โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชาไทบันเทิง “Watchmen: ศาลไทย! เรากำลังเฝ้ามองคุณอยู่”

Posted: 13 Dec 2011 08:03 AM PST

นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 วงการตุลาการเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน หลาย ๆ คดีถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในคำตัดสิน หลาย ๆ คดีถูกสงสัยในกระบวนการพิจารณาความ หลาย ๆ คดีถูกวิพากษ์ว่าผิดไปจากหลักนิติธรรม

จนกระทั่งล่าสุดคดีของอากง ผู้ตัดสินให้จำคุก 20 ปีจากสี่กรรม ศาลตัดสินโดยเชื่อว่าอากงเป็นผู้ส่ง sms ไปยังโทรศัพท์ของเลขาอดีตนายกจริง เขาถูกตัดสินโดยยังคงความสงสัยมากมายต่อวิธีการตัดสินรวมถึงคำพิพากษามากมาย นักวิชาการหลายคนชี้ให้เห็นความบกพร่องของวิธีและตรรกะ ทว่าอีกฟากฝั่งความเห็นก็ยืนคำโต้แย้งว่า คำพิพากษาเป็นสิ่งที่ต้องเคารพ การวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินและกระบวนวิธีพิจารณาความเป็นเรื่องที่ไม่ควร ยิ่งเป็นคำตัดสินที่กระทำภายใต้พระปรมาภิไธยแล้ว มิใช่สิ่งที่ควร ‘สงสัย’ อย่างยิ่ง

แท้ที่จริงแล้วเราสงสัยในคำตัดสินใจของศาลไทยได้หรือไม่

ความสงสัยที่บังเกิดต่อกระบวนการยุติธรรมไทยช่างละม้ายคล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่อง วอทช์เมน (Watchmen) งานดัดแปลงจากการ์ตูนชื่อดังในปี ค.ศ. 2009 แกนของวอทช์เมนที่โดนใจนักอ่านเป็นยิ่งนักคือการตั้งคำถามกับเหล่าบรรดาฮีโร่หน้ากากทั้งหลายว่า ท่านปกป้องจากแหล่งเหล่าร้าย ทว่าใครกันละที่ตรวจสอบว่าท่านเป็นคนดีจริงเปล่า

วอทช์เมนเริ่มเรื่องในห้วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังระอุ ความไม่ไว้วางใจในหน่วยงานรัฐถูกสะท้อนออกมาผ่านเหล่าฮีโร่หน้ากากภายใต้ชื่อวอทช์เมน พวกเขาเหล่านี้เป็นบุคคลธรรมดาที่อาจจะมีฝีมือและพละกำลังมากกว่าคนปกติสักหน่อย (เว้นแต่ ดร.แมนฮัตตันคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นฮีโร่เพียงคนเดียวที่มีพลังวิเศษจริง ๆ) ซึ่งประกาศตัวทำหน้าที่คอยเฝ้ามองพฤติกรรมของเหล่าร้าย ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม ทว่าหนังก็แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงคนเหล่านี้ก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร แถมหลาย ๆ คนก็ยังมีปัญหาชีวิต บ้างก็ถูกสังหารเพียงเพราะเป็นเลสเบี้ยน บ้างก็วิกลจริตถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้า พวกเขาล้วนคือคนธรรมดาในคราบคนใส่หน้ากากก็เท่านั้น

หลังจากที่เหล่าฮีโร่หน้ากากเหล่านี้ถอนตัวและขอกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนปกติเว้นแต่ เดอะ คอเมเดียน บุรุษผู้ยังคงทำงานช่วยกับทางรัฐอยู่ แต่แล้ววันหนึ่ง เดอะ คอเมเดียนกลับถูกสังหารโดยบุคคลที่มีฝีมือฉกาลฉกรรจ์ อันเลยนำมาสู่การสืบอย่างลับ ๆ โดยอดีตเพื่อนฮีโร่เพื่อหาว่าใครกันแน่ที่เป็นฆาตกร และปฐมบทแห่งความไม่ไว้วางใจ ทฤษฎีสมคบคิดและความหวาดกลัวต่อสงครามเย็นก็เกิดขึ้น

ตลอดทั้งเรื่องหนังตอกย้ำแก่นของเรื่องที่ให้เราตั้งคำถามกับสถานะและอำนาจของเหล่าบรรดาฮีโร่ คำโปรยของหนังคือ Who watches the watchmen? ในเมื่อคนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้ามองและเฝ้าระวังอาชญากรรม แล้วใครกันคือคนที่เฝ้าดูพฤติกรรมของพวกเขา ยามเมื่อคนเรามีอำนาจบางอย่างที่เหนือกว่าคนอื่น เราย่อมมีโอกาสเผลอใช้อำนาจเหล่านั้นมากเกินไปหรือผิดไปจากสิ่งที่ควรเป็น

บรรดาวอทช์เมนกับศาลยุติธรรมมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกันเพราะต่างเป็นผู้ประกาศตัวว่ารักษาความยุติธรรม (ศาลย่อมมีความชอบธรรมในเชิงอำนาจมากกว่าเหล่าวอทช์เมนแน่เพราะอำนาจของศาลนั้นแยกย่อยมาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชน ส่วนเหล่าวอทช์เมนก็คืออำนาจนอกระบบที่อุ๊บอิ๊บตัวตนเป็นวีรชนโดยไร้ที่มาที่ไปของอำนาจ) ซึ่งการเป็นผู้รักษาความยุติธรรมนั้นย่อมถูกตั้งคำถามต่อระบจริยธรรมเสมอ ทั้งความโปร่งใสและเที่ยงตรงต่อหลักการ

การถูกตั้งคำถามย่อมทำให้เหล่าบรรดา ‘วอทช์เมน’ ได้คิดใคร่ครวญ ครุ่นคิดและไตร่ตรองถึงบทบาทของตนว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นมีอำนาจอื่นใดแทรกแซงหรือไม่ รวมถึงการกระทำเที่ยงตรงต่อหลักการสากลหรือไม่ อย่างไร หากไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามแล้วบทบาทของวอทช์เมนย่อมมีแต่เสื่อมศรัทธาไปเรื่อย ๆ

ภาพยนตร์เรื่องวอทช์เมนเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ปุถุชนทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดาที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินผู้อื่นนั้นยิ่งจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ เพื่อความเที่ยงตรง โปร่งใสในการทำงาน และหากการกระทำของบรรดา ‘วอทช์เมน’ ทั้งหลายไร้ข้อสงสัย ศรัทธาจากประชาชนก็ยังบังเกิดขึ้นและสืบต่อไป

‘ศาลไทย’ โปรดระวังเพราะประชาชนกำลังจ้องมองท่านอยู่ชนิดไม่กะพริบตา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิจัยชี้ชัด สิทธิบัตร 'evergreening' ขวางการเข้าถึงยา ทำลายนวัตกรรม

Posted: 13 Dec 2011 05:38 AM PST

สถาบันเซาท์เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการอิสระด้านการค้าระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดเผยงานวิจัยชิ้นล่าสุดที่ไปสำรวจสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด หรือสิทธิบัตรแบบ evergreening ใน 5 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือ อาร์เจนติน่า บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ พบว่า การขอจดสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ ‘แบบต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด’ โดยอาศัยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อยที่กำลังแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากนี้สามารถกีดกันไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด ซึ่งไปจำกัดโอกาสการเข้าถึงยาของประชาชน ไม่เพียงเท่านั้น ยังจำกัดการวิจัยเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์ซึ่งเป็นผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำด้วย

“ปัญหาที่เกิดจากการอนุมัติสิทธิบัตรแก่การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติสิ่งประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยนั้นส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเภสัชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ปกป้องสาธารณสุข สิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์และกรรมวิธีนั้นอาจถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางไม่ให้ยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันในตลาด ซึ่งการแข่งขันนี้จะทำให้ยามีราคาถูกลงและช่วยขยายโอกาสเข้าถึงยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรยากไร้ ปัญหาในทำนองเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับกรณีที่สิทธิบัตรหมดอายุแล้วและยากลายเป็นสมบัติสาธารณะแล้วได้เช่นกัน ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรแก่สารที่เป็นที่รู้จักอยู่ก่อนแล้ว (เช่น สูตร การใช้ หรือรูปผลึกใหม่ ฯลฯ) มักถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อกีดกันคู่แข่งขันจากตลาด”

จากการวิเคราะห์ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า กรอบแนวทางที่ไม่อนุมัติความคุ้มครองสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ที่อาศัยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อยนั้นจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทในประเทศกำลังพัฒนาได้ดีกว่า นอกจากนี้การบังคับใช้เกณฑ์คุณสมบัติสิ่งประดิษฐ์ที่มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรที่กำหนดขึ้นอย่างรอบคอบนั้น จะช่วยให้รัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงการสูญเสียต้นทุนทางการเมืองในการประกาศและเดินหน้าใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร/การใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ CL ทั้งนี้หากมีการตรวจสอบคำขอจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้เป็นทางออก

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยากลายเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ทำกำไรสูงสุด เพียงรั้งลำดับที่สี่รองจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ นำมันดิบ และการธนาคารพาณิชย์ จากงานวิจัยฉบับนี้ได้อ้างถึงการหาข้อมูลของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งทำให้พบว่า บริษัทยาต้นฉบับได้วางแผนและใช้แผนกลยุทธ์ต่างๆ นานา (สารพัดเครื่องมือและวิธีการ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืดเวลาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากยาของตนให้ได้ยาวนานไม่มีวันสิ้นสุด กลยุทธ์ที่พบได้แก่ การยื่นขอจดสิทธิบัตรมากถึง 1,300 ฉบับในทั่วภูมิภาคยุโรปสำหรับยาเพียงรายการเดียว (เรียกว่า “การจดสิทธิบัตรแบบกลุ่ม”) ข้อพิพาทกับบริษัทยาชื่อสามัญอันนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีสิทธิบัตรถึงเกือบ 700 คดี รวมถึงการทำข้อตกลงในคดีความกับบริษัทยาชื่อสามัญอันอาจส่งผลให้ยาชื่อสามัญวางจำหน่ายในตลาดได้ล่าช้าออกไป ตลอดจนการเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐเพื่อขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการวางจำหน่ายยาชื่อสามัญในตลาดนั้นอาจส่งผลกระทบสำคัญต่องบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ และในที่สุดแล้วผู้ที่ต้องรับกรรมคือผู้บริโภค คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประเมิณมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากความล่าช้าดังกล่าวนี้ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้ระบบสิทธิบัตรในทางที่ผิดไว้ที่ราวๆ 3,000 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 126,000 ล้านบาท

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทีมวิจัย “สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” กล่าวว่า นอกเหนือจากความพยายามทำงานกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อปรับปรุงคู่มือการพิจารณาสิทธิบัตรแล้ว จากผลการวิจัยเบื้องต้นในคำขอสิทธิบัตรทางยาของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเข้าข่าย evergreening ถึงร้อยละ 96 และข้อสังเกตต่างๆมีความใกล้เคียงกับงานวิจัยใน 5 ประเทศ ขณะนี้กำลังมีการหารือกันในทีมนักวิจัยและภาคประชาสังคมของทั้ง 6 ประเทศว่า น่าจะมีการฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรเหล่านี้ในกระบวนการทางศาล โดยจะมีการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ร่วมกัน

 

รายงานฉบับเต็มทั้งภาษาอังกฤษและฉบับแปลภาษาไทย ตามไฟล์แนบ

AttachmentSize
นวัตกรรมยา การขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ที่อาศัยการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติเพียงเล็กน้อย และมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร .doc362 KB
RP 41 Pharm CompLice CCorrea.pdf390.57 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

กะเหรี่ยงราชบุรีจับมือกะเหรี่ยงเพชรบุรี ฟ้องกรมอุทยานกรณีถูกไล่เผาบ้าน

Posted: 13 Dec 2011 05:22 AM PST

ชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจานร้องสภาทนายความถูกไล่เผาบ้านและยุ้งฉางจนต้องหนีมาอาศัยกับพี่น้องที่สวนผึ้ง วอนสภาทนายความช่วยฟ้องร้องอุทยานแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 10-11 ธันวาคม 2554 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ลงพื้นที่บ้านห้วยน้ำหนัก อำเภอสวนผึ้ง จ.ราชบุรี สอบข้อเท็จจริงชาวบ้านกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน จากป่าลึกแก่งกระจานที่ถูกไล่เผาบ้านและยุ้งฉางจนต้องอพยพมาอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านห้วยน้ำหนักและบ้านพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยปัจจุบันมีจำนวนชาวบ้านที่ร้องเรียนและให้ข้อมูลกับทางสภาทนายความ โดยต้องการให้สภาทนายความช่วยฟ้องร้องอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีจำนวน 18 ครอบครัว แบ่งเป็น กะเหรี่ยงจากบ้านใจแผ่นดินที่ลงมาอาศัยอยู่ ณ จ.ราชบุรี 5 ครอบครัว และกะเหรี่ยงจากบ้านบางกลอยบนที่มาอาศัยอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย จ.เพชรบุรี จำนวน 13 ครอบครัว

นายสุรพงษ์  กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า “ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเผาบ้านและขับไล่มีประมาณ 100 คน และใน 18 ครอบครัว พบว่า 9 ครอบครัว เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่มีบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านอย่างถูกต้อง โดยเป็นคนไทยโดยกำเนิด ส่วนที่เหลือเป็นผู้ตกหล่นกำลังได้รับการสำรวจเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้วตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทยมิใช่คนต่างด้าวตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง”

นางวาเคลอ  แตะดี อายุ 22 ปี ซึ่งเป็นผู้อพยพหนีการเผาบ้านและยุ้งฉางจากใจกลางป่าแก่งกระจานกล่าวว่า “เมื่อประมาณพฤษภาคมปีนี้ ได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินลงมายังกลุ่มบ้านที่ตนอาศัย และพบว่าบ้านและยุ้งข้าวถูกเผา รวมทั้งทรัพย์สินเสียหาย ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ด้วยความกลัวก็พากันเดินทางลงจากป่ามายัง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยใช้เวลา 3 วัน”

นางวาเคลอ  ยังกล่าวอีกว่า เมื่อลงมาจากป่าก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเมื่อก่อน ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีข้าวกิน ตอนนี้อากาศเริ่มหนาว ไม่มีเสื้อผ้าใส่เพราะตอนลงมาจากป่าไม่สามารถเอาอะไรลงมาได้เลย เพราะทุกอย่างถูกเผาทำลาย เมื่อสอบถามถึงเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาในเบื้องต้น ก็ไม่พบว่ามีหน่วยงานใดของรัฐเข้ามาให้การดูแล

ทั้งนี้ ด้านนายวุฒิ บุญเลิศ ประธานประชาคมอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมละสิ่งแวดล้อม เขตจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “ทางเครือข่ายได้รับทราบถึงความเดือดร้อน ของชาวบ้านที่ลงมาจากบ้านใจแผ่นดิน จึงร่วมกับทางเครือข่าย และพี่น้องชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนือ ร่วมกันทอดผ้าป่าข้าว เพื่อส่งมาบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน และบางกลอยที่เดือดร้อน ให้มีข้าวกิน มีเสื้อผ้าใส่ มีผ้าห่มอุ่นๆให้บรรเทาความหนาวเย็นที่มาถึง”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เคลียร์ปัญหา “วิจารณ์เจ้าได้ -ไม่ได้”

Posted: 13 Dec 2011 05:12 AM PST

ปัญหาเรื่อง “วิจารณ์เจ้า” ได้ –ไม่ได้ ยังสับสนอยู่ เช่นที่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แสดงความเห็นในรายการ "ตอบโจทย์" ทำนองว่า บางคนวิจารณ์เจ้าแล้วโดน ม.112 บางคนไม่โดน อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดน แต่รอด อย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็พูด หรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกันแต่ไม่โดน 

แล้วก็มีการแสดงความเห็นต่อเนื่องของผู้ร่วมรายกายทำนองว่า “ถ้าวิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผล ไม่เข้าข่าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย 4 บุคคล ตามที่ระบุใน ม.112 ก็ถือว่าวิจารณ์ได้” หรือว่าวิจารณ์ได้โดยอ้างพระราชดำรัส “the king can do wrong”

ความเห็นต่อเนื่องดังกล่าวนี้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ “บุคคลสาธารณะ” ย่อมหมายถึง การพูดถึงข้อดี ข้อเสีย ชี้ถูก ชี้ผิดได้ และ/หรือเรียกร้องให้รับผิดชอบได้ ซึ่งต้องมีกฎหมายรับรองสิทธิที่จะทำได้เช่นนั้นด้วย ไม่ใช่จะทำได้ด้วยเพียงการอ้างพระราชดำรัสดังกล่าว

เรามักเข้าใจผิดๆ ว่า อ.สุลักษณ์ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นต้น “วิจารณ์เจ้า” ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ยังไม่มีใครในประเทศนี้ที่วิจารณ์เจ้าในความหมายดังกล่าวได้จริงๆ จังๆ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับให้ทำได้

ที่ อ.สุลักษณ์ อ.สมศักดิ์วิจารณ์นั้น เป็นการวิจารณ์กติกา โครงสร้างโดยรวม การปลูกฝังอุดมการณ์เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ว่า เป็นโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร และเสนอว่าควรแก้ไขกติกาอะไรบ้างเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย (ดังข้อเสนอ 8 ข้อของ อ.สมศักดิ์ เป็นต้น)

การวิจารณ์โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และการเสนอว่า สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เช่นข้อเสนอให้ยกเลิก ม.112 แก้รัฐธรรมนูญ ม.8 หรือข้อเสนอ 8 ข้อของ อ.สมศักดิ์ (หรือเป็นข้อเสนอของใครก็ตามทำนองนี้) ยังถือว่า เป็นการวิจารณ์ภายใน “ขอบเขต” ของ ม.112 หรือ ม.8 คือไม่ผิดกฎหมายสองมาตรานี้ ซึ่งหมายความว่าเป็นการวิจารณ์และการเสนอ “ข้อเสนอ” ที่เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

แต่ปัญหาของบ้านเราอยู่ที่ มันมีการ “บิดเบือน” การวิจารณ์กติกา โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันในลักษณะดังกล่าวนั้นว่า เป็นการ “วิจารณ์เจ้า” และบิดเบือนข้อเสนอเพื่อปฏิรูปกติกา โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันให้เป็นประชาธิปไตย โปร่งใสตรวจสอบได้ดังกล่าว ว่าเป็นการ “ล้มเจ้า” และภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง 5 ปี มานี้ มีการใช้ ม.112 ไล่ล่าแบบเหวี่ยงแห ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับ อ.สุลักษณ์ หรือ อ.สมศักดิ์ (ความเห็นสองท่านนี้มีรายละเอียดต่างกัน แต่จุดร่วมคือ “สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้”) ไม่กล้าออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม หากการวิจารณ์และการเสนอแบบ อ.สุลักษณ์ และ อ.สมศักดิ์ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ และหากเราเห็นว่าการปฏิรูปโครงสร้างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตยเป็นเบื้องต้นก่อนเท่านั้น สังคมเราจึงจะได้ระบบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ก็คงเป็นเรื่องที่เราจะปฏิเสธ “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ไม่ได้ว่า เราต้องเอาชนะ “ความกลัว” เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

โดย “แบบทดสอบ” แรกสุด คือต้องคิดเรื่อง “ปัญหา ม.112” ให้ทะลุ และมองให้เห็นความเชื่อมโยงกับ ม.8 หรือการแก้โครงสร้างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แบบเป็นแพ็กเกจอย่างที่ อ.สมศักดิ์เคยเสนอ เพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

อยากให้ลองพิจารณา “แบบทดสอบ” (เบื้องต้น) ของ อ.สมศักดิ์ ข้างล่างนี้

"แบบทดสอบ" หรือ test สำหรับ คนทีเสนอว่า 112 ให้ "แก้-ลดโทษ" จะ "เป็นจริง" (realistic) ได้มากกว่า จะเสนอให้ "เลิก" เลย และเป็น "แบบทดสอบ" สำหรับ บรรดา "รอยัลลิสต์" ที่ตอนนี้ ออกมาสนับสนุนการ "แก้-ลดโทษ" ด้วย (อานันท์, ปราโมทย์, คำนูณ รวมถึงแม้แต่คนอย่าง สุลักษณ์ ฯลฯ)

เรื่องนี้ ผมเคยเขียนไปในการตอบกระทู้เรื่องนี้ ด้านล่างๆ แล้ว แต่ขออนุญาต ยกมาชัดๆ อีกที และอยากให้ท่านที่ยืนยันเรื่อง "แก้-ลดโทษ" สา...มารถ "เป็นจริง" ได้มากกว่า ให้ช่วยกันคิด-"ตอบโจทย์" นี้ให้ดี (ผมเสียดายว่า ในการออกทีวี ของอานันท์, คำนูณ ฯลฯ หรือ รอยัลลิสต์ ที่ออกมาหนุนการ "แก้-ลดโทษ" นั้น ไมมีใครทีร่วมรายการ "จี้" ถามเรื่องนี้ ... คือถึงที่สุด ผมมองว่า "รอยัลลิสต์" เหล่านี ถึงเวลา ถ้ามีการ "แก้-ลดโทษ" ก็ยังไม่ยอม " รวม " ประเด็นที่ผมเสนอข้างล่างนี้ แน่ๆ คือยังไง ถึงเวลา พวกเขาก็ยังมองว่า เรื่องต่อไปนี้ พูดไม่ได้อยู่ดี)

คือ ผมขอถามว่า ถ้ามีการ "แก้-ลดโทษ" แล้ว เรื่องต่อไปนี้ สามารถอภิปรายกันอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่? หรือคิดว่า ยังไง ก็ยังนับเป็นการ "หมิ่นฯ" อยู่นั่นเอง

- กรณี 13 ตุลาคม 2551

- กรณี "ผ้าพันคอสีฟ้า", "เงิน 2.5 แสนบาท" และเรื่องที่ "เกี่ยวข้อง" อื่นๆ เช่นที่มีการพูดๆกันใน "โทรเลขวิกิลีกส์" ... พูดง่ายๆคือ "บทบาทสถาบันฯ ในความขัดแย้ง 5-6 ปีที่ผ่านมา" รวมถึง ในกรณี รปห. 19 กันยา

- "โทรเลขวิกิลีกส์" เนื้อหาข้างใน ทีตอนนี้ไม่สามารถพูดเปิดเผยได้ ตั้งแต่เรื่องที่เพิ่งยกไปข้างต้น ถึงเรื่องอย่างที่ อานันท์, สิทธิ, เปรม พูดกับทูตอเมริกัน

- หนังสือ The King Never Smiles จะกลายเป็น หนังสือ ที่ "โอเค" สามารถเผยแพร่เปิดเผย และนำเอาเนื้อหามาอภิปรายกันตรงๆ ได้หรือไม่

นี่เป็นตัวอย่างของเรื่องที่มีลักษณะร่วมสมัย ที่เป็นปัญหา โดนเล่นงานด้วย 112 ตอนนี้ ผมไม่ต้องนับรวมย้อนหลังไปถึงเรื่อง "สวรรคต", 6 ตุลา, สมัยเปรม, สฤษดิ์ ฯลฯ ด้วย (แต่แน่นอน กรณีอย่าง The King Never Smiles เรื่องเดียว ก็คลุมประเด็นอดีตต่างๆ เหล่านี้ได้ เพราะหนังสือกล่าวถึงไว้

คำถามผมคือ ถ้า "แก้-ลดโทษ" แล้ว ยังไม่สามารถอภิปรายเรื่องต่างๆ ที่ว่ามาได้ ... การ "แก้-ลดโทษ" จะมีประโยชน์อะไร?

กรณีอย่าง "อากง" ที่ผมยกตัวอย่างหลายครั้งว่า ถ้า "แก้-ลดโทษ" สมมุติ อากง เป็นคนส่งข้อความจริง ก็จะยังโดน 8-12 ปี เป็นอย่างต่ำ อยู่นั่นเอง

ดา ตอร์ปิโด ก็เช่นกัน, สุรชัย ก็เช่นกัน

ผมน่ะ สนับสนุน และชอบนะ อะไรที่ "เป็นจริง" (realistic) ปัญหาคือ ผมมองว่า เรื่อง "แก้-ลดโทษ" จริงๆ มันไม่ realistic อย่างที่หลายคนคิด

 

 

ที่มา:  http://www.facebook.com/profile.php?id=100002500442297&sk=wall

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

38 ปี คดีแรกก่อการร้าย! ตัดสินจำคุกอดีตตำรวจยิงอาร์พีจีใส่กลาโหม

Posted: 13 Dec 2011 04:20 AM PST

 

13 ธ.ค.54  ที่ศาลอาญา รัชดา ห้องพิจารณาคดี 803 ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่   อ.2317/ 2553 คดีระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ กับ นายบัณฑิต สิทธิทุม จำเลย ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ,สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในการก่อการร้าย, ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์, ร่วมกันใช้หรือครอบครองป้ายทะเบียนรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการ, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันมีและครอบครองอาวุธปืน วัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุ4ปืน พ.ศ.2490,พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องยุทธภัณฑ์ฯ

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นกรณีที่มีข่าวคนร้ายใช้อาวุธอาร์พีจีหวังยิงใส่กระทรวงกลาโหมแต่พลาดเป้าถูกสายไฟและไปตกบริเวณถนนอัษฎางค์เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2553

โดยศาลตัดสินว่า แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ตามฟ้องเป็นของปลอม แต่จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกันปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์  เนื่องจากในความผิดฐานนี้ โจทก์มีเพียงพยานที่มาเบิกความว่ามีชายไม่ทราบชื่อมาว่าจ้างให้ทำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ จึงพิพากษายกฟ้องฐานปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์

นอกจากนี้แล้ว ศาลก็ได้วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ใช้หรือครอบครองแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม ในวันที่ 20 มีนาคม 2553 เนื่องจากในวันที่ 20 มีนาคม 2553  ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุนั้น โจทก์มีพยานเป็นผู้หญิงสองคน มาเบิกความว่า  ในวันที่ เกิดเหตุ( 20 มีนาคม 2553) พยานโจทก์ทั้งสองคน อยู่ในซอยแพร่งนรา เห็นรถยนต์ตามคำฟ้อง มีชาย 2 คนนั่งรถยนต์มา และจำเลยได้ลงมาพูดคุยกับพยาน จึงเชื่อว่า พยานของโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตามจริงไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน กอปรกับ หลังเกิดเหตุ 3 วัน พยาน 2 คน นี้ได้ไปชี้ภาพถ่ายจำเลย ได้แม่นจำ โดยมีการชี้ภาพถ่ายว่า เป็นจำเลยที่ขับรถเข้ามาในซอยด้วยความรวดเร็ว จึงเชื่อว่าเป็นจำเลย

ศาลได้วินิจฉัยว่า  รถยนต์คันเกิดเหตุมีลายนิ้วมือแฝง ซึ่งตรวจเก็บจากประตูรถด้านซ้ายคนขับตรงกับลายนิ้วมือของบุคคลคนเดียวกัน อีกทั้งสารพันธุกรรมซึ่งตรวจพบอยู่พื้นที่ทางเท้ามีรูปแบบสารพันธุกรรมของจำเลยปะปนอยู่ด้วย ศาลจึงเชื่อว่านักนิติวิทยาศาสตร์ที่เป็นพยานโจทก์มาเบิกความเป็นพนักงานของรัฐ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งหักล้างได้ยาก กอปรกับจำเลยรับว่าเป็นคนซื้อซิมการ์ด ซึ่งเป็นหมายเลขซิมการ์ดที่หล่นอยู่ในรถยนต์คันเกิดเหตุ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ตามฟ้อง จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมซึ่งเป็นเอกสารราชการ จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม

ประเด็นต่อมาศาลได้วินิจฉัยว่า จำเลยร่วมกันยิงปืนในเมืองไปยังกระทรวงกลาโหม จนเป็นเหตุให้นายศักดิ์ หาญสงคราม ได้รับอันตรายแก่กาย และเป็นเหตุทำให้ทรัพย์ของบริษัททีโอทีฯ ได้รับความเสียหาย  เนื่องจากโจทก์มี เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานว่า ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด ซีซีทีวี เมื่อเวลา 22.18 น.ของวันที่ 20 มีนาคม 2553 พบมีรถยนต์เลี้ยวเข้าซอยที่เกิดเหตุ และพบเปลวเพลิง เหตุระเบิดเกิดขึ้นน่าจะเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับรถที่เลี้ยวเข้าในซอยที่เกิดเหตุ และโจทก์มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี จำนวน 1 กระบอก ซึ่งมีรัศมีในการยิงระยะไกล 800 เมตร พยานที่เบิกความล้วนเป็นเจ้าพนักงานรัฐไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ และพบรถยนต์ตามฟ้องทิ้งไว้มีกุญแจเสียบคาทิ้งไว้ และเป็นรถยนต์ที่เลี้ยวเข้าซอยเกิดเหตุ จำเลยกับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจี 2 โดยมีความมุ่งหมายที่จะยิงไปที่กระทรวงกลาโหม จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ซึ่งเหตุระเบิดนั้นทำให้นายศักดิ์ หาญสงครามได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  และการยิง อาร์พีจี 2 นั้นเป็นเหตุให้สายเคเบิ้ล โทรศัพท์ของบมจ.ทีโอทีได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

นอกจากนี้แล้ว ศาลได้วินิจฉัยว่า เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถขณะเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และรัฐบาลได้ประกาศพ.ร.ก. เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองมีความไม่สงบ โดยนปช.เริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 12  มีนาคม 2553 และนปช.ทำการปิดถนน  ทำให้ประชาชนเกิดความไม่สงบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 135/1 (1),มาตรา 83

คดีนี้ถือเป็นคดีร่วมกันก่อการร้ายคดีแรกที่ศาลตัดสินลงโทษ แต่ทั้งนี้ ศาลได้ยกฟ้องจำเลยข้อหา ฐานสนับสนุนการก่อการร้าย เนื่องจากมีพยานโจทก์เพียงปากเดียวมาเบิกความว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถให้แก่นางจุรีรัตน์ สินธุไพร ซึ่งเป็นแกนนำ นปช. แต่โจทก์ก็ไม่มีพยานอื่นใดมาเบิกความว่า กลุ่มแนวร่วมนปช.เป็นกลุ่มก่อการร้าย จึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการ กลุ่มนปช.ในการกระทำการก่อการร้าย

นอกจากนี้แล้ว ในรถคันเกิดเหตุมีการตรวจรถยนต์พบ เครื่องยิงจรวด อาร์พีจี 2 ,ระเบิดสังหาร,ปืนกล จึงพิพากษาว่าจำเลยร่วมกันมี ปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดไว้ในความครอบครอง  ลูกระเบิดไว้ในความครอบครอง

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม (แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม)  จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันก่อการร้ายตามมาตรา 135/1(1) จำคุก 20 ปี ,ฐานร่วมกันใช้และครอบครองเครื่องยิงจรวดจำคุก 5 ปี,ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิด จำคุก 5 ปี ,ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนกลมือ จำคุก 5 ปี ,ฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร จำคุก 1 ปี  ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 แต่ยกฟ้องความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530และสนับสนุนนปช.ในการก่อการร้าย รวมจำคุก 38 ปี

ในการอ่านคำตัดสินในวันนี้ ทางจำเลยมีเพียง ทนายความจำเลย และญาติของจำเลยมาร่วมฟังคำตัดสินเท่านั้น  แต่ไม่มีแกนนำนปช.หรือผู้ใดเข้าร่วมฟังด้วย

หลังจากทราบคำพิพากษานายบัณฑิต สิทธิทุมได้กล่าวว่า วันนี้ ขณะที่ศาลได้ตัดสินคดีเขา เขาอยู่ในห้องพิจารณาเดียวกับกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาอยากให้ศาลตัดสินให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ติดคุก ในข้อหา สั่งฆ่าประชาชน และเขารู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างยิ่ง พร้อมทั้งยืนยันว่าเขาคือแพะ

นายจันทร์ เขาน้อย ทนายความของนายบัณฑิต สิทธิทุม ได้เปิดเผยหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาว่า  คดีนี้ อัยการกล่าวฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันกับผู้อื่นในการกระทำความผิดต่างๆ แต่ปรากฏว่า จากการสืบพยานไม่ปรากฏเลยว่า จำเลยร่วมกันกับใคร  อีกทั้งก่อนหน้านี้ นายโก้ หรือศุภณัฐ หุลเวช ซึ่งเป็นคนถูกจับได้ก่อนหน้าจำเลยในข้อหาว่ายิงอาร์พีจีใส่กระทรวงกลาโหม แต่ปรากฏในเวลาต่อมาว่าเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนาย โก้ หรือศุภณัฐ  ไป  นอกจากนี้แล้ว  ศาลไม่ได้หยิบยกเอาประเด็นที่ว่าพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความยอมรับว่า  พยานโจทก์ที่เป็นหญิงสาวสองคนซึ่งเป็นบุคคลที่ยืนยันว่าจำหน้าจำเลยได้เป็นหญิงบริการมาวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือและน้ำหนัก  อีกทั้งศาลไม่ได้หยิบยกเอาประเด็นที่ทางทนายจำเลยคัดค้านว่า ขณะที่ทำการสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่า พยานโจทก์ที่จะเบิกความบางคนนั้นได้นั่งฟังพยานโจทก์บางคนเบิกความด้วยและได้เข้าเบิกความต่อในภายหลัง ซึ่งเป็นการผิดระเบียบวิธีพิจารณาความอาญาในข้อที่ว่า ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง  

ทนายความระบุว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษา ภายใน 30 วัน โดยมีข้ออุทธรณ์ที่สำคัญว่า  จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในวันเกิดเหตุหรือไม่  และอยากให้มีคนมาช่วยจำเลยในเรื่องการประกันตัว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นาซ่า บอกไม่พบหลักฐานใดๆ ว่าโลกจะแตกในปี 2012

Posted: 13 Dec 2011 12:05 AM PST

ดอน ยิโอแมน นักดาราศาสตร์จากนาซ่ากล่าวโต้หลายๆ ความเชื่อเรื่องโลกาวินาศในปี 2012 ทั้งความเชื่อเรื่องการสิ้นสุดของปฏิทินมายา เรื่องดาวเคราะห์ปริศนาพุ่งชนโลก เรื่องการเรียงตัวของดาวเคราะห์ เรื่องวินาศภัยจากพายุสุริยะ และเรื่องการพลิกของแกนโลก บอกว่าไม่พบหลักฐานในปรากฏการณ์เหล่านี้ และในบางปรากฏการณ์ต่อให้เกิดขึ้นจริงก็ไม่ได้ส่งผลเสียหายรุนแรง 

12 ธ.ค. 2011 - แม้จะมีการลือกันเรื่องโลกาวินาศในวัน 21 ธ.ค. 2012 แต่ทางองค์การนาซาก็บอกว่าเรื่องโลกาวินาศนั้นไม่ใช่เรื่องจริง และวันดังกล่าวมีความสำคัญเป็นเพียงแค่วันเหมายัน หรือวันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดของปีหน้าเท่านั้น
 
นักดาราศาสตร์ ดอน ยิโอแมน ผู้ดำเนินงานโครงการวัตถุอวกาศใกล้โลก (Near-Earth Object) ของนาซ่ากล่าวถึงข่าวลือเรื่องโลกาวินาศว่า สิ่งที่พิเศษในวันที่ 21 ธ.ค. 2012 คือมันเป็นวันที่คนจำนวนมากคิดว่าเป็นจุดสิ้นสุดของปฏิทินมายา
 
 
ปฏิทินมายา
 
ปฏิทินของชาวเผ่ามายาเหมือนกับปฏิทินเกรกอเรียนสมัยใหม่คือระบุให้ปีหนึ่งมี 365 วัน นอกจากการนับเวลาเป็นปีแล้ว ชาวเผ่ามายายังได้วัดเวลาในช่วงระยะยาวไว้ด้วย โดยมีปฏิทินที่นับแบบสั้นและนับแบบยาว เช่นเดียวกับที่พวกเรานับเวลาเป็น ทศวรรษ, ศตวรรษ และ สหัสวรรษ
 
"การนับแบบสั้นคือ 52 ปี เมื่อเทียบกับปีของพวกเรา และการนับแบบระยะยาวคือ 5,125 ปี ซึ่งปฏิทินที่นับแบบระยะยาวนี้มีจุดสิ้นสุดอยู่ที่วันที่ 21 ธ.ค." ยิโอแมนกล่าว "แน่นอนว่าปฏิทินใหม่จะต้องเริ่มต่อวันที่ 22 ธ.ค. แบบนี้มันเหมือนกับว่าหากปฏิทินเราจบที่วันที่ 31 ธ.ค. แล้วนั่นก็เป็นจุดจบของเวลา จุดจบของโลก โดยไม่ได้คำนึงว่าจะมีวงจรใหม่เริ่มต้นขึ้น ชาวมายาไม่เคยทำนายว่าจุดจบของโลกจะสิ้นสุดที่เวลานั้น"
 
แม้ว่าจะมีบางคนที่เชื่อว่าวันที่ 21 ธ.ค. อาจจะนำมาซึ่งยุคสมัยของการตื่นรู้ครั้งใหม่ แต่ก็มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่หวาดกลัวอวสานโลก "ผมใช้กูเกิ้ลค้นคำว่า '2012 disasters' (ภัยพิบัติ 2012) แล้วรู้ไหมว่ามีจำนวนการแสดงผลเท่าไหร่ ...35 ล้าน มีผู้คนจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับวันที่ 21 ธ.ค. 2012"
 
 
หายนะจากดาวเคราะห์ X
 
ยิโอแมนกล่าวว่า สิ่งที่เป็นข้อกังวลอย่างหนึ่งได้ถูกขจัดไปแล้ว คือกรณีของดวงอาทิตย์ ที่ว่าหากมองจากมุมมองของโลกแล้ว จะพบดวงอาทิตย์ขวางหน้าดาวเคราะห์ดวงอื่นในกาแล็กซี่ของพวกเราในวันที่ 21 ธ.ค. อย่างไรก็ตามดวงอาทิตย์ได้ทำเช่นนี้อยู่แล้ว 2 ครั้งต่อปี โดยไม่ได้สร้างความเอิกเกริกใดๆ
 
ความกลัวอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า "นิบิรุ" หรือ "ดาวเคราะห์ X" ที่ว่าจะพุ่งเข้ามาชนโลก
 
ยิโอแมนระบุว่า มีผู้คลั่งไคล้ยูเอฟโอชื่อ แนนซี่ ลีเดอ เป็นคนที่เคยบอกว่าสามารถติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวจากหมู่ดาวเซตา เรติคิวรี (Zeta Reticuli) ได้ เธอเคยบอกว่านิบิรุจะสร้างหายนะครั้งใหญ่ในเดือน พ.ค. 2003 มาก่อน ก่อนที่ต่อมาถึงได้เปลี่ยนคำทำนายเป็นวันที่ 21 ธ.ค. 2012
 
"ไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่บ่งบอกว่านิบิรุมีอยู่จริง" ยิโอแมนกล่าว และจากแนวคิดที่ว่ามันอาจจะซ่อนอยู่หลังดวงอาทิตย์ยิโอแมนก็ปฏิเสธว่า "มันไม่สามารถซ่อนอยู่หลังดวงอาทิตย์ได้ตลอดไป และหากเช่นนั้นพวกเราควรจะได้เห็นมันหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว"
 
ขณะเดียวกันก็มีผู้เชื่อเรื่องนิบิรุอ้างว่าเหล่านักดาราศาสตร์และนาซ่า ต่างก็สมคบคิดกันเพื่อปกปิดเรื่องนิบิรุเพราะเกรงว่าจะเกิดความแตกตื่น ซึ่งยิโอแมนก็ตอบโต้เรื่องนี้ในเชิงติดตลกว่า "ไม่มีทางที่โลกใบนี้จะทำให้นักดาราศาสตร์เงียบในเรื่องใดได้เลย"
 
 
ดาวเคราะห์เรียงตัวระนาบเดียวกัน
 
ยังมีการอ้างอีกว่า การเรียงตัวในระนาบเดียวกันของดาวเคราะห์ในปี 2012 จะส่งผลต่อเรื่องแรงโน้มถ่วง
 
"แต่จะไม่มีการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในวันที่ 21 ธ.ค. 2012" ยิโอแมนกล่าว
 
หรือถ้าหากว่ามีการเรียงตัวของดาวเคราะห์เกิดขึ้นจริง มันก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ สิ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อเรื่องโน้มถ่วงของโลกจริงๆ คือดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เช่นที่เราเห็นได้จากกรณีน้ำขึ้นน้ำลง การที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยจักรวาลของเราจะส่งผลต่อกระแสน้ำนั้นเป็นแค่เล็กน้อย และพวกเราก็ประสบกับมันมาหลายล้านปีโดยที่ไม่ได้มีปัญหาใดๆ
 
 
พายุสุริยะ
 
ความกลัวอีกเรื่องหนึ่งในปี 2012 คือ ปรากฏการณ์พายุสุริยะ (Solar Storm)
 
พายุสุริยะคือปรากฏการณ์ของกระแสอนุภาคพลังงานถูกส่งออกมาจากดวงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในทุกระยะเวลา 11 ปี เมื่อเกิดพายุสุริยะโหมเข้ามายังโลก มันจะทำให้เกิดแสงเหนือ-แสงใต้ (auroras) ที่สามารถทำความเสียหายต่อดาวเทียมและระบบกระแสไฟฟ้า แต่ยิโอแมนก็กล่าวว่า "มันไม่ถึงขั้นทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาว"
 
มีบันทึกการเกิด "พายุสุริยะครั้งใหญ่" โหมมาสุ่โลกในปี 1859 แม้ว่าในตอนนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยมาก แต่ในปัจจุบันมีความกลัวว่าพายุสุริยะจะสร้างความเสียหายได้มากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากโลกยุคปัจจุบันมีการพึ่งพาเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
 
อย่างไรก็ตามยิโอแมนกล่าวว่า "ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าพายุสุริยะจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธ.ค. ปีหน้า" มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำนายปรากฏการณ์ของดวงอาทิตย์ที่อยู่ไกลออกไป และแม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์พายุสุริยะในระดับรุนแรงถึงขีดสุดก็ไม่สามารถทำให้เกิดโลกาวินาศเช่นที่ผู้คนหวาดกลัวกันได้
 
 
แกนโลกพลิก
 
โลกของเรามีแกนโลกอยู่สองประเภทในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแกนการหมุนของดาวเคราะห์เรา และยังมีสถานะเป็นแกนแม่เหล็กที่เกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กโลกทำให้เข็มทิศของเราชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ
 
บางคนกลัวว่าแกนโลกทั้งสองแกนนี้อาจจะพลิกในปี 2012
 
อย่างไรก็ตามแกนโลกในเชิงภูมิศาสตร์นี้ไม่มีทางพลิกเนื่องจากมีดวงจันทร์คอยทำให้การหมุนของโลกเสถียรอยู่เสมอ
 
แกนแม่เหล็กโลกอาจจะมีการพลิกบ้างในบางครั้ง แต่ก็จะเกิดขึ้นในระยะเวลาราวทุกๆ 500,000 ปี การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกระทันหัน แต่จะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ นานหลายพันปี ยิโอแมนบอกว่า ยังไม่หลักฐานบ่งชี้ว่าจะเกิดการพลิกในวันที่ 21 ธ.ค. 2012 และถ้าหากมีการพลิกตัวเกิดขึ้นจริง มันก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไรนอกจากว่าเราต้องเปลี่ยนทิศทางหลักของเข็มทิศจากทิศเหนือเป็นทิศใต้เท่านั้น
 
ยิโอแมนกล่าวว่า ในที่สุดแล้วแม้แต่คนฉลาดก็สามารถเชื่อในเรื่องแปลกๆ ได้ด้วยหลายเหตุผล อย่างเช่นการที่มีข้อมูลจริงถูกผสมปนเปกับวิทยาศาสตร์ขยะ (junk science) ขณะที่เกร็ดหลักฐานเล็กๆ น้อยๆ และการโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนทางอินเตอร์เน้ตกับโทรทัศน์ก็ถูกนำมาอ้างว่าเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งหลายครั้งก็เป็นความเข้าใจผิดต่างจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
 
"นักวิทยาศาสตร์ได้ช่วยทำงานแทนพวกเขาแล้ว" ยิโอแทนกล่าว "พวกเราควรจะทำงานให้หนักขึ้นในการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนทั่วไป"
 
 
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เราหนาวมานานแล้ว"

Posted: 12 Dec 2011 05:56 PM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "เราหนาวมานานแล้ว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น