โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'ทัศนัย บูรณุปกรณ์' ชนะเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่สมัยที่ 2

Posted: 03 Nov 2013 12:27 PM PST

ทัศนัย บูรณุปกรณ์ รักษาตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่โดยได้ 26,700 คะแนน ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญ ธิดารัตน์ ศิริวิทยากรได้ 20,873 คะแนน โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 62

ภาพผลคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ที่มา: ณัฐกร วิทิตานนท์เอื้อเฟื้อภาพ)

บรรยากาศการรวมคะแนนการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ที่เทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อ 3 พ.ย. 2556 (ที่มา: ประชาไท)

4 พ.ย. 2556 - ตามที่ในวันที่ 3 พ.ย. กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่นั้น ล่าสุดหลังสิ้นสุดเวลาลงคะแนน และมีการรวมคะแนนจากหน่วยการเลือกตั้งทั้ง 178 แห่งทั่วเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยผลการนับคพแนนอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า หมายเลข 3 ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งที่ 26,700 คะแนน ลำดับถัดมาได้แก่ หมายเลข 1 ธิดารัตน์ ศิริวิทยากร 20,873  คะแนน ลำดับที่สาม หมายเลข 4 พรชัย จิตรนวเสถียร 7,962 คะแนน

และลำดับถัดมาได้แก่ หมายเลข 5 วัลลภ แซ่เตี๋ยว 2,338 คะแนน หมายเลข 2 สัมพันธ์ ฉัตรมงคลพันธุ์ 211 คะแนน และหมายเลข 6 นนท์ หิรัญเชรษฐ์ 158 คะแนน

สำหรับจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีทั้งสิ้น 103,203 คน มาใช้สิทธิ 64,001 คน หรือร้อยละ 62.01 ในจำนวนนี้มีบัตรเสียมีจำนวน 1,910 ใบ หรือร้อยละ 2.98 และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 3,849 ใบ หรือร้อยละ 6.01

ทั้งนี้จากข้อมูลของเทศบาลนครเชียงใหม่ คู่แข่งสำคัญของทัศนัย อย่างธิดารัตน์ มีคะแนนนำในหลายหน่วยเลือกตั้งโดยเฉพาะหน่วยเลือกตั้งในแขวงศรีวิชัย อย่างไรก็ตามเมื่อรวมคะแนนแล้วยังไม่สามารถชนะทัศนัย นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันได้

สำหรับเทศบาลนครเชียงใหม่ มีพื้นที่ 40.216 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลในปี 2551 มีประชากรในเขตเทศบาล 148,477 คน โดยยกฐานะเป็นเทศบาลนครแห่งแรกของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478

สำหรับทัศนัย บูรณุปกรณ์ ชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่สมัยแรกเมื่อ 4 ต.ค. 52 ต่อมาก่อนครบวาระไม่กี่เดือน เขาได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 6 ก.ย. 56 เพื่ออุปสมบทให้กับปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส. และเป็นอาของเขา ซึ่งเสียชีวิตเมื่อ 1 ก.ย. 56

ทั้งนี้นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในรอบ 16 ปี ประกอบด้วย ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2543 บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2550 เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2552 และทัศนัย บูรณุปกรณ์ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึงปัจจุบัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘คุณกับเขาเราเท่ากัน’ กับการเริ่มต้น ‘วันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ’

Posted: 03 Nov 2013 11:14 AM PST

 
ภาพ: สักวันคงเป็นวันของเรา
 
เก็บตกวันฮาโลวีนปีนี้ กันด้วยกิจกรรมปลดปล่อยคนในพื้นที่สาธารณะจากการเป็นผีที่ถูกตีตราโดยอคติ ในมหกรรมวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ 'คุณกับเขาเราเท่ากัน' หวังปักหมุดกำหนดให้วันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือ homeless day สำหรับประเทศไทย
 
คลิปวีดีโอบอกเล่าเรื่องราวผู้คนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ
 
มูลนิธิอิสรชน ร่วมกับบ้านมิตรไตรี (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) เป็นโต้โผใหญ่ในการจัดงานดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 31 ต.ค.56 เพื่อการสื่อสารสังคมในการดูแลซึ่งกันและกัน และสร้างโอกาสให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้เข้าถึงสวัสดิการสังคม โดยมีคนในพื้นที่สาธารณะหลายร้อยชีวิตเข้าร่วม
 
นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน 
 
นที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เรียกว่าได้มีการสถาปนาวันของคนที่อยู่ระดับล่างสุดของประเทศ คือคนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ เราพยายามเปลี่ยนแปลงวาทะกรรมของคนไทยที่เคยเรียกเขาว่า คนจรจัด พัฒนามาสู่คนเร่รอนคนไร้บ้าน และล่าสุดเราพยายามเรียกร้องให้เขาใช้คำว่า "ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ" เพราะว่าในรายละเอียดของการมาอยู่ในที่สาธารณะมันมีมากกว่าการมาเร่ร่อน หรือไร้บ้าน
 
มันมีสัญลักษณ์ซ่อนอยู่เยอะในวันนี้ โดยตลอดเดือนตุลาคมมีการรณรงค์ทั่วโลกเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก และวันนี้ทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองในฐานะวันปล่อยผี หรือวันฮาโลวีน คนที่อยู่ในที่สาธารณะจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยถูกเรียกว่าผี เราก็เลยถือโอกาสเอา 2 วันนี้มารวมกัน เพื่อทำให้คนในสังคมเห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผี เขาเป็นคน
 
"เรียกง่ายๆ ทำผีให้เป็นคน ให้เขาอยู่บนศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่าๆ กับเรา" นทีกล่าว
 
ประกอบกับก่อนหน้านี้ ในวันที่ 31 ต.ค.ของทุกปี คนในที่สาธารณะจะมาร่วมตัวกันมากกว่า 500 คน ในงานเครือข่ายสนามหลวงเลี้ยงอาหารแก่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
นที กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาเกือบ 10 ปี พบว่ามีคนใจดีอยู่ที่นี่ และวันนี้เป็นวันเกิดของเขา เขาเริ่มเลี้ยงอาหารด้วยตัวเขาคนเดียวในปีแรก และในปีที่ 2 ก็เริ่มมีคนมาร่วมเลี้ยงอาหารคนเร่ร่อนกับเขา จนกระทั่งปีที่แล้วมีคนมาเลี้ยงอาหารนับสิบคน และทุกวันที่ 31 ต.ค.ก็จะมีผู้มารับแจกอาหาร มากินอาหารอย่างมีความสุข
 
ส่วนคนที่มาเลี้ยงอาหาร นทีบอกว่า โดยมากเป็นพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอด ว่าง่ายๆ ก็คือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเหมือนกัน ทำมาหากินในที่สาธารณะ แต่พอถึงวันหนึ่งของทุกปี เขาอยากจะคืนให้กับเพื่อนของเขาที่อยู่ในที่สาธารณะ เขาก็เอาข้าวมาเลี้ยงกัน
 
ปัง คลองหลอด วัย 64 ปี
 
"ผมทำมาหากินที่นี่ ก็อยากคืนกำไรให้คนที่นี่" ปัง คลองหลอด ชายเจ้าของวันเกิดในวัย 64 ปีเต็ม ผู้ริเริ่มการเลี้ยงข้าวคนที่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ กล่าว
 
ปัง เล่าว่า เขาเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เกิดและโตอยู่ที่ข้าวสาร วันหนึ่งเขาได้พบพ่อและลูกชายคู่หนึ่งเดินอยู่ข้างถนน ลูกชายบอกพ่อว่าหิว แต่พ่อไม่มีเงินพอซื้อข้าว จึงบอกลูกชายของเขาว่ารอให้ขายของได้ก่อนแล้วจะไปซื้อข้าวให้กิน นับแต่นั้นมาเขาจึงหันมาทำอาชีพขายข้าวแกงจากละ 10 บาทอยู่ที่ริมคลองหลอด และหากใครมาขอกินข้าวก็จะตักให้โดยไม่อิดออด
 
ปัง จัดวันเกิดโดยการเลี้ยงอาหารที่ริมคลองหลอดมาถึง 8 ปีแล้ว จากที่เมื่อก่อนจ่ายเงินเลี้ยงเพื่อนแล้วเกิดทะเลาะชกต่อยกันจนต้องเสียเพื่อนไป จึงประกาศว่าจะไม่เลี้ยงเพื่อนอีก เมื่อเขาได้มาเลี้ยงอาหารคนที่นี่มันทำให้เขารู้สึกมีความสุข และคิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีวิตอยู่
 
ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสดีที่ "วันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ" จะถูกกำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นเวทีในการสื่อสาร เรื่องราวของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะต่อสังคม และพวกเขาจะได้ยื่นข้อเสนอใดๆ ก็ตามให้คนในภาครัฐได้รับรู้
 
"อย่างน้อยให้สังคมไทยได้ระลึกว่า มีวันหนึ่งของทุกปี ที่เราจะตื่นตัว มองเห็น และพูดถึงผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เหมือนกับในวันเด็กที่เราพูดถึงนโยบายด้านเด็ก วันผู้หญิง วันสตรีสากลเราพูดถึงเรื่องสิทธิของผู้หญิง
เพราะฉะนั้น มันสมควรจะมีวันของพวกเขา ในการพูดถึงสิทธิของพวกเขาว่าเขาควรจะได้รับอะไรบ้าง เขามีสิทธิอะไรบ้าง และสวัสดิการที่เขามีและควรจะได้รับคืออะไร นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นในสังคม" เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนกล่าว
 
000
 
ข้อเสนอสำหรับปีนี้ ในฐานะปีแรกที่ทีการจัดงาน 'วันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ' คือ การให้ยอมรับ วันที่ 31 ต.ค.เป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
นที กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นวาระสำคัญ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานเปิดงานรับลูก โดยได้พูดเป็นสัญญาประชาคมตรงนี้แล้วว่า ต่อจากนี้ไปวันนี้จะเป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
นั่นหมายความว่า ต่อจากนี้ไป กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็จะเป็นเจ้าภาพในอีก 1 วันของทุกปี คือ 31 ต.ค.จะเป็นวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งเราอาจจะจัดงานที่นี่ หรือเราจะพาคนข้างถนนเข้าโรงแรมบ้างก็ได้
 
"เรามีมหกรรมคนด้อยโอกาสอยู่แล้วแหละ แต่ทีนี้เราจะได้รู้ว่ามหกรรมนี้มันจะจัดได้ทุกปี ไม่ใช่จะจัดแบบปีเว้นปี มันจะจัดได้ทุกปี" นที กล่าว
 
เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดงาน และเดินชมนิทรรศการภาพถ่าย
 
ทั้งนี้ การจัดมหกรรมวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ 'คุณกับเขาเราเท่ากัน' นอกจากมูลนิธิอิสรชนแล้ว ยังถือเป็นความร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ บ้านมิตรไมตรี และภาคประชาชนอย่าง สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บ้านนานา เครือข่ายฅนสนามหลวง และมูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น รวมถึง กทม.ในฐานะเจ้าของสถานที่ด้วย
 
อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลัก คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งต้องไปขยายภาคีต่อไป เพราะควบคู่กับการเสนอวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อีกภารกิจที่ยังต้องเดินหน้าต่อ คือ การผลักดันกฎหมาย 'พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง' เพื่อมาคุ้มครองเขา
 
เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า กฎหมายนี้สาระสำคัญ คือ รัฐจะต้องเข้ามาดูแลคนไร้ที่พึ่ง คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไร้ที่พึ่ง อาจเป็นคนเร่ร่อน คนในที่สาธารณะด้วย ข้อต่อมารัฐต้องเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลคนเหล่านี้ และมีคณะคณะกรรมการเฉพาะระดับชาติ เรียกว่า คณะกรรมการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องนี้ โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ให้คำแนะนำเป็นการเฉพาะ แล้วก็ต้องมีคณะกรรมการในระดับจังหวัดด้วย
 
ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลได้มากขึ้น ทั้งเอ็นจีโอ หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนไร้ที่พึงเองที่มีการรวมตัวกันได้และแข็งแรงพอในการดูแลกันเองรัฐก็ต้องสนับสนุน คือเป็น พ.ร.บ.ที่ระดมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนให้เข้ามาดูแลปัญหาสังคม โดยไม่ได้มีบทกำหนดโทษ แต่เป็น พ.ร.บ.เชิงบวกที่เปิดโอกาสให้คนทำงานคุ้มครองคนที่อยู่ในที่สาธารณะสามารถช่วยเหลือคนในที่สาธารณะได้โดยไม่ผิดกฎหมายและมีกฎหมายคุ้มครองด้วย
 
นทียกตัวอย่างปัญหาที่เคยเกิดขึ้นว่า กรณีกลุ่มผู้ป่วยข้างถนน ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดย พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ในกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ 3 กลุ่ม ทำหน้าที่พาคนป่วยออกจากถนน คือ 1.บุคคลกรทางการแพทย์หรือสาธารณะสุขที่มีความเชี่ยวชาญทางจิตวิทยา 2.เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3.เจ้าพนักงานปกครองคือเทศกิจ
 
ทำให้ทุกวันนี้คนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือเอ็นจีโอไม่สามารถเอาคนป่วยออกจากถนนได้เอง จะต้องมีตำรวจไปด้วย และตำรวจจะต้องทำบันทึกปากคำส่งโรงพยาบาล โรงพยาบาลถึงจะรับรักษา แต่หากเปิดโอกาสให้เอ็นจีโอเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ สามารถทำบันทึกปากคำแล้วนำส่งโรงพยาบาลได้ ปัญหามันจบเร็ว ช่วยเหลือคนได้อย่างทันท่วงที
 
ดังนั้น ข้อเรียกร้องในทางกฎหมายจึงมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2.ให้แก้ไขอนุบัญญัติ อนุมาตรา หรือกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพจิตที่กระทรวงสาธารณะสุขถืออยู่
 
ขณะนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ผ่าน ครม.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.56 อยู่ระหว่างกลับไปแก้ไขถ้อยคำในกฤษฎีกา รอเข้าสภาฯ โดยการรับรองของ ครม.อีกครั้งหนึ่ง
 
"ต้องยอมรับว่าลุ้นอยู่ ถ้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ทำพิษเสียก่อนโอกาสของคนไร้ที่พึ่ง คนข้างถนนก็น่าจะมีภายในรัฐบาลนี้ ถ้าเห็นแก่ประชาชนกันก่อน หยิบ พ.ร.บ.นี้ขึ้นมาลัดคิวพิจารณา ให้สังคมช็อกไปเลย ผมว่ายิ่งสนุก ก็อยากให้เฝ้าดูและเป็นกำลังใจกัน เพราะกฎหมายนี้แท้งระหว่างสภาฯ มา 2 ครั้งแล้ว สมัยคุณอภิสิทธิ์ ก็เอาเข้าสภาฯ 15 วัน ก่อนยุบสภา มาถึงสมัยคุณยิ่งลักษณ์ก็ยังลุ้นกันอยู่" นทีกล่าว
 
000
 
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะของไทย ล่าสุดมูลนิธิอิสระชน ฉายภาพคนในที่สาธารณะถึง 13 กลุ่ม เนื่องจากพบรายละเอียด ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น
 
นที กล่าวว่า ใน 3 กลุ่มหลังที่เพิ่มขึ้น พบชาวต่างชาติตกยาก กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กระเทยรุ่นเดอะที่โชว์ไม่ได้แล้วออกมาใช้ชีวิตข้างถนน ถามว่าทำไมต้องแยกเขาออกมาเป็นพิเศษ เพราะเขาต้องได้รับการสื่อการจากบุคคลที่คุยกับเขารู้เรื่องและเป็นบุคคลพิเศษ ต้องเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันจึงจะเข้าถึงปัญหาของเขาได้ ไม่ปกปิดและไม่กดทับ
 
กลุ่มสุดท้ายคือครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องแยกออกมาเพราะเมื่อเปิด AEC กลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนอย่างก้าวกระโดดภายใต้สังคม AEC เพราะแรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามาและจะมีการพาครอบครัวเข้ามาด้วย ถ้าในไซต์งานก่อสร้างไม่มีการดูแลก็จะเกิดกรณีที่แม่อุ้มลูกออกมาขอทางข้างนอกได้
 
กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีปัญหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องซอยปัญหาให้ละเอียด เพื่อให้ได้รู้ว่ามีอะไรบ้างที่ข้างถนน มูลนิธิ หน่วยงานเอกชนทั้งหลายที่ทำงานจะได้รู้ว่าภารกิจไหนของเขาที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เขาจะได้ทำโครงการ ทำงบประมาณ เพื่อลงมาทำงานให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
 
ส่วนเรามีหน้าที่แจกแจงว่าเราเจอใคร เพิ่มขึ้นแค่ไหนอย่างไร เตรียมความพร้อมไว้
 
 
เมื่อถามถึงความน่าเป็นห่วง นที แจกแจงว่า มูลนิธิอิสระชน จัดอันดับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะออกเป็น 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีแดงประกอบด้วย 4 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ป่วยข้างถนน ผู้ติดสุรา เด็กและครอบครัวเร่รอน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเขาต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เช่น กรณีผู้ป่วยจะเห็นได้ชัดเจน ส่วนผู้ติดสุราก็มีโอกาสถูกทำร้ายร่างกายได้ ส่วนครอบครัวเร่ร่อนจะมีเด็กอยู่ด้วยต้องช่วยเหลือให้เร็ว
 
กลุ่มสีเหลือง อาทิ คนเร่รอน เซ็กเวิร์คเกอร์ ผู้พ้นโทษ ส่วนกลุ่มสีเขียวจะเป็นคนไร้บ้าน ชาวต่างชาติ แรงงาน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ คนไร้บ้านต้องการมีบ้าน หาบ้านให้อยู่ได้ ชาวต่างชาติหากสามารถประสานงานสถานทูตได้เร็วก็กลับบ้านได้เร็ว ส่วนแรงงานหากผลักดันให้ไซต์งานก่อสร้างดูแล เขาก็สามารถอยู่ที่นั่นได้
 
นที ให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การเพิ่มขึ้นของกลุ่มครอบครัวแรงงานเป็นสถานการณ์จริงที่คนเห็น ซึ่งไม่ได้น่ากลัว แต่กลุ่มผู้ป่วยยังน่ากลัว เพราะไม่เกิน 6-10 ข้างหน้าเราจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2560-2565 ผู้สูงอายุจะมีจำนวน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด
 
ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม นั่นหมายความว่า 1 ใน 5 ของประชากรหรือประมาณ 14 ล้านคน ครึ่งหนึ่งคือ 7 ล้านคน มีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือ 3.5 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะออกมาเดินข้างถนนถ้าเราไม่สร้างกลไกในการป้องกัน ดังนั้นจึงต้องเตือนเพื่อสร้างกลไกในการป้องกัน ไม่ใช่บอกว่าให้รอรับคน 3.5 ล้านคน
 
ตัวเลขตรงนี้มาจากสถิติของประชากร และข้อมูลจากคนที่ทำงานกับผู้สูงอายุที่ว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่มูลนิธิอัลไซเมอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็พบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านออกมาสู่ถนน
 
"ตัวเลขผู้สูงอายุที่จะเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมนั่นก็คือผู้ป่วยข้างถนนซึ่งเป็นกลุ่มที่น่ากลัวแบบเห็นตัวเลขมากที่สุด" นทีกล่าว
 
 
ข้อเสนอสำหรับเรื่องนี้คือต้องไปสร้างกลไกในระดับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งก็ย้อนกลับมาที่การผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทีอำนาจหน้าที่ และสิ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือมูลนิธิอิสระชน จะลงไปสนับสนุนได้ก็คือการอบรมให้ชุดความรู้ในการทำงาน
 
ยกตัวอย่าง ตอนนี้นทีไปอบรมให้ที่ จ.สระแก้ว เพื่อการทำแผนจังหวัดในการดูแลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นจังหวัดแรก และที่สมุทรสาครกำลังมีการดำเนินการ
 
ถือว่ามีความหวังในการแก้ไขปัญหาอยู่...
 
000
 
31 ต.ค.56 นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรอบสีเรียบราว 20 ภาพ ถูกจัดวางไว้เป็นระยะริมทางเดินในสวนหย่อมหลังพระแม่ธรณีบีบมวยผม ริมคลองหลอด ขณะที่บรรยากาศโดยรอบคึกคักไปด้วยผู้คนที่หอบหิ้วข้าวของพะลุงพะลัง
 
 
ภาพถ่ายภายใต้คอนเซ็ปต์ "คุณกับเขา เราเท่ากัน..." ถ่ายทอดความเป็นคนธรรมดาของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ในลักษณะภาพถ่ายหน้าตรง ที่สื่อถึงการมองเห็นซึ่งกันและกันด้วยความเคารพ ท่ามกลางบรรยากาศในชีวิตประจำวันของพวกเขา
 
"เราขอเขาถ่ายภาพได้ ใครๆ ก็คุยกับเขาได้ ไม่น่ากลัว เพียงแต่เราเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน" อภิชน รัตนาภายน เจ้าของผลงานกล่าว
 
อภิชน กล่าวว่า แม้จะใช้เวลาในการทำงานกับการลงพื้นที่ภาพถ่ายเพียง 7 วัน พร้อมกับการบันทึกเรื่องราวของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเป็นวีดีโอ แต่ก็อาศัยเวลาในการเก็บข้อมูลของอาสาสมัครของมูลนิธิอิสรชนนานแรมปี
 
อภิชน เคยเป็นอาสาสมัครมูลนิธิอิสระชนตั้งแต่เมื่อปี 2553 และเป็นผู้ถ่ายทอดสารคดี ผลงาน 'บ้านไม่มีเลขที่' ในรายการก(ล)างเมือง ทางไทยพีบีเอส ที่ว่าด้วยวิถีชีวิตของคนใต้สะพานพระรามเจ็ด เล่าถึงการถ่ายภาพชุดนี้ว่า คนทั่วไปมักมีอคติ ไม่กล้าสบตา ไม่กล้าเข้าใกล้กับคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั้งที่จริงเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนๆ กับเรา แต่ทัศนคติต่างหากที่ทำให้เกิดความต่าง จึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวตรงนี้
 
"อยากให้คนได้รู้ ไม่ใช่เหมารวมรวมว่าพวกเขาเป็นคนไม่ดี ว่าเป็นพวกชอบลักขโมย เพราะทั้งคนดีและคนไม่ดีล้วนมีอยู่ในทุกสังคม" อภิชนบอกเล่าความคิด
 
...
 
คุณเห็นภาพแล้วคุณมีคำถามหรือรู้สึกอะไรไหม ถ้าเราไม่บอกว่าเขาเป็นใคร
 
คุณเห็นภาพใคร... คนธรรมดา
 
แล้วเขาต่างจากเราตรงไหน... ไม่
 
เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองหน้ากัน เราไม่มีความต่าง เราเท่ากัน
 
 
 
 
ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั้ง 13 ประเภท
 
(กลุ่มที่ 11-13 เป็นการค้นพบในการเก็บข้อมูลในปี 2556
ที่มา: มูลนิธิอิสรชน)
 
1.คนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือบนท้องถนนเป็นที่พักอาศัยอันเนื่องมากจากการถูกไล่ที่ดินที่เป็นที่พักอาศัย ไม่มีที่ดินทำมาหากิน
 
2.คนเร่ร่อน คือ บุคคลที่ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือบนท้องถนนเป็นที่อยู่อาศัย มักจะอยู่ตามจุดต่าง ๆ เช่น สนามหลวง สะพานพุทธ หัวลำโพง หมอชิต สวนลุมพินี ใต้ทางด่วนหรือใต้สะพานต่างๆ สถานที่อยู่ของคนเร่ร่อนจะอิงอยู่กับแหล่งหากิน เช่น สถานีรถโดยสาร ตลาด และแหล่งท่องเที่ยวสาเหตุที่คนออกมาเร่ร่อน สาเหตุพบว่ามาจากการตกงาน ปัญหาครอบครัว ความพิการไม่สามารถดูแลตนเองได้ เร่ร่อนตามพ่อแม่และชอบใช้ชีวิตอิสระ
 
3.เด็กเร่ร่อน / ครอบครัวเร่ร่อน คือเด็กที่ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัยและเร่ร่อนตามถนนหรือที่สาธารณะ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น
• ตามลักษณะการหาเลี้ยงชีพ ได้แก่ กลุ่มเร่ร่อนขอทาน กลุ่มออกแรง ประกอบอาชีพ
• ตามวิถีการดำรงชีวิต ได้แก่ เร่ร่อนตามวิถีชีพของครอบครัว ซึ่งจะเคลื่อนย้ายตามครอบครัวไปตามแหล่งงาน
 
หมายเหตุ: อีกกรณีหนึ่งที่พบในพื้นที่ กล่าว คือ เด็กเร่ร่อนเมื่อเติบโต ได้มีการสร้างครอบครัวในที่สาธารณะ กลายเป็นครอบครัวเร่ร่อนและเด็กที่เกิดมาจะเป็นเด็กเร่ร่อนถาวร เพราะพ่อและแม่ออกมาเร่ร่อนตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี ไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชน พอมาสร้างครอบครัวในถนน เด็กที่เกิดมาจึงไม่มีเลข 13 หลัก
 
4.ผู้ติดสุรา โรคติดสุราหรือพิษสุราเรื้อรัง เป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้ในการวินิจฉัยผู้ติดสุราที่ทำให้เกิดปัญหาหน้าที่การงาน หรือสุขภาพ มีลักษณะการดำเนินโรคอย่างเรื้อรัง โดยผู้ป่วยมักไม่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ว่าเกิดจากการใช้สุรา สาเหตุที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อันเนื่องมาจากครอบครัวไม่สามารถดูแล หรือบางครอบครัวไม่สามารถรับได้กับการมีพฤติกรรมดื่มสุราเป็นประจำ อีกส่วนหนึ่งคือ บุคคลเหล่านี้พอมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ แล้วดื่มสุรามาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกและทำให้เพิ่มความต้องการ แม้ว่าจะเกิดผลเสียมากมาย เป็นการเสพติดทางใจ และการเสพติดทางร่างกาย ทำให้เกิดการถอนสุราหรือไม่สบายหากไม่ได้ดื่ม
 
5.ผู้ป่วยข้างถนน คือ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่พลัดหลงออกจากบ้านมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะจนกลายสภาพเป็น "คนเร่ร่อน" ทั้งนี้ยังรวมถึง "คนเร่ร่อนไร้บ้าน" ที่มีอาการผิดปกติทางสมองหรือทางจิตด้วย
 
6.พนักงานบริการ คือ บุคคลที่หาเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการบริการทางเพศ ให้บริการทางด้านอารมณ์ จิตใจ โดยแลกกับค่าตอบแทน การเป็นพนักงานบริการอาจเนื่องมาจากเหตุหลายประการ เป็นต้นว่าความยากจนของครอบครัว ความจำเป็นในทางเศรษฐกิจประการอื่น การขาดความรักและความอบอุ่นจากพ่อแม่ การไม่เป็นที่รักและยอมรับของใคร ๆ การได้เห็นตัวอย่างในเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ไม่ดีมาแต่เยาว์วัย ความผิดปรกติทางจิตใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี โดยมักยืนตามที่สาธารณะ ตามริมถนน บางคนเป็นทั้งคนเร่ร่อนและพนักงานบริการ
 
7.ผู้พ้น คือ บุคคลที่พ้นโทษออกมาจากเรือนจำแล้วไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ อันเนื่องมาจากว่าในสภาพของความเป็นจริงแล้ว สังคมยังไม่ให้โอกาสคนที่พ้นโทษออกมา ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ไป ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
 
8.คนจนเมือง คือ คนจนเมือง หรือชุมชนแออัด ไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สิน จึงอพยพมาเสี่ยงโชคในเมือง แต่เมื่อเข้ามาเผชิญในเมืองแล้วด้วยค่าครองชีพที่สูง ละเมืองหลวงไม่ได้มีอนาคตอย่างที่คาดหวัง ทำให้คนเหล่านี้ผิดหวัง ไม่มีที่ไป กลับสู่ภูมิลำเนาก็ไม่มีที่ดินทำมาหากิน ไม่มีงาน จึงใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือท้องถนน
 
9.คนที่ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว คือบุคคลที่มาทำภารกิจบางอย่าง เช่น มาเฝ้าญาติที่โรงพยาบาล ไม่มีที่พักอาศัย ไม่มีเงินพอเช่าห้องพักจึงอาศัยที่สาธารณะหลับนอน หรือบางกรณี คือ หนุ่มสาวโรงงาน หรือพนักงานรับจ้างทั่วไป ไม่สามารถเช่าห้องพักราคาสูงได้ จึงใช้ที่สาธารณะในการพักหลับนอน
 
10.คนเร่ร่อนไร้บ้าน คือ บุคคลที่ออกมาจากที่พักอาศัยเดิมที่ไม่สามารถอยู่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดใดก็ตามจึงออกมาอยู่ตามที่สาธารณะ หรือบุคคลใดที่ออกมาจากที่พักอาศัยเดิม หรือบุคคลเดิมมาตั้งครอบครัวหรือมาใช้ชีวิตแบบครอบครัวใหม่ในพื้นที่สาธารณะ และทั้งสองกลุ่มอาจจะย้ายที่พักไปเรื่อยๆ หรือ ปักหลักที่ใดที่หนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อดำรงชีวิตประจำวันในที่สาธารณะนั้นๆ
 
11.ผู้มีความหลากหลายทางเพศ หมายถึง การที่มนุษย์มีเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ และเพศวิสัย อันหมายรวมถึงการปฏิบัติตัวและการมีพฤติกรรมทางเพศที่แตกต่างและหลากหลายตามธรรมชาติ ไม่ใช่มีเพียงแค่ 2 เพศ คือ เพศชายและเพศหญิง เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาใช้ชีวิตข้างถนน ด้วยการไม่ได้รับการยอมรับในครอบครัว สังคม หรือชุมชน
 
12.ชาวต่างชาติตกยาก ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่พลเมืองในแถบอาเซียน ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และประสบปัญหาสังคม ทำให้กลายเป็นคนเร่ร่อนตกยากอยู่ในประทศไทย มีสาเหตุหลัก 3 ประการได้แก่ ครอบครัวคนไทยทอดทิ้ง หุ้นส่วนทางธุรกิจเอาเปรียบ และโดนโจรกรรมทรัพย์สิน
 
13.ครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน ประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง และประชากรในแถบอาเซียน ที่เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทย แต่อยู่ในฐานะของผู้ยากไร้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง หรือติดตามหัวหน้าครอบครัวมาเพื่อทำงานแต่ใช้พื้นที่สาธารณะพักอาศัย
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์การ-สภานศ.ธรรมศาสตร์ค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ วอนวุฒิสภาไม่เห็นชอบ ยึดหลักวาระ1

Posted: 03 Nov 2013 10:55 AM PST

องค์การ+สภานักศึกษามธ.วอนวุฒิสภาไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ระบุยึดวาระหนึ่ง ชี้นิรโทษกรรมต้องเฉพาะปชช.จากชุมนุมทางการเมืองตามรธน.แต่ไม่ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ แกนนำ และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดโดยองค์กรที่จัดตั้งหลังการรัฐประหาร 

4 พ.ย.2556 องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมติคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สามและมีข้อเรียกร้องให้วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนการให้ถูกต้องโดยยึดหลักการเดิม ตามที่ได้รับหลักการเอาไว้ตามวาระที่หนึ่ง พร้อมเรีกยร้องให้นิรโทษกรรมให้แต่เฉพาะบรรดาการกระทำของประชาชนที่แสดงออกตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

แถลงการณ์ร่วม

องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกี่ยวเนื่องกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบ

สืบเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ วาระที่ 3 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ 2556 โดยสาระสำคัญนั้นมีผลเป็นการนิรโทษกรรมความผิดสำหรับการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 รวมตลอดถึงโดยองค์กรหรือหน่วยงาน ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ทั้งที่กระทำในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุน ดังนั้นองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้มีการประชุมลงมติให้มีการออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวดังต่อไปนี้

1.องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับบรรดาการกระทำของประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามวิถีทางประชาธิปไตยที่มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่การนิรโทษกรรมนั้นจะต้องไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นหรือการกระทำของแกนนำผู้ชุมนุมหรือการกระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึง 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา

2.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการหนึ่งคือ หลักการในร่างพระราชบัญญัติที่ได้มีการลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สามนั้นได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯในวาระที่สอง ซึ่งทำให้แตกต่างในสาระสำคัญเป็นอย่างมากกับหลักการในร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการไว้ อันเป็นการกระทำที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2551 ข้อ 117 วรรคสามที่ว่า คณะกรรมาธิการอาจเพิ่มมาตราใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัตินั้น ดังนั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงอาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีมติคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สามและมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.เรียกร้องให้วุฒิสภามีมติไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนการให้ถูกต้องโดยยึดหลักการเดิม ตามที่ได้รับหลักการเอาไว้ตามวาระที่หนึ่ง

2.การตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้นควรนิรโทษกรรมให้แต่เฉพาะบรรดาการกระทำของประชาชนอันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามวิถีทางประชาธิปไตยที่มีการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นและการนิรโทษกรรมควรจะเป็นการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงมิใช่เป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในประเทศดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงเชื่อมั่นต่อกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน และยังคงเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่จะเคียงข้างกับประชาชนคนอื่นตลอดไป หวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะไม่ทำลายความหวังและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ด้วยความหวัง

องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4 พฤศจิกายน 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายการ ‘บก.ลายจุด-ณัฐวุฒิ-จตุพร-ธิดา’ หลุดผังเอเชีย อัพเดท

Posted: 03 Nov 2013 09:52 AM PST

สมบัติ บุญงามอนงค์ เผยรายการตน ณัฐวุฒิ,จตุพร,ธิดา ที่ไม่ยอมรับนิรโทษฯเหมาเข่ง ถูกปรับจากผังช่องเอเชียอัพเดท ถามเพื่อไทย-เอเชียอัพเดท ยังเชื่อสถานีปลายทางประชาธิปไตยอยู่ไหม

เมื่อเวลา 16.25 น. ของวันที่ 3 พ.ย.2556 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง โพสต์ในเฟซบุ๊กตนเองว่า สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเชีย อัพเดท มีการปรับผังรายการ ส่งผลให้รายการ "ประชาชน 3.0" ไม่ได้ออกอากาศ 

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสมบัติ ได้ประกาศจัดกิจกรรม "10,000 UP เราไม่ลืม" ในวันที่ 10 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะมีการนิรโทษฯให้กับผู้สังการสลายการชุมนุมเสื้อแดงเมื่อ เม.ย.-พ.ค. 53 

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่านอกจากรายการของ บก.ลายจุด แล้วการปรับผังดังกล่าวยังมีผลต่อรายการที่ดำเนินโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ (รายการอยากมีเรื่อง (ให้คิด), นายจตุพร พรหมพันธุ์ (รายการชูธง) และนางธิดา โตจิราการ (รายการเหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย) ด้วย

นายสมบัติให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ด้วยว่า ได้รับแจ้งจาก ผอ.สถานีว่าปัจจุบันมีความขัดแย้งกันและตอบโต้กันไปมา 2 ฝ่ายซึ่งไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ต้องปรับรายการดังกล่าวออก เพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่ เพื่อยุติความขัดแย้ง ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นเกมที่จะผลักดันให้ไกลกันขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นปมประเด็น ซึ่งรายการที่โดนปรับออกไม่ได้มีรายการของตนเพียงคนเดียว แต่รายการของนายณัฐวุฒิ นายจตุพร และนางธิดา ซึ่งมีแนวคิดไม่ยอมรับนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ก็โดนปรับออกด้วย

ในวันที่ 4พ.ย.นี้ จะไม่มีรายการของตนเองออกอากาศทางช่องเอเชียอัพเดทแล้ว แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะจะนำเทปรายการล่าสุด ตอนสัมภาษณ์นางธิดา มาเผยแพร่ทางยูทูบ อีกทั้งก่อนที่จะเริ่มต้นไปจัดรายการให้สถานีเอเชียอัพเดท ตามการชักชวนของ ผอ.สถานี ก็เล่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีช่องทางสื่อสารกับสาธารณะอยู่แล้ว จึงไม่ได้หนักใจอะไร

เมื่อถามว่าคาดหมายล่วงหน้าว่าจะถูกปรับออกจากผังหรือไม่ นายสมบัติกล่าวว่า เป็น 1 ในการคาดการณ์ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นจริง มีความเป็นไปได้ แต่ไม่คิดว่าจะกล้า ทั้งนี้ อยากฝากไปยังพรรคเพื่อไทย และทางสถานีเอเชียอัพเดทว่า ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่าเรายังอยู่ในขบวนประชาธิปไตยหรือเปล่า ยังเชื่อสถานีปลายทางประชาธิปไตยอยู่ไหม

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 22.15 น. ทีมงานเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ธิดา ถาวรเศรษฐ' โพสต์แจ้งว่า ล่าสุดรายการเหลียวหลังแลหน้าเพื่อประชาธิปไตยของธิดาในคืนนี้ได้ออกอากาศ ส่วนจะได้ออกอากาศในสัปดาห์ต่อไปหรือไม่ขึ้นกับนโยบายของทางสถานี  โดยธิดาให้ความเห็นด้วยว่าหากทางสถานีจะออกอากาศรายการของตนต่อ ก็ให้ออกอากาศรายการของจตุพร ณัฐวุฒิ และคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ด้วย

 

 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โตมร ศุขปรีชา

Posted: 03 Nov 2013 08:10 AM PST

"ความพยายาม 'กลับบ้าน' ของทักษิณนั้น ไม่ใช่เรื่องตบมือข้างเดียว แต่ต้องมี 'ฉันทานุมัติ' บางอย่างจากบางระดับ ถึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การไม่เอาทักษิณ จึงต้องไม่เอา 'ฉันทานุมัติ' นั้นด้วย นี่เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการเติบโตไปเป็น 'ประชาชน' ที่แท้จริง"

3 พ.ย.56, โพสต์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Tomorn Sookprecha'

‘พูโล’ รวมเป็นหนึ่งเตรียมร่วมวงเจรจา – ‘BRN’ รับคำตอบ5ข้อจากไทยแล้ว

Posted: 03 Nov 2013 08:08 AM PST

กัสตูรี มะห์โกตา เผยขบวนการพูโล 3 กลุ่มรวมเป็นหนึ่งแล้ว เพื่อเตรียมส่งตัวแทน 2 คนร่วมทีมBRN ในวงพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายไทย ยันหารือผู้อำนวยการพูดคุยฝ่ายมาเลเซียแล้ว ฮัสซัน ตอยิบระบุไม่มีปัญหา แต่ให้รวมเป็นหนึ่งก่อนแล้วส่งตัวแทนมา พร้อมเผย BRN ได้รับเอกสารคำตอบ 5 ข้อแล้ว แต่ฝ่ายไทยแถมให้อีก 2 ข้อเรื่องความมั่นคงและการพัฒนา


นายกัสตูรี มะห์โกตา

นายกัสตูรี มะห์โกตา ซึ่งอ้างตัวเองว่าเป็นประธานขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organisation : PULO) มีถิ่นพำนักอยู่ที่ประเทศสวีเดน ให้สัมภาษณ์นายอัศโตรา โต๊ะราแม ผู้สื่อข่าวอาวุโสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทและโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)ว่า ขณะนี้ขบวนการพูโลที่แตกออกมาเป็น 3 กลุ่มได้รวมเป็นหนึ่งแล้ว เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมวงพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลไทยที่ได้ดำเนินการพูดคุยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายกัสตูรี เปิดเผยด้วยว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านตนได้เดินทางไปที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อพบกับผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการต่อสู้ที่ปาตานีแล้ว เพื่อหารือถึงเรื่องการเข้าร่วมวงการพูดคุยดังกล่าวแล้ว

นายกัสตูรี เปิดเผยว่า การหารือดังกล่าวมีข้อตกลงว่าจะให้ฝ่ายขบวนการพูโลส่งตัวแทนเข้าร่วมวงพูดคุยเพื่อสันติภาพจำนวน 2 คน ซึ่งหากเป็นความประสงค์ของพระเจ้า ตนก็จะเป็นคนหนึ่งที่จะเข้าร่วมการพูดคุยครั้งต่อไปด้วย

'BRN' รับคำตอบ5ข้อแล้ว-ไทยแถมเพิ่มอีก2

ด้านนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น(BRN) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการพูดคุยฝ่ายขบวนการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่ผ่าน ตนได้เดินทางไปพบกับดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ เพื่อรับเอกสารตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อจากตัวแทนฝ่ายไทยที่ส่งผ่านผู้อำนวยความสะดวก

นายฮัสซัน กล่าวว่า คำตอบของฝ่ายไทยเกี่ยวกับ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวกต่อการพูดคุยสันติภาพ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้เพิ่มข้อเสนออีก 2 ข้อ คือ ให้ร่วมกันรักษาความสันติสุขและความมั่นคงในพื้นที่ร่วมกัน และให้พัฒนาศักยภาพของพื้นที่ร่วมกันด้วย

นายฮัสซัน เปิดเผยด้วยว่า ส่วนการที่จะให้ตัวแทนขบวนการพูโลเข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพด้วยนั้น ได้ให้หลักการว่า ให้ฝ่ายขบวนการพูโลไปตกลงกันเองก่อนให้เป็นหนึ่งเดียวว่า จะส่งใครเข้ามาร่วมในการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่ได้มีปัญหาอะไร

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.ชี้คนไทยเสี่ยงชีวิตมากจากโรคหัวใจทุบสติถิ 1ใน 10

Posted: 03 Nov 2013 03:35 AM PST

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจับมือกระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดหายาละลายลิ่มเลือดช่วยผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดได้ครบทุกแห่ง เริ่มจัดระบบเพื่อขยายเครือข่าย รพ.ที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ตั้งแต่ปี  52 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยได้รับยาเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 60 ลดอัตราเสียชีวิตลงได้

พบคนไทยเป็นโรคหัวใจติด 1ใน 10 เสี่ยงชูจังหวัดหนองบัวลำภูสุดเจ๋งโรงพยาบาล ให้ยาละลายลิ่มเลือดผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดได้ครบทุกแห่ง  หลังพบปัญหาไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด  ปัจจุบันโรงพยาบาลทุกแห่งสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ไม่พบผู้เสียชีวิต วินิจฉัยถูกต้อง เข้าถึงบริการทันเวลา และปลอดภัย   ด้าน สปสช.จัดระบบเพื่อขยายเครือข่ายรพ.ที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ตั้งแต่ปี  52 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยได้รับยาเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 60 ลดอัตราเสียชีวิตลงได้        


นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 10 ของโรคที่มีอัตราการตายสูงสุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นโรคดังกล่าว ถึงปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบดูแล โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคนี้ สปสช.จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนให้มีการขยายเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ และมาตรฐานอย่างทันเวลา และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2552 ผลการดำเนินการพบว่าผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดในอัตราเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 16 ในปี 2552 เพิ่มเป็นร้อยละ 35 ในปี 2555 จากกลุ่มเป้าหมาย 3,230 คน และผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2556 ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2556 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,677 คน ได้รับการให้ยาละลายลิ่มเลือด 2,268 คน หรือร้อยละ 61.68 ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงมาก

นพ.สุรเชษฐ์  สถิตนิรามัย  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข  เขตบริการสุขภาพที่ 8  เปิดเผยว่า   จากรายงานมีผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 8 ราย ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลศรีบุญเรือง 4 ราย  โรงพยาบาลสุวรรณคูหา 1 ราย โรงพยาบาลนากลาง 1 ราย โรงพยาบาลนาวัง 1 ราย และ โรงพยาบาลโนนสัง 1 ราย  ซึ่งผู้ป่วยทุกรายปลอดภัยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ   ทั้งนี้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ที่สามารถพัฒนาระบบบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ  ทุติยภูมิ และตติยภูมิได้ครอบคลุมทั้งจังหวัด       และได้มอบนโยบายให้มีการติดตามเป็นระยะๆ เพื่อนำปัญหามาปรับปรุงแก้ไข  รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในเครือข่ายและส่งเสริมให้มีการคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวและหลอดเลือดในชุมชนพัฒนาต้นแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งนี้ทีมงานเครือข่ายต้องมีเป้าหมายร่วมกันและพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่น   เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเขตบริการสุขภาพที่ 8 ได้เตรียมแผนรองรับการพัฒนาสนับสนุนหน่วยงานที่มีศักยภาพในพื้นที่ให้เป็นแม่ข่าย ในการจัดบริการแบบไร้รอยต่อในเรื่อง โรคหัวใจและหลอดเลือดแม่ข่ายระดับเขต คือ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และแม่ข่ายในระดับจังหวัด ก็คือ โรงพยาบาลจังหวัด โดยมีเป้าหมายให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ใน 7 จังหวัดอีสานตอนบน สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้

นพ.สุทธิ ถาวรยุติธรรม ประธานเครือข่ายโรคหัวใจจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า โรงพยาบาลหนองบัวลำภูมีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจัดเป็นยามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน โดยโรงพยาบาลหนองบัวลำภูร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานีจัดทำโครงการพัฒนาระบบดูแลเครือข่ายโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนทั้ง 5 แห่งในจังหวัดหนองบัวลำภูสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ทั้งหมด   โดยมีโรงพยาบาลหนองบัวลำภูเป็น Node รับส่งต่อ  ผลการดำเนินงานในปี 2556 ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตหลังได้รับยาที่โรงพยาบาลชุมชนแม้แต่รายเดียว

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 8 อุดรธานี เปิดเผยว่า โรงพยาบาลชุมชนที่ให้ยาละลายลิ่มเลือด ปี 2555 ในพื้นที่เขต 8 อุดรธานี ร้อยละ 18.39 จากภาพรวมประเทศร้อยละ 28.59 ซึ่งในปี 2556 โรงพยาบาลสามารถให้ยาสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 73.23 (52/71แห่ง)  โดยจังหวัดหนองบัวลำภู โรงพยาบาลชุมชนสามารถให้ยาได้ครบ ร้อยละ 100 (5/5 แห่ง)  จังหวัดอุดรธานี ร้อยละ 70.58 (12/17แห่ง) จังหวัดสกลนคร ร้อยละ 68.42 (13/19 แห่ง) จังหวัด เลย ร้อยละ 83.33 (10/12 แห่ง) จังหวัดหนองคาย ร้อยละ 60 (3/5 แห่ง) จังหวัดนครพนม ร้อยละ 75 (6/8 แห่ง) และจังหวัดบึงกาฬ ร้อยละ 71.42 (5/7 แห่ง)   ซึ่งสปสช.ได้  ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 8 พัฒนาเครือข่ายโรคหัวใจขาดเลือดระดับเขตพื้นที่เพื่อให้เกิดการจัดบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่รวดเร็วและปลอดภัย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์: ฝ่าซอยตันนิรโทษกรรมด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

Posted: 03 Nov 2013 03:05 AM PST

สถานการณ์เขม็งเกลียวทางการเมืองและสังคมที่เกิดจากการพยายามผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย(ตัน) ของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลโดยมีคะแนนเสียงในสภาล่างถึง 310 เสียงนั้น   ได้ผลักให้ปัญญาชน นักเคลื่อนไหว กลุ่มการเมืองจากหลายฝ่าย ต้องลุกขึ้นมาต่อต้านการผลักดันกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างเสียมิได้ และคิดว่าไม่ทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากใช้การเมืองนอกรัฐสภาเข้ากดดัน

สำหรับผู้ที่ฝากความหวังไว้กับศาลรัฐธรรมนูญที่จะตัดสินว่า พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับดังกล่าวจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็โปรดดูแนวคำพิพากษาย้อนหลังเกี่ยวกับการออก พรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับต่างๆด้วย ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไรในการเพิกถอน พรบ.ฉบับดังกล่าวทั้งฉบับ  

อันที่จริงแล้วยังเหลือแนวทางในการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรม นำผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษทางอาญา และเยียวยาสิทธิให้กับญาติผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทั้งจากการกระทำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลทักษิณได้อีก หนึ่งหนทาง   โดยที่ไม่ต้องเกิดเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงอันจะนำไปสู่การนองเลือดซ้ำอีกครั้ง   นั่นคือ การผลักดันรัฐสภาให้สัตยาบันธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศในทางสากลมานับสิบปีแล้ว ขาดก็แต่เพียงการให้สัตยาบันโดยรัฐสภาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในประเทศไทยเท่านั้น
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและไม่ต้องการเห็นการออกกฎหมายลบล้างความผิดของอดีตนายกฯทักษิณ มวลชนเสื้อแดงที่เจ็บปวดจากการประหัตประหารของรัฐบาลอภิสิทธิ์   และพลเมืองไทยผู้รักความยุติธรรมต้องการรักษาระบบกฎหมายต่อต้านการใช้อำนาจประหัตประหารของผู้มีอำนาจทุกรูปแบบ   สังคมไทยต้องร่วมกันกดดันให้รัฐสภาให้สัตยาบันต่อธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ และออกถ้อยแถลงให้ธรรมนูญศาลฯมีผลกับประเทศไทยย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจบังคับตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งหากใช้เงื่อนเวลาดังกล่าวศาลฯจะมีเขตอำนาจบังคับคดีทั้งหลายอันได้แก่

1)การใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะของรัฐบาลทักษิณ
2)การใช้กำลังปราบปรามและทำให้เกิดผู้เสียชีวิต ณ อำเภอตากใบ ของรัฐบาลทักษิณ
3)การใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมในกรุงเทพ ช่วงเมษา-พฤษภา 2553 ของรัฐบาลอภิสิทธิ์
4)ป้องกันการประหัตประหาร หรือการใช้กำลังปราบปรามที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

สาเหตุที่การให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศจะช่วยฝ่าทางตันของ พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ก็ด้วยเหตุที่ว่า  "เมื่อกระบวนการภายในของรัฐไทยไม่สามารถเอาผิดผู้ละเมิดสิทธิของประชาชนได้แล้ว" ก็จะเข้าเงื่อนไขสำคัญในการนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศทันที   เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลอาญาระหว่างประเทศและองค์กรนิรโทษกรรมสากลก็ชี้ตรงกันแล้วว่า คดีในประเทศไทยยังไม่เข้าเกณฑ์ในการรับฟ้องคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศเพราะยังไม่ปรากฏ "การใช้กระบวนการเยียวยาภายในจนหมดสิ้น" (Exhaustion of Local Remedy)   หรือมีพฤติการณ์ให้เชื่อได้ว่าจะมี "การปฏิเสธความยุติธรรม" อย่างชัดแจ้ง (Denial of Justice)

มาบัดนี้การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดและโทษทางกฎหมายให้กับผู้มีส่วนกับการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศทั้งหลาย ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่ามีการปฏิเสธความยุติธรรม และทำให้โอกาสในการเยียวยาสิทธิด้วยกระบวนการภายในหมดสิ้นลง   ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิทั้งหลายจึงมีเงื่อนไขครบถ้วนที่จะนำคดีรัฐบาลทักษิณและอภิสิทธิ์ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ติดอยู่ก็แต่เพียงรัฐไทยยังมิได้ให้สัตยาบันและทำถ้อยแถลงให้ศาลมีผลบังคับใช้กับไทยย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่ศาลมีผลทางกฎหมาย ดังนั้นแนวทางที่เป็นรูปธรรมและจะนำความยุติธรรมกลับคืนมาโดยไม่ติดข้อจำกัดของเฉดสีและการเมืองภายในนั่นคือ การใช้กลไกเยียวยาระหว่างประเทศเพื่อให้ปลอดคำครหาและการตั้งข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น

สำหรับผู้ที่ห่วงใยว่าอดีตนายกทักษิณจะรอดพ้นคดีไปล่องลอยอยู่ในต่างประเทศได้เหมือนตอนที่เป็นนักโทษในคดีคอรัปชั่น ก็ขอให้ทราบว่า คดีที่จะทำให้อดีตนายกทักษิณติดกับและหนีไปได้อย่างแท้จริง คือ คดีอาญาระหว่างประเทศ เนื่องจากคดีแบบนี้จะทำให้เกิด "เขตอำนาจสากล" ในการบังคับทุกรัฐให้ต้องจับกุมและส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีในศาล   ดังที่ปรากฏความกังวลของ พตท.ทักษิณ โดยการจ้างทนาย อัมสเตอร์ดัม ซึ่งจริงๆแล้วมีความเชี่ยวชาญในการเป็น "ทนายจำเลย" แก้ต่างให้กับผู้ต้องหาในศาลอาญาระหว่างประเทศ  มิใช่ผู้เชี่ยวชาญในการฟ้องเอาผิดดังที่มวลชนฝ่ายแดงเข้าใจผิดกัน

หากมองว่าฝ่ายใดจะคัดค้านการให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็เห็นจะเป็น ฝ่ายที่หยิบยกเรื่องการสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล และเปิดให้ศาลระหว่างประเทศเข้ามายุ่มย่ามกิจการภายในรัฐไทย   นั่นก็คือ ฝ่ายความมั่นคงซึ่งมีส่วนในการประหัตประหารประชาชนและละเมิดสิทธิประชาชนร่วมกับทุกรัฐบาลมาตลอด   จุดยืนของ กองทัพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือแม้แต่ DSI ย่อมไปในทิศทางนิ่งเฉยต่อ พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย หรือถึงขั้นสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ ดังที่สังคมจะต้องสังเกตุท่าทีของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ต่อ พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย และท่าทีนิ่งเฉยของผู้นำกองทัพต่อเรื่องนี้ และการให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ

ประชาชนทุกฝ่ายผู้เห็นแล้วถึงความแยบคายของเหล่าชนชั้นนำไทย ที่ผลักไสมวลชนเข้าปะทะกัน แต่สุดท้ายชนชั้นนำทั้งหลายก็จับมือกันล้างความผิดแล้วผสานประโยชน์เข้าหากัน โดยไม่เห็นหัวประชาชนผู้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ทางที่ดีขึ้น   การฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง  การหวังพึ่ง กองทัพ ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งเทพยาดาฟ้าดิน ย่อมไม่อาจสร้างบันดาลความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้ ตราบที่คนจำนวนหยิบมือยังกุมอำนาจในการกำหนดชะตากรรมอนาคตไว้ในมือตัวเอง โดยไร้ซึ่งความเกรงกลัวต่ออำนาจประชาชน

สังคมไทยคงเห็นชัดจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วว่าการเมืองไทยไม่ได้มีแค่เรื่องหน้าฉากให้เห็นว่ามีเพียงนักการเมืองที่อยู่ใต้แสงไฟหน้าฉาก ให้เราได้ก่นด่าว่าร้าย และตรวจสอบ แต่จริงๆแล้วยังมีคนที่อยู่เบื้องหลังอีกมากมาย ซึ่งคนเหล่านั้นพร้อมจะผลักดันให้เกิดการประลองกำลัง หรือจับมือกันผสานประโยชน์โดยไม่สนใจความตายของประชาชนและความยุติธรรมในสังคมใดๆทั้งสิ้น   ฝ่ายการเมืองที่อยู่ในการจับจ้อง ยังไม่อันตรายเท่ากลุ่มที่อยู่เบื้องหลัง เช่น ฝ่ายความมั่นคง ชนชั้นนำ หรือกลุ่มทุนที่หนุนหลังแต่ละฝ่าย

และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ กลุ่มทุนที่สนับสนุนและเข้าได้กับทุกฟาก ซึ่งจะรอดตายไม่ว่าสถานการณ์จะวิกฤตหรือคลี่คลายอย่างไรก็ตาม   เพราะในทางความมั่นคงศึกษาและสิทธิมนุษยชนปัจจุบัน กลุ่มที่จะต้องจับตาดูมากขึ้น ก็คือ ฝ่ายเทคโนแครตด้านความมั่นคงที่อยู่ในอำนาจเสมอไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลไปเป็นฝ่ายไหน และกลุ่มทุนที่สนับสนุนและได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลังไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล 

หากไม่เชื่อก็ลองดูรายชื่อรัฐมนตรีย้อนหลัง และรายชื่อหัวหน้าหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงดูสิ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ดอกไม้ไฟ เทศกาลและกฎหมายอังกฤษ

Posted: 03 Nov 2013 02:28 AM PST

เทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านั้นก็คือ "เทศกาลลอยกระทง" ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันลอยกระทงในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนโดยทั่วไปต่างก็พยายามวางแผนและจัดเตรียมเฉลิมฉลองเทศกาลลอยกระทง ที่ไม่เพียงจะเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ทว่าการร่วมเทศกาลดังกล่าวอาจเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกสินค้ามากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกระทงที่ทำขึ้นจากธรรมชาติ กระทงที่ผลิตจากโฟม ดอกไม้สด ธูป เทียน และอุปกรณ์ตกแต่งกระทงอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้กับเทศกาลลอยกระทงในทุกๆปี ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบันนั้นก็คือ "ดอกไม้ไฟ" (Fireworks)

การนำดอกไม้ไฟมาสร้างสีสันและความสนุกให้กับผู้เข้าร่วมงานเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ประเทศอังกฤษมีมีเทศกาลที่สำคัญที่ผู้จัดงานหรือประชาชนที่เข้าร่วมงาน ได้นำดอกไม้ไฟมากประกอบกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนาน เทศกาลหนึ่งที่ประเทศอังกฤษได้มีการนำดอกไม้ไฟมาสร้างความสนุนสนานให้กับผู้ชมหรือผู้ที่เข้าร่วมงาน นั้นก็คือ "เทศกาลก่อกองไฟและดอกไม้ไฟ" (Bonfire and Fireworks Event) ซึ่งเทศกาลนี้ประกอบด้วยการละเล่นมากมายหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงดอกไม้ไฟให้กับเด็กๆ ดู การแสดงดอกไม้ไฟชุดเล็กไปจนถึงชุดใหญ่ให้ประชาชนทั่วไปได้ชม และการละเล่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือประเพณีของอังกฤษที่มีดอกไม้ไฟหรือวัตถุระเบิดอื่นๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น การแสดงจำลอง "เหตุการณ์กาย ฟอกส์ไนท์" (Guy Fawkes Night) ที่แสดงเกี่ยวกับความพยายามในแผนระเบิดรัฐสภาอังกฤษ (Gunpowder Plot) ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 ของกาย ฟอกส์ เพื่อลอบปลงพระชนม์แผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 หากแต่แผนดังกล่าวไม่สำเร็จและทำให้กาย ฟอกส์ถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้เองในประเทศอังกฤษจึงมีการเฉลิมฉลองเทศกาลก่อกองไฟและดอกไม้ไฟ เพื่อระลึกถึงและจำลองเหตุการณ์ที่กาย ฟอกส์พยายามจะระเบิดรัฐสภาอังกฤษในอดีตในทุกวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกๆปี

ด้วยเหตุนี้เองดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ เพื่อใช้ละเล่นในเทศกาลก่อกองไฟและดอกไม้ไฟ จึงกลายมาเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการละเล่นที่สร้างความสนุก เสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย ที่ต้องการจะเห็นความสวยงามของการจุดดอกไม้ไฟและก่อกองไฟดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงผู้จัดงานหรือผู้ดำเนินกิจกรรมเทศกาลก่อกองไฟและดอกไม้ไฟจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดจ้างให้มาดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจะนำเอาดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆมาประกอบการละเล่นหรือจัดแสดงดอกไม้ไฟให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมแล้ว แต่ประชาชนโดยทั่วไปก็สามารถซื้อดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดหรือวัตถุระเบิดอื่นๆ เช่น ตะไล จรวด เพื่อนำมาเล่นสร้างความสนุกสนานในเทศกาลดังกล่าว แต่ทว่ากฎหมายของอังกฤษได้กำหนดอายุของผู้ที่สามารถซื้อดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ เพื่อใช้ละเล่นในเทศกาลก่อกองไฟและดอกไม้ไฟ โดยกฎหมายได้กำหนดห้ามผู้ค้าปลีก (retailers) ขายดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่าอายุ 18 ปี (It is illegal to supply adult fireworks and sparklers to people under the age of 18) ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆสำหรับงานเฉลิมฉลองถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำกัดอายุผู้ใช้งาน (age-restricted product) ตามข้อบังคับว่าด้วยดอกไม้ไฟ ค.ศ. 2004 (Fireworks Regulations 2004) และข้อบังคับว่าด้วยการผลิตและเก็บวัตถุระเบิด ค.ศ. 2005 (Manufacture and Storage of Explosives Regulations 2005) ฉะนั้น ผู้ที่ต้องกายจะซื้อดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ เพื่อใช้ละเล่นในเทศกาลก่อกองไฟและดอกไม้ไฟจำต้องแสดงหลักฐานอายุของผู้ซื้อว่าผู้ซื้อมีอายุมากกว่า 18 ปีหรือไม่ นอกจากนี้แล้ว กฎหมายดังกล่าวยังได้กำหนดว่าหากผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีครอบครองดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ ก็ย่อมมีความผิดตามกฎหมายที่ได้กล่าวไปแล้ว (It is illegal for anyone under the age of eighteen to possess adult fireworks in a public place)

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคต่างจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงข้อจำกัดทางกฎหมายดังกล่าวและต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำความผิดตามกฎหมายและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากอันตรายของดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆสำหรับงานเฉลิมฉลอง เพราะเมื่อเกิดอันตรายแล้วไม่ใช่เพียงผู้ครอบครองเท่านั้นที่จะได้รับอันตราย หากแต่บุคคลโดยรอบผู้ครอบครองอาจได้รับอันตรายอันเนื่องมาจากการอุบัติเหตุจากการระเบิดของดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆสำหรับงานเฉลิมฉลองไปด้วย ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บ พิการและเสียชีวิตได้

เมื่อมองย้อนกลับมาดูกฎหมายไทย แม้ว่าพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้กำหนดให้ดอกไม้ไฟและพลุ ถือว่าเป็นวัตถุระเบิดอย่างหนึ่ง ที่นายทะเบียนมีหน้าที่ในการควบคุม ซึ่งหากผู้ค้าปลีกผู้ใดต้องการจำหน่ายและเก็บรักษาดอกไม้ไฟและพลุ ผู้ค้าปลีกดังกล่าวต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียนเพื่อทำการค้าดอกไม้ไฟ พลุไฟและวัตถุระเบิดอื่นๆเพื่อเฉลิมฉลองในเทศกาล นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ได้วางหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของ ตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้อง ผู้นั้นจำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท

ในปัจจุบันแม้ว่าหน่วยงานของรัฐหลายแห่งได้ขอความร่วมมือกับร้านค้าปลีกให้ขอความร่วมมือไม่ให้จำหน่ายดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ ให้กับเด็กและเยาวชนและขอความร่วมมือไม่ให้ผู้ค้าปลีกขายดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ ในระยะเวลาที่ทางท้องถิ่นและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในเทศกาลได้ขอความร่วมมือเอาไว้ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐไม่มีมาตรการทางกฎหมายเฉพาะที่กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถครอบครองดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ เพื่อการละเล่นในเทศกาลได้และการที่รัฐไม้ได้ระบุอายุของผู้ที่สามารถซื้อดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ เพื่อการละเล่นในเทศกาลเฉลิมฉลอง ย่อมจะเป็นอาจเป็นการสร้างความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกาย ที่อาจทำให้เด็กและเยาวชนต้องบาดเจ็บ พิการและสูญเสียชีวิต

ระหว่างช่วงเวลาที่ทุกคนต้องการมีความสุขจากการเฉลิมฉลองในเทศกาลลอยกระทงอันเป็นประเพณีที่ดีงามของไทย จึงถือเป็นความท้าทายในอนาคตของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัย สุขภาพอนามัยและรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ที่จะต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทางในการลดความเสี่ยงจากอันตรายของดอกไม้ไฟ พลุ ประทัดและวัตถุระเบิดอื่นๆ อันเนื่องมาจากการเล่น การใช้งานและการครอบครองวัตถุที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้

 

โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายอังกฤษที่เกี่ยวข้อง
Fireworks (Amendment) Regulations 2004
http://www.legislation.gov.uk/uksi/2004/3262/contents/made
Manufacture and. Storage of Explosives Regulations 2005 http://www.hse.gov.uk/explosives/forms/exguide.pdf

โปรดดูประวัติและรายละเอียดเกี่ยวกับเทศกาลก่อกองไฟและดอกไม้ไฟ
BBC Bonfire Night - 5th November http://www.bbc.co.uk/schools/events/bonfire_night/

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คำหวานที่เป็นจริง ?

Posted: 03 Nov 2013 02:08 AM PST

 

เมื่อคำลวงล่วงกาลผ่านสมัย
คนเห็นไส้เห็นขี้ที่เน่าเหม็น
บ่งบอกชัดชั่วหรือดีชี้ประเด็น
ว่าทำเล่นหรือทำจริงอิงอ้างใคร

สังคมวุ่น บ้านเมืองวอด มืดบอดหวัง
เขากลบฝัง ความถูกผิดให้คิดใหม่
ชุลมุนชุลเก ว้าเหว่ไป
ทอดทิ้งให้ความใฝ่ฝันอันตรธาน

เป็นธรรมดาประชาราษฎร์ขาดที่พึ่ง
ครั้งคราวหนึ่งพึงใจได้คำหวาน
ครั้งคราวหนึ่งต้องตะลึงจนลนลาน
ไม่อาจขานขับคำลำดับความ

ต้องทนเจ็บเหน็บจิต ต้องผิดคาด
เคยฝันวาด ต้องขาดฝัน โดยหยันหยาม
เคยเห็นดี ต่อแต่นี้ ไม่เหลืองาม
ไม่เหลือความศรัทธาที่เคยมี

อนิจจา ประชาราษฎร์ ผู้ต่ำต้อย
จะต้องคอย ฟังคำลวง ไม่อาจลี้
จะต้องทุกข์ระทมใจไปกี่ปี
จนกว่ามีคำหวานที่เป็นจริง...

 



 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานต่างชาติในซาอุฯ เร่งอพยพก่อนหมดเขตนิรโทษกรรม

Posted: 03 Nov 2013 01:33 AM PST

คนงานชาวต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมายจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งอพยพออกจากซาอุดีอาระเบียก่อนที่ช่วงนิรโทษกรรมล่าสุดจะสิ้นสุดในวันที่ 3 พ.ย. นี้



สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2013 ที่ผ่านมาว่าคนงานชาวต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมายจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งอพยพออกจากซาอุดีอาระเบียก่อนที่ช่วงนิรโทษกรรมล่าสุดจะสิ้นสุดในวันที่ 3 พ.ย. นี้ โดยพวกเขาเหล่านี้ต่างมีเสี่ยงที่จะถูกปรับหรือถูกจำคุก หากยังคงลักลอบทำงานในซาอุดีอาระเบียต่อไป

คนงานชาวต่างชาติเกือบล้านคน ส่วนใหญ่มาจากบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และเยเมน เป็นส่วนหนึ่งของคนงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบีย ได้ทยอยเดินทางออกจากซาอุดีอาระเบียไปแล้ว หลังจากช่วงนิรโทษกรรมเป็นเวลา 3 เดือนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา และขยายเวลาต่อมาอีก 4 เดือนใกล้จะหมดลง โดยกระทรวงมหาดไทยซาอุดีอาระเบียได้ออกประกาศว่าจะไม่มีการขยายเวลาในการนิรโทษกรรมออกไปอีก ทั้งๆ ที่รัฐบาลเอเชียบางประเทศ รวมถึงปากีสถานได้ทำการร้องขอไป

ทั้งนี้ยังมีคนงานอีกราว 4 ล้านคนได้รับสถานะการทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยพวกเขาต้องหานายจ้างรับรองในการทำงานในซาอุดีอาระเบียต่อไป

อนึ่งซาอุดีอาระเบียมีนโยบาย SAUDIZATION ซึ่งเป็นนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการจ้างงานหรือการบรรจุแรงงานต่างชาติในประเทศ โดยกำหนดให้ภาครัฐและเอกชนต้องจ้างคนซาอุดี เข้าทำงานร้อยละ 20 ของคนงานทั้งหมด และให้เพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชกรของซาอุดีประสบปัญหาการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือคนซาอุดียังไม่พร้อมในการทำงานที่ต้องใช้แรงงานมาก และมีความต้องการค่าจ้างแรงงานสูงกว่าแรงงานต่างชาติ


ที่มาข่าวบางส่วนจาก: gulfnews.com
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายการเสียดสีการเมืองในอียิปต์ถูกสั่งงด หลังเหน็บ 'ทัศนคติสนับสนุนทหาร'

Posted: 02 Nov 2013 11:44 PM PDT

ช่อง CBC ของอียิปต์ประกาศระงับการเผยแพร่รายการของนักเสียดสีการเมือง แบสเซม ยุสเซฟ ผู้ที่ก่อนหน้านี้เคยกล่าววิจารณ์รัฐบาลมอร์ซีซึ่งถูกทำรัฐประหาร โดยในตอนนี้หันมาจิกกัดแนวคิดสนับสนุนกองทัพ ทาง CBC แถลงว่าที่สั่งงดเพราะเกรงกระทบความรู้สึกของคนในชาติหรือสัญลักษณ์ของรัฐอียิปต์

2 พ.ย. 2556 ช่องโทรทัศน์ในอียิปต์ยกเลิกการออกอากาศรายการเสียดสีการเมืองของผู้จัดรายการแบสเซม ยุสเซฟ หลังจากที่รายการดังกล่าวถูกวิจารณ์จากการถากถางทัศนคติแบบสนับสนุนทหารซึ่งกำลังแพร่กระจายอยู่ในหมู่ชาวอียิปต์

ช่องโทรทัศน์ CBC ของเอกชนในอียิปต์ระงับการเผยแพร่รายการของแบสเซม ยุสเซฟ ในคืนวันศุกร์ ซึ่งปกติแล้วจะฉายในเวลา 22.00 น. ตามเวลาของอียิปต์ โดยมีการให้ผู้ประกาศอ่านคำแถลงอธิบายว่าทีมจัดรายการของยุสเซฟมีความไม่ลงรอยกับกรรมการบอร์ดของช่อง CBC ในเรื่องสัญญาและเรื่องเนื้อหา

ช่อง CBC ไม่ได้ให้ข้อมูลมากกว่านี้ แต่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ประกาศข่าวของ CBC ได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนของสถานีในเชิงว่าสถานีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ยุสเซฟวิจารณ์แนวคิดสนับสนุนทหารที่แพร่กระจายหมู่ชาวอียิปต์ รวมถึงมีการเซ็นเซอร์ยุสเซฟไม่ให้ใช้ "วลีหรือคำเหน็บแนมที่อาจเป็นการล้อเลียนอารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติหรือสัญลักษณ์ของรัฐอียิปต์"

นอกจากนี้การนำเสนอรายการของยุสเซฟยังทำให้เกิดปฏิกิริยาจากทั้งรัฐบาลอียิปต์และประชาชนบางส่วน โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการได้ทำการสืบสวนตอนแรกของซีรีส์รายการของยุสเซฟ ซึ่งมีการกล่าวไว้ในรายการเตือนให้ระวังว่า "ลัทธิเผด็จการฟาสซิสม์ในนามของศาสนากำลังจะถูกแทนที่ด้วยลัทธิเผด็จการฟาสซิสม์ในนามของชาตินิยมและความมั่นคง"

ข้อความดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังจากทหาร ทำให้รายการตอนที่สองของเขาถูกระงับการออกอากาศ

แบสเซม ยุสเซฟ เป็นนักเสียดสีการเมืองที่มีชื่อเสียงในอียิปต์ เขาเป็นที่รู้จักตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมาจากการกล่าววิพากษ์วิจารณ์อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ผู้เข้าสู่ตำแหน่งจากการเลือกตั้งจนกระทั่งถูกก่อรัฐประหารโค่นล้มเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ถูกทางการออกหมายจับและดำเนินการสืบสวนเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด แต่ในครั้งนั้นช่อง CBC แสดงตนอยู่ข้างเดียวกับยุสเซฟ

เดอะการ์เดียน ระบุว่า การถูกปลดรายการในครั้งนี้แสดงให้เห็นสภาวะของเสรีภาพสื่อในอียิปต์หลังยุคมูบารัค ซึ่งมีเสียงต่อต้านฝ่ายทางการน้อยมากทั้งจากสื่อรัฐและสื่อเอกชน โดยที่เจ้าของสื่อใหญ่ถ้าไม่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการรัฐประหาร ก็เกรงกลัวจนไม่กล้าวิจารณ์

ประเทศอียิปต์เริ่มมีการลุกฮือตั้งแต่ปี 2554 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลฮอสนี มูบารัค ในช่วงที่มีกระแสอาหรับสปริง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่หมดไป เนื่องจากมีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรักษาการซึ่งเป็นกลุ่มทหาร จนกระทั่งโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ผู้มาจากพรรคการเมืองสายอิสลามได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีก็ยังคงมีการประท้วงต่อต้านมาเรื่อยๆ กระทั่งเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพครั้งล่าสุดเมืองกลางปีที่ผ่านมา ทำให้อำนาจกลับมาอยู่กับฝ่ายทหารอียิปต์อีกครั้ง

 


เรียบเรียงจาก

Egyptian TV station suspends satirist Bassem Youssef's show, The Guardian, 02-11-2013
http://www.theguardian.com/world/2013/nov/02/egyptian-tv-bassem-youssef-cbc-suspends

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น