โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘ส.ว.รสนา’ เบิกความปากสุดท้ายคดี “โรงไฟฟ้า” ฟ้องหมิ่น “เอ็นจีโอ” ศาลนัดตัดสิน 20 ม.ค.

Posted: 01 Dec 2011 01:31 PM PST

“รสนา โตสิตระกูล” พยานจำเลยปากสุดท้าย คดี “วัชรี เผ่าเหลืองทอง” เอ็นจีโอด้านพลังงานถูกฟ้องหมิ่นประมาท เบิกความย้ำกระบวนการโครงการโรงไฟฟ้าขาดธรรมาภิบาล เผย สว.ก็เล็งตรวจสอบ ด้านศาลนัดฟังคำตัดสิน 20 ม.ค.นี้

 
วานนี้ (1 ธ.ค.54) ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยาน นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร พยานจำเลยปากสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อ.3151/2552 ที่บริษัท สยามเอ็นเนอร์จี จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายบุญชัย เจียมจิตจรุง ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาววัชรี เผ่าเหลืองทอง เอ็นจีโอด้านพลังงาน ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
 
คดีดังกล่าวโจทย์ระบุว่า ถูกนางสาววัชรีใส่ความว่าได้ร่วมมือและมีผลประโยชน์กับข้าราชการในกระทรวงพลังงานหรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้สัมปทานการประมูลสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 1,600 เมกะวัตต์ ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา จากการให้สัมภาษณ์ออกอากาศในรายการคมชัดลึก ของสถานีโทรทัศน์เนชั่น ชาแนล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.52 โดยมีการอ้างถึงเอกสารจากการประชุมของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
 
ยันเอกสารที่ถูกใช้อ้างอิง เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้
 
นางสาวรสนา ขึ้นเบิกความถึงการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาว่า มีการรับเรื่องร้องเรียนกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ขาดธรรมาภิบาลหลายเรื่องรวมถึงกรณีโรงไฟฟ้าบางคล้าด้วย และกระบวนการหลังจากรับเรื่องแล้วจะมีการศึกษาข้อมูล โดยเชิญผู้มีความรู้ ซึ่งรวมถึงเอ็นจีโอด้านพลังงานมาให้ข้อมูล และมีการตรวจสอบข้อมูลโดยเชิญส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย
 
สำหรับเอกสารที่นางสาววัชรีนำไปเผยแพร่ในรายการคมชัดลึกโดยระบุว่าได้มาจากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ นั้น เป็นของนักวิชาการอิสระท่านหนึ่งที่ถูกเชิญมาร่วมพูดคุย โดยเป็นข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
 
ย้ำซ้ำกระบวนการขาดธรรมาภิบาล การพูดเป็นประโยชน์สาธารณะ
 
นางรสนากล่าวด้วยว่า จากการอ่านเอกสารถอดเทปรายการคมชัดลึก เห็นว่าสิ่งที่นางสาววัชรีพูดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการในการอนุมัติแผนรับซื้อไฟและข้าราชการที่มีอำนาจในการอนุมัติและทำสัญญา ส่วนการกล่าวถึงบริษัทโจทย์นั้นเป็นเพียงองค์ประกอบการตัดสินใจ และข้อมูลที่นางสาววัชรีนำเสนอในเรื่องการเซ็นต์สัญญารับซื้อไฟทั้งที่ยังไม่ผ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ข้ามขั้นตอน ขาดธรรมาภิบาล เป็นประเด็นที่กรรมมาธิการฯ จะตรวจสอบต่อไป
 
ประธานคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา กล่าวแสดงความเห็นว่า การพูดออกรายการของนางสาววัชรีนั้นเป็นประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้สาธารณะชนได้เห็น ทำให้หน่วยงานรัฐตระหนักว่ากระบวนการที่ขาดธรรมาภิบาลต้องถูกตรวจสอบจากสังคม
 
แจงความไร้ธรรมมาภิบาล ในกระบวนการอนุมัติสร้างไรงไฟฟ้า
 
นางสาวรสนา ให้ข้อมูลด้วยว่า จากการศึกษากระบวนการอนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในหลายพื้นที่ ของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า กระบวนการขาดธรรมาภิบาลเนื่องจาก อีไอเออยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่การการอนุมัติอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าและทำสัญญาซื้อขายไฟ เป็นเรื่องของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเปิดช่องให้บริษัทเอกชนจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำอีไอเอ โดยมีเงื่อนไขจ่ายเงินค่าจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์หลังจากอีไอเอผ่านการอนุมัติ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าขาดความเป็นกลางในการพิจารณา และได้เสนอไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยน
 
นอกจากนี้ การทำสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าที่ผูกติดกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ไม่สอดรับกับกรณีที่มีการตกลงจัดซื้อไฟฟ้าก่อนที่จะบรรจุในแผน โดยพบว่ามีการตกลงล่วงหน้าและเข้าดำเนินการในพื้นที่ก่อนที่อีไอเอจะผ่านการเห็นชอบ ซึ่งนำมาสู่ข้อขัดแย่งกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ
 
ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน ข้าราชการในบริษัทเอกชน เป็นปัญหาสำคัญ
 
นางสาวรสนา ให้ข้อมูลต่อมาว่า ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศไทย มีปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญคือการที่ข้าราชการระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการรับวิสาหกิจ เข้าไปดำรงตำแหน่งในบริษัทลูกซึ่งเป็นบริษัทเอกชน หรือบริษัทร่วมทุน โดยที่กฎหมายเปิดช่องให้ ซึ่งตรงนี้ผลตอบแทนจากบริษัทเอกชนที่สูงกว่าเงินเดือนที่ได้รับในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐ จึงทำให้เกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นอุปสรรค์ต่อการตรวจสอบ
 
ในประเด็นนี้คณะกรรมาธิการได้จัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยได้มีรายงานการศึกษา “เรื่องการศึกษาและตรวจสอบธรรมาภิบาล กรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานของรัฐ กับบทบาทกรรมการในบริษัทเอกชนด้านพลังงาน” จัดทำเป็นเอกสารผ่านที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว และถูกส่งไปยังสำนักงานและหน่วยงานที่เกี่ยวของเพื่อให้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการสืบพยาน ศาลนัดหมายให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.55 เวลา 9.00 น.
 
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์เดียวกัน บริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ยังได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งนางสาววัชรี เรียกร้องค่าเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ให้รอจนกว่าการพิจารณาคดีอาญาแล้วเสร็จ และจะมีการนำผลคำพิพากษานั้นมาแถลงต่อศาลจึงจะนัดพร้อมเพื่อพิจารณาคดีต่อไป
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอิตาลียกฟ้อง บก.ออนไลน์ไม่ต้องรับผิดทางกม.ต่อความเห็นคนอ่าน

Posted: 01 Dec 2011 11:54 AM PST

คำพิพากษาออกมาตรงข้ามกับพัฒนาการทางกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้ในอิตาลี ที่มีแนวโน้มจะลิดรอนเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต

(30 พ.ย.54) ศาลสูงอิตาลีมีคำตัดสินว่า บรรณาธิการสิ่งพิมพ์ออนไลน์ไม่สามารถรับผิดชอบทางกฎหมายต่อข้อความหมิ่นประมาทที่โพสต์โดยผู้อ่าน

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนตุลาคม ศาลแห่ง Cassation ยกฟ้อง ดาเนียลา อามาวี อดีตบรรณาธิการออนไลน์ของนิตยสาร L'Espresso ในความผิดฐานล้มเหลวในการป้องกันการหมิ่นประมาทซึ่งเกิดจากผู้อ่านของเธอได้

ศาลกลับคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในโบโลญญา ที่ตัดสินให้อามาวี มีความผิดฐานบกพร่องในการลบความเห็นที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท

ศาลระบุว่า สิ่งพิมพ์ออนไลน์ไม่ควรถูกปฏิบัติในลักษณะเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม และไม่ควรถูกคาดหวังว่าจะใช้อำนาจกลั่นกรองของบรรณาธิการเพื่อควบคุมความเห็นของผู้อ่าน

ศาลระบุว่า ตามกฎหมายอิตาลี สื่อสิ่งพิมพ์ดั้งเดิม คือการทำสำเนาต้นฉบับเดิมทางกายภาพ แล้วจึงเผยแพร่ไปยังสาธารณะ ขณะที่สิ่งพิมพ์บนอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ใช่การเผยแพร่ต่อสาธารณะทางกายภาพ แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วเป็นไปได้ที่ต้นฉบับออนไลน์จะถูกพิมพ์ออกมาและเผยแพร่ทางกายภายไปยังบุคคลที่สาม

ศาลระบุว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่จะปรับใช้มาตรการลงโทษที่ใช้กับบรรณาธิการสื่อดั้งเดิมที่บกพร่องในการป้องกันการหมิ่นประมาทในสิ่งพิมพ์ กับบรรณาธิการออนไลน์ ผู้บกพร่องในการนำข้อความหมิ่นประมาทออกหลังจากผู้อ่านโพสต์

ศาลยกฟ้องอามาวี เนื่องจากความล้มเหลวในการป้องกันการหมิ่นประมาท "ไม่ถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าเป็นอาชญากรรม"

มาร์โก ปราเตลเลซี เขียนบล็อกบนเว็บ www.vanityfair.it ขึ้นต้นการรายงานคำตัดสินด้วยคำว่า "นี่เป็นข่าวดี" ขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นๆ ขนานนามการตัดสินครั้งนี้ว่าเป็นคำตัดสิน "ประวัติศาสตร์"

อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปิดกว้างของคำตัดสินของศาล เป็นไปในทางตรงข้ามกับพัฒนาการทางกฎหมายก่อนหน้านี้ ที่มีแนวโน้มที่จะลิดรอนเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตในอิตาลี

กุมภาพันธ์ 2553 สามผู้บริหารของกูเกิลถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอลงอาญา ด้วยความผิดฐานปล่อยให้มีวิดีโอแสดงการกลั่นแกล้งเด็กพิการ โพสต์ลงในเว็บไซต์ของกูเกิลวิดีโอ 

เดือนกันยายน นักกิจกรรมทำการประท้วงในกรุงโรม เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายที่จะบังคับให้สิ่งพิมพ์ออนไลน์แก้ไขเนื้อหาให้ถูกต้องภายใน 48 ชั่วโมง มิเช่นนั้น อาจเสี่ยงต่อการถูกปรับเป็นเงิน 12,000 ยูโร (เกือบ 500,000 บาท) กฎหมายนี้ถูกแก้ไขในภายหลังโดยรัฐสภา แต่นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวโทษ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกฯ ว่าพยายามริเริ่มระบบอินเทอร์เน็ตที่จำกัดสิทธิในอิตาลี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจของตัวเอง 

 

ที่มา: แปลจาก Italian court: Online editors not responsible for reader comments
http://www.itworld.com/it-managementstrategy/229303/italian-court-online-editors-not-responsible-reader-comments

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คุยกับคนเริ่มแคมเปญ "ฝ่ามืออากง"

Posted: 01 Dec 2011 09:35 AM PST

ประวิตร โรจนพฤกษ์ สัมภาษณ์ "ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" ถึงที่มาและวัตถุประสงค์แคมเปญ "อากง" บนเฟซบุ๊ก เจ้าตัวชี้ระบบยุติธรรมไทยมาถึงปลายทางแล้ว หวังกระตุกรอยัลลิสต์สุดโต่งที่ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือ แต่อาจทำให้สถาบันเสื่อมถอย

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักรัฐศาสตร์ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ เริ่มต้นรณรงค์ออนไลน์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อากง" ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ส่งเอสเอ็มเอส 4 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ ส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ประวิตร โรจนพฤกษ์ สัมภาษณ์ ปวิน ทางอินเทอร์เน็ตถึงเหตุผลของการรณรงค์และความคาดหวัง


1) ทำไมจึงมีการรณรงค์นี้

เรามาจนถึงปลายทางแล้วเมื่อพูดถึงความยุติธรรมในประเทศไทย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามมากขึ้น น่าเศร้าที่ตุลาการไม่อยู่ข้างประชาชน แคมเปญนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ "ความไม่กลัว" ของพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า นี่เป็นการรณรงค์อย่างสงบสันติ เราต้องการส่งสาร โดยการเขียนชื่อ "อากง" บนฝ่ามือ เพื่อสนับสนุนและรณรงค์เพื่ออิสรภาพของเขา

2) ทำไมจึงเป็นอำพล ไม่ใช่นักโทษทางมโนสำนึกรายอื่นๆ
อำพลได้ตกเป็นเหยื่ออย่างแท้จริงในเกมการเมืองนี้ เขาเป็นเหยื่ออย่างสมบูรณ์แบบ ในแง่ที่ว่า นี่คือชายชราเชื้อไทย-จีน ผู้ซึ่งอาจไม่เคยรู้จักกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย ผู้ซึ่งอาจจะไม่ได้พูดภาษาไทยได้อย่างดี ผู้ซึ่งอาจจะไม่ได้ชำนาญทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือและการส่งข้อความทางมือถือดีนัก ผู้ซึ่งไม่ได้แอคทีฟทางการเมือง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ป้องกันเขาจากการถูกกล่าวหาและจับกุม สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือระยะเวลาของการตัดสินโทษ 4 เอสเอ็มเอส เท่ากับ 20 ปี นี่คือประเทศไทยหรือ นี่คือประเทศที่คนส่วนใหญ่อ้างว่ากษัตริย์เป็นที่รักและเคารพของคนไทยทุกคน และนี่ก็เป็นประเทศที่มีโทษรุนแรงที่สุดด้วย

3) คุณคาดหวังอะไรจากแคมเปญนี้

หวังว่านี่จะเป็นการส่งสัญญาณที่เข้มข้นไปยังรอยัลลิสต์ เพื่อให้เห็นเหตุผลเบื้องหลังคำตัดสินอากง ได้เห็นว่าพวกเขาหาประโยชน์จากกฎหมายหมิ่นฯ และที่สำคัญกว่าคือ พวกเขาอาจทำให้สถาบันอันเป็นที่รักเสื่อมถอยลงได้จริงๆ ข้อโต้แย้งของผมคือ ยิ่งกฎหมายนี้ถูกใช้มากเท่าไหร่ กลับจะยิ่งทำให้สถาบันฯ อยู่ในสถานะที่ลำบากขึ้น

4) ใครเป็นคนเริ่มความคิดนี้
ผมเป็นคนเริ่มความคิดนี้ อย่างที่บอก ผมได้แรงบันดาลใจจากแคมเปญ "ความไม่กลัว" ของพม่า ชาวพม่ามีความกล้าหาญในการต่อสู้กับความอยุติธรรมและสนับสนุนนักโทษทางการเมือง ทำไมคนไทยจึงไม่สามารถทำคล้ายๆ กันได้

5) ตอนนี้มีผู้ร่วมรณรงค์แล้วเท่าไหร่ (เช้าวันพฤหัส 1 ธ.ค.)
มี 150 คนบนเฟซบุ๊กที่แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมแคมเปญ ก็ไม่เลว คิดดูว่ามันเพิ่งเริ่มเมื่อวาน ... หลายสิบคนส่งรูปของพวกเขาที่มีคำว่า "อากง" บนฝ่ามือมาร่วมแคมเปญ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจ พ.ร.บ.ความมั่นคง ออกข้อกำหนดคุมเข้ม 4 อำเภอสงขลา

Posted: 01 Dec 2011 09:00 AM PST

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มีเนื้อหาว่า

ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเขตพื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 และมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29  และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 จึงออกข้อกำหนดดังนี้

1.ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการ หรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการมีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการเพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

2. ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวว่า เป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น

3. ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวว่า เป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น

4. ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

5. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

ทั้งนี้ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด

6. ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเกี่ยวกับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้ หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

ในการนี้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้

ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานจากแอฟริกาใต้ เจรจาลดโลกร้อน: ไม่มีที่ยืนสำหรับภาคประชาชน

Posted: 01 Dec 2011 08:44 AM PST

เมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ / การประชุม COP17/MOP7 [1] ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ที่เมือง Durban ประเทศแอฟริกาใต้ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางแล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  การประชุมครั้งนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของทิศทางการดับร้อนของโลกใบนี้  เนื่องจากพันธะกรณีที่ 1 ของพิธีสารเกียวโต (ประเทศพัฒนาแล้ว ตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณร้อยละ 5 จากระดับที่ปล่อยในปี 2533 ให้ได้ภายในปี 2551-2555) จะสิ้นสุดลงในปี 2555 หรือปีหน้า ดังนั้นหากการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ไม่สามารถหาข้อตกลงใดๆ  ในการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในการดับร้อนได้แล้ว อนาคตของโลกใบนี้จะยิ่งเข้าสู่สภาวะสุ่มเสี่ยงต่อหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง เรื่องนี้ไม่ต้องดูอื่นไกล ประเทศไทยปีนี้  เกิดมหาอุทกภัยใหญ่ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง  และในภาคใต้ก็ประสบกับอุทกภัยทั้งในช่วงต้นปี และช่วงปลายปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ปีหน้าจะไม่เกิดขึ้นอีก

การประชุมครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อทิศทางการดับร้อนให้กับโลก เนื่องจากประเทศต่างๆ ต้องหาข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายใหม่ (ไม่ว่าจะเป็นพันธะกรณีที่ 2 ของพิธีสารเกียวโต หรือข้อตกลงหรือพิธีสารใหม่) โดยที่หลายประเทศกำลังพัฒนา (กลุ่ม G77 และ จีน) เรียกร้องให้มีพันธะกรณีที่สองของพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (ตามพันธะกรณีที่ 1) เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ แคนาดา สหภาพยุโรปไม่ต้องการ หรือหากจะให้เกิดพันธะกรณีที่ 2 ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่เป็นการเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา 

การเจรจาที่ Durban ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 อาจบอกได้เพียงว่า โลกจะมีข้อตกลงใหม่ที่มีผลทางกฎหมายได้หรือไม่ และเมื่อใด ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ของคณะทำงานฯ หลายฝ่ายคาดว่าการเจรจาจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางกฎหมายใหม่ได้อย่างเร็วที่สุดอาจจะต้องรอถึงปี 2558 และกว่าที่แต่ละประเทศจะให้สัตยาบันก็อาจจะล่วงเลยไปจนถึงปี 2563 โลกจึงจะได้กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งหากแนวโน้มนี้เป็นจริง โลกจะเกิดสุญญากาศของข้อบังคับทางกฎหมายเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยาวนานถึง 8 ปี และนั่นหมายถึงว่าเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 5 ตามพันธะกรณีที่ 1 ของพิธีสารเกียวโตอาจไม่มีความหมายอะไรเลยก็ได้ 

ข้อสังเกตจุดยืนรัฐบาลไทยต่อเรื่อง REDD/REDD+ จากการประชุมวันแรก 
อย่างไรก็ตามเมื่อการประชุมเริ่มต้นขึ้นในวันแรก  ผู้แทนประเทศปาปัวนิวกีนี ได้แถลงในนามพันธมิตรป่าเขตร้อน (Alliance of Rainforest Movement) ซึ่งประกอบด้วยหลายประเทศ เช่น ปาปัวนิวกีนี, เอกวาดอร์, มาเลเซีย, ลาว, เวียดนาม, ไทย เป็นต้น ประกาศจุดยืนในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2554 เรียกร้องให้การประชุมที่ Durban ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการดำเนินการนโยบาย REDD+ [2] โดยทันที 

โดยพื้นฐานแนวคิดเรื่อง REDD คือ การรักษาป่า เพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ว่า กระบวนการดำเนินการในเรื่องนี้จะเข้าสู่ระบบตลาดคาร์บอนหรือไม่ อย่างไรก็ตามเป็นที่ชัดเจนว่า ที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ได้เริ่มต้นสนับสนุนการศึกษาวิจัยและเตรียมการเพื่อพัฒนา REDD ในประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้เรียกอีกชื่อว่า R-PIN (Readiness – Project Idea Note) ที่ผ่านมาในประเทศไทย แนวคิดเรื่องนโยบาย REDD ยังเป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ ความโปร่งใสในการบริหารจัดการการเงิน, การละเมิดหรือรุกรานสิทธิของคนที่อยู่ในป่า, ข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยกระบวนการดำเนินโครงการซึ่งกำหนดโดยรัฐฝ่ายเดียวภาครัฐ, และอาจเป็นเงื่อนไขให้ภาครัฐใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรมในการผลักดันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าออกจากพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญคือ แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก (โดยภาพรวมของโลก) ด้วย REDD เป็นแนวทางที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วใช้เงินซื้อเครดิตการปล่อยคาร์บอน โดยที่ไม่ลดการปล่อยมลพิษในบ้านตัวเอง แล้วอ้างว่าจ่ายเงินให้ประเทศกำลังพัฒนารักษาป่าเพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับคาร์บอน (ในส่วนที่ตนปล่อยออกมา) แต่ในความเป็นจริง ถึงไม่มี REDD ชุมชนในป่าก็มีการจัดการรักษาป่า และป่าทำหน้าที่เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนอยู่แล้ว

ตัวแทนคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมจากประเทศไทย จึงมีความห่วงใยต่อถ้อยแถลงของตัวแทนประเทศปาปัวนิวกีนีในนามพันธมิตรป่าเขตร้อนซึ่งประเทศไทยมีจุดยืนร่วมนั้น เพราะในประเทศไทยเองยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมในเรื่องนี้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าได้ ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ครั้งการประชุมโลกร้อนที่ โคเปญเฮเกน หรือ COP 15 เมื่อปี 2552   ในครั้งนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคมไทยได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยในแนวนโยบาย REDD ดังนี้ (1) ไม่เห็นด้วยกับการนำป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าที่มีชุมชนจัดการและดูแลอยู่ก่อนแล้ว เข้าไปอยู่ในกลไกตลาด (2) รัฐจะต้องให้การยอมรับ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิในที่ดิน และป่าไม้ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ให้ชัดเจนก่อน (3) ประชาชนคนยากจน มิได้เป็นสาเหตุของการทำลายป่า และมิได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ดังนั้นจึงไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม จุดยืนสนับสนุนการดำเนินการเรื่อง REDD+ ของรัฐบาลไทยที่พ่วงอยู่กับพันธมิตรป่าเขตร้อน ในขณะที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนภายในประเทศครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการตัดสินใจที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการธรรมาภิบาล และละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง REDD+ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “กรอบการเจรจา” นั้น ยังต้องมีคำถามใหญ่พ่วงท้ายอยู่ด้วยว่า เป็นกรอบการเจรจาที่ผ่านรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แล้วหรือไม่ หากยังไม่ผ่านรัฐสภา ก็มีความสุ่มเสี่ยงในภายหลังว่า การไปประกาศจุดยืนเช่นนี้ในเวทีเจรจาระหว่างประเทศ จะสร้างความร้อนขึ้นมาเองภายในประเทศโดยไม่จำเป็น .

 
 
 
เชิงอรรถ
[1] COP 17 หรือ Conference of the Parties เป็นการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 17  และ MOP 17 หรือ Meeting of the Parties เป็นการประชุมภาคีสมาชิกพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ครั้งที่ 7

[2] REDD หรือ Reducing Emissions from Deforestation and Degradation คือแนวทางหรือนโยบาย “การลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า” ในประเทศกำลังพัฒนาภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ REDD+ หรือ Reducing Emissions from Deforestation and Degradation, and the Role of Conservation, Sustainable Management of Forests and Enhancement of Forest Carbon Stocks ซึ่งก็คือ REDD ที่เพิ่มไปครอบคลุมประเด็นป่าไม้ในฐานะ “แหล่งเก็บกักคาร์บอน” ได้แก่่ การอนุรักษ์ การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการเพิ่มปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บโดยป่าไม้ 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฮย่าลำพูน ประกาศเลิกจ้างคนงานหลังใช้ ม.75

Posted: 01 Dec 2011 03:56 AM PST

1 ธ.ค. 54 -  สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ธ.ค. 54) บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน  ได้ประกาศว่าจะเลิกจ้างคนงานเกือบ 2,000 คน หลังจากที่ประกาศใช้มาตรา 75 มาตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 54 โดยได้แจ้งกับสหภาพแรงงานว่าจะเปิดเป็นโครงการเลิกจ้างโดยสมัครใจ จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและบวกอีก 25% ส่วนเหตุผลในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทระบุว่าเนื่องจากการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย. 54 กอปรกับปัญหาอุทกภัย โดยจะส่งจดหมายเลิกจ้างนี้ไปให้คนงานที่บ้าน

แต่ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2553 บริษัทยังมีกำไรอยู่ และเหตุการณ์น้ำท่วมนั้นก็ท่วมที่โรงงานของโฮย่าใน จ.อยุธยา ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานฯ จะปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการเลิกจ้างครั้งนี้ เบื้องต้นในวันพรุ่งนี้ (2 ธ.ค. 54) เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่แรงงานจังหวัดลำพูนก่อน

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกฟ้อง! เสื้อแดงปล้น CTW ฝ่าฝืนพ.ร.ก.สั่งจำคุกครึ่งปี หลังถูกขังปีครึ่ง

Posted: 01 Dec 2011 03:22 AM PST

 

1 ธ.ค.54 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินคดีหมายเลขดำที่ 2235/2553 ที่พนักงานอัยการฟ้องนายพินิจ จันทร์ณรงค์ กับพวกรวม 7 คน ในฐานความผิด ร่วมกันปล้นทรัยพ์โดยมีและใช้อาวุธปืนร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปขัดขวางเจ้า พนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำกำลังประทุษร้ายโดยมี และใช้อาวุธปืน ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริการ ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม

โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง  7 มีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้คนละ 6 เดือน

ส่วนข้อหาใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ ขัดขวางเจ้าหน้าที่นั้น ศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 คน เนื่องจากแม้จะสามารถตรวจยึดกระสุนได้ภายในห้าง แต่ไม่พบอาวุธที่ตัวจำเลย และเจ้าพนักงานก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาวุธดังกล่าวเป็นของจำเลย อีกทั้งไม่มีการนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธต่อสู้ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน  

ส่วนข้อหาปล้นทรัพย์ภายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (CTW) ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันลักเอาทรัพย์สินต่างๆ รวม 18 รายการ มูลค่า 95,430 บาทนั้น ยังไม่มีทรัพย์สินของกลางที่ยืนยันว่าจำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำความผิด คงมีเพียงนายคมสันต์ สุดจันทร์ฮาม จำเลยที่ 3 ที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ( รปภ.) ประจำห้างสรรพสินค้า สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และ แบตเตอร์รี่ จากร้านขายโทรศัพท์มือถือได้ จึงยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน เว้นแต่จำเลยที่ 3 ให้ลงโทษ 3 ปี

ผู้สื่อข่าวนรายงานว่า จำเลยทั้ง 7 คนประกอบไปด้วย จำเลยที่1 นายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 28 ปี ชาวจ.ชัยภูมิ อาชีพรับจ้าง, จำเลยที่ 2 นายวิศิษฏ์ แกล้วกล้า อายุ 33 ปี ชาวจ.อ่างทอง อาชีพรับจ้าง, จำเลยที่ 3 นายคมสัน สุดจันทร์ฮาม อายุ 42 ปี ชาวจ.ขอนแก่น อาชีพรับจ้าง, จำเลยที่ 4 นายอาทิตย์ เบ้าสุวรรณ อายุ 29 ปี ชาวจ.สมุทรปราการ อาชีพรับจ้าง, จำเลยที่ 5 นายพรชัย โลหิตดี อายุ 36 ปี ชาวจ.อุดรธานี อาชีพรับจ้าง, จำเลยที่ 6 นายยุทธชัย สีน้อย อายุ 23 ปี ชาวจ.สระบุรี อาชีพรับจ้าง และจำเลยที่ 7  นางเจียม ทองมาก อายุ 45 ปี ชาวจ.บุรีรัมย์ อาชีพรับจ้าง   

อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งเกินระยะเวลา 6 เดือนแล้ว ทั้งหมดจึงจะได้รับการปล่อยตัวในเย็นนี้ ยกเว้นนายคมสันต์ จำเลยที่ 3 ที่ถูกตัดสินจำคุกรวม 3 ปี 6 เดือน และนายพินิจ จันทร์ ณรงค์ ที่เป็นจำเลยในคดีวางเพลิง CTW อีกคดีหนึ่งซึ่งจะสืบพยานต่อในปีหน้า ทั้งนี้ นักกิจกรรมและคนเสื้อแดงมีการนัดหมายไปรับผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันนี้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ซึ่งติดตามคดีดังกล่าวตั้งแต่ชั้นสืบพยาน ตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้เป็นคดีเดียวที่เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องประชาชนว่าต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน ทั้งที่รัฐบาลที่แล้วบอกเสมอว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธ แต่ไม่เคยจับใครได้ มีเพียงกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ในที่สุดศาลก็พิพากษายกฟ้องเพราะพยานหลักฐานอ่อนมาก ขณะที่จำเลยทั้งหมดถูกขังในเรือนจำเกือบสองปีโดยประกันไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาหนักมากว่ามร่วมกันปล้น ซึ่งไม่ได้ดูพฤติการณ์เลยว่าจำเลยทั้งหมดมาจากคนละจังหวัด ไม่รู้จักกันมาก่อน นอกจากนี้จากการสอบถามกับจำเลยบางคนยังยืนยันด้วยว่าเจ้าหน้าที่ที่จับกุมมีการซ้อมผู้ต้องหา และใช้ไฟฟ้าช็อตจนหมดสติ เพื่อบังคับให้รับสารภาพด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังทราบคำตัดสินของศาล ญาติๆ ของจำเลยพากันดีใจ และมีการเข้าไปพูดคุยกับจำเลยทุกคน ยกเว้นนายคมสันต์ ซึ่งถูกพิพากษาว่ากระทำความผิด ไม่ยอมออกมาพบปะพูดคุยกับญาติ

นางเจียม ทองมาก จำเลยในคดีนี้ซึ่งถูกขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาปีครึ่งกล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกดีใจมากที่ศาลชั้นต้นให้ความยุติธรรม หลังจากรอวันนี้มาตลอดปีครึ่งเนื่องจากไม่สามารถประกันตัวสู้คดีได้ พร้อมทั้งยืนยันว่าในวันเกิดเหตุตนเองได้วิ่งหนีตายเข้าไปในเซ็นทรัลเวิลด์เพราะมีเสียงกระสุนปืนไล่หลังมาตลอด และจำเลยทั้งหมดไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเพียงแต่โดนจับภายในห้างแล้วนำมารวมกัน

“เหตุการณ์มันสับสนไปหมด มันแรงมาก มันน่ากลัวมาก” เจียมซึ่งมีอาชีพเป็นแม่ค้าขายขนมถ้วยเล่า เธออาศัยอยู่ย่านบางแคเหนือ และเริ่มไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2551 โดยระบุเหตุผลที่เข้าร่วมว่าต้องการประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และอยากรู้อยากเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง

“ประชาชนอยากรู้ อยากเห็น เขามากันทั่วสารทิศ เราขายขนมเลิกเย็น ก็ไปชุมนุม ไปช่วยเขาทำกับข้าวแจก กลับบ้านเที่ยงคืน ตีหนึ่ง เป็นอย่างนี้ประจำ” เจียมกล่าว

ขณะที่นางหนูพิศ จันทร์ณรงค์ แม่ของนายพินิจ ซึ่งเดินทางมากับสามีจากจังหวัดชัยภูมิ กล่าวพร้อมน้ำตาว่า ดีใจที่ศาลยกฟ้อง และได้เห็นลูกอีกครั้งในวันนี้ แม้จะยังรับไม่ได้กับภาพลูกใส่โซ่ตรวนเดินขึ้นศาล

เมื่อถามว่าอยากจะเรียกร้องความช่วยเหลือใดจากรัฐบาลหรือไม่ นางหนูพิศตอบว่า เข้าใจรัฐบาลว่ามีปัญหาใหญ่ให้จัดการหลายอย่าง แม้ตนจะเดือดร้อนแต่ยังเอาใจช่วยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หากเป็นไปได้อยากให้ช่วยดูแลเรื่องงานของลูกชายหลังจากออกจากเรือนจำ เพราะเกรงว่าลูกจะหางานทำไม่ได้ และครอบครัวมีก็มีฐานะยากจน โดยทั้งสามีและเธอมีอาชีพทำไร่อ้อย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม้หนึ่ง ก.กุนที: ที่สุดนั้นก็เพราะ..ผมรักคุณ

Posted: 01 Dec 2011 03:16 AM PST

เพราะเรารัก..อากง !..และอาม่า
จึงต้องยกเลิกมาตรา 112
เพียงพอแล้ว..ที่เห็นใคร น้ำตานอง
ต้องพลัดพรากจากคนที่เขารัก !

เพราะเรารัก..อาหมวย และ อาตี๋
กลัวเขาโตมีชีวิตเหมือนปลาผัก
เป็นเหยื่อเทพไท้จำแลงแปลงจากยักษ์
พูดผิดหู ??. ก็ เด็ด หัก ฆ่า กัก ขัง !!

เพราะเรารัก ญาติโกโหติกา............
รักสังคมก้าวหน้าร่วมก่อตั้ง
แต่หากต้องทะยอยกันเข้าตะราง
แล้วจะเหลือ..สิ่งหวังใด ?..สร้างสังคม

เพราะเรารัก..ในความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์
จึงต้องลุก ขจัดเหตุแห่งขื่นขม
กฏหมายที่ทำคนไทยตายทั้งกลม
กดขี่โถมทับถมด้วย..ความงมงาย ?????????

เพราะเรารักศรัทธาในความเป็นคน
รักเหตุผล กระบวนทรรศน์ที่โปร่งใส
รักในโลกเสรีประชาธิปไตย
ลืมไม่ได้ !.. ก็เพราะ.... ผมรักคุณ !!!!!!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เตรียมจัดนิทรรศการแม่น้ำโขงที่เชียงคาน จี้หยุดสร้าง หยุดซื้อไฟจากเขื่อนไซยะบุรี!

Posted: 01 Dec 2011 02:51 AM PST

โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง ร่วมกับเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง เทศบาลตำบลเชียงคาน และเฟสบุ๊คกลุ่ม “แม่โขง: อิสระแห่งสายน้ำ” จัดนิทรรศการแม่น้ำโขง 3-12 ธ.ค.นี้ รณรงค์ค้านเขื่อนไซยะบุรี

 
 
โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ร่วมกับ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง เทศบาล ต.เชียงคาน จ.เลย และเฟสบุ๊คกลุ่ม “แม่โขง: อิสระแห่งสายน้ำ” จัดนิทรรศการแม่น้ำโขง “เมื่อแม่น้ำ คนหาปลา และไฟฟ้า เป็นเรื่องเดียวกัน” ขึ้นในช่วงวันที่ 3-12 ธ.ค.54 ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย จุดที่สุ่มเสี่ยงที่สุดจุดหนึ่งต่อการได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี
 
เพื่อเป็นการให้คำตอบในประเด็นผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนแม่น้ำโขงสายหลักต่อผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขงแก่สาธารณชนไทย และเพื่อร่วมกระแสรณรงค์คัดค้านโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงกับพันธมิตรในหลายประเทศ ทั้งในภูมิภาคและระดับสากล
 
 
สืบเนื่องจาก ช่วงวันที่ 8 ธ.ค.54 ที่จะถึงนี้ คณะมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) จะจัดการประชุมที่จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา โดยมี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะพูดคุยกันคือการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศลาว
 
โครงการดังกล่าวมีบริษัทสัญชาติไทย ได้แก่ ช. การช่าง บริษัทลูกของ ปตท.และบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ถือหุ้นหลักในการดำเนินการโครงการ และประเทศไทยจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจากเขื่อนนี้
 
นิทรรศการดังกล่าว จะเป็นโอกาสให้สาธารณชนได้ร่วมลงชื่อใน โปสการ์ดปลาบึก สัญลักษณ์แม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งตรงไปยัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งมีข้อความดังนี้
 
...
 
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
 
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของโลก และเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงภาคอีสานและภาคเหนือของไทย ซึ่งชาวบ้านริมน้ำโขง 8 จังหวัด รวมถึงประเทศแม่น้ำโขง 6 ประเทศคือจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามได้พึ่งพา เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญ อีกทั้งยังได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามมาหลายช่วงอายุคน
 
ข้าพเจ้าไม่สนับสนุนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ 12 เขื่อนบนลำน้ำโขง อันจะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิต การประมง ระบบนิเวศ และการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการสนับสนุนเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งหมด และระงับการซื้อไฟฟ้าจาก "เขื่อนไซยะบุรี" ในประเทศลาวที่กำลังเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลควรต้องพิจารณาถึงพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน เหมาะสม และเคารพสิทธิประชาชนผู้พึ่งพิงแม่น้ำโขง ให้ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตลอดไป
 
 
 
....................................
 
เยี่ยมชม แม่น้ำโขง อิสระแห่งสายน้ำ http://www.facebook.com/TheMekongRiver
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไอซีทีเปิดตัวศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ สุดเข้มปราบเว็บหมิ่นฯ สถาบัน

Posted: 01 Dec 2011 01:49 AM PST

อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมต. ไอซีที แถลงเปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” ยกระดับเทคโนโลยีการปราบปรามเว็บหมิ่น เผย ตั้งแต่รัฐบาลใหม่มาทำงานได้สั่งปิดยูอาร์แอลไม่เหมาะสมไปแล้วกว่า 7 หมื่นแห่งในเวลา 3 เดือน ซึ่งมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมารวมกัน

วันนี้ (1 ธ.ค) เวลา 11 นาฬิกา นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมตัวแทนจากกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ สภาความมั่นคง สนง.ข่าวกรองแห่งชาติ สนง.ตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” (Cyber Security Operation Center: CSOC) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร 9 บมจ. ทีโอที ถ. แจ้งวัฒนะ เพื่อดำเนินภารกิจในการปราบปรามภัยทางไซเบอร์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชนโดยเฉพาะเว็บหมิ่นเบื้องสูง พร้อมอธิบายถึงขั้นตอนในการทำงานของศูนย์ดังกล่าว

อนุดิษฐ์ อธิบายว่าศูนย์ดังกล่าวเป็นการยกระดับจาก “ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต” (Internet Security Operation Center: ISOC) ที่ก่อตั้งในปี 2553 โดยจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และระงับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับการใช้สื่อและการส่งถ่ายข้อมูลที่เปลี่ยนรูปแบบไป โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งส่งผลให้การส่งต่อข้อมูลที่อันตรายระหว่างบุคคลเป็นไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วขึ้น

“การเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงฯ ที่จะต้องสนองนโยบายดังกล่าว และดำเนินการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในโซเชียลเน็ตเวิร์กบนโลกอินเตอร์เน็ต ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีความทันสมัยมาใช้ในการควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” อนุดิษฐ์กล่าว

เผย ปิดกั้นยูอาร์แอลใน 3 เดือนมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมารวมกัน

นาวาอากาศเอกได้อธิบายขั้นตอนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการฯ โดยเฉพาะกระบวนการในการระงับข้อมูลที่จาบจ้วงพระมหากษัตริย์ว่า ในระยะสามเดือนที่ผ่านมาที่ตนได้เข้ามาทำงาน มีการปิดกั้นยูอาร์แอลไปแล้วกว่า 70,000 ยูอาร์แอล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลนี้ในการถวายความจงรักภักดีแก่พระเจ้าอยู่หัว โดยหากเทียบกับเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างพ.ศ. 2551-2554 มีการปิดกั้นยูอาร์แอลที่ไม่เหมาะสมเพียงกว่า 60,000 แห่งเท่านั้น

เขาชี้แจงว่าสาเหตุที่มีการปิดกั้นยูอาร์แอลที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะลักษณะของการรับส่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีลักษณะที่ง่ายดายและขยายปริมาณลิงก์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทมาก ต่างจากแต่ก่อนที่เว็บหมิ่นเบื้องสูงจะจำกัดอยู่ในเว็บบอร์ดเท่านั้น

นอกจากนี้ อนุดิษฐ์กล่าวว่า นอกจากจะประสบความสำเร็จในแง่การปราบปราบเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมในแง่ของปริมาณแล้ว กระทรวงไอซีทียังสามารถระงับเนื้อหาที่หมิ่นเบื้องสูงได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยเขาอฺธิบายว่า ก่อนหน้านี้ การปิดกั้นเว็บไซต์สามารถทำโดยการขออำนาจศาล ซึ่งจะออกคำสั่งขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ให้ช่วยปิดเว็บไซต์นั้น อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวสามารถป้องกันการเข้าถึงได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่คนที่อยู่ต่างประเทศยังคงสามารถเข้าถึงได้อยู่ ทำให้ข้อมูลที่อันตรายยังคงอยู่ในอินเทอร์เน็ต

กระทรวงไอซีที จึงได้พัฒนาวิธีการใหม่ โดยการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการเว็บไซต์ต่างประเทศด้วยตนเอง โดยมีกระบวนการคือ รับแจ้งเบาะแส จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำการรวบรวมข้อมูล และส่งข้อมูลดังกล่าวพร้อมคำอธิบายที่เป็นภาษาอังกฤษพร้อมเทียบเคียงฐานความผิดของต่างประเทศส่งไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ ซึ่งจะดำเนินการปิดเว็บไซต์นั้นๆ ต่อไป ทั้งนี้ อนุดิษฐ์ชี้ว่าวิธีดังกล่าวมีข้อดีคือช่วยให้ “ต่างประเทศได้เข้าใจถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการยับยั้งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมจากต้นเหตุ”

รมต. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอีกราว 20 คน และมีแผนที่จะแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ เขามิได้เปิดเผยงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิทยาศาตร์ค้นพบพยาธิที่อาจช่วยมนุษย์ตั้งรกรากบนดาวอังคารได้

Posted: 01 Dec 2011 12:45 AM PST

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพยาธิ Caenorhabditis elegans 12 รุ่น ในสถานีอวกาศ พบว่ามันมีความทนทานต่อสภาพอวกาศได้ และอาจใช้เป็นตัวแทนสำรวจดาวอังคารแทนมนุษย์เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องอันตราย จากการเดินทางในอวกาศ


ภาพ: NASA

 

(30 พ.ย.54) เว็บไซต์ Livescience รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ค้นพบพยาธิตัวกลม ที่มีความสามารถดำรงชีวิตในห้วงอวกาศและอาจช่วยมนุษย์ชาติในการตั้งถิ่นฐานยังดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาการเจริญเติบโตและการเจริญพันธุ์ของพยาธิตัวกลมขนาดจิ๋วที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caenorhabditis elegans พวกเขาค้นคว้าผ่านพยาธิ 12 รุ่น ในสถานีอวกาศนานาชาติ โดยผู้วิจัยบอกว่าการศึกษาพยาธิที่มีความทนทานต่อสภาพในอวกาศนี้ อาจช่วยมนุษย์ในเรื่องความเสี่ยงจากการเดินทางและสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายในดาวอังคาร

"พวกเราแสดงให้เห็นได้ว่า พยาธิพวกนี้สามารถเติบโตและขยายพันธุ์ในอวกาศได้เป็นเวลานานพอจะเดินทางไปถึงดาวเคราะห์อีกดวง และมีพวกเราคอยตรวจสอบสภาพของพวกมันได้ด้วย" นาธานีล ซีวชีคกล่าว เขามาจากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมของอังกฤษ และเป็นหัวหน้าการวิจัยชิ้นนี้

"ผลที่ได้คือพยาธิ C. elegans นี้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่คุ้มค่าสำหรับการศึกษาค้นคว้าเรื่อง ผลกระทบจากการเดินทางในอวกาศที่มีต่อสิ่งมีชีวิต" นาธานีลกล่าวและว่า "ที่สุดเลยคือ ตอนนี้พวกเราอยู่ในฐานะที่สามารถเลี้ยงและศึกษาสัตว์ในดาวเคราะห์อื่นได้"
 

พยาธิในสถานีอวกาศ

C.elegans เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่นักชีววิทยามักจะนำมาศีกษา ย้อนไปในปี /2541 (1998) พยาธิที่อาศัยอยู่ในดินตัวนี้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จำพวกแรกที่แผนที่ทางพันธุกรรม (genome) ได้ถูกบันทึกไว้ทั้งหมด

พยาธิตัวกลมชนิดนี้มียีนส์รหัสโปรตีน (protein-coding genes) ถึง 20,000 ยีนส์ ซึ่งมีมากเกือบจะเท่ากับของมนุษย์ โดยมนุษย์นั้นมียีนส์รหัสโปรตีนอยู่ 23,000 ยีนส์ นอกจากนี้แล้วยังพบอีกว่าจีโนมของพวกเราและของพยาธิเหล่านี้มีความคล้ายคลึงคาบเกี่ยวกันอยู่หลายจุด โดยมียีนส์จำนวนมากทำหน้าที่เดียวกันทั้งในคนและพยาธิ

นาธานีลและเพื่อนร่วมงานของเขาต้องการรับรู้ว่า C. elegans สามารถเป็นตัวอย่างทดลองที่ดีในวงโคจรและบนพื้นผิวได้หรือไม่ เพื่อให้พวกมันได้เติบโตและแพร่พันธุ์อย่างอัตโนมัติซึ่งจะสามารถมองเห็นได้จากที่ไกลๆ จากนั้นนักวิจัยก็จะส่งพยาธิ C.elegans 4,000 ตัวไปที่สถานีอวกาศ ที่มีกระสวยอวกาศ ดิสคัฟเวอร์รี่ STS-116 ซึ่งออกปฏิบัติภารกิจนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2549 (2006)

พวกเขาจะสามารถติดตามผลของพยาธิพวกนี้ได้ในขณะที่พวกมันเคลื่อนที่หมุนรอบโลกอย่างรวดเร็วด้วยความเร็ว 17,500 ไมล์ต่อชั่วโมง (28,163 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นักเดินทางผ่านอวกาศตัวจิ๋วพวกนี้สามารถเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ได้ดีแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ

นักวิจัยสรุปว่าการศึกษา C. elegans จะช่วยทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น ในเรื่องท้าทายที่มนุษย์ต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อจะได้ดำรงชีวิตในดาวดวงอื่น สิ่งท้าทายเหล่านี้ยกตัวอย่างเช่น อาการกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ, การสัมผัสกับรังสี ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเดินทางผ่านอวกาศเป็นเวลานาน

"เรื่องนี้อาจจะฟังดูน่าแปลกใจ ความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในช่วงการเดินทางผ่านกระสวยอวกาศนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งนักบินอวกาศและพยาธิ ในรูปแบบเดียวกัน" นาธานีลกล่าว

 


ส่งพยาธิไปดาวอังคาร?

นักวิจัยกล่าวว่า จากการที่พยาธิตัวกลมนี้ได้แสดงวีรกรรมของมันในการเดินทางโคจรรอบโลกไปแล้ว มันอาจจะถึงเวลาที่จะส่งพวกมันไปไกลกว่านี้ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ในการสำรวจอวกาศ ตัวอย่างเช่นการส่ง C. elegans ไปดาวอังคารเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาว่าการแผ่รังสีระดับเข้มข้นในอวกาศที่ห่างไกลและบนดาวอังคารนั้นมีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอย่างไรบ้าง

"พยาธิพวกนี้ทำให้เราเห็นการเติบโต พัฒนาการ การขยายพันธุ์ และพฤติกรรมของมันที่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมจำพวกสารเป็นพิษ หรือที่ตอบสนองต่อภารกิจในสภาพอวกาศที่ห่างไกล" นาธานีลกล่าวและว่า "ยิ่งภารกิจดาวอังคารมีโอกาสล้มเหลวสูงด้วยแล้ว การใช้พยาธิพวกนี้จะช่วยให้เราทดสอบเรื่องระบบยานอวกาศและสภาพความปลอดภัยในราคาถูก ก่อนที่จะส่งผู้ปฏิบัติภารกิจที่เป็นมนุษย์ไป"

 

 

ที่มา How Tiny Worms Could Help Humans Colonize Mars, Livescience, 30-110-2011
http://www.livescience.com/17237-mars-human-colonization-worms-spaceflight.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ม.เที่ยงคืน ออกแถลงการณ์กรณี "อากง" ย้ำแก้ ม.112 ปกป้องผู้บริสุทธิ์จากกฎหมาย

Posted: 01 Dec 2011 12:09 AM PST

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์ ระบุการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา กับกรณี “อากง” ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจเพราะผลการวินิจฉัยนั้น ขัดแย้งกับสามัญสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื่องไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

 

(1 ธ.ค.54) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ ระบุการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา กับกรณี “อากง” ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจเพราะผลการวินิจฉัยนั้นขัดแย้งกับสามัญสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื่องไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น พร้อมเสนอหากไม่ต้องการเปิดโอกาสให้มีการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทำร้ายผู้คนเช่นที่ผ่านมา จำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพื่อป้องกันผู้บริสุทธิ์จากการรังแกของกฎหมาย และปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมประชาธิปไตย

 


แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งในการเมืองไทยมีความรุนแรงมากขึ้น กฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายป้ายสีบรรดาผู้คนที่ยืนอยู่ในฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งนำไปสู่การลงโทษอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง อันมีผลทำให้ความขัดแย้งยิ่งบานปลายออกไปมากขึ้น

โดยที่กฎหมายนี้มีปัญหาและข้อบกพร่องปรากฏอยู่อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะทั้งในด้านของเนื้อหาสาระของกฎหมายและกระบวนการในการดำเนินคดีดังกล่าวนี้

ในด้านของเนื้อหา จะพบว่าในแง่ของการริเริ่มคดีที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้สามารถที่จะริเริ่มคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันนำมาซึ่งการกล่าวโทษกันอย่างง่ายดายและกว้างขวาง บทลงโทษของการกระทำความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นการแสดงออกประเภทหนึ่งแต่มีโทษจำคุกรุนแรงถึง 15 ปี

ในด้านของกระบวนการ จะพบว่านับตั้งแต่ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาจะพบกับความยุ่งยากในการประกันตัว และชั้นพิจารณาคดีก็จะต้องเผชิญกับความยุ่งยากในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่มักถูกให้เหตุผลก็คือเป็นคดีที่มีโทษรุนแรงหรือเป็นคดีที่กระทบต่อสถาบัน และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงมักจะทำให้การวินิจฉัยคดีอยู่ภายใต้แรงกดดันหรือความเชื่อซึ่งอาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ละเลยหรือตีความที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ด้วยปัญหาที่กล่าวมาจึงทำให้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ใช่เพียงเครื่องมือใส่ร้ายป้ายสีระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ ในทางการเมืองเท่านั้น หากยังขยายรวมออกไปถึงประชาชนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องได้รับโทษจากกฎหมายนี้อย่างไม่เป็นธรรม กรณีคำวินิจฉัยใน “คดีอากง” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กระทำต่อประชาชนได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดการใช้กฎหมายนี้อย่างฟุ่มเฟือยโดยมีวาระทางการเมืองแอบแฝง และหากเปรียบเทียบกับการลงโทษที่เกิดขึ้นในหลายคดีที่แม้เป็นการฆาตกรรมต่อชีวิตของบุคคลอื่นก็ยังไม่ได้รับโทษเทียบเท่ากับกรณีนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นบทลงโทษที่รุนแรงและไม่สอดคล้องกับการกระทำที่ได้บังเกิดขึ้น

การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับกรณี “ อากง” ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจเพราะผลการวินิจฉัยนั้นขัดแย้งกับสามัญสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเนื่องไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่าหากไม่ต้องการที่จะเปิดโอกาสให้การใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการป้องกันผู้บริสุทธิ์จากการรังแกของกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากจะเป็นการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น
1 ธันวาคม 2554
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"มัลลิกา" แจ้งจับมือดีปลอมเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ โพสต์ข้อความหมิ่น

Posted: 30 Nov 2011 11:01 PM PST

มัลลิกา บุกกองปราบฯ เทคโนโลยี แจ้งจับกุมคนหมิ่นบนโลกไซเบอร์ โวยโดนมือดีอ้างชื่อโพสต์ข้อความบิดเบือน

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท. ) น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะหัวหน้ากลุ่มชมรมนักรบไซเบอร์ เข้าพบพ.ต.อ.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รอง ผบก.ปอท. เพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีพร้อมกับจับกุมผู้ที่กระทำความผิดบนระบบอินเทอร์เน็ต และในโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ฐานหมิ่นประมาททำให้เกิดการสับสนและเข้าใจผิดต่อประชาชน

โดยน.ส.มัลลิกา เปิดเผยว่า มีคนไม่หวังดี แอบอ้างชื่อของตนในเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ นำข้อความของตนที่นำไปโพสต์ในหน้าเพจของตนเองและบิดเบือนคำพูดในลักษณะหมิ่นประมาทต่างๆ ทั้งเรื่องการปลุกระดม รวมถึงทำให้ได้รับความเสียหาย จึงเข้าแจ้งความเพื่อให้ตำรวจกำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยอยากทำให้เป็นคดีตัวอย่าง เพราะทุกวันนี้มีผู้ถูกแอบอ้างในระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมาก แต่ไม่มีใครกล้าออกมาต่อสู้

"ผู้ที่ไม่หวังดี จะใช้ชื่อในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ว่า "Not Mallika" ซึ่งมีรูปของดิฉันที่ใช้ในเฟซบุ๊กแสดงไว้อยู่ด้วย และนำข้อความต่างๆ ที่ดิฉันโพสต์หรือเขียนลงไปทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ไปบิดเบือน ทำให้เสียหาย เนื่องจากประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในข้อความที่ไม่เป็นความจริง"

ด้านพ.ต.อ.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ กล่าวว่า มีผู้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ในลักษณะดังกล่าวแล้ว 3 ราย ทั้งเป็นพวกที่หมิ่นสถาบัน และทำให้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้กระทำผิดเข้าไปแฮคข้อมูลและเขียนข้อความหมิ่นประมาทลงไปแทน โดยขณะนี้ยังมีการตรวจสอบอยู่ว่าเป็นขบวนการเดียวกันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 112 อย่างชัดเจน และยังส่งผลกระทบความมั่นคง สำหรับน.ส.มัลลิกา ตำรวจจะดำเนิการให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นคดีตัวอย่างและป้องกันไม่ให้คนมาทำผิดในลักษณะดังกล่าวอีก

จากการตรวจสอบ ทวิตเตอร์ @NotMallikaBoon เริ่มสมัครเข้าใช้เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ในหน้าโปรไฟล์ของ @NotMaillkaboon ระบุว่า "ทวิตเตอร์นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ—ไม่เคยแอบอ้างเป็น—และไม่ได้สนับสนุน มัลลิกา บุญมีตระกูล" โดยมีการโพสต์ที่ใช้ภาษาคล้ายกับทวิตเตอร์ของมัลลิกา แต่มีเนื้อหาประชดประชัน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียกร้องฮิลลารีกดดันพม่าปล่อยนักโทษการเมือง-แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย

Posted: 30 Nov 2011 10:58 PM PST

นักกิจกรรมชุมนุมหน้าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ เรียกร้องฮิลลารี คลินตันซึ่งอยู่ระหว่างเยือนพม่ากดดันรัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษการเมือง-ยุติความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธต่อชนกลุ่มน้อย ชี้ไม่มีแม้แต่ “ความคืบหน้าริบหรี่” ที่โอบาม่าระบุ เพราะในพม่ายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ผู้ประท้วงหน้ากงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 1 ธ.ค. 54 เรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ระหว่างเยือนพม่า กดดันรัฐบาลพม่าให้คลี่คลายความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยและปล่อยนักโทษการเมือง

นายพอลล์ เนวิลล์ รองกงสุลฝ่ายการต่างประเทศ ประจำสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา (ขวา) ออกมารับข้อเรียกร้อง

เสียงจากผู้ชุมนุม (ที่มา: Prachatai/youtube.com)

เวลา 10.00 น. วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่หน้าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ นักกิจกรรมชาวต่างประเทศ รวมทั้งชาวพม่า และกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่า และชาวไทยประมาณ 40 คน นำโดยกลุ่ม “The Best Friend Library” ได้จัด “การชุมนุมเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า” หรือ “Rally for the Ethnic People of Burma!” ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนพม่า โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกากดดันให้ทางการพม่ายุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยในพม่าและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

ในแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าวอ้างถึงถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัค โอบาม่าที่มุ่งไปที่การพัฒนาในแง่ดีของพม่า ซึ่งโอบาม่ากล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาเห็นความคืบหน้าริบหรี่” และยังโอบาม่ากล่าวว่ายังอีกหลายขั้นตอนกว่าจะประสบความสำเร็จ และว่าความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาและพม่าจะสถาปนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนั้น “ขึ้นอยู่กับมาตรการที่รัฐบาลพม่าจะดำเนินอย่างเข้มข้นขึ้น” โดยแถลงการณ์ระบุว่าหากจะเป็นไปเช่นนั้น จะต้องเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ให้เรียกร้องต่อรัฐบาลพม่าให้ยุติความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ และปล่อยนักโทษการเมืองซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นก่อนที่จะมีการเพิ่มการพัวพันระหว่างประเทศในอนาคต

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ในขณะที่สหรัฐอเมริกามองเห็น “ความคืบหน้าริบหรี่” ในความเป็นจริงก็คือยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าในหลายกรณี นับตั้งแต่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ขึ้นสู่ตำแหน่ง ยังมีความขัดแย้งในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย มีการข่มขืน ทรมาน การฆ่าแบบไม่เคารพกฎหมาย และการใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์และเป็นผู้กวาดทุ่นระเบิด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกรายงานออกมาเป็นจำนวนมากโดยองค์กรต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีนักโทษการเมืองในประเทศกว่า 1,700 คนซึ่งคนพวกนี้ถูกคุมขังเพราะกิจกรรมทางการเมืองของพวกเขา

แถลงการณ์ชี้ว่า ในการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องยอมรับว่าเพื่อให้เกิดสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติอย่างแท้จริงในพม่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องให้ความสำคัญกับสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ การหารือกันขั้นต้นเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยยังไม่ถูกพูดถึง และควรพิจารณาด้วยความสงสัยด้วยที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกร้องผ่านสภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพหรือ UNFC และรัฐบาลทหารพม่าเลือกที่จะจัดการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ทีละกลุ่มๆ แทน

เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพม่า พวกเขายังคงอย่างจากหนทางปฏิรูปที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประเทศประชาธิปไตยที่ใช้การได้ และเป็นเรื่องสำคัญมากที่ประชาคมนานาชาติจะต้องกดดันต่อรัฐบาลทหารพม่าให้มีมาตรการเพื่อการปฏิรูปที่จำเป็นกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมนตรีคลินตันควรใช้โอกาสในการเยือนพม่าเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน และเพิ่มมาตรการที่จะนำไปสู่สันติภาพ การปรองดองแห่งชาติที่เข้มข้นยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” ตอนท้ายของแถลงการณ์ซึ่งลงนามโดย “The Best Friend Library” และองค์กรต่างๆ อีก 7 องค์กร รวมทั้ง Burma Partnership ระบุ (อ่านแถลงการณ์ภาคภาษาอังกฤษที่นี่)

โดยการชุมนุมหน้าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินไปประมาณ 40 นาที มีการปราศรัยโดยตัวแทนกลุ่มชาติำัพันธุ์จากพม่า และจากนั้นมีนายพอลล์ เนวิลล์ รองกงสุลฝ่ายการต่างประเทศ ประจำสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา ได้ออกมารับข้อเรียกร้อง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น