โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

'สุเทพ เทือกสุบรรณ' เตรียมดาวกระจาย 12 จุด 25 พ.ย. นี้

Posted: 22 Nov 2013 10:17 AM PST

สุเทพ เทือกสุบรรณชี้เพื่อไทยปฏิเสธอำนาจศาล รธน. เท่ากับต่อต้านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องมาปกป้อง รธน. เตรียมยกระดับ-ดาวกระจาย 25 พ.ย. นี้ ส่วน คปท. ชุมนุมหน้า 'เพื่อไทย' เรียกร้องให้ปลดป้าย ไม่อย่างนั้น คปท. จะมาปลดเองและเปลี่ยนชื่อเป็น 'พรรคกบฎ' ก่อนเคลื่อนไปปิดแยกนางเลิ้ง

สุเทพเตรียมดาวกระจาย 12 เส้นทาง 25 พ.ย. นี้

23 พ.ย. 2556 - สำหรับรายงานสถานการณ์ชุมนุม 'โค่นล้มระบอบทักษิณ' ที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) นั้น ในช่วงกลางวัน มีกลุ่มศิลปินวาดรูปล้อเลียนการเมืองได้จัดแสดงบริเวณการชุมนุม ส่วนกิจกรรมบนเวทีปราศรัยยังคงมีตัวแทนต่างๆ ขึ้นปราศรัย สลับการแสดงดนตรีอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้มีคู่บ่าวสาวใช้เวทีดังกล่าวเป็นเวทีฉลองมงคลสมรส ซึ่งได้สร้างสีสันแก่ผู้ชุมนุม ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยจากการ์ดผู้ชุมนุมที่ประจำตามจุดต่าง ๆ ทั้งทางเข้า-ออกทุกจุด และกระจายกันดูแลความปลอดภัยรอบบริเวณการชุมนุมอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ได้มีความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย โดยสำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า ได้มีผู้พยายามขับรถยนต์ฝ่าจุดตรวจของการ์ดผู้ชุมนุมด้วยความเร็ว โดยจะขอผ่านไปยังแยกคอกวัว ทำให้การ์ดผู้ชุมนุมต้องสกัดไว้ แต่หลังจากได้พูดคุยกันด้วยดี ท้ายที่สุดต้องแก้ปัญหาด้วยการเปิดเส้นทางและปล่อยให้ขับรถผ่านไปยังที่ต้องการ ซึ่งไม่มีเหตุความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น

ส่วนในช่วงเย็น สุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยในช่วงค่ำที่เวทีราชดำเนินว่า การที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่าต่อต้านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 ในปัจจุบัน ก็เป็นที่มาของรัฐบาลนี้ เป็นที่มาของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้การต่อต้านรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องลุกขึ้นมาปกป้องรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้สุเทพกล่าวด้วยว่าเมื่อประชาชนมาชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนินได้ล้านคนในวันที่ 24 พ.ย. ก็จะยกระดับการต่อสู้ของเราขึ้นไปอีกขั้น โดยวันที่ 25 พ.ย. จะมีการเดินออกไป 12 เส้นทาง แต่ยังไม่ขอบอกจะไปไหน

 

'วสันต์ สิทธิเขตต์' แนะประชาธิปัตย์ยุบพรรคเดินหน้ากับมวลชนเพื่อปฏิรูปทุกด้าน

ขณะเดียวกันวสันต์ สิทธิเขตต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคศิลปิน เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.) ได้โพสต์กลอนในเฟซบุ๊ค เสนอให้สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำการชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน และพรรคประชาธิปัตย์ประกาศยุบพรรคแล้วออกมาชุมนุมร่วมกับประชาชนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง

"ถึงสุเทพและผู้ที่เกี่ยวข้อง หากอยากให้พี่น้องออกมาเป็นสิบล้าน ท่านต้องประกาศยุบพรรคเป็นทางการ ร่วมเดินประจัญบานกับมวลชน!ฯ"

"เพื่อร่วมกันสังคายนาการเมืองใหม่ ปฏิรูปสังคมไทยในทุกด้าน กวาดล้างนักกินเมืองเผด็จการ ด้วยมวลชนมหาศาลร่วมมือทำ!!!ฯ"

 

คปท. ประกาศจะติดป้าย "พรรคกบฎ" ให้เพื่อไทย

ขณะเดียวกันในช่วงเย็น เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. ได้เคลื่อนย้ายจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อมาปักหลักชุมนุม บริเวณแยกนางเลิ้งขยายมาจนถึงสะพานชมัยมรุเชษฐ์บางส่วน รวมถึง ชุมนุมบริเวณทางเข้าแยกเทวกรรมทางเข้าประตูสะพานอรทัย ทำเนียบรัฐบาล ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจราจล 40 กองร้อย ได้รักษาความปลอดภัยและควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มงวด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางวัน คปท. ได้เคลื่อนไปชุมนุมหน้าพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรี ด้วยและประกาศให้พรรคเพื่อไทยปลดป้ายชื่อพรรคเพื่อไทยออก ไม่อย่างนั้น คปท. จะมาปลดให้ และตั้งชื่อว่า "พรรคกบฎ" ก่อนทีจะเคลื่อนขบวนไปที่อื่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกกลาโหม ย้ำไม่มีชื่อ "เต้ย จักราช" ในหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42

Posted: 22 Nov 2013 09:28 AM PST

โฆษกกระทรวงกลาโหมย้ำไม่มีชื่อ "เต้ย จักราช" ในหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 โดยกองทัพจะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อรัฐบาล ส่วนจะฟ้องร้องหรือไม่ต้องศึกษาข้อกฏหมายอีกครั้ง

23 พ.ย. 2556 - สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวานนี้ (22 พ.ย.) ว่า พันเอกธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมครั้งที่ 11/2556 ไม่มีการหารือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ส่วน กรณีการอ้างถึงอาสาสมัครทหารพรานที่ชื่อ นายเต้ย จักราช นั้น โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวย้ำว่า ไม่มีรายชื่อในหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาชี้แจง และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงชัดเจนแล้ว หลังจากนี้ทางกองทัพจะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อรัฐบาล ส่วนจะมีการฟ้องร้องเอาผิดหรือไม่นั้น ต้องศึกษาข้อกฏหมายอีกครั้ง

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศจะชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้อยู่ในความดูแลของ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ซึ่งประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด หากมีการหารือถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทางกองทัพจะต้องเข้าร่วมรับฟังด้วย

อนึ่งก่อนหน้านี้ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำผู้ที่ถูกระบุว่าชื่อ "เต้ย จักราช" อ้างตัวว่าเป็น อาสาสมัครทหารพราบสังกัด  อส.ทพ. สังกัดกรมทหารพราน 42 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อ้างว่ารู้เห็นการขนอาวุธสงครามเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม และต่อมาสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ : คนเสื้อแดงกลับใจ

Posted: 22 Nov 2013 08:42 AM PST

บนเวทีชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โฆษก สำราญ รอดเพชร และ อดีต ส.ส.อิสสระ สมชัย ได้นำเอาสตรีผู้หนึ่งมาขึ้นเวที โดยอ้างว่าเป็นหญิงเสื้อแดงกลับใจ สตรีผู้นี้มีชื่อว่า ปาริชาติ ภูนกยูง เธอสวมเสื้อสีแดงซึ่งระบุข้อความว่า "กูรักคนที่มึงเกลียด กูเกลียดคนที่มึงรัก" คุณปาริชาติกล่าวบนเวทียอมรับว่าเคยหลงผิด และเป็นคนเผาศาลากลางและธนาคารกรุงเทพ สาขาขอนแก่น โดยถูกจ้างด้วยเงิน 1.5 ล้านบาท ผู้จ้างคือ นายจตุพรพรหมพันธุ์ ซึ่งบอกว่าให้เอาน้ำมันไปเผา ซึ่งเมื่อตนทำแล้วก็ยอมรับผิด และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับ ถูกนำตัวไปขึ้นศาลโดยถูกตั้งข้อหาทั้งหมด 6 ข้อหา แต่โดนฟ้องเพียง 3 ข้อหา ศาลตัดสินติดคุก 1 ปี แต่รับสารภาพจึงลดเหลือติดคุก 3 เดือน จนถึงขณะนี้เธอก็ไม่ได้เงินค่าจ้าง ติดคุกฟรีไร้การเหลียวแล แกนนำเสื้อแดงไม่เคยมาเยี่ยม จนทำให้ตาสว่าง จึงขอนำข้อมูลมาเปิดเผย และว่าขณะนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องเอาที่นาไปจำนำเพื่อนำเงินมาสู้คดี และตนพร้อมจะเข้าร่วมกับม็อบนกหวีดด้วย

จากนั้นทางสังคมออนไลน์ของกลุ่มคนเสื้อแดงได้เข้าไปในเฟซบุ๊กของคุณปาริชาติ ที่ใช้ชื่อว่า "ปาริชาติ บุญสร้อย" เพื่อต่อว่าในทำนองที่ว่าทรยศคนเสื้อแดง รับเงินประชาธิปัตย์มาเพื่อใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตกันว่าคุณปาริชาติไม่ได้เป็นเสื้อแดงกลับใจจริง เพราะล่าสุดวันที่ 12 พฤศจิกายน เธอยังเพิ่งโพสต์ข้อความด่าการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์อย่างหยาบคาย แต่เพราะรับเงินมาจึงยอมทรยศคนเสื้อแดง และยังนำรูปมาเปิดเผยว่า เธอเพิ่งซื้อรถป้ายแดง ซื้อบ้านใหม่ จึงไม่น่าจะจนมากตามที่อ้าง

รายงานข่าวเปิดเผยว่า นางสาวปาริชาติได้แต่งงาน และอยู่กับสามีที่ชื่อว่าพูนทรัพย์ บุญสร้อย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสามีก็เป็นคนเสื้อแดง แต่คุณปาริชาติมีความรู้สึกว่าตัวเองถูกหลอกจึงได้นำเอาเอกสารคำฟ้อง รวมถึงคำพิพากษา เพื่อขอเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากนั้น แกนนำเวทีราชดำเนินได้เข้าไปคุยด้วย และคุณปาริชาติ ก็สมัครใจที่จะขึ้นเวทีเพื่อเปิดเผยข้อมูล

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวบนเวทีของคุณปาริชาติก็อาจจะมีปัญหาในเชิงข้อเท็จจริง เพราะอย่างน้อยเรื่องที่เธอพูดจาสุ่มเสี่ยงว่าคนเสื้อแดงต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นการเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายสลิ่มที่มุ่งใส่ร้ายปักปรำว่าเสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเจ้า และพรรคเพื่อไทยมีแผนอันตรายต่อชาติบ้านเมือง และอีกกรณีหนึ่งก็คือเรื่องที่เธอเปิดเผยว่าคุณจตุพรเป็นคนจ้างเธอด้วยเงิน 1.5 ล้านบาท ให้เผาศาลากลาง คงเป็นไปไม่ได้ที่คุณจตุพรจะมาจ้างผู้หญิงให้เป็นผู้ลงมือเผาเช่นนั้น ยิ่งกว่านั้นในเวลาที่เกิดเหตุ คุณจตุพรก็อยู่ในที่ชุมนุมราชประสงค์ตลอดเวลา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ขอนแก่นเลย

แต่อีกด้านหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงก็คือ เธอถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยที่ 7 ในข้อหาเผาธนาคารกรุงเทพฯ สาขาขอนแก่น ถูกศาลตัดสินจำคุก 1 ปี และต้องรับผิดชอบในค่าเสียหาย 5.3 ล้านบาท  และหลังจากออกจากคุกก็เคยเดินทางไปร่วมปฏิญญาหน้าศาล รวมทั้งร่วมในงานรับขวัญนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ที่ถูกปล่อยตัวจากคุก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าคุณปาริชาติเป็นผู้ที่เคยร่วมในขบวนการเสื้อแดงและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การกวาดล้างปราบปรามเมื่อ พ.ศ.2553 แต่กระนั้น สถานะของคุณปาริชาติหลังจากนี้คงจะลำบากพอสมควร เพราะฝ่ายสลิ่มและประชาธิปัตย์ก็คงไว้ใจได้ไม่สนิท ขณะที่ฝ่ายคน เสื้อแดง ก็ด่าว่า เธอทรยศหักหลังใส่ร้ายคนเสื้อแดง

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนลักษณะพิเศษอย่างยิ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลัง พ.ศ.2549 นั่นก็คือ เป็นการเคลื่อนไหวเปิดเผยที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบองค์กรมวลชน เพราะในด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า การเป็นคนเสื้อแดงในทางปฏิบัติก็ง่ายดาย เพียงแต่สวมเสื้อแดงแล้วเข้าร่วมการชุมนุมของ นปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) หรือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงอื่น ไม่มีการลงทะเบียนสมาชิกหรือเข้าองค์กรจัดตั้ง คนเสื้อแดงจึงเป็นองค์กรแบบกว้างมีลักษณะร้อยพ่อพันแม่ ความพยายามในการแยกว่าใครเป็นแดงแท้หรือแดงเทียมก็ปราศจากความหมาย เพราะเป็นเรื่องอัตวิสัยอย่างยิ่ง เคยมีความพยายามอยู่บ้างที่จะกลั่นกรองคนเสื้อแดง เช่น การลงทะเบียนสมาชิก นปช. แต่ก็ยังเป็นการเปิดกว้างสำหรับใครก็ได้นั่นเอง

สิ่งที่ยึดความเป็นคนเสื้อแดงคือลักษณะทางความคิด ซึ่งถือกันว่า มีจุดร่วมอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก ความนิยมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรืออย่างน้อยก็เป็นคนไม่เกลียดทักษิณ ประการต่อมา ก็คือ การมีแนวคิดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คัดค้านอำนาจนอกระบบ ดังนั้น คนเสื้อแดงจึงมีแนวโน้มอย่างมากที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่นิยมพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะหลังจากการสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ.2553 ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคฆาตกรที่น่าขยะแขยงอย่างยิ่ง

ลักษณะการเป็นองค์กรมวลชนเป็นทั้งข้อเด่นและข้อด้อยในตัวเอง ข้อเด่นก็คือ ทำให้ขบวนการเสื้อแดงไม่เกิดการผูกขาด ง่ายต่อการขยายตัว และรับคนใหม่เข้าร่วม ขบวนการเสื้อแดงจึงกลายเป็นขบวนการที่โตเร็ว มีคนเข้าร่วมมากและมีพลัง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดข้ออ่อน คือ การคัดกรองในเชิงคุณภาพทำได้ยาก และทำให้เกิดความแตกต่างหลากหลายทางความคิด สร้างเอกภาพไม่ได้ การทะเลาะกันเองในหมู่คนเสื้อแดงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา และเรื่องที่ติดตามมาคือ การที่จะมีคนออกจากการเป็นคนเสื้อแดง แล้วไปอยู่ฝ่ายตรงข้างอย่างกรณีคุณปาริชาติ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไร

กรณีของคุณปาริชาติได้สะท้อนให้เห็นปัญหาอีกด้านหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย นั่นคือ ความล่าช้าในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนเสื้อแดงที่ต้องคดี ปล่อยชะตากรรมของคนเหล่านี้ให้อยู่ในเงื้อมมือทมิฬของฝ่ายตุลาการ ทำให้คนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตอย่างหนัก และที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการไม่ช่วยเหลือคนเสื้อแดง ก็คือความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการช่วยเหลือนิรโทษกรรมฆาตกร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินกว่าที่จะยอมรับได้ พรรคเพื่อไทยจึงควรที่จะสรุปบทเรียนเรื่องนี้อย่างเป็นจริง ควรแสดงความจริงใจมากขึ้นในการช่วยเหลือนักโทษการเมือง ตั้งใจทำงาน และเลิกหาทางนิรโทษกรรมฆาตกร จึงอาจจะฟื้นคืนความเชื่อถือในระยะยาวได้

สำหรับกรณีของคุณปาริชาติ คงไม่จำเป็นต้องไปโจมตีเล่นงานเธอให้มากเกินไป ควรตอบแทนเธอด้วยความไม่โกรธ และเห็นใจในชะตากรรมของเธอ ที่มีทางเลือกอันจำกัด ถือว่าการเป็นหรือเลิกเป็นคนเสื้อแดง เป็นเรื่องตามใจสมัคร ส่วนข้อมูลที่เธอเปิดเผยจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ก็เป็นความรับผิดชอบของเธอเอง

 

 

ที่มา: โลกวันนี้ ฉบับ 439 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2556

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ประชาธิปไตยในกรง

Posted: 22 Nov 2013 08:18 AM PST

ประชาธิปไตย ในกรง  ยังคงขัง
ยังเคียดแค้น ชิงชัง ยังข่มขืน
ยังบิดเบือน เลื่อนไหล ไม่คลายคืน
ยังฝืดฝืน ฟาดฟัด กระแสธรรม์

แม้โลกเปลี่ยน  ก็ยังแปลก จะแยกอยู่
จะยืนคู่ ความล้าหลัง ไม่หวาดหวั่น
อนุรักษ์ อำนาจแฝง มิแบ่งปัน
และปิดกั้น กระแสธาร ความเที่ยงธรรม

ประชาธิปไตย ในกรง  สงครามกรุ่น
ผ่านเวลา มากี่รุ่น  ก็หยุดย่ำ
ยังต่อสู้  เรียกร้อง ความเป็นธรรม
ไถล ถลำ อยู่ในกรง มิกลับกลาย

เสียงข้างมาก มีความหมาย ว่ามิชอบ
ผิดระบอบ ประชาธิปไตย  เป็นภัยร้าย
การเลือกตั้ง จากประชา น่าละอาย
เป็นความหมาย เป็นนิยาม  ที่หยามกัน

ประชาธิปไตย ในกรง  กำหนดบท
โศกสลด  เสียผู้ใหญ่ ไม่คาดฝัน
โลกเปลี่ยนแปลง แต่ไฉน  ตามไม่ทัน
ลืมสวรรค์  ลืมนรก  น่าตกใจ...

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘จาตุรนต์’ ชี้คำวินิจฉัย ตลก.ศาล รธน.ขัดหลักนิติธรรม ปิดทางแก้ รธน.

Posted: 22 Nov 2013 08:08 AM PST

22 พ.ย. 2556 จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์เฟซบุ๊ก 'Chaturon Chaisang' (ดู ช่วง 1 และ 2) เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยลงมติ 6 ต่อ 3 ว่าเนื้อหาการแก้ไขขัดรัฐธรรมนูญ และลงมติ 5 ต่อ 4 ว่ากระบวนการแก้ไขเช่น เอกสารประกอบการพิจารณา ระยะเวลาการแปรญัตติ การลงคะแนนแทนกัน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยกคำร้องการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองผู้บริหารพรรคนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดย จาตุรนต์ เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ทั้งรับคำร้อง พิจารณากระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งผลของคำวินิจฉัยเท่ากับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว และปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่ากับปิดทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยวิถีทางรัฐสภา ปิดทางที่จะทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งคำวินิฉัยนี้ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

ดูเหมือนจะมีคนที่ดีใจอยู่บ้างที่ศาลไม่ได้สั่งยุบพรรคการเมือง แต่ก็คงจะดีใจอยู่ได้เดี๋ยวเดียว พอทำความเข้าใจถึงความหมายของคำวินิจฉัยและวิเคราะห์ผลที่จะตามมาแล้ว คนที่พอมีความเข้าใจหลักประชาธิปไตยก็คงเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยนี้เลวร้ายเพียงใดและจะส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติได้มากเพียงใด

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ไปทั้งๆที่ไม่มีอำนาจ คือไม่มีอำนาจรับคำร้องมาพิจารณาตั้งแต่ต้นเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 68 แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลฯก็ตีความว่ามีอำนาจรับคำร้อง

ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลฯมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ศาลฯก็วินิจฉัยเอาเองว่ามีอำนาจ

คำร้องนี้ไม่มีมูลที่จะรับคำร้อง แต่ศาลฯก็รับคำร้อง

ศาลไม่มีอำนาจที่จะพิจารณากระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ตรวจสอบ อำนาจในการวินิจฉัยข้อบังคับเป็นของรัฐสภา ศาลฯไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยการใช้ข้อบังคับแต่ศาลก็ไปวินิจฉัย

ข้อบังคับของรัฐสภานั้นถ้าเห็นต่างกันเขาก็ให้ที่ประชุมวินิจฉัย จะงดเว้นการใช้ข้อบังคับเสียก็ได้ด้วย ศาลฯมาดูตรงกลางทางแล้วก็บอกว่าไม่ทำตามข้อบังคับ ต่อไปถ้าสภาวินิจฉัยการใช้ข้อบังคับไปทางใดทางหนึ่งแล้วศาลฯไม่เห็นด้วยก็สามารถวินิจฉัยได้ตามใจชอบว่าขัดรัฐธรรมนูญ

การวินิจฉัยในประเด็นกระบวนการนี้เลยเถิดไปถึงขั้นถือว่าเป็นการกระทำให้ได้อำนาจการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย เป็นการวินิจฉัยว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่กระทำผิดร้ายแรงโดยที่ศาลฯไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดๆรองรับเลยแม้แต่น้อย

คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญว่าขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างความเสียหายให้แกประเทศชาติและต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ศาลฯอ้างหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมาตัดสินว่าร่างแก้ไขของรัฐสภาขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเนื่องจากเปลี่ยนองค์ประกอบที่มาของวุฒิสภาไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เท่ากับวินิจฉัยว่าองค์ประกอบและที่มาของวุฒิสภาจะต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่คือต้องมาจากการสรรหา แต่งตั้งด้วยเสมอและจะแก้ไขในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอันขาด

ศาลฯตัดสินว่าการแก้ให้แตกต่างจากปัจจุบันเท่ากับเป็นการกระทำให้ได้อำนาจการปกครองฯที่เป็นความผิดร้ายแรง

ทั้งหมดนี้ศาลไม่ได้อาศัยบทบัญญัติใดๆในรัฐธรรมนูญ แต่ใช้ความเห็นของเสียงส่วนใหญ่คือคน 5 คน

ใครๆย่อมมีความเห็นต่างกันได้ว่าที่มาของสว.ควรเป็นอย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ความเห็นของตนมาตัดสินว่าที่มาของสว.จะต้องเป็นอย่างไรไม่ได้ ศาลฯไม่มีอำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจใช้ความเห็นมาตัดสินหรือบัญญัติรัฐธรรมนูญคือรัฐสภา

ที่เลวร้ายมากคือการวินิจฉัยของศาลฯมีผลเท่ากับเป็นการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้วว่าใครจะแก้รัฐธรรมนูญในสาระสำคัญให้ต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้อีกแล้ว ตราบใดที่ตุลาการคณะนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่

คำวินิฉัยนี้ขัดต่อหลักปรระชาธิปไตยที่ศาลฯอ้างเป็นวรรคเป็นเวรตรงที่ได้ตัดอำนาจของรัฐสภาที่มาจากประชาชนไม่ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไปทั้งๆที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีที่มาจากการรัฐประหารและมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่เต็มไปหมด

คำวินิฉัยนี้ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรงคือปฏิเสธหลักการที่กฎหมายต้องมีที่มาจากประชาชน และการใช้อำนาจของผู้ใดหรือองค์กรใดจะทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ศาลฯกลับใช้อำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ตนเองไม่มีอำนาจและยังวินิฉัยว่าสมาชิกรัฐสภากระทำผิดร้ายแรงทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลฯในเรื่องนี้ไว้เลย

ส่วนที่ว่าคำวินิจฉัยนี้ทำความเสียหายต่อประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตยก็คือเมื่อศาลได้ปิดทางแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เท่ากับปิดทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยวิถีทางรัฐสภา ปิดทางที่จะทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย

การที่บ้านเมืองมีกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ยึดหลักนิติธรรมย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง ไม่สงบสุข แต่ที่จะเลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อกติกาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมเหล่านั้นไม่มีใครแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ด้วย

หายนะอยู่เบื้องหน้าแล้ว ประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมความเห็นนักวิชาการ คดีหมิ่นฯ ร.4

Posted: 22 Nov 2013 06:27 AM PST

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556 ซึ่งตัดสินให้นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดชลบุรีมีความผิดดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 และลงโทษจำคุก 4 ปี รับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี รอลงอาญา 2 ปี  สร้างมาตรฐานใหม่ในการตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 (อ่านที่นี่) ประชาไทสัมภาษณ์นักวิชาการหลากหลายสาขาเพื่อสำรวจมุมมองต่อคดีนี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาหรือไม่ เพียงใด

ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียนหนังสือ "นายใน สมัยรัชกาลที่ 6" ซึ่งถูกเอเชียบุ๊คส์เก็บคืนหนังสือ และถูกต่อต้านจากกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อได้ยินเรื่องคำพิพากษาคดีนี้ ก็ทำให้ตัวเองรู้สึกสั่นคลอนและตกใจ เพราะหลังหนังสือนายในฯ วางแผง กลุ่มศิษย์เก่าวชิราวุธและโรงเรียนชายล้วนอื่นๆ   ก็พยายามจะฟ้องด้วยมาตรา 112 ได้ยินมาว่ากลุ่มศิษย์เก่านี้ได้ไปปรึกษาทนายแล้วเลิกล้มความพยายามไปเพราะทนายเห็นว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 112  เมื่อเกิดคดีนี้ขึ้นก็เกรงว่าจะมีการรื้อฟื้นความพยายามขึ้นมาอีกครั้ง 

ชานันท์ยังกล่าวต่ออีกว่า ถ้ามีการจับนักวิชาการที่เขียนงานเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีต ไม่สามารถเขียนถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วได้ ความรู้ด้านประวัติศษสตร์ไทยที่แคบอยู่แล้วก็คงแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้ศึกษา 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า คำพิพากษาดังกล่าวมีผลต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างมหาศาล จะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในหมู่นักวิชาการมากขึ้น ทั้งหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ก็อาจต้องเก็บขึ้นหิ้ง ความถูกต้องของประวัติศาสตร์นั้น ต้องถูกบนความจริง ถ้าหากไม่สามารถศึกษาอย่างที่มันเป็นจริงได้แล้ว เราก็อาจจะมองอดีตของเราด้วยสาตาที่ถูกปิดบัง และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน นำมาซึ่งความเข้าใจอดีตของเราที่ไม่ตรงกับเพื่อนบ้านของเรา 

นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์ยังเป็นสถาบันที่สำคัญและมีบทบาทมากที่สุดทางการเมืองในอดีตในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช หากศาลจะอ้างถึงการเป็นเครือญาติกันแล้วด้วย กลุ่มชนชั้นนำในอดีตล้วนแล้วแต่เป็นเครือญาติกัน ผ่านการแต่งงานกันในหมู่เครือญาติ เสนาบดีแต่ละกระทรวงก็ล้วนสามารถนับญาติกับกษัตริย์ได้  อย่างนั้นแล้วคำพิพากษานี้จะส่งผลทำให้การศึกษาและวิพากษ์อย่างตรงไปตงมาในด้านการเมืองการปกครอง หรือแม้แต่นโยบายต่างๆ เช่น นโยบายต่างประเทศ เป็นไปได้ยาก นักวิชาการอาจหันไปศึกษา เรื่องราวสมัยอยุธยาหรือสุโขทัยแทน 

รศ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากคำพิพากษาของศาลฎีกานั้น มีปัญหาอยู่สองประการ คือ 1.การตีความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย และ 2. มาตรา 112 นั้นคุ้มครองใครบ้าง

สำหรับข้อหนึ่งนั้น วรเจตน์กล่าวว่า ไม่เห็นว่าเข้าองค์ประกอบของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย  ไม่ได้เป็นการใส่ความ หรือลดเกียรติ แค่เป็นการเปรียบเทียบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น 

สำหรับข้อสองนั้น วรเจตน์กล่าวว่า มาตรา 112 นั้นมุ่งคุ้มครองบุุคลที่อยู่ในตำแหน่ง 4 ตำแหน่ง อันได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  หากเกิดการหมิ่นประมาทกับบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือคาดว่าจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวในอนาคต จะไม่เข้ามาตรา 112 และจะต้องใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป 

นอกจากนี้ กฎหมายอาญาไทยนั้นตั้งอยู่บนหลัก "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" ซึ่งมีข้อห้ามหนึ่งคือ การห้ามไม่ให้ใช้กฎหมายโดยเทียบเคียง คำพิพากษาที่กล่าวว่า ". . . การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่  . . . "  ชี้ให้เห็นการใช้กฎหมายแทบบเทียบเคียงของผู้พิพากษา 

การตีความดังกล่าวยังเป็นการตีความเกินกรอบถ้อยคำตามตัวบทมาตรา 112 เท่ากับการที่ศาลกำลังบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมจากมาตรา 112 และยังย้อนกลับไปหาขอบเขตที่ยุติไม่ได้ว่า จะครอบคลุมไปถึงกี่รัชกาล กี่ราชวงศ์ ซึ่งนี่ไม่ใช่จุดประสงค์ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 112 อย่างแน่นอน 

หากมีผู้ต้องการให้อดีตกษัตริย์ได้รับความคุ้มครองอย่างมาตรา 112 ก็ต้องมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 

การที่ศาลอ้างว่า "รัชกาลที่ 4 แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี" ถ้าเช่นนั้น พระนเรศวรซึ่งก็มีอนุสาวรีย์ และมีประชาชนยังเคารพสักการะ จะได้รับความคุ้มครองไปด้วยหรือไม่ 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการชี้ตร.ไทยปรับตัวคุมม็อบ เตือนวิธีม็อบชนม็อบ อันตราย

Posted: 22 Nov 2013 05:31 AM PST

นักวิชาการวิเคราะห์รูปแบบการชุมนุมสากล ชี้รัฐส่วนใหญ่ใช้กำลังคุมชุมนุมน้อยลง ใช้เจรจา-ควบคุมแบบแนบเนียน มองตำรวจไทยปรับตัว ส่วนม็อบ 24 พ.ย.ยังไร้ทิศทาง


22 พ.ย.2556 ตอนหนึ่งในการเสวนาสาธารณะ เรื่อง การแสดงออกทางการเมือง การแทรกแซงโดยรัฐ และการยุติการไม่รับผิด ในอาเซียนระยะเปลี่ยนผ่าน จัดโดย สถาบันเอเชียศึกษาและศูนย์ศึกษานโยบาย ที่อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงงานที่กำลังศึกษาอยู่เกี่ยวกับท่าทีของรัฐต่อการชุมนุม โดยดูรูปแบบการชุมนุม การโต้ตอบของรัฐกับรูปแบบเหล่านั้น และผลต่อความขัดแย้งอย่างไร โดยเริ่มเล่าว่า การประท้วงไม่ได้เกิดจากผู้คนที่ไม่มี agenda แต่เกิดจากการจัดตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการประท้วง โดยช่วงอย่างน้อย 5-6 ปีที่ผ่านมา เห็นรูปแบบของการประท้วงใหญ่ๆ 2 แบบ คือ

1. การเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย หรือจากอำนาจนิยมมาเป็นมีการเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น เช่น เหตุการณ์ที่เกิดในปรากฏการณ์อาหรับสปริง กัมพูชา บังคลาเทศ เนปาล

2. การเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มี 2 กลุ่มใหญ่คือ
1) ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ มีลักษณะองค์กรข้ามพรมแดน เช่น กลุ่มประท้วงการประชุมเวทีเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง G8
2) กลุ่ม Occupy ต่างๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ตอบกลับระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นหลัก กลุ่มเหล่านี้เติบโตขึ้นต่อสู้กับการควบคุมของธนาคารและรัฐบาล ทำงานในลักษณะเครือข่าย มีการจัดตั้งน้อยกว่าแบบแรก

ส่วนวิธีการรับมือของเจ้าหน้าที่รัฐ มี 3 แบบคือแบบแรก คือการใช้กำลังหรือการปราบปราม มักใช้กันในรัฐบาลอำนาจนิยม หรือเผด็จการ คล้ายกับสิ่งที่เกิดในไทยปี 53 รูปแบบนี้ประเทศแถบยุโรป สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เลิกใช้ไปหมดแล้ว

แบบที่สอง คือ การเจรจา โดยประเทศที่มีประชาธิปไตยลงหลักปักฐานแล้วอย่างยุโรป สหรัฐฯ หันมาใช้การรับมือแบบนี้หลังทศวรรษ 1990 หลังจากที่ก่อนหน้านั้นใช้วิธีปราบปรามผู้ชุมนุมในการประท้วงต่างๆ อาทิ การต่อต้านสงครามเวียดนาม วิธีแบบนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจะให้ความสำคัญกับสิทธิของพลเมืองบนท้องถนน และไม่ใช้อาวุธ โดยจะมีการแจ้งรายละเอียด วัน เวลา สถานที่ กิจกรรม ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน จากนั้น ตำรวจจะเปิดทางให้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม การชุมนุมถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ

แบบที่สาม คือ control and command เป็นความพยายามประนีประนอมระหว่างการให้สิทธิพลเมืองแสดงความเห็นผ่านการประท้วงกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ระเบียบของรัฐไว้ จึงควบคุมผู้ชุมนุมแบบแนบเนียน ประกอบด้วยการคุมพื้นที่ ให้เข้าได้เฉพาะบางพื้นที่ แบบเดียวกับที่เกิดในไทยตอนนี้ การปราบปรามจะทำได้เมื่อผู้ชุมนุมละเมิด นอกจากนี้ยังมีการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ผ่านการดักฟังโทรศัพท์และสอดส่องโซเชียลมีเดีย เพื่อทำให้การชุมนุมไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ขัดขวางไม่ให้แกนนำหรือผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ได้

นอกจากนี้ การควบคุมแบบแนบเนียน ยังทำได้ด้วยการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้ชุมนุม เช่น ช่วงหลังมีการห้ามใส่หน้ากาก โดยอ้างว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมอย่าง Black Bloc ที่ปกปิดใบหน้า ใช้ความรุนแรงทำลายข้าวของ หลายประเทศห้ามการใช้เสียง โดยใช้กฎหมายระดับเทศบาลที่ควบคุมระดับเสียงในการดำเนินคดี ขณะเดียวกัน มีการใช้อาวุธชนิดที่แม้ไม่ทำให้ตาย แต่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตในภายหลังได้ รวมถึงมีการลดการใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในประเทศตะวันตก มีการใช้กองกำลังแบบบริษัทเข้ามา ซึ่งทำให้รัฐบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบในการสลายการชุมนุมได้

โดยสรุป เสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองบนท้องถนนนั้น มองว่าทำได้ เพราะเป็นมาตรวัดบรรยากาศประชาธิปไตยของสังคม เป็นลู่ทางทางการเมืองนอกจากในสภา แต่ปัจจุบันเห็นการระดมคนออกมาบนท้องถนนโดยขาดทิศทาง เช่น วันที่ 24 พ.ย. ซึ่งมีการระดมคนออกมาบนท้องถนนล้านคน แต่ถามว่ามาทำอะไร จะเห็นว่าไม่มีทั้งแผนว่าจะทำอะไรและถ้าเกิดสถานการณ์จะทำอย่างไร

ทั้งนี้ เสนอว่า ควรพยายามหาทางเลือกในการประท้วงที่ลดความตึงเครียดทางการเมืองบนท้องถนนลง เช่น ใช้อารมณ์ขัน หรือประท้วงในลักษณะงานรื่นเริง ที่ไม่ได้มองอีกฝ่ายเป็นศัตรู ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเมืองบนท้องถนนเป็นวิธีที่เชยมาก

กรณีการจัดการชุมนุมของตำรวจไทย มองว่า ตำรวจปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากการใช้กำลังกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 51 โดยการใช้แก๊สน้ำตา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 คน ทำให้เข็ดตลอดชีวิต ความชอบธรรมขององค์กรและรัฐบาล ที่ตำรวจทำงานให้ช่วงนั้นลดลง ช่วงหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจัดการองค์กรดีมาก มีการจัดการแบบสากล เป็นแบบที่สาม คือ control and command เช่น การปิดพื้นที่ ประกาศเขตห้ามเข้าหลายกิโลเมตร และกันผู้ชุมนุมห่างจากตำรวจ โดยใช้ปูนกั้น ตามด้วยรั้วลวดหนาม และรถตำรวจ รวมถึงประกาศพื้นที่แก๊สน้ำตา ซึ่งนี่เป็นหลักสากล เพื่อรับมือไม่ให้เกิดความรุนแรงและเพื่อไม่ต้องให้ตัวเองต้องรับผิดชอบและเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง

ในช่วงถาม-ตอบ มีผู้เข้างานเสวนาถามว่า การชุมนุมจะยกระดับไปสู่ความรุนแรง เกิดม็อบชนม็อบหรือไม่ จันจิรา ตอบโดยเล่าถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการประท้วงในปัตตานีปี 2547 ซึ่งนำโดยนักศึกษาไทยมุสลิม โดยนักศึกษาให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช้ความรุนแรงแต่จัดตั้งไทยพุทธมาประท้วง คนจึงรู้สึกว่าเป็นแทคติกม็อบชนม็อบ ซึ่งถ้าเป็นจริง จะอันตราย เพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐไทยคิดว่า คุมม็อบได้ การเอาคนมาไว้ที่ราชมังคลากีฬาสถาน แม้จะไกลกัน แต่ก็ฮึ่มๆ อันตรายมาก เพราะการจะพาคนมาม็อบ ต้องปลุกระดมความรู้สึกคน ซึ่งเมื่ออยู่บนถนนแล้ว คุมไม่ได้ มีแนวโน้มกลายเป็นความรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชน
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ปะทะตำรวจ หลังจบรับฟังความเห็นฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตกแม่กลอง

Posted: 22 Nov 2013 03:52 AM PST

ประชาชนยื่น 20,000 รายชื่อค้านโครงการขุดลอกแม่น้ำแม่กลอง เจ้าหน้าที่ลืมกล่องรายชื่อ นักศึกษานำรายชื่อให้อีกครั้ง เข้าใจผิดปะทะตำรวจ แกนนำ 'กลุ่มจับตาแม่น้ำใหม่' ยันเหตุปะทะไม่เกี่ยวเวที 

ภาพเวทีรับฟังความคิดเห็น ภาพโดย Pook Jarutat

22 พ.ย.2556 ที่เวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทจัดการบริหารทรัพยากรน้ำ จัดโดย คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ที่วิทยาลัยเทคนิค จ.สมุทรสงคราม เวลาประมาณ 14.17 น. ไทยพีบีเอส รายงานว่า เวทีรับฟังความเห็นถูกยกเลิกไป เนื่องจากชาวสมุทรสงครามล้มเวทีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ในเวลาประมาณ 12.00 น.ที่ผ่านมา โดยประชาชนปฏิเสธที่จะเขียนแบบสอบถามของ กบอ. และได้นำรายชื่อคัดค้านโครงการขุดลอกแม่น้ำแม่กลองตามสัญญา A5 ให้กับ กบอ.แทน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งมารับฟังความคิดเห็นได้เดินทางกลับในทันที โดยลืมนำกล่องรายชื่อผู้คัดค้านกว่า 20,000 รายชื่อกลับไปด้วย

ไทยพีบีเอสรายงานด้วยว่า จากนั้นกลุ่มนักศึกษาบางส่วนจึงพยายามที่จะนำกล่องรวบรวมรายชื่อไปส่งให้กับเจ้าหน้าที่ และได้พยายามปิดกั้นรถของเจ้าหน้าที่ กบอ.ที่กำลังเดินทางกลับ จึงทำให้เกิดปากเสียงระหว่างตำรวจและนักศึกษา ต่อมาได้เกิดการปะทะกันขึ้น และมีเสียงดังคล้ายระเบิดดังขึ้นเป็นระยะๆ ในช่วงเวลานั้น แต่ในที่สุดกลุ่มประชาชนและอาจารย์ได้เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยและห้ามกลุ่มนักศึกษาที่เข้าก่อความรุนแรงตำรวจได้สำเร็จ จนสถานการณ์คลี่คลายลง ความรุนเเรงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ผู้อยู่ในพื้นที่ระบุว่า ไม่ได้มีความตั้งใจให้เกิดขึ้นแต่เกิดจากความเข้าใจผิดของทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งขณะนี้เวทีรับฟังความคิดเห็นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

ขณะที่สำนักข่าวไทยรายงานว่าความวุ่นวายเกิดขึ้นตลอดการทำประชาพิจารณ์แผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าว ตั้งแต่เจ้าหน้าที่พยายามจะให้ประชาชนกรอกแบบความคิดเห็น หลังแจงแผนโครงการขุดคลองจากแม่น้ำแม่กลอง ใน อ.โพธาราม ราชบุรี ถึง อ.อัมพวา สมุทรสงคราม ระยะทาง 34 กิโลเมตร ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ชาวบ้านไม่พอใจรุนแรงขึ้น และตะโกนโห่ร้อง เพราะเชื่อว่ามีการแอบกรอกใบรับฟังความเห็น เห็นด้วยกับโครงการนี้ไว้ก่อนล่วงหน้าส่วนหนึ่ง เพื่อให้โครงการผ่าน นายอภิชาติ อนุกูลอำไพ กรรมการ กบอ. ต้องรีบเดินทางออกจากสถานที่จัดทำประชาพิจารณ์ แต่ระหว่างรถกำลังออกจาวิทยาลัย มีนักศึกษาเทคนิคมายืนขวางหน้ารถ ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจึงใช้กำลังผลักดัน จนเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น และมีนักศึกษาบาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับนักศึกษาจนเกิดการขว้างปาท่อนไม้ ก้อนหิน และระเบิดปิงปองเข้าใส่ แต่ก่อนสถานการณ์จะบานปลายรุนแรงขึ้น อาจารย์ได้เข้ามาช่วยระงับเหตุ จึงควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม บอกว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ไม่ถือว่า ล้มเหลว แต่เป็นการรับฟังเสียงชาวบ้านจริงๆและสามารถจัดจนครบกระบวนการตามขั้นตอนส่วนเวทีกลุ่มย่อยที่ไม่ได้จัดเพราะชาวบ้านไม่ต้องการ โดยความคิดเห็นทั้งหมดจะสรุปและนำเสนอต่อ กบอ.เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในการดำเนินการโครงการต่อไป

ภาพการปะทะกันหลังเวทีจบ ระหว่าง จนท.ตร.กับนักศึกษา ภาพโดย Pook Jarutat

แกนนำ 'กลุ่มจับตาแม่น้ำใหม่' ยันปะทะเกิดหลังเวทีจบแล้ว

ทั้งนี้ประชาไทสอบถามนายศิริวัฒน์ คันทารส แกนนำกลุ่มจับตาแม่น้ำใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านโครงการนี้ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม เพิ่มเติมต่อกรณีการปะทะกันดังกล่าวว่า หลังจากที่เรามอบรายชื่อ 20,000 ชื่อ แล้ว เขาเสร็จเวทีและกลับไป แต่มีรายชื่อกล่องหนึ่งที่เหลืออยู่ในห้องประชุม และเป็นชนวนเหตุของการปะทะหน้าหน้องประชุมหลังที่มีการปิดเวทีไปแล้ว ขณะที่ทุกคนกำลังจะกลับบ้านมีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับนักศึกษา ประเด็นไม่ได้เกิดจากเวที แต่มีประเด็นคือหลังจากนั้นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นคนให้ข่าวกับทีวีช่องNBT แล้วสรุปรวมกับว่าเวทีต้องยุติกลางคันไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เนื่องจากประชาชนก่อม็อบ แต่เมื่อชาวบ้านได้ยินการให้ข่าวดังกล่าวก็เกิดชุมมุล ขอดูเทปและขอลบเทปและให้อัดเทปพูดใหม่โดยมีประชาชนยืนฟังเป็นสักขีพยานด้วย

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มที่คัดค้านโครงการนี้ นายศิริวัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 1 จริงๆแล้วเราเสนอไปตั้งแต่ตอนกรมชลประทานมาจัดเวทีศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อนหน้าที่จะมีแผน กบอ. แล้ว เราเสนอทางเลือกที่จะสะสางลำคลอง เสนอระบบการจัดการน้ำในเบื้อต้นแล้ว ประเด็นที่ 2 เราเสนอให้เอารายงานของไจก้าที่ศึกษาไว้ก่อนหน้าที่ให้เอามาปรับใช้เพราเสนอเรื่องการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาจากการบริหารจัดการน้ำและแก้จัดการระบบคูคลองให้น้ำมันไหลผ่านได้ นี่เป็นข้อเสนอเบื้อต้น แต่หลังจากนี้เราจะมีงานศึกษาต่อ

เพจจับตาแม่น้ำใหม่ฯ แถลงประณามเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอสบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าเมื่อเวลา 20.30 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'จับตาแม่น้ำใหม่ อย่าทำร้ายสายน้ำแม่กลอง' โพสต์คำแถลงประณามเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส โดยอ้างว่าบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร พร้อมยืนยันด้วยว่าตลอดเวลาในเวทีรับฟังความคิดเหํน ไม่มีเหตุปะทะ และประชาชนได้แสดงความคิดเห็นตามกรอบและกำหนดการของเวทีทุกประการด้วยความเรียบร้อย เนื้อข่าวที่ปรากฏตามลิงก์จึงผิดพลาดด้วยประการทั้งปวง

พร้อมระบุด้วยว่า หลังจากเวทีรับฟังความคิดเห็นได้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว ได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เมื่อรถของเจ้าหน้าที่ สบอช. นำกล่องรายชื่อประชาชนผู้คัดค้านออกจากรถมาไว้ข้างถนน ทำให้นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคต้องวิ่งถือกล่องตามรถไป จนกระทั่งโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดและเริ่มต้นทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนก่อน จากนั้นเหตุปะทะจึงตามมา มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย แต่เหตุการณ์ได้คลี่คลายคืนกลับสู่ความสงบในเวลาอันรวดเร็ว

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบไปยังลิงค์ http://news.thaipbs.or.th/content/ยกเลิกเวทีจัดการน้ำจังหวัดสมุทรสงคราม-เหตุปะทะ-นักศึกษา-ตำรวจ ที่เพจดังกล่าวอ้างถึงนั้นขณะนี้(22.30 น.)ไม่มีเนื้อหาข่าวปรากฏแล้ว

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ห่วงใยเด็กและเยาวชนในที่ชุมนุม

Posted: 22 Nov 2013 01:49 AM PST

กรรมการสิทธิฯ แนะพาเด็กไปชุมนุมต้องระวังไม่ให้ซึมซับการปลุกเร้าความเกลียดชัง สื่อมวลชนไม่พึงเสนอภาพ  เนื้อหาที่เป็นการระบุตัวตนของเด็กที่ทำให้เสียหาย หากมีแนวโน้มรุนแรงพาออกทันที

22 พ.ย. 2556 - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ "เรื่องข้อห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุม" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องข้อห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุม


จากการเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุมในขณะนี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับเครือข่ายพลเมืองเฝ้าระวังความรุนแรงทางการเมือง รวมถึงภาพข่าวทางสื่อมวลชนที่ได้มีการนำเสนออย่างต่อเนื่องนั้น ปรากฏว่ามีเด็กและเยาวชนอยู่ในที่ชุมนุม ทั้งในลักษณะการเข้าร่วมโดยตรง การติดตามผู้ปกครองไปเข้าร่วมชุมนุม หรือการอยู่ในที่ชุมนุมด้วยเหตุอื่นใดก็ตาม คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุมดังกล่าว จึงเสนอข้อห่วงใยต่อบุคคล หน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ดังต่อไปนี้

1. เด็กและเยาวชนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกในความคิดเห็นทางการเมือง และการชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ ตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ การที่ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องอาจประสงค์ให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการชุมนุม อันเป็นส่วนหนึ่งของความเข้าใจหลักพื้นฐานสิทธิเสรีภาพนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ตามกฎหมาย

2. พึงหลีกเลี่ยงการพาเด็กที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชนอื่นใดที่อยู่ในที่ชุมนุมนั้น เป็นหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุม ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลการชุมนุม ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะต้องปกป้องคุ้มครอง โดยระมัดระวังการใช้ภาษา มลภาวะทางเสียง หรือการแสดงออกต่าง ๆ ไม่ให้เด็กและเยาวชนสัมผัสและซึมซับกับการปลุกเร้าการสร้างความเกลียดชัง หรือการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อันส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชน

3. เวทีชุมนุมและสื่อมวลชนไม่พึงเสนอภาพ  เนื้อหา ที่เป็นการระบุตัวตนของเด็กและเยาวชนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย อันอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ชื่อเสียง สิทธิประโยชน์อื่นใด ตลอดจนสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชน

4. ในการชุมนุม ต้องไม่ใช้เด็กเป็นแนวหน้าที่สุ่มเสี่ยงอันตราย

5. หากสถานการณ์มีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรง ผู้จัดการชุมนุม ผู้ปกครองของเด็กที่เข้าร่วมชุมนุม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลการชุมนุม จะต้องนำเด็กออกจากพื้นที่การชุมนุมโดยเร่งด่วน

คณะอนุกรรมการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล หวังว่าบุคคล หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ตลอดจนสื่อมวลชน จะได้ตระหนักถึงข้อห่วงใยทั้งหมดนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชนไทย

Posted: 22 Nov 2013 01:39 AM PST


สวัสดีครับ

คงปฏิเสธมิได้เลยว่าบทบาทของสื่อนั้นทรงอิทธิพลอย่างมากในสังคม บทบาทของสื่อใช่เพียงแค่การนำเสนอข่าวสารและข้อมูลให้สาธารณชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอิทธิพลต่อมุมมองหรือทัศนคติของสังคมที่ผ่านการรายงานข่าวและการเขียนอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองผู้สื่อข่าวจึงถือได้ว่าเป็นตัวแสดงแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง

ในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองในทางภาคใต้(ปาตานี)ที่สื่อกระแสหลัก (ที่เป็นภาษาไทย) ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลมายาวนาน มุมมองของเราในฐานะนักต่อสู้แห่งปาตานีพบว่าทัศนะโดยทั่วไป (general opinion) และวิธีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่รายงานโดยสื่อไทยและนักข่าวไทยยังคงจมปลักอยู่กับรูปแบบเดิมๆ

ด้วยความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกไซเบอร์ในยุคปัจจุบันนี้ สิ่งที่เราเห็นก็คือ หาได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นแต่อย่างใด คงจะไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า สื่อมวลชนไทยนั้นไม่เคยเลยหรือหาได้ยากนักที่จะให้ความยุติธรรมแก่กลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีในการนำเสนอข่าวของพวกเขา นับตั้งแต่ระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาจวบกระทั่งปัจจุบันก็ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ในเรื่องคำศัพท์การใช้คำหรือการให้คำนิยามเฉพาะเจาะจงให้กับนักต่อสู้ปาตานี บ่อยครั้งมักจะสื่อถึงภาพพจน์ในเชิงลบเมื่อถูกเผยแพร่ผ่านพื้นที่สื่อของไทย ซึ่งหนึ่งในการใช้คำก็คือ "ผู้ก่อการร้ายหรือโจรใต้ " แน่นอนอย่างยิ่ง มันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมีอคติที่เกินเลยและค่อนข้างที่จะมีความลำเอียงเป็นอย่างมาก

เหมาะสมดีแล้วหรือที่เรียกขานบรรดานักต่อสู้เหล่านั้น ที่ทำหน้าที่ปกป้องรักษาชะตากรรมชนชาติของตนเอง อาจเป็นเพียงเพราะว่าพวกเขาได้ต่อต้านอำนาจรัฐไทยที่อยู่เหนือพวกเขาด้วยวิธีการที่รุนแรง? ถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกระทำจะถือเป็นผู้ร้ายหรือโจรได้หรือไม่ ในเมื่อทั้งสองพระองค์ก็ได้ต่อสู้กับพม่าที่เข้าปกครองกรุงศรีอยุธยาด้วยวิธีการที่รุนแรงเช่นกัน?

เมื่อครั้งท่านหะยีสุหลง ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้อง 7 ข้อในปี ค.ศ.1953 หลังจากนั้นตัวท่านไม่เพียงจะถูกจับกุมและจำคุกเท่านั้น ทว่าในที่สุดท่านก็ถูกฆาตกรรมในข้อหา "เป็นกบฏ" ท่านต้องการที่จะต่อต้านใครหรือ ? ท่านต้องการที่จะเปลี่ยนรัฐบาลกรุงเทพฯกระนั้นหรือ หรือเป็นเพียงแค่การเรียกร้องสิทธิของตนเองและความยุติธรรมให้กับชาวมลายูมุสลิมในภาคใต้?

การเรียกขานชื่อ(กบฏ)นี้ ยังคงดำรงอยู่จวบจนถึงทุกวันนี้ และยังคงถูกเร่ใช้โดยผู้สื่อข่าวของไทยบางสำนักโดยที่มิได้คำนึงถึงความรู้สึกที่อ่อนไหวของชาวปาตานี ที่ได้เชิดชูท่านในฐานะที่เป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง

บรรดานักต่อสู้เพื่อเสรีภาพก็เช่นกันที่ถูกเรียกขานว่าเป็น "กลุ่ม/ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความกระจ่างชัดว่า ทุกกลุ่มขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพปาตานีนั้น เป็น"ขบวนการปลดปล่อย (Liberation)" หาใช่ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน (Separatist)" ไม่

ในนิยามทางรัฐศาสตร์นั้น ยังมีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างขบวนการปลดปล่อยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่มาก

ทุกคำศัพท์ที่ใช้หรือคำนิยามดังกล่าว เป็นการกุคำขึ้นมาเองด้วยเจตนาของรัฐไทย เพื่อให้ภาพพจน์ของนักต่อสู้ถูกมองในเชิงลบ ทว่าถือเป็นความโชคร้ายของรัฐไทยก็ว่าได้ ที่ปราศจากการค้นคว้าหรือศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและในเชิงลึก ทำให้ต้องกล้ำกลืนขืนข่ม ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้จัดวางกลุ่มขบวนการให้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีความชอบธรรม ในสายตาของประชาชนไทยทั่วไป และในสายตาของชาวโลกอีกด้วย

หากอาศัยหลักการพื้นฐานที่สำคัญของวารสารศาสตร์ จะพบว่า "ภารกิจหลักของนักข่าวก็คือ การรายงานข้อเท็จจริงและเคารพสิทธิของคนอื่นเพื่อที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง" แต่ในบริบทของปาตานีดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น

สื่อมวลชนไทยมักจะมีความเกี่ยวโยงกันกับกองทัพ ตำรวจหรือคนของรัฐเองที่ถูกส่งไปยังสถานที่หนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่สาธารณชนทั่วไปจะตีตราว่าเขาคือ "คนของรัฐบาล" ฉะนั้นจึงไม่ให้ความร่วมมือหรือนำเสนอข้อมูลที่แท้จริงให้กับประชาชนได้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่จริงแท้นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

เพราะว่ามีข้อจำกัดทางด้านภาษาและบวกกับความไม่เป็นมืออาชีพ จึงไม่ยอมที่จะพยายามมากไปกว่านั้น พวกเขามีความพึงพอใจกับข้อมูลที่ได้จาก "แหล่งข่าวมือสอง"หรือที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาเอาแต่บันทึกสิ่งที่ถูก "ป้อน" ให้โดยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราเห็นได้จากการรายงานข่าวจำนวนมากที่มักจบลงในลักษณะ "การเหมารวม" ดังตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มคนร้ายในพื้นที่

บางครั้งพวกเขาอาจลืมหลักการเหล่านี้ก็เป็นได้: นั่นก็คือการพยามเสาะหาและเผยแพร่มุมมองความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งปราศจากการครอบงำของอิทธิพลของคนที่สามารถใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ของเขาไปในทางที่ไม่สอดรับกับผลประโยชน์ของส่วนรวม (To seek out and disseminate competing perspectives without being unduly influenced by those who would use their power or position counter to the public interest)

ในการปฏิบัติหน้าที่สำหรับผู้สื่อข่าวนั้น ย่อมมีความอิสระในการจัดเก็บข้อมูลและเผยแพร่ข่าวออกไปอย่างตรงไปตรงมา และมีสิทธิที่จะวิเคราะห์และวิจารณ์อย่างเท่าเทียมกัน

สื่อมวลชนไทยเองยังมีน้อยมากที่ได้เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายนักต่อสู้ให้สามารถอาศัยพื้นที่เพื่อแสดงออกได้ เพื่อสื่อไปยังสาธารณชนไทยทั่วไปได้รับรู้ เพื่อใช้ในการชี้แจงต่อประเด็นที่สำคัญหรือท่าทีของพวกเขาว่าเป็นอย่างไร เช่น: ทำไมต้องเปิดพื้นที่และนำเสนอให้กับคนร้ายและผู้ก่อการร้ายด้วยเล่า?

จนถึงตอนนี้ประชาชนไทยเองยังคงเกิดถามมาตลอดว่า: ทำไมชาวมลายูในภาคใต้ถึงได้ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล? ทำไมต้องใช้ความรุนแรง? ทำไมต้องการแยกตัวออกจากประเทศไทย? ทำไมระเบิดที่นั่นที่นี่ ซึ่งส่งผลต่อการสูญเสียที่ไม่เพียงแต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งติดอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกด้วย? ทำไมครูถึงถูกยิงตาย? และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย

หลักการพื้นฐานของสื่อสารมวลชน : คือส่งเสียงให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้พูดและบันทึกสิ่งที่ถูกซ่อนเร้น (Give voice to the voiceless; document the unseen) นี่เป็นการเรียกร้องเพื่อให้สื่อได้เปิดพื้นที่และโอกาสให้กับกลุ่มที่ถูกกดขี่ได้เปล่ง "เสียง" ของพวกเขาออกมา

สื่อมวลชนไทยถูกคาดหวังว่าจะบันทึกสิ่งที่เจ้าหน้าที่ตั้งใจจะ "ซ่อนเร้น" เอาไว้ เพื่อให้ความจริงปรากฏได้อย่างชัดเจน หากไม่เช่นนั้นแล้ว คงจะอีกนานที่สังคมไทยจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง

และสำหรับชาวมลายูปาตานี โดยเฉพาะบรรดานักต่อสู้เองก็จะยังคงถูกเรียกขานว่าเป็นโจรกบฏต่อไป หรือที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งๆที่ในความเป็นจริง พวกเขาได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขาที่ถูกปล้นกลับคืนมาเท่านั้น

มันเป็นเรื่องที่แตกต่างกับนักข่าวและสำนักข่าวต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขามีความเป็นมืออาชีพมากกว่า ด้วยวิธีการทำงานแบบเชิงรุกและผลลัพธ์ที่ได้จากข่าวสารมีความเป็นกลาง ไม่ลำเอียงข้างใดข้างหนึ่ง

พวกเขาไม่ได้คาดหวังต่อข้อมูล "ที่ถูกป้อนให้" แต่มุ่งมั่นอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริงด้วยแนวทาง"การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน" (Engaging the community) ถึงแม้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในด้านภาษาและวัฒนธรรมเฉกเช่นสื่อมวลชนไทย

แต่ทว่าความเป็นมืออาชีพของพวกเขาที่ยืดมั่นกับหลักการและจรรยาบรรณสื่อ พวกเขาจึงได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ (authentic)อย่างง่ายดายอย่างยิ่งจากสังคมมลายูปาตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาวบ้านในระดับชุมชน ซึ่งมีความไว้วางใจต่อสื่อต่างชาติมากกว่าสื่อของไทยด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้เอง เราพบว่าการนำเสนอข่าวและข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไปโดยสื่อต่างประเทศนั้นดีกว่ามาก และเป็นการบ่งบอกถึงระดับความน่าเชื่อถือของสื่อไทยเองอีกด้วย

บางครั้งมีความแตกต่างทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการนำเสนอระหว่างสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ หรือแม้แต่ยังมีข้อขัดแย้งกันเองภายในสิ่งที่เผยแพร่ระหว่างสื่อไทยด้วยกันเอง

ประชาคมโลกที่มีจำนวนนับพันล้านคนซึ่งรวมไปถึงชาวมลายูในเอเชียอาคเนย์(Nusantara) ที่มีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคน ต่างมีความเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานและการต่อสู้ของประชาชนชาวปาตานีมากกว่าเสียอีก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยที่มีจำนวนกว่า 60 ล้านคน ที่ยังไม่มีความเข้าใจต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ใดๆ เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการรายงานข่าวของสื่อไทยคือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ในบริบทของประวัติศาสตร์ปาตานีเริ่มตั้งแต่ยุคของราชอาณาจักรลังกาสุกะจนถึงปัจจุบัน สื่อไทยค่อนข้างที่จะโน้มเอียงไปยังประวัติศาสตร์ฉบับที่เขียนโดยคนในชาติตนเอง ซึ่งสถานะและการสื่อสารในอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างปาตานี-สยามเป็นการมองจากประวัติศาสตร์ฉบับของไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีความเข้าใจที่ผิดพลาดว่า ปาตานีนั้นแต่เดิมเป็นของสยามประเทศรวมทั้งรัฐมลายูทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู (กลันตัน ไทรบุรี ตรังกานู และ เปอร์ลิส) ที่เคยเป็นของพวกเขาเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ไทยก็ยังอ้างด้วยว่า ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร และพม่า แต่เดิมเป็นของเขาเช่นกัน ซึ่งความจริงแล้วถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ในฉบับของประเทศเหล่านี้ เราจะพบว่าพวกเขาก็จะอ้างบริเวณดังกล่าวทั้งหมดก็เป็นของพวกเขาเช่นกัน แต่ถูกสยามยึดไปในยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่ง

ถ้าเราย้อนศึกษารายละเอียดของประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดยชาวต่างชาติซึ่งเคยมีปฏิสัมพันธ์กับราชอาณาจักรปาตานีในอดีตที่ผ่านมา อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่นฮอลแลนด์ โปรตุเกส อังกฤษและชาวอาหรับ เราจะพบว่ามีเนื้อหาที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และกลับกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขียนโดยคนสยามเอง ข้อเท็จจริงเหล่านี้เองที่มักจะถูกละเลยโดยสื่อมวลชนของไทย

นานมากแล้วที่สื่อมวลชนไทยได้นิยามนักต่อสู้ชาวมลายูปาตานีเป็นโจร คนร้าย ผู้แบ่งแยกดินแดน กบฏ หรือแม้แต่ผู้ก่อการร้าย แต่เนื่องจากชาวมลายูไม่มีช่องทางนำเสนอที่เหมาะสม ได้แต่เก็บกดความไม่พอใจไว้ข้างในมาเป็นเวลานานนับหลายสิบปี

เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายขบวนการได้เรียกขานรัฐไทยว่าเป็น "นักล่าอาณานิคมสยาม(penjajah)" สร้างความประหลาดใจและโกรธเกรี้ยวให้กับพวกเขา ดังนั้นเราจะพบว่าสื่อไทยก็เริ่มมีบทบาทในการโหมกระพือความโกรธในการนำเสนอข่าวและรายงานของพวกเขา

เป็นเรื่องยากยิ่งที่พวกเขาจะยอมรับความจริงที่ว่า พวกเขาเองก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ยึดครองหรือเป็นจ้าวอาณานิคมในภูมิภาคนี้ ทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์ของชาวมลายูในเอเชียอาคเนย์ (Nusantara) เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า ชนชาวไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ยึดครองและเป็นจ้าวอาณานิคม เฉกเช่นเดียวกันกับนักล่าอาณานิคมจากทางยุโรปไม่มีผิด

กระบวนการสันติภาพเคแอล(กัวลาลัมเปอร์) ที่ริเริ่มผ่านการลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 ได้เปิดบทตอนใหม่ๆ ให้การตระหนักยอมรับต่อสถานะของขบวนการเคลื่อนไหว พวกเขาจะไม่ถูกขนานนามว่าเป็นโจรหรือผู้ก่อการร้ายได้อีก แต่จะถูกเรียกชื่อที่เป็นทางการว่า "ผู้ที่มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างจากรัฐ(ไทย)" ซึ่งสื่อต่างชาติชั้นนำทั่วโลกเกือบทั้งหมด ได้ให้ความสำคัญติดตามข่าวอย่างจิงจังต่อทุกความเคลื่อนไหวของกระบวนการที่นำไปสู่สันติภาพดังกล่าวนี้

แต่ทว่า สำหรับบางสำนักข่าวของไทยกลับมีท่าทีที่เย็นชาและได้หรี่ตามองความพยายามหาหนทางคลี่คลายปัญหาด้วยแนวทางสันติของรัฐบาลตัวเองในแง่ลบ ตั้งคำถามมากมายเพื่อบั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการ

ที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พวกเขาได้กลายเป็นกลุ่มก้อนที่ต่อต้านสันติภาพ (anti-peace) หรือในแง่หนึ่งคือกลุ่มคนที่พยายามบ่อนทำลายสันติภาพ (peacespppoilers)

ในที่สุดถ้าหากว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ความขัดแย้งนี้ได้รับการแก้ไขด้วยแนวทางอันสันติ แล้วจะมีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่พวกเขาจะสามารถนำเสนอได้?

หรือว่าสื่อไทยมีความรู้สึกร่วมกันบางฝ่ายที่พอใจจะเห็นสถานการณ์ที่ดำรงอยู่นี้ คงสถานะเดิมต่อไป บนสถานการณ์ที่ความไม่สงบและความไร้เสถียรภาพ ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่เพิ่มมากไปกว่านี้?

ทัศนะเช่นนี้เหมือนกับท่าทีของฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับสันติภาพ ผู้ซึ่งต้องสูญเสียอำนาจอิทธิพลและผลประโยชน์ที่ต้องแลกกับสันติภาพที่จะเกิดขึ้น? หรือว่าพวกเขามีวาระซ่อนเร้นอะไรอยู่?

ในช่วงหลังนี้เราพบว่า ผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนของไทยจำนวนหนึ่งที่เริ่ม"เปิดตา"ขึ้น เพื่อต้องการให้สาธารณชนมองเห็นความจริงจะมิใช่เป็นเพียง"สคริปต์" ที่ผู้มีอำนาจได้ยื่นให้กับพวกเขา ซึ่งหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง

พวกเขาได้ทำงานอย่างหนัก ทำการศึกษาและตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ทำงานคลุกคลีกับชุมชนที่ต่างเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรม สิ่งที่พวกเขาได้รับการตอบแทนกลับมาคือความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนด้วยความเต็มใจที่ได้เปิดอกระบายความจริงออกมาในสิ่งที่พวกเขารู้และสิ่งที่อัดอั้นภายในใจ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราได้อ่านรายงานข่าวที่แตกต่างหลากหลายจากพวกเขา ซึ่งรวมไปถึงสารคดีบางชิ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ อย่างเช่นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบที่ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ การเสียชีวิตของนายมะรอโซ เหตุการณ์ปะทะกันที่ทำให้ท่านอุสตาซรอฮีม หรือ "เปเล่ดำ" ได้เสียชีวิต ตลอดจนเหตุการณ์ปะทะกันที่ ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี รวมไปถึงการรายงานความคืบหน้าขอกระบวนการสันติภาพ ซึ่งทั้งหมดนั้นได้นำมุมมองใหม่และมีความสมดุลในการเสนอข่าวในภาคใต้

ด้วยการนำเสนอของสื่อเช่นกัน ที่ความเห็นจากฝ่ายขบวนการก็เริ่มที่จะได้ยิน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเมื่อการรายงานหรือความคิดเห็นดังกล่าวออกมา กลับโดนเย้ยหยันว่าเป็น "กระบอกเสียง" ของบีอาร์เอ็น

ที่จริงแล้วไม่มีทางเลือกอื่นเพิ่มเติมสำหรับนักข่าวหรือสื่อมวลชนไทย นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์(Paradigm Shift) ด้วยการย้อนกลับไปที่หลักการสากลของวารสารศาสตร์ และรวมไปถึงหลักปฏิบัติของผู้สื่อข่าว (Guiding Principles for Journalists) ที่ปราศจากทั้งความรู้สึกหวั่นกลัว และเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ด้วยวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่เสียงของสามัญชนจะถูกรับฟัง ความจริงจะได้ประจักษ์ และความยุติธรรมจะสามารถดำรงอยู่ได้ สิ่งนี้ยังสามารถที่จะจัดวางให้อาชีพนักข่าวและสื่อมวลชนอยู่ในระดับที่มีความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจและความน่านับถือ มิเพียงแต่จากสังคมท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสังคมไทยทั่วไปและสังคมโลกอีกด้วย

ด้วยความเคารพ
น้ำส้มสายชู และ น้ำผึ้ง - จากนอกรั้วปาตานี
มูฮัรรอม / พฤศจิกายน 2013

หมายเหตุ::: ต้นฉบับเดิมภาษามลายู "Suratterbukakepada Media Thai" คลิกอ่านที่ http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/4909 (เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศิกายน 2556); ต้นฉบับเดิมภาษาอังกฤษ "An open letter to Thai Media" คลิกอ่านที่ http://www.deepsouthwatch.org/en/node/4913(เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ย้อนรอยสถาบันการศึกษาไทย หนุนประชาธิปไตยหรือพาถอยหลัง?

Posted: 22 Nov 2013 01:31 AM PST


ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็น

 

นับเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจช่วงเมื่อเดือนที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ออกมาแสดงจุดยืนการคัดค้านเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกันอย่างพร้อมเพรียงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แน่นอนว่าต่อประเด็นการคัดค้านร่างนี้ แทบจะเป็นฉันทามติในหลายภาคส่วนของสังคม แต่กับส่วนมหาวิทยาลัยเอง ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ เพราะในระยะประวัติศาสตร์ร่วมสมัย สังคมแทบจะไม่เคยเห็นการที่มหาวิทยาลัยออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองที่แน่วแน่เท่านี้มาก่อน

แม้แต่วิกฤติทางการเมืองหลายๆ ครั้งนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516, 6 ต.ค. 2519, พฤษภาทมิฬปี 2535 จนถึงการเกิดรัฐประหารปี 2549 สถาบันการศึกษาไทย ไม่ว่าจะในระดับอธิการบดี คณบดี อาจารย์และนักศึกษา ต่างเงียบงันต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น และหากจะมีการแสดงจุดยืนบ้าง ก็เป็นไปในลักษณะปัจเจกหรือการรวมตัวแบบไม่เป็นทางการ แต่ไม่เคยเป็นไปในลักษณะที่เป็นเอกภาพมากเท่านี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ในที่สุดแล้ว บทบาททางการเมืองของมหาวิทยาลัยที่ออกมาล่าสุดนี้มีความเหมาะสมแค่ไหน และสะท้อนอะไรในสังคมได้บ้าง

หากประมวลจากแถลงการณ์การคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมา สามารถสรุปได้ว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ มุ่งประเด็นไปที่การคัดค้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยระบุว่าห่วงใยเรื่องการเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของประชาชนรุ่นต่อไป ในขณะที่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย (ทปอ.) ย้ำถึงความจำเป็นของการจัดหลักสูตรในสถาบันการศึกษาเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยไม่มีการพูดถึงเหตุผลการคัดค้านการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้รับผิดชอบการสลายชุมนุมในปี 53 แม้แต่ประโยคเดียว

มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ระบุถึงเรื่องการไม่นิรโทษกรรมเพื่อยกโทษความผิดให้กับผู้ที่รับผิดชอบกับการสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 และส่วนใหญ่มาจากกลุ่มนศ. มากกว่าในฐานะมหาวิทยาลัย นอกนั้น ก็เป็นการระบุถึงกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมของการผ่านร่างดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอีกปัญหาสำคัญของร่างพ.ร.บ.เหมาเข่งที่ถูกคัดค้านอย่างหนัก

บทบาททางการเมืองที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัย

เมื่อย้อนไปดูบทบาทของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา กลับพบว่า แทบจะไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่แสดงการคัดค้านการรัฐประหารในฐานะสถาบันการศึกษา หรือในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต่างๆ หากมีก็แต่เพียงคณาจารย์ในฐานะปัจเจกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น  นอกจากนี้ ยังมีอธิการบดีถึง 17 มหาวิทยาลัยได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารปี 2549 รวมถึงอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรพล นิติไกรพจน์, อธิการบดีม.เทคโนโลยีสุรนารี และอดีตประธานทปอ. ประสาท สืบค้า, หรือคณบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

"ฉันคิดว่าไม่มีใครควรที่จะไปร่วมกับ สนช. เพราะมันเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยคณะทหารซึ่งทำการรัฐประหาร" ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์จากภาควิชาการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แสดงความคิดเห็น

"อาจจะมีคนบอกว่า การตัดสินใจจะเข้าร่วมสนช.เป็นเหตุผลส่วนบุคคล เป็นการตัดสินใจส่วนตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อคนคนนั้นเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย เขาไม่ได้อยู่ในสถานะปัจเจกอีกต่อไปแล้ว หากแต่เขายังแบกรับชื่อของสถาบันไว้ด้วย...การเข้าร่วมสนช. นั่นหมายถึงการสนับสนุนการรัฐประหาร และทำลายหลักนิติรัฐอย่างไม่ใยดี" ฮาเบอร์คอร์นกล่าว

เธอชี้ว่า มหาวิทยาลัยนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่จะมีบทบาททางการเมืองในสังคม เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว การศึกษานั้นเป็นการเมืองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ที่สำคัญที่สุด คือคณาจารย์มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสอนให้นักศึกษาคิดอย่างวิพากษ์และตั้งคำถามต่อความอยุติธรรมในสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

"บทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด คือ การสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการถกเถียงและการสนทนาที่สร้างสรรค์และเคารพซึ่งกันและกันท่ามกลางความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย"

สภามหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหาร

สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารสูงสุดในมหาวิทยาลัย นอกจากจะสำคัญต่อการกำหนดหลักสูตรและการบริหารต่างๆ ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจจุดยืนทางการเมืองของมหาวิทยาลัยด้วย โดยตำแหน่งต่างๆ ที่อยู่ในสภา ประกอบด้วยฝ่ายบริหาร เช่น นายกฯ อุปนายกสภา และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากการแต่งตั้ง รวมถึงตัวแทนคณาจารย์ มาจากการเลือกอาจารย์ทั่วไป

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคนปัจจุบันของทปอ. ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีปัญหาฉบับนี้ขึ้นมา เช่นเดียวกับนายกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร ซึ่งเป็นศ.พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ ก็เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นอกจากนี้นรนิติยังเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิของมศว.อีกด้วย

เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีจุฬาฯ คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์  ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสนช. ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานสภามหาวิทยาลัย โดยมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตสมาชิกสนช. เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และยังมีอดีตสมาชิกสนช. อีกสองคน ได้แก่ วิษณุ เครืองาม และสุจิต บุญบงการ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ

นอกจากนี้ ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เรียกได้ว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิที่สนับสนุนการรัฐประหารกระจัดกระจายกันไป อย่างสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตสมาชิกสนช. ปัจจุบันเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีพลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นนายกสภาฯ

ส่วนราษฎรอาวุโส และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อย่างประเวศ วะสี นั้น ปรากฏว่ามีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภามหาวิทยาลัยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิมากที่สุดในเวลาเดียว โดยดำรงตำแหน่งนี้ในจุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทร์วิโรฒ ม.มหิดล ม.รังสิต และสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์

การมีส่วนร่วมในสภามหาวิทยาลัยที่มีลักษณะอุปถัมภ์

ปัจจุบัน ตำแหน่งอธิการบดี มาจากการเลือกของสภามหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยจะเป็นผู้เสนอชื่ออธิการบดี และให้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ รับรอง เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมดแทบทุกมหาวิทยาลัย

ในขณะที่สภามหาวิทยาลัย ทั้งนายกสภาฯ อุปนายกสภาฯ จะมาจากการคัดเลือกกันเองโดยมีกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการสรรหา โดยมีสภาคณาจารย์ นายกสมาคมศิษย์เก่า และกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่ในคณะกรรมการการสรรหาดังกล่าว

ในส่วนของตัวแทนคณาจารย์นั้น จะมาจากการเสนอชื่อและเลือกตั้งจากคณาจารย์ทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งกรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งในมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็มีจำนวนแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10 กว่าคน

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาคปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเป็นอุปถัมป์ในสภามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะในจุฬาฯ หรือในที่อื่นๆ นั้นค่อนข้างชัดเจน อย่างในกรณีของผู้ทรงคุณวุฒิ มักจะถูกเสนอชื่อมาจากคณาจารย์โดยเป็นผู้ที่คิดกันว่ามีความรู้ความสามารถจะช่วยเหลือมหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ทรงคุณวุฒิก็เป็นคนเดิมๆ ที่สังคมหรือกรรมการสภารู้จักมาอย่างยาวนาน และก็ได้รับเลือกต่อไปเรื่อยๆ

"โอกาสที่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จะมาได้นั่งที่นี่เป็นไปได้ยากมาก" โสรัจจ์กล่าว

เขายังเสนอให้นิสิตนักศึกษาควรจะต้องมีตำแหน่งประจำในสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากสภามหาวิทยาลัย จำเป็นจะต้องสะท้อนองคาพยพทั้งหมดของมหาวิทยาลัย และนิสิตนักศึกษาก็เป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดขององคาพยพดังกล่าว จึงจำเป็นจะต้องมีที่นั่งในสภามหาวิทยาลัยด้วย

รัฐพล ศุภโสภณ ตัวแทนนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย  เมื่อปีที่แล้ว ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่นักศึกษามีตำแหน่งประจำในสภามหาวิทยาลัย โดยตัวแทนนศ.จะมาจากประธานสภานักศึกษา มธ. และนายกฯ อมธ. รวมเป็น 2 คน

นอกจากนี้ ในการเลือกตั้งอธิการบดีครั้งล่าสุดที่ผ่านมา นักศึกษายังสามารถเสนอชื่ออาจารย์เข้าเป็นอธิการบดีได้ด้วย แต่อำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจ จะอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยเช่นเดิม

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ยังได้ออกมาคัดค้านการผ่าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ใช้ชื่อของมหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมทางการเมืองที่เลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยการมุ่งคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งในประเด็นคอร์รัปชั่นเท่านั้น

รัฐพลกล่าวว่า จากจุดยืนการคัดค้านของมหาวิทยาลัย ที่ค้านเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่า มีความไม่คงเส้นคงวาในการใช้เหตุผล เนื่องจากหากยอมรับเรื่องคดีทุจริตคอร์รัปชั่น นั่นหมายถึงการยอมรับคดีที่ คตส. ทำ และหมายถึงการยอมรับคณะรัฐประหารด้วย

เขายังวิจารณ์ถึงการจัดชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรมในนามมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเผยแพร่เอกสารในโซเชียลมีเดียด้วยว่ามหาวิทยาลัยได้จัดรถรับส่งให้แก่ผู้ที่ไปร่วมชุมนุม

"การออกมาจัดกิจกรรมเช่นนี้ไม่มีการให้ข้อมูลทั้งสองด้าน เหมือนเป็นการโหนกระแสไปในทางเดียว รวมถึงการมีป้ายเรียกร้องให้จปร. ออกมา ผู้รับผิดชอบไม่น่าปล่อยให้หลุดออกมาในชื่อมหาวิทยาลัย เพราะการรัฐประหารในยุคนี้มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้แล้วในระบอบประชาธิปไตย" เขากล่าว

รัฐพลกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคมปี 2555 ที่กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย มีมติไม่ให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่จัดอภิปรายเรื่องการแก้ไข ม. 112 โดยอธิการบดีอ้างว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง มากกว่าเป็นการอภิปรายทางวิชาการ และอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งรัฐพลมองว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีเสรีภาพจริงอย่างที่อ้าง เพราะกิจกรรมของนิติราษฎร์เป็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ แต่กิจกรรมเดินขบวนที่มหาวิทยาลัยจัดเพื่อค้ดค้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ยังมีวาระทางการเมืองที่ชัดเจนมากกว่า

"ผมไม่แปลกใจว่าทำไมอธิการบดีถึงไม่ชอบนิติราษฎร์ เพราะอธิการเป็นคนที่ร่าง ม. 309  มากับมือ" เขากล่าว 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: คำตอบใหญ่

Posted: 22 Nov 2013 01:19 AM PST

จำกัดกรอบ คำตอบใหญ่  อย่าให้พลาด
ต้องฉลาด ในเกมส์โง่ โชว์ให้หลง
อย่าอวดโง่ โชว์ฉลาด  ให้ปราชญ์งง
ความคิดคง คือสามัคคี อย่าตีกัน

ถึงคิดต่าง  บางที  ต้องฟังเขา
คัดเลือกเอา สิ่งดี  ที่สร้างสรรค์
อย่าต่อต้าน  คัดค้าน  ในทันควัน
อย่ากีดกั้น ความคิดอื่น ยืนขาเดียว

ในวิกฤต มีโอกาส  กำหนดได้
อยู่ที่ใจ มั่นคง และเด็ดเดี่ยว
กำหนดบท โง่ ฉลาด ให้ปราดเปรียว
เพียงแค่เสี้ยว วินาที อาจมีชัย

ในสนาม การเมือง ที่วุ่นวุ่น
ภัยร้ายกรุ่น เกรงสงคราม กลางเมืองใหญ่
อย่ายุแยก ให้แตกสามัคคี ประเทศไทย
อย่าโหมไฟ ให้คน ต้องฆ่ากัน

จำกัดกรอบ คำตอบใหญ่ ให้ชัดชัด
จะฟาดฟัด มิยอมฟัง ใครทั้งนั้น
หรือจะคิด มีเหตุผล รู้เท่าทัน
เพื่อสร้างสรรค์ สันติ นิรันดร...

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฝ่ายค้านยันอภิปราย 3 วัน หากปฏิเสธจะยืดไปถึง 28 พ.ย.

Posted: 22 Nov 2013 01:10 AM PST

วิปฝ่ายค้านยันใช้เวลาซักฟอก 3 วัน หวั่นถูกประท้วงกินเวลา หากไม่ยอมจะขออภิปรายถึง 28 พ.ย. ให้รัฐบาลหาวันลงมติเอาเอง ยอมส่งสำเนาถอดถอน แต่ของส่งหน้าบัลลังก์ หวั่นข้อสอบรั่ว



22 พ.ย. 2556 - มติชนออนไลน์รายงานว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีวิปรัฐบาล มีข้อเสนอให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 26-27 พฤศจิกายน ว่า การกำหนดอภิปราย 2 วันเป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนดฝ่ายเดียว เพราะเราได้ชี้แจงมาก่อนหน้านี้แล้วว่ามีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการอภิปรายไม่น้อยกว่า 3 วัน เพราะมีการเตรียมการ กำหนดช่วงเวลาในการอภิปรายของแต่ละคนไว้หมดแล้ว ดังนั้นการกำหนด 2 วันก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามสร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ความพยายามสกัดญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยอ้างว่าญัตติไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการใช้ดุลยพินิจเพื่อสถานการณ์ทางการเมือง พยายามซื้อเวลา จากนั้นก็จะมาจำกัดสิทธิ์ของฝ่ายค้านอีก ทั้งนี้หากให้เวลาอภิปรายเพียง 2 วันจะเกิดปัญหา เพราะวันแรกอาจต้องอภิปรายยืดเยื้อไปจนถึงเวลาตีสามตีสี่ เพื่อบังคับให้การอภิปรายวันที่ 2 จบก่อนเวลาเที่ยงคืน หากการอภิปราย 2 วันไม่จบพวกตนก็ต้องขอสงวนสิทธิ์อภิปรายในวันที่ 28 พฤศจิกายนต่อไป หลังจากนั้นรัฐบาลต้องไปหาวันลงมติเอาเอง ไม่ว่าจะขยายสมัยประชุมเพื่อลงมติ หรือลงมติในสมัยประชุมหน้าก็ตาม

"หากรัฐบาลไม่มีความพยายามที่จะปิดกั้นการทำหน้าที่ ตั้งใจแก้ปัญหา ก็ควรเปิดโอกาสให้อภิปรายตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน จากนั้นจึงไปลงมติในวันที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 1ชั่วโมง หลังจากนั้นก็สามารถเปิดโอกาสให้วุฒิสมาชิกประชุมได้จนถึงเที่ยงคืนได้ แต่หากให้เวลาเพียง2 วัน คาดว่าจะเสียเวลาประท้วงไปเกือบ1วัน คนพูดก็เหลือเวลาทำหน้าที่นิดเดียว คนผิดก็ลอยนวลจากการอภิปรายในสภา" นายจุรินทร์ กล่าว

เมื่อถามว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกลาโหม จะให้รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า นายกฯ ต้องมาชี้แจงด้วยตัวเอง เพื่อทำตัวเป็นผู้นำที่ดี กล้าเผชิญกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำไป ส่วนที่ประธานสภาเรียกร้องให้ส่งสำเนาการยื่นถอดถอนในวันที่ 25 พฤศจิกายน นี้นั้น พวกเรายินดีที่จะให้ความร่วมมือในการส่งเอกสารดังกล่าว แต่จะส่งให้เฉพาะคนที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้น โดยจะส่งเอกสารเมื่อถึงการอภิปรายในประเด็นนั้นๆ เพราะการส่งข้อสอบให้ก่อนอาจจะทำให้ข้อสอบรั่วได้ ทั้งนี้ขอให้ประธานสภาฯปรับปรุงการทำหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งหากประธานมีความเป็นกลางจะสามารถแก้ปัญหาได้เยอะ

ที่มา: มติชนออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจ้งความคณะตุลาการศาล รธน. ฐานหมิ่นเบื้องสูง เหตุวินิจฉัยแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.

Posted: 22 Nov 2013 12:53 AM PST

พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งความคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ม.112 หลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่มีผู้ร้องแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.



22 พ.ย.2556 - เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่าที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายกฤษณ์ ขำทวี และ นายอธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป.เพื่อดำเนินคดีกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่มีผู้ร้องให้พิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้งที่นายกรัฐมนตรี ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และอยู่ระหว่างรอพระบรมราชวินิจฉัย

พ.ต.ต.เสงี่ยม กล่าวว่า การกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดพระราชอำนาจอย่างร้ายแรง จึงนำเรื่องมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ป.ส่วนคณะผู้ยื่นคำร้องนั้น ก็จะพิจารณาดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา: แนวหน้า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช.แจง ซื้อ iPad เกือบ 7 หมื่น เหตุรวมซอฟต์แวร์ทดสอบโครงข่ายโทรคมนาคม

Posted: 21 Nov 2013 11:40 PM PST

สำนักงาน กสทช. แจงกรณีการจัดซื้อไอแพด Test Tablet PC iOS ที่ใช้ตรวจสอบประสิทธิภาพโครงข่าย เพื่อตรวจสอบคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม

22 พ.ย.2556 กรณี ประเสริฐ อภิปุญญา คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด กสทช.) กล่าวในการเสวนาก่อนหน้านี้ว่าเคยได้ข้อมูลมาว่า กสทช. จัดซื้อไอแพดในราคา 70,000 บาท วันนี้ สำนักงาน กสทช. ส่งข่าวชี้แจง ดังนี้

ฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนกรณีการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงาน กสทช. ในการจัดซื้อไปไอแพดในราคาสูงกว่าปกติ นั้น สำนักงาน กสทช. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการซื้อไอแพดดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานแล้ว ผลการตรวจสอบพบว่า ได้มีการจัดซื้อไอแพดตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนจริง โดยไอแพดดังกล่าวเป็น ไอแพด (Test Tablet PC iOS) เพื่อใช้สำหรับการทดสอบซึ่งมีราคาสูงกว่าไอแพดที่ใช้งานปกติ เนื่องจากมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่จำเป็นในการตรวจวัดและวิเคราะห์ประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคมตามโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ QoS Measuring Instrument and Analyzer 3G ถึง 4G สำหรับการตรวจวัดและวิเคราะห์ประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคม พร้อมการรับประกัน 2 ปี โดยการจัดซื้อไอแพดดังกล่าวได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายการจัดซื้อ คือ Test Tablet Pc iOS ยี่ห้อ Apple รุ่น iPad จำนวนทั้งหมด 3 ตัว ราคา 198,750 บาท เฉลี่ยราคาตัวละ 66,250 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สำหรับซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งเป็นซอฟต์แวร์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางวิชาการ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ทดสอบ Mobile Radio Network แบบ Automatics Drive Test โดยสามารถรองรับการทดสอบเก็บข้อมูล QoS และ RF Parameters ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในการให้บริการโครงข่าย โดยสามารถเชื่อมต่อการทำงานกับระบบ Server เพื่อเก็บข้อมูลและรายงานผลแบบ Real Time ได้
นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดซื้อตามโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ QoS Measuring Instrument and Analyzer 3G ถึง 4G สำหรับการตรวจวัดและวิเคราะห์ประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคม ทดสอบคุณภาพการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงมีความจำเป็นต้องเลือกอุปกรณ์/เครื่องโทรศัพท์ที่ผู้บริโภคนิยมใช้อย่างแพร่หลายมาทำการทดสอบ เนื่องจากหากมีปัญหาในการใช้บริการอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้นในโครงการจึงมีการจัดซื้อเครื่อง Test Tablet Pc iOS ยี่ห้อ Apple รุ่น iPad เพื่อใช้ในการทดสอบคุณภาพการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสภาพการใช้งานจริงของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม โครงการจัดซื้อดังกล่าวได้มีการจัดซื้อไอแพดที่ราคาปกติแยกต่างหากอีกหนึ่งรายการ ซึ่งเป็นการจัดซื้อใช้งานปกติ ได้แก่ Tablet Pc iOS ยี่ห้อ Apple รุ่น iPad จำนวนทั้งหมด 8 ตัว ราคา 224,299 บาท เฉลี่ยราคาตัวละ 28,037.37 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งถือเป็นราคาปกติที่ไม่สูงไปกว่าท้องตลาด นอกจากนี้ในรายละเอียดการจัดซื้อไอแพดรายการที่เป็นอุปกรณ์ทดสอบใช้ชื่อรายการว่า Test Tablet Pc iOS ในขณะที่ไอแพดรายการที่เป็นการใช้งานตามปกติใช้ชื่อรายการว่า Tablet Pc iOS ซึ่งมีการเรียกชื่อรายการที่แตกต่างกันย่อมแสดงให้เห็นว่า มีคุณสมบัติเฉพาะของการใช้งานที่แตกต่างกัน  ดังนั้น หากพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว การเรียกชื่อรายการที่แตกต่างกันย่อมจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างไอแพดที่ใช้งานปกติทั่วไปซึ่งมีราคาปกติ กับไอแพดที่ใช้เป็นอุปกรณ์ทดสอบที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่จำเป็นในการตรวจวัดและวิเคราะห์ประสิทธิภาพโครงข่ายโทรคมนาคมซึ่งมีราคาสูงกว่าปกติได้

"กรณีที่เป็นข่าวส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสำนักงาน กสทช. ทั้งยังบั่นทอนกำลังใจพนักงาน เรายินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการดำเนินงาน หากพบข้อสงสัยสามารถเรียกข้อมูล และให้ชี้แจงได้ เป็นขั้นตอนปกติ การให้ข่าวก่อนการเรียกไปชี้แจงอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง" ฐากร กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น