โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน: 10 เรื่องเด่น 10 เรื่องด้อยประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554

Posted: 31 Dec 2011 08:01 AM PST

เรื่องเด่นที่สุดในปี 2554  : การปฏิรูปประกันสังคม

เรื่องด้อยที่สุดในปี 2554 : การเลิกจ้างแรงงานด้วยข้ออ้างจากสถานการณ์น้ำท่วม

 

เรื่องเด่นที่สุด : การปฏิรูปประกันสังคม

ในรอบปี 2554 ที่ผ่านมา “แรงงาน” เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญยิ่งในนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสมัยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม กล่าวได้ว่าประเด็นเด่นที่สุดในรอบปี 2554 คงหนีไม่พ้นกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณา “ร่าง พรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” จนผ่านเข้าสู่ชั้นวุฒิสภาในเดือนพฤษภาคม 2554 (แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับการหยิบยกมาพิจารณาต่อในรัฐบาลปัจจุบัน) กับกรณีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันหยิบยก “ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.... (ฉบับนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ หรือที่เรียกว่าฉบับ 14,264 ชื่อ)” เข้าสู่การบรรจุวาระและพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ตามวาระการประชุมสภาฯสมัยสามัญนิติบัญญัติที่เพิ่งมีการเปิดสภาฯไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ต้นปี 13 มกราคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านแรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ เกษตรพันธสัญญา ฯลฯ จัดสมัชชาแรงงานปฏิรูปประกันสังคม มุ่งเน้นการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีร่วมกับพี่น้องแรงงานอย่างชัดแจ้งว่า “การปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นวาระสำคัญยิ่ง ในการที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็น

ในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มอื่นๆมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันความมั่นคงในทางสังคม” จนในที่สุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการวาระ 1 ร่างพรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ทั้งฉบับคณะรัฐมนตรีและสมาชิกฯเสนอรวม 4 ฉบับ ทั้งนี้มีฉบับของเครือข่ายแรงงานที่เสนอผ่าน สส.สถาพร มณีรัตน์ และ สส.นคร มาฉิม โดยตรงรวมอยู่ด้วย) ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วม 3 เดือนเต็ม ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2554 สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระ 2-3 ส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ และวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการวาระ 1 เห็นชอบกับร่างที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของวุฒิสภา เพราะมีการยุบสภาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจำเป็นต้องให้รัฐบาลใหม่นำเสนอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต่อ 

ด้วยความกังวลขององค์กรเครือข่ายแรงงานเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กฎหมายฉบับใดจะได้รับการพิจารณาต่อ รัฐบาลใหม่ต้องเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนั้น และในที่สุดก็เป็นไปตามคาด คณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้หยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเสนอต่อรัฐสภา จึงถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมิได้รับการพิจารณาต่อหรือ “ตกไป” 

แต่นับว่ายังเป็นความโชคดีเพราะย้อนไปเมื่อปลายปี 2553 วันที่ 24 พฤศจิกายน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรเครือข่ายยื่นร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ....(ฉบับ 14,264 ชื่อ) ให้กับทางประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกช่องทางหนึ่งร่วมด้วย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานไทย ที่ใช้เวลาเพียง 20 กว่าวันในการลงให้การศึกษาและล่าลายมือชื่อในพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี สระบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี อ่างทอง พะเยาและขอนแก่น ฯลฯ ถึงกฎหมายประกันสังคมฉบับวุฒิสภาจะตกไป อย่างน้อยก็ยังมีฉบับลงรายมือชื่อนี้ที่สามารถเดินหน้าได้ต่อ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อสิงหาคม 2554 การเดินหน้าผลักดันร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ....(ฉบับ 14,264 ชื่อ) ให้ได้รับการพิจารณาจึงมีความสำคัญยิ่งยวดนัก เพราะจากคำแถลงนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้กล่าวถึงความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม 

ดังนั้นจึงทำให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายภาคประชาชน 145 องค์กร ยื่นข้อเสนอเรื่องนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐบาล และการเร่งรัดพิจารณากฎหมายภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ ที่รัฐสภา

18 สิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ….(ฉบับ 14,264 ชื่อ)

13 กันยายน 2554 วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมเครือข่ายองค์กรแรงงาน เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ ครม.เห็นชอบสนับสนุนร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ....(ฉบับ 14,264 ชื่อ) พร้อมทั้งกฎหมายฉบับต่างๆของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมจำนวน 9 ฉบับเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 

20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนอกฎหมายของภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร  ทั้งนี้ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ... (ฉบับ 14,264 ชื่อ) เป็นหนึ่งในกฎหมายดังกล่าว

28 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่รัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรวม 24 ฉบับ 1 ใน 24 ฉบับนั้น คือ ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ...(ฉบับ 14,264 ชื่อ)

21 ธันวาคม 2554 ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ... (ฉบับ 14,264 ชื่อ) ถูกบรรจุวาระและเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งขณะนี้มีเพียงร่างกฎหมายประกันสังคมของเครือข่ายแรงงานฉบับเดียว ยังไม่มีร่างรัฐบาลหรือร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกบพิจารณาร่วมด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจาก พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถึง 7 ประการ คือ

(1) สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารงานแบบอิสระ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการประกันสังคมมาจากการสรรหา มีการระบุอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน 

(2) การบริหารงานกองทุนประกันสังคมผ่านรูปแบบการมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เอื้อต่อประโยชน์ผู้ประกันตน ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการเพิ่มคณะกรรมการการลงทุนและคณะกรรมการการตรวจสอบเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ชุด 

(3) ผู้ประกันตน คู่สมรส และบุตร สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ทุกสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม รวมถึงในกรณีฉุกเฉิน ล่าช้า อาจเกิดอันตรายกับผู้ประกันตน ก็สามารถใช้บริการในสถาน พยาบาลนอกเหนือจากที่เป็นคู่สัญญาได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง

(4) การขยายกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 ให้ครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามพรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และคนทำงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย รวมถึงการขยายขอบเขตคำว่า “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมถึง “แรงงานชั่วคราวของภาครัฐ” 

(5) สิทธิประโยชน์ของทดแทนของผู้ประกันตน ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด (มาตรา 33 , 39, 40) ให้ครอบคลุมทั้ง 7 กรณี หรือสอดคล้องกับบริบทความต้องการของผู้ประกันตนให้มากที่สุด คือ เจ็บป่วย เสียชีวิต คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

(6) ผู้ประกันตนทุกคน (ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด หรือทำงานในสถานประกอบการขนาดใด) มีสิทธิเลือกตั้งหรือเสนอชื่อตนเองเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ลักษณะ 1 คน ต่อ 1 เสียงได้ 

(7) การเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ , ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน

นายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า “กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่มาก มีเงินในกองทุนกว่า 7 แสนล้านบาท ต้องดูแลผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคน จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัวและโปร่งใสตรวจสอบได้ ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับการบริหารจัดการงานประกันสังคม จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งร่าง พรบ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 ชื่อนี้ ได้แก้ไขทั้งในเรื่องนิยามคำว่าลูกจ้าง นายจ้าง ค่าจ้าง ทุพพลภาพ ให้มีขอบเขตการคุ้มครองที่ครอบคลุมกับลูกจ้างทุกประเภท รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆให้สอดคล้องและเป็นธรรมมากขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารงาน รวมถึงกำหนดบทบาทของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันในการตรวจสอบการบริหารกองทุนให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น”

สอดคล้องกับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้เสนอร่างกฎหมาย กล่าวว่า “เหตุที่ต้องการปฏิรูปประกันสังคม เนื่องจากการบริหารงานที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน ทำให้เกิดการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส และไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ยังมีปัญหาด้านการบริการ การรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุม ขาดประสิทธิภาพ การขยายสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรที่ควรขยายเป็น 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องต่อการที่เด็กจะได้ศึกษาต่อได้อย่างมีคุณภาพ การขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มและครอบครัวของผู้ประกันตน ส่วนแนวคิดการปฏิรูปประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน มีมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน โดยมีกรรมการต้องมาจากการเลือกตั้ง และประธานคณะกรรมการต้องมาจากสรรหา รวมทั้งการมีคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการการแพทย์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการบริหารงานที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

เรื่องด้อยที่สุด : การเลิกจ้างแรงงานด้วยข้ออ้างจากสถานการณ์น้ำท่วม

แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลาย สถานประกอบการหลายแห่งกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้หมายความว่าลูกจ้างจะมีโอกาสได้กลับเข้าทำงานทุกคนอีกครั้งหนึ่ง 

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อาศัยช่วงจังหวะเหตุการณ์น้ำท่วมประกาศปิดบริษัท เลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ทั้งแบบที่ปฏิบัติตามกฎหมายและเลี่ยงกฎหมาย รวมถึงการอาศัยข้ออ้างจากภาวะน้ำท่วมเพื่อเลิกจ้างเพราะต้องการล้มสหภาพแรงงาน หรือต้องการรับแรงงานที่จ่ายค่าแรงได้ต่ำกว่าเข้ามาทำงานแทน หรือกระทั่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน ในภาวะเช่นนี้สหภาพแรงงานที่มีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์กับนายจ้างอาจถูกเลิกจ้างโดยอ้างเหตุวิกฤตได้”

จากรายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อ 30 ธันวาคม 2554 ระบุว่า ขณะนี้มีแรงงานถูกเลิกจ้างจากอุทกภัยแล้วกว่า 25,289 คน ในสถานประกอบการ 88 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สระบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ กล่าวได้ว่าลูกจ้างกลุ่มแรกๆที่ถูกเลิกจ้าง คือ กลุ่มแรงงานในระบบแบบเหมาช่วงและเหมาค่าแรง (subcontract) โดยเฉพาะในพื้นที่ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ที่สถานประกอบการกว่า 50-60% มีการผลิตโดยใช้ลูกจ้างจากบริษัทเหมาค่าแรง บางโรงงานมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากถึง 70-80% ซึ่งโรงงานจะใช้วิธีการบอกเลิกสัญญาบริษัทรับเหมาค่าแรง เนื่องจากโรงงานยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ปกติแล้วแรงงานจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรงในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก เมื่อมีการเลิกจ้างบริษัทเหมาค่าแรงมักไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย รวมทั้งด้วยสภาพการจ้างงานที่เป็นแบบเหมาช่วง-เหมาค่าแรงจึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะทำให้แรงงานได้รับความช่วยเหลือจากระทรวงแรงงาน 2,000 บาทตามโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง

แน่นอนตัวเลขกว่า 25,289 คนนั้นเป็นตัวเลขที่นับจากข้อมูลของแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มแรงงานในระบบประเภทจ้างเหมาค่าแรง (subcontract) แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

ดังตัวอย่างบางรูปธรรมที่ชัดเจนจากพื้นที่

กรณีที่ 1 

กรณีการเลิกจ้างพนักงานบริษัทโฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมลำพูน จำนวนกว่า 2,000 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์และขาดทุนซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภัยพิบัติน้ำท่วม แต่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตัวเลขผลกำไรของบริษัทที่ผ่านมา ล่าสุดปี 2553 บริษัทแห่งนี้มีกำไรถึง 591 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์และประเทศเวียดนาม จึงทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายการเพิ่มค่าจ้าง 40% ให้พนักงานที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยใช้เครื่องจักรใหม่มาแทนกำลังคน เนื่องจากมีการขนย้ายเครื่องจักรเข้าออกโรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิม บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มตามส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นต้น

กรณีที่ 2

การเลิกจ้างพนักงานบริษัทไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กับการเลิกจ้างพนักงานมอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารสุนัข เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ทั้ง 2 บริษัทต่างอ้างว่าเป็นผลกระทบมาจากเรื่องประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และมีการหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยการเลิกจ้างให้กับพนักงาน

กรณีที่ 3

นายตุลา ปัจฉิมเวช  ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่อ้อมน้อยมีแรงงานได้รับผลกระทบแล้วจากกรณีต่างๆรวมไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ  ปัญหาส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียนมากที่สุดคือ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง  ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดต่อนายจ้างไม่ได้  นายจ้างสั่งหยุดงานไม่มีกำหนด  ถ้าไม่ไปทำงานที่อื่นนายจ้างจะไม่จ่ายและไล่ออก  น้ำท่วมไปทำงานไม่ได้ถูกหักค่าจ้างให้ออกและสมัครงานใหม่  นายจ้างหักเงินแต่ไม่ส่งประกันสังคม เป็นต้น มีกรณีคนงานที่พุทธมณฑลสาย 5 ถูกสั่งให้ไปทำงานที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ลำพูน พอน้ำลดกลับมาดูบ้านและยืนยันขอทำงานที่เดิม แต่นายจ้างจะถือว่าขาดงานและจะถูกลงโทษ  ยังมีกรณีคนงานหญิงร้องนายจ้างจัดที่พักพิงให้นอนรวมกันในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รู้สึกอึดอัด ไม่อยู่ก็ไม่ได้ ไปทำงานลำบาก อาจถูกให้ขาดงานหรือมีความผิดฐานขัดคำสั่ง  ยังมีกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุเครื่องตัดนิ้วขาดและเป็นแผลที่มือต้องรักษาด้วยตนเอง  

กรณีที่ 4

มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจริง แต่กลับเลือกใช้วิธีการเลิกจ้างแรงงานแทนการเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน โดยให้เหตุผลว่าแม้น้ำจะลดลงแล้วแต่ตัวโรงงานได้รับความเสียหายอย่างมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ไตรมาส จึงจะกลับมาผลิตได้ใหม่ เมื่อถึงตอนนั้นโรงงานจึงจะประกาศรับสมัครแรงงานกลับเข้าทำงาน แน่นอนในมุมของนายจ้างแล้วการเลิกจ้างและการจ่ายเงินชดเชยในบางส่วนถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการชะลอการเลิกจ้างโดยการจ่ายค่าจ้างตามเกณฑ์ 75% ของเงินเดือน โดยที่ไม่รู้ว่าโรงงานจะกลับมาผลิตสินค้าได้อีกเมื่อใด ดังเช่นกรณีของโรงงานซันแฟ็ค นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2554 และเลิกจ้างแรงงานทั้งหมด

กรณีที่ 5 

โรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ย่านพุทธมลฑลสาย 4 เป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังคงปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด และจากข้อมูลเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 พบว่าโรงงานยังไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าหลังน้ำลดลูกจ้างกว่า 600 คน จะได้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนผู้บริหารแจ้งว่าจะจ่ายเงินเดือนให้ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีลูกจ้างคนใดได้รับเงินค่าจ้างแม้แต่น้อย ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากมีสภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด วิตกกังวล เพราะขาดรายได้ อีกหลายคนก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ไม่มีเงินส่งทางบ้าน บางคนต้องเป็นหนี้เพิ่ม เพราะกู้เงินนอกระบบเพื่อมาดำรงชีพให้สามารถอยู่ได้

เรื่องเด่นอื่นๆ

เรื่องเด่นที่ 2: เครือข่ายแรงงานร่วมใจกู้วิกฤติอุทกภัยและช่วยเหลือพี่น้องแรงงานที่ประสบภัย

น้ำท่วม

จากวิกฤตการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา ได้สร้างความเสียหายและผลกระทบกับทุกภาคส่วน ภาคแรงงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง มวลน้ำมหาศาลที่ถาโถมเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางโดยตรง นำมาสู่ผลกระทบที่มิเพียงสถานประกอบการหรือนายจ้างเพียงเท่านั้น แต่กลับลูกจ้างในฐานะแรงงานที่เป็นกำลังการผลิตส่วนสำคัญต่างได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า สถานประกอบการต้องปิดตัวลง การหยุดงานเป็นเวลานาน ความไม่ชัดเจนของการจ่ายค่าจ้าง หรือกระทั่งการเลิกจ้าง เหล่านี้เป็นปัญหาที่รุมเร้าแรงงานตลอดช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย 

แน่นอนรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องมิได้นิ่งนอนใจ หลายฝ่ายต่างมีความพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือ-บรรเทา-เยียวยา เพื่อให้ความเดือดร้อนที่พี่น้องแรงงานประสบได้รับการผ่อนคลายและดีขึ้น แต่กระนั้นเองนโยบายของรัฐทั้งมติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายการช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานโดยตรง ก็มิอาจจะเข้าถึงปัญหาที่แรงงานประสบอย่างแท้จริง กล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือแรงงานในระบบนั้นมิได้มีเพียงแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการเพียงเท่านั้น แต่การไหลบ่าของกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมออกนอกสู่โรงงาน ที่มาในชื่อของ “แรงงานเหมาช่วง แรงงานเหมาค่าแรง” ก็เป็นแรงงานในระบบอีกกลุ่มใหญ่ที่เผชิญกับสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว รวมถึงในกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และเกษตรกรพันธสัญญา นี้มินับว่าสถานการณ์จริงตอกย้ำให้เห็นเพิ่มเติมว่า “แรงงาน” ในฐานะที่เป็น “ประชากรแฝง” ก็ยิ่งไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เมื่อแรงงานเหล่านี้ไม่มีทะเบียนบ้านในการแสดงหลักฐานยืนยันความมีตัวตน ในที่สุดการช่วยเหลือก็กลายเป็นทิศทางที่ผกผันกับการไหลบ่าของมวลน้ำที่ปะทะถาโถมรุนแรงกระแทกกระทั้นอยู่ตลอดเวลา

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรด้านแรงงาน รวมถึงองค์กรแรงงานในพื้นที่ประสบภัย เปิดศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครอบคลุมใน 4 กลุ่มแรงงาน คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานในกลุ่มเกษตรพันธสัญญา คือ

(1) ศูนย์แรงงานในระบบ จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ (1.1) ศูนย์บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (1.2) ศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม (1.3) ศูนย์คลองหลวง ตลาดบางขัน ย่านรังสิต 

จ.ปทุมธานี  

(2) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ จำนวน 3 กลุ่มอาชีพ คือ ตัดเย็บเสื้อผ้า , ขับรถรับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่), ซาเล้ง ใน 9 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ เขตหนองจอก เขตบางเขน เขตภาษีเจริญ เขตจตุจักร เขตลาดกระบัง เขตบึงกุ่ม เขตหลักสี่ เขตวังทองหลาง เขตสะพานสูง 

(3) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จำนวน  5 พื้นที่ ได้แก่ (3.1) วัดป่าฝ้าย วัดไก่เตี้ย โรงงานเอสซีเค อ.เมือง จ.ปทุมธานี (3.2) โรงงานไม้อัดวนชัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี (3.3) มัสยิดแก้วนิมิต ซอย 40 ตรงข้ามมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (3.4) พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา (3.5) พุทธมณฑล สาย 4 และสาย 5 รวมถึงการประสานงานด้านข้อมูลกับพื้นที่คริสตจักรสามแยก สภาคริสตจักรในประเทศไทย ที่ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ปลางที่ทำงานในสวนกล้วยไม้ จ.นครปฐม ร่วมด้วย

(4) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเกษตรพันธสัญญา จำนวน 3 กลุ่มอาชีพ ใน 2 พื้นที่ คือ กลุ่มเลี้ยงหมู กลุ่มเลี้ยงไก่เนื้อ ใน ต.ท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี  และกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ในบ้านขี้เหล็ก ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

การเปิดศูนย์ช่วยเหลือมิได้เพียงบรรเทาทุกข์ด้วยสิ่งของยังชีพเท่านั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรยังได้ร่วมมือกับนักศึกษาคณะต่างๆจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รวมกว่า 20 คน ร่วมกันจัดเก็บข้อมูลจากแรงงานผู้ประสบภัยในพื้นที่ตั้งศูนย์ เพื่อรวบรวมสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงที่พี่น้องแรงงานต้องประสบ ด้วยความมุ่งหวังว่า “การเปล่งเสียงของแรงงานครั้งนี้” จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ส่งผ่านไปยังผู้กำหนดนโยบาย เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้มีนโยบายหรือกลไกการช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงานที่ประสบภัยพิบัติอย่างแท้จริง

เรื่องเด่นที่ 3: การขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแรงงานนอกระบบในมาตรา 40 จาก 3 กรณี เป็น 5 กรณี

นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแรงงานนอกระบบในกลุ่มอาชีพต่างๆที่ไม่เคยได้รับสิทธิประกันสังคมมาก่อน เช่น ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรพันธสัญญา ผู้รับงานไปทำที่บ้าน คนเก็บของเก่า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มัคคุเทศก์ แท็กซี่ เสริมสวย แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ฯลฯ ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมได้ตามมาตรา40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 โดยเป็นการขยายสิทธิการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบใน 2 ทางเลือก โดยทางเลือกแรก คือ จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่สอง คือจ่ายเงินสมทบ 150 บาท ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีบำเหน็จชราภาพ ส่วนผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 5 กรณี ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบอัตรา 3,360 บาทต่อปีเหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 3 กรณี เท่านั้น คือ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยมาก เพราะไม่มีกำลังที่จะจ่ายเงินสมทบ และไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงในสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับลักษณะการจ้างงาน

เรื่องเด่นที่ 4: คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบพ.ศ. 2555-2559

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไป จากการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนผู้ทำงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเป็นแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.7 ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2552) พบว่าผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้การส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีประสิทธิภาพจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยแผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายโอกาสการมีงานทำ และยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ คือ (1) เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและมีความใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ที่แรงงานในระบบได้รับ (2) มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) (3) แรงงานนอกระบบมีสมรรถนะตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบและตลาดแรงงาน (4) แรงงานนอกระบบมีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตลาดงาน และแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ (5) มีกลไกการทำงานในลักษณะภาคีและเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแรงงานนอกระบบ ชุมชน กลุ่มการเกษตร กลุ่มอาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพ (6) ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงแรงงานนอกระบบตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน

เรื่องเด่นที่ 5: การประกาศใช้ พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ (1) ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว (2) การจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยฯ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย 

อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน แก้ไข และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ 

สาเหตุที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ สารเคมี และสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวนการผลิต การก่อสร้าง และบริการ แต่ขาดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจควบคู่กันไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานในด้านความปลอดภัยอาชีว

อนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน และก่อให้เกิดอันตรายจากการทำงาน จนถึงแก่บาดเจ็บ พิการทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือเกิดโรคอันเนื่องจากการทำงานซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นรวมทั้งประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีหลักการส่วนใหญ่เป็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่วไปและมีขอบเขตจำกัดไม่สามารถกำหนดกลไกและมาตรการบริหารงานความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการประกาศใช้กฎหมายนี้โดยเฉพาะขึ้นมา

รวมถึงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรียังได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งเป็นแผนที่จัดทำขึ้นตามพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (2) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) การจัดการองค์ความรู้ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพ แวดล้อมในการทำงาน (4) การพัฒนาระบบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ (5) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีว

อนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

เรื่องเด่นที่ 6: การเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เมื่อมิถุนายน 2554 ที่รวมถึงบุตรและผู้ติดตาม

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง และให้แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งนี้รัฐบาลได้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา การที่รัฐบาลเปิดให้มีการจดทะเบียนรอบใหม่เป็นการเอื้อให้แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามสามารถเข้าถึงการคุ้มครองและบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นในเชิงบริหารจัดการของประเทศ ก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชนและสังคมไทยโดย รวมทั้งในเรื่องความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงทางสุขภาวะ รวมถึงในเรื่องการทราบจำนวนและสะท้อนสภาพการณ์ที่แท้จริงซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการในด้านอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดเก็บรายได้เข้าสู่กองทุนสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อใช้ในงานด้านการสาธารณสุขและควบคุมโรคในประเทศไทย เป็นต้น

เรื่องเด่นที่ 7: 8 มีนาคม 2554 100 ปี วันสตรีสากล

8 มีนาคม 2554 ถือว่าเป็นวันครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล ทำให้กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน 100 ปีสตรีสากล รวม 37 องค์กร ประกอบด้วยองค์กรแรงงาน องค์กรผู้หญิง องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายต่างๆ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล ปี พ.ศ. 2554 เป็นปีที่เวียนมาครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งการต่อสู้ฝ่าฟันของผู้หญิงทั่วโลกเพื่อให้ได้รับสิทธิความเท่าเทียม ทั้งสิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ สิทธิในการทำงานที่มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และได้รับสวัสดิการสังคม สิทธิเสมอภาคที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เป้าหมายการจัดงานในครั้งนี้ คือ ต้องการให้ผู้หญิงจากทุกภาคส่วนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประเด็นการต่อสู้และสรุปบทเรียน รวมถึงการรวมพลังผู้หญิงจากทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน กลุ่มบูรณาการสตรีและองค์กรเครือข่ายได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใน 4 เรื่องหลัก คือ 

(1) ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่ม ต้องได้ทำงานในระบบสามแปดที่แท้จริง โดยมีระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ ลูกจ้างภาครัฐ หญิงบริการ แรงงานเกษตรและประมง เพราะค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและไม่พอเพียงทำให้คนทำงานหญิงส่วนใหญ่ต้องอดทนทำงานเกินวันละ 8 ชม.

- ให้แรงงานหญิงเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี

- ยอมรับหญิงบริการ แรงงานนอกระบบ  แรงงานภาคเกษตร และประมง  เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรัฐบาลช่วยส่งเงินสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง และให้มีระบบบำนาญประชาชน และให้รัฐตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสุขภาพและสังคมแก่คนอาชีพบริการโดยหักจากภาษีธุรกิจภาคบันเทิงและการท่องเที่ยว

- ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูก กระจายทั่วถึงในชุมชน โรงงาน หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของผู้หญิง 

- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตรเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง

(2) ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิงอย่างมีคุณภาพ เพราะวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน มีคุณภาพ บริการฟรีหรือราคาถูกและเข้าใจผู้หญิง รวมทั้งส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน จนถึงระดับสถานีอนามัย เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยต่อระบบอนามัยเจริญพันธุ์จากสารเคมีภาคเกษตร

(3) การคุ้มครองดูแลปัญหาทัศนคติ “เหมารวม”และ “เลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตั้งท้องไม่พร้อม ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศและถูกข่มขืน การส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน กระบวนการยุติธรรมที่มีอคติทางเพศ ตลอดจนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ

(4) ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจและวางแผนทุกระดับ ทั้งกรรมการไตรภาคี กรรมการองค์กรอิสระและการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นทุกระดับ

เรื่องเด่นที่ 8: นักสื่อสารแรงงาน ผู้สื่อข่าวภาคพลเมือง

แม้ว่าที่ผ่านมาประเด็น “แรงงาน” จะได้รับการหยิบยกจากสื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและกระแสรองมาสื่อสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์  อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีอีกหลายประเด็นที่ตกหล่นหรือไม่ได้รับการหยิบยกมานำเสนอ ทั้งด้วยข้อจำกัดของจำนวนเนื้อที่ข่าวที่จะนำเสนอ หรือประเด็นความน่าสนใจที่แต่ละสำนักข่าวก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไป จึงทำให้มีความจำเป็นที่แรงงานจะต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารด้วยตนเอง เพื่อทำให้ประเด็นแรงงานกระจายสู่สาธารณะ ได้รับความสนใจ จนกระทั่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องในอนาคต มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจึงได้ริเริ่มโครงการ "การพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน" ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. หนึ่งในสาระสำคัญของโครงการนี้ คือ การทำให้แรงงานสามารถผลิตสื่อ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของตนเอง ด้วยตนเอง นอกจากนั้นแล้วโครงการยังได้จัดทำเว็บไซต์ voicelabour.org ที่มีแรงงานเขียนข่าวใหม่ๆ มานำเสนอให้เห็นเกือบทุกวัน และมีหนังสือพิมพ์แรงงานวอยซ์เลเบอร์เผยแพร่เรื่องราวของแรงงานในแง่มุมต่างๆที่ไม่พบตามหน้าสื่อทั่วไปในทุกเดือน

เรื่องเด่นที่ 9: เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูนกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในชุมชน

เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูน จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในชุมชน จ.ลำพูน ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. โดยเป็นโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และกลุ่มแรงงานในชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้ใช้แรงงานในชุมชนทั้ง 10 แห่ง คือ เทศบาลเมืองลำพูน, เทศบาลตำบลบ้านกลาง, เทศบาลตำบลเหมืองง่า, เทศบาลตำบลประตูป่า, เทศบาลตำบลริมปิง, เทศบาลตำบลต้นธง, เทศบาลตำบลมะเขือแจ้, เทศบาลตำบลบ้านธิ, เทศบาลตำบลทากาศเหนือ และเทศบาลตำบลทาสบเส้า เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายอาชีพให้เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน เกิดรูปแบบการพัฒนาสวัสดิการที่เหมาะสม มีนโยบายท้องถิ่นระดับจังหวัดที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 

 ทั้งนี้ที่ผ่านมาการพัฒนาในพื้นที่ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกจนทำให้แรงงานส่วนใหญ่หลุดออกจากการคุ้มครองของกฎหมายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม เนื่องจากเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่เสี่ยงภัยต่อปัญหาสุขภาพของกลุ่มประชากรวัยทำงาน โดยเฉพาะที่เกิดจากการประสบอันตรายและเจ็บป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน อย่างไรก็ตามถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีมาตรการรองรับโดยเฉพาะการจัดบริการอาชีวอนามัยสำหรับแรงงานนอกระบบหรือแรงงานในชุมชน และท้องถิ่นถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องของการประสานทรัพยากรและการกระจายทรัพยากร ทั้งการจัดการในเรื่องของอาชีวอนามัย สวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับ การจัดการอาชีพเพื่อก่อให้เกิดสัมมาชีพที่ยั่งยืน เพราะสัมมาชีพเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม 

เรื่องเด่นที่ 10: เกษตรกรในระบบพันธสัญญารวมตัวก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เพื่อเคลื่อนไหวให้ได้รับความเป็นธรรมและการดูแลจากรัฐบาล

เมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2554 เกษตรกรในระบบพันธสัญญาจาก 3 ภาค 3 เครือข่าย 8 กลุ่ม 6 จังหวัด ได้ร่วมประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตรในระบบดังกล่าว ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลน้ำแพร่ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จากกระบวนการทำเกษตรในระบบพันธสัญญาทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัท เช่น กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะถูกเอาเปรียบจากบริษัทหรือนายหน้าด้วยการหักเปอร์เซ็นต์ความชื้นโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ขณะที่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ถูกเอาเปรียบจากบริษัทด้วยการนำลูกไก่ไม่มีคุณภาพมาขายให้กับเกษตรกรทำให้เกษตรกรขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นหนี้ไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ ดังนั้นเกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมจึงได้ตกลงกันก่อตั้ง"เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา" เพื่อตัวแทนในการเรียกร้องกับรัฐบาลให้ดูแลเกษตรกรผู้ทำการเกษตรระบบพันธสัญญา ดังนี้

-ออกกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาได้รับความเป็นธรรม

-มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าสารเคมีและการเก็บสารเคมี

-จัดตั้งกองทุนคุ้มครองเกษตรกรในระบบพันธสัญญา

-ผลักดันให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นมีบทบาทผลักดันให้เกิดกลไกกลางในการดูแลความเป็นธรรม

-ให้มีกลไกในการกำกับมาตรฐานของราคาและคุณภาพปัจจัยการผลิต

-สนับสนุนให้เกิดธรรมนูญเกษตรกร

-ปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

-ให้รีบดำเนินการออกกฎหมายและระเบียบที่เอื้อกับเกษตรกรรายย่อย

พร้อมกันนี้ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนร่วมกันดังนี้

-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐและทุนยุติการดำเนินธุรกิจระบบเกษตรพันธสัญญาที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร  ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  และทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร

-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้การทำเกษตรระบบพันธสัญญาและการผลิตที่มีลักษณะของการผูกขาดโดยทุนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมแก่เกษตรกร  การไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร

-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐมีมาตรการในการเยียวยาเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างเร่งด่วน

เรื่องด้อยอื่นๆ

เรื่องด้อยที่ 2: แรงงานภาคตะวันออก 3 บริษัทเดินเท้าร่วม 130 กิโลเมตร ทวงถามความเป็นธรรมในการจ้างงาน

กว่า 130 กิโลเมตรจาก จ.ระยอง ปลายทางเมืองหลวงประเทศไทย ที่ตั้งของกระทรวงแรงงาน แรงงานภาคตะวันออกกว่า 2,000 คน กับการเดินเท้าเพื่อทวงถามความเป็นธรรมในการจ้างงาน ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 แรงงานกว่า 2,000 คน จาก 3 บริษัทใหญ่ คือ บริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย ผลิตยางรถยนต์ บริษัทฟูจิตสึเจเนอรัล ประเทศไทย ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องปรับอากาศ และบริษัทพีซีบีเซ็นเตอร์ ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เช่น การทำงานเพิ่มขึ้นจาก 2 กะ เป็น 3 กะ ยกเลิกเบี้ยการผลิต ยกเลิกข้อตกลง 36 เดือน และที่สำคัญ คือ นายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับต่อการขอสวัสดิการจากลูกจ้างคืนจาก 3 ข้อที่ลูกจ้างเคยได้ นายจ้างขอคืนกลับถึง 5 ข้อ ซึ่งเท่ากับลูกจ้างจะไม่ได้อะไรเลย ในขณะเดียวกันนายจ้างก็ประกาศหยุดงาน โดยอ้างสาเหตุมาจากการทำงานของเครื่องจักรมีปัญหา ทั้งที่ผลประกอบการของนายจ้างชี้ชัดว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2552 จาก 9 ล้านบาท เป็น 1,564 ล้านบาท

ในระหว่างพิพาทแรงงานได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดเข้ามาเป็นตัวกลาง อีกทั้งสหภาพแรงงานทั้งสามบริษัทได้เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (ในช่วงนั้น) มีการเรียกนายจ้างและแรงงานมาให้ข้อมูลแต่ก็ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำกลับถูกท้าทายจากกลุ่มนายจ้างผู้มีอิทธิพลที่เป็นเครือญาตินักการเมืองในปีกรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน 

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในช่วงที่นายจ้างประกาศหยุดงานและอยู่ระหว่างเจรจากว่า 14 ครั้ง แต่ก็ล้มเหลว บริษัทได้มีการนำแรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวกัมพูชาและแรงงานไทยระบบเหมาค่าแรงผ่านบริษัทนายหน้าจัดหางาน เข้ามาทำงานในโรงงานแทนแรงงานไทยที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรม 

การเดินเท้ากว่า 130 กม. จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในเมื่อระบบการบริหารจัดการแรงงาน ความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติระหว่างนายทุน นักการเมือง และประชาชนที่ขายหยาดเหงื่อแรงงานยังมีช่องว่างอยู่ เมื่อเสียงของแรงงานเบาและไม่เคยถึงผู้กำหนดนโยบาย การเดินเท้าสู่กระทรวงแรงงานจึงเป็นปฏิบัติการส่งเสียงดังเพื่อทวงถามความเป็นธรรมจากผู้กำหนดนโยบาย 

เรื่องด้อยที่ 3: พนักงานเคเอฟซีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

เมื่อพฤษภาคม 2554 พนักงานเคเอฟซีในเครือบริษัทยัม เรสเทอรองส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด คือ นายกฤษ สรวงอารนันท์ น.ส.ศิวพร สมจิตร และนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ได้ถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากทั้ง 3 คน เป็นแกนนำในการเรียกร้องด้านสวัสดิการให้กับพนักงาน ที่ผ่านมาพนักงานโดยเฉพาะในระดับล่างและผู้จัดการร้านได้รับค่าจ้างต่ำกว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ โดยได้ค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 27 บาท หรือเดือนละ 5,200 บาท หากปรับขึ้นเงินเดือนก็ปรับเพียง 100-200 บาท ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก พนักงานเหล่านี้จึงรวมตัวกันลงชื่อกว่า 260 คน ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อนายจ้าง เช่น ขอให้ปรับขึ้นเงินเดือน ปรับโบนัส ปรับปรุงสวัสดิการ ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดให้มีวันหยุดตามวันหยุดประเพณี ปรับปรุงค่ารักษาพยาบาล ค่ารถ จัดอาหารฟรีแก่พนักงานวันละ 1 มื้อ แต่นายจ้างไม่พอใจและได้เรียกแกนนำทั้ง 3 คนเข้าไปพบ เพื่อขอให้เซ็นใบลาออกพร้อมกับให้ซองขาว และยังได้ขึ้นชื่อบนเว็บไซต์ของบริษัท         

เรื่องด้อยที่ 4: ชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติจากพม่าถูกล่ามโซ่ทั้งที่ยังเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุจากการทำงาน: ความด้อยประสิทธิภาพของกองทุนเงินทดแทน

นายชาลี ดีอยู่ เเรงงานข้ามชาติชาวมอญจากประเทศพม่า อายุ 28 ปี ได้ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 7 ปี ปัจจุบันทำงานก่อสร้างกับผู้รับเหมาในย่านปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ระหว่างทำงานกำลังฉาบปูนเพื่อต่อเติมอาคารบริษัท ซีพี ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ได้เกิดอุบัติเหตุปูนหล่นทับระหว่างทำงานจนทำให้ลำไส้เเตกและทะลักออกมานอกช่องท้อง จนต้องนำส่งโรงพยาบาลปทุมธานี ทว่าทั้งนายจ้างของนายชาลี นายจ้างรับเหมา เเละเจ้าของอาคารที่กำลังก่อสร้าง ต่างไม่เหลียวเเลนำค่ารักษาเเละเงินชดเชยมาจ่ายให้นายชาลีเเละโรงพยาบาล 

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปทุมธานีแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากท้องที่ปทุมธานีมาจับโดยอ้างว่าเป็นเเรงงานผิดกฎหมาย ทั้งที่นายชาลีได้แจ้งว่าตนได้ขึ้นทะเบียนเเรงงานข้ามชาติมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องแล้ว เเต่เมื่อประสบอุบัติเหตุเอกสารประจำตัวได้สูญหายไปทั้งหมด ทำให้นายชาลีได้ถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศพม่า ขณะที่อาการบาดเจ็บยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงร้องขอให้ สตม. ส่งนายชาลีไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ  เเต่ก็ถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขัง โดยการล่ามโซ่ขานายชาลีไว้กับเตียงคนไข้ เเละมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมอยู่ด้านนอกตลอดเวลา ในที่สุดจากการเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชน ตำรวจจึงได้ปลดโซ่และมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายชาลีทันทีเนื่องจากใบอนุญาตทำงานไม่หมดอายุ ทำให้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายชาลีเเละจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท เนื่องจากสตม.ดำเนินการควบคุมตัวโดยมิชอบเเละมิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารก่อนการควบคุมตัวการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตามทุกวันนี้กระทรวงเเรงงานก็ยังไม่ได้เข้ามาดูแลเเละเยียวยานายชาลี ดีอยู่ แม้แต่น้อย

กรณีของชาลี ดีอยู่ เป็นภาพสะท้อนสำคัญในเรื่องแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครอง/ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนการบาดเจ็บจากการทำงาน ทั้งที่รัฐบาลไทยมีพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 รวมถึงรัฐบาลไทยยังปฏิเสธ/ผลักภาระ/ปัดความรับผิดชอบโดยกระทรวงแรงงานมีประกาศให้นายจ้าง สถานประกอบการจัดทำประกันภัยคุ้มครองการทำงานแรงงานข้ามชาติ (เบี้ยประกันภัย 500 บาทกับบริษัททิพยประกันภัย) เพื่อให้มีหลักประกันคุ้มครองกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน โดยให้มีการคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกับแรงงานไทยซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติต้องจัดทำประกันภัยให้กับแรงงาน ซึ่งหากนายจ้างไม่ดำเนินการทำประกันภัยให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมออกคำสั่ง ทั้งๆความเป็นจริงแล้วเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานโดยตรงที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ 

นี้ไม่นับในกรณีของแรงงานไทยก็ไม่แตกต่างกัน  ทั้งๆที่ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมีเงินอยู่ถึง 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสะสมโดยเงินสมทบแต่ละปีเก็บได้ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่จ่ายไปเพียงปีละ 2 พันล้านบาท ทั้งๆที่หลักการกองทุน คือ เก็บเงินจากนายจ้างเพื่อจ่ายเงินทดแทน ดูแลและฟื้นฟูคนงาน ส่งเสริมและป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน หลายครั้งที่คนงานเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน นายจ้างส่วนหนึ่งมักอ้างว่าไม่ได้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่ม เพราะยิ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นายจ้างก็ต้องจ่ายเบี้ยเข้ากองทุนเงินทดแทนสูงขึ้น หรือในกรณีที่คนงานป่วยจากการทำงาน เช่น ได้รับสารเคมี สารตะกั่ว เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก แต่แพทย์ก็มักไม่กล้าวินิจฉัยว่าป่วยจากการทำงาน เพราะหากนายจ้างไม่ยอมรับคำวินิจฉัยก็กลัวนายจ้างฟ้องร้องและไม่อยากไปขึ้นศาล กองทุนเงินทดแทนจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน แต่ทุกวันนี้แรงงานกลับไม่สามารถเข้าถึงกองทุนได้แม้แต่น้อย

เรื่องด้อยที่ 5: เมื่อแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับรองความเป็นพลเมืองของประเทศต้นทางเรียบร้อยแล้ว แรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 480,000 คน อย่างไรก็ตามในรอบปี 2554 ที่ผ่านมากลับพบปัญหาที่เป็นผลมาจากการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองถึง 6 ประการ 

(1) มีหลายบริษัทที่นายจ้างส่งเงินสมทบล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งเมื่อครบกำหนดการชำระแล้วต้องนำเงินสมทบมาจ่ายภายใน 15 วัน หากเลยกำหนดจะโดนปรับดอกเบี้ย ทำให้มีนายจ้างบางคนที่จ้างแรงงานจำนวนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ส่งเงินสบทบเลย เพราะไม่อยากเสียค่าปรับจำนวนมาก ทำให้แรงงานจึงเสียสิทธิแม้ว่านายจ้างจะหักเงินแรงงานไปแล้วก็ตาม

(2) ข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลระหว่างรอบัตรประกันสังคม พบว่าในระหว่างที่แรงงานรอบัตรนั้น ต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถเบิกคืนเงินย้อนหลังที่จ่ายไปได้ทั้งหมด แต่มีแรงงานบางคนที่ไม่ทราบและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแทน การเบิกคืนย้อนหลังจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วในช่วงก่อน 3 เดือนที่จะมีสิทธิ แรงงานก็จะไม่สามารถนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกย้อนหลังได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานมักจะทำงานอยู่ในกิจการจ้างงานที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง เข้าไม่ถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพ แวดล้อมในการทำงานและการอยู่อาศัยที่ดี แต่แรงงานต้องส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะสามารถใช้สิทธิกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันมิใช่เนื่องจากการทำงานได้

(3) แรงงานไม่สามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมได้ เนื่องจากในระหว่างที่สำนักงานประกันสังคมยังไม่สามารถออกบัตรประกันสังคมให้แรงงานได้ การตรวจสอบสิทธิจะทำได้ยากมาก เพราะการออกบัตรประกันสังคมจะขึ้นอยู่กับเลขที่ใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประกันสังคมจะอ้างอิงเลขที่ใบอนุญาตทำงานในการบ่งบอกสิทธิของผู้ประกันตน แต่ในความเป็นจริงแล้วกระทรวงแรงงานจะออกใบอนุญาตทำงานล่าช้ามาก แรงงานจึงไม่สามารถนำเลขที่ใบอนุญาตทำงานมาใช้ยืนยันสิทธิในการเบิกจ่ายสิทธิประกันสังคมได้ แม้ว่าทางสำนักงานประกันสังคมจะได้กำหนดมาตรการแก้ไข โดยการสร้างฐานทะเบียนผู้ประกันตนชั่วคราวไว้ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ เพราะชื่อของแรงงานข้ามชาตินั้นคล้ายคลึงกันและไม่มีนามสกุล และการบันทึกทะเบียนผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้แยกกลุ่มแรงงานข้ามชาติไว้ต่างหาก ทำให้เกิดความสับสน ล่าช้า เสียเวลามากยามต้องตรวจสอบสิทธิประกันสังคม 

(4) มีบางโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม มีข้อจำกัดทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่และขนาดของโรงพยาบาล ทำให้ความสามารถของการบริการสาธารณสุขในบางพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่และมีจำนวนมาก รวมทั้งยิ่งทำให้คนในพื้นที่ต้องรอรับบริการล่าช้ามากขึ้น จึงส่งผลต่ออคติเชิงชาติพันธุ์ การกีดกัน การไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกันในชุมชนเดียวกันติดตามมา

(5) ตัวแรงงานข้ามชาติเองมักจะไม่ทราบสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้ ขาดความเข้าใจในกฎเกณฑ์ระเบียบเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็น และยิ่งเป็นแรงงานที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นายจ้างไม่สนใจดูแล ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายสิทธิทดแทนอย่างมาก มีแรงงานจำนวนมากที่นายจ้างยึดบัตรไว้ แรงงานจึงถือเฉพาะใบเสร็จเพื่อมารับการรักษาแทน จึงเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอย่างยิ่ง เพราะแรงงานก็จะไม่มีทั้งบัตรโรงพยาบาล บัตรประกันสังคม และใบอนุญาตทำงาน  โรงพยาบาลจึงต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน

(6) มีบางกรณีที่แรงงานเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินนอกสถานที่ทำงานและถูกส่งตัวเข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่แรงงานจะไม่มีเอกสารพกติดตัวมา เนื่องจากนายจ้างยึดเก็บไว้ เพราะกลัวแรงงานหลบหนี ทำให้การรักษาพยาบาลเกิดความล่าช้า เพราะโรงพยาบาลต้องติดต่อกับบริษัทที่แรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่ เพื่อยืนยันสิทธิการเบิกจ่ายในการรักษาจริง รวมถึงแรงงานมักจะมีชื่อที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยิ่งทำให้การตรวจสอบสิทธิล่าช้ามากยิ่งขึ้น นี้ไม่นับว่าถ้าเป็นแรงงานหมดสติเข้ามารักษา ทางโรงพยาบาลก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการทำทะเบียนผู้ป่วยใหม่ ไม่ตรวจสอบประวัติเดิม แรงงานก็จะเสียประโยชน์ในประวัติการรักษาที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น

นอกจากนั้นแล้วข้อมูลจากมติสมัชชาแรงงานข้ามชาติ เรื่องแรงงานข้ามชาติกับการปฏิรูประบบประกันสังคมในแบบที่เหมาะสม เมื่อ 13 มกราคม 2554 ก็ระบุชัดเจนว่า สิทธิประโยชน์ใน พ.ร.บ.ประกันสังคมไม่สอดคล้องกับลักษณะความเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะและแนวนโยบายการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จาก

- นโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติระดับล่างในประเทศไทย ไม่สนับสนุน/เอื้อให้แรงงานข้ามชาติหญิงได้มีโอกาสตั้งครรภ์ ฉะนั้นโอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะใช้สิทธิประโยชน์เรื่องการคลอดบุตรจึงมีความเป็นไปได้น้อยหรือเป็นไปไม่ได้เลย 

- ในกรณีสิทธิประโยชน์เรื่องสงเคราะห์บุตร ได้กำหนดอายุบุตรไว้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ แต่แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 4 ปี ก็สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน แรงงานก็จะสิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปด้วย 

- แรงงานข้ามชาติมีระยะเวลาทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น จึงขาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งบำนาญชราภาพและบำเหน็จชราภาพ ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือต้องรอรับสิทธิประโยชน์เมื่อตอนอายุครบ 55 ปี

- แรงงานข้ามชาติที่ทุพพลภาพเนื่องมาจากการทำงาน ด้วยข้อจำกัดในการสื่อสารและการเดินทาง โอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงการรับเงินทดแทนการขาดรายได้จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก

- แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิกรณีว่างงาน เนื่องจากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง และหากเป็นแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว เมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างกับนายจ้างปัจจุบันจะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7-15 วัน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ รับบริการจัดหางานและการฝึกอบรมฝีมือ แรงงานก็ไม่ใช่ผู้ว่างงานแล้วจึงไม่สามารถเข้าไม่ถึงสิทธิประกันการว่างงานได้

- เมื่อแรงงานข้ามชาติได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือกรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตายแล้ว และได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกันตนผู้นั้นสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่แรงงานข้ามชาติเมื่อสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างแล้วจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางก็ไม่อาจที่จะใช้สิทธิต่อเนื่องอีก 6 เดือนนี้ได้ 

ดังตัวอย่างรูปธรรมที่นายทูเวนโก แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเป็นแรงงาน

ข้ามชาติถูกกฎหมายได้เสียชีวิตลงหลังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร แต่ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ เพราะนายจ้างไม่ได้นำชื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน จึงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง

เรื่องด้อยที่ 6: ค่าแรง 300 บาท ความหวังริบหรี่ ฤา เป็นเพียงนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ได้มีมติชัดเจนว่า ให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 จากเดิมที่จะมีกำหนดใช้ทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2555 นี้ ซึ่งจะใช้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูเก็ตก่อนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจะครอบคลุมในทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป เพื่อให้สถานประกอบการมีเวลาเตรียมตัว ในขณะเดียวกันระหว่างใกล้ถึงกำหนดวันประกาศใช้นโยบายค่าแรง 300 บาท เสียงต่อต้านกลับดังระงมไปทั่ว โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าหากขึ้นค่าแรงระดับนี้ เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังครืนรวมทั้งภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็มีการเลี่ยงบาลีเรียกเป็น "รายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาท" ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงการหาเสียงไม่สามารถทำได้จริงและเพื่อไม่ให้เสียคะแนน รัฐบาลจึงมอบหมายให้ "คณะกรรมการค่าจ้างกลาง" คิดสูตรค่าจ้างที่ทุกฝ่ายรับได้ จนมีแนวทางในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% จากเดิมจะปรับวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่มีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างอีก  2  ปี  จึงต้องดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมหารือเพื่อหาทางฟ้องศาลปกครองแล้ว

นายบุญสม ทาวิจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรคืบหน้าตามสัญญาไว้กับประชาชน เหมือนสัญญาไปก่อนให้ได้คะแนน จึงมาคิดวิธีการดำเนินงานทีหลังแล้วเปลี่ยนวาทะ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง”

เรื่องด้อยที่ 7: รัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87, 98 

จนบัดนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่รับรองอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87, 98 เสียที ! ทั้งๆที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงสำคัญต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยิ่งนัก

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 กล่าวว่า “อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นี้ถือว่าเป็นอนุสัญญาหัวใจหลักของผู้ใช้แรงงานที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ทำให้ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนพ้นไปจากข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรของคนงานและในการเจรจาต่อรอง การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานก็จะลดน้อยลงไปด้วย การรับรองอนุสัญญาจะช่วยให้ลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างได้ เพราะล่าสุดสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศทั่วโลกกว่า 183 ประเทศ ก็ได้รับรองอนุสัญญาฯ 2 ฉบับนี้ไปแล้ว เหลืออีกเพียง 20 ประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่ควรเร่งดำเนินการในเร็ววัน”

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ กล่าวว่า “ปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงาน ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนาด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรองของลูกจ้างมากที่สุด มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 พ.ศ.2518 และประกาศกระทรวงมหาดไทยหลายฉบับที่ออกตามมา และ พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2537 และปี 2542 โดย พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสำคัญมาแล้วรวม 4 ครั้ง มักแก้ไขในยุคเผด็จการทหารปกครองประเทศ ซึ่งย่อมไปในทางควบคุม จำกัดเสรีภาพการรวมตัวต่อรองของลูกจ้างและสหภาพแรงงานมากขึ้น” 

อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ

1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ

2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง

3. องค์กร(สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี

ในขณะที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง กล่าวถึง

1. การคุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

2. องค์กร ลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่างกันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายจ้าง

3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไก การเจรจา โดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าเพราะคนงานต้องขออนุญาตจัดตั้งสหภาพจากกระทรวงแรงงาน ทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้างและทำให้นายจ้างขัดขวางและทำลายการจัดตั้งสหภาพจำนวนมาก

เรื่องด้อยที่ 8: กระทรวงแรงงานยังไม่ประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน 

ทุกวันนี้แรงงานที่ทำงานในบ้านหรืออาชีพแม่บ้านก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง กฎหมายประกันสังคมก็ยังมีข้อจำกัดยกเว้นการบังคับใช้กับคนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งอนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยการคุ้มครองดูแลคนงานบ้าน จนบัดนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่รับรอง แม้ว่าทุกวันที่ 28 สิงหาคม ของทุกปี จะเป็นวันคนทำงานบ้านสากล และเครือข่ายแรงงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนได้มีการเรียกร้องกับรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานมาโดยตลอดแต่ยังมิเป็นผล ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าคนทำงานบ้านยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งๆที่แรงงานที่ทำงานบ้านนั้นเป็นแรงงานที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆจึงควรได้รับสิทธิพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรม ได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดประจำปี ตลอดจนการได้รับสิทธิประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วยหรือมีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย 

นางสมร ทาสมบูรณ์ ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน เคยกล่าวไว้ว่า “ตนเองได้เข้าทำงานบ้านตั้งแต่ตอนอายุ 13 ปี ได้เงินเดือนเดือนแรก 20 บาท ต่อมาเพิ่มเป็น 100 บาท และอยู่มา 6 เดือนจึงได้เพิ่มค่าจ้างเป็น 150 บาท และเพิ่มเป็น 300 บาทต่อมา ตอนนั้นหวังว่าการเข้ามาทำงานบ้านในเมืองจะได้รับการสนับสนุนจากนายจ้างให้มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่เป็นไปดังหวัง เพราะตนเองจบเพียงแค่ประถมศึกษาปีที่ 3  ฉะนั้นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุน คือ ขอให้รัฐบาลได้ออกกฎหมายให้มีวันหยุดกับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อให้ลูกจ้างได้มีเวลาพักผ่อน ไปเรียนหนังสือ พบเพื่อน ญาติมิตร ขอให้มีการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ และการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิการเจ็บป่วย ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม ลวนลาม หรือล่วงละเมิดทางเพศ”

เรื่องด้อยที่ 9: อุบัติเหตุซ้ำซากระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ

ในรอบปี 2554 ยังเกิดอุบัติเหตุระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติบ่อยครั้ง เนื่องจากยังมีการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานอยู่เสมอ และรัฐบาลไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ในปี 2554 อย่างน้อยเกิดถึง 7 ครั้ง

-18 พฤษภาคม 2554 ที่บริเวณถนนเลียบคลองส่งน้ำชลประทานโรงสูบ 3 เขตเทศบาลเมืองชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี รถกระบะลักลอบขนแรงงานข้ามชาติจากพม่าได้ขับรถหนีด่านตรวจตำรวจเพชรบุรี จนเป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตกคลอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 19 คน ขณะกำลังจะพาแรงงานไปส่งที่ จ.ปัตตานี

-23 พฤษภาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถกระบะขนแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา เสียหลักชนต้นไม้ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวน 19 คน ที่ถนนสายชนบท หมู่ที่ 4 หมู่บ้านหนองตะเคียน ต.ไทยอุดม อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เนื่องจากคนขับได้ขับรถหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยใช้ความเร็วสูง ประกอบกับไม่ชำนาญเส้นทางจึงเสียหลักตกข้างทาง 

-4 กรกฎาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุที่จุดกลับรถตรงข้ามสถานีไฟฟ้าย่อย หลักกม.ที่ 3-4 ถนนบายพาสทิศใต้ ท้องที่หมู่ 10 ต.โคกสว่าง อ.เมือง จ.สระบุรี เนื่องจากรถกระบะที่บรรทุกแรงงานข้ามชาติด้าวรวม 15 คน เพื่อมุ่งหน้าไปรับจ้างเก็บลำไยที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ขณะที่รถพ่วงกำลังกลับรถในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถกระบะที่ขับรถมาด้วยความเร็วเบรกไม่ทัน ทำให้แรงงานข้ามชาติที่นั่งอยู่ท้ายกระบะรถกระเด็นออกจากตัวรถกระแทกพื้นเสียชีวิตและบาดเจ็บ

-4 กรกฎาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โตโยต้าตกลงไปในเขื่อนคลองบางแก้ว หมู่ที่ 10 ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง เนื่องจากคนขับไม่ชำนาญทางและเป็นเวลากลางคืน ทำให้แรงงานจากพม่าที่เดินทางออกมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปทำงานที่ตลาดไทยและที่จังหวัดราชบุรี ได้รับบาดเจ็บรวม 21 คน (เป็นเด็ก 3 คน ผู้ชาย 13 คน ผู้หญิง 5 คน)

-9 กรกฎาคม 2554 รถตู้ขนแรงงานข้ามชาติเสียหลักตกข้าง บริเวณหลักกิโลเมตร 322-323 

ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้รับการว่าจ้างให้นำแรงงานจากประเทศพม่าที่ทำงานอยู่ในมหาชัย จ.สมุทรสาคร ไปต่อพาสสปอร์ตที่จังหวัดระนอง โดยขณะที่ขับมาถึงบริเวณดังกล่าว คนขับสังเกตเห็นเหมือนมีอะไรวิ่งตัดหน้าจึงหักหลบตกลงไปในคูข้างทาง จนมีผู้บาดเจ็บรวม 13 คน

-8 ตุลาคม 2554 รถกระบะขนแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาลักลอบเข้าเมืองเสียหลักพุ่งชนประสานงากับรถบรรทุกไม้พะยูงแปรรูป บนถนนสายสระแก้ว-จันทบุรี บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง อ.เขาฉกรรจ์ กับ อ.เมือง จ.สระแก้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บสาหัสกว่า 10 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด

-13 ธันวาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ปิกอัพขนแรงงานข้ามชาติจากพม่าพลิกคว่ำลงข้างทาง บริเวณถนนสายแม่สอด – แม่ระมาด ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้มีแรงงานข้ามชาติบาดเจ็บถึง 8 คน สาเหตุเนื่องจากมีรถจักรยานตัดหน้าทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ

 

เรื่องด้อยที่ 10: ไม่มีศูนย์เด็กเล็กสำหรับแรงงานที่ทำงานในย่านอุตสาหกรรม

แม้ว่าทุกคนจะทราบดีว่าเด็กคืออนาคตของชาติและเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของทุกประเทศ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยเรียน แต่สภาพสังคมในปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้านได้เหมือนในอดีต วิธีการเลี้ยงลูกจึงเปลี่ยนไป หลายคนจึงมักจะหาทางออกโดยการส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง หรือไม่ก็ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กต่างๆ ส่วนคนมีฐานะดีก็มีโอกาสเลี้ยงลูกเองหรือไม่ก็จ้างพี่เลี้ยงส่วนตัวได้ แต่สำหรับแรงงานแล้วที่ส่วนใหญ่ได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถส่งลูกไปที่สถานเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพดีได้ ทำให้แรงงานจำนวนมากจึงส่งลูกไปต่างจังหวัด โดยแต่ละปีจะมีโอกาสได้เจอลูกไม่กี่ครั้ง ที่ไม่ได้ส่งไปก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิดเพราะต้องทำงาน หรือไม่ก็จ้างเลี้ยงไปตามมีตามเกิด สถานที่บางแห่งมีพี่เลี้ยง 1 คนต้องดูแลเด็กถึง 15 คน เป็นต้น

ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กเล็ก โดยมีมาตรการลดหย่อนภาษีเป็นจำนวน 2 เท่า ให้แก่นายจ้างที่จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการและบุคคลทั่วไป รวมทั้งนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เด็กเล็ก แต่การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆที่การปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆให้มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม และคุณภาพของครูก็มิใช่เรื่องยากแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วควรคำนึงถึงกรณีพ่อแม่ที่ทำงานในโรงงานแล้วไม่ได้เลิกงานตามเวลาปกติของคนทั่วไป เพราะการทำงานแบ่งเป็นกะ มีตั้งแต่ 08.00-17.00 น. เข้า 16.00 น. ออกเที่ยงคืน และเข้าดึก ออกเช้า ก็ควรจะต้องมีศูนย์เด็กเล็กที่ปรับเปลี่ยนเวลาของครูและพี่เลี้ยงให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของคนงาน โดยเฉพาะในย่านอุตสาหกรรมที่มีคนงานทำงานเป็นจำนวนมาก 

 

[1] คงต้องกล่าวในเบื้องต้นว่าการจัดลำดับ 10 เรื่องเด่น 10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554 นั้น เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ในฐานะที่ทำหน้าที่ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมถึงหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ ในช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา แน่นอนมุมที่มองย่อมมีข้อจำกัดและอิงกับประสบการณ์การทำงานการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับชาติด้านแรงงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นสำคัญ ดังนั้นองค์กรสมาชิกในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมถึงองค์กรเครือข่ายแรงงานอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป ความรับผิดชอบในเนื้อหาที่ปรากฎเป็นของผู้เขียนโดยตรง รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรต้นสังกัดที่ผู้เขียนทำงานประจำอยู่ในปัจจุบันด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายพลเมืองเน็ต: สถิติ-ความเคลื่อนไหวคดี พ.ร.บ.คอมฯ ปี 54

Posted: 31 Dec 2011 07:21 AM PST

ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เดิมจากปีก่อนหน้า 6 คดีที่มีความเคลื่อนไหว และมีคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เกิดใหม่ในปี 2554 และเป็นที่รับรู้ในสาธารณะจำนวน 5 คดี (รวบรวมถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2554) 

 

1. แบ่งตาม ชั้นการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรม 

- ชั้นสืบสวน 2 คดี หรือร้อยละ 18

- ชั้นอัยการ 2 คดี หรือร้อยละ 18  

- ชั้นศาล 3 คดี หรือร้อยละ 27 แบ่งเป็น 

• ศาลชั้นต้น 2 คดี 

• ศาลอุทธรณ์ 1 คดี

- ตัดสินแล้ว 4 คดี หรือร้อยละ 37 

• ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง          2 คดี

• ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิด  2 คดี

 

2. แบ่งตาม สถานะการได้รับการประกันตัว ในการขอประกันตัวครั้งล่าสุด

- ได้รับอนุญาตให้การประกันตัว 6 คดี หรือร้อยละ 55

- ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว   5 คดี หรือร้อยละ 45

 

3. แบ่งตาม มาตราของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ถูกฟ้อง

- มาตรา 7 มี   1 คดี หรือร้อยละ 9  

- มาตรา 14 9 คดี หรือร้อยละ 82

- มาตรา 15 2 คดี หรือร้อยละ 18

 

4. แบ่งตาม ประเภทอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

-  อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบ 1 คดี หรือร้อยละ 9 

คือ คดีแฮ็กทวิตเตอร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 7 

- อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับเนื้อหา 10 คดี หรือร้อยละ 91 แบ่งเป็น

• คดีที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบัน    7 คดี

• คดีที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน 3 คดี

 

5. แบ่งตาม ผู้ฟ้อง

- ฟ้องโดยประชาชน 4 คดี หรือร้อยละ 36

- ฟ้องโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คดี หรือร้อยละ 64

 

6. แบ่งตาม การกระทำผิดที่เกิดที่เครือข่ายสังคมออนไลน์

- เกิดขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ 5 คดี หรือร้อยละ 45 แบ่งเป็น

• เกิดในเฟซบุ๊ก     3 คดี

• เกิดในทวิตเตอร์  1 คดี

• เกิดในแคมฟ๊อก 1 คดี

- ไม่ได้เกิดขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ 6 คดี หรือร้อยละ 55

 

7. แบ่งตาม ข้อหาอื่นๆ ที่ถูกฟ้องด้วย  

- มาตรา112 6 คดี หรือร้อยละ 55 

- มาตราอื่นๆ   3 คดี หรือร้อยละ 27 แบ่งเป็น

• มาตรา 116     2 คดี

• มาตรา 326 กับ 328    1 คดี

- ไม่ถูกฟ้องด้วยข้อหาอื่น 2 คดี หรือร้อยละ 18 

 

 

ตารางแสดงความเคลื่อนไหวของคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในปี 2554

จำเลย

ข้อหาตาม

พ.ร.บ.คอมฯ

ข้อหาอื่น

ประเภทของอาชญากรรม

คดีที่เกิดในเครือข่ายสังคมออนไลน์

ผู้ฟ้องใน

ชั้นตำรวจ

ชั้นในกระบวนการยุติธรรม

นายเอกวิทย์

7

-

ระบบ

ทวิตเตอร์

เจ้าหน้าที่

ตำรวจ

นายสุรภักดิ์

14

112

เนื้อหา (สถาบัน)

เฟซบุ๊ก

เจ้าหน้าที่

ตำรวจ

นางปรียนันท์

14(1)

-

เนื้อหา

เฟซบุ๊ก

บุคคลทั่วไป

อัยการ

นายสงคราม

14(1)

326, 328

เนื้อหา

-

บุคคลทั่วไป

ศาลชั้นต้น

นายโจ

14(3), (5)

112,  116(3)

เนื้อหา (สถาบัน)

-

เจ้าหน้าที่

ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด

นายนรเวศย์

14(1), (5)

112

เนื้อหา (สถาบัน)

เฟซบุ๊ก

บุคคลทั่วไป

อัยการ

นายอำพล

14(2), (3)

112

เนื้อหา (สถาบัน)

-

บุคคลทั่วไป

ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิด

นายธันย์ฐวุฒิ

14(3), (4), 15

112

เนื้อหา (สถาบัน)

-

เจ้าหน้าที่

ศาลอุทธรณ์

นายพรวัฒน์

14(2)

116(2)

เนื้อหา

แคมฟรอก

เจ้าหน้าที่

ศาลชั้นตกยกฟ้อง

น.ส.จีรนุช

15

-

เนื้อหา (สถาบัน)

-

เจ้าหน้าที่

ศาลชั้นต้น

ผู้ใช้นามแฝง เบนโตะ

14

112

เนื้อหา (สถาบัน)

-

เจ้าหน้าที่

ศาลชั้นตกยกฟ้อง

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ: อากงปลงสังเวช

Posted: 31 Dec 2011 07:11 AM PST

โฆษกศาลยุติธรรมเขียนบทความชื่อ “อากงปลงไม่ตก” ลงในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง เพราะเห็นว่ากระแสการวิพากษ์วิจารณ์ผลการตัดสินคดี “อากง” ไม่ว่าจะโดยคนไทย “มิตรประเทศ” หรือว่าองค์กรระหว่างประเทศ มีลักษณะ “ไม่สร้างสรรค์” เขาชี้ให้เห็นว่าข้อวิจารณ์แต่ละข้อมีจุดอ่อนหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร พร้อมทั้งให้เหตุผลและข้อมูลประกอบว่าเหตุใดผลการตัดสินคดี “อากง” จึงมีความยุติธรรมดีแล้ว

โฆษกศาลยุติธรรมอ้างว่าการพิจารณาคดีและผลการตัดสินมีความเป็นธรรมเพราะผ่านกระบวนการสอบสวนของตำรวจ การกลั่นกรองของอัยการ ขณะที่ในชั้นศาลจำเลยก็ได้รับโอกาสให้ต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ตาม “หลักสากล” แต่ปัญหาก็คือว่า “หลักสากล” ของเขาหมายความว่าอะไร เพราะหากถือว่าการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์และการพิสูจน์ว่าจำเลยผิดเป็นภาระของฝ่ายโจทก์เป็น “หลักสากล” ในการพิจารณาคดีอาญา ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าการพิจารณาคดี “อากง” เป็นไปตาม “หลักสากล” ตามที่โฆษกศาลยุติธรรมอ้าง เพราะแทนที่ฝ่ายโจทก์จะมีภาระในการหาพยานหลักฐานมา “พิสูจน์ให้สิ้นสงสัย” กลับกลายเป็นจำเลยที่ต้องหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโจทก์ไม่สามารถ “พิสูจน์ให้สิ้นสงสัย” ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง แทนที่จะยกประโยชน์ให้จำเลยตามหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยคือผู้บริสุทธิ์ การตัดสินกลับยกประโยชน์ให้โจทก์แทนด้วยเหตุผลว่าจำเลยไม่สามารถหาพยานหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ของตนได้ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมกรณีที่จำเลยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งที่ไม่มีแนวโน้มว่าเขาจะก่อให้เกิดปัญหากับการพิจารณาคดีแต่อย่างใด ซึ่งยิ่งส่งผลให้การพิจารณาคดี “อากง” ห่างไกลจาก “หลักสากล” ออกไปอีก    

ขณะเดียวกันโฆษกศาลยุติธรรมสมาทาน “หลักความเป็นไทย” อย่างเหนียวแน่นในการสนับสนุนผลการตัดสินของศาล เขากล่าวว่า “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” คือการที่คนในชาติมีความรักสามัคคีและ “รักหวงแหน เทิดทูนในชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์จากรุ่นสู่รุ่นและปลูกฝังถ่ายทอดเป็นมรดกสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน” (ซึ่งสามารถอนุมานต่อได้ว่าเพราะเหตุดังนั้นคนที่ไม่รักหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันจึงไม่ใช่คนไทย) แต่เขาไม่ได้ตระหนักว่าทั้งสำนึกเรื่อง “ชาติไทย” และคุณลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่า “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ความเป็นไทย” ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่มาพร้อมกับการเป็นรัฐสมัยใหม่ ไม่ได้เป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติที่อยู่คู่ “คนไทย” หรือสังคมไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ รวมทั้งไม่ได้เป็นมรดกตกทอดผ่านการปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นอย่างง่ายๆ หากแต่เป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ต้องอาศัยเทคนิคและวิธีการต่างๆ นับตั้งแต่แบบเรียนประถมศึกษา พิธีการ ละคร ภาพยนตร์ สื่อกระแสหลัก ไปจนกระทั่งกฎหมายในการบ่มเพาะ และในหลายกรณีเป็นการบังคับเนื่องจาก “ชาติไทย” และ “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ความเป็นไทย” ถูกสร้างขึ้นบนคุณลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยหากไม่ยอมถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งก็ต้องถูกผลักไสให้ไปอยู่ชายขอบของประดิษฐกรรมทางการเมืองและวัฒนธรรมเหล่านี้ การที่โฆษกศาลยุติธรรมลำเลิก “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” ในการสนับสนุนผลการตัดสินของศาลจึงยิ่งทำให้ผลการตัดสินดังกล่าวห่างไกลความยุติธรรมออกไปอีกเพราะ “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” ที่ว่ามีความไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น     

นอกจากนี้ การอ้าง “เอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย” สนับสนุนผลการตัดสินของศาลส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่าง “หลักสากล” “หลักความเป็นไทย” และ “หลักกู” พร่าเลือน เช่น ในตอนต้นโฆษกศาลยุติธรรมอ้างหลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ว่า “การจะด่วนสรุปว่าอากงเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยเสร็จเด็ดขาดนั้นก็ยังมิใช่เรื่องที่แน่แท้เสมอไป […] แท้จริงแล้วอากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” ทว่าต่อมาเขากล่าวว่า “อากง” มีความผิดเสมือนว่าเขาเป็นผู้พิพากษาในคดีนี้เสียเอง เขากล่าวว่า “อากง” เป็นบุคคลที่ “เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคม สถาบันหลักของประเทศชาติ และองค์พระประมุข” ฉะนั้น จึงควร “ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น” พิจารณาในแง่นี้ การที่โฆษกศาลยุติธรรมอ้าง “หลักความเป็นไทย” ในการสนับสนุนผลการตัดสินของศาลจึงเป็นไปเพื่อว่าเขาจะได้สามารถใช้ “หลักกู” ในการพิพากษา “อากง” ซ้ำอีกหน และเป็นการพิพากษาที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะความผิดที่ “อากง” ก่อ หากแต่ยังก้าวล่วงไปถึง “ตัวตน” ของ “อากง” ซึ่งเป็นการลุแก่อำนาจเกินกว่าที่ “หลักสากล” อนุญาตให้ศาลหรือผู้พิพากษากระทำได้   

ประการสำคัญ โฆษกศาลยุติธรรมอาศัยกลวิธีการเขียนและการใช้ตรรกะที่ขาดความเป็นธรรมอย่างสิ้นเชิง เขากล่าวว่าผู้วิจารณ์ผลการตัดสินคดี “อากง” ยัง “มิได้รู้เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงในสำนวนความอย่างถ่องแท้” เขาจึง “ขออนุญาตนำความจริงบางประการ […] แลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน” แต่ปัญหาก็คือโฆษกศาลยุติธรรมต้องการให้เกิดการ “แลกเปลี่ยน” อย่างแท้จริงหรือว่าอย่างเสมอหน้ากับผู้อ่านและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้วิจารณ์จริงหรือ เพราะกฎหมายกำหนดให้การพิจารณาคดีหมิ่นสถาบันเป็นความลับและการเปิดเผยเนื้อหาหรือข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันถือเป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้น บุคคลที่อยู่นอกแวดวงศาลหรือกระบวนการยุติธรรมจึงถูกกีดกันจากการเข้าถึง “ความจริง” ที่เกี่ยวข้องกับคดีตั้งแต่ต้น ทำได้แต่เพียงรับฟัง “ความจริง” ที่บุคคลในแวดวงศาลหรือกระบวนการยุติธรรมนำมาเปิดเผยเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถคัดค้านความคิดเห็นหรือความเชื่อบางข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่โฆษกศาลยุติธรรมนำมาประกอบการชี้แจงราวกับเป็น “ความจริง” ได้ เพราะไม่แล้วก็จะมีความผิดตามกฎหมายฉบับเดียวกันนี้อีก ฉะนั้น แทนที่จะเป็นการ “แลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน” ตามที่กล่าวอ้าง สิ่งที่โฆษกศาลยุติธรรมกระทำผ่านบทความคือการมัดมือชกผู้อ่านที่ไม่เห็นด้วยเสียมากกว่า             

กล่าวอีกนัยหนึ่ง โฆษกศาลยุติธรรมไม่ได้ต้องการแบ่งปันข้อมูลหรือต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างเสมอหน้ากับผู้อ่านโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล หากแต่อาศัยสถานะของการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าในการปิดกั้นการแสดงความเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งอาศัยกฎหมายในการปิดปากผู้คัดค้านข้อมูลและความคิดเห็นที่เขาใช้ประกอบการชี้แจง เพราะเหตุนี้ แทนที่จะอาศัยอภิสิทธิ์ดังกล่าวในการดูแคลนผู้วิจารณ์การพิจารณาคดีและผลการตัดสินคดี “อากง” ว่าไม่เห็นพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริง โฆษกศาลยุติธรรมจึงควรตระหนักว่าเป็นเพราะกฎหมายที่เป็นปัญหาดังกล่าวต่างหากที่ส่งผลให้ผู้วิจารณ์มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้น และหากโฆษกศาลยุติธรรมต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกันจริงก็จำเป็นต้องขจัดข้อจำกัดจากกฎหมายดังกล่าวทิ้งไปเสียก่อน หากไม่ทำหรือทำไม่ได้ก็ป่วยการจะมาพร่ำเพ้อเรื่องความยุติธรรมที่รังแต่จะชวนให้ปลงสังเวช           

(บทความตีพิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 23-29 ธันวาคม 2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลพม่ายอมให้พรรคเอ็นแอลดีจัดคอนเสิร์ตระดมทุน

Posted: 31 Dec 2011 04:44 AM PST

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในพม่าจัดงานคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า โดยมีนางออง ซาน ซูจีร่วมเปิดงาน นับเป็นการจัดงานขนาดใหญ่ของพรรคฝ่ายค้านอย่างถูกกฎหมายในพม่าเป็นครั้งแรก


ที่มา: Myanmar Celebrity.com/Yeyintnge/youtube.com

เมื่อเวลาราว 17.00 น. ของวันศุกร์ที่ผ่านมา (30 ธ.ค. 54) พรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้จดทะเบียนเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างถูกต้องตามกฎหมายของพม่า ได้จัดงานคอนเสิร์ตระดมทุนครั้งใหญ่ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติพม่า (MCC Hall Yangon) เพื่อสมทบทุนช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงสำหรับเด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ

นางออง ซาน ซูจี ได้เดินทางมาร่วมงานดังกล่าว โดยกล่าวคำปราศรัยเกี่ยวกับความขัดแย้งต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และหนทางไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติต่อประชาชนที่เข้าร่วมงานคอนเสิร์ตดังกล่าวหลายพันคน และเข้าร่วมฟังดนตรีในงานเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงก่อนจะเดินทางกลับ

ทั้งนี้ งานคอนเสิร์ตดังกล่าว เดิมมีกำหนดจัดงานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมาแต่ถูกเลื่อนเนื่องจากรัฐบาลไม่อนุญาต อย่างไรก็ตามพรรคเอ็นแอลดีได้รับอนุญาตให้จัดงานได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นการจัดงานขนาดใหญ่ครั้งแรกของกลุ่มฝ่ายค้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎว่ามีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวในช่องโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล

นักวิเคราะห์มองว่า การที่เอ็นแอลดีสามารถจัดงานคอนเสิร์ตดังกล่าวแสดงให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองในพม่าที่ที่นำโดยประธานาิธิบดีเต็งเส่งเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น โดยการจัดงานโดยกลุ่มฝ่ายค้านทางการเมืองเช่นนี้ ไม่สามารถเป็นไปได้เลยหากย้อนกลับไปเมื่อหกเดือนก่อน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส่งท้ายปี Quotes of the Year (3): "คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมากครับ"

Posted: 31 Dec 2011 04:43 AM PST

ส่งท้ายปี ทีมประชาไท รวบรวมคมคำเด็ดๆประจำปีที่กลายเป็นวลีและประโยคฮิตทั้งในสังคมออฟไลน์และออนไลน์ ย้อนความทรงจำที่มาที่ไป และแรงกระเพื่อมจากถ้อยคำ ซึ่งหลายคำกลายเป็นผลสะเทือนต่อคนพูดเอง ขณะที่อีกหลายถ้อยคำ ก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ล้วนถูกพูดขึ้นมาในจังหวะร้อนและสะท้อนความสนใจของสังคมไทยในสถานการณ์ที่ช่วยก่อกำเนิดถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมา

0 0 0

สำหรับ Quotes of The year ประจำปีนี้ ประชาไทขอยกให้กับวลี/ประโยคเหล่านี้

 

"คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมากครับ"

ส่งท้ายปี Quotes of the Year (3): "คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมากครับ"

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
23 มิถุนายน 2554
ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์

เป็นคำพูดของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในระหว่างการปราศรัยหาเสียงที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ เมื่อ 23 มิ.ย. 54 อันเป็นช่วงใกล้โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้สลายการชุมนุม 10 เมษา 53 และการสลายการชุมนุมรอบเดือนพฤษภา 53 ทำแต่เพียงขอคืนพื้นที่และยิงเพื่อป้องกันตัว และยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง พร้อมเปิดใจว่าเสียใจกับเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต “ผมต้องสารภาพ คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมากครับ”

“จนถึงวันนี้ผมนึกไม่ออกจริง ๆ ว่า เจ้าหน้าที่เขามีเหตุผลอะไรที่จะไปยิงประชาชน ที่จะไปยิงรถดับเพลิง ที่จะไปยิงรถพยาบาล ความจริงเรื่องนี้ต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่การมายัดเยียดว่าความตายที่เกิดขึ้นที่วัดปทุมฯ เป็นเพราะผมสั่งฆ่า หรือความสูญเสียที่นับรวมไปเป็นจำนวน 91 คนนี่แหละครับ มันเป็นธรรมแล้วหรือที่จะบอกว่าเป็นเรื่องของผมที่เป็นฆาตกรที่สั่งฆ่าที่ มือเปื้อนเลือด” [1], [2]

การปราศรัยที่ราชประสงค์ ถือเป็นการเปิดประเด็น/เดินยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการจากอภิสิทธิ์ และแกนนำสำคัญในพรรคอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” โดยกล่าวหาว่าคนเสื้อแดง “เผาเมือง-ก่อการร้าย” เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง และเผาอาคารสถานที่ในช่วงสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 53

หลังจากที่ก่อนหน้านี้อภิสิทธิ์ได้ “เกริ่น” ในบทความ “91 ศพสังเวยความต้องการใคร” และระหว่างการหาเสียงที่วงเวียนใหญ่เมื่อ 16 มิ.ย. 54 ที่เขากล่าวว่า “ไม่เคยคิดฝันว่าในชีวิตของตนหลังจากที่เราเสียกรุงไปสองครั้งแล้ว จะมีคนซึ่งเป็นคนในชาติมาเผาบ้านเผาเมืองของพวกเรากันเอง” [3]

และถือเป็นแคมเปญหาเสียงแบบเทไพ่หมดหน้าตักของ “อภิสิทธิ์/ประชาธิปัตย์” หลังกระแสโพลก่อนวันเลือกตั้งจริงเริ่มตามหลัง “เพื่อไทย/ยิ่งลักษณ์” ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ และ กทม. ทั้งที่ช่วงประกาศยุบสภาเมื่อ 9 พ.ค. กระแสยังเป็นของ “ประชาธิปัตย์/อภิสิทธิ์”

ในวันที่ 25 มิ.ย. อภิสิทธิ์เขียนบทความย้ำในเฟซบุคอีกครั้งให้ประชาชนร่วมกันปฏิเสธ “ระบอบทักษิณ” และในวันเลือกตั้ง “คนไทยจะเป็นผู้ถอนพิษทักษิณออกจากประเทศนี้” [4] และเมื่อ 1 ก.ค. ในการปราศรัยโค้งสุดท้ายที่ลานพระบรมรูปทรงม้า อภิสิทธิ์ได้ย้ำอีกว่าพรรคเพื่อไทย “แก้ปัญหาคนๆ เดียว” พร้อม “ขอโอกาส 4 ปี” เพื่อ “สมานบาดแผลในแผ่นดิน” และก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน อภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอีกว่า “อยากให้ประชาชนตัดสินใจให้เด็ดขาดเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งให้ชัดเจน” พร้อมมั่นใจว่าจะได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 250 ที่นั่ง [5]

ไม่รู้ว่าทุกคืน อภิสิทธิ์ยังร้องไห้อยู่หรือไม่ แต่ผลการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 53 จบลงด้วยชัยชนะ “เด็ดขาด” ของ “เพื่อไทย” ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” ได้ที่นั่ง ส.ส. เพียง 159 ที่นั่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้า โดยอภิสิทธิ์ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคในวันถัดมา แต่ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งหลังการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ 6 ส.ค. 53

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 1: สำรวจสื่อกับ ปราบต์ บุนปาน

Posted: 31 Dec 2011 04:27 AM PST

ปีใหม่ ‘ประชาไท’ ชวนคุยเบาๆ กับคนในแวดวงสื่อมวลชน ปราปต์ บุนปาน ผู้บริหารเลือดใหม่แห่งมติชนออนไลน์ สื่อกระแสหลักที่มีความยืดหยุ่นสูงยิ่งในโลกไซเบอร์ อย่างน้อย เพื่อสรุปหมุดหมายของสื่อมวลชนไทยในปีที่ผ่านมา และแนวโน้มในปีหน้า

ในฐานะคนทำสื่อ ปราปต์ตั้งข้อสังเกตอันหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจพอเป็นข้อสรุปแห่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ นั่นก็คือ ความหมาย ความเชื่อของสื่อมวลชนยุคเก่าที่ว่าสื่อต้องก้าวนำสังคมหนึ่งก้าว ตอนนี้ดูเหมือนมันสลับกลับข้างกันไปหมดเสียแล้ว

“ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สื่อมันเลยต้องเปลี่ยนตาม แต่ถ้าสังคมอยู่นิ่งๆ แล้วจะให้สื่อเปลี่ยนก่อน ไม่แน่ใจว่าสื่อจะกล้าเปลี่ยนก่อนไหม”

0 0 0 0 0 0

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 1: สำรวจสื่อกับ ปราบต์ บุนปาน

ปีที่แล้วโดยภาพรวม สื่อทำหน้าที่ได้ดีไหม น่าพอใจไหม

อันนี้คงต้องดูภาพย่อยเป็นแต่ละสำนักไป และมันขึ้นอยู่กับจุดยืน มุมมองของเราด้วย ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีสื่อบางสำนักที่ไม่ดีเลย หรือมีบางสำนักที่น่าสนใจ แต่ภาพรวมถามว่าน่าพอใจไหมก็น่าพอใจระดับหนึ่ง ในแง่ที่ว่าปัจจุบันข้อถกเถียงในเชิงคุณค่าที่แตกต่างกันในสังคมมันเริ่มมีพื้นที่ในสื่อ แน่นอน สื่อกระแสหลักอาจจะมีน้อยหน่อย หรือสื่อกระแสหลักแต่ละสำนักก็อาจให้พื้นที่ในประเด็นนี้แตกต่างกันไป แต่ขณะเดียวกันก็มีสื่อเว็บไซต์ ทีวีดาวเทียมอีกจำนวนหนึ่งที่ดูเหมือนเปิดพื้นที่ให้ข้อถกเถียงเหล่านี้มากขึ้น

ประกอบกับ ถ้ามองในแง่สื่อกระแสหลักเลยคือพอเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง สื่อกระแสหลักก็ต้องปรับมุมมองตัวเองเหมือนกัน เมื่อก่อนอาจจะไม่ชอบเพื่อไทย มองคนที่เลือกเพื่อไทย คนเสื้อแดงแบบไม่ให้ค่ามากนัก แต่พอหลังการเลือกตั้ง โอเค อาจจะไม่ชอบอยู่ แต่เขาก็มองเห็นพวกนี้มากขึ้น แม้ว่าการให้คุณค่า การแสดงทัศนะในข่าวจะมีความแตกต่างกันไป

โดยรวมคิดว่ามันน่าสนใจมากกว่าน่าพอใจ

ช่วยยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมทีว่า การถกเถียงในเชิงคุณค่าที่ได้พื้นที่มากขึ้นจนรู้สึกว่ามันน่าสนใจนั้นคืออะไร

เช่นกรณีอากง ก็มีพื้นที่อยู่นะ สื่อสายที่มีจุดยืนการเมืองอนุรักษ์นิยมหน่อยก็จะทรีตกรณีอากงแบบหนึ่ง แต่มันก็จะมีสื่อกระแสหลัก กระแสรองจำนวนหนึ่งที่นำเสนอประเด็นนี้แตกต่างออกไป ตัวบทความ ตัวคอลัมนิสต์ที่แสดงทัศนะก็มีความเห็นต่อกรณีนี้ที่ต่างกัน แล้วก็นำไปสู่การตั้งคำถามกับ มาตรา 112 อะไรแบบนี้

ในแง่หนึ่งก็คือ สังคมมันเปลี่ยนไปนั่นแหละ แล้วสื่อก็ต้องปรับตัวตามสังคมไป

สื่อกระแสหลักอาจไม่ได้สะท้อนเรื่องนี้อย่างแจ่มชัด แต่ถามว่าสะท้อนบ้างไหม มันก็เห็นอยู่ เพียงแต่มันจะชัดเจน จะคมคายไหมก็อีกเรื่อง

แล้วที่ผ่านมาสื่อได้มีบทบาทในการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไหม ยกตัวอย่างกรณีการสลายการชุมนุมที่มีคนตาย คนเจ็บปีที่แล้ว ดูเหมือนเรื่องนี้เงียบไปเลยหรือนำเสนอน้อยมากในสื่อส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีข่าวสดที่ตามเรื่องนี้อย่างเกาะติดมากอยู่เจ้าเดียว มันเกิดอะไรขึ้นในแวดวงสื่อ

ถ้ามองเฉพาะสื่อกระแสหลัก มันก็คงเป็นเหมือนอีลีทไทยกลุ่มหนึ่ง วิธีการมองปัญหา ทรีตปัญหาการเมืองไทยก็อาจจะเกี๊ยเซียะ จบแล้วก็จบกันไป 90 กว่าศพใช่ไหม พอนำมาสู่การเลือกตั้ง เพื่อไทยก็ชนะแล้วนี่ การชนะของเพื่อไทย ทั้งอีลีทหรือสื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่งต่างก็หวังว่าเพื่อไทยไม่ควรทำอะไรในเชิงแตกหัก หรือแม้แต่ตัวเพื่อไทยเองก็รู้สึกอย่างนั้น มีงานเร่งด่วนเฉพาะหน้าอย่างที่คนในรัฐบาลบอก แก้ไขยาเสพติด อะไรก็ว่าไป ส่วนที่จะเป็นปัญหาความขัดแย้งก็ยังไม่ต้องทำ

ผมว่ามันก็แชร์กันอยู่ระหว่างตัวชนชั้นนำไทยกลุ่มหนึ่งกับสื่อกระแสหลัก แต่กรณีข่าวสดอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง รากของข่าวสดจะหยุดที่ 50 เท่านั้น ในแง่อายุคนทำงาน โดยเฉพาะที่เป็นหัวๆ เป็นนักข่าวอีกรุ่น อีกกลุ่มหนึ่ง ขณะที่มติชนถ้าพูดถึงราก วิธีคิดก็อาจจะยาวนานกว่านั้น อายุมากกว่านั้นหน่อย ทำให้การมืองสถานการณ์อาจจะแตกต่างกัน

ถ้าพูดว่าสื่อจะช่วยในการแก้ไขความขัดแย้งแค่ไหน บางส่วนอาจเห็นว่า นี่ไง ทำแล้วไง ให้ปรองดองกันไป เงียบกันไป แต่อีกส่วนหนึ่งอาจมองว่าการแก้ไขความขัดแย้งได้ต้องเข้าถึงความจริง ต้องหาคนผิดมาลงโทษ

เรื่อง “สื่อโดนแทรกแซงโดยรัฐ หรือ สื่อโดนแทรกแซงโดยทุน” เมื่อก่อนได้ยินสิ่งเหล่านี้มาก เดี๋ยวนี้เงียบไปแล้ว สถานการณ์ยังเป็นอย่างนั้นไหม หรือมันเคยเป็นอย่างนั้นไหม

จากประสบการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น แต่มันอาจจะมีบ้างล่ะ ในแง่ที่สื่อมวลชนกับแหล่งข่าวอาจมีความสัมพันธ์อะไรกัน เกรงใจกัน คงมีบ้าง แต่ในความขัดแย้งทางการเมืองไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันเถียงกันเรื่องโครงสร้างหลักการใหญ่ๆ ยังไม่เห็นว่าจะมีรัฐ หรือมีทุน มากำหนด บังคับกะเกณฑ์ว่าสื่อจะต้องเสนอความเห็นไปในทางนี้หรือในทางนั้น

ที่มันออกมารูปการณ์นี้ สื่อกระแสหลักมีความเห็นแบบหนึ่งกับอีกแบบหนึ่งที่มันต่างกัน ก็ไม่แน่ใจว่ามาจากทุนหรือรัฐ หรือมาจากพรรคการเมืองที่เขาสนิทสนม หรือมันเป็นอุดมการณ์ของคนทำสื่อด้วยหรือเปล่า ในองค์กรสื่อหนึ่งๆ มันก็มีอุดมการณ์ที่หลากหลาย อย่างมติชนก็มีคนมีความเห็นทางการเมืองต่างกันอยู่ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาคนที่คุมหัวเรือมีความคิดทางไหน ความเชื่อแบบนั้นก็อาจจะถูกขับเน้นมากขึ้นเท่านั้นเอง

ถ้าพูดถึงการเมืองปัจจุบันกับสื่อ ไม่คิดถึงทุนหรือรัฐ แต่มันอยู่กับสิ่งที่อยู่ในหัวคนทำมากกว่า

มองสื่อทางเลือก รวมถึงโซเชียลมีเดียในปีที่ผ่านมาอย่างไร มติชนเองก็ดูจะให้พื้นที่กับสิ่งเหล่านี้เยอะ

สื่อพวกนี้ก็สะท้อนให้เห็นมุมมองของคนอีกแบบหนึ่งต่อประเด็นสาธารณะ ประเด็นการเมือง มันก็ทั้งสองด้านนะ เอาง่ายๆ ถ้าเราจะหาข่าวจากเฟซบุ๊คจริงๆ มันก็เป็นกระแสจริงๆ อย่างที่เขาเรียกว่า ‘สลิ่ม’ ก็มีเยอะในเฟซบุ๊ค แต่มันก็ไม่เหมือนกับตัวแหล่งข่าวหรือตัวละครหลักๆ ที่ให้สัมภาษณ์ทางทีวีหรือสื่อทั่วไป ตัวสลิ่มหรือคนชั้นกลางในอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่กับตัวแหล่งข่าวหลักๆ แม้จะมีมุมมองทางการเมืองเหมือนกัน แต่วิธีการในการเล่นกับประเด็น หรือวิธีการจัดการกับประเด็น ท่าทีต่อประเด็นก็ต่างกันอยู่ เช่น สมัยรัฐบาลประชาธิปไตย อย่างกรณ์ จาติกวณิช ถ้าในบทบาทรัฐมนตรีก็แบบหนึ่ง แต่ถ้าในเฟซบุ๊คเขาก็จะอีกแบบหนึ่ง (หัวเราะ) มันทำให้เห็นท่าทีของคนมากขึ้น หรืออีกแง่หนึ่งก็เป็นข่าวทางเลือกเลย อย่างเว็บประชาไทเอง หรือเว็บจำนวนหนึ่งที่เกิดมาใหม่ มันก็มีประเด็นข่าวกระแสนี่แหละ แต่มีมุมมองต่างออกไปที่เราจะนำมาใช้ประโยชน์ได้

เว็บไซต์มันดีอย่างตรงที่มันวัดคนดูได้ ข่าวที่มาจากแหล่งพวกนี้มันก็ได้รับการตอบรับจากคนอ่านดีเหมือนกัน คนอ่านให้ความสนใจ อย่างเช่นเรามอนิเตอร์เฟซบุ๊คอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ยังไงก็มีคนอ่านอยู่กลุ่มหนึ่งแน่ๆ มีฐานประกันอยู่ คนตามเยอะ แต่ขณะเดียวกันพวกนี้ก็แสดงให้เห็นมุมมองอีกด้านนึงด้วย ซึ่งสื่อหลักเขาก็ไม่ได้ใช้ตรงนี้มากนัก แต่ที่มติชนออนไลน์ใช้ตรงนี้เพราะรู้สึกว่ามันมีพลังในแง่การให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์การเมือง

นิวมีเดียทรงอิทธิพลมากขึ้นไหม หรืออีกแง่หนึ่งสื่อกระแสหลักมันลดอิทธิพลลงหรือเปล่า สื่อหลักยังชี้นำสังคมได้เหมือนเดิมไหม

ส่วนหนึ่งสื่อหลักอาจอิทธิพลลดลง ถ้าพูดเฉพาะในแง่คนเมือง นิวมีเดียมันทรงอิทธิพลมากขึ้น มันเชฟเข้าไปกับชีวิตคนเมืองมากขึ้น กำหนดประเด็นอะไรได้มากขึ้น และบางครั้งถ้าเราจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์อะไรบางอย่างมันก็ต้องดูสื่อออนไลน์พวกนี้ด้วยพอสมควร ถ้าจะดูสื่อกระแสหลักอย่างเดียวมันอธิบายไม่ได้ ง่ายๆ อย่างกรณีอากง เราจะสามารถเห็นคนคุยกันเรื่องอากงในที่ต่างๆ ได้ คนทั่วไปก็น่าจะอยู่รู้อยู่บ้าง แต่ในแง่หนึ่งสื่อกระแสหลักแทบไม่มีเลย ทีวีมีอยู่หน่อย มากหน่อยก็เป็นรายการตอบโจทย์ (ช่องไทยพีบีเอส) สื่อหนังสือพิมพ์แทบไม่ได้เล่นเลย ถ้ามองเฉพาะสื่อกระแสหลักเราจะเข้าใจไม่ได้เลยว่าทำไมคนตามท้องถนนมันพูดเรื่องนี้กัน กลายเป็นว่าสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค มันสามารถเชื่อมตรงนี้ได้ เชื่อรอยต่อที่หายไปได้

ซึ่งทั้งนิวมีเดียหรือรายการตอบโจทย์ที่เล่นเรื่องนี้มีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีโฆษณา

(หัวเราะ) ก็เป็นได้นะ มันเหมือนว่าไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น สามารถทำได้เลย

สื่อหนังสือพิมพ์ที่ไม่เล่นเรื่องนี้ หรือสื่อกระแสหลักทั่วไปที่ไม่เล่นเรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ต่อให้จิตวิญญาณเดียวกัน แต่ทำไมมันต่าง

คล้ายๆ สื่อแต่ละสำนักมันก็ถูกตราประทับต่างกันด้วย ไทยพีบีเอสเขาสามารถเล่นประเด็นแหลมๆ ได้โดยที่จะไม่ถูกตีความไปในทางเลยเถิดมากนัก โอเค รายการภิญโญอาจโดนสื่ออย่างผู้จัดการเล่นบ้าง แต่ในแง่สังคมโดยรวม เขาจะไม่โดนแบบทวีตหรือเฟซบุ๊คกระหน่ำว่า ภิญโญ...

ล้มเจ้า

(หัวเราะ) อะไรอย่างนั้น ถ้าเป็นสื่อสำนักอื่นมันอาจจะต่างออกไป ถ้าเป็นมติชนหรือข่าวสดเล่นประเด็นนี้จริงๆ จังๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นยังไง หรือมติชนเองก็มีกรณีเรื่องโฆษณาวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในเฟซบุ๊คมีกระแสอยู่ว่ามีคำกลอนซึ่งความหมายจะเฉลิมพระเกียรติ แต่อาจจะใช้คำผิดพลาด มันทำให้มติชนเขาก็ต้องระวังตัว นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งนอกเหนือจากพวกเรื่องโฆษณา มันเป็นเรื่องทัศนคติของคน

ปีหน้า เราจะคาดหวังกับสื่อว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ไหม เทิร์นนิ่งพ้อยท์ของสังคมไทยจะเกิดจากสื่อได้ไหม

ผมไม่แน่ใจว่าสื่อจะมีพลังพอจะเปลี่ยนสังคมหรือเปล่า หรือว่าสังคมมันเปลี่ยนแล้วสื่อถึงจะเปลี่ยนตาม (หัวเราะ) มองที่ผ่านมา สื่อก็ไม่ได้มั่นใจในตัวเองเหมือนกัน กลัวนั่นกลัวนี่ มองหน้ามองหลัง เหลียวไปรอบข้าง เพราะฉะนั้น สื่อก็ต้องการความมั่นใจ ต้องการอะไรมาสนับสนุนเหมือนกัน ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เพราะสังคมมันเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สื่อมันเลยต้องเปลี่ยนตาม แต่ถ้าสังคมอยู่นิ่งๆ แล้วจะให้สื่อเปลี่ยนก่อน ไม่แน่ใจว่าสื่อจะกล้าเปลี่ยนก่อนไหม

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 1: สำรวจสื่อกับ ปราบต์ บุนปาน

ถ้าสื่อวัดกันที่เรตติ้ง ทำไมกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ และเป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ถึงไม่สามารถชี้นำให้สื่อไปอยู่ข้างตัวเองได้ แปลว่าคนที่กำกับทิศทางสื่อไม่ใช่พลังผู้บริโภคใช่ไหม

ก็เป็นได้ คนทำสื่ออาจเป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่ง มีรสนิยมอีกแบบหนึ่ง เอาง่ายๆ ประสบการณ์ในการทำมติชนออนไลน์เองจะมีลักษณะหนึ่ง คือ จะมีคำบ่นของคนแก่กว่า คนโตกว่าว่า นักข่าวยุคนี้ไม่อ่านหนังสือ แต่ในแง่ที่เราอ่านคนอ่านเองก็ใช่ว่านักข่าว หรือผู้บริหารงานข่าวทุกคนจะอ่านออก ยิ่งโดยเฉพาะมาทำเว็บไซต์จะเห็นเลยว่ามันมีข่าวบางข่าวที่ยอดคนอ่านเยอะ ถ้าคุณทำประเด็นนี้ ขยายประเด็นนี้ต่อไปยังไงคนอ่านก็เยอะ ถ้าเขาอ่านคนอ่านไม่ออก หรืออ่านออกแต่เชื่ออีกอย่างหนึ่ง เขาก็ยังจะทำของเขาไปอีกแบบหนึ่งอยู่ดี ดังนั้น มันจึงอาจเป็นเพราะคนทำสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่แดงก็ได้ มันก็เลยไปในทางนี้ มันมีทั้งส่วนที่เขาอยากทำ กับสิ่งที่ควรทำเพื่อเซิร์ฟคนอ่านหรือสาธารณะ

แล้วที่ไปริเริ่มทำทีวี เห็นแนวโน้มอะไรในปีหน้า

อันนี้เป็นเรื่องธุรกิจ สื่อจำนวนมากก็หันมาทางนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็จะหันมาทางนี้มากขึ้น เดลินิวส์ก็มีช่องดาวเทียมของเขาแล้ว เนชั่นก็มีสามช่องแล้ว ในแง่การนำเสนอข่าวจริงๆ มันก็ยังเป็นประเด็นที่เถียงกันอยู่ ยังมีข้อท้าทายอีกว่าดาวเทียมดูมีเพดานที่สูงกว่าสื่อสิ่งพิมพ์เพราะยังไม่ใช่สื่อกระแสหลักเสียทีเดียว แต่ถ้าเทียบดาวเทียมกับเว็บอันไหนคนเข้าถึงมากกว่ากัน เว็บนี่นับยอดคนอ่านได้ แต่ดาวเทียมก็ยังไม่แน่ มีเรทของมันอยู่ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าช่องนี้จะเกิดหรือไม่เกิด เวลาทำแล้วเราจะติดรูปแบบจากฟรีทีวีมาหรือเปล่า ขึ้นกับบรรทัดฐานในการมอง อีกอย่างถ้าเป็นดาวเทียมก็ต้องมาดูเรื่องกลุ่มคนดู ผู้บริโภคอีก ถ้าเป็นดาวเทียมอาจเป็นคนต่างจังหวัดเป็นหลัก มันก็ท้าทายว่าเราจะต้องปรับตัวเองยังไง ถ้าหนังสือพิมพ์หัวสีมาทำดาวเทียมอาจจะปรับตัวได้ง่ายกว่า หรือถ้าในเครือมติชนเองตัวเนื้อหาที่รองรับกับดาวเทียมได้ดีที่สุดอาจจะเป็นข่าวสด

ถ้านึกถึงข่าวเด่นๆ ในปีที่ผ่านมา สัก 2-3 ข่าว จะนึกถึงอะไร

ถ้าดูจากยอดคนอ่านที่เด่นๆ ปีนี้ก็มีหลายระลอก ตั้งแต่สึนามิที่ญี่ปุ่น เลือกตั้งว่าจะสูงที่สุดก็ยังไม่สุด ไปๆมาๆ กลายเป็นเรื่องน้ำท่วม อาจเพราะเป็นเรื่องที่เดือดร้อนกัน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่นานๆ ครั้งจะเจอแบบนี้ มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับคนทำสื่อ มันได้เข้าถึงคนอ่านจำนวนมาก ในแง่การทำงานน้ำก็ท่วมแถวออฟฟิศด้วย ตัวคนทำงานก็มีความรู้สึกเหมือนได้แชร์กับคนอ่าน

ในแง่สื่อกระแสหลัก เรื่องน้ำท่วมมันก็ต่อเนื่องมาจากปีก่อน บทบาทของสรยุทธ์ (สุทัศนะจินดา) ก็ดูเหมือนจะมีบทบาทมากกว่ารัฐบาล รัฐบาลตอนนั้นคือรัฐบาลอภิสิทธิ์ พอในปีนี้เขาก็มีบทบาทเช่นเดียวกัน ซึ่งมันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามกันเยอะว่าสื่อควรรับบริจาคไหม ควรเอาของไปช่วยคนน้ำท่วมไหม หรือสื่อควรมีบทบาทอะไร ควรทำอะไรบ้างในสถานการณ์น้ำท่วม จะนำเสนอข่าวยังไงให้ลึกกว่าปัญหาเฉพาะน้ำท่วมที่นู่นที่นี่ยังไง ในกรณีสรยุทธเองก็เหมือนมีมูฟเม้นต์ไปอีก มีโก๊ะตี๋ มีอะไรเพิ่มเข้ามา มันก็แปลกในแง่บทบาทสื่อ หลายๆ อย่างมันก็เบลอมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ทำหน้าที่สื่อได้ไม่ดีเลยในช่วงนั้น ทั้งที่ตัวเองควรสื่อข้อมูลได้ดีกว่านี้

หรืออย่างกรณียิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) หรือพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็เป็นปรากฏการณ์ในแง่คนทำงานสื่อเหมือนกัน คือ หลังปี 49 หลังรัฐบาลสมัคร ต่อด้วยรัฐบาลสมชายที่ล้มไป คนทำสื่อกระแสหลักจะมีความคิดอยู่อย่างว่า ยังไงเสียขั้วไทยรักไทยเก่ามันก็กลับมายาก อย่างช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์มีเลือกตั้งซ่อม ในสื่อกระแสหลักประเมินว่า อีสานภูมิใจไทยต้องชนะ แต่เอาเข้าใจริงก็มีแพ้ด้วย แล้วพอเลือกตั้งสนามใหญ่มันก็เขย่าเหมือนกัน ประชาธิปัตย์เชื่อว่าเขาจะได้ 200 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 80 ที่นั่ง ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองที่เชื่อนะ แม้แต่สื่อจำนวนหนึ่งก็เชื่ออย่างนั้น เขายังมองการเลือกตั้งแบบเดิม แบบการเลือกตั้งในช่วงทศวรรษ 30 เป็นต้นมา คนลงคะแนนเสียงมันจัดการได้ ใช้เงินซื้อได้ ผมมองว่าสื่อส่วนใหญ่ยังคิดอย่างนั้นอยู่ หรือแม้กระทั่งชัยชนะของทักษิณเองทั้งสองครั้ง สื่อก็ยังมองอย่างนั้น คือ ซื้อเสียง หรือไม่ก็ถูกประชานิยมมอมเมา ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคนลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ โง่ ถูกมอมเมา และสิโรราบกับอำนาจ ถ้าสมมติอีกขั้วมีอำนาจการเมือง และสามารถระดมทุนมาได้เยอะ เขาก็ประเมินว่าเครือข่ายนั้นจะชนะ แต่ผลการเลือกตั้งออกมาก็แพ้อีก แล้วเพื่อไทยก็ชนะเกินครึ่ง ในแง่คนทำสื่อเอง ประเมินจากผมด้วย ผมเชื่อว่ายังไงเพื่อไทยก็จะชนะเยอะอยู่แล้ว แต่คนทำสื่อส่วนใหญ่มันน่าจะมีอาการ “ตื่น” นิดๆ อยู่เหมือนกัน เขาคงคาดไม่ถึงเหมือนกันว่ามันจะมาถึงจุดนี้ แต่โอเค พอเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้วมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ในแง่การบริหาร การกล้าตัดสินใจทำอะไรมันก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคาดหวัง หรือไม่ได้แหลมคม อันตราย อย่างที่ฝ่ายตรงข้ามกลัวด้วยซ้ำ

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งก็สั่นสะเทือนคนทำสื่อเหมือนกัน ว่าประชาชนมีพลังจริง แล้วมันก็โยงไปเมื่อปี 52 , 53 ด้วยกับประชาชนที่ถูกฆ่า ที่มาประท้วง

ปีใหม่ ขอเป็นคำถามเบาๆ หน่อย บุคคลหรือองค์กรดีเด่นของวงการสื่อมวลชนปีนี้ ปราปต์อยากจะให้ใคร

(หัวเราะ) ขอคิดหน่อย มันยาก

นึกนานมาก งดรางวัลก็ได้

เดี๋ยวนะ มันนึกไม่ออก เอ้อ มันอาจระบุเป็นบุคคล ก็พอได้นะ คือ มันจะมีคนทำสื่อจำนวนนึงที่มีพื้นที่เป็นเอกเทศมากขึ้น ออกมาจากองค์กรที่ตัวเองเคยอยู่ ใบตองแห้งก็ใช่ หรือที่ไม่ออกก็มี อย่างเนชั่นก็มีพี่ป้อม (นิธินันท์ ยอแสงรัตน์) ก็ออกมาเสนอความเห็นบนเฟซบุ๊คมากขึ้น ในฐานะปัจเจกบุคคล มันน่าสนใจตรงที่ช่วงปีที่ผ่านมาปรากฏการณ์นี้มันชัด

อย่างใบตองแห้ง น่าสนใจที่เขาก็ไปได้สุดทางมากกว่าตอนอยู่ไทยโพสต์หรือเปล่าเท่าที่อ่านในข้อเขียน สำหรับคนที่มีองค์กร มีสังกัดอยู่ พื้นที่อย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊คทำให้เขาหลุดจากกรอบได้ แม้จะไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันน่าสนใจ บางคนพอออกมาในฐานะปัจเจกบุคคลมันก็เห็นแง่มุมอื่นๆ มากขึ้น เปลือยเปล่ามากขึ้น เมื่อก่อนถ้าเรามองคนทำข่าวคนหนึ่งจากองค์กร มันแยกไม่ออกเหมือนกันว่าส่วนไหนคือตัวเขา ส่วนไหนคือองค์กร แต่พอพื้นที่สื่อใหม่มันเกิด คนสามารถแยกออกมาแสดงความเห็นของตัวเองมากขึ้น

อันนี้ดูน่าจะนับเป็นปรากฏการณ์มากกว่า อันแรกคือน้ำท่วม สองคือยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้ง และสามคือแกะดำในสื่อ แต่รางวัลที่จะให้ประจำปีนี้ คือใคร

ต้องดีเด่นด้วยใช่ไหม

อาจไม่ต้องดีเด่นก็ได้ แต่เป็นบุคคล หรือองค์กรแห่งปี สาขาสื่อ

อย่างกรณีสภาการฯ ก็น่าสนใจ มันก็แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์อะไรหลายอย่างในวงการสื่อ มันมารวมกันทั้งเรื่องการเมือง สะท้อนอยู่ลึกๆ ถึงควมคิดความเชื่อทางการเมืองที่มันต่างกัน อีกแง่หนึ่งก็มีการตั้งคำถามกับสื่อ จากกรณีสภาการฯ มันทำให้เห็นว่า สื่อไม่ใช่ควรจะอยู่ข้างไหนหรือไม่เท่านั้น แต่มันนำสู่ข้อถกเถียงเรื่องความเป็นกลางของสื่อคืออะไร จรรยาบรรณของสื่อคืออะไร มันทำให้สื่อต้องทบทวนตัวเองเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกลับไปที่องค์กรกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลด้วย

 

หมายเหตุประชาไท :-
กรณีสภาการหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถึงคือเรื่องการส่งอีเมลของนักการเมืองระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อ่านเพิ่มเติมได้ที่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: กระจายอำนาจ สู่การปฏิรูปรัฐชายแดนใต้ (1)

Posted: 31 Dec 2011 04:10 AM PST

ย้อนรอยถอยกลับไปดูกระบวนการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หรือการกระจายอำนาจ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอครั้งแรก ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24–26 มีนาคม 2554 อุ่นเครื่องก่อนงาน “สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

 

อานันท์ ปันยารชุน

นอกจากแต่งตั้งคณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์ ขึ้นมาจัดทำข้อเสนอเรื่องการเยียวยา และการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายฉบับ โดยพุ่งเป้าไปที่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 แล้ว

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ในฐานะองค์กรร่วมจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับสำนักงานปฏิรูป ยังได้มีคำสั่งที่ 01/2554 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2554 ลงนามโดยนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แต่งตั้งคณะทำงานจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะทำงานด้านปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ (กระจายอำนาจ)

คณะทำงานชุดนี้ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาตราจารย์ดอกเตอร์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นายมันโซร์ สาและ นายสมชาย กุลคีรีรัตนา นายอุดม ปัตนวงศ์ นายอับดุลการิม อัสมะแอ ดอกเตอร์อับดุลรอนิง สือแต นายแวรอมลี แวบูละ นายปิยะพร มณีรัตน์ นายสงวน อินทร์รักษ์ นายเมธัส อนุวัตรอุดม นายรอมฎอน ปันจอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกตอร์สุกรี หลังปูเต๊ะ

สำหรับคณะทำงานคณะทำงานด้านปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ (กระจายอำนาจ) ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ออกแบบและวางแผน การดำเนินงานเพื่อการจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ สนับสนุนข้อมูลความรู้ ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการเตรียมการและการจัดงานสมัชชาฯ ร่วมขับเคลื่อนงานตามแผนงานที่วางไว้ และเข้าร่วมการจัดสมัชชาฯ และพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อประเด็นที่รับผิดชอบ

เมื่อย้อนรอยถอยกลับไปดูกระบวนการปฏิรูปช่วงที่ผ่านพบว่า ประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หรือการกระจายอำนาจ ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอครั้งแรก ในงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24–26 มีนาคม 2554

การประชุมสมัชชาปฏิรูป ที่มีศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธานคราวนั้น มีมติออกมา 9 มติ หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 

ต่อมา วันที่ 18 เมษายน 2554 คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ก็ออกมาแถลงข่าวข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ที่เรือนไทยพันธมิตร บ้านพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร มีสาระสำคัญดังนี้

1.ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาคลงทั้งหมด โอนอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น, เศรษฐกิจท้องถิ่น, สังคมท้องถิ่น และการเมืองท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับที่ดิน ป่า น้ำ การศึกษา การวางแผนพัฒนาของท้องถิ่น รวมทั้งสามารถกำหนดอัตราภาษีบางประเภทในท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังสามารถออกกฎเกณฑ์บางประการ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจของท้องถิ่นเอง เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าว

2.สร้างกระบวนการทางการเมือง ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยเสนอให้ตั้งกรรมการประชาสังคมขึ้นในท้องถิ่นทุกระดับ เพื่อให้คำแนะนำและตรวจสอบโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่มีอำนาจเท่าสภาท้องถิ่นในการยับยั้งโครงการ แต่อาจมีมติบังคับให้นำประเด็นที่เกิดความขัดแย้งไปสู่การลงประชามติได้

3.รัฐบาลกลางยังมีภาระหน้าที่รับผิดชอบกิจการระดับชาติ เช่น การป้องกันประเทศ การจัดเก็บภาษี การกำหนดและควบคุมมาตรฐานกลางที่จำเป็น ฯลฯ แต่รัฐบาลกลางจะไม่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากที่กฎหมายให้อำนาจไว้

4.เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีกำลังในการปฏิบัติภาระหน้าที่ดังกล่าว ต้องปฏิรูประบบการคลังและการบริหารบุคลากรของท้องถิ่น โดยแต่ละท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งภาษี มีอำนาจการจัดเก็บภาษีบางประเภท รวมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง การลงทุน การกู้ยืม ตลอดจนการร่วมทุนหรือจัดตั้งกองทุนได้ด้วยตนเอง อีกทั้งจะต้องมีระบบและรูปแบบการบริหารงานบุคคลที่เหมาะสมสำหรับท้องถิ่นด้วย

แถลงการณ์ของคณะกรรมการปฏิรูปว่าด้วยแนวทางปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ระบุว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจตามทิศทางดังกล่าว ไม่ใช่การรื้อถอนอำนาจรัฐ แต่เป็นการช่วยเสริมความเข้มแข็งและลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐ ขณะเดียวกันการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น การกระจายอำนาจจากรัฐสู่ภาคประชาสังคมโดยรวม ยังช่วยลดความเหลือมล้ำในสังคม และส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติ เนื่องจากอำนาจสั่งการและผลประโยชน์ที่ส่วนกลางกุมอำนาจไว้มีปริมาณลดลง ผู้ชนะบนเวทีแข่งขันชิงอำนาจจึงไม่ได้ทุกอย่าง ทำให้ความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตาย

ฉะนั้น การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจดังกล่าว จึงนับว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองอีกวิธีหนึ่ง

กระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 คณะกรรมการปฏิรูป นำโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ผู้เป็นประธาน ได้ออกมาแถลงรายละเอียดของข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ โดยมีข้อเสนอใหญ่ๆ ออกมา 2 ประเด็นคือ การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หรือการกระจายอำนาจ

จากนั้น คณะกรรมการปฏิรูปก็ร่วมกันประกาศลาออกยกชุด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป ขณะที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน ยังคงยืนหยัดเดินหน้าผลักดันกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยมาจนถึงบัดนี้

แน่นอน ประเด็นปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หรือการกระจายอำนาจ นับเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศนี้ ส่งผลให้ประเด็นนี้ได้รับความสำคัญจากคณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปอย่างสูง

จึงไม่แปลกเมื่อมีการจัดสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 4–5 มกราคม 2555 ประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หรือการกระจายอำนาจ จึงได้รับความสำคัญสูงยิ่ง และจะสูงยิ่งเช่นนี้ ผ่านเวทีย่อยสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 200 เวที ตลอดปี 2555 นี้

ทำไมประเด็นนี้ จึงได้รับความสำคัญอย่างเป็นพิเศษ พิจารณาได้จากเนื้อหาที่ปรากฏในแถลงการณ์ของคณะกรรมการปฏิรูป เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2554 ดังต่อไปนี้

 

……………………………………..

 

เรียนพี่น้องประชาชนไทยที่รักทุกท่าน

 

ท่ามกลางความวิปริตแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะข้าวของแพงและความไม่แน่นอนของบรรยากาศทางการเมือง พวกเราทุกคนคงรู้สึกคล้ายกันคือ ชีวิตในประเทศไทยเวลานี้หาความเป็นปกติสุขมิได้

อันที่จริงการเผชิญกับความยากลำบากของชีวิตนั้น นับเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราต่างกันมากในโอกาสเอาชนะอุปสรรค คือการมีอำนาจจัดการตัวเองไม่เท่ากัน ในสภาพที่เป็นอยู่ คนไทยจำนวนมากล้วนต้องขึ้นต่ออำนาจของผู้อื่น ขณะที่คนหยิบมือเดียวไม่เพียงกำหนดตัวเองได้ หากยังมีฐานะครอบงำคนที่เหลือ

ความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนี้ ไม่เพียงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง หากยังเป็นต้นตอบ่อเกิดของปัญหาสำคัญอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นมีหลายแบบ และถูกค้ำจุนไว้ด้วยโครงสร้างทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว โครงสร้างอำนาจที่มีพลังสูงสุดและส่งผลกำหนดต่อโครงสร้างอำนาจอื่นทั้งปวงคือ โครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง

แน่ละ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์ดังกล่าว เคยมีคุณูปการใหญ่หลวงในการปกป้องแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติช่วงระยะผ่านจากสังคมจารีตสู่สมัยใหม่ อย่างไรก็ดี เราคงต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานนับศตวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้ทำให้การบริหารจัดการประเทศแบบรวมศูนย์กลับกลายเป็นเรื่องไร้ประสิทธิภาพ ในบางกรณีก็นำไปสู่การฉ้อฉล อีกทั้ง

ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สลับซับซ้อนขึ้น

ที่สำคัญคือการกระจุกตัวของอำนาจรัฐ ได้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างสุดขั้ว ระหว่างเมืองหลวงกับเมืองอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้ไม่สามารถเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้เพียงพอสำหรับประชาชน ที่นับวันยิ่งมีความหลากหลายกระจายกลุ่ม การควบคุมบ้านเมืองโดยศูนย์อำนาจที่เมืองหลวง ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั่งดูแลตัวเองไม่ได้ในบางด้าน

อำนาจรัฐที่รวมศูนย์มีส่วนทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในหลายที่หลายแห่ง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าการดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยวิธีกำหนดนโยบายจากส่วนกลางนั้น ยิ่งส่งผลให้ท้องถิ่นไร้อำนาจในการจัดการเรื่องปากท้องของตน

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมให้เลวลง ด้วยเงื่อนไขของยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดนเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ การที่รัฐไทยยังคงรวมศูนย์อำนาจบังคับบัญชาสังคมไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับมีอำนาจน้อยลงในการปกป้องสังคมไทยจากอิทธิพลข้ามชาตินั้น นับเป็นภาวะวิกฤตที่คุกคามชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นแทบจะป้องกันตนเองไม่ได้เลย เมื่อต้องเผชิญกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีทุนมากกว่า

เมื่อสังคมถูกทำให้อ่อนแอ ท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอ และประชาชนจำนวนมากถูกทำให้อ่อนแอ ปัญหาที่ป้อนกลับมายังศูนย์อำนาจ จึงมีปริมาณท่วมท้น ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ล้วนต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องที่ล้นเกิน ครั้นแก้ไขไม่สำเร็จ ทุกปัญหาก็กลายเป็นประเด็นการเมือง

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงนี้ คณะกรรมการปฏิรูปจึงขอเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการถึงระดับถอดสายบัญชาการของส่วนกลางที่มีต่อท้องถิ่นออกในหลายๆ ด้าน และเพิ่มอำนาจบริหารจัดการตนเองให้ท้องถิ่นในทุกมิติที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น จะต้องไม่ใช่การสร้างระบบรวมศูนย์อำนาจขึ้นมาในท้องถิ่นต่างๆ แทนการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง หากจะต้องเป็นเนื้อเดียวกับการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชนโดยรวม

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจมีเจตจำนงอยู่ที่การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็นองค์รวมของประชาชนทั้งประเทศ และด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องประสานประชาธิปไตยทางตรงเข้ากับประชาธิปไตยแบบตัวแทนมากขึ้น

การเพิ่มอำนาจให้ชุมชนเพื่อบริหารจัดการตนเอง ต้องเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจตั้งแต่ต้น และอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น ก็จะต้องถูกกำกับและตรวจสอบโดยประชาชนในชุมชน หรือภาคประชาสังคมในท้องถิ่นได้ในทุกขั้นตอน

ส่วนอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลนั้น แม้จะลดน้อยลงในด้านการบริหารจัดการสังคม แต่ก็ยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วนในเรื่องการป้องกันประเทศ และการต่างประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญ ในการประสานงานและอำนวยการเรื่องอื่นๆ ในระดับชาติ ดังที่ชี้แจงไว้ในข้อเสนอฉบับสมบูรณ์

คณะกรรมการปฏิรูปขอยืนยันว่า การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในทิศทางดังกล่าว มิใช่การรื้อถอนอำนาจรัฐ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีผลต่อฐานะความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย หากยังจะเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐไทย และช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐไปด้วยพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่าการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นก็ดี และการกระจายอำนาจจากรัฐสู่ภาคประชาสังคมโดยรวมก็ดี ไม่เพียงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ยังจะส่งผลอย่างสูงต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับชาติ

ทั้งนี้ เพราะมันจะทำให้อำนาจสั่งการและผลประโยชน์ที่ได้จากการกุมอำนาจในส่วนกลางมีปริมาณลดลง ผู้ชนะบนเวทีแข่งขันชิงอำนาจไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างไปหมด และความขัดแย้งก็ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเอาเป็นเอาตาย กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ แท้จริงแล้วคือการปฏิรูปการเมืองอีกวิธีหนึ่งในด้านความอยู่รอดมั่นคงของสังคม การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจยังนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้น ในการอยู่ร่วมกับกระแสโลกาภิวัตน์

ทั้งนี้ เนื่องเพราะการปล่อยให้ประชาชนในท้องถิ่นที่อ่อนแอตกอยู่ภายใต้อำนาจของตลาดเสรี โดยไม่มีกลไกป้องกันตัวใดๆ ย่อมนำไปสู่หายนะของคนส่วนใหญ่อย่างเลี่ยงไม่พ้น คณะกรรมการปฏิรูปตระหนักดีว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในระดับลึกซึ้งถึงรากไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่เราก็เชื่อว่าการปรับปรุงประเทศชาติในทิศทางข้างต้น มีความเป็นไปได้ ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่มีฉันทานุมัติว่า สิ่งนี้คือกุญแจดอกใหญ่ที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งโรจน์ของบ้านเมือง

ดังนั้น เราจึงใคร่ขอเรียนเชิญประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า สื่อมวลชนทุกแขนง ตลอดจนพรรคการเมืองทุกพรรค และกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม มาช่วยกันพิจารณาข้อเสนอชุดนี้อย่างจริงจังตั้งใจ เพื่อจะได้นำบรรยากาศสังคมไปสู่การวางจังหวะก้าวขับเคลื่อน ผลักดันให้การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจปรากฏเป็นจริง

ด้วยมิตรภาพ

คณะกรรมการปฏิรูป

18 เมษายน 2554

https://docs.google.com/viewer?a=v&q=cache:_DwDJuFzUVUJ:www.reform.or.th/sites/default/files/khesnkaarptiruupokhrngsraangamnaacch.pdf+%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88&hl=th&gl=th&pid=bl&srcid=ADGEESjyOF-k_vH4YfuU5xPL19JtcJ4yeww-U4tSUWteu5-s0N6IvlAyjvAcuQ97MI1VdL3HK9-WGJ8LtKDeevFh5YJK4pLs0KR6CFrdirtedO-MIV8vfj1mJvhON-oZVIyPYoizQD8a&sig=AHIEtbSuNkWti-MsssV7hLq_76d2a37m2w

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-31 ธ.ค. 2554

Posted: 31 Dec 2011 03:43 AM PST

ก.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,845 คน 

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ขณะนี้ (26 ธ.ค.54 ) มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้างกว่า 20,845 คน ในสถานประกอบการ 79 แห่ง เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,845 คน ซึ่งจังหวัดที่เลิกจ้างมากที่สุดคือ พระนครศรีอยุธยา เลิกจ้าง 11,983 คน ในสถานประกอบการ 42 แห่ง รองลงมาเป็นปทุมธานี 8,244 คน ในสถานประกอบการ 23 แห่ง ฉะเชิงเทรา 459 คน ในสถานประกอบการ 2 แห่ง นครปฐม เลิกจ้าง 86 คน ในสถานประกอบการ 1 แห่ง สระบุรี 31 คน ในสถานประกอบการ 1 แห่ง นนทบุรี เลิกจ้าง 29 คน ในสถานประกอบการ 9 แห่ง และกรุงเทพมหานคร เลิกจ้าง 31 คน ในสถานประกอบการ 1 แห่ง

ทั้งนี้ภาพรวมทั่วประเทศ ขณะนี้มีสถานประกอบการที่ยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2,156 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 307,945 คน ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 502 แห่ง ลูกจ้างกระทบลดลง 33,107 คน ส่งผลให้ขณะนี้มีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 26,523 แห่ง ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว 685,996 คน

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 26-12-2554)

สิ่งทอขาดแคลนแรงงานกว่า 7 หมื่นคน จี้กระทรวงแรงงานเร่งแก้ปัญหา

นายมนัส อารีย์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอประสบกำลังปัญหาขาดแคลนแรงงานประมาณ 7 หมื่นคน เนื่องจากอาชีพนี้คนไทยไม่นิยมเรียนกัน ส่งผลให้ต้องมีการจ้างแรงงานต่างด้าว แต่ถ้าเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ก็ติดเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่ง เสริมการลงทุน ดังนั้นกระทรวงแรงงานต้องประกาศให้ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมประเภทใดที่อนุญาตให้ แรงงานต่างด้าวทำบ้าง เพราะอุตสาหกรรมประเภทนี้ต้องการแรงงานระดับ 1 ปกติสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอได้มีการทำการสำรวจความต้องการแรงงานไว้อยู่แล้ว และพร้อมส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กระทรวงแรงงานนำไปประกอบการแก้ปัญหา

ด้าน นายวัชรพล บุษมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้อาชีพรักษาความปลอดภัยขาดแคลนแรงงานกว่า 4 หมื่นคน เนื่องจากความต้องการจ้างงานมีมาก แต่ด้วยเหตุผลหลายประการทำให้คนไม่นิยมทำ ทั้งความไม่เท่าเทียมทางสังคม การถูกเอาเปรียบจากผู้จ้าง หรือแม้แต่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องลดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลง ดังนั้นรัฐบาลควรสร้างค่านิยมของอาชีพนี้ใหม่ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีทางสังคม และสร้างความมั่นคงทางอาชีพ

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 26-12-2554)

 สปส.เปิดชื่อโรคแพงเฉียด 8 แสน

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(สปส.) กล่าวถึงกลุ่มโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่ง สปส.เตรียมที่จะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 ว่า แบ่งโรคเหล่านี้ได้เป็นโรคสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคไต และปอดติดเชื้อ โดยสปส.ได้ตั้งเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประกันตนตามระดับความ รุนแรงของโรคโดยคำนวณตามระดับความรุนแรงของโรคเริ่มต้นที่ระดับละ 1.5 หมื่นบาท ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของโรคในภาษาทางการแพทย์ เรียกว่า Relative Weight (RW) ทาง สปส.ได้อ้างอิงจากมาตรฐานที่วงการแพทย์สากลใช้กันอยู่ ซึ่งแต่ละโรคจะมีน้ำหนักความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไปโดยสปส.มองว่าโรคที่ รุนแรงและเข้าข่ายจะอยู่ในระดับ RW 2 ขึ้นไป
      
ทั้งนี้ โรคที่มีระดับความรุนแรงเกิน RW 2 ที่มาตรฐานสากลจัดไว้ ยกตัวอย่างเช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก อยู่ในระดับ RW 53 เมื่อนำ 1.5 หมื่น มาคูณ 53 จะคิดเป็นค่ารักษา 795,000 บาท การผ่าตัดเปลี่ยนตับ ระดับ RW 44 คิดเป็นเงิน 660,000 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ระดับ RW43 คิดเป็นเงิน 645,000 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนปอด ระดับ RW 41 คิดเป็นเงิน 615,000 บาท ผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจโดยมีหัวกรอ PTCA ระดับ RW 28.33 คิดเป็นเงิน 424,965 บาท
      
ผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจและสายสวน ระดับ RW 18.10 คิดเป็นเงิน 271,548 บาท ผ่าตัดสมองและประสบอุบัติเหตุร่างกายผ่าตัดหลายส่วน ระดับ RW 17.14 คิดเป็นเงิน 257,170 บาท ผ่าตัดท่อเลือดหัวใจ ระดับ RW 15.81 คิดเป็นเงิน 237,213 บาท โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากเส้นเลือดหลายเส้นต้องใช้หัวกรอและ สเต๊นท์ ระดับ RW 11.88 คิดเป็นเงิน 177,264 บาท
      
ผ่าตัดต่อทวารหนักระดับ RW 4.79 คิดเป็นเงิน 71,970 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนเข่า ระดับ RW 4.25 คิดเป็นเงิน 63,762 บาท ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ระดับ RW 4.17 คิดเป็นเงิน 62,614 บาท ปอดเป็นหนอง ระดับ RW 4 คิดเป็นเงิน 60,000 บาท อุบัติเหตุได้รับการผ่าตัดสมองไม่มีโรคแทรกซ้อน ระดับ RW 3.98 คิดเป็นเงิน 59,776 บาท โรคของลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และได้รับการผ่าตัด ระดับ RW 3.88 คิดเป็นเงิน 58,297 บาท ผ่าตัดไส้ติ่งและมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง ระดับ RW 3.77 คิดเป็นเงิน 56,553 บาท
      
ปอดทะลุลมออกในช่องทรวงอก ระดับ RW 3.6 คิดเป็นเงิน 54,000 บาท โรคหูน้ำหนวกได้รับการผ่าตัดกระดูกและแก้ไขหูชั้นใน ระดับ RW 3.6 คิดเป็นเงิน 54,000 บาท โรคหูคอจมูกและได้รับการผ่าตัดใหญ่ ระดับ RW 3.51 คิดเป็นเงิน 52,741 บาท เนื้องอกในทางเดินหายใจ ระดับ RW 3.3 คิดเป็นเงิน 49,500 บาท
      
มะเร็งระบบประสาทได้รับเคมีบำบัดไม่มีโรคแทรกซ้อน ระดับ RW 3.28 คิดเป็นเงิน 49,219 บาท หนองในช่องอก ระดับ RW 3.08 คิดเป็นเงิน 46,252 บาท กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและฉีดยาสลายลิ่มเลือด ระดับ RW 2.90 คิดเป็นเงิน 43,506 บาท สวนหัวใจและฉีดสี ระดับ RW 2.45 คิดเป็นเงิน 36,780 บาท ส่องกล้องผ่าตัดถุงน้ำดี ระดับ RW 2.45 คิดเป็นเงิน 36,757 บาท ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ และต้องตัดหรือจี้เพื่อรักษาในส่วนที่ยุ่งยาก ระดับ RW 2.33 คิดเป็นเงิน 35,053 บาท โรคจอประสาทตาและได้รับการผ่าตัด ระดับ RW 2.13 คิดเป็นเงิน 32,044 บาท
      
นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า กรณีผู้ป่วยจะใช้บริการรักษาโรคร้ายแรงตามระบบใหม่ควรสอบถามแพทย์ว่าป่วย เป็นโรคอะไรและอยู่ในระดับ RW เท่าไหร่ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเลือกรักษาพยาบาลโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ หรือโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ผู้ประกันตนมั่นใจ ทั้งนี้ ถือเป็นข้อดีของระบบนี้ที่ผู้ป่วยสามารถเลือกโรงพยาบาลได้อย่างเสรี ซึ่ง สปส.จะตามไปจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนในทุกโรงพยาบาลโดยหากเป็นโรงพยาบาลอยู่ใน เครือข่ายประกันสังคม ก็จะเคลมได้ทันที แต่ถ้าผู้ประกันตนเลือกไปรักษาในโรงพยาบาลอื่นๆ นอกเครือข่ายประกันสังคม จะต้องทำความเข้าใจหากมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้นมา ทางผู้ประกันตนก็ต้องเป็นผู้จ่ายค่าส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นเอง
      
ส่วนกรณีที่เกรงว่าโรงพยาบาลเอกชนจะปกปิดข้อมูลการรักษาและอาการป่วยของ ผู้ประกันตนเพื่อยื้อผู้ป่วยไว้รักษาเองนั้น นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า หากตรวจสอบกรณีดังกล่าวโรงพยาบาลเอกชนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะเดียวกัน สปส.จะมีการตรวจประเมินเวชระเบียนอย่างเข้มข้นโดยจัดจ้างที่ปรึกษาทางการ แพทย์เพิ่มขึ้นจาก 8 คนเป็น 14 คน และจ้างที่ปรึกษาทางการพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 6 คน เป็น 13 คน ตลอดจนประสานกับหน่วยงานตรวจสอบโรงพยาบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (สปสช.) และกรมบัญชีกลางเพื่อตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของโรงพยาบาลเพื่อให้มี ประสิทธิภาพสูงสุด
      
นอกจากนี้ กรณีที่ สปส.พบว่า มีการเบิกจ่ายไม่ตรงกับความเป็นจริง ทาง สปส.ก็มีมาตรการเรียกเงินคืนและตักเตือนโรงพยาบาลที่กระทำผิด อีกทั้งจะมีการประเมินผลการดำเนินการโดยออกแบบสำรวจความพึงพอใจผู้ประกันตน และเก็บรวบรวมสถิติการร้องเรียนเปรียบเทียบระหว่างปี 2554 กับปี 2555

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-12-2554)

 ธปท. ลงพื้นที่สำรวจนิคมฯ ระบุ รัฐต้องเร่งบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความคิด เห็นและพูดคุยกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเขตอุตสาหกรรมนวนคร ว่า สิ่งที่ภาครัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนซึ่งจะมีผลต่อการเร่งฟื้นฟูและการลงทุน ใหม่ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งผลักดันโดยสร้างความชัดเจนด้านนโยบายการบริหารจัดการ น้ำให้แล้วเสร็จและมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่เอกชนพิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้ม ค่า

โดยผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม ยืนยันที่จะสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังคงมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันยังมีน้ำค้างทุ่งเป็นจำนวนมากทำให้การระบายน้ำจากเขื่อน ด้านบนยังทำได้ไม่เต็มที่ประกอบกับมีคำเตือนจากกรมชลประทานว่า ปี 2555 น้ำอาจมากกว่าปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวล นอกจากนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงยืนยันที่จะตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งยังคงรอดูนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจจะมีการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในต่างประเทศ อาทิ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้จะมีผู้ประกอบการบางรายเลิกจ้างแรงงานไปบางส่วนแล้ว แต่คาดว่าแรงงานจะสามารถหางานได้ไม่ยากนัก เนื่องจากภาพรวมของภาคแรงงานยังอยู่ในระดับตึงตัว

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 29-12-2554)

พบแรงงานถูกเลิกจ้างจากอุทกภัยแล้ว 25,289 คน

30 ธ.ค. 54 - นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้(30 ธค)มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้างกว่า 25,289 คน ในสถานประกอบการ 88 แห่ง เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 4,444 คน ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สระบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ มีแรงงานสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ไปทำงานในสถานประกอบการที่ไม่ประสบอุทกภัยชั่วคราวและถาวร 13,241 คน ในสถานประกอบการ 109 แห่ง มีสถานประกอบการต้องการคนงาน647 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างรองรับ 78,318 อัตรา หากลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหรือสถานประกอบการใดสนใจส่งลูกจ้างไปทำงาน ติดต่อได้ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1546

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 30-12-2554)

 บ.โฮยายันลอยแพลูกจ้าง 1,606 คน

31 ธ.ค. 54 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายวชิระ ศรีบัวชุม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด ตั้งอยู่ในการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ(กนอ.)หมู่ 4 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน ประกาศเลิกจ้างพนักงานโรงงาน 2 จำนวน 1,606 คน มีผลบังคับวันที่ 31 ม.ค.2555. จากเดิมที่เข้าใจว่าเป็นวันที่ 31 ธ.ค.2554 สาเหตุเกิดจากน้ำท่วมในภาคกลาง และยอดการผลิตลด ยอดการสั่งซื้อลดด้วยเช่นกัน ซึ่งจากผลประกาศดังกล่าวส่งผลให้พนักงานทั้งหมดต้องถูกเลิกจ้างทันที

สำหรับปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการนำผู้บริหาร พร้อมส่วนราชการ และสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ล้วนแล้วแต่มีสมาชิก ที่มาจากพนักงาน โฮยาฯ เป็นส่วนใหญ่มาประชุมหารือเพื่อกำหนดทางออก ตลอดจนแนวทางการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ด้วยการเจรจราในรูปแบบไตรภาคี แต่ละครั้งจะมีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ สำเร็จและไม่สำเร็จ ซึ่งต้องใช้เวลา ในส่วนของนายจ้างยอมรับว่ามีปัญหาจริงแต่พร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แรงงานทุกอย่าง ขณะที่แรงงานต้องการให้บริษัทฯยกเลิกประกาศการเลิกจ้าง ให้มาทำงานได้ตามปกติ แต่ก็ไร้ผล

ล่าสุด วันนี้ตนได้รับการยืนยันจากผู้บริหาร บริษัทโฮยาฯ ว่า ทางบริษัทไม่สามารถที่จะทำตามความต้องการของพนักงานเหล่านี้ได้ ประกอบกับทางบริษัทได้มีโครงการลาออกเพื่อพนักงานรับเงินชดเชยส่วนที่จะต้อง ได้เพิ่มนอกเหนือจากเงินเดือน 75 เปอร์เซนต์ อีกทั้งเป็นการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ปรากฎว่าจากเดิมที่มีพนักงานประสงค์เข้าร่วมโครงการไม่กี่คน แต่ ณ เวลานี้มีพนักงานเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 1,400 คน จะเหลือเพียงแค่ 100 กว่าคนยังคงยืนกรานจะไม่เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม พนักงานที่ถูกเลิกจ้างในวันนี้ทั้งหมด จะได้รับเงินและเงินชดเชย สำหรับพนักงานที่จะได้รับพิจารณาให้ก่อนคือพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์เพราะ เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทั้งก่อนและหลังคลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิคส์ ฯ โดยนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานฯ ระบุว่าจะมีการประชุมใหญ่เพื่อระดมรายชื่อผู้ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการลา ออกเพิ่ม และการกำหนดการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ในวันที่ 9 ม.ค. ที่วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน ที่เป็นเช่นนี้เพราะช่วงนี้เป็นวันหยุดปีใหม่ กรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงานฯต้องเดินทางกลับจากต่างจังหวัด ตลอดเดือนมกราคม พนักงานจะเข้าทำงานไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พนักงาน 1,606 คนจะต้องเป็นคนตกงานทันที

(เนชั่นทันข่าว, 12-31-2554)

แรงงานขยายโครงการจ่าย 2 พันชะลอเลิกจ้าง

นายอาทิตย์  อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานในปีหน้า ว่า ภาพรวมของสถานการณ์ยังคงอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าในช่วงประมาณปลายเดือนมกราคมปี55 ตัวเลขการเลิกจ้างของผู้ใช้แรงงานอันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยจะเริ่มชัดเจน ขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ก็ยังเชื่อว่าการเลิกจ้างจะไม่สูงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากขณะนี้มีสถานประกอบการที่เปิดกิจการแล้ว 27,225แห่ง ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน 753,652 คน โดยยังเหลือสถานประกอบการอีก1,454 แห่งเท่านั้นที่ยังเปิดกิจการไม่ได้ ซึ่งคิดเป็นลูกจ้างจำนวน 240,292 คนที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน จากยอดสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 28,679 แห่ง ในจำนวนแรงงาน 993,944 คน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทั้งหมด
 
ทั้งนี้ ในจำนวนสถานประกอบกิจการที่ยังไม่เปิดดำเนินกิจการจำนวน1,033แห่ง ได้สมัครเข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง ที่รัฐบาลช่วยจ่าย2,000บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งจะส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 257,303 คนไม่ถูกเลิกจ้าง ขณะที่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้สมัครเข้าร่วมโครงการครอบคลุมแรงงานประมาณ 3 หมื่นคน ก็เชื่อว่าจะสามารถดูแลไม่ให้มีการเลิกจ้างแรงงานทั้งหมดได้
 
นายอาทิตย์ กล่าวว่า อยากให้ลูกจ้างช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น เนื่องจากวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นมันขยายวงกว้างจนเจ้าหน้าอาจจะเข้าไปดูแลไม่ ทั่วถึง เพราะฉะนั้น หากตัวลูกจ้างเองที่ไม่แน่ใจว่านายจ้างจะจ้างต่อหรือไม่ หรือยังไม่ชัดเจนสถานะของตัวเองขอให้รีบติดต่อมายังกสร.หรือที่สวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานจังหวัดในพื้นที่ของตนเองก็ได้ เพื่อจะได้เข้าช่วยเหลือได้รวดเร็วและตรงจุด
 
ทั้งนี้ กระทรวงได้เตรียมแผนตั้งรับกรณีหากเกิดสถานการณ์เลิกจ้างหลังปีใหม่ โดยเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เพื่อขอขยายโครงการบรรเทาการเลิกจ้างออกไปอีกในเฟสที่2 เนื่องจากในเฟสแรกมีระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่พฤศจิกายน54และจะสิ้นสุดในเดือนมกราคม 55นั้น
 
โดยเฟส2จะใช้งบประมาณที่เหลือจากเฟสแรกที่ได้รับอนุมัติวงเงิน1.8พัน ล้าน และได้โอนเงินก้อนแรกจำนวน 600 ล้านบาทผ่านธนาคารออมสินไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้ไม่หมด เนื่องจากมีสถานประกอบการที่ฟื้นตัวได้เร็วและเปิดดำเนินกิจการไปก่อน โครงการหมดเขต
 
จึงมีแนวคิดว่างบส่วนที่เหลือนำไปต่อยอดโครงการบรรเทาเลิกจ้างซึ่งอาจจะ มีสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบมาก ยังฟื้นตัวไม่ได้ทันโครงการเฟสแรก ส่วนรูปแบบการช่วยเหลืออาจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเป็นรายๆ ซึ่งต้องการรือในรายละเอียดอีกครั้ง
 
นายอาทิตย์  กล่าวอีกว่า จากข้อมูลล่าสุด ณ วันนี้30 ธ.ค.54 มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้างแล้ว 25,289 คน ในสถานประกอบการ 88 แห่ง เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 4,444 คน  ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สระบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
 
ขณะที่แรงงานสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยการย้ายไปทำงานในสถานประกอบการที่ไม่ประสบอุทกภัยชั่วคราว จำนวน 13,241 คน ในสถานประกอบการ 109 แห่ง ซึ่งมีสถานประกอบการที่เปิดรับคนงานไปทำงาน จำนวน 647 แห่ง ในตำแหน่งงานว่างรองรับ 78,318 อัตรา

(กรุงเทพธุรกิจ, 31-12-2554)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่หวั่นเขื่อนแตก แห่เคาท์ดาวน์ จ.ตาก คึกคัก ด้าน ส.อบจ. แจ้งจับพ่อ "ด.ช.ปลาบู่"

Posted: 31 Dec 2011 02:52 AM PST

 นักท่องเที่ยวนับหมื่นร่วมงานเคาท์ดาวน์‎เขื่อนภูมิพล รมว.ไอซีที ตรวจเขื่อนโต้คำทำนาย ด้าน ส.อบจ.ตาก แจ้งจับพ่อ "ด.ช.ปลาบู่" ข้อหาเล่าความเท็จทำให้ประชาชนชาวเมืองตากได้รับความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
 
หลั่งไหลเที่ยวเขื่อนภูมิพลนับหมื่นร่วมงานเคาท์ดาวน์
 
31 ธ.ค. 54 - สำนักข่าวไทยรายงานบรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก คึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสถานที่ถูกทำนายของเด็กชายปลาบู่ว่าเขื่อนจะแตกในวันปีใหม่ ปรากฏว่าตลอดทั้งวันมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องนับหมื่นคน เพื่อร่วมกิจกรรมเคาท์ดาวน์ที่เขื่อนภูมิพลร่วมกับจังหวัดตากและองค์การบริหารส่วนจังหวัดร่วมกันจัดขึ้นบริเวณสันเขื่อน โดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา 19.30 น. วันนี้  พร้อมการแสดงระบำเกลียวเชือกของชาวปากะญอ  การละเล่นพื้นบ้าน และอื่น ๆ รวมทั้งจับสลากรางวัลกว่า 50 รางวัล
 
รมว.ไอซีทีตรวจเขื่อนภูมิพล-สจ.แจ้งจับพ่อ "เด็กชายปลาบู่"
 
ด้านข่าวสดรายงานว่าช่วงเช้าที่ผ่านมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมคณะนักวิชาการ-วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการกระทรวงไอซีทียกคณะเดินทางมายังบริเวณสันเขื่อนภูมิพล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.สามเงา จ.ตาก เพื่อดูความพร้อมและมาร่วมสยบข่าวลือคำทำนายของ "เด็กชายปลาบู่" ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต โดยอ้างว่าเขื่อนภูมิพลจะแตกในวันที่ 31 ธันวาคม 2554
 
ขณะเดียวกัน นายสงคราม มนัสสา ส.อบจ.ตาก.เขต 4 อ.เมืองตาก เข้าแจ้งความกับร.ต.ท.ชัยวัฒน์ พริ้งสกุล ร้อยเวร สภ.เมือง จ.ตาก ให้ดำเนินคดีกับนายทองใบ คำสี อายุ 73 ปี 234/1 ม.1 บ้านตามูล ต.ทรายขาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ในข้อหาเล่าความเท็จทำให้ประชาชนชาวเมืองตาก ได้รับความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
 
นายสงคราม ให้การว่า นายทองใบให้สัมภาษณ์เผยแพร่ทางสื่ออินเตอร์เน็ตถึงเรื่องราวคำทำนายของเด็กชายปลาปู่ ลูกชายที่เสียชีวิตไปแล้วกว่า 38 ปี บอกเล่าเรื่องเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก จะพังเพราะแรงแผ่นดินไหว จากนั้นกระแสข่าวนี้ก็ร่ำลือกันอย่างหนักในโลกอินเตอร์เน็ต เป็นเหตุให้ประชาชนชาวจังหวัดตากได้รับ รับความเสียหายและตื่นตระหนกตกใจ ที่สำคัญทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดเสียหายมาก ด้านร.ต.ท.ชัยวัฒน์บันทึกปากคำไว้เป็นหลักฐาน และเรียกนายสงครามมาให้ปากคำอีกครั้งในวันที่ 2 ม.ค.2555 หากเขื่อนไม่แตกจริงเหมือนคำทำนายด.ช.ปลาบู่
 
วันเดียวกัน  ที่สำนักสงฆ์ลับแล ต.ทรายขาว  อ.สอยดาว  จ.จันทบุรี นายทองใบ  คำสี อายุ 73 ปี เผยกรณีบุตรชาย ชื่อ ด.ช.ปลาบู่  ได้เสียชีวิตมาแล้ว 37 ปี แต่ด.ช.ปลาบู่ ได้ทำนายทายทักชะตาเมืองไทยและต่างประเทศเอาไว้เมื่อ 37 ปี มาแล้วอ้างบอกว่า ระลึกชาติได้ และมีผู้ไม่หวังดี นำไปลงในเน็ตว่าเขื่อนจะแตกในคืนวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ตนเองไม่ได้พูดอย่างนี้ มีบุคคลบางคนนำเอาไปลงเน็ตเกินความจริงเกินไป ที่ปลาบู่ ลูกชายพูดกับตนเมื่อ 37 ปีมานั้น ยังไม่รู้ว่า จะเป็น ตรุษฝรั่ง ตรุษจีน หรือปีใหม่ไทย วันสงกรานต์ ที่บอกว่าเป็นคืนวันที่ 31 ธ.ค. นี้ นั้นตนเองไม่ได้พูดอย่างนี้ ขอให้ทุกคนทราบไว้ด้วย อย่าตกใจ
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บ.โฮยายันลอยแพลูกจ้าง 1,606 คน

Posted: 31 Dec 2011 02:06 AM PST

ด้านสหภาพฯ เตรียมระดมรายชื่อผู้ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการลาออกเพิ่ม และการกำหนดการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง

31 ธ.ค. 54 - เนชั่นทันข่าวรายงานว่านายวชิระ ศรีบัวชุม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด ตั้งอยู่ในการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (กนอ.)หมู่ 4 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน ประกาศเลิกจ้างพนักงานโรงงาน 2 จำนวน 1,606 คน มีผลบังคับวันที่ 31 ม.ค.2555 จากเดิมที่เข้าใจว่าเป็นวันที่ 31 ธ.ค.2554 สาเหตุเกิดจากน้ำท่วมในภาคกลาง และยอดการผลิตลด ยอดการสั่งซื้อลดด้วยเช่นกัน ซึ่งจากผลประกาศดังกล่าวส่งผลให้พนักงานทั้งหมดต้องถูกเลิกจ้างทันที

สำหรับปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการนำผู้บริหาร พร้อมส่วนราชการ และสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ล้วนแล้วแต่มีสมาชิกที่มาจากพนักงาน โฮยาฯ เป็นส่วนใหญ่มาประชุมหารือเพื่อกำหนดทางออก ตลอดจนแนวทางการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ด้วยการเจรจาในรูปแบบไตรภาคี แต่ละครั้งจะมีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ สำเร็จและไม่สำเร็จ ซึ่งต้องใช้เวลา ในส่วนของนายจ้างยอมรับว่ามีปัญหาจริงแต่พร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง ขณะที่แรงงานต้องการให้บริษัทฯยกเลิกประกาศการเลิกจ้าง ให้มาทำงานได้ตามปกติ แต่ก็ไร้ผล

ล่าสุด วันนี้ตนได้รับการยืนยันจากผู้บริหาร บริษัทโฮยาฯ ว่า ทางบริษัทไม่สามารถที่จะทำตามความต้องการของพนักงานเหล่านี้ได้ ประกอบกับทางบริษัทได้มีโครงการลาออกเพื่อพนักงานรับเงินชดเชยส่วนที่จะต้องได้เพิ่มนอกเหนือจากเงินเดือน 75 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเป็นการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ปรากฏว่าจากเดิมที่มีพนักงานประสงค์เข้าร่วมโครงการไม่กี่คน แต่ ณ เวลานี้มีพนักงานเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 1,400 คน จะเหลือเพียงแค่ 100 กว่าคนยังคงยืนกรานจะไม่เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม พนักงานที่ถูกเลิกจ้างในวันนี้ทั้งหมด จะได้รับเงินและเงินชดเชย สำหรับพนักงานที่จะได้รับพิจารณาให้ก่อนคือพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทั้งก่อนและหลังคลอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิคส์ ฯ โดยนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานฯ ระบุว่าจะมีการประชุมใหญ่เพื่อระดมรายชื่อผู้ไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการลาออกเพิ่ม และการกำหนดการให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ในวันที่ 9 ม.ค. ที่วัดพระยืน ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน ที่เป็นเช่นนี้เพราะช่วงนี้เป็นวันหยุดปีใหม่ กรรมการ และสมาชิกสหภาพแรงงานฯต้องเดินทางกลับจากต่างจังหวัด ตลอดเดือนมกราคม พนักงานจะเข้าทำงานไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พนักงาน 1,606 คนจะต้องเป็นคนตกงานทันที

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:

สหภาพโฮยา ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง ยืนยันเรียกร้องความเป็นธรรมจนถึงที่สุด
โฮยายังยันเลิกจ้าง สหภาพฯ หวัง กมธ.แรงงานตัวกลางขึ้นโต๊ะเจรจาอีก
คนงานโฮย่าจี้ผู้ว่าลำพูนช่วยเหลือ
โฮย่าเจรจานัดแรก ยังไม่ได้ข้อตกลง
สหภาพฯ โฮย่ายื่นหนังสือถึงนายกผ่าน กมธ.แรงงาน 
สหภาพแรงงานแรงงานโฮย่าร้องสำนักงานสวัสดิการฯ ลำพูน 
โฮย่าลำพูน ประกาศเลิกจ้างคนงานหลังใช้ ม.75

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซึ่งเป็นของราษฎร

Posted: 31 Dec 2011 01:49 AM PST

ล้างโคลนตมในดวงตา

มองข้างหน้า แล้วมองข้างหลัง

เก็บทิ้งเศษซากผุพัง,

สิ่งเก่านั้นย่อมนำไปสู่สิ่งใหม่ -

เผยสู่ประชาธิปไตยวิถี,

จาก 24 มิถุนา ถึงวันนี้

การอภิวัฒน์มีเพียงหนึ่งเดียวฯ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

2 วันแรกของ 7 วันอันตราย เสียชีวิต 94 ศพ บาดเจ็บ 1,051 คน

Posted: 31 Dec 2011 01:32 AM PST

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธ.ค.54 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย พบว่า มีสถิติเกิดอุบัติเหตุ 547 ครั้ง เสียชีวิต 58 คน ผู้บาดเจ็บ 578 คน

ส่วนยอดสะสมในช่วง 2 วันแรก(29-30 ธ.ค.) พบว่าเกิดอุบัติเหตุรวม 955 ครั้ง ลดลงจากปีก่อน 5.63% มีผู้เสียชีวิตรวม 94 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18.99% ผู้บาดเจ็บรวม 1,051 คน ลดลงจากปีก่อน 4.02% โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครปฐม พระนครศรีอยุธยา (6 คน) ส่วนจังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ รวม 4 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, ชัยภูมิ, ตราด และหนองคาย

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา รองลงมา ขับรถเร็วเกินกำหนด โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถปิกอัพ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือช่วงเวลา 16.01- 20.00 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เยียวยาเหยื่อไฟใต้ สู่กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ (2)

Posted: 31 Dec 2011 01:25 AM PST

เวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ต้นปีหน้า เสนอการเยียวยามีหลายมิติ ไม่ใช่แค่ด้วยเงินเท่านั้น และต้องนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดมาลงโทษด้วย 

 

ลม้าย มานะการ

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ

เวทีสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ระหว่างวันที่ 4–5 มกราคม 2554 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำหนดเปิดฉากวันแรกของงาน ด้วยการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายใน 2 ประเด็นย่อย ด้านยุติธรรมสมานฉันท์

ประเด็นแรก ว่าด้วยเรื่องกระบวนการเยียวยา

ประเด็นที่สอง ว่าด้วยเรื่องการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลากหลายฉบับ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548

เพื่อความคมชัดของข้อเสนอ ในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2554 นางสาวลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ กับนายนายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดสงขลา 2 ตัวแทนคณะทำงานจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านยุติธรรมสมานฉันท์ ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่รับผิดชอบจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย จะประมวลรายละเอียดมานำเสนอให้คณะทำงานจัดงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านยุติธรรมสมานฉันท์ พิจารณาเป็นครั้งสุดท้าย

สำหรับประเด็นเยียวยานั้น นางสาวลม้าย มานะการ บอกว่า เตรียมนำเสนอข้อมูลการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งของภาครัฐและภาคประชาสังคม โดยจะเน้นข้อมูลการเยียวยาของภาคประชาสังคมเป็นด้านหลัก

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นางสาวลม้าย มานะการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก

หนึ่ง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548

สอง กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สาม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ไม่ได้รับการดูแลจากการกลไกการเยียวยาภาครัฐ

กลุ่มที่จะเน้นเป็นพิเศษคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับต่างๆ

เนื้อหาที่จะนำมาจัดเตรียมทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย มีทั้งสถิติการสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ข้อมูลส่วนนี้ได้มาจากองค์ที่ทำหน้าที่รวบรวมสถิติการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถิติคดีจากพนักงานอัยการ และปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาล เป็นต้น

เนื่องจากแหล่งข้อมูลมาจากหลายภาคส่วน คณะทำงานด้านยุติธรรมสมานฉันท์ จึงต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาย่อย จากนั้นประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ควรจะดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร แล้วนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

ถึงกระนั้นผู้เข้าร่วมเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ยังสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมข้อเสนอดังกล่าวได้

ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้มา นอกจากจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธานแล้ว ยังจะเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วย

ถึงเวลานี้ นางสาวลม้าย มานะการ แย้มให้ฟังว่า ประเด็นสำคัญที่คณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์สนใจเป็นพิเศษคือ กรณีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ อันเป็นผลมาจากเงื่อนไขที่กำหนดมาจาก “คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือกยต.

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น นางสาวลม้าย มานะการ ยกตัวอย่างกรณีประชาชนถูกทำร้ายในพื้นที่ที่อยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าสาเหตุที่ถูกทำร้ายมาจากความขัดแย้งส่วนตัว ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว หรือเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ก็จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ถูกทำร้ายด้วยสาเหตุส่วนตัว จะไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ ซึ่งคณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์มองว่าไม่เป็นธรรม จึงต้องการให้รัฐรับบุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการเยียวยาด้วย

อีกกรณีก็คือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นกลุ่มที่คณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์เห็นว่า เป็นกลุ่มที่ไม่ควรได้รับการเยียวยา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ก็ไม่ควรได้รับการเยียวยาอย่างยิ่ง

ในส่วนของประเด็นการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นางสาวลม้าย มานะการ เปิดเผยว่า ทั้งข้อมูลที่ได้จากงานวิจัย และข้อมูลที่ได้จากภาครัฐมีความแตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดคือ กรณีการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ขณะที่ข้อมูลจากงานวิจัยของนักวิชาการจะออกมาเป็นเชิงข้อเสนอมากกว่า ไม่ได้ระบุออกมาชัดเจนว่า ต้องการหรือไม่ต้องการให้บังคับใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“นักวิชาการส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็งของการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 จุดอ่อนคือ การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ทำให้จ้าหน้าที่มีอำนาจไม่จำกัด ส่งผลให้ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย และผลการศึกษาโดยศูนย์ทนายความมุสลิมก็รายงานผลชัดว่า เกิดการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในระหว่างกระบวนการกักตัวเพื่อสอบถามข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ส่วนข้อเสนอจากนักวิชาการ จะเป็นข้อเสนอกลางๆ ที่มีทั้งแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็งของการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจุดอ่อนที่ระบุคือ การใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างไม่จำกัด ส่งผลให้เกิดการละเมิดได้ง่าย ส่วนจุดแข็งคือ ลดความยุ่งยากในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นและควบคุมผู้กระทำผิด

ขณะที่หน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่จะออกมาชัดเจนว่า ต้องการให้นำพระราชกำหนดฉบับนี้มาบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะหน่วยงานตำรวจและทหาร

อันเป็นคำตอบที่แตกต่างไปจากความเห็นของภาคประชาสังคมที่ระบุชัดเจนว่า กฎหมายความมั่นคงหลากหลายฉบับที่นำมาบังคับใช้ เป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้ชัดเจนจากผลการศึกษาของศูนย์ทนายความมุสลิมที่ระบุว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

ข้อเสนอจึงออกมาชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 อีกต่อไป

ในขณะที่นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในคณะทำงานยุติธรรมสมานฉันท์ ที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำข้อเสนอประเด็นการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลากหลายฉบับ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 บอกว่า จัดทำข้อเสนอประเด็นนี้ร่วมกับนายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานศูน์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม 

ทนายความทั้ง 3 ทำหน้าที่รวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงจากทุกภาคส่วน รวมทั้งรายงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด จากนั้นนำมาย่อยจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความมุสลิม จะเน้นไปที่ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายไปละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง โดยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548 ระบุไว้ด้วยว่า ไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำการละเมิดประชาชนได้

นอกจากนี้ 3 ทนายความชุดนี้ ยังได้รวบรวมข้อเสนอจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงมุมมองของชาวบ้านต่อการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548

เสียงสะท้อนจากประชาชนแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงหลากหลายฉบับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง

“ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความมุสลิมมักจะได้รับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายไปเชิญตัวนำมาควบคุม เพื่อสอบถามข้อมูล ในระหว่างถูกควบคุมตัวมักจะถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ หรือให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่” เป็นคำบอกเล่าจากนายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ

ผลก็คือชาวบ้านที่ที่ถูกซ้อมให้รับสารภาพ จะถูกตั้งข้อหา นำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ละคนจะถูกกักขังเป็นเวลานานหลายปี กว่าจะสิ้นสุดกระบวนการในชั้นศาล

แน่นอน ส่วนใหญ่จะถูกยกฟ้องเพราะขาดพยานหลักฐาน

กรณีเช่นนี้ภาคประชาสังคมมองว่า เข้าข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ อันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม จึงสมควรได้รับการเยียวยา ทว่า ภาครัฐกลับไม่ยอมเยียวยาบุคคลกลุ่มนี้

“เนื่องจากการเยียวยามีหลายมิติ ไม่ใช่เพียงชดใช้ชดเชยด้วยเงินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดมาลงโทษด้วย เราจึงต้องการให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง ด้วยการนำเจ้าหน้าที่กระทำการละเมิดสิทธิผู้ถูกควบคุมตัวมาลงโทษตามกฎหมาย” นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ กล่าว

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลและข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะถูกนำเสนอบนเวทีสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ในวันที่ 4 มกราคม 2555 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฤษณะ ฉายากุล: มาตรฐานธุรกิจนำเที่ยว

Posted: 31 Dec 2011 01:06 AM PST

การท่องเที่ยวนับเป็นกิจกรรมที่ทำรายได้เข้าประเทศในอัตราที่สูงที่สุดกว่ารายได้อื่นใด และนับวันมีแต่จะเพิ่มทวีคูณขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และการมีค่ามาตรฐานของธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากลนั้นด้วย
 
กฎหมายธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 ได้มีกฎกระทรวงที่กำหนดมาตรฐานของการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งได้บังคับใช้เรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อมีกฎหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 ที่ได้ยกเลิกกฎหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 ทั้งฉบับ แต่บทเฉพาะกาลมาตรา 102 ได้กำหนดให้นำกฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือระเบียบ ของปี พ.ศ.2535 มาใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ไม่เกินกว่าสองปีนับแต่วันประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกษา
 
เวลาตามบทเฉพาะกาลมาตรา 102 ที่ให้ใช้กฎกระทรวงของปี พ.ศ. 2535 ไม่เกินกว่าสองปีนั้นครบกำหนดแล้วตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553 นับเวลามาถึงวันนี้กว่า 1 ปี 8 เดือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่มีหน้าที่รับผิดชอบรักษาการตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว มาจนเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ยังทำหน้าที่เดิมนี้อยู่ จะได้ทราบหรือไม่ว่า ภาระหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องประกาศใช้กฎกระทรวงท้ายกฎหมายให้มาตรฐานในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ มีค่ามาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศที่เป็นคู่ค้าร่วมกันอยู่ รวมทั้งการกำหนดหลักประกันในการคุ้มครองนักท่องเที่ยวให้เป็นที่เชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวว่าประเทศไทยมีมาตรฐานการคุ้มครองกับนักท่องเที่ยวที่ครบถ้วนสมบูรณ์ บัดนี้ไม่มีกฎกระทรวงที่จะใช้บังคับได้ตามกฎหมายมานานกว่า 1 ปี 8 เดือนแล้ว
 
น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า หากเกิดเหตุพิพาทเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่จำเป็นจะต้องฟ้องร้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎกระทรวงตามกฎหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 แล้ว จะปรับใช้กฎหมายกันอย่างไร และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งนั้น กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์บังคับให้ธุรกิจนำเที่ยวทั้งหลาย และมัคคุเทศก์จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎกระทรวงกำหนด นอกจากนั้นกฎหมายยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้นำเที่ยว ซึ่งหมายถึงผู้รับผิดชอบในการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งในรายละเอียดของกฎหมายมาตรา 64 ได้กำหนดข้อความไว้ว่า ผู้ใดประสงค์จะเป็นผู้นำเที่ยวต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเที่ยวไว้กับสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงจะต้องกำหนดคุณสมบัติผู้นำเที่ยวไว้ด้วย
 
จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 นี้ ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อกฎหมายในการบริหารงานตามภาระหน้าที่หรือไม่ เหตุใดถึงได้ละเลยปล่อยวางให้กฎหมายสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ ว่างเว้นกฎกระทรวง ข้อบังคับ และระเบียบกฎหมาย ได้นานเกือบสองปี
 
ขึ้นต้นศักราชใหม่ พ.ศ. 2555 ได้เวลาตื่นตาตื่นใจทบทวนความผิดพลาดครั้งสำคัญในการบริหารงานกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา และรีบดำเนินการออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ และระเบียบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายได้กำหนดให้มีมาตรฐานในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ได้แล้ว
 
หมายเหตุ:  อ้างอิงกฎหมายธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 2551 

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-20-2551-a0001.pdf

กฎกระทรวงท้ายกฎหมาย พ.ศ. 2535
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2536-001.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2536-002.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2536-004.pdf                
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2536-003.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2536-005.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2539-006.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2539-007.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2542-a0001.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2543-a0001.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2543-a002.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2543-a003.pdf
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%b808/%b808-2b-2544-a0001.pdf
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๒๙ ก/หน้า ๑/๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น