โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นปช.นัดชุมนุมใหม่ 24 พ.ย. วอน รบ.เดินหน้าแก้ รธน.ทั้งฉบับ

Posted: 20 Nov 2013 10:52 AM PST

'ธิดา' ขึ้นปราศรัย โจมตีศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมสั่งยุติชุมนุมคืนนี้ และกลับมาใหม่ 24 พ.ย. วอนรัฐบาลเดินหน้าโหวตวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 'จตุพร' เสนอสสร. มาจากการเลือกตั้ง

20 พ.ย.2556 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ขึ้นเวทีที่สนามราชมังคลากีฬาสถานปราศรัยเมื่อเวลา 19.00 น. โจมตีการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงปราศรัยภาพรวมและจุดยืนถึงการปฏิเสธอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจนิติบุคคล และอำนาจบริหาร โดยยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาเท่านั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภาเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ผ่านวาระ 3 รวมทั้งระบุว่าจะยุติการชุมนุมคืนวันนี้ พร้อมให้กลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมตัวชุมนุมอีกครั้ง ในวันที่ 24 พ.ย.นี้

โดย ธิดา ปราศรัยว่าคำวินิจฉัยวันนี้สรุปได้ว่าระบอบอำมาตย์ยังไม่ปล่อยอำนาจให้ประชาชน วันนี้แกนนำ(นปช.)ปรึกษาหารือกันแล้วมีข้อตกลงแต่ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด ประการแรกจุดยืนของคนเสื้อแดงยังเหมือนเดิม คือปฏิเสธตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร ขณะนี้พวกเราได้ยื่นถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญกับ ป.ป.ช.แล้ว ดังนั้นจึงอยากความคืบหน้ากับป.ป.ช.ด้วย ประการต่อมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาของสภาเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

ประธาน นปช.กล่าวอีกว่า คนเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าโหวตวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 คือแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปเลย และขอให้สังคมไทยตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน และศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยจะเห็นได้ชัดว่าระบอบอำมาตย์ยังไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน จึงขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ได้เปลือยกายล่อนจ้อนเห็น

ประธานนปช.กล่าวต่อถึงเสื้อแดงว่า คำวินิจฉัยนี้แม้จะยังไม่ถึงขั้นถอดถอนส.ส.และยุบพรรค แต่เป้าหมายและยุทธศาสตร์สำคัญของเราคือการทำให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ได้ถูกขัดขวางจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่เพราะมีพวกเราคนเสื้อแดงจึงยังทำให้ระบอบยังทำอะไรได้ไม่ถนัด พวกเรายังมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำและเอาชนะให้ได้คือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับอำมาตย์

เช่นเดียวกับจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้ประกาศท้าทาย ให้รัฐสภาเดินหน้า โหวตวาระ 3 มาตรา 291 โดยให้มี สสร. มาจากการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยคำร้องคัดค้าน การแก้ไขมาตรา 291 ว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 แต่ศาลให้คำแนะนำ ให้ทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมีข้อแนะนำให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา

เรียบเรียงจาก : Voice TV, innnews.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ลดโทษวัยรุ่นร่วมปาระเบิดธ.กรุงเทพก่อนม็อบแดงปี 53

Posted: 20 Nov 2013 10:10 AM PST

ศาลอุทธรณ์ลดโทษจากจำคุก 8 ปีเหลือ4 ปี 8 เดือน เยาวชนนักโทษการเมืองคดีขับจยย.ให้มือปาระเบิดธนาคารกรุงเทพ สีลม ก่อนแดงชุมนุมใหญ่ปี 53 เจ้าตัวเผยไม่ฏีกาต่อเพราะใช้เวลานานแต่ไม่ได้ประกันตัว
 
20 พ.ย.2556 เอกชัย มูลเกษ วัย 25 ปี ผู้ต้องขังที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ คดีความผิดฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษจำคุกเหลือ 5 ปี 4 เดือน จากเดิม 8 ปี
 
ทั้งนี้เอกชัยถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์เพื่อให้คนร้ายปาระเบิดธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม เมื่อวันที่ 27 ก.พ.53 ก่อนการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมประชิปไตยต่อต้านเด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.
 
เอกชัย เล่าด้วยว่า วันที่ 6 ธ.ค.นี้ เขาจะถูกขังครบ 3 ปี 9 เดือนแล้ว โดยตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 มี.ค.53 ก็ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวแต่อย่างใด  ขณะถูกจับกุมบริเวณที่พักย่านถนนจันทน์เขาใช้ชีวิตปกติเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีหมายจับหรือเป็นผู้ต้องหา โดยขณะนั้นเรียนอยู่ชั้น ปวช.
 
สำหรับการต่อสู้คดีต่อไปนั้น เอกชัย กล่าวว่าไม่คิดที่จะฎีกาต่อ เนื่องจากคาดว่าต้องใช้เวลาอีกกว่า 4 ปี แม้แต่กระบวนการในศาลอุทธรณ์ก็ใช้เวลาถึง 2 ปี 8 เดือน ทั้งๆที่ระหว่างสู้คดีก็ถูกอยู่ในเรือนจำ ซึ่งควรมีกระบวนการที่เร็วกว่านี้กรณีที่ไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว ดังนั้นจึงเลือกช่องทางให้คดีสิ้นสุดโดยเร็วจากนั้นหากไม่ขอพักโทษก็จะขอพระราชทานอภัยโทษแทน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุเทพ' ลั่นเดินหน้าชุมนุม 24 พ.ย. ล้าง 'ระบอบทักษิณ' ให้ได้

Posted: 20 Nov 2013 08:52 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุจะนัดชุมนุมใหญ่ 24 พ.ย. ต่อไป หากระบอบทักษิณหมดไป จะกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาให้มีการเลือกตั้งที่ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ไม่เปิดโอกาสให้คนโกงชนะการเลือกตั้ง จะตั้งสภานิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมายใหม่ทำให้คดีคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ ทำผิดวันไหนติดคุกวันนั้น

สุเทพ เทือกสุบรรณ หอบกล่องรายชื่อประชาชน 1 กล่อง จากทั้งหมด 77 กล่อง 115,000 รายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน 310 ส.ส. ที่โหวตร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา คาดว่าจะใช้เวลาหนึ่งเดือนเพื่อตรวจสอบรายชื่อ  (ที่มาของภาพ: เพจมัลลิกา บุญมีตระกูล)

สุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยที่ ถ.ราชดำเนิน ยืนยันจะนัดชุมนุมใหญ่ 24 พ.ย. นี้ต่อไป (ที่มา: Blue Sky Channel)

 

20 พ.ย. 2556 - ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ผิดรัฐธรรมนูญนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ล่าสุดในการชุมนุมโค่นระบอบทักษิณที่ ถ.ราชดำเนิน เมื่อคืนนี้ (20 พ.ย.) นั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้ปราศรัยเมื่อเวลา 19.45 น. ตอนหนึ่งระบุถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ผมยกย่องและสรรเสริญคนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ประณามคนที่กระหายอำนาจ รวบอำนาจไว้ พวกเดียว มันบังอาจแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนเป็นลูก เป็นเมีย เป็นแม่ ส.ส. ก็สมัครวุฒิสมาชิกได้ สมาชิกพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรค ลาออกวันเดียววันนี้ พรุ่งนี้สมัคร ส.ว. ได้ทันที ดูมันทำพี่น้อง แล้วมันไม่ยอมให้มี ส.ว. จากการสรรหา เพราะมันไม่สามารถคุมได้ มันไม่ต้องการให้คนดีฝ่ายนั้นมา ต้องการให้มาจากการเลือกตั้ง ที่มันสามารถขุน ชุบ เลี้ยง ตั้งแต่แรกเริ่ม อยู่ในโอวาทมันจนจบ ทำตามคำสั่ง เป็นทาสมัน

วิธีการที่พวกมันทำ ชั่วช้าเลวทรามที่สุดไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่วันแรก ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เข้าสู่การพิจารณารัฐสภา มีการปลอมเอกสาร ให้สภาพิจารณาฉบับปลอมของมัน พี่น้องเห็นความอุบาทว์พวกนี้ไหมครับ เห็นสันดานชั่วช้าไหมครับ ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม เพราะพวกมันเป็นโจรเหมือนกันเลย

นอกจากนี้พอผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็รีบนำไปกราบบังคมทูลฯ เพื่อประกาศใช้ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานใครเลย คนเขาเตือนสติ ว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่าไปทำให้เป็นภาระกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่าไปทำให้เป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท เพราะกระบวนการยังไม่จบรอฟังคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญก่อน พูดกันเยอะ แต่แหลไม่ฟัง ทูลเกล้าขึ้นไปแล้ว ผมจึงต้องฟ้องพี่น้องทั้งหลายว่าทั้งทักษิณ ชินวัตร ทั้งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มันไม่รู้เลยว่าอะไรบังควรหรือไม่บังควร มันทำตามอำเภอใจมันทั้งพี่ทั้งน้อง มันทำสิ่งที่คนไทยอย่างพวกเราไม่มีวันทำอย่างนี้โดยเด็ดขาด

วันนี้หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ณัฐวุฒิ และไอ้จตุพร ประกาศยกระดับการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แต่ก่อนผมขึ้นเวที ได้ข่าวว่ามันฝ่อไปแล้ว กลายเป็นว่าคืนนี้เที่ยงคืนจะสลายการชุมนุม ยกเลิกการชุมนุมของคนเสื้อแดง อย่าเพิ่งดีใจครับพี่น้อง เราเห็นความชั่วช้า อำมหิต ของแกนนำคนเสื้อแดงมาแล้วมันถอยตอนนี้ ไม่รู้คิดอะไรอยู่ คนเลวอย่างมัน ไม่มีวันบรรลุถึงความดีได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงแน่นอน พวกเราอย่าตั้งอยู่ในความประมาท ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเอาไว้ ไม่รู้มันมาเหลี่ยมไหน ไม่รู้ว่ายิ่งลักษณะจะลาออก จะยุบสภา พรุ่งนี้ มะรืนนี้เพื่อเอาการเลือกตั้งมาฟอกตัวเอง มันก็คิดว่ามันต้องชนะกลับมาเป็นรัฐบาลแน่นอน แล้วมันก็จะมาบอกว่าประชาชนตัดสินใจแล้วว่าพวกมันเป็นผู้บริสุทธิ์ ประตูนี้ก็น่ากลัวเหมือนกันเราก็ต้องติดตามและคิดร่วมก้นไปเรื่อยๆ

สุเทพ ปราศรัยด้วยว่าจะยังคงนัดชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย. โดยระบุว่า ยังกำหนดนัดหมายวันที่ 24 พ.ย. ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง นัดของเรานั้นสำคัญกว่าเรื่องอื่น เพราะนัดนี้เป็นนัดเพื่อชาติ ความชั่วช้าเลวทรามของระบอบทักษิณยังมีอีกเยอะเราจึงไม่สามารถปล่อยให้ระบอบทักษิณดำรงอยู่ได้ในแผ่นดินนี้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นให้ยึดมั่นในพันธะสัญญาใจของพวกเรา 24 พ.ย.นี้จะมาหลอมหัวใจล้านดวงให้เป็นหนึ่งเดียวสู้เพื่อประเทศไทย เราจะออกมาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยกัน เราจะออกมาชำระล้างความชั่วร้ายให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทยเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา

"หลังจากนี้ พี่น้องจะร่วมสร้างประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขอย่างสมบูรณ์แบบแท้จริง จะต้องช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ กติกา ให้กระบวนการเลือกตั้งทั้งหลาย เป็นกระบวนการบริสุทธิ์ ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ไม่เปิดโอกาสให้คนโกงชนะการเลือกตั้งอีกแล้ว" สุเทพกล่าว

"จะปิดประตูให้สนิท ไม่ให้ทุนสามานย์เข้ามาบริหารประเทศ แบบทักษิณ และตระกูลชินวัตรอีกแล้ว วันนั้นเราจะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นสภาประชาชน และจะเขียนกฎหมายที่ไม่สามารถเขียนได้ในสมัยที่มีสภาทาสอยู่ เช่น ต่อไปนี้จะเขียนกฎหมายใหม่ ถ้าใครโกงชาติ บ้านเมือง ทุจริต คอร์รัปชั่น จะไม่มีอายุความ หรือทำวันไหน ติดคุกวันนั้น"

"ผมเป็นนักการเมืองรัฐสภามา 35 ปี ถ้าไม่มีสภาที่ไม่มีประชาชนสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง ไม่มีทางออกกฎหมายประเภทแบบนี้ได้ แต่เพราะมันมีทาส มีขี้ข้า ที่คอยป้องกันรักษานายมัน จึงทำแบบนี้ได้ ดังนั้นเราจึงไปยื่นบัญชีถอดถอน ส.ส. เหล่านั้น" สุเทพกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ผ่าน คำวินิจฉัย 20 พ.ย. 2556

Posted: 20 Nov 2013 06:35 AM PST


 

รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ (ยกเว้นว่ามาตรา 309 ที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ) รัฐธรรมนูญกำหนดและมอบอำนาจ อธิปไตยของประเทศ ผ่าน 3 องค์กรหลัก คือ ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ แต่ ประชาชนบางส่วนคิดว่า พอได้ยินคำว่า ศาล จะนึกว่า ศาลอยู่เหนือองค์กรอื่นๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะทั้ง 3 องค์กร มีสถานะในการใช้อำนาจเท่าเทียมกัน หรือ ในระนาบเดียวกัน แต่ในบทบาทที่ต่างกัน

เช่นเดียวกับ ศาล รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น ศาลพิเศษ ที่อำนาจเฉพาะตามที่ รัฐธรรมนูญ "มอบอำนาจให้"เท่านั้น ศาลไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะไปทึกทักขยายอำนาจของตนเอง เพราะถ้าศาลทำแบบนั้น เท่ากับศาล เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่าง โดยอำนาจของประชาชนแต่เป็นอำนาจศาลด้วยตัวเอง

ในกรณีแรก ต้องชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (2554) กำหนดขั้นตอนการแก้ไขชัดเจน ใน มาตรา 291 โดย สมาชิกรัฐสภา ใช้อำนาจ หน้าที่ ในฐานะ สมาชิกขององค์กรรัฐสภาโดยรวม ไม่ได้ทำในนามพรรคการเมืองหนึ่งใด และ มาตรา 291 นี้ ไม่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเข้ามาตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เพราะถ้าศาล รัฐธรรมนูญ เข้ามาตรวจสอบ "อนุมัติ" หรือ "ไม่อนุมัติ" การแก้ไข เท่ากับเป็นการใช้อำนาจ เหนือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับ การใช้อำนาจอย่างชัดแจ้งของศาล ในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ ร่าง พ.ร.บ. ทั้งก่อนและหลังประกาศใช้ เพียงมีข้อห้าม 2ข้อเท่านั้นที่ห้ามทำคือ ห้ามแก้ไขระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ (จากรัฐเดี่ยว เป็นสหพันธรัฐ อย่างนี้เป็นต้น)

กรณีที่2 ศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่า ส.ส. และ ส.ว. กระทำผิด มาตรา 68 เพราะเป็นการใช้สิทธิในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการ ใช้คำแทนกันไม่ได้ ระหว่าง สิทธิและเสรีภาพ (ตามมาตรา 68) และ อำนาจ และหน้าที่ (ตาม มาตรา 291) เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น ตำรวจจับผู้ร้าย อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ผู้พิพากษาตัดสินคดี การกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจ และหน้าที่ ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ตำรวจ อัยการ และ ผู้พิพากษา ไม่ได้ใช้ "สิทธิ และเสรีภาพ" เช่นเดียวกับ สมาชิก รัฐสภา ที่จะต้องทำหน้าที่ที่ มาตรา 291 ระบุไว้อย่างชัดเจน และให้อำนาจในการแก้ไข "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" กรณีนี้อาจมีคนเถียงว่า ศาลตัดสินแล้วทำไม ไม่เคารพศาล ผมตั้งคำถามง่ายว่า ถ้า ศาลสั่งให้ นาย อภิสิทธิ์ ไปกระโดดน้ำตาย หรือ เลิกเล่นการเมือง ท่าน อดีต นายก จะทำไหม ดังนั้นที่ผ่านมาทุกคดีความที่เกี่ยวกับ พรรคเพื่อไทย และฝั่งของทักษิณ ทุกครั้ง พรรคของคุณ ทักษิณก็ปฏิบัติตาม คำตัดสินตลอด เพราะทุกฝ่ายยอมรับว่า ศาล รัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินได้ ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ "ศาลไม่มีอำนาจ"

กรณีที่ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ "ต้อง"ขัดกับรัฐธรรมนูญ เดิมอย่างชัดแจ้ง ไม่เช่นนั้น จะแก้ไขไปทำไม การที่ท่าน ตุลาการ กำหนด เงื่อนไขว่า การกำหนดคุณสมบัติ สว จะแตะไม่ได้ แปลว่า ท่านกำลังเขียน รัฐธรรมนูญ(ใหม่)ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ อ้างคำวินิจฉัย เพื่อผูกพันองค์กรอื่นและประชาชนทั้งประเทศ ทำให้เงื่อนไขนี้เป็นบทบัญญัติอันเป็นนิรันด์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ตลอดไป ซึ่งท่านต้องจำกัดตัวเองให้อยู่ในกรอบที่กฎหมายให้อำนาจท่านไว้ ไม่ใช่ว่า เรื่องใดๆที่เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ ท่านจะรับวินิจฉัยได้ทั้งหมด

รัฐบาล นายก ยิ่งลักษณ์ มีความผิดพลาดเองที่ไปยอมรับ "คำแนะนำ"ของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ "ก็ควรจะให้"มีการทำประชามติ เสียก่อนแต่ถ้าจะแก้รายมาตราก็สามารถทำได้ ครั้นพอจะแก้รายมาตรา มาวันนี้คงเห็นแล้วว่าก็แก้ไม่ได้ เพราะนั่นคือการสร้างความชอบธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่แล้วในฐานะองค์กรตุลาการ ให้สร้างอำนาจขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการของประชาชนใดๆทั้งสิ้น

ดังนั้น ผมจะคอยดูว่า สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 ท่าน จะกล้าหาญ และยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอทูลเกล้าไปแล้ว หรือ ท่านจะถอยและถอนร่าง แก้ไขนี้ออกจากขั้นตอนการทูลเกล้า และผมเสนอให้ท่านนำข้อเสนอ ของนิติราษฎร ที่ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่แทน เพราะคราวนี้ องค์กรศาลรัฐธรรมนูญเอง จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เนื่องจากสถานะและตำแหน่งของท่านจะสิ้นสุดลง ตุลาการทุกท่านจะไม่สามารถตัดสินร่างแก้ไขนี้ได้เพราะผลประโยชน์ขัดกัน


ปล.

(เคยคิดกันไหมครับ ว่า ทำไมทุกครั้งที่ ผู้ถูกร้อง อ้างว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มาจาก การปฏิวัติยึดอำนาจ และ ทำลาย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ทำลาย สภาผู้แทน วุฒิสภา และ ศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศ คมช. ฉบับที่ 3 ตุลาการรัฐธรรมนูญจะยึดหลักที่ว่า ถ้าผู้ยึดอำนาจ ได้สำเร็จถือว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ผลคือ ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และ พรรคพลังประชาชน และ พรรคเพื่อไทย ก็พยายามแก้รัฐธรรมนูญ คมช. มาโดยตลอด แต่ถูกยุบพรรคและ นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะคำว่า ลูกจ้าง เราเคยคิดไหมครับว่า การแก้ในระบบตาม ที่ ม 291 กำหนดไว้ กลับกลายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ เรายอมรับการรัฐประหาร โดยสดุดี เพราะเหตุใด?)


ปล 2. (โปรด อ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2554 หน้า 3จาก 4หน้า วรรค2 ว่า ศาล รัฐธรรมนูญชุดนี้ ระบุอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ นาย อภิสิทธิ์ เป็นไปตาม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 )

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วันเด็กสากล' ยูนิเซฟเรียกร้องอย่าเพิกเฉยความรุนแรงต่อเด็ก

Posted: 20 Nov 2013 05:35 AM PST

 

20 พ.ย.2556 ขณะที่ทั่วโลกกำลังฉลองวันเด็กสากลในวันนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ยูนิเซฟเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจกับเด็กหลายล้านคนทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการถูกทำร้าย ซึ่งยังเกิดขึ้นโดยปราศจากคนเหลียวแลและไม่มีการรายงานข่าว

"สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ การทำร้ายเด็กเกิดขึ้นในเงามืดของสังคม จับไม่ได้ ไม่มีข่าว และที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือมักได้รับการยอมรับ" แอนโทนี เลค ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูนิเซฟกล่าว

"เราทุกคนมีหน้าที่ต้องทำให้คนเห็นเด็กที่ไม่มีใครมองเห็น – เริ่มตั้งแต่รัฐบาลซึ่งต้องบังคับใช้กฏหมายห้ามไม่ให้มีการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่จะต้องไม่เพิกเฉยเมื่อพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการทำร้ายเด็ก"ผอ.ยูนิเซฟกล่าว

เขากล่าวอีกว่า การกระทำรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ รวมถึงการกระทำรุนแรงภายในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศและการลงโทษด้วยวิธีรุนแรง โดยมักพบในสถานการณ์สงครามและความขัดแย้ง โดยทำให้เกิดความบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเด็กๆ

"ความรุนแรงต่อเด็กมิเพียงทำให้เกิดบาดแผลกับเด็กแต่ละคนเท่านั้น หากยังเป็นการบ่อนทำลายโครงสร้างของสังคม มีผลกระทบต่อความสามารถในการผลิต คุณภาพชีวิตและความเจริญของสังคมโดยรวมอีกด้วย" เลคกล่าว "ไม่มีสังคมใดที่จะเพิกเฉยต่อความรุนแรงต่อเด็กได้" เลคกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีวิธีป้องกันและแก้ปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กอยู่ เช่น การให้ความช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ครอบครัว และผู้ดูแลเด็ก การสร้างเสริมทักษะให้แก่เด็กๆ ในการป้องกันตัวเองจากความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมที่ยอมรับเรื่องความรุนแรง ตลอดจนการบังคับใช้นโยบายและกฏหมายคุ้มครองเด็กอย่างจริงจัง และเมื่อต้นปีนี้ ยูนิเซฟ สำนักงานใหญ่ได้จัดทำโครงการ 'ยุติความรุนแรงต่อเด็ก' #ENDViolence Against Children เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ และสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่นเพื่อรับมือกับปัญหาระดับโลกนี้

ทั้งนี้ วันเด็กสากลเป็นสัญลักษณ์ของการก่อตั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 24 แล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา อนุสัญญาฯ นี้เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งให้ความคุ้มครองทางสิทธิมนุษยชนแก่เด็กทุกคน โดยระบุว่าเด็กทุกคนในทุกหนทุกแห่ง มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด เจริญเติบโตพัฒนา และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ ยูนิเซฟยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานของสายด่วนช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ (Child Helpline International – CHI) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกอันประกอบไปด้วยสมาชิกสายด่วน 173 สายใน 141 ประเทศ และฉลองครอบรอบปีที่ 10 ในวันนี้เช่นกัน ในรายงานที่เปิดเผยทั่วโลกวันนี้ CHI ระบุว่าความรุนแรง การทำร้ายและทอดทิ้งเด็ก เป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนติดต่อเข้ามาทางสายด่วน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17 ของสายที่ติดต่อเข้ามาทั้งหมดภายใน 10 ปีที่ผ่านมา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'รสนา' ระบุ ส.ส. - ส.ว. ต้องรับอำนาจ ศาล รธน. เหมือนยอมรับใบสั่งจราจร

Posted: 20 Nov 2013 02:33 AM PST

40 ส.ว. 'สมชาย แสวงการ' ชี้คำวินิจฉัยศาลทำให้เกิดดุลยภาพประชาธิปไตย 'สายล่อฟ้า' ชี้คำวินิจฉัยศาลสอนมวยแกนนำ นปช. ที่ปลุกระดมเสื้อแดงว่าจะยุบพรรค ทั้งที่ ปชป. ยื่นศาล รธน. ตีความเนื้อหา-กระบวนการแก้ขัด รธน. หรือไม่ พร้อมท้า 'ณัฐวุฒิ' ลาออก รมช. มานำชุมนุมเหมือน 'สุเทพ'

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยลงมติ 6 ต่อ 3 ว่าเนื้อหาการแก้ไขขัดรัฐธรรมนูญ และลงมติ 5 ต่อ 4 ว่ากระบวนการแก้ไขเช่น เอกสารประกอบการพิจารณา ระยะเวลาการแปรญัตติ การลงคะแนนแทนกัน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยกคำร้องการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) 

 

'เทพไท' ท้า 'ณัฐวุฒิ' ลาออก รมช. มานำการชุมนุมเหมือน 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' 

ปฏิกิริยาภายหลังศาลมีคำวินิจฉัยนั้น 16.00 น. ขณะเดียวกันในรายการสายล่อฟ้า ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Blue Sky Channel นั้น ศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา และผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ได้ฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ถือเป็นการให้ข้อคิดที่ดีแก่นักการเมืองในประเทศ เป็นการสอนมวยแกนนำเสื้อแดง ที่ปราศรัยที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานด้วย ว่าแต่ว่าจะฟังรู้เรื่องหรือเปล่า เพราะปราศรัยก่อนหน้านี้ว่าศาลจะยุบพรรค ทั้งที่ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้ยื่นให้ยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ แต่ยื่นในประเด็นที่ว่ากระบวนการแก้ไข รธน. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ยื่นให้ยุบพรรค

ส่วนเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ปล่อยให้หลงประเด็นไป ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิช ไปยืนอยู่หัวม็อบได้อย่างไร เพราะเป็นรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ณัฐวุฒิลาออก เหมือนกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ลาออกจาก ส.ส. เพื่อไปเป็นแกนนำการชุมนุม

ทั้งนี้ในรายการยังเปิดคลิปภาพ นริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ซึ่งเก็บบัตร ส.ส.ในพรรคไว้ 8 คน และดำเนินการเสียบบัตร โดยผู้ดำเนินรายการสายล่อฟ้าระบุว่าเป็นการเสียบบัตรช่วงลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

 

40 ส.ว. พอใจคำวินิจฉัยศาล รธน. หวังเป็นบรรทัดฐาน สร้างดุลยภาคประชาธิปไตย

นอกจากนี้คมชัดลึก รายงานความเห็นของกลุ่ม 40 ส.ว. โดย สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า บรรทัดฐานคำวินิจฉัยทำให้เกิดดุลยภาพในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ส่วนการดำเนินการต่อไปคงต้องดูอีกหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ การทุจริตต่อหน้าที่ใช้ผลประโยชน์ส่วนตนมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ยื่นต่อ ป.ป.ช.ไว้แล้ว

ส่วน รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กล่าวว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องรับผิดชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องตกไปตามคำสั่งศาล โดยต้องแสดงสปิริตด้วยการลาออก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการสลับให้สมาชิกคนอื่นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่สำหรับประเทศไทยสปิริตของนักการเมืองค่อนข้างต่ำและคงไม่แสดงความรับผิดชอบถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ

ส่วนกรณีที่ ส.ส.และ ส.ว.ไม่รับอำนาจศาลก็คงเห็นแค่วาทะกรรม เพราะในทางปฏิบัติเราต้องยอมรับแม้กระทั่งอำนาจตำรวจจราจรที่แจกใบสั่ง จะปฏิเสธไม่รับก็ไม่ได้ ส่วนตัวรู้สึกพอใจที่ร่างรัฐธรรมนูญหมดสภาพไปต่อไม่ได้ ส่วนจะทำอย่างไรจะต้องไปดูรายละเอียดคำวินิจัยซึ่งชัดเจนว่า ต้องมีการเช็คบิลรายตัวกับกลุ่ม ส.ส. และ ส.ว.ที่ดำเนินกระบวนการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนุญที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลรธน.ฟันธง ส.ว.สรรหา ใครอย่าแตะ - ผิด รธน.แต่ไม่ถึงยุบพรรค

Posted: 20 Nov 2013 12:06 AM PST

เปิดเนื้อหาละเอียด - ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขที่มาส.ว. ผิดรัฐธรรมนูญ ให้คง ส.ว.สรรหาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล - กระบวนการแก้ไขมิชอบหลายประการ แต่ไม่เข้าข่ายยุบพรรค พร้อมแสดงแนวคิดว่าด้วยหลักนิติธรรมและที่ทางของศาลรัฐธรรมนูญในระบบการเมือง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ) 

 

20 พ.ย.2556 เวลาประมาณ 13.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ โดยล่าช้าจากกำหนดเดิมไปราว 2 ชั่วโมง ท่ามกลางความสนใจของประชาชนและการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์แทบทุกช่อง  

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ชี้ว่าเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ (อ่านรายละเอียดเต็มด้านล่าง)  ส่วนกระบวนการในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประกอบการพิจารณา, ระยะเวลาในการเสนอคำแปรญัตติ, การลงคะแนนเสียงที่มีการลงคะแนนแทนกัน ก็ล้วนไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่ในส่วนคำร้องให้มีการยุบพรรคที่เกี่ยวข้องและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ยกคำร้องเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไข 

คำวินิจฉัยโดยละเอียดในส่วนของเนื้อหา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  มีดังนี้

"การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบโดยแก้ไขหลักการคุณสมบัติ ส.ว.หลายประการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวคือ ให้ ส.ว.สรรหาเข้ามาเป็นองค์ประกอบร่วมกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันเพื่อให้โอกาสกับประชาชนทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ของวุฒิสภาให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างรอบคอบ ทั้งยังกำหนดคุณสมบัติของส.ว.ให้เป็นอิสระจากการเมืองและสภาผู้แทนราษฎร เช่น ห้ามบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งของส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาเป็น ส.ว. และกำหนดเวลาห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองตำแหน่งทางการเมืองไว้เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น

รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ให้มีดุลยภาพระหว่างกันโดยกำหนดบทบาทของวุฒิสภาให้เป็นองค์กรตรวจทาน กลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ถ่วงดุลอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจตรวจสอบถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อไปในทางจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 270 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติห้ามความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังกล่าว หากส.ว.และส.ส.มีความสัมพันธ์กันย่อมไม่อาจคาดหวังได้ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาอันเป็นการขัดต่อหลักการดุลและคานอำนาจซึ่งกันและกัน อันเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยปรากฏแล้วในอดีต เป็นจุดบกพร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อสูญสิ้นศรัทธาและสามัคคีธรรมของหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัวหรือสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของปวงชนเพื่อที่จะทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา นำไปสู่การผูกขาดอำนาจและขาดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลากสาขาอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกปครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้กลับมีโอกาสได้อำนาจที่ไมได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงลงประชามติจากมหาชนชาวไทย

การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว อันเป็นที่มาเหมือนกับ ส.ส. จึงย่อมเป็นเหมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันอันเป็นลักษณะของสองสภาและทำให้สาระสำคัญของระบบสองสภาสูญสิ้นไป การแก้ไขให้คุณสมบัติของส.ว.เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองหรือส.ส.ย่อมทำให้หลักการตรวจสอบอำนาจและถ่วงดุลซึ่งกันและกันของรัฐสภาต้องสูญเสียไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมอำนาจเหนือรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลกัน อันเป็นกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดทางให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการครั้งนี้ ได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นอกจากนี้การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญในมาตรา 11 และมาตรา 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกระบวนการการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. ที่จะบัญญํติขึ้นใหม่ โดยเมื่อรัฐธรรมนูญมีการประกาศใช้กม.ที่ปรับปรุงดังกล่าวโดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมูญเสียก่อน ซึ่งขัดกับหลักการดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจโดยอาศัยเสียงข้างมากปราศจากการตรวจสอบ

อาศัยเหตุดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จึงวินิจฉัยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, มาตรา 126 วรรคสาม มาตรา 251 และมาตรา 302 และวินิจฉัยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า มีเนื้อความที่เป็นหลักการสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 อันเป็นการกระทำให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 50 ฝ่าฝืนมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ส่วนที่ผู้ร้องให้ยุบพรรคทีเกี่ยวข้องและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการพรรคเหล่านั้นเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ม.68 วรรคสามและวรรคสี่ จึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้"

คำวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการ พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

1) เอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำมาให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 เป็นคนละฉบับกับร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้เสนอร่างและคณะ ยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างที่จัดพิมพ์ใหม่ที่มีข้อความแตกต่างจากร่างเดิมหลายประการในหลักการ โดยเพิ่มเติมมาตรา 116 วรรค 2 และวรรค 1 ของมาตรา 141 มีผลให้ ส.ว. ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลงสามารถสมัครส.ว.ได้อีกไม่รอให้พ้น 2 ปี เป็นลักษณะการดำเนินการที่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง ไม่แจ้งความจริงว่าได้จัดทำร่างขึ้นใหม่ให้สมาชิกรัฐสภาทราบทุกคน มีผลเท่ากับว่าการดำเนินการในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่วไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรค 1  

2) การกำหนดวันแปรกญัตติ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การอภิปรายแสดงความเห็นในการบัญญัติกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกรัฐสภา แต่ปรากฏว่า ในวาระที่หนึ่งและสองประธานในที่ประชุมได้ตัดสิทธิผู้อภิปรายและผู้สงวนคำแปรญญัติถึง 50 กว่าคน แม้การปิดการอภิปรายจะเป็นดุลยพินิจประธานการประชุม แต่การใช้ดุลยพินิจและเสียงข้างมากต้องไม่ตัดสิทธิของการทำหน้าที่ของเสียงข้างน้อย นอกจากนี้การนับระยะเวลาในการแปรญัตติไม่ถูกต้อง ประธานได้กำหนดเวลายื่นญัติภายใน 15 วันหลังสภารับหลักการ แทนที่จะเป็น 15 วันหลังจากการลงมติเพื่อเลือกว่าจะใช้เวลา 15 วันหรือ 60 ตามที่มีผู้เสนอ ส่งผลให้เหลือเวลาเสนอคำแปรญัติเพียง 1 วัน เห็นว่า การนับเวลาไม่อาจนับย้อนหลังได้ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติ เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคหนึ่งและสอง ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสองด้วย 

3) การลงคะแนนเสียง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ร้องมีประจักษ์พยานและวิดีทัศน์ ให้เห็นชัดเจนว่า มีสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนแทนผู้อื่น โดยใช้บัตรแสดงตนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนครั้งละหลายใบ หมุนเวียนเข้าไปในเครื่องอ่านบัตรติดต่อกันหลายครั้ง การดำเนินการดังกล่าวนอกจากละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดหลักการให้สมาชิกมีเพียงหนึ่งเสียง มีผลให้เป็นการออกเสียงที่ไม่ชอบ 

สำหรับประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยหรือไม่นั้น ศาลระบุว่า

ประเทศที่นำเอาระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์และมุ่งหมายที่จะออกแบบหรือสร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในอันที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อีกทั้งสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง เพื่อให้เกิดดุลยภาพในการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่แบ่งออกเป็น 3 อำนาจคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ

เจนตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะให้องค์กรหรือสถาบันทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องชอบธรรมมีความเป็นอิสระและซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองใดบิดเบือนใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปราศจากความชอบธรรมทุกรูปแบบ อีกทั้งไม่ประสงค์ที่จะให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองหยิบยกหมวดกฏหมายใดมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนค้ำจุนในอันที่จะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้องจากการใช้อำนาจนั้นๆ

อย่างไรก็ดีภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้จะให้ถือเอามติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่หากละเลยหรือใช้อำนาจอำเภอใจกำขี่ข่มเห่งฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ฟังเหตุผลและขาดหลักประกัน ย่อมทำให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่มีที่อยู่ที่ยืนตามสมควรแล้วไซ้จะถือว่าเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร หากแต่จะกลายเป็นรระบอบเผด็จการฝ่ายข้างมาก ขัดแย้งต่อระบอบการปกครองของประเทศไปอย่างชัดแจ้ง ซึ่งหลักการพื้นฐานสำคัญนี้ได้รับการยืนยันมาโดยตลอดว่า กรณีต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจบิดเบือนหรืออำนาจตามอำเภอใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยไม่ตั้งมั่นอยู่บนหลักการแบ่งการแยกการใช้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจของปวงชนชาวไทย เพื่อให้แต่ละองค์กรหรือสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจอยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบและถ่วงดุล เพื่อทัดทานและคานอำนาจซึ่งกันและกันได้อย่างเหมาะสม มิใช่แบ่งแยกให้เป็นพื้นที่อิสระของแต่ละฝ่ายที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลแล้ว ย่มเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายและนำพาประเทศชาติให้เกิดเสื่อทรุดลงเพราะความผิดหลงและมัวเมาในอำนาจของผู้ถืออำนาจรัฐ ซึ่งในการนี้อาจกล่าวได้ว่าองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือศาล ล้วนถูกจัดตั้งขึ้นหรือได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้จึงต้องถูกจำกัดการใช้อำนาจทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา กรณีจึงมีผลให้การใช้อำนาจขององค์กรทั้งหลายเหล่านี้ไม่สามารถที่จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้

โดยเหตุนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงได้นำหลักนิติธรรมมากำกับการใช้อำนาจของทุกฝ่ายทุกองค์กรและทุกหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้หลักการที่ว่านอกจากการใช้อำนาจตามบทกฏหมายที่มีอยู่ทั่วไปแล้วยังต้องใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรมด้วย กรณีจึงใช้การปฏิบัติตามกฏหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือหลักเสียงข้างมากแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมควบคู่ไปด้วย การใช้หลักเสียงข้างมากโดยมิได้คำนึงเสียงข้างน้อยเพื่อหยิบยกมาสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของผู้ใช้อำนาจท่ามกลางความทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มบุคคลกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชนโดยรวม และการใดก็ตามที่จะนำมาซึ่งความเสียหายและความเสื่อมโทรมของประเทศชาติหรือการวิวาทบาดหมายและแตกสามัคคีอย่างรุนแรงระหว่างประชาชน การนั้นย่อมขัดกับหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ 2550  ตามนัยมาตรา 68 

หลักนิติธรรมถือเป็นแนวทางในการปกครองที่มาจากหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติอันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ปราศจากอคติโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง หลักนิติธรรมจึงเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฏหมายที่อยู่เหนือบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งรัฐสภาก็ดี คณะรัฐมนตรีก็ดี ศาลก็ดี รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐก็ดีจะต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ส่วนหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน มิใช่ของแบบแนวความคิดของบุคคลคนใดหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และมิใช่การปกครองที่อ้างอิงแต่ฐานอำนาจมาจากระบบการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังมีองค์ประกอบสำคัญอีกหลายประการ มีองค์กรหรือสถาบันในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมักอ้างอยู่เสมอว่าตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาปฏิบัติ หาใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวมภายใต้หลักนิติธรรมไม่

เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้งหรือชนะการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฏหมายอันเป็นปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอันที่จะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้งโดยปริยาย โดยหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันทางสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฏหมายและใช้บังคับกฏหมายและการตีความกฏหมายทั้งปวง

เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วเห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องใช่สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนุญมาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องได้ทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

 

ที่มาคดี

สำหรับคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่นั้น มีสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิยื่นตีความ หลังจากที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเห็นชอบ 358 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง

คำร้องดังกล่าว "พรรคประชาธิปัตย์" และ"กลุ่ม 40 ส.ว." ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประกอบด้วยคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ คำร้องของ รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กับคณะ คำร้องของ วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และ คำร้องของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งรวมคำร้องทั้ง 4 ไว้เป็น 1 สำนวน 

ผู้ร้องนอกจากขอให้ศาลฯวินิจฉัยให้ร่างแก้ไขเป็นอันตกไปแล้ว ยังขอให้ศาลสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 5 พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส.และส.ว.รวม 312 คน ที่โหวตแก้ไขด้วย

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี จรูญ อินทจาร เป็นประธาน ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง มีพยานเข้าไต่สวนรวม 8 ปาก ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา, รสนา โตสิตระกูล และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ , รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม, นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง

ขณะที่ ปฏิพล อากาศ ทนายความรับมอบอำนาจจาก สุรเดช จิรัฐติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ผู้ถูกร้องที่ 293 เข้าร่วมการไต่สวน ส่วนสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาผู้ถูกร้องอีก 311 คน ปฎิเสธการเข้าร่วมไต่สวน นอกจากนี้ ศาลฯ ยังได้เรียก สุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ อัจฉรา จูยืนยง ผู้อำนวยการกลุ่มงานโสตทัศนูปกรณ์ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นพยานของศาลเข้าไต่สวนด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขสมก.เปิดตัว “รถเมล์ปลอดภัย” ขจัดการคุกคามทางเพศต่อสตรี

Posted: 19 Nov 2013 09:39 PM PST

ขสมก. ร่วมแคมเปญระดับสากลกับยูเอ็นวีเมน รุดหน้าสร้างพื้นที่โดยสารปลอดการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงและเด็ก

 
20 พฤศจิกายน 2556  องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมโครงการ "รถเมล์ปลอดภัย" หรือ "ออเร้นจ์ยัวเจอร์นี่ย์" (Orange Your Journey) หนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ระดับสากลของยูเอ็นวีเม่น (UN Women) และยูไนท์แคมเปญเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงของเลขาธิการสหประชาชาติ (UNiTE Campaign to End Violence against Women) เพื่อขจัดการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กบนรถโดยสารประจำทางจำนวน 3,509 คัน
 
จากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร โดยการสนับสนุน ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ได้ดำเนินกิจกรรม "รณรงค์ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยคุกคามทางเพศบนรถขสมก." มาอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ ขสมก. ได้เข้าร่วมกับยูเอ็นวีเมน (UN Women - องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ) ด้วยการเชื่อมโยงกิจกรรมสู่เป้าหมายสากลในการยุติความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง
 
ขสมก. ได้จัดฉายภาพยนตร์สั้นพร้อมแจกแผ่นพับและสติกเกอร์รณรงค์หยุดพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ   ซึ่งประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง รวมทั้งพนักงานเก็บค่าโดยสารเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะพบกับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ และเพื่อให้สังคมไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำดังกล่าว ได้ร่วมกันสอดส่องและดูแลไม่ให้เกิดปัญหาคุกคามทางเพศขึ้น  พร้อมกับเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพนักงานขสมก.ที่เป็นอาสาสมัครในการช่วยระวังสอดส่องพฤติกรรมเหล่านี้ หรือ เป็น "ตาสับปะรด" เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางเพศทั้งในที่ทำงานอู่จอดของขสมก.ทั้ง 8 เขต และบนรถโดยสารประจำทางที่ขสมก. มีเส้นทางเดินรถอยู่ 114 เส้นทาง
 
นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ขสมก. ขยายพื้นที่ความปลอดภัยสู่ประชาชนผู้ใช้บริการเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการบริการรถโดยสารสาธารณะ และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะมอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม
 
นางโรเบอร์ต้า คล้าค ผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนต้องได้รับความปลอดภัยในการบริการสาธารณะ
 
ทั้งนี้ กิจกรรมรณรงค์เพื่อให้สังคมและคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องตื่นตัวและไม่นิ่งเฉย โดยพนักงานขสมก.ได้แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน โดยในการฝึกอบรมนั้นได้จำแนกพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศไว้ ไม่ว่าจะโดยทางสายตา ทางคำพูดหรือการสัมผัส เช่น ลูบมือ จับสะโพก หรือพูดจาลวนลาม เป็นต้น   ทั้งนี้จะมีการติดสติกเกอร์หยุดการคุกคามทางเพศในรถขสมก. และท่าปล่อยรถทุกแห่ง รวมทั้งนำภาพยนตร์สั้นเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและระมัดระวังต่อปัญหาดังกล่าว.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณ์เผย เตรียมยื่นร้องศาลรธน. วินิจฉัย พ.ร.บ. สองล้านล้าน

Posted: 19 Nov 2013 09:22 PM PST

20 พ.ย. 2556 นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เผยเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้าน หลังจากวุฒิสภาได้ลงมติผ่านร่างฯ ดังกล่าวเมื่อประมาณตีสามที่ผ่านมา

โดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโพสต์ข้อความลงในเพจ Korn Chatikavanij ว่า "เมื่อคืนตอนประมาณตีสาม วุฒิสภาฯได้ผ่านกฎหมายกู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท และเพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการเสียโอกาสตามกฎหมาย เราจึงได้ยื่นเอกสารร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกัน สรุปสุดท้าย มีวุฒิสมาชิกหลายคนเรียกร้องเหมือนที่พวกผมเคยเรียกร้อง ให้มีการระบุโครงการที่ชัดเจนลงไปในกฎหมาย และให้นำเงินกู้เข้าสู่ระบบงบประมาณเพื่อความรัดกุม แต่ทั้งหมดได้รับการปฏิเสธโดย 'เสียงข้างมาก'

"ผมยืนยันเช่นเดิมครับ ว่าถ้าออกกฎหมายแบบนี้ได้ ระบบวินัยทางการคลังของเราที่ปฏิบัติกันมายาวนาน จะล่มสลายและเสี่ยงต่อการนำประเทศไปสู่วิกฤตอย่างปฏิเสธไม่ได้"
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น