โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เผยสถิติวันสุขาโลก ประชากร 15% ยังไม่ได้ใช้ห้องน้ำ

Posted: 19 Nov 2013 09:21 AM PST

19 พ.ย. 2556  องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำหนดให้วันที่ 19 พ.ย. ของทุกปีถือเป็นวันห้องสุขาโลกเพื่อส่งเสริมเรื่องสุขอนามัยการขับถ่ายและให้ประชากรในที่ต่างๆ ของโลกสามารถเข้าถึง 'ห้องสุขา' ที่สะอาดได้ โดยการมีสุขาที่สะอาดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวบุคคลและสังคมโดยรวม เช่นในเรื่องสุขภาพ การเพิ่มผลผลิตในการทำงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มูลค่าของทรัพย์สิน และการท่องเที่ยว

สำนักข่าวอัลจาซีรานำเสนอแผนภาพอินโฟกราฟฟิก แสดงสถิติการเข้าถึงสุขาจากการสำรวจทั่วโลก มีประชากร ราว 1,800 ล้านคนสามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่พัฒนาแล้ว ประชากรราว 2,500 ล้านคน สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่มีการพัฒนาในบางด้าน ขณะที่ประชากรอีกราวร้อยละ 15 ยังคงขับถ่ายในพื้นที่เปิด

แผนภาพระบุอีกว่าประชากรที่ยังคงขับถ่ายในพื้นที่เปิดมีร้อยละ 80 มาจากประเทศเอเชียใต้ และภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮาร่า โดยในประเทศกลุ่มแอฟริกาใต้ซาฮาร่ามีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ยังไม่มีระบบสุขาภิบาลที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

ข้อมูลสถิติในแผนภาพซึ่งอ้างอิงจากยูเอ็นและองค์การอนามัยโลกยังได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องระหว่างเรื่องสุขาภิบาลกับมิติชีวิตด้านอื่นๆ เช่น เรื่องที่บันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าการมีห้องน้ำในโรงเรียนจะทำให้มีเด็กผู้หญิงเข้าเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11, ระบบสุขาที่แย่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของรัฐลดลงร้อยละ 7.2 และมีเด็กเสียชีวิตด้วยโรคท้องร่วง 800,000 รายทุกปี

"การขาดระบบสุขาภิบาลที่ดีทำให้มีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 2,000 คนจากโรคท้องร่วง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อประชากรพิการ และประชากรผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำทางเพศ" ยูเอ็นระบุในเว็บไซต์

เว็บไซต์ยูเอ็นระบุอีกว่า ระบบสุขาภิบาลและระบบการประปาที่ไม่ดียังทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจปีละ 260,000 ล้านบาท

"ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในโลกสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือได้แล้ว แต่หนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด (ราว 2,500 ล้านคน) ยังคงเข้าไม่ถึงระบบสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำหรือสุขา ซึ่งมีสิ่งเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, เรื่องความปลอดภัย, สิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม" ยูเอ็นระบุ

ด้วยเหตุนี้ยูเอ็นจึงมีข้อมติว่าด้วย "สุขาภิบาลในทุกด้าน" (Sanitation for All) ซึ่งมีการรับรองมติดังกล่าวนี้ในการประชุมสมัชชาใหญ่เมื่อเดือน ก.ค. 2556 โดยได้กำหนดให้วันที่ 19 พ.ย. เป็นวันสุขาโลก

อินโฟกราฟิกของอัลจาซีราระบุอีกว่า นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา การขับถ่ายในที่โล่งลดลงอย่างมาก โดยในปี 2533 ประชากรในพื้นที่เขตเมืองสามารถเข้าถึงสุขาภิบาลที่มีการพัฒนาแล้ว 1,736 ล้านคนจากทั้งหมด 2,269 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76.5 ขณะที่ในปี 2554 มีประชากรในเขตเมืองที่สามารถเข้าถึงสุขาภิบาลที่มีการพัฒนาแล้ว 2,887 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 3,615 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80

 

เรียบเรียงจาก

World Toilet Day, UN
https://www.un.org/en/events/toiletday/

World Toilet Day: Flushed with success, Aljazeera, 19-11-2013
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2013/11/world-toilet-day-flushed-with-success-2013111910736178467.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ตั้ง 39 กรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

Posted: 19 Nov 2013 09:14 AM PST

ครม.มีมติแต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จำนวน 39 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.นี้

19 พ.ย.56 คณะรัฐมนตรี มีมติแต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามข้อเสนอของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 39 คน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2556 เป็นต้นไป รายชื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งตามเป็นกรรมการตามมติ ครม.มีดังนี้

1. สาขาการแพทย์และการสาธารณสุข ศาสตราจารย์บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส, ศาสตราจารย์อาวุธ ศรีศุกรี และนายวิชัย โชควิวัฒน

2. สาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ  เศรษฐบุตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, นางจิราพร บุนนาค, นายประวิทย์ สุขวิบูลย์ และนายพรชัย ด่านวิวัฒน์

3. สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเกษตร ศาสตราจารย์กิตติคุณพีระศักดิ์ จันทร์ประทีป, ศาสตราจารย์พิเศษสันทัด โรจนสุนทร, ศาสตราจารย์เกษม จันทร์แก้ว, ศาสตราจารย์ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล, ศาสตราจารย์สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ และศาสตราจารย์สุนทร มณีสวัสดิ์
  
4. สาขาเศรษฐกิจ และการคลังของประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษชมเพลิน จันทร์เรืองเพ็ญ, รองศาสตราจารย์ธวัชชัย สุวรรณพานิช, รองศาสตราจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร, รองศาสตราจารย์สหธน รัตนไพจิตร และนางสาวภัทรา สกุลไทย

5. สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย พลเอก สุพิทย์ วรอุทัย, ศาสตราจารย์เกียรติคุณเทพ หิมะทองคำ, ศาสตราจารย์พิเศษเรวัต ฉ่ำเฉลิม, ศาสตราจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์, รองศาสตราจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์, รองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราโมทย์ ประจนปัจจนึก, ร้อยโท วิรัช พันธุมะผล, นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์, นายชัยรัตน์ มาประณีต, นายธรรมรักษ์  การพิศิษฎ์, นางธิดา ศรีไพพรรณ์, นางแน่งน้อย วิศวโยธิน,  นายพีรพล ไตรทศาวิทย์, นายพูลประโยชน์ ชัยเกียรติ, นางมัลลิกา คุณวัฒน์, นายวัฒนา รัตนวิจิตร, นายศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล และนายสุพจน์ ไพบูลย์

ทั้งนี้ การแต่งตั้งกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นไปตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540  หมวด 6 มาตรา 35-39 ที่ว่าด้วยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มนุษย์เงินเดือนได้เฮ ครม.ลดภาษี เริ่มปีหน้า

Posted: 19 Nov 2013 08:42 AM PST

ครม.อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก.ว่าด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35 คาดมนุษย์เงินเดือนได้ประโยชน์

19 พ.ย.56 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมลงจากเดิมสูงสุดที่ร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 35 และปรับเพิ่มขั้นอัตราการคำนวณภาษีเงินได้จากเดิม 5 ขั้นเป็น 7 ขั้น

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ การปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการคำนวณเงินได้สุทธิจาก 5 ขั้นอัตรา เป็น 7 ขั้นอัตรา และลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากอัตราสูงสุดร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.2557 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นางเบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการคำนวณภาษีในอัตราใหม่จะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์จากขั้นอัตราการคำนวณภาษีที่ถี่ขึ้น ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยชำระภาษีในอัตราลดลงร้อยละ 5-50 จากอัตราภาษีเดิม และอัตราภาษีใหม่จะส่งผลให้รัฐบาลจะเสียรายได้ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐบาลเห็นว่าผลประโยชน์จะกลับคืนสู่ประชาชนผู้เสียภาษี

เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า การเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 1 ม.ค.ปีหน้านั้น ผู้ที่มีรายได้อยู่ในขั้นที่ 1 ผู้มีเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี มีทั้งสิ้น 6.5 ล้านคน ผู้มีรายได้ 300,001-500,000 บาท มีผู้เสียภาษีทั้งสิ้น 1.4 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 4 ล้านบาท มีเพียง 2 หมื่นคน ซึ่งการปรับอัตราภาษีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อพนักงานเงินเดือนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ต้องเสียภาษี
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาชิกรัฐสภา 312 คน ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

Posted: 19 Nov 2013 08:10 AM PST

ส.ส. - ส.ว. 312 คนแถลงคัดค้านและไม่ยอมรับอำนาจศาล รธน. ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา และการรับคำร้องของศาล รธน. เป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ

19 พ.ย. 2556 - สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้  (19 พ.ย.) ว่า สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมลงชื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. 312 คน นำโดยนายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และนายกฤช อาทิตย์ แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร แถลงข่าว "คัดค้านและไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" ที่เตรียมวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ขัดมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่เนื่องจากเชื่อมั่นว่า สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภาที่สามารถทำได้ ตามมาตรา 291 โดยไม่มีข้อบัญญัติของกฏหมาย ให้อำนาจศาลวินิจฉัย ซึ่งเห็นว่า การรับคำร้องไว้วินิจฉัย เป็นการก้าวล่วงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และกังวลว่า อาจมีการขยายอำนาจให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจกลายเป็นปัญหาให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย

ทั้งนี้ หากศาลวินิจฉัยทางหนึ่งทางใด จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย แต่จะยังไม่แสดงท่าทีอื่นใด รวมถึงการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย

สำหรับแถลงการณ์สมาชิกรัฐสภา "เรื่อง แจ้งเหตุผลการปฏิเสธและไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" มีใจความระบุว่า

"ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาหลายคดีด้วยกัน ซึ่งสมาชิกรัฐสภาอันประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ผู้ถูกร้องได้ปฏิเสธและไม่รยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคดีไว้พิจารณาดังกล่าว โดยไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนุญอันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปนั้น"

"ข้าพเจ้าทั้งหลายในนามของผู้แทนปวงชนชาวไทย ขอแถลงการณ์มายังพี่น้องประชขาชนที่เคารพทุกท่าน เพื่อชี้แจงเหตุผลแห่งการไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้"

"1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งแตกต่างจากการตราพระราชบัญญัติทั่วไป"

"2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็น มาตร 190 การแก้ไขที่มาของ ส.ว. หรือเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตาม มาตรา 23/ ไม่อยู่ในข้อห้ามของการแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนจูญมาตรา 291 วรรคสอง รัฐสภาย่อมสามารถดำเนินการได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นอำนาจของรัฐสภาที่สามารถดำเนินการได้"

"3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอันจะอยู่ในบังคับ มาตรา 68 วรรคแรก ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบและวินิจฉัยได้ แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาพและสมาชิกรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจไว้"

"4. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากตาม มาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ผู้ทราบผลการกระทำจะต้องยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน"

"5. การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าตนเองมีอำนาจรับคำร้องได้โดยตรงนั้น เป็นการทำลายหลักการและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ที่กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้อง กรณีจึงถือว่าศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอันเป็นขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง และส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด"

"นอกจากนี้การตีความขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ถือเป็นการใช้อำนาจตุลาการล่วงล้ำ แทรกแซงการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อันนับเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

"ดังนั้น หากยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายเขตอำนาจของตนเองเรื่อยไป อันมีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเอง"

"ดัวยเหตุดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาจึงไม่ยอมรับอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้  จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน สมาชิกรัฐสภา 18 พฤศจิกายน 2556"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พนักงานบริษัทเวียร์ โลจิสติกส์ กว่าร้อยคนชุมนุมเรียกร้องบริษัทให้กลับเข้าทำงาน

Posted: 19 Nov 2013 05:23 AM PST

พนักงานบริษัทเวียร์ โลจิสติกส์ กว่าหนึ่งร้อยคน ชุมนุมหน้าสำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี เรียกร้องให้นายจ้างรับพนักงานกลับเข้าทำงาน หลังจากชุมนุมประท้วงการเลื่อนจ่ายเงินโบนัสของบริษัทออกไปถึงเดือนเมษายน โดยไม่มั่นใจว่าจะได้ ถ้าไม่เป็นผลจะฟ้องเอาผิดตามกฎหมายแรงงาน


       
19 พ.ย. 2556 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่หน้าสำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี พนักงานบริษัทเวียร์ โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกระจายสินค้าประเภทอะไหล่รถยนต์ให้แก่รถยนต์ยี่ห้อดังหลาย ยี่ห้อ จำนวน 105 คน ชุมนุมเรียกร้องเงินโบนัสจากนายจ้าง ที่เลื่อนจ่ายตามปกติจากเดือนธันวาคม ไปเป็นเดือนเมษายน ทำให้พนักงานลูกจ้างหลายคนไม่พอใจ จึงสอบถามไปยังนายจ้าง แต่ไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ ทำให้พนักงานที่ไม่พอใจรวมตัวเรียกร้องต่อนายจ้างมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่บริเวณหน้าบริษัท
       
โดยเสนอข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน 2.ให้จ่ายโบนัส 3.จ่ายเงินเดือนขั้นต่ำให้แก่พนักงาน 4.ให้เปลี่ยนมาปรับเงินเดือนในเดือนมกราคม แทนเดือนเมษายน ซึ่งถ้าหากการเจรจาไม่เป็นผลก็จะยกระดับการชุมนุม ด้วยการฟ้องร้องนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน และจะชุมนุมกดดันนายจ้างต่อไป
       
นายมงคล ยางงาม คณะทำงานสหภาพกลุ่มอมตะแวลโกว์ เปิดเผยว่า การชุมนุมในครั้งนี้เกิดจากพนักงานบริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยนายจ้างไม่จ่ายรายได้ขั้นต่ำ รวมทั้งประกาศเลื่อนจ่ายโบนัสตามปกติ จากในเดือนธันวาคมปี 2556 เป็นเดือนเมษายน 2557 ซึ่งไม่รับปากว่าจะได้เงินโบนัสด้วยหรือเปล่า ทำให้พนักงาน 117 คน ไม่พอใจ จึงชุมนุมประท้วงหน้าบริษัทในวันที่ 5 พฤศจิกายน ทำข้อเรียกร้องให้นายจ้างพิจารณาแต่ไม่เป็นผล
       
พร้อมทั้งยังเลิกจ้างพนักงานทั้ง 117 คนอีกด้วย ต่อมา ได้มีพนักงาน 12 คนยอมกลับเข้าทำงาน จึงเหลือพนักงานอีก 105 คน ที่ไม่ยอมกลับเข้าทำงาน ซึ่งยังมีการเจรจากับนายจ้างอีกหลายครั้ง แต่ไม่ได้ข้อสรุป วันนี้จึงมารวมตัวประท้วงกันที่หน้าแรงงานจังหวัดชลบุรี โดยจะนัดไกล่เกลี่ยกับนายจ้าง ซึ่งถ้าไม่ได้ตามข้อเรียกร้องให้รับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานตามเดิม ก็จะฟ้องร้องตามกฎหมายแรงงานต่อไป รวมทั้งจะยกระดับการชุมนุมอีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วุฒิสภาพิจารณา พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านเป็นวันที่สอง

Posted: 19 Nov 2013 04:46 AM PST

วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านโดยอภิปรายรายมาตรา หลังจากวันแรกอภิปรายได้ 3 มาตรา วันนี้อภิปรายได้ถึงมาตรา 6

19 พ.ย. 2556 - สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า ประชุมวุฒิสภาวันนี้ (19 พ.ย.) เป็นวันที่ 2 ของการพิจารณา "ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท" วาระ 2 เป็นรายมาตรา

หลังจากเมื่อวานนี้(18 พ.ย.) ที่ประชุมพิจารณาผ่านความเห็นชอบถึงมาตรา 3 โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบเพิ่มถ้อยคำว่า "โครงการ" ด้วยคะแนน 63 ต่อ 53 เสียง ยึดตามร่างที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่มีถ้อยคำดังกล่าว ส่วนคำว่า"แผนงาน" เห็นด้วยไม่แก้ไขนิยามศัพท์ ด้วยคะแนน 87 ต่อ 27 เสียง ส่วนคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" เห็นชอบไม่แก้ไขด้วยคะแนน 84 ต่อ 24 เสียง ส่วนคำว่า "ยุทธศาสตร์" "หน่วยงานเจ้าของโครงการ" ผู้สงวนคำแปรญัตติได้ถอนคำเหล่านั้นออกไป

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ประธานสั่งพักการประชุมในเวลา 20.00 น. และการนัดประชุมในวันนี้(19 พ.ย.) จะเป็นการอภิปรายต่อมาตรา 4 ที่ระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ในการอภิปรายวันนี้ ที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นในมาตรา 6 กว่า 7 ชั่วโมง ซึ่ง สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ เนื่องจากเกรงว่า ถ้าไม่มีการส่งเงินคืนเข้าสู่คลังนั้น อาจจะทำให้มีการทุจริต ไม่สามารถตรวจสอบได้ จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติผ่านมาตรา 6 โดยให้คงไว้ตามร่างเดิมไม่มีการแก้ไข ด้วยคะแนน 68 ต่อ 44 เสียง

โดยนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในวันนี้จะพิจารณาถึงเวลา 24.00 น. และจะพักการประชุม ไปพิจารณาต่อในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโทรคมนาคม

Posted: 19 Nov 2013 04:05 AM PST

19 พ.ย. 2556 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม ที่สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 กรุงเทพฯ
            
สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมายในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางเลือกจากการใช้บริการโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมแห่งแรกในประเทศอาเซียน โดยคู่กรณีได้แก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียนสามารถเข้าถึงบริการไกล่เกลี่ยได้โดยง่าย และจะเป็นช่องทางให้สามารถสื่อสารกับสังคมทั่วไปได้อย่างสะดวกอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ยุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคม ที่ได้กำหนดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยที่มีหลักเกณฑ์วิธีการและกลไกจัดการปัญหาของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม   

สุทธิพล ระบุว่า เมื่อ กสทช.ประมูล 3G สำเร็จ ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมขยายตัวอย่างรวดเร็วและประชาชนได้รับบริการโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีบริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น ก็ย่อมมีจำนวนข้อพิพาทเกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น ทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทตามช่องทางปกติไม่สามารถรองรับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุทธิพล ระบุว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมเป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกเหนือจากช่องทางระงับข้อพิพาทตามปกติที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากลว่าเป็นวิธีการที่ดีและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อให้คู่กรณีสามารถตกลงกันได้ ทั้งนี้ผู้ไกล่เกลี่ยจะไม่ได้เป็นผู้ตัดสินชี้ถูกชี้ผิด จึงทำให้ข้อพิพาทสามารถตกลงกันได้ด้วยความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมไม่ได้เข้ามาแทนที่การระงับข้อพิพาทตามช่องทางปกติ เนื่องจากหากไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่สำเร็จ หรือหากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่สมัครใจที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยฯ เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ โดยเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป แต่หากคู่กรณีสมัครใจเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย จะมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย

สุทธิพล กล่าวอีกว่า นับเป็นมิติใหม่ของการระงับข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมโดยการนำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องเรียนและผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอย่างเป็นระบบครั้งแรก เป็นการเพิ่มช่องทางวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกให้กับผู้บริโภค

โดยผู้บริโภคสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)  เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน 8 (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2271 0151 - 60 (ในวันและเวลาราชการ)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม. มีมติจ่ายเงินดำรงชีพผู้ได้รับผลกระทบ 14 ตุลาคม 2516

Posted: 19 Nov 2013 04:04 AM PST

มติ ครม. จ่ายเงินช่วยเหลือดำรงชีพ เดือนละเจ็ดพัน ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยสิทธิรับเงินชดเชยไม่ตกทอดถึงทายาท โดยรองโฆษก ครม. ระบุเป็นการเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

19 พ.ย. 2556 - เว็บไซต์ของรัฐบาลไทยวันนี้ (19 พ.ย.) รายงานเรื่อง มติ ครม. โดยเรื่องหนึ่งที่มีการพิจารณาคือ คณะรัฐมนตรีมีการพิจารณาเรื่องที่ สมาคมญาติและวีรชน 14 ตุลา 16 ขอให้พิจารณาจ่ายเงินดำรงชีพแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 (ฝ่ายสังคมและกฎหมาย) ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2556 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ประธานกรรมการเสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการจ่ายเงินดำรงชีพรายเดือนเป็นครั้งสุดท้ายแก่วีรชน 14 ตุลาคม 16 หรือทายาทของวีรชนและค่าจัดการศพกรณีวีรชน 14 ตุลา 16 ที่เสียชีวิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ 2. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดทำหลักฐานว่าผู้ได้รับผลกระทบฯ ที่ได้รับเงินการช่วยเหลือเป็นเงินดำรงชีพในครั้งนี้ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมตามหลักมนุษยธรรมแล้ว จะไม่เรียกร้องขอรับเงินช่วยเหลืออื่นใดจากทางราชการอีก ทั้งนี้ งบประมาณสำหรับดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ด้าน ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะจ่ายเงินช่วยเหลือดำรงชีพ เดือนละ 7,000 บาทต่อราย สำหรับผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2549 จนกว่าจะเสียชีวิต และให้จ่ายเงินย้อนหลังให้กับวีรชนย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2555 ที่มีการทบทวนมติเมื่อปี 2549 ตามที่สมาคมญาติและวีรชน 14 ต.ค. 2516 ร้องขอความเป็นธรรม โดยสิทธิผู้ได้รับเงินชดเชย จะไม่ตกทอดไปถึงทายาท

สำหรับวีรชนที่เสียชีวิตเมื่อปี 2552 ซึ่งอยู่ระหว่างการรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล จะได้รับค่าทำศพรายละ 20,000 บาท ทั้งนี้จะใช้งบประมาณเพื่อดำเนิน 9,410,000 บาท และในปีต่อ ๆ ไปจะใช้งบประมาณ จำนวน 5 ล้านบาทเศษ โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอของบตามความจำเป็น นอกจากนี้ให้จัดทำหลักฐานว่า ผู้ได้รับผลกระทบฯ ที่ได้รับเงินการช่วยเหลือเป็นเงินดำรงชีพในครั้งนี้ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมตามหลักมนุษยธรรมแล้ว จะไม่เรียกร้องขอรับเงินช่วยเหลืออื่นใดจากทางราชการอีก อย่างไรก็ตามการเยียวยาเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม และเพื่อให้สอดคล้องด้านกับสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัวแทนญาติปี 53 ร้องรบ.ต้องขอโทษประชาชนฐานผลักดัน 'เซ็ตซีโร่'

Posted: 19 Nov 2013 03:25 AM PST

'พ่อน้องเฌอ'-'แม่น้องเกด' เสนอส.ส.เพื่อไทยใช้สถานะค้ำประกันเพื่อช่วยนักโทษการเมืองโดยเร็ว พร้อมทั้งเสนอตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมาใหม่โดยใช้ข้อมูลจากคอป.และศปช.รวมกัน 

 
19 พฤศจิกายน 2556 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ มีการจัดงานแถลงข่าวเรื่องการนิรโทษกรรมในประเทศไทย โดยแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงวัฒนธรรมการลอยนวลจากการรับผิดในประเทศไทยที่มีมานานต่อเนื่องตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ จนถึงเหตุการสลายการชุมนุมในปี 53 
 
อดัมส์กล่าวว่า การผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมดังกล่าว และเป็นการทำผิดคำพูดของตนเองในฐานะผู้นำประเทศที่เคยให้สัญญาไว้ในช่วงหาเสียง และยังเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย
 
เขามองด้วยว่าการพยายามรวมนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีคนสนใจเรื่องการนิรโทษกรรมทหารที่จะเกิดขึ้นจากการเหมาเข่งนี้ด้วย 
 
"สิ่งที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งกับรัฐบาลนี้ คือพวกเขากระตือรือล้นอย่างมากที่จะเอาผิดอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) และสุเทพ (เทือกสุบรรณ) แต่กลับไม่พยายามเอาผิดกับกองทัพในแบบเดียวกันนี้เลย" อดัมส์กล่าว
 
ทั้งนี้ อดัมส์ระบุว่า ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เคยได้ออก  "บันทึกทางเทคนิคเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติในการกำหนดระเบียบด้านการนิรโทษกรรม" สองฉบับต่อรัฐบาลไทย ซึ่งคัดค้านการนิรโทษกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และคัดค้านการพรากสิทธิของเหยื่อในการได้รับการเยียวยา แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยในเรื่องดังกล่าว
 
แม่น้องเกดย้ำต้องเปิดเผยความจริงก่อน
 
พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมลเกด อัคฮาด พยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ พ.ค. 53  กล่าวถึงพ.ร.บ. นิรโทษกรรมว่า เป็นร่างที่หักหลังประชาชน และเปรียบเสมือนว่ารัฐบาลทำตัวเหมือนขโมย จากการที่ลงมติในวาระสองสามที่ทำเสร็จอย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนขโมยที่เข้ามาขโมยของของเจ้าบ้านอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเจ้าของบ้านจับได้ ก็ถูกประท้วงคัดค้านอย่างหนักจากเจ้าของบ้าน 
 
เธอกล่าวว่า กลุ่มญาติเป็นกลุ่มแรกที่เดินขบวนคัดค้านร่างนิรโทษกรรมเหมาเข่งดังกล่าว โดยเดินขบวนไปยื่นจดหมายต่อรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลหยุดการผ่านร่างดังกล่าวแต่อย่างใด แต่พรรคเพื่อไทยกลับมาบอกว่าให้ญาติผู้สูญเสียมากลืนเลือดแล้วให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ตนจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมแน่ๆ
 
"การที่เราจะให้เรามาให้อภัย ต้องย้อนไปถามก่อนว่า คนที่สั่งฆ่าประชาชน เคยอออกมาขอโทษประชาชนหรือสำนึกผิดไหม ไม่เคยเลย ดิฉันคิดว่าเป็นการเห็นแก่ตัวของรัฐบาลนี้อย่างมาก" พะเยาว์กล่าว
 
พะเยาว์ย้ำว่า จำเป็นต้องพิสูจน์ความจริงทั้งหมด ทั้งผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนและฝ่ายอื่นๆ ให้คดีทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเปิดเผยต่อสังคมให้รับรู้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิด ที่จริงแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้หาเสียงด้วย แต่พอได้เป็นรัฐบาลเข้ามาแล้วก็ลืมกันไปหมด
 
พะเยาว์ตั้งคำถามต่อร่างนี้ว่า แม้แต่อภิสิทธิ์ สุเทพ ก็บอกว่าไม่เอานิรโทษกรรมจากร่างนี้ เพราะเขาต้องการพิสูจน์คดีนี้ในศาล ในกระบวนการยุติธรรม หรือกองทัพเองก็บอกว่าต้องการพิสูจน์ความจริงเรื่องชายชุดดำ ทำให้ตนสงสัยว่าทำไมต้องให้นิรโทษกรรมพวกเขา ในเมื่อฝ่ายอื่นๆ ก็ไม่อยากได้ ทำให้สงสัยว่ารัฐบาลจงใจปิดบังความจริงอะไรจากเหตุการณ์ปี 53 หรือไม่ กลับเป็นการเอาประชาชนเป็นเหยื่อหรือเป็นเบี้ยทางการเมืองในการชุมนุมที่ลากยาวเพื่อให้เกิดการเสียชีวิต และไม่ใช่เพียงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสองร้อยกว่าคนเท่านั้น แต่ตนเชื่อว่าบาดเจ็บจริงๆ เป็นหมื่นคน
 
"ตอนนี้รู้สึกไม่มีความไว้างใจในการให้รัฐบาลดำเนินการอะไรจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 อีก" เธอกล่าว โดยชี้ว่า เนื่องจากรัฐบาลก็เดินหน้าเต็มที่เพื่อ "เซ็ตซีโร่" และแสดงให้เห็นว่านายกฯ ก็เห็นชอบด้วย
 
พะเยาว์มองว่า รัฐบาลถอยร่างนี้เพราะการคัดค้านจากฝ่ายค้านที่เป่านกหวีด มากกว่าจากฝ่ายประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามาในอำนาจเอง นับเป็นการดูถูกประชาชนอย่างมาก เพราะเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยนั้นลุเสียงข้างมากแล้ว เธอยังมองว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำและผู้ที่ยังติดหมายจากคดี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ความมั่นคง เสมือนกับเป็นเหมือนตัวประกันผูกกับทักษิณ
 
"ดิฉันเสียลูกสาวไปทั้งคนยังเสียสละไม่พออีกหรือ แต่ขณะเดียวกันคุณทักษิณก็ไม่ได้ทำะไรที่แสดงถึงการเสียสละเลย การกระทำแบบนี้แสดงให้เห็นว่าทักษิณไม่ได้รักประชาชนเหมือนที่ประชาชนรักคุณเลย" พะเยาว์กล่าว
 
พะเยาว์กล่าวส่งท้ายว่า ขอให้รัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาในตอนนี้ และเรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ออกมาขอโทษ รวมถึงคณะกรรมาธิการนิรโทษกรรม และส.ส. ที่โหวตเห็นชอบร่างดังกล่าว ต้องออกมาความรับผิดชอบและแสดงการขอโทษต่อประชาชน
 
พ่อน้องเฌอร้องยิ่งลักษณ์ต้องขอโทษประชาชน
 
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของสมาพันธ์ ศรีเทพ เด็กชายอายุ 17 ปีที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณถนนราชปรารภ (วันที่ 15 พ.ค.53)  กล่าวว่าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตนเองได้เรียกร้องทั้งอภิสิทธิ์และยิ่งลักษณ์ออกมาขอโทษประชาชน แต่ก็มีคนถามว่าเรียกร้องทำไม เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด อย่างไรก็ตาม คิดว่า การสมานฉันท์แบบในแอฟริกาใต้ ไม่น่าจะทำได้ในประเทศไทย เพราะคนไทยไม่สามารถสำนึกผิดและขอโทษซึ่งกันและกันได้
 
พันธ์ศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ได้ไปกล่าวปาฐกถาที่มองโกเลีย รวมถึงที่เจนีวา ที่สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยกล่าวว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม จากการแสดงความคิดเห็นที่ผ่านมา รวมถึงการแถลงข่าวว่าจะถอยการผลักดันร่างดังกล่าว จะเห็นว่า ยิ่งลักษณ์และฝ่ายบริหารมีอำนาจในการผ่านกฎหมายนี้อย่างเต็มที่
 
พันธ์ศักดิ์ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีดาราที่ใช้คำรุนแรงวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ยิ่งลักษณ์ แล้วก็มีแรงกดดันมากมายเรียกร้องให้ดาราคนนั้นต้องขอโทษนายกฯ  ขณะเดียวกันกรณี ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บก.บห. ของประชาไท เคยใช้เฮทสปีชกล่าวหาว่ากลุ่มญาติยิงซ้ำคนตายกลางรายการเวคอัพไทยแลนด์ แต่ไม่มีการเรียกร้องจากนักกิจกรรมทางสังคมให้ชูวัสขอโทษ แม้กระทั่งพนักงานประชาไทก็ทำงานปกติไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร
 
นอกจากนี้ในพระราชกิจจานุเบกษายังปรากฏข้อความของ พล.ต.อ.ประชา พรมนอก รองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ตอบกระทู้ของ นายนิยม วรปัญญา ส.ส. พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การใช้กำลังสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 เป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจเมื่อรัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง
 
นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงจำเป็นต้องขอโทษคนไทยและประชาคมโลก ด้วยเหตุผลสามประการ คือ หนึ่ง ผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่งโดยไม่สนใจหลักนิติรัฐ หรือหลักการของสหประชาชาติ สอง นายกฯ พูดบ่อยครั้งว่าพี่ชายถูกทำรัฐประหารและไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่สนใจจะทำอะไรเพื่อเอาผิดคณะรัฐประหาร กลับจับมือกับกองทัพเพื่อให้ผู้ทำรัฐประหารและผู้ที่สังหารประชาชน หลุดจากความรับผิดชอบทางการเมือง 
 
สาม ต้องขอโทษประชาคมโลกในฐานะที่ไปกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมของสหประชาชาติและเวทีต่างประเทศหลายครั้งว่าไทยเป็นประเทศที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิการแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งเหตุการณ์สิบสี่ตุลา หรือหกตุลา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ไทยไม่เคยยึดหลักเรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างเลย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่งประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น หรือในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างที่ได้เคยเสนอชื่อตนเองไป
 
ข้อเสนอกลุ่มญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 53
 
พะเยาว์ อัคฮาด ได้อ่านข้อเสนอของกลุ่มญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ปี 53 โดยเรียกร้องให้นายกฯ ต้องขอโทษประชาชนที่นำประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งเช่นในขณะนี้ ด้วยการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง และขอโทษประชาคมโลกที่เคยได้กล่าวว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและมีหลักสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลไม่เคยสนใจจะเอาผิดกับทหารที่ออกมารัฐประหารในปี 49 เลย รวมถึงการที่ยังคงมีการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดเวลา
 
หนึ่ง รัฐบาลต้องผลักดันให้นักโทษการเมืองรวมถึงนักโทษคดี 112 ได้รับการประกันตัว โดยให้สส.เพื่อไทยใช้สถานะส.ส. เป็นหลักค้ำประกันเพื่อแสดงความจริงใจว่าต้องการให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองอย่างจริงใจมากกว่าใช้พวกเขาเป็นตัวประกันให้ทักษิณ
 
สาม ให้ใช้มาตรการทางการบริหารรวมศูนย์การสอบสวนไว้ด้วยกัน ทั้งดีเอสไอ ตำรวจ นิติเวชศาสตร์ แพทย์ อัยการ เพื่อเร่งรัดคดีให้มีประสิทธิภาพ ในคดีที่ตัดสินแล้วว่าทหารมีส่วนในการเสียชีวิต ต้องให้ญาติเป็นโจทก์ร่วมในคดี นอกจากนี้ ยังให้ย้ายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอเพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ปี 53
 
สี่ ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่โดยใช้รายงานของคอป. และศปช. มาตรวจสอบข้อมูล หากว่าข้อมูลจากรายงานทั้งสองเล่มตรงกัน ให้อนุโลมว่าจริง และนอกนั้นให้รื้อการตรวจสอบใหม่ทั้งหมด
 
หากมีการพิจารณาร่างนิรโทษกรรมใหม่ในอนาคต ให้หยิบร่างญาติมาร่วมพิจารณา และให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ควรให้ให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแต่เพียงผู้เดียว
 
 
หมายเหตุ 
 
กรณีที่นายพันธ์ศักดิ์เรียกร้องให้นายชูวัสขอโทษนั้น สืบเนื่องวันที่ 17 ก.ค. 2556 ชูวัสได้พูดผ่านรายการเวคอัพไทยแลนด์ ทางช่องวอยซ์ทีวีวิจารณ์ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของญาติผู้เสียชีวิตว่า สาระสำคัญของร่างญาติ (ก่อนจะมีการปรับแก้อีกครั้ง) มีปัญหาที่มุ่งเอาผิดผู้กระทำผิด แต่ไม่ได้นิรโทษผู้ที่ต้องคดีอยู่ในเรือนจำโดยเฉพาะคดีเผาทำลายทรัพย์สิน และคดีอาญาร้ายแรงต่างๆ  
 
"ร่างกฎหมายนี้ราวกับยิงคนซ้ำอีกรอบ คือคุณจะเจอแกนนำเสื้อแดงติดคุก คนที่ติดคุกก็ไม่ได้รับการปล่อย คดี 112 ก็ยังคงไม่มีใครแตะ และทหารก็ยังอยู่รอดเหมือนเดิม ไม่รู้จะนิรโทษไปทำไม" ส่วนหนึ่งของการกล่าวในรายการ หลังจากนั้นพันธ์ศักดิ์เรียกร้องให้มีการขอโทษ โดยระบุว่าข้อความเช่นนั้นเป็น Hate Speech ขณะเดียวกันนั้นเองก็มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าร่างญาติครอบคลุมผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ชูวัสได้กล่าวขอโทษในทางส่วนตัวที่ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม ไม่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของญาติฯ ในขณะที่พันธ์ศักดิ์เรียกร้องต่อมาว่าให้ขอโทษออกอากาศ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประพันธ์ คูณมี แนะอภิสิทธิ์ประกาศไม่เข้าสู่อำนาจ หากล้มรัฐบาลได้

Posted: 19 Nov 2013 03:00 AM PST

อดีต สนช. แนะ ปชป. - อภิสิทธิ์ให้ประกาศจะไม่เป็นรัฐบาล จะเปลี่ยนประเทศให้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ - เพื่อปิดช่องไม่ให้เพื่อไทยและ นปช. โจมตี ด้าน 'อภิสิทธิ์' เชื่อชุมนุม 24 พ.ย. จะเป็นไปตามที่ 'สุเทพ' แสดงจุดยืนว่าจะเคารพกฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรง

อภิสิทธิ์เชื่อชุมนุม 24 พ.ย. สุเทพแสดงจุดยืนชัดเจนว่าเคารพกฎหมาย ไม่รุนแรง

19 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการชุมนุมใหญ่ 24 พ.ย. ที่ ถ.ราชดำเนินโดยอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ผมคิดว่าคุณสุเทพได้แสดงจุดยืนชัดเจน ก็คือบอกว่าการเคลื่อนไหวของคุณสุเทพนั้นมีเป้าหมายในการที่จะขุดราก ถอนโคน ระบอบทักษิณ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือคุณสุเทพยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของคุณสุเทพ และมวลมหาประชาชนนี้จะเป็นไปในลักษณะที่เคารพกฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีลักษณะของการที่จะไปชักชวนคนให้ไปทำผิดกฎหมาย นี่คือสิ่งที่คุณสุเทพยืนยัน"

"เพราะฉะนั้นคุณสุเทพก็พยายามคิดรูปแบบ วิธีการที่จะเป็นการทำให้การชุมนุมนั้นสัมฤทธิ์ผล โดยใช้วิธีการที่สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ก็จึงเรียกร้องว่า คุณสุเทพมั่นใจว่า ถ้าหากว่ามีพี่น้องประชาชนออกมาแสดงพลังอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธอย่างที่ว่า จำนวนเป็นนับล้าน ซึ่งจะเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ คุณสุเทพมั่นใจว่าก็จะทำให้กลไกต่างๆ ในที่สุดในสังคมนี้เป็นตัวที่ชี้ขาดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น อันนี้ก็คือสิ่งที่ผมฟังจากคุณสุเทพ"

 

ห่วง นปช. ชุมนุมแล้วมีความรุนแรง และจะไปคุกคามศาล

ส่วนการชุมนุมของ นปช. ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ในวันที่ 19 พ.ย. นั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า มีความเป็นห่วง เพราะว่าประวัติของการชุมนุมของ นปช. นั้นจะมีความรุนแรงเข้ามา

"แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือว่า เป็นห่วงว่าจะมีความพยายามไปข่มขู่ คุกคาม กดดันศาล ซึ่งไม่สมควร แล้วก็คำพูดของแกนนำ หรือผู้นำของ นปช. หลายเวทีชัดเจนครับว่า เจตนาที่จะมาทำเช่นนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะต้องดูแล รักษาความสงบเรียบร้อย แล้วก็สามารถที่จะทำให้ตุลาการเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ"

 

แนะทุกฝ่ายรอฟังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 พ.ย. นี้นั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกคนก็มีสิทธิ์วิเคราะห์ไปต่างๆ นานา แต่ว่าดีที่สุดก็คือรอฟังคำวินิจฉัยของศาล

"ผมก็ยืนยันว่าข้อร้องเรียนที่อยู่ในคำร้องนี้ไม่ว่าจะเป็นในมาตรา 68 ไม่ว่าจะเป็นในมาตรา 291 ผมมีพยาน หลักฐานชัดเจนว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ 1. เนื้อหาสาระกระทบกระเทือนต่อดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญอย่างไร 2. กระบวนการที่ไม่ชอบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการไม่ครบองค์ประชุม ปิดอภิปราย กดบัตรแทนกัน สารพัด ก็คือเหตุผลที่เราได้ทำคำร้องออกไป ส่วนศาลท่านจะวินิจฉัยอย่างไร ก็รอติดตาม แล้วก็รอฟังเหตุผลจากท่าน เพราะว่าที่วิเคราะห์กันนนี้หลากหลายมาก และมีประเด็นที่มันแตกออกไปครับ"

"เพราะว่าจริงๆ การร้องนี้ก็เป็นการร้องตามมาตรา 68 กับ 291 แต่ว่าหลายคนก็ไปไกลถึงเรื่องของการยุบพรรค ไปไกลถึงเรื่องของสมาชิกแล้ว แต่ว่าตอนยื่นไปนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า มุ่งเป็นหลักก็คือ มุ่งระงับยับยั้ง แล้วก็การให้การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มันไม่ชอบ"

 

'ประพันธ์ คูณมี' เชื่อคนมาร่วมชุมนุมไม่ได้ต้องการแค่เปลี่ยนขั้ว

ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ประพันธ์ คูณมี อดีต สนช. และอดีตแกนนำพันธมิตร กล่าวในรายการ "เกาะติดสถานการณ์การชุมนุม" ทางเอเอสทีวี ว่าแกนนำการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็คงตระหนักว่าประชาชนที่ออกมา ไม่อยากแค่เปลี่ยนขั้วการเมือง เลยลาออกจาก ส.ส.และประกาศไม่ลงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีปมที่คาใจว่าหากไล่รัฐบาลออกไปได้ พรรคประชาธิตย์จะเข้าสู่อำนาจหรือเปล่า เพราะหากเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาถอดถอน ส.ส. - ส.ว.312 คน วันที่ 20 พ.ย.นี้ ในคดีแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. บวกกับฝ่ายค้านได้ยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ยุบสภาไม่ได้แล้ว แม้ว่าประธานรัฐสภาไม่ยอมรับบรรจุ อ้างว่าไม่มีเอกสาร อันนั้นไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ ถ้าถือว่ายื่นแล้วโดยชอบก็ยุบสภาไม่ได้ ฉะนั้นหากมีการโหวตหาคนเป็นนายกฯ เสียงข้างมากจะเป็นฝ่ายค้านแล้ว ถ้ามันมีสุญญากาศแบบนี้ประชาธิปัตย์จะฉวยโอกาสโหวตให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ หรือเปล่า ที่บอกว่าสู้เพื่อประเทศ ไม่ใช่เพื่อพรรค ดังนั้นประชาธิปัตย์ต้องประกาศจุดยืน

ประพันธ์กล่าวต่อว่า วันนี้เวทีชุมนุมทั้งสามเวที เริ่มบูรณาการเข้าหากันแล้ว มีจุดประสงค์เดียวกันคือล้มรัฐบาล แต่เรื่องปฏิรูปยังแตกต่างกันอยู่ โดยเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ กับมัฆวานฯ ชัดเจนเรื่องปฏิรูป แต่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังไม่พูดชัด ซึ่งตนมองว่าเป็นเชิงยุทธวิธี เพราะเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีคนเข้าร่วมหลากหลายกลุ่ม หากยกเรื่องปฏิรูปขึ้นมาพูด จะทำให้การต่อสู้ของมวลชนต้องกลับไปตั้งคำถามและมีข้อถกเถียงเพิ่มขึ้น ประชาธิปัตย์คงค่อยๆยกระดับยังไม่อยากพูดประเด็นนั้น เพื่อล้มระบอบทักษิณให้ได้ก่อน เพราะตรงกับความต้องการของมวลชนส่วนใหญ่ เมื่อล้มรัฐบาลได้แล้ว แน่นอนประชาชนจะต้องเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น อันนั้นอาจเป็นจังหวะที่สองที่เวทียังไม่อยากล้ำหน้ามวลชน แตกต่างจากอีกสองเวทีซึ่งก็ต้องกระตุกไว้ก่อน ถึงขึ้นถวายฎีกา ตั้งสภาประชาชน อันนั้นตนมองว่าก้าวกระโดดเกินไป เป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลหาเรื่องมาโจมตี ควรเอาไว้เป็นขั้นหลังจากนั้น ให้ประชาชนค่อยๆ เรียนรู้

นอกจากนั้น การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นการควบคุมทิศทางให้รัฐบาลที่จะขึ้นมาสู่อำนาจด้วย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ก็ตาม เพราะสิ่งที่เขาพูดบนเวทีคือหลักฐานสัญญาประชาคม วันนี้ถือว่าประชาชนควบคุมกำหนดทิศทางประวัติศาสตร์และแนวทางนักการเมือง ฉะนั้น ทั้งสามเวทีทราบว่ามีการประสานกันตลอด ขณะนี้เป็นช่วงเวลาตรึงพื้นที่รักษาขบวนเพื่อรุกคืบในวันที่ 24 พ.ย. และแม้ว่าเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่พูดเรื่องปฏิรูปก็อย่าไปคาดคั้น ไม่จำเป็นต้องพูดเหมือนกัน แต่ทิศทางยังเชื่อว่าไปในทางเดียวกัน คือล้มระบอบทักษิณและเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ส่วนจะปฏิรูปด้านใดบ้างยังมีเวลาพูดคุยกันในโอกาสที่จะมาถึง

 

เสนออภิสิทธิ์และ ปชป. ต้องประกาศว่าหากล้มรัฐบาลได้ต้องไม่เข้าสู่อำนาจ

ประพันธ์ เสนอด้วยว่า ดังนั้น เพื่อเพิ่มพลังการชุมนุม อยากเสนอประชาธิปัตย์ว่า ต้องไม่เปิดช่องให้รัฐบาลและเสื้อแดงโจมตี ถ้าวันนี้นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าหากล้มรัฐบาลได้แล้วจะไม่ฉวยโอกาสเข้าสู่อำนาจ แต่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ และเปลี่ยนแปลงประเทศในแต่ละด้านตามคำเรียกร้องของประชาชน จากนั้นค่อยลงสู่เกมการเลือกตั้ง ถ้าประกาศเช่นนี้จะสามารถแก้ข้อหาออกมาสู้เพื่อให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ปิดปากเพื่อไทยได้ทันที และคนที่ไม่ไว้ใจประชาธิปัตย์ ไม่ออกมาชุมนุมเพราะกลัวเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา จะเลิกสงสัยในพรรคทันที เป็นการเพิ่มน้ำหนักในการต่อสู้ ลดข้อกังขาของประชาชน ประชาชนจะได้เคลียร์ว่าครั้งนี้เอาบ้านเมืองเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าวันที่ 24 พ.ย.นี้จะต้องนำไปสู่การยกระดับ เพิ่มแรงกดดัน และเชื่อว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุกฤษ เตือนศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยแก้ รธน. เหตุทูลเกล้าไปแล้ว

Posted: 19 Nov 2013 02:55 AM PST


สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย กรณีมีผู้ยื่นคำร้อง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา, นิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 หรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (20 พ.ย.)

19 พ.ย.2556 ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาหัวข้อ "บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญกับทางรอดของประเทศไทย" จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) กล่าวถึงกรณีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ว่า ขอให้ทั้งตุลาการและประชาชนทั่วประเทศได้เข้าใจว่าการปกครองของประเทศนี้เป็นการปกครองด้วยระบอบรัฐสภา นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเสารองไม่ใช่เสาหลัก แม้จะมีบทบัญญัติว่าผูกพันองค์กรต่างๆ ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าคำตัดสินวินิจฉัยต้องชอบด้วยหลักกฎหมาย โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตย ไม่มีผู้ใดจะมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยสามฝ่ายได้ โดยไม่ได้รับมอบฉันทะจากประชาชน

จากนั้น เขาอธิบายต่อไปว่าเรื่องนี้ไปอยู่ในพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้ว ถามว่าท่านกล้าจะใช้อำนาจไปวินิจฉัยหรือ ถ้าท่านกำลังบอกว่าท่านมีอำนาจละเมิดพระราชอำนาจ อาจจะเข้ามาตรา 112 ได้ บ้านเมืองจะเสียหายมาก ขอแนะนำทางออกที่ดีและผาสุกคือท่านไม่มีอำนาจจะวินิจฉัยเรื่องนี้เพราะเรื่องนี้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว สมมติท่านวินิจฉัยว่าจะเดินหน้าต่อไป ถามว่าท่านรับผิดชอบไหวหรือ และหากร่างฯ นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่พระราชทานกลับมาภายใน 90 วันก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าสภาจะยืนยันไหม ซึ่งส่วนตัวเขาเห็นว่าสภาจะไม่ยืนยัน

อุกฤษกล่าวต่อว่า ขอเตือนด้วยความหวังดีว่าอย่าทำ ถ้าทำจะเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ และจะกลายเป็นเหยื่อการเมืองทั้งสองฝ่าย และถ้าอะไรเกิดขึ้นแล้ว สมมติถ้ามีการปะทะกันบาดเจ็บล้มตาย ท่านจะต้องรับผิดชอบต่อความตายของประชาชน นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ว่า ขอให้ดำเนินไปด้วยความสงบ และอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว

อุกฤษตั้งข้อสังเกตต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญดื้อ หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ยอมรับ จะทำอย่างไรถ้าประชาชนตอบโต้และอารยะขัดขืนต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดให้ 'เซลฟี' (selfie) คำแห่งปี

Posted: 19 Nov 2013 02:10 AM PST

พจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ด ยกให้คำว่า selfie เป็นคำแห่งปี 2556 โดยพจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ด ให้คำจำกัดความว่า selfie หมายถึง รูปที่คนถ่ายรูปตัวเอง โดยใช้สมาร์ทโฟนหรือเว็บแคม แล้วอัปโหลดสู่เว็บโซเชียลมีเดีย

บรรณาธิการพจนานุกรรมออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า คำนี้พัฒนามาจากแท็กในโซเชียลมีเดียที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม จนกลายเป็นศัพท์กระแสหลัก ใช้กับรูปที่คนถ่ายตัวเอง  โดยมีการใช้คำดังกล่าวในภาษาอังกฤษ เพิ่มขึ้น 17,000% ในช่วงปีที่ผ่านมา

ออกซ์ฟอร์ดระบุว่า คำดังกล่าวสามารถสืบย้อนได้ถึงปี 2545 ในฟอรัมออนไลน์ของออสเตรเลีย โดยชายคนหนึ่งโพสต์ภาพแผลที่หน้า หลังจากสะดุดขั้นบันได เขาขอโทษที่ภาพเบลอ พร้อมบอกว่า สาเหตุที่มันเบลอไม่ใช่เพราะเขาเมา แต่เพราะเขาถ่ายตัวเอง (selfie)

สำหรับปีนี้ selfie กลายมาติดลมบนในโลกผู้ใช้ภาษาอังกฤษ จากรูปอย่างรูปที่พระสันตะปาปาถ่ายกับกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งต่อมากลายเป็นไวรัล

จูดี แพร์แซล ผู้อำนวยการด้านบรรณาธิการของพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า เว็บโซเชียลมีเดียช่วยทำให้คำดังกล่าวเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยแฮชแท็ก #selfie ปรากฏในเว็บแบ่งปันภาพอย่างฟลิกเกอร์ เมื่อปี 2547 แต่การใช้ยังไม่แพร่หลายจนราวปี 2555 เมื่อคำดังกล่าวถูกใช้ในสื่อกระแสหลัก

ทั้งนี้ มีการเพิ่มคำว่า selfie ลงในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดออนไลน์ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการเพิ่มลงในพจนานุกรมเล่ม

สำหรับรางวัลคำแห่งปีมอบให้กับความคิดสร้างสรรค์ของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและเทคโนโลยี โดยคำนั้นๆ ต้องไม่เป็นคำที่ได้รับการบัญญัติมาก่อนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ต้องกลายเป็นคำที่โดดเด่นในช่วงเวลาดังกล่าว

เว็บ The Verge ระบุว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิทธิพลของเทคโนโลยีต่อวัฒนธรรมประชานิยม (popular culture) จะส่งผลต่อการคัดเลือกคำแห่งปี โดยเมื่อปี 2550 คำแห่งปีของสหรัฐฯ ได้แก่ podcast ส่วนปีที่ผ่านมาคือคำว่า GIF (ไฟล์ภาพเคลื่อนไหว)

 


เรียบเรียงจาก
'Selfie' named by Oxford Dictionaries as word of 2013
http://www.bbc.co.uk/news/uk-24992393

'Selfie' is the 2013 Oxford Dictionaries word of the year
http://www.theverge.com/2013/11/18/5120390/selfie-is-the-2013-oxford-dictionaries-word-of-the-year
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอเสนอตั้ง 'องค์กรเฝ้าระวังการคลัง' ห่วงกู้นอกงบประมาณทำเจ๊งยาว

Posted: 19 Nov 2013 01:14 AM PST

ซ้ายไปขวา:  บรรยง , เดือนเด่น, ปรีดิยาธร, ศาสตรา, ภาวิน

 

19 พ.ย.2556 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาประจำปี 2556 ในหัวข้อ "โมเดลใหม่การพัฒนา: สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ" ที่โรงแรมโซทาราแกรนด์ฯ

หนึ่งในหัวข้อหลักที่มีการนำเสนอคือ เรื่องบทบาทภาครัฐในการจัดสรรทรัพยากรด้านการเงินและการคลัง โดยมีผู้นำเสนอคือ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.การวิจัย ทีดีอาร์ไอ, ศาสตรา สุดสวาสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า, ภาวิน ศิริประภานุกูล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. มีผู้วิจารณ์คือ บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร และดำเนินรายการโดย มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ภาวิน กล่าวว่าการนำเสนอจะแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ 1.การดำเนินนโยบายการคลัง การจัดเก็บภาษีและการใช้จ่าย มีความรับผิดชอบทางการคลังและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ 2.มาตรการกึ่งการคลัง ถูกใช้ในขนาดใหญ่ขึ้นและมีความถี่เพิ่มขึ้น สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ คุ้มค่าและส่งเสริมผลิตภาพหรือไม่

โดยปกติแล้วเชื่อว่ารัฐบาลใช้จ่ายเพิ่มเศรษฐกิจจะขยายตัวดี แต่การศึกษาพบว่า การใช้จ่ายภาครัฐในหลายประเทศเพิ่มขึ้นต่ำแต่เศรษฐกิจถึงกับหดตัวด้วยซ้ำ สาเหตุอาจเป็นเพราะการใช้จ่ายไปอยู่กับกลุ่มคนมีรายได้สูง ไม่ได้นำมาใช้ต่อ, การใช้จ่ายภาครัฐเบียดเบียนทรัพยากรจากเอกชน ทั้งที่รัฐสร้างการเติบโตได้ไม่เท่าเอกชน นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดหลายตัวที่เกี่ยวพันกัน เช่นกาที่ระดับหนี้สาธารณะสูงหรือการขาดดุลการคลังต่องเนื่อง ส่งผลเกิดความกังวลในระบบเศรษฐกิจ เอกชนยิ่งชะลอการลงทุน ขณะที่สัดส่วนลงทุนของรัฐเป็นตัวสะท้อนการสร้างการเติบโต ถ้าไปแย่งชิงทรัพยากรมาแล้วไม่ได้จ่ายในส่วนที่สร้างความเติบโตเศรษฐกิจก็จะติดลบ

หากดูการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ จะสามารถแบ่งการเก็บภาษีเป็นสองกลุ่มหลักคือ บิดเบือนและไม่บิดเบือนพฤติกรรมภาคเอกชน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐแบ่งเป็นส่งเสริมและไม่เสริมผลิตภาพ รายจ่ายที่ไม่ส่งเสริมผลิตภาพของภาคเอกชน เช่น การแจกเช็คช่วยชาติ การจำนำข้าว สินค้าธงฟ้า รถคันแรก  และยังบิดเบือดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองของภาคเอกชนด้วย งานศึกษาจากต่างประเทพบว่า การขาดดุลงบประมาณอย่าต่อเนื่อง การเพิ่มของหนี้สาธารณะ สัดส่วนรายจ่ายการลงทุนภาคัฐที่ลดลง เป็นปัจจัยส่งผลลบต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด และพัฒนาการของประเทศไทยกำลังดำเนินไปในภาพลบเช่นนั้น สิบกว่าปีที่ผ่านมาไม่มีปีไหนที่หนี้สาธารณะลดลง สัดส่วนการลงทุนภาครัฐก็ลดเรื่อยๆ เรามีเกณฑ์คุมให้รับผิดชอบทางการคลัง แต่เกณฑ์ก็ตั้งหลวมๆ ไม่ทำตามก็ได้ มีการกู้เงินนอกงบประมาณถี่ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากโครงการไทยเข้มแข็ง โครงการการบริหารจัดการน้ำ และสโครงการองล้านล้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

 

ศาสตรา นำเสนอต่อ โดยพยายามตอบคำถามว่า ทำไมจึงพบลักษณะการเงินการคลังแบบนี้ในหลายประเทศ  นักเศรษฐศาสตร์การคลังหลายคนพยายามอธิบายว่า เหตุผลเพราะมีแรงจูงใจทางการเมืองจากรัฐบาล คือ  รัฐบาลมักมองประโยชน์ระยะสั้น เพราะเขาไม่ทราบว่าจะอยู่ได้กี่ปี จึงทำให้คิดโครงการที่ไม่รอบคอบแต่มุ่งตอบโจทย์การเมืองตนเอง นอกจากนี้การใช้งบประมาณ ทรัพยากรการคลังร่วมกัน หากใช้มากในปัจจุบันอาจเบียดเบียนทรัพยากรในอนาคตได้ เป็นการสร้างข้อจำกัดให้รัฐบาลในอนาคต แต่ก็ไม่มีกรอบใดไปควบคุม และสุดท้าย ใช้ดุลยพินิจทางการคลังมากกว่านโยบายที่ปรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตโนมัติ (automatic stabilizer) จึงควรทำงบประมาณสมดุล

แล้วควรแก้ปัญหาอย่างไร ศาสตรานำเสนอว่า ประเทศที่มีปัจจัยเชิงสถบันการคลังที่ดี นำไปสู่ผลการดำเนินการทางการคลังที่ดี เช่น รัฐบาลจะทำงบเกินดุลเพิ่มขึ้น มีหนี้ลดลง เรากำลังพูดถึงแผนงบประมาณระยะปานกลาง ซึ่งกระทรวงคลังก็มีการทำ แต่การใช้ข้อมูลนี้ไม่ถึงกับไปกำหนดงบประมาณประจำปี หากกฎหมายการคลังมีการบังคับใช้ตรงนี้ ไทยก็พร้อมจะทำได้ สำหรับบางประเทศเช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อให้ไปสู่แผนที่ตั้งไว้ถึงกับมีกฎความรับผิดชอบทางการคลัง กำหนดว่าหากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณเกินแผนระยะปานกลางที่ตั้งไว้ ต้องมาแถลงต่อสภาและอธิบายว่าจะทำอย่างไรให้กลับเข้าสู่แผนเดิมได้ สำหรับกฎการคลังของไทยก็มีแต่เป็นกรอบหลวมๆ และมีจุดอ่อนจำนวนมาก ดังนั้นจึงนำเสนอการแก้ปัญหาคือ องค์กรเฝ้าระวังทางการคลังอิสระ (PBO)

PBO ต้องอิสระจากฝ่ายบริหาร ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายในฝ่ายหนึ่งในทางการเมือง หน้าที่หลักคือ วิเคราะห์นโยบายทางการคลังและงบประมาณ PBO ของบางประเทศมีหน้าที่คาดการณ์เศรษฐกิจและฐานะการคลังข้างหน้า ตลดจนวิเคราะห์ต้นทุนโครงการของภาครัฐด้วย ตอนนี้มี 27 ประเทศที่มี PBO ไทยก็มีแนวโน้มที่จะเกิดหน่วยงานนี้ได้ สถาบันพระปกเกล้าและทีดีอาร์ไอก็มีโครงการนำร่องที่จะนำเสนอเรื่องนี้ การมีหน่วยงานนี้จะเพิ่มความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ เสริมระบบรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

"ระหว่างประเทศที่มีและไม่มีพีพีโอ เราพบว่า ประเทศที่มีพีบีโอจะจัดทำงบเกินดุล และหนี้สาธารณะลดงมากกว่าประเทศที่ไม่มี ความผิดพลาดทางนโยบายก็มีน้อยกว่า" ศาสตรากล่าว

ถามว่าพีบีโอจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่  ศาสตรากล่าวว่า จากการทดสอบโดยใช้แบบจำลอง ผลโดยสรุปพบว่า การจัดตั้งพีบีโอในประเทศต่างๆ ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่หากสามารถนำสู่การจัดทำงบประมาณขาดดุลที่ลดลงก็จะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ส่วนบทบาทวิเคราะห์ต้นทุนโครงการัฐก็จะส่งผลบวกต่อรายจ่ายรัฐที่มีผลิตภาพ

เดือนเด่น นำเสนอลงไปในรายละเอียดเพื่อให้เห็นการใช้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของรัฐบาล ผ่านมาตรการกึ่งการคลังอย่างหนึ่ง นั่นคือ สินเชื่อสำหรับธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( Small and Medium Enterprises – SMEs) ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions – SFIs)   เนื่องจากการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อ เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ หากเป็นเอ็นพีแอลก็เป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเหล่านั้น จึงศึกษาเพื่อดูว่าการดำเนินงานมีประสิทธิภาพและผลิตภาพหรือไม่

ทั้งนี้ เอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญมากทางเศรษฐกิจที่รัฐควรส่งเสริม เพราะมีสัดส่วนการจ้างงาน 80% ของการจ้างงานทั้งหมด และคิดเป็น 37% ของจีดีพี จึงต้องตอบคำถามสำคัญว่าใช้เงินในการส่งเสริมอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยมีคำถามพื้นฐานในการศึกษาคือ เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนจริงหรือไม่ , สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งหลายมีส่วนช่วยได้จริงไหม และสุดท้ายคือช่วยได้อย่างมีคุณภาพไหม

เดือนเด่นให้ภาพกว้างว่าประเทศไทยมีเอสเอ็มอีอยู่ราว 2.78 ล้านราย โดยมีผู้เข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ประมาณ 1.1 ล้าน ส่วนอีก 1.67 ล้านรายเข้าไม่ถึง สาเหตุที่เข้าไม่ถึงคือ 1.ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์สูงในการปล่อยสินเชื่อวงเงินต่ำ เช่น ต้นทุนในการตรวจสอบเรื่องเครดิต , 2.เอสเอ็มอีขาดข้อมูลที่จะให้กับธนาคาร เช่น สินทรัพย์ค้ำประกัน สเตทเม้นท์ แผนการประกอบธุรกิจ รัฐบาลได้เข้ามาช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ผ่าน 3 วิธี 3 ช่องทางหลัก คือ 1.รัฐบาลปล่อยสินเชื่อเองผ่านธนาคาร SMEs , รัฐบาลค้ำประกันสินเชื่อให้ ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ปล่อยกู้เช่นเดิม และยังมี Exim Bank ซึ่งเน้นเรื่องธุรกิจนำเข้า นอกเหนือจากนี้ยังอีกเจ้าคือ สํานักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีลักษณะมาตรการร่วมลงทุนกับวิสาหกิจ

สำหรับการดำเนินการ ณ ปี 2555 บสย. มีการค้ำประกันให้ราว 55,000 รายคิดเป็นกว่า 42%  มีภาระค้ำประกันสะสมที่ 180,000 ล้านบาท   ส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์มีปล่อยสินเชื่อให้ราว 80,000 ราย คิดเป็นกว่า 57% มียอดสินเชื่อคงค้าง 96,000 ล้านาท  58% ส่วนที่เป็นลักษณะร่วมลงทุนนั้นมีเพียง 53 รายคิดเป็น 0.04% ที่ผ่านมาบทบาทของสถาบันการเงินลักษณะนี้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในปี 2555 นั้นสินเชื่อคงค้างทั้งระบบมี 12 ล้านล้าน เป็นสินเชื่อในลักษณะนี้ถึง 4 ล้านล้านบาทหรือ  33% โดยโครงการรับจำนำข้าวปี 2553-2556 วงเงิน 300,000 ล้าน ทำให้สินเชื่อขยายตัวก้าวกระโดด

สำหรับแนวทางการประเมินประสิทธิภาพ เดือนเด่นใช้ตัวชี้วัด 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ความคอบคลุม ต้นทุน และความคุ้มค่า พบว่า 1.จากเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงเงินทุน 1.67 ล้านราย แม้ว่าจะมี SFIs เหล่านี้แล้วก็ยังเข้ามาได้น้อยมาก คิดเป็น 5% ของที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ หรือแทบจะปิดช่องว่างไม่ได้ แล้ว 5% ที่ให้สินเชื่อก็พบว่า วงเงินกู้ต่อรายกลับสูงกว่าของธนาคารพาณิชย์เสียอีก โดยวงเงินเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีประมาณ 2 แสนบาท แต่ บสย.ปล่อยให้ถึงรายละ 3 ล้าน ซึ่งไม่ใช่ชายขอบจริงๆ

2.สำหรับต้นทุนที่รัฐลงทุน พิจารณาโดยการนำเอ็นพีแอล (หนี้เน่า) ลบด้วยเงินสำรองหนี้เผื่อสูญที่ธนาคารเฉพาะกิจเหล่านี้ตั้งไว้ ลบด้วยกำไร แล้วบวกเงินชดเชยจากภาครัฐ ซึ่งพบว่าเอสเอ็มอีแบงก์ รัฐต้องรับภาระ 2.2 หมื่นล้าน หนี้เสีย 32% กันสำรองไว้ไม่ครอบคลุม กำไรไม่มีติดลบ 4 พันล้าน ภาระทางการคลังต่อการปล่อยกู้ 1 รายคือ 300,000 บาท  ส่วนเอ็กซิมแบงก์หนี้เสียไม่เยอะและมีกำไร  ขณะที่ บสย. รัฐมีภาระแบกรับสินเชื่อประมาณ 40,000 ล้าน หนี้เสีย 3-4%  ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ในเรื่องความคุ้มค่า เดือนเด่นดูจากการประเมินรัฐวิสาหกิจ 60 แห่งที่รัฐต้องทำรายงานทุกปี 60 ส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ปรากฏว่าให้น้ำหนักผลการดำเนินงานเพียง 20%  ที่เหลือเป็นเรื่องการบริหารจัดการตัวเอง เช่น 35% เป็นการดำเนินแผนตามนโยบาย , การดำเนินงานตามนโยบาย 35% และไม่ได้ตอบเลยว่าประเทศได้อะไร เอสเอ็มอีได้อะไร  ส่วนบสย. 95% เป็นสินเชื่อตามโครงการของรัฐ ที่เหลือเป็นการปล่อยสินเชื่อตามปกติ อย่างไรก็ตาม โครงการของรัฐราว 55% ไม่ได้เกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพเลย เช่น ชะลอการเลิกจ้าง, ฟื้นฟูอุทกภัย, ช่วเหยลือจากเหตุทางการเมือง (เผาเซ็นทรัลเวิลด์) นอกจากนี้โครงการต่างๆ ยังเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย ทำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านี้ไม่มีทิศทางในการดำเนินการ

สรุป การใช้เงินในส่วนสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านี้ไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่สามารถปิดช่องว่างของเอสเอ็มที่ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนได้จริง ที่เข้าไปใช้ก็ไม่ใช่รายย่อยจริงๆ ไม่มีกลไกติดตามตัวสอบ ต้นทุนสูงมากแต่ตอบไม่ได้ว่าได้อะไรกลับคืนบ้าง การดำเนินงานไม่มีทิศทาง แต่ละแห่งดำเนินการไปเรื่อยๆ ตามรัฐบาล ไม่มีการปล่อยกู้ที่จะสร้างผลิตภาพให้กับเอสเอ็มอีอย่างแท้จริงระยะยาว

เดือนเด่นกล่าวถึงข้อเสนอแนะ ว่า ควรปรับนิยามของเอสเอ็มอีใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงรายย่อยจริงๆ และสามารถกระจายได้กว้างขวางมากขึ้น , ธนาคารของรัฐไม่ควรมีหนี้เสียถึง 30%  และควรอยู่ภายใต้กำกับธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เช่นกัน และต้องมีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ ประเมินต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับทุกปี, เมื่อรัฐปล่อยสินเชื่อเองแล้วพบว่าค่าใช้จ่ายสูงมาก 300,000 บาทต่อราย หากให้เอกชนปล่อยสินเชื่อแล้วรัฐค้ำประกันพบว่าใช้แบกภาระเพีย 40,000 บาทต่อราย จึงควรให้เอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่า สุดท้าย ต้องีภาพยุทธศาตร์ของการพัฒนาเอสเอ็มอี เพราะมีเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องสินเชื่อ การวางยุทธศาสตร์ต้องเป็นภาพรวม

บรรยง วิจารณ์ว่า การตั้งสถาบันอิสระเพื่อตรวจสอบนโยบายการคลังนั้น เรื่องสำคัญมากคือความเป็นอิสระ คำถามคือจะอิสระนานแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อมีบทบาทมากขึ้น ประการต่อมา ภารกิจที่มอบหมายนั้นคาดหวังคุณภาพที่ลึกซึ้ง แต่สำคัญกว่านั้นคือคุณภาพของรัฐสภา ประเทศที่หน่วยงานเหล่านี้ทำงานได้ผลจะต้องมีคุณภาพของรัฐสภาค่อนข้างสูง คานอำนาจฝ่ายบริหารได้มาก แต่ในประเทศไทยน่าจะลำบาก อย่างไรก็ตาม สนับสนุนให้มีการจัดตั้งดังที่นำเสนอ ซึ่งน่าจะเป็น policy watch ที่จะให้ข้อมูลกับฝ่ายวิชาการและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้บรรยงยังมีคำถามต่อประเด็นการเข้าถึงทุนของเอสเอ็มอีว่า ควรตั้งคำถามว่ามีกลไกอื่นๆ ที่ควรปรับปรุงมากกว่าที่รัฐจะเข้าไปแทรกหรือไม่ เพราะเอสเอ็มอีก็มีทั้งที่มีศักยภาพและที่ไม่ควรมีอีกต่อไป เพราะสภาพการณ์เปลี่ยนไปเช่น โชว์ห่วย ตรงนี้ควรมีงานวิจัยให้ลึกซึ้งขึ้น เอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรมี 2 ปัจจัย คือ 1.ปัญหาบรรษัทภิบาลของเอสเอ็มอีเอง ระบบบัญชี กลไกวางแผน การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า การตรวจสอบการใช้งาน จากข้อสังเกตที่เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้เกิดจากความจงใจเพื่อเลี่ยงภาษี กับบางส่วนที่ขาดความรู้ความสามารถที่จะสร้างระบบบรรษัทภิบาล ตรงนี้หน่วยงานรัฐเข้าไปเสริม ให้การศึกษาได้ , 2.กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายล้มละลายและกฎหมายการบังคับทรัพย์สิน ซึ่งถูกรวมอยู่ในกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้มุ่งพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกหนี้เน่ามากเกินไป เนื่องจากช่วงที่ออกกฎหมาย มีเอ็นพีแอลถึง 47% ในระบบจึงมีแรงจูงใจทางการเมืองให้ออกกฎหมายคุ้มครองคนจำนวนมาก แต่สภาพการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป หากกู้ธนาคารแล้วสินเชื่อมีปัญหา เชื่อไหมว่าใช้เวลา 10 ปีกว่าธนาคารจะยึดกิจการได้  และ LGD loss given default  หรือหนี้เสียในกลุ่มเอสเอ็มอีนั้นสูญเสียถึง 40% เกือบเท่ากับสินเชื่อบัตรเครดิต ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงไม่อยากให้กู้ การมีกฎหมายสองฉบับนั้นอยู่ทำให้คนจำนวนน้อยสร้างภาระต้นทุนให้ทั้งระบบ จึงอยากให้มีการศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายส่วนนี้ด้วย และรัฐเองก็ควรลดบทบาทตัวเอง เพราะขนาดรายจ่ายของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมาก ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนก็มีทิศทางชัดเจนแล้วว่าจะลดบทบาทของรัฐและส่งเสริมเอกชน

ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า กฎการคลังเข้มงวดอยู่แล้ว แต่นักการเมืองหมดเก่งกว่า เสนอให้ตั้งกฎให้ชัดเจนขึ้นว่า หากเกินความเสียหายในการใช้จ่าย ปีงบประมาณหน้าต้องตั้งงบใช้ทันที หรือ กำหนดเพดานการกู้นอกงบประมาณให้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณปกติ เรื่องเอสเอ็มอี ขณะนี้เงินกู้เอสเอ็มอีกอยู่ในธนาคารพาณิชย์ 2.5 ล้านล้านบาท ควรต้องกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์แข่งกัน เรื่องกฎหมายอาจมีปัญหาดังที่บรรยงกล่าว  แต่ขณะนี้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายกำลังดูเรื่องนี้ให้อยู่ นอกจากนี้ควรปรับชื่อและนิยามให้เหลือเพียง SE bank (ธนาคารวิสาหกิจขนาดย่อม) เท่านั้น กำหนดวงเงินกู้น้อยสำหรับรายย่อย ส่วนขนาดกลางนั้นให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการ  

 

 

ดาวน์โหลด บทความฉบับเต็ม 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สอดแนม 'ใกล้บ้าน' เอกสารลับเผย ออสเตรเลียดักข้อมูลโทรศัพท์ผู้นำอินโดฯ

Posted: 18 Nov 2013 10:30 PM PST

แฉครั้งล่าสุดของสโนว์เดนเผยการสอดแนมคืบใกล้เข้ามาถึงประเทศเพื่อนบ้าน จากเอกสารลับของหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียปูดเรื่องพยายามดักข้อมูลโทรศัพท์เครือข่าย 3G โดยมีเป้าเป็นผู้นำสำคัญในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงปธน. ยูโดโยโน และภรรยา ทำให้อินโดนีเซียโต้ตอบด้วยการเรียกทูตกลับประเทศ

18 พ.ย. 2556 เอกสารลับล่าสุดที่ถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ระบุว่าทางการออสเตรเลียพยายามสอดแนมการใช้โทรศัพท์มือถือของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน รวมถึงของภรรยาประธานาธิบดี รัฐมนตรีระดับสูง และผู้ร่วมงานคนอื่นๆ

เอกสารดังกล่าวระบุช่วงเวลาเดือน พ.ย. 2552 เปิดเผยรายละเอียดว่ามีผู้ที่ถูกสอดแนม ได้แก่ประธานาธิบดีและคนวงในรัฐบาลอีก 9 คน รวมถึงรองประธานาธิบดีโบดิโอโน ผู้ซึ่งไปเยือนออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีที่มีโอกาสลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในปีหน้า และสตรีหมายเลขหนึ่ง คริสเตียนี เฮราวาตี

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย มาร์ตี นาตาเลกาวา แสดงความไม่พอใจหลังจากทราบเรื่องการเปิดโปงดังกล่าว อีกทั้งยังประกาศว่าจะมีการพิจารณาปฏิบัติการร่วมกันกับออสเตรเลียในประเด็นสำคัญใหม่อีกครั้ง เช่น การให้ความร่วมมือเรื่องการลักลอบขนส่งสินค้า และเรื่องการก่อการร้าย

การนำเสนอเนื้อหาเอกสารดังกล่าวผ่านสื่อบรรษัทกระจายเสียงแห่งออสเตรเลีย (Australian Broadcasting Corporation หรือ ABC) กับสำนักข่าวเดอะการ์เดียน มีโอกาสทำให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตระหว่างสองประเทสเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายส่งตัวผู้อพยพทางน่านน้ำกลับประเทศอินโดนีเซีย

เอกสารที่ถูกเปิดโปงเป็นรูปแบบภาพสไลด์ โดยมีที่มาจากกระทรวงกลาโหมของออสเตรเลียและกรมข้อมูลสัญญาณของออสเตรเลีย (Australian Signals Directorate) ซึ่งเป็นกรมที่เกี่ยวกับงานข่าวกรอง กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยี 3G ในเอเชียเพื่อดักสัญญาณโทรศัพท์มือถือ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและยี่ห้อของโทรศัพท์ต่างๆ ที่เหล่าผู้นำอินโดนีเซียใช้ โดยหนึ่งในภาพสไลด์เหล่านี้มีหน้าหนึ่งระบุชื่อหัวข้อว่า "การดักข้อมูลเสียงของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย"

ในสไลด์หัวข้อดังกล่าวเปิดเผยว่ามีการโทรเข้าสู่เครื่องของประธานาธิบดี ยูโดโยโน โดยเครื่องไม่ทราบหมายเลขจากประเทศไทย แต่การโทรก็ไม่ยาวนานพอที่หน่วยงานข่าวกรองของออสเตรเลียจะบรรลุเป้าหมายได้

ในสไลด์อีกตัวหนึ่งเน้นการเก็บข้อมูลของโทรศัพท์ที่มีการสื่อสารกับเครื่องโทรศัพท์ของยูโดโยโน โดยมีการบันทึกหมายเลขที่โทรเข้าและโทรออก ระยะเวลาที่ใช้โทร ประเภทการใช้ว่าเป็นการใช้เสียงหรือการส่งข้อความเอสเอ็มเอส ซึ่งทางหน่วยข่าวกรองได้ขยายปฏิบัติการสอดแนมไปยังผู้ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี

ผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดีที่ตกเป็นเป้าดังกล่าวประกอบด้วย ยูซุฟ คาลลา อดีตรองประธานาธิบดี ผู้สมัครจากพรรคโกลคาร์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียปี 2552, ศรี มุลยานี อินดราวาตี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังปี 2552 และในปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริหารเวิลด์แบงค์กรุ๊ป, แอนดี มัลลารังเกง อดีตนักวิจารณ์และพิธีกรรายการโทรทัศน์ผู้กลายมาเป็นโฆษกรัฐบาลในตอนนั้น, ซอฟยาน จาลิล ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรัฐวิสาหกิจ จนถึงเดือน ต.ค. 2552 และ วิโดโด อาดี ซูซิปโต อดีตผู้นำกองทัพอินโดนีเซียผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้านความมั่นคงจนถึงเดือน ต.ค. 2552

ใต้แผ่นสไลด์ในแต่ละแผ่นยังมีข้อความคำขวัญของของกรมข้อมูลสัญญาณของออสเตรเลียที่กล่าวไว้ว่า "เปิดเผยความลับของพวกเขา ปกป้องความลับของพวกเรา" โดยกรมข้อมูลฯ เป็นผู้จัดหาข้อมูลเหล่านี้

เอกสารชุดหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการดักข้อมูลของเครือข่าย 3G ระบุว่า การใช้เทคโนโลยี 3G ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้จะสมบูรณ์ โดยมีการระบุวันที่จะเริ่มใช้เทคโนโลยี 3G ในประเทศต่างๆ อย่าง กัมพูชา, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย


อินโดฯ เรียกทูตกลับ
หลังจากที่มีการเปิดโปงในเรื่องนี้ ทางการอินโดนีเซียได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำออสเตรเลียกลับประเทศ รวมถึงบอกว่าจะมีการพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอีกครั้ง นอกจากนี้เหล่าผู้นำที่ตกเป็นเป้าการสอดแนมตามที่ระบุในเอกสารลับก็ออกมาแสดงความกังวลและบางส่วนแสดงความไม่พอใจ เช่น ยูซุฟ คาลลา ผู้ที่มีโอกาสลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้าบอกว่าการสอดแนมเป็นเรื่องผิดกฎหมายและไม่คิดว่าประเทศที่เป็นมิตรกันจะทำการดักฟังกันเช่นนี้

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของผู้นำเยอรมนี, บราซิล และเม็กซิโก ถูกสอดแนมโดยกลุ่มประเทศที่เรียกว่า 'ดวงตาทั้งห้า' (Five Eyes) ซึ่งเป็นชื่อเรียกห้าประเทศที่มีหน่วยงานปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองร่วมกันได้แก่องค์กรจากประเทศสหรัฐฯ, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และแคนาดา

ความตึงเครียดระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลียเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนต.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่หนังสือพิมพ์ Der Spiegel ในเยอรมนี และหนังสือพิมพ์ Fairfax ของแคนาดาเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า หน่วยการทูตออสเตรเลียในทั่วทวีปเอเชียทำหน้าที่เป็นผู้ดักสัญญาณและข้อมูลทางโทรศัพท์ และเดอะการ์เดียนก็เคยเปิดเผยถึงกรณีที่หน่วยงานข่าวกรองออสเตรเลียทำงานร่วมกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ในปฏิบัติการสอดแนมหมู่ขณะการประชุมเรื่องโลกร้อนในบาหลีปี 2550

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี โทนี่ แอ๊บบอตต์ ของออสเตรเลียก็กล่าวว่าเรื่องการสอดแนมนี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลในอดีตคือพรรคแรงงาน แอ็บบอตต์กล่าวอีกว่าการกระทำของออสเตรเลียเป็น "การศึกษาวิจัย" มากกว่า "การสอดแนม" และข้อมูลที่ได้รับจะนำมาใช้ในทางที่ดี นอกจากนี้ยังยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับอินโดนีเซียกำลังไปได้ดีและจะยิ่งดีขึ้น

รองประธานาธิบดี บอดิโอโน ของอินโดนีเซีย กล่าวระหว่างการเยือนออสเตรเลีย ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดโปงว่า ประชาชนชาวอินโดนีเซียมีความกังวลต่อเรื่องการสอดแนม และควรจะมีระบบอะไรบางอย่างที่เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการนำข้อมูลของแต่ละฝ่ายมาใช้ทำลายกัน

 

เรียบเรียงจาก

Australia's spy agencies targeted Indonesian president's mobile phone, The Guardian, 18-11-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/nov/18/australia-tried-to-monitor-indonesian-presidents-phone

Indonesia recalls Canberra ambassador as phone-tapping diplomatic row grows, The Guardian, 18-11-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/nov/18/indonesia-recalls-canberra-ambassador-phone-australia

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตไทย-กัมพูชาจากคำพิพากษา

Posted: 18 Nov 2013 09:16 PM PST

 

เข้าใจได้ไม่ยากว่า ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่รัฐบาลเผชิญอยู่เวลานี้ การแจ้งข่าวเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลโลกฝ่ายรัฐบาลย่อมต้องเน้นส่วนที่คนไทยห่วงใยที่สุดคือการ "เสียดินแดน" จนฟังดูประหนึ่งว่าเราไม่ต้อง "เสียดินแดน" ส่วนใดเลย

ความเข้าใจเช่นนี้ไม่ช่วยให้การเจรจาตกลงระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งอย่างไรเสียก็ต้องจัดให้เกิดขึ้น มีความราบรื่นสมกับที่จะสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกันสืบไป

เท่าที่คนซึ่งไม่มีความรู้กฎหมายระหว่างประเทศเลยอย่างผมจะเข้าใจได้ เราต้องยกดินแดนบางส่วนให้เป็น "พื้นที่ใกล้เคียง" (vicinity) ของปราสาทพระวิหาร ตามคำพิพากษาใน พ.ศ.2505 อย่างแน่นอน นั่นคือส่วนอันเป็นที่ตั้งของชะง่อนผา ซึ่งตามหลักภูมิศาสตร์ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของตัวปราสาทอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในขณะที่ภูมะเขือซึ่งโดยข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์เช่นกัน เป็นเนินเขาอีกลูกหนึ่งที่แยกออกมาจากชะง่อนผาอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารอย่างชัดเจน ย่อมไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของ "พื้นที่ใกล้เคียง"

เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ซึ่งทีมทนายฝ่ายไทยใช้ในการสู้คดีในพ.ศ. 2505 ครั้งกระนั้น ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นเงื่อนไขพึงรับฟังเป็นอันดับแรก (ก่อนสนธิสัญญา) กลับเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญในคำตัดสินครั้งนี้ เท่ากับความตามสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ให้แบ่งเขตแดนตามสันปันน้ำมีน้ำหนักมากขึ้น (อย่างน้อยก็เท่ากับแผนที่) ศาลยังได้ย้ำในประเด็นนี้ด้วยว่า แผนที่ (ซึ่งเรียกกันว่า 1/200,000) ใช้ได้เฉพาะการชี้ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของใครเท่านั้น ไม่อาจเอาไปประยุกต์ใช้ทั่วไปทั้ง 100 กม. ของแผนที่ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนที่หลายส่วนยังไม่เป็นที่ตกลงเห็นชอบระหว่างไทยและกัมพูชา

หากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญมากขึ้น ไทยได้ประโยชน์ก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า มติ ครม.ใน พ.ศ.2505 ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับภูมิศาสตร์ ถ้าอยากเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ เราก็ไม่สามารถยืนยันเส้นเขตแดนตามมติดังกล่าวได้ มันมีประโยชน์เฉพาะหน้าและประโยชน์อนาคตที่ต้องคิดให้ดีๆ เพราะในโลกของความเป็นจริง ไม่มีใครชนะขาดฝ่ายเดียว หรือแพ้ขาดฝ่ายเดียว ยกเว้นแต่แมนฯยู

มีข้อวิตกที่รู้กันอยู่ในฝ่ายไทย แต่ไม่มีใครพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ตามแนวชายแดน ยังมีปราสาทเก่าของเขมรตั้งเรียงรายอยู่อีกสองสามแห่ง หนึ่งในนั้นคือปราสาทตาเมือนธมในจังหวัดสุรินทร์ ความสำคัญของปราสาทแห่งนี้ก็คือ เป็นแห่งเดียวที่ยังมี "อโรคยศาลา" เหลือให้เห็นอยู่ ส่วนที่อื่นๆ ซึ่งกล่าวไว้ในจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า โปรดให้สร้างขึ้นตามเส้นทางสู่พิมายได้พังจนไม่เหลือร่องรอยแล้ว อโรคยศาลามักแปลกันว่าโรงพยาบาล (ส่วนจะเหมือนหรือต่างจากโรงพยาบาลตามความเข้าใจในปัจจุบันนั้น ยกไว้ก่อน) ความคิดว่ารัฐมีหน้าที่ (ตามหลักศาสนาหรือตามหลักรัฐประศาสนศาสตร์ก็ตาม) ต้องดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วยของข้าราษฎร ไม่เคยปรากฏในรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใด นอกจากกัมพูชาสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของปราสาทตาเมือนธมอยู่ตรงนี้ ส่วนปราสาทซึ่งสร้างขึ้นตามเส้นทางนั้น ยังมีเหลืออีกมากทั้งในกัมพูชาและอีสานใต้

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เสมอไป ขึ้นอยู่กับการจัดการมากกว่า เช่น แม้ว่าตาเมือนธมอยู่ในครอบครองของไทยเวลานี้ แต่การขุดค้นบูรณะกลับไปเน้นที่ตัวปราสาทมากกว่าอโรคยศาลา ฉะนั้นจึงไม่สู้จะมีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับอโรคยศาลา เช่น ไม่รู้ว่าคนไข้มารับยาแล้วกลับบ้าน หรือบางส่วนได้นอนพักที่โรงพยาบาล ฯลฯ ฉะนั้นว่าเฉพาะการจัดการข้อมูล ดูไม่เพียงพอจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากนัก ส่วนทางวิชาการก็ไม่ได้เพิ่มพูนความรู้อะไรขึ้นมา

ฝรั่งเศสขีดแผนที่ให้เบี้ยวมากินตาเมือนธมไปด้วย จึงเป็นชนวนให้ไทยกับกัมพูชาอาจมีข้อพิพาทกันได้อีก เขาก็อยากได้และเราก็อยากได้เป็นธรรมดา ว่าเฉพาะในส่วนของกัมพูชา นอกจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ต้องไม่ลืมว่าชัยวรมันที่ 7 เป็นวีรกษัตริย์สำคัญ (ที่สุดกระมัง) ในสำนึกของชาวเขมร แม้เป็นสำนึกที่ถูกสร้างขึ้นโดยนักวิชาการฝรั่งเศสเมื่อศตวรรษที่แล้วนี้เอง แต่มันก็กลายเป็นสำนึกของชาวกัมพูชาปัจจุบันไปแล้ว

แต่เราไม่ควรมองคำตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ว่า ได้ให้อาวุธอะไรไว้แก่เราในการพิพาทกับกัมพูชาในภายหน้า เพราะศาลโลกย้ำถึงความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศในการดูแลรักษามรดกโลก (ซึ่งผมคิดว่าน่าจะรวมถึงมรดกโลกจริงๆ ไม่ว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับยูเนสโกหรือยังด้วย) การเจรจาอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความเข้าใจซึ่งกันและกันในกรณี "พื้นที่ข้างเคียง" ของปราสาทพระวิหาร จึงเป็นแบบอย่างที่ดี ให้เราสามารถใช้ได้ในอนาคต โดยไม่ต้องแปรให้กลายเป็นการพิพาทระหว่างประเทศอีก

มาถึงเรื่อง 4.6 ตร.กม. คำตัดสินไม่ได้ระบุว่าเป็น "พื้นที่ข้างเคียง" ของปราสาทพระวิหารก็จริง แต่จะเป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาร่วมกันระหว่างกัมพูชาและไทย บางส่วนอาจจะเป็นก็ได้ หากการเจรจากระทำเพื่อยุติความบาดหมางระหว่างกัน ไม่ใช่ข่มขู่ช่วงชิงตามอำเภอใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย ได้กล่าวว่า ใน พ.ศ.2505 เจ้าหน้าที่ได้ทำแผนแสดงเขตแดนไทยที่ประชิดกับปราสาทพระวิหารไว้สองแผน แผนที่ 1 คือถอยร่นจากบันไดนาคขึ้นปราสาทออกมาในระยะหนึ่ง อันเป็น "พื้นที่ข้างเคียง" ตามคำสั่งศาล (ซึ่งท่านทูตกล่าวว่า แผนนี้ได้ปลดชั้นความลับแล้ว จึงแสดงอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ผมยังไม่ได้เข้าไปดูเมื่อเขียนบทความนี้) ส่วนแผนที่ 2 คือชิดบันไดนาค อันเป็นแผนที่ ครม.ในสมัยนั้นเลือกใช้ และเป็น "เส้นเขตแดน" ที่ไทยเข้าใจตลอดมาจนทุกวันนี้

สรุปก็คือ "เส้นเขตแดน" ที่ลากขึ้นฝ่ายเดียวนี้ จึงน่าจะเป็นเส้นที่ยืดหยุ่นได้จากการเจรจากันระหว่างไทยและกัมพูชา บางทีเราอาจต้องถอยลงมาระดับหนึ่ง (ตามแผนวิธีที่ 1 ซึ่งเสนอให้ ครม.พิจารณาใน พ.ศ. 2505) จะถอยลงมาถึงกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.หรือไม่ และเพียงใด เป็นเรื่องอนาคตที่ไม่แน่นอน

จึงจะด่วนสรุปว่าไม่ต้องสละพื้นที่ตรงนี้เลยไม่ได้ คนไทยควรเข้าใจว่า พื้นที่ตรงนี้ยังไม่ใช่พื้นที่ภายใต้อธิปไตยของไทยอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นจากมติ ครม.ของไทยฝ่ายเดียวเท่านั้น ถึงเราต้องสละดินแดนนี้ เราก็ไม่ได้ "เสีย" ดินแดน ก็ของยังไม่ใช่ของเรา จะเรียกว่า "เสีย" ได้อย่างไร ในทางตรงข้าม ดินแดนส่วนนี้ก็ยังไม่ใช่ของกัมพูชาเหมือนกัน จะแบ่งกันอย่างไรขึ้นอยู่กับการเจรจา

ผมคิดว่าท่าทีอย่างนี้สำคัญในการเจรจา แต่ท่าทีแบบไม่ยอมเสียดินแดนให้ใครแม้แต่ตารางนิ้วเดียวนั่น นำไปสู่การปะทะกันทางทหารมากกว่าการเจรจา (และใครก็ตามที่คิดว่ากำลังทหารไทยเหนือกัมพูชา ก็ควรคิดใหม่ให้ดี หากเปิดสงครามในแบบเต็มรูป อย่างที่เวียดนามทำใน ค.ศ.1978-9 ซึ่งในความจริง เวียดนามก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน แม้ยึดพนมเปญได้รวดเร็ว ไทยอาจเหนือกว่า แต่เรามีกึ๋นหรือสมรรถภาพ ทั้งทางทหารและการเมืองระหว่างประเทศ ถึงขนาดนั้นหรือ ตราบเท่าที่ต้องจำกัดปฏิบัติการทางทหารไว้ที่ชายแดน ไม่มีใครเหนือใครหรอกครับ) และการปะทะกันทางทหารมีแต่ความสูญเสียทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงฝ่ายอื่นๆ ในอาเซียนด้วย

ดังที่กล่าวแล้วว่า เข้าใจได้ไม่ยากที่รัฐบาลต้องเน้นแต่ความไม่สูญเสียหรือทางได้ของคำตัดสิน และก็ประสบความสำเร็จพอที่กันไม่ให้ประเด็นปราสาทพระวิหารเข้าไปอยู่ในประเด็นการประท้วงของกลุ่มประท้วงใหญ่ๆ ได้

แต่บัดนี้ถึงเวลาที่ต้องเตรียมการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อเตรียมใจคนสำหรับการเจรจาซึ่งจะต้องตามมา เพื่อไม่ติดกับ "เสียดินแดน" เหมือนคนไม่มีอนาคต ผมคิดว่ามีประเด็นที่ต้องทำให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับในสามประเด็นด้วยกัน

1.ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและกัมพูชามีค่าและราคาสูงมาก รากเหง้าทางวัฒนธรรมของราชสำนักภาคกลางอยู่ที่เมืองพระนคร เท่ากับรากเหง้าทางวัฒนธรรมหลายอย่างของราชสำนักกัมพูชาก็อยู่ในกรุงเทพฯ ต่างฝ่ายต่างไม่อาจรู้จักวัฒนธรรมที่แท้จริงของตนได้ หากไม่ศึกษาวัฒนธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง ในส่วนการค้า การลงทุนระหว่างกันนั้น มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นได้ชัดอยู่มาก อีกทั้งอาจขยายไปได้อีกมาก หากอนาคตความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศราบรื่นไปด้วยดี

2.เส้นเขตแดนไทยตามสนธิสัญญากับฝรั่งเศส มีสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศดีขึ้นมาก เพราะการแบ่งกันด้วยสันปันน้ำตามสนธิสัญญา จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายพบความเห็นพ้องกันได้ง่ายขึ้นในจุดที่ยังไม่อาจปักปันเขตแดนได้ แผนที่ 1/200,000 อาจใช้ได้ในกรณีจำเป็นบางกรณีเท่านั้น อีกทั้งเมื่อไม่ต้องยึดแผนที่ตายตัวเช่นนั้น ก็จะทำให้เกิดทางเลือกในการจัดการพื้นที่ทับซ้อนได้อีกหลายวิธี ทั้งวิธีที่เราเคยทำกับเพื่อนบ้านด้านอื่นมาแล้ว หรืออาจคิดวิธีใหม่ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมด้วย

3.กฎหมายระหว่างประเทศ และสถาบันที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีกติกา ล้วนมีคุณค่าอย่างยิ่งแก่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยและกัมพูชา เราทั้งสองฝ่ายไม่อาจอยู่ในโลกของความสัมพันธ์ด้วยอำนาจดิบได้ทั้งคู่ ภายใต้เงาทะมึนของจีนและสหรัฐ สิ่งที่ทั้งไทยและกัมพูชาต้องการเหนืออื่นใด คือระเบียบกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์เยี่ยงอารยชน นับเป็นการไร้สติและไม่ใช้ปัญญาอย่างถึงที่สุด ที่ประเทศเล็กๆ อย่างไทยและกัมพูชาเรียกร้องให้ปิดประเทศ หรือถอนตัวจากองค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยประกันการดำรงอยู่ของประเทศเล็กๆ อย่างเรา และยิ่งไร้สติไม่ใช้ปัญญาหนักขึ้นไปอีก หากผลักดันให้ไทยและกัมพูชาแก้ข้อพิพาทกันด้วยกำลังอาวุธ อันเป็นสิ่งที่ประเทศเล็กๆ อย่างเราต้องช่วยกันขจัดให้เกิดขึ้นได้ยากที่สุด หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เหนือฟ้ายังมีฟ้า และขอบฟ้าของเราทั้งสองฝ่ายนั้นต่ำมาก

 

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น