โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เปิดตัวอดีต ส.ว.ทนายความ ฟ้องคดีน้ำท่วม

Posted: 19 Dec 2011 08:51 AM PST

 

ตั้งเป้าประเดิมยื่นฟ้อง 21 ธันวา ก่อนเดินสายเชิงรุกให้ความรู้แต่ละชุมชนพร้อมตั้งโต๊ะรับช่วยเหลือฟ้องร้องให้ฟรี

 

นายศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่าหลังจากที่สมาคมฯจัดเสวนาวิกฤตน้ำท่วม 2554 :เหตุสุดวิสัยหรือไร้ฝีมือขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนปาร์ค ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนที่เดือดร้อนจากความผิดพลาดล้มเหลวในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีชาวบ้านได้ทยอยส่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจให้สมาคมฯเป็นผู้แทนคดีในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านแต่ละรายเรียกค่าเสียหายตั้งแต่หลักแสน ไปจนถึงหลักล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้ประชาชนครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นเพียงแค่เศษเงินที่รัฐบาลแสร้งเอามาช่วยเหลือชาวบ้านแบบสงเคราะห์เท่านั้น เพราะเงินดังกล่าวแค่ซื้อประตูบ้านบานเดียวก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว ถือว่าเป็นการดูถูกดูแคลนประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้การฟ้องร้องรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถือว่าเป็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยตรง ที่มีบุคลากร ข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน หากประชาชนไปฟ้องร้องรัฐต่อศาลเพียงลำพังก็ยากที่จะต่อสู้ทางคดีกับเหล่าผู้ถืออำนาจรัฐดังกล่าวได้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงได้เตรียมคณะทำงานที่เป็นทนายความที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำคดีปกครองและสิ่งแวดล้อมที่ช่ำชองที่สุด ไม่เป็นรองใครในประเทศไทยมาร่วมกันต่อสู้ทางคดีให้กับประชาชน ซึ่งประกอบด้วย ทนายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตวุฒิสมาชิก ทนายกมล ศรีสวัสดิ์ ทนายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์ ทนายจักรกฤษณ์  วิไลสมสกุล ทนายชัยย์วัณฎ์รัฏฐ์  ไพศาล ทนายธนวัฒน์  ตาสัก ทนายอนันต์ อมรธรรมวุฒิ  ทนายโชคชัย  แสงอรุณ  ทนายเทวฤทธิ์  โชติเจริญพร  ทนายปราโมทย์คริษฐ  ธรรมคุณากร  และทนายสนิท นรฮีม เป็นต้น

“สมาคมฯกำหนดที่จะเดินทางไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2554 นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งคดีนี้จะเป็นคดีประวัติศาสตร์ครั้งแรกของโลก ที่ประชาชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐในคดีที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยให้มีน้ำท่วมที่ผิดพลาด และคาดว่าจะมีชาวบ้านที่ร่วมมอบอำนาจให้สมาคมฯเป็นตัวแทนในการฟ้องคดีเดินทางไปให้กำลังใจและเป็นสักขีพยานในการยื่นฟ้องแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก และหลังจากนี้สมาคมจะเดินสายไปให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชนและต่างจังหวัดพร้อมตั้งโต๊ะรับฟ้องคดีแทนประชาชนในเรื่องน้ำท่วมต่อไปไม่หยุด” นายศรีสุวรรณ  กล่าวในที่สุด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10 - 16 ธ.ค. 2554

Posted: 19 Dec 2011 08:49 AM PST

แรงงานชง พม.ตั้งอนุกรรมการส่งเสริมการจ้างงานในผู้สูงอายุ 

นางอำมร เชาวลิต ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวง แรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ที่มีนายกีรศักดิ์ จันทรจรัสวัฒน์ อดีตรองปลัดกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานได้แสดงความเป็นห่วงและเสนอแนวทางการดูแลสูงอายุให้มีงานทำที่มี อายุหลัง 60 ปีขึ้นไปแล้ว เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 8 ล้านคน ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 10.2 ล้านคน หรือคิดเป็นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4
      
นางอำมรกล่าวอีกว่า คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอให้กระทรวงแรงงานไปจัดทำนโยบาย แผนงาน และการบริหารจัดการการอบรมวิชาชีพ รวมถึงการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองในการฝึกอาชีพและประกอบอาชีพที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตนจะนำข้อเสนอนี้ไปรายงานต่อนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ต่อไป
      
ที่ปรึกษาวิชาการ กระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้เสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจ้างงาน สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่ง คณะอนุกรรมการฯชุดนี้มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และกรรมการที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงแรงงาน กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายด้านผู้สูงอายุประมาณ 25 คน ไปยังปลัด พม.ที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเพื่อ พิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุฯที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯมีหน้าที่จัดทำแผนส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำที่เหมาะสมกับ วัย และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยยึดตามแผนแม่บทด้านแรงงานปี 2555-2559 ที่ให้มีการส่งเสริมการมีงานทำและพัฒนาระบบการแนะแนวอาชีพที่สอดคล้องกับ ตลาดแรงงาน
      
“ในส่วนของกระทรวงแรงงานก็สามารถแบ่งหน้าที่ในการดูแลการอบรมวิชาชีพและ การจ้างงานผู้สูงอายุ โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร และบริการจัดหางานให้แก่ผู้สูงอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดอบรมอาชีพ เช่น การเป็นวิทยากรอบรม ให้ความรู้ด้านช่างฝีมือ หรือตามความเชี่ยวชาญของผู้สูงอายุแต่ละคน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดูแลให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดูแลให้ผู้สูงอายุที่อายุเกิน 55 ปี ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ อย่างไรก็ตาม อยากให้ พม.ช่วยจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้ชัดเจนว่าปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด เท่าไร อยู่ในพื้นที่ใดบ้าง และความเชี่ยวชาญด้านอาชีพ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดอบรมอาชีพและจัดหางานให้แก่ผู้สูงอายุ” นางอำมรกล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-12-2554)

วอนไม่นับวันลาหยุดช่วงน้ำท่วม

น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน และโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ได้รายงานสถานการณ์ความช่วยเหลือของหน่วยงานในสังกัดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-7 ธ.ค. พบว่ามีสถานประกอบกิจการที่ประสบปัญหาน้ำท่วม 28,679 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 993,944 คน

โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอความร่วมมือสถานประกอบการอนุญาตให้ลูกจ้างมาทำงานสาย หยุดงาน โดยไม่ถือเป็นวันลา และจัดสวัสดิการเรื่องรถรับ-ส่ง ที่อยู่อาศัย มีสถานประกอบการให้ความร่วมมือแล้ว 27,934 แห่ง ลูกจ้างได้รับการดูแล 1,020,110 คน และประสานนายจ้างที่ไม่ถูกน้ำท่วม รับลูกจ้างไปทำงานชั่วคราว ตามโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน มีสถานประกอบ การเข้าร่วม 108 แห่ง มีตำแหน่งงานรองรับกว่า 13,226 อัตรา

ส่วนกรมการจัดหางาน ได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ 152,862 อัตรา สำนักงานประกันสังคม จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 164 ครั้ง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมพร้อมทำอาหารแจกจ่าย นอกจากนี้ ยังจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้การช่วยเหลือซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่จำเป็น

(ข่าวสด, 12-12-2554)

โฮยายังยันเลิกจ้าง สหภาพฯ หวัง กมธ.แรงงานตัวกลางขึ้นโต๊ะเจรจาอีก

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (พนักงานบริษัทโฮย่า) เปิดเผยว่าในการเจรจาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมานั้น ผลจากการประชุมระหว่างตัวแทนพนักงาน นายวชิระ ศรีบัวชุม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน ร่วมกับด้วยนายเทเคมิ มิยาโมโต ประธานบริษัท นายโตชิอะกิ โยชิมูระ ผู้จัดการทั่วไป ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ โดยนายจ้างยังคงยืนยันที่จะให้มีการเลิกจ้างอยู่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางสหภาพแรงงานมิอาจจะยอมรับได้

โดยทางสหภาพแรงงานฯ เห็นว่าถึงแม้จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ข้ออ้างนั้นอาจจะไม่สมเหตุสมผล และอาจจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการปลดคนงานในที่ต่างๆ แบบนี้ได้ (บริษัทฯ อ้างว่าขาดทุน แต่ยังขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศเวียดนาม รวมถึงบริษัทฯ อ้างถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย)

ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานฯ ระบุว่าในขณะนี้ความหวังของคนงานก็คือต้องรอคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนลูกจ้างกับนาย จ้างอีกครั้ง หลังจากที่สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ กรรมาธิการแรงงาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้ติดตามและลงมาดูแลในกรณีนี้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.54 โดยทางสหภาพฯ คาดหวังว่าจะได้ความชัดเจนในเร็วๆ นี้

(ประชาไท, 12-12-2554)

ลูกจ้างไดนามิคสะอื้นรับ 2,000 บาท บวกค่าแรงค้างจ่าย 215 บาท

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา คนงานจำนวนหนึ่งของบริษัท ไดนามิคโปรโมชั่น จำกัด รวมตัวกันที่หน้าโรงงาน ไดนามิค เพื่อรับฟังคำชี้แจงจากคณะกรรมการสหภาพแรงงานไดนามิคเรื่องค่าจ้างที่ค้าง จ่ายหลังจากที่บริษัทฯถูกน้ำท่วม

นางสาวสมทรง  บุญรักษา ประธานสหภาพแรงงาน ชี้แจงกับสมาชิกสหภาพแรงงานว่า "ทางคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้มีการประชุมร่วมกับตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ในวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร โดยนายจ้างได้เสนอจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่าครองชีพให้กับลูกจ้างในช่วงที่ ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในโรงงานตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 จนกว่าบริษัทจะสามารถเปิดกิจการได้เป็นจำนวน 2,000 บาท บวกค่าแรงที่ค้างจ่าย 1 วัน จำนวน 215 บาท และถ้าทุกคนตกลงให้มารับเงินได้ที่หน้าบริษัทฯ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ถ้าคนงานกลับบ้านต่างจังหวัดไม่สามารถมารับเงินในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ก็ให้มารับในวันที่บริษัทฯเปิดกิจการได้  โดยสหภาพขอให้คนงานได้ปรึกษากันก่อนที่จะตัดสินใจว่า จะรับตามข้อเสนอของฝ่ายนายจ้างหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับข้อเสนอของบริษัทคนงานจะทำอย่างไรต่อไป ”

ตัวแทนกรรมการสหภาพแรงาน ได้ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า “ผลการพูดคุยกับฝ่ายนายจ้าง เงินจำนวน 2,000 บาท บวกค่าแรงที่ค้างจ่าย 1 วัน นั้นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของคนงานในช่วงน้ำท่วม เพราะคนงานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นในช่วงน้ำท่วม ได้พยายามเสนอให้บริษัทได้ช่วยเหลือคนงานตามความเป็นจริง แต่ฝ่ายนายจ้างยังคงยืนยันที่จะจ่ายให้เพียง 2,000 บาท และบวกค่าแรงที่ค้างจ่าย 1 วันเท่านั้น โดยอ้างว่า บริษัทได้รับความเสียหาย และขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับคนงานในช่วงที่น้ำท่วมได้ ในส่วนของมาตรการที่รัฐบาลนำเสนอต่อนายจ้างที่ช่วยเหลือลูกจ้างที่ไม่เลิก จ้างลูกจ้างโดยให้มีการร่วมทำ MOU ว่าจะไม่เลิกจ้างคนงานภายใน 3 เดือนนั้น  บริษัทฯไม่ยอมรับข้อเสนอ โดยบอกว่าไม่สามรถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ เนื่องจากไม่มีเงิน เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน”

หลังจากได้ฟังคำชี้แจงจาก นางสาวสมทรง  บุญรักษา ประธานสหภาพแรงงานแล้ว มีสมาชิกสหภาพแรงงานได้ตัดสินใจยกมือยอมรับเงินช่วยเหลือ จำนวน 2,000 บาท และบวกค่าแรงที่ค้างจ่าย 1 วัน ที่ฝ่ายนายจ้างเสนอมา เพราะคนงานกลัวที่จะไม่ได้อะไรเลยจากบริษัท

นางจิต  จิตใจดี (นามสมมุติ) กล่าวว่า “ทำงานมา 26 ปีแล้ว  จะไปหาสมัครงานที่ไหนเค้าก็ไม่รับหรอกอายุเยอะแล้ว และป้าก็ไม่อยากทำงานที่อื่น ป้าอยู่โรงงานนี้มานานแล้ว ป้ารักโรงงานนี้นะ ป้าก็ยังอยากทำงานที่นี่อยู่ ป้าจะรอจนกว่าเค้าจะเปิดทำงานนั้นแหละ อีก2-3 ปี ป้าก็จะเกษียนแล้ว เสียใจนะที่โรงงานเค้าไม่รับผิดชอบพวกป้าเลย พวกเราทุ่มเททำงานให้เค้า แต่เวลานี้เค้าไม่ดูแลพวกเราบ้างเลย ป้าเดือดร้อน ค่าเช่าห้องยังไม่จ่ายผลัดเค้ามา 2 เดือนแล้ว ไหนลูกจะต้องไปโรงเรียนอีก ต้องไปกู้ยืมเงินเค้ามาใช้ในช่วงนี้ ดอกเบี้ย ร้อยละ 7 บาทต่อเดือน เงินซื้อกับข้าวแต่ละวันก็ไม่ค่อยจะมี คอยไปขอเค้าตามที่เค้ามาแจก ก็ไม่ค่อยได้ เพราะต้องใช้ทะเบียนบ้าน ป้ามันคนต่างจังหวัดก็ไม่ได้ตามเคย”

อีกหนึ่งเสียงสะท้อน  “เสียใจ น้อยใจ เวลาที่เค้าลำบากเราก็ช่วยเค้า แต่เวลานี้ เค้าไม่คิดที่จะดูแลเราบ้าง ตอนก่อนที่น้ำจะท่วมพวกเราต่างช่วยกันขนกระสอบทรายไปทำแนวกั้นน้ำให้ เวลาที่พนักงานลำบาก ไม่มีรายได้ บริษัทฯกลับไม่คิดจะดูแลเราเลย” นางสาวกาเหว่า เสรีนิยม (นามสมมุติ) อายุประมาณ50ปี ทำงานมากว่า 13 ปี

กรรมการสหภาพแรงงานรายหนึ่งกล่าวว่า “ตนเองเหมือนเป็นคนงานที่ไร้ค่า ไร้ฝีมือ เงินที่บริษัทยื่นให้จำนวน 2,000 บาท และบวกค่าแรงที่ค้างจ่ายแค่ 1 วัน ถึงเป็นจำนวนไม่มาก แต่มันจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตของพวกเรา ถึงแม้ไม่เพียงพอแต่ลูกจ้างอย่างเราจะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเค้าบอกไม่มีเค้าให้ได้แค่นี้ เราก็ต้องรับไว้ เพราะเราต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อไป หวังว่าบริษัทฯจะนำไปพิจารณาใหม่และช่วยเหลือลูกจ้างที่เค้าทุ่มเททั้งแรง กาย แรงใจ ทำงานให้นายจ้างอย่างเต็มที่”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีบันทึกช่วยจำระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างของบริษัท ไดนามิค ลงวันที่ 3 ธันวาคม 54  ทำขึ้น ณ บริษัท ไดนามิค โปรโมชั่น (บันทึกช่วยจำ ลงวันที่ 3 ธันวาคม 54 บันทึก ณ บริษัท ไดนามิค)

อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน

(voicelabour, 12-12-2554)

พนักงาน บ. ISCM ร้องจ่ายค่าจ้าง-เงินชดเชย

พนักงานบริษัท ISCM จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมอุสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กว่า 200 คน ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ปทุมธานีเพื่อเรียกร้องให้ทางบริษัทจ่ายค่าจ้างและเงินชดเชย หลังทางโรงงานได้ขนย้ายเครื่องจักรไปผลิตที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้พนักงานไม่พอใจกลัวถูกลอยแพ

อย่างไรก็ตามต่อมาได้มีตัวแทนบริษัท ISCM ฯ พร้อมด้วยนายอำนวย งามเนตร นักวิชาการชำนาญการ จากกระทรวงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตลอดทั้งตัวแทนพนักงานอีก 5 คนเข้าเจรจาที่ห้องประชุม ตั้งแต่ 11.00น.-17.00 น. ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องดั่งกล่าว

ขณะที่น.ส.บุญมี เกิดปาน พนักงงานโรงงาน กล่าวว่า การรวมตัวประท้วงครั้งนี้เนื่องจากไม่พอใจที่นายจ้างยังค้างค่าแรงและเงินชด เชย หลังจากบริษัทดังกล่าวได้ขนย้ายเครื่องจักรไปประเทศมาเลเซีย ทำให้หวั่นว่าจะถูกลอยแพไม่ได้รับเงินค่าจ้างและเงินชดเชย

นอกจากนี้มีรายงานว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมอุสาหกรรมนวนคร บางรายต้องปิดตัวลงชั่วคราว พร้อมจ่ายเงินชดเชยให้พนักงาน นอกจากนี้หากฟื้นฟูโรงงานเรียบร้อยก็จะเรียกตัวพนักงานเหล่านี้กลับเข้ามาทำ งานอีกครั้ง

(โพสต์ทูเดย์, 13-12-2554)

เจโทรยันเอกชนญี่ปุ่นไม่ย้ายฐานจากประเทศไทย

14 ธ.ค. 54 - ผู้แทนองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเข้าพบ รมว.แรงงานไทย ยืนยันจะไม่ย้ายการลงทุนออกจากประเทศไทย ส่วนกรณี “ซันโย” ที่เลิกจ้างแรงงานไทยและเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เพราะมีแผนล่วงหน้าไว้แล้ว

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังนายเซสึโอะ อิฟูจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำประเทศไทย เข้าพบว่า ผู้แทนองค์การฯ มาแสดงความมั่นใจในส่วนของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่จะลงทุนประกอบกิจการในเมืองไทย 100เปอร์เซ็นต์

ส่วนกรณีบริษัท ซันโย เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการเลิกจ้างแรงงานและเตรียมย้ายฐานการผลิตนั้น เป็นคนละส่วนของบริษัทญี่ปุ่น เพราะซันโยถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทของอเมริกาและมีแผนย้ายการผลิตล่วงหน้า ไว้แล้ว และทางผู้แทนองค์การฯ ยังแสดงความต้องการแรงงานไทยไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสถานประกอบการในไทย โดยมีระยะเวลาฝึกงานนานกว่าปกติถึง 6 เดือน

ขณะเดียวกัน เตรียมจัดงานจ๊อบส์แฟร์ในเดือนมกราคมปีหน้า โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกจ้างในสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมและถูกเลิกจ้าง ไปประมาณ 11,000 คน เพื่อไปทำงานในสถานประกอบการที่ไม่ประสบน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมยืนยันว่ามีความพร้อมที่จะรองรับแรงงานจำนวนนี้ที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด

(สำนักข่าวไทย, 14-12-2554)

ขู่บริษัทลักไก่เลิกจ้างชั่วคราว ฟันแน่เบี้ยวค่าแรง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจะเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทที่เลิกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราวแล้วจะกลับมาจ้างอีกครั้ง ภายหลังจากที่สามารถประกอบกิจการได้ ซึ่งมองว่าการเลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้างชั่วคราว เท่ากับว่าเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างจะเลิกจ้างตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ต้องจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างทันที ถ้าหากมีการเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้างและอ้างว่าจะกลับมาจ้างใหม่ภายหลังประกอบกิจการได้แล้ว รัฐบาลมีสิทธิที่จะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการดูแลให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง

ส่วนกรณีที่บริษัท ซันโย เซมิคอนดักเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมถอนการลงทุนจากสวนอุตสาหกรรมโรจนะไปฟิลิปปินส์ มองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องเกิดอุทกภัยก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะไปลงทุนที่อื่น ขณะเดียวกันการลงทุนในไทยก็เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันกว่า 99% ยังไม่ย้ายการลงทุนไปไหน ขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตมีความกังวลว่าแรงงานอาจจะไม่เพียงพอ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวถึงผลการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 15 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ว่าได้เดินทางไปชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำท่วมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคแรงงาน ซึ่งต่างชาติได้สอบถามเรื่องการเลิกจ้างแรงงาน เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลให้แรงงานได้รับผลกระทบกว่า 9 แสนคน ตนชี้แจงว่ากระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทำให้จนถึงขณะนี้มีแรงงานที่ตกงานเพียงหมื่นกว่าคนเท่านั้น หลังจากที่ได้ชี้แจงสถานการณ์และแนวทางการช่วยเหลือแล้ว ปรากฏว่าได้รับผลในเชิงบวก ต่างชาติมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น

ด้านนายสุพัฒน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย เปิดเผยถึงผลกระทบของผู้ประกอบการหลังประสบน้ำท่วม ว่า ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ฯ จำนวน 1,500 รายใน 7 สมาคม ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นมากกว่า 1,000 ล้านบาท จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาเยียวยาช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียน โดยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และมีเงื่อนไขน้อย เพื่อให้ผู้ประกอบการฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาลผ่านนายกิตติรัตน์ ด้วยการเสนองบประมาณของเงินกู้ไว้ 5,000 ล้านบาท

นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ต้องการเห็นความช่วยเหลือที่ชัดเจนของรัฐบาลไม่เกินเดือนม.ค.2555 เพราะหากนานกว่านั้นเชื่อว่าจะต้องเห็นผู้ประกอบการปิดกิจการแน่นอน และมีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งปัจจุบันสมาชิกสมาพันธ์ฯ 1,500 ราย มีแรงงานอยู่ 3 แสนราย แต่หากรวมผู้ประกอบการที่ไม่เป็นสมาชิกสมาพันธ์ฯ อีกกว่า 1,500 ราย จะมีแรงงานรวมกว่า 1 ล้านคน ขณะที่มูลค่าของอุตสาหกรรมของสมาชิกรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งในปีนี้อุตสาหกรรมติดลบถึง 6% จากวิกฤตที่เกิดขึ้น

(ข่าวสด, 14-12-2554)

แรงงานถูกเลิกจ้าง 1.2 หมื่น ขณะที่กว่า 5.5 แสนกลับเข้าทำงานตามปกติ

ก.แรงงาน 13 ธ.ค.- รมว.แรงงาน เผยแรงานถูกเลิกจ้างแล้ว 1.2 หมื่นคน ขณะที่กว่า 5.5 แสนคนกลับเข้าทำงานตามปกติโดยไม่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ระบุมีแรงงานกว่า 2.2 แสนคน ขอเข้าโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง เชื่อเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์จะดีขึ้น พร้อมแจงนานาชาติในการประชุมไอแอลโอ ที่ญี่ปุ่น เชื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานภายหลังน้ำลดว่า ล่าสุดมีแรงงานกว่า 5.5 แสนคน จากจำนวนทั้งหมดกว่า 9.9 แสนคน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ สามารถกลับเข้าทำงานตามปกติแล้ว โดยไม่ได้ขอรับการช่วยเหลือใด ๆ จากทางรัฐบาล ขณะที่แรงงานอีกกว่า 2 แสนคน จากสถานประกอบการ 347 แห่ง ได้เข้าร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โดยรัฐจ่ายเงินช่วยเหลือคนละ 2,000 บาท แลกกับการที่สถานประกอบการ จ่ายค่าแรงให้คนงานร้อยละ75 และมีเงื่อนไขต้องไม่เลิกจ้างคนงานภายใน 3 เดือน

ส่วนคนงานที่เหลืออีก 1.8 แสนคน ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 1.2 หมื่นคน จากสถานประกอบการ 45 แห่ง  คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2555 สถานการณ์แรงงานจะดีขึ้นกว่าร้อยละ 90 และสามารถเข้าสู่ภาวะปกติภายในสิ้นปี

นายเผดิมชัย กล่าวว่า ในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ครั้งที่ 15 ซึ่งตนได้เดินทางไปร่วมประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นานาชาติได้แสดงความห่วงใย ถึงวิกฤตการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงปัญหาการเลิกจ้าง ซึ่งตนได้มีโอกาสชี้แจงให้นานาประเทศเข้าใจถึงสภาพปัญหาทั้งหมด รวมถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เชื่อว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในอนาคต โดยเฉพาะผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่นที่แสดงท่าทีเชื่อมั่นอย่างชัดเจนว่าไทยจะ สามารถฟื้นฟูประเทศได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีท่าทีจะย้ายฐานการผลิตแต่อย่างใด ส่วนการเลิกจ้างคนงานของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย (บริษัท ซันโย )ในช่วงที่ผ่านมานั้น ถือเป็นกรณีเฉพาะที่บริษัทดังกล่าวมีแผนในการย้ายฐานการผลิตเดิมอยู่แล้ว

(สำนักข่าวไทย, 13-12-2554)

เมืองย่าโมนำร่องคัดเลือกแรงงานบินฝึกฝีมือญี่ปุ่น

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปร่วมประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ประเทศญี่ปุ่น ช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสหารือกับประธาน IM Japan ถึงแนวทางการส่งแรงงานไทยไปฝึกงานตามโครงการ IM โดยขอกระจายการรับสมัครแรงงานไปยังภูมิภาคจากที่เปิดรับอยู่แต่ในกรุงเทพฯ โดยจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดนครราชสีมา และประธาน IM ประเทศญี่ปุ่น จะเดินทางมาประชาสัมพันธ์โครงการด้วยตัวเองในวันที่ 17 ธ.ค. นี้ ซึ่งผู้ที่ผ่านการฝึกงานครบ 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจาก JITCO และ IM และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพอีก 600,000 เยน หรือประมาณ 210,000 บาท

นายเผดิมชัยยังกล่าวถึงระบบการฝึกงานของ JITCO ประเทศญี่ปุ่น ว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไทยในการพัฒนาทักษะทางอาชีพ การเข้าฝึกงานภายใต้โครงการ JITCO เป็นการช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ผู้ฝึกงานที่สำเร็จจากโครงการดังกล่าวนับเป็นกำลังสำคัญของบริษัทเหล่านี้ รวมถึงเป็นกำลังสำคัญของภาคอุตสาหกรรมของไทย

“ที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการอบรมน้อย เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน จึงได้หารือเพื่อขอขยายอายุผู้เข้าอบรมจากเดิม 20-30 ปี เป็น 20-35 ปี ทั้งนี้ ก่อนเดินทางไปฝึกอบรมในญี่ปุ่นต้องเตรียมตัวด้วยการเรียนภาษาญี่ปุ่นและ เรียนรู้การดำรงชีวิตในญี่ปุ่นก่อน ซึ่งไทยและญี่ปุ่นเห็นตรงกันว่าควรมีองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเป็นผู้ดำเนิน การเรื่องนี้”

(โลกวันนี้, 15-12-2554)

ศธ.เฟ้น 35 แรงงานช่างให้ออสซี่ เงินเดือนหลักแสน-เร่งหาคนมีฝีมือส่ง พ.ค.55

น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะผู้แทนจากดินแดนนอร์ทเทิร์น เทอร์ริทอรี่ ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกันจัดโครงการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ออสเตรเลีย โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาแรงงานไทยที่มีทักษะ และความชำนาญไปทำงานที่ดินแดนนอร์ทเทิร์น เทอร์ริทอรี่ โดยเฉพาะด้านช่างโลหะ ช่างก่อสร้าง และช่างไม้ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ศธ.หารือกับผู้แทนออสเตรเลียแล้ว ออสเตรเลียสนใจแรงงานไทยที่มีฝีมือประมาณ 35 ตำแหน่ง และต้องมีทักษะทางภาษาอังกฤษ โดยจะต้องสอบไอเอล (IELTS) หรือการสอบภาษาอังกฤษที่ใช้ในการศึกษาต่อต่างประเทศ ในระดับ 5 ซึ่งต้องห่วงในเรื่องนี้มาก โดยมีสัญญาในการทำงาน 1-4 ปี มีรายได้เดือนละ 1 แสนบาท และสามารถนำครอบครัวไปอยู่ด้วยได้ หากมีบุตรก็จะได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจนจบชั้น ม.6 ตนอยากได้คนที่ตั้งใจ มีความสม่ำเสมอ เพราะเป็นโครงการครั้งแรก จึงไม่ต้องการให้เสียชื่อเสียงประเทศ

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า แรงงานไทยที่จะเข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว เป็นแรงงานฝีมือที่มีความประพฤติดี และมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการประเมินทักษะ 3 ขั้นตอน คือ 1.การประเมินผลเบื้องต้นทางเว็บไซต์ 2.การประเมินผลโดยข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ 3.การทดลองปฏิบัติงานจริงต่อหน้าผู้ว่าจ้างงานจากออสเตรเลีย ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นผู้พิจารณาและคัดเลือก โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธ.ค.นี้ ถึง 31 ม.ค.2555 หลังจากนั้น ศธ.จะจัด ฝึกอบรมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ และจัดสอบภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะทดลองปฏิบัติงานจริงต่อผู้ว่าจ้าง จนกระทั่งส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลีย ในเดือน พ.ค.2555

(ข่าวสด, 15-12-2554)

สปส.รื้อระบบจ่ายค่ารักษาโรคร้ายแรงใหม่ แก้ปัญหา รพ.ปฏิเสธการรักษา

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมให้เป็นรูปแบบ ใหม่ตามกลุ่มโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคปอด ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายประกัน สังคมกว่า 2,000 แห่งได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย เนื่องจากทางสถานพยาบาลจะไปเบิกค่ารักษาตรงที่ สปส. ขณะเดียวกันผู้ประกันตนยังสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย ประกันสังคม รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนได้ด้วย แต่ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากค่ารักษากลางของแต่ละกลุ่มโรค ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบเอง โดย สปส.ได้จัดสรรงบประมาณปี 2555 รองรับไว้จำนวน 4,460 ล้านบาท

“ปัจจุบันมีผู้ประกันตนส่วนหนึ่งป่วยเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคไตและต้องเสียค่ารักษาจำนวนมาก เมื่อเข้ารักษาโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม จะมีปัญหาในเรื่องไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วยเพราะกังวลเรื่องงบค่ารักษาพยาบาล จึงเชื่อว่าระบบจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงจะช่วยแก้ปัญหากรณีดังกล่าว ได้ ขณะที่งบประมาณกว่า 4,400 ล้านบาทเป็นงบก้อนแรกเท่านั้น หากต้องใช้งบเพิ่มขึ้นก็สามารถเพิ่มเติมได้อีก” นายเผดิมชัย กล่าว

ด้าน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า ปัจจุบัน สปส.จัดงบรักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในรูปแบบเหมา จ่ายรายหัวครอบคลุมทุกโรค โดยในปี 2554 จัดงบไว้ในอัตราคนละ 2,050 บาท แต่ในปี 2555 ได้ปรับรูปแบบเป็นจ่ายตามกลุ่มโรคทำให้งบรายหัวซึ่งเป็นงบรักษาโรคทั่วไปลด ลงเหลือ 1,955 บาท และได้หักเงินค่าความเสี่ยงในรักษาโรคคนละ 400 บาท มาตั้งเป็นงบกลางเพื่อใช้ในการรักษาโรคร้ายแรง วิธีจ่ายจะคำนวณตามน้ำหนักระดับความรุนแรงของโรคซึ่งมีระดับตั้งแต่ 2-40 โดยเริ่มต้นระดับละ 15,000 บาทและสูงสุด 600,000 บาทต่อราย  

นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกันตนอยู่ประมาณ 10.5 ล้านคน และใช้งบค่ารักษาพยาบาลปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท เฉลี่ยผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมคน ละประมาณ 3 ครั้งต่อปี และป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ประมาณ 200,000 คน แต่โรคร้ายแรงต้องเสียค่ารักษาสูงมากจึงเชื่อว่าการปรับระบบจ่ายค่ารักษา พยาบาลรูปแบบใหม่จะทำให้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมและผู้ประกันตนได้รับ ประโยชน์และพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย เพราะผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงก็จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ์ประกันสังคมก็ลดภาระความเสี่ยงในการรักษาโรค ร้ายแรงและไม่ต้องกังวลเรื่องงบฯ การรักษาหากจะส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมในการรักษาสูงกว่า จากนี้ สปส.จะจัดทำบัญชีกลุ่มโรคร้ายแรงและโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษา โรคร้ายแรงแต่ละโรคใส่ในเว็บไซต์ของประกันสังคม www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506 เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ในเร็วๆ นี้

(สำนักข่าวไทย, 14-12-2554)

เผยผลวิจัยตลาดแรงงานปี 54 คนมองหางาน "ไอที บัญชี และการตลาด" มากที่สุด

15 ธ.ค. 54 – ที่ห้องประชุม ชั้น 5 จามจุรีเรซิเดนซ์ กรุงเทพฯ มีการจัดงานเปิดตัว “คู่มือฐานเงินเดือน (Adecco Salary Guide) ประจำปี 2555” และ ผลวิจัย “บริษัทในฝันของคนทำงาน” และ “ลักษณะคนทำงานที่องค์กรต้องการ” โดยกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร

ข้อมูลสรุปสถานการณ์ตลาดแรงงานประจำปี 2554 พบว่าตลาดแรงงานโตขึ้นอย่างน้อย 20% โดยตลาดแรงงานมีความต้องการคนทำงานเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกสายอาชีพ และคาดว่าตลาดยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีหน้า สายงานขาย วิศวกร ไอที ยังครองแชมป์หาคนมากที่สุดในตลาดแรงงาน ส่วนตำแหน่งรองมาจะอยู่ในกลุ่มสายงานบัญชี การเงิน บุคคล และการตลาด ส่วนกลุ่มธุรกิจที่มองหาคนมากที่สุด คือ กลุ่ม Trading กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มงานบริการ และกลุ่มพลังงาน ฯลฯ

ส่วนตำแหน่งที่คนทำงานมองหามากที่สุด คือ ไอที บัญชี และการตลาด ซึ่งในปี 2554ที่ผ่านมามีผู้สมัครงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกสายอาชีพ ยกเว้นบางสายอาชีพที่มีคนหางานลดลง ได้แก่ งานธุรการ บุคคล การเงิน การตลาด การขาย และโลจิสติกส์ อาจเห็นได้ว่าตำแหน่งการตลาดเป็นตำแหน่งที่คนทำงานมองหามากที่สุด แต่ยังมีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมา อาจเนื่องจากเพราะเป็นตำแหน่งงานยอดนิยมที่คนทำงานมองหา ทำให้เกิดการแข่งขันสูง เป็นผลให้จำนวนผู้สมัครงานลดลง

แนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานในปี 2555 คาดว่ายังคงมีอัตราการความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบางสายอาชีพยังคงมองหาผู้สมัครมาเติมเต็มตำแหน่งงานว่างในตลาด อยู่ เช่น งานออกแบบตกแต่ง งานขาย งานบุคคล งานบัญชี ธุรการ ลูกค้าสัมพันธ์ รวมถึงงานในกลุ่มสายอาชีพเทคนิคและสายงานโรงงานด้วย

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศ กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า จากภาพตลาดแรงงานโดยรวมเห็นได้ว่าในปีนี้และปีหน้า คาดว่าตลาดแรงงานจะยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยบริษัทอเด็คโก้เป็นตัวกลางระหว่างคนทำงาน และบริษัทผู้จ้างงาน จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของคนทั้งสองกลุ่ม จึงได้จัดทำการสำรวจตลาดในหัวข้อ “บริษัทในฝันของคนทำงาน” และ “ลักษณะคนทำงานที่องค์กรต้องการ” เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจถึงลักษณะและพื้นฐานเบื้องต้นที่แต่ละฝ่ายต้องการ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อคนทำงาน คือ ชื่อเสียงขององค์กร ลักษณะงานน่าสนใจ และมีบรรยากาศในการทำงานที่ดี โดยมีความต้องการด้านผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหากต้องการเปลี่ยนงานที่ 20% และจะทำงานอยู่กับบริษัทหนึ่งเป็นเวลาเฉลี่ย 3- 5 ปี ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อองค์กรในการรับคนเข้าทำงาน คือ ความรู้/ ความสามารถ ลักษณะของงาน และการสร้างบรรยากาศในการทำงาน โดยมีค่าตอบแทนเฉลี่ยที่สามารถให้เพิ่มขึ้นได้จากงานเดิมคือ 5-10% และคาดว่าพนักงานจะทำงานอยู่กับองค์กรเป็นเวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 3 ปี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยฉบับเต็ม) พร้อมกันนี้ อเด็คโก้ยังได้เปิดตัว “คู่มือฐานเงินเดือน ประจำปี 2555” เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับคนทำงาน ผู้ที่กำลังมองหางาน หรือองค์กรต่างๆ โดยผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดผลวิจัยทั้ง 2 ฉบับ (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) และคู่มือฐานเงินเดือนได้ฟรี ผ่านทางเวบไซด์ของบริษัทอเด็คโก้ (www.adecco.co.th)

(ประชาไท, 15-12-2554)

มหาชัยจ้างแรงงานฟื้นฟูเมือง

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุส สรณ์ ผู้ช่วยรมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จ.สมุทร สาครต้องประสบกับอุทกภัยมานานเดือนเศษ และเมื่อน้ำลดลงจนแห้งสนิทแล้ว เพื่อให้หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ของจังหวัดกลับมาสวยงาม สะอาด และน่าอยู่อาศัยอีกครั้ง ในโอกาสนี้ทางกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้สำนักงานแรงงานสมุทรสาคร จัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (เฉพาะหน้า)

โดยสนับสนุนงบ 1.7 ล้านบาท มาจ้างแรงงานให้ทำความสะอาดตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้จัดจ้างแรงงานทั้งสิ้น 1,200 คน พร้อมอุปกรณ์เพื่อลงพื้นที่ทำความสะอาดร่วมกับชาวบ้านในแต่ละชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นโครงการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่น้ำท่วมขังที่เข้าร่วม กิจกรรมให้มีรายได้ชั่วคราวในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ

อีกทั้งเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำ ท่วมขังให้สามารถเดินทางไปกลับและปฏิบัติภารกิจจำเป็นได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังเพื่อเป็นการกำจัดขยะในพื้นที่ชุมชน ป้องกันการเกิดโรคติดต่อและช่วยให้ชุมชนกลับสู่สภาพปกติมีความสะอาดหลังน้ำ ลด

(ข่าวสด, 16-12-2554)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: ปลงไม่ตก?

Posted: 19 Dec 2011 08:47 AM PST

ผมอ่านข้อเขียนเรื่อง “อากงปลงไม่ตก” ของคุณสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ด้วยความประหลาดใจ และมีข้อสงสัยหลายเรื่อง

คำถามแรกคือ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของคุณสิทธิศักดิ์ หรือเป็นคำชี้แจงของศาลยุติธรรม เพราะเป็นบทความส่งมาลงเฉพาะเครือกรุงเทพธุรกิจ ถ้าเป็นคำชี้แจงของศาลยุติธรรม ก็น่าจะเผยแพร่วงกว้าง แจกนักข่าวที่ศาล นำขึ้นเว็บไซต์ แต่ถึงเป็นความเห็นส่วนตัว การห้อยตำแหน่ง “โฆษกศาลยุติธรรม” ก็ให้ความรู้สึกเหมือนคำชี้แจงของศาลอยู่กลายๆ
 
ผมสันนิษฐานว่าเป็นความเห็นส่วนตัว เพราะถ้าเป็นคำชี้แจงของศาลคงไม่ขึ้นหัวว่า “อากงปลงไม่ตก” การพาดหัวแบบนี้สงวนลิขสิทธิ์เฉพาะคอลัมนิสต์อย่างพวกผมนะครับ คริคริ เพราะมันอาจกระทบความรู้สึกคนอ่าน คำชี้แจงที่เป็นทางการของศาลคงไม่พาดหัวอย่างนี้
 
เมื่อเป็นความเห็นส่วนตัวของคุณสิทธิศักดิ์ ผมก็เห็นว่าประชาชนทั้งหลายมีสิทธิแสดงความเห็นด้วยไม่เห็นด้วย โต้แย้งคัดค้านกันได้เต็มที่ ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด (ลุยเลยพวกเรา-ฮา)
 
ประการถัดมาเป็นข้อสังเกต คือตามปกติ เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว ศาลมักจะไม่มีคำชี้แจงตามหลัง แบบว่าผู้พิพากษาจะไม่ไปออกรายการ “ตอบโจทย์” ให้ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ซักไซ้ว่าทำไมท่านถึงตัดสินแบบนี้ ท่านมองอย่างไร ยึดหลักอะไรในการวินิจฉัย
 
เพราะโดยปกติ ในคำพิพากษานั้นมีคำชี้แจงที่เป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้ว ศาลอธิบายสิ้นความแล้วว่ามีพยานหลักฐานใด พิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลใช้หลักกฎหมายข้อใด และใช้ดุลพินิจอย่างไร ในการลงโทษ ลดโทษ หรือไม่ลดโทษ กี่กระทง เมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จ ต่อให้มีคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ศาลก็จะถือว่าเหตุผลที่ให้ในคำพิพากษานั้นเป็นคำตอบสมบูรณ์แล้ว ไม่มีมาอธิบายเพิ่มภายหลัง
 
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องดีที่คุณสิทธิศักดิ์เปิดใจกว้างยอมรับความเห็นของสังคม (คือไม่ได้ขู่ว่าอย่าพูดมากจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เหมือนที่เคยๆ เห็นมา) เป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณและถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะประเด็นสำคัญอีกข้อที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอากงคือ นักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรมได้เรียกร้องว่า สังคมจะต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ถูกปิดกั้นโดยความผิดฐานหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล และต้องมีกลไกควบคุมตรวจสอบ กระทั่งลงโทษผู้ใช้อำนาจตุลาการในลักษณะที่ก่อให้เกิดปัญหา
 
คุณสิทธิศักดิ์ยอมรับว่า “การนิ่งเฉยของศาลและกระบวนยุติธรรมมิได้มีค่าเป็นตำลึงทองเสียแล้ว” จึงขอนำความจริงบางประการในท้องสำนวน ประกอบกับประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยมาเฉลยเอ่ยความเพื่อเป็นข้อมูล “แลกเปลี่ยน”
 
นี่ก็เป็นเรื่องดี เพราะคุณสิทธิศักดิ์ต้องการ “แลกเปลี่ยน” เมื่อ “แลกเปลี่ยน” ก็ต้องมีการโต้แย้ง อันที่จริงควรจะเป็นนักกฎหมายออกมาโต้แย้ง แต่ในเมื่อคดีนี้เป็นที่สนใจในกระแสสังคม เกือบทุกสาขาอาชีพอย่างที่ว่า ก็คงไม่ปิดกั้นถ้าผมซึ่งไม่ใช่นักกฎหมาย เป็นเพียงผู้สนใจกฎหมาย จะขอร่วมวง “แลกเปลี่ยน” ด้วยความเห็นแบบชาวบ้านๆ
 
1.ไม่สิ้นสงสัย
ประเด็นสำคัญที่สุดในบทความของโฆษกศาลยุติธรรมคือ ข้อแรก “อากงไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุก”
 
โฆษกศาลกล่าวว่า “ผู้ที่เห็นว่าอากงมิได้กระทำความผิดนั้น  หากเป็นการตัดสินกันเองโดยบุคคลกลุ่มคนนอกศาลและกระบวนการยุติธรรม คงจะหาเหตุผลรองรับความชอบธรรมยากสักหน่อย  เพราะเป็นความเชื่อส่วนตนที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  เป็นอัตวิสัยที่อาจปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ในขณะที่คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่  อันเป็นหลักการสากลและหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม”
 
ขอเรียนว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์ยังไม่ได้ฟันธงว่า “อากงไม่ได้กระทำความผิด” นะครับ แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์เห็นว่าคดีนี้ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ว่าอากงคือผู้ส่ง SMS
 
การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การตัดสินกันเอง ไม่ใช่ความเชื่อส่วนตัวที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ (มันคงจะหาใครอยู่ในเหตุการณ์ได้ยากเต็มทีละครับท่าน) หรือเป็นอัตวิสัยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นหลังอ่านคำพิพากษา ซึ่งได้อธิบายถึงการพิสูจน์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว แต่สังคมยังข้องใจเรื่องการพิสูจน์พยานหลักฐานดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขอีมี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีออกมาแสดงความวิตกว่าตัวเลขอีมีสามารถปลอมแปลงกันได้
 
ประเด็นนี้ผมเห็นใจศาลนะครับว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งผู้คนไม่ใคร่รู้ แต่หลังจากมีคำพิพากษา มันส่งผลสะเทือนให้ผู้คนตื่นตระหนก กลัวว่าถ้ามีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานให้ใช้ตัวเลขอีมีมัดตัวผู้กระทำความผิด ต่อไปมันจะไม่ใช่แค่คดี 112 หรือคดีหมิ่นประมาท แต่อาจรวมถึงการใช้มือถือจุดระเบิด หรือคดีอาชญากรรมต่างๆ เช่น ใช้มือถือสั่งยาบ้า ฯลฯ ประเด็นที่ว่าสามารถใช้อีมีเป็นหลักฐานมัดตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ จึงกลายเป็น talk of the town มีผู้แสดงความเห็นกันมากมาย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว คนไทยวันนี้มีมือถือเกือบทุกคน
 
ฉะนั้นศาลต้องยอมรับว่า ประเด็นนี้หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และศาลจะต้องทำให้กระจ่างในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ว่าจะวางบรรทัดฐานการวินิจฉัยเรื่องตัวเลขอีมีอย่างไร
 
ที่สำคัญกว่านั้นคือประเด็นกฎหมาย ซึ่งเท่าที่คนทั่วไปได้อ่านจากข่าว ศาลมีคำวินิจฉัยว่า
 
“แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน”
 
คำพิพากษาตัวเต็มจะเป็นเช่นนี้หรือเปล่าไม่ทราบนะครับ ถ้าผิดเพี้ยนประการใด โฆษกศาลก็น่าจะชี้แจง แต่ที่มันเป็นประเด็นทางสังคมก็คือ ผู้คนทั้งหลายฟังพยานหลักฐานแล้ว “ไม่สิ้นสงสัย” ว่าอากงเป็นคนส่ง SMS จริงหรือไม่ พอมาอ่านคำพิพากษาตอนท้ายอย่างนี้ แปลว่าศาลท่านก็ยอมรับว่า อัยการยังไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ให้ชัดแจ้ง “ไม่สิ้นสงสัย” เหตุใดศาลจึงพิพากษาให้จำคุก
 
นักกฎหมายเขายกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยกหลักความยุติธรรมว่า การพิสูจน์ความผิดเป็นหน้าที่ของอัยการไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องไปหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างให้ตัวเอง ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ผมไม่ใช่นักกฎหมาย คงไม่ต้องยกมาตราโน้นมาตรานี้มาอ้าง เพราะผมเชื่อว่าคุณสิทธิศักดิ์รู้หลักการนี้ดีอยู่แล้ว ท่องมาตราได้เป๊ะๆ อยู่แล้ว ผมเพียงแต่ยกขึ้นมา “แลกเปลี่ยน” ว่า นี่ต่างหากคือประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ แต่คุณสิทธิศักดิ์ไม่ได้ตอบให้กระจ่าง
 
ขอแจ้งให้ทราบด้วยว่าไม่ใช่แต่พวกเสื้อแดงเท่านั้นนะครับที่คาใจ แม้พวกสลิ่มก็ไม่สิ้นสงสัย ว่าอากงใช่คนส่ง SMS หรือเปล่า แต่สลิ่มบางคนพยายามโบ้ยว่าเป็นแผนร้ายอันแยบยลของพวก “เสื้อแดงล้มเจ้า” มีคนอื่นเอามือถืออากงไปใช้ วางแผนให้คนแก่วัย 61 เป็นแพะบูชายัญ แล้วใช้ความชราน่าสงสารเป็น “ดรามา” ประโคมข่าว
 
นี่รายงานสถานการณ์ให้ทราบ ขออภัยที่ใช้คำว่า “สลิ่ม” ซึ่งไม่ใช่ภาษากฎหมาย แต่เชื่อว่าท่านโฆษกศาลเข้าใจคำนี้ดี
 
2.อากงยังเป็นผู้บริสุทธิ์?
โฆษกศาลยุติธรรมเขียนได้น่าชื่นชมว่า “เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด การจะด่วนสรุปว่าอากงเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยเสร็จเด็ดขาดนั้น  ก็ยังมิใช่เป็นเรื่องที่แน่แท้เสมอไปดังที่บางคนมีความเชื่อและเข้าใจในทำนองนั้น  แท้จริงแล้ว อากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด”
 
ถูกต้องแล้วคร้าบ พวกสลิ่มที่เอาอากงไปด่าประณามควรสำนึกในข้อนี้
 
แต่พอผมอ่านข้อเขียนของโฆษกศาลถึงประเด็นที่สาม “อากงอายุมากแล้วควรได้รับการลดโทษ ปล่อยตัวไป หรือได้รับการประกันตัว” ผมก็สะดุ้ง
 
“แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่า “อากง” ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใด สามารถเข้าใจ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด
สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง  ผู้เขียนเชื่อว่า  ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้
 
มาตรการที่เหมาะสม จึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่กระทำความผิดคิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิดอย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว  ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสม ในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่า ชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป
 
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อหาความผิด ความเสียหายและพฤติการณ์การกระทำแต่ละคดีที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ส่วนการจะได้รับการประกันตัวหรือไม่  ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นเรื่องๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ,มาตรา 108/1”
 
อันที่จริงถ้าคุณสิทธิศักดิ์จะอธิบายสั้นๆ ว่า ใครก็ตามถ้าทำความผิด ไม่ว่าจะอายุมากเพียงใดก็ต้องรับโทษ ผมก็เห็นว่าชัดเจนแล้ว แต่พออธิบายด้วยถ้อยคำเหล่านี้ ก็ทำให้ผมสะดุ้ง และสะดุดกึก ถามคนอื่นหลายๆ คนก็มีความรู้สึกเดียวกัน คือกังขาว่าที่พรรณนามานี่หมายถึง “อากง” หรือเปล่า ไหนว่าอากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
 
ผมไม่บังอาจกล่าวหาว่าโฆษกศาลมีเจตนาเช่นนั้น แต่ขอสะท้อนว่า การใช้ภาษาของท่านทำให้ผู้อ่านอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเช่นนั้น (คงทำนองเดียวกับคำพิพากษาคดีดา ตอร์ปิโด ดาพูดแล้วผู้ฟังรู้ว่าหมายถึงใคร) รู้สึกว่าบุคคลที่ “เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย” “วางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิดอย่างแยบยลแนบเนียน” นั้นหมายถึงอากง ตอกย้ำความรู้สึกที่มีมาตั้งแต่พาดหัว “ปลงไม่ตก” (ซึ่งชี้ว่านี่เป็นทัศนะส่วนตัว ไม่ใช่คำชี้แจงของศาลยุติธรรม)
 
ขอเรียนว่าประเด็นนี้ที่จริงไม่ได้มีใครกังขาถ้าพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าอากงส่ง SMS แล้วก็ต้องรับโทษ ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันคือ เหตุใดอากงจึงไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทั้งที่เป็นคนแก่ ยากจน เจ็บป่วย ไม่มีที่ทางจะหลบหนี และไม่มีอิทธิพลใดๆ จะไปทำลายพยานหลักฐาน
 
การประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่คุณสิทธิศักดิ์อ้างนั่นแหละ แต่คุณสิทธิศักดิ์ไม่ได้ชี้แจงอะไรมากไปกว่านั้น ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใด ศาลจึงไม่ให้ประกันตัว จนอากงติดคุกมาปีกว่า
 
3.เหตุที่ลงโทษหนัก
เรียนก่อนว่าผมเห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ตามแนวทาง “นิติราษฎร์” ไม่ใช่ยกเลิก หมายถึงยังมีความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ควรลดอัตราโทษให้สมควรแก่เหตุ ยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษในกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
 
หมายความว่าในกรณีอากง ถ้าพิสูจน์ได้สิ้นสงสัยว่าเป็นผู้ส่ง SMS ด้วยถ้อยคำหยาบคายเช่นว่าจริง ก็สมควรถูกลงโทษจำคุก
 
ประเด็นที่ควรแก้ไข 112 ลดอัตราโทษเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวค่อยกล่าวถึง แต่ประเด็นที่ขอกล่าวถึงก่อนคือ คำอธิบายของคุณสิทธิศักดิ์ว่า ทำไมต้องลงโทษหนัก
 
ผมเห็นด้วยกับการคงความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะนี่เป็นหลักการสากล ของทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรอกครับ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐก็มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีที่เป็นประมุข
 
หลักการของมาตรา 112 จึงเป็นกฎหมายที่ “คุ้มครองตำแหน่ง” เช่นเดียวกับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล เพียงแต่ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายองค์ประมุขเป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุด
 
คำอธิบายของผมอาจฟังแล้วระคายหูสักหน่อย แต่พูดแบบคุ่ยๆ คือไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่บังอาจใช้ถ้อยคำหยาบคายจาบจ้วงพระมหากษัตริย์พระองค์ใดก็ตามที่อยู่ในตำแหน่ง มันผู้นั้นต้องมีความผิดทั้งสิ้น ต่อให้สมมติอีก 100 ปีข้างหน้า (ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่) เราอาจจะมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงมีพระบารมีซักเท่าไหร่ เพราะมาตรา 112 เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง
 
คือผมจะบอกว่าที่คุณสิทธิศักดิ์พรรณนาถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นพระบารมีส่วนพระองค์ของในหลวงของเรา ผู้ทรงเป็นที่รักและยกย่องเทิดทูนของประชาชน จากการทรงงานเพื่อพสกนิกรมา 65 ปีนั้นเป็นที่ซาบซึ้งยิ่งและเป็นสิ่งที่ทุกคนนบน้อมยอมรับ
 
แต่ผมไม่ค่อยเข้าใจว่า คุณสิทธิศักดิ์จะบอกว่านี่เป็นสาเหตุให้ต้องลงโทษหนักใช่หรือไม่ เพราะพระบารมีเฉพาะพระองค์ของในหลวงผู้ทรงเป็นที่รักของเรา จึงต้องลงโทษหนัก ถ้าอธิบายอย่างนั้น นี่เป็นหลักกฎหมายใช่หรือไม่ เป็นหลักทั่วไปหรือไม่ เพราะถ้าเป็นหลักทั่วไป เราก็ต้องบอกว่า สมมติมีคนหมิ่นประธานศาลฎีกา ซึ่งท่านเป็นคนดีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์มาตลอดชีวิตราชการ สมควรลงโทษหนักกว่าหมิ่นผู้พิพากษาทั่วไป
 
นี่เป็นคำถามนะครับ ในฐานะผู้สนใจกฎหมายแต่ฟังแล้วไม่เข้าใจถ่องแท้ ผมเพียงแต่เทียบเคียงเอาว่า เวลาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร เป็นคนดีเลิศล้ำ หรือเป็นนักการเมืองยี้ หมิ่นก็คือหมิ่น ผิดก็คือผิด จะมีโทษหนักเบาก็อยู่ที่พฤติกรรมของผู้กระทำผิด
 
3/1.ชราชน
ย้อนกลับมาที่คุณสิทธิศักดิ์กล่าวว่า”จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่า ชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป”
 
นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมสงสัยมานาน ไม่ใช่เฉพาะคดี 112 แต่หลายคดี เพราะบางครั้งศาลจะบอกว่าจำเลยเป็นผู้สูงอายุ ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ให้ลดโทษ แต่บางคดีก็บอกว่าจำเลยเป็นไอ้แก่เจ้าเล่ห์ สันดานโจร ลงโทษหนัก หรือบางคดีก็บอกว่าจำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ รับราชการทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองมานาน ให้ลดโทษ แต่บางคดีก็บอกว่าจำเลยเป็นถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีฐานะ ผู้มีการศึกษาสูง กลับมากระทำความผิดเช่นนี้ ไม่ลดโทษ
 
ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าตรงนี้ศาลใช้ดุลพินิจอย่างไรครับ มีหลักเกณฑ์อย่างไร หรือเป็นการใช้ความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาพินิจพิจารณาพฤติกรรมของจำเลยว่าเป็น “ตาแก่น่าสงสาร” หรือเป็น “ไอ้แก่เจนโลก” ถ้าเป็นประการหลังจะระมัดระวังไม่ให้กระแสสังคมเข้ามามีอิทธิพลให้เกิดความโน้มเอียงอย่างไร
 
3.2.กระทงหลงทาง
ตั้งหัวเบาๆ เรื่องน่าเอามาแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับคดีนี้ที่อากงโดนเข้าไป 4 กระทง จากการส่ง SMS 4 ข้อความ
 
ผมเข้าใจดีครับว่ากรณีอย่างนี้ 4 ครั้งศาลต้องแยกเป็น 4 กระทง แต่เทคโนโลยีใหม่อีกนั่นแหละมันทำให้เกิดปุจฉาว่า เอ๊ะ ถ้าเราเอาไปเทียบกับคนที่ขึ้นปราศรัยทั้งคืน สมมติตั้งแต่ 2 ทุ่มยันเที่ยงคืน กล่าววาจาดูหมิ่นจาบจ้วงอาฆาตมาดร้ายซะช่ำปอด เสียงแหบเสียงแห้งแล้วค่อยลงจากเวที มารับโทษกระทงเดียว 5 ปี เทียบกับคนส่งข้อความสั้นๆ 4 ครั้ง 4 กระทง 20 ปี แถมมีความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก เราจะถือว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่
 
เปรียบง่ายๆ กับคดีลักทรัพย์ ก็เหมือนคนลักปลาทู 4 ตัว 4 ครั้ง 4 กระทง แต่โจรขโมยเพชรเม็ดเบ้อเร่อ กระทงเดียว
 
แน่นอนตามหลักกฎหมายถือว่าขโมยปลาทูตัวเดียวกับขโมยเพชรก็มีความผิดเท่ากัน แต่เท่าที่สังเกต เวลาศาลท่านลงโทษ ขโมยปลาทูท่านก็ลงเบากว่า ขโมยเพชรลงหนักกว่า
 
กรณีนี้ที่ยกมาเพราะปัญหาเทคโนโลยีใหม่มันจะไม่ใช่แค่คดี 112 สิครับ คดีหมิ่นบุคคลธรรมดา ก็อาจจะตีความเช่นนั้นได้ด้วย แถมถ้าพ่วงเฟซบุค ที่ไอซีทีบอกว่าแค่กด like ก็ผิด like 4 ครั้ง 4 กระทง โดยไม่ได้เอ่ยวาจาซักคำเดียว เทียบกับคนที่ด่าทั้งคืน
 
ประเด็นนี้ผมก็หาคำตอบไม่เจอนะครับ ต้องฝากท่านโฆษกศาลไปหารือว่าจะปรับใช้กฎหมายกันอย่างไรกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
4.ปฏิกิริยานานาชาติ
ประเด็นที่ว่า “ศาลไทยไม่มีมาตรฐานสากล ควรรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล” ถ้าถือว่านี่เป็นคำชี้แจงของโฆษกศาลยุติธรรมต่อปฏิกิริยาจากนานาชาติ ผมเห็นว่าไม่ตรงประเด็นเลย
 
ผมมองว่าการที่ UN EU หรือ US แสดงปฏิกิริยาต่อคดีอากง น่าจะเป็นเพราะ ข้อแรก เขาก็มองเหมือนๆ คนไทยจำนวนหนึ่งมองนั่นแหละว่า ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย นอกจากนี้ในแง่สิทธิมนุษยชนเขาอาจมองเรื่องการพิจารณาคดี ที่คดี 112 ใช้การพิจารณาลับ แปลว่าสาธารณชนไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้ การใช้ถ้อยคำอย่างไรที่เรียกว่าหมิ่น ก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ สาธารณชนไม่สามารถตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของศาล ว่าคำๆ นั้น ประโยคนั้นๆ มันหมิ่นจริงหรือเปล่า
 
ข้อสอง เขามองว่าโทษหนักเกินไป ไม่สมควรแก่เหตุ  ข้อสาม ทัศนะเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์และความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ของเขาแตกต่างจากเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันยาว โดยยังเกี่ยวพันกับคดี โจ กอร์ดอน ผู้ถือสัญชาติสหรัฐ (พูดง่ายๆว่า โจ กอร์ดอน แปลหนังสือที่วางขายอย่างเปิดเผยในสหรัฐ แต่กลับมาผิด 112 ในเมืองไทย โดยไม่ยักมีใครไปเอาเรื่องคนเขียน)
 
ในประเด็นเรื่องโทษ ก่อนที่จะโต้เขา เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า ฝรั่งมันมองอย่างไร ผมคิดว่าฝรั่งมันคงมองคล้ายๆ กับที่มองรัฐอิสลามตัดสินลงโทษประหารหญิงมีชู้ด้วยการปาก้อนหินจนตาย นี่ผมไม่ได้ว่าศาลไทยตัดสินเหมือนรัฐอิสลามนะครับ แต่ผมบอกว่าฝรั่งมันคงมองคล้ายๆ อย่างนั้น  ฉะนั้นต้องคิดว่าจะไปชี้แจงเขาอย่างไร
 
การชี้แจงแบบว่า อย่าวิจารณ์โดยไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี หรือคนทุกชาติต่างรักหวงแหนในแผ่นดินเกิดของตนเอง เคารพและศรัทธาในศาสดาที่เป็นผู้นำทางศาสนาของตนเอง ฯลฯ ควรคิดย้อนไปว่า แล้วตัวเราล่ะ เวลาเห็นรัฐอิสลามลงโทษแบบนั้นแล้วรู้สึกอย่างไร หรือเวลาเราประณามพวกตาลีบันระเบิดพระพุทธรูปโบราณ ตาลีบันก็อ้างว่านั่นเป็นหลักศาสนาของเขา
 
ที่พูดเช่นนี้ผมไม่ได้ตำหนิศาสนาอิสลาม แต่ตำหนิพวกตีความแบบ fundamental ผมเชื่อว่าศาสนาทุกศาสนามีหลักคำสอนสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน อะไรที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย สามารถปรับได้ เช่นเดียวกับความเคารพสักการะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่ด้วยทศพิธราชธรรม ไม่ใช่ด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงเกินเหตุต่อผู้ไม่เคารพ
 
ที่จริงผมคิดว่าศาลยุติธรรมไม่จำเป็นต้องแสดงท่าทีปกป้อง ม.112 เพราะเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติถ้าจะแก้ไข ในประเด็นอัตราโทษศาลสามารถชี้แจงต่อนานาชาติได้ว่า ก็กฎหมายกำหนดมาอย่างนี้ ให้ลงโทษขั้นต่ำ 3 ปี แต่ถ้ารัฐสภาแก้ไขศาลก็พร้อมนำมาบังคับใช้ อันนี้ภาษานักการเมืองเขาเรียกว่า “โบ้ย” ท่านน่าจะ “โบ้ย” มากกว่าออกมาแสดงทัศนะปกป้อง ม.112 ซึ่งทำให้เกิดความกังขาว่า ถ้าผู้พิพากษามีทัศนะเช่นนี้ จะมีผลต่อการบังคับใช้ ม.112 หรือไม่
 
ในประเด็นทัศนะเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทัศนะต่อการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ นานาชาติแตกต่างจากเรา แม้แต่สหภาพยุโรป ซึ่งก็มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่หลายประเทศ และมีความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ต่อองค์ประมุขเช่นกัน
 
ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์สเปนวาดการ์ตูนล้อเจ้าชาย ศาลตัดสินแค่ปรับ คนเนเธอร์แลนด์ด่าพระราชินี ศาลตัดสินแค่ปรับ นี่ผมไม่ได้บอกให้ทำอย่างเขา เพราะของเรา 112 มีโทษขั้นต่ำ 3 ปี อย่างปราณีศาลก็ลดโทษได้เหลือปีครึ่ง เพียงแต่ผมจะบอกว่า เวลาชี้แจงเขา เราก็ควรศึกษาระบอบและทัศนคติของเขาด้วย
 
อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เคยเขียนเรื่องกรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปน นายมอนดรากอน โฆษกกลุ่มชาตินิยมบาสก์ ถูกศาลสเปนตัดสินจำคุก 1 ปี จากการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง นายมอนดรากอนร้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้เอง ให้ศาลสเปนชดใช้ให้นายมอนดรากอน โดยมีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า
 
“ศาลฯยอมรับว่าคำพูดของนาย Otegi Mondragon มีลักษณะยั่วยุและดูหมิ่น แต่การถกเถียงทางการเมืองและการอภิปรายสาธารณะ ท่ามกลางบรรยากาศดุเดือดเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ที่ผู้พูดจะหลุดคำพูดลักษณะยั่วยุจึงเป็นเรื่องที่ต้องอดทนยอมรับและลดความเข้มข้นในการพิจารณาว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ลง และคำพูดของนาย Otegi Mondragon เป็นการกล่าวถึงกษัตริย์ในฐานะสถาบัน และศาลฯเห็นว่าไม่ได้ประทุษร้ายหรือแสดงการเกลียดชังหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง
 
ศาลฯยังพบอีกว่าบทบัญญัติมาตรา ๔๙๐ วรรคสามของประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลภายในของรัฐสเปนนำมาใช้ตัดสินลงโทษนาย Otegi Mondragon นั้นเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากกฎหมายกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ความข้อนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปดังที่ศาลฯเคยวินิจฉัยไปแล้วในคดีก่อนๆ ว่า การกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศและหมิ่นประมาทประธานาธิบดีให้แตกต่างจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปนั้นไม่ชอบ แม้อ้างว่ามีความแตกต่างระหว่างประธานาธิบดีกับกษัตริย์อยู่ แต่แนวคำวินิจฉัยบรรทัดฐานนี้ก็ต้องนำมาใช้ทั้งสิ้นไม่ว่าประเทศนั้นจะมีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีหรือเป็นกษัตริย์ การอ้างว่ากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไม่อาจทำให้กษัตริย์หลบอยู่ภายใต้หลืบเงาเพื่อหลีกหนีการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ โดยเฉพาะในคดีนี้เป็นการวิจารณ์กษัตริย์ในฐานะสถาบัน วิจารณ์กษัตริย์ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ วิจารณ์กษัตริย์ในฐานะผู้แทนของชาติ และท้าทายถึงความชอบธรรมของโครงสร้างระบบการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญของรัฐ รวมทั้งการวิจารณ์ระบอบราชาธิปไตย”
 
แน่นอนว่าคดีนี้คนละเรื่องกับคดีอากง แต่ที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็เพื่อให้เห็นทัศนะของศาลยุโรป ก่อนที่ประเทศไทยจะไปตอบโต้เขา
 
5.พระบารมีไม่ขึ้นกับ 112
 ผมแน่ใจว่าคุณสิทธิศักดิ์เขียนบทความเป็นส่วนตัว เพราะข้อ 5 ท่าทีต่อข้อเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ถ้าเป็นตัวแทนศาลยุติธรรมก็จะไม่แสดงความเห็นต่อตัวบท แต่จะบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา ศาลเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย
 
แต่โฆษกศาลยุติธรรมได้แสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่ควรยกเลิก และยังเตือนด้วยว่า ถ้ายกเลิกก็อาจถึงขั้น “ซากปรักหักพังของชาติไทย” ซึ่งแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก แต่เห็นว่าควรแก้ไข ก็จำเป็นต้องโต้แย้งแนวคิดเช่นนี้ ที่อาจจะเป็นตัวแทนของผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง ที่มีอำนาจวินิจฉัยลงโทษบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112
 
คุณสิทธิศักดิ์พูดถึงความรักหวงแหนในสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเปรียบเทียบกับความเคารพศรัทธาต่อศาสดาของศาสนา ทำให้งุนงงอยู่เล็กน้อยว่า แล้วเรามีกฎหมายห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อผู้นำศาสนา เป็นพิเศษกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปหรือไม่ ไม่มีนะครับ เรามีแต่มาตรา 206 ที่ห้ามเหยียดหยามวัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลักการทางศาสนา วิถีปฏิบัติ หรือนักบวช ล้วนทำได้เต็มที่
 
ฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบความรักเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กับความเคารพศรัทธาต่อศาสดา ผมก็เห็นว่าน่าจะเปรียบเทียบว่า ล้วนมีที่มาจากความรักเคารพเทิดทูนด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ที่ประชาชนมีต่อทั้งสองสถาบัน โดยมาจากหลักธรรม คำสอน วัตรปฏิบัติ ความเป็นหลักยึดเหนี่ยวสังคมให้มีความรักสามัคคีกัน
 
ซึ่งความรักเทิดทูนด้วยใจบริสุทธิ์นี้ไม่ได้มาจากการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่งห้ามจาบจ้วงดูหมิ่น เพราะด้วยคุณงามความดีที่ดำรงอยู่ ผู้จาบจ้วงดูหมิ่นย่อมแพ้ภัยตัวเอง (ยกตัวอย่างหลายปีก่อน หนังสือพิมพ์มติชนเคยเผลอลงจดหมายที่เขียนมาจาบจ้วงสมเด็จพระสังฆราช มติชนต้องปิดตัวเอง 3 วันแม้ไม่มีกฎหมายลงโทษ) เพียงแต่ที่กฎหมายกำหนดห้ามจาบจ้วงดูหมิ่นเพราะเป็นการล่วงล้ำสิทธิของผู้ที่เคารพนับถือ ย่ำยีความรู้สึกอันอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม
 
กล่าวในแง่ของรัฐสมัยใหม่ รัฐประชาธิปไตย ที่กฎหมายห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ยังเป็นการคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวแล้วข้างต้น เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรของรัฐที่ต้องได้รับความคุ้มครองเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ประมุข
 
คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ บางคนอาจไม่พอใจ แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องใช้คำนี้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยโดยมีเงื่อนไขต่างๆ กำกับไว้ (ดังที่ในหลวงมีพระราชดำรัสว่า พระองค์ไม่เคยทำตามอำเภอใจ)
 
พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หากไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็ทรงไม่มีอำนาจใดๆ ตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารสามารถออกประกาศและคำสั่งเป็นกฎหมายได้ โดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย เพราะมีคำวินิจฉัยศาลฎีการองรับว่ารัฐประหารเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”
 
ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวสำหรับประเทศไทยคือ เรามักไม่สามารถแยกแยะระหว่างบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบนี้ กับพระบารมีของในหลวงของเรา เนื่องจากเราเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมา 79 ปี ในหลวงทรงครองราชย์มา 65 ปี พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายนับไม่ถ้วน มีพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น เป็นที่เคารพรักเทิดทูนของประชาชนอย๋างสูงสุด จนทำให้เราแยกไม่ค่อยออกว่า สิ่งไหนคือพระบารมีเฉพาะพระองค์ สิ่งไหนคือโครงสร้างของระบอบที่ควรจะเป็น
 
ฉะนั้นถ้าจะแยกแยะกันจริงๆ ก็ต้องเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ ไม่เหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ในระบอบประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติหน้าที่ประมุขตามที่รัฐธรรมนูญกำกับ ไม่เหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจโดยไม่จำกัด
 
แม้รัฐธรรมนูญแทบทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกำหนดว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ หรือล่วงละเมิดมิได้ แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอย่างแถบยุโรปก็ถือว่า สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ทั้งในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในแง่ของการประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ประมุขของชาติ (ซึ่งต้องถูกเรียกร้องสูง)
 
คุณสิทธิศักดิ์กล่าวตอนหนี่งว่า “การจะติชมวิพากษ์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ ขอเพียงมีจิตเป็นกลาง ไม่มีอคติ และบนฐานคติที่สร้างสรรค์ พึงอย่าได้ใช้สิทธิส่วนตนเกินส่วนจนเกินขอบเขตก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพผู้อื่น อย่าได้แสดงความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ประหัตประหารด้วยอาวุธลมปากและความเท็จต่อผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุอื่นมาสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง”
 
ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่โฆษกศาลยุติธรรรมเห็นว่าการติชมวิพากษ์วิจารณ์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ แต่พูดกว้างเกินไปจนไม่แน่ใจว่าอะไรคือเสรีภาพ อะไรคือความผิด
 
ผมจะขอไล่เรียงการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เทียบเคียงกับต่างประเทศ มาแจกแจงดังนี้ เพื่อให้ช่วยกันคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ
 
หนึ่ง การใช้คำหยาบจาบจ้วงล่วงเกิน นี่แหงแซะ ถือว่าผิด และจะให้ลงโทษแค่ปรับเหมือนเนเธอร์แลนด์ ผมเชื่อว่าคนไทยก็ยังทำใจไม่ได้
 
สอง การวิพากษ์วิจารณ์เชิงโครงสร้างของระบอบ เช่น ควรมีองคมนตรีหรือไม่ ควรมี ม.112 หรือแก้ไข หรือยกเลิก ควรจัดวางสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างไร ฯลฯ อันที่จริงนี่เป็นเรื่องโครงสร้าง ซึ่งต่อให้มี ม.112 เช่นปัจจุบันก็ควรวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ในกระแสปัจจุบันเหมือนจะไม่ยอมให้วิพากษ์วิจารณ์ (คำเตือน ผู้วิพากษ์วิจารณ์มีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ)
 
สาม การวิพากษ์วิจารณ์ความคิดราชาธิปไตย อันที่จริงก็น่าจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะ ม.112 ใครก็แจ้งความได้
 
สี่ การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรี ข้าราชบริพาร หรือผู้ใกล้ชิดสถาบัน (หรืออ้างว่าใกล้ชิด) ที่จริงควรกระทำได้แต่คนไทยไม่ค่อยกล้า มีแต่ในช่วงที่ขัดแย้งทางการเมืองสูง เช่น เสื้อแดงตามบี้องคมนตรีที่ดินเขายายเที่ยง หรือสนธิ ลิ้ม วิพากษ์ท่านผู้หญิงเสื้อแดง
 
ห้า การแสดงความเห็นต่างจากพระราชดำริ ซึ่งหากแสดงโดยตรงไปตรงมา สุจริต สุภาพ ไม่ประชดประเทียดเสียดสี ก็น่าจะกระทำได้ แต่เราไม่เคยมี เช่นเดียวกับความเห็นแย้งต่อพิธีกรรมถวายความจงรักภักดีต่างๆ อาทิ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่เคยโต้แย้งรัฐบาลว่าควรใช้งบประมาณจัดงานพระราชพิธีอย่าง “พอเพียง” (มีแต่โจมตีกันว่าไปยกเลิกงานนั้นงานนี้ทำไม)
 
หก การวิพากษ์วิจารณ์หรือท้วงติงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แสดงท่าทีที่อาจถูกมองว่าไม่เป็นกลางหรืออาจเกินเลยจากอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สื่ออังกฤษวิจารณ์มูลนิธิของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
 
เจ็ด การวิพากษ์วิจารณ์การประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะสมกับเป็นผู้แทนของชาติ เช่น สื่ออังกฤษวิจารณ์เจ้าชายแฮร์รี แต่เป็นการวิจารณ์ด้วยความมุ่งหวังให้ทรงพระเกียรติเป็นที่รักเคารพของพสกนิกร
 
หลายๆ ข้อที่ผมยกตัวอย่างมา ยังมีความคลุมเครือค่อนข้างมาก และเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นมรดกของชาติ เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชั่วกาลนาน
 
ความคลุมเครือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเพราะมาตรา 112 แต่ยังมีผลจากการบังคับใช้ รวมถึงการวินิจฉัยของศาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพิจารณาลับ ห้ามเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่น และมีคดีน้อยมากที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาจนมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน เพราะอัตราโทษสูง และการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว ตลอดจนการที่เมื่อปล่อยให้คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแม้ต่อผู้ที่ใช้ถ้อยคำจ้วงจาบหยาบช้า พระราชทานอภัยโทษให้แทบทุกกรณี
 
พูดง่ายๆ ว่าที่ผมตั้งคำถามเหล่านี้ไป ถามว่าอย่างไหนผิดไม่ผิด ถ้าศาลตอบว่าต้องดูเป็นรายๆ เฉพาะกรณีไป คือต้องให้เกิดคดีก่อน “ลองวิพากษ์วิจารณ์ดูเดะ เด๋วรู้” กว่าจะรู้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ก็อาจต้องอยู่ในคุกซัก 3-4 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าจะได้คำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน (แถมดันสู้คดี 3 ศาลไม่ยอมรับสารภาพ ก็อาจถูกมองว่า “ไม่มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี”) แล้วใครจะกล้าทำให้ความคลุมเครือนี้ชัดเจนขึ้นได้
 
ผมก็ไม่อยากเห็น “ฝ่ามือใบตองแห้ง” นะครับ
 
                                                                                                
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวี: ไม่ควรมี 'นักโทษทางความคิด'

Posted: 19 Dec 2011 08:08 AM PST

 

 แด่

 

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์

ดา ตอร์ปิโด

และ อากง

 

 

มีนักโทษทางความคิด

วิปริตผิดมหันต์

เพียงคนคิดต่างกัน

ควรลงทัณฑ์กระนั้นฤา

 

อุดมการณ์ที่แตกต่าง

ควรปลูกสร้างมิใช่หรือ

อาวุธเหตุผลคือ

ต่างคนถือมาสู้กัน

 

กักขังเสรีภาพ

กำราบความคิดฝัน

เข่นฆ่าประชาทัณฑ์

ตายกี่พันกี่หมื่นแล้ว

 

สังคมความคิดเดียว

ด้านดีเดียวต้องแน่แน่ว

แค่คิดก็ผิดแนว

เสรีสิทธิ์มนุษย์ชน

 

ไม่มีโทษทางความคิด

ไม่วิปริตไม่สับสน

ไม่เข่นฆ่าประชาชน

อยู่อย่างคนเสมอกัน!

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดพรมแดนของตัวเอง และร่วมกันนิยามประชาธิปไตยแบบไทยๆ กันใหม่เถิด

Posted: 19 Dec 2011 07:59 AM PST

 

เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ควรจะ "มุ่ง" ถามคำถามว่า "อะไร" (what) เช่น ระบอบการปกครองอะไรดีที่สุด (หรืออาจไปไกลถึง อะไรคือความจริงสูงสุด) เพราะเราอาจไม่มีวันได้รู้ เพราะคำถามแบบนี้มันตัดโลกความเป็นจริงทิ้งไป มันเป็นคำถามแบบลอยๆ เป็นไอเดีย จินตนาการล้วน เป็นอุดมการณ์ล้วนๆ

แต่เราอยู่ในยุคที่ควร "มุ่ง" ถามว่า "อย่างไร" (how) ก็คือ เราจะอยู่อย่างไรในโลกสภาวะอย่างในปัจจุบันนี้ ซึ่งนี่เป็นคำถามที่คำนึงถึงโลกความจริง คำนึงถึงบริบท คำถามถึงโลกที่แวดล้อมตัวเราอยู่ ซึ่งผมเข้าใจว่ามัน realistic มากๆ 

ในสภาวะที่ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนมัน "ปรากฏ" อย่างเด่นชัด (เมื่อก่อนยังไม่ปรากฏหรือถ้าปรากฏก็ยังไม่เด่นชัดเพราะเรายังไม่มีเทคโนโลยีอย่างเช่นอินเตอร์เนทหรืออื่นๆ) เมื่อผู้คนมีความแตกต่างกันมากขึ้น สิ่งที่ควรนำมาเป็นกติกาพื้นฐานมันก็คิอสิทธิ์เสรีภาพพื้นฐานอันพึงควรจะมี สมัยก่อน คำว่า สิทธิเสรีภาพ ยังไม่มีใช้ (จริงๆอยากใช้คำว่า ยังไม่ฮิตติดลมบนแบบวันนี้) เพราะคนยังไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายใน "วงกว้าง" เหมือนทุกวันนี้ คนยังไม่มี่ความรุ้มากกว่าที่ตัวเองรู้ (พูดง่ายๆกะลายังครอบเราไว้) คนยังไม่เห็นโลกๆอื่น ยังไม่รู้จักวัฒนธรรมอื่น รู้เฉพาะวัฒนธรรมของตนเอง ความแตกต่างจึงยังน้อย เพราะทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพอันแตกต่างจึงยังไม่มี (ก็อีกนั่นแหละ สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เนทซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดกะลา) ในปัจจุบัน เมื่อความแตกต่างมันชัดเจน เราจึงต้องหาอะไรบางอย่างมาเป็นพื็นฐานในการอยุ่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง และหลักประกันพื้นฐานนั่นก็คือ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่ว่าจะใช้หลักประกันโดยให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาครอบงำกำหนดให้ต้องเป็นเหมือนกันหมด เพราะมนุษย์มันไม่ได้เหมือนกันอีกต่อไปแล้ว

และกติกาพื้นฐานแบบประชาธิปไตยมันก็สอดรับกับบริบทโลกปัจจุบัน เอากันตรงๆ เราไม่รู้หรอกว่า ประชาธิปไตยมันดีหรือไม่ดีในแง่ความคิดลอยๆ(เพราะโดย

หลักการทฤษฏีเพียวๆ ก็ยังเถียงกันไม่จบสิ้น) แต่เราก็ควรเชื่อว่ามันดีและใช้ได้เหมาะสมกับสภาวะ ปัจจุบัน  เพราะมันรับประกันสิทธิเสรีภาพในความแตกต่างหลากหลายได้ดีที่สุด ,,,, 

ผมไม่ค่อยเห็นด้วย เวลาเราเคลื่อนไหวโดยใช้คำว่า ประชาธิปไตยสากล เพราะผมไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง (ในทางปรัชญา มันเป็น ideology ที่ละทิ้งบริบท) แต่ผมคิดว่าเราต้องร่วมกันนิยามประชาธิปไตยแบบไทยๆ (หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม) ขึ้นใหม่ อย่างเสมอภาคภายใต้กติกาที่เท่าเทียมกันให้ได้ และที่แน่ๆ ประชาธิปไตยแบบไทยๆในอย่างที่เป็นอยู่วันนี้ มันแย่ๆมาก มากที่สุด มันห่วย ห่วยแตก (พูดแล้วเดือด) เราต้องก้าวไปจากจุดนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผมเห็นว่าไม่ควรเอาหลักการปชต.สากลมาตั้งเป็นตัวรับประกันเหตุผลนะครับ ผมเห็นว่ามันก็ต้องมีหลักการประชาธิปไตยสากลนี่แหละมาใช้เป็นฐานเหตุผลในการอยู่ร่วมกัน "ในสภาวะโลกปัจุบัน" แต่เราต้องจำไว้เสมอว่าเราดำรงอยู่ท่ามกลางโลก(in-the-world) ท้ายที่สุด เราไม่สามารถที่จะละทิ้งบริบทได้ขาด

ปัญหาคือ พวกเรา"ส่วนใหญ่" ยังมองไม่เห็นปัญหา หรือสิ่งที่เป็นอุปสรรค "จริงๆ" ของประชาธิปไตยแบบบริบทไทยๆ (หรือจะเรียกอย่างอื่นก็ได้) ที่เรากำลังจะร่วมกันนิยาม

ขอเน้นย้ำอย่างที่กล่าวไปแล้ว ว่า การเอาโมเดลประชาธิปไตยสากลมาเป็นหลักการในการรับประกันกติการ่วมกัน ผมเห็นว่าเป็นสิ่งทำได้ และผมเห็นด้วย แต่เราต้องคำนึงเสมอว่า ประชาธิปไตยสากลมันเป็นแค่ concept ถ้าเน้นมากไป มันจะกลายเป็นมองข้ามบริบท พูดตรงๆก็คือมันสุดโต่งเกินไปน่ะ ทุกวันนี้เราส่วนใหญ่มองเห็นแต่ปัญหาเดิมๆที่ "พูดเมื่อไหร่ก็ถูก" เช่น ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความรู้ของพลเมือง ปัญหาการศึกษา เราส่วนใหญ่มองแต่ปัญหาเดิมๆ และไม่ "กล้า" ที่จะมองปัญหาในแง่มุมที่สำคัญกว่า ซึ่งอาจเป็นต้นตอปัญหาจริงๆ (ที่ไม่กล้าก็เพราะว่าเรากลัว) เพราะเราถูกปลูกฝังมานาน นาน นาน แม้นจะไม่นานเท่าไหร่ แต่ก็ดูเหมือนนานแสนนาน ,,,, ที่พูดมานี่ผมโคดระวังคำพูด (ก็ผมกลัวหนิ) แต่คิดว่าคงเข้าใจว่าผมหมายถึงอะไร โดยเฉพาะผู้ที่รู้อยู่แล้วว่า ผมมีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร

ตาสว่างและเข้าใจเสียทีว่า คำถามที่พวกคุณชอบถามคนอื่นว่า "คนไทยหรือเปล่า?" มันคือคำถามที่มาจากชุดความคิดของฝรั่ง กล่าวคือ แนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่(ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากฝรั่ง หรือคุณจะเถียง?) ขณะที่คุณตะโกนถามคนอื่นว่าคนไทยหรือเปล่านั้น คุณกำลังใช้ชุดความคิดรัฐชาติสมัยใหม่ซึ่งไม่ใช่ของคนไทย คุณก็กำลังกลืนน้ำลายตัวเองนะครับ, จริงๆ คำถุามนี้ มันเป็นคำถามที่ไม่ได้ถาม อย่างเช่น ผมเกิดในประเทศไทย อยู่ในไทยมาทั้งชีวิต แล้วจู่ๆมีคนมาถามผมว่า คนไทยหรือเปล่า (ทั้งที่เขาก็รู้อยู่ว่าผมเป็นคนไทย) มันไม่ใช่คำถาม แต่เป็นคำเหยียด เป็นคำที่ใช้เพื่อแบ่งแยก นั่นเพราะเขาถามผมเนื่องจากเห็นว่าผมทีทัศนคติทางการเมืองที่ดูเหมือนไม่ภักดีกับชาติ(ตามความหมายของเขา)

คำถามที่ใหญ่กว่าคือ เราจะอาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันโดยทุกคนมีส่วนนิยามคำว่าชาติอย่างเสมอภาคได้อย่างไร? ซึ่งเป็นโลกที่พรมแดนขวานทองอันเป็นจินตนาการที่มนุษย์มโนขึ้นมา (ซึ่งมนุษย์ฝรั่งคิดขึ้นก่อน แล้วเราไปเอาอย่างเขา) พรมแดนแห่งจินตนาการนี้มันได้สลายลงแล้วโดยเทคโนโลยี ปัญหาคือ เราจะอยู่อย่างไรในความหลากหลายของมนุษย์ที่ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น? และการมีอยู่ของรัฐยังจำเป็นอยู่ไหมในโลกปัจจุบัน?(ซึ่งคำตอบก็คงหลากหลาย) ผมคิดว่า จำเป็น แต่มันต้องเป็นรัฐในจินตนาการแบบใหม่ ไม่ใช่แบบแผนที่ขวานทอง

ดูจาก ข้อความที่ผมยกมาจากหนังสือ โลกาภิวัตน์ ด้านล่างนี้เถิด

"เส้นแบ่งพื้นที่ทางสังคมบนโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งแบ่งระหว่าง 'ภายในประเทศ' กับ 'ต่างประเทศ' สอดคล้องกับการก่อร่างอัตลักษณ์รวมหมู่ของคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งอยู่บนฐานของการผลิตสร้าง 'เรา' ที่เหมือนกัน และ 'เขา' ที่เราไม่คุ้นเคย 

ด้วยเหตุนี้ ระบบ >>"รัฐชาติสมัยใหม่"<< จึงตั้งอยู่บนฐานคิดทางจิตวิทยาและความเชื่อทางวัฒนธรรม ซึ่งสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการอาศัยอยู่และความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้พลเมืองมอบความภักดีให้กับชาติของตนจนหมดใจ เมื่อถูกกล่อมเกลาให้วาดภาพคนอื่นว่าเลวร้าย ความเชื่อของพลเมืองว่าชาติของตนนั้นเหนือกว่าชาติอื่นๆเป็นการสร้างความฮึกเหิมทางจิตใจที่จำเป็นต่อการทำสงครามขนาดใหญ่" -- จากหนังสือ Globalization โลกาภิวัตน์ ความรู้ฉบับพกพา เขียนโดย Manfred Steger แปลโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง สำนักพิมพ์ open world

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

iLaw: 14 ปี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ประเมิน-พอใช้ ยังต้องไปต่ออีกมาก

Posted: 19 Dec 2011 06:58 AM PST

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เดินทางมา 14 ปีแล้ว รัฐ - เอกชนร่วมทบทวน เสนอขยายให้ครอบคลุมข้อมูลเอกชนด้วย ต่างชาติจัดอันดับไทยได้ที่ 45 จาก 89 ประเทศ

 

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันจัดสัมมนาเพื่อวิเคราะห์สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในหัวข้อ "14 ปีของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ถึงเวลาแก้ไขแล้วหรือยัง" ณ ห้องพิมาน โรงแรมมณเฑียร (ถนนสุรวงศ์) กรุงเทพฯ

เธียรชัย ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กล่าวว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมา การทำงานเชิงรับในแง่ที่นั่งรอให้คนมาขอข้อมูลประสบความสำเร็จพอสมควร และมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ทำหน้าที่ได้ดี มากกว่าร้อยละ 95 ของเรื่องที่มาถึง กรรมการก็สั่งให้เปิดเผย โอกาสที่จะได้ข้อมูลข่าวสารมีมากกว่าที่จะไม่ได้ แต่คณะกรรมการฯ ทำงานเชิงรุกน้อยมาก เช่น การออกประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลประเภทที่ต้องเปิดเผย ซึ่งตลอดระยะเวลาได้ออกมาแค่ 3 เรื่องเท่านั้น โดยเรื่องล่าสุดออกประกาศหลังจากถูกเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทยกดดันให้ออก

เธียรชัย อธิบายถึงปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการว่า การขอข้อมูลตามกฎหมายนี้มีข้อมูลอยู่ 2 ลักษณะ คือ ข้อมูลที่ไม่ถูกประกาศให้เป็นข้อมูลประเภทที่ต้องเปิดเผย และอีกประการหนึ่ง คือ ข้อมูลที่เป็นเข้าข่ายข้อยกเว้นจะไม่เปิดเผยก็ได้ (ตามมาตรา 14) ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะส่วนราชการจะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า คนขอมีส่วนได้เสียหรือไม่ ทั้งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีส่วนได้เสีย เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะเอาข้อมูลไปทำอะไร ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง แล้วให้ประชาชนส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นคนชี้ คณะกรรมการก็บ่นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยใช้ดุลพินิจในการเปิดเผย

เขากล่าวว่า ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง คนที่เราคาดหวังว่าจะใช้กฎหมายนี้มาก คือ สื่อมวลชน แต่ทุกวันนี้ความสนใจของสื่อมวลชนที่จะใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ลดลงมาก เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้ออกแบบมาให้สื่อหรือเอ็นจีโอใช้ ตราบใดที่เรายังไม่มีอะไรรับรองว่าเจ้าหน้าที่เปิดเผยแล้วจะไม่เจ็บตัว ไม่มีอะไรรับรองว่าผู้บังคับบัญชาจะไม่เขม่น แม้กฎหมายจะคุ้มครองก็ตาม

นอกจากกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เธียรชัยยังเห็นอีกว่า ระบบข้อมูลข่าวสารของราชการต้องมีความพร้อมให้คนเข้าถึงได้ด้วย ไม่เช่นนั้นมีกฎหมายไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับปัจจุบันยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดในส่วนนี้ แม้ตอนนี้คณะรัฐมนตรีจะมีประกาศกำหนดให้หน่วยงานราชการนำข้อมูลที่มีอยู่ขึ้นเว็บไซต์ด้วย แต่เอาขึ้นเว็บไซต์ไปก็เท่านั้นถ้าหากข้อมูลไม่น่าสนใจ

เธียรชัย กล่าวอีกว่า พัฒนาการของพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ นั้นดีขึ้น แม้ว่า 14 ปีจะช้าก็ตาม แต่คนที่สนใจกฎหมายข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่เป็นพวกชนชั้นนำ (Elite) คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจ เอ็นจีโอจะใช้กฎหมายนี้ก็เมื่อจะเล่นเรื่องใหญ่ที่มีความขัดแย้งจึงมีแรงต้านด้วย ทุกวันนี้ศาลปกครองก็เริ่มเข้ามามีบทบาท

เธียรชัย เสนอว่าให้แก้ไขกฎหมายโดยปรับใหม่ว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เปิดเผยข้อมูลก็ให้ไปที่ศาลปกครองเลยโดยไม่ต้องไปที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เพราะประชาชนจะรู้สึกว่าการไปศาลจะได้รับการตอบสนองที่ดีกว่า

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมองว่า เนื่องจากคนที่รู้จัก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการในประเทศไทยมีไม่กี่คน การขับเคลื่อนว่ากฎหมายควรจะเป็นอย่างไรจึงคุยกันยาก จะบอกว่ากฎหมายข้อมูลข่าวสารเป็นกลไกสำคัญในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นก็อาจจะไม่ใช่เพราะมันเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง เป็นกฎหมายเสริมเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายหลัก และการพูดเช่นนี้ทำให้ฝ่ายการเมืองกลัว เวลาจะขยับแก้ไขอะไรเพื่อการเดินไปข้างหน้าจึงค่อนข้างลำบาก

ด้าน พ.ต.ท.วรัท วิเชียรสรรค์ ผู้อำนวยการส่วนหารือและร้องเรียน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ เล่าถึงประสบการณ์การใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารว่า ช่วงแรกของการใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ใช้สิทธิมาก เพราะเราให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ก่อนเพื่อให้ใช้กฎหมายกับประชาชนได้ แต่ 4-5 ปีให้หลังนี้ประชาชนใช้สิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ

พ.ต.ท.วรัท กล่าวว่า ข้อมูลที่ถูกขอมากเป็นอันดับหนึ่งเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น ผู้บริหารท้องถิ่นทำอะไร ขอดูการเบิกจ่ายเงิน ขอดูเอกสารการตรวจรับงาน ขอดูรายงานการประชุม ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ มีการขอดูของเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง เช่น ขอดูข้อมูลของกรรมการวินัย การสอบวัดผล ฯลฯ


ข้อมูลข่าวสารราชการ กว่าประชาชนจะได้รับก็สายเกิน

ตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ผู้มีประสบการณ์ขอข้อมูลจากทางราชการโดยอาศัยกฎหมายข้อมูลข่าวสารเล่าให้ฟังว่า ปัญหาหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไปที่ไหนก็ต้องไปสอนเจ้าหน้าที่ที่นั่น เป็นงานที่เหนื่อยมาก แต่ละหน่วยงานกว่าจะได้มาก็ต้องปะทะกันหลายรอบ หลายกรณีอ้างว่าต้องไปถามบริษัทเจ้าของเอกสารก่อน ซึ่งถ้าถามก่อนก็ต้องปฏิเสธแน่นอน หลายเรื่องที่เกิดความล่าช้า พอได้ข้อมูลมาก็ไม่มีความหมายอะไรแล้ว จึงควรกำหนดประเภทหนังสือที่ขอได้ทันที ไปถึงหยิบได้เลย

ตี๋ กล่าวถึงปัญหาในทางปฏิบัติว่า ตอนนี้สิ่งที่หน่วยงานรัฐปฏิบัติคือ ไม่ให้ข้อมูลไว้ก่อน เพราะกลัวบริษัทฟ้อง แต่ไม่กลัวประชาชนฟ้อง เรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกสะท้อนใจมาก คือเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะเปิดเผยไม่ได้จนกว่าจะอนุมัติแล้ว ซึ่งเมื่ออนุมัติแล้ว ก็ไม่มีผลอะไรกับเราแล้ว แต่เวลาไปเก็บข้อมูลในพื้นที่คลาดเคลื่อนซึ่ง เป็นเรื่องสำคัญแต่กลับไม่สามารถขอให้เปิดเผยได้

อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าร่วมในงานนี้เล่าถึงประสบการณ์ที่พบเจอว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ต้องการให้เปิดเผยเป็นข้อมูลที่เอกชนให้ไว้กับหน่วยงานราชการ พอเราขอก็จะไม่ได้ พออุทธรณ์คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็จะสั่งให้เปิด แล้วเอกชนที่มีกำลังทรัพย์มากก็จะไปฟ้องศาลปกครอง โดยเอกชนเวลาสู้เพราะไม่อยากให้เปิดเผย ก็จะสู้ถึงศาลสูงอยู่แล้ว ทำให้กินเวลามาก ถึง 4-5 ปีกว่าจะได้เปิดเผย เป็นภาระของประชาชนที่ต้องหาทนายความมาต่อสู้คดี และเป็นภาระที่ผู้ขอข้อมูลต้องอ้างเหตุผลเข้าไปเพิ่ม ทั้งที่การขอตามกรณีปกติไม่ต้องระบุเหตุผล และบริษัทเอกชนจะอ้างข้อยกเว้นในการปิดข้อมูลมาทั้งหมดเท่าที่กฎหมายเขียนไว้

อัมรินทร์ เสนอว่า อยากให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารร่วมกับหน่วยงานที่ทำบัญชีประเภทข้อมูลที่ต้องเปิดเผยเป็นรายละเอียดย่อยลงมาอีก โดยประมวลจากประสบการณ์การร้องขอข้อมูลที่ผ่านมา และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือคำสั่งศาลปกครองว่าให้เปิดอะไรบ้าง น่าจะทำเป็นบัญชีไว้ จะได้ไม่ต้องโต้แย้งเป็นรายกรณี

จัดอันดับประเทศไทย ภายใต้ตัวชี้วัดต่างประเทศ
โทบี้ เมนเดล ผู้อำนวยการบริหารศูนย์กฎหมายและประชาธิปไตย องค์กรที่จัดทำตัวชี้วัดและจัดอันดับกฎหมายข้อมูลข่าวสารใน 89 ประเทศทั่วโลก กล่าวว่า ผลการจัดอันดับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ประเทศไทยได้ 83 คะแนน จากคะแนนเต็ม 150 อยู่อันดับที่ 45 ของโลกจาก 89 ประเทศ ถือว่าเป็นระดับกลางๆ พอใช้ได้ โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 คือเซอร์เบีย อันดับ 2 คืออินเดีย อันดับ 3 คือ สโลวีเนีย อันดับ 4 คือเอล ซัลวาดอร์ อันดับ 5 คือไลบีเรีย ทั้งนี้มีข้อสังเกตคือประเทศที่เพิ่งออกกฎหมายไม่นานมานี้จะได้เปรียบ ได้คะแนนเยอะกว่า และ 15 จาก 20 อันดับสุดท้ายเป็นประเทศในยุโรป

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาจจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายนี้ การจัดอันดับกฎหมายเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นพิจารณาจากกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งประเทศ ไม่ได้พิจารณาในทางปฏิบัติ ไม่ได้ดูเรื่องการบังคับใช้ ถ้าหากมีการจัดอบรมมากแต่ไม่มีกฎหมายออกมาก็อาจจะไม่ได้คะแนน เพราะฉะนั้นอาจจะเห็นว่าทาจิกิสถาน อาจจะได้คะแนนมากกว่านอร์เวย์

โทบี้กล่าวว่าจุดอ่อนของกฎหมายไทยอยู่ในส่วนของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ซึ่งขาดความเป็นอิสระ ทำให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมและไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน ไม่มีแนวทางการตีความกฎหมายในแง่ขอบเขตการเปิดเผยข้อมูล เขตอำนาจศาลที่จำกัดและการบังคับใช้ไม่ครอบคลุมข้อมูลในความครอบครองขององค์กรเอกชนถึงแม้ว่าองค์กรเอกชนจะทำงานสาธารณะประโยชน์

โทบี้ยังกล่าวถึงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯของไทยอีกว่า หลักเกณฑ์ในกฎหมายไทยที่เป็นข้อยกเว้นให้เจ้าหน้าที่ปกปิดข้อมูลไม่ได้รับการยอมรับในมาตรฐานสากล (มาตรา 14-15) ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาจยืดขยายได้นานเกินจำเป็น อัตราค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียมอยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูลยังไม่มีกระบวนการการอุทธรณ์ภายในหน่วยงานก่อน ประเด็นที่อุทธรณ์ได้มีจำกัด และไม่มีการอธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงไม่เปิดเผย มีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลทำให้เจ้าหน้าที่หวาดกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูล ไม่มีมาตรการให้ความรู้กับประชาชน ไม่มีการเปิดเผยว่าข้อมูลใดใครเป็นผู้ถือครองอยู่ ฯลฯ


เสนอแก้ พ.ร.บ.ใส่หลักเกณฑ์เปิดเผย-คัดค้านให้ชัด เพิ่มบทลงโทษ

โทบี้เสนอเกี่ยวกับการปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการของประเทศไทยไว้ด้วยว่า มีสิ่งที่สามารถแก้ไขโดยการใส่ลงไปในกฎหมายได้ง่ายๆ และไม่มีคนคัดค้าน คือ บรรจุหลักการในการตีความกฎหมาย การคัดค้านว่าข้อมูลส่วนไหนเปิดได้หรือไม่ได้ เพิ่มความเข้มข้นให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเรื่องสาธารณะประโยชน์ ปรับแก้ไขให้มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กีดขวางและคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจดีที่จะเปิดเผยข้อมูล และควรมีระบบการจัดเก็บสถิติการทำงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้วย

โรเบิร์ต บูธ นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการภาครัฐ ธนาคารโลก ผู้ทำงานศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารในหลายประเทศ กล่าวว่า โครงสร้างของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในกฎหมายฉบับปัจจุบันของไทย มีข้าราชการโดยตำแหน่งมากเกินไป น่าจะมีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารจะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งอาจใช้สถานการณ์น้ำท่วมให้เป็นประโยชน์ทำให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

นอกจากนี้ โรเบิร์ต ยังกล่าวอีกว่า การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายข้อมูลข่าวสารมักจะอยู่ที่เรื่องคอร์รัปชั่น แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ แต่อาจจะง่ายกว่ากับรัฐบาลถ้าพูดประเด็นอื่นบ้าง เช่น เป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นการสื่อสารระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของรัฐและประชาชน และคนที่ใช้กฎหมายนี้อาจจะได้รับเลือกตั้งครั้งต่อไป

พิรงรอง รามสูต ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในยุคที่สื่อต้องการข่าวสารอย่างรวดเร็วที่สุด สื่อสิ่งพิมพ์ที่กำลังจะตายเป็นสื่อประเภทเดียวที่รอข้อมูลจากกฎหมายนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะหาข้อมูลจากทวิตเตอร์หรือการโทรศัพท์ถามคนรู้จัก มีนักข่าวอยู่ไม่กี่คนที่จะรู้จักช่องทางนี้ในการหาข้อมูล และเมื่อข่าวเป็นเรื่องธุรกิจ การทำข่าวเชิงสืบสวนหาข้อมูลเชิงลึกไม่ทำกำไร และไม่มีใครสนใจสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

พิรงรอง ให้ข้อเสนอแนะว่า ให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารถึงข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของเอกชนแต่อาจกระทบต่อสาธารณะประโยชน์ โดยต้องคำนึงถึงกฎหมายอีกตัวหนึ่งก็คือร่างกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายสองตัวนี้จะขัดกันหรือไม่

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.ไฟเขียวแก้กฎกระทรวง ให้ "ดีเอสไอ" ดูแลเพิ่มอีก 9 คดีพิเศษ

Posted: 19 Dec 2011 06:45 AM PST

(19 ธ.ค.54) เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เพื่อกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติม ดังนี้

1. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 3. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 4. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ 5. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน 6. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง 7. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย 8. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา 9. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร

 

อนึ่ง ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เสนอโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยกระทรวงยุติธรรมให้เหตุผลการขอเพิ่มอำนาจของดีเอสไอในเอกสารที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.ขณะนั้นว่า เนื่องจากคดีความผิดอาญาบางประเภทมีความซับซ้อนมีความเสียหายต่อประเทศ มีลักษณะการทำความผิดข้ามชาติ จึงเห็นควรให้แก้กฏกระทรวง เพื่อให้ดีเอสไอ และคณะกรรมการคดีพิเศษ มีอำนาจสอบสวนคดีความผิดเพิ่มอีก 24 ความผิด อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ขณะนั้นได้ให้ดีเอสไอและกระทรวงยุติธรรมนำร่างดังกล่าวกลับไปทบทวนและสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำกลับมาเสนอใหม่

คดีพิเศษ 24 คดี ประกอบด้วย 1.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า 3.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต 5.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย 6.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 7.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 8.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 9.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ 10.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ

11.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ 12.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน 13.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ 14.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน 15.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ 16.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 17.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 18.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 19.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 20.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง 21.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย 22.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา 23.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร 24.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและคดีความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวเปียงยางแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของผู้นำ

Posted: 19 Dec 2011 02:27 AM PST

สถานีโทรทัศน์ทางการเกาหลีเหนือเผยให้เห็นภาพประชาชนในเปียงยางแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ ขณะที่ทางการเกาหลีเหนือประกาศให้มีการไว้ทุกข์ถึงวันที่ 29 ธ.ค. เปิดให้มีการเคารพศพ 20 ถึง 27 ธ.ค. จะมีการจัดพิธีศพในวันที่ 28 ธ.ค. และจะจัดพิธีรำลึกทั่วประเทศอีกครั้งวันที่ 29 ธ.ค. นอกจากนี้จะมีการยืนสงบนิ่งไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 นาที

(ที่มาของวิดีโอ: KCNA/Rodriorojo1/youtube.com)

ภาพจากสำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) วันนี้ (19 ธ.ค.) เผยให้เห็นบรรยากาศประชาชนในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ แสดงความไว้อาลัยต่อข่าวการจากไปของคิม จอง อิล ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยท้ายข่าวมีผู้การสัมภาษณ์ คิม อก ซง แรงานผลิตสายไฟฟ้าหมายเลข 326 ซึ่งระบุว่า "จะเปลี่ยนความเสียใจให้เป็นพลังและความกล้าหาญ และยังคงให้ความเคารพอย่างศรัทธาต่อสหายคิม จอง อุน"

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าว่าชนชั้นนำเกาหลีเหนือจะประกาศให้ คิม จอง อุน บุตรชายอายุ 27 ปีของคิม จอง อิล ขึ้นเป็นผู้นำเกาหลีเหนือต่อไป

ขณะเดียวกันคณะกรรมการจัดพิธีศพคิม จอง อิล ได้ประกาศวันนี้ (19 ธ.ค.) ว่า ทางคณะกรรมการได้ตัดสินใจดังต่อไปนี้ เพื่อให้สมาชิกพรรค กองทัพ และประชาชนทั้งหมด ได้แสดงออกซึ่งความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของผู้นำคิม จอง อิล และได้แสดงความอาลัยนับถืออย่างยิ่ง

หนึ่ง ที่ตั้งโลงศพถูกจัดไว้ที่ ทำเนียบคัมซูซานเมโมเรียล สอง ช่วงเวลาไว้ทุกข์อยู่ระหว่างวันที่ 17 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม ปีจูเช่ 100 (ค.ศ. 2011) และเปิดให้มีการไว้อาลัยในวันที่ 20 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม สาม พิธีไว้อาลัยครั้งสุดท้าย จะจัดขึ้นอย่างเป็นพิธีการที่กรุงเปียงยาง ในวันที่ 28 ธ.ค.

สี่ พิธีรำลึกถึงเพื่อคิม จอง อิลในระดับชาติจะจัดขึ้นในวันที่ 29 ธ.ค. ห้า จะมีการยิงสลุตไว้อาลัยในเปียงยางและจังหวัดต่างๆ ในเวลาใกล้เคียงกับพิธีรำลึกถึงคิม จอง อิลในระดับชาติที่จัดจัดในเปียงยาง และประชาชนทุกคนจะเข้าร่วมสงบนิ่งเป็นเวลา 3 นาที รถไฟและพาหนะทั้งหมดจะบีบแตรสัญญาณพร้อมกัน

หก สถาบันทุกแห่ง โรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ จะจัดการไว้อาลัยในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัย ทุกจังหวัด ทุกเมือง และทุกตำบลจะจัดพิธีรำลึกถึงคิม จอง อิล ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่จัดในกรุงเปียงยาง เจ็ด สถาบันและโรงงานทุกแห่ง จะลดธงลงครึ่งเสา ดนตรีและการรื่นเริงอื่นๆ จะถูกงด แปด จะไม่มีการรับการไว้ทุกข์จากทูตต่างประเทศ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประวิตร โรจนพฤกษ์: ม.112 กับการเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

Posted: 19 Dec 2011 01:07 AM PST

หนึ่งในปัญหาสำคัญสืบเนื่องจากการมีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คือการเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยสื่อกระแสหลักและสังคมไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักเองไม่กล้าออกมายอมรับ หรือทักท้วงใดๆ ดูเหมือนสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับการเซ็นเซอร์ตนเอง และการไม่ยอมรับว่า มีการปิดหูปิดตา ยัดเยียดข้อมูลด้านเดียวขนานใหญ่ เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ข่าวและบทความวิเคราะห์เชิงเท่าทันจำนวนมาก ที่เขียนโดยสื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ เช่น เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ หรือหนังสือพิมพ์อย่างเช่น เดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะการ์เดียน เดอะบอสตันโกลบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการแปลและนำเสนอต่อประชาชนคนไทยเลย แม้แต่นิดเดียว ในขณะเดียวกัน สื่อกระแสหลักกลับผลิตและป้อนข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันเกือบทั้งหมด ด้วยปริมาณและความถี่ที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเพิ่มขึ้นของความรู้สึกไม่มั่นคงต่ออนาคตของสถาบันฯ

นักข่าว นักวิชาการ และนักคิดที่เห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันฯ มักไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่น งานเขียนของนักประวัติศาสตร์ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งสื่อกระแสหลักไม่สนใจที่จะลงตีพิมพ์ ถึงแม้บทความทั้งหมด น่าจะไม่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่สื่อก็ไม่กล้าที่จะลงข้อเขียนเหล่านั้น ล่าสุด อ.สมศักดิ์ได้เรียกร้องให้ตนเองมีโอกาสได้รับเชิญไปออกรายการ “ตอบโจทย์” ของนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ทางช่องไทยพีบีเอสบ้าง เพื่อถกเรื่องมาตรา 112 ในแง่นี้คนอย่าง อ.สมศักดิ์ ถูกทำเสมือนไม่มีตัวตนและไร้บทบาทในฐานะปัญญาชนสาธารณะ

การเซ็นเซอร์ด้านอื่นๆ รวมถึงการที่นิตยสารอย่างดิ อิโคโนมิสท์ มีอาการ “ผลุบๆ โผล่ๆ” หาซื้อไม่ได้ในราชอาณาจักรไทย ทุกครั้งที่มีข่าวเชิงเท่าทัน วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไทย อีกด้านได้แก่ แรงกดดันอย่างเงียบๆ ไม่ให้มีการจัดเวทีวิชาการถกเรื่อง มาตรา 112 อย่างเช่น ล่าสุด มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยแห่งหนึ่ง ได้รับแรงกดดันจากหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ให้จัดเวทีวิชาการนานาชาติเรื่อง เสรีภาพในการแสดงออก เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

หากปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นการปิดหูปิดตาไม่เพียงพอ มาตรา 112 ก็มีมาตรการทำโทษอย่างชัดเจนต่อผู้ที่พยายามเสนอข้อมูลต่าง ที่อาจไม่ใช่การแสดงอาการดูหมิ่น อาฆาต มาดร้าย อย่างเช่น กรณีการตัดสินจำคุก นายโจ กอร์ดอน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เพียงเพราะนายโจ แปลหนังสือ เดอะคิงเนเวอร์สไมล์ (The King Never Smiles) และเผยแพร่ลิงก์สู่เนื้อหาคำแปลนั้น ผู้เขียนได้รับการสอบถามจากผู้จงรักภักดีคนหนึ่งทางทวิตเตอร์ว่า เขาจะหาอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉบับแปล ได้ที่ไหน และอย่างไร และผู้เขียนก็ตอบไปว่า คงบอกอะไรไม่ได้ เพราะการแจ้งข้อมูลอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ มาตรา 112 พร้อมทั้งสำทับไปว่า นี่แหละคือปัญหาของมาตรา 112 กับการเซ็นเซอร์การรับรู้ของสังคม ซึ่งทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลต่างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อีกตัวอย่างของการลงโทษผู้ที่ไม่ยอมเซ็นเซอร์ตนเองได้แก่ การจับกุมคนเสื้อแดงคนหนึ่งที่เร่ขายวีซีดีสารคดีสถาบันกษัตริย์และการสืบราชสมบัติของราชวงศ์ไทย จัดทำโดย สำนักข่าว Australian Broadcasting Corporation ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ออกอากาศอย่างเป็นปกติธรรมดา ทั่วประเทศออสเตรเลียในปี 2553

สื่อกระแสหลักมีแรงกดดันอีกด้าน ที่ทำให้ไม่เสนอข่าวที่เท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์ อันได้แก่ แรงกดดันทางการเมืองและกลไกตลาด หากเครือหนังสือพิมพ์และทีวีใหญ่ เสนอข่าวเชิงเท่าทัน ถึงแม้จะไม่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็อาจถูกพวกคลั่งเจ้ามองว่ามีเจตนาล้มเจ้า ขู่ บอยคอต และอาจกระทบถึงราคาหุ้น และธุรกิจของสื่อนั้นอย่างรุนแรงได้ การขู่เช่นนี้เกิดขึ้นล่าสุดโดย นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ออกมาเขียนในเฟซบุ๊กของตัวเอง "ผมขอเรียกร้องให้พวกเราแบนสินค้าแกรมมี่ทุกชนิด เพราะสนับสนุนคนอย่างภิญโญ ที่สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112"

ส่วนสื่อนอกกระแสที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันเชิงเท่าทันอย่างเว็บข่าวประชาไท หรือนิตยสารฟ้าเดียวกันนั้น ทั้งสององค์กรแทบจะเรียกได้ว่า อยู่นอกระบบการตลาดปกติ เป็นองค์กรชายขอบ ไม่สามารถพึ่งพาโฆษณาจากบริษัทเอกชนทั่วไปได้ และต้องพึ่งรายได้จากการอุดหนุนของสาธารณะและมูลนิธิทั้งในและต่างประเทศในกรณีของประชาไท

การเซ็นเซอร์ยังมิได้ยุติแค่นั้น บุคคลสาธารณะคนใดก็ตาม ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ก็มักจะถูกกล่าวหาว่า เป็นพวกล้มเจ้า หรือเป็นพวกรับเงิน อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ในบางกรณีอาจถูกแจ้งความด้วยซ้ำไป เช่น กรณีล่าสุด ที่มีการฟ้องร้องผู้ใช้นามปากกาว่า นักปรัชญาชายขอบ ซึ่งเขียนข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ลงในพื้นที่แสดงความเห็นท้ายบทความของอ.สมศักดิ์ ในเว็บประชาไท

การปิดหูปิดตาทั้งหมดนี้ นำไปสู่คำถามที่ว่า เวลาสังคมมีปัญหา เราจะพูดกันได้อย่างไร แล้วหากคิดพูดอย่างเท่าทันในที่สาธารณะ และวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ วุฒิภาวะสังคมจะเหลืออะไร ในเมื่อสังคมต้องอยู่กับข้อมูลด้านเดียวตลอดเวลา และยังไม่รวมถึงการทวงถามเรื่องสิทธิเสรีภาพ ภายใต้สังคมที่มักหลอกตนเองว่า เป็นประชาธิปไตย

ปล. จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ ทวีพร คุ้มเมธา เธอได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมเรื่อง ม.112 ว่า ที่ผ่านมา มีรอยัลลิสท์จำนวนหนึ่งพยายามเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของ ม.112 ว่าตัวกฎหมายเองนั้นไม่เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาที่การถูกนำมาใช้เพื่อ "กลั่นแกล้งทางการเมือง" เป็นหลัก และการที่ ม.112 ถูกใช้ปิดกั้นความเห็นต่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้นไม่เป็นปัญหาใดๆ (เพราะคนไทยคิดเหมือนกันเรื่องสถาบันฯ) ทวีพรวิเคราะห์ว่า การพยายามโปรโมทเรื่อง ม.112 ในแบบดังกล่าว เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นว่า 1. มีคนไทยที่มีความเห็นต่างเรื่องสถาบันอยู่จริง 2. ม.112 ถูกใช้เพื่อกดทับความเห็นต่างต่อสถาบันจริงๆ ดังจะเห็นได้จากประเด็นมากมายที่เราไม่สามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น รัฐประหาร 19 กันยา 2549 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และคนที่พูดความเห็นต่างเรื่องสถาบันฯ ก็ถูกจับ ถูกดำเนินคดีจริงๆ ส่วนการ “กลั่นแกล้งทางการเมือง” น่าจะเป็นส่วนน้อยมากๆ (ลองนึกตัวอย่างได้ชัดๆ 1 คดี เช่น คดีสนธิ ลิ้มทองกุล) จากคดีทั้งหมด และยังไม่รวมเว็บไซต์ “หมิ่น” หรือวิพากษ์สถาบันที่ถูกบล็อคอีกจำนวนมาก

ทวีพรมองว่าการเบี่ยงเบนประเด็นของรอยัลลิสท์ว่า ปัญหาของ ม.112 คือ การถูกใช้เพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง เป็นวิธีการทางจิตวิทยา เพื่อหลีกเลี่ยงการยอมรับความจริงว่ามีคนเห็นต่างเรื่องสถาบัน และหลีกเลี่ยงที่จะพูดว่า ม.112 มีปัญหาจริงและควรถูกปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่จะได้คงไว้ซึ่งกฎหมายนี้ต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกาหลีใต้ให้ จนท.รัฐเตรียมรับมือภาวะฉุกเฉิน หลังคิมจองอิลเสียชีวิต

Posted: 18 Dec 2011 09:39 PM PST

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉินห้ามขาด ห้ามเดินทาง และพร้อมรับคำสั่ง มีการเรียกคณะรัฐมนตรีประชุม ขณะที่กองทัพเกาหลีใต้อยู่ในสภาพพร้อมรับมือสูงสุดเช่นกัน

ประธานาธิบดีลี เมียง บักของสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งหมดอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน หลังข่าวการเสียชีวิตของผู้นำเกาหลีเหนือ

ภายใต้คำสั่งดังกล่าว ได้ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลทุกคนหยุดงาน เดินทาง และเตรียมพร้อมรับการติดต่อฉุกเฉินจากสำนักงานของรัฐบาล

ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ของทางการเกาหลีเหนือรายงานเมื่อช่วงเช้าวันนี้ว่า ผู้นำวัย 69 ปี คิม จอง อิล เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาด้วยโรคหัวใจ ระหว่างการโดยสารรถไฟเพื่อไปปฏิบัติภารกิจตรวจเยี่ยม

ประธานาธิบดีลี เมียง บัก ได้เรียกประชุมฉุกเฉินสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้เรียกนายกรัฐมนตรีคิม ฮวาง ซิก รัฐมนตรีต่างประเทศคิม ซุง ฮวาน และรัฐมนตรีกลาโหม คิม ควาน จิน เพื่อหารือหลังการเสียชีวิตของคิม จอง อิลด้วย โดยเรียกประชุมฉุกเฉินในเวลา 15.00 น. (13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย)

ขณะที่กองทัพเกาหลีใต้ได้อยู่ในสภาพเตรียมรับมือภาวะฉุกเฮิน และรัฐมนตรีต่างประเทศก็อยู่ในสถานะพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีลี เมียง บักเตรียมหารือทางโทรศัพท์ "อย่างใกล้ชิด" กับประธานาธิบดีบารัก โอบามา และยอนฮัปยังรายงานด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้กล่าวว่า กระทรวงของเขาได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาเช่นกัน

ขณะเดียวกันที่วอชิงตัน ทางการทำเนียบข่าวระบุว่าโอบามาได้ติดตามสถานการณ์ข่าวการเสียชีวิตของคิม จอง อิล

ส่วนที่พรรค Grand National Party ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ ได้จัดประชุมสภาฉุกเฉินในวาระการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ

นายวอน ยู ชุล ส.ส.เกาหลีใต้ ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคง รัฐสภา กล่าวกับผู้สื่อข่าวยอมฮัปถึงสาเหตุการประชุมว่าเนื่องจากการเสียชีวิตอย่างทันด่วนของประธานคิม ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ซึ่งเชื่อว่าทำให้เกิดภาวะช็อกและสับสนทั่วไป

"กองทัพของเราอยู่ในระดับเตรียมพร้อมสูงสุด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น"


ที่มา: แปลจาก President Lee puts all officials on emergency status after Kim's death, Yonhap, 19 Dec 2011

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คิม จอง อิล ผู้นำของเกาหลีเหนือ เสียชีวิตแล้ว

Posted: 18 Dec 2011 07:37 PM PST

บีบีซีรายงาน โดยอ้างการประกาศข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ในเกาหลีเหนือว่า คิมจองอิล วัย 69 ปี ผู้นำของประเทศเกาหลีเหนือ โดยตั้งข้อสังเกตว่า การเสียชีวิตของผู้นำซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเกาหลีเหนือผู้นี้จะก่อให้เกิดภาวะช็อกไปทั่วประเทศ

ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์เกาหลีเหนือรายงานข่าวทั้งน้ำตา พร้อมระบุว่า การเสียชีวิตของผู้นำเกิดจากการทำงานหนักเกินไป

ภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี (KCTV) ประกาศข่าวการเสียชีวิตของคิม จอง อิล
(ที่มา: สถานีโทรทัศน์ NHK ภาคภาษาอังกฤษ)

สถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลีใต้ แพร่ภาพการประกาศข่าวการเสียชีวิตของคิม จอง อิลที่ประกาศทางสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี (KCTV) เมื่อเวลา 10.30 น. (8.30 น.ตามเวลาประเทศไทย เมื่อ 19 ธ.ค. 54

การประกาศข่าวการเสียชีวิตของคิม จอง อิลที่ประกาศทางสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี (KCTV) เมื่อเวลา 10.30 น. (8.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) เมื่อ 19 ธ.ค. 54

 

ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นภาคภาษาอังกฤษ แพร่ภาพข่าวประกาศการเสียชีวิตของคิม จอง อิล ที่เผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์กลางเกาหลี (KCTV) ของทางการเกาหลีเมื่อเวลา 10.30 น. (8.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) วันนี้ (19 ธ.ค.) โดยผู้ประกาศสตรีสวมชุดดำไว้ทุกข์ได้กล่าวว่า

"สหายของพวกเรา เลขาธิการทั่วไปพรรคแรงงานเกาหลี ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศ และผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเกาหลี ได้เสียชีวิตแล้วอย่างกระทันหันในวันที่ 17 ธ.ค. เราประกาศข่าวนี้ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง"

ทั้งนี้ ฺNHK ตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศข่าวเสียชีวิตของคิม จอง อิล ทั้งทางสถานีโทรทัศน์ KCTV และสถานีวิทยุเปียงยาง (Radio Pyongyang) ใกล้เคียงกับที่เมื่อปี 2537 ที่มีการประกาศข่าวการเสียชีวิตของคิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศและผู้เป็นบิดาของคิม จอง อิล โดยการประกาศผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุในครั้งนั้นมีการเกริ่นล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะกล่าวถึงการเสียชีวิตของคิม อิล ซุง

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

KCNA, NHK และ N Korean leader Kim Jong-il dies, BBC, http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-16239693

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น