โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักข่าวชายแดนใต้บุก‘อาเจะห์’ เจาะช่องความร่วมมือสร้างสื่อสันติภาพ

Posted: 03 Dec 2011 01:15 PM PST

กลุ่มนักข่าวชายแดนใต้เดินทางไป‘อาเจะห์’ พบปะแลกเปลี่ยนกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาชน เจาะช่องความร่วมมือสร้างสื่อสันติภาพ
 
ระหว่างวันที่ 1 – 4 ธันวาคม 2554 ผู้สื่อข่าวจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นายสุพจ จริงจิตร บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ และนางสาวรวยริน เพชรสลับแก้ว นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรเอเชียตะวันออกแยงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เดินทางไปยังเมืองบันดา อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรด้านสื่อและองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดอาเจะห์

ผู้บริหารและผู้สื่อข่าวของ The Atjeh Post
 
วันที่ 1 ธันวาคม 2554 เดินทางไปยังสำนักข่าวของ The Atjeh Post ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นของจังหวัดอาเจะห์ ภายในเมืองบันดาอาเจะห์ โดยมีผู้บริหารและผู้สื่อข่าวของ The Atjeh Post ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสื่อและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข่าวระหว่างกัน โดย The Atjeh Post ให้ความสนใจข่าวเกี่ยวกับสตรีและข่าวเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม WALHI ประจำอาเจะห์ และนักข่าวสิ่งแวดล้อม The Globe Journal
 
วันที่ 2 ธันวาคม 2554 เดินทางไปยังสำนักงานองค์กรฟื้นฟูและสันติภาพอาเจะห์ (Aceh reintegration and peace agency) เพื่อพบกับผู้สื่อข่าวอาวุโสรายหนึ่งของอาเจะห์ เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสื่อท่ามกลางสถานการณ์ความข้อแย้งและหลังจากการมีสันติภาพเกิดขึ้นในอาเจะห์ โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นที่จะส่งผู้สื่อข่าวเข้าร่วมอบรมการทำข่าวสันติภาพและรับเชิญเป็นวิทยากรอบรมการทำข่าวสันติภาพในประเทศไทย

ศูนย์อาเจะห์ข่าวของสำนักข่าว Serambi Indonesia
 
หลังจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมศูนย์ข่าวของสำนักข่าว Serambi Indonesia หนังสื่อพิมพ์ชื่อดังของอินโดนีเซียซึ่งได้รับความนิยมมากในอาเจะห์
 
จากนั้นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เดินทางไปพบกับ นายSaifuddin Bantasam, S.H,M.A. ผู้อำนวยการศูนย์สันติศึกษาและแก้ปัญหาความขัดแย้ง มหาวิทยาลัย Syah Kuala เมืองบันดาอาเจะห์ เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพในอาเจะห์ และมุมมองความเข้าใจของคนต่างประเทศต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการพูดคุยได้ข้อตกลงเบื้องต้นว่า นายSaifuddin Bantasam ขอให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ศูนย์สันติศึกษาและแก้ปัญหาความขัดแย้ง มหาวิทยาลัย Syah Kuala ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับชาวต่างชาติต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เข้าใจว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความขัดแย้งทางศาสนา แต่ตนเชื่อว่าน่าจะมาจากหลายสาเหตุ
 
ส่วนในช่วงคำวันเดียวกัน ได้พบปะกับแกนนำสตรีของอาเจะห์ ซึ่งมีบทบาทในด้านการช่วยเหลือกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่างขบวนการกู้เอกราชอาเจะห์(GAM)กับกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย รวมทั้งกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ
 
วันที่ 3 ธันวาคม 2554 เดินทางไปยังสำนักงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม Wahana Lingkungan Hidop Indonesia หรือ WALHI ประจำอาเจะห์ เพื่อรับฟังข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของอาเจะห์ โดยมี Ir.Teuku Muhammad Zulfikar, MP ผู้อำนวยการบริหารของ WALHI ประจำอาเจะห์พร้อมคณะ และนาย Firman Hidayat นักข่าวสิ่งแวดล้อม จากสำนักข่าว The Globe Journal ร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากการพูดคุยมีข้อตกลงเบื้องต้นที่จะแลกเปลี่ยนการส่งอบรมนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม

นายJunaidi Hanafiah (คนขวาสุด) ช่างภาพข่าวสันติภาพอาเจะห์

ในช่วงเย็นวันเดียวกันได้พบปะกับนายJunaidi Hanafiah ช่างภาพข่าวสันติภาพของอาเจะห์ สังกัดสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก ได้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องการทำงานของนักข่าวและช่างภาพของอาเจะห์กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีข้อตกลงเบื้องต้นว่า นายJunaidi ขอให้ส่งข้อมูลสรุปสถานการณ์และปัญหาของการผลิตนักข่าวและการสื่อสารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเพื่อหาช่องทางในการช่วยเหลือในเรื่องการผลิตนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวจากเดอร์เบิน: การเงินเรื่องโลกร้อน หรือหนี้ก้อนใหม่ของประเทศกำลังพัฒนา

Posted: 03 Dec 2011 11:22 AM PST

 
 
ประเด็นที่น่าจับตามองของการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 17 (COP17: Conference of the Parties) เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องเงินๆ ทองๆ เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะเงินที่จะมาสนับสนุนการลดโลกร้อนและการปรับตัวต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น (หรือกลุ่มประเทศที่เรียกว่า G77 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นคือแทนที่ประเทศพัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินอย่างตรงไปตรงมา กลับถูกบิดเบือนให้เป็นภาระหนี้ก้อนใหม่ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต้องไปกู้มาจากประเทศพัฒนาแล้ว
 
ในการประชุมคู่ขนานของเครือข่ายภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ที่มหาวิทยาลัย Kwazulu-Natal (UKZN) ณ เมืองเดอร์เบิน การสัมมนาประเด็นเรื่อง Climate finance หรือ การเงินเรื่องโลกร้อน มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
 
การพัฒนาตั้งแต่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม หรือเมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วได้โหมใช้ทรัพยากรของโลกรวมถึงเชื้อเพลิงจากถ่านหินจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงสามในสี่ของปริมาณที่ปล่อยจากทุกประเทศในโลกรวมกัน ในขณะที่ประเทศเหล่านั้นมีประชากรเพียงหนึ่งในห้าของโลกเท่านั้น หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อคนในประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าคนในประเทศกำลังพัฒนาถึง 10 เท่า
 
หากพิจารณาตามหลักความเป็นธรรมว่าทุกคนในโลกนี้มีสิทธิเท่าทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนาและการปล่อยก๊าซฯ และเมื่อคำนึงถึงความสามารถของโลกในการรองรับการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก เราจะเห็นว่าบรรยากาศของโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของประเทศพัฒนาแล้วในอดีตที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า historic emissions
 
ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ของตนเอง จึงกล่าวได้ว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเป็น “หนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ” (Mitigation Debt) กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
 
พร้อมกันนี้โลกที่ร้อนขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุด คือประชากรในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่ได้เป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน แต่กลับต้องมารับภาระจากผลกระทบที่เกิดขึ้น และต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจึงยังเป็น “หนี้การปรับตัว” (Adaptation Debt) กับประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน
 
แต่กลไกการเจรจาระหว่างประเทศในปัจจุบันภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ไม่ได้นำเอาปัญหา "หนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ" และ "หนี้การปรับตัว" มาเป็นพื้นฐานในการเจรจา รวมทั้งประเทศพัฒนาแล้วยังพยายามบิดเบือนการจัดการการเงินเรื่องโลกร้อน ให้ผ่านกลไกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก เป็นต้น แทนที่จะให้ผ่านกลไกประเทศภาคีอนุสัญญาฯ หรือ COP (ซึ่งถือว่ามีความเสมอภาคของประเทศภาคีอนุสัญญาฯ มากกว่ากลไกอื่นๆ ในขณะนี้) ทั้งนี้ ภายใต้กลไกสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ประเทศพัฒนาแล้วมีอิทธิพลและอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา
 
ความแตกต่างของการจัดการการเงินเรื่องโลกร้อนระหว่างสองกลไกนี้ คือ ในกรณีใช้กลไกอนุสัญญาฯ ประเทศภาคีจะเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เงิน ในขณะที่การใช้กลไกผ่านธนาคารโลกหรือสถาบันการเงินอื่นๆ (เช่น ในรูปแบบเงินกู้) นั้น ประเทศพัฒนาแล้วสามารถเข้ามามีบทบาทกำหนดเงื่อนไขการใช้เงิน โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องรับภาระใช้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ถือเป็นการผลักภาระให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องเป็นผู้ใช้หนี้โดยตรง ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ทั่วโลก จึงถือว่าเป็นการบิดเบือน หนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ และหนี้การปรับตัว ซึ่งควรเป็นความรับผิดชอบของประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นการซ้ำเติมประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไร้มนุษยธรรม
 
จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องเชิงหลักการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการจัดการการเงินเรื่องโลกร้อนของกลุ่มภาคประชาสังคมที่เดอร์เบิน ว่าธนาคารโลกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการการเงินเรื่องโลกร้อน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมกันและความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
 
การเพิกเฉยและบิดเบือนกับหนี้การลดการปล่อยก๊าซฯ และหนี้การปรับตัวต่อไปนั้น ศิลปินนักดนตรีชาวแอฟริกาใต้ที่เข้าร่วมการประชุม ได้กล่าวประโยคสั้นๆ เพื่อส่งสารไปถึงประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายไว้ว่า
 
“They must change before change comes changing them.”
 
(คำแปลไม่เป็นทางการ: “ท่านทั้งหลาย (ประเทศพัฒนาแล้ว) ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะมาถึงและเปลี่ยนแปลงท่านทั้งหลาย”)
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไชยันต์ ไชยพร ‘ปัญหาประชาธิปไตย: การใช้เสียงมหาชนแบบไหนที่ทำลายประชาธิปไตย ?’

Posted: 03 Dec 2011 08:43 AM PST

โดยปรกติ การขับเคลื่อนด้วยเสียงประชาชนหรือประชามติถือเป็นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตย การทำประชามติจึงเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย เพราะเป็นกลไกที่เปิดให้ประชาชนพลเมืองได้ร่วมกันตัดสินใจในเรื่องราวสาธารณะได้โดยตรง เพื่อที่จะรับหรือไม่รับข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งที่มีการเสนอขึ้นมา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมาย รวมทั้งการถอดถอนนักการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล และการเลือกตั้งก็ถือเป็นการทำประชามติอย่างหนึ่งเพื่อให้พลเมืองตัดสินใจว่าจะเลือกนโยบายและแนวทางการบริหารประเทศของพรรคการเมืองใด

แต่ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ ก็มีการทำประชามติที่กลับขัดแย้งหรือทำลายหลักการประชาธิปไตยเสียเอง และกรณีศึกษาที่นักวิชาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์น่าจะได้ผ่านหูผ่านตาไม่มากก็น้อยก็คือ การทำประชามติในสมัยฮิตเลอร์

ในปีเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์ได้เริ่มใช้การทำประชามติครั้งแรกในระบอบของเขาต่อกรณีที่เขาต้องการจะให้เยอรมนีถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติภายใต้บรรยากาศอันร้อนระอุของความรู้สึกชาตินิยมของคนเยอรมัน ซึ่งผลการลงคะแนนเสียงท่วมท้นถึงร้อยละเก้าสิบห้าสนับสนุนการถอนตัวดังกล่าว ขณะเดียวกัน ฮิตเลอร์ก็ถือโอกาสใช้เสียงประชามติที่สนับสนุนญัตตินโยบายต่างประเทศดังกล่าวเชื่อมโยงกับนโยบายภายในประเทศของเขาด้วย กล่าวได้ว่า การทำประชามติครั้งแรกนี้ถือเป็นหมากการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกระบวนการขับเคลื่อนสู่การรวบอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จของเขาในเวลาต่อมา (Joachim Fest, Hitler, New York: 1974: pp. 438-9)

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๓๔ ก่อนการเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮินเดนเบอร์กในวันที่ ๒ สิงหาคม เพียงหนึ่งวัน ฮิตเลอร์ได้ให้คณะรัฐมนตรีของเขาเสนอกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐไวมาร์ที่เดิมทีกำหนดไว้ว่า เมื่อประธานาธิบดีเสียชีวิต จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ แต่กฎหมายที่เสนอมานั้นกลับกำหนดให้ควบรวมสองตำแหน่งไว้เข้าด้วยกัน นั่นคือ ทั้งตำแหน่งประธานาธิบดี (president) และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (chancellor) ซึ่งตำแหน่งหลังนี้เป็นตำแหน่งที่ฮิตเลอร์ดำรงอยู่แล้วขณะนั้น อีกทั้งกฎหมายนี้ได้ยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีไป และกำหนดให้มีตำแหน่งประมุขของรัฐ (head of state) ที่ดำรงตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “ผู้นำ (Führer)” และนายกรัฐมนตรี (Reichskanzler) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอยู่เดิม และฮิตเลอร์ได้จัดให้มีการลงประชามติรับรองร่างกฎหมายควบรวมอำนาจสองตำแหน่ง และรับรองตัวเขาให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้ ซึ่งผลการลงคะแนนเสียงประชามติครั้งนี้ ร้อยละ ๘๔.๖ เห็นด้วยกับร่างกฎหมายและรับรองให้ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ควบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยในฐานะของประมุขของรัฐดังกล่าวนี้ ฮิตเลอร์ก็ได้กลายเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกด้วย

ใน Journal of Historical Review, Fall 1992 แห่ง Institute of Historical Review ลีออง เดอเกร็ล (Leon Degrelle: 1906-1994: ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น วีรชนทหารในสงครามโลกครั้งที่สองและเป็นผู้นำทางการเมืองและเป็นนักประวัติศาสตร์) ได้เขียนบทความเรื่อง “ฮิตเลอร์ควบรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในเยอรมนีและทำการปฏิวัติสังคมได้อย่างไร: ช่วงแรกของอาณาจักไรซ์ที่สาม” (How Hitler Consolidated Power in Germany and Launched A Social Revolution : The First Years of the Third Reich) ตอนหนึ่งในบทความของเขา เขากล่าวว่า “ฮิตเลอร์ได้เคยกล่าวไว้ว่า ‘ข้าพเจ้าไม่ใช่เผด็จการ และไม่มีวันเป็น ด้วยพรรคสังคมชาตินิยมจะเสริมสร้างพลังให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง’” และเดอกร็ลได้เขียนบรรยายต่อไว้ว่า “อำนาจอันชอบธรรมไม่ได้หมายถึงระบอบทรราชย์ ทรราชคือคนที่ขึ้นสู่อำนาจโดยปราศจากซึ่งเจตน์จำนงของประชาชน หรือขึ้นสู่อำนาจโดยขัดต่อเจตน์จำนงประชาชน นักประชาธิปไตยขึ้นสู่อำนาจโดยประชาชน และประชาธิปไตยก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมีแบบเดียว มันอาจจะเป็นประชาธิปไตยรัฐสภา (parliamentary) หรือประชาธิปไตยของพวกเดียวกันหมด (partisan) หรือมันอาจจะเป็นประชาธิปไตยที่มีผู้มีอำนาจคนเดียวเบ็ดเสร็จ (authoritarian) ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ มันจะต้องมาจากความต้องการปรารถนาของประชาชน---เป็นสิ่งที่ประชาชนเลือกและสถาปนานมันขึ้นมา และนี่ก็คือกรณีของฮิตเลอร์ เขาขึ้นสู่อำนาจด้วยวิถีทางแบบประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ แต่นี่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และหลังจากมีอำนาจแล้ว ประชาชนก็ยังให้ความนิยมสนับสนุนเขาเพิ่มมากขึ้นทุกๆปี....แม้แต่นักประวัติศาสตร์ที่ประกาศตัวเองว่าต่อต้านนาซีอย่างศาสตราจารย์เฟสต์ ยังยอมรับว่า “ฮิตเลอร์ไม่เคยสนใจที่จะสร้างระบอบทรราชย์ ความกระหายอำนาจอย่างรุนแรงไม่เพียงพอที่จะอธิบายบุคลิกภาพตัวตนและพลังในตัวเขา ฮิตเลอร์ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็นเพียงทรราช (เน้นโดยผู้เขียน) เขายึดแน่นกับปณิธานที่จะปกป้องยุโรปและเชื้อชาติอารยัน....เขาไม่เคยมีความรู้สึกว่าตัวเขาต้องขึ้นอยู่กับปวงประชามหาชนเหมือนอย่างที่เขารู้สึกครั้งนั้น เขาเฝ้ารอดูปฏิกิริยาของปวงประชามหาชนด้วยความกระวนกระวาย (J. Fest, Hitler, p. 417.)”

ถ้าการเลือกตั้งเพื่อแสดงประชามติครั้งนั้นเป็นประชาธิปไตย แต่มันก็ได้นำพาให้การเมืองเยอรมันเข้าสู่ระบบการเมืองที่มีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่ผู้เดียว และด้วยตำแหน่งดังกล่าวนี้เองทำให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ในขณะนั้น ได้กล่าวว่า ผลการลงประชามติครั้งนั้นทำให้ฮิตเลอร์มีอำนาจมากกว่าผู้นำคนใดๆในโลกสมัยใหม่ในขณะนั้น เพราะฮิตเลอร์มีอำนาจมากกว่าสตาลินของรัสเซียและมากกว่ามุสโสลินีในอิตาลีด้วย หรือถ้าเปรียบเทียบย้อนไปในอดีต ถือว่าไม่เคยมีใครสามารถมีอำนาจมากเท่าฮิตเลอร์นับตั้งแต่สมัยเจงกีสข่าน ! (http://www.nytimes.com/learning/general/onthisday/big/0819.html)

และแน่นอนว่า นับตั้งแต่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจสมบูรณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครและกลไกใดที่จะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติและตุลาการของเขาได้เลยยกเว้นการพยายามลอบสังหารหรือการพ่ายแพ้สงครามและการฆ่าตัวตายของฮิตเลอร์เท่านั้น

จริงอยู่ที่ “การเลือกตั้งเป็นพื้นฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย” แต่การใช้พลังประชามติและเจตน์จำนงประชาชนของฮิตเลอร์ครั้งนั้นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในบางครั้ง ประชามติเสียงข้างมากอาจจะนำมาซึ่งผลที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงได้ และมันได้กลายเป็นบทเรียนที่นำมาซึ่งการวางหลักการในทางวิชาการและในทางปฏิบัติที่จะกำหนดตัวบทรัฐธรรมนูญไม่ให้มีการใช้ประชามติหรือการเลือกตั้งในการรับรองตัวบุคคลและการออกกฎหมายซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่จะต้องคงไว้ซึ่งหลักสิทธิเสรีภาพ การแบ่งแยกอำนาจและหลักนิติรัฐ และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ ม. ๒๑๔ ได้บัญญัติไว้ว่า “การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ จะกระทำมิได้”

แน่นอนว่า ในรายละเอียด การยุบสภาโดยจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยวการตรวจสอบข้อกล่าวหาซื้อขายหุ้นของครอบครัวของคุณทักษิณ ชินวัตรในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ย่อมไม่เหมือนการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อควบรวมอำนาจและสถาปนาตัวเองของฮิตเลอร์ในปี ค.ศ. ๑๙๓๔ เพราะฮิตเลอร์ทำประชามติขอเสียงประชาชนเพื่อต้องการขึ้นสู่การมีอำนาจสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่ผู้เดียว ส่วนคุณทักษิณยุบสภาจัดการเลือกตั้งขอเสียงประชาชนเพื่อต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป โดยหวังใช้เสียงประชาชนเป็นตัวตัดสินว่า เขาผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้นหรือไม่ ? และสมควรจะกลับมามีอำนาจต่อไปหรือไม่ ?

แน่นอนว่า เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การเมืองตะวันตกสมัยใหม่ว่า กรณีการทำประชามติในแบบของฮิตเลอร์ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว แต่สำหรับกรณีคุณทักษิณ คำถามคือ เมื่อมีข้อกล่าวหาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกิดขึ้น เขาผู้นั้นควรจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบตามกลไกที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (๒๕๔๐) ? หรือกลับแทรกแซงกลไกต่างๆและยุบกลไกสุดท้าย (สภาผู้แทนราษฎร) ที่จะสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบได้ในขณะนั้นที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (๒๕๔๐) และโยนข้อกล่าวหาของตนให้ตัดสินโดยประชามติของปวงประชามหาชน ?

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘นักธุรกิจสงขลา’ ชงเมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้ ‘ยิ่งลักษณ์’ รับพิจารณา

Posted: 03 Dec 2011 08:34 AM PST

“นักธุรกิจสงขลา” ชงเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ภาคใต้ “แลนด์บริดจ์-เซาเทิร์นซีบอร์ด” “ยิ่งลักษณ์” รับสอดคล้องนโยบายรัฐบาล พร้อมนำข้อเสนอพิจารณา

 
 
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างพบปะกับนักธุรกิจจังหวัดสงขลา เพื่อรับฟังข้อเสนอแนวทางและความเห็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา และภาคใต้ ณ โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

 
วันที่ 2 ธ.ค.54 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.ที่ห้องชัยพฤกษ์ โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางร่วมพบปะกับนักธุรกิจจังหวัดสงขลา เพื่อรับฟังข้อเสนอแนวทางและความเห็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา และภาคใต้ และร่วมรับประทานอาหารกลางวัน โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน
 
นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า ให้รัฐบาลเร่งพิจารณาการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ และผลักดันการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญของภาคใต้ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ และขยายพรมแดนด่านสะเดา โครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมด่านสะเดา-หาดใหญ่ โครงการรางรถไฟคู่และรถไฟความเร็วสูงในภาคใต้ และโครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล สนับสนุนให้หาดใหญ่เป็นศูนย์ธุรกิจบันเทิงครบวงจร โครงการตลาดน้ำริมคลอง
 
อีกทั้งขอให้รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาและมีมาตรการที่ชัดเจนในการรักษาความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ส่วนนายสมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เสนอให้รัฐบาลเร่งพัฒนาแผนงานโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) เนื่องจากที่ผ่านมานั้นไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
 
“อยากให้เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) ท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล และพัฒนาแผนงานพิจารณาขยายคลองระบายน้ำ 1-6 เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมด้วย” นายสมบูรณ์ กล่าว
 
ด้านนายสมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา เสนอให้เปิดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ
 
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการพบปะว่า โครงการที่นำเสนอทั้งหมดเป็นไปในแนวทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทั้งประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านการคมนาคมและด้านการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้จะนำโครงการที่นำเสนอไปพิจารณาโดยการนำไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง
 
นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ซึ่งรัฐบาลมีนโนบายเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนภายใน 1 ปี และในปี 2555 ที่จะถึงนี้ รัฐบาลมีโครงการ มหัศจรรย์ไทยแลนด์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย
 
“ส่วนเรื่องแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย นั้น จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิ่งลักษณ์ไม่ขอยุ่งเรื่องคืนพาสปอตให้ทักษิณ

Posted: 03 Dec 2011 05:42 AM PST

ระบุเรื่องคืนพาสปอร์ตทางการทูตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศพิจารณา ซึ่งต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ ภายใต้กฎกติกา หลักนิติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวานนี้ (2 ธ.ค.) ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบกรณีการคืนพาสปอร์ตทางการทูตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขอยุ่งเกี่ยว ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศพิจารณา ซึ่งเชื่อมั่นว่าต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ ภายใต้กฎกติกา หลักนิติธรรม และต้องไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม ที่ต้องเร่งเยียวยา

นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ไม่ทราบกรณีกระแสข่าว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เตรียมเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์ไม่สบายใจที่เห็นประชาชนขัดแย้งช่วงน้ำท่วม

Posted: 03 Dec 2011 05:32 AM PST

โดยเฉพาะคนที่อยู่ติดกันเพียงประตูระบายน้ำกั้น แทนที่รัฐบาลจะบริหารให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจความสามัคคีกันกลับปล่อยให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งที่ความจริงแล้วคน กทม.และคนปริมณฑล มีน้ำใจให้กันและกัน คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เผยหากชุมชนใดต้องการความช่วยเหลือมให้ติดต่อมาได้เลย

เว็บไซต์เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (3 ธ.ค.) ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ยังมีน้ำท่วมขังอีกหลายพื้นที่ว่า เบื้องต้นหลังจากที่ได้ทำงานเรื่องของศูนย์พักพิง รวมทั้งความช่วยเหลืออื่นๆ ขณะนี้ก็ชัดเจนว่ามีประชาชนจำนวนมากขอให้เราช่วยติดตามเรื่องของมาตรการ เยียวยาของรัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ส.ส.และพรรคที่จะติดตามประสานงานให้ เพราะประชาชนยังมีความสับสนมากในเรื่องของหลักเกณฑ์ ระยะเวลาในการยื่นขอเงินชดเชยเยียวยา

ทั้งนี้ ทางพรรคได้มีการหารือและอยากนำเสนอว่า เรายังเป็นห่วงสถานการณ์ที่ยังมีน้ำค้างอยู่ทั้งบริเวณทางเหนือของ กทม. ปริมณฑล ดูการบริหารจัดการหรือการเข้าไปดูแลของ ศปภ.แล้วถือว่ายังน้อยเกินไป วันนี้เวลาเราฟังรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีพูด ก็พยายามพูดเหมือนกับว่าปัญหาจบลงแล้วหรือใกล้จบแล้ว หรือแม้กระทั่งการพูดว่า ศปภ.กำลังจะปิดตัวลง

นอกจากนี้ เราก็ไม่สบายใจที่เห็นความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ติดกัน เพียงแต่มีประตูระบายน้ำกั้นอยู่ แทนที่รัฐบาลจะบริหารให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจความสามัคคีกันกลับปล่อยให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งที่ความจริงแล้วคน กทม.และคนปริมณฑล มีน้ำใจให้กันและกัน คอยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่พรรคมองเห็นคือ ต่อไปหลายหมู่บ้านในปริมณฑลหรือทางเหนือของ กทม.จะต้องมีการสูบน้ำออก เพื่อกู้บ้าน และต้องการกระสอบทรายเพื่อนำมาใช้ในการนี้ ขณะเดียวกัน เราที่ลงไปในหลายพื้นที่ที่น้ำแห้งแล้ว ก็เห็นว่ามีกระสอบทรายที่ไม่ได้ใช้แล้ว ดังนั้น ทางเราได้ไปประสานงานกับ กทม. อยากให้ กทม.นำกระสอบทรายเหล่านี้ไปให้หมู่บ้านต่างๆ เมื่อเขาต้องการในการใช้กั้นน้ำ และสูบน้ำออกในการกู้บ้านขึ้นมา ทั้งนี้ เราจะเป็นคนอาสาพร้อมทั้งประสานงานให้ด้วย

ดังนั้น ประชาชนคนไหน หรือหมู่บ้านใดมีความต้องการก็ให้ประสานงานมาที่เราผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก คือ เว็บไซต์ อาสาฯ คนไทยช่วยน้ำท่วม ส่วนรายละเอียดและช่องทางอื่นๆ จะแจ้งให้ทราบเพิ่มเติม ในส่วนของภาคเอกชนที่มีกระสอบทรายจำนวนมากแล้วยังไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน หรือทำอะไร จะบริจาคให้เราเพื่อไปดำเนินการต่อไป ก็ขอให้แจ้งมาที่เราได้เลย ซึ่งตนคิดว่าหากมีการทำอย่างนี้ เราก็จะสามารถใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ได้ และยังเป็นการแสดงออกว่า ประชาชนมีน้ำใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่ เหลือ ทำได้อย่างสะดวกราบรื่นมากยิ่งขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องการสูบน้ำออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะในซอยหรือในหมู่บ้านต่างๆ นั้น ศปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้หมายความว่าใครนึกจะสูบไปให้ใคร แต่สิ่งที่เราอยากเห็น คือ ความจำเป็นในการบริหารจัดการในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าหากเราฟังข่าวจาก ศปภ. จะไม่ค่อยมีใครพูดถึงปัญหา จะพูดเพียงว่าปัญหากำลังจะจบลงแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงคนที่ปัญหาคั่งค้างอยู่จะเป็นคนที่เดือดร้อนทุกข์ยาก ยาวนานที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาถูกละเลย ทั้งที่จริงแล้วตนอยากเห็น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: วิจารณ์แถลงการณ์ของ นปช. 30 พ.ย. 54

Posted: 03 Dec 2011 05:21 AM PST

นปช. ตั้งใจสลายพลังมวลชนเสื้อแดง

๑) อ.ธิดาเน้นเลือกการเมืองแบบ “ลอบบี้” คือต่อสายไปสู่คนมีอำนาจ เพื่อช่วยนักโทษเสื้อแดง ซึ่งเป็นการหันหลังปฏิเสธพลังมวลชนเสื้อแดง ให้เสื้อแดงจำนวนมากหยุดนิ่งรอให้ “ผู้ใหญ่” คุยกัน และในที่สุดจะนำไปสู่การสลายพลังมวลชนท่ามกลางการรุกสู้ของฝ่ายอำมาตย์

อ.ธิดา อาจเสนอว่านักโทษการเมืองจะถูกย้ายไปสู่ “คุกการเมือง” ซึ่งจะทำให้สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นแน่ แต่ประเด็นใหญ่กว่านั้นคือต้องมีการรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนอย่างเปิดเผย ผ่านการเคลื่อนไหวของมวลชน ถ้าไม่รณรงค์แบบนั้นหนทางที่จะได้รับการปล่อยตัวมีน้อย โดยเฉพาะกรณี 112 อย่าลืมว่าในระบบประชาธิปไตยจะมีนักโทษการเมืองไม่ได้ ถ้ายอมรับว่ามีได้ ก็เท่ากับยอมรับว่าจะไม่มีประชาธิปไตยในประเทศไทย

๒) อ.ธิดาพูดแต่เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเสื้อแดงทุกคนเห็นด้วย แต่การพูดลอยๆ แบบนี้ เป็นหารหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องกฏหมาย 112 หรือการพูดอะไรเป็นรูปธรรม พร้อมขั้นตอน เรื่องข้อเสนอของกลุ่มนิธิราษฏ์ และการพูดแค่นี้ไม่สร้างบทบาทอะไรสำหรับมวลชนเสื้อแดง สรุปแล้ว นปช. ไม่ยอมพูดอะไรเลยเรื่อง 112 หรือแม้แต่คดีอากง ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สนนท. และกลุ่มประชาธรรมกล้าออกมาพูด คือ นปช.ล้าหลังกว่ากลุ่มเหล่านั้น

๓) จตุพรอาจไม่หวงตำแหน่งสส. นั้นก็ดีเพราะถือว่ามีอุดมการณ์ แต่เรื่องการถอดถอนการเป็นสส.ของจตุพรไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวของเขา มันเป็นการถอดถอนสส.ที่ประชาชนเลือกมาโดยเฉพาะที่เป็นแกนนำเสื้อแดง ดังนั้นตามหลักการณ์เรายอมไม่ได้ และการบอกให้เสื้อแดงใจเย็นๆ เสมอ ถือว่าเป็นการสลายอำนาจต่อรองที่เราจะมีกับอำมาตย์ การเคลื่อนไหวไม่ใช่การหลงกลตกหลุมของอำมาตย์แต่อย่างใด แต่อำมาตย์กำลังวัดใจเสื้อแดงต่างหาก ถ้านิ่งเฉยตามคำแนะนำของ นปช. ก็ถือว่ายอมจำนน

๔) การไม่ยอมชูประเด็นการเมืองกว้างๆ เรื่องประชาธิปไตย การไม่วิจารณ์ 112 การไม่พูดถึงนโยบายสำคัญในการฟื้นชีวิตพลเมืองหลังน้ำท่วม การไม่รณรงค์ให้นำอาชญากรในกองทัพและประชาธิปัตย์มาขึ้นศาล ของ นปช. ถือว่าเป็นการลดระดับการเมืองและจิตสำนึกในการต่อสู้ เพื่อให้เสื้อแดงสยบยอมต่ออำมาตย์

 

ดูแถลงการณ์ นปช. ได้ที่นี่ http://www.youtube.com/watch?v=CWimnSw0Oxs

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุเทพพร้อมให้ปากคำคดีคนเสื้อแดง 13 ศพ

Posted: 03 Dec 2011 05:16 AM PST

สุเทพเตรียมให้ปากคำคดีคนเสื้อแดงเสียชีวิตวันที่ 8 ธ.ค. เผยจะให้ความร่วมมือพนักงานสอบสวนเต็มที่ ยันให้การในฐานะพยานไม่ใช่ผู้ต้องหา และที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มีกฎหมายรองรับ

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานวันนี้ (3 ธ.ค.) ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าว ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ถึงกรณีการเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในคดีการเสียชีวิต 13 ศพในเหตุการณ์ความไม่สงบเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553

ในฐานะที่เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า หลังจากที่ตนส่งหนังสือขอเลื่อนการเข้าให้ปากคำเป็นวันที่ 15 ธ.ค.ไปเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. แล้วปรากฎว่าทางพ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาว่าขอให้ตนไปให้ชี้แจงภายในวันที่ 9 ธ.ค. เพราะเห็นว่าวันที่ 15 ธ.ค.ที่ขอไปเบื้องต้นนั้น ใกล้กับวันที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จ

ซึ่งหลังจากตนได้หนังสือดังกล่าวแล้วก็ได้ตอบกลับไปทันทีว่า จะขอเดินทางไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 8 ธ.ค. เวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ในการจะทำสำนวนให้แล้วเสร็จตามระยะ เวลาที่กำหนดไว้ ทั้งที่ตนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปให้ปากคำก็ได้ เพราะในหนังสือที่เจ้าพนักงานสอบสวนส่งมาให้ตนเป็นการขอความร่วมมือไปให้ปาก คำในฐานะพยาน แต่อย่างไรก็ตาม ตนจะเดินทางไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ตนจะรวบรวมเอกสาร ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่จำกัด เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีความตั้งใจที่ร่วมมือกับเจ้าพนักงานสอบสวนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ มีคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการไปให้ปากคำมากมาย แต่ตนก็ยึดตามหนังสือที่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งมาที่ต้องการให้ตนไปให้ปากคำใน ฐานะพยานที่มีผู้อ้างถึง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งตนจะไปให้การตามนี้ แต่หากนอกเหนือจากประเด็นนี้ ตนก็ยินดี ทั้งนี้ ตนและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันและไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร เพราะตั้งใจให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนทุกอย่าง

เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่าการไปให้ปากคำคนละวันกันอาจจะมีปัญหาได้ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เราให้การตามความเป็นจริง พูดเรื่องจริงพูดคนละหน พูดคนละที พูดเมื่อไหร่ก็เหมือนกันทั้งนั้น ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้มีการปรึกษานักกฎหมายว่าจะใช้อะไรเป็นพยานได้บ้าง แต่หลังจากที่มีข่าวออกไปก็มีความสับสน เพราะคนบางคนในพรรครัฐบาลไปให้ข่าวทำนองว่าตนและนายอภิสิทธิ์ถูกเรียกไปสอบสวนเหมือนเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงแค่เป็นพยานเท่านั้น แต่เมื่อข่าวสารปรากฎออกไปต่อสาธารณชนก็มีคนให้ความเห็น ให้กำลังใจเป็นส่วนใหญ่ว่าสิ่งที่พวกเราทำเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษา ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มีกฎหมายรองรับ ไม่ต้องกังวลใจอะไร ซึ่งตนก็จะไปให้ปากคำในแนวทางนี้

เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ว่าจะถูกตกเป็นผู้ต้องหาจริงๆ จะมีการตั้งทีมทนายความมาแก้ข้อหล่าวหาหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนได้เตรียมไว้อยู่แล้ว ซึ่งการให้ปากคำก็จะให้ทนายไปด้วย เพราะตนไม่ประมาท พอเห็นว่าพวกเขามีอำนาจขึ้นมาปกครองบ้านเมือง ตนก็พอคาดเดาได้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เหมือนกับที่ประชาชนทั้งหลายก็คงคาดเดาได้ จึงไม่ได้ตกใจอะไร ไม่กลัวเลย ไม่ได้ว่าหยิ่งยโสอะไร แต่เราทำในเรื่องที่ถูกต้อง เรามีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และเราก็ใช้เหตุผลอยู่ในกรอบของกฎหมาย ก็ไม่ต้องกลัวอะไร

เมื่อถามว่าถือเป็นกระบวนการเริ่มเช็คบิลได้หรือยัง นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ได้สะทกสะท้าน หรือหวั่นวิตกอะไร เอาเจตนาดีของเราที่มีอยู่เป็นที่ตั้ง ยืนยันว่าสบายใจดี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองทัพรัฐฉาน SSA ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าแล้ว

Posted: 03 Dec 2011 01:06 AM PST

ตัวแทนกองทัพรัฐฉาน SSA กลุ่มเจ้ายอดศึก และรัฐบาลพม่า พบหารือกันครั้งรอบสองที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน สองฝ่ายลงนามหยุดยิงอย่างเป็นทางการ ด้านทหารพม่าในรัฐฉานสั่งผู้ใหญ่บ้านประกาศแจ้งชาวบ้านให้เลิกหวั่นกลัวภัยสู้รบ

 

(แฟ้มภาพ) กองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างสวนสนามที่ฐานดอยไตแลง เืนื่องในวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 เมื่อ 21 พ.ค. 2554 ล่าสุด SSA เพิ่งลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าหลังการหารือรอบที่สองที่เมืองตองจี

สำนักข่าว Mizzima/SHAN รายงานว่า เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) คณะเจรจาสภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA หรือ กองกำลังไทใหญ่ "ใต้" กลุ่ม พล.ท.เจ้ายอดศึก ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่ดอยไตแลง ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พบเจรจากับคณะตัวแทนรัฐบาลพม่า ที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ฝ่ายคณะตัวแทนรัฐบาลพม่านำโดยนายอูอ่องมิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งทางรถไฟ และ อูขิ่นหม่องโซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ 2 ส่วนฝ่ายคณะเจรจาสภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA นำโดย พลจัตวา จายลู และ พ.อ.จายละ

การเจรจาของทั้งสองฝ่ายครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากได้มีการนัดพบเจรจากันครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่บริเวณชายแดนไทย–พม่า (รัฐฉาน) โดยในการเจรจาทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นข้อเสนอจากการเจรจากันครั้งแรกมาหารือกัน จากนั้นในช่วงบ่ายทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปเห็นชอบและลงนามอย่างเป็นทางการร่วมกัน

โดยข้อเสนอที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบและลงนามร่วมกันมีทั้งหมด 8 ข้อ เป็นข้อเสนอจากฝ่ายรัฐบาลพม่า 4 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ทั้งสองฝ่ายยุติสู้รบกัน 2. แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและเปิดสำนักงานเจรจาระหว่างกัน 3. หากไม่พกพาอาวุธให้อนุญาตเข้าพื้นที่เคลื่อนไหวซึ่งกันและกัน 4. กำหนดวันเวลาและสถานที่ในการพบเจรจากันครั้งต่อไป และข้อเสนอจากฝ่ายสภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอทั้งสองฝ่ายยุติสู้รบกัน 2. ให้แก้ไขปัญหาทางการเมืองร่วมกัน 3. ขอเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนา และ 4. ขอปราบปรามยาเสพติดร่วมกัน

นอกจากนี้ คณะตัวแทนรัฐบาลพม่าได้เสนอให้สภากอบกู้รัฐฉาน / กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA เปิดสำนักงานประสานงานใน 10 อำเภอ ในรัฐฉาน เช่น ท่าขี้เหล็ก, เชียงตุง, ตองจี, โขหลำ, เมืองโต๋น ส่วนรายละเอียดข้อเสนอเรื่องขอเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนานั้น ทางรัฐบาลพม่าจะนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดข้อชัดเจนต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในวันเดียวกันหลังการลงนามหยุดยิงอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลพม่าและกองทัพรัฐฉาน SSA ได้ไม่นาน ผู้ใหญ่บ้านบ้านปุ่งป่าแขม บ้านนากองมู อำเภอเมืองโต๋น จังหวัดเมืองสาด (อยู่ตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) ได้รับคำสั่งให้ประกาศแจ้งชาวบ้านทราบเกี่ยวกับการหยุดยิงของทั้งสองฝ่าย โดยระบุว่า นับจากนี้ชาวบ้านไม่ต้องหวั่นกลัวภัยสู้รบอีก และหากพบเห็นทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA เข้ามาในเมืองก็อย่าได้ตื่นกลัวเพราะทั้งสองฝ่ายได้หยุดยิงกันแล้ว
 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

 

 


 

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความต่างของโทนสีหัวนมภายใต้อำนาจของวงการศิลปะไทยร่วมสมัยแบบราชการ

Posted: 02 Dec 2011 07:59 PM PST


ภาพโดย: สมภพ บุตราช, นางสงกรานต์หมายเลข2,2553, สีน้ำมันบนผ้าใบ, 80 x 60 ซม.

ในวงการศิลปะไทยร่วมสมัยแบบราชการ ถ้าหากเป็นภาพวาด "หญิงสาวเปลือยอก" มีใบหน้างดงามแบบอุดมคติ รูปร่างสมส่วนเกินจริง แต่งตัวด้วยชุดไทย(แม้จะแค่ท่อนล่าง) ใส่เครื่องประดับตระการตา และถูกใส่กรอบรูปประดับประดาอยู่ในหอศิลป์ร่วมสมัย ด้วยอารมณ์ที่พริ้วไหวจากรอยแปรงพู่กัน สานุศิษย์แห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัยแบบราชการย่อมต้องร้องโอดครวญซี้ดซาดว่าช่างงดงามเหนือคำบรรยายเมื่อได้พบเห็น โดยแทบจะไม่ต้องอ้างถึงบริบทอื่น หรือหลักการ และปรัชญาใด ๆ มากไปกว่าหลักความงามทางกายวิภาคในแบบยุคคลาสิคของกรีกโบราณ ฯลฯ เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ภาพเขียนคนเหมือนที่แสดงลักษณะทางกายวิภาคของร่างกายที่ประกอบขึ้นจากสีน้ำมันบนผ้าใบ ด้วยทักษะฝีมือของคนธรรมดาที่ไม่ได้รับการฝึกฝนย่อมทำไม่ได้อย่างแน่นอน ศิลปินที่เคี่ยวกร่ำฝีมือในแง่ "เทคนิค" มาอย่างดี แทบจะไม่ต้องคิดอะไรมากไปกว่าการลงมือวาดเขียน และหมั่นซ้อมในการจัดท่าทาง การวางองค์ประกอบ และความชำนาญในเรื่องสีน้ำมัน (รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ และเครื่องมือศิลปะจำพวก "เกรตอาร์ตติสท์") ย่อมถูกยกให้อยู่สูงราวกับศาสดาผู้ปราดเปรื่อง ที่ไม่ว่าจะกี่ครั้งการเขียนภาพ "หัวนมชมพู" ก็ไม่ใช่การแสดงออกถึงรสนิยมทางกามของศิลปินแม้แต่น้อย ทว่าเป็นภาพเปลือยอันสูงส่งล้ำค่าเกินกว่าผู้ที่ไม่เรียนศิลปะจะเข้าใจ(และวิจารณ์ได้) บางครั้ง ในบางคน(ศิลปิน)ยังพูดอธิบายผลงานให้ดูดิบดีเกินจริง ราวกับจอร์จ และซาร่าที่โอ้อวดผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักในทีวี (ทั้งที่ในความเป็นจริงภาพเขียนดังกล่าวอาจจะเป็นแค่สิ่งที่บ่งบอกถึงรสนิยมทางเพศที่ศิลปินถวิลหาก็ตาม-"ตอนถ่ายรูปนางแบบเพื่อทำสเก็ตช่างซู่ซ่าดีเหลือเกิน")

หากแต่เมื่อภาพ "หญิงสาวเปลือยอก" นั้นไม่ได้แสดง "ความงาม" ตามอุดมคติของวงการศิลปะไทยร่วมสมัยแบบราชการ ขาดใบหน้าที่แสนจะหมดจด ดูไร้ซึ่งอารยะแห่งความเป็นไทยแบบราชการ แถมยังถูกสร้างขึ้นมาอย่างดิบ ๆ เถื่อน ๆ ด้วยทักษะฝีมือที่แปร่งแปลงตรงกันข้ามกับศิลปินกลุ่มข้างต้นแล้วล่ะก็(โดยไม่ต้องดูเลยว่ามีแนวความคิด หรือจุดประสงค์อย่างไร) ย่อมถูกวิภาควิจารณ์ในทางเสียหายเป็นแน่แท้ ทั้งจากหมู่มวลนักศิลปะไทยร่วมสมัยแบบราชการ และเหล่าสานุศิษย์ ที่มักจะตีฆ้องร้องป่าวด่าทอว่าผลงานจำพวกนี้มันช่างน่าละอาย เลวทราม และไร้รสนิยมอย่างแน่นอน ด้วยการหยิบ "องค์ประกอบ" ที่มองเห็นบางส่วนจากในภาพมาแฉในทางเสียหายมากกว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางศิลปะ ด้วยการอ้างจริยธรรม ความดีงาม หรือยกเหล่าเยาวชนที่ใสซื่อบริสุทธิ์บังหน้า เช่น หัวนมดำ = เลว/บาป/ตกนรก, ทักษะฝีมือดิบ ๆ เถื่อน ๆ = ทำลายวัฒนธรรมทางศิลปะที่ดีงาม, หรือการเปลือยกาย = เยาวชนไม่ควรดู เพราะจะนำไปลอกเลียนแบบ เป็นตัน อีกทั้งยังยก "อคติ" ที่ตนมีต่อเรื่อง "ดีกรี" ของผู้สร้างสรรค์ผลงาน เอามาปั้นแต่งให้กลายเป็น "ศิลปะวิจารณ์" ในแบบ "ตรรกะล่ม" อาทิ ผู้สร้างสรรค์ไม่ได้เรียนศิลปะ จึงไม่มีความรู้ทางศิลปะ ฉะนั้นไม่มีวันเป็นศิลปิน ผลงานที่สร้างมาเลยมีค่าเท่ากับขยะ ไม่ใช่ศิลปะ เป็นต้น กล่าวคือไม่เรียนศิลปะ ทำศิลปะไม่ได้ (!?) อะไรทำนองนั้น  

ถึงแม้ว่าผมจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโทในค่าย "ศิลปะไทยร่วมสมัยแบบราชการ" ก็ตาม แต่ในฐานะที่ผมเรียนศิลปะ และรับรู้ถึงการมีอยู่ของ "รูปแบบ" และ "เนื้อหา" ของศิลปะอันหลากหลาย และ(กำลัง)เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่สิ้นสุดในนาวา "ศิลปะร่วมสมัย" นี้ ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องเชื่อหัวชนฝ่า หรืองมงายอย่างถาวรไปกับหลักการแบบใดแบบหนึ่ง เช่น ต้องมีทักษะวาดเส้นแบบยุดเรเนอซองแปลว่าเก่ง ชื่นชมหลักการสอนสายนครฟรอเรนซ์เท่านั้นว่าดีเด่ที่หนึ่ง หรือพร่ำบ่นถึงความงามทางกายวิภาคของศิลปะยุคคลาสิคคือที่สุดแล้วเสมอไป โดยที่ไม่ดูบริบทอื่น ๆ และเปิดรับแนวทางที่แตกต่างของผลงานศิลปะร่วมสมัยเลย ในที่นี้ไม่ใช่หน้าที่ซึ่งผมจะกำหนด หรือตัดสินว่า "หัวนมชมพู" หรือ "หัวนมดำ" นั้นดี/เลว, สวย/น่าเกลียด หรือสูงส่ง/ต่ำต้อยกว่ากัน หากแต่อยากจะเปิดมุมมองให้เห็นว่า เราไม่สามารถกำหนดกรอบความคิดของสังคมที่มีต่อผลงานศิลปะได้โดยการอ้างแค่ว่า ต้องเรียนรู้ศิลปะมาก่อนเท่านั้นจึงจะทำศิลปะ หรือวิจารณ์ศิลปะได้ ฉะนั้นจงฟังแต่เราผู้ที่ผ่านการฝึกฝนทางศิลปะมาก่อนเท่านั้น หรือทำเพียงแค่ยกจริยธรรมความดีงามบังหน้าเพื่อสนับสนุนตนเอง และทำหน้าที่กำหนดท่าทีของ "ความงาม" ให้หยุดนิ่งประหนึ่งว่าตนเป็นตุลาการทางศิลปะก็ไม่ปาน

เพราะไม่ว่าคุณ หรือผม หรือใครจะเป็นสานุศิษย์ของค่ายศิลปะไหน/หรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งในวงการศิลปะระดับไหน/หรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเคยเรียนศิลปะ และ/หรือเป็นศิลปินหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าจะต่างชนชั้นทางทักษะศิลปะเท่าใดก็ตาม ย่อมมีสิทธิที่จะกำหนด "สุนทรียศาสตร์" ของตนเองได้บนหลักการที่ต่างกันไป แม้จะแปลกประหลาด หรือผิดแผกไปจากขนบเดิม ๆ ตราบใดที่ความหลากหลายยังแตกหน่อออกผล ย่อมดีกว่าการผูกขาดทางความคิดแค่ว่า "หัวนม" โทนสีไหน "ดี" ที่สุดอย่างไร้ข้อกังขา ทั้งนี้จะคุณ หรือผม หรือใครยังสามารสร้างสรรค์อะไรออกมาก็ได้ แม้จะไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชา "วาดเส้น" หรือ "กายวิภาค" ก็สามารถสร้างภาพของ "หัวนม" ที่ออกมาจากความคิด และฝีมือที่คุณมีในแบบของคุณ แม้ "หัวนม" นั้นจะมีสีโทนไหนก็สามารถถูกมองอย่างศิลปะ และ/หรือมีค่าในเชิงศิลปะได้อย่างทัดเทียมกันทั้งนั้น ถ้าหากจุดประสงค์ในการสร้างสรรค์ไม่เลวทรามถึงขั้นสร้างขึ้นเพื่อเอาไปตีหัวพ่อแม่ หรือยัดก้นใครโดยที่เขาไม่ยินยอม มันย่อมสามารถ "เป็น" ศิลปะได้ทั้งสิ้น

แม้การต่อสู้ระหว่าง "หัวนมชมพู" กับ "หัวนมดำ" ในทางศิลปะก็จะยังคงดำเนินต่อไปในสังคมไทยอีกนาน และแม้คุณอาจจะเลือกข้างยืนอยู่ "จุก" ไหน จะสร้างความงามแบบ "หัวนมฟ้า" หรือ "หัวนมเหลือง" ขึ้นมาเองนั้นถือว่าไม่ผิด ทว่าจงตระหนักไว้เสียว่ามันจะไร้ค่าหรือมีค่าต่อสังคมก็ขึ้นอยู่กับการตีความ และขับเคลื่อนของคนในสังคมเอง ไม่ใช่เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อ้างตนว่าเป็นปรมาจารย์ศิลปะ ผู้กร้านวิชาวาดเส้น หรือศิลปินเหรียญทองเหรียญเพชร ที่จะเป็นผู้ขีดเส้นกำหนดทิศทางศิลปะแต่เพียงผู้เดียว และโอ้อวดว่า "หัวนมสีขมพู" ของฉัน(หรือของพรรคพวก)จะมีจริยธรรม ถูกต้อง และดีงามกว่าของคนอื่น แม้ว่ามันจะสีชมพูผุดผ่อง และเขียนขึ้นด้วยสีน้ำมันราคาแพงเท่าใดก็มิอาจอวดอ้างได้ว่าเป็นแนวทางที่สูงสุดแล้วในโทนสีของหัวนมที่มีอยู่มากมายในโลกนี้

เพราะความ "คับแคบ" ทางจิตใจต่อ "โทนสีของหัวนม" ต่างหากที่น่าอายเสียยิ่งกว่า "หัวนมดำ" อย่างเปรียบมิได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น