โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อ่านการเมืองไทยกับชาญวิทย์ เกษตรศิริ: (จะ) 80 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก

Posted: 09 Dec 2011 10:25 AM PST

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สนทนานานาที่ Book Re:Public ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองโลก เพื่อนบ้านอาเซียน รัฐประหาร 19 ก.ย.49 และมาตรา 112

 

 

"ประวัติศาสตร์นี่มันสนุกมาก ถ้านอกเรื่องเยอะๆ นะ นอกตำรา...
ออกจากพระนเรศวรประกาศเอกราชได้ สนุกแน่"
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตอนหนึ่งในการเสวนา
ที่ร้านหนังสือ Book Re:Public

(9 ธ.ค.54) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ร่วมเสวนาในหัวข้อ "(จะ) 80 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก" (2475-2555) ที่ร้านหนังสือ Book Re: Public จ.เชียงใหม่ ดำเนินรายการโดยธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยชาญวิทย์ระบุว่า นักรัฐศาสตร์ไทยนั้นมีข้อจำกัดเพราะมองย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างดีก็ถึงแค่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งจะครบ 80 ปีในปีหน้านี้ ขณะที่ชาญวิทย์มองว่า การย้อนดูประวัติศาสตร์นั้นควรย้อนกลับไปยาวๆ

ทั้งนี้ เขามองว่า ปี 1911 (2454) เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค.1911 เกิดการปฏิวัติซุนยัดเซ็น ราชวงศ์ชิงล่ม ประเทศจีนเปลี่ยน นับเป็นการปฏิวัติแรกของเอเชีย ซึ่ง 4 เดือนต่อมาในไทยก็เกิดเหตุการณ์กบฎ รศ.130 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นายทหารหนุ่มต้องการยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 6 โดยเมื่อคำนวณแล้วจะครบ 100 ปีของความพยายามที่จะเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า

"ถ้าเราดูอย่างนี้ เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์ของสยามประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของระบบของโลกใหญ่" ชาญวิทย์กล่าวและว่า ถ้าจะดูการเมืองที่มีความพยายามสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทยดูเพียง 2475 ไม่พอ ต้องดูกลับไปอีก จึงจะเห็นว่ามีสิ่งที่เรียกว่ากฎเกณฑ์บางอย่างของโลก โดยในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่า nation (ชาติ) ที่มาพร้อมแนวคิดเรื่องความเสมอภาค ไม่ใช่แนวดิ่งอีกต่อไป โดยเกิดทั้งการปฏิวัติอเมริกัน ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เรากลับพยายามบอกว่ามันไม่ใช่ ระบอบที่เรามี ไม่มีใครเหมือนและเรา unique

ผู้ดำเนินรายการชวนคุยว่า ไทยอธิบายว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก เป็นความพิเศษที่เทียบเคียงกับที่อื่นไม่ได้เลย ทั้งระบอบการปกครองและสถาบันกษัตริย์ เชื่อมโยงกับแนวคิดนี้ได้หรือไม่ ชาญวิทย์มองว่าวาทกรรมไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นนั้น ในด้านบวกทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ก็กลายเป็นปมเขื่อง ซึ่งพัฒนาไปเป็นการดูถูกคนอื่น ซึ่งนี่เป็นปัญหา

ราชาชาตินิยม-ชาตินิยมสู่การกู้ชาติ
ธนาพลกล่าวว่า เบเนดิกต์ แอนเดอร์สันเคยกล่าวว่าเพราะการปฏิวัติสยามไม่เคยแตกหักกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ด้วยผลพวงทางประวัติศาสตร์แบบนี้ ทำให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ชนชั้นนำ คือการประนีประนอม หรือที่อาจารย์เรียกว่าเกี๊ยะเซี๊ยะ บรรยากาศแบบนี้เป็นผลพวงของการที่เราไม่เคยแตกหักกับระบอบเก่าจริงหรือเปล่าหรือมีปัจจัยอะไร ชาญวิทย์กล่าวว่า ถูกส่วนหนึ่ง เพราะการไม่แตกหักทำให้อะไรบางอย่างของสังคมเก่ายังอยู่ อย่างไรก็ตาม เขามองว่า คำกล่าวนี้ของ อ.เบน นานมากแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่าสถานการณ์และวิธีคิดนั้นเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่ตัวเขาเองก็เปลี่ยนใจจากสิ่งที่เคยเขียนไปเยอะแล้ว อย่างไรก็ตาม เขามองว่าอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นความพยายามของผู้นำใหม่คือคณะราษฎรที่จะประนีประนอมกับระบอบเก่าในระดับหนึ่ง ซึ่งการประนีประนอมนั้น ระบอบใหม่ทำท่าว่าจะไปได้ดีพอสมควรในช่วงรัชกาลที่ 7-8 พร้อมชี้ว่าควรต้องดูบทบาทของการสร้างระบอบอำนาจนิยม การสร้างชาตินิยมเพื่อบดบังรัศมีของราชาชาตินิยม โดยเดิมราชาชาตินิยมแบบของรัชกาลที่ 5-6 นั้น มีจุดเน้นอยู่ที่ราชสำนัก ใครก็ตามที่จงรักภักดีถือเป็นคนไทย ขณะที่ชาตินิยมแบบจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้นเน้นที่ความเป็นชนชาติ เชื้อชาติไทย ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นเวอร์ชั่น hybrid หรือลูกผสม โดยยกตัวอย่างกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมที่ราชดำเนินประท้วงรัฐบาลไม่ว่า สมัคร สุนทรเวช หรือสมชาย ด้วยประเด็นเขาพระวิหาร ว่านี่คือลูกผสมที่สามารถร้องเพลงความฝันอันสูงสุดแล้วเปลี่ยนเป็นเพลงต้นตระกูลไทยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาญวิทย์มองว่า เวอร์ชั่นลูกผสมนี้ใช้การไม่ได้แล้ว สังเกตจากการที่สุวิทย์ คุณกิตติ วอล์กเอาท์ออกจากการประชุมมรดกโลกที่ปารีส รวมถึงขึ้นป้ายหาเสียงทวงคืนพระวิหาร แต่ก็ยังสอบตก นั่นแสดงว่าคนไม่เอา

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไมประวัติศาสตร์ไทยจึงมองเพื่อนบ้านแบบที่ พม่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เขมรเลี้ยงไม่เชื่อง ลาวเป็นลูกน้องตลอดกาล มาเลเซียเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อการร้าย ชาญวิทย์มองว่า นี่เป็นผลผลิตของราชาชาตินิยมบวกกับอมาตยาชาตินิยม โดยประวัติศาสตร์เหล่านี้เขียนขึ้นในยุคที่รอบๆ ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ยุคหนึ่งคนเอเชียอาจไม่คิดว่าเราเป็นเอกราชได้ ทำให้เราเขียนโดยไม่สนใจเพื่อนบ้าน เพราะคิดว่าเขาไม่ได้อ่านหรือมีผลต่อเรา อย่างไรก็ตาม มาตอนนี้เขาอ่าน และเขาด่ากลับด้วย โดยชาญวิทย์ยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้านี้ไปสอนหนังสือที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา เขาดูทีวีของไทย และหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษของไทยอย่างบางกอกโพสต์ก็หาซื้อได้ทั่วไป เขารู้เรื่องของเราดีมาก ขณะที่เราไม่รู้เรื่องของเขา ทั้งที่ต่อไปก็จะเกิดประชาคมอาเซียนแล้ว แต่เราเตรียมตัวไม่ทัน ไม่ได้สนใจเลย เราอยู่ในกรอบความเป็นไทย จนลืมดูรอบๆ บ้าน

ธนาพลถามว่า ชาญวิทย์เคยบอกว่ารัฐประหาร 2549 จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายในรัชกาลนี้ แล้วในรัชกาลต่อไปจะเป็นอย่างไร ชาญวิทย์ตอบว่า รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ข้อถกเถียงของนักรัฐศาสตร์ว่ารัฐประหารเพื่อป้องกันการนองเลือดนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ และทหารก็รู้แล้วว่าไม่สามารถบริหารได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์นั้น พล.อ.สุรยุทธ์เดินทางไปเยอรมนี รัฐบาลของที่นั่นก็ไม่สามารถต้อนรับได้ เพราะมาจากรัฐประหาร แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาไม่ยอมรับ หรือกรณีอากง และโจ กอร์ดอน (ผู้ถูกตัดสินความผิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสองรายล่าสุด) รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ซึ่งชาญวิทย์มองว่า อีลีท ชนชั้นนำของไทย ผู้ดีกรุงเทพฯ นั้นวิตกต่อเรื่องนี้อย่างมากว่าฝรั่งจะว่าอย่างไร ทั้งนี้ เขาเสริมว่าเราปิดประเทศไม่ได้ แม้แต่พม่ายังปิดไม่ได้เลย ฮิลลารี่ยังไปกอดกับอองซานซูจีแล้ว

ผู้ดำเนินรายการถามว่า หลังรัฐประหาร มีการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ทั้งในงานวิชาการ และแบบชาวบ้าน รวมถึงในสื่ออินเทอร์เน็ต ความเปลี่ยนแปลงนี้บอกอะไรกับเรา สังคมไทย หรือชนชั้นนำ ชาญวิทย์กล่าวว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ผลของมันมหาศาล คนที่ทำก็นึกไม่ออก เพราะเป็นรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่เหตุการณ์ต่อๆ มาก็เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตเมื่อปี 53 ซึ่งอะไรหลายอย่างเลยไปแล้ว บางคนเล่นคำว่า อะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นมันทุเรศและเผลอๆ อาจจะ too late แล้ว สถานการณ์มันไปไกลจนเรียกได้ว่า ถ้าผู้ที่กุมอำนาจรัฐไม่ปรับ เปลี่ยน ปฏิรูป หลายอย่างจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้

"ถ้าท่านต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ และสันติสุขเพื่อชาติและราษฎรไทย ท่านต้องปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์: คำอธิษฐานถึง "อากง" ในวันรัฐธรรมนูญ

Posted: 09 Dec 2011 06:04 AM PST

๑. อธิษฐานนำ: “กฎหมาย” แทน “กฎตามใจฉัน”

แม้บ้านเมืองจะแสนวุ่นวายในยามนี้ แต่ผมมีความหวังว่าภาวะวิกฤตได้เสนอโอกาสให้สังคมไทยหันมาพึ่ง “กฎหมาย” แทน “กฎตามใจฉัน” กันมากขึ้น

พอมีคนคิดว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” บริหารน้ำท่วมผิดพลาดไม่เป็นธรรม ก็ใช้สิทธิทางศาล ทั้งที่จะเอาผิดทางแพ่ง อาญา และปกครอง ไม่ว่าจะเพื่อเรียกค่าเสียหาย หรือเพียงเพื่อขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลทำให้ถูกต้อง (ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การฟ้องเพื่อให้รัฐทำให้ถูกต้องนั้นมีทางทำได้ แต่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นยาก เพราะมีกฎหมาย เช่น มาตรา 43 ของ กฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัยฯ ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารกำหนดค่าเสียหายไว้แล้ว ศาลจะไปกำหนดแทนไม่ได้ ดูเพิ่มที่ http://on.fb.me/s0FasP )

พอมีคนคิดว่า “คุณทักษิณ” จะถูกช่วยให้พ้นผิด ก็ขู่จะฟ้องศาลให้ตรวจสอบว่ากฎหมายอภัยโทษ หรือกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? (ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่า การจะด่วนสรุปว่าศาลมีอำนาจพิจารณาได้หรือไม่ได้เสมอไปนั้น คงเป็นความคิดที่คับแคบเกินไป ดูเพิ่มที่ http://on.fb.me/rJ6kTd และ http://on.fb.me/w0eznn )

แม้แต่กรณี “รัฐบาลอภิสิทธิ์” สลายการชุมนุมแต่คดี 91-92-93 ศพในประเทศไปไม่ถึงไหน ก็มีการพูดเรื่องฟ้องคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ! (เรื่องนี้ผมเห็นว่ามีช่องทางเป็นไปได้แต่ยากมาก ดูเพิ่มที่ http://on.fb.me/vPHzNS )

* * *

๒. อธิษฐานนึก: “คดีอากง” สู่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ล่าสุด เมื่อเห็นว่า “อากง” ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปี จากข้อความ sms 4 ฉบับ (หรือ 1 ฉบับที่แตกเป็น 4 ตอนก็ไม่ชัด) ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า สำหรับผู้ที่ต้องการจะช่วย “อากง” นั้น นอกจากจะรณรงค์ทางการเมืองให้แก้กฎหมาย หรือ อภัยโทษ นิรโทษ ลดโทษ หรือสู้คดีอุทธรณ์ฎีกา (ซึ่งอากงอาจต้องรอในคุกอีกนาน) นั้น “อากง”  จะสามารถฟ้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าบทบัญญัติกฎหมายที่ศาลนำมาลงโทษอากงนั้น เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ?

ย้ำนะครับ ผมไม่ได้ถามนะครับว่า ความมีอยู่ของ “กฎหมายหมิ่น” มาตรา 112 โดยตัวมันเองขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผมก็ไม่ได้ถามซ้ำกับคนอื่นว่าเราควรจะรักษา หรือแก้ไข หรือเลิก มาตรา 112 หรือไม่ และผมไม่ได้ถามเสียด้วยซ้ำว่าศาลที่พิพากษาจำคุกอากงนั้นตัดสินคดีอย่างยุติธรรมหรือไม่ ผมไม่ได้ถามสิ่งเหล่านี้นะครับ

แต่ผมกำลังถามถึง “สิทธิของอากง” หรือแม้แต่ “สิทธิของผู้ที่เกรงว่าตนจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับอากง” ที่จะใช้ช่องทางตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 211 หรือ มาตรา 212 ประกอบกับมาตรา 6 มาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา ๓๙ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า ตัวบทกฎหมายที่ศาลนำมาลงโทษอากงนั้น ไม่ว่าจะในเรื่องกระบวนพิจารณารับฟังหลักฐานก็ดี เรื่องการกำหนดความรุนแรงของโทษก็ดี หรือแม้แต่วิธีการนับกระทงรวมโทษก็ดีนั้น ละเมิดสิทธิเสรีภาพในทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่ ?

การที่ประชาชนจะนำคดีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้จะเป็นไปได้แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซ้ำยังจะโดนคดีบรรทัดฐานขวางกั้นเอาง่ายๆ แต่สมมติว่าผ่านขั้นตอนและศาลรับฟ้อง อากงก็อาจยก “รัฐธรรมนูญ มาตรา 29” ที่บัญญัติว่า กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของอากงนั้น จะมีได้ก็แต่เพียง “เท่าที่จำเป็น” เท่านั้น ไม่ใช่ว่าสภาจะมีอำนาจตรากฎหมายอะไรตามใจก็ได้

ทั้งนี้ การฟ้องลักษณะดังกล่าวต้องไม่ใช่การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบดุลพินิจของศาลอาญา และต้องไม่ใช่การขอให้ศาลวินิจฉัยว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เช่น มาตรา 112 นั้น จะมีอยู่ได้หรือไม่ (เพราะคำตอบชัดเจนว่ามีได้ และควรมีเสียด้วยซ้ำ) เพียงแต่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าหากจะมี มาตรา 112  อยู่ต่อไป กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่มีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินไปกว่า “เท่าที่จำเป็น” 

แต่หาก มาตรา 112 หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเกินไปกว่า “เท่าที่จำเป็น” ศาลก็ต้องวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สภาต้องไปแก้กฎหมายใหม่ จะให้รุนแรงเข้มข้นเข้มงวดก็ทำได้ แต่ต้องมี“เท่าที่จำเป็น” เท่านั้น (ส่วนจะมีผลย้อนหลังไปถึงผลคำพิพากษาคดีอากงหรือไม่นั้นก็น่าถกเถียงกันได้)

ปัญหาคือ เกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” ตาม “รัฐธรรมนูญ มาตรา 29” นี้จะวัดกันอย่างไร? แน่นอนว่ากฎหมายที่ห้ามจุดพลุหลังสองทุ่ม หรือ ห้ามขับรถเปลืองน้ำมันเกินวันละสองลิตรนั้น อาจตอบได้โดยวง่ายว่าเกินกว่า “เท่าที่จำเป็น”   

แม้กรณีคดี "อากง" อาจมองเป็นเรื่องยาก แต่ศาลไทยเองก็ต้องพัฒนาตนเองไม่ต่างไปจากศาลในสังคมอื่นที่ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีในการลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ให้หลักแหลม ลึกซึ้ง และแยบยลเพื่อนำมาใช้วัดความยุติธรรมว่าเกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” นั้น ต้องเท่าไหน

หากจะยกหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ศาลหลายประเทศใช้ ก็อาจกล่าวถึง “หลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนตน” กับ “หลักความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการและเป้าหมาย”  มาพอสังเขปดังนี้

สมมติมีผู้โต้แย้งว่า “โทษประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติด” นั้นรุนแรงเกินความจำเป็น ศาลอาจมองได้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ขัดต่อเกณฑ์เพราะ “ได้สัดส่วน” ระหว่าง “ประโยชน์สาธารณะ” และ “ประโยชน์ส่วนตน” เช่น ยาเสพติดหนึ่งกระสอบที่ขายไปสามารถทำลายครอบครัวของผู้คนได้ทั้งชุมชน ทำลายทั้งร่างกาย อาชีพการงาน หรือแม้แต่ชีวิต ก่อให้เกิดอาชญากรรมและค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษา ในขณะที่ประโยชน์ส่วนตนนั้นแทบจะไม่มีอะไรนอกไปจากการที่ผู้ค้าได้เงินตอบแทนหรือผู้เสพรู้สึกพอใจ ตรงกันข้าม หาก “ยาเสพติด” บางประเภทมีคุณเป็นยารักษาโรคและค้าไปเพื่อรักษาเยียวยาผู้ครอบครอง กฎหมายก็อาจทบทวน “ความได้สัดส่วน” ใหม่ ดังที่หลายประเทศลดหรือยกเลิกความผิดในการค้าหรือครอบครองยาเสพติดที่นำไปใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด

นอกจากนี้ ศาลยังอาจมองว่าโทษประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติดนั้น มี “ความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการและเป้าหมาย” ที่เหมาะสม กล่าวคือ ยาเสพติดนั้นเคลื่อนย้ายและกระจายขายกันได้ง่าย แอบทำโดยลับและซุกซ่อนสะดวก แต่มีราคาค่าตอบแทนสูงมาก หากกฎหมายกำหนดโทษเบา ผู้คนย่อมมีแรงจูงใจที่จะค้ายา ติดคุกเพียง 1 ปี อาจมีเงินใช้ได้ 10 ปี กฎหมายก็ย่อมกำหนดโทษที่มีรุนแรงเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนเกรงกลัวต่อการตัดสินใจค้ายา

ลองหันมามอง “คดีอากง” หากอากงปรึกษาทนายนำคดีไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะนำเกณฑ์ข้างต้นมาพิจารณาว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีลักษณะเกินเลยไปกว่าเกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” ตาม “รัฐธรรมนูญ มาตรา 29” ได้หรือไม่ ?

หากคดีอากงมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมพึงอธิบายให้กระจ่างและลึกซึ้งว่า ข้อความ sms 4 ฉบับ (หรือ 1 ฉบับที่แตกเป็น 4 ตอน) แม้จะมีเนื้อหาที่น่าเกลียดชังขัดต่อความรู้สึกของคนในสังคมเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อได้ถูกส่งไปยังผู้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีแรงจูงใจจะส่งต่อ (ซ้ำยังรีบแจ้งความดำเนินคดีเสียด้วยซ้ำ) จะถือว่ากระทบไปถึง “ประโยชน์สาธารณะ” ของสังคมไทยอย่างรุนแรงกว้างขวาง หรือไม่ อย่างไร ?

เช่น หากศาลอธิบายได้กระจ่างชัดว่าคนไทยเป็นคนที่มีสภาวะจิตที่อ่อนไหวต่อข้อความดังกล่าวขนาดที่ว่าเมื่อเห็นข้อความแล้วถึงกับล้มป่วยหรือชีวิตเดือดร้อนวุ่นวาย หรือหากศาลมองว่าสังคมไทยมีมูลเหตุที่จะหลงเชื่อข้อความได้ง่ายและมีแรงจูงใจที่จะแพ่กระจายข้อความหรือสามารถถูกข้อความโน้มน้าวให้ลุกขึ้นต่อต้านล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวางจนสังคมวุ่นวาย ก็ย่อมมีมูลเหตุของ “ประโยชน์สาธารณะ” ที่จะเข้าไปจำกัด “ประโยชน์ส่วนตน” ของผู้ส่งข้อความที่อาจทำไปโดยเชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความเห็นหรือระบายอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ อีกทั้งยังสมเหตุสมผลที่จะใช้ “วิธีการ”  เด็ดขาดรุนแรงเพื่อให้เป็นไปตาม “เป้าหมาย” ที่ยากจะควบคุมดูแล

แต่ตรงกันข้าม หากศาลมองว่าผู้คนในสังคมไทยมีวุฒิภาวะทางสติปัญญาและอารมณ์เพียงพอที่จะกลั่นกรองข้อมูลจากข้อความ โดยมิได้วิตกล้มป่วยหรือหลงเชื่อ หรือมีแรงจูงใจให้ลุ่มหลงส่งต่อเผยแพร่ข้อความแต่โดยง่าย อีกทั้งธรรมชาติของการส่งข้อความไม่ได้มุ่งทำโดยแอบลับ แต่มุ่งทำให้ผู้อื่นได้รับรู้ จึงพบเห็นและจับได้ง่าย  อีกทั้งหากศาลเชื่อว่าคนไทยโดยพื้นฐานล้วนจงรักภักดี ต่างรักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ และร่วมกันสอดส่องดูแล ตักเตือนต่อว่า หรือแม้แต่ดำเนินคดีกับผู้ส่งข้อความดังกล่าวแล้วไซร้ ก็ย่อมอาจมองได้ว่า มาตรา 112 ดังที่เป็นอยู่มีลักษณะที่  “ไม่สมสัดส่วนระหว่างประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ส่วนตน” อีกทั้งยัง “ขาดความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการและเป้าหมาย”

กล่าวอีกทางให้เข้าใจง่ายก็คือ แม้จะลดโทษสูงสุดให้เหลือเพียง 1 ปี ความดีและความรักที่สังคมไทยมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะยังคงปกป้อง “เป้าหมาย” ของความสงบเรียบร้อยได้ดังเดิม โดยที่ไม่ได้ทำให้ “ประโยชน์สาธารณะ” เสียไปแต่อย่างใด เพราะหากประชาชนคนไทยต่างจงรักภักดีอย่างแท้จริง และมีสติอารมณ์ที่มั่นคง ไม่ว่าใครจะถูกจำคุกสัก 1 ปี หรือ 20 ปี ประชาชนคนไทยก็จะยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ดังเดิม และช่วยกันสอดส่องดูแลบ้านเมืองดั่งที่เคยได้กระทำมา ทั้งยังจะดีต่อทั้ง “ประโยชน์สาธารณะ” และ “ประโยชน์ส่วนตน” โดยสังคมไทยไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า มาตรา 112 รุนแรงหรือไม่เป็นธรรม หรือถูกมาใช้ทางการเมืองหรือไม่

หากศาลพิจารณาดังนี้ ก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่ากฎหมายที่เกินเลยไปกว่าเกณฑ์ “เท่าที่จำเป็น” ตาม “รัฐธรรมนูญมาตรา 29” ย่อมเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากจะใช้บังคับต่อไปในอนาคต สภาก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง “เท่าที่จำเป็น” เท่านั้น

* * *

๓. อธิษฐานนาน: ขอศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน

ประเด็นชวนคิดข้างต้นนี้เป็นสภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสังคมที่มี “พลวัตรทางประชาธิปไตย” เมื่อผู้คนหลายล้านคนหลายล้านมุมมองความคิดต่างเกิดแก่เจ็บตายไปตามยุคสมัย ย่อมไม่มีกฎหมายหรือความคิดใดที่ถูกต้องเป็นธรรมหรืออ้างว่าจำเป็นได้ตลอดกาล

“ศาล” ไม่ได้เป็นร้านขายคำพิพากษา แต่เป็นศูนย์กลางของสังคมที่คอยเชื่อมโยงความสูงส่งแห่งหลักการให้สอดรับกับมโนธรรมสำนึกของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ศาลคือผู้ที่ต้องแสวงหาความจริงแห่งยุคสมัยและอธิบายความถูกต้องให้แก่สังคมในยามที่มืดมนและสับสน

บรรดาตุลาการเพศชายอายุช่วง ๖๐ ปีทั้งเก้าท่าน ณ ศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ จะต้องเชื่อมโยงกฎหมายเข้ากับมโนธรรมสำนึกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสตรีมีครรภ์ที่ประสงค์จัดการกับร่างกายของตนไม่ต่างไปจากคนไข้ หรือผู้รักร่วมเพศที่ประสงค์จดทะเบียนสมรสไม่ต่างจากคู่รักหญิงชาย หรือนักเลงปืนที่ต้องการพกพาของล้ำค่าติดตัวไม่ต่างจากนักเลงพระ และรวมไปถึงบรรดามนุษย์ผู้มีจิตใจและความคิดเห็นต่อ “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ไม่ว่าจะทางใด เพราะศาลจะแสวงหาแต่เพียงกฎหมายที่ประชาชนเห็นว่าควรเป็นไม่ได้ แต่ต้องยึดมั่นในมนุษย์ดังที่เป็นเช่นกัน

เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญปีนี้ ผู้เขียนขอตั้งจิตอธิษฐานให้อำนาจแห่งความดีทั้งปวงโปรดดลบันดาลให้ประชาชนมีมโนธรรมสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์เป็นที่พึ่งพา และมีศาลที่ยึดมั่นรักษาสิทธิเสรีภาพของพวกเราเป็นที่พักพิงสืบไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยืนหน้าศาล 112 นาที เพื่อ "อากง" และ เหยื่อกฎหมายหมิ่น

Posted: 09 Dec 2011 05:53 AM PST

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม สวมหน้ากาก ส่องไฟฉาย ร่วมยืนไว้อาลัย 112 นาทีต่อกระบวนการยุติธรรม หน้าศาลอาญา ย้ำว่า “เราคืออากง” 

 

 
วันนี้ (9 ธ.ค.54)  เวลา 13.00น. ที่บริเวณบาทวิถีหน้าศาลอาญา รัชดา ได้มีกลุ่มคนแต่งชุดดำจำนวนกว่า 112 คน นำโดยเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)และประชาชน ได้ชุมนุม พร้อมทั้งยืนไว้อาลัยต่อกระบวนการยุติธรรม ภายใต้ชื่อกิจกรรม “เราคืออากง” โดยมีจุดเริ่มต้นจากกรณีคดีของนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) วัย 61ปี โดนพิพากษาจำคุก 20 ปี จากการที่ศาลเชื่อว่าได้เป็นผู้ส่ง ข้อความทางโทรศัพท์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ‘คดีอากง SMS’ โดยการรณรงค์ยังมีเนื้อหารวมถึงผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
 
ด้าน นางสาวจิตรา คชเดช ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า “วันนี้ที่เรามาคือเราใช้ชื่อกิจกรรมว่า “เราคืออากง” เราต้องการมายืนโดยสงบเพื่อไว้อาลัยต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราเริ่มตั้งแต่เห็นว่ามีคนโดนมาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วไม่ว่าจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุมจนถึงที่สุดแล้วนี่พวกเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัว หรือแม้แต่คดีดังที่พวกเราได้ยินกันคือคดีอากงส่ง SMS นี่ถูกศาลลงโทษถึง 20 ปี จากเหตุการณ์เหล่านั้นพวกเราก็เลยคิดว่าควรมายืนไว้อาลัยต่อกระบวนการยุติธรรมเลยเลือกที่นี่เพราะถือว่าเป็นศูนย์กลางของหลายๆอย่าง”
 
ในส่วนของวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้ จิตรา คชเดช กล่าวว่า“กิจกรรมเราในวันนี้คือการยืนไว้อาลัยยืนโดยสงบ 112 นาที ใส่ชุดดำแล้วก็ถือไฟฉายในมือ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าในสังคมที่มืดมิดนี่เราใช้ไฟฉายส่องให้เห็นแสงสว่าง หลังจากนั้นเราจะจบด้วยเพลง “แดนตาราง” เพื่อให้กับทุกๆคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมที่อยู่ในเรือนจำ โดยกิจกรรมนี้ได้นัดแนะกันผ่านทาง facebook”
 
“หลังจากจบกิจกรรมนี้คงมีหลายๆพื้นที่ๆจะทำแบบนี้ ซึงอาจจะมีการจัดเสวนาเกี่ยวกับคำพิพากษา เป้าหมายของกิจกรรมในวันนี้เพื่อต้องการให้สังคมได้ตื่นตัวแล้วได้หันมามองเรื่องกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น” จิตรา กล่าวทิ้งท้าย 
 
นายพรชัย ยวนยี เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้อธิบายเหตุผลของการเข้าร่วมว่า “กรณี อากง มันเป็นเหตุการณ์ที่รับไม่ได้ ซึ่งตัวรูปคดีก็บ่งชี้แล้วว่าศาลไม่สามารถหาความจริงเป็นที่ยอมรับได้  ซึ่งกฎหมายนี่เป็นกฎหมายอาญา ซึ่งถ้าหากเราไม่สามารถหาความจริงได้ต้องปล่อยจำเลย  แต่คดีอากงนี่ในด้านแรกคือการตัดสินมันไม่ชอบธรรม ส่วนด้านที่ 2 คือโทษที่ได้รับมันสูงเกินไป คือถ้ามองโทษเหมือนที่นักวิชาการกล่าวคือมันร้ายแรงเท่ากับคดีฆ่าคนตายด้วยซ้ำ ซึ่งทางนักศึกษารู้สึกว่ามันไม่ดีเลยสำหรับการตัดสินของศาล”
 
ทั้งนี้ เลขาธิการ สนนท.ได้เปิดผยว่าได้มีการคุยกันถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง โดยได้มีการเรียกร้องต่อกลุ่มคนทั่วไปแล้วก็กับคนที่มีอำนาจ ว่า “หนึ่งเราต้องมีการปฏิรูปศาล หมายความว่าในด้านที่มาของศาลก็ไม่ได้มีการยึดโยงกับประชาชน ส่วนด้านความชอบธรรมคือ ศาลเลือกที่จะตัดสินโดยที่มองจำเลยว่าเป็นฝ่ายที่ผิดก่อนด้วยซ้ำ ส่วนที่ 2 ในด้านตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 มันไม่มีขอบเขตจำกัด อีกทั้งโทษของ 112 มันแรงมาก ไม่มีกฎหมายที่ไหนที่โทษขั้นต่ำ 3 ปี ตนคิดว่าสมควรที่จะต้องยกเลิก โทษขั้นต่ำ 3 ปีคือถ้าทำน้อยกว่านั้นหมายความว่าก็ต้องติด 3 ปีใช่หรือไม่ แล้ว 3 ปีก็ไม่ใช่น้อยๆ ด้านสุดท้ายเราต้องมีการแก้ไข คือ การแก้ไขหมายความว่าเราต้องมีการทำประชามติจากคนทั้งประเทศแล้วเลือกคณะกรรมการมาแก้ไขเหมือนการทำรัฐธรรมนูญ”
 

ยืนหน้าศาล112นาทีเพื่อ"อากง"และและเหยื่อกฎหมายหมิ่น

ภาพถ่ายโดย Kaptan Jng

เลขาธิการ สนนท. ยังได้แสดงท่าทีประณามรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อกรณีดังกล่าวด้วยว่า “อยากประณามในการทำงานของรัฐบาลว่าเมื่อประชาชนเลือกเข้าไปแล้ว แต่ไม่สามารถทำในสิ่งทีประชาชนเรียกร้องไปในการแก้ไขนี้ได้  กลับยิ่งเป็นการเพิ่มโทษขึ้นไปอีก จับคนที่แทบจะไม่ผิดด้วยซ้ำในด้านนี้ เราเลือกท่านไปเพื่อไปทำหน้าที่เพื่อเป็นปากเสียงให้กับประชาชน แต่รัฐบาลไม่สามารถทำได้เลย ท่านเห็นปัญหาของมาตรา 112 อยู่แล้ว ท่านเห็นอะไรทุกๆอย่างของมาตรานี้อยู่แล้ว และ สส.ที่ท่านเลือกไปก็ติดมาตรา 112 หลายคนด้วยซ้ำท่านก็ไม่ทำอะไรด้วยซ้ำ ซึ่งผมคิดว่าผลสุดท้ายก็ไปตกที่ตัวท่านเอง  เมื่อท่านเป็นฝ่ายค้านกฎหมายนี้ก็จะไปเล่นงานท่านเหมือนเดิม อย่างที่เล่นงานพวกเราในปัจจุบัน จึงขอแสดงจุดยืนประณามรัฐบาลและเราควรปฏิรูปกฎหมายมาตรา 112 อย่างจริงจังโดยที่ทุกๆฝ่ายมีความเกี่ยวข้องกัน”
 

“ก่อนหน้านี้ทาง สนนท. ได้มีการออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินของศาลในกรณีอากง(คลิกเพื่ออ่าน - ฉบับแรกวันที่ 24 พฤศจิกายน 2554 ใน สนนท. แถลงกรณี 'อากง' ชี้รัฐควรยกเลิกมาตรา 112 http://prachatai.com/journal/2011/11/38011 ) ส่วนฉบับที่ 2 เป็นการแถลงจุดยืนของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 (คลิกเพื่ออ่าน - ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ใน 'สนนท.' ย้ำต้องแก้ไขกม.หมิ่นฯ –ปฏิรูประบบตุลาการ http://prachatai.com/journal/2011/11/38095)โดยต่อจากนี้ทาง สนนท. จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ต่อไป” เลขาธิการ สนนท. กล่าวทิ้งท้าย
 
ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ให้เหตุผลในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า “จริงๆแล้วตนร่วมกิจกรรมรณรงค์คัดค้านมาตรา 112 มานานแล้ว กับอีกกรณีหนึ่งตนรู้สึกว่าตอนนี้มาตรา 112 ถูกเอาไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในลักษณะที่เข้มข้นจนไม่สามารถที่จะปล่อยให้มันผ่านไปง่ายๆได้ เราก็เห็นอย่างกรณี “อากง” ซึ่งยังมีความคลุมเครือในแง่ของการสืบสวนสอบสวน ในแง่ที่ว่าข้อความที่ส่งคือใคร จริงๆแกอาจไม่ได้ส่งด้วยซ้ำ อย่างนี้เป็นต้น  ขณะเดียวกันโทษที่มันพวงมา มัน 20 ปี ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับความผิด
ยืนหน้าศาล112นาทีเพื่อ"อากง"และและเหยื่อกฎหมายหมิ่น 
าพถ่ายโดย Kaptan Jng
 
“แม้กระทั้งกรณีของโจ กอร์ดอน ก็โดน 112 ตอนนี้กลายเป็นว่าด้วยการใช้กฎหมายในลักษณะนี้แล้วก็การตัดสิน คือมันไม่ใช่เฉพาะการใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินเองมันเดินตามไปอีก คลายๆกับตอบสนองในการเป็นเครื่องมือขงกฎหมายไปแล้ว ที่จริงศาลก็สามารถมีดุลยพินิจได้ใช่มั้ย ไม่ว่าจะอย่างไร แต่ก็เลือกที่จะเดินตามเกมส์นี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นที่จับตาต่อสาธารณะมาขึ้น  ตนคิดว่ามันน่าจะเป็นโอกาสที่ดี  ตอนนี้รู้สึกว่าต่างประเทศอย่างเมื่อวานนี้(กรณีโจ กอร์ดอน)ข่าว Top 5 ใน Google นี่ เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่า 112 มันกลายเป็นสปอตไลท์แล้ว และผมก็คิดว่าในจังหวะอย่างนี่ล่ะมันน่าจะเป็นคลายๆกับโอกาสทางสังคมการเมืองที่ดีที่  คลายๆกับว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมมันจะเป็นที่สนใจของผู้คนด้วย แม้ก่อนหน้านั้นถึงจะไม่มีอันนี้ก็ตั้งใจมาอยู่แล้วเพราะตนคิดว่ากรณีของ อากง ผมคิดว่ามันคลายๆกับความไม่เข้าท่าของกฎหมายฉบับนี้มันมีให้เห็นมากขึ้นแล้ว มันชัดขึ้น ก่อนหน้านั้นมันอาจจะไม่ได้รุนแรงขนาดนี้ ตอนนี้มันชัดขึ้นจึงจำเป็นที่ต้องออกมา” อนุสรณ์ อุณโณ กล่าว 
 

เรื่องกระบวนการยุติธรรมและมาตรา 112 อนุสรณ์ อุณโณ ได้เสนอว่า “คงต้องปรับแก้ ในแง่หนึ่งก็ต้องยกเลิกที่มีอยู่ก่อน สองก็คือต้องเสนอกฎหมายใหม่ขึ้นมาว่าจะทำอย่างไร ว่าจะปกป้องสถาบัน ถ้ากฎหมายปกติ กฎหมายหมิ่นประมาทคนทั่วไปปกติมันเอาไม่อยู่ มันจะต้องพัฒนากฎหมายที่เป็นการเฉพาะขึ้นมาอย่างไร ซึ่งจะไม่เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานที่อารยะประเทศเขาถือกันอยู่ เช่น สิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเสรีแล้วก็บริสุทธิใจเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม  ถ้าเราทำไปในเส้นทางแบบนี้แสดงความคิดเห็นแบบนี้แล้วไปกระทบต่อสถาบันจะมีอย่างไรจะปกป้องกันอย่างไร ผมคิดว่าอาจจะต้องมีการเฉพาะ แต่ถ้าเกิดดฎหมายปกติมันมีอยู่พอแล้วมันก็อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ ก็ต้องดูกัน” 

นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือ ‘คดีอากง SMS’ อายุ 61 ปี ได้ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยข้อกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปยังโทรศัพท์ของเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุ 2 และ 3 ลงโทษจำคุก 20 ปี (อ่านรายละเอียดได้ที่ รายงาน: เปิดคำแถลงปิดคดี ‘อากง SMS’ ต่อจิ๊กซอว์จากเบอร์ต้นทางถึงชายแก่ปลายทาง http://prachatai.com/journal/2011/11/38032)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหประชาชาติแถลงข่าวกรุงเจนีวา จี้ทางการไทยแก้ไขกม. หมิ่นฯ

Posted: 09 Dec 2011 05:51 AM PST

ราวินา แชมดาซานิ รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น (OHCHR) แถลงข่าว ณ กรุงเจนีวา เรียกร้องทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ชี้ บทลงโทษที่ร้ายแรงเป็น "สิ่งที่ไม่จำเป็น" และ "เกินกว่าเหตุ" ระบุส่งผลสะเทือนด้านเสรีภาพในการแสดงออกอย่างร้ายแรง

วันนี้ (9 ธ.ค. 54) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ราวินา แชมดาซานิ (Ravina Shamdasani) รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Human Rights) ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากมองว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

Ravina Shamdasani OHCHR

Ravina Shamdasani รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
(ที่มาภาพ: เว็บไซต์สหประชาชาติ)

การแถลงข่าวครั้งนี้ที่ดำเนินการโดยรักษาการโฆษกของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีเนื้อหาว่า ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เป็นกังวลต่อการพิจารณาคดีและการลงโทษที่ร้ายแรงด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย และผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวซึ่งสร้างความหวาดกลัวที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงออกภายในประเทศ 

แชมดาซานิ ระบุว่า บทลงโทษที่ร้ายแรงที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ (neither neccessary nor proportionate) อีกทั้งเป็นการละเมิดละเมิดพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี 

"เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในระหว่างนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการให้แก่ตำรวจและอัยการ เพื่อยุติการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลด้วยกฎหมายดังกล่าวที่มีความคลุมเครือ นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลต่อการลงโทษที่อย่างเกินกว่าเหตุโดยศาล และการคุมขังผู้ต้องหาซึ่งมีระยะเวลานานต่อเนื่องในช่วงก่อนการไต่สวนคดีด้วย"  แชมดาซานิกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก ยังได้แถลงข่าวย้ำถึงความจำเป็นของทางการไทยในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง 

อนึ่ง ข่าวการตัดสินคดีของนายอำพล หรือ "อากง เอสเอ็มเอส" ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการถูกกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นเบื้องสูงจำนวน 4 ข้อความไปยังเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังถูกรายงานโดยศูนย์ข่าวสหประชาชาติ (UN News Center) ซึ่งอยู่ในข่าวเดียวกับการแถลงข่าวของโฆษกประจำตัวข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

 

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเนื้อข่าวเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 54 เวลา 23.35 น.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อักโกธะ – อากง (สังคมแห่งความหวาดกลัว)

Posted: 09 Dec 2011 05:49 AM PST

ข้อเสียอย่างยิ่งของบ้านเรา คือ การ “ไม่สามารถ” ยก “ประเด็นปัญหาระดับพื้นฐาน” ของความเป็นประชาธิปไตยมาถกเถียงกันด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดได้ เช่น แม้แต่เกิด “กรณีอากง” ที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจกันทั้งประเทศแล้ว ปัญหาเรื่องยกเลิก-ไม่ยกเลิก ปรับปรุง-ไม่ปรับปรุง ม.112 ก็ไม่สามารถนำมาถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมาจนสามารถนำไปสู่การมีฉันทามติทางสังคมร่วมกันได้ แต่ต่างคนต่างพูดกันไป ผมจะลองนำตัวอย่างที่ต่างคนต่างพูดกันมาลองไล่เรียงเหตุผล (ตามการตีความของผม) ดู และผมก็เห็นว่า สองทัศนะข้างล่างนี้บ่งบอกมุมมองตรงข้ามเกี่ยวกับ ม.112 ได้ค่อนข้างชัดเจน

 

ที่มา https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1515610323260.2070497.1024504690

 

“หากพบเว็บไซต์ใดที่เผยแพร่ข้อความลบหลู่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก็ควรจะรายงานเจ้าหน้าที่ทราบ...หรือถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด ก็ควรจะแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อจับกุมทันที ขอเรียนว่าพฤติการณ์ของคนพาลคนชั่วเนรคุณ อกตัญญูพวกนี้อุปมาเหมือนบาดแผลที่อาจจะแลดูเล็กน้อย แต่แท้จริงเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง ที่ไม่อาจบำบัด ได้เพียงแต่ด้วยการล้าง หรือชำระแผลแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ แต่จะต้องรักษาให้ถูกวิธี แม้จะต้องทำด้วยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายนั้นออก หรือสกัดไว้มิให้ลุกลามออกไป ช่วยกันป้องกันเมืองไทยเถอะครับ อย่าให้เชื้อโรคเนรคุณอกตัญญูมันลุกลามออกไปมากกว่านี้”

วสิษฐ เดชกุญชร (ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2554)

ทั้งสองข้อความนี้สะท้อน “ทัศนะที่แตกต่างกัน” แม้ทัศนะแรกจะไม่บอกตรงๆ ว่าปฏิเสธ ม.112 แต่การยืนยันสิทธิของคนไทยเช่นนั้นก็มีความหมาย “เป็นอย่างน้อย” ว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.112 จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะมีแต่การยืนยันสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนเท่านั้น การมีชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วย “ความไว้วางใจ ไม่ใช่ความกลัว” จึงอาจเป็นไปได้

ส่วนข้อความที่สองชัดเจนว่า เป็นการยืนยันความชอบธรรมของ ม.112 และการใช้ ม.112 ขจัด “เนื้อร้าย” ที่เรียกว่า “คนพาล คนชั่วเนรคุณ อกตัญญูพวกนี้” ออกไป ซึ่งหมายถึงคนที่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่เข้าข่ายผิด ม.112

แน่นอนว่าในบ้านเราทัศนะทั้งสอง (ไม่ใช่คนทั้งสอง) นี้ต่อสู้กันมานาน แต่ต้องขีดเส้นใต้ว่า “อาวุธ” ของทัศนะแรกมีเพียง “เหตุผล” เป็นหลักที่ใช้ยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แต่อาวุธของทัศนะหลังคือข้ออ้างทางศีลธรรม (คนพาล อกตัญญู ฯลฯ) และ ม.112 อาจใช้ปืน รถถัง ถ้าพวกเขาเห็นว่าจำเป็น ฉะนั้น เมื่อประชาชนที่ยึดทั้งสองทัศนะมีปัญหาขัดแย้งกัน ฝ่ายที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นฝ่ายถูกไล่ล่า ถูกจับติดคุก และถูกฆ่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ยุค 14 ตุลา เป็นต้นมา

แต่ที่สำคัญคือ เมื่อไล่เรียงเหตุผลของสองทัศนะแล้วเราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนดังนี้

ทัศนะแรกเป็นการยืนยันสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขว่า ต้องอยู่ร่วมกันด้วย “ความไว้วางใจ” ซึ่งผมคิดว่า ความไว้วางใจจะเป็นไปได้จริงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลักที่ขาดไม่ได้ 2 ประการ คือ

1. ระบบสังคมการเมืองต้องเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง มีกติกาให้ประชาชนมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบทุกระบบอำนาจสาธารณะอย่างเท่าเทียม  

2. สร้อยของประชาธิปไตยที่ว่า “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หมายถึง พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทรงเป็น “พุทธมามกะ” ตามอุดมการณ์ “ธรรมราชา” ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็น “สมมติราช” ผู้ทรงมี “ทศพิธราชธรรม” ซึ่งนักวิชาการปัจจุบันอย่างบวรศักดิ์ อุวรรโณ นิยามว่า ทศพิธราชธรรม คือ “หลักธรรมาภิบาล” ซึ่งผมเห็นด้วยว่าในทางหลักการตีความเช่นนี้ได้ เนื่องจากเนื้อหาหลักของทศพิธราชธรรมเรียกร้อง ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้เป็นอย่างยิ่ง

จะเห็นว่า ม.112 ขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยตามข้อ 1 และขัดกับอุดมการณ์ธรรมราชา หรือทศพิธราชธรรมตามข้อ 2 ฉะนั้น ม.112 จึงเป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิ่งที่อาจารย์เกษียรกล่าวว่า “...คนไทยควรมีสิทธิได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยความไว้วางใจ ไม่ใช่ความกลัว”

แน่นอนว่าทัศนะที่สองที่ยืนยันความชอบธรรมของ ม.112 และเรียกร้องให้บังคับใช้อย่างจริงจังในสถานการณ์ปัจจุบันย่อมขัดแย้งทั้งต่อความเป็นประชาธิปไตย (หลักเสรีภาพ และความเสมอภาค) และอุดมการณ์ธรรมราชา หรือทศพิธราชธรรม

แต่ข้อสังเกตที่ดูจะเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” มากก็คือ ฝ่ายที่ยืนยันทัศนะที่สองมักอ้างความเป็นธรรมราชาและทศพิธราชธรรมมาอวยเจ้าอยู่เสมอ อย่างเป็นประเพณีมาตั้งแต่โบราณ แต่ในขณะที่อ้างทศพิธราชธรรม (ซึ่งเรียกร้องความโปร่งใสตรวจสอบได้) พวกเขากลับยืนยัน ม.112 (ซึ่งห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ) ซึ่งมีปัญหาย้อนแย้งในตัวเองมาก เช่น

1. อุดมการณ์ธรรมราชาที่มีทศพิธราชธรรม ย่อมสอดคล้องกับการที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ซึ่งเป็น “สมมติราช” ไม่ใช่ “เทวราช” แต่ ม.112 เป็นการรับรองสถานะเทวราชของกษัตริย์ตามระบบความความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ไม่ใช่พุทธ

2. ม.112 ที่รับรองสถานะเทวราชาซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้นั้น ทำให้ “ทศพิธราชธรรม” อธิบายไม่ได้ในเชิงเหตุผลและความเป็นจริง เพราะ 1) ถ้าตรวจสอบไม่ได้เลย ราษฎรจะรู้ได้อย่างไรว่ากษัตริย์มีทศพิธราชธรรมจริง 2) การเผชิญปัญหา หรือสถานการณ์จริงเท่านั้น จึงจะพิสูจน์ความมีทศพิธราชธรรมได้ แต่ ม.112 ทำให้กษัตริย์ไม่สามารถเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์จริง

เช่น ทศพิธราชธรรมข้อ 7 คือ “อักโกธะ” แปลว่าความไม่โกรธ หมายถึงธรรมราชาไม่ใช้อารมณ์โกรธในการปกครองราษฎร แต่ถ้าแม้แต่เรื่องพื้นๆ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบด้วยเหตุผล ม.112 ก็ห้ามไม่ให้ราษฎรมีสิทธิกระทำต่อธรรมราชา แล้วอย่างนี้ใครในโลกนี้จะรู้ “ความไม่โกรธ” หรือ ความอดทนต่อความโกรธของธรรมราชาได้เล่า แม้แต่ธรรมราชาเองจะรู้คุณธรรม “ความไม่โกรธ” ของตนเองได้อย่างไร หากถูกแม้กระทั่งกฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องผ่านการทดสอบจากสถานการณ์จริงแม้แต่เรื่องพื้นๆ คือ “การถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล”    

ฉะนั้น การยืนยัน ม.112 จึงเป็นการปกป้องเพียงสถานะแห่ง “เทวราช” เท่านั้น ในขณะที่ไปทำลายอุดมการณ์ธรรมราชาของกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ ด้วยการทำให้ทศพิธราชธรรมเป็นของที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกทดสอบด้วยสถานการณ์จริง จึงกลายเป็นว่าที่ว่าปกป้อง ม.112 เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้น กลับเป็นการทำลายอุดมการณ์ที่ถูกต้องของสถาบันกษัตริย์ไปเสีย และยิ่งมองบนจุดยืนความเป็นประชาธิปไตย ก็ยิ่งชัดว่า ม.112 เป็นเครื่องมือสร้าง “ความหวาดกลัว” ในหมู่ประชาชนมากกว่าที่จะสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างไว้วางใจ

ม.112 ทำลายคุณค่าของทศพิธราชธรรม และเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัว นี่เห็นชัดมาก เช่น ทำลายหลัก “อักโกธะ” อย่างกรณีจำคุก “อากง” 20 ปี เป็นต้น ถ้าใครจะบอกว่า ม.112 ไม่ได้ทำลายคุณค่าของทศพิธราชธรรม ขอได้โปรดอธิบายหน่อยครับว่า การลงโทษจำคุกคนที่ทำผิดด้วย “ข้อความ” ด้วยการจำคุกถึง 20 ปี สอดคล้อง หรือสะท้อนถึงความมีทศพิธราชธรรม คือ “ความไม่โกรธ” ของธรรมราชาอย่างไร

กรุณาอย่าบอกว่าผมโยงทศพิธราชธรรมกับ ม.112 อย่างมั่วๆ เพราะว่ากฎกติกาใดๆ เกี่ยวกับธรรมราชาจำเป็นต้องสะท้อนถึง “ความมีธรรม” ของพระราชา ไม่ใช่ไปขัดแย้งจนพิสูจน์ความมีธรรมของพระราชาไม่ได้

จึงอยากให้ฝ่ายปกป้อง ม.112 ที่มักอ้างทศพิธราชธรรม โปรดตรองดูให้ชัดว่า ฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกหรือปรับปรุง ม.112 นั้น เขาต้องการทำลายสถาบันจริงๆ หรือว่า ฝ่ายปกป้องสถาบันเองกำลังทำลายสถาบันอย่างไม่รู้ตัว!

หรือควรจะหยุดกล่าวหา ใส่ร้าย ไล่ล่ากัน แล้วหันมาถกเถียงด้วยเหตุผลอย่างถึงที่สุดเพื่อนำไปสู่การมีฉันทามติร่วมกันในทางสังคมเกี่ยวกับการยกเลิก-ไม่ยกเลิก หรือ ปรับปรุง-ไม่ปรับปรุง ม.112 จะไม่ดีกว่าหรือ?

 

 

หมายเหตุ ประชาสัมพันธ์กิจกรรม

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2554 เวลา 16.00 น.

เชิญร่วมกิจกรรม Fearless Walk อภยยาตรา จากอนุสาวรีชัยสมรภูมิ-แยกราชประสงค์ “เพื่ออากง เพื่อนักโทษการเมือง เพื่อเสรีภาพ เพื่อสังคมที่ปราศจากความหวาดกลัว”

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เปิดคำฟ้อง-บรรยากาศวันพิพากษา ‘โจ กอร์ดอน’

Posted: 09 Dec 2011 05:21 AM PST

                            

 

กรณีการตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนของโจ กอร์ดอน เป็นที่กล่าวขานอีกครั้งหลังกระแส “อากง”  เกินขึ้นไม่นาน โดยวานนี้ (8 ธ.ค.) มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศมาเฝ้าทำข่าวและถ่ายรูปโจระหว่างเดินลงจากรถควบคุมผู้ต้องขังไปยังห้องขังรวมใต้ถุนศาลอาญา โดยโจ ในชุดนักโทษและใส่ตรวนที่ขาได้กล่าวทักทายกองทัพผู้สื่อข่าวสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Thank you for coming”

บรรยายกาศภายในห้องพิจารณาคดี 812 มีผู้คนล้นจนไม่มีที่นั่ง ทั้งผู้สนใจติดตามคดี เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา นักข่าว รวมถึงเพื่อนสนิทของโจที่ใครๆ เรียกว่า “พี่นุช” ซึ่งเป็นบุคคลที่คอยดูแลโจตลอดเวลา 199 วันที่ถูกคุมขัง (นับถึงวันพิพากษา) โดยเธอขับรถจากนครราชสีมาเข้ากรุงเทพฯ เกือบทุกวัน สำหรับคนในครอบครัวของเขา ไม่มีใครเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาในครั้งนี้

เมื่อผู้พิพากษานั่งบัลลังก์ หนึ่งในนั้นได้สอบถามโจเกี่ยวกับคำให้การต่อพนักงานที่ทำการสืบเสาะพฤติการณ์ตามคำสั่งศาลไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเขาให้การไว้ว่า 1.ไม่เคยสนใจการเมืองไทยมาก่อน 2.ไม่เคยรู้จักกับใครทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง 3.ไม่ใช่นายสิน แซ่จิ้ว [เจ้าของบล็อกที่ถูกฟ้อง] และ 4.ไม่เคยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาอธิบายว่า การให้การเช่นนี้ขัดกับการรับสารภาพของเขา ทำให้ทนายความส่วนตัวรีบออกมาแจ้งต่อศาลว่า คำให้การนี้หมายถึงในกรณีอื่น นอกเหนือจากกรณีที่ถูกฟ้องนี้ จากนั้นโจจึงได้ยืนยันต่อศาลว่า เป็นดังที่ทนายความชี้แจง

เมื่อเป็นที่เข้าใจตรงกัน ผู้พิพากษาจึงอ่านคำตัดสินระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , มาตรา 116 (2),(3) และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3),(5) ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง

สภาพลักลั่นในช่วงแรกเกิดขึ้นนี้ อาจเป็นดังที่โจ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศนับสิบคนที่ (นั่งยองๆ) ล้อมวงสัมภาษณ์เขากันสดๆ ทันทีหลังฟังคำพิพากษา ว่า เขาไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการยุติธรรมเท่าไรนัก และในการมาฟังคำพิพากษาในวันนี้เขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรเป็นพิเศษกับประเทศนี้ (เหตุการณ์ล้อมวงสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ระหว่างรอเจ้าหน้าที่พิมพ์รายงาน ซึ่งผู้พิพากษาก็ไม่ได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด)

“มันทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ช่วงหนึ่งที่เขาตอบคำถามนักข่าว

ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการในห้องพิจารณาคดี นักข่าวพากันรุมซักถาม อานนท์ นำภา ทนายความ โดยมีนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศบางคนถามว่าข้อความที่หมิ่นคืออะไร ซึ่งทำให้นักข่าวอาวุโสพากันหัวเราะและแซวทนายความ ว่าหากทนายตอบคำถามนี้ อาจต้องเป็นจำเลยเสียเอง อย่างไรก็ตาม อานนท์ ระบุว่าข้อความในบล็อกนั้นเป็นข้อความทางวิชาการ และแปลเนื้อหาในหนังสือ The King Never Smiles บางบท

หากใครเคยเข้าไปอ่านบล็อกดังกล่าวก่อนจะถูกทางการปิดกั้นก็จะเห็นว่า มีการเขียนบรรยายว่า เป็นไปเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในอีกด้านหนึ่งของประเทศไทย พร้อมทั้งกำชับให้ผู้อ่านให้อ่านเชิงอรรถเพื่อพิจารณาว่าข้อสรุปของผู้เขียน Paul M. Handley เชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด

นอกจากนี้ทนายความยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีนี้นับว่าได้รับโทษน้อยที่สุดเพียง 2 ปีครึ่งจากโทษเต็ม 5 ปี เพราะโดยปกติคดีหมิ่นที่ผ่านๆ มามีฐานของโทษต่อหนึ่งกรรมอยู่ที่ 6 ปี และ 10 ปี

ขณะที่นางอลิซาเบธ แพรตต์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาที่มาร่วมฟังคำพิพากษาตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องโทษว่า ไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ยังเป็นโทษที่หนักมากสำหรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

000000

 

ไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนั้น เฟซบุ๊คก็เริ่มเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีนี้ หลายคำถามก่อเกิด เนื่องจากรายงานข่าวก็ไม่ได้ระบุที่มาที่ไปของความผิด ทั้งนี้ก็เนื่องจากศาลมิได้อ่านทวนคำฟ้องของโจทก์ให้นักข่าวได้รายงาน

คำถามหลักอันหนึ่งของเรื่องนี้ อาจดูได้จากข้อความในเฟซบุ๊คของสาวตรี สุขศรี แห่งกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นข้อสังเกตได้รับการ share อย่างกว้างขวาง

“กรณีโจ กอร์ดอน มีเรื่องน่าสนใจอีกดังนี้ 1) ตกลงหนังสือกษัตริย์ไม่เคยยิ้มมีเนื้อหาผิด 112 หรือไม่ ถ้าผิด ส่วนไหนผิด ? 2) การประกาศหนังสือต้องห้าม เป็นอำนาจของ ผบ.ตร โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ซึ่งต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย แต่เล่มนี้ไม่มีการประกาศตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีแต่คำสั่งตำรวจลอย ๆ ว่าห้าม มีผลทางกฎหมายหรือไม่ ?  3) ตาม พรบ.จดแจ้งฯ ถ้าฝ่าฝืน คือ สั่งหรือนำเข้ามาเพื่อเผยแพร่ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ.. แต่ครั้งนี้ศาลจำคุก 5 ปี (สารภาพเลยลดเหลือ 2 ปีครึ่ง) หมายความว่าอะไร ตกลงผิด 112 ? ถ้าใช่ ย้อนกลับไปดูคำถามข้อ 1) ใหม่”

อย่างไรก็ตาม ในคำฟ้องของโจทก์ระบุการฟ้องร้องอยู่หลายประเด็น แต่ยังคงให้น้ำหนักกับหนังสือต้องห้ามดังกล่าว ทำให้คำถามต่อหนังสือ The King Never Smiles ยังเป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีความชัดเจน

คำฟ้องลงวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ1 สำนักงานอัยการสูงสุด กับนายเลอพงษ์ (สงวนนามสกุล) หรือ สิน แซ่จิ้ว หรือ นายโจ กอร์ดอน

โดยระบุว่า ราชอาณาจักรไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระภัทรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และทรงอยู่เหนือคำติชมใดๆ ทั้งปวง เมื่อระหว่างวันที่ 2 พ.ย.50 ถึงวันที่ 24 พ.ค.54 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำลยได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย โดยบังอาจนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ลงในเว็บบล็อกไทยทีเคเอ็นเอสยูเอสเอ (ตามคำฟ้องระบุเป็น url – หมายหตุโดยประชาไท)  และจำเลยยังทำจุดเชื่อมโยงให้บุคคลที่เข้าเว็บบอร์ดคนเหมือนกันทำการดาวน์โหลด โดยจำเลยใช้นามแฝงว่า นายสิน แซ่จิ้ว และมีคำนิยามเกี่ยวกับตัวเองว่า “กูไม่ใช่ฝุ่น....” (เซ็นเซอร์โดยประชาไท) และจำเลยอ้างตัวเป็นผู้แปลหนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรชื่อ “The King Never Smiles” (กษัตริย์ผู้ไม่เคยยิ้ม) จากฉบับภาษาอังกฤษเป็นฉบับภาษาไทย และจำเลยนำข้อความซึ่งเป็นคำแปลดังกล่าวลงเผยแพร่ในเว็บบอร์ดดังกล่าว ทำการเผยแพร่บทความที่มีลักษณะกล่าวพาดพิงวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์

ต่อมาจำเลยได้ทำความเชื่อมโยงเพื่อเผยแพร่หรือส่งต่อข้อความซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรลงในเว็บไซต์ชุมชนฟ้าเดียวกัน หรือเว็บไซต์ชุมชนคนเหมือนกัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าไปอ่านคำแปลในเว็บบล็อกดังกล่าว

จำเลยได้นำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยเขียนบทความลงในเว็บบล็อกบาทเดียว (ในคำฟ้องระบุเป็น url – หมายเหตุประชาไท) ซึ่งมีข้อความ...... (เนื่องจากไม่สามารถเผยแพร่ข้อความซ้ำได้ จึงต้องสรุปความ– ประชาไท) เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ การปฏิวัติวัฒนธรรมโบราณ และสถานการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยในช่วงผลัดเปลี่ยนรัชกาล

คำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยยังเป็นการทำให้ข้อมูลดังกล่าวปรากฏแก่ประชาชนอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต และเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

สำหรับต้นเรื่องของคดีความ ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่หนึ่ง ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยื่นต่อศาลนั้นได้ระบุไว้ว่า คดีพิเศษดังกล่าวเป็นกรณีเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือที่ อส 0025 (กต3)/9060 ลงวันที่ 28 ก.ค.53 มอบหมายให้พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ และพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมาย

คำร้องยังระบุถึงผู้กล่าวหาด้วยว่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยพันเอก วิจารณ์ จดแตง เป็นผู้กล่าวหาที่ 1 ร่วมกับนายเกริกไชย ศรีศุกร์เจริญ จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร้องทุกข์กล่าวหาต่อพนักงานสอบวนคดีพิเศษ

ในคำบรรยายการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในเอกสารดังกล่าวได้กล่าวถึงบล็อกบาทเดียวและเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน โดยระบุว่านายสิน แซ่จิ้ว เป็นเจ้าของบล็อกบาทเดียวที่เผยแพร่เนื้อหาการแปลหนังสือเล่มนี้ และนำไปลิงก์ไปเผยแพร่ในเว็บบอร์ด

0000000

 

ก่อนหน้าที่จะถึงวันตัดสิน เราเข้าไปเยี่ยมเขาหลายครั้งในเรือนจำ เขาเป็นคนบุคลิกสุขุม และไม่ค่อยพูด ในช่วงแรกที่ถูกคุมขัง เขาป่วยหนักจากโรคเก๊าต์ และมีสภาพที่ย่ำแย่ทั้งจิตใจและร่างกาย จนต้องมีนักโทษพยุงปีกซ้ายขวามาพบญาติเนื่องจากเก๊าต์กำเริบหนัก ช่วงแรกโจไม่สามารถปรับตัวกับสภาพในเรือนจำได้ และไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำที่จัดให้ได้เลย กระทั่ง “พี่นุช” คอยขับรถระยะทางกว่า 200 กม. มาซื้อของกินของใช้ให้โดยตลอด จนเขาค่อยๆ ปรับตัวได้ในที่สุด

ในช่วงแรกเขาดูตั้งใจจะต่อสู้คดี แต่ผ่านมาระยะหนึ่ง พร้อมกับความพยายามประกันตัวนับสิบครั้ง ทำให้เขาตัดสินใจรับสารภาพ

เรื่องการไม่ได้ประกันตัวเป็นสิ่งที่โจเข้าใจไม่ได้ และมักจะพูดถึงมันเสมอ เขาว่าที่อเมริกาไม่มีทางทำแบบนี้ เพราะเขายังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดแต่อย่างใด

โจป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย และไม่ค่อยไปรับยาที่โรงพยาบาลในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จากสถานทูตอเมริกาที่คอยเข้าเยี่ยมเขาเป็นระยะบอกกับเขาว่าอย่างไรเสียเขาควรไปรับยาที่โรงพยาบาล คำตอบจากโจคือ การไปรับยานั้นต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันรอคิว นอกจากนี้เขายังรับไม่ได้กับการปฏิบัติต่อคนนักโทษจากบุคคลากรที่นั่น

โจ ใช้ชีวิตอยู่อเมริกานาน เกือบ 30 ปี อาจจะนานเกินไปจนทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนอเมริกันมากกว่าคนไทย เขาเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อราว 2 ปีก่อน เนื่องจากภรรยาของเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และเขาเองต้องการกลับมารักษาตัวในประเทศบ้านเกิดซึ่งค่ารักษาพยาบาลถูกกว่ามาก

“รู้สึกยังไงกับประเทศไทย” คำถามผ่านผนังกระจกกั้นในห้องเยี่ยม

“ประเทศนี้ดีทุกอย่าง แต่คนไทยเป็นคนไม่ยอมรับความจริง”  “มองจากข้างนอกบรรยากาศเหมือนจะเปิดกว้าง แต่จริงๆ แล้ว ...ไม่” คำตอบลอดผ่านผนังกระจกกลับมา

เมื่อกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดนครราชสีมา โจหารายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่ที่สนใจ และมีงานอดิเรกเป็นการถ่ายภาพ จนกระทั่งถูกจับกุม ซึ่งในวันจับกุมเขาระบุว่าบ้านพี่น้องที่อยู่นอกเหนือหมายจับก็ถูกรื้อค้นด้วยเช่นเดียวกัน

เนื่องจากจำเลยตัดสินใจไม่ต่อสู้คดี ทำให้ผู้ที่สนใจติดตามกรณีนี้ซึ่งเกี่ยวพันกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี ไม่สามารถหาคำตอบในการเชื่อมโยงสู่การจับกุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งหมดกระทำการในสหรัฐอเมริกา

สำหรับคำถามหลักๆ ของการสืบเสาะ โจระบุว่า เจ้าหน้าที่ถามเขาหลายอย่างเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีทางที่คนจะถามกันในประเทศที่เขาอยู่ นอกจากนี้ยังถามเขาว่า รู้จักกับทักษิณใช่ไหม, รู้จักแกนนำคนใดบ้าง ฯลฯ ซึ่งมันสร้างความประหลาดใจให้เขามากพอควร

 

00000000

 

ก่อนวันพิพากษา มีคนถามถึงความคาดหวังของผู้แปลหนังสือของสำนักพิพม์ Yale เล่มนี้

เขาบอกว่าเขาอยากกลับ “บ้าน” แล้วก็เล่าถึงบรรยากาศในรัฐโคโลลาโด สถานที่ที่เขาชอบไปซึ่งเป็นโบสถ์เก่าแก่อยู่บนภูเขาที่เงียบสงัด

“ผมอยากกลับไปให้ทันวัน Thanksgiving  ผมอยากกลับไปใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบ”

วันขอบคุณพระเจ้าคือวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน ..มันเลยมาแล้ว และไม่มีใครรู้ว่าเขาจะได้กลับเมื่อไร

 

 

หมายเหตุ ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก อานนท์ นำภา สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่าย น.ศ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น จี้ อธิการฯ หยุด ‘ม.นอกระบบ’

Posted: 09 Dec 2011 04:09 AM PST

เครือข่ายนักศึกษายื่นหนังสือถึงอธิการบดี ม.ขอนแก่น จี้ยุติการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จนกว่าจะเปิดเผยข้อมูล และมีกระบวนการการมีส่วนร่วม รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างทั่วถึง

 
 
วันนี้ (9 ธ.ค.54) เวลา 14.00 น. เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนำระบบ ประมาณ 50 คน เคลื่อนขบวนไปยังตึกอธิการเพื่อยื่นหนังสือต่ออธิการบดีมหาวิทยาขอนแก่น ให้อธิการบดีฯ ลงลายมือชื่อรับทราบข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าร่วมยื่นหนังสือในครั้งนี้ด้วย
 
เครือข่ายนักศึกษาฯ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุถึงการออกเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 พ.ย.54 ได้มีความพยายามแปรรูปมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ ออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ออกนอกระบบ) โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
 
ทางเครือข่ายนักศึกษาฯ ซึ่งได้ติดตามและเฝ้าระวังการแปรรูปมหาวิทยาลัยตลอดมาเล็งเห็นว่า การนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบนั้น จะส่งผลกระทบต่อนักศึกษาอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านการตัดโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานคนยากคนจนในเรื่องค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น ด้านคุณภาพการศึกษาที่ด้อยลง และด้านอุดมการณ์ที่แท้จริงของการศึกษา
 
อีกทั้ง การดำเนินการที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยไม่เปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ทำให้นักศึกษาและประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
 
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษาฯ ต่อทางอธิการบดีและมหาวิทยาลัย คือ1.ขอให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ 2.ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบให้เป็นที่รับรู้ต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึง และ 3.ขอให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบในทุกขั้นตอน จากนักศึกษาและประชาชนอย่างทั่วถึง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนการยื่นหนังสือทางนักศึกษาได้มีการสอบถามข้อสงสัยในขั้นตอนการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ โดยอธิการบดีมีท่าทีไม่ยอมให้เครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นรับฟังการตอบข้อสงสัย โดยอ้างว่านักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดอนาคตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักศึกษาในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเครือข่ายนักศึกษาจะยังคงติดตามการยื่นหนังสือข้อเรียกร้องในครั้งนี้ภายใน 7 วันตามที่ระบุไว้ภายในหนังสือข้อเรียกร้อง
 
 
 
 
แถลงการณ์
คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ม.นอกระบบ)
9 ธันวาคม 2554
 
            เนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามแปรรูปมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (นอกระบบ) โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้บริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการร่าง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (นอกระบบ)
 
            ทางเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ ซึ่งได้ติดตามและเฝ้าระวังการแปรรูปมหาวิทยาลัยตลอดมา จึงเห็นว่า การนำมหาลัยขอนแก่นออกนอกระบบนั้น จะส่งผลกระทบต่อนักศึกษาอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านการตัดโอกาศทางการศึกษาของลูกหลานคนยากคนจนในเรื่องค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น ด้านคุณภาพการศึกษาที่ด้อยลง และด้านอุดมการณ์ที่แท้จริงของการศึกษา อีกทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูล ลายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ทำให้นักศึกษาและประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) ได้ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
 
            ดังนั้น เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบจึงได้มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
 
1. ขอให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
 
2. ขอให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาขอนแก่นออกนอกระบบให้เป็นที่รับรู้ต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและสังคมภายนอกอย่างทั่วถึง
 
3. ขอให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (นอกระบบ) ในทุกขั้นตอนจากนักศึกษาและประชาชนอย่างทั่วถึง
 
 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ
9 ธันวาคม 2554
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิทรรศการแม่น้ำโขง “เมื่อแม่น้ำ ไฟฟ้า และคนหาปลา เป็นเรื่องเดียวกัน” ที่เชียงคาน

Posted: 09 Dec 2011 02:29 AM PST

งานแสดงศิลปะว่าด้วยโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยา วิถีชีวิตของชุมชนตลอดลุ่มน้ำ สะท้อนข้อห่วงใยทั้งหลาย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

 
 
นิทรรศการแม่น้ำโขง “เมื่อแม่น้ำ ไฟฟ้าและคนหาปลา เป็นเรื่องเดียวกัน” จัดแสดงอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่บริเวณลานชุมชนโรงสูบน้ำ ซอย 10 เขตเทศบาลตำบลเชียงคาน จ.เลย ด้วยความร่วมมือของหลายฝ่าย ได้แก่ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง, เทศบาลตำบลเชียงคาน, เฟสบุ๊ค: แม่น้ำโขงอิสระแห่งสายน้ำ และศูนย์ศิลปะเด็กไทยริมโขง บ้านบะไห (จ.อุบลราชธานี) รวมทั้งการสนับสนุนภาพถ่ายแม่น้ำโขงจำนวนหนึ่งจากทีมช่างภาพของไกด์อุบล และ PIXPRO’s HOUSE
 
นับตั้งแต่การเปิดนิทรรศการ ผู้เข้าชมนิทรรศการจำนวนมาก ได้แสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านท้ายน้ำที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนและระบบนิเวศแม่น้ำโขง และบางท่านได้แสดงความกังวลว่า ประเทศอื่นๆ อีก 3 ประเทศจะสามารถควบคุมการดำเนินการของรัฐบาลสปป.ลาวได้มากน้อยเพียงใด เพราะยังคงมีกระแสข่าวการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบุคคลภายนอกยากที่เข้าไปตรวจสอบได้ ทั้งๆ ที่โครงการนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศ
 
นิทรรศการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยา, วิถีชีวิตของชุมชนตลอดลุ่มน้ำโขง และแผนการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงจำนวน 12 เขื่อน หนึ่งในจำนวนนี้คือโครงการเขื่อนไซยะบุรีในประเทศ สปป.ลาว เป็นโครงการที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในการพัฒนาโครงการ ซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาตัดสินใจร่วมกันของ 4 ประเทศสมาชิก ภายใต้ข้อตกลงการใช้แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ลงนามร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 
 
ล่าสุดการประชุมกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระดับรัฐมนตรีของ 4 ประเทศ ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้มีความเห็นร่วมกันให้ชะลอโครงการเขื่อนไซยะบุรีออกไปก่อน และให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป
 
ถึงแม้ว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีจะตั้งอยู่ในประเทศ สปป.ลาว แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเทศไทยจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าถึง 95% และดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทเอกชนของไทย รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ในไทย 4 แห่งก็จะให้เงินกู้กับโครงการนี้สูงถึง 75,000 ล้านบาท และประเด็นสำคัญคือ ผลกระทบข้ามพรมแดนด้านท้ายน้ำ จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกประเทศแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ไทย, กัมพูชา และเวียดนาม
 
ดังนั้น ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ นอกเหนือจะเป็นการเผยแพร่ความสำคัญของแม่น้ำโขงแล้ว ยังมีการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้ลงชื่อในโปสการ์ดปลาบึกอีกด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนข้อห่วงใยทั้งหลายตรงไปสู่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เรียกร้องให้ระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะยุรี และไม่สนับสนุนเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 12 เขื่อน โดยคณะผู้จัดงานนิทรรศการจะได้รวบรวมและส่งมอบให้ในโอกาสต่อไป 
 
นิทรรศการแม่น้ำโขง “เมื่อแม่น้ำ ไฟฟ้าและคนหาปลา เป็นเรื่องเดียวกัน” จะยังคงจัดต่อไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2554 ท่านที่ได้ผ่านไปเยี่ยมเชียงคานในช่วงเวลานี้ ขอเชิญเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ
 
ประมวลภาพบรรยากาศ:
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานพิเศษ: สถิติที่น่าสนใจของการใช้มาตรา 112 โดย 'I pad' และ สภ.ร้อยเอ็ด

Posted: 09 Dec 2011 01:26 AM PST

กรณีศึกษาเมื่อสามัญชนฟ้องร้องบุคคลอื่นด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ไอแพด-วิพุธ สุขประเสริฐ และสภ.ร้อยเอ็ด กับตัวเลขที่น่าสนใจเชิงสถิติ ภายใน 1 ปี กล่าวหาบุคคลทั่วไปว่ากระทำผิดมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 15 ราย จากการถกเถียงท้ายบทความของประชาไทจำนวน 3 บทความ

การฟ้องร้องกันด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า กฎหมายหมิ่นฯ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในแง่มุมของตัวบทกฎหมายและกระบวนการบังคับใช้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายมาตราดังกล่าวว่า การบังคับใช้ของกฎหมายนี้รุนแรงเกินไปโดยเฉพาะในแง่ของการฟ้องร้องที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถกล่าวโทษ ทั้งนี้ เขาเสนอแนะว่า อาจมีการตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สั่งฟ้องโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงพิจารณาลดบทลงโทษให้ผ่อนคลายลงกว่าเดิมด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มมีแรงกระเพื่อมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกฎหมายดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงคือสถิติคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในเวลา 5 ปี หลังการรัฐประหาร เฉพาะปี 2553 มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน ทั้งสิ้น 478 คดี เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า เทียบกับปี 2552 ซึ่งมี 164 คดี และปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 126 คดี

ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเมืองไทยกำลังเข้มข้นด้วยขบวนการทั้งฝ่ายต่อต้านทักษิณและสนับสนุนทักษิณ พื้นที่ท้ายข่าวของประชาไทถูกเปิดไว้ โดยผู้โพสต์ความเห็นท้ายข่าวของประชาไทมาจากหลากหลายอุดมการณ์และแนวคิด อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา บรรยากาศการถกเถียงท้ายข่าวของประชาไทเริ่มคุกรุ่นด้วยการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยผู้ใช้นามแฝงว่า I pad ซึ่งมักเข้ามาแสดงความเห็นโจมตีฝ่ายที่เห็นต่างอย่างรุนแรง หยาบคาย พร้อมทั้งขู่ว่าจะฟ้องร้องคู่สนทนาของตนเองด้วยมาตราดังกล่าวอยู่เนืองๆ

ประชาไทติดตามสำเนาคำฟ้องที่ I pad นำมาโพสต์เพื่อยืนยันว่า ได้กระทำการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.ร้อยเอ็ดจริง ได้ทั้งสิ้น 3 ครั้ง รวมผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 15 คน จากจำนวนที่ไอแพดอ้างว่าเขาได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้แสดงความเห็นท้ายข่าวประชาไทไปทั้งสิ้น 8 ครั้ง

ทั้งนี้ จากการโพสต์ข้อความของ I pad ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ฟ้องร้องผู้โพสต์ข้อความท้ายข่าวประชาไททั้ง 15 รายนั้น ปรากฏในคำร้องทุกข์ของเจ้าพนักงานว่า ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษชื่อ นายวิพุธ สุขประเสริฐ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.ร้อยเอ็ด และเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

รายละเอียดของการฟ้องร้องแต่ละครั้งมีดังนี้

วันที่ 1 พ.ย. 2553

นายวิพุธ สุขประเสริฐ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ. เมืองร้อยเอ็ด มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 5 ราย เป็นผู้ใช้นามแฝงในการโพสต์ท้ายข่าวในเว็บไซต์ประชาไท 4 ราย และเว็บมาสเตอร์ประชาไท 1 ราย

โดยร้องทุกข์กล่าวโทษว่าบุคคลดังกล่าวหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ปรากฏว่า นายวิพุธอ้างข้อความใดว่าเป็นการกระทำผิดที่มีลักษณะดังกล่าว

ไม่ปรากฏการอ้างอิง url ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายการกระทำความผิดดังกล่าว

1 Nov 2010

วันที่ 6 ธ.ค. 2553

นายวิพุธ สุขประเสริฐ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ. เมืองร้อยเอ็ด มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 10 ราย เป็นผู้ใช้นามแฝงในการโพสต์ท้ายข่าวในเว็บไซต์ประชาไท 8 ราย เว็บมาสเตอร์ประชาไท 1 ราย และบรรณาธิการประชาไท 1 ราย

ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ปรากฏว่า นายวิพุธอ้างข้อความใดว่าเป็นการกระทำผิดที่มีลักษณะดังกล่าว

ไม่ปรากฏการอ้างอิง url ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายการกระทำความผิดดังกล่าว

6 Dec 2010

วันที่ 11 ส.ค. 2554

นายวิพุธ สุขประสริฐ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ. เมืองร้อยเอ็ด มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 3 ราย เป็นผู้ใช้นามปากกาในการเขียนบทความ 1 ราย ผู้ใช้นามแฝงในการแสดงความเห็นท้ายข่าวในเว็บไซต์ประชาไท 1 ราย และเว็บมาสเตอร์ประชาไท 1 ราย

ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ไม่ปรากฏว่า นายวิพุธอ้างข้อความใดว่าเป็นการกระทำผิดที่มีลักษณะดังกล่าว

ไม่ปรากฏการอ้างอิง url ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายการกระทำความผิดดังกล่าว

11 Aug 2011

บางครั้งที่ผู้ใช้นามแฝง Ipad ขู่ว่าจะฟ้องผู้โพสต์ข้อความท้ายข่าวประชาไท เขาจะนำเอาใบรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ มาโพสต์เพื่อแสดงความคืบหน้าในการดำเนินการ เช่น

วันที่ 19 พ.ย. 2553

ขอโพสต์ข้อความที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (ไร้) สาระ ในคอลัมน์นี้ ของนายเห่าอ่อนไหล หน่อย ติ๊ล่ะ!

เพราะ ให้เครดิตว่าคอลัมน์ของนาย 'อ่อนไหล น่าจะมีคนเข้าชมมากพอดู (นี่ชมนะเนี่ย!) ฮา

จึงขอยืม ส่วนแสดงควายคิดเห็น ของนาย 'อ่อนไหล ประกาศ ดังนี้

ประกาศ

ได้มี สาวก@ป่าช้าไท ตนหนึ่ง นาม ปรวย ท้าทายว่า I Pad เอาแต่ขู่ว่าจะฟ้อง จะแจ้งความ

พอดีว่า I Pad เป็นคนหัวอ่อน ใครสั่งให้ทำอะไรก็ทำตามทุกอย่าง ;)~ นาย ปรวย บอกให้ฟ้อง ก็ ฟ้อง และสั่งไว้อีกว่า ฟ้องแล้วก็เอาหลักฐานการฟ้องมาให้ดูด้วย อย่าเอาแต่พูดลอย เว่าพล่อยๆ แบบ นังดอก เจ มัน! มันไม่ดี ;)~ I Pad ก็เชื่อก็ทำตาม จึงขอแจ้งให้ไปชม บันทึกประจำวันเอาได้ที่นี่

คลิก เอาเลย เพียก ;)~

จบ! ข่าว

ขอ แส ดง ค่วมนับถือ คักคัก ;)~

ลายเซ็นต์ I Pad

(นาย I Pad บ้านโคกอีแหลว แอ่วมอง) ;)~

ปล. ท่านที่ติดร่างแหไปกับนายปรวย ก็ รวมทั้งหมด 6 คน อันได้แก่ ปรวย, น้ำลัด, ว ณ ปากนัง, MM, คนเมียง และ เว็บมัสเตอร์เบชั่น สวัสดี

อ้อ! คราวหน้าคาดว่าจะเป็นคราวของ นายเห่าอ่อนไหล (เจ้าของคอลัมน์ นี้นั่นเอง) ;)~ ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้แซ่บ อีกเตื้อ มื่อหน้า เด้อ สู! ;)~

http://www.prachatai3.info/journal/2010/11/31960

 

วันพฤหัสบดีที่ 20 ม.ค. 2554 IPAD โพสต์ข้อความดังนี้

แล้วมาถึงก็ได้ละเลงใน คห. ที่อยู่บนสุด ก็ขอซะเลย

ถึงบรรดาเพื่อนๆ กลุ่มเสียง เป็นโรคท่องเที่ยวร้อยเอ็ด (โดยจำใจ) (ฮา) ทราบ

วันนี้กระผมนาย I Pad ได้ไปให้ปากคำเพิ่มเติมครบ 8 คดี เป็นที่เรียบร้อยแว๊ววววว

แล้วบังเอิ๊ญ บังเอิญ ร้อยเวรคดีนี้แกเป็นคนไม่ค่อยรอบคอบ แกเล่นเอาสำนวนคดีมากางให้ I Pad อ่านแล้วให้ปากคำเพิ่มเติม แถมพิมพ์ช้ามาก

ระหว่างให้ปากคำสำนวนคดีนี้จึงเป็นสำนวนคดีที่ I Pad ได้แอบอ่านมากที่สุด กร๊ากกกกกกกก

จน I Pad ได้อ่านไปถึงรายงานจาก Service Provider ทีทำหนังสือตอบมาซึ่งระบุหมายเลข IP ของแต่ละนามแฝง ลงลึกไปถึง ที่ตั้งของ คอมฯ เครื่องนั้น อยู่ที่บ้านเลขที่อะไร ถนนอะไร เมืองอะไร ประเทศอะไร ลึกขนาดนั้นเลย

แล้วในหนังสือนั้นยังแจ้งอีกว่า ขั้นตอนการสืบค้นถึงชื่อบุคคลนั้น ขอให้ทาง สตช. เรียกร้องเพิ่มเติมพร้อมหมายศาล จึงจะสมารถให้ข้อมูลขั้นต่อไปได้

นั่นก็คือท่านผู้ติดเชื้อโรคท่องร้อยเอ็ด (ฮา) ยังไม่โดนระบุถึงชื่อ นามสกุล จริง แต่ก็ระบุที่อยู่ที่ก่อเหตุไว้เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งหลังจากนี้เมื่อ สภอ. เมืองร้อยเอ็ด มีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้อง แล้วอัยการ จว. ร้อยเอ็ด เห็นสมควรตาม เสนอต่อศาล แล้วศาลออกหมาย ทีนี้ สตช. ก็คงขอไปยัง Service Provider เพื่อขอสืบค้นชื่อ นามสกุลจริง ต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดติดตามด้วยใจประหวั่น พลัน (ฮา)

ปล. มีบางท่านไปแอบก่อคดีไกลถึง สรอ. รัฐ นิวเม็กซิโก โน่นแน่ะ! แต่ก็อย่างที่บอก ตร. เขาไม่ได้โง่นะ เพียงแต่เขาจะตามหรือไม่เท่านั้นเอง! แต่ได้ข่าวว่าเขารออนุมัติ แล้วร้อยเวรก็จะเดินทางไปตามถึง สรอ. ด้วยตนเอง

โชคดีนะ ปรวย, เปลียนแปลงสยาม และ น้ำ.... (ฮา)

http://prachatai.com/node/32720/talk#comment-354823

 

กรณีของ I pad หรือนายวิพุธ สุขประเสริฐคือตัวอย่าง ของการที่ "ใครก็ได้" สามารถนำเอากฎหมายอาญามาตรา 112 ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงาน โดยนายวิพุธ คือตัวอย่างของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถาบันกษัตริย์แล้วเอากฎหมายนี้ไปใช้กล่าวหาผู้ที่มีความเห็นต่างจากตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่สามารถอดทนถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลและหลักวิชา ขณะที่ สภอ. ร้อยเอ็ด ก็กำลังจะเป็นตัวอย่างของกลไกลในกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ไม่ทำหน้าที่ตีความและบังคับใช้กฎหมายให้เป็นคุณแก่เสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน

น่าจับตาดูว่า นายวิพุธ สุขประสริฐและสภ.เมืองร้อยเอ็ด จะสร้างสถิติในการเป็นบุคคลและเป็นสถานีตำรวจที่ฟ้องและรับฟ้องคดีหมิ่นฯ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยหรือไม่

ทั้งนี้ การที่กฎหมายมาตราดังกล่าวถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยบุคคลธรรมดาที่สามารถนำมาตราดังกล่าวไปร้องทุกข์กล่าวโทษแก่เจ้าพนักงานได้ และทางปฏิบัติ เจ้าพนักงานก็รับร้องทุกข์ไว้นั้น มีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนคดีหมิ่นฯ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ บวกเข้ากับบรรยากาศทางการเมืองไทยมีความแตกต่างทางความคิดเชิงอุดมการณ์ อันนำไปสู่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันหลักของประเทศ ซึ่งแม้เสรีภาพในการแสดงความเห็นจะเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่นานาประเทศเคารพ ดังเช่นคำสัมภาษณ์ของกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยซึ่งแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อกระบวนการยุติธรรมไทยที่ตัดสินโทษ นายโจ กอร์ดอนว่ามีความผิดตามมาตราดังกล่าว ว่า"เรายังคงเคารพสถาบันกษัตริย์ของไทย แต่ในขณะเดียวกันเราก็สนับสนุนสิทธิในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองในทางสากล" แต่หลักการเช่นนี้ ยังเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ ไม่ใช่จากผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายของไทยเท่านั้น แต่หมายถึงคนไทยทั่วๆ ไปด้วย

"มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทูตสหรัฐประจำประเทศไทย "เป็นห่วง"การตัดสินคดี 'โจ กอร์ดอน'

Posted: 08 Dec 2011 11:21 PM PST

คริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เปิดเผยวันนี้ (9 ธ.ค.) ผ่านทางทวิตเตอร์ว่า สหรัฐอเมริกากังวลใจต่อการตัดสินคดีของ 'โจ กอร์ดอน' ชายไทย-อเมริกันที่ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนวานนี้ จากการแปลหนังสือต้องห้าม "The King Never Smiles" และนำลิงค์หนังสือดังกล่าวไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต

คริสตี เคนนีย์ ทวีตเมื่อเวลาราว 11 นาฬิกาของวันนี้ว่า ทางการสหรัฐให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ของไทยอย่างสูงสุด แต่รู้สึกเป็นกังวลต่อการตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในด้านเสรีภาพในการแสดงออก และกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐจะยังคงให้ความสนับสนุนโจ กอร์ดอน โดยการเข้าเยี่ยมเขาในเรือนจำ และจะหารือกรณีนี้กับทางการไทยต่อไป 

เธอย้ำว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแรงกล้าในทุกที่ทั่วโลก และเชื่อมั่นในสิทธิของพลเมืองสหรัฐที่พึงมี ทั้งนี้  เธอได้ฝากประชาสัมพันธ์ให้ชาวสหรัฐทั้งที่จะเดินทางมาและกำลังพำนักอยู่ในไทยได้อ่านศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลและกฎหมายเบื้องต้นของไทยทางเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐด้วย เนื่องจากแม้จะมีสัญชาติสหรัฐ แต่หากอยู่ในไทยก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทย 

Kristie Kenney

 ทูตสหรัฐประจำประเทศไทย คริสตี เคนนีย์ ตอบคำถามต่อกรณีการตัดสินของ "โจ กอร์ดอน"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรื่องของอากง: Freedom of Speech และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม

Posted: 08 Dec 2011 08:22 PM PST

บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาในคดีอากง sms แต่อยากเชิญชวนผู้อ่านวิเคราะห์สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของอากงผ่านข้อสมมติฐานที่เป็นไปได้สองประการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าในสองการกระทำที่แตกต่างกันสุดขั้ว อย่างน้อยที่สุด ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง อากงได้ครอบครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอันสมควรจะได้รับการคุ้มครองประการใดบ้าง

บทความนี้จงใจตัดความน่าสงสารทุกๆ ประการของอากงออก ไม่ว่าจะเป็นอายุ สังขาร ภาระครอบครัว ฐานะ โรคภัย รวมถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหลีกเลี่ยงอคติทุกประการอันอาจเกิดขึ้นและส่งผลต่อวิจารณญาณ โดยบทความนี้จะมองอากงในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ กล่าวคือ ไม่เป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษในสายตาของกฎหมาย

อนึ่ง บทความนี้ไม่อาจละเว้นว่าผลกระทบที่เกิดต่ออากงทั้งหมด เกิดจากการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย
 

สมมติฐานประการที่หนึ่ง: อากงไม่ได้เป็นคนส่ง sms
สมมติว่าในวันที่ 9, 11, 12, 22 พฤษภาคม 2553 ชายชราอายุ 61 ปี กำลังทำกิจกรรมอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์และส่ง sms อาจกำลังปลูกต้นไม้ ทำกับข้าว เลี้ยงหลาน รำมวยจีน เข้าห้องน้ำ หรือนอนดูโทรทัศน์แล้วเผลอหลับ ฯลฯ

วันหนึ่งในเดือนสิงหาคมตำรวจได้นำหมายจับมาถึงบ้าน โดยบอกว่าชายผู้นี้ต้องถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 41 โดยกระทำการส่งข้อความ ABCDEFG อันมีลักษณะหยาบคาย เข้าข่ายจาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ[1] เข้าโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์ (เหตุที่ต้องสมมติเป็น ABCDEFG เนื่องจากว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาว่าอย่างไร นอกจากบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี)

ชายผู้นี้ถูกคุมขังในเรือนจำเป็นระยะเวลา 63 วัน ได้รับการประกันตัวครั้งแรกในชั้นสอบสวน แต่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างการพิจารณา[2]

กรณีตามสมมติฐานนี้ การอ้างหลักการคุ้มครองเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Speech) ไม่อาจใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของอากงได้ เพราะตัวอากงเองไม่ได้แม้แต่จะเป็นผู้คิด พิมพ์ และกดส่ง sms ที่ว่านี้เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี ในข้อ 10 และ 11(1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR)[3] ได้บัญญัติหลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับอากง ในฐานะผู้ต้องหาในคดีนี้ไว้ว่า “บุคคลชอบที่จะเท่าเทียมกันอย่างบริบูรณ์ ในการที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยศาลที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ในการวินิจฉัยชี้ขาดทั้งสิทธิและภาระผูกพัน ตลอดจนข้อกล่าวหาใดๆ ที่มีต่อบุคคลนั้นในทางอาญา” และ “บุคคลที่ถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญามีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะได้มีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาที่กระทำโดยเปิดเผย และซึ่งได้รับหลักประกันทุกอย่างที่จำเป็นในการต่อสู้คดี”

ยิ่งไปกว่านั้น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550[4] มาตรา 39 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิในเรื่องนี้ไว้ว่า ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และในมาตรา 40 (2) และ (7) ก็ได้รับรองสิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา และสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม และโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ ให้กับผู้ต้องหาในคดีอาญาด้วย

สิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้ ได้รับการยืนยันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ที่บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

หากพิจารณาข้อเท็จจริงจากบันทึกสังเกตการณ์การสืบพยานในคดีนี้ http://ilaw.or.th/node/1229 และ ‘สิบคำถามต่อหลักความชอบธรรม คำพิพากษา ‘คดีอากง sms’’ http://thaipublica.org/2011/11/ten-questions-ah-kong/ คำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นสำหรับสมมติฐานประการแรกนี้ คือ

“หากอากงไม่ได้เป็นผู้ส่ง sms และด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามหลักเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Speech) แต่จากกระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้น ชายผู้บริสุทธิ์คนนี้ได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง?”

 

สมมติฐานประการที่สอง: อากงเป็นคนส่ง sms จริง
สมมติว่าในวันและเวลาเดียวกัน ชายชราอายุ 61 ปี ซึ่งมีความเชียวชาญในการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างคล่องมือ สามารถใช้ความสามารถเฉพาะตัวค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์มาไว้ในครอบครองได้ หรืออาจได้หมายเลขดังกล่าวมาอยู่ในความครอบครองด้วยความบังเอิญ หรือมีผู้หวังดีหรือไม่หวังดีจัดหามาให้ หรือได้มาไว้ในความครอบครองด้วยประการใดๆ ก็ตาม

ในวินาทีใดวินาทีหนึ่ง ชายผู้นี้เกิดความคิดบางอย่าง จึงได้ลงมือพิมพ์ sms ทีละตัวอักษร เกิดเป็นข้อความซึ่งมีเนื้อหาว่า ABCDEFG ส่งไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของเลขาฯ อดีตนายกอภิสิทธิ์ดังกล่าว

เบื้องต้น การกระทำดังกล่าว ‘อาจ’ เข้าข่ายได้รับความคุ้มครอง ตามที่ปรากฏในตอนต้นของคำปรารภและข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับรองไว้ว่า การดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Speech) คือปณิธานสูงสุดของสามัญชน และ “บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธิดังกล่าวนี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง ไปจนถึงการแสวงหา รับเอา ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ โดยปราศจากพรมแดน”

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ยังได้บัญญัติรับรองสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้ไว้ในมาตรา 45 วรรคหนึ่งด้วยว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งข้อความที่มีเนื้อหาว่า ABCDEFG ของอากง ‘อาจ’ เข้าข่ายได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก (Freedom of Speech) ดังกล่าวข้างต้น แต่เสรีภาพในข้อนี้ก็หาใช่ว่าจะได้รับการคุ้มครองครอบจักรวาลโดยไร้ข้อจำกัดไม่

ข้อยกเว้นการคุ้มครอง Freedom of Speech เช่น ข้อ 29 (2) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ บุคคลพึงใช้เพียงเท่าที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่กฎหมายกำหนด การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ต้องเป็นไปโดยเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่เป็นธรรม และการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เพื่อบรรลุถึงพันธะอันเที่ยงธรรมแห่งศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการส่วนรวมในสังคมประชาธิปไตย”

นอกจากนี้ ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (The European Convention on Human Rights – ECHR)[5] ยังได้รับรองข้อยกเว้นการคุ้มครอง Freedom of Speech ไว้ในข้อ 10 (2) ด้วยว่า “เนื่องจากการใช้เสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกย่อมนำมาซึ่งหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนั้นการใช้เสรีภาพในเรื่องนี้ย่อมอาจถูกกำหนดโดยหลักการ เงื่อนไข ข้อจำกัด หรือบทลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือความปลอดภัยของประชาชน เพื่อป้องกันสภาวะไร้ระเบียบหรืออาชญากรรม เพื่อคุ้มครองสุขภาวะหรือศีลธรรม เพื่อคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลซึ่งถูกปกปิดเป็นความลับ หรือเพื่อรักษาอำนาจและความเป็นกลางของฝ่ายตุลาการ”

ทั้งนี้ รวมถึงมาตรา 45 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่บัญญัติว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น...”

เนื้อหาที่เข้าข่ายอาจถูกยกเว้นไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ Freedom of Speech[6] เช่น เนื้อหาที่ก่อให้เกิดภยันตรายที่ชัดเจนในทันที (Clear and Present Danger) เนื้อหาที่ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรง (Fighting Words) เนื้อหาที่มีลักษณะหมิ่นประมาท (Libel and Slander) เนื้อหาลามกอนาจาร (Obscenity) เนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ (Conflict with other Legitimate Social or Governmental Interests)

ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า เนื้อหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีลักษณะเป็นการจำกัด Freedom of Speech ในตัวเอง อย่างไรก็ตาม เคยปรากฏกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามมาตรานี้ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อหานั้นๆ ยังไม่ถึงกับเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์[7]

สำหรับกรณีนี้ เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง นั่นหมายถึงว่า พนักงานอัยการได้มีการตีความข้อความ ABCDEFG แล้วว่าอาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นของพนักงานอัยการย่อมไม่ผูกพันศาล

ดังนั้น เมื่ออากงถูกนำตัวมาขึ้นศาล ศาลจึงจำเป็นต้องมีการตีความข้อความ ABCDEFG อีกครั้ง และที่สำคัญในการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลยังต้องทำการพิสูจน์พยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย ตามหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาดังได้ที่กล่าวมาในสมมติฐานข้อแรกอย่างเคร่งครัด จึงจะสามารถลงโทษอากงในฐานะผู้พิมพ์และส่ง sms ได้ แม้ชายผู้นี้จะได้ลงมือกระทำผิดจริงก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา เป็นหลักการที่ใช้คุ้มครองสิทธิของทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าผู้ต้องหาคนนั้นได้กระทำความผิดจริงหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นธรรมของอัตราส่วนโทษตามมาตรา 112 ที่จะลงแก่อากงก็นับเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากที่ต้องนำมาพิจารณาตามหลักความได้สัดส่วนระหว่างโทษและการกระทำความผิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นพื้นฐานสำคัญของนิติรัฐ ซึ่งจะยังไม่ขอนำมากล่าว ณ ที่นี้[8]

จากสมมติฐานทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าโดยข้อเท็จจริงอากงจะเป็นผู้ส่ง sms หรือไม่ก็ตาม และแม้ว่าอากงจะไม่สามารถอ้าง Freedom of Speech เพื่อคุ้มครองตัวเองได้เลยในกรณีนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง อากงสมควรได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนพิจารณา

หากจะกล่าวจนถึงที่สุด เราคงไม่อยากเห็นการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อปกป้องคนที่เรารัก ในลักษณะที่เป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของบุคคลอื่น

การรณรงค์ ‘ฝ่ามืออากง’ จึงเป็นไปเพื่อสนับสนุนหลักการดังกล่าวข้างต้นนี้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของอากงแต่เพียงผู้เดียว แต่เพื่อประโยชน์ของเราทุกคนที่อาจตกเป็นผู้ต้องหาได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้สุดแท้แต่ผู้อ่านจะนำไปพิจารณา

 

--------------------
[1] http://prachatai.com/journal/2011/11/37991
[2] เรื่องเดียวกัน
[3] http://www.un.org/en/documents/udhr/index.shtml
[4] http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf
[5] http://conventions.coe.int/treaty/en/Treaties/Html/005.htm
[6] Freedom of Speech and Press: Exceptions to the First Amendment http://www.fas.org/sgp/crs/misc/95-815.pdf
[7] http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9500000041356
[8] ผู้สนใจโปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม,” เว็ปไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย - www.pub-law.net, เผยแพร่ครั้งแรก 31 มกราคม 2553; และชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, (กรุงเทพฯ: จิรรัชการพิมพ์, 2540) น. 28 - 29.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกษียร เตชะพีระ:“ความฝันในเฟซบุ๊ก”

Posted: 08 Dec 2011 07:48 PM PST

กระดานข้อความบางกระดานในเฟซบุ๊กสะท้อนความฝันของผู้คนพอ ๆ กับความจริงที่พวกเขาดำรงอยู่ การพยายามทำนายไขความฝันจึงอาจช่วยให้เราเข้าใจความจริงที่ป้อนเลี้ยงแวดล้อมความฝันนั้นๆ อยู่ว่า มันขาดหายอะไรไป? พรมแดนแห่งความเป็นไปได้/เป็นไปไม่ได้ของมัน อยู่ที่ไหน? ทำไม? อย่างไร?

 %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

 
1) “เราเห็นด้วยกับข้อเสนอของหมอประเวศในการให้ประเทศไทยกลับไปปกครองแบบสมัยโบราณ”  (เฟซบุ๊ก, 29 พ.ย.2554)

ซิกมุนต์ บอแมน

มีแต่ชีวิตเสพสุขหรูหราสมัยใหม่เท่านั้นที่มั่งมีล้นเหลือพอจะเหลียวกลับไปมองยุคก่อน สมัยใหม่ด้วยความหวนหาอาลัย แววตาและท่าทีหวนหาอาลัยอดีตของชีวิตดังกล่าวเผยให้เห็นความรู้สึกอึดอัดแปลกแยกจากความเสี่ยงและผันผวนของชีวิตสมัยใหม่แบบไม่รู้ตัวหรือกึ่งรู้ตัวที่ซ่อนแฝงอยู่ ผู้คนพากันหวนหาชุมชนซึ่งสูญสลายไปนานแล้ว แม้ว่าเอาเข้าจริงพวกเขาไม่สามารถตัดชีวิตตัวเองให้หลุดพ้นจากคำสาปและพรอันประเสริฐของเสรีภาพสมัยใหม่ได้  ชีวิตดังกล่าวน่าเห็นอกเห็นใจตรงที่ไม่ตระหนักว่าสภาพเงื่อนไขแห่งการดำรงอยู่แบบสมัยใหม่ของตัวเองนั่นแหละที่เป็นตัวปัดปฏิเสธความเป็นไปได้ของอดีตก่อนสมัยใหม่ของพวกเขาโดยตรง

ดังที่ซิกมุนต์ บอแมน นักสังคมวิทยาชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ผู้ถูกขับไสออกมาอยู่อังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า “เสรีภาพที่ปราศจากชุมชน ย่อมหมายถึงความวิกลจริต ขณะชุมชนที่ปราศจากเสรีภาพ ย่อมหมายถึงความเป็นไพร่ข้า” (Zygmunt Bauman, Life in Fragments: Essays in Postmodern Morality) สำหรับผู้เรียกร้องให้เสียสละเสรีภาพเพื่อเห็นแก่ชุมชนที่ไม่มีวันหวนกลับไปถึงได้นั้น เอาเข้าจริงพวกเขาอาจกำลังพลัดตกลงไปในบ่วงแห่งความเป็นไพร่ข้าอันวิกลจริตก็เป็นได้

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%  

2) “เราไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการปิดเฟซบุ๊กและยูทูบเพื่อกำจัดเว็บหมิ่น”  (29 พ.ย.2554)

เรย์มอนด์ วิลเลียมส์

เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ ปัญญาชนนักศึกษาวัฒนธรรมผู้ล่วงลับ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากครอบครัว พนักงานให้สัญญาณประจำสถานีรถไฟในชนบทแคว้นเวลส์ของอังกฤษ ก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อ จนจบและเป็นอาจารย์ด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษาชื่อดังที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยพูดถึงอาการปลาบปลื้มความวิจิตรดีงามตามประเพณีแต่เก่าก่อนและต่อต้านวัตถุนิยม-พาณิชย์นิยมของปัญญาชนชั้นสูงในมหาวิทยาลัยว่า มีแง่มุมที่สะท้อนความแปลกแยกจากสังคมอุตสาหกรรมอยู่ แต่พวกเขาไม่เข้าใจคนชั้นล่างจริง ๆ แต่อย่างใด เพราะผู้คนในชุมชนของวิลเลียมส์เองนั้นพึงพอใจความก้าวหน้าสะดวกสบายที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาให้ เช่น ระบบน้ำ ประปา, รถยนต์, ยาสมัยใหม่, อุปกรณ์คุมกำเนิด, อาหารกระป๋อง เป็นต้น ที่ได้ให้พลังอำนาจ และปลดเปลื้องคนงานชายหญิงออกจากภาระงานอาชีพและงานในครัวเรือนอันหนักหน่วง ให้มีเวลาว่างและเสรีภาพที่จะทำอย่างอื่นในชีวิต ไม่มีทางที่คนชั้นล่างในชุมชนของเขาจะหันหลังให้ความก้าวหน้าเหล่านี้และกลับไปสู่ชีวิตที่ลำบากตรากตรำหนักหนาสาหัสดังก่อน สิ่งที่ต้องปฏิเสธ จึงไม่ใช่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีโดยตัวมันเอง แต่คือระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจและทรัพย์สินที่กำกับยึดกุมมันไว้อย่างไม่เท่าเทียมต่างหาก (Raymond Williams, Resources of Hope: Culture, Democracy, Socialism)

หากเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ อยู่ถึงยุคการปฏิวัติไอทีทุกวันนี้ ทรรศนะของเขาต่อเฟซบุ๊กและยูทูบ คงไม่ต่างจากที่มีต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรม.....

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

3)“สังคมที่ธำรงรักษาความรู้สึกมั่นคงของตัวไว้ได้ก็แต่ในบรรยากาศแห่งความกลัว จะมั่นคงไปได้อย่างไร? คนไทยควรมีสิทธิ์ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความไว้วางใจ ไม่ใช่ความกลัว” (7 ธ.ค.​2554)

อานันท์ ปันยารชุน

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2554 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการเปิดตัวหนังสือชีวประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉบับภาษาอังกฤษ โดยสำนักพิมพ์ Editions Didier Millet ชื่อ “King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work” โดยมีอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการ ซึ่งในงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติและผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นอย่างมาก

อานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากองบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า งานเขียนซึ่งมีความยาวกว่า 500 หน้านี้ เป็นการรวบรวมบทความและข้อเท็จจริงที่ผ่านการถกเถียงระหว่างผู้เขียนที่หลากหลาย โดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศ โดยเขาหวังว่า จะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นอิสระ เป็นกลางและรอบด้านแก่ผู้อ่านมากที่สุด

หนังสือดังกล่าวยังได้รวบรวมประเด็นอันเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการสืบรัชทายาทด้วย.....

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงาน ผู้สื่อข่าวถามว่า อานันท์เห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เนื่องจากหนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงปัญหาของกฎหมายอาญา ม.112 ด้วย ซึ่งอดีตนายกฯ ได้ตอบว่า แท้จริงแล้วกฎหมายนี้ต้องพิจารณาในบริบทของประเทศไทย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ไทยกับประชาชนเป็นเอกลักษณ์จากที่อื่นๆ ในโลก

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าการบังคับใช้ของกฎหมายนี้รุนแรงเกินไป โดยเฉพาะในแง่ของการฟ้องร้องที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถกล่าวโทษ ทั้งนี้เขาเสนอแนะว่า อาจมีการตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สั่งฟ้องโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงพิจารณาลดบทลงโทษให้ผ่อนคลายลงกว่าเดิมด้วย.....

 

(อ้างจาก http://prachatai.com/journal/2011/11/38077)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: เครือข่ายคัดค้านท่อก๊าซฯ จี้ “สอบวินัยตำรวจ” ใช้ความรุนแรง “สลายชุมนุม”

Posted: 08 Dec 2011 03:40 PM PST

ทวงถามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผลสอบสวนทางวินัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ ยุคทักษิณ พร้อมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงยอมรับผิด

 
 
วันที่ 7 ธ.ค.54 เวลา 09:30 น.เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ประมาณ 100 คน เดินทางไปกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อ.เมือง จ.สงขลา ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผ่านผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 เพื่อติดตามการร้องเรียนให้สอบสวนทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.45 หลังได้เคยยื่นเรื่องไปเมื่อปี พ.ศ.2552 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ 
 
นางจันทิมา ชัยบุตรดี อ่านแถลงการณ์ชี้แจงวัตถุประสงค์การเดินทางมาในครั้งนี้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงผ่านมานานถึง 9 ปี โดยเกิดขึ้นทั้งที่ประชาชนชุมนุมโดยสงบ เพียงเพื่อขอยื่นหนังสือให้คณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ทบทวนการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะเดินทางมาประชุมสัญจรวันที่ 21-22 ธันวาคม 2545 ณ โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่ขณะหยุดพักรอการเจรจาประสานงานว่าทางเจ้าหน้าที่จะกำหนดให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายไปรอยังจุดใดที่จะยื่นหนังสือได้ และภายหลังการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงอย่างเป็นทางการ ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นมุสลิมจึงเตรียมตัวเพื่อทำการละหมาด ขณะที่บางส่วนกำลังอาบน้ำละหมาด บางส่วนกำลังละหมาด ส่วนนักศึกษาบางส่วนซึ่งนับถือศาสนาพุทธกำลังรับประทานอาหารอยู่ อันเป็นการชุมนุมอยู่ในความสงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับใช้กำลังผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยออกไปจากที่เกิดเหตุ โดยใช้ไม้กระบองทุบตีทำร้ายประชาชนจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนั้นยังทุบตีรถยนต์ของผู้ชุมนุมจนได้รับความเสียหาย หลังจากนั้นได้จับกุมผู้ชุมนุมในวันและสถานที่เกิดเหตุ 12 คน และจับกุมจากสถานที่อื่นๆ อีกเป็นจำนวน 20 คน ในวันต่อมา
 
การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่สำคัญเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมของประชาชนผู้ซึ่งชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยการกระทำความผิดดังกล่าวนั้น มีการตรวจสอบหลักฐาน และข้อเท็จจริงจากคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พบว่าการกระทำนี้ เป็นความผิดจริง
 
นอกจากนั้นปรากฏด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กระทำผิดจำนวนหนึ่งถูกผู้ชุมนุมฟ้องคดีอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลวินิจฉัยว่ามีมูลความผิดตามฟ้อง จึงให้ประทับฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า ความรับผิดไม่เพียงแต่จำเลยที่ 3 พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์ เท่านั้น เพราะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ และตำรวจระดับสูง ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ชุมนุมมาชุมนุมด้วยความสงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ใช่ทำเสียเองด้วยการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม
 
นางจันทิมา กล่าวด้วยว่า ขอติดตามทวงถามและยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1.ให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการผิดกฎหมาย ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่ง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังรายนามที่ได้ระบุไว้ในหนังสือร้องเรียนทุกรายโดยทันที 2.เมื่อพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงได้ความเป็นที่แน่ชัดแล้วให้ดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นทั้งในทางวินัยราชการและในทางคดีความทางอาญาต่อไป 
 
3.ให้มีคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามรายชื่อที่กล่าวไว้ไนหนังสือร้องเรียนฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้ตกเป็นจำเลยในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของศาลจังหวัดสงขลา ดังคดีหมายเลขดำที่ 1818/2546 คือ 1) พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ 2) พล.ต.ต.สุรชัย สืบสุข 3) พ.ต.ท.เล็ก มียัง  4) พ.ต.ต.อธิชัย สมบูรณ์ 5) พ.ต.ต.บัณฑูรย์ บุญเครือ ให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกที่จะต้องเร่งพิจารณาและมีคำสั่งให้พักราชการหรือให้ออกจากราชการชั่วคราวดังกล่าว
 
4. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงยอมรับความผิดที่เกิดจากการกระทำการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวข้างต้น และเร่งดำเนินการตามที่ศาลปกครองจังหวัดสงขลาได้พิพากษาไว้แล้ว 5.ให้ทบทวนคำสั่งและการกระทำที่บ่งชี้ไปในทางเอื้อประโยชน์แก่ บริษัท ทรานส์ ไทย - มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ในการไปตั้งหน่วยงานพิเศษ ในพื้นที่บริเวณโครงการโรงแยกก๊าซฯ ของบริษัทฯ ซึ่งก่อปัญหาสร้างความเดือดร้อนอย่างมากต่อชุมชนในบริเวณดังกล่าว
 
นางสุไรดะห์ โต๊ะหลี ตัวแทนเครือข่ายประชาชนรักษ์สิ่งแวดล้อมสงขลาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่มีการสอบสวนดำเนินการลงโทษใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการปูนบำเหน็จรางวัลเลื่อนชั้นยศ เลื่อนตำแหน่งให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ได้มีความเจริญก้าวหน้าทางราชการยิ่งขึ้นทุกราย การที่บุคคลเหล่านี้มีโอกาสรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นนับเป็นอันตรายที่ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อประชาชน และสังคมไทยในอนาคตที่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลรักษาความสงบของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพฤติกรรมดังกล่าว 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ออกมารับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวและรับรองว่าจะส่งต่อไปตามที่ผู้ชุมนุมต้องการภายในวันนี้ หลังจากนั้นผู้ชุมนุมทั้งหมดเดินทางไปร่วมฟังกระบวนการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งผู้ชุมนุมเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา กับเจ้าหน้าตำรวจผู้ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“MRC” ไร้มติชี้ขาด “เขื่อนไซยะบุรี” เล็งทุน “ญี่ปุ่น” ศึกษาเพิ่มทั้งลำน้ำโขงตอนล่าง

Posted: 08 Dec 2011 02:47 PM PST

สรุปประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เล็งทุนญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติมการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เผยวาระ “เขื่อนไซยะบุรี” หารือแค่ภาพกว้าง ด้านชาวบ้านเตรียมล่าชื่อฟ้องศาลปกครอง ชี้ กฟผ.งุบงิบเซ็นต์สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลาว  

 
วันนี้ (8 ธ.ค.54) คณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดประชุมที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปรึกษาหารือล่วงหน้าระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธานในแขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมประจำปีของคณะมนตรี ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรน้ำ จากประเทศสมาชิก  4 ประเทศ คือ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว) ไทย และเวียดนาม ระหว่างวันที่7-9 ธ.ค.54
 
 
เผยเล็งแหล่งทุนญี่ปุ่นศึกษาเพิ่มเติม แนวทางการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน
 
หลังการประชุม สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงออกแถลงการณ์ (คลิกอ่าน) ข้อสรุปการประชุมซึ่งระบุถึงโครงการพัฒนาบนแม่น้ำโขงตอนล่างว่า การประชุมคณะมนตรีคณะกรรมการแม่น้ำโขง มีผลสรุปในวันนี้ว่า ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการพัฒนาและการจัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนต่อไปอีก รวมถึงผลกระทบของโครงการเขื่อนพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก
 
คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เกี่ยวข้องต่างเห็นพ้องต้องกันในหลักการว่าจะทาบทามรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อการสนับสนุนในการดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ผลการประชุมดังกล่าวนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการพูดคุยร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้ง 4 ในการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 19 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยรัฐมนตรีฯ ทั้ง 4 รวบรวมข้อสรุปประจำปีเพื่อนำเข้าหารือในที่ประชุมกระบวนการให้คำปรึกษาก่อนการเสนอโครงการเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งเรื่องการบริหารและการจัดการอื่นๆ
 
นายลิม เคียน ฮอร์ (Mr.Lim Kean Hor) ประธานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยาของกัมพูชากล่าวว่า ผลการประชุมที่ออกมาในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกที่จะทำงานร่วมกันภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ทำลายความยั่งยืนในการดำรงชีวิตของประชาชนและระบบนิเวศวิทยา และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมจะช่วยให้ภาพที่สมบูรณ์แก่ทั้ง 4 ประเทศ เพื่อจะสามารถนำไปใช้ในการถกเถียงประเด็นการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรที่ใช้ร่วมกันได้
 
นอกจาก นายเคียน ฮอร์แล้ว คณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงท่านอื่นๆ ที่ร่วมในการประชุมประกอบด้วย นายหนูลิน สินบันดิด (Mr.Noulinh Sinbandhit) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของลาว นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย และนายเหงียน มินห์ กว่าง (Mr.Nguyen Minh Quang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม
 
แจงมีวาระ “เขื่อนไซยะบุรี” แต่เป็นการหารือในภาพกว้าง
 
ดร.วิเทศ ศรีเนตร ผู้ประสานงานแผนงานด้านสิ่งแวดล้อม ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงครั้งนี้มีวาระเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรีแต่ไม่ได้มีการเจรจาเจาะจงในเรื่องนี้โดยตรง และไม่ได้มีการแสดงท่าทีที่ชัดเจนของแต่ละประเทศ แต่หารือในภาพที่กว้างกว่าในเรื่องการพัฒนาบนแม่น้ำโขงสายประธานตอนล่าง จึงไม่มีมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตามผลการประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกมุ่งเดินหน้าในการพัฒนาร่วมกัน
 
ส่วนสถานภาพของกระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งเขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการแรกที่เข้าสู่กระบวนการ PNPCA ดร.วิเทศ กล่าวว่า ในขณะนี้สถานภาพของ PNPCA ยังไม่จบสิ้น คือยังคงเดิมจากเมื่อครั้งการประชุมพิเศษของคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 19 เม.ย.54 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ประเทศลาว คือยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทั้งนี้ การจะเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีต่อหรือไม่ ต้องให้เป็นคำตอบของรัฐบาลลาวโดยตรง
 
ดร.วิเทศ กล่าว ถึงกระบวนการ PNPCA ของเขื่อนไซยะบุรีว่า ไม่ได้ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะการพิจารณาพิจารณาเป็นรายกรณี แต่ถือเป็นบทเรียนในการหารือร่วมกัน การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรีไม่มีผลต่อโครงการอื่นๆ เพราะแต่ละโครงการย่อมมีรูปแบบและผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป เราต้องเดิมร่วมกัน ศึกษาเพิ่มเติมร่วมกัน
 
ย้ำ “คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง” ไม่ใช่คนตัดสิน แค่ให้ข้อมูล
 
ดร.วิเทศ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงไม่ได้มีบทบาทในการตัดสินใจ แต่ทำหน้าที่ทางวิชาการ ให้ข้อมูล ประสานงาน เพื่อให้รัฐบาลแต่ละประเทศมีความพร้อมในการตัดสินใจ และมีการแลกเปลี่ยนร่วมกัน
 
ต่อคำถามถึงการให้ความมั่นใจในกระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแก่ผู้ที่เฝ้าติดตามว่าการดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ บนลำน้ำโขงจะมีความคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมทั้งการมีธรรมาภิบาล ดร.วิเทศ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพยายามในการทำให้การตัดสินใจดำเนินโครงการต่างๆ อยู่บนพื้นฐานการมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ ฟังความคิดเห็นของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถยืนยันแทนประเทศเจ้าของโครงการได้
 
 
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการโครงการเขื่อนไซยะบุรีในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ ดร.วิเทศ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงอาจทราบน้อยกว่าข้อมูลที่ผู้ติดตามรับทราบผ่านทางสื่อมวลชน (คลิกดูตัวอย่างข่าว) เนื่องจากข้อมูลที่คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงมีนั้นได้มาจากการสื่อสารอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาลลาว ทั้งนี้หลังจากมีการรายงานข่าวการเข้าไปดำเนินการปรับเตรียมพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ ทางคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงก็ได้ออกหนังสือสอบถามไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับอย่างเป็นทางการ
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้มีรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ออกมาในเดือนตุลาคม 2553 ชี้ให้เห็นว่าโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักที่กำลังมีการเสนออยู่ในขณะนี้ จะก่อผลกระทบด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม ที่ร้ายแรง ทั้งที่เป็นผลกระทบภายในประเทศ และผลกระทบข้ามพรมแดน โดยมีข้อเสนอหลักมีข้อเสนอแนะหลักว่าให้ “ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักออกไปเป็นเวลา 10 ปี”
 
เครือข่ายภาคประชาชน เตรียมเดินหน้าให้ข้อมูลต่อเนื่อง
 
ด้านนายอิทธิพล คำสุข เลขานุการเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จ.เชียงราย จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี กล่าวภายหลังการทราบผลการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงว่า การที่ยังไม่มีมติให้ดำเนินโครงการเขื่อนไซยะบุรีทำให้เห็นช่องทางในการรณรงค์ให้ข้อมูลกับประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงให้มากขึ้น โดยวางแผนว่าในเดือนนี้จะมีการรณรงค์ที่จังหวัดเลย และจะมีการเชิญชวนกลุ่มผู้คัดค้านโครงการดังกล่าวไปยื่นหนังสือต่อ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นคนจังหวัดเลยเช่นกัน
 
เลขานุการเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าการรณรงค์กับคนไทยเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโครงการดังกล่าวผู้ดำเนินงาน เจ้าของโครงการอยู่ในเมืองไทย ผู้ซื้อไฟฟ้าก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และแหล่งเงินทุนก็คือธนาคาร 4 แห่งของไทย สิ่งเหล่านี้ทำมองได้ว่าการดำเนินการความปฏิบัติตามหลักกฎหมายไทย ทั้งในเรื่องธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน แต่กลับมีการก่อสร้างรุดหน้าไปเรื่อยๆ ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจเพิ่มขึ้นต่อไปได้
 
 
ย้ำค้านถึงที่สุด ขั้นเด็ดขาดอาจมีปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
 
นายอิทธิพล กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้มีกระบวนการรณรงค์ได้เริ่มไปในระดับหนึ่งแล้ว และจะต่อสู้ต่อไปจนถึงที่สุด โดยสิ่งที่จะทำต่อไปคือ การล่ารายชื่อประชาชนลุ่มน้ำโขงและเครือข่ายภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี ฟ้องศาลปกครอง กรณีที่ ครม.มีมติเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี โดยที่ไม่มีการชี้แจงหรือแถลงข่าวใดๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการกระทำที่ผิดปกติ และละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตของประชาชน หากการดำเนินการคัดค้านโครงการดังกล่าวไม่เป็นผลก็อาจมีการรวมตัวกันเพื่อปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้ง 3 แห่ง
 
“หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงของเราจริงๆ เราก็จำเป็นต้องทำ” นายอิทธิพล กล่าว
 
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่าเมื่อวานนี้ (7 ธ.ค.54) ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึง ถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านสำนักนายกฯ ให้พิจารณาทบทวน และยกเลิกการให้ประเทศไทยสนับสนุนโครงการเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากเป็นโครงการที่จะมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน รวมไปถึงความมั่นคงทางอาหาร
 
วันเดียวกันยังมีการยื่นหนังสือต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวด้วย
 
 
ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรี มีความยาวเขื่อน 810 เมตร กำลังผลิตไฟฟ้า 1260 เมกะวัตต์ โดย 95 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับประเทศไทย ขณะที่บริษัทผู้ก่อสร้างคือ บริษัท ช.การช่าง ของไทยซึ่งได้มีการเจรจาตกลงค่าธรรมเนียมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ในเดือนกรกฎาคม 2553
 
ตัวเขื่อนตั้งอยู่บริเวณแก่งหลวง ห่างจากตัวเมืองไซยะบุรีในตอนเหนือของลาวประมาณ 30 กิโลเมตร จากหลวงพระบางประมาณ 150 กิโลเมตร และห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ประเทศไทย 200 กิโลเมตร เป็น 1 ใน 12 โครงการเขื่อนที่จะมีการก่อสร้างบนลำน้ำโขงสายหลักตอนล่าง
 
สำหรับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2538 โดยมี 4 ประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนาม ไทย และลาว ซึ่งใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำแม่โขงตอนล่างร่วมกันลงนามในความตกลงว่าด้วยการร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน
 
ความตกลงดังกล่าวกำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) โดยประเทศสมาชิกจะต้องแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่ประเทศสมาชิกมีโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ใดๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักหรือแม่น้ำสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าโครงการดังกล่าวอาจจะสร้างผลกระทบข้ามเขตแดนต่อประชาชน หรือสิ่งแวดล้อม และนำเสนอข้อมูลให้ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศร่วมกันพิจารณาในระดับภูมิภาค
 
โครงการเขื่อนไซยะบุรีถือเป็นการปฏิบัติครั้งแรกที่นำระเบียบ PNPCA ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมาใช้ เพื่อให้เกิดข้อสรุปร่วมกันว่าโครงการดังควรจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ และหากจะดำเนินการต่อควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง
 
ภายใต้กระบวนการ PNPCA เมื่อเดือนกันยายน 2553 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่ได้รับการแจ้งเรื่องโครงการเขื่อนไซยะบุรีการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำจากรัฐบาลลาว จากนั้นจึงมีกระบวนการปรึกษาหารือในระดับประเทศกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ และจะต้องได้ข้อสรุปภายในหกเดือนนับตั้งแต่การแจ้ง
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากครบกำหนด 6 เดือน สำหรับการให้คำปรึกษาของ PNPCA ประเทศสมาชิกทั้ง 4 ได้พบหารือเกี่ยวกับโครงการไซยะบุรี ในการประชุมพิเศษของคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 19 เม.ย.54 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ประเทศลาว แต่การประชุมไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สมาชิกคณะกรรมการร่วมจึงเห็นพ้องกันว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในระดับรัฐมนตรี
 
 
 
หมายเหต: โครงการเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขง เข้าสู่กระบวนการแจ้งประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่เรียกว่ากระบวนการ PNPCA ซึ่งประเทศสมาชิก ต้องจัดทำความคิดเห็นต่อโครงการ
 
ในส่วนของไทย สำนักงานเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ริมน้ำโขง ทั้งสิ้น 4 ครั้ง ดังนี้
1. รับฟังที่เชียงของ จ.เชียงราย วันที่ 22 มกราคม 2554
2. รับฟังที่เชียงคาน จ.เลย วันที่ 29 มกราคม 2554
3. รับฟังที่ จ.นครพนม วันที่ 31 มกราคม 2554
4. รับฟังเวทีนักวิชาการเพิ่มเติมวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554
 
ในเวียดนาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงร่วมกับคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติเวียดนามจัดให้มีการประชุม ปรึกษาหารือ 2 ครั้ง โดยมี ดร.Nguyen Thai Lai ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติเวียดนามเป็นประธาน ดังนี้
1. วันที่ 14 มกราคม 2554 ที่จังหวัดเกิ่นเทอ
2. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่จังหวัด Quang Nin
 
ในกัมพูชา มีการปรึกษาหารือ 2 ครั้ง ได้แก่
1. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 จังหวัดกระแจ๊ะ
2. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 สีหนุวิลล์
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น