที่พูดอาจไม่เข้าใจสถานะที่แท้จริงของอธิการบดี และมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งวิชาการที่มีเสรีภาพ เราไปบังคับใครไม่ได้ แต่อยากให้มองว่าประชาชนทุกกลุ่ม นักศึกษา อาจารย์  เจ้าหน้าที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของความสมัครใจทั้งสิ้น
 
ประธาน ทปอ. กล่าวต่อว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีการลงนามในสัตยาบันร่วมกันที่จะไม่นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับมาพิจารณาอีก แต่ทปอ.ก็ยังไม่ไว้วางใจใคร เพราะไม่มีใครให้ไว้วางใจได้ในสังคม และที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลบอกจะไม่แก้ไขในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ก็มีการแก้ไข ดังนั้น ทปอ.จึงตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์ของประเทศ และการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ได้แก่ มธ. จุฬาฯ มศว. มม. มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมวล. โดยจะมีตนเป็นประธาน
 
"สำหรับกระแสข่าวว่ามีดารา นักแสดง นักร้องที่ไปขึ้นเวทีราชดำเนิน เพื่อแสดงจุดยืนและกล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาล จนโดนเช็คบิลเรื่องภาษีนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในระบบประชาธิปไตย รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา หากพูดอย่างแล้วทำอีกอย่างคนก็จะไม่เชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเรื่องนี้ขยายวงไปถึงบรรดาอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยที่ใครออกมาแสดงการคัดค้าน ก็โดนนำไปขึ้นป้ายว่าใครอยู่ที่สถาบันไหน" นายสมคิด กล่าว
 
ด้าน น.พ.ภิรมย์ กล่าวว่า อยากให้ทั้งทางกลุ่มผู้ชุมนุม และรัฐบาลหันหน้ามาพูดคุย เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีความคิดเห็นของตนเอง ประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการคือปฏิรูปการเมือง อย่างเช่นเรื่องการออกกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก หากคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับก็จะเกิดปัญหา ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับจึงต้องไปวางระบบว่าจะทำอย่างไร หรืออาจจะต้องลงไปดูถึงเรื่องการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง หากส.ส.คนใดไม่เห็นด้วยกับพรรคและไปโหวตสวนกับมติพรรค ก็จะถูกเรียกไปตักเตือน ซึ่งก็มีในแง่ของการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง แต่ก็ทำให้ส.ส.ขาดอิสระ ในส่วนของจุฬาฯ เองก็ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าการแสดงออกทางการเมืองของนิสิต และบุคลากร สามารถทำได้ตามขอบเขตของกฎหมาย
 
น.พ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลใช้เครื่องมือและกลไกที่มีเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ส่วนอนาคตต้องออกกฎหมายว่าต่อไป การนิรโทษกรรมในอนาคต ไม่ให้นิรโทษกรรมเรื่องทุจริตคอรัปชั่น แต่นิรโทษกรรมในเรื่องอื่นๆ ได้ เพราะยังมีคนอีกมากที่อยู่ในเรือนจำที่ได้รับความเดือนร้อนและจำเป็นต้องได้รับการนิรโทษกรรม
 
"ในแถลงการณ์ของทปอ. บอกชัดเจนว่า รัฐบาลต้องปฏิบัติกับผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มเหมือนกัน ทั้งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนการชุมนุม การดูแลความปลอดภัย รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายอย่าเคลื่อนเข้ามาใกล้กัน และต่อไปหากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็อาจจะต้องมีสานเสวนาระหว่างสองฝ่ายเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ เหมือนเช่นตอนเหตุการณ์ชุมนุมที่ราชประสงค์ แต่ไม่ควรออกสื่อ โดยมีคนกลางที่ได้รับความเชื่อถือจากทั้งสองฝ่าย และรัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดความเรียบร้อย" นายเฉลิมชัย กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กปท.ประกาศปฏิวัติประชาชน เรียกนายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ.เหล่าทัพมารายงานตัว

Posted: 11 Nov 2013 06:56 AM PST

กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณระบุ "ปฏิวัติประชาชน" จะไม่เหมือน "19 กันยา 49" แต่จะเป็นการใช้พลังประชาชนเพื่อยึดอำนาจ จะมีการตั้งสภาประชาชนเพื่อบริหารประเทศ โดยในวันอังคารจะไปทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอตั้งสภาประชาชน

บรรยากาศการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2556 (ที่มา: FMTV)

 

11 พ.ย. 2556 - ในการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) บริเวณใกล้กับแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนินวันนี้ (11 พ.ย.) นั้น ข่าวสด รายงานว่า พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ได้นำมวลชนจำนวนหนึ่งพร้อมรถกระจายเสียงเคลื่อนจากเวที กปท. ที่แยกสะพานผ่านฟ้าฯ มาปักหลักที่บริเวณแยกป้อมมหากาฬ เพื่ออ่านประกาศปฏิวัติโดยประชาชน ระบุว่า "ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หยุดพักงาน และให้ผบ.ทุกเหล่าทัพและปลัดกระทรวงทุกกระทรวง เข้ามาพบคณะเสนาธิการร่วม กปท.ภายใน 4 ชม. โดยหากไม่มาพบ กปท.ประกาศจะเคลื่อนพลประชาชนไปในแต่ละกระทรวง ทั้งนี้ กปท.มีความจำเป็นต้องยึดอำนาจรัฐโดยเร่งด่วนเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ"

ในรายงานของ นสพ. แนวหน้า รายงานความเห็นของ พล.อ.ปรีชา ที่แถลงว่าผิดหวังที่รัฐบาลไม่มีความพยายามรักษาอธิปไตยของชาติ ในคดีปราสาทพระวิหาร รวมถึงปัญหาอื่นๆ อย่างคดีคอรัปชั่น ความล้มเหลวในโครงการรับจำนำข่าว การจาบจ้วงสถาบันมีเพิ่มมากขึ้น ปัญหาบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด และเป็นรัฐบาลที่ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม ดังนั้น มติ กปท. จะเคลื่อนไหวเพื่อปฎิวัติประชาชน แต่จะไม่เหมือนการปฎิวัติของทหารเมื่อปี 2549 ที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ แต่จะเป็นการใช้พลังประชาชนยึดอำนาจแทน แต่ขอยืนยันว่าจะยังไม่มีเคลื่อนไหว หรือบุกทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด

ด้าน ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เวลา 09.00 น.ทางกลุ่ม กปท.และกองทัพธรรม จะเดินเท้าไปยื่นถวายฏีกา ที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อทูลเกล้าฯ ขอจัดตั้งสภาประชาชน โดยเบื้องต้นสภาประชาชนจะมีทั้งหมด 99 คน ทำงานบริหารประเทศด้วยประชาชน เพื่อประชาชนเอง

กปท. ยังมีข้อเรียกร้องที่ใกล้เคียงกับการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย โดยประกาศว่า 1.ขอให้ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน หยุดงานตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.เป็นต้นไป 2.ขอให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน และสถานศึกษา หยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.เป็นต้นไป 3.ขอให้พี่น้องประชาชนใน กทม.ปริมณทล และในต่างจังหวัด เดินทางมาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปท.ที่สะพานผ่านฟ้า แต่หากเดินทางมาไม่ได้ขอให้ชุมนุมที่จังหวัดตนเอง โดยไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด

อนึ่งหลังคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ กลุ่มมวลชนประมาณ 100 คนได้รวมตัวประท้วงการทำหน้าที่ขอเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก ได้มีชายอายุประมาณ 35-40 ปี ปีนขึ้นไปบริเวณแท่นแบริเออร์ เพื่อจะนำไฟแช็กมาจุดไฟเผาตัวเองประท้วง แต่ไม่สำเร็จ เพราะผู้ชุมนุมช่วยกันห้าม

อนึ่ง ระหว่างการแถลงข่าวของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บ้านพระอาทิตย์ในช่วงเช้านั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำ พธม. และประธานกองทัพธรรม ได้แถลงว่า ได้ขอร้องให้สนธิ ลิ้มทองกุล ขอให้สำรองไว้เผื่อหากตนชุมนุมแล้วไม่สำเร็จค่อยออกมานำการชุมนุม ซึ่งนายสนธิ จะขึ้นเวทีตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ตนไม่ยอม ขณะที่สนธิ ได้ชี้แจงว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 7 ปี มีทั้งคนรัก และคนเกลียด การยุติคือการรุกฆาตให้คนได้ออกมาชุมนุม และทุกเวทีในตอนนี้ก็มีแกนนำ ตนจะออกหรือไม่ก็ไม่มีความหมาย ตนหวังว่าทุกเวทีจะมีการบูรณาการให้ตกผลึกถึงการปฏิรูป ซึ่งตนเห็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำเวทีราชดำเนิน เริ่มเข้าใจแล้วว่าบัดนี้มวลชนได้ล้ำหน้าไปกว่าการนิรโทษกรรม ตนจึงหวังให้มีการตกผลึกให้เปลี่ยนประเทศไม่ใช่แค่พิพากษาตระกูลชินวัตร

ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมของ กปท. ในช่วงกลางคืนนั้น ในเวลา 21.49 น. มีการแสดงดนตรีโดยศรันยู วงศ์กระจ่าง ซึ่งระบุว่ามาร่วมแสดงดนตรีวันนี้ได้เพราะ "ธรรมะจัดสรร" และได้ร่วมร้องเพลง "เทียนแห่งธรรม" "นักรบมือตบ" ฯลฯ

โดยบนเวทีได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมมารวมกันก่อน 9 โมงเช้า เพราะในวันอังคารนี้จะมีการเคลื่อนขบวนไปถวายฎีกา เพื่อขอตั้งสภาประชาชน และเชิญชวนให้รวมพลังประชาชนให้มากๆ เพื่อประกาศว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเสียดินแดน

นพ.ระวี มาศฉมาดล คณะเสนาธิการร่วม กปท. ปราศรัยระหว่างการชุมนุม กปท. เมื่อ 22.19 น. (ที่มา: FMTV)

ในเวลา 22.12 น. เป็นการปราศรัยของ นพ.ระวี มาศฉมาดล คณะเสนาธิการร่วม กปท. กล่าวว่าอำนาจของระบอบทักษิณแทรกไปทุกหย่อมหญ้า มีตำรวจ มีมวลชนแดง และครอบงำอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งนี้ถ้าผู้ชุมนุมไปยึดทำเนียบ หรือสภา หรือกองบัญชาการกองทัพจะเกิดการปะทะ นองเลือด แต่ พล.อ.ปรีชา กล่าวว่า วิธีที่จะเกิดนองเลือดน้อยที่สุดคือขอถวายฎีกาตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ จะไม่เกิดนองเลือด ทหารไม่ต้องออกมาชนกับแดง และเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพราะประชาชนก็พร้อมอยู่แล้ว และแต่ถ้า 48 ชั่วโมงพี่น้องไม่ออกมากันเต็มที่ คณะเสนาธิการจะติดคุกกันหมด เพราะเป็นการประกาศเป็นกบฎกับรัฐบาล ถ้าประชาชนมามากคุกไม่มีทางขังประชาชนได้ แต่ถ้าไม่ออกมา คณะเสนาธิการก็ต้องหาที่นอนใหม่ซึ่งอาจจะเป็นเรือนจำ ดังนั้นขอเชิญชวนประชาชนออกมาร่วมกันปฏิวัติประชาชน

ต่อมา ในเวลา 22.30 น. นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา เสนาธิการร่วม กปท. ปราศรัยว่า ผู้ชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน ผิดหวังมากกับท่าทีของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศแค่นัดหยุดงาน โดยเขาได้ปราศรัยเรื่องมวลวิกฤตระบุว่า ถ้ามีคนมาชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนินมากขึ้นๆ จะเกิดความเปลี่ยนแปลง จากผู้ชุมนุม 1 แสน 2 แสนแล้วพอมาชุมนุม 4 แสนคนปุ๊บคนจะเข้ามาชุมนุมเป็นล้านคน แบบประเทศตูนีเซียที่ชุมนุมได้ 3 อาทิตย์ก็โค่นรัฐบาลได้ ทั้งนี้เราเพิ่งชุมนุมได้ 1 อาทิตย์ ถ้าอาทิตย์หน้าเราพร้อมใจกันหยุดงานธุรกิจต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วมาที่นี่ จะเกิดทฤษฎีมวลวิกฤต เมื่อนั้นจะเปลี่ยนประเทศไทยได้แน่นอน ทั้งนี้ผู้ชุมนุมเหมือนผีเสื้อน้อยกระพือปีก ถ้าครบล้านตัวเมื่อไหร่จะเหมือนพายุใหญ่พัดพาความชั่วร้ายและประเทศไทยจะเปลี่ยนแน่นอน เราจะให้คนดีได้ปกครอง จะถวายความดีนี้ในวันที่ 5 ธ.ค. จะช่วยกันไล่คนชั่ว คนโกง และให้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมืองแทน เพื่อให้คนไทยมีความสุข ประเทศชาติจะได้พัฒนา

ล่าสุดในเวลา 22.50 น. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ขึ้นเวที กปท. ระบุรัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว จึงมีมติเอกฉันท์ให้ทุกสหภาพแรงงานนัดประชุมวิสามัญ 13 พ.ย. เตรียมใช้มาตรการปฏิบัติขั้นเฉียบขาด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติชุมนุมต่อ - สุเทพลาออก ส.ส. - ประกาศอารยะขัดขืนหยุดงานทั่วประเทศ 13-15 พ.ย.

Posted: 11 Nov 2013 04:22 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ส.ส. 8 คนประกาศลาออกมาเป็นแกนนำ และขอมติเดินหน้าชุมนุมจนกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และประกาศหยุดงานทั่วประเทศ 13-15 พ.ย. งดจ่ายภาษี ติดธงชาติทุกที่ ถ้าเจอนายกฯ และคนในรัฐบาลไม่ต้องพูดคุยด้วย แต่ให้เป่านกหวีด

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะระหว่างพบกับผู้ชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่นัดชุมนุมช่วงกลางวัน บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS อารี เมื่อ 11 พ.ย. (ที่มา: เพจ Abhisit Vejjajiva)

สุเทพ เทือกสุบรรณ ระหว่างปราศรัยขอมติประชาชน ระหว่างการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อ 11 พ.ย. ที่ ถ.ราชดำเนิน (ที่มา: BlueSky TV)

การชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. (ที่มา: เพจ Prachatai)

 

เลยเวลา 18.00 น. สาทิตย์ วงศ์หนองเตยเปิดศาลประชาชน

11 พ.ย. 56 - ในการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ถ.ราชดำเนิน ตั้งแต่ช่วงเย็นวันนี้ (11 พ.ย.) นั้น มีผู้ชุมนุมมาสมทบเพิ่มมากขึ้น โดยในเวลา 18.05 น. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. จังหวัดตรัง เป็นผู้ปราศรัยเปิดศาลประชาชน ระบุว่าการที่รัฐบาลไม่ยอมทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตกไปจากสารบบของสภา ถือเป็นการปฏิเสธมติประชาชน จึงขอเปิดศาลประชาชน ให้มหาประชาชนได้จะร่วมกันตัดสินใจในมติสำคัญที่จะขับเคลื่อนการต่อสู้ และมีการเชิญสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ขึ้นมาปราศรัย

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ ขอมติที่ชุมนุม เลยเส้นตาย 18.00 น. ที่จะให้ถอน กม.นิรโทษกรรมแล้ว

ต่อมาในเวลา 18.10 น. สุเทพ ได้ขึ้นปราศรัย ระบุว่าให้เวลารัฐบาลดำเนินการให้กฎหมายนิรโทษกรรมตายไปจากระบบของรัฐสภา และจนกระทั่งบัดนี้เลยเวลา 18.00 น. ที่กำหนดเอาไว้มาแล้ว เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์น้องทักษิณ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของคนไทยทั้งประเทศ มิหนำซ้ำ ยังได้พยายามใช้เล่ห์เหลี่ยม ให้คนเสื้อแดงมาข่มขู่คุกคามประชาชน คุกคามดาราและศิลปินที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หน่วยงานของรัฐที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ถูกกลั่นแกล้ง ข่มขู่ คุกคาม ในที่สุดพี่น้องประชาชนทั่วประเทศออกมาชุมนุมมากขึ้นทั่วประเทศ มากขึ้นทุกเวที

สุเทพ ปราศรัยว่า ยิ่งลักษณ์คงได้รับรายงานจำนวนผู้ชุมนุมแต่คงอ่านไม่ถูก แต่ผมขอบอกง่ายๆ ให้เหมาะสมกับสมองน้อยๆ ของยิ่งลักษณ์ ขณะนี้บนถนนราชดำเนินมีพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้รักชาติมาชุมนุมกัน "1 หมื่น 2 แสนคนเศษ" มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ฉบับอันตรายก็ยังไม่ตายไปจากระบบรัฐสภา

"ด้วยการเคลื่อนไหวคัดค้านของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลลนลาน ทำอะไรไม่ได้ เดินหน้าสุดซอยก็ไม่ได้ เพราะประชาชนออกมาขัดขวางเอาไว้ นี่ถ้าพี่น้องทั้งหลายไม่ออกมาชุมนุมมากมายอย่างนี้ วันนี้วุฒิสภา ซึ่งเป็นสภาทาส เหมือนสภาผู้แทน คงจะพิจารณากฎหมายนี้ 3 วาระรวดจบไปแล้ว นี่คือชัยชนะขั้นต้นของประชาชน"

"เพราะถ้าไม่มีมวลมหาประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน เขาไม่มีทางที่จะชะงัก อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เพราะพี่ของเขาสั่งมาแล้ว เขาเตรียมมวลชนไว้แล้ว เขาทำทุกอย่างไว้แล้วที่จะให้พี่แม้วกลับมาปกครองประเทศไทย"

 

เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ. ยังไม่ลง 180 วันอาจกลับมาอีก

สุเทพ ปราศรัยต่อไปว่า "กฎหมายอันตรายฉบับนี้ยังไม่ตายลง ถ้าวุฒิสมาชิกลงมติไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ กฎหมายนี้ก็จะเพียงแต่ชะงักอยู่ หยุดอยู่ ยังไม่ตาย เพราะหลังจากนี้ 180 วัน ฝ่ายรัฐบาลก็อาจจะยกขึ้นมาแล้วลงมติเสียงข้างมาก ให้ใช้เป็นกฎหมาย แล้วเขาทำได้ภายในวันเดียว แบบที่จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะบอกเอาไว้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น เราไม่มีโอกาสออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้อีก และที่เราต่อสู้มาทั้งหมดก็จะสูญเปล่าเสียเปล่าอย่างไร้ประโยชน์ พี่น้องทั้งหลาย นั่นคือความจริงที่ศาลประชาชนแห่งนี้ควรได้รับทราบไว้เป็นเบื้องต้น"

"แล้วต้องบอกพี่น้องทั้งหลาย บอกต่อศาลประชาชนว่าในขณะนี้มีการแถลงออกมาอีก โดยวิปรัฐบาลหรือผู้คุมเสียงรัฐบาลว่าเขาจะหาทางเพื่อที่จะทำให้กฎหมายนี้ตายไป แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้เมื่อไหร่ นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ท่านทั้งหลายจะต้องรับทราบไว้ คือเรื่องที่เขาตั้งใจว่าถ้าวันไหนประชาชนเผลอ เขาจะไม่เอากฎหมายนี้เป็นพระราชบัญญัติ แต่จะใช้อำนาจคณะรัฐมนตรีประกาศเป็นพระราชกำหนดใช้บังคับได้ทันที ความจริงเรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจนคือสิ่งที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้พูดไว้ และจตุพร พรหมพันธุ์ได้พูดบนเวที นปช. เมื่อคืนนี้ว่าพูดกับยิ่งลักษณ์ว่าขั้นตอนต่อไปจะออกเป็นพระราชกำหนด"

"วันนี้ขอให้ศาลประชาชนพิจารณาเฉพาะประเด็นเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดให้คนชั่ว คนโกง คนฆ่า คนเผา ส่วนความผิดสะสมของทักษิณและยิ่งลักษณ์เอาไว้ว่ากันวันอื่น พี่น้องทั้งหลายที่ชุมนุมอยู่ตั้งสติให้ดี ให้ร่วมกันตัดสินด้วยมติมหาชน และไม่ว่าพี่้น้องทั้งหลายตัดสินอย่างไร ผมจะปฏิบัติตามมติมหาชน คำพิพากษาไม่ต้องเขียนยาว ไม่ต้องบรรยายมาก"

 

สุเทพขอมติ - ผู้ชุมนุมประกาศกึกก้องให้สู้ต่อ

ทั้งนี้สุเทพ ได้เสนอให้ผู้ชุมนุม 2 ทางเลือก หากเห็นด้วยให้ผู้ชุมนุมโห่ร้อง

"พี่น้องประชาชนทุกเสียง มีความหมาย พี่น้องท่านใด เห็นว่าเราควรจะพอแค่นี้ ยินดีกับชัยชนะเท่านี้ ให้ส่งเสียงขึ้นคนอื่นไม่ต้องส่งเสียง ถ้าพี่น้องประชาชนเห็นว่า เราจะต้องต่อสู้ต่อไปโดยพลังของประชาชนจงส่งเสียงกัน ให้ดังอีก" สุเทพกล่าว

โดยทางเลือกที่ 1 สุเทพเสนอว่า "ยินดีกับชัยชนะขั้นต้น ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และสภาทาสได้ชะลอกฎหมายเอาไว้ ยอมรับว่าอย่างดีที่สุด ค่ำคืนนี้วุฒิสภาจะลงมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือคว่ำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้รอลุ้น 180 วัน" ผู้ชุมนุมไม่ได้โห่ร้อง

ทางเลือกที่ 2 สุเทพเสนอว่า "เราจะสู้ต่อไปด้วยพลังมหาชน ดำเนินการจนกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับชั่วร้ายนี้ ตายไปจากโลก และไม่มีวันผุดวันเกิดอีก" โดยข้อเสนอนี้ผู้ชุมนุมได้ปรบมือ โห่ร้อง

สุเทพปราศรัยว่า "มติมหาชน มีความเด็ดขาดเป็นเอกฉันท์ ประกาศว่าให้สู้ต่อไป" โดยจากจากมีมติผู้ชุมนุมได้โห่ร้องเสียงกึกก้อง และเป่านกหวีด บรรยากาศเป็นไปอย่างฮึกเหิม

 

9 ส.ส. ปชป. รวมสุเทพ ประกาศลาออกจาก ส.ส. มานำการชุมนุม

ต่อมาสุเทพ ได้ประกาศว่าจะลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อมานำการชุมนุมอย่างเต็มที่ โดยปราศรัยด้วยว่า "ชีวิตผมไม่เคยทำงานอื่น นอกจากงานการเมือง ใฝ่ฝันมาตั้งแต่อายุ 14-15 อยากเป็น ส.ส. และมีความสุขทุกนาทีที่พี่น้องประชาชนมอบหมายความไว้วางใจ เลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ประชาธิปไตยเคร่งครัด เป็น ส.ส. ติดต่อกันมา 35 ปี ไม่ซื้อเสียง ไม่เลี้ยงใคร เป็นผู้แทนราษฎรด้วยความภาคภูมิใจและผมรักความเป็นผู้แทนราษฎรที่สุด แต่วันนี้ผมตัดสินใจออกจากสภาออกจากการเป็นผู้แทนราษฎรเพราะผมรักประชาชนมากกว่า"

"ผมจะเป็นราษฎรเต็มขั้น การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผมจบสิ้นลงแล้ว เงินเดือนไม่ได้แล้ว พรุ่งนี้ 11.00 น. ผมจะเดินทางไปยื่นใบลาเป็นทางการ จะไม่สวมเสื้อนอกอีกแล้ว ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป ผมขอหลอมชีวิต หลอมหัวใจเป็นอันหนึ่งเดียวกับประชาชน สู้คราวนี้ ถ้าไม่ชนะ ผมไม่กลับสภาอีกแล้ว"

จากนั้น สุเทพ ได้แนะนำ ส.ส.ประชาธิปัตย์ อีก 8 คนที่จะลาออกมาเป็นแกนนำการชุมนุมโดยเรียกว่า "คณะกรรมการการต่อสู้" ได้แก่ (1) ถาวร เสนเนียม ส.ส. สงขลา (2) สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง (3) อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (4) วิทยา แก้วภราดัย ส.ส. นครศรีธรรมราช อดีตคนเดือนตุลา (5) ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร (6) พุฒิพงศ์ ปุณณกันต์ ส.ส.กทม. (7) เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส. กทม. และ (8) ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.กรุงเทพ

สุเทพกล่าวด้วยว่า จะมี ส.ส. ประชาธิปัตย์อยากลาออกมาร่วมต่อสู้ด้วย แต่เขาบังคับไม่ให้ออกมา "เพราะการต่อสู้กับนางมารร้าย ต้องสู้ทั้งในสภา และนอกสภา ต้องแยกทางกันเดินโดยเด็ดขาด พวกที่มีหน้าที่สู้ในสภา สู้ในสภาให้เข้มแข็ง ส่วน 9 คนบนนี้ขอถอดหัวใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน ประชาชนเป็นอะไรเราเป็นอย่างนั้น"

 

ประกาศสู้แบบเร่งรัด ไม่สู้ยืดยาว เสนอแนวทางอารยขัดขืน

"เราไม่มีเวลาต่อสู้ยืดยาว เรามีภาระอื่น เราจำเป็นต้องเร่งรัดการต่อสู้ของเรา เพราะฉะนั้น พวกผมตัดสินใจเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ถ้าพี่น้องสู้ต่อไปเราจะทำอย่างไรบ้าง ก่อนอื่นต้องขอย้ำ และทุกคนต้องปฏิบัติตาม เราจะต่อสู้แบบที่พลเมืองดี พลเมืองที่รักชาติ รักแผ่นดิน สมควรจะกระทำ เราจะต่อสู้แบบผู้สร้างสรรค์ไม่ใช่ผู้ทำลาย เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของเราจะยึดหลักอสิงหา สงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ"

"เราต่อสู้ตามสิทธิที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และกฎบัตรสหประชาชาติ หัวใจพี่น้องกับหัวใจผมต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เลี้ยวซ้ายด้วยกัน ขวาด้วยกัน ไม่แตกแถวเป็นอันขาด สถานที่ต่อสู้ของเราจะยึด ถ.ราชดำเนิน เป็นชัยภูมิ เป็นที่มั่นของเราต่อไป จนกว่าจะประสบชัยชนะ ส่วนพี่น้องประชาชนที่เวทีอื่นก็ให้ยืนหยัดรักษาที่มั่นเวทีของท่านทั้งหลายต่อไป ทั้งที่ผ่านฟ้า ทั้งที่มัฆวาน สีลม อโศก ราชดำริ ซอยอารีย์ และที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ ขอถือโอกาสนี้กราบเรียนเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลายออกมาร่วมต่อสู้กับพวกเรา ทั้งที่ราชดำเนิน และเวทีคู่ขนานทุกแห่ง ทั่วประเทศไทย"

 

ประกาศ 4 แนวทางอารยะขัดขืน หยุดงาน 3 วัน 13-15 พ.ย. 

สุเทพปราศรัยว่า "มติคณะกรรมการเป็นเอกฉันท์แล้ว ขอให้ทุกเครือข่าย ทุกเวทีต่อสู้ ได้ปฏิบัติให้สอดคล้องกัน เราจะยกระดับการต่อสู้ โดยการเชิญชวนพี่น้องประชาชน กระทำอารยะขัดขืน อย่างเข้มแข็งทั่วประเทศ วันพรุ่งนี้ให้ทุกคน ทุกบริษัท ทุกหน่วยงานราชการ สะสางงานของตัวเอง 1 วัน จากนั้นวันที่ 13 พ.ย. 14 พ.ย. 15 พ.ย. หยุดงานทั่วประเทศ ขอความร่วมมือเจ้าของกิจการทั้งหลายโปรดสั่งพนักงานของท่านให้หยุดงาน และมาร่วมชุมนุมกับเราทั่วประเทศ ขึ้นเวทีไหนก็ได้ ไปเวทีไหนก็ได้ ใกล้ที่ไหน สะดวกที่ไหน ไปที่นั่นเพราะเป็นเวทีของผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน"

"ประกาศอีกครั้งหนึ่ง โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง วันที่ 13 พ.ย. วันที่ 14 พ.ย. วันที่ 15 พ.ย. เป็นวันหยุดงานทั่วประเทศ หน่วยงานไหน บริษัทเอกชนไหน จำเป็นจริงๆ หยุดงานไม่ได้ เพราะจะกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตตามปกติสุขของประชาชน ก็ให้สโลวดาวน์ ชะลอความรวดเร็วการทำงานลง ทุกหนทุกแห่ง มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ให้อาจารย์และนักศึกษาไปขึ้นป้ายได้ว่าหยุดเรียน หยุดสอน ขอร้องนี่คือเรื่องของชาติ ต้องทำอย่างนี้ ทำทั้งประเทศ"

 

มาตรการอื่นๆ หยุดชำระภาษี ปักธงชาติ เป่านกหวีดเมื่อเจอนายกรัฐมนตรี

"มาตรการที่สอง หยุดชำระภาษี ขอให้บรรดาพ่อค้านักธุรกิจทั้งหลาย ช่วยกรุณาปรึกษาในวันพรุ่งนี้ ว่าวิธีปฏิบัติจะทำอย่างไร พวกเราเคารพและเข้าใจหวังที่สุดว่าท่านจะคิดหาวิธีทำจนได้ อย่าให้รัฐบาลนี้มีสตางค์ไปโกงกันอีก"

"มาตรการที่สาม ต้องต่อสู้ด้วยสัญลักษณ์ สัญลักษณ์ของเราคือชาติ ขอให้ทุกบ้าน ทุกเรือน ทุกสำนักงาน ชักธงชาติขึ้นทั่วประเทศ ไปไหนมาไหนให้ติดธงชาติ ติดไว้ที่รถยนต์ ติดไว้ที่รถมอเตอร์ไซค์ ติดที่เรือ ทุกหนทุกแห่ง และแขวนคอด้วยนกหวีด ไปไหนมาไหนพกไปสองอย่าง ธงชาติ กับนกหวีด"

"มาตรการที่สี่ ถ้าประชาชนผู้ใด พบเห็น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทั้งหลาย ลิ่วล้อบริวารของมันทุกคน ไม่ต้องพูดกับเขา ไม่ต้องไปทำอะไร เป่านกหวีดอย่างเดียว"

"นี่คือสี่มาตรการที่พวกผมคิดได้ ขอกราบเรียนเชิญชวนพี่น้องทั่วประเทศ ครูบาอาจารย์เด็กนักเรียน ช่วยกันคิดกระทำอารยะขัดขืน ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ให้อยู่ใต้กรอบกฎหมายเพราะเราเป็นพลเมืองดี ถ้ามีอะไรจะแนะนำ พวกผมทั้ง 9 ชีวิต หลอมหัวใจเข้ากับท่านแล้ว แนะนำเราได้ทุกวัน"

 

เชิญประชาชนหยุดงานยาวแล้วมาร่วมปิคนิคที่ ถ.ราชดำเนิน

"พี่น้องทั้งหลาย เนื่องจากวันที่ 13-14-15 เราหยุดงาน 16-17 เป็นวันเสาร์ อาทิตย์ เป็นลองวีคเอนท์ ขอเชิญพักผ่อน ปิคนิค ที่ ถ.ราชดำเนิน เป็นเวทีของคนดี เป็นเวทีของพลเมืองดี เป็นเวทีของผู้เคารพกฎหมาย มาร่วมต่อสู้ด้วยหัวใจเบิกบาน แจ่มใส แน่วแน่ และขอกระซิบอาหารดี ดนตรีไพเราะที่นี่ครับ"

"พี่น้องที่เคารพทั้งหลาย การต่อสู้ของคนดี ยากหน่อย แต่ว่าชัยชนะยิ่งใหญ่และโลกยกย่อง การต่อสู้ของเราจะชนะได้ พี่น้องทั้งประเทศต้องร่วมมือกับเรา มาสู้ร่วมกับเรา วันนี้พี่น้องมาชุมนุมกันที่นี่ และด้านหลังตั้งแต่ผ่านฟ้าจนถึงสี่แยกคอกวัวเลยไปหน่อย จำนวนประมาณ 1 หมื่น 2 แสนเศษ วันต่อขอเป็น 1 หมื่นกับ 3 แสนเศษ 1 หมื่นกับ 4 แสนเศษ และ 1 หมื่นกับ 1 ล้านในที่สุด"

สุเทพได้เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมว่า "ขอกราบแทบเท้าพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศทุกสาขาอาชีพ ญาติของเรามิตรของเราออกมาตากแดดตากฝนทนทุกข์ทรมาน ต่อสู้เพื่ออนาคตของลูกหลาน อนาคตของประเทศไทย ท่านทั้งหลาย นักการเมืองเหล่านี้ ยอมทิ้งอาชีพที่ตนรัก ลาออกจากตำแหน่งมาเป็นประชาชนธรรมดา พร้อมที่จะรับผลเท่ากับประชาชน เราได้พิสูจน์จุดมุ่งหมายของเราแล้ว ขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายออกมาร่วมต่อสู้กับมวลชน เพื่อให้ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เด็ดขาดยั่งยืน เป็นของประเทศไทย"

สุเทพทิ้งท้ายว่า พวกเขาประชุม ศอ.รส. แล้วมีมติสรุปว่า หลังจากวันนี้ไปแล้ว จำนวนผู้ชุมนุมทุกเวทีจะลดลง ถ้าพี่น้องประชาชนทั้งหลายต้องการเห็นชัยชนะของประชาชน พรุ่งนี้ต้องมากกว่าวันนี้ และขอประกาศว่าเราจะยกระดับการต่อสู้ของเราให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และจะประกาศให้ทราบทุกวัน เพราะเราต้องการให้เรื่องนี้จบโดยเร็ว เราไม่มีเวลาอีกแล้ว ขอให้คนไทยทั้งประเทศออกมา ออกมา ออกมา โดยหลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมตะโกนว่า "ออกมา ออกมา" อย่างกึกก้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อังถัดประทับใจ 30 บาทรักษาทุกโรค ยกไทยไม่ต้องรวยแต่ทำให้ปชช.มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

Posted: 11 Nov 2013 03:38 AM PST

 
เลขาธิการสปสช. เผยได้รับหนังสือจากกระทรวงต่างประเทศ รายงานผลการหารือของนายกรัฐมนตรีระหว่างเยือนเจนีวา สวิสฯ เผยเลขาธิการอังถัดชื่นชม 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ยกต้นแบบไม่ต้องรวยก็สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนได้ ด้านนายกรัฐมนตรียินดีไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประเทศที่สนใจ
 
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้รับหนังสือรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องผลการหารือระหว่างเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขนั้น เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนาหรืออังถัด (UN Conference on Trade and Development-UNCTAD) รู้สึกประทับใจกับระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นอย่างมาก ทั้งยังระบุว่า เป็นหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศรวยก็สามารถส่งเสริมสุขภาพถ้วนหน้าได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระบบสาธารณสุขของไทยใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 12 ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามหลัก 30 บาทรักษาทุกโรค กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยระบุว่าเมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปเยือนแอฟริกาครั้งล่าสุด ที่โมซัมบิก ยูกันดา แทนซาเนีย ไทยได้ประกาศนโยบาย Thai-Africa Initiative ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพนี้ด้วย
 
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในการประชุมเวทีโลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมและสุขภาพ ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมอย่างมากในการเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้ โดยมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระกับประมาณของประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในการเรียนรู้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ทำให้ขณะนี้มีประเทศต่างๆ ขอความร่วมมือประเทศไทย ในการศึกษาดูงานและขอคำแนะนำ ปัจจุบัน สปสช. ได้ให้การสนับสนุนการเป็นวิทยากร การเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับประเทศต่างๆที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ และการเป็นตัวกลางในการสนับสนุนให้คำแนะนำประเทศต่างๆในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรชัย พลาศรัย

Posted: 11 Nov 2013 03:19 AM PST

"เบื้องต้นขอเรียนเลยว่า กัมพูชาไม่ได้รับสิ่งที่มาขอศาล กัมพูชาไม่ได้รับ 4.6 ตร.กม. หรือ 4.5, 4.7 ใดใดก็ตาม กัมพูชาไม่ได้นะครับ พื้นที่ภูมะเขือกัมพูชาไม่ได้นะครับ ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน เว้นแต่ในบริเวณที่แคบมากๆ ศาลเน้นคำว่าพื้นที่เล็กอยู่มาก ขณะนี้พื้นที่นี้กำลังคำนวนอยู่นะครับ และที่สำคัญศาลไม่ได้ระบุว่าแผนที่ 1:200,000 นั้นนะเป็นส่วนหนึ่งของบนส่วนคำตัดสินในคำตัดสิน 2505 ที่ผูกพันนะครับ ผมคิดว่าอันนี้สำคัญมากๆนะครับ"

11 พ.ย.56, แถลงหลังมีคำตัดสินศาลโลก

ศาลโลกชี้พื้นที่ใต้-ใกล้เคียงเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ส่วนพื้นที่พิพาทนอกนั้นให้สองประเทศไปเจรจากัน

Posted: 11 Nov 2013 02:54 AM PST

ทูตวีรชัย พลาศรัย ชี้ผลจากคำตัดสินของศาล กัมพูชาไม่ได้ภูมะเขือและ 4.6 ที่พิพาทกัน ศาลให้สองประเทศร่วมกันดูแลปราสาท ขณะรมต. ต่างประเทศระบุจะเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนกับกัมพูชาต่อไป

เวลา 16.50 น. ตามเวลาประเทศไทย ศาลโลกอ่านคำพิพากษาพิจารณารับฟ้องของประเทศกัมพูชา โดยมีมติเอกฉันท์ตีความว่าคำพิพากษาศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. พ.ศ. 2505 ว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร และไทยมีพันธกรณีต้องถอนกำลังทหาร รวมทั้งกำลังตำรวจ ผู้เฝ้ายามที่ประจำการในดินแดนดังกล่าว
พร้อมชี้ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องมีวิธีแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันด้วยวิธีอื่น กัมพูชากับไทยต้องหารือกันเองภายใต้การดูแลให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโก

ทั้งนี้ศาลจะมีแนวทางปฏิบัติต่อทั้งสองฝ่ายเป็นเอกสาร

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา อัครพงษ์ ค่ำคูณ นักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ระบุว่าจากที่คำตัดสินของศาลโลก ศาลชี้ว่าพื้นที่บริเวณราว .5 ตารางกิโลเมตรโดยรอบปราสาทเป็นอธิปไตยของกัมพูชา

ส่วนพื้นที่พิพาทนอกเหนือบริเวณดังกล่าว คือภูมะเขือ และพื้นที่ราว 4.6 ตารางกิโลเมตร ศาลได้กลับไปชี้ตามจุดประสงค์ศาลโลก ให้ไปหาทางออกกันทั้งสองฝ่ายโดยใช้สันติวิธี ตามที่กำหนดตามกฎบัตรสหประชาชาติ 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชี้ว่าจากคำตัดสินของศาล พื้นที่ทับซ้อนยังคงเป็นพื้นที่ทับซ้อนต่อไป คงต้องใช้การเจรจาควบคู่กันไป ไทยเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับความกลัวว่าเราจะเสีย 4.6 ตารางกิโลเมตรไปทั้งหมด แต่จากคำตัดสินของศาลโลก ได้กำหนดแนวทางให้ทั้งไทยและกัมพูชาไปเจรจากันเอง

เวลาประมาณ 17.40 น. นายสุรพงษ์ โตวิจักขณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงสดจากกรุงเฮกว่าวันนี้ผลการตัดสินของศาลออกมาเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายเขากับทางกัมพูชาก็จะหารือกันในคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคีไทยกัมพูชาต่อไป

ทูตวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ สรุปสาระของคำพิพากษา ว่า ประการแรก ศาลตัดสินว่าศาลมีอำนาจพิจารณาตีความตามคำร้องของกัมพูชา

สอง คือ พื้นที่4.6 ตารางกิโลเมตรและ พื้นที่ภูมะเขือนั้น กัมพูชาไม่ได้ไป

สาม ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน ศาลตัดสินพื้นที่เล็กมากๆ รอบปราสาท

และสี่ ศาลไม่ได้ระบุว่าแผนที่หนึ่งต่อสองแสนที่กัมพูชายกมาอ้างนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินของปีพ.ศ. 2505  โดยย้ำว่ากรณีการไม่ยกแผนที่มาอ้างอิงเป็นประเด็นสำคัญมาก

โดยทูตวีรชัยย้ำว่าศาลแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันดูแลปราสาทเขาพระวิหารซึ่งเป็นมรดกโลก

"เบื้องต้นขอเรียนเลยว่า กัมพูชาไม่ได้รับสิ่งที่มาขอศาล กัมพูชาไม่ได้รับ 4.6 ตร.กม. หรือ 4.5, 4.7 ใดใดก็ตาม กัมพูชาไม่ได้นะครับ พื้นที่ภูมะเขือกัมพูชาไม่ได้นะครับ ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน เว้นแต่ในบริเวณที่แคบมากๆ ศาลเน้นคำว่าพื้นที่เล็กอยู่มาก ขณะนี้พื้นที่นี้กำลังคำนวนอยู่นะครับ และที่สำคัญศาลไม่ได้ระบุว่าแผนที่ 1:200,000 นั้นนะเป็นส่วนหนึ่งของบนส่วนคำตัดสินในคำตัดสิน 2505 ที่ผูกพันนะครับ ผมคิดว่าอันนี้สำคัญมากๆนะครับ...ศาลแนะนำนะครับ ศาลแนะนำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมมือกันในการที่จะดูแลปราสาทในฐานะที่เป็นมรดกโลก ศาลแนะนำให้ร่วมมือกัน" เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก กล่าว

 

หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดเอกสาร "ตัวบทคำตัดสินศาลโลก ข้อเรียกร้องให้ตีความคำตัดสินวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทยและกัมพูชา 11 พฤศจิกายน 2556" ได้ที่ด้านล่าง

AttachmentSize
REQUEST FOR INTERPRETATION OF THE JUDGMENT OF 15 JUNE 1962.pdf425.61 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

NGOs นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว 381 รายชื่อ ร้องนิรโทษนักโทษการเมือง

Posted: 11 Nov 2013 02:40 AM PST

นักกิจกรรมทางสังคมเกือบ 400 รายชื่อ เสนอเร่งปลดปล่อยนักโทษการเมือง หยุดสร้างเงื่อนไขความรุนแรงและก่อการรัฐประหาร เปลี่ยนพลังมวลชนเป็นพลังตรวจสอบรัฐ และสร้างสรรค์ประชาธิปไตย

11 พ.ย.56 แถลงการณ์ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคม กลุ่มเล็ก ๆ เปิดตัวในเครือข่าย Social media  เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 8 พย.ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากนักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้สนใจประเด็นการเมืองสังคมอย่างกว้างขวาง โดยในขณะนี้มีผู้มาร่วมลงชื่อรวมทั้งสิ้น 381คน

นส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ร่วมร่างชี้แจงว่า "เจตจำนงประการหนึ่งของการแถลงของพวกเราในครั้งนี้ คือ เห็นว่าในท่ามกลางความเสียงคัดค้านอันอึกทึกครึกโครมที่มีต่อ พรบ.เหมาเข่ง นักโทษการเมืองซึ่งเป็นประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ยังถูกคุมขังก็ยังคงกลายเป็นตัวประกันของเกมการเมืองถูกคุมขังต่อไปอย่างไร้อนาคต เราจึงเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมืองอย่างเร่งด่วน ทั้งโดยการให้สิทธิประกันตัว และการเร่งออกพรบ.นิรโทษกรรมตามเจตนารมย์เดิมที่ไม่นิรโทษให้แก่ผู้สั่งการและผู้กระทำผิดทุจริตคอรัปชั่น" 

นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "นักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มที่มาร่วมกันร่างแถลงการณ์ในครั้งนี้มีแนวทาง จุดเน้นที่แตกต่างหลากหลาย แต่มีจุดร่วมสำคัญประการหนึ่งคือ ต้องการเห็นพลังประชาชนที่ตื่นตัวขึ้นมาคัดค้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง แปรเปลี่ยนเป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนากระบวนการและกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล และกระบวนการรัฐสภา และต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยไม่มีความรุนแรง และรัฐประหารอีกต่อไป"

ขั้นตอนต่อไปก็ขอฝากทางสื่อมวลชน ได้เผยแพร่แถลงการณ์สื่อสารออกไปสู่รัฐบาล รัฐสภา และสังคมวงกว้าง เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ใช้เหตุผล ใช้ข้อมูล ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ในการหาทางออกต่อกรณีความขัดแย้ง แบ่งขั้วในสังคมไทย

%%%%%%%%%%%%%%%%%

แถลงการณ์นักกิจกรรมทางสังคม

"เพื่อให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง และท่าทีต่อการเคลื่อนไหวต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม"

 

8 พฤศจิกายน 2556

 

ตามที่ประชาชนหลากหลายกลุ่มได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน "ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ...." หรือ "พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" อย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศนั้น กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมซึ่งมีความเชื่อทางการเมืองที่หลากหลาย และเคารพการแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างของทุกกลุ่มภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามรายชื่อของท้ายคำแถลงฉบับนี้เห็นว่า ปรากฏการณ์ทางประชาธิปไตยดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรชื่นชมยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตื่นตัวของประชาชนเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจและการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชนครั้งนี้สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ถูกคุมขัง และการสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน เราขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกทางการเมือง เป็นหัวใจสำคัญของสังคมที่ยึดถือหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย ประชาชนย่อมคาดหวังได้ว่าตนจะสามารถแสดงออกและเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองโดยได้รับความคุ้มครองโดยรัฐและกฎหมายจากภยันตรายต่างๆ และผู้ใดที่ประทุษร้ายต่อประชาชน ผู้นั้นก็จะต้องได้รับโทษ ดังนั้นจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนแกนนำผู้ชุมนุม  เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงประทุษร้ายต่อประชาชนอีกในอนาคต

2) ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองอย่างเร่งด่วน  แต่ไม่รวมถึงกับผู้มีอำนาจสั่งการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนแกนนำผู้ชุมนุม และผู้มีความผิดที่เกี่ยวกับคดีการทุจริตคอรัปชั่นและการประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง

3) ในระหว่างที่กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนยังไม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ได้รับสิทธิในการประกันตัวโดยทันที โดยควรครอบคลุมถึงผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้ถูกนำมาใช้ภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา

4) การตื่นตัวของประชาชนในครั้งนี้ ควรนำไปสู่การสร้างกลไกการป้องกัน ตรวจสอบ และการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นและการประพฤติมิชอบของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นอิสระจากการแทรกแซงของผู้มีอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง รวมทั้งการสร้างกระบวนการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองและการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้เสียงข้างมากลากไปในกรณีมาตรา 190 ตลอดจนกรณีการจัดทำโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างผลกระทบต่อประชาชนทั้งบวกและลบอย่างกว้างขวาง เพื่อมิให้เกิดปัญหาเผด็จการรัฐสภาและป้องกัน มิให้เป็นข้ออ้างสำหรับการรัฐประหารและ/หรือการพึ่งพากลไกที่ถูกสร้างขึ้นจากรัฐประหารไปพร้อมๆกัน

5) ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซึ่งได้เริ่มต้นจากการต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและอาจพัฒนาขยายไปเป็นข้อเรียกร้องอื่นนั้น มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน  หรือเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เราเห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงในทุกรูปแบบ และร่วมกันต่อต้านกลุ่มบุคคลใดก็ตามที่อ้างสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมซึ่งมีรายชื่อตามท้ายคำแถลงฉบับนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เรียนรู้และมีสติปัญญามากขึ้นจากบทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะก้าวผ่านความขัดแย้ง และการแตกต่างทางความคิดกันได้โดยกระบวนการที่วางอยู่บนการเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ การอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง ไปสู่การรังสรรค์สังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างแท้จริง

 

1.         กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

2.         กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา

3.         เกียรติศักดิ์   ยั่งยืน

4.         คำรณ ชูเดชา

5.         จะเด็จ เชาวน์วิไล

6.         จักรชัย โฉมทองดี

7.         ชนิดา  ประกอบกุล

8.         ชูวิทย์ จันทรส

9.         ทัศนีย์ วีระกันต์

10.       นภวรรณ งามขำ

11.       นิอับดุลฆอร์ฟาร โตะมิง

12.       ฝ้ายคำ หาญณรงค์

13.       รุ่งนภา  สุบงกช

14.       ลาวัลย์  สาโรวาท

15.       ลำยอง เมฆหมอก

16.       วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร

17.       วรรณา ศรีวิริยานุภาพ

18.       วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

19.       วิทยา กุลสมบูรณ์

20.       วีรพงษ์ เกรียงสินยศ

21.       สารี อ๋องสมหวัง

22.       สุนทรี หัตถี  เซ่งกิ่ง

23.       สุภัทรา นาคะผิว

24.       สุภา ใยเมือง

25.       อุษาวดี สุตะภักดิ์

26.       นันทา เบญจศิลารักษ์

27.       อารีรัตน์ กิตติศิริ

28.       วราสิทธิ์ แสงทอง

29.       บัณฑิต หอมเกษ

30.       เทวฤทธิ์ นูนวน

31.       แม้นวาด กุญชรฯ

32.       ขวัญชัย หมื่นยิ่ง

33.       ทิวา สัมฤทธิ์

34.       เบญจวรรณ ธนพรภูริช

35.       ธีรมล บัวงาม

36.       วรลักษณ์ ศรีใย

37.       กันทิมา ว่องเวียงจันทร์

38.       วรรณชลี ทองมอญ

39.       นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

40.       พูนสุข พูนสุขเจริญ

41.       นิภาพร เรื่อเรืองรัตน์

42.       ศิริพร ฉายเพ็ชร

43.       เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

44.       วราลักษณ์ ไชยทัพ

45.       บุศรา สิงหบุตร

46.       นภัสวรรณ สรายทอง

47.       วสันต์ เตชะวงศ์ธรรม

48.       ชมพูนุช ทิมนิกาย

49.       นิภาภรณ์ เหลากุล

50.       ไพรินทร์ เสาะสาย

51.       ธนพงษ์ หมื่นแสน

52.       ชัยพงษ์ สำเนียง

53.       ศักดิ์ณรินทร์ ชมบุญ

54.       ณัฐวุฒิ คำธรรม

55.       พลิศ ลักขณานุรักษ์

56.       ทรงวุฒิ ชัยประเสริฐศรี

57.       ณัฐกานต์ กิจประสงค์

58.       ญาธิป ลัคนาศิโรรัตน์

59.       พิชญ อนันตรเศรษฐ์

60.       มยุรี เพชรนอก

61.       สุกฤษฏิ์ รักพานิชมณี

62.       อัจฉรา อิงคามระธร

63.       ปราโมทย์ วงษ์พิทักษ์

64.       ประทีป มีคติธรรม

65.       นวภู แซ่ตั้ง

66.       งามศุกร์ รัตนเสถียร

67.       นภา ธรรมทรงศนะ

68.       สัญชัย ศรีตระกูล

69.       บารมี  ชัยรัตน์

70.       เวลา กัลหโสภา

71.       ฐิติมา งามสุทธา

72.       นะคิน พูนศรี

73.       นิพิฐพนธ์ คำยศ

74.       ปิยนารถ ธรรมวัฒนะ

75.       สุทธิพงษ์ แม้นรัมย์

76.       ยุทธนา ลุนสำโรง

77.       นิภา เผ่าศรีเจริญ

78.       พรพิศ ผักไหม

79.       สยาม ธีรวุฒิ

80.       กนกวรรณ มีพรหม

81.       พนิดา บุญเทพ

82.       เฉลิมเกียรติ ตะดวงดี

83.       ดุจฝัน เพียรลุประสิทธิ์

84.       ธัช ธาดา

85.       วิไลพร จิตรประสาร

86.       ภาวี มีนรัตนาคร

87.       เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

88.       ประดิษฐ์ ลีลานิมิต

89.       สุปัน รักเชื้อ

90.       วัชรินทร์ สังขาระ

91.       พฤหัส พหลกุลบุตร

92.       สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร

93.       ปรัชญา ผาสุข

94.       ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

95.       จารุวรรณ สาทลาลัย

96.       สุภาภรณ์ มาลัยลอย

97.       ศักดิ์รพี รินสาร

98.       ดุจหฤทัย ณ ป้อมเพ็ชร

99.       พัชราภา ตันตราจิน

100.     ธีรชาติ ชยาภรณ์

101.     วริสรา กริชไกรวรรณ

102.     อุมาภรณ์ อุเทนพันธ์

103.     จิตต์ศีล รักเย็นศรีรณ

104.     เวียง-วชิระ บัวสนธ์

105.     ชูเวช เดชดิษฐรักษ์

106.     นาถนัดดา จงเจริญ

107.     ชานนท์ ตั้งศิริวัฒนากุล

108.     จิรทีปต์ ขัดมะโนแก้ว

109.     วิรินดา วรรณุลัย

110.     วันชัย พีชะพัฒน์

111.     มงคล อัฒจักร

112.     จณัตว์ คุตตะเทพ

113.     พรรัตน์ วชิราชัย

114.     สุธิดา วงษ์อนันต์

115.     กิตติกาญจน์ หาญกุล

116.     วสันต์ หล่อเกษมศานต์

117.     โอฬาร บุญชิต

118.     เชิดชาย ประเสริฐสังข์

119.     เพลินพิศ แทนภูงา

120.     ธนวัตน์ บุรีภักดี

121.     วิลาศ ฉันทศิริพันธ์

122.     เพียรพรรณ ธำรงรัตนฤทธิ์

123.     ดนุพล ณ หนองคาย

124.     นครินทร์ ชาลปติ

125.     วิทัศน์ ฝักเจริญผล

126.     เขมทัศน์ ปาลเปรม

127.     จีรดา อาชีวะ

128.     สุนทริยา คำนาค

129.     กฤติกา ชินพันธ์

130.     โกวิท สว่างวารีสกุล

131.     ธันยรัศม์ สว่างวารีสกุล

132.     สุรชัย ซาวบุญตัน

133.     ดนัยรักษ์ วงศ์จันทร์

134.     ปราการ. ท้าวพันวงค์

135.     วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย

136.     ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ

137.     ปุณณะ ยศปัญญา

138.     สรพจน์ เสวนคุณากร

139.     จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล

140.     กฤตยชญ์ โอภาสสถาวร

141.     เดชา คำเบ้าเมือง

142.     ปิยะภพ มะหะมัด

143.     ปรียดิษฐ์ เพิ่มพูล

144.     สายชล ปัญญชิต

145.     สุนี ไชยรส

146.     กษ์ศิริ สุวรรณประทีป

147.     พศวัสส์ ชมเรณู

148.     นนท์ปวิธ ศรีเทพ

149.     รินนา ทากุดเรือ

150.     ชานนท์ บินกาซีเมน

151.     ภูมิสันต์ บังเกิดผล

152.     อรรถพล รอดภิรมย์

153.     ณัฐพงษ์ ณ พัทลุง

154.     วัชรินทร์ สังขาระ

155.     อรรถวุฒิ บุญยวง

156.     วิชชุดา วงษ์ศรี

157.     มานิตา หนูสวัสดิ์

158.     วิทยากร อิสมาแอล

159.     จิตติมา ผลเสวก

160.     อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล

161.     คำปิ่น อักษร

162.     ทรรศิน สุขโต

163.     มานิตย์ รังสิยะวงศ์

164.     ศิริวรรณ อาษาศรี

165.     สุขุมพจน์ คำสุขุม

166.     ดาราณี ทองศิริ

167.     จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์

168.     พัชรี แซ่เอี้ยว

169.     ส.รัตนมณี พลกล้า

170.     ณัฐรดา สุทธาธาร

171.     วิชชุกร ตั้งไพบูลย์

172.     พรชัย สุรทานนท์

173.     อนวัชร เชื้อดวงผุย

174.     โกวิท โพธิสาร

175.     วนาลี สุรทานนท์

176.     วิลาศ ฉันทศิริพันธ์ุ

177.     จรัญยา แดงน้อย

178.     พลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน

179.     ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์

180.     ทองธัช เทพารักษ์

181.     ไผท ภูธา

182.     จีรนุช เปรมชัยพร

183.     จักรกฤษณ์ วิทย์สุภาเลิศ

184.     ปรินดา เลิศพงศ์โสภณ

185.     วิลาวัณย์ เอื้อวงศ์กูล

186.     นิตยา อินญาวิเลิศ

187.     จินกร ชญาวิชญสมบัติ

188.     วรางคณา รัตนรัตน์

189.     ชายแดน บินตำมะหงง

190.     ปราณี ศรีกำเหนิด

191.     เรืองเดช โพธิ์ศรี

192.     ธีระพล อันมัย

193.     กมล อุปแก้ว

194.     ภัควดี วีระภาสพงษ์

195.     ภาณุ ตรัยเวช

196.     สุมาตร์ ภูลายยาว

197.     แก้วตา ธัมอิน

198.     คมลักษณ์ ไชยยะ

199.     อัคร ปัจจักขะภัติ

200.     ธีรดา ศุภะพงษ์

201.     นิติพงศ์ สำราญคง

202.     สุรารักษ์ ใจวุฒิ

203.     สพล ภูมิภักดิ์

204.     บ็ญจพร.แสงสว่าง

205.     เพียงกมล มานะรัตน์

206.     กษมา สัตยาหุรักษ์

207.     ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์

208.     ลัลธริมา หลงเจริญ

209.     ลัดดา สงกระสินธ์

210.     อาทิชา วงเวียน

211.     สมชาย จิว

212.     นิวัตร สุวรรณพัฒนา

213.     มนต์สวรรค์ จินดาแสง

214.     เยาวลักษ์ อนุพันธุ์

215.     คีรีบูน วงษ์ชื่น

216.     เบญจมาศ นิลสุวรรณ์

217.     ออินทิรา วิทยสมบูรณ์

218.     ขวัญเรือน ทัพโพธิ์

219.     สิริวิทย์ สุขกันต์

220.     อินทิรา วิทยสมบูรณ์

221.     ศรายุธ ตั้งประเสริฐ

222.     อนุชา วรรณาสุนทรไชย

223.     สุนทรี นาควิโรจน์

224.     ฐากูร สรวงศ์สิริ

225.     ขวัญเรียม จิตอารีย์

226.     สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข

227.     กิ่งฟ้า เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

228.     อนันต์ เกษตรสินสมบัติ

229.     นิจนิรันดร์ อวะภาค

230.     เสรี ตรีศักดิ์

231.     ปฐมนต์ สารสมบัติ

232.     ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

233.     ปิยนุช ยอแสงรัตน์ เกตุจรูญ

234.     กาลสมัย มะณีแสง

235.     ชัชวาลย์ นิ่มแนบ

236.     ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ

237.     เลิศสุวัฒน์ เมฆา

238.     อนิรุธ สีมันตร

239.     จรรยา ยิ้มประเสริฐ

240.     วรพงษ์ เวชมาลีนนท์

241.     ศักดิ์ณรินทร์ ชมบุญ

242.     ธรรมรงค์ ภูมิสีคิ้ว

243.     สิริยา บุญใส

244.     ณฐวรรณ กุลครรชิต

245.     จณัตว์ คุตตะเทพ

246.     ประภา คำพิมาน

247.     วลัยลักษณ์ แข่งเพ็ญแข

248.     กานต์ชนก สมภักดี

249.     พนิดา หลูอารีย์สุวรรณ

250.     ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช

251.     วราสิทธิ์ แสงทอง

252.     พันธุ์ทิพ ตาทอง

253.     จรัญ ยาวินัน

254.     ชาคริต คำพิลานนท์

255.     ปกรณ์ ทัตโชติวงษ์

256.     ศราวุฒิ ประทุมราช

257.     อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ

258.     กิตติพล เอี่ยมกมล

259.     ศศิธร วิเศษสุข

260.     เรวดี กระจ่างแจ้ง

261.     ปกปัก ทองภักดี

262.     ชโลม เกตุจินดา

263.     เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

264.     จุลพงษ์ อุดมพรพิบูล

265.     วิชชุดา ดำเนินยุทธ

266.     ชญานนท์ หนูหีต

267.     มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม

268.     ถนัด ธรรมแก้ว

269.     ธิติพงษ์ ก่อสกุล

270.     สุภาพรรณ พลังศักดิ์

271.     จักริน ยูงทอง

272.     ชญานิน เตียงพิทยากร

273.     วีณา ยศกำจรกุล

274.     ธง พัชรประกิติ

275.     ณัฐพล พึ่งธรรม

276.     เฉลียว ยศกำจรกุล

277.     พรเพ็ญ ศรีสุวรรณ

278.     จิรัฐติกาล ไชยา

279.     สุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์

280.     มัทนา โกสุมภ์

281.     กุลกานต์ จินตกานนท์

282.     เสรี จินตกานนท์

283.     ณฐพล ใจคำ

284.     ลภาพรรณ ศุภมันตา

285.     สามารถ สะกวี

286.     มาลินี เวชสุข

287.     อติชาต มงคล

288.     ชัชลักษณ์ ธิมา

289.     เทวรินทร์ พรมปัญญา

290.     สุชานนท์ สินธิทันยา

291.     วิกร จุณฑิวรานนท์

292.     ธนพร กากแก้ว

293.     พกุล แองเกอร์

294.     เพ็ด ประจุมาศ

295.     พรเทพ นิวัตยะกุล

296.     กนกวรรณ ฉายสุริยะ

297.     สมพงษ์ กองจันทร์เพ็ชร

298.     ดรุณี เพชรนอก

299.     ชูธรรม สาวิกันย์

300.     พรวศิน นันทะลัย

301.     สมเกียรติ เศรษฐสมภพ

302.     สมภพ นิลกำแหง

303.     มนตรี จันทวงศ์

304.     นพพล อาชามาส

305.     ศิวาเมษฐ์ แข่งเพ็ญแข

306.     สุขสันต์ แสงส่องสิน

307.     ชูเกียรติ โกแมน

308.     วิรัตน์ หรับหลี

309.     ธีรศักดิ์ เชาอนาจิณ

310.     อุทัยวรรณ ทองเย็น

311.     ทีปกร บุญญกาศ

312.     อารยา แซ่ตั้ง

313.     ขวารี ผลดี

314. พิษณุ แก้วเทพ

315.     วรวุฒิ เครือแก้ว

316.     กนิษฐ บุญทราพงษ์

317.     สุชัย บุญล้อม

318.     วิไล ตระกูลสิน

319.     ไพศาล วงศาสุลักษณ์

320.     ปัฏฐยา โอฟริต

321. อัญชลี อุชชิน

322.     ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

323.     ดุจหฤทัย ณ ป้อมเพ็ชร

324.     วีรบูรณ์ วิสารทสกุล

325.     ฐิตินันท์ ศรีสถิต

326.     วิเวียน ประคองจิตต์

327.     เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล

328.     สฤษดิ์ จันทราช

329.     สราญรัตน์ ไว้เกียรติ

330.     วินัย ผลเจริญ

331.     อิทธิพล โคตะมี

332.     โชติกา ทองหยัด

333.     นวลวรรณ แสงอรุณ

334.     พงษ์นเรศ ตาลวิลาศ

335.     บุญตา สืบประดิษฐ์

336.     ธวัช ดำสอาด

337. รุ่งฤดี กำหนดนับ คาร์เตอร์

338.     อลงกรณ์ เทศะบำรุง

339.     ชนาง อำภารักษ์

340.     เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

341.     ธนวัตน์ บุรีภักดี

342.     จำเนียร พลสวัสดิ์

343.     นครินทร์ ชาลปติ

344.     สฤษดิ์ ถิรชาญชัย

345.     สุข์ปราณีย์ คันธะชัย

346.     สุนิษา ปุ่มวงศ์

347.     ฌามร ชิงดวง

348.     พรรตน เหล่าเจริญ

349.     ปวัณรัตน์ พัชณี

350.     ดอม ด่านตระกูล

351.     กานต์ ทัศนภักดิ์

352. จิตติมา พลิคามิน

353. ชัชวาล ชั้นไพบูลย์

354.     คีตนาฏ วรรณบวร

355.     ฤชากร ไตรรัตนานุสรณ์

356.     กอใจ อุ่ยวัฒนพงศ์

357.     ศิริวัฒน์ โปษะยานนท์

358. รจเรข วัฒนพาณิชย์

359. ธรรมนนท์ (นิตย์) กิจติเวชกุล

360.     สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล

361.     ศจินทร์ ประชาสันติ์

362.     นฤมล ทับจุมพล

363.     บดินทร์ หาญณรงค์

364.     ไพรัชช์ แดนกะไสย

365. ปองจิต สรรพคุณ

366. ปภาวัน ประดับมุข

367. กุลจิรา ฟองเหม

368. อนวัชร เชื้อดวงผุย

369. ฉันทนา คำนาค

370. จรัญญา  แดงน้อย

371. เกรียงศักดิ์ ดิฐสถาพรเจริญ

372. ทับทิม ทับทิม

373. จุมพฎ สายหยุด

374. จารุวรรณ จันทร์เรือง

375. สิรนันท์ ห่อหุ้ม

376. วิราภรณ์ ว่องเจริญ

377. สายฝน อมรแมนนันท์

378. กาญจนา กรกมลชัยกุล

379. กานต์ พิชชา

380. พิภพ อุดมอิทธิพงษ์

381. ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดเวทีถก ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรม’ เกี่ยว-ไม่เกี่ยวคดีไฟใต้?

Posted: 11 Nov 2013 02:33 AM PST

ประธานศูนย์ทนายมุสลิมปัตตานีระบุอยู่ที่การตีความ ตั้งคำถามเหตุในพื้นที่เป็นคดีการเมืองหรือไม่ หากคนทำผิดถูกปล่อยตัว เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับอุ้มฆ่าก็ได้ประโยชน์ นักวิชาการจี้เมื่อล้างความผิดก็ยกเลิกการเยียวยา แต่ถ้าทำแล้วเหตุรุนแรงสงบก็น่าสน

 
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจัดเสวนา "เรื่องนิรโทษกรรมหรือปล่อยให้คนผิดลอยนวล" มีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 30 คน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุมอิหม่ามอัล-ฆอซาลี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
 
 
นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวระหว่างเสวนาว่า พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้ สามารถตีความหมายได้หลายแบบที่เกี่ยวข้องกับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างหนึ่งที่สามารถมองได้ คือ คำว่า Set Zero คือเริ่มต้นใหม่ได้หมด คือสามารถนิรโทษกรรมได้ทั้งหมด คนที่ทำผิดก็ได้ประโยชน์ คนที่ถูกขังในเรือนจำก็ออกมาได้ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตากใบ กรือเซะหรืออุ้มฆ่า โดยเฉพาะการอุ้มฆ่านายสมชาย นีละไพจิตร ก็จะถูกนิรโทษกรรมทั้งหมด ตนมองว่า คำที่ใช้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ คนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าหน้าที่รัฐ
 
นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ จุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงมากกว่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้รวมถึงการนิรโทษกรรมกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะบริบทต่างๆใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย
 
"ส่วนการทำผิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเปล่า เป็นเรื่องที่จะต้องตีความกันต่อไป เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้นิยามความหมายของการทำความผิดอย่างชัดเจน" นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว
 
 
นายอับดุลกอฮาร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากยกโทษผู้กระทำความผิดคดีความมั่นคงหรือคดีก่อการร้ายต่างๆ ตั้งแต่ปี 2547 ทั้งหมดเพราะเป็นความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองแล้ว ลองนึกภาพดูว่าบุคคลที่สูญเสียจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรกับประเด็นนี้ ดังนั้นการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีการพูดคุยมากกว่านี้
 
ส่วนกรณีพ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับ 1 ใน 5 ข้อเสนอของขบวนการบีอาร์เอ็นที่ให้ปล่อยผู้ต้องขังและยกเลิกหมายจับที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงทั้งหมดอย่างไรนั้น นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว ขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณใดๆจากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้
 
"ผมคิดว่าประเด็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน เพราะรัฐบาลจะต้องอธิบายให้คนไทย 70 กว่าจังหวัดให้รับรู้ ซึ่งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย เพราะเป็นปัญหาที่ซับซ้อน"
 
"จากการดูเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยส่วนตัวมองว่า คดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เป็นคดีทางการเมือง เพราะรัฐมองว่าคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรมหรือการก่อการร้าย รัฐไม่ได้มองเป็นการเรียกร้องทางการเมือง เพราะใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้คำว่า ชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกความเห็นทางการเมือง"
 
"การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้เขียนอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิ์หลังจากรัฐประหารปี 2549 และการชุมนุมทางการเมือง ถามว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปรากฏการณ์เหมือนในกรุงเทพหรือไม่ คำตอบคือไม่ หรือหากคิดว่าในพื้นที่เป็นการเรียกร้องขอปกครองตนเอง มีการตั้งกลุ่มและมีการชุมนุมเหมือนในกรุงเทพหานคร มันก็อาจเป็นเรื่องการเรียกร้องทางการเมืองก็ได้ อยู่ที่การตีความ" นายอับดุลกอฮาร์ กล่าว
 
นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวด้วยว่า คิดอีกอย่างหนึ่งคืออาจนำพ.ร.บ.ฉบับนี้มาเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพก็ได้ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาว่าใครบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีกฎหมายอื่นที่เปิดช่องให้สามารถนิรโทษกรรมผู้ที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพได้
 
นายสิทธิศักดิ์ ดือเระ อาจารย์ประจำแผนกวิชากฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจในหากมีการนิรโทษกรรมผู้ทำผิดคดีความมั่นคงจริงแล้ว การเยียวยาต่อผู้ที่ถูกกระทำก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะการเยียวยาเกิดจากการกระทำความผิด ในเมื่อไม่มีการทำผิดการเยียวยาก็จะไม่เกิด
 
 
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เคยทำความผิด เมื่อนิรโทษกรรมแล้วก็สามารถที่จะรับบำเหน็จบำนาญอันเรื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ที่สำคัญที่สุดจะเห็นบุคคลที่เคยอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ ออกมาเดินบนถนนได้อย่างสง่างามในอนาคตได้
 
"ผมคิดว่า การนิรโทษกรรมตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ครอบคลุมถึงกรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย เพราะข้อความใหม่ที่เพิ่มขึ้นในขั้นแปรญัตติที่ขยายเวลาไปถึงปี 2547 จากปี 2549 นั้นน่าจะตั้งใจเล่นงาน คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ที่ตรวจสอบเรื่องการทุจริต (ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดหลังปี 2547 อย่างคดีที่ดินรัชดา มากกว่าเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้" นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า 
 
"แม้เหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 แต่ดูตามบริบทแล้ว การบริโทษกรรมไม่น่าจะเกี่ยวข้องด้วย แต่สุดท้ายขึ้นอยู่คณะกรรมการว่า สามารถนำเรื่อง 3 จังหวัดมาเกี่ยวข้องได้หรือเปล่า"
 
รศ.อับดุลเลาะ อับรู อาจารย์ประจำแผนวิชาเศรษฐศาสตร์และการจัดการในอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับมีผลบังคับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย คำถามคือปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จะจบหรือไม่ ซึ่งหมายถึงการเอาบุคคลที่อยู่เรือนจำออกมา แต่การต่อสู้จบหรือไม่ คำตอบคือไม่ ดังนั้นเมื่อไม่จบ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างไร เพราะบริบทต่างกัน
 
"ยกเว้นว่าออกกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อนิรโทษกรรมอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จบลง ไม่มีการต่อสู้ ขบวนการหยุดยติการต่อสู้ แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ บางทีกฎหมายนี้อาจจะใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้" รศ.อับดุลเลาะ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น