โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เหมืองทองคำจังหวัดเลยในตลาดหุ้น ความขัดแย้งของผลประโยชน์ต้นเหตุความทุกข์ยากของประชาชน

Posted: 01 Nov 2013 11:10 AM PDT

"บริษัทผมเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นสลับซับซ้อนมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ของไทย  ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าใครคือเจ้าของที่แท้จริงของบริษัท" 


คำกล่าวตอนหนึ่งของบัณฑิต  แสงเสรีธรรม  กรรมการบริษัท  ทุ่งคาฮาเบอร์  จำกัด  (มหาชน)  ("ทุ่งคาฮาเบอร์")  และกรรมการผู้จัดการบริษัท  ทุ่งคำ  จำกัด  ("ทุ่งคำ")  ที่กล่าวถึงสถานภาพของทุ่งคาฮาเบอร์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา  ในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น  เรื่อง  "ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม : ศึกษากรณีจังหวัดเลย  เหมืองทองคำ"  เมื่อวันที่  22  ตุลาคม  2556  ที่ผ่านมา  ณ  สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

หลังหมดยุคของพลเอกกิตติศักดิ์  รัฐประเสริฐ  ที่ก้าวเข้ามาเป็นกรรมการและกรรมการบริหารทุ่งคาฮาเบอร์  และกรรมการผู้จัดการทุ่งคำ  ในช่วงระหว่างวันที่  25  กุมภาพันธ์  2551  ถึง  31  สิงหาคม  2552   ก็ยากจะหาใครในสองบริษัทดังกล่าวที่มีบทบาทโดดเด่นเทียบเท่า  เหตุสำคัญก็เพราะช่วงที่พลเอกกิตติศักดิ์ดำรงตำแหน่งสามารถทำกำไรให้กับทุ่งคำถึง  111.8  ล้านบาท  จนเป็นเหตุให้ทุ่งคาฮาเบอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้  จากเดิมที่ประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 

กำไรของทุ่งคำที่ตกทอดมาถึงทุ่งคาฮาเบอร์นั้นต้องถือว่าเป็นปีแรกและปีเดียวของทุ่งคำที่สร้างกำไร  ก่อนหน้าการเข้ามาและหลังจากการออกไปของพลเอกกิตติศักดิ์ทุ่งคำเผชิญภาวะขาดทุนมาโดยตลอด  จนส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงทุ่งคาฮาเบอร์ในปัจจุบันที่ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่  24  ตุลาคม  2556  อันมีเหตุมาจากบริษัท  สินธนาโฮลดิ้งส์  จำกัด  กับบริษัท  ซิโนแพ็ค  ดีเวลอปเม้นต์  (ประเทศไทย)  จำกัด  ยื่นฟ้องให้ตกเป็นผู้ล้มละลาย  ซึ่งศาลได้รับคำร้องและกำหนดนัดไต่สวนคำร้องในวันที่  27  มกราคม  2557  ปีหน้า 

รวมทั้งภาวะรุมเร้าจากหนี้สินก้อนอื่น  และการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินกิจการ  โดยเฉพาะหนี้สินของธนาคารดอยซ์แบงก์จากการกู้เงินก้อนที่สอง  35  ล้านเหรียญสหรัฐ  เมื่อปี  2551  (ก่อนหน้านี้เคยกู้ดอยซ์แบงก์  25  ล้านเหรียญสหรัฐ  เมื่อปี  2549)  ซึ่งยังเป็นคดีความต่อกัน  โดยมีสัญญาชำระหนี้ด้วยทองคำเป็นเวลา  4  ปี  ตั้งแต่ปี  2552 – 2555  โดยทุ่งคำเห็นว่าเป็นสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมเพราะบังคับให้ชำระเงินกู้ด้วยทองคำที่ผลิตได้ในราคาที่กำหนดตายตัว  ซึ่งต่ำกว่าราคาในตลาด  และในปริมาณที่มากกว่าพึงชำระทั้งเงินต้นรวมดอกเบี้ยในแต่ละเดือนได้  ถึงแม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะให้ดอยซ์แบงก์ชนะคดีเมื่อเดือนเมษายน  2556  โดยให้ทุ่งคำชำระเงินกู้ส่วนที่เหลือคืนพร้อมดอกเบี้ย  และค่าปรับการยกเลิกสัญญาส่งมอบทองคำพร้อมดอกเบี้ย  แต่ก็ไม่สามารถบังคับคดีได้เพราะทุ่งคำยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเอาไว้เพราะเห็นว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  ซึ่งปัจจุบันศาลทรัพย์สินฯยังไม่ตัดสินคดี  

ในขณะที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการกำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้า  ทุ่งคาฮาเบอร์ก็กำลังจะได้ดาวดวงใหม่ที่น่าจะโดดเด่นเทียบเท่า  หรืออาจจะโดดเด่นกว่าพลเอกกิตติศักดิ์เสียอีก

แผนกรกฎ  :  ความเข้าใจต่อเวที  พับลิค  สโคปปิง  ของผู้การเสือ  และใครอยู่เบื้องหลัง  ?

หลังปฏิบัติการตามแผนกรกฎครั้งที่สอง  ของกองกำลังตำรวจซึ่งเป็นกำลังหลัก  ผสมพนักงานทุ่งคำเป็นบางส่วน  จำนวนรวมกัน  700  คน  เพื่อปิดกั้นประชาชนที่เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก  สโคปปิ้ง  เพื่อจัดทำรายงาน  EHIA  ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่  76/2539  ต.นาโป่ง  อ.เมือง  จ.เลย  เมื่อวันที่  8  กันยายน  2556  (ครั้งแรกใช้กองกำลังตำรวจเป็นกองกำลังหลัก  ผสมทหาร  อาสารักษาดินแดน  และพนักงานทุ่งคำเป็นบางส่วน  จำนวนรวมกัน  1,000  คน  เพื่อสกัดกั้นประชาชนที่เห็นต่างในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก  สโคปปิง  เพื่อจัดทำรายงาน  EHIA  ประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่  104/2538  (แปลงภูเหล็ก)  ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง  จ.เลย  เมื่อวันที่  23  ธันวาคม  2555)  มีคำถามหนึ่งที่คนในพื้นที่จังหวัดเลยใคร่รู้อย่างมากว่า  "เหตุใด  'ผู้การเสือ'  หรือ  พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย  ใช้แผนกรกฎปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีพับลิก  สโคปปิง  ถึงสองครั้งสองครา  ?"

ทั้งๆที่การใช้แผนกรกฎปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวในครั้งแรกน่าจะได้รับบทเรียนมากพออยู่แล้วถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสม  ที่นำกองกำลังตำรวจไปปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนั้น  ดังที่คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มีความเห็นในเชิงว่ากล่าวตักเตือนต่อหน้าผู้การเสือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง  ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ  เมื่อครั้งที่คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวเรียกหน่วยงานราชการระดับปฏิบัติการในพื้นที่และระดับนโยบายจากส่วนกลาง  และทุ่งคำ  รวมทั้งราษฎรกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด  เข้ามาตรวจสอบเมื่อวันที่  19  กุมภาพันธ์  2556  ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จนถึงขั้นที่ผู้การเสือยังแสดงอาการสำนึกดีบางอย่างต่อที่ประชุมในวันนั้นด้วยว่า  การกระทำของตนทำให้คนในพื้นที่เกลียดชังตนเองมากขึ้น  จากที่คิดอยู่เสมอมาว่าตนเป็นที่รักใคร่ของคนในพื้นที่  หากต่อไปจะทำอะไรจะต้องระมัดระวังให้มากขึ้น  เพราะเป็นเรื่องเปราะบางของสังคม

โดยผู้การเสือกับปลัดจังหวัดเลยยังยอมรับต่อหน้าคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอีกด้วยว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังผสมที่ร่วมปฏิบัติการตามแผนกรกฎ  ที่ปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวในครั้งแรก  ทุ่งคำเป็นผู้รับผิดชอบจัดหามาให้

คำตอบต่อคำถามดังกล่าวก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้น  เมื่อเข้าไปค้นรายชื่อคณะกรรมการทุ่งคาฮาเบอร์ชุดปัจจุบัน  ปรากฏว่ามีชื่อของ  พล.ต.อ.สมยศ  พุ่มพันธุ์ม่วง  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบร่วมอยู่ด้วย 

จึงไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่าทำไมผู้การเสือถึงยอมให้คนในพื้นที่เกลียดชังตนเองมากยิ่งขึ้น  จากการเป็นผู้วางแผนและบัญชาการตามแผนกรกฎเพื่อปิดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมในเวทีพับลิก  สโคปปิง  ในครั้งที่สอง  ด้วยตนเอง 

ปิคนิคแก๊ส  ละครแห่งความขัดแย้ง

ในช่วงระยะเวลา  2 – 3  ปี  ที่ผ่านมา  ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือข่าวปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น  101  ล้านบาท  ของบริษัท  แอสเซ็ท  มิลเลี่ยน  จำกัด  ("แอสเซ็ท")  ที่เชื่อมโยงไปยังบริษัท  ปิคนิค  คอร์ปอเรชั่น  จำกัด  (มหาชน)  ("ปิคนิค")  และกลุ่มบริษัท  เวิลด์แก๊ส  (ประเทศไทย)  จำกัด  ("เวิลด์แก๊ส")

ภายใต้การนำของนายสุริยา  ลาภวิสุทธิสิน  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ช่วงเวลาสั้น  ๆ  4  เดือน  ระหว่างวันที่  11  มีนาคม – 6  กรกฎาคม  2548  ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเข้าซื้อกิจการหุ้นขนาดเล็กหลายกิจการที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการหลังวิกฤติเศรษฐกิจ  ปี  2540  โดยปิคนิคเป็นหนึ่งในนั้น  แล้วสร้างราคาชี้นำโยกกันไปมาระหว่างกลุ่มก๊วนเดียวกัน  ผ่านอุบายสร้างข่าวคราวการเพิ่มทุนหลายรอบอย่างครึกโครม  เพื่อหลอกล่อนักลงทุนประเภทแมลงเม่าเข้าไปเป็นเหยื่อ  จนทำกำไรหลายพันล้านบาท  แต่ในท้ายที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  (ก.ล.ต.)  กลับตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินปี  2547  ของปิคนิคช่วงเดือนมีนาคม  2548  ที่กลายเป็นว่าก่อหนี้ไว้หลายพันล้านบาท  จนต้องมีการเข้าแผนฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 

โดยนายสุริยาเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินกิจการของปิคนิคอย่างเบ็ดเสร็จ  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจแก๊สเช่นเดียวกัน  อีกทอดหนึ่งด้วย

แต่ธุรกิจแก๊สซึ่งเป็นธุรกิจพลังงานสายหนึ่งยังคงเป็นขาขึ้น  ปิคนิคและเวิลด์แก๊สจึงยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนอยู่เสมอ

เรื่องราวต่อจากนั้นเริ่มมาจากความขัดแย้งระหว่างนางวิมลรัตน์  กุลดิลก  หรือเลิศเสาวภาคย์  ภรรยาของ  พล.ต.ท.ชัจจ์  กุลดิลก  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  โดยดำรงตำแหน่งทั้งสองในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม  2554 – มิถุนายน  2556  กับ  พล.ต.ท.สมยศ  พุ่มพันธุ์ม่วง  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  (ตำแหน่งปัจจุบันเป็น  พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ)  เพื่อแย่งชิงหุ้นในแอสเซ็ทร้อยละ  51  มูลค่า  101  ล้านบาท  ("หุ้นพิพาท")  ของนายสุริยา 

เนื่องจากในขณะที่เกิดเหตุวุ่นวายกับปิคนิค  นายสุริยาได้ซื้อหุ้นของแอสเซ็ทมาดำเนินกิจการ  จนในที่สุดแอสเซ็ทได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในเวิลด์แก๊สแทนปิคนิค 

ความขัดแย้งนี้ได้ทำให้นางวิมลรัตน์ยื่นฟ้องนายสุริยา  พล.ต.ท.สมยศ  กับพวกรวมสิบคน  เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่  5  มีนาคม  2553  เพื่อขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทที่  พล.ต.ท.สมยศ  ได้รับไป  เนื่องจากว่าหุ้นจำนวนดังกล่าวนายสุริยาได้โอนให้กับนางวิมลรัตน์ก่อนแล้ว 

จากคำให้การของ  พล.ต.ท.ชัจจ์  ต่อศาลแพ่ง  ระบุว่าในช่วงปี  2549  ต่อเนื่องปี  2551  นายสุริยา  และปิคนิค  เกิดปัญหาทางการเงินและมีหนี้สินมากจนต้องมีการเข้าแผนฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างหนี้  จึงต้องมาขอยืมเงินนางวิมลรัตน์เพื่อนำไปใช้จ่ายในธุรกิจส่วนตัวมาโดยตลอด  จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน  2551  นายสุริยามีหนี้สินคงค้างชำระกับนางวิมลรัตน์ประมาณ  232  ล้านบาท  ซึ่ง  พล.ต.ท.ชัจจ์  และนางวิมลรัตน์ได้ติดตามทวงถามให้นายสุริยาชำระหนี้มาโดยตลอด  จึงได้เจรจาชำระหนี้กันโดยตกลงจะนำหุ้นพิพาทมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์  ซึ่งหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนายสุริยาแต่ให้ตัวแทนถือหุ้นไว้แทน

แต่การถือหุ้นพิพาทของนายสุริยาก็ไม่ตรงไปตรงมา  โดยให้นายธรรมนูญ  ทองลือ  เป็นตัวแทนถือหุ้นไว้แทน  ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทว่าเป็นผู้ถือหุ้น   และนายสุริยาได้ให้นายธรรมนูญทำหนังสือโอนหุ้นจำนวนดังกล่าวให้นายสุวิทย์  สัจจวิทย์  ตัวแทนอีกคนหนึ่ง  โดยทำเป็นหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อนายธรรมนูญ  ผู้โอน  นายสุวิทย์  ผู้รับโอน  มีนายสมบัติ  สร้อยเงิน  และนายสุริยาลงลายมือเป็นพยาน  มีนายโดนัล  เอียน  แม็คเบน  ลงลายมือชื่อฐานะนายทะเบียนบริษัท  ลงนามรับทราบการโอน  ปรากฏตามใบโอนหุ้นฉบับวันที่  10  ตุลาคม  2551
ดังนั้น  หุ้นพิพาท  หมายเลขที่  00000001 - 10199600  จำนวน  10,199,600  หุ้น  มูลค่าหุ้นละ  10  บาท  เป็นเงินประมาณ  101  ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ  51  ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของแอสเซ็ท  ที่นายสุริยานำมาชำระหนี้บางส่วนแก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน  2551  จึงเป็นหุ้นในชื่อของนายสุวิทย์ที่รับโอนมาจากนายธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง

หลังจากนายสุริยาชำระหนี้บางส่วนด้วยการโอนหุ้นพิพาทในชื่อของนายธรรมนูญและนายสุวิทย์ที่ตกทอดการเป็นผู้ถือหุ้นแทนมาตามลำดับให้กับนางวิมลรัตน์แล้ว  ในเดือนธันวาคม  2551  นายสุริยาก็หลบหนีหายตัวไปอยู่ต่างประเทศ  ไม่สามารถติดต่อได้

ทางด้าน  พล.ต.ท.สมยศ  ก็เป็นเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งของนายสุริยา  ทราบดีว่าทรัพย์สินของนายสุริยาที่ยังเหลืออยู่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ให้แก่ตนเองได้  คือหุ้นพิพาทซึ่งเป็นหุ้นจำนวนเดียวกันที่นางวิมลรัตน์ได้รับโอนเพื่อชำระหนี้บางส่วนจากนายสุริยาไปแล้ว

ในระหว่างนั้น  เมื่อวันที่  13  มีนาคม  2552  ก.ล.ต.  ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินผู้ที่ถูกกล่าวโทษกรณีทุจริต  ยักยอกเงินและทรัพย์สินปิคนิค  โดยมีผู้เกี่ยวข้องคือแอสเซท  นายธรรมนูญ  และนายทนงศักดิ์  ศรีทองคำ  เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวโทษและถูกอายัดทรัพย์ 

การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของนายสุริยาที่ติดหนี้ไว้กับนางวิมลรัตน์และ  พล.ต.ท.สมยศ  ได้มีขึ้นหลายครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม  2552  และครอบครัวของนางวิมลรัตน์ได้ยืนยันให้  พล.ต.ท.สมยศ  ทราบว่า  ได้รับโอนหุ้นพิพาทของนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญซึ่งเป็นตัวแทนถือหุ้นไว้แทน  มาถือครองไว้หมดแล้ว  โดยมีหนังสือการโอนหุ้นลงลายมือชื่อพยานถูกต้องตามกฎหมาย  แต่ยังไม่สามารถไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นได้เพราะนายธรรมนูญ  ถูก ก.ล.ต.  มีคำสั่งอายัดทรัพย์สิน

แต่ในระหว่างที่มีการเจรจาตกลงกันนั้น  นายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง  ได้เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแอสเซท  ได้ร่วมมือกับนายทนงศักดิ์  ซึ่งเป็นกรรมการของแอสเซทอยู่ก่อนแล้ว  ร่วมกันลงลายมือชื่อในเอกสาร  แบบ บอจ.5  (บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น)  ว่าขอเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นในส่วนที่เป็นหุ้นของนายธรรมนูญ  ทั้งหมดมาเป็นชื่อ  พล.ต.ท.สมยศ  เป็นผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่  31  กรกฎาคม  2552  โดยอ้างกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครว่า  พล.ต.ท.สมยศ  ได้รับโอนหุ้นมาจากนายธรรมนูญ  และลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่  11  มีนาคม  2552  แล้ว 

ซึ่งหุ้นพิพาทที่มีชื่อ  พล.ต.ท.สมยศ  ดังกล่าวนั้น  เป็นหุ้นจำนวนเดียวกับที่นางวิมลรัตน์ได้รับโอนมาจากนายสุริยาที่ให้นายธรรมนูญและนายสุวิทย์ถือครองไว้แทนมาโดยลำดับ 

จึงเป็นเหตุให้  พล.ต.ท.ชัจจ์  และนางวิมลรัตน์เชื่อว่าสัญญาโอนหุ้นระหว่างนายธรรมนูญกับ  พล.ต.ท.สมยศ  เมื่อวันที่  11  มีนาคม  2552  นั้น  มิได้ทำขึ้นในวันที่  11  มีนาคม  2552  จริง  แต่เป็นเอกสารที่น่าจะทำขึ้นภายหลัง  โดยลงวันที่ย้อนหลังเป็นวันที่  11  มีนาคม  2552  ก่อนวันที่  13  มีนาคม  2552  อันเป็นวันที่  ก.ล.ต.  มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายธรรมนูญ  เพื่อให้บุคคลเข้าใจว่าได้มีการซื้อขายโอนหุ้นกันก่อนมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินนายธรรมนูญ 

หลังจากนางวิมลรัตน์ยื่นฟ้องนายสุริยา  พล.ต.ท.สมยศ  กับพวกรวม  10  คน  เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่  5  มีนาคม  2553  การเอาคืนก็เริ่มขึ้น  เมื่อวันที่  19  พฤษภาคม  2554  พล.ต.ท.สมยศ  ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.)  ให้ตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินของ  พล.ต.ท.ชัจจ์  ตอนรับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช  ปี  2551  กรณีไม่แจ้งว่ามีกู้ให้ยืมนายสุริยา  จำนวน  232  ล้านบาท  ว่า  เข้าข่ายจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน

ตามมาด้วยอีก  2  คดีอาญา  หลังจากที่  พล.ต.ท.สมยศ  ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแอสเซ็ท  ก็ได้ร่วมกับนายธรรมนูญยื่นฟ้องนางวิมลรัตน์กับพวกในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม  คดีแรกเมื่อวันที่  3  ตุลาคม  2554  แอสเซ็ทโดยนายพิศาลและนายสง่า  รัตนชาติชูชัย  กรรมการผู้มีอำนาจ  ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิมลรัตน์และพวกในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร  ปลอมเอกสาร  และใช้เอกสารปลอม  โดยโจทย์กล่าวหาว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของแอสเซ็ทตามใบโอนหุ้นเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  2551  ที่นายธรรมนูญโอนหุ้นพิพาทที่ถือหุ้นไว้แทนนายสุริยามาให้แก่นายสุวิทย์เพื่อนำมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน  2551  เป็นเอกสารเท็จ  ส่วนเอกสารการโอนหุ้นพิพาทที่แท้จริงเกิดขึ้นต่อจากนั้นเมื่อวันที่  11  มีนาคม  2552  ซึ่งนายธรรมนูญที่เป็นเจ้าของหุ้นพิพาทตัวจริงได้โอนหุ้นดังกล่าวให้แก่  พล.ต.ท.สมยศ 

คดีที่สองเมื่อวันที่  17  ตุลาคม  2554  นายธรรมนูญได้ยื่นฟ้องนางวิมลรัตน์และนายสุวิทย์  ในข้อหาปลอมเอกสาร  และใช้เอกสารปลอมเช่นเดียวกันกับคดีแรก  โดยแก้ต่างว่านายธรรมนูญไม่เคยทำใบโอนหุ้นพิพาทเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  2551  ให้นายสุวิทย์  และไม่เคยได้รับเงินค่าหุ้นพิพาทจากนายสุวิทย์  ดังนั้น  ใบโอนหุ้นพิพาทที่นำมาชำระหนี้แก่นางวิมลรัตน์เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน  2551  เป็นความเท็จ

ดูเหมือนว่าแก่นของความขัดแย้งของผลประโยชน์คือการรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์เอาไว้  ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ชนะกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่เพื่อเอาไว้ต่อรองผลประโยชน์กันต่อไป  ภายใต้ซากปรักหักพังและความชำรุดทรุดโทรมของชีวิตใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเส้นทางเดินของความขัดแย้งของผลประโยชน์  เป็นเรื่องนอกเหนือความสนใจของคนที่ร่วมสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งของผลประโยชน์ขึ้นมา
มีสองเหตุการณ์ที่เป็นการรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์เอาไว้  นั่นคือ

เหตุการณ์แรก  -  ก่อนที่นายธรรมนูญจะยื่นฟ้องคดีสองเมื่อวันที่  17  ตุลาคม  2554  ต่อนางวิมลรัตน์และนายสุวิทย์นั้น  ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่  14  ตุลาคม  2554  ให้นางวิมลรัตน์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทดังกล่าว 

เหตุการณ์ที่สอง  -  ระหว่างที่  พล.ต.ท.สมยศ  และพวกยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลแพ่งพิพากษาให้นางวิมลรัตน์ได้กรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทนั้น  สำนักงานอัยการพิเศษได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  (ดีเอสไอ)  เมื่อวันที่  16  มกราคม  2556  แจ้งคำสั่งไม่ฟ้อง  พล.ต.ท.สมยศ  และนายธรรมนูญกับพวก  ตามที่นางวิมลรัตน์ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีอาญา  พล.ต.ท.สมยศ  และนายธรรมนูญกับพวก ต่อ  พล.ต.อ.ปทีป  ตันประเสริฐ  จเรตำรวจแห่งชาติ  รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ตั้งแต่วันที่  28  ธันวาคม  2552  ที่ผ่านมา

ตามคำสั่งไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการพิเศษโดยสรุปก็คือ  พล.ต.ท.สมยศ  ได้หุ้นพิพาทของแอสเซ็ทมาจากนายธรรมนูญโดยถูกต้อง  จึงฟังไม่ได้ว่า  พล.ต.ท.สมยศ  และนายธรรมนูญกับพวกร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร

ความขัดแย้งของผลประโยชน์  ปิดตำนานอื้อฉาวของปิคนิคแก๊ส

ไม่ว่าความขัดแย้งของผลประโยชน์ระหว่างนางวิมลรัตน์  และ  พล.ต.ท.ชัจจ์  กับ  พล.ต.ท.สมยศ  และพวกยังดำรงอยู่  เพราะคดีความต่าง  ๆ  ที่ต่างฝ่ายต่างฟ้องกันยังไม่สิ้นสุด  ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คือ  พล.ต.อ.สมยศ  พุ่มพันธุ์ม่วง  รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ซึ่งเป็นตำแหน่งในปัจจุบัน  ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแอสเซ็ทเรียบร้อยแล้ว  ซึ่งแอสเซ็ทเองก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สอีกทอดหนึ่งด้วย 

ผลของความขัดแย้งของผลประโยชน์ในกรณีนี้  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่  10  มิถุนายน  2556  เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการปิคนิคของเวิลด์แก๊ส  ที่ก่อนหน้าเกิดวิกฤติการณ์ความวุ่นวายกับปิคนิคเคยเป็นบริษัทลูกของปิคนิคมาก่อน  แต่ตอนนี้เวิลด์แก๊สได้ย้อนกลับมาเข้ายึดกิจการของปิคนิคอย่างเบ็ดเสร็จ  โดยควักจ่ายเงินเพิ่มทุนให้ปิคนิค  1,700  ล้านบาท  เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2556  ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่เพียงพอให้ปิคนิคนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย  เมื่อวันที่  7  ตุลาคม  2556  ที่ผ่านมา  ถือเป็นการปิดตำนานอื้อฉาวมากว่า  5  ปี  ของปิคนิคอย่างสวยหรูเพื่อรอวันกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง

เชื้อร้ายกำลังลุกลามมาที่ทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำ

รูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในปิคนิคและเวิลด์แก๊ส  (ดูรูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเพื่อล้างวิกฤติการณ์ของปิคนิคในตลาดหุ้นไทย  ช่วงปี 2548 – 2556  ท้ายบทความ)  โดยดึงแอสเซ็ทเข้ามาเพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของปิคนิคไปแอสเซ็ท  เพื่อให้แอสเซ็ทเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของเวิลด์แก๊สแทนปิคนิค  แล้วท้ายที่สุดก็ให้เวิลด์แก๊สย้อนกลับไปถือหุ้นปิคนิคเพื่อล้างมลทินเรื่องอื้อฉาวที่ปิคนิคก่อขึ้นมาให้หมดสิ้น  โดยมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องมากหน้าหลายตา  ถึงแม้ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่ามันเป็นละครหรือเกมตบตากรรมการ/องค์กรที่กำกับกติกา  แมลงเม่าซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย  สื่อมวลชน  รวมทั้งสาธารณชนที่เฝ้าดูติดตามข่าวสารในช่องทางต่าง  ๆ  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้นายสุริยาหลุดลอดไปจากความผิดและความรับผิดชอบที่ตนเองได้ก่อไว้ 

สถานภาพของทุ่งคาฮาเบอร์หลายปีมานี้มีลักษณะคล้าย  ๆ  กันกับปิคนิคในช่วงเกิดวิกฤติการณ์   ชื่อเสียงของหุ้นทุ่งคาฮาเบอร์ถูกวางอยู่ในตำแหน่ง  'หุ้นปั่น'   มาแต่ไหนแต่ไร  โดยมักมีผู้เล่นข่าวราคาทองคำเชื่อมโยงไปยังแหล่งแร่ทองคำที่ทุ่งคำถือสัมปทานอยู่ที่จังหวัดเลย  ว่าเป็นสินค้าที่มีอนาคตสดใสของทุ่งคาฮาเบอร์  แต่ทุกครั้งที่หุ้นถูกจุดพลุขึ้นไปเร็วและแรง  ก็จะตกลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงไม่แพ้กัน  สุดท้ายผู้ถือหุ้นรายย่อยก็เจ็บกันถ้วนหน้า  ผลของการเล่นหุ้นแบบนี้จึงทำให้ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (ตลท.)  สั่งหยุดซื้อขายหุ้นตัวนี้  และยังคงเครื่องหมาย  SP  (Trading  Suspension  :  ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว)  และ  NC  (Non-Compliance  :  หลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน)  หลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์เป็นปีที่สอง  เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงานและยังไม่ได้นำส่งงบการเงินไตรมาสที่  1  สิ้นสุดวันที่  31  มีนาคม  2556  และไตรมาสที่  2  สิ้นสุดวันที่  30  มิถุนายน  2556  ต่อ  ตลท.

หากยังไม่สามารถดำเนินการให้มีคุณสมบัติพ้นเหตุแห่งการเพิกถอนภายในระยะเวลา  4  ปี  นับแต่ถูกเครื่องหมาย  NC  ในปีแรกเมื่อวันที่  9  ธันวาคม  2554  อาจทำให้หลักทรัพย์ของทุ่งคาฮาเบอร์ถูกเพิกถอนออกไปจากตลาดหุ้นได้
รวมถึงหนี้สินท่วมตัวกับเจ้าหนี้หลายแห่ง  จนเป็นเหตุให้ทุ่งคาฮาเบอร์ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่  24  ตุลาคม  2556  ตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว

วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำอาจจะกลายเป็นโอกาสอันงดงามของใครหลายคนก็เป็นได้  หากดูที่รูปแบบการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินธุรกิจของปิคนิค  ที่สร้างความขัดแย้งของผลประโยชน์ขึ้นมา  เพื่อรักษาสถานภาพการต่อรองผลประโยชน์ให้ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน  ซึ่งเป็นรูปแบบที่กำลังลุกลามเข้ามาในทุ่งคาฮาเบอร์และทุ่งคำอยู่ในขณะนี้ 

ตราบใดที่ความทุกข์ยากและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เกิดจากน้ำมือตัวเอง  แต่ก่อเกิดจากความขัดแย้งของผลประโยชน์ในตลาดหุ้นที่บงการชีวิตเรา  จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใดและเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่ประชาชนในพื้นที่  ต.เขาหลวง  อ.วังสะพุง  จ.เลย  จะก่อกำแพงชุมชนปิดกั้นถนนเพื่อป้องกันสารเคมีมีพิษที่ขนใส่รถบรรทุกเข้ามายังโรงประกอบโลหกรรมเพื่อแต่งแร่และถลุงแร่ทองคำบนภูทับฟ้า

แต่ผลตอบแทนที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับก็สูงขึ้นเรื่อย  ๆ  จากคดีความที่ทุ่งคำฟ้องอาญาและแพ่ง  ในคดีแรกฟ้องให้ติดคุกและเรียกค่าเสียหาย  50  ล้านบาท  บวก  10  ล้าน  ทุกวันจนกว่ากำแพงชุมชนจะถูกพังทลายลงไป  กับชาวบ้าน  14  คน  คดีที่สองฟ้องให้ติดคุกและเรียกค่าเสียหาย  70  ล้านบาท  กับชาวบ้าน  13  ราย  จากการก่อกำแพงขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สอง  หลังจากของเดิมถูกผู้สวมไอ้โม่งปิดหน้าพังทลายลงไปในยามวิกาล  ซึ่งรายชื่อส่วนใหญ่มีชื่อถูกฟ้องในคดีแรกด้วย  และคดีที่สามกำลังจะตามมาจากการก่อกำแพงขึ้นใหม่เป็นครั้งที่สาม  หลังจากกำแพงที่ถูกสร้างในครั้งที่สองถูกพังทลายลงไปโดย  นายก  อบต.เขาหลวง  สั่งการ
  

 

 

เอกสารอ้างอิง  (ทุกรายการสืบค้นเมื่อวันที่  21  ตุลาคม  2556)

เปิดคำพิพากษาศาลสั่ง  พล.ต.อ.สมยศ-พวก  คืนหุ้น  "เมียชัจจ์" 101 ล้าน.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18755-คำพิพากษา.html
ผ่าปมขัดแย้งคดีโอนหุ้น  101  ล้าน  "ชัจจ์-สุริยา-สมยศ"  เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด?.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18016-ชัจจ์-สุริยา-สมยศ.html
เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้น  "แอสเซ็ท  มิลเลี่ยน"  ชนวนแตกหัก  "ชัจจ์-สมยศ-สุริยา".
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18258-three-man.html
"สมยศ"  ซัด "ชัจจ์"  ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้  232  ล้าน  ชงประธาน  ป.ป.ช.  สอบแจ้งเท็จ?.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18059-"สมยศ"ซัด"ชัจจ์"ส่อซุกเมีย-เงินปล่อยกู้-232-ล้าน-ชงประธาน-ป-ป-ช-สอบแจ้งเท็จ.html
แลกคนละหมัด!  เมีย  "ชัจจ์"  เล่านาที  "สมยศ"  พาตำรวจ  30  คน  บุกยึด  "เวิลด์แก๊ส".
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/item/18073-แลกคนละหมัด-เล่านาที.html
กลุ่ม  พล.ต.อ.สมยศ  ฟ้องอาญา  "เมียชัจจ์-พวก"  2  คดีรวด  ซัดปลอมใบโอนหุ้น  101  ล้าน.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.isranews.org/investigate/investigative-01/item/18287-สมยศฟ้องอาญา-เมียชัจจ์.html
InfoQuest News – กลุ่มสมยศยึดปิกนิก.
ข้อมูลออนไลน์  http://itrading.bualuang.co.th/th/list-tb.php?width=821&height=500&menuid=23&content=newtoday&contentid =1840236
"เวิลด์แก๊ส"  ฮุบ  "ปิคนิค"  กรุงไทย-ยูโอบีไฟเขียวแผนฟื้นฟูกิจการ.
ข้อมูลออนไลน์  http://www.thairath.co.th/content/eco/335514
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรพศ ทวีศักดิ์: อำนาจที่บิดเบือนความจริงและความยุติธรรม

Posted: 01 Nov 2013 10:56 AM PDT

 

บางคนมองว่า ปรากฏการณ์เสื้อแดงตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเพียงการต่อสู้เพื่อทักษิณ หรือเป็นเครื่องมือของทักษิณและพรรคเพื่อไทย

แต่หากไม่ปิดหูปิดตาหรือโกหกตัวเองมากเกินไป เราย่อมเห็นความจริงว่าใน "เสื้อแดง" นั้นมีทั้งสู้เพราะรักทักษิณ เพราะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เพราะคัดค้านรัฐประหาร รับไม่ได้กับการใช้รัฐประหาร และองค์กรที่ตั้งขึ้นจากรัฐประหารจัดการกับนักการเมืองที่ประชาชนเลือก รับไม่ได้กับการที่รัฐบาลประชาธิปัตย์และกองทัพอ้างเรื่อง "ขบวนการล้มเจ้า" สลายการชุมนุมของเสื้อแดงในปี 2553 จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก รับไม่ได้กับอำนาจนอกระบบ ต้องการประชาธิปไตย ต้องการแก้ไข/ยกเลิก กฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจนถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ระบบตุลาการไทยให้เป็นประชาธิปไตย

ฉะนั้น จึงไม่อาจสรุปง่ายๆ ว่า ปรากฏการณ์เสื้อแดงไม่ใช่ปรากฏการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้ทักษิณและคนรักทักษิณ (ที่อาจตั้งคำถามได้ว่าพวกเขามี "อุดมการณ์ประชาธิปไตย" จริงหรือไม่) พวกเขาก็ยืนยันที่จะสู้ใน "วิถีทางประชาธิปไตย" ผ่านเวทีการเลือกตั้ง เราจึงอาจเรียกรวมๆได้ว่า ปรากฏการณ์เสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอีกก้าวหนึ่งอย่างแน่นอน

จะว่าไป เส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นคดเคี้ยวยาวนาน มองจากขบวนการเสื้อแดง ย้อนไปหาประวัติศาสตร์พฤษภาคม 2535, 6 ตุลาคม 2519, 14 ตุลาคม 2516 ไปจนถึงปฏิวัติสยาม 2475 ถึงกบฏ ร.ศ.103 ถึงยุคเทียนวรรณปัญญาชนผู้เรียกร้องให้ "เลิกทาส" และให้มีระบบการปกครองแบบ "ปาลีเมนท์" แม้ว่ารอยต่อ จุดเชื่อมทางความคิด อุดมการณ์ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้จะไม่แนบสนิทเป็นเนื้อเดียว เพราะมีลักษณะเฉพาะ มีความซับซ้อนเฉพาะของตนเองตามบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เปลี่ยนไป แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นการต่อสู้ที่มี "จุดร่วม" สำคัญอันเดียวกัน เป็นจุดร่วมอย่างที่ไมเคิล ไรท เรียกว่าการต่อสู้เพื่อให้มี "สิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม"

ในหนังสือ "ฝรั่งหลังตะวันตก" ไมเคิล ไรท บอกว่า หัวใจสำคัญของการเกิด "Renaissance (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ)" ในยุโรปคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 คือ เป็นยุคของการต่อสู้เพื่อ "สิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม" จากอำนาจครอบงำกดขี่ของศาสนจักร และระบบกษัตริย์  Renaissance ในยุโรปไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ล้มลุกคลุกคลานใช้เวลาร่วมสองร้อยปี แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้นั้นได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ยังคงมีการต่อสู้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะการกดขี่อย่างไร้เหตุผลและความอยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ ไม่ได้หายไปจากโลก

นอกจากนี้ ไมเคิล ไรท ยังมองว่า Renaissance ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของชาวยุโรป ใครจะเรียนรู้ หยิบไปใช้หรือปฏิเสธมันก็ได้ และ Renaissance ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่ยุโรปที่เดียวเท่านั้น มันอาจเกิดขึ้นที่ไหนๆ ในโลกก็ได้ ที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม เขามองว่าการต่อสู้ของเทียนวรรณ เรื่อยมาถึง 14 ตุลา, 6 ตุลา ก็คือ Renaissance ของไทยที่ยังล้มลุกคลุกคลาน มองจากแง่นี้ปรากฏการณ์เสื้อแดงก็คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่ยังล้มลุกคลุกคลาน

ต่อสู้กับอะไรหรือ? Renaissance ก็คือการต่อสู้กับ "ความมืด" ยุคนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ยุคสว่างทางปัญญา" (Enlightenment) อิมมานูเอล ค้านท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันบอกว่าวิธีสลายความมืดก็คือ "enlighten-ทำให้เกิดแสงว่าง" ในที่ที่มันมืด หากความมืดเกิดจากอำนาจครอบงำกดขี่ของศาสนจักรและระบบกษัตริย์ ก็ต้องทำให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาด้วยการต่อสู้ให้มีเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆเรื่อง ค้านท์เขียนว่า

อันที่จริงหากสาธารณชนได้รับเสรีภาพ การเกิดแสงสว่างทางปัญญานี้ก็เกือบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย...แสงสว่างทางปัญญานี้ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเสรีภาพ โดยเฉพาะสิ่งที่ดูเรียบง่ายที่สุดที่จะได้ชื่อว่า "เสรีภาพ" อันได้แก่เสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆ เรื่อง...การใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะจะต้องมีเสรีภาพในทุกๆ ขณะ มีแต่สิ่งนี้เท่านั้นที่จะนำแสงสว่างทางปัญญามาสู่มนุษยชาติได้ (อิมมานูเอล คานท์.คำตอบของคำถามว่า "แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร?" แปลโดย โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ จากเว็บไซต์ปรัชญาภาษา)

ในสังคมทุกยุคสมัยมักจะมีบุคคลที่มีความคิดอิสระเป็นตัวของตัวเอง และมีสำนึกอย่างแรงกล้าที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม พวกเขาเรียกร้องเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆเรื่อง แต่บุคคลเช่นนี้มักถูกทำร้ายโดยอำนาจรัฐเสมอมา อำนาจรัฐที่ "บิดเบือน" ความจริงและความยุติธรรม

หากเรานับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคม "ตาสว่าง" หรือเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ให้เกิด Renaissance ในสังคมไทยที่ยังล้มลุกคลุกคลาน เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆ เรื่อง เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม เมื่อมีคนจำนวนหนึ่งเป็นนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในคุก ก็ชอบธรรมแล้วที่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องนิรโทษกรรมให้พวกเขา

แต่การนิรโทษกรรมที่ล่าช้า เสมือนใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อหาทางนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ดังที่กำลังพยายามทำกันอยู่ ย่อมทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรม ยิ่งกว่านั้นการไม่นิรโทษกรรมนักโทษคดี 112 ย่อมเท่ากับตกอยู่ใต้อำนาจที่บิดเบือน "ความจริง" และ "ความยุติธรรม"

บิดเบือนความจริงว่า พวกเขาไม่ใช่ "นักโทษการเมือง" ทั้งๆ ที่เป็นความจริงว่า พวกเขาต่อสู้ด้วยแรงจูงใจทางการเมืองเพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรี สิทธิที่จะมีการปกครองที่มีเหตุผลและยุติธรรม เมื่อบิดเบือนความจริงก็เท่ากับบิดเบือนความยุติธรรมที่พวกเขาควรได้รับเฉกเช่นนักโทษการเมืองอื่นๆ

การที่รัฐไทยบิดเบือนความจริงและความยุติธรรมดังกล่าว สะท้อนว่าสังคมไทยยังไม่พ้นจาก "ยุคมืด" เพราะประชาชนยังไม่มีเสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆ เรื่อง แสงสว่างทางปัญญาจึงยังไม่เกิด

แต่คำถามสำคัญคือ แล้วทำไมรัฐบาลที่มาจากการสละชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนจึงต้องตกอยู่ใต้อำนาจที่บิดเบือนความจริงและความยุติธรรม เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นเดิมอีก ถ้ายังเป็นอยู่เช่นนี้ เมื่อไรสังคมไทยจะหลุดพ้นจาก "ยุคมืด" ได้เสียที

จะยอมให้พลเมืองผู้มีความคิดอิสระ มีจิตสำนึกแรงกล้าในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และความยุติธรรม ต้องถูกทำลายไปอีกเท่าใด จึงจะเพียงพอกับการ "บูชายัญ" อำนาจที่บิดเบือนความจริงและความยุติธรรม

 

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน "โลกวันนี้วันสุข" (2-8 พฤศจิกายน 2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: เสียงนักโทษการเมือง ต่อ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 01 Nov 2013 08:05 AM PDT

 

ประชาไทสำรวจความคิดเห็นจากนักโทษการเมืองบางส่วนจากเรือนจำหลักสี่ ไม่กี่วันก่อนที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านวาระ3 พวกเขาคือผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายนี้ และถูกอ้างเป็นหลักการพื้นฐานของการเริ่มผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ก่อนที่จะมีการปรับเนื้อหาให้ครอบคลุมส่วนอื่นๆ และสร้างการถกเถียง การเคลื่อนไหวต่อต้านจากทุกส่วน แม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดงหรือแนวร่วมที่เคยร่วมกันต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย  

 

โกวิทย์ แย้มประเสริฐ

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 ปี 8 เดือน ปรับ 6,600 บาท ในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน, มีวัตถุระเบิด, ลักทรัยพ์โดยร่วมกันงัดเซเว่นอีเลฟเว่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาเหลือ จำคุก 9 ปี 4 เดือน ปรับ 6,100 บาท เนื่องจากเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่า จำเลยเข้าไปขโมยของที่เซเว่นฯ จริงหรือไม่ แต่จำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองจึงเป็นความผิดฐานรับของโจร และในส่วนความผิดฐานใช้เส้นทางคมนาคม ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ขับรถยนต์ออกจากที่ชุมนุมเพื่อเดินทางกลับบ้านจึงไม่เป็นความผิด คงเหลือโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคน (โกวิทย์ แย้มประเสริฐ และ ประสงค์มณีอินทร์) คนละ 9 ปี 4 เดือน ปรับเท่าเดิม (อ่านเพิ่มเติมใน http://prachatai.com/journal/2011/06/35712)

"เราเห็นด้วยที่จะไม่ให้แกนนำและคนสั่งการ ที่ผ่านมาเขาสั่งยิงพี่น้องเรา"

"แกนนำเองเขาก็ยังไม่ยอมรับ เขาพร้อมสู้ดคีอยู่แล้ว"

"ร่างของวรชัยทำถูกต้องแล้ว นายใหญ่ไม่รับ (การนิรโทษกรรม) แต่ให้พี่น้องได้ออกจากคุก  หรือถ้าไม่ได้ออกจริงๆ ช้าไปอีกหน่อยก็ไม่มีปัญหา เราสู้ถึงชั้นฎีกาอยู่แล้ว เราต้องการลงโทษคนสั่งยิ่งพี่น้องเราเท่านั้น แต่ถ้าเราได้ประกันตัวไปสู้คดีก็จะดี จะได้สู้เต็มที่"


ประสงค์ มณีอินทร์

ประสงค์เป็นคู่คดีโกวิทย์และถูกพิพากษาเช่นเดียวกัน เขาทำงานเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง วันเกิดเหตุขับรถไปร่วมการชุมนุมหลังเลิกงาน ขณะถูกจับยืนยันว่ามีแต่อุปกรณ์ก่อสร้าง หลังถูกจับไม่นานก็มีการตั้งข้อกล่าวหาและจัดแถลงข่าวการจับกุมในบ่ายวันเดียวกันนั้น

สำหรับประเด็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เขากล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่มีปัญหากับร่างที่รัฐบาลผลักดัน และยังเชื่อว่านักโทษในคดีทางการเมืองหลายคนก็คงมีความคิดคล้ายๆ กันคือ หากยอมได้ก็ยอมเสียบ้าง เรื่องจะได้จบๆ ไป

"ทุกวันนี้ที่ความขัดแย้งยังคงอยู่เพราะมันไม่มีใครยอมใคร ทุกอย่างถูกดึงให้เป็นประเด็นเกมส์ทางการเมืองเสมอ จนไม่มีใครยอมใคร ปัญหาจึงไม่มีวันที่จะถูกแก้ไขได้ หาก พ.ร.บ. ตัวนี้ออกมาก็เหมือนเป็นการมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ บนพื้นฐานที่เท่ากัน ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้"
 

ปัทมา มูลมิน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ร่วมกับจำเลยอีก 4 ราย แต่ทั้งหมดให้การเป็นประโยชน์กับรูปคดี จึงลดโทษเหลือจำคุกหนึ่งในสาม เป็นเวลา 33 ปีกับ 4 เดือน
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 4 คน เป็นเวลา 33 ปี 4 เดือน
(อ่านรายละเอียดที่
http://prachatai.com/journal/2011/08/36615)

"ตอนนี้มีกำลังใจดีขึ้นที่เห็นเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษเดินหน้า แต่ก็ชะงัก เพราะเขาบอกว่าจะเหมาเข่งแล้วกระแสต่อต้านมันเยอะ"

"ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษเหมาเข่ง เพราะไม่คุ้มกันที่ต้องให้ฆาตรกรที่ฆ่าประชาชนหลุดด้วย ถึงเข้าใจได้ว่า 2 คนนั้นไม่มีทางติดคุกแน่ แต่ในทางความเป็นจริง ก็ควรให้โอกาสศาลได้พิสูจน์ตัวเองว่ายุติธรรมจริงไหม หาความจริงได้ไหม"

"อยากออกไหมก็อยาก เราเป็นประชาชน เป็นเจ้าของประเทศ แค่มาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้ฆ่าใครตาย"

"จริงๆ ฉบับวรชัยไม่น่าจะมีปัญหา ฝ่ายค้านก็ไม่ได้ค้านอะไร แต่ถามว่าสำหรับทักษิณมันยุติธรรมไหม เขาถูกกลั่นแกล้งไม่ได้กระทำผิด แต่ต้องมานิรโทษด้วย กลับมาก็ไม่สง่างาม อย่างนี้แก้ไขมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญไปเลย แต่ของประชาชนจะให้แก้ตรงไหน"

"กี่ครั้งแล้วที่เรานิรโทษกรรมให้คนฆ่าประชาชน แต่ครั้งนี้มันแปลก เพราะฝ่ายถูกฆ่ามานิรโทษกรรม แถมนิรโทษให้คนฆ่าอีก อย่าลืมว่าที่เราออกมาก็เพราะมีคนถูกฆ่า เราออกมาเรียกร้องให้คนที่ตาย แล้ววันนี้คุณจะมายกโทษให้คนฆ่าคนตาย อย่างนั้นสิ่งที่เราทำมาก็ไม่มีความหมาย ถ้าพรรคทำแบบนี้ อย่าว่าแต่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเดียวกันก็คงไม่เอาคุณเหมือนกัน"

"ถ้าจะยืดเยื้อ เราก็พอทำใจได้ แต่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมศาลไม่ให้ประกันตัว เราจะหนีไปไหน แค่เลี้ยงครอบครัวเรายังจะหาเลี้ยงกันไม่รอด แต่กับสนธิ ลิ้มทองกุล มีเงินตั้งเท่าไรจะหนีก็หนีได้สบาย แต่เขากลับได้ประกันตัว"

 

เอนก สิงขุนทด

เป็นจำเลยคดีวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย ได้รับบาดเจ็บจนตาบอดทั้ง 2 ข้าง ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ให้จำคุกรวมทั้งสิ้น 35 ปี และปรับ 50 บาท ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี

เอนกระบุว่า เขาเห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นฉบับของวรชัย เหมะ หรือฉบับที่ผ่าน กมธ.ที่มีการเปลี่ยนเนื้อหา

"ที่ผ่านมาพวกผมไม่มีส่วนได้ มีแต่ส่วนเสีย ถ้าไม่ได้ของใครร่างใดร่างหนึ่ง ก็ต้องติดอยู่แบบนี้เหมือนเดิม เหมือนเอาพวกผมเป็นตัวประกัน เขาว่าจะทำเพื่อคนคนเดียว ทักษิณไปฆ่าใครที่ไหน เขาโดนกลั่นแกล้งเฉยๆ"

"มองโดยภาพรวมแล้วคนสั่งการยังไงเขาก็ไม่ติดคุก ถึงอัยการฟ้องเขาก็ไม่ติด เชื่อไหม ไม่มีทาง สองมาตรฐานยังมีอยู่จริงๆ ถ้าให้คนสั่งฆ่าประชาชนติดคุก เขาคงติดนานแล้ว แต่นี่ผ่านมา 3 ปีกว่าแล้ว ถามว่าจะเอาความเชื่อมั่นตรงไหนไปเชื่อแบบนั้น เขาเป็นลูกเทวดา เรามันคนธรรมดา"

"ผมว่าสุดซอยไปเลยแล้วมานับหนึ่งใหม่ ส่วนกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาจริงๆ เราก็ต้องมาหาทางปฏิรูป เมื่อเรานิรโทษกรรมแล้ว เราก็ต้องแก้ มาตรา 309 เพื่อไม่ให้มีการัฐประหารอีก มันเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด แก้ตรงนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าประชาชนอีก"

 

เพชร แสงมณี

ผู้ต้องขังชาวเขมร วัยเกือบ 30 ปี อยู่เมืองไทยมา 10 กว่าปี สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้  เพชรถูกจับกุมในวันที่ 19 พ.ค.53  เขาถูกคุมขังในระหว่างสู้คดี โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี 6 เดือน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงตลาดพระโขนง ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยยกข้อหาก่อการร้าย คดีของเขาถึงที่สุดแล้วโดยเขาตัดสินใจไม่ฎีกา

"ตอนนั้นผมไม่รู้คิดอะไรเลยไม่ฎีกา น้อยใจมากเลย กะว่าจะทำอะไรกับกูก็ทำไป"

"เรื่องนิรโทษกรรม ใจผมมี 2 ใจ คืออยากให้นิรโทษแกนนำและผู้สั่งการแบบนี้ กับ นิรโทษให้เฉพาะประชาชน มันเป็นเรื่องยากทางการเมือง อยากให้ถกเถียงการไปก่อน เพราะความคิดเห็นยังแตกต่างกันอยู่มาก"

"ผมรู้สึกเห็นใจผู้สูญเสีย เขาอาจทำใจลำบาก แต่ลึกๆ ผมก็อยากให้นับหนึ่งใหม่และให้รัฐบาลผลักดันพ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วไปแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ใครทำรัฐประหารให้ลงโทษสถานหนัก"

"ถ้าอยากให้ประเทศเดินหน้า เราอาจต้องลืมอดีต ทำใจยอมรับให้ได้แล้วเริ่มกันใหม่"

"สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ การโดยคุมขังโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ผมไม่ได้สนใจการเมือง เป็นคนหาเช้ากินค่ำ สังคมไทยไม่มีความเป็นธรรมให้ผมเลย แต่อย่างว่า แม้แต่คนชาติเดียวกันเขายังทำรุนแรงกันขนาดนั้น นับประสาอะไรกับคนต่างชาติ ก็ต้องปิดตารับชะตากรรมของตัวเองไป"
 

วรนุช หรืออัจฉรา  ศรีวันทา

(รายใหม่) เป็นชาว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ถูกดีเอสไอตั้งข้อหาให้เป็นแกนนำเสื้อแดงขอนแก่น ในเหตุการณ์ปิดถนนมิตรภาพ บริเวณแยกบ้านหนองโจด อ.พล  จ.ขอนแก่นเมื่อวันที่  12 พ.ค.53  เธอและชูชัย เจ้าของรถเครื่องเสียงที่ใช้เป็นเวทีชุมนุม ถูกแจ้งข้อหาก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กีดขวางการทำงานเจ้าพนักงาน

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 12 เดือน ปรับ 10,000 บาท ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดี จนกระทั่ง 12 มิ.ย.56 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุกวรนุชและชูชัย 12 เดือน 

เธอเล่าว่าในเหตุการณ์นั้น เธอเป็นคนที่นำเอาข้าวเอาน้ำมาแจกให้ทหารระหว่างที่ผู้ชุมนุมปิดกั้นถนน และพยายามไม่ให้นำทหารจากทางภาคอีสานลงมาผลัดเปลี่ยนกำลังที่กรุงเทพ  เธอเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำของผู้ชุมนุม

"นี่เป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการเอาอาหารและน้ำไปให้ทหาร"

ในช่วงสองเดือนแรกเธอถูกจำคุกอยู่ที่ขอนแก่น สามีเทียวเยี่ยม ส่งข้าว ดูแล รวมทั้งรับภาระในการส่งเสียลูกสาวที่เริ่มเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเป็นปีแรก กิจการฟาร์มหมูขาดทุนและหมูถูกขายนำมาเป็นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าเป็นภาระที่หนักของสามี ผนวกกับสภาพแออัดในเรือนจำขอนแก่น เธอตัดสินใจขอย้ายมาถูกขังที่เรือนจำพิเศษ หลักสี่  ซึ่งสภาพความเป็นอยู่สบายขึ้น แม้ต้องห่างครอบครัว แต่ก็ไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว 

สำหรับประเด็นนิรโทษกรรม วรนุชบอกว่าเธอเห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมาย

"ถ้าไม่ให้อภัยกัน มันก็ไม่จบ..บ้านเมืองมันก็ก้าวไปข้างหน้าต่อไปไม่ได้ มันต้องอะลุ่มอะหล่วยกัน ลูกหลานข้างหน้าจะได้สบายขึ้น ถ้าเรายังจมอยู่กับความขัดแย้งมันก็ไปไหนไม่ได้" 

เมื่อถามว่าถ้าไม่ได้นิรโทษโดยส่วนตัวเธอจะรู้สึกอย่างไร วรนุชบอกว่าเธอคิดว่าจะได้รับการพักโทษเมื่อถูกขังได้ 2 ใน 3 ของกำหนดโทษ หรือราว 8 เดือน  เธอบอกว่าสภาพของเธอดีกว่าคนอื่นที่โดนโทษหนัก น่าเป็นห่วงกว่ามากนัก 

"ฉันรักท่านทักษิณ ทำเพื่อท่านทักษิณ ถึงมาอยู่อย่างนี้" เธอฝากถึงทักษิณ ชินวัตร

 

พนม กันนอก

หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 20 ปี และได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ปัจจุบันรับจ้างทำงานก่อสร้าง โดยต้องไปรายตัวกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดมุกดาหารทุกเดือน และต้องยังไปพบหมอจิตเวชทุก 2 เดือน อันเนื่องจากผลกระทบจากการถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานาน

"ถ้านิรโทษแบบสุดซอยแล้วทำให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ ทำให้พี่น้องออกจากคุกได้ ผมก็ยอมรับได้ เพราะว่ายังไงเราก็เอาอภิสิทธิ์ สุเทพมาลงโทษไม่ได้ ถามว่าผมโกรธมั้ย ช้ำใจมั้ย ผมช้ำใจ เราได้รับผลกระทบมานาน ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด เรารอการนิรโทษมานาน คนที่อยู่ข้างในเรือนจำก็รอมานาน ถ้าคนอยู่ข้างในได้ประกันตัวออกมาเหมือนเรา เราก็พร้อมจะสู้ในกระบวนการยุติธรรมปกติ และต้องให้อภิสิทธิ์ สุเทพ รวมทั้งอีกฝ่ายหนึ่งเข้าสู่กระบวนการเหมือนกัน แม้สุดท้ายศาลฎีกาจะพิพากษาจำคุกพวกเราก็ยอมรับได้ แต่อีกฝ่ายก็ต้องรับโทษเหมือนกัน"

"แต่ถ้านิรโทษสุดซอยแล้ว อีกฝ่ายจะออกมาชุมนุมต้าน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะไม่อยากให้ทักษิณกลับ แล้วทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ตกไป พี่น้องเราไม่ได้ออก ผมก็ไม่เอา ให้พรรคเพื่อไทยกลับไปเอาร่างเดิมของวรชัยดีกว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้พี่น้องเราออกมาได้เร็วที่สุด ผมเห็นใจเขา"  

 

วินัย ปิ่นศิลปชัย

ผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารอีกคน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์เช่นเดียวกัน แต่ผลกระทบจากการถูกคุมขัง ทำให้เขาไม่สามารถกลับไปวิ่งรถขายขนมเครปตามโรงเรียนได้อีกแล้ว ทำได้เพียงเป็นลูกมือช่วยภรรยาขายกล้วยทอด

"ผมไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษสุดซอย ไม่ต้องมี ผมทำใจไม่ได้ เราสูญเสียมาเยอะ ตาย 90 กว่าศพ จะไปยกโทษให้คนทำง่ายๆ ได้ยังไง ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ให้เป็นมาตรฐานว่าคนสั่งฆ่าประชาชนต้องติดคุก ถ้าฆ่าประชาชนแล้วได้รับการนิรโทษ คราวหน้าก็จะมีอย่างนี้อีก ประชาชนมาชุมนุมก็ถูกฆ่าอีก เวลาเขาทำกับเราเหมือนเราไม่ใช่คนไทย เราจึงยอมให้นิรโทษไม่ได้ แม้ว่าถึงที่สุดแล้วคดีของเราศาลจะตัดสินให้จำคุก ผมก็ยอมรับได้ ขอแค่ให้อภิสิทธิ์ สุเทพ รับโทษบ้าง ติดคุกบ้าง"

"ถ้านิรโทษเฉพาะประชาชน กับทักษิณ ผมถึงจะยอมรับ"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปริศนาด่านตรวจ ณ ชายแดนใต้ “ไขกุญแจ ภายในกล่อง” (ตอนที่ 1)

Posted: 01 Nov 2013 06:33 AM PDT

ไขกุญแจ

สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย หรือมักเรียกว่า "ไฟใต้" เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งเกิดมาจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งเรื้อรังยาวนาน มีเหตุการณ์ลอบทำร้าย วางเพลิง วางระเบิด และจลาจลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวในลักษณะต้องการแบ่งแยกดินแดนบริเวณชายแดนใต้มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ความไม่สงบดังกล่าวเริ่มบานปลายขึ้นหลัง พ.ศ.2547

ท้าวความ ปัญหาภาคใต้ ถึงมาตรการด่านตรวจ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายเพื่อเป็นวิธีการบรรเทาความไม่สงบที่เกิดขึ้น นั่นคือ นโยบาย "ใต้ร่มเย็น" เป็นมาตรการที่รัฐบาลและกองทัพภาคที่ 4 นำมาใช้สำหรับแก้ปัญหาความไม่สงบและปราบปรามกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศในนามผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย โจรคอมมิวนิสต์มาลายา และกลุ่มโจรต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ ช่วง พ.ศ. 2524 - 2527

อย่างไรก็ดีในที่นี้จะกล่าวถึงหนึ่งในมาตรการบรรเทาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารลงมาเพื่อปกป้องประชาชนจากความหวาดระแวงที่เกิดขึ้น และเพื่อเยียวยา เป็นกำลังใจให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ตามปกติสุข นั่นคือ การตั้งด่านตรวจต่างๆ ตั้งค่ายทหารบริเวณหมู่บ้านเพื่อประชาชนจะได้รู้สึกปลอดภัย ซึ่งบางค่าย บางด่านก็ได้รับความยินยอมและความร่วมมือจะชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นๆ และบางค่าย บางด่านก็ไม่ได้รับความยินยอมจากชาวบ้านใดๆเลย

กรณีที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ส่งผลให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความสะดวก สบาย และการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปด้วยความเป็นมิตรที่ดี มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปัน เกื้อกูลกัน แต่บริเวณที่ไม่ได้รับความยินยอมจากชาวบ้าน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่สามารถตั้งค่าย หรือด่านตรวจได้ เพียงแต่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆจากชาวบ้าน แม้แต่ความเป็นมิตรที่ดีก็ไม่มีให้เห็น ซึ่งการตั้งด่านตรวจที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนนั้นส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความหวาดระแวงมากขึ้นในบางพื้นที่ เช่น บริเวณ ชานเมือง หมู่ 10 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านไม่ได้ยินยอมต่อการตั้งด่านตรวจ เพียงแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่มีการวางเพลิงรถพ่วงสิบล้อ และวางเพลิงยางรถยนต์ในบริเวณนั้น แต่แล้วหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเพียงสองวันเท่านั้นก็มีการจัดวางด่านตรวจ มีการตรวจค้นรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ผู้คนที่สัญจรไปมาทุกคนอย่างเคร่งครัดมาตลอดจนเกือบจะทำให้ชาวบ้านไว้ใจและให้โอกาสแก่เจ้าหน้าที่

ปัญหาด่านตรวจเริ่มฉายภาพ

ถึงกระนั้นเพียงเวลาไม่นาน การทำงานอย่างเคร่งครัดนั้นก็เริ่มจางหายไปทีละนิด จนหายไปในที่สุด เมื่อเหตุการณ์เริ่มลดลง จนในปัจจุบันนี้เหตุการณ์ก็ยังคงความรุนแรง และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีวี่แววจะลดลงนั้น การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็ยังเหมือนเดิม คือการไม่มีการตรวจอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีการตรวจอีกทีก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว มีผู้คนบาดเจ็บ มีการสูญเสียไปแล้ว และการตรวจก็ผ่านๆ ตรวจแบบพ้นๆไป แถมยังเลือกตรวจเฉพาะคนด้วย แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ก็จะไม่มีการตรวจ ด่านตรวจก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ เหลือเพียงด่านที่สร้างความยุ่งยากให้กับผู้คนที่สัญจรไปมา หรือถ้ามีเจ้าหน้าที่ บางคนก็ยืนคุยโทรศัพท์ บางคนก็ยืนคุยกัน ทั้งที่อยู่ในชุดเครื่องแบบ แบกปืนเต็มยศ แต่ไม่มีใครปฏิบัติหน้าที่ ยืนตากแดดให้ตัวดำ หมดแรงไปวันๆเท่านั้นเอง

การตั้งด่านตรวจนอกจากจะไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย ก็ยังสร้างความลำบากต่อการสัญจรบนท้องถนนอีกด้วย เพราะเมื่อไม่นานมีผู้ใหญ่วัยกลางคนกำลังขับรถจักรยานยนต์จะไปส่งลูกชายที่โรงเรียน แต่โดนรถยนต์ชนท้ายที่ด่านตรวจซึ่งขณะนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานสักคน ทำให้คู่กรณีหนีไปอย่างไร้ร่องรอย เหลือเพียงผู้ใหญ่คนนั้นนอนจมกองเลือดโดยไม่รู้สึกตัวใดๆกับลูกชายที่บาดเจ็บ ร้องไห้เสียขวัญอยู่ ทั้งที่เหตุการณ์เกิดที่ด่านตรวจ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มากมาย แต่ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้และยังปล่อยให้ลอยนวลอย่างไร้วี่แวว

อีกเหตุการณ์ก็คือ เรื่องของวัยรุ่นชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์กลางสายฝนโปรยปราย ถนนลื่น ส่งผลให้วัยรุ่นชายคนนี้เกิดอุบัติเหตุ จนต้องเย็บที่น่องถึง 16 เข็ม เนื่องจากโดนเหล็กที่มีลักษณะเป็นรูปตัวคูณที่ตั้งอยู่หน้าด่านนั่นเอง ซึ่งความเป็นจริงหากไม่มีด่านตรงนั้นวัยรุ่นชายคนนี้คงมีเพียงแผลถลอก เล็กน้อยเท่านั้น การล้มของเขาส่งผลให้เขาไถลไปถึงด่านจึงส่งผลให้เขาได้รับบาดเจ็บมากขึ้น

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเรื่องของหญิงสาววัยทำงานที่โดนฉุดกระเป๋าขณะขับรถไปทำงาน ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุการณ์นี้เป็นบริเวณใกล้ด่านตรวจ มีเจ้าหน้าที่ แต่ไม่สามารถจับผู้ร้ายได้รวมถึงของกลางก็ไม่ได้กลับมา ส่งผลให้หญิงสาวคนนั้นบาดเจ็บฟรีๆเท่านั้นเอง

เหตุการณ์ที่กล่าวมา บ่งบอกถึงการตั้งด่านตรวจ แต่ไม่มีการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือไม่มีการประจำของเจ้าหน้าที่ การตั้งด่านก็ไร้ประโยชน์ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาบริเวณนั้นด้วย และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่เพียงดูแลเรื่องความปลอดภัยจากเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังต้องดูแลทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือเรื่องที่สร้างความเสียหาย ความเดือดร้อนต่อประชาชนไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม รวมถึงต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องสม่ำเสมออีกด้วย

ภายในกล่อง ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

จุดตรวจบ้านโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี หมู่ที่ 3 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
จุดตรวจจุดนี้จัดตั้งมาประมาณ 1 ปีแล้ว เนื่องจากมีการลอบยิงโต๊ะอีหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี จึงมีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจหน้าบ้านโต๊ะอีหม่ามเพื่อเป็นการคุ้มครองโต๊ะอีหม่ามและครอบครัว รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงอีกด้วย เพื่อการดำเนินชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้เกิดความสบายใจ รู้สึกถึงความปลอดภัย โดยไม่ต้องหวาดระแวงถึงภยันตรายใดๆที่จะเข้ามา ถือว่าการตั้งจุดตรวจบริเวณนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเป็นอย่างดี

จุดตรวจจุดนี้จะเรียกกันว่า "ด่านลอย" นั้นก็หมายถึง จุดตรวจเล็กๆที่ไม่ได้ตั้งด่านตรวจประจำ แต่จะตั้งด่านตรวจก็ต่อเมื่อมีการแจ้งว่าได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นไม่ว่าจะบริเวณใดหรือจังหวัดใด(สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็ตาม จะมีการสกัดตรวจเฉพาะคนแปลกหน้าเพราะบริเวณนี้เป็นเขตชุมชนจึงสามารถจดจำประชาชนได้เกือบทั้งหมด เพื่อเป็นการสกัดกั้นผู้ต้องสงสัยหากมีการหลบหนี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ด่านสกัด" นั่นเอง

ถึงแม้ว่าบริเวณนี้จะไม่มีการตั้งด่านตรวจประจำแต่การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปตามระบบของการตั้งด่าน นั่นคือ การเฝ้าระวัง การเดินลาดตะเวน และยังมีการแบ่งช่วงเวลาการทำงานเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเช้า ช่วงเย็น และช่วงค่ำไปจนถึงกลางดึก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้นั่นเอง เจ้าหน้าที่ที่ประจำการบริเวณนี้จะเป็นกลุ่ม อส.ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ จึงสร้างความไว้วางใจแก่ประชาชน ได้เป็นอย่างดี โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ 15 นาย จะมีการทำงานคนละ 4 วัน และพักคนละ 2 วันเป็นการแบ่งเวลาการทำงานที่เท่าๆกัน

เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะเข้ามาด้วยการสมัครและคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และได้มีการฝึกอบรมทักษะการปฏิบัติหน้าที่มาเป็นอย่างดีในระยะเวลา 45 วัน ที่ค่ายทหารตามแต่ภาครัฐจะจัดตั้ง และยังมีการเรียกฝึกอบรมทักษะการปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาในการทำงาน ทุกคนจะพักอาศัยอยู่ร่วมกันที่ด่าน อาหารการกินทางส่วนกลางจะนำมาให้เดือนละครั้ง ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง เพื่อใช้รับประทานกันทั้งเดือน

เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีความเกรงกลัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหมือนประชาชนทั่วไปจะเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน และเดินทางตามลำพัง เพราะจะเป็นการเสี่ยงมากในการโดนลอบทำร้าย เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถเท่านั้นเอง

จุดตรวจชานเมือง (บ้านกูแบอีเตะ) หมู่ที่ 10 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

จุดตรวจจุดนี้มีการจัดตั้ง เพราะเป็นเส้นทางเข้าเมืองปัตตานี เพื่อตรวจความปลอดภัยก่อนเข้าเมือง เพื่อเฝ้าระวังให้เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุด และเพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของประชาชนที่เข้ามาทำธุระในตัวเมืองรวมไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองอีกด้วย

จุดตรวจจุดนี้จะเป็นจุดตรวจประจำ มีการตั้งด่านเป็นประจำทุกวัน โดยเจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ที่นี่คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มตำรวจลาดตะเวนหรือตำรวจที่ออกนอกพื้นที่นั่นเอง ส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างจังหวัด จึงไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเท่าใด และการตั้งด่านตรวจทุกครั้งจะมีประชาชนที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือบ้าง แต่ไม่มาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนเองต่อไป

เจ้าหน้าทีกลุ่มนี้ได้รับการอบรมทักษะการปฏิบัติหน้าที่มาเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎีหรือแม้แต่ภาคปฏิบัติ มีความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่มากพอสมควร ในการทำงานแต่ละครั้งจะมีการประชุมวางแผนงาน แบ่งหน้าที่ แบ่งจุดตำแหน่งก่อนและหลังปฏิบัติงานทุกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะตรวจเฉพาะตอนเย็น เนื่องจากตอนเช้าเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนรีบเร่ง ไม่ว่าจะไปทำงานหรือแม้แต่การไปส่งเด็กนักเรียน อาจเป็นการเสียเวลาและเป็นที่ไม่พึงพอใจของประชาชนได้

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนสละตนเองมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ที่ถือได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงด้วยความเต็มใจ และมาเพื่อสร้างมิตรไมตรีต่อประชาชน ดังนั้นการทำงานทุกครั้งของเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ เช่น ช่วงเวลาการตรวจ และการเลือกตรวจบุคคล เช่น จะเลือกตรวจเฉพาะวัยรุ่นชายโดยส่วนใหญ่ และจะตรวจพบบ่อยที่สุดคือ ใบกระท่อม ที่ถือได้ว่าเป็นยาเสพติดที่ขึ้นชื่อมากในหมู่วัยรุ่น แต่ก็ไม่ส่งตัวไปดำเนินคดีใดๆ เพียงแค่แจ้งกับผู้ปกครองและตักเตือนเท่านั้นเอง ส่วนผู้หญิง และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่สวมใส่ชุดละหมาด จะไม่มีการตรวจใดๆ และอย่างที่ทราบกันดีว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนโดยส่วนใหญ่แล้วนับถือศาสนาอิสลาม เจ้าหน้าที่จึงต้องมีความเข้าใจถึงวัฒนธรรมของประชาชน เพื่อการวางแผนในการปฏิบัติหน้าที่ตามความพึงพอใจของประชาชนนั่นเอง

เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะได้รับความยินยอมจากทางบ้านเรียบร้อยแล้ว จึงสามารถมาทำงานในสถานที่ที่เสี่ยงอันตราย และอีกอย่างตัวของเจ้าหน้าที่เองที่เลือกเดินทางในสายอาชีพนี้ ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งต้องเป็นไปตามแบบแผนของกรมตำรวจที่วางไว้ เจ้าหน้าที่จะได้กลับบ้านเดือนละ 5 วัน เพื่อไปพบปะกับครอบครัว แต่หากเดือนใดที่มีวันหยุดทางราชการ (ช่วงเทศการต่างๆ) เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จะไม่มีวันหยุด กลับต้องเตรียมการวางแผนในการปฏิบัติงานให้รัดกุมและเหนียวแน่นยิ่งกว่าเดิม

จุดตรวจโรงเรียนปัญญาวิทย์ หมู่ที่ 11 ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

จุดตรวจจุดนี้จัดตั้งขึ้นเพราะในอดีตบริเวณนี้เป็นเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่น้อยมาก มีเพียงป่าและแม่น้ำ จึงส่งผลให้มีโจรชุกชุม มีการแจ้งความว่าโจรขึ้นบ้านไม่เว้นแต่ละวัน กลุ่มวัยรุ่นเมายา เล่นการพนันก็เยอะ แต่หลังจากที่มีการก่อตั้งโรงเรียนปัญญาวิทย์ในนบริเวณนี้ขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเกิดความหวาดระแวงและไม่กล้าที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ จึงได้มีคำสั่งให้จัดตั้งจุดตรวจเพื่อคอยคุ้มครองดูแล คอยสอดส่อง เป็นหูเป็นตาให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ หลังจากที่มีการตั้งจุดตรวจพบว่า โจร วัยรุ่นเสพยาฯ เล่นพนันก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีให้เห็นเลย ที่โรงเรียนแห่งนี้ก็มีผู้ปกครองส่งลูกหลานมากเรียนเพิ่มมากขึ้นและเป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่ที่นี่ คือกลุ่ม อส. ร่วมด้วยกับเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากมีการจับกุมโจรผู้ร้ายได้ ต้องมีการผสานงานกับตำรวจนำไปดำเนินคดีต่อ ไปถ้าหากมีการแจ้งว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารทำการเฝ้าระวังและลาดตระเวน เป็นด่านตรวจที่จัดตั้งประจำ แต่จะไม่ค่อยมีการตรวจ เพราะไม่ค่อยมีการใช้เส้นทางสายนี้ เจ้าหน้าที่จึงว่างงานเป็นส่วนใหญ่

เจ้าหน้าที่บางคนให้ความเห็นว่า ไม่รู้จะตั้งด่านตรวจเพื่ออะไร เพราะหากมีการปล้น จี้ บริเวณใกล้เคียง ผู้ร้ายคงไม่ขับรถผ่านที่ตั้งด่านเพื่อให้ตัวเองถูกจับกุม เขายอมอ้อมไปอีกทางที่สามารถเข้าสู่ในตัวเมืองเลยดีกว่า แล้วถ้าเข้าเมืองก็เป็นการยากขึ้นในการจับผู้ร้าย แม้แต่ผู้ก่อการร้ายก็คงไม่ขับรถผ่านด่านตรวจอีกเช่นกัน ซึ่งการตั้งด่านตรวจประจำจะเป็นการเปิดทางให้กับผู้ร้ายมากกว่า เนื่องจากผู้ร้ายคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าที่จุดใดบ้างมีด่านตรวจ ก็จะหาเส้นทางอื่นในการหลบหนี และการตั้งด่านตรวจประจำถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นเป้านิ่งจากการโดนถล่มด่าน หรือการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นั้นเอง

การทำงานทุกคนย่อมมีความหวังต่อความก้าวหน้า แต่การเป็นเจ้าหน้าที่ อส. นั้นจะไม่ค่อยได้รับความก้าวหน้าทางการงาน เพราะเป็นเพียงแค่อาสาสมัครในการคุ้มครอง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการ บางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันทั้งสามฝ่าย แต่ได้รับผลงานอยู่สองฝ่าย หรือฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่ได้รับผลงานใดก็ต้องมีความน้อยใจเป็นเรื่องธรรมดา จึงเป็นเหตุในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เต็มที่ มีการปล่อยปละละเลยบ้างบางเวลา แต่ทุกฝ่ายก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มใจ

 

 

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ปรับปรุงจากรายงานฉบับสมบูรณ์ "ปริศนาด่านตรวจ ณ.ชายแดนใต้" นำเสนอวิชา Seminar on Issues in Politics, Government, Economy, Society and Culture in Southern Border Provinces คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ที่มา: PATANI FORUM

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มต้นนับหนึ่งกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

Posted: 01 Nov 2013 06:22 AM PDT

 

"สันติภาพก็คือสงบ อยู่อย่างสบายๆ จะเดินหน้าไม่ต้องไปกลัว เดินหลังไม่ต้องไปกลัว" หนุ่มขายน้ำปั่นในตลาดจะบังติกอ ปัตตานี บอก "เดี๋ยวนี้ตัวดูสบาย แต่ใจน่ะกลัว" คำว่ากลัวของเขานั้นแน่นอนว่า ก็คือกลัวว่าจะต้องตกเป็นเป้าของเหตุร้ายหรืออยู่ตรงกลางระหว่างเขาควายของคนถือปืนนั่นเอง

ชาวบ้านอีกหลายคนในปัตตานีสะท้อนความเห็นคล้ายกัน สันติภาพของพวกเขาในรูปแบบที่จับต้องได้ก็คือความปลอดภัย ชาวบ้านเหล่านี้ล้วนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต เพราะเมื่อถามถึงความหวังต่อสันติภาพ ไม่ปรากฏว่าจะมีรายใดที่วาดฝันสวยหรูว่าจะเกิดสันติภาพขึ้นได้โดยเฉพาะในระยะเวลาอันใกล้แม้ว่ากระบวนการการพูดคุยระหว่างคู่ความขัดแย้งคือรัฐบาลและบีอาร์เอ็นจะเริ่มขึ้นแล้วก็ตาม หลายคนบอกว่ามันคงยากอย่างยิ่งเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน บางรายก็บอกว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความจริงใจของทั้งสองฝ่าย ขณะที่อีกหลายรายเสนอให้คู่ความขัดแย้งฟังเสียงประชาชนบ้างว่าต้องการอะไร

เสียงของชาวบ้านไม่กี่รายที่ว่านี้คือเสี้ยวหนึ่งที่อยู่ในสารคดีสั้นเรื่องใหม่ ต้นบท: กระบวนการการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งสำรวจประเด็นที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องของการสร้างสันติภาพโดยไล่เลียงทั้งความเห็นของผู้รู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม ชาวบ้านหรือทหาร โดยเน้นจุดหนักอยู่ที่การแสดงบทบาทของภาคประชาชน

คำถามสำคัญก็คือ ถึงที่สุดแล้วการสร้างสันติภาพคืออะไร ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี นักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาภาคใต้บอกว่า "การที่ฝ่ายหนึ่งรบชนะ ก็คือสันติภาพเหมือนกัน แต่สันติภาพบนความเจ็บปวด ไม่ได้แก้ปัญหารากเหง้า หรือว่าการมุ่งเน้นหยุดการใช้ความรุนแรง อย่างคนไทยก็ ให้อภัยกันนะ ลืมความหลัง มันไม่ใช่" ศรีสมภพย้ำว่า การสร้างสันติภาพที่แท้จริงต้องแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอความขัดแย้งให้ได้ นี่ก็กลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของที่มาของเนื้อหาในสารคดีที่มีความเห็นของหลายฝ่ายว่า แต่ละฝ่ายตีโจทย์สันติภาพกันอย่างไร เพราะการตีโจทย์พลาดก็คือแก้ปัญหาผิดทาง อย่างที่ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ชี้ว่า การตีโจทย์ความขัดแย้งของหลายฝ่ายนั้นยังไม่ถูก ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปต่อเรื่องต้นตอของปัญหาความขัดแย้งก็มีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะทั้งสังคมและภาครัฐพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา พูดง่ายๆว่า ปัญหาที่เป็นต้นตอที่มาของความต้องการจะแบ่งแยกดินแดนนั้น สังคมไทยยังไม่เข้าใจกันอย่างเต็มที่และอย่างทั่วถึง

และแน่นอนว่า เมื่อไม่เข้าใจต้นตอที่มาของปัญหา การแก้ปัญหาก็ไม่ตรงจุด ในขณะที่สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญของการสร้างสันติภาพ

แต่การทำความเข้าใจกับต้นตอของปัญหาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น สิ่งสำคัญที่ต้องมีด้วย ก็คือการร่วมมือกันเพื่อแสวงหาวิธีการใหม่ในการแก้ไขความขัดแย้งและต้องเป็นวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง ดังที่ศรีสมภพย้ำว่า ในปัจจุบัน การคลี่คลายความขัดแย้งไม่ได้เน้นที่การหาทางให้คู่ความขัดแย้งตกลงกันให้ได้เท่านั้น เพราะถึงอย่างไรความขัดแย้งก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคม แต่มันคือการที่สังคมร่วมกันมองหาวิธีการใหม่ในการแก้ไขความขัดแย้งที่ไม่ใช้ความรุนแรง และนั่นหมายถึงการจับมือกันทำงาน แต่ก่อนที่จะจับมือกันทำงานได้ ฝ่ายต่างๆในสังคมที่ยังใช้พื้นที่เดียวกันนี้จะต้องมีความไว้วางใจกันก่อน

"กระบวนการสันติภาพ คือการคุยกันว่า เราจะอยู่ด้วยกัน จะไม่สู้กันอีก เราจำเป็นต้องเปิดกว้าง หมายถึงว่า  ผมจะไว้ใจคุณได้อย่างไร และคุณจะไว้ใจผมได้อย่างไร นั่นหมายถึงผมจะรับผิดชอบชีวิตคุณ และคุณรับผิดชอบชีวิตผม นั่นคือความไว้วางใจที่แท้จริง ถึงตอนนั้นเราก็ไม่ต้องมีปืนไว้ป้องกันตัว เพราะเมื่อมีความไว้วางใจกันอย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น เราจึงจะสร้างสันติภาพได้" ข้อคิดจากไอแซค แคน คนทำงานภาคประชาสังคมจากพม่า ดินแดนที่ใช้เวลาอย่างยาวนานต่อสู้กับความขัดแย้งภายใน คำพูดของเขาเน้นให้เห็นว่าการสร้างความไว้วางใจเพื่อทำงานด้วยกันให้ได้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
        
การทำงานด้วยกันของคนในภาคประชาสังคมหรือประชาชนทั่วไป ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันสันติภาพที่ยั่งยืนด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อพวกเขาเข้มแข็ง แต่ละกลุ่มรวมตัวกันได้และปรองดองกันมากพอที่จะเปิดพื้นที่ให้กับการต่อสู้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง พวกเขาจะสามารถต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนเองในกระบวนการสันติภาพได้ อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้ทุกอย่างถูกตัดสินโดยคู่ความขัดแย้ง "ประชาชนต้องจัดตั้งกันเป็นเครือข่ายและทุกคนต้องมีบทบาท" ประสิทธิ์ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ชี้ เขาบอกว่านี่คือแผนของสภาประชาสังคม ขณะที่อีกหลายเสียงสนับสนุนว่า ประชาชนต้องคุยกัน "เราต้องคุยกันมากขึ้น ต้องเข้าใจ แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย" การิม มูซอ จากสำนักปาตานีเพื่อสันติภาพและการพัฒนา คนทำงานด้านประชาสังคมอีกรายในพื้นที่และเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่คนหนึ่งกล่าว
          
ประสิทธิ์และการิมคือตัวอย่างของ "คนใน" ของภาคประชาชนที่เริ่มจับเข่าคุยกันแม้ว่าจะเป็นการคุยในเวทีก็ตาม เพราะคำว่า "ประชาชน" ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีหลากกลุ่มมากมาย และที่ผ่านมาผลของความขัดแย้งได้ทำให้พวกเขาเหินห่างกันไป เช่นคนพุทธและมุสลิมที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างยาวนาน มาวันนี้แม้พวกเขาจะไม่ได้บาดหมางกันด้วยตัวของพวกเขาเอง แต่ความหวาดกลัวต่อการเป็นเป้าสังหารก็ได้ทำให้ชุมชน "คนใน" แยกจากกันโดยอัตโนมัติ บางกลุ่มตามแทบไม่ทันว่า กระบวนการสันติภาพไปถึงไหน ในขณะที่ความเข้าใจต่อทั้งปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาด้วยการสร้างความปรองดองก็กลายเป็นชนวนสร้างความไม่พอใจที่ทับถมขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งจากปัญหาเดิมๆที่มีอยู่แล้ว ทั้งๆที่เสียงของ "คนใน" เหล่านี้คือสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อการก้าวเดินต่อของกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่

เรียกว่ายังต้องทำงานกันอีกมากนักเพื่อจะให้เกิดสันติภาพ ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่องของการที่ต้องรับมือกับกลุ่มคนที่ "ไม่เอาสันติภาพ" ซึ่งมีอยู่ในทุกฝ่ายและที่จะพยายามทุกทางเพื่อทำลายสันติภาพ
         
และทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของสารคดีความยาวราวครึ่งชั่วโมงเรื่อง ต้นบท: กระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

19 พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงร้องผู้นำ 4 ประเทศหยุดเขื่อนดอนสะโฮง

Posted: 01 Nov 2013 05:59 AM PDT

1 พ.ย. 2556 – องค์กรพันธมิตรในนาม "19 สมาชิกของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง" ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประมุขรัฐบาลของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ดำเนินการยับยั้งโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
…….
ถึง
สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
 
ฯพณฯ ทองสิง ทำมะวง
นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
ฯพณฯ เหวียน เติ๋น ยวุ๋ง
นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
 
ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
 
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
 
เรื่อง : ภัยคุกคามแม่น้ำโขง : ขอเรียกร้องให้ประมุขรัฐบาลของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ดำเนินการยับยั้งโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที
 
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
 

เราพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง รู้สึกหวั่นวิตกในแผนการของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่เสนอให้สร้างเขื่อนดอนสะโฮงขึ้นในบริเวณใจกลางของพื้นที่สีพันดอน ซึ่งเป็นพื้นที่อันมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง โครงการเขื่อนดอนสะโฮงนี้ จะทำลายล้างพื้นที่ในอาณาบริเวณของทั้งสีพันดอนและแม่น้ำโขง แม่น้ำที่เป็นเสมือนมารดาของลุ่มน้ำในภูมิภาคลงไปอย่างไม่อาจที่จะเยียวยาได้อีกต่อไป

แม้แต่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง ครั้งหนึ่งยังได้เคยระบุไว้ในรายงานของตนว่า "ระบบนิเวศของสี่พันดอนนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเสมือนหนึ่งโลกใบเล็ก ๆ ใบหนึ่งที่มีระบบนิเวศที่เกาะเกี่ยวโยงใยกับแม่น้ำโขงทั้งสาย" และยังได้สรุปว่า "เนื่องจากลักษณะทางธรรมชาติอันพบได้ยากยิ่งนี้ ทุกภาคส่วนจักต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่สีพันดอนนี้จากโครงการพัฒนาใด ๆ ก็ตาม"

เขื่อนดอนสะโฮง จะเปลี่ยนแปรลักษณะของพื้นที่สีพันดอนและพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงไปอย่างมิอาจหวนคืน เขื่อนแห่งนี้จะก่อให้เกิดประตูกีดขวางกั้นทางน้ำฮูสะโฮง ที่จะทำให้ปลาไม่สามารถว่ายผ่านได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงหลายคนได้เคยกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดสิ่งเลวร้ายที่สุดหากเลือกเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อน เนื่องจากฮูสะโฮงเป็นทางน้ำที่มีปลาว่ายอพยพผ่านมากที่สุดในแม่น้ำโขง จึงเป็นจุดที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญยิ่งต่อการประมงน้ำจืดในที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดการจุดลอกดินและหินที่ท้องแม่น้ำในบริเวณฮูสะโฮงออกมามากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเปิดทางให้มีน้ำไหลเข้าฮูสะโฮงเป็นจำนวนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กำลังการผลิตติดตั้ง 260 เมกะวัตต์ของเขื่อน ย่อมถือว่าเป็นผลประโยชน์แสนกระจ้อยร่อย เมื่อเทียบกับผลกระทบด้านลบอย่างรุนแรงที่มีต่อการประมงและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เช่นเดียวกัน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของผู้คนนับล้านที่อยู่ในประเทศสปป.ลาว และในประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศกัมพูชา ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม โครงการนี้ยังจะเป็นภัยคุกคามต่อปลาอพยพขนาดใหญ่ที่หายากและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งปลาบึกและปลาเอิน ภัยคุกคามที่จะมีผลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวในภูมิภาคนี้ จะกลายเป็นปัญหาร้ายแรงอันจะยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความขัดแย้งอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วทั้งในประเทศและระหว่างกันให้เลวร้ายลงไปอีก

พวกเราแทบจะไม่เหลือความเชื่อถือต่อศักยภาพของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) หรือข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ในการจัดการกับภัยคุกคามอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ ในกรณีภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนดอนสะโฮงหรือโครงการอื่น ๆ ที่เสนอจะสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธาน สาเหตุที่สำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ คือความล้มเหลวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการแก้ปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลของชาติสมาชิก ในประเด็นที่ว่ากระบวนการ "การปรึกษาหารือล่วงหน้า" ที่มีขึ้นเพื่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้น ยังคงเป็นกระบวนการที่คั่งค้างอยู่ หรือได้เสร็จสิ้นไปแล้ว

รัฐบาลลาวกำลังอ้างว่าเขื่อนดอนสะโฮง "ไม่ได้ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน" และด้วยเหตุนี้เอง จึงได้ใช้กระบวนการ "แจ้งให้ทราบล่วงหน้า" แทน "กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า" ต่อประเทศเพื่อนบ้าน เราขอคัดค้านข้ออ้างนี้ของสปป.ลาวอย่างถึงที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนไร้ข้อกังขาว่า เขื่อนดอนสะโฮงนั้นเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งจะก่อผลกระทบอย่างที่สุดต่อการไหลของกระแสน้ำและการอพยพย้ายถิ่นของปลา และจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างมหาศาล ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เราเชื่อว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะประสบความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งในการทำให้เกิดการจัดการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง และปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงตกอยู่ในมือของรัฐบาลสปป.ลาวแต่เพียงผู้เดียว

เราเห็นด้วยกับข้อกังวลที่มีการกล่าวในสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ และการขาดความโปร่งใสในโครงการเขื่อนดอนสะโฮง บุคคลเหล่านี้รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศเวียดนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา และสมาชิกของคณะกรรมการแม่น้ำโขงระดับชาติของไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตระหนักถึงความเป็นห่วงเหล่านี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลแม่น้ำโขงทั้งหลาย ได้เสนอต่อรัฐบาลลาวให้แสดงเคารพต่อจิตวิญญาณของการร่วมมือกันอย่างแท้จริงในภูมิภาคนี้

ในช่วงเวลาแห่งความคลุมเครือไม่ชัดเจนในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเขื่อนดอนสะโฮง รวมทั้งโครงการอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายประธาน กระบวนการใด ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในทุก ๆ โครงการจะต้องถูกระงับไว้ก่อน มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องจัดให้มีพื้นที่ร่วมแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบ ชี้แจงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ผ่านทางกลไกการตัดสินใจระดับภูมิภาค บนพื้นฐานของหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ต้องมีการศึกษาในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น รวมถึงการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนสำหรับโครงการทั้งหมดต้องเกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

ดังนั้น พวกเรา พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องความร่วมมือมายัง ฯพณฯ ท่าน ขอได้โปรดตระหนักถึงจิตวิญญาณของความตกลงในภูมิภาคแม่น้ำโขง และดำเนินการแทรกแซงให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที อีกทั้งระงับการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับโครงการบนแม่น้ำโขงสายประธานลงไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่ประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

การก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขง คือการสังเวยแม่แห่งธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคนเพื่อสิ่งที่เรียกว่าเป็น "การพัฒนา" ดังนั้น การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของเหล่ารัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงจักต้องตระหนักถึงสิทธิของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการตัดสินใจ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

 
ลงนามโดย 19 สมาชิกของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง
 
3S Protection Network
Both ENDS
Centre for Social Research and Development (CSRD)
Culture and Environment Preservation Association (CEPA)
Fisheries Action Coalition Team (FACT)
Focus on the Global South
GreenID
Ian Baird, Department of Geography, University of Wisconsin-Madison
International Rivers
Mekong Watch
Mekong Watch Tasmania
NGO Forum on Cambodia
PanNature
The Corner House
Mekong Energy and Ecology Network (MEE Net)
Towards Ecological Recovery and Regional Alliance (TERRA)
Vietnam River Network (VRN)
WARECOD (Center for Water Resources Conservation and Development)
World Rainforest Movement (WRM)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: บทบาทกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Posted: 01 Nov 2013 12:25 AM PDT

1 พ.ย. 2556 - รายการ ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช สัปดาห์นี้พูดคุยเกี่ยวกับบทบาทกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรณีกองทัพอินโดนีเซีย กองทัพพม่า และกองทัพไทย โดยที่กองทัพอินโดนีเซียที่เคยมีบทบาททางการเมืองมาก ได้กลับเข้ากรมกองหลังสิ้นสุดยุคการปกครองอันยาวนานของซูฮาร์โตและเข้าสู่ยุคปฏิรูป ขณะที่กรณีพม่าและไทย กองทัพยังคงมีบทบาทเป็นผู้เล่นสำคัญในทางการเมือง

ทั้งนี้อาจารย์ดุลยภาคกล่าวว่า จุดเด่นของการเมืองประเทศโลกที่สาม หรือประเทศกำลังพัฒนาคือบทบาทของทหารกับการเมือง ทำรัฐประหาร การเถลิงอำนาจ การลงจากอำนาจ ทั้งนี้การเข้ามาของกองทัพเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้ แต่โครงสร้างสังคมการเมืองที่ทหารเข้ามามีบทบาทคือโครงสร้างของรัฐขุนศึก คือมักมีปัญหาเรื่องการสร้างรัฐสร้างชาติ มีขั้วอำนาจในทางการเมือง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่สลับซับซ้อน แล้วมีการชิงไหวชิงพริบของรัฐบาลพลเรือนจนเกิดความอ่อนแอเปราะบาง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เปิดช่องให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง

โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กองทัพมีบทบาททางการเมืองอย่างอินโดนีเซีย หรือพม่านั้น เคยเป็นรัฐในอาณานิคมมาก่อน โดยมีโครงสร้างระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจ ทำให้การเมืองเป็นแบบอำมาตยาธิปไตยหรือรัฐรวมศูนย์ และยังเป็นมรดกตกทอดที่ชนชั้นนำที่สืบสิทธิต่อจากผู้ปกครองอาณานิคมเดิม ที่แม้จะเกลียดเจ้าอาณานิคมอย่างไรก็ตาม ก็ยังคงสืบทอดกลไกบริหารราชการแบบนี้ และองค์ประกอบต่อมาได้แก่ บทบาทของกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และขบวนการชาตินิยม จึงทำให้เกิดโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองชุดหนึ่งคือสถาบันกองทัพ

ในช่วงท้าย อาจารย์ดุลยภาคกล่าวด้วยว่า บริบทการเมืองโลก สภาวะแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไปทำให้กองทัพต้องปรับตัวไม่มากก็น้อย แต่จะอยู่ในอัตราแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้จะเห็นว่าอินโดนีเซียมีการปฏิรูปการเมืองก็จริง แต่บางครั้งมีอาการชะงักงัน ซึ่งเป็นธรรมดา เพราะการเมืองทั้งของเก่าของใหม่เกิดทับกัน โดยอินโดนีเซียที่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการครองอำนาจของซูฮาร์โต มีการลองผิดลองถูก ซึ่งมีทั้งด้านที่สำเร็จและล้มเหลว กรณีพม่าช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2553 ก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมการปกครองสั่ง ‘ระงับ’ ทำป้ายหนุนนิรโทษฯแล้ว

Posted: 31 Oct 2013 11:34 PM PDT

อธิบดีกรมการปกครอง ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ระงับการดำเนินการตามหนังสือก่อนหน้าที่ขอทุกอำเภอทำป้ายหนุนพรบ.นิรโทษฯ แล้ว ระบุคลาดเคลื่อนจากแนวนโยบายของกรมฯ

1 พ.ย.2556 นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล อธิบดีกรมการปกครอง ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ระงับการดำเนินการตามหนังสือที่ มท 0301.1/ว 25810 ลงวันที่ 31 ต.ค.56

โดยระบุว่า ตามที่ได้ขอความร่วมมือให้ที่ทำการปกครองจังหวัด อำเภอ จัดทำคัทเอาท์หรือป้ายไวนิลเพื่อสนับสนุนการสร้างความปรองดองของคนในชาติ นั้น กรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อความในหนังสือนำส่งและข้อความตัวอย่างมีความคลาดเคลื่อนจากแนวนโยบายของกรมฯ ที่ประสงค์ให้เกิดความรัก ความสามัคคี ความปรองดองของคนในชาติ จึงให้ระงับการดำเนินการตามหนังสือดังกล่าวไว้ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าเมื่อเวลาประมาณ 12.49 น. มีการส่งข้อความ SMS ถึงนายอำเภอทุกอำเภอ เพื่อแจ้งระงับตามหนังสือดังกล่าวด้วย

โดยหนังสือที่ถูกแจ้งยกเลิกไปนั้น เป็นการขอให้จังหวัดแจ้งขอความร่วมมือทุกอำเภอจัดทำคัดเอาท์ หรือป้ายไวนิลข้อความ สนับสนุนการปรองดองของชาติโดยการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยติดตั้งให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ  โดยมีข้อความตัวอย่างที่แนบมากับหนังสือประกอบด้วย "อำเภอ.......ขอสนับสนุนการปรองดองขอคนในชาติโดยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" "สามัคคี คือ พลัง ปรองดอง แม้มุมมองต่างความคิด สร้างความสมานฉันท์ ร่วมกันสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" "อำเภอ......ขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมสนับสนุนความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ สนับสนุนพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม"

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีตีนแดง: ถนนนี้กลับบ้าน (The Road Home)

Posted: 31 Oct 2013 10:19 PM PDT

จะเอาเลือดเนื้อประชาชน
ทำถนนอีกกี่สาย
ป่นกระดูกแทนกรวดทราย
โรยทางให้ใครย่างก้าว
ถนน...นี้กลับบ้าน
กลืนเลือดนั่นเพื่อเพื่อนเรา
กอดซากฝันอันผุเก่า
ความทรงจำแสนเศร้า
...เราไม่ทอดทิ้งกัน

แล้วเรา...
จะออกจากบ้านอีกครั้ง
ถอดทิ้งความหลัง
ไว้คนละฝั่งทางฝัน
กอดธงคนละผืน
ยืนบนทางต่างสายกัน
เอ่ยคำอำลาสั้นสั้น
ฉันขอให้เธอ...โชคดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหตุการณ์หน้าศูนย์ประชุมฯ เชียงใหม่ จากมุมของผม: 'hate speech' vs คำผรุสวาท

Posted: 31 Oct 2013 10:11 PM PDT

ผมคิดว่า เราต้องแยกให้ออกระหว่างสิ่งที่เป็น "hate speech" กับคำผรุสวาท ผมว่าอย่างแรกไม่โอเค แต่อย่างหลังเกิดขึ้นได้เสมอ (แม้จะไม่เหมาะสมก็ตามที) มีคนเขียน "เหตุการณ์หน้าศูนย์ประชุมฯ เชียงใหม่" ถึงขั้นกล่าวหาฝ่ายที่สนับสนุนเขื่อนพูดว่า "อยากจับพวกมันนัก ไอ้พวกนี้ต้องจับมันมา "เชือดคอ" ทิ้ง!!!"

ผมยืนยันได้ว่าบรรยากาศช่วงนั้นตึงเครียดจริง แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นนั้น และมี "เหตุ" พอควรที่ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนเขื่อน "เดือด" แต่สุดท้ายลงเอยด้วยดี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่พฤเริ่มเดินทางมาถึงศูนย์ประชุมเมื่อประมาณบ่ายโมง ซึ่งในตอนนั้นสื่อยังไม่มา ข้อเท็จจริง "นอกห้องประชุม" ในส่วนของผมเป็นอย่างนี้

พฤเถียงกับตำรวจหน้าประตูที่ไม่ใช่ทางเข้า

1. เหตุการณ์ช่วงเที่ยงโอเค จนกระทั่งพฤ โอโดเชา ชาวปกากญอ แกนนำค้านเขื่อนแม่ขานเริ่มมาถึงประมาณบ่ายโมงครึ่ง พาพี่น้องปกากญอกลุ่มหนึ่งเดินวนถือป้ายประท้วง ร้องตะโกนภายนอกอาคารประชุม อ้างว่าเช้าห้องประชุมไม่ได้ ถูกกีดกัน (ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง) ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง แต่เสียงพฤก็ดังพอที่จะดึงดูดความสนใจของตำรวจ นักข่าว ฯลฯ

2. พฤตะโกนร้องอยู่หน้าประตู (ซึ่งความจริงเขาปิด ไม่ใช้เป็นทางเข้า) อยู่นานประมาณครึ่งชั่วโมง นักข่าวและเจ้าหน้าที่มากันเต็ม มีการโต้เถียงกับตำรวจเล็กน้อย เริ่ม heat up ตำรวจเสนอให้พฤเข้าประชุม เพราะพฤอ้างว่าเข้าประชุมไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่มีการโต้เถียงกับชาวบ้านที่สนับสนุนเขื่อน

กลุ่มผู้สนับสนุนเขื่อนด่าทอคนที่คัดค้าน

3. พฤพามวลชนย้ายจากหน้าประตูที่เข้าไม่ได้ ขยับจะมาประตูที่เข้าได้ตามที่ตำรวจแนะนำ แต่ยังไม่เข้า หยุดขบวนและมีการแลกเปลี่ยนค่อนข้างดุเดือดกับเจ้าหน้าที่ มีอาจารย์จากพระจอมเกล้าเข้ามาขอเคลียร์ มวลชนที่สนับสนุนเขื่อนเริ่มเข้ามารุมล้อมประณาม (ประมาณไม่ถึงสิบคน) ด่าทอพฤ เอ็นจีโอ และนักศึษา ไม่ชัดเจนว่าเป็นเสื้อแดง หรือชาวบ้านทั่วไปในสันป่าตอง+หางดงที่จะได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแม่ขาน

4. การโต้เถียงดุเดือดมากขึ้น พฤตัดสินใจพามวลชนของเขาขยับไปอีกมุมหนึ่ง โดยไม่เข้าไปในห้องประชุม

ในช่วงที่ว่า "ตึงเครียด" จะ "รุมสกรัม" พี่น้องปกากญอยังยิ้มได้

5. กลุ่มเสื้อแดงบางคน (เอาเฉพาะที่เห็นว่าใส่เสื้อแดงนะครับ) เริ่มตามมา มีการข่มขู่ท้าทาย ตำรวจนอกเครื่องแบบเช้าไปห้ามปรามเสื้อแดงไม่ให้พูด เงียบไปบ้าง ด่าออกมาบ้างเป็นรายบุคคล แต่ค่อย ๆ ซาไป

6. นักข่าวสาวคนหนึ่ง ไม่รู้สื่อฉบับไหนวิ่งมาบอกกลุ่มของพฤว่า เสื้อแดงระดมพลเป่านกหวัดระดมพลมา 300 คน

ลุงคนนี้ใส่เสื้อ "Turh Today" เสื้อแดง แต่คัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม

7. หลังจากนั้นจนเลิกประชุม ไม่มีมวลชนเสื้อแดงมาอย่างที่นักข่าวบอก ฝ่ายเอ็นจีโอ กลุ่มชาวบ้าน นักศึกษาแถลงข่าวได้ตามปรกติ ไม่มีใครเข้ามาข่มขู่

8. เสื้อแดงมีหลายเฉด เพราะช่วงที่มีการแถลงข่าว ดาบชิต แกนนำเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งก็มาร่วมด้วย เข้ามาพูดคุยกับแกนนำค้านเขื่อนแม่แจ่มเป็นอย่างดี โปรดอย่าเหมาว่าเสื้อแดงเอาเขื่อนทั้งหมด และโปรดอย่าเหมาว่าคนที่เอาเขื่อนเป็นเสื้อแดง

ดาบชิต แกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ พูดคุยกับประธานเครือข่ายค้านเขื่อนแม่แจ่ม หลังการแถลงข่าว

9. ประชาชนอย่าแตกแยกกันเองดีกว่า ผมว่าเรารวมกำลังสู้กับรัฐดีกว่า ต้องยอมรับความจริงว่าคนที่สนับสนุนเขื่อนมีอยู่จริง ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเขาเป็นสมุนของการเมืองค่ายไหน หรือว่าเขามีการเมืองสีไหน ไม่เกี่ยวกันจริง ๆ

อ่าน "เหตุการณ์หน้าศูนย์ประชุมฯ เชียงใหม่"

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุคบัญชีส่วนตัว และได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่อีกครั้ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติราษฎร์แถลงข้อวิจารณ์และจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

Posted: 31 Oct 2013 08:59 PM PDT

ชมวิดีโอการแถลงข้อวิจารณ์และจุดยืนของ 'คณะนิติราษฎร์' ที่มีต่อ "ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ...." ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สอง โดยการแถลงดังกล่าวจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ท่ามกลางผู้สนใจเข้าฟังเป็นจำนวนมาก

 

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ปิยบุตร แสงกนกกุล

สาวตรี สุขศรี

subsribe เพื่อรับข่าวสารใหม่ๆ ของประชาไท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมการปกครองร่อนหนังสือด่วนที่สุด สั่งทุกอำเภอทำป้ายหนุนพรบ.นิรโทษฯ

Posted: 31 Oct 2013 08:34 PM PDT

กรมการปกครอง ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด ระบุ ขอความร่วมมือทุกอำเภอจัดทำคัดเอาท์ หรือป้ายสนับสนุนการปรองดองของชาติโดยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

 
กรมการปกครอง ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด   โดยมีเนื้อหาดังนี้ 
 
ถึง ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด
 
กรมการปกครอง ขอให้จังหวัดแจ้งขอความร่วมมือทุกอำเภอจัดทำคัดเอาท์ หรือป้ายไวนิลข้อความ สนับสนุนการปรองดองของชาติโดยการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยติดตั้งให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ ตามตัวอย่างข้อความที่ส่งมาพร้อมนี้่ 
 
ทั้งนี้ ให้จังหวัดรวบรวมผลการดำเนินการพร้อมภาพถ่ายของอำเภอส่งให้กรมการปกครองทราบ ภายในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2556 
 
สำหรับตัวอย่างข้อความนั้นประกอบด้วย "อำเภอ.......ขอสนับสนุนการปรองดองขอคนในชาติโดยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" "สามัคคี คือ พลัง ปรองดอง แม้มุมมองต่างความคิด สร้างความสมานฉันท์ ร่วมกันสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" "อำเภอ......ขอเชิญพี่น้องประชาชนร่วมสนับสนุนความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ สนับสนุนพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม"
 
 
หมายเหตุ : ล่าสุด กรมการปกครองได้มีคำสั่งระงับคำสั่งดังกล่าว อ่านที่ กรมการปกครองสั่ง 'ระงับ' ทำป้ายหนุนนิรโทษฯแล้ว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาผ่านฉลุย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย 310 ต่อ 0 ปชป.วอล์กเอาท์

Posted: 31 Oct 2013 07:58 PM PDT

เมื่อเวลา 4.25 น. สภาผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย วาระ 3 ฉลุย ด้วยเสียง 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ขณะ ส.ส. ปชป.วอล์กเอาท์ ขัตติยาลั่นเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว


31 ต.ค. 2556 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 สั่งพักการประชุมนานกว่า 30 นาที การประชุมสภาฯก็เปิดอีกครั้ง

เวลา 19.30 น. โดยนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เสนอต่อที่ประชุมปิดอภิปรายมาตรา 1 เกี่ยวกับชื่อร่างทันที เนื่องจากเห็นว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสงค์อภิปรายแล้ว แต่ถูกส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คัดค้าน โดยเฉพาะ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ที่ประชุมไม่ควรตัดสิทธิการแปรญัตติ โดยครั้งนี้เป็นการพิจารณากฎหมายสำคัญคงต้องใช้เวลามากกว่ากฎหมายปกติ ดังนั้น ไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายในวาระอย่างเดียว ถ้าสมาชิกที่ไม่ได้แปรญัตติหรือสงวนความเห็นไว้ ติดใจในเรื่องใดๆ ก็สามารถอภิปรายต่อที่ประชุมได้เช่นกัน แต่ที่ประชุมพลาดตรงนี้ตั้งแต่แรก แนวทางหลังจากนี้จะทำให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นต้องยึดหลักการและให้สิทธิการอภิปรายที่ถูกต้อง อย่าไปกังวลเรื่องเวลาเป็นสำคัญ และหากทำไปอย่างนี้กฎหมายจะเกิดปัญหา
      
ทำให้นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ประธานในที่ประชุม ได้ขอนัดให้วิปทั้งสองฝ่ายไปปรึกษาหารือกันในเวลา 20.30 น. พร้อมกับขอให้ถอนญัตติออกไป โดยนายครูมานิตย์ก็ยินยอม เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น และได้ตัดบทให้ดำเนินการประชุมในมาตรา 1 ต่ออีกครั้ง
      
จากนั้นนายธนา ชีรวินิจ ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายมาตรา 1 โดยเสนอให้ตัดทั้งมาตรา ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยประท้วงว่าไม่มีสิทธิอภิปรายเพราะตัดออกทั้งมาตราซึ่งผิดหลักการของการเสนอกฎหมาย แต่ประธานฯก็พยายามไกล่เกลี่ยจนกระทั่งนายธนาอภิปรายจนจบ
      
ต่อมา นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายพร้อมได้นำรูปตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ มาร่วมประชุมกับคนเสื้อแดง ทำให้ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจอย่างมาก จนเกิดการประท้วงกันวุ่นวายอีกครั้ง จนนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปรายมาตรา 1 ทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและไม่สามารถทำได้ และเห็นว่าในเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ขอให้ปิดอภิปราย และขอให้ไปพิจารณาต่อในวันอื่น

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เรียกร้องให้ทุกคนสามารถอภิปรายได้โดยเดินตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การประชุมเดินไปได้ และรวมกันวางกติกาเช่นนี้ในอนาคต โดยให้ประธานเป็นผู้ควบคุม อย่างเช่นสมัยตนเองเป็นรัฐบาลที่เปิดอภิปรายได้เต็มที่โดยไม่มีการปิดอภิปรายแม้จะล่วงเลยไปหลายวัน ทำให้ประธานสั่งพักการประชุม 5 นาที เพื่อไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำกันได้
      
จากนั้นเวลา 22.30 น. นายเจริญ จรรย์โกมล ประธานสภาคนที่ 1 ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม และขอให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ถอนญัตติการปิดอภิปรายโดยอ้างว่า ได้ไปหารือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แล้วและขอพูดอีก 4 คน คนละ 7 นาที โดยนายพิเชษฐ์ก็ยอมถอนญัตติทำให้นายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์อภิปรายมาตรา 1 ต่อไป
      
ต่อมาเมื่อเวลา 23.40 น.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม ได้สั่งให้มีการลงมติหลังส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายในมาตรา 1 ครบ 4 คนคนละ 7 นาที ตามข้อตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่าย ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียง 317 ต่อ 74 และงดออกเสียง 1
      
จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณามาตรา 2 ว่าด้วย พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 02.35 น.การอภิปราย ในมาตรา 2 ว่าด้วย "พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" โดย ส.ส.ปชป.ที่สงวนคำแปรญัตติและสงวนความเห็นทั้งเวลาการบังคับใช้และให้ตัดออกทั้งมาตรา หลังจากการอภิปรายผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง 30 นาที นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.พท.เสนอญัตติปิดอภิปราย ขณะที่ ส.ส.ปชป.โต้แย้งแต่ก็ไม่มีผล ทำให้ต้องลงมติในมาตรา 2 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะ กมธ.เสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 40 ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง จากนั้น นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 จึงให้ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 3 ว่าด้วย การให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่ตั้งขึ้น หลังการัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 49 ถึง 8 สิงหาคม 56 ไม่ว่าผู้กระทำจะทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดชอบ

ทำให้ ส.ส. ปชป.ไม่พอใจ ลุกขึ้นประท้วงทันที โดย น.พ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง ปชป. ประท้วงว่า ดึกแล้วแต่ก็ยังดึงดันจะอภิปรายต่อในมาตรา 3 แสดงว่าประธานมีใบสั่งจริงๆ ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ประท้วงโต้กลับไป ว่า มาตรา 1 และมาตรา 2 เสียเวลาไปมากแล้ว ควรจะเข้ามาตรา 3 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ประธานทำหน้าที่ถูกแล้ว จึงอยากให้ดำเนินการต่อไปตามข้อบังคับให้มีการอภิปรายต่อไป แต่ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยังไม่หยุดประท้วง พยายามระบุว่าอำนาจการสั่งพักการประชุม เป็นของประธาน เรารีบได้ถ้ามีประชาชน 4-5 หมื่นมาชุมนุมหน้าสภาเพื่อให้นิรโทษฯ แต่ตอนนี้ผู้ชุมนุม 4-5 หมื่นคน ออกมาคัดค้านการนิรโทษฯ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องให้วิปหารือกัน และสั่งเลื่อนการประชุมออกไปต่อวันพรุ่งนี้ ท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียด ทำให้นายเจริญตัดสินใจสั่งพักการประชุม 10 นาที ในเวลา 03.00 น.

จากนั้น 03.20 น. ที่ประชุมกลับมาพิจารณาอีกครั้ง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ สลับขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยกล่าวต่อที่ประชุมว่า "จากการหารือคงต้องเอาให้จบ เพราะหากทำตามฝั่งหนึ่งก็จะต้องโดนอีกฝั่งหนึ่งว่า ดังนั้นต้องเป็นอำนาจของประธานที่จะวินิจฉัยซึ่งผมขอวินิจฉัยให้ประชุมต่อ" พร้อมทั้งให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปราย แต่ ส.ส.ปชป. หลายสิบคน อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นายสุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง เป็นต้น ได้ลุกฮือประท้วงพร้อมเดินไปหน้าบัลลังก์ ชี้หน้านายสมศักดิ์ ทำให้นายชาดา ต้องอภิปรายด้วยเสียงดังอย่างมีอารมณ์เพื่อกลบเสียงโห่ร้องโวยวายของ ส.ส.ปชป. ทั้งนี้ภายหลังจากที่นายชาดา อภิปรายเสร็จ บรรดา ส.ส.ปชป.ก็เริ่มตะโกนโห่ร้องเพื่อขอให้สั่งเลื่อนการประชุมอีกครั้ง
              
ทำให้ นายสมศักดิ จึงกล่าวขอพักประชุม เพื่อขอหารือกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน แต่ ส.ส.ปชป.ไม่ยอม และโห่ร้องอย่างต่อเนื่องจะให้ประธานสั่งพักการประชุมเพื่ออภิปรายต่อในวันพรุ่งนี้  ทำให้นายสมศักดิ์เปลี่ยนใจให้ที่ประชุมดำเนินการประชุมต่อ
 
ทั้งนี้ หลังจากที่นายจิรายยุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายเสร็จ และไม่มีผู้ใดอภิปรายต่อ ทำให้นายสหรัฐ กุลศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พท. เสนอญัตติ ปิดอภิปรายทันที ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง ตะโกนด่าทอ ของ ส.ส.ปชป. ว่า "ลงคะแนนเลยจะได้ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล" "ข้ามศพมันให้หมดเลย" กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่ คณะ กมธ.เสียงข้างมากเสนอแก้ไข ด้วยคะแนน 307 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 4 เสียง
               
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯคนที่ 1 และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯคนที่ 2 ขึ้นมานั่งบนบังลังก์ด้วย จากนั้น นายสมศักดิ์ให้เข้าสู่การอภิปรายต่อในมาตรา 4 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม พท. ลุกขึ้นอภิปราย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของ ส.ส.ปชป. ตระโกนว่า "ขี้ข้า" ทำให้ นายจิรายุ พูดขึ้นว่า "ปชป.ใช้มุกเดิม ตะโกนในโรงหนังอีกแล้ว"
 
จากนั้น น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท.ลุกขึ้นอภิปรายอย่างมีอารมณ์ว่า เข้าใจถึงสาเหตุของการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยอมรับว่าไม่พอใจที่ กมธ.เสียงข้างมาก มีการแก้ไขเพราะ ตนได้สูญเสียบุพการีไป และยังมีญาติผู้สูญเสียด้วย แต่ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำ เอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ มือของท่านได้เปื้อนเลือดไปแล้ว ทุกคนในสภาฯแห่งนี้ไม่มีใครสูญเสีย มีตนเพียงคนเดียวที่เป็นผู้สูญเสีย ดิฉันของใช้โอกาสสุดท้ายที่ในสภาฯแห่งนี้ เพื่อยังอยากเรียกร้องหาคนฆ่าพ่อของตนอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกข้อครหาว่าเหยียบศพพ่อของตัวเองเข้ามาที่สภาฯแห่งนี้ ตนก็อยากให้ กมธ.ทบทวนก่อนลงมติ เพื่อเรียกคืนความยุติธรรมและทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นด้วย
               
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่มีผู้อภิปรายต่อ ทำให้ นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พท. เสนอญัตติปิดอภิปราย โดยที่มติเสียงข้างมากเห็นชอบให้มีการปิดอภิปราย กระทั่งที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงส่วนมาด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง ต่อด้วยการอภิปรายในมาตรา 5 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 311 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ส่วนมาตรา 6 ไม่มีผู้ขออภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 314 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง ต่อด้วยมาตรา 7 ไม่มีผู้อภิปราย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน  315 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 เสียง

เวลา 04.24 น. กลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจวอล์กเอาต์ เดินออกจาสภาฯ เนื่องจากไม่ได้อภิปราย

และที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากนั้น นายสมศักดิ์ จึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 04.25 น.
              
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในระหว่างการพิจารณา 5 มาตรารวด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายชวน หลีกภัย และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่มีการลุกขึ้นทักท้วงแต่อย่างใด ทั้งนี้ รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองตรวจสอบในชั้นวุฒิสภาต่อไป

สำหรับรายชื่อ ส.ส. 4 คนที่ใช้สิทธิงดออกเสียง ได้แก่ นายวรชัย เหมะ สส.สมุทรปราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สส.บัญชีรายชื่อและรมช.พาณิชย์ นพ.เหวง โตจิราการ สส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ

 

ที่มา: มติชนออนไลน์, โพสต์ทูเดย์ และ ไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น